วันพฤหัสบดี

สวรรค์อยู่ที่ไหน

ปัญหาเรื่องนรกสวรรค์ ออกจะเป็นปัญหาที่คนทั่วไป ไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน หรือแม้ในอนาคตพากันสนใจ เพราะว่ามนุษย์เรามีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง ถ้าหากว่าขาดความหวังเสียอย่างเดียวแล้ว รสชาติของความเป็นมนุษย์ก็หมดไปด้วย แต่ทว่า มนุษย์เราก็มีอายุขัยจำกัด เพราะฉะนั้นความสุขความทุกข์ที่ได้รับอยู่ในชีวิตชั่วอายุขัยหนึ่งนั้น จึงไม่เพียงพอกับความหวังของมนุษย์เรา เรื่องปรโลก จึงเป็นปัญหาสำคัญที่มนุษย์ถูกใจ เพราะเท่ากับเป็นการต่ออายุความหวังของมนุษย์เราให้ไพบูลย์ยิ่งขึ้น ถ้าสมมติว่า ในชาตินี้เราหวังสิ่งใดไม่สมปรารถนา เรายังหวังไว้ว่าในชาติหน้า เราจะได้สิ่งนั้นดังนึก เรื่องของปรโลกซึ่งเกี่ยวโยงมาถึงเรื่องนรกสวรรค์ก็กลายเป็นปัญหาที่ทุกผู้นามสนใจ ศาสนาและลัทธิปรัชญาต่าง ๆ เกิดขึ้นก็เพื่อที่จะแก้ข้อข้องใจของมนุษย์ในปัญหาเหล่านี้ด้วย ประการหนึ่ง แต่ว่าเฉพาะในทรรศนะพระพุทธศาสนาเรา สวรรค์นรกคืออะไรอยู่ที่ไหน พระพุทธองค์ ได้ตรัสแสดงนัยไว้อย่างไร ข้อนี้เราน่าจะพิจารณากันดู

ในสมัยพุทธกาลได้มีลัทธิปรัชญาบางสำนัก ซึ่งเรียกกันว่าเป็นลัทธิ “โลกายตะ” แปลว่าลัทธิที่ดำเนินไปตามโลก ลัทธิหนึ่ง กับลัทธิ “อุจเฉทวาทะ” คือลัทธิที่ว่าด้วยการขาดสูญอีกลัทธิหนึ่ง สองลัทธินี้ไม่ยอมรับเรื่องปรโลกว่าเป็นของมีอยู่จริง

ลัทธิโลกายตะ รับรองว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่เนื้อหนังมังสัง การที่เราตามใจกิเลสได้เป็นดีที่สุด หาทางป้อนกิเลสมากเท่าไรเป็นสบายมากเท่านั้น เพราะฉะนั้น ลัทธินี้จึงมีชื่อว่า “โลกายตะ” แปลว่าดำเนินไปตามโลก ลัทธินี้ไม่คำนึงถึงเรื่องปรโลกว่าสำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าปัจจุบันทำอย่างไร เราถึงจะได้หาเนื้อหนังมังสังของเราให้สมบูรณ์
ลัทธิอุจเฉทวาท ลัทธินี้ก็ไม่คำนึงถึงปรโลกอีกเหมือนกัน เพราะไม่ยอมรับรองคุณค่าของศีลธรรมจริยธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นสองลัทธินี้ พระพุทธองค์จึงทรงประฌานไว้แล้วว่า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ผู้ใดที่เกิดมีทรรศนะพ้องกับสองลัทธินี้ ผู้นั้นห้ามมรรค ห้ามผล ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพานหมด แต่ว่าอีกลัทธิหนึ่งชื่อว่า

ลัทธิสัสสตทิฏฐิ ลัทธินี้ถือว่าวิญญาณเที่ยง ถ้าเกิดเป็นคนต้องเกิดเป็นคนกันตะพึด ไม่ว่ากี่หมื่นกี่โกฏิชาติ เกิดเป็นสัตว์ก็ต้องเป็นสัตว์กันตะพึด ไม่ว่ากี่หมื่นกี่โกฏิชาติ หรือถือว่าอัตตาเที่ยง แม้จะเปลี่ยนแปลงทางรูปกายเป็นคนบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง เป็นอินทร์บ้าง เป็นพรหมบ้าง แต่ว่าคน ๆ นั้นแหละ อัตตาตัวนั้นแหละเป็นผู้ไปเกิดเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ลัทธิอย่างนี้เรียกว่า “สัสสตทิฏฐิ”

ลัทธินี้พระพุทธองค์เพียงตรัสว่า ห้ามมรรค ห้ามผล ห้ามนิพพาน ไม่ห้ามสวรรค์ เพราะว่าอย่างน้อย เมื่อเราถือว่ามีอัตตา มีตัวตน เราก็รักนวลสงวนตัว อยากจะให้ตัวเองมีความสุข ไม่กล้าไปประกอบกรรมทำชั่ว มีความหวังว่าชาติหน้า จะได้รับผล ความสุขในการทำความดีของตนให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป พวกนี้ยังมีความหวงแหนตัว ยังเห็นคุณค่าของจริยธรรม มีความรักตัวสงวนตัว เพราะฉะนั้นพวกนี้จึงเพียงแต่ว่าห้ามมรรค ห้ามผล ห้ามนิพพาน แต่ไม่ห้ามสวรรค์ ยังไปสวรรค์ได้

เฉพาะพวก “โลกกายตะ” กับพวก “อุจเฉททิฏฐิ” แล้วเป็นอันห้ามทั้งสวรรค์ มรรค ผล นิพพานไปหมดเลย มีทางเดียวที่จะบ่ายหน้าไปก็คือ โลกันตนรก ไปสู่อบายทางเดียว เมื่อแสดงมติเช่นนี้ ก็เป็นอันแสดงได้แล้วว่า พระพุทธศาสนาเราถือว่านรกสวรรค์มีจริง

ถ้านรกสวรรค์มีจริงจะพิสูจน์ให้คนปัจจุบันเรารู้เห็นเชื่อได้อย่างไรว่ามีจริง ?  
ข้อนี้แหละเป็นข้อสำคัญอย่างยิ่ง การพิสูจน์ว่านรกสวรรค์ในปัจจุบันนี้มีจริงนั้น ภาษาธรรมะจึงบัญญัติว่าตาเราเห็นได้คือสี ถ้าไม่มีสีเสียอย่างเดียว ตาเราเห็นไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่วัตถุสิ่งนั้นวางอยู่ต่อหน้า เราก็มองไม่เห็น ทีนี้สีอันนั้นภาษาธรรมะ เรียกว่าเป็นวรรณรูป-รูปายตนะอันเป็นวิสัยแห่งจักษุที่จะเข้าไปรับรู้นี้เป็นวรรณรูป แล้วธรรมดาสีนี้ทางวิทยาศาสตร์เขาว่าอย่างไง วิทยาศาสตร์บอกว่าสีที่แท้จริงไม่มีในโลกหรอก ที่เราเห็นว่ากุหลาบสีแดง มะลิสีขาว ที่เราเห็นสีต่าง ๆ แม้กระทั่งถึงสีสันต่าง ๆ ของเสื้อผ้า สีต่าง ๆ ในโลก ถ้าว่าโดยตามสัจจ์ตามจริงสีไม่มี มันมีแต่คลื่น วิทยาศาสตร์ว่าเป็นคลื่นแสงแล่นมากระทบแล้วแต่ช่วงของมัน คลื่นบางอย่างช่วงระยะยาวทำให้เป็นสีแดง คลื่นบางอย่างกระทบช่วงระยะสั้น เห็นเป็นสีเหลือง คลื่นบางอย่างมาในระยะเท่านั้นเท่านี้เห็นเป็นสีน้ำเงิน สีเขียว สีแสด

เพราะฉะนั้นคลื่นนี้แหละมากระทบแล้ว ที่พุทธศาสนาเราเรียกว่ารูป คำว่ารูปนี้ รูปธาตุในพระพุทธศาสนาไม่ใช่หมายความเป็นเพียงแต่วัตถุธรรมอย่างเดียว แม้พลังงาน แม้คลื่นแสง ก็เป็นรูป รูปธาตุหรือรูปายตนะด้วย อันนี้เราจะเห็นว่าความก้าวหน้าของธรรมะในพุทธศาสนาเราล้ำยุคกว่าวิทยาศาสตร์ เพราะว่าเป็นผลงานของสัพพัญญุตญาณ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ค้นคว้ามาก่อนหน้าวิทยาศาสตร์จะรู้ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ถึง ๒๔๐๐ กว่าปี อันเป็นพุทธคุณที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ก็เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่จะมากระทบเราทางตานั้นมันมาในรูปของคลื่นสั้นบ้าง คลื่นยาวบ้าง คลื่นช้าบ้าง คลื่นเร็วบ้าง อย่างนี้แล้ว คลื่นบางชนิดที่มันมีอยู่รอบตัวเรากระทบตาเราวันยังค่ำ คืนยังรุ่ง แต่เราไม่เห็นก็มี คลื่นชนิดนั้นเรียกว่าอะไร คืออุลตราไวโอเลต แสงอุลตราไวโอเลต ภาษาวิทยาศาสตร์ว่ามีอยู่ในโลก เวลานี้ก็มีคลื่นชนิดนี้ สีชนิดนี้ แต่ตาเรามองไม่เห็นทั้ง ๆ ที่ตาเราไม่บอด มองจ้องมันก็ไม่เจอ แล้วเราจะปฏิเสธว่า คลื่นอุลตราไวโอเลตไม่มีได้ไหม ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อเรามองไม่เห็นแล้วปฏิเสธสิ่งนั้นว่าไม่มี ถ้าหากว่าเราอยากจะเห็นคลื่นอุลตราไวโอเลต เราก็ต้องมีเครื่องอุปกรณ์ช่วยทางจักษุสัมผัสของเราให้มีประสิทธิภาพสูง เราจึงสามารถจับแสงของคลื่นอุลตราไวโอเลตได้ฉันใด เราจะเห็นนรกสวรรค์ภูตผีปีศาจเทวดาได้ ก็ต้องสร้างประสาทพิเศษ สร้างอุปกรณ์พิเศษที่จะเป็นสื่อนำจักษุสัมผัสของเราไปประจวบกับรูปายตนะของเทวดาอินทร์พรหมยมยักษ์เหล่านี้ได้ฉันนั้นเหมือนกัน



เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้เราก็หักได้ข้อหนึ่งว่า ข้อสมมติฐานของพวกที่ไม่เชื่อนรกสวรรค์ บอกว่านรกสวรรค์ถ้ามีฉันต้องเห็น เทวดาผีสางมีทำไมฉันมองไม่เห็นล่ะ ข้อนี้ก็เป็นอันพับผ่านไปได้แล้ว เถียงไม่ขึ้น เพราะว่าสิ่งที่ไม่เห็นน่ะเยอะแยะทั้งที่ตาเราไม่บอดแต่เราก็มองไม่เห็น นักวิทยาศาสตร์ที่เขามีความรู้ดี เขาจึงไม่กล้าค้านว่าสรรค์ไม่มี นรกไม่มี เขาไม่กล้าค้านหรอก อย่างมากเขาก็เพียงบอกว่า สวรรค์กับนรกน่ะ เป็นสิ่งซึ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ค้นคว้าไปไม่ถึง ตอบอย่างนี้เป็นการตอบอย่างไม่เสียภูมินักปราชญ์ พวกที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ปลอมหรือวิทยาศาสตร์เทียม พวกนี้ต่างหากล่ะที่รีบตอบว่าไม่มี เพราะฉันไม่เห็น พิสูจน์ไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นประเด็นแรก

ประเด็นที่สอง และถ้าอย่างนั้น ถ้าหากว่ายอมรับว่านรกสวรรค์มีล่ะ มันตั้งอยู่ที่ไหน ?
นรกสวรรค์มีมันจะไปตั้งอยู่ที่ไหน ความจริงภูมิของนรกสวรรค์นี้ ทางพุทธศาสนาเราแยกเป็น ๓ ประเด็นด้วยกันนะครับ ข้อต้นเมื่อมีคนมาถามพระพุทธองค์ว่า นรกสวรรค์มีไหม พระพุทธเจ้าจะพิจารณาว่า คนตั้งปัญหานี้ เขาถามด้วยความสงสัยอยากรู้จริง ๆ หรือถามเพื่อที่จะชวนวิวาท

ถ้าหากเป็นคำถามที่ตั้งขึ้นจะชวนวิวาทอย่างนี้แล้ว พระศาสดาไม่ทรงตอบ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสแล้วว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์ที่เราประพฤตินี้ ไม่ใช่ประพฤติเพื่อจะหลอกลวง ไม่ใช่เพื่อจะตั้งตัวเป็นเจ้าลัทธิสำหรับแก้วาทะอย่างโน้น แก้วาทะอย่างนี้ โต้แย้งกัน เราประพฤติพรหมจรรย์อันนี้มิใช่เพื่อลาภสักการะ ชื่อเสียง ไม่ใช่ทั้งนั้น แต่ที่แท้พรหมจรรย์นี้ตถาคตบัญญัติ และสั่งสอนพวกเธอก็ด้วยมีวิราคะเป็นแก่นสาร มีวิมุตติเป็นแก่นสาร มีนิโรธะ มีนิพพานเป็นแก่นสาร พระพุทธเจ้าพระองค์ประกาศเจตจำนงของศาสนาออกมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นใครก็ตาม ถ้าหากว่าตั้งปัญหาประเด็น แบบชวนวิวาทแล้ว เป็นอันยกเลิกไม่ตอบหมดเลย

แต่ถ้าปัญหาประเด็นที่เรียกว่าอยากรู้จริงด้วยความสงสัยจริง ๆ อย่างนี้แล้วจะทรงตอบ แล้วก็ตอบออกเป็น ๓ นัย วิธีการตอบปัญหาแบ่งเป็น ๓ นัยนี่แหละ พระองค์ได้ตรัสบอกว่าภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นวิกขวาที หาใช่เอกังสวาทีไม่ ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นกรรมวาที เป็นวิรยวาที คือว่าเป็นผู้ที่กล่าวว่ามีกรรมมีความพากเพียรเพื่อความหลุดพ้นทุกข์ แล้วก็เป็นผู้กล่าวจำแนกตามเหตุการณ์ อย่างประเด็นที่ถามว่านรกสวรรค์มีไหมอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงใช้วิภขพยากรณ์ คือว่า
        ๑ ต้องแบ่งว่านรกสวรรค์น่ะมี ทั้งที่เป็นปัจจุบันและที่เป็นสัมปรายภพ เฉพาะประเภทที่เป็นปัจจุบันน่ะยังแบ่งอีกเป็น ๒ คือ
                ประการที่ ๑. ได้แก่สวรรค์ในอกนรกในใจ ประเภทนี้พระองค์ทรงชี้นรกสวรรค์อยู่ที่อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไปเสพอารมณ์ชนิดใด อันเป็นที่ตั้งแห่งความสุขความโสมนัสปรีดา นั้นแหละเป็นสวรรค์ ตรงกันข้าม ถ้าหากว่าอารมณ์ที่มาให้เราเสพเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาหรือโทมนัสเวทนาแล้ว อันนั้นเป็นนรก เพราะสวรรค์ก็ตาม นรกก็ตาม คุณสมบัติอยู่ที่ว่าความเพลิดเพลิน หรือความทุกข์เข็ญของอารมณ์ทางทวาร ๖ ใช่หรือไม่ เราตัดสินความสุขกับความทุกข์น่ะ ไม่ใช่ตัดสินที่วัตถุว่า ต้องตึกหลังใหญ่ ๆ ถึงจะเป็นความสุข มหาเศรษฐีที่อยู่ตึกหลังใหญ่ ๆ นอนก่ายหน้าผากลืมตาโพลงมีเยอะแยะไป เพราะฉะนั้นตึกใหญ่ ๆ นี่ก็ไม่ใช่ความสุขจริง ๆ มันเป็นอุปกรณ์ของความสุข แต่ก็ไม่ใช่ตัวความสุข เรากล่าวบอกว่าคุกตะรางเป็นความทุกข์มหันต์ แต่นักโทษที่เห็นคุกเป็นวิมานก็มี ถึงกำหนดปล่อยออกมาวันนี้แล้ว อ้อนวอนบอกว่าออกไปทำมาหากินลำบาก เดี๋ยวจะต้องไปแก่งแย่งเขากิน สมัครงานก็ยาก ยิ่งเขารู้ว่าเป็นคนขี้คุกขี้ตะรางอย่างนี้แล้ว ใครเขาอยากจะรับกัน ไม่อยากรับ ลูกเต้าก็ไม่มีแล้ว เมียก็ไปมีผัวใหม่แล้ว พ่อแม่ก็ตายหมดแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าเลยจะขอสมัครอยู่ในคุกกินข้าวหลวงฟรีเถอะ อยู่บ้านฟรี กินข้าวหลวงฟรี ใช้น้ำประปา ไฟฟ้าฟรี เสื้อผ้าก็หลวงก็แจกฟรี ขออยู่ที่นี่ต่อไปดีกว่า หลวงก็ไม่ยอม บอกไม่ได้ แกพ้นโทษแล้ว แทงบัญชีขาดแล้วออกไป อ้ายหมอนั่นพอออกจากคุก ก็รีบหาไม้ไปตีกบาลหัวคนเข้า เพื่อที่จะหาเหตุให้ตำรวจจับมาเข้าคุกใหม่ ตำรวจบอกว่า ทำไมเจ้าเพิ่งปล่อยเมื่อเช้านี้ บ่ายนี้เห็นหน้าบนโรงพักอีกแล้ว มันเรื่องอะไร นักโทษก็บอกว่า เรื่องมันมีอย่างนี้แหละหมู่ เพราะหตุที่ว่าการครองชีพก็ลำบาก เมียก็ไปมีครอบครัวใหม่แล้ว ไม่มีญาติโกญาติเกที่ไหนแล้ว เพราะฉะนั้นขอกลับคืนมาที่นี่ เมื่อไม่ให้อยู่กันดี ๆ ก็ต้องหาเหตุเป็นอาชญากรรมมาอยู่คุกต่อไปน่ะซี เพราะฉะนั้นความสุขความทุกข์ จึงไม่ใช่อยู่ที่อุปกรณ์แวดล้อม แต่หากว่าอยู่ที่อารมณ์ของจิตใช่หรือไม่ การตัดสินสวรรค์นรกก็เหมือนกัน อยู่ที่อารมณ์ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นที่ตั้งแห่งความโสมนัส เราตัดสินได้ว่าผู้นั้นเสวยสวรรค์ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส เราตัดสินได้ว่าผู้นั้นตกนรก แม้จะอยู่ในเวียงวังปราสาทราชฐาน แต่ถ้ามีจิตรุ่นร้อนเหมือนอยู่ในไฟแล้วคนนั้นก็ตกนรกเหมือนกัน นี่เป็นประเภที่ ๑ ที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่า ได้แก่สวรรค์ในอกนรกในใจ คือบัญญัติ นรกสวรรค์ที่อายตนะ ๖ รับอารมณ์ ๖ อันเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสบ้าง โทมนัสบ้าง เป็นสวรรค์

             ประการที่ ๒ นรกสวรรค์ที่เป็นทิฏฐธรรมเวทนียะ อีกอย่างหนึ่ง ก็ทรงชี้ไปที่ชีวิตความเป็นอยู่ภายนอกของบุคคลต่าง ๆ ในสังคม เช่นว่าพระมหากษัตริย์ เราก็เรียกว่าเป็นเทวดา เป็นสมมติเทพ พระมหากษัตริย์ เจ้านายในราชวงศ์ เราก็ถือว่าเป็นสมมติเทพ เพราะมีความสุข ความเป็นอยู่ อุปกรณ์ภายนอกประณีตกว่าชาวบ้านธรรมดาสามัญชนคนที่เป็นทุกขตะเข็ญใจ เป็นง่อยเปลี้ยเสียขาพิกลพิการวิปริตต่าง ๆ ลำบากลำบนทรมานอยู่ เราก็เรียกกันว่าเป็นนรก เป็นสัตว์นรก เสวยทุกข์ในนรก อย่างนี้เป็นการชี้สวรรค์นรกในทางวัตถุธรรมภายข้างนอก

