๒.๕.๓.๑ ระดับของสมาธิ

ในชั้นอรรถกถาท่านจัดแยกสมาธิออกเป็น ๓ ระดับ คือ

ระดับขั้นของสมาธิ
ระดับที่ ๑ ขณิกสมาธิ
: สมาธิชั่วขณะ, สมาธิขั้นต้นพอสำหรับใช้ในการเล่าเรียนทำการงานให้ได้ผลดี ให้จิตใจสงบสบายได้พักชั่วคราว และใช้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาได้

ระดับที่ ๒ อุปจารสมาธิ : สมาธิจวนจะแน่วแน่ ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะแห่งฌาน จัดเป็นขั้นสูงสุดของกามาวจรสมาธิ มีที่กำหนดชัดเจนคือ ในอุปจารสมาธิ นิวรณ์ก็ถูกละได้ระดับหนึ่งแล้ว และองค์ฌานก็เริ่มเกิดคล้ายกับอัปปนาสมาธิ มีข้อแตกต่างเพียงว่า องค์ฌานยังไม่มีกำลังดีพอ ได้นิมิตพักหนึ่ง ก็ตกภวังค์พักหนึ่ง ขึ้นตกๆเหมือนเด็กตั้งไข่ เขาพยุงลุก ก็คอยล้ม ส่วนในอัปปนาสมาธิ องค์ฌานทั้งหลายมีกำลังดีแล้ว จิตตัดภวังค์แล้วคราวเดียว ก็ตั้งอยู่ได้ทั้งคืนทั้งวัน เหมือนบุรุษผู้มีกำลัง ยืนขึ้นแล้วก็ยืนได้ตลอดวัน

ระดับที่ ๓ อัปปนาสมาธิ : สมาธิแน่วแน่ หรือ สมาธิที่แนบสนิท นิวรณ์ ๕ สงบระงับไปด้วยกำลังของสมาธิ เป็นสมาธิระดับสูงสุด ซึ่งมีในฌานทั้งหลาย (ฌานทุกลำดับจัดเป็นอัปปนาสมาธิ) ถือว่าเป็นผลสำเร็จที่ต้องการของการเจริญสมาธิ เกิดขึ้นได้ด้วยการรักษาอุปจารสมาธิที่เกิดขึ้นแล้วนั้นสม่ำเสมอไม่ให้เสื่อมหายไปเสีย จนในที่สุด ก็เกิดเป็นอัปปนาสมาธิ บรรลุปฐมฌาน เป็นขั้นเริ่มแรกของรูปาวจรสมาธิ

ระดับขั้นของฌาน

🙏รูปฌาน ๔

ระดับที่ ๑ ปฐมฌาน มีองค์ประกอบ คือ วิตก (การจรดจิตลงไปในอารมณ์, ตรึก) วิจาร (การเอาจิตผูกพันอยู่กับอารมณ์, ตรอง) ปีติ (ความยินดีในการได้อารมณ์ที่ต้องการ อรรถกถาจารย์ ท่านจัดเป็นสังขารขันธ์) สุข (ความสุขในการได้เสวยรสอารมณ์ที่ต้องการ อรรถกถาจารย์ ท่านจัดเป็นเวทนาขันธ์) เอกัคคตา (ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว)
ระดับที่ ๒ ทุติยฌาน มีองค์ประกอบ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
ระดับที่ ๓ ตติยฌาน มีองค์ประกอบ คือ สุข เอกัคคตา
ระดับที่ ๔ จตุตถฌาน มีองค์ประกอบ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

อาจมีความสงสัยเกิดขึ้นว่า เหตุใดในฌานระดับที่สูงขึ้นองค์ประกอบที่ดูน่าพึงพอใจอย่าง ปีติ และสุข จึงหายไป เหลือเพียง อุเบกขา ข้อนี้ขอให้พิจารณาทำความเข้าใจไปตามลำดับ

ในปฐมฌาน : การฟุ้งขึ้นของ นิวรณ์ ๕ เป็นอาพาธของปฐมฌาน
ในทุติยฌาน : ละวิตก วิจาร เพราะเป็นภาระของจิต เป็นโทมนัสอย่างละเอียด เป็นอาพาธของทุติยฌาน
ในตติยฌาน : ละปีติ ความยินดี เพราะเป็นสภาพที่ทำใจให้กำเริบ พะวงในการเสวยสุขอันยอดเยี่ยมนั้น เป็นอาพาธของ ตติยฌาน
จตุตถฌาน : ละความกำหนัดยินดีในสุข ละความคำนึงแห่งใจว่าเรากำลังเสวยสุข เพราะถือเป็นส่วนหยาบ เป็นปัจจัยแห่งรูปราคะ เป็นอาพาธของจตุตถฌาน

อุเบกขา ในที่นี้ใช้ใน ๒ ความหมาย คือ ในความหมายของพรหมวิหาร คือ ความมีใจเป็นกลาง ดูอย่างสงบ ซึ่งมีในฌานทุกชั้น โดยจะเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ และในความหมายของ อทุกขมสุขเวทนา คือ ไม่ใช่ทั้งสุขและทุกข์ เป็นสภาวะละเอียดประณีต เป็นปัจจัยสนับสนุนสติให้บริสุทธิ์ (ไม่ใช่อทุกขมสุขเวทนา ในความหมายของ ความสุขอย่างอ่อนๆ ความทุกข์อย่างอ่อนๆ หรือความรู้สึกเฉยๆ)

การที่จตุตถฌาน มีองค์ประกอบหลัก คือ อุเบกขา และเอกัคคตา ไม่ได้หมายความว่าพ้นจากภาวะที่เป็นสุข ตรงกันข้ามจตุตถฌานเป็นภาวะที่เป็นสุขประณีตอย่างยิ่ง เนื่องจากห่างไกลจากเสี้ยนหนามทางใจต่างๆ แม้อย่างละเอียด ส่วนทุกข์ทางกายนั้นดับไปตั้งแต่เข้าปฐมฌาน 

(สมาธิขั้นที่สูงถึงขั้นจตุตถฌานขึ้นไป แม้ไม่มีสุขเป็นองค์ธรรมแต่ก็จัดเป็นสุขที่ประณีตสูงขึ้นไปตามลำดับ พบได้ในพระสูตรหลายบท เช่น พหุเวทนียสูตร, ปัญจกังคสูตร, นอกจากนี้ ผู้สนใจศึกษาและตรวจสอบเพิ่มเติมจาก นิพพานสูตร, อรรถกถามหาวิภังค์ ปฐมภาค ; วิสุทธิมรรค ; หนังสือพุทธธรรม  เป็นต้น)


🙏
อรูปฌาน ๔

ระดับที่ ๑ อากาสานัญจายตนะ ฌานที่กำหนดอากาส คือ ที่ว่าง อันอนันต์
ระดับที่ ๒ วิญญาณัญจายตนะ ฌานที่กำหนดวิญญาณ (อันแผ่ไปในที่ว่าง) อันอนันต์
ระดับที่ ๓ อากิญจัญญายตนะ ฌานที่กำหนดภาวะที่ไม่มีสิ่งใดๆ
ระดับที่ ๔ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ฌานที่เลิกกำหนดสิ่งใดๆ โดยประการทั้งปวง เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ (ไม่มีสัญญาหยาบ มีสัญญาละเอียด)

วิธีปฏิบัติขั้น อรูปฌาน คือ เมื่อเจริญสมาธิถึงขั้นจตุตถฌานแล้ว ก็ปล่อยกรรมฐานที่ยึดเป็นอารมณ์ออก มายึดอารมณ์ของอรูปฌาน แต่ละลำดับแทน อรูปฌานทั้งหลายมีองค์ฌานเพียง ๒ อย่างเหมือนจตุตถฌาน คือ มีอุเบกขา และเอกัคคตา แต่มีข้อพิเศษคือสมาธิในอรูปฌานประณีตลึกซึ้งห่างไกลจากสิ่งรบกวนมากกว่ากันตามลำดับขั้น

ปุถุชนบำเพ็ญสมถะสำเร็จ สูงสุดได้เท่านี้ ส่วนพระอนาคามี และพระอรหันต์ มีกำลังสมาธิ และปัญญา รวมถึงจิตที่น้อมดิ่งไปสู่นิพพาน สามารถเข้าถึงภาวะที่ประณีตสูงสุดอีกขั้นหนึ่ง นับเป็นขั้นที่ ๙ คือ สัญญาเวทยิตนิโรธ หรือ นิโรธสมาบัติ เป็นภาวะที่สัญญาและเวทนาหยุดการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นความสุขขั้นสูงสุด ถือเป็นภาวะที่ใกล้เคียงนิพพานมากที่สุด แต่ไม่ควรเข้าใจผิดว่าเมื่อเข้าสมาบัตินี้แล้วก็ตรัสรู้หรือบรรลุอรหัตตผลต่อไปภายในสมาบัตินั้นเลย พึงเข้าใจว่าเป็นปัจจัยเกื้อกูล อบรมสมาธิไว้ให้พร้อมสำหรับการบรรลุอาสวักขยญาณในลำดับต่อไป

ความสำคัญของฌานสมาบัตินั้นพึงเห็นได้จากการที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกว่าเป็น วิขัมภนนิโรธ (ดับนิวรณ์ด้วยการข่มไว้ด้วยกำลังสมาธิ), ทิฏฐธรรมนิพพาน (นิพพานเห็นทันตา), สันทิฏฐิกนิพพาน (นิพพานที่ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง) เป็นนิพพานโดยปริยาย (โดยอ้อม) กล่าวคือ เป็นการดับกิเลสเหมือนกัน แต่เป็นการดับกิเลสเพียงข่มไว้ได้เท่านั้น เมื่อออกจากฌาน กิเลสก็เกิดได้อีก จึงไม่ใช่นิพพานที่แท้จริง เพราะนิพพานที่แท้จริงนั้นดับกิเลสได้โดยเด็ดขาดแล้ว กิเลสไม่เกิดขึ้นได้อีก ส่วนนิโรธสมาบัติเป็นภาวะที่ถือว่าใกล้เคียงอนุปาทิเสสนิพพานมากที่สุดท่านจัดเป็นนิพพานโดยนิปริยาย (โดยตรง) แต่ก็เป็นของชั่วคราวเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะของสมาธินั้นเป็นของชั่วคราว แต่ก็เป็นฐานของปัญญา และเปิดโลกทัศน์ให้แก่ผู้ปฏิบัติได้สัมผัสความสุขอันเกิดจากความสงบ ซึ่งเอื้อต่อความเจริญก้าวหน้าในทางปัญญาอย่างยิ่ง ครั้งหนึ่งพระสารีบุตรกล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า นิพพานนี้เป็นสุข, ภิกษุถามท่านว่า นิพพานนี้ไม่มีเวทนาจะเป็นสุขได้อย่างไร ท่านกล่าวตอบว่า “นิพพานนี้ไม่มีเวทนานั่นแหละเป็นสุข ดูก่อนอาวุโส กามคุณ ๕ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันน่าปรารถนา น่าใคร่ ชวนให้กำหนัด ดูก่อนอาวุโส สุขโสมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้ นี้เรียกว่า กามสุข

“ภิกษุเมื่อบรรลุปฐมฌานอยู่ สัญญาอันสหรคตด้วยกามฟุ้งซ่านขึ้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข ฉันใดก็ฉันนั้น นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้

“ภิกษุเมื่อบรรลุทุติยฌาน เพราะวิตกวิจารสงบไป เมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยวิตกฟุ้งซ่านขึ้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข ฉันใดก็ฉันนั้น นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้ (ในฌานและอรูปฌานลำดับถัดๆไปก็แนวเดียวกันนี้ คือ สัญญาของฌานลำดับก่อนหน้าอาจฟุ้งขึ้นมาเบียดเบียนให้ภาวะอันสุขสงบปราณีตนั้นต้องพร่องไป เมื่อสัญญาดังกล่าวที่ฟุ้งขึ้นสงบไปก็เป็นสุข)

“ภิกษุเมื่อบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อนี้ สัญญามนสิการอันสหรคตด้วยอากิญจัญญายตนะฟุ้งซ่านขึ้น ข้อนั้นเป็นอาพาธของเธอ เปรียบเหมือนความทุกข์พึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความสุข ฉันใดก็ฉันนั้น นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้

“ภิกษุเมื่อบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง อาสวะทั้งหลายของเธอสิ้นรอบแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา ดูกรอาวุโส นิพพานเป็นสุขอย่างไร ท่านพึงทราบได้โดยปริยายแม้นี้” (นิพพานสูตร,)


อภิญญา
อรรถกถาได้อธิบายวิธีการเจริญอภิญญาอย่างพิสดาร ซึ่งพอสรุปได้ความว่า ให้เจริญสมาบัติทั้ง ๘ แต่จำกัดว่าต้องเป็นสมาบัติที่ได้ในกสิณ ครั้นแล้วฝึกสมาบัตินั้นให้คล่องแคล่วโดยทำนองต่างๆเป็นการเตรียมจิตให้พร้อม พอถึงเวลาใช้งานก็เข้าฌานเพียงแค่จตุตถฌาน แล้วน้อมเอาจิตนั้นไปใช้เพื่ออภิญญาตามความต้องการ อย่างไรก็ตามโลกิยอภิญญา เช่น การเดินน้ำ ดำดิน เหาะเหิน เป็นของที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนมาก ไม่อาจสำเร็จได้โดยง่ายเลย ประการสำคัญพระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่อารยฤทธิ์ อาจเกิดโทษ และไม่ทำให้หลุดพ้น ไม่ใช่สาระของพระพุทธศาสนา เป็นของมีมาก่อนพุทธกาล มิใช่เครื่องแสดงความประเสริฐของบุคคลหรือของพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้พระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้าส่วนมากจึงเป็นพระปัญญาวิมุต และอีกมากมายหลายท่านแม้เป็นอุภโตภาควิมุต ก็มิได้ทำอภิญญา ๕ เหล่านั้นให้เกิดขึ้น



๒.๕.๓ หมวดสมาธิ : สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ

สัมมาวายามะ เป็นเรื่องของความเพียร แยกเป็น ๔ ข้อ เรียกว่า 🔎ปธาน ๔ คือ
๑. เพียรระวัง อกุศลที่ยังไม่เกิด
๒. เพียรกำจัด อกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. เพียรเจริญ กุศลที่ยังไม่เกิด
๔. เพียรรักษา กุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
พูดสั้นๆคือ ความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม และทำกุศลธรรมให้เจริญขึ้นความเพียรเป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งข้อหนึ่งในพระพุทธศาสนา ในหมวดธรรมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติแทบทุกหมวด จะพบความเพียรแทรกอยู่ด้วย ในชื่อใดชื่อหนึ่ง

“ธรรมนี้ เป็นของสำหรับผู้ปรารภ (กล่าวถึง ริเริ่ม ตั้งต้น) ความเพียร มิใช่สำหรับคนเกียจคร้าน” (อนุรุทธสูตร)

การทำความเพียรก็ต้องมีความพอดี และมีความสมดุลกันของอินทรีย์อื่นๆ ดังพุทธพจน์ที่เปรียบเทียบความพอดีของความเพียรเหมือนสายพิณที่ไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป “ … แต่คราวใด สายพิณของเธอ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ตั้งอยู่ในระดับพอดี คราวนั้นพิณของเธอ จึงจะมีเสียงไพเราะ หรือเหมาะที่จะใช้การ … ความเพียรที่ระดมมากเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งใจกำหนดความเพียรให้เสมอพอเหมาะ จงเข้าใจความเสมอพอดีกัน แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย” (โสณสูตร)

อรรถกถาขยายความว่าพระโสณะปรารภความเพียรเดินจงกรมจนเท้าแตก ท่านจึงคุกเข่าเดินจงกรมจนทั้งเข่าทั้งฝ่ามือแตก ข้อนี้ผู้ศึกษาไม่ควรเข้าใจผิดว่าความเพียรอันแรงกล้านั้นเป็นสิ่งไม่ดี ความสุดโต่งไปทางการทรมานตน และความเพียรที่ไม่ถูกที่ถูกทางต่างหากที่ควรหลีกเลี่ยง พึงพิจารณาร่วมกับพุทธพจน์อื่นๆ

“บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ย่อมข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” (อาฬวกสูตร)

“คนขยันทั้งคืนวัน เรียกว่า มีแต่ละวันนำโชค” (ภัทเทกรัตตสูตร)

“เป็นคนควรหวังเรื่อยไป บัณฑิตไม่ควรท้อแท้ เราเห็นประจักษ์มากับตนเอง เราปรารถนาอย่างใด ก็ได้สมตามนั้น” (สรภชาดก)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดีแล้ว ผู้ใดเกียจคร้าน ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ ผู้ใดปรารภความเพียร ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นสุข” (เอกธัมมบาลี)

บางคนต้องให้ตนประสบทุกข์หนักก่อนจึงเกิดความสังเวชริเริ่มความเพียร คนเขลาแม้ตนจะประสบทุกข์หนักก็ไม่สังเวชไม่ริเริ่มความเพียร ส่วนบัณฑิตริเริ่มความเพียรอยู่เสมอ เดินหน้าไปสู่ฝั่งอันเกษม


สัมมาสติ  การระลึกได้, การกำหนดจับอารมณ์, การไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และเดินก้าวหน้าต่อไปอยู่เสมอ ความหมายของ สติ มีความใกล้ชิดกับความไม่ประมาท (อัปปมาท) ซึ่งท่านถือว่าเป็นยอดของธรรม เพราะธรรมทั้งหมดประชุมลงในความไม่ประมาทได้ ผู้ไม่ประมาท พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ เธอจักเจริญ จักกระทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค ดังปัจฉิมวาจา

“สิ่งทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ย่อมมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ที่มุ่งหมายให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาท” (มหาปรินิพพานสูตร)

สติ เกิดร่วมกับ ปัญญา จึงจะมีกำลัง ขาดปัญญา ย่อมอ่อนกำลัง

สัมมาสมาธิ  ความตั้งมั่นของจิต, ภาวะที่จิตแน่วแน่แนบสนิทอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความมุ่งหมายของสัมมาสมาธิ คือ สมาธิที่ใช้ถูกทาง เพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น เพื่อเป็นฐานให้ปัญญารู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ) กล่าวคือ เพื่อเป็นสนามปฏิบัติการของปัญญา สนับสนุนให้ปัญญาเจริญ จนบรรลุจุดหมายนั่นเอง

พึงเข้าใจว่า หลักการที่ท่านแสดงไว้ ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเจริญวิปัสสนาได้ โดยใช้สมาธิเพียงขั้นต้นๆ ที่เรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ อันเป็นสมาธิในระดับตั้งแต่ขณิกสมาธิ ไปถึงอุปจารสมาธิ แต่สมาธิระดับที่สูงขึ้นย่อมเป็นฐานให้ปัญญาเจริญได้ดีขึ้นไปตามลำดับ

สมาธิ มีลักษณะไม่ส่ายหรือไม่ฟุ้งซ่าน ปรากฏเป็นความสงบ โดยมีความสุขเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) จิตที่เป็นสมาธินั้น นิ่งแน่ว เหมือนเปลวเทียนในที่ไม่มีลมกวน ไฟทำงานเผาไหม้ต่อเนื่องไปอย่างสม่ำเสมอ มิใช่หยุดนิ่ง แต่สงบนิ่ง มิใช่ลืมตัว หมดความรู้สึก หรือถูกกลืนรวมหายไปในอะไรๆ แต่มีสติสัมปชัญญะเจริญขึ้นตามลำดับขั้นของสมาธิ



๒.๕.๒ หมวดศีล : สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ

มรรคในหมวดศีล มี ๓ ข้อดังนี้

สัมมาวาจา  เจรจาชอบ กล่าวคือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ, ส่อเสียด, หยาบคาย, เพ้อเจ้อ

สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ กล่าวคือ เจตนางดเว้นจากการเบียดเบียน และตัดรอนชีวิตผู้อื่น, เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้, เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, ไม่เสพสิ่งเสพติดที่เป็นเหตุให้เกิดความประมาท

สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ กล่าวคือ ละมิจฉาอาชีวะ การหลอกลวง การประจบ การบีบบังคับขู่เข็ญ, อาชีพที่ไม่ควรประกอบ ๕ อย่าง คือ ขายอาวุธ, ค้ามนุษย์, ค้าสัตว์มีชีวิต (เพื่อนำไปฆ่า), ค้ายาเสพติด, ขายยาพิษ

หาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ หมายรวมถึง การทำหน้าที่ หรือการดำรงตนอย่างถูกต้องอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เป็นผู้สมควรแก่การได้ปัจจัยบำรุงเลี้ยงชีวิตด้วย เช่น พระสงฆ์, เด็ก, คนชรา ย่อมมีสัมมาอาชีวะที่ควรแก่ตน ความชั่วที่เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติในขั้นต้น มี ๓ อย่าง คือ การแสวงหาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม, การครอบครองทรัพย์ไว้โดยไม่ทำให้เกิดประโยชน์, การใช้จ่ายทรัพย์ในทางที่เป็นโทษ ในขั้นสูง เน้นที่ ความรู้เท่าทันเข้าใจขอบเขตแห่งคุณค่า และโทษของทรัพย์ มีจิตใจเป็นอิสระเป็นนาย ไม่เป็นทาสของทรัพย์ ใช้ทรัพย์เพื่อทำประโยชน์และความสุข มิใช่กลายเป็นเหตุเพิ่มทุกข์ เป็นโอกาสที่จะพัฒนาจิตปัญญายิ่งๆขึ้นไปจนถึงขั้น นิสสรณปัญญา

สาระของศีล
ศีล คือเจตนาอันคิดจะระวังรักษาความประพฤติกายวาจาให้เรียบร้อยดีงามปราศจากโทษ ศีลเป็นข้อปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานในทางพระพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม มีความปกติสุข ไม่มีการเบียดเบียนกันในสังคม รวมถึงแสดงสิ่งที่พึงปฏิบัติในสังคมด้วย ดังที่ท่านจัดธรรมหมวด*สังคหวัตถุอยู่ในหมวดศีล (สังคหวัตถุ ๔ อย่าง ๑. ทาน ให้ปันสิ่งของ ๆ ตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน ๒. ปิยวาจา เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน ๓. อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ๔. สมานัตตตา ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว) ผู้ฝึกศึกษาพัฒนาในศีล จะต้องเข้าใจหลักการ สาระสำคัญ และที่สำคัญยิ่ง คือ วัตถุประสงค์ของศีลเหล่านั้น จึงจะชื่อว่ามีความเข้าใจถูกต้อง ไม่งมงาย ปฏิบัติธรรมไม่ผิดพลาด และได้ผลจริง เป็นธัมมานุธรรมปฏิบัติ

คุณค่าของศีล
แยกออกได้เป็น ๒ ด้าน คือ เพื่อการฝึกหัดขัดเกลาตนเอง และเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น โดยเฉพาะในวินัยของสงฆ์ ท่านเน้นความสำนึกในประโยชน์ของผู้อื่นไว้หนักแน่น เพราะวิถีชีวิตของสงฆ์สมควรเป็นไปเพื่อปสาทะ คือ ความเลื่อมใสแก่คนที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของผู้เลื่อมใสอยู่แล้ว (การที่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งประพฤติดีงาม ตั้งอยู่ในศีล จึงมิใช่เพื่อมุ่งประโยชน์ที่พึงมีแก่ตนจากความเลื่อมใสของชาวบ้าน ซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดพลาดอย่างเต็มที่ แต่ต้องมุ่งเพื่อ การขัดเกลาตน และประโยชน์สุขของสงฆ์ในส่วนรวมและชาวบ้านที่ได้มาเลื่อมใสนั้น)

วัตถุประสงค์ในภาพรวมในขั้นศีล
เพื่อเป็นบาทฐานของสมาธิ ให้พร้อมและสามารถใช้กำลังงานของจิต ให้เป็นบาทฐานของปัญญาที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นเป็นอิสระ, เจตนาที่จะงดเว้น หรือการไม่มีความดำริในการที่จะทำความชั่วใดอยู่ในใจ ทำให้จิตใจบริสุทธิ์ปลอดโปร่ง ไม่มีความคิดวุ่นวายขุ่นมัวหรือกังวลใดๆ มารบกวน จิตใจจึงสงบ ทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย (ส่วนการไปสวรรค์ พ้นจากอบายภูมิ เป็นต้น เป็นผลพลอยได้ในระหว่าง ตามธรรมดาของเหตุปัจจัย)

ธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเรียกเป็นมรรค เป็นโพชฌงค์ เป็นสติปัฏฐาน เป็นสัมมัปปธานก็ตาม คนตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงจะปฏิบัติได้ผล เปรียบเหมือนคนจะทำงานที่ใช้กำลัง ก็ต้องอาศัยพื้นแผ่นดินเป็นฐาน พ้นจากศีลขึ้นไป แรงหนุนสำคัญในการปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นตัวเด่น ที่พระพุทธเจ้าทรงย้ำบ่อยมาก ก็คือ ความไม่ประมาท ความมีกัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ

การปฏิบัติ การพัฒนา การดำเนินชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนปฏิปทาที่จะให้ถึงนิพพาน ทั้งหมดทั้งสิ้น ก็อยู่ใน ๓ หมวดแห่ง ศีล สมาธิ ปัญญา ที่มาจากมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง เมื่อจับหลักนี้ได้แล้ว เมื่อพูดถึงศีล ก็บอกว่า ศีลที่แท้ ที่จริง ที่ครบ ก็คือศีลที่มาจากมรรคมีองค์ ๘ นั้น ตัวศีลจริงๆแท้ๆ มีเท่านี้ ต่อจากนี้ ก็แบ่งซอยย่อยต่อออกไป เช่น เมื่อจะจัดการฝึกการศึกษาแก่คนพวกไหน กลุ่มใด ความเป็นอยู่อย่างไร ความมุ่งหมายใด เน้นหนักด้านใด ก็แยกย่อยรายละเอียดออกไป เป็น ศีลพระ ศีลสามเณร ศีลชาวบ้าน เป็นต้น

ศีล เป็นสภาพปกติทางกาย วาจา และอาชีวะ ของผู้ที่มีชีวิตดีงามบรรลุภูมิธรรมอันสูงแล้ว สำหรับในคนทั่วไป ศีลขั้นพื้นฐาน ในมรรค ๘ นี้ สาระเดียวกับ ศีล ๕ โดยถือว่าเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่ำที่สุดของความประพฤติของมนุษย์ สำหรับรักษาสภาพแวดล้อมทางสังคมให้อยู่ในภาวะที่เกื้อกูล เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่ดีงามและการพัฒนาที่สูงขึ้นไป

ศีล ๕ โดยสาระมีดังนี้
๑. งดเว้นจากการเบียดเบียนประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกายของผู้อื่น
๒. งดเว้นจากการลักขโมย แย่งชิง ล่วงละเมิดในทรัพย์สินของผู้อื่น
๓. งดเว้นจากการประพฤติผิดทางเพศ บริโภคกามแต่ในทางที่ปราศจากโทษ
๔. งดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยวาจา คือการกล่าวเท็จ ทำลายประโยชน์ของเขา
๕. งดเว้นจากสุรา ยาเสพติด อันเป็นเหตุให้หลงลืมเสียสติ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท


พระพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ศีล ให้ดูที่เจตนา ดังแสดงไว้ในพระวินัยปิฎก พระสงฆ์ทำผิดสิกขาบทโดยไม่มีเจตนา ไม่ถือเป็นอาบัติ, ส่วนคฤหัสถ์ ศีล ๕ ดูที่เจตนาไม่เบียดเบียน อย่างไรก็ตาม เจตนานั้นเป็นของละเอียดไม่ควรตัดสินอย่างง่ายๆเกินไป เช่น ขับรถชนคนตาย ถ้าขับเร็วด้วยความคึกคะนอง หรือดื่มสุรา แม้ไม่เจตนาขับรถชนผู้อื่น แต่ย่อมถือว่ามีเจตนาประมาทชัดเจน เรื่องของศีลถ้าจะให้ดี ท่านจึงว่าควรถือข้างเคร่งไว้ก่อน ขอยกเนื้อหาที่น่าสนใจจากปาฐกถาธรรม จัดโดยชุมนุมพุทธธรรมศิริราช วันที่ ๒๕ ก.พ. ๓๖ ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ตอบคำถามที่บุคคลากรทางการแพทย์ถามเกี่ยวกับศีลข้อปาณาติบาต ความโดยย่อดังนี้

การรับประทานยาถ่ายพยาธิเพื่อรักษาโรค ต้องตั้งเจตนาให้ถูกต้อง คือใช้ยาด้วยเจตนาจะรักษาโรค รักษาร่างกาย ไม่ใช่มีเจตนามุ่งร้ายจะทำลายจะฆ่าชีวิตผู้อื่น ก็ไม่เป็นปาณาติบาต ไม่ผิดศีล

ส่วนการทำแท้ง ในกรณีที่มีเหตุผลบางอย่างเช่น การทำแท้งในวัยนักศึกษาซึ่งไม่พร้อมจะมีบุตร หรือเด็กมีความพิการรุนแรง กรณีเช่นนี้เป็นทางเลือกที่เสียทั้งสองทาง ทำแท้งก็เป็นการฆ่าเด็ก เป็นปาณาติบาต ไม่ทำแท้งก็อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เมื่อเป็นทางเลือกที่เสียทั้งสองทาง จะทำได้ก็แค่พิจารณาว่าทางเลือกไหน มีคุณหรือโทษมากกว่ากัน โดยใช้หลักในการพิจารณาคือ ตัดสินใจด้วยเจตนาที่ดีที่สุด โดยใช้ปัญญาให้มากที่สุด เมื่อทำด้วยความรับผิดชอบ ไม่ประมาท ไม่ทำไปแบบเอาง่ายๆ ลากเข้าหาตัว สะดวกตัวเข้าว่า ก็พูดได้ว่าบาปน้อยกว่าการฆ่าด้วยเจตนาที่เป็นโทสะเต็มที่ แต่เมื่อทำบาปแล้ว ก็ยอมรับกับตนเองว่าบาป ไม่หลอกตัวเอง ส่วนนี้เป็นความกล้าหาญทางจริยธรรม ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาต่อไป

ศีล ๕ เป็น มหาทาน เป็นทานที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการให้ความไม่มีเวร ไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ (ปุญญาภิสันทสูตร)

ในกรณีของชาวบ้าน การถือศีล ๕ สาระมีเพียงอยู่ในขั้นไม่กระทำชั่ว ยังไม่ครอบคลุมถึงการพัฒนาก้าวไปในวิถีของพระพุทธศาสนา ธรรมชุดที่ถือว่าครบถ้วนสำหรับชาวบ้าน คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ (มนุษยธรรม) หรือ อารยวัฒิ ๕ ซึ่งมีเรื่องการพัฒนา สมาธิ และปัญญาด้วย จึงครบองค์มรรค

ศีลนั้นคลุมไปถึงทานด้วย ซึ่งทานนั้นแม้เป็นในแง่ของการช่วยเหลือผู้อื่น แต่การช่วยผู้อื่นนั้น ก็คือการที่ตัวเองได้ปฏิบัติธรรมและพัฒนาฝึกฝนตนเองไปมากมายเช่นเดียวกัน การบำเพ็ญทาน เป็นจิตตาลังการ คือเป็นอลังการของจิต หมายความว่า ส่งผลทางจิตใจมาช่วยประกอบประดับปรับแต่งจิตให้นุ่มนวล อ่อนโยน โน้มน้อมไปในกุศล เสริมเพิ่มกำลังให้แก่จิต โปร่ง เบา ผ่อนคลาย เอื้อต่อการพัฒนาสูงขึ้นไป เพราะอย่างนี้ แม้จะเป็นอริยสาวก ก็นิยมบำเพ็ญทาน

พุทธพจน์เกี่ยวกับทาน
“ดูกรอานนท์ บุคคลให้ทานในสัตว์เดรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า (น่าจะหมายถึงอย่างมากไม่เกินร้อยเท่า คือ ถ้าเหตุปัจจัยครบถ้วนสมบูรณ์ก็ได้ผลร้อยเท่า), ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า, ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า, ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม (พวกฤๅษีที่ได้ฌานสมาบัติ) พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า, ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้จนประมาณไม่ได้, จะป่วยกล่าวไปใยในพระโสดาบัน และท่านผู้ที่คุณธรรมสูงยิ่งกว่านั้น” (ทักขิณาวิภังคสูตร)

เรื่องตัวเลขในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่น ๕๐๐ ๑,๐๐๐ ๘๔,๐๐๐ แสนโกฏิ เป็นต้นนั้น ในสมัยพุทธกาลบ่อยครั้งใช้ในลักษณะเป็นสำนวน หมายความว่ามีจำนวนมาก เข้าใจว่าบางครั้งก็ไม่ได้ใช้สื่อถึงจำนวนดังกล่าวตรงๆเสมอไป

“ผู้ให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง, ผู้ให้ผ้านุ่งห่ม ชื่อว่าให้ผิวพรรณ, ผู้ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสะดวก, ผู้ให้ดวงประทีป ชื่อว่าให้ดวงตา, ผู้ใดให้ที่พำนักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้ทั้งหมด, ผู้ใดสั่งสอนธรรม ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งที่ไม่ตาย” (กินททสูตร)

“การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง รสแห่งธรรมะ ย่อมชนะรสทั้งปวง” (ตัณหาวรรค)

“ภิกษุทั้งหลาย การให้ธรรม เป็นยอดแห่งทาน” (พลสูตร)

“ดูกรอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู (ภิกษุทุศีล) มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานแก่สงฆ์ได้เฉพาะในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น (สังฆทาน) ดูกรอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้นเราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทาน (ทานที่ให้เจาะจงไปที่ตัวบุคคล) ว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย” (ทักขิณาวิภังคสูตร)

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสให้พระนางปชาบดีโคตมีถวายผ้าที่นางทอเองนั้นแก่สงฆ์ โดยตรัสว่าเมื่อถวายแก่สงฆ์แล้วเป็นอันได้บูชาทั้งพระพุทธเจ้าและสงฆ์ รวมความว่า คฤหัสถ์เมื่อจะอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุ พึงคำนึงถึงประโยชน์ที่สถาบันสงฆ์ในภาพรวมจะได้รับ แม้ในกรณีที่เป็นปาฏิปุคคลิก เมื่อจะเลือกเกี่ยวข้องหรือบำรุงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง พึงทำด้วยประสงค์ที่จะให้สงฆ์ดำรงอยู่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมากตลอดกาลยาวนาน ดังข้อความในพระไตรปิฏก “ให้ด้วยพิจารณา พระศาสดาทรงสรรเสริญ” (สาธุสูตร)



๒.๕.๑ หมวดปัญญา : สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ

สัมมาทิฏฐิ : ความเห็นชอบ, ความเข้าใจถูกต้อง

“ข้อที่ภิกษุจักทำลายอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ทำให้แจ้งซึ่งนิพพานได้ ด้วยทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบ ด้วยมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ชอบ นี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ นั่นเพราะเหตุใด? ก็เพราะตั้งทิฏฐิไว้ชอบแล้ว” (สุกสูตร)

“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือ กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเพิ่มพูนไพบูลย์ เหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย” (เอกธัมมบาลี ทุติยวรรค)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นสักข้อหนึ่งที่มีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐิ, โทษทั้งหลาย มีมิจฉาทิฏฐิ เป็นอย่างยิ่ง” (เอกธัมมบาลี ตติยวรรค)

สัมมาทิฏฐิ เป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นตัวนำ ในการดำเนินตามมรรคาแห่งมัชฌิมาปฏิปทา และเป็นตัวยืนที่มีบทบาทอยู่ตลอดเวลาทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ ไปจนถึงปลายสุดของมรรคา การที่สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้นตามลำดับในระหว่างมรรคานี้ ส่องความในตัวว่าสัมมาทิฏฐิในลำดับหรือในขั้นตอนต่างๆของการปฏิบัตินั้น ย่อมมีความแตกต่างกันโดยคุณภาพไปตามลำดับ

สัมมาทิฏฐิ คือ ความรู้ในธรรม ที่สำคัญ เช่น อริยสัจ ๔, กุศลมูลและอกุศลมูล, ไตรลักษณ์, ปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ ความเห็นที่ตรงตามสภาวะ คือ เห็นตามที่สิ่งทั้งหลายเป็นจริง การที่สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้น ย่อมต้องอาศัยโยนิโสมนสิการเรื่อยไป เพราะโยนิโสมนสิการช่วยให้ไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน หรือมองเห็นเฉพาะผลรวมที่ปรากฏ

