วันเสาร์

วิปัสสนูปกิเลส ๑๐

วิปัสสนูปกิเลส มี ๑๐ คือ
๑. โอภาส คือ แสงสว่าง หมายถึงแสงสว่างในวิปัสสนา สำหรับผู้ปฏิบัติแต่ละท่านจะมีกำลังของแสงสว่างไม่เท่ากัน บางท่านส่องสว่างเพียงที่นั่ง ส่องสว่างตลอดภายในห้อง ส่องสว่างภายนอกห้องด้วย ส่องสว่างไปทั่ววิหารทั้งหมด เป็นต้น ส่องสว่างไปไกลเป็นโยชน์ๆ (แต่ของพระพุทธเจ้าส่องสว่างไปตลอด ๑๐,๐๐๐ โลกธาตุ) เมื่อเกิดขึ้นอย่างนี้ผู้ปฏิบัติก็คิดว่า “ แสงสว่างเช่นนี้ไม่เคยปรากฏแก่ตัวเราเลยเราคงบรรลุมรรคผลแน่แล้ว ” เมื่อเข้าใจผิดเช่นนี้ก็ยึดถือเอาแสงสว่างนั้นเองว่าเป็นมรรคผล จึงเป็นเหตุให้วิปัสสนาญาณออกไปนอกทาง เพราะผู้ปฏิบัติจะละทิ้งอารมณ์วิปัสสนาเดิมแล้วกลับไปนั่งชื่นชมแสงสว่างนั้นอยู่ด้วยอำนาจของตัณหา มานะ และทิฏฐิ โดยส่วนมากวิปัสสนูปกิเลสนี้มักเกิดแก่ผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนา แบบสมถวิปัสสนา คือ เจริญสมถะมาก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนาภายหลัง เมื่อเกิดโอภาสแสงสว่าง และกิเลสทั้งหลายก็ไม่เกิดขึ้นกับเราเลย เพราะว่ากิเลสที่ถูกข่มไว้ด้วยอำนาจของสมาธิไม่สามารถกำเริบได้ จึงทำให้ผู้ที่ได้สมถวิปัสสนานั้นเกิดความคิดว่า “ ได้เป็นพระอรหันต์

๒. ญาณ หมายถึง วิปัสสนาญาณ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติกำลังเทียบเคียงไตร่ตรองรูป และนามทั้งหลายอยู่นั้นญาณซึ่งมีกระแสอันปราดเปรียวแหลมคม แก่กล้าชัดแจ้งก็บังเกิดขึ้น ประดุจดังวชิระของพระอินทร์ที่ทรงซัดออกไป ก็ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงติดอยู่ในปัญญานั้นและทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเราบรรลุแล้วหนอ เพราะปัญญาอันแก่กล้าเช่นนี้ที่ไม่เคยเกิดได้เกิดขึ้นแก่เรา ทำให้ละทิ้งอารมณ์กรรมฐานที่ควรเจริญไปเสีย

๓. ปีติ หมายถึง ความเอิบอิ่มที่ประกอบด้วยวิปัสสนา ปีติที่เกิดขึ้นในระยะนี้มี ๕ อย่าง คือ
    ๑. ขุททกาปีติ ความเอิบอิ่มเล็กน้อย
    ๒. ขณิกาปีติ ความเอิบอิ่มที่เกิดขึ้นชั่วขณะ
    ๓. โอกกันติกาปีติ ความเอิบอิ่มที่เกิดเป็นระลอกๆ
    ๔. อุพเพงคาปีติ ความเอิบอิ่มโลดแล่น
    ๕. ผรณาปีติ ความเอิบอิ่มซาบซ่านแผ่ไปทั่วกาย

๔. ปัสสัทธิ หมายถึง ความสงบในวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนากำลังนั่งอยู่ในที่พักกลางคืนหรือกลางวันก็ตาม ในขณะนั้นทั้งกายและใจของผู้ปฏิบัติจะปราศจากสิ่งรบกวนทั้งหลาย เช่น ความกระวนกระวาย ความหนัก ความแข็งกระด้างความไม่ควรแก่การงาน ความเจ็บไข้ แต่กายและใจของผู้ปฏิบัติจะประกอบไปด้วย ความสงบ ความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงาน ความผ่องใส ความเที่ยงตรง บุคคลที่ประกอบไปด้วยปัสสัทธิเช่นนี้แล้วก็จะมีความเพลิดเพลินยินดีอยู่อย่างนั้น ทำให้ ทิ้งอารมณ์กรรมฐาน ไม่สามารถทำให้ญาณปัญญาในขั้นสูงเกิดขึ้นเพราะติดอยู่ในปัสสัทธิ

๕. สุข หมายถึง ความสุขที่ประกอบด้วยวิปัสสนา คือในขณะที่ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญวิปัสสนาอยู่นั้น ความสุขอันประณีตยิ่งก็จะเกิดขึ้นมาก ชนิดท่วมท้นไปทั่วสรีระ เป็นสุขชนิดที่ท่วมท้นหัวใจ ไม่สามารถที่จะบรรยายได้ เพราะเป็นสุขที่มีรสอันล้ำลึก เป็นสุขที่ประเสริฐกว่าความสุขธรรมดาที่มนุษย์พบเห็น สรุปว่า บรรดาความสุขทั้งหลาย อะไรจะมาสุขเท่าสุขในวิปัสสนาไม่มี ฉะนั้นถ้าพิจารณาในสุขอย่างนี้ไม่รอบคอบจะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดยึดว่าสุขนี้เป็นมรรค เป็นผล

๖. อธิโมกข์ หมายถึง ความเชื่อ หรือ ศรัทธาที่ประกอบด้วยวิปัสสนา อธิโมกข์ที่เป็นวิปัสสนูปกิเลสนี้ จะมีลักษณะความผ่องใสอย่างยิ่งของจิตและเจตสิกเป็นศรัทธาที่มีกำลังมาก เพราะจิตและเจตสิกผ่องใสเป็นอย่างยิ่ง ด้วยอำนาจศรัทธากล้า พาให้นึกคิดไปใหญ่โต เช่นคิดถึงคนทั้งหลายอยากให้เขาได้เข้ากรรมฐานอย่างตนบ้าง นึกถึงบุญคุณของพระพุทธศาสนา บุญคุณของอาจารย์ผู้สอน เป็นต้น เมื่อคิดเพลิดเพลินไปด้วยศรัทธาอันแรงกล้าทำให้ผู้ปฏิบัติลืมอารมณ์กรรมฐาน ละเลยอารมณ์กรรมฐาน ทำให้เสียเวลาในการปฏิบัติวิปัสสนา ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะมีตัณหา มานะ ทิฏฐิ เข้ามาผสมกับศรัทธานี้ก็ยิ่งทำให้การบำเพ็ญไม่มั่นคง ไม่ก้าวหน้า

๗. ปัคคาหะ หมายถึง ความเพียรที่ประกอบด้วยปัญญาซึ่งเป็นความเพียรที่ไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไปประคับประคองไว้เป็นอย่างดี พยายามในการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ก่อนแม้อาจารย์จะคอยเตือนให้พยายามทำความเพียรก็รู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย หมดความเพียร แต่บัดนี้ความคิดเช่นนั้นหายไปสิ้น เกิดความขยันขึ้นเป็นพิเศษจนทำให้ตนเองแปลกใจว่า เหตุใดตนจึงมีวิริยะมากไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการปฏิบัติเช่นนี้ และเมื่อพิจารณาไม่ดี ใส่ใจไม่ถูกก็จะเข้าใจผิดไปว่าได้มรรคผลแล้ว

๘. อุปัฏฐานะ หมายถึง สติที่ประกอบด้วยวิปัสสนา ซึ่งเป็นสติที่เข้าไปตั้งอยู่อย่างดีมั่นคงฝังลึกไม่หวั่นไหวประดุจภูเขาหลวง สติที่เป็นชนิดอุปัฏฐานะนี้ เมื่อเกิดแก่ผู้ปฏิบัติแล้ว ถ้ารำพึงหรือนึกถึงอารมณ์ใดอารมณ์นั้นก็ปรากฏชัดเจนมากที่สุด ชนิดว่าไม่เคยเกิดกับตนเช่นนี้มาก่อน ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงเข้าใจผิดว่าตนนั้นเป็นผู้วิเศษแล้ว แต่ที่จริงแล้วยังถูกครอบงำด้วย ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

๙. อุเบกขา หมายถึง วิปัสสนูเปกขา และ อาวัชชนูเปกขา วิปัสสนูเปกขา ได้แก่ ความเป็นกลางในสังขารทั้งปวง ส่วนอาวัชชนูเปกขา ได้แก่ ความเป็นกลางที่เกิดขึ้นในมโนทวารนั่นเอง อุเบกขาทั้งสองนี้เกิดขึ้นแก่โยคีบุคคลผู้ซึ่งเริ่มต้นบำเพ็ญวิปัสสนา เมื่ออุเบกขากำลังดำเนินไปอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติรำพึงถึงอารมณ์ใด อุเบกขานั้นก็จะดำเนินไปอย่างแก่กล้าแหลมคม ไม่ยินดียินร้ายต่อทุกสิ่งเหมือนคนไม่มีกิเลสวางเฉยได้ทุกประการ จนตนเองก็แปลกใจในภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้เป็นยิ่งนัก ถ้าเข้าใจผิดก็จะคิดไปว่าตนเป็นพระอรหันต์แล้วเพราะวางเฉยได้เป็นอย่างดีแล้ว

๑๐. นิกันติ หมายถึง ความยินดีพอใจในวิปัสสนา นิกันตินี้เป็นสภาพที่มีอาการสุขุม และเมื่อเกิดแก่ผู้ปฏิบัติแล้ว ย่อมทำความติดใจหรืออาลัยต่อวิปัสสนูปกิเลส ได้แก่โอภาสเป็นต้น นิกันติในวิปัสสนานี้เป็นความยินดีพอใจที่ใครๆ ไม่สามารถกำหนดรู้ได้ว่าเป็นกิเลส เพราะเป็นสภาพของกิเลสที่ละเอียดมาก

การที่ธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้จัดเป็นกิเลสของวิปัสสนาก็เพราะว่าเมื่อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นจะทำให้ติดอยู่ในอารมณ์นั้นแล้วจะทำให้รู้สึกว่าเป็นสุข เป็นเหตุให้เกิดความพอใจ เมื่อความพอใจเกิดขึ้น การพิจารณารูปนามว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น จิตจะละเลยการปฏิบัติทำให้ไม่สามารถพิจารณาธรรมให้เห็นถึงไตรลักษณ์ จึงเป็นเหตุให้ไม่บรรลุมรรคผลได้เลย

วิปัสสนูปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติทุกคนที่เป็นปุถุชน เมื่อบรรลุถึง อุทยัพพยญาณอย่างอ่อน ฉะนั้นเมื่อวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นก็ให้พิจารณาให้ดีและให้มีสติ อย่าหลงอยู่ในวิปัสสนูปกิเลสเหล่านี้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้การปฏิบัติหยุดชะงักไม่ก้าวหน้าถึงญาณเบื้องสูง

วิปัสสนูปกิเลสจะไม่เกิดกับบุคคล ๔ พวก คือ
๑. พระอริยสาวกผู้บรรลุปฏิเวธแล้ว
๒. ผู้ปฏิบัติผิดเริ่มตั้งแต่ศีลวิบัติ เครื่องมือวัดว่าปฏิบัติถูกทางหรือไม่ ก็คือวิปัสสนูปกิเลสนี้เอง
๓. ผู้ละทิ้งกรรมฐาน
๔. ไม่มีแก่ผู้เกียจคร้าน แม้จะปฏิบัติถูกต้องมาตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อวิริยะความเพียรน้อยก็ทำให้มีกำลังสมาธิอ่อน เพราะว่าอารมณ์ในวิปัสสนูปกิเลสนั้นเกิดขึ้นจากกำลังสมาธิ

ผู้ปฏิบัติเมื่อประสบกับวิปัสสนูปกิเลสแล้วควรทำอย่างไร
เมื่อผู้ปฏิบัติเป็นผู้มีสติอย่างดีเฉียบแหลม ผู้นั้นก็จะผ่านกับดักคือวิปัสสนูปกิเลสไปได้โดยการใคร่ครวญด้วยสติปัญญา ดังนี้

๑. โอภาสนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว แต่สภาวะของโอภาสนั้นไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา
๒. ถ้าโอภาสนี้เป็นอัตตาแล้ว การยึดถือโอภาสว่าเป็นอัตตาก็สมควร แต่โอภาสนี้มิใช่อัตตา แต่เป็นอนัตตา เพราะว่าไม่เป็นไปในอำนาจ เป็นอนิจจัง เพราะว่ามีแล้วก็ไม่มี เป็นทุกขัง เพราะว่ามีการเบียดเบียน

เมื่อผู้ปฏิบัติที่ชาญฉลาดใคร่ครวญดังนี้แล้วก็จะเห็นเนืองๆ ในโอภาสว่า “ โอภาสนี้มิใช่ของเรา เรามิใช่โอภาส โอภาสนี้มิใช่อัตตาของเรา ” (การพิจารณา ญาณ ปีติ เป็นต้นก็เป็นไปทำนองเดียวกัน) เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นอย่างนี้อยู่เสมอเนืองๆ ก็จะสามารถผ่านพ้นวิปัสสนูปกิเลสทั้งหลายได้



วันอังคาร

พุทธวงศ์ ๒๕ พระองค์

พุทธวงศ์ หมายถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นมาแล้วในโลก มีทั้งสิ้นจนถึงปัจจุบัน ๒๕ พระองค์

๑. ทีปังกรพุทธวงศ์
พระโพธิสัตว์พระนามว่าทีปังกรพระองค์นี้ ทรงบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงบำเพ็ญบารมีมา ๑๖ อสงไขยกับอีกแสนกัป เมื่อพระองค์จะทรงสงเคราะห์มหาชนได้เสด็จจาริกไปบนภูเขานารทกูฏซึ่งมียักษ์ อยู่ทรงแสดงอานุภาพ และโปรดให้ยักษ์ตนนั้นพร้อมบริวาร ๑๐,๐๐๐ ตนให้ดำรงอยู่ในศีลธรรม

๒. โกณฑัญญพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โกณฑัญญะ เสด็จปฏิสนธิในตระกูลกษัตริย์แห่งนครรัมมวดี ทรงมีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ครั้นทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วทรงยับยั้งอยู่ด้วยความสุขในผล สมาบัติ ณ โคนโพธิพฤกษ์ ๗ สัปดาห์ ทรงประกาศพระสัทธรรมให้รุ่งเรือง

๓. มังคลพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า มังคละ พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานพระนามว่ามงคล เพราะพระองค์ประสูติด้วยมงคลสมบัติทุกอย่าง ครั้นเมื่อพระองค์ทรงยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้มอบลูกน้อย ๒ องค์แก่ยักษ์เพื่อเป็นทาน พระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี พระศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่ ๙๐,๐๐๐ ปีแล้วได้อันตรธานไป

๔. สุมนพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สุมนะ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งพระนครเมขละ ทรงมีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายส่องสว่างไสวไปทั่วหมื่นโลกธาติ ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี และพระศาสนาของพระองค์ได้ดำรงอยู่ ๙๐,๐๐๐ ปีแล้วได้อันตรธานไป

๕. เรวตพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า เรวตะ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งพระนครสุทัญญวดี ผู้ทรงมีพระยศใหญ่และมีพระปัญญามาก ผู้ทรงอนุเคราะห์เหล่าสรรพสัตว์ พระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายของพระองค์ไปได้ ๑ โยชน์โดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน ทรงมีพระชนมายุ ๖๐,๐๐๐ ปี

๖. โสภิตพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โสภิตะ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งนครสุธรรม ทรงมีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี ทรงยังสัตว์ให้เผาผลาญกิเลสได้ดังเปลวไฟไหม้ ทรงยังฝนให้ตกทั่วแล้วทรงยังโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ชุ่มชื่นด้วยน้ำฝน คืออมฤตธรรมนั้น

๗. อโนมทัสสีพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า อโนมทัสสี เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งพระนครจันทวดีราชธานี ทรงมีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระองค์ทรงประกาศพระสัทธรรมให้รุ่งเรือง ทรงยังสัตว์ที่มีอุปนิสัยแก่กล้าให้ได้ตรัสรู้ธรรม ทรงพร่ำสอนชนเหล่าอื่นที่เหลือให้พ้นทุกข์

๘. ปทุมพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมะ พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานนามว่าปทุมะเพราะในขณะที่พระองค์ประสูติจากพระครรภ์ บังเกิดฝนดอกปทุมตกจากอากาศลงมาในมหาสมุทรทั่วทั้งชมพูทวีป พระปทุมสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันใหญ่ ทรงมีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี

๙. นารทพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า นารทะ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริยืแห่งนครธัญญวดี พระองค์ทรงปราบพยศของพญานาคชื่อโทณะ เนรมิตมณฑปสำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการขึ้นในแม่น้ำคงคา ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี

๑๐. ปทุมุตตรพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งนครหังสวดี พระองค์ทรงยังมหาชนผู้เร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนในนรกให้สงบร่มเย็นด้วยน้ำ อมฤตธรรม ทรงมีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายสว่างไสวไปได้ ๑๒ โยชน์ โดยรอบ ทรงมีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี พระศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่ ๑๐๐,๐๐๐ ปีแล้วได้อันตรธานไป

๑๑. สุเมธพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธ เจ้าพระนามว่า สุเมธะ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งนครสุทัศน์ เมื่อครั้งพระองค์เสด็จไปโปรดยักษ์ที่ดุร้ายซึ่งมีฤทธิ์อานุภาพมากที่อาศัย อยู่ในป่าดงใหญ่แห่งหนึ่ง พระองค์ทรงยังธรรมจักษุให้เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี

๑๒. สุชาตพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สุชาตะ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งนครสุมงคล พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานนามว่าสุชาตะ เพราะเมื่อพระองค์ประสูติจากรพระครรภ์ก็ยังความสุขให้เกิดแก่สัตว์ทั้งหลายไปทั่วชมพูทวีป ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี พระศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่ ๙๐,๐๐๐ ปีแล้วได้อันตรธานไป

๑๓. ปิยทัสสีพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปิยทัสสี เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งนครธัญญวดี พระองค์ไปแสดงธรรมโปรดท้าวสุทัสสนเทวราชผู้เป็นจอมเทพซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิจน เกิดความเลื่อนใสศรัทธาแล้วตั้งอยู่ในสัมมาทิฏฐิ ทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี พระศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่ ๙๐,๐๐๐ ปีแล้วได้อันตรธานไป

๑๔. อัตถทัสสีพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า อัตถทัสสี เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งนครโสภณ พระองค์เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพวกมนุษย์และเทพยดาในดิถีวันเพ็ญเดือนมาฆมาส ทรงมีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายไปได้ ๑ โยชน์โดยรอบทุกเวลา ทรงมีพระชมมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี

๑๕. ธัมมทัสสีพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ธัมมทัสสี เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งนครสรณะ พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานพระนามว่าธัมมทัสสี เพราะเมื่อพระองค์ทรงประสูติ การว่ากล่าวกันโดยไม่ชอบธรรมในเรื่องการตัดสินคดีต่าง ๆ ก็เสื่อมหายไปเอง คงมีแต่การกล่าวกันโดยชอบธรรมเท่านั้น ทรงมีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี

๑๖. สิทธัตถพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ พระองค์เสด็จไปแสดงธรรมโปรด ๒ พี่น้องคือ พระเจ้าสมพลและพระเจ้าสุมัตตี ผู้ครองนครอมร จนมีจิตศรัทธาเลื่อมใสแล้วออกผนวชตามพระองค์ ทรงงดงามดังรูปปฏิมาทองอันล้ำค่า ทรงมีพระรัศมีสว่างไสวไปในหมื่นโลกธาตุ พระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๑๐๐,๐๐๐ ปี

๑๗. ติสสพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ติสสะ พระองค์เสด็จไปในมหามงคลสมาคมเพื่อตรัสมงคลปัญหาโปรดเวไนยสัตว์ผู้มาทูลถาม มงคลปัญหาให้หลุดพ้นจากกิเลสเป็นเครื่องผูกมัด ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์ ทรงปรากฏดังขุนเขาหิมวันตี

๑๘. ปุสสพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปุสสะ พระองค์เสด็จไปยังพระนครพาราณสีเพื่อแสดงธรรมโปรดพระเจ้าสิริวัฒน์ผู้ทรงละกองโภคสมบัติแล้วออกบวชเป็นปฎิลดาบสพร้อมด้วยบริวาร จนมีจิตศรัทธาเลื่อมใสออกบวชพระองค์ทรงสง่างามดังพระอาทิตย์อุทัยแสง และเหมือนพระจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญที่ปราศจากเมฆหมอกทรงมีพระชนมายุ ๙๐,๐๐๐ ปี