ชีวิตในสังคมที่เราประสบกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะฉะนั้นนรกสวรรค์ ๒ ประเด็นนี้ก็ได้แก่ นรกสวรรค์ที่เราอาจจะเห็นได้ด้วยตาเนื้อในปัจจุบันทิฏฐธรรมเวทนียะนี้แหละ คราวนี้มาถึงนรกสวรรค์อันเป็นปรโลภที่เราจะมองด้วยตาเนื้อไม่เห็น แปลว่าจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาติหน้าจริง ๆ แล้ว สวรรค์นรกประเภทนี้ เป็นประเภทที่สำคัญมาก เพราะจะต้องอาศัยกรณีแวดล้อมพิสูจน์ต่าง ๆ ว่ามันตั้งอยู่ที่ไหนนะ ทุกวันนี้ความรู้ทางอวกาศเจริญมากแล้ว บางคนก็บอกว่า เอ ขี่จรวดขี่เครื่องบินไม่เห็นเจอ ไม่เห็นชมวิมานเทวดาเสียที ก็เคยดูในภาพเขียนตามศาลาตามโบสถ์ตามวิหารเขียนว่าวิมานเทวดาอยู่บนก้อนเมฆ คราวนี้เครื่องบินที่เร็วกว่าเสียง บินเหนือก้อนเมฆ มิหนำซ้ำยังมีจรวดบินพ้นโลกตั้งระยะตั้งเป็นร้อย ๆ ไมล์ ก็ไม่เห็นวิมานเทวดาไปอยู่ที่ไหน คนโบราณหลอกเอาเสียละมัง ว่าสวรรค์นรกมีจริงน่ะ ถ้าเราจะไปวิมานเทวดาในก้อนเมฆรับรองผิดหวัง ๑๐๐% เพราะเรื่องวิมานเทวดา บนก้อนเมฆน่ะเป็นเรื่องของจิตกรเขา เขาเขียนด้วยมโนภาพ ความจริงสวรรค์นรกไม่ได้ตั้งอยู่บนก้อนเมฆหรอก สวรค์เป็นโลกธาตุโลกหนึ่ง เป็นดาวดวงหนึ่งคล้าย ๆ โลกเรานี่ โลกเราก็เป็นดาวหนึ่ง เรียกว่าเป็นท่อนหนึ่งของราหู วิชาโหราศาสตร์เขาแบ่งดาวใหญ่ ๆ เป็นนพเคราะห์ ๙ โลกราหูถูกตัดเป็นสองท่อน โลกเรานี่เป็นหางราหูนะ ท่อนตัวท่อนหัวราหูออกไปเป็นอีกโลกหนึ่ง ท่อนหางคือโลกที่เราอยู่นี้ เพราะฉะนั้นดาวราหู วิชาโหราศาสตร์เขาทายบอกว่า ถ้าจะทายมัวเมาให้ดูราหู ราหูเสวยอายุเป็นกาลี คนนั้นแปลว่าอยู่ในความหลง จิตใจมัวเมาขุ่นข้อง ไม่มีความสว่างแจ่มใสเลย ถ้าใครราหูเป็นอายุกุมลัคนาอีก คนนั้นก็แย่ มืดเมามัว มีโมหคติมาก อย่างนี้เป็นต้น เพราะถ้าเผอิญใครว่าราหูเล็งอายุ เล็งลัคนา เล็งจันทร์ อย่างนี้ต้องให้ทายบอกว่า คนนั้นสายตาไม่ดี อาจจะเป็นโรคในจักษุ หรืออะไรต่าง ๆ ก็ว่ากันตามตำราโหราศาสตร์ แต่เอาความว่าโลกเรานี้เป็นท่อนหางราหู เพราะฉะนั้น สัตว์โลกที่เกิดมาในโลกนี้จึงหลงมัวเมาด้วยโลภมาก โหราศาสตร์เขาว่าอย่างนั้น 

แต่มันก็ปรับความจริงกับดาราศาสตร์ว่า โลกเรานี้เป็นสะเก็ดของดาวนพเคราะห์ดวงมหึมา แตกแยกออกมา และนอกจากโลกเราแล้วยังมีดาวพระเคราะห์อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกับโลกเรา ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง นับไม่ถ้วนดวง ไม่เชื่อตอนกลางคืนเราก็แหงนคอมองบนท้องฟ้าดูซิจริงไหม ใครสามารถนับดวงดาวบนท้องฟ้าได้ว่ามีกี่ดวง รับรองไม่มีใครนับได้ ความจริงมันมีมากกว่าที่เราเห็นเสียอีก ที่เราเห็นแสงดาวนั้น ดวงดาวดวงหนึ่งกว่าจะส่งรัศมีมาให้เราเห็นน่ะต้องเดินทางเป็นล้าน ๆ ๆ ปีแสง หนึ่งวินาทีต่อความเร็วของแสงเดินนะ เดินหนึ่งวินาทีต่อสองแสนไมล์ แสงมันเดินเร็วอย่างนี้ ไม่มีอะไรจะเดินเร็วเท่าแสง แสงเดินเร็วยิ่งกว่าเสียงอีก เสียงยังเดินช้ากว่าแสงตามวิชาวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นหนึ่งวินาทีน่ะแสงเดินถึง ๒ แสนไมล์ เราเห็นดวงดาวดวงหนึ่งเห็นว่ามันระยิบระยับ ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ว่าการที่แสงของดวงดาวนั้นมาสัมผัสกับจักษุประสาทของเรานี้ มันเดินทางล้าน ๆๆ โกฏิปีของแสงถึงจะมาถึง แต่ถึงกระนั้น เราเองก็แหงนคอทีไรก็เห็นมันระยิบระยับทุกทีในเวลากลางคืนทุกทีเลย หารู้ไม่ว่า นั่นแหละกว่าจะมาเข้าสัมผัสกับจักษุเราน่ะเป็นโกฏิ ๆ ล้านปีแสงแล้ว เพราะฉะนั้นอันนั้นก็จักรวาลในสุริยะระบบต่าง ๆ จึงรูปมีเอนกอนันตัง ซึ่งทางวิชาอวกาศและดาราศาสตร์ได้พิสูจน์ไว้แล้ว ในข้อนี้ หากจะปรับสมมติเข้าเทียบเคียงพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาเราก็ก้าวไปลิบลับ

พระพุทธเจ้าได้ทรงมีความรู้ในห้วงอวกาศก่อนหน้านักวิทยศาสตร์ถึงสองพันกว่าปี ตรัสว่ามีจุลหัสสีโลกธาตุ มหาสหัสสี ติสหัสสี โลกธาตุ โลกธาตุน้อยหนึ่งพัน โลกธาตุใหญ่โลกธาตุน้อยอีกสามพัน แล้วก็ยังมีอีก ใช้คำว่าแสนโกฏิจักรวาลอีก คำว่าแสนโกฏิจักรวาลนี่ แปลว่าพระพุทธเจ้าทรงรู้แล้วว่ามีดวงดาวต่าง ๆ เป็นโลกธาตุมากมายในอวกาศนี้นับไม่ถ้วน ก็เมื่อโลกเรายังมีมนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ ทำไมโลกอื่นซึ่งเขามีสิ่งแวดล้อมบางอย่างอาจจะคล้ายคลึงกับโลกเราจะมีสิ่งมีชีวิตบ้างไม่ได้เล่า เพราะฉะนั้นในข้อนี้ ความเจริญของอวกาศกลับมาพิสูจน์ถึงเรื่องนรกสวรรค์ว่า นรกสวรรค์ที่เป็นภูมิเป็นโลกสัณฐานต่างจากโลกเรานี้มีจริง ไม่ใช่เรื่องโกหกมดเท็จ แต่ว่าไม่ใช่ตั้งอยู่บนก้อนเมฆ เพราะก้อนเมฆเป็นเรื่องใกล้ ๆ ไม่ใช่เรื่องไกลอะไร ก้อนเมฆที่เราเห็นทุกชั้นนี้ลอยละล่องอยู่บนท้องฟ้านี่นะเป็นเรื่องใกล้ ๆ ระยะทางเหนือจากโลกเราไม่กี่สิบกิโลเมตร ก็ถึงก้อนเมฆแล้ว ขี่เครื่องบินยังเหนือเมฆเสียกว่าอีก บางทีเราขึ้นไปบนยอดเขาสูง ๆ ก้อนเมฆยังลอยต่ำกว่ายอดเขาเสียอีก ไม่เชื่อลองขึ้นไปบนภูพานหรือภูกระดึงดูซิ ก้อนเมฆลอยต่ำกว่ายอดเขา เวลามีพยับพโยมเมฆฝนตกนี้ ก้อนเมฆพยับพโยมน่ะลอยต่ำกว่าที่เราเหยียบ เพราะฉะนั้นเราจะไปหาวิมานบนก้อนเมฆน่ะ ไม่เจอแน่ อยากจะเจอวิมานเทวดาต้องไปหาบนดวงดาวอีกโลกหนึ่ง แต่จะไปอย่างไรล่ะ เวลานี้ไม่ใช่ว่าจรวดยังไปไม่ถึง แค่ดาวพระจันทร์คนก็ยังไปไม่ถึงเลยนี่ แล้วก็อะไรที่จะรับประกันได้ว่า ในดาวพระจันทร์จะมีวิมาน

