วันอาทิตย์

๑.๒ อุปัตถัมภกกรรม

อุปัตถัมภกกรรม หมายถึง กรรมที่ทำหน้าที่ช่วยอุดหนุนกรรมอื่นๆ

เป็นกรรมที่อุปถัมภ์กรรมอื่นๆ คือ ช่วยอุปถัมภ์รูปนามขันธ์ ๕ ที่เกิดจากกรรมอื่นๆได้ องค์ธรรมได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ มหากุศลกรรม ๘ คำว่า อุปัตถัมภกกรรม เพราะเป็นกรรมที่มีความหมายว่าอุปถัมภ์ กล่าวคือ อุปถัมภ์วิบากอันเป็นผลของชนกกรรมนั่นเอง เฉพาะอุปัตถัมภกกรรมเอง ไม่สามารถที่จะทำให้วิบากเกิดได้โดยตรง ทำได้แต่เพียงอุปถัมภ์สุข หรือ ทุกข์นั้นให้เป็นไปได้นานๆ ใน*ปวัตติกาล (สุขหรือทุกข์นี้เป็นวิบากที่ชนกกรรมทำให้เกิดขึ้น) เช่น ช่วยอุปถัมภ์ทำให้ธาตุทั้ง ๔ มีความสม่ำเสมอกัน จึงทำให้เป็นคนมีโรคน้อย เป็นคนมีอนามัยดี เมื่อบุคคลนั้นมีโรคน้อย เป็นคนมีอนามัยดี ชนกกรรมที่เป็นกุศลที่ได้ทำไว้แล้วในอดีตก็มีโอกาสให้ผลได้โดยสะดวก ส่งผลให้ได้รับความสุขให้เกิดได้บ่อยๆ ด้วยเหตุที่ทำหน้าที่อุปถัมภ์สนับสนุนให้ชนกกรรมฝ่ายกุศลมีโอกาสให้ผลได้โดยสะดวก จึงได้ชื่ออุปัตถัมภกกรรม ส่วนฝ่ายอกุศลก็มีนัยเป็นไปในทำนองตรงกันข้ามคือทำให้ได้รับทุกข์ ต่อไปจะได้ศึกษาเรื่องอุปัตถัมภกกรรมในนัยต่างๆ โดยละเอียด

อุปัตถัมภกกรรม มี ๓ ประการ คือ
๑. อุดหนุนชนกกรรม ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล มี ๘ คือ
๑.๑ กุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในอดีตภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล 
ตัวอย่างเช่น บุคคลทำทั้งกุศลและอกุศล เมื่อใกล้จะตายถ้ามีสติกำหนดรู้เท่าทันจิต ทำให้จิตผ่องใสไม่เศร้าหมอง ไม่ห่วงกังวลในทรัพย์สินเงินทองหรือเรื่องใดๆ กุศลที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตายจะช่วย อุดหนุนแก่กุศลกรรมที่ทำไว้แล้วในชาติก่อนๆ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้ได้มีโอกาสส่งผลนำไปเกิดในภพภูมิที่ดีต่อไป 

๑.๒ กุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล   
ตัวอย่างเช่น บุคคลเมื่อใกล้จะตายถ้าเกิดความห่วงใยในบุตร ภรรยา สามี ทรัพย์สิน อาลัยอาวรณ์ในชีวิตตนเอง ไม่อยากตาย กลัวตาย เพราะความตายทำให้พลัดพรากจากสิ่งที่รัก สิ่งที่หวงแหน ใจเศร้าหมอง กระวนกระวาย สีหน้าเปลี่ยนไป เกิดความวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด ถ้าปล่อยให้ตายไป ในลักษณะอย่างนี้ก็ไปสู่ทุคติภูมิ

จะแก้ไขอย่างไร ? ทั้งๆ ที่กุศลก็เคยทำมาแล้ว แต่กุศลนั้นช่วยไม่ได้ เพราะว่าปัจจุบันมีแต่อกุศล เกิดขึ้น มีความยึดถือ ความห่วงใย ทำให้ใจเศร้าหมอง ผู้ปรนนิบัติถ้ารู้เท่าทันต่ออารมณ์ ก็ควรพูดให้ผู้ใกล้ตายนึกถึงบุญกุศลที่เคยทำมา เช่น สร้างโบสถ์ ศาลา พระประธาน ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ใส่บาตร ฯลฯ ผู้ใกล้ตายเคยทำบุญอะไรก็ให้ ผู้ปรนนิบัติพูดถึงเสมอๆ ให้ดูรูปถ่ายงานบุญที่เคยทำเพื่อให้ผู้ใกล้ตายนึกถึงบุญที่เคยทำไว้ อารมณ์ใหม่ที่ได้รับนี้อาจจะทำให้คลายความทุกข์ และมีอารมณ์เป็นกุศลเกิดขึ้น เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้ใกล้ตายมีกุศลเกิดขึ้น ทำให้กุศลชนกกรรมในปัจจุบันที่เคยทำไว้แล้วและยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสส่งผลนำไปสู่สุคติภูมิได้

๑.๓ อกุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในอดีตภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล  
ตัวอย่างเช่น บางคนบริจาคทาน รักษาศีล แต่ว่าจิตไม่ถึงขั้นภาวนาแล้วก็ไม่รู้เรื่องชีวิต ไม่รู้เรื่องรูปนาม เพราะว่าไม่ได้ศึกษาเรื่องรูปนาม พอใกล้ตายก็มีแต่ความกลัว กลัวความพลัดพราก จิตก็ผูกพันอยู่กับทรัพย์สมบัติที่ตัวเองไม่ได้ทำทาน ผูกพันอยู่กับลูกหลานบริวารต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้เกิดทุกข์ จิตใจเศร้าหมอง 
ถ้าคนที่ปรนนิบัติไม่รู้เรื่องธรรมะ ไม่มีการศึกษาธรรมะ ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร บางครั้งลูกหลานมานั่งร้องไห้ ยิ่งทำให้ห่วงหนักขึ้นไปอีก จิตก็ยิ่งเศร้าหมอง เมื่อเป็นเช่นนี้ อกุศลที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตายนี้เองจะเปิดโอกาสให้อกุศลกรรมทั้งหลายที่เคยทำไว้แล้วในอดีตภพ มีกำลังส่งผล เมื่อตายลงก็นำไปเกิดในอบายภูมิ

๑.๔ อกุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล
ตัวอย่างเช่น บางบุคคลเมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก ขาดการอบรมสั่งสอนเรื่องบาปบุญ จึงทำอะไรตาม ประสาเด็ก เช่น ชอบรังแกสัตว์ ตีสัตว์ให้ตาย ตกปลา เห็นเป็นเรื่องสนุก เพราะว่าไม่รู้เรื่องบาป บุญ แต่ถ้าพ่อแม่เป็นคนมีศีลธรรมก็จะห้ามลูกให้กลัวบาป เด็กจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม แต่คำว่าบาปนี้ ติดหูเด็ก เด็กก็ไม่กล้าทำ ถ้าทำชั่วอย่างนี้เป็นบาป เด็กบางคนพ่อแม่ไม่ได้สั่งสอนเรื่องบาป บุญคุณโทษ แม้แต่คำว่า “บาป” ในสมัยนี้เราก็ไม่พูดถึงแล้ว บาปบุญคุณโทษเป็นอย่างไรไม่รู้เรื่อง จึงทำบาปด้วยความคะนองตามประสาเด็ก พอโตขึ้นตอนใกล้ตายจิตใจนึกถึงเมื่อตอนเด็กว่าเคยฆ่า สัตว์ เคยทำบาปอย่างนั้นๆ เมื่อตายในขณะที่ใจเศร้าหมองก็ส่งผลให้ไปเกิดในอบายภูมิ เพราะ อกุศล ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้ตายเป็นกำลัง อุดหนุนเปิดโอกาสแก่อกุศลกรรมในปัจจุบันภพที่ยังไม่มีโอกาสส่งผล ให้มีโอกาสส่งผล 

๑.๕ กุศล ที่เกิดขึ้นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในอดีตภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล 
ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ทำกุศลสม่ำเสมอ กุศลก็อุปถัมภ์เปิดโอกาสในกุศลชนกกรรมในอดีตให้มีโอกาส ส่งวิบาก คือ ผลให้เกิดขึ้นได้ อาจทำให้บุคคลนั้นร่ำรวยเป็นเศรษฐีในชาตินั้นได้รับความสุข ไม่มีโรคภัยอันตรายใดๆมาเบียดเบียน ถึงแม้ในขณะนั้นสถานที่ที่อยู่อาศัยอาจจะเต็มได้ด้วยภัยต่างๆ แต่เขาก็ปลอดภัย เพราะกุศลที่ทำเสมอในชาตินี้ เป็นกำลังช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในอดีตให้ส่งผล

๑.๖ กุศล ที่เกิดขึ้นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล 
ตัวอย่างข้อนี้ เป็นไปในทำนองเดียวกันกับข้อที่ ๑.๕ คือ กุศลที่ทำเป็นปกติในชาตินี้ อุปถัมภ์ช่วยเปิดโอกาสให้กุศลชนกกรรมในชาตินี้ส่งผล ถ้าส่งผลอุปถัมภ์นามรูปที่เกิดมาแล้ว ก็สามารถทำให้ได้รับ ความสุขในการดำรงชีวิต จากที่ลำบาก ก็อาจจะสบายขึ้น จากที่มีโรคภัยก็อาจทำให้หายจากโรคภัย

๑.๗ อกุศล ที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในอดีตภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล
ตัวอย่างเช่น ในฝ่ายอกุศลกรรมที่ทำเป็นปกติ แต่กำลังของอกุศลกรรมนี้ไม่มีโอกาสส่งผลด้วยตัวเอง จึงอุปถัมภ์เปิดโอกาสในอกุศลชนกกรรมในอดีตภพได้มีโอกาสให้ผล ให้วิบากคือความทุกข์ ความเดือดร้อนเกิดขึ้นได้บ่อยๆ นานๆ เช่น คนที่ทำอาชีพฆ่าสัตว์ กรรมนี้ยังไม่ให้ผล แต่ก็เปิดโอกาสให้ อกุศลชนกกรรมในอดีตส่งผล ทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย ไม่มียา ไม่มีหมอจะรักษา ได้รับทุกข์ทรมาน ทรัพย์ที่ได้มาก็หมดไปกับการขจัดทุกข์ที่อกุศลชนกกรรมนั้นส่งผลมา

๑.๘ อกุศล ที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล
ตัวอย่างในข้อนี้ เป็นไปในทำนองเดียวกับข้อที่ ๑.๗ คือ อกุศลที่ทำเป็นปกติในชาตินี้ อุปถัมภ์ช่วย เปิดโอกาสให้อกุศลชนกกรรมในชาตินี้ส่งผล คือ ทำให้ได้รับความทุกข์ 

สรุป อุปัตถัมถกกรรมที่ทำหน้าที่ช่วยอุดหนุนชนกกรรมที่ยังไม่มีโอกาสส่งผล ให้มีโอกาสส่งผล ซึ่ง ได้แก่กุศลและอกุศลที่เกิดขึ้นในมรณาสันนกาลก็ดี หรือกุศลและอกุศลที่ทำในภพนี้ก็ดี จะทำหน้าที่อุปถัมภ์แก่ ชนกกรรมให้ทำหน้าที่นำให้วิบากปรากฏขึ้น

๒. อุดหนุนชนกกรรม ที่กำลังมีโอกาสให้ผล ให้มีกำลังในการให้ผลบริบูรณ์ยิ่งขึ้น มี ๑๐ ข้อ
๒.๑ กุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในอดีตภพ 
๒.๒ กุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ
 
๒.๓ อกุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในอดีตภพ 
๒.๔ อกุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ 

๒.๕ กุศล ที่เกิดขึ้นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในอดีตภพ
๒.๖ กุศล ที่เกิดขึ้นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ 
๒.๗ อกุศล ที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในอดีตภพ 
๒.๘ อกุศล ที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ
 
๒.๙ กุศล ที่เกิดขึ้นในอดีตภพ ช่วยอุดหนุนแก่กุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ 
๒.๑๐ อกุศล ที่เกิดขึ้นในอดีตภพ ช่วยอุดหนุนแก่อกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ

อุปัตถัมภกกรรม ตั้งแต่ข้อที่ ๑ ถึง ข้อที่ ๘ นี้ จะมีสาระเหมือนกับ ๘ ข้อ ในหัวข้อที่ ๑ อุดหนุนชนกกรรม ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่แตกต่างกันตรงหน้าที่เท่านั้นกล่าวคือ หน้าที่ของอุปภัมถ์โดยนัยนี้จะทำหน้าที่อุปถัมภ์ชนกกรรมที่กำลังมีโอกาสให้ผล ให้มีกำลังในการให้ผลบริบูรณ์ยิ่งขึ้นไป มีรายละเอียด ดังนี้ 

ข้อที่ ๒.๑ – ๒.๔ ฝ่ายกุศลฝ่ายอกุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย
ตัวอย่างฝ่ายกุศล ข้อ ๒.๑ – ๒.๒ กุศลที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ไปทำหน้าที่ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในอดีตภพก็ได้ หรือมีโอกาสอุดหนุนทำให้กุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพนี้ก็ได้ ที่กำลังมีโอกาสให้ผลอยู่แล้ว ให้สามารถมีกำลังการส่งผลได้เต็มที่บริบูรณ์มากขึ้น เช่น ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็ได้เป็นมนุษย์ชั้นสูงห่างไกลจากความทุกข์ทั้งปวง ได้อยู่ในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ มีพระพุทธศาสนา อยู่ในท่ามกลางของบัณฑิต เป็นต้น แต่ถ้าหากว่ากุศลในขณะใกล้ตายนี้ไม่มีโอกาสมาเป็นกำลังอุดหนุนกุศลชนกกรรมนี้แล้วไซร้ อาจจะได้เกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ไปเกิดอยู่ในดินแดนที่เต็มไปด้วยทุกข์ยากแค้น มีสงคราม ทำมาหาเลี้ยงชีพลำบากยากแค้นเป็นต้น

ตัวอย่างฝ่ายอกุศล ข้อ ๒.๓ – ๒.๔ ก็เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับฝ่ายกุศลนั้นเอง กล่าวคือ อกุศลที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ไปทำหน้าที่ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในอดีตภพก็ได้ หรือมีโอกาสอุดหนุนทำให้อกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพนี้ก็ได้ ที่กำลังมีโอกาสให้ผลอยู่นั้น ให้มีกำลังส่งผลได้เต็มที่บริบูรณ์มากขึ้น เช่น อกุศลชนกกรรมได้รับกำลังอุดหนุนทำให้มีกำลังมากยิ่งขึ้น จึงนำไปเกิดในนรกขุมที่ลึกที่สุด ได้รับทุกข์โทษอย่างแสนสาหัสที่สุด

ตัวอย่างฝ่ายกุศล - ฝ่ายอกุศล ข้อที่ ๒.๕ – ๒.๘ ที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ตัวอย่างฝ่ายกุศล ข้อ ๒.๕ – ๒.๖ กุศลกรรมต่างๆ ที่กระทำไว้แล้วอย่างสม่ำเสมอในชาตินี้ มีโอกาสเป็นกำลังอุดหนุนส่งเสริมให้กุศลชนกกรรมในอดีตภพก็ได้หรือกุศลกรรมในปัจจุบันภพนี้ก็ได้ ที่กำลังมีโอกาสให้ผลอยู่นั้น ให้สามารถมีกำลังการส่งผลได้เต็มที่บริบูรณ์มากขึ้น เช่น ถ้าได้เกิดเป็นเทวดา ก็อาจจะเป็นเทวดาที่มีวิมานของตนเอง มีรัศมีผุดผ่องกว่าเหล่าเทวดาทั้งหลาย เป็นเทวดาที่อยู่ในกลุ่มของเทวดาสัมมาทิฏฐิ ซึ่งจะมีโอกาสทำให้เป็นเทวดาสัมมาทิฏฐิด้วยเป็นต้น

ตัวอย่างฝ่ายอกุศล ข้อที่ ๒.๗ - ๒.๘ ก็เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับฝ่ายกุศลนั้นเอง กล่าวคือ อกุศลกรรมที่กระทำไว้แล้วอย่างสม่ำเสมอในชาตินี้ ไปทำหน้าที่ช่วยอุดหนุนอกุศลอกุศลชนกกรรมในอดีตภพก็ได้ หรือมีโอกาสอุดหนุนทำให้อกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพนี้ก็ได้ ที่กำลังมีโอกาสให้ผลอยู่
นั้น ให้มีกำลังส่งผลได้เต็มที่บริบูรณ์มากขึ้น เช่น บางบุคคลดำรงชีวิตอยู่ด้วยการทำแต่อกุศลไม่ว่าจะ เป็นการทำมาหาเลี้ยงชีพ การพูด การกระทำการคิด ล้วนแล้วแต่เป็นอกุศล บุญทานไม่เคยทำ คิดแต่ว่าการจะได้มาซึ่งทรัพย์สิน ชื่อเสียง เกียรติยศ ก็ต้องแลกมาด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องด้วยกล เมื่อถึงเวลาใกล้ตายก็ไม่มีที่พึ่งคือบุญอย่างใดๆ เลย ระลึกนึกถึงได้แต่อกุศลเพราะเคยชินอยู่กับการใช้ชีวิตแบบอกุศล อกุศลที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตายนี้ก็มีกำลังช่วยอุดหนุนทำให้อกุศลชนกกรรมทั้งในอดีตภพ หรือ ปัจจุบันที่กำลังมีโอกาสให้ผล ก็มีกำลังในการส่งผลได้อย่างบริบูรณ์มากขึ้น แรงยิ่งขึ้น