๑๙. วิปัสสีพุทธวงศ์
พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานนามว่า วิปัสสี เพราะแลเห็นพระองค์ทรงเป็นผู้หมดจดจากความมืดที่เกิดจากการกะพริบตาใน ระหว่างกลางวันและกลางคืนได้ด้วยตาเปล่า ทรงมีพระรัศมีงามเปล่งปลั่งแผ่ซ่านอกจากพระวรกายของพระองค์ไปได้ถึง ๗ โยชน์ ทรงมีพระชนมายุ ๘๐,๐๐๐ ปี

๒๐. สิขีพุทธวงศ์
พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานพระนามว่า สิขี เพราะพระยอดกรอบพระพักตร์ของพระองค์พุ่งขึ้นสูงดุจยอดพระอุณหิส (มงกุฎ) ทรงมีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายของพระองค์งามเปล่งปลั่งดังทองคำล้ำค่าสว่างไสวไปได้ ๓ โยชน์โดยรอบทั้งกลางวันและกลางคืน ทรงมีพระชนมายุ ๗๐,๐๐๐ ปี

๒๑. เวสสภูพุทธวงศ์
พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานนาม พระนามว่า เวสสภู เพราะพระองค์ทรงร้องเสียงดังเหมือนเสียงร้องของวัวตัวผู้ในขณะที่ประสูติ ทรงมีพระชนมายุ ๖๐,๐๐๐ ปี พระองค์ทรงวางมหาชนไว้บนธรรมนาวาทรงสร้างสะพานพระสัทธรรมไว้อย่างมั่นคงสำหรับให้ชนที่เหลือเดินตามกระแสการ เวีนว่ายตายเกิดแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน

๒๒. กกุสันธพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากกุสันธะเสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระเทพยักษ์ ซึ่งอาศัยอยู่ที่เทวาลัยแห่งหนึ่งใกล้เขมวดีนครทรงมีพระรัศมีสีทองแผ่ซ่านออกจากพระวรกายของพระองค์สว่างไสวไปได้ ๑๐ โยชน์โดยรอบ ทรงมีพระชนมายุ ๔๐,๐๐๐ ปี

๒๓. โกนาคมนพุทธวงศ์
พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานนามของพระองค์ว่า โกนาคมน์ เพราะในขณะที่พระองค์ประสูติ ฝนทองได้ตกลงมาทั่วทั้งชมพูทวีป พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดภิยโยสราชกุมารและอุดรราชกุมาร พร้อมด้วยบริวารทรงมีพระชนมายุ ๓๐,๐๐๐ ปี

๒๔. กัสสปพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ เสด็จอุบัติในตระกูลพราหมณ์แห่งพระนครพาราณสี ทรงมีรัศมีแผ่ซ่านอกจากพระวรกายสว่างไสวเหมือนกับพระจันทร์ทรงกลด ทรงมีพระชนมายุ ๒๐,๐๐๐ ปี ทรงสร้างสระธรรมประธานศีลเป็นเครื่องลูบไล้ ทรงประธานพระสัทธรรมเป็นเศวตฉัตรไว้ป้องกันบาป


๒๕. โคตมพุทธวงศ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โคตมะ เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์แห่งกบิลพัสดุ์นคร พระองค์ทรงแสดงราหุโลวาทสูตรโปรดพระราหุลผู้เป็นพระโอรสของพระองค์ มีการประชุมพระสงฆ์สาวกขีณาสพ (ผู้ปราศจากมลทิน) ๑,๒๕๐ รูป โดยผู้ที่บวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทามาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย และทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่ท่านเหล่านั้นในวันเพ็ญเดือนมาฆมาส ทรงมีพระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายของพระองค์สว่างไสวไปได้โดยรอบด้านละ ๑ วา ทรงมีพระชนมายุ ๘๐ ปี




วันอาทิตย์

๔. อนุปัสสนา

อนุปัสสนา หมายความว่า การรู้เห็นเนืองๆ อนุปัสสนา ๓ ได้แก่
๑. อนิจจานุปัสสนา
๒.ทุกขานุปัสสนา
๓. อนัตตานุปัสสนา

๑. อนิจจานุปัสสนา 
อนิจจานุปัสสนา คือปัญญาที่เกิดจากการรู้เห็นเนืองๆ ในความไม่เที่ยงของรูปนาม เป็นการเห็นถึงความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม ปัญญาที่เห็นแจ้งรูปนามเช่นนี้ ชื่อว่าอนิจจานุปัสสนา

การพิจารณารูปนามนั้นควรทราบถึงศัพท์บัญญัติที่สื่อความ
หมายถึงตัวของรูปนาม คือ อนิจจะลักษณะของรูปนาม คือ อนิจจลักษณะ และปัญญาที่เกิดขึ้นในการพิจาณารูปนาม คือ อนิจจานุปัสสนา

ความหมายศัพท์
๑. อนิจจะ คือ ธรรมที่ไม่เที่ยง มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป อันได้แก่ รูปนาม
๒. อนิจจลักขณะ คือ เครื่องหมายที่รู้ว่าไม่เที่ยง
๓. อนิจจานุปัสสนา คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงอยู่เนืองๆ

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ต้องกำหนดระลึกรู้อยู่กับรูปนาม ต้องใส่ใจในรูปนามนั้นเป็นอารมณ์ รูปนาม ได้ชื่อว่า “ อนิจจัง” เพราะมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ทั้งรูปและนามนั้นมีอาการหรือเครื่องหมายให้รู้ว่าไม่เที่ยง มีการเกิดดับ อาการเช่นนี้เรียกว่า “ อนิจจลักขณะ ” เมื่อผู้เจริญวิปัสสนาแล้วรู้เห็นความเป็นของจริงโดยเห็นแจ้งในอาการของรูปนามว่าไม่เที่ยง มีการเกิดดับ ปัญญาที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า อนิจจานุปัสสนา เมื่อปัญญาได้รู้เห็นอนิจจลักษณะ สัญญาความจำหมายว่ารูปนามเที่ยง คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง ก็หายไป หรือเรียกว่าสัญญาวิปัลลาส

เมื่อ
สัญญาวิปัลลาสหายไป ทิฏฐิวิปัสลาส จิตตวิปัลลาส ทั้ง ๒ ก็จะบรรเทาลงไปได้ ทำให้ความหลง ความไม่รู้ในสภาวะที่กำลังปรากฏอยู่เฉพาะหน้า และตัณหาความยินดีพอใจรักใคร่อยู่ในอารมณ์ทั้งหลายด้วยความมีอุปาทานความยึดมั่นในอารมณ์ ด้วยอำนาจของ โลภะและทิฏฐิ ก็บรรเทาเบาบางลดลงได้

การปรากฏขึ้นของ “ อนิจจานุปัสสนา” ถ้าว่าตามวิปัสสนาญาณแล้วจะปรากฏต่อเมื่อ สัมมสน-ญาณและอุทยัพพยญาณเกิดแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์แท้เท่านั้นเอง


๒. ทุกขานุปัสสนา
ทุกขานุปัสสนา คือปัญญาที่เกิดจากการรู้เห็นเนืองๆ โดยความเป็นทุกข์ของรูปนามขันธ์ ๕ จนทุกขลักษณะปรากฏ ปัญญานี้ได้ชื่อว่า “ ทุกขานุปัสสนา”  ทุกขานุปัสสนา ปัญญาที่พิจารณาเห็นความทนอยู่ไม่ได้ของรูปนาม ที่เนื่องมาจากการพบเห็นเป็นประจักษ์แห่งการเบียดเบียน โดยอาการเกิดขึ้นแล้วดับไปติดต่อกันอยู่อย่างไม่ขาดสาย ในขณะที่กำหนดรู้รูปนามตามสภาวะอยู่นั้นแหละ ปัญญานี้ชื่อว่า “ ทุกขานุปัสสนา”

ความหมายศัพท์
๑. ทุกขะ คือ ธรรมที่เป็นทุกข์ ได้แก่ รูปนาม
๒. ทุกขลักษณะ คือ เครื่องหมายที่กำหนดว่าเป็นทุกข์ของรูปนาม ได้แก่การเกิดดับติดต่อกันอยู่อย่างไม่ขาดสาย
๓. ทุกขานุปัสสนา คือ ปัญญาที่มีการพิจารณาเห็นความเป็นทุกข์อยู่เนืองๆ ในรูปนาม หรือขณะที่เห็นความเกิดดับของรูปนามอยู่นั้น ความรู้สึกในขณะนั้นก็เกิดขึ้นว่า กายใจนี้เป็นของน่ากลัวเป็นภัย จะหาความสุขสบายใจจากกายใจอย่างแท้จริงนั้นหาไม่ได้เลย ความรู้อย่างนี้เกิด ขึ้นจากปัญญาที่กำหนดรู้รูปนาม

ตามธรรมดาคนทั้งหลายย่อมเข้าใจในความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายว่า พรหมมีความสุข เทวดาชั้นสูงมีความสุขแต่เทวดาชั้นต่ำมีความทุกข์ มนุษย์ที่มีร่างกายสมบูรณ์มีอนามัยดีมั่งมีศรีสุข มีความสุข ร่างกายไม่สมบูรณ์ มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน อนามัยไม่ดียากจนเข็ญใจเหล่านี้เป็นทุกข์ หรือสัตว์ดิรัจฉานบางจำพวกเป็นสุข บางพวกเป็นทุกข์ เหล่านี้ก็เป็นความเข้าใจถูกต้องเหมือนกันเพราะมองไปในด้านการเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส ของสัตว์ทั้งหลาย แต่ความจริงแล้วสุขกายสุขใจ ทุกข์กายทุกข์ใจ ล้วนแต่มีการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปไม่คงที่ ดับแล้วก็กลับเกิดขึ้นอีกเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไปโดยไม่ว่างเว้น ดังนั้นรูปนามที่มีสุขหรือไม่มีสุขก็ตาม ทั้งหมดจึงล้วนแต่เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้นเพราะไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้

ทุกข์มีอยู่มากมายหลายอย่างจนนับไม่ถ้วน แต่คำว่า
ทุกข์ โดยตาม
ธรรมแล้วมี ๓ คือ
๑. ทุกขทุกข์ ชื่อว่าทุกข์ เพราะทนได้ยากเป็นทุกข์จริง ได้แก่ทุกข์กาย ทุกข์ใจ
๒. วิปริณามทุกข์ ชื่อว่าทุกข์ เพราะเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปโดยไม่หยุดยั้ง ได้แก่ สุข กาย สุขใจ
๓. สังขารทุกข์ ชื่อว่าทุกข์ เพราะมีการจัดแจงปรุงแต่งด้วยความเกิดดับได้แก่ รูป นาม หรือกาย ใจ ทั่วไป

