วันพุธ

ศัพท์ธรรม ภาษาอังกฤษ-ไทย

 A-B-C  D-E-F  G-H-I  J-K-L-M  N-O-P  Q-R-S  T-U-V  W-Y-Z
สลับเป็น ภาษา
ไทย - อังกฤษ


A

abandoning; abandonment    ปหานะ, จาคะ (การ สละ; การละ)

abiding    วิหาร (ธรรม

abode    ภพ; เสนาสนะ, อาลยะ, วิหาร 

absolute sense    ปรมัตถ์ 

absolute truth    ปรมัตถสัจจะ 

absorption    ฌาน, อัปปนา

abstention    เวรมณี (การเว้น)

abstinence    วิรัติ (ความเว้น, งดเว้น; เจตนาที่งดเว้นจากความชั่ว)

access concentration    อุปจารสมาธิ  

accessory    ปริวาร, บริวาร (สิ่งของ)  

accompanied by    สหรคต, สหคต 

accomplishment, basis of    อิทธิบาท  

achievement    สัมปทา  

acquisition    ลาภ  

acquisitiveness    โลภ  

act    กรรม 

act, formal    สังฆกรรม 

action    กรรม กัมมันตะ 

adaptability    กัมมัญญตา

adept    อเสขะ  

adherence to habits and practices    สีลัพพต ปรามาส 

adherent    ศาสนิก 

adjustment    ทมะ 

admonition    โอวาท 

adultery    กาเมสุมิจฉาจาร  

advantage    อานิสงส์ 

adverting    อาวัชชนะ  

advice    โอวาท  

aeon    กัป, กัลป์

affliction    พยาธิ  

age    วัย

ageing; aging    ชรา 

aggregate    ขันธ์  

agility    ลหุตา  

agitation    อุทธัจจะ  

agreeable    อิฏฐะ (น่าปรารถนา)  

agreement    สมมติ (การตกลงรวมกัน, มอบหมาย, แต่งตั้ง)

aim    อัตถะ, อรรถ 

allowable (adj)   กัปปิยะ  

alms; almsfood    ภิกษา, ทาน, ทานวัตถุ,  บิณฑบาต 

alms-bowl    บาตร 

alms-gathering    บิณฑบาต, การไปบิณฑบาต 

alms resort    โคจร (ที่เที่ยวบิณฑบาต, ที่หาอาหาร)

almsround    การไปบิณฑบาต  

alteration    วิปริณาม  

analysis    วิภังค์, วินิพโภค

analytic insight    ปฏิสัมภิทา  

anger    โกธะ  

annihilationism    อุจเฉทวาท, อุจเฉททิฐิ 

anxiety    อุทธัจจกุกกุจจะ  

apperception    ชวนะ  

Arahat; Arahant    พระอรหันต์  

Arahatship    อรหัตต์, อรหัตตผล 

ardour    ตปะ, ตบะ,  อาตปะ, ความเพียรเผากิเลส 

arising    อุปปาทะ, อุบัติ  

ariyan    อริยะ 

arrogance    อติมานะ 

ascetic    ฤษี, ดาบส, นักพรต, นักบวช 

ascetic practices    ตบะ; ธุดงค์  

aspect    อาการ  

assembly    สภา, บริษัท (= ปริสา ที่ประชุมหรือ ชุมชน หมู่ชน ไม่ใช่บริษัท ในภาษาไทย)

associated with    สัมปยุต 

association    สัมปโยคะ, เสวนา 

assuming    อุปาทาน 

attachment    อุปาทาน

attainment    อภิสมัย (การบรรลุ), สมาบัติ

attainment concentration    อัปปนาสมาธิ

attendance    อุปัฏฐาน (การบํารุง, เฝ้า, พยาบาล)

attendant    อุปัฏฐาก, อุปฐาก  

attention    มนสิการ 

attentiveness    ความมีสติ

audible object    สัททารมณ์, สัททะ (เสียง)

austere practices    ธุดงค์ 

austerities    ตบะ, พรต

authority    อาณา, อิสริยะ

avarice    มัจฉริยะ

aversion    ปฏิฆะ; อรติ

avoidance    วิรัติ; สังวร

Awakened One, the    พระพุทธเจ้า

Awakening    อภิสัมโพธิ, การตรัสรู้

awareness    สัมปชัญญะ 


B

bad    บาป

bad company    ปาปสหายตา (ความมีเพื่อนชั่ว)

balanced life; balanced livelihood    สมชีวิตา 

banishment    ปัพพาชนียกรรม

basis of mindfulness    สติปัฏฐาน

basis for success    อิทธิบาท

becoming    ภพ, ภวะ

being    สัตว์

belief in a soul or self    สักกายทิฏฐิ 

benefaction    ทาน, อัตถจริยา 

benefactor    ทายก

benefit    อานิสงส์, อัตถะ, อรรถ

benevolence    อัตถจริยา

besotting drink    มัชชะ

birth    ชาติ 

birth story    ชาดก 

blameless action    อนวัชชกรรม

Blessed One, the    ภควา (พระผู้มีพระภาค)
blessing    พร, มงคล, อนุโมทนา, อานิสงส์

bliss    สุข

Bodhisatta; Bodhisattva    พระโพธิสัตว์

bodily (adj)    กายิกะ (ทางกาย)

bodily action    กายกรรม

bodily avenue    กายทวาร

bodily formation; bodily functions    กายสังขาร

bodily good conduct    กายสุจริต 

bodily happiness    กายิกสุข

bodily misconduct    กายทุจริต

bodily pain    กายิกทุกข์

body    กาย 

bond    โยคะ

boon    พร

border district    ปัจจันตชนบท

boundary    สีมา

bourn    คติ

Brahma-farer    พรหมจารี

Brahma-faring    พรหมจรรย์

Brahmin, brahman    พราหมณ์  

breathing in    อัสสาสะ (การหายใจเข้า) (= in breathing)

breathing out    ปัสสาสะ (การหายใจออก) (= out breathing)

Buddha, the    พระพุทธเจ้า

Buddhism    พระพุทธศาสนา

Buddhist    พุทธศาสนิก

buoyancy    ลหุตา (ความเบา)

burden    ธุระ, ภาระ


C

calm    สมถะ

Calmed One, the    พระมุนี

canker    อาสวะ

canon    ปิฎก, คัมภีร์

carelessness    ปมาทะ, ความประมาท

carnalities    อามิส

caste    วรรณะ

category    ขันธ์

causal occasion    ฐาน

cause    เหตุ

Cause of Suffering    ทุกขสมุทัย, สมุทัย

cemetery    สุสาน

cessation    นิโรธ

Cessation of Suffering    ทุกขนิโรธ, นิโรธ

change    วิปริณาม

change-of-lineage    โคตรภู

chanting    การสวดมนต์ 

chapter of monks    คณะ (ในวินัย)

character    จริต

characteristic    ลักษณะ

charity    ทาน, จาคะ

clairaudience    ทิพยโสต

clairvoyance    ทิพยจักษุ

clan    โคตร, กุล, สายตระกูล

clansman    กุลบุตร

classification    สังคหะ (จัดประเภท)

clear comprehension    สัมปชัญญะ

clinging    อุปาทาน

cognizance    จิต, จิตต์

cognizable object    ธรรมารมณ์

cohesion, the element of    อาโปธาตุ

Collection    นิกาย (แห่งคัมภีร์) 

comfort    ผาสุก

commentary    อรรถกถา

common characteristics    สามัญลักษณะ

community    สังฆะ, สงฆ์

companion    สหาย

compassion    กรุณา 
compounded things    สังขาร, สังขตธรรม

comprehension    สัมปชัญญะ, ปริญญา

conceit    มานะ 

concentration    สมาธิ

concentration development    สมาธิภาวนา, สมถ- ภาวนา

concept    บัญญัติ

conception    ปฏิสนธิ

concord    สามัคคี 

condition    ปัจจัย

conditioned genesis    ปฏิจจสมุปบาท

conditioned things    สังขาร, สังขตธรรม

conduct    อาจาร, จริยา, จรณะ, สมาจาร

confession    เทศนา (การแสดงอาบัติ)

confidence    สัทธา, ศรัทธา, ปสาทะ

conformity    อนุโลม

conquest    ชัย, วิชัย 

conquest by piety    ธรรมวิชัย 

conscience    หิริ 

conscientious (adj)   ลัชชี, มีหิริโอตตัปปะ

consciousness    วิญญาณ

consequence    วิบาก

consideration    มนสิการ

constituent    องค์, โวการ

contact    ผัสสะ 

contemplation    อนุปัสสนา, อนุสติ

contemplation of the body    กายานุปัสสนา

contemplation of the feelings    เวทนานุปัสสนา

contemplation of the mind    จิตตานุปัสสนา

contemplation of the mind-objects    ธัมมานุ- ปัสสนา

contempt    มักขะ; อติมานะ

content; contentment    สันโดษ, สันตุฏฐี

continuity    สันตติ, สันตานะ

control of the senses    อินทรียสังวร 

controlling faculty    อินทรีย์ 

conventional truth    สมมติสัจจะ

conversion    อาวัตต์, อาวัตตนา, การกลับใจเปลี่ยนศาสนา

co-religionist    สหธรรมิก

corporeality    รูป, รูปธรรม 

corruption    สังกิเลส, อุปกิเลส, อาสวะ 

Council    สังคายนา, สังคีติ

counterpart    ปฏิภาค

couplet    ทุกะ

course of action    กรรมบถ 

courteous speech; courtesy    ปิยวาจา, เปยย- วัชชะ

covetousness    อภิชฌา

craving    ตัณหา

craving for annihilation    วิภวตัณหา

craving for existence    ภวตัณหา  

craving for non-existence    วิภวตัณหา

craving for sensual pleasures    กามตัณหา

cremation    ฌาปนกิจ

crematorium    ฌาปนสถาน 

cruelty    วิหิงสา

curds    ทธิ

วันจันทร์

๐๘. ปฐมเทศนา

ครั้นถึงวันอาสาฬหปุณณมี วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ อาสาฬหมาส ได้โอกาสอันควรที่จะแสดงธรรม โปรดพระปัญจวัคคีย์ พระพุทธองค์จึงประกาศพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือการปฐมเทศนาครั้งแรกในโลก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแห่งนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงที่สุดสองอย่าง ที่ภิกษุไม่ควรเสพ คือ การพัวพันหนักใน กามสุข และการประกอบกรรม อันเป็นการทรมานตัวเองให้เหนื่อยเปล่า ไม่ใช่ทางแห่งความหลุดพ้น ทรงชี้ทางให้ ดำเนินตาม มัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลางที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

