วันเสาร์

๒. ทุกขตา และทุกขลักษณะ

 ๒. ทุกขตา และทุกขลักษณะ

คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ แสดงอรรถของทุกขตาไว้อย่างเดียวว่า “ชื่อว่าเป็นทุกข์ โดยความหมายว่าเป็นของมีภัย (ภยฎเฐน)" (*๑๒๘) ที่ว่า “มีภัย” นั้น จะแปลว่า เป็นภัย หรือ น่ากลัว ก็ได้ ทั้งนี้โดยเหตุผลว่า สังขารทั้งปวงเป็นสภาพที่ผุพังแตกสลายได้ จะต้องย่อยยับมลายสิ้นไป จึงไม่มีความปลอดภัย ไม่ให้ความปลอดโปร่งโล่งใจหรือความเบาใจอย่างเต็มที่แท้จริง หมายความว่า ตัวมันเองก็มีภัยที่จะต้องเสื่อมโทรมสิ้นสลายไป มันจึงก่อให้เกิดภัย คือความกลัวและความน่ากลัวแก่ใครก็ตามที่เข้าไปยึดถือเกี่ยวข้อง

ส่วนคัมภีร์ชั้นอรรถกถาขยายความหมายออกไปโดยนัยต่างๆ คำอธิบายที่ท่านใช้บ่อยมี ๒ นัย คือ “ชื่อว่าเป็นทุกข์โดยความหมายว่า มีความบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลาย (อุปฺปาทวยปฏิปีฬนฎเฐน (*๑๒๙) หรือ อุปฺปาทวยปฏิปีฬนตาย) (*๑๓๐) ทั้งบีบคั้นขัดแย้งต่อประดาสิ่งที่ประกอบอยู่กับมัน และทั้งมันเองก็ถูกสิ่งที่ประกอบอยู่ด้วยนั้นบีบคั้นขัดแย้ง (*๑๓๑) “และ (ชื่อว่าเป็นทุกข์) เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ (ทุกขวตฺถุตาย (*๑๓๒) หรือ ทุกฺขวตฺถุโต) (*๑๓๓)” คือ เป็นที่รองรับของความทุกข์ หรือทำให้เกิดทุกข์ เช่น ก่อให้เกิดความรู้สึกทุกข์ พูดให้ง่ายเข้าว่า ที่เรียกว่าเป็นทุกข์ ก็เพราะทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ เป็นต้น หรือที่เรียกว่าบีบคั้น ก็เพราะทำให้เกิดความรู้สึกบีบคั้น เป็นต้น

ความหมายที่ท่านประมวลไว้ครบถ้วนที่สุดมี ๔ นัย
คือ เป็นทุกข์ด้วยอรรถ ๔ อย่าง ดังนี้ (*๑๓๔)

    ๑. อภิณหสมุปติปีฟันโต เพราะมีความบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา คือ ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเกิดขึ้น ความเสื่อมโทรม และความแตกสลาย และบีบคั้นขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา กับสิ่งที่ประกอบอยู่ด้วย หรือปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ด้วยต่างก็เกิดขึ้น ต่างก็โทรมไป ต่างก็แตกสลาย
    ๒. ทุกขมโต เพราะเป็นสภาพที่ทนได้ยาก คือคงทนอยู่ไม่ไหว หมายความว่า คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
จะต้องเปลี่ยน จะต้องกลาย จะต้องหมดสภาพไป เพราะความเกิดขึ้นและความโทรมสลายนั้น
    ๓. ทุกขวตถุโต เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ คือเป็นที่รองรับสภาวะแห่งทุกข์ ซึ่งก็หมายความด้วยว่า เมื่อโยงมาถึงคน หรือในแง่ที่คนเกี่ยวข้อง ก็เป็นที่ก่อให้เกิดทุกข์ เช่น ทุกขเวทนา หรือความรู้สึกบีบคั้นเป็นต้น (อรรถกถาและฎีกา อธิบายว่า เป็นที่ตั้งแห่งทุกขตาทั้ง ๓ และแห่งสังสารทุกข์ ) (*๑๓๖)
    ๔. สุขปฏิกเขปโต เพราะแย้งต่อความสุข คือ โดยสภาวะของมันเอง ที่ถูกปัจจัยทั้งหลายบีบคั้นขัดแย้งและคงสภาพอยู่ไม่ได้ มันก็ปฏิเสธหรือกีดกั้นภาวะราบรื่นคล่องสะดวกอยู่ในตัว (เป็นเรื่องที่คนจะต้องดิ้นรนจัดสรรปัจจัยทั้งหลายเอา โดยที่ความสุขที่เป็นตัวสภาวะจริง ก็มีแต่เพียงความรู้สึก)


อธิบายว่า สภาวะที่มีเป็นพื้น ได้แก่ ทุกข์ คือ ความบีบคั้นกดดันขัดแย้ง ที่เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของสังขารทั้งหลาย ที่จริงก็เพียงเป็นสภาวะตามปกติธรรมดาของธรรมชาติ แต่ในสภาพที่เกี่ยวข้องกับคน ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกบีบคั้นกดดันขัดแย้ง ที่เรียกว่า ความรู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) เมื่อใดทุกข์คือความบีบคั้นกดดันนั้นผ่อนคลายไป หรือคนปลอดพ้นจากทุกข์นั้น ก็เรียกว่ามีความสุขหรือรู้สึกสุข ยิ่งทำให้เกิดทุกข์คือบีบคั้นกดดัน ทำให้รู้สึก ขาด พร่อง กระหาย หิว มากเท่าใด ในเวลาที่ทำให้ผ่อนหายปลอดพ้นจากทุกข์หรือความบีบกดนั้น ก็ยิ่งรู้สึกสุขมากขึ้นเท่านั้น เหมือนคนที่ถูกทำให้ร้อนมาก เช่น เดินมาในกลางแดด พอเข้ามาในที่ร้อนน้อยลงหรืออุ่นลง ก็รู้สึกเย็น ยิ่งได้เข้าไปในที่ที่เย็นตามปกติ ก็จะรู้สึกเย็นสบายมาก ในทางตรงข้าม ถ้าทำให้ได้รับความรู้สึกสุข (สุขเวทนา) แรงมาก พอเกิดความทุกข์ ก็จะรู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) รุนแรงมากด้วยเช่นกัน แม้แต่ทุกข์เพียงเล็กน้อยที่ตามปกติจะไม่รู้สึกทุกข์ เขาก็อาจจะรู้สึกทุกข์ได้มาก

เหมือนคนอยู่ในที่ที่เย็นสบายมาก พอออกไปสู่ที่ร้อน ก็รู้สึกร้อนมาก แม้แต่สภาวะที่คนอื่นๆ หรือตัวเขาเอง
เคยรู้สึกเฉยๆ เขาก็อาจจะกลับรู้สึกเป็นร้อนไป พูดลึกลงไปอีก ให้ตรงความจริงแท้ว่า ที่ว่าเป็นสุขหรือรู้สึกสุข (สุขเวทนา) นั้น ตามที่แท้จริงก็ไม่ใช่ปลอดพ้นหรือหายทุกข์ แต่เป็นเพียงระดับหนึ่งหรือขีดขั้นหนึ่งของทุกข์เท่านั้น กล่าวคือ ความบีบคั้นกดดันขัดแย้งที่ผ่อนหรือเพิ่มถึงระดับหนึ่งหรือในอัตราหนึ่ง เราเรียกว่าเป็นสุข เพราะทำให้เกิดความรู้สึกสุข แต่ถ้าเกินกว่านั้นไป ก็กลายเป็นต้องทนหรือเหลือทน เรียกว่า เป็นทุกข์ คือรู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) ว่าที่แท้จริงก็มีแต่ทุกข์ คือแรงบีบคั้นกดดันขัดแย้งเท่านั้น ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเหมือนกับเรื่องความร้อน และความเย็น ว่าที่จริง ความเย็นไม่มี มีแต่ความรู้สึกเย็น สภาวะที่เป็นพื้นก็คือ ความร้อนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง จนถึงไม่มีความร้อน ที่คนเราพูดว่าเย็นสบายนั้น ก็เป็นเพียงความรู้สึก ซึ่งที่แท้แล้วเป็นความร้อนในระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้าร้อนน้อยหรือมากเกินกว่าระดับนั้นแล้ว ก็หารู้สึกสบายไม่

โดยนัยนี้ ความสุข หรือพูดให้เต็มว่า ความรู้สึกสุขคือสุขเวทนา ก็เป็นทุกข์ ทั้งในความหมายว่าเป็นทุกข์ระดับหนึ่ง มีสภาวะเพียงความรู้สึก และในความหมายว่า เป็นสิ่งที่ขึ้นต่อความบีบคั้นกดดัน ขัดแย้ง จะต้องกลาย จะต้องผันแปร จะต้องหมดไป เหมือนกับว่าทุกข์ที่เป็นตัวสภาวะนั้นไม่ยอมให้สุขยืนยงคงอยู่ได้ตลอดไป  อนึ่ง ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ที่อ้างถึงข้างต้นว่า ท่านแสดงอรรถคือความหมายของ “ทุกข์” ซึ่งเป็นข้อที่ ๒ ในไตรลักษณ์ไว้อย่างเดียวว่า เป็นสิ่งมีภัย (ภยฺฎเฐน) นั้น เมื่อถึงตอนที่อธิบายเรื่องอริยสัจ ท่านได้แสดงอรรถของทุกข์ ซึ่งเป็นข้อที่ ๑ ในอริยสัจว่ามี ๔ อย่าง คือ มีความหมายว่าบีบคั้น (ปีฟันฎฺฐ) มีความหมายว่าเป็นสังขตะ (สงฺขตฏฺฐ) มีความหมายว่าแผดเผา (สนุตาปฎฺฐ) และมีความหมายว่าผันแปร (วิปริณามฏฺฐ) (*๑๓๗) เห็นว่า ความหมาย ๔ นัยนี้ใช้กับทุกข์ในไตรลักษณ์ได้ด้วย จึงขอนำมาเพิ่มไว้ ณ ที่นี้ โดยตัดข้อที่ ๑ และข้อที่ ๔ (ปีฟันฎฐ และ วิปริณามฎฐ) ออกไป คงได้เพิ่มอีก ๒ ข้อ คือ

    ๕. สงขตฎร โดยความหมายว่าเป็นของปรุงแต่ง คือ ถูกปัจจัยต่างๆ รุมกันหรือมาชุมนุมกันปรุงแต่งเอามีสภาพที่ขึ้นต่อปัจจัย ไม่เป็นของคงตัว
    ๖. สนุตาปฎร โดยความหมายว่าแผดเผา คือ ในตัวของมันเองก็มีสภาพที่แผดเผาให้กร่อนโทรมย่อยยับสลายไป และทั้งแผดเผาผู้มีกิเลสที่เข้าไปยึดติดถือมั่นมันให้เร่าร้อนกระวนกระวายไปด้วย (*๑๓๘)

๑๒๘) ข.ปฏิ.๓๑/๗๙/๕๓; อ้างใน วิสุทธิ.๓/๒๓๕
๑๒๙) วิสุทธิ.๓/๒๖๐
๑๓๐) วิสุทธิ.๓/๒๓๗
๑๓๑) วิสุทธิ.ฎีกา ๓/๔๖๒
๑๓๒) วิสุทธิ.๓/๒๓๗
๑๓๓) เช่น วิสุทธิ.๓/๘๗
๑๓๔) วิสุทธิ.๓/๒๕๖; ม.อ.๒/๑๕๑ (ข้อแรกเป็น สนุตาป); วิภงค.อ.๖๒
๑๓๕) ความหมายในภาษาไทยที่แปลตามตัวอักษรว่า ทนได้ยาก อาจให้รู้สึกว่าเข้ากันดีกับทุกขเวทนา เช่น ความเจ็บปวด ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าเป็นสิ่งที่คนทนได้ยาก แต่นั่นเป็นเพียงถ้อยคำแสดงความหมายที่พอดีมาตรงกับความรู้สึก ความจริง ความหมายนั้นเป็นสำนวนในภาษาบาลี ซึ่งหมายถึงคงทนอยู่ไม่ได้ หรือคงสภาพอยู่ไม่ได้ ซึ่งเป็นลักษณะของสังขารทั้งหมดทุกอย่างดังได้อธิบายข้างบนนั้น
๑๓๖) เช่น วินยฎีกา ๓/๘๑; วิสุทธิฎีกา ๓/๔๖๒, ๕๔๐
๑๓๗) ขุ.ปฏิ.๓๑/๔๕/๒๔, ๕๕๕๕๕๙; อ้างใน วิสุทธิ.๓/๗๖; วิภงค.อ.๑๐๗; อนึ่ง ม.อ.๒/๑๕๑ จัด สนุตาป เป็นข้อที่ ๑ ในอรรถ ๔ ข้างต้น
๑๓๘) คำอธิบายในที่นี้ หนักข้างอัตโนมัติ ผู้ต้องการคำอธิบายในอรรถกถาและฎีกา ฟังดู ปฏิส.อ.๑๑๙,๑๒๓; วิสุทธิฎีกา ๓/๑๗๑

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
            ๒. ทุกขตา และทุกขลักษณะ
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา

วันพุธ

๑. อนิจจตาและอนิจจลักษณะ

วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์

พึงสังเกตว่า หลัก🔎ขันธ์ ๕ (เบญจขันธ์) ในบทที่ ๑ ก็ดี หลัก🔎อายตนะ ๖ (สฬายตนะ) ในบทที่ ๒ ก็ดี แสดงเนื้อหาของชีวิต เน้นการศึกษาพิจารณาเกี่ยวกับชีวิต คือ ว่าด้วยขันธ์ ๕ ที่เป็นภายใน และอายตนะภายในเป็นสำคัญ ส่วนหลักไตรลักษณ์ในบทที่ ๓ นี้ ขยายขอบเขตการพิจารณาออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั้งขันธ์ ๕ ที่เป็นภายใน และขันธ์ ๕ ที่เป็นภายนอก ทั้งอายตนะภายในและอายตนะภายนอก เป็นการมองทั้งชีวิตและสิ่งทั้งปวงที่ชีวิตเกี่ยวข้อง คือว่าด้วยชีวิตและโลกทั่วไปทั้งหมดทั้งสิ้น ความหมายของไตรลักษณ์แต่ละข้อ ได้แสดงไว้พอเห็นเค้าในเบื้องต้นแล้ว ในที่นี้จะวิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์เหล่านั้นให้ละเอียดลึกซึ้งลงไปอีก ตามหลักวิชาโดยหลักฐานในคัมภีร์


๑. อนิจจตาและอนิจจลักษณะ

คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์แสดงอรรถ (ความหมาย) ของอนิจจตาไว้อย่างเดียวว่า “ชื่อว่าเป็นอนิจจัง โดยความหมายว่า เป็นของสิ้นไปๆ (ขยฎฺเฐน)" (*๑๒๓) หมายความว่า เกิดขึ้นที่ไหนเมื่อใด ก็ดับไปที่นั่น เมื่อนั้น เช่น รูปธรรมในอดีต ก็ดับไปในอดีต ไม่มาถึงขณะนี้ รูปในขณะนี้ ก็ดับไปที่นี่ ไม่ไปถึงข้างหน้า รูปในอนาคตจะเกิดถัดต่อไป ก็จะดับ ณ ที่นั้นเอง ไม่ยืนอยู่ถึงเวลาต่อไปอีก ดังนี้เป็นต้น

ต่อมาในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ท่านต้องการให้ผู้ศึกษาเข้าใจง่ายขึ้น จึงได้ขยายความหมายออกไปโดยนัยต่าง ๆ ยักย้ายคำอธิบายออกไปให้เห็นความหมายในหลายๆ แง่ และหลายๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับคร่าวๆ หยาบๆ ลงมาจนถึงความเป็นไปในแต่ละขณะๆ เช่น เมื่อมองชีวิตของคน เบื้องต้นก็มองอย่างง่ายๆ ดูช่วงชีวิตทั้งหมด ก็จะเห็นว่าชีวิตมีการเกิดและการแตกดับ เริ่มต้นด้วยการเกิดและสิ้นสุดลงด้วยความตาย เมื่อซอยลงไปอีก ก็ยิ่งเห็นความเกิดและความดับ หรือการเริ่มต้นและการแตกสลายกระชั้นถี่เข้ามา เป็นช่วงวัยหนึ่งๆ ช่วงระยะสิบปีหนึ่งๆ ช่วงปีหนึ่งๆ ช่วงฤดูหนึ่งๆ ช่วงเดือนหนึ่งๆ ฯลฯ ช่วงยามหนึ่งๆ ตลอดถึงชั่วเวลาขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแต่ละครั้งแต่ละหน จนกระทั่งมองเห็นความเกิดดับที่เป็นไปในทุกๆ ขณะ ซึ่งเป็นของมองเห็นได้ยากสำหรับคนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ในสมัยปัจจุบันนี้ ที่วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามากแล้ว อนิจจตาหรือความไม่เที่ยงโดยเฉพาะในด้านรูปธรรม เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นมาก จนเกือบจะกลายเป็นของสามัญไปแล้ว ทฤษฎีต่างๆ ตั้งแต่ทฤษฎีว่าด้วยการเกิดดับของดาว ลงมาจนถึงทฤษฎีว่าด้วยการสลายตัวของปรมาณู ล้วนใช้ช่วยอธิบายหลักอนิจจตาได้ทั้งสิ้น ที่ว่าคัมภีร์ชั้นอรรถกถายักเยื้องคำอธิบายออกไปหลายๆ แง่ ขยายความหมายออกไปโดยนัยต่างๆ นั้น เช่น บางแห่งท่านอธิบายว่า “ที่ชื่อว่าเป็นอนิจจัง ก็เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป (อนจฺจนุติกตาย) และเพราะเป็นสิ่งที่มีความเริ่มต้นและความสิ้นสุด (มีจุดเริ่มและมีจุดจบ, อาทิอนุตวนุตตาย)" (*๑๒๔) แต่คำอธิบายอย่างง่ายๆ ที่ใช้บ่อย ก็คือข้อความว่า “ชื่อว่าเป็นอนิจจัง โดยความหมายว่าเป็นสิ่งที่มีแล้วก็ไม่มี (คือมีหรือปรากฏขึ้นแล้ว ก็หมดหรือหายไป, หุตฺวา อภาวเฐน)" (*๑๒๕) บางแห่งก็นำข้อความอื่นมาอธิบายเสริมเข้ากับข้อความนี้อีก เช่นว่า “ชื่อว่าเป็นอนิจจัง เพราะเกิดขึ้น เสื่อมสลาย และกลายเป็นอย่างอื่น หรือเพราะมีแล้ว ก็ไม่มี (อุปฺปาทวยญฺญถตฺตภาวา หุตฺวา อภาวโต วา) (*๑๒๖) แต่ที่ถือว่าท่านประมวลความหมายต่างๆ มาแสดงไว้โดยครบถ้วน ก็คือ การแสดงอรรถแห่งอนิจจตาเป็น ๔ นัย หมายความว่า เป็นอนิจจังด้วยเหตุผล ๔ อย่าง คือ (*๑๒๗)

    ๑. อุปปาทวยปุปวตุติโต เพราะเป็นไปโดยการเกิดและการสลาย คือ เกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี
    ๒. วิปริณามโต เพราะเป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลง แปรสภาพไปเรื่อยๆ
    ๓. ตาวกาลิกโต เพราะเป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะ ๆ
    ๔. นิจจปฏิกเขปโต เพราะแย้งต่อความเที่ยง คือ สภาวะของมันที่เป็นสิ่งไม่เที่ยงนั้น ขัดกันอยู่เองในตัวกับความเที่ยง หรือโดยสภาวะของมันเองก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว เมื่อมองดูรู้เห็นตรงตามสภาวะของมันแล้ว ก็จะหาไม่พบความเที่ยงเลย ถึงคนจะพยายามมองให้เห็นเป็นเที่ยง มันก็ไม่ยอมเที่ยงตามที่คนอยาก จึงเรียกว่ามันปฏิเสธความเที่ยง

(๑๒๓) ขุ.ปฏิ๓๑/๗๔/๕๓; อ้างใน วิสุทธิ.๓/๒๓๕.
(๑๒๔ )วิสุทธิ.๓/๒๓๗.
(๑๒๕) เช่น วิสุทธิ.๓/๒๖๐
(๑๒๖)วิสุทธิ.๓/๒๗๕
(๑๒๗ )วิสุทธิ.๓/๒๕๖; ม.อ.๒/๑๕๐; วิภงด.อ.๖๒; วิสุทธิฎีกา ๓/๔๗๙ ว่า เหตุผล ๔ อย่างนี้เป็นวิธีพิจารณาที่ใช้สำหรับสังขารฝ่ายรูปธรรมแต่ความในอรรถกถาวิภังค์แสดงให้เห็นว่า ใช้ได้สำหรับสังขารทุกอย่าง, ดู วินยฎีกา ๓/๔๐ ด้วย

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
            ๑. อนิจจตา และอนิจจลักษณะ
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา

วันอังคาร

๓. สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์

๓. สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์

ทั้งที่ความเป็นอนิจจัง ทุกข์ และอนัตตา นี้ เป็นลักษณะสามัญของสิ่งทั้งหลาย เป็นความจริงที่แสดงตัวของมันเองอยู่ตามธรรมดาตลอดทุกเวลา แต่คนทั่วไปก็มองไม่เห็น ทั้งนี้เพราะเป็นเหมือนมีสิ่งปิดบังคอยซ่อนคลุมไว้ ถ้าไม่มนสิการ คือไม่ใส่ใจพิจารณาอย่างถูกต้อง ก็มองไม่เห็น สิ่งที่เป็นเหมือนเครื่องปิดบังซ่อนคลุมเหล่านี้ คือ
    ก. สันตติ บังอนิจจลักษณะ
    ข. อิริยาบถ บังทุกขลักษณะ 
    ค. ฆนะ บังอนัตตลักษณะ

๑. ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความเกิดและความดับ
หรือความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไป ก็ถูกสันตติ คือ ความสืบต่อหรือความเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ปิดบังไว้ อนิจจลักษณะจึงไม่ปรากฏ, สิ่งทั้งหลายที่เรารู้เราเห็นนั้น ล้วนแต่มีความเกิดขึ้นและความแตกสลายอยู่ภายในตลอดเวลา แต่ความเกิดดับนั้นเป็นไปอย่างหนุนเนื่องติดต่อกันรวดเร็วมาก คือ เกิด-ดับ-เกิด-ดับ-เกิด-ดับ ฯลฯ ความเป็นไปต่อเนื่องอย่างรวดเร็วยิ่งนั้น ทำให้เรามองเห็นเป็นว่า สิ่งนั้นคงที่ถาวร เป็นอย่างหนึ่งอย่างเดิม ไม่มีความเปลี่ยนแปลง เหมือนอย่างตัวเราเองหรือคนใกล้เคียงอยู่ด้วยกัน มองเห็นกันเสมือนว่าเป็นอย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปนาน สังเกตดูหรือไม่เห็นกันนานๆ เมื่อพบกันอีกจึงรู้ว่าได้มีความเปลี่ยนแปลงไปแล้วจากเดิม แต่ตามความเป็นจริง ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาทีละน้อยและต่อเนื่องจนไม่เห็นช่องว่าง

ตัวอย่างเปรียบเทียบพอให้เห็นง่ายขึ้น เช่น ใบพัดที่กำลังหมุนอยู่อย่างเร็วยิ่ง มองเห็นเป็นแผ่นกลมแผ่นเดียวนิ่ง เมื่อทำให้หมุนช้าลง ก็เห็นเป็นใบพัดกำลังเคลื่อนไหวแยกเป็นใบๆ เมื่อจับหยุดมองดู ก็เห็นชัดว่าเป็นใบพัดต่างหากกัน ๒ ใบ ๓ ใบ หรือ ๔ ใบ หรือเหมือนคนเอามือจับก้านธูปที่จุดไฟติดอยู่แล้วแกว่งหมุนอย่างรวดเร็ว เป็นรูปวงกลม มองดูเหมือนเป็นไฟรูปวงกลม แต่ความจริงเป็นเพียงธูปก้านเดียวที่ทำให้เกิดรูปต่อเนื่องติดเป็นพืดไป หรือเหมือนหลอดไฟฟ้าที่ติดไฟอยู่สว่างจ้า มองเห็นเป็นดวงไฟที่สว่างคงที่ แต่ความจริงเป็นกระแสไฟฟ้าที่เกิดดับไหลเนื่องผ่านไปอย่างรวดเร็ว หรือเหมือนมวลน้ำในแม่น้ำที่มองดูเป็นผืนหนึ่งผืนเดียว แต่ความจริงเป็นกระแสน้ำที่ไหลผ่านไปๆ เกิดจากน้ำหยดน้อยๆ มากมายมารวมกันและไหลเนื่อง สิ่งทั้งหลายเช่นดังตัวอย่างเหล่านี้ เมื่อใช้เครื่องมือหรือวิธีการที่ถูกต้องมากำหนดแยกมนสิการเห็นความเกิดขึ้น และความดับไปจึงจะประจักษ์ความไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ เป็นอนิจจัง


๒. ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความบีบคั้นกดดันที่มีอยู่ตลอดเวลา
ก็ถูก อิริยาบถ คือความยักย้ายเคลื่อนไหว ปิดบังไว้ ทุกขลักษณะจึงไม่ปรากฎ, ภาวะที่ทนอยู่มิได้ หรือภาวะที่คงสภาพเดิมอยู่มิได้ หรือภาวะที่ไม่อาจคงอยู่ในสภาพเดิมได้ ด้วยมีแรงบีบคั้นกดดันขัดแย้งเร้าอยู่ภายในส่วนประกอบต่างๆ นั้น จะถึงระดับที่ปรากฏแก่สายตาหรือความรู้สึกของมนุษย์ มักจะต้องกินเวลาระยะหนึ่ง แต่ในระหว่างนั้น ถ้ามีการคืบเคลื่อนยักย้ายหรือทำให้แปรรูปเป็นอย่างอื่นไปเสียก่อน ก็ดี สิ่งที่ถูกสังเกตเคลื่อนย้ายพ้นจากผู้สังเกตไปเสียก่อน หรือผู้สังเกตแยกพรากจากสิ่งที่ถูกสังเกตไปเสียก่อน ก็ดี ภาวะที่บีบคั้นกดดันขัดแย้งนั้น ก็ไม่ทันปรากฏให้เห็น ปรากฏการณ์ส่วนใหญ่มักเป็นไปเช่นนี้ ทุกขลักษณะจึงไม่ปรากฏ

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ในร่างกายของมนุษย์นี้แหละไม่ต้องรอให้ถึงขั้นชีวิตแตกดับดอก แม้ในชีวิตประจำวันนี้เอง ความบีบคั้นกดดันขัดแย้งก็มีอยู่ตลอดเวลาทั่วองคาพยพ จนทำให้มนุษย์ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยในท่าเดียวได้ ถ้าเราอยู่หรือต้องอยู่ในท่าเดียวนานมาก ๆ เช่น ยืนอย่างเดียว นั่งอย่างเดียว เดินอย่างเดียว นอนอย่างเดียว ความบีบคั้นกดดัน ตามสภาวะจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น ๆ จนถึงระดับที่เกิดเป็นความรู้สึกบีบคั้นกดดันที่คนทั่วไปเรียกว่าเป็นทุกข์ เช่น เจ็บปวดเมื่อย จนในที่สุดก็จะทนไม่ไหว และต้องยักย้ายเปลี่ยนไปสู่ท่าอื่นที่เรียกว่าอิริยาบถอื่น เมื่อความบีบคั้นกดดันอันเป็นทุกข์ตามสภาวะนั้นสิ้นสุดลง ความรู้สึกบีบคั้นกดดันที่เรียกว่า ความรู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) ก็หายไปด้วย (ในตอนที่ความรู้สึกทุกข์หายไปนี้ มักจะมีความรู้สึกสบายที่เรียกว่าความสุขเกิดขึ้นมาแทนด้วย แต่อันนี้เป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น ว่าโดยสภาวะแล้ว มีแต่ความทุกข์หมดไปอย่างเดียว เข้าสู่ภาวะปราศจากทุกข์) ในความเป็นอยู่ประจำวันนั้น เมื่อเราอยู่ในท่าหนึ่งหรืออิริยาบถหนึ่งนานๆ พอจะรู้สึกปวดเมื่อยเป็นทุกข์ เราก็ชิงเคลื่อนไหวเปลี่ยนไปสู่ท่าอื่นหรืออิริยาบถอื่นเสีย หรือเรามักจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนท่าเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ จึงหนีรอดจากความรู้สึกทุกข์ไปได้ เมื่อไม่รู้สึกทุกข์ ก็เลยพลอยมองข้ามไม่เห็นความทุกข์ที่เป็นความจริงตามสภาวะไปเสียด้วย ท่านจึงว่า อิริยาบถบังทุกขลักษณะ

๓. ท่านกล่าวว่า เพราะมิได้มนสิการความแยกย่อยออกเป็นธาตุต่างๆ
ก็ถูก ฆนะ คือความเป็นแท่งเป็น ก้อนเป็นชิ้นเป็นอันเป็นมวลหรือเป็นหน่วยรวม ปิดบังไว้ อนัตตลักษณะจึงไม่ปรากฏ สิ่งทั้งหลายที่เรียกชื่อว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ล้วนเกิดจากเอาส่วนประกอบทั้งหลายมารวบรวมปรุงแต่งขึ้น เมื่อแยกย่อยส่วนประกอบเหล่านั้นออกไปแล้ว สิ่งที่เป็นหน่วยรวมซึ่งเรียกชื่อว่าอย่างนั้นๆ ก็ไม่มี โดยทั่วไปมนุษย์มองไม่เห็นความจริงนี้ เพราะถูกฆนสัญญาคือความจำหมายหรือความสำคัญหมายเป็นหน่วยรวมคอยปิดบังไว้ เข้ากับคำกล่าวอย่างชาวบ้านว่า เห็นเสื้อ แต่ไม่เห็นผ้า เห็นแต่ตุ๊กตา มองไม่เห็นเนื้อยาง คือคนที่ไม่ได้คิดไม่ได้พิจารณา บางทีก็ถูกภาพตัวตนของเสื้อปิดบังตาหลอกไว้ ไม่ได้มองเห็นเนื้อผ้าที่ปรุงแต่งขึ้นเป็นรูปเสื้อนั้น ซึ่งว่าที่จริง ผ้านั้นเองก็ไม่มี มีแต่เส้นด้ายมากมายที่มาเรียงกันเข้าตามระเบียบ ถ้าแยกด้ายทั้งหมดออก ผ้านั้นเองก็ไม่มี หรือเด็กที่มองเห็นแต่รูปตุ๊กตา เพราะถูกภาพตัวตนของตุ๊กตาปิดบังหลอกตาไว้ ไม่ได้มองถึงเนื้อยางซึ่งเป็นสาระที่แท้จริงของตัวตุ๊กตานั้น เมื่อจับเอาแต่ตัวจริง ก็มีแต่เนื้อยาง หามีตุ๊กตาไม่ แม้เนื้อยางนั้นเองก็เกิดจากส่วนผสมต่างๆ มาปรุงแต่งขึ้นต่อๆ กันมา ฆนสัญญา ย่อมบังอนัตตลักษณะไว้ในทำนองแห่งตัวอย่างง่ายๆ ที่ได้ยกมากล่าวไว้นี้ เมื่อใช้อุปกรณ์หรือวิธีการที่ถูกต้องมาวิเคราะห์มนสิการเห็นความแยกย่อยออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ จึงจะประจักษ์ในความมิใช่ตัวตน มองเห็นว่าเป็นอนัตตา

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
        ๓.) สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา



๒. สังขารในขันธ์ ๕ กับ สังขารในไตรลักษณ์

๒. สังขารในขันธ์ ๕ กับ สังขารในไตรลักษณ์

ในภาษาไทย มีตัวอย่างมากมายที่คำพูดหรือคำศัพท์เดียวกัน แต่มีความหมายต่างกันหลายอย่าง ที่ต่างกันเล็กน้อย ยังมีเค้าความหรือลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงหรือพอเทียบเคียงกันได้ก็มี ที่ต่างกันห่างไกลจนไม่มีอะไรเทียบหรือโยงถึงกันเลย ก็มี เช่น “กลอน” หมายถึงคำประพันธ์ประเภทหนึ่งก็ได้ หมายถึง ไม้ขัดหรือลูกสลักประตูหน้าต่าง ก็ได้ หมายถึง ลูกตุ้มที่ใช้เป็นอาวุธ ก็ได้

“เขา” ที่หมายถึงเนินอันสูงขึ้นไปบนพื้นดินพื้นดิน และ “เขา” ที่หมายถึงส่วนของกายมีลักษณะแข็งที่งอกออกมาจากหัวสัตว์บางพวก กล่าวได้ว่ามีลักษณะคล้ายกันอยู่บ้าง แต่ “เขา” ที่เป็นสรรพนามบุรุษที่สาม กับ “เขา” ที่เป็นชื่อนกพวกหนึ่ง คงพูดได้ยากว่ามีอะไรใกล้เคียงหรือเทียบคล้ายกันได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เข้าใจความหมายนัยต่างๆ ของถ้อยคำดีแล้ว และได้ยินได้ฟังได้ใช้อยู่จนเคยชิน เมื่อพบคำเช่นนั้น ที่มีผู้ใช้พูดใช้เขียนในข้อความต่างๆ ตามปกติจะแยกได้ไม่ยากว่า คำนั้น ที่ใช้ในข้อความนั้น มีความหมายอย่างไร โดยมากจะเข้าใจได้ทันที

ตัวอย่างเช่น “จะเย็บผ้าได้ ก็ต้องใช้เข็ม จะสร้างบ้านใหญ่ท่านให้ลงเข็ม” “เขาขึ้นเขาตามล่ากวางเพื่อเอาเขา” “หญิงชราไปในเรือเดินทะเล พอได้ยินว่าจะพบลมใหญ่ ก็จะเป็นลม” “เขาหักพวงมาลัยหลบเด็กขายพวงมาลัย” “อย่าทำล้อเล่น รถนี้มีแค่สองล้อ” “พอหนังจบ เขาก็รีบคว้ากระเป๋าหนังรุดไปที่ทำงาน” “ตายังตาดี แต่ฟันไม่ดี” “กาน้ำนั้นหากินในน้ำ กาน้ำนี้คนขายกาแฟใช้หากิน” “เสียดสี จึงเสียสี” “ร่วงโรจไม่ร่วงโรย" ดังนี้ เป็นต้น ในภาษาบาลีก็เช่นเดียวกัน มีศัพท์มากมายที่มีความหมายหลายนัย ผู้ได้เล่าเรียนดีแล้ว แม้พบศัพท์เหล่านั้นที่ใช้ในความหมายหลายอย่างปะปนกันอยู่ ก็สามารถจับแยกและเข้าใจได้ทันที แต่ผู้ไม่คุ้นเคยหรือผู้แรกศึกษาอาจสับสนุนงงหรือถึงกับเข้าใจผิดได้

ตัวอย่างคำจำพวกนี้ ที่มาจากภาษาบาลี เช่น “นาค” อาจหมายถึงสัตว์คล้ายงูแต่ตัวใหญ่มาก ก็ได้หมายถึงช้างใหญ่เจนศึก ก็ได้ หมายถึงบุคคลผู้ประเสริฐ ก็ได้ “นิมิต” ในทางพระวินัย หมายถึง วัตถุที่เป็นเครื่องหมายเขตที่ประชุมสงฆ์บ้าง หมายถึงอาการแสวงหาลาภในทางที่ผิดด้วยวิธีขอเขาแบบเชิญชวนโดยนัย บ้างแต่ในทางธรรมปฏิบัติ หมายถึงภาพที่เห็นในใจในการเจริญกรรมฐาน “นิกาย” หมายถึง หมวดตอนในพระไตรปิฏกส่วนพระสูตรก็ได้ หมายถึงคณะนักบวชหรือกลุ่มศาสนิกที่แบ่งกันเป็นพวกๆ ก็ได้ “ปัจจัย” ในทางพระวินัย หมายถึงเครื่องอาศัยของชีวิต เช่น อาหาร แต่ในทางธรรม หมายถึง เหตุ หรือเครื่องสนับสนุนให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น ขอให้พิจารณาความหมายของคำศัพท์เดียวกัน ที่ต่างนัยกันออกไป เมื่อใช้ในข้อความต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“ภิกษุรู้รสด้วยลิ้น อร่อยก็ตาม ไม่อร่อยก็ตาม เธอไม่ปล่อยให้ความติดใจหรือความขัดใจเข้าครอบงำจิต 
ภิกษุนี้ชื่อว่าสำรวมอินทรีย์ คือลิ้น” “อินทรีย์คือศรัทธา มีการยังธรรมทั้งหลายที่ประกอบอยู่ด้วยให้เข้าถึงภาวะผ่องใสเป็นรส ประดุจดังสารส้ม หรือมีการวิ่งแล่นไปหาอารมณ์เป็นรส ภิกษุพึงเจริญอินทรีย์คือศรัทธานั้น" คำว่า รส ก็ดี อินทรีย์ ก็ดี ในข้อความ ๒ ท่อนนี้ มีความหมายต่างกัน ในข้อความแรก รส หมายถึงสิ่งที่รู้ด้วยลิ้น หรือสิ่งที่เป็นอารมณ์ของชิวหาวิญญาณ อินทรีย์ หมายถึงสิ่งที่เป็นเจ้าการในการรับรู้อารมณ์ กล่าวคืออายตนะภายในส่วนในข้อความหลัง รส หมายถึงกิจหรือหน้าที่ อินทรีย์หมายถึงกุศลธรรมที่เป็นเจ้าการในการกำราบอกุศลธรรมที่เป็นปฏิปักษ์

“ภิกษุพึงกระทำโยคะ เพื่อบรรลุธรรมเป็นที่ปลอดภัยจากโยคะ โยคะคำต้น หมายถึงการประกอบความ
เพียรในการเจริญภาวนา คือฝึกฝนพัฒนาจิตปัญญา โยคะคำหลัง หมายถึงธรรมคือกิเลสที่ประกอบคือเทียมหรือผูกมัดสัตว์ไว้กับทุกข์ในภพ

“ปุถุชนมองเห็นรูปบ้าง เวทนาบ้าง สัญญาบ้าง สังขารบ้าง วิญญาณบ้าง ว่าเป็นตน แต่ขันธ์ทั้ง ๕ นั้น จะเป็นตนหาได้ไม่ เพราะสังขารทั้งหลายทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาคือไร้ตัวมิใช่ตนทั้งสิ้น” สังขาร คำแรกหมายถึงเพียงขันธ์หนึ่งในบรรดาขันธ์ ๕ แต่สังขารคำหลังครอบคลุมความหมายของสังขตธรรมทั้งหมดที่เป็นไปตามไตรลักษณ์

คำเกี่ยวข้องที่ต้องการอธิบายในที่นี้คือ “สังขาร” แต่ที่ได้ยกตัวอย่างคำอื่นๆ มาแสดงไว้มากมายและได้บรรยายมาอย่างยึดยาว ก็เพื่อให้เห็นว่า คำพูดในภาษาไทยก็ตาม ในภาษาบาลีก็ตาม ที่เป็นคำเดียวกัน แต่มีความหมายต่างกันเป็นสองอย่างบ้าง หลายอย่างบ้าง กว้างแคบกว่ากันบ้าง เป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวกันบ้างตลอดจนตรงข้ามกันก็มีนั้น มีอยู่มากมายและเป็นของสามัญ เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว มาเห็นคำว่าสังขารที่ท่านใช้ในความหมายต่างๆ หลายนัย ก็จะไม่เห็นเป็นของแปลก และจะเข้าใจมองเห็นตามได้ง่าย คำว่า “สังขาร” นั้น มีที่ใช้ในความหมายต่างๆ กันไม่น้อยกว่า ๔ นัย แต่เฉพาะที่ต้องการให้เข้าใจในที่นี้มี ๒ นัย คือ สังขารที่เป็นข้อหนึ่งในขันธ์ ๕ กับสังขารที่กล่าวถึงในไตรลักษณ์ เพราะสังขาร ๒ นัยนี้มาในหลักธรรมสำคัญ กล่าวอ้างกันบ่อย และมีความหมายคล้ายจะซ้อนกันอยู่ ทำให้ผู้ศึกษาสับสนได้ง่าย อีกทั้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมที่กำลังอธิบายอยู่โดยตรง เบื้องแรกขอยกคำมาดูให้เห็นชัด

    ๑. สังขาร ในขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
    ๒. สังขาร ในไตรลักษณ์ : สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา


ขอนำความหมายทั้ง ๒ นัยนั้นมาทบทวน โดยเข้าคู่เทียบให้เปรียบกันดู ดังนี้

๑. สังขาร ซึ่งเป็นข้อที่ ๔ ในขันธ์ ๕
หมายถึง สภาวะที่ปรุงแต่งจิต ให้ดี ให้ชั่ว ให้เป็นกลาง ได้แก่คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกาย วาจา ให้เป็นไปต่างๆ เป็นตัวการของการทำกรรม เรียกง่ายๆ ว่า เครื่องปรุงของจิต เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เมตตา กรุณา ปัญญา โมหะ โลภะ โทสะ เป็นต้น (คัมภีร์อภิธรรมจำแนกไว้ ๕๐ อย่าง เรียกว่า เจตสิก ๕๐ ในจำนวนทั้งหมด ๕๒) ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นนามธรรม มีอยู่ในใจทั้งสิ้น นอกเหนือจาก เวทนา สัญญา และ วิญญาณ

๒. สังขาร ที่กล่าวถึงในไตรลักษณ์
หมายถึง สภาวะที่ถูกปรุงแต่ง คือ สภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นทุกอย่างประดามี ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม เป็นด้านร่างกายหรือจิตใจก็ตาม มีชีวิตหรือไร้ชีวิตก็ตาม อยู่ในจิตใจหรือเป็นวัตถุภายนอกก็ตาม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังขตธรรม คือทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นแต่นิพพาน

จะเห็นว่า “สังขาร” ในขันธ์ ๕ มีความหมายแคบกว่า “สังขาร” ในไตรลักษณ์ หรือเป็นส่วนหนึ่งของสังขารในไตรลักษณ์นั่นเอง ความต่างกันและแคบกว่ากันนี้ เห็นได้ชัดทั้งโดยความหมายของศัพท์ (สัททัตถะ) และโดยองค์ธรรม

ก. โดยความหมายของศัพท์: “สังขาร” ในขันธ์ ๕ หมายถึง สภาวะที่ปรุงแต่งจิต ตัวปรุงแต่งจิตใจและการกระทำ ให้มีคุณภาพต่างๆ เครื่องปรุงของจิต หรือแปลกันง่ายๆ ว่า ความคิดปรุงแต่ง ส่วน “สังขาร” ในไตรลักษณ์ หมายถึงสภาวะที่ถูกปรุงแต่ง คือ ถูกปัจจัยของมันปรุงแต่งขึ้นมา แปลง่ายๆ ว่า สิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งปรุงแต่งหรือของปรุงแต่ง นอกจากความหมายจะต่างกันอย่างที่พอสังเกตเห็นได้อย่างนี้แล้ว ความหมายนั้นยังแคบกว่ากันด้วย กล่าวคือ สภาวะที่ปรุงแต่งจิต เครื่องปรุงของจิต หรือความคิดปรุงแต่ง (สังขารในขันธ์ ๕) นั้น ตัวของมันเอง ก็เป็นสภาวะที่ถูกปรุงแต่ง เป็นสิ่งปรุงแต่ง หรือเป็นของปรุงแต่ง เพราะเกิดจากปัจจัยอย่างอื่นปรุงแต่งขึ้นมาอีกต่อหนึ่ง ทยอยกันไปเป็นทอดๆ จึงไม่พ้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังขารในความหมายอย่างหลัง (ในไตรลักษณ์) คือเป็นสภาวะที่ถูกปรุงแต่ง หรือเป็นของปรุงแต่งนั่นเอง “สังขาร” ในขันธ์ ๕ จึงกินความหมายแคบกว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ส่วน “สังขาร” ในไตรลักษณ์กินความหมายครอบคลุมทั้งหมด

ข. โดยองค์ธรรม: ถ้าแบ่งธรรมหรือสิ่งต่างๆ ออกเป็น ๒ อย่างคือ รูปธรรม กับ นามธรรม และแบ่งนามธรรมซอยออกไปอีกเป็น ๔ อย่างคือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จะเห็นว่า “สังขาร ในขันธ์ ๕ เป็นนามธรรมอย่างเดียว และเป็นเพียงส่วนหนึ่งในสี่ส่วนของนามธรรมเท่านั้น แต่ “สังขารในไตรลักษณ์ครอบคลุมทั้งรูปธรรมและนามธรรม อนึ่ง รูปธรรมและนามธรรมที่กล่าวถึงนี้ เมื่อแยกออกไปก็คือขันธ์ ๕ นั่นเอง

จะเห็นว่า สังขารในขันธ์ ๕ เป็นเพียงขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕ (เป็นลำดับที่สี่) แต่สังขารในไตรลักษณ์ครอบคลุมขันธ์ ๕ ทั้งหมด กล่าวคือ สังขาร (ในขันธ์ ๕) เป็นสังขารอย่างหนึ่ง (ในไตรลักษณ์) เช่นเดียวกับขันธ์อื่นๆ ทั้งทั้งสี่ขันธ์ นอกจากนั้น ธรรมหรือสิ่งต่างๆ ที่นำมาแบ่งในที่นี้ ก็คือสังขตธรรม ซึ่งก็เป็นไวพจน์คืออีกชื่อหนึ่งของสังขาร (ในไตรลักษณ์) นั่นเอง จึงเห็นชัดเจนว่า สังขาร (ในขันธ์ ๕) เป็นเพียงส่วนย่อยอย่างหนึ่งฝ่ายนามธรรมที่รวมอยู่ด้วยกันทั้งหมดภายในสังขาร (ในไตรลักษณ์) เท่านั้นเอง

ฉะนั้น คำกล่าวที่ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง กับข้อความว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง จึงมีความหมายเท่าๆ กัน หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ข้อความว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” เมื่อจะขยายออกไปให้ละเอียด ก็พูดใหม่ได้ว่า “รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง" เพื่อกันความสับสน บางทีท่านใช้คำว่า “สังขารขันธ์” สำหรับคำว่าสังขารในขันธ์ ๕ ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในนามธรรม และใช้คำว่า สังขารที่เป็นสังขตธรรม หรือ “สังขตสังขาร” หรือ “สังขาร” เดี่ยวๆ สำหรับสังขารในไตรลักษณ์ที่มีความหมายครอบคลุมทั้งรูปธรรมและนามธรรม หรือขันธ์ ๕ ทั้งหมด การที่ข้อธรรม ๒ อย่างนี้มาลงเป็นคำศัพท์เดียวกันว่า “สังขาร” ก็เพราะมีความหมายเหมือนกันว่า “ปรุงแต่ง” แต่มาต่างกันตรงที่ว่า อย่างแรกเป็น “ความคิดปรุงแต่ง” อย่างหลังเป็น “สิ่งปรุงแต่ง หรือของปรุงแต่ง

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
        ๒.) สังขารในขันธ์ ๕ กับ สังขารในไตรลักษณ์
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา



วันจันทร์

๑. สังขารทั้งปวง กับ ธรรมทั้งปวง

๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง

๑. สังขารทั้งปวง กับ ธรรมทั้งปวง
ผู้ศึกษาจะสังเกตเห็นว่า ในข้อ ๑ และข้อ ๒ ท่านกล่าวถึงสังขารทั้งปวงว่าไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ แต่ในข้อ ๓ ท่านกล่าวถึงธรรมทั้งปวงว่าเป็นอนัตตา คือ ไร้ตัว หรือมิใช่ตน การใช้คำที่ต่างกันเช่นนี้ แสดงว่ามีความแตกต่างกันบางอย่างระหว่างหลักที่ ๑ และที่ ๒ คือ อนิจจตา และทุกขตา กับหลักที่ ๓ คือ อนัตตตา และความแตกต่างกันนี้จะเห็นได้ชัด ต่อเมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า “สังขาร” และคำว่า “ธรรม”

“ธรรม” เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด กินความครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามี ทั้งที่มีได้และได้มี
ตลอดกระทั่งความไม่มี ที่เป็นคู่กับความมีนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใครก็ตามกล่าวถึง คิดถึง หรือรู้ถึง ทั้งเรื่องทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งที่ดีและที่ชั่ว ทั้งที่เป็นสามัญวิสัยและเหนือสามัญวิสัย รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งสิ้น ถ้าจะให้ “ธรรม” มีความหมายแคบเข้า หรือจำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เติมคำขยายประกอบลงไปเพื่อจำกัดความให้อยู่ในขอบเขตที่ต้องการ หรือจำแนกแยกธรรมนั้นแบ่งประเภทออกไป แล้วเลือกเอาส่วนหรือแง่ด้านแห่งความหมายที่ต้องการ หรือมิฉะนั้นก็ใช้คำว่าธรรมคำเดียวเดี่ยวโดดเต็มรูปของมันตามเดิมนั่นแหละ แต่ตกลงหรือหมายรู้ร่วมกันไว้ว่า เมื่อใช้ในลักษณะนั้นๆ ในกรณีนั้น หรือในความแวดล้อมอย่างนั้นๆ จะให้มีความหมายเฉพาะในแนวความ หรือในขอบเขตว่าอย่างนั้นๆ เช่น เมื่อมาคู่กับอธรรม หรือใช้เกี่ยวกับความประพฤติที่ดี ที่ชั่วของบุคคล หมายถึง บุญ หรือคุณธรรมคือความดี เมื่อมากับคำว่า อัตถะ หรืออรรถ หมายถึง ตัวหลัก หลักการ หรือเหตุ เมื่อใช้สำหรับการเล่าเรียน หมายถึง ปริยัติ พุทธพจน์ หรือคำสั่งสอน ดังนี้เป็นต้น

“ธรรม” ที่กล่าวถึงในหลักอนัตตตา แห่งไตรลักษณ์นี้ ท่านใช้ในความหมายที่กว้างที่สุดเต็มที่ สุดขอบเขตของศัพท์ คือ หมายถึง สภาวะหรือสภาพทุกอย่าง ไม่มีขีดขั้นจำกัด ธรรมในความหมายเช่นนี้ จะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อแยกแยะแจกแจงแบ่งประเภทออกไป เช่น จำแนกเป็นรูปธรรม และนามธรรม บ้าง โลกิยธรรมและโลกุตรธรรม บ้าง สังขตธรรม และอสังขตธรรม บ้าง กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรม (สภาวะที่เป็นกลางๆ) บ้าง ธรรมที่จำแนกเป็นชุดเหล่านี้ แต่ละชุดครอบคลุมความหมายของธรรมได้หมดสิ้นทั้งนั้น แต่ชุดที่ตรงกับแง่ที่ควรศึกษาในที่นี้คือ ชุด สังขตธรรม และอสังขตธรรม

ธรรมทั้งหลายทั้งปวง แยกประเภทได้เป็น ๒ อย่าง(*๑๑๙) คือ

๑. สังขตธรรม
ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่มีปัจจัย สภาวะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งขึ้น สภาวะที่ปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้น สิ่งที่ปัจจัยประกอบเข้า หรือสิ่งที่ปรากฏและเป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังขาร ซึ่งมีรากศัพท์และคำแปลเหมือนกัน หมายถึง สภาวะทุกอย่าง ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ทั้งที่ดี ที่ชั่ว และที่เป็นกลางๆ ทั้งหมด เว้นแต่นิพพาน

๒. อสังขตธรรม

ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่ไม่มีปัจจัย หรือสภาวะที่ไม่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิสังขาร ซึ่งแปลว่า สภาวะปลอดสังขาร หรือสภาวะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง หมายถึง นิพพาน
--------------------------------------------------
(*๑๑๙ ดู สงคณี อ.๓๔/๓/๒; ๗๐๒/ ๒๗๗; ๙๐๗/๓๕๔ ธ.อ.๕/๑๑๒; ฯลฯ (สังขตธรรม มีคำจำกัดความแบบอภิธรรมนัยหนึ่ง ตามที่มาที่อ้างไว้ข้างต้นนั้นว่า ได้แก่ กุศลในภูมิ ๔, อกุศล, วิบากในภูมิ ๔, กิริยาอัพยากฤตในภูมิ ๓, และรูปทั้งปวง)
--------------------------------------------------
โดยนัยนี้ จะเห็นชัดว่า สังขารคือสังขตธรรม เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรม แต่ธรรมกินความหมายกว้างมีทั้งสังขารและนอกเหนือจากสังขาร คือทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม ทั้งสังขารและวิสังขาร หรือทั้งสังขารและนิพพาน เมื่อนำเอาหลักนี้มาช่วยในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับไตรลักษณ์ จึงสามารถมองเห็นขอบเขตความหมายในหลักสองข้อต้นคือ อนิจจตาและทุกขตา ว่าต่างจากข้อสุดท้ายคืออนัตตตาอย่างไร



โดยสรุปได้ดังนี้
สังขาร คือ สังขตธรรมทั้งปวง ไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ ตามหลักข้อ ๑ และข้อ ๒ แห่งไตรลักษณ์ และเป็นอนัตตาด้วยตามหลักข้อ ๓) แต่อสังขตธรรม หรือวิสังขาร คือนิพพาน ไม่ขึ้นต่อภาวะเช่นนี้ ธรรมทั้งปวง คือ ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม ทั้งสังขารและมิใช่สังขาร คือสภาวะทุกอย่างทั้งหมดทั้งสิ้น รวมทั้งนิพพาน เป็นอนัตตา คือไร้ตัว มิใช่ตน อนัตตตาเท่านั้น เป็นลักษณะร่วมที่มีทั้งในสังขตธรรมและอสังขตธรรม ส่วนอนิจจตาและทุกขตาเป็นลักษณะที่มีเฉพาะในสังขตธรรม ซึ่งทำให้ต่างจากอสังขตธรรม ในพระบาลีบางแห่งจึงมีพุทธพจน์แสดงลักษณะของสังขตธรรมและอสังขตธรรมไว้ เรียกว่า สังขตลักษณะ และอสังขตลักษณะ ใจความว่า

สังขตลักษณะ คือ เครื่องหมายที่ทำให้กำหนดรู้ หรือเครื่องกำหนดหมายให้รู้ว่าเป็นสังขตะ (ว่าเป็นสภาวะที่มีปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้น) ของสังขตธรรม มี ๓ อย่าง คือ
        ๑. ความเกิดขึ้น ปรากฏ
        ๒. ความแตกดับหรือความสลาย ปรากฎ
        ๓. เมื่อดำรงอยู่ ความผันแปร ปรากฏ

อสังขตลักษณะ คือ เครื่องหมายที่ทำให้กำหนดรู้ หรือเครื่องกำหนดหมายให้รู้ว่าเป็นอสังขตะ (ว่ามิใช่สภาวะที่ปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันทำขึ้นแต่งขึ้น) ของอสังขตธรรม ก็มี ๓ อย่าง คือ
        ๑. ไม่ปรากฏความเกิด
        ๒. ไม่ปรากฏความสลาย
        ๓. เมื่อดำรงอยู่ ไม่ปรากฏความผันแปร

รวมความมาอีกครั้งหนึ่งให้ชัดขึ้นอีกว่า อสังขตธรรม หรือวิสังขาร คือนิพพาน พ้นจากภาวะไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ แต่ก็เป็นอนัตตา ไร้ตัว มิใช่ตน ส่วนธรรมอื่นนอกจากนั้น คือสังขารหรือสังขตธรรมทั้งหมด ทั้งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ดังความในบาลีแห่งวินัยปิฎกผูกเป็นคาถายืนยันไว้ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขตธรรมทั้งปวงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา นิพพานและบัญญัติเป็นอนัตตา วินิจฉัยมีอยู่ดังนี้" (*๑๒๑)
--------------------------------------------------
(*๑๒๑) วินย ๔/๕๒๖/๒๒๔, ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา พึ่งอ้างหลักฐานเช่น “อมตบท (นิพพาน) ว่างจากอัตตา” (อตุตสุญญมตปท์, วิสุทธิ.๓/ “นิพพานธรรมชื่อว่าว่างจากอัตตา เพราะไม่มีตัวตนนั่นเอง” (นิพพานธมุโม อตุตสเสว อภาวโต อตฺตสุญโญ, ปฏิส.อ.๒/๓๕๖)
--------------------------------------------------

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
        ๑.) สังขารทั้งปวง กับ ธรรมทั้งปวง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา