วันเสาร์

๑๐. ปรินิพพาน

คืนวันนั้นเป็นวันเพ็ญวิสาขะปุรณมี (ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม) พระจันทร์เต็มดวง เวลาก็ล่วงมัชฌิมยามไปแล้ว พระบรมศาสดาบรรทมเหยียดพระกายในท่าสีหไสยาสน์ทรงระโหยโรยแรงยิ่งนัก แต่ก็ฝืนพระทัย ดำรงสติมั่น สั่งสอนให้โอวาทพระภิกษุสงฆ์สาวกเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสด็จปรินิพพานดังนี้

"อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว พวกเธอทั้งหลายอาจคิดไปว่า บัดนี้ไม่มีพระศาสดาแล้ว อาจรู้สึกว้าเหว่ไร้ที่พึ่ง พวกเธอจงอย่าคิดอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมวินัยเหล่านั้น จักเป็นองค์ศาสดาของพวกเธอทั้งหลายแทนเราต่อไป"

"อีกเรื่องหนึ่ง คือพระฉันนะ เธอดื้อดึง มีทิฐิมานะมาก ไม่ยอมเชื่อฟังอ่อนน้อมใคร เพราะถือว่า เป็นอำมาตย์ ราชบริพารเก่าแก่ของเรา เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ขอให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ คือเธอจะทำ จะพูด สิ่งใด หรือประสงค์จะอยู่อย่างไร ก็ปล่อยเธอตามสบาย สงฆ์ไม่ควรว่ากล่าวตักเตือน ไม่ควรพร่ำสอนเลย เธอจะรู้สึกตัวเองในทีหลัง"

"อีกเรื่องหนึ่งคือ สิกขาบทบัญญัติที่เราได้บัญญัติไว้ เพื่อภิกษุทั้งหลาย จะได้อยู่ด้วยกันอย่างผาสุก ไม่กินแหนงแคลงใจกัน มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอกัน สิกขาบทบัญญัติเหล่านั้น มีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเราล่วงลับ ไปแล้ว สงฆ์พร้อมใจกันจะถอนสิกขาบทเล็กน้อย ซึ่งขัดกับกาลสมัยเสียบ้างก็ได้ จะเป็นความลำบากในการปฏิบัติ สิกขาบทที่ไม่เหมาะสมัยเช่นนั้น เราอนุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้"

"ภิกษุรูปใดมีความเคลือบแคลงเห็นแย้งในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรคในข้อปฏิบัติใดๆ ก็ดี จงถามเสีย อย่าเป็นผู้เดือดร้อนในภายหลังว่า เราอยู่เฉพาะหน้าพระศาสดาแล้ว ไม่กล้าถามในที่เฉพาะหน้า"

ปรากฏว่าไม่มีภิกษุรูปใดทูลถาม ตลอดเวลาที่ทรงเตือนซ้ำจนครบสามครั้ง ทุกองค์นั่งเงียบกริบ ในบริเวณป่าต้นสาละแห่งนี้ สงบเงียบไม่มีเสียงใดๆ เลย แม้จะมีพุทธบริษัทประชุมกันอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม พระกำลังของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ในที่สุดทรงตรัสปัจฉิมวาจาครั้งสุดท้ายว่า

"ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักเตือนเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต"


ต่อจากนี้ทรงนิ่งเงียบ ไม่ตรัสอะไรอีกเลย เสด็จเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สัญญาเทวยิตินิโรธ แล้วย้อนกลับลงมาตามลำดับจนถึงปฐมฌาน แล้วย้อนขึ้นอีกโดยลำดับจนถึง จตุตถฌาน เป็นอนุโลม ปฏิโลม และเสด็จปรินิพพานในเมื่อออกจากจตุตถฌานนั่นเอง

พระอนุรุทธะเถระ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่อยู่ในที่ประชุมขณะนั้น และได้รับการยกย่อง จากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญเลิศทางทิพยจักษุ ได้เข้าฌานตาม ทราบว่าพระพุทธองค์เข้าสู่ฌานนั้นๆ แล้ว และก็ปรินิพพานเมื่อออกจากจตุตถฌาน ยังมิได้เข้าสู่อากาสานัญจายตนะ คือพระองค์เสด็จปรินิพพาน ในระหว่างนั้นนั่นเอง (พระบรมศาสดาประสูติ ณ ใต้ต้นสาละในป่าและก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ โคนต้นสาละคู่ ในป่า ในวันวิสาขปุรณมี ดิถีเพ็ญเดือน ๖) เหตุอัศจรรย์ก็บันดาลให้เป็นไป มหาปฐพีก็หวั่นไหวครั้งใหญ่ ขนพอง สยองเกล้า น่าหวาดเสียว และกลองทิพย์ก็บันลือลั่นไปในอากาศ พร้อมกับการปรินิพพาน ท่านพระอนุรุทธะ ได้กล่าวว่า

"ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีพระหฤทัยตั้งมั่น คงที่ มิได้มีอีกแล้ว พระมุนีมิได้ทรงพรั่นพรึง ทรงปรารถความสงบ ทรงทำกาละแล้ว มีพระหฤทัยไม่หดหู่ ทรงครอบงำเวทนาได้แล้ว ได้เป็นผู้มีพระทัยหลุดพ้นพิเศษแล้ว เหมือนดวงประทีปที่สว่าง ดับไปฉะนั้น"

บรรดาภิกษุที่ประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ภิกษุเหล่าใดยังไม่ปราศจากราคะ ก็กอดแขนคร่ำครวญ ฟุบลงกลิ้งเกลือกไปมา รำพันว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียแล้วๆ" พระอนุรุทธะผู้มีอาวุโสสูงสุด ได้มีบัญชา ให้พระอานนท์ เข้าไปแจ้งข่าวปรินิพพาน แก่มัลละกษัตริย์ในเมืองกุสินารา ซึ่งประจวบกับที่พวกกษัตริย์ กำลังประชุม ปรึกษาพร้อมกันอยู่ ต่างคนก็ต่างเศร้าโศกเสียใจ แล้วรับสั่งให้ราชบุรุษตระเตรียมเครื่องหอม ดอกไม้ ดนตรีและผ้าอีก ๕๐๐ คู่ เข้าไปยังสวนป่าสาลวัน ทำการบูชาพระพุทธสรีระ ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีเป็นต้น จนถึงวันที่ ๗ จึงพร้อมกันอัญเชิญพระพุทธสรีระ ไปทางทิศเหนือของพระนคร นำไปประดิษฐาน ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ด้านทิศตะวันออก ของนครกุสินารา



มัลละกษัตริย์ได้ปฏิบัติตามพระพุทธประสงค์ คือปฏิบัติเหมือนในพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ์ โดยให้พันพระพุทธสรีระด้วยผ้าใหม่ และซับด้วยสำลีบริสุทธิ์ แล้วพันผ้าใหม่ ซับด้วยสำลีอีก โดยนัยนี้ ตามกำหนดถึง ๕๐๐ คู่ เสร็จแล้วอัญเชิญลงประดิษฐานในรางเหล็กซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมัน ปิดด้วยรางเหล็กอีกเป็นฝาครอบ แล้วสร้าง จิตกาธาน (เชิงตะกอน) ด้วยไม้หอมทั้งหมด อัญเชิญพระพุทธสรีระ ขึ้นประดิษฐานบนจิตกาธานนั้น เพื่อถวาย พระเพลิงทันที พอดีมีข่าวมาว่าพระมหากัสสป พระเถระผู้ใหญ่ที่พระบรมศาสดา ทรงยกย่องมาก กำลังเดินทาง จากเมืองปาวา จวนจะถึงกุสินาราอยู่แล้ว คณะมัลละกษัตริย์และพระอนุรุทธะ ประธานฝ่ายสงฆ์ จึงให้หยุดการถวายพระเพลิงไว้ก่อน รอจนกระทั่งพระมหากัสสป มาถึงมกุฏพันธนเจดีย์ ท่านและพระภิกษุบริวาร อีกประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เดินวนเวียน ประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบแล้ว เปิดแต่พระบาท ถวายบังคมพระบาท ของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าของตน เสร็จแล้ว พิธีถวายพระเพลิงจึงได้เริ่มขึ้น โดยมีพระมหากัสสป เป็นประธาน ในฐานะอาวุโสสูงสุด

ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์ลิจฉวี ศากยะกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ พูลิกษัตริย์ ชาวเมือง อัลลกัปปนคร โกลิยกษัตริย์ ชาวเมืองรามคาม พราหมณ์ผู้ครองนครเวฏฐทีปกะ มัลละกษัตริย์อีกพวกหนึ่ง ที่ครองเมืองปาวา ต่างส่งทูตมาขอปันส่วนแห่ง พระบรมสารีริกธาตุ โดยจะนำไปบรรจุในพระสถูปหรือเจดีย์ต่อไป มัลละกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราไม่ยินยอม โดยอ้างว่าพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานในดินแดนของตน จึงเกิดโต้เถียง กันขึ้น จนจวนจะเกิดสงครามใหญ่ โทณพราหมณ์ นักปราชญ์ใหญ่ท่านหนึ่งแห่งกุสินารา เห็นเหตุการณ์แปรผันไป เช่นนั้น จึงขอร้องให้กษัตริย์ทั้งหลายสามัคคีปรองดองกัน ด้วยการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน นำไป บรรจุในสถูปในที่ต่างๆ กัน เพื่อให้แพร่หลายไปทั่วทุกทิศ ในที่สุดก็ตกลงกันได้ ฝ่ายกษัตริย์วงศ์เมารยะ(หรือโมริยะ) มาถึงช้า จึงได้แต่พระอังคารไป (คือเถ้าถ่านเหลือจากการถวายพระเพลิง)

สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุมีอยู่ ๘ เมืองด้วยกันคือ
๑. กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวสาลี
๒. กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกบิลพัสดุ์
๓. กษัตริย์ถูลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองอัลลกัปปะ
๔. กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองรามคาม
๕. มหาพราหมณ์ สร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวฏฐทีปกะ
๖. กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองปาวา
๗. พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองราชคฤห์
๘. มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกุสินารา
* กษัตริย์เมืองโมริยะ ทรงสร้างสถูปบรรจุพระอังคาร ไว้ที่เมืองปิปผลิวัน (กษัตริย์โมริยะมาหลังจากที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุเรียบร้อยแล้วจึงได้แค่เถ้าถ่านที่เหลือไป)
* โทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุ ไว้ที่เมืองกุสินารา (โทณพราหมณ์เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ จึงได้สร้างสถูปเอาไว้เก็บ ทะนาน ที่ใช้ตวงไว้ด้วย)

นอกจากนี้ ยังมีพระบรมสารีริกธาตุอีกส่วนและเครื่องบริขารของพระพุทธเจ้า ก็ได้ถูกแบ่งไปยังเมืองต่างๆด้วย
๑. พระทันตธาตุ อยู่ใน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ , เมืองคันธารวิสัย , เมืองกาลิงคราช , และ นาคบุรี
๒. พระทันตธาตุที่เหลือ และ พระเกศธาตุ และ พระโลมา เทวดาได้นำไปไว้ยังจักวาลหนึ่งๆ จักรวาลละอย่าง (ไม่มีระบุชื่อไว้ว่าที่ไหนบ้าง)
๓. บาตร , ไม้เท้า และ จีวร อยู่ใน วชิรานคร
๔. ผ้าปัจจัตถรณะ อยู่ใน สีหฬ
๕. ธมกรกและประคตเอว อยู่ใน นครปาฏลิบุตร
๖. ผ้าอาบน้ำ อยู่ในจำปานคร
๗. อุณณาโลม อยู่ใน แคว้นโกศล
๘. ผ้ากาสาวพัสตร์ อยู่ในพรหมโลก
๙. ผ้าโพก อยู่ในดาวดึงส์
๑๐. ผ้านิสีทนะ อยู่ในอวันตีชนบท
๑๑. ผ้าลาด อยู่ในดาวดึงส์
๑๒. ไม้สีไฟ อยู่ในมิถิลานคร
๑๓. ผ้ากรองน้ำ อยู่ในวิเทหรัฐ
๑๔. มีดและกล่องเข็มอยู่ในอินทปัตถนคร

ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูได้ทำการรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดมาไว้ที่เดียวกันอีกครั้ง จากนั้นประมาณ ๓๐๐ ปีหลังปรินิพพาน พระเจ้าอโศกมหาราช ได้โปรดให้นำพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดระจายไปบรรจุในพระวิหาร ๘๔,๐๐๐ วิหารที่ทรงสร้างไว้

พระบรมธาตุสัณฐานเมล็ดพันธ์ผักกาด เป็นพระบรมธาตุส่วนแตกกระจายที่มีขนาดเล็กที่สุด


ศากยวงศ์, • พระโพธิสัตว์จุติ, • ประสูติ, • คำทำนายโหราจารย์,  • เสด็จออกบรรพชา, • ตรัสรู้, • เสวยวิมุติสุข, • ปฐมเทศนา• ๔๕พรรษา, • ปรินิพพาน

วันพฤหัสบดี

๐๖. ตรัสรู้

พระพุทธองค์ทรงค้นคว้าหาทางตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยวิธีการต่างๆ โดยบำเพ็ญเพียรทาง ทุกรกิริยา ทรมานกายให้ลำบากอย่างยิ่ง เริ่มแต่ทรงขบฟันด้วยฟัน อัดเพดานปากด้วยลิ้น ผ่อนลมหายใจเข้าออกให้เหลือน้อยๆ แล้วกลั้นลมหายใจนานๆ จนตัวร้อนเป็นไฟเหงื่อไหลย้อย หัวใจสวิงสวาย ทรงเสวยพระกระยาหารแต่น้อยจนถึงไม่เสวยเลย ในที่สุดพระวรกายก็ซูบผอมได้รับความลำบากอย่างยิ่ง จวนเจียนพระชนม์จะแตกสลาย นับว่าเป็นความเพียรอย่างยิ่ง ยากที่นักพรตใดๆ จะทำได้ แต่ก็หาสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณไม่ เพราะทุกกรกิริยาไม่ใช่ทางแห่งการตรัสรู้

จึงมาทรงดำริเห็นว่า อันความเพียรนั้น ถ้าย่อหย่อนก็เสียผลทีหลัง ถ้าตึงเครียดนักก็มักพลาด ต่อเมื่อเดินทางสายกลางพอดีๆ ทั้งกายและใจจึงจะเกิดผล ดุจพิณสามสาย ถ้าหย่อนนักมักไม่ดัง ถ้าตึงนักก็ขาด แต่พอดีๆ จึงจะมีเสียงนิ่มนวลพอฟังได้ (ตำราประวัติพระพุทธเจ้าบางเล่มก็กล่าวว่า ช่วงที่พระองค์กำลังทรมานพระวรกายอยู่จนถึงที่สุดนั้น มีเทวดาเสด็จลงมาทรงพิณสามสาย ซึ่งได้ตั้งสายพิณไว้ ๓ ระดับ คือตึงเกินไป เล่นได้สักครู่สายพิณก็ขาด ตั้งสายพิณหย่อนเกินไป เสียงเพลงก็ไม่ไพเราะ และสุดท้ายตั้งสายพิณปานกลาง ปรากฏว่ามีความไพเราะจับใจ)


พระองค์ทรงเห็นแล้วขณะนี้ว่า ได้เคยเสวยสุขในทางกามคุณมาก็มากปฏิบัติทางทุกกรกิริยาก็มาเต็มที่แล้ว ทั้งสองนี้ จะไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุจุดหมายปลายทางได้เลย ทางที่ถูกต้องเป็นทางสายกลาง (หรือที่รู้จักกันในการเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา) ตั้งมั่นลงในศีล สมาธิ ปัญญา รู้แจ้งในอริยสัจจธรรม เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด จึงจะเข้าถึงญาณแห่งความหลุดพ้น (วิมุตติอริยมัคคญาณ)ได้ในที่สุด พระองค์จึงเปลี่ยนความตั้งใจเดิม เลิกทุกรกิริยาทรมานตนเอง กลับใจเสวยพระกระยาหารเพื่อบำรุงพระวรกายอย่างแต่ก่อน ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเสียใจ พากันหลีกไป ทรงตรัสเล่าภายหลังว่า "ครั้นตถาคตกลืนกินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุกและขนมสดแล้วปัญจวัคคีย์ทั้งห้ารูป พากันหน่ายในเรา พากันหลีกไปด้วยคิดว่า พระสมณโคดมเป็นคนมักมาก คลายความเพียรเสียแล้ว"

พระองค์ทรงปริวิตกว่า อะไรหนอคือหนทางที่จะทำให้หลุดพ้นออกจากความทุกข์ อันมี ชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ (โสกะ แปลว่า ความโศก ปริเทวะ แปลว่า ความคร่ำครวญ ความรำพัน) เป็นต้น เสียได้ ทรงพิจารณาสืบสาวไปหาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้พบว่า เพราะชาตินี่เองมีอยู่ ความแก่ ความตาย เป็นต้น จึงได้มีตามมา คือถ้าคนไม่เกิดเสียอย่างเดียว ความทุกข์ทั้งหลายก็ไม่มี ทรงค้นหาสาเหตุเรื่อยไปๆ จนพบลูกโซ่คือ เหตุปัจจัยต่างๆ กันว่า เพราะชาติมีอยู่ ชรา มรณะ จึงมี เพราะภพมีอยู่ จึงทำให้มีชาติและต่อๆ ไป คือ อุปาทาน (ความยึดมั่น)-ตัณหา-เวทนา-ผัสสะฯลฯ จนถึงอวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

ทรงพิจารณากลับอีกทีหนึ่ง ก็เห็นว่าเมื่ออวิชชายังมีอยู่ สังขารจึงมี เมื่อสังขารมีอยู่ วิญญาณจึงมี ฯลฯ จนถึง ชาติ ชรา มรณะ คือ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงเหล่านี้ ย่อมมีขึ้นอย่างนี้เอง ทรงกล่าวว่า "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักษุญาณ ปัญญา วิชชา ได้บังเกิดขึ้นแก่เรา ในธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า ทั้งหมดเป็นฝ่ายข้างเกิด คือทำให้ ชาติ ชรา มรณะ เกิดขึ้น" แล้วตรัสถึงฝ่ายข้างดับต่อไปเป็นลำดับ สรุปลงในที่สุดว่า "จักษุญาณ ปัญญา วิชชา ได้บังเกิดแก่เราในธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่า นี้เป็นฝ่ายข้างดับ คือ การเกิดขึ้นจะไม่มีอีกแล้วดังนี้" พุทธภาษิตนี้แสดงว่า ที่พระองค์ได้ตรัสรู้อภิสัมโพธิญาณในเวลาต่อมา ก็เพราะพิจารณาจนเห็นแจ้งแทงตลอดทั้งฝ่ายทำให้เกิด และฝ่ายทำให้ดับนี้เอง ได้ทรงค้นคว้าเหตุปัจจัยของความทุกข์ ครั้นเมื่อพบเหตุปัจจัยนั้นเข้าด้วยอำนาจแห่งพระปัญญาความตรัสรู้จึงเกิดขึ้น

พระองค์จึงตัดสินใจจะเสด็จลงจากเชิงเขาดงคสิริ มายังหมู่บ้านนางสุชาดา คืนนั้นทรงฝันสำคัญเรียกว่า มหาสุบิน ๕ ประการ คือ
๑. ฝันว่า ทรงบรรทมเหนือโลก มีเขาหิมพานต์ (ภูเขาหิมาลัย) เป็นหมอนหนุน
๒. ฝันว่า หญ้าแพรกเส้นหนึ่งงอกจากพระนาภี (สะดือ) ยาวขึ้นไปจดท้องฟ้า
๓. ฝันว่า หนอนหัวดำตัวขาวไต่ขึ้นมา แต่ปลายพระบาทจนถึงพระชาณุ (เข่า)
๔. ฝันว่ามีนาค ๔ จำพวก สีเหลือง สีเขียว สีแดง สีดำ เลื้อยเข้ามาฟุบลงแทบพระบาท แล้วกลายเป็นสีขาวไปทั้งหมด
๕. ฝันว่า พระองค์เสด็จขึ้นไปจงกรมอยู่บนยอดเขา อันเต็มไปด้วยมูตคูถ แต่ของสกปรกเหล่านี้ จะได้ติดต้องพระบาท แม้แต่นิดเดียว ก็หามิได้

คำทำนายของพระสุบินนิมิตนี้มีว่า
๑. บรรทมเหนือพื้นภูมิภาค นั้นเป็นบุพนิมิตจะได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแน่นอน
๒. หญ้าแพรกงอกขึ้นจากพระนาภีสูงไปจดอากาศนั้น เป็นบุพนิมิตที่จะได้ตรัสเทศนาพระอริยมรรค มีองค์ ๘ แก่มนุษย์และเทพดาทั้งปวง
๓. หนอนไต่ขึ้นมานั้น คือคฤหัสถ์ทั้งหลายจะเข้ามาสู่สำนักของพระองค์ และจะเข้าถึงพระไตรสรณคมน์
๔. สกุณชาติทั้งหลายสี่สีบินมาจากทิศต่างๆ ถึงพระบาทแล้วกลับกลายเป็นสีขาวไปสิ้น หมายถึง สกุลทั้ง ๔ มี ขัตติยะสกุล เป็นต้น จะออกจากฆราวาสมาบรรพชา และตรัสรู้ซึ่งวิมุตติธรรมอัน ประเสริฐ
๕. เสด็จขึ้นไปจงกรมบนยอดเขาที่เต็มไปด้วยมูตคูถ เป็นต้น แสดงว่าจะได้จตุปัจจัย ๔ มากมาย แต่มิได้ทรงห่วงกังวลกับของเหล่านี้เลย

เช้าวันรุ่งขึ้น พระองค์เสร็จมายังใต้ร่มไทรต้นหนึ่งในหมู่บ้าน เผอิญไทรต้นนี้นางสุชาดาลูกสาวคหบดีผู้มั่งคั่งในละแวกนั้น ได้เคยมาบนบานศาลกล่าวไว้ว่า ขอให้ได้ลูกชาย (ลูกชายคนนี้คือพระยสะ ซึ่งภายหลังย้ายไปอยู่เมืองพาราณสี เกิดเบื่อหน่ายทางกามคุณ ได้พบและฟังธรรมพระพุทธเจ้าจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์) เมื่อได้บุตรชายสมปรารถนาแล้ว ก็ตั้งใจจะมาแก้บนกันเสียที เพราะทิ้งเอาไว้นานหลายปีแล้ว นางได้จัดทำข้าวปายาสหุงต้นด้วยน้ำนมโคสดอย่างดีไว้และให้สาวใช้ล่วงหน้ามาปัดกวาด ทำความสะอาดสถานที่เตรียมการบูชารุกขเทวดาที่ต้นไทร สาวใช้ได้มาเห็นพระพุทธองค์ประทับผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีรัศมีดังสีทองแผ่สร้านออกไปทั่วปริมณฑล ก็คิดในใจว่า เป็นเทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรนี้มาปรากฏกายให้เห็น เพื่อคอยรับเครื่องพลีกรรม นางดีใจรีบวิ่งกลับไปรายงานให้นายสาวทราบ นางสุชาดาปลื้มใจมาก จึงจัดข้าวปายาสใส่ถาดทองคำมายังต้นไทร


พอได้มาเห็นพระพุทธองค์สมจริงดังคำบอกเล่าของสาวใช้ก็ยิ่งเกิดความปิติยินดีมากขึ้น คิดว่าเป็นรุกขเทวดาแน่แล้ว จึงเข้าไปกราบถวายข้าวปายาส พร้อมทั้งถาดทองราคาแสนกหาปณะ โดยมิได้มีความเสียดายแม้แต่น้อย พระพุทธองค์รับข้าวปายาสจากนางสุชาดาแล้ว ทรงเดินปทักษิณาวรรตต้นไทรสามรอบและตรงไปยังท่าสุปปติฏฐิตะ สรงน้ำชำระกาย แล้วเสด็จกลับมาที่ต้นไทร ปั้นข้าวปายาสเป็นก้อนใหญ่พอประมาณได้ ๔๙ ก้อน แล้วเสวยจนหมด พระกระยาหารมื้อนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นอาหารที่ทำให้พระองค์อิ่มอยู่ได้ถึง ๔๙ วัน โดยมิต้องกังวลต่อความหิวใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อเสวยแล้ว ทรงนำถาดทองไปลอยน้ำ อธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า หากจะได้ตรัสรู้อนุตตรธรรมแล้วไซร้ ก็ขอให้ถาดลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป ถ้าจะไม่ได้ตรัสรู้ ก็ขอให้ถาดลอยตามน้ำไปเถิด ปรากฏว่าถาดได้ลอยทวนน้ำขึ้นไปด้วยแรงอธิษฐานแล้วจมลงสู่นาคพิภพ รวมกับถาดสามใบของอดีตพระพุทธเจ้า คือ พระกกุสันโธ พระโคนาคม และพระกัสสป เมื่อลอยถาดทองแล้ว เวลาใกล้เที่ยง จึงเสด็จกลับมาพักที่ดงต้นสาละเพื่อหลบแดดตอนเที่ยง จวบจนบ่ายตะวันคล้อยจึงเสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชรามายังอีกฝากหนึ่งคือตรงมายังต้นศรีมหาโพธิ์ น้ำในแม่น้ำขณะนั้นคงจะไม่ลึกนัก และแห้งเป็นบางแห่งเพราะหน้าร้อน


ระหว่างทางก่อนถึงต้นโพธิ์ ได้พบคนตัดหญ้า ชื่อโสตถิยะ (หรือสวัสดิกะ) เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระองค์ถวายฟ่อนหญ้ากุสะ (คล้ายๆ หญ้าคา) ๘ ฟ่อนเล็กๆ เมื่อทรงรับฟ่อนหญ้าคาแล้ว ก็เอามาปูลาดเป็นสันถัดประทับนั่งบำเพ็ญเพียรที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เพราะที่นี่เป็นทำเลสงบดีกว่าที่อื่นๆ ทรงหันพระพักตร์ไปทางตะวันออก คือแม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งในสมัยนั้นไม่ค่อยมีบ้านช่อง จึงมองเห็นแม่น้ำได้อย่างถนัด แสงเดือนในคืนวันเพ็ญสาดลงสู่สายน้ำเป็นประกายแวววับ ทำให้เกิดปิติสุขได้อย่างดี ขณะนั้นพญาวสวัตตีมาร เห็นพระมหาบุรุษจะพ้นจากอำนาจของตน จึงยกทัพมารบกวนรังแกมิให้ทรงตั้งจิตมั่นเป็นสมาธิได้ พระองค์ได้น้อมพระหฤทัยถึงบารมีธรรม ๑๐ ทัศ ซึ่งทรงบำเพ็ญมาแล้วในอดีต มิได้สะดุ้งตกพระทัยแต่อย่างใด พญามารได้ใช้อาวุธร้ายแรงขว้างไปเพื่อหวังสังหารพระองค์ แต่อาวุธทั้งหลายเหล่านั้นกลับกลายเป็นดอกไม้ และฉัตรกั้นกางอยู่เหนือพระเศียรอย่างน่าอัศจรรย์ พญามารไม่รู้จะทำอย่างไรก็ได้แต่ร้องตู่ว่ารัตนบัลลังก์นี้ เป็นสมบัติของตน พระองค์จึงทรงอธิษฐาน โดยเอามือขวาจับพื้นดินขอให้แม่ปฐพีเป็นสักขีพยาน (ภาพพระพุทธรูปปางมารวิชัย) ทรงเสี่ยงพระบารมีขันติธรรมเข้าช่วยผจญมาร แม่พระธรณีเทพยดาผู้รักษาพื้นแผ่นดินบริเวณนั้น จึงแปลงเพศเป็นหญิงสาวขึ้นมาบีบมวยผม เกิดน้ำไหลท่วมกองทัพพญามารให้พ่ายแพ้ไปหมดสิ้นก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน ทำให้พระองค์ตั้งจิตมั่นเป็นสมาธิได้ลึกและแน่วแน่นับแต่บัดนั้น เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะเป็นการเบิกทางไปสู่การตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะในราตรีนั้น ตรงกับวันวิสาขปุรณมี ดิถึเพ็ญเดือน ๖ แห่งปีก่อนพุทธศก ๔๕ (และชาวพุทธเรายึดถือเอาวันนี้เป็นวันวิสาขบูชา เพื่อเป็นที่ระลึกนึกถึงวันคล้ายวันตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในทางศาสนาพิธี) ทรงพระชนมายุได้ ๓๕ ชรรษา