สัมมาทิฏฐิ - ความเห็นชอบ คือญาณปัญญาที่รู้ชัดในอริยสัจจ์ ๔ ว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุให้เกิดทุกข์ นี่ความดับโดยไม่เหลือแห่งทุกข์ นี่ทางดำเนินเพื่อให้ถึงความดับทุกข์

สัมมาสังกัปโป - คือดำริชอบในการที่จะออกจากกามารมณ์ทั้งหลายดำริในเรื่องเลิก ไม่ผูกพยาบาทเขาและดำริชอบในอันที่จะไม่เบียดเบียนเขา

สัมมาวาจา - เจรจาชอบ คือเว้นจากการกล่าวคำเท็จ เว้นจากกล่าวคำส่อเสียด เว้นจากกล่าวคำหยาบ คำพูดที่เพ้อเจ้อ เหลวไหล ไม่มีประโยชน์

สัมมากัมมันโต - ประกอบการงานชอบ คือ เว้นจากฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เว้นจาการถือเอาสิ่งที่เจ้าของเขาไม่อนุญาตให้ (ขโมย) และเว้นจากการประพฤติผิดลูกเมียเขา

สัมมาอาชีโว -เลี้ยงชีพชอบคือ เว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิดโดยอุบายทุจริตหลอกหลวง บีบคั้นผู้อื่น ให้ทำเฉพาะการงานประกอบอาชีพที่ดีที่ชอบ

สัมมาวายาโม - เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรยังบุญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรรักษาบุญกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมหายไปเสีย

สัมมาสติ - ระลึกชอบ คือ เฝ้าคำนึงใคร่ครวญพิจารณาสติปัฏฐานทั้งสี่เสมอ คือให้มีสติกำหนดพิจารณา กาย เวทนา จิต และธรรม ให้เห็นเป็นแต่สักว่า กาย เวทนา จิต และ ธรรม ส่วนหนึ่งๆ เท่านั้น หาได้มีสัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา ผู้หญิง ผู้ชาย อะไรที่ไหนเลย เรียกว่ามีแต่รูป หรือกายกับนาม คือจิตผู้รู้เท่านั้นในโลกนี้แล้วถอนทิ้งเสียซึ่งความยินดียินร้ายในโลกเสีย

สัมมาสมาธิ - ตั้งจิตไว้ชอบ คือ ทำจิตให้สงบจากกามารมณ์ และธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลที่เป็นนิวรณ์ด้วยการเจริญสมาธิ เจริญญาณทั้งสี่ให้เกิดให้มีขึ้น

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเล่าให้ภิกษุสงฆ์ฟังภายหลังว่า "ตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศ อนุตตรธรรมจักร ให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี เป็นธรรมจักรที่สมณะ หรือพราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะต้านทานให้หมุนกลับไม่ได้" ข้อนี้คือการบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก และการทำให้ตื่น ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่ประการ ได้แก่

๑. ความจริงอันประเสริฐคือความทุกข์
๒. เหตุให้เกิดทุกข์
๓. ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
๔. หนทางทำผู้ปฏิบัติให้บรรลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

สรุปได้ว่า พระพุทธองค์ทรงเห็นสังขารทุกข์ของสัตว์มนุษย์ทั้งปวงว่า เมื่อเกิดมาแล้วมันมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น จะต้องแก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น แล้วก็มาเกิดอีก หมุนเวียนอยู่ดังนี้เรื่อยไปเป็นลูกโซ่ ทีนี้ทำอย่างไรเล่าจะไม่ต้องมาแก่ เจ็บ ตาย และทนทุกข์ทรมาน รวมถึงทุกข์อื่นๆ เช่น ความโศก ความรำพัน เป็นต้น มีทางเดียวคือเลิกเกิด ทำอย่างไร มันถึงจะเลิกเกิดได้ ที่เราต้องเวียนเกิดเวียนตายกันอยู่นี้ ก็เพราะอวิชชา เราต้องทำลายอวิชชาให้หมดไป คือ มารู้ และปฏิบัติตามความจริงอันประเสริฐสี่ประการที่เรียกว่า อริยสัจจ์ ๔

ท่านโกณฑัญญะ ผู้เป็นหัวหน้าตั้งใจฟังไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนา ก็ได้ปัญญาเห็นธรรม ปราศจากมลทิน คือ โสดาปัตติมรรคเกิดขึ้นว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงเหล่านั้น ก็จะต้อง มีความดับไปเป็นธรรมดาเช่นกัน" เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว จึงเปล่งพระ อุทาน ว่า "โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ" แล้วพระโกณฑัญญะจึงทูลขออุปสมบท ก็โปรดอนุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อจากนั้นมา พระองค์ทรงอบรมสั่งสอนท่านภัททิยะ วัปปะ มหานาม และท่านอัสสชิ เพื่อให้มีปัญญาแก่กล้าขึ้น ทั้งสี่ท่านก็ได้สำเร็จเป็นโสดาบันทุกองค์แล้วจึงทูลขออุปสมบท ต่อมาทรงเห็นว่า ภิกษุทั้งห้ามีอินทรีย์แก่กล้า ควรแก่การเจริญปัญญาเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสแล้ว ก็โปรดเทศน์เรื่อง อนัตตลักขณสูตร ภิกษุเหล่านั้นเข้าใจโดยถ่องแท้จากการฟังพระธรรมเทศนาตามไปจนจบ ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ทั้งหมดด้วยกัน เป็นอันว่าพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ได้เกิดขึ้นพร้อมแล้ว ณ ที่นี้



ศากยวงศ์, • พระโพธิสัตว์จุติ, • ประสูติ, • คำทำนายโหราจารย์,  • เสด็จออกบรรพชา, • ตรัสรู้, • เสวยวิมุติสุข, • ปฐมเทศนา, • ๔๕ พรรษา, • ปรินิพพาน

๐๗. เสวยวิมุตติสุข

หลังจากตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ประทับเสวยวิมุตติสุข (คือการพบสุขที่เกิดเพราะความหลุดพ้น จากกิเลส) อยู่ในที่ ๗ แห่งๆ ละ ๗ วัน ดังนี้

สัปดาห์แรก
ประทับนั่งสมาธิที่วัชรอาสน์ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ๗ วัน พระพุทธองค์ได้กำหนดนึกในใจ เพื่อพิจารณาทบทวนเรื่องราว โดยตามลำดับ ตลอดปฐมยามแห่งราตรีนั้น แล้วทรงเปล่งอุทานว่า "ในการใดแล ธรรมทั้งหลาย มาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ผู้นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งธรรมพร้อมด้วยเหตุ"(เหตุแห่งทุกข์)

ในเวลากลางคืน ทรงพิจารณาทบทวนปฏิจจสมุปบาท แบบย้อนตามลำดับ คือพิจารณาจากปลายมาจุดเริ่มแรกแล้วมีพุทธอุทานว่า "ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้แจ้งความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย"(ทางดับทุกข์)

ในปัจฉิมยาม ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาททั้งตามลำดับและ ย้อนตามลำดับแล้วมีพุทธอุทานขึ้นว่า "ในกาลใดแลธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้นพราหมณ์ผู้นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์กำจัดมืดส่องแสงสว่างอยู่ในอากาศ ฉะนั้น"(หมดสิ้นกิเลสเข้าสู้ทางนิพพาน)


สัปดาห์ที่สอง
อนิมิสเจดีย์-ทรงพระดำเนินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อได้ระยะพอควรกับการทอดพระเนตร ก็ทรงหันกลับพระพักตร์มายืนพิจารณาต้นโพธิ์ที่ได้ตรัสรู้นั้น ทรงลืมพระเนตรโดยมิได้กระพริบเลยตลอดสัปดาห์ เพื่อทบทวนความทรงจำต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วโดยลำดับ ความหมุนเวียนผันแปรอันเกิดขึ้นตามอำนาจของสังขารจักรก็มาหยุดลงแค่นี้ ต้นมหาโพธิ์ต้นนี้เป็นที่ให้กำเนิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสัจธรรมอันบริสุทธิ์ สามารถชำระล้างกิเลสนานาชนิดของสัตว์โลกได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ ทรงพอพระทัยในการตรัสรู้นี้เป็นอย่างยิ่ง สถานที่นี้จึงเรียกว่า อนิมิสเจดีย์

สัปดาห์ที่สาม
เสด็จมาเดินจงกรมอยู่ ๗ วัน ตรงระหว่างกลางแห่งอนิมิสเจดีย์กับต้นศรีมหาโพธิ์ ทางด้านเหนือของวิหาร ที่ตรงนั้นเขาก่อฐานปูนสูงขึ้นประมาณ ๔ ฟุต จากพื้นถนน แล้วสลักหินเป็นรูปดอกบัวโตพอประมาณ ๑๙ ดอก แสดงว่าเป็นทางเดินจงกรมของพระพุทธองค์เรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์

สัปดาห์ที่สี่
เทวดาเนรมิตเรือนแก้วขึ้นทางทิศเหนือของต้นโพธิ์ เสด็จนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎกสิ้นเจ็ดวัน สถานที่นี้เรียกว่ารัตนฆรเจดีย์

สัปดาห์ที่ห้า
เสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปยังต้นไทรอชปาลนิโครธ ประทับอยู่เจ็ดวันขณะเสวยวิมุตติสุขอยู่ ธิดาพญามารสามตน คือ ราคะ อรตี และตัณหา ได้อาสาพ่อเข้าไปประเล้าประโลมด้วยเสน่ห์กามคุณต่างๆ นานา พระองค์กลับไล่ไปเสียแสดงถึงบุคลิกลักษณะอันประเสริฐของผู้ชนะตนได้แล้ว จะไม่ยอมกลับเป็นผู้แพ้อีก

