แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เสถียร โพธินันทะ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เสถียร โพธินันทะ แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธ

ข้อคิดเรื่อง เวสสันดรชาดก

พระคุณเจ้าและท่านสาธุชนทั้งหลาย ปาฐกถาธรรมในวันนี้ จะได้พูดถึงข้อคิดเรื่องเวสสันดรชาดก อันเป็นเรื่องน่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง เวสสันดรชาดกนั้นเป็นเรื่องจริง ทำไมเราจึงนิยมฟังกันมาก เหตุที่นิยมฟัง นอกจากจะเป็นเรื่องชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ที่มาสร้างบารมีแล้ว เรื่องนี้ยังมีเหตุมาจาก มาลัยสูตรอีกสูตรหนึ่ง ในคัมภีร์มาลัยสูตร ซึ่งเป็นของเกิดในลังกา เล่าความว่าพระมาลัยเถรเจ้าเป็นชาวลังกา บรรจุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยอภิญญา ท่านได้ขึ้นไปเฝ้าพระศรีอารยะเมตไตรยโพธิสัตว์บนสวรรค์ พระศรีอารยะเมตไตรยโพธิสัตว์ ได้ตรัสกับพระมาลัยว่าถ้าหากว่ามนุษยโลกคนใด มีความปรารถนาจะเกิดทันศาสนาของเราแล้ว ให้ฟังเทศน์มหาชาติพร้อมกับบูชาธูป เทียน และดอกบัวอย่างละพัน ให้ฟังให้จบในวันเดียวกันทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ผู้นั้นแล จะได้รับอานิสงส์เกิดทันในศาสนาของเรา ในมาลัยสูตรกล่าวไว้อย่างนั้น

เพราะฉะนั้น อิทธิพลจากมาลัยสูตร จึงทำให้เรื่องเวสสันดรชาดก มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะชาวพุทธของเราทุกคนก็มีความปรารถนาจะเกิดให้ทันศาสนาพระศรีอารย์อยู่แล้ว ท่านยังบอกวิธีเหตุให้เกิดทันศาสนาของพระองค์ จะต้องฟังเทศน์มหาชาติให้จบภายในวันเดียวแล้วบูชาด้วยธูปพันดอก เทียนพันเล่ม ดอกบัวพันดอก บูชากัณฑ์เทศน์ ๑๓ กัณฑ์ นั่นแหละครับ จึงกลายเป็นประเพณีตั้งแต่สุโขทัยเรื่อยมาตราบกาลปัจจุบันนี้ แต่เรื่องเวสสันดรชาดกนี้ เคยมีอยู่ในสมัยหนึ่ง ที่นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยนี้ ไปเขียนวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางไม่ดี บอกว่าเรื่องพระเวสสันดรชาดกนี้ เป็นเหตุทำให้คนไทยใจอ่อน ใจดีเกินไป มีอะไรก็หยิบยื่นให้เขาหมด ต่อไปถ้าจะมีใครมาขอชาติไทย ก็จะหยิบยกชาติไทยให้เขาทั้งชาติเลย แล้วก็มี

ครู อาจารย์ ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยบางท่าน พอสอนเรื่องเวสสันดรชาดก ก็หัวเราะเยาะหาว่าเป็นเรื่องหลอกคนเรื่องไร้สาระ นิทานอะไรใครเขาจะมาให้ลูกให้เมียใครได้ หาว่าท่านเวสสันดรเป็นคนใจไม้ไส้ระกำ ถ้าเป็นพ่อก็เป็นพ่อที่ไม่ดียกลูกให้เขาเป็นข้าทาสทาสี หาว่าเป็นผัวที่ใช้ไม่ได้ ดูหรือพระนางมัทรีมีความจงรักภักดีเป็นนักหนา กลับไปยกให้กับตาพราหมณ์ที่มาขอได้ ดูช่างกระไรเลย อย่างนี้เป็นต้น ข้อนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เป็นบาปอย่างอนันต์แล้ว ผู้ที่กล่าวผู้ที่เข้าใจเช่นนั้นเราจึงควรจะมาวิเคราะห์ข้อคิดบางประการในเวสสันดรชาดกว่า:-

เพราะการกระทำของเวสสันดรถูกต้องหรือผิด เป็นการกระทำของคนโง่หรือคนฉลาด
👉ประการแรก เรามาพิจารณากันเรื่องช้างปัจจัยนาค อันเป็นเหตุให้พระเวสสันดรต้องพลัดบ้านพลัดเมืองไป พร้อมทั้งลูกเต้า ความจริงช้างตัวนี้ไม่ใช่เป็นสมบัติของชาวแคว้นสีพี ไม่ใช่เป็นสมบัติของชาวเชตุดร ช้างตัวนี้เป็นช้างคู่บุญ เกิดในวันเดียวกับพระนางผุสดีประสูติพระเวสสันดรโพธิสัตว์ เป็นช้างคู่บุญ ถ้าจะพูดไปแล้ว ก็เป็นสมบัติส่วนบุคคล การที่ชาวสีพีเอะอะโวยวาย หาว่าพระเวสสันดรบริจาคกับพราหมณ์กลิงครัฐที่มาทูลขอ เพราะว่าช้างตัวนี้เป็นปัจจัยนาเคนทร์ สามารถเรียกร้องบันดาลให้เกิดฝนตกได้ โบราณเราถืออย่างนี้ ช้างที่เป็นมงคลแล้ว สามารถทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ช้างปัจจัยนาคเป็นช้างเผือก ชาวแคว้นสีพีจึงไม่พอใจ หาว่าพระเวสสันดรยกเอาสมบัติของชาติไปให้คนชาติอื่น

อันนี้ถ้าวิเคราะห์แล้ว จะเห็นทันทีว่าเกิดการเข้าใจผิด เพราะช้างตัวนี้ไม่ได้เป็นสมบัติของชาติ แต่เป็นสมบัติของส่วนบุคคล ของพระเวสสันดร ก็เมื่อเป็นสมบัติของส่วนบุคคลของพระเวสสันดรแล้ว พระเวสสันดรก็มีสิทธิ์ที่จะยกให้กับใครก็ได้ พวกชาวแคว้นสีพีเสียอีกที่มาขี้โกง เอาช้างนั้นเป็นของพวกตนไป แอบอ้างว่า ไม่ได้ ช้างตัวนี้เป็นช้างของชาวแคว้นสีพี แล้วเอะอะโวยวายขึ้น อีกประการหนึ่ง เราจะเห็นได้ว่า แคว้นกลิงครัฐกับแคว้นสีพีนั้น หยาบกับละเอียดกันเลย ถ้าจะเปรียบกันก็ได้แก่ยักษ์กับมนุษย์นั่นเอง ช้างกับตัวผึ้งนั่นแหละถ้าจะเปรียบกัน แคว้นสีพีนั้นเป็นแคว้นเล็ก ๆ แต่แคว้นกลิงครัฐนั้น เป็นมหาอำนาจชั้น ๑ ในอินเดียในครั้งนั้น มีรี้พลกลไกรพยุหโยธามากมาย การที่พวกกลิงครัฐส่งทูตมาขอช้างปัจจัยนาคนั้น ไม่ได้ขอเปล่านะ ไม่ได้ขอเอาไปเด็ดขาด เป็นเพียงการขอยืมไปเพื่อเป็นเหตุทำให้บ้านเมืองฝนตกหน่อยเพราะแล้งมาตั้งเจ็ดปีแล้ว ทำนาไม่ได้ผล ขอยืมเอาไป ไม่ได้โกงเอาเป็นของตัวหรอก เมื่อฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลแล้วจะนำมาคืนให้

คราวนี้ สมมุติว่า พระเวสสันดรไม่ยอมให้ ผลจะมีอะไรเกิดขึ้น จะต้องเกิดสงครามอย่างแน่นอน ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ กองทัพจากกลิงครัฐจะต้องบุกเมืองสีพีแน่ แล้วแคว้นสีพีซึ่งเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย ก็ต้องพินาศตกเป็นเมืองขึ้นของเขา ราษฎรสีพีก็จะกลายเป็นเชลยศึก เพราะฉะนั้นการที่พระเวสสันดรยอมยกช้างปัจจัยนาคให้แก่เขาไปนั้น เป็นการเสียสละทำเพื่อชาติและประชาชนโดยตรง เป็นการตัดต้นเหตุการทำสงคราม ช่วยสร้างความสงบสุขให้แก่ประชาราษฎรโดยเสรี ให้ปลอดภัย แต่เป็นการไม่เข้าใจ และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพวกชาวแคว้นสีพี ซึ่งมองตื้นเกินไป เห็นไปว่าพระองค์ยกสมบัติของชาติไปให้ศัตรู ไปให้แก่คนอื่นเขา เพราะฉะนั้น การที่พระเวสสันดร ยอมยกช้างปัจจัยนาคให้เขาไป จึงเป็นการทำเพื่อชาติโดยตรงทีเดียว เป็นการตัดการทำสงคราม ช่วยสร้างความสุขให้แก่ประชาราษฎร์ชาวสีพีให้ปลอดภัย แต่เป็นความเข้าใจผิดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวแคว้นสีพีซึ่งมองตื้นเกินไป เห็นไปว่าพระองค์ยกสมบัติของชาติไปให้ศัตรูหรือไปให้ผู้อื่นเขา และตามเรื่องราวปรากฏว่า เมื่อชาวแคว้นกลิงครัฐได้ช้างตัวนี้ไปแล้ว ไม่ช้าฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลเขาก็ส่งมาคืน แถมกลับมีพระราชสาสน์มาขอบอกขอบใจเป็นการใหญ่ นี่เราจะเห็นได้แล้วว่า พระเวสสันดรท่านทำถูกตั้งแต่กรณีแรกที่ทรงให้ช้างเป็นทาน ไม่ว่าจะมองในแง่การเมืองหรือในแง่ส่วนตัว เราตำหนิท่านไม่ได้เลย

👉ประการที่สอง ในการที่ท่านให้บุตรกัณหาชาลีเป็นทานถูกไหม? ในกรณีที่ท่านให้ชาลีกัณหา หรือพระนางมัทรีเป็นทานนั้น ถ้าเราเอาจิตใจพวกเราอย่างปุถุชนธรรมดาผู้มีกิเลสไปวัดจิตใจท่าน เราก็อาจจะประณามและโวยวายหาว่า “เห็นแก่ตัว ๆ” เที่ยวยกลูกให้เขาไป เทินให้เขาไป นี่ แต่ข้อนั้นเราพูดตามวิสัยของเราที่มีกิเลส เป็นปุถุชน แต่ถ้าเรามองด้วยใจของพระเวสสันดรแล้ว ตรงกันข้าม พระเวสสันดรเป็นพระโพธิสัตว์ เราเป็นโพธิสัตว์หรือเปล่า และการที่พระเวสสันดรให้สิ่งเหล่านี้ไป ให้เพื่อหวังอะไร ให้เพื่อหวังชื่อเสียง เพื่อความสุข เพื่อพระองค์หรือ? ถ้าเพื่อชื่อเสียง เพื่อความสุขแล้ว ลูกเมียเป็นที่รักดังแก้วตา จะให้เขาไปไม่ได้หรอก จะต้องอยู่กับลูกอยู่กับเมีย แต่ที่พระองค์ให้เขาไป ก็เพื่อหวังพระโพธิญาณ พระโพธิญาณเพื่อใคร ถามต่อไปอีก ก็ได้รับคำตอบว่าพระโพธิญาณเพื่อสรรพสัตว์โลก เพราะฉะนั้น การทำประโยชน์ การให้ทานของพระเวสสันดรนั้น ไม่ใช่เพื่อพระองค์เสียแล้ว แต่เพื่อสัตว์โลกทั้งหลาย เป็นการทำประโยชน์เพื่อชนหมู่มาก โดยการที่พระองค์ยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ยอมทุกข์ในส่วนพระองค์ เพื่อความสุขของชนมหาศาลทั้งโลก การทำอย่างนี้เป็นการเห็นแก่ตัวหรือ มนุษย์ผู้มีความเห็นแก่ตัวทำได้อย่างนี้หรือ?

