แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปกิณกะธรรม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปกิณกะธรรม แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคาร

มหายานปัญจขันธศาสตร์

ปัญจขันธศาสตร์

ที่มา รจนาโดย พระสถิรมติ พระอาจารย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของนิกายโยคาจารย์ ท่านเป็นศิษย์ของ พระวสุพันธุ นิกายโยคาจารย์หรือวิชญาณวาท ปรัชญาโยคาจารย์ต้นคิดคือ พระไมตรีนาถ แต่ผู้สานต่อแนวคิดและดำเนินการก่อตั้งนิกายโยคาจารย์ คือศิษย์ของท่าน 🔎พระอสังคะ (พ.ศ.๘๕๓-๙๓๓) ท่านบวชตั้งแต่เป็นเณรในนิกายสรวาสติวาทของเถรวาท และต่อมาได้กราบพระไมตรีนาถ คณาจารย์ของมหายานเป็นพระอาจารย์และได้เปลี่ยนมาเป็นมหายาน แรกเริ่มงานสถาปนาแนวคิดโยคาจารย์มิได้ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ท่านอสังคะ จึงได้ไปชักชวนให้ พระน้องชาย พระวสุพันธุ (๘๕๙-๙๓๙) ซึ่งบวชอยู่ในนิกายสรวสติวาส ให้หันมาเข้าสู่มหายานและร่วมกันเผยแพร่หลักปรัชญาโยคาจารย์จนแพร่หลายเป็นนิกายใหญ่หนึ่งในสี่นิกายหลักของอินเดียในยุคนั้น

แปลจากสันสกฤตเป็นภาษาจีนโดยพระเสวียนจั้ง หรือพระถังซำจั๋ง สมัยราชวงศ์ถัง แปลไทย เสถียร โพธินันทะ


สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนานัยแห่งปัจขันธ์
มีรูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์

🔅 รูปขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปอันอาศัยมหาภูตรูปเกิดนั้น
มหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้นเป็นไฉน?
คือปฐวีธาตุ ๑, อาโปธาตุ ๑, เตโชธาตุ ๑, วาโยธาตุ ๑,
นั้นคืออย่างไร?
คือ ปฐวีธาตุมีความแค่นเข็งเป็นสภาวะ, อาโปธาตุมีความชุ่มไหลเป็นสภาวะ, เตโชธาตุมีความร้อนอุ่นเป็นสภาวะ, วาโยธาตุมีความหวั่นไหวเป็นสภาวะ
อุปทายรูปอันอาศัยเกิดแต่มหาภูตรูปนั้นเป็นไฉน?
คือ จักขุนทรีย์, โสตินทรีย์, ฆานิน-ทรีย์, ชิวหินทรีย์, กายินทรีย์, รูปะ, สัททะ, คันธะ, รสะ, โผฎฐัพพะส่วนหนึ่ง, อวิญญัติรูป เหล่านี้เป็นต้น
จักขุทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่รูปารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
โสตินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่สัททารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
มานินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่คันธารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
ชิวหินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่รสารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
กายินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่โพฎฐัพพารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
รูปารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งจักขุ มีวรรณะรูป สัณฐาน รูปและวิญญัติรูป เป็นต้น
สัททารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งโสตะ มีอุปาทินกมหาภูตสัททะ๑, อนุปาทินกมหาภูตสัททะ๑ และอุปาทินกานุปาทินกสหชาติมหาภูติสัททะ๑ (อุปาทินกมหาภูติสัททะ เช่น เสียงพูดจาก, เสียงตบมือดังๆหรือเสียงต่างๆซึ่งเกิดจากสิงที่มีชีวิต อนุปทินกมหาภูติสัททะ เช่น เสียงลมพัด เสียงคลื่นทะเละเบาๆ เสียงต่างๆซึ่งเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต อุปทินกานุปาทินกมหาภูติสัททะ ได้แก่ เสียง,ซึ่งด้วยสิ่งมีชีวิตและไร้ชีวิตร่วมกัน เช่น เสียงตีกลอง เป็นต้น)
คันธารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งแห่งฆานะ มีสุคันธะ,ทุคันธะ,อสุคันธาทุคคันธะ
รสารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งชิวหา มีรสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม รสเผ็ด รสขม รสจืด
โผฏฐัพพารมณ์ส่วนหนึ่งนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งกาย ยนเว้นมหาภูตเสีย ได้แก่ สภาพอ่อนลื่นสลวย, สภาพหยาบกระด้าง, สภาพที่หนัก, สภาพที่เบา,ความเย็น, ความหิว, ความกระหาย เป็นต้น
อวิญญัติเป็นต้นนั้นเป็นไฉน?
คือ สภาพ(ที่ทำให้เกิด) มีวิญญัติกรรมและรูปอันเกิดจากสมาธิ รูปอย่างนี้เป็นอนิทัสสนะเห็นก็ไม่ได้ อัปปฏิฆะกระทบก็ไม่ได้

🔅 เวทนาขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือเวทนา ๓ ประการ มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา สุขเวทนานั้น อธิบายว่าสภาพใดที่ดับไปแล้ว จิตก็ยังพอใจจักเสพซึ่งอารมณ์นั้นอีก ทุกขเวทนานั้นอธิบายว่า สภาพใดที่เกิดขึ้นแล้ว จิตมีความปรารถนาจักหลีกให้พ้นจากอารมณ์นั้น ส่วนอทุกขมสุขนั้นอธิบายว่าสภาพใดที่เกิดขึ้นแล้วจิตปราศจากความปรารถนาทั้ง ๒ ประการ คือไม่มีความปรารถนาจักเสพอีก หรือปรารถนาจักหลีกให้พ้นไปเสีย

🔅 สัญญาขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันเป็นอธิบดีหมายจำในสัพพารมณ์ทั้งปวง

🔅 สังขารขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือ ยกเวทนาขันธ์,สัญญาขั้นธ์ออกเสีย ที่เหลือได้แก่เจตสิกทั้งหมด กับทั้งจิตตวิปยุตธรรมทั้งมหด

เจตสิกธรรมที่เหลือนั้นเป็นไฉน?
คือจิตตสัมปยุตตสังขารธรรมนั่นเอง มี ผัสสะ,มนสิการ, เจตนา, ฉันทะ, อธิโมกข์, สติ, เอกัคคตา,มติ, ศรัทธา, หิริ, โอตตัปปะ, อโลภะ, อโทษะ, อโมหะ, วิริยะ, ปัสสัทธิ, อัปปาทะ, ตัตรมัชฌัตา, อหิงสา,โลภะ,โทษะ,มานะ, อวิชชา, ทิฏฐิ, วิจกิจฉา, โกรธะ, อุปนาหะ, มักขะ, ปลาสะ,ออัสสา, มัจฉริยะ, สาเถยยะ, มายา, มทะ, วิหิงสา, อหิริ, อโนตตัปปะ, ถีนะ, อุทธัจจะ,อัสสัทธิยะ, โกสัชชะ, ปมาทะ, มุฏฐสัจจะ, วิกเขปะ, อสัมปชานะ, กุกกุจจะ, มิทธะ, วิตก, วิจาร, เหล่านี้ชื่อว่า เจตสิกธรรม ในเจตสิกเหล่านั้น มี ๕ ดวงเป็นสัพพจิตตสาธารณ์, ๕ดวงเป็นปกิณกเจตสิก, ๑๑ ดวงเป็นโสภณเจตสิก, ๖ ดวงเป็นกิเลสเจตสิก, ที่เหลือเป็นอุปกิเลสเจตสิก, และอีก ๔ ดวงเป็นอนิยตเจตสิก
ผัสสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมีการประชุมพร้อมด้วยวัตถุ อารมณ์, วิญญาณ, ทั้ง ๓ เกิดความรู้ขึ้นเป็นสภาวะ
มนสิการนั้นเป็นไฉน?
คือ สภาพซึ่งทำความรู้เอาใจใส่ให้เกิดแก่จิต
เจตนานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งยังจิตให้เป็นไปในกุศลบ้าง ,อกุศลบ้าง,อัพยากตบ้าง, มีความปรุงแต่งจิตให้เป็นมโนกรรมเป็นสภาวะ
ฉันทะนั่นเป็นไฉน?
คือสภาพให้เกิดความพอใจในอารมณ์ มีความหวังต้องการเป็นสภาวะ
อธิโมกข์เป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งตัดสินอารมณ์ตามที่รับรู้มา มีความเด็ดขาดเป็นสภาวะ
สตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งยังจิตให้ระลึกได้ในอารมณ์เนืองๆ มีความจำได้แม่นยำเป็นสภาวะ
เอกัคคตานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเพ่งในอารมณ์ มีจิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียวเป็นสภาวะ (ตามตัวจีนแปลว่าสมาธิซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับ (เอกัคคตา)
มตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่คัดเลือกในอารมณ์เป็นสภาวะ เป็นไปโดยโยนิโสบ้าง อโยนิโสบ้าง หรือไม่เป็นไปโดย ๒ ประการดังกล่าวนั้นบ้าง
ศรัทธานั้นเป็นไฉน? คือสภาพที่ยังจิตให้เกิดความเลื่อมใสเชื่อถืออย่างถูกต้องในเรื่องกรรม, วิบากแห่งกรรม, ในอริยสัจ, ในพระรัตนตรัย เป็นต้น มีจิตผ่องแผ้วเป็นสภาวะ
หิรินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมี (ความเคารพรัก) ตนเองเป็นอธิบดี (เคารพรักใน) ธรรมเป็นอธิบดีมีความละอายต่อการทำบาปเป็นสภาวะ
โอตตัปปะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมี(ความเคารพเกรง) ผู้อื่นเป็นอธิบดีมีความละอายต่อการทำบาปเป็นสภาวะ
อโลภะนั้นเป็นไฉน?
คือ สภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกันโลภะ มีความเบื่อหน่ายเห็นโทษของโลภะ มีการไม่ยึดถือหวงแหนเอาไว้เป็นสภาวะ
อโทสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับโทสะมีความเมตตาเป็นสภาวะ
อโมหะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับโมหะ มีความรู้แจ้งดำเนินตามสัมมาปฏิปทาเป็นสภาวะ
วิริยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับความย่อท้อขี้เกียจ มีการยังกุศลธรรมให้ปรากฏ มีความอุตสหะพากเพียรเป็นสภาวะ
ปัสสัทธินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกกับความหยาบหนักกระด้าง มีความอิ่มเอิบสบายเหมาะสมเป็นสภาวะ
อัปปมาณนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับประมาทมีอโลภะ (อโทสะ อโมหะ) ตราบถึงวิริยะเป็นปทัฏฐาน มีการสละสรรพอกุศล แล้วบำเพ็ญสรรพกุศลอันเป็นคู่ปราบ (ของอกุศล) เป็นสภาวะ
ตัตรมัชฌตานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันอาศัยอโลภะ อโทสะ (อโมหะ)ตราบถึงวิริยะ ยังจิตให้ลุความเสมอภาพ อนึ่งอาศัยเจตสิกดวงนี้สามารถยังจิตให้พ้นจากอกุศลทั้งหลาย แลให้ตั้งอยู่ในธรรมอันผ่องแผ้วได้
อหิงสานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับวิหิงสา มีความกรุณาเป็นสภาวะ
โลภะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นซึ่งเป็นฉันทราคะพอใจติดในปัญจุปาทานขันธ์เป็นสภาวะ
โทสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความเบียดเบียนในสรรพสัตว์เป็นสภาวะ
มานะนั้นเป็นไฉน?
มานะมี ๗ อย่าง คือมานะ, อภิมานะ, อติมานะ, อัสมินานะ, อธิมานะ, อวมานะ, มิจฉามานะ
        ๑. มานะนั้นเป็นไฉน? คือเป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขาหรือเป็นผู้เสมอเขาสำคัญตัวว่าเสมอเขา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๒. อภิมานะนั้นเป็นไฉน? คือเป็นผู้เสมอเขาสำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา หรือเป็นผู้เลวกว่วเขาสำคัญตัวว่าเสมอเขา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๓. อติมานะนั้นเป็นไฉนคือผู้ที่เลวกว่าเขา สำคัญตัวเขาว่าเลิศกว่าเขา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๔. อัสมิมานะนั้นเป็นไฉน? คือความยึดถือใดอันเป็นไปในปัญจขันธ์ สำคัญว่าเป็นของๆเรา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๕. อธิมานะนั้นเป็นไฉน? คือธรรมพิเศษอันใดซึ่งตนยังมิได้บรรลุ สำคัญผิดว่าตนได้บรรลุถึงแล้ว มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๖. อวมานะนั้นเป็นไฉน? คือผู้อื่นเขามีคุณธรรมที่ดีหลายส่วน แต่ตนเองสำคัญว่าหมิ่นตัวเองว่าต่ำเลว (ไม่อาจทำได้อย่างเขา) มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๗. มิจฉามานะนั้นเป็นไฉน? คือตนเองปราศจากคุณธรรมใดๆ สำคัญว่าตนมีคุณธรรมมีจิตทะนงเป็นสภาวะ
อวิชชานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความไม่รู้แจ้งในเรื่องกรรม, วิบากแห่งกรรม, ในเรื่องอริยสัจจ์,พระรัตนตรัย มีความปราศจากปัญญาเป็นสภาวะ อวิชชานี้แบ่งออกเป็น ๒ ประการคือประการหนึ่งเป็นสหาติ(เกิดร่วมอยู่เสมอนับตั้งแต่ปฏิสนธิ) ประการหนึ่งเกิดจากวิกัลป์ปะ (มีมิจฉาทิฏฐิเป็นต้น มาเกิดเมื่อได้รัรบการอบรมที่ผิด) อนึ่ง โลภะ,โทสะ,โมหะในกามภพย่อมเป็นอกุศลมูลทั้ง ๓ กล่าว คือ เป็นโลภะอกุศลมูล, โทสะอกุศลมูล, โมหะอกุศลมูล
ทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
ทิฏฐิมี ๕ ประการ คือสักกายทิฏฐิ, อันตคาหิกทิฏฐิ, มิจฉาทิฏฐิ, ทิฏฐิปรามาส, สีลพตปรามาส
สักกายทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
คือความยึดมั่นในปัญจุปาทานขันธ์ ว่านี้เป็นเราหรือเป็นของๆเรา มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
อัตคาหิกทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
คือสักกายทิฏฐิซึ่งเพิ่มกำลังทวีแรงขึ้นนั้นเอง มีความยึดมั่นในอารมณ์ว่าอย่างนี้เที่ยงแน่นอน หรือยึดมั่นในอารมณ์ว่าอย่างนี้ขาดสูญแน่นอน (คือเป็นสัสสตทิฐิและอุจเฉททิฏฐิ) มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
มิจฉาทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
คือการปฏิเสธคัดค้านเหตุและวิบากแห่งเหตุ,การปฏิเสธคัดค้านกิริยา หรือปฏิเสธคัดค้านทำลายกุศลธรรม มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
ทิฏฐิปรามาสนั้นเป็นไฉน?
คือความยึดมั่นอันสืบเนื่องมาด้วยทิฏฐิทั้ง ๓ (ที่กล่าวมาแล้วตอนต้น) เป็นไปในขันธ์อันเป็นที่อาศัย ว่า นี้และเป็นอย่างเลิศ นี้แลเป็นอย่างประเสริฐ, นี้แลเป็นที่สุด มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
สีลพตปรามาสนั้นเป็นไฉน?
คือความถือมั่นอย่างผิดๆ อันเนื่องด้วยสีลพรตในขันธ์อันเป็นที่อาศัยว่า นี้แลเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์, นี้และเป็นวิมุตติ, นี้แลเป็นนิสสรณะ มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
วิจิกิจฉานั้นเป็นไฉน?
คือความลังเลไม่แน่นอนใจเป็นไปในอริยสัจจธรรมบ้างในคุณพระรัตนตรัยบ้าง ว่าจักมีอยู่ฤาบ่มี มีความสงสัยเป็นสภาวะ

ในบรรดากิเสลดังกล่าวมา ทิฏฐิ ๓ เบื้องหลัง (คือมิจฉาทิฏฐิ, ทิฏฐิปรามาส,สีลพตปรามาส) และวิจิกิจฉา ย่อมเกิดด้วยวิกัลป์ปะ กิเลสที่เหลือ (มีอวิชชา สักกายทิฏฐิ เป็นต้น) ย่อมเกิดด้วยสาธารณ์โดยสหชาติบ้าง โดยวิกัลป์ปะบ้าง

โกรธนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพเนื่องมาแต่อารมณ์ที่ปรากฏเป็นประโยชน์แห่งตนจิตมีความคับแค้นเป็นสภาวะ
อุปนาหะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมีความโกรธเป็นผู้นำมาก่อน มีความผูกโกรธไว้ไม่ยอมละเป็นสภาวะ
มักขะนั้นเป็นไฉน?
คือมีความที่ปิดบังซ่อนเร้นความชั่วแห่งตนไว้เป็นสภาวะ
ปลาสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นเหตุกล่าววาจาหยาบคาย มีการล่วงเกินผู้อื่นเขาเป็นสภาวะ
อิสสานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันเนื่องด้วยความสุขสมบูรณ์ของผู้อื่นแล้ว มีจิตไม่ชอบใจในความสุขสมบูรณ์ของเขาเป็นสภาวะ
มัจฉริยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งตรงกันข้ามกับการเสียสละ มีจิตหวงแหนตระหนี่ไว้เป็นสภาวะ
สาเถยยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความหลอกลวงผู้อื่น มีการแสดงโอ้อวด ซึ่งคุณอันไม่มีในตนเป็นสภาวะ
มายานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความหลอกลวงด้วยเล่ห์เหลี่ยมอุบาย ปิดบังโทษของตน มีจิตอันคดงอเป็นสภาวะ
มทะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมัวเมาทะนงในความสุขสมบูรณ์ มีการทำลายความดีให้หมดไปเป็นสภาวะ
วิหิงสานั้นเป็นไฉน?
คือมีความเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายให้เดือดร้อนเป็นสภาวะ
อหิรินั้นเป็นไฉน?
คือการที่กระทำบาปทุจจริต มีความไม่ละอายต่อตนเองเป็นสภาวะ
อโนตตัปปะนั้นเป็นไฉน?
คือการที่กระทำบาปทุจจริต มีความไม่ละอายต่อผู้อื่นเป็นสภาวะ
ถีนะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่จิตไม่อิ่มเอิบสบาย จิตไม่สมควรแก่การงาน มีควยามหดหู่ไม่แจ่มใสเป็นสภาวะ
อุทธจจะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่จิตฟุ่งซ่านนึกคิดถึงเกตุการณ์ต่างๆ เช่นความปิติสุขโสมนัสเป็นต้น (ในประการเดียวกันก็หมายเอาความทุกข์โทมนัสด้วย) มีจิตปราศจากความสงบเป็นสภาวะ
อัสสัทธิยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันศรัทธาจักพึงปราบ ได้แก่ ความไม่โน้มน้อมเชื่อในทางที่ถูก ในเรื่องกรรมและวิบากแห่งกรรม เป็นต้น มีจิตไม่ผ่องแผ้วเป็นสภาวะ
โกสัชชะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันวิริยะจักพึงปราบ ในการเจริญกุศลธรรมจิต ปราศจากความวิริยะแกล้วกล้าเป็นสภาวะ
ประมาทนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพขี้คร้านเลินเล่ออันอาศัยโลภะ,โทสะ,โมหะ,เป็นสมุฏฐาน มีการไม่คุ้มครองริกษาจิตให้พ้นจากปวงกิเลส มีความไม่สามารถเจริญอบรมกุศลธรรมทั้งหลายเป็นสภาวะ
มุฏฐสัจจะนั้นเป็นไฉน?
คือสติที่มีความไม่อาจระลึกจดจำได้ในสรรพกุศลธรรมเป็นสภาวะ
วิเขปะนั้นเป็นไฉน?
คือส่วนหนึ่งของโลภะ โทสะ โมหะ มีการทำให้จิตและเจตสิกระส่ำระสาย (จับอารมณ์ไม่มั่งคง) เป็นสภาวะ
อสัมปชานะนั้นเป็นไฉน?
คือปัญญาอันประกอบด้วยกิเลส มีสมุฏฐานให้เกิดกายทุจ-จริต วจีทุจจริต มโนทุจจริตเป็นสภาวะ
กุกกุจจะนั้นเป็นไฉน?
คือความรู้สึกเสียใจ (ในการทำบาปที่ทำไปแล้วหรือในการทำบุญที่ยังไม่ได้ทำ) เป็นสภาวะ
มิทธะนั้นเป็นไฉน?
คือความที่ (จิต,เจตสิก) ไม่เป็นไปโดยอิสสระ มีความง่วงเหงาไม่แจ่มกระจ่างเป็นสภาวะ
วิตกนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งอาศัยเจตนาและมติเป็นสมุฏฐานแล้วยกจิตขึ้นตรึกในอารมณ์ มีการยังจิตให้พิจารณาถือเอาอารมณ์ที่หยาบเป็นสภาวะ
วิจารณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งอาศัยเจนตาและมติเป็นสมุฏฐาน แล้วยกจิตขึ้นครองในอารมณ์ มีการยังจิตให้พิจารณาถือเอาอารมณ์ที่ละเอียดเป็นสภาวะ
จิตตวิปยุตตสังขารนั้นเป็นไฉน?
คือธรรมซึ่งอาศัยเนื่องด้วยรูปธรรมบ้างนามธรรมบ้างปัญญัติออกมาเป็นส่วนหนึ่ง มีความไม่สามารถบัญญัติว่าธรรมเหล่านี้เป็นต้น เป็นอันเดียวกันหรือต่างจากกันกับรูปนามเป็นสภาวะ
ก็ธรรมเหล่านั้นคืออะไรบ้าง?
คือปัตติ, อสัญญีสมาบัติ, นิโรธสมาบัติ, อสัญญีเทพ, ชีวิตินทรีย์, สภาคตา, ชาติ, ชรา, ฐิติ, อนิจจ, นามกาย, บทกาย, พยัญชนากาย, ปุถุชนตา เหล่านี้เป็นอาทิ
        ปัตตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ได้หรือสภาพที่สำเร็จ มีอยู่ ๓ ประการ คือความสำเร็จแห่งพีชะหนึ่ง, ความสำเร็จโดยอิสสระหนึ่ง, ความสำเร็จในพฤตติการณ์อันปรากฏขึ้นอยู่หนึ่ง, ให้ได้หรือสำเร็จตามความเหมาะสมนั้นๆ
        อสัญญีสมาบัตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งพ้นไปแล้วจากความติดใน (รูปพรหม)ชั้นสุภกิณหา แต่ยังไม่พ้นไปจากความติดความพอใจในพรหมซึ่งเป็นชนชั้นสูงกว่านั้นขึ้นไปมีความทำในใจเพื่อละสัญญาเป็นเบื้องหน้า มีจิตและเจตสิกที่ไม่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาดเป็นต้นดับไปเป็นสภาวะ
        นิโรธสมาบัตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งพ้นไปแล้วจากความติดในอากิญจัญยายตนภูมิ แล้วเข้าสู่เนวสัญญาณนาสัญญายตนภูมิแล้วเพียรบำเพ็ญต่อไป มีความทำในใจเพื่อละสัญญา (และเวทนา) เป็นต้น เป็นเบื้องหน้ามีจิตและเจตสิกที่ไม่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาด และจิตเจตสิกที่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาดส่วนหนึ่งดับไปเป็นสภาวะ
        อสัญญีเทพเป็นไฉน?
คือวิบากอันเกิดแต่อสัญญีสมาบัติ ซึ่งนำไปปฏิสนธิในพรหมขั้นอสัญญีนั่นเอง ครั้นปฏิสนธิแล้วมีจิตและเจตสิกที่ไม่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาดดับไปเป็นสภาวะ
        ชีวิตินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเกิดสืบเนื่องมาแต่อดีตกรรม รักษาไว้ซึ่งสภาคตา (กล่าวคือขันธ์) ให้ดำรงอยู่ชั่วกาลเขตหนึ่งเป็นสภาวะ
        สภาคตานั้นเป็นไฉน?
คือความที่สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ก็มีสภาพที่ละม้ายคล้ายคลึงดุจกันเป็นสภาวะ
        ชาตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาคตาและสรรพสังขาร ซึ่งแต่เดิมยังไม่เกิดปัจจุบันได้เกิดขึ้นแล้วเป็นสภาวะ
        ชรานั้นเป็นไฉน?
คือสรรพสังขารเหล่านั้น มีความสืบเนื่องเปลื่ยนแปรไปเป็นสภาวะ
        ฐิตินั้นเป็นไฉน?
คือสรรพสังขารเหล่านั้นมีความสืบเนื่องหมุนเวียนเป็นสภาวะ
        อนิจจานั้นเป็นไฉน?
คือสรรพสังขารเหล่านั้นมีความสืบเนื่องแตกดับไปเป็นสภาวะ
        นามกายนั้นเป็นไฉน?
คือความที่เพิ่มเติมร้องขานชื่อแห่งสภาวธรรมเป็นสภาวะ
        บทกายนั้นเป็นไฉน?
คือความที่เพิ่มเติมร้องขานความแตกต่างของสภาวธรรมเป็นสภาวะ
        พญัญชนะกายนั้นเป็นไฉน?
คืออักษรทั้งหลายนั้นเอง มีความสามารถที่จักแสดงความหมายแห่งนามกายและบทกายเป็นสภาพ อีกนัยหนึ่งชื่อว่าเป็นภาวะที่ประกาศอธิบายว่าเพราะเป็นที่อาศัยแห่งนามกายบทกายประกาศซึ่งอรรถอันหมดจดปราศจากส่วนเหลือ หรือชื่อว่าอักษรเพราะเป็นที่กำหนดแน่นอนไม่แปรผัน
        ปุถุชนตานั้นเป็นไฉน?
คือความที่ตนยังมิได้ลุอริยธรรมเป็นสภาวะ

🔅 วิญญาณขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือธรรมชาติซึ่งมีความรู้ในอารมณ์เป็นสภาวะ ธรรมชาตินี้เรียกว่า “จิต” บ้าง เพราะสามารถคัดเลือกรวบรวมอารมณ์ เรียกว่า “มโน” บ้างเพราะสงเคราะห์เป็นอันเดียวกันกับมโนนั่นเอง (อรรถกถาว่า เพราะเป็นที่อาศัยรวมแห่งเจตสิกฉะนั้นจึงชื่อว่ามโน) 
ถ้าจะว่าโดยจิตที่วิเศษแล้ว ก็คือ “อาลยวิญญาณนั่นเอง” จิตนี้สามารถสั่งสมพีชพันปีแห่งพฤติกรรมต่างๆของสัตว์ไว้ อนึ่งในการที่จิตรับรู้อารมณ์อันเป็นพฤติกรรมของจิตนั้น ไม่เป็นวิสัยแห่งการกำหนดแบ่งแยกจำแนกรู้ได้โดยง่ายเลย จิตนี้นับจำเดิมแต่ปฏิสนธิตราบถึงจุติย่อมเป็นปวัตติสืบเนื่องหมุนเวียนไปโดยไม่ขาดสาย อนึ่งวิญญาณดวงนี้ครั้นเมื่อบุคคลออกจากนิโรธสมาบัติ หรือสัตว์ซึ่งจุติจากอสัญญีภพ เมื่อจักขึ้นวิถีรับรุ้อารมณ์ เมื่อใดเมื่อนั้นปวัตติวิญญาณก็ย่อมประพฤติเป็นไป หมุนเวียนไปตามวิสัยแห่งอารมณ์ต่างๆดับไปในระหว่างแล้วก็เกิดขึ้นอีกเล่าเป็นชาติมรณะเวียนวนในวัฏสงสารอย่างนี้

อาลยวิญญาณนี้ เพราะอรรถว่าเป็นแหล่งเก็บรวบรวมแห่งสรรพพีชะทั้งหลายนั่นเอง อนึ่งเพราะเป็นที่เก็บแห่งอสมินานะเป็นสภาพ อนึ่ง เพราะความที่เป็นผู้ถือเอากายนี้เป็นอารมณ์ด้วยเหตุนี้จึงมีนามเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อาทานวิญญาณ” เพราะเป็นผู้ธำรงยึดในกรัชกายนี้ ส่วนมโนอันวิเศษนั้น คือ ได้แก่วิญญาณดวงที่ถือเอาอาลยวิญญาณเป็นอารมณ์ วิญญาณดวงนี้มี อัตตโมหะ, อัตตานุทิฏฐิ, อัสมิมานะ, อัตตติณหา, สัมปยุตต์อยู่ตลอดจำเดิมแต่ปฏิสนธิตราบถึงจุติเป็นปวัตติสืบเนื่องทุกเวลา ยกเว้นแต่ในพระอาหันตบุคคล, ในอริยมรรคและในนิโรธสมาบัติ

ถามว่า คำว่าขันธ์นั้นมีอรรถว่าอย่างไร?
ตอบว่า ความประชุมรวบรวมเป็นอรรถของขันธ์ คือบรรดาโลกิยธรรมที่เกิดดับสืบเนื่องประเภทต่างๆ มีคติ,อายตนะ, และรูป เป็นต้น เอามาสงเคราะห์รวมเข้าไว้

อนึ่งมีอายตนะ ๑๒ คือ จักขายตนะ คู่กัปรูปายตนะ,โสตายตนะคู่กับสัททายตนะ,ฆานายตนะคู่กับคันธายตนะ,ชิวหายตนะคู่กับรสายตนะ,กายายตนะคู่กับโผฏฐัพพายตนะ,ฆนายตนะคู่กับธรรมายตานะ,สำหรับจักขายตนะ เป็นต้น และรูปะ สัททะ คันธะ รสะ อายตนะนั้นได้อธิบายแล้วในเบื้องต้น โผฏฐัพพายตนะนั้นได้แก่ มหาภูติรูปและส่วนหนึ่งแห่ผัสสะ มนายตนะก็คือ วิญญาณขันธ์นั่นเอง ส่วนธรรมายตนะนั้น ได้แก่ เวทนา,สัญญา,สัขารขันธ์,และวิญญัติรูปเป็นต้น พร้อมอสังขตธรรมทั้งหลายด้วย

อสังขตธรรมนั้นเป็นไฉน?
คืออากาศสังขตะ, อัปปฏิสังขยนิโรธอสังขตะ, ปฏิสังขยนิโรธอสังขตะ และภูตตถตา เป็นต้น

อากาศนั้น ได้แก่ธรรมชาติอันสามารถรับรองรูปทั้งหลายได้ อัปปฏิสังขยนิโรธนั้นได้แก่ความดับชนิดที่มิได้พ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัด ที่ว่ามิได้พ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัดนั้นอย่างไร? กล่าวคือ ความดับที่มิได้อาศัยปัญญาพิจารณาทำลายกิเลส ขันธ์ทั้งหลายมิต้องเกิดขึ้นในที่สุด ปฏิสังขยนิโรธนั้นคืออย่าไร? คือความดับชนิดที่พ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัด ที่ว่าพ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัดนั้นอย่างไร? คือความดับที่อาศัยปัญญาพิจารณาทำลายกิเลส ขันธ์ทั้งหลายมิต้องเกิดขึ้นในที่สุด ภูตตถตานั้นเป็นไฉน? คือสภาวะแห่งธรรมทั้งปวง และสภาวะแห่งความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งปวงนั้น

ถามว่า อายตนะมีอรรถเป็นอย่างไร?
ตอบว่า ธรรมชาติใดเป็นประตูที่เกิดแห่งวิญญาณทั้งปวง ธรรมชาตินั้นคืออายตนะ

อนึ่งยังมีธาตุ ๑๘ คือ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททะธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานะธาตุ คันธะธาตุ ฆานะวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพะธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ

สำหรับธาตุ(ภายใน) ทั้งหลาย มีจักขุธาตุ เป็นต้น และธาตุ(ภายนอก)ทั้งหลาย มีรูปธาตุเป็นต้น มีอธิบายดุจได้กล่าวมาในตอนว่าด้วยอายตนะส่วนวิญญาณธาตุทั้ง ๖ นั้นก็อาศัยเกิดจากอินทรีย์ มีจักขุทรีย์เป็นต้น ซึ่งรับเอาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้น มีความรู้ในอารมณ์เป็นสภาวะ มโนธาตุนั้น ก็คือธาตุรู้ซึ่งเกิดดับสืบเนื่องเป็นสันตติเป็นต้น เพื่อเป็นการแสดงให้ทราบว่า (มโนธาตุ) นี้เป็นที่อาศัยแห่งมโนวิญญาณและเป็นการบัญญัติเรื่องธาตุ ๑๘ ได้โดยพิสดาร และโดยประการดังนี้ รูปขันธ์ก็ได้แก่ยตนะทั้ง ๑๐ ธาตุทั้ง ๑๐ กับธรรมายตนะธรรมธาตุส่วนหนึ่ง วิญญาณขันธ์ก็คือ มนายตนะและธาตุรู้อีก ๗ ส่วนขันธ์ที่เหลืออีกสามพร้อมด้วยส่วนหนึ่งแห่งรูปขันธ์และอสังขตธรรมทั้งหลายจัดเป็นธรรมายตนะ ธรรมธาตุ

ถามว่า ธาตุนั้นมีอรรถเป็นไฉน?
ตอบว่า ธรรมชาติซึ่งสามารถธำรงรักษาซึ่งคุณลักษณะแห่งพีชะไว้ โดยยังไม่มีพฤติกรรม ชื่อว่าเป็นอรรถของธาตุ

ถามว่า อาศัยอรรถเป็นไฉน? จึงบัญญัติเรื่องขันธ์,ธาตุ, อายตนะเป็นต้น
ตอบว่า เพื่อเป็นคู่ปราบทำลายความยึดถือในตน ๓ ประการ กล่าวคือ ความยึดถือว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นเราหนึ่ง, (แปลตามตัวว่าความยึดถือในเอกภาวะว่าเป็นเรา อรรถกถาแก้ว่า คือ ความยึดถือในเบ็ญจาขันธ์ทั้งหมดว่าเป็นเรา ส่วนความยึดถืออีกสองเป็นการยึดถือที่จำแนกไม่ใช่ยึดหมดทั้งเบ็ญจขันธ์ ผู้แปล) ความยึดถือว่าผู้เสวยเวทนาว่าเป็นเราหนึ่ง ความยึดถือว่าผู้กระทำเป็นเราหนึ่งตามลำดับ 

อนึ่งในธาตุ ๑๘ นี้ ธรรมที่เป็นรูปนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุทั้ง ๑๐ และส่วนหนึ่ง(แห่งธรรมธาตุหรือรูปซึ่งสงเคราะห์อยู่ในธรรมายตนะ) กล่าวคือ เป็นสภาวะแห่งรูปขันธ์นั่นเอง (หมายเฉพาะธาตุทั้ง ๑๐ )
ธรรมที่ไม่ใช่รูปนั้นมีเท่าไหร่?
คือธาตุที่เหลือนอกนี้
ธรรมที่เป็นสนิทัศนะนั้นมีเท่าไร?
คือรูปธาตุอันเดียว (มหายเอารูปารมณ์)
ธรรมที่เป็นอนิทัศนะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลือนอกนี้
ธรรมที่สัปปฏิฆะนั้นมีเท่าไร?
คือรูปธาตุทั้ง ๑๐ ด้วยเป็นธรรมที่กระทบกระทั่งแก่กันได้นั่นเอง
ธรรมที่เป็นอัปปฏิฆะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลือนอกนี้
ธรรมที่เป็นสาสวะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุ ๑๕ และส่วนหนึ่งของธาตุที่เหลืออีก ๓ (มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ) อธิบายว่า ในธาตุที่เหลือ ๓ ส่วนหนึ่งนั้น ถ้าเป็นที่เกิดแห่งกิเลส เป็นที่กิเลสประพฤติเป็นไป(จึงถือว่าเป็นสาสวะ)
ธรรมที่เป็นอนาสวะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลืออีก ๓ ส่วนหนึ่ง
ธรรมที่เป็นกามาวจรนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุ ๑๘ ทั้งหมด
ธรรมที่ป็นรูปาวจรนั้นมีเท่าไร ?
คือธาตุ ๑๔ ยกเว้น คันธะ รสะและฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ
ธรรมที่เป็นอรูปาวจรนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่อยู่สุดทั้ง ๓ (คือมโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ)
ธรรมที่ไม่ใช่อวจรนั้นมีเท่าไร?
คือธรรมที่เป็นอนาสวะทั้งหมด
ธรรมที่สงเคราะห์เข้าในขันธ์นั้นมีเท่าไร?
คือ ทั้งหมดยกเว้นอสังขตะธรรม
ธรรมที่สงเคราะห์เข้าในอุปาทานขันธ์นั้นมีเท่าไร?
คือสาสวธรรม
ธรรมที่เป็นกุศลนั้นมีเท่าไร? ธรรมที่เป็นอกุศลนั้นมีเท่าไร? ธรรมที่เป็นอัพยากตนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุทั้ง ๑๐ สาธารณ์แก่กุศล อกุศล และอัพยากต ธาตุรู้ทั้ง ๗ (มีวิญญาณธาตุ ๖ มโนธาตุ ๑) รูปะ สัททะ และส่วนหนึ่งของธรรมธาตุ ส่วนที่เป็นอัพยากตล้วนๆ มี ๘
ธรรมที่เป็นอัชฌัตตะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุ ๑๒ ยกเว้นรูปะ สัททะ คันธะ รส โผฏฐัพพะ และธรรมธาตุส่วนหนึ่ง
ธรรมที่เป็นพหิทธะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลืออีก ๖ (คือ อายตนะภายนอก๖)
ธรรมที่เป็นสารัมมณะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุรู้ทั้ง ๗ และธรรมธาตุส่วนหนึ่ง เจตสิกธรรม
ธรรมที่เป็นอนารัมมณะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลืออีก ๑๐ และธรรมธาตุ ส่วนหนึ่ง
ธรรมที่วิภาคอารมณ์ได้นั้นมีเท่าไร?
คือ มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ และส่วนหนึ่งของธรรมธาตุ
ธรรมที่เป็นอุปาทินกะนั้นมีเท่าไร?
คือ ธาตุภายใน ๕ และส่วนหนึ่งแห่งธาตุทั้ง ๔ กล่าวคือ รูปะ คันทธ รสะ โผฏฐัพพะ
ธรรมที่เป็นอนุปาทินกะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลือ ๙ และส่วนหนึ่งของธาตุทั้ง ๔
ธรรมที่เป็นสภาคตานั้นเป็นไฉน?
คือรูปธาตุภายในทั้ง ๕ (อินทรีย์ทั้ง ๕ ) กับวิญญาณและอารมณ์อันสมควรแก่(อินทรีย์) ของตน (เช่นจักขุนทรีย์ย่อมสมควรแก่จักขุวิญญาณและรูปารมณ์
ธรรมที่เป็นชะนิดเดียวกับสภาคตานั้นเป็นไฉน?
คือในธรรม (ทั้ง ๓ เช่น จักขุ จักขุวิญญาณ รูปารมณ์) ขาดวิญญาณของตนไปเสีย ก็ยังชื่อว่าเป็นธรรมประเภทเดียวกัน

 

จบมหายานปัญจขันธศาสตร์



วันจันทร์

การฝึกสมาธิเบื้องต้นเพื่อความสุขในชีวิตประจำวัน

ในยุคสมัยที่มีสิ่งเสพบริโภคให้แสวงหาความสุขกันอย่างพรั่งพร้อม และผู้คนก็ติดในสุขจากการเสพบริโภคกันมากอย่างที่บางครั้งเรียกว่าเป็นยุค “สุขนิยม” เมื่อผู้คนสนใจในความสุขกันมากดังนี้แล้ว ก็อาจเป็นการดีที่จะยกเอาประโยชน์ด้านความสุขนี่แหละขึ้นมาตั้งพิจารณาให้เห็นประจักษ์ สุขจากการเสพบริโภค กับสุขจากการเจริญสมาธิ มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างไร

ผู้ปฏิบัติเมื่อก้าวหน้าไปตามลำดับ แม้ในเบื้องต้น ก็พอจะเห็นได้ด้วยตนเอง โดยในที่นี้จะใช้การฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ ซึ่งเป็นวิธีที่ในพระไตรปิฎกปรากฎว่าพระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนบ่อยครั้ง (การฝึกสมาธิ รวมถึงสติ ในรูปแบบอื่นๆ ถ้าปฏิบัติถูกทางแล้วล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น)

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้สมาธิในอานาปานสตินี้แลอันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ย่อมยังละอองและฝุ่นนั้นๆ ให้อันตรธานสงบไปได้ โดยฉับพลัน ฉะนั้น” (มหาวิภังค์)

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวหาว่า สมณะศากยบุตรประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข พึงถามว่าประกอบแบบไหน เพราะมีอยู่มากด้วยกัน คือ บางคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดปด บำเรอตนด้วยกามคุณ อย่างนี้ชื่อว่าประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุขแบบชาวบ้าน ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน “การประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ได้แก่ ความสุขในฌาน ๔ ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวว่า สมณะศากยบุตร ประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ๔ อย่างนี้ ก็พึงรับรองว่ากล่าวถูกต้อง” (ปาสาทิกสูตร)

อย่างไรก็ตาม ต้องขอออกตัวไว้แต่ต้นว่า ผู้เขียนไม่เคยได้สมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิเลย แต่ในอานาปานสติ และกสิณบางอย่าง เมื่อไม่มีปัญหาสุขภาพรบกวน สามารถเจริญอุปจารสมาธิขึ้นได้ไม่ยากนัก ความเข้าใจในระดับที่ประจักษ์แจ้งกับตัวนั้น จึงตันอยู่แค่ระดับอุปจารสมาธิ ขั้นที่สูงไปกว่านี้เป็นเพียงการบรรยายไปตามหลักการที่ได้ศึกษามาและตามความเห็นส่วนตัวเท่านั้น


สมาธิ เป็นภาวะที่จิตสรรสร้างขึ้น ความเข้าใจในตัวสภาวะ และวิธีปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องสำคัญ วิธีฝึกสมาธิทุกวิธีล้วนมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดภาวะที่จิตสามารถแนบสนิทอยู่กับงาน (อารมณ์กรรมฐาน) อย่างเดียวต่อเนื่องกันไป โดยไม่มีอารมณ์อื่นฟุ้งขึ้นมารบกวนแม้ขณะจิตเดียว ท่านเปรียบเสมือนเปลวไฟที่ใหม้ไส้เทียนไปเรื่อยๆโดยไม่มีการกระเพื่อมไหวเพราะแรงลม เมื่อสมาธิตั้งมั่นดีแล้ว ก็จะมีกำลังพอที่จะข่มกิเลสให้สงบลงได้ตลอดช่วงระยะเวลานั้น ทางพระอภิธรรมท่านอธิบายว่าในอัปปนาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิกมีกำลังแรง ชวนจิตเกิดดับสืบต่อกันไปตลอดต่อเนื่องไม่ขาดสายไม่ตกภวังค์ นิวรณ์ ๕ จึงไม่มีช่องให้แทรกฟุ้งขึ้นมา (อุปจารสมาธิก็เป็นลักษณะเดียวกันนี้ แต่เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ)

“สมาธิที่ตั้งมั่นดีแล้ว ชื่อว่าเป็นนิพพานโดยปริยาย” (สันทิฏฐิกสูตร)

วัตถุประสงค์ที่สำคัญข้อหนึ่งในการฝึกสมาธิ ก็เพื่อจะให้ผู้ปฏิบัติได้สัมผัสโดยตรงกับภาวะความหลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราวด้วยกำลังสมาธิ (วิขัมภนวิมุตติ) เมื่อได้สัมผัสเองแล้ว ในส่วนนี้ก็ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ไม่ต้องคาดเดา หรือจินตนาการวาดภาพขึ้นมาลอยๆ ว่าภาวะนั้นจะดีเลิศเพียงใด อย่างไรก็ตาม ควรทราบว่า ภาวะความหลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราวด้วยกำลังสมาธิดังกล่าวนั้น ท่านหมายถึงสมาธิระดับฌาน ซึ่งไม่ใช่ของง่ายที่จะทำให้เกิดขึ้น แม้กระนั้น ผู้ปฏิบัติได้ถูกต้อง ก้าวหน้าเพียงขั้นอุปจารสมาธิ ก็จะได้สัมผัสกับภาวะที่สุขสงบประณีตในระดับหนึ่งแล้ว เนื่องด้วยกำลังของอุปจารสมาธิหรือแม้แต่ขณิกสมาธิก็เพียงพอที่จะข่มกิเลสลงได้อย่างมีนัยยะให้ตัวผู้ปฏิบัติรู้สึกได้ ขอให้ลองนึกถึงเวลาที่ฟังเพลง ชมภาพยนตร์ หรือทำงานอดิเรกอะไรก็ตามที่ชอบมากๆ บางครั้งจะมีบางช่วงบางตอนที่ท่านรู้สึกว่ามันสุดแสนจะประทับใจ จนความสนใจทั้งหมดถูกดึงดูดไปที่สิ่งๆนั้นเพียงสิ่งเดียว และได้ดื่มด่ำกับความสุขของช่วงเวลานั้น นั่นคือสิ่งๆนั้นมีอิทธิพลต่อความสนใจอย่างมากจนดึงดูดให้สมาธิเกิดขึ้นมาได้เอง ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านพอจะนึกออกกันหรือเปล่า แบบที่บางคนเวลาฟังเพลงที่เพราะมากๆแล้วรู้สึกขนลุก นั่นเป็นอาการทางร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดปีติ ซึ่งเป็นองค์ธรรมหนึ่งของปฐมฌาน (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) องค์ธรรมเหล่านี้อุปจารสมาธิก็มีเช่นเดียวกัน เพียงแต่อ่อนกำลังกว่าและเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ เพียงไม่กี่วินาที ภาวะเช่นนี้ เกิดขึ้นได้เองบางครั้งในชีวิตประจำวัน นี่เป็นสิ่งที่ใช้อธิบายว่า ทำไมบางครั้งการฟังเพลง หรือชมภาพยนตร์ ที่มีเนื้อหาเศร้า แต่กลับรู้สึกเพลิดเพลิน มีความสุข สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสิ่งนั้นดึงดูดความสนใจของเราได้มากในระดับที่เริ่มจะเกิดสมาธินั่นเอง (ผู้เขียนเข้าใจว่าสมาธิที่เกิดขึ้นเองนี้จะไม่เกินขณิกสมาธิ คือ อย่างมากได้แค่เฉียดเข้าไปใกล้อุปจารสมาธิเท่านั้น)

ทั้งนี้สมาธิในลักษณะนี้เกิดจากความวิจิตรของสิ่งเสพบริโภคนั้นดึงดูดใจเรา ต่างจากสมาธิจากการปฏิบัติซึ่งเป็นภาวะที่เราสร้างขึ้นเอง กล่าวคือ สุขจากสมาธินั้นเราเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นมาได้เอง (นิรามิสสุข) โดยไม่ต้องพึ่งพิงอิงอาศัยสิ่งเสพบริโภคจากภายนอกมาทำให้เกิดความสุข (สามิสสุข) ซึ่งเป็นการแสวงหาความสุขที่มีข้อบกพร่อง มีโทษภัยมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ในที่นี้จะใช้อานาปานสติเป็นหลักในการอธิบาย

“… นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า …”

เฉพาะส่วนที่เป็นสมถภาวนา ผู้เขียนมีความเห็นว่าในเบื้องต้นเราอาจจับหลักไว้เพียงเท่านี้ เนื้อความต่อจากนี้เป็นการใช้อานาปานสติเป็นฐานของการพิจารณาสังขตธรรม กล่าวคือเป็นส่วนที่ยกขึ้นสู่วิปัสสนาภาวนานั่นเอง เช่น ในอานาปานสติสูตร, สติปัฏฐานสูตร, ฯลฯ (พึงทราบว่าโดยมากครูอาจารย์ท่านจัด สติปัฏฐาน ๔ เฉพาะหมวดแรกทั้งหมวด คือ กายานุปัสสนา เป็นสมถะ) นอกจากนี้ผู้สนใจควรศึกษาเพิ่มเติมจากปฏิสัมภิทามรรค อานาปาณกถา, คัมภีร์วิสุทธิมรรค อานาปาณสติกถา การที่คัมภีร์ในชั้นพระไตรปิฏกไม่ค่อยพบเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับการสอนวิธีปฏิบัติสมถภาวนาโดยละเอียดนั้น เข้าใจว่าเป็นเพราะสมัยพุทธกาล การฝึกสมาธิเป็นของที่ทำกันได้อยู่แล้ว แม้ในผู้ปฏิบัติภายนอกพุทธศาสนา ไม่เป็นของพิเศษน่าอัศจรรย์อะไร ท่านจึงแสดงวิธีการเจริญสมาธิเพียงเล็กน้อย แล้วแสดงวิธีการเจริญวิปัสสนาอย่างละเอียด

ก็แต่ว่าเราๆท่านๆในยุคนี้ห่างเหินจากการเจริญจิตเจริญปัญญากันพอสมควร ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าในที่นี้เราควรจับเอาเฉพาะด้านสมถภาวนาก่อน ให้ได้เห็นผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจแก่ผู้ปฏิบัติจริงๆ ทีละเรื่องไป บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อความสำเร็จเฉพาะด้านสมาธิก่อน ยังไม่ขยายผลไปสู่การเจริญปัญญา ขอเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิมิต (เครื่องหมาย) ที่จะใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ในที่นี้คือ ลมหายใจ ในการหายใจเข้า-ออก สิ่งที่ควรทำคือ มีสติอยู่กับลมหายใจเท่านั้น ไม่ควรเพิ่มความซับซ้อนให้นิมิต โดยไม่จำเป็น ควรปล่อยให้การหายใจเป็นไปตามปกติ ลมหายใจจะสั้นหรือยาว ลึกหรือตื้น ท้องยุบหรือพอง สัมผัสของลมหายใจอยู่ที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากบน ไม่ควรถือเป็นสำคัญ เพราะบางอย่างเกี่ยวกับสภาพจิตใจของผู้ปฏิบัติตอนนั้น เช่น ตื่นเต้น เหนื่อย หรือง่วง บางอย่างเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของผู้ปฏิบัติแต่ละคน เช่น รูปทรงของจมูก ไปจนถึงท่านั่งที่ถนัด ซึ่งผู้ปฏิบัติแต่ละคนล้วนมีปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ไม่เหมือนกัน ตัวการปฏิบัติจริงๆคือมีสติอยู่กับลมหายใจเท่านั้น ลักษณะและสัมผัสของลมหายใจควรปล่อยให้เป็นไปอย่างเรียบง่ายตามธรรมชาติ ขอให้ลองเทียบกับนิมิตของกสิณต่างๆ เช่น ปฐวีกสิณ ตามคัมภีร์ท่านให้ใช้ดินที่เป็นสีเดียวกันล้วน ไม่มีสีอื่นปน ไม่มีก้อนหิน รากหญ้า ฯลฯ แม้กระทั่งเวลาจะทรงจำก็ให้ตั้งห่างจากสายตาพอประมาณเพื่อไม่ให้เห็นรอยฝ่ามือหรือตำหนิอื่นๆในดินนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ใช้เป็นนิมิตสำหรับการจำที่ดีนั้น โดยมากล้วนมีลักษณะเรียบง่าย กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น (รายละเอียดเพิ่มเติมดู 🔎คัมภีร์วิสุทธิมรรค)

อีกประเด็นหนึ่งที่ช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนิมิต คือ ระดับของสมาธิที่ใช้ในการวิปัสสนา ที่ท่านใช้คำว่า วิปัสสนาสมาธินั้น จัดอยู่ในระหว่างขั้น ขนิกสมาธิ ถึง อุปจารสมาธิ ที่เป็นเช่นนี้เพราะการวิปัสสนานั้นเป็นลักษณะของการปะติดปะต่อความรู้ และประสบการณ์ต่างๆเข้าด้วยกัน กล่าวคือ เป็นการนำความรู้ด้านปริยัติ และประสบการณ์ด้านปฏิบัติ เข้ามาเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดปฏิเวธ คือ ความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง เห็นประจักษ์กับตัว สิ้นสงสัยในเรื่องนั้นๆ ลักษณะที่ต้องปะติดปะต่อเชื่อมโยงกันนี้เอง วิปัสสนาสมาธิจึงไม่สามารถแนบสนิทอยู่กับอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่องยาวนานถึงขั้นเป็นอัปปนาสมาธิได้ (ยกเว้นผู้ปฏิบัติแนวสมถยานิก) นิมิตของกรรมฐานก็เช่นเดียวกัน ถ้าผู้ปฏิบัติใช้นิมิตที่มีความซับซ้อนมาก หรือใช้รูปแบบการปฏิบัติที่ซับซ้อนมาก สมาธิก็จะเกิดขึ้นได้ยากตามไปด้วย กรรมฐานบางกอง เช่น พุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ท่านจึงกล่าวว่าให้สมาธิระดับสูงสุดไม่เกินอุปจารสมาธิ ส่วนในเรื่องของการบริกรรมภาวนานั้น ไม่ใช่อารมณ์หลักของกรรมฐาน ผู้เขียนเข้าใจว่าพระอรรถกถาจารย์ท่านเสริมเข้ามาเพื่อช่วยประคองจิตไม่ให้ฟุ้งซ่านไปได้ง่ายในช่วงแรกของการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะเลือกใช้คำใดก็ได้ ในที่นี้ใช้คำว่า พุท-โธ พร้อมไปกับการหายใจ เข้า-ออก เมื่อสมาธิเจริญขึ้นเรื่อยๆ ประโยชน์ของการบริกรรมภาวนาก็ลดน้อยลง จะละจากการบริกรรมภาวนาเสีย ให้จิตมีสมาธิอยู่กับลมหายใจเพียงอย่างเดียวก็ได้ หรือถ้าผู้ปฏิบัติรู้สึกว่าลมหายใจกับการบริกรรมภาวนานั้นกลมกลืนกันไปด้วยดี จะบริกรรมภาวนาไปด้วยตลอดการปฏิบัติก็ได้

ท่านั่งที่เหมาะสมในการปฏิบัติ สมัยพุทธกาลท่านถือตามสำนวน “นั่งคู้บัลลังค์ ตั้งกายตรง” ซึ่งเป็นท่านั่งที่ถือว่าสบายๆ ถูกสุขลักษณะ และเหมาะสมกับพระภิกษุและชาวบ้านทั่วไปในยุคสมัยนั้น ซึ่งไม่ได้มีข้าวของเครื่องใช้เหมือนสมัยนี้ ควรดูที่วัตถุประสงค์คือ นั่งให้สบายๆ ถูกสุขลักษณะ ก็เป็นอันว่าใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องฝืนนั่งในท่าที่รู้สึกปวดเมื่อย ไม่สบาย (แต่ควรนั่งหลังตรง การนั่งหลังงอนอกจากไม่ถูกสุขลักษณะแล้ว มักจะทำให้รู้สึกง่วงได้ง่าย) สมาธิ ท่านตรัสว่า มีสุขเป็นปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ การปฏิบัติด้วยวิธีที่สบายๆ จึงเอื้อต่อการเกิดสมาธิมากกว่าการปฏิบัติที่จะต้องฝืนทน ข่มกาย ข่มใจ มากจนเกินไป ดังพุทธพจน์

“… เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ” (เทวธาวิตักกสูตร)

บางครั้งผู้เขียนได้ยินได้ฟังมาว่า ผู้ปฏิบัติบางท่านเมื่อฝึกสมาธิไปสักระยะหนึ่ง มักเกิดความรับรู้บางอย่างปรากฏขึ้นในระหว่างการปฏิบัติ อาจเป็นภาพหรือความรู้สึกอะไรก็ตาม ซึ่งไม่ใช่นิมิตที่เป็นอารมณ์กรรมฐาน (ในที่นี้คือลมหายใจ) แต่เรียกว่านิมิตเหมือนกันเพราะศัพท์คำว่านิมิตนั้นเป็นคำกลางๆ แปลว่า เครื่องหมาย ผู้ปฏิบัติพึงเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มาจากความจำได้หมายรู้ (สัญญา) ของตัวเราเองที่จิตปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา บางท่านเห็นไปในลักษณะที่ชวนให้เกิดศรัทธาปสาทะ เช่น เห็นองค์พระพุทธรูป เห็นแสงสว่างมีรัศมีเรืองรอง เห็นสวรรค์วิมาน ได้กลิ่นหอม เป็นต้น บางท่านเห็นไปในลักษณะที่น่าหวาดกลัว เช่น เห็นซากศพมีกลิ่นเหม็น เห็นโครงกระดูก เห็นเหวลึก เห็นนรก เป็นต้น ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นไปในเชิงดีหรือร้าย ผู้ปฏิบัติไม่ควรถือเอาเป็นสาระ ควรเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่จิตของเราเองปรุงแต่งขึ้นมา ไม่ต่างอะไรกับความฝันนั่นเอง อนึ่ง ผู้ปฏิบัติจะพิจารณานิมิตปรุงแต่งที่เกิดขึ้นโดยความเป็นไตรลักษณ์ (ไม่เที่ยง คงสภาพอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตนแท้) คือนำมาใช้เจริญวิปัสสนาก็ได้ แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าวัตถุประสงค์ของบทความนี้ คือ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้รู้จักความสุขจากสมาธิเป็นเบื้องต้นก่อน การเจริญวิปัสสนายกไว้ในลำดับถัดไป พึงมีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออกไปตามปกติ เมื่อรักษาจิตให้อยู่กับอารมณ์กรรมฐานจนสติละเอียดปราณีตสมาธิแนบแน่นขึ้นตามลำดับ ผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสกับความสุขอันเกิดจากความสงบลงของกิเลสภายในจิตใจมากขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกัน วิธีการปฏิบัติอานาปานสติในส่วนของสมถภาวนาในเบื้องต้นก็มีเพียงเท่านี้

เมื่อผู้ปฏิบัติเริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ความก้าวหน้าในการปฏิบัติจะเกิดขึ้นได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับความขวนขวายของแต่ละบุคคล เนื่องจากความสม่ำเสมอในการปฏิบัติมีผลต่อความก้าวหน้าของสมาธิมากพอสมควร รวมถึงขึ้นอยู่กับอินทรีย์อันเป็นพื้นฐานที่สั่งสมมาแต่กาลก่อนและความเจริญขึ้นในปัจจุบันของผู้ปฏิบัติเอง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)


 

นางขุชชุตตราสาวพิการหลังค่อม

นางขุชชุตตรานางขุชชุตตรา มีชื่อว่า อุตตรา เป็นลูกสาวแม่นมของโฆษกเศรษฐี ด้วยความที่นางเป็นคนหลังค่อม คนทั่วไปจึงเรียกนางว่า “นางขุชชุตตรา นางอุตตระหลังค่อม” เมื่อเจริญวัยนางได้ทำงานเป็นสาวใช้ของนางสามาวดี บุตรีบุญธรรมของโฆษกเศรษฐี ต่อมานางสามาวดีได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระเจ้าอุเทน นางขุชชุตตราได้ติดตามไปรับใช้นางสามาวดีดังเดิมในการนี้นางได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นคนดูแลดอกไม้ที่ใช้สำหรับบูชาและประดับตกแต่งอาคารสถานที่ซึ่งนางก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดี โดยไม่มีข้อบกพร่อง

วันหนึ่งโฆษกเศรษฐีกับเพื่อน ๆ ได้กราบทูลอาราธนานิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระสาวกเสด็จมาฉันภัตตาหารและถวายวัดที่ได้สร้างขึ้น นางขุชชุตตราได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องดอกไม้เช่นเคย ด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องอยู่บริเวณใกล้เคียงที่ประทับของพระพุทธเจ้าทำให้นางมีโอกาสได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ เมื่อจบพระธรรมเทศนานางได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นอริยบุคคลขั้นโสดาบัน

วันต่อมาขณะที่นางขุชชุตตราถือดอกไม้มาจากตลาด นางสามาวดีสังเกตเห็นว่ามีดอกไม้มากกว่าปกติ จึงสอบถามว่าดอกไม้ราคาถูกหรืออย่างไร หรือว่าได้เงินซื้อดอกไม้เพิ่มขึ้นจึงสามารถซื้อดอกไม้ได้มากขนาดนี้ นางขุชชุตตราจึงยอมรับสารภาพว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ได้รับมอบหมายให้ทำงานนี้ เธอไม่ได้ซื้อดอกไม้เต็มตามจำนวนเงิน โดยซื้อเพียงครึ่งหนึ่งของเงินที่ได้เท่านั้น ส่วนที่เหลือเก็บไว้ใช้จ่ายส่วนตัว แต่หลังจากการฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วทำให้เข้าใจว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งไม่ดี แม้จะไม่มีใครเห็น แต่เรารู้แก่ใจของเราเองจึงตั้งใจเลิกประพฤติแบบนี้ วันนี้จึงซื้อดอกไม้มาเต็มราคา ดอกไม้จึงมีมากอย่างที่เห็นพร้อมกับกล่าวคำขอโทษต่อนางสามาวดี นางสามาวดียกโทษให้พร้อมขอให้นางช่วยบอกคำสอนที่ได้ฟังจากพระพุทธเจ้าให้ตนฟังบ้าง นางจึงเล่าสิ่งที่ได้รับฟังมาทั้งหมดแก่นางสามาวดีและนางรับใช้คนอื่นๆ ส่งผลให้นางสามาวดีพร้อมกับนางรับใช้เกิดดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคล ขั้นโสดาบัน

ชีวิตบั้นปลาย นางขุชชุตตราเสียชีวิตลงพร้อมๆ กับนางสามาวดีและนางรับใช้คนอื่นๆ ภายในปราสาทที่ถูกวางเพลิงจากฝีมือของนางมาคันทิยา มเหสีอีกพระองค์หนึ่งของพระเจ้าอุเทนนั่นเอง

บุพกรรมล้อเลียนพระ 

สมัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลถาม พระบรมศาสดาว่า:- 

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตรา จึงเป็นหญิงหลังค่อม พระเจ้าข้า”  
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ในอดีตชาติ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เป็นผู้มีสภาพร่างกาย เป็น คนค่อมนิดหน่อย มาฉันภัตตาหารในราชสำนักเป็นประจำ นางกุมาริกานางหนึ่ง แสดงอาการเป็นคนค่อม ล้อเลียนแบบพระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยความคึกคะนอง ต่อหน้าเพื่อนกุมาริกาทั้งหลาย เพราะกรรมนั้น จึงส่งผลให้เธอเป็นคนค่อมในอัตภาพนี้” 

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตรา จึงเป็นทางทาสีของบุคคลอื่น พระเจ้าข้า ?” 
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีต ครั้งที่พระพุทธเจ้านามว่ากัสสปะ นางได้เกิดในตระกูลเศรษฐีในเมืองพาราณสี มีภิกษุณีผู้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ซึ่งมีความคุ้นเคยกับตระกูลของนางมาเยี่ยมเยือนที่บ้าน ขณะนั้นนางกำลังแต่งตัวอยู่ ได้ออกปากขอให้พระเถรีช่วยหยิบกระเช้า เครื่องประดับส่งให้ พระเถรีนั้นคิดว่า “ถ้าเราไม่หยิบส่งให้ นางก็จักโกรธอาฆาตเรา เพราะกรรมนี้ เมื่อนางตายไปแล้ว ก็จะไปเกิดในนรก แต่ถ้าเราหยิบส่งให้นาง นางก็จักเกิดเป็นหญิงรับใช้คนอื่น เพราะกรรมที่ใช้พระอรหันต์"  ภิกษุณี จึงเลือกกรรมสถานเบา เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ต่อนาง จึงได้หยิบกระเช้าส่งให้ เพราะ กรรมนี้นางจึงเกิดเป็นหญิงรับใช้บุคคลอื่น” 

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตรา จึงมีปัญญามากและบรรลุพระ โสดาปัตติผล ?” 
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตชาติ ครั้งเดียวกันนั้น พระราชาได้ถวายข้าวปายาส ที่ยังร้อนอยู่ลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า นางเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ต้องเปลี่ยนมือถือบาตร กลับไป กลับมาด้วยความร้อน นางจึงถอดกำไล ที่ทำด้วยงาจากข้อมือ ๘ อัน ถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ใช้สำหรับรองมือ กันความร้อน ด้วยผลแห่งกรรมที่นางถวายกำไลข้อมือ และกรรมที่ช่วยบำรุง อุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งนั้น ทำให้นางมีปัญญามาก และได้บรรลุพระโสดาปัตติผล”

เพราะความที่นางขุชชุตตราเป็นผู้มีปัญญามา สามารถแสดงธรรมได้อย่างไพเราะลึกซึ้ง ดีกว่าอุบาสิกาคนอื่น ๆ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องนางในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่ายผู้แสดงธรรม



วันศุกร์

ความสำคัญของสัมมาสมาธิในพุทธศาสนา

ดังที่หลายท่านได้ทราบมาดีแล้วว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ถือปัญญาเป็นยอดแห่งธรรม ธรรมทั้งหลายย่อมเป็นของคล้อยตามปัญญา การปฏิบัติขัดเกลาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดมีจุดมุ่งหมายสูงสุดมาบรรจบที่เดียวกัน คือการทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริง

สมาธินั้น เมื่อมองตามหลักไตรสิกขา อันเป็นแม่แบบของการศึกษาปฏิบัติในภาพรวมของพุทธศาสนาแล้ว เป็นไตรสิกขาลำดับที่ ๒ ท่านจัดวางไว้ในตำแหน่งต่อจากศีลและก่อนปัญญา เนื่องจากสมาธิมีความสำคัญในฐานะเป็นฐานของปัญญา ทำให้ปัญญาเจริญได้ดี ความคิดไม่ฟุ้งซ่าน ซัดส่าย ช่วยให้คิดพิจารณาสิ่งที่ยากประสบผลสำเร็จได้ ทั้งยังมีประโยชน์เกื้อกูลอีกหลายประการ เช่น ช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต ช่วยข่มกามราคะให้สงบลง เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร (เพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน) เป็นบาทของอภิญญา เป็นต้น

เมื่อตามหลักการแล้วสมาธิมีความสำคัญมากเช่นนี้ จึงควรที่จะทำความเข้าใจให้สมาธินั้นเป็น “สัมมาสมาธิ” และเกิดประโยชน์สมดังวัตถุประสงค์ที่ต้องการ อนึ่ง ขอบเขตของงานวิจัยนี้จะไม่รวมไปถึงวิธีการปฏิบัติสมาธิแบบต่างๆ เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก จะนำเสนอเฉพาะประเด็นความสำคัญและประโยชน์ของสมาธิ โดยยกเนื้อหาพระไตรปิฎกขึ้นมาพิจารณาเป็นหลัก

นอกจากนี้ผู้วิจัยเคยพบว่า ผู้ปฏิบัติธรรมบางท่าน มีความวิตกกังวลในการฝึกสมาธิ กล่าวคือ มีความเห็นว่า ผู้ฝึกสมาธิเมื่อสิ้นชีวิตต้องไปเกิดในอรูปภพเสียโอกาสฟังธรรม ไม่เป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ จึงมีความเห็นในทำนองที่ไม่ปรารถนาจะฝึกสมาธิ ซึ่งเป็นความเห็นที่ไม่เอื้อต่อการเจริญขึ้นในกุศลธรรมของตัวผู้ปฏิบัติเอง ขัดแย้งกับแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ทั้งนี้ แม้ผู้ปฏิบัติแต่ละท่านจะมีความเหมาะสมที่จะฝึกฝนในแนวทางที่ต่างกันตามจริตของตน แต่ความเข้าใจที่ถูกต้องในภาพรวมของการปฏิบัติย่อมเป็นพื้นฐานอันสำคัญและพึงมี ดังพุทธพจน์ในมหาจัตตารีสกสูตรที่ท่านตรัสว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นประธานขององค์มรรคทั้งหลาย แต่ทว่าอย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้แท้จริงแล้วมิใช่ว่าจะไม่มีมูลเหตุ ข้อมูลในชั้นพระไตรปิฎกเองก็มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ดังมีพุทธพจน์ตอนหนึ่งตรัสว่า

“ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาก็ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ผู้มีทั้งฌานและปัญญานั่นแล จึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน”


ความหมายของ สัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธิ สำนวนแบบที่ ๑

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน? “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แลเรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ”

ในสำนวนแบบที่ ๑ สัมมาสมาธิ หมายถึง ความที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว ไม่ฟุ้งซ่าน ประกอบพร้อมด้วยมรรคมีองค์ ๘ กล่าวคือ สมาธิในระดับฌานขึ้นไปอันประกอบพร้อมด้วยความเห็นที่ถูกต้องนั่นเอง (สัมมาทิฎฐิเป็นประธานของมรรค ๘)

สัมมาสมาธิ สำนวนแบบที่ ๒

“สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
๓. เพราะปีติจางคลายไป มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่และเสวยสุขด้วยกาย (นามกาย) บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’
๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้วบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ”

ในสำนวนนี้ ท่านแสดงความหมายของ สัมมาสมาธิ ว่าเป็นสมาธิใน ฌาน ๔ (สังเกตได้จากองค์ธรรมในแต่ละประโยค) ซึ่งการแสดงความหมายของสมาธิในสำนวนคล้ายกันนี้ ยังมีพบในปัญจังคิกสูตร อีกแห่งหนึ่งด้วย จะเห็นว่าท่านไม่ได้กล่าวเลยไปถึงสมาธิขั้นอรูปฌาน

สัมมาสมาธิ สำนวนแบบที่ ๓

“ก็สมาธินทรีย์เป็นไฉน? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ยึดหน่วงนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า สมาธินทรีย์”

ถ้าตีความจากสำนวนนี้ ผู้วิจัยเข้าใจว่า สัมมาสมาธิยังหมายความรวมไปถึงสมาธิอันเกิดจากกำลังของวิปัสสนาด้วย เนื่องจากการยึดหน่วงนิพพานเป็นอารมณ์ย่อมเป็นงานในฝั่งของปัญญาเป็นหลัก อาจเป็นลักษณะของสัมมาสมาธิในผู้ปฏิบัติแนววิปัสสนายาน ซึ่งเมื่อเจริญวิปัสสนาถูกทางแล้วสัมมาสมาธิย่อมเกิดขึ้นเองจากการน้อมดิ่งไปในธรรม องค์มรรคทั้ง ๘ ข้อก็สมบูรณ์จนถึงขั้นบรรลุมรรคผลได้ โดยที่ไม่เคยได้ฌานมาก่อน

พระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ก็ได้ให้ความหมายของสัมมาสมาธิในทำนองเดียวกันนี้ เช่น

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) สัมมาสมาธิ : ตั้งจิตมั่นชอบ, จิตมั่นชอบ คือสมาธิที่เจริญตามแนวของ ฌาน ๔ (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์)

สัมมาสมาธิ : สมาธิที่ใช้ถูกทาง เพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น เป็นไปเพื่อปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง มิใช่เพื่อผลในทางสนองความอยากของตัวตน (พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย, หน้า ๘๑๕)

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.
สัมมาสมาธิ : ตั้งใจไว้ชอบ คือเจริญฌานทั้ง ๔

จึงสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ความหมายของสัมมาสมาธิที่ปรากฏในหลักฐานชั้นพระไตรปิฎกนั้น คือสมาธิที่ประกอบด้วยปัญญาและเป็นไปเพื่อความเจริญปัญญา ดังที่ท่านใช้สำนวนว่า จิตมั่นชอบ นั่นเอง


ความหมายของ มิจฉาสมาธิ
จากหลักฐานในชั้นพระไตรปิฎก ในเบื้องต้นผู้เขียนบทความยังไม่พบคำอธิบาย มิจฉาสมาธิ ที่มีรายละเอียดโดดเด่น พบข้อความที่บรรยายกว้างๆ เช่น
“มิจฉาสมาธิ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉน?
“ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่ ความตั้งมั่น ความไม่ซัดส่าย ความไม่ฟุ้งซ่าน ความที่จิตไม่ซัดส่าย สมถะ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ มิจฉาสมาธิ ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่ามิจฉาสมาธิที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น”

ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ท่านได้ขยายความตอนหนึ่งว่า ชื่อว่ามิจฉาสมาธิ เพราะมีจิตตั้งมั่นอันไม่ประกอบด้วยความเห็นตรงตามความเป็นจริง อนึ่ง จิตอาจแน่วแน่เป็นเอกัคคตาได้แม้ในการกระทำที่เป็นอกุศล จึงจัดเป็นมิจฉาสมาธิ ยกตัวอย่าง เช่น คนที่มีจิตแน่วแน่ขณะเอาศัสตราฟาดฟันลงที่ร่างกายของสัตว์ไม่ให้ผิดพลาด หรือ ในเวลาตั้งใจลักขโมย เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าเอกัคคตา หรือจิตที่เป็นสมาธิในระดับอุปจารสมาธิขึ้นไปนั้น ก็อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่จิตเป็นอกุศล อย่างไรก็ตามท่านกล่าวว่า เอกัคคตาในฝ่ายอกุศลเช่นนี้ มีกำลังน้อย อ่อนแอ ไม่เข้มแข็งทนทานเหมือนในฝ่ายกุศล (สงฺคณี.อ. ๒๔๓)

ความหมายของมิจฉาสมาธิตามสำนวนที่พระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิได้แสดงไว้

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.

มิจฉาสมาธิ : ตั้งใจผิด ได้แก่ จดจ่อ ปักใจ แน่วในกามราคะ ในพยาบาท เป็นต้น

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส.

มิจฉาสมาธิ : ตั้งจิตผิด ได้แก่ภาวนาสะกดใจในทางหาลาภ ในทางให้ร้ายผู้อื่น และในทางนำให้หลง

กล่าวในสำนวนอย่างง่ายๆว่า มิจฉาสมาธิ หมายถึง การมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ แต่มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในฐานะเป็นฐานของปัญญา หรือมิได้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ นั่นเอง

จุดมุ่งหมายหลักของการฝึกสมาธิตามหลักพุทธศาสนา

การทำหน้าที่เป็นฐานของปัญญา เป็นจุดมุ่งหมายหลักของการฝึกสมาธิตามหลักพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า สมาธิที่ทำหน้าที่เป็นฐานของปัญญา หรือสมาธิที่ประกอบด้วยปัญญานั้น ตรงตามความหมายของ สัมมาสมาธิอย่างแท้จริง ซึ่งมีพุทธพจน์ที่ทรงแสดงถึงประเด็นนี้อยู่มากมาย ในที่นี้จะขอยกพระสูตร ๒ บทมานำเสนอ

มหาปรินิพพานสูตร “… สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐานย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย …”

ในมหาปรินิพพานสูตร พระบรมศาสดาทรงตรัสเนื้อความเดียวกันนี้ ในต่างโอกาสต่างสถานที่ รวมถึง ๘ ครั้ง อาทิเช่น ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์, ปาวาริกัมพวัน เขตเมืองนาฬันทา, โกฏิคาม เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสมาธิ ในฐานะที่เป็น ไตรสิกขาลำดับที่ ๒ ถัดจากศีล และก่อนหน้าปัญญา โดยไตรสิกขาแต่ละข้อ ทำหน้าที่เป็นฐานให้แก่สิกขาลำดับถัดไป

กิมัตถิยสูตร พระสูตรบทนี้เริ่มต้นด้วยการที่พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้าว่า ศีลมีอะไรเป็นผล พระบรมศาสดาจึงทรงตรัสแสดง ผลของศีลว่า มีความไม่ร้อนใจ (อวิปปฏิสาร) เป็นผล พระอานนท์ก็ถามต่อไปเป็นลำดับว่า ความไม่ร้อนใจมีอะไรเป็นผล ฯลฯ เรื่อยไปดังนี้

“… ศีลที่เป็นกุศลมีอวิปปฏิสารเป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์ อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล มีปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ปราโมทย์มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทาและวิราคะเป็นผล มีนิพพิทาและวิราคะเป็นอานิสงส์ นิพพิทาและวิราคะมีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ …”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะ คือ ความรู้เห็นตามความเป็นจริง เป็นผล เป็นการเน้นย้ำความสำคัญของสมาธิในฐานะเป็นฐานของปัญญา ซึ่งเมื่อพิจารณาดูก็จะพบว่าเนื้อหาที่ทรงแสดง ก็มีแก่นสารสาระเดียวกับส่วนหนึ่งของมหาปรินิพพานสูตรที่ยกมาข้างต้นนั่นเอง เพียงแต่มีรายละเอียดมากกว่า กล่าวคือ ทรงแสดงลำดับของการสนับสนุนหรือเกื้อกูลกันของธรรมจากหยาบไปหาละเอียด ตั้งแต่ขั้นศีล อันเป็นฐานของสมาธิ สมาธิเป็นฐานของปัญญา เรื่อยไปจนถึง ปัญญาอันนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ ความหลุดพ้น


สมาธิอย่างเดียวไม่ใช่เป้าหมายหลักของพระพุทธศาสนา
ความเข้าใจที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ลำพังแต่ด้านสมาธิล้วนๆนั้น ไม่ใช่ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญปัญญาโดยตรง แต่อยู่ในฐานะของการเป็นบาทฐาน หรือเป็นที่มั่น ให้การเจริญปัญญานั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังในสัลเลขสูตร พระพุทธเจ้าตรัสกับพระจุนทะว่า ฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ยังไม่ใช่ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส แต่เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน

“จุนทะ เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
“ภิกษุนั้น พึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือปฐมฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันในอริยวินัย” 
(สัลเลขสูตร)

ดังนั้น การที่ครูอาจารย์บางท่านกล่าวเตือนว่าไม่ควรติดอยู่เพียงแต่ในขั้นของสมาธิ โดยไม่ก้าวไปสู่ภาควิปัสสนานั้น ก็มีเหตุผลสมควรอย่างยิ่ง หากแต่ถ้าเป็นการกล่าวในทำนองที่ไม่สนับสนุนการปฏิบัติสมาธินั้นถือว่าเลยเถิดไปอย่างมาก

ประโยชน์ของสมาธิในด้านอื่นๆ
นอกจากสัมมาสมาธิ อันมีวัตถุประสงค์หลักในการเป็นฐานของปัญญาแล้ว สมาธิก็ยังมีคุณประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย บางอย่างก็เข้าถึงได้ไม่ยากนัก แต่บางอย่างก็เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก ทำให้สำเร็จได้ยากอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งที่น่าสนใจทราบเพื่อประดับความรู้ และอาจเป็นประโยชน์ได้บ้างตามสมควร

ประโยชน์ในด้านความสุขอันประณีต
ความสุขเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) ของสมาธิ ครูอาจารย์บางท่านได้กล่าวแนะนำให้กำหนดไว้เป็นข้อสังเกตสำคัญ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดว่า สิ่งที่จะเรียกได้ว่าเป็นสมาธินั้น อย่างน้อยในขั้นต้น จะต้องมากับความสุข ไม่จำเป็นต้องถึงอัปปนาสมาธิ (ปฐมฌานขึ้นไป) เพียงขั้นอุปจารสมาธิ ผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสสุขจากสมาธิแล้ว เพราะอุปจารสมาธิมีองค์ธรรมเหมือนปฐมฌาน (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) เพียงแต่อ่อนกำลังและเกิดขึ้นชั่วระยะสั้นๆ

จากพระสูตรบทนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงสุขที่ดีกว่าและประณีตกว่ากันขึ้นไปตามลำดับ ๑๐ ลำดับ คือ กามสุข ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญ-จัญญายนตฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สัญญาเวทยิตนิโรธ

“อานนท์ กามคุณ ๕ ประการนี้ กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ รูป (รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ที่พึงรู้แจ้งทางตา (หู จมูก ลิ้น กาย) ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รักชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ฯลฯ กามคุณ ๕ ประการนี้ สุขโสมนัสที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการนี้ เราเรียกว่า กามสุข

“ชนเหล่าใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสที่สงบอย่างยิ่งนี้’ เราก็ไม่คล้อยตามคำของชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะยังมีสุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้“อานนท์ สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างไร

“คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและจากอกุศลธรรมแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ สุขอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ เป็นอย่างนี้แล …” (ปัญจกังคสูตร) 

โดยย่อความ ท่านตรัสว่า บุคคลที่ได้เสวยกามสุขแล้วกล่าวว่าเราได้รับสุขอย่างดีเลิศ นั้นยังไม่ควร เพราะมีสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่า คือ ปฐมฌาน และมีสุขที่ดีกว่า ประณีตกว่าปฐมฌานนั้นอีก คือ ทุติยฌาน… สูงขึ้นตามลำดับจนถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ

ในสมัยพุทธกาล มีแนวปฏิบัติชนิดสุดโต่งอันเป็นที่นิยมกัน ๒ แนวทาง ทางหนึ่งเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค คือ การหมกมุ่นบำเรอตนด้วยกามสุข เพราะเชื่อว่าชีวิตมีแล้วก็ควรตักตวงหากามสุขในปัจจุบันให้เต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นไปในภายภาคหน้า กับอีกทางหนึ่งเรียกว่า อตกิลมถานุโยค คือ การเฝ้าทรมานตนเองให้เดือดร้อน เพราะเชื่อว่าการลงโทษตนเองเช่นนี้ จะชดใช้หนี้กรรมเก่าให้หมดสิ้นไปได้ และบรรลุถึงความสุขอันเป็นนิรันดร์ในภายภาคหน้า

ในสมัยพุทธกาล แนวปฏิบัติแบบอตกิลมถานุโยค อันเป็นแนวทางของศาสนาเชน มีนิครนนาถบุตรเป็นศาสดา ได้รับความนิยมพอสมควร นักบวชเชนซึ่งเปลือยกาย และทรมานตนเองด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะการอดอาหารอย่างรุนแรงจนซูบผอม ร่างกายทรุดโทรมไม่น่ามอง มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย การที่ศาสนาเชนได้รับการยอมรับนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประชาชนบางส่วน มีความเห็นผิดในทำนองว่า การจะบรรลุถึงความสุข ด้วยแนวปฏิบัติที่เป็นสุข นั้นเป็นไปไม่ได้ การจะบรรลุถึงความสุข ย่อมต้องปฏิบัติด้วยแนวปฏิบัติที่เป็นทุกข์ ชาวบ้านบางกลุ่มจึงมีความนับถือศรัทธาในเหล่านักบวชชีเปลือย ที่เฝ้าทรมานร่างกายตนเอง

เมื่อผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งเป็นเช่นนี้ สมัยหนึ่งพระพุทธองค์จึงทรงตรัสธรรมีกถาแก่พระจุนทะ ในปาสาทิกสูตร ความโดยย่อว่า เป็นไปได้ ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก จะกล่าวตู่พระสงฆ์ในพุทธศาสนาว่ามีความเบิกบานเพราะยึดถือกามสุขัลลิกานุโยคอยู่ ให้ปฏิเสธว่านั่นเป็นธรรมของชาวบ้าน ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ หากแต่พระสงฆ์ในพุทธศาสนามีความเบิกบาน ในฌานสุข อันเป็นสุขที่พึงมี สุขอันประกอบด้วยประโยชน์ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นไปเพื่อความตรัสรู้

กล่าวโดยย่อ ฌาน ๔ เป็นความสุขเหนือกว่า กามคุณ เป็นความสุขที่สมควรแก่พระสงฆ์ (แน่นอนว่าควรแก่คฤหัสด้วย) และเป็นไปเพื่อนิพพาน นอกจากนี้ พระสูตรบทนี้ยังแสดงให้เห็นถึง แนวทางปฏิบัติอันเป็นสุข เพื่อบรรลุเป้าหมายอันเป็นบรมสุข ที่ตรงข้ามกับศาสนาเชน ที่เชื่อว่า สุขต้องบรรลุถึงด้วยทางปฏิบัติอันเป็นทุกข์ อย่างชัดเจนอีกด้วย

ประโยชน์ในด้านส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต
เนื่องจากสมาธิทำให้กิเลสจำพวกนิวรณ์ (กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา) ที่ปกติมักจะฟุ้งซ่านรบกวนจิตใจให้มัวหมองสงบลง การเจริญสมาธิจึงช่วยให้เกิดความรู้สึก สงบ ผ่อนคลาย เช้มแข็ง มั่งคง ทั้งยังมีความสดใสเบิกบาน จึงกล่าวได้ว่า ส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต ของผู้ปฏิบัติได้เป็นอย่างดียิ่ง

ประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต ของการเจริญสมาธินั้นมีตัวอย่างในพระไตรปิฎกอยู่ไม่น้อย ในที่นี้ยกตัวอย่าง อิจฉานังคละสูตร ที่พระพุทธเจ้าสนับสนุนให้ภิกษุทั้งหลายเจริญอานาปานสติ ซึ่งเป็นวิธีเจริญสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมาก ทรงสนับสนุนบ่อยครั้ง และพระพุทธองค์เองก็ได้ทรงใช้เป็นวิหารธรรมมาก ทั้งก่อนและหลังตรัสรู้ เนื่องจากปฏิบัติได้สะดวก ร่ายกายผ่อนคลายสบายในขณะปฏิบัติ ส่งเสริมสุขภาพ ดังตัวอย่างพระสูตรที่ยกมาความโดยย่อดังนี้

สมัยหนึ่งในช่วงเข้าพรรษา พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เขตกรุงอิจฉานังคละ ได้ตรัสว่าจะทรงหลีกเร้นอยู่ผู้เดียวเป็นเวลา ๓ เดือน ครั้นล่วง ๓ เดือนผ่านไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเสร็จออกจากที่หลีกเร้น แล้วรับสั่งให้เรียกภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามว่าทรงอยู่จำพรรษาด้วยวิหารธรรมใด พึงตอบว่า “ท่านทั้งหลาย โดยมากพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอยู่จำพรรษาด้วยอานาปานสติสมาธิ”

ต่อมาตรัสแสดงวิธีปฏิบัติ อานาปานสติสมาธิ แล้วแสดงอานิสงส์ของการปฏิบัติ ดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น ย่อมรู้ชัดว่า เราจักกำหนดรู้กองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก … ย่อมรู้ชัดว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมรู้ชัดว่าเราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า”

“ภิกษุทั้งหลาย ความจริง บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงธรรมนั้นใดว่า อริยวิหาร (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ) บ้าง พรหมวิหาร (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม) บ้าง ตถาคตวิหาร (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระตถาคต)บ้าง เมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง ก็พึงกล่าวถึงอานาปานสติสมาธิว่า อริยวิหารบ้าง พรหมวิหารบ้าง ตถาคตวิหารบ้าง

“ภิกษุเหล่าใดเป็นพระเสขะยังไม่บรรลุอรหัตตผลย่อมปรารถนาธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ อานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเหล่านั้นเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ อานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเหล่านั้นเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันและเพื่อมีสติ มีสัมปชัญญะ”

ประโยชน์ทางอภิญญา
ผู้เจริญสมาธิได้ถึงขั้นสูงนั้น บางท่านได้อภิญญา คือ สามารถทำให้เกิดฤทธิ์ปาฏิหาริย์อันเกิดจากอำนาจจิต เช่น การเดินน้ำ ดำดิน เหาะเหิน เป็นต้น ซึ่งมีคำกล่าวว่า ผู้ที่ฝึกสมาธิได้ถึงขั้นฌานนั้นมีน้อยอย่างยิ่ง ในผู้ได้ฌานนั้นผู้ที่ได้อรูปฌานมีน้อยอย่างยิ่ง ในผู้ได้อรูปฌานนั้นผู้ได้อภิญญามีจำนวนน้อยอย่างยิ่ง อภิญญาจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่ใครๆจะคาดหวังที่จะทำให้เกิดขึ้นได้โดยง่าย

คัมภีร์วิสุทธิมรรคได้อธิบายวิธีการเจริญอภิญญาอย่างพิสดาร ซึ่งสรุปใจความโดยย่อว่า ให้เจริญสมาบัติทั้ง ๘ แต่จำกัดว่าต้องเป็นสมาบัติที่ได้ในกสิณ ครั้นแล้วฝึกสมาบัตินั้นให้คล่องแคล่วโดยทำนองต่างๆเป็นการเตรียมจิตให้พร้อม พอถึงเวลาใช้งานก็เข้าฌานเพียงแค่จตุตถฌาน แล้วน้อมเอาจิตนั้นไปใช้เพื่ออภิญญาตามความต้องการ

อย่างไรก็ตามอภิญญาเป็นของที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนมาก ไม่อาจสำเร็จได้โดยง่ายดังกล่าวข้างต้น ประการสำคัญพระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่อารยฤทธิ์ อาจเกิดโทษ และไม่ทำให้หลุดพ้น ไม่ใช่สาระของพระพุทธศาสนา เป็นของมีมาก่อนพุทธกาล มิใช่เครื่องแสดงความประเสริฐของบุคคลหรือของพระพุทธศาสนา ดังสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือพุทธธรรมว่า

“ในแง่การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นนั้น ถ้าการทำฤทธิ์ทำอภิญญาเป็นกระบวนการที่ยาก และกินเวลา อย่างที่บรรยายไว้ในวิสุทธิมัคค์ พระอรหันต์ย่อมนำเอาเวลาและความเพียรนั้นไปใช้ในการสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน เป็นการทำอนุสาสนีปาฏิหาริย์ (คำสอนให้เห็นจริงนำไปปฏิบัติได้ผลสมจริงเป็นอัศจรรย์) ที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่าดีเลิศประเสริญกว่าอิทธิปาฏิหาริย์ทั้งปวง ดีกว่าจะมาวุ่นวานกับโลกิยอภิญญาที่เสี่ยงต่อโทษ…”

ปังสุโธวกสูตร : ว่าด้วยคนล้างฝุ่นหลอมแร่ทอง

พระสูตรบทนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบการฝึกจิตกับการทำทองให้บริสุทธิ์ ซึ่งต้องทำจากหยาบไปหาละเอียด กล่าวคือ เมื่อต้องการทองที่บริสุทธิ์จากเศษแร่ทอง ย่อมต้องเริ่มต้นด้วยการร่อนเศษดิน หิน กรวด ชนิดหยาบ ออกจากแร่ทอง ต่อมาย่อมต้องร่อนกรวดละเอียด ออกจากแร่ทอง ต่อมาย่อมต้องล้างฝุ่นละเอียดออกจากเศษทอง ต่อมายังต่อนำไปหลอมในเบ้า เป่าซ้ำจนได้ที่

ฉันใดก็ฉันนั้น จิตอันประกอบด้วยกิเลสอย่างหยาบ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ยังมีอยู่ก็พึงละให้สิ้นไป กิเลสอย่างกลาง คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ยังมีอยู่ก็พึงละให้สิ้นไป กิเลสอย่างละเอียด คือ ความนึกคิดถึงชาติ ความนึกคิดถึงชนบท ความนึกคิดที่ประกอบด้วยความไม่ดูหมิ่น ยังมีอยู่ก็พึงละให้สิ้นไป เมื่อละได้สิ้นแล้วก็ยังมีธรรมวิตกเหลืออยู่ สมาธินั้นยังไม่สงบ ไม่ประณีต ไม่ได้ความสงบระงับ ยังไม่บรรลุภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ยังมีการข่มห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่งอยู่

เนื้อความต่อมา ขอยกพุทธพจน์มานำเสนอ ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย มีสมัยที่จิตตั้งมั่นอยู่ภายใน สงบนิ่งอยู่ มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้นตั้งมั่นอยู่ สมาธินั้นเป็นธรรมสงบ ประณีต ได้ความสงบระงับ ถึงภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีการข่มห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง และภิกษุนั้นจะน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ เมื่อมีเหตุแห่งสติเธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้นๆ

“ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า “เราพึงแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ทะลุฝา กำแพง และภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้” เมื่อมีเหตุแห่งสติเธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้นๆ”

ท่านตรัสแสดงความสามารถทางฤทธิ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีสมาธิระดับสูงแล้ว ในตอนท้ายของธรรมีกถา ทรงแสดงความสิ้นอาสวะกิเลส อันเป็นเป้าหมายสูงสุด ดังนี้

“ถ้าภิกษุนั้นหวังว่า “เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” เมื่อมีเหตุแห่งสติเธอย่อมบรรลุความเป็นผู้เหมาะสมที่จะประจักษ์ชัดในธรรมนั้นๆ”

ประเด็นฝึกสมาธิขั้นอรูปฌานแล้วไปเกิดเป็นอรูปพรหมไม่สามารถบรรลุธรรม

ดังได้กล่าวในบทนำ ว่าผู้เขียนบทความเคยได้ยินได้ฟังผู้สนใจศึกษาพุทธศาสนาบางท่าน มีความวิตกกังวลในการฝึกสมาธิ กล่าวคือ มีความเห็นว่า ผู้ฝึกสมาธิเมื่อสิ้นชีวิตต้องไปเกิดในอรูปภพ เสียโอกาสในการฟังธรรม ไม่เป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ จึงมีความเห็นในทำนองที่ไม่ปรารถนาจะฝึกสมาธิ ซึ่งเป็นความเห็นที่ไม่เอื้อต่อการเจริญขึ้นในกุศลธรรมของตัวผู้ปฏิบัติเอง ขัดแย้งกับแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ และแม้ท่านผู้ปฏิบัติจะสามารถสำเร็จอรูปฌานได้จริงโดยยังไม่บรรลุโลกุตรธรรม คัมภีร์ชั้นอรรถกถาก็ได้กล่าวทางแก้ไว้โดยง่าย ขอกล่าวถึงที่มาก่อน ความกังวลนี้แท้จริงแล้วก็มีเหตุผลและหลักฐานในคัมภีร์ที่น่าพิจารณาไม่น้อย โดยแบ่งออกเป็น๒ ส่วน

ส่วนที่ ๑. จากข้อความบางตอนในนาลกสูตรและโพธิราชกุมารสูตร

นาลกสูตร : เนื้อหาแสดงถึงเรื่องราวของ อสิตฤๅษี ผู้เป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะและราชตระกูล ได้เข้ามาถวายพระพรเจ้าชายสิทธัตถะพระราชโอรส เมื่อได้เห็นลักษณะของพระราชโอรส ก็กราบแทบพระบาท และทำนายว่าต่อไปพระราชโอรสจะทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วอสิตฤๅษีก็ร้องให้เนื่องจากตนแก่ชราเกินกว่าจะได้อยู่ฟังพระธรรม ทั้งยังบรรลุอรูปฌาน ซึ่งจะไปเกิดเป็นอรูปพรหมในภพหน้า ซึ่งเป็นภพที่ไม่สามารถฟังธรรมได้ (เข้าใจว่าอรูปภพเป็นภพที่ขาดการติดต่อกับภพอื่นเสพสุขจากความสงบของอรูปฌานอย่างเดียว)

โพธิราชกุมารสูตร : เนื้อหาตอนหนึ่งแสดงถึงช่วงเวลาหลังพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์ทรงพิจารณาผู้ที่มีอินทรีย์สูง ควรแก่การไปแสดงธรรมก่อนเป็นลำดับแรก ก็ทรงดำริถึงอาฬารดาบส กาลามโคตร ผู้สำเร็จอากิญจัญญายตนะ ก็ทรงทราบว่าตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนะภพแล้ว ทรงดำริถึงอุทกดาบส รามบุตร ผู้สำเร็จเนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ทรงทราบว่าตายไปเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนะภพแล้ว ความตอนหนึ่ง ดังนี้

“อนึ่ง อาตมภาพก็ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นว่า ‘อุทกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้’ จึงดำริว่า ‘อุทกดาบส รามบุตร เป็นผู้มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่แล้วหนอ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน’”

คัมภีร์อรรถกถาขยายความว่า มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่ หมายถึงมีความเสื่อมมากเพราะเสื่อมจากมรรคและผลที่จะพึงบรรลุ เพราะเกิดในอักขณะ คือ อาฬารดาบส ตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ส่วนอุทกดาบสตายไปเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภพ

ส่วนที่ ๒. จากพระสูตรที่ท่านแสดงความหมายของ สัมมาสมาธิ คือ สมาธิในฌาน ๔ ไม่ได้กล่าวเลยไปถึงอรูปฌาน ซึ่งในจุดนี้น่าจะพอตีความได้ว่า สมาธิขั้นอรูปฌานนั้นอาจไม่เกิดประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นอีกมากนักในฐานะเป็นฐานของปัญญา ยิ่งขึ้นไปกว่า ฌาน ๔ ท่านจึงแสดงความหมายของสัมมาสมาธิเพียงแค่ ฌาน ๔

หลักฐานสนับสนุนการตีความนี้ปรากฏใน มหามาลุงกโยวาทสูตร พระสูตรว่าด้วยการละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ ดังนี้

“ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะละอกุศลธรรมทั้งหลายด้วยอุปธิวิเวก เพราะระงับความเกียจคร้านทางกายได้โดยประการทั้งปวง จึงสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้วบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีอยู่ในปฐมฌานนั้นโดยเป็นสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดุจโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศรเป็นสิ่งคอยก่อความเดือดร้อน เป็นที่ทำให้ขัดข้อง เป็นดุจคนฝ่ายอื่น เป็นสิ่งที่ต้องแตกสลาย เป็นของว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมทำจิตให้กลับจากธรรมเหล่านั้นครั้นแล้ว จึงน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า ‘ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัดความดับ นิพพาน’ เธอดำรงอยู่ในปฐมฌานนั้น ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หากยังไม่บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ก็จะเป็นโอปปาติกะเพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้นจักปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก (รูปฌานอีก ๓ ลำดับ สำนวนคล้ายกัน)

“อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ อยู่ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ เวทนา สัญญาสังขาร วิญญาณ ที่มีอยู่ในอากาสานัญจายตนฌานนั้นโดยเป็นสภาวะไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นดุจโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นสิ่งคอยก่อความเดือดร้อนเป็นที่ทำให้ขัดข้อง เป็นดุจคนฝ่ายอื่น เป็นสิ่งที่ต้องแตกสลาย เป็นของว่างเปล่าเป็นอนัตตา เธอย่อมทำจิตให้กลับจากธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้ว จึงน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า ‘สภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน’เธอดำรงอยู่ในอากาสานัญจายตนฌานนั้น ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายหากยังไม่บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ก็จะเป็นโอปปาติกะ เพราะโอรัมภาคิสังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้น จักปรินิพพานในภพนั้นไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก (วิญญาณัญจายตนฌาน สำนวนคล้ายกัน)

เนื้อหาคล้ายกันนี้ยังปรากฎใน อัฏฐกนาครสูตร

กล่าวคือ ท่านตรัสอานิสงค์ของการเจริญฌานให้เกิดขึ้น พิจารณาความเป็นไตรลักษณ์แม้ของภาวะแห่งฌานนั้น แล้วแสดงอานิสงค์ว่าเป็นไปเพื่อบรรลุธรรม โดยมีเนื้อความเดียวกันในฌานทุกระดับ ตั้งแต่ ปฐมฌาน ถึง วิญญาณัญจายตนฌาน ไม่ปรากฎว่าผู้ที่ฌานระดับสูงกว่า จะมีอานิสงค์ในด้านการบรรลุธรรมได้สูงกว่าปฐมฌาน นอกจากนี้ในพระสูตรบทนี้ท่านไม่ได้แสดง อรูปฌาน อีก ๒ ระดับ คือ อากิญจัญญายตนะและเนวสัญญานาสัญญายตนะ ในฐานะเป็นฐานของการเจริญวิปัสสนา อาจารย์บางท่านกล่าวว่าเพราะเป็นฌานขั้นละเอียดเกินไปพิจารณาธรรมในฌานนั้นได้ยากลำบาก เป็นวิสัยเฉพาะของผู้มีปัญญามาก เช่น พระสารีบุตร จึงจะพิจารณาธรรมในอากิญจัญญายตนะและเนวสัญญานาสัญญายตนะได้

อย่างไรก็ตามใน ฌานสูตร ท่านได้ทรงแสดงว่า อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้โดยอาศัยฌานลำดับต่างๆทั้ง ๘ ระดับ รวมถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ เนื้อหาคล้ายกับ มหามาลุงกโยวาทสูตร ในที่นี้ขอยกมาเฉพาะตอนต้น

“ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า
๑. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยปฐมฌาน
๒. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยทุติยฌาน
๓. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยตติยฌาน
๔. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยจตุตถฌาน
๕. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยอากาสานัญจายตนฌาน
๖. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยวิญญาณัญจายตนฌาน
๗. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยอากิญจัญญายตนฌาน
๘. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
๙. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยสัญญาเวทยิตนิโรธ”

ใน อนุปทสูตร แสดงการบรรลุธรรมของพระสารีบุตร ก็เป็นลักษณะคล้ายกันนี้ คือ เจริญฌานให้เกิดขึ้นแล้วพิจารณาธรรมในฌานนั้นๆไปตามลำดับทั้ง ๘ ลำดับ เมื่อได้นำเสนอหลักฐานจากพระไตรปิฎกแล้ว ผู้เขียนบทความขอเรียบเรียงและนำเสนอข้อสรุปในประเด็นนี้ ดังนี้

มีพุทธพจน์อยู่มากมายที่ พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนให้พุทธศาสนิกชนเจริญสมาธิ และทรงแสดงอานิสงส์ของการเจริญสมาธิมากมาย ไม่ปรากฏว่าท่านเตือนว่าจะทำให้ไปเกิดในอรูปภพเสียโอกาสฟังธรรม ยกเว้นบุคคลนอกพุทธศาสนาผู้ฝึกสมาธิอย่างเดียวไม่เจริญปัญญาแล้วได้อรูปฌาน ซึ่งก็ถือว่าไม่ใช่สัมมาสมาธิมาแต่แรกแล้ว เพราะไม่ประกอบด้วยองค์มรรคอีก ๗ ข้อ โดยเฉพาะสัมมาทิฏฐิ อย่างไรก็ตามสมาธิในฐานะเป็นฐานของปัญญานั้น ท่านตรัสอานิสงค์ไว้เท่าเทียมกัน ในฌานทั้ง ๘ ระดับ ดังนั้น อาจไม่จำเป็นที่จะต้องเจริญสมาธิถึงขั้นอรูปฌานก็ได้ และแม้แต่ผู้ปฏิบัติแนววิปัสสนายานที่ไม่ได้สมาธิขั้นฌานก็สามารถมี สัมมาสมาธิได้ ถ้าปฏิบัติถูกทาง

ความเป็นผู้มีสมาธิดี เอื้อต่อการเจริญปัญญาอย่างยิ่ง ดังศัพท์คำว่า “ฌานสุข” นั้น บางครั้งท่านใช้คำว่า “เนกขัมมสุข” แปลว่า สุขที่เอื้อต่อการบรรลุนิพพาน นอกจากนี้ ยังมีพุทธพจน์มากมายที่ตรัสแสดงการบรรลุธรรมในลักษณะที่สอดคล้องไปกับการเจริญฌานสมาบัติ มีชื่อเรียกว่าการปฏิบัติแนวสมถยาน คือเจริญฌานก่อนแล้วค่อยเจริญปัญญา และถ้าบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล ย่อมไม่ไปเกิดในอรูปภพเองตามธรรมดา ถ้าได้สมาธิถึงขั้นอรูปฌาน แต่ไม่บรรลุธรรม อรรถกถาจารย์กล่าวว่าเพียงน้อมจิตไปยังรูปภพก็แก้ปัญหาได้ ข้อความดังนี้ “…อสิตฤษีนี้พึงน้อมจิตไปในรูปภพ ก็จะไม่เกิดเดือดร้อนอะไรถึงกับร้องไห้อย่างนั้น. แต่เกิดเดือดร้อน เพราะความไม่ฉลาดไม่รู้จักวิธี” ผู้ที่สามารถไปอุบัติในภพสูงแต่ปรารถนาภพต่ำกว่าบางครั้งอาจเรียกว่ามี นิกันติตัณหา คือถ้ามีความน้อมใจไปในภพต่ำกว่า ผู้นั้นก็สามารถไปอุบัติในภพที่ตนต้องการได้ตามปรารถนา

สรุป

สมาธิมีความสำคัญต่อการปฏิบัติขัดเกลา พัฒนาตนเอง ในแนวทางของพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ดังพุทธพจน์ ในมหาปรินิพพานสูตร “… สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐานย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย …” พระบรมศาสดาทรงตรัสเนื้อความเดียวกันนี้ ในต่างโอกาสต่างสถานที่ รวมถึง ๘ ครั้ง ในช่วงท้ายของกาลบำเพ็ญพุทธกิจ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ ศีล สมาธิ ปัญญา ในฐานะเป็นแกนหลัก ๓ ประการ ในการพัฒนาตนเองตามหลักพระพุทธศาสนา

หลักสำคัญที่ควรย้ำ คือ สมาธิอันมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นฐานในการเจริญปัญญา จึงถือเป็นสัมมาสมาธิ อย่างไรก็ตาม สมาธิยังมีประโยชน์รอง หรือผลพลอยได้อื่นๆ เช่น เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร ส่งเสริมสุขภาพกายสุขภาพจิต บางท่านได้อภิญญา เป็นต้น แนวทางการฝึกสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนมากคือ อานาปานสติ ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติที่มีความผ่อนคลายตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น แต่ไม่ว่าจะเป็นการฝึกสมาธิรูปแบบใด ถ้าเป็นสัมมาสมาธิแล้ว ควรถือว่าดีทั้งสิ้น

อาจมีข้อที่ควรระวังอยู่บ้าง คือ แม้สมาธิจะมีความสำคัญต่อการเจริญจิตเจริญปัญญาอย่างยิ่ง และเป็นภาวะที่ให้ความสุขแก่ผู้ปฏิบัติอย่างมาก ดังที่บางครั้งท่านใช้คำว่า สมาธิเป็นเนกขัมมสุข คือ สุขที่เอื้อต่อการบรรลุธรรม แต่ความที่สมาธิให้ความสุขแก่ผู้ปฏิบัติมากนั้น บางครั้งเป็นเหตุให้หลงเพลิน ไม่ขวนขวายพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านแนะให้ใช้หลัก อินทรียสมตา คือ ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ถ้าสมาธิมากแต่วิริยะน้อย โกสัชชะคือความเกียจคร้านก็จะเข้าครอบงำได้ สมาธิจึงควรมีเสมอกับวิริยะ นอกจากนี้ สมาธิในขั้นอรูปฌานอาจมีความจำเป็นค่อนข้างน้อยในแง่ของการเป็นฐานของการเจริญปัญญา เมื่อมีความเข้าใจดังนี้ การปฏิบัติก็เป็นสัมมาสมาธิ อำนวยประโยชน์มากมาย ดังได้รวบรวมมา