สัปดาห์ที่หก
ทรงเสด็จเสวยวิมุตติสุขที่สระมุจลินท์ (มุจลินท์เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ไม้จิก ปัจจุบันทั้งสระน้ำมุจลินท์และต้นมุจลินท์ไม่มีให้เห็นแล้ว มีแต่สระมุจลินท์จำลองที่สร้างไว้ใกล้ๆ อาณาบริเวณวิหารพุทธคยา ทั้งนี้ เพื่อกันลืมสระดั้งเดิม) และเพราะต้นมุจลินท์ขึ้นอยู่ริมสระแห่งนั้นจึงมีชื่อว่า สระมุจลินท์ เมื่อพระองค์ประทับเสวยวิมุตติสุขได้ ๗ วัน ที่ใต้ต้นอชปาลนิโครธแล้ว ได้เสด็จมาประทับที่ใต้ต้นจิกริมสระนี้ ตอนนั้นเกิดฝนตกหนักเจือด้วยลมหนาว ฝนตกพรำอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน ร้อนถึงพญานาคซึ่งอาศัยอยู่ในสระนี้ ขึ้นมาขดตัวเจ็ดรอบแลแผ่พังพานเพื่อจะป้องกันฝนและลมมิให้ถูกพระวรกาย (นี้เป็นกำเนิดของพระพุทธรูปางนาคปรก) ครั้นฝนหายแล้วก็คลายขนดออก จำแลงเพศเป็นชายหนุ่มมายืนเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์พระองค์ ได้ทรงเปล่งอุทานเป็นภาษิตที่ไพเราะจับใจดังนี้

"ความสงบสงัดเป็นสุขสำหรับบุคคลผู้ได้เจริญธรรมแล้วยินดีอยู่ในสงัด ทำให้ได้ตามรู้ตามเห็นสังขารทั้งปวงตามความเป็นจริง ทำให้สำรวมระวังตัว เลิกการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย และสิ้นความกำหนัด คือความล่วงกามคุณทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง ความละคลายการถือตน ถือว่ามีตัวมีตนให้หมดได้ เป็นความสุขอย่างยิ่ง"

สัปดาห์ที่เจ็ด
ตลอด ๖ สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น พระพุทธองค์ไม่ได้ชำระล้างพระพักตร์ ไม่ได้ปฏิบัติพระสรีระ และไม่มีกิจด้วยพระกระยาหาร ด้วยทรงยับยั้งกิจทั้งปวงนี้อยู่ด้วยฌานสุข มรรคสุข และผลสุข ในสัปดาห์สุดท้ายของการเสวยวิมุตติสุข พระพุทธองค์ประทับใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) พระอินทร์ลงมาถวายผลสมออันเป็นทิพยโอสถ ไม้สีทนต์ชื่อ “นาคลดา” และน้ำบ้วนพระโอษฐ์จากสระอโนดาต จากนั้นตปุสสะและภัลลิกะ สองพ่อค้าหนุ่มได้เข้าเฝ้าพร้อมกับถวายสัตตุผงและสัตตุก้อนเพื่อเป็นภัตตาหาร

ครั้งนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่องค์ได้ถวายบาตรศิลาแด่พระพุทธเจ้าองค์ละ ๑ ใบ พระพุทธเจ้าทรงรับและอธิษฐานให้บาตรทั้งสี่ใบรวมกันเป็นใบเดียว จากนั้นพระพุทธองค์ทรงใช้บาตรนั้นรับสัตตุผงและสัตตุก้อนที่พ่อค้าสองคนนำมาถวาย ครั้นแล้วพ่อค้าทั้งสองคนจึงได้เปล่งวาจาถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะตลอดชีวิต ทั้งสองจึงกลายเป็น “พุทธมามกะคู่แรก” ของโลก

เมื่อสิ้นสัปดาห์ที่ ๗ นี้แล้ว เสด็จกลับไปประทับใต้ต้นอชปาลนิโครธอีก ทรงดำริถึงความลึกซึ้งแห่งธรรมที่ตรัสรู้ คือ ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน แล้วตัดสินพระทัยที่จะไม่แสดงธรรม ร้อนถึงท้าวสหัมบดีพรหมต้องเร่งมากราบทูลอาราธนาขอให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อโปรดคนที่สามารถโปรดได้


เรื่องราวการเสวยวิมุตติสุขตลอดทั้งเจ็ดสัปดาห์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะ พระจริยวัตรของพระพุทธเจ้าหลายประการ อันได้แก่ ความเป็นโลกุตระ (ความอยู่เหนือโลก) การเป็นผู้ชนะกิเลสทั้งปวงหรือผู้ปราศจากกิเลส และการกตัญญูรู้คุณ



ศากยวงศ์, • พระโพธิสัตว์จุติ, • ประสูติ, • คำทำนายโหราจารย์,  • เสด็จออกบรรพชา, • ตรัสรู้, • เสวยวิมุติสุข, • ปฐมเทศนา, • ๔๕ พรรษา, • ปรินิพพาน

๔.๑.๑ กายทุจริต ๓

กายทุจริต ๓
๑. ปาณาติบาต ปาณาติบาต คือ เจตนาทำให้สิ่งมีชีวิตตกไปโดยเร็ว คือ ตายไปก่อนที่จะหมดอายุ ซึ่งโดยปกติธรรมดาแล้วสัตว์มีลักษณะค่อยๆตกไป คือ ตายไปเองตามปกติอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ยอมให้เป็นไปตามปกติอย่างนั้น กลับทำให้ตกไปอย่างเร็วด้วยการฆ่า ฉะนั้น กรรมที่ได้ชื่อว่าปาณาติบาตก็คือเจตนาฆ่า
องค์ประกอบของปาณาติบาต มี ๕ ประการ
๑. สัตว์มีชีวิต
๒. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓. มีจิตคิดจะฆ่า
๔. เพียรพยายามเพื่อฆ่า
๕. สัตว์นั้นตายลงเพราะความพยายามนั้น
การฆ่าสัตว์ที่ครบ ๕ ประการนี้ ชื่อว่าเป็นการทำบาปที่ครบองค์ปาณาติบาต การทำให้ชีวิตของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นสูญสิ้นไป ถือเป็นบาปทั้งสิ้น ผู้ที่เคยฆ่าสัตว์เมื่อใกล้จะตายถ้าคิดถึงบาปนั้น ผลของบาปก็จะนำให้ไปเกิดในอบายภูมิ ถ้าบาปนี้ไม่มีกำลังส่งผลตอนนำไปเกิด ก็จะสามารถส่งผลได้ตอนหลังจากเกิดแล้วโดยส่งผลให้ได้รับวิบากที่ไม่ดี มีการเห็นไม่ดี ได้ กลิ่นไม่ดี เป็นต้น

อกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ สำเร็จได้เพราะเจตนาที่ประกอบใน🔎อกุศลจิต ๑๒ คือ 
  • โลภมูลจิต ๘ 
  • โทสมูลจิต ๒ 
  • โมหมูลจิต ๒ 
อกุศลกรรมนี้เมื่อส่งผลจะสามารถส่งผลได้ ๒ กาล คือ
๑. ส่งผลนำไปเกิด (
🔎ปฏิสนธิกาล) จะนำไปเกิดในอบายภูมิ ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
๒. ส่งผลขณะดำรงชีวิตหลังจากเกิดแล้ว (🔎ปวัตติกาล) คือส่งผลให้ ๑. ได้เห็น ๒.ได้ยิน ๓. ได้กลิ่น ๔. ได้ลิ้มรส ๕. ได้รับสัมผัส ๖. ได้รับอารมณ์ ๗. พิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี

กล่าวคือจะส่งผลให้ได้รับวิบาก ที่ไม่ดี ๗ ประการนี้เป็นพื้นฐาน และภายหลังจากไปรับทุกข์โทษในอบายภูมิมาแล้ว เศษกรรมที่เหลือจะตามส่งผลในด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ถ้าฆ่าสัตว์ วิบากกรรมที่จะได้รับในปวัตติกาล คือ ถูกฆ่า ถูกทำร้าย เป็นต้น

เกณฑ์ตัดสินการฆ่าว่ามีบาปมากหรือน้อย
บาปมาก
๑. ฆ่าสัตว์ใหญ่หรือสัตว์ที่มีประโยชน์ เช่น วัว ควาย
๒. ฆ่าผู้มีคุณธรรมมาก เช่น พระสงฆ์ บิดามารดา
๓. ใช้ความพยายามในการฆ่ามาก
บาปน้อย
๑. ฆ่าสัตว์เล็ก เช่น มด ยุง ริ้น ไร 
๒. ฆ่าผู้ไม่มีคุณธรรม เช่น โจร ผู้ร้าย 
๓. ใช้ความพยายามในการฆ่าน้อย

ความพยายามในการฆ่า ทำได้ ๖ ประการ คือ
๑. ฆ่าด้วยตนเอง
๒. ใช้คนอื่นฆ่า
๓. ปล่อยอาวุธ
๔. ใช้อาวุธต่างๆ เช่น มีด ปืน ฯลฯ หรือ ขุดหลุมพราง 
๕. ใช้วิชาอาคม หรือไสยศาสตร์ต่าง ๆ 
๖. ใช้ฤทธิ์

ผลของปาณาติบาต ส่งผลในปฏิสนธิกาล คือ ส่งผลนำไปเกิด การทำบาปที่ครบองค์ประกอบของปาณาติบาตทั้ง ๕ จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ ถ้ากรรมคือการฆ่านี้ส่งผลเมื่อสิ้นชีวิตจะนำไปเกิดในอบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน เป็นการส่งผลในปฏิสนธิกาล

การส่งผลในปวัตติกาล คือ ส่งผลหลังจากเกิดแล้ว คือทำให้ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้รับสัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดีและเศษกรรมยังส่งผลทำให้อายุสั้น ซึ่งอกุศลกรรมจะตามมาส่งผลได้ตั้งแต่เกิดอยู่ท้องมารดา ทำให้ได้รับอันตราย ได้รับความวิบัติต่างๆ มารดาบิดาก็มักมีแต่โรคภัยไข้เจ็บก็ส่งผลให้บุตรที่อยู่ในครรภ์ไม่ได้รับอาหารจากมารดาเท่าที่ควร ทำให้อ่อนแอมาตั้งแต่แรกเกิดก็ได้ หรือ ในเวลานั้นอาจส่งผลทำให้โภคทรัพย์ของบิดามารดาพินาศ ของกิน ของใช้ เครื่องนุ่งห่ม ขาดแคลน ทำให้การบริหารครรภ์ไม่ดี ทารกก็ขาดความสมบูรณ์ อาจจะตายตั้งแต่อยู่ใน ครรภ์ และหรือเมื่อคลอดแล้วอาหารการกินไม่สมบูรณ์ ทารกย่อมอ่อนแอ และทำให้มีอายุสั้นได้ เพราะผลแห่งการฆ่าสัตว์นั้นติดตามมาส่งผลบีบคั้นให้ย่อยยับไปตามวาระ ตามโอกาส และหรือส่งผลทำให้ถูกฆ่า ถูกทำร้าย ข้อปฏิบัติเพื่อเป็นคนมีอายุยืน คือ เจตนากรรมที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จะส่งผลนำไปเกิดในเทวโลกได้ แต่หากว่าพลาดโอกาสนี้ไป บุคคลนั้นไปเกิดเป็นมนุษย์ กรรมนี้ก็จะตามส่งผลให้ในปวัตติกาล คือ หลังจากที่บุคคล นั้นปฏิสนธิแล้ว ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องของมารดาก็ส่งผลนำความสุขมาให้ เช่น ตั้งแต่เกิดอยู่ในท้องมารดา ทั้งมารดาทั้งบิดาก็มีแต่ความสุขสำราญ อันตรายใดๆที่ปกติมีอยู่ก็ไม่เกิดขึ้น ทรัพย์ทั้งหลายก็มั่งคั่ง ไม่มีความขัดสน คน แวดล้อมทั้งหลาย มีทาสกรรมกร เป็นต้น ก็เป็นคนว่าง่าย ไม่หลีกเลี่ยงการงาน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทารกที่อยู่ในครรภ์ก็ได้รับการบริหารครรภ์ที่ดี ร่างกายมีกำลังแข็งแรงมาตั้งแต่อยู่ในท้อง เมื่อคลอดก็ได้หมอดี คลอดแล้วก็ได้อาหาร ได้ยาที่ดี คลอดแล้วก็เป็นที่ชื่นชมยินดีแก่คนทั้งหลายในตระกูลเพราะได้เห็น เขาเป็นเด็กแข็งแรง ทรวดทรงงดงามไม่พิการ นี้คือผลของการมีเจตนางดเว้นจากการฆ่า ถ้าไม่ได้ฆ่าสัตว์ แต่เบียดเบียนสัตว์ ด้วยอาวุธ ด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยการกักขัง ทรมานต่างๆ เป็นต้น เช่นนี้ไม่เป็นปาณาติบาต แต่การกระทำนี้ เป็นบาปอกุศลกรรม ถ้าส่งผลในปฏิสนธิกาล ก็ส่งผลให้ไปเกิดในอบายภูมิ ๔ เมื่อสิ้นกรรม จากอบาย ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นคนไม่แข็งแรงมีโรคภัยไข้เจ็บมาก มีอันตรายต่างๆ มีการทำให้ทรัพย์หมดไปเป็นต้น ฉะนั้นการที่จะไม่ต้องเป็นคนมีโรคภัยไข้เจ็บมากก็ต้องงดเว้นจากการ เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย

๒. อทินนาทาน  คือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ อทินนาทานจะสำเร็จลงได้ก็ด้วยมีเจตนาในการที่จะได้ครอบครอง สิ่งของที่มีผู้หวงแหนรักษา โดยการลักขโมย ฉ้อโกง ยักยอก เบียดบัง สับเปลี่ยน ปลอมแปลง โจรกรรม เป็นต้น อนึ่ง การใช้อุบายหลอกลวงจนผู้อื่นรู้ไม่เท่าทัน จนต้องเสียผลประโยชน์ แม้ว่าผู้อื่นนั้นจะเห็นชอบยอมรับ แต่เมื่อเป็นไปด้วยเจตนาที่หลอกลวงก็เป็นอทินนาทานด้วย

มีเรื่องเล่าว่า นายพรานคนหนึ่งจับแม่เนื้อและลูกเนื้อได้ มีนักเลงคนหนึ่งถามนายพรานว่า “แม่เนื้อราคาเท่าไร ลูกเนื้อราคาเท่าไร” เขาตอบว่า “แม่เนื้อราคา ๒ เหรียญ ลูกเนื้อราคา ๑ เหรียญ” เขาก็ให้ไป ๑ เหรียญ แล้วเอาลูกเนื้อมา เขาเดินไปได้หน่อยหนึ่งก็กลับมาพูดว่า “นายเอ๋ยฉันไม่ต้องการลูกเนื้อแล้วละ จงให้แม่เนื้อแก่ฉันเถิด” นายพรานจึงบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นจงให้ ๒ เหรียญซิ” นักเลงจึงกล่าวว่า “ทีแรกฉันได้ให้ท่านไว้ ๑ เหรียญแล้วมิใช่หรือ” นายพรานก็ยอมรับว่า“ ใช่ ให้ไว้ ๑ เหรียญ แล้ว” นักเลงจึงบอกว่า “ จงรับลูกเนื้อคืนไป ลูกเนื้อตัวนี้ราคา ๑ เหรียญ และเคยให้ไว้แล้ว ๑ เหรียญ รวมกันเข้าก็เป็น ๒ เหรียญ” นายพรานได้ยินก็เข้าใจว่าเขาพูดมีเหตุผล จึงยอมรับเอาลูกเนื้อนั้นมาแล้วให้แม่เนื้อไป เป็นอันว่านักเลงผู้นั้นได้แม่ เนื้อไปโดยเสียเงินซื้อเพียง ๑ เหรียญ การยอมรับตกลงด้วย ไม่ใช่เหตุของการป้องกันไม่ให้เป็นอทินนาทาน นายพรานยอมตกลงด้วยเพราะรู้ไม่เท่าทันเจตนาเล่ห์เหลี่ยมของนักเลง ส่วนการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของหวงแหนโดยไม่มีเจตนาที่จะลักเอามา แต่ถือเอาด้วยวิสาสะ ความคุ้นเคยสนิทสนม คือว่าหยิบฉวยเอาของผู้อื่นไปบริโภคใช้สอย เพราะเห็นว่าผู้นั้นเป็นคนคุ้นเคย เป็นพี่น้อง เป็นเพื่อน อย่างนี้ ไม่จัดเป็นอทินนาทาน
วิสาสะ คือ ความคุ้นเคย มี ๕ คือ
๑. เคยเห็นกันมา
๒.เคยคบหากันมา
๓.เคยบอกอนุญาต
๔. ผู้ที่ตนมีวิสาสะด้วยยังมีชีวิตอยู่ 
๕. ผู้ที่ตนจะมีวิสาสะด้วยยินดียอมรับ 

องค์ประกอบของการลักทรัพย์ มี ๕ ประการ คือ
๑. วัตถุสิ่งของนั้นมีเจ้าของ
๒. รู้ว่าวัตถุสิ่งของนั้นมีเจ้าของ
๓. มีจิตคิดจะลักทรัพย์
๔. เพียรพยายามเพื่อลักทรัพย์
๕. ได้สิ่งของที่พยายามลักนั้นมา

เกณฑ์ตัดสินอทินนาทานว่าบาปมากหรือน้อย
โดยถือเอาเจ้าของทรัพย์เป็นเกณฑ์
นัยที่ ๑ เรียงตามบาปน้อยไปหาบาปมาก
เจ้าของทรัพย์ คือ
๑. ฆราวาส
๒. พระภิกษุ หรือ สามเณร ๑ รูป
๓. พระภิกษุ หรือ สามเณร ๒-๓ รูป
๔. พระภิกษุ หรือ สามเณร ๔ รูปขึ้นไป
นัยที่ ๒ เรียงตามบาปน้อยไปหาบาปมาก
เจ้าของทรัพย์ คือ
๑. ปุถุชน
๒. พระโสดาบัน
๓. พระสกทาคามี
๔. พระอนาคามี
๕. พระอรหันต์

ความพยายามในการลักทรัพย์ ทำได้ ๖ ประการ
คือ ๑. ลักทรัพย์ด้วยตนเอง
๒. ใช้ผู้อื่นลักทรัพย์ด้วยวาจา หรือเขียนเป็นหนังสือ
๓. ทิ้งหรือโยนทรัพย์ออกไปนอกเขตเพื่อให้พวกเดียวกันรับต่อ
๔. สั่งพรรคพวกเมื่อมีโอกาสให้พยายามลักทรัพย์นั้นมา
๕. ใช้เวทย์มนต์คาถาทำให้หลงใหลแล้วลักทรัพย์
๖. ใช้ฤทธิ์ในการลักทรัพย์
ผลของการลักทรัพย์ การส่งผลในปฏิสนธิกาล (ขณะเกิด) การส่งผลในปวัตติกาล (หลังจากเกิดแล้ว) การทำบาปที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๕ จัดเป็น อกุศลกรรมที่สมบูรณ์ ถ้าอทินนาทานนี้ส่งผล จะนำเกิดในอบายภูมิเป็นการส่งผลในปฏิสนธิกาล(คือ นำไปเกิด) กรรมนี้จะส่งผลได้ในปวัตติกาล ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ได้รับอารมณ์ และพิจารณาอารมณ์ที่ไม่ดี ถ้าบาปนี้ไม่ส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ บุคคลนั้นได้มาเกิดเป็นมนุษย์ กรรมนี้ก็จะตามส่งผลได้ในปวัตติกาล หรือเมื่อบุคคลพ้นโทษจากอบายภูมิแล้ว เศษกรรมยังตามมาส่งผลในปวัตติกาลอีก ทำให้เป็นคนยากจน ถ้ามีทรัพย์ก็จะพินาศเพราะ โจร น้ำ ไฟ พายุ ถูกทางการริบทรัพย์ต้อง สูญเสียทรัพย์

๓. กาเมสุมิจฉาจาร คือ การประพฤติผิดในกาม หมายถึงการประพฤติชั่วที่คนดีทั้งหลายรังเกียจและติเตียน คำว่า “กาม” หมายถึง เมถุนธรรม เป็นการกระทำของคนคู่หญิงกับชาย ด้วยความกำหนัด คือการร่วมประเวณี การประพฤติร่วมประเวณีที่ผิดศีลก็มีองค์ประกอบ ๔ องค์ประกอบของการประพฤติผิดในกาม ๔ ประการ คือ
๑. มีวัตถุที่ไม่ควรเสพ ได้แก่ หญิง ๒๐ จำพวก
๒. มีจิตคิดจะส้องเสพในวัตถุอันไม่ควรนั้น
๓. มีความพยายามในการส้องเสพ
๔. มีการทำมรรคให้จรดถึงกัน มรรคในที่นี้หมายถึงอวัยวะเพศ คือ ทำอวัยวะเพศให้จรดถึงกัน เนื่องจากเป็นการกระทำของคนคู่ จึงแสดงสิ่งที่เป็นวัตถุที่ไม่ ควรเกี่ยวข้องได้แก่หญิง ๒๐ จำพวก ไว้เป็นลำดับแรก การร่วมประเวณีจะสำเร็จได้ก็เพราะฝ่ายชายไม่ใช่ฝ่ายหญิง เพราะเหตุนี้ฝ่ายชายจึงมีโอกาสทำผิดศีลข้อ ๓ นี้ได้ง่าย เพราะฉะนั้นท่านจึงวางองค์แห่งการวินิจฉัยการกระทำของฝ่ายชายไว้ก่อนว่าวัตถุที่ไม่ควรเกี่ยวข้องได้แก่หญิง ๒๐ จำพวก หลังจากนั้นจึงจะวินิจฉัยการกระทำของฝ่ายหญิงต่อไปได้
หญิง ๒๐ จำพวกที่ชายไม่ควรเกี่ยวข้อง มีดังนี้
หญิงที่ยังไม่มีสามี มี ๑๐ จำพวก คือ
๑. หญิงที่มีมารดารักษา คือมีมารดาปกครองดูแล
๒. หญิงที่มีบิดารักษา คือมีบิดาปกครองดูแล
๓. หญิงที่มีทั้งมารดาทั้งบิดารักษา
๔. หญิงที่พี่น้องชายรักษา
๕. หญิงที่พี่น้องหญิงรักษา
๖. หญิงที่ญาติรักษา
๗. หญิงที่โคตรคือวงศ์สกุลรักษา
๘. หญิงที่ธรรมรักษา (หญิงที่บวช ประพฤติธรรม)
๙. หญิงที่รับหมั้นชายแล้ว
๑๐. หญิงที่มีกฎหมายรักษา (คือ หญิงที่ทางบ้านเมืองออกกฎประกาศให้ทราบว่า หญิงนี้ชายใดล่วงล้ำ ชายนั้นจะถูกลงโทษ เพื่อเตรียมไว้สำหรับคัดเลือกในสำนักพระราชา หรือเพื่อพระราชพิธีที่มีหญิงพรหมจารีเป็นองค์ประกอบ เป็นต้น)
 
หญิงที่มีสามีแล้ว มี ๑๐ จำพวก คือ 
๑. หญิงที่เขาใช้ทรัพย์ซื้อมาเพื่อเป็นภรรยา 
๒. หญิงที่อยู่เป็นภรรยากับชายที่ตนมีความพอใจ 
๓. หญิงที่อยู่กับชายเพราะทรัพย์ เป็นเหตุ (เช่น ยอมเป็นภรรยาเพื่อปลดหนี้ เป็นต้น) 
๔. หญิงที่อยู่กับชายเพราะผ้าเป็นเหตุ (คือ ยอมเป็นภรรยาเพราะเห็น แก่ผ้า เครื่องประดับ ยานพาหนะ ที่พึงได้รับ เป็นต้น) 
๕. หญิงที่ญาติทั้ง ๒ ฝ่ายกำหนดให้จุ่มมือลงไปใน ภาชนะใส่น้ำ แล้วสัญญาว่าจะอยู่ด้วยกัน 
๖. หญิงที่ชายปลดปล่อยจากความเป็นทาสแล้วแต่งตั้งให้เป็นภรรยา 
๗. หญิงที่เป็นทั้งทาส ทั้งภรรยา 
๘. หญิงที่เป็นทั้งคนรับจ้างทำงานอยู่ในเรือน เป็น ทั้งภรรยาด้วย 
๙. หญิงเชลย 
๑๐. หญิงที่ชายอยู่ร่วมชั่วคราว ๑๐  (เมียเช่าชั่วคราว หรือแม้หญิงโสเภณีผู้ที่อยู่ในระหว่างเวลาที่ชายอื่นจองตัวอยู่กันชั่วคราว)

การที่ฝ่ายชายจะผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารพิจารณาดังนี้ คือ ชายไปเกี่ยวข้องล่วงเกินเกี่ยวกับประเวณี กับหญิงทั้ง ๒๐ จำพวกนี้ ชายนั้นได้ชื่อว่าประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร กล่าวคือ ในกลุ่มหญิงที่ยังไม่มีสามีลำดับที่ ๑-๘ ถ้าชายไปเกี่ยวข้องด้วยโดยที่ผู้ปกครองของหญิงไม่ยินยอมด้วย กรณีนี้ฝ่ายชายเท่านั้นที่ผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร ฝ่ายหญิงไม่ผิด และสำหรับหญิงที่ยังไม่มีสามีในลำดับที่ ๙ หญิงที่รับหมั้นชายแล้ว ๑๐. หญิงที่มีกฎหมายรักษา ทั้ง ๒ นี้ ถ้าชายอื่นที่ไม่ได้เป็นคู้หมั่น เป็นต้น ล่วงเกินเกี่ยวกับประเวณี กรณีนี้ฝ่ายหญิงพร้อมชายอื่นนั้นก็ผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารด้วยกันทั้งคู่

ลำดับต่อมา คือ หญิงที่มีสามีแล้ว ได้แก่หญิง ๑๐ จำพวกหลัง ถ้าชายอื่นที่ไม่ใช่สามีเกี่ยวข้องล่วงเกินเกี่ยวกับประเวณี กรณีนี้ฝ่ายหญิงพร้อมชายอื่นนั้นก็ผิดศีลข้อกาเมสุมิจฉาจารด้วยกันทั้งคู่ ในปัจจุบันนี้หญิงบางจำพวกไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว เช่น หญิงเชลย เพราะฉะนั้นไม่ว่าหญิงที่เหลือจะมีกี่จำพวกก็ตาม ก็สามารถย่อเหลือ ๒ จำพวก คือ
๑. หญิงที่มีเจ้าของในฐานะผู้ปกครองดูแล มีเจ้าของในฐานะผู้ปกครองดูแล ได้แก่ หญิงที่มี มารดารักษา เป็นต้น อาจจะเป็นหญิงที่เป็นบุตรสาว หลานสาว ที่อยู่ในความปกครองของมารดา บิดา พี่น้อง ญาติ และหญิงที่อยู่ในความดูแลของสำนัก นักบวช เป็นการดูแลให้การเลี้ยงดูให้เติบโต อบรมสั่งสอน ส่งเสริมให้ได้รับความรู้เท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของสัมผัส คือไม่ได้ถือสิทธิในการจะเสพกาม สุขที่เกิดจากการได้สัมผัส ชายที่ละเมิดล่วงเกินเกี่ยวกับการร่วมประเวณีในหญิงเหล่านี้ย่อมเป็นกาเมสุมิจฉาจารได้ แต่สำหรับฝ่ายหญิงถ้ายินยอม พร้อมใจด้วยก็ไม่เป็นกาเมสุมิจฉาจาร เพราะว่าหญิงนั้นมีผู้ดูแลก็จริง แต่ไม่ใช่มีเจ้าของสัมผัส หญิงจำพวกนี้มีสิทธิที่จะมอบสัมผัสนั้นแก่ชายใดก็ได้ ฉะนั้นจึงไม่ชื่อว่าทำผิด สรุปว่า ถ้าชายไปล่วงเกิน ชายนั้นก็ผิดศีลฝ่ายเดียว

๒.หญิงที่มีเจ้าของในฐานะเจ้าของสัมผัส หญิงจำพวกที่ ๒ มีเจ้าของในฐานะเจ้าของสัมผัส ได้แก่ หญิงที่เป็นภรรยาทั้งหลาย และหญิงที่มีคู่หมั้นด้วย หญิงที่เป็นภรรยาก็มีสามีของตน เป็นเจ้าของสัมผัส ส่วนหญิงที่มีคู่หมั้นแล้วก็เท่ากับยอมรับความจะเป็น ภรรยาเขา ถ้าชายอื่นใดละเมิดในหญิงเหล่านี้ ชายนั้นก็ชื่อว่ากระทำกาเมสุมิจฉาจาร ส่วนฝ่ายหญิงถ้ามีความยินยอมพร้อมใจก็ชื่อว่าทำกรรมชั่ว ข้อนี้ร่วมกัน เพราะว่ามอบสมบัติคือสัมผัสอันผู้เป็นเจ้าของคือสามีของตนเท่านั้นถือสิทธิอยู่ให้แก่ชายอื่น
สรุปว่า ผิดทั้งคู่

ผลของกาเมสุมิจฉาจาร การส่งผลในปฏิสนธิกาล การทำบาปที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๔ จัดเป็น อกุศลกรรมที่สมบูรณ์ ถ้าการประพฤติผิดในกามเช่นนี้ส่งผลเมื่อสิ้นชีวิตจะนำไปเกิดในอบายภูมิ การส่งผลในปวัตติกาล ถ้าบาปนี้ไม่ส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ บุคคลนั้นได้มาเกิดเป็นมนุษย์กรรมนี้ก็จะตามส่งผลได้ในปวัตติกาล หรือเมื่อพ้นโทษจากอบายภูมิแล้ว เศษกรรมยังตามมาส่งผลในปวัตติกาลได้อีก กาเมสุมิจฉาจารนี้เป็นการกระทำของคนขลาด ลักลอบ ทำอย่างปิดบัง หลบๆ ซ่อนๆ นี้เองจึงส่งผลให้เป็นผู้ที่ไม่องอาจผ่าเผย มีจิตใจไม่อาจหาญ และสามารถส่งผลให้เกิดมาเป็นหญิง เป็นกะเทย เป็นคนวิปริตผิดเพศ 