ทุกขทุกข์ คือ ความทุกข์กายทุกข์ใจ เพราะกายมีอาการเป็นไปต่างๆ เช่น จุกเสียด เจ็บปวด เป็นต้น ส่วนใจเป็นทุกข์ก็เพราะเสียใจโกรธ กลัว เนื่องจากได้รับภัยต่างๆ ทุกข์ทั้ง ๒ นี้ล้วนแต่ทนอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

วิปริณามทุกข์ คือ ความสุขกาย สุขใจ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงปรวนแปรไปไม่คงที่นั้นเอง เช่น เมื่อลมพัดมากระทบกายความสุขกายสุขใจย่อมเกิดขึ้น ครั้นลมหยุดพัดความสุขกายสุขใจก็หายไป หรือขณะที่เดินจนเมื่อยล้ามากเมื่อนั่งก็จะเป็นสุข แต่นั่งไปนานๆ ก็เมื่อยล้าเป็นทุกข์อีก ต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปอีกจึงจะสุข ความสุขใจจะมีอยู่ก็ต้องคอยปรับปรุงเพิ่มเติมอยู่มิได้ขาด ความสุขกายสุขใจนี้จึงเป็น วิปริณามทุกข์

สังขารทุกข์ รูปนามเป็นไปได้ก็เพราะมีการจัดแจงปรุงแต่งด้วยการเกิดดับ การเป็นไปของรูปนามในแต่ละช่วงแต่ละตอนนั้นถ้าพิจารณาดีๆ จะเห็นว่าเป็นไปได้เพราะการสืบต่อ เช่นเดียวกันกับภาพที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์ ภาพที่ปรากฏนั้นก็เพราะเนื่องมาจากการลำดับติดต่อกันของฟิล์มที่ถ่ายมาเป็นภาพๆ เมื่อตัดต่อเชื่อมกันไว้เป็นอย่างดี ทำการฉายออกมาให้เห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพียงชั่ว ๑ นาที ภาพที่เป็นแต่ละภาพๆ นั้นก็ผ่านไปหลายร้อยแต่ผู้ดูบางคนก็หาได้รู้ไม่ ฉันใดการเกิดดับติดต่อกันของรูปนาม อย่างไม่ขาดสายก็ฉันนั้น ดังนั้นจึงกล่าวว่ารูปนามทั้งหมดเป็นสังขารทุกข์ในทุกข์ทั้ง ๓ อย่างนี้ สังขารทุกข์อย่างเดียวที่มีอยู่ในสังขารธรรมทั่วไปทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต

ความต่างกันระหว่างผู้ไม่มีสติกับผู้มีสติ
ผู้ไม่มีสติในการกำหนดรู้รูปนาม ไม่อาจรู้ได้ถึงการถูกเบียดเบียนด้วยอาการเกิดดับที่เป็นไปของรูปนามอยู่ตลอดเวลาซึ่งเป็นไปอยู่ในทวาร ๖ ฉะนั้นเมื่อมีอาการเจ็บปวด เป็นต้น ที่เป็นทุกข์กายเกิดขึ้น ในขณะนั้นก็ไม่รู้เห็นความทุกข์ที่มีอยู่ในกายโดยความเป็นสังขารธรรม  รูปนามแต่อย่างใดเลย คงเห็นเป็นบัญญัติที่เนื่องมาจากสักกายทิฏฐิว่าเราปวด เราเจ็บ เราทุกข์ เราทรมาน ดังนั้นทุกข์กายที่เป็นทุกขทุกข์และสภาพทนได้ยากที่เป็นทุกขทุกขลักษณะจึงไม่อาจปรากฏแก่ผู้นั้นโดยความเป็นสภาวปรมัตถ์ได้เลย เนื่องมาจากการเปลี่ยนอิริยาบถได้ปกปิดความทุกข์กายและสภาพทนได้ยากไว้ โดยที่ไม่มีการรู้ตัวเมื่อประสบทุกขทุกข์และทุกขทุกขลักษณะ จึงมิอาจจะปรากฏโดยความเป็นสภาวปรมัตถ์แก่เราได้ การปรากฏแห่งวิปริณามทุกข์และวิปริณามทุกขลักษณะ สังขารทุกข์และสังขารทุกขลักษณะ เหล่านั้นก็ยิ่งเกิดขึ้นไม่ได้

ผู้มีสติกำหนดรู้รูปนาม ผู้ที่มีการกำหนดรู้ในรูปนามนั้น ย่อมรู้เห็นการเบียดเบียนด้วยอาการเกิดดับที่เป็นไปอยู่ในรูปนามโดยไม่ขาดในทวารทั้ง ๖ ดังนั้นเมื่อวิปริณามทุกขลักษณะปรากฏ คือความสุขกายที่เกิดขึ้น ในขณะแรกแห่งอิริยาบถ สมมุติว่าเมื่อนั่งใหม่ๆ ก็สุขกายแต่มาภายหลังความสุขนั้นได้หายไป ผู้นั้นก็สามารถรู้เห็นวิปริณามทุกขลักษณะนี้ได้ ตลอดจนสามารถรู้เห็นในการปวด เมื่อย เจ็บ ปวด ร้อน หนาว หิว กระหาย เป็นต้น ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นโดยความเป็นสังขารธรรมรูปนามล้วนๆ มิได้เกี่ยวกับความรู้สึกว่าเป็นเราปวดเมื่อยเป็นต้น  ครั้นมีจิตคิดจะเปลี่ยนก็รู้ถึงวาระจิตที่ต้องการจะเปลี่ยนนั้นด้วย ตลอดจนถึงกำลังทำการเปลี่ยนอิริยาบถ ครั้นเปลี่ยนแล้วความสุขกายเกิดขึ้นก็สามารถรู้ในความสุขกายนี้ได้อีก เมื่อความสุขกายหมดไปก็รู้เห็นได้อีก เพราะการมีสติกำหนดรู้อยู่ในสังขารทุกข์และสังขารทุกขลักษณะ วิปริณามทุกข์และวิปริณามทุกขลักษณะ ทุกขทุกข์ และทุกขทุกขลักษณะ ที่เกิดขึ้นในอิริยาบถต่างๆ ได้โดยลำดับต่อเนื่องกันไม่ขาดระยะ

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติรู้ใน
อิริยาบถ ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กล่าวนี้ การปฏิบัติเช่นนี้ได้ชื่อว่าไม่ใส่ใจในอิริยาบถ เป็นอันว่าปัญญารู้ในความเป็นจริงเกิดขึ้น ชื่อว่าทุกขานุปัสสนา


๓. อนัตตานุปัสสนา
ปัญญาที่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ไม่มีแก่นสารปราศจากการบังคับบัญชาของรูปนามที่เนื่องมาจากการพบเห็นเป็นประจักษ์แห่งความไม่ใช่ตัวตน เรา เขา โดยอาการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปติดต่อกันอยู่อย่างไม่ขาดสาย ในขณะที่กำหนดรู้รูปนามตามสภาวะอยู่ปัญญานี้ชื่อว่า อนัตตานุปัสสนา

ความหมายของศัพท์

๑. อนัตตา หมายถึง รูปนามขันธ์ ๕ ไม่อยู่ ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น
๒. อนัตตลักษณะ หมายถึง อาการที่มีลักษณะเฉพาะตัว ที่ไม่เป็นไปใน อำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด
๓. อนัตตานุปัสสนา หมายถึงปัญญาที่พิจาณาเห็นความไม่เป็นไปในอำนาจบังคับบัญชาของ รูปนาม

การพิจารณาอัตตาและอนัตตา

ดังตัวอย่างการเจริญกายคตาสติเฉพาะที่กล่าวไว้ในหมวดความเป็นธาตุ ๒๐ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังพืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง ธาตุทั้ง ๒๐ นี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในสุตตันตปิฏกและอภิธรรมปิฎกว่าเป็น ปถวีธาตุ

ตราบใดที่ผู้ปฏิบัติยังพิจารณาเส้นผมโดยความยึดไว้ว่านี้เป็นเส้น
ผมของเราที่สวยงาม ขณะนั้นความเป็นจริงของสภาวะของปถวีธาตุก็ไม่ปรากฏ เพราะขณะนั้น ฆนะ คือ ความเป็นกลุ่มเป็นกองปิดบังความจริงไว้ ถ้าความเป็นกลุ่มกองแตกไป อนัตตลักษณะก็เห็นชัดแจ้ง คือ เห็นว่าเส้นผมนั้นเป็นเพียงปถวีธาตุ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เป็นเพียงธาตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสลายไป ผู้ปฏิบัติไม่สามารถเห็นความจริงของสภาวธรรมได้ก็เพราะอนัตตลักษณะไม่ปรากฏ อันเนื่องจากฆนะคือความเป็นกลุ่มเป็นกองได้ปกปิดไว้

คำว่า ฆนะ หมายความว่าเกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อน ฆนะเป็นเหตุให้บุคคลทั้งหลายเข้าใจผิดถือว่าบุคคลสัตว์เราเขา เรียกกันว่ามีความยึดถือแบบเป็นอัตตา แต่เมื่อฆนะแตกแล้วอัตตาก็หายไป อนัตตาก็จะปรากฎชัดเจนแทนที่


เมื่อไม่พิจาณารูปและนามแล้วจึงทำบัญญัติปรากฏชัด แต่กลับทำให้สภาพของปรมัตถ์กลับหายไป เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ในอาการ ๓๒ นั้น เส้นผมเป็นปถวีธาตุ แต่มีสัณฐานบัญญัติได้ปกปิดไว้ทำให้มองเห็นเป็นสิ่งกลมๆ ยาวๆ คนทั้งหลายเรียกกันว่าเส้นผม ส่วนความจริงอันได้แก่ปถวีธาตุที่มีสภาพสุขุมละเอียดนั้นไม่ปรากฏแต่เมื่อพิจารณารูปและนามตามสภาพความเป็นจริงแล้วจะทำให้สภาวะของปรมัตถ์ปรากฏชัดและความเป็นบัญญัติก็หมดไป เมื่อผู้ปฏิบัติเข้าใจสถาวะความเป็นจริงของเส้นผมว่า สิ่งที่สมมุติเรียกว่าเส้นผมนี้ แท้จริงแล้วไม่ใช่เส้นผม เป็นเพียงปถวีธาตุ ความหนาแน่นของปถวีธาตุนี้เอง ที่เรียงติดต่ออัดแน่นอยู่ภายในเส้นที่เรียวๆ ยาวๆ นี้ เมื่อรู้ถูก พิจารณาถูก ก็จะคลายความยึดมั่นถือมั่น

ความพิเศษแห่งบัญญัติและปรมัตถ์ 
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้มีกล่าวถึงเรื่องบัญญัติและปรมัตถ์ไว้ ซึ่งสรุปได้ดังนี้ คือ