สมมติว่าอเมริกาสามารถผลิตจรวดเอาคนออกนอกโลกไปลงดวงจันทร์ได้ในอีกห้าปีข้างหน้า ตามที่นักวิทยาศาสตร์อเมริกาคาดพยากรณ์ไว้ สมมติว่าอย่างนั้น คราวนี้ถ้าเราจะขี่จรวดจากดวงจันทร์ เอาดวงจันทร์เป็นสถานีกลาง จะไปเที่ยวเมืองสวรรค์ละ ไปค้นคว้าว่าเมืองสวรรค์น่ะมีอยู่ในดวงนพเคราะห์ดวงไหน ขี่ไป เราตายเปล่า จรวดไปไม่ถึง เราตายในกลางจรวดแล้ว เพราะอายุขัยมนุษย์มีจำกัด คนอย่างมากอยู่ ๑๒๐ ตาย เป็นอายุกัปปะ ในสัตว์ ในภัทรกัปนี้ อายุสัตว์ในศาสนาพระพุทธเจ้าของเราองค์ปัจจุบันนี้ ๑๒๐ ปี เรียกว่าอายุยืนที่สุดแล้ว เป็นกำหนดเป็นอายุขัย ของกัลป์ ของมนุษย์ในกัลป์นี้ เรียกว่า อายุขัยของมนุษย์ คราวนี้โลกสวรรค์ต่างจากโลกมนุษย์ เราเปรียบว่าห่างกันล้านล้านไมล์เถอะนะ เราขี่จรวดวิ่งไป เหาะไป จรวดสมมติว่า วินาทีหนึ่งมีความเร็วประมาณร้อยไมล์ เราไปตายกลางทางแล้ว แก่หง่อมตายไปเลย ถ้าจะไปถึงก็จะมีแต่จรวดเปล่า เราไม่ได้ตามจรวดไปด้วย มีแต่ศพติดไป อาจจะเหลือแต่โครงกระดูกกองหนึ่งอยู่ในจรวดก็ได้ ไปถึงเมืองสวรรค์แล้ว เพราะฉะนั้นการจะไปเมืองสวรรค์ด้วยการขี่จรวดน่ะ รับรองว่าไม่ทางสำเร็จ เพราะว่าเมืองสวรรค์อยู่ห่างจากโลกมนุษย์นี้หลายล้านหลายโกฏิพันล้านไมล์ อย่างที่ว่ามานี้แหละว่า ถ้าไปทางกายไม่ได้ ไปได้ทางเดียว คือทางใจ ทางใจนี่แหละ เพราะว่าใจนั้นไม่ได้ถูกอำนาจขอบเทศะจำกัด เทศะจำกัดใจเราไม่ได้ แต่ว่าใจเองก็ถูกอำนาจกาละจำกัด ถ้าใจไม่ถูกอำนาจกาละจำกัดแล้ว ใจก็เป็นอมตะเป็นนิพพานน่ะซิ ใจยังเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ มีอุปปาทะ ฐิติภังคะ เพราะฉะนั้นใจจึงเป็นทาสของกาละแต่ไม่เป็นทาสของเทศะ สมมติว่า เรานั่งที่นี่ เราจะคิดถึงจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดเชียงใหม่ เมืองนอกเมืองนาที่เราเคยไป เราไม่ต้องเอาใจไปขี่จรวดขี่เครื่องบิน นั่งที่นี่คิดปับก็ถึงปุ๊บนี่แสดงว่าใจเราน่ะ ไม่ถูกเทศะจำกัดเลย ไปคล่อง ไปรวดเร็ว มาเร็วทีเดียว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ลหุปริวตฺตํ จิตฺตํ จิตนี้นะเป็นไปอย่างรวดเร็วเชียว ชั่วลัดนิ้วมือเดียวก็ถึง นี่แสดงว่ามันไม่ถูกจำกัดด้วยเทศะ คราวนี้ถ้าหากว่ากาย กายเราจำกัดด้วย เทศะ เรานั่งเก้าอี้ตัวนี้ใครจะมานั่งซ้อนเราไม่ได้ จะมานั่งตรงที่เรานั่งไม่ได้ นอกจากนั่งซ้อนบนตักเราน่ะซิ นั่งได้ แต่จะมานั่งตรงที่เรานั่งสัมผัสอยู่แล้วไม่ได้ นี่แปลว่า กายน่ะมันเทอะทะ มันจำกัด มันเกะกะรุงรัง เป็นของหนัก แต่ไอ้ใจนี่น่ะคนร้อยคน พันคน พุ่งใจไปในจุดเดียวกันไม่เกะกะ ไม่เชื่อท่านทั้งหลายลองส่งกระแสจิตไปที่พระพุทธรูปองค์นี้ซิ จะเห็นว่าไม่มีเนื้อที่เกะกะใจเราเลย ไม่ว่ากี่ร้อยกี่พันกี่แสนโกฏิดวง ส่งกระแสจิตพุ่งมาที่พระพุทธรูป พระพุทธรูปท่านรับกระแสจิตทุกคนไว้หมด ถ้าหากว่าคนตั้งแต่สองคนขึ้นไปจะไปนั่งเก้าอื้ตัวเดียวกัน นั่งกันไม่ได้แล้ว เกะกะแล้ว ต้องนั่งซ้อนบนตักแล้ว จะมานั่งบนที่เขานั่งก่อนไม่ได้แล้ว นี่แหละจึงแสดงให้เห็นว่า ใจนี้ไม่มีอำนาจเทศะจำกัด แต่ว่าถูกจำกัดด้วยกาละ

เพราะฉะนั้นเมื่อเราอยากจะไปสวรรค์ทางกาย ไม่มีทาง เพราะจะต้องไปตายกลางทางไปไม่ถึงหรอก มันไกล ก็ไปได้ทางเดียวคือทางใจ ทางใจจะไปอย่างไรล่ะ ก็ต้องใช้เครื่องอุปกรณ์เหมือนหนึ่งเราจะขึ้นเครื่องบิน ก็ต้องอาศัยเครื่องบินเป็นอุปกรณ์ เครื่องบินก็ต้องอาศัยนักบิน อาศัยน้ำมันเป็นอุปกรณ์ มันถึงบินได้ ไม่ใช่ว่ามีเครื่องบินเปล่า ๆ แล้วเราจะบินได้เมื่อไรเล่า เราขับเครื่องบินก็ไม่เป็น ขับเครื่องบินเป็นไม่มีน้ำมัน เครื่องบินมันก็ไม่บินให้ เพราะฉะนั้นการไปเที่ยวโลกสวรรค์ก็เหมือนกัน ต้องมีอุปกรณ์ นอกจากมีใจแล้วต้องอุปกรณ์ของใจสำหรับพาเราไปเที่ยว อุปกรณ์ในที่นี้ก็คือว่า การฝึกจิตตามวิธีของฌาน เราฝึกจิตตามวิธีของฌานจนกระทั่งเกิดอภิญญา เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เรื่องของฌานเป็นเรื่องของจิตกรีฑา คือเป็นกีฬาเครื่องเล่นของจิตเหมือนกับ เรามองดูเขาเล่นกรีฑาทางโลก บางคนก็กระโดดสูงตั้งสองสามเมตร เรากระโดดได้ไหม ให้เรากระโดดสูงตัง ๒ - ๓ เมตร เรากระโดดได้ไหม เรากระโดดไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ฝึกใช่ไหม บางคนว่ายน้ำ ว่ายเร็ว เพียง ๕ นาทีนี่ มีความเร็วเป็นระยะตั้ง ๕ เส้น ๖ เส้น นี่ถ้าเรามาว่ายบ้าง เราไปไม่ไหว เพราะเราไม่ใช่นักกีฬาว่ายน้ำนี่ บางคนขว้างจานได้ไปที่ตั้งไกล ๆ ขว้างตั้งห่างกันตั้ง ๒ เส้น ๓ เส้น เราขว้างเองไม่ถึง แค่เส้นหนึ่งก็ไม่ถึงแล้วสุดกำลังของเรา เพราะอะไร เราไม่ใช่นักขว้างจาน เราไม่ได้ฝึกในทางขว้างจาน บางคนวิ่ง วิ่งทน วิ่งมาราธอน เขาอาจจะวิ่งรอบสนามหลวงตั้งสามรอบ ของเราล่ะ แค่ครึ่งรอบก็แย่แล้ว อย่าว่าแต่สามรอบเลยไปไม่ไหว บางคนไต่เส้นลวดเท่านิ้วหัวแม่มือ เขาเดินสองขาไต่สบายข้ามตึกหลังหนึ่งไปยังตึกอีกหลังหนึ่ง ตึกสูงลิ่ว ๑๐ ชั้น ๒๐ ชั้น เอาเส้นลวดขึงจากตึกฟากนี้ไปตึกฟากโน้น แล้วก็เดินไต่ไป มิหนำซ้ำก็ยังปล่อยมืออีก ไม่มีเครื่องอุปกรณ์ ทำไมเขาไม่พลัดตกลงมา เราเองเดินท้องร่องสวน ต้นหมากต้นหนึ่งยังตกโครมลงไปในท้องร่อง ทำไมเป็นอย่างนั้น นี่แสดงว่าเป็นเพราะการฝึก คนฝึกกับคนไม่ฝึก มันมีความสามารถต่างกันฉันใด ผู้ที่ฝึกจิตเล่นจิตกรีฑาบ่อย ๆ จนกระทั่งมีวสีความเชี่ยวชาญในฌานมาก ๆ แล้ว ผู้นั้นก็อาจจะทำสิ่งซึ่งคนธรรมดาทำไม่ได้ มองเห็นเป็นเรื่องเหลือวิสัยไป คือว่ามีทิพยจักษุ มีทิพยโสต อาจจะติดต่อโลกทิพย์กายทิพย์ได้ ฉันใดก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจงมีความไว้วางใจเถิดว่า สวรรค์มีจริงแน่ ยิ่งวิทยาศาสตร์เจริญเท่าไร ก็ยิ่งพิสูจน์ความจริงว่า สวรรค์มีไม่ใช่ว่าไม่มี

ก็เมื่อสวรรค์มีจริงแล้ว สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสวรรค์ คือนรก ทำไมจักมีไม่ได้ นรกก็คือโลกหนึ่งเหมือนกัน อีกดาวพระเคราะห์อีกดวงหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าเป็นดาวพระเคราะห์ที่มีอุตุนิยมไม่มี อุณหภูมิก็ไม่ดี อาหารก็ไม่ดี ดินฟ้าอากาศก็ไม่ดี ใครไปเกิดที่นั่นก็ทรมานทรกรรมด้วยดินฟ้าอากาศ, ด้วยอุตุ, ด้วยการหาอาหารบริโภค หาฝืดเคืองลำบากอดแห้งอดแล้ง อด ๆ อยาก ๆ กินกรวด กินดิน กินทราย กินอิฐ กินปูน กินของร้อน กินของสกปรก กินพวกนี้ ไม่เหมือนกับพวกที่ไปเกิดในโลกสวรรค์ กินอาหารที่เป็นของประณีต เป็นของทิพย์ เพราะฉะนั้นนรกก็ได้แก่โลกทรมานที่ไปเกิดขึ้นแล้ว ก็เริ่มทรมานด้วยชีวิต ความเป็นอยู่ลำบากลำบน วิกลวิการต่าง ๆ นานา เพราะอำนาจดินฟ้าอากาศที่โหดร้ายทารุณ อำนาจแห่งสังคมที่โหดร้ายทารุณ อำนาจความเป็นอยู่ที่โหดร้ายทารุณ ท่านจึงเรียกว่าโลกนั้นเป็นนรกอย่างคำว่า ตายแล้วตกใต้เถรอเวจีให้ไฟลุกเผาไหม้ตลอดกัปตลอดกัลป์ พูดอย่างนี้เป็นคำอุปมา ความจริงใต้เถรอเวจีนรก ก็คือว่าเป็นโลก ๆ หนึ่งที่อากาศแสนจะร้อนเหลือหลาย ใครไปเกิดที่นั่นแล้วต้องถูกดินฟ้าอากาศเผาผลาญกาย เผาผลาญใจ ไม่มีความสุขชั่วมื้อชั่วยาม ไม่มีเลย นี่แหละอเวจีนรกละ สมมติว่าไปเกิดในโลกที่มีภูเขาไฟเยอะ ๆ ดีไม่ดีก็ตกนรกเขาเรียกว่าตกนรกกระทะทองแดง ตกหลุมถ่านเพลิง นรกหลุมถ่านเพลิงหมายความว่าไปเกิดในโลกดาวพระเคราะห์ที่มีแผ่นดินไหวบ่อย ๆ และมีภูเขาไฟระเบิดบ่อย ๆ มองไปสารทิศมีแต่ภูเขาไฟลุกนั้นก็กำลังคุ ลูกนี้ ก็กำลังคุ ลูกโน้นก็กำลังคุ ดีไม่ดีเดินไป ๒ ก้าวก็แผ่นดินแยกตกหลุมไป ไฟกรดในใต้โลกมันพุ่งขึ้นมาเผาผลาญไหม้มอดไปหมด นี่แหละเรียกว่า นรกหลุมถ่านเพลิง



นรกป่างิ้ว ต้นงิ้วนะ ทำศีลผิดข้อกาเมไปตกนรกป่างิ้ว ก็หมายความว่า ไปเกิดในดาวพระเคราะห์ที่อุดมไปด้วยป่า ป่าไม้ ป่าไม้โบราณสมัยหลายล้านปี แต่ละต้นแหงนคอตั้งบ่ามองไม่เห็นยอด เวลานี้ไม้โบราณไม่ต้องไปหานรกงิ้วดูหรอก โลกมนุษย์ก็มีต้นไม้โบราณอย่างที่ว่าในแคนาดา ประเทศแคนาดากับในสหรัฐอเมริกา มีต้นไม้ยักษ์ชนิดหนึ่งเรียกว่า ต้น Giant sequoia เฉพาะลำต้นของมันนะ เจาะเป็นอุโมงค์รถเก๋งสวนกันได้ ๓ คันสบาย ๆ ท่านทั้งหลายเชื่อไหมว่าต้นไม้ต้นหนึ่งในอเมริกาในแคนาดานี่ โพรงของมันเขาตัดถนนทะลุโพรงไม้ต้นนี่ รถเก๋ง ๓ คันสวนกันไปสวนกันมา เข้า ๆ ออก ๆ สบาย ๆ แล้วยอดของมันหรือแหงนคอตั้งบ่ามองไม่เห็น หายไปในทิวเมฆ ต้นซีคอยยามีในอเมริกากับแคนาดา รัฐบาลของแคนาดากับอเมริกา เขารักษาเป็นป่าสงวนเอาไว้ เพราะว่าต้นไม้ชนิดนี้เป็นพืชพันธุ์ของต้นไม้ยักษ์สมัยโลกล้านปีสืบทอดมา ตานี้ต้นงิ้วอย่างนรกฉิมพลี ที่ว่าป่าไม้งิ้วนี้ก็ได้แก่ไปเกิดในโลกยุคดึกดำบรรพ์ ดาวพระเคราะห์ที่มีความเจริญยุคดึกดำบรรพวิวัฒนาการยัง ไม่ถึงขั้นความเจริญอย่างโลกมนุษย์เรา แล้วก็เป็นป่าไปหมด เป็นป่าไม้หนาม หนามแต่ละอันนี้ยาวตั้ง ๒ ศอก ๓ ศอก ธรรมดาต้นงิ้วในบ้านเรา ไม่มียาว ๒ ศอก ๓ ศอกหรอก แต่ว่าต้นไม้ยักษ์ในโลกที่ว่านี้หนามงิ้วมันยาวตั้ง ๒ ศอก ๓ ศอก สัตว์โลกที่ไปเกิดในแดนนั้น จะหากินก็แสนจะลำบาก ต้องปีนป่ายต้นไม้ ประเภทนี้ขึ้นไปหาก็ถูกหนามงิ้วนั้นแหละมันทิ่มตำเอาตาย เรียกว่าตกนรกป่าไม้ฉิมพลี ตกนรกต้นงิ้วปีนต้นงิ้ว

 ฉะนั้นเรื่องนรกสวรรค์เป็นเรื่องจริง เพียงแต่ว่าเราต้องรู้จักอ่านรู้จักถอดโดยเอาหลักความรู้ของดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์มาปรับแล้วเราจะเชื่อมั่นว่า เรื่องของปรโกลนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องนิยายเลย เป็นเรื่องจริง แล้วความรู้พวกนี้ใครรู้ ผู้ที่รู้คือผู้ที่มีทิพยจักษุญาณตั้งแต่พระพุทธองค์ลงมา แม้กระทั่งฤษีชีไพรนอกศาสนาที่เขาทำอภิญญาได้โลกียอภิญญา เขาก็รู้เห็นแล้ว ไม่ต้องโลกุตตระหรอก เอาแค่โลกียอภิญญานี่แหละ เขาก็รู้เห็น เมื่อเขารู้เห็น เขาก็มาถ่ายทอดให้เราฟังว่ามีนะนรกอย่างนั้นน่ะ นรกทุกข์ สวรรค์สบาย ถ่ายทอดให้เราฟัง อย่างว่าเทวดากินอาหารทิพย์ไม่ต้องหุงหาอาหาร นั่งเฉย ๆ ก็อิ่ม อยากจะกินอาหารก็ลอยมา อิ่มทิพย์ ฟังดูคล้าย ๆ เป็นเรื่องนิยาย แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังจะทำให้เราอิ่มทิพย์แล้ว ท่านทั้งหลายทราบไหม? นักวิทยาศาสตร์ในเยอรมันเขาค้นพบบอกว่า ในอากาศที่เราหายใจนี่มีวิตามินเยอะแยะ เขาว่าเขากำลังสกัดวิตามินในอากาศให้เรากิน ต่อไปนี้เราไม่ต้องไปปลูกผักปลูกหญ้า ทำไร่ไถนาให้ลำบากแล้ว โลกของเราในอนาคต ความเจริญของวิทยาศาสตร์ซึ่งเขากำลังค้นคว้าอยู่ เขาจะสกัดเอาวิตามินในอากาศนี่มาเป็นอาหารเราแล้ว ใครอยากกินก็อ้าปากขึ้นมองในอากาศ แล้วใช้เครื่องสกัดนี้สกัดแผล็บเดียว แค่ไม่ถึงวินาที แล้วหุบปาก หุบเอาแต่ลมเข้าไป พอหุบกลืนลงไปในท้องเราอิ่มขึ้นมาทันที สบายกันมื้อหนึ่งอิ่มไปได้เป็นวัน กิริยาอย่างนี้ คล้าย ๆ กับแม่หนุมาน-นางสวาหะ ยืนขาเดียวกินวาตา กินลมอิ่ม เรื่องนิยายกลายเป็นเรื่องจริงแล้ว ท่านทั้งหลายทราบไหมวิทยาศาสตร์เขาพิสูจน์แล้วว่าในอากาศมีวิตามินเยอะแยะเลย เพราะฉะนั้นเทวดาอิ่มทิพย์ คืออิ่มอย่างนี้ ท่านอิ่มด้วยวิธีนี้ คือวิตามินมันมีไม่ต้องไปกินอะไร ไม่ต้องไปทำไร่ไถนาปลูกผักให้ลำบาก เพียงอ้าปากกินก็อิ่มแล้ว อาหารทิพย์สำเร็จรูปปรุงมาเลยในอากาศ หมายความว่าโลกสวรรค์ วิทยาศาสตร์เขาล้ำยุคยิ่งกว่าโลกเราตั้งกี่โกฏิเท่าก็ไม่รู้ในโลกสวรรค์ ส่วนโลกนรกน่ะเป็นที่ด้อยพัฒนา ไม่มีความเจริญด้านวิทยาศาสตร์ มิหนำซ้ำยังถูกดินฟ้าอากาศ สิ่งแวดล้อมลงโทษ ต้องให้มีความเป็นอยู่อย่างทรมานทรกรรม

เราจึงเรียกว่าโลกนรก มนุษย์เราเป็นก้ำกึ่งของสวรรค์และนรก คือว่ามีทั้งสุขอนันต์และทุกข์มหันต์ในโลกเรา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ จึงต้องมาตรัสรู้ในโลกมนุษย์ ถ้าไปตรัสรู้ในโลกสวรรค์ ไปสอนให้เทวดาฟัง ให้เห็นทุกข์ ให้เห็นอนิจจัง เทวดายากที่จะเห็นได้ เพราะแต่ละองค์แต่ละองค์ อายุยืนกันเหลือเกิน เทวดาชั้นจตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นชั้นต่ำของสวรรค์ ๑ วันเท่ากับ ๔๐๐ ปี ในเมืองมนุษย์ เรา ๔๐๐ ปี ตายแล้ว เกิดไม่รู้กี่ชาติ เทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกาเพิ่ง ๒๔ ชั่วโมง เพราะฉะนั้นจะไปเทศนาสั่งสอนพวกเทพพวกพรหมบอกว่า รูปํ อนิจจํ สงฺขารา อนิจฺจา พวกนี้ยากที่จะหยั่งถึงธรรม นอกจากเทวดาที่มีสัมมาทิฏฐิ ได้สร้างบารมีมาแต่โลกมนุษย์ติดตัวขึ้นไปแล้ว อย่างนี้แหละก็เห็นธรรมได้ง่าย ถ้าหากว่าเป็นพวกที่ประมาทเป็นพวกที่ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิมาก่อนแล้ว ไปเกิดเป็นพวกกายทิพย์แล้วละก็ยากนักที่จะเห็นในเรื่องอนิจจังได้ เพราะความที่อายุของโลกสวรรค์มันยืนมาก มูลเหตุที่ยืนมากน่ะไม่ใช่อะไรหรอก เกี่ยวกับกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพระเคราะห์ดวงนั้น บางดวงหมุนช้าไป บางดวงหมุนเร็ว โลกเรากำหนดวัน เดือน ปี ด้วยอะไรล่ะ ด้วยการหมุนใช่ไหม หมุนรอบตัวเอง ๒๔ ชั่วโมง เป็นหนึ่งวัน หมุนรอบดวงอาทิย์ ๓๖๕ วัน เป็นหนึ่งปี ดาวพระเคราะห์บางดวงกว่าจะหมุนรอบพระอาทิตย์กินเวลาโลกเรา ๑๑ ปีเศษ ดาวพฤหัสฯ นี่นะใหญ่กว่าโลกเราตั้งพันเท่า ใหญ่มหึมากว่าโลกเรา ตั้งพันโลกจึงเท่าพฤหัสดวงหนึ่ง ดาวพฤหัสหมุนรอบดวงอาทิตย์ ๑๑ ปีเศษ ถ้าเราไปเกิดในดาวพฤหัสแล้ว ๑ ปีของดาวพฤหัสจะเท่ากับ ๑๑ ปีเศษของโลกเรา นี่ดาราศาสตร์ เขาพิสูจน์มาอย่างนี้ จะป่วยการไปไยกับโลกสวรรค์ ซึ่งห่างจากโลกเราแสนโกฏิล้านไมล์ อายุก็ต้องยืนเป็นธรรมดา เพราะมันเกี่ยวกับการหมุนเวียนรอบตัวกับดวงอาทิตย์เป็นเกณฑ์ เพราะฉะนั้นดาราศาสตร์ยิ่งเจริญก็ทำให้เรายิ่งเชื่อว่า นรกสวรรค์ที่เป็นปรโลกน่ะมีจริง ๆ ใครเชื่อเรื่องนี้ คนนั้นก็มีกัมมัสกตญาณเป็นโลกียสัมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นองค์ของมรรคในมรรคองค์ ๘ นั้น ท่านจัดเป็นโลกียทิฏฐิอย่างหนึ่ง

โลกุตตรสัมมาทิฏฐินั้น คือ กัมมัสกตาญาณหนึ่ง ตถาคตโพธิสัทธาหนึ่ง ความที่มีญาณทัสสนะแทงทะลุเห็นอริยสัจจ์ ๔ เป็นโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ เพราะฉะนั้นชาวพุทธทั่วไปจึงควรที่จะปลูกโลกียสัมมาทิฏฐิ คือ ความเชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตัว ใครทำดีได้ดีใครทำชั่วได้ชั่ว จังหวะของกรรมดีกรรมชั่วจะให้ผลนั้น อยู่ที่คิวของมัน เพราะว่าเราทำกรรมดีกรรมชั่วมามากมายอเนกอนันต์นับไม่ถ้วนชาติ มันก็มีคิว ต้องต่อคิวกันซิ จะมาให้ผลทันตาเราไม่ได้หรอก ไม่ใช่ว่าตักบาตรทอดกฐินวันนี้ แล้วอธิษฐานว่า พรุ่งนี้แทงลอตเตอรี่ให้ถูกที่หนึ่งเถอะ อำนาจผลบุญที่รวมอนุโมทนากฐิน ขอให้ลอตเตอรี่ถูกที่หนึ่งเถอะ แล้วพอไม่ถูก มาโทษบอกว่าทำบุญไม่เห็นได้ผลบุญเลย ไม่ถูก มันอยู่ที่คิว ก่อนที่จะถูกเราต้องรอคิวเสียก่อนว่าบางทีกรรมชั่วเราทำมาก คิวของกรรมชั่วต้องเรียงมาตั้งเป็นชาติ ๆ รอเราอยู่ เราก็ต้องชดใช้หนี้มันก่อนซิ เหมือนเราทำกรรมชั่วเหมือนกันแหละ วันนี้ไปปล้นเขาปิดบังหลักฐานได้ก็หัวเราะชอบใจว่าตำรวจไม่รู้ เราไม่ต้องเข้าคุก เพราะฉะนั้นใครทำชั่วก็ไม่ได้ผลชั่ว ไม่จริงหรอก ที่ศาสนาสอนไม่จริง อย่างนี้แปลว่าคิวดีของเขายังไม้ผลอยู่ คิวชั่วยังมาไม่ถึง ก็เหมือนเราตีตั๋วนี่แหละ เราไปช้าก็ต้องไปยืนหลังเขา ใครไปก่อนก็ไปยืนหน้าเรา แล้วเราจะไปต่อว่า โอ๊ย ไม่ได้หรอก ไม่ถูกไม่ต้องไม่ได้ กรรมดีกรรมชั่วมันมีจังหวะจะให้ผล เราปลูกกล้วย ปลูกมะละกอ ปลูกพริก ปีหนึ่งก็ได้กินผล ปลูกทุเรียนปีหนึ่งได้กินผลไหม ไม่ได้ ห้าปี หกปี เจ็ดปีกว่าจะได้กินผลทุกเรียน ปลูกมะม่วงสามปีสี่ปีก็ได้กินผลแล้ว เมื่อปลูกพริกปีหนึ่งห้าเดือนหกเดือนก็ได้กินแล้ว สามเดือนได้กินแล้ว ปลูกพริกฉันใด กรรมดีกรรมชั่วก็เหมือนกัน มันมีจังหวะเร็วจังหวะช้า เพราะฉะนั้นเราจึงควรเชื่อกัมมัสกตาญาณว่า นรกสวรรค์มีจริงดีกว่า เป็นเครื่องอุ่นใจให้เรามีความหวัง มีความพากเพียรวิริยะที่จะประกอบกรรมดีต่อไป แล้วก็ได้ดีทั้งในชาตินี้และชาติหน้าด้วย


วันพุธ

ข้อคิดเรื่อง เวสสันดรชาดก

พระคุณเจ้าและท่านสาธุชนทั้งหลาย ปาฐกถาธรรมในวันนี้ จะได้พูดถึงข้อคิดเรื่องเวสสันดรชาดก อันเป็นเรื่องน่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง เวสสันดรชาดกนั้นเป็นเรื่องจริง ทำไมเราจึงนิยมฟังกันมาก เหตุที่นิยมฟัง นอกจากจะเป็นเรื่องชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ที่มาสร้างบารมีแล้ว เรื่องนี้ยังมีเหตุมาจาก มาลัยสูตรอีกสูตรหนึ่ง ในคัมภีร์มาลัยสูตร ซึ่งเป็นของเกิดในลังกา เล่าความว่าพระมาลัยเถรเจ้าเป็นชาวลังกา บรรจุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยอภิญญา ท่านได้ขึ้นไปเฝ้าพระศรีอารยะเมตไตรยโพธิสัตว์บนสวรรค์ พระศรีอารยะเมตไตรยโพธิสัตว์ ได้ตรัสกับพระมาลัยว่าถ้าหากว่ามนุษยโลกคนใด มีความปรารถนาจะเกิดทันศาสนาของเราแล้ว ให้ฟังเทศน์มหาชาติพร้อมกับบูชาธูป เทียน และดอกบัวอย่างละพัน ให้ฟังให้จบในวันเดียวกันทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ผู้นั้นแล จะได้รับอานิสงส์เกิดทันในศาสนาของเรา ในมาลัยสูตรกล่าวไว้อย่างนั้น

เพราะฉะนั้น อิทธิพลจากมาลัยสูตร จึงทำให้เรื่องเวสสันดรชาดก มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะชาวพุทธของเราทุกคนก็มีความปรารถนาจะเกิดให้ทันศาสนาพระศรีอารย์อยู่แล้ว ท่านยังบอกวิธีเหตุให้เกิดทันศาสนาของพระองค์ จะต้องฟังเทศน์มหาชาติให้จบภายในวันเดียวแล้วบูชาด้วยธูปพันดอก เทียนพันเล่ม ดอกบัวพันดอก บูชากัณฑ์เทศน์ ๑๓ กัณฑ์ นั่นแหละครับ จึงกลายเป็นประเพณีตั้งแต่สุโขทัยเรื่อยมาตราบกาลปัจจุบันนี้ แต่เรื่องเวสสันดรชาดกนี้ เคยมีอยู่ในสมัยหนึ่ง ที่นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทยนี้ ไปเขียนวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางไม่ดี บอกว่าเรื่องพระเวสสันดรชาดกนี้ เป็นเหตุทำให้คนไทยใจอ่อน ใจดีเกินไป มีอะไรก็หยิบยื่นให้เขาหมด ต่อไปถ้าจะมีใครมาขอชาติไทย ก็จะหยิบยกชาติไทยให้เขาทั้งชาติเลย แล้วก็มี

