วันพฤหัสบดี

๒. รูปฌาน อรูปฌาน

รูปฌาน
คือ การกำหนดสิ่งที่เป็นรูปธรรมเป็นอารมณ์ เช่น ปถวีกสิณ เป็นต้น ขณะที่ฌานจิตเกิด
นั้นจิตจะต้องเป็นอัปปนาสมาธิ ลักษณะของอัปปนาสมาธิ ก็คือนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว จะไม่ไหวไปรับรู้อารมณ์อื่น จิตมีอารมณ์เป็นบัญญัตินิมิต มีนิมิตเป็นอารมณ์ ก็อยู่อย่างนั้นตลอดเวลา ไม่สามารถจะคิดนึกไปอย่างอื่น ไม่สามารถไปรับสี รับ เสียง รับกลิ่น รับรส รับสัมผัส อย่างอื่น เรียกว่าดับความรู้สึกทางประสาททั้ง ๕ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่รับรู้เลย แม้ทางใจก็รู้เฉพาะอารมณ์เดียวคือนิมิตกรรมฐานอยู่ตลอดเวลา

ปฐมฌาน 
ผู้ปฏิบัติพึงทำความเพียรในการเจริญสมถกรรมฐานมีปฐวีกสิณเป็นต้นเป็นอารมณ์ ด้วยกำลังแห่งสมาธิที่ตั้งมั่น เป็นกุศล และถูกทาง ประคองจิตให้จดจ่อในปฏิภาคนิมิต จิตมีปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ สมาธิตั้งมั่นในขั้นอัปปนาสมาธิ จิตบรรลุถึงปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

องค์ฌาน ๕ เป็นปฏิปักษ์แก่นิวรณ์ ๕ เมื่อเจริญฌานถึงขั้นฌานจิตเกิดขึ้น องค์ฌานจะสามารถระงับนิวรณ์ คือ

  • วิตก ข่ม ถีนะและมิทธนิวรณ์
  • วิจาร ข่ม วิจิกิจฉานิวรณ์
  • ปีติ ข่ม พยาปาทนิวรณ์
  • สุข ข่ม อุทธัจจะและกุกกุจจนิวรณ์
  • เอกัคคตา ข่ม กามฉันทนิวรณ์

ความหมายขององค์ฌาน ๕
    ๑.วิตก หมายถึง การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ความนึกถึงอารมณ์ การกำหนดอารมณ์ ( ในขณะที่ได้ฌานนั้นก็คือ ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ที่เป็นนิมิตอยู่)
    ๒. วิจาร หมายถึง การเคล้าคลึงอารมณ์ วิตกและวิจาร เป็นองค์ฌานที่ต่อเนื่องกัน วิตก คือ เอาจิตจรดกับอารมณ์ที่เป็นนิมิต วิจาร คือ เอาจิตไปผูกหรือไปเคล้ากับอารมณ์นั้น
    ๓. ปีติ หมายถึง อิ่มใจ อิ่มในอารมณ์ ดื่มด่ำ ซาบซ่านไปทั่วกายและใจ
    ๔. สุข หมายถึง ธรรมชาติใดย่อมขุดออกซึ่งความไม่สบายกายความไม่สบายใจ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า สุข สุขและปีติแตกต่างกัน แยกกันได้ยาก ปีติกับสุขนั้นเปรียบเทียบได้ว่า คนผู้หนึ่งเดินทางมาในทะเลทรายเหนื่อยอ่อน แสนจะร้อนและหิวกระหาย ต่อมาเขาเห็นหมู่ไม้และแอ่งน้ำ หลังจากเขาได้เข้าไปพักผ่อนและดื่มน้ำ อาการดีใจ ที่ได้เห็นหมู่ไม้และแอ่งน้้า เรียกว่า “ปีติ” เมื่อได้เข้าไปพักและได้ดื่มน้้าเรียกว่า “สุข”

อุเบกขา หมายถึง ความวางเฉย มีใจเป็นกลางไม่ติดแม้แต่สุขอันประณีตในฌาน และหมายถึงวางทีดูเฉยเมื่อทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ไม่ต้องขวนขวายกำจัดธรรมที่เป็นข้าศึกในฌานอีก เพราะหมดจดจากธรรมที่เป็นข้าศึกแล้ว (เมื่อเจริญถึงปัญจมฌานแล้ว องค์ฌานก็จะเปลี่ยนจากสุขเป็นอุเบกขา)
    ๕. เอกัคคตา หมายถึง ความตั้งมั่นในอารมณ์ ผู้ที่ได้เข้าถึงปฐมฌานนั้นจะต้องมีองค์ฌาน ๕ เกิดขึ้นในจิต ซึ่งเป็นอาการในจิตเองหรือว่าเป็นเจตสิกต่างๆ ที่ทำหน้าที่รวมกันอยู่ เรียกว่าตั้งมั่นในอารมณ์เดียว จะมีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๒ ก็เหลือเพียงวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๓ มีแต่ปีติ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๔ มีแต่สุขกับเอกัคคตา ฌานที่ ๕ ก็มีองค์ฌาน ๒ เหมือนกันแต่เปลี่ยนจากสุขเป็นอุเบกขา คือความวางเฉย ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว สุดยอดของการเจริญรูปฌานได้แค่นั้น ได้แค่อุเบกขา เอกัคคตา ได้แค่ปัญจมฌาน

รูปฌานแบ่งตามระดับปัญญา แบ่งออกเป็น ๒ นัย คือ

รูปฌานแบ่งโดยปัญจกนัย มี ๕ (พระอภิธรรม)
๑. ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา 
๒. ทุติยฌาน มีองค์ ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา 
๓. ตติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา 
๔. จตุตถฌาน มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา ๔. อุเบกขา เอกัคคตา
๕. ปัญจมฌาน มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

รูปฌานแบ่งโดยจตุกกนัย มี ๔ (พระสูตร)
๑. วิตก วิจาร ปีติสุข เอกัคคตา
๒. ปีติสุข เอกัคคตา
๓. สุข เอกัคคตา
๔. อุเบกขา เอกัคคตา

นั่นก็หมายถึงว่าการปฏิบัติของแต่ละท่านนั้นมีสติปัญญาต่างกัน บางท่านปัญญาน้อยก็จะละองค์ฌานไปทีละอย่าง (โดยปัญจกนัย) ปฐมฌานมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา พอขึ้นฌานที่ ๒ ก็ละวิตกเหลือองค์ฌาน ๔ แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญามาก (โดยจตุตกนัย) จะละทีเดียว ๒ คือเมื่อขึ้นฌานที่ ๒ ก็สามารถละวิตกวิจารได้พร้อมกัน ทำให้ฌานที่ ๒ เหลือองค์ฌานเพียง ปีติ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๓ เหลือองค์ฌาน คือ สุข เอกัคคตา ฌานที่ ๔ ก็มีองค์ฌาน คือ อุเบกขา เอกัคคตา

ฉะนั้นฌานสมาบัติ ๘ นับโดยจตุกกนัย หรือ ฌานสมาบัติ ๙ นับโดยปัญจกนัย นี้คือผลของการเจริญสมถกรรมฐาน ส่วน ผลอย่างอื่นของการเจริญสมถกรรมฐานที่จะเกิดขึ้นได้ คือ อภิญญา

อธิบายองค์ฌาน ๕ เพิ่มเติม วิตกและวิจาร

วิตก คือ การหมายรู้อารมณ์ การคิด ความเป็นผู้ตั้งมั่น การนึกตามและการปรารถนาถูกต้อง ลักษณะของวิตก คือ การตรึก สำหรับผู้เพ่งปฐวีกสิณและใส่ใจในปฐวีนิมิตอย่างดี อย่างสม่ำเสมอ อย่างไม่มีที่สุด เหล่านี้คือลักษณะของวิตกนั่นเอง เปรียบได้กับการท่องจำบทสวดมนต์

วิจาร คือ เมื่อผู้ปฏิบัติใช้วิจาร จิตดำรงอยู่ในความไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งที่วิจารนั้นกำลังใคร่ครวญ สภาวะนี้ เรียกว่า วิจาร ผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานที่เพ่งปฐวีกสิณ ใส่ใจอาการหลายอย่างที่จิตของเขาหยั่งเห็นในขณะที่เพ่งปฐวีนิมิตนี้เรียกว่า วิจาร ลักษณะของวิจาร คือ การไตร่ตรองหลังการพิจารณา

ความต่างกันของวิตกและวิจาร
จากลักษณะของวิตกและวิจาร จะเห็นว่ามีความใกล้เคียงกันมาก อาจจะทำให้เข้าใจได้ยากว่าลักษณะอย่างไรคือวิตกหรือวิจาร ความต่างกันของวิตกวิจารก็มีอุปมาเปรียบเทียบดังนี้

ปีติ คือ ในขณะที่จิตมีความเอิบอิ่มสบายอย่างเหลือเกินประกอบด้วยความเย็นสนิท ลักษณะของปีติ คือ ความเพียบพร้อมด้วยความเอิบอิ่ม ปีติมีหลายประการโดยนัย ๖ และโดยนัย ๕

ปีติมี ๖ ประการ คือ
๑) ปีติเกิดจากราคะ ความอิ่มใจ เพราะความชอบ หลงใหล และความอิ่มใจที่ประกอบด้วยกิเลส
๒) ปีติเกิดจากศรัทธา ความอิ่มใจ ของบุคคลผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า
๓) ปีติเกิดจากความไม่ดื้อด้าน ความอิ่มใจ อย่างยิ่งของคนดี มีใจบริสุทธิ์
๔) ปีติเกิดจากวิเวก ความอิ่มใจ ของบุคคลผู้เข้าปฐมฌาน
๕) ปีติเกิดจากสมาธิ ความอิ่มใจ ของบุคคลผู้เข้าทุติยฌาน
๖) ปีติเกิดจากโพชฌงค์ ความอิ่มใจ ที่เกิดจากการดำเนินตามโลกุตตรมรรคในทุติยฌาน

ปีติมี ๕ ประการ คือ
๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย เปรียบเหมือนการที่ขนตามร่างกายตั้งชันขึ้นเมื่อถูกละอองน้ำฝน
๒) ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ เป็นปีติที่เกิดขึ้นและดับไปทันที เปรียบเหมือนละอองน้ำในเวลากลางคืน
๓) โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอก เป็นปีติที่เกิดขึ้นกระทบกายแล้วหายไป กระทบกายแล้วหายไป เปรียบเหมือนลูกคลื่นกระทบฝั่ง
๔) อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน เป็นปีติที่มีกำลังมาก ทำกายให้ลอยขึ้นได้ ถึงขนาดทำให้ลอยไปบนอากาศก็ได้
๕) ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เป็นปีติที่แผ่ไปทั่วร่างกาย เหมือนก้อนเมฆหนาทึบที่เต็มไปด้วยเม็ดฝน

ฉะนั้น ขุททกาปีติและขณิกาปีติ สามารถเข้าถึงได้ด้วยศรัทธา โอกกันติกาปีติที่มีมากย่อมทำอุปจารสมาธิให้เกิดขึ้น อุพเพงคาปีติที่ยึดอยู่กับดวงกสิณทำให้ทั้งกุศลและอกุศลเกิดขึ้น และขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญ ผรณาปีติอันบุคคลทำให้เกิดขึ้นในสภาวะแห่งอัปปนาสมาธิ

สุข คือ ลักษณะการประสบสิ่งน่ารักน่าชอบใจ รสของสุขก็เป็นลักษณะของสุข ภาวะที่ขึ้นอยู่กับอารมณ์อันน่าพอใจนี้เป็นรสอันพึงประสงค์ของสุข สุขมี ๕ ชนิด คือ
๑) สเหตุกสุข คือสุขตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “สุขอันเกิดจากคุณความดี ย่อมยั่งยืน” หมายถึง สุขที่เกิดจากผลของบุญกุศล 
๒) มูลิกสุข คือสุขตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าทำให้เกิดสุขขึ้นในโลก”
๓) วิเวกสุข เป็นพัฒนาการแห่งตัตรมัชฌัตตตา และการขจัดกิเลสของฌาน
๔) นิกกิเลสสุข คือสุขตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ”
๕) สุขวิหาร เป็นความสุขเกิดจากการอยู่ หมายถึง สุขวิหารเป็นสุขที่ควรเสวยความต่างกันของ ปีติ และ สุข


เอกัคคตา 
คือ ความที่จิตมีอารมณ์เลิศเป็นหนึ่ง ตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่านซัดส่าย ความตั้งอยู่แห่งจิต เหมือนการตั้งอยู่แห่งเปลวประทีปทั้งหลายที่ปราศจากลม ฉะนั้น

ความหมายของนิวรณ์ ๕ 
นิวรณ์คือสิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ นิวรณ์มี ๕ อย่าง คือ
    ๑. กามฉันทะ คือความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น (คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น)
    ๒. พยาปาทะ คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ
    ๓. ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย และ มิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน ถีนะและมิทธะนั้นมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ ถีนะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป ส่วนมิทธะนั้นเกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริงๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป
    ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต และ กุกกุจจะ คือ ความรำคาญใจ อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปเรื่องนั้นทีเรื่องนี้ที ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ก็จะคิดกังวลไป
    ๕. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ คือ สงสัยในเรื่องกรรมและผลของกรรม สงสัยว่าบุญบาปมีจริงหรือไม่ นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ ตายแล้วไปไหน ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ ตลอดจนสงสัยในข้อปฏิบัติ ทำให้จิตไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น

นิวรณ์ทั้ง ๕ เป็นอุปสรรคสำคัญในการเจริญสมาธิ ถ้านิวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างเกิดขึ้น สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ แต่นิวรณ์เป็นอารมณ์ของการเจริญวิปัสสนาได้ ถ้านิวรณ์เกิดขึ้นกับผู้เจริญวิปัสสนาและผู้นั้นมีสติรู้เท่าทัน สติจะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาในการรู้เท่าทัน ธรรมชาติของนิวรณ์เหล่านั้น เพราะการเจริญวิปัสสนานั้นเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง (ซึ่งนิวรณ์ทั้ง ๕ ก็จัดเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้) เพื่อให้เห็นถึงสภาวะความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจของจิต เมื่อทราบธรรมชาติตามความเป็นจริงแล้ว ปัญญาในวิปัสสนาก็เกิดขึ้นได้โดยอาศัยการโยนิโสมนสิการเพื่อให้รู้เท่าทันในสภาวะของนิวรณ์ทั้ง ๕ 

ผู้ที่เจริญสมถกรรมฐานจนสำเร็จฌาน เป็นเพียงการทำความพ้นออก สลัดออกจากกามและอกุศล
ธรรมทั้งปวงให้สงบระงับ ข่มนิวรณ์ธรรมทั้งหลายให้สงบลงได้เท่านั้น แต่ยังไม่สามารถประหาณนิวรณธรรม เพราะไม่ได้ทำลายรากเหง้าของกามและอกุศลธรรมเหล่านั้นลงไปได้ แต่สำหรับผู้ที่เจริญวิปัสสนาจนมรรคจิตเกิดขึ้น มรรคจิตจะทำหน้าที่ตัดขาดรากเหง้าของกิเลสทั้งหลายโดยสิ้นเชิง

วิธีแก้ไขนิวรณ์ ๕
๑. กามฉันทะ แก้ได้หลายวิธีตามลักษณะของกามฉันทะที่เกิดขึ้น ดังนี้
    ๑.๑ พิจารณาถึงความจริงที่ว่ากามคุณทั้งหลายนั้นมีสุขน้อยมีทุกข์มาก คือ ให้ความสุขในช่วงที่ได้มาใหม่ ๆ ซึ่งเป็นเสมือนเหยื่อล่อให้ติด ครั้นเมื่อติดในสิ่งนั้นๆ แล้ว ความทุกข์ทั้งหลายก็จะตามมา ถ้ายิ่งถูกใจมากเท่าใด ก็จะยิ่งนำความทุกข์มาให้มากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์จากการแสวงหาเพื่อให้ได้มากยิ่งขึ้น ทุกข์จากการพยายามรักษาสิ่งนั้นเอาไว้ ทุกข์จากความหวงแหน ความกลัวว่าจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป และเมื่อต้องสูญเสียสิ่งนั้นไป ก็จะยิ่งเป็นทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเราทั้งหลายล้วนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่พอใจ ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
    ๑.๒ พิจารณาว่าสิ่งทั้งหลายมีความแปรปรวนไปตลอดเวลา สิ่งที่ให้ความสุขในวันนี้ก็อาจจะนำความทุกข์มาให้ได้ในวันข้างหน้า เช่น คนที่ทำดีกับเราในวันนี้ ต่อไปถ้าเขาเบื่อ หรือไม่พอใจอะไรเราขึ้นมา เขาก็อาจจะร้ายกับเราอย่างมากก็ได้
    ๑.๓ พิจารณาถึงความเป็นอสุภะ คือ เป็นของไม่สวยไม่งาม เต็มไปด้วยของไม่สะอาด ร่างกายที่เห็นว่าสวยงามในตอนนี้ จะคงสภาพอยู่ได้นานสักเท่าใด พอแก่ตัวขึ้นก็ย่อมจะหย่อนยาน เหี่ยวย่นไม่น่าดู ถึงแม้ในตอนนี้เอง ก็เต็มไปด้วยของสกปรกไปทั้งตัว ตั้งแต่เส้นผมจรดปลายเท้า ถ้าถึงเวลาที่กลายสภาพเป็นซากศพแล้วจะมีสภาพอย่างไร
    ๑.๔ พิจารณาถึงคุณของการออกจากกามหรือประโยชน์ของสมาธิ เช่น เป็นความสุขที่ประณีต ละเอียดอ่อน เบาสบายไม่หนักอึ้งเหมือนกาม คนที่ได้สัมผัสกับความสุขจากสมาธิสักครั้ง ก็จะรู้ได้เองว่าเหนือกว่าความสุขจากกามมากเพียงใดเป็นความสุขที่ไม่ต้องแสวงหาจากภายนอก เพราะเกิดจากความสงบภายใน จึงไม่ต้องมีการแย่งชิง ไม่ต้องยื้อแย่งแข่งขัน ไม่ต้องกลัวถูกลักขโมย เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีวัตถุใดๆ มาเป็นเครื่องล่อ จึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

๒. พยาปาทะ แก้ได้หลายวิธีตามลักษณะของพยาปาทะที่เกิดขึ้น ดังนี้
    ๒.๑ พิจารณาถึงคุณของการให้อภัย ว่าอภัยทานนั้นเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ เป็นการทำบุญโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย มองโลกในแง่ดีให้เห็นว่าคนที่ทำให้เราไม่พอใจนั้นเขาคงไม่ได้ตั้งใจ เขาอาจจะทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเข้าใจผิด หรือถูกเหตุการณ์บังคับ ถ้าเขารู้หรือว่าเขาเลือกได้ เขาคงไม่ทำอย่างนั้น หรือคิดถึงหลักความจริงที่ว่า คนเราเมื่ออยู่ใกล้กัน ก็ย่อมมีโอกาสที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกใจคนอื่นได้เป็นครั้งคราวอยู่แล้ว เพราะคงไม่มีใครสามารถทำให้ถูกใจคนอื่นได้ตลอดเวลา แม้ตัวเราเองก็ยังเคยทำให้คนอื่นไม่พอใจเช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อคนอื่นทำไม่ถูกใจเราบ้าง ก็ย่อมจะเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ควรจะถือโทษโกรธกัน หรือ คิดเสียว่าเป็นการฝึกจิตของตัวเราเองให้เข้มแข็งขึ้น โดยการพยายามเอาชนะใจตนเองเอาชนะความโกรธ และขอบคุณผู้ที่ทำให้เราโกรธที่ให้โอกาสในการฝึกจิตแก่เรา ให้เราได้สร้างและเพิ่มพูนขันติบารมี
    ๒.๒ พิจารณาเรื่องกฎแห่งกรรม ว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของๆ ตน ใครสร้างกรรมอันใดไว้ ย่อมต้องรับผลกรรมนั้นๆ สืบไป การที่เราเจอเหตุการณ์ที่ไม่ดีในครั้งนี้ ก็คงเป็นเพราะกรรมเก่าที่เราได้ทำเอาไว้ สำหรับคนที่ทำไม่ดีกับเราในครั้งนี้นั้น เขาก็จะได้รับผลกรรมนั้นเองในวันข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    ๒.๓ พิจารณาโทษของความโกรธ คนที่โกรธก็เหมือนกับจุดไฟเผาตัวเอง ทำให้ต้องเป็นทุกข์เร่าร้อน หน้าตาก็ไม่น่าดู แถมยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย เพราะฉะนั้นก็มีแต่คนโง่ กับคนบ้าเท่านั้นที่ผูกโกรธเอาไว้ แผ่เมตตาให้กับคนที่เราโกรธ ถ้าทำได้นอกจากจะดับทุกข์จากความโกรธได้แล้วยังทำให้มีความสุขจากการแผ่เมตตานั้นอีก และยังจะเป็นการพัฒนาจิตให้สูงขึ้นไปด้วย

๓. ถีนมิทธะ
    ๓.๑ ถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย แก้โดยพิจารณาถึงโทษของกามและคุณของสมาธิ เพื่อทำให้เกิดความเพียร ในการปฏิบัติให้พ้นจากโทษของกามเหล่านั้น คบหากับคนที่มีความเพียร ฝักใฝ่ยินดีในการทำสมาธิ หลีกเว้นจากคนที่ไม่ชอบเจริญสมาธิ หรือคนที่เบื่อหน่ายในสมาธิ
    ๓.๒ มิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน มีวิธีแก้หลายวิธีดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระโมคคัลลานะ สรุปได้เป็นขั้นๆ ดังนี้

  • เพ่งสิ่งนั้นให้มาก หรือให้หนักแน่นขึ้นไปอีกก็จะทำให้หายง่วงได้
  • พิจารณาธรรมที่ได้อ่านหรือได้ฟังโดยนึกในใจ ถ้ายังไม่หายง่วงให้สาธยายธรรมนั้น อาจจะออกเสียงด้วย(ให้พิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย ถ้าสถานที่ปฏิบัติใดไม่เหมาะสมที่จะสาธยายโดยการออกเสียงก็ควรงดเสีย)
  • ยอนช่องหูทั้งสองข้าง(เอานิ้วไชเข้าไปในรูหู) เอามือลูบตัว
  • เอาน้ำล้างหน้าล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย
  • ให้ทำในใจถึงอาโลกสัญญา (นึกถึงแสงสว่าง) คิดว่ากลางคืนอย่างไรกลางวันอย่างนั้น ทำความรู้สึกเหมือนกับว่า กลางคืนนั้นสว่างราวกับเป็นกลางวัน
  • เดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก (ควรเดินเร็วๆ ให้หายง่วง)
  • ให้สำเร็จสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ โดยบอกกับตัวเองว่าทันทีที่รู้สึกตัวตื่นแล้ว จะรีบลุกขึ้นทันที ด้วยตั้งใจว่าเราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการเคลิ้มหลับ 

ผู้ปฏิบัติควรแก้ไขความง่วงในวิธีการนับตั้งแต่ข้อต้นๆ มาเป็นลำดับก่อน มิใช่ว่าเมื่อง่วงเมื่อไรก็เลือกวิธีแก้ง่วงในข้อสุดท้าย คือ การสำเร็จสีหไสยาสน์ 

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ
    ๔.๑ อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่านของจิต แก้ไขโดยทำใจให้สบาย อย่ามุ่งมั่นมากเกินไปจนเครียด จะทำให้ฟุ้งซ่านหนักขึ้น อย่าหวัง อย่ากำหนดกฎเกณฑ์ว่าวันนี้จะต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ ปล่อยวางให้มากที่สุด อย่าคิดบังคับให้สมาธิเกิด ยิ่งบีบแน่นมันจะยิ่งทะลักออกมา ยิ่งฟุ้งไปกันใหญ่
    ๔.๒ กุกกุจจะ คือ ความรำคาญใจ แก้ได้โดยพยายามปล่อยวางในสิ่งนั้นๆ โดยคิดว่าอดีตก็ผ่านไปแล้ว คิดมากไปก็เท่านั้นอนาคตก็ยังมาไม่ถึง ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดดีกว่า ขณะนี้เป็นเวลาทำกรรมฐาน เพราะฉะนั้นอย่างอื่นพักไว้ก่อน ยังไม่ถึงเวลาคิดเรื่องเหล่านั้น ถ้าแก้ไม่หายจริงๆก็ไปจัดการเรื่องเหล่านั้นให้เรียบร้อย แล้วถึงกลับมาเจริญกรรมฐานใหม่

๕. วิจิกิจฉา แก้ไขได้โดย
    ๕.๑ พยายามศึกษาหาความรู้ในข้อปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ให้เข้าใจโดยละเอียด
    ๕.๒ ทดลองปฏิบัติตามที่ได้ศึกษามาอย่างดีอย่างถูกต้อง เพื่อทดสอบว่าข้อปฏิบัติใดเหมาะสมกับจริตของตน

บุคคลผู้เจริญสมถกรรมฐาน เมื่อได้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้แล้วนั้น ย่อมข่มนิวรณธรรมได้บรรลุปฐมฌานที่ประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีตี สุข เอกัคคตา 

ผลแห่งการบำเพ็ญปฐมฌาน
ย่อมยังให้บุคคลไปเกิดในปฐมฌานภูมิ ๓ คือ
ปฐมฌานอย่างต่ำ 
หลังจากตาย จะบังเกิดในพรหมโลกชั้นปาริสัชชา มีอายุประมาณ ๑/๓ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
ปฐมฌาน
อย่างกลาง หลังจากตาย จะบังเกิดในพรหมโลกชั้นปุโรหิตา มีอายุประมาณ ๑/๒ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
ปฐมฌานอย่างสูง หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมชั้นมหาพรหมา มีอายุประมาณ ๑ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป

ทุติยฌาน ผู้ปฏิบัติเมื่อบรรลุปฐมฌานแล้ว วิธีที่จะได้ทุติยฌาน คือ ต้องเห็นโทษของปฐมฌาน และเห็นคุณหรืออานิสงส์ของทุติยฌาน จึงจะเป็นผู้ที่ดำเนินไปสู่ทุติยฌานได้ ถ้าผู้ที่ยังไม่ได้ปฐมฌานเลย แต่ปรารถนาจะบรรลุทุติยฌาน ถึงแม้ว่าเขาจะทราบว่าการละวิตก และวิจารได้ก็จะเป็นผู้บรรลุทุติยฌานและพยายามที่จะละวิตกและวิจาร ผู้ที่ปฏิบัติอย่างนี้ถึงแม้ว่าทำจนตายก็ไม่มีทางสำเร็จ

การเข้าทุติยฌาน ต้องฝึกฝนปฐมฌานอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง อย่างคล่องแคล่ว โดยการเข้าฌาน ออกจากฌาน เมื่อฝึกจนคล่องแคล่วชำนาญ ก็พึงระลึกว่า “ปฐมฌานนี้ ยังหยาบ ทุติยฌานละเอียด ” และพิจารณาเห็นโทษของปฐมฌาน พิจารณาอานิสงส์ของทุติยฌานและโทษของปฐมฌาน ก็คือ นิวรณ์ที่เป็นศัตรูใกล้ชิดกับวิตกและวิจาร วิตกและวิจารนี้เป็นเหตุทำให้ร่างกายเฉื่อยชาและจิตฟุ้งซ่านรำคาญ เพราะเหตุนั้นสมาธิจึงหยาบและไม่สามารถให้ความรู้ขั้นสูงเกิดขึ้นได้ เมื่อเห็นโทษของปฐมฌาน และอานิสงส์ของทุติยฌานอย่างนี้จึงจะก้าวไปสู่ความสำเร็จขั้นทุติยฌานต่อไป เมื่อจิตคิดที่จะพ้นไปจากปฐมฌาน และยึดเอากสิณนิมิตเป็นต้น ไว้เป็นอารมณ์ของทุติยฌาน เพ่งอยู่ในอารมณ์นั้น จิตที่ปราศจากวิตกและวิจาร มีความสบายเพราะปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิย่อมบรรลุทุติยฌาน ถ้าผู้ปฏิบัติพากเพียรให้มาก ก็ย่อมจะละวิตกและวิจารได้อย่างรวดเร็ว จะอยู่สบายในปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ และทำให้จิตอยู่อย่างสงบ

ผลแห่งการบำเพ็ญทุติยฌาน ย่อมยังให้บุคคลไปเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ คือ
ทุติยฌานอย่างต่ำ 
หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมโลกชั้นปริตตาภา มีอายุประมาณ ๒ มหากัป
ทุติยฌานอย่างกลาง 
หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมโลกชั้นอัปปมาณาภา มีอายุประมาณ ๔ มหากัป
ทุติยฌานอย่างสูง 
หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมโลกชั้นอาภัสสรา มีอายุประมาณ ๘ มหากัป