ตัวอย่างฝ่ายกุศล ข้อที่ ๒. ๙ กุศลที่เกิดขึ้นในอดีตภพ ช่วยอุดหนุนแก่กุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ ที่กำลังมีโอกาสให้ผลให้มีกำลังในการให้ผลบรบิูรณ์ยิ่งขึ้น บุคคลที่ทำกุศลกรรมในปัจจุบันไว้ดีแล้ว กุศลนั้นก็สามารถส่งผลได้ในปัจจุบันภพ ทำให้ชีวิตได้รับความสุข ครอบครัวก็ได้รับความสุขอย่างดีอย่างบริบูรณ์ ซึ่งกุศลในปัจจุบันภพนี้ที่ได้มีโอกาสส่งผลได้อย่างเต็มที่ก็เพราะว่าได้รับกำลังอุดหนุนมาจากกุศลในอดีตภพด้วย 
ข้อที่ ๒. ๑๐ อกุศลที่เกิดขึ้นในอดีตภพ ช่วยอุดหนุนแก่อกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ
ที่กำลังมีโอกาสให้ผล ให้มีกำลังในการให้ผลบริบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็นไปในทำนองตรงกันข้ามกับข้อที่ ๙ กล่าวคือ เป็นไปในฝ่ายอกุศลที่ทำในชาตินี้ก็มีโอกาสส่งผลได้ อย่างเต็มที่เต็มกำลังมากยิ่งขึ้น เพราะได้กำลังอุดหนุนมาจากอกุศลในอดีตภพด้วย 

๓. อุดหนุนรูปนาม ที่เกิดมาแล้วให้เจริญขึ้นและอยู่ได้ มี ๗ คือ
๓.๑ กุศลที่เคยทำมาในภพก่อนๆ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากกุศลชนกกรรม 
๓.๒ กุศลที่เคยทำมาในภพนี้ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากกุศลชนกกรรม

๓.๓ อกุศลที่เคยทำมาในภพก่อนๆ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากอกุศลชนกกรรม 
๓.๔ อกุศลที่เคยทำมาในภพนี้ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากอกุศลชนกกรรม
 
๓.๕ กุศลที่เคยทำมาในภพก่อนๆ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากอกุศลชนกกรรม 
๓.๖ กุศลที่เคยทำมาในภพนี้ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากอกุศลชนกกรรม
 
๓.๗ อกุศลที่เคยกระทำในภพนี้ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากกุศลชนกกรรม 

อธิบายข้อที่ ๓.๑ - ๓.๖ การที่จะเข้าใจอุปัตถัมภกกรรมที่ช่วยอุดหนุนรูปนามที่เกิดมาแล้วให้เจริญขึ้นและอยู่ได้ ต้องศึกษาถึงสภาพความเป็นไปของชีวิตในปัจจุบันนี้ให้เข้าใจโดยกระจ่างชัดว่ามนุษย์นั้นแตกต่างกัน คือ
๑. อายุยืน
๒. อายุสั้น 
๓. มีโรคน้อย
๔. มีโรคมาก 
๕. มีผิวพรรณงาม
๖. มีผิวพรรณทราม 
๗. มียศศักดิ์มาก
๘. มียศศักดิ์น้อย 
๙. มีสมบัติมาก
๑๐. มีสมบัติน้อย
๑๑. เกิดในตระกูลสูง
๑๒. เกิดในตระกูลต่ า
๑๓. มีปัญญามาก
๑๔. มีปัญญาน้อย 
 
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน “จูฬกัมมวิภังคสูตร ” ว่า “บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตามเป็นคนมักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหดมีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นอยู่ในการประหาร ไม่ เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต ครั้นเขาผู้นั้นตายไป ย่อมจักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาสมาทานพรั่งพร้อมไว้อย่างนี้ หากเขาตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แล้วถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง เขาจะเป็นคนมีอายุสั้น ” 
ส่วนเหตุที่ทำให้มีอายุยืนนั้นพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม เป็น บุรุษก็ตาม เป็นผู้ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาสตรา มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ ครั้นเขาผู้นั้นตายไปแล้วย่อม จักเข้าถึงสุคติโลก สวรรค์ เพราะกรรมนั้นอันเขาสมาทานพรั่งพร้อมไว้อย่างนี้ หากเขาตายไปไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์แล้ว ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังเขาจะเป็นคนมีอายุยืน ” พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเรื่องของกรรม โดยสรุปประมวลได้เป็น ๗ คู่ ดังนี้
 
ชอบฆ่าสัตว์เป็นเหตุให้อายุสั้น ไม่ฆ่าสัตว์มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์เป็นเหตุให้อายุยืน 
ชอบเบียดเบียนสัตว์เป็นเหตุให้มีโรคมาก ไม่เบียดเบียนสัตว์เป็นเหตุให้มีโรคน้อย 
ผู้ที่ชอบโกรธเป็นเหตุให้ผิวพรรณทราม ผู้ไม่โกรธเป็นเหตุให้ผิวพรรณงาม 
ชอบริษยาผู้อื่นเป็นเหตุให้มีอำนาจน้อย ไม่ริษยาผู้อื่นเป็นเหตุให้มีอำนาจมาก 
ตระหนี่ไม่บริจาคทานเป็นเหตุให้ยากจน ขัดสน อนาถา ชอบบริจาคทานเป็นเหตุให้มีทรัพย์สมบัติมากกระด้างถือตัวเป็นเหตุให้เกิดในตระกูลต่ำ ไม่กระด้างไม่ถือตัวบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นเหตุให้เกิดในตระกูลสูง 
ไม่อยากรู้ธรรมะ ไม่ไต่ถามผู้มีปัญญา เป็นเหตุให้มีปัญญาน้อย อยากรู้ธรรมะ หมั่นไต่ถามผู้มีปัญญา เป็นเหตุให้ มีปัญญามาก

อธิบายข้อที่ ๓.๗ อกุศลที่เคยกระทำในภพนี้ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากกุศลชนกกรรม ข้อนี้เป็นเรื่องที่ควรจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ดี เพื่อจะได้เข้าใจในสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ได้ อย่างไม่สงสัยว่า “ทำไมคนที่ทำชั่ว ถึงได้ดี
ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีอาชีพค้าสัตว์ ค้าสุรา ค้ายาพิษ ยาเสพติด ขายอาวุธ ค้ามนุษย์ เขาเหล่านั้นมีความ ร่ำรวย รุ่งเรืองในโลกธรรม คือ ได้ลาภ ได้ยศ ได้รับสุข ได้รับสรรเสริญ มีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างดี อย่างเพลิดเพลิน ทั้งๆที่อาชีพเหล่านี้เป็นบาปอกุศล แต่อกุศลนี้เป็นเครื่องอุดหนุนแก่นามรูปที่เกิดจาก กุศลชนกกรรมให้เจริญและตั้งอยู่ได้ แต่การเกิดขึ้นของอุปัตถัมภกกรรมในข้อที่ ๗ นี้ เป็นไปไม่แน่นอน มีได้แต่ในสมัยที่เป็นยุคกาลวิปัตติ คือ กาลที่กุศลธรรมความดีเสื่อมถอยเท่านั้น ในกาลสัมปัตติ คือ กาลที่กุศลธรรมความดีเจริญนั้น จะไม่มีลักษณะดังข้อที่ ๗ ถ้าผู้ศึกษาเข้าใจเรื่องของอุปัตถัมภกกรรมในข้อที่ ๗ นี้ จะได้ไม่ท้อถอยจากกุศลกรรมความดี เพราะเห็นตัวอย่างว่าคนทำไม่ดีนั้นรุ่งเรืองขึ้นๆ แต่เราผู้มั่นคงในกุศลกรรมความดีกลับไม่ได้ผลตอบสนอง ถ้าในยุคนี้มีตัวอย่างเช่นนี้ให้เห็นในสังคมมากขึ้นเท่าไร เราก็ยิ่งต้องบำเพ็ญกุศลกรรมความดีให้มากยิ่งขึ้น เพราะสิ่งนี้อาจเป็นลางบอกเหตุว่า “ยุคนี้เป็นยุคเสื่อมเสียแล้วกระมัง”

สรุป ทั้งหมดนี้เป็นการทำหน้าที่ของกรรม ที่เกิดขึ้นทำหน้าที่อุปถัมภ์ชีวิตของสรรพสัตว์ ตั้งแต่เกิดในขณะดำรงชีวิตอยู่ และในขณะที่จะตายจากโลกนี้ไป กรรมทั้งหลายที่กระทำแล้วไม่ว่าจะชาตินี้หรือในอดีตชาติที่ทำมาแล้วอย่างนับไม่ถ้วน กรรมนั้นไม่สูญหายไปไหน ยังตามอุปถัมภ์ชีวิตอยู่เสมอ เมื่อตามส่งผลให้ แล้วถ้ากรรมนั้นยังไม่หมดกำลังก็จะตามส่งผลให้อีก หรือว่าเมื่อคอยตามส่งผลแล้ว แต่ไม่สามารถส่งผลได้จนหมดกำลังแห่งกรรมนั้น กรรมนั้นก็จะกลายเป็นอโหสิกรรม บุคคลทั้งหลายไม่อาจรู้ได้ว่าสร้างกรรมดีหรือกรรรมไม่ดีมาอย่างไร เมื่อได้ศึกษาแล้วก็ควรวางใจให้ถูกต้องว่า ถ้ากำลังได้รับทุกข์อยู่ ก็ควรจะสำรวมระมัดระวังใจไม่ไปโทษสิ่งใด ให้รู้ว่าทุกข์ในครั้งนี้เกิดจาก อกุศลกรรมในอดีตที่ตามมาส่งผลนั่นเอง แล้วใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่ประมาท และเพียรสร้างกุศลกรรมความดีไว้อย่างเนืองนิตย์ กุศลที่ทำในปัจจุบันนี้อาจจะมาทำหน้าที่อุปถัมภ์ส่งผลให้นามรูปคือชีวิตในปัจจุบันชาตินี้ดำเนิน ไปได้อย่างไม่ทุกข์ยากมากนัก



๑.๑ ชนกกรรม

 ๑. ชนกกรรม  ชนกกรรม หมายถึง กรรมที่ทำให้วิบากเกิดขึ้น เป็นกรรมที่ทำให้วิปากทั้งนามและรูปเกิดขึ้นได้ องค์ธรรมได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ และโลกียกุศลกรรม ๑๗ คือ มหากุศลกรรม ๘ รูปาวจรกุศลกรรม ๕ อรูปาวจรกุศลกรรม ๔  กรรมที่ชื่อว่า ชนกกรรม  เพราะมีความหมายว่า “ทำให้เกิด”  คือ เจตนาที่เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งทำ ให้วิบากและกัมมชรูปให้เกิดขึ้นในปฏิสนธิกาล คือ ในเวลาที่สัตว์เกิด และทำให้วิบากและกัมมชรูปให้เกิดขึ้น ในปวัตติกาล คือ ในเวลาต่อมาหลังจากปฏิสนธิแล้ว 

คำว่า วิบาก แปลว่า ผล เปรียบเทียบว่า ข้าวสารที่หุงแล้วย่อมเป็นข้าวสวยให้คนได้รับประทาน ได้รับความอร่อยหรือไม่อร่อย จึงเรียกข้าวสวยนั้นว่า “ข้าวสุก” หรือ ผลมะม่วงเมื่อเริ่มแก่ก็เหมาะแก่การนำมา รับประทาน ได้รับความอร่อย หรือไม่อร่อย จึงเรียกมะม่วงแก่นั้นว่า “มะม่วงสุก” ฉันใด กรรมที่บุคคลทำ คือก่อไว้แล้ว ย่อมมีผลที่บุคคลพึงได้รับเป็นความสุขหรือทุกข์ในภายหลัง จึงเรียกผลของกรรมนั้นว่า วิบาก คือเป็นผล หรือเป็นของสุกงอม เพราะเป็นเหมือนความสุกงอมของกรรมฉันนั้น คำว่า วิบาก นี้ เป็นชื่อผลของกรรมฝ่ายนามธรรม คำว่า กัมมชรูป เพราะเป็นรูปที่เกิดจากกรรม จึงได้ชื่อว่า กัมมชรูป (🔎ทบทวนเรื่องรูป) รูปเกิดจากสมุฏฐาน ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร กัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรม ได้แก่ ปสาทตา รวมตลอดถึง อวัยวะ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ เป็นต้น

๑. ชนกกรรมนำเกิดในสุคติภูมิ       
 ๑.๑ มหากุศลกรรม ๘ ส่งผลนำไปเกิดในมนุษย์ภูมิและเทวภูมิ 
มหากุศลกรรม ๘ จะส่งผลเป็นวิบากที่ดี เจตนาที่อยู่ในมหากุศลกรรมจะส่งผลทำหน้าที่ชนกกรรมนำไปเกิด ได้รูปร่างกายปรากฏอัตภาพของสัตว์ในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์หรือเทวดา อันจะเป็นปัจจัย คือ เป็นที่รองรับความสุขได้มากกว่าความทุกข์ และการมีวิมาน มีรัศมีของเทวดาก็ด้วยอำนาจของกรรมที่เกิดจากชนกกรรมนี้เอง 
๑.๒  รูปาวจรกุศลกรรม ๕ นำไปเกิดในรูปภูมิ อรูปาวจรกุศลกรรม ๔ นำไปเกิดในอรูปภูมิ สำหรับรูปาวจรกุศลและอรูปาวจรกุศล คือผู้ที่ประกอบกรรมในภาวนากุศล เช่น ปัจจุบันชาตินี้เจริญสมาธิภาวนาจนได้ฌาน ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป เจตนาที่เกิดขึ้นในรูปาวจรกุศล ก็ส่งผลให้ไปเกิดในรูปภูมิเป็นรูปพรหม ถ้าเจริญอรูปาวจรกุศลก็จะส่งผลนำไปเกิดในอรูปภูมิ เป็นอรูปพรหม  

๒. ชนกกรรมนำเกิดในอบายภูมิ 
๒.๑  อกุศลกรรม ๑๒ ส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ
อกุศลกรรม ๑๒ เป็นกรรมชั่ว จึงส่งผลเป็นวิบากที่ชั่ว เจตนาที่อยู่ในอกุศลกรรมนั้น จะส่งผลทำหน้าที่ ชนกกรรมนำไปเกิด ได้รูปร่างกายก็ปรากฏเป็นอัตภาพของสัตว์ในทุคติภูมิ เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ เดรัจฉาน เป็นที่รองรับความทุกข์ได้มากกว่าความสุข 
นรกภูมิ การทำกรรมโดยมีเจตนาประกอบใน โทสมูลจิต เช่น การอาฆาต พยาบาท เบียดเบียน ปองร้าย ความโกรธที่รุนแรงก็จะเป็นตัวชนกกรรมนำให้ไปเกิดเป็นสัตว์นรก จะถูกเผาด้วยไฟ ถูกทรมาน ด้วยวิธีการต่างๆแต่ก็ไม่ตาย เพราะเหตุว่ากรรมยังไม่หมดเป็นทุกข์ทรมานจากการถูกทรมาน ก็ด้วยอำนาจของกรรมที่ทำด้วยความโกรธ 
เปรต และอสุรกายภูมิ การทำกรรมโดยมีเจตนาประกอบในโลภมูลจิต เจตนาในโลภมูลจิตจะทำหน้าที่ชนกกรรมนำไปเกิดในสองภูมินี้ 
เดรัจฉานภูมิ การทำกรรมโดยมีเจตนาประกอบในโมหมูลจิต เจตนาในโมหมูลจิตจะทำหน้าที่ชนกกรรมนำไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน


อนึ่ง การที่มนุษย์ เทวดา พรหม และ สัตว์ทั้งหลาย ได้รูปร่างกายที่แตกต่างกัน ทั้งรูปลักษณ์ ทรวดทรง สัณฐาน สูง ต่ า ดำ ขาว และด้านอาการ ๓๒ ตลอดจนด้านประสาท ความต่างกันของสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็เรียกว่า กัมมชรูปเหมือนกัน ในสังสารวัฏอันยาวนานนี้ สัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดมาแล้วนับภพชาติไม่ถ้วน จึงทำกรรมมาแล้วทุกอย่าง ในกรรมทั้งหลายนั้น ถ้ากรรมดีอย่างหนึ่งให้ผลทำหน้าที่ปฏิสนธิให้เกิดขึ้นในมนุษย์ กรรมดีอย่างนั้นและกรรมดีอย่างอื่นที่เหลือก็ยังตามให้ผลในปวัตติกาล โดยการให้ผลอันเป็นเหตุให้เกิดความสุขตามสมควรแก่โอกาส ส่วนกรรมชั่วทั้งหลายก็มีแต่จะตามให้ผลในเวลาหลังจากปฏิสนธิแล้วอย่างเดียว โดยการให้ผลเป็นความทุกข์ตามสมควรแก่โอกาสของตน กรรมเหล่านั้นชื่อว่า ชนกกรรมทั้งสิ้น คือ ทำวิบากให้เกิดและในเวลาที่กรรมชั่วให้ผลนำไปเกิดในอบายภูมิก็มีนัยเดียวกันนี้ 

สรุป ชนกกรรม เป็นกรรมที่ทำวิบากพร้อมทั้งกัมมชรูปให้เกิดขึ้นในปฏิสนธิกาล คือในเวลาที่เกิดและในปวัตติกาล คือ ในเวลาต่อมาหลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว


  

ความรู้เบื้องต้นของกรรม

“กรรม” แปลว่า การกระทำ กรรมจึงเป็นคำกลางๆเพราะ กรรม หมายถึงการกระทำทั้งดีและชั่ว 

อะไรคือสิ่งที่เรียกว่ากรรม? สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่ากรรมนั้น ตรัสหมายถึงเจตนา ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่ากรรม มุ่งหมายถึงเจตนาที่กระทำดี เรียกว่า กุศลเจตนา เจตนาที่กระทำชั่ว เรียกว่า อกุศลเจตนา  ซึ่งเมื่อสำเร็จเป็นกรรมแล้ว ก็เรียกว่า กุศลกรรม  อกุศลกรรม การกระทำต้องอาศัยเจตนาที่เกิดขึ้นภายในจิตเป็นเหตุ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “เจตะนาหัง ภิกขะเว  กัมมัง วะทามิ เจตะยิตวา กัมมัง กะโรติ กาเยนะ วาจายะ มะนะสา ”  แปลว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนา คือตัวกรรม สัตว์ที่กระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจก็ดี  ย่อมมีการปรุงแต่งคือคิดนึกก่อนแล้วจึงทำดังนี้

