วันศุกร์

ธุดงค์ ๑๓ ประการ

🔅ปริจเฉทที่ ๒ ธุตังคนิเทศ

อารัมภพจนกถา
โดยที่โยคีบุคคลสมาทานเอาศีลแล้วจะต้องทำการสมาทานเอาธุดงค์ต่อไปทั้งนี้เพื่อที่จะทำคุณทั้งหลายมีความเป็นผู้มักน้อยและความสันโดษเป็นต้น อันเป็นเครื่องผ่องแผ้วของศีล ซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วในสีลนิเทศให้สมบูรณ์ แหละเมื่อโยคีบุคคลทำการสมาทานเอาธุดงค์เช่นนี้แล้ว ศีลของท่านซึ่งถูกชำระล้างมลทินแล้วด้วยน้ำคือคุณ มีความเป็นผู้มักน้อย, ความสันโดษ, ความขัดเกลากิเลส, ความสงัด, ความไม่สั่งสมกิเลส, การปรารภความเพียรและความเป็นผู้เลี้ยงง่าย เป็นต้น ก็จักเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ด้วยดี กับทั้งพรตทั้งหลายของท่านก็จักสมบูรณ์ด้วย

อันโยคืบุคคลผู้มีมารยาททั้งปวงบริสุทธิ์แล้วด้วยคุณคือศีลและพรตอันหาโทษมิได้เช่นนี้ ดำรงตนอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่าแก่ ๓ ประการ (คือความสันโดษในจีวร, ความสันโดษในบิณฑบาต, ความสันโดษในเสนาสนะตามมีตามได้) แล้ว จักเป็นบุคคลสมควรเพื่อจะบรรลุอริยวงศ์ประการที่ ๔ ซึ่งได้แก่ความเป็นผู้ยินดีในภาวนา (สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา) เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเริ่มแสดงธุดงคกถา ณ บัดนี้


🙏 ธุตังคกถา 🙏

ธุดงค์ ๑๓ ประการ
ก็แหละ พระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุญาตธุดงค์ไว้สำหรับกุลบุตรทั้งหลายผู้สละโลกามิสแล้ว ผู้ไม่เสียดายอาลัยในร่างกายและชีวิต ผู้ปรารถนาจะทำข้อปฏิบัติอันสมควรแก่นิพพานให้ถึงพร้อม รวมเป็น ๑๓ ประการ คือ

หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุต

๑. ปังสุกูลิกังคธุดงค์
๒. เตจีวริกังคธุดงค์
หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุต
๓. ปิณฑบาติกังคธุดงค์
๔. สปทานจาริกังคธุดงค์
๕. เอกาสนิกังคธุดงค์
๖. ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์
๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์
หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุต
๘. อารัญญิกังคธุดงค์
๙. รุกขมูลกังคธุดงค์
๑๐. อัพโภกาสิกังคธุดงค์
๑๑. โสสานิกังคธุดงค์
๑๒. ยถาสันถติกังคธุดงค์
หมวดที่ ๔ วิริยปฏิสังยุต
๑๓. เนสัชชิกังคธุดงค์

วินิจฉัยธุดงค์โดยอาการ ๑๐ อย่าง
นักศึกษาพึงศึกษาให้เข้าใจข้อวินิจฉัยในธุดงค์ ๑๓ ประการนั้น (โดยอาการ ๑๐ อย่างเหล่านี้ คือ)
๑. โดยอรรถวิเคราะห์
๒. โดยลักษณะเป็นต้น
๓. โดยสมาทาน
๔. โดยกรรมวิธี
๕. โดยประเภท
๖. โดยความแตก(ขาด)
๗. โดยอานิสงส์
๘. โดยเป็นกุสลติกะ
๙. โดยแยกออกเป็นคำ ๆ มีคำว่าธุตะเป็นต้น
๑๐. โดยย่อและโดยพิสดาร

วินิจฉัยโดยอรรถวิเคราะห์
ในอาการ ๑๐ อย่างนั้น จะวินิจฉัยโดยอรรถวิเคราะห์เป็นประการแรกดังนี้:

๑. ปังสุกูลิกังคะ
ผ้าใดเป็นเหมือนผ้าที่สะสมด้วยขี้ฝุ่น ณ ที่นั้น ๆ โดยที่ฟุ้งตลบไป เพราะเหตุวางทิ้งไว้บนขี้ฝุ่น ณ ที่ใดที่หนึ่ง เช่น ถนน, ป่าช้าและกองขยะมูลฝอยเป็นต้น ผ้านั้นชื่อว่าผ้าบังสุกุล อีกนัยหนึ่ง ผ้าใดถึงซึ่งภาวะที่น่าเกลียด คือ ถึงซึ่งภาวะที่น่าสยะแสยง เหมือนขี้ฝุ่น ผ้านั้นชื่อว่าผ้าบังสุกุล การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลอันได้อรรถวิเคราะห์อย่างนี้ ชื่อว่า ปังสุกุล แปลว่าการทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล, การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลนั้นเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า ปังสุกูลิโก แปลว่า ผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ ชื่อว่า ปังสุกูลิกังคะ เหตุ เรียกว่า องค์ เพราะฉะนั้น นักศึกษาจึงเข้าใจว่าภิกษุนั้นเป็นผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ ด้วยเจตนาเป็นเหตุสมาทานอันใด คำว่า องค์ นี้เป็นชื่อของเจตนาเป็นเหตุสมาทานอันนั้น

๒. เตจีวริกังคะ
โดยนัยอย่างเดียวกันนั้น การทรงไว้ซึ่งผ้า ๓ ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิ ๑ ผ้าอุตตราสงค์ ๑ ผ้าอันตรวาสก ๑ เป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า เตจีวริโก แปลว่าผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้า ๓ ผืนเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันทรงไว้ซึ่งผ้า ๓ ผืนเป็นปกติชื่อว่า เตจีวริยังคะ

๓. ปิณฑปาติกังคะ
การตกลงแห่งก้อนอามิสคือภิกษาหาร ได้แก่การตกลงในบาตรแห่งก้อนข้าวที่ผู้อื่นเขาถวาย ชื่อว่า ปิณฑบาต ภิกษุใดแสวงหาบิณฑบาตนั้น คือเข้าไปสู่ตระกูลนั้น ๆ แสวงหาอยู่ ภิกษุนั้นชื่อว่า ปิณฑปาติโก แปลว่า ผู้แสวงหาซึ่งบิณฑบาตอีกอย่างหนึ่ง การเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเป็นธรรมเนียมของภิกษุนี้ เหตุนั้น ภิกษุนี้ชื่อว่า ปิณฑปาตี แปลว่า ผู้มีอันเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม บทว่า ปติตํ แปลว่า การเที่ยวไป บทว่า ปิณฺฑปาตี กับบทว่า ปิณฺฑปาติโก ความเหมือนกัน, องค์แห่งภิกษุผู้แสวงหาซึ่งบิณฑบาต หรือองค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเป็นธรรมเนียม ชื่อว่า ปิณฑปาติกังคะ

๔. สปทานจาริกังคะ
การขาดตอนเรียกว่า ทานะ กิจใดที่ปราศจากการขาดตอนคือไม่ขาดตอนกิจนั้นเรียกว่า อปทานะ กิจใดเป็นไปกับด้วยการไม่ขาดตอน ได้แก่เว้นการขาดระยะ คือ ไปตามลำดับเรือน กิจนั้นชื่อว่า สปทานะ การเที่ยวไป (บิณฑบาต) อย่างไม่ขาดตอน (คือไปตามลำดับเรือน) นี้ เป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า สปทานจารี แปลว่า ผู้มีอันเที่ยวไปอย่างไม่ขาดตอนเป็นปกติ บทว่า สปทานจารี กับบทว่า สปทานจาริโก ความเหมือนกัน, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันเที่ยวไปอย่างไม่ขาดตอนเป็นปกติ ชื่อว่า สปทานจาริกังคะ

๕. เอกาสนิกังคะ
การฉันในที่นั่งอันเดียว ชื่อว่า เอกาสนะ การฉันในที่นั่งอันเดียวนั้นเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า เอกาสนิโก แปลว่า ผู้มีอันฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันฉันในที่นั่งอันเดียวเป็นปกตินั้น ชื่อว่า เอกาสนิกังคะ

๖. ปัตตปิณฑิกังคะ
บิณฑบาตเฉพาะแต่ในบาตรอย่างเดียวเท่านั้น เพราะห้ามภาชนะอันที่สองเสียชื่อว่า ปัตตปิณโฑ แปลว่า บิณฑบาตในบาตร บิณฑบาตในบาตรเป็นปกติของภิกษุนี้เพราะในขณะหยิบเอาบิณฑบาตในบาตรก็ทำความสำนึกว่าเป็นบิณฑบาตในบาตร เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า ปัตตปิณฑิโก แปลว่า ผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกติ องค์แห่งภิกษุผู้มีบิณฑบาตในบาตรเป็นปกตินั้น ชื่อว่า ปัตตปิณฑิกังคะ

๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ
คำว่า ขลุ เป็นศัพท์นิบาตลงในความปฏิเสธ ภัตตาหารที่ได้มาหลังจากที่ตนห้ามแล้ว ชื่อว่า ปัจฉาภัตตัง การฉันปัจฉาภัตนั้น ชื่อว่า ปัจฉาภัตตโภชนัง การฉันปัจฉาภัตเป็นปกติของภิกษุนี้ เพราะรู้อยู่ว่าเป็นปัจฉาภัตในขณะฉันปัจฉาภัต เหตุนั้น ภิกษุนี้ ชื่อว่า ปัจฉาภัตติโก แปลว่า ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ ภิกษุผู้มิใช่ปัจฉาภัตติโก ชื่อว่า ขลุปัจฉาภัตติโก แปลว่า ผู้มิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ (ลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม) คำนี้เป็นชื่อของโภชนะที่มากเกินไป ซึ่งท่านห้ามไว้ด้วยอำนาจแห่งการสมาทาน ส่วนในคัมภีร์อรรถกถาพรรณนาไว้ว่า คำว่า ขลุ ได้แก่นกประเภทหนึ่ง นกขลุนั้นเอาปากคาบผลไม้แล้ว ครั้นผลไม้นั้นล่วงไปจากปากแล้วก็ไม่ยอมกินผลไม้อื่นอีก ภิกษุนี้มีปฏิปทาเหมือนนกขลุนั้น เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ขลุปัจฉาภัตติโก แปลว่ามิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัตเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุมิใช่ผู้มีอันฉันปัจฉาภัต เป็นปกตินั้นชื่อว่า ขลุปัจฉาภัตติกังคะ

๘. อารัญญิกังคะ
การอยู่ในป่าเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า อารัญญิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกตินั้น ชื่อว่า อารัญญิกังคะ

๙. รุกขมูลิกังคะ
การอยู่ ณ ที่โคนไม้ชื่อว่า รุกขมูล การอยู่ ณ ที่โคนไม้นั้นเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า รุกขมูลิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ ณ ที่โคนไม้เป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ ณ ที่โคนไม้เป็นปกติ ชื่อว่า รุกขมูลกังคะ

๑๐. อัพโภกาสิกังคะ
การอยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า อัพโภกาสิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติ ชื่อว่า อัพโภกาสิกังคะ

๑๑. โสสานิกังคะ
การอยู่ในป่าช้าเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ชื่อว่า โสสานิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นปกติ ชื่อว่า โสสานิกังคะ

๑๒. ยถาสันถติกังคะ
เสนาสนะที่จัดแจงไว้อย่างไรนั่นเทียว ชื่อว่า ยถาสันถตะ คำนี้เป็นชื่อของเสนาสนะที่สงฆ์มอบให้แต่แรกด้วยคำว่า เสนาสนะนี้ถึงแก่ท่าน การอยู่ในเสนาสนะที่จัดแจงไว้อย่างนั้น เป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า ยถาสันถติโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะที่จัดแจงไว้แล้วอย่างไรเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในเสนาสนะที่จัดแจงไว้แล้วอย่างไรเป็นปกตินั้น ชื่อว่า ยถาสันถติกังคะ

๑๓. เนสัชชิกังคะ
การห้ามอิริยาบถนอนเสียแล้วอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกติของภิกษุนี้ เหตุนั้นภิกษุนี้ ชื่อว่า เนสัชซิโก แปลว่า ผู้มีอันอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกติ, องค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกตินั้น ชื่อว่า เนสัชชิกังคะ

อรรถาธิบายธุตั้งคะ
ก็แหละ ธุดงค์ทั้งหมดนั้นนั่นเที่ยวเป็น องค์ แห่งภิกษุผู้ซึ่งได้ชื่อว่า ธุระ เพราะเป็นผู้มีกิเลส (คือตัณหาและอุปาทาน) อันกำจัดแล้ว ด้วยเจตนาเป็นเครื่องสมาทานนั้น ๆ ฉะนั้นจึงชื่อว่า ธุตังคะ อีกอย่างหนึ่ง ญาณอันได้โวหารว่า ธุระ เพราะเป็นเครื่องกำจัดกิเลส เป็นเหตุแห่งการสมาทานเหล่านั้น ฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้น จึงชื่อว่า ธุตังคะ อีกอย่างหนึ่ง การสมาทานเหล่านั้น ชื่อว่า ธุระ เพราะเป็นเครื่องกำจัดซึ่งธรรมอันเป็นข้าศึกด้วย เป็นเหตุแห่งสัมมาปฏิบัติด้วย เพราะฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้น จึงชื่อว่า ธุตั้งคะ นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยในธุดงค์ ๑๓ ประการนั้น โดยอรรถวิเคราะห์เป็นประการแรกเพียงเท่านี้

วินิจฉัยโดยลักษณะเป็นต้น
ก็แหละ ธุดงค์หมดทั้ง ๑๓ ประการนั่นแล มีเจตนาเครื่องสมาทานเป็นลักษณะข้อนี้สมดังที่ท่านอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่สมาทานได้แก่บุคคล เครื่องสมาทานได้แก่ธรรม คือจิตและเจตสิก เจตนาเป็นเครื่องสมาทานอันใด อันนั้นเป็นตัวธุดงค์ สิ่งที่ถูกห้ามได้แก่วัตถุ และธุดงค์ทั้งหมดนั่นแล” มีการกำจัดความละโมบเป็นรส มีการปราศจากความละโมบเป็นอาการปรากฏ มีอริยธรรมเช่นความเป็นผู้มักน้อยเป็นต้น เป็นปทัฏฐาน คือเป็นเหตุใกล้ นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยในธุดงค์ ๑๓ ประการนี้ โดยลักษณะเป็นต้นเพียงเท่านี้

วินิจฉัยโดยการสมาทานเป็นต้น
ก็แหละ ในอาการ ๕ อย่างมีโดยการสมาทานและกรรมวิธีเป็นต้น มีวินิจฉัยดังนี้ ธุดงค์ ๑๓ ประการนั่นแล
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพระชนม์อยู่ ก็พึงสมาทานเอาในสำนักของพระผู้มีพระภาคนั่นเทียว,
เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว จึงสมาทานเอาในสำนักของพระมหาสาวก,
เมื่อพระมหาสาวกนั้นไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระอรหันตขีณาสพ,
เมื่อพระอรหันตขีณาสพไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระอนาคามี,
เมื่อพระอนาคามีไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระสกทาคามี,
เมื่อพระสกทาคามีไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของพระโสดาบัน,
เมื่อพระโสดาบันไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำปิฎก ๓,
เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฎก ๓ ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำปิฎก ๒,
เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฏก ๒ ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำปิฎก ๑,
เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฎก ๑ ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงจำสังคีติอันหนึ่ง,
เมื่อท่านผู้ทรงจำสังคีติอันหนึ่ง ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านอรรถกถาจารย์,
เมื่อท่านอรรถกถาจารย์ไม่มีอยู่แล้ว พึงสมาทานเอาในสำนักของท่านผู้ทรงธุดงค์,
แม้เมื่อท่านผู้ทรงธุดงค์ก็ไม่มีอยู่แล้ว ก็จงปัดกวาดลานพระเจดีย์ให้สะอาดแล้วนั่งยอง ทำเป็นเหมือนกล่าวสมาทานเอาอยู่ในสำนักของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเถิด

อีกประการหนึ่ง แม้จะสมาทานเอาด้วยตนเองก็ใช้ได้ในข้อนี้ บรรดาพระเถระสองพี่น้องที่วัดเจติยบรรพต จึงยกเอาเรื่องของพระเถระผู้พี่มาเป็นตัวอย่าง เพราะท่านเป็นผู้มีความมักน้อยในธุดงค์ ที่วินิจฉัยมาแล้วนี้ เป็นสาธารณกถาทั่วไปแก่ธุดงค์ทั้งปวง




วันพฤหัสบดี

อานิสงส์ของศีลสมบัติ

อานิสงส์ของศีลสมบัติ

ส่วนการมองเห็นอานิสงส์ของศีลสมบัติ โดยประการตรงกันข้ามจากประการที่กล่าวมาแล้ว นักศึกษาพึงทราบดังต่อไปนี้ :-

อีกประการหนึ่งศีลของภิกษุใดปราศจากมลทินดีแล้ว การทรงบาตรและจีวรของภิกษุนั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่าเลื่อมใส บรรพชาของท่านก็เป็นสิ่งที่มีผล ดวงหทัยของภิกษุผู้มีศีลบริสุทธิ์แล้ว ย่อมไม่หยั่งลงสู่ภัย มีการติเตียนตนเองเป็นต้น เป็นเหมือนพระอาทิตย์ไม่หยั่งลงสู่ความมืดมน ภิกษุงามอยู่ในป่าเป็นที่บำเพ็ญตบะด้วยศีลสมบัติเหมือนพระจันทร์งามในท้องฟ้าด้วยสมบัติคือรัศมี แม้เพียงกลิ่นกายของภิกษุผู้มีศีลก็ยังทำความปราโมชให้แม้แก่ฝูงทวยเทพ ไม่จำต้องกล่าวถึงกลิ่นคือศีล กลิ่น คือ ศีลย่อมครอบงำสมบัติแห่งคันธชาติ คือของหอมทั้งหลายอย่างสิ้นเชิงย่อมฟุ้งตลบไปทั่วทุกทิศไม่มีการติดขัด

สักการะทั้งหลายที่บุคคลกระทำแล้วในภิกษุผู้มีศีล แม้จะเป็นของเล็กน้อย ก็ย่อมมีผลมาก ภิกษุผู้มีศีลย่อมเป็นภาชนะรองรับเครื่องบูชาสักการะอาสวะทั้งหลายในปัจจุบัน ก็เบียดเบียนภิกษุผู้มีศีลไม่ได้ ภิกษุผู้มีศีลย่อมขุดเสียซึ่งรากแห่งทุกข์ อันจะพึงมีในชาติเบื้องหน้าทั้งหลาย สมบัติอันใดในโลกมนุษย์ และสมบัติอันใดในโลกเทวดา สมบัติอันนั้นอันผู้มีศีลถึงพร้อมแล้วปรารถนาอยากจะได้ ก็เป็นสิ่งจะพึงหาได้โดยไม่ยาก อนึ่ง นิพพานสมบัติอันสงบอย่างหาที่สุดมิได้นี้ในใจของผู้มีศีลสมบูรณ์แล้ว ย่อมแล่นตรงแน่วไปสู่นิพพานสมบัตินั้นนั่นเทียว

บัณฑิต พึงแสดงอานิสงส์อันมากหลายเป็นอเนกประการในศีลอันเป็นมูลแห่งสมบัติทั้งปวง โดยประการดังพรรณนามาแล้วนั่นเถิด เพราะว่า เมื่อบัณฑิตแสดงอยู่โดยประการอย่างนั้น จิตใจก็จะหวาดเสียวแต่ศีลวิบัติแล้วน้อมไปหาศีลสมบัติได้ เพราะเหตุนั้น โยคีบุคคลครั้นมองเห็นโทษของศีลวิบัตินี้และมองเห็นอานิสงส์ของศีลสมบัตินี้ ตามที่ได้บรรยายมาแล้ว พึงชำระศีลให้ผ่องแผ้วด้วยความเอื้อเฟื้อโดยประการทั้งปวง เทอญ

ก็แหละ โดยอรรถาธิบายเพียงเท่านี้ เป็นอันข้าพเจ้าได้แสดงแล้วซึ่งศีลอันเป็นประการแรก ในปกรณ์วิสุทธิมรรค ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ด้วยมุขคือศีล, สมาธิและปัญญาด้วยพระพุทธนิพนธคาถานี้ว่า นรชน ผู้มีปัญญา เป็นภิกขุ มีความเพียร มีปัญญา เครื่องบริหาร ตั้งตนไว้ในศีลแล้วทำสมาธิจิตและปัญญา ให้เจริญอยู่ เธอจะพึงถางรกชัฏอันนี้เสียได้


 จบ ปริจเฉทที่ ๑ ชื่อว่า สีลนิเทศ ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค
อันข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมซแห่งสาธุชน ดังนี้



โทษแห่งศีลวิบัติ

โทษแห่งศีลวิบัติ

ในเหตุ ๒ ประการนั้น (มองเห็นโทษแห่งศีลวิบัติ ๑ ด้วยการมองเห็นอานิสงส์ของศีลสมบัติ ๑) นักศึกษาพึงทราบโทษแห่งศีลวิบัติโดยสุตตันตนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย โทษแห่งศีลวิบัติของภิกษุผู้ทุศีลมี ๕ อย่างเหล่านี้ อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้ทุศีล เพราะเหตุแห่งความเป็นผู้ทุศีล ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้อันเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายไม่พึ่งพร่ำสอน เป็นผู้มีทุกข์ในเพราะการครหาความเป็นผู้ทุศีล เป็นผู้มีความร้อนใจในเพราะการสรรเสริญของผู้มีศีลทั้งหลาย แหละเพราะความเป็นผู้ทุศีลนั้นเป็นเหตุ ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณหม่นหมองเหมือนผ้าเปลือกไม้ ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมผัสหยาบ เพราะน้ำอบายทุกข์มาให้แก่คนทั้งหลายผู้ถึงซึ่งการเอาเยี่ยงอย่างของเขาตลอดกาลนานชื่อว่าเป็นผู้มีคุณค่าน้อยเพราะทำไม่ให้มีผลมากแก่ผู้ที่ตนรับไทยธรรมของเขา เป็นผู้ล้างให้สะอาดได้ยาก เหมือนหลุมคูถที่หมักหมมไว้นานปี เป็นผู้เสื่อมจากประโยชน์ทั้ง ๒ เหมือนดุ้นพื้นเผาศพ ถึงแม้จะปฏิญญาณตนว่าเป็นภิกษุก็ไม่เป็นภิกษุอยู่นั่นแหละ เหมือนฬาที่ติดตามฝูงโค เป็นผู้หวาดสะดุ้งเรื่อย ๆ ไป เหมือนคนมีเวรอยู่ทั่วไป เป็นผู้ไม่ควรแก่การอยู่ร่วม เหมือนกเฬวรากของคนตาย แม้ถึงจะเป็นผู้ประกอบด้วยคุณธรรมมีสุตะเป็นต้นก็ตาม ยังเป็นผู้ไม่ควรแก่การบูชาของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายอยู่นั่นเอง เหมือนไฟในป่าช้าไม่ควรแก่การบูชาของพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ควรในอันที่จะบรรลุธรรมวิเศษเหมือนคนตาบอดไม่ควรในการดูรูป เป็นผู้หมดหวังในพระสัทธรรม เหมือนเด็กจัณฑาลหมดหวังในราชสมบัติ

แม้ถึงจะสำคัญอยู่ว่าเรา
เป็นสุข ก็ชื่อว่าเป็นทุกข์อยู่นั่นเทียว เพราะเป็นผู้มีส่วนแห่งทุกข์ดังที่ตรัสไว้ในอัคคิกขันธปริยายสูตร 
จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงประจักษ์แจ้งกรรม และวิบากของกรรมโดยประการทั้งปวง เมื่อจะทรงแสดงทุกข์อันเผ็ดร้อนยิ่งซึ่งมีความเป็นผู้ทุศีลนั้นเป็นปัจจัยอันสามารถจะทำความรุ่มร้อนแห่งใจให้เกิด แล้ว บันดาลความกระอักเลือดอย่างสด ๆ ให้เป็นไปแม้เพียงแต่ระลึกถึงแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ทุศีล มีจิตกำหนัดด้วยความยินดีในสุขอันเกิดแต่การบริโภคเบญจกามคุณ และสุขเกิดแต่การกราบไหว้การนับถือเป็นต้น จึงได้ตรัสพระพุทธโอวาทไว้ ดังนี้ :-


🔅อัคคิกขันธสูตร
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นหรือไม่ โน่น กองไฟใหญ่ซึ่งติดลุกเป็นเปลว มีแสงโชติช่วงอยู่
พวกภิกษุกราบทูลว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า
ตรัสต่อไปว่า ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ?
คือการที่ภิกษุพึงเข้าไปนั่งหรือเข้าไปนอน
กอดกองไฟใหญ่ซึ่งลุกติดเป็นเปลวมีแสงโชติช่วงอยู่โน่น เป็นสิ่งประเสริฐหรือ หรือว่าการที่ภิกษุพึงเข้าไปนั่งหรือเข้าไปนอนสวมกอดนางสาวกษัตริย์นางสาวพราหมณ์ หรือนางสาวคหบดี ผู้มีมือและเท้าอ่อนนุ่มนิ่มเหมือนปุยนุ่น เป็นสิ่งประเสริฐเล่า ?
พวกภิกษุกราบทูลว่า การที่ภิกษุเข้าไปนั่งหรือเข้าไปนอนสวมกอดนางสาวกษัตริย์ นางสาวพราหมณ์หรือนางสาวคหบดีผู้มีมือและเท้าอ่อนนุ่มนิ่มเหมือนปุยนุ่นนี้แหละ เป็นสิ่งประเสริฐพระพุทธเจ้าข้า เพราะว่าการที่ภิกษุเข้าไปนั่งหรือเข้าไปนอนกอดกองไฟใหญ่ซึ่งติดลุกเป็นเปลวมีแสงโชติช่วงอยู่โน่นนั้น เป็นทุกข์พระพุทธเจ้าข้า

ตรัสต่อไปว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจะบอกเธอทั้งหลาย จะแนะนำเธอทั้งหลายให้รู้แจ้ง การที่พึงเข้าไปนั่งหรือเข้าไปนอนกอดกองไฟใหญ่ซึ่งติดลุกเป็นเปลวมีแสงโชติช่วงอยู่โน่นนี้นั้นแลเป็นสิ่งประเสริฐ สำหรับภิกษุนั้นผู้มีศีลเลว มีธรรมลามก มีความประพฤติไม่สะอาด น่ารังเกียจ มีการงานเร้นลับ ไม่ใช่สมณะปฏิญญาณว่าเป็นสมณะไม่ใช่พรหมจารีปฏิญญาณว่าเป็นพรหมจารี เป็นผู้เน่าใน ชุ่มโชกไปด้วยกิเลส รกเป็นหยากเยื่อ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุผู้ทุศีลนั้นจะพึงเข้าถึงความตายหรือความทุกข์ขนาดปางตาย เพราะมีการกอดกองไฟใหญ่นั้นเป็นเหตุก็ตาม ก็แต่ว่าเขาจะไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ, วินิบาต, นรก เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป เพราะมีการกอดกองไฟใหญ่นั้น เป็นปัจจัย

ครั้นทรงแสดงทุกข์ซึ่งมีการบริโภคเบญจกามคุณอันเนื่องด้วยสตรีเป็นปัจจัย โดยอุปมาด้วยกองไฟอย่างนี้แล้ว จึงได้ทรงแสดงทุกข์ซึ่งมีการกราบไหว้การประนมมือและการบริโภคจีวร, บิณฑบาต, เตียง, ตั้ง, วิหารเป็นปัจจัย โดยอุปมาด้วยเชือกขนหางสัตว์, หอกคม, แผ่นเหล็ก, ก้อนเหล็ก, เตียงเหล็ก, ตั้งเหล็กและหม้อเหล็กทั้งหลายเหล่านี้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ? คือการที่บุรุษผู้มีกำลังเอาเชือกขนหางสัตว์ชนิดที่มั่นเหนียวพันแข้งทั้งสองแล้วสีไปมา เชือกนั้นจะพึงตัดผิวครั้นตัดผิวแล้วจะพึงตัดหนัง ครั้นตัดหนังแล้วจะพึงตัดเนื้อ ครั้นตัดเนื้อแล้วจะพึงตัดเย็น ครั้นตัดเอ็นแล้วจะพึงตัดกระดูก ครั้นตัดกระดูกแล้วจะพึงตัดจรดเยื่อกระดูกนี้เป็นสิ่งประเสริฐหรือ หรือว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลจึงยินดีการกราบไหว้ของเหล่ากษัตริย์มหาศาลเหล่าพราหมณ์มหาศาลหรือเหล่าคหบดีมหาศาล เป็นสิ่งประเสริฐเล่าหนอฯลฯ

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ? คือการที่บุรุษผู้มีกำลังเอาหอกอันคมซึ่งชะโลมด้วยน้ำมันที่มเข้าตรงกลางอก นี้เป็นสิ่งประเสริฐหรือ หรือว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลยินดีการประนมมือของเหล่ากษัตริย์มหาศาลเหล่าพราหมณ์มหาศาลหรือเหล่าคหบดีมหาศาล เป็นสิ่งประเสริฐเล่าหนอ ฯลฯ

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ? คือการที่บุรุษผู้มีกำลังจะพึงเอาแผ่นเหล็กที่ร้อน ไฟติดลุกเป็นเปลว มีแสงโชติช่วง มาหุ้มเข้ากับกาย นี้เป็นสิ่งประเสริฐหรือ หรือว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลจึงนุ่มห่มจีวรที่เขาถวายด้วยศรัทธาของเหล่ากษัตริย์มหาศาล เหล่าพราหมณ์มหาศาลหรือเหล่าคหบดีมหาศาล เป็นสิ่งประเสริฐเล่าหนอ ฯลฯ

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ? คือการที่บุรุษผู้มีกำลังเอาคมเหล็กที่ร้อน ไฟติดลุกเป็นเปลว มีแสงโชติช่วง มางัดปากแล้ว พึงใส่ก้อนเหล็กที่ไฟติดลุกเป็นเปลวมีแสงโชติช่วงเข้าในปาก ก้อนเหล็กที่ร้อนนั้นจะพึงไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง ลิ้นบ้าง ลำคอบ้าง ท้องบ้าง ของภิกษุผู้ทุศีลนั้น พาเอาทั้งไส้ใหญ่ไส้น้อยออกมายังส่วนเบื้องล่าง นี้เป็นสิ่งประเสริฐหรือ หรือว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลพึงฉันบิณฑบาตที่เขาให้ด้วยศรัทธาของเหล่ากษัตริย์มหาศาล เหล่าพราหมณ์มหาศาลหรือเหล่าคหบดีมหาศาล เป็นสิ่งประเสริฐเล่าหนอ ฯลฯ

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ? คือบุรุษผู้มีกำลังจับที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วจึงให้นั่งหรือให้นอนบนเตียงเหล็กหรือตั๋งเหล็กที่ร้อนอันไฟติดลุกเป็นเปลวโซติช่วงอยู่ นี้เป็นสิ่งประเสริฐหรือ หรือว่าการที่ภิกษุใช้เตียงหรือตั้งที่เขาถวายด้วยศรัทธาของเหล่ากษัตริย์มหาศาล เหล่าพราหมณ์มหาศาลหรือเหล่าคหบดีมหาศาล เป็นสิ่งประเสริฐเล่าหนอ ฯลฯ

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ? คือบุรุษผู้มีกำลังจะพึงจับทำให้มีเท้าขึ้นเบื้องบนมีศีรษะลงเบื้องล่าง แล้วใส่ลงในหม้อเหล็กที่ร้อนอันไฟติดลุกเป็นเปลว มีแสงโชติช่วง เขาถูกต้มเดือดพล่านเป็นฟอง บางทีก็ลอยขึ้นมา บางทีก็พึ่งจมลงไป บางที่ลอยขวางไป นี้เป็นสิ่งประเสริฐหรือ หรือว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลจะพึงใช้วิหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาของเหล่ากษัตริย์มหาศาล เหล่าพราหมณ์มหาศาลหรือเหล่าคหบดีมหาศาล เป็นสิ่งประเสริฐเล่าหนอ ฯลฯ

เพราะเหตุนั้น นักศึกษาพึงทราบการมองเห็นโทษในศีลวิบัติ ด้วยการพิจารณามีอาทิอย่างนี้ว่า :-
ความสุขของภิกษุผู้มีศีลขาด ไม่สละกามสุขอันมีผลเป็นทุกข์เผ็ดร้อนยิ่งกว่าทุกข์ในการกอดกองไฟ
จักมีแต่
ที่ไหนความสุขในอันยินดีการกราบไหว้ของภิกษุผู้มีศีลวิบัติผู้มีส่วนแห่งทุกข์ ยิ่งกว่าทุกข์ในการเสียดสีแห่งเชือกขนหางสัตว์อันมั่นเหนียว
จักมีได้อย่างไรเล่า
ความสุขในอันยินดีต่อการประณมมือของผู้มีศรัทธาทั้งหลายของภิกษุผู้ไม่มีศีล ผู้มีทุกข์อันมีประมาณยิ่งกว่าทุกข์เกิดแต่การที่มแทงด้วยหอก
เหตุไรจึงจักมีได้เล่า
ความสุขในการบริโภคจีวรของภิกษุผู้ไม่สำรวมแล้ว ผู้จะต้องเสวยสัมผัสแผ่นเหล็กอันลุกโชนในนรกสิ้นกาลนาน
จักมีได้อย่างไรสำหรับภิกษุผู้ไม่มีศีลแม้บิณฑบาตจะมีรสอร่อยก็เปรียบเหมือนยาพิษอันร้ายแรง เพราะมันเป็นเหตุให้กลืนกินก้อนเหล็กแดงตลอดกาลนาน
การใช้เตียงและตั้งของภิกษุผู้ไม่มีศีลซึ่งจะต้องถูกเตียงและตั้งเหล็กอันลุกโชนเบียดเบียนตลอดกาลนาน
แม้เขา
จะสำคัญว่าเป็นสุขก็ชื่อว่าเป็นทุกข์ จะน่ายินดีอะไรในการอยู่ในวิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธาสำหรับภิกษุผู้ทุศีล เพราะมันเป็นเหตุให้ต้องตกไปอยู่ในกลางหม้อเหล็กอันลุกโชน

พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นครูของโลก ได้ตรัสครหาภิกษุผู้ทุศีลว่า เป็นผู้มีความประพฤติน่ารังเกียจ รกเป็นหยากเยื่อ ชุ่มโชกไปด้วยกิเลส ลามกและเน่าใน ทุด! ทุด! ชีวิตของภิกษุผู้ไม่สำรวมนั้น ทรงเพศสมณชนแต่ไม่ใช่สมณะ พาตนซึ่งถูกโค่นถูกขุดไปอยู่ สัตบุรุษผู้มีศีลทั้งหลายในโลกนี้ หลีกเว้นภิกษุผู้ทุศีลใด เหมือนพวกคนรักในการประดับตน หลีกเลี่ยงคูถ หลีกเลี่ยงซากศพ ชีวิตของภิกษุผู้ทุศีลนั้นจะมีประโยชน์อะไร ภิกษุผู้ทุศีลเป็นผู้ไม่พ้นจากภัยทั้งปวง กลับเป็นผู้พ้นจากอธิคมสุขคือสุขอันตนจะพึงบรรลุอย่างสิ้นเชิง เป็นผู้มีประตูสวรรค์อันถูกปิดสนิทแล้ว เลยไปขึ้นสู่ทางแห่งอบาย บุคคลอื่นใครเล่า ที่จะเป็นที่ตั้งแห่งความกรุณาของบุคคลผู้มีความกรุณาเสมอเหมือนภิกษุผู้ทุศีล โทษแห่งความเป็นผู้ทุศีลมีมากอย่างหลายประการ ดังพรรณนามาฉะนี้



วันพุธ

ความผ่องแผ้วของศีล

ความผ่องแผ้วของศีล

ก็แหละ ภาวะที่ศีลไม่ขาดเป็นต้น ท่านสงเคราะห์ด้วย
ความไม่แตก(ขาด)แห่ง
สิกขาบททั้งหลายโดยสิ้นเชิง ๑
ด้วยการกระทำคืนสิกขาบทที่ทำคืนได้ซึ่งแตก(ขาด)
แล้ว
ด้วยความไม่มี 🔎เมถุนสังโยค ๗ ประการ ๑
ด้วยข้อปฏิบัติอื่น ๆ คือความ
ไม่เกิดขึ้นแห่งบาปธรรมทั้งหลายมีอาทิ เช่น ความโกรธ ความผูกโกรธ ความลบหลู่ ความริษยา ความตระหนี่ ความมารยา ความโอ้อวด ความหัวดื้อ ความแข่งดี ความถือตัว ความดูหมิ่น ความมัวเมา ความเลินล่อ ๑
ด้วยความบังเกิดขึ้นแห่งคุณ
ทั้งหลายมีอาทิเช่น ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ๑ 

จริงอยู่ ศีลเหล่าใดแม้ไม่ขาดเพื่อต้องการลาภเป็นต้นก็ดี แม้ศีลที่ขาดไปด้วย
โทษคือความประมาทแต่กระทำคืนแล้วก็ดี ศีลที่อันเมถุนสังโยคหรือบาปธรรมทั้งหลายมีความโกรธและความผูกโกรธเป็นต้นไม่ได้เข้าไปทำลายแล้วก็ดี ศีลเหล่านั้นเรียกว่า ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย โดยประการทั้งปวง และศีลเหล่านั้นแหละ ชื่อว่า ภูชิสสะ เพราะสร้างความเป็นไท ชื่อว่า วิญญุปสัตถะ เพราะผู้รู้ทั้งหลายสรรเสริญชื่อว่า อปรามัฏฐะ เพราะอันตัณหาและทิฏฐิทั้งหลายไม่ถูกต้องแล้ว ชื่อว่า สมาธิสังวัตตนิกะ เพราะยังอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิให้เป็นไป เพราะเหตุนั้น อันภาวะที่ศีลไม่ขาดเป็นต้นนี้ นักศึกษาพึงทราบว่าเป็นความผ่องแผ้วของศีลทั้งหลายเหล่านั้น


ก็แหละ ความผ่องแผ้วนี้นั้น ย่อมสำเร็จได้ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
ด้วยการ
มองเห็นโทษแห่งศีลวิบัติ ๑
ด้วยการมองเห็นอานิสงส์ของศีลสมบัติ ๑



ความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วของศีล

 ความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วของศีล

ปัญหากรรมใดที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วว่า “อะไรเป็นความเศร้าหมองเป็นความผ่องแผ้วของศีลนั้น” ข้าพเจ้าจะวิสัชนาในปัญหากรรมนั้นต่อไป ดังนี้

ภาวะที่ 
ศีลขาด เป็นต้น เป็นความเศร้าหมองของศีล
ภาวะที่ ศีลไม่ขาด เป็นต้น เป็นความ
ผ่องแผ้วของศีล

ความเศร้าหมองของศีล ก็แหละ ภาวะที่ศีลขาดเป็นต้นนั้นท่านสงเคราะห์ด้วยความแตกต่างซึ่งมีลาภและยศเป็นต้นเป็นเหตุอย่างหนึ่ง ด้วยเมถุนสังโยค ๗ ประการอย่างหนึ่ง จริงอย่างนั้น ในบรรดาอาบัติ ๗ กอง
สิกขาบทของภิกษุใด ขาดเบื้องต้นหรือที่สุด ศีลของภิกษุนั้นชื่อว่าเป็น ศีลขาด เหมือนผ้าที่ขาดชาย
ส่วนสิกขาบท
ของภิกษุใด ขาดตรงกลาง ศีลของภิกษุนั้นชื่อว่าเป็น ศีลทะลุ เหมือนผ้าที่ทะลุกลางผืน
สิกขาบทของภิกษุใด ขาดสอง, สามสิกขาบทไปตามลำดับ ศีลของภิกษุ
นั้นชื่อเป็น ศีลด่าง เหมือนแม่โคมีสีตัวเป็นสีด่างดำหรือด่างแดงเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยสีที่ไม่เหมือนกันซึ่งปรากฏขึ้นที่หลังหรือที่ท้อง
สิกขาบทของภิกษุใด
ขาดเป็นตอน ๆ ไป ศีลของภิกษุนั้นชื่อว่าเป็น ศีลพร้อย เหมือนแม่โคลายเป็นจุดด้วยสีที่ไม่เหมือนกันเป็นระยะ ๆ ไป 

ภาวะที่ศีลขาดเป็นต้นย่อมมีด้วยความแตกต่างซึ่งมีลาภเป็นต้นเป็นเหตุด้วยประการดังอธิบายมานี้

เมถุนสังโยค ๗ ภาวะที่ศีลขาดด้วยอำนาจแห่งเมถุนสังโยค ๗ ประการ มีอรรถาธิบายดังจะบรรยายต่อไปนี้ จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ดังนี้ :-

๑. พราหมณ์ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ หาได้ถึงซึ่งความร่วมกันสองต่อสองกับมาตุคามไม่ ก็แต่ว่ายังยินดีการลูบคลำ, การขัดสี, การให้อาบและการนวดของมาตุคาม เขายินดีปรารถนาต่อการบำเรอนั้นและถึงซึ่งความปลื้มใจด้วยการบำเรอนั้น ความยินดีต่อการบำเรอแห่งมาตุคามนี้ จัดเป็นความขาดบ้าง ความทะลุบ้าง ความด่างบ้าง ความพร้อยบ้าง ของพรหมจรรย์ พราหมณ์ สมณะหรือพราหมณ์นี้ เรากล่าวว่า เขาประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ ฯลฯ เรากล่าวได้ว่าเขาย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์
๒. พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ หาได้ถึงซึ่งความร่วมกันสองต่อสองกับมาตุคามไม่เลย แม้การลูบคลำ ของมาตุคามก็มิได้ยินดี ก็แต่ว่ายังกระซิกกระชี้เล่นหัวและยังล้อเลียนกับมาตุคามอยู่ เขายินดีต่อการกระซิกกระชี้เป็นต้นนั้น เรากล่าวได้ว่าเขาย่อมไม่พ้นจากทุกข์
๓. พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ หาได้ถึงความร่วมกันสองต่อสองกับมาตุคามไม่เลย แม้การลูบคลำ ของมาตุคามก็มิได้ยินดี ทั้งไม่กระซิกกระชี้ ไม่เล่นหัว ไม่ล้อเลียนกับมาตุคาม ก็แต่ว่ายังชอบเพ่งดูตาต่อตาของมาตุคาม เขายินดีต่อการเพ่งดูนั้นเรากล่าวได้ว่าเขาย่อมไม่พ้นจากทุกข์
๔. พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ หาได้ถึงซึ่งความร่วมกันสองต่อสองกับมาตุคามไม่เลย แม้การลูบคลำ ของมาตุคามก็มิได้ยินดี ทั้งมิได้กระซิกกระชี้เล่นหัว ทั้งมิได้ล้อเลียนกับมาตุคาม ทั้งไม่ชอบเพ่งดูตาต่อตาของมาตุคาม ก็แต่ว่ายังชอบฟังเสียงของมาตุคาม ผู้หัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ร้องเพลงอยู่ก็ดี ร้องให้อยู่ก็ดี ภายนอกฝาหรือภายนอกกำแพงก็ตาม เขายินดีต่อเสียงนั้น เรากล่าวได้ว่าเขาย่อมไม่พ้นจากทุกข์
๕. พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ หาได้ถึงซึ่งความร่วมกันสองต่อสองกับมาตุคามไม่เลย แม้การลูบคลำ ของมาตุคาม ก็มิได้ยินดี ทั้งมิได้กระซิกกระชี้เล่นหัว ทั้งมิได้ล้อเลียนกับมาตุคาม ทั้งไม่ชอบเพ่งดูตาต่อตาของมาตุคาม ทั้งไม่ชอบฟังเสียงมาตุคาม ผู้หัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ร้องเพลงอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ภายนอกฝาหรือภายนอกกำแพงก็ตาม ก็แต่ว่ายังระลึกถึงซึ่งการหัวเราะและการพูดจาและการเล่นหัวกับมาตุคามในกาลก่อน เขายินดีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในกาลก่อนนั้น เรากล่าวได้ว่าเขาย่อมไม่พ้นจากทุกข์
๖. พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ หาได้ถึงซึ่งความร่วมกันสองต่อสองกับมาตุคามไม่เลย แม้การลูบคลำของมาตุคาม ก็มิได้ยินดี แม้การหัวเราะการพูดเล่นหัวกับมาตุคามในกาลก่อน ก็มิได้ระลึกถึง ก็แต่ว่าเขาเห็นคฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดี ถูกบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ อย่างเอิบอิ่มเพียบพร้อม เขายินดีต่อการ (ถูก) บำเรอ (ของผู้อื่น) นั้น เรากล่าวได้ว่าเขาย่อมไม่พ้นจากทุกข์
๗. พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ หาได้ถึงซึ่งความร่วมกันสองต่อสองกับมาตุคามไม่เลย...หาได้เห็นคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้ถูกบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ อย่างเอิบอิ่มเพียบพร้อมแล้วยินดีไม่ ก็แต่ว่าเขาประพฤติพรหมจรรย์โดยปรารถนาเป็นเทพนิกายเหล่าใดเหล่าหนึ่งว่า “เราจักเป็นเทวดาหรือเทพเจ้าตนใดตนหนึ่งด้วยศีลอันนี้ ด้วยพรตอันนี้ ด้วยตบะอันนี้ หรือด้วยพรหมจรรย์อันนี้ เขายินดีปรารถนาต่อความเป็นเทพนั้น และย่อมถึงซึ่งความปลาบปลื้มด้วยความเป็นเทวดานั้น พราหมณ์ความยินดีด้วยความเป็นเทวดาแม้นี้ จัดเป็นความขาดบ้าง ความทะลุบ้าง ความด่างบ้าง ความพร้อยบ้าง ของพรหมจรรย์” ฉะนี้แล

นักศึกษาพึงทราบว่า ภาวะที่ศีลขาดเป็นต้น ท่านสงเคราะห์ด้วยความแตกต่าง ซึ่งมีลาภเป็นต้นเป็นเหตุอย่างหนึ่ง ด้วยเมถุนสังโยค ๗ ประการอย่างหนึ่ง ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้




อธิบายศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๒

อธิบายศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๒

นักศึกษาพึงทราบอรรถาธิบายในศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๒ ด้วยสามารถแห่งการประหานบาปธรรมทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นต้น ดังต่อไปนี้ สมดังที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า :- ศีล ๕ คือ
๑. ปหาน การประหานซึ่งปาณาติบาต ชื่อว่าศีล
๒. เวรมณี 
ความงดเว้น ชื่อว่าศีล
๓. เจตนา ความจงใจ ชื่อว่าศีล
๔. สํวร ความระวัง 
ชื่อว่าศีล
๕. อวีติกฺกม ความไม่ล่วงละเมิด ชื่อว่าศีล

การประหาน ความงดเว้น ความจงใจ ความระวัง ความไม่ล่วงละเมิดซึ่ง อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่าศีล
การประหานกามฉันทะ ด้วยเนกขัมมะ,
ประหานพยาบาท ด้วยอัพยาบาท, 
ประหานถีนมิทธะ ด้วยอาโลกสัญญา,
ประหานอุทธัจจะ ด้วยอวิกเขปะ,
ประหาน
วิจิกิจฉา ด้วยธัมมววัตถาน,
ประหานอวิชชา ด้วยญาณ,
ประหานอรติ ด้วยปราโมช, 
ประหานนิวรณ์ทั้งหลาย ด้วยปฐมฌาน,
ประหานวิตกวิจาร ด้วยทุติยฌาน,
ประหาน
ปีติ ด้วยตติยฌาน,
ประหานสุขและทุกข์ ด้วยจตุตถฌาน,
ประหานรูปสัญญา 
ปฏิมสัญญา อนัตตสัญญา ด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ,
ประหานอากาสา
นัญจายตนสัญญา ด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ,
ประหานวิญญาณัญจายตนสัญญา 
ด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ,
ประหานอากิญจัญญายตนสัญญา ด้วยเนวสัญญา
นาสัญญายตนสมาบัติ
ประหานนิจจสัญญา ด้วยอนิจจานุปัสสนา,
ประหานสุขสัญญา ด้วย
ทุกขานุปัสสนา,
ประหานอัตตสัญญา ด้วยอนัตตานุปัสสนา,
ประหานนันทิ ด้วย
นิพพิทานุปัสสนา,
ประหานราคะ ด้วยวิราคานุปัสสนา,
ประหานสมุทัย ด้วย
นิโรธานุปัสสนา,
ประหานอมุญจิตกามยะ ด้วยมุญจิตกามยตานุปัสสนา,
ประหาน
อาทานะ ด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนา,
ประหานฆนสัญญา ด้วยขยานุปัสสนา,
ประหานอายหนะ ด้วยวยานุปัสสนา,
ประหานธุวสัญญา ด้วยวิปริณามานุปัสสนา,
ประหานนิมิต ด้วยอนิมิตตานุปัสสนา,
ประหานปณิธิ ด้วยอัปปณิหิตานุปัสสนา
ประหานอภินิเวสะ ด้วยสุญญตานุปัสสนา,
ประหานสาราทานาภินิเวสะ ด้วย
อธิปัญญาธัมมวิปัสสนา,
ประหานสัมโมหาภินิเวสะ ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ,
ประหานอาลยาภินิเวสะ ด้วยอาทีนวานุปัสสนา,
ประหานอัปปฏิสังขา ด้วย
ปฏิสังขานุปัสสนา,
ประหานสังโยคาภินิเวสะ ด้วยวิวัฏฏานุปัสสนา
ประหานกิเลสทั้งหลายที่อยู่ในฐานเดียวกับทิฏฐิ ด้วยโสตาปัตติมรรค,
ประหาน
กิเลสชั้นหยาบทั้งหลาย ด้วยสกทาคามิมรรค,
ประหานกิเลสชั้นละเอียดทั้งหลาย
ด้วยอนาคามิมรรค,
ประหานกิเลสอย่างสิ้นเชิง ด้วยอรหัตมรรค ชื่อว่าศีล,



ความ
งดเว้น ความจงใจ ความระวัง ความไม่ล่วงละเมิด ชื่อว่าศีล ศีลเห็นปานดังนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เดือดร้อนแห่งจิต เป็นไปเพื่อปราโมช เป็นไปเพื่อปัสสัทธิ เป็นไปเพื่อโสมนัส เป็นไปเพื่ออาเสวนะ เป็นไปเพื่อภาวนา เป็นไปเพื่อทำให้มาก เป็นไปเพื่ออลังการ เป็นไปเพื่อบริขาร เป็นไปเพื่อบริวาร เป็นไปเพื่อความบริบูรณ์ ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อความสำรอก เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ก็แหละ ในธรรม ๕ อย่างนั้น ธรรมอะไร ๆ ที่ชื่อว่าประหาน ย่อมไม่มีเป็นแต่เพียงเว้นความไม่บังเกิดขึ้นแห่งบาปธรรมทั้งหลาย มีปาณาติบาตเป็นต้นมีประการดังกล่าวแล้ว

อนึ่ง โดยที่การประหานนั้น ๆ ย่อมเป็นการรองรับ และอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมนั้น ๆ และเป็นการดำรงอยู่โดยเรียบร้อย เพราะไม่กระทำความเกะกะ เพราะเหตุนั้น การประหานจึงเรียกว่า ศีล เพราะอรรถว่า ความปกติ กล่าวคือ ความรองรับและความดำรงอยู่โดยเรียบร้อย ซึ่งได้พรรณนามาแล้วในตอนต้นนั้นแล

ธรรม ๔ อย่างนอกนี้ คือ เวรมณี, เจตนา, สังวร และอวีติกกมะ ท่านกล่าว
ไว้โดยหมายเอาสภาพที่เป็นไปของจิต
ด้วยสามารถแห่งความงดเว้นจากบาปธรรม
นั้น ๆ ๑
ด้วยสามารถแห่งความระวังซึ่งบาปธรรมนั้น ๆ ๑
ด้วยสามารถแห่ง
ความจงใจที่ประกอบด้วยความงดเว้นและความระวังทั้งสองนั้น ๑
ด้วยสามารถแห่ง
ความไม่ล่วงละเมิดบาปธรรมนั้น ๆ ของบุคคลผู้ไม่ล่วงละเมิดอยู่ ๑

ส่วนอรรถาธิบาย
แห่งธรรม ๔ อย่างนั้นที่ชื่อว่าศีล ข้าพเจ้าอธิบายไว้แล้วในตอนต้นนั่นเทียว ศีล ๕ อย่างโดยแยกเป็นปหานศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้ ก็แหละ การวิสัชนาปัญหาเหล่านี้ คือ อะไรชื่อว่าศีล? ๑ ที่ชื่อว่าศีลเพราะอรรถว่ากระไร ๑ อะไรเป็นลักษณะ เป็นรส, เป็นอาการปรากฏ และเป็นปทัฏฐานของศีล ๑ ศีลมีอานิสงส์อย่างไร และศีลนี้มีกี่อย่าง ดังนี้ เป็นอันจบลงด้วยอรรถาธิบายเพียงเท่านี้




วันอังคาร

อธิบายศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๑

อธิบายศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๑

ปัญจกะที่ ๑ ของส่วนที่จัดเป็นศีล ๕ อย่าง นักศึกษาพึงทราบอรรถาธิบายโดยแยกเป็นอนุปสัมปันนศีลเป็นต้น ดังต่อไปนี้ ก็แหละ พระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ดังนี้ :-

🔅 ปริยันตปาริสุทธิศีล เป็นอย่างไร ?
ศีลของอนุปสัมบัน (ผู้ที่ไม่ได้เป็นภิกษุ หมายถึง สามเณร และคฤหัสถ์) ทั้งหลายผู้มีสิกขาบทเป็นที่สุด นี้จัดเป็น ปริยันตปาริสุทธิศีล
🔅 อปริยันตปาริสุทธิศีล เป็นอย่างไร ?
ศีลของอุปสัมบัน (ผู้อุปสมบทแล้ว, ภิกษุ) ทั้งหลายผู้มีสิกขาไม่มีที่สุด นี้จัดเป็น อปริยันตปาริสุทธิศีล
🔅 ปริปุณณปาริสุทธิศีล เป็นอย่างไร ?
ศีลของกัลยาณปุถุชนทั้งหลาย ผู้ประกอบในกุศลธรรม ผู้กระทำให้บริบูรณ์ในธรรมอันจรดแดนแห่งพระเสกขะ ผู้ไม่อาลัยในร่างกายและชีวิต ผู้มีชีวิตอันสละแล้วนี้จัดเป็น ปริปุณณปาริสุทธิศีล
🔅 อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล เป็นอย่างไร ?
ศีลของพระเสกขบุคคล (พระอริยะที่ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล) ๗ จำพวก นี้จัดเป็น อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล
🔅 ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล เป็นอย่างไร ?
ศีลของพระขีณาสพทั้งหลายผู้เป็นสาวกของพระตถาคตเจ้า ศีลของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ศีลของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย นี้จัดเป็น ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล

ในบรรดาศีลเหล่านั้น ศีลของอนุปสัมปันทั้งหลาย พึงทราบว่าเป็น ปริยันตปาริสุทธิศีล เพราะเป็นศีลมีที่สุดด้วยอำนาจแห่งการนับ ศีลของอุปสัมปันทั้งหลายถึงแม้จะมีที่สุดด้วยสามารถแห่งการนับอย่างนี้ว่า : “สังวรวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แล้วเหล่านี้ คือเก้าพันโกฏิสิกขาบท แปดสิบร้อยโกฏิสิกขาบท ห้าสิบแสนสิกขาบท และอื่น ๆ อีก ๓๖ สิกขาบท (รวมเป็นหนึ่งหมื่นเจ็ดพันโกฏิห้าล้านสามสิบหกสิกขาบท) สิกขาทั้งหลายในวินัยปิฎกทรงแสดงไว้ด้วยมุข คือเปยยาล” ดังนี้ก็ตาม พึงทราบว่า คงเป็นอปริยันตปาริสุทธิศีล เพราะหมายเอาภาวะสมาทานโดยไม่มีส่วนเหลือ และภาวะที่ไม่แสดงที่สุดได้ด้วยอำนาจลาภ, ยศ, ญาติ, องค์อวัยวะและ ชีวิต เหมือนศีลของพระอัมพขาทกมหาติสสเถระผู้อยู่ในจิรคุมพวิหาร

เรื่องพระอัมพขาทุกมหาติสสเถระ
จริงอย่างนั้น ท่านพระมหาเถระนั้น ไม่ละสัปปุริสานุสสติข้อนี้คือ “นรชน จึงยอมสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งองค์อวัยวะ อันประเสริฐ เมื่อจะรักษาไว้ซึ่งชีวิต ก็พึงยอมเสียสละองค์อวัยวะ เมื่อระลึกถึงธรรมะ ก็พึงยอมเสียสละทรัพย์, องค์อวัยวะและชีวิต แม้หมดทุกอย่าง แม้เมื่อความสงสัยในชีวิตมีอยู่ ท่านก็ไม่ยอมล่วงละเมิดสิกขาบท อาศัยอปริยันตปาริสุทธิศีลนั่นแหละ ได้บรรลุพระอรหัตทั้งที่อยู่บนหลังอุบาสกนั่นเทียว" สมดังที่ท่านพระมหาเถระนั้นกล่าวนิพนธคาถาไว้ว่า :- “อุบาสกนี้ มิใช่บิดา มิใช่มารดา มิใช่ญาติ ทั้งมิใช่ เผ่าพันธุ์ของเธอ เขากระทำกิจเช่นนั้นให้แก่เธอ ก็เพราะเหตุแห่งเธอเป็นผู้มีศีล ท่านทำความสังเวชให้เกิดขึ้นแล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลายโดยแยบคาย ได้บรรลุพระอรหัตทั้ง ๆ ที่อยู่บนหลังของอุบาสกนั้น” ฉะนี้

ศีลของกัลยาณปุถุชนทั้งหลาย แม้ปราศจากมลทินเพียงชั่วจิตตุปบาทหนึ่ง ก็สำเร็จเป็นปทัฏฐานแก่พระอรหัตได้เหมือนกัน เพราะเป็นศีลที่บริสุทธิ์ยิ่งนับแต่อุปสมบทมาเหมือนชาติมณีที่นายช่างเจียระไนดีแล้ว และเหมือนทองคำที่นายช่างทำบริกรรมดีแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงเรียกได้ว่าเป็น ปริปุณณปาริสุทธิศีล เหมือนศีลของพระมหาสังฆรักขิตเถระและพระสังฆรักขิตเถระผู้หลาน

เรื่องพระมหาสังฆรักขิตเถระ
ได้ยินว่า ภิกษุสงฆ์ได้เรียนถามถึงการบรรลุโลกุตตรธรรมกะพระมหาสังฆรักขิตเถระผู้มีพรรษาเกิน ๖๐ ไปแล้ว ซึ่งนอนอยู่บนเตียงที่จะถึงแก่มรณภาพ พระเถระตอบว่า “โลกุตตรธรรมของฉันไม่มี” ลำดับนั้น ภิกษุหนุ่มอุปัฏฐากของท่านกราบเรียนว่า “ท่านขอรับ พวกมนุษย์ตั้ง ๑๒ โยชน์โดยรอบประชุมกันด้วยสำคัญว่าท่านจะปรินิพพาน ความเดือดร้อนใจจักมีแก่มหาชน เพราะท่านถึงแก่มรณภาพเป็นปุถุชน” พระเถระพูดว่า “เธอ ฉันไม่เริ่มทำวิปัสสนาด้วยคิดว่า จักรอพบพระผู้มีพระภาคเมตไตย ถ้าเช่นนั้น เธอจงพยุงให้ฉันนั่ง กระทำโอกาสให้ฉัน” พระภิกษุหนุ่มนั้นพยุงให้พระเถระนั่งแล้วก็ออกไปข้างนอก พร้อมกับการออกไปข้างนอกของภิกษุหนุ่มนั้นแล พระเถระได้บรรลุพระอรหัต แล้วได้ให้สัญญาด้วยการดีดนิ้วมือ สงฆ์ประชุมกันแล้วเรียนว่า “ท่านขอรับ ท่านทำให้โลกุตตรธรรมบังเกิดในเวลาใกล้จะมรณภาพเห็นปานนี้ ชื่อว่าท่านได้กระทำสิ่งที่กระทำได้ด้วยยาก” พระเถระตอบว่า “นี้ไม่ใช่สิ่งกระทำได้ด้วยยากดอก อาวุโสทั้งหลาย ก็แต่ว่าสิ่งที่กระทำได้ด้วยยาก ฉันจักบอกแก่เธอทั้งหลาย คือ อาวุโสทั้งหลาย นับจำเดิมตั้งแต่เวลาที่ฉันบวชแล้วมาฉันระลึกไม่ได้เลยว่ามีกรรมที่ฉันกระทำไปด้วยความไม่รู้โดยไม่มีสติ”

ฝ่ายพระสังฆรักขิตเถระผู้หลานของท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตเหมือนอย่างเดียวกัน ในเวลามีพรรษา ๕๐ ฉะนี้แล “ภิกษุใด ถ้าเป็นผู้มีสุตะน้อยทั้งเป็นผู้ไม่ตั้งมั่นอยู่ในศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมจะครหาภิกษุนั้นได้ โดยศีลและโดยสุตะทั้งสองสถาน ภิกษุใด ถ้าเป็นผู้มีสุตะน้อยแต่เป็นผู้ตั้งมั่นดีแล้วในศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมจะสรรเสริญภิกษุนั้นโดยศีล แต่สุตะย่อมไม่สำเร็จแก่เธอ ภิกษุใด ถ้าเป็นผู้มีสุตะมาก แต่เป็นผู้ไม่ตั้งมั่นในศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมจะครหาภิกษุนั้นได้โดยศีล แต่สุตะย่อมไม่สำเร็จแก่เธอ ภิกษุใด ถ้าเป็นผู้มีสุตะมากทั้งเป็นผู้ตั้งมั่นดีแล้วในศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญภิกษุนั้น โดยศีลและสุตะทั้งสองสถาน

ใครเล่า ควรที่จะนินทาพระพุทธสาวกนั้น ผู้พหุสูตทรงธรรม มีปัญญาดี ดุจแท่งแห่งทองคำชมพูนท พระพุทธสาวกนั้นแม้ฝูงเทวดาก็เชยชมทั้งพรหมก็สรรเสริญ อนึ่ง ศีลของพระเสกขบุคคลทั้งหลาย พึงทราบว่าเป็น อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล เพราะเป็นศีลที่ไม่ได้ลูบคลำด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ อีกนัยหนึ่ง ศีลที่ไม่ลูบคลำด้วยอำนาจ แห่งราคะของปุถุชนทั้งหลายพึงทราบว่า อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล เหมือนศีลของพระ กุฏมพียปุตตติสสเถระ

เรื่องพระกุฎมพิยปุตตติสสเถระ
ก็แหละ พระผู้เป็นเจ้ากุฏมพิยปุตตติสสเถระนั้น อาศัยศีลเห็นปานนั้นแล้วเป็นผู้ปรารถนาที่จะตั้งตนไว้ในพระอรหัต จึงได้กล่าวรับรองกับหมู่โจรผู้ไพรีกว่า “อาตมาจักทำลายเท้าทั้งสอง แล้วทำสัญญาให้แก่ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรังเกียจย่อมละอายต่อความตายที่ยังมีราคะ ข้าพเจ้าคิดอย่างนี้แล้วจึงพิจารณาสังขารทั้งหลายโดยแยบคาย ก็ได้บรรลุพระอรหัตเมื่อรุ่งอรุณพอดี”

เรื่องพระมหาเถระรูปใดรูปหนึ่ง
แม้พระมหาเถระรูปใดรูปหนึ่งนั้น ต้องอาพาธอย่างหนัก ไม่อาจที่จะฉันแม้อาหารด้วยมือของตนได้ นอนกลิ้งเกลือกอยู่ในมูตรและกรีสของตน ภิกษุหนุ่มรูปใดรูปหนึ่งเห็นอาการของท่านนั้นแล้วพูดว่า “โอ! สังขารคือชีวิตเป็นทุกข์” พระมหาเถระ ได้พูดกับภิกษุหนุ่มนั้นว่า “เธอ ฉันตายลงเดี๋ยวนี้ก็จักได้สวรรค์สมบัติ ฉันไม่มีความสงสัยในข้อนี้ ขึ้นชื่อว่าสมบัติที่ได้มาเพราะทำลายศีลนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกับได้ความเป็นคฤหัสถ์เพราะบอกคืนสิกขา” ครั้นแล้วจึงได้ตั้งใจว่า “เราจักตายพร้อมกับศีลนี้นั้นเทียว” นอนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแหละพิจารณาโรคนั้น ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว จึงได้พยากรณ์แก่ภิกษุสงฆ์ด้วยนิพนธคาถาเหล่านี้ว่า : “เมื่อข้าพเจ้าต้องพยาธิอย่างใดอย่างหนึ่งถูกโรคเสียดแทงเป็นทุกข์ขนาดหนัก กเฬวรากอันนี้ก็เหี่ยวแห้งลงอย่างเร็ว เหมือนดอกไม้ที่เขาหมกไว้ในฝุ่นกลางแดดกเฬวรากนี้ เป็นสิ่งไม่น่าพึงใจ คนพาลกลับถือว่าเป็นสิ่งน่าพึงใจ (กเฬวรากนี้เป็นของไม่สะอาด คนพาลกลับเห็นว่าเป็นของสะอาด กเฬวรากนี้เต็มเพียบด้วยซากศพนานาชนิด ก็ยังเป็นรูปอันน่าพึงใจ สำหรับผู้มองไม่เห็นความจริง) ทุด! ทุด! ประชาชนทั้งหลายตัวเป็นผู้ประมาทเริงหลงอยู่ในกเฬวรากนี้ อันอาดูร เปื่อยเน่า มีกลิ่นเหม็น ไม่สะอาด มีพยาธิประจำ จนทำทางสำหรับสู่สุคติให้เสียไป

อนึ่ง ศีลของสัตบุรุษทั้งหลายมีพระอรหันต์เป็นต้น พึงทราบว่า ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล เพราะเป็นศีลที่บริสุทธิ์โดยทำความกระวนกระวายทั้งปวงให้สงบระงับ ศีล ๕ อย่าง โดยแยกเป็นปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้



วันจันทร์

การบริโภค ๔ อย่าง

การบริโภค ๔ อย่าง

ในการพิจารณาในเวลาบริโภคนั้น มีวินิจฉัยที่ทำความตกลงไว้ดังนี้ :- 
ก็แหละ การบริโภคมี ๔ อย่าง คือ
เถยุยปริโภค บริโภคเป็นขโมย 
 
อิณปริโภค บริโภคเป็นหนี้ ๑ 
ทายชุชปริโภค บริโภคเป็นทายาท ๑ 
สามิปริโภค บริโภคเป็นนาย ๑

ใน ๔ อย่างนั้น การบริโภคของภิกษุผู้ทุศีลแม้นั่งบริโภคอยู่ใน
ท่ามกลางสงฆ์ ชื่อว่า⛯ เถยุยปริโภค การบริโภคไม่ได้พิจารณาของภิกษุผู้มีศีล ชื่อว่า ⛯ อิณปริโภค เพราะเหตุนั้น จีวรพึงพิจารณาในทุก ๆ ขณะที่บริโภค บิณฑบาตพึงพิจารณาในทุก ๆ คำข้าว เมื่อภิกษุไม่สามารถปฏิบัติเหมือนอย่างนั้น ในเวลาก่อนอาหาร, หลังอาหาร, ในปริมยาม, มัชฌิมยามและปัจฉิมยาม ถ้าไม่ได้พิจารณาเลยปล่อยให้อรุณขึ้น ภิกษุนั้นชื่อว่า ย่อมตั้งอยู่ในฐานะเป็นอิณบริโภค แม้เสนาสนะก็พึงพิจารณาในทุก ๆ ขณะที่บริโภค สำหรับเภสัชเมื่อมีสติเป็นปัจจัยทั้งในขณะรับ ทั้งในขณะบริโภคจึงจะควร แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อภิกษุทำสติในขณะรับแล้วขณะบริโภคไม่ได้ทำอีก เป็นอาบัติ ไม่ทำในขณะรับแต่ทำในขณะบริโภค ไม่เป็นอาบัติ

สุทธิ ๔ อย่าง ก็แหละ สุทธิมี ๔ อย่าง คือ เทสนาสุทธิ ๑ สังวรสุทธิ ๑ ปริเยฏฐิสุทธิ์ ๑ ปัจจเวกขณสุทธิ ๑ ใน ๔ อย่างนั้น
🔎 ปาติโมกขสังวรศีล ชื่อว่า เทสนาสุทธิ จริงอยู่ ปาติโมกขสังวรศีลนั้นเรียกว่า เทสนาสุทธิ เพราะบริสุทธิ์ด้วยการแสดงอาบัติ
🔎 
อินทรียสังวรศีล ชื่อว่า สังวรสุทธิ จริงอยู่ อินทรียสังวรศีลนั้นเรียกว่า สังวรสุทธิ เพราะบริสุทธิ์ด้วยความสังวรคือตั้งใจว่า “จักไม่กระทำอย่างนี้ต่อไป” 
🔎 อาชีวปาริสุทธิศีล ชื่อว่า ปริเยฏฐิสุทธิ จริงอยู่ อาชีวปาริสุทธิศีลนั้นเรียกว่า ปฏิเยฏฐิสุทธิ เพราะบริสุทธิ์ด้วยการแสวงหาของภิกษุผู้ละอเนสนาแล้วจึงยังปัจจัยทั้งหลายให้เกิดขึ้นอยู่โดยธรรมโดยสม่ำเสมอ
🔎 ปัจจยสันนิสสตศีล ชื่อว่า ปัจจเวกขณสุทธิ จริงอยู่ ปัจจยสันนิสสตศีลนั้นเรียกว่า ปัจจเวกขณสุทธิ เพราะบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณามีประการดังพรรณนามาแล้วด้วยเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงกล่าวไว้ว่า “เมื่อไม่ทำสติในขณะรับแต่ทำในขณะบริโภคไม่เป็นอาบัติ” 



การบริโภคปัจจัยของพระเสกขบุคคลทั้งหลาย ๗ จำพวก ชื่อว่า 
⛯ ทายัชชบริโภค จริงอยู่ พระเสกขบุคคลเหล่านั้นเป็นพระบุตรของพระผู้มีพระภาค เพราะเหตุนั้น พระเสกขบุคคลเหล่านั้นย่อมบริโภคปัจจัยทั้งหลาย โดยฐานเป็นทายาทแห่งปัจจัยทั้งหลาย อันเป็นสมบัติของพระบิดา
ถาม - ก็พระเสกขบุคคลเหล่านั้น บริโภคปัจจัยทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคหรือ ? ไม่ใช่บริโภคปัจจัยทั้งหลายของคฤหัสถ์ดอกหรือ ?
ตอบ - แม้ปัจจัยทั้งหลายอันพวกคฤหัสถ์ถวายแล้ว ก็จัดเป็นของแห่งพระผู้มีพระภาค เพราะเป็นสิ่งอันพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ เพราะเหตุนั้น นักศึกษาพึงทราบว่า พระเสกขบุคคลทั้งหลาย ย่อมบริโภคปัจจัยทั้งหลายของพระผู้มีพระภาค อนึ่ง ธัมมทายาทสูตร เป็นเครื่องสาธกในอธิการนี้

การบริโภคของพระขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่า ⛯ สามิบริโภค จริงอยู่ พระขีณาสพเหล่านั้นชื่อว่าบริโภคเป็นนาย เพราะล่วงพ้นความเป็นทาสของตัณหาไป ในการบริโภคเหล่านี้ สามิบริโภค ๑ ทายัชชบริโภค ๑ ย่อมสมควรแก่พระอริยะ และปุถุชนทั้งหมด อิณบริโภคไม่สมควรทั้งหมด ในเถยยบริโภคไม่จำมีอันพูดถึงกันละ อนึ่ง การบริโภคที่ได้พิจารณาแล้วของภิกษุผู้มีศีลนี้ใด การบริโภคนั้นจัดเป็นการบริโภคที่ไม่เป็นหนี้ เพราะเป็นข้าศึกแก่การบริโภคเป็นหนี้ หรือจะจัดสงเคราะห์เข้าในทายัชชบริโภคนั้นแหละก็ได้ จริงอยู่ แม้ภิกษุผู้มีศีลก็ย่อมถึงซึ่งอันนับเป็นเสกขะได้เหมือนกัน เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยศีลสิกขานี้

อนึ่ง ในบรรดาบริโภค
๔ อย่างนี้ เพราะสามิบริโภคจัดเป็นการบริโภคชั้นยอด ฉะนั้น อันภิกษุเมื่อปรารถนาซึ่งสามิบริโภคนั้น พึงพิจารณาด้วยวิธีพิจารณาอันมีประการดังกล่าวมาแล้วจึงบริโภค พึงยังปัจจยสันนิสสตศีลให้สำเร็จเถิด ก็แหละ เมื่อภิกษุกระทำได้ ดังกล่าวมานี้ย่อมจัดว่าเป็นกิจจการี ผู้มีปกติกระทำกิจ

สมด้วยนิพนธพจน์อันบัณฑิต ประพันธ์ไว้ว่า :-
“พระสาวกผู้มีปัญญาอันประเสริฐได้สดับธรรมอันพระสุคตเจ้าทรงแสดงแล้ว พึ่งพิจารณาก่อนจึงเสพ บิณฑบาต วิหาร, ที่นอน, ที่นั่ง, และน้ำสำหรับซักล้างธุลีจับผ้าสังฆาฏิ เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุจึงเป็นผู้ไม่ติดในปัจจยธรรมเหล่านี้ คือ บิณฑบาต, ที่นอน, ที่นั่งและน้ำสำหรับซักล้างธุลีจับผ้าสังฆาฏิ เหมือนหยาดน้ำไม่ติดในใบบัว ฉะนั้น ภิกษุนั้น ครั้นได้อาหารโดยการอนุเคราะห์จากคนอื่นตามกาลแล้วพึงเป็นผู้มีสติตั้งมั่นติดต่อกันไป รู้จักประมาณในของเคี้ยว, ของฉัน, และของลิ้มเลียทั้งหลายเหมือนคนไข้รู้จักประมาณในการทาแผลและพอกยา ฉะนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่หลงติดฉันอาหารเพียงเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปเหมือนมารดาบิดากินเนื้อแห่งบุตรในทางกันดารและเหมือนพ่อค้าเกวียนหยอดน้ำมันเพลาเกวียน ฉะนั้น”

อนึ่ง ในความเป็นผู้กระทำปัจจยสันนิสสตศีลนี้ให้บริสุทธิ์ นักศึกษาจึงเล่าเรื่อง สามเณรสังฆรักขิตผู้หลานประกอบด้วย จริงอยู่ สามเณรนั้นพิจารณาโดยชอบแล้วจึงบริโภค สมดังคำประพันธ์ที่สามเณรนั้นกล่าวไว้ว่า :- “พระอุปัชฌายะได้สอนข้าพเจ้าซึ่งกำลังฉันข้าวสาลีอันเย็นสนิทว่า พ่อสามเณร เจ้าจงอย่าเป็นคนไม่สำรวม เผาลิ้นตัวเองเสียนะ ข้าพเจ้าได้ฟังคำสอนของพระอุปัชฌายะแล้ว ก็ได้ความสังเวชในขณะนั้น นั่งอยู่ที่อาสนะเดียวได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ข้าพเจ้านั้นเป็นผู้มีความดำริเต็มบริบูรณ์ เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ เป็นผู้มีอาสวะทั้งปวงหมดสิ้นแล้ว บัดนี้ภพไม่มีอีกแล้ว เพราะเหตุนั้น กุลบุตรแม้อื่นปรารถนาความสิ้นไปแห่งทุกข์ จึงพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงเสพปัจจัยทั้งหลายเถิด”

ศีล ๔ อย่างโดยแยกเป็นปาติโมกขสังวรศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้





แสงธรรมนำทาง...

ธรรมสุตตะ | ศึกษาพระธรรมคำสอนตามพระไตรปิฎก © 2008. Template by Dicas Blogger.

กลับขึ้นด้านบน