ถ้าหากเราถือว่าการทำอย่างนี้เป็นการเห็นแก่ตัวแล้ว เราก็น่าจะตำหนิทหารหาญที่ไปตายเพื่อชาติว่า ทหารเหล่านั้นเห็นแก่ตัว เพราะอะไร เพราะแม่หรือก็แก่ ไม่มีใครเลี้ยง ลูกหรือก็ยังแดง ๆ แม่อีหนูหรือก็ยังสาว อะไรไปเป็นทหารรบสงครามป้องกันประเทศชาติ เห็นแก่ตัวนี่ ทหารคนนี้ นี่ถ้าใครมีความรู้สึกตัวอย่างนี้ละก็ ชาติบ้านเมืองประเทศนั้นจะต้องล่มจมแน่ ถ้าประชาชนในบ้านเมืองนั้นมีความรู้สึกอย่างนี้ต่อทหาร ว่าทหารทิ้งลูก ทิ้งเมียไปรบเพื่อชาติ เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวละก็ ไม่ช้าชาตินั้นก็วิบัติ การที่ทหารไปรบเพื่อชาติ เราไม่ถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการเห็นแก่ตัว แต่เราให้ความยกย่องว่า เป็นวีรชนของเรา บรรดาพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีอย่างอุกฤษ์ ถึงขั้นสละชีวิต และลูก และเมีย เป็นทาน เพื่อพระโพธิญาณ ก็มีอุปมัยดุจเดียวกับทหาร ซึ่งเป็นวีรชนของชาติฉันนั้นเหมือนกัน แต่ว่าวัตถุประสงค์ของพระโพธิสัตว์ยิ่งกว่าทหาร ทหารนั้น รบเพื่อชาติ แต่พระโพธิสัตว์นั้น รบกะกิเลสเพื่อเห็นแก่สรรพสัตว์ ไม่มีชาติและไม่จำกัดเฉพาะมนุษย์ แต่แผ่ไพศาลไปยังมารอินทร์ พรหม ยม ยักษ์ เดียรัจฉาน เป็นที่สุด นี่แหละครับเป็นลักษณะมหากรุณาของพระโพธิสัตว์เจ้า มีกี่คนทำได้อย่างนี้

คราวนี้เรามองดูในแง่พ่อกับลูกว่า ที่พูดเมื่อกี้เป็นเรื่องสละประโยชน์ส่วนน้อย เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ ก่อนที่พระเวสสันดร ท่านจะยกลูกให้กับท่านชูชกได้คิดวางแผนการอะไร เพื่ออนาคตลูกท่านไม่ให้ลำบากไหม ท่านวางแผนไว้แล้ว ดังจะเห็นได้ว่า ท่านบอกดัง ๆ ให้ชูชกได้ยิน ท่านบอกชาลีกัณหาว่า ลูกเอ๋ย ถ้าหากลูกไปอยู่กับพ่อเฒ่าชูชกคนนี้ละก็ ใครจะมาเอาตัวลูกไถ่ไปละก็ พ่อตีราคาลูกแต่ละคน แต่ละคน สำหรับชาลีนั้น ผู้ที่มีทองคำพันลิ่ม ถึงจะมาไถ่ชาลีได้ ส่วนแม่กัณหาซึ่งเป็นน้องเล็กนั้น จะต้องผู้ที่มีโคร้อยตัว ม้าร้อยตัว ช้างร้อยตัว ทองพันลิ่ม เงินพันลิ่ม ทาสร้อยคน ทาสีร้อยคน รถร้อยเล่มมาไถ่แม่ถึงจะยอมตัวไปอยู่กับเขานั่น ท่านสั่งของท่านยังงี้ ชูชกฟังหูผึ่งทีเดียว ชูชกนี่ฉลาด ถ้าเอาใจชูชกมาใส่ใจเราบ้างว่า เราได้ลูกเขามาสองคน ชายคนหญิงคน มันก็ยังเล็กอยู่ ผู้หญิงก็ไม่เกินเจ็ดขวบ ผู้ชายก็ไม่เกินสิบสอง ได้มาสองคนอย่างนี้ อย่างมากก็เอาไปตักน้ำตักท่า ปัดกวาดถูบ้านถูเรือนเท่านั้นเอง กับที่ว่าเอาไปขายได้สินไถ่มากมายพอกินเป็นมหาเศรษฐีทันตาเห็น เราจะเลือกเอาอย่างไหน แน่นอน ชูชกซึ่งเป็นนักเศรษกิจตัวยง ก็จะต้องเอาชาลีกัณหาไปขายเพื่อเอาสินไถ่ คราวนี้ใครบ้างเล่าที่จะมาไถ่ด้วยราคาค่างวดอันมากมายอย่างนี้ เว้นไว้แต่ผู้นั้นจะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขด้วย ก็เท่ากับว่าพระเวสสันดรนั้นได้ยืมมือชูชก ให้พาชาลีกัณหาออกจากป่าไปหาปู่เท่านั้นเอง

เท่านั้นเองละซิ พระเจ้ากรุงสัญชัยนั้นแหละจะเป็นผู้ไถ่ ไม่ใช่ใครหรอกครับ พระเจ้ากรุงสัญชัยซึ่งเป็นพระอัยกานั่นเองเป็นผู้ไถ่ กษัตริย์หรือเศรษฐีบ้านไหนเมืองไหนเขาจะมาไถ่กัน เด็กกะเปี๊ยก ๒ คน จะเอาไปทำอะไรกัน ทองคำพันลิ่ม ช้างม้าวัวควายทาส ทาสา อีกมากมาย อย่างละร้อย เอาทำไมกัน คนซื้อคนได้มากมายกว่านี้ ดีกว่าเด็ก ๒ คน เป็นอันว่าชูชกนี่จะต้องมุ่งพาเด็ก ๒ คนนี้ไปหาปู่ เพราะไปที่ไหนก็ไม่มีใครเขาเอา ปู่กับย่านั้นจะเป็นผู้ไถ่เอง แล้วการณ์ก็เป็นไปตามที่พระองค์ทรงคาดไว้จริง พระเจ้ากรุงสัญชัยและพระนางผุสดีไถ่จริง ๆ ข้อเสนอราคาที่ชูชกบอกว่า พระเวสสันดรตีราคาอย่างนี้ อย่างนี้ พระเจ้ากรุงสัญชัยและพระนางผุสดีไม่เชื่อ หาว่าชูชกไปขโมยเด็กมา ฝ่ายเด็ก ๒ คน ก็ยืนยันว่าพระบิดาได้ยกให้ชูชกไปจริง ๆ พระบิดาได้ตีราคาไว้จริง ๆ ชูชกเลยกลายเป็นมหาเศรษฐีทันตาเห็นในวันนั้นเองที่พาหลานไปหาปู่ เรื่องนี้เป็นการยิงกระสุนนัดเดียวแต่ได้นกสองตัว คือ ข้อที่พระองค์ให้ลูกเป็นทานนั้น มีประโยชน์ ๔ สถาน
    ๑. ชื่อว่าบำเพ็ญปุตตปริจาค
    ๒. ชื่อว่าไม่ทำให้พระโอรสและธิดาต้องตกระกำลำบากอยู่ในป่า แต่กลับมาอยู่ในอ้อมอกของปู่-ย่า
    ๓. ทำให้ชูชกซึ่งแกยากจนเป็นเศรษฐีรวยมั่งมีทันตาเห็น
    ๔. พระอัยกาได้ฟังนัดดาทั้งสองเล่าถึงความทุกข์ยากของพระโอรสและพระสุณิสา มีความเศร้าพระทัย เป็นเหตุให้ชาวสีพีรัฐทั้งปวงก็มีความเศร้าใจสงสารพระเวสสันดร พากันยกโทษให้ กลับไปทูลเชิญให้เสด็จกลับไปเสวยราชย์


กลับได้ประโยชน์ถึง ๔ สถาน การกระทำของพระเวสสันดร จึงไม่ใช่การกระทำที่โง่เขลา ดังที่พวกเราบางคนเข้าใจ แต่เป็นการกระทำของบัณฑิตผู้เห็นการณ์ไกล ที่เอาประโยชน์ ได้ทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ ข้อนี้เห็นได้ชัดเจน



👉ประการที่สาม ทรงให้พระนางมัทรีเป็นทาน พระนางมัทรีใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นยอดมิ่งขวัญ ยอดกัลยาเป็นเมียแก้ว เมียขวัญที่ดี เพราะฉะนั้น การที่พระเวสสันดรยกพระนางมัทรีให้พราหมณ์นั้น พระนางมัทรีก็รู้อยู่แก่ใจว่า พระเวสสันดรมุ่งประสงค์อะไร และพระนางก็ยินดีที่จะร่วมเสียสละกับพระองค์ ยอมให้เป็นเครื่องมือของพระองค์เพื่อที่จะช่วยกันบ่มโพธิญาณให้สุกงอม เพื่อประโยชน์แก่มหาชนในอนาคตกาลเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น เมื่อพราหมณ์จำแลงมาขอพระนางมัทรีจากพระองค์ เมื่อพระเวสสันดรบอกยกให้แล้ว ยังไม่แน่แก่พระทัยว่า พระนางมัทรีจะเศร้าใจ หรือเสียใจ จึงผินพระพักตร์มาทอดพระเนตรพระนางมัทรีว่า จะมีการแสดงอาการอย่างไรปรากฏหรือไม่ พระนางมัทรีก็ได้ทูลออกมาด้วยน้ำใจที่แกล้วกล้าเยี่ยงสุรนารีว่า:- โกมารี ยสฺสาหํ ภริยา สามิโก มม อิสฺสโร ยสฺลิจฺเฉ ตสฺส มํ ทชฺชา วิกฺกีเณยฺย หเนยฺยา วา แปลความว่า หม่อมฉันผู้องอาจ เป็นเทวีของพระองค์ท่านใด พระองค์ท่านนั้น เป็นภัสดาของหม่อมฉัน เมื่อพระองค์จำนงค์ให้หม่อมฉันแก่บุคคลใด ขอจงประทานให้แก่บุคคลนั้นเถิด พึงขาย หรือพึงฆ่าเสียก็ตาม หม่อมฉันยอมทั้งนั้น

นี่ก็แสดงว่า จิตใจของนางมัทรีเต็มเปี่ยมแล้ว เข้าใจในเหตุผลของสวามีแล้ว พระนางมิได้เศร้าใจหรือเสียใจ พระนางยินดี เพราะยิ่งเป็นการช่วยให้พระสวามีได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เร็วขึ้น เสร็จแล้ว พราหมณ์ผู้นั้น ก็เป็นพราหมณ์ที่มาทดลองพระเวสสันดรและได้คืนพระนางมัทรีให้ ใครเลยจะกล้ารับพระนางมัทรีไป สมมุติว่าเรา ไปเจอคนอย่างนั้นเข้า คู่ผัวตัวเมียทีมีความรักมั่นคง และเข้าใจถึงขนาดเสียสละอย่างนั้น ใครเลยพอที่จะยังใจร้ายไส้ระกำหินชาติ พรากเขาได้หรือ? ทำไม่ได้แน่ ถ้าเรายังมีความเป็นมนุษย์อยู่ในสันดาน ฉะนั้นในที่สุดพระนางมัทรีก็ไม่ได้เสียอะไรไป ก็กลับอยู่ในสำนักของพระสวามีอีก

เรื่องเวสสันดรชาดก จึงเป็นเรื่องที่ให้คติธรรม ความเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะฉะนั้นโบราณกาลของเราจึงได้เลือกเอาชาดกเรื่องนี้มาเป็นเทศน์ประจำ ยิ่งกว่าชาดกเรื่องอื่น โดยมุ่งหวังสอนให้ประชาชนรู้สึกเลยสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยการเสียสละประโยชน์ส่วนตัว เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่าสังคมทุกยุคทุกสมัย มีความเดือดร้อนขึ้นนั้น ไม่ใช่เดือดร้อนเพราะคนเสียสละ ความเดือดร้อนส่วนใหญ่มาจากคนที่ไม่รู้จักเสียสละ ถ้าทุกคนรู้จักสละอย่างพระเวสสันดรแล้ว สังคมนี้ก็จะน่าอยู่ โลกนี้ก็จะน่าอยู่มาก โลกไม่เคยเดือดร้อน เพราะคนเสียสละ ตรงกันข้ามโลกเดือดร้อน เพราะคนกอบโกย ที่ไม่รู้จักเสียสละ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เรายังจะมาตำหนิอีกหรือว่า เทศน์มหาชาติคร่ำครึ ฟังแล้วถ้าใครขืนปฏิบัติตาม เมืองไทยต้องขายชาติ ต้องยกให้บุคคลอื่น เป็นไปได้หรือที่จะเกิดโทษอย่างนั้นขึ้น เป็นไปไม่ได้เลย

