แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทที่ ๓ ไตรลักษณ์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทที่ ๓ ไตรลักษณ์ แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธ

ข. คุณค่าที่ ๒: คุณค่าด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท

ในด้านการทำกิจ คือ ปฏิบัติหน้าที่การงานหรือทำสิ่งที่ควรทำนั้น เป็นธรรมดาที่ว่า ปุถุชนทั้งหลายมักมีความโน้มเอียงดังต่อไปนี้

๑. เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นเข้าแล้ว มีภัยมาถึงตัว เกิดความจำเป็นขึ้นเฉพาะหน้า จึงหันมาเอาใจใส่ปัญหาหรือกิจที่จะต้องทำ แล้วดิ้นรนหรือบางทีถึงกับตะลีตะลานที่จะพยายามแก้ไขปัญหา หรือทำการนั้นๆ ซึ่งบางคราวก็แก้ไขหรือทำได้สำเร็จ แต่บางทีก็ไม่ทันการ ต้องประสบความสูญเสีย หรือถึงกับพินาศย่อยยับ แม้ถึงจะแก้ไขหรือทำได้เสร็จ ก็ต้องเดือดร้อนกระวนกระวายมาก และยากที่จะสำเร็จอย่างเรียบร้อยด้วยดี อาจเป็นอย่างที่เรียกว่า สำเร็จอย่างยับเยิน

ข. ยามปกติอยู่สบาย หรือแก้ไขปัญหาลุล่วงไปได้ ทำกิจเฉพาะหน้าเสร็จไปที่หนึ่งแล้ว ก็นอนกายนอนใจ เฝ้าแสวงหาแส่เสพแต่ความสุขสำราญ หลงใหลมัวเมาในความปรนเปรอบำรุงบำเรอ หรือไม่ก็เพลิดเพลินติดในความปกติสุขอยู่สบายไปชั่ววันๆ ไม่คิดคำนึงที่จะป้องกันความเสื่อมและภัยที่อาจมาถึงในวันข้างหน้า มีกิจที่ควรทำ ถ้ายังไม่จวนตัว ก็ผิดเพี้ยนรอเวลาไว้ก่อน พอทุกข์บีบคั้น ภัยถึงตัว จำเป็นเข้า ก็ตะลีตะลานแก้ไข พอผ่านพ้นไปได้ ก็ลงนอนเสพสุขต่อไปอีก ปฏิบัติวนเวียนอยู่ในวงจรเช่นนี้ จนกว่าจะถึงวันหนึ่งที่ไม่อาจแก้ไขได้ทันการ หรือแก้ไขสำเร็จอย่างยับเยินเกิน กว่าจะดำรงอยู่ต่อไปได้ ก็เป็นอันจบสิ้นสภาพความเป็นอยู่

การดำเนินชีวิตอย่างที่กล่าวมานี้ เรียกว่าความประมาท ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า ความละเลย หลงเพลิน ปล่อยตัว ทอดทิ้งกิจ ไม่ใส่ใจ ไม่เห็นสำคัญ ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย ผัดเพี้ยน เรื่อยเปื่อย เฉื่อยชา มักพ่วงมาด้วยความเกียจคร้าน ขาดความเพียรพยายาม ความเป็นอยู่ หรือการดำเนินชีวิต ที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมานั้น เรียกว่า ความไม่ประมาท หรือ อัปปมาท แปลง่ายๆ ว่า การอยู่ไม่ขาดสติ หรือการกระทำจริงจังต่อเนื่องไม่ทอดทิ้ง หมายถึงความเป็นอยู่อย่างพากเพียร โดยมีสติเป็นเครื่องเร้าเตือนและควบคุม คือสำนึกอยู่เสมอถึงสิ่งที่จะต้องเว้นและสิ่งที่จะต้องทำ ใส่ใจเว้นการอันพึงเว้นและทำการอันพึงทำให้สำเร็จ มองเห็นความสำคัญของกาลเวลา กิจกรรม และเรื่องราวทุกอย่าง แม้ที่เล็กน้อย ไม่ยอมถลำพลาดไปในทางเสื่อมเสีย และไม่ทอดทิ้งโอกาสสำหรับความดีงาม ความเจริญ เร่งรุด ก้าวหน้าไปในทางที่ดำเนินสู่จุดหมาย หรือในทางแห่งความดีงาม ไม่หยุดยั้ง และคิดเตรียมการโดยรอบคอบ

กล่าวได้ว่า ลักษณะสำคัญของอัปปมาท หรือความไม่ประมาทนี้มี ๓ อย่าง คือ

ก) เห็นคุณค่าและความสำคัญของเวลาที่ผ่านไปทุกๆ ขณะ ไม่ปล่อยกาละและโอกาสให้ผ่านไปเสียเปล่าใช้เวลาอย่างมีคุณค่า ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มควร

ข) ไม่มัวเมา ไม่หลงระเริง ไม่ละเลิงเหลิงไป และไม่เลื่อนลอย ระมัดระวังควบคุมตนอยู่เสมอ ที่จะไม่ให้เผลอพลาดลงไปในทางผิด ไม่ปล่อยตัวให้ถลำลงไปในทางที่เสื่อมเสีย หรือที่จะทำกรรมชั่ว

ค) เร่งสร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุข กระตือรือร้นขวนขวายในการทำกิจหน้าที่ ไม่ละเลย แต่ขะมักเขม้นในการพัฒนาจิตปัญญา และทำการอย่างรอบคอบ (ข้อนี้เรียกว่า ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย)

ความรู้ในไตรลักษณ์ เป็นตัวเร่งโดยตรงสำหรับความไม่ประมาท เพราะเมื่อรู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่คงตัว จะต้องแตกสลายกลับกลายไป ไม่รอเวลาและไม่ฟังใคร เป็นไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จำเป็นอยู่เองว่า วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องย่อมมีอยู่อย่างเดียว คือ พึ่งเร่งรัดทำการตามเหตุปัจจัย หมายความว่า จะต้องเร่งขวนขวายป้องกันความเสื่อมที่ยังไม่เกิดขึ้น แก้ไขปัญหาหรือความเสียหายผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว รักษาสิ่งดีที่มีให้คงอยู่ และทำสิ่งที่ดีเพื่อให้เจริญงอกงามต่อไป ทั้งนี้ด้วยการศึกษาเหตุปัจจัยและทำการตรงตัวเหตุปัจจัยนั้น เช่น รู้อยู่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง จะเสื่อมสิ้นสูญสลายไปตามเหตุปัจจัย เมื่อเราต้องการความดีงามความเจริญ เราก็ต้องเพียรพยายามทำกรรมทั้งหลาย อันจะเป็นเหตุให้สิ่งดีงามนั้นเกิดมีขึ้น เจริญงอกงาม ดำรงอยู่ได้นานที่สุด และบังเกิดประโยชน์แก่คนมากที่สุด โดยนัยนี้จึงเรียกว่า คุณค่าด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท

เมื่อพิจารณาให้ละเอียด จะเห็นได้ว่า ตัวแกนหรือฐานแท้จริง (ตัวบีบหรือแรงดัน) ที่ทำให้เกิดความเร่งในการทำกิจนั้น ก็คือ ทุกข์ แต่ความสัมพันธ์ของคนกับความทุกข์ จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ท่าทีต่อการทำกิจแตกต่างกันออกไป เป็นความประมาท ความไม่ประมาท และความไม่ประมาทที่มีคุณภาพอันแผกกัน การแยกแยะในเรื่องนี้จะช่วยให้มองเห็นลักษณะและคุณค่าของความไม่ประมาทที่ถูกต้องอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอนำมากล่าว ณ ที่นี้ด้วย

ทุกข์เป็นฐานให้เกิดแรงเร่งในการทำกิจ ๓ แบบ คือ

๑. ทำการเพราะถูกทุกข์บีบ ได้แก่ พวกที่หลงใหลเพลิดเพลินอยู่ในความสุขสบาย ปล่อยปละละเลยกิจ เพลิดเพลินมัวเมา ไม่คิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย รอจนกระทั่งภัยมาถึงตัว เกิดความเดือดร้อนและจำเป็นขึ้นแล้ว จึงรีบทำการ รีบแก้ไข หรือปรับปรุงเฉพาะหน้า ซึ่งทันการบ้าง ไม่ทันการบ้างอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น

๒. ทำการเพราะกลัวความทุกข์ ได้แก่ พวกที่หวาดระแวง หวั่นต่อภัยอันตราย ความทุกข์ ความเดือดร้อนที่ยังไม่มาถึง จึงเร่งรีบแก้ไขปรับปรุงและทำการต่างๆ ที่เห็นว่าควรทำ เพื่อป้องกันภัยหรือความทุกข์ คือความเสื่อม ความพินาศ เป็นต้น และสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้ามั่นคง ซึ่งการที่ทำก็มักสำเร็จได้ผลดี แต่เป็นไปด้วยจิตใจที่มีความเร่าร้อนกระวนกระวาย พูดง่ายๆ ว่ากลัวความทุกข์ แล้วก็ทุกข์เพราะความกลัว และทำการเพราะถูกความกลัวบีบอีกต่อหนึ่ง

๓. ทำการด้วยความรู้ทุกข์ ได้แก่ พวกที่คิดจัดการกับทุกข์ที่อาจเกิดมีข้างหน้าด้วยปัญญา มิใช่หวาดผวาด้วยความหวั่นกลัว กล่าวคือ รู้เท่าทันสภาวะที่จะต้องเป็นไปตามไตรลักษณ์ เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงและความทุกข์หรือปัญหาที่อาจเกิดมีในภายหน้า จึงใช้ปัญญาศึกษาพิจารณาเหตุปัจจัยในกระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลง แล้วอาศัยความรู้ในวิถีแห่งอนิจจตา และโอกาสที่อำนวยโดยอนัตตา กำหนดเอาทางเลือกแห่งความเปลี่ยนแปลงที่พึงปรารถนาหรือที่ดีกว่า พร้อมทั้งใช้ความรู้ในประสบการณ์ส่วนอดีตเป็นบทเรียนแล้วเร่งรัดปรับปรุงแก้ไข และทำการต่างๆ เพื่อตัดทางมิให้ทุกข์เข้ามาครอบงำตน หรือบรรเทาเสีย ตลอดจนเบนให้เป็นไปในทางที่ดีงามเจริญก้าวหน้า เท่าที่เป็นไปได้ ทำให้สามารถป้องกันทุกข์ หรือทำตนให้ปลอดทุกข์ข้างหน้าเท่าที่อยู่ในวิสัยด้วย และทั้งปลอดโปร่งผ่องใส ไม่มีทุกข์ ไม่หวาดหวั่นกระวนกระวายในขณะกำลังทำการด้วย