ครู อาจารย์ ในจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยบางท่าน พอสอนเรื่องเวสสันดรชาดก ก็หัวเราะเยาะหาว่าเป็นเรื่องหลอกคนเรื่องไร้สาระ นิทานอะไรใครเขาจะมาให้ลูกให้เมียใครได้ หาว่าท่านเวสสันดรเป็นคนใจไม้ไส้ระกำ ถ้าเป็นพ่อก็เป็นพ่อที่ไม่ดียกลูกให้เขาเป็นข้าทาสทาสี หาว่าเป็นผัวที่ใช้ไม่ได้ ดูหรือพระนางมัทรีมีความจงรักภักดีเป็นนักหนา กลับไปยกให้กับตาพราหมณ์ที่มาขอได้ ดูช่างกระไรเลย อย่างนี้เป็นต้น ข้อนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เป็นบาปอย่างอนันต์แล้ว ผู้ที่กล่าวผู้ที่เข้าใจเช่นนั้นเราจึงควรจะมาวิเคราะห์ข้อคิดบางประการในเวสสันดรชาดกว่า:-

เพราะการกระทำของเวสสันดรถูกต้องหรือผิด เป็นการกระทำของคนโง่หรือคนฉลาด
👉ประการแรก เรามาพิจารณากันเรื่องช้างปัจจัยนาค อันเป็นเหตุให้พระเวสสันดรต้องพลัดบ้านพลัดเมืองไป พร้อมทั้งลูกเต้า ความจริงช้างตัวนี้ไม่ใช่เป็นสมบัติของชาวแคว้นสีพี ไม่ใช่เป็นสมบัติของชาวเชตุดร ช้างตัวนี้เป็นช้างคู่บุญ เกิดในวันเดียวกับพระนางผุสดีประสูติพระเวสสันดรโพธิสัตว์ เป็นช้างคู่บุญ ถ้าจะพูดไปแล้ว ก็เป็นสมบัติส่วนบุคคล การที่ชาวสีพีเอะอะโวยวาย หาว่าพระเวสสันดรบริจาคกับพราหมณ์กลิงครัฐที่มาทูลขอ เพราะว่าช้างตัวนี้เป็นปัจจัยนาเคนทร์ สามารถเรียกร้องบันดาลให้เกิดฝนตกได้ โบราณเราถืออย่างนี้ ช้างที่เป็นมงคลแล้ว สามารถทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ช้างปัจจัยนาคเป็นช้างเผือก ชาวแคว้นสีพีจึงไม่พอใจ หาว่าพระเวสสันดรยกเอาสมบัติของชาติไปให้คนชาติอื่น

อันนี้ถ้าวิเคราะห์แล้ว จะเห็นทันทีว่าเกิดการเข้าใจผิด เพราะช้างตัวนี้ไม่ได้เป็นสมบัติของชาติ แต่เป็นสมบัติของส่วนบุคคล ของพระเวสสันดร ก็เมื่อเป็นสมบัติของส่วนบุคคลของพระเวสสันดรแล้ว พระเวสสันดรก็มีสิทธิ์ที่จะยกให้กับใครก็ได้ พวกชาวแคว้นสีพีเสียอีกที่มาขี้โกง เอาช้างนั้นเป็นของพวกตนไป แอบอ้างว่า ไม่ได้ ช้างตัวนี้เป็นช้างของชาวแคว้นสีพี แล้วเอะอะโวยวายขึ้น อีกประการหนึ่ง เราจะเห็นได้ว่า แคว้นกลิงครัฐกับแคว้นสีพีนั้น หยาบกับละเอียดกันเลย ถ้าจะเปรียบกันก็ได้แก่ยักษ์กับมนุษย์นั่นเอง ช้างกับตัวผึ้งนั่นแหละถ้าจะเปรียบกัน แคว้นสีพีนั้นเป็นแคว้นเล็ก ๆ แต่แคว้นกลิงครัฐนั้น เป็นมหาอำนาจชั้น ๑ ในอินเดียในครั้งนั้น มีรี้พลกลไกรพยุหโยธามากมาย การที่พวกกลิงครัฐส่งทูตมาขอช้างปัจจัยนาคนั้น ไม่ได้ขอเปล่านะ ไม่ได้ขอเอาไปเด็ดขาด เป็นเพียงการขอยืมไปเพื่อเป็นเหตุทำให้บ้านเมืองฝนตกหน่อยเพราะแล้งมาตั้งเจ็ดปีแล้ว ทำนาไม่ได้ผล ขอยืมเอาไป ไม่ได้โกงเอาเป็นของตัวหรอก เมื่อฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาลแล้วจะนำมาคืนให้

คราวนี้ สมมุติว่า พระเวสสันดรไม่ยอมให้ ผลจะมีอะไรเกิดขึ้น จะต้องเกิดสงครามอย่างแน่นอน ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ กองทัพจากกลิงครัฐจะต้องบุกเมืองสีพีแน่ แล้วแคว้นสีพีซึ่งเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย ก็ต้องพินาศตกเป็นเมืองขึ้นของเขา ราษฎรสีพีก็จะกลายเป็นเชลยศึก เพราะฉะนั้นการที่พระเวสสันดรยอมยกช้างปัจจัยนาคให้แก่เขาไปนั้น เป็นการเสียสละทำเพื่อชาติและประชาชนโดยตรง เป็นการตัดต้นเหตุการทำสงคราม ช่วยสร้างความสงบสุขให้แก่ประชาราษฎรโดยเสรี ให้ปลอดภัย แต่เป็นการไม่เข้าใจ และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพวกชาวแคว้นสีพี ซึ่งมองตื้นเกินไป เห็นไปว่าพระองค์ยกสมบัติของชาติไปให้ศัตรู ไปให้แก่คนอื่นเขา เพราะฉะนั้น การที่พระเวสสันดร ยอมยกช้างปัจจัยนาคให้เขาไป จึงเป็นการทำเพื่อชาติโดยตรงทีเดียว เป็นการตัดการทำสงคราม ช่วยสร้างความสุขให้แก่ประชาราษฎร์ชาวสีพีให้ปลอดภัย แต่เป็นความเข้าใจผิดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวแคว้นสีพีซึ่งมองตื้นเกินไป เห็นไปว่าพระองค์ยกสมบัติของชาติไปให้ศัตรูหรือไปให้ผู้อื่นเขา และตามเรื่องราวปรากฏว่า เมื่อชาวแคว้นกลิงครัฐได้ช้างตัวนี้ไปแล้ว ไม่ช้าฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลเขาก็ส่งมาคืน แถมกลับมีพระราชสาสน์มาขอบอกขอบใจเป็นการใหญ่ นี่เราจะเห็นได้แล้วว่า พระเวสสันดรท่านทำถูกตั้งแต่กรณีแรกที่ทรงให้ช้างเป็นทาน ไม่ว่าจะมองในแง่การเมืองหรือในแง่ส่วนตัว เราตำหนิท่านไม่ได้เลย

👉ประการที่สอง ในการที่ท่านให้บุตรกัณหาชาลีเป็นทานถูกไหม? ในกรณีที่ท่านให้ชาลีกัณหา หรือพระนางมัทรีเป็นทานนั้น ถ้าเราเอาจิตใจพวกเราอย่างปุถุชนธรรมดาผู้มีกิเลสไปวัดจิตใจท่าน เราก็อาจจะประณามและโวยวายหาว่า “เห็นแก่ตัว ๆ” เที่ยวยกลูกให้เขาไป เทินให้เขาไป นี่ แต่ข้อนั้นเราพูดตามวิสัยของเราที่มีกิเลส เป็นปุถุชน แต่ถ้าเรามองด้วยใจของพระเวสสันดรแล้ว ตรงกันข้าม พระเวสสันดรเป็นพระโพธิสัตว์ เราเป็นโพธิสัตว์หรือเปล่า และการที่พระเวสสันดรให้สิ่งเหล่านี้ไป ให้เพื่อหวังอะไร ให้เพื่อหวังชื่อเสียง เพื่อความสุข เพื่อพระองค์หรือ? ถ้าเพื่อชื่อเสียง เพื่อความสุขแล้ว ลูกเมียเป็นที่รักดังแก้วตา จะให้เขาไปไม่ได้หรอก จะต้องอยู่กับลูกอยู่กับเมีย แต่ที่พระองค์ให้เขาไป ก็เพื่อหวังพระโพธิญาณ พระโพธิญาณเพื่อใคร ถามต่อไปอีก ก็ได้รับคำตอบว่าพระโพธิญาณเพื่อสรรพสัตว์โลก เพราะฉะนั้น การทำประโยชน์ การให้ทานของพระเวสสันดรนั้น ไม่ใช่เพื่อพระองค์เสียแล้ว แต่เพื่อสัตว์โลกทั้งหลาย เป็นการทำประโยชน์เพื่อชนหมู่มาก โดยการที่พระองค์ยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ยอมทุกข์ในส่วนพระองค์ เพื่อความสุขของชนมหาศาลทั้งโลก การทำอย่างนี้เป็นการเห็นแก่ตัวหรือ มนุษย์ผู้มีความเห็นแก่ตัวทำได้อย่างนี้หรือ?

ถ้าหากเราถือว่าการทำอย่างนี้เป็นการเห็นแก่ตัวแล้ว เราก็น่าจะตำหนิทหารหาญที่ไปตายเพื่อชาติว่า ทหารเหล่านั้นเห็นแก่ตัว เพราะอะไร เพราะแม่หรือก็แก่ ไม่มีใครเลี้ยง ลูกหรือก็ยังแดง ๆ แม่อีหนูหรือก็ยังสาว อะไรไปเป็นทหารรบสงครามป้องกันประเทศชาติ เห็นแก่ตัวนี่ ทหารคนนี้ นี่ถ้าใครมีความรู้สึกตัวอย่างนี้ละก็ ชาติบ้านเมืองประเทศนั้นจะต้องล่มจมแน่ ถ้าประชาชนในบ้านเมืองนั้นมีความรู้สึกอย่างนี้ต่อทหาร ว่าทหารทิ้งลูก ทิ้งเมียไปรบเพื่อชาติ เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวละก็ ไม่ช้าชาตินั้นก็วิบัติ การที่ทหารไปรบเพื่อชาติ เราไม่ถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการเห็นแก่ตัว แต่เราให้ความยกย่องว่า เป็นวีรชนของเรา บรรดาพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีอย่างอุกฤษ์ ถึงขั้นสละชีวิต และลูก และเมีย เป็นทาน เพื่อพระโพธิญาณ ก็มีอุปมัยดุจเดียวกับทหาร ซึ่งเป็นวีรชนของชาติฉันนั้นเหมือนกัน แต่ว่าวัตถุประสงค์ของพระโพธิสัตว์ยิ่งกว่าทหาร ทหารนั้น รบเพื่อชาติ แต่พระโพธิสัตว์นั้น รบกะกิเลสเพื่อเห็นแก่สรรพสัตว์ ไม่มีชาติและไม่จำกัดเฉพาะมนุษย์ แต่แผ่ไพศาลไปยังมารอินทร์ พรหม ยม ยักษ์ เดียรัจฉาน เป็นที่สุด นี่แหละครับเป็นลักษณะมหากรุณาของพระโพธิสัตว์เจ้า มีกี่คนทำได้อย่างนี้

คราวนี้เรามองดูในแง่พ่อกับลูกว่า ที่พูดเมื่อกี้เป็นเรื่องสละประโยชน์ส่วนน้อย เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ ก่อนที่พระเวสสันดร ท่านจะยกลูกให้กับท่านชูชกได้คิดวางแผนการอะไร เพื่ออนาคตลูกท่านไม่ให้ลำบากไหม ท่านวางแผนไว้แล้ว ดังจะเห็นได้ว่า ท่านบอกดัง ๆ ให้ชูชกได้ยิน ท่านบอกชาลีกัณหาว่า ลูกเอ๋ย ถ้าหากลูกไปอยู่กับพ่อเฒ่าชูชกคนนี้ละก็ ใครจะมาเอาตัวลูกไถ่ไปละก็ พ่อตีราคาลูกแต่ละคน แต่ละคน สำหรับชาลีนั้น ผู้ที่มีทองคำพันลิ่ม ถึงจะมาไถ่ชาลีได้ ส่วนแม่กัณหาซึ่งเป็นน้องเล็กนั้น จะต้องผู้ที่มีโคร้อยตัว ม้าร้อยตัว ช้างร้อยตัว ทองพันลิ่ม เงินพันลิ่ม ทาสร้อยคน ทาสีร้อยคน รถร้อยเล่มมาไถ่แม่ถึงจะยอมตัวไปอยู่กับเขานั่น ท่านสั่งของท่านยังงี้ ชูชกฟังหูผึ่งทีเดียว ชูชกนี่ฉลาด ถ้าเอาใจชูชกมาใส่ใจเราบ้างว่า เราได้ลูกเขามาสองคน ชายคนหญิงคน มันก็ยังเล็กอยู่ ผู้หญิงก็ไม่เกินเจ็ดขวบ ผู้ชายก็ไม่เกินสิบสอง ได้มาสองคนอย่างนี้ อย่างมากก็เอาไปตักน้ำตักท่า ปัดกวาดถูบ้านถูเรือนเท่านั้นเอง กับที่ว่าเอาไปขายได้สินไถ่มากมายพอกินเป็นมหาเศรษฐีทันตาเห็น เราจะเลือกเอาอย่างไหน แน่นอน ชูชกซึ่งเป็นนักเศรษกิจตัวยง ก็จะต้องเอาชาลีกัณหาไปขายเพื่อเอาสินไถ่ คราวนี้ใครบ้างเล่าที่จะมาไถ่ด้วยราคาค่างวดอันมากมายอย่างนี้ เว้นไว้แต่ผู้นั้นจะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขด้วย ก็เท่ากับว่าพระเวสสันดรนั้นได้ยืมมือชูชก ให้พาชาลีกัณหาออกจากป่าไปหาปู่เท่านั้นเอง

เท่านั้นเองละซิ พระเจ้ากรุงสัญชัยนั้นแหละจะเป็นผู้ไถ่ ไม่ใช่ใครหรอกครับ พระเจ้ากรุงสัญชัยซึ่งเป็นพระอัยกานั่นเองเป็นผู้ไถ่ กษัตริย์หรือเศรษฐีบ้านไหนเมืองไหนเขาจะมาไถ่กัน เด็กกะเปี๊ยก ๒ คน จะเอาไปทำอะไรกัน ทองคำพันลิ่ม ช้างม้าวัวควายทาส ทาสา อีกมากมาย อย่างละร้อย เอาทำไมกัน คนซื้อคนได้มากมายกว่านี้ ดีกว่าเด็ก ๒ คน เป็นอันว่าชูชกนี่จะต้องมุ่งพาเด็ก ๒ คนนี้ไปหาปู่ เพราะไปที่ไหนก็ไม่มีใครเขาเอา ปู่กับย่านั้นจะเป็นผู้ไถ่เอง แล้วการณ์ก็เป็นไปตามที่พระองค์ทรงคาดไว้จริง พระเจ้ากรุงสัญชัยและพระนางผุสดีไถ่จริง ๆ ข้อเสนอราคาที่ชูชกบอกว่า พระเวสสันดรตีราคาอย่างนี้ อย่างนี้ พระเจ้ากรุงสัญชัยและพระนางผุสดีไม่เชื่อ หาว่าชูชกไปขโมยเด็กมา ฝ่ายเด็ก ๒ คน ก็ยืนยันว่าพระบิดาได้ยกให้ชูชกไปจริง ๆ พระบิดาได้ตีราคาไว้จริง ๆ ชูชกเลยกลายเป็นมหาเศรษฐีทันตาเห็นในวันนั้นเองที่พาหลานไปหาปู่ เรื่องนี้เป็นการยิงกระสุนนัดเดียวแต่ได้นกสองตัว คือ ข้อที่พระองค์ให้ลูกเป็นทานนั้น มีประโยชน์ ๔ สถาน
    ๑. ชื่อว่าบำเพ็ญปุตตปริจาค
    ๒. ชื่อว่าไม่ทำให้พระโอรสและธิดาต้องตกระกำลำบากอยู่ในป่า แต่กลับมาอยู่ในอ้อมอกของปู่-ย่า
    ๓. ทำให้ชูชกซึ่งแกยากจนเป็นเศรษฐีรวยมั่งมีทันตาเห็น
    ๔. พระอัยกาได้ฟังนัดดาทั้งสองเล่าถึงความทุกข์ยากของพระโอรสและพระสุณิสา มีความเศร้าพระทัย เป็นเหตุให้ชาวสีพีรัฐทั้งปวงก็มีความเศร้าใจสงสารพระเวสสันดร พากันยกโทษให้ กลับไปทูลเชิญให้เสด็จกลับไปเสวยราชย์


กลับได้ประโยชน์ถึง ๔ สถาน การกระทำของพระเวสสันดร จึงไม่ใช่การกระทำที่โง่เขลา ดังที่พวกเราบางคนเข้าใจ แต่เป็นการกระทำของบัณฑิตผู้เห็นการณ์ไกล ที่เอาประโยชน์ ได้ทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ ข้อนี้เห็นได้ชัดเจน



👉ประการที่สาม ทรงให้พระนางมัทรีเป็นทาน พระนางมัทรีใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นยอดมิ่งขวัญ ยอดกัลยาเป็นเมียแก้ว เมียขวัญที่ดี เพราะฉะนั้น การที่พระเวสสันดรยกพระนางมัทรีให้พราหมณ์นั้น พระนางมัทรีก็รู้อยู่แก่ใจว่า พระเวสสันดรมุ่งประสงค์อะไร และพระนางก็ยินดีที่จะร่วมเสียสละกับพระองค์ ยอมให้เป็นเครื่องมือของพระองค์เพื่อที่จะช่วยกันบ่มโพธิญาณให้สุกงอม เพื่อประโยชน์แก่มหาชนในอนาคตกาลเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น เมื่อพราหมณ์จำแลงมาขอพระนางมัทรีจากพระองค์ เมื่อพระเวสสันดรบอกยกให้แล้ว ยังไม่แน่แก่พระทัยว่า พระนางมัทรีจะเศร้าใจ หรือเสียใจ จึงผินพระพักตร์มาทอดพระเนตรพระนางมัทรีว่า จะมีการแสดงอาการอย่างไรปรากฏหรือไม่ พระนางมัทรีก็ได้ทูลออกมาด้วยน้ำใจที่แกล้วกล้าเยี่ยงสุรนารีว่า:- โกมารี ยสฺสาหํ ภริยา สามิโก มม อิสฺสโร ยสฺลิจฺเฉ ตสฺส มํ ทชฺชา วิกฺกีเณยฺย หเนยฺยา วา แปลความว่า หม่อมฉันผู้องอาจ เป็นเทวีของพระองค์ท่านใด พระองค์ท่านนั้น เป็นภัสดาของหม่อมฉัน เมื่อพระองค์จำนงค์ให้หม่อมฉันแก่บุคคลใด ขอจงประทานให้แก่บุคคลนั้นเถิด พึงขาย หรือพึงฆ่าเสียก็ตาม หม่อมฉันยอมทั้งนั้น

นี่ก็แสดงว่า จิตใจของนางมัทรีเต็มเปี่ยมแล้ว เข้าใจในเหตุผลของสวามีแล้ว พระนางมิได้เศร้าใจหรือเสียใจ พระนางยินดี เพราะยิ่งเป็นการช่วยให้พระสวามีได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เร็วขึ้น เสร็จแล้ว พราหมณ์ผู้นั้น ก็เป็นพราหมณ์ที่มาทดลองพระเวสสันดรและได้คืนพระนางมัทรีให้ ใครเลยจะกล้ารับพระนางมัทรีไป สมมุติว่าเรา ไปเจอคนอย่างนั้นเข้า คู่ผัวตัวเมียทีมีความรักมั่นคง และเข้าใจถึงขนาดเสียสละอย่างนั้น ใครเลยพอที่จะยังใจร้ายไส้ระกำหินชาติ พรากเขาได้หรือ? ทำไม่ได้แน่ ถ้าเรายังมีความเป็นมนุษย์อยู่ในสันดาน ฉะนั้นในที่สุดพระนางมัทรีก็ไม่