การงดเว้นบาปอกุศลข้อกาเมสุมิจฉาจารได้ ผลบุญก็ย่อมปรากฏ คือ เป็นผู้มีกำลังใจอาจหาญ กล้าแข็ง ชนะใจตนเองได้อยู่เสมอ และเพราะเหตุที่ละเว้นจากการกระทำผิดเกี่ยวกับทางเพศ เมื่อเกิดในภพใดๆ ก็เป็นผู้มีเพศอุดม คือเกิดเป็นบุรุษ เมื่อเป็นคนไม่ประพฤติผิดทำนองคลองธรรม ก็แสดงว่าเป็นคนจิตใจประณีต สะอาด จึงเป็นเหตุให้เป็นคนมีความเฉียบแหลม ละเอียดอ่อน และเพราะไม่กระทำกรรมในที่ลับ จึงส่งผลทำให้เป็นผู้ที่มีความอาจหาญในท่ามกลางคนทั้งปวง ไม่ตกต่ำ เป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏได้ง่าย และ เพราะเหตุที่เป็นคนไม่มักมากในเมถุนโดยการเที่ยวแสวงหาหญิงอื่น เพราะกลัวผิดศีลจะมัวหมองนั่นเอง หากมีคู่ครอง คู่ครองก็จะซื่อสัตย์ จงรักภักดี ไม่นอกใจ เป็นต้น

ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เมื่อเทียบกับศีล ๕ แล้ว ก็จะขาดศีล ข้อ ๕ คือ สุราเมรัยในหมวดอกุศลกรรมบถจัดอนุโลมสุราเมรัยเข้าในข้อ กาเมสุมิจฉาจาร เพราะการดื่มสุรานั้นเป็นการติดในรส คือ พอใจในรสความมัวเมาของสุรานั่นเอง เมื่อจะกล่าวถึงโทษของการดื่มสุราเมรัยนั้นมีมากมาย เพราะเมื่อดื่ม แล้วทำให้ขาดสติสัมปชัญญะ ย่อมจะทำอกุศลกรรมได้ทุกอย่าง ย่อมจะนำไปสู่อบายภูมิ เมื่อสิ้นกรรมจากอบายภูมิ ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ เศษกรรม นั้นยังส่งผลให้เป็นคนปัญญาอ่อน เป็นคนบ้า


๔.๑ อกุศลกรรม

อกุศลกรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่อยู่ในอกุศลจิต ๑๒ กรรมจะสำเร็ได้ ๓ ทวาร คือ 
  • กายทวาร 
  • วจีทวาร 
  • มโนทวาร 
เจตนาเจตสิกที่ประกอบใน อกุศลจิต ๑๒ เป็นเจตนาตั้งใจในการทำความชั่ว หนทางแห่งความชั่วได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ คำว่า “ อกุศลกรรมบถ” หมายความว่าเป็นกรรมด้วย เป็นหนทางไปสู่อบายด้วย ฉะนั้น กรรมทั้งหลายมีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น เป็นหนทางไปสู่ทุคติ จึงเรียกว่าอกุศลกรรมบถ ในกรรมบถ ๒ ฝ่าย คือกุศลและอกุศล อกุศลเป็นของ หยาบเห็นได้ง่าย และเมื่อเข้าใจฝ่ายอกุศลได้ดีแล้วก็จะเข้าใจฝ่ายกุศลได้ดีตามไปด้วย จึงแสดงฝ่ายอกุศลกรรมบถก่อนกุศลกรรมบถ

อกุศลกรรมบถ ๑๐

กายทุจริต ๓ ได้แก่ 

๑. ปาณาติบาต คือ การ ฆ่าสัตว์
๒. อทินนาทาน คือ การลักทรัพย์
๓. กาเมสุมิจฉาจาร คือ การประพฤติผิดในกาม

วจีทุจริต ๔ ได้แก่
๔. มุสาวาท คือ การพูดเท็จ
๕. ปิสุณวาจา คือ การพูดส่อเสียด
๖. ผรุสวาจา คือ การพูดคำหยาบ
๗. สัมผัปปลาปะ คือ การพูดเพ้อเจ้อ

มโนทุจริต ๓ ได้แก่
๘. อภิชฌา คือ การเพ่งเล็งทรัพย์ของผู้อื่น
๙. พยาบาท คือ การปองร้าย
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด



วันอาทิตย์

๓.๔ อโหสิกรรม

อโหสิกรรมนี้ไม่มีองค์ธรรมโดยเฉพาะ แต่จะหมายเอาเจตนาที่เกิดขึ้นกับจิตทุกดวงใน ชวน จิตทั้ง ๗ ดวง เมื่อล่วงเลยเวลาที่จะส่งผลไปแล้วและยังไม่ได้ส่งผลเลย ก็แสดงว่ากรรมนั้นไม่มีโอกาสส่งผลอีก ต่อไป จึงเรียกว่า อโหสิกรรม

ตัวอย่างเช่น นายทองแก้วระหว่างที่มีชีวิตอยู่ได้สร้างกรรม ๓ อย่าง คือ ให้ทานแก่ผู้มีศีล รักษา อุโบสถศีลทุกวันพระ และในตอนเป็นเด็กเคยฆ่าปลา ในชาตินี้กรรมที่เคยรักษาอุโบสถศีลได้มีโอกาสส่งผลทำหน้าที่ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม กรรมอีกสองอย่าง คือ การให้ทานและการฆ่าปลานั้นไม่มีโอกาสส่งผลในชาตินี้ กรรมทั้งสองอย่างนี้แหละที่ไม่มีโอกาสส่งผลเป็น🔎ทิฏฐธัมมเวทนียกรรมในชาตินี้และหมดโอกาสส่งผลแล้ว จัดเป็นอโหสิกรรม ชีวิตของบุคคลที่เกิดมา หนีกรรมไม่พ้น ทั้งกรรมเก่าและกรรมใหม่ กรรมใหม่ก็ทำตลอดเวลาทั้งทางกาย วาจาและใจ โดยเฉพาะกรรมใหม่ที่ทำนั้นถ้าเป็นอกุศลจะแก้ไขอย่างไรที่จะให้อกุศลกรรมนั้นเป็นอโหสิกรรม หรือทำกุศลมากมายแต่กุศลนั้นไม่ให้ผล แล้วจะทำอย่างไรกุศลนั้นจึงจะส่งผลได้ เรื่องนี้ต้องพิจารณาว่ากรรมจะสำเร็จได้ด้วยเจตนาของผู้ทำ บางครั้งทำกุศลอย่างที่เห็นเขาทำก็ทำบ้าง ทำด้วยความไม่ ตั้งใจ กุศลอย่างนี้ไม่มีกำลัง อินทรีย์ไม่เข้มแข็ง ถ้าจะให้กุศลที่ทำมีกำลัง ผู้ทำจะต้องประกอบด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ ที่มีกำลัง


อินทรีย์ ๕ อย่าง คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เมื่อพิจารณาแล้วก็เหมือนไม่ยาก แต่ในทางปฏิบัติต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างจึงทำได้สำเร็จ อินทรีย์คือ กำลัง การประกอบกรรมทั้งทางกาย วาจา ใจ ถ้าจะให้สำเร็จได้โดยไม่ย่อท้อ ทำได้อย่างต่อเนื่อง ทำอย่างไม่ขาดสาย บุคคลผู้นั้นต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยว ความมีกำลังในการเพียรสร้างกุศลความดี เพราะว่าถ้าขาดกำลังในการกระทำแล้วกุศลนั้นๆ อาจอ่อนกำลังลง อาจสำเร็จไม่สมดังที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก หรือไม่สามารถจะกระทำกุศลนั้นได้อีกต่อไป เพราะขาดกำลังคือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ไปเสียแล้ว

เมื่ออินทรีย์ ๕ คือ ความเป็นใหญ่ในแต่ละทางเกิดขึ้นได้ ก็จะเกิดเป็นกำลังในการขับเคลื่อนให้การทำกุศลนั้นเป็นไปได้อย่างเต็มกำลัง กำลังหรือพลังนี้ก็คือ พละ โดยเฉพาะพลังใจต้องทำให้เกิดขึ้น และ ที่สำคัญ คือจะต้องเพิ่มพูนอยู่เสมอ ในพละทั้ง ๕ คือ

  • ๑. สัทธาพละ คือ ความเชื่อ บุคคลควรจะต้องปลูกความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยให้มั่นคง ความมั่นคงจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปัญญาความรู้ เช่น มีความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อกรรม เชื่อโลกนี้ โลกหน้า เชื่อการเวียนว่ายตายเกิด เชื่อผลของกรรมดีกรรมชั่ว
  • ๒. วิริยพละ คือ ความเพียร ความบากบั่น เพราะว่าการทำความดีถ้าไม่มีความเพียร ก็ทำไม่สำเร็จ และความเพียรที่ทำความดีให้สำเร็จนั้นต้องเป็นชนิด “ทำความดีเพื่อความดี” ไม่ใช่ทำความดีเพื่อลาภสักการะ สรรเสริญ หรือความสุข ต้องมุ่งมั่นทำความดีเพื่อผลของความดี 
  • ๓ . สติพละ คือ ความระลึกได้อยู่เสมอ สติจะต้องระลึกในสติปัฏฐาน ถ้านอกจากสติปัฏฐานแล้ว ก็ ควรระลึกคือพิจารณาปัญหาต่างๆ อย่างรอบคอบ อย่างคนมีสติไม่ใช่มองอย่างคนมีโมหะ สติจะสกัดกั้นความยินดีความยินร้ายไม่ให้เข้าครอบงำใจได้ เช่น โดยปกติของปุถุชนเมื่อพบหรือได้รับอารมณ์ที่ดี ก็จะเกิดความรู้สึกพอใจ มีความรักในสิ่งนั้น แต่ถ้ามีสติกำกับอยู่ในขณะรับอารมณ์แล้ว ความชอบใจก็จะไม่มีในขณะนั้น ทำให้ลดละความเพลิดเพลินยินดีลงไปได้ ความเพลิดเพลินยินดีในอารมณ์ก็เป็นสาเหตุให้บุคคลหลงลืมสติ 
  • ๔. สมาธิพละ คือ ความตั้งใจที่มั่นคง ความมั่นคงในการทำกิจการทั้งปวง การทำความดีต้องมีสมาธิ คือมีความมั่นใจใน ตัวเองว่าจะทำความดีต่อไปโดยไม่หวั่นไหว 
  • ๕. ปัญญาพละ คือ ความรอบรู้ ความรู้เท่าทัน ความเข้าใจในสิ่งที่กระทำ ไม่ใช่ทำด้วยความไม่รู้ แต่ทำด้วยความรู้คือทำด้วยปัญญา 
เมื่อผู้ใดทำให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติ ๕ อย่างดังที่กล่าวมานี้ ทำได้อย่างครบถ้วน อย่างแก่กล้า แล้ว ก็อาจทำให้ผู้นั้นได้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วคุณสมบัติ ๕ อย่าง ในภพต่อ ๆ ไปได้ทุกชาติ จนกว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน เมื่อเป็นเช่นนี้อกุศล🔎อปราปริยเวทนียกรรมนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะส่งผลได้ กลายเป็นอโหสิกรรมไป ส่วนอกุศลกรรมนั้น บางคนทำอกุศลตามๆ แบบเขาชวนทำก็ทำ ชวนไปกินสุรายาเมา ชวนไปเที่ยวรื่นเริง ก็ทำตามๆ เขาไป เพราะมีโมหะ ไม่มีปัญญา มีแต่ความหลง ทำโดยไม่ได้ตั้งใจทำ อกุศลกรรมเหล่านี้ก็มีกำลังอ่อน การจะแก้ไขเพื่อให้เป็นอโหสิกรรม ก็ต้องแก้ไขด้วยการสร้างกุศล เช่น ศึกษาธรรมะ เรียนให้รู้เรื่อง พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง และไม่นึกถึงอกุศลกรรมเก่าๆ นั้น เพียรสร้างความดีละความชั่วคือบาปอกุศลทั้งมวล

🔎อกุศลอปราปริยเวทนียกรรม จะเป็นอโหสิกรรมได้นั้น เราต้องพร้อมด้วยคุณสมบัติ ๕ อย่าง คือ 
  • ๑. ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ที่ได้ทำบุญกุศลไว้ในกาลก่อน จึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ และจะต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้น ต่อไปอีกด้วย หมายความว่าชาตินี้ก็ต้องทำบุญ สั่งสมบุญ
  • ๒. ปฏิรูปเทสวาสะ การอยู่ในถิ่นฐานหรือประเทศที่สมควร อยู่ในถิ่นฐานที่มีพุทธศาสนา มีคนเป็น นักปราชญ์ มีศีลธรรม
  • ๓. สัปปุริสูปัสสยะ ต้องสมาคมกับสัตบุรุษ คบคนดี สัตบุรุษคือคนดี คนดีคือคนที่มีศีลธรรม อย่าไปคบค้า สมาคมกับคนอันธพาล คนเลว
  • ๔. สัทธัมมัสสวนะ ต้องหมั่นฟังธรรม ศึกษาธรรมอยู่เสมอ เพื่อจะได้เข้าใจหลักธรรมคำสอนของ พระพุทธเจ้า แล้วก็นำคำสอนนั้นมาใช้ปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิต
  • ๕. อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ ตั้งตนของเราไว้ในทางที่ชอบ ไม่ตั้งตนไว้ในทางที่ผิด
คุณธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ ควรปลูกฝังไว้ในชาตินี้ อกุศลกรรมที่เคยทำไว้ก็อาจจะไม่มีโอกาสที่จะส่งผล และคุณธรรมทั้ง ๕ นี้ ย่อมทำให้มีเสบียงบุญหนุนนำสัตว์ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ในอัตภาพ สมบูรณ์ในภพชาติ และเสบียงนี้จะเป็นประโยชน์นำส่งไปจนกว่าจะถึงซึ่งพระนิพพาน


๓.๓ อปราปริยเวทนียกรรม

อปราปริยเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ส่งผลในภพอื่นๆ คำว่า ภพอื่นๆ คือภพที่นอกจากภพนี้ และภพหน้า ฉะนั้นภพอื่นๆ จึงหมายถึงตั้งแต่ภพที่ ๓ เป็นต้นไป การทำกุศลหรืออกุศลเมื่อสำเร็จแล้ว ถ้าไม่ส่งผลในภพที่ ๒ ที่เป็นอุปปัชชเวทนียกรรม ก็จะส่งผลเป็น อปราปริยเวทนียกรรม คือจะต้องได้รับผลในภพต่อๆ ไปอาจจะเป็นภพที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๑๐ ถึงจะได้รับก็ได้ไม่จำกัด จนกว่าจะถึงซึ่งพระนิพพาน

ในนิบาตชาดกได้แสดงไว้หลายเรื่องที่เกี่ยวกับการฆ่าสัตว์ว่า ผู้ที่ฆ่าสัตว์ตายตัวหนึ่ง เมื่อตายจากโลกนี้ ไปแล้วก็ไปเกิดในนรก และเมื่อพ้นกรรมจากนรกไปเกิดในภูมิใดภูมิหนึ่งแล้ว ก็ถูกฆ่าตายเรื่อยๆไป ด้วย อำนาจแห่งอปราปริยเวทนียกรรม คัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ มีเรื่องโดยสรุปดังนี้

เรื่องที่ ๑
ภิกษุหลายรูปเดินทางมาเฝ้าพระศาสดาที่เชตวัน เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านหนึ่ง ชาวบ้านเลื่อมใสนิมนต์ให้ฉัน ก่อนฉันภิกษุผู้เป็นหัวหน้าได้แสดงธรรมให้ฟังก่อนเพื่อเพิ่มพูนศรัทธาของทายกผู้ถวาย ขณะที่ชาวบ้านนั่งฟังธรรมอยู่นั่นเอง ไฟจากเตาไฟลุกขึ้นติดชายคาทำให้เสวียนหญ้า(ขดหญ้าที่ทำไว้เพื่อรอง หม้อที่เพิ่งยกขึ้นจากเตา) อันหนึ่งถูกไฟไหม้และลมพัดปลิวขึ้นจากชายคาลอยอยู่ในอากาศ ขณะนั้น กาตัวหนึ่งบินมาสอดคอเข้าไปในเสวียนหญ้า เกลียวหญ้าพันคอไหม้ กาตกลงมาตายกลางบ้าน ภิกษุทั้งหลายเห็นเช่นนั้นแล้วคิดว่า “กรรมนี้หนักหนอ เว้นพระศาสดาเสียใครเล่าจักรู้กรรมที่กาได้กระทำแล้ว เราจักทูลถามพระศาสดา” เมื่อลาชาวบ้านจึงมุ่งหน้าเดินทางไปเฝ้าพระศาสดา

เรื่องที่ ๒
ภิกษุอีกพวกหนึ่งต้องการไปเฝ้าพระศาสดาที่เชตวันเหมือนกัน โดยสารเรือไป เรือหยุดนิ่งในมหาสมุทร คนในเรือปรึกษากันว่าคงจะมีคนกาลกิณี (คนชั่ว) อยู่ในเรือนี้จึงจับสลากกัน สลากไปตกอยู่ที่ภรรยา นายเรือซึ่งยังสาวสวยและอายุยังน้อย คนทั้งหลายต้องการเอาใจนายเรือจึงให้จับสลากใหม่ สลากไปตกแก่ภรรยาในเรือถึง ๓ ครั้ง พวกลูกเรือและคนโดยสารมองหน้านายเรือเหมือนจะถามว่า “จะทำอย่างไรกัน? ” นายเรือตรองแล้ว จึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่อาจให้คนทั้งปวงพินาศลงเพราะคนๆ เดียว ข้าพเจ้าจะสละหญิงนี้ ขอท่านทั้งหลายจงทิ้งเธอลงในมหาสมุทรเสียเถิด” คนทั้งหลายจับหญิงนั้นเพื่อโยนลงน้ำ หญิงนั้นก็ร้องขอความช่วยเหลือ นายเรือจึงสั่งลูกเรือว่า “จงเปลื้องอาภรณ์ของเธอออกเสียก่อน ใส่ไว้ก็ไม่มีประโยชน์ เอาผ้าเก่าๆ ให้เธอนุ่ง และที่สำคัญคือเราไม่อาจเห็น ความทรมานของเธอบนผิวน้ำได้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงเอาหม้อบรรจุทรายผู้เชือกแล้วผูกติดกับคอของเธอ เพื่อให้จมลงไปเร็วๆ” ลูกเรือก็จัดการตามนั้น นางนั้นได้กลายเป็นเหยื่อของปลา แล้วเรือก็แล่นไปได้อย่างปกติ ภิกษุทั้งหลายเห็นเรื่องนี้แล้วคิดว่ายกเว้นพระศาสดาเสียใครเล่าจักรู้อดีตกรรมของหญิงนี้ เราจักทูลถามเรื่องนี้กับพระศาสดา

เรื่องที่ ๓
ภิกษุอีก ๗ รูปเดินทางจากชนบทมุ่งหน้าไปเฝ้าพระศาสดาที่เชตวัน ระหว่างเดินทางมาค่ำลง ณ ที่แห่งหนึ่ง เข้าไปขออาศัยวัดแห่งหนึ่งพักนอน ใกล้วัดมีถ้ำ ในถ้ำมีเตียง ๗ เตียง ภิกษุเจ้าของถิ่นจึงจัดให้ภิกษุพักในถ้ำนั้น ตอนกลางคืนหินก้อนใหญ่กลิ้งลงมาปิดปากถ้ำ ภิกษุเหล่านั้นออกไม่ได้ พวกภิกษุเจ้าของ ถิ่นช่วยกันผลักก็ไม่ออก ประกาศให้ชาวบ้านถึง ๗ ตำบลรอบๆ นั้นมาช่วยกันผลักก็ไม่ออก ภิกษุ ๗ รูปนั้นติดอยู่ในถ้ำ ๗ วัน อดข้าวอดน้ำได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้าเกือบจะสิ้นชีวิต พอถึงวันที่ ๗ หินก้อนนั้นก็เคลื่อนออกไปพ้นจากปากถ้ำ พวกภิกษุออกจากถ้ำได้ คิดว่า “บาปกรรมของพวกเรานี้ เว้นพระศาสดาเสียแล้ว ใครเล่าจักรู้ พวกเราจักทูลถามพระศาสดา” แล้วมุ่งหน้าไปเมืองสาวัตถี

ภิกษุเหล่านั้นทั้ง ๓ พวก มาพบกันในระหว่างทาง รู้ว่ามีความประสงค์เหมือนกัน จึงเข้าเฝ้าพระศาสดา ทูลถามถึงข้อข้องใจของตนตามลำดับดังต่อไปนี้
  


๑. กรรมเก่าของกา พระศาสดาตรัสอดีตกรรมของกา มีเรื่องโดยสรุปดังนี้ ในอดีตกาลชาวนาผู้หนึ่งฝึกโคของตนในเมืองพาราณสี แต่ไม่อาจฝึกได้ เพราะโคนั้นเดินไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็หยุด เมื่อเขาตีให้ลุกขึ้น มันเดินไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็หยุดอีก เป็นอย่างนี้อยู่ตลอด เขาโกรธมาก กล่าวว่า “ต่อไปนี้มึงจงนอนให้สบายเถอะ ” เขาได้เผาโคตัวนั้นทั้งเป็นโดยการนำหญ้ามาพันเป็นพวงมาลัยจุดไฟแล้วคล้องคอโค เขาตายจากชาตินั้นไปเกิดในนรกนาน พ้นจากนรกมาเกิดเป็นกา ถูกไฟคลอกตายมา ๗ ครั้งแล้ว ด้วยเศษกรรมที่เหลือ

๒. กรรมเก่าของภรรยานายเรือ พระศาสดาตรัสอดีตกรรมของภรรยานายเรือ มีเรื่องโดยสรุปดังนี้ ในอดีตกาล ภรรยานายเรือเป็นบุตรีของคหบดีคนหนึ่งในเมืองพาราณสี นางทำงานทุกอย่างด้วยตนเอง เช่น ตักน้ำ ซ้อมข้าว ปรุงอาหาร เป็นต้น นางเลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่ง มันรักนางมาก นั่งดูนางทำงานต่างๆ อยู่ตลอดเวลาไม่เคยห่าง เมื่อนางนำอาหารไปให้สามีที่นา หรือไปเก็บผัก สุนัขนั้นจะตามไปด้วยทุกหนแห่ง จนพวกหนุ่มๆล้อกันว่า “แน่ะ พรานสุนัขออกแล้ว วันนี้พวกเราต้องได้กินข้าวกับเนื้อเป็นแน่” เป็นเช่นนี้หลายครั้งเข้า นางก็เกิดความอายเพราะคำพูดนั้น จึงเอาก้อนดินบ้าง ก้อนหินบ้าง ท่อนไม้บ้าง ไล่ตี เพื่อต้องการให้สุนัขนั้นจากไปให้ได้ มันไปได้หน่อยหนึ่งก็หวนกลับมาหานางอีก นับถอยหลังจากชาติปัจจุบันไป ๓ ชาติ สุนัขนั้นเคยเป็นสามีของนาง มันจึงมีความรักในตัวนางมาก วันหนึ่งนางเอาอาหารไปให้สามีแล้วก็เอาเชือกไปด้วย เมื่อให้อาหารแก่สามีแล้ว เอากระออมเปล่าไปยังท่าน้ำแห่งหนึ่ง เอาทรายใส่จนเต็มแล้วเอาปลายเชือกผูกเข้ากับปากหม้อ แล้วเรียกสุนัขเข้ามาใกล้ มันดีใจว่านานเหลือเกินแล้วที่ไม่เคยได้ยินเสียงอันแสดงความปรานีอย่างนี้จากนายของมันเลย จึงกระดิกหางเข้าไปหาอย่างดีใจล้นเหลือ นางเอาปลายเชือกข้างหนึ่งผูกคอสุนัขแล้วผลักกระออมลงน้ำ สุนัขนั้นตายเพราะถูกถ่วงจมลงน้ำ ด้วยกรรมนี้นางตกนรกหมกไหม้ในนรกนาน ด้วยเศษกรรมที่เหลือจึงถูกถ่วงน้ำด้วยหม้อทรายมาถึง ร้อยชาติแล้ว

๓. กรรมเก่าของภิกษุ ๗ รูป ในอดีตกาลเด็กเลี้ยงโค ๗ คนในเมืองพาราณสี จะต้อนฝูงโคไปเลี้ยงในที่ต่างๆ ที่ละ ๗ วัน วันหนึ่งพวกเขาได้พบเหี้ยตัวหนึ่งจึงช่วยกันไล่เหี้ยวิ่งหนีเข้ารูในจอมปลวก ตอนนั้นเย็นมากแล้วต้องนำโคกลับ จึงปรึกษากันว่าพรุ่งนี้ค่อยมาจับ แล้วช่วยกันเอาใบไม้อุดรูทั้ง ๗ รู ของจอมปลวก วันรุ่งขึ้นเป็นวันครบกำหนดที่จะต้องย้ายโคไปเลี้ยงที่อื่น พวกเด็กๆ ลืมเสียสนิทว่าได้ขังเหี้ยไว้ ตลอดเจ็ดวันพวกเด็กๆ ก็เลี้ยงโคในที่ใหม่ เมื่อครบ ๗ วันแล้ว จึงตอนฝูงโคย้อนไปที่เก่าอีก เพราะหญ้าที่เป็นอาหารโคในที่เก่านั้นก็งอกใหม่แล้ว เมื่อไปถึงจึงนึกได้ช่วยกันเอาใบไม้ออก เหี้ยอดอาหาร อดน้ำ เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกคลานออกมา เด็กๆ รู้สึกสงสาร จึงไม่ได้ทำร้ายมัน ปล่อยมันไป เด็กพวกนั้นไม่ได้ไปตกในนรก เพราะมิได้ฆ่าเหี้ย แต่ได้ถูกขัง ครั้งละ ๗ วัน อดข้าวอดน้ำมา ๑๔ ชาติแล้ว เด็กเลี้ยงโค ๗ คนนั้น คือภิกษุ ๗ รูปที่มาติดอยู่ในถ้ำนั่นเอง ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามพระศาสดาว่า “สถานที่ๆพ้นจากกรรมไม่มีหรือ ” พระศาสดาตรัสเป็นพุทธภาษิตมีคำแปลว่า

"ไม่ว่าในกลางหาว หรือท่ามกลางมหาสมุทร 
หรือระหว่างภูเขา แผ่นดินที่มัจจุราชเอื้อมมือไปไม่ถึงนั้นมิได้มี"



วันเสาร์

๓.๒ อุปปัชชเวทนียกรรม

อุปปัชชเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ส่งผล คือ นำไปเกิดในภพที่ ๒ เป็นภพที่ต่อจากปัจจุบันที่สิ้นชีวิตลง กรรมที่ทำให้สำเร็จประโยชน์ในภพที่ ๒ มีทั้งฝ่ายอกุศลและกุศล 



ฝ่ายอกุศลนั้นก็คือผู้ประกอบ
อนันตริยกรรมทั้ง ๕ ประการ ซึ่งเป็นกรรมหนักย่อมจะส่งผลในภพที่ ๒ คือเมื่อสิ้นชีวิตจากภพนี้ไป ย่อมส่งผลนำเกิดในอบายภูมิทันที

ฝ่ายกุศลก็ได้แก่
มหากุศล ๘ ที่จะทำหน้าที่ส่งผล คือนำไปเกิดในมนุษย์และเทวดา รูปาวจรกุศล และ อรูปาวจรกุศล จะทำหน้าที่ส่งผล คือนำไปเกิดในรูปภูมิ อรูปภูมิ



วันพฤหัสบดี

อริยสัจ ๔



ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมอันเราแสดงแล้วว่า “เหล่านี้ คืออริยสัจทั้ง ๔” 

ดังนี้ เป็นธรรมอันสมณพราหมณ์ผู้รู้ทั้งหลายข่มขี่ไม่ได้ ทำให้เราเศร้าหมองไม่ได้ ติเตียนไม่ได้ คัดง้างไม่ได้.

ข้อนี้ เป็นธรรมที่เรากล่าวแล้วอย่างนี้ เราอาศัยซึ่งอะไรเล่า จึงกล่าวแล้วอย่างนี้ ?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
เพราะอาศัยซึ่งธาตุทั้งหลาย ๖ ประการ การก้าวลงสู่ครรภ์ ย่อมมี;
เมื่อการก้าวลงสู่ครรภ์ มีอยู่, นามรูป ย่อมมี;
เพราะ มีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ;
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมบัญญัติว่า “นี้ เป็นความทุกข์” ดังนี้; ว่า “นี้ เป็นทุกขสมุทัย” ดังนี้; ว่า “นี้ เป็นทุกขนิโรธ”ดังนี้; ว่า “นี้ เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” ดังนี้; แก่สัตว์ผู้สามารถเสวยเวทนาอยู่.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?

แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์,
แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์,
แม้ความตายก็เป็นทุกข์,
แม้โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย ก็เป็นทุกข์,
การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์,
ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก เป็นทุกข์,
ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ : กล่าวโดยย่อ ปัญจุปาทานขันธ์ทั้งหลาย เป็นทุกข์,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขอริยสัจ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?

เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย; 
เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ;
เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป;
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ;
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา;
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา;
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน;
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ;
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ;
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน :
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่าทุกขสมุทยอริยสัจ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?

เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว, จึงมีความดับแห่งสังขาร ;
เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ ;
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป;
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ;
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ ;
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา;
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา;
เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน ;
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ;
เพราะมีความดับแห่งภพจึงมีความดับแห่งชาติ;
เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายจึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ? 

มรรคอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้นั่นเอง, กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมอันเราแสดงแล้วว่า “เหล่านี้ คืออริยสัจทั้ง ๔ ” ดังนี้ เป็นธรรมอันสมณพราหมณ์ผู้รู้ทั้งหลายข่มขี่ไม่ได้ ทำให้เศร้าหมอง

ไม่ได้ติเตียนไม่ได้ คัดง้างไม่ได้ ดังนี้อันใด อันเรากล่าวแล้ว ; ข้อนั้น เรากล่าวหมายถึง ข้อความนี้, ดังนี้ แล


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่าง เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ

สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต
จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้
วิปัสสนาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา
ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไรย่อมละอวิชชาได้ ฯ

[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น หรือปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญด้วยประการฉะนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะสำรอกอวิชชาได้ จึงชื่อว่าปัญญาวิมุติ ฯ

- ฉบับหลวง ๒๐/๕๘/๒๗๕-๖.