ถามว่า : ท่านถือเอาสภาวธรรมโดยอำนาจบัญญัติที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ มิใช่หรือ ?
ตอบว่า : ใช่ ถือเอาแต่ตอนต้นๆ เท่านั้น แต่เมื่อเจริญวิปัสสนาภาวนานานเข้าๆ จิตจะก้าวล่วงบัญญัติเสียและตั้งอยู่ในสภาวธรรมล้วนๆ

อธิบายได้ว่าในการเจริญวิปัสสนานั้นขั้นต้นๆ เมื่อตั้งสติกำหนดรูปนาม โดยการเดินจงกรม เป็นต้น คนทั้งหลายก็อาจสงสัยในวิธีการว่าการกำหนดอย่างนี้เป็นการกำหนดบัญญัติ เมื่อกำหนดบัญญัติอยู่จะจัดเป็นการเจริญวิปัสสนาได้อย่างไร ? ความสงสัยเช่นนี้ก็ถูกต้อง แต่ว่าถูกไม่หมด เพราะในขั้นต้นนั้นก็พึงให้ผู้ปฏิบัติกำหนดอารมณ์บัญญัติไปก่อน มิฉะนั้นจิตจะไม่มีที่กำหนดเพราะปรมัตถ์เป็นสภาวะที่เห็นได้ยาก เมื่อกำลังภาวนา ตั้งมั่นอารมณ์ บัญญัติเหล่านี้จะหายไป เหลือแต่สภาวปรมัตถ์ความเป็นรูปนามขันธ์ ๕ล้วนๆ ตอนแรกเริ่มปฏิบัติการกำหนดอารมณ์ยังเป็นบัญญัติอยู่ อัตตาจึงยังปรากฏอยู่ อนัตตาก็ไม่ปรากฏ แต่เมื่อปัญญาภาวนาแก่กล้าขึ้น อารมณ์บัญญัติก็หายไป อารมณ์ปรมัตถ์ก็เกิดขึ้นแทน ในช่วงที่อารมณ์ปรมัตถ์เกิดขึ้นนี้เอง อนัตตาก็ปรากฏ อัตตาก็หายไป

เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดพิจารณาในสังขารธรรม รูปนามขันธ์ ๕ ที่เกิดอยู่เฉพาะหน้าตามสภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัยอยู่ สันตติบัญญัติและฆนบัญญัติที่ปกปิดการเกิดดับของสังขตธรรมในรูปนามขันธ์ ๕ ก็ขาดแตกไป ความเห็นที่บริสุทธิ์เช่นนี้เกิดขึ้นในเวลาใด เวลานั้นวิปัสสนาญาณของผู้ปฏิบัติก็เข้าถึงความเป็นอนัตตานุปัสสนา ก็ปรากฏขึ้นได้ ผู้ที่ไม่มีการกำหนดในสังขตธรรมคือรูปนามขันธ์ ๕ แล้ว อย่าว่าแต่ความเกิดดับของสังขตธรรมคือรูปนามขันธ์ ๕ เลย แม้แต่รูปนามที่เกิดอยู่เฉพาะหน้าก็ไม่รู้ไม่เห็นเสียแล้ว คงรู้เห็นแต่บัญญัติ เช่น เมื่อเห็นสีก็รับรู้และเข้าใจไปแต่ในเรื่องต่างๆ ว่า เป็นหญิง ชาย เป็นต้น นี้ก็เป็นไปเพราะสันตติบัญญัติและฆนบัญญัติได้ปกปิดอารมณ์ไว้ ผู้รับรู้อารมณ์ก็ไม่มีสติไปกำหนดพิจารณา

สำหรับท่านที่กำหนดสังขตธรรมรูปนามขันธ์ ๕ ที่เกิดอยู่เฉพาะหน้า โดยมีสติรู้อยู่ติดต่อกันไม่ขาดสายนั้น ก็จะสามารถรู้ทะลุปรุโปร่งในฆนบัญญัติที่ปกปิด การเกิดดับของสังขตธรรมรูปนามขันธ์ ๕ ในระยะเวลาที่ได้เห็น ได้ยิน รู้รส ได้สัมผัสกับความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง เมื่อย เจ็บ ปวด ดีใจ เสียใจ คิดนึกต่างๆ เหล่านี้ ขาดลงเป็นตอนๆ ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและไม่มีแก่นสาร ปราศจากเราเขาที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการ เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ ญาณปัญญาก็เกิดขึ้นเข้าถึงความเป็นอนัตตานุปัสสนาได้




๓. ลักษณะ ๓

การพิจารณาในปรมัตถ์ธรรมคือ รูปและนาม ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจในเรื่องของเครื่องหมายคือลักษณะของรูปขันธ์และนามขันธ์ เพื่อจะได้เข้าใจลักษณะของรูปนามได้อย่างถูกต้อง เมื่อพิจารณาได้ถูกต้องแล้วจะตัดสินได้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสังขารธรรมทั้งสิ้น คือ ธรรมที่เกิดขึ้นโดยมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ลักษณะ ๓ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา 

๑. อนิจจัง 

อนิจจัง คือ เครื่องหมายของธรรมที่ไม่เที่ยง คือความสิ้นไป ดับไปสภาพธรรมนี้ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ จิตและเจตสิกที่ปรุงแต่งจิต ตลอดจนรูปทั้งหมด จะมีอาการที่เป็นเครื่องหมายให้เห็นได้ถึงการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้นเราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม สภาพธรรมเหล่านี้ก็มีอาการที่เป็นเครื่องหมายของความเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว อาการที่เป็นเครื่องหมายนี้นั่นเอง เรียกว่า อนิจจัง 

๒. ทุกขัง 

ทุกขัง คือ เครื่องหมายของธรรมที่เป็นทุกข์ คือ ทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไป สภาพธรรมนี้ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘  ลักษณะ ๓ จิตและเจตสิกที่ปรุงแต่งจิตและรูปทั้งหมด จะมีอาการที่เป็นเครื่องหมายให้เห็นได้ถึงความที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องดับไป อาการที่เป็นเครื่องหมายของความทนอยู่ไม่ต้องดับไปสิ้นไป อาการที่เป็นเครื่องหมายนี้นั่นเอง เรียกว่า ทุกขัง 



๓. อนัตตา 

อนัตตา คือ เครื่องหมายของธรรมทั้งปวงที่ไม่ใช่ตัวตน ได้แก่ ความไม่มีแก่นสาร ปราศจาก เรา-เขา ที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการ สภาพธรรมนี้ได้แก่ จิต จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ นิพพานและบัญญัติ 

จิตเจตสิกและรูปที่เรารู้จักลักษณะโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์แล้ว ก็ยังต้อง
ศึกษาต้องไปอีกว่าทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็มีอาการที่เป็นเครื่องหมายให้เห็นได้ถึงความไม่มีแก่นสารสาระบังคับบัญชาไม่ได้ เรียกว่า อนัตตา อาการที่เป็นเครื่องหมายของความเป็นอนัตตา มีอยู่ในสภาพธรรมทั้งหมด รวมถึงพระนิพพานและบัญญัติด้วย


วันเสาร์

องค์แห่งอริยสัจ ๔

🔅 ทุกขอริยสัจ

อริยสัจข้อแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงคือ เรื่องทุกข์ ที่ทรงแสดงเรื่องทุกข์ก่อนก็เพราะความทุกข์เป็นสิ่งปรากฏชัดในชีวิตมนุษย์ ทุกคนเห็นอยู่ประสบอยู่ทุกวัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในขันธ์ ๕ เป็นปกติและเป็นปัญหาอันยิ่งใหญ่ของสัตว์โลกทุกชนิด บางทีเมื่อตรัสตอบปัญหาซึ่ง มีผู้ถามว่าอะไรเป็นภัยใหญ่ของมนุษย์ ทรงชี้ไปที่ทุกข์ว่าเป็นภัยใหญ่ของมนุษย์

ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร พระพุทธองค์ทรงแสดงความทุกข์ไว้ ๑๑ หัวข้อ คือ
๑.ชาติทุกขํ คือ ความเกิดเป็นทุกข์ เหตุที่ว่าความเกิดเป็นทุกข์นั้น เราพอมองเห็นได้ด้วยการพิจารณาว่า สำหรับสัตว์ผู้เกิดในครรภ์(ชลาพุชะ) ทุกข์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่สัตว์นอนอยู่ในครรภ์มารดา ต้องขดตัวอยู่ภายในช่องแคบๆ เหยียดมือเหยียดเท้าไม่ได้ จมอยู่ในน้ำคร่ำ สูดกลิ่นเหม็นต่างๆ เป็นเวลาแรมปี ครั้นมารดากินของร้อน เย็น หรือเผ็ดเข้าไป สัตว์นั้นก็ต้องรู้สึกเจ็บแสบเพราะอาหารนั้นๆ เข้าไปกระทบ ยามเมื่อจะคลอด ก็ถูกลมให้หัวห้อยลง ถูกบีบรัดผ่านช่องแคบๆ ถูกดึงมือ ดึงเท้า จากหมอ ความทุกข์ในยามนี้ย่อมทำให้สัตว์ไม่อาจทนความบีบคั้นอยู่ได้จึงต้องคลอดออกมาพร้อมร้องเสียงดังลั่น แสดงถึงความทุกข์ทรมาน แม้ความทุกข์ที่เกิดในกำเนิดอื่นๆ ก็เช่นกัน เป็นความทุกข์ที่แสนสาหัส ไม่ว่าจะเกิดในอบายภูมิ ปิตติวิสัย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า”ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไป”
๒.ชราทุกขํ คือ ความแก่เป็นทุกข์ เมื่อความแก่เกิดขึ้น ย่อมครอบงำสังขารร่างกายของสัตว์ทั้งหลายให้คร่ำคร่า เปลี่ยนแปลง ผมหงอก ฟันหัก แก้มตอบ ตามืดมัว หูตึง อาการเหล่านี้เป็นเพียงร่องรอยของชราที่ปรากฏให้เห็น เหมือนพายุกรรโชกรุนแรง ที่พัดเอากิ่งก้านสาขาของต้นไม้ให้หักลง ยามเมื่อลมสงบ จึงได้ปรากฏให้เห็นซากต้นไม้ใบไม้หักทับถมกัน เพราะแท้จริงแล้วความชราได้ต้อนขับอายุแห่งสัตว์ทั้งหลายไปสู่ฝั่งแห่งมรณะตลอดเวลามิได้ขาดสายนับตั้งแต่วันแรกที่เกิด สรรพสัตว์มิได้มองเห็นเลยว่าทุกขณะที่ผ่านไปในแต่ละวันนั้น กำลังถูกความชราลดทอนอายุให้น้อยลงไปทุกที ร่างกายที่เคยมีผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีรูปโฉมสง่างาม สุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เมื่อความชราย่างกรายเข้ามา ก็ต้องเหี่ยวแห้ง หดหู่ ไม่น่าดู น่าชม เหมือนดอกไม้ที่ถูกต้องแสงอาทิตย์ เหี่ยวเฉาไปฉะนั้น ความชราจึงเป็นทุกข์แก่สัตว์ทั้งหลาย
๓.มรณทุกขํ คือ ความตายเป็นทุกข์ ความตายก็คือการดับจิตของสัตว์ทั้งหลาย ทอดทิ้งร่างกายอันเน่าเปื่อยไว้ ความทุกข์ทรมานในเวลาตายย่อมเกิดขึ้นอย่างแสนสาหัส ธาตุไฟในสรีระร่างกาย ย่อมทวีความรุนแรงขึ้น เปรียบเหมือนมีคนมาก่อกองเพลิงไว้เหนือลม ทำให้เกิดความกระวนกระวายระส่ำระสายไปทั่วสรรพางค์กาย และสำหรับสัตว์ที่ได้ก่อกรรมทำบาปอกุศลไว้มาก ย่อมมีกรรมนิมิตคตินิมิตที่เผ็ดร้อน เป็นภาพที่น่ากลัวปรากฏขึ้น เป็นต้น
๔.โสกทุกขํ คือ ความโศกเป็นทุกข์ เป็นสภาพจิตที่เดือดร้อนระส่ำระสาย กระวนกระวายแห้งเหือดไป ยามนอนก็นอนไม่หลับ ยามรับประทานก็รับประทานไม่ได้ ทั้งนี้อาจเกิดมาจากการสูญเสียญาติมิตร หรือทรัพย์สมบัติ
๕.ปริเทวทุกขํ คือ ความคร่ำครวญรำพันเป็นทุกข์ มีอาการร้องไห้ ร่ำไห้ พิรี้พิไร มีน้ำตาไหล ฟูมฟาย มีสาเหตุจากการที่มารดา บิดา บุตร ภรรยา หรือญาติ ถึงแก่ความตาย หรืออาจมีสาเหตุมาจากการสูญเสียทรัพย์สมบัติ แล้วทำให้บ่นเพ้อละเมอ ราวกับคนวิกลจริตทุกวันเวลา