คำว่าเจตนา ในทางธรรมะนั้นหมายถึงธรรมชาติที่จงใจ ที่มุ่งมั่นจะกระ
ทำกิจต่างๆให้สำเร็จลง ซึ่งก็ต้องประกอบด้วยปัจจัยอื่นๆด้วย สิ่งที่กระทำสำเร็จแล้วนั้นเป็นกรรมย่อมส่งผลในภายหน้า เป็นความสุขบ้าง ทุกข์บ้างแก่ผู้กระทำ จึงเรียกว่า กรรม ในบางคราวลำพังเพียงเจตนาอย่างเดียวก็ไม่สามารถจะทำผลให้เกิดขึ้นได้ต้องอาศัยธรรมอื่นบางอย่างเกิดขึ้นประกอบร่วมกับเจตนา และธรรมบางอย่างเหล่านั้นออกหน้าเป็นประธานในการสร้างผลยิ่งกว่าเจตนา วาระเช่นนี้เองที่กล่าวได้ว่าธรรมบางอย่างที่ประกอบร่วมกันกับเจตนาก็ชื่อว่ากรรม เช่นการจะทำให้อริยผลเกิดขึ้น ต้องอาศัยองค์มรรค ๘ จึงจะสำเร็จได้ และองค์ ๘ ก็เป็นประธานในการทำพระอริยผลให้เกิดขึ้นยิ่งกว่าเจตนา ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงไม่ตรัสถึงเจตนา แต่ตรัสถึงพระอริยมรรคมีองค์ ๘ ว่าเป็นกรรม คือ เป็น กรรมที่ไม่ดำไม่ขาว ทำวิบากที่ไม่ดำไม่ขาว คือ ทำพระอริยผลมีโสดาปัตติผล เป็นต้น ให้เกิดขึ้น และถ้าจะกล่าวถึงโพชฌงค์ ๗ (องค์แห่งการตรัสรู้ ๗ อย่าง) มีสติสัมโพชฌงค์ เป็นต้น โพชฌงค์นี้เป็นเหตุแห่งพระอริยมรรคมีองค์ ๘ อีกทีหนึ่ง

อภิชฌา คือ ความโลภที่เพ่งเล็งอยากได้
พยาบาท คือ ความโกรธที่มุ่งที่จะให้ผู้อื่นวิบัติ 
มิจฉาทิฏฐิ  คือ ความเห็นผิด 

ทั้ง  ๓ ประการนี้ เกิดขึ้นได้เพราะมีสภาพธรรมของตนโดยเฉพาะๆ เป็นประธาน ไม่ใช่มีเจตนาอย่างเดียว  และสำเร็จเป็นกรรมได้ก็เพราะมีสภาพธรรมของตนนั้น
ทำให้สำเร็จ  และการที่จะไม่ให้สภาพธรรมฝ่ายชั่ว ๓ อย่างนี้เกิดขึ้น ก็ต้องมีธรรมฝ่ายดี หรือที่เรียกว่าธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเกิดขึ้น จึงจะทำให้ธรรมฝ่ายชั่วนั้นหยุดลง 

ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันมีดังนี้ คือ 
อภิชฌา มีธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ คือ อนภิชฌา เป็นสภาวะที่ห้ามความโลภ
พยาบาท 
มีธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ คือ อพยาบาท เป็นสภาวะที่ห้ามความโกรธ
มิจฉาทิฏฐิ 
มีธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ คือ สัมมาทิฏฐิ เป็นสภาวะที่มีความเห็นชอบ
    

สรุปว่า ในคราวใดที่การกระทำทั้งหลาย มีการให้ทาน หรือ การฆ่าสัตว์ เป็นต้น สำเร็จลง ถ้าการกระทำนั้นๆ สำเร็จได้เพราะอาศัยเจตนาออกหน้าเป็นประธาน เป็นใหญ่ ก็กล่าวได้ว่ามีเจตนาเป็นผู้ทำให้สำเร็จ คือ เป็นกรรม  ถ้าการกระทำนั้นๆสำเร็จลงเพราะอาศัยธรรมอื่นบางอย่างที่ประกอบร่วมกับเจตนา ออกหน้าเป็นประธาน เป็นใหญ่ ก็กล่าวได้ว่ามีธรรรมอื่นเหล่านั้นเป็นผู้ทำให้สำเร็จ คือ เป็นกรรม เช่น อภิชฌา มีความโลภที่ เพ่งเล็งอยากได้เป็นประธาน 

กรรมมีกี่อย่าง   
๑. กรรมมี ๒ อย่าง โดยชาติ คือ อกุศลกรรม และ กุศลกรรม หมายความว่า ถ้าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนหรือผู้อื่นก็เป็นอกุศลกรรม ถ้างดเว้นจากการเบียดเบียนก็เป็นกุศลกรรม กรรมมี ๒ อย่าง อีกนัยหนึ่ง โดยการส่งผล คือ อกุศลส่งผลเป็นทุกข์ เรียกว่า อกุศลกรรม กุศล ส่งผลเป็นความสุข เรียกว่า กุศลกรรม

๒. กรรมมี ๓ อย่าง โดยเกี่ยวกับทวาร ๓ คือ กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร กล่าวคือ กรรมทั้ง ๒ อย่าง คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรมดังกล่าวแล้วนั้น แต่ละอย่างเมื่อจำแนกตามทวาร ๓ คือ กายทวาร วจี ทวาร มโนทวาร ก็ได้ ๓ อย่าง คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

๓. กรรมมี ๓ อย่าง อีกนัยหนึ่ง โดยเกี่ยวกับภูมิ ๓ ได้แก่ กามาวจรกรรม รูปาวจรกรรม อรูปาวจร กรรม  ที่ว่าเกี่ยวกับภูมิ เพราะมีความหมายว่า เป็นที่เกิด คือ เป็นที่เกิดของสัตว์ มี ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ  ฉะนั้น กรรมที่เป็นเหตุให้ท่องเที่ยว คือ เกิดในกามภูมิ ชื่อว่า กามาวจรกรรม  กรรมที่เป็นเหตุให้ท่องเที่ยว  คือ เกิดในรูปภูมิ ชื่อว่า รูปาวจรกรรม  กรรมที่เป็นเหตุให้ท่องเที่ยว คือ เกิดในอรูปภูมิ ชื่อว่า อรูปาวจรกรรม

๔. กรรมมี ๔ อย่าง มีหลายนัย เช่น เกี่ยวกับกิจที่กระทำ คือ ชนกกรรม เป็นต้น หรือ เกี่ยวกับลำดับ แห่งการให้ผล คือ ครุกกรรม เป็นต้น ซึ่งจะกล่าวในกรรม ๑๖ ที่จะได้ศึกษาโดยละเอียดต่อไป

๕. กรรมมี ๕ อย่าง ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ อย่าง คือ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำสังฆเภท ทำโลหิตุปบาท

๖. กรรมมี ๑๐ อย่าง  ได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ มีปาณาติปาต เป็นต้น หรือ กุศลกรรมบถ ๑๐ มี การงดเว้นจากการฆ่า เป็นต้น หรือ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ มีการให้ทาน เป็นต้น   

๗. กรรมมี ๑๒ อย่าง  กรรมมีทั้งหมด ๔ หมวด คือ
หมวดที่ ๑ กิจจจตุกกะ มี ๔ อย่าง คือ ชนกกรรม เป็นต้น   
หมวดที่ ๒ ปากทานปริยายจตุกกะ มี ๔ อย่าง คือ ครุกกรรม เป็นต้น     
หมวดที่ ๓ ปากกาลจตุกกะ มี ๔ อย่าง คือ ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม เป็นต้น   
หมวดที่ ๔ ปากัฏฐานจตุกกะ มี ๔ อย่าง คือ อกุศลกรรม เป็นต้น   
ใน ๓ หมวดแรกมีหมวดละ ๔ อย่าง รวมเป็น ๑๒ อย่าง เป็นกรรมที่แสดงโดยนัยแห่งพระสูตร (เฉพาะกรรมหมวดที่ ๔ มี ๔ อย่างเท่านั้น ที่แสดงโดยนัยแห่งพระอภิธรรม)

๘. กรรมมี ๑๖ อย่าง เป็นการแสดงเรื่องกรรมทั้งหมด รวมทั้งโดยนัยแห่งพระสูตรและพระอภิธรรม 
ในหมวด ๗ เรื่องกรรมนี้จะกล่าวโดยละเอียดเฉพาะเรื่องกรรม ๑๖ เพราะเป็นที่รวบรวมเรื่องกรรมไว้ทั้งหมดแล้ว   

กรรม ๔ หมวด มี ๑๖ อย่าง  
หมวดที่ ๑ กิจจจตุกกะ ว่าโดยกิจมี ๔                    
๑. ชนกกรรม กรรมที่ทำหน้าที่ให้วิบากเกิดขึ้น หรือทำให้ผลเกิดขึ้น
๒. อุปัตถัมภกกรรม กรรมที่ทำหน้าที่ช่วยอุดหนุนกรรมอื่นๆ
๓. อุปปีฬกกรรม กรรมที่ทำหน้าที่เข้าไปเบียดเบียนกรรมอื่นๆ
๔. อุปฆาตกกรรม กรรมที่ทำหน้าที่เข้าไปตัดรอนกรรมอื่นๆ

หมวดที่ ๒ 
ปากทานปริยายจตุกกะ ว่าโดยลำดับการให้ผลมี ๔                    
๑. ครุกกรรม กรรมอย่างหนัก ที่กรรมอื่นๆไม่สามารถจะห้ามได้ 
๒. อาสันนกรรม กรรมที่ทำไว้เมื่อใกล้จะตาย
๓. อาจิณณกรรม กรรมที่เคยทำไว้เสมอๆ
๔. กฏัตตากรรม กรรมที่ทำไว้พอประมาณ หรือกรรมในอดีตภพ

หมวดที่ ๓ ปากกาลจตุกกะ ว่าโดยเวลาให้ผล มี ๔                
๑. ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ได้รับผลในปัจจุบันชาตินี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า (คือชาติที่ ๒ นับจากชาตินี้ไป)
๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมที่จะให้ผลตั้งแต่ชาติที่ ๓ เป็นต้นไป จนกว่าจะนิพพาน
๔. อโหสิกรรม กรรมที่ไม่ให้ผล 

หมวดที่ ๔ 
ปากัฏฐานจตุกกะ ว่าโดยฐานะที่ให้ผล มี ๔ 
๑. อกุศลกรรม ได้แก่เจตนาที่อยู่ในอกุศลจิต ๑๒
๒. กามาวจรกุศลกรรม ได้แก่เจตนาที่อยู่มหากุศลจิต
๓. รูปาวจรกุศลกรรม ได้แก่เจตนาที่อยู่ในรูปาวจรกุศลจิต
๔. อรูปาวจรกุศลกรรม 
ได้แก่เจตนาทิ่อยู่ในอรูปาวจรจิต ๔ 



๑๑. อายุของสัตว์ในภูมิทั้ง ๓๑

อายุของสัตว์ในภูมิ ๓๑ ต่อไปจะได้พรรณนาถึงอายุของเทวดาพรหมทั้งหลาย จะได้เห็นว่าการได้ไปเสวยสุขที่โลกสวรรค์นั้นมีอายุเท่าไรบ้าง และอายุของสัตว์นรกว่ามี อายุเสวยผลอกุศลกรรมเท่าไรบ้าง ทำบุญแล้วอธิษฐานให้เกิดในสวรรค์ ในอรรถกถาธรรมบทกล่าวเรื่องเวลาของสวรรค์เทียบกับมนุษย์ไว้ ดังนี้

ในดาวดึงส์เทวโลกเทวบุตรองค์หนึ่งชื่อว่า มาลาภารี ไปเที่ยวชมอุทยานพร้อมกับหมู่เทพอัปสร เทพธิดาองค์หนึ่งจุติ(ตาย)ในขณะที่กำลังนั่งอยู่บนกิ่งต้นไม้ให้ดอกไม้หล่นจากต้น สรีระของนางดับหายไปเหมือนอย่างเปลวประทีปดับ นางถือปฏิสนธิในตระกูลหนึ่งในกรุงสาวัตถีและระลึกชาติได้ว่า เป็นภรรยาของมาลาภารีเทวบุตร นางตั้งความปรารถนาจะไปเกิดในสำนักของเทพสามีอีก ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี นางมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทำการบูชาพระรัตนตรัย ทำบุญกุศลต่างๆ และตั้งความปรารถนาอย่างเดียวนั้นตั้งแต่ยังเยาว์วัย จนถึงได้นามว่า ปติปูชิกา แปลว่า บูชาเพื่อสามี เมื่อเจริญวัยก็มีสามี คนทั้งหลายก็เข้าใจว่าเป็นที่สมปรารถนาแล้ว นางมีบุตรหลายคนโดยลำดับ ได้ตั้งหน้าทำบุญกุศลต่างๆอยู่เป็นนิตย์ ในวันสุดท้ายของชีวิต เมื่อฟังธรรมรักษาสิกขาบทแล้ว ได้ถึงแก่กรรมด้วย โรคปัจจุบัน บังเกิดในสำนักเทพสามีในสวนสวรรค์นั้นแหละ ขณะนั้น มาลาภารีเทวบุตรก็กำลังอยู่ในอุทยานหมู่เทพอัปสรกำลังเก็บร้อยดอกไม้กันอยู่ เทวบุตรได้ทักถามว่านางหายไปไหนแต่เช้า นางได้ตอบว่าจุติแล้วไปเกิดในมนุษย์ ได้เล่าเรื่องของนางในมนุษย์โดยตลอดและได้เล่าถึงความตั้งใจของนางเพื่อที่จะมาเกิดอีกในสำนักของเทพสามี บัดนี้ก็ได้มาเกิดสมปรารถนาด้วยอำนาจบุญกุศลและความตั้งใจ เทวบุตรถามถึงกำหนดอายุมนุษย์ เมื่อได้รับตอบว่าประมาณร้อยปีเกินไปมีน้อย ได้ถามต่อไปว่าหมู่มนุษย์มีอายุเพียงเท่านี้ พากันประมาทเหมือนอย่างหลับ หรือพากันทำบุญกุศลต่างๆ เทพธิดาตอบว่า พวกมนุษย์โดยมากพากันประมาทเหมือนอย่างมีอายุตั้งอสงไขย เหมือนอย่างไม่แก่ ไม่ตาย เทวบุตรได้เกิดความสังเวชใจ ความจากพระธรรมบท มุ่งเตือนใจให้ไม่ประมาท เพราะทุกๆ คนจะต้องตาย ขณะที่ยังไม่อิ่มยังเพลิดเพลินอยู่ในกาม เหมือนอย่างนางเทพธิดาเพลินเก็บดอกไม้ต้องจุติ(ตาย)ทันทีในสวนสวรรค์นั้น 
 

ใน ติกนิบาต แสดงอายุสวรรค์เทียบอายุมนุษย์ไว้ว่า
ห้าสิบปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ๓๐ คืนวัน เป็นหนึ่งเดือนสวรรค์นั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปีสวรรค์ ห้าร้อยปีทิพย์เป็นประมาณอายุของเทพชั้นจาตุมหาราชิกา เท่ากับเก้าล้านปีมนุษย์

หนึ่งร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นับเดือนปี เช่นเดียวกัน พันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นดาวดึงส์ เท่ากับสามโกฏิหกล้านปีมนุษย์ (๓๖,๐๐๐,๐๐๐ ปี) 

สองร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นยามา นับเดือนปี เช่นเดียวกัน สองพันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นยามา เท่ากับสิบสี่โกฏิสี่ล้านปีมนุษย์ (๑๔๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี) 

สี่ร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นดุสิต นับเดือนปีเช่นเดียวกัน สี่พันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นดุสิต เท่ากับห้าสิบเจ็ดโกฏิหกล้านปีมนุษย์ (๕๗๖,๐๐๐,๐๐๐ ปี) 

แปดร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นนิมมานรตี นับเดือนปีเช่นเดียวกัน แปดพันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นนิมมานรตี เท่ากับสองร้อยสามสิบโกฏิกับสี่ล้านปีของมนุษย์ (๒,๓๐๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี)

หนึ่งพันหกร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี นับเดือนปีเช่นเดียวกัน หนึ่งหมื่นหกพันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพ ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เท่ากับเก้าร้อยยี่สิบเอ็ดโกฏิกับหกล้านปีมนุษย์ (๙,๒๑๖,๐๐๐,๐๐๐ปี)

ส่วนเทพชั้นพรหมโลกยิ่งมีอายุมากขึ้นไปอีก ดังต่อไปนี้
๑. พรหมปาริสัชชา มีอายุเท่าส่วนที่สามของกัป คือหนึ่งในสามของ กัป
๒. พรหมปุโรหิต มีอายุกึ่งกัป
๓. มหาพรหม มีอายุหนึ่งกัป
๔. ปริตตาภาพรหม มีอายุสองกัป
๕. อัปปมาณาภาพรหม มีอายุสี่กัป
๖. อาภัสสราพรหม มีอายุแปดกัป
๗. ปริตตสุภาพรหม มีอายุสิบหกกัป
๘. อัปปมาณสุภาพรหม มีอายุสามสิบสองกัป
๙. สุภกิณหาพรหม มีอายุหกสิบสี่กัป
๑๐. เวหัปผลาพรหม และ อสัญญสัตพรหม มีอายุห้าร้อยกัป
๑๑. อวิหาพรหม มีอายุพันกัป
๑๒. อตัปปาพรหม มีอายุสองพันกัป
๑๓. สุทัสสาพรหม มีอายุสี่พันกัป
๑๔. สุทัสสีพรหม มีอายุแปดพันกัป
๑๕. อกนิฏฐาพรหม มีอายุหนึ่งหมื่นหกพันกัป 

ส่วนอรูปพรหมอีก ๔ ชั้นยิ่งมีอายุมากขึ้นไปอีก

อรูปที่หนึ่ง มีอายุสองหมื่นกัป
อรูปที่สอง มีอายุสี่หมื่นกัป
อรูปที่สาม มีอายุหกหมื่นกัป
อรูปที่สี่ มีอายุแปดหมื่นสี่พันกัป

อายุของสัตว์ในนรก
อนึ่ง มีแสดงถึงอายุสัตว์ในนรกเทียบกับอายุในสวรรค์ไว้ว่า


ห้าร้อยปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นคืนวันหนึ่งใน สัญชีวนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุห้าร้อยปีนรกนั้น

พันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นคืนวันหนึ่งใน กาฬสุตตนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุหนึ่งพันปีนรกนั้น
สองพันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นยามา เป็นคืนวันหนึ่งใน สังฆาตนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุสองพันปีนรกนั้น

สี่พันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นคืนวันหนึ่งใน โรรุวนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุสี่พันปีนรกนั้น

แปดพันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี เป็นคืนวันหนึ่งใน มหาโรรุวนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุแปดพันปีนรกนั้น

หนึ่งหมื่นหกพันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เป็นคืนวันหนึ่งใน ตาปนนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุหนึ่งหมื่นหกพันปีนรกนั้น

มหาตาปนนรก มีอายุกึ่งอันตรากัป
อเวจีนรก มีอายุหนึ่งอันตรกัป
 
การนับจำนวนเรื่องกาลเวลาจากคัมภีร์ต่างๆ สรุปได้เป็น ๒ วิธี คือ
๑. นับด้วยจำนวนสังขยา คือ นับจำนวนด้วยตัวเลข เช่น ๑,๒,๓,..... เป็นต้น
๒. กำหนดด้วยอุปมา คือ กำหนดด้วยเครื่องกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเมื่อมากเกินไปที่จะนับด้วยจำนวนตัวเลข การกำหนดในวิธีที่ ๒ นี้ เป็นที่มาของคำว่า กัป
 
กัปมี ๔ อย่าง คือ
๑. อายุกัป
๒. อันตรกัป
๓. อสงไขยกัป
๔. มหากัป

๑. อายุกัป หมายถึง กาลเวลาแห่งอายุขัยตามยุคตามสมัย เช่น อายุขัยของคนในยุคปัจจุบัน มีอายุขัยประมาณ ๗๕ ปี หรืออย่างเช่น ในคราวที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารว่าอีกสามเดือนจะเสด็จปรินิพพาน หลังจากที่พระอานนท์ทราบแล้วจึงกราบทูลอาราธนาขอให้เสด็จอยู่กัปหนึ่ง เพราะได้เคยสดับพระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่เจริญอิทธิบาท ๔ ประการ ถ้าตั้งใจจะดำรงรูปกายอยู่ก็จะอยู่ได้กัปหนึ่ง หรือเหลือกว่ากัปหนึ่งในช่วงนั้นมนุษย์ก็มีอายุขัยประมาณร้อยปี 
๒. อันตรกัป การนับอายุ คือ ในสมัยต้นกัปมนุษย์มีอายุขัยยืนยาวมาก ถึงอสงไขยปี (มากจนนับจำนวนปีไม่ได้) ต่อมาอายุขัยของมนุษย์ค่อยๆ ลดลงตามลำดับจนเหลือแค่ ๑๐ ปี เมื่อลดลงถึงสิบปีแล้วก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปอีก จนถึงอสงไขยปีอย่างเก่าอีก เป็นอย่างนี้เท่ากับ ๑ รอบ เรียกว่า อันตรกัป
๓. อสงไขยกัป จำนวนอันตรกัปดังที่กล่าวไว้ในข้อที่ ๒ เป็นอย่างนั้น ไปอีกจนครบ ๖๔ อันตรกัป เท่ากับ ๑ อสงไขยกัป (การนับจำนวนอสงไขย กัป มีการกล่าวไว้หลายนัย บ้างก็กล่าวว่า ๒๐ อันตรกัป เป็น ๑ อสงไขยกัป บ้างก็ว่า ๘๐ อันตรกัป เป็น ๑ อสงไขยกัป)
๔. มหากัป มีวิธีนับคือ ๔ อสงไขยกัป = ๑ มหากัป มหากัปหนึ่งๆ มีเวลายาวนานมาก จนไม่สามารถประมาณได้ว่าเป็นเวลานานสักเท่าใด มี อุปมาว่า มีภูเขาหินใหญ่ยาวโยชน์หนึ่งกว้างโยชน์หนึ่ง (๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร) ไมมีช่องไม่มีโพรง เป็นก้อนหินแท่งทึบ ถึงร้อยปีหนหนึ่งมีบุรุษใช้ ผ้าทอที่แคว้นกาสี (ผ้าเนื้อดี) ร้อยปีมาลูบครึ่งหนึ่ง ภูเขาหินนั้นก็จะพึงราบเรียบไปก่อน แต่กัปยังไม่สิ้น อีกอุปมาหนึ่งว่า มีพื้นที่กว้างและยาวร้อยโยชน์ มีกำแพงสูงร้อยโยชน์ ภายในเต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาดแน่นขนัด มี บุรุษมาหยิบพันธุ์ผักกาดไปเมล็ดหนึ่งทุกๆ ร้อยปี กองเมล็ดพันธุ์ผักกาดนั้นก็จะหมดไปก่อน ส่วนกัปยังไม่สิ้น กัปที่ยาวมากดั่งนี้ เรียกว่า มหากัป

อธิบายคำว่ากัปเสื่อม หมายความว่าระยะเวลาที่ โลกวินาศ คือสลาย หรือดับ ความวินาศของโลกมี ๓ อย่างคือ วินาศเพราะไฟ วินาศเพราะน้ำ วินาศเพราะลม

โลกวินาศเพราะไฟ จะเกิด มหาเมฆกัปวินาศ คือเกิดฝนตกใหญ่ทั่วโลกก่อน ครั้นฝนนั้นหยุดแล้วจะไม่มีฝนตกอีก จะเกิดความแห้งแล้งไปโดยลำดับ จะมีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏขึ้น จนถึงดวงที่ ๗ จึงจะเกิดไฟประลัยกัลป์ไหม้โลกจนหมดสิ้น อากาศเบื้องบนจะเป็นอันเดียวกับอากาศเบื้องล่างหมายความว่าเหลือ แต่อากาศว่างเปล่า มีความมืดมิดทั่วไปครั้นแล้ว มหาเมฆกัป สมบัติ (ก่อเกิดกัป) จะตั้งขึ้น ฝนจะตกทั่วบริเวณที่ถูกไฟไหม้ ลม จะประคองรวมน้ำฝนให้รวมกันเป็นก้อนกลมเหมือนหยาดน้ำบน ใบบัว แล้วก็แห้งขอดลงไป เป็นไปเช่นนั้นจนปรากฏโลกขึ้นใหม่ จึงถึงวาระที่เรียกว่ากัปเจริญ สัตว์ที่บังเกิดขึ้นเป็นพวกแรก นั้น เป็นพวกพรหมในพรหมโลกชั้นที่ไฟไหม้ขึ้นไปไม่ถึง ลงมาเกิดเป็นพวก โอปปาติกะ เกิดขึ้นทันทีโดยไม่ต้องอาศัยครรภ์มารดา เกิดโตปรากฏขึ้นทีเดียว แล้วพากันบริโภคง้วนดิน (ปฐวิ รส คือเมื่อน้ำแห้งขอด ก็เกิดเป็นแผ่นฝ้าขึ้นในเบื้องบน มีสีงาม มีรสหอมหวาน) สะเก็ดดิน (ปฐวีปัปปฏก) เครือดิน (ปทาลตา) หมดไปโดยลำดับ จากนั้นจึงบริโภคธัญชาติ เช่น ข้าวสาลีสืบต่อมา สัตว์โลกจำพวกแรกเหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้นโดยลำดับ จนปรากฏเป็นบุรุษสตรีสร้างบ้านเรือนสืบพันธุ์กันมา ในตอนต้นมีอายุยืนยาวเป็นอสงไขย (นับปีไม่ถ้วน) ต่อมาพากันประพฤติอกุศลกรรมด้วยอำนาจของราคะ โลภะ โทสะ โมหะ มากขึ้น อายุก็ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด มีอายุขัย ๑๐ ปี ก็จะถึงความพินาศเป็นส่วนมาก เพราะภัย ๓ อย่าง คือ ศัสตราวุธ โรค ทุพภิกขภัย คือความขาดแคลนอาหาร หรือเรียกว่าถึง สมัย มิคสัญญี แปลว่า มีความสำคัญในกันและกันว่าเหมือนอย่างเนื้อ คือ เห็นกันฆ่ากันเหมือนอย่างเนื้อถึก แต่ก็ยังไม่พินาศกันหมดทั้งโลก ยังมีสัตว์ที่เหลือตายหลบหลีกไป และกลับได้ความสังเวชสลดจิต พากันประพฤติกุศลกรรมมากขึ้น ก็พากันเจริญอายุมากขึ้นด้วยอำนาจกุศลโดยลำดับจนถึงอสงไขย แล้วกลับอายุถอยลงมาด้วยอำนาจอกุศลกรรมจนถึงอายุขัย ๑๐ ปี แล้วก็กลับเจริญอายุขึ้นใหม่อีก วนขึ้นวนลงอยู่อย่างนี้ จนกว่า จะถึงคราวโลกวินาศอีกครั้งหนึ่ง ระยะเวลาทั้งหมดนี้จัดเป็นกัป ย่อยทั้ง ๔ ดังนี้ คือ 

๑. สังวัฏฏอสงไขยกัป แปลว่า กัปเสื่อม ตั้งแต่เกิดมหาเมฆกัปวินาศ ฝนตกใหญ่จนถึง ไฟประลัยกัลป์ไหม้โลกจนหมดสิ้น ดับลงแล้ว
๒. สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป แปลว่า กัปถึงความพินาศแล้ว และ ความพินาศนั้นยังอยู่ ตั้งแต่ไฟไหม้โลกดับ จนถึงมหาเมฆกัปสมบัติ ฝนตกใหญ่ เริ่มก่อกำเนิดโลกขึ้นใหม่
๓. วิวัฏฏอสงไขยกัป แปลว่า กัปเจริญ คือ กัปที่กำลังเจริญขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่มหาเมฆกัปสมบัติ จนถึงปรากฏดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
๔. วิวัฎฏฐายีอสงไขยกัป แปลว่า กัปที่เจริญแล้ว และความเจริญนั้นยังอยู่ ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงมหาเมฆกัปวินาศบังเกิดขึ้นอีก

โลกวินาศด้วยน้ำ เกิดมหาเมฆกัปวินาศขึ้นเช่นเดียวกันก่อน แล้วจึงเกิดมหาเมฆ ทำให้ฝนตก ฝนนั้นเป็นน้ำด่างตกลงมาเป็นน้ำประลัยกัลป์ ย่อยโลกให้วินาศไปเช่นเดียวกับไฟไหม้โลก

โลกวินาศด้วยลม เกิดมหาเมฆกัปวินาศขึ้นก่อนแล้วเกิดลมกัป วินาศเป็นลมประลัยกัลป์ พัดผันโลกให้ย่อยยับเป็นจุณวิจุณไป เช่นเดียวกับไฟไหม้โลก ความวินาศของโลก จะวินาศด้วยไฟ ๗ ครั้ง แล้ววินาศด้วยน้ำ ๑ ครั้ง เป็นไปอย่างนี้ ๗ รอบ พอถึงรอบที่ ๘ ก็จะถูกทำลายด้วยลม
 

ที่กล่าวมาในเรื่องของเวลาแห่งชีวิตของสัตว์บุคคลทั้งหลายใน ๓๑ ภูมิ ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ มีอายุขัยแตกต่างกันไปตามภูมิ บางภูมิมีอายุขัยนานมากนับเป็น ๘๔,๐๐๐ กัป ยังมีพระพุทธภาษิตที่แสดงเรื่องกาลเวลาไว้ว่า

กาลคือเวลาย่อมกิน สรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง ฉะนั้นจะเกิดเป็นเทพชั้นไหนก็ต้องถูกเวลากลืนกิน คือต้องดับ ไม่มีที่จะสถิตอยู่เป็นนิรันดร แต่อาจจะมีอายุนานนักหนาได้โดยเทียบกับเวลาของมนุษย์นี้ ซึ่งความจริงหาใช่เร็วหรือช้าไม่ เป็นเวลาที่พอเหมาะตามกำหนดสำหรับชั้นนั้นๆ พระพุทธศาสนาได้แสดงถึงที่ซึ่งไม่มีกาลเวลาไว้ด้วยว่า คือ ที่ซึ่งไม่มี ตัณหา(ความดิ้นรนทะยานอยาก) เปรียบไว้เหมือนลูกศรที่เสียบจิตใจ “ใครก็ตามอยู่ในโลกหรือภูมิไหนก็ตาม เมื่อถอนลูกศรที่เสียบใจนี้ออกเสียได้ ก็ย่อมบรรลุถึงที่ซึ่งไม่มีกาลเวลา ที่ซึ่งจะพึงบรรลุด้วยจิตใจเท่านั้น ส่วนร่างกายเป็นของโลกต้องตกอยู่ในอำนาจของเวลา” การระงับได้ซึ่งตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก จิตใจที่ไม่ดิ้นรน ย่อมไม่เกี่ยวกับเวลาแต่อย่างใดเลย คือไม่เกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน อนาคต อะไรทั้งสิ้น จิตที่อบรมแล้วย่อมพ้นจากอำนาจของเวลา จิตที่อบรมจนข้ามพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้แล้วขณะนั้นย่อมไม่มีกาลไม่มีเวลา เป็นอกาลิโก ทั้งหมดคือเรื่องราวของสังสารวัฏ หรือ ภูมิทั้ง ๓๑ ที่เวียนว่ายตายเกิดไม่มีสิ้นสุด บางภูมิก็มีแต่ทุกข์แสนสาหัส บางภูมิก็เสวยสุขอย่างเหลือล้น แต่ก็ไม่สามารถทำให้เราพ้นจากทุกข์ไปได้

หนทางเดียวที่จะพ้นไปจากทุกข์ได้ ต้องทำให้พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด ด้วยการเจริญวิปัสสนาขจัดขัดเกลากิเลสให้หมดโดยสิ้นเชิงเพื่อเข้าสู่สภาวะ นิพพาน


๑๐. อรูปาวจรภูมิ

เป็นภูมิที่อยู่ของพรหมที่ไม่มีรูปมีแต่นาม เพราะเห็นโทษของการมีอัตภาพร่างกายว่าเป็นไปด้วยทุกข์โทษนานาประการ จากการถูกทำร้าย ถูกประหาร มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน เป็นต้น จึงขวนขวายในการเจริญสมถภาวนาเพื่อปรารถนาที่จะไม่มีรูปร่างกาย เมื่อบรรลุถึงอรูปฌานและสิ้นชีพ แล้วจึงได้มาบังเกิดในอรูปภูมิ ผู้ที่จะเจริญอรูปฌานได้ต้องผ่านการเจริญรูปฌานมาจนถึงฌานสุดท้าย คือ ปัญจมฌาน (หรือถ้ากล่าวตามสุตตันตนัย คือ จตุตถฌาน) จึงจะเจริญอรูปฌานต่อไปได้ 

อรูปาวจรภูมิ มี ๔ ภูมิ คือ 
๑. อากาสานัญจายตนภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้จะต้องเจริญสมถกรรมฐานจนได้ปัญจมฌานมาก่อน แล้วมาเจริญอรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน กำหนดอากาศที่อยู่ในปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า “อากาศไม่มีสิ้นสุดๆๆ” จนสำเร็จอรูป ฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน เมื่อสิ้นชีวิตและฌานยังไม่เสื่อมจะมาเกิดในอากาสานัญจายตนภูมิ มีอายุ ๒๐,๐๐๐ มหากัป
๒. วิญญาณัญจายนตนภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ของวิญญาณัญจายตนพรหมผู้ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยการพิจารณาจิตที่เข้าไปรู้อากาศไม่มีที่สิ้นสุดใน อากาสานัญจายตนฌานตั้งอยู่ห่างจากอากาสา- นัญจายตนภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ เป็นภูมิที่มีความสุขประณีตละเอียดกว่าอากาสานัญจาย ตนภูมิ มีอายุ ๔๐,๐๐๐ มหากัป  
๓. อากิญจัญญายตนภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ของอากิญจัญญายตนพรหมผู้ซึ่งได้อรูปฌานที่ ๓ คือ
อากิญจัญญายตนฌาน ด้วยการพิจารณาความไม่มีอะไร คือไม่มีทั้งอากาศและวิญญาณ ซึ่งเป็นอารมณ์ของอรูปฌานที่ ๑ และอรูปฌานที่ ๒ ตั้งอยู่ห่างจาก วิญญาณัญจายตนภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ เป็นภูมิที่มีความสุขประณีต ละเอียดกว่าวิญญาณัญจายตนภูมิ มีอายุ ๖๐,๐๐๐ มหากัป ผู้ที่ไปเกิดอยู่ใน ภูมินี้ ได้แก่ อาฬารดาบส (อ่านว่า อา-ลา-ระ-ดา-บด) เป็นครูที่สอนการทำฌาน สมาบัติให้แก่พระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วก็จะเสด็จไปโปรดอาจารย์ผู้นี้ แต่รู้ด้วยทิพยจักขุว่าอาฬารดาบสตายไปแล้วเมื่อ ๗ วันก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ อาฬารดาบสได้เข้าสู่ความเป็นอรูปพรหมในอากิญจัญญายตนภูมิ
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ของเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ได้อรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญา- ยตนฌาน ด้วยการพิจารณาสัญญาที่เข้าไปรู้ในบัญญัติอารมณ์ว่า “มีก็ใช่ ไม่มีก็ใช่” อุปมาเสมือนกับน้ำมันที่ทาบาตร จะว่า บาตรนั้นมีน้ำมันอยู่ก็ไม่ใช่ หรือไม่มีน้ำมันอยู่ก็ไม่ใช่เพราะเทออกมาไม่ได้ ภูมินี้เป็นภูมิที่สูงสุด ตั้งอยู่ห่างจากอากิญจัญญายตนภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ มีความสุขประณีตละเอียดกว่าอากิญจัญญายตนภูมิ มีอายุ ๘๔,๐๐๐ มหากัป ผู้ที่ไปเกิดอยู่ในภูมินี้ ได้แก่ อุทกดาบส (อุ-ทะ-กะ-ดา-บด) เป็นครูสอนฌานสมาบัติให้แก่พระโพธิสัตว์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเดียวกับอาฬารดาบส เมื่อพระองค์จะเสด็จไปโปรด ก็ทราบด้วยทิพยจักขุว่าได้สิ้นชีพไปแล้วเมื่อพลบค่ำนี้เอง ได้เข้าสู่ความเป็นอรูปพรหมในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ 


คณาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด  ตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชซึ่งอยู่ในแคว้นนี้มีสองคณะด้วยกันคือ คณะอาฬารดาบสกาลามโคตรและคณะอุทกดาบสรามบุตร ทั้งสองคณะนี้ตั้งอาศรมสอนศิษย์อยู่ในป่านอกเมือง พระมหาบุรุษจึงเสด็จไปยังที่นี่ เพื่อทรงศึษาเล่าเรียนและทดลองดูว่าจะเป็นทางตรัสรู้หรือไม่ เสด็จไปทรงศึกษาที่สำนักแรกก่อน ทรงศึกษาจนสิ้นความรู้ของท่านคณาจารย์เจ้าสำนักแล้วทรงเห็นว่ายังมิใช่ทางตรัสรู้ จึงเสด็จไปทรงศึกษาในสำนักคณาจารย์ที่สอง ทรงได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นนิดหน่อยแต่ก็ได้เพียงสมาบัติแปด



'สมาบัติ'  หมายถึง ฌาณ คือวิธีทำจิตให้เป็นสมาธิ มีตั้งแต่อย่างหยาบขึ้นไปจนถึงละเอียดที่สุด  ทั้งหมดมีแปดขั้นด้วยกัน ทรงเห็นว่า จิตใจในระดับนี้ก็ยังอยู่ในชั้นของโลกีย์ ปุถุชนสามารถมีได้แต่มีแล้วยังเสื่อมได้ ยังไม่ใช่โลกุตตระคือทางหลุดพ้น



๙. รูปาวจรภูมิ

จากสวรรค์ ๖ ชั้นแล้ว ภูมิที่อยู่สูงขึ้นไปอีก คือพรหมภูมิ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ รูปาวจรภูมิ และ อรูปาวจรภูมิ ผู้ที่ทำสมาธิจนบรรลุถึงรูปฌาน คือ ฌานที่มีรูปนิมิตเป็นอารมณ์ รูปฌานนั้นย่อมมีวิบากให้ไปเกิดเป็นรูปพรหม ผู้ที่ทำสมาธิสูงขึ้นไปกว่ารูปฌาน คือทิ้งรูปนิมิต กำหนดอรูปนิมิตคือนิมิตที่ไม่มี รูปเป็นอารมณ์ จนได้บรรลุอรูปฌานคือฌานที่มีอรูปนิมิตเป็นอารมณ์ ฌาน นั้นก็มีวิบากให้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม คำว่า พรหม แปลว่า เจริญ รุ่งเรือง หมายความว่า เจริญรุ่งเรืองด้วยคุณวิเศษ มีฌานเป็นต้น ในพรหมภูมิ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

๒.๑ รูปาวจรภูมิ มี ๑๖
๒.๒ อรูปาวจรภูมิ มี ๔ 



รูปาวจรภูมิ มี ๑๖ ภูมิ คือ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ จตุตถฌานภูมิ ๗
ปฐมฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนบรรลุปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข
 เอกัคคตา โดยแบ่งการเจริญปฐมฌานออกเป็น ๓ ระดับ คือ อย่างอ่อน อย่างกลาง อย่างแก่กล้า ผู้ที่เจริญปฐมฌานอย่างใดๆแล้ว ถ้าตายไปโดยที่ฌานยังไม่เสื่อม ฌานนั้นจะส่งผลให้ไปเกิดในปฐมฌานภูมิ ๓ ตามกำลังฌานที่ได้ ดังนี้
๑. ปาริสัชชาภูมิ  ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมปาริสัชชา แปลว่า  เป็นบริษัทของท่านมหาพรหม เป็นผู้บำรุงมหาพรหม ที่จะได้กล่าวในชั้นที่ ๓ พรหมในภูมินี้เกิดด้วยปฐมฌานที่มีกำลังอ่อน
๒. ปุโรหิตาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมปุโรหิตา แปลว่า เป็นปุโรหิตของมหาพรหม พรหมในภูมินี้เกิดด้วยปฐมฌานที่มีกำลังปานกลาง
๓. มหาพรหมาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า มหาพรหม แปลว่า พรหมผู้ใหญ่ เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าของพรหมทั้ง ๒ ที่กล่าวมาเป็นพรหมที่มี วรรณะยิ่งกว่า มีอายุยืนกว่าเป็นต้น พรหมในภูมินี้เกิดด้วยปฐมฌานที่มีกำลังแก่กล้า

ที่ตั้งของปฐมฌาน 
ที่ตั้งของปฐมฌานภูมิ ๓ ตั้งอยู่ในอากาศอยู่ในชั้นเสมอกัน แต่มีความรุ่งเรืองกว่ากัน ตั้งห่างจากเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ประมาณ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ มีวิมานสวนดอกไม้และสระโบกขรณี อันล้วนด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีรัศมี แวววาวสวยงามยิ่ง

ทุติยฌานภูมิ มี๓ ภูมิ ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนบรรลุทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา หรือบรรลุตติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา โดย แบ่งการเจริญออกเป็น ๓ ระดับ คือ อย่างอ่อน อย่างกลาง อย่างแก่กล้า ผู้ที่ เจริญทุติยฌานหรือตติยฌานอย่างใดๆ แล้ว ถ้าตายไปโดยที่ฌานยังไม่เสื่อม ฌานนั้นจะส่งผลให้ไปเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ ตามกำลังฌานที่ได้ ผู้ที่ได้ทุติยฌานและผู้ที่ได้ตติยฌาน จะไปเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ เช่นเดียวกัน เพราะ อำนาจของวิตกและวิจารนั้นใกล้เคียงกันมาก ทุติยฌาน มี ๓ ภูมิ คือ
๑. ปริตตาภาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ได้ชื่อว่า พรหมปริตตาภา แปลว่า มีรัศมีน้อย คือ มีแสงสว่างน้อยกว่าพรหมชั้นทุติยฌานด้วยกัน พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของทุติยฌาน หรือ ตติยฌานที่มีกำลังอ่อน เป็นบริวารคอยรับใช้อาภัสสาพรหมซึ่งเป็นหัวหน้า
๒. อัปปมาณาภาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมอัปปมาณาภา แปลว่า มีรัศมีไม่มีประมาณ คือมีแสงสว่างมากเกินที่จะประมาณได้ พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของทุติยฌานหรือ ตติยฌานที่มีกำลังปานกลาง เป็น ผู้ให้คำปรึกษาในกิจการงานของอาภัสสาพรหม
๓. อาภัสสราภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมอาภัสสรา แปลว่ามีรัศมีซ่านไป คือแผ่ออกไปแต่ที่นั้นที่นี้ดุจสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ เพราะมีขันธสันดานเกิดจากฌานที่มีปีติ หรืออีกนัยหนึ่ง อาภัสสรา แปลว่า มีรัศมีพวยพุ่ง คือหยดย้อยออกเหมือนย้อยหยดออกมาจากสรีระ หรือดุจเปลวไฟ แห่งโคมประทีป อีกอย่างหนึ่งอาภัสสรา แปลว่า มีปกติสว่างไสวด้วยรัศมี พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของทุติยฌาน หรือตติยฌานที่มีกำลังแก่กล้า พรหมอาภัสสราเป็นหัวหน้าในชั้นทุติยฌานภูมิทั้ง ๓

ที่ตั้งของทุติยฌานภูมิ 
ที่ตั้งของทุติยฌานภูมิ ๓ ตั้งอยู่ในอากาศอยู่ในชั้นเสมอกัน แต่มีความรุ่งเรืองกว่ากัน ห่างจากปฐมฌานภูมิขึ้นมาประมาณ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ มี วิมาน สวนดอกไม้ สระโบกขรณี อันล้วนด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีรัศมีแวววาว สวยงามยิ่ง มีต้นกัลปพฤกษ์ ทุกสิ่งสวยงามประณีตยิ่งกว่าปฐมฌานภูมิ ๓ 

ตติยฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนบรรลุจตุตถฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา โดยแบ่งการเจริญทุติยฌานออกเป็น ๓ ระดับ คือ อย่างอ่อน อย่าง กลาง อย่างแก่กล้า ผู้ที่เจริญ จตุตถยฌานอย่างใดๆ แล้ว ถ้าตายไปโดยที่ ฌานยังไม่เสื่อม ฌานนั้นจะส่งผลนำเกิดในตติยฌานภูมิ ๓ ตามกำลังฌานที่ ได้ ตติยฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ คือ
๑. ปริตตสุภาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมปริตตสุภา แปลว่า มี รัศมีแห่งสรีระสวยงามน้อย คือ น้อยกว่าพวกพรหมชั้นตติยฌานด้วยกัน พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของจตุตถฌานที่มีกำลังอ่อน เป็นบริวารคอยรับใช้สุภกิณหาพรหมซึ่งเป็นหัวหน้า
๒. อัปปมาณสุภาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมอัปปมาณสุภา แปลว่า มีรัศมีแห่งสรีระสวยงามอย่างไม่มีประมาณ คือ มากเกินที่จะประมาณได้ พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของจตุตถ-ฌานที่มีกำลังปานกลาง เป็นพรหมให้คำปรึกษาในกิจการงานของสุภกิณหาพรหม ซึ่งเป็นหัวหน้า 
๓. สุภกิณหาภูมิ ผู้ที่เกิดในภูมินี้ก็ได้ชื่อว่า พรหมสุภกิณหา แปลว่า มากมายไปด้วยรัศมีที่สวยงาม คือ มีรัศมีผุดสว่างทั่วไป แผ่ซ่านออกจากสรีระ เป็นอันเดียวกัน มีสิริเหมือนอย่างแท่งทองที่โรจน์รุ่งอยู่ในหีบทอง หรืออีกนัยหนึ่ง รัศมีสวยงามของพรหมเช่นกับรัศมีของดวงจันทร์ มีแสงสว่างของรัศมี รวมกันอยู่เป็นวงกลม ไม่กระจัดกระจายออกจากกัน พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของจตุตถฌานที่มีกำลังแก่กล้า เป็นหัวหน้าปกครองพรหมในชั้นตติยฌานภูมิทั้ง ๓

ที่ตั้งของตติยฌานภูมิ 
ที่ตั้งของตติยฌานภูมิ ๓ ตั้งอยู่ในอากาศอยู่ในชั้นเสมอกัน แต่มีความรุ่งเรืองกว่ากัน ห่างจากทุติยฌานภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ มีวิมาน สวน ดอกไม้ สระโบกขรณี อันล้วนด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีรัศมีแวววาวสวยงามยิ่ง มีต้นกัลปพฤกษ์ ทุกสิ่งสวยงามประณีตยิ่งกว่าทุติยฌานภูมิ ๓ 


คราวที่โลกถูกทำลาย โลกจะถูกทำลายด้วย ไฟ น้ำ ลม ในคราวที่โลกถูกทำลายด้วยไฟ ไฟจะลุกไหม้ตั้งแต่อบายภูมิ มนุษยภูมิ เทวภูมิ จนถึง ปฐมฌานภูมิ ๓ ถูกทำลาย ทั้งหมด คราวที่โลกถูกทำลายด้วย น้ำ น้ำจะท่วมตั้งแต่อบายภูมิ มนุษยภูมิ เทวภูมิ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ถูกทำลายทั้งหมด คราวที่โลกถูกทำลายด้วย ลม ลมจะพัดทำลายตั้งแต่อบายภูมิ มนุษย ภูมิ เทวภูมิ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ จะถูกทำลายทั้งหมด ภูมิที่พ้นจากการถูกทำลายด้วยไฟ น้ำ ลม คือ จตุตถฌานภูมิ และ อรูป ภูมิ 
 
จตุตถฌานภูมิ มี ๗ ภูมิ ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนบรรลุปัญจมฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา มี ๗ ภูมิ คือ 
๑. เวหัปผลาภูมิ 
๒. อสัญญสัตตภูมิ 
๓. อวิหาภูมิ 
๔. อตัปปาภูมิ  
๕. สุทัสสาภูมิ  
๖. สุทัสสีภูมิ  
๗. อกนิฎฐาภูมิ 
(รวมเฉพาะภูมิที่ ๓ – ๗ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สุทธาวาสภูมิ ๕ )

เวหัปผลาภูมิ และ อสัญญสัตตภูมิ
๑. เวหัปผลา แปลว่า มีผลไพบูลย์ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจของฌาน พ้นจากการถูกทำลายทั้งปวง ผู้ที่เกิดในภูมินี้ได้ชื่อว่า พรหมเวหัปผลา พรหมในภูมินี้เกิดด้วยกำลังของปัญจมฌาน พรหมชั้นนี้ไม่ได้แบ่งเป็น ๓ ชื่อสำหรับผู้ ได้อย่างอ่อน อย่างปานกลาง และอย่างประณีตแต่อย่างใด กล่าวไว้ชื่อเดียว รวมๆ กันไป 
๒. อสัญญี แปลว่า ไม่มีสัญญาเสียเลย พรหมชั้นนี้เป็นที่เกิดของผู้ได้ปัญจมฌานแบบเพ่งอยู่เป็นนิตย์ว่าจิตไม่มี เห็นโทษของจิตว่าจิตเป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ ได้รับอารมณ์แล้วก็เป็นทุกข์ก็เพราะมีจิต ราคะ โทสะ โมหะ ล้วนอาศัยจิตเกิดขึ้น มีความเห็นว่าไม่มีจิตเป็นของดีเป็นนิพพานในปัจจุบัน จึง เพ่งอยู่เป็นนิตย์ว่าจิตไม่มีๆ สำรอก ดับนามขันธ์ และเวลาตายจากมนุษย์ ถ้ายืนตายก็ไปเกิดเป็นพรหมในท่ายืน ถ้านั่งก็ไปเกิดเป็นพรหมในท่านั่ง และก็อยู่ในอิริยาบถนั้นจนถึงจุติ หรือเรียกว่า พรหมลูกฟัก ซึ่งมีเพียงรูปขันธ์อย่างเดียวไม่มีนามขันธ์ เมื่อหมดอายุขัย นามขันธ์ก็จะเกิดขึ้นเพื่อนำไปเกิดในภพ ใหม่ชาติใหม่ต่อไป เป็นพรหมภายนอกพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ปฏิบัติเพื่อไปเกิดเป็นพรหมพวกนี้ ที่ตั้งของเวหัปผลาภูมิ และอสัญญสัตตภูมิ ตั้งอยู่ท่ามกลางอากาศ ทั้ง ๒ ภูมิ อยู่ในระนาบเดียวกัน ห่างจากตติยฌานภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ มีวิมาน สวนดอกไม้ สระโบกขรณี ล้วนด้วย รัตนะทั้ง ๗ มีรัศมีแวววาวสวยงามยิ่ง มีต้นกัลปพฤกษ์ ทุกสิ่งสวยงามประณีต ยิ่งกว่าพรหมชั้นตติยฌาน 

สุทธาวาสภูมิ มี ๕ ภูมิ
สุทธาวาส แปลว่าอาวาส คือที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ หรือ ที่อยู่อันบริสุทธิ์ หมายถึงภูมิอันเป็นที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ กล่าวคือ เป็นที่อยู่ของพระอริยบุคคล ๒ จำพวก คือ พระอนาคามี และพระอรหันต์ และมีคุณสมบัติ พิเศษอีก ๒ ประการคือ ต้องเป็นพระอนาคามีที่มีอินทรีย์อย่างใดอย่างหนึ่งแก่กล้าด้วยและเจริญสมถะจนได้ปัญจมฌานด้วย เมื่อสิ้นชีวิตจะไปเกิดอยู่ในชั้นสุทธาวาสภูมิ และจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ นิพพานในชั้นสุทธาวาสภูมินั้น ไม่กลับมาเกิดอีก สุทธาวาสภูมิ มี ๕ ภูมิ คือ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ และอกนิฏฐาภูมิ ผู้ที่เกิดในสุทธาวาสภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่งแล้วจะไม่เกิดซ้ำภูมิ ถ้ายังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็จะเกิดในภูมิที่สูงขึ้นไปตามลำดับและจะต้องสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในอกนิฏฐาภูมิและนิพพานในอกนิฏฐาภูมินี้

๓. อวิหา แปลว่า ไม่ละฐานของตนโดยกาลอันน้อย หรือ ไม่เสื่อมจากสมบัติของตน ผู้ที่เกิดในภูมินี้ต้องเป็นพระอนาคามีที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า อินทรีย์มี ๕ คือ
๑.สัทธินทรีย์
๒.วิริยินทรีย์
๓.สตินทรีย์ 
๔.สมาธินทรีย์ 
๕.ปัญญินทรีย์ 
พรหมที่จะได้เกิดในภูมินี้ต้องสำเร็จพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีผู้มีสัทธินทรีย์แก่กล้าและสำเร็จฌานขั้นปัญจมฌานด้วย เมื่อมาเกิดในชั้นอวิหาภูมิแล้วถ้าสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็จะดำรงขันธ์อยู่จนสิ้นอายุขัย และนิพพานในภูมินี้ แต่ถ้ายังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วจะไปอุบัติขึ้นในสุทธาวาสภูมิชั้นที่สูงขึ้น
๔. อตัปปา แปลว่า ไม่สะดุ้งกลัวอะไร หรือไม่เดือดร้อน พรหมในภูมินี้เป็นผู้ไม่มีความเดือดร้อน ย่อมจะเข้าฌานสมาบัติหรือผลสมาบัติอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้จิตเร่าร้อนจากนิวรณธรรม ผู้ที่จะเกิดในภูมินี้ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีด้วยกำลังของวิริยินทรีย์อย่างแก่กล้า และสำเร็จฌานขั้นปัญจมฌานด้วย เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วจะไปอุบัติขึ้นในสุทธาวาสภูมิชั้นที่สูงขึ้นไป หรือ บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และอยู่จนสิ้นอายุขัย ก็จะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในภูมินี้
๕. สุทัสสา แปลว่า ดูงาม เป็นพรหมที่มีการเห็นชัดเจนแจ่มใสบริบูรณ์ ด้วยประสาทจักขุ ทิพพจักขุ ธัมมจักขุ ผู้ที่จะเกิดในภูมินี้ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีด้วยกำลังของสตินทรีย์อย่างแก่กล้า และสำ
เร็จฌานขั้นจตุตถฌานด้วยปัญญาจักขุ เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วจะไปอุบัติขึ้นในสุทธาวาสภูมิชั้นสูงขึ้น หรือบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์และอยู่จนสิ้นอายุขัย จะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในภูมินี้
๖. สุทัสสี แปลว่า มีทัสนะคือความเห็นดีบริสุทธิ์ เป็นผู้ที่มีการเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งกว่าพรหมสุทัสสา ด้วยประสาทจักขุ ทิพพจักขุ และปัญญาจักขุ ส่วนธัมมจักขุนั้นมีกำลังเสมอกันกับพรหมสุทัสสา ผู้ที่จะเกิดในภูมินี้ต้อง เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีด้วยกำลังของสมาธินทรีย์อย่างแก่กล้า และสำเร็จฌานขั้นปัญจมฌานด้วย เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วจะไปอุบัติขึ้นในสุทธาวาสภูมิชั้นสูงขึ้น หรือบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และอยู่จนสิ้นอายุขัย ก็จะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในภูมินี้
๗. อกนิฏฐา แปลว่า ไม่มีเป็นรอง เพราะมีสมบัติอันอุกฤษฏ์ เสวยอริยผลจนกว่าจะสิ้นอายุขัย ผู้ที่จะเกิดในภูมินี้ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีด้วยกำลังของ ปัญญินทรีย์แก่กล้ากว่าอินทรีย์อื่น อกนิฏฐาภูมิเป็นยอดภูมิของพระอริยบุคคล พระอริยบุคคลที่อยู่ในภูมินี้จะต้องสำเร็จเป็นพระ อรหันต์ในภูมินี้แล้วจึงเข้าสู่นิพพาน