แบบที่ ๑. ก็คือ ความเป็นอยู่ด้วยความประมาทอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น
แบบที่ ๒ และแบบที่ ๓. คือความเป็นอยู่โดยไม่ประมาท หรือเป็นอยู่ด้วยอัปปมาท แต่ความไม่ประมาทในแบบที่ ๒. เป็นอัปปมาทที่อาศัยกิเลส จึงเจือปนด้วยความทุกข์ ส่วนความไม่ประมาทในแบบที่ ๓. เป็นอัปปมาทที่เกิดพร้อมด้วยปัญญา จึงปราศจากปมปัญหา ไม่มีความทุกข์ในจิตใจ เป็นความไม่ประมาทที่ถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งพระอรหันต์เท่านั้นจะบำเพ็ญได้อย่างเต็มความหมาย ส่วนปุถุชนจะบำเพ็ญความไม่ประมาทได้ดีแค่ไหน ก็สุดแต่ว่าจะใช้ปัญญา (ตามแบบที่ ๓.) ได้มาก และถูกบีบคั้นด้วยความกลัวและความเร่าร้อนกระวนกระวาย (ตามแบบที่ ๒.) น้อยลงเพียงใด ดังได้ยกหลักฐานมาให้ดูแล้วในตอนท้าย🔎คำอธิบายของคุณค่าข้อที่ ๑. ว่า ไม่เฉพาะแต่ปุถุชนเท่านั้น แม้ถึงพระอริยบุคคลชั้นต้นๆ ก็ยังอาจเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาทได้ เหตุที่ทำให้ประมาทก็คือ ความพอใจ อิ่ม หรือสันโดษด้วยคุณวิเศษบางอย่างบางขั้นที่ตนได้บรรลุแล้ว ซึ่งเป็นความติดเพลินในความสุขสบายและความปล่อยปละละเลยทอดทิ้งกิจ อย่างหนึ่ง ๆทั้งนี้ กินความรวมถึงการที่มองเห็นไตรลักษณ์ รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงเป็นต้นแล้ว ปลงใจได้ต่อสังขารทั้งหลาย หายเศร้าโศก ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อนคับแค้นใจเพราะความสูญเสียเสื่อมสลายพลัดพรากเป็นต้น

เมื่อสุขสบายภายในหรือปรับภายในได้แล้ว ก็เลยหยุดนิ่ง ไม่สนใจ ไม่ขวนขวาย ไม่เพียรพยายามแก้ไขปัญหาที่ค้างคาอยู่ภายนอก ไม่ทำกิจที่ควรทำเพื่อป้องกันหรือปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ปล่อยปละละเลยสิ่งที่เป็นปัญหาให้ดำเนินสภาพของมันต่อไปหรือยิ่งขึ้นไป กรณีอย่างนี้ เรียกว่าการได้คุณค่าข้อที่ ๑. คือคุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระของจิต (ระดับต้นๆ) นั้น เป็นปัจจัยให้เกิดความประมาท เพราะผู้นั้นปฏิบัติผิด คือปฏิบัติเพียงด้านเดียวไม่ครบถ้วน ขาดการปฏิบัติเพื่อให้ได้คุณค่าข้อที่ ๒. ด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาทไปเสีย ซึ่งจำเป็นจะต้องแก้ไขโดยให้ตระหนักในคุณค่าทั้งสองด้าน แล้วปฏิบัติให้คุณค่าทั้งสองอย่างนั้นเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์

ปัจจัยปลีกย่อยอย่างหนึ่งที่ทำให้บางคนกลายเป็นผู้ประมาทไปโดยไม่สมควร ก็คือ “ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไตรลักษณ์เหมือนกัน และเป็นเรื่องที่พึ่งเข้าใจให้ถูกให้ชัดว่าตามหลัก ความรู้เท่าทันสังขารด้วยมองเห็นไตรลักษณ์ ทำให้คลายหรือถอนความยึดติดถือมั่นในสังขารทั้งหลายเสียได้ ความไม่ยึดติดถือมั่นนี้ เป็นหัวใจของความหลุดพ้นเป็นอิสระและความปลอดพ้นจากทุกข์ซึ่งจะทำให้เข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาในการปฏิบัติที่ถูกต้อง ความไม่ยึดติดถือมั่นจะเกิดขึ้นเอง เป็นผลจากการมองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงเมื่อมองเห็นไตรลักษณ์ชัดเจนแล้ว แต่ความผิดเพี้ยนหรือภาวะครึ่งๆ กลางๆ เกิดขึ้นในกรณีที่บางคนยังไม่ได้รู้เห็นความจริงด้วยความประจักษ์แจ้งไตรลักษณ์อย่างนั้น เป็นแต่ได้ยินได้ฟังมาและคิดเห็นไปตามเหตุผลพร้อมทั้งถือตามไปด้วยสัญญาว่าจะต้องไม่ยึดติดถือมั่นสิ่งใดๆ ในโลก จึงจะหลุดพ้นจากทุกข์คนที่ถือไปตามสัญญาอย่างที่ว่า เมื่อคิดคำนึงไปเช่นนั้น จึงพยายามแสดงทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่นว่าตนไม่ยึดติดถือมั่นต่อสิ่งทั้งหลาย หรือหมดกิเลสแล้ว โดยอาการที่กลายเป็นการไม่เอาเรื่องเอาราวอะไร ทำให้เกิดการกระทำและการไม่กระทำที่เกินพอดี และเกินเลยความสมควรตามความเป็นจริง การเพิกเฉยละเลยเรื่องที่ควรเอาใจใส่และการไม่กระทำกิจที่ควรทำโดยไม่สมเหตุผล อาการละเลยการกระทำในลักษณะนี้ เรียกว่า ความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น เป็นความไม่ยึดมั่นอย่างเทียม ไม่ใช่ความไม่ยึดมั่นที่ถูกต้องแท้จริง ถ้านำเอาการกระทำและการไม่กระทำหลายๆ แบบ ที่มีแรงจูงใจเบื้องหลังแตกต่างกัน มาวางเทียบกันดู ก็อาจจะทำให้มองเห็นลักษณะของการกระทำและการไม่กระทำที่เกิดจากความไม่ประมาท ชัดเจนมากขึ้น จึงขอลองนำการกระทำและการไม่กระทำสัก ๔ แบบมาวางให้พิจารณา ดังต่อไปนี้

๑) คนพวกหนึ่ง ถ้าไม่ได้ผลประโยชน์เพื่อตน หรือถ้าทำจะเสียผลประโยชน์ของตน ก็ไม่ทำ จะทำต่อเมื่อตนจะได้ผลประโยชน์ หรือทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน
๒) คนพวกหนึ่ง ไม่ทำ เพราะยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น คือจะแสดงว่าตนไม่มีกิเลส จึงไม่ทำ
๓) คนพวกหนึ่ง ไม่ทำ เพราะมีความประมาท ติดเพลินในความสุขสบาย เนื่องจากไม่ถูกทุกข์บีบคั้นหรือเนื่องจากปรับใจได้แล้ว สบายใจ พอใจแล้ว ก็จึงวางใจนอนใจเสีย
๔) คนพวกหนึ่ง ทำหรือไม่ทำ แล้วแต่ความสมควรแห่งเหตุผล เมื่อรู้ว่าควรทำ แม้ว่าทำแล้วตนจะไม่ได้ผลประโยชน์ ก็ทำ เมื่อรู้ว่าไม่ควรทำ แม้ว่าทำแล้วตนจะได้ผลประโยชน์ ก็ไม่ทำ และทำในทันทีที่ควรกระทำ ไม่ละเลย ไม่ผิดเพี้ยนรีรอ

การกระทำในข้อ ๔) เป็นลักษณะของการกระทำด้วยความไม่ประมาทที่ถูกต้องแท้จริง ซึ่งเป็นไปพร้อมด้วยสติและปัญญาที่บริสุทธิ์เป็นอิสระ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่แนะนำให้ทำกิจด้วยความไม่ประมาทนั้น แบ่งตามประเภทของกิจได้ ๒ อย่างคือ

๑.เกี่ยวกับกิจด้านใน ได้แก่ คำสอนที่แนะนำกระตุ้นเตือนให้เร่งพัฒนาจิตใจของตน อย่างที่เรียกว่าทำความเพียรทางจิต เพื่อบรรลุภูมิธรรมที่สูงยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งก็คือ การเข้าถึงคุณค่าด้านการทำจิตของไตรลักษณ์ หรือ ความสามารถทำใจของตนให้หลุดพ้นเป็นอิสระได้มากขึ้นไปโดยลำดับนั่นเอง กิจด้านนี้อาจเรียกง่ายๆ ว่าการปรับปรุงภายใน หรือเรียกให้สั้นว่า ปรับภายใน

๒. เกี่ยวกับกิจด้านภายนอก ได้แก่ คำสอนที่แนะนำเร้าเตือนให้เร่งพัฒนาชีวิตด้านนอก เกี่ยวกับความเป็นอยู่ประจำวัน การดำรงตนในโลก ให้กระตือรือร้นขยันหมั่นเพียร ในการประกอบอาชีพการงาน การทำหน้าที่ของตน การแก้ไขป้องกันปัญหาต่างๆ การสร้างสรรค์สิ่งดีงาม และการบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม กิจด้านนี้อาจเรียกง่ายๆ ว่า การปรับปรุงภายนอก หรือเรียกให้สั้นว่า ปรับภายนอกในด้านกาลเวลา คำสอนเกี่ยวกับความไม่ประมาท ย่อมเกี่ยวข้องกับกาลทั้ง ๓ คือ

    ๑) ส่วนอดีต ให้พิจารณาเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ หรือประสบการณ์ที่ล่วงแล้ว แล้วถือเอามาเป็นบทเรียน เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้เร่งแก้ไขปรับปรุงและเพียรพยายามทำกิจต่อไป
    ๒) ส่วนปัจจุบัน ให้เร่งทำกิจของตนๆ อย่างจริงจัง ไม่ให้รีรอ ไม่ให้ผิดเพี้ยน ให้ใช้เวลาทุกขณะทุกโอกาสให้เป็นประโยชน์
    ๓) ส่วนอนาคต ให้คิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อไปภายหน้า ทั้งในทางดีและในทางร้ายโดยใช้ปัญญาพิจารณาความเป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วเตรียมการป้องกันอนาคตภัย และกำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความเป็นไปในทางที่ดีงามหรือเจริญมั่นคง

ถ้าเปรียบเทียบกับคำสอนเกี่ยวกับคุณค่าด้านการท่าจิต คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับคุณค่าด้านการทำกิจ แสดงเนื้อหาและรายละเอียดน้อยกว่า กระจายอยู่ห่างๆ และมักเป็นคำสอนสั้นๆ ทั้งนี้ เพราะกิจกรรมของมนุษย์ย่อมแตกต่างกันไปหลากหลายตามกาลเทศะ มิใช่เรื่องยืนตัวที่จะพูดไว้แน่นอนเป็นอย่างเดียว จึงแสดงแต่หลักการหรือให้คติไว้เท่านั้นก็เพียงพอ ต่างจากการทำจิตที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ซึ่งตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์ สภาวะด้านจิตก็เหมือนๆ กัน อีกทั้งเป็นเรื่องประณีตล้ำลึก เข้าใจได้ยากปฏิบัติได้ยาก และเป็นส่วนพิเศษจำเพาะของคำสอน จึงแสดงรายละเอียดเท่าที่เป็นไปได้ไว้ให้แล้วเสียทีเดียว