๖.ทุกขํ คือ ความทุกข์กาย เป็นความทุกข์ที่ทำให้จิตใจสลดหดหู่ ทอดถอนใจอันเนื่องจากโรคาพาธก็ดี เนื่องจากการที่ตนต้องอาชญา มีการถูกเฆี่ยนตีจองจำเอาไว้ ถูกตัดมือตัดเท้าก็ดี เนื่องมาจากการทนทุกขเวทนาตามลำพังผู้เดียว ไร้ญาติขาดมิตรก็ดี เนื่องมาจากความยากจนเข็ญใจ ไม่มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ
๗.โทมนัสทุกขํ คือ ความทุกข์ใจ เป็นความทุกข์ที่ทำให้รู้สึกเคืองแค้นแน่นอุราปราศจากความสบาย ปราศจากความสุข ให้รู้สึกน้อยอกน้อยใจอยู่ร่ำไป
๘.อุปายาสทุกขํ คือ ความคับแค้นใจที่เกิดขึ้นมาจากการประสบภัยพิบัติอย่างใด อย่างหนึ่ง เช่น สูญเสียญาติ การสูญเสียสมบัติ บริวาร ท่านอุปมาไว้ว่า โสกทุกข์ เปรียบเสมือนบุคคลที่เคี่ยวน้ำมันให้เดือดอยู่ภายในภาชนะบนเตาไฟ ปริเทวทุกข์ เปรียบเสมือนบุคคลเร่งไฟให้น้ำมันร้อนขึ้นจนพลุ่งเดือดล้นออกมาจากภาชนะ อุปายาสทุกข์ เปรียบเสมือนดังน้ำมันซึ่งยังคงค้างเหลืออยู่ในภาชนะ
๙.อัปปิเยหิ สัมปโยคทุกขํ คือ ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก กล่าวคือ อารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส หากมิได้เป็นที่พึงปรารถนา มิได้เป็นที่รักที่ชอบใจ ครั้นเมื่อประสบอารมณ์นั้น ก็ย่อมจะมีจิตเป็นทุกข์ เหตุเพราะรู้สึกเกลียดชัง ไม่รักใคร่ ไม่ปรารถนาจะเข้าใกล้ ไม่ปรารถนาจะพบเห็น ปรารถนาจะหลีกไปให้ไกลแสนไกล แต่เมื่อยังทำไม่ได้ก็ต้องเสวยทุกขเวทนา
๑๐.ปิเยหิ วิปปโยคทุกขํ คือ ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก กล่าวคือ บุคคลที่ปรารถนาอารมณ์ทั้ง ๕ หากได้ไปคบหาสมาคมด้วยอารมณ์เหล่านั้น บุคคลก็จะรู้สึกพอใจและ มีความสุข แต่หากต้องพลัดพรากจากไป บุคคลย่อมเป็นทุกข์ บุคคลทั้งหลายในโลก ถ้าพลัดพรากจากบิดามารดา จากพี่น้อง จากบุตรภรรยาและญาติมิตรอันเป็นที่รักใคร่ หรือพลัดพรากจากที่อยู่อาศัย สมบัติพัสถาน บริวารและยศถาบรรดาศักดิ์ ทุกข์นี้แหละจัดเป็นปิเยหิวิปปโยคทุกข์
๑๑.ยัมปิจฉัง น ลภติทุกขํ คือ ความปรารถนาสิ่งใดแล้ว ไม่ได้สิ่งนั้นสมปรารถนา ความทุกข์นี้แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ทุกข์ประกอบในกาย ได้แก่ การที่บุคคลซึ่งประกอบอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกสิกรรม หรือ พาณิชยกรรม เมื่อทุ่มเทแรงกายแรงใจให้แก่การงานอาชีพ โดยมิได้ย่อท้อต่อความลำบากตรากตรำ แต่ไม่สามารถสำเร็จประโยชน์ จึงเศร้าโศกเสียใจกับทุกข์ประกอบในจิต ได้แก่ ความปรารถนายศถาบรรดาศักดิ์ ตลอดจนลาภสักการะเงินทอง แต่ไม่สามารถสำเร็จสมเจตนา

กล่าวโดยสรุป
ทุกข์ได้ปรากฏแก่ตัวเรา เป็นความทุกข์รวบยอด ความทุกข์เหล่านี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปอีกอย่างหนึ่งมีเพียง ๒ คือ ทุกข์ทางกาย และความทุกข์ทางใจ ที่ทรงแจกแจงออกไปถึง ๑๑ ประการ ก็เพื่อให้เห็นรายละเอียดแห่งทุกข์ที่มนุษย์ประสบอยู่ว่ามีประการใดบ้าง 
อนึ่ง ความทุกข์เหล่านี้มีขึ้นได้ก็เพราะมีขันธ์ ๕ และมนุษย์เรายังยึดมั่นในขันธ์ ๕ นั้นว่าเป็นเรา เป็นของเราอยู่ ความจริงแล้วขันธ์ ๕ นี้ เป็นภาระหนักของมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย เพียงรูปขันธ์อย่างเดียวก็เป็นภาระอันหนักเพราะต้องถนอมปรนเปรอ เลี้ยงดูด้วยข้าว น้ำ วันละหลายๆ ครั้งจนตลอดชีวิต ยิ่งเวลาเจ็บป่วยก็จะเป็นภาระอันหนักยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงแสดงไว้ว่า

ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์เป็นภาระอันหนักแท้
ภารนิกฺเขปนํ สุขํ การปลงภาระอันนี้เสียได้เป็นความสุข

ส่วนนามขันธ์เป็นภาระอันหนักเพราะกิเลสมาทำให้หนัก เร่าร้อนอยู่เพราะกิเลสทำให้ร้อน สมดังข้อความที่ทรงแสดงไว้ในอาทิตตปริยายสูตรว่า “ ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เพราะเกิด แก่ ตาย…บ้าง” ซึ่งรวมเป็นเพลิง ๒ อย่าง คือ เพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์] ทุกข์จึงถือเป็นเรื่องแรกที่บุคคลผู้จะเจริญวิปัสสนาจะต้องเห็นและเข้าใจตามความเป็นจริง โดยการเห็นนี้จะไม่ใช่เพียงการเห็นแบบทั่วๆ ไปด้วยการพิจารณาเช่นนี้ แต่ต้องอาศัยภาวนามยปัญญามองให้เห็นตัวทุกข์ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร

🔅 สมุทัยอริยสัจ
สมุทัยอริยสัจนี้ เรียกเต็มว่า ทุกขสมุทัย แปลว่า การเกิดขึ้นของทุกข์ หรือเหตุเกิดแห่งทุกข์ ความจริงเหตุแห่งทุกข์นั้นมีมาก เช่น ความจน ความเจ็บ ความโง่เขลา เป็นต้น แต่เป็นปลายเหตุหรือตอนปลายของเหตุ ส่วนเหตุขั้นมูลฐานจริงๆ นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ประการหนึ่ง คือ ตัณหา

ตัณหา คือ ความดิ้นรนทะยานอยาก ทรงจำแนกออกเป็น ๓ ประเภทด้วยกัน คือ
๑.กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในกามคุณ ความใคร่ในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ทำให้จิตใจดิ้นรนแส่หา เมื่อได้แล้วก็ติดอยู่ สยบอยู่ พัวพัน อาลัยอยู่ และปรารถนาจะได้กามคุณที่ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไป ทำให้ตัณหายิ่งโหมแรงขึ้นเหมือนไปได้เชื้อ ก่อความกระวนกระวายใจกระทบกระเทือนใจทำให้ใจกังวลไร้ความสงบ
๒ ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในความเป็น คือ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเป็นแล้วทะยานอยากไปเรื่อยๆ ถ้ากล่าวถึง ความอยาก อย่างชาวโลก ความอยากชนิดนี้ ทำให้คนทะเยอทะยานอาจก้าวหน้าในการงานอาชีพได้มาก แต่ต้องยอมรับความจริงด้วยว่า ในความทะเยอทะยานนั้นมีความทุกข์ความร้อนใจแฝงเร้นอยู่ด้วย ถ้าถึงกับต้องยื้อแย่งกับผู้อื่นก็เป็นการสร้างศัตรูรอบตัว ต้องมีเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายในการต่อสู้เพื่อให้ได้ชัยชนะ บางคราวอาจต้องถึงใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น ก่อเวรก่อกรรมกันต่อไปไม่สิ้นสุด อนึ่ง ความอยาก เป็นใหญ่ของคนบางคนได้นำพลเมืองไปตายเสียจำนวนแสนจำนวนล้าน ก่อความกระทบกระเทือนทุกข์ยากให้แก่สังคมตลอดถึงโลก และเป็นผลร้ายอันยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปีเหมือนระลอกคลื่น ซึ่งส่งต่อๆ กันไป
๓.วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็นนั่น ไม่เป็นนี่ ความอยากในทางผลักในทางลบ ความที่มีลักษณะอึดอัด ระอิดระอา ความอยากที่เจือด้วยโทสะ เช่น อยากด่าคน อยากทำร้าย อยากทำลายอะไรๆ ที่อยู่รอบตัวด้วยความชิงชัง ความอยากชนิดนี้ก่อความทุกข์ในรูปของ ความอึดอัด คับแค้นใจ ทุรนทุราย เร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงแห่งโทสะ ริษยา พยาบาท เป็นต้น

