วันอังคาร

อธิบายอัปปนาโกศล ๑๐ ประการ

อธิบายอัปปนาโกศล ๑๐ ประการ

๑. โดยทำวัตถุให้สะอาด

ในอัปปนาโกศล ๑๐ ประการนั้น การทำวัตถุทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกให้มีความสะอาด ชื่อว่า ทำวัตถุให้สะอาด อธิบายว่า กาลใด โยคีบุคคลมีผม, เล็บ และขนทั้งหลายขึ้นมา หรือมีร่างกายถูกเหงื่อไคลจับเปื้อนเปรอะ กาลนั้นชื่อว่า มีวัตถุภายในไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ แหละกาลใด โยคีบุคคลมีจีวรเก่า สกปรกและเหม็นสาบ หรือมีเสนาสนะรกรุงรัง กาลนั้น ชื่อว่า มีวัตถุภายนอกไม่สะอาดไม่บริสุทธิ์

เมื่อจิตและเจตสิกทั้งหลายเกิดขึ้นในวัตถุอันเป็นภายในและภายนอกที่ไม่สะอาดเช่นนั้น แม้ญาณก็พลอยไม่สะอาดไปด้วย ฉันเดียวกับแสงแห่งตะเกียงอันเกิดเพราะอาศัยตะเกียง ไส้ และน้ำมันที่ไม่สะอาด เมื่อโยคีบุคคลพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยญาณอันไม่สะอาด แม้สังขารย่อมไม่ปรากฏแจ้งชัด ถึงจะเพียรทำกัมมัฏฐานไป แม้กัมมัฏฐานก็จะไม่บรรลุถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์อยู่นั่นเอง แต่เมื่อจิตและเจตสิกทั้งหลายเกิดขึ้นในวัตถุอันเป็นภายในและภายนอกที่สะอาด แม้ญาณก็พลอยสะอาดบริสุทธิ์ไปด้วย ฉันเดียวกับแสงแห่งตะเกียงที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตะเกียง ไส้ และน้ำมันที่สะอาด และเมื่อโยคืบุคคลพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยญาณอันสะอาด แม้สังขารทั้งหลายก็ย่อมปรากฏแจ้งชัด เมื่อเพียรทำกัมมัฏฐานไป แม้กัมมัฏฐานก็จะบรรลุถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์โดยแท้

๒. โดยทำอินทรีย์ให้ถึงความเสมอกัน

การทำอินทรีย์ ๕ มีศรัทธาเป็นต้นให้มีความสม่ำเสมอกันโดยหน้าที่ ชื่อว่า ทำอินทรีย์ให้ถึงความเสมอกัน อธิบายว่า ถ้าแหละ อินทรีย์คือศรัทธาของ โยคีบุคคลนั้นมีกำลังมาก อินทรีย์ ๔ นอกนี้มีกำลังน้อยแล้วไซร้ เพราะเหตุนั้น อินทรีย์คือวีริยะย่อมไม่สามารถเพื่อทำหน้าที่คือการประคอง อินทรีย์คือสติย่อมไม่สามารถเพื่อทำหน้าที่คือการปรากฏ อินทรีย์คือสมาธิย่อมไม่สามารถเพื่อทำหน้าที่คือความไม่ฟุ้งซ่าน อินทรีย์คือปัญญาย่อมไม่สามารถทำหน้าที่คือการเห็นแจ้ง เพราะฉะนั้น ต้องลดสัทธินทรีย์นั้นลง ด้วยการพิจารณาถึงสภาวธรรมคือภาวะที่เป็นจริงของสัทธินทรีย์นั้น หรือด้วยไม่มนสิการถึงโดยวิธีที่มนสิการถึงแล้วสัทธินทรีย์เกิดมีกำลังมากขึ้น แหละในอธิการนี้ มีเรื่องพระวักกลิเถระ เป็นตัวอย่าง

เรื่องพระวักกลิเถระ
ก็แหละ ท่านวักกลิเถระนั้น เป็นผู้มีบุญญาธิการอันได้สั่งสมไว้ในสัทธาธิมุตคือ ความเป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้า จึงเป็นผู้ขวนขวายในอันจะได้เห็นพระรูปพระโฉมของพระศาสดาอยู่อย่างไม่รู้สร่าง แม้พระบรมศาสดาจะได้ทรงโอวาทแล้วทรงประกอบไว้ในกัมมัฏฐาน โดยนัยมีอาทิว่า วักกลิ เธอจะต้องการอะไรด้วยอันเห็นกายอันเปื่อยเน่านี้เล่า วักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นจึงชื่อว่าเห็นเรา ฉะนั้นแล้วก็ตามเธอก็มิได้สนใจประกอบพระกัมมัฏฐานนั้น กลับเสียใจ ได้ขึ้นไปยังที่ปากเหวเพื่อทำตนให้ตกลงไป ทันใดนั้น พระบรมศาสดาซึ่งเสด็จประทับนั่งอยู่อย่างปกตินั่นเที่ยวได้ทรงเปล่งพระรัศมีไปทรงแสดงพระองค์ให้ปรากฏ ตรัสพระพุทธนิพนธคาถาว่า “ภิกษุผู้มากไปด้วยความปราโมช เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามีหวังได้บรรลุสันติบทคือความสุขอันเป็นที่ระงับดับเสียซึ่งสังขารธรรมทั้งหลาย” ฉะนี้แล้ว ได้ทรงเรียกพระวักกลิเถระว่า “มานี่แน่ะ วักกลิ” ท่านวักกลิเถระนั้น อันพระบรมศาสดาได้ทรงประพรมด้วยน้ำพระพุทธมนต์อมฤตรสนั้นแล้ว กลับมีความร่าเริงยินดี จึงได้เริ่มลงมือเจริญวิปัสสนา แต่ก็ไม่อาจหยั่งลงสู่วิปัสสนาวิถีได้ เพราะเหตุที่ศรัทธามีกำลังมากเกินไป พระผู้มีพระภาคทรงทราบเช่นนั้น จึงทรงแก้ไขให้ท่านถึงความเป็นผู้มีอินทรีย์สม่ำเสมอกัน ทรงสอบชำระพระกัมมัฏฐานประทานให้ แล้วท่านวักกลิเถระปฏิบัติวิปัสสนาให้ก้าวหน้าขึ้นไป โดยนัยที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้นั้น ก็ได้บรรลุถึงซึ่งพระอรหัตโดยลำดับแห่งอริยมรรคขึ้นไป ฉะนี้แล

แหละถ้าวีริยินทรีย์มีกำลังมาก แต่นั้น สัทธินทรีย์ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่คือการตัดสินอารมณ์ได้ อินทรีย์อื่นนอกนี้ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ที่ต่างกันนอกนี้ได้เพราะฉะนั้น ต้องลดวีริยินทรีย์นั้นลง ด้วยการเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการ คือ ปัสสัทธิ สมาธิและอุเบกขา แม้ในอธิการนี้ ก็ควรแสดงเรื่องพระโสณเถระผู้ละเอียดอ่อนเป็นตัวอย่าง ดังนี้

เรื่องพระโสณเถระ
ก็แหละ ท่านโสณเถระนั้น เรียนเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระบรมศาสดาแล้วไปอยู่ ณ ป่าสีเสียด ท่านคิดว่า “ร่างกายเราละเอียดอ่อนมาก และเราไม่สามารถจะบรรลุถึงสุขได้โดยง่ายเลย เราจึงควรบำเพ็ญสมณธรรมแม้อย่างที่ทรมานกายให้ลำบาก” ฉะนี้แล้ว ได้อธิษฐานเอาอิริยาบถยืนและเดินเพียง ๒ อย่างเท่านั้น พยายามประกอบความเพียรอยู่ แม้ที่ฝ่าเท้าที่ข้อเท้าจะมีเวทนาปรากฏขึ้น ก็ไม่เอาใจใส่ พยายามทำความเพียรอย่างมุ่งมั่น แต่กระนั้น ก็ไม่สามารถจะทำคุณวิเศษให้บังเกิดขึ้นได้ เพราะปรารภความเพียรแรงกล้าเกินไป พระบรมศาสดาจึงได้เสด็จไป ณ ที่นั้น ทรงประทานพระพุทธโอวาทด้วยวีโณวาท คือโอวาทเปรียบด้วยพิณสามสาย ทรงแสดงวิธีปรับวีริยะให้สม่ำเสมอ ทรงสอบชำระพระกัมมัฏฐานแล้วจึงเสด็จกลับยังภูเขาคิชฌกูฏ ฝ่ายพระเถระปรับวีริยะให้สม่ำเสมอ โดยนัยที่ทรงประทานแล้วเจริญวิปัสสนาให้ก้าวหน้าขึ้นไป ดำรงตนไว้ในพระอรหัตแล้ว ฉะนี้แล

การอธิบายความสม่ำเสมอกันแม้ในอินทรีย์ที่เหลือ คือ สติ สมาธิและปัญญาก็พึงทราบเหมือนกันนี้ กล่าวคือ เมื่ออินทรีย์แต่ละประการมีกำลังมาก ก็จงทราบเถิดว่าอินทรีย์นอกนี้ไม่สม่ำเสมอกันในหน้าที่ของตน ๆ

ศรัทธากับปัญญาเสมอกัน
ก็แหละ ในอินทรีย์ ๕ นี้ ถ้ากล่าวโดยที่แปลกกันแล้ว ปราชญ์ทั้งหลายย่อมรับรองต้องกันว่า ศรัทธาเสมอกันกับปัญญา และสมาธิเสมอกันกับวีริยะ อธิบายว่า บุคคลผู้มีศรัทธามาก แต่มีปัญญาน้อย ย่อมเป็นคนมีความเลื่อมใสอย่างเซ่อ ๆ คือ ไม่เลื่อมใสอย่างแน่วแน่ ย่อมเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ใช่เรื่อง บุคคลผู้มีปัญญามากแต่มีศรัทธาน้อย ย่อมแหกแนวไปสู่ทางฝ่ายเกเรโอ้อวด เป็นผู้มีอันใคร ๆ จะแก้ไขไม่ได้ เหมือนกับโรคที่เกิดขึ้นจากยาเองยากที่จะรักษาให้หายได้ แต่เพราะศรัทธากับปัญญาสม่ำเสมอกัน บุคคลย่อมเลื่อมใสถูกเรื่องเสมอ

สมาธิกับวีริยะเสมอกัน
ส่วนบุคคลผู้มีสมาธิมากแต่มีวีริยะน้อย ความเกียจคร้านย่อมครอบงำ เพราะสมาธิเป็นฝักฝ่ายของความเกียจคร้าน บุคคลผู้มีวีริยะมากแต่มีสมาธิน้อย อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านย่อมครอบงำ เพราะวีริยะเป็นฝักฝ่ายของอุทธัจจะ แต่สมาธิที่ประกอบเข้ากับวีริยะแล้วย่อมไม่ได้เพื่อตกไปในความเกียจคร้าน วีริยะที่ประกอบเข้ากับสมาธิแล้วก็ไม่ได้เพื่อตกไปในอุทธัจจะ เพราะฉะนั้น จึงจำต้องทำวิริยะกับสมาธิทั้งสองนั้นให้สม่ำเสมอ เพราะจะสำเร็จอัปปนาสมาธิได้ ด้วยวิริยะกับสมาธิทั้งสองสม่ำเสมอกัน

การปรับอินทรีย์ให้เสมอกันอีกนัยหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง สำหรับโยคีบุคคลผู้เจริญสมถกัมมัฏฐานนั้น แม้จะมีศรัทธาชนิดที่มีกำลังมาก ก็สมควร เพราะเมื่อศรัทธามีกำลังมากอย่างนี้ โยคีบุคคลเชื่อมั่นอยู่ มุ่งหมายอยู่ ก็จักได้บรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ แหละในสมาธิกับปัญญานั้น สมาธิมีกำลังมากย่อมสมควรสำหรับผู้ที่เจริญสมถกัมมัฏฐาน เพราะโยคีผู้เจริญสมถกัมมัฏฐานนั้นจะบรรลุอัปปนาสมาธิได้ก็ด้วย สมาธิที่มีกำลังมากอย่างนี้ ปัญญาที่มีกำลังมากย่อมสมควรสำหรับผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพราะโยคีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนานั้น ย่อมจะบรรลุถึงซึ่งการแทงตลอดลักษณะของสังขารธรรม ก็ด้วยปัญญาที่มีกำลังมากนี้ แต่เพราะเหตุที่สมาธิกับปัญญาทั้งสองสมดุลกัน จึงจะสำเร็จอัปปนาสมาธินั่นเทียว

สติจำปรารถนาในอินทรีย์ทั้ง ๕
ส่วนสตินั้น มีกำลังมากในอินทรีย์ ๕ ทุกประการยิ่งดี เพราะสติย่อมรักษากุศลจิตให้พ้นจากการตกไปในอุทธัจจะ ด้วยอำนาจแห่งศรัทธา วิริยะและปัญญาอันเป็นฝักฝ่ายแห่งอุทธัจจะ และรักษากุศลจิตให้พ้นจากการตกไปในความเกียจคร้านด้วยสมาธิอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้น สติจึงจำปรารถนาในอินทรีย์ ๕ ทุกประการ เหมือนเกลือป่นจำปรารถนาในกับข้าวทุกชนิด และเหมือนอำมาตย์ผู้ชำนาญในกิจทั้งปวงจำปรารถนาในราชกิจทุกอย่างฉะนั้น ด้วยเหตุนั้นท่านอรรถกถาจารย์ จึงกล่าวไว้ว่า ก็แหละ สตินั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่าจำปรารถนาในกิจทุกอย่าง เพราะเหตุไร ? เพราะจิตมีสติเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกและสติมีการอารักขาเป็นอาการปรากฏ การยกจิตและการข่มจิต เว้นจากสติแล้วหาเป็นไปได้ไม่ ฉะนี้

๓. โดยฉลาดในนิมิต

ความฉลาดในนิมิตนั้น ได้แก่ความฉลาดในการทำนิมิตของสมาธิเช่น ปฐวีกสิณเป็นต้นซึ่งยังไม่ได้ทำขึ้นอย่างหนึ่ง ได้แก่ความฉลาดในการภาวนาซึ่งนิมิตที่ทำขึ้นแล้วอย่างหนึ่ง ความฉลาดในนิมิตที่ประสงค์เอาในอัปปนาโกศลกถานี้ ได้แก่ ความฉลาดในการรักษาซึ่งนิมิตที่ได้มาแล้วด้วยการภาวนานั้น

๔. โดยยกจิตในสมัยที่ควรยก

ถาม-ข้อว่า โยคีบุคคลย่อมยกจิตในสมัยที่ควรยกนั้น คือทำอย่างไร ?
ตอบ-กาลใด โยคีบุคคลนั้นมีจิตหดหูด้วยเหตุทั้งหลาย เช่น ความมีวิริยะย่อหย่อนมากเป็นต้น กาลนั้น อย่าเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการ มีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นต้น แต่พึงเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการ มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้น

วิธียกจิตด้วยสัมโพชฌงค์ ๓
ข้อนี้สมดังที่พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาไว้ดังต่อไปนี้ :- "ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ใคร่จะสุมไฟกองเล็ก ๆ ให้ลุกโพลงขึ้น เขาใส่หญ้าสดเข้าไปด้วย ใส่มูลโคสดเข้าไปด้วย ใส่ไม้สดเข้าไปด้วย มิหนำซ้ำพ่นลมปนน้ำลายใส่ด้วย โปรยขี้ฝุ่นใส่ด้วย ในกองไฟนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นควรหรือไม่เล่า เพื่อจะทำไฟกองเล็ก ๆ นั้นให้ลุกโพลงขึ้นได้ ?"
"ข้อนั้นไม่ควรจะเป็นไปได้พระพุทธเจ้าข้า"

"ภิกษุทั้งหลาย ฉันเดียวกันนั่นเทียวแล สมัยใดจิตหดหู สมัยนั้นไม่ใช่กาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญอุเปกขาสัมโพชฌงค์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร ?

ภิกษุทั้งหลาย เพราะจิตหดหูอยู่แล้ว จิตที่หดหูนั้นย่อมยากที่จะช่วยยกขึ้นได้ด้วยสัมโพชฌงค์ธรรมเหล่านี้ ภิกษุทั้งหลาย แต่สมัยใดจิตหดหู สมัยนั้นเป็นการเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวีริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?


ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่จิตหดหูนั้น ย่อมง่ายที่จะช่วยยกขึ้นด้วยสัมโพชฌงคธรรมเหล่านี้ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ใคร่จะสุมไฟกองเล็ก ๆ ให้ลุกโพลงขึ้น เขาจึงใส่หญ้าแห้งเข้าไปด้วย ใส่มูลโคแห้งเข้าไปด้วย ใส่ไม้แห้งเข้าไปด้วย ช่วยเป่าลมปากใส่ด้วย แต่ไม่โปรยขี้ฝุ่นลงใส่ในกองไฟนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นควรหรือไม่เล่าเพื่อที่จะทำไฟกองเล็ก ๆ นั้นให้ลุกโพลงขึ้นได้ ?"
"ควรที่จะเป็นอย่างนั้นได้พระพุทธเจ้าข้า"

อาหารปัจจัยของธัมมวิจยะเป็นต้น แหละในอธิการนี้ นักศึกษาพึงทราบถึงวิธีการเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการมีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้นให้เกิดขึ้น ด้วยอำนาจอาหารปัจจัยของตน ๆ ต่อไปดังนี้: -

อาหารปัจจัยของธัมมวิจยะ
ข้อนี้ สมดังที่พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาไว้ว่า :- "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและที่เป็นอกุศลมีอยู่ ธรรมทั้งหลายที่มีโทษและที่หาโทษมิได้มีอยู่ ธรรมทั้งหลายชั้นทรามและชั้นประณีตมีอยู่ ธรรมทั้งหลายที่มีส่วนเปรียบด้วยของดำและที่มีส่วนเปรียบด้วยของขาวมีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในกุศลธรรมเป็นต้นเหล่านั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัยที่ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว"

อาหารปัจจัยของวิริยะ
อีกประการหนึ่ง ทรงเทศนาไว้ว่า :- "ภิกษุทั้งหลาย อารัมภธาตุ นิกกมธาตุ และปรักกมธาตุมีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในอารัมภธาตุเป็นต้นเหล่านั้น นี้จัดเป็นอาหารปัจจัยที่ย่อมเป็นไปเพื่อทำวีริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งวีริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว"

อาหารปัจจัยของปีติ
และอีกประการหนึ่ง ทรงเทศนาไว้ว่า :- "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในธรรมเหล่านั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัยที่เป็นไปเพื่อปีติสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปีติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว”

อรรถาธิบายพระบาลี
ในพระบาลีนั้น มีอรรถาธิบายดังนี้:- มนสิการที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการรู้ปรุโปร่งซึ่งลักษณะของสภาวธรรม และลักษณะที่เสมอกันของสังขารธรรม ชื่อว่า มนสิการโดยซอบ (ได้แก่ชวนจิตตุปบาทที่เกิดขึ้น ด้วยการหยั่งรู้ซึ่งลักษณะของสภาวะนั้น ๆ เป็นต้น แห่งกุศลธรรมเป็นต้น ตามความเป็นจริง คำว่า มนสิการ หมายเอาจิตที่พิจารณาอารมณ์ที่ขณะชวนะเกิด ๗ ขณะนั้น) ในกุศลธรรมเป็นต้น มนสิการที่เป็นไปด้วยอำนาจที่ทำให้อารัมภธาตุเป็นต้นเกิดขึ้น ชื่อว่า มนสิการโดยชอบ ในอารัมภธาตุเป็นต้น ในธาตุเหล่านั้น ความเพียร  (ความเพียรเรียกว่า ธาตุ เพราะเป็นสภาพดำรงอยู่โดยสภาวะของตนไม่แปรผัน) ขั้นแรกเรียกว่า อารัมภธาตุ ความเพียรที่มีกำลังกว่าอารัมภธาตุนั้น เพราะออกพ้นไปจากความเกียจคร้านแล้ว เรียกว่า นิกกมธาตุ ความเพียรที่มีกำลังมากกว่านิกกมธาตุนั้นขึ้นไปอีก เพราะก้าวสู่ฐานะยิ่ง ๆ ขึ้นไป เรียกว่า ปรักกมธาตุ แหละคำว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์นี้ เป็นชื่อของปีตินั่นเอง มนสิการที่ให้ปีติแม้นั้นเกิดขึ้นนั่นแล ชื่อว่า มนสิการโดยชอบ

ธรรม ๗ ที่เป็นเหตุให้ธัมมวิจยะเกิด
อีกประการหนึ่ง ธรรม ๗ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ :-
๑. การสอบถาม
๒. การทำร่างกายและเครื่องใช้ให้สะอาด
๓. การปรับอินทรีย์ ๕ ให้สู่ความสมดุลกัน
๔. การหลีกเว้นคนมีปัญญาทราม
๕. การสมาคมกับคนมีปัญญาดี
๖. การพิจารณาธรรมที่ต้องสอดส่องด้วยญาณอันลึกซึ้ง
๗. การน้อมจิตไปในธัมมวิจยะนั้น

ธรรม ๑๑ ที่เป็นเหตุให้วิริยะเกิด
ธรรม ๑๑ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้วีริยสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ :
๑. การพิจารณาเห็นภัยมีทุกข์ในอบายเป็นต้น
๒. การเห็นอานิสงส์ของการบรรลุคุณวิเศษ ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระอันเนื่องด้วยความเพียร
๓. การพิจารณาเห็นวิถีทางดำเนินอย่างนี้ว่า เราจะต้องดำเนินไปตามทางที่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระมหาสาวกทั้งหลายดำเนินไปแล้ว แหละทางนั้นคนเกียจคร้านไม่สามารถจะดำเนินไปได้
๔. การเคารพในข้าวสุก ด้วยทำให้ทายกผู้บริจาคทั้งหลายเป็นผู้ได้ผลมาก
๕. การพิจารณาถึงความยิ่งใหญ่ของพระบรมศาสดาอย่างนี้ว่า พระบรมศาสดาของเราตรัสสรรเสริญคุณของคนปรารภความเพียร และพระองค์ทรงมีคำสอนอันใคร ๆ จะละเมิดมิได้ พระองค์ทรงมีพระอุปการะมากแก่เรา ทรงเป็นผู้อันเราบูชาอยู่และจะบูชาต่อไปด้วยปฏิบัติบูชา มิใช่ด้วยอามิสบูชาประการอื่น
๖. การพิจารณาถึงความยิ่งใหญ่แห่งมรดกอย่างนี้ว่า มรดกอันยิ่งใหญ่ คือพระสัทธรรม เป็นสิ่งอันเราจะต้องรับไว้ และมรดกอันยิ่งใหญ่นั้น คนเกียจคร้านไม่สามารถจะรับไว้ได้
๗. การบรรเทาถีนะและมิทธะด้วยการมนสิการถึงอาโลกสัญญาการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ และการอยู่ในที่โล่งแจ้ง
๘. การหลีกเว้นคนเกียจคร้าน
๙. การสมาคมกับคนปรารภความเพียร
๑๐. การพิจารณาถึงอานุภาพของความเพียรชอบ ๔ ประการ
๑๑. การน้อมจิตไปในวิริยะนั้น

ธรรม ๑๑ ที่เป็นเหตุให้ปีติเกิด
ธรรม ๑๑ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้ปีติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ :
๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า
๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระธรรม
๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระอริยสงฆ์
๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลที่บริสุทธิ์ของตน
๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงการบริจาคทานที่ตนบริจาคแล้ว
๖. เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา
๗. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงพระนิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง
๘. การหลีกเว้นคนที่มีใจหยาบกระด้าง
๙. การสมาคมกับคนที่รักใคร่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเป็นต้น
๑๐. การพิจารณาถึงพระสูตรอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส
๑๑. การน้อมจิตไปในปีตินั้น

เมื่อโยคีบุคคลยังธรรมเหล่านี้ให้เกิดด้วยอาการทั้งหลายเหล่านี้ ชื่อว่าเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้นให้เกิดขึ้น โยคีบุคคลย่อมยกจิตในสมัยที่ควรยก ด้วยประการฉะนี้

๕. โดยข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม

ถาม-ข้อว่า โยคีบุคคลย่อมข่มจิตในสมัยที่ควรข่มนั้น คือทำอย่างไร ?
ตอบ-กาลใด โยคีบุคคลนั้น มีจิตฟุ้งซ่านด้วยเหตุทั้งหลาย มีการปรารภความเพียรเคร่งเครียดเกินไปเป็นต้น กาลนั้น อย่าเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการ มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้น แต่พึงเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการ มีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นต้น

วิธีข่มจิตด้วยสัมโพชฌงค์ ๓
ข้อนี้ สมด้วยที่พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาไว้ ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์สังยุตตนิกายมหาวารวรรค ดังต่อไปนี้ :-
"ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ใคร่จะดับไฟกองใหญ่ให้มอด เขาใส่หญ้าแห้ง เข้าไปด้วย ใส่มูลโคแห้งเข้าไปด้วย ใส่ไม้แห้งเข้าไปด้วย ช่วยเป่าลมปากใส่ด้วย และไม่ได้โปรยขี้ฝุ่นใส่ในกองไฟนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นเขาควรหรือไม่เล่า เพื่อที่จะทำกองไฟใหญ่นั้นให้ดับมอดลง ?" 
"ข้อนั้น ไม่ควรที่จะเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า"

"ภิกษุทั้งหลาย ฉันเดียวกันนั่นเทียวแล สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่จิตฟุ้งซ่านอยู่แล้ว จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ย่อมยากที่จะข่มให้สงบลงด้วยโพชฌงคธรรมเหล่านี้ ภิกษุทั้งหลาย แต่สมัยใดแล จิตย่อมฟุ้งซ่าน สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญอุเปกขาสัมโพชฌงค์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร ? ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่จิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้นย่อมง่ายที่จะข่มให้สงบลงด้วยโพชฌงค์ ธรรมเหล่านี้ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ใคร่จะดับไฟกองใหญ่ให้มอด เขาใส่หญ้าสดเข้าไปด้วย ใส่มูลโคสดเข้าไปด้วย ใส่ไม้สดเข้าไปด้วย พ่นลมปนน้ำลายใส่ด้วย และโปรยขี้ฝุ่นเข้าใส่ด้วย ในกองไฟนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นเขาควรหรือไม่เล่า เพื่อที่จะยังไฟกองใหญ่นั้นให้ดับมอดลง ?ู"
"ควรที่จะเป็นอย่างนั้นได้ พระพุทธเจ้าข้า"

อาหารปัจจัยของปัสสัทธิ แม้ในอธิการนี้ นักศึกษาพึงทราบถึงวิธีการเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการ มีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นต้นให้เกิดขึ้น ด้วยอาหารปัจจัยของตน ๆ ต่อไปดังนี้ :-

อาหารปัจจัยของปัสสัทธิ
ข้อนี้ สมด้วยที่พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาไว้ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์สังยุตตนิกายมหาวารวรรค ดังนี้ : "ภิกษุทั้งหลาย กายปัสสัทธิ ความสงบกาย จิตตปัสสัทธิ ความสงบจิตมีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในปัสสัทธิทั้งสองนั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัยที่ย่อมเป็นไป เพื่อทำปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว”

อาหารปัจจัยของสมาธิ
อีกประการหนึ่ง ทรงเทศนาอาหารปัจจัยของสมาธิไว้ว่า :- "ภิกษุทั้งหลาย สมถนิมิต นิมิตคือความสงบ อัพยัคคนิมิต นิมิตคือ ความไม่ฟุ้งซ่านมีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในนิมิตทั้งสองนั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัยที่ย่อมเป็นไปเพื่อทำสมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว”

อาหารปัจจัยของอุเบกขา
และอีกประการหนึ่ง ทรงเทศนาไว้ว่า :- "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งของอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในธรรมเหล่านั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัยที่ย่อมเป็นไป เพื่อทำอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่งเพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว"

อรรถาธิบายพระบาลี
ในพระบาลีนั้นมีอรรถาธิบายดังนี้ ธรรมทั้ง ๓ คือ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา เคยเกิดขึ้นแก่โยคีบุคคลแล้วโดยอาการอย่างใด มนสิการที่เป็นไปด้วยอำนาจกำหนดเอาอาการนั้นแล้วทำให้ธรรมทั้ง นั้นเกิดขึ้น ชื่อว่า มนสิการโดยชอบ แม้ในบทพระบาลีทั้ง ๓ พากย์นั้น คำว่า สมถนิมิต นี้ เป็นชื่อของสมถะนั่นเอง และคำว่า อัพยัคคนิมิต ก็เป็นชื่อของสมถะนั้นเหมือนกัน โดยมีความหมายว่า ไม่ฟุ้งซ่าน ฉะนี้แล

ธรรม ๗ ที่เป็นเหตุให้ปัสสัทธิเกิด
อีกประการหนึ่ง ธรรม ๗ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ
๑. การบริโภคอาหารอันประณีต
๒. การได้รับอากาศสบาย
๓. การใช้อิริยาบถที่สบาย
๔. การประกอบกิจแต่พอดีอย่างสม่ำเสมอ
๕. การหลีกเว้นคนที่มีกายกระวนกระวาย
๖. การสมาคมกับคนผู้มีกายสงบ และ
๗. การน้อมจิตไปในปัสสัทธินั้น

ธรรม ๑๑ ที่เป็นเหตุให้สมาธิเกิด
ธรรม ๑๑ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้สมาธิสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ
๑. ร่างกายและเครื่องใช้สะอาด
๒. ความฉลาดในนิมิตกัมมัฏฐาน
๓. การปรับอินทรีย์ ๕ ให้สู่ความสมดุล
๔. การข่มจิตในสมัย
๕. การยกจิตในสมัย
๖. การพยุงจิตที่เบื่อหน่ายให้ร่าเริงด้วยอำนาจความเชื่อและความสลดใจ
๗. การวางเฉยต่อจิตที่เป็นไปโดยชอบแล้ว
๘. การหลีกเว้นคนผู้ไม่มีสมาธิ
๙. การสมาคมกับคนผู้มีสมาธิ
๑๐. การพิจารณาเฉพาะฌานและวิโมกข์
๑๑. การน้อมจิตไปในสมาธินั้น

ธรรม ๕ ที่เป็นเหตุให้อุเบกขาเกิด
ธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ
๑. ความเป็นกลาง ๆ ในสัตว์บัญญัติ
๒. ความเป็นกลาง ๆ ในสังขารทั้งหลาย
๓. การหลีกเว้นคนผู้มีความสาละวนในสัตว์และสังขาร
๔. การสมาคมกับคนเป็นกลาง ๆ ในสัตว์และสังขาร
๕. การน้อมจิตไปในอุเบกขานั้น

โยคีบุคคลเมื่อยังธรรมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอยู่ ด้วยอาการทั้งหลายเหล่านี้ ชื่อว่าเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการมีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นต้นให้เกิดขึ้นฉะนี้ โยคีบุคคลย่อมข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม ด้วยประการฉะนี้


๖. โดยพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง

ถาม-ข้อว่า โยคีบุคคลย่อมพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริงนั้นคือทำอย่างไร ?
ตอบ-กาลใด โยคีบุคคลนั้นมีจิตไม่เบิกบาน เพราะการขวนขวายในปัญญาย่อหย่อน หรือเพราะไม่ได้รับความสงบสุข กาลนั้น ย่อมพยุงจิตนั้นให้สลดสังเวช ด้วยการพิจารณาถึงสังเวควัตถุ ๘ ประการ สังเวควัตถุ ๘ ประการนั้น ได้แก่ ชาติ ชรา พยาธิและมรณะเป็น ๔ ทุกข์ในอบายเป็นที่ ๕ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลรากในอดีตเป็นที่ ๖ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลรากในอนาคตเป็นที่ ๗ ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลรากในปัจจุบันเป็นที่ ๘ และโยคีบุคคลย่อมพยุงจิตนั้นให้เกิดความเลื่อมใส ด้วยการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์อีกสถานหนึ่งด้วย โยคีบุคคลย่อมพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง ด้วยประการฉะนี้

๗. โดยเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย

ถาม- โยคีบุคคลย่อมเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉยนั้น คือทำอย่างไร ?
ตอบ-กาลใด เมื่อโยคีบุคคลปฏิบัติอยู่อย่างนี้ จิตของเธอย่อมไม่หดหู ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมแช่มชื่นเบิกบาน เป็นไปโดยสม่ำเสมอในอารมณ์ ดำเนินสู่วิถีแห่งสมถภาวนา กาลนั้น โยคีบุคคลย่อมไม่ขวนขวายในอันที่จะยกและข่มจิตและในอันที่จะพยุงจิตให้ร่าเริงเหมือนนายสารถีขับรถมา ไม่ขวนขวายในม้าทั้งหลายที่วิ่งลากรถไปอย่างสม่ำเสมอกัน ฉะนั้นโยคีบุคคลย่อมเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย ด้วยประการฉะนี้

๘. โดยหลีกเว้นบุคคลผู้ไม่มีสมาธิ

การหลีกเว้นเสียอย่างห่างไกล ซึ่งบุคคลทั้งหลายจำพวกที่ไม่เคยก้าวขึ้นสู่เนกขัมมปฏิปทา คือไม่เคยปฏิบัติปฏิปทาที่ให้ออกจากกาม มัวแต่วิ่งวุ่นอยู่ในกิจการเป็นอันมาก มีใจฟุ้งเฟ้อไปในกิจการนั้น ๆ ชื่อว่า หลีกเว้นคนผู้ไม่มีสมาธิ

๙. โดยสมาคมกับบุคคลผู้มีสมาธิ

การเข้าไปคบหาสมาคมกับบุคคลทั้งหลาย จำพวกที่ปฏิบัติเนกขัมมปฏิปทา ได้สำเร็จสมาธิโดยกาลอันควรตลอดกาล ชื่อว่า สมาคมกับบุคคลผู้มีสมาธิ

๑๐. โดยน้อมจิตไปในสมาธินั้น

ความน้อมจิตไปในอันที่จะทำสมาธิให้บังเกิดขึ้น คือความหนักในสมาธิ ความน้อมไปในสมาธิ ความโน้มไปในสมาธิ ความทุ่มเทไปในสมาธิ ชื่อว่า น้อมจิตไปในสมาธินั้น โยคีบุคคลพึงทำอัปปนาโกศลให้เกิดขึ้นโดยบริบูรณ์ ด้วยประการฉะนี้

🔅 อย่าทอดทิ้งความเพียร

ก็แหละ เมื่อโยคีบุคคลทำอัปปนาโกศลนี้ให้บริบูรณ์ในปฏิภาคนิมิต ที่ได้แล้ว โดยอาการอย่างนี้ อัปปนาสมาธิก็จะบังเกิดขึ้นแน่นอน แต่เมื่อได้ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าอัปปนาสมาธินั้นยังไม่บังเกิดขึ้น แม้ถึงเช่นนั้น โยคีบุคคลผู้บัณฑิตก็อย่าได้ทอดทิ้งความเพียรเสีย จงพยายามให้หนักยิ่งขึ้น เพราะเมื่อลูกผู้ชายทอดทิ้งความเพียรชอบเสียแล้ว จะพึงได้บรรลุคุณวิเศษแม้แต่นิดหน่อยนั้น ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้เลย

🔅 ประคองจิตให้จดจ่อในปฏิภาคนิมิต


เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลผู้บัณฑิต จึงคอยใคร่ครวญพิจารณาซึ่งพฤติการณ์ที่เป็นไปของจิต พยายามปรับปรุงวิริยะกับสมาธิให้มีหน้าที่สมดุลกันอยู่เสมอ ๆ จึงคอยยกจิตที่ตกไปสู่ความหดหูแม้เพียงเล็กน้อยขึ้นไว้ ป้องกันจิตที่เคร่งเครียดเกินไป ประคองจิตให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอสมดุลกันให้จงได้ พฤติการณ์ที่เป็นไปในละอองดอกไม้ ในใบบัว ในใยแมลงมุม ในเรือและในขวดน้ำมัน ของสัตว์ทั้งหลายมีแมลงผึ้งเป็นต้น ซึ่งท่านพรรณนาไว้ด้วยดีแล้วในอรรถกถา ฉันใด โยคีบุคคลพึงพยายามปลดเปลื้องภาวนาจิตจากภาวะที่หดหูและภาวะที่ฟุ้งซ่านโดยสิ้นเชิง แล้วประคองภาวนาจิตให้บ่ายหน้าจดจ่ออยู่ในปฏิภาคนิมิตฉันนั้น

เปรียบด้วยพฤติการณ์แมลงผึ้งกับละอองดอกไม้
ในคำอุปมาอุปไมยนั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้: เปรียบเสมือนดังแมลงผึ้งตัวไม่ฉลาด ครั้นรู้ว่าต้นไม้โน้นมีดอกบานแล้ว ก็รีบบินไปด้วยความเร็วอย่างมาก จึงบินเลยต้นไม้นั้นไปเสีย เมื่อบินวกกลับมาอีก กว่าจะมาถึงก็ต่อเมื่อละอองดอกไม้ร่วงโรยไปเสียแล้ว แมลงผึ้งที่ไม่ฉลาดอีกตัวหนึ่ง บินไปด้วยความเร็วอย่างน้อยมาก เมื่อละอองดอกไม้ร่วงโรยแล้วจึงบินไปถึง ส่วนแมลงผึ้งตัวที่ฉลาดบินไปด้วยความเร็วอย่างพอดี จึงบินไปถึงป่าดอกไม้อย่างสบาย พาเอาละอองดอกไม้พอแก่ความต้องการมาปรุงให้เป็นน้ำหวาน แล้วย่อมได้เสวยรสแห่งน้ำหวาน ฉันใด

เปรียบด้วยพฤติการณ์ศิษย์แพทย์ผ่าตัดกับใบบัว
อีกอย่างหนึ่งเปรียบเหมือนศิษย์ของแพทย์ผ่าตัดทั้งหลายที่กำลังศึกษาการผ่าตัดที่ใบบัวซึ่งอยู่ในถาดน้ำ ศิษย์คนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาด จรดมีดลงโดยแรงย่อมจะตัดใบบัวขาดเป็นสองเสี่ยง หรือทะลุลงไปในน้ำเสีย อีกคนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาดเหมือนกัน ไม่สามารถแม้เพื่อจะจรดมีดลงที่ใบบัว เพราะเกรงใบบัวจะขาดและเกรงมีดจะทะลุลงไปในน้ำ ส่วนศิษย์ผู้ฉลาด แสดงการจรดมีดลงที่ใบบัวนั้นได้ ด้วยประโยคอันพอดีนับว่าเป็นผู้มีศิลปะอันขาวสะอาด ครั้นไปประกอบการงานในสถานที่เห็นปานนั้นก็จะได้ลาภร่ำรวยต่อไป ฉันใด

เปรียบด้วยพฤติการณ์ของบุรุษกับใยแมงมุม
อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนเมื่อพระราชาทรงมีพระราชโองการสั่งว่า ผู้ใดสามารถนำเอาใยแมงมุมมาให้ได้ประมาณสัก ๔ วา เขาจะได้รับรางวัล ๔ พันกหาปณะ ฉะนี้ บุรุษผู้ไม่ฉลาดคนหนึ่ง รีบสาวเอาใยแมงมุมมาโดยเร็ว เลยทำให้ใยแมงมุมขาดกระท่อนกระแท่นไปหมด อีกคนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาดเหมือนกัน ไม่กล้าแม้ที่จะจับต้องใยแมงมุมด้วยมือ เพราะเกรงมันจะขาด ส่วนบุรุษคนที่ฉลาด ค่อย ๆ เอาใยแมงมุมพันเข้าที่ท่อนไม้ด้วยประโยคอันสม่ำเสมอตั้งแต่ปลายสุด แล้วนำมาถวายได้ เขาย่อมได้รับพระราชทานรางวัล ฉันใด

เปรียบด้วยพฤติการณ์ของนายท้ายเรือกับเรือ
อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนนายท้ายเรือผู้ไม่ฉลาด ในเวลาลมแรงจัด กางใบเสียจนเต็มใบ เขาย่อมพาเรือแล่นไปผิดที่หมาย นายท้ายเรืออีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่ฉลาดเหมือนกัน ในเวลาลมอ่อน ลดใบลงเสีย เขาย่อมทำเรือให้หยุดอยู่ ณ ที่ตรงนั้นเอง ส่วนนายท้ายเรือผู้ฉลาด ในเวลาลมอ่อน ก็กางใบให้เต็มใบ ในเวลาลมแรง ก็กางเพียงครึ่งใบ เขาย่อมไปถึงสถานที่ซึ่งตนปรารถนาโดยความสวัสดี ฉันใด

เปรียบด้วยพฤติการณ์ของศิษย์กับขวดน้ำมัน
อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนเมื่ออาจารย์ของศิษย์ทั้งหลายประกาศว่า ผู้ใดสามารถกรอกน้ำมันให้เต็มขวดได้โดยไม่ให้หกทิ้ง แล้วจะได้รับรางวัล ฉะนี้ ศิษย์คนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาดแต่โลภอยากได้รางวัล จึงรีบกรอกน้ำมันโดยเร็ว เลยทำให้น้ำมันหกทิ้งไป อีกคนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาดเหมือนกัน ย่อมไม่กล้าแม้เพื่อจะกรอกน้ำมันใส่ขวดเพราะเกรงน้ำมันจะหกทิ้งเสีย ส่วนศิษย์ผู้ฉลาด ค่อย ๆ กรอกน้ำมันใส่ขวดด้วยประโยคอันสม่ำเสมอ โดยไม่หกเลย เขาย่อมได้รางวัล ฉันใด

พฤติการณ์ของภิกษุผู้เป็นอุปไมย
ฉันเดียวกันนั่นแหละ ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว ทำความเพียรอย่างเคร่งเครียดทีเดียว ด้วยหมายใจว่า เราจักบรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิโดยเร็วนั่นเทียว จิตของเธอย่อมจะตกไปในความฟุ้งซ่านเสีย เพราะเหตุที่ปรารภความเพียรเคร่งเครียดเกินไป เธอไม่สามารถที่จะบรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิได้ อีกรูปหนึ่งมองเห็นโทษในความเป็นผู้มีความเพียรเคร่งเครียดเกินไป จึงได้ทอดทิ้งความเพียรเสีย ด้วยทอดธุระว่า บัดนี้เราจะธุระอะไรกับอัปปนาสมาธิ แต่นั้น จิตของเธอก็จะตกไปในความเกียจคร้านเสีย เพราะเหตุที่มีความเพียรย่อหย่อน แม้ภิกษุนั้นก็ไม่สามารถเพื่อจะบรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิเช่นกัน ส่วนภิกษุใดพยายามปลดเปลื้องภาวนาจิตที่หดหูแม้เพียงเล็กน้อยออกจากภาวะที่หดหู ปลดเปลื้องภาวนาจิตที่ฟุ้งซ่าน จากภาวะที่ฟุ้งซ่าน แล้วประคองให้ภาวนาจิตเป็นไปเฉพาะต่อปฏิภาคนิมิตด้วยประโยคอันสม่ำเสมอ (คือไม่ให้เคร่งเครียดเกินไปและไม่ให้หย่อนยานเกินไป) ภิกษุนั้นย่อมจะได้บรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิอย่างแน่นอน อันโยคีบุคคลพึงปฏิบัติให้เป็นเช่นนั้น นั่นเทียว

ข้าพเจ้าหมายเอาอรรถาธิบายอันนี้ จึงกล่าวประพันธคาถาไว้ ซึ่งมีใจความว่า: พฤติการณ์ที่เป็นไป ในละอองดอกไม้ ในใบบัว ในใยแมงมุม ในเรือและในขวดน้ำมัน ของบุคคลทั้งหลาย มีแมลงผึ้งเป็นต้น ซึ่งท่านพรรณนาไว้ด้วยดีแล้วในอรรถกถา ฉันใด โยคีบุคคลพึงพยายามปลดเปลื้องภาวนาจิตจากภาวะที่หดหู และภาวะที่ฟุ้งซ่าน โดยสิ้นเชิง แล้วประคองภาวนาจิตให้บ่ายหน้าเฉพาะจดจ่ออยู่ในปฏิภาคนิมิต ฉันนั้นฉะนี้แล

ก็แหละ เมื่อโยคีบุคคลประคองภาวนาจิตให้บ่ายหน้าเฉพาะจดจ่อในปฏิภาคนิมิตอยู่ด้วยอาการอย่างนี้นั้น มโนทวาราวัชชนจิต ทำปฐวีกสิณอันปรากฏอยู่ด้วยอำนาจภาวนาว่า ปฐวี-ปฐวี นั้นนั่นแหละให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นตัดภวังคจิตเหมือนจะเตือนให้รู้ว่า อัปปนาสมาธิจักสำเร็จเดี๋ยวนี้แล้ว ถัดจากนั้น ชวนจิตแล่นไปในอารมณ์นั้นนั่นแหละ ๔ ขณะบ้าง ๕ ขณะบ้าง ในชวนจิต ๔ หรือ ๕ ขณะนั้น ดวงหนึ่งในขณะสุดท้ายจัดเป็นรูปาวจรกุศลจิต (อัปปนาจิต) อีก ๓ หรือ ๔ ดวงที่เหลือข้างต้นคงเป็น กามาวจรกุศลจิต

🔅 อัปปนาชวนวิถีจิต

จิตเหล่าใดซึ่งมี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา (จิตเตกัคคตา) มีกำลังมากกว่าจิตปกติ จิตเหล่านั้นเรียกว่า บริกรรม บ้าง เพราะเหตุปรุงแต่งอัปปนา เรียกว่า อุปจาระ บ้าง เพราะเหตุอยู่ใกล้หรือเฉียดไปใกล้อัปปนา เหมือนกับสถานที่ซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านและใกล้นครเป็นต้น เขาเรียกกันว่า อุปจาระแห่งบ้านและอุปจาระแห่งนคร ฉะนั้น และเรียกว่า อนุโลม บ้าง เพราะเหตุสมควรแก่อัปปนา ตั้งแต่ในตอนก่อนแต่นี้และตอนหลังแห่งบริกรรมทั้งหลายมา แหละในกามาวจรชวนจิตนั้น ดวงใดซึ่งเกิดภายหลังเขาทั้งหมด กามาวจรชวนจิตดวงนั้น (ดวงที่ ๓ หรือที่ ๔) เรียกว่า โคตรภู บ้าง เพราะเหตุทำลายกามโคตร และทำให้มหัคคตโคตรเกิดขึ้น

แต่เมื่อว่าโดยศัพท์ที่ท่านมิได้กำหนดเอาไว้แล้ว ในอัปปนาชวนวิถีจิต ๕ ดวงนั้น ดวงที่ ๑ เรียกว่า บริกรรม ดวงที่ ๒ เรียกว่า อุปจาระ ดวงที่ ๓ เรียกว่า อนุโลม ดวงที่ ๔ เรียกว่า โคตรภู อีกนัยหนึ่ง ดวงที่ ๑ เรียกว่า อุปจาระ ดวงที่ ๒ เรียกว่า อนุโลม ดวงที่ ๓ เรียกว่า โคตรภู ดวงที่ ๔ หรือที่ ๕ เรียกว่า อัปปนา จริงอยู่ ชวนจิตดวงที่ ๔ หรือดวงที่ ๕ เท่านั้น ย่อมสำเร็จเป็น อัปปนาจิต แหละ ชวนจิตดวงที่ ๔ หรือที่ ๕ นั้นเล่า ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งโยคีบุคคลผู้มีปัญญาไวและมีปัญญาช้า (คนมีปัญญาไว ชวนจิตมีเพียง ๔ ขณะ ส่วนคนมีปัญญาช้ามีถึง ๕ ขณะ) หลังจากชวนจิตดวงที่ ๔ หรือที่ ๕ นั้นไป ชวนจิตก็ตกภวังค์จึงเป็นวาระของภวังคจิตต่อไป

ท่านโคทัตตเถระค้าน
ก็แหละ ท่านโคทัตตเถระผู้ชำนาญอภิธรรมกล่าวแย้งไว้ว่า ธรรมที่เกิดขึ้นหลัง ๆ ย่อมมีกำลังมาก เพราะเหตุได้อาเสวนปัจจัย เพราะฉะนั้น อัปปนาจิตจึงมีได้ในชวนะดวงที่ ๕ บ้าง ดวงที่ ๗ บ้าง เพราะท่านอ้างสูตรนี้ว่า ปริมา ปุริมา กุสลา ธมมา ปจฉิมาน ปจฉิมาน กุสลานํ ธมุมานํ อาเสวนปจจเยน ปจฺจโย ความว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลซึ่งเกิดขึ้นตอนก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยอุดหนุนแก่ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลซึ่งเกิดขึ้นตอนหลัง ๆ ด้วยอาเสวนปัจจัย ท่านอรรถกถาจารย์รับรองคำคัดค้านของท่านโคทัตตเถระนั้น ท่านอรรถกถาจารย์ปฏิเสธว่า นั้นเป็นเพียงสักว่าอัตโนมัติ แล้วได้แสดงรับรองไว้ว่า ก็อัปปนาจิตนั้นย่อมมีได้ในขณะชวนจิตที่ ๔ หรือที่ ๕ นั้นถูกแล้ว ภายหลังจากนั้น ชวนจิตย่อมนับว่าตกภวังค์ไปแล้ว เพราะอยู่ใกล้ต่อภวังค์มาก คำของท่านอรรถกถาจารย์นั้น อันใคร ๆ ไม่กล้าเพื่อที่จะคัดค้านได้เลย เพราะท่านได้แสดงไว้อย่างรอบคอบแล้ว เปรียบเหมือนบุรุษผู้วิ่งตรงไปยังเหวอันชันโดยเร็ว แม้ประสงค์จะตั้งตัวไว้ ก็ไม่สามารถเพื่อจะยันเท้าที่ขอบเหวรั้งตัวไว้ได้ ย่อมจะตกไปในเหวเลยทีเดียว ฉันใด ชวนจิตก็ไม่อาจที่จะเป็นอัปปนาได้ ในชวนจิตดวงที่ ๖ หรือดวงที่ ๗ เพราะเหตุที่อยู่ใกล้ต่อภวังค์ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น นักศึกษาพึงเข้าใจเถิดว่า อัปปนาจิตย่อมมีในชวนจิตดวงที่ ๔ หรือดวงที่ ๕ นั้นถูกต้องแล้ว

🔅 อัปปนาเกิดชั่วขณะจิตเดียว


ก็แหละ อัปปนานั้นเกิดขึ้นชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น อธิบายว่า ใน ๗ ฐานะ ย่อมไม่มีขีดขั้นกาลเวลา คือ
ขณะอัปปนาจิตเกิดที่แรก ๑
ขณะโลกิยอภิญญา ๑
ขณะมรรคทั้งสี่ ๑
ขณะผลเกิดต่อจากมรรค ๑
ขณะภวังคฌานในรูปภพและอรูปภพ ๑
ขณะเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นปัจจัยแก่นิโรธสมาบัติ ๑
ขณะผลสมาบัติของท่านผู้ออกจากนิโรธ ๑
ในฐานะทั้ง ๗ นั้น ขณะผลเกิดต่อจากมรรค ย่อมไม่มีเกินกว่า ๓ ขณะจิต ขณะเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นปัจจัยแก่นิโรธสมาบัติ ย่อมไม่เกิน ๒ ขณะจิต ปริมาณมากน้อยของภวังคณานในรูปภพและอรูปภพไม่มี ในฐานะที่เหลือ ๔ ฐานะมีเพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น ฉะนี้ อัปปนาจึงเกิดขึ้นชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น แต่นั้นก็ตกภวังค์ ครั้นแล้วอาวัชชนจิตตัดภวังค์เกิดขึ้นเกิดขึ้นเพื่อพิจารณาฌาน แต่นั้นชวนจิตก็ทำหน้าที่พิจารณาฌานต่อไป

วันจันทร์

๑. ภาวนาปฐวีกสิณ

 ภาวนาปฐวีกสิณ

ก็แหละ ภิกษุผู้โยคีบุคคลเมื่อตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนี้แล้ว เวลาภายหลังอาหาร กลับจากการบิณฑบาต บรรเทาความมึนเมาอันมีอาหารเป็นเหตุแล้วจึงไปนั่งคู่บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ณ โอกาสอันสงัด แต่นั้นพึงกำหนดเอานิมิตกสิณในดินที่ทำขึ้น หรือที่เป็นเองตามปกติต่อไป ข้อนี้สมดังที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า:-

🔅 คำของท่านโบราณาจารย์
โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอาปฐวีกสิณโดยอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวงกลมแห่งดินที่สร้างขึ้นหรือที่เป็นเองตามปกติ ชนิดที่มีกำหนดไม่ใช่ไม่มีกำหนด ชนิดที่มีที่สุดไม่ใช่ไม่มีที่สุด ชนิดที่มีสัณฐานกลมไม่ใช่ที่ไม่กลม ชนิดที่มีขอบเขตไม่ใช่ไม่มีขอบเขต โตเท่ากระดังหรือเท่าปากขันโอ โยคีบุคคลนั้นย่อมภาวนาทำนิมิตนั้นให้เป็นอันถือเอาดีแล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นอันทรงไว้ดีแล้วและย่อมกำหนดนิมิตนั้นให้เป็นอันกำหนดดีแล้ว ครั้นเธอภาวนาทำนิมิตนั้นให้เป็นอันถือเอาดีแล้วทำการทรงไว้ให้เป็นอันทรงไว้ดีแล้ว ทำการกำหนดให้เป็นอันกำหนดดีแล้ว ก็จะเห็นอานิสงส์มีความสำคัญเห็นเป็นรัตนะ นอบน้อมเคารพคารวะ กระหยิ่มอิ่มใจ น้อมจิต เข้าไปผูกติดไว้ในอารมณ์ที่ตนถือเอาดีแล้วทรงไว้ดีแล้ว กำหนดไว้ดีแล้วนั้น ด้วยความมั่นใจว่าเราจักรอดพ้นจากชราทุกข์มรณทุกข์ด้วยปฏิปทาอันนี้อย่างแน่นอน

เธอบรรลุแล้วซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัด เพราะสงัดแน่นอนแล้วจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแน่นอนแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ฉะนี้แลเจริญปฐวีกสิณที่เป็นเองในคำของท่านโบราณาจารย์นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ อันโยคีบุคคลใดเคยบวชในศาสนาหรือเคยบวชเป็นฤาษีแล้ว ทำฌาน ๔ และฌาน ๕ ในปฐวีกสิณให้บังเกิดมาแล้ว แม้ในภพปางอดีตโยคีบุคคลผู้มีบุญถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยเห็นปานนี้นั้น อุคคหนิมิต ย่อมเกิดขึ้นได้ในดินที่เป็นอยู่เองตามปกติ คือ ในที่ดินที่เขาไถไว้ หรือในลานข้าว เหมือนพระมัลลกเถระเป็นตัวอย่าง

ได้ยินว่า ท่านพระมัลลกเถระนั้น ขณะที่ท่านเพ่งดูที่ดินที่เขาไถไว้ อุคคหนิมิตประมาณเท่าที่ซึ่งเขาไถไว้นั้นนั่นเทียวได้เกิดขึ้นแล้ว ท่านเจริญอุคคหนิมิตจนได้บรรลุฌาน ๔ แล้วเริ่มเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอันมีฌานนั้นเป็นปทัฏฐาน จนได้บรรลุพระอรหัตแล

🔅 วิธีทำปฐวีกสิณที่ต้องสร้างขึ้น
ส่วนโยคีบุคคลใดผู้ไม่ได้ทำบุญญาธิการไว้เหมือนอย่างที่กล่าวนั้น เธอต้องสร้างปฐวีกสิณขึ้นเอง อย่างที่ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากกรรมวิธีที่เรียนมาในสำนักของพระอาจารย์ และให้เลี่ยงเสียจากโทษของกสิณ ๔ ประการ จริงอยู่ โทษของปฐวีกสิณมีอยู่ ๔ ประการ ด้วยอำนาจทำปะปนกับสีเขียว ๑ สีเหลือง ๑ สีแดง ๑ สีขาว ๑ เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลอย่าได้เอาดินมีสีเขียวเป็นต้นมาทำกสิณ จงทำด้วยดินที่มีสีเหมือนแสงอรุณ เช่น ดินที่แม่น้ำคงคา ก็แหละ กสิณนั้นอย่าทำไว้ ณ ตรงกลางวัด หรือ ณ ที่ที่ภิกษุสามเณรสัญจรไปมา พึงทำไว้ตรงที่เป็นเพิง หรือบรรณศาลาซึ่งเป็นที่ลับอยู่ท้ายวัด จะเป็นกสิณชนิดที่โยกย้ายได้ หรือชนิดที่ติดอยู่กับที่ก็ได้

🔅 วิธีทำปฐวีกสิณที่โยกย้ายได้
วิธีทำกสิณ ๒ อย่างนั้น กสิณชนิดที่โยกย้ายได้ จึงเอาผืนผ้าเก่า หรือผืนหนังหรือผืนเสื่อลำแพน มาผูกจึงติดไม้ ๔ อัน แล้วเอาดินที่มีสีเหมือนแสงอรุณที่เก็บรากหญ้าและกรวดทรายออกหมดแล้ว ขยำได้ที่แล้ว มาทาเข้าที่ผืนผ้าหรือผืนหนังหรือเสื่อลำแพนนั้นทำให้เป็นสัณฐานกลมประมาณเท่ากระดังหรือปากขันโอ ดังที่กล่าวแล้ว ในเวลาที่จะทำบริกรรมภาวนา พึงเอาแผ่นกสิณนั้นไปปูลงที่พื้นแล้วเพ่งดูตามภาวนาวิธีต่อไป

🔅 วิธีทำปฐวีกสิณที่อยู่กับที่
กสิณชนิดที่ติดอยู่กับที่นั้น พึงเอาหลักหลาย ๆ พึงเอาหลักหลาย ๆ อันมาตอกกับพื้นดินโดยอาการคล้าย ๆ กับฝักบัว แล้วเอาเครือวัลย์มาถักร้อยตรึงเข้าไว้ ถ้าดินสีเหมือนแสงอรุณนั้นมีน้อยไม่เพียงพอ ให้เอาดินอื่นมาใส่ลงไว้ตอนล่างเสียก่อน แล้วจึงเอาดินมีสีเหมือนแสงอรุณซึ่งทำให้สะอาดแล้วมาใส่ทับข้างบน ทำให้มีสัณฐานกลมขนาดกว้าง ๑ คืบ ๔ นิ้ว แหละ ที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวว่า ประมาณเท่ากระดังหรือประมาณเท่ากับปากขันโอนั้น ท่านหมายเอาประมาณคือ ๑ คืบ ๔ นิ้วนี้แล ส่วนคำมีอาทิว่าชนิดที่มีกำหนดไม่ใช่ไม่มีกำหนด นั้น ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงว่า ปฐวีกสิณนั้นเป็นสิ่งที่มีกำหนดขอบเขต

🔅 วิธีนั่งเพ่งปฐวีกสิณ
เพราะเหตุที่ท่านแนะให้ทำกสิณอย่างมีกำหนดนั้น ครั้นกะกำหนดประมาณเท่าที่กล่าวคือ ๑ คืบ ๔ นิ้วอย่างนั้นแล้ว จึงทำสีที่ไม่กลืนกับสีดินอรุณให้ปรากฏขึ้นเป็นขอบเขตไว้ด้วยเกรียงไม้ แต่นั้นจงอย่าใช้เกรียงไม้นั้น จึงใช้เกรียงหินขัดทำให้เรียบเสมอเหมือนหน้ากลอง ครั้นแล้วจงปัดกวาดสถานที่นั้นให้สะอาด ให้สรงน้ำชำระกายแล้วจึงกลับมา นั่งบนตั๋งที่ตรึงอย่างมั่นคง มีเท้าสูง ๑ คืบ ๔ นิ้ว ซึ่งเตรียมตั้งไว้ ณ สถานที่ภายในระยะห่าง ๒ ศอก ๑ คืบแต่ดวงกสิณ จริงอยู่ เมื่อนั่งไกลกว่านั้นกสิณก็จะไม่ปรากฏชัด เมื่อนั่งใกล้กว่านั้นโทษแห่งกสิณทั้งหลายเช่นรอยฝ่ามือเป็นต้นก็จะปรากฏให้เห็น เมื่อนั่งสูงกว่านั้นย่อมจะต้องน้อมคอลงคือก้มหน้าลงตู เมื่อนั่งต่ำกว่านั้นก็จะปวดเข่า เพราะฉะนั้น จึงนั่งโดยทำนองที่กล่าวแล้วนั่นแล แล้วจงพิจารณาถึงโทษในกามทั้งหลาย โดยนัยมีอาทิว่า กามทั้งหลายมีความยินดีนิดหน่อย แต่มีทุกข์มาก พึงเป็นผู้มีความพอใจในเนกขัมมะมีฌานเป็นต้น อันเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอันเป็นอุบายล่วงพ้นซึ่งทุกข์ทั้งปวง พึงทำปีติและปราโมชให้บังเกิดขึ้น ด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณพระธรรมคุณและพระสังฆคุณ พึงเป็นผู้มีความเคารพอย่างแม่นมั่นอยู่ในข้อปฏิบัติว่า เนกขัมมปฏิปทานี้นั้น เป็นข้อปฏิบัติอันพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลายทุก ๆ พระองค์ได้ปฏิบัติมาแล้ว และพึงทำความอุตสาหะให้เกิดว่า เราจักเป็นผู้มีส่วนได้ดื่มรสความสุขอันเกิดแต่ความสงัดด้วยข้อปฏิบัติอันนี้อย่างแน่นอน แล้วจึงภาวนา ลืมตาแต่พอดี จับเอานิมิตในปฐวีกสิณนั้น โดยอาการอันสม่ำเสมอเรื่อย ๆ ไป

จริงอยู่ เมื่อลืมตากว้างมากไปก็จะเมื่อยตา และดวงกสิณก็จะปรากฏชัดเกินไปด้วยเหตุนั้นอุคคหนิมิตก็จะไม่เกิดขึ้นได้ เมื่อลืมตาแคบไป ดวงกสิณก็จะไม่ปรากฏชัดและจิตก็จะห่อเหี่ยว แม้ด้วยเหตุนี้อุคคหนิมิตก็จะไม่เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลจึงภาวนาลืมตาแต่พอดี จับเอานิมิตในปฐวีกสิณนั้น โดยอาการอันสม่ำเสมอ เหมือนดูเงาหน้าในบานกระจกฉะนั้น และอย่าพิจารณาถึงสีของดิน อย่าเอาใจใส่ถึงลักษณะ
ของดินเช่นความแข็งของดินเป็นต้น แต่ก็มิใช่จะปฏิเสธสีเสียทีเดียว พึงตั้งจิตไว้ในคำบัญญัติว่าดิน ด้วยอำนาจธาตุดินเป็นสิ่งที่มากกว่าธาตุอื่น แล้วพิจารณาดินพร้อมกับสีที่อาศัยพร้อม ๆ กันไป 
แหละในบรรดาชื่อของดินทั้งหลายในคำบาลี เช่น ปฐวี มหี เมทนี ภูมิ วสุธา และวสุนธรา เป็นต้น โยคีบุคคลปรารถนาชื่อใด และชื่อใดสำเร็จเป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่ความจำของเธอ เธอก็พึงระบุเอาชื่อนั้น หรือพระอาจารย์จึงบอกชื่อนั้นให้แก่เธอ อีกประการหนึ่ง ที่ชื่อว่า ปฐวี นี่นั่นเทียว ปรากฏเป็นที่รู้จักกันมากกว่าชื่ออื่น ฉะนั้น โยคีบุคคลพึงภาวนาด้วยคำบาลี ปฐวี ปฐวี หรือด้วยคำไทยว่า ดิน-ดิน ดังนี้ ด้วยอำนาจเป็นชื่อที่ปรากฏนั่นเทียว และบางครั้งจึงลืมตาดูนิมิต บางครั้งจึงหลับตาเสียแล้วนึกทางใจ อุคคหนิมิตยังไม่เกิดขึ้นตราบใด ตราบนั้นก็จงภาวนาเรื่อย ๆ ไป โดยนัยนี้แหละ จนถึงร้อยครั้งพันครั้ง หรือ แม้จะมากครั้งกว่านั้นขึ้นไปก็ตาม

🔅 ได้อุคคหนิมิต
เมื่อโยคีบุคคลภาวนาอยู่อย่างนั้น กาลใดหลับตานึกทางใจนิมิตในปฐวีกสิณนั้นมาสู่คลองจักษุ คือเข้าถึงความเป็นอารมณ์ของมโนทวาริกชวนจิตกาลนั้น ย่อมได้ชื่อว่า อุคคหนิมิต เกิดแล้ว นับแต่เวลาอุคคหนิมิตเกิดแล้วไปโยคีบุคคลไม่ต้องนั่งภาวนาอยู่ ณ ที่ดวงกสิณนั้นอีก จึงกลับเข้าสู่ที่อยู่ของตนแล้วนั่งภาวนาอยู่ ณ ที่นั้นเถิด

อนึ่ง เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ชักช้าเสียเวลาในเพราะอันที่จะต้องล้างเท้า โยคีบุคคลจำต้องมีรองเท้าชนิดชั้นเดียวกับไม้เท้าด้วย เพื่อว่าถ้าสมาธิที่ยังอ่อนจะเสื่อมหายไปด้วยเหตุอันไม่เป็นที่สบายบางอย่างแล้ว โยคีบุคคลจะได้สวมรองเท้าถือไม้เท้าไปยังที่เดิมนั้น นั่งเพ่งกสิณจนได้อุคคหนิมิตอีก จึงกลับมาอยู่ที่ของตนนั่งคู่บัลลังก์ตั้งกายให้ตรงภาวนาเรื่อยๆไป

🔅 ได้ปฏิภาคนิมิต
อันโยคีบุคคลนั้นจึงพยายามนึกถึงอุคคหนิมิตนั้นให้บ่อย ๆ ทำกัมมัฏฐานให้เป็นอันความนึกตะล่อมมาไว้ในจิตแล้ว อันความนึกชอบตะล่อมมาไว้ในจิตแล้ว เมื่อโยคีบุคคลทำกัมมัฏฐานให้เป็นอันความนึกตะล่อมมาไว้ในจิตแล้ว อันความนึกชอบหมายความว่า การเห็นนิมิตนั้นไม่ได้อาศัยจักขุทวารเหมือนแต่แรก ๆ นิมิตนั้นเกิดขึ้นทางมโนทวารโดยตรง เมื่อจิตทำหน้าที่ไปถึงขณะชวนจิตแล้ว จิตก็เห็นนิมิตนั้นด้วยจิต นิมิตที่เห็นด้วยจิตนี้แลเรียกว่าอุคคหนิมิต ตะล่อมมาไว้ในจิตแล้วอย่างนี้ นิวรณ์ทั้งหลายมีกามฉันทะเป็นต้นก็จะสงบลง และกิเลสทั้งหลายอันตั้งอยู่ในฐานะเดียวกันกับนิวรณ์นั้น ก็จะระงับหายไปโดยลำดับแห่งภาวนา จิตย่อมตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ ปฏิภาคนิมิต ย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการฉะนี้

🔅 ความแปลกกันแห่งนิมิตทั้ง ๒
ในนิมิตทั้ง ๒ นั้น ความแปลกกันแห่งอุคคหนิมิตอันก่อนกับปฏิภาคนิมิตมีดังนี้ คือ ในขั้นอุคคหนิมิตยังมีโทษแห่งกสิณปรากฏให้เห็นอยู่ได้ ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ผุดผ่องกว่าอุคคหนิมิตนั้นตั้งร้อยเท่าพันเท่า เป็นดุจชำแรกอุคคหนิมิตออกมาคล้ายกับดวงแว่นที่ถอดออกจากถุง คล้ายถาดสังข์ที่ขัดดีแล้ว คล้ายดวงจันทร์ที่ออกจากกลีบเมฆ และคล้ายหมู่นกยางอยู่ที่หน้าเมฆ ก็แหละ ปฏิภาคนิมิตนั้นไม่มีสีไม่มีสัณฐาน เพราะไม่ใช่สภาวปรมัตถ์ จริงอยู่ถ้าปฏิภาคนิมิตนั้นจะพึงเป็นสิ่งที่มีสีและสัณฐานเช่นนี้แล้ว ก็จะพึงเป็นรูปหยาบที่รู้ได้ด้วยตาเนื้อ เข้าถึงสัมมสนญาณได้ ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ได้ แต่นี้หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ มันเป็นสักว่าอาการที่ปรากฏแก่ผู้ได้สมาธิซึ่งเกิดจากสัญญาภาวนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

🔅 ได้อุปจารสมาธิ
ก็แหละ นับจำเดิมแต่เวลาปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว นิวรณ์ทั้งหลายมีกามฉันทะ เป็นต้น ย่อมสงบไปเองนั่นเทียว กิเลสทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในฐานะเดียวกันกับนิวรณ์นั้นก็ระงับไปเองด้วย จิตก็เป็นอันตั้งมั่นแล้วด้วย อุปจารสมาธิ นั่นแล

สมาธิ ๒ อย่าง
แหละสมาธินั้นมี ๒ อย่าง คือ อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑ จิตในอุปจารภูมิ หรือในปฏิลาภภูมิ (ภูมิที่ได้อัปปนาฌาน) ย่อมตั้งมั่นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ใน ๒ ภูมินั้น จิตในอุปจารภูมิย่อมตั้งมั่น เพราะการประหานเสียได้ซึ่งนิวรณ์ จิตในปฏิลาภภูมิ ย่อมตั้งมั่นเพราะความบังเกิดขึ้นแห่งองค์ฌาน

เหตุที่ต่างกันแห่งสมาธิ ๒ อย่าง
ก็แหละ สมาธิ ๒ อย่างมีเหตุต่างกันดังนี้ องค์ฌานทั้งหลายในอุปจารสมาธิยังไม่มีกำลัง เพราะองค์ฌานทั้งหลายยังไม่เกิดกำลัง คือยังไม่บรรลุซึ่งกำลังแห่งภาวนา เปรียบเหมือนเด็กเล็ก ๆ ที่พยุงให้ลุกขึ้นยืนแล้วก็ล้มลงไปที่พื้นบ่อย ๆ ฉันใด เมื่ออุปจารสมาธิเกิดขึ้นนั้น บางทีจิตก็ทำนิมิตให้เป็นอารมณ์ บางทีก็ตกลงสู่ภวังค์ฉันนั้น ส่วนในอัปปนาสมาธิ องค์ฌานทั้งหลายมีกำลัง เพราะองค์ฌานเหล่านั้นเกิดมีกำลังแล้ว เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง ลุกจากที่นั่งแล้วพึ่งยืนอยู่ได้แม้ตลอดทั้งวันฉันใด แม้เมื่ออัปปนาสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ฌานจิตตัดวาระแห่งภวังค์ครั้งเดียว แล้วก็ดำรงอยู่ตลอดคืนตลอดวันแม้ทั้งสิ้น ย่อมเป็นไปอยู่ด้วยอำนาจลำดับแห่งกุศลชวนจิตอย่างเดียวเท่านั้น

🔅 รักษาปฏิภาคนิมิตเหมือนพระครรภ์จักรพรรดิ
ในนิมิต ๒ อย่างนั้น ปฏิภาคนิมิตซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับอุปจารสมาธินั้น ใดการที่จะทำให้ปฏิภาคนั้นเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าโยคีบุคคลสามารถที่จะเจริญปฏิภาคนิมิตนั้นไป จนบรรลุซึ่งอัปปนาสมาธิเสียได้ด้วยบัลลังก์นั้นทีเดียว ข้อนั้นนับเป็นโชคดี แต่ถ้าไม่สามารถจะปฏิบัติได้เช่นนั้น แต่นั้น โยคีบุคคลนั้นอย่าได้ประมาท พึงรักษาปฏิภาคนิมิตนั้นไว้เหมือนกับพระครรภ์ที่ทรงไว้ซึ่งทารกผู้จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฉะนั้น เพราะเมื่อรักษาปฏิภาคนิมิตไว้ได้เช่นนี้ อุปจารฌานที่ได้แล้วก็จะไม่มีการเสื่อมหายไป แต่เมื่อไม่มีการรักษาแม้อุปจารฌานที่ได้แล้วนั้นก็จะเสื่อมหายไปเสีย

ขณะที่จิตทำนิมิตให้เป็นอารมณ์อยู่ คือ แนบเฉยอยู่กับอารมณ์อันเดียว ไม่ตกภวังค์นั้น ชื่อว่า จิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตปล่อยอารมณ์นั้นเสีย ตกกระแสภวังค์ ชื่อว่าจิตเสียสมาธิ, อุปจารสมาธินั้นเป็นสมาธิที่ยังไม่มั่นคง เดี๋ยวขึ้นสู่วิถีเดี๋ยวตกภวังค์ ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ ซึ่งมีอาการเหมือนเด็กเล็ก ๆ ล้ม ๆ ลุก ๆ ฉะนั้น

🔅 วิธีรักษาปฏิภาคนิมิต
ต้องเว้นอสัปปายะ ๗ และเสพสัปปายะ ๗ ในปฏิภาคนิมิตนั้น มีวิธีรักษาดังต่อไปนี้
อาวาโส โคจโร ภสสํ ปุคคโล โภชนํ อุตุ อิริยาปโถติ
สตุเตเต อสปฺปาเย วิวชุชเย 
สปฺปาเย สตุต เสเวถ เอวญฺหิ
ปฏิปซฺซโต นจิเรเนว กาเลน โหติ กสฺสจิ อปฺปนา

โยคีบุคคลใดได้ปฏิภาคนิมิตแล้วนั้น พึงเว้นซึ่งธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ๗ อย่างเหล่านี้ คือ
๑. อาวาโส ได้แก่ที่อยู่อันไม่เป็นที่สบาย  
๒. โคจโร ได้แก่หมู่บ้านบิณฑบาตไม่เป็นที่สบาย
๓. ภสสํ ได้แก่คำพูดอันไม่เป็นที่สบาย
๔. ปุคคโล ได้แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่สบาย
๕. โภชนํ ได้แก่อาหารอันไม่เป็นที่สบาย
๖. อุตุ ได้แก่อากาศอันไม่เป็นที่สบาย และ
๗. อิริยาปโถ ได้แก่อิริยาบถอันไม่เป็นที่สบาย

และจึงต้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ๗ อย่างตรงข้าม เพราะเมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ ไม่ช้าไม่นานเท่าไรนักเลย โยคีบุคคลบางท่านก็ได้สำเร็จอัปปนาฌานต่อไป

อธิบายอสัปปายะ ๗ และสัปปายะ ๗

๑. อาวาส-ที่อยู่ 
ในที่อยู่ ๒ อย่างนั้น เมื่อโยคีบุคคลอยู่ในที่อยู่อันใด นิมิตที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมหายไป และสติที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น จิตที่ไม่เป็นสมาธิก็ไม่เป็นสมาธิ ที่อยู่เช่นนี้ชื่อว่า ที่อยู่ไม่เป็นที่สบาย เมื่อโยคีบุคคลอยู่ ณ ที่ใด นิมิตย่อมเกิดขึ้นด้วย ย่อมถาวรมั่นคงอยู่ด้วยสติ ย่อมตั้งมั่นในนิมิตนั้น จิตก็เป็นสมาธิ เหมือนพระปธานิยติสสเถระผู้อยู่ ณ วัดนาคบรรพตเป็นตัวอย่าง ที่อยู่เช่นนี้ ชื่อว่า ที่อยู่เป็นที่สบาย เพราะฉะนั้น ในวัดใดมีที่อยู่หลายแห่งด้วยกัน ในวัดเช่นนั้น โยคีบุคคลพึงอยู่ทดลองดูแห่งละ ๓ วัน ๆ ณ แห่งใดทำให้จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ ก็พึงอยู่ ณ ที่แห่งนั้นเถิด จริงอยู่ เพราะเหตุที่ได้ที่อยู่เป็นที่สบาย ภิกษุ ๕๐๐ รูปซึ่งอยู่ ณ ถ้ำจูฬนาคะในประเทศลังกา เรียนเอากัมมัฏฐานแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัต ณ ถ้ำนั้นแล แหละ ณ ที่อื่น ๆ พระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระโสดาบันเป็นต้น ได้บรรลุถึงขั้นอริยภูมิแล้วได้บรรลุพระอรหัต ณ ที่นั้น ๆ คุณนานับไม่ถ้วน แม้ที่วัดอื่น ๆ เช่น วัดจิตตลบรรพตเป็นต้น ก็เช่นเดียวกันนี้

๒. โคจรคาม-หมู่บ้านบิณฑบาต
ก็แหละ โคจรคามคือหมู่บ้านสำหรับไปบิณฑบาตแห่งใด มีอยู่ด้านทิศเหนือหรือด้านทิศใต้ ๑ มีอยู่ในที่ไม่ห่างไกลมากนัก คือภายในระยะทางหนึ่งโกสะครึ่ง ประมาณพันชั่วคันธนู หรือ ๒ กิโลเมตร ๑ (๔ ศอกเป็น ๑ ธนู, ๕๐๐ ธนู เป็น ๑ โกสะ, ๔ โกสะ เป็น ๑ คาวุต, ๔ คาวุต เป็น ๑ โยชน์ เท่ากับ ๔๐๐ เส้น, ๑ โกสะ เท่ากับ ๒๕ เส้น) มีภิกษาหารบริบูรณ์หาได้สะดวก ๑ หมู่บ้านเช่นนั้น ชื่อว่า หมู่บ้านบิณฑบาตเป็นที่สบาย อย่างตรงกันข้าม ชื่อว่าหมู่บ้านบิณฑบาตไม่เป็นที่สบาย 

๓. ภัสสะ-คำพูด
ถ้อยคำที่นับเนื่องในติรัจฉานกถา ๓๒ ประการ มีการพูดถึงเรื่องพระราชา เป็นต้น ชื่อว่าเป็นถ้อยคำไม่เป็นที่สบาย เพราะถ้อยคำเช่นนั้น ย่อมเป็นไปเพื่ออันตรธานเสียแห่งนิมิตของโยคีบุคคลนั้น ถ้อยคำที่อาศัยกถาวัตถุ ๑๐ ประการ” มีพูดถึงเรื่องความมักน้อยเป็นต้น" ชื่อว่า เป็นถ้อยคำเป็นที่สบาย แม้ถึงถ้อยคำเป็นที่สบายเช่นนั้น ก็พึงพูดแต่พอประมาณ

๔. ปุคคโล-บุคคล
บุคคลผู้ไม่ชอบพูดเรื่องติรัจฉานกถา เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติมีศีลเป็นต้นที่โยคีบุคคลอาศัยแล้ว จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นย่อมตั้งมั่น หรือจิตที่ตั้งมั่นแล้วย่อมมั่นคงยิ่งขึ้น บุคคลเห็นปานนี้ ชื่อว่า เป็นบุคคลเป็นที่สบาย ส่วนบุคคลที่ชอบประคบประหงมบำรุงตกแต่งร่างกาย ชอบพูดแต่เรื่องติรัจฉานกถา ชื่อว่า บุคคลไม่เป็นที่สบาย เพราะบุคคลเช่นนั้นย่อมทำปฏิภาคนิมิตนั้นให้เศร้าหมองได้ทีเดียว เปรียบเหมือนน้ำขี้ตมทำน้ำที่ใส่ให้ขุ่นได้ฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงปฏิภาคนิมิตดอก แม้แต่สมาบัติของพระหนุ่มผู้อยู่ ณ เขาโกฏบรรพตรูปหนึ่ง ก็ยังเสื่อมหายไป เพราะเหตุอาศัยบุคคลไม่เป็นที่สบายเช่นนั้น

๕.๖, โภชนะ-อาหาร และอุตุ-อากาศ
ก็แหละ อาหารที่มีรสหวาน ย่อมเป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน ที่มีรสเปรี้ยวย่อมเป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน แม้อากาศเย็นก็เป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน อากาศร้อนเป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน เพราะฉะนั้น เมื่อโยคีบุคคล ร้องเสพอาหารหรืออากาศชนิดใดจึงมีความผาสุกสบาย หรือจิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ย่อมตั้งมั่นหรือจิตที่ตั้งมั่นแล้วย่อมมั่นคงยิ่งขึ้น อาหารชนิดนั้นและอากาศชนิดนั้น ชื่อว่าเป็นที่สบาย อาหารและอากาศชนิดอื่น นอกจากนี้ ชื่อว่าไม่เป็นที่สบาย

๗. อิริยาปโด-อิริยาบถ
แม้ในอิริยาบถ ๔ บางคนมีอิริยาบถเดินเป็นที่สบาย บางคนก็มีอิริยาบถนอน อิริยาบถยืนหรืออิริยาบถนั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นที่สบาย เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลพึงทดลอง อิริยาบถนั้นดูอย่างละ ๓ วัน เหมือนกับทดลองที่อยู่ ในอิริยาบถใดจิตที่ยังไม่ตั้งมั่นย่อมตั้งมั่น หรือจิตที่ตั้งมั่นแล้วย่อมมั่นคงยิ่งขึ้น พึงทราบว่าอิริยาบถนั้น ชื่อว่าเป็นอิริยาบถเป็นที่สบาย อิริยาบถอื่น ๆ นอกนี้ ไม่ใช่เป็นอิริยาบถที่สบาย

ด้วยประการฉะนี้ โยคีบุคคลพึงเว้นธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ๗ อย่างนี้ จึงเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ๗ อย่างนี้นั้นเถิด เพราะเมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ และเสพปฏิภาคนิมิตมาก ๆ ขึ้น ไม่ช้าไม่นานเท่าไรเลย โยคีบุคคลบางคนก็จะได้สำเร็จอัปปนาฌานแน่นอน ถ้ายังไม่สำเร็จอัปปนาฌานต้องบำเพ็ญอัปปนาโกศล ๑๐ ประการ

ก็แหละโยคีบุคคลใดแม้จะได้ปฏิบัติอย่างนั้นแล้วก็ยังไม่ได้สำเร็จอัปปนาฌาน โยคีบุคคลนั้นพึงบำเพ็ญอัปปนาโกศล (คือวิธีที่จะให้มีความฉลาดในอัปปนา) ให้เกิดขึ้นโดยบริบูรณ์ต่อไป ในอัปปนาโกศลนั้น มีนัยดังนี้ อันโยคีบุคคลจำต้องปรารถนาวิธีที่จะให้มีความฉลาดในอัปปนาสมาธิ โดยประการ ๑๐ อย่าง คือ
๑. วัตถุวิสทกิริยโต โดยทำวัตถุให้สะอาด
๒. อินทรียสมตตปฏิปาทนโต โดยทำอินทรีย์ให้ถึงความเสมอกัน
๓. นิมิตตกุสลโต โดยฉลาดในนิมิต
๔. จิตตปคุคหโต โดยยกจิตในสมัยที่ควรยก
๕. จิตตนิคคหโต โดยข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม
๖. จิตตสมุปหํสโต โดยพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง
๗. จิตตอซุญเปกขโต โดยเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย
๘. อสมาหิตบุคคลปริวชุชนโต โดยเว้นบุคคลผู้ไม่มีสมาธิ
๙. สมาหิตบุคคลเสวนโต โดยสมาคมกับบุคคลผู้มีสมาธิ และ

วันศุกร์

เลือกหาวัดอันสมควรแก่ภาวนา

เลือกหาวัดอันสมควรแก่ภาวนา

บัดนี้จะอรรถาธิบายโดยพิสดารในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่าพึงออกจากวัดอันไม่สมควรแก่การภาวนาสมาธิ ไปอยู่ ณ ที่วัดอันสมควร ดังต่อไปนี้ : อันโยคีบุคคลนั้นจึงอยู่เจริญกัมมัฏฐานให้บริสุทธิ์ ณ ที่วัดเดียวกันกับอาจารย์นั่นแหละ ตราบเท่าที่ตนมีความผาสุกสบาย แต่ถ้าไม่มีความผาสุกสบาย ณ ที่วัดนั้น ก็พึ่งไปอยู่ ณ ที่วัดอื่นอันเป็นที่สบาย ในระยะทางห่างจากวัดพระอาจารย์ประมาณร้อยเส้นหรือสองร้อยเส้นหรือแม้ประมาณสี่ร้อยเส้นก็ได้ ก็แหละ ครั้นอยู่ห่างในระยะทางเท่านั้น เมื่อเกิดความสนเท่ห์สงสัยหรือเกิดความหลงลืม ในหัวข้อกัมมัฏฐานบางประการ จักได้ตื่นลุกขึ้นทำกิจวัตรในวัดให้เสร็จแต่เช้า แล้วออกจากวัดเที่ยวบิณฑบาตไปในระหว่างทาง พอเวลาฉันเสร็จแล้ว ก็ให้ถึงที่อยู่ของพระอาจารย์พอดี สอบถามชำระกัมมัฏฐานให้บริสุทธิ์สิ้นสงสัยในสำนักของพระอาจารย์เสียแต่ในวันนั้น พอวันที่สองก็มนัสการกราบลาพระอาจารย์ แล้วก็ออกเดินทางกลับแต่เช้า เที่ยวรับบิณฑบาตไปในระหว่างทาง ยังไม่ทันจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอะไร ก็จักมาถึงที่อยู่ของตนพอดี ส่วนโยคีบุคคลผู้ซึ่งไม่ได้ที่อยู่อันผาสุกสบาย แม้ในระยะทางประมาณสี่ร้อยเส้นนั้น จงตัดข้อขอดที่เข้าใจได้ยากในกัมมัฏฐานให้กระจ่างแจ้งทุกประการ ชำระกัมมัฏฐานให้บริสุทธิ์ด้วยดีขึ้นอยู่กับใจได้แล้ว จะพรากออกจากวัดอันไม่สมควรแก่การภาวนาสมาธิ ไปอยู่ ณ ที่วัดอันสมควร แม้ไกล ๆ กว่านั้นก็ได้

🔅 วัดที่ไม่สมควรแก่สมาธิภาวนา

ในวัดที่สมควรและไม่สมควรนั้น วัดที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งชื่อว่า วัดไม่สมควร โทษ ๑๘ ประการ ในวัดนั้นดังนี้ คือ :
๑. มหตุตํ    วัดใหญ่
๒. นวตตํ    วัดสร้างใหม่
๓. ชิณฺณตตํ    วัดที่ชำรุด
๔. ปนุถนิสุสิตตฺตํ    วัดที่อิงทางหลวง
๕. โสณฺฑี    วัดมีสระน้ำ
๖. ปณฺณํ    วัดมีใบไม้ใช้เป็นผัก
๗. ปุปฺตํ    วัดมีไม้ดอก
๘. ผลํ    วัดมีไม้ผล
๙. ปตุถนียตา    วัดที่มีคนขึ้นมาก
๑๐. นครสนุนสุสิตตา    วัดที่อิงเมือง
๑๑. ทารุสนุนิสุสิตตา    วัดที่อิงป่าไม้
๑๒. เขตตสนุนิสุสิตตา    วัดที่อิงไร่นา
๑๓. วิสภาคานํ ปุคุคลานํ อตฺถิตา    วัดที่มีคนไม่ลงรอยกัน
๑๔. ปฏฏนสนุนสุสิตตา    วัดที่อิงท่า
๑๕. ปจจนุตสนุนสุสิตตา    วัดที่อิงบ้านป่าชายแดน
๑๖. รชุชสีมสนุนสุสิตตา    วัดที่อิงเขตแดนประเทศ
๑๗. อสปฺปายตา    วัดที่ไม่มีความสบาย
๑๘. กลยาณมิตฺตานํ อลาโภ    วัดที่หาอาจารย์ผู้กัลยาณมิตรไม่ได้

วัดที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้แล ชื่อว่าวัดที่ไม่สมควรแก่สมาธิภาวนา โยคีบุคคลไม่ควรไปอยู่ ณ วัดเช่นนั้น

วัดถ้ำดามบูลล่า ศรีลังกา

🔅 อธิบายวัดที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการ

ถาม - เพราะเหตุไรหรือจึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดอันประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการนั้น ?
ตอบ - เพราะเหตุดังต่อไปนี้

๑. วัดใหญ่

ในวัดใหญ่ ๆ ย่อมมีภิกษุและสามเณรที่ต่างจิตต่างใจกันมารวมอยู่เป็นจำนวนมาก ภิกษุสามเณรเหล่านั้น ย่อมจะไม่ช่วยกันทำกิจวัตร เพราะต่างก็เกี่ยงซึ่งกันและกัน สถานที่ทั้งหลาย เช่น ลานพระศรีมหาโพธิ์เป็นต้น ก็ไม่ช่วยกันปัดกวาดให้สะอาดเกลี้ยงเกลา น้ำฉันน้ำใช้ก็ไม่ช่วยกันตัก โยคีบุคคลนี้อยู่ ณ วัดเช่นนั้นแล้ว ครั้นตระเตรียมว่าจักไปบิณฑบาตในโคจรคาม ถือบาตรและจีวรเดินออกไป ถ้าเห็นกิจวัตรยังไม่มีใครทำ หรือหม้อน้ำดื่มยังเปล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอก็จะต้องหยุดทำกิจวัตร ตักน้ำดื่มมาเตรียมไว้ เมื่อไม่ทำหรือก็จะต้องอาบัติทุกกฏในเพราะเหตุวัตรเภท คือทำลายกิจวัตร เมื่อเธอมัวทำกิจวัตรอยู่เล่าเวลากาลก็จะล่วงเลยสายไป ครั้นเธอเข้าไปในโคจรคามสายมาก ภิกษาหารหมดเสียแล้ว ก็จะไม่ได้ภิกษาหารอะไรแม้แต่น้อย

อนึ่ง ถึงโยคีบุคคลจะได้หลบไปอยู่ ณ ที่อันเร้นลับแล้วก็ตาม ก็จะฟุ้งซ่านด้วยเสียงเจี๊ยวจ๊าวของพวกภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย และด้วยการงานต่าง ๆ ของสงฆ์ แต่วัดใหญ่ใดมีภิกษุสามเณรช่วยกันทำกิจวัตรเรียบร้อยหมดทุกอย่าง และไม่มีความกระทบกระเทือนแม้อย่างอื่น ๆ แต่ประการใด ก็ควรอยู่ ณ ที่วัดใหญ่แม้เห็นปานนั้นได้

๒. วัดสร้างใหม่

ในวัดที่สร้างใหม่นั้น ย่อมจะมีนวกรรมคือการก่อสร้างมากอย่างหลายประการ เมื่อโยคีบุคคลไม่ช่วยทำ เขาก็จะติเตียนเอา แต่ในวัดใดภิกษุทั้งหลายพูดให้โอกาสว่า “นิมนต์คุณทำสมณธรรมตามสบายเถิด นวกรรมการก่อสร้างพวกเราจักช่วยกันกระทำเอง” ดังนี้ ก็ควรอยู่ ณ ที่วัดซึ่งสร้างใหม่เห็นปานนี้ได้


๓. วัดที่ชำรุด

แหละ ในวัดที่ชำรุดทรุดโทรมนั้น ย่อมจะต้องมีสิ่งที่จะพึงปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงมาก ชั้นที่สุดแม้มาตรว่าเสนาสนะของตนเอง เมื่อไม่ปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลง เขาจะพากันติเตียนเอา เมื่อมัวแต่ปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงอยู่ กัมมัฏฐานก็จะเสื่อมไป แต่ในวัดใดที่มีภิกษุทั้งหลายพูดให้โอกาสว่า “นิมนต์คุณจงทำสมณธรรมตามสบายเถิดพวกเราจักช่วยกันปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงเอง” ดังนี้ ก็ควรอยู่ ณ ที่วัดซึ่งชำรุดเห็นปานนี้ได้

๔. วัดที่อิงทางหลวง

ในวัดที่อิงทางหลวงนั้นย่อมจะมีพวกภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายมารวมทั้งกลางคืนและกลางวัน โยคีบุคคลจะต้องให้เสนาสนะของตนแก่พวกอาคันตุกะที่มาถึงในเวลาวิกาลมืด แล้วตนเองจะต้องไปอยู่ที่โคนต้นไม้ หรือพลาญหิน” แม้ในวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นเช่นนี้นั่นเที่ยว ดังนั้นโอกาสย่อมจะไม่มีเพื่อกัมมัฏฐาน แต่ในวัดใดไม่มีการเบียดเบียนของพวกอาคันตุกะในทำนองนี้ โยคีบุคคลก็ควรอยู่ ณ ที่วัดซึ่งอิงทางหลวงเช่นนั้นได้

๕. วัดมีสระน้ำ

วัดมีสระน้ำนั้น ได้แก่วัดที่มีสระน้ำที่กรุด้วยหินถาวรมั่นคงเป็นหลักฐาน ในวัดเช่นนั้น ย่อมจะมีมหาชนพากันมาชุมนุมกันเพื่อต้องการน้ำ และพวกศิษย์ของพระเถระทั้งหลายผู้อาศัยราชตระกูลซึ่งอยู่ในเมือง ก็จะพากันมาซักย้อมผ้า เมื่อพวกลูกศิษย์เหล่านั้นมาถามหาภาชนะและฟื้นหรือรางย้อมผ้าเป็นต้น โยคีบุคคลก็จะต้องสาละวนคอยชี้บอกว่า อยู่ที่โน้น และ ที่โน้นแน่ เธอก็จะเป็นผู้กังวลเป็นนิจแม้ตลอดกาลทั้งปวง จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น ตามปกติภิกษุเจ้าของวัดจะต้องเคารพการปฏิสันถาร จึงต้องปฏิบัติเช่นนั้น

๖. วัดมีใบไม้ใช้เป็นผัก

ในวัดใดมีใบไม้ที่ใช้รับประทานได้นานาชนิดในวัดเช่นนั้น เมื่อโยคีบุคคลเรียนเอากัมมัฏฐานแล้วไปนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ ที่อยู่สำหรับกลางวัน พวกสตรีที่เก็บผักก็จะพากันร้องเพลงไปพลาง เลือกเก็บผักไปพลางอยู่ ณ ที่ใกล้ ๆ จะทำให้เป็นอันตรายแก่กัมมัฏฐานด้วยความกระทบแห่งเสียงอันเป็นข้าศึก จึงไม่ควรอยู่ ณที่วัดเช่นนั้น

๗. วัดที่มีไม้ดอก

แหละ ในวัดใดมีกอไม้ดอกนานาชนิดแตกบานอยู่อย่างสะพรั่ง แม้ในวัดเช่นนั้นก็จะเป็นอันตรายแก่กัมมัฏฐานเช่นเดียวกันนั่นเทียว จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น

๘. วัดที่มีไม้ผล

ในวัดใดมีไม้ผลนานาชนิด เช่นมะม่วง, ชมพู่ และขนุนเป็นต้น ในวัดเช่นนั้นคนทั้งหลายที่ต้องการผลไม้จะพากันมาขอ เมื่อไม่ให้ เขาก็จะโกรธ หรือมิฉะนั้นก็จะพากันสอยเอาโดยพลการ ตกเวลาเย็น โยคีบุคคลมาเดินจงกรมในกลางวัดเห็นคนเหล่านั้นเข้า ก็จะต่อว่ากับเขาว่า “อุบาสกทั้งหลาย ทำไมจึงพากันทำอย่างนั้น” เขาก็จะพากันด่าเอาตามชอบใจ เขาจะพยายามแม้เพื่อที่จะไม่ให้เธออยู่ต่อไป จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น

๙. วัดที่มีคนขึ้นมาก

ก็แหละ โยคีบุคคลผู้อยู่ ณ ที่วัดซึ่งมีคนขึ้นมาก เช่น วัดทักขิณคีรี วัดหัตถิกุจฉ วัดเจติยคีรี วัดจิตตลบรรพต (วัดเหล่านี้อยู่ในประเทศลังกาทั้งนั้น สมัยรจนาหนังสือนี้เป็นวัดมีชื่อเสียงคนขึ้นมาก)  ซึ่งชาวโลกยกย่องว่าเป็นที่เร้นลับ มนุษย ทั้งหลายพากันนิยมสรรเสริญว่า ท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์ แล้วใคร่จะได้กราบไหว้บูชาจึงพากันหลั่งไหลมาหาโดยรอบทิศ ด้วยเหตุนั้น โยคีบุคคลนั้นก็จะไม่มีความผาสุขสบาย แต่ว่าวัดเช่นนั้นย่อมเป็นที่สบายแก่โยคีบุคคลใด เวลากลางวันเธอพึงหลบไปอยู่เสีย ณ ที่อื่น ครั้นตกเวลากลางคืนจึงค่อยมาอยู่

๑๐. วัดที่อิงเมือง
ในวัดที่อิงเมืองนั้น ย่อมมีอิฏฐารมณ์ทั้งหลายมาผ่านสายตามากมาย มีกระทั่งแม้พวกนางกุมภทาสี*ทั้งหลายพากันถือหม้อน้ำเดินเสียดสืบไป ไม่หลีกทางให้กัน ทั้งมีพวกมนุษย์ที่เป็นใหญ่พากันไปกางม่านนั่งอยู่ตามวัด จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น (*นางกุมภทาสี ได้แก่พวกหญิงรับจ้างตักน้ำด้วยหม้อ พวกแขกเป็นต้นใช้หม้อตักน้ำและทูนศีรษะ แม้ทุกวันนี้ก็ทำเช่นนั้น คนภาคใต้บางจังหวัดก็นิยมประพฤติกันอยู่)

๑๑. วัดที่อิงป่าไม้

ก็แหละ ในวัดที่อิงป่าไม้นั้น วัดใดมีพืชและต้นไม้ที่ใช้ประกอบเครื่องอุปกรณ์แก่ทัพสัมภาระบ้านเรือนได้ ในวัดเช่นนั้น พวกคนเก็บฟืนทั้งหลายย่อมจะพากันทำความไม่ผาสุกให้ เหมือนกับพวกสตรีที่เก็บผักและเก็บดอกไม้ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นและไม้ทั้งหลายที่มีอยู่ในวัด มนุษย์ทั้งหลายชวนกันว่า เราจักไปตัดไม้เหล่านั้นมาทำเรือนแล้วก็พากันมาตัดเอาไม้ไป ถ้าในเวลาเย็น ๆ โยคีบุคคลออกจากกุฎีที่ทำความเพียรไปเดินจงกรมอยู่กลางวัด เห็นเขาแล้วก็จะพูดเตือนเขาว่า “อุบาสกทั้งหลาย ทำไมจึงพากันมาทำเช่นนี้" เขาก็จะพากันต่าเอาตามใจ และเขาจะพยายามเพื่อไม่ให้เธออยู่ต่อไปอีก จึงไม่ควรอยู่ ณ วัดเช่นนั้น

๑๒. วัดที่อิงไร่นา

แหละ วัดใดเป็นวัดที่สร้างอิงไร่นา คือมีไร่นาทั้งหลายล้อมรอบวัด ในวัดเช่นนั้นจะมีพวกมนุษย์พากันไปทำลานข้าวกลางวัดนั่นเทียว แล้วนวดข้าว บ้างก็จะพากันไปนอนตามหน้ามุข ย่อมจะพากันทำความไม่ผาสุกแม้อย่างอื่น ๆ ให้เป็นอันมาก แม้วัดใดมีสมบัติสงฆ์มากพวกรักษาวัด ก็ปล่อยโคทั้งหลายไปกัดกินข้าวของตระกูลทั้งหลาย บ้างก็จะพากันไปปิดกั้นทางน้ำไหล มนุษย์ทั้งหลายจะถือเอารวงข้าวมาเป็นพยานแสดงให้สงฆ์ทราบว่า พระผู้เป็นเจ้าเห็นไหม กรรมของพวกคนรักษาวัดของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนั้น ๆ ภิกษุทั้งหลายก็จะต้องไปยังประตูพระราชวังหรือประตูบ้านของราชมหาอำมาตย์ทั้งหลาย แม้วัดที่มีสมบัติสงฆ์มากเช่นนี้ ท่านก็สงเคราะห์เข้ากับวัดที่สร้างอิงไร่นานั่นเทียว จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น

๑๓. วัดที่มีคนไม่ลงรอยกัน

วัดที่มีคนไม่ลงรอยกันนั้น ได้แก่วัดที่มีภิกษุทั้งหลายผู้เข้ากันไม่ได้ คือเป็นผู้จองเวรกันและกันอยู่อาศัย อธิบายว่า เป็นวัดที่มีพวกภิกษุทำความทะเลาะกันครั้นถูกโยคีบุคคลห้ามปรามว่า อย่าได้พากันทำอย่างนี้เลยท่าน ฉะนี้แล้ว ก็จะเกิดหาเรื่องขึ้นว่า พวกเราเกิดฉิบหายแล้ว นับแต่เวลาที่ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นปกติรูปนี้มาถึงทีเดียว จึงไม่ควรอยู่ ณ วัดเช่นนั้น

๑๔. วัดที่อิงท่า

แม้วัดใดที่สร้างอิงท่าน้ำ (เช่นท่าเรือ) หรือที่สร้างอิงท่าบก (เช่นที่พักเกวียนหรือที่พักต่าง หรือท่าอากาศยาน สถานีจอดรถ) ในวัดเช่นนั้น ย่อมจะมีมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งโดยสารมาด้วยเรือและพวกโคต่าง ๆ เป็นต้น พากันเบียดเบียนทำความไม่ผาสุกให้อยู่เนือง ๆ ว่า ขอได้โปรดให้โอกาสที่พักด้วย ขอได้โปรดให้น้ำดื่มด้วย ขอได้โปรด
ให้เกลือด้วย ดังนี้เป็นต้น จึงไม่ควรอยู่ ณ วัดเช่นนั้น) สมัยนี้ หมายความว่า พระภิกษุจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลบ้านเมืองเสมอ เพราะเหตุคนวัดก่อเรื่องขึ้นให้ ทั้งนี้เพราะวัดมีสมบัติมากเป็นเหตุ

๑๕. วัดอิงบ้านป่าชายแดน

ในวัดที่สร้างอิงบ้านป่าชายแดนนั้น ย่อมจะมีแต่พวกมนุษย์ที่ไม่เลื่อมใสศรัทธาในรัตนะทั้งหลาย มีพระพุทธรัตนะเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น ความอยู่ผาสุกในวัดเช่นนั้นย่อมจะไม่มีแก่โยคีบุคคล

๑๖. วัดที่อิงเขตแดนประเทศ

ในวัดที่สร้างอิงเขตระหว่างประเทศนั้น ย่อมมีราชภัย จริงอยู่ พระราชาองค์หนึ่งย่อมจะทรงทำการรุกรบกับประเทศนั้น ด้วยทรงสำคัญว่า พระราชานี้ประพฤติเป็นไปในอำนาจของเรา แม้พระราชาอีกองค์หนึ่งนอกนี้ ก็จะทรงทำการรุกรบกับประเทศนอกนี้ด้วยสำคัญว่า พระราชานี้ไม่ประพฤติเป็นไปในอำนาจของเรา ภิกษุผู้โยคีบุคคลที่อยู่ในวัดเช่นนั้น บางครั้งก็จะเที่ยวไปในแว่นแคว้นแดนดินของพระราชาพระองค์นี้ บางครั้งก็จะเที่ยวไปในแว่นแคว้นแดนดินของพระราชาพระองค์นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกราชบุรุษทั้งหลายก็จะสำคัญผิดไปว่า ภิกษุนี้เป็นจารบุรุษ แล้วก็จะทำให้ถึงซึ่งความฉิบหายเสีย จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น

๑๗. วัดที่ไม่มีความสบาย

วัดที่ไม่มีความสบายนั้น ได้แก่วัดไม่เป็นที่สบาย เพราะเหตุเป็นที่มารอบแห่งอารมณ์ต่าง ๆ มีรูปอันเป็นข้าศึกคือรูปที่ยั่วเย้าเร้าหลอกเป็นต้น หรือเพราะเป็นวัดที่มีอมนุษย์ยึดครอง ในวัดที่มีอมนุษย์ยึดครองนั้น มีเรื่องตัวอย่างดังนี้:

มีเรื่องเล่าว่า พระเถระรูปหนึ่งอยู่ในวัดป่าแห่งหนึ่ง ครั้งนั้นมียักษิณีตนหนึ่งไปยืนขับร้องอยู่ที่ประตูบรรณศาลาของพระเถระนั้น พระเถระจึงได้ออกมายืนอยู่ที่ประตู ยักษิณีเลื่อนไปขับร้องอยู่ตรงศีรษะที่จงกรม พระเถระได้ตามไปยังที่ศีรษะที่จงกรมอีก ยักษิณีได้เลื่อนไปยืนขับร้องอยู่ที่ปากเหวซึ่งลึกร้อยชั่วบุรุษ ด้วยหมายว่า จักผลักพระเถระซึ่งตามมา ณ ที่นี้ด้วยเสียงเพลงขับ ให้ตกลงไปในเหวแล้วก็จักกิน แต่พระเถระได้กลับคืนเสีย ไม่ตามไป ในทันใดนั้น ยักษิณีได้วิ่งมาโดยเร็ว จับที่ก้านคอพระเถระพลางพูดว่าจะไปไหน แล้วได้เรียนพระเถระว่า “ท่านเจ้าขา บุคคลอย่างท่านพระผู้เป็นเจ้านี้ ดิฉันจับกินมามากแล้ว ไม่ใช่เพียงคนสองคนเท่านั้น” ฉะนี้

๑๘. วัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้

วัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้นั้น อธิบายว่า ในวัดใดโยคีบุคคลไม่อาจที่จะได้ซึ่งกัลยาณมิตรคือพระอาจารย์ หรือท่านผู้เสมอกับพระอาจารย์ก็ดี พระอุปัชฌาย์หรือท่านผู้เสมอกับพระอุปัชฌาย์ก็ดี การหาไม่ได้ซึ่งกัลยาณมิตรทั้งหลายเช่นนั้นในวัดนั้น นับเป็นโทษอันใหญ่หลวงที่เดียว

ด้วยประการฉะนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า วัดที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้ ชื่อว่าวัดอันไม่สมควรแก่สมาธิภาวนา ข้อนี้สมด้วยคาถาประพันธ์อันท่านอรรถกถาจารย์พรรณนาไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย ดังนี้:
มหาวาสํ นวาวาสํ ชราวาสญฺจ ปนุถนี
โสณฺฑึ ปณุณญฺจ ปุปฺผญฺจํ ผลํ ปตฺถิตเมว จ
นครํ ทารุณา เขตฺตํ วิสภาเคน ปฏฺฏนํ
ปจุจนฺตสีมาสปฺปายํ ยตฺถ มิตฺโต น ลพุภติ
อฏฺฐารเสตานิ ฐานานิ อิติ วิญฺญาย ปณฺฑิโต
อารกา ปริวชุเชยุย มคุคํ สปฺปฏิภยํ ยถา

บัณฑิตทราบถึงสถานที่ ๑๘ ประการเหล่านี้ คือ วัดใหญ่ ๑ วัดสร้างใหม่ ๑ วัดที่ชำรุด ๑ วัดอิงทางหลวง ๑ วัดมีสระน้ำ ๑ วัดมีใบไม้ใช้เป็นผัก ๑ วัดมีไม้ดอก ๑ วัดมีไม้ผล ๑ วัดอิงไร่นา ๑ วัดที่มีคนขึ้นมาก ๑ วัดอิงเมือง ๑ วัดที่อิงป่าไม้ ๑ วัดมีคนไม่ลงรอยกัน ๑ วัดอิงท่า ๑ วัดอิงบ้านป่าชายแดน ๑ วัดอิงเขตแดนประเทศ ๑ วัดที่ไม่มีความสบาย ๑ และวัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้ ๑ ว่าเป็นวัดอันไม่สมควรแก่ภาวนาฉะนี้แล้ว พึงหลีกเว้นเสียให้ห่างไกลเหมือนพ่อค้าหลีกเว้นทางอันมีภัยเฉพาะหน้า ฉะนั้น

🔅 วัดที่สมควรแก่สมาธิภาวนา ๕ ประเภท

ก็แหละ วัดใดประกอบด้วยองคคุณ ๕ ประการ เช่นไม่ไกลไม่ใกล้นักแต่โคจรคาม เป็นต้น วัดเช่นนี้จัดเป็นวัดที่สมควรแก่ภาวนา สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า:-

ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะที่ประกอบด้วยองคคุณ ๕ ประการ เป็นอย่างไร ?
อย่างนี้คือ
    ๑.  ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะในศาสนานี้ ย่อมเป็นสถานที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นักแต่โคจรคาม มีทางไปทางมาสะดวกสบาย ปลอดภัย
    ๒. กลางวันไม่พลุกพล่านด้วยผู้คนกลางคืนเงียบสงัดไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม
    ๓. ไม่มีเหลือบยุงและสัตว์เลื้อยขบกัดไม่มีสัมผัสอันเกิดแต่ลมและแดดรบกวน
    ๔. แหละ ผู้ที่อยู่ในเสนาสนะนั้นไม่มีความฝืดเคืองด้วยปัจจัย ๔ คือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยาแก้ไข้
    ๕. แหละ ในเสนาสนะนั้น มีภิกษุชั้นเถระ ผู้พหูสูต สำเร็จการศึกษาปริยัติธรรม ทรงธรรมทรงวินัยและทรงมาติกาคือหัวข้อแห่งธรรมวินัย ที่เข้าไปเรียนสอบสวนทวนถามตามกาลอันควรว่า ท่านขอรับ บทนี้เป็นไฉน มีอรรถาธิบายอย่างไรฉะนี้แล้ว ท่านเถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำให้ตื่นข้อที่ยังไม่ได้ทำให้ตื้น และช่วยบรรเทาความสงสัยเป็นอเนกประการ

ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะย่อมประกอบด้วยองคคุณ ๕ ประการ ฉะนี้แล อรรถาธิบายพิสดารในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า จึงออกจากวัดอันไม่สมควรแก่สมาธิภาวนา ไปอยู่ ณ ที่วัดอันสมควร ยุติลงเพียงเท่านี้

🔅 ตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ

ในหัวข้อสังเขปว่า พึงทำการตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ เสีย นั้น มีอรรถาธิบายว่า อันโยคีบุคคลผู้อยู่ในวัดอันสมควรแก่ภาวนาอย่างนี้แล้ว เมื่อมีเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้ชนิดใดอยู่ ก็พึงตัดเครื่องกังวลแม้ชนิดนั้นเสียก่อน

ทำอย่างไร ? ทำอย่างนี้คือ ผม เล็บและขนที่ยาวทิ้งโกนหรือตัดเสียให้เรียบร้อย จีวรที่เก่าชำรุด ก็พึงทำให้มั่นคงด้วยการปะหรือดามเป็นต้น หรือพึงชุนหรือถักเสียให้เรียบร้อย ถ้าที่บาตรเป็นสนิม ก็พึงระบมบาตรให้มีสี จึงชำระปัดกวาดเตียงและตั้งให้สะอาด อรรถาธิบายพิสดารในหัวข้อสังเขปว่า พึงทำการตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ ยุติลงเพียงนี้



วันพฤหัสบดี

วิธีสอนกัมมัฏฐาน

วิธีสอนกัมมัฏฐาน

เมื่อโยคีบุคคลนั้นซึ่งมีอัชฌาสัยและอธิมุติสมบูรณ์ได้ที่แล้วดังพรรณนามาแล้ว ขอเอากัมมัฏฐานอันอาจารย์ผู้ใด้สำเร็จเจโตปริยญาณ พึงตรวจสอบวาระจิตให้ทราบจริยาเสียก่อน สำหรับอาจารย์ที่ไม่ได้สำเร็จเจโตปริยญาณนอกนี้ พึงทราบจริยาโดยสอบถามโยคีบุคคลโดยนัยมีอาทิว่า

เธอเป็นคนจริตอะไร หรือ ?
ธรรมอะไรบ้างรบกวนเธอมาก ?
เมื่อเธอพิจารณาถึงกัมมัฏฐานข้อไหน จึงมีความผาสุกสบาย ?
จิตของเธอน้อมไปในกัมมัฏฐานข้อไหน ?


ครั้นทราบจริยา อย่างนี้แล้วจึงสอนกัมมัฏฐานอันเหมาะสมแก่จริยาต่อไป

พึงสอนกัมมัฏฐานด้วย ๓ วิธี

ก็แหละ อันอาจารย์นั้น เมื่อจะสอนกัมมัฏฐานจึงสอนด้วยวิธี ๓ ประการ คือ สำหรับโยคีบุคคลผู้เรียนกัมมัฏฐานอยู่แล้วตามปกติ จึงให้สาธยายให้ฟังต่อหน้าสัก ๑ หรือ ๒ ที่นั่ง (๑-๒ จบ) แล้วจึงมอบให้ อย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่อยู่ประจำในสำนักจึงสอนให้ทุก ๆ ครั้งที่เธอมาหา อย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่เรียนเอาแล้วประสงค์จะไปปฏิบัติ ณ ที่อื่น จึงสอนอย่าให้ย่อเกินไป อย่าให้พิสดารเกินไป อย่างหนึ่ง


พึงสอนให้ทราบอาการ ๙ อย่าง

ในกัมมัฏฐานเหล่านั้น เมื่ออาจารย์จะสอนปฐวีกสิณกัมมัฏฐานเป็นประการแรกพึงสอนให้ทราบอาการ ๙ เหล่านี้ คือ
โทษแห่งกสิณ ๔ อย่าง ๑
วิธีทำดวงกสิณ ๑
วิธีภาวนาซึ่งกสิณที่ทำแล้ว ๑
นิมิต ๒ อย่าง ๑
สมาธิ ๒ อย่าง ๑
ธรรมะเป็นที่สบายและไม่เป็นที่สบาย ๒ อย่าง ๑
ความเป็นผู้ฉลาดในอัปปนา ๑๐ อย่าง ๑
การทำความเพียรให้สม่ำเสมอ ๑
วิธีแห่งอัปปนา ๑

แม้ในกัมมัฏฐานที่เหลือทั้งหลาย ก็พึงสอนอาการอันสมควรแก่กัมมัฏฐานนั้น ๆ อาการทั้งหมดนั้นจักแจ้งชัดในวิธีภาวนาของกัมมัฏฐานทั้งหลายเหล่านั้น

โยคีบุคคลต้องจำให้แม่นยำ

ก็แหละ เมื่ออาจารย์สอนกัมมัฏฐานให้อยู่ด้วยอาการอย่างนี้ อันโยคีบุคคลนั้นจึงตั้งใจฟัง จำเอานิมิตนั้นให้ได้ คือเอาอาการนั้น ๆ มาผูกไว้ในใจอย่างนี้ว่า นี้เป็นบทหลัง นี้เป็นบทหน้า นี้เป็นใจความของบทนั้น นี้เป็นอธิบายของบทนั้น และบทนี้ เป็นคำอุปมา

แหละ เมื่อโยคีบุคคลฟังอยู่โดยเคารพ จำเอานิมิตได้อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นอันชื่อว่าเรียนเอากัมมัฏฐานด้วยดีแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ การบรรลุคุณวิเศษก็จะสำเร็จแก่เธอเพราะอาศัยการเรียนเอาด้วยดีแล้วนั้น แต่ย่อมจะไม่สำเร็จแก่โยคีบุคคลผู้ไม่ได้เรียนเอาด้วยดีนอกนี้ อรรถาธิบายความแห่งคำว่า "เรียน" นี้ ยุติเพียงเท่านี้ ด้วยอรรถาธิบายเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าบทอันเป็นหัวข้อสังเขปว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรแล้ว เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ อันเหมาะสมแก่จริตจริยาของตน ดังนี้ อันข้าพเจ้าได้อธิบายให้พิสดารแล้วโดยสิ้นเชิง ด้วยประการฉะนี้แล

จบ ปริจเฉทที่ ๓ ชื่อว่า กัมมัฏฐานคหณนิเทศ ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นเพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน ดังนี้