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            ข. คุณค่าที่ ๒: คุณค่าด้านการทำกิจ หรือคุณค่าเพื่อความไม่ประมาท
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา

                ๓. อนัตตตา

วันอาทิตย์

ก. คุณค่าที่ ๑: คุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ

คุณค่าทางจริยธรรม

ในด้านคุณค่าทางจริยธรรม คำสอนต่างๆ มักอ้างอิงถึงอนิจจตา คือความไม่เที่ยง มากกว่าลักษณะอื่นอีกสองอย่าง ทั้งนี้เพราะความไม่เที่ยง เป็นภาวะที่ปรากฎชัด มองเห็นง่าย ส่วนทุกขตาเป็นภาวะที่มองเห็นยากปานกลาง จัดเป็นลำดับที่สอง และอนัตตตา เป็นภาวะที่ประณีต มองเห็นได้ยากที่สุด จัดเป็นลำดับสุดท้าย อีกประการหนึ่ง ท่านกล่าวถึงอนิจจตาที่มองเห็นได้ง่าย เพื่อเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะนำเข้าสู่ความเข้าใจในทุกขตาและอนัตตตาต่อไป

พุทธพจน์สองแห่งต่อไปนี้ ซึ่งก็แสดงอนิจจตาเป็นข้อเด่นนำไว้ อาจถือได้ว่าเป็นตัวแทนที่ชี้ถึงคุณค่าทางจริยธรรม ๒ ประการ ของไตรลักษณ์ คือ

๑. “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป, ความสงบวางแห่งสังขารเหล่านั้น เป็นสุข” 
๒. “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” (หรือจงบำเพ็ญกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท)

เบื้องต้น ขอให้เข้าใจไว้ก่อนว่า ที่จริง พุทธพจน์ข้อแรกแสดงถึงสภาวะที่เป็นสัจจะ คือภาวะสงบสังขารหมายถึงนิพพานนั่นเอง เป็นการบอกให้รู้ว่า นิพพานที่เป็นภาวะสงบสังขาร ไม่ต้องเปลี่ยนแปรขึ้นต่อการเกิดดับเสื่อมสลายอีกต่อไปนั้น เป็นภาวะที่เป็นสุข แต่พุทธพจน์ที่เป็นคาถาบทนี้เรานำมาพูดนำมาอ้างกันบ่อยมากจนอยู่ในประเพณีของคนทั่วไป (คือบทว่า “อนิจจา วต สงขารา ) เมื่อเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปจะให้เขาได้รับประโยชน์ก็จึงมองความหมายซึ่งอิงนิพพาน ที่โยงมาสู่การปฏิบัติในแนวทางของความสงบสังขารที่คนทั่วไปเหล่านั้นจะพิจารณาได้ เป็นการชี้นัยที่เน้นคุณค่าทางจริยธรรม ดังจะกล่าวในที่นี้

พุทธพจน์ข้อที่ ๑ ชี้ถึงคุณค่าในด้านการวางใจต่อสังขาร คือโลกและชีวิต ให้รู้เท่าทันว่า สิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นสภาพปรุงแต่ง ล้วนไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ต้องเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไป ไม่อาจคงสภาพเดิมอยู่ได้ มิใช่ตัวตนที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปได้ตามความปรารถนา มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย และเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นเอง เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ก็จะมีท่าทีของจิตใจที่ถูกต้อง ไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย แม้สิ่งทั้งหลายที่พบเห็นเกี่ยวข้องจะแปรปรวนเสื่อมสลายพลัดพรากสูญหายไป จิตใจก็ไม่ถูกครอบงำย่ำยีบีบคั้น ยังคงปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบานอยู่ได้ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมดา พาให้ถึงความสงบ คุณค่าข้อนี้เน้นความหลุดพ้นเป็นอิสระของจิตใจ เป็นระดับโลกุตระ เรียกง่ายๆ ว่า คุณค่าด้านการทำจิต

พุทธพจน์ข้อที่ ๒ ชี้ถึงคุณค่าในด้านการปฏิบัติกิจหน้าที่ เพื่อความมีชีวิตที่เรียกว่าเป็นอยู่หรือดำเนินไปอย่างถูกต้องดีงามในโลก อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่น และเพื่อให้เข้าถึงบรมธรรมที่เป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต โดยให้รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งชีวิตและโลก ล้วนเกิดจากองค์ประกอบทั้งหลายประมวลกันขึ้น ดำรงอยู่ได้ชั่วคราว ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความบีบคั้น กดอัดขัดแย้งแฝงอยู่ทุกขณะ ทั้งภายนอกและภายใน จะต้องทรุดโทรมแตกสลายเปลี่ยนแปลงกลายรูปไป ไม่อยู่ในอำนาจของความปรารถนา ขึ้นต่อเหตุปัจจัยและเป็นไปตามเหตุปัจจัย กระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยนี้ ดำเนินไปตลอด ไม่รอเวลา ไม่คอยความปรารถนา ไม่ฟังเสียงเรียกร้องวิงวอนของใคร เฉพาะอย่างยิ่ง ชีวิตนี้สั้นนัก และไม่แน่นอน จะวางใจมิได้เลย เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ก็จะได้กระตือรือร้นเร้าเตือน กระตุ้นตนเองให้เร่งรัดขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำ และเว้นสิ่งที่ควรเว้น ไม่ละเลย ไม่รอช้า ไม่ปล่อยเวลาและโอกาสให้สูญเสียไปเปล่า เอาใจใส่แก้ไขสิ่งเสียหายที่ได้เกิดขึ้น ระมัดระวังป้องกันหนทางที่จะเกิดความเสื่อมทรุดเสียหายต่อไป และสร้างสรรค์สิ่งดีงามความเจริญก้าวหน้า โดยไตร่ตรองพิจารณาและดำเนินการด้วยปัญญาอันรู้ที่จะจัดการตามเหตุปัจจัย ทำให้เกิดผลสำเร็จด้วยดีทั้งในแง่กิจที่ทำและจิตใจของตน คุณค่าข้อนี้เน้นด้านความไม่ประมาทเร่งรัดทำกิจ เป็นระดับโลกิยะ เรียกง่ายๆ ว่า คุณค่าด้านการทำกิจ

คุณค่าข้อที่ ๒ นี้ จะต้องใช้กับเรื่องของชีวิตและกิจต่อโลกทุกขั้นทุกระดับ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยส่วนตัว จนถึงความเรียบร้อยดีงามของสังคมส่วนรวม ตั้งแต่ประโยชน์ขั้นต้นจนถึงประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การประกอบการงานอาชีพแสวงหาทุนทรัพย์ของคฤหัสถ์ จนถึงการบำเพ็ญเพียรแสวงโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ดังจะเห็นพุทธพจน์ต่อไปนี้เป็นเครื่องชี้คุณค่า

ชุดที่ ๑: “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) ก็ควรทีเดียวที่จะยังประโยชน์นั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท, เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถะ) ก็ควรทีเดียวที่จะยังประโยชน์นั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท, เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถะ) ก็ควรทีเดียวที่จะยังประโยชน์นั้นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท"

ชุดที่ ๒: “มหาบพิตร ธรรมเอกอันเดียวที่ยึดเอาประโยชน์ (อัตถะ) ได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งประโยชน์บัดนี้ (หรือประโยชน์สามัญที่ตาเห็น-ทิฏฐธัมมิกัตถะ) และประโยชน์เบื้องหน้า (หรือประโยชน์ที่ลึกล้ำยิ่งขึ้นไปสัมปรายกัตถะ) นั้น มีอยู่ ฯลฯ นั่นคือ ความไม่ประมาท (อัปปมาทะ) ฯลฯ ผู้ไม่ประมาทเป็นบัณฑิต ย่อมยึดเอาได้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่าง คือทั้งประโยชน์บัดนี้ และประโยชน์เบื้องหน้า, จะเรียกว่าธีรชน (หรือ) บัณฑิต ก็เพราะบรรลุประโยชน์ (ทั้งสองนี้)

ชุดที่ ๓:
    ก) “ภิกษุทั้งหลาย ในเรื่องนี้ ผู้มีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล อาศัยความไม่ประมาทเป็นเหตุ ย่อมประสบกองโภคะอันใหญ่”
    ข) “ภิกษุทั้งหลาย โพธิ ความตรัสรู้ของเรานั้นได้บรรลุด้วยความไม่ประมาท, แม้นหากพวกเธอจะพึงเพียรพยายามอย่างไม่ระย่อท้อถอย ฯลฯ ไม่นานเลย แม้พวกเธอก็จะประจักษ์แจ้งจุดหมายของชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) เข้าถึงได้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในชาตินี้ที่เดียว”

คุณค่าสองข้อนี้ สัมพันธ์กันและเสริมกัน เมื่อปฏิบัติให้ได้คุณค่าครบทั้งสองอย่าง จึงจะได้รับประโยชน์บริบูรณ์ และคุณค่าทั้งสองนี้ยังมีรายละเอียดที่พึงทราบเพิ่มเติมอีก จึงจะได้บรรยายต่อไป

ก. คุณค่าที่ ๑: คุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ

คุณค่าด้านนี้ พร้อมทั้งหลักปฏิบัติเพื่อเข้าถึงคุณค่านั้น เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยจุดหมายสูงสุดของพุทธธรรมซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ สำคัญ เป็นส่วนคลุมยอดของระบบทั้งหมดของพระพุทธศาสนา มีขอบเขตกว้างขวาง อีกทั้งมีรายละเอียดในการปฏิบัติที่พึงทำความเข้าใจโดยเฉพาะ คัมภีร์ทั้งหลายจึงกล่าวถึงบ่อยและมาก บางคัมภีร์ก็นำมาประมวลแสดงเป็นขั้นตอนตามลำดับโดยตลอด ดังเช่นคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ เป็นต้น แม้ในหนังสือนี้เอง ก็ได้บรรยายไว้ทั่วๆ ไปแล้ว จึงจะไม่นำมากล่าวรวมไว้ในที่นี้ แต่จะพูดไว้พอเป็นแนวสำหรับความเข้าใจอย่างกว้างๆ ตามปกติ ผู้เจริญปัญญาด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์ จะพัฒนาความเข้าใจต่อโลกและชีวิตให้เข้มคมชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมกับมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพจิตเป็นขั้นตอนสำคัญ ๒ ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ ๑ เมื่อเกิดความรู้เท่าทันสังขาร มองเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่เป็นตัวตนชัดเจนขึ้นในระดับปานกลาง จะมีความรู้สึกทำนองเป็นปฏิกิริยาเกิดขึ้น คือรู้สึกในทางตรงกันข้ามกับความรู้สึกที่เคยมีมาแต่เดิม ก่อนนั้นเคยยึดติดหลงใหลในรูปรสกลิ่นเสียง เป็นต้น มัวเมาเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านั้น คราวนี้ พอมองเห็นไตรลักษณ์เข้าแล้ว ความรู้สึกเปลี่ยนไป กลายเป็นรู้สึกเบื่อหน่าย รังเกียจ อยากจะหนีไปเสียให้พ้น บางทีถึงกับรู้สึกเกลียดกลัว หรือขยะแขยง นับว่าเป็นขั้นที่ความรู้สึกแรงกว่าความรู้ (เรียกอย่างภาษาไทยว่า อารมณ์เหนือปัญญา)