ตติยฌาน ผู้ปฏิบัติเมื่อบรรลุทุติยฌานแล้ว วิธีที่จะได้ตติยฌาน คือ ต้องเห็นโทษของทุติยฌาน และ อานิสงส์ของตติยฌาน จึงจะเป็นผู้ที่ดำเนินไปสู่ตติยฌานได้ ผู้ปฏิบัติต้องฝึกฝนในทุติยฌานอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง อย่างคล่องแคล่ว โดยการเข้าฌาน ออกจากฌาน เมื่อฝึกจนคล่องแคล่ว ชำนาญ ก็พึงระลึกว่า “ทุติยฌานนี้ ยังหยาบ ตติยฌานละเอียด ” พิจารณาเห็นโทษของทุติยฌาน อานิสงส์ของตติยฌานและโทษของทุติยฌาน ก็คือ ฌานนี้มีวิตกและวิจารเป็นเหตุใกล้ เพราะประกอบด้วยปีติจึงเป็นฌานหยาบ จิตยังยินดีในการเป็นเจ้าของปีติ และไม่สามารถทำองค์ฌานอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นได้ การยึดติดปีติยังไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดในการเจริญฌาน ผู้ปฏิบัติพึงพิจารณาอย่างนี้เพื่อจะทำให้ฌานจิตเลื่อนขั้น

ผลแห่งการบำเพ็ญตติยฌาน ย่อมยังให้บุคคลไปเกิดในตติยฌานภูมิ ๓ คือ
ตติยฌานอย่างต่ำ 
หลังจากตาย จะบังเกิดในพรหมโลกชั้นปริตตสุภา มีอายุประมาณ ๑๖ มหากัป
ตติยฌานอย่างกลาง 
หลังจากตาย จะบังเกิดในพรหมโลกชั้นอัปปมาณสุภา มีอายุประมาณ ๓๒ มหากัป
ตติยฌานอย่างสูง 
หลังจากตายจะบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุภกิณหา มีอายุประมาณ ๖๔ มหากัป

จตุตถฌาน ผู้ปฏิบัติเมื่อบรรลุตติยฌานแล้ว วิธีที่จะได้จตุตถฌาน คือ ต้องเห็นโทษของตติยฌาน และ อานิสงส์ของจตุตถฌาน จึงจะเป็นผู้ที่ดำเนินไปสู่จตุตถฌานได้ ผู้ปฏิบัติต้องฝึกฝนในตติยฌานอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง อย่างคล่องแคล่ว โดยการเข้าฌาน ออกจากฌาน เมื่อฝึกจนคล่องแคล่ว ชำนาญ ก็พึงระลึกว่า “ตติยฌานนี้ ยังหยาบ จตุตถฌานละเอียด ” พิจารณาเห็นโทษของตติยฌาน อานิสงส์ของจตุตถฌานและโทษของตติยฌาน ก็คือ ปีติเป็นศัตรูที่อยู่ใกล้ สัมมาสมาธิพร้อมด้วยสุข ยังเป็นธรรมชาติหยาบ และเพียงตติยฌานนี้ไม่สามารถบรรลุถึง อภิญญาได้ เมื่อรู้ในโทษของตติยฌาน และอานิสงส์ของจตุตถฌานแล้ว ย่อมเจริญกสิณนิมิตและกำจัดสุข หลังจากที่กำจัดสุขแล้ว จิตจึงประกอบด้วยอุเบกขา จิตของเธอผู้บำเพ็ญอย่างนั้น ย่อมบรรลุอัปปนาสมาธิเนื่องด้วยอุเบกขา

ผลแห่งการบำเพ็ญจตุตถฌาน หลังจากตายไปย่อมเกิดในพรหมโลกชั้นเวหัปผลามีอายุประมาณ ๕๐๐ มหากัป (ถ้าจิตของผู้ปฏิบัติไม่ชอบความเพียรก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นอสัญญีสัตว์มีอายุประมาณ ๕๐๐ มหากัป *) ถ้าผู้ปฏิบัติเป็นผู้สำเร็จมรรคในอนาคามีมรรคด้วยแล้วก็จะไปเกิดในสุทธาวาส ๕

เพราะเหตุไร ฌานระดับต่ำ กลาง สูง ในจตุตฌานนี้จึงไม่มี ? เพราะว่า มีความแตกต่างระหว่างฌานที่หยาบและละเอียดอยู่ในฌานตั้งแต่ระดับปฐมฌานถึงตติยฌาน แต่ในจตุตฌานนี้ไม่มีแล้ว

(🔎* ในอสัญญีสัตว์ โดยนัยแห่งคัมภีร์วิมุตติมรรคกล่าวไว้ว่า “........ถ้าจิตของผู้ปฏิบัติไม่ชอบความเพียรก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นอสัญญีสัตว์” โดยนัยแห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคกล่าวไว้ว่า “...จริงอยู่เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จอุบัติขึ้น พวกที่บวชเป็นเดียรถีย์ทำบริกรรมในวาโยกสิณ ยังจตุตถฌานให้เกิดขึ้น ออกจากฌานนั้นแล้วก็เห็นว่าจิตนี้เป็นของน่าติเตียนมาก ความไม่มีจิตเสียเลย เป็นการดี. เพราะทุกข์ มีการฆ่าและจองจำเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยจิต, เมื่อไม่มีจิตทุกข์นั้นก็ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้นจึงเกิดความยินดีพอใจ ฌานไม่เสื่อมทำกาละแล้วเกิดในอสัญญีภพ. ผู้ใดตั้งอยู่ในอิริยาบถใดในมนุษย์ ผู้นั้นก็ย่อมเกิดด้วยอิริยาบถนั้นสถิตอยู่ตลอด ๕๐๐ กัป. เป็นเหมือนนอน นั่ง หรือยืน ตลอดกาลยาวนานมีประมาณเพียงนั้น.”)


อรูปฌาน แบ่งเป็น 
๑. อากาสานัญจายตนฌาน ฌานลีภาบุคคลเมื่อได้รับสุขที่ไม่มีที่สิ้นสุดในจตุตถฌาน แล้วปรารถนาที่จะบรรลุฌานที่สูงขึ้นไปอีก คือ อากาสานัญจายตนฌาน ก้าวพ้นวิสัยแห่งรูป และพิจารณาว่า “ รูปฌานยังเป็นธรรมหยาบ อากาสานัญจายตนฌานเป็นธรรมละเอียด ” พึงพิจารณาเห็น โทษของรูปฌาน เห็นอานิสงส์ของอากาสานัญจายตนฌาน และโทษของรูปฌาน เช่น การถูกเข่นฆ่า เบียดเบียน การทะเลาะ การส่อเสียด การพูดเท็จ ความบกพร่องของอวัยวะต่าง ๆ เป็นต้น โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากรูป เห็นอานิสงส์ของอากาสานัญจายตนฌานแล้วข้ามพ้นจากฌานนั้น โดยละปฐวีกสิณปฐวีนิมิต เจริญอากาสานัญจายตนะ คือ การไม่เอารูปอันมีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ แต่กลับไปเอาอากาศที่เพิกออกจากปฏิภาคนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า “ อากาโส อนนฺโต ๆ ” คือ อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ๆ จนจิตแนบแน่น อากานัญจายตนฌานจิตจึงเกิดขึ้น

ผลแห่งการเจริญอากาสานัญจายตนฌาน เมื่อตายจะได้ไปเกิดในอากาสานัญจายตนภูมิ มีอายุประมาณ ๒๐,๐๐๐ มหากัป

๒. วิญญาณัญจายตนฌาน ฌานลาภีบุคคลผู้มีความชำนาญในการเจริญอากาสานัญจายตนฌาน แล้วเห็นโทษของอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นธรรมหยาบ โทษของอากาสานัญจายตนฌาน คือ เป็นฌานที่มีศัตรูคือ รูปฌานอยู่ใกล้ อารมณ์ของอากาสานัญจายตนฌาน เป็นธรรมหยาบ ปฏิฆสัญญาและนานัตตสัญญา ยังไม่แยกจากกันเลยในฌานนี้ เนื่องจากความยึดมั่นถือมั่น ฌานลาภีบุคคลจึงไม่สามารถมีส่วนแห่งคุณวิเสสได้ เมื่อพิจารณาถึงโทษอย่างนี้แล้ว ก็คำนึงถึงอานิสงส์ของวิญญาณัญจายตนะ มองเห็นความละเอียดแห่งวิญญาณัญจายตนฌาน โดยกำหนดไปที่จิตที่พิจารณาอากาศที่เพิกกสิณไปนั้นแหละเป็นอารมณ์ เมื่อพิจารณาถึงคุณและโทษแล้ว ก็พึงพิจารณาวิญญาณัญจายตนะว่า “ สงบ” และใส่ใจถึงความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณที่พิจารณาในอากาศที่ว่างนั้นโดยใส่ใจวิญญาณที่แผ่ไปยังอากาศนั้นบ่อย ๆ พิจารณาอย่างนี้จนจิตมั่นคงอยู่ในวิญญาณัญจายตนะ ไม่นานนักจิตย่อมข้ามพ้นจากอากาสานัญจายตนสัญญาและก้าวเข้าสู่วิญญาณัญจายตนะ

ผลแห่งการเจริญวิญญาณัญจายตนฌาน เมื่อตายจะไปบังเกิดในวิญญาณัญจายตนภูมิ มีอายุประมาณ ๔๐,๐๐๐ มหากัป

๓. อากิญจัญญายตนฌาน 
ฌานลาภีบุคคลผู้มีความชำนาญที่ได้ประพฤติมาแล้วในวิญญานัญจายตนฌาน เห็นโทษของวิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นธรรมหยาบ อากิญจัญญายตนฌานเป็นธรรมละเอียด โทษก็คือ วิญญาณัญจายตนฌานนี้ มีศัตรูคืออากาสานัญจายตนะอยู่ใกล้วิญญาณารมณ์เป็นธรรมหยาบ ในที่นี้

เนื่องจากความยึดมั่นถือมั่น จึงไม่สามารถมีส่วนในคุณวิเสสโดยพิจารณาอนันตสัญญาได้ อานิสงส์ของอากิญจัญญายตนะอยู่ที่การเอาชนะโทษเหล่านี้ เมื่อข้ามพ้นวิญญาณัญจายตนะอย่างสงบ ไม่ดำเนินไปตามวิญญาณนั้นอีก จึงเป็นผู้เห็นความหลุดพ้นของอากิญจัญญายตนะ ปรารถนาที่จะบรรลุอากิญจัญญายตนะจึงข้ามพ้นวิญญาณสัญญาทันที

ผลแห่งการเจริญอากิญจัญญายตนฌาน เมื่อตายจะไปบังเกิดในอากิญจัญญายตนภูมิ มีอายุประมาณ ๖๐,๐๐๐ มหากัป 

๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ ฌานลาภีบุคคลผู้พิจารณาเห็นโทษของอากิญจัญญายตนะว่าเป็นธรรมหยาบ เนวสัญญานาสัญญายตนะเป็นธรรมละเอียด โทษคือฌานนี้มีวิญญาณัญจายตนะอยู่ใกล้ ประกอบด้วยสัญญาที่หยาบเนื่องจากความยึดมั่นถือมั่น สัญญานี้เป็นดุจโรค เป็นดุจฝี เป็นดุจหนาม เนวสัญญานาสัญญายตนะนี้เป็นธรรมชอบ ธรรมละเอียด และประณีต เจริญในกรรมฐานอย่างนั้นแล้ว ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนสัญญา ไม่นานนักย่อมบรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ

ผลแห่งการเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อตายจะไปบังเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ มีอายุประมาณ ๘๔,๐๐๐ มหากัป


💦สรุปอรูปฌานแบบย่อ

ผู้เจริญรูปฌานจนสำเร็จขั้นสุดท้ายของรูปฌานแล้ว ถ้าจะทำต่อขึ้นไปก็จะเป็นอรูปฌาน อารมณ์นั้นก็จะเพิกไปจากนิมิต จากกสิณ จากอารมณ์ที่เพ่งอยู่นั้น

อรูปฌานที่ ๑ อากาสานัญจายตนฌาน เพ่งอากาศที่ว่างจากกสิณนั้นเป็นอารมณ์เรียกว่ามีกสิณุ ฆาฏิมากาสบัญญัติเป็นอารมณ์
อรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนฌาน ก็หันมาเอาจิต คือ อากาสานัญจายตนฌานจิตนั้นเป็นอารมณ์ในการเจริญวิญญาณัญจายตนะ
อรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌาน เพ่งนัตถิ -ภาวบัญญัติเป็นอารมณ์ คือความไม่มีอะไร ความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ความว่างเปล่า หรือ ความไม่มีอะไรนี้เป็นบัญญัติชนิดหนึ่งเหมือนกัน ตรงนี้บางครั้งผู้ที่ปฏิบัติถึงระดับนี้ บางทีหลงไปว่าเป็นพระนิพพานแล้ว เพราะได้ยินได้ฟังว่านิพพานเป็นลักษณะที่ดับที่ว่างจากตัวตน พอรับนัตถิภาวบัญญัติ คือ ความไม่มีอะไรทั้งหมดเป็นอารมณ์ก็เลยนึกว่า นี่คือถึงนิพพานแล้ว แต่ความจริงยังเป็นบัญญัติชนิดหนึ่ง คือ ความไม่มีอะไร
อรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็กลับมาเพ่งอากิญจัญญายตนฌานจิตเป็นอารมณ์ คือ ภาวะที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ผู้เจริญฌานจนสำเร็จก็ได้สุดยอดแค่นี้ เรียกว่าได้ฌานสมาบัติ ๙ นับโดยปัญจกนัย ถ้านับโดยจตุกกนัยก็เรียกว่า ฌานสมาบัติ ๘ จตุกกนัยก็หมายถึงว่านับรูปฌานแค่ ๔ คือคนที่ได้ถึงฌานที่ ๔ ก็จะมีอุเบกขากับเอกัคคตา

การเจริญสมถกรรมฐานที่ได้รับผลโดยตรงก็คือ จิตบรรลุฌานขั้นต่าง ๆ ผู้เจริญสมถกรรมฐานที่ยังไม่บรรลุผลสูงสุดจนได้ฌานแต่การปฏิบัติก็ทำให้สมาธิจิตเกิดขึ้น สัมมาสมาธิที่เกิดขึ้นนั้นมีประโยชน์มากมายถึงแม้ว่าจะยังไม่บรรลุในฌานขั้นต่าง ๆ ก็ตาม





วันพุธ

๑. ความรู้เบื้องต้นของกรรมฐาน

คำว่า กรรมฐาน หมายถึง ที่ตั้งของการกระทำ หรือว่าการกระทำที่เกิดขึ้นทางจิตใจ ซึ่งรวมแล้วมี ๒ อย่าง คือ
๑) สมถกรรมฐาน
๒) วิปัสสนากรรมฐาน

ฉะนั้นคำว่ากรรมฐาน ก็หมายรวมถึง
สมถะและวิปัสสนาได้ทั้ง ๒ อย่าง แต่ถ้าหาก จะเจาะจงลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ต้องระบุให้ชัดลงไปว่า “เจริญสมถกรรมฐาน หรือ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน” ถ้าบอกเพียงว่าปฏิบัติกรรมฐาน ความหมายก็จะคลุมทั้งสมถะและวิปัสสนา

การเจริญสมถกรรมฐาน คือ การปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงซึ่งความสงบ
การเจริญวิปัสสนา คือ
การปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงซึ่งปัญญา

ส่วนความสงบที่เกิดจากการเจริญสมถะนั้นไม่ใช่ปัญญา แต่ความสงบก็
เป็นธรรมชาติเป็นของจริงเหมือนกัน ความสงบอันเนื่องจากการเจริญสมถกรรมฐานมีลักษณะที่จิตมีสมาธิเข้าถึงความสงบคือจิตนั้นตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวซึ่งเป็นฝ่ายกุศล นิ่งแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างสม่ำเสมอ และโดยถูกทางด้วย จากคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้แบ่งสมาธิไว้หลายนัย เช่น สมาธิมี
อย่างเดียวคือ มีลักษณะไม่ฟุ้ง สมาธิมีสองอย่าง คือ หมวดที่ ๑ แยกเป็นอุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ  หมวดที่ ๒ แยกเป็นโลกียสมาธิ และ โลกุตตรสมาธิ (ยังมีการแบ่งสมาธิออกเป็น ๓ , ๔ , ๕ อย่างอีก ในที่นี้ขอยกมาอธิบายเพียงบางส่วน)

สมาธิ ๒ อย่าง หมวดที่ ๑ แยกเป็นอุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ

    ๑. อุปจารสมาธิ หมายถึง การพิจารณาอารมณ์กรรมฐานด้วยภาวะที่จิตเป็นเอกัคคตา (เอกัคคตาเป็นเจตสิกในอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง ซึ่งโดยปกติย่อมเข้าประกอบกับจิตทุกดวง แต่มีกำลังอ่อน ในที่นี้มีกำลังแรงกล้าสามารถจะทำให้สัมปยุตตธรรมตั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นาน ๆ ซึ่งจัดเป็นองค์ฌานองค์หนึ่ง) โดยไม่มีความคิดตามความเคยชินอื่นมากีดขวาง ความคิดตามความเคยชินเหล่านั้น ได้แก่ นิวรณ์ ๕

    ๒. อัปปนาสมาธิ หมายถึง ภาวะของจิตที่เกิดขึ้นต่อจากอุปจารสมาธิ สมาธิในขั้นนี้เป็นสมาธิที่เป็นความก้าวหน้าทางใจ อุปจารสมาธิ กับ อัปปนาสมาธิ ต่างกันอย่างไร ? ต่างกันคืออุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่บุคคลเอาชนะนิวรณ์ ๕ ได้ เมื่อบุคคลเอาชนะนิวรณ์ได้ จึงเกิดความแตกฉานในสมาธิ คล่องแคล่วในสมาธิสมาธิที่เจริญมาถึงขั้นนี้เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

สมาธิ ๒ อย่าง หมวดที่ ๒ แยกเป็นโลกียสมาธิ และโลกุตตรสมาธิ

    ๑. โลกียสมาธิ หมายถึง เอกัคคตา ที่ประกอบกับกุศลจิต ในภูมิ ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิและอรูปภูมิ

    ๒. โลกุตตรสมาธิ หมายถึง เอกัคคตาที่ประกอบกับอริยมัคคจิต

นิมิต ๓ อย่าง

        ๒.บริกรรมนิมิต เป็นนิมิตขั้นเตรียมการหรือเริ่มต้น หมายถึง สิ่งใดก็ตามที่กำหนดเป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน เช่น ดวงกสิณที่ถูกนำมาใช้กำหนดในการเจริญสมถกรรมฐาน อสุภะหรือซากศพ เป็นต้น สิ่งนั้นเรียกว่าบริกรรมนิมิต
        ๒.๒ อุคคหนิมิต (นิมิตติดตา) คือนิมิตที่ผู้ปฏิบัติเพ่งองค์กสิณที่เรียกว่าบริกรรมนิมิตนั้นด้วยจิตไม่ฟุ้งซ่าน จนเห็นภาพกสิณนั้นอย่างติดตา และมองเห็นดวงกสิณนั้นเหมือนกับลอยอยู่ในอากาศ บางครั้งก็ลอยไกลออกไป บางครั้งอยู่ใกล้ อยู่ทางซ้าย อยู่ทางขวา บางครั้งมีขนาดใหญ่ บางครั้งมีขนาดเล็ก บางครั้งมีลักษณะน่าเกลียด บางครั้งมีลักษณะน่ารัก (ความน่าเกลียดน่ารัก ขึ้นอยู่กับอารมณ์กรรมฐานที่เลือก ถ้าเลือกอสุภะ คือ ซากศพเป็นองค์กสิณ อุคคหนิมิต ก็เป็นภาพน่าเกลียดเช่นเดียวกับศพ ) ผู้ปฏิบัติพึงทำอุคคหนิมิต คือ นิมิตที่ติดตานี้ให้เกิดขึ้นโดยการเพ่งที่คล่องแคล่วโดยไม่ต้องอาศัยองค์กสิณแล้ว
        ๓. ปฏิภาคนิมิต (นิมิตที่เกิดขึ้นทางใจ) เพราะการกำหนดอุคคหนิมิตนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ปฏิภาคนิมิตจึงเกิดขึ้น ปฏิภาคนิมิตนี้เห็นได้ถึงแม้หลับตา จะเห็นเหมือนกับลืมตาดู คือปรากฏในความคิดเท่านั้น คือ นิมิตที่เป็นภาพ คล้ายอุคคหนิมิต แต่เป็นภาพที่บริสุทธิ์ย่อได้ขยายได้ ไม่ด่างพร้อย ใสสะอาด งามกว่าอุคคหนิมิต เช่น การเพ่งซากศพที่พองอืด ในระดับอุคคหนิมิต จะเห็นซากศพนอนพองอืดอยู่ แต่ในระดับปฏิภาคนิมิตแล้วจะปรากฏเป็นภาพคนอ้วนพี สมบูรณ์ นอนนิ่งอยู่เหมือนคนนอนหลับ ไม่น่ากลัว ไม่น่าสะอิดสะเอียนแต่อย่างใด นิมิตนั้นปรากฏพร้อมกับจิต


ภาวนา ๓ อย่าง

๑. บริกรรมภาวนา คือ การเจริญจิตในขั้นแรกเริ่มปฏิบัติ เช่น การเจริญปฐวีกสิณ ต้องเพ่งองค์กสิณ และ ท่องคำบริกรรมว่า ปฐวี ๆ จิตที่เพ่ง และ ท่องคำบริกรรมนั้น คือ บริกรรมภาวนา ( สิ่งที่ถูกเพ่ง คือ บริกรรมนิมิต )
๒. อุปจารภาวนา คือ จิตที่มีความแนบแน่นในอารมณ์ในขั้นใกล้กับอัปปนาฌานแล้ว ในขั้นนี้ เป็นขั้นตอนที่จิตมีนิมิตเกิดขึ้น ๒ อย่าง คือ อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต
๓. อัปปนาภาวนา คือ ขั้นตอนที่จิตมีองค์ฌานเกิดขึ้นประกอบพร้อมแล้ว กล่าวคือ เมื่อสำเร็จปฐมฌาน ก็จะประกอบด้วยองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จิตในขั้นนี้คือ อัปปนาภาวนา

การรักษานิมิต
นิมิตเกิดยากแต่เสื่อมง่าย ฉะนั้นผู้ปฏิบัติเมื่อได้นิมิตแล้วต้องรักษาไว้อย่างดีดุจพระมเหสีผู้รักษาพระครรภ์ จากคัมภีร์วิมุตติมรรคได้แสดงวิธีการรักษานิมิตด้วยการกระทำ ๓ อย่าง คือ ด้วยการงดเว้นจากความชั่ว ด้วยการปฏิบัติกุศลธรรม และด้วยการพากเพียรอย่างต่อเนื่อง

การงดเว้นจากความชั่ว งดเว้นจากความยินดีในการงาน งดเว้นจากความยินดีในการพูดโต้แย้งแบบต่าง ๆ งดเว้นจากความยินดีในการหลับ การอยู่กับหมู่คณะ ลักษณะนิสัยที่ผิดศีลธรรม การไม่สำรวมอินทรีย์ ๖ มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ความไม่รู้จักประมาณในอาหาร การไม่บำเพ็ญฌาน การไม่มีสติในกาลต่าง ๆ การปฏิบัติกุศลธรรม การเอาชนะความชั่วทั้งปวงดังที่กล่าวมานั้น ก็คือการปฏิบัติกุศลธรรมให้เกิดขึ้น เป็นการรักษานิมิตให้เกิดขึ้นและตั้งมั่น

ความเพียรอย่างต่อเนื่อง คือ เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดนิมิตได้แล้ว ต้องรักษานิมิตนั้นเสมอ เปรียบประดุจว่านิมิตนั้นเป็นเพชรที่มีค่ามาก เพียรปฏิบัติกรรมฐานอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และปฏิบัติอย่างมาก มีความพอใจในการปฏิบัติ นั่งก็เป็นสุข นอนก็เป็นสุข ทำใจให้ออกห่างจากวิธีการที่ปฏิบัติแบบผิด ๆ การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องอย่างดี จะทำให้ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้น นั่นก็แสดงว่าผู้ปฏิบัติได้สมาธิถึงขั้นใกล้จะสำเร็จปฐมฌาน


เมื่อสมาธิไม่ก้าวหน้าจะทำอย่างไร
บุคคลที่ปฏิบัติแล้วได้เพียงอุปจารสมาธิไม่ก้าวหน้าถึงอัปปนาสมาธิ จากคัมภีร์วิมุตติมรรคและวิสุทธิมรรคได้แสดงวิธีฝึกให้ก้าวหน้าด้วยวิธีการ ๑๐ อย่าง เรียกว่า อัปปนาโกศล ๑๐ มีด้งนี้
    ๑. โดยเอาใจใส่ทำความสะอาดวัตถุทางกาย การทำวัตถุทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกให้มีความสะอาด มีผลต่อการเจริญสมาธิ ในเวลาใดที่ผู้ปฏิบัติมีผม , เล็บ ยาวสกปรก หรือร่างกายมีเหงื่อไคล เวลานั้นคือมีวัตถุภายในที่ไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ ในกาลใดที่ผู้ปฏิบัติมีจีวรเก่า สกปรก และเหม็นสาบ หรือมีเสนาสนะรกรุงรัง กาลนั้น ชื่อว่ามีวัตถุภายนอกไม่สะอาด เมื่อจิตและเจตสิกทั้งหลายเกิดขึ้นในวัตถุภายในและภายนอกที่ไม่สะอาดเช่นนั้น แม้ฌานก็พลอยไม่สะอาดไปด้วย เช่นเดียวกับแสงตะเกียงอันเกิดเพราะอาศัยตะเกียง ไส้ และน้ำมันที่ไม่สะอาด เมื่อผู้ปฏิบัติที่มีวัตถุไม่สะอาดเช่นนี้ย่อมมีอุปสรรค แม้จะเพียรทำกรรมฐานไปก็ไม่สำเร็จ
    ๒. โดยเอาใจใส่เรื่องการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ผู้ปฏิบัติควรปรับอินทรีย์ทั้ง ๕ ให้เสมอกัน ทำปัญญากับศรัทธาให้เสมอกัน ทำสมาธิกับวิริยะให้เสมอกัน ส่วนสติยิ่งมากยิ่งดี (ทบทวนเรื่องอินทรีย์ ๕)
    ๓. โดยความเป็นผู้ฉลาดในการกำหนดนิมิต คือ กำหนดนิมิตทางใจไว้ให้ดี ไม่เร่งด่วนเกินไป และไม่ช้าเกินไป
    ๔. โดยการควบคุมจิตในการปฏิบัติให้สม่ำเสมอ มีวิธีการอยู่ ๒ อย่างคือ การเพียรอย่างสม่ำเสมออย่างแรงกล้า และด้วยการใคร่ครวญตรวจสอบอารมณ์ มิฉะนั้นแล้วจิตจะกวัดแกว่งเที่ยวแสวงหาอารมณ์อื่นๆ อันไม่สมควรและเกิดความวุ่นวายใจ ถ้ากระทำทั้ง ๒ วิธีแล้ว จิตยังเที่ยวเตร็ดเตร่ไปหาอารมณ์ไม่เหมาะสม ก็ต้องควบคุมจิตนั้นโดยพิจารณาผลเสียของจิตที่ไม่ตั้งอยู่ในสมาธิ ทำให้จิตไหลไปสู่กามและกิเลส ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทุกข์ต่าง ๆ
    ๕. โดยการกำจัดเสียซึ่งความประมาท ความประมาทของจิต หรือความเลินเล่อของจิต เพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ เพราะขาดความเชี่ยวชาญในสมาธิ และเพราะความเฉื่อยชาของจิต เมื่อมีความเลินเล่อมาก จิตก็เฉื่อยชาและเซื่องซึม ผู้ปฏิบัติต้องกำจัดอุปสรรคเหล่านี้ ด้วยการพิจารณาคุณความดีของการเจริญสมาธิ และด้วยการปรารภความเพียรในการปฏิบัติอยู่เนือง ๆ
    ๖. โดยพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง เมื่อผู้ปฏิบัติมีจิตไม่เบิกบานเพราะการขวนขวายน้อย หรือเพราะไม่ได้รับความสงบสุข ก็ควรพิจารณาถึง ชาติ ชรา มรณะ และโทษทุกข์ในอบายภูมิ ทุกข์ในการต้องเวียนตายเวียนเกิด เมื่อพิจารณาถึงทุกข์ โทษ ภัยต่างๆ นี้แล้ว ย่อมทำให้เห็นความสำคัญของการรีบขวนขวายปฏิบัติ
    ๗. โดยเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย ในระหว่างที่ปฏิบัติอยู่จิตย่อมมีลักษณะต่าง ๆ เช่น ไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน มีความแช่มชื่นเบิกบาน เป็นไปโดยสม่ำเสมอในอารมณ์ ในเวลานั้นก็ให้พิจารณาสภาพจิตอย่างนั้นๆ อย่างวางเฉย นี่คือการเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย ไม่ต้องกังวลว่าทำไมจิตจึงหดหู่ ทำไมจึงฟุ้งซ่าน เพราะเมื่อผู้ปฏิบัติทำอุปาจารสมาธิให้สมบูรณ์ได้แล้ว จิตก็จะแน่วแน่ได้เพราะสามารถกำจัดนิวรณ์ทั้งหลาย ก็ให้พากเพียรกำหนดอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน
    ๘. โดยการหลีกเว้นบุคคลผู้ไม่ฝึกสมาธิ คือ ไม่ควรคบหาบุคคลผู้ไม่ได้บรรลุอัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือขณิกสมาธิ และบุคคลผู้ไม่ฝึกฝนตัวเองในข้อปฏิบัติเหล่านี้
    ๙. การคบบุคคลที่ฝึกสมาธิ 
คือ ควรคบหาบุคคลผู้ได้บรรลุอัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือขณิกสมาธิ และบุคคลผู้ฝึกฝนตัวเองในข้อปฏิบัติเหล่านี้
    ๑๐. โดยการน้อมจิตไปในสมาธินั้น คือ การเคารพเอื้อเฟื้อ ชอบใจสมาธิ และปฏิบัติสมาธินั้นมากเป็นประจำ 

การอาศัยการปฏิบัติในอัปปนาโกศล ๑๐ ประการนี้ ก็จะยังความสำเร็จให้ได้ถึงอัปปนาสมาธิ เพื่อ
ไปสู่ความสำเร็จฌานแรก คือ ปฐมฌาน



วันเสาร์

๔. สัพพสังคหะ

ในสัพพสังคหะนี้พระอนุรุทธาจารย์ได้สงเคราะห์ปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน โดยความเป็น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ เป็นการสงเคราะห์สภาวธรรมให้เข้าเป็นหมวดหมู่ สิ่งที่จะได้รับจากการศึกษาโดยการจัดสงเคราะห์เป็นหมวดหมู่ คือโดยสัพพสังคหะนี้ จะเป็นประโยชน์มากในด้านการศึกษา เพื่อให้เกิดความรู้ที่ถูกต้อง เป็นจริง มีแสดงไว้อย่างละเอียดโดยนัยต่างๆ ดังนี้


หมวดที่ ๑ ขันธ์ ๕

คำว่า ขันธ์ ใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ ใช้ในความหมายว่า กอง หรือ ส่วน เช่น อุทกขันธ์ แปลว่า กองน้ำ พลขันธ์ แปลว่า กองพล บุญขันธ์ แปลว่า กองบุญ ศีลขันธ์ แปลว่า คุณคือศีล สมาธิขันธ์ แปลว่า คุณคือสมาธิ แต่ในที่นี้มุ่งในความหมายว่า “กอง”

ในสัพพสังคหะนี้ “ขันธ์”จึงมีความหมายว่า เป็นกลุ่ม เป็นกอง หมายถึงกลุ่ม กอง ของธรรมที่ต่างกันออกไป มี ๕ ประเภท ๑๑ อย่าง

ธรรมที่จัดโดยความเป็นขันธ์ได้ ต้องมี ลักษณะดังนี้
ประเภทที่ ๑ ธรรมใดที่เป็นทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ได้ รวมเป็น ๓ อย่าง
ประเภทที่ ๒ ธรรมใดที่เป็นทั้งภายใน ภายนอก ได้ รวมเป็น ๒ อย่าง
ประเภทที่ ๓ ธรรมใดที่มีความหยาบ ละเอียด ได้ รวมเป็น ๒ อย่าง
ประเภทที่ ๔ ธรรมใดที่มีความต่ำ ประณีต ได้ รวมเป็น ๒ อย่าง
ประเภทที่ ๕ ธรรมใดที่เป็นไปในที่ใกล้ ไกล ได้ รวมเป็น ๒ อย่าง

รวมทั้งหมดเป็น ๕ ประเภท ๑๑ อย่าง
ประเภทที่ ๑ ธรรมที่เป็น อดีต ปัจจุบัน อนาคต 
ธรรมที่ชื่อว่า ขันธ์ จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป กล่าวคือ ธรรมนั้นต้องมีสภาพเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต นั่นเอง ธรรมที่มีสภาพ ๓ อย่างนี้ ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

ประเภทที่ ๒ ธรรมที่เป็น ภายใน ภายนอก
ธรรมที่ชื่อว่า ขันธ์ คือ ธรรมที่ปรากฏภายในตนเองได้ และเป็นธรรมที่เกิดภายนอกตนได้ หมายถึง ธรรมที่เกิดในคนอื่นหรือสัตว์อื่น ที่ไม่ใช่ตัวเราก็จัดว่าเป็นธรรมที่เกิดภายนอก ธรรมที่มีสภาพ ๒ อย่างนี้ ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

ประเภทที่ ๓ ธรรมที่ หยาบ ละเอียด
ธรรมที่ชื่อว่าขันธ์ คือ ธรรมที่มีส่วนที่เป็นธรรมหยาบ และละเอียดได้ เช่น วิญญาณขันธ์ หมายถึง จิตทั้งหมด ๘๙ ดวง จิตที่เป็นธรรมหยาบ ธรรมละเอียด เช่น
    อกุศลจิต หยาบกว่า กุศลจิต
    กุศลญาณวิปปยุตจิต 
หยาบกว่า กุศลญาณสัมปยุตจิต
    กามาวจรกุศลจิต หยาบกว่า รูปาวจรกุศลจิต
    รูปาวจรกุศลจิต หยาบ
กว่า อรูปกุศลจิต
    จิตที่มีทุกขเวทนา หยาบกว่า จิตที่มีสุขเวทนา
    จิตที่มีโทมนัสเวทนา หยาบกว่า จิตที่มีโสมนัส
เวทนา
    จิตในทุคติภูมิ หยาบกว่า จิตในสุขคติภูมิ
    จิตในกามภูมิ หยาบกว่า จิตในรูปภูมิ เป็นต้น

ส่วนรูปขันธ์ที่เป็น
ธรรมหยาบได้แก่ โอฬาริกรูป ๑๒ คือ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๗ จัดเป็นรูปหยาบ ส่วนสุขุมรูป ๑๖ จัดเป็นรูปละเอียด เป็นต้น ธรรมที่มีสภาพ ๒ อย่างนี้ ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

ประเภทที่ ๔ ธรรมที่ต่ำ ประณีต
ธรรมที่ชื่อว่าขันธ์ คือ ธรรมที่อยู่ในฐานต่ำทราม และธรรมอันประณีต เป็นไปในทำนองเดียวกับประเภทที่ ๓

ประเภทที่ ๕ ธรรมที่ใกล้ ไกล
ธรรมที่ชื่อว่าขันธ์ คือ ธรรมที่ปรากฏได้ทั้งใกล้และไกล ธรรมที่เป็นปัจจุบันจัดเป็นธรรมที่ใกล้ ธรรมที่เกิดในอนาคตจัดเป็นธรรมที่ไกล ธรรมที่มีสภาพ ๒ อย่างนี้ ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

ธรรมที่สงเคราะห์ได้ทั้ง ๕ ประเภทนี้ คือ ธรรมทั้งปวง ได้แก่ จิต เจตสิก และรูป เท่านั้น ไม่รวมถึงพระนิพพาน เพราะพระนิพพานมีคุณสมบัติไม่ครบทั้ง ๕ ประเภท ๑๑ อย่าง กล่าวคือ

๑. พระนิพพาน ไม่มีประเภท แห่ง ปัจจุบัน อดีต อนาคต มีแต่กาลวิมุตติอย่างเดียว
๒. พระนิพพาน ที่เป็นธรรมภายในนั้นไม่มี เป็นธรรมภายนอกอย่างเดียว
๓. พระนิพพาน ที่เป็นธรรมหยาบไม่มี เป็นธรรมละเอียดอย่างเดียว
๔. พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่ต่ำทราม แต่เป็นธรรมที่ประณีตยิ่ง
๕. พระนิพพาน ไม่ใช่ธรรมที่ใกล้ แต่เป็นธรรมที่ไกล

ดังนั้น พระนิพพาน จึงพ้นจากความเป็นขันธ์ พระนิพพานจึงเรียกว่า ขันธวิมุตติ (และเป็นกาลวิมุตติด้วย) 

ขันธ์ ๕ คือ
๑. รูปขันธ์ หมายถึง กองรูป รูปมีทั้งหมด ๒๘ ดังนั้น รูปทั้ง ๒๘ เป็นรูปขันธ์
๒. เวทนาขันธ์ หมายถึง กองเวทนา เวทนา คือ เวทนาเจตสิกดวงเดียว เป็นเวทนาขันธ์
๓. สัญญาขันธ์ หมายถึง กองสัญญา สัญญา คือ สัญญาเจตสิกดวงเดียว เป็นสัญญาขันธ์
๔. สังขารขันธ์ หมายถึง กองสังขาร สังขาร คือ เจตสิกอีก ๕๐ ที่เหลือ เป็นสังขารขันธ์
๕. วิญญาณขันธ์ หมายถึง กองจิต วิญญาณ คือ จิตทั้งหมด ๘๙ เป็นวิญญาณขันธ์

กองแห่งขันธ์ทั้ง ๕ เกี่ยวข้องกันอย่างไร
๑. ขันธ์ทั้ง ๕ ถูกครอบงำด้วยทุกข์ 
ธรรมทั้งหลายที่ถูกทุกข์ต่างๆ ครอบงำอยู่ เป็นไปได้ด้วยความทุกข์ ธรรมนั้นชื่อว่า ขันธ์ ซึ่งก็หมายถึง ขันธ์ทั้ง ๕ นั่นเอง ขันธ์ ๕ ถูกครอบงำจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเกิด นั้นเป็นการนำมาซึ่งขบวนการเกิดทุกข์ทั้งหลายไม่จบไม่สิ้น เมื่อเกิดแล้วก็ได้รับทุกข์ภัยต่าง ๆ ในชาติกำเนิดของตน ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็ทุกข์แบบมนุษย์ มีการดิ้นรนแสวงหาปัจจัยทั้งหลายเพื่อการบริโภค เพื่อการสะสม เพื่อการกอบโกย แสวงหาด้วยสุจริตก็ทุกข์ แสวงหาด้วยทุจริตก็ทุกข์ ฉะนั้นความเกิดจึงทุกข์ คือทุกข์ในการเกิด ทุกข์ในการแก่ ทุกข์ในการเจ็บ ทุกข์ในการตาย

๒. ขันธ์ทั้ง ๕ ว่างเปล่าจากตัวตน
ขันธ์ทั้ง ๕ แสดงความว่างเปล่าจากตัวตนอยู่แล้ว แต่ที่เราไม่เห็นความจริงนี้ก็เพราะว่า ธรรมดาคนทั้งหลายในโลก มักมีความเข้าใจว่า ความเป็นอยู่ต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นแก่ตน เช่น การทำ การพูด การคิดความสุขสบาย หรือไม่สบาย ความดีใจ ความเสียใจ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เป็นต้น เหล่านั้นล้วนเป็นตัวเราเป็นของเราแทบทั้งสิ้น อันเป็นสภาพของสักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดที่ยึดติดแน่นอยู่ในรูปนามขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา จึงมักมีความเข้าใจผิดคิดไปว่า เราทำ เราพูด เราคิด เราสบาย ไม่สบาย เราดีใจ เสียใจ เราเด็ก เราสาว เป็นต้น อาการเหล่านั้นถ้าปรากฏแก่ผู้อื่น เราก็ยึดถือว่า เป็นเขา ผู้นั้นผู้นี้ ทำ คิด พูด สบาย ไม่สบาย ดีใจ เสียใจ เป็นต้น

รวมความแล้ว ความเข้าใจของปุถุชน จะเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มีเรา มีเขา และ มีของเรา มีของเขา ซึ่งล้วนแต่เป็นความเข้าใจผิดไปจากสภาพธรรม เป็นอัตตทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดคิดว่ามีตัวตน แท้จริงแล้ว ความเป็นไปต่างๆ เหล่านั้น หาใช่เป็นตัวเรา ตัวเขาไม่ แต่เป็นอาการเป็นไปของรูปนามขันธ์ ๕ เท่านั้น

๓. ขันธ์ทั้ง ๕ มีอาการเฉพาะๆ ของตน
รูปขันธ์ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของร่างกายที่เกิดขึ้น เช่น ผมหงอก หนังเหี่ยว ฟันหัก สายตาเสื่อม หรือการเปลี่ยนแปลงโดยการเคลื่อนไหวกาย การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การพูด เป็นต้น เหล่านี้ จัดเป็นอาการของรูปขันธ์ การเดินจึงเป็นเพียงอาการของรูป การยืนก็เป็นเพียงอาการของรูป เมื่อเข้าใจได้ถูกต้องจึงไม่ไปคิดว่า เราเดิน เรายืน และไม่เข้าใจผิดไปว่า รูปเดิน รูปยืน เป็นต้น แต่รู้ด้วยความเป็นจริงว่า ไม่มีเราเดิน ไม่มีรูปเดิน แต่เพราะการเดิน เป็นเพียงอาการของรูปเท่านั้น (คำว่ารูปก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ เป็นต้น)

เวทนาขันธ์ ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของความรู้สึก บางครั้งก็รู้สึกสบาย ไม่สบาย รู้สึกเฉยๆ รู้สึกเบื่อบ้าน ทั้งๆ เมื่อก่อนนี้ก็รักบ้าน รู้สึกเบื่อรถทั้งที่เมื่อก่อนก็รักทะนุถนอมอย่างดี เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสภาพของ เวทนาขันธ์ เมื่อเข้าใจความเป็นจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงลักษณะอาการของเวทนาขันธ์เท่านั้น จะได้ไม่เข้าใจผิดไปว่าเป็นเราชอบ เราไม่ชอบ

สัญญาขันธ์ 
การจำเรื่องราวต่างๆ จำรูป จำสี จำกลิ่น จำรส จำสัมผัส ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ เหล่านี้เป็นสภาพของสัญญาขันธ์

สังขารขันธ์ สังขาร คือ การปรุงแต่ง เมื่อรับอารมณ์มาแล้ว มีการนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับอารมณ์นั้นๆ ก็เป็นการปรุงแต่งไป การดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เราทุกคนก็จะมีความรู้สึกว่ามีความอยากได้ ไม่อยากได้ มีความศรัทธา มีความเลื่อมใส มีความเพียรพยายาม เป็นต้น เหล่านี้เป็นสภาพของสังขารขันธ์

วิญญาณขันธ์ การรู้อารมณ์ต่างๆ มีการเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสถูกต้อง รู้คิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้จัดเป็นสภาพของวิญญาณขันธ์

ประเภทของปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป มีความเป็นขันธ์ ๕ ประการเท่านั้น ไม่มากไปกว่านี้ กล่าวคือ เพราะอาศัยส่วนธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้ คือ รูปทั้งหมด เป็น รูปขันธ์ เวทนา คือ ความรู้สึกในการเสวยอารมณ์ต่างๆ โดยความสุข ความทุกข์ ความเสียใจ ความเฉย ๆ เหล่านี้เป็น เวทนาขันธ์ ความจำได้ในสิ่งต่างๆ เรื่องราวต่างๆ เป็น สัญญาขันธ์ ส่วนเจตสิกธรรมอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากเวทนาและสัญญา เป็น สังขารขันธ์ จิตหรือวิญญาณ เป็นธรรมชาติรู้อารมณ์ เป็น วิญญาณขันธ์ 

หมวดที่ ๒ อุปาทานักขันธ์ ๕

อุปาทานักขันธ์ หมายถึง ขันธ์ทั้งหลายที่ตัณหาและทิฏฐิเข้าไปยึดไว้ โดยความเห็นผิด คือ ยึดมั่นเป็นตัวตน เราเขา ความยึดมั่นนี้คือ การยึดมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ นั่นเอง

อุปาทานักขันธ์ ๕ คือ
๑. รูปูปาทานักขันธ์ คือ กองรูป ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน ได้แก่รูปทั้งหมด คือ รูป ๒๘
๒. เวทนูปาทานักขันธ์ คือ กองเวทนา ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่เวทนาเจตสิก ที่ในโลกียจิต ๘๑
๓. สัญญูปาทานักขันธ์ คือ กองสัญญา ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่สัญญาเจตสิก ที่ในโลกียจิต ๘๑
๔. สังขารูปาทานักขันธ์ คือ กองสังขาร ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่เจตสิก ๕๐ (เว้นเวทนา และสัญญา) ที่ในโลกียจิต ๘๑
๕. วิญญาณูปาทานักขันธ์ คือ กองจิต ที่เป็นอารมณ์ของอุปาทาน องค์ธรรมได้แก่ โลกียจิต ๘๑

พระพุทธองค์ทรงแสดงขันธ์ ๕ แล้วยังทรงแสดงอุปาทานขันธ์ซ้ำอีก ทั้งๆ ที่มีจำนวนขันธ์ ๕ ประการเท่ากัน แต่เพื่อแสดงความแตกต่างกัน คือ ที่กล่าวในแง่ของขันธ์ ๕ กล่าวโดยความเป็นวิสุทธิขันธ์ คือเป็น ขันธ์ ๕ ล้วนๆ ไม่ปะปนกันกับอาสวะ คือกิเลส และก็ไม่เป็นอารมณ์แก่อุปาทาน ซึ่งได้แก่ ขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์ทั้งหลายที่เป็นไปตามสภาพของขันธ์ ๕ แท้ๆ ไม่เป็นอารมณ์ให้กิเลสและตัณหายึดไว้ได้ เช่น พระอรหันต์ยังได้รับสุขทุกข์ต่างๆ ทั้งทางกายและทางใจ แต่ความสุขทุกข์นั้นไม่เป็นอารมณ์ให้กิเลสตัณหาเกิดขึ้น 

ที่กล่าวในแง่ของอุปาทานขันธ์ คือ การกล่าวถึงขันธ์ ๕ ที่เป็นอารมณ์ให้กิเลสและตัณหายึดไว้ได้ เช่น ขันธ์ 
๕ ของปุถุชน และของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ย่อมเป็นไปกับอาสวะ คือ กิเลส และเป็นที่ตั้งของอุปาทานได้ตามสมควรแก่บุคคลนั้นๆ

รู้จักเหตุเกิดแห่งอุปาทาน

อุปาทานเกิดขึ้นเพราะตัณหาเกิดขึ้น ตัณหาจึงเป็นเหตุให้เกิดอุปาทาน จะดับอุปาทานได้อย่างไร ? อุปาทานจะดับได้ก็ด้วยการดับตัณหา จะมีวิธีการดับตัณหาได้อย่างไร ? หนทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับตัณหาและอุปาทาน ก็คือ การปฏิบัติที่ทำให้มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น เจริญขึ้น และวิธีการจะละตัณหาก็ด้วยการปฏิบัติในอริยสัจ ๔ คือ กำหนดรู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นทุกข์สัจ ตัณหา คือความยินดีพอใจทั้งหมด ควรละ เป็นสมุทยสัจ นิโรธ คือ พระนิพพาน นั้นควรทำให้แจ้งปรากฏ มรรค ควรเจริญให้มาก พระพุทธองค์ทรงแสดงอุปาทานักขันธ์ ๕ เพื่อเป็นประโยชน์แก่การเจริญวิปัสสนาเพื่อละกิเลส  เพราะผู้เจริญวิปัสสนาต้องรู้จักรูปนามขันธ์ ๕ อันเป็นที่อาศัยของกิเลสทั้งหลาย ให้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของรูปนาม ขันธ์ ๕ จะได้ไม่ตกเป็นอารมณ์ของตัณหาอุปาทานได้

อุปาทานมี ๔ คือ
๑. กามุปาทาน
๒. ทิฏฐุปาทาน
๓. สีลัพพตุปาทาน
๔. อัตตวาทุปาทาน

อธิบาย
๑. กามุปาทาน
กามุปาทาน คือ ความยึดถือกาม กามนั้นได้แก่ วัตถุกาม กับ กิเลสกาม วัตถุกาม คือ ธรรมใดที่เป็นที่ชอบใจของกามตัณหา ชื่อว่า วัตถุกาม ได้แก่ กามจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ หรือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันที่เป็นที่ชอบใจ

กิเลสกาม คือ ธรรมชาติที่มีความต้องการ ธรรมชาติที่เข้าไปยึดในอารมณ์ทั้ง ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ ธัมมารมณ์ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า กิเลสกาม ได้แก่ ตัณหา นั่นเอง ฉะนั้น กามุปาทาน คือ การยึดถือวัตถุกามด้วยกิเลสกามนั่นเอง คือ ยึดถือ รูป เสียง ฯลฯ ที่น่ารักใคร่ ปรารถนาพอใจนั้นเป็นเรา เป็นของเรา ยึดไว้ไม่ยอมปล่อย ยึดถือไว้ด้วยอำนาจของกิเลสกาม

สำหรับพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสกามแล้ว เมื่อเห็นรูปแล้ว แม้นรูปนั้นจะน่ารักใคร่น่าปรารถนา ท่านก็ไม่เกิดความยินดีในการเห็นนั้น เพราะไม่มีกิเลสกามแล้ว

๒. ทิฏฐุปาทาน
ทิฏฐุปาทาน คือ ความยึดถือด้วยอำนาจของความเห็นผิด ได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ และ อันตัคคาหิกทิฏฐิ ๑๐ ทิฏฐิ ๖๒ (ในสามัญญผลสูตร)
    ๒.๑ นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ประการ คือ
    ก. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีผลแห่งกรรมที่ทำไว้ เป็นการปฏิเสธผล ผู้ที่มีความเห็นชนิดนัตถิกทิฏฐิย่อมมีอุจเฉททิฏฐิด้วย คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็สูญไม่มีการเกิดอีก มีความเห็นว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สมมติสัจจะ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคติธรรมดา หรือคลองธรรมตามเหตุและผล ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสมมติสัจจะ เช่น ไม่มีมารดาบิดา สัตว์บุคคลเกิดสืบเชื้อสายกันมาตามเรื่องตามราวเท่านั้น จึงไม่มีใครที่จะต้องนับถือว่าเป็นบิดามารดา แม้ที่นับถือว่าเป็นสมณะ พราหมณ์ ภิกษุ สามเณร ก็ไม่มีเป็นต้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคติธรรมดา หรือที่เป็นไปตามคลองธรรม เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อย่างนี้ก็ไม่มี

    ข. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีเหตุ เป็นการปฏิเสธเหตุ คือ เมื่อได้รับผลดีผลร้ายต่างๆ ก็เห็นว่าเป็นไปตามคราว คราวที่มีโชคดีก็ได้รับผลดี คราวที่มีโชคร้ายก็ได้รับผลไม่ดี ไม่มีเหตุอะไรที่จะมาทำให้ได้ผลดีผลร้าย ปฏิเสธเหตุในการทำดี ทำชั่ว ของบุคคลทั้งหลายที่กระทำกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่เชื่อว่าการกระทำต่างๆเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดผลได้ ฉะนั้นการปฏิเสธเหตุนี้ก็เท่ากับว่าปฏิเสธผลไปด้วย

    ค. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าการทำบุญทำบาปก็เท่ากับไม่ได้ทำ เป็นการปฏิเสธทั้งเหตุ และผลแห่งกรรม คือ มีความเห็นว่าบุคคลทั้งหลายที่ทำดีก็ตามทำชั่วก็ตามไม่เป็นบาปไม่เป็นบุญ

     ๒.๒ อันตัคคาหิกทิฏฐิ ๑๐ ประการ คือ
    ๑) เห็นว่า โลกเที่ยง
    ๒) เห็นว่า โลกไม่เที่ยง
    ๓) เห็นว่า โลกไม่มีที่สิ้นสุด
    ๔) เห็นว่า โลกไม่มีที่สิ้นสุด
    ๕) เห็นว่า ชีวะและสรีระ เป็นอันเดียวกัน
    ๖) เห็นว่าชีวะและสรีระ เป็นคนละอัน
    ๗) เห็นว่าสัตว์นั้นหลังจากตายแล้วเกิดต่อไปอีก
    ๘) เห็นว่าสัตว์นั้นหลังจากตายแล้วไม่เกิดต่อไปอีก
    ๙) เห็นว่าสัตว์นั้นเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี
    ๑๐) เห็นว่าสัตว์นั้นเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้

     ๒.๓ ทิฏฐิ ๖๒ 
ในทิฏฐิ ๖๒ มีรายละเอียดมาก ในที่นี้จะนำมากล่าวเพียง ๒ ประการที่สำคัญให้ทราบดังนี้ 
    ก) สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง คือ เห็นว่าตายแล้วเกิดกันเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุดในอัตตาภาพเดิม ทุกภพทุกชาติ เวียนเกิดเวียนตายไม่มีที่สิ้นสุดในภพชาติของตน คือ เกิดเป็นคน ตายแล้วก็ต้องเกิดเป็นคนไปตลอด เกิดเป็นแมว ตายแล้วก็ต้องเกิดเป็นแมวไปตลอด
    ข) อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ คือ เห็นว่าตายแล้วสูญไม่กลับมาเกิดอีก

โทษของมิจฉาทิฏฐิ
นิยตมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง ซึ่งเมื่อมีความยึดถือในทิฏฐิอย่างมากจนดิ่ง ทำให้ไม่รับรองกรรมที่เป็นบุญเป็นบาป ไม่รับรองผลต่างๆ ว่าเกิดจากเหตุ ไม่รับรองสมมติสัจจะ ผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้อย่างเหนียวแน่น ก็เพราะมีอุปาทานความยึดถืออยู่อย่างแรงกล้า ยิ่งจะส่งผลให้ตกนรกได้

ฉะนั้น ความเห็นผิดในข้อนี้จึงให้โทษอย่างมหันต์ ผู้ที่นับถือพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า ย่อมละความเห็นผิดอันมีโทษมหันต์อันร้ายแรงนี้ได้ ถ้ายังละไม่ได้ก็ย่อมจะไม่นับถือพุทธศาสนา

๓. สีลัพพตุปาทาน
สีลัพพตุปาทาน คือการยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด ยึดถือในศีลและวัตรที่ผิดศีลวัตร ศีล ได้แก่ ความประพฤติหรือข้อที่ประพฤติ วัตร ได้แก่ ข้อปฏิบัติ ศีล คือ ความประพฤติหรือข้อที่ประพฤติ ศีลในทางพุทธศาสนา แสดงเป็นข้อที่พึงเว้น เช่น ศีล ๕ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น ส่วนปาฏิโมกข์สังวรศีล คือ ศีลในพระปาฆิโมกข์สำหรับภิกษุ มีทั้งข้อห้ามและข้ออนุญาต ข้อห้าม คือ ข้อที่บัญญัติห้ามมิให้กระทำ เมื่อไปล่วงละเมิดกระทำก็ต้องอาบัติ หนัก ปานกลาง หรือเบาตามพระบัญญัตินั้นๆ และมีข้อที่ทรงอนุญาตให้ทำวัตร คือ การประพฤติปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร การปฏิบัติ ธุดงค์ อุปัชฌายวัตร การปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์ ครู อาจารย์

ศีลและวัตรภายนอกพุทธศาสนา
ศีลและวัตรภายนอกพุทธศาสนา มีแก่บุคคลผู้ยึดถืออยู่ในศีลและวัตรทั้งหลายตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เช่น ศีลและวัตรของฤษีดาบส เมื่อถือลัทธิบูชาไฟก็ทำการบูชาไฟ ฤษีดาบสก็มีศีล คือข้อประพฤติ ที่งดเว้นจากการกระทำบางอย่าง และมีวัตร คือข้อที่พึงปฏิบัติบางอย่าง เช่น การบูชาไฟดังกล่าวนั้น นอกจากนี้ยังมีศีลและวัตรของศาสดาภายนอกพระพุทธศาสนา เช่นที่แสดงไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนา กล่าวถึงศาสดา ๖ จำพวก ซึ่งต่างก็ได้สั่งสอนศีลและวัตรแก่สาวกของตนในทางต่าง ๆ กัน

นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ที่ยึดถือปฏิบัติในศีลวัตรที่แปลก ๆ เรียกว่า โควัตร สุนัขวัตร คือมีความประพฤติความเป็นอยู่ เยี่ยงโค เยี่ยงสุนัข เช่น เดิน ๔ ขา แบบสุนัขแบบโค ทำกิริยาอาการ ทำเสียงและบริโภคแบบสุนัขแบบโค ในครั้งพุทธกาลการถือศีลและวัตรแบบนี้ยังมี และก็มีแสดงไว้ว่าคนที่ถือโควัตร สุนัขวัตร บางคนไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เมื่อปฏิบัติแบบนี้แล้วสิ้นชีวิตไปจะไปเกิดเป็นอะไร ? พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า (มีใจความโดยสรุปว่า) “ก็ไปเกิดเป็นสุนัขไปเกิดเป็นโค” ดังนี้ เหล่านี้เป็นศีลและวัตรภายนอกพุทธศาสนา

๔. อัตตวาทุปาทาน
คำว่า อัตตา แปลว่า ตน ในทางพุทธศาสนาได้แสดงไว้เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับแรก พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รักษาตน คุ้มครองตน ฝึกตน และตรัสสอนว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ระดับที่สอง ตรัสสอนว่า มิใช่ตน ดังเช่นที่ตรัสสอนว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเรียกว่า ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตามิใช่อัตตา ตัวตน หรือได้ตรัสสอนยกเอาอายตนะภายในภายนอก ภายในคือ ตา หู เป็นต้น ภายนอก คือ รูป เสียง เป็นต้น และธรรมคือเรื่องราว เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ภายนอกคือสิ่งทั้งหลายที่อยู่ภายนอกตน นั้นก็หมายถึงสภาพธรรมต่าง ๆ ที่เกิดกับคนอื่นสัตว์อื่น และได้ตรัสสอนไว้ว่าสังขารทั้งปวงเป็น อนิจจะ คือไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็น ทุกขะ คือเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาคือมิใช่อัตตาตัวตน และในธรรมทั้งปวงนี้แสดงอธิบายว่า ทั้งสังขตธรรม คือ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งอันเรียกว่าสังขาร ทั้งอสังขตธรรม ธรรมะที่ปัจจัยไม่ได้ปรุงแต่งอันเรียกว่าวิสังขาร ทั้งหมดเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน

    ๔.๑ รู้สมมติสัจจะ และ ปรมัตถสัจจะ
    ก) สมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ เป็นความจริงตามมติร่วมกัน หรือ หมายรู้ร่วมกัน เป็นเครื่องมือสื่อสาร พอให้สำเร็จประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่นคน สัตว์ โต๊ะ เก้าอี้
    ข) ปรมัตถสัจจะ คือ ธรรมชาติอันประเสริฐ ที่เป็นความจริงซึ่งปฏิเสธสัตว์และชีวิต ได้แก่ธรรมชาติที่เป็นความจริง ที่ไม่มีการแปรปรวน หรือไม่มีความวิปริตด้วยประการใด ๆ มี ๔ ประการ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน การรู้ปรมัตถธรรมมีประโยชน์อย่างยิ่ง คือ ทำให้พ้นทุกข์ได้แน่นอน ปรมัตถสัจจะมี ๒ ประการ คือ
🙏 สภาวสัจจะ ธรรมที่เป็นจริงตามสภาวะลักษณะ ได้แก่ กุศลธรรม อกุศลธรรมเป็นต้น
🙏 อริยสัจจะ ธรรมที่เป็นจริงโดยเฉพาะอริยบุคคลทั้งหลาย ได้แก่ อริยสัจ ๔มีทุกขสัจจะ เป็นต้น

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมที่จะให้รู้ถึงปรมัตถสัจจะ คือ ความจริงโดยปรมัตถ์ จึงจะต้องหัดพิจารณาดูที่ตั้งของบัญญัติทั้งหลาย เช่น รถ เมื่อเอาส่วนประกอบต่าง ๆ เช่นล้อ เพลา และส่วนประกอบอื่น ๆ มาประกอบกันเข้า เสียงเรียกว่ารถจึงมี แต่ความจริงแล้ว รถจริงๆ นั้นไม่มี คำว่ารถเป็นบัญญัติเรียกขึ้นเท่านั้น เมื่อถอดแยกส่วนประกอบต่างๆ ออกไป เสียงเรียกว่ารถก็หายไป

    ๔.๒ ทรงตรัสสอนให้พิจารณาแยกสังขาร
ในอัตตภาพนี้ก็ประกอบขึ้นด้วยขันธ์ ๕ ทรงตรัสชี้ให้รู้จักว่าสิ่งที่มาประกอบนั้นมีอะไรบ้างส่วนที่แข็งคือ ปถวีธาตุ เป็นธาตุดิน ร่างกายนี้ซึ่งประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ อาการ ๓๒ เป็นกองรูป กองรูปนี้เองเรียกแยกออกเป็นศีรษะ เป็นแขน เป็นขา ฯลฯ มากองกันอยู่ เป็นกองรูป ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเฉย ๆ เป็นกองเวทนา ความจำได้หมายรู้ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรื่องราวต่าง ๆ เป็นกองสัญญา ความคิดปรุงแต่งต่างๆ เป็นกองสังขาร และกองวิญญาณ คือ รู้ในอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ตาเห็นรูป ก็เกิดความรู้สึก เรียกว่า จักขุวิญญาณ เป็นต้น

ฉะนั้น เพราะขันธ์ ๕ เหล่านี้มาประกอบกัน ซึ่งเมื่อย่อแล้ว รูปก็คงเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็น นาม เหล่านี้ทั้งหมดเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งเป็นที่ตั้งแห่งบัญญัติว่าเป็นเรา เป็นเขา ก็เกิดขึ้น แต่เมื่อมาพิจารณาด้วยปัญญาเห็นโดยความเป็นรูปเป็นนาม ก็จะถอนอัตตาตัวตนหมด หมดความเป็นเราเป็นเขา คงเหลือแต่สภาวะ รูปนาม เท่านั้น

    ๔.๓ ก่าหนดรู้ตามความเป็นจริงโดยไตรลักษณ์
เมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ โดยความเป็นจริงด้วยวิปัสสนา รู้แจ้งเห็นจริงรู้จักว่า นี่รูป นี่เวทนา นี่สัญญา นี่สังขาร นี่วิญญาณ มีชาติ คือ ความเกิดเป็นเบื้องต้น มีชรา คือ ความแปรปรวน เปลี่ยนแปลงพร้อมทั้งพยาธิในท่ามกลาง มีมรณะเป็นที่สุด เพราะฉะนั้น จึงเป็น อนิจจะ คือ ไม่เที่ยงต้องเกิดต้องดับ เป็น ทุกขะ คือ ทนอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็น อนัตตะ คือ บังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้

เมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงโดยไตรลักษณ์อย่างนี้แล้ว จึงจะสามารถถอนอัตตวาทุปาทาน คือ การยึดถือเป็นตัวตน โดยความเป็นเราเป็นเขา ก็จะทำให้ไม่หลงไม่ยึดถือ ถ้าไม่พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงก็ย่อมจะต้อมมีความหลง ความยึดถืออยู่ อันเป็นอัตตาทุปาทาน


หมวดที่ ๓ อายตนะ ๑๒
อายตนะ มีความหมาย ๕ ประการ คือ
๑. เป็นที่เกิด หมายความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นอายตนะภายในนี้ เพราะเป็นที่เกิดของจิตอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าบุญหรือบาป จะเกิดได้ก็ต้องอาศัยอายตนะเหล่านี้
๒. เป็นที่อยู่ หมายความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นอายตนะภายในนี้ เป็นที่อาศัยให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ คล้ายกับเป็นที่อยู่อาศัยของวิถีจิต จึงเรียกว่าอายตนะ ซึ่งเป็นการกล่าวโดยอ้อม วิถีจิตไม่ได้อยู่ในอายตนะ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมแล้ว วิถีจิตเหล่านั้นก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ได้ เหมือนระฆังกับเสียงระฆัง ย่อมกล่าวไม่ได้ว่า มีเสียงระฆังอยู่ในตัวระฆัง แต่เมื่อมีคนตีระฆังแล้วเสียงก็ปรากฏขึ้นและกังวานอยู่ได้ คล้ายกับว่าเสียงนั้นอยู่ในระฆัง ฉันใด วิถีจิตกับอายตนะภายในก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีเหตุปัจจัยบริบูรณ์แล้ว ก็เสมือนกับว่าวิถีจิตเหล่านั้น ตั้งอยู่ในอายตนะนั้น
๓. การเกิด หมายความว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับสัตว์ทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเกิดขึ้นมีอยู่ในสัตว์บุคคล เกิดขึ้นกับทุกเพศ ทุกภูมิไม่ว่าจะเป็น อบายภูมิ มนุษย์ภูมิ มีอายตนะครบ รูปภูมิ (เว้นอสัญญสัตตพรหมภูมิ) มีจักขายตนะ โสตายตนะและมนายตนะ อรูปภูมิ มีมนายตนะ อย่างเดียว
๔. เป็นที่ประชุม หมายความว่า อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกมาประชุมกัน คือ รูปายตนะ(รูป) ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก ย่อมต้องมาประชุมกันที่ตา สัททายตนะ(เสียง) ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก ย่อมต้องมาประชุมกันที่หู เป็นต้น เสมือนเป็นที่ประชุมแห่งวิถีจิตทั้งหลายด้วย ถ้าอายตนะไม่มาประชุมกัน วิถีจิตทางจักขุทวารวิถี เป็นต้น ก็ไม่เกิดขึ้น
๕. เป็นเหตุให้เกิด หมายความว่า ถ้าไม่มีอายตนะภายในและภายนอกแล้ว วิถีจิตทั้งหลายก็เกิดไม่ได้ เพราะธรรมดาวิถีจิตจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยอายตนะภายในและภายนอกเป็นเหตุให้เกิดขึ้น

จากความหมายทั้ง ๕ ประการข้างต้น ยังมีความหมายของคำว่าอายตนะในที่อื่น ๆ ได้กล่าวไว้ว่า
ที่ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นที่ขวนขวาย ตาก็ขวนขวายที่จะแสวงหาดูสิ่งต่างๆ ทั้งที่ดีและไม่ดี
ที่ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นตัวนำไปสู่สังสารทุกข์อันยืดเยื้อมาแล้ว หมายความว่า อายตนะเหล่านี้นำไป คือ พาไปสู่สังสารทุกข์อันยืดเยื้อมาแต่อดีต และก็ยังจะพาไปสู่สังสารทุกข์อันยืดเยื้อต่อไปในอนาคตอันหาเงื่อนต้นเงื่อนปลายมิได้อยู่ตลอดเวลา การเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ทั้งหลาย แท้จริงแล้วก็คือการพาไปของ อายตนะ ในสังสารทุกข์อันยืดเยื้อนั่นเอง

อายตนะมี ๑๒ คือ
๑. จักขายตนะ จักขุ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้จักขุวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาทรูป (ตา)
๒. โสตายตนะ โสตะ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้โสตวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ โสตปสาทรูป (หู)
๓. ฆานายตนะ ฆานะ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้ฆานวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ ฆานปสาทรูป (จมูก)
๔. ชิวหายตนะ ชิวหา ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้ชิวหาวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ ชิวหาปสาทรูป (ลิ้น)
๕. กายายตนะ กายะ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้กายวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ กายปสาทรูป (กาย)
๖. รูปายตนะ รูปารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้จักขุวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ วัณณรูป ได้แก่ สีต่างๆ
๗. สัททายตนะ สัททารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้โสตวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ สัททรูป ได้แก่ เสียงต่างๆ
๘. คันธายตนะ คันธารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้ฆานวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ คันธรูป ได้แก่ กลิ่นต่างๆ
๙. รสายตนะ รสารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้ชิวหาวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ รสรูป รสชาติต่างๆ
๑๐. โผฏฐัพพายตนะ โผฏฐัพพารมณ์ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้กายวิญญาณจิตและเจตสิกเกิดขึ้น
องค์ธรรมได้แก่ ปฐวี, เตโช, วาโย
 สัมผัสต่างๆ
๑๑. มนายตนะ จิต ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ จิตทั้งหมด
๑๒. ธัมมายตนะ สภาพธรรมต่าง ๆ ชื่อว่า อายตนะ เพราะเป็นเหตุให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น 
องค์ธรรมได้แก่ เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป ๑๖ และนิพพาน

อายตนะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ๑๒ อย่าง เพราะทรงกำหนดถึงทวารอันเป็นที่เกิด และอารมณ์ อันเป็นที่รู้แห่งวิญญาณ ๖ เมื่อจำแนกออกเป็นอายตนะภายในและอายตนะภายนอกแล้ว ได้อย่างละ ๖ ดังนี้

อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖
จักขายตนะ ได้แก่ จักขุปสาท รูปายตนะ ได้แก่ รูปารมณ์
โสตายตนะ ได้แก่ โสตปสาท สัททายตนะ ได้แก่ สัททารมณ์
ฆานายตนะ ได้แก่ ฆานปสาท คันธายตนะ ได้แก่ คันธารมณ์
ชิวหายตนะ ได้แก่ ชิวหาปสาท รสายตนะ ได้แก่ รสารมณ์
กายายตนะ ได้แก่ กายปสาท โผฏฐัพพายตนะ ได้แก่ ปถวี เตโช วาโย
มนายตนะ ได้แก่ จิตทั้งหมด ธัมมายตนะ ได้แก่ เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน

เมื่อธรรมะ คือ อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกมาประชุมกันแล้ว จิตเจตสิกก็เป็นไป อาจเป็น กุศลบ้าง อกุศลบ้าง ผู้ปฏิบัติพึงมีโยนิโสมนสิการในการพิจารณาถึงเหตุปัจจัยของการประชุมกัน ระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก เพื่อป้องกันอกุศลธรรมที่จะเกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ


หมวดที่ ๔ 
ธาตุ ๑๘
ธาตุ หมายความว่า ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งสภาพของตน โดยไม่วิปริตผันแปร ธาตุทั้งหลายที่เรารู้จักอาจจะรู้จักโดยชื่อว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุเหล็ก ธาตุทองแดง ซึ่งแต่ละธาตุก็มีลักษณะเฉพาะของตนเอง คือ ธาตุไฟ ก็ร้อน เป็นต้น แต่โดยความหมายของคำว่า ธาตุ ในทางพระอภิธรรมนั้นมีความหมายที่ละเอียดลึกซึ้งมากกว่านั้น

ธาตุ หมายถึง “อันสัตว์ทรงไว้” คือ ธาตุทั้งหลาย อันสัตว์ทั้งปวงต้องทรงไว้ หรือรับรองไว้ เหมือน
สัมภาระที่ถูกคนแบกหามรองรับไว้ ฉะนั้นธาตุ หมายถึง “เป็นการจัดแจง” คือ ธาตุทั้งหลายเป็นเพียงการจัดแจงทุกข์ไว้เท่านั้น หรือ เป็นตัวเหตุ อันกระทำให้สัตว์เป็นไปในสังสารทุกข์ต่าง ๆ เสมอ

ธาตุ หมายถึง “เป็นที่ตั้งแห่งสังสารทุกข์” ซึ่งสัตว์ได้กระทำไว้ต่าง ๆ รวมความแล้ว ที่ชื่อว่า ธาตุ เพราะเป็นธรรมชาติที่ทรงสภาวลักษณะของตน ๆ โดยไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลง หรือ ธรรมชาติอันทรงไว้ หรือจัดแจงไว้ ธาตุที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมแสดงธาตุไว้ ๑๘ คือ
    ๑. จักขุธาตุ จักขุ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบรูปารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ จักขุปสาทรูป (ตา)
    ๒. โสตธาตุ โสตะ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบ สัททารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ โสตปสาทรูป (หู)
    ๓. ฆานธาตุ ฆานะ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบ คันธารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ ฆานปสาทรูป (จมูก)
    ๔. ชิวหาธาตุ ชิวหา ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบ รสารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ ชิวหาปสาทรูป (ลิ้น)
    ๕. กายธาตุ กายะ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งความใสที่รับกระทบ โผฏฐัพพารมณ์ได้
องค์ธรรมได้แก่ กายปสาทรูป (กาย)
    ๖. รูปธาตุ รูปารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับจักขุปสาทรูปได้ 
องค์ธรรมได้แก่ วัณณรูป คือ สีต่างๆ
    ๗. สัททธาตุ สัททารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับโสตปสาทรูปได้ 
องค์ธรรมได้แก่ สัททรูป คือ เสียงต่างๆ
    ๘. คันธธาตุ คันธารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับฆานปสาทรูปได้ 
องค์ธรรมได้แก่ คันธรูป คือ กลิ่นต่างๆ
    ๙. รสธาตุ รสารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับชิวหาปสาทรูปได้ 
องค์ธรรมได้แก่ รสรูป คือ รสต่างๆ
    ๑๐.โผฏฐัพพธาตุ โผฏฐัพพารมณ์ ชื่อว่า ธาตุ เพราะทรงไว้ซึ่งการกระทบกับกายปสาทรูปได้
องค์ธรรมได้แก่ ปถวี เตโช วาโย คือ รับสัมผัสได้
    ๑๑.จักขุวิญญาณธาตุ จักขุวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ เห็นรูปารมณ์ได้ 
องค์ธรรมได้แก่ จักขุวิญญาณจิต ๒
    ๑๒. โสตวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ ได้ยินเสียงได้  
องค์ธรรมได้แก่ โสตวิญญาณจิต ๒
    ๑๓. ฆานวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ รับรู้กลิ่นได้ 
องค์ธรรมได้แก่ ฆานวิญญาณจิต ๒
    ๑๔. ชิวหาวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ รับรู้รสได้
 
องค์ธรรมได้แก่ ชิวหาวิญญาณจิต ๒
    ๑๕. กายวิญญาณธาตุ กายวิญญาณ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ รับรู้การถูกต้องสัมผัสได้
องค์ธรรมได้แก่ กายวิญญาณจิต ๒
    ๑๖. มโนธาตุ จิต ๓ ดวง ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ รู้ปัญจารมณ์ คือ รับรู้อารมณ์ทั้ง ๕ ได้
องค์ธรรมได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ 
สัมปฏิจฉนจิต ๒
    ๑๗. มโนวิญญาณธาตุ จิต ๗๖ ดวง ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะ คือ การรับรู้อารมณ์ 
องค์ธรรมได้แก่ จิต ๗๖ ดวง (เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ และมโนธาตุ ๓)
    ๑๘. ธัมมธาตุ สภาพธรรม ๖๙ ชื่อว่า ธาตุ เพราะมีลักษณะเฉพาะของตน ๆ 
องค์ธรรมได้แก่ เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน

หมวดที่ ๕ อริยสัจจะ ๔
อริยสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นความจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ย่อมรู้แจ้งแทงตลอดในสัจจะธรรม พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกสัจจะธรรมว่า “อริยสัจจะ” คือ ธรรมที่เป็นความจริงของพระอริยะ เป็นสัจจะอันแท้จริง ไม่ผิดพลาด ไม่คลาดเคลื่อน สัจธรรมเหล่านั้น ปุถุชนทั้งหลายรู้ไม่ได้ คือ เข้าไม่ถึงความลึกซึ้งของสัจจะธรรมนั้น ฉะนั้น จึงแสดงว่าใครก็ตามที่เข้าถึงสัจจะธรรมนั้น ย่อมสำเร็จความเป็นพระอริยะ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลายตถาคตผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ชาวโลก เรียกว่า “พระอริยะ” เพราะเป็นผู้ตรัสรู้อริยสัจนี้แลตามความเป็นจริง”

อริยสัจจะ มี ๔ คือ

๑. ทุกขสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นทุกข์ ตามความเป็นจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ โลกียจิต ๘๑เจตสิก ๕๑ (เว้นโลภะ) รูป ๒๘
๒. สมุทยสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตามความเป็นจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ โลภเจตสิก
๓. นิโรธสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นเครื่องดับทุกข์ ตามความเป็นจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ นิพพาน
๔. มัคคสัจจะ คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงความดับทุกข์ ตามความเป็นจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่ องค์มรรค ๘ ที่ในมัคคจิต ๔

ขยายความอริยสัจจะ
๑. ทุกขสัจจะ มีลักษณะ ๔ ประการ คือ
    ๑.๑ ธรรมที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมนั้นๆ ถูกเบียดเบียนอยู่เป็นนิตย์ มีตาก็ถูกเบียดเบียนด้วยรูปารมณ์ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ ถูกเบียดเบียนด้วยโรคตา เป็นต้น
    ๑.๒ ธรรมที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมนั้นๆ ต้องได้รับการบำรุงปรุงแต่งอยู่เนืองๆ
    ๑.๓ ธรรมที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมนั้นๆ มีความเร่าร้อนอยู่ไม่ว่างเว้น เร่าร้อนในอารมณ์ ทำให้เกิดทุกข์ต่างๆ มากมาย เพราะเพียงแค่ได้เห็น หรือเพียงแค่ได้ยิน เป็นต้น
    ๑.๔ ธรรมที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมนั้นๆ มีความไม่คงที่แปรปรวน เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอมิได้ว่างเว้น

เมื่อกล่าวโดยย่อแล้ว ทุกขสัจจะ คือ รูปกับนาม ทั้งกายและใจที่เป็นไปในภูมิ ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ 
อรูปภูมิ เป็นความจริงของทุกขสัจจะ

การจะละทุกขสัจจะได้ ต้องละด้วยปริญญากิจ คือ เป็นกิจที่ต้องกำหนดรู้ หมายถึง ทุกขสัจจะนั้นมีประจำอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้กำหนดรู้ ฉะนั้น การจะละทุกข์ได้ก็ต้องด้วยการกำหนดรู้ คือ รู้นามและรูป ตามความจริง 

๒. สมุทยสัจจะ คือ ธรรมที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น เป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ ทำให้ประกอบไว้ซึ่งทุกข์ ทำให้ไม่พ้นไปจากสังสารทุกข์ ทำให้กังวลอยู่แต่ในกองทุกข์ โดยพระสูตรได้แสดงเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ
    (๑.) กามตัณหา คือ ความปรารถนาในกามภพ มีความยินดีติดใจในกามคุณทั้ง ๕ พระอนาคามีเท่านั้นที่ละได้เด็ดขาด
    (๒.) ภวตัณหา คือ ความปรารถนารูปภพ อรูปภพ คือ ยินดีในรูปฌาน อรูปฌาน พระอรหันต์เท่านั้นที่ละได้เด็ดขาด ภวตัณหา ใจความสูงสุดหมายถึงความกำหนัดยินดีในรูปภพและอรูปภพ คือความพอใจติดใจในฌานด้วยความปรารถนาภพ อันเป็นความยินดีที่ประกอบด้วยสัสสตทิฐิ คือความเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเช่นเบญจขันธ์เป็นของเที่ยงแท้ ยั่งยืน มีติดต่อกันไปไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคืออยากเกิดอยากเป็นเช่นที่เป็นอยู่ตลอดไป
    (๓.) วิภวตัณหา หมายถึงความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น คืออยากจะพ้นจากภาวะที่ตนไม่ต้องการไม่อยากได้ เช่น อยากพ้นจากความยากจนจากความเจ็บไข้ พ้นจากความยากจน หรือ ไม่อยากเจอหน้าคนที่เราไม่ชอบใจ เป็นต้น วิภวตัณหา อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ความคิดที่ผิด (อุจเฉททิฐิ) คือ เห็นว่าภพชาติไม่มี อันเป็นความความเห็นผิดที่ทำให้ไม่คำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ เพราะความเห็นชนิดนี้เชื่อว่าชาติหน้าไม่มี คนเราตายแล้วสูญ จึงทำให้ปฏิบัติตนไปตามใจปรารถนาด้วยอำนาจของตัณหา โดยไม่กังวลถึงผลที่จะตามมาภายหลัง

ตัณหาในภพทั้ง ๓ นี้ คือ ธรรมที่เป็นเหตุแห่งทุกขสัจจะ เรียกว่า สมุทยสัจจะ เมื่อกล่าวโดยนัยแห่งพระอภิธรรมแล้ว สมุทยสัจจะ ได้แก่ โลภเจตสิก

๓. นิโรธสัจจะ เป็นชื่อของธรรมที่ดับทุกข์ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทุกขนิโรธ คำว่า “นิ” หมายถึง พ้น , ออก “โรธ” หมายถึง การท่องเที่ยวไป ฉะนั้น “นิโรธ” หมายถึงไม่มีการท่องเที่ยวไป “ทุกขนิโรธ” จึงหมายความว่า “ไม่มีการท่องเที่ยวไปในทุกข์” หรือ การไม่ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์ เพราะเป็นสัจจะที่ว่างจากคติ คือการเวียนเกิดเวียนตายในภพภูมิทั้งปวง องค์ธรรมของทุกขนิโรธสัจจะ ได้แก่ พระนิพพาน

๔. มัคคสัจจะ หมายถึง สภาวะที่นำออกจากสังสารวัฏฏ์ สภาวะที่เป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน สภาวะที่เห็นพระนิพพาน สภาวะที่เป็นใหญ่ในการเห็นพระนิพพาน มัคคสัจจะ เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้เข้าถึงพระนิพพาน จึงมีชื่อเรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นปฏิปทาเพื่อบรรลุความดับทุกข์นั่นเอง

มรรค ได้แก่ อัฏฐังคิกมรรค คือ องค์มรรค ๘ ที่มีหน้าที่ทั้งประหาณกิเลส จนบรรลุถึงพระนิพพาน
ด้วย องค์มรรค ๘ ได้แก่
    ๑) สัมมาทิฏฐิ
    ๒) สัมมาสังกัปปะ
    ๓) สัมมาวาจา
    ๔) สัมมากัมมันตะ
    ๕) สัมมาอาชีวะ
    ๖) สัมมาวายามะ
    ๗) สัมมาสติ
    ๘) สัมมาสมาธิ

หน้าที่ของอริยสัจทั้ง ๔ ประการ คือ
๑. ทุกขสัจจะ เป็นปริญเญยยกิจ คือ กิจที่ควรกำหนดรู้ หมายความว่า รูปนามขันธ์ ๕ โดย สภาวธรรม ๑๖๐ ประการ (คือ โลกียจิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ (เว้นโลภเจตสิก) รูป ๒๘

รวมเป็น ๑๖๐ ประการ) เป็นทุกขสัจ ที่จะต้องกำหนดรู้ เพราะธรรมทั้ง ๑๖๐ ประการนี้ เป็นผลที่เกิดจากเหตุ คือ สมุทัย

 ๒. สมุทยสัจจะ เป็นปหาณกิจ คือ กิจที่จะต้องละให้หมดไป หมายความว่า ตัณหา ๓ โดยสภาวะ ได้แก่ โลภเจตสิกนั้น เพียงแต่กำหนดรู้เท่านั้นไม่ได้ เพราะเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกขสัจจะ ฉะนั้นจะต้องทำให้หมดสิ้นไป เมื่อสามารถทำให้หมดไปได้มากเท่าใด ทุกขสัจจะอันเป็นผลก็จะหมดสิ้นไปเท่านั้น

๓. นิโรธสัจจะ เป็นสัจฉิกิริยากิจ คือ เป็นธรรมที่ต้องทำให้แจ้ง ได้แก่ พระนิพพาน เป็นธรรมที่
ดับทุกข์ และดับตัณหานั้น มีหน้าที่จะต้องทำให้แจ้ง คือ เมื่อละตัณหาอันเป็นธรรมที่ควรละ จนตัณหาหมดไป จึงจะถึงพระนิพพาน

๔. มัคคสัจจะ เป็นภาวนากิจ คือ กิจที่จะต้องเจริญให้ยิ่งขึ้น มัคคสัจนี้เป็นผู้ทำงาน ไม่ใช่เป็นตัวอารมณ์กัมมัฏฐาน เพียงแต่จะกำหนดรู้เท่านั้นไม่ได้ เป็นเหมือนผู้เดินทางทีจะต้องเดินทางไปให้ถึงจุดหมาย คือ นิโรธสัจจะ ด้วยเหตุนี้ กิจของมัคคสัจจะจึงต้องปฏิบัติให้เกิดขึ้น ตามนัยแห่งพระสูตรสงเคราะห์ด้วยการปฏิบัติ สมถะและวิปัสสนา โดยนัยแห่งมหาสติปัฏฐานสงเคราะห์ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔

ฉะนั้น ภาวนากิจที่จะต้องทำให้เจริญขึ้นนั้น อาจเจริญสมถะกัมมัฏฐานให้ได้ฌานเสียก่อน แล้วมาเจริญวิปัสสนาภายหลังก็ได้ หรือจะเริ่มต้นจากการเจริญสติปัฏฐาน พิจารณา นามและรูป ให้วิปัสสนาญาณเกิดโดยตรงก็ได้ นี่คือการทำงาน หรือปฏิปทาในภาวนากิจของมัคคสัจ

ในอริยสัจ ๔ นี้ พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นธรรมที่เป็นไปเพื่อทุกข์ คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วย ทุกขสัจจะกับสมุทยสัจจะ และ ธรรมที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ คือ พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ มัคคสัจจะและนิโรธสัจจะ

หนทางในการท่าให้เกิดปัญญาเพื่อให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์ มี ๒ ทาง คือ
๑. การศึกษาปริยัติศาสนา ให้เข้าใจทุกข์และสมุทัย ตลอดถึงขันธ์ อายตนะ ธาตุ และต้องเรียนรู้ ถึงนิโรธสัจจะและมัคคสัจจะว่าพระนิพพานมีสภาพอย่างไร และการแสวงหาพระนิพพานนั้น จะต้องอาศัยปฏิปทาอย่างไร ตลอดจนรู้นามรูปด้วยวิปัสสนาปัญญา

๒. ปัญญาที่เกิดพร้อมกับอริยมรรค ทำกิจในการประหาณกิเลส และให้รอบรู้อริยสัจจะทั้ง ๔ ประการทันที อันที่จริงปฏิเวธญาณ คือ ปัญญาที่เข้าไปแจ้งอริยสัจ ๔ นั้น จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะ โลกุตตรปฏิเวธญาณเท่านั้น แต่โดยโวหารเทศนาก็สงเคราะห์เอาโลกียปฏิเวธ คือ เมื่อเรียนรู้ให้เข้าใจดีเสียก่อนแล้ว ก็ช่วยอุปการะแก่การปฏิบัติเพื่อแสวงหาโลกุตตรปฏิเวธญาณได้สะดวกยิ่งขึ้น ถ้าปราศจากการเรียนรู้ปริยัติศาสนาแล้ว ก็จะไม่รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ เป็นทุกข์อย่างไร อะไรเป็นผู้ทำให้เกิดทุกข์ และจะละเหตุให้เกิดทุกข์นั้นได้อย่างไร และความดับทุกข์จะมีสภาพอย่างไร ตลอดจนการบรรลุนิพพานเป็นอย่างไร