เราฟังเทศน์มหาชาติมากี่ปีแล้ว จนกระทั่งบัดนี้ ๒,๕๐๐ กว่าปี นับตั้งแต่พุทธกาลมา มีการแสดงมาโดยลำดับ จนบัดนี้ แล้วเราพบคนอย่างพระเวสสันดรมีกี่คน ที่จะยกลูกยกเมียยกบ้าน ยกเมือง ยกทุกสิ่งทุกอย่างให้เขา ยังไม่พบเลย ก็จะไปพบได้อย่างไร ถ้าทุกคนทำอย่างพระเวสสันดรละก็ เจ๊งแน่นอนละซิ ถ้าคนในประเทศไทยทุกคน เกิดนัดกันทำอย่างพระเวสสันดรละ มันก็เจ๊งแน่ แต่จะมีคนที่ทำได้อย่างพระเวสสันดร ก็ตั้งสองพันกว่าปี มีกี่คนที่ทำได้อย่างพระเวสสันดร ยังไม่พบไม่มีเลย ถ้าพบกรุณาบอกกระผมด้วย การกลัวว่าทุกคนเป็นอย่างพระเวสสันดรแล้วก็แย่ โลกนี้ก็ลำบากละซิ ยกให้เขาหมดละซิ จึงเป็นเหมือนหนึ่งคนที่กลัวฟ้าจะพังหล่นมาทับฉะนั้น เป็นโรคเส้นประสาท คนที่กลัวอย่างนี้ เป็นโรคจิตทุกชนิด ไม่ใช่โรคสามัญชาติ อย่างกระต่ายตื่นตูมอย่างนี้เป็นต้น เรื่องเวสสันดรชาดกนั้น ให้คติธรรมในการสอนให้สัตว์รู้จักการเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม เราควรจะภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และรักษาประเพณีการฟังเทศน์มหาชาติไว้ โดยช่วยกันบอกเล่า ชี้แจงความเข้าใจผิดอันไร้สาระ ของคนที่ไม่ได้ศึกษาถึงสารัตถะแก่นสารของเวสสันดรชาดกให้ถูกต้องเข้าใจเสียให้ดี บุคคลที่จะประพฤติอย่างพระเวสสันดรนี้ ถ้าหากเป็นคำถามขึ้นก็ไม่มีใครเป็นพระเวสสันดรอีกแล้ว เราจะมาฟังเทศน์เวสสันดรชาดกทำไม เทศน์เพื่ออบรมจิตใจของพวกเราให้รู้จักเป็นคนเสียสละ ขนาดเทศน์อย่างนี้ทุกปี ๆ เรายังจะหาคนที่มีความเสียสละได้ยากยิ่ง ไม่ต้องเสียสละอย่างพระเวสสันดรหรอกครับ เอาเพียงหนึ่งในร้อยของพระเวสสันดร ยังหาไม่ค่อยจะพบ นี่ถ้ายิ่งไม่เทศน์ก็จะยิ่งไปกันใหญ่ นี่ละซิ เราควรจะทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเผอิญเราพบคนอย่างพระเวสสันดรเข้า ท่านทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า เราพบพระโพธิ์สัตว์องค์ใหม่แล้ว ท่านผู้นั้นเป็นหน่อเนื้อ พระพุทธางกูร กราบไหว้ท่านไว้เถิด เพราะท่านเป็นเนื้อนาบุญอันวิเศษ ในประเทศไทยถามว่ามีตัวอย่างบ้างไหม ? มีครับ มีบุคคลผู้ประพฤติอย่างพระเวสสันดร ท่านผู้นั้นได้แก่รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีปฏิปทาประหลาดมากครับ กระผมมั่นใจว่าพระองค์ท่านเป็นพระพุทธางกูร มาเกิดในบรมราชขัตติยวงศ์ เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ในประเทศไทยเพื่อสร้างบารมี ที่เชื่ออย่างนั้น เพราะอะไร เพราะมีปฏิปทาพระองค์ จริยาวัตรของท่านบ่งให้ทราบ ให้ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ผู้เขียนบันทึกเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้บันทึกจริยาวัตรของกษัตริย์พระองค์นี้ว่า ละครผู้หญิงท่านก็ไม่ค่อยจะทรง (โปรด) ท่านทรงแต่การวัดการวา การกุศลเท่านั้น เขียนไว้ย่อ ๆ เท่านี้ เขียนบอกไว้ว่าท่านไม่เพลิดเพลินต่อเรื่องกามสุข เพลิดเพลินแต่การสร้างวัดสร้างวา เจริญแต่ในทางพระกุศล อีกประการหนึ่ง อัธยาศัยของพระองค์ท่านนั้น ฝักใฝ่แต่ในเรื่องทานบริจาคอย่างมากน่าประหลาด เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงว่ากรมท่า กรมท่าซ้ายท่าขวาขึ้นกับท่านหมด กรมท่าในสมัยนี้ก็เทียบกับกระทรวงต่างประเทศกับกระทรวงเศรษฐการเดี๋ยวนี้รวมกันเท่ากับกรมท่าซ้าย กรมท่าขวาในโบราณ แม่ทัพฝ่ายจีน-ญวนแขก ชวา มาลายู สังกัดอยู่ในสองกรมนี้ ว่าด้วยเรื่องสำเภา เรื่องค้าขาย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงตั้งโรงทานหน้าวังของพระองค์ นิมนต์พระมาเทศน์ทุกวันให้เป็นธรรมทาน และถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ที่มาบิณฑบาตผ่านมา และยาจกวณิพกคนเข็ญใจ คฤหัสถ์ไม่มีข้าวปลาจะกิน ไม่มีเสื้อผ้าจะนุ่งจะห่ม ให้มาเอาที่นี่ ทรงให้ทานไม่อั้นทุกอย่าง จนกระทั่งรัชกาลที่สองซึ่งเป็นพระราชบิดา ออกอุทานเรียกพระองค์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสว่า เจ้าสัว ว่าฉันทำบุญสู้เจ้าสัวเขาไม่ได้ พระองค์ท่านได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า ดูซิ เขาเป็นแต่เพียงกรมหมื่น เขายังอุตส่าห์ตั้งโรงทานสองโรงหน้าวังเขาเลย เราเป็นถึงพระยามหากษัตริย์ ทำไมไม่มีโรงทานกับเขาบ้างเล่า เลยมีพระบรมราชโองการให้ตั้งโรงทานทางด้านประตูวิเศษไชยศรีปัจจุบันนี้ โรงทานนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ ด้วยความดลใจของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นตัวอย่าง ต่อมานี้ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อท่านทรงบำเพ็ญทานครั้งใด ท่านก็เปล่งว่า พุทโธ โหมิ อนาคเต ฯขอให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตกาล เวลาสร้างวัดวาอารามหลั่งน้ำทักษิโณทกถวายสงฆ์ท่านก็เปล่งสีหนาทประกาศยืนยันความปรารถนาความเป็นพุทธภูมิของท่าน อะไรไม่ประหลาดเท่ากับที่พระองค์บริจาคลูกเป็นทาน เรื่องนี้แปลกมาก เพราะพระองค์บริจาคพระราชโอรสพระราชธิดาเป็นทาน ประวัติศาสตร์ตอนนี้ลี้ลับมาก ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ที่เป็นที่เปิดเผยไม่ปรากฏ ไปปรากฏในจดหมายเหตุของกรมหลวงนรินทรเทวี มีข้อความอยู่ตอนหนึ่ง กระผมจะอ่านถวายให้พระคุณเจ้าได้ฟังกล่าวว่า "... ได้ทรงสร้างพระบารมีโปรดคนโทษ ทำผิดคิดไม่ชอบต้องด้วยบทพระอัยการ ยกประทานชีวิตไว้ หลังน้ำทักษิโณทกตกศีรษะทั้งผู้ชาย ผู้หญิง โปรดประทานชีวิตปล่อยเจ็ดคน แล้วมีสงฆ์มาขอพระองค์ใหญ่วิลาศ พระองค์ลักขนา อุทิศถวาย ไม่เสียดาย เด็ดดวงพระทัยยื่นแล้ว สงฆ์ถวายคืน ว่าจะเพิ่มพระบารมี...” นี่เป็นตอนหนึ่งในจดหมายเหตุของกรมหลวงนริทรเทวี ซึ่งเรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า จดหมายเหตุเจ้าครอกวัดโพธิ เพราะพระองค์เป็นพระกนิษฐาของรัชกาลที่ ๑ เรียกกันว่าพระองค์เจ้าหญิงกุ ท่านสร้างวังอยู่ที่ข้างวัดโพธิ์ ตรงที่สร้างวิหารพระนอน ในปัจจุบันนี้ เดิมเป็นวังของกรมหลวงนรินทรเทวี เจ้าครอกวัดโพธิ์สร้างวังอยู่ และท่านเป็นคนเก็บอากรขอนตลาดที่ตลาดท่าเตียน รัชกาลที่ ๑ ยกให้ เพราะพระองค์เป็นน้องสาวคนละแม่ พ่อเดียวกัน และท่านผู้นี้ดำรงพระชนม์ชีพมาถึงรัชกาลที่ ๓ ได้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ มาถึง ๓ แผ่นดิน ได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า ได้มีพระสงฆ์มาขอพระราชโอรสพระราชธิดารัชกาลที่ ๓ ไป คือพระองค์เจ้าหญิงวิลาศ กับพระองค์เจ้าชายลักขณามงคล นี่ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง เทียบได้กับชาลีกัณหา แล้วก็รัชกาลที่ ๓ ก็เด็ดดวงพระทัยยื่นยกให้เป็นทานอย่างพระเวสสันดรเหมือนกัน แต่แล้วพระท่านก็ถวายคืน แล้วทูลบอกว่าที่มาขอนี่ก็เพื่อทดลองบารมีว่า ที่อ้างปรารถนาพุทธภูมินั้นจะทำได้จริงไหม เป็นการทดสอบบารมีเป็นการส่งเสริมพระบารมี น่าเสียดายที่ว่าพระสงฆ์ที่ไปทูลขอนั้น ในจดหมายเหตุไม่ได้ระบุว่า เป็นพระวัดไหน น่ารู้จริงนะครับ

ฉะนั้น เรื่องพระเวสสันดรชาดก กระผมขอจบด้วยการยกเอาอภิสวาจาของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ที่ได้ประกาศไว้ว่า หทยํ จกฺขุมปหํ ทชฺชํ กึ เม พาหิรกํ ธนํ หริญฺญํ วา สุวณฺณํ วา มุตฺตา วา เวฬุริยา มณี แปลความว่า เราพึงให้ดวงหทัยหรือดวงจักษุก็ยังให้ได้ เราจะหวงแหนอะไรกับทรัพย์ภายนอก คือ เงิน ทอง มุกดา ไพฑูรย์ มณี ได้ ชาลึ กณฺหาชินํ ธีตํ มทฺทึ ปติพฺพตํ จชมาโน น จินฺเตสึ โพธิยาสึ เยว การณา แปลความว่า เราสละชาลีผู้โอรส กัณหาผู้ธิดา ตลอดจนมัทรีเทวี ผู้เคารพสามี โดยที่เราไม่คิดอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เพราะเหตุอันจักสำเร็จโพธิญาณเท่านั้น น เม เทสฺสา อุโภ ปุตฺตา มทฺที เทวี น อปฺปิยา สพฺพญฺญุตํ ปิยํ มยฺหํ ตสฺมา ปิเย อทาสหํ แปลความว่า โอรสธิดาทั้งสองของเรา เราจะเกลียดชังก็หาไม่ พระนางมัทรีไม่เป็นที่รักของเราก็หาไม่ แต่สัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรายิ่งกว่า เราจึงสละโอรสและธิดาพร้อมทั้งมัทรีเสีย เพื่อแลกกับสิ่งที่เรารักยิ่งกว่านั้นคือ พระสัพพัญญุตญาณ ขอจบปาฐกถาวันนี้ แต่เพียงเท่านี้





วันอังคาร

มหายานปัญจขันธศาสตร์

ปัญจขันธศาสตร์

ที่มา รจนาโดย พระสถิรมติ พระอาจารย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของนิกายโยคาจารย์ ท่านเป็นศิษย์ของ พระวสุพันธุ นิกายโยคาจารย์หรือวิชญาณวาท ปรัชญาโยคาจารย์ต้นคิดคือ พระไมตรีนาถ แต่ผู้สานต่อแนวคิดและดำเนินการก่อตั้งนิกายโยคาจารย์ คือศิษย์ของท่าน 🔎พระอสังคะ (พ.ศ.๘๕๓-๙๓๓) ท่านบวชตั้งแต่เป็นเณรในนิกายสรวาสติวาทของเถรวาท และต่อมาได้กราบพระไมตรีนาถ คณาจารย์ของมหายานเป็นพระอาจารย์และได้เปลี่ยนมาเป็นมหายาน แรกเริ่มงานสถาปนาแนวคิดโยคาจารย์มิได้ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ท่านอสังคะ จึงได้ไปชักชวนให้ พระน้องชาย พระวสุพันธุ (๘๕๙-๙๓๙) ซึ่งบวชอยู่ในนิกายสรวสติวาส ให้หันมาเข้าสู่มหายานและร่วมกันเผยแพร่หลักปรัชญาโยคาจารย์จนแพร่หลายเป็นนิกายใหญ่หนึ่งในสี่นิกายหลักของอินเดียในยุคนั้น

แปลจากสันสกฤตเป็นภาษาจีนโดยพระเสวียนจั้ง หรือพระถังซำจั๋ง สมัยราชวงศ์ถัง แปลไทย เสถียร โพธินันทะ


สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนานัยแห่งปัจขันธ์
มีรูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์

🔅 รูปขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปอันอาศัยมหาภูตรูปเกิดนั้น
มหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้นเป็นไฉน?
คือปฐวีธาตุ ๑, อาโปธาตุ ๑, เตโชธาตุ ๑, วาโยธาตุ ๑,
นั้นคืออย่างไร?
คือ ปฐวีธาตุมีความแค่นเข็งเป็นสภาวะ, อาโปธาตุมีความชุ่มไหลเป็นสภาวะ, เตโชธาตุมีความร้อนอุ่นเป็นสภาวะ, วาโยธาตุมีความหวั่นไหวเป็นสภาวะ
อุปทายรูปอันอาศัยเกิดแต่มหาภูตรูปนั้นเป็นไฉน?
คือ จักขุนทรีย์, โสตินทรีย์, ฆานิน-ทรีย์, ชิวหินทรีย์, กายินทรีย์, รูปะ, สัททะ, คันธะ, รสะ, โผฎฐัพพะส่วนหนึ่ง, อวิญญัติรูป เหล่านี้เป็นต้น
จักขุทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่รูปารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
โสตินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่สัททารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
มานินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่คันธารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
ชิวหินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่รสารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
กายินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่โพฎฐัพพารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
รูปารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งจักขุ มีวรรณะรูป สัณฐาน รูปและวิญญัติรูป เป็นต้น
สัททารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งโสตะ มีอุปาทินกมหาภูตสัททะ๑, อนุปาทินกมหาภูตสัททะ๑ และอุปาทินกานุปาทินกสหชาติมหาภูติสัททะ๑ (อุปาทินกมหาภูติสัททะ เช่น เสียงพูดจาก, เสียงตบมือดังๆหรือเสียงต่างๆซึ่งเกิดจากสิงที่มีชีวิต อนุปทินกมหาภูติสัททะ เช่น เสียงลมพัด เสียงคลื่นทะเละเบาๆ เสียงต่างๆซึ่งเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต อุปทินกานุปาทินกมหาภูติสัททะ ได้แก่ เสียง,ซึ่งด้วยสิ่งมีชีวิตและไร้ชีวิตร่วมกัน เช่น เสียงตีกลอง เป็นต้น)
คันธารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งแห่งฆานะ มีสุคันธะ,ทุคันธะ,อสุคันธาทุคคันธะ
รสารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งชิวหา มีรสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม รสเผ็ด รสขม รสจืด
โผฏฐัพพารมณ์ส่วนหนึ่งนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งกาย ยนเว้นมหาภูตเสีย ได้แก่ สภาพอ่อนลื่นสลวย, สภาพหยาบกระด้าง, สภาพที่หนัก, สภาพที่เบา,ความเย็น, ความหิว, ความกระหาย เป็นต้น
อวิญญัติเป็นต้นนั้นเป็นไฉน?
คือ สภาพ(ที่ทำให้เกิด) มีวิญญัติกรรมและรูปอันเกิดจากสมาธิ รูปอย่างนี้เป็นอนิทัสสนะเห็นก็ไม่ได้ อัปปฏิฆะกระทบก็ไม่ได้

🔅 เวทนาขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือเวทนา ๓ ประการ มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา สุขเวทนานั้น อธิบายว่าสภาพใดที่ดับไปแล้ว จิตก็ยังพอใจจักเสพซึ่งอารมณ์นั้นอีก ทุกขเวทนานั้นอธิบายว่า สภาพใดที่เกิดขึ้นแล้ว จิตมีความปรารถนาจักหลีกให้พ้นจากอารมณ์นั้น ส่วนอทุกขมสุขนั้นอธิบายว่าสภาพใดที่เกิดขึ้นแล้วจิตปราศจากความปรารถนาทั้ง ๒ ประการ คือไม่มีความปรารถนาจักเสพอีก หรือปรารถนาจักหลีกให้พ้นไปเสีย

🔅 สัญญาขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันเป็นอธิบดีหมายจำในสัพพารมณ์ทั้งปวง

🔅 สังขารขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือ ยกเวทนาขันธ์,สัญญาขั้นธ์ออกเสีย ที่เหลือได้แก่เจตสิกทั้งหมด กับทั้งจิตตวิปยุตธรรมทั้งมหด

เจตสิกธรรมที่เหลือนั้นเป็นไฉน?
คือจิตตสัมปยุตตสังขารธรรมนั่นเอง มี ผัสสะ,มนสิการ, เจตนา, ฉันทะ, อธิโมกข์, สติ, เอกัคคตา,มติ, ศรัทธา, หิริ, โอตตัปปะ, อโลภะ, อโทษะ, อโมหะ, วิริยะ, ปัสสัทธิ, อัปปาทะ, ตัตรมัชฌัตา, อหิงสา,โลภะ,โทษะ,มานะ, อวิชชา, ทิฏฐิ, วิจกิจฉา, โกรธะ, อุปนาหะ, มักขะ, ปลาสะ,ออัสสา, มัจฉริยะ, สาเถยยะ, มายา, มทะ, วิหิงสา, อหิริ, อโนตตัปปะ, ถีนะ, อุทธัจจะ,อัสสัทธิยะ, โกสัชชะ, ปมาทะ, มุฏฐสัจจะ, วิกเขปะ, อสัมปชานะ, กุกกุจจะ, มิทธะ, วิตก, วิจาร, เหล่านี้ชื่อว่า เจตสิกธรรม ในเจตสิกเหล่านั้น มี ๕ ดวงเป็นสัพพจิตตสาธารณ์, ๕ดวงเป็นปกิณกเจตสิก, ๑๑ ดวงเป็นโสภณเจตสิก, ๖ ดวงเป็นกิเลสเจตสิก, ที่เหลือเป็นอุปกิเลสเจตสิก, และอีก ๔ ดวงเป็นอนิยตเจตสิก
ผัสสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมีการประชุมพร้อมด้วยวัตถุ อารมณ์, วิญญาณ, ทั้ง ๓ เกิดความรู้ขึ้นเป็นสภาวะ
มนสิการนั้นเป็นไฉน?
คือ สภาพซึ่งทำความรู้เอาใจใส่ให้เกิดแก่จิต
เจตนานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งยังจิตให้เป็นไปในกุศลบ้าง ,อกุศลบ้าง,อัพยากตบ้าง, มีความปรุงแต่งจิตให้เป็นมโนกรรมเป็นสภาวะ
ฉันทะนั่นเป็นไฉน?
คือสภาพให้เกิดความพอใจในอารมณ์ มีความหวังต้องการเป็นสภาวะ
อธิโมกข์เป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งตัดสินอารมณ์ตามที่รับรู้มา มีความเด็ดขาดเป็นสภาวะ
สตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งยังจิตให้ระลึกได้ในอารมณ์เนืองๆ มีความจำได้แม่นยำเป็นสภาวะ
เอกัคคตานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเพ่งในอารมณ์ มีจิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียวเป็นสภาวะ (ตามตัวจีนแปลว่าสมาธิซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับ (เอกัคคตา)
มตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่คัดเลือกในอารมณ์เป็นสภาวะ เป็นไปโดยโยนิโสบ้าง อโยนิโสบ้าง หรือไม่เป็นไปโดย ๒ ประการดังกล่าวนั้นบ้าง
ศรัทธานั้นเป็นไฉน? คือสภาพที่ยังจิตให้เกิดความเลื่อมใสเชื่อถืออย่างถูกต้องในเรื่องกรรม, วิบากแห่งกรรม, ในอริยสัจ, ในพระรัตนตรัย เป็นต้น มีจิตผ่องแผ้วเป็นสภาวะ
หิรินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมี (ความเคารพรัก) ตนเองเป็นอธิบดี (เคารพรักใน) ธรรมเป็นอธิบดีมีความละอายต่อการทำบาปเป็นสภาวะ
โอตตัปปะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมี(ความเคารพเกรง) ผู้อื่นเป็นอธิบดีมีความละอายต่อการทำบาปเป็นสภาวะ
อโลภะนั้นเป็นไฉน?
คือ สภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกันโลภะ มีความเบื่อหน่ายเห็นโทษของโลภะ มีการไม่ยึดถือหวงแหนเอาไว้เป็นสภาวะ
อโทสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับโทสะมีความเมตตาเป็นสภาวะ
อโมหะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับโมหะ มีความรู้แจ้งดำเนินตามสัมมาปฏิปทาเป็นสภาวะ
วิริยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับความย่อท้อขี้เกียจ มีการยังกุศลธรรมให้ปรากฏ มีความอุตสหะพากเพียรเป็นสภาวะ
ปัสสัทธินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกกับความหยาบหนักกระด้าง มีความอิ่มเอิบสบายเหมาะสมเป็นสภาวะ
อัปปมาณนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับประมาทมีอโลภะ (อโทสะ อโมหะ) ตราบถึงวิริยะเป็นปทัฏฐาน มีการสละสรรพอกุศล แล้วบำเพ็ญสรรพกุศลอันเป็นคู่ปราบ (ของอกุศล) เป็นสภาวะ
ตัตรมัชฌตานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันอาศัยอโลภะ อโทสะ (อโมหะ)ตราบถึงวิริยะ ยังจิตให้ลุความเสมอภาพ อนึ่งอาศัยเจตสิกดวงนี้สามารถยังจิตให้พ้นจากอกุศลทั้งหลาย แลให้ตั้งอยู่ในธรรมอันผ่องแผ้วได้
อหิงสานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับวิหิงสา มีความกรุณาเป็นสภาวะ
โลภะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นซึ่งเป็นฉันทราคะพอใจติดในปัญจุปาทานขันธ์เป็นสภาวะ
โทสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความเบียดเบียนในสรรพสัตว์เป็นสภาวะ
มานะนั้นเป็นไฉน?
มานะมี ๗ อย่าง คือมานะ, อภิมานะ, อติมานะ, อัสมินานะ, อธิมานะ, อวมานะ, มิจฉามานะ
        ๑. มานะนั้นเป็นไฉน? คือเป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขาหรือเป็นผู้เสมอเขาสำคัญตัวว่าเสมอเขา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๒. อภิมานะนั้นเป็นไฉน? คือเป็นผู้เสมอเขาสำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา หรือเป็นผู้เลวกว่วเขาสำคัญตัวว่าเสมอเขา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๓. อติมานะนั้นเป็นไฉนคือผู้ที่เลวกว่าเขา สำคัญตัวเขาว่าเลิศกว่าเขา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๔. อัสมิมานะนั้นเป็นไฉน? คือความยึดถือใดอันเป็นไปในปัญจขันธ์ สำคัญว่าเป็นของๆเรา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๕. อธิมานะนั้นเป็นไฉน? คือธรรมพิเศษอันใดซึ่งตนยังมิได้บรรลุ สำคัญผิดว่าตนได้บรรลุถึงแล้ว มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๖. อวมานะนั้นเป็นไฉน? คือผู้อื่นเขามีคุณธรรมที่ดีหลายส่วน แต่ตนเองสำคัญว่าหมิ่นตัวเองว่าต่ำเลว (ไม่อาจทำได้อย่างเขา) มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๗. มิจฉามานะนั้นเป็นไฉน? คือตนเองปราศจากคุณธรรมใดๆ สำคัญว่าตนมีคุณธรรมมีจิตทะนงเป็นสภาวะ
อวิชชานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความไม่รู้แจ้งในเรื่องกรรม, วิบากแห่งกรรม, ในเรื่องอริยสัจจ์,พระรัตนตรัย มีความปราศจากปัญญาเป็นสภาวะ อวิชชานี้แบ่งออกเป็น ๒ ประการคือประการหนึ่งเป็นสหาติ(เกิดร่วมอยู่เสมอนับตั้งแต่ปฏิสนธิ) ประการหนึ่งเกิดจากวิกัลป์ปะ (มีมิจฉาทิฏฐิเป็นต้น มาเกิดเมื่อได้รัรบการอบรมที่ผิด) อนึ่ง โลภะ,โทสะ,โมหะในกามภพย่อมเป็นอกุศลมูลทั้ง ๓ กล่าว คือ เป็นโลภะอกุศลมูล, โทสะอกุศลมูล, โมหะอกุศลมูล
ทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
ทิฏฐิมี ๕ ประการ คือสักกายทิฏฐิ, อันตคาหิกทิฏฐิ, มิจฉาทิฏฐิ, ทิฏฐิปรามาส, สีลพตปรามาส
สักกายทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
คือความยึดมั่นในปัญจุปาทานขันธ์ ว่านี้เป็นเราหรือเป็นของๆเรา มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
อัตคาหิกทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
คือสักกายทิฏฐิซึ่งเพิ่มกำลังทวีแรงขึ้นนั้นเอง มีความยึดมั่นในอารมณ์ว่าอย่างนี้เที่ยงแน่นอน หรือยึดมั่นในอารมณ์ว่าอย่างนี้ขาดสูญแน่นอน (คือเป็นสัสสตทิฐิและอุจเฉททิฏฐิ) มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
มิจฉาทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
คือการปฏิเสธคัดค้านเหตุและวิบากแห่งเหตุ,การปฏิเสธคัดค้านกิริยา หรือปฏิเสธคัดค้านทำลายกุศลธรรม มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
ทิฏฐิปรามาสนั้นเป็นไฉน?
คือความยึดมั่นอันสืบเนื่องมาด้วยทิฏฐิทั้ง ๓ (ที่กล่าวมาแล้วตอนต้น) เป็นไปในขันธ์อันเป็นที่อาศัย ว่า นี้และเป็นอย่างเลิศ นี้แลเป็นอย่างประเสริฐ, นี้แลเป็นที่สุด มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
สีลพตปรามาสนั้นเป็นไฉน?
คือความถือมั่นอย่างผิดๆ อันเนื่องด้วยสีลพรตในขันธ์อันเป็นที่อาศัยว่า นี้แลเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์, นี้และเป็นวิมุตติ, นี้แลเป็นนิสสรณะ มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
วิจิกิจฉานั้นเป็นไฉน?
คือความลังเลไม่แน่นอนใจเป็นไปในอริยสัจจธรรมบ้างในคุณพระรัตนตรัยบ้าง ว่าจักมีอยู่ฤาบ่มี มีความสงสัยเป็นสภาวะ

ในบรรดากิเสลดังกล่าวมา ทิฏฐิ ๓ เบื้องหลัง (คือมิจฉาทิฏฐิ, ทิฏฐิปรามาส,สีลพตปรามาส) และวิจิกิจฉา ย่อมเกิดด้วยวิกัลป์ปะ กิเลสที่เหลือ (มีอวิชชา สักกายทิฏฐิ เป็นต้น) ย่อมเกิดด้วยสาธารณ์โดยสหชาติบ้าง โดยวิกัลป์ปะบ้าง

โกรธนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพเนื่องมาแต่อารมณ์ที่ปรากฏเป็นประโยชน์แห่งตนจิตมีความคับแค้นเป็นสภาวะ
อุปนาหะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมีความโกรธเป็นผู้นำมาก่อน มีความผูกโกรธไว้ไม่ยอมละเป็นสภาวะ
มักขะนั้นเป็นไฉน?
คือมีความที่ปิดบังซ่อนเร้นความชั่วแห่งตนไว้เป็นสภาวะ
ปลาสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นเหตุกล่าววาจาหยาบคาย มีการล่วงเกินผู้อื่นเขาเป็นสภาวะ
อิสสานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันเนื่องด้วยความสุขสมบูรณ์ของผู้อื่นแล้ว มีจิตไม่ชอบใจในความสุขสมบูรณ์ของเขาเป็นสภาวะ
มัจฉริยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งตรงกันข้ามกับการเสียสละ มีจิตหวงแหนตระหนี่ไว้เป็นสภาวะ
สาเถยยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความหลอกลวงผู้อื่น มีการแสดงโอ้อวด ซึ่งคุณอันไม่มีในตนเป็นสภาวะ
มายานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความหลอกลวงด้วยเล่ห์เหลี่ยมอุบาย ปิดบังโทษของตน มีจิตอันคดงอเป็นสภาวะ
มทะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมัวเมาทะนงในความสุขสมบูรณ์ มีการทำลายความดีให้หมดไปเป็นสภาวะ
วิหิงสานั้นเป็นไฉน?
คือมีความเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายให้เดือดร้อนเป็นสภาวะ
อหิรินั้นเป็นไฉน?
คือการที่กระทำบาปทุจจริต มีความไม่ละอายต่อตนเองเป็นสภาวะ
อโนตตัปปะนั้นเป็นไฉน?
คือการที่กระทำบาปทุจจริต มีความไม่ละอายต่อผู้อื่นเป็นสภาวะ
ถีนะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่จิตไม่อิ่มเอิบสบาย จิตไม่สมควรแก่การงาน มีควยามหดหู่ไม่แจ่มใสเป็นสภาวะ
อุทธจจะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่จิตฟุ่งซ่านนึกคิดถึงเกตุการณ์ต่างๆ เช่นความปิติสุขโสมนัสเป็นต้น (ในประการเดียวกันก็หมายเอาความทุกข์โทมนัสด้วย) มีจิตปราศจากความสงบเป็นสภาวะ
อัสสัทธิยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันศรัทธาจักพึงปราบ ได้แก่ ความไม่โน้มน้อมเชื่อในทางที่ถูก ในเรื่องกรรมและวิบากแห่งกรรม เป็นต้น มีจิตไม่ผ่องแผ้วเป็นสภาวะ
โกสัชชะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันวิริยะจักพึงปราบ ในการเจริญกุศลธรรมจิต ปราศจากความวิริยะแกล้วกล้าเป็นสภาวะ
ประมาทนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพขี้คร้านเลินเล่ออันอาศัยโลภะ,โทสะ,โมหะ,เป็นสมุฏฐาน มีการไม่คุ้มครองริกษาจิตให้พ้นจากปวงกิเลส มีความไม่สามารถเจริญอบรมกุศลธรรมทั้งหลายเป็นสภาวะ
มุฏฐสัจจะนั้นเป็นไฉน?
คือสติที่มีความไม่อาจระลึกจดจำได้ในสรรพกุศลธรรมเป็นสภาวะ
วิเขปะนั้นเป็นไฉน?
คือส่วนหนึ่งของโลภะ โทสะ โมหะ มีการทำให้จิตและเจตสิกระส่ำระสาย (จับอารมณ์ไม่มั่งคง) เป็นสภาวะ
อสัมปชานะนั้นเป็นไฉน?
คือปัญญาอันประกอบด้วยกิเลส มีสมุฏฐานให้เกิดกายทุจ-จริต วจีทุจจริต มโนทุจจริตเป็นสภาวะ
กุกกุจจะนั้นเป็นไฉน?
คือความรู้สึกเสียใจ (ในการทำบาปที่ทำไปแล้วหรือในการทำบุญที่ยังไม่ได้ทำ) เป็นสภาวะ
มิทธะนั้นเป็นไฉน?
คือความที่ (จิต,เจตสิก) ไม่เป็นไปโดยอิสสระ มีความง่วงเหงาไม่แจ่มกระจ่างเป็นสภาวะ
วิตกนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งอาศัยเจตนาและมติเป็นสมุฏฐานแล้วยกจิตขึ้นตรึกในอารมณ์ มีการยังจิตให้พิจารณาถือเอาอารมณ์ที่หยาบเป็นสภาวะ
วิจารณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งอาศัยเจนตาและมติเป็นสมุฏฐาน แล้วยกจิตขึ้นครองในอารมณ์ มีการยังจิตให้พิจารณาถือเอาอารมณ์ที่ละเอียดเป็นสภาวะ
จิตตวิปยุตตสังขารนั้นเป็นไฉน?
คือธรรมซึ่งอาศัยเนื่องด้วยรูปธรรมบ้างนามธรรมบ้างปัญญัติออกมาเป็นส่วนหนึ่ง มีความไม่สามารถบัญญัติว่าธรรมเหล่านี้เป็นต้น เป็นอันเดียวกันหรือต่างจากกันกับรูปนามเป็นสภาวะ
ก็ธรรมเหล่านั้นคืออะไรบ้าง?
คือปัตติ, อสัญญีสมาบัติ, นิโรธสมาบัติ, อสัญญีเทพ, ชีวิตินทรีย์, สภาคตา, ชาติ, ชรา, ฐิติ, อนิจจ, นามกาย, บทกาย, พยัญชนากาย, ปุถุชนตา เหล่านี้เป็นอาทิ
        ปัตตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ได้หรือสภาพที่สำเร็จ มีอยู่ ๓ ประการ คือความสำเร็จแห่งพีชะหนึ่ง, ความสำเร็จโดยอิสสระหนึ่ง, ความสำเร็จในพฤตติการณ์อันปรากฏขึ้นอยู่หนึ่ง, ให้ได้หรือสำเร็จตามความเหมาะสมนั้นๆ
        อสัญญีสมาบัตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งพ้นไปแล้วจากความติดใน (รูปพรหม)ชั้นสุภกิณหา แต่ยังไม่พ้นไปจากความติดความพอใจในพรหมซึ่งเป็นชนชั้นสูงกว่านั้นขึ้นไปมีความทำในใจเพื่อละสัญญาเป็นเบื้องหน้า มีจิตและเจตสิกที่ไม่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาดเป็นต้นดับไปเป็นสภาวะ
        นิโรธสมาบัตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งพ้นไปแล้วจากความติดในอากิญจัญยายตนภูมิ แล้วเข้าสู่เนวสัญญาณนาสัญญายตนภูมิแล้วเพียรบำเพ็ญต่อไป มีความทำในใจเพื่อละสัญญา (และเวทนา) เป็นต้น เป็นเบื้องหน้ามีจิตและเจตสิกที่ไม่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาด และจิตเจตสิกที่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาดส่วนหนึ่งดับไปเป็นสภาวะ
        อสัญญีเทพเป็นไฉน?
คือวิบากอันเกิดแต่อสัญญีสมาบัติ ซึ่งนำไปปฏิสนธิในพรหมขั้นอสัญญีนั่นเอง ครั้นปฏิสนธิแล้วมีจิตและเจตสิกที่ไม่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาดดับไปเป็นสภาวะ
        ชีวิตินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเกิดสืบเนื่องมาแต่อดีตกรรม รักษาไว้ซึ่งสภาคตา (กล่าวคือขันธ์) ให้ดำรงอยู่ชั่วกาลเขตหนึ่งเป็นสภาวะ
        สภาคตานั้นเป็นไฉน?
คือความที่สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ก็มีสภาพที่ละม้ายคล้ายคลึงดุจกันเป็นสภาวะ
        ชาตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาคตาและสรรพสังขาร ซึ่งแต่เดิมยังไม่เกิดปัจจุบันได้เกิดขึ้นแล้วเป็นสภาวะ
        ชรานั้นเป็นไฉน?
คือสรรพสังขารเหล่านั้น มีความสืบเนื่องเปลื่ยนแปรไปเป็นสภาวะ
        ฐิตินั้นเป็นไฉน?
คือสรรพสังขารเหล่านั้นมีความสืบเนื่องหมุนเวียนเป็นสภาวะ
        อนิจจานั้นเป็นไฉน?
คือสรรพสังขารเหล่านั้นมีความสืบเนื่องแตกดับไปเป็นสภาวะ
        นามกายนั้นเป็นไฉน?
คือความที่เพิ่มเติมร้องขานชื่อแห่งสภาวธรรมเป็นสภาวะ
        บทกายนั้นเป็นไฉน?
คือความที่เพิ่มเติมร้องขานความแตกต่างของสภาวธรรมเป็นสภาวะ
        พญัญชนะกายนั้นเป็นไฉน?
คืออักษรทั้งหลายนั้นเอง มีความสามารถที่จักแสดงความหมายแห่งนามกายและบทกายเป็นสภาพ อีกนัยหนึ่งชื่อว่าเป็นภาวะที่ประกาศอธิบายว่าเพราะเป็นที่อาศัยแห่งนามกายบทกายประกาศซึ่งอรรถอันหมดจดปราศจากส่วนเหลือ หรือชื่อว่าอักษรเพราะเป็นที่กำหนดแน่นอนไม่แปรผัน
        ปุถุชนตานั้นเป็นไฉน?
คือความที่ตนยังมิได้ลุอริยธรรมเป็นสภาวะ

🔅 วิญญาณขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือธรรมชาติซึ่งมีความรู้ในอารมณ์เป็นสภาวะ ธรรมชาตินี้เรียกว่า “จิต” บ้าง เพราะสามารถคัดเลือกรวบรวมอารมณ์ เรียกว่า “มโน” บ้างเพราะสงเคราะห์เป็นอันเดียวกันกับมโนนั่นเอง (อรรถกถาว่า เพราะเป็นที่อาศัยรวมแห่งเจตสิกฉะนั้นจึงชื่อว่ามโน) 
ถ้าจะว่าโดยจิตที่วิเศษแล้ว ก็คือ “อาลยวิญญาณนั่นเอง” จิตนี้สามารถสั่งสมพีชพันปีแห่งพฤติกรรมต่างๆของสัตว์ไว้ อนึ่งในการที่จิตรับรู้อารมณ์อันเป็นพฤติกรรมของจิตนั้น ไม่เป็นวิสัยแห่งการกำหนดแบ่งแยกจำแนกรู้ได้โดยง่ายเลย จิตนี้นับจำเดิมแต่ปฏิสนธิตราบถึงจุติย่อมเป็นปวัตติสืบเนื่องหมุนเวียนไปโดยไม่ขาดสาย อนึ่งวิญญาณดวงนี้ครั้นเมื่อบุคคลออกจากนิโรธสมาบัติ หรือสัตว์ซึ่งจุติจากอสัญญีภพ เมื่อจักขึ้นวิถีรับรุ้อารมณ์ เมื่อใดเมื่อนั้นปวัตติวิญญาณก็ย่อมประพฤติเป็นไป หมุนเวียนไปตามวิสัยแห่งอารมณ์ต่างๆดับไปในระหว่างแล้วก็เกิดขึ้นอีกเล่าเป็นชาติมรณะเวียนวนในวัฏสงสารอย่างนี้

อาลยวิญญาณนี้ เพราะอรรถว่าเป็นแหล่งเก็บรวบรวมแห่งสรรพพีชะทั้งหลายนั่นเอง อนึ่งเพราะเป็นที่เก็บแห่งอสมินานะเป็นสภาพ อนึ่ง เพราะความที่เป็นผู้ถือเอากายนี้เป็นอารมณ์ด้วยเหตุนี้จึงมีนามเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อาทานวิญญาณ” เพราะเป็นผู้ธำรงยึดในกรัชกายนี้ ส่วนมโนอันวิเศษนั้น คือ ได้แก่วิญญาณดวงที่ถือเอาอาลยวิญญาณเป็นอารมณ์ วิญญาณดวงนี้มี อัตตโมหะ, อัตตานุทิฏฐิ, อัสมิมานะ, อัตตติณหา, สัมปยุตต์อยู่ตลอดจำเดิมแต่ปฏิสนธิตราบถึงจุติเป็นปวัตติสืบเนื่องทุกเวลา ยกเว้นแต่ในพระอาหันตบุคคล, ในอริยมรรคและในนิโรธสมาบัติ

ถามว่า คำว่าขันธ์นั้นมีอรรถว่าอย่างไร?
ตอบว่า ความประชุมรวบรวมเป็นอรรถของขันธ์ คือบรรดาโลกิยธรรมที่เกิดดับสืบเนื่องประเภทต่างๆ มีคติ,อายตนะ, และรูป เป็นต้น เอามาสงเคราะห์รวมเข้าไว้

อนึ่งมีอายตนะ ๑๒ คือ จักขายตนะ คู่กัปรูปายตนะ,โสตายตนะคู่กับสัททายตนะ,ฆานายตนะคู่กับคันธายตนะ,ชิวหายตนะคู่กับรสายตนะ,กายายตนะคู่กับโผฏฐัพพายตนะ,ฆนายตนะคู่กับธรรมายตานะ,สำหรับจักขายตนะ เป็นต้น และรูปะ สัททะ คันธะ รสะ อายตนะนั้นได้อธิบายแล้วในเบื้องต้น โผฏฐัพพายตนะนั้นได้แก่ มหาภูติรูปและส่วนหนึ่งแห่ผัสสะ มนายตนะก็คือ วิญญาณขันธ์นั่นเอง ส่วนธรรมายตนะนั้น ได้แก่ เวทนา,สัญญา,สัขารขันธ์,และวิญญัติรูปเป็นต้น พร้อมอสังขตธรรมทั้งหลายด้วย

อสังขตธรรมนั้นเป็นไฉน?
คืออากาศสังขตะ, อัปปฏิสังขยนิโรธอสังขตะ, ปฏิสังขยนิโรธอสังขตะ และภูตตถตา เป็นต้น

อากาศนั้น ได้แก่ธรรมชาติอันสามารถรับรองรูปทั้งหลายได้ อัปปฏิสังขยนิโรธนั้นได้แก่ความดับชนิดที่มิได้พ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัด ที่ว่ามิได้พ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัดนั้นอย่างไร? กล่าวคือ ความดับที่มิได้อาศัยปัญญาพิจารณาทำลายกิเลส ขันธ์ทั้งหลายมิต้องเกิดขึ้นในที่สุด ปฏิสังขยนิโรธนั้นคืออย่าไร? คือความดับชนิดที่พ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัด ที่ว่าพ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัดนั้นอย่างไร? คือความดับที่อาศัยปัญญาพิจารณาทำลายกิเลส ขันธ์ทั้งหลายมิต้องเกิดขึ้นในที่สุด ภูตตถตานั้นเป็นไฉน? คือสภาวะแห่งธรรมทั้งปวง และสภาวะแห่งความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งปวงนั้น

ถามว่า อายตนะมีอรรถเป็นอย่างไร?
ตอบว่า ธรรมชาติใดเป็นประตูที่เกิดแห่งวิญญาณทั้งปวง ธรรมชาตินั้นคืออายตนะ

อนึ่งยังมีธาตุ ๑๘ คือ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททะธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานะธาตุ คันธะธาตุ ฆานะวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพะธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ

สำหรับธาตุ(ภายใน) ทั้งหลาย มีจักขุธาตุ เป็นต้น และธาตุ(ภายนอก)ทั้งหลาย มีรูปธาตุเป็นต้น มีอธิบายดุจได้กล่าวมาในตอนว่าด้วยอายตนะส่วนวิญญาณธาตุทั้ง ๖ นั้นก็อาศัยเกิดจากอินทรีย์ มีจักขุทรีย์เป็นต้น ซึ่งรับเอาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้น มีความรู้ในอารมณ์เป็นสภาวะ มโนธาตุนั้น ก็คือธาตุรู้ซึ่งเกิดดับสืบเนื่องเป็นสันตติเป็นต้น เพื่อเป็นการแสดงให้ทราบว่า (มโนธาตุ) นี้เป็นที่อาศัยแห่งมโนวิญญาณและเป็นการบัญญัติเรื่องธาตุ ๑๘ ได้โดยพิสดาร และโดยประการดังนี้ รูปขันธ์ก็ได้แก่ยตนะทั้ง ๑๐ ธาตุทั้ง ๑๐ กับธรรมายตนะธรรมธาตุส่วนหนึ่ง วิญญาณขันธ์ก็คือ มนายตนะและธาตุรู้อีก ๗ ส่วนขันธ์ที่เหลืออีกสามพร้อมด้วยส่วนหนึ่งแห่งรูปขันธ์และอสังขตธรรมทั้งหลายจัดเป็นธรรมายตนะ ธรรมธาตุ

ถามว่า ธาตุนั้นมีอรรถเป็นไฉน?
ตอบว่า ธรรมชาติซึ่งสามารถธำรงรักษาซึ่งคุณลักษณะแห่งพีชะไว้ โดยยังไม่มีพฤติกรรม ชื่อว่าเป็นอรรถของธาตุ

ถามว่า อาศัยอรรถเป็นไฉน? จึงบัญญัติเรื่องขันธ์,ธาตุ, อายตนะเป็นต้น
ตอบว่า เพื่อเป็นคู่ปราบทำลายความยึดถือในตน ๓ ประการ กล่าวคือ ความยึดถือว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นเราหนึ่ง, (แปลตามตัวว่าความยึดถือในเอกภาวะว่าเป็นเรา อรรถกถาแก้ว่า คือ ความยึดถือในเบ็ญจาขันธ์ทั้งหมดว่าเป็นเรา ส่วนความยึดถืออีกสองเป็นการยึดถือที่จำแนกไม่ใช่ยึดหมดทั้งเบ็ญจขันธ์ ผู้แปล) ความยึดถือว่าผู้เสวยเวทนาว่าเป็นเราหนึ่ง ความยึดถือว่าผู้กระทำเป็นเราหนึ่งตามลำดับ 

อนึ่งในธาตุ ๑๘ นี้ ธรรมที่เป็นรูปนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุทั้ง ๑๐ และส่วนหนึ่ง(แห่งธรรมธาตุหรือรูปซึ่งสงเคราะห์อยู่ในธรรมายตนะ) กล่าวคือ เป็นสภาวะแห่งรูปขันธ์นั่นเอง (หมายเฉพาะธาตุทั้ง ๑๐ )
ธรรมที่ไม่ใช่รูปนั้นมีเท่าไหร่?
คือธาตุที่เหลือนอกนี้
ธรรมที่เป็นสนิทัศนะนั้นมีเท่าไร?
คือรูปธาตุอันเดียว (มหายเอารูปารมณ์)
ธรรมที่เป็นอนิทัศนะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลือนอกนี้
ธรรมที่สัปปฏิฆะนั้นมีเท่าไร?
คือรูปธาตุทั้ง ๑๐ ด้วยเป็นธรรมที่กระทบกระทั่งแก่กันได้นั่นเอง
ธรรมที่เป็นอัปปฏิฆะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลือนอกนี้
ธรรมที่เป็นสาสวะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุ ๑๕ และส่วนหนึ่งของธาตุที่เหลืออีก ๓ (มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ) อธิบายว่า ในธาตุที่เหลือ ๓ ส่วนหนึ่งนั้น ถ้าเป็นที่เกิดแห่งกิเลส เป็นที่กิเลสประพฤติเป็นไป(จึงถือว่าเป็นสาสวะ)
ธรรมที่เป็นอนาสวะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลืออีก ๓ ส่วนหนึ่ง
ธรรมที่เป็นกามาวจรนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุ ๑๘ ทั้งหมด
ธรรมที่ป็นรูปาวจรนั้นมีเท่าไร ?
คือธาตุ ๑๔ ยกเว้น คันธะ รสะและฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ
ธรรมที่เป็นอรูปาวจรนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่อยู่สุดทั้ง ๓ (คือมโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ)
ธรรมที่ไม่ใช่อวจรนั้นมีเท่าไร?
คือธรรมที่เป็นอนาสวะทั้งหมด
ธรรมที่สงเคราะห์เข้าในขันธ์นั้นมีเท่าไร?
คือ ทั้งหมดยกเว้นอสังขตะธรรม
ธรรมที่สงเคราะห์เข้าในอุปาทานขันธ์นั้นมีเท่าไร?
คือสาสวธรรม
ธรรมที่เป็นกุศลนั้นมีเท่าไร? ธรรมที่เป็นอกุศลนั้นมีเท่าไร? ธรรมที่เป็นอัพยากตนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุทั้ง ๑๐ สาธารณ์แก่กุศล อกุศล และอัพยากต ธาตุรู้ทั้ง ๗ (มีวิญญาณธาตุ ๖ มโนธาตุ ๑) รูปะ สัททะ และส่วนหนึ่งของธรรมธาตุ ส่วนที่เป็นอัพยากตล้วนๆ มี ๘
ธรรมที่เป็นอัชฌัตตะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุ ๑๒ ยกเว้นรูปะ สัททะ คันธะ รส โผฏฐัพพะ และธรรมธาตุส่วนหนึ่ง
ธรรมที่เป็นพหิทธะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลืออีก ๖ (คือ อายตนะภายนอก๖)
ธรรมที่เป็นสารัมมณะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุรู้ทั้ง ๗ และธรรมธาตุส่วนหนึ่ง เจตสิกธรรม
ธรรมที่เป็นอนารัมมณะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลืออีก ๑๐ และธรรมธาตุ ส่วนหนึ่ง
ธรรมที่วิภาคอารมณ์ได้นั้นมีเท่าไร?
คือ มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ และส่วนหนึ่งของธรรมธาตุ
ธรรมที่เป็นอุปาทินกะนั้นมีเท่าไร?
คือ ธาตุภายใน ๕ และส่วนหนึ่งแห่งธาตุทั้ง ๔ กล่าวคือ รูปะ คันทธ รสะ โผฏฐัพพะ
ธรรมที่เป็นอนุปาทินกะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลือ ๙ และส่วนหนึ่งของธาตุทั้ง ๔
ธรรมที่เป็นสภาคตานั้นเป็นไฉน?
คือรูปธาตุภายในทั้ง ๕ (อินทรีย์ทั้ง ๕ ) กับวิญญาณและอารมณ์อันสมควรแก่(อินทรีย์) ของตน (เช่นจักขุนทรีย์ย่อมสมควรแก่จักขุวิญญาณและรูปารมณ์
ธรรมที่เป็นชะนิดเดียวกับสภาคตานั้นเป็นไฉน?
คือในธรรม (ทั้ง ๓ เช่น จักขุ จักขุวิญญาณ รูปารมณ์) ขาดวิญญาณของตนไปเสีย ก็ยังชื่อว่าเป็นธรรมประเภทเดียวกัน

 

จบมหายานปัญจขันธศาสตร์



วันศุกร์

การเวียนว่ายตายเกิด ๒

กลับไปการเวียนว่ายตายเกิด 🔰หน้าแรก

ถ้าหากว่าจะพิจารณาแล้วจะเห็นว่าธรรมะในพุทธศาสนานี้ไม่ใช่จะเกณฑ์คนทุกคนให้เป็นพระอรหันต์ในพริบตาเดียวหมด ถ้าไปถืออย่างนั้นละก็เอ่ยคำอะไรจะไปนิพพานกันร่ำไปอย่างนี้น่ากลัวพุทธศาสนาจะไม่ได้แพร่หลายยั่งยืนถึงทุกวันนี้เป็นแน่ เพราะว่าธรรมะในพุทธศาสนามีหลายชั้น หลายวิธีการเหมือนกับอัธยาศัยของสัตว์ตั้งแต่โง่กระทั่งถึงคนฉลาด เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเป็นสาธารณะประโยชน์แก่ผู้ที่น้อมนำไปปฏิบัติ ได้ทุกชั้นทุกวัย ไม่ใช่จะเกณฑ์คนให้เป็นพระอรหันต์กันหมดในพริบตาทั้งโลก เป็นไปไม่ได้ เพราะเรายังต่างกรรมต่างวาระ ต่างอัธยาศัย

อย่างไรก็ตาม เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในพุทธศาสนา เราจะเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ไม่ได้ ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดอันนี้ สัมมาทิฏฐิในองค์มรรคในมรรค ๘ นี่ สัมมาทิฏฐิแบ่งเป็น ๒ ชั้น คือ โลกียสัมมาทิฏฐิ โลกียสัมมาทิฏฐิได้แก่อะไร ได้แก่ กัมมัสสกตาญาณ ถ้าคนที่มีกัมมสกตาญาณเชื่อในเรื่องว่าทำกรรมได้รับผลแห่งกรรมนั้นเท่ากับเชื่อว่าจะต้องมีเวียนว่ายตายเกิด ถ้าเชื่อกรรมก็ต้องเชื่อเวียนว่ายตายเกิดเป็นเงาตามตัว คน ๆ นั้นก็ขาดโลกียสัมมาทิฏฐิ เมี่อไม่มีโลกียสัมมาทิฏฐิแล้ว โลกุตตรสัมมาทิฏฐิก็เกิดไม่ได้ โลกุตตรสัมมาทิฏฐิได้แก่การเห็นแจ้ง ในอริยสัจจ์ ๔ เป็นโลกุตตรสัมมาทิฏฐิแต่การที่จะเห็นแจ้งในอริยสัจจ์ ๔ ได้นั้น คนนั้นจะต้องมี โลกียสัมมาทิฏฐิเป็นบุพภาค ไม่มีโลกียสัมมาทิฏฐิเป็นบุพภาคแล้ว การเห็นแจ้งในอริยสัจจ์เป็นไปไม่ได้ คือพูดง่ายๆ ว่าถ้าไม่มีกัมมัสสกตาญาณเสียแล้ว ที่ไหนจะมาเชื่อเรื่องมรรคผลนิพพาน ถ้าคนเราไม่มีกัมมัสสกตาญาณแล้ว ไม่เชื่อเรื่องมรรคผลนิพพานอย่างเด็ดขาด

อันนี้แหละครับเป็นปัจจัยสำคัญที่ว่าทำอย่างไรจะทำให้กัมมัสสกตาญาณในคนปัจจุบันนี้มีมาก ๆ เพราะความชั่วในสังคมปัจจุบันเกิด เพราะคนในสังคมปัจจุบันนี้ ขาดกัมมัสสกตาญาณ ขาดโลกียสัมมาทิฏฐิ โลกุตตรสัมมาทิฏฐินี่เราอย่าเพิ่งไปหวังเลย เอาแค่โลกียสัมมาทิฏฐิ ก่อนว่าทุกวันนี้เราจะช่วยสังคมให้ปลอดภัยจากเรื่องความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมได้อย่างไร ถ้าหากว่าเราทุกคนเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดแล้ว สังคมก็จะเป็นสังคมที่ปลอดโปร่งสบาย เรื่องการทำร้ายเรื่องการเบียดเบียนก็จะบรรเทาเบาบางลงเหมือนอย่างสังคมสมัยโบราณ ซึ่งเป็นสังคมของชาวพุทธแท้ ๆ กลัวบาปกลัวกรรมกัน เรื่องการทำร้ายคดีอุกฉกรรจ์แปลก ๆ ที่ทุกวันนี้มีอยู่ในครั้งกระโน้นก็ไม่มี อันนี้แหละครับสำคัญมาก เพราะเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตอบปัญหาบางครั้ง ถ้าหากว่าไม่พิจารณา ก็นึกว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธเรื่องชาติหน้า อย่างตอบวัชชโคตรปริพาชก ถ้าไปอ่านเพียงครึ่งเดียวเหมือนพระพุทธเจ้าไม่ตอบ ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าบอกว่าชาติหน้าไม่มีซิ ถ้านึกอย่างนั้นเข้าใจผิด ต้องไปดูตอนปลายว่าพระพุทธเจ้าพูดกับวัชชโคตรว่าอย่างไร แล้ววัชชโคตรมีสันดาน มีทิฏฐิมาก่อนอย่าไร แล้วเพราะเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงไม่พูดกับวัชชโคตรทันทีทันควัน ว่าชาติหน้ามีอะไรไปเกิด นี่เราต้องพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการให้ดีว่าข้างหน้าข้างหลังชนปลายอย่างไร โดยมากคนที่นึกอย่างนั้น ไปจับเอาความข้างเดียวมาพูด ไม่ได้ดูความถ่องแท้ทั้งเบื้องต้นเบื้องหลัง แล้วก็บอกว่าพระพุทธศาสนานี่ปฏิเสธภพชาติ นี่เป็นเรื่องนอกศาสนาเป็นเรื่องศาสนาพราหมณ์ พระพุทธเจ้าแท้ ๆ ท่านแสดงมีแต่เรื่องพ้นทุกข์อย่างเดียว เรื่องจะไปนิพพานอย่างเดียว เรื่องนอกนั้นเป็นเรื่องนอกศาสนา เป็นพราหมณ์ทั้งนั้นแหละ นึกอย่างนั้นเป็นความเข้าใจผิด

คราวนี้ถ้าจะเกิดชาติหน้ามีอยู่ การเวียนว่ายตายเกิดมีอยู่ ก็มักจะมีปัญหาขึ้นมาว่าทำไมเรายังระลึกชาติไม่ได้ ถ้าชาติหน้ามี อะไรเป็นเหตุที่ให้เราระลึกชาติไม่ได้ และเหตุที่เป็นเหตุให้เราระลึกชาติไม่ได้?

ไม่ใช่อื่นไกลหรอกครับ เพราะว่า เรามารับ จิตตชรูป อุตุชรูป อาหารชรูปในปัจจุบันภพ รูปที่เราติดมาแต่อดีตภพเกิดจากอดีตกรรมนี่ มี 🔎กัมมชรูป อันเดียว กัมมชรูปที่เกิดพร้อมในปฐมปฏิสนธิขณะจิต กัมมชรูปเกิดหยั่งลงสู่ครรภ์ของมารดา ปฏิสนธิจิตเกิดขณะต้นกัมมชรูปก็เกิดพร้อมทีเดียว อันนี้กัมมชรูปนี้สืบมาจากอดีต อดีตกรรม ปรุงโดยตรง สายตรงมาทีเดียว แต่ว่าอาหารชรูป อุตุชรูป เรามารับเอารูปใหม่ในปัจจุบันภพ กายเนื้อ กายหยาบที่เราเห็นอยู่นี้ มหาภูตรูปนี่เรามารับเอาใหม่ในปัจจุบันภพ รับเอาใหม่อันสำเร็จมาจากเลือดเนื้อเชื้อไขของพ่อแม่ร่วมกัน เพราะฉะนั้นมันสมองคือ สมองของเรานี่แหละก็เป็นของใหม่ ไม่ใช่ของเก่า มันสมองนี่เป็นรูปใหม่ในปัจจุบันภพ ไม่ใช่ของเก่าสืบมาจากชาติก่อน ของเก่าที่เป็นส่วนรูปธาตุมาจากชาติก่อนมีเพียงกัมมชรูปอย่างเดียว

คราวนี้เมื่อมันสมองเป็นของใหม่ มันสมองเท่ากับว่าเป็นเครื่องมือสำหรับให้จิตเหมือนกระแสไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าจะปรากฏจะมีปฏิกิริยาออกมาก็ต้องผ่านไดนาโม ถ้าไม่มีเครื่องไดนาโมแล้ว ไฟฟ้าจะไม่มีปฏิกิริยาออกมา ทุกวันนี้ในอากาศเรานี่มีไฟฟ้าทั้งนั้นแหละ แต่ที่ไม่มีปฏิกิริยาเพราะเรามองไม่เห็นมัน เพราะว่ายังไม่มีเครื่องเข้าไปจับไปกระจายพลังงานมันออกมา ไปกลั่นกรองพลังงานมันออกมา เราก็ยังไม่สามารถสัมผัสไฟฟ้าได้ แต่ว่าความจริงแล้ว ไฟฟ้ามีอยู่รอบบรรยากาศในรอบตัวเรานี่ฉันใด จิตก็เหมือนกัน จิตสืบสันตติมาจากภพเก่าเป็นองค์แห่งภพ เก็บเอาพฤติกรรม ต่างๆ ในชาติก่อน ๆ เอาไว้ แต่จิตนั้นจะสำแดงพฤติการณ์ออกมาได้ก็ต้องผ่านสมอง ผ่านทางสมองออก แล้วสมองก็สั่งงานไปทางประสาท ทางร่างกายอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบบอกว่า สมองนี่เหมือนกับเครื่องจักร ชีวิตกับร่างกายเหมือนกับลำเรือ มันสมองเหมือนเครื่องจักร ส่วนผู้คุมเครื่องจักร กัปตันเรือคือ 
🔎จิต



มีเพียงลำพังกัปตันเรือ แต่ว่าไม่มีเครื่องเรือก็ไม่มีลำเรือก็ไม่สำเร็จอีก มีแต่ลำเรือ มีเครื่องเรือ ไม่มีกัปตันเรือ เรือลำนั้นก็เป็นซาก ทำอะไรไม่ได้ แล่นก็ไม่ไป ไม่มีคนคุมคนจัดการให้เครื่องมันเดิน มันก็แล่นไม่ไปฉันใด ชีวิตกับร่างกายมันสมองก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อมันสมองเป็นเนื้อก้อนใหม่ ๆ ที่สำเร็จในปัจจุบันภพเช่นนี้แล้ว มันสมองก้อนนี้จึงไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะทำให้จิตระลึกชาติเก่า ๆได้ เพราะเป็นของใหม่ในปัจจุบัน ก็คิดได้ทำได้แต่ของใหม่ ๆ

จิตเองแม้จะระลึกชาติก็ระลึกไม่ออก เพราะอะไร เพราะความที่จิตนั้นถูกความเศร้าหมองของกิเลสสะกดเอาไว้ ท่านเปรียบจิตเหมือนกับบ่อน้ำ บ่อน้ำที่แสนจะลึก แล้วก็อารมณ์ต่างๆ หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่เราทำมาแต่ชาติภพเก่า ๆ เหมือนกับเราโยนเอาทัพพสัมภาระวัตถุต่างๆ ลงในบ่อน้ำนั้น โยนทับถมกันเรื่อยไป ที่โยนไปก่อน ๆ ก็ถูกของใหม่ ๆ ทับเอาไว้ มองไม่เห็น เราจะเห็นได้เฉพาะที่เพิ่งจะโยนประเดี๋ยวประด๋าวใหม่ๆ เมื่อกี้นี้ โยนเมื่อกี้นี้แต่โยนเมื่อกี้นี้ขณะที่ยังไม่จมถึงก้นบ่อก็ยังพอเห็น แต่พอจมถึงก้นบ่อแล้วก็ไม่เห็นอีก เพราะอะไร เพราะความขุ่นของน้ำ ความขุ่นอันนี้ก็คือ กิเลส กิเลสตัณหาที่มันเกาะเป็นสนิมใจ เกาะกันมา ทับถมกันมา ธรรมดาบ่อน้ำของโยนมากก็จะไม่เห็นอยู่แล้วนะ มิหนำซ้ำเจ้าน้ำในบ่อนั้น ยังเป็นน้ำขุ่นอีกเสียด้วย ขุ่นอย่างน้ำครำอย่างนี้ เพราะฉะนั้นของอะไรร้อยแปด โยนลงไปจึงไม่มีเห็นหรอก ไม่มีเห็น ขณะดังป๋อมใหม่ ๆ พอเห็น พอรู้ แต่โยนแล้วไม่ใช่วันเดียวสองวันตั้งหลายร้อยอเนกอันนตชาติ แล้วเราจะไประลึกได้อย่างไร ไม่มีทางระลึกได้ มิหนำซ้ำสดๆ ร้อนๆ เช่นว่าเราตายปุบเกิดปับอย่างนี้ ควรจะระลึกชาติเก่าได้ยังระลึกไม่ได้ ก็เพราะอะไร เพราะมาเจอมันสมองก้อนใหม่นี่มาเป็นอุปสรรคสำคัญ คอยกีดกั้นเอาไว้  มันสมองก้อนนี้แหละที่เรารับจากพ่อแม่ในภพปัจจุบันนี้แหละ  มันกีดกั้นเอาไว้ บังเอาไว้ ถ้าจะเปรียบ มันสมองก็เหมือนหนึ่งวัตถุแท่งทึบที่แสงไม่สามารถทะลุไปได้มากีดกั้นเอาไว้ พฤติกรรมของจิตในอดีตอารมณ์ในอดีต ภวังค์ไม่สามารถที่จะมาปรากฏได้ก็เพราะอานุภาพของสมองในปัจจุบันนี้กีดกั้นเอาไว้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเกิดเพราะความขุ่นมัวของกิเลสในพื้นเพของจิต อีกประการหนึ่งเกิดเพราะว่าพฤติกรรมต่างๆ ที่ทับถมหมักหมมอยู่ในพื้นเพของจิตใจมีมากมายก่ายกองเหลือเกิน จนกระทั่งเราไม่สามารถที่จะจับต้นชนปลายถูกว่าอะไรเป็นอะไร วัตถุสิ่งนั้น เพราะมันทับถมมากมายหลายโกฎิหลายพันล้าน สิ่งอยู่ในบ่อน้ำบ่อเดียว คือ จิตนี่แหละครับ ๓ กรณี เหตุนี้เป็นเหตุให้เราระลึกชาติไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เราเกิดสดๆ ร้อนๆ ตายปุบเกิดปับเรายังระลึกไม่ได้เลย



การเวียนว่ายตายเกิด ๑

ท่านสาธุชนทั้งหลาย หัวข้อปาฐกถาธรรมวันนี้เป็นการพูดข้อเบ็ดเตล็ดบางสิ่งบางอย่างที่ยังเป็นปัญหาในกลุ่มชาวพุทธมามกะของเรา เรื่องเบ็ดเตล็ดที่เป็นปัญหาที่ชาวพุทธของเรา พูดกันถกเถียงกันอยู่นั้นไม่ใช่มีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ความจริงแล้วถ้าจะประมวลเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลลงมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ เรื่องราวก็มีมาก เป็นปัญหาที่น่าขบคิดทั้งนั้น เพราะในวันนี้จะได้นำเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่มาวิจารณ์สักสองเรื่องด้วยกันก่อน

🔅เรื่องแรกก็คือปัญหาเรื่องของ การเวียนว่ายตายเกิด
        เรื่องนี้ไม่ว่าจะไปพูดในที่ใด ถ้ายิ่งไปพูดตามโรงเรียนด้วยแล้วมักจะมีนักเรียนนักศึกษาเอาปัญหานี้มาถามว่าตายแล้วเกิดจริงหรือไม่จริง สวรรค์นรกมีจริงหรือไม่จริง ถามกันอย่างนี้บ่อย และก็เป็นปัญหาที่มีมาก่อนพุทธกาลแล้ว เคยมีคนไปทูลถามพระพุทธองค์ก็เคย แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ตอบไปแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องกันเรื่อยมากระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ และเชื่อว่าจะต้องเป็นปัญหาต่อเนื่องกันต่อไปจนกว่ามนุษย์ในโลกนี้จะไม่มี

คือถ้าหาว่าในโลกนี้ยังมีมนุษย์อยู่ ปัญหาเรื่องว่าสงสัยว่าตายแล้วเกิดหรือไม่นี้มันก็มีอยู่เรื่อยไปละครับ อันนี้ก็น่าจะเป็นประเด็นอันหนึ่งที่เราน่าจะเอามาวิจารณ์กันเกี่ยวกับปัญหาเรืองนี้ ปัญหาตายแล้วเกิดหรือไม่ ถ้าหากว่าจะพูดตามนัยในพระพุทธศาสนา การตอบปัญหาในพระพุทธศาสนาเรา พระพุทธเจ้า ท่านได้เสนอวิธีการที่จะโต้ตอบปัญหานี้ออกเป็น ๔ ประการด้วยกัน คือว่าปัญหาบางอย่างเมื่อมีผู้ตั้งขึ้นแล้ว ผู้ที่จะแก้ปัญหาก็ต้องตอบด้วยวิธียืนกระต่ายขาเดียว ปัญหาประเภทนี้เรียกว่า เอกังสพยากรณ์ คือ การตอบโดยการยืนกระต่ายขาเดียว

ปัญหาบางอย่างตอบด้วยวิธีการยืนกระต่ายขาเดียวไม่ได้ จะต้องกล่าวจำแนกตามประเภทตามเหตุการณ์ อย่างนี้เรียกว่า วิภัชพยากรณ์ 

ปัญหาบางอย่างผู้ตั้งปัญหาถามขึ้นแล้ว ผู้ตอบก็ต้องเอาคำถามของเขานี่ยันผู้ถามอย่างนี้ เรียกว่าย้อนหรือเรียกว่าศอกกลับ ถ้าจะว่าไปแล้วก็เรียกว่าศอกกลับก็ว่าได้ เรียกว่า ปฏิปุจฉาพยากรณ์

ปัญหาบางอย่างตั้งขึ้นมาถามแล้วผู้ถามมีเจตนาที่ไม่ใคร่จะบริสุทธิ์ ผู้ตอบพิจารณาเห็นว่า ตอบไปแล้วไม่เกื้อกูลต่อประโยชน์ทั้งใน อดีต ปัจจุบันและอนาคต ก็เป็นสิทธิที่ผู้ตอบจะยกเลิก ยกปัญหาเสีย ไม่ตอบ อย่างนี้เรียกว่า ฐปนียพยากรณ์

เป็นวิธีการตอบปัญหาในพระพุทธศาสนา ๔ ประการ วิธีการตอบปัญหา ๔ ประการนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้มาตลอดสมัยของพระองค์ในการโต้ตอบกับพวกสมณพราหมณ์ เดียรถีนิครนถ์ต่างๆ ที่เข้ามาลองดีพุทธิปัญญาของพระองค์ หรือผู้ที่เข้ามาตั้งคำถามโดยความเจตนาบริสุทธิ์ ต้องการจะมีความรู้ความสว่างจากพระองค์ก็ต้องอาศัยการพิจารณาของพระองค์ว่าปัญหาเหล่านี้ควรจะตอบด้วยวิธีอะไร ควรที่จะตอบด้วยเอกังสพยากรณ์ก็ตอบด้วยเอกังสพยากรณ์ ควรที่จะตอบด้วยวิภัชชพยากรณ์ก็ตอบด้วยวิภัชชพยากรณ์ ควรที่จะตอบด้วยปฏิปุจฉาพยากรณ์ก็ตอบด้วยปฏิปุจฉาพยากรณ์ แล้วควรที่จะตอบด้วยฐปนียพยากรณ์ก็ตอบด้วยฐปนียยพยากรณ์ไปตามเรื่อง


คราวนี้ปัญหาเรื่อง ตายแล้วเกิด ในข้อนี้ถ้าจะเอาวิธีการตอบปัญหา ๔ ประเด็นมาตอบปัญหาตายแล้วเกิดควรจะเอาอะไรมาตอบ ในวิธีการ ๔ ข้อ ก็ต้องดูเหตุการณ์อีกนะครับ ยกตัวอย่างเช่นว่ามีปริพาชกคนหนึ่งเป็นคนถือ🔎สัสสตทิฏฐิ ถึอว่าตายแล้วอัตตาของเขานี่ อัตตาตัวนี้แหละหรือเรียกว่าวิญญาณนี่แหละ ไปเวียนว่ายตายเกิด อัตตาตัวนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน มั่นคงดุจเสาระเนียด ชื่อว่า วัชชโคตรปริพาชก

วัชชโคตรมีทิฏฐิอย่างนี้ เมื่อตั้งปัญหาถามพระพุทธเจ้าว่าพระสมณโคดม ตายแล้วเอาอะไรไปเกิด ? 
พระพุทธเจ้าไม่ตอบ ไม่ตอบปัญหาข้อนี้แก่วัชชโคตร วัชชโคตรก็เสียใจ ก็ตัดพ้อพระพุทธเจ้าว่า แหม ช่างกระไรเลย เขาเองมีความสงสัยในปัญหาข้อนี้ ผูกใจมานานนักหนาแล้ว นึกว่าได้รับความสว่างในสำนักของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ากลับไม่ตอบปัญหา เขาตัดพ้อพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็บอกว่าวัชชโคตร ถ้าหากว่าตถาคตจะตอบปัญหาข้อนี้แก่เธอ เธอเป็นสัสสตทิฉฐิอยู่แล้วนะ ถ้าตอบปัญหาข้อนี้แก่เธอเมื่อไหร่ละก็ เธอจะเข้าใจผิด ยิ่งจะเป็นสัสสตทิฉฐิยิ่งขั้นไปอีก เป็นทวีตรีคูณทีเดียวละ เพราะฉะนั้นปัญหาข้อนี้เราจึงไม่ตอบเธอ

เพราะอะไรถึงทรงแสดงอย่างนั้น เพราะว่าโดยความจริงแล้วคนที่ยังมีกิเลสอยู่ ตายแล้วก็ต้องเกิด ถ้าพระองค์ตรัสบอกกับวัชชโคตรบอกว่าคนเราตายแล้วเกิด วัชชโคตรซึ่งกำลังหลงผิดยึดถืออยู่แล้ว ว่าอัตตาของตัวนี่แหละมั่นคงดุจจะเสาระเนียด เป็นผู้ไปเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่างๆ ก็ยิ่งจะเตลิดเปิดเปิงนึกวาพระพุทธเจ้ามาสนับสนุนทิฏฐิของตัวว่าจริง เมื่อคนเราตายแล้วต้องเกิด สิ่งที่ไปเกิดเป็นตัวนั่นแหละ คือตัวอัตตาที่ข้ากำลังถืออยู่ ณ บัดนี้นี่แหละ พระพุทธเจ้ามาสนับสนุนทิฏฐิของตัวอย่างนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึงไม่ตอบวัชชโคตรก่อน

เป็นเหตุให้เขาเกิดความสงสัยยิ่งขึ้น เมื่อตัดพ้อเช่นนี้แล้วพระองค์จึงแสดง “🔎 ปฏิจจสมุปบาท “ ให้เห็นเป็นการทำลายสัสสตทิฏฐิของวัชชโคตรปริพาชก ถ้าไปตอบอย่างง่ายๆ บอกว่า เออ คนเราตายแล้วก็ต้องไปเกิดซิ วิญญาณนี่แหละไปเกิด ตอบง่าย ๆ อย่างนี้ คนที่เป็นสัสสตทิฏฐิก็จะหลงผิดเป็นสัสสตทิฏฐิยิ่งขึ้น จึงไม่ทรงตอบในเบื้องแรก แล้วก็แสดง ปฏิจจสมุปบาท ในเบื้องปลายเป็นการทำลายความเข้าใจผิดของวัชชโคตรปริพาชกไปเสีย นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง

คราวนี้ถ้าหากว่าสำหรับคนที่เชื่ออยู่แล้วว่ากฏแห่งกรรมมีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง แล้วสิ่งที่ไปเวียนว่ายตายเกิดนี่ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตน เราเขาอะไร แต่ทว่าเป็นสังขารธรรมที่เกิดดับสืบสันตติกันได้ ถ้าคนมีความเชื่อถือเช่นนี้มาตั้งปัญหากับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์ไปตามเหตุคือ พยากรณ์ใช้วิธีวิภัชชพยากรณ์ บอกว่าถ้าคนยังมีกิเลสตัณหาอยู่ก็ต้องทำอะไรที่เป็นกรรม เมื่อมีกรรมแล้วก็มีวิบาก ชีวิตยังสั้นอยู่ในชาติหนึ่งภพหนึ่ง ไม่สามารถจะชดเชยวิบากในชาติหนึ่งภพหนึ่งได้ มันก็ต้องไปยกยอดในชาติหน้า ไปรับวิบากในชาติใหม่ภพใหม่ต่อไป อย่างนี้ก็ทรงตอบ อย่างเช่นมีอุบาสก อุบาสกหรือชาวพุทธในพระศาสนาที่มีความเข้าใจในเรื่องกฎของกรรมดีพอแล้ว ตั้งปัญหาถามพระองค์พระองค์ก็แสดงโดยวิภัชชพยากรณ์หรือแม้ไม่ต้องตั้งปัญหา พระองค์ก็แสดงอยู่แล้ว เช่นว่าแสดงกับพระอานนท์เถรเจ้า พยากรณ์คติพจน์ของบรรดาอุบาสก อุบาสิกาในนาลันทคามว่า อุบาสกชื่อนั้นมรณะไปแล้วกำลังเสวยอยู่ในสวรรค์ชั้นนั้น ๆ ตาม ทิฏฐานุคติอันชอบของผู้นั้น ทรงพยากรณ์ทิฏฐิอยู่แล้ว ทรงพยากรณ์คติของผู้ล่วงลับไปแล้วให้กับพระอานนท์เถระเจ้าฟัง แล้วก็ตรัสบอกว่าดูก่อนอานนท์ ที่ตถาคตพยากรณ์คติสัปรายภพของอุบาสกชื่อนั้น อุบาสิกาชื่อนั้น ณ. ตำบลบ้านนั้น ๆ เพราะเหตุไร ก็เพื่อว่าจะเป็นเครื่องพยุงใจให้แก่ปัจฉิมาชนตาชน คือชนที่เกิดภายหลัง ได้มีความกระปรี้กระเปร่า มีกำลังใจในการประกอบกุศลกรรม มีกำลังใจในการทำความดี เพราะมีข้อยืนยันว่าเมื่อทำกรรมดีอย่างนี้แล้ว ตายไปแล้วก็ได้เสวยผลกรรมดีในคติสัมปรายภพนั้น ๆ ทรงแสดงอย่างนี้

คนที่ไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตกที่แรกเริ่มศึกษาพุทธศาสนาใหม่ ๆ พอรู้ว่าพระพุทธเจ้าปฏิเสธเรื่องโซล คือ วิญญาณหรือตัวอาตมัน ภาษาฝรั่งเรียกกันว่าโซลก็นึกว่าพุทธศาสนานี้ไม่ได้สอนเรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องไร้สาระ หรือแม้แต่นักปราชญ์บางท่านในเมืองไทยเรา เวลาแสดงปาฐกถาก็ยังโจมตีว่าการพูดเรื่อง เวียนว่ายตายเกิดนี้เป็นเรื่องนอกคอก นอกบาลี ที่ไหนพระพุทธเจ้าจะมาสนใจเรื่องนี้ ควรจะพูดแต่เรื่องทางพ้นทุกข์ลัดนิ้วมือเดียว ทำอย่าไรถึงจะพ้นทุกข์ดีกว่า พูดเรื่องพุทธภาวะในจิตเดิมแท้นี่ดีกว่า จะได้พ้นทุกข์ไปไว ๆ ตรัสรู้เร็ว ๆ ดีกว่าจะไปมัวแต่พูดเรื่องเนิ่นช้า เรื่องเวียนว่ายตายเกิด เรื่องวัฏสงสาร เป็นเรื่อทำให้คนเนิ่นช้า ไปพูดเรื่องนี้ทำไม ปฏิจจสมุปบาทว่าที่จริงแล้วก็มีขณะ ปัจจุบันขณะเดียว นี่มติของบางท่านนะ แต่ไม่ใช่ทั่วไปหรอก บางท่านว่าปฏิจจสมุปบาทอยู่ในขณะจิต ปัจจุบันขณะเดียวอย่างนี้ โดยปฏิเสธอตีตอัทธา อนาคตอัทธาปฏิเสธหมด ว่าเรื่องการแบ่งปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องอดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นมติของพระอรรถกถาจารย์ ที่ไหนจะมีในบาลีพุทธพจน์ ปฏิเสธอย่างนี้ก็มีอยู่

🔰อ่านหน้าต่อไป


วันพุธ

อ. เสถียร โพธินันทะ #๓


๖๑. สารพันปัญหา ๘
๖๒. สารพันปัญหา ๙
๖๓. สารพันปัญหา ๑๐
๖๔. สารพันปัญหา ๑๑
๖๕. ปปปป
๖๖. ปปปปป
๖๗. ปปปป
๖๘. ปปป
๖๙. ปปปป
๗๐. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป
๖๑. ปปปปป
๖๒. ปปปป
๖๓. ปปป
๖๔. ปปปป
๖๕. ปปปป


 <<<  หน้า ๑     หน้า ๒    หน้า ๓   >>> 


วันศุกร์

อ. เสถียร โพธินันทะ #๒

๓๑. ไวยทิกวาทะ
๓๒. วิจัยเวสสันดรชาดก
๓๓. ปรปัจจัย
๓๔. ตอบปัญหาเรื่องพระเจ้า
๓๕. กำเนิดปรัชญามหายาน
๓๖. วิวัฒนาการปรัชญามหายาน
๓๗. หลักของสุญญาตา
๓๘. สุญญาตาในลัทธิมหายาน
๓๙. อภิธรรมฝ่ายมหายาน
๔๐. คัมภีร์มหายาน
๔๑. ปรัชญาชิน
๔๒. พระถังซำจั๋ง ๑
๔๓. พระถังซำจั๋ง ๒
๔๔. พุทธาคมกับไสยเวทย์
๔๕. พระอินทร์
๔๖. การเวียนว่ายตายเกิด
๔๗. อภินิหารธรรม
๔๘. โลกธุาต
๔๙. ตักกะวิทยา
๕๐. ปฐมเหตุของโลก
๕๑. วิจัยคัมภีร์กถาวัตถุ ๑
๕๒. วิจัยคัมภีร์กถาวัตถุ ๒
๕๓. วิจัยคัมภีร์กถาวัตถุ ๓
๕๔. สารพันปัญหา ๑
๕๕. สารพันปัญหา ๒
๕๖. สารพันปัญหา ๓
๕๗. สารพันปัญหา ๔
๕๘. สารพันปัญหา ๕
๕๙. สารพันปัญหา ๖
๖๐. สารพันปัญหา ๗
๖๑. สารพันปัญหา ๘
๖๒. สารพันปัญหา ๙
๖๓. สารพันปัญหา ๑๐
๖๔. สารพันปัญหา ๑๑