ขั้นตอนแรกนี้ แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนที่ปัญญายังไม่สมบูรณ์ และความรู้สึกยังเอนเอียง แต่ก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญ หรือบางทีถึงกับจำเป็น ในการที่จะถอนตนให้หลุดออกไปได้จากความหลงใหลยึดติด ซึ่งเป็นภาวะที่มีพลังแรงมาก เพื่อจะสามารถก้าวต่อไปสู่ภาวะที่สมบูรณ์ในขั้นตอนที่ ๒ ต่อไป ในทางตรงข้าม ถ้าหยุดอยู่เพียงขั้นนี้ ผลเสียจากความรู้สึกที่เอนเอียงก็จะเกิดขึ้นได้

ขั้นตอนที่ ๒ เมื่อความรู้เท่าทันนั้นพัฒนาต่อไป จนกลายเป็นความรู้เห็นตามความเป็นจริง ปัญญาเจริญเข้าสู่ภาวะสมบูรณ์ เรียกว่ารู้เท่าทันธรรมดาอย่างแท้จริง ความรู้สึกเบื่อหน่ายรังเกียจและอยากจะหนีให้พ้นไปเสียนั้น ก็จะหายไป กลับรู้สึกเป็นกลาง ทั้งไม่หลงใหล ทั้งไม่หน่ายแสยง ไม่ติดใจ แต่ก็ไม่รังเกียจ ไม่พัวพันแต่ก็ไม่เหม็นเบื่อ มีแต่ความรู้ชัดตามที่มันเป็น และความรู้สึกโปร่งโล่งเป็นอิสระ พร้อมด้วยท่าทีของการที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ ไปตามความสมควรแก่เหตุผล และตามเหตุปัจจัย พัฒนาการทางจิตปัญญาในขั้นตอนที่สองนี้ ในระบบการปฏิบัติของวิปัสสนา ท่านเรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร) เป็นขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็น ในการที่จะเข้าถึงความรู้ประจักษ์แจ้งสัจจะ และความเป็นอิสระของจิตโดยสมบูรณ์

คุณค่าด้านความเป็นอิสระหลุดพ้นของจิตนี้ โดยเฉพาะในระดับที่พัฒนาสมบูรณ์แล้ว (ถึงขั้นตอนที่ ๒) จะมีลักษณะและผลข้างเคียงที่สำคัญ ๒ ประการ คือ

๑) ความปลอดทุกข์ คือ เป็นอิสระหลุดพ้นจากความรู้สึกบีบคั้นที่เกิดจากความยึดติดถือมั่นต่างๆ มีความสุขที่ไม่อิงอาศัยอามิส หรือไม่ขึ้นต่อสิ่งล่อ ปลอดโปร่ง ผ่องใส สดชื่น เบิกบาน ไร้กังวล ไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ไม่เหี่ยวแห้งไปตามความผันผวนปรวนแปรขึ้นๆ ลงๆ ที่เรียกว่าโลกธรรม ไม่ถูกกระทบกระแทกเนื่องจากความสูญเสียเสื่อมสลายพลัดพราก เป็นต้น ลักษณะข้อนี้มีผลไปถึงจริยธรรมด้วย ในแง่ที่จะไม่ก่อปัญหาเนื่องจากการระบายทุกข์ของตนแก่ผู้อื่นหรือแก่สังคม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาจริยธรรม และในแง่ที่มีสภาพจิตใจซึ่งง่ายต่อการเกิดขึ้นของคุณธรรม โดยเฉพาะเมตตากรุณา ความมีไมตรีจิตมิตรภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกื้อกูลแก่จริยธรรมเป็นอันมาก

๒) ความปลอดกิเลส คือ เป็นอิสระหลุดพ้นจากอำนาจบีบคั้นครอบงำและบงการของกิเลสทั้งหลาย เช่น ความโลภ ความโกรธ ความติดใคร่ ชอบชัง ความหลง ความริษยา และความถือตัวถืออำนาจ เป็นต้น โปร่งโล่ง เป็นอิสระ สงบ และบริสุทธิ์ ลักษณะข้อนี้มีผลโดยตรงต่อจริยธรรม ทั้งด้านภายในที่จะคิดการหรือใช้ปัญญาอย่างบริสุทธิ์เป็นอิสระ ไม่เอนเอียงไปด้วยชอบซังรังเกียจและความปรารถนาผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น และ ด้านภายนอก ที่จะไม่ทำความผิดความชั่วต่างๆ ตามอำนาจบังคับบัญชาของกิเลสทุกอย่าง ตลอดจนสามารถทำการต่างๆ ที่ดีงามตามเหตุผลได้อย่างจริงจังเต็มที่ เพราะไม่มีกิเลส เช่น ความเกียจคร้าน ความห่วงผลประโยชน์เป็นต้น มาคอยยึดถ่วงหรือดึงให้พะวักพะวน

อย่างไรก็ดี คุณค่าข้อที่ ๑ นี้ ในขั้นที่อยู่ระหว่างกำลังพัฒนา ยังไม่สมบูรณ์สิ้นเชิง ถ้ามีแต่ลำพังอย่างเดียว ก็มีช่องทางเสีย คือ อาจก่อให้เกิดโทษได้ ตามหลักที่ว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลได้” กล่าวคือ เมื่อทำจิตได้แล้ว ใจสบาย มีความสุขแล้ว ก็ติดใจเพลิดเพลินอยู่กับความสุขทางจิตใจเสีย หรือพอใจในผลสำเร็จทางจิตนั้น แล้วหยุดความเพียรพยายามเสีย หรือปล่อยปละละเลยไม่เร่งทำกิจที่ควรทำ ไม่จัดการแก้ไขปัญหาภายนอกที่ค้างคาอยู่ เรียกว่าตกอยู่ในความประมาท ดังตัวอย่างในพุทธพจน์ที่ว่า

“นันทิยะ อย่างไรอริยสาวกจะชื่อว่าเป็นผู้อยู่ด้วยความประมาท? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม... ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลทั้งหลายที่พระอริยะยอมรับ...อริยสาวกนั้น พอใจ (หรืออิ่มเพราะสันโดษ) ด้วยความเลื่อมใส ด้วยศีลทั้งหลายที่พระอริยะยอมรับเหล่านั้น ย่อมไม่พยายามให้ยิ่งขึ้นไป ฯลฯ อย่างนี้แล นันทิยะ อริยสาวกชื่อว่าเป็นอยู่ด้วยความประมาท”

ทางออกที่จะป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียที่กล่าวถึงนี้ ก็คือ จะต้องปฏิบัติตามหลักการที่จะให้เกิดคุณค่าข้อที่ ๒ ควบคู่กันไปด้วย

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            ก. คุณค่าที่ ๑: คุณค่าด้านการทำจิต หรือคุณค่าเพื่อความหลุดพ้นเป็นอิสระ
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา

                ๓. อนัตตตา

วันศุกร์

อัตตา กับ มานะ

อัตตา กับ มานะ

ปัจจุบันนี้ ได้มีความสับสนเกิดขึ้นบ้างในการใช้คำศัพท์ที่มีความหมายเกี่ยวกับเรื่องตัวตน และการยึดถือตัวตน ซึ่งเห็นว่าควรจะนำมาชี้แจงเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดแทรกไว้ ณ ที่นี้ด้วย คำที่เป็นปัญหาในกรณีนี้ คือ “อัตตา" เป็นคำบาลี รูปสันสกฤตเป็น “อาตมัน” แปลว่า ตน ตัว หรือตัวตน พุทธธรรมสอนว่า ตัวตนหรืออัตตานี้ ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นสิ่งที่สมมติขึ้นเพื่อสะดวกในการสื่อสาร เพื่อความหมายรู้ร่วมกันของมนุษย์ในความเป็นอยู่ประจำวัน กำหนดตามชื่อที่บัญญัติขึ้น หรือตั้งขึ้น สำหรับเรียกหน่วยรวมหรือภาพรวมหนึ่งๆ อัตตานี้จะเกิดเป็นปัญหาขึ้น ก็ต่อเมื่อคนหลงผิดเกิดความยึดถือขึ้นมา ว่ามีตัวตนจริงๆ หรือเป็นตัวตนจริงๆ เรียกว่ารู้ไม่เท่าทันความเป็นจริง หรือหลงสมมติ

ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับอัตตานี้ พึงทราบว่า อัตตาไม่ใช่เป็นกิเลส มิใช่สิ่งที่จะต้องละ เพราะอัตตาไม่มีอยู่จริง จึงไม่มีอัตตาที่ใครจะละได้ อัตตามีอยู่แต่เพียงในความยึดถือ สิ่งที่จะต้องทำก็มีเพียงการรู้เท่าทันตามเป็นจริงว่า ไม่มีอัตตา หรือไม่เป็นอัตตา อย่างที่เรียกว่า รู้ทันสมมติเท่านั้น พูดอีกนัยหนึ่งว่า ละความยึดถือในอัตตา ละความยึดถือว่าเป็นอัตตา หรือถอนความหลงผิดในภาพของอัตตา หรือในบัญญัติแห่งอัตตาเสียเท่านั้นเรื่องอัตตาและการปฏิบัติต่ออัตตาในความหมายที่ใช้ทั่วไป มีเพียงเท่านี้

อย่างไรก็ดี ในสุตตนิบาตที่ได้ยกมาอ้างในข้อก่อน ท่านใช้คำว่า อัตตา คู่กับ นิรัตตา (หรือ อัตตังคู่กับ นิรัตตัง) และได้ขยายความหมายของ “อัตตา" ในกรณีนี้ออกไปว่า หมายถึงการยึดถือในอัตตา หรือการยึดถือว่ามีอัตตา และอีกนัยหนึ่งว่า สิ่งที่ยึดถือไว้ คู่กับ “นิรัตตา” ซึ่งหมายถึงการยึดถือว่าไม่มีอัตตา หรือการถือว่าอัตตาขาดสูญไป และอีกนัยหนึ่งว่า สิ่งที่จะต้องปล่อยละ ความหมายของอัตตาในกรณีนี้ เป็นความหมายแบบขยายตัวเป็นศัพท์ คือ มุ่งเน้นที่ ทิฏฐิ อันได้แก่ความเชื่อถือหรือความยึดถือในอัตตา ที่เรียกว่า อัตตทิฏฐิ หรือ อัตตานุทิฏฐิ ซึ่งก็คือความเชื่อว่ามีตัวตนที่เป็นแก่นเป็นแกนถาวร ที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ ดังนั้น ในคัมภีร์มหานิทเทสและจูฬนิทเทส ที่อธิบายสุตตนิบาตตอนที่อ้างนั้น จึงไขความคำ “อัตตา” หรือ “อัตดัง” ว่าได้แก่ อัตตทิฏฐิ หรือ สัสสตทิฏฐิ ในเมื่ออัตตาในกรณีนี้หมายถึงตัวทิฏฐิ ซึ่งเป็นกิเลส (คือ ทิฏฐิต่ออัตตา หรือทิฏฐิว่ามีอัตตา) จึงเป็นสิ่งที่ต้องละ ฉะนั้น ในสุตตนิบาตนั้น จึงมีข้อความบาลีกล่าวถึงการละอัตตาว่า “ผู้ละอัตตา (อตฺตญชโห) บ้าง “ละอัตตา (คืออัตตทิฏฐีหรือสัสสตทิฏฐิ) ได้แล้ว (อตตํ ปหาย) บ้าง 

ยังมีการถือเกี่ยวกับตัวตนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการถืออย่างทิฏฐิ กล่าวคือ ทิฏฐินั้นเป็นการถือว่ามีตัวตนหรือเป็นตัวตน เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวตน เห็นว่าตัวตนเป็นของถาวร เป็นต้น ส่วนการถือเกี่ยวกับตัวตนอีกอย่างหนึ่งนั้น เป็นการถือสำคัญ หมายความว่า ถือเทียบเคียงระหว่างตัวเองกับตัวอื่น ถือเอาไว้วัดไว้แข่งกัน ถือสูงต่ำ ถือตัวตนในลักษณะที่จะเอาตัวตนนั้นไปเป็นนั่นเป็นนี่ เช่นว่า ฉันเป็นนี่ ฉันแค่นี้ ฉันสูงกว่า ฉันต่ำกว่า เราต้อยกว่า เราเท่ากับเขา เป็นต้น การถืออย่างนี้มีชื่อเฉพาะเรียกว่า มานะ แปลว่า ความถือตัว ความทะนงตน ความสำคัญตนว่าสูง ต่ำ เด่น ต้อย เท่าเทียม เทียบเขาเทียบเรา ตลอดจนความรู้สึกภูมิๆ พองๆ ถือตัวอยู่ภายใน มานะนี้เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับทิฏฐิ จึงเป็นสิ่งที่ต้องละหรือต้องกำจัดเสีย

ในปัจจุบัน ได้เริ่มมีความนิยมขึ้นบ้างในบางท่านหรือบางหมู่ที่จะใช้ “อัตตา” ในความหมายของมานะ อย่างนี้ เช่นว่า คนนั้นมีอัตตามาก อัตตาเขาใหญ่ อย่าเอาอัตตามาว่ากัน อย่าให้อัตตาแรงนัก ดังนี้เป็นต้นพึงตระหนักว่า การใช้ "อัตตา” ในความหมายอย่างนี้ เป็นเพียงความนิยมเท่านั้น แต่ไม่ถูก คำที่ถูกต้องสำหรับกรณีนี้คือ “มานะ” ซึ่งเป็นกิเลสตัวการที่ทำให้ไม่ฟังกัน ไม่ลงกัน ไม่ยอมกัน ทำให้แข่งให้อวด ตลอดจนกดข่มกัน อนึ่ง พึงสังเกตด้วยว่า แม้แต่การถือตัวว่าเท่ากับเขา ก็เป็นมานะ เป็นกิเลส เช่นเดียวกับการถือว่าสูงกว่าเหนือกว่าเขา หรือต่ำกว่า ด้อยกว่าเขา เพราะตราบใดที่ยังเป็นการถือ ตราบนั้นก็ยังเป็นการเทียบตัว และการกดบีบหรือเบ่งพองของจิต ซึ่งอาจไม่ตรงเท่ากับความเป็นจริง หรือเอาความจริงมาเป็นฐานก่อความกำเริบกดบีบเบ่งพองจิตจึงยังเป็นภาวะไม่อิสระ ไม่ปลอดโปร่งผ่องใส การที่จะไม่ให้เป็นมานะ ไม่ให้เป็นกิเลส ก็คือการรู้ตามที่เป็นจริง ไม่ว่าจะรู้ว่าสูง ต่ำ หรือเท่ากันก็ตาม ถ้าเป็นการเข้าถึงความรู้และเป็นเพียงแค่รู้ ก็ไม่เป็นมานะ ไม่เป็นกิเลส

ขอสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า “อัตตา” และ “มานะ” เป็นคำศัพท์เกี่ยวกับตัวตน และการยึดถือตัวตน ๒ คำ ที่เข้ามาในภาษาไทยแล้ว มีความหมายเพี้ยนไป และสับสนกัน สันนิษฐานได้ว่า ตอนแรก มานะถูกใช้เพี้ยนไปก่อน คือ มานะ แทนที่จะหมายถึงการถือตัวถือตน คนไทยใช้กันไปมา กลายเป็นหมายถึงความพากเพียร เมื่อมานะมีความหมายเพี้ยนเป็นความเพียรไปเสียแล้ว ต่อมา คนไทยจะพูดถึงความยึดถือตัวตน หรือความถือตัวถือตนนั้นก็ต้องหาคำอื่นมาใช้ เห็นคำว่า “อัตตา” มีความหมายใกล้กัน ก็เลยเอาคำว่าอัตตามาใช้ในความหมายของมานะ ทำให้ทั้งมานะและอัตตามีความหมายคลาดเคลื่อนไปทั้งสองคำ และแถมยังทำให้สับสนกันเสียอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องของภาษานี้ เมื่อคนหมู่ใหญ่นิยมใช้กันไปกว้างขวางยาวนานแล้ว ก็แก้ไขได้ยาก มักจะต้องปล่อยไป ยอมให้เป็นความหมายที่งอกไปอีกแง่หนึ่ง แต่สำหรับผู้ศึกษา เป็นเรื่องที่จะต้องรู้เท่าทันและใช้ด้วยความระมัดระวังโดยไม่ประมาท เฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมาศึกษาธรรม จะให้เข้าใจถึงสภาวะ ก็ต้องรู้ให้ถึงความหมายแท้ที่ถูกต้องชัดเจน

ใจความของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า อัตตา เป็นปัญหาของปัญญา เป็นเรื่องของความรู้ ว่าจริงหรือเท็จ มีจริงหรือไม่ เป็นเรื่องของสภาวะหรือสภาพความเป็นจริงที่จะต้องรู้เข้าใจด้วยปัญญา ถ้ารู้ไม่ถึงสภาวะที่แท้ ก็เกิดความเข้าใจผิด เห็นผิดว่ามีตัวมีตน มีอัตตาจริงๆ ก็เป็นทิฏฐิขึ้นมา จึงว่าเป็นปัญหาของปัญญา คือจะต้องแก้ด้วยปัญญา หน้าที่ของเราก็เพียงแค่รู้เข้าใจ หรือรู้ความจริง พอเกิดปัญญารู้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า อัตตาไม่มีจริง มีแค่สมมติกัน สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่มีไม่เป็นอัตตา เท่านั้นเรื่องก็จบ

ส่วน มานะ เป็นปัญหาของจิตใจ เป็นเรื่องของความรู้สึก แต่เป็นความรู้สึกที่ไม่ดี (เรียกว่ากิเลส) เป็นอาการของจิตที่มุ่งจะถือให้ตัวสำคัญ จะยกตัวขึ้น จะกดเขาลง มัวหมอง กดดัน หนัก เครียด ขัดแย้ง แบ่งแยก เบียดเบ่ง ให้ตัวป่อง ให้ตัวพองโต ไม่โล่ง ไม่โปร่ง ไม่เบาสบาย เป็นอาการของจิตที่จะต้องแก้ไขไถ่ถอน หน้าที่ของเราคือฝึกจิตพัฒนาใจ พยายามเลิกละ กำจัดมันเสีย และหัดเป็นคนสุภาพ อ่อนโยน อ่อนน้อม ถ่อมตน รู้จักให้เกียรติ ให้โอกาส ให้ความสำคัญแก่ผู้อื่น เป็นต้น

พูดให้ง่ายว่า มานะเป็นปัญหาด้านจริยธรรม เพื่อไม่ให้ปล่อยใจไปตามกิเลส ก็สอนว่า ไม่ควรถือตัวถือตนส่วนอัตตาเป็นปัญหาด้านสัจธรรม ที่แก้ไขด้วยการที่ปัญญารู้ความจริงว่า ไม่มีตัวตนที่จะถือแล้วในขั้นสุดท้าย ทั้งสองอย่างนี้ก็มาบรรจบกัน คือ การรู้เข้าใจอนัตตา ทำให้ละมานะไปเอง เมื่อรู้เข้าใจว่าไม่มีอัตตา ไม่ยึดเอาอะไรเป็นอัตตาแล้ว ความยึดถืออัตตาหายไป มานะก็หมดไป เมื่อเกิดปัญญารู้เข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายไม่เป็นตัวตน มองเห็นความไม่เป็นตัวตน (เห็นอนัตตา) แล้ว ปัญญาก็ปลดปล่อยจิตใจให้หมดความถือตัวถือตน ไม่ทะนงตัว ไม่หยิ่งผยอง ไม่ลำพองตน เลิกสำคัญตนว่าสูงต่ำ ยิ่งใหญ่เป็นต้น (หมดมานะ)ดังพุทธพจน์ว่า

"ผู้หมายรู้ในสิ่งทั้งหลายว่าเป็นอนัตตา จะลุถึงภาวะที่ถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะ
(ความถือพองว่าเป็นตัวกู) เป็นนิพพานในปัจจุบันที่เดียว"

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา





วันพุธ

๔. อัตตา – อนัตตา และ อัตตา - นิรัตตา

 ๔. อัตตา – อนัตตา และ อัตตา - นิรัตตา

ในสุตตนิบาต มีพุทธพจน์หลายแห่งตรัสถึงพระอรหันต์ คือผู้บรรลุจุดหมายแห่งชีวิตประเสริฐแล้ว หรือท่านผู้ปฏิบัติถูกต้องแล้วว่า เป็นผู้ที่ ไม่มีทั้งอัตตาและนิรัตตา หรือทั้ง อตตํ และ นิรตํ  (*๑๘๓) แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ไม่มีทั้งอัตตาและไร้อัตตา หรือ ไม่มีทั้งตัวและไร้ตัว คัมภีร์มหานิทเทสอธิบาย “อตุตา” หรือ “อตตํ” ว่าได้แก่ อัตตทิฏฐิ คือความเห็นว่าเป็นตัวตน หรือ สัสสตทิฏฐิ คือความเห็นว่า (มีตัวตนที่) เที่ยงแท้ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป และ “นิรตุตา” หรือ “นิรตตํ” ว่า ได้แก่อุจเฉททิฏฐิ คือ ความเห็นว่า (ตัวตน) ขาดสูญ อีกนัยหนึ่งอธิบาย “อตตา” หรือ “อตตํ” ว่าได้แก่ สิ่งที่ถือไว้หรือสิ่งที่ยึดถือ และ “นิรตุตา” หรือ “นิรตตํ” ว่าได้แก่ สิ่งที่จะต้องละหรือปล่อย ถือเอาใจความว่า พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติถูกต้อง หรือท่านผู้มีปัญญาเข้าใจถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มีทั้งความยึดถือตัวตนและทั้งความยึดถือว่าไม่มีตัวตน (ตัวตนขาดสูญ) ไม่มีทั้งสิ่งที่ยึดถือเอาไว้ และทั้งสิ่งที่จะต้องละต้องปล่อยหรือต้องสลัดทิ้ง