ศากยวงศ์, • พระโพธิสัตว์จุติ, • ประสูติ, • คำทำนายโหราจารย์,  • เสด็จออกบรรพชา, • ตรัสรู้, • เสวยวิมุติสุข, • ปฐมเทศนา, • ๔๕ พรรษา, • ปรินิพพาน

๐๕. เสด็จออกบรรพชา

พระองค์ได้เสด็จประพาสรอบพระนคร ๔ วาระด้วยกัน ได้ทรงเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ทำให้สังเวชสลดพระทัยและเบื่อหน่ายในสังสารทุกข์ ทรงเห็นว่าการออกบรรพชาเป็นทางดีที่สุด ที่อาจทำให้พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

การที่ได้เห็นนักบวชก็เป็นเครื่องเตือนใจว่า การบวชจะช่วยให้มีเวลาว่างเป็นของตัว จะได้คิดค้นอะไรได้มาก เพราะฉะนั้นการเห็นเทวทูตสี่จึงเป็นเครื่องเตือนใจ วันหนึ่งเสด็จออกจากปราสาทไปพักในสวน พอดีพระนางพิมพ์พาประสูติพระโอรส อำมาตย์ก็ไปกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบว่า บัดนี้พระนางพิมพาได้ประสูติพระโอรสแล้ว เพราะองค์ก็อุทาน "ราหุลํ ชาตํ" แปลว่า "บ่วงเกิดแล้ว"

อำมาตย์ผู้นั้นได้ยินก็นึกว่า เจ้าชายสิทธัตถะตั้งชื่อลูกชายว่า "ราหุล" เลยกลับไปทูลพระเจ้าสุทโธทนะว่า มกุฎราชกุมารพอพระทัยในการที่มีลูก ตั้งชื่อให้แล้วว่า "ราหุล" ในความจริงนั้นไม่ใช่ พระองค์บ่นออกมาด้วยความรู้สึกในใจว่าบ่วงเกิดแล้ว "ราหุล" แปลว่า "บ่วง" มนุษย์เรานี่มีบ่วงอยู่ ๓ บ่วง
มีบุตร เรียกว่า บ่วงพันคอ
มีภรรยา เรียกว่า บ่วงผูกมือ
มีทรัพย์ เรียกกว่า บ่วงผูกเท้า


ถ้าตัด ๓ บ่วงนี้ได้ก็พ้นทุกข์ แต่ถ้ายังมี ๓ บ่วงนี้อยู่ ก็ยังจะต้องวุ่นวายทั้งหญิงและชายเหมือนกัน ถ้าเป็นบ่วงผูกมือของหญิง ก็คือ "สามี" ถ้าเป็นบ่วงผูกมือของชาย ก็คือ "ภรรยา" บ่วงทั้ง ๓ ในที่นี้ขยายความออกให้ชัดได้ว่า ถ้าคนมีบุตรมักกลืนอะไรไม่ลงเพราะคิดถึงลูก ถ้ามีโอกาสได้กินผลไม้อร่อย ต้องรีบเอาไปฝากลูก เท่ากับมีบ่วงพันอยู่ที่คอ คอยรัดคอให้แคบตลอดเวลา ส่วนภรรยาก็จูงมือไป (ผูกมือ) ทรัพย์ก็ผูกเท้าไว้ไม่ให้ไปไหนได้ ทำให้เป็นห่วงบ้าน ห่วงนั่น ห่วงนี่ พระองค์จึงถือว่าบ่วงเกิดแล้ว คือเกิดจากบุตรที่เกิดขึ้นแล้วนั่นเอง

ก่อนที่พระองค์จะตัดสินใจแน่วแน่เพื่อออกบวช พระองค์เสด็จเข้าไปในห้องพระนางพิมพา ได้เห็นนางกอดลูกน้อยราหุลอยู่ นึกในใจว่า ควรบอกสักหน่อยดีหรือว่าอุ้มลูกชายสักหน่อย แล้วจึงค่อยไปดี อีกใจหนึ่งบอกว่า อย่านะ ขืนปลุกก็ไม่ได้ไปเด็ดขาด นางจะกอดแข้งกอดขาไว้จะไปได้อย่างไร ก็เลยไม่ปลุกไปยืนดูใกล้ๆ ดูด้วยความรัก

พระองค์ไม่ใช่คนใจหิน ย่อมมีอาลัยอาวรณ์เป็นธรรมดา ดูแล้วถอยออกมาแล้วกลับเข้าไปใหม่ ทำท่าจะจับจะปลุกให้ลุกขึ้น แต่ใจหนึ่งก็ว่าไม่ได้ๆ อย่ายุ่ง ให้เขานอนให้สบายแล้วก็เลยถอยหลังมาที่ประตู รีบปิดประตูแล้วผลุนผลันออกไปเลย ในที่สุดพระองค์ตัดสินพระทัยทิ้งลูกน้อยที่เพิ่งประสูติ ออกบวชเมื่อพระชนม์พรรษา ๒๙ ปี เสด็จหนีออกจากพระราชวังในเวลากลางคืน ประทับบนหลังม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะ อำมาตย์ผู้ใกล้ชิดตามเสด็จด้วย สำหรับม้ากัณฐกะและนายฉันนะนี้ นับว่าอยู่ในสหชาติทั้งเจ็ดของพระพุทธเจ้าด้วย สหชาติทั้งเจ็ด คือสิ่งที่เกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า มี
๑. พระพุทธองค์
๒. พระนางพิมพายโสธรา
๓. พระอานนท์
๔. นายฉันนะ
๕. อำมาตย์กาฬุทายี *
๖. ต้นศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา
๗. ม้ากัณฐกะ **


* อำมาตย์ผู้ใหญ่ท่านนี้ หลังจากพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว และเที่ยวจาริกไปตามชนบทน้อยใหญ่เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ พระเจ้าสุทโธทนะได้จัดส่ง เป็นทูตคนสุดท้าย มาทูลเชิญเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ อำมาตย์คนก่อนๆ ที่ถูกส่งมา กลับใจออกบวชกันหมด เมื่อได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ยอมกลับไปทูลรายงานให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ กาฬุทายีก็เปลี่ยนใจ ออกบวชเช่นเดียวกันและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ได้ทูลเชิญ พระพุทธองค์เสด็จเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์ได้สำเร็จ

** บางคนถามว่า ทำไมม้ามีอายุอยู่ได้ถึง ๒๙ ปีเชียวหรือ ความจริงม้าแก่อายุถึง ๔๕ ปีหรือมากกว่านี้ก็เคยมี


พระพุทธองค์เสด็จจากแคว้นศากยะวงศ์ ผ่านดินแดนกษัตริย์โกลิยะ จนมาถึงฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง เมื่อเสด็จมาถึงแม่น้ำดังกล่าว ก็เป็นเวลาสว่าง พระองค์ก็ตรัสถามนายฉันนะว่า แม่น้ำนี้ชื่ออะไร นายฉันนะบอกว่า "แม่น้ำอโนมานที" (ซึ่งแปลว่า หาที่เปรียบมิได้) พระองค์จึงตรัสต่อว่า การกระทำของพระองค์วันนี้ก็ไม่มีที่เปรียบเหมือนกัน เหมือนกับชื่อแม่น้ำนี้

นายฉันนะยังไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าพระองค์จะทำอะไรในวันนี้ พระองค์จึงตรัสว่า จะทรงผนวช นายฉันนะทูลทัดทานว่า ประชาชนยังจงรักภักดีอยู่ พระนางพิมพาก็เพิ่งประสูติ พระเจ้าสุทโธทนะก็แก่ชราแล้วพระองค์จะทิ้งไปได้อย่างไร แต่เจ้าชายสิทธัตถะตัดสินพระทัยแน่วแน่แล้ว จึงสั่งนายฉันนะให้นำเครื่องประดับและม้ากลับวัง นายฉันนะจึงจำใจกลับไปจากนั้นพระองค์จึงเสด็จข้ามแม่น้ำไปอีกฟากหนึ่งซึ่งเป็นดินแดนแคว้นมัลละกษัตริย์ แล้วตัดพระเมาลี(ผมมวย) ด้วยพระขรรค์ (มีด) อธิษฐานสู่เพศบรรพชิต สถานที่นี้เรียกว่าอนุปิยอัมพวัน พระองค์ตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวว่า จะพยายามค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐเป็นหนึ่งในโลก ประทับอยู่อนุปิยอัมพวันนี้ ๗ วัน แล้วจึงเสด็จดำเนินต่อไป


ขณะที่ประทับอยู่ที่นั่น ตื่นเช้าวันแรกได้ไปบิณฑบาตขออาหารตามบ้านแถวนั้น ซึ่งเป็นป่า อาหารที่ได้มาก็เป็นอาหารแบบชาวบ้านป่า เมื่อเจ้าชายได้อาหารมาแล้ว ก็ต้องนั่งพิจารณาเสียนานกว่าจะกลืนลงไปได้ เพราะว่าเคยเสวยอาหารดี น้ำสะอาด ที่นอนสบาย อะไรๆ ดีทั้งนั้น แล้วก็เสียสละสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด มานอนบนดินกินบนทราย หลังจากที่ประทับอยู่ ณ อนุปิยอัมพวันนี้ครบ ๗ วันแล้ว จึงเดินทางลงมาทางใต้ จนเข้าเขตแคว้นมคธของพระเจ้าพิมพิสาร เวลาเช้าก็เข้าไปบิณฑบาตอยู่ในเมืองราชคฤห์ ประชาชนแตกตื่นกันเพราะเห็นนักบวชผู้นี้เป็นหนุ่มรูปงาม แต่งกายเรียบร้อย ท่าทางสงบ น่าดู ผิดกว่าคนอื่น คนก็พากันเดินตามล้อมหน้าล้อมหลังตื่นเต้นกันไปทั้งเมือง เมื่อพระองค์ได้รับอาหารก็ออกจากเมือง ไปนั่งฉันอาหารอยู่ที่ริมห้วย

ความทราบถึงพระเจ้าพิมพิสาร จึงเสด็จมาเฝ้าที่มัณฑวะบรรพต และชักชวนให้ลาสิกขา เพราะไม่เป็นการเหมาะที่กษัตริย์จะออกภิกขาจารและ บำเพ็ญพรตด้วยความทุกข์ทรมานอย่างนี้ และสัญญาว่าจะแบ่งราชสมบัติให้ปกครอง พระพุทธองค์ไม่ยินยอม พระเจ้าพิมพิสารจึงทูลว่า

"ถ้าได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณเมื่อใดแล้ว ขอได้เสด็จมาสู่พระนครแว่นแคว้นของข้าพเจ้าก่อนให้ได้"

เจ้าชายให้คำสัญญาแล้วก็เสด็จต่อไปยังเมืองพาราณสี เข้าศึกษาในสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร ซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดอยู่ในขณะนั้น สำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นสำนักที่มีผู้มีความรู้สูงในทางจิต ทางฌาน ทางภาวนา เมื่อพระองค์เรียนจบความรู้ของอาจารย์จนอาจารย์ยกย่องว่า พระองค์ทรงเก่งกว่าใครๆ ทรงเรียนจบได้ถึงขั้นอากิญจัญญายตนะณานสมาบัติ เห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงเสด็จต่อไปยังสำนักของท่านอุทกดาบสรามบุตร (ซึ่งเป็นสำนักที่ให้ความรู้สูงกว่าอาฬารดาบส) ได้สำเร็จสมาบัติ ๘ เนวสัญญานาสัญญายตนะขั้นสูงสุดของสำนัก ซึ่งก็ไม่ทรงเห็นว่าจะเป็นทางตรัสรู้อีกนั่นแหละ (เพราะขณะเข้าฌานอยู่นั้นไม่มีทุกข์ก็จริง แต่เมื่ออกจากฌานแล้วจิตใจก็เหมือนคนธรรมดา) จึงเสด็จจาริกต่อไปอีกหลายแคว้นหลายตำบลในรัฐมคธขณะนั้น

จนในที่สุดเสด็จมาถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ริมแม่น้ำเนรัญชรา ติดกับพุทธคยาในปัจจุบันนี้ ได้พักแรมอยู่ที่นี่ เพราะทรงเห็นว่ามีป่าร่มเย็นสบาย แม่น้ำก็ไหลใสเย็นจืดสนิท มีทางเดินลงแม่น้ำราบเรียบ น่าเพลินใจ และมีหมู่บ้านสำหรับการออกในการบิณฑบาต สมควรจะหยุดทำความเพียรที่นี่ต่อไป จึงเสด็จไปประทับที่เชิงภูผาเขาดงคสิริ (มีชื่อต่อมาว่าคยาสีสะ) ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลังระหว่างลุมพินีกับพุทธคยา ต่อมาพระปัญจวัคคีย์ (คือโกญฑัญญะ ภัททิยะ วัปปะ มหานาม และอัสสชิ) เมื่อรู้ข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะออกบวชจึงได้มาขออยู่อุปัฏฐากพระองค์ โดยหวังว่าเมื่อทรงบรรลุจุดหมายแล้วจะได้สั่งสอนพวกเขาต่อไป



ศากยวงศ์, • พระโพธิสัตว์จุติ, • ประสูติ, • คำทำนายโหราจารย์,  • เสด็จออกบรรพชา, • ตรัสรู้, • เสวยวิมุติสุข, • ปฐมเทศนา, • ๔๕ พรรษา, • ปรินิพพาน

วันพุธ

๐๔. คำทำนายโหราจารย์

เมื่อพระองค์ประสูติแล้ว พระเจ้าสิริสุทโธทนะราชบิดา ก็ได้พาเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ อัญเชิญพราหมณ์ปุโรหิต ที่เป็นโหราจารย์ยอดเยี่ยม ๑๐๘ คน มาเลือกสรรค์ เอาแต่ผู้เชี่ยวชาญยอดเยี่ยมจริงๆ ได้ ๘ คน ในพราหมณ์โหราจารย์แปดคนนั้นเป็นคนแก่ เจริญด้วยวัยวุฒิเสียเจ็ดคน พยากรณ์รวมพร้อมกันเป็นสองคติว่า

"พระกุมารนี้ถ้าอยู่ครองราชสมบัติ จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ถ้าออกทรงผนวชจะได้ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก"



ส่วนโกณฑัญญะพราหมณ์* ซึ่งยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ในขณะนั้น แต่สูงด้วยความรู้ ได้ถวายพยากรณ์เป็นคติเดียวว่า
"พระกุมารพระองค์นี้ จะไม่อยู่ในราชสมบัติ จะเสด็จออกทรงผนวชและตรัสรู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน"
* ท่านโกณฑัญญะผู้นี้เชื่อในคำทำนายของตนเอง เลยออกบวชไปรออยู่ก่อน หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้า ก็ได้เป็นศิษย์องค์แรกของพระองค์ ต่อมาได้ฟังปฐมเทศนาจากพระพุทธองค์ได้สำเร็จโสดาบัน และเป็นพระสงฆ์องค์แรกของพุทธศาสนา

เจริญพระชันษา
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเติบโตขึ้น ทรงได้รับการศึกษาเล่าเรียนโดยเชิญผู้รู้เป็นพราหมณ์ผู้เฒ่า ชื่อ วิศวามิตร มาสอนในวัง วิชาที่สอนก็เป็นไปตามที่สอนกันในสมัยนั้น คือ ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ* มีการรบ เป็นต้น
เจ้าชายสิทธัตถะทรงได้รับการศึกษาเพียบพร้อมบริบูรณ์ทุกแขนง ทั้งทางยุทธวิธีทหาร การปกครอง และการศาสนา ทรงได้ผ่านการชนะเลิศทุกครั้งที่มีการประลองฝีมือต่อสู้ ป้องกันตัว และทดสอบวิชาความรู้ ทุกประเภท จนพระเกียรติเลื่องลือไปทั่วชมพูทวีป



* ศิลปศาสตร์ ๑๘ หมายถึงวิชาความรู้ต่างๆ ซึ่งได้มีการเรียนการสอนกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เรียกกว่า ศิลปศาสตร์ ได้แก่ ่
๑. ความรู้ทั่วไป (สูติ)
๒. ความรู้กฏธรรมเนียม (สัมมติ)
๓. คำนวณ (สังขยา)
๔. การช่างการยนตร์ (โยคยันตร์)
๕. นิติศาสตร์ (นีติ)
๖. ความรู้การอันให้เกิดมงคล (วิเสสิกา)
๗. วิชาร้องรำ (คันธัพพา)
๘. วิชาบริหารร่างกาย (คณิกา)
๙. วิชายิงธนู (ธนุพเพธา)
๑๐. โบราณคดี (ปุราณา)
๑๑. วิชาแพทย์ (ติกิจฉา
๑๒. ตำนานหรือประวัติศาสตร์ (อิติหาสา)
๑๓. ดาราศาตร์ (โชติ)
๑๔. ตำราพิชัยสงคราม (มายา)
๑๕. การประพันธ์ (ฉันทสา)
๑๖. วิชาพูด (เกตุ)
๑๗. วิชามนต์ (มันตา)
๑๘. วิชาไวยากรณ์ (สัททา)

เมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ได้ทรงทำการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงพิมพา ยโสธรา ราชธิดาพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งกรุงเทวทหะนคร จากการทำนายของโหร พระเจ้าสุทโธทนะทรงเกรงว่า สิทธัตถะราชกุมารจะออกบวชเสีย จึงตรัสให้ สร้างปราสาทถวายสามแห่งคือสำหรับประทับในฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน แล้วให้บำรุงบำเรอด้วยความสุข ทางกามคุณทุกวิถีทาง ในปราสาทนั้นเต็มไปด้วยสิ่งสวยงาม รวมถึงสาวใช้รูปร่างดี ชำนาญในการฟ้อนรำ ตามแบบอินเดีย รอบๆ ปราสาทมีสวน มีสระ มีนก มีปลา และมีอะไรๆ ที่น่ารื่นรมย์เพื่อความเพลิดเพลินของเจ้าชาย แล้วก็ในปราสาทนั้นมีแต่สตรีทั้งนั้น คอยเอาใจใส่รับใช้ใกล้ชิด ช่วยเหลือทุกสิ่งทุกประการไม่ให้เจ้าชายเดือดร้อน


ที่พระเจ้าสุทโทนะผู้เป็นบิดาทำเช่นนั้นก็เพื่อผูกมัดเจ้าชาย ไม่ให้คิดถึงเรื่องการบวช แล้วไม่ให้ออก ไปไหนเสียด้วย ถ้าจะไปไหนนี่ต้องได้รับอนุญาตจากพระราชบิดา ในพระทัยของพระราชบิดาก็ไม่อยากให้ออกไปไหน กลัวว่าจะไปคบหาสมาคมกับคนที่เป็นนักบวชในสมัยนั้น จิตใจจะโน้มเอียงไปในทางเป็นฤาษีชีไพร ท่านไม่ต้องการ เพราะว่ามีลูกชายเพียงผู้เดียว อยากจะให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป ถ้าออกบวชเสียแล้วก็หมดหวัง แต่ว่าความต้องการของพระเจ้าสุทโธทนะหาสำเร็จไม่ เพราะเจ้าชายแม้ไม่ได้ไปไหนก็จริง แต่ว่าชอบ ไปนั่งคนเดียวในป่า ในสวนหลังปราสาท นั่งคนเดียวก็นั่งคิดนั่งนึกอะไรต่างๆ เหม่อลอยไปในเวิ้งว้างของสถานที่ คือเป็นคนชอบคิดนั่นเอง ไปนั่งคิดนั่งนึกอะไรต่างๆ ดูนกดูสัตว์ในบริเวณนั้นว่ามันมีสภาพเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านั้น เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนจิตใจให้พระองค์เบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ในโลก คิดแต่ว่าจะแสวงหาธรรมะท่าเดียว แต่ก็ยังออกไปไหนไม่ได้

ต่อมาก็ได้ทรงขออนุญาตพระบิดา เพื่อออกไปชมบ้านชมเมืองบ้าง พระบิดาก็ได้สั่งให้ตกแต่งบ้านเมือง ให้สะอาดเรียบร้อย ไม่ให้เห็นสิ่งที่ไม่น่าดูเช่น คนแก่ คนเจ็บ คนไข้ คนรูปร่างไม่สมบูรณ์ อะไรนั้น เขาไม่ให้ออกมาเดิน บนถนน กลัวเจ้าชายจะเห็นเข้า กีดกันทุกอย่างไม่ให้พบสิ่งซึ่งทำให้เบื่อหน่าย ให้เห็นแต่สิ่งที่สบายตา ฟังเสียงสบายหู พบคนที่สบายใจ กีดกันอย่างนั้นเพื่อให้ได้อยู่วังครองเมือง

ในการเสด็จชมเมืองวันแรก เจ้าชายได้เห็นคนแก่ร่างกายคู้ผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ถือไม้เท้า เดินกระง่องกระแง่งผ่านมา พระองค์ก็หยุดรถแล้วก็ถามฉันนะว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ฉันนะคนขับรถบอกว่า นี่แหละพระเจ้าค่ะ คนแก่ อายุมากๆ ไปมันก็ต้องแก่อย่างนี้ ท่านก็ถามต่อไปว่า พระบิดาของเราจะแก่อย่างนี้ไหม นายฉันนะก็ตอบอีกว่า ก็เป็นอย่างนี้ทุกคน ไม่มีใครหลีกพ้นความแก่ไปได้ ภาพที่เห็นทำให้สลดพระทัยในเรื่องความแก่แล้วก็สงสารคนแก่ที่ลำบากอย่างนั้น

วันที่สองได้เดินทางออกไปชมเมืองอีก พบคนเจ็บร้องครวญครางอยู่ข้างถนน พระองค์ได้ลงจากรถ เข้าไปใกล้แล้วถามว่าเป็นอะไร เขาคนนั้นบอกกับพระองค์ว่า ไม่สบาย เจ็บตรงนั้นเจ็บตรงนี้ พระองค์ก็สงสาร คนเหล่านั้นว่าทำอย่างไรจะช่วยคนเจ็บเหล่านี้ได้


วันที่สามออกไปเจอคนตาย กำลังหามไปป่าช้า ญาติเดินร้องไห้ครวญคราง สยายผมตีอกชกหัว ไปข้างหลัง เป็นภาพที่สะเทือนใจมาก ทำให้พระองค์คิดว่าชีวิตของคนเรามันก็เท่านี้ อยู่ไปสนุกไปมันก็ตามเท่านั้นเอง ตายแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร ไปแต่เสื้อผ้าหุ้มกายนิดหน่อย เอาไปเผา กลายเป็นขี้เถ้า แล้วเราจะมัวเพลิดเพลินอะไร กันหนักหนา แต่ยังไม่คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร

ส่วนวันที่สี่ก็เสด็จออกชมเมืองอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้พระองค์ไปเห็นนักบวชผู้มีอาการสงบเรียบร้อย หน้าตาเปล่งปลั่ง มีอารมณ์ดี ก็เห็นว่า สาธุโขปัพพัชชา บวชดี ท่านพูดกับตัวเองว่า บวชเข้าทีแน่ สาธุโขปัพพัชชา -บวชนี่ดีแน่ แล้วก็เลยไปพักอยู่ในสวน นั่งชมปลาชมนกอะไรไปตามเรื่อง


ศากยวงศ์, • พระโพธิสัตว์จุติ, • ประสูติ, • คำทำนายโหราจารย์,  • เสด็จออกบรรพชา, • ตรัสรู้, • เสวยวิมุติสุข, • ปฐมเทศนา, • ๔๕ พรรษา, • ปรินิพพาน

๐๓. ประสูติ

ประมาณ ๖๐๐ ปีเศษ ก่อนคริสต์ศักราชประเทศอินเดียหรือที่เรียกกันว่า ชมพูทวีปมีแคว้น หรือรัฐใหญ่ๆ รวมอยู่ 10 แคว้นด้วยกัน ในจำนวนนี้ ๘ แคว้น ปกครองแบบราชาธิปไตย คือมี พระเจ้าแผ่นดินปกครอง เช่น มคธ (ราชคฤห์ - เมืองหลวง), โกศล (สาวัตถี - เมืองหลวง), วังสะ (โกสัมพี - เมืองหลวง) เป็นต้น ที่เหลืออีก ๘ รัฐ เช่น วัชชี (เวสาลี - เมืองหลวง) มัลละ (ปาวา และกุสินารา - เมืองหลวง) เป็นต้น ปกครองแบบสามัคคีธรรม หรือคณะราชย์ ซึ่งก็คือ ระบบประชาธิปไตยนั่นเอง

มีรัฐเล็กๆ ที่นับว่าเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนั้นรัฐหนึ่ง อยู่ทางเหนือสุดของอินเดียที่เชิงเขา หิมพานต์ (ภูเขาหิมาลัย) ชื่อ กรุงกบิลพัสดุ์ อยู่ในความอารักขาของแคว้นโกศล มีกษัตริย์ราชวงศ์ศากยะปกครอง พระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระอรรคมเหสีพระนามว่าพระนางศิริมหามายาเทวี คืนหนึ่งพระนางทรงสุบินนิมิต (ฝัน) ว่า มีท้าวมหาพรหมทั้งสี่ มายกแท่นบรรทม ของพระนาง ไปวางลงไว ภายใต้ต้นสาละใหญ่ ณ ป่าหิมพานต์ (ต้นสาละเป็นต้นไม้สกุลเดียว กับต้นรังของเรา) เหล่าเทพธิดาพากันนำพระนาง ไปสรงสนานในสระอโนดาต ซึ่งอยู่ข้างๆ ต้นสาละนั้น เพื่อชำระล้างมลทิน ในขณะนั้น มีลูกช้างเผือกเชือกหนึ่ง ถือดอกบัวขาว ลงมาจากภูเขา ร้องเสียงลั่น เข้ามาทำประทักษิณสามรอบ แล้วเข้าสู่ท้องทางเบื้องขวาของพระนาง นับแต่นั้นมา พระนางก็เริ่ม ทรงครรภ์ (คนอินเดียมีวัฒนธรรมสูง และส่วนมากเคร่งศาสนาธรรมเนียมของเขา ไม่ว่า จะเป็นชาวพุทธ หรือพวกนับถือศาสนาฮินดู เมื่อย่างเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งใด เขาจะทำความเคารพ สถานที่นั้นๆ ด้วยการทำประทักษิณเดินเวียนสามรอบเสมอ โดยเดินเวียนขวา)


เมื่อครรภ์พระนางแก่จวนครบทศมาส (๑๐ เดือน) ธรรมเนียมของคนอินเดียสมัยนั้น (ถึงแม้ขณะนี้ ยังปฏิบัติกันอยู่ แต่โดยมากเฉพาะลูกคนแรก) ฝ่ายหญิงจะเดินทางไปอยู่คลอดบุตร ที่บ้านพ่อแม่ของตน พระนางมายาเทวี จึงเสด็จกลับยังพระราชวังเดิมของกษัตริย์โกลิยะ (พระราชบิดาของพระนาง) ที่เมืองเทวทหะนคร ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์นัก

ตามพุทธประวัติกล่าวว่าลุมพินีอยู่กึ่งทางระหว่างกบิลพัสดุ์กับเทวะทหะนคร (แต่เวลานี้ ตัวเมืองทั้งสอง ไม่มีซากเหลืออยู่เลย) เมื่อขบวนยาตราไปได้ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร จากกบิลพัสดุ์ถึงป่าลุมพินี พระนางเจ้าประชวรพระครรภ์หนักจะประสูติ จึงให้หยุดขบวนประทับ ใต้ต้นสาละ ทรงยืนเหนี่ยวกิ่งสาละ ณ วันวิสาขปุรณมี ดิถีเพ็ญเดือน ๖ แห่งปีก่อนพุทธศก ๘๐ เวลาสายใกล้เที่ยง เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร ก็ได้ประสูติ จากครรภ์พระมารดา ทรงเพียบพร้อมด้วย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการครบบริบูรณ์ อันเป็นลักษณะแห่ง องค์พุทธางกูรโดยเฉพาะ และเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งที่พระองค์ได้เสร็จออกจากพระครรภ์แล้ว ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ก้าวพระบาทออกไปได้ ๗ ก้าว พร้อมกับกล่าววาจา ประกาศความสูงสุดว่า "เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ของเราจะไม่มีอีกแล้ว" ดังนี้ เป็นบุพนิมิตหมายว่า พระองค์จะประกาศรัศมีแห่งธรรมของพระองค์ไปใน เจ็ดชนบทน้อยใหญ่ ของอินเดียสมัยนั้น พระองค์ประสูติบริสุทธิ์ ไม่เปรอะเปื้อนพระองค์ ด้วยครรภ์มลทิน มีหมู่เทพยดามาคอยรับ ก่อนที่พระวรกายจะถึงแผ่นดิน มีธารน้ำร้อนน้ำเย็น พร้อมที่จะสรงสนาน พระวรกาย

พระองค์ประสูติได้เจ็ดวัน พระนางสิริมหามายาเทวีก็เสด็จทิวงคต (พุทธองค์ทรงตรัสภายหลัง กับพระอานนท์ว่า "ถูกแล้ว อานนท์ จริงทีเดียว มารดาแห่งโพธิสัตว์มีชนมายุน้อย เมื่อประสูติพระโพธิสัตว์แล้ว ได้เจ็ดวัน ย่อมสวรรคต ย่อมเข้าถึงเทวนิกายชั้นดุสิต") พระนางสิริมหามายาเสด็จทิวงคตแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะ ได้มอบการเลี้ยงดู พระราชกุมารแก่พระนางปชาบดีโคตมี (น้องสาวพระนางมหามายาเทวี) และก็ทรงเป็นพระมเหสี ของพระเจ้าสุทโธนะด้วย พระนางทรงมีพระเมตตารักใคร่พระกุมารยิ่งกว่าพระโอรสของพระนางเอง ทั้งๆ ที่ต่อมา จะทรงมีพระโอรสและธิดาถึงสองพระองค์ คือ นันทกุมาร (ซึ่งมีรูปลักษณะคล้ายคลึงพระบรมศาสดาอย่างยิ่ง ในกาลต่อมา) และรูปนันทากุมารี


ศากยวงศ์, • พระโพธิสัตว์จุติ, • ประสูติ, • คำทำนายโหราจารย์,  • เสด็จออกบรรพชา, • ตรัสรู้, • เสวยวิมุติสุข, • ปฐมเทศนา, • ๔๕ พรรษา, • ปรินิพพาน

๐๒. พระโพธิสัตว์จุติ

พระพุทธเจ้าเมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ได้ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่ในชาติต่างๆ เรียกว่า "พระโพธิสัตว์" ในอดีตภพ พระโพธิสัตว์แห่งเรา บังเกิดเป็นสุเมธดาบส พบพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง มีพระนามว่า พระพุทธทีปังกรเจ้า

ได้ตั้งความปราถนาไว้ ขอให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นพระองค์ท่าน จำเดิมแต่นั้น ก็ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ มีทานบารมีเป็นต้น อุเบกขาบารมีเป็นที่สุด บำเพ็ญเป็นเวลานับด้วยกัลป์ สิ้นภพสิ้นชาติอันประมาณมิได้ พระชาติสุดท้าย บังเกิดเป็นพระเวสสันดรโพธิสัตว์ ก็ทรงสร้างทานบารมีอย่างยอดเยี่ยม สิ้นจากชาตินี้ก็ขึ้นไปอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นเทพบุตรชื่อว่า "สันดุสิตเทวราช" เทพยดาในหมื่นจักรวาฬ จึงมาประชุมกันในสวรรค์ชั้นดุสิต ต่างยกหัตถ์ทั้งคู่ ชูอัญชลีกร ทูลอาราธนาว่า "ข้าแต่พระมหาวีระ กาลบัดนี้ สมควรที่พระองค์จะจุติลงไปบังเกิดในมาตุคัพโภทร เพื่อชนนิกรในมนุษย์โลก กับทั้งเทวโลก ข้ามให้พ้นจากห้วงแห่งความเวียนตายเวียนเกิด อันมิรู้จักจบสิ้น ให้รู้จริงบรรลุถึงทางปฏิบัติ ซึ่งจะเข้าสู่อมตมหานิพพาน"

พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาดูปัญจมหาวิโลกนะทั้ง ๕ คือ
กาล ๑
ทวีป ๑
ประเทศ ๑
ตระกูล ๑
พระมารดา ๑

แล้วจึงทรงรับปฏิญญาณ เสด็จแวดล้อมด้วยเทพยบริวาร ไปสู่ทิพยนันทวันอุทยานในดุสิตเทวโลก และจุติลงสู่ปฏิสนธิในพระครรภ์แห่งพระนางมหามายาราชเทวี พระอรรคมเหษีแห่งพระเจ้าสุทโธทนมหาราช กรุงกบิลพัสดุ ณ ชมพูทวีป ในวันอาสาฬหปุรณมี เพ็ญเดือน ๘




ศากยวงศ์, • พระโพธิสัตว์จุติ, • ประสูติ, • คำทำนายโหราจารย์,  • เสด็จออกบรรพชา, • ตรัสรู้, • เสวยวิมุติสุข, • ปฐมเทศนา, • ๔๕ พรรษา, • ปรินิพพาน

๐๑. ศากยวงศ์

ในยุคบรรพกาล ได้มีชนเผ่าเชื้อสายอริยกะหรืออารยันอพยพเข้ามาตั้งรกรากและราชธานี ณ เชิงเขาหิมาลัย ชนเผ่าที่อพยพเข้ามาในภายหลัง ก่อนหน้านั้นดินแดนแถบนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของพวกมิลักขะ ซึ่งมีความเจริญที่น้อยกว่า พวกอริยกะหรืออารยันเป็นพวกที่นับถือในศาสนาพราหมณ์เคร่งครัด และเชื่อถือในระบบวรรณะอย่างสุดโต่ง โดยเชื่อว่าวรรณะทั้ง ๔ ไม่สามารถที่จะแต่งงานร่วมกันได้ ถ้าแต่งงานบุตรจะกลายเป็นจัณฑาลทันที พวกเขาถือว่าตนยิ่งใหญ่ และบริสุทธิ์กว่าสายเลือดอื่น ๆ จึงแต่งงานด้วยกันเองภายในหมู่พี่น้องและวงศาคณาญาติซึ่งมีอยู่ ๒ ตระกูลคือ 

๑. ศากยวงค์

๒.โกลิยวงศ์
และเพราะความถือตัวจัดนี้เอง ที่ทำให้กรุงกบิลพัสดุด์ถูกทำลายอย่างย่อยยับ ด้วยอำนาจของพระเจ้าวิฑูฑภะ โอรสพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งสาวัตถี ซึ่งพระเจ้าวิฑูฑภะเอง ก็ใช่อื่นไกลเป็นพระนัดดาของพระเจ้ามหานามแห่งกรุงกบิลพัสดุ์นั้นเอง พระองค์ถูกเหยียดหยามจากพระญาติ ถึงขนาดเอาน้ำนมชำระล้างสถานที่ทุกแห่งที่พระองค์ประทับในกรุงกบิลพัสดุ์ คราวเสด็จเยี่ยมพระญาติ โดยพวกศากยะกรุงกบิลพัสดุ์รังเกียจว่า พระมารดาของพระองค์ไม่ใช่คนวรรณะกษัตริย์ แต่เป็นทาสีซึ่งเป็นคนละวรรณะกับพวกตน นี่คือชนวนของการทำลายล้างกรุงกบิลพัสดุ์ในเวลาต่อมา

เกี่ยวกับทฤษฏีของชนชาติอารยันของพวกศากยะที่เมืองกบิลพัสดุ์นี้ นักปราชญ์ไทยหลายท่านตั้งข้อสงสัยว่า พวกเขาน่าจะเป็นคนผิวเหลืองเชื้อสายมองโกลอยเหมือนคนไทย มากกว่าที่จะเป็นอารยันแบบแขก เพราะตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือมีชาวเนปาลเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าตัวเองเป็นเชื้อสายศากยะ และหน้าตาพวกเขาก็เป็นคนผิวเหลือง ไม่ใช่แขกอินเดีย แต่ประเด็นนี้คงต้องศึกษากันต่อไป และไม่ควรด่วนสรุป เพราะเป็นเรื่องใหญ่ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้แขกอินเดียเป็นจำนวนมาก ก็มีนามสกุล โคตมะ หรือ เคาตมะ และยังเชื่ออีกว่าพวกเขามีเชื้อสายเดียวกับพระพุทธองค์ ในทัศนะของคนเนปาลเองทุกคนเชื่อเต็มเปี่ยมว่าพระพุทธเจ้าเป็นชายเนปาล ไม่ใช่อินเดีย เพราะพระองค์เกิดในฝั่งเนปาล ไม่ใช่อินเดีย ซึ่งเป็นความจริงอยู่ไม่น้อย เพราะว่าตามสถานที่ประสูติแล้ว ลุมพินีและกบิลพัสดุ์ ก็ล้วนแล้วอยู่ในฝั่งเนปาล แต่เมื่อก่อนคำว่า อินเดีย เนปาลยังไม่เกิด มีแต่คำว่าชมพูทวีป พระพุทธองค์ใช้ชีวิตส่วนมากที่ฝั่งอินเดีย เพราะขณะที่พระชนม์ชีพอยู่ เมืองกบิลพัสดุ์ของพระองค์ก็ร้างแล้ว และเขตแดนกปิลพัสดุ์ลุมพินีก็ยังอยู่ในฝั่งอินเดีย จนอังกฤษเข้าปกครองอินเดียและยกให้เนปาลเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๕ มานี้เอง

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ต้นตระกูลของศากยวงศ์สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าโอกกากราชและแบ่งออกเป็น ๒ เมือง ๒ ตระกูล คือ เมืองกบิลพัสดุ์ เป็นนครหลวงของแคว้นสักกะ และเมืองเทวทหะเป็นนครหลวงของแคว้นโกลิยะ ดังมีโครงสร้างดังนี้

ฝ่ายศากยวงศ์พระเจ้าชัยเสนมีพระราชโอรสและธิดา ๒ พระองค์ คือ
๑. พระเจ้าสีหนุ
๒. พระนางยโสธรา

ฝ่ายโกลิยวงศ์ มีพระราชาที่ไม่ปรากฏนาม มีโอรส ๑ และธิดา ๑ คือ
๑. พระเจ้าอัญชนะ
๒. พระนางกาญจนา

พระเจ้าสีหนุแห่งศากยวงศ์อภิเษกสมรสกับ พระนางกาญจนา แห่งโกลิยวงศ์มีพระโอรสและธิดารวม ๗ พระองค์คือ
๑. พระเจ้าสุทโธทนะ
๒. พระเจ้าสุกโกทนะ
๓. พระเจ้าอมิโตทนะ
๔. พระเจ้าโธโตทนะ
๕. พระเจ้าฆนิโตทนะ
๖. พระนางปมิตา
๗. พระนางอมิตา

พระเจ้าอัญชนะแห่งโกลิยวงศ์อภิเษกสมรสกับ พระนางยโสธรา แห่งศากยวงศ์ มีพระโอรสและพระธิดารวม ๔ พระองค์คือ
๑. พระเจ้าสุปปพุทธะ
๒. พระเจ้าทัณฑปาณิ
๓. พระนางสิริมหามายา
๔. พระนางมหาปชาบดีโคตมี

พระเจ้าสุทโธทนะ แห่งศากยวงศ์อภิเษกสมรสกับพระนางสิริมหามายาแห่งโกลิยวงศ์ มีพระโอรส ๑ พระองค์คือ
๑. เจ้าชายสิทธัตถะ

และต่อมาหลังพระนางสิริมหามายาสวรรคต พระองค์อภิเษกสมรสกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี มีพระโอรสและธิดา ๒ พระองค์คือ
๑. เจ้าชายนันทะ
๒. เจ้าหญิงรูปนันทา

พระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งโกลิยวงศ์ได้อภิเษกสมรสกับพระนางอมิตาแห่งศากยวงศ์มีพระโอรสธิดารวม ๒ พระองค์คือ
๑. เจ้าชายเทวทัต
๒. พระนางยโสธรา (พิมพา)

พระเจ้าสุกโกทนะ แห่งศากยวงศ์อภิเษกสมรสกับพระนางกิสาโคตมี มีพระโอรสหนึ่งพระโอรส ๑ พระองค์คือ
๑. เจ้าชายอานนท์

พระเจ้าอมิโตทนะ แห่งศากยวงศ์ มีพระโอรสธิดารวม ๓ พระองค์คือ
๑. เจ้าชายมหานาม
๒. เจ้าชายอนุรุทธะ
๓. เจ้าหญิงโรหิณี

พระเจ้ามหานาม ครองราชสมบัติต่อจากพระเจ้าสุทโธทนะมีพระธิดาจากนางทาสี ๑ พระองค์คือพระนางวาสภขัตติยา ซึ่งต่อมาได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งสาวัตถี มีพระโอรส ๑ พระองค์ คือ
๑.พระเจ้าวิฑูฑภะ




ศากยวงศ์, • พระโพธิสัตว์จุติ, • ประสูติ, • คำทำนายโหราจารย์,  • เสด็จออกบรรพชา, • ตรัสรู้, • เสวยวิมุติสุข, • ปฐมเทศนา, • ๔๕ พรรษา, • ปรินิพพาน

วันอาทิตย์

นัยที่ ๓ รูปสมุฏฐานนัย

นัยที่ ๓ รูปสมุฏฐานนัย แสดงเหตุเกิดแห่งรูป

รูปร่างกายของคน สัตว์ เทวดา หรือ รูปพรหม นั้นล้วนแต่เกิดและยังมีชีวิตดำรงอยู่ได้ก็มาจาก เหตุ ๔ ประการ คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร หรือที่เรียกว่า เกิดมา จากสมุฏฐาน ๔

 กรรม คือ เจตนาในการทำกุศล และ อกุศลต่างๆ ที่ได้สั่งสมไว้แล้ว เมื่อกรรมทั้งหลายสำเร็จลง เจตนาในการกระทำกรรมนั้นจะทำหน้าที่ ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเกิดขึ้นในภูมิต่าง ๆ เป็นคน สัตว์ เทวดา พรหม ได้ ดังนั้น
กรรมที่เป็นสมุฎฐานในเกิดรูป ก็ได้แก่เจตนา ๒๕ คือ
เจตนาในอกุศลจิต ๑๒
เจตนาในมหากุศลจิต ๘
เจตนาในรูปาวจรกุศลจิต ๕

เจตนาทั้ง ๒๕ นี้ ย่อมทำให้รูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้นได้ นับตั้งแต่อุปปาทขณะของปฏิสนธิ จิตเป็นต้นไป (หนึ่งขณะจิตมี ๓ อนุขณะเล็ก คืออุปปาทะ(เกิด) ฐีติ(ตั้งอยู่) ภังคะ (ดับ) รูปที่เกิดจากกรรม เกิดขึ้นได้ตั้งแต่อนุขณะแรกของปฏิสนธิจิต (ส่วนเจตนาในอรูปวจรกุศลจิต จะส่งผลโดย นามปฏิสนธิในอรูป ภูมิ ๔)
รูปที่เกิดจากกรรม เรียกว่า กรรมชรูป (อ่านว่า กัม-มะ-ชะ-รูป) มี ๑๘ รูป คือ
ปสาทรูป ๕
ภาวรูป ๒
หทยรูป ๑
ชีวิตรูป ๑
ปริจเฉทรูป ๑
อวินิพโภครูป ๘

 จิต  การที่รูปจะแสดงกิริยาอาการต่าง ๆ ได้ก็เพราะมีจิต เช่น จิตคิดจะทำกุศล จิตนี้ก็ทำให้ วาโยธาตุนั้นมีกำลังทำให้ร่างนี้เคลื่อนไป เดินไปทำกุศลได้ หรือที่เป็นอกุศล คิดจะฆ่าสัตว์ วาโยธาตุที่เกิด จากจิตก็จะทำให้กายนี้ไปทำอกุศล จิตที่ทำให้รูปทำการงานต่างๆ มี ๗๕ ดวง คือ จิต ๗๕ ดวง (เว้น ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ และ อรูปาวจรวิบากจิต ๔)
รูปที่เกิดจากจิต เรียกว่า จิตตชรูป มี ๑๕ คือ
วิญญัติรูป ๒
สัททรูป ๑
ปริจเฉทรูป ๑
วิการรูป ๓
อวินิพโภครูป ๘

 อุตุ  หมายถึง อุณหภูมิ คือ ความร้อน ความเย็น ที่มีอยู่ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายและในสิ่งไม่มีชีวิต แม้ตอนตาย อุตุก็ยังคงอยู่ในซากศพต่อไปจนกว่าจะสลายหมดไปเองตามธรรมชาติ
รูปที่เกิดจากอตุุ เรียกว่า อุตุชรปู มี ๑๓ คือ
สัททรูป ๑
ปริจเฉทรูป ๑
วิการรูป ๓
อวินิพโภครูป ๘

 อาหาร  หมายถึง โอชาในอาหาร (หรือปัจจุบันเรียกว่าสารอาหาร) อาหารที่ได้รับประทานแล้วเมื่อไฟธาตุทำการย่อยแล้ว จะเป็นโอชาหรือสารอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกาย อาหารที่บริโภคไป คราวหนึ่งสามารถจะอุดหนุนให้รูปกายนี้อยู่ได้ถึง ๗ วัน แต่ถ้าเป็นโอชาที่เป็นทิพย์ย่อมอุดหนุนรูปกายได้ ๑ หรือ ๒ เดือน และในอาหารที่แม่บริโภคแล้วก็ยังส่งไปให้ถึงทารกในครรภ์ให้รูปของทารกนั้นดำรงอยู่ได้

รูปที่เกิดจากอาหาร เรียกว่า
อาหารชรูป มี ๑๒ คือ
ปริจเฉทรูป ๑
วิการรูป ๓
อวินิพโภครูป ๘

เฉพาะรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน มีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้ รูปที่เกิดจากจิตยังมีอีก ๗ อย่าง คือ

๑. จิตตชรูปสามัญ
จิตตชรูปสามัญ หมายถึง รูปที่เป็นไปตามปกติธรรมดาของร่างกาย เช่น การหายใจ การเต้นของหัวใจเป็นต้น จิตตรูปสามัญนี้เกิดได้จากจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ เกิดจากกามาวจรโสภณจิต เกิดจากอเหตุกจิต เกิดจากมหัคคตจิต เกิดจากโลกุตตรจิตก็ได้ เช่น ลมหายใจเข้าออกตามปกติที่ไม่ได้มีการเจริญ วิปัสสนาก็อาจจะเป็นจิตตรูปที่เกิดจากอกุศล แต่ถ้าพิจารณาลมหายใจเข้าออกโดยความเป็นวิปัสสนาจิตตช รูปนี้ก็เกิดจากกุศลได้ จิตชรูปสามัญเกิดจากจิต ๗๕ ดวงคือ
๑. อกุศลจิต ๑๒
๒. อเหตุกจิต ๘(เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐)
๓. กามาวจรโสภณจิต ๒๔
๔. มหัคคตจิต ๒๓(เว้นอรูปาวจรวิบาก ๔)
๕. โลกุตตรจิต ๘

๒. จิตตชรูปหัวเราะ จิตตชรูปหัวเราะ หมายถึง จิตตชรูปที่ทำให้เกิดการยิ้ม เกิดการหัวเราะ จิตที่ทำให้เกิดการหัวเราะได้มี ๑๓ ดวง
๑. โลภโสมนัสจิต ๔
๒. โสมนัสหสิตุปปาทจิต ๑ (เกิดได้กับพระอรหันต์เท่านั้น)
๓. มหากุศลโสมนัส ๔
๔. มหากิริยาโสมนัส ๔ (เกิดได้กับพระอรหันต์เท่านั้น)

๓. จิตตชรูปร้องไห้
จิตตชรูปที่ทำให้เกิดการร้องไห้ ความเศร้าโศกเสียใจจนเกิดการร้องไห้ของคนเรานั้น เกิดจากความโกรธ มี ๒ ดวงได้แก่
๑.โทสมูลจิต ๒ ดวง

๔ . จิตตชรูปเคลื่อนไหว
จิตที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ในอิริยาบถย่อย ได้แก่ จิตที่ทำให้เกิดการเหยียด ก้ม เงย เหลียวซ้ายแลขวา กระพริบตา อ้าปาก หาว เป็นต้น เกิดจากจิต ๓๒ ดวง คือ
อกุศล ๑๒
หสิตุปปาทจิต ๑
มหากุศลจิต ๘
มหากิริยาจิต ๘
มโนทวาราวัชชนจิต ๑
อภิญญาจิต ๒

๕. จิตตชรูปในการพูด
จิตตชรูปที่ทำให้เกิดการพูด คือ การเปล่งวาจาต่าง ๆ ได้แก่ จิต ๓๒ ดวง (เหมือนข้อ ๔)

๖. จิตตชรูปที่เป็นอิริยาบถน้อยใหญ่
จิตตชรูปที่เป็นอิริยาบถใหญ่ คือ จิตที่ทำให้เกิด การยืน เดิน นั่ง นอน ได้แก่จิต ๓๒ ดวง (เหมือนข้อ ๔)

๗. จิตตชรูปที่เกี่ยวกับอิริยาบถใหญ่ตั้งมั่น
จิตตชรูปที่เป็นอิริยาบถใหญ่ตั้งมั่น คือ จิตที่ทำให้เกิดการยืน เดิน นั่ง นอน (อิริยาบถใหญ่) ที่เกิดขึ้นตามปกติขณะที่สบายดี ไม่มีอาการเจ็บไข้ ได้แก่จิต ๕๘ ดวง คือ
.มโนทวาราวัชชจิต ๑
๒.กามชวน ๒๙ (คืออกุศล ๑๒ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ )
๓.อภิญญาจิต ๒
๔.อัปปนาชวนจิต ๒๖ (คือ รูปาวจรกุศลจิต ๕ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ อรูปาวจรกุศลจิต ๔ อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ โลกุตตรจิต ๘ )




นัยที่ ๒ รูปวิภาคนัย

คำว่า มาติกา หมายถึงแม่บท ในนัยที่ ๒ นี้ มีการจำแนกรูป ๒๘ ออกเป็น ๒ มาติกาด้วยกัน คือ
๑. เอกมาติกา การจำแนกรูปทั้งหมดเป็นอย่างเดียวกัน
๒. ทุกมาติกา การจำแนกรูปทั้งหมดเป็นสองอย่าง

๑. เอกมาติกา การจำแนกรูปทั้งหมดเป็นอย่างเดียวกัน
เป็นการกล่าวรูป ๒๘ โดยการสรุปให้ทราบถึงความเป็นจริงของรูปอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจาก รูปแบบในนัยที่ ๑ กล่าวคือในนัยที่ ๑ แสดงให้เห็นรูป ๒๘ ที่ละหมวดและแสดงในทราบว่าในหมวดนั้นๆ ประกอบด้วยรูปเท่าไหร่อะไรบ้าง และก็ยังแสดงให้ทราบอีกว่า รูปแต่ละรูปนั้นมีสภาวลักษณะของตนๆ เป็นอย่างไร เช่น ในหมวดมหาภูตรูป ๔ ประกอบด้วย ปฐวี อาโป เตโช วาโย และปฐวีมีลักษณะที่แข็ง เป็นต้น ส่วนในการจำแนกรูป ๒๘ โดยนัยวิภาคนัยนี้จะมุ่งหมายกล่าวว่ารูปทั้ง ๒๘ นั้นมีสภาวะทั้งหมดเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะศึกษากันต่อไป รูปทั้งหมดเมื่อกล่าวโดยเอกมาติกาแล้วมีชื่อเรียกตามสภาวะได้ ๘ คือ


๑. อเหตุกะ
ชื่อว่า อเหตุกะ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ เกิดขึ้นโดย ไม่ต้องอาศัยเหตุ ๖
เหตุ ๖ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ
๒. สปัจจยะ
ชื่อว่า สปัจจยะ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ เกิดขึ้นจากกรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นเหตุ เป็นปัจจัย
๓. สาสวะ
ชื่อว่า สาสวะ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ ก่อให้เกิด อาสวะกิเลส
อาสวะกิเลส คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ
๔. สังขตะ
ชื่อว่า สังขตะ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ เกิดขึ้นจากกรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นผู้ปรุงแต่ง
๕. โลกียะ
ชื่อว่า โลกียะ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ ต้องมีการแตกดับอยู่เสมอๆ
๖. กามาวจระ
ชื่อว่า กามาวจระ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ เป็นเหตุให้เกิดความยินดียินร้าย ซึ่งเป็นอารมณ์ของกามาวจรจิต
๗. อนารัมมณะ
ชื่อว่า อนารัมมณะ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ใดๆ ได้
การที่เรายังรับรู้อารมณ์ได้ก็เพราะว่ามีจิต
๘. อัปปหาตัพพะ
ชื่อว่า อัปปหาตัพพะ เพราะว่ารูป ๒๘ นี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรฆ่าหรือทำลาย แต่สิ่งควรฆ่าทำลายนั้น ได้แก่ กิเลสและตัณหา

สรุปได้ว่ารูป ๒๘ นี้จะเรียกชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งใน ๘ ชื่อนี้ก็ได้ ซึ่งก็จะมีความหมายตามลักษณะของชื่อนั้น


๒. ทุกมาติกา การจำแนกรูปทั้งหมดเป็นสองอย่าง
เป็นการแบ่งรูป ๒๘ ออกเป็นคู่ๆ ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกัน จำแนกได้ ๑๑ คู่ คือ

คู่ที่ ๑ อัชฌัตติกรูป คู่กับ พาหิรรูป
อัชฌัตติกรูป คือ รูปภายใน ได้แก่ ปสาทรูป ๕ ประสาทตา หู จมูก ลิ้น กาย พาหิรรูป คือ รูปภายนอก ได้แก่ รปูที่เหลือ ๒๓ รูป

อัชฌัตติกรูป มุ่งหมายเอาประโยชน์ของรูปทั้ง ๕ เป็นสำคัญ ส่วนรูปที่เหลือ ๒๓ นั้นเป็นรูปที่มีประโยชน์น้อยจึงเรียกว่าพาหิรรูป อุปมาอัชฌัตติกรูป เหมือนคนภายในบ้าน พาหิรรูปเหมือนคนนอกบ้าน
คู่ที่ ๒ วัตถุรูป คู่กับ อวัตถุรูป
วัตถุรูป คือ รูปที่เป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และ หทัยวัตถุ ๑ อวัตถุรูป คือ รูปที่ไม่เป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๒ อุปมาเหมือนเครื่องบินที่เป็นที่อาศัยของคนธรรมดาที่ต้องการเดินทางไปทางอากาศ
คู่ที่ ๓ ทวารรูป คู่กับ อทวารรูป
ทวารรูป คือ รูปที่เปรียบเหมือนเป็นประตูในการทำบุญทำบาป และเป็นเหตุให้เกิดวิถีจิต ได้แก่ ปสาทรูป ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) และ วิญญัติรูป ๒ อทวารรูป คือรูปที่ไม่เป็นเหตุให้ทำบุญ ทำบาป ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๑ มี ปถวี อาโป เตโช เป็นต้น
คู่ที่ ๔ อินทริยรูป คู่กับ อนินทริยรูป
อินทริยรูป คือ รูปที่ทำหน้าที่เป็นใหญ่ ในการรับอารมณ์ต่างๆ มีการเห็นเป็นต้น ได้แก่ปสาทรูป ๕ และชีวิตรูป ๑ อนินทริยรูป คือ รูปที่ไม่เป็นใหญ่ ในการรับอารมณ์ต่างๆ ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๐
คู่ที่ ๕ โอฬาริกรูป คู่กับ สุขุมรูป
โอฬาริกรูป คือรูปหยาบ หมายถึง รูปที่ปรากฏชัด ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และ วิสยรูป ๗ สุขุมรูป คือรูปละเอียด หมายถึง รูปที่ไม่ปรากฏชัด ได้แก่ รูปที่เหลือ ๑๖
คู่ที่ ๖ สันติเกรูป คู่กับ ทูเรรูป
สันติเกรูป คือ รูปใกล้หมายถึงรูปที่รู้ได้ง่าย ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และ วิสยรูป ๗ ทูเรรูป คือ รูปไกล เป็นรูปที่รู้ได้ยาก ได้แก่ รูปที่เหลือ ๑๖
คู่ที่ ๗ สัปปฏิฆรูป คู่กับ อัปปฏิฆรูป
สัปปฏิฆรูป คือรูปที่กระทบซึ่งกันและกันได้ เช่นเสียงมากระทบที่หู ทำให้เกิดการได้ยิน ได้แก่ปสาทรูป วิสยรูป ๗ อัปปฏิฆรูป คือรูปที่กระทบซึ่งกันและกันไม่ได้ ได้แก่ รูปที่เหลือ ๑๖
คู่ที่ ๘ อุปาทินนรูป คู่กับ อนุปาทินนรูป
อุปาทินนรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรม คือ กรรมชรูป ๑๘ ได้แก่ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ และ อวินิพโภครูป ๘ (คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย วัณณะ คันธะ รสะ โอชา) อนุปาทินนรูป คือรูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรม ได้แก่ จิตตชรูป๑๕ อุตุชรูป๑๓ อาหารชรูป๑๒
คู่ที่ ๙ สนิทัสสนรูป คู่กับ อนิทัสสนรูป
สนิทัสสนรูป คือรูปที่เห็นด้วยตาได้ ได้แก่ วัณณรูป สีต่าง ๆ เท่านั้นที่เห็นได้ด้วยตาส่วนรูปที่เหลือ ๒๗ นั้น เป็นที่โคจรของรูปารมณ์ เห็นด้วยตาไม่ได้ อนิทัสสนรูป รูปที่เห็นด้วยตาไม่ได้ ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๗
คู่ที่ ๑๐ โคจรัคคาหกรูป คู่กับ อโคจรัคคาหกรูป
โคจรัคคาหกรูป คือ รูปที่เป็นที่อาศัยเกิดขึ้นของอารมณ์ทั้ง ๕ (เช่นจักขุปสาทรูป ปสาทรูป ๕) อโคจรัคคาหกรูป คือรูปที่ไม่เป็นที่อาศัยเกิด ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๓
คู่ที่ ๑๑ อวินิพโภครูป คู่กับ วินิพโภครูป
อวินิพโภครูป คือรูปที่แยกจากกันไม่ได้ รูปหนึ่งๆ ต้องมีรูปเกิดขึ้นอย่างน้อย ๘ รูปเสมอ ได้แก่ ปฐวี อาโป เตโช วาโย วัณณะ คันธะ รสะ โอชา วินิพโภครูป รูปที่แยกจากกันได้ ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๐

สรุป การศึกษาเรื่องรูป ๒๘ โดยนัยต่างๆ ในบทเรียนชุดที่ ๕ ตอนที่ ๑ ที่ผ่านมาศึกษาเฉพาะ ๒ นัย แต่ ละนัยก็มีการแสดงรายละเอียดของรูป ๒๘ หลายแง่มุม แต่ละแง่มุมก็จะทำให้รู้จักรูปอย่างละเอียด ความรู้ที่ได้จาก การศึกษาเรื่องรูปหลายแง่มุมนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่การนำไปปฏิบัติ เพราะการศึกษาปริยัติอย่างดี อย่างถูกต้องก็จะทำให้เกิดปัญญาที่ถูกต้องและเมื่อปฏิบัติก็จะเกิดผล และเป็นเหตุแห่งการบรรลุธรรมได้ในอนาคต


วันเสาร์

หมวดที่ ๕ รูปปรมัตถ์ นัยที่ ๑/๒


ต่อจากรูปปรมัตถ์หน้า ๑

รูปประเภทที่สาม :วิสยรูป ๔
วิสยรูป ๔ ได้แก่ วัณณรูป สัททรูป คันธรูป รสรูป (อ่านว่า วัน-นะ-รูป , สัด-ทะ-รูป ,คัน-ทะ-รูป , ระ-สะ-รูป) คำว่า วิสัย เป็นคำในภาษาไทย แปลว่า ขอบเขต แดน ความเป็นอยู่ เช่นวิสัยทัศน์ คือการมองเห็นที่มีขอบเขต ดังนั้น คำว่า วิสยรูป จึงหมายถึง รูปที่เป็นที่ขอบเขต เช่น วัณณรูป (หรือ รูปารมณ์)เป็นขอบเขตของจักขุวิญญาณอาศัยเกิดขึ้นเท่านั้น (ไม่เป็นที่อาศัยของโสตวิญญาณหรืออื่นๆ) วิสยรูป มีการกระทบกับปสาทรูปทั้ง ๕ มีจักขุปสาทรูป เป็นต้น เป็นอารมณ์ให้แก่ ปัญจวิญญาณจิตทั้ง ๕ มีจักขุวิญญาณจิต เป็นต้น คำว่า โคจรรูป แปลว่า รูปอันเป็นที่โคจรท่องเที่ยวไปของจิต มีจักขุวิญญาณ เป็นต้น ฉะนั้นการจะเรียกว่าวิสยรูป หรือ โคจรรูป ก็เป็นไปตามความหมายข้างต้น ส่วนจำนวน ๔ ก็เป็นการนับเฉพาะ วัณณรูป สัททรูป คันธรูป รสรูป ถ้าจะนับเป็น ๗ ก็รวมเอา โผฏฐัพพารมณ์ ๓ คือ ปถวี เตโช วาโย เข้าไว้ด้วยกันเป็น ๗ เพราะทั้ง ๗ เป็นอารมณ์ให้แก่ จิต และเจตสิกเกิดร่วมได้

๑.วัณณะรูป หรือ รูปายตนะ คือ สี เป็นสิ่งที่เห็นได้และกระทบได้ ได้แก่ สีต่างๆ ที่เกิดจากแสงสะท้อนแล้วมากระทบที่จักขุปสาท รูปทั้งหลายทั้งหมดที่มีอยู่ล้วนแต่เป็นสีหรือภาพทั้งสิ้น รูปถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกัน แต่เมื่อว่าโดยลักษณะแล้วจะไม่ต่างกันเลย คือ สีจะทำหน้าที่กระทบกับจักขุปสาท แล้วทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น นี้คือความจริงของสภาพธรรมะที่มีอยู่ แต่เมื่อบุคคลเห็นสีต่างๆ แล้วก็มีความยินดี คือ ตัณหา มีความยึดมั่น คือ อุปาทาน เข้าไปยินดีพอใจ ยังมีโทสะ คือ ความไม่ชอบใจบ้าง เข้าไปยึดมั่นตามสมมุติบัญญัติที่รู้จักว่า นี้คือนาย ก. นาง ข. บ้าง ยึดมั่นว่าเป็นของเราบ้าง เป็นตัวตนของเราบ้าง แท้ที่จริงแล้วสภาพความเป็นจริงสิ่งทั้งหลายที่เห็นอยู่เป็นเพียงสีที่เกิดจากมีแสงสว่าง แล้วสะท้อนเอาสีหรือภาพนั้นเข้าสู่จักขุปสาท ทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นรับรู้สีนั้นหรือภาพนั้นเท่านั้นเอง เมื่อรู้แล้วทั้งจิตที่รับรู้ทั้งภาพทำให้รับรู้พร้อมทั้งจักขุปสาทก็ดับไปไม่ได้ตั้งอยู่ แต่ด้วยเพราะมีตัณหาคือ ความพึงพอใจ มีอุปาทานเข้าไปยึดมั่น ทาให้ปุถุชนจึงไม่สามารถพิจารณาสภาพธรรมตามความจริงได้ เมื่อได้ศึกษาวัณณรูปตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้ การเจริญวิปัสสนาสามารถทำได้ทุกที่ถ้ามีความรู้ที่ถูกต้องอย่างนี้

๒.สัททะรูป หรือ สัททายตนะ คือ เสียง หรือคลื่นเสียงที่มากระทบโสตปสาทเสียงได้แก่ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงขับร้อง เสียงปรบมือ เสียงร้องของสัตว์ เสียงกระทบกันแห่งธาตุ เสียงลม เสียงน้ำ เสียงนี้เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ เสียงถึงแม้ว่าจะมีมากมายหลายอย่าง แต่เมื่อว่าโดยลักษณะแล้ว เสียงจะมีลักษณะเหมือนกันหมด คือ มีการกระทบโสตปสาท เป็นลักษณะ เมื่อกระทบแล้วก็ทำให้โสตวิญญาณจิตเกิดสามารถรับรู้เสียงนั้นได้ บุคคลทั้งหลายที่ยังมีตัณหา คือ ความยินดีพอใจ ยังมีอุปาทานคือ ความยึดมั่นเป็นตัวเป็นตนอยู่ ยังมีโทสะ คือ ความไม่พอใจอยู่ ทำให้เข้าใจว่านี้เป็นเสียงของเรา เสียงนี้เป็นเสียงของคนที่เรารัก หรือเกลียด มันจึงทำให้เราไม่สามารถระลึกรู้ถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
ปุถุชนจึงต้องทุกข์อยู่อย่างนี้ ไม่สามารถพ้นไปจากวัฏฏทุกข์ได้ แต่ถ้าได้ศึกษาแล้วก็สามารถที่จะพิจารณาลักษณะที่แท้จริงของเสียงได้ เมื่อพิจารณาได้ถูกต้องปัญญาก็จะเกิดขึ้นกับท่านได้ การพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้เป็นการเจริญวิปัสสนาแล้ว เมื่อพิจารณาอยู่บ่อย ๆ ก็จะรู้จักว่าอะไรคือรูป อะไรคือนาม

๓.คันธะรูป หรือ คันธายตนะ ได้แก่ กลิ่น ซึ่งเป็นไอระเหยของวัตถุสิ่งของที่มีกลิ่น ที่มากระทบกับจมูก (ฆานปสาทรูป) ฆานวิญญาณจิตเกิดขึ้นทำให้รู้กลิ่น เช่น กลิ่นหอมของดอกไม้ หรือน้ำหอมเป็นต้น กลิ่นทั้งหลายเมื่อว่าโดยลักษณะแล้วก็มีเพียงการกระทบฆานปสาทเป็นลักษณะเหมือนกันหมด

๔.รสะรูป หรือ รสายตนะ ได้แก่ รสต่างๆ เช่น รสเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด ขม ฝาด ที่ปรากฏที่ลิ้น (ชิวหาปสาทรูป) ชิวหาวิญญาณจิตก็จะทำหน้าที่รู้รสต่างๆได้ รสต่างๆ เมื่อว่าโดยลักษณะแล้วก็มีเพียงการกระทบชิวหาปสาทเป็นลักษณะเหมือนกันหมด คำว่า รส ยังใช้ในความหมายต่าง ๆ ได้อีก ๔ ประการ
๑ . ธรรมรส หมายถึง การทำบุญ -ทำบาป ที่เรียกว่า กุศลกรรม อกุศลกรรม
๒ . อรรถรส หมายถึง ผลของบุญ-บาป ที่บุคคลได้กระทำไว้แล้ว จะทำให้เกิดรสชาติของความทุกข์ความระทมขมขื่น หรือความสุขความสำราญใจตามมา
๓. วิมุตติรส หมายถึง รสของการเข้าถึงนิพพาน พ้นจากกิเลสซึ่งทำให้เศร้าหมอง
๔. อายตนรส หมายถึง รสต่างๆ ที่มากระทบกับลิ้น

โผฎฐัพพารูป หรือ โผฏฐัพพายตนะ ถ้านับว่าวิสยรูป ๔ หรือ โคจรรูป ๗ ตามที่ได้อธิบายแล้วในหัวข้อรูปประเภทที่สาม ก็ต้องอธิบายถึง โผฏฐัพพายตนะต่อไปว่า โผฏฐัพพายตนะ ได้แก่ สิ่งที่มากระทบกับร่างกาย มีลักษณะ แข็ง -อ่อน ได้แก่ ปถวีธาตุ ร้อน-เย็น ได้แก่ เตโชธาตุ และหย่อน-ตึง ได้แก่ วาโยธาตุ (ส่วนลักษณะของธาตุน้ำนั้นไม่สามารถรู้ได้ทางกาย แต่รู้ได้โดยทางใจเท่านั้น)


รูปประเภทที่สี่ : ภาวรูป ๒

ภาวรูป หมายถึง รูปที่แสดงความเป็นหญิงหรือชาย เป็นรูปที่รู้ได้ด้วยใจ (ไม่ใช่เห็นด้วยตา) โดยอาศัย รูปร่าง สัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย และกิริยาอาการต่างๆ ให้รู้ว่าเป็นหญิงหรือชาย ภาวรูป ๒ ได้แก่ อิตถีภาวะ ปุริสภาวะ
๑. อิตถีภาวรูป หมายถึง รูปที่แสดงความเป็นเพศหญิง
๒. ปุริสภาวรูป หมายถึง รูปที่แสดงความเป็นเพศชาย
รูปทั้ง ๒ เป็นสุขุมรูป คือ รูปที่ละเอียดที่เกิดมาจากกรรม(มีกรรมเป็นสมุฏฐาน) เป็นรูปที่เกิดครั้งแรกในชีวิต มีอยู่แผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย เป็นธรรมที่รู้ได้ด้วยใจเห็นไม่ได้ด้วยตา อุปมาเหมือนต้นไม้เมื่อได้โอกาสงอกหยั่งรากแล้วก็ทำให้เติบโตสมบูรณ์แผ่กิ่งก้านสาขาอิตถินทรีย์ หรือสภาวะความเป็นหญิงมีอยู่ย่อมเป็นปัจจัยให้ปรากฏทรวดทรงหญิง เครื่องหมายให้รู้ว่าหญิง เป็นต้น


ทำกรรมอะไรจึงต้องเกิดมาเป็นหญิงหรือชาย เกิดเป็นชายก็เพราะกำลังของการทำกุศลในชาติก่อนมีกำลังแรง เข้มแข็ง การตัดสินใจและการตั้งใจเด็ดเดี่ยวไม่หวั่นไหว เกิดเป็นหญิงเพราะกำลังของกุศลอ่อน การตัดสินใจและการตั้งใจไม่เด็ดเดี่ยวเข้มแข็งเหมือนชาย ฉะนั้นการเกิดมาเป็นหญิงหรือชายก็ขึ้นอยู่กับกำลังของบุญกุศลที่เราได้กระทำมาแล้วนั่นเอง แต่อีกนัยหนึ่งการเกิดเป็นหญิงเพราะการประพฤติผิดศีลข้อ ๓ และในบุคคลบางคนก็มีความพอใจในความเป็นหญิงก็ทำให้เกิดมาเป็นหญิงได้เช่นกัน

รูปประเภทที่ห้า : หทัยรูป๑
คำว่า หทัย เป็นชื่อของก้อนเนื้อหัวใจ ในก้อนเนื้อหัวใจนั้นข้างในมีหลุมขนาดบรรจุเมล็ดดอกบุนนาคได้ มีโลหิตขังอยู่ประมาณกึ่งซองมือ หทยรูปก็อยู่ในโลหิตกึ่งซองมือนี้นั่นเอง หทยรูปนี้ เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นแหล่งที่อาศัยเกิดของจิต (มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุและธรรมอื่นที่เกิดประกอบ) หทยรูปนี้มี ๒ อย่าง คือ
๑. มังสหทยรูป ได้แก่ ก้อนเนื้อที่เป็นรูปหัวใจ มีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม
๒. วัตถุหทยรูป ได้แก่ เป็นรูปพิเศษที่อยู่ในมังสหทยรูปอีกทีหนึ่งไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา

รูปประเภทที่หก : ชีวิตรูป ๑
ชีวิตรูป คือ เป็นรูปที่เกิดจากกรรม ชีวิตรูปมีหน้าที่รักษารูปทั้งหลายมิให้เน่าเปื่อยแตกสลาย ทำให้คนเรามีชีวิตอยู่ได้ ทำให้สร้างกุศลกรรม อกุศลกรรมต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด คำว่าชีวิต มี ๒ อย่าง คือ รูปชีวิต และ นามชีวิต รูปชีวิต ได้แก่ ชีวิตรูปนี้เอง ส่วนนามชีวิต ได้แก่ ชีวิตินทรีย์เจตสิก ที่ได้ศึกษาผ่านมาแล้ว

รูปประเภทที่เจ็ด : อาหารรูป ๑
อาหารรูป คือ อาหารที่เรารับประทาน เมื่อรับประทานแล้วย่อยแล้วโดยไฟธาตุที่อยู่ในร่างกาย ส่วนที่ย่อยแล้วชื่อว่า โอชา โอชานี้เองที่เป็นอาหารรูปที่ไปหล่อเลี้ยงร่างกาย เป็นเลือดเป็นเนื้อ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวต่อไป (อาหารที่รับประทานเป็นคำๆ ที่ยังไม่ย่อยเป็นโอชา ชื่อว่า กพฬีการาหาร เมื่อย่อยแล้วจึงชื่อว่า โอชา)

รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป ได้กล่าวมาแล้ว ๑๘ รูปโดยกล่าวเป็น ๗ ประเภท ในรูปทั้ง ๑๘ รูปนี้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นิปผันนรูป ๑๘ คำว่า นิปผันนรูป หมายถึง รูปที่มีสภาวะของตนเอง เช่น ปถวีธาตุ มีความแข็ง เป็นลักษณะ ซึ่งสามารถนาลักษณะแข็งมาเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้ ให้เกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตาได้ รูปที่เหลืออีก ๑๐ รูป เรียกว่า อนิปผันนรูป ๑๐ เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะของตนเอง ต้องอาศัยนิปผันรูปเกิดขึ้น ต่อไปจะศึกษาเรื่องอนิปผันรูป ๑๐



อนิปผันนรูป ๑๐
อนิปผันนรูป มี ๑๐ รูป เป็นรูปที่อาศัยนิปผันนรูป ถ้าไม่มีนิปผันนรูปแล้วอนิปผันนรูปก็เกิดขึ้นไม่ได้ เช่น ปริจเฉทรูป คือ ช่องว่าง ตัวอย่างเช่น นิ้วมือ หรือนิ้วเท้า ถ้านิ้วมือหรือนิ้วเท้าติดเป็นแผ่นเดียวกัน เราก็นับไม่ได้ว่านิ้วมือมี ๕ นิ้ว หรือนิ้วเท้ามี ๕ นิ้ว ช่องว่าง จึงจัดเป็นรูปๆหนึ่ง ทำหน้าที่คั่นไม่ให้สิ่งทั้งหลายติดกันเท่านั้น ทำให้นับเป็นชิ้นเป็นอันๆ ขึ้นมาได้ ดังนั้น ช่องว่าง จึงไม่จัดเป็นรูปที่แท้จริง ไม่สามารถที่จะนับเป็นชิ้นเป็นอันอย่างนิปผันนรูปดังกล่าวมาแล้วได้ อนิปผันนรูป ๑๐ ได้แก่
ปริจเฉทรูป ๑ 
วิญญัติรูป ๒
วิการรูป ๓
ลักขณะรูป ๔

รูปประเภทที่แปด : ปริจเฉทรูป ๑
ปริจเฉทรูป คือ ช่องว่างหรืออากาศที่คั่นระหว่างกลุ่มรูป รูปหนึ่งๆ จะเกิดขึ้นเดี่ยว ๆ ไม่ได้ อย่างน้อยต้องมีรูปเกิดร่วม ๘ รูปด้วยกัน (อวินิพโภครูป) และปริจเฉทรูปนี้เองที่ทำหน้าที่คั่นระหว่างกลุ่มรูปหนึ่งๆ เปรียบเสมือนช่องว่างระหว่างนิ้วมือที่มีหนังหุ้มและอากาศมาตัดคั่นทำให้เป็นลักษณะนิ้วได้ ถ้าไม่มีช่องว่างมาคั่นก็จะติดกันเป็นแผงเช่นเดียวกับเท้าของเป็ด

รูปประเภทที่เก้า : วิญญัติรูป ๒
๑. กายวิญญัติรูป คือ การเคลื่อนไหวทางกายเพื่อให้รู้ความหมาย มีการเดิน การยืน การกวักมือ เป็นต้น
๒. วจีวิญญัติรูป คือ การพูด การเปล่งวาจา เพื่อให้รู้ความหมาย

รูปประเภทที่สิบ : วิการรูป ๓
๑. ลหุตารูป คือ ความเบา ความคล่องแคล่ว การเปลี่ยนอิริยาบถได้รวดเร็ว ของรูปทั้งหลาย
๒. มุทุตารูป คือ ความอ่อน ความไม่กระด้าง ความไม่ขัดข้องในกิริยา ของรูปทั้งหลาย
๓. กัมมัญญตารูป คือ ความควรแก่การงาน ความคล่องแคล่ว ของรูปทั้งหลาย

วิการรูปทั้ง ๓ นี้ ต้องเกิดพร้อมกัน เกิดในกลาปเดียวกัน แต่ถึงจะเกิดพร้อมกันก็ยังมีลักษณะที่แตกต่างกันคือ เบา อ่อน และควรแก่การงาน ในวิการรูปทั้ง ๓ นั้นก็ต้องอาศัยรูปอื่น ๆ เช่น อาหารรูปเป็นต้น แล้วจึงเกิดขึ้น เช่นผู้ปฏิบัติกรรมฐานเมื่อรับประทานอาหารที่เหมาะแก่ตนก็จะรู้สึกว่าวันนี้เราได้อาหารที่เป็นสัปปายะ(เหมาะสม) กายของเราจึงรู้สึกเบาสบายเหมาะแก่การปฏิบัติ หรือถ้าได้อากาศที่ดีก็จะรู้สึกว่าเราได้อุตุที่เป็นสัปปายะ ทาให้เหมาะแก่การปฏิบัติ ดังนี้เป็นต้น นี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าอาหารหรืออากาศก็มีผลต่อความเบา อ่อน และควรแก่การงานของรูป ในตัวอย่างที่แสดงนี้ต้องการมุ่งเห็นเห็นสภาวะของวิการรูปทั้ง ๓ แต่ในเรื่องการของปฏิบัติวิปัสสนาที่ต้องการรู้สภาวะของปรมัตถ์จริงๆ แล้วต้องทิ้งคำว่า “เรา” เพราะการที่ได้อาหารที่ดีหรืออากาศที่ดีเหมาะสมกับผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติก็ต้องพิจารณาความเป็นไปตามสภาวะปรมัตถ์นั้นเองว่า ความเคลื่อนกายไหวกายเป็นไป จิตก็รับรู้ความเคลื่อนกายไหวกายนั้นเป็นต้น

รูปประเภทที่สิบเอ็ด : ลักขณะรูป ๔
๑. อุปจยรูป คือ ความเริ่มเกิดของรูป อุดหนุนให้รูปมีความบริบูรณ์ ทำให้รูปเติบโต
๒. สันตติรูป คือ การเกิดขึ้นสืบต่อกันแห่งรูป หรือเรียกว่าความแก่ของรูป การเกิด เปรียบเหมือนการขุดหลุมที่ริมฝั่งแม่น้ำ น้ำย่อมซึมเข้าในหลุม ความเติบโต ก็คือความเจริญแห่งรูปเปรียบเหมือนน้ำที่เต็ม ความสืบต่อเปรียบเหมือนน้ำที่ล้นหลุม
๓. ชรตารูป คือ ความแก่ ความเสื่อมไปแห่งรูป ทำให้เป็นสัญญาณของการมุ่งหน้าไปสู่ความตาย ทำให้ความเป็นหนุ่มเป็นสาวหายไป เช่น เมื่ออายุมากแล้วจักขุก็แก่ชราไปด้วยทำให้ สายตาก็เสื่อมถอยลง ชรามี ๒ อย่าง คือ ชราที่ปรากฏ และ ชราที่ปกปิด ชราที่ปรากฏ คือ ความแก่ชราที่ปรากฎให้เห็น เช่น ฟันหลุด หนังเหี่ยว ชราที่ปกปิด คือ ชราที่ไม่แสดงความเป็นไปให้ปรากฏ แต่ความเสื่อมสิ้นทรุด โทรมของร่างกายทุกส่วนก็มีอยู่ทุกขณะ
๔. อนิจจรูป คือ ความสิ้นไป ความทำลายไปของรูป ความแตกดับของรูป