ตัณหาทั้ง ๓ แบบนี้ เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ส่วนตัวบุคคล และเป็นมูลเหตุของอาชญากรรมและภัยต่างๆ ในสังคมมากมาย นอกจากทุกข์ในปัจจุบันแล้ว ตัณหายังเป็นสาเหตุให้บุคคลต้องท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ เวียนว่ายตายเกิด เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป การเกิดย่อยๆ ก็ต้อง แก่เจ็บและตายบ่อยๆ ย่อมหมายถึงต้องทุกข์บ่อยๆ ด้วย



🔅 นิโรธอริยสัจ
นิโรธเรียกเต็มว่า ทุกขนิโรธ แปลว่า ความดับทุกข์ เพราะความสิ้นไปของตัณหา ดังพระพุทธพจน์ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรที่ว่า โย ตสฺสาเยว ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรโธ จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย ความดับเพราะคายออกโดยไม่เหลือซึ่งตัณหานั้น การสละละทิ้งพ้นไปความไม่มีอาลัยในตัณหานั้น นี่แหละคือทุกขนิโรธ โดยใจความสำคัญ นิโรธคือความดับทุกข์เพราะดับกิเลสได้นั่นเอง

คำว่านิโรธก็ดี วิมุตติ ปหานะ วิเวก วิราคะหรือโวสสัคคะ (ความสละ ความปล่อยวาง) ก็ดี มีความหมายอย่างเดียวกัน ท่านแสดงไว้ ๕ อย่าง คือ
๑.ตทังคนิโรธ ความดับด้วยองค์นั้นๆ หรือดับกิเลสได้ชั่วคราว เช่น เมื่อเมตตากรุณาเกิดขึ้นความโกรธและความคิดพยาบาทคือความคิดเบียดเบียนย่อมดับไป เมื่ออสุภสัญญาคือความกำหนดว่าไม่งามเกิดขึ้น ราคะความกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ ย่อมดับไป รวมความว่าดับกิเลสด้วยองค์ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
๒.วิกขัมภนนิโรธ ดับกิเลส หรือข่มกิเลสไว้ได้ด้วยกำลังฌาน เช่น ข่มนิวรณ์ ๕ ไว้ด้วยกำลังแห่งฌาน ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป ตลอดเวลาที่ฌานยังไม่เสื่อม บุคคลผู้ได้ฌานย่อมมีอาการเสมือนหนึ่งผู้ไม่มีกิเลส ท่านเปรียบเหมือนหญ้าที่ศิลาทับไว้ หรือเหมือนโรคบางอย่างที่ถูกคุมไว้ด้วยยา ตลอดเวลาที่ยามีกำลังอยู่ โรคย่อมสงบระงับไป
๓.สมุจเฉทนิโรธ ความดับกิเลสอย่างเด็ดขาดด้วยกำลังแห่งอริยมรรค กิเลสใดที่อริยมรรคตัดแล้วย่อม เป็นอันตัดขาดไม่กลับเกิดขึ้นอีก เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ถูกถอนขึ้นทั้งรากและเผาไฟทิ้ง เป็นอันตัดได้สิ้นเสร็จเด็ดขาด ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดขึ้นอีก ตัวอย่างเช่นการตัดกิเลสของพระอริยบุคคล ๔ จำพวก มีพระโสดาบัน เป็นต้น
๔.ปฏิปัสสัทธินิโรธ ความดับกิเลสอย่างสงบระงับไปในขณะแห่งอริยผลนั้นเอง เรียกว่า ปฏิปัสสัทธินิโรธ ไม่ต้องขวนขวายเพื่อการดับอีก เหมือนคนหายโรคแล้วไม่ต้องขวนขวายหายาเพื่อดับโรคนั้นอีก
๕.นิสสรณนิโรธ แปลตามตัวว่า ดับกิเลสด้วยการสลัดออกไป หมายถึง ภาวะแห่งการดับกิเลสนั้นยั่งยืนตลอดไป ได้รับความสุขจากความดับนั้นยั่งยืนตลอดไป ได้แก่นิพพานนั่นเอง เหมือนความสุขความปลอดโปร่งอันยั่งยืนของผู้ที่หายโรคแล้วอย่างเด็ดขาด

ในบรรดานิโรธ ๕ นั้น นิโรธหรือนิพพานข้อที่ ๑ นั้น เป็นของปุถุชนทั่วไป ข้อที่ ๒ เป็นของผู้ได้ฌาน ข้อ ๓-๕ เป็นของพระอริยบุคคล นิโรธหรือนิพพานควรจะเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตของคนทุกคน เพราะถ้าปราศจากจุดมุ่งหมายนี้เสียแล้ว มนุษย์จะว้าเหว่เคว้งคว้าง หาทิศทางแห่งชีวิตที่ดำเนินไปสู่ความร่มเย็นไม่ได้ โดยใจความสำคัญ นิโรธ ๓ ประการหลังก็คือ มรรค ผล และนิพพานนั่นเอง

ไวพจน์ของนิโรธ
ไวพจน์ของนิโรธมีหลายอย่าง ที่แสดงไว้ในพระสูตร เช่น อัคคัปปสาทสูตร มี ๗ คำ คือ
            ๑.มทนิมฺมทโน การย่ำยีความเมาเสียได้
            ๒.ปิปาสวินโย ความดับความกระหายเสียได้
            ๓.อาลยสมุคฺฆาโต การถอนอาลัยเสียได้
            ๔.วฏฺฏูปจฺเฉโท การตัดวัฏฏะได้
            ๕.ตณฺหกฺขโย ความสิ้นตัณหา
            ๖.วิราโค ความสิ้นกำหนัด
            ๗.นิพฺพานํ ความดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์

นิพพาน ดังได้กล่าวแล้วว่า นิพพานเป็นชื่อหนึ่งของนิโรธ เพราะฉะนั้น นิพพานกับนิโรธจึงเป็นอย่างเดียวกัน ตามตัวอักษรนิพพานแปลว่า
            ๑.ความดับ หมายถึง ดับกิเลสและดับทุกข์
            ๒.สภาพที่ปราศจากเครื่องร้อยรัดเสียบแทง คือ ตัณหา หรือกิเลสนานาชนิด หรือสภาพที่ออกไปจากตัณหาได้

ท่านแสดงนิพพานไว้ ๒ นัย คือ
            ๑.สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง การดับกิเลสหมดแล้ว แต่เบญจขันธ์เหลืออยู่ เช่น พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่
            ๒.อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง การดับกิเลสหมดแล้ว และดับเบญจขันธ์แล้วด้วย เช่น พระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตแล้ว

ที่ได้กล่าวมานี้ เป็นนัยที่ ๑ ส่วนนัยที่ ๒ มีว่า สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ดับกิเลสได้แล้วเป็นบางส่วน ยังเหลืออยู่บางส่วน เช่นนิพพานของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ดับกิเลสไม่มีส่วนเหลือ ดับกิเลสได้หมด เช่น นิพพานของพระอรหันต์

พระอริยบุคคล ๔ จำพวก
ผู้บรรลุนิพพานแล้วตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป เรียกว่า พระอริยบุคคล คือ ผู้ประเสริฐ มีคุณธรรมสูง มี ๔ จำพวกด้วยกัน คือ
๑.พระโสดาบัน ละสังโยชน์กิเลส (กิเลสซึ่งหน่วงเหนี่ยวสัตว์ไว้ในภพ) ได้ ๓ อย่าง คือสักกายทิฏฐิ ความเห็นว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวตนหรือของตน วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัยในทางดำเนินให้ถึงนิพพาน สีลัพพตปรามาส การลูบคลำศีลและพรต กล่าวคือ มิได้ประพฤติศีลหรือบำเพ็ญพรตเพื่อความบริสุทธิ์ และเพื่อความขัดเกลากิเลส แต่เพื่อลาภสักการะ ชื่อเสียง เป็นต้น การประพฤติศีลบำเพ็ญพรตอย่างงมงายก็อยู่ในข้อนี้ด้วยเช่นกัน
๒.พระสกทาคามี ละสังโยชน์ได้เหมือนพระโสดาบัน แต่มีคุณธรรมเพิ่มขึ้น คือ ทำราคะ โทสะและโมหะให้เบาบางลงได้
๓.พระอนาคามี ละกิเลสเพิ่มขึ้นอีก ๒ อย่าง คือ กามราคะ ความกำหนัดในกามคุณ และปฏิฆะ ความหงุดหงิดรำคาญใจ
๔.พระอรหันต์ ละสังโยชน์เพิ่มขึ้นอีก ๕ อย่าง คือ รูปราคะ ความติดสุขในรูปฌาน อรูปราคะ ความติดสุขในอรูปฌาน มานะ ความทะนงตน อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน และอวิชชา ความไม่รู้ตามจริง

นิพพาน หรือความดับทุกข์นั้นเป็นความต้องการโดยธรรมชาติของมนุษย์ ใครบ้าง ไม่ต้องการดับทุกข์ เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น คนเราก็ทุรนทุราย ถ้าดำเนินการให้ถูกวิธีก็ดับได้ ถ้าดำเนินการผิดวิธีก็ดับไม่ได้ หรือถ้าดับได้ก็เป็นอย่างเทียมๆ การดับทุกข์ได้ครั้งหนึ่งๆ เรียกกันตามโลกโวหารว่า “ ความสุข” ซึ่งมีทั้งอย่างแท้และอย่างเทียม ความสุขที่เจือด้วยทุกข์จัดเป็นสุขเทียม เช่น สุขจากการสนองความอยากได้ หรือสุขที่ได้จากกามคุณซึ่งท่านเรียกว่ากามสุข

ความสุขที่แท้จริงหรือสุขที่ไม่เจือด้วยทุกข์นั้น ท่านมีคำเรียกว่า นิรามิสสุข เช่น สุขจากการบำเพ็ญคุณงามความดีต่างๆ เป็นสุขที่ละเอียดประณีตกว่า ยั่งยืนกว่า มีคุณค่าสูงกว่า

🔅 มรรคอริยสัจ
ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรเรียกมรรคอริยสัจว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ แปลว่า อริยสัจ คือ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งหมายถึงอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง หรือหลักปฏิบัติอันเป็นสายกลาง) ในที่นี้กล่าวถึงคุณธรรม ๘ ประการ คือ
        ๑.สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
        ๒.สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
        ๓ สัมมาวาจา การพูดชอบ
        ๔.สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ
        ๕.สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ
        ๖.สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
        ๗.สัมมาสติ ความระลึกชอบ
        ๘.สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ

ความหมายขององค์ทั้ง ๘ ของอริยมรรค คือ
๑.สัมมาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บุญบาปมีจริง ชาติหน้ามี ชาติก่อนมี ในความหมายที่สูงขึ้นไป หมายถึง การเห็นอริยสัจ ๔ ครบถ้วนตามความเป็นจริง คือ เห็นอริยสัจซึ่งประกอบด้วย ญาณ ๓ อาการ ๑๒
๒.สัมมาสังกัปปะ หมายถึง ความดำริชอบ อันประกอบด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ
            ๒.๑ดำริที่จะปลีกตัวออกจากอารมณ์ยั่วยวนต่างๆ (เนกขัมมสังกัปปะ)
            ๒.๒ดำริในการไม่พยาบาท (อัพยาปาทสังกัปปะ)
            ๒.๓ดำริในความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสาสังกัปปะ)
๓.สัมมาวาจา หมายถึง การพูดที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ ดังนี้
            ๓.๑เว้นจากการพูดเท็จ พูดคำไม่จริง
            ๓.๒เว้นจากการพูดส่อเสียด พูดคำประสานสามัคคี
            ๓.๓เว้นจากการพูดคำหยาบ พูดคำอ่อนหวาน
            ๓.๔เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ พูดคำมีประโยชน์
๔.สัมมากัมมันตะ หมายถึง การกระทำชอบ มีองค์ประกอบดังนี้
            ๔.๑เว้นจากการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น สัตว์อื่น ซึ่งรวมเรียกว่า เว้นปาณาติบาต มีเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย
            ๔.๒เว้นจากการเบียดเบียนทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งรวมเรียกว่า เว้นอทินนาทาน มีการเสียสละแบ่งปัน เฉลี่ยความสุขของตนเพื่อผู้อื่นตามสมควร
            ๔.๓เว้นจากอพรหมจรรย์ ได้แก่ การเสพเมถุน คือเว้นจากกามารมณ์ พอใจในเนก- ขัมมะ คือปลีกตนจากกามอย่างต่ำ หมายถึง เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร พอใจในคู่ครองของตน
๕.สัมมาอาชีวะ หมายถึง การเว้นมิจฉาชีพทุกรูปแบบ ประกอบตนอยู่ในสัมมาชีพ คือการประกอบอาชีพที่ไม่สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้แก่ตนเองและผู้อื่น
๖.สัมมาวายามะ หมายถึง ความเพียรชอบทุกรูปแบบ ที่กล่าวถึงในพระบาลีมัคควิภังค- สูตร ตรัสถึงความเพียร ๔ ประการ คือ
            ๖.๑สังวรปธาน เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
            ๖.๒ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
            ๖.๓ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
            ๖.๔อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อม และทำกุศลให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ความเพียร ๔ ประการนี้ ถือเป็นหลักสำคัญมากในการปฏิบัติธรรม เพื่อความก้าวหน้า ในชีวิตทางธรรม และเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตของชาวโลกอย่างมากด้วย ผู้หวังความเจริญและความสุข ทั้งทางโลกและทางธรรม ควรมีความเพียร ๔ ประการนี้ไว้ในตน
๗.สัมมาสติ หมายถึง สติชอบ หรือความระลึกชอบ ในขั้นธรรมดา ขอให้พิจารณาว่าระลึกถึงสิ่งใดอยู่ กุศลธรรมเจริญขึ้นอกุศลธรรมเสื่อมไป ก็ควรระลึกถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ ในขั้นสูงขึ้นไป ท่านสอนให้ระลึกสติปัฏฐาน ๔ คือ
            ๗.๑กายานุปัสสนา พิจารณากาย
            ๗.๒เวทนานุปัสสนา พิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่สุข ไม่ทุกข์
            ๗.๓จิตตานุปัสสนา พิจารณาจิตว่ามีราคะ โทสะ โมหะหรือไม่มี จิตเป็นอย่างไร พิจารณาตามรู้
            ๗.๔ธัมมานุปัสสนา พิจารณาธรรมทั้งที่เป็นกุศล อกุศลและอัพยากฤตว่ามีอยู่ในตนหรือไม่ สิ่งนั้นเกิดขึ้นอย่างไร เช่น นิวรณ์ ๕ เป็นสิ่งควรละ โพชฌงค์ ๗ เป็นสิ่งที่ควรบำเพ็ญ เป็นต้น

ความจริงแล้วสติปัฏฐานมี ๑ คือ การตั้งสติ ส่วนกาย เวทนา จิตและธรรมนั้นเป็นอารมณ์ของสติ คือ เป็นสิ่งที่ควรเอาสติเข้าไปพิจารณาหรือเอาสติไปตั้งไว้ เหมือนโต๊ะตัวหนึ่งมี ๔ ขา ฉะนั้น ผู้อบรมสติบ่อยๆ ย่อมมีสติสมบูรณ์ขึ้น สามารถสกัดกั้นกระแสกิเลสได้มากขึ้น ทำให้กิเลสท่วมทับจิตน้อยลง ทำความดีได้มากขึ้น ชีวิตปลอดโปร่งแจ่มใสมากขึ้น มีทุกข์น้อยลง เพราะมีสติปัญญารู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจิตใจตามความเป็นจริง พระอรหันต์ที่ท่านสิ้นกิเลสแล้วนั้น ท่านเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ จึงไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น
๘.สัมมาสมาธิ หมายถึง การทำสมาธิในทางที่ถูกต้อง สมาธินั้นหมายถึง การที่จิต ตั้งมั่นในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นกุศล ความที่จิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว ไม่ฟุ้งซ่าน ท่านแสดงสมาธิไว้ ๓ ระดับ คือ
            ๘.๑ ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ
            ๘.๒ อุปจารสมาธิ สมาธิเฉียดฌาน หรือใกล้ฌาน
            ๘.๓ อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่ หรือสมาธิในฌาน
แต่สมาธิที่หมายถึงในมรรคมีองค์ ๘ นั้นคือ อัปปนาสมาธิ หรือสมาธิในฌาน ๔ ตามพระบาลีมัคควิภังคสูตร๘)

องค์มรรคทั้ง ๘ นี้ เมื่อรวมตัวกันเข้าเป็นมัคคสมังคี ก่อให้เกิดสัมมาญาณคือความรู้ชอบ หรือยถาภูตญาณทรรศนะ(ความรู้เห็นตามความเป็นจริง) นี่แหละคือตัวอริยมรรคตามแนวพระพุทธพจน์ ซึ่งสรุปให้เข้าใจง่ายดังนี้ “ เมื่อมีโยนิโสมนสิการ(การทำในใจอย่างแยบคาย อย่างมีปัญญา) ปราโมชย่อมเกิด เมื่อมีปราโมช ปีติย่อมเกิด เมื่อปีติเกิด ปัสสัทธิย่อมเกิด เมื่อมีปัสสัทธิเกิด สุขย่อมเกิด เมื่อสุขเกิด สมาธิย่อมเกิด เมื่อสมาธิเกิด ยถาภูตญาณทรรศนะย่อมเกิด เมื่อยถาภูตญาณทรรศนะเกิดนิพพิทา(ความหน่าย) ย่อมเกิด เมื่อนิพพิทาเกิดวิราคะ(ความคลายกำหนัด) ย่อมเกิด เมื่อวิราคะเกิด วิมุติ(ความหลุดพ้น) ย่อมเกิด รวม ๙ ประการ ซึ่งมีอุปการะและหนุนเนื่องไปสู่วิมุติความหลุดพ้นจากกิเลส”



ต่อจากสัมมาญาณหรือยถาภูตญาณทรรศนะ ถ้ากล่าวอย่างรวบรัดก็จะไปถึงสัมมาวิมุติ แต่ถ้าขยายออกไปในระหว่างนั้นมีญาณต่างๆ คั่นอยู่หลายประการ กล่าวคือ
๑.โคตรภูญาณ แปลว่า ญาณคร่อมโคตร คือ ระหว่างโคตรปุถุชนกับอริยชน ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นปุถุชนกับอริยชน เรียกไม่ได้ว่าเป็นปุถุชนหรืออริยชน เปรียบเหมือนคนข้ามฝั่งด้วยเรือเมื่อเทียบท่าแล้ว ขาข้างหนึ่งก้าวขึ้นอยู่บนบก อีกข้างหนึ่งยังอยู่ในเรือ หรืออีกอุปมาหนึ่งเหมือนสภาพของเวลาที่เราเรียกว่า สองสี ส่องแสงกึ่งกลางระหว่างความมืดกับ ความสว่าง ระหว่างกลางคืนกับกลางวัน
๒.มรรคญาณ ญาณในมรรค มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น ญาณนี้จะทำหน้าที่ตัดกิเลสให้ขาด เหมือนยาเข้าไปทำลายหรือตัดโรค
๓.ผลญาณ ญาณในผล คือ รู้ว่าผลแห่งการกำจัดกิเลสได้เป็นอย่างไร เป็นความสงบสุขอย่างไร เปรียบเหมือนความสุขของคนที่หายโรคแล้ว รู้ว่าโรคหายเด็ดขาดไม่เกิดขึ้นอีก
๔.ปัจจเวกขณญาณ การพิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว และกิเลสที่ยังไม่ได้ละว่ามีจำนวนเท่าใด สำหรับพระอริยบุคคล ๓ จำพวกแรก ส่วนพระอรหันต์พิจารณาเฉพาะกิเลสที่ละได้แล้วอย่างเดียว ไม่ต้องพิจารณากิเลสที่ยังไม่ได้ละ เพราะไม่มีกิเลสอะไรจะต้องละอีกแล้ว

การที่ความสงบสุขอันเกิดจากการตัดกิเลสได้เป็นไปยั่งยืน ไม่ต้องคอยระวังเพื่อไม่ให้ เกิดขึ้นอีกนั่นเอง คือ นิพพาน แปลว่า ความดับสนิท เย็นสนิท ที่กล่าวนี้เป็นกระบวนการของอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ซึ่งเป็นปฏิปทานำไปสู่ความดับทุกข์ หรือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

🙏 องค์แห่งอริยสัจ ๔