คัมภีร์มหานิทเทสอธิบายต่อไปอีกว่า ผู้ใดมีสิ่งที่ยึดถือไว้ ผู้นั้นก็มีสิ่งที่จะต้องปล่อยละ ผู้ใดมีสิ่งที่จะต้องปล่อยละ ผู้นั้นก็มีสิ่งที่ยึดถือไว้ พระอรหันต์ล่วงพ้นการยึดถือและการปล่อยละไปแล้ว (*๑๘๔) ความเข้าใจในพุทธพจน์และอรรถาธิบายข้างต้นนี้ จะช่วยให้เข้าใจความหมายของหลักอนัตตาครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ธรรมดาว่า ปุถุชนย่อมมีความยึดถือในตัวตนอย่างเหนียวแน่น อย่างหยาบๆ ก็ถือเอารูป คือร่างกายเป็นตัวตน เมื่อคิดลึกซึ้งลงไป เห็นว่าร่างกายเป็นตัวตนไม่ได้ เพราะมีความเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้ชัดๆ โต้งๆ ก็เลื่อนไปยึดเอาจิตหรือคุณสมบัติบางอย่างของจิต เช่น ความรู้สึก ความจำ ปัญญา การรับรู้ เป็นต้น ว่าเป็นตัวตน ถ้าใช้ศัพท์ทางธรรมก็ว่า ยึดเอาขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเป็นอัตตา บางทีก็ยึดถือรวมๆ คลุมๆ ทั้งกายและใจ คือขันธ์ ๕ ทั้งหมด ว่าเป็นตัวตน บ้างคิดแยบยลลึกซึ้งต่อไปอีกว่า ทั้งกายและใจ หรือขันธ์หมดทั้ง ๕ เป็นตัวตนไม่ได้ แต่มีตัวตนอยู่ต่างหาก เป็นอัตตาหรืออาตมันตัวแท้ตัวจริง เป็นแก่นเป็นแกนของชีวิต ซ้อนอยู่ภายในขันธ์ ๕ หรืออยู่นอกเหนือจากขันธ์ ๕ แต่เป็นตัวครอบครองควบคุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง

เจ้าลัทธิและนักปราชญ์เจ้าปัญญาผู้สามารถทั้งหลาย พากันคิดค้นเรื่องตัวตนนี้โดยโยงเข้ากับการค้นหาสภาวะแท้ที่มีอยู่จริงในขั้นสุดท้าย หรือตัวสัจธรรม หรือบรมธรรม บางท่านก็ประกาศว่าตนได้เข้าถึงสภาวะที่แท้จริงนั้นแล้ว อันเป็นตัวแท้ตัวจริง เป็นอัตตาหรืออาตมันสูงสุด อย่างที่บัญญัติเรียกว่า ปรมาตมันบ้าง พรหมมันบ้าง พระผู้เป็นเจ้าบ้าง ต้องยอมรับว่า เจ้าลัทธิและนักปราชญ์เหล่านั้นเป็นเจ้าความคิดอย่างสูง มีความรู้ความสามารถมาก อย่างที่ท่านเรียกว่าเป็นสมณพรามหณ์ผู้ประเสริฐ หรือเป็นเจ้าทฤษฎีชั้นพรหม และสภาวะที่ท่านเหล่านั้นกล่าวถึง ก็ประณีตลึกซึ้งอย่างยิ่ง แต่ตราบใดที่สภาวะนั้นยังมีความเป็นตัวตนติดอยู่ หรือยังเป็นเรื่องของตัวตน ก็พึงทราบว่ายังไม่ใช่สภาวะที่จริงแท้ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่ใช่บรมธรรม เพราะยังถูกเคลือบคลุมและยังพัวพันด้วยความยึดถือ

สภาวะจริงแท้นั้นมีอยู่ มิใช่เป็นความสูญสิ้นไม่มีอะไรเลย แต่ก็มิใช่เป็นสภาวะที่จะเข้าถึงหรือประจักษ์ได้ด้วยความรู้ที่ถูกกั้นบังให้พร่ามัวหรือบิดเบือนโดยภาพเก่าๆ ที่ผิดพลาด และด้วยจิตที่ถูกฉุดรั้งไว้โดยความยืดติดในภาพเก่าที่ผิดพลาดนั้น การที่สมณพราหมณ์ผู้ประเสริฐหรือเจ้าลัทธิชั้นพรหมจำนวนมาก ไม่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดถึงสภาวะแท้จริงขั้นสุดท้าย ก็เพราะว่า แม้ว่าสมณพราหมณ์หรือเจ้าลัทธิเจ้าทฤษฎีเหล่านั้นจะรู้ชัดแล้วว่า ตัวตนระดับกายใจชนิดที่เคยยึดถือมาก่อน ไม่ใช่เป็นสภาวะที่จริงแท้ และไม่ยอมรับแม้กระทั่งขันธ์ ๕ แต่ ท่านเหล่านั้นก็ยังนำเอาเครื่องพรางตาตัวเอง ๒ อย่างของปุถุชนติดตัวไปด้วยตลอดเวลาในการค้นหาสภาวะที่แท้จริงขั้นสุดท้าย กล่าวคือ

    ๑) บัญญัติแห่งอัตตา (concept) คือ มโนภาพของตัวตนที่เป็นคราบติดมาตั้งแต่ครั้งยึดติดในตัวตนหยาบระดับร่างกาย แม้มโนภาพนี้จะละเอียดประณีตขึ้นมากเพียงใด มันก็เป็นภาพอันเดียวกันหรือเทือกเถาเดียวกันอยู่นั่นเอง และเป็นภาพแห่งความหลงผิด ซึ่งเมื่อเขาไปเกี่ยวข้องกับสภาวะใดๆ เขาก็จะเอาบัญญัติหรือมโนภาพอันนี้ไปป้ายหรือฉาบทาสภาวะนั้น ทำให้มีสิ่งกั้นบัง เกิดความพร่ามัวหรือบิดเบือน และทำให้สภาวะที่เขาเข้าใจ ไม่ใช่สภาวะจริงแท้นั้นเองที่ล้วนๆ บริสุทธิ์

    ๒) ความยึดติดถือมั่น (อุปาทาน) ซึ่งเขามีมาแต่เดิมตั้งแต่ยึดติดในอัตตาอย่างหยาบๆ ขั้นต้น ซึ่งเป็นความหลงผิดอยู่แล้ว เขาก็ยังพาเอาความยึดติดนี้ไปด้วย และนำไปใช้ในการสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสภาวะที่จริงแท้ ความยึดติดในภาพตัวตนนี้จึงกลายเป็นเครื่องฉุดรั้งเขาไว้ ให้ไม่อาจเข้าถึงสภาวะที่จริงแท้นั้นได้

ถ้าพูดอย่างสั้นๆ ก็คือ สมณพราหมณ์หรือเจ้าทฤษฎีเหล่านั้นยังไม่หลุดพ้นนั่นเอง ยังไม่หลุดพ้นจากบัญญัติหรือภาพที่หลงผิด และยังไม่หลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่น ซึ่งว่าที่จริงก็พันกันอยู่เป็นเรื่องเดียวกัน คือ พูดรวมเข้าด้วยกันได้ว่า พวกเขาหลงผิดหยิบเอาภาพอัตตาที่ติดมาจากอุปาทานเดิมของตน ไปปิดทับสภาวะหรือกระบวนการที่มีอยู่ตามธรรมชาติเสีย เลยวนเวียนติดตันอยู่ตามเดิม ความหลุดพ้นนี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะให้เข้าถึงหรือรู้ประจักษ์สภาวะที่จริงแท้ได้ เพราะสภาวะจริงแท้ขั้นสุดท้ายหรืออสังขตธรรม มีภาวะตรงข้ามกับสภาวะฝ่ายปรุงแต่งหรือสังขตธรรม เป็นสภาวะที่ถึงเมื่อสภาวะฝ่ายสังขตะสิ้นสุดลง คือเป็นสภาวะที่จะเข้าถึงเมื่อละความยึดถือในอัตตาได้แล้ว แม้แต่จะพิจารณาในระดับสังขตธรรมคือสังขาร เมื่อพิจารณาตามแนวพุทธธรรมดังได้บรรยายมาแล้วข้างต้นว่า อัตตาหรือตัวตนเป็นสิ่งสมมติ สภาวะที่จริงแท้ย่อมเป็นสิ่งตรงข้ามกับสมมติ เป็นคนละเรื่องคนละด้านกัน อัตตามีสำหรับสิ่งสมมติ เมื่อพ้นจากสมมติจึงจะเข้าถึงสภาวะจริงแท้ สภาวะจริงแท้ก็คือไม่เป็นอัตตา พูดง่ายๆ อย่างชาวบ้านว่า ของจริงต้องไม่เป็นอัตตา ถ้ายังเป็นอัตตาก็ไม่ใช่ของจริง หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า พอพ้นสมมติ อัตตาก็หมด พอเลิกยึด อัตตาก็หายตัวการสำคัญของความหลงผิด ก็คือบัญญัติหรือภาพของอัตตา กับความยึดติดถือมั่นหรือความยึดถือในเมื่ออัตตาหรือตัวตนไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงของสมมติ มันจึงเป็นเพียงสิ่งที่ถูกยึดถือเอาไว้ ฉะนั้น

ในสุตตนิบาตที่อ้างข้างต้น คำว่า “อตุตา” หรือ “อตตํ” จึงแปลได้ ๒ อย่าง คือ แปลว่าตัวตน หรือการยึดถือตัวตนก็ได้ แปลว่า สิ่งที่ยึดถือเอาไว้ก็ได้ หมายความว่า ตัวตน ก็คือสิ่งที่ยึดถือเอาไว้เท่านั้นเอง มิใช่สภาวะที่มีอยู่จริง อีกประการหนึ่ง ในสุตตนิบาตที่อ้างถึงนั่นแหละ ท่านกล่าวถึง “อตตา” คู่กับ “นิรตุตา” หรือ “อตตํ” คู่กับ “นิรตตํ” และบอกว่า พระอรหันต์หรือผู้ปฏิบัติชอบ ไม่มีทั้งอัตตาหรืออัตตัง และไม่มีทั้งนิรัตตาหรือนิรัตตัง นิรัตตาหรือนิรัตตัง ก็แปลได้ ๒ อย่างเช่นเดียวกับอัตตาหรืออัตตัง คือแปลว่า (การยึดถือว่า) ไม่มีอัตตา หรือการถือว่า (อัตตา) ขาดสูญ ก็ได้ แปลว่า สิ่งที่จะต้องปล่อยละหรือสลัดทิ้งก็ได้ ข้อนี้หมายความว่า เมื่อไม่ยึดถือว่ามีอัตตาแล้ว เลิกความเห็นผิดยึดถือผิดต่อสิ่งสมมติได้เสร็จแล้ว ก็แล้วกัน จบเท่านั้น ไม่ต้องไปยึดถืออีกว่าไม่มีอัตตา ตัวเองจะเป็นอิสระสบายดีอยู่แล้ว แต่ไปจับยึดสิ่งที่พาให้ผิดเข้า เมื่อเลิกจับเลิกยึดได้แล้ว ก็จบเรื่องไม่ต้องไปจับไปยึดอะไรอีก เมื่อไม่มีสิ่งที่ยึดถือเอาไว้ ก็ไม่มีสิ่งที่จะต้องละต้องปล่อย เหมือนดังพุทธพจน์ที่ว่า