ที่ตั้งสุทธาวาสภูมิ
ตั้งอยู่ในอากาศทั้ง ๕ ภูมิ จะไม่อยู่ในแนวระนาบเดียวกันเหมือนกับภูมิที่ผ่านมา แต่จะตั้งสูงขึ้นไป อวิหาภูมิจะตั้งห่างจากเวหัปผลาภูมิ และ อสัญญสัตตาภูมิ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ อก นิฏฐาภูมิ มีความสูงห่างจากกันระหว่างภูมิ ชั้นละ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ สิ่งสำคัญในอกนิฏฐาภูมิ ในอกนิฏฐาภูมิมีพระเจดีย์ชื่อ ทุสสเจดีย์ หรือพระเจดีย์ผ้าขาว ที่เจดีย์บรรจุเครื่องแต่งกายของพระโพธิสัตว์ในคราวที่ทรงออกผนวช(ก่อนตรัสรู้ เรียกว่าพระโพธิสัตว์) โดยฆฏิการพรหมนำบริขาร ๘ จากพรหมโลกมาถวาย พระโพธิสัตว์ และรับพระภูษาขึ้นไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ในพรหมโลก และ ในคราวที่ปรินิพพาน พรหมก็ได้นำพระอุณหิส (พระบรมสารีริกธาตุส่วน หน้าผาก) ไปบรรจุไว้ที่ทุสสเจดีย์ ในคราวออกบวช พระอินทร์ได้พระจุฬาโมฬี ปิ่น และเครื่องรัดเกล้า ไปบรรจุไว้ที่จุฬามณีเจดีย์ พระพรหมคือฆฏิการพรหมได้ถวายบริขาร ๘ และ นำพระภูษาคฤหัสถ์ขึ้นไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ เรื่องบาตรที่เป็นส่วนหนึ่งใน บริขาร ๘ มีเรื่องพิเศษอีกว่า เมื่อนางสุชาดาน้อมถาดทองข้าวมธุปายาส เข้า
ไปถวายพระโพธิสัตว์ในเช้าวันที่จะตรัสรู้ บาตรดินที่ฆฏิการพรหมถวายมีเหตุ ทำให้อันตรธานหายไป ไม่ทรงเห็นบาตรจึงทรงรับทั้งถาด ครั้นตรัสรู้แล้ว เมื่อพาณิชสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะ ภัลลิกะ ได้น้อมข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงถวาย พระองค์ไม่มีบาตรที่จะทรงรับ ท้าวจตุโลกบาตรทั้งสี่จึงได้นำบาตรศิลาจาก ทิศทั้งสี่มาถวาย รวมเป็นสี่บาตร พระองค์ทรงรับแล้วอธิษฐานให้เป็นบาตรใบเดียวกัน แล้วทรงรับข้าวสัตตุจากพาณิชทั้งสองคน 



วันเสาร์

๘. เทวภูมิ

เทวภูมิเป็นภูมิที่มีความสุข แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

กามาวจร ท่องเที่ยวอยู่ในกาม ได้แก่ สวรรค์ ๖ ชั้น
รูปาวจร ท่องเที่ยวอยู่ในรูปฌาน ได้แก่ รูปพรหม ๑๖ ชั้น 
อรูปาวจร ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปฌาน ได้แก่อรูป พรหม ๔ ชั้น 

ฉะนั้นในสวรรค์กามาวจร ๖ ชั้น จึงยังเกี่ยวข้องกับกามคุณ ท่านแสดงว่า
ชั้นจาตุมหาราชิกาและชั้นดาวดึงส์ มีเหมือนมนุษย์
ชั้นยามา มีแต่กายสังสัคคะ
ชั้นดุสิต มีเพียงจับมือกัน
ชั้นนิมมานรตี มีเพียงยิ้มรับกัน
ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี มีแต่มองดูกันเท่านั้น
ส่วนในรูปาวจรและอรูปาวจร ที่ เรียกว่า พรหมโลก ทุกชั้นไม่เกี่ยวข้องกับกาม 

ในอรรถกถาวิภังค์กล่าวว่าไม่ มีเพศสตรีเพศบุรุษในพรหมโลก คำว่า เทวะ ในคัมภีร์สัททนีติ แปลไว้ ๘ อย่าง ต่อนี้

๑. ผู้ที่เล่น
 หมายถึง ผู้ที่เล่นด้วยกามคุณทั้ง ๕ คือ มีสุขสนุกสบายอยู่ด้วยทิพยสมบัติทุกเวลา 
๒. ผู้ที่ปรารถนา หมายถึง ปรารถนาจะชนะปฏิปักษ์ คือต้องการชนะข้าศึก ไม่ยอมแพ้ 
๓. ผู้ที่กล่าว หมายถึง มีวาจาที่โลกนับถือ บอกว่าควรหรือไม่ควรอย่างไรก็เชื่อฟัง 
๔. ผู้ที่รุ่งเรืองสว่าง หมายถึง รุ่งเรืองด้วยแสงสว่าง คือ สรีระมีความสว่างรุ่งเรืองอย่างยิ่ง 
๕. ผู้ที่ได้รับความชมเชย หมายถึงเป็นผู้ที่ถูกยกย่องสรรเสริญ
๖. ผู้ที่มีผู้ใคร่ หมายถึง ใคร่จะเห็นจะได้ยินเป็นต้น ล้วนประกอบด้วยความงามเป็นพิเศษ 
๗. ผู้ที่ไปได้ หมายถึง ผู้ที่ไปได้โดยไม่ขัดข้องในทุกที่ตามปรารถนา 
๘. ผู้ที่สามารถ หมายถึง ผู้ที่สามารถยังกิจนั้นๆ ให้สำเร็จด้วยอานุภาพสมบัติ 
สวรรค์ชั้นกามาวจรภูมิ เทพหรือเทวดาที่อยู่ในสวรรค์ชั้นกามาวจรภูมิมีกายทิพย์ เป็นกายสว่าง ละเอียด ไม่มีปฏิกูล เกิดเป็นโอปปาติกะกำเนิด คือผุดเกิดขึ้นโตทันที แต่เป็นกายที่ไม่ปรากฏแก่ตาคน

ส่วนเทพในรูปภูมิและอรูปภูมิ ก็มีกายทิพย์เช่นเดียวกันแต่มีความละเอียดประณีตกว่า เทพบุตรเทพธิดามีแต่ความหนุ่มสาว เทพธิดาจะมีรูปลักษณะอยู่ในวัยอายุราว ๑๖ ปี เทพบุตรจะมีรูปลักษณะ อยู่ในวัยอายุราว ๒๐ ปี เหมือนกันหมด มีความบริบูรณ์ด้วยความสุข อายุยืนยาว ความแก่ เจ็บ ตาย ไม่ปรากฏ ตายก็ไม่ปรากฏซาก จึงเห็นทุกข์ได้ยาก

เทวดาจะมีแต่ความสุขเพลิดเพลินอยู่ตลอดเวลา เทวดาชั้นกามาวจรภูมิ เมื่อหมดบุญจะตายจากเทวภูมิ จะมีสิ่งปรากฏให้ทราบ ๕ อย่างคือ
มรณนิมิตของเทวดา ๕ อย่าง ได้แก่
๑.ผิวกายเศร้าหมอง 
๒.พวงดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง 
๓.ผ้านุ่งห่มเศร้าหมอง 
๔.เหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้งสองข้าง 
๕.อาสนะแข็ง

ทำกุศลอย่างไรจึงเกิดเป็นเทวดา 
๑. สร้างบุญกุศลไว้มากจะเกิดในวิมานของตนเอง เหมือนคนรวยย่อมมีบ้านของตนเอง ไม่ต้องเช่าหรืออาศัยคนอื่นอยู่ 
๒. สร้างบุญกุศลไว้น้อย ไม่มีวิมานของตนเองเกิดในวิมานเทวดาอื่นๆ โดย
  • ผุดปรากฏขึ้นที่ตักของเทวดาองค์ใด ก็เป็นบุตร ธิดา ของเทวดาองค์นั้น
  • ผุดปรากฏขึ้นที่แท่นบรรทมของเทวดาองค์ใด ก็เป็นบาทบริจาริกาหรือภรรยาของเทวดาองค์นั้น 
  • ผุดปรากฏขึ้นใกล้แท่นบรรทมของเทวดาองค์ใด ก็เป็นผู้รับใช้ของเทวดาองค์นั้น
  • ผุดปรากฏขึ้นภายในวิมานของเทวดาองค์ใด ก็เป็นบริวารของเทวดาองค์นั้น
  • ผุดปรากฏขึ้นนอกวิมาน ใกล้วิมานของเทวดาองค์ใด ก็เป็นบริวารของเทวดาในวิมานนั้น
  • ผุดปรากฏขึ้นระหว่างวิมานพอดี ก็ดูว่าเวลาผุดเกิดหันหน้าไปทางวิมานใดก็ต้องเป็นบริวารของเทวดาในวิมานนั้น 
  • ผุดปรากฏขึ้นระหว่างวิมานพอดี แต่ไม่หันหน้าไปทางวิมานใดก็ตกเป็นบริวารของเทวดาที่เป็นใหญ่ปกครองสวรรค์ชั้นนั้นๆ หรือจะยกให้เป็นบริวารของเทวดาองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้
เทวะ หรือ เทวดา มี ๓ ประเภท คือ 
๑. อุปปัตติเทวะ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ เทวดาและพรหม
๒. สมมติเทวะ เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา
๓. วิสุทธิเทวะ เทวดาที่บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวง หมายถึง พระอรหันต์

กามาวจรภูมิ ๖ (สวรรค์ ๖ ชั้น)
ชั้นที่๑ จาตุมหาราชิกาภูมิ 
สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ มีท้าวมหาราช ๔ องค์ แบ่งกันปกครอง ดังนี้
๑. ท้าวธตรฐะ อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองคันธัพพเทวดา
๒. ท้าววิรุฬหกะ อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองกุมภัณฑเทวดา
๓. ท้าววิรูปักขะ อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองนาคเทวดา
๔. ท้าวกุเวระ อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองยักขเทวดา

ในอาฏานาฏิยสูตร ได้กล่าวถึงหน้าที่ของท้าวมหาราชทั้ง ๔ 
และ บริวาร คือ
เป็นผู้รักษาด่านหน้าของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อป้องกันพวกอสูร ซึ่งเป็นศัตรูของเทพชั้นดาวดึงส์จะยกทัพขึ้นมาตีเอาถิ่นสวรรค์คืน แต่ใน สุตตันตปิฎกติกนิบาต ได้แสดงหน้าที่ว่า เป็นผู้ตรวจดูโลกซึ่งเป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์ในวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ อมาตย์บริษัทของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลก ในวัน ๑๔ ค่ำแห่งปักษ์ บุตรทั้งหลายของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลก ในวัน ๑๕ ค่ำแห่งปักษ์ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลกเองว่า พวกมนุษย์พากันบำรุงมารดาบิดา บำรุงสมณพราหมณ์ เคารพนอบน้อมผู้ใหญ่ในตระกูล รักษาอุโบสถ ทำบุญกุศล เป็นต้น มีจำนวนมากอยู่หรือ เมื่อตรวจดูแล้วถ้าเห็นว่ามีจำนวนน้อย ก็ไปบอกแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ซึ่ง ประชุมกันในสุธรรมสภา พวกเทพชั้นดาวดึงส์เมื่อได้ฟังดั่งนั้นก็มีใจหดหู่ 
ทิพยกายจักลดถอย อสุรกายจักเพิ่มพูน 

แต่ถ้าเห็นว่าพวกมนุษย์พากันทำดี มีบำรุงมารดาบิดาเป็นต้น เป็นจำนวนมาก พวกเทพชั้นดาวดึงส์ก็จะพากันชื่นบาน ทิพยกายจักเพิ่มพูน อสุรกายจักลดถอย ดังกล่าวมานี้เป็นหน้าที่ของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทำหน้าที่คุ้มครองโลก ทั้ง ๔ ทิศ 

ในเรื่องความคุ้มครองโลกนั้นพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมที่เป็นธรรมคุ้มครองโลก(โลกบาล)ไว้ ๒ ข้อ คือ หิริ ความละอายใจที่จะทำชั่ว
โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว 
บุคคลทั้งหลายเมื่อมีธรรมคุ้มครองโลก รักษาไว้แล้วก็จะไม่ทำความชั่วเพราะความละอาย ไม่ทำความชั่วเพราะมีความเกรงกลัว เมื่อเป็นเช่นนี้ถึงจะมีท้าวมหาราชทั้ง ๔ มาตรวจตราที่จิตใจ หรือไม่มีก็ตาม บุคคลทั้งหลายก็เป็นผู้ที่ละเว้นความชั่วได้แล้วด้วยความมีหิริและโอตตัปปะ

เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา อยู่ตั้งแต่กลางภูเขาสิเนรุจนกระทั่งถึงพื้นดินมนุษย์ มีชื่อเรียกตามที่อยู่ที่อาศัย ดังนี้ 
๑. ภุมมัฏฐเทวดา เทวดาที่อยู่บนพื้นดิน
๒. รุกขัฏฐเทวดา เทวดาที่อยู่บนต้นไม้
๓. อากาสัฏฐเทวดา เทวดาที่อยู่ในอากาศ (มีวิมานอยู่)

ภุมมัฏฐเทวดา เทวดาที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ภูเขา แม่น้ำ มหาสมุทร ตามบ้านเรือน ซุ้มประตู เจดีย์ ศาลา ใต้พื้นดิน เป็นต้น โดยถือเอา สถานที่นั้นเป็นวิมานของตน
รุกขัฏฐเทวดา เทวดาที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ มี ๒ จำพวก คือ มีวิมาน และไม่มีวิมาน รุกขเทวดาที่มีวิมานวิมานจะตั้งอยู่บนยอดไม้ เทวดาที่ไม่มีวิมานก็จะอาศัยอยู่ บนคบไม้ กิ่งไม้
อากาสัฏฐเทวดา เทวดาที่มีวิมานของตนเองตั้งอยู่ในอากาศ ภายในภายนอกวิมาน ประกอบด้วย รัตนะ ๗ อย่าง ได้แก่ แก้วมรกต แก้วมุกดา แก้วประพาฬ แก้ว มณี แก้ววิเชียร เงิน ทอง บางวิมานมี ๒ รัตนะ ๓ รัตนะ ขึ้นอยู่กับกุศลที่ตน เคยสร้างไว้ วิมานเหล่านี้จะลอยหมุนเวียนไปในอากาศรอบ ๆ ภูเขาสิเนรุ 

เทวดาใจร้าย ๔ จำพวก 
เทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ บางพวกขาดเมตตาธรรม เป็นเทวดา ใจร้าย มี ๔ จำพวก คือ 
๑. คันธัพโพ คันธัพพี คือ เทวดาชาย หญิง ที่ถือกำเนิดภายในต้นไม้ที่ มีกลิ่นหอม เรียกว่านางไม้ หรือแม่ย่านาง ชอบรบกวนให้เกิดอุปสรรคต่างๆ เช่น เจ็บป่วย หรือทำอันตรายแก่ทรัพย์สมบัติที่นำไม้นั้นมาใช้สอย เทวดา จำพวกนี้อยู่ในความปกครองของ ท้าวธตรัฏฐะ คันธัพพเทวดานี้ สิงอยู่ในต้นไม้นั้นตลอดไป แม้ว่าใครจะตัดฟันไป ทำเรือ แพ บ้านเรือน เครื่องใช้สอย ก็คงสิงอยู่ในไม้นั้น ซึ่งผิดกับรุกขเทวดาที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ ถ้าต้นไม้นั้นตายหรือถูกตัด ก็ย้ายจากต้นไม้นั้นไปต้นไม้อื่น 
๒. กุมภัณโฑ กุมภัณฑี คือ เทวดาชาย หญิง ที่เรียกว่ารากษส (อ่านว่า ราก-สด) เทวดารักษาสมบัติต่างๆ รักษาป่า ภูเขา แม่น้ำ เทวดาจำพวกนี้ อยู่ ในความปกครองของท้าววิรุฬหกะ
๓. นาโค นาคี คือ นาคเทวดาชาย หญิง มีวิชาเวทมนต์คาถา ขณะท่องเที่ยวในโลกมนุษย์ บางทีก็เนรมิตเป็นคน สัตว์ นาคเทวดาบางพวกมีอัธยาศัยชอบลงโทษพวกสัตว์นรก จะเนรมิตตัวไปเป็นนายนิรยบาลคอยลงโทษสัตว์นรก เทวดาจำพวกนี้อยู่ในความปกครองของท้าววิรูปักขะ
๔. ยักโข ยักขี คือ เทวดายักษ์ชาย หญิง พอใจการเบียดเบียนสัตว์นรกเช่นเดียวกับนาคเทวดา เทวดาพวกนี้อยู่ในความปกครองของท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวรรณ

มนุษย์จะไปเกิดเป็นเทพยดาในสรวงสวรรค์ก็เนื่องด้วยบุญ เช่น การทำบุญใส่บาตร ทำทาน รักษาศีล ไปเกิดในสวรรค์ชั้นใดจะต้องทราบวิธีการวางใจในการทำบุญว่าทำเพื่ออะไร ทำอย่างไรบุญนั้นจึงมีผลมีอานิสงส์มาก สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในทานสูตรมีใจความสรุปว่า
“ผู้ใดให้ทานโดยหวังผลบุญจากการให้ทานเมื่อตายไปจะไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา” เช่นใส่บาตรแล้วอธิษฐานขอให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ให้มีอาหารกินในชาติหน้า ขอให้ได้เลื่อนยศตำแหน่งเร็วๆ เป็นต้น จัดเป็นการให้ทาน แล้วหวังผลบุญจากการให้ทาน

ชั้นที่๒ ตาวติงสาภูมิ

ตาวติงสา หรือ ดาวดึงส์ เป็นที่เกิดของบุคคล ๓๓ คน เหตุแห่งชื่อ ตาวตึงสะ มีเหตุพอเป็นสังเขปดังนี้ 

ในอดีตกาลมีหมู่บ้านหนึ่งชื่อว่ามจลคาม หมู่บ้านนี้มีคนอยู่กลุ่มหนึ่ง ชื่อว่าคณะสหบุญญการี แปลว่า คณะ
ทำบุญร่วมกัน มี ๓๓ คนเป็นผู้ชายทั้งหมด หัวหน้าชื่อว่า มาฆมานพ ชายทั้ง ๓๓ คนนี้ช่วยกันทำความสะอาด ถนนหนทาง ถนนแห่งใดชำรุดทรุดโทรมก็ช่วยกันซ่อมแซม เพื่อให้เป็นที่ สะดวกสบายแก่บุคคลทั่วไป ทำที่สำหรับเก็บน้ำเพื่อให้คนที่ผ่านไปมาได้อาศัยดื่มกิน สร้างศาลาที่ทาง ๔ แพร่ง เพื่อให้คนเดินทางได้มีที่นั่งพัก เมื่อชายทั้ง ๓๓ คนนี้สิ้นชีวิต ได้บังเกิดในเทวภูมินี้ มาฆมานพที่เป็นหัวหน้ากลุ่ม ได้เกิดเป็นพระอินทร์ ด้วยเหตุนี้เทวภูมิชั้นที่สองนี้จึงชื่อว่าตาวติงสะ แปลว่า ๓๓ เทวดาชั้นดาวดึงส์มี ๒ จำพวก คือ
๑. ภุมมัฏฐเทวดา เทวดาที่อยู่บนพื้นดิน ได้แก่ พระอินทร์และเทวดา ผู้ใหญ่ ๓๒ องค์ พร้อมทั้งบริวาร และ เทวอสุรา ๕ จำพวก ที่อยู่ใต้เขาสิเนรุ 
๒. อากาสัฏฐเทวดา เทวดาที่อยู่ในอากาศ ได้แก่ เทวดาที่มีวิมานลอย ไปในกลางอากาศตั้งแต่เหนือพื้นดินยอดภูเขาสิเนรุ ไปจดขอบจักรวาล บางวิมานก็มีเทวดาอยู่ บางวิมานก็ไม่มีเทวดาอยู่ 

ที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แผ่นดินชั้นดาวดึงส์ ตั้งอยู่บนยอดภูเขาสิเนรุ ลักษณะกลม กว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ มีสุทัสสนนคร กลางสุทัสสนนครมีปราสาทเวชยันต์เป็นที่อยู่ ของพระอินทร์ สุทัสสนะนคร เป็นที่ตั้งของสิ่งบันเทิงใจ ดังนี้ 
ทิศตะวันออก มีสวนนันทวัน กว้าง ๑,๐๐๐ โยชน์ มีสระโบกขรณี ๒ สระ ชื่อ มหานันทา และ จูฬนันทา 

ทิศตะวันตก มี สวนจิตรลดากว้าง ๕๐๐ โยชน์ มีสระโบกขรณี ๒ แห่ง ชื่อวิจิตรา และ จูฬจิตรา 
ทิศเหนือ มีสวนมิสสกวัน กว้าง ๕๐๐ โยชน์ มีสระโบกขรณี ๒ แห่ง ชื่อธัมมา และ สุธัมมา 
ทิศใต้ มีสวนผารุสกวัน กว้าง ๗๐๐ โยชน์ มีสระโบกขรณี ๒ แห่ง ชื่อภัทรา และ สุภัทรา
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสวน ๒ แห่ง ชื่อปุณฑริกะ และมหาวัน มีความพิเศษ คือ

๑. สวนปุณฑริกะ มีต้นปาริชาติ สูง ๑๐๐ โยชน์ แผ่กิ่งก้าน ออกไป ๕๐ โยชน์ เมื่อคราวออกดอกกลิ่นหอมไป ไกลได้ ๑๐๐ โยชน์ ใต้ต้นปาริชาติมีแท่น บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์(เป็นแท่นศิลาที่มีสีแดงเหมือน ดอกชบา) กว้าง ๕๐ โยชน์ ยาว ๖๐ โยชน์ หนา ๑๕ โยชน์ มีความอ่อนนุ่ม เมื่อพระอินทร์ประทับพักผ่อน อิริยาบถอยู่เหนือแท่นศิลาอาสน์แล้ว แท่นทิพย์นี้ก็จะอ่อนยุบลงไป เมื่อพระองค์ทรงลุกขึ้นแท่นศิลาก็จะฟูขึ้นตามเดิม สวนนี้มีศาลาฟังธรรมชื่อ ศาลาสุธัมมา มีเจดีย์มรกต คือ จุฬามณี สูง ๑๐๐ โยชน์
๒. สวนมหาวัน เป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถของ ท้าวสักกเทวราช มีสระโบกขรณีชื่อ สุนันทา กว้าง ๑ โยชน์ และมีวิมานรายล้อมอยู่ ๑,๐๐๐ วิมาน ต้นปาริชาติ หรือต้นกัลปพฤกษ์ ในสวนปุณฑริกะ กลางสวนมีต้นไม้ใหญ่แผ่สาขาอยู่ต้นหนึ่ง ชื่อปาริชาติ เป็นต้นไม้ทิพย์ ๑๐๐ ปี จะออกดอกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงคราวนั้นดอกไม้ในสวรรค์นี้ก็จะบานสะพรั่ง เหล่าเทพบุตรเทพธิดาก็จะพากันมารื่นเริง ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาเฝ้าจนกว่าดอกไม้จะบาน ครั้นดอกไม้สวรรค์บานก็จะปรากฏแสงรุ่งเรืองไปไกลหลายหมื่นวา เมื่อลมรำเพยพัดไปทิศใดย่อมส่งกลิ่นหอมไปทิศนั้น เป็นระยะไกล ดอกจะบานสะพรั่งไปทุกกิ่งก้านทั่วทั้งต้น เทพบุตรเทพธิดาองค์ใดปรารถนาจะได้ดอกปาริชาต ก็จะตกลงมาในมือดั่งรู้ ใจ

ความเป็นอยู่ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นนี้มีความเป็นอยู่โดยเสวยผลบุญที่ได้ทำไว้ จึงได้ทิพยสมบัติ เทพบุตรเทพธิดามีแต่ความสวยงามเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ตลอดไปไม่มีแก่ เจ็บ ตายปรากฏให้เห็น เทพบุตรองค์หนึ่งๆ อาจมีนางฟ้าเป็นบาทบริจาริกา ๕๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ องค์ เทวดาในชั้นนี้ มีการไปมาหาสู่กันและกัน เทพบุตร เทพธิดา มีความรักใคร่ปรารถนาเป็นคู่ครองกัน หากขาดคู่ครองก็จะเกิดความเบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ของตน ไม่เบิกบานรื่นเริงเหมือนเทวดาที่มีคู่ครอง เทวดาในชั้นดาวดึงส์ทั้งหลายต่างหาความสุขสำราญพร้อมด้วยบริวารของตน ในสวนทั้ง ๔ ทิศ 

ความสุขที่มีอยู่ในชั้นดาวดึงส์นี้มีมากมายโดยเฉพาะสวนนันทวัน เป็นที่ให้ความสุขได้อย่างดีเลิศกว่าสถานที่ใดๆ เทพบุตรเทพธิดาองค์ใดเกิดความทุกข์โศกเศร้าใจเพราะกลัวความตาย ถ้าได้เข้าไปยังสวนนันทวันแล้วความเศร้าโศกก็จะหายไปสิ้น เทวดาองค์ใดถ้ายังไม่เคยเข้าไปในสวนนันทวัน จัดว่าเขายังไม่รู้ถึงความสุขที่ดีเลิศในสวรรค์ สวนนันทวันอย่างในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้ มีอยู่ในสวรรค์ทุกๆ ชั้น

สิ่งสำคัญๆ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
๑. พระเจดีย์จุฬามณี พระเจดีย์จุฬามณีเป็นสถานที่สำคัญที่สุดเป็นที่บรรจุจุฬา คือ ส่วนของ พระเกศาบนกระหม่อม พร้อมกับโมฬี คือ มุ่นหรือมวยผมทั้งหมด และ มณี คือ ปิ่นมณี หรือ ปิ่นแก้ว สำหรับปักมวยผม กับ เวฐนะ คือ เครื่องรัดมวยผม หรือที่ เรียกว่า รัดเกล้า ของพระโพธิสัตว์ คำว่า จุฬา แปลอีกอย่างหนึ่งว่า ปิ่น เพราะฉะนั้น พระเจดีย์นี้จึงเป็นที่ บรรจุ พระเกศา ปิ่นมณี และเครื่องรัดมวยผม ในตอนที่พระโพธิสัตว์เสด็จออก มหาภิเนษกรมณ์ มีกล่าวไว้ใน อวิทูเรนิทาน ในอรรถกถาชาดก มีใจความสรุปว่า 
เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงม้ากัณฐกะเสด็จข้ามแม่น้ำอโนมา เสด็จลงจากหลังม้า ประทับยืนบนลานทราย ทรงเปลื้องอาภรณ์ประทานแก่นายฉันนะ และประทานม้ากัณฐกะแก่เขา แล้วทรงจับพระขรรค์ แสงดาบด้วยพระหัตถ์ขวา จับพระจุฬา(ยอดพระเกศา) กับพระโมฬี(มุ่นพระ เกศาทั้งหมด) ด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงตัดด้วยพระขรรค์แสงดาบ พระเกศายังเหลือแนบพระเศียรประมาณสององคุลีม้วนกลับมาทางเบื้องขวา คงอยู่ขนาดนั้นตลอดพระชนม์ชีพ พระมัสสุ(หนวด)ก็มีสมควรแก่พระเกศา ไม่ต้องปลงพระเกศาและพระมัสสุอีก พระโพธิสัตว์ทรงโยนพระจุฬากับพระโมฬีขึ้นไปในอากาศ ท้าวสักกเทวราชทอดพระเนตรเห็นด้วยทิพยจักษุ ทรงรับด้วยผอบรัตนะ ทรงนำขึ้นไปประดิษฐานไว้ในที่เทวสถูป ชื่อจุฬามณีเจดีย์ในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ พร้อมกับอีกสองสิ่ง คือ ปิ่นมณีและเครื่องรัดเกล้า รวมเป็น ๓ สิ่ง คือ
๑.พระจุฬาและพระโมฬี
๒.ปิ่นมณี
๓.เครื่องรัดเกล้า

นอกจากนี้ยังเป็นที่ บรรจุพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาในคราวแบ่งพระธาตุ พระจุฬามณีเจดีย์จึงบรรจุ ของสำคัญรวมไว้ ๔ สิ่ง 
การแบ่งพระธาตุ มีใจความสรุปดังนี้
เมื่อโทณพราหณ์แบ่งพระธาตุ แอบหยิบเอาพระทาฐธาตุ คือเขี้ยวแก้ว เบื้องขวาขึ้นซ่อนไว้ ณ ภายใต้ผ้าโพกศีรษะ พระอินทร์ทอดพระเนตรเห็น ด้วยทิพยจักษุ ทรงดำริว่าโทณพราหมณ์ไม่อาจทำสักการะให้สมควรแก่พระทาฐธาตุ ควรจะนำมาบูชาในเทวโลก จึงทรงอัญเชิญพระทาฐธาตุนั้นจากผ้าโพกของโทณพราหมณ์ ประดิษฐานในสุวรรณโกศ ทรงนำขึ้นไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์จุฬามณี ในดาวดึงส์ 
 
 ๒. เทวสภาสุธัมมา เทวสภาสุธัมมา หรือ สุธรรมสภา หรือ ศาลาสุธัมมา เป็นสถานที่ฟังธรรมในเทวโลก ศาลานี้ประดับด้วยรัตนะทั้ง ๗ มีความสูง ๕๐๐ โยชน์ กว้าง ๓๐๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๑,๒๐๐ โยชน์ พื้นของศาลาเป็นแก้วผลึก เสาเป็นทอง เครื่องบนมี ขื่อ คาน ระแนง หลังคา เพดาน เป็นต้น เป็นแก้ว หลังคามุง ด้วยแก้วอินทนิล เพดานและเสาสลักเป็นลวดลายต่างๆ ประดับด้วยแก้ว ประพาฬ ช่อฟ้า ใบระกา ทำด้วยเงิน กลางศาลาตั้งธรรมาสน์สูง ๑ โยชน์ ทำ ด้วยรัตนะทั้ง ๗ กั้นด้วยเศวตฉัตรสูง ๓ โยชน์ ข้างธรรมาสน์เป็นที่ประทับ ของท้าวสักกเทวราช ถัดไปเป็นที่ประทับของเทวดาผู้ใหญ่ ๓๒ องค์ และ ถัดไปเป็นที่นั่งของเทวดาผู้ใหญ่องค์อื่นๆ และเทวดาผู้น้อยทั่วไป ศาลาสุธัมมาตั้งอยู่ข้างต้นปาริชาติ ซึ่งออกดอกปีละครั้ง เมื่อใกล้จะผลิดอก ใบจะมีสีนวล เหล่าเทวดาจะมีความยินดีปรีดาว่าอีกไม่ช้าจะได้เห็นดอก ออกสะพรั่งฉายสีแดง รัศมีแผ่ไปในปริมณฑลประมาณ ๕๐๐ โยชน์ ส่งกลิ่นหอมไปตามลมไกล ๑๐๐ โยชน์ 
ลมชื่อ กันตนะ ทำหน้าที่พัดให้ดอกหล่นลงมาเอง
ลมชื่อสัมปฏิจฉนะ ทำหน้าที่รองรับดอกไม้ไม่ให้ร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน
ลมชื่อ ปเวสนะ ทำหน้าที่พัดเอาดอกไม้นั้นเข้าไปในศาลาสุธัมมา
ลมชื่อ สัมมิชชนะ ทำหน้าที่ พัดเอาดอกเก่าออกไป
ลมชื่อ ลมสันถกะ ทำหน้าที่พัดจัด ระเบียบดอกไม้นั้นให้เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ให้รวมกันเป็นกอง 

เมื่อถึงเวลาประชุมธรรม ท้าวสักกเทวราชจะทรงเป่าสังข์วิชยุตตระ ยาว ๑๒๐ ศอก เสียงสังข์ดังก้องกังวานทั่วทั้งภายในภายนอกพระนครสุทัสสนะ เป่าครั้งหนึ่งจะดังปรากฏอยู่นานถึง ๔ เดือนมนุษย์ เทพบุตรเทพธิดา ทั้งหลายในชั้นดาวดึงส์ เมื่อได้ยินเสียงสังข์ต่างพากันมาสู่ศาลาสุธัมมา รัศมีกายและแสงจากเครื่องประดับของเทวดาทั้งหลาย สว่างไสวไปทั่วศาลา ท้าว สักกเทวราชเมื่อทรงเป่าสังข์แล้วก็เสด็จจากปราสาทเวชยันต์ พร้อมด้วยมเหสี ทั้ง ๔ องค์ ทรงขึ้นช้างเอราวัณ มีเทพยดาห้อมล้อมตามเสด็จไปสู่ศาลาสุธัมมา ประมาณ ๓ โกฏิ ๖ ล้านองค์ ผู้แสดงธรรมได้แก่พรหมชื่อว่า สุนังกุมาระ ได้เสด็จลงมาแสดงธรรมเสมอ บางครั้งท้าวสักกเทวราชก็ทรงแสดงเอง หรือ เทพบุตรองค์ใดที่มีความรู้ธรรมะดีก็จะเป็นผู้แสดง เทวภูมิเบื้องบนอีก ๔ คือ ยามา ดุสิต นิมมานรตี ปรนิมมิตวสวัตตี ก็มีศาลาสุธัมมา เช่นกัน ท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์ ทรงบำเพ็ญกุศลในพระพุทธศาสนา

ในระหว่างที่พระศาสนาของพระสมณโคดมยังไม่อุบัติขึ้น ท้าวสักกเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีรัศมีกาย รัศมีวิมานด้อยกว่าเทพยดาชั้นผู้ใหญ่บางองค์ เมื่อศาสนาของพระสมณโคดมอุบัติขึ้นแล้ว ความสวยงามของวิมานและรัศมีกายจึงมีบริบูรณ์เต็มที่ ทั้งนี้เป็นเพราะกำลังของกุศลกรรมที่ท้าวเธอได้ลงมาถวายทานแด่พระมหากัสสปะที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ เรื่องมีอยู่ว่า 

พระมหากัสสปะเมื่อออกจากนิโรธสมาบัติต้องการโปรดคนยากจนที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง พระอินทร์ทรงทราบก็ชวนพระมเหสีเสด็จสู่โลกมนุษย์และแปลงกายเป็นคนยากจน เมื่อพระมหากัสสปะอุ้มบาตรเดินเข้าไปในหมู่บ้านและหยุดยืนอยู่ที่หน้าบ้านแรกที่ถึง ท้าวสักกะแปลงเห็นพระมหากัสสปะหยุดอยู่ที่หน้าบ้านตน จึงรีบออกมาแล้วบอกพระมเหสีแปลงให้ยกอาหารมาใส่บาตร พระเถระไม่ได้พิจารณาจึงไม่รู้ว่าสองสามี ภรรยานี้เป็นท้าวสักกะและพระมเหสี แต่พอได้กลิ่นอาหารก็รู้ว่านี่เป็นอาหารทิพย์ พระมหาเถระรู้ดังนั้นก็ต่อว่าพระอินทร์ว่า “อาตมาตั้งใจมาโปรดคนยากจน มิได้ตั้งใจจะมาโปรดผู้ที่มีบุญอยู่แล้วเช่นองค์อมรินทร์ เหตุไฉนท่านจึงมาทำเช่นนี้ ” พระ อินทร์ตรัสว่า “ข้าพระองค์ก็เป็นคนยากจนเหมือนกัน เพราะ ถึงแม้ว่าข้าพระองค์จะเป็นใหญ่อยู่ในชั้นดาวดึงส์ แต่ว่ารัศมีกายก็ดี วิมานก็ดี ของข้าพระองค์ยังด้อยกว่าเทวดาบางองค์ มากนัก ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้าพระองค์ไม่ได้ทำกุศลในเวลาที่มีพระพุทธศาสนา มาบัดนี้ข้าพระองค์ได้มาพบกับพระผู้เป็นเจ้า แล้วจึงต้องการสร้างกุศลในศาสนา เพื่อให้รัศมีกายและวิมานของข้าพระองค์ได้มีความสว่างรุ่งโรจน์ จึงแปลงตนมากระทำดังนี้ ”

อาศัยการถวายทานนี้ พระอินทร์จึงมีรัศมีกาย และวิมาน สว่างรุ่งโรจน์สวยงามบริบูรณ์อย่างเต็มที่ ท้าวสักกเทวราชเป็นพระโสดาบัน ท้าวสักกเทวราชพระองค์นี้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน และจะอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จนสิ้นอายุขัย เมื่อจุติ(ตาย)จากชั้นดาวดึงส์จะเกิดในมนุษยโลกเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และสำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคล เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วก็กลับไปเกิดในชั้นดาวดึงส์อีกและได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี เมื่อสิ้นอายุขัยจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จะไปบังเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาส ตั้งแต่ ชั้นอวิหา เป็นต้นไป จนถึงชั้น อกนิฏฐาภูมิและปรินิพพานในภูมินี้

คุณธรรมที่ทำให้เป็นท้าวสักกะ(พระอินทร์)
ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อเป็นมนุษย์ในกาลก่อน ได้สมาทานประพฤติปฏิบัติวัตตบท ๗ ประการ จึงเกิดเป็นท้าวสักกะ คือ
๑. เลี้ยงบิดามารดาตลอดชีวิต 
๒. ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต 
๓. มีวาจานุ่มนวลสุภาพตลอดชีวิต 
๔. มีวาจาไม่ส่อเสียดตลอดชีวิต 
๕. มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการแจกจ่ายทาน ครอบครองเรือนตลอดชีวิต 
๖. มีวาจาสัตย์จริงตลอดชีวิต 
๗. ไม่โกรธ แม้ว่าถ้าเกิดโกรธขึ้นก็ระงับได้ทันทีตลอดชีวิต
 
พระอภิธรรม เกิดขึ้นครั้งแรกที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในพรรษาที่ ๗ ของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาที่ไปอุบัติเป็นสันดุสิตเทพบุตร ฉะนั้นในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นี้จึงมีสาระที่สำคัญๆ สรุปไว้ดังที่กล่าวมาแล้ว 

ทางไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในทานสูตรกล่าวไว้โดยสรุปว่า 
“ผู้ใดทำทานโดยคิดว่าการทำทานนั้น เป็นสิ่งที่ดีงาม ตายลงย่อมไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์” 

ชั้นที่๓ ยามาภูมิ
สวรรค์ชั้นที่ ๓ ชื่อว่า ยามา หรือ ยามะ แปลว่า สิ้นไปจากทุกข์ หรือ บรรลุทิพยสุขพร้อมพรั่ง สวรรค์ชั้นยามามีความสวยงามและประณีตกว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรั่งพร้อมด้วยความสุขที่เป็นทิพย์ มีผู้เป็นใหญ่ คือพระสุยามเทวาธิราช หรือเรียกว่า พระสุยามะ หรือ ยามะ มีที่ตั้งอยู่ในอากาศ สูงกว่ายอดภูเขาสิเนรุ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ ไม่มีเทวดาประเภทที่อาศัยบนพื้นดิน มีแต่พวกอากาสัฏฐเทวดาพวกเดียว มีวิมาน ทิพยสมบัติ ร่างกาย สวยงามและประณีตกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์

ทางไปสวรรค์ชั้นยามา ทานสูตรกล่าวว่า
“ถ้าผู้ใดทำทานโดยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยทำบุญทำทานมา โดยตลอด เราก็ควรจะได้ทำตามประเพณีที่ท่าน เคยทำมา” ถ้าผู้นั้นให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำกาลกิริยาตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเหล่าเทวดาทั้งหลายในสวรรค์ชั้นยามา ตัวอย่างผู้ที่ไปเกิดในชั้นยามาภูมิ คือ อุบาสกผู้หนึ่งมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อุทิศถวายอาหารเป็นสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์วันละ ๔ รูปทุกวัน เขาได้จ้างบุรุษผู้หนึ่งให้คอยเปิดปิดประตูเวลาพระจะมารับสังฆทาน บุรุษนั้นต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ที่มารับสังฆทานด้วยความนอบน้อมเลื่อมใส ศรัทธา เมื่ออุบาสกผู้นั้นดับชีพลง ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นยามา ส่วนบุรุษผู้ต้อนรับเฝ้าประตูไปบังเกิดในดาวดึงส์

ชั้นที่๔ ดุสิตาภูมิ
ดุสิตาภูมิ สวรรค์ชั้นที่ ๔ ชื่อว่า ตุสิตา หรือ ตุสิตะ มักเรียกว่าชั้นดุสิต แปลว่า ยินดีชื่นบาน คือ มีปีติอยู่ด้วยสิริสมบัติของตน เป็นภูมิที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะไปบังเกิดในมนุษยโลก เทวดาในชั้นดุสิตนับว่าเป็นเทวดาที่ประเสริฐกว่าเทวดาในภูมิอื่นๆ มีท้าวสันตุสิตเทวราชเป็นผู้ปกครอง มีร่างกาย วิมาน ทิพยสมบัติ สวยงามประณีตกว่าเทวดาในชั้นยามา ดุสิตาภูมิตั้งอยู่ท่ามกลางอากาศ สูงจากชั้นยามาขึ้นไป ๔๒,๐๐๐ โยชน์ บริเวณแผ่กว้างออกไปจนจรดขอบจักรวาล เทวดาเป็นอากาสัฎฐเทวดาเท่านั้น 

ความโกลาหลในสวรรค์ 
ความโกลาหลอย่างขนานใหญ่ของพวกเทวดาทั้งปวงมีอยู่สามสมัย คือ
๑. สมัยเมื่อโลกจะวินาศ
๒. สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น
๓. สมัยเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิจะเกิดขึ้น

พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายในบัดนี้ ก่อนที่จะลงมาเกิดในโลกนี้ ได้ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อกาลใกล้กำหนดที่จะตายจากเทวดา ลงมาตรัสรู้ในมนุษย์โลก เทวดาทั้งปวงก็เกิด โกลาหล พากันไปเฝ้าทูลอาราธนาพระโพธิสัตว์ลงไปตรัสรู้ พระโพธิสัตว์ได้ทรงตรวจดูสถานะ ๕ อย่างคือ
๑. กาล
๒. ทวีป
๓. ประเทศ 
๔. ตระกูล
๕. มารดาและกำหนดอายุของมารดา 

กาล คือ กาลแห่งอายุขัยของมนุษย์ ถ้ามนุษย์มีอายุขัยมากเกินแสนปีขึ้นไป หรือ ต่ำกว่าร้อยปีลงมา ก็ไม่ใช่กาลที่จะลงมาตรัสรู้ เพราะยุคสมัยที่มนุษย์อายุขัยมากไปก็ไม่อาจเห็นไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น อนัตตา น้อยไปก็มีกิเลสหนามากไม่อาจเห็นธรรม แต่ในปัจจุบันนั้นเป็นยุคที่มนุษย์มีอายุร้อยปี จึงเป็นกาลที่จะลงมาตรัสรู้ได้ 
ทวีป คือทรงเห็นชมพูทวีปเหมาะที่จะลงมาตรัสรู้
ประเทศ คือ ทรงเห็นมัชฌิมประเทศคือท้องถิ่นของชมพูทวีปเป็นที่ เหมาะ เช่นสถานที่ประสูติปัจจุบันอยู่ในเนปาล 
ตระกูล ทรงเห็นศักยราชตระกูล และพระเจ้าสุทโธทนะจะเป็นพระบิดาได้
มารดา ทรงเห็นพระนางสิริมหามายามีศีลและบารมีธรรมสมควรเป็นพระมารดาได้ ทั้งจะมีพระชนม์สืบไปจากเวลาที่พระโอรสประสูติเพียงเจ็ดวัน สัตว์อื่นไม่อาจอาศัยคัพโภทร(ครรภ์)บังเกิดได้อีก 

ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงเห็นสถานะทั้ง ๕ มีครบบริบูรณ์แล้ว จึงทรงรับอาราธนาของเทพทั้งปวง
ทางไปสวรรค์ชั้นดุสิต ทานสูตรกล่าวว่า
“ผู้ใดให้ทานโดยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ได้หุงหากิน ถ้าเราไม่ให้ทานก็เป็นสิ่งไม่ควรอย่างยิ่ง เมื่อเขาตายลงแล้วกุศลนั้นส่งผล ย่อมทำให้เขาไปบังเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นดุสิต” ตัวอย่างผู้ไปเกิดในชั้นดุสิต ได้แก่ พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นประสูติพระโพธิสัตว์แล้ว ๗ วัน สวรรคตแล้วไปเกิดเป็นเทพบุตร อาจมีคำถามว่า ทำไมต้องเกิดเป็นเทพบุตรซึ่งเป็นชาย เกิดเป็นเทพธิดาไม่ได้หรือ ? เหตุผลคือ เพราะเป็นวิสัยของพระพุทธชนนีซึ่งมีบุญญาธิการ ถ้าเกิดเป็นเทพธิดาหากเทพบุตรเกิดความปฏิพัทธ์มีจิตรักใคร่เสน่หา จะเกิดเป็นโทษอย่างยิ่งแก่เทพบุตรองค์นั้น

สวรรค์ชั้นที่ ๕ ชื่อว่า นิมมานรตี หรือ นิมมานรดี แปลว่า อภิรมย์ยินดีในสิ่งที่นิรมิตขึ้น คือนอกจากทิพอารมณ์ที่ได้รับอยู่โดยปรกติแล้ว ในเวลาที่ต้องการสิ่งใด ก็นิรมิตสิ่งนั้นขึ้นได้อีกตามความต้องการ เทวดาที่เกิดในชั้นจาตุมหาราชิกา จนถึงดุสิต ทั้ง ๔ ภูมินี้ ย่อมมีคู่ครองของตนเป็นประจำอยู่มากบ้าง น้อยบ้าง ตามบุญญาธิการของตน แต่ในชั้นนิมมานรตีและปรนิมมิตวสวัตตี ไม่มีคู่ครองของตนเป็นประจำ เวลาใดที่ปรารถนาใคร่จะเสพกามคุณก็จะเนรมิตขึ้นมาตามที่ใจปรารถนา เมื่อได้เพลิดเพลินกับการเสพกามคุณแล้ว เทพเนรมิตจะอันตรธานไป มีความเพลิดเพลินเป็นอยู่เช่นนี้ตลอดไป เมื่อพิจารณาแล้วก็เป็นภูมิที่น่ารื่นรมย์ แต่ถ้าจะพิจารณาโดยสภาวธรรมแล้วเห็นว่าเป็นการไปใช้บุญเก่าพร้อมกับสะสมกิเลสใหม่ไปด้วย เมื่อหมดบุญเก่าก็ต้องไปรับผลของกิเลสที่สะสมใหม่ เมื่อตายจากเทวภูมิแล้วอาจจะไปเกิดในอบายภูมิด้วยกำลังแห่งอกุศลที่ได้กระทำไว้ในเทวภูมินั้น เมื่อท่านทราบเช่นนี้แล้วก็ไม่ควรยินดี แต่ให้มองเห็นวัฏฏะของชีวิตว่าถึงจะเกิดมาได้รับความสุขอย่างล้นเหลือในเทวภูมิใดๆ ก็ตาม ตราบใดเมื่อยังมีการเกิดอีก ความทุกข์ความโทมนัสไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แน่นอน นิมมานรตีภูมิ อยู่กลางอากาศห่างจากดุสิตาภูมิขึ้นไป ๔๒,๐๐๐ โยชน์ มีแต่อากาสัฏฐเทวดาอย่างเดียว ที่มีความสวยงามประณีต มีอายุยืนกว่าเทวดาในชั้นดุสิต

ทางไปสวรรค์ชั้นนิมมานรตี ในทานสูตรกล่าวว่า
“ผู้ใดทำทานโดยคิดว่าเราจะให้ทานเหมือน อย่างฤาษีทั้งหลายที่ได้กระทำมาในอดีต เมื่อตายและกุศลนั้นจะส่งผล ย่อมทำให้เขาไปบังเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นนิมมานรตี” ตัวอย่างผู้ที่ไปเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ คือ หญิงชราอนาถาผู้หนึ่งได้ใส่บาตรด้วยน้ำผักดอง แด่พระมหากัสสปเถระเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ที่ออกจาก นิโรธสมาบัติ พอตกกลางคืนเข้านอนเกิดเป็นโรคลมฉับพลันถึงแก่ความตาย ก่อนที่จะตายนางยังชื่มชมปีติโสมนัสอยู่ในใจที่พระมหากัสสปเถระเจ้าได้กรุณามาโปรดถึงหน้าบ้านเพื่ออนุเคราะห์ให้นางได้ทำทาน กุศลนี้เองที่นำให้นางไปเกิดเป็นเทพนารี มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากในสวรรค์ชั้นนิมมานรตี เสวยทิพยสมบัติอยู่ในปราสาทพิมาน 
สวรรค์ชั้นที่ ๖ ชื่อว่า ปรนิมมิตวสวัตตี แปลว่า ทำอำนาจของตนให้เป็นไปในโภคะทั้งหลายที่ผู้อื่นรู้ความคิดของจิตแล้วนิรมิตให้ เทวดาในสวรรค์ชั้นนี้เพียงแต่คิด ก็จะมีผู้เนรมิตสิ่งปรารถนานั้นให้ไม่ต้องเนรมิตเอง ผู้ที่มาคอยนิรมิตให้นั้นไม่มีกล่าวว่าเป็นเทพพวกไหนชั้นไหนทำให้ เทวดาชั้นนี้มีความสุขความสำราญยิ่งกว่าสวรรค์ชั้นที่ ๕ เมื่อปรารถนาเสวยกามคุณก็มีผู้นิรมิตให้ เมื่อได้เสวยกามคุณสมความปรารถนาแล้ว เทพเนรมิตจะอันตรธานไป ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิตั้งอยู่ในอากาศ ห่างจากนิมมานรตีภูมิ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ มีแต่อากาสัฏฐ-เทวดาอย่างเดียว มีท้าวปรนิมมิตตเทวราช หรือ ท้าววสวัตตีเทวราช เป็นผู้ปกครองเทวดาทั้ง ๖ ชั้น เทวดาในชั้นนี้มีร่างกาย วิมานทิพยสมบัติ สวยงามประณีตมากกว่าเทวดาในชั้นนิมมานรตี ภูมินี้ถือว่าเป็นยอดภูมิ คือ ภูมิที่สูงสุดของเทวดา

ทางไปสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ในทานสูตรกล่าวไว้ว่า 
“ผู้ใดทำทานโดยคิดว่า ทำทานเพื่อให้จิตเกิดความปลื้มปีติในบุญที่ทำ เมื่อตายลงและกุศลนั้นจะส่งผลจะทำให้ไปเกิดใน สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี”

ในมนุษยโลกและเทวโลก ภูมิไหนจะมีพระอริยบุคคลมากกว่า
ในเทวภูมิมีพระอริยบุคคลมากกว่ามนุษยภูมิ เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อแสดงธรรมแต่ละครั้งมีเทวดาฟังธรรมและบรรลุเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเทวดาที่ฟังธรรมแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบันและพระสกทาคามี มีเป็นจำนวนมาก ส่วนที่บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคลเมื่อหมดอายุขัยจากเทวดาแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมภูมิ ส่วนที่บรรลุเป็นพระอรหันต์เมื่อหมดอายุขัยแล้วก็ปรินิพพานไม่มีการเกิดอีก 

การที่พระอริยบุคคลในมนุษยโลกมีน้อยกว่าในเทวโลก เพราะบุคคลที่นับถือพระพุทธศาสนาในมนุษยโลกนี้ มีความสนใจในการปฏิบัติวิปัสสนาน้อย และยิ่งในปัจจุบันมนุษยโลกเข้าสู่กลียุค คือ มีสัปบุรุษ (คนดี)อยู่เพียง ๑ ใน ๔ ส่วน นอกนั้นเป็นอสัปบุรุษ (คนพาล) ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดี ไม่สนใจเรื่องปริยัติและปฏิบัติจึงขาดความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา ไม่อาจนำตนให้พ้นจากปุถุชนไปสู่อริยบุคคลได้ ฉะนั้น การจะเข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคล ต้องมีคุณธรรม ๗ ประการ คือ
๑. ต้องเป็นติเหตุกบุคคล(อ่านว่า ติ-เห-ตุ-กะ-บุค-คล) คือ บุคคลที่เกิดมาประกอบด้วยเหตุ ๓ คือ
อโลภะ อโทสะ อโมหะ อันเป็นผู้ที่เกิดมาพร้อมด้วยปัญญา
๒. เคยสร้างปัญญาบารมีในการเจริญวิปัสสนามาแต่ชาติก่อน
๓. ขวนขวายในการเจริญวิปัสสนาในปัจจุบันชาติ
๔. วิธีการเจริญวิปัสสนาถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้
๕. สถานที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติ
๖. ไม่มีความกังวลใดๆในปลิโพธิ ๑๐ ประการ คือ กังวลเรื่องที่อยู่ กังวลเรื่องตระกูล กังวลเรื่องลาภสักการะ กังวลเรื่องหมู่คณะ กังวลเรื่องนวกรรม(งานก่อสร้าง) กังวลเรื่องการเดินทาง กังวลเรื่องญาติ กังวลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ กังวลเรื่องการเล่าเรียน กังวลเรื่องการแสดงอิทธิฤทธิ์
๗ . มีเวลาในการปฏิบัติอันสมควร