สัมมาทิฏฐิ ๒ ระดับ

๑.๑) โลกิยสัมมาทิฏฐิ : ความเห็นของระดับโลกีย์ คือ ยังเนื่องในโลก ได้แก่ ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตที่ถูกต้องตามหลักแห่งความดี เชื่อกรรมและผลของกรรม เป็นไปตามคลองธรรม สอดคล้องกับศีลธรรม โลกียสัมมาทิฏฐิ อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไปตามกาลสมัย แต่ก็ต้องมีความสอดคล้องกับหลักกรรม หรือสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ โลกิยสัมมาทิฏฐินี้ จึงอาจเชื่อมต่อให้ก้าวไปยังโลกุตรสัมมาทิฏฐิได้

๑.๒) โลกุตรสัมมาทิฏฐิ : ความเห็นของระดับโลกุตระ คือเหนือโลก ไม่ขึ้นต่อโลก ได้แก่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริง รู้เข้าใจสภาวะของธรรมชาติอย่างแท้จริง เป็นสัจธรรมที่ไม่ขึ้นต่อกาลสมัย (อกาลิโก) ปรโตโฆสะ (ปัจจัยภายนอก เช่น กัลยาณมิตร) ที่ดี สามารถชักจูงให้เกิด โลกียสัมมาทิฏฐิ แต่ในขั้นบรรลุมรรคผล คือ โลกุตรสัมมาทิฏฐิ ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการของตนเองร่วมเข้ามาด้วยเป็นสำคัญ ในการพิจารณาให้เกิดปัญญา ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงด้วยการรับฟังแล้วเชื่อตามคนอื่นด้วยศรัทธา เพราะต้องเป็นการรู้จักที่ตัวสภาวะเอง ต้องเอาธรรมชาตินั่นเองเป็นข้อพิจารณาโดยตรง ซึ่งกัลยาณมิตร อาจช่วยได้เพียงสนับสนุน โลกุตรสัมมาทิฏฐิ เป็นการเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเองแท้ๆ ซึ่งมีสภาวะและธรรมดา เสมอเหมือนกันทุกถิ่นฐานทุกกาลสมัย จำเป็นสำหรับปรีชาญาณและความหลุดพ้น ถึงขั้นเป็นมรรคเป็นผล ทำให้เป็นอริยบุคคล สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในบุคลิคภาพอย่างที่เรียกว่า ถอนรากถอนโคน

สัมมาสังกัปปะ : ความดำริชอบ หรือ ความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง

สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ส่งผลให้เกิด สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริ นึกคิด และมีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ไม่เอนเอียง ยึดติด หรือเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งส่งผลสะท้อนให้เกิดสัมมาทิฏฐิต่อไป หรือยิ่งขึ้นไปอีก องค์ประกอบทั้งสองร่วมกับโยนิโสมนสิการจึงส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในแง่ของหน้าที่หลัก สัมมาทิฏฐิ แก้ โมหะ สัมมาสังกัปปะ แก้ โลภะ โทสะ

สัมมาสังกัปปะตรงข้ามกับความดำริผิดที่เรียกว่า มิจฉาสังกัปปะ ซึ่งมี ๓ อย่าง คือ
๑. กามวิตก คือ ความดำริที่เกี่ยวข้องกับกาม ในทางแสวงหาหรือหมกมุ่นพัวพันติดข้อง ความคิดในทางเห็นแก่ตัว (จัดเป็นฝ่ายโลภะ)
๒. พยาบาทวิตก คือ ความดำริที่ประกอบด้วยความขัดเคือง เคียดแค้น ชิงชัง (จัดเป็นฝ่าย โทสะ)
๓. วิหิงสาวิตก คือ ความดำริในทางที่จะเบียดเบียน ทำร้าย ทำลาย กระทบกระทั่งรุกรานผู้อื่น อยากทำให้เขาประสบความทุกข์ความเดือดร้อน (จัดเป็นฝ่าย โทสะ)

ความดำริ หรือแนวคิดแบบนี้ เป็นเรื่องปรกติของปุถุชน เพราะตามธรรมดาเมื่อปุถุชนรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็จะเกิดความรู้สึกคือ ชอบ หรือ ไม่ชอบ จากนั้นความดำรินึกคิดต่างๆก็จะดำเนินไปตามแรงผลักดันของความชอบและไม่ชอบนั้น ด้วยเหตุนี้ ความคิดของปุถุชนโดยปกติจึงเป็นความคิดเห็นที่เอนเอียง มีความชอบใจ (กามวิตก) ไม่ชอบใจ (พยาบาทวิตก และ วิหิงสาวิตก) ของตนเข้าไปเคลือบแฝง ทำให้ไม่เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นของมันเองล้วนๆ

ความดำริที่เอนเอียงเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะการขาดโยนิโสมนสิการ ในภาวะจิตที่มีโยนิโสมนสิการ จึงมีความดำริตริตรึกนึกคิด ซึ่งปลอดโปร่ง เป็นอิสระ ปราศจากความเอนเอียง เรียกว่า
สัมมาสังกัปปะ มี ๓ อย่าง คือ
๑. เนกขัมมวิตก คือ ความดำริที่เป็นกุศล ปลอดจากโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ไม่หมกมุ่นพัวพันติดข้องในสิ่งสนองความอยากต่างๆ ปราศจากความเห็นแก่ตัว
๒. อพยาบาทวิตก คือ ความดำริที่ไม่มีความรู้สึกกระทบกระทั่ง ขัดเคือง ชิงชัง, มีเมตตา
๓. อวิหิงสาวิตก คือ ความดำริที่ไม่มีการเบียดเบียน การคิดทำร้าย ข่มเหง ทำลาย, มีกรุณา

สัมมาสังกัปปะ นอกจากเกื้อกูลต่อ สัมมาทิฏฐิแล้ว ในด้านศีล ยังทำให้ พรหมวิหาร (จัดเป็นคุณธรรมที่เป็นรากฐานอยู่ในจิตใจ) และ สังคหวัตถุ (จัดเป็นขั้นแสดงออกทางสังคม หรือขั้นปฏิบัติการ) เจริญขึ้นด้วย ยกตัวอย่างด้านเมตตา (ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข)

ข้อควรสังเกตสำคัญอย่างหนึ่งของเมตตา ก็คือ สมบัติ (ความสำเร็จ) และวิบัติ (ความล้มเหลว ผิดพลาดคลาดเคลื่อน) ของเมตตา สมบัติของเมตตา คือ ระงับพยาบาท วิบัติของเมตตา คือ การเกิดสิเนหะ (เสน่หา ความรักใคร่เยื่อใยเฉพาะบุคคล เช่น ความรักอย่างบุตร ภริยา เป็นต้น) เป็นเหตุให้เกิดความลำเอียง ทำให้ช่วยเหลือกันในทางที่ผิดได้ ซึ่งเป็นความวิบัติของเมตตามากกว่า หาใช่เมตตาไม่

ส่วนเมตตาที่แท้จริงนั้น เป็นธรรมที่เอื้อต่อการรักษาความเที่ยงธรรม ทำให้มีภาวะจิตที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ที่จะเอนเอียงเข้าหา หรือเกลียดชังคิดร้าย มีปรารถนาดีต่อทุกคนสม่ำเสมอกัน จึงช่วยให้พิจารณาตัดสินและกระทำการต่างๆไปตามเหตุผล โดยมุ่งประโยชน์สุขที่แก่จริงแก่คนทั้งหลาย  เมตตาที่แท้จริง จะเป็นไปในแบบที่ว่า “พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงมีพระทัยเสมอกัน ทั้งต่อนายขมังธนู (ที่รับจ้างมาลอบสังหารพระองค์) ต่อพระเทวทัต ต่อโจรองคุลีมาล ต่อช้างธนบาล (ที่พระเทวทัตปล่อยมาเพื่อฆ่าพระองค์) และต่อพระราหุล ทั่วทุกคน” (อุปาลีเถราปทาน)

(ท่านกล่าวว่า ควรแยกขั้นคุณธรรมในจิตใจกับขั้นปฏิบัติการให้ออก มีเมตตาเสมอกันไม่จำเป็นต้องปฏิบัติเสมอกันในทุกกรณี แต่เลือกปฏิบัติไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วยใจเป็นธรรม)

ประโยชน์หนึ่งของเมตตา จะเห็นได้ในกรณีของการถกเถียง การแย้งทางเหตุผล ทำให้ต่างฝ่ายยอมพิจารณาเหตุผลของกันและกัน ช่วยให้คู่โต้บรรลุถึงเหตุผลที่ถูกต้องได้ ในกรณีที่มิจฉาสังกัปปะเกิดขึ้น เมื่อจะแก้ไขโดยวิธีการแห่งปัญญา ก็ต้องไม่ใช้วิธีดึงดัน หรือมัวฟุ้งซ่านกลัดกลุ้ม แต่ต้องใช้โยนิโสมนสิการ พิจารณาให้เห็นคุณโทษของมันดังพุทธพจน์

“ภิกษุทั้งหลาย ก่อนสัมโพธิกาล เมื่อเราเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดเกิดขึ้นว่า, ถ้ากระไร เราพึงแยกความดำริออกเป็น ๒ ฝ่าย ดังนี้แล้ว จึงได้แยกกามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก ออกเป็นฝ่ายหนึ่ง และแยกเนกขัมมวิตก อพยายาทวิตก และอวิหิงสาวิตก ออกเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง

“เมื่อเกิดมีกามวิตกเกิดขึ้น เราก็รู้ชัดว่า เราเกิดกามวิตกขึ้นแล้ว กามวิตกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง ทำให้ปัญญาดับ จัดเป็นพวกสิ่งบีบคั้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

“เมื่อเราพิจารณาเห็นดังนี้ กามวิตกนั้นก็สลายตัวไป เราจึงละ จึงบรรเทา กามวิตก ที่เกิดขึ้นมาให้หมดสิ้นไปได้ทั้งนั้น (พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ก็ทำนองเดียวกัน)

“ภิกษุ ยิ่งตรึก ยิ่งคิดคำนึงถึงความดำริใดๆมาก ใจของเธอก็ยิ่งน้อมไปทางความดำรินั้นๆ ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งคิดคำนึงถึงกามวิตกมาก เธอก็ละทิ้งเนกขัมมวิตกเสีย ทำแต่กามวิตกให้มาก จิตของเธอนั้น ก็น้อมไปทางกามวิตก ฯลฯ ถ้าภิกษุยิ่งตรึก ยิ่งคิดคำนึงถึงเนกขัมมวิตกมาก เธอก็ละทิ้งกามวิตกเสีย ทำแต่เนกขัมมวิตกให้มาก จิตของเธอนั้น ก็น้อมไปทางเนกขัมมวิตก ฯลฯ” (เทวธาวิตักกสูตร)

การปฏิบัติธรรมช่วงแรกตามองค์มรรค ๒ ข้อต้นนี้ สรุปได้ด้วยพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ อย่าง ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินปฏิปทาอันไม่ผิดพลาด และเป็นอันได้เริ่มก่อต้นกำเนิดของความสิ้นอาสวะแล้ว ธรรม ๔ อย่างนั้น คือ เนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก สัมมาทิฏฐิ” (ทิฏฐิสูตร)



๒.๕ มรรค ๘ : ทางแห่งการเป็นอยู่ด้วยปัญญา

มรรค ๘ เรียกอย่างสั้นว่า การเป็นอยู่ด้วยปัญญา ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจจึงเป็นแกนนำของความประพฤติปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ มรรค ๘ จึงมีสัมมาทิฏฐิเป็นองค์ประกอบข้อแรก ดังพุทธพจน์ “ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์มรรคเหล่านั้น สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำอย่างไร? ด้วยสัมมาทิฏฐิ จึงรู้จักมิจฉาทิฏฐิ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักสัมมาทิฏฐิ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ …ฯลฯ… รู้จึกมิจฉาสมาธิ ว่าเป็นมิจฉาสมาธิ รู้จักสัมมาสมาธิ ว่าเป็นสัมมาสมาธิ

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้าอย่างไร? เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาญาณ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้” (มหาจัตตารีสกสูตร)

มรรค ๘ แบ่งเป็น ๓ หมวด
🔅 ๑ หมวดศีล (สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ)
🔅 ๒ หมวดสมาธิ (สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ)
🔅 ๓ หมวดปัญญา (สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ)

(ส่วนในระดับชาวบ้าน ท่านใช้บุญกิริยาวัตถุ ๓  (ดูความหมายในข้อ ทาน ศีล ภาวนา โดยภาวนาเน้นไปที่การเจริญเมตตา หรือใช้ กุศลกรรมบถ ๑๐ แทนบุญกิริยาวัตถุ ๓ ก็ได้)








มรรค ๘ : สาระโดยย่อ

๑. สัมมาทิฏฐิ : ความเห็นชอบ, ความเข้าใจถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ เป็นจุดเริ่มต้น ทั้งยังเป็นแกนหลักที่มีบทบาทอยู่ตลอดเวลาทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ ไปจนถึงปลายสุดของมรรคา การที่สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้นตามลำดับในระหว่างมรรคานี้ ส่องความในตัวว่าสัมมาทิฏฐิในลำดับหรือในขั้นตอนต่างๆของการปฏิบัตินั้น ย่อมมีความแตกต่างกันโดยคุณภาพไปตามลำดับ สัมมาทิฏฐิ คือ ความรู้ในธรรม ที่สำคัญ เช่น อริยสัจ ๔, กุศลมูลและอกุศลมูล, ไตรลักษณ์, ปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ ความเห็นที่ตรงตามสภาวะ คือ เห็นตามที่สิ่งทั้งหลายเป็นจริง การที่สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้น ย่อมต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ (การใช้ความคิดถูกวิธี) เรื่อยไป เพราะโยนิโสมนสิการช่วยให้ไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน หรือมองเห็นเฉพาะผลรวมที่ปรากฏ

๒. สัมมาสังกัปปะ : ความดำริชอบ หรือ ความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ส่งผลให้เกิด สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริ นึกคิด และมีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ไม่เอนเอียง ยึดติด หรือเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งส่งผลสะท้อนให้เกิดสัมมาทิฏฐิต่อไป หรือยิ่งขึ้นไปอีก องค์ประกอบทั้งสองร่วมกับโยนิโสมนสิการจึงส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันในแง่ของหน้าที่หลัก สัมมาทิฏฐิ แก้ โมหะ สัมมาสังกัปปะ แก้ โลภะ โทสะ

๓. สัมมาวาจา : เจรจาชอบ กล่าวคือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ, ส่อเสียด, หยาบคาย, เพ้อเจ้อ

๔. สัมมากัมมันตะ : กระทำชอบ กล่าวคือ เจตนางดเว้นจากการเบียดเบียน และตัดรอนชีวิตผู้อื่น, เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้, เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย, ไม่เสพสิ่งเสพติดที่เป็นเหตุให้เกิดความประมาท

๕. สัมมาอาชีวะ : เลี้ยงชีพชอบ กล่าวคือ ละมิจฉาอาชีวะ การหลอกลวง การประจบ การบีบบังคับขู่เข็ญ, อาชีพที่ไม่ควรประกอบ ๕ อย่าง คือ ขายอาวุธ, ค้ามนุษย์, ค้าสัตว์มีชีวิต (เพื่อนำไปฆ่า), ค้ายาเสพติด, ขายยาพิษ นอกจากนี้การเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ ยังหมายรวมถึง การทำหน้าที่ หรือการดำรงตนอย่างถูกต้องอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เป็นผู้สมควรแก่การได้ปัจจัยบำรุงเลี้ยงชีวิตด้วย เช่น พระสงฆ์, เด็ก, คนชรา ย่อมมีสัมมาอาชีวะที่ควรแก่ตน

๖. สัมมาวายามะ : ความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม และทำกุศลธรรมให้เจริญขึ้น

๗. สัมมาสติ : การระลึกได้, การไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และเดินก้าวหน้าต่อไปอยู่เสมอ

๘. สัมมาสมาธิ : สมาธิที่ใช้ถูกทางเพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น เพื่อเป็นฐานให้ปัญญารู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง

“ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคา ไหลหลั่ง ลาดเอน เบนไปสู่มหาสมุทร ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอยู่ ทำให้มากอยู่ ซึ่งมรรคามีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ ย่อมเป็นผู้โน้มน้อม ลาดเอน เบนไปสู่นิพพาน ฉันนั้น” (คังคาสมุทนินนสูตร)



๒.๔ การมองโลกตามความเป็นจริง

“ภิกษุทั้งหลาย ก่อนสัมโพธิ เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ ผู้ยังมิได้ตรัสรู้ เราได้มีความคิดว่า อะไรหนอคือส่วนดี (อัสสาทะ) ในโลก อะไรคือส่วนเสีย (อาทีนวะ) อะไรคือทางออกปลอดพ้นเป็นอิสระ? (นิสสรณะ) เรานั้นได้มีความคิดว่า ความสุขความฉ่ำชื่นใจ ที่เกิดขึ้นด้วยอาศัยสิ่งใดๆในโลก นี้คือส่วนดีในโลก, ข้อที่โลกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้คือส่วนเสียในโลก, ภาวะที่บำราศฉันทราคะ เป็นที่ละฉันทราคะในโลกได้ (นิพพาน) นี้คือทางออกในโลก …

“ภิกษุทั้งหลาย เราได้เที่ยวแสวงหาคุณของโลก  อันใดเป็นคุณในโลก อันนั้นเราได้ประสบแล้ว คุณในโลกมีเท่าใด คุณนั้น เราได้เห็นเป็นอย่างดีแล้วด้วยปัญญา ; เราได้เที่ยวแสวงหาโทษของโลก อันใดเป็นโทษในโลก อันนั้นเราได้ประสบแล้ว โทษในโลกมีเท่าใด โทษนั้น เราได้เห็นเป็นอย่างดีแล้วด้วยปัญญา ; เราได้เที่ยวแสวงหานิสสรณะของโลก อันใดเป็นนิสสรณะของโลก อันนั้นเราได้ประสบแล้ว นิสสรณะในโลกมีเท่าใด นิสสรณะนั้น เราได้เห็นเป็นอย่างดีแล้วด้วยปัญญา

“ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ประจักษ์ชัดตามเป็นจริง ซึ่งคุณของโลก โดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษ โดยความเป็นโทษ และซึ่งนิสสรณะ โดยความเป็นนิสสรณะ ตราบใด ตราบนั้น เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่าตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ …

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าคุณจักมิได้มีในโลกแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงติดใจในโลก แต่เพราะคุณในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงติดใจในโลก ; ถ้าโทษจักมิได้มีในโลกแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงเบื่อหน่ายในโลก แต่เพราะโทษในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายในโลก ; ถ้านิสสรณะจักมิได้มีในโลกแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงสลัดออกได้จากโลก แต่เพราะนิสสรณะในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงสลัดออกจากโลกได้

“ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายยังไม่รู้ประจักษ์ชัดตามเป็นจริง ซึ่งคุณของโลก โดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษ โดยความเป็นโทษ ซึ่งนิสสรณะ โดยความเป็นนิสสรณะ ตราบใด ตราบนั้น สัตว์ทั้งหลายก็ยังสลัดออก ไม่เกาะเกี่ยว หลุดพ้นจากโลก … เป็นอยู่ด้วยใจไร้เขตแดนไม่ได้, แต่เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายรู้ประจักษ์ชัดตามเป็นจริง ซึ่งคุณของโลก โดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษ โดยความเป็นโทษ และซึ่งนิสสรณะ โดยความเป็นนิสสรณะ เมื่อนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงจะสลัดออก ไม่เกาะเกี่ยว หลุดพ้นจากโลก … เป็นอยู่ด้วยจิตใจไร้เขตแดน

 “ภิกษุทั้งหลาย สมณะทั้งหลายก็ดี พราหมณ์ทั้งหลายก็ดี เหล่าหนึ่งเหล่าใด ยังไม่รู้ชัดซึ่งคุณของโลก โดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษ โดยความเป็นโทษ และซึ่งนิสสรณะโดยความเป็นนิสสรณะ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ก็ยังยอมรับไม่ได้ว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะทั้งหลาย ยังยอมรับไม่ได้ว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ทั้งหลาย และท่านเหล่านั้นก็ยังไม่ชื่อว่าประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอรรถแห่งความเป็นสมณะ หรือซึ่งอรรถแห่งความเป็นพราหมณ์” (ตติยปัณณาสก์ สัมโพธิวรรค)

“เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ ผู้ยังมิได้ตรัสรู้ เราได้เห็นเป็นอย่างดีด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงว่า กามทั้งหลายมีอัสสาทะน้อย มีทุกข์มาก มีความคับข้องมาก อาทีนวะในกามนี้ยิ่งนัก แต่เรานั้นยังมิได้ประสบปีติสุข ที่ไม่อาศัยกาม ไม่ต้องมีอกุศลธรรมทั้งหลาย หรือปีติสุขอื่นที่ประณีตยิ่งกว่านั้น เราก็ยังปฏิญาณมิได้ก่อนว่า จะเป็นผู้ไม่วกเวียนมาหากามทั้งหลาย

“แต่เมื่อใดเราได้มองเห็นอย่างดีด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่ากามทั้งหลายมีอัสสาทะน้อย และเรานั้นได้ประสบปีติสุข อันปลอดจากกาม ปลอดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย พร้อมทั้งปีติสุขอื่นที่ประณีตยิ่งกว่านั้น เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่วกเวียนมาหากามทั้งหลาย (จูฬทุกขักขันธสูตร)



๒.๓ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ

ในการปฏิบัติธรรม จะต้องเข้าใจความหมาย ความมุ่งหมาย ขอบเขตและตำแหน่งเชื่อมโยงกับหลักธรรมอื่น ของธรรมหรือหลักการนั้นๆ ความเข้าใจถูกต้องนี้ นำไปสู่การปฏิบัติถูกต้องที่เรียกว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ ซึ่งแปลว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฏิบัติธรรมถูกหลัก, ปฏิบัติธรรมย่อยคล้อยตามธรรมใหญ่ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ เป็นหลักการสำคัญมากของการศึกษาและปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา อาจเรียกได้ว่า เป็นตัวตัดสินว่า การปฏิบัติธรรม หรือการกระทำนั้นๆ จะสำเร็จผลบรรลุจุดมุ่งหมายได้หรือไม่ ถ้าไม่มีธรรมานุธรรมปฏิบัติ ก็อาจคลาดเคลื่อน ผิดพลาด เลื่อนลอย งมงาย ไร้ผล หรืออาจเกิดโทษขึ้นได้ ธรรมทุกข้อมีความมุ่งหมาย จะปฏิบัติอะไร ต้องถามได้ตอบได้ ว่าเพื่ออะไร

ในขั้นศีล ผู้ถือศีลโดยเข้าใจความมุ่งหมาย ก็ย่อมตระหนักถึงความหมาย และความมุ่งหมายของศีลนั้น และเข้าใจว่าสัมพันธ์กับส่วนอื่นในกระบวนการปฏิบัติอย่างไร รู้จักแยกว่า นี้เป็นศีล (ระเบียบกลาง) นี้เป็นวัตร (ธรรมเนียมปฏิบัติ) เป็นพรต (ข้อปฏิบัติเสริม) ท่านผู้นี้ควรถือข้อปฏิบัติเข้มงวดมากข้อนี้ด้วยเหตุผลดังนี้ๆ ท่านผู้นี้ไม่ควรถือข้อนี้ด้วยเหตุผลดังนี้



เมื่อมองในแง่ปรมัตถ์ ศีล สมาธิ และปัญญา ต่างก็มีจุดหมายสุดท้ายเพื่อนิพพานเหมือนกัน แต่เมื่อมองจำกัดเฉพาะตัว แต่ละอย่างมีขีดขั้นขอบเขตของตน ที่จะต้องไปเชื่อมต่อกับอย่างอื่นๆ จึงจะให้บรรลุจุดหมายสุดท้ายได้ ลำพังอย่างหนึ่งอย่างเดียวหาสำเร็จผลล่วงตลอดไม่ แต่จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดเสียทีเดียว ก็ไม่ได้ จึงมีหลักว่า ศีลเพื่อสมาธิ สมาธิเพื่อปัญญา ปัญญาเพื่อวิมุตติ

ดังพุทธพจน์ “ผู้ปฏิบัติธรรมถูกหลัก (ธรรมานุธรรมปฏิบัติ) เป็นบุคคลหาได้ยาก (พวกหนึ่ง) ในโลก” (สารันททสูตร)

“คนที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นผู้ประเสริฐสุดทั้งในหมู่มนุษย์และเทวดา” (อัคคัญสูตร)

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ เป็นผู้ประพฤติตามธรรม ผู้นั้นชื่อว่าสักการะ เคารพนับถือ บูชา พระตถาคต ด้วยบูชาอย่างยิ่ง” (มหาปรินิพพานสูตร)



๒.๒ บุพนิมิตแห่งมรรค

บุพนิมิตแห่งมรรค ปัจจัยแห่งการเกิดขึ้นของสัมมาทิฏฐิ รุ่งอรุณแห่งการศึกษาและปัญญา

สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์ประกอบสำคัญของมรรค ในฐานะที่เป็นขั้นเริ่มแรกและเป็นแกนกลางในระบบการศึกษาตามหลักการของพระพุทธศาสนา และเป็นธรรมที่ต้องพัฒนาให้บริสุทธิ์ ชัดเจน เป็นอิสระมากขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นการตรัสรู้ในที่สุด ถ้าไม่เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็ไม่มีมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าไม่ดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ก็แก้ปัญหาดับทุกข์ไม่สำเร็จ ดังพุทธพจน์ “ธรรมรถ ประกอบด้วยล้อ คือ ธรรม, หิริ เป็น ฝา, สติ เป็นเกราะกั้น, สัมมาทิฏฐิ นำหน้าเป็นสารถี บุคคลใดมียานเช่นนี้ เขาย่อมใช้ยานนั้น ขับไปถึงในสำนักแห่งนิพพาน” (อัจฉราสูตร)

ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ หรือ เรียกว่า บุพนิมิตแห่งมรรค มี ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ปรโตโฆสะ (องค์ประกอบภายนอก) : ที่สำคัญที่สุดคือกัลยาณมิตร ในระดับสูงสุดคือพระบรมศาสดา ครูอาจารย์ มิตรสหาย ตลอดจน หนังสือ สื่อการสอนต่างๆ เป็นฝ่ายศรัทธา ปัจจัยทางสังคมที่ดีงามนั้น เป็นทั้งเครื่องจุดชนวนความรู้จักคิดที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ และเป็นเครื่องประคับประคองคอยเสริมเติม และกระตุ้นโยนิโสมนสิการนั้นในระหว่างก้าวเดินคืบหน้าต่อๆไป
ประการที่ ๒ โยนิโสมนสิการ (องค์ประกอบภายใน) : ความคิดชนิดที่ทำให้เกิดการใช้ปัญญา ความคิดที่ทำให้ปัญญานั้นเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป แปลให้ง่ายคือ ความฉลาดคิด เป็นฝ่ายปัญญา เป็นตัวชี้ขาดในการบรรลุสัจธรรม

เมื่อธรรม ๒ ข้อนี้ เป็นปัจจัยให้สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้น จึงจัดว่าธรรม ๒ ข้อนี้เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเจริญขึ้นในกุศลธรรม ข้อตัดสินว่า ทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้สำเร็จ คือ ทำให้ผู้เสวนาเกิดมีสัมมาทิฏฐิ ถ้าตรงกันข้ามจากนี้ คือ ได้ผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร ทำให้ประสบปรโตโฆสะที่ผิดพลาด และใช้ความคิดผิดวิธี ไม่ฉลาดคิด เป็นอโยนิโสมนสิการ ก็จะได้รับผลตรงข้าม คือเป็นมิจฉาทิฏฐิไปได้

อย่างไรก็ตาม กัลยาณมิตรล้วนๆ ส่งผลได้ถึง โลกิยสัมมาทิฏฐิ (ขั้นศรัทธา) เท่านั้น ผู้ปฏิบัติต้องมี โยนิโสมนสิการ มารับช่วงทำงานต่อไป จึงจะสามารถนำไปสู่โลกุตรสัมมาทิฏฐิได้ กัลยาณมิตรที่ดี พึงช่วยจุดชนวนโยนิโสมนสิการในตัวผู้เรียนขึ้นด้วย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดฉันทะ และการศึกษาของเขาก็ก้าวหน้าต่อไปสู่ขั้นที่สูงขึ้นได้ด้วยตัวเขาเอง พึงสังเกตว่า แม้แต่ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ถูกถือว่าเป็นบาปหรือความชั่ว ถือว่าเป็นเพียงสิ่งที่จะต้องแก้ไขให้รู้แน่ชัดลงไปจนหมดสงสัย ด้วยวิธีการแห่งปัญญา และยังส่งเสริมให้ใช้ความคิดสอบสวนพิจารณาตรวจสอบอีกด้วย (เอหิปัสสิโก : ควรเรียกให้มาดู เชิญชวนให้มาชม ท้าทายต่อการตรวจสอบ)

พุทธพจน์ที่กล่าวถึงความสำคัญของปัญญา “เพราะเจริญ เพราะกระทำให้มาก ซึ่งอินทรีย์อย่างเดียว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลได้ อินทรีย์อย่างเดียวนั้น ก็คือ ปัญญินทรีย์, สำหรับอริยสาวกผู้มีปัญญา ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ อันเป็นของคล้อยตามปัญญานั้น ย่อมทรงตัวอยู่ได้” (ปุพพารามสูตร) (ถึงมีอินทรีย์อื่นๆ ถ้าขาดปัญญาเสียเพียงอย่างเดียว ก็ไม่อาจให้บรรลุผลสำเร็จนี้ได้ อีกทั้งอินทรีย์อื่น เมื่อไม่มีปัญญาเป็นแกนก็อาจเสื่อมไปได้)

“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเหล่าหนึ่งเหล่าใดก็ตาม ที่เป็นกุศล อยู่ในภาคกุศล อยู่ในฝ่ายกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีโยนิโสมนสิการเป็นมูลราก ประชุมลงในโยนิโสมนสิการ, โยนิโสมนสิการ เรียกว่า เป็นยอดของธรรมเหล่านั้น” (กุสลสูตร)

“สำหรับภิกษุผู้เสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาความเกษมจากโยคะ อันยอดเยี่ยม เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอย่างอื่นแม้สักอย่าง ที่มีประโยชน์มาก เหมือนโยนิโสมนสิการเลย ภิกษุผู้ใช้โยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้น” (เสขสูตร) (องค์ประกอบภายในที่มีประโยชน์มากที่สุดคือ โยนิโสมนสิการ ส่วนองค์ประกอบภายนอกที่มีประโยชน์มากที่สุดคือ กัลยาณมิตร)

“การฟังด้วยดี การสอบถามค้นคว้า เป็นอาหารของปัญญา” (อิฏฐสูตร)



๒.๑ มัชฌิมาปฏิปทา (มรรค ๘)

มัชฌิมาปฏิปทา : ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือ ทางสายกลาง

    เมื่อเรียนรู้เรื่องมัชเฌนธรรมเทศนามาตามลำดับ จนถึงรู้จักกระบวนการดับทุกข์ในข้อว่าด้วยนิโรธ (นิพพาน) เป็นอันได้เข้าใจหลักการดับทุกข์ หรือหลักการแก้ปัญหาแล้ว ต่อมาเป็นภาคปฏิบัติ อันกล่าวถึงวิธีการที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จตามหลักการหรือกระบวนการนั้นได้อย่างไร มัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยสัจข้อสุดท้าย คือ มรรค เป็นประมวลหลักความประพฤติปฏิบัติ หรือระบบจริยธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เป็นคำสอนภาคปฏิบัติที่จะช่วยให้การดำเนินสู่จุดหมายตามแนวทางที่ได้พิจารณาไว้แล้วนั้น เป็นผลสำเร็จขึ้นมาในชีวิตจริง พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ผ่านจากขั้นรู้ความจริงเกี่ยวกับกฎธรรมชาติ มาสู่ขั้นประยุกต์ความรู้นั้นจัดวางเป็นระบบวิธีประพฤติปฏิบัติของมนุษย์

ทางสายกลางนั้น มิใช่หมายถึงอยู่กึ่งกลางระหว่าง ที่สุดทั้ง ๒ ทาง หรือกึ่งกลางของทางหลายๆทาง แต่หมายถึง ความมีเป้าหมายที่แน่ชัด แล้วกระทำตรงจุด ตรงกลางเป้าหมาย พอเหมาะพอดีจะให้ผลสำเร็จตามเป้าหมายนั้น ไม่เขวออกไปเสีย การเพียรพยายามไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป บางคราวก็นิยมพูดกันว่า เป็นทางสายกลาง คำพูดนี้เข้าลักษณะทางสายกลางได้ในบางแง่ แต่ไม่ถูกแท้ทีเดียว บางคราวถ้าชัดเจนว่าเดินถูกทาง มั่นใจและพร้อมทุกอย่างแล้ว ท่านให้ระดมความเพียรสุดกำลังก็มี เรื่องนี้จึงไม่ควรสับสนกับทางสายกลาง

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา สมควรแท้เพื่อปรารภความเพียรในธรรมอันเรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ทำให้ตื้น เปิดเผย ประกาศ เป็นดุจผืนผ้าเก่าที่ตัดไว้แล้ว ด้วยความตั้งใจว่า หนัง เอ็น และกระดูกจงเหลืออยู่ เนื้อเลือดในสรีระของเราจงเหือดแห้งไปก็ตามที อิฐผลใดที่จะพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ยังไม่บรรลุอิฐผลนั้น จักไม่หยุดความเพียร ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลผู้เกียจคร้านเกลื่อนกล่นด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นทุกข์ และย่อมยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้เสื่อมเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลผู้ปรารภความเพียร ผู้สงัดจาธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นสุข และยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้บริบูรณ์ได้” (ทศพลสูตรที่ ๒)

อนึ่ง โดยเหตุที่ทางสายกลางเป็นทางที่มีจุดหมายแน่ชัด ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้จุดหมาย จึงจะเดินทางได้ เปรียบเหมือนเมื่อจะเดินทางก็ต้องรู้ว่าชัดตนจะไปไหนจึงจะไม่เขวออกนอกทิศทาง ด้วยเหตุนี้ ทางสายกลางจึงเริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ คือเริ่มต้นด้วยความเข้าใจปัญหาของตน และรู้จุดหมายที่จะเดินทางไป ทางสายกลางเป็นทางแห่ง ปัญญา ความรู้ ความมีเหตุผล และกล้าเผชิญหน้ากับความจริง

“ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคา ไหลหลั่ง ลาดเอน เบนไปสู่มหาสมุทร ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอยู่ ทำให้มากอยู่ ซึ่งมรรคามีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ ย่อมเป็นผู้โน้มน้อม ลาดเอน เบนไปสู่นิพพาน ฉันนั้น” (คังคาสมุทนินนสูตร)

อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนามิได้มองข้ามประโยชน์หรือจุดหมายขั้นรองลดหลั่นกันลงมา ที่มนุษย์จะพึงถึงตามระดับความพร้อมของตน โดยจัดแบ่งจุดหมายไว้เป็น ๓ ระดับ

ระดับที่ ๑ ทิฏฐธัมมิกัตถะ : ประโยชน์ปัจจุบัน เป็นจุดหมายขั้นต้น หมายถึงประโยชน์อย่างที่มองเห็นๆกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ทรัพย์สิน ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ความเพียร การดูแลรักษา กัลยาณมิตร และการเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้
ระดับที่ ๒ สัมปรายิกัตถะ : ประโยชน์เบื้องหน้า ประโยชน์ที่ลึกล้ำยิ่งกว่าที่จะมองเห็นกันอย่างผิวเผินภายนอก เกี่ยวด้วยชีวิตด้านใน เป็นจุดหมายขั้นสูงขึ้นไป ซึ่งเป็นหลักประกันชีวิตเมื่อละโลกนี้ไป หรือเป็นเครื่องประกันการได้คุณค่าที่สูงล้ำเลิศยิ่งขึ้นไป ได้แก่ ความเจริญงอกงามแห่งชีวิตจิตใจอันประกอบด้วยคุณธรรม ๕ ประการคือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา
ระดับที่ ๓ ปรมัตถะ : ประโยชน์อย่างยิ่ง หรือประโยชน์ที่เป็นสาระแท้จริงของชีวิต ได้แก่ การรู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จึงไม่ตกเป็นทาสของชีวิตและโลก มีจิตใจเป็นอิสระ โปร่งโล่ง ผ่องใส เบิกบาน สะอาดบริสุทธิ์สิ้นเชิง คือ นิพพาน

ตามคติของพระพุทธศาสนา บุคคลทุกคนควรดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมายอย่างน้อยถึงขั้นที่ ๒ จึงได้ชื่อว่าเป็น บัณฑิต เป็นผู้มีชีวิตไม่ว่างเปล่าไร้ค่า ถือเอาสาระในโลกนี้ไว้ได้



๑.๓๑ ประเด็นเรื่องจิตเดิมแท้

ส่วนแทรกเสริม : ประเด็นเรื่องจิตเดิมแท้ (จดบันทึกโดยย่อความจากเทปปาฐกกถาธรรมของ อ.เสถียร โพธินันทะ)

“ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส ปภัสสร แต่จิตนั้นแล เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา , ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส และจิตนั้นแล หลุดพ้นแล้วจากอุปกิเลสที่จรมา” (อัจฉราสังฆาตวรรค)

“… แต่ไม่ใช่ว่าทำให้จิตกลับไปสะอาดดังจิตเดิมแท้ในอดีต พุทธพจน์นี้ไม่ได้มีคำว่า จิตเดิมแท้ คำสอนทำนองว่าจิตเดิมแท้นั้นเป็นการปรุงแทรกขึ้นในนิกายมหาสังฆิกะ และนิกายเซนฝ่ายใต้ จากพุทธพจน์ จิตนี้ผ่องใส หมายความว่า จิตยังมีอวิชชาอยู่ (หรือมีอนุสัยนอนก้นอยู่) เมื่อกิเลสอย่างกลาง กับอย่างหยาบ (อุปกิเลส ๑๖) ยังไม่ถูกกระตุ้นให้ฟุ้งขึ้น ท่านก็ยังถือว่าผ่องใสในระดับหนึ่งเหมือนจิตของเด็กทารก แต่ไม่ใช่บริสุทธิ์จากกิเลสโดยสิ้นเชิง ยังมีกิเลสอย่างละเอียดนั้นตกตะกอนนอนก้นอยู่”

พิจารณาได้จาก ถ้าจิตเดิมแท้บริสุทธิ์ไม่มีอวิชชาอยู่แล้วโดยสิ้นเชิง กิเลสใดๆก็จะฟุ้งขึ้นมาอีกไม่ได้ การบรรลุธรรมจึงไม่ได้เป็นการละกิเลสเพื่อให้จิตกลับไปสู่จิตเดิมแท้ ความเห็นในทำนองที่ยังมีตัวผู้เสพเสวยนิพพานนั้นอยู่ ในลักษณะของจิตเดิมแท้ จัดเป็นสัสสตทิฏฐิ

ส่วนประเด็นที่ว่าเมื่อตายลง ขันธ์ ๕ ในชาตินี้ดับหมดตั้งแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วอะไรเป็นตัวไปเกิดชาติหน้า อธิบายว่า จุติจิต คือ จิตที่ดับไปในตอนสุดท้ายนั้น ส่งไปในลักษณะเหมือนพลังงาน ไปที่จิตดวงใหม่ คือ อุบัติจิต, ปฏิสนธิวิญญาณ เป็นการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไม่มีระหว่างคั่น เปรียบเทียบได้กับ การนำเทียนมาต่อไฟกัน เทียนเล่มแรกไส้เทียนจวนหมดแล้วต่อไฟเข้ากับเทียนเล่มที่สองแล้วเทียนเล่มแรกก็ดับไป ไฟของเทียนเล่มที่สองนั้นไม่ใช่ไฟของเทียนเล่มแรก แต่ก็มีปฐมเหตุมาจากเทียนเล่มแรกนั่นเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าการสืบต่อของเหตุปัจจัยนั้นไม่มีลักษณะของความเป็นอัตตาที่เที่ยงแท้แต่อย่างใด



๑.๓๐ ตัวอย่างกระบวนการของจิตแบบ “อติมหันตารมณ์”

ขณะจิตหนึ่งๆ ประกอบด้วยขณะเล็ก ๓ ขณะ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แปรไป ขณะจิตเล็ก ๓ ขณะนี้รวมเป็นขณะจิตใหญ่ขณะ ๑ ขณะจิตใหญ่เกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปธรรมจึงดับหน ๑ กล่าวคือ จิต เกิดดับเร็วกว่า รูป ๑๗ เท่า

ในที่นี้จะกล่าวถึงกระบวนการของจิตแบบที่เรียกว่า “อติมหันตารมณ์” ซึ่งเป็นจิตที่รับรู้ทางทวาร ๕ (ปัญจทวารวิถี) ประกอบด้วย ๑๗ ขณะจิตเล็ก ดังนี้

ขณะที่ ๑ อตีตภวังคจิต ภวังคจิตที่สืบต่อมา
ขณะที่ ๒ ภวังคจลนจิต ภวังคจิตเริ่มไหวตัวจากอารมณ์ใหม่ที่กระทบ
ขณะที่ ๓ ภวังคุปัจเฉทจิต จิตขาดจากกระแสภวังค์ของอารมณ์เก่า
ขณะที่ ๔ ปัญจทวาราวัชชนจิต จิตขึ้นสู่ปัญจทวาร, คำนึงถึงอารมณ์ใหม่ทางทวารนั้นๆ (ถ้าเป็นมโนทวารวิถี ก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต)
ขณะที่ ๕ ปัญจวิญญาณจิต จิตรับรู้อารมณ์ในปัญจทวาร คือ เป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ขณะที่ ๖ สัมปฏิจฉันนจิต จิตรับเอาอารมณ์จากปัญจวิญญาณ
ขณะที่ ๗ สันตีรณจิต จิตพิจารณาไต่สวนเปรียบเทียบอารมณ์
ขณะที่ ๘ โวฏฐัพพนจิต จิตตัดสินอารมณ์, กำหนดอารมณ์
ขณะที่ ๙-๑๕ ชวนจิต การแล่นไปในอารมณ์ เกิดดับอยู่อย่างนี้ติดต่อกัน ๗ ขณะ คือ รับรู้เสพทำต่ออารมณ์ เป็นช่วงที่ทำกรรม โดยจะเป็นกุศล อกุศล หรือกิริยา (เฉพาะพระอรหันต์) อยู่ใน ๗ ขณะนี้
ขณะที่ ๑๖-๑๗ ตทาลัมพนจิต จิตยึดหน่วงเอาอารมณ์ตามชวนะ เป็นการเกิดวิบากจิตที่ได้รับอารมณ์ต่อจากชวนะ เหมือนได้รับผลประมวลจากชวนะมาบันทึกเก็บไว้ก่อนตกภวังค์

ในรายละเอียด วิถีจิตมีความเป็นไปแตกต่างกันหลายแบบ เช่น ในปัญจทวารวิถีดังข้างต้นนั้น เป็นกรณีที่รับอารมณ์ซึ่งมีกำลังเด่นชัดมาก (เรียกว่า อติมหันตารมณ์) แต่ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏเข้ามามีกำลังไม่มากนัก (มหันตารมณ์) ภวังค์จะยังไม่ไหวตัวจนถึงภวังคจิตขณะที่ ๓ หรือขณะที่ ๔ จึงจะไหวตัวเป็นภวังคจลนะ ในกรณีอย่างนี้ ก็จะมีอตีตภวังค์ ๒ หรือ ๓ ขณะ และเมื่อขึ้นสู่วิถี ก็จะไปจบแค่ชวนะที่ ๗ ดับ แล้วก็ตกภวังค์ โดยไม่มีตทารมณ์เกิดขึ้น, ยิ่งกว่านั้น ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏมีกำลังน้อย (ปริตตารมณ์) ก็จะผ่านอดีตภวังค์ไปหลายขณะ (ตั้งแต่ ๔ ถึง ๙ ขณะ) จึงเป็นภวังคจลนะ และเมื่อขึ้นสู่วิถีแล้ว วิถีนั้นก็ไปสิ้นสุดลงแค่โวฏฐัพพนะไม่ทันเกิดชวนจิต ก็ตกภวังค์ไปเลย, และถ้าอารมณ์ที่ปรากฏนั้นอ่อนกำลังเกินไป (อติปริตตารมณ์) ก็จะผ่านอดีตภวังค์ไปมากหลายขณะ จนในที่สุดเกิดภวังคจลนะขึ้นมาได้ ๒ ขณะ ก็กลับเป็นภวังค์ตามเดิม คือภวังค์ไม่ขาด ไม่มีวิถีจิตเกิดขึ้นเลย เรียกว่าเป็นโมฆวาระ

ส่วนในมโนทวารวิถี เมื่อภวังค์ไหวตัว (ภวังคจลนะ) และภวังค์ขาด (ภวังคุปัจเฉท) ขึ้นสู่วิถี จะมีเพียงมโนทวาราวัชชนะ แล้วเกิดเป็นวิถีจิต ๗ ขณะต่อไปเลย ในกรณีที่อารมณ์ที่ปรากฏเด่นชัด (วิภูตารมณ์) ก็จะเกิดตทารมณ์ ๒ ขณะ แล้วตกภวังค์ แต่ถ้าอารมณ์อ่อนแรงไม่เด่นชัด (อวิภูตารมณ์) พอครบ ๗ ชวนะแล้ว ก็ตกภวังค์ไปเลย

กรณีอื่นๆยังมีอีก เช่น เมื่ออ่อนกำลังชวนจิตเกิดแค่ ๖ ขณะก็มี, ในเวลาจะสิ้นชีวิต ชวนจิตเกิดเพียง ๕ ขณะ, ในเวลาเป็นลม สลบ ง่วงจัด เมาสุรา หรือกรณีมีปสาทวัตถุอ่อนกำลังยิ่ง อย่างทารกในครรภ์หรือเพิ่งเกิด ชวนจิตเกิดเพียง ๔-๕ ขณะ เป็นต้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นวิถีจิตในกามภูมิทั้งสิ้น ยังมีวิถีจิตในภูมิที่สูงขึ้นไปอีก ในฝ่ายมโนทวารวิถี ซึ่งเป็นจิตที่เป็นสมาธิขั้นอัปปนา และมีความเป็นไปที่แตกต่างจากวิถีจิตในกามภูมิ เช่น ชวนะ ไม่จำกัดเพียงแค่ ๗ ขณะ เมื่อเข้าฌานแล้ว ตราบใดยังอยู่ในฌาน ก็มีชวนจิตเกิดดับสืบต่อกันไปตลอด นับจำนวนไม่ได้ โดยไม่ตกภวังค์เลย ถ้าเกิดเป็นภวังคจิตขึ้นเมื่อใด ก็คือออกจากฌาน ดังนี้เป็นต้น



๑.๒๙ ความเข้าใจเรื่องจิตตามหลักพระพุทธศาสนา

จิต หมายถึง ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, วิญญาณขันธ์ (ศัพท์คำว่า “อารมณ์” ในภาษาบาลีหมายถึง สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์) ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นมีการแบ่งจิตเป็น ๒ ระดับ คือ จิตระดับวิถี กับ จิตระดับภวังค์

วิถีจิต คือ จิตในวิถีแห่งการรับรู้เสพอารมณ์, จิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปในวิถี คือพ้นจากภวังค์ วิถีจิตเป็นจิตภาคปฏิบัติการ จะเป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม หรือกิริยา (เฉพาะพระอรหันต์) ปรุงแต่งในวิถีจิตนี้เอง

ภวังคจิต คือ จิตระดับภวังค์เป็นจิตที่เป็นองค์แห่งภพ (ภพ+องค์) เป็นระดับที่เราไม่รู้ตัว เรียกได้ว่าไร้สำนึก ภวังคจิตเป็นจิตส่วนวิบาก (คือส่วนที่เป็นผล)

ตามแนวพระอภิธรรมเรียกวิญญาณขันธ์ว่าจิต ซึ่งจะเกิดขึ้นลำพังโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ เพราะขึ้นชื่อว่าจิตแล้วไม่ว่างจากอารมณ์ (คือเมื่อมีจิตแล้วต้องมีสิ่งที่จิตเข้าไปรู้ หรืองานของจิตเกิดขึ้นมาด้วยเสมอ) ถ้าจิตไม่จับยึดอารมณ์ในปัจจุบันก็ต้องจับยึดเอาอารมณ์ในอดีต แม้แต่ขณะหลับสนิท จิตไม่ขึ้นสู่วิถี ภวังคจิตก็ยึดธรรมารมณ์ในอดีตเป็นอารมณ์ และถือว่าสรรพสังขารธรรมของจิตเกิดดับทุกขณะ สืบสันตติเรื่อยไปดุจดังสายน้ำในแม่น้ำซึ่งไหลไม่ขาดสาย จนกว่าจะถึงภาวะอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ภวังคจิตจึงดับสนิท

ประเด็นที่ควรเข้าใจเกี่ยวกับภวังคจิต คือ
ประสบการณ์ต่างๆ ที่เรารับรู้เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะถูกบันทึกไว้ในภวังคจิตทั้งหมด

กรรมของเราสั่งสมสืบมาในภวังคจิตนี้ จึงเป็นจิตที่เป็นองค์แห่งภพ (ทั้งนี้เป็นการ สั่งสม เคลื่อนย้าย เกิดดับ ไปในลักษณะของสังขตธรรม ไม่ได้เป็นอัตตา ยืนโรง ฝืนกระแสอยู่)

ภวังคจิต คือ มโน เป็นอายตนะที่ ๖ (มโนทวาร) อันเป็นวิบาก เป็นอัพยากฤต (ไม่ใช่กุศล หรืออกุศล) ซึ่งเป็นจิตตามสภาพหรือตามปกติของมัน ยังไม่ขึ้นสู่วิถีรับรู้อารมณ์ภายนอก

ภวังคจิตเป็นจิตส่วนหลักหรือส่วนใหญ่ของชีวิตเรา จะเรียกว่าเป็นจิตยืนพื้น จิตตสันดาน หรือปกติจิตก็ได้

ภวังคจิตทำงานเกิดดับอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสาย และนำพาชีวิตไป (แม้แต่ช่วงที่จิตวิถีดับไป เช่น หลับสนิท หรือ หมดสติ ภวังคจิตก็ยังทำงานอยู่)

ส่วนแทรกเสริม : ประเด็นที่ว่า เมื่อพระอรหันต์อนุปาทิเสสนิพพานแล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่ประจักษ์แก่ตนเองก็ไม่สามารถรู้ชัดได้ กล่าวตามตำราคือ เป็นนิพพานธาตุ ซึ่งนิพพานธาตุนี้อาจมีข้อสงสัยว่า คือ จิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ หรือ ไม่มีจิตซึ่งเสวยอารมณ์ใดๆเลย ปัญหาข้อนี้ในพระอภิธรรมแสดงไว้ชัดเจน

“ธรรมมีอารมณ์ เป็นไฉน? เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมมีอารมณ์

“ธรรมไม่มีอารมณ์ เป็นไฉน? รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ (นิพพาน) สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่มีอารมณ์

“ธรรมเป็นจิต เป็นไฉน? จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นจิต

“ธรรมไม่เป็นจิต เป็นไฉน? เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์, รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ (นิพพาน) สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่เป็นจิต” (มหันตรทุกะ)

    ในบทเดียวกันนี้ยังแสดงอีกว่า อสังขตธาตุ ไม่เป็นเจตสิก, วิปยุตจากจิต, ไม่เจือกับจิต, ไม่มีจิตเป็นสมุฏฐาน, ไม่เกิดร่วมกับจิต, ไม่เกิดคล้อยตามจิต (แต่จิตเอานิพพานเป็นอารมณ์ได้ เช่น การเข้าผลสมาบัติของพระอริยะบุคคล) เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับภาวะของนิโรธสมาบัติ ซึ่งเป็นภาวะที่เข้าใกล้นิพพานที่สุด ท่านก็ว่านอกจาก เวทนา สัญญา ดับแล้ว ขันธ์ส่วนที่เป็นนามธรรมที่เหลืออย่าง สังขาร วิญญาณ ก็เกิดน้อยเต็มที (ในวิสุทธิมรรคท่านใช้คำว่า “ไม่มีจิต” เลยทีเดียว)

อย่างไรก็ตาม ส่วนนี้เป็นเรื่องรายละเอียด ซึ่งการจะทำเข้าใจให้กระจ่าง สิ้นสงสัย ก็ต้องเกิดจากการได้ประจักษ์แจ้งแก่ตนเองไปตามลำดับ ท่าทีที่เหมาะสมของผู้ศึกษาอาจจะเพียงแต่พิจารณาลักษณะและภาวะของนิพพานตามตำราให้เข้าใจในหลักการสำคัญๆให้ชัดไว้ก็น่าจะเพียงพอในเบื้องต้น เมื่อคราวที่พระทัพพมัลลบุตรปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า “กายก็แตกทำลายแล้ว สัญญาก็ดับแล้ว เวทนาก็เย็นหมดแล้ว สังขารก็สงบแล้ว วิญญาณก็ถึงอัสดง

“เมื่อช่างตีโลหะด้วยฆ้อนเหล็ก ไฟติดโพลง ก็ดับหายๆ ไม่มีใครรู้ที่ไปฉันใด พระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นชอบแล้ว ข้ามห้วงน้ำที่มีกามเป็นเครื่องผูกพันไปได้ บรรลุถึงความสุขอันไม่หวั่นไหว ย่อมไม่มีคติที่จะบัญญัติได้ ฉันนั้น” (ทัพพะสูตร)



๑.๒๘ วิสุทธิ ๗

พุทธพจน์ที่แสดงหลักการปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพาน มักเป็นไปในรูปของคำสอนให้พิจารณาสภาวธรรม อย่างที่ได้ยกมาอ้างไว้แล้วข้างต้น หากจะแสดงลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติ ที่จะเรียกได้ว่าเป็นระบบ ก็เป็นเพียงการแสดงขั้นตอนอย่างกว้างๆ จนถึงยุคของพระอรรถกถาจารย์ ท่านจึงได้นำเอาแบบแผนและรายละเอียดบางส่วนของขั้นตอนการปฏิบัติเหล่านั้น มาเรียบเรียงบันทึกไว้ในคัมภีร์ ดังตัวอย่างที่เด่นคือ ใน🔎วิสุทธิมัคค์ ซึ่งได้แสดงลำดับขั้นตอนและแบบแผนการฝึกทั้งด้านภายนอกและความเจริญก้าวหน้าภายใน โดยเค้าโครงทั่วไปท่านถือตามหลักการของไตรสิกขา แล้วขยายออกตามแนววิสุทธิ ๗ ซึ่งในชั้นเดิมมีแสดงเพียงลำดับหัวข้อ

วิสุทธิ ๗ คือ ธรรมที่ชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เป็นขั้นๆไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดมุ่งหมาย คือ นิพพาน จำแนกเป็น ๗ ชั้น (วิสุทธิ แปลว่า ความบริสุทธิ์หมดจด)


ระดับศีล

๑. สีลวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งศีล คือ รักษาศีลตามภูมิขั้นของตนให้บริสุทธิ์และให้เป็นไปเพื่อสมาธิ

 ระดับสมาธิ

๒. จิตตวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งจิต คือ ฝึกอบรมจิตจนบังเกิดสมาธิพอเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา ตามคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ว่าได้แก่อุปจารสมาธิขึ้นไป (ในหนังสือพุทธธรรมฯ ท่านว่าวิปัสสนาสมาธิ คือ สมาธิระดับขนิกสมาธิถึงอุปจารสมาธิ การเจริญวิปัสสนาถ้าไม่ได้ใช้ฌานเป็นบาท โดยปกติจะมีสมาธิอยู่ในระดับนี้, ขนิกสมาธิ แปลว่า สมาธิชั่วขณะหรือสมาธิขั้นต้น ซึ่งการเล่าเรียนหรือทำงานทั่วไปก็สามารถเกิดขึ้นได้เอง ใช้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาได้)

ระดับปัญญา

🔅 ญาตปริญญา

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งทิฏฐิ คือ ความรู้เข้าใจมองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง เป็นเหตุข่มความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลเสียได้ เริ่มดำรงในภูมิแห่งความไม่หลงผิด กล่าวคือ กำหนดได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม เช่น รูป แสง สี เป็นรูปธรรม จักขุวิญญาณหรือการเห็น เป็นนามธรรม เป็นต้น (รูปธรรม หมายถึง สิ่งที่มีรูป สิ่งที่เป็นรูป, นามธรรม หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูป คือรู้ไม่ได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ด้วยใจ) (จัดเป็นขั้น🔎กำหนดทุกขสัจจ์)

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ : ความบริสุทธิ์ขั้นที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้ (ว่านามธรรมและรูปธรรมล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย และเป็นปัจจัยแก่กันและกัน อาศัยกัน) จึงสิ้นสงสัยในกาลทั้ง ๓ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) (จัดเป็นขั้น🔎กำหนดสมุทัยสัจจ์)

🔅 ตีรณปริญญา 

๕. มัคคามัคญาณทัสสนวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่าเป็นทางหรือมิใช่ทาง คือ ยกเอารูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นมาพิจารณาเป็นหมวดๆ ตามแนวไตรลักษณ์ทีละอย่างๆ เช่น พิจารณารูป โดยอนิจจลักษณะ โดยทุกขลักษณะ โดยอนัตตลักษณะ แล้วพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (โดยอนิจจลักษณะ โดยทุกขลักษณะ โดย🔎อนัตตลักษณะ) ตามลำดับ จนพบว่าความหลุดพ้นคือทางประเสริฐสุด

ญาณข้อนี้เรียกว่า ดรุณวิปัสสนา (วิปัสสนาญาณอ่อนๆ) แสดงถึงการเป็นผู้เริ่มเห็นแจ้ง ในช่วงนี้จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า 🔎วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ ขึ้นมา ชวนให้หลงผิดว่าบรรลุมรรคผลแล้ว ถ้าหลงไปตามนั้นก็เป็นอันพลาดจากทาง เป็นอันปฏิบัติผิดไป แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะ ก็จะกำหนดแยกได้ว่า วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ นั้นไม่ใช่ทาง แล้วกำหนด วิปัสสนาญาณที่ดำเนินถูกทางพ้นไปจากอุปกิเลสแล้วว่า นั่นแหละเป็นทางแท้จริง เมื่อความรู้นี้เกิดขึ้น ก็เรียกว่า เป็นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ (จัดเป็นขั้น🔎กำหนดมรรคสัจจ์)

🔅 ปหานปริญญา

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ : ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน ได้แก่ วิปัสสนาญาณ ๙ คือพ้นจากวิปัสสนูปกิเลสเป็นต้นไปจนสุดทางแห่งความเป็นปุถุชน

วิปัสสนาญาณ ๙ มีดังนี้

    ๑. ญาณเห็นความเกิดดับแห่งขันธ์ ๕
    ๒. ญาณเห็นความดับสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับชัดเจนถี่เข้า ก็จะคำนึงเห็นเด่นชัดในส่วนความดับที่เป็นจุดจบสิ้นของสิ่งทั้งหลาย
    ๓. ญาณมองเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว ไม่ปลอดภัย
    ๔. ญาณอันคำนึงเห็นโทษของสังขาร
    ๕. ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย (นิพพิทาญาณ)
    ๖. ญาณหยั่งรู้ที่ทำให้ต้องการจะพ้นไปเสีย
    ๗. ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อให้เห็นทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป
    ๘. ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารทั้งหลายต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามเป็นจริงว่า เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลาง ไม่ขัดใจติดใจ ในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นก็มองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงโน้มน้อมที่จะมุ่งแล่นไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารทั้งหลาย
    ๙. ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณก็โน้มน้อมแล่นมุ่งตรงสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยตามต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ (วิปัสสนาญาณ ๙ นี้ตรงกับข้อ ๔-๑๒ ใน 
🔎ญาณ ๑๖)

เมื่อสำเร็จญาณข้อ ๙ แล้ว ก็จะเกิด โคตรภูญาณ ทำนิพพานอันปราศจากสังขารให้เป็นอารมณ์ เป็นการคำนึงถึงครั้งแรก (ปฐมทัศน์) ในอารมณ์พระนิพพาน แล้วจึงเกิดมรรคญาณ ก้าวขึ้นจากภูมิของปุถุชนสำเร็จความเป็นอริยบุคคล

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ (มรรคญาณ) : ความหมดจดแห่งญาณทัศนะตามลำดับขั้นของความเป็นอริยบุคคล ความเป็นอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นโดยวิสุทธิข้อนี้ เป็นอันจบกระบวนการบรรลุมรรคผลนิพพานในขั้นหนึ่งๆ



วิกิ

ผลการค้นหา