“สิ่งที่ยึดถือไว้ก็ไม่มี แล้วสิ่งที่ต้องปล่อยละจะมีมาแต่ที่ไหน” (นตถํ อตุตา กุโต นิรตตํ วา) (*๑๘๕)  พึงสังเกตด้วยว่า ถ้าจะพูดกันให้ถูกต้องจริงๆ แล้ว แม้แต่คำว่าความยึดถืออัตตา ก็ใช้ไม่ได้ ต้องพูดว่าความยึดถือในภาพของอัตตา หรือยึดถือบัญญัติแห่งอัตตา เพราะอัตตาเป็นเพียงสิ่งสมมติ ไม่มีอยู่จริง ในเมื่ออัตตาไม่มีอยู่จริง ก็เพียงไม่ยึดถือ (ว่ามี) อัตตา หรือไม่ยึดถือบัญญัติของอัตตาเท่านั้น ไม่ต้องละอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะยึดถือได้ จะไปละอัตตาที่ไหน การถือ (ว่ามี) อัตตา ก็คือการสร้างภาพอีกอันหนึ่งขึ้นมาซ้อนสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่เป็นไปอยู่ สิ่งที่จะต้องทำ ก็เพียงเลิกสร้างภาพนั้นเท่านั้น ถ้าไม่เลิกสร้างภาพนั้น แม้เลิกยึดอย่างหนึ่งแล้ว ไปจับสิ่งอื่นอะไรก็ตาม ก็จะเอาภาพหรือคราบของอัตตาไปปะติดหรือป้ายหรือฉาบทาสิ่งนั้น ให้ไม่เห็นตัวจริง หรือเห็นผิดเพี้ยนไป ดังนั้น กิจที่จะต้องทำ ก็คือ ถอนเลิกความยึดติดถือมั่นในภาพอัตตาที่เคยมีแล้วไม่ยึดอะไรใหม่ว่าเป็นอัตตา และทั้งไม่ตกไปใน นิรัตตา ก็จะมีแต่สภาวะแท้ที่มีอยู่จริง ซึ่งไม่เกี่ยว ไม่เป็นไปตาม ไม่ขึ้นต่อความยึดถือของตน ในเมื่อตัวตนเป็นสิ่งสมมติ เป็นบัญญัติ (concept) เพื่อประโยชน์ในการสื่อสาร ถ้าเราเพียงแต่รู้เท่าทันใช้โดยไม่ยึดติด มันก็ไม่มีพิษสง ไม่ก่อให้เกิดโทษความเสียหายอันใด และถ้าเราเคยยึดถือมัน ก็เพียงแต่เลิกยึดเท่านั้น เมื่อไม่มีการยึดแล้ว ก็เป็นอันจบเรื่อง ไม่ต้องเอาภาพอัตตาไปใส่ให้อะไรอีก ไม่ต้องไปคว้าเอาอะไรมายืดเป็นอัตตาอีก ตลอดจนไม่ต้องไปค้นหาอัตตาที่ไหนอีก

เพราะฉะนั้น ภาระในการสอนของพระพุทธเจ้า จึงมีเพียงแค่ทรงสอนให้เลิกยึดถืออัตตาที่ยึดถืออยู่แล้วเท่านั้น คือให้เลิกยึดถือขันธ์ ๕ เป็นอัตตา เมื่อเลิกยึดอัตตาแล้ว ก็เป็นอันหมดเรื่องกับอัตตา ต่อนั้นไปก็เป็นเรื่องของการเข้าถึงสภาวะที่จริงแท้ ซึ่งมีอยู่ แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับอัตตา จึงเรียกว่าเป็นอนัตตา เป็นเรื่องพ้นจากการยึดถืออัตตาแล้ว และก็ไม่ต้องไปยึดถือต่อไปอีกว่ามีอัตตาหรือไม่มีอัตตา สิ่งที่ไม่มี เมื่อรู้ว่าไม่มีแล้ว ก็เสร็จเรื่องกัน จากนั้นก็เข้าถึงสิ่งที่มีจริงหรือสภาวะจริงแท้ คืออสังขตธรรม ซึ่งไม่ต้องพูดถึงอัตตาอีกต่อไป ผลร้ายที่สำคัญอย่างหนึ่งของการยึดติดในอัตตา หรือยึดถือบัญญัติแห่งอัตตา ก็คือ ผู้ยึดถือจะโยงอัตตานี้เข้ากับความหมายว่า เป็นตัวแกนหรือตัวการที่มีอำนาจบังคับบัญชาบันดาลให้เป็นไปต่างๆ เมื่อความคิดในเรื่องอัตตานี้ละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปจนถึงสภาวะขั้นสุดท้าย ก็จะสร้างความคิดให้มีอัตตาหรืออาตมันใหญ่อันเป็นสากล ที่เป็นผู้สร้างผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง จินตนาการให้มีพระผู้สร้างเข้ามาซ้อนแทรกแซงกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยโดยไม่จำเป็น ที่ว่าไม่จำเป็น ก็เพราะสภาวธรรมทั้งหลายก็มีอยู่ได้เอง กระบวนธรรมก็สัมพันธ์กันเกิดความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันอยู่เอง โดยไม่ต้องมีผู้สร้างผู้บันดาล ถ้าจะว่าต้องมีผู้สร้างก่อนเป็นเบื้องแรกจึงจะมีสิ่งทั้งหลายได้ จึงต้องมีพระเจ้าเป็นผู้สร้างสภาวธรรม ถ้าเช่นนั้นก็ให้สภาวธรรมทั้งหลายนั่นแหละเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนเป็นเบื้องแรกแทนพระเจ้าเสียเลย (เพราะสภาวธรรมก็ปรุงแต่งกันตามเหตุปัจจัย เรียกอย่างง่ายๆ ว่าสร้างกันและกันเองได้อยู่แล้ว) จะได้ตัดปัญหา ไม่ต้องไปวุ่นวายตอบคำถามย้อนต่อไปอีกว่า อะไรมีอยู่ก่อนแล้วพระเจ้าจึงมีขึ้นได้ หรือว่าใครสร้างพระเจ้า คือใครให้กำเนิดพระเจ้า หรือว่าพระเจ้ามาจากไหน

ถ้าจะว่า การที่สภาวธรรมทั้งหลายหรือกระบวนธรรมต่างๆ จะเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ต้องมีผู้บันดาลให้เป็นไป คือมีพระเจ้าอยู่เบื้องหลัง ข้อนี้ก็เกินจำเป็น และไม่สมจริงอีก เพราะถ้ามีพระเจ้าเป็นผู้บันดาลจริง ก็จะกลายเป็นว่ามีระบบซ้อนกันอยู่ ๒ ชั้น คือ พระเจ้าชั้นหนึ่ง กับกระบวนธรรมอีกชั้นหนึ่ง กระบวนธรรมจะเป็นไปอย่างไร ก็ต้องรอการบันดาลจากพระเจ้า แต่กระบวนธรรมจะเป็นไปตามการบันดาลของพระเจ้าก็ไม่สะดวกเพราะมันจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยภายในระบบของมันเองอยู่แล้ว คือองค์ประกอบต่างๆ เกิดดับ ก็สัมพันธ์เป็นปัจจัยส่งต่อสืบทอดแก่กันในกระบวนธรรม การบันดาลของพระเจ้าเลยจะกลายเป็นการแทรกแซงขัดขวางและขัดแย้งกับความเป็นไปของกระบวนธรรมเสียมากกว่า ยิ่งกว่านั้น ถ้าพระเจ้าบันดาล พระเจ้ามีอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ ก็จะให้สภาวธรรมเป็นไปตามพระประสงค์เดี๋ยวก็จะให้เป็นไปอย่างโน้น เดี๋ยวก็จะให้เป็นไปอย่างนี้ กระบวนธรรมก็ยิ่งไม่มีทางเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็จะยิ่งปั่นป่วนวุ่นวายมาก แต่ความจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้น กระบวนธรรมก็คงเป็นไปของมันตามเหตุปัจจัย ถ้าจะว่า ที่กระบวนธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นก็เพราะเป็นกฎ และพระเจ้าเป็นผู้สร้างหรือวางกฎนั้นไว้ ถ้าเช่นนั้น กฎก็จะต้องไม่แน่นอน อาจเปลี่ยนแปลงเมื่อไรก็ได้ ไม่อาจวางใจได้ เพราะมีผู้วางกฎ และผู้วางกฎก็ยังอยู่ต่างหากจากกฏ อีกทั้งมีความประสงค์ของตนที่เปลี่ยนแปรได้ เพิ่มลดดัดแปลงได้ แต่ตามความเป็นจริงกฎก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง


ในทางกลับกัน ตามความเป็นจริงนั้น ก็ไม่จำเป็น และไม่อาจจะมีผู้สร้างกฎด้วยซ้ำ เพราะสภาวธรรมทั้งหลายจะต้องเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง และมันก็ได้เป็นมาอย่างที่มันเป็นอยู่นี้ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยที่มันก็เป็นเช่นนั้นเอง ตถตา) เพราะมันไม่เป็นและไม่อาจจะเป็นไปอย่างอื่น (อวิตถตา) กฎเป็นเพียงบัญญัติ (concept) ซึ่งเกิดจากการที่สภาวธรรมทั้งหลายมันเป็นไปอย่างนั้นต่างหาก อนึ่ง การไม่มีพระเจ้าผู้สร้างผู้บันดาล และการที่กระบวนธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันเองนั้น ยังตัดปัญหาไปได้อีกอย่างหนึ่ง คือ สภาวะแท้จริงขั้นสุดท้าย หรืออสังขตธรรม ก็มีอยู่ตามสภาวะของมัน โดยไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวเป็นผู้สร้างผู้บันดาลสิ่งต่างๆ ไม่ต้องมาแทรกแซงขัดขวางหรือขัดแย้งกับกระบวนธรรมฝ่ายสังขตะ (ในแง่นี้จะเห็นว่า นิพพานไม่มีทางเป็นพระเจ้า หรือ God ได้เลย ไม่ว่าบางท่านจะพยายามเพียงใดก็ ตามที่จะเทียบให้เป็นอย่างเดียวกัน นอกจากจะยอมปรับความหมายของ God เสียใหม่) (*๑๘๖)

