วันจันทร์

๖. อนุสสติ ๑๐

 อนุสสติ ๑๐

อนุสสติ หมายความว่า การระลึกเนืองๆ เป็นการระลึกถึงอยู่เนืองๆ เสมอๆ คือมีสติระลึกถึงใน ๑๐ ประการ คือ

๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรมเป็นอารมณ์
๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เป็นอารมณ์
๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลที่ตนรักษาเป็นอารมณ์
๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคเป็นอารมณ์
๖. เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมของเทวดาเป็นอารมณ์
๗. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระนิพพานเป็นอารมณ์
๘. มรณานุสสติ ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์
๙. กายคตาสติ ระลึกถึงลักษณะอาการของร่างกายส่วนต่างๆ เป็นอารมณ์
๑๐. อานาปานสติ ระลึกถึงลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์


๑. พุทธานุสสติ
พุทธานุสสติ คือ การระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าเนืองๆ องค์ธรรม (สภาพธรรมที่ทำ
หน้าที่ระลึก) ได้แก่ สติเจตสิกที่ในมหากุศลจิต ที่มีคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ วิธีการปฏิบัติ การระลึกนั้นจะระลึกเป็นภาษาไทยหรือภาษาบาลีก็ได้ แต่ที่สำคัญก็คือต้องเข้าใจและรู้ถึงความหมายนั้นๆ สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ควรไปสู่สถานที่สงัด รักษาจิตไว้ให้มั่นคง ไม่ถูกรบกวนจิตไม่ฟุ้งซ่าน พระพุทธคุณมี ๙ ประการ ระลึกในบทพระพุทธคุณเป็นภาษาบาลี ดังนี้

อิติปิ โส ภควา , อรหัง , สัมมาสัมพุทโธ , วิชชาจรณสัมปันโน , สุคโต , โลกวิทู , อนุตตโรปุริสทัมมสารถิ , สัตถา เทวมนุสสานัง , พุทโธ , ภควา ฯ หรือระลึกเป็นภาษาไทย ดังนี้คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น :- 
พระพุทธคุณประการที่ ๑ ผู้เป็นพระอรหันต์ (อรหัง) เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส ๑,๕๐๐ อย่างเด็ดขาด มีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสงดงาม เป็นผู้ควรได้รับการสักการบูชาเป็นพิเศษจากมวลมนุษย์ เทวดา พรหม ทั้งหลายพระพุทธคุณประการที่ ๒ ผู้ตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ (สัมมาสัมพุทโธ) เพราะทรงฆ่าอวิชชา เพราะเป็นผู้ตรัสรู้เญยยธรรม ๕ ประการ คือ สังขาร วิการ ลักขณะ นิพพาน บัญญัติ ด้วยอำนาจแห่งพระสัพพัญญุตญาณโดยลำพังพระองค์เองอย่างถูกถ้วน
พระพุทธคุณประการที่ ๓ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ (วิชชาจรณสัมปันโน) เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และการปฏิบัติอย่างประเสริฐ คือ วิชชาและจรณะ วิชชา หมายถึง ความรู้ จรณะ หมายถึง ความประพฤติ

คำว่า วิชชา มีวิชชา ๓ และวิชชา ๘

วิชชา ๓ ได้แก่
๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
๒. จุตูปปาตญาณ (หรือ ทิพยจักขุญาณ) รู้การตายและเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
๓. อาสวักขยญาณ รู้ในธรรมที่สิ้นอาสวะ

วิชชา ๘ ได้แก่
๑. วิปัสสนาญาณ ปัญญาที่สามารถรู้แจ้งรูปนามทั้งปวงที่มีสภาพเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๒. อิทธิวิธญาณ ปัญญาที่สามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
๓. มโนมยิทธิญาณ ปัญญาที่สามารถเนรมิตร่างกายอื่นๆ ให้เกิดขึ้นภายในร่างกายของตน
๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาที่สามารถระลึกชาติในอดีตได้
๕. เจโตปริยญาณ ปัญญาที่สามารถรู้จิตใจของบุคคลอื่นๆได้อย่างถี่ถ้วน
๖. ทิพพจักขุญาณ ปัญญาที่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ ในที่ห่างไกล หรือเล็กที่สุดได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่ว่าจะอยู่ในที่แจ้ง หรือ ลี้ลับกำบังไว้อย่างมิดชิดประการใดๆ ก็ตาม ย่อมสามารถเห็นได้เป็นอย่างดี เหมือนกับตาของเทวดาและพรหมทั้งหลาย
๗. ทิพพโสตญาณ ปัญญาที่สามารถได้ยินเสียงในที่ห่างไกล หรือเบาที่สุดเหมือนกับหูของเทวดาและพรหมทั้งหลาย
๘. อาสวักขยญาณ ปัญญาที่สามารถทำลายกิเลสอาสวะให้หมดไปโดยสิ้นเชิง

จรณะ หมายความว่า ความประพฤติ จรณะ มี ๑๕ คือ
๑. ศรัทธา เชื่อต่อการงานของสัตว์ทั้งหลายว่า เป็นบุญก็มี เป็นบาปก็มี และจะได้รับผลของ บุญ บาป นั้นอย่างแน่แท้ เชื่อในคุณของพระรัตนตรัยว่ามีจริง เชื่อว่าเคยเกิดมาแล้วในภพก่อนๆ
๒. สติ มีการระลึกอยู่ในการงานที่เป็นฝ่ายดี
๓. หิริ มีความละอายในการงานอันเป็นทุจริตทุราชีพ
๔. โอตตัปปะ มีความสะดุ้งกลัวในการงานที่เป็นทุจริตทุราชีพ
๕. วิริยะ มีความขยันในการงานที่เป็นฝ่ายดี
๖. สุตะ เคยฟัง เคยเห็นมามาก
๗. ปัญญา การเฉลียวฉลาดในกิจการทั้งปวง
๘. โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภค
๙. ชาคริยานุโยค ตื่นไวในยามหลับ หรือ มีการหลับนอนน้อย
๑๐. ศีล มีศีลสมบูรณ์
๑๑. อินทรียสังวร การสำรวมในทวาร ๖
๑๒. ปฐมฌาน ฌานที่มีองค์ฌาน ๕
๑๓. ทุติยฌาน ฌานที่มีองค์ฌาน ๓
๑๔. ตติยฌาน ฌานที่มีองค์ฌาน ๒
๑๕. จตุตถฌาน ฌานที่มีองค์ฌาน ๒

พระพุทธคุณประการที่ ๔ เสด็จไปดีแล้ว (สุคโต) เพราะทรงบรรลุหนทางที่ดี เพราะจะไม่เสด็จกลับมา(สู่โลกนี้)อีก เพราะทรงบรรลุความดับโดยไม่มีภาวะเหลืออยู่ (อนุปาทิเสสนิพพาน คือ ดับกิเลสทั้งหมดสิ้นพร้อมขันธ์ ๕) เพราะคำสอนของพระพุทธองค์ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะคำสอนของพระพุทธองค์ไม่มากไม่น้อยเกินไป ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงทรงได้รับพระนามว่า สุคโต
พระพุทธคุณประการที่ ๕ ทรงรู้แจ้งโลก (โลกวิทู) โลก มี ๓ คือ
    ๑. สัตตโลก (โลกคือ หมู่สัตว์)
    ๒. สังขารโลก (โลกคือ สังขาร)
    ๓. โอกาสโลก (โลกคือ ที่ตั้ง)

สัตตโลก คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้แจ้งสัตตโลกตลอดเวลาที่บำเพ็ญพุทธกิจ ที่ว่าทรงรู้แจ้ง สัตตโลก คือ ทรงรู้แจ้งความปรารถนาต่างๆ ของสัตว์ทั้งหลาย ทรงรู้ความต่างกันแห่งอินทรีย์ของหมู่สัตว์

สังขารโลก คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้แจ้งกรรมทุกอย่าง ทรงรู้แจ้งกุศลธรรม อกุศลธรรมและอัพยากตธรรม ทรงรู้แจ้งขันธ์ อายตนะ ธาตุ พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งในธรรมทุกประการ

โอกาสโลก คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า จักรวาลหนึ่งกว้างยาว ประมาณ ๑,๒๐๓.๔๕๐ โยชน์ วัดโดยรอบ ประมาณ ๓,๖๑๐,๓๕๐ โยชน์ ในจักรวาลมีแผ่นดินหนาประมาณ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ บนแผ่นดินมีน้ำตั้งอยู่บนลมรองรับไว้โดยความหนาประมาณ ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์ มีลมรองรับให้จักรวาลนี้ลอยอยู่ได้ ประมาณ ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ เป็นต้น

พระพุทธคุณประการที่ ๖ เป็นสารถีฝึกบุรุษผู้ควรฝึกที่ยอดเยี่ยม (อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ) คำว่า “ยอดเยี่ยม” (อนุตตโร) เพราะไม่มีใครเหนือกว่าในโลก เพราะปราศจากคนที่เสมอ เพราะทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะหาใครเทียบไม่ได้ และเพราะไม่มีบุคคลอื่นยอดเยี่ยมกว่าคำว่า “เป็นสารถีฝึกบุรุษผู้ควรฝึก” (ปุริสทัมมสารถิ)
บุคคลมี ๓ จำพวก คือ
    ๑. บุคคลฟังธรรมแล้วสามารถอธิบายธรรมนั้นได้
    ๒. บุคคลอธิบายหลักแห่งเหตุและปัจจัยได้
    ๓. บุคคลทำให้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณชัดแจ้ง

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงรู้แจ้งอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางแห่งความ หลุดพ้นแล้ว ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์(บุคคล)ทั้งหลาย ทรงฝึกมนุษย์เทวดา พรหมทั้งหลาย แม้แต่สัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย โดยวิธีการต่างๆ ทั้งปลอบโยน ทรมาน ยกย่อง ตามควร ตามความเหมาะสมแก่อัธยาศัยของสัตว์นั้นๆ 

พระพุทธคุณประการที่ ๗ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ (สัตถา เทวมนุสสานัง) 
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพร่ำสอนเวไนยสัตว์ ด้วยประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน ตามสมควร
พระพุทธคุณประการที่ ๘ ผู้รู้ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม (พุทโธ) พระผู้มีพระภาคทรงรู้อะไรๆ ที่ควรรู้ ซึ่งมีอยู่อย่างทั่วถ้วน ด้วยอำนาจ
พุทธญาณ ๑๘ คือ
    ๑. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยั่งรู้อดีตทั้งปวง
    ๒. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยั่งรู้อนาคตทั้งปวง
    ๓. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยั่งรู้ปัจจุบันทั้งปวง
    ๔. กายกรรมทั้งหมด ที่ดำเนินไปด้วยญาณและปรากฏสอดคล้องกับญาณนั้น
    ๕. วจีกรรมทั้งหมด ที่ดำเนินไปด้วยญาณและปรากฏสอดคล้องกับญาณนั้น
    ๖. มโนกรรมทั้งหมด ที่ดำเนินไปด้วยญาณและปรากฏสอดคล้องกับญาณนั้น
    ๗. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพุทธธรรม คือ ความไม่เสื่อมแห่งฉันทะ
    ๘. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพุทธธรรม คือ ความไม่เสื่อมแห่งวิริยะ
    ๙. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพุทธธรรม คือ ความไม่เสื่อมแห่งสติ
    ๑๐. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพุทธธรรม คือ ความไม่เสื่อมแห่งสมาธิ
    ๑๑. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพุทธธรรม คือ ความไม่เสื่อมแห่งปัญญา
    ๑๒. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพุทธธรรม คือ ความไม่เสื่อมแห่งวิมุตติ
    ๑๓. พระผู้มีพระภาคเจ้า มีความไม่มีการเล่น ท่าทางของพระองค์มีลักษณะผึ่งผาย ไม่มีอะไรที่ไม่สมควรในกิจกรรมของพระองค์
    ๑๔. พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีความหลอกลวง
    ๑๕. ไม่มีอะไรที่พระญาณของพระองค์ไม่สามารถรับรู้ได้
    ๑๖. พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีความหุนหันพลันแล่น
    ๑๗. พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีสภาพที่ไม่รู้
    ๑๘. พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีสภาพแห่งอุเบกขาที่ปรากฏโดยพระองค์ไม่รู้

พระพุทธคุณประการที่ ๙ (ภควา) เพราะพระพุทธองค์ได้รับการยกย่องจากชาวโลก เพราะบรรลุอริยสัจ เพราะทรงเป็นผู้ควรแก่ของถวาย เพราะจะทำให้ผู้ถวายได้รับความดีสูงสุด

เพราะพระพุทธองค์ทรงเป็นเจ้าของมรรคสัจ 
ผู้เจริญพุทธานุสสติย่อมเป็นผู้ที่ขัดเกลาจิตใจไม่ให้ราคะ โทสะ โมหะกลุ้มรุมได้ เพราะจิตใจมุ่งตรงต่อพระพุทธเจ้า จิตของผู้มีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ ย่อมเป็นสมาธิได้เพียงอุปจารสมาธิเท่านั้นเพราะการระลึกพุทธคุณมีมากประการ สมาธิจึงไม่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียวได้ จึงไม่ถึงอัปปนาสมาธิ

อานิสงส์ของพุทธานุสติ 
ผู้ที่เจริญพุทธานุสติ จะได้รับอานิสงส์ดังนี้ คือ
๑. ย่อมเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา
๒. มีความไพบูลย์แห่งศรัทธา
๓. มีความไพบูลย์แห่งสติ
๔. มีความไพบูลย์แห่งปัญญา
๕. มีความปีติปราโมทย์
๖. สามารถอดกลั้นทุกข์ได้
๗. ทนความกลัวในอารมณ์ที่น่ากลัวได้
๘. มีความรู้สึกเสมือนว่าได้อยู่ใกล้พระศาสดา
๙. ร่างกายของผู้เจริญพุทธานุสสติอย่างดีแล้ว ย่อมเป็นของที่ควรแก่การบูชาของมนุษย์และเทวดาประดุจดังเรือนเจดีย์
๑๐. จิตจะน้อมไปสู่พุทธภูมิ
๑๑. แม้ประสบกับสิ่งที่จะทำให้ล่วงละเมิด หรือทำความผิดได้ ก็จะเกิดหิริโอตตัปปะ มีความกลัวและละอายต่อบาป ประดุจว่าพระพุทธองค์ประทับอยู่ตรงหน้า
๑๒. หากยังไม่สามารถสำเร็จมรรคผลนิพพาน ก็จะไปสู่สุคติ

การเจริญพุทธานุสติ ให้เห็นคุณของพระพุทธเจ้านั้นไม่ควรพร่ำบ่นแต่ปาก แต่ควรนึกถึงเนื้อความ ความหมายของพุทธคุณ อย่ามุ่งถือตามตัวอักษรหรือพยัญชนะ จะทำให้ไม่เห็นพุทธคุณ การระลึก จะระลึกทุกบท หรือบทใดบทหนึ่งก็ได้ปุถุชนทั่วไปมีความเข้าใจพุทธคุณได้น้อย มักจะใช้พุทธคุณเป็นคาถาเพื่อความขลังความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าจะระลึกถึงด้วยความเคารพ เช่น ใช้บทสวด อิติปิโส เดินหน้าถอยหลัง หรือใช้หัวใจ อิติปิโส เป็นคาถาในการปลุกเสกทำพิธี หรือทำให้ขลัง เป็นต้น

ผู้ที่จะ
มองเห็นพุทธคุณโดยชัดแจ้ง ก็คือพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป เพราะเป็นผู้เห็นธรรมเข้าถึงซึ่งธรรมโดยการปฏิบัติเอง ปุถุชนทั่วไปถ้าต้องการให้ซาบซึ้งในพระพุทธคุณก็ต้องศึกษาทั้งปริยัติ (ทฤษฎี) และปฏิบัติ เพื่อจะได้เข้าถึงข้อธรรมที่ทรงแสดงทั้งศีล สมาธิ ปัญญา จะศึกษาโดยไม่ปฏิบัติไม่ได้ ควรระลึกไว้ว่าพระอริยบุคคล ผู้บรรลุมรรคผล ท่านก็เคยเป็นปุถุชนมาก่อน แต่เพราะได้ศึกษา ได้ปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์จึงได้เห็นแจ้งปรากฏชัดในพระพุทธคุณ

จบ พุทธานุสสติ

๒. ธัมมานุสสติ
ธัมมานุสสติ หมายความว่า การระลึกถึงคุณของพระธรรม มี สวากขาโต เป็นต้น อยู่เนืองๆ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิกที่ในมหากุศลจิต ที่มีคุณของพระธรรมเป็นอารมณ์

ธรรม หมายถึง ความดับ(นิพพาน) หรือข้อปฏิบัติอันเป็นเหตุให้บรรลุถึงนิพพาน การทำลายกิจกรรมทุกอย่าง การละกิเลสทุกอย่าง การกำจัดตัณหา ความเป็นผู้บริสุทธิ์และสงบ

ข้อปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ วิธีการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติต้องมีความสงบนิ่งอยู่กับการระลึก มีความตระหนักรู้คุณของพระธรรม เข้าใจในความหมายของธรรมคุณนั้นๆ ด้วย ไปสู่สถานที่สงัด รักษาจิตไว้ไม่ให้ถูกรบกวน

ธัมมานุสสติ มี ๖ ประการ จะระลึกเป็นภาษาบาลี หรือ ภาษาไทยก็ได้ ระลึกดังนี้ว่า :- สวากขาโต ภควตา ธัมโม , สันทิฏฐิโก , อกาลิโก , เอหิปัสสิโก , โอปนยิโก , ปัจจัตตัง เวทิตัพโพวิญญูหิ ฯ

ระลึกเป็นภาษาไทยว่า :- พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่บุคคลพึงเห็นไ ด้ด้วยตนเอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา ควรเชื้อเชิญให้มาดู ควรน้อมเข้ามาใส่ตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้เฉพาะตน
พระธรรมคุณประการที่ ๑ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว (สวากขาโต ภควตา ธัมโม) เพราะพระธรรมนั้นเว้นที่สุดโต่งทั้ง ๒ ไม่มีความขัดแย้งกันในพระธรรม และพระธรรมนั้น ประกอบด้วยความดีพระธรรมนั้นปราศจากข้อเสียโดยสิ้นเชิง พระธรรมนั้นย่อมนำสัตว์ทั้งหลายไปสู่ความดับ (นิพพาน)
พระธรรมคุณประการที่ ๒ เป็นสิ่งที่บุคคลพึงเห็นได้ด้วยตนเอง (สันทิฏฐิโก) เพราะว่าผู้ปฏิบัติธรรมสามารถบรรลุมรรคและผลได้ตามลำดับ เพราะบุคคลย่อมเห็นแจ้งพระนิพพานและมรรคผล
พระธรรมคุณประการที่ ๓ ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา (อกาลิโก) คือ ผลย่อมเกิดขึ้น โดยไม่มีการรอเวลา
พระธรรมคุณประการที่ ๔ ควรเชื้อเชิญให้มาดู(เอหิปัสสิโก) พระธรรม ๙ อย่าง มีมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ เป็นธรรมที่ควรแก่การ เชื้อเชิญชนทั้งหลายให้มาชมได้ โดยกล่าวคำว่า ท่านจงมาดูเถิด มาเเลดูคุณค่าของพระธรรม
พระธรรมคุณประการที่ ๕ ควรน้อมเข้ามาใส่ตน (โอปนยิโก) พระธรรม ๙ อย่าง มีมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ เป็นธรรมที่ควรยึดหน่วงให้มาปรากฏแก่ใจ แม้ที่สุดจะถูกไฟไหม้ศีรษะ ก็มิยอมที่จะทำการดับไฟนั้น โดยเหตุว่า ธรรมเหล่านี้เมื่อปรากฏขึ้นแล้วเพียงครั้งเดียวก็สามารถปิดประตูอบายได้
พระธรรมคุณประการที่ ๖ อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้เฉพาะตน (ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ) ถ้าบุคคลยอมรับพระธรรมนั้น ไม่ยอมรับลัทธิอื่น เขาย่อมทำความรู้ในนิโรธให้เกิดขึ้น ย่อมทำพระนิพพานให้เกิดขึ้น ทำความรู้ในวิมุตติให้เกิดขึ้น

ผู้ปฏิบัติระลึกถึงพระธรรมโดยวิธีอื่นๆ ได้อีกดังนี้ คือ
พระธรรมนั้นเป็นดวงตา เป็นความรู้ เป็นความสงบ เป็นหนทางที่นำไปสู่อมตะ (นิพพาน) พระธรรมนั้นเป็นการหลีกออก เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้บรรลุถึงนิโรธ (ความดับทุกข์) เป็นหนทางสู่ทิพยภาวะ (เป็นทิพย์หรือคุณวิเศษ) เป็นการไม่ถอยกลับ เป็นสิ่งประเสริฐที่สุด เป็นความสงัด เป็นความวิเศษ พระธรรมเป็นการข้ามไปสู่ฝั่งโน้น เป็นที่พึ่ง ผู้ปฏิบัตินั้นระลึกถึงพระธรรมด้วยวิธีการเหล่านี้ โดยอาศัยคุณความดีเหล่านี้

การเจริญธัมมานุสสติได้เพียงอุปจารสมาธิเท่านั้น เพราะอารมณ์ในการเจริญมีมาก จิตจึงไม่อาจตั้งมั่นจนทำให้อัปปนาสมาธิเกิดขึ้นได้

อานิสงส์ของธัมมานุสสติ
เหมือนกันกับพุทธานุสสติ

จบ ธัมมานุสสติ

๓. สังฆานุสสติ 
สังฆานุสสติ หมายความว่า การระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ มี สุปฏิปันโน เป็นต้น อยู่เนืองๆ องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิกที่ในมหากุศลจิต ที่มีคุณของพระสงฆ์เป็นอารมณ์

พระสงฆ์มี ๒ จำพวก คืออริยสงฆ์ และสมมติสงฆ์
อริยสงฆ์ คือ ท่านที่ดำรงอยู่ในมรรค ๔ ผล ๔
สมมติสงฆ์ คือพระสงฆ์โดยสมมติได้แก่ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูป ที่สามารถทำสังฆกรรมได้

พระสงฆ์มีคุณเพราะท่านเป็นผู้รักษาและสืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งยังเป็นบุญเขตเป็นเนื้อนาบุญของโลก

วิธีการปฏิบัติ ควรไปสู่สถานที่สงัด รักษาจิตไว้ไม่ให้ถูกรบกวน
พระสังฆคุณมี ๙ ประการ จะระลึก
เป็นภาษาบาลี หรือ ภาษาไทยก็ได้ ระลึกดังนี้ว่า :- สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ , อุชุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ , ญายปฏิปันโน ภควโตสาวกสังโฆ , สามีจิปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ ยทิทัง จัตตาริ ปุริสยุคานิ อัฏฐปุริสปุคคลา เอสะภควโต สาวกสังโฆ , อาหุเนยโย , ปาหุเนยโย , ทักขิเณยโย , อัญชลีกรณีโย , อนุตตรัง ปุญญักเขตตังโลกัสสะ ฯ

ระลึกเป็นภาษาไทยดังนี้ :-
พระสังฆคุณประการที่ ๑ พระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติดี (สุปฏิปันโน) หมู่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี โดยปฏิปทาอันถูกต้อง เป็นข้อปฏิบัติตรง คือไม่คด ไม่โกง ไม่โค้ง เป็นการปฏิบัติที่ไกลจากกิเลส เป็นเหตุให้รู้แจ้ง
พระสังฆคุณประการที่ ๒ พระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติตรง (อุชุปฏิปันโน) ชื่อว่าปฏิบัติดีและปฏิบัติตรงตามปฏิปทาอันถูกต้อง เพราะเว้นทางสุดโต่งทั้ง ๒ และถือเอาทางสายกลาง ชื่อว่าปฏิบัติดีและปฏิบัติตรง เพราะปราศจากกายกรรมและวจีกรรมที่ไม่สะอาด
พระสังฆคุณประการที่ ๓ พระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ (ญายปฏิปันโน) พระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติมุ่งต่อพระนิพพาน อันเป็นอมตธรรม ไม่มีการปรารถนาอยากได้ภวสมบัติ และโภคสมบัติแต่อย่างใด
พระสังฆคุณประการที่ ๔ พระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติสมควร (สามีจิปฏิปันโน) ชื่อว่าปฏิบัติสมควร เพราะสมบูรณ์ด้วยข้อปฏิบัติที่พร้อมเพรียงกันในหมู่ภิกษุ เพราะเมื่อเห็นอานิสงส์อย่างมากแห่งคุณความดี และการเพิ่มพูนคุณความดีที่เกิดจากความสามัคคี จึงรักษาความสามัคคีนี้ไว้ ได้แก่ บุคคลเหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ (ยทิทัง จัตตาริ ปุริสยุคานิ อัฏฐปุริสปุคคลา.....)

พระอริยสงฆ์จัดได้เป็น ๔ คู่ ๘ บุคคล คือ
คู่ที่ ๑ ได้แก่ โสดาปัตติมรรคบุคคล โสดาปัตติผลบุคคล
คู่ที่ ๒ ได้แก่ สกทาคามิมรรคบุคคล สกทาคามิผลบุคคล
คู่ที่ ๓ ได้แก่ อนาคามิมรรคบุคคล อนาคามิผลบุคคล
คู่ที่ ๔ ได้แก่ อรหัตตมรรคบุคคล อรหัตตผลบุคคล

พระสังฆคุณประการที่ ๕ พระสงฆ์สาวกผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา (อาหุเนยโย) พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ๘ บุคคลของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น สามารถให้ผลเกิดขึ้นอย่างมหาศาล ดังนั้น จึงเป็นผู้ควรรับอามิสบูชาที่เขานำมา 
พระสังฆคุณประการที่ ๖ พระสงฆ์สาวกผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ (ปาหุเนยโย) พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ๘ บุคคลของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นแขกที่ประเสริฐสุดของคนทั่วโลก เพราะมีแต่ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นผู้ที่ควรแก่การต้อนรับด้วยปัจจัย ๔ ที่เขาจัดไว้ต้อนรับ
พระสังฆคุณประการที่ ๗ พระสงฆ์สาวกผู้ควรรับทักขิณาทาน (ทักขิเณยโย) พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ๘ บุคคลของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น สามารถให้อานิสงส์ผลเกิดขึ้นตามความประสงค์ของคนทั้งหลายได้ ดังนั้น จึงควรแก่การรับทักขิณาทาน คือ การบริจาคทานของผู้มีความปรารถนาภวสมบัติ โภคสมบัติ ที่เกี่ยวกับตน หรือ คนอื่นในภพหน้า
พระสังฆคุณประการที่ ๘ พระสงฆ์สาวกผู้ควรแก่การกราบไหว้ (อัญชลีกรณีโย) พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ๘ บุคคลของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ดังนั้น จึงสมควรแก่การกระทำอัญชลีของมนุษย์ เทวดา พรหมทั้งหลาย
พระสังฆคุณประการที่ ๙ พระสงฆ์สาวกผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ( อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ) พระอริยสงฆ์สาวก ๔ คู่ ๘ บุคคลของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ เป็นบุญเขตที่สรรพสัตว์ทั้งหลายจะได้รับบุญ เมื่อหว่านพืชแห่งบุญลงไปบนผืนนานี้แม้เพียงเล็กน้อย แต่ก็จะได้รับผลมากมาย การเจริญสังฆานุสสติจะพิจารณาเพียงบทใดบทหนึ่งก็ได้ จะได้บรรลุเพียงอุปจารสมาธิ

อานิสงส์ของสังฆานุสสติ
เช่นเดียวกับ พุทธานุสสติ และธัมมานุสสติ

จบ สังฆานุสสติ

๔. สีลานุสสติ 
สีลานุสสติ หมายความว่า การระลึกถึงความบริสุทธิ์ของศีลที่ตนรักษาไว้ โดยศีลนั้นไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ต้องเป็นศีลที่บริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อนด้วยมลทิน เป็นศีลที่ผู้รักษา รักษาด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ได้มุ่งโลกียสมบัติ ไม่ได้เป็นทาสของตัณหา องค์ธรรมได้แก่ สติเจตสิกที่ในมหากุศลจิตที่มีการเว้น การรักษา ในศีลนั้นๆ

การเจริญสีลานุสสตินี้ ผู้เจริญจะต้องมีความประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักทั้ง ๕ ประการเสียก่อน คือ
    ๑. จะต้องชำระศีลของตนให้สะอาด หมดจด ครบบริบูรณ์
    ๒. จะต้องมีจิตใจพ้นไปจากความเป็นทาสแห่งตัณหา คือ การรักษาศีลที่ไม่มีความมุ่งหวังต่อโลกียสมบัติ
    ๓. มีการปฏิบัติกาย วาจา ให้ตั้งอยู่ในศีลอย่างเคร่งครัด จนมิอาจที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะมาจับผิดโดยอ้างวัตถุขึ้นแสดงเป็นหลักฐานได้
    ๔. ความประพฤติด้วยกาย วาจา ของตนนั้น แม้ว่าคนอันธพาลและผู้ที่เป็นศัตรูแก่ตนจะไม่มีความเห็นชอบด้วยก็ตาม แต่วิญญูชนทั้งหลายย่อมสรรเสริญ
    ๕. ต้องประกอบด้วยความรู้ว่า ศีลนี้เป็นเหตุทำให้อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มรรคสมาธิ ผลสมาธิ เกิดขึ้นได้

เมื่อความประพฤติปฏิบัติของตนถูกต้องตรงตามหลักทั้ง ๕ ประการนี้แล้วก็ลงมือทำการระลึกไปในศีล ระลึกเป็นภาษาบาลี ดังนี้:- อโห เม วต สีลัง เห อขัณฑัง อฉิททัง หเว อสพลัง อกัมมาสัง ภุชิสสัง อปรามสัง ปสัฏฐัง สัพพวิญญูหิ สมาธิ สังวัตตนกัง ฯ
ระลึกเป็นภาษาไทยดังนี้ :- ศีลของเรานี้บริสุทธิ์ดีน่าปลื้มใจจริงหนอ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย โดยแน่นอน ศีลของเรานี้บริสุทธิ์ ทำให้เราพ้นไปจากการเป็นทาสของตัณหา ศีลของเรานี้มิอาจที่จะมีผู้มากล่าวหาได้ ศีลของเรานี้ คนอันธพาลและผู้ที่เป็นศัตรูกับเราจะไม่มีการเห็นดีด้วยก็ตาม แต่คนดีทั้งหลายย่อมสรรเสริญ ศีลของเรานี้เป็นเหตุทำให้อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ และมรรคสมาธิ ผลสมาธิ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

แสดงศีลที่มีโทษ และ พ้นไปจากโทษ
ศีลที่มีโทษนั้นมี ๔ อย่าง คือ
    ๑. ศีลขาด ศีลของคฤหัสถ์ หรือ บรรพชิตก็ตาม ที่มีสิกขาบทข้อแรกสุด หรือ ข้อท้ายสุด อย่างใดอย่างหนึ่งขาดไป อย่างนี้เรียกว่า ขัณฑสีล หรือ ศีลขาด เช่นศีล ๘ มีปาณาติปาตาเวรมณี เป็นข้อแรกสุด และมี อุจจาสยนมหาสยนาเวรมณี เป็นของท้ายสุด
    ๒. ศีลทะลุ ได้แก่ สิกขาบทท่ามกลาง คือ ศีลข้อที่ ๒ ถึงข้อที่ ๗ ข้อใดข้อหนึ่งขาดไป อย่างนี้เรียกว่าฉิททสีล หรือ ศีลทะลุ 
    ๓. ศีลด่าง ได้แก่ สิกขาบทท่ามกลาง คือ ศีลข้อที่ ๒ ถึงข้อที่ ๗ ขาดไป ๒ หรือ ๓ ข้อ แต่ไม่ใช่ขาดไปเป็นลำดับ (คือติดกัน) เช่น ในศีล ๘ นั้นสิกขาบทข้อที่ ๒ กับ ข้อที่ ๔ หรือข้อที่ ๒ กับข้อที่ ๖ หรือข้อที่ ๔ กับข้อที่ ๖ หรือข้อที่ ๒ ที่ ๔ กับที่ ๖ เป็นต้น เหล่านี้ขาดไป ศีลอย่างนี้ เรียกว่า สพลสีล หรือ ศีลด่าง
    ๔. ศีลพร้อย ได้แก่ สิกขาบทท่ามกลาง คือข้อที่ ๒ ถึงข้อที่ ๗ นั้น ขาดไป ๒ หรือ ๓ หรือ ๔ ข้อติดต่อกันโดยลำดับ (ถ้าขาดไปถึง ๔ ข้อ ก็นับว่าหนัก) เช่นในศีล ๘ นั้น ข้อที่ ๒ กับข้อที่ ๓ หรือข้อที่ ๒ - ๓ - ๔ หรือข้อที่ ๒ - ๓ - ๔ - ๕ หรือ ข้อที่ ๓ - ๔ – ๕ หรือ ข้อที่ ๓ - ๔ - ๕ - ๖ เป็นต้น ถ้าขาดติดต่อกันไปโดยลำดับ ศีลอย่างนี้เรียกว่า กัมมาสสีล หรือ ศีลพร้อย

อานิสงส์ของสีลานุสสติ คือ
๑. ทำให้เคารพพระพุทธ
๒. ทำให้เคารพพระธรรม
๓. ทำให้เคารพพระสงฆ์
๔. เอื้อเฟื้อต่อศีล คือยินดีปฏิบัติศีลอย่างถูกต้อง
๕. เคารพทาน
๖. มีสติ
๗. มองเห็นภัยในความผิดแม้เป็นความผิดเพียงล็กน้อย
๘. รักษาตนเอง
๙. คุ้มครองผู้อื่น
๑๐. ไม่มีภัยในโลกนี้
๑๑. ไม่มีภัยในโลกอื่น
๑๒. ได้รับอานิสงส์ต่างๆ อันเกิดจากการรักษาศีล เช่น เมื่อสิ้นชีวิตจะสู่สุคติทำให้มีโภคทรัพย์ เป็นเหตุให้มีชื่อเสียง ไม่หลงตาย แกล้วกล้าในที่ประชุมชน เป็นต้น

การเจริญสีลานุสติอยู่เนืองๆ ทำให้
บรรลุเพียงอุปจารสมาธิ

จบ สีลานุสสติ อ่านต่อ อนุสติ ๑๐ หน้าต่อไป

วันอาทิตย์

๕. อสุภะ ๑๐

 อสุภะ ๑๐

อสุภะ หมายถึง ไม่สวยงาม มุ่งหมายถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายของคนที่ตายไป การเจริญอสุภกรรมฐานคือ การพิจารณาซากศพในลักษณะต่างๆกัน ๑๐ ลักษณะ ให้เห็นความน่าเกลียดไม่สวยงาม โดยจะพิจารณาซากศพอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ใน ๑๐ ลักษณะ ได้แก่

๑. อุทธุมาตกะ ซากศพที่ขึ้นอืดพอง
๒. วินีลกะ ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ
๓. วิปุพพกะ ซากศพที่มีน้ำเหลือง แตกปริ
๔. วิจฉิททกะ ซากศพที่ถูกฟันขาดออกจากกันเป็น ๒ ท่อน 
๕. วิกขายิตกะ ซากศพที่ถูกสัตว์ เช่น สุนัข กา แร้ง ทึ้งแย่ง
๖. วิกขิตตกะ ซากศพที่กระจายเรี่ยราด ศีรษะ มือ เท้า อยู่คนละทาง 
๗. หตวิกขิตตกะ ซากศพที่ถูกสับฟันด้วยมีด ถูกแทงด้วยหอก
๘. โลหิตกะ ซากศพที่มีเลือดไหลอาบ
๙. ปุฬุวกะ ซากศพที่มีหนอนไชอยู่ทั่วร่าง
๑๐. อัฏฐิกะ ซากศพที่เหลือแต่กระดูก

การพิจารณาซากศพหรือเจริญอสุภกรรมฐานทุกชนิด ผู้ปฏิบัติต้องยืนอยู่เหนือลม อย่ายืนใต้ลม เพราะกลิ่นเน่าเหม็นของศพจะรบกวน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก อย่ายืนใกล้หรือไกลเกินไป ต้องยืนในระยะให้เห็นซากศพชัดเจนทั้งร่าง ควรยืนกลางลำตัวศพ อย่ายืน ด้านศีรษะหรือปลายเท้าของศพ ศพที่ใช้พิจารณาควรเป็นเพศเดียวกับผู้พิจารณา เช่น ผู้พิจารณาหรือเจริญอสุภกรรมฐานเป็นหญิง ก็ใช้ศพหญิง เป็นชายก็ใช้ศพชายในการพิจารณา นอกจากจะพิจารณาศพในแนววิปัสสนาจึงจะใช้ศพเพศใดก็ได้ เช่นในกรณีของพระกุลลเถระ ที่หลงรูปโฉมนางสิริมาหญิงงามเมือง

ครั้นนางสิริมาสิ้นชีวิตลง พระพุทธเจ้าทรงให้พระกุลลเถระผู้มีราคจริตพิจารณาศพของนางสิริมา ที่พระภิกษุหนุ่มหลงรักจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ จนมองเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ่ายถอนความลุ่มหลงรักใคร่ได้ในที่สุด การเจริญอสุภกรรมฐาน เป็นไปได้ทั้งในแง่สมถกรรมฐาน และวิปัสสนา-กรรมฐาน หากเจริญในแง่สมถะ ก็ให้เห็นความเป็นสิ่งที่น่าเกลียดไม่สวยงาม ปฏิบัติแล้วทำให้ฌานเกิดขึ้นได้ ส่วนในแง่วิปัสสนาให้พิจารณาความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือไตรลักษณ์ คือ ให้เห็นว่าตัวของเราก็เป็นสิ่งไม่เที่ยงเหมือนซากศพที่นอนอยู่ต่อหน้านั้นเช่นกัน เพียงแต่ศพนี้ ชายนี้ หญิงนี้ ตายก่อนเราเท่านั้น ชีวิตร่างกายของเราแม้จะผ่านทุกข์ทรมาน ได้รับความยากลำบากต่างๆนานามาเพียงใด ก็ไม่ทุกข์เท่าตอนที่จะตายร่างกายแตกดับ ในขณะนั้นจะทุกข์ที่สุด คือทุกข์จนทนอยู่ไม่ได้ต้องตายไปเช่นศพนี้

ดังพุทธดำรัสที่ว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ และพิจารณาศพที่อยู่ตรงหน้าของเรานี้ว่า เมื่อศพนี้ยังมีชีวิตอยู่ เขาหรือเธอผู้นี้ไม่เคยปรารถนาที่จะตาย ไม่เคยต้องการจะเจ็บป่วยหรือแก่เฒ่า แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเป็นไปเช่นนี้ ใจปรารถนาแต่กายไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่อาจบังคับบัญชาได้ เขาหรือเธอก็ไม่ใช่เจ้าของร่างกายนี้โดยแท้จริง เพราะหากเป็นเจ้าของร่างกายนี้ก็ต้องไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ตามคำสั่งตามบัญชา แม้ร่างกายของเราเองก็ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเรา รูปนาม ทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อสังขารร่างกายเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ คืออนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) จะไปยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร

ส่วนการพิจารณาซากศพโดยนัยของสมถะต้องพิจารณาศพโดยอาการ ๖ และอาการ ๕

พิจารณาซากศพโดยอาการ ๖
๑. พิจารณาสี โดยกำหนดดูว่า ศพนี้เป็นคนผิวสีอะไร ดำ ขาว หรือผิวเหลือง
๒. พิจารณาวัย โดยกำหนดดูว่า ศพนี้เป็นเด็ก วัยกลางคนหรือคนชรา โดยไม่ต้องสนใจว่าเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย
๓. พิจารณาสัณฐาน โดยกำหนดดูว่า นี่คือศีรษะ คอ แขน มือ ท้อง อก เอว แข้ง ขา เท้า เป็นต้น
๔. พิจารณาทิศ โดยกำหนดว่าตั้งแต่สะดือขึ้นไปจนถึงศีรษะเป็นส่วนบน จากใต้สะดือลงมาเป็นส่วนล่าง หรืออีกนัยหนึ่ง คือให้รู้ว่าเรายืนอยู่ทางทิศนี้ ซากศพอยู่ทางทิศนี้
๕. พิจารณาที่ตั้ง โดยกำหนดว่า มืออยู่ตรงนี้ เท้าอยู่ตรงนี้ ศีรษะอยู่ตรงนี้ เป็นต้น หรืออีกนัยหนึ่งให้รู้ว่าเรายืนอยู่ตรงนี้ ศพอยู่ตรงนั้น
๖. พิจารณาขอบเขต ให้รู้ว่าเบื้องต่ำสุดของซากศพคือพื้นเท้า เบื้องบนสุดเพียงปลายผม ทั่วตัวสุดแค่ผิวหนัง เต็มไปด้วยของเน่าเหม็น อย่าง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้น

พิจารณาโดยอาการ ๕
๑. ดูส่วนต่อหรือที่ต่อ ให้รู้ว่าในสรีระร่างของศพมีส่วนต่อใหญ่ๆอยู่ ๑๔ แห่ง คือมือขวามีที่ต่อ ๓ แห่ง มือซ้ายมีที่ต่อ ๓ แห่ง เท้าขวามีที่ต่อ ๓ แห่ง เท้าซ้ายมีที่ต่อ ๓ แห่ง คอมีที่ต่อ ๑ แห่ง และเอวมีที่ต่อ ๑ แห่ง
๒. ให้ดูช่อง เช่น ช่องตา ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ศพหลับตาหรือลืมตา อ้าปากหรือหุบปาก
๓. ให้ดูหลุม หรือส่วนที่เว้าลงไป พิจารณาว่าเป็นหลุมตา หลุมคอ เป็นต้น
๔. ให้ดูที่ดอน หรือส่วนที่นูนขึ้น โดยให้กำหนดรู้ว่าส่วนนูนนี้ คือหัวเข่า คือหน้าผาก หน้าอก เป็นต้น
๕. ให้ดูทั่วไป รอบๆ ด้านของศพ ส่วนใดปรากฏชัดตามลักษณะของศพ เช่นความพองอืดปรากฏชัด ก็บริกรรมว่า อุทธุมาตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพพองอืดนี้น่าเกลียด น่าขยะแขยง) หรือเห็นศพที่มีสีเขียวคล้ำปรากฏชัด ก็บริกรรมว่า วินีลกะ ปฏิกูละ ๆ ๆ (ศพวินีลกะ หรือศพเขียวคล้ำนี้น่าเกลียด น่าขยะแขยง) ศพลักษณะอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ในขณะบริกรรมก็ให้ตั้งจิตกำหนดลงที่ลักษณะตรงส่วนนั้นๆ ของศพ


วิธีการเจริญอสุภะ ๑๐

๑. อุทธุมาตกอสุภะ
พิจารณาความน่าเกลียดของศพว่าพองอืด พร้อมบริกรรมว่า อุทธุมาตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพที่พองอืดนี้ เป็นของน่าเกลียด น่าขยะแขยง) บริกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลืมตาดูและหลับตาพิจารณาสลับไปเช่นนี้ ถ้าเมื่อใดหลับตาแล้วปรากฏภาพซากศพนั้น เหมือนเมื่อลืมตาก็จะได้อุคคห-นิมิต อุคคหนิมิตเป็น

นิมิตที่ปรากฏทางใจ จะเห็นเป็นซากศพที่น่าเกลียดน่ากลัว ชวนให้ขยะแขยงสะอิดสะเอียน เมื่อปฏิบัติต่อไปก็จะได้ปฏิภาคนิมิตปรากฏเป็นภาพคนอ้วนพีล่ำสันนอนนิ่งอยู่ ปฐมฌานก็จะเกิดขึ้น ศพที่ขึ้นอืดเป็นกรรมฐานที่หาเจริญได้ยากกว่าอสุภกรรมฐานอื่น ๆ เพราะศพที่พองอืดจะมีอาการพองเพียง ๑ หรือ ๒ วัน ก็จะแปรสภาพเป็นเขียวคล้ำ มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มต่อไป หากขณะที่เจริญอุทธุมาตกอสุภะแล้วยังไม่ได้อุคคหนิมิต หรือปฏิภาคนิมิต แต่ศพแปรสภาพไปแล้วก็ต้องไปหาศพใหม่ที่พองอืด

๒. วินีลกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ บริกรรมว่า วินีลกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพที่มีสีเขียว น่าเกลียด น่าขยะแขยง) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนได้อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตของวินีลกอสุภะ คือลักษณะของศพมีสีเขียวคล้ำ ส่วนปฏิภาคนิมิตจะไม่น่าเกลียดน่ากลัว จะเหมือนรูปปั้นมีสีแดง สีขาว สีเขียวเจือกัน

๓. วิปุพพกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่มีน้ำเหลืองแตกปริ บริกรรมว่า วิปุพพกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพวิปุพพกะ มีน้ำเหลืองไหลนี้ น่าเกลียด น่าขยะแขยง) บริกรรมซ้ำๆ อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้นจะเป็นเหมือนตัวศพนั้น ส่วนปฏิภาคนิมิตจะเป็นเหมือนรูปปั้นนอนนิ่งไม่มีน้ำเหลืองไหล

๔. วิจฉิททกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่ถูกฟันขาดเป็น ๒ ท่อน ถ้าศพที่จะพิจารณานั้น กระเด็นอยู่ห่างกันเกินไปให้นำส่วนที่ขาดมาวางใกล้ให้ต่อกันห่างกันประมาณ ๑ องคุลี แล้วบริกรรมว่า วิจฉิททกะ ปฏิกูละๆๆ (ศพวิจฉิททกะ ถูกฟันขาด ๒ ท่อนนี้น่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตปรากฏเป็นภาพศพขาด ๒ ท่อนนั่นเอง ส่วนปฏิภาคนิมิตจะเป็นศพสภาพเรียบร้อยนอนแน่นิ่งอยู่

๕. วิกขายิตกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่ถูกสัตว์ทึ้งแย่งเรี่ยราด บริกรรมว่า วิกขายิตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพวิกขายิกตะนี้น่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้นจะเหมือนที่พิจารณา ส่วนปฏิภาคนิมิตจะเป็นสภาพเหมือนกับรูปปั้นที่ใสสะอาด เรียบร้อย วางไว้นิ่งอยู่เป็นท่อนเดียวกัน

๖. วิกขิตตกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่กระจาย อวัยวะกระเด็นไปคนละทิศละทาง ต้องนำส่วนที่กระจายในที่ต่างๆ มากองไว้ในที่เดียวกัน กำหนดบริกรรมว่า วิกขิตตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพวิกขิตตกะนี้ เป็นของน่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตเหมือนซากศพที่เห็นปรากฏแก่สายตา ปฏิภาคนิมิตจะเห็นว่า อสุภะมีความสมบูรณ์ตลอดกาย

๗. หตวิกขิตตกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่ถูกสับฟันด้วยมีด บริกรรมว่า หตวิกขิตตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพหตวิกขิตตกะนี้เป็นของน่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้น เป็นสภาพศพที่เป็นริ้วรอยเพราะถูกฟัน ปฏิภาคนิมิตจะเป็นศพที่เรียบร้อย สมบูรณ์

๘. โลหิตกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่มีเลือดไหล บริกรรมว่า โลหิตกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพโลหิตกะนี้ เป็นของน่าเกลียดน่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตจะเป็นสภาพศพที่เลือดไหล บางครั้งก็จะเหมือนผ้าแดงต้องลมพัดไหวๆ อยู่ส่วนปฏิภาคนิมิต จะเห็นซากศพเหมือนรูปปั้นกำมะหยี่สีแดง

๙. ปุฬุวกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำชอนไชอยู่ บริกรรมว่า ปุฬุวกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพปุฬุวกะนี้ เป็นของน่าเกลียด น่าขยะแขยง) อุคคหนิมิตจะเห็นเป็นศพที่หมู่หนอนคลานไต่ไปมา แต่ปฏิภาคนิมิต จะเห็นเป็นสภาพศพที่เรียบร้อยเหมือนกองข้าวสาลีสีขาวกองอยู่

๑๐.อัฏฐิกอสุภะ
พิจารณาซากศพที่เหลือแต่กระดูก บริกรรมว่า อัฏฐิกะ ปฏิกูละ ๆๆ (ศพอัฏฐิกะนี้ เป็นของน่าเกลียด ) การพิจารณาจะพิจารณากระดูกที่ติดกันหมดทั้งร่างก็ได้ หรือจะพิจารณากระดูกที่มีลักษณะเป็นท่อนๆ เป็นชิ้นๆ ก็ได้ อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้น ก็สุดแต่ว่าจะพิจารณากระดูกในลักษณะใด ถ้าพิจารณาทั้งร่าง อุคคหนิมิตก็จะปรากฏกระดูกทั้งร่าง ถ้าพิจารณาเป็นท่อน อุคคหนิมิตก็จะปรากฏกระดูกเป็นท่อนแต่ปฏิภาคนิมิตจะเหมือนกันคือ เป็นร่างกายที่สมบูรณ์

อัฏฐิกอสุภะ หรือ ซากศพที่เป็นกระดูก สามารถนำมาพิจารณาเป็นอารมณ์กรรมฐานมีอยู่ ๕อย่าง คือ
    ๑. ร่างกระดูกที่ยังมีเนื้อ เลือด เส้นเอ็นรัดรึงเป็นรูปร่างอยู่
    ๒. ร่างกระดูกที่ไม่มีเนื้อ แปดเปื้อนด้วยเลือด ยังมีเส้นเอ็นร้อยรัดอยู่
    ๓. ร่างกระดูกที่ไม่มีเนื้อและเลือด แต่ยังมีเส้นเอ็นร้อยรัดอยู่
    ๔. กระดูกที่ไม่มีเส้นเอ็นรัดรึงแล้ว กระจัดกระจายทั่วไป
    ๕. กระดูกเป็นท่อนมีสีขาวดังสีสังข์

การเจริญอสุภกรรมฐานนั้น สำหรับผู้ที่มีนิสัยขลาดกลัวหรือกลัวผี เมื่อเกิดอุคคหนิมิต และขาดอาจารย์คอยควบคุมสอนการปฏิบัติ หรือผู้ปฏิบัติศึกษาไม่ดี ไม่เข้าใจในรูปแบบหรือลักษณะของนิมิตนั้นๆอย่างแท้จริง ก็อาจเข้าใจผิดว่าตนเองถูกผีหลอก เกิดเจ็บป่วยได้ จึงควรทำความเข้าใจในการปฏิบัติให้ดี

บางทีก่อนที่อุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติอาจนึกคิดไปว่าศพนี้จะลุกขึ้นนั่ง จะลุกขึ้นยืน ควรมีเพื่อนไปร่วมปฏิบัติด้วย และให้ทำความเข้าใจว่าศพนั้นที่จริงไม่ต่างกับท่อนไม้ ไม่มีวิญญาณครอง ไม่มีจิตใจ จะลุกขึ้นมาหลอกหลอนไม่ได้ เป็นเพราะใจของเราคิดไปเอง วาดภาพไปเอง ในบางกรณีที่ศพยังใหม่ยังสดอยู่ เส้นเอ็นยึดทำให้ลุกขึ้น ก็เป็นไปโดยธรรมชาติ ถ้าเป็นเช่นนี้ให้ใช้ไม้ตีให้ล้มลง

การพิจารณาอสุภะนั้น นอกจากพิจารณาซากศพ หรือร่างกายที่ปราศจากชีวิต ๑๐ ประการดังกล่าวแล้ว ยังสามารถพิจารณาความเป็นอสุภะ หรือความไม่สวยงามในร่างกายของมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน โดยจะพิจารณาร่างกายของตนเอง หรือผู้อื่นก็ได้ดังต่อไปนี้

๑. พิจารณาเมื่อร่างกาย หรือ อวัยวะบวมขึ้น ให้พิจารณาโดยความเป็นอุทธุมาตกะ (พองอืด)
๒. พิจารณาเมื่ออวัยวะเป็นแผล ฝี มีหนองไหลออกมา ให้พิจารณาโดยความเป็นวิปุพพกะ (น้ำเหลืองไหล แผลแตกปริ)
๓. พิจารณาเมื่อ แขน ขา มือ เท้า หรืออวัยวะขาดด้วน เพราะอุบัติเหตุ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ให้พิจารณาโดยความเป็นวิจฉิททกะ (อวัยวะขาดเป็นท่อน)
๔. พิจารณาเมื่อมีโลหิตเปรอะเปื้อนร่างกาย ให้พิจารณาโดยความเป็นโลหิตกะ (เลือดไหล)
๕. พิจารณาขณะที่แลเห็นฟัน ให้พิจารณาโดยความเป็นอัฏฐิกะ (กระดูก)

หากจะพิจารณาไปแล้วความเป็นอสุภะหรือไม่สวยงาม ไม่ได้เป็นเฉพาะเมื่อตาย
ลงหรือเป็นซากศพเท่านั้น ร่างกายที่มีชีวิตอยู่นี้หากพิจารณาให้ดีก็ไม่ใช่สิ่งสวยงาม แต่เพราะการตบแต่งประดับประดา และความหลงผิดทำให้คิดไปว่าเป็นของสวยงาม น่ารัก น่าใคร่ จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่น หวงแหน

การเจริญอสุภะ สามารถให้บรรลุฌานขั้นปฐมฌานเท่านั้น การพิจารณาอสุภะในซากศพ จะมีความน่ากลัว อุคคหนิมิตจะเกิดได้เร็วกว่าการพิจารณาอสุภะในคนที่ยังมีชีวิตอยู่ การเจริญอสุภกรรมฐานทำให้ได้ปฐมฌาน หรือฌานเบื้องต้น หากต้องการจะได้ทุติยฌานต่อไปให้เปลี่ยนไปเพ่งสีที่ปรากฏชัดที่ศพ เช่น เพ่งสีแดงของเลือดที่ไหล จัดเป็นวรรณกสิณ หรือกสิณสี พร้อมบริกรรมว่าแดงๆ หรือศพสีเขียวก็เพ่งสีเขียว บริกรรมว่าเขียว ๆ ตามวิธีการของวรรณกสิณ ก็จะได้บรรลุทุติยฌาน


อานิสงส์ของการเจริญอสุภกรรมฐาน
ได้แก่

๑. มีสติ
๒. มองเห็นความไม่เที่ยงของร่างกาย (อนิจจสัญญา)
๓. มองเห็นความตายว่าจะบังเกิดกับทุกคน (มรณสัญญา)
๔. มีความรังเกียจในร่างกาย
๕. ทำให้กามตัณหาไม่ครอบงำ
๖. กำจัดความยึดมั่นถือมั่นในรูป
๗. กำจัดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งน่าเพลิดเพลิน (อิฏฐารมณ์)
๘. อยู่เป็นสุข
๙. เข้าถึงอมตธรรม คือ พระนิพพาน เฉพาะสำหรับผู้ที่เจริญสมถะจนได้ฌาน แล้วเอาฌานเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์ 

ทั้งหมดนี้ เป็นความรู้ก่อนที่จะเริ่มลงมือปฏิบัติสมถกรรมฐาน เป็นความรู้เบื้องต้นพื้นฐาน เพื่อให้มีความรู้ก่อนลงมือปฏิบัติอย่างมีหลักที่ถูกต้อง การเพ่งกสิณและ อสุภะ ซึ่งจัดว่าเป็นอารมณ์สมถะกรรมฐานที่ค่อนข้างจะพิจารณายาก โดยเฉพาะในปัจจุบัน การที่จะหาศพมาพิจารณาก็ยาก ตลอดจนความเพียรของผู้ปฏิบัติเองก็อาจจะยังไม่มากพอ และทั้งกสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ ในปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศไทยก็ไม่ใคร่นิยมปฏิบัติกัน

ฉะนั้น หากจะปฏิบัติก็ต้องศึกษาทบทวน และสอบทานตัวเองก่อนว่าเข้าใจจริงหรือไม่แล้วจึงลงมือปฏิบัติ ในระหว่างการปฏิบัติก็ต้องทบทวน สอบทานความรู้อยู่เสมอ เพื่อป้องกันการปฏิบัติผิด ตำราที่ผู้ปฏิบัติจะสอบทานผลการปฏิบัติของตนได้ คือ ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค คัมภีร์วิสุทธิมรรค และวิมุตติมรรค



วันเสาร์

๔. กสิณ ๑๐

กสิณ ๑๐

กสิณ หมายถึง วัตถุอันจูงใจให้เข้าไปผูกอยู่ ทำให้คุมใจได้มั่น จิตใจไม่ฟุ้งซ่านซัดส่าย วัตถุที่ใช้ในการเจริญกสิณมี ๑๐ อย่าง คือ

๑. ปฐวีกสิณ กสิณ ดิน
๒. อาโปกสิณ กสิณ น้้า
๓. เตโชกสิณ กสิณ ไฟ
๔. วาโยกสิณ กสิณ ลม
๕. นีลกสิณ กสิณ สีเขียว
๖. ปีตกสิณ กสิณ สีเหลือง
๗.โลหิตกสิณ กสิณ สีแดง
๘. โอทาตกสิณ กสิณ สีขาว
๙.อาโลกสิณ กสิณแสงสว่าง
๑๐. อากาสกสิณ หรือปริจฉินนากาสกสิณ กสิณที่ว่างหรืออากาศ



๑. ปฐวีกสิณ (กสิณดิน) 
ต้องเตรียมดินที่จะใช้เป็นองค์กสิณ โดยเลือกดินสีอรุณ หรือสีพระอาทิตย์แรกขึ้น มีความเหนียวพอประมาณ เก็บสิ่งสกปรกที่ติดอยู่กับดินนั้นออกให้หมด ผสมกับน้ำนวดจนดินหมดฝุ่นละออง คลึงแผ่เป็นแผ่นวงกลมกว้าง ๑ คืบ ๔ นิ้ว ทำหน้าดินให้เรียบเหมือนหน้ากลอง แต่งวงขอบของดินด้วยอีกสีหนึ่ง จะเป็นสีเขียวหรือสีขาวก็ได้ให้มีขนาดเส้นขอบประมาณหนึ่งกระเบียด

ดวงกสิณนี้จะสร้างอยู่บนกระดาน บนผ้า บนกำแพง หรือบนดินก็ได้ แต่ต้องรักษาให้สะอาดเรียบร้อย และเรียบอยู่เสมอ เมื่อทำองค์กสิณเสร็จแล้วให้หาสถานที่สงบห่างไกลผู้คน เพื่อเพ่งปฐวีกสิณโดยตั้งองค์กสิณไว้เบื้องหน้าในระดับสายตาไม่สูงหรือต่ำเกินไป นั่งห่างจากองค์กสิณประมาณ ๒ ศอก ๑ คืบ หรือไม่ใกล้ –ไกล เกินไปนัก โดยนั่งขัดสมาธิ ทำจิตให้ระลึกถึงโทษของกามคุณว่า กามเป็นสิ่งน่ายินดีน้อย มีทุกข์มาก ให้โทษต่างๆ เปรียบดังหัวงูมีพิษ เพราะเป็นของน่ากลัว จึงควรทำตนให้พ้นจากกามคุณอารมณ์ต่างๆ ตั้งจิตให้ยินดีในฌาน ระลึกพระคุณของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วจึงลืมตาดูดวงกสิณนั้น บริกรรมว่า ปฐวีๆๆ (ดินๆๆ) เป็นร้อยครั้งพันครั้ง เมื่อลืมตาดูดวงกสิณแล้วหน่อยหนึ่งก็หลับตาลง แล้วจึงลืมตาขึ้นดูอีก ปฏิบัติจนได้อุคคหนิมิต คือหลับตาเห็น ลืมตาเห็นดวงกสิณ

จนคล่องแคล่ว ปฏิภาคนิมิตก็จะเกิดขึ้นเป็นสภาพที่สะอาด ไม่ด่างพร้อย จะใสเป็นกระจก งามกว่าอุคคหนิมิต จิตจะตั้งมั่น นิวรณ์ ๕ จะสงบระงับ พากเพียรต่อไปก็จะได้อัปปนาสมาธิ หากรักษาปฏิภาคนิมิตให้ดี พากเพียรปฏิบัติต่อไปก็จะได้ฌานเป็นลำดับขึ้นไป แต่หากรักษาปฏิภาคนิมิตไม่ดี สมาธิหรือฌานที่ได้ก็จะเสื่อมหายไป

๒. อาโปกสิณ (กสิณน้้า)
คือ การเพ่งน้ำ ผู้ที่เคยปฏิบัติอาโปกสิณในชาติก่อนๆ เมื่อเพ่งน้ำที่ใดที่หนึ่ง เช่น ในสระหรือในบ่อ ก็สามารถสำเร็จอุคคหนิมิตโดยง่าย หรือนำผ้าขาวขึงกลางแจ้งรองน้ำฝนบริสุทธิ์มาใส่ภาชนะเช่นขัน ใส่เต็มขอบปากภาชนะ เพ่งดูน้ำนั้นในที่สงบ บริกรรมว่า อาโปๆๆ (น้ำๆๆ) จนเกิดอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิตตามลำดับ เช่นเดียวกับปฐวีกสิณ

๓. เตโชกสิณ (กสิณไฟ)
คือการเตรียมเปลวเพลิง ผู้ที่เคยปฏิบัติเตโชกสิณในชาติก่อนๆ อาจเพ่งเปลวไฟในเตา หรือที่ใดๆ จนได้อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ตามลำดับ โดยทั่วไปการจะเพ่งเตโชกสิณต้องเตรียมการโดยก่อไฟให้ลุกโพลง นำเสื่อ หรือ แผ่นหนังกั้นไว้หน้ากองไฟ เจาะช่องกลมโตประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้วเพ่งดูเปลวไฟ อย่าพิจารณาสีของเปลวไฟ หรือเถ้าถ่าน หรือควันไฟ เพราะจะกลายเป็นวรรณกสิณไป ขณะเพ่งเปลวไฟให้บริกรรมว่า เตโชๆๆ (ไฟๆๆ) จนอุคคหนิมิตปรากฏขึ้น และได้ปฏิภาคนิมิต ได้ฌานตามลำดับ อุคคหนิมิตของเตโชกสิณจะปรากฏภาพของเปลวไฟที่คุแต่อาจมีการพัดไหว ส่วนปฏิภาคนิมิตเปลวไฟจะนิ่ง มีสีทองหรือแดง

๔. วาโยกสิณ (กสิณลม)
คือ กสิณลม เจริญได้โดยต้องอาศัยการมองดู ยอดไม้ ใบไม้ เส้นผม เป็นต้น ที่สั่นไหวเพราะลมพัด หรือจะเจริญเมื่อลมพัดสัมผัสกายเราก็ได้ พร้อมบริกรรมว่า วาโยๆๆ (ลมๆๆ) จนเกิดอุคคหนิมิต เป็นลักษณะไอน้ำ น้ำตกหรือควันที่ไหวหวั่น แต่เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตจะไม่หวั่นไหวจะมีสภาพเป็นกลุ่มกอง เป็นเกลียวที่แน่นิ่ง

๕. นีลกสิณ (กสิณสีเขียว)
๖. ปีตกสิณ (กสิณสีเหลือง)
๗. โลหิตกสิณ (กสิณสีแดง)
๘. โอทาตกสิณ (กสิณสีขาว)

จะกล่าวรวมถึงวรรณกสิณ ทั้ง ๔ เพราะมีการปฏิบัติและลักษณะใกล้เคียงกัน นีลกสิณ คือ กสิณสีเขียว ผู้ที่มีวาสนาบารมีเคยเจริญกสิณนั้นมาก่อน เมื่อเห็นสีของใบไม้ ผ้า หรือวัตถุอื่นก็สามารถเพ่งดู และบริกรรมได้ทันที แต่ถ้าจะทำองค์นีลกสิณ ต้องใช้ดอกไม้ ใบไม้ วัตถุใดๆ ก็ตามที่มีสีเขียว ถ้าใช้ดอกไม้ เช่น ดอกบัว ก็ต้องนำมาใส่พาน หรือขันให้เต็มขอบภาชนะ หรือ ถ้าจะใช้ผ้า, กระดาษ, ก็ต้องใช้ผ้า กระดาษ สีเขียว มาตัดเป็นวงกลมกว้าง ๑ คืบ ๔ นิ้ว เอาสีเขียวทาบนแผ่นวงกลมให้เรียบร้อย ตัดขอบด้วยสีขาว แดง เพื่อเน้นให้สีเขียวเด่นชัดขึ้น เมื่อเพ่งก็บริกรรมว่า นีละ นีละ(เขียวๆๆ)

ส่วนกสิณสีอื่นๆ เช่น ปีตกสิณ กสิณสีเหลืองก็จัดทำเช่นเดียวกันโดยใช้ดอกไม้ หรือผ้า, กระดาษ บริกรรมว่า ปีตะ ปีตะ (เหลืองๆๆ)
โลหิตกสิณ คือกสิณสีแดง ให้บริกรรมว่า โลหิตะ โลหิตะ 
(แดงๆๆ)
โอทาตกสิณ คือ กสิณสีขาว ก็บริกรรมว่า โอทาตะ โอทาตะ (ขาวๆ)
ทำไปจนเกิดอุคคหนิมิต
ก็ไม่จำเป็นต้องเพ่งองค์กสิณอีก ให้เพ่งแต่อุคคหนิมิตที่ได้มา จนเกิดปฏิภาคนิมิตขึ้น และได้ฌานไปตามลำดับ

๙. อาโลกกสิณ (กสิณแสงสว่าง)
คือ กสิณแสงสว่าง เป็นแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงไฟเป็นต้น แต่เมื่อมิอาจ เพ่งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงไฟต่างๆโดยตรง ก็ต้องทำองค์กสิณ โดยการหารอยแตกของฝาเรือน หลังคาที่พักอาศัย หรือเจาะให้แสงสว่างลอดเข้ามาปรากฏที่ฝาหรือพื้นเรือน หรือจุดตะเกียง หรือเปิดไฟไว้ เอาม่านกั้นให้มิดชิด เจาะรูม่านให้แสงลอดออกมาเป็นดวงที่ฝา แล้วเพ่งดูแสงสว่างนั้น บริกรรมว่าโอภาโส โอภาโส (แสงๆๆ) หรือ อาโลโก อาโลโก (สว่างๆๆ) จนอุคคหนิมิตเกิดขึ้นเป็นแสงสว่างไม่ต่างจากบริกรรมนิมิต ส่วนปฏิภาคนิมิตแสงสว่างจะเป็นกลุ่มก้อนคล้ายดวงไฟในโป๊ะไฟสีขาวสว่างรุ่งโรจน์กว่าอุคคหนิมิตหลายเท่า

๑๐. อากาสกสิณ หรือปริจฉินนากาสกสิณ (กสิณที่ว่างหรืออากาศ)
คือ การเพ่งอากาศว่างเปล่าเป็นอารมณ์ ทำองค์กสิณโดยเจาะฝาให้เป็นช่องว่างประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว หรือใช้ช่องหน้าต่าง ประตู เพ่งดูอากาศที่ปรากฏตามช่องนั้นๆ แล้วบริกรรมว่า อากาโสๆๆ (แจ้งๆๆ) จนเกิดอุคคหนิมิตเห็นอากาศที่ปรากฏตามช่อง มีขอบเขต เหมือนกับบริกรรมนิมิตทุกประการ แต่เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตแล้ว จะปรากฏแต่อากาศอย่างเดียวไม่ปรากฏขอบเขต ทั้งยังสามารถขยายขอบเขตให้กว้างใหญ่เพียงไรก็ได้

คุณลักษณะพิเศษของกสิณ ๑๐ 

กสิณมีลักษณะพิเศษหลายประการ เช่น เมื่อได้รูปฌาน ๔ การเพ่งกสิณอย่างหนึ่งแล้ว ถ้าต้องการอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตจากกสิณอีก ๙ อย่างที่เหลือ ก็ไม่ต้องจัดทำองค์กสิณขึ้นใหม่ให้มองดูสิ่งอื่นๆตามธรรมชาติ เช่นมองดูดิน (ปฐวีกสิณ) แล้วบริกรรมปฐวีๆๆ(ดินๆๆ) หรือ ดูแม่น้ำ ไฟ ลม สีต่างๆ แสงสว่าง อากาศ แล้วบริกรรมตามคำบริกรรมตรงกับสิ่งที่เราเพ่งนั้นๆ อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ก็จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ กสิณยังเป็นกรรมฐานที่ทำให้ถึงฌานเร็วกว่ากรรมฐานอื่นๆ เพราะการเพ่งกสิณนั้น อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต เกิดขึ้นง่าย ได้ฌานเร็ว โดยเฉพาะกสิณที่เกี่ยวกับสีทั้ง ๔ แล้วจะยิ่งเกิดอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต และฌานได้เร็วยิ่งกว่ามหาภูตกสิณ พระพุทธองค์ทรงยกย่องโอทาตกสิณ (กสิณสีขาว) ว่าเลิศกว่ากสิณสีอื่นๆ เพราะทำให้จิตใจของผู้ที่เจริญกสิณนั้นผ่องใส ไม่เซื่องซึมง่วงเหงา ทั้งยังทำให้ผู้เจริญกสิณนี้ทราบเหตุการณ์ต่างๆคล้ายผู้ทรงอภิญญาทั้งที่ยังไม่ได้อุคคหนิมิต


อานุภาพแห่งกสิณ ๑๐ ท้าให้เกิดฤทธิ์ต่างๆ
๑. ปฐวีกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๑.๑ เนรมิตคน ๆ เดียวให้กลายเป็นหลายร้อยหลายพันคน
    ๑.๒ เนรมิตตนเองให้เป็นพญานาค พญาครุฑ
    ๑.๓ ทำท้องอากาศ แม่น้ำ มหาสมุทร ให้เป็นพื้นแผ่นดิน ให้ยืน เดิน นั่ง นอน ได้
    ๑.๔ เนรมิต วิมาน วัดวาอาราม บ้านเรือน วัตถุสิ่งของต่างๆ ตามความประสงค์ของตน
    ๑.๕ ทำสิ่งที่เบาให้หนัก
    ๑.๖ ทำให้วัตถุติดแน่นตั้งมั่นอยู่ มิให้โยกย้ายเคลื่อนที่ไป
    ๑.๗ ได้ อภิภายตนะ คือ สามารถข่มทำลายธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจิตใจ และสามารถข่มอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา อยากได้ อยากพบ) และอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่อยากได้ ไม่อยากพบ) มิให้มาปรากฏภายในจิตใจของตนได้
๒. อาโปกสิณ มีอานุภาพ คือ

    ๒.๑ แทรกแผ่นดินไปแล้ว ผุดขึ้นมาได้
    ๒.๒ ทำให้ฝนตก
    ๒.๓ ทำพื้นแผ่นดินให้เป็นแม่น้ำ และมหาสมุทร
    ๒.๔ ทำน้ำธรรมดาให้เป็น น้ำมัน น้ำนม น้ำผึ้ง
    ๒.๕ ทำให้กระแสน้ำพุ่งออกมาจากร่างกาย
    ๒.๖ ทำให้ภูเขา ปราสาท วิมาน สะเทือนหวั่นไหว
๓. เตโชกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๓.๑ เกิดควันกำบังตน และทำให้เปลวไฟโชติช่วงขึ้นจากร่างกาย หรือวัตถุอื่นๆ
    ๓.๒ ทำให้ฝนถ่านเพลิงตกลงมา
    ๓.๓ ใช้ไฟที่เกิดจากฤทธิ์ของตนดับไฟที่เกิดจากฤทธิ์ของผู้อื่นให้ดับลง
    ๓.๔ สามารถเผาผลาญบ้านเมือง วัตถุสิ่งของต่างๆได้
    ๓.๕ ทำให้แสงสว่างเกิดขึ้น เพื่อจะได้แลเห็นรูปด้วยทิพพจักขุอภิญญา
    ๓.๖ ทำให้เตโชธาตุ หรือไฟลุกไหม้สรีระในสมัยที่ปรินิพพาน
    ๓.๗ ทำให้ความมืดหายไป
๔. วาโยกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๔.๑ เหาะไปได้
    ๔.๒ สามารถไปถึงสถานที่ที่ตนต้องการจะไปได้อย่างรวดเร็ว
    ๔.๓ ทำสิ่งที่หนักให้เบา
    ๔.๔ ทำให้พายุใหญ่เกิดขึ้น
๕. นีลกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๕.๑ ทำวัตถุสิ่งของให้เป็นสีเขียว
    ๕.๒ ทำเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง เป็นต้น ให้เป็นมรกต
    ๕.๓ ทำความมืดให้เกิดขึ้นไม่ว่าเวลาใด
    ๕.๔ ได้อภิภายตนะ
    ๕.๕ ได้สุภวิโมกข์ คือ บรรลุ มรรค ผล นิพพานโดยง่ายและสะดวกสบาย
๖. ปีตกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๖.๑ ทำให้วัตถุสิ่งของเป็นสีเหลือง
    ๖.๒ ทำเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง เป็นต้น ให้เป็นทอง
    ๖.๓ ได้อภิภายตนะ
    ๖.๔ ได้สุภวิโมกข์
๗. โลหิตกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๗.๑ ทำให้วัตถุสิ่งของเป็นสีแดง
    ๗.๒ ทำเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง เป็นต้น ให้เป็นแก้วทับทิม
    ๗.๓ ได้อภิภายตนะ
    ๗.๔ ได้สุภวิโมกข์
๘. โอทาตกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๘.๑ ทำให้วัตถุสิ่งของเป็นสีขาว
    ๘.๒ ทำเหล็ก ทองเหลือง ทองแดง เป็นต้น ให้เป็นเงิน
    ๘.๓ ทำให้หายจากความง่วงเหงาหาวนอน
    ๘.๔ ทำให้ความมืดหายไป แล้วทำแสงสว่างให้เกิดขึ้น เพื่อเห็นรูปด้วยทิพพจักขุอภิญญา
๙. อาโลกกสิณ มีอานุภาพ คือ
๙.๑ ทำให้วัตถุสิ่งของเกิดแสงสว่าง หรือทำให้ร่างกายเกิดแสงสว่างเป็นรัศมีพวยพุ่งขึ้นมา
๙.๒ เนรมิตเป็นรูปต่างๆประกอบด้วยแสงสว่างอย่างรุ่งโรจน์
๙.๓ ทำให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน
๙.๔ ทำความมืดให้หายไป ทำความสว่างให้เกิดขึ้น เพื่อเห็นรูปด้วยทิพพจักขุอภิญญา
๑๐. อากาสกสิณ มีอานุภาพ คือ
    ๑๐.๑ เปิดเผย สิ่งที่หลบซ่อนลี้ลับให้ปรากฏให้เห็นได้
    ๑๐.๒ ทำให้มีอากาศเป็นอุโมงค์ช่องว่างเกิดขึ้นภายในพื้นแผ่นดิน ภูเขา มหาสมุทร แล้วยืน เดิน นั่ง นอนได้
    ๑๐.๓ เข้าออกทางฝา หรือกำแพงได้

กสิณทั้ง ๑๐ อย่าง มีอานุภาพทำให้เกิดฤทธิ์ที่เหมือนๆ กัน คือ
ก. สามารถกำบังสิ่งต่างๆไม่ให้ผู้ใดแลเห็น
ข. ทำวัตถุสิ่งของเล็กให้กลับใหญ่ หรือที่ใหญ่ให้กลับเล็ก
ค. ทำระยะทางใกล้ให้ไกล และย่นระยะทางที่ไกลให้กลับเป็นใกล้
ง. กสิณ เมื่อเจริญแล้วทำให้สำเร็จรูปฌานและอรูปฌานได้



วันพฤหัสบดี

๓. ประโยชน์ของสมาธิ

ในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนมีความเครียด มีความวิตกกังวลกันมาก มีผู้คนจำนวนไม่น้อยพยายามหาทางคลายความเครียดคลายความวิตกกังวลโดยการเจริญสมาธิ สมาธิมีประโยชน์ทำให้จิตใจสงบนิ่ง ไม่สับสน ไม่กังวล ได้อย่างแท้จริง แต่สมาธิไม่ได้มีประโยชน์เพียงเพื่อคลายความเครียด ความวิตก กังวลเท่านั้น ยังมีประโยชน์อีกมากมายหลายประการ ที่สำคัญที่สุดคือ สมาธิ หรือสัมมาสมาธิเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุมรรคผลนิพพาน สมาธิเป็นองค์หนึ่งในอริยมรรรคมีองค์แปด พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่าสมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร (การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน) สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ สมาธิภาวนาที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย

สรุปประโยชน์ของสมาธิทั้งทางตรงและทางอ้อม มี ๔ ประการ คือ
ประการที่ ๑  ประโยชน์ที่เป็นจุดหมายทางศาสนา คือ สมาธิเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการปฏิบัติเพื่อให้หลุด
พ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งปวง
    ๑. ประโยชน์ที่ตรงแท้ของข้อนี้ คือ การเตรียมจิตให้พร้อมที่จะใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นให้รู้แจ้งสภาวธรรมของความเป็นจริง (คือได้รู้ว่าชีวิตและสรรพสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ใต้บังคับบัญชา ไม่ใช่ตัวตน) เรียกว่า สมาธิเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา ซึ่งจะนำไปสู่พระนิพพานได้ในที่สุด
    ๒. ประโยชน์ที่รองลงมา คือ ทำให้จิตหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสชั่วคราว ด้วยการกด การข่มไว้ ด้วยกำลังของฌาน ด้วยอำนาจของพลังจิตที่แน่วแน่ จะสามารถข่มนิวรณ์ ๕ ไว้ได้ตลอดเวลาที่ยังมีสมาธิ เรียกตามศัพท์ว่า “วิกขัมภนวิมุตติ” แต่พึงทราบว่าเมื่อถอนออกจากสมาธิแล้ว กิเลสเหล่านั้น หรือนิวรณ์ ๕ ก็มีเช่นเดิม เพราะไม่ได้ถูกกำจัด เป็นแต่ถูกกดถูกข่มไม่ให้แสดงตัวหรืองอกงามได้ในช่วงที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น อุปมาเหมือนหินทับหญ้า ทำให้หญ้าไม่เจริญเติบโตชั่วคราว แต่เมื่อนำหินออก หญ้าได้แดดได้น้ำ ก็จะเจริญเติบโตตามปกติ

ประการที่ ๒ ประโยชน์ในการสร้างความสามารถพิเศษเหนือสามัญวิสัย เป็นผลสำเร็จอย่างสูงทางจิตใจ หรือเรียกว่าประโยชน์ในด้านอภิญญา คือใช้สมาธิระดับฌานสมาบัติเป็นฐาน ทำให้เกิดฤทธิ์และอภิญญาขั้นโลกียะ อภิญญาคือความรู้ยิ่ง หรือความรู้ขั้นสูง มี ๖ อย่าง คือ
    ๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่างๆ เช่น เนรมิตคนๆ เดียวให้เป็นหลายคนได้ล่องหนได้ ดำดิน เดินบนน้ำ เดินทะลุกำแพงได้ เป็นต้น
    ๒. ทิพพโสต หรือ หูทิพย์ เช่น สามารถฟังเสียงในที่ไกล ๆ ได้ ได้ยินสิ่งที่ต้องการได้ยินได้
    ๓. เจโตปริยญาณ ทายใจผู้อื่นได้ รู้ว่าผู้อื่นคิดอะไร
    ๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
    ๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ ดูเห็นสิ่งต่างๆ ได้ตามใจปรารถนา
    ๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะกิเลสสิ้นไป

อภิญญา ที่เกิดจากสมาธิ จนสำเร็จฌาน เป็นโลกียอภิญญา คืออภิญญาในข้อที่ ๑-๕ ส่วนอาสวักขยญาณ เป็นโลกุตตรอภิญญา

ประการที่ ๓ ประโยชน์ด้านสุขภาพจิตและการพัฒนาบุคลิกภาพ ทำให้เป็นผู้มีจิตใจและบุคลิกลักษณะเข้มแข็งหนักแน่น มั่นคง สงบ เยือกเย็น สุภาพ นิ่มนวล สดชื่น ผ่องใส กระฉับกระเฉง เบิกบาน งามสง่า มีเมตตากรุณา รู้จักตนเองและผู้อื่นตามความเป็นจริง (ตรงข้ามกับลักษณะของคนมีนิวรณ์ เช่น อ่อนไหว ติดใจหลงใหลง่าย หยาบกระด้าง ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด หงุดหงิด วู่วาม วุ่นวาย จุ้นจ้าน สอดแส่ ลุกลี้ลุกลน หรือ หงอยเหงา เศร้าซึม หวาดระแวง ลังเล)

เตรียมจิตให้อยู่ใน
สภาพพร้อมและง่ายแก่การปลูกฝังคุณธรรมต่าง ๆ เสริมสร้างนิสัยที่ดี ทำให้สงบ ผ่อนเบาความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจได้ เรียกอย่างสมัยใหม่ว่า มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความคุ้มกันทางอารมณ์และมีภูมิคุ้มกันโรคทางจิต

ประการที่ ๔ ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
    ๑. ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลาย หายเครียด เกิดความสงบ หายกระวนกระวาย ยั้งหยุดจากความกลัดกลุ้มวิตกกังวล เป็นเครื่องพักผ่อนกาย ให้ใจสบายและมีความสุข เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออก เวลาที่รอคอยอะไร หรือตอนรถติด หรือปฏิบัติเมื่อทำงานใช้ความคิดมากๆ เป็นต้น
    ๒. เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน การเล่าเรียน และการทำกิจทุกอย่าง เพราะจิตที่เป็นสมาธิ แน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำลังกระทำ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก ไม่เลื่อนลอย ย่อมช่วยให้เรียน ให้คิด ให้ทำงานได้ผลดี การงานก็เป็นไปด้วยความรอบคอบ ไม่ผิดพลาด และป้องกันอุบัติเหตุได้ดี เพราะเมื่อมีสมาธิก็ย่อมมีสติกำกับอยู่ด้วย
    ๓. ช่วยเสริมสุขภาพกาย ร่างกายกับจิตใจอาศัยกันและมีอิทธิพลต่อกัน ปุถุชนทั่วไปเมื่อกายไม่สบายจิตใจก็พลอยอ่อนแอเศร้าหมองขุ่นมัว ครั้นเสียใจไม่มีกำลังใจ ก็ยิ่งซ้ำให้โรคทางกายนั้นทรุดหนักลงไปอีก แม้ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติ พอประสบเรื่องราวให้เศร้าเสียใจรุนแรง ก็ล้มป่วยเจ็บไข้ไปได้ ส่วนผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งสมบูรณ์ (โดยเฉพาะท่านที่มีจิตหลุดพ้นแล้ว) เมื่อเจ็บป่วยกายก็ไม่สบายอยู่แค่กายเท่านั้น จิตใจไม่พลอยป่วยไปด้วย ยิ่งกว่านั้นกลับใช้ใจที่สบายมีกำลังจิตเข้มแข็งนั้น หันกลับมาส่งอิทธิพลบรรเทาหรือผ่อนเบาโรคทางกายได้อีกด้วย อาจทำให้โรคหายง่ายและไวขึ้น หรือแม้แต่ใช้กำลังสมาธิระงับทุกขเวทนาทางกายไว้ก็ได้ ในด้านดีผู้มีจิตใจผ่องใสเบิกบาน ย่อมช่วยให้กายเอิบอาบผิวพรรณผ่องใส สุขภาพกายดีเป็นภูมิต้านทานโรคไปในตัว

ปัจจัยเกื้อหนุนและอุปสรรคในการเจริญสมาธิ
ก. ตัดปลิโพธ หรือ ความวิตกกังวลทำให้จิตขัดข้อง มี ๑๐ ประการ
ข. หากัลยาณมิตร หรือ ครูอาจารย์ผู้ที่จะสอนการเจริญสมาธิ
ค. รับกรรมฐานให้ถูกกับจริตของตน
ง. อยู่ในสถานที่ที่เหมาะกับการเจริญสมาธิ
จ. ปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ

การอธิบายในเรื่องปัจจัยเกื้อหนุนและอุปสรรคในการเจริญสมาธินี้ กล่าวไว้สำหรับผู้ที่จะเจริญสมาธิทั้งที่เป็นฆราวาส และภิกษุสามเณร ทั้งผู้จะเจริญสมาธิในช่วงสั้น ๆ และผู้ที่มุ่งมั่นสละชีพเพื่อการปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจัง

ก. ปลิโพธ คือ ข้อติดขัดทำให้กังวล มีความค้างคาในใจ เมื่อเกิดกังวลหรือปลิโพธ ก็ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้า ปลิโพธมี ๑๐ ประการ คือ
๑) กังวลเรื่องที่อยู่หรือวัด
๒) เรื่องตระกูล
๓) เรื่องลาภ
๔) เรื่องหมู่คณะ
๕) เรื่องงาน
๖) เรื่องการเดินทาง
๗) เรื่อง ญาติ
๘) เรื่อง อาพาธ
๙) เรื่องคันถะ
๑๐) เรื่องอิทธิ คือฤทธิ์ของปุถุชนกังวลเรื่องรักษาฤทธิ์ แต่กังวลเรื่องนี้เป็นความกังวลของผู้
เจริญวิปัสสนาเท่านั้น เพราะผู้ที่เริ่มบำเพ็ญสมาธิยังไม่มีฤทธิ์ จึงไม่ต้องกังวล

ข. แสวงหาอาจารย์หรือกัลยาณมิตร ผู้ที่จะช่วยเหลือแนะนำสั่งสอนในการปฏิบัติ กัลยาณมิตร คือ ผู้ที่ประกอบไปด้วยกัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ คือ
๑) น่ารัก
๒) น่าเคารพ
๓) น่าเจริญใจ น่านับถือ รู้คุณค่าของการเจริญสมาธิ
เป็นผู้เที่ยงธรรม
๔) สอนได้ดี
๕) ยอมให้ศิษย์แนะนำท้วงติงได้
๖) สอนเรื่องที่ลึกซึ้งได้
๗) ไม่
แนะนำ ไม่ชักชวนในเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควร 

การมีกัลยาณมิตรจะช่วยเป็นขวัญเป็นกำลังใจในเวลาปฏิบัติแล้วประสบอารมณ์ที่น่ากลัว ทำให้ไม่
ดื้อรั้น เพราะมีอาจารย์คอยดูแลควบคุมความประพฤติอยู่ การแสวงหากัลยาณมิตรที่ดีที่สุด แนะนำข้อปฏิบัติทั้งสมถะและวิปัสสนาได้ถูกต้องที่สุด ในปัจจุบันยังหาได้อยู่คือ คำสอนในพระไตรปิฎก และอรรถกถา พระไตรปิฎกเล่มที่ ๖๘-๖๙ ชื่อว่า ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถา ได้แก่ คัมภีร์วิสุทธิมรรค และคัมภีร์วิมุตติมรรค ทั้ง ๓ คัมภีร์นี้จัดได้ว่าเป็นคู่มือสำหรับนักปฏิบัติอย่างดี

ค. รับกรรมฐานให้ถูกกับจริตของตน จริต หรือ จริยา หมายถึง พื้นเพของจิต ลักษณะนิสัยความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง คนที่มีจริตแบบใดลักษณะนิสัยจิตใจก็จะเป็นไปในทางนั้น จริตแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ มี ๖ คือ
    ๑. ราคจริต นิสัยหนักไปทางราคะ รักสวย รักงาม ยืน เดินเยื้องย่างละมุนละไม ไม่รีบร้อน รักสะอาด พิถีพิถันเรื่องของใช้เครื่องแต่งตัวเครื่องประดับ ชอบบริโภคอาหารรสกลมกล่อม ประณีตและหวาน ทำการใดๆ ก็ทำอย่างเรียบร้อยมีระเบียบสวยงาม
    ๒. โทสจริต นิสัยหนักไปทางโทสะ ใจร้อนหงุดหงิด อารมณ์รุนแรง ทำการงานสะอาด แต่ไม่เรียบร้อย ตึงตัง โครมคราม ชอบอาหารรสเปรี้ยว รสจัด รับประทานอาหารเร็ว เดินเร็ว ฝีเท้าหนัก ชอบวิวาท
    ๓. โมหจริต นิสัยหนักไปทางโมหะ ค่อนข้างเขลา เชื่อง่ายงมงาย เซื่องซึม ไม่กระปรี้กระเปร่า เหม่อลอย ท้อถอย ไม่เข้มแข็ง ทำงานใดก็ทำอย่างหยาบๆ ไม่สะอาด ไม่เรียบร้อย ชอบเผลอสติ
    ๔. สัทธาจริต นิสัยหนักไปทางศรัทธา น้อมใจเลื่อมใสได้ง่าย ไม่มีมารยาสาไถย เลื่อมใสในพระรัตนตรัย บิดา มารดา ครู อาจารย์
    ๕. วิตกจริต นิสัยหนักไปทางวิตกกังวล ย้ำคิด ฟุ้งซ่าน วาดวิมานในอากาศ กลัวไปล่วงหน้าทั้งที่เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น
    ๖. พุทธิจริต นิสัยหนักไปทางชอบใช้เหตุผล สติปัญญา ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ชอบศึกษาครุ่นคิด

คนแต่ละคนจะมีจริตอย่างเดียว อาจมีจริตผสมกันได้ เช่น เป็นคนราคจริตและโทสจริตในคนๆเดียวกัน เป็นคนโทสจริตและโมหจริตด้วย เป็นต้น บุคคลที่เกิดมาในโลก มีจริตนิสัยแตกต่างกันไป แม้พี่น้องพ่อแม่เดียวกัน ก็มีอัธยาศัยจิตใจผิดแผกกันไป ทั้งที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูเหมือนๆ กัน พุทธศาสนาได้อธิบายสาเหตุ ของความแตกต่างกันของนิสัยนี้ว่า มาจากกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่บุคคลผู้นั้นได้สั่งสมมาในชาติปางก่อนๆ ไม่ได้เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมในชาติปัจจุบัน หรือ การอบรมเลี้ยงดูเพียงอย่างเดียว เหตุจากชาติปางก่อนมีส่วนด้วยและการเลี้ยงดูความประพฤติการปฏิบัติตนในชาตินี้ก็มีส่วนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้พุทธศาสนาเห็นว่าคนสามารถพัฒนาตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้ แก้ไข ปรับปรุงตนเองได้ มิใช่ยินยอม ถูกกระทำหรือยอมรับทุกสิ่ง หรือปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแส แต่คนมีศักยภาพ (potential) ที่จะเป็นผู้ฝ่าฟัน ชนะสิ่งไม่ดีไม่งามต่างๆ ในใจของตน และสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งที่ดีงามให้งอกงามผลิบานได้ ในจิตใจและชีวิตของตนเอง

จริตนิสัยเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ เช่น คนโมหจริต โง่เขลา ด้อยปัญญา ก็สามารถแก้ไข หรือปรับปรุงตัว โดยหมั่นไต่ถามผู้รู้ ขยันศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ สนทนาธรรม เป็นต้น การแก้ไขจริตนิสัยที่ไม่ดีไม่งามต่างๆ นั้น ถ้าบุคคลผู้นั้นเห็นโทษของมันและมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลง ก็สามารถบรรเทาหรือทำให้ดีขึ้นได้ เช่น เห็นโทษของโทสะ ก็หาอุบายวิธีระงับ หรือบรรเทาไม่ให้โทสะกำเริบ หรือแสดงออกมาให้เกิดผลเสียทั้งแก่ตนเองและผู้คนรอบข้าง การเจริญเมตตาภาวนาซึ่งเป็นการเจริญสมาธิอย่างหนึ่ง เป็นวิธีที่สามารถช่วยให้จิตใจอ่อนโยนและบรรเทาโทสะลงได้ การเลือกกรรมฐานให้เหมาะกับจริต ต้องพิจารณาว่าอุปนิสัยของเราโน้มเอียงหรือหนักไปทางใด มีหลักพิจารณาดังต่อไปนี้
    ๑. คนราคจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อสุภะ ๑๐ (พิจารณาซากศพ) และ กายคตาสติ (พิจารณากาย คือ พิจารณาอาการ ๓๒ ของกาย)
    ๒. คนโทสจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ พรหมวิหาร ๔ (อัปปมัญญา ๔) วรรณกสิณ ๔ ได้แก่ กสิณสีแดง กสิณสีขาว กสิณสีเขียว และกสิณสีเหลือง
    ๓. คนโมหจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อานาปานสติ (การดูลมหายใจเข้าออก)
    ๔. คนสัทธาจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อนุสสติ ๖ (พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และเทวตานุสสติ)
    ๕. คนวิตกจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ อานาปานสติ
    ๖. คนพุทธิจริต กรรมฐานที่ถูกกับอุปนิสัย คือ มรณานุสติ อุปสมานุสติ จตุธาตุววัฏฐานและอาหาเรปฏิกูลสัญญา

ส่วนอรูปฌาน ๔ และมหาภูตกสิณทั้ง ๔ คือ ปฐวีกสิณ (กสิณดิน) อาโปกสิณ (กสิณน้ำ) เตโชกสิณ (กสิณไฟ) และวาโยกสิณ (กสิณลม) เหมาะกับคนทุกจริต เมื่อเจริญสมาธิแบบใดแล้วเห็นว่าเหมาะกับจริตของตนเอง ก็ไม่ควรโลเลเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำวิธีโน้นบ้าง ทำวิธีนี้บ้าง จนท้ายที่สุดสมาธิก็ไม่ตั้งมั่น ไม่เป็นเรื่องเป็นราว เมื่อได้สมาธิที่เหมาะกับจริตก็ควรตั้งใจปฏิบัติไปจนถึงที่สุดแห่งวิธีการหรือสมาธินั้นๆ

ง. อาวาสหรือที่อยู่ หรือวัดที่ไม่เหมาะกับการเจริญสมาธิ ควรหลีกเลี่ยงวัดที่มีลักษณะ ๑๘ ประการนี้ คือ (ในที่นี้จะกล่าวถึงวัด แต่อันที่จริงแล้วจะเป็นสถานที่ใดก็ได้ที่สามารถจัดเป็นที่ปฏิบัติ เช่น บ้าน สำนัก ฯลฯ)
    ๑. วัดใหญ่ เพราะมีพระเณร มีคนมาก ต่างจิตต่างใจเรื่องก็มาก หาความสงบไม่ได้
    ๒. วัดเก่า มีเรื่องที่ต้องดูแลมาก ต้องซ่อมแซมรักษาโบราณวัตถุ
    ๓. วัดใหม่ มีเรื่องต้องก่อสร้าง มีเรื่องต้องทำให้วัดสมบูรณ์
    ๔. วัดใกล้ทางเดินทางสัญจร อาจหมายถึงวัดที่ติดถนนทางสัญจรจะมีคนมาบ่อย ทำให้ไม่สงบ
    ๕. วัดใกล้สระน้ำ ท่าน้ำ คนจะพากันมาใช้น้ำ ทำให้พลุกพล่าน ไม่สงบ
    ๖. วัดที่มีผัก หรือใบไม้ที่บริโภคได้
    ๗. วัดที่มีดอกไม้
    ๘. วัดที่มีไม้ผล หรือผลไม้ต่างๆ
(วัดในข้อ ๖-๘ จะทำให้คนมาเก็บผัก ขอดอกไม้ ขอผลไม้คนจะพากันมาเสมอทำให้ไม่สงบ วัดที่สร้างไว้เพื่อจะให้เป็นวัดสำหรับปฏิบัติสมาธิภาวนาจริงๆ จะไม่ตกแต่งทำสวนดอกไม้ เพราะผู้คนจะพากันมาเก็บดอกไม้ มาเที่ยวอยู่ไม่ขาด)
    ๙. วัดที่ใครๆ อยากไปมา วัดที่มีชื่อเสียงในด้านวัตถุมงคล เป็นต้น
    ๑๐. วัดที่อยู่ใกล้เมือง
    ๑๑. วัดที่อยู่ใกล้ที่ไม้ที่ฟืน หมายถึง วัดที่อยู่ใกล้ป่าที่มีคนมาหาฟืนหาของป่ากันมาก
    ๑๒. วัดอยู่ใกล้นา ชาวนาก็จะนวดข้าว ทำนา เสียงจะอื้ออึง
    ๑๓. วัดที่มีคนไม่ถูกกัน ทะเลาะวิวาทกัน
    ๑๔. วัดติดท่าน้ำ ผู้คนจะใช้สัญจรไปมามาก และมาอาบน้ำตักน้ำกัน
    ๑๕. วัดในถิ่นห่างไกลที่คนไม่นับถือพุทธศาสนา
    ๑๖. วัดติดพรมแดน อยู่ระหว่างประเทศ ระหว่างรัฐ อาจเกิดสงคราม รบพุ่งไม่สงบ เป็นการเสี่ยงภัยและมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องได้
    ๑๗. วัดที่ไม่สัปปายะ อยู่ไม่สบายมีอารมณ์ต่างๆ มารบกวน
    ๑๘. วัดที่ไม่มีกัลยาณมิตร หรือไม่มีอาจารย์คอยแนะนำดูแล

จ. ปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ จะกล่าวถึงวิธีการปฏิบัติต่างๆ ๔๐ วิธี ในบทต่อๆ ไป ผู้ปฏิบัติจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามวิธีการต่างๆ เหล่านั้นจึงจะได้ผลแห่งสมาธิวิธีนั้นๆ ยังมีสิ่งที่ควรคำนึงถึงอีกหลายประการ ที่จะช่วยในการปฏิบัติสมาธิให้ก้าวหน้า ช่วยให้กรรรมฐานเจริญ นอกจากปัจจัยทั้ง ๔ ประการที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีข้อธรรมที่มีผลโดยตรงกับการอบรมจิต อันได้แก่ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ 



ธุดงควัตร ๑๓
ธุดงค์ หมายถึง องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส เป็นชื่อของข้อปฏิบัติประเภทวัตร ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น การปฏิบัติธุดงควัตรไม่ใช่สิ่งที่บังคับ แต่เป็นความสมัครใจ ผู้ใดจะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ จะปฏิบัติเป็นครั้งคราวหรือตลอดไปก็ได้ จะปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอุกฤษฎ์ก็ได้ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้กล่าวถึงธุดงควัตรว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ช่วยให้กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อม (ความดีเพิ่มพูน ความไม่ดีลดลง)

ธุดงควัตร ๑๓
ข้อ นั้น ได้แก่
๑. ใช้แต่ผ้าบังสุกุล คือผ้าห่อศพ หรือผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาตัดเย็บจีวร
๒. ใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน ได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ
๓. บิณฑบาตเป็นวัตร (บิณฑบาตเป็นประจำ)
๔. บิณฑบาตตามลำดับเรือน (บ้าน)
๕. ฉันมื้อเดียว
๖. ฉันในบาตร
๗. เมื่อลงมือฉันแล้วไม่รับเพิ่ม (ไม่รับอาหารที่เขาถวายภายหลัง)
๘. อยู่ป่า
๙. อยู่โคนไม้
๑๐. อยู่ป่าช้า
๑๑. อยู่กลางแจ้ง
๑๒. อยู่ในที่แล้วแต่เขาจะจัดให้ (ไม่จู้จี้เลือกที่พักที่ตนพอใจ)
๑๓. ถือนั่งอย่างเดียวไม่นอน

ธุดงควัตรนั้นพระภิกษุ สามเณร สามารถปฏิบัติได้ทุกข้อ ในสมัยพุทธกาลนั้น ภิกษุณีก็มีการปฏิบัติธุดงควัตรเพื่อช่วยให้กรรมฐานเจริญเร็วเช่นกัน แต่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุณีปฏิบัติธุดงควัตรเพียง ๘ ข้อ คือ ใช้แต่ผ้าบังสุกุล ใช้เพียง ๓ ผืน ถือการบิณฑบาต บิณฑบาตไปตามลำดับเรือน ฉันมื้อเดียว ฉันเฉพาะในบาตร ถือนั่งอย่างเดียวไม่นอน และอยู่ในที่แล้วแต่เขาจัดให้ ส่วนธุดงควัตรอีก ๕ ข้อ คือ อยู่ป่า อยู่ป่าช้า อยู่โคนไม้ ไม่รับอาหารที่เขาถวายภายหลัง และอยู่กลางแจ้งนั้น ทรงห้ามเพื่อสวัสดิภาพของภิกษุณีเอง เพราะความเป็นหญิงถึงแม้จะบวชปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ต้องระวังเรื่องสวัสดิภาพเป็นสำคัญ แม้แต่พระอุบลวรรณาเถรี พระภิกษุณีผู้บรรลุอรหัตตผล ก็ยังถูกย่ำยีข่มเหงได้ ผู้ปฏิบัติธรรมที่เป็นฆราวาส สามารถปฏิบัติธุดงควัตรที่เหมาะสมกับตนและอยู่ในวิสัยที่ฆราวาสจะปฏิบัติได้ในบางข้อ เช่น รับประทานอาหารมื้อเดียว รับประทานอาหารในภาชนะใบเดียว (เพราะอุบาสก อุบาสิกา ฆราวาสไม่ใช้บาตร) อยู่ในที่แล้วแต่เขาจะจัดให้ ถือการนั่งไม่นอน ดังที่ผู้ปฏิบัติมักจะไม่นอนตลอดคืนวันพระ หรือวันสำคัญทางศาสนา เพื่อเจริญสมาธิ หรือฟังธรรม บูชาพระพุทธองค์ เป็นต้น