วันเสาร์

อธิบายปัจจยสันนิสิตศีล

อธิบายปัจจยสันนิสสิตศีล

อนึ่ง ใน ปัจจยสันนิสสตศีล ซึ่งตรัสไว้ในลำดับแห่งอาชีวปาริสุทธิศีลนี้นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ :-

🔅อธิบายบทจีวร

คำว่า พิจารณาแล้วโดยแยบคาย ความว่า พิจารณาแล้ว รู้แล้ว คือเห็นประจักษ์แล้ว โดยอุบายคือโดยถูกทาง จริงอยู่ การพิจารณาที่กล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า เพื่อบำบัดความเย็น ดังนี้นั่นเอง นักศึกษาพึงทราบว่า พิจารณาแล้วโดยแยบคาย ณ ที่นี้ ในคำเหล่านี้ คำว่า จีวร ได้แก่ผ้าผืนใดผืนหนึ่งในบรรดาผ้า ๓ ผืน มีผ้าอันตรวาสกเป็นต้น คำว่า ย่อมเสพ คือย่อมใช้สอย ได้แก่นุ่งหรือห่ม คำว่า ยาวเทว เป็นคำกำหนดเขตแห่งประโยชน์อย่างแน่นอน จริงอยู่ ประโยชน์ในการเสพจีวรของโยคีบุคคลมีกำหนดเพียงเท่านี้ คือประโยชน์มีว่า เพื่อบำบัดความเย็น เป็นต้นนี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้
บทว่า ซึ่งความเย็น ความว่า ซึ่งความเย็นอย่างใด 
อย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุที่ธาตุภายในกำเริบบ้าง เพราะเหตุที่อุตุภายนอกเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
บทว่า เพื่อบำบัด ความว่า เพื่อบรรเทาคือเพื่อบรรเทาเสีย 
ซึ่งความเย็นนั้น โดยประการที่จะไม่ให้มันทำความอาพาธให้เกิดขึ้นในร่างกาย จริงอยู่ โยคีบุคคลผู้มีจิตฟุ้งไปในเพราะเหตุร่างกายกระทบความเย็น ย่อมไม่อาจที่จะตั้งความเพียรโดยแยบคายได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตว่า ภิกษุพึงเสพจีวรเพื่อบำบัดความเย็น ดังนี้ นักศึกษาพึงทราบนัยในประโยชน์ที่เหลือทั้งหมดเช่นเดียวกันนี้ เพราะในบทนี้มีอรรถาธิบายอย่างครบถ้วน
บทว่า ซึ่งความร้อน 
ความว่า ซึ่งความร้อน อันเกิดแต่ไฟ นักศึกษาพึงทราบแดนที่เกิดของความร้อนนั้นในเพราะไฟป่าเป็นต้นก็มี อนึ่ง ในบทว่า ฑํสมกสวาตาตปสิรึสปสมฺผสฺสานํ นี้ มีอรรถาธิบายดังนี้
บทว่า 
ฑํสา แปลว่า เหลือบ บางอาจารย์กล่าวว่า ได้แก่แมลงวันหัวเขียวก็มี
บทว่า 
มกสา ได้แก่ ยุงโดยเฉพาะ
บทว่า วาตา ได้แก่ ลมทั้งหลายอันต่างด้วยลมปนฝุ่น 
และไม่ใช่ลมปนฝุ่นเป็นต้น
บทว่า อาตาป ได้แก่แสงอาทิตย์ สัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง
เสือกคลานไปมีตัวยาวเช่นงูเป็นต้น ชื่อว่า สิรึสป สัมผัสของสัตว์เหล่านั้นมี ๒ อย่าง 
คือ สัมผัสด้วยการกัด ๑ สัมผัสด้วยการถูกต้อง แม้สัมผัสนั้นย่อมเบียดเบียนภิกษุผู้นุ่งห่มจีวรแล้วไม่ได้ เพราะฉะนั้นภิกษุจึงเสพจีวรเพื่อประโยชน์จะป้องกันสัมผัสทั้งหลาย ในสถานที่ทั้งหลายเช่นนั้น ตรัสคำว่า ยาวเทว ซ้ำอีก ก็เพื่อแสดงถึงกำหนดเขตประโยชน์ที่แน่นอนของจีวรนั้น จริงอยู่ การปกปิดอวัยวะส่วนที่ทำให้ความละอายสูญหายนับเป็นประโยชน์ที่แน่นอน ส่วนประโยชน์นอกนั้น เช่น การบำบัดความเย็นเป็นต้น ย่อมมีได้เป็นบางครั้งบางคราว อวัยวะที่แคบ ๆ นั้น ชื่อว่า หิริโกปิน
ในบทว่า หิริโกปินปฏิจฺฉาทนํ นั้น จริงอยู่ เมื่อองค์อวัยวะส่วนใด ๆ ถูกปิดอยู่ความละอายย่อมสูญย่อมหายไป องค์อวัยวะส่วนนั้น ๆ ท่านเรียกว่า หิริโกปิน เพราะเป็นเหตุทำให้ความละอายสูญหายไป แหละที่เรียกว่า หิริโกปินปฏิจฺฉาทนตถํ เพราะอรรถว่า เพื่อปกปิดอวัยวะส่วนที่ทำให้ความละอายสูญหายไปนั้น พระบาลีว่า หิริโกปินํ ปฏิจฺฉาทนตฺถํ ดังนี้ก็มี
 
🔅 อธิบายบทบิณฑบาต

คำว่า ซึ่งบิณฑบาต คือซึ่งอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง จริงอยู่ อาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ท่านเรียกว่า บิณฑบาต เพราะอาหารนั้นตกลงในบาตรด้วยภิกขาจารวัตรของภิกษุ อีกอย่างหนึ่ง ความตกลงแห่งก้อนข้าวทั้งหลายชื่อว่า บิณฑบาต อธิบายว่า ได้แก่ ความรวมกันความเป็นกลุ่มกันแห่งภิกษาหารทั้งหลายที่ภิกษุได้แล้ว ณ ที่นั้น ๆ

คำว่า ไม่ใช่เพื่อเล่น อธิบายว่า เพื่อเล่นคือทำเป็นเครื่องหมายกีฬา เหมือนอย่างพวกเด็กชาวบ้านเป็นต้น หามิได้
คำว่า ไม่ใช่เพื่อความเมา อธิบายว่า เพื่อ
ความเมาคือเป็นเครื่องหมายของความเมากำลังและเป็นเครื่องหมายความเมาของความเป็นบุรุษ เหมือนพวกนักมวยเป็นต้น หามิได้
คำว่า ไม่ใช่เพื่อประดับ 
อธิบายว่า เพื่อประดับคือเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นผู้มีองค์อวัยวะน้อยใหญ่ อิ่มเต็ม เหมือนกับพวกหญิงชาววังและหญิงแพศยาเป็นต้น หามิได้
คำว่า ไม่ใช่เพื่อ 
ตกแต่ง อธิบายว่า เพื่อตกแต่งคือเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใส เหมือนพวกหญิงละครและพวกหญิงช่างฟ้อนเป็นต้น หามิได้

ก็แหละ ในบรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ไม่ใช่เพื่อเล่น นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้เพื่อประหานอุปนิสัยแห่งโมหะ
คำว่า ไม่ใช่เพื่อความเมา นี้ ตรัสไว้เพื่อประหาน
อุปนิสสัยแห่งโทสะ
๒ คำว่า ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง นี้ ตรัสไว้เพื่อ 
ประหานอุปนิสสัยแห่งราคะ
อนึ่ง ๒ คำว่า ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความเมา นี้
ตรัสไว้เพื่อป้องกันการบังเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ของตน ๒ คำว่า ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง นี้ ตรัสไว้เพื่อป้องกันการบังเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์แม้ของผู้อื่น อนึ่ง นักศึกษาพึงทราบว่า การประหานซึ่งข้อปฏิบัติโดยไม่แยบคายและกามสุขัลลิกานุโยค พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วแม้ด้วยบททั้ง ๔ บทนี้

บทว่า ยาวเทว มีอรรถาธิบายดังกล่าวมาแล้วนั่นแล
คำว่า แห่งกายนี้ คือ 
แห่งรูปกายอันประกอบด้วยมหาภูตทั้ง ๔ นี้
คำว่า เพื่อดำรงอยู่ คือเพื่อความ
ดำรงอยู่สืบเนื่องกันไป
คำว่า เพื่อความเป็นไป คือเพื่อต้องการแก่ความเป็นไปอย่าง
ไม่ขาดสายหรือเพื่อดำรงอยู่ตลอดกาลยาวนาน จริงอยู่ ภิกษุนี้ย่อมเสพบิณฑบาตเพื่อความดำรงอยู่และเพื่อความเป็นไปของกาย เหมือนเจ้าของเรือนที่ทรุดโทรมทำการค้ำจุนเรือน และเหมือนพ่อค้าเกวียนทำการหยอดเพลาเกวียน ฉะนั้น ไม่ใช่เสพบิณฑบาตเพื่อเล่นเพื่อความเมาเพื่อประดับและเพื่อตกแต่ง

อีกประการหนึ่งคำว่า 
ฐิติ ที่แปลว่า ความดำรงอยู่นี้ เป็นชื่อของอินทรีย์คือชีวิต เพราะเหตุนั้น นักศึกษาพึงทราบว่า ด้วยคำว่า เพื่อความดำรงอยู่ เพื่อความเป็นไปแห่งกายนี้ เพียงเท่านี้ จะอธิบายว่า เพื่อยังอินทรีย์คือชีวิตแห่งกายนี้ให้เป็นไปดังนี้ก็ได้ 
คำว่า เพื่อระงับความเบียดเบียน มีอรรถาธิบายว่า ความหิวชื่อว่า วิหึส โดยอรรถว่า เบียดเบียน ภิกษุนี้ย่อมเสพบิณฑบาตแม้เพื่อระงับความเบียดเบียนนั้นเหมือนคนเป็นแผลทาแผล และเหมือนเมื่อคนไข้ในเพราะฤดูร้อนและฤดูหนาวเป็นต้น รับประทานยาเพื่อป้องกันความร้อนความหนาวนั้น ฉะนั้น คำว่า เพื่อ อนุเคราะห์พรหมจรรย์ มีอรรถาธิบายว่าเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์คือศาสนาทั้งมวลอย่างหนึ่ง เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์คือมรรคอย่างหนึ่ง จริงอยู่ ภิกษุนี้ได้อาศัยกำลังกาย เพราะมีอันเสพบิณฑบาตเป็นปัจจัย ปฏิบัติอยู่เพื่อสลัดออกจากความกันดารคือภพ ด้วยอำนาจการประกอบเนือง ๆ ในสิกขา ๓ ชื่อว่าย่อมเสพบิณฑบาตเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ เหมือนมารดาบิดาผู้มีความต้องการข้ามทางกันดารจำกินเนื้อของบุตร เหมือนพวกคนที่ต้องการข้ามแม่น้ำย่อมอาศัยแพ และเหมือนพวกคนที่ต้องการข้ามมหาสมุทรย่อมอาศัยเรือ ฉะนั้น คำว่า จักกำจัดเวทนาเก่าและไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น นี้ มีอรรถาธิบายดังนี้ ภิกษุเสพบิณฑบาตโดยประสงค์ว่า ด้วยเหตุที่เสพบิณฑบาตนี้ เราจักกำจัดเวทนาคือความหิวเก่า และจักไม่ให้เวทนาใหม่ซึ่งมีการฉันเกินประมาณเป็นปัจจัยเกิดขึ้น เหมือนพราหมณ์ชื่ออาหรหัตถกะ, ชื่ออลังสาฏกะ, ชื่อตัตรวัฏฏกะ, ชื่อกากมาสกะและชื่อกุตตวมิตกะคนใดคนหนึ่ง ทำนองเดียวกันกับคนไข้รับประทานยา 

อีกประการหนึ่ง พึงทราบอรรถาธิบายในคำนี้ แม้อย่างนี้ว่า 
เวทนาใดที่เรียกว่าเวทนาเก่า เพราะเกิดขึ้นด้วยอำนาจปัจจัยคือกรรมเก่า โดยอาศัยการฉันบิณฑบาตที่ไม่เป็นสัปปายะและฉันเกินประมาณในปัจจุบัน เราทำปัจจัยแห่งเวทนาเก่านั้นให้หายไป ด้วยการฉันบิณฑบาตอันเป็นสัปปายะและฉันแต่พอประมาณชื่อว่า จักกำจัดเวทนาเก่านั้น อนึ่ง เวทนาใดที่เรียกว่าเวทนาใหม่ เพราะเกิดขึ้นต่อไปโดยอาศัยความสั่งสมกรรม คือการฉันอันไม่สมควรที่ภิกษุทำแล้วในปัจจุบัน เราไม่ให้มูลเหตุแห่งเวทนาใหม่นั้นบังเกิดได้ด้วยอำนาจการฉันอันสมควร ชื่อว่า จักไม่ยังเวทนาใหม่นั้นให้เกิดขึ้น

นักศึกษาพึงทราบว่า ด้วยบททั้ง ๒ นี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดง
ถึงการสงเคราะห์เอาการฉันอันสมควรด้วย การประหานกามสุขัลลิกานุโยคด้วย และการไม่ยอมเสียสละความสุขอันเกิดโดยธรรมด้วย

คำว่า แหละความเป็นไปจักมีแก่เรา มีอรรถาธิบายว่า ภิกษุเสพบิณฑบาตโดยประสงค์ว่า ก็แหละ ความเป็นไป คือความดำเนินไปตลอดกาลนาน จักมีแก่เราคือแก่กายนี้ อันมีความเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย โดยไม่มีอันตรายอันจะเข้าไปตัดชีวิตินทรีย์ หรือตัดทอนอิริยาบถ เพราะการฉันพอประมาณ ดังนี้บ้าง เหมือนคนมีโรคติดต่อ รับประทานยาอันเป็นปัจจัยแก่โรคนั้น ฉะนั้น
คำว่า ความเป็นผู้ไม่มี
โทษ มีอรรถาธิบายว่า ภิกษุเสพบิณฑบาตโดยประสงค์ว่าความไม่มีโทษ จักมีแก่เรา โดยงดเว้นการแสวงหาการรับและการฉันอันไม่สมควร ความอยู่ผาสุก จักมีแก่เรา โดยการฉันพอประมาณ อีกอย่างหนึ่ง ความไม่มีโทษจักมีแก่เรา เพราะไม่มีโทษเช่น ความกระสัน, ความหลับ, ความบิดกาย ซึ่งมีการฉันบิณฑบาตอันไม่เป็นสัปปายะและการฉันเกินประมาณเป็นปัจจัย และอันวิญญูชนครหาเป็นต้น 
คำว่า ความอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา ด้วยความบังเกิดแห่งกำลังกาย เพราะมี
การฉันบิณฑบาตอันเป็นสัปปายะและการฉันพอประมาณเป็นปัจจัย อีกอย่างหนึ่ง ความไม่มีโทษ เพราะละเสียซึ่งความสุขในการเอนหลัง, ความสุขในการเอกเขนกและความสุขในการหลับ จักมีแก่เรา ด้วยการหลีกเว้นการฉันจนแน่นท้องตามที่ต้องการ และความอยู่ผาสุก เพราะยังความประกอบด้วยอิริยาบถทั้ง ๔ ให้ถึงพร้อมจักมีแก่เรา โดยการฉันให้หย่อนไว้สัก ๔-๕ คำ ดังนี้บ้าง

สมด้วยพุทธนิพนธคาถาที่พระผู้มี
พระภาคตรัสไว้ว่า :-
พึงหยุดฉันเสียเมื่อ ๔-๕ คำจะอิ่ม แล้วจึงดื่มน้ำแทนเป็นการเพียงพอเพื่อความอยู่ผาสุกแห่งภิกษุผู้มีตนส่งไปแล้ว นักศึกษาพึงทราบว่า ด้วยคำทั้ง ๓ ตามที่อรรถาธิบายมานี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงการกำหนดเอาประโยชน์และมัชฌิมาปฏิปทา ด้วยประการฉะนี้

🔅 อธิบายบทเสนาสนะ

คำว่า เสนาสนะ แยกเป็น เสนะ คำหนึ่ง อาสนะ คำหนึ่ง อธิบายว่า ภิกษุนอนอยู่ที่ใด จะเป็นวิหารหรือเรือนโรงมีเพิ่งเป็นต้นก็ตาม ที่นั้นชื่อว่า เสนะ แปลว่า ที่นอน
ภิกษุนั่ง ณ ที่ใด ๆ ที่นั้นชื่อว่า อาสนะ แปลว่า ที่นั่ง

๒ คำนั้น
ท่านรวมเข้าเป็นคำเดียวกัน แล้วจึงกล่าวว่า เสนาสนะ แปลว่า ที่นอนและที่นั่ง

คำว่า เพื่อบรรเทาอันตรายคือฤดู และความยินดีในการหลีกเร้นอยู่ มีอรรถาธิบายว่า อุตุนั่นเองชื่อว่าอันตรายคือฤดู เพราะอรรถว่าเบียดเบียน เพื่อบรรเทาซึ่งอันตรายคือฤดู และเพื่อความยินดีในการหลีกเร้นอยู่ อธิบายว่า ฤดูกาลอันใดที่เบียดเบียนร่างกายและทำให้จิตฟุ้งซ่านไม่เป็นสัปปายะ เป็นสิ่งอันภิกษุพึงบรรเทาเสียด้วยการเสพเสนาสนะ เพื่อบรรเทาซึ่งฤดูกาลนั้น และเพื่อความสุขในความเป็นบุคคลผู้เดียว 

การบรรเทาอันตรายคือฤดู พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วด้วยพระพุทธพจน์มีอาทิว่า 
สีต ปฏิฆาต ดังนี้โดยแท้ แต่ถึงอย่างนั้น นักศึกษาพึงทราบว่า ที่นี้พระผู้มีพระภาคตรัสคำนี้ซ้ำอีก โดยทรงหมายเอาการบรรเทาอันตรายคือฤดูที่แน่นอน เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ในบทเสพจีวรว่า การปกปิดอวัยวะที่ทำให้ความละอายสูญหายไป เป็นประโยชน์ที่แน่นอน ส่วนประโยชน์นอกนั้นมีได้เป็นบางครั้งบางคราว ดังนี้

อีกประการหนึ่ง ฤดูซึ่งมีประการดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ชื่อว่า ฤดูคงที่ ส่วนอันตรายมี ๒ อย่าง คือ อันตรายที่ปรากฏหนึ่ง อันตรายที่ปกปิดหนึ่ง ใน ๒ อย่างนั้น สัตว์ร้ายทั้งหลายมีราชสีห์และเสือเป็นต้น ชื่อว่าอันตรายที่ปรากฏ กิเลสทั้งหลายมีราคะและโทสะเป็นต้นชื่อว่าอันตรายที่ปกปิด อันตรายย่อมไม่ทำความเบียดเบียน โดยที่ไม่ได้รักษาทวารและโดยที่เห็นรูปอันไม่เป็นสัปปายะ ณ เสนาสนะใด ภิกษุรู้ คือ พิจารณาเสนาสนะนั้นอย่างนี้แล้วเสพอยู่ พึงทราบว่า ชื่อว่าพิจารณาโดยแยบคาย แล้วจึงเสพเสนาสนะ เพื่อบรรเทาอันตรายคือฤดู ฉะนี้

🔅 อธิบายบทคิลานปัจจยเภสัชบริขาร

ในคำว่า ซึ่งคิลานปัจจยเภสัชบริขาร นี้ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้
เภสัช ชื่อว่า ปจุจย เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องต่อต้านโรค อธิบายว่า เพราะอรรถว่าถึงซึ่งความเป็นข้าศึกของโรค
คำว่า 
ปจุจย นี้ เป็นชื่อของสัปปายะอย่างใดอย่างหนึ่ง, กิจกรรมของหมอเพราะหมอนั้นอนุญาตแล้ว
ฉะนั้นจึงชื่อว่า เภสชฺช 
เภสัชคือปัจจัยแห่งคนไข้
ชื่อว่า คิลานปจฺจยเภสชฺช อธิบายว่า ได้แก่กิจกรรมของ
หมออันเป็นสัปปายะแก่คนไข้ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีน้ำมันน้ำผึ้งและน้ำอ้อย เป็นต้น

ส่วนคำว่าบริขารพระผู้มีพระภาคตรัสเอาเครื่องล้อมก็มีในพระบาลีมีอาทิว่า “พระนครเป็นอันล้อมดีแล้ว ด้วยเครื่องล้อมพระนครถึงเจ็ดชั้น” ” ตรัสหมายเอาเครื่องอลังการก็มี ในพระบาลีมีอาทิว่า “รถมีศีลเป็นเครื่องอลังการ มีฌานเป็นเพลา มีวิริยะเป็นล้อ” ตรัสหมายเอาสัมภาระก็มีในพระบาลีมีอาทิว่า “เครื่องสัมภาระแห่งชีวิตชนิดใด ชนิดหนึ่ง อันบรรพชิตพึงนำมาโดยชอบ” แต่ในที่นี้ ศัพท์ว่า บริขาร แม้หมายเอาสัมภาระก็ควร แม้หมายเอาเครื่องล้อมก็ควร เพราะว่าคิลานปัจจยเภสัชนั้น ย่อมเป็นเครื่องล้อมชีวิตก็ได้ เป็นสัมภาระของชีวิตก็ได้ เพราะเป็นเครื่องรักษาไม่ให้ช่องแก่ความบังเกิดขึ้นแห่งอาพาธอันจะทำชีวิตให้พินาศไป เป็นสัมภาระของชีวิตก็ได้

เพราะเป็นเหตุแห่งชีวิตนั้นโดยประการที่ชีวิตจะดำเนินไปได้ตลอดกาลนาน เพราะฉะนั้น คิลานปัจจยเภสัช พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็นบริขาร คิลานปัจจยเภสัช ดังกล่าวมาแล้วนั้นด้วยเป็น บริขาร ด้วย ฉะนั้นจึงชื่อว่า คิลานปัจจยเภสัชบริขาร ซึ่งคิลานปัจจยเภสัชบริขารนั้น อธิบายว่า ซึ่งเภสัชอันเป็นสัปปายะแห่งคนไข้ชนิดใดชนิดหนึ่งอันหมออนุญาตแล้ว มีน้ำมันน้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น อันเป็นบริขารแห่ง ชีวิต, คำว่า เกิดขึ้นแล้ว คือ เกิดแล้ว เป็นแล้ว บังเกิดแล้ว, ความกำเริบแห่งธาตุและอาพาธต่าง ๆ มีโรคเรื้อนโรคฝีและพุพองเป็นต้นซึ่งมีความกำเริบแห่งธาตุนั้นเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า พฺยาพาธ

ในบทว่า เวยฺยาพาธิกานํ นี้ เวทนาทั้งหลาย ชื่อว่า 
เวยฺยาพาธิก เพราะเกิดแต่อาพาธต่าง ๆ คำว่า ซึ่งเวทนาทั้งหลาย ได้แก่ ทุกขเวทนา 
คือเวทนาอันเป็นอกุศลวิบาก, ซึ่งเวทนาทั้งหลายนั้นอันเกิดแต่อาพาธต่าง ๆ เหล่านั้นบทว่า อพฺยาปชุฌปรมตาย แปลว่า เพื่อความเป็นผู้ไม่มีทุกข์เป็นอย่างยิ่ง อธิบายว่า ทุกข์ทั้งหมดนั้นย่อมเป็นอันภิกษุละได้ แล้วเพียงใด เพื่อความเป็นผู้ไม่มีทุกข์เป็นอย่างยิ่งเพียงนั้น ปัจฺจยสนฺนิสฺสิตศีล นี้ ซึ่งมีอันพิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงบริโภคปัจจัยเป็นลักษณะ นักศึกษาพึงทราบโดยสังเขปดังพรรณนามานี้ ส่วนอรรถวิเคราะห์แห่งถ้อยคำ ในบทว่า  ปัจฺจยสนฺนิสฺสิตศีล นี้ดังนี้ก็แหละ ปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น เรียกว่า ปจฺจย เพราะอรรถวิเคราะห์ว่า เป็นที่เป็นไป เป็นที่ดำเนินไป ของสัตว์ผู้มีชีวิตทั้งหลาย ซึ่งอิงอาศัยบริโภคปัจจัยเหล่านั้น, ศีลอาศัยแล้วซึ่งปัจจัยเหล่านั้น ฉะนั้นจึงชื่อว่า ปัจจยสันนิสสิตศีล ฉะนี้แล




วันพฤหัสบดี

อธิบายอาชีวปาริสุทธิศีล

อธิบายอาชีวปาริสุทธิศีล

บัดนี้ จะอรรถาธิบายในอาชีวปาริสุทธิศีล ซึ่งตรัสไว้ในลำดับแห่ง 🔎อินทรียสังวรศีล ต่อไปดังนี้
คำว่า ด้วยอำนาจแห่งการล่วงละเมิดซึ่งสิกขาบท ๖ ประการ ซึ่งทรงบัญญัติไว้เพราะมีอาชีพเป็นเหตุ อธิบายว่า ด้วยอำนาจการล่วงละเมิดสิกขาบท ๖ ประการเหล่านี้ ซึ่งทรงบัญญัติไว้อย่างนี้

๑. ภิกษุมีความปรารถนาลามก อันความอยากครอบงำแล้ว ย่อมพูดอวดอุตริมนุสสธรรม คือธรรมอันยิ่ง   กว่าธรรมของมนุษย์ อันไม่มีจริงอันไม่เป็นจริง เพราะมีอาชีพเป็นเหตุ เพราะมีอาชีพเป็นตัวการ ต้องอาบัติปาราชิก
๒. ภิกษุทำการชักสื่อ (ให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน) เพราะมีอาชีพเป็นเหตุ เพราะมีอาชีพเป็นตัวการ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
๓. ภิกษุพูดตู่ว่า ภิกษุใดอยู่ในวัดของท่าน ภิกษุนั้นเป็นพระอรหันต์ ดังนี้ เพราะมีอาชีพเป็นเหตุ เพราะมีอาชีพเป็นตัวการ เมื่อยังยืนยันอยู่ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
๔. ภิกษุไม่ได้ต้องอาพาธ ขอโภชนะอันประณีตเพื่อตนมาฉัน เพราะมีอาชีพเป็นเหตุ เพราะมีอาชีพเป็นตัวการ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
๕. ภิกษุณีไม่ได้ต้องอาพาธ ขอโภชนะอันประณีตเพื่อตนมาฉัน เพราะมีอาชีพเป็นเหตุ เพราะมีอาชีพเป็นตัวการ ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
๖. ภิกษุไม่ได้ต้องอาพาธ ขอแกงหรือข้าวสุกเพื่อตนมาฉัน เพราะมีอาชีพเป็นเหตุ เพราะมีอาชีพเป็นตัวการ ต้องอาบัติทุกกฏ

บาปธรรม ๕ อย่างในพระบาลี 
ในปาปธรรม ๕ อย่าง มีพระบาลี ดังต่อไปนี้ว่า :

๑. ในบาปธรรมเหล่านั้น การหลอกลวง เป็นอย่างไร ?
การสยิ้วหน้า* กิริยาสยิ้วหน้า กิริยาหลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง ด้วยกุหนวัตถุคือการแสร้งเสพปัจจัย ๔ หรือด้วยการพูดกระซิบ หรือการสยิ้วหน้า กิริยาสยิ้วหน้า การหลอกลวง กิริยาหลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง คือการวางท่า การตั้งท่า การแต่งท่าแห่งอิริยาบถทั้ง ๔ อันใด ของภิกษุผู้อิงอาศัยลาภสักการะและความสรรเสริญ ผู้มีความปรารถนาลามก ผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว นี้เรียกว่า การหลอกลวง
(* สยิ้วหน้า ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดแสดงความไม่พอใจหรือเบื่อหน่าย)
๒. ในบาปธรรมเหล่านั้น การพูดเลาะเล็ม เป็นอย่างไร ?
การพูดทัก การพูดอวด การพูดเอาใจ การพูดยกยอ การพูดยกยอให้หนักขึ้น การพูดผูกมัด การพูดผูกมัดให้หนักขึ้น การพูดยกตน การพูดยกตนให้หนักขึ้น การพูดให้รักอย่างพร่ำเพรื่อ การพูดลดตนลง การพูดเหมือนแกงถั่ว การพูดรับเป็นพี่เลี้ยงเด็กแก่คนอื่น ๆ อันใด ของภิกษุผู้อิงอาศัยลาภสักการะและความสรรเสริญ ผู้มีความปรารถนาลามกผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว นี้เรียกว่า การพูดเลาะเล็ม
๓. ในบาปธรรมเหล่านั้น การกระทำนิมิต เป็นอย่างไร ?
การกระทำกายและวาจาเป็นนิมิต การกระทำนิมิต คำพูดเป็นปัจจัย คำพูดเป็นนัย การพูดกระซิบ การพูดเลียบเคียง แก่คนอื่น ๆ อันใด ของภิกษุผู้อิงอาศัยลาภสักการะและความสรรเสริญผู้มีความปรารถนาลามกผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว นี้เรียกว่า การกระทำนิมิต
๔. ในบาปธรรมเหล่านั้น การด่าแช่ง เป็นอย่างไร ?
การพูดด่า การพูดข่ม การพูดครหา การพูดสาด การพูดสาดหนักขึ้น การพูดติเตียน การพูดติเดียนหนักขึ้น การพูดให้ร้าย การพูดให้ร้ายหนักขึ้น การนำโทษไปโพนทะนา การพูดให้โทษลับหลัง แก่คนอื่น ๆ อันใด ของภิกษุผู้อิงอาศัยลาภสักการะและความสรรเสริญ ผู้มีความปรารถนาลามก ผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว นี้เรียกว่า การด่าแช่ง
๕. ในบาปธรรมเหล่านั้น การแสวงหาลาภด้วยลาภ เป็นอย่างไร ?
ภิกษุผู้อิงอาศัยลาภสักการะและความสรรเสริญ ผู้มีความปรารถนาลามก ผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว นำเอาอามิสที่ได้แล้วจากตระกูลนี้ไปที่ตระกูลโน้น หรือนำเอาอามิสที่ได้แล้วที่ตระกูลโน้นมาที่ตระกูลนี้ การเสาะหา การซอกหา การแสวงหา กิริยาเสาะหา กิริยาซอกหา กิริยาแสวงหา ซึ่งอามิสเห็นปานฉะนี้ อันใด นี้เรียกว่าการแสวงหาลาภด้วยลาภ

อธิบายความพระบาลี 
ก็แหละ อรรถาธิบายความแห่งพระบาลีนี้ นักศึกษาพึงทราบดังจะบรรยายต่อไปนี้ :

๑.ในกุหนนิเทศ

พึงทราบอรรถาธิบายในกุหนนิเทศเป็นประการแรกดังนี้
คำว่า ผู้อิงอาศัยลาภ
สักการะและความสรรเสริญ คือผู้อิงอาศัยคือปรารถนาลาภสักการะและชื่อเสียง
คำว่า ผู้มีความปรารถนาลามก คือมีความใคร่ที่จะแสดงถึงคุณอันไม่มีอยู่
คำว่า ผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว คือผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว คือเข้าประทุษร้ายแล้ว

ต่อแต่นี้ไป โดยเหตุที่กุหนวัตถุ ๓ อย่างมาในคัมภีร์มหานิเทศ โดยแยกเป็นกุหนวัตถุคือการเสพปัจจัย, กุหนวัตถุคือการกระซิบและกุหนวัตถุคือการอาศัยอิริยาบถ ฉะนั้น เพื่อที่จะแสดงกุหนวัตถุแม้ ๓ อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงปรารภคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ปฐจยปฏิเสวนสงขาเตน วา ที่แปลว่า ด้วยกุหนวัตถุคือการแสร้งเสพปัจจัย ๔ หรือการทำให้พิศวงด้วยการปฏิเสธ เพราะเป็นผู้อาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาลามก เมื่อถูกคหบดีทั้งหลายนิมนต์ด้วยปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น ทั้ง ๆ ที่ตนมีความต้องการปัจจัยนั้นอยู่ และด้วยหยั่งรู้ถึงคหบดีเหล่านั้นเป็นผู้มีศรัทธา ตั้งมั่นในตนแล้ว เมื่อเขาพูดว่า “โอ! พระผู้เป็นเจ้ามักน้อย ไม่ต้องการที่จะรับปัจจัยอะไร ๆ ถ้าหากว่า พระผู้เป็นเจ้าจะพึงรับปัจจัยอะไร ๆ แม้สักเล็กน้อยก็จะพึงเป็นอันเราทั้งหลายได้ดีแล้วหนอ” ดังนี้แล้ว จึงพากันน้อมปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้นที่ประณีต ๆ มาด้วยอุบายวิธีมีประการต่าง ๆ เธอจึงรับโดยทำให้รู้ความประสงค์ที่จะอนุเคราะห์เขาเหล่านั้นเท่านั้น ตั้งแต่นั้น ก็เป็นเหตุให้เขาน้อมนำมาด้วยปัจจัยทั้งหลายแม้เป็นเล่มเกวียน ๆ การทำให้พิศวงทำนองนี้ นักศึกษาพึงทราบว่าเป็นกุหนวัตถุ คือการแสร้งเสพปัจจัยประการหนึ่ง ในบรรดากุหนวัตถุ ๓ ประการนั้น สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในคัมภีร์มหานิเทศ

(ประการที่ ๑) กุหนวัตถุคือการแสร้งเสพปัจจัย
กุหนวัตถุคือการแสร้งเสพปัจจัย เป็นอย่างไร ?
ในศาสนานี้ คหบดีทั้งหลายนิมนต์ภิกษุด้วยจีวร, บิณฑบาต, เสนาสนะและคิลานปัจจยเภสัชบริขาร ภิกษุนั้นเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว มีความต้องการจีวร, บิณฑบาต, เสนาสนะและคิลานปัจจยเภสัช บริขารอยู่ เพราะอาศัยความอยากได้ให้ยิ่งขึ้น จึงบอกปัดจีวร บอกปัดบิณฑบาต บอกปัดเสนาสนะ บอกปัดคิลานปัจจยเภสัชบริขาร เธอพรรณนาอย่างนี้ว่า “ประโยชน์
อะไรของสมณะด้วยจีวรที่มีค่ามากการที่สมณะพึงเก็บเอาผ้าที่เขาทิ้งแล้ว จากป่าช้าบ้าง จากกองหยากเยื่อบ้าง จากร้านตลาดบ้าง มาทำผ้าสังฆาฏิครอง นี้เป็นการสมควร ประโยชน์อะไรของสมณะกับบิณฑบาตที่มีค่ามาก การที่สมณะพึ่งสำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยคำข้าวที่ทำให้เป็นก้อน ซึ่งได้มาด้วยภิกขาจารวัตร นี้เป็น การสมควร, ประโยชน์ อะไรของสมณะกับเสนาสนะที่มีค่ามาก การที่สมณะพึงอยู่โคนต้นไม้พึงอยู่ป่าช้าหรือ จึงอยู่กลางแจ้ง นี้เป็นการสมควร, ประโยชน์อะไรของสมณะกับคิลานปัจจยเภสัชบริขารอันมีค่ามาก การที่สมณะพึงทำยาด้วยน้ำมูตรเน่าหรือด้วยชิ้นส่วนแห่งผลสมอ นี้เป็นการสมควร”

อาศัยเหตุนั้น เธอจึงครองจีวรปอน ๆ ฉันบิณฑบาตเลว ๆ เสพ
เสนาสนะอย่างมัวหมอง เสพคิลานปัจจยเภสัชบริขารอย่างถูก ๆ คหบดีทั้งหลายจึงรู้จักเธอนั้นทำนองนี้ว่า “สมณะนี้ เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร มีวาทะ กำจัดกิเลส” จึงนิมนต์เธอด้วยจีวร, บิณฑบาต, เสนาสนะและ
คิลานปัจจยเภสัชบริขาร เธอจึงสาธยาย ดังนี้ว่า “กุลบุตร ผู้มีศรัทธาย่อมจะประสบบุญเป็นอันมาก เพราะความพร้อมหน้าแห่งวัตถุ ๓ ประการ คือ
กุลบุตรผู้มีศรัทธา 
ประสบบุญเป็นอันมาก เพราะความพร้อมหน้าแห่งศรัทธา ๑
กุลบุตรผู้มีศรัทธาประสบ
บุญเป็นอันมาก เพราะความพร้อมหน้าแห่งเครื่องไทยธรรม ๑
กุลบุตรผู้มีศรัทธาประสบ
บุญเป็นอันมาก เพราะความพร้อมหน้าแห่งทักขิเณยยบุคคลทั้งหลาย ๑
ท่านทั้งหลาย
มีศรัทธานี้อยู่แล้ว เครื่องไทยธรรมก็มีอยู่ และอาตมาก็ เป็นปฏิคาหกด้วย ถ้าอาตมาจักไม่รับ ท่านทั้งหลายจักเป็นผู้เสื่อมจากบุญไปเสียด้วยอาการอย่างนี้ อาตมาไม่
ต้องการด้วยปัจจัยนี้ แต่ที่รับไว้ก็เพื่อจะอนุเคราะห์ท่านทั้งหลายเท่านั้น” อาศัยเหตุนั้นเธอจึงรับจีวรบ้าง บิณฑบาตบ้าง เสนาสนะบ้าง คิลานปัจจยเภสัชบริขารบ้างไว้อย่างละมาก ๆ การสยิ้วหน้า กิริยาสยิวหน้า การหลอกลวง กิริยาหลอกลวงภาวะที่หลอกลวง เห็นปานฉะนี้อันใด นี้เรียกว่า กุหนวัตถุคือการแสร้งเสพปัจจัย

(
ประการที่ ๒) กุหนวัตถุคือการพูดกระซิบ
อนึ่ง การทำให้เกิดพิศวงด้วยประการนั้น ๆ ด้วยวาจาที่แสดงถึงการได้บรรลุอุตริมนุสสธรรมของภิกษุผู้มีความปรารถนาลามกนั่นแล นักศึกษาพึงทราบว่า กุหนวัตถุคือการพูดกระซิบ เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า :-
กุหนวัตถุคือการพูดกระซิบ เป็นอย่างไร ?
ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว มีความต้องการความสรรเสริญ สำคัญว่า คนจักสรรเสริญเราด้วยอาการอย่างนี้ แล้วจึงพูดถ้อยคำอิงอาศัยอริยธรรม คือพูดว่า “ภิกษุใดครองจีวร เห็นปานฉะนี้ ภิกษุนั้นเป็นสมณะผู้มีศักดิ์ใหญ่” พูดว่า “ภิกษุใดใช้บาตร ใช้ถาดโลหะ ใช้กระบอกกรองน้ำ ใช้ผ้ากรองน้ำ ใช้กุญแจ สวมรองเท้า คาดประคตใช้สายโยกชนิดนี้ ๆ ภิกษุนั้นเป็นสมณะผู้มีศักดิ์ใหญ่” พูดว่า “พระอุปัชฌายะ พระอาจารย์ ภิกษุผู้ร่วมพระอุปัชฌายะ ภิกษุผู้ร่วมพระอาจารย์ ภิกษุผู้เป็นมิตร เป็นเพื่อน เห็นเป็นเพื่อน คบเป็นสหาย เห็นปานฉะนี้ ๆ ของภิกษุใด, ภิกษุใดอยู่ในวิหาร ในโรงยาว ในปราสาท ในเรือนโล้น ในคูหา ในที่เร้น ในกระท่อม ในเรือนยอด ในป้อม ในโรงกลม ในศาลายาว ในโรงประชุม ในมณฑป และในรุกขมูลชนิดนี้ ๆ ภิกษุนั้น เป็นสมณะผู้มีศักดิ์ใหญ่”
อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามกนั้น ตีหน้ายู่ยี่อย่างยิ่ง สยิ้วหน้าอย่างหนัก หลอกลวงอย่างเจนจัด พูดเลาะเล็มอย่างคล่องแคล่ว ชอบสรรเสริญด้วยปาก ย่อมพูดถ้อยคำอันลึกซึ้ง เร้นลับ ละเอียด ปิดบัง ชั้นโลกุตตระ ประกอบด้วยความว่าง เช่นนั้นว่า สมณะนี้ได้วิหารสมาบัติอันสงบเห็นปานฉะนี้ การสยิ้วหน้า กิริยาสยิ้วหน้า การหลอกลวง กิริยาหลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง เห็นปานฉะนี้อันใด นี้เรียกว่า กุหนวัตถุคือการพูดกระซิบ

(ประการที่ ๓) กุหนวัตถุคืออิริยาบถ
อนึ่ง การทำให้พิศวงด้วยอิริยาบถที่กระทำเพื่อประสงค์สรรเสริญของภิกษุผู้มีความปรารถนาลามกนั่นแล นักศึกษาพึงทราบว่า กุหนวัตถุที่อาศัยอิริยาบถเหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า :-
กุหนวัตถุคืออิริยาบถ เป็นอย่างไร ?
ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ผู้อันความปรารถนาครอบงำแล้ว มีความประสงค์ความสรรเสริญ สำคัญว่า คนจักสรรเสริญเราด้วยอาการอย่างนี้ แล้วประจงเดิน ประจงยืน ประจงนั่ง ประจงนอน ตั้งใจแล้วจึงเดิน ตั้งใจแล้วจึงยืน ตั้งใจแล้วจึงนั่ง ตั้งใจแล้วจึงนอน เดินทำเป็นเหมือนคนมีจิตตั้งมั่น นั่งทำเป็นเหมือนคนมีจิตตั้งมั่น นอนทำเป็นเหมือนคนมีจิตตั้งมั่น ทำเป็นเหมือนเข้าฌานต่อหน้าคน การสยิ้วหน้า กิริยาสยิ้วหน้า การหลอกลวง กิริยาหลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง คือการวางท่า การตั้งท่า การแต่งท่า แห่งอิริยาบถ เห็นปานฉะนี้ นี้เรียกว่า กุหนวัตถุคืออิริยาบถ


อธิบายศัพท์พระบาลี
ในบทเหล่านั้น
บทว่า ปจฺจยปฏิเสวนสงฺขาเตน แปลว่า ด้วยกุหนวัตถุที่
บัณฑิตกล่าวอย่างนี้ว่า การเสพปัจจัย อีกนัยหนึ่ง แปลว่า ด้วยกุหนวัตถุคือการเสพปัจจัย
บทว่า สามนฺตชปฺปิเตน แปลว่า ด้วยการพูดกระซิบ (พูดใกล้หู)
บทว่า 
อิริยาปถสฺส วา แปลว่า หรือ...แห่งอิริยาบถ ๔
บทว่า อฏฺฐปนา ความว่า การ
วางท่าไว้แต่ต้น หรือวางท่าไว้ด้วยความเอื้อเฟื้อ
บทว่า ฐปนา ได้แก่ อาการตั้งท่า
บทว่า สณฺฐปนา ได้แก่ การแต่งท่า อธิบายว่า การทำภาพให้เกิดความเลื่อมใส
บทว่า ภากุฏิกา คือการกระทำความสยิ้วหน้าโดยแสดงถึงภาวะแห่งผู้เคร่งเครียดด้วยความเพียร อธิบายว่า เป็นผู้มีหน้ายู่ยี่ การกระทำความสยิ้วหน้าเป็นปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้นภิกษุนั้น ชื่อว่า ภากุฏิโก แปลว่า ผู้มีความสยิ้วหน้าเป็นปกติ ภาวะแห่งภิกษุผู้มีการกระทำความสยิ้วหน้าเป็นปกติ
ชื่อว่า ภากุฏิยํ แปลว่า ภาวะแห่ง
ภิกษุผู้มีการกระทำความสยิ้วหน้าเป็นปกติ
บทว่า กุหนา แปลว่า การหลอกลวง
คือการทำให้พิศวง กิริยาเป็นไปแห่งการหลอกลวง
ชื่อว่า กุหายนา แปลว่า กิริยาที่
หลอกลวง ภาวะแห่งบุคคลผู้หลอกลวง
ชื่อว่า กุหิตตฺตํ แปลว่า ภาวะของบุคคลผู้
หลอกลวง


๒. ในลปนานิเทศ

ใน ลปนานิเทศ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ :-
การที่ภิกษุเห็นคนทั้งหลายพากันมาวัด แล้วรีบทักก่อนอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พากันมาเพื่อต้องการอะไรหรือ ? เพื่อจะนิมนต์ภิกษุทั้งหลายหรือ ? ถ้าเช่นนั้นเชิญกลับไปได้ อาตมาจะพาภิกษุทั้งหลายไปภายหลัง” ดังนี้ ชื่อว่า อาลปนา ที่แปลว่า การพูดทักก่อน อีกประการหนึ่ง การที่ภิกษุพูดเสนอตนเข้าไป ชักเข้าหาตนอย่างนี้ว่า “อาตมาชื่อติสสะ พระราชาทรงเลื่อมใสในอาตมา มหาอำมาตย์ของพระราชาโน้นและมหาอำมาตย์ของพระราชาโน้น ก็เลื่อมใสในอาตมา” ดังนี้ก็ชื่อว่า อาลปนา เมื่อภิกษุถูกถามแล้วพูดมีประการดังกล่าวมาแล้วนั่นแล ชื่อว่า ลปนา แปลว่า การพูดอวด การที่ภิกษุกลัวในอันที่คหบดีทั้งหลายจะหน่ายแหนง จึงพูดเอาใจให้โอกาสเสียเรื่อย ๆ ชื่อว่า สลฺลปนา แปลว่า การพูดเอาใจ การที่ภิกษุพูดยกให้สูงขึ้นอย่างนี้ว่า “ท่านกุฏุมพีก็ใหญ่ ท่านนายเรือใหญ่ ท่านทานบดีใหญ่” ดังนี้ชื่อว่า อุลฺลปนา แปลว่า การพูดยกยอ การพูดยกให้สูงขึ้นโดยส่วนอย่างสิ้นเชิง ชื่อว่า สมุลฺลปนา แปลว่า การยกยอให้หนักขึ้น การพูดผูกมัด คือพูดผูกพัน ให้หนัก ๆ ขึ้นอย่างนี้ว่า “อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย เมื่อก่อน ในกาลเช่นนี้พวกท่านย่อมถวายนวทาน (ให้สิ่งของแรกเกิดขึ้นใหม่ ๆ) แต่บัดนี้ ทำไมจึง ไม่ถวายเล่า” ทั้งนี้จนกว่าอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายจะกล่าวรับรองซึ่งคำมีอาทิว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พวกกระผมจักถวายอยู่ แต่ยังไม่ได้โอกาส” ดังนี้ ชื่อว่า อุนฺนหนา แปลว่า การพูดผูกมัด

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นอ้อยในมือแล้วถามว่า “เอามาจากไหน อุบาสก ?” 
เมื่อเขาตอบว่า “เอามาจากไร่อ้อย ขอรับ” จึงถามต่อไปว่า “อ้อยที่ไร่นั้นหวานไหม ?” เมื่อเขาตอบว่า “ต้องเคี้ยวดูจึงจะทราบขอรับ” ภิกษุพูดต่อไปว่า “อุบาสก การที่ภิกษุจะพูดว่า ท่านทั้งหลายจงถวายอ้อยแก่ภิกษุ ดังนี้ หาสมควรไม่” การพูดผูกพันแม้ของภิกษุผู้ปฏิเสธอยู่เห็นปานฉะนี้นั้นชื่อว่า อุนฺนหนา การพูดผูกมัดบ่อย ๆ โดยส่วนอย่างสิ้นเชิง ชื่อว่า สมุนฺนหนา แปลว่า พูดผูกมัดหนักขึ้น

บทว่า อุกฺกาจนา ความว่า การพูดยกตนอย่างนี้ว่า “ตระกูลนี้รู้จักแต่อาตมา
เท่านั้น ถ้าไทยธรรมเกิดขึ้นในตระกูลนี้ เขาก็ถวายแต่อาตมาเท่านั้น” ดังนี้
ชื่อว่า 
อุกกาจนา แปลว่า การพูดยกตน อธิบายว่า พูดเชิดตน ก็แหละ ในบทนี้ นักศึกษาจึงนำเอาเรื่องของนางเตลกันทริกามาเล่าประกอบด้วย อนึ่ง การพูดยกตนบ่อย ๆ โดยส่วนอย่างสิ้นเชิง
ชื่อว่า สมุกฺกาจนา แปลว่า การพูดยกตนให้หนักขึ้น 
การพูดให้เป็นที่รักอย่างพร่ำเพรื่อไปอย่างเดียว โดยไม่แลเหลียวถึงความสมควรแก่สัจจะสมควรแก่ธรรมหรือไม่
ชื่อว่า อนุปิยภาณิตา แปลว่า การพูดให้รักอย่างพร่ำเพรื่อ 
ความประพฤติตนต่ำ คือประพฤติตั้งตนไว้ต่ำ
ชื่อว่า จาฏกมยตา การพูดลดตนเอง

บทว่า มุคฺคสูปฺยตา แปลว่า ความเป็นผู้เช่นกับแกงถั่ว อธิบายว่า เมื่อเขาแกงถั่วอยู่ 
ถั่วบางเมล็ดเท่านั้นจะไม่สุก ส่วนที่เหลือสุกหมด ฉันใด ในถ้อยคำของบุคคลใด มีความจริงเป็นบางคำเท่านั้น ส่วนคำที่เหลือเป็นคำพล่อย ๆ บุคคลนี้เรียกว่า มุคฺคสูโปฺย แปลว่า คนเหมือนแกงถั่ว ฉันนั้น ภาวะแห่งบุคคลผู้เหมือนแกงถั่วนั้นชื่อว่า มุคฺคสูปฺยตา แปลว่า ความเป็นคนพูดเหมือนแกงถั่ว บทว่า ปาริภฏฺยตา แปลว่า ความเป็นผู้รับเป็นพี่เลี้ยง อธิบายว่า ภิกษุใดเลี้ยง คืออุ้มเด็กในตระกูลทั้งหลายด้วยสะเอวบ้าง ด้วยคอบ้าง เหมือนอย่างหญิงพี่เลี้ยง การงานของภิกษุผู้เลี้ยงเด็กนั้นชื่อว่า ปาริภฏฺยํ ภาวะของการงานของภิกษุผู้เลี้ยงเด็ก ชื่อว่า ปาริภฏฺยตา แปลว่า ภาวะแห่งการงานของภิกษุผู้เลี้ยงเด็ก


๓. ในเนมิตติกตานิเทศ

ใน เนมิตติกตานิเทศ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ : การกระทำทางกายและทางวาจาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้คนอื่น ๆ หยั่งรู้ในอันจะถวายปัจจัย ชื่อว่า นิมิตฺต การเห็นคนทั้งหลายถือของเคี้ยวเดินผ่านไปแล้วกระทำนิมิตโดยนัยมีอาทิว่า “พวกท่านได้ของเคี้ยวอะไร” ดังนี้ ชื่อว่า นิมิตฺตกมฺม แปลว่า การกระทำนิมิต การพูดประกอบด้วยปัจจัย ชื่อว่า โอภาส แปลว่า การประกาศความปรารถนาของตน การที่ภิกษุเห็นพวกเด็กเลี้ยงโคแล้วถามว่า ลูกโคเหล่านี้เป็นลูกโคนมหรือลูกโคเปรียง เมื่อเขาตอบว่า ลูกโคนม ขอรับ ดังนี้แล้ว จึงสั่งให้เด็กเหล่านั้น บอกแก่บิดามารดาให้ถวายน้ำนม โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ลูกโคเหล่านี้จะไม่ใช่ลูกโคนม ถ้าเป็นลูกโคนมพวกภิกษุก็จะได้น้ำนมกันบ้าง ดังนี้ชื่อว่า โอภาสกมฺม แปลว่า การกระทำโอภาส การพูดกระซิบใกล้ ๆ ชื่อว่า สามนฺตชปฺปา ก็แหละในบทนี้ นักศึกษาควรนำเรื่อง กุลูปกภิกษุ มาเล่าประกอบด้วย

เรื่องกุลูปกภิกษุ

ได้ยินว่า ภิกษุกุลูปกะใคร่จะฉันอาหาร จึงเข้าไปในบ้านแล้วนั่งอยู่ หญิงแม่บ้านเห็นเธอแล้วไม่ประสงค์จะถวายจึงพูดว่า “ข้าวสารไม่มี” ดังนี้แล้วพลางเดินไปเรือนคนคุ้นเคยกัน ทำเป็นเสมือนจะไปเอาข้าวสารมา ฝ่ายภิกษุเข้าไปในห้องเห็นอ้อยลำหนึ่งพิงอยู่ที่ซอกประตู เห็นน้ำอ้อยงบอยู่ที่ภาชนะ เห็นปลาเค็มผ่าแบะอยู่ในกระเช้า เห็นข้าวสารอยู่ในโอ่ง เห็นเปรียงอยู่ในหม้อ แล้วจึงออกมานั่งรออยู่ หญิงแม่บ้านกลับมาถึงพูดว่า “ข้าวสารหาไม่ได้” ภิกษุพูดเปรยขึ้นว่า “อุบาสิกา อาตมาได้เห็นลางมาก่อนแล้วว่า วันนี้ภิกษาหารจักไม่สำเร็จ” หญิงแม่บ้านพูดว่า “เห็นลางอะไรเจ้าคะ” ภิกษุพูดต่อไปว่า “อาตมาได้เห็นงูเหมือนอ้อยที่พิงไว้ที่ซอกประตู คิดว่าจะตีมัน มองไปได้เห็นแผ่นหินเหมือนก้อนน้ำอ้อยงบที่เก็บไว้ในภาชนะ เห็นพังพานที่ถูกตีด้วยก้อนดินแล้วแผ่ออกเหมือนปลาเค็มที่แผ่แบะเก็บไว้ในกระเช้า ได้เห็นเขี้ยวของมันเมื่องูทำท่าจะขบก้อนดินนั้น เหมือนข้าวสารที่อยู่ในโอ่ง แต่นั้นได้เห็นน้ำลายเจือพิษกำลังไหลออกมาจากปากของมัน ซึ่งมีความโกรธจัด เหมือนเปรียงที่ใส่ไว้ในหม้อ” หญิงแม่บ้านคิดว่า “เราไม่อาจลวงภิกษุหัวโล้นได้แล้ว” จึงจำถวายอ้อยแล้วหุงข้าว ได้ถวายสิ่งทั้งปวงพร้อมด้วยเปรียง น้ำอ้อยงบและปลาทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้

การพูดกระซิบใกล้ ๆ ด้วยประการดังกล่าวมา นักศึกษาพึงทราบว่า การพูดกระซิบ การพูดอ้อมไปอ้อมมาโดยประการที่จะได้มาซึ่งปัจจัยนั้น ชื่อว่า ปริกถา แปลว่า การพูดเลียบเคียง ด้วยประการฉะนี้


๔. ในนิปเปสิกตานิเทศ

ใน นิปเปสิกตานิเทศ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ :- การด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ ประการ
ชื่อว่า อกฺโกสนา การพูดข่ม
ชื่อว่า 
วมฺภนา การพูดยกโทษโดยนัยมีอาทิว่า เป็นผู้ไม่ศรัทธา เป็นผู้ไม่เลื่อมใส
ชื่อว่า 
ครหณา การพูดสาดด้วยวาจาว่า ท่านทั้งหลายอย่ามาพูดอย่างนี้ ณ ที่นี้
ชื่อว่า 
อุกฺเขปนา การพูดสาดอันประกอบด้วยวัตถุประกอบด้วยเหตุโดยส่วนอย่างสิ้นเชิง
ชื่อว่า 
สมุกฺเขปนา อีกนัยหนึ่ง เห็นคนไม่ให้ทานแล้วพูดยกขึ้นอย่างนี้ว่า โอ ! ท่านทานบดี ดังนี้
ชื่อว่า อุกเขปนา การพูดยกให้ดีขึ้นไปอีกอย่างนี้ว่า ท่านมหาทานบดี
ชื่อว่า 
สมุกฺเขปนา การพูดติเตียนอย่างนี้ว่า ชีวิตของคนนี้เขาชอบบริโภคพืชอย่างไรละ 
ชื่อว่า ขีปนา การพูดติเตียนหนักยิ่งขึ้นว่า ผู้ใดให้คำพูดว่าไม่มีแม้แก่คนทั้งปวงตลอดกาลเป็นนิตย์ ท่านทั้งหลายจะพูดปฏิเสธบุคคลผู้นี้ว่า ไม่ใช่ทายกได้อย่างไร ดังนี้
ชื่อว่า 
สํขิปนา การพูดให้เขาถึงแก่ความไม่เป็นทายก หรือให้ถึงแก่ความเป็นโทษ
ชื่อว่า 
ปาปนา การพูดให้เขาถึงแก่ความไม่เป็นทายก หรือให้ถึงแก่ความเป็นโทษโดยส่วนอย่างสิ้นเชิง
ชื่อว่า สมฺปาปนา การนำความเสียหายจากเรือนโน้นมาสู่เรือนนี้ จาก
บ้านโน้นสู่บ้านนี้ จากตำบลโน้นสู่ตำบลนี้ โดยหมายความว่า เขาจักให้แก่เราแม้เพราะกลัวต่อความเสียหายด้วยอาการอย่างนี้
ชื่อว่า อวณฺณหาริกา ต่อหน้าพูดดี ลับหลัง
พูดเสีย
ชื่อว่า ปรปิฏฺฐิมํสิกตา จริงอยู่ การพูดเช่นนี้จะมีได้ก็แต่แก่คนที่ไม่อาจอยู่สู่หน้า สำหรับคนอยู่ลับหลังแล้วทำเป็นเหมือนจะกินเนื้อเอาทีเดียว

เพราะฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ปรปิฎฐิมํสิกตา คำว่า นี้เรียกว่าการด่าแช่ง ความว่าโดยที่ภิกษุนี้ย่อมกวาดล้างคุณความดีของผู้อื่นให้พังพินาศไป ดุจกวาดล้างด้วยไม้ไผ่ อีกอย่างหนึ่ง โดยที่วาจานี้เป็นสิ่งที่บดป่นในคุณความดีของผู้อื่นแสวงหาลาภ เหมือนคนบดไม้หอม แสวงหาของหอม ฉะนั้น จึงเรียกว่า นิปฺเปสิกตา


๕. ในนิเทศแสวงหาลาภด้วยลาภ

ใน นิเทศแสวงหาลาภด้วยลาภ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ :- 
บทว่า นิชิคีสนตา แปลว่า แสวงหา
บทว่า อิโต ลทฺธํ แปลว่า ได้จากเรือนนี้
บทว่า อมุตฺร แปลว่า ณ เรือนโน้น
บทว่า เอฏฺฐิ แปลว่า เสาะหา
บทว่า 
คเวฏฺฐิ แปลว่า แสวงหา
บทว่า ปริเยฏฺฐิ แปลว่า แสวงหาบ่อย ๆ อนึ่ง ในอธิการนี้
นักศึกษาจึงเล่าเรื่องภิกษุผู้ให้ภิกษาที่ได้มาแล้ว ๆ ตั้งแต่แรก ๆ แก่พวกเด็ก ๆ ในตระกูล ณ ที่นั้นแล้ว ในที่สุดก็ได้ข้าวยาคูเลือน้ำนมไป มาประกอบด้วย
บทว่า เอสนา ที่แปลว่า กิริยาที่แสวงหา เป็นต้น เป็นไวพจน์ของบทว่า เอฏฐิ ที่แปลว่า เสาะหา นั่นเอง เพราะฉะนั้นคำว่า เสาะหา ได้แก่กิริยาที่เสาะหา คำว่า แสวงหา ได้แก่กิริยาที่แสวงหา คำว่า แสวงหาบ่อย ๆ ได้แก่กิริยาที่ แสวงหาบ่อย ๆ นักศึกษาพึงทราบการเข้าประโยค ณ ที่นี้ ด้วยประการฉะนี้นั่นเทียว

อรรถาธิบายแห่งกุหนนิเทศเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้
บัดนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า ด้วย อาทิ ศัพท์ ในคำว่า แห่งบาปธรรมทั้งหลาย มี อาทิ อย่างนี้นั้น ได้แก่การถือเอาบาปธรรมทั้งหลายเป็นอเนกประการ ที่พระผู้มี พระภาคตรัสไว้ใน 🔎พรหมชาลสูตร โดยนัยมีอาทิว่า “ก็แหละ อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างสมณพราหมณ์ผู้เจริญพวกหนึ่ง ฉันโภชนะทั้งหลายที่เขาถวายด้วยศรัทธาแล้วย่อมสำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาอาชีพ ด้วยดิรัจฉานวิชา เห็นปานฉะนี้ คือ ทำนายองค์อวัยวะ ทำนายลาง ทำนายอุบาทว์ ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า บูชาไฟ บังหวนควัน”

มิจฉาอาชีพที่เป็นไปโดยอำนาจการล่วงละเมิดสิกขาบท ๕ ประการ ที่ทรงบัญญัติไว้เพราะอาชีวะเป็นเหตุเหล่านี้ และมิจฉาอาชีพที่เป็นไปด้วยอำนาจบาปธรรมทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ว่า การหลอกลวง การพูดเลาะเล็ม การกระทำนิมิต การด่าแช่ง การแสวงหาลาภด้วยลาภ นี้อันใด การงดเว้นจากมิจฉาอาชีพแม้ทุก ประการนั้น อันใด อันนี้ชื่อว่า อาชีวปาริสุทธิศีล ด้วยประการฉะนี้

อรรถวิเคราะห์แห่งถ้อยคำในบทอาชีวปาริสุทธินั้น ดังนี้ :- 
ภิกษุทั้งหลายอาศัยการงานนั้นเป็นอยู่ เหตุนั้นการงานนั้น ชื่อว่า อาชีว

อาชีวะนั้นคืออะไร ? คือการพยายามแสวงหาปัจจัย ๔, ความบริสุทธิ์ชื่อว่า ปาริสุทธิความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ ชื่อว่า อาชีวปาริสุทธิ์ ฉะนี้






วันพุธ

อธิบายอินทรียสังวรศีล

อธิบายอินทรียสังวรศีล

ในอินทรียสังวรศีลที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในลำดับแห่ง 🔎ปาติโมกขสังวรศีล โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุ ดังนี้นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้

คำว่า ภิกษุนั้น ได้แก่ภิกษุผู้ดำรงอยู่ในปาติโมกขสังวรศีล
คำว่า เห็นรูป
ด้วยจักษุ อธิบายว่า เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณอันสามารถเห็นรูปได้ ซึ่งได้โวหารว่า จักษุด้วยอำนาจแห่งเหตุ ส่วนท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า จักษุเห็นรูปไม่ได้เพราะไม่มีจิต จิตก็เห็นรูปไม่ได้ เพราะไม่มีจักษุ แต่เพราะทวารกับอารมณ์กระทบกันบุคคลจึงเห็นรูปได้ด้วยจิตซึ่งมีจักขุปสาทเป็นวัตถุ ก็แหละ การพูดที่ประกอบด้วยเหตุเช่นนี้ ย่อมมีได้เหมือนอย่างในคำมีอาทิว่า คนยิงด้วยธนู เพราะฉะนั้น 
อรรถาธิบายในคำว่า เห็นรูปด้วยจักษุนี้ ได้แก่ เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณนั่นเทียว
คำว่า ไม่ยึดถือซึ่งนิมิต อธิบายว่า ไม่ยึดถือซึ่งนิมิตว่าเป็นหญิงเป็นชาย หรือนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสมีนิมิตสวยงามเป็นต้น หยุดอยู่เพียงแค่เห็นเท่านั้น
คำว่า ไม่ยึดถือซึ่งอนุพยัญชนะ อธิบายว่า ไม่ยึดถือซึ่งอาการอันต่างด้วย มือ, เท้า, การยิ้ม, การหัวเราะ, การพูดและการเหลียวแลเป็นต้น ซึ่งได้โวหารว่า อนุพยัญชนะ เพราะกระทำความปรากฏ โดยเป็นที่ปรากฏเนือง ๆ ของกิเลสทั้งหลาย อาการใดปรากฏในสรีระนั้น ก็ถือเอาเพียงอาการนั้น เหมือนพระมหาติสสเถระผู้อยู่ที่เจติยบรรพต

เรื่องพระมหาติสสเถระ

ได้ยินว่า ขณะเมื่อพระเถระจากเจติยบรรพตมายังเมืองอนุราธบุรี เพื่อเที่ยวบิณฑบาตนั้น ยังมีหญิงสะใภ้แห่งตระกูลคนใดคนหนึ่ง เกิดทะเลาะกับสามีแล้วประดับตกแต่งตนอย่างสวยงามเป็นเสมือนเทพกัญญา แล้วหนีออกจากเมืองอนุราธปุรีไปแต่เช้ามืดทีเดียว เมื่อเดินไปเรือนญาติ ได้พบพระเถระเข้าในระหว่างทางพอดี เกิดมีจิตวิปลาสขึ้น จึงหัวเราะเสียอย่างดัง พระเถระมองดูด้วยคิดว่า นี่อะไรกัน แล้วได้อสุภสัญญากัมมัฏฐานที่กระดูกฟันของหญิงนั้น เลยได้บรรลุพระอรหัต ด้วยเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า พระเถระนั้นเห็นกระดูกฟันของหญิงสะใภ้นั้นแล้วก็ ระลึกขึ้นได้ซึ่งอสุภสัญญากัมมัฏฐานที่ตนเคยได้มาแล้วในกาลก่อน ได้บรรลุแล้วซึ่งพระอรหัตทั้งยืน ณ ที่ตรงนั้นนั่นเทียว

ฝ่ายสามีของนางตามหาไปโดยทางนั้นเห็น
พระเถระเข้า จึงเรียนถามว่า “ท่านขอรับ ท่านเห็นสตรีอะไร ๆ บ้าง ไหม ?” พระเถระได้ตอบกับชายสามีนั้นว่า “จะเป็นหญิงหรือเป็นชายเดินไปทางนี้ อาตมาไม่ทราบ แต่ว่าโครงกระดูกนี้เดินไปในทางใหญ่”

ฉะนี้
ในคำว่า ยตฺวาธิกรณเมนํ เป็นต้น มีอรรถาธิบายว่า ธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นเหล่านี้จึงไหลไป คือพึ่งติดตามไปซึ่งบุคคลนี้ผู้ไม่ปิดซึ่งจักขุนทรีย์ด้วยบานประตูคือสติ คือไม่ได้ปิดจักขุทวาร เพราะการไม่สังวรจักขุนทรีย์ใดเป็นเหตุ คือเพราะเหตุแห่งไม่สังวรจักขุนทรีย์ใด
คำว่า ย่อมปฏิบัติเพื่อสังวรจักขุนทรีย์นั้น ความว่า ย่อมปฏิบัติเพื่อปิดซึ่งจักขุนทรีย์นั้นด้วยบานประตูคือสติ และเมื่อภิกษุปฏิบัติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้นั่นแลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า รักษาจักขุนทรีย์บ้าง ถึงซึ่งความสังวรในอินทรีย์บ้าง 

สังวร อสังวร ไม่มีที่จักขุนทรีย์

ในคำว่า ย่อมถึงซึ่งความสังวรในจักขุนทรีย์นั้น อันที่จริง ความสังวรหรือความไม่สังวร ย่อมไม่มีที่จักขุนทรีย์ดอก ความมีสติหรือความเผลอสติก็หาได้บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุปสาทไม่ ก็แต่ว่า กาลใดอารมณ์คือรูปมาสู่คลองจักษุ (รูปกระทบตา) กาลนั้นเมื่อ ภวังคจิต เกิดดับ ครั้ง > กิริยามโนธาตุ (หมายเอาปัญจทวาราวัชชนจิต) เกิดขึ้น ทำอาวัชชนกิจ* (กิจคือการนึกเอารูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไปแต่นั้น จักขุวิญญาณจิต เกิดขึ้น ทำทัสสนกิจ (กิจคือการเห็นรูป) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป แต่นั้น วิปากมโนธาตุ (หมายเอาสัมปฏิจฉันนจิต) เกิดขึ้น ทำปฏิจฉันนกิจ (กิจคือการรับเอารูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป แต่นั้น วิปากอเหตุกมโนวิญญาณธาตุ (หมายเอาสันตีรณจิต) เกิดขึ้น ทำสันตีรณกิจ (กิจคือการพิจารณารูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป แต่นั้น กิริยาอเหตุกมโนวิญญาณธาตุ (หมายเอามโนทวาราวัชชนจิต) เกิดขึ้น ทำโวฏฐพพนกิจ (กิจคือการตัดสินรูปารมณ์) ให้สำเร็จแล้วก็ดับไป ลำดับต่อจากกิริยาอเหตุกมโนวิญญาณธาตุนั้น ชวนจิต ก็แล่นไป ๗ ขณะ สังวรและอสังวรมีขณะแห่งชวนจิต แม้ในสมัยเหล่านั้น สังวรก็ดี อสังวรก็ดี ย่อมไม่มีในภวังคสมัยนั่นเทียว ย่อมไม่มีในอาวัชชนสมัย เป็นต้นสมัยใดสมัยหนึ่งเช่นกัน แต่ถ้าว่า ความทุศีล ความเผลอสติ ความไม่รู้ ความไม่อดทน หรือความเกียจคร้าน เกิดขึ้นในขณะแห่งชวนจิต อสังวรก็ย่อมมีได้ แหละอสังวรนั้นเมื่อมีอยู่โดยทำนองนี้ ท่านเรียกว่า ความไม่สังวรในจักขุนทรีย์

(* 
อาวัชชนกิจ หน้าที่ของจิตคือรำพึงถึงอารมณ์ หมายถึง กิจของวิถีจิตที่รู้อารมณ์ เป็นขณะแรกทางทวารทั้ง ๖ จิตที่ทำอาวัชชนกิจมี ๒ ดวง เป็นอเหตุกิริยาจิตทั้ง ๒ ดวง คือ
๑. ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตดวงแรก ที่ทำกิจรำพึงถึงอารมณ์ทางปัญจทวาร
๒. มโนทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตดวงแรก ที่ทำกิจรำพึงถึงอารมณ์ทางมโนทวาร)

เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า เมื่ออสังวรนั้นมี แม้ทวารก็ชื่อว่าเป็นอันไม่รักษาแล้ว ภวังคจิตก็ดี วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้นก็ดี ย่อมเป็นอันไม่รักษาแล้วตลอดแถว 
ข้อความที่กล่าวนี้เปรียบเหมือนอะไร ? เปรียบเหมือนประตูเมือง ๔ ประตูไม่ได้ปิด ถึงจะปิดประตูเรือน, ยุ้งฉางและห้องหับอันเป็นภายในอย่างเรียบร้อยแล้วก็ตาม แม้ถึงกระนั้นก็ชื่อว่าไม่รักษาไม่คุ้มครองสิ่งของทั้งมวลอันอยู่ภายในเมืองนั่นเทียว เพราะเหตุว่าโจรทั้งหลายเข้าไปทางประตูเมืองแล้วจะทำสิ่งที่ตนปรารถนาได้อยู่ฉันใด เมื่อโทษทั้งหลายมีความทุศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วที่ชวนะ ครั้นความไม่สังวรมี
อยู่ที่ชวนะนั้น แม้ทวารก็เป็นอันไม่ได้รักษาแล้ว แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตทั้งหลายมี อาวัชชนะเป็นต้นก็เป็นอันไม่ได้รักษาแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน นี้คือลำดับแห่งวิถีจิตที่เกิดขึ้นในทางจักขุทวารเป็นธรรมนิยม ต้อง 🔎เรียนพระอภิธรรมประกอบด้วย จึงจะเข้าใจแจ้งชัด สำหรับผู้เรียนพระอภิธรรมแล้ว แม้จะไม่แปล พอได้ยินศัพท์ก็เข้าใจได้ เช่นคำว่า อาวัชชนกิจ ทัสสนกิจ และกิริยามโนธาตุ วิปากมโนธาตุ เป็นต้น

แต่เมื่อคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วที่ ชวนะ นั้น แม้ทวารก็ชื่อว่าเป็นอันรักษาแล้ว แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้นก็เป็นอันรักษาแล้วเช่นกัน 
ที่กล่าวนี้เปรียบเหมือนอะไร ? เปรียบเหมือนเมื่อประตูเมืองปิดแล้ว ถึงเรือนทั้งหลายที่อยู่ภายในเมืองเป็นต้นมิได้ปิดประตู แม้ถึงกระนั้น ก็ได้ชื่อว่ารักษาดีแล้วคุ้มครองดีแล้ว ซึ่งสิ่งของทั้งมวล ที่มีอยู่ภายในเมืองนั่นแล เพราะเหตุว่า เมื่อปิดประตูเมืองทั้ง ๔ ประตูแล้ว โจรทั้งหลายย่อมเล็ดลอดเข้าไปไม่ได้ ฉันใด เมื่อคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วที่ ชวนะ แม้ทวารก็ชื่อว่ารักษาแล้ว แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้น ก็เป็นอันรักษาแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังบรรยายมา แม้ถึงความสังวรจะเกิดขึ้นอยู่ที่ขณะแห่ง ชวนะ ท่านก็กล่าวว่าความสังวรในจักขุนทรีย์ ฉะนี้ แม้ในคำทั้งหลาย มีคำว่า ฟังเสียงด้วยโสตะ เป็นต้น ก็มีอรรถาธิบายโดยทำนองเดียวกันนี้นั่นเที่ยว

นักศึกษาพึงทราบว่า เมื่อว่าโดยย่อแล้ว อินทรียสังวรศีล นี้ มีอันเว้นจากการยึดถือซึ่งนิมิต อันเป็นที่ตามผูกพันแห่งกิเลสในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นเป็นลักษณะ ด้วยประการฉะนี้





วันอังคาร

มหายานปัญจขันธศาสตร์

ปัญจขันธศาสตร์

ที่มา รจนาโดย พระสถิรมติ พระอาจารย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของนิกายโยคาจารย์ ท่านเป็นศิษย์ของ พระวสุพันธุ นิกายโยคาจารย์หรือวิชญาณวาท ปรัชญาโยคาจารย์ต้นคิดคือ พระไมตรีนาถ แต่ผู้สานต่อแนวคิดและดำเนินการก่อตั้งนิกายโยคาจารย์ คือศิษย์ของท่าน 🔎พระอสังคะ (พ.ศ.๘๕๓-๙๓๓) ท่านบวชตั้งแต่เป็นเณรในนิกายสรวาสติวาทของเถรวาท และต่อมาได้กราบพระไมตรีนาถ คณาจารย์ของมหายานเป็นพระอาจารย์และได้เปลี่ยนมาเป็นมหายาน แรกเริ่มงานสถาปนาแนวคิดโยคาจารย์มิได้ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ท่านอสังคะ จึงได้ไปชักชวนให้ พระน้องชาย พระวสุพันธุ (๘๕๙-๙๓๙) ซึ่งบวชอยู่ในนิกายสรวสติวาส ให้หันมาเข้าสู่มหายานและร่วมกันเผยแพร่หลักปรัชญาโยคาจารย์จนแพร่หลายเป็นนิกายใหญ่หนึ่งในสี่นิกายหลักของอินเดียในยุคนั้น

แปลจากสันสกฤตเป็นภาษาจีนโดยพระเสวียนจั้ง หรือพระถังซำจั๋ง สมัยราชวงศ์ถัง แปลไทย เสถียร โพธินันทะ


สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนานัยแห่งปัจขันธ์
มีรูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์

🔅 รูปขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปอันอาศัยมหาภูตรูปเกิดนั้น
มหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้นเป็นไฉน?
คือปฐวีธาตุ ๑, อาโปธาตุ ๑, เตโชธาตุ ๑, วาโยธาตุ ๑,
นั้นคืออย่างไร?
คือ ปฐวีธาตุมีความแค่นเข็งเป็นสภาวะ, อาโปธาตุมีความชุ่มไหลเป็นสภาวะ, เตโชธาตุมีความร้อนอุ่นเป็นสภาวะ, วาโยธาตุมีความหวั่นไหวเป็นสภาวะ
อุปทายรูปอันอาศัยเกิดแต่มหาภูตรูปนั้นเป็นไฉน?
คือ จักขุนทรีย์, โสตินทรีย์, ฆานิน-ทรีย์, ชิวหินทรีย์, กายินทรีย์, รูปะ, สัททะ, คันธะ, รสะ, โผฎฐัพพะส่วนหนึ่ง, อวิญญัติรูป เหล่านี้เป็นต้น
จักขุทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่รูปารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
โสตินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่สัททารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
มานินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่คันธารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
ชิวหินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่รสารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
กายินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่โพฎฐัพพารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
รูปารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งจักขุ มีวรรณะรูป สัณฐาน รูปและวิญญัติรูป เป็นต้น
สัททารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งโสตะ มีอุปาทินกมหาภูตสัททะ๑, อนุปาทินกมหาภูตสัททะ๑ และอุปาทินกานุปาทินกสหชาติมหาภูติสัททะ๑ (อุปาทินกมหาภูติสัททะ เช่น เสียงพูดจาก, เสียงตบมือดังๆหรือเสียงต่างๆซึ่งเกิดจากสิงที่มีชีวิต อนุปทินกมหาภูติสัททะ เช่น เสียงลมพัด เสียงคลื่นทะเละเบาๆ เสียงต่างๆซึ่งเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต อุปทินกานุปาทินกมหาภูติสัททะ ได้แก่ เสียง,ซึ่งด้วยสิ่งมีชีวิตและไร้ชีวิตร่วมกัน เช่น เสียงตีกลอง เป็นต้น)
คันธารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งแห่งฆานะ มีสุคันธะ,ทุคันธะ,อสุคันธาทุคคันธะ
รสารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งชิวหา มีรสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม รสเผ็ด รสขม รสจืด
โผฏฐัพพารมณ์ส่วนหนึ่งนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งกาย ยนเว้นมหาภูตเสีย ได้แก่ สภาพอ่อนลื่นสลวย, สภาพหยาบกระด้าง, สภาพที่หนัก, สภาพที่เบา,ความเย็น, ความหิว, ความกระหาย เป็นต้น
อวิญญัติเป็นต้นนั้นเป็นไฉน?
คือ สภาพ(ที่ทำให้เกิด) มีวิญญัติกรรมและรูปอันเกิดจากสมาธิ รูปอย่างนี้เป็นอนิทัสสนะเห็นก็ไม่ได้ อัปปฏิฆะกระทบก็ไม่ได้

🔅 เวทนาขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือเวทนา ๓ ประการ มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา สุขเวทนานั้น อธิบายว่าสภาพใดที่ดับไปแล้ว จิตก็ยังพอใจจักเสพซึ่งอารมณ์นั้นอีก ทุกขเวทนานั้นอธิบายว่า สภาพใดที่เกิดขึ้นแล้ว จิตมีความปรารถนาจักหลีกให้พ้นจากอารมณ์นั้น ส่วนอทุกขมสุขนั้นอธิบายว่าสภาพใดที่เกิดขึ้นแล้วจิตปราศจากความปรารถนาทั้ง ๒ ประการ คือไม่มีความปรารถนาจักเสพอีก หรือปรารถนาจักหลีกให้พ้นไปเสีย

🔅 สัญญาขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันเป็นอธิบดีหมายจำในสัพพารมณ์ทั้งปวง

🔅 สังขารขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือ ยกเวทนาขันธ์,สัญญาขั้นธ์ออกเสีย ที่เหลือได้แก่เจตสิกทั้งหมด กับทั้งจิตตวิปยุตธรรมทั้งมหด

เจตสิกธรรมที่เหลือนั้นเป็นไฉน?
คือจิตตสัมปยุตตสังขารธรรมนั่นเอง มี ผัสสะ,มนสิการ, เจตนา, ฉันทะ, อธิโมกข์, สติ, เอกัคคตา,มติ, ศรัทธา, หิริ, โอตตัปปะ, อโลภะ, อโทษะ, อโมหะ, วิริยะ, ปัสสัทธิ, อัปปาทะ, ตัตรมัชฌัตา, อหิงสา,โลภะ,โทษะ,มานะ, อวิชชา, ทิฏฐิ, วิจกิจฉา, โกรธะ, อุปนาหะ, มักขะ, ปลาสะ,ออัสสา, มัจฉริยะ, สาเถยยะ, มายา, มทะ, วิหิงสา, อหิริ, อโนตตัปปะ, ถีนะ, อุทธัจจะ,อัสสัทธิยะ, โกสัชชะ, ปมาทะ, มุฏฐสัจจะ, วิกเขปะ, อสัมปชานะ, กุกกุจจะ, มิทธะ, วิตก, วิจาร, เหล่านี้ชื่อว่า เจตสิกธรรม ในเจตสิกเหล่านั้น มี ๕ ดวงเป็นสัพพจิตตสาธารณ์, ๕ดวงเป็นปกิณกเจตสิก, ๑๑ ดวงเป็นโสภณเจตสิก, ๖ ดวงเป็นกิเลสเจตสิก, ที่เหลือเป็นอุปกิเลสเจตสิก, และอีก ๔ ดวงเป็นอนิยตเจตสิก
ผัสสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมีการประชุมพร้อมด้วยวัตถุ อารมณ์, วิญญาณ, ทั้ง ๓ เกิดความรู้ขึ้นเป็นสภาวะ
มนสิการนั้นเป็นไฉน?
คือ สภาพซึ่งทำความรู้เอาใจใส่ให้เกิดแก่จิต
เจตนานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งยังจิตให้เป็นไปในกุศลบ้าง ,อกุศลบ้าง,อัพยากตบ้าง, มีความปรุงแต่งจิตให้เป็นมโนกรรมเป็นสภาวะ
ฉันทะนั่นเป็นไฉน?
คือสภาพให้เกิดความพอใจในอารมณ์ มีความหวังต้องการเป็นสภาวะ
อธิโมกข์เป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งตัดสินอารมณ์ตามที่รับรู้มา มีความเด็ดขาดเป็นสภาวะ
สตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งยังจิตให้ระลึกได้ในอารมณ์เนืองๆ มีความจำได้แม่นยำเป็นสภาวะ
เอกัคคตานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเพ่งในอารมณ์ มีจิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียวเป็นสภาวะ (ตามตัวจีนแปลว่าสมาธิซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับ (เอกัคคตา)
มตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่คัดเลือกในอารมณ์เป็นสภาวะ เป็นไปโดยโยนิโสบ้าง อโยนิโสบ้าง หรือไม่เป็นไปโดย ๒ ประการดังกล่าวนั้นบ้าง
ศรัทธานั้นเป็นไฉน? คือสภาพที่ยังจิตให้เกิดความเลื่อมใสเชื่อถืออย่างถูกต้องในเรื่องกรรม, วิบากแห่งกรรม, ในอริยสัจ, ในพระรัตนตรัย เป็นต้น มีจิตผ่องแผ้วเป็นสภาวะ
หิรินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมี (ความเคารพรัก) ตนเองเป็นอธิบดี (เคารพรักใน) ธรรมเป็นอธิบดีมีความละอายต่อการทำบาปเป็นสภาวะ
โอตตัปปะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมี(ความเคารพเกรง) ผู้อื่นเป็นอธิบดีมีความละอายต่อการทำบาปเป็นสภาวะ
อโลภะนั้นเป็นไฉน?
คือ สภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกันโลภะ มีความเบื่อหน่ายเห็นโทษของโลภะ มีการไม่ยึดถือหวงแหนเอาไว้เป็นสภาวะ
อโทสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับโทสะมีความเมตตาเป็นสภาวะ
อโมหะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับโมหะ มีความรู้แจ้งดำเนินตามสัมมาปฏิปทาเป็นสภาวะ
วิริยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับความย่อท้อขี้เกียจ มีการยังกุศลธรรมให้ปรากฏ มีความอุตสหะพากเพียรเป็นสภาวะ
ปัสสัทธินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกกับความหยาบหนักกระด้าง มีความอิ่มเอิบสบายเหมาะสมเป็นสภาวะ
อัปปมาณนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับประมาทมีอโลภะ (อโทสะ อโมหะ) ตราบถึงวิริยะเป็นปทัฏฐาน มีการสละสรรพอกุศล แล้วบำเพ็ญสรรพกุศลอันเป็นคู่ปราบ (ของอกุศล) เป็นสภาวะ
ตัตรมัชฌตานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันอาศัยอโลภะ อโทสะ (อโมหะ)ตราบถึงวิริยะ ยังจิตให้ลุความเสมอภาพ อนึ่งอาศัยเจตสิกดวงนี้สามารถยังจิตให้พ้นจากอกุศลทั้งหลาย แลให้ตั้งอยู่ในธรรมอันผ่องแผ้วได้
อหิงสานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับวิหิงสา มีความกรุณาเป็นสภาวะ
โลภะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นซึ่งเป็นฉันทราคะพอใจติดในปัญจุปาทานขันธ์เป็นสภาวะ
โทสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความเบียดเบียนในสรรพสัตว์เป็นสภาวะ
มานะนั้นเป็นไฉน?
มานะมี ๗ อย่าง คือมานะ, อภิมานะ, อติมานะ, อัสมินานะ, อธิมานะ, อวมานะ, มิจฉามานะ
        ๑. มานะนั้นเป็นไฉน? คือเป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขาหรือเป็นผู้เสมอเขาสำคัญตัวว่าเสมอเขา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๒. อภิมานะนั้นเป็นไฉน? คือเป็นผู้เสมอเขาสำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา หรือเป็นผู้เลวกว่วเขาสำคัญตัวว่าเสมอเขา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๓. อติมานะนั้นเป็นไฉนคือผู้ที่เลวกว่าเขา สำคัญตัวเขาว่าเลิศกว่าเขา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๔. อัสมิมานะนั้นเป็นไฉน? คือความยึดถือใดอันเป็นไปในปัญจขันธ์ สำคัญว่าเป็นของๆเรา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๕. อธิมานะนั้นเป็นไฉน? คือธรรมพิเศษอันใดซึ่งตนยังมิได้บรรลุ สำคัญผิดว่าตนได้บรรลุถึงแล้ว มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๖. อวมานะนั้นเป็นไฉน? คือผู้อื่นเขามีคุณธรรมที่ดีหลายส่วน แต่ตนเองสำคัญว่าหมิ่นตัวเองว่าต่ำเลว (ไม่อาจทำได้อย่างเขา) มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๗. มิจฉามานะนั้นเป็นไฉน? คือตนเองปราศจากคุณธรรมใดๆ สำคัญว่าตนมีคุณธรรมมีจิตทะนงเป็นสภาวะ
อวิชชานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความไม่รู้แจ้งในเรื่องกรรม, วิบากแห่งกรรม, ในเรื่องอริยสัจจ์,พระรัตนตรัย มีความปราศจากปัญญาเป็นสภาวะ อวิชชานี้แบ่งออกเป็น ๒ ประการคือประการหนึ่งเป็นสหาติ(เกิดร่วมอยู่เสมอนับตั้งแต่ปฏิสนธิ) ประการหนึ่งเกิดจากวิกัลป์ปะ (มีมิจฉาทิฏฐิเป็นต้น มาเกิดเมื่อได้รัรบการอบรมที่ผิด) อนึ่ง โลภะ,โทสะ,โมหะในกามภพย่อมเป็นอกุศลมูลทั้ง ๓ กล่าว คือ เป็นโลภะอกุศลมูล, โทสะอกุศลมูล, โมหะอกุศลมูล
ทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
ทิฏฐิมี ๕ ประการ คือสักกายทิฏฐิ, อันตคาหิกทิฏฐิ, มิจฉาทิฏฐิ, ทิฏฐิปรามาส, สีลพตปรามาส
สักกายทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
คือความยึดมั่นในปัญจุปาทานขันธ์ ว่านี้เป็นเราหรือเป็นของๆเรา มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
อัตคาหิกทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
คือสักกายทิฏฐิซึ่งเพิ่มกำลังทวีแรงขึ้นนั้นเอง มีความยึดมั่นในอารมณ์ว่าอย่างนี้เที่ยงแน่นอน หรือยึดมั่นในอารมณ์ว่าอย่างนี้ขาดสูญแน่นอน (คือเป็นสัสสตทิฐิและอุจเฉททิฏฐิ) มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
มิจฉาทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
คือการปฏิเสธคัดค้านเหตุและวิบากแห่งเหตุ,การปฏิเสธคัดค้านกิริยา หรือปฏิเสธคัดค้านทำลายกุศลธรรม มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
ทิฏฐิปรามาสนั้นเป็นไฉน?
คือความยึดมั่นอันสืบเนื่องมาด้วยทิฏฐิทั้ง ๓ (ที่กล่าวมาแล้วตอนต้น) เป็นไปในขันธ์อันเป็นที่อาศัย ว่า นี้และเป็นอย่างเลิศ นี้แลเป็นอย่างประเสริฐ, นี้แลเป็นที่สุด มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
สีลพตปรามาสนั้นเป็นไฉน?
คือความถือมั่นอย่างผิดๆ อันเนื่องด้วยสีลพรตในขันธ์อันเป็นที่อาศัยว่า นี้แลเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์, นี้และเป็นวิมุตติ, นี้แลเป็นนิสสรณะ มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
วิจิกิจฉานั้นเป็นไฉน?
คือความลังเลไม่แน่นอนใจเป็นไปในอริยสัจจธรรมบ้างในคุณพระรัตนตรัยบ้าง ว่าจักมีอยู่ฤาบ่มี มีความสงสัยเป็นสภาวะ

ในบรรดากิเสลดังกล่าวมา ทิฏฐิ ๓ เบื้องหลัง (คือมิจฉาทิฏฐิ, ทิฏฐิปรามาส,สีลพตปรามาส) และวิจิกิจฉา ย่อมเกิดด้วยวิกัลป์ปะ กิเลสที่เหลือ (มีอวิชชา สักกายทิฏฐิ เป็นต้น) ย่อมเกิดด้วยสาธารณ์โดยสหชาติบ้าง โดยวิกัลป์ปะบ้าง

โกรธนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพเนื่องมาแต่อารมณ์ที่ปรากฏเป็นประโยชน์แห่งตนจิตมีความคับแค้นเป็นสภาวะ
อุปนาหะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมีความโกรธเป็นผู้นำมาก่อน มีความผูกโกรธไว้ไม่ยอมละเป็นสภาวะ
มักขะนั้นเป็นไฉน?
คือมีความที่ปิดบังซ่อนเร้นความชั่วแห่งตนไว้เป็นสภาวะ
ปลาสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นเหตุกล่าววาจาหยาบคาย มีการล่วงเกินผู้อื่นเขาเป็นสภาวะ
อิสสานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันเนื่องด้วยความสุขสมบูรณ์ของผู้อื่นแล้ว มีจิตไม่ชอบใจในความสุขสมบูรณ์ของเขาเป็นสภาวะ
มัจฉริยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งตรงกันข้ามกับการเสียสละ มีจิตหวงแหนตระหนี่ไว้เป็นสภาวะ
สาเถยยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความหลอกลวงผู้อื่น มีการแสดงโอ้อวด ซึ่งคุณอันไม่มีในตนเป็นสภาวะ
มายานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความหลอกลวงด้วยเล่ห์เหลี่ยมอุบาย ปิดบังโทษของตน มีจิตอันคดงอเป็นสภาวะ
มทะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมัวเมาทะนงในความสุขสมบูรณ์ มีการทำลายความดีให้หมดไปเป็นสภาวะ
วิหิงสานั้นเป็นไฉน?
คือมีความเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายให้เดือดร้อนเป็นสภาวะ
อหิรินั้นเป็นไฉน?
คือการที่กระทำบาปทุจจริต มีความไม่ละอายต่อตนเองเป็นสภาวะ
อโนตตัปปะนั้นเป็นไฉน?
คือการที่กระทำบาปทุจจริต มีความไม่ละอายต่อผู้อื่นเป็นสภาวะ
ถีนะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่จิตไม่อิ่มเอิบสบาย จิตไม่สมควรแก่การงาน มีควยามหดหู่ไม่แจ่มใสเป็นสภาวะ
อุทธจจะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่จิตฟุ่งซ่านนึกคิดถึงเกตุการณ์ต่างๆ เช่นความปิติสุขโสมนัสเป็นต้น (ในประการเดียวกันก็หมายเอาความทุกข์โทมนัสด้วย) มีจิตปราศจากความสงบเป็นสภาวะ
อัสสัทธิยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันศรัทธาจักพึงปราบ ได้แก่ ความไม่โน้มน้อมเชื่อในทางที่ถูก ในเรื่องกรรมและวิบากแห่งกรรม เป็นต้น มีจิตไม่ผ่องแผ้วเป็นสภาวะ
โกสัชชะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันวิริยะจักพึงปราบ ในการเจริญกุศลธรรมจิต ปราศจากความวิริยะแกล้วกล้าเป็นสภาวะ
ประมาทนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพขี้คร้านเลินเล่ออันอาศัยโลภะ,โทสะ,โมหะ,เป็นสมุฏฐาน มีการไม่คุ้มครองริกษาจิตให้พ้นจากปวงกิเลส มีความไม่สามารถเจริญอบรมกุศลธรรมทั้งหลายเป็นสภาวะ
มุฏฐสัจจะนั้นเป็นไฉน?
คือสติที่มีความไม่อาจระลึกจดจำได้ในสรรพกุศลธรรมเป็นสภาวะ
วิเขปะนั้นเป็นไฉน?
คือส่วนหนึ่งของโลภะ โทสะ โมหะ มีการทำให้จิตและเจตสิกระส่ำระสาย (จับอารมณ์ไม่มั่งคง) เป็นสภาวะ
อสัมปชานะนั้นเป็นไฉน?
คือปัญญาอันประกอบด้วยกิเลส มีสมุฏฐานให้เกิดกายทุจ-จริต วจีทุจจริต มโนทุจจริตเป็นสภาวะ
กุกกุจจะนั้นเป็นไฉน?
คือความรู้สึกเสียใจ (ในการทำบาปที่ทำไปแล้วหรือในการทำบุญที่ยังไม่ได้ทำ) เป็นสภาวะ
มิทธะนั้นเป็นไฉน?
คือความที่ (จิต,เจตสิก) ไม่เป็นไปโดยอิสสระ มีความง่วงเหงาไม่แจ่มกระจ่างเป็นสภาวะ
วิตกนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งอาศัยเจตนาและมติเป็นสมุฏฐานแล้วยกจิตขึ้นตรึกในอารมณ์ มีการยังจิตให้พิจารณาถือเอาอารมณ์ที่หยาบเป็นสภาวะ
วิจารณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งอาศัยเจนตาและมติเป็นสมุฏฐาน แล้วยกจิตขึ้นครองในอารมณ์ มีการยังจิตให้พิจารณาถือเอาอารมณ์ที่ละเอียดเป็นสภาวะ
จิตตวิปยุตตสังขารนั้นเป็นไฉน?
คือธรรมซึ่งอาศัยเนื่องด้วยรูปธรรมบ้างนามธรรมบ้างปัญญัติออกมาเป็นส่วนหนึ่ง มีความไม่สามารถบัญญัติว่าธรรมเหล่านี้เป็นต้น เป็นอันเดียวกันหรือต่างจากกันกับรูปนามเป็นสภาวะ
ก็ธรรมเหล่านั้นคืออะไรบ้าง?
คือปัตติ, อสัญญีสมาบัติ, นิโรธสมาบัติ, อสัญญีเทพ, ชีวิตินทรีย์, สภาคตา, ชาติ, ชรา, ฐิติ, อนิจจ, นามกาย, บทกาย, พยัญชนากาย, ปุถุชนตา เหล่านี้เป็นอาทิ
        ปัตตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ได้หรือสภาพที่สำเร็จ มีอยู่ ๓ ประการ คือความสำเร็จแห่งพีชะหนึ่ง, ความสำเร็จโดยอิสสระหนึ่ง, ความสำเร็จในพฤตติการณ์อันปรากฏขึ้นอยู่หนึ่ง, ให้ได้หรือสำเร็จตามความเหมาะสมนั้นๆ
        อสัญญีสมาบัตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งพ้นไปแล้วจากความติดใน (รูปพรหม)ชั้นสุภกิณหา แต่ยังไม่พ้นไปจากความติดความพอใจในพรหมซึ่งเป็นชนชั้นสูงกว่านั้นขึ้นไปมีความทำในใจเพื่อละสัญญาเป็นเบื้องหน้า มีจิตและเจตสิกที่ไม่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาดเป็นต้นดับไปเป็นสภาวะ
        นิโรธสมาบัตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งพ้นไปแล้วจากความติดในอากิญจัญยายตนภูมิ แล้วเข้าสู่เนวสัญญาณนาสัญญายตนภูมิแล้วเพียรบำเพ็ญต่อไป มีความทำในใจเพื่อละสัญญา (และเวทนา) เป็นต้น เป็นเบื้องหน้ามีจิตและเจตสิกที่ไม่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาด และจิตเจตสิกที่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาดส่วนหนึ่งดับไปเป็นสภาวะ
        อสัญญีเทพเป็นไฉน?
คือวิบากอันเกิดแต่อสัญญีสมาบัติ ซึ่งนำไปปฏิสนธิในพรหมขั้นอสัญญีนั่นเอง ครั้นปฏิสนธิแล้วมีจิตและเจตสิกที่ไม่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาดดับไปเป็นสภาวะ
        ชีวิตินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเกิดสืบเนื่องมาแต่อดีตกรรม รักษาไว้ซึ่งสภาคตา (กล่าวคือขันธ์) ให้ดำรงอยู่ชั่วกาลเขตหนึ่งเป็นสภาวะ
        สภาคตานั้นเป็นไฉน?
คือความที่สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ก็มีสภาพที่ละม้ายคล้ายคลึงดุจกันเป็นสภาวะ
        ชาตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาคตาและสรรพสังขาร ซึ่งแต่เดิมยังไม่เกิดปัจจุบันได้เกิดขึ้นแล้วเป็นสภาวะ
        ชรานั้นเป็นไฉน?
คือสรรพสังขารเหล่านั้น มีความสืบเนื่องเปลื่ยนแปรไปเป็นสภาวะ
        ฐิตินั้นเป็นไฉน?
คือสรรพสังขารเหล่านั้นมีความสืบเนื่องหมุนเวียนเป็นสภาวะ
        อนิจจานั้นเป็นไฉน?
คือสรรพสังขารเหล่านั้นมีความสืบเนื่องแตกดับไปเป็นสภาวะ
        นามกายนั้นเป็นไฉน?
คือความที่เพิ่มเติมร้องขานชื่อแห่งสภาวธรรมเป็นสภาวะ
        บทกายนั้นเป็นไฉน?
คือความที่เพิ่มเติมร้องขานความแตกต่างของสภาวธรรมเป็นสภาวะ
        พญัญชนะกายนั้นเป็นไฉน?
คืออักษรทั้งหลายนั้นเอง มีความสามารถที่จักแสดงความหมายแห่งนามกายและบทกายเป็นสภาพ อีกนัยหนึ่งชื่อว่าเป็นภาวะที่ประกาศอธิบายว่าเพราะเป็นที่อาศัยแห่งนามกายบทกายประกาศซึ่งอรรถอันหมดจดปราศจากส่วนเหลือ หรือชื่อว่าอักษรเพราะเป็นที่กำหนดแน่นอนไม่แปรผัน
        ปุถุชนตานั้นเป็นไฉน?
คือความที่ตนยังมิได้ลุอริยธรรมเป็นสภาวะ

🔅 วิญญาณขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือธรรมชาติซึ่งมีความรู้ในอารมณ์เป็นสภาวะ ธรรมชาตินี้เรียกว่า “จิต” บ้าง เพราะสามารถคัดเลือกรวบรวมอารมณ์ เรียกว่า “มโน” บ้างเพราะสงเคราะห์เป็นอันเดียวกันกับมโนนั่นเอง (อรรถกถาว่า เพราะเป็นที่อาศัยรวมแห่งเจตสิกฉะนั้นจึงชื่อว่ามโน) 
ถ้าจะว่าโดยจิตที่วิเศษแล้ว ก็คือ “อาลยวิญญาณนั่นเอง” จิตนี้สามารถสั่งสมพีชพันปีแห่งพฤติกรรมต่างๆของสัตว์ไว้ อนึ่งในการที่จิตรับรู้อารมณ์อันเป็นพฤติกรรมของจิตนั้น ไม่เป็นวิสัยแห่งการกำหนดแบ่งแยกจำแนกรู้ได้โดยง่ายเลย จิตนี้นับจำเดิมแต่ปฏิสนธิตราบถึงจุติย่อมเป็นปวัตติสืบเนื่องหมุนเวียนไปโดยไม่ขาดสาย อนึ่งวิญญาณดวงนี้ครั้นเมื่อบุคคลออกจากนิโรธสมาบัติ หรือสัตว์ซึ่งจุติจากอสัญญีภพ เมื่อจักขึ้นวิถีรับรุ้อารมณ์ เมื่อใดเมื่อนั้นปวัตติวิญญาณก็ย่อมประพฤติเป็นไป หมุนเวียนไปตามวิสัยแห่งอารมณ์ต่างๆดับไปในระหว่างแล้วก็เกิดขึ้นอีกเล่าเป็นชาติมรณะเวียนวนในวัฏสงสารอย่างนี้

อาลยวิญญาณนี้ เพราะอรรถว่าเป็นแหล่งเก็บรวบรวมแห่งสรรพพีชะทั้งหลายนั่นเอง อนึ่งเพราะเป็นที่เก็บแห่งอสมินานะเป็นสภาพ อนึ่ง เพราะความที่เป็นผู้ถือเอากายนี้เป็นอารมณ์ด้วยเหตุนี้จึงมีนามเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อาทานวิญญาณ” เพราะเป็นผู้ธำรงยึดในกรัชกายนี้ ส่วนมโนอันวิเศษนั้น คือ ได้แก่วิญญาณดวงที่ถือเอาอาลยวิญญาณเป็นอารมณ์ วิญญาณดวงนี้มี อัตตโมหะ, อัตตานุทิฏฐิ, อัสมิมานะ, อัตตติณหา, สัมปยุตต์อยู่ตลอดจำเดิมแต่ปฏิสนธิตราบถึงจุติเป็นปวัตติสืบเนื่องทุกเวลา ยกเว้นแต่ในพระอาหันตบุคคล, ในอริยมรรคและในนิโรธสมาบัติ

ถามว่า คำว่าขันธ์นั้นมีอรรถว่าอย่างไร?
ตอบว่า ความประชุมรวบรวมเป็นอรรถของขันธ์ คือบรรดาโลกิยธรรมที่เกิดดับสืบเนื่องประเภทต่างๆ มีคติ,อายตนะ, และรูป เป็นต้น เอามาสงเคราะห์รวมเข้าไว้

อนึ่งมีอายตนะ ๑๒ คือ จักขายตนะ คู่กัปรูปายตนะ,โสตายตนะคู่กับสัททายตนะ,ฆานายตนะคู่กับคันธายตนะ,ชิวหายตนะคู่กับรสายตนะ,กายายตนะคู่กับโผฏฐัพพายตนะ,ฆนายตนะคู่กับธรรมายตานะ,สำหรับจักขายตนะ เป็นต้น และรูปะ สัททะ คันธะ รสะ อายตนะนั้นได้อธิบายแล้วในเบื้องต้น โผฏฐัพพายตนะนั้นได้แก่ มหาภูติรูปและส่วนหนึ่งแห่ผัสสะ มนายตนะก็คือ วิญญาณขันธ์นั่นเอง ส่วนธรรมายตนะนั้น ได้แก่ เวทนา,สัญญา,สัขารขันธ์,และวิญญัติรูปเป็นต้น พร้อมอสังขตธรรมทั้งหลายด้วย

อสังขตธรรมนั้นเป็นไฉน?
คืออากาศสังขตะ, อัปปฏิสังขยนิโรธอสังขตะ, ปฏิสังขยนิโรธอสังขตะ และภูตตถตา เป็นต้น

อากาศนั้น ได้แก่ธรรมชาติอันสามารถรับรองรูปทั้งหลายได้ อัปปฏิสังขยนิโรธนั้นได้แก่ความดับชนิดที่มิได้พ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัด ที่ว่ามิได้พ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัดนั้นอย่างไร? กล่าวคือ ความดับที่มิได้อาศัยปัญญาพิจารณาทำลายกิเลส ขันธ์ทั้งหลายมิต้องเกิดขึ้นในที่สุด ปฏิสังขยนิโรธนั้นคืออย่าไร? คือความดับชนิดที่พ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัด ที่ว่าพ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัดนั้นอย่างไร? คือความดับที่อาศัยปัญญาพิจารณาทำลายกิเลส ขันธ์ทั้งหลายมิต้องเกิดขึ้นในที่สุด ภูตตถตานั้นเป็นไฉน? คือสภาวะแห่งธรรมทั้งปวง และสภาวะแห่งความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งปวงนั้น

ถามว่า อายตนะมีอรรถเป็นอย่างไร?
ตอบว่า ธรรมชาติใดเป็นประตูที่เกิดแห่งวิญญาณทั้งปวง ธรรมชาตินั้นคืออายตนะ

อนึ่งยังมีธาตุ ๑๘ คือ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททะธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานะธาตุ คันธะธาตุ ฆานะวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพะธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ

สำหรับธาตุ(ภายใน) ทั้งหลาย มีจักขุธาตุ เป็นต้น และธาตุ(ภายนอก)ทั้งหลาย มีรูปธาตุเป็นต้น มีอธิบายดุจได้กล่าวมาในตอนว่าด้วยอายตนะส่วนวิญญาณธาตุทั้ง ๖ นั้นก็อาศัยเกิดจากอินทรีย์ มีจักขุทรีย์เป็นต้น ซึ่งรับเอาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้น มีความรู้ในอารมณ์เป็นสภาวะ มโนธาตุนั้น ก็คือธาตุรู้ซึ่งเกิดดับสืบเนื่องเป็นสันตติเป็นต้น เพื่อเป็นการแสดงให้ทราบว่า (มโนธาตุ) นี้เป็นที่อาศัยแห่งมโนวิญญาณและเป็นการบัญญัติเรื่องธาตุ ๑๘ ได้โดยพิสดาร และโดยประการดังนี้ รูปขันธ์ก็ได้แก่ยตนะทั้ง ๑๐ ธาตุทั้ง ๑๐ กับธรรมายตนะธรรมธาตุส่วนหนึ่ง วิญญาณขันธ์ก็คือ มนายตนะและธาตุรู้อีก ๗ ส่วนขันธ์ที่เหลืออีกสามพร้อมด้วยส่วนหนึ่งแห่งรูปขันธ์และอสังขตธรรมทั้งหลายจัดเป็นธรรมายตนะ ธรรมธาตุ

ถามว่า ธาตุนั้นมีอรรถเป็นไฉน?
ตอบว่า ธรรมชาติซึ่งสามารถธำรงรักษาซึ่งคุณลักษณะแห่งพีชะไว้ โดยยังไม่มีพฤติกรรม ชื่อว่าเป็นอรรถของธาตุ

ถามว่า อาศัยอรรถเป็นไฉน? จึงบัญญัติเรื่องขันธ์,ธาตุ, อายตนะเป็นต้น
ตอบว่า เพื่อเป็นคู่ปราบทำลายความยึดถือในตน ๓ ประการ กล่าวคือ ความยึดถือว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นเราหนึ่ง, (แปลตามตัวว่าความยึดถือในเอกภาวะว่าเป็นเรา อรรถกถาแก้ว่า คือ ความยึดถือในเบ็ญจาขันธ์ทั้งหมดว่าเป็นเรา ส่วนความยึดถืออีกสองเป็นการยึดถือที่จำแนกไม่ใช่ยึดหมดทั้งเบ็ญจขันธ์ ผู้แปล) ความยึดถือว่าผู้เสวยเวทนาว่าเป็นเราหนึ่ง ความยึดถือว่าผู้กระทำเป็นเราหนึ่งตามลำดับ 

อนึ่งในธาตุ ๑๘ นี้ ธรรมที่เป็นรูปนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุทั้ง ๑๐ และส่วนหนึ่ง(แห่งธรรมธาตุหรือรูปซึ่งสงเคราะห์อยู่ในธรรมายตนะ) กล่าวคือ เป็นสภาวะแห่งรูปขันธ์นั่นเอง (หมายเฉพาะธาตุทั้ง ๑๐ )
ธรรมที่ไม่ใช่รูปนั้นมีเท่าไหร่?
คือธาตุที่เหลือนอกนี้
ธรรมที่เป็นสนิทัศนะนั้นมีเท่าไร?
คือรูปธาตุอันเดียว (มหายเอารูปารมณ์)
ธรรมที่เป็นอนิทัศนะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลือนอกนี้
ธรรมที่สัปปฏิฆะนั้นมีเท่าไร?
คือรูปธาตุทั้ง ๑๐ ด้วยเป็นธรรมที่กระทบกระทั่งแก่กันได้นั่นเอง
ธรรมที่เป็นอัปปฏิฆะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลือนอกนี้
ธรรมที่เป็นสาสวะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุ ๑๕ และส่วนหนึ่งของธาตุที่เหลืออีก ๓ (มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ) อธิบายว่า ในธาตุที่เหลือ ๓ ส่วนหนึ่งนั้น ถ้าเป็นที่เกิดแห่งกิเลส เป็นที่กิเลสประพฤติเป็นไป(จึงถือว่าเป็นสาสวะ)
ธรรมที่เป็นอนาสวะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลืออีก ๓ ส่วนหนึ่ง
ธรรมที่เป็นกามาวจรนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุ ๑๘ ทั้งหมด
ธรรมที่ป็นรูปาวจรนั้นมีเท่าไร ?
คือธาตุ ๑๔ ยกเว้น คันธะ รสะและฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ
ธรรมที่เป็นอรูปาวจรนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่อยู่สุดทั้ง ๓ (คือมโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ)
ธรรมที่ไม่ใช่อวจรนั้นมีเท่าไร?
คือธรรมที่เป็นอนาสวะทั้งหมด
ธรรมที่สงเคราะห์เข้าในขันธ์นั้นมีเท่าไร?
คือ ทั้งหมดยกเว้นอสังขตะธรรม
ธรรมที่สงเคราะห์เข้าในอุปาทานขันธ์นั้นมีเท่าไร?
คือสาสวธรรม
ธรรมที่เป็นกุศลนั้นมีเท่าไร? ธรรมที่เป็นอกุศลนั้นมีเท่าไร? ธรรมที่เป็นอัพยากตนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุทั้ง ๑๐ สาธารณ์แก่กุศล อกุศล และอัพยากต ธาตุรู้ทั้ง ๗ (มีวิญญาณธาตุ ๖ มโนธาตุ ๑) รูปะ สัททะ และส่วนหนึ่งของธรรมธาตุ ส่วนที่เป็นอัพยากตล้วนๆ มี ๘
ธรรมที่เป็นอัชฌัตตะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุ ๑๒ ยกเว้นรูปะ สัททะ คันธะ รส โผฏฐัพพะ และธรรมธาตุส่วนหนึ่ง
ธรรมที่เป็นพหิทธะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลืออีก ๖ (คือ อายตนะภายนอก๖)
ธรรมที่เป็นสารัมมณะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุรู้ทั้ง ๗ และธรรมธาตุส่วนหนึ่ง เจตสิกธรรม
ธรรมที่เป็นอนารัมมณะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลืออีก ๑๐ และธรรมธาตุ ส่วนหนึ่ง
ธรรมที่วิภาคอารมณ์ได้นั้นมีเท่าไร?
คือ มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ และส่วนหนึ่งของธรรมธาตุ
ธรรมที่เป็นอุปาทินกะนั้นมีเท่าไร?
คือ ธาตุภายใน ๕ และส่วนหนึ่งแห่งธาตุทั้ง ๔ กล่าวคือ รูปะ คันทธ รสะ โผฏฐัพพะ
ธรรมที่เป็นอนุปาทินกะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลือ ๙ และส่วนหนึ่งของธาตุทั้ง ๔
ธรรมที่เป็นสภาคตานั้นเป็นไฉน?
คือรูปธาตุภายในทั้ง ๕ (อินทรีย์ทั้ง ๕ ) กับวิญญาณและอารมณ์อันสมควรแก่(อินทรีย์) ของตน (เช่นจักขุนทรีย์ย่อมสมควรแก่จักขุวิญญาณและรูปารมณ์
ธรรมที่เป็นชะนิดเดียวกับสภาคตานั้นเป็นไฉน?
คือในธรรม (ทั้ง ๓ เช่น จักขุ จักขุวิญญาณ รูปารมณ์) ขาดวิญญาณของตนไปเสีย ก็ยังชื่อว่าเป็นธรรมประเภทเดียวกัน

 

จบมหายานปัญจขันธศาสตร์