เมื่อว่าโดยสามัญวิสัย ย่อมเป็นธรรมดาที่มนุษย์ทั่วไปจะต้องคิดว่ามีตัวตน มีพระผู้สร้างผู้บันดาลโลกและชีวิต เพราะตามที่มองเห็นด้วยสายตา การที่อะไรจะเกิดขึ้น จะเป็นไปอย่างไร ก็ต้องมีผู้สร้างหรือผู้ทำ ส่วนการที่จะมองเห็นเหตุปัจจัยซึ่งเป็นไปอยู่เบื้องหลังภาพของผู้สร้างผู้ทำนั้น เป็นเรื่องลึกซึ้งเห็นได้ยาก ดังนั้น ในสมัยโบราณ แม้แต่ฟ้าร้อง ลมพัด น้ำท่วม แผ่นดินไหว ก็จึงเข้าใจกันไปว่ามีเทวดาประจำอยู่เป็นผู้ทำทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงมิใช่เรื่องแปลก ที่สมณพราหมณ์ผู้ประเสริฐหรือเจ้าลัทธิชั้นพรหม จะพากันมาติดอยู่ในความคิดเรื่องอัตตาหรืออาตมัน และพระผู้สร้างผู้บันดาล ท่านผู้ใดมีปัญญามาก ก็ทำความคิดในเรื่องนี้ให้ละเอียดซับซ้อนกว้างขวางมาก แต่โดยสาระก็พากันมาวนเวียนติดอยู่ที่จุดเดียวกันนี้

การที่พระพุทธเจ้า ซึ่งก็น่าจะติดอยู่ในวงความคิดนั้น แล้วขยายบัญญัติให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไป แต่
กลับทรงค้นพบความเป็นอนัตตา หลุดพ้นจากความยึดถือตัวตน มาทรงแสดงให้เห็นว่ากระบวนธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัยได้อย่างไรโดยไม่ต้องมีผู้สร้างผู้บันดาล และอสังขตธรรมซึ่งเป็นสภาวะแท้จริงสูงสุด มีอยู่ได้โดยไม่ต้องเป็นอัตตา ไม่ต้องเกี่ยวกับการสร้างสรรค์บันดาลอย่างไร ข้อนี้จึงนับเป็นความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่ง แห่งวิวัฒนาการทางปัญญาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เป็นการถอนตัวหลุดพ้นจากหลุมดักอันใหญ่โตแสนลึก ที่มหาชนพากันมาตกติดอยู่ นักปราชญ์ยิ่งใหญ่ในอดีตก่อนหน้านั้น แม้จะเข้าใจถึงหลักอนิจจตา และทุกขตา แต่ก็มาติดอยู่ในความคิดเรื่องอัตตา ความเป็นอนัตตาจึงเป็นภาวะที่เห็นได้ยากมากพระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงอธิบายความเป็นอนัตตา ก็มักต้องทรงแสดงโดยใช้อนิจจลักษณะและทุกขลักษณะเป็นเครื่องช่วยชี้นำ ข้อที่ว่าอนัตตตาเห็นได้ยากจนต้องใช้อนิจจตาและ ทุกขตาเป็นเครื่องช่วยอธิบายก็ดี การค้นพบอนัตตาเป็นความก้าวหน้าสำคัญของปัญญา และไม่ปรากฏก่อนหรือนอกพระพุทธศาสนาก็ดี เป็นเรื่องที่พระอรรถกถาจารย์ก็ได้ตระหนักอยู่แล้ว ดังจะยกคำกล่าวของท่านมาแสดงไว้ดังต่อไปนี้ (*๑๘๗)

“แท้จริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอนัตตลักษณะ ย่อมแสดงด้วยความไม่เที่ยงบ้าง ตัวความเป็นทุกข์บ้าง ด้วยทั้งความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์บ้าง ในข้อที่ว่านั้น พระองค์ทรงแสดงอนัตตลักษณะ ด้วยความไม่เที่ยง ในพระสูตรนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดพึงกล่าวว่า จักขุ (ตลอดถึงกายและใจ) เป็นอัตตา, คำกล่าวของผู้นั้นไม่สม (เพราะว่า) จักขุ (ตลอดถึงกายและใจ) ย่อมปรากฎแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม, ผู้มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปปรากฏนั้น ก็จะต้องลงเนื้อความว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป, เพราะฉะนั้น คำที่กล่าวว่าจักขุ (ตลอดถึงกายและใจ) เป็นอัตตานั้น จึงไม่สม. จักขุ (ตลอดถึงกายและใจ) ย่อมเป็นอนัตตา ฉะนี้” (*๑๘๘)

“พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักษณะ ด้วยความเป็นทุกข์ ในพระสูตรนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา ก็ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้วไซร้, รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ (มีความบีบคั้นข้องขัด-ทุกข์) และใครๆ ก็ฟังได้ (ตามปรารถนา) ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้ แต่เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ -ทุกข์) และจึงไม่ได้ (ตามปรารถนา) ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้, รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้” (*๑๘๙)

“พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักษณะ ด้วยทั้งความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์ในพระสูตรทั้งหลาย เช่นที่ว่า ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา, สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นพึงเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา, มิใช่เราเป็นนั่น, นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา” (*๑๙๐)

เพราะเหตุไร จึงทรงแสดงอย่างนี้? เพราะความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์เป็นสภาพปรากฎ (คือมองเห็นได้ง่าย) จริงทีเดียว เมื่อถ้วย ชาม ขัน หรือวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ตกจากมือแตก ชนทั้งหลายย่อมกล่าวว่า “โอ้ อนิจจัง” อย่างนี้ ความไม่เที่ยง จึงชื่อว่าเป็นของปรากฎ เมื่อฝีและตุ่มเป็นต้นเกิดขึ้นตามร่างกาย หรือถูกตอถูกหนามเป็นต้นที่มตำ ชนทั้งหลายย่อมกล่าวว่า “โอย ทุกข์นะ” อย่างนี้ ทุกข์จึงชื่อว่าเป็นของปรากฏ ส่วนอนัตตาลักษณะ ไม่ปรากฏ คือไม่กระจ่างแจ้ง เข้าใจตลอดได้ยาก แสดงได้ยาก บัญญัติได้ยาก

“อนิจจลักษณะ และทุกขลักษณะนั้น พระตถาคตทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ก็ย่อมปรากฎ, แต่อนัตตลักษณะ ย่อมไม่ปรากฏ นอกจากพระพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้น, จะปรากฏก็แต่ในอุบัติกาลของพระพุทธเจ้าเท่านั้น”

“จริงอยู่ ท่านดาบสและปริพาชกทั้งหลาย ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ดังเช่นสรภังคศาสดา เป็นต้น ย่อมสามารถกล่าวว่า อนิจจัง ทุกขัง ได้ แต่ไม่สามารถที่จะกล่าวว่า อนัตตาแม้นหากว่าท่านสรภังคศาสดาเป็นต้นเหล่านั้น จะพึงสามารถกล่าวว่าอนัตตา แก่บริษัทที่ประชุมกันได้แล้ว, บริษัทที่มาประชุมกัน ก็คงจะมีการบรรลุมรรคผลได้ แท้จริง การบัญญัติ (ยกขึ้นมาวางให้ดู) อนัตตลักษณะ มิใช่วิสัยของใครๆ อื่น, หากเป็นวิสัยของพระสัพพัญญพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น. อนัตตลักษณะนี้เป็นของไม่ปรากฏโดยนัยดังกล่าวฉะนี้”

๑๘๓ พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทย ฉบับสยามรัฐ เป็น อตุตา และ นิรตตํ บ้าง เป็น อตตํ และ นิรตุติ บ้าง ดู ขุ.สุ.๒๕/๔๑๐/๕๘๘ ; ๔๑๗/ ๕๐๑; ๔๒๑/๕๑๔, และดูประกอบ ๒๕/๔๑๑/๔๘๙, ๔๑๒/๔๙๑ ; ๔๓๕/๕๔๕) แต่ฉบับอื่นๆ เท่าที่พบเป็น อตุตา และ นิรตุตา ทั้งนั้น
๑๘๔ ดู ขุ.ม.๒๙/๑๐๗/๙๗; ๔๒๗/๒๙๗; ๗๒๑/๔๒๖ และดูประกอบ ขุ.ม.๒๙/๑๒๒/๑๐๗; ๑๖๔/๑๒๙; ขุ.จู.๓๐/๔๐๒/๑๙๓
๑๘๕ ขุ.สุ.๒๕/๔๒๑/๕๑๔; อธิบายใน ขุ.ม.๒๙/๗๒๑/๔๒๖
๑๘๖ ว่าที่จริง ทั้งคำว่าพระเจ้า และคำว่า God ต่างก็จัดอยู่ในจำพวกคำที่มีขอบเขตความหมายไม่ลงตัว คำว่าพระเจ้านั้น แต่เดิมเป็นคำที่ชาวพุทธใช้เรียกพระพุทธเจ้า (พระผู้เป็นเจ้า ก็เป็นคำเรียกพระภิกษุ) ต่อมา เมื่อชาวคริสต์ใช้คำนั้นเรียกเทพสูงสุดของตนแล้ว ชาวพุทธก็ปล่อยจนลืมความหมายที่ตนเคยใช้เดิม ส่วนคำว่า God ชาวคริสต์ใช้เรียกเทพสูงสุดที่ตนนับถือว่าเป็นผู้สร้างโลก มีลักษณะเป็นตัวบุคคล แต่นักปรัชญาบางคนแปรขยายความหมายของ God ออกไปเป็นสภาวะนามธรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการสร้าง
โลก นักปราชญ์คริสต์สมัยใหม่บางท่านก็อธิบายความหมายของ God ใหม่อย่างเป็นนามธรรม ไม่เป็นตัวบุคคล แต่สถาบันศาสนาคริสต์ไม่ยอมรับ (ถ้าไม่ถึงกับถือหรือประณามว่านอกคอก), Hans King ใน Does God Exist? An Answer for Today, trans. Edward Quinn (London: Collins, 1980), pp. 594-602] เมื่อพยายามเปรียบเทียบ God กับ นิพพาน ก็ตระหนักดีถึงความแตกต่างในแง่ที่นิพพานไม่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์บันดาลโลก
๑๘๗ วิภงฺด.อ.๖๓-๖๔; และบางส่วนใน ม.อ.๒/๑๕๑-๒; วินยฎีกา ๔/๘๒
๑๘๘ ม.อุ.๑๔/๘๑๘/๕๑๒
๑๘๙ สํ.ข.๑๗/๑๒๗/๘๒
๑๙๐ เช่น สํ ข.๑๗/๔๒/๒๘

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
            ๔. อัตตา - อนัตตา และ อัตตา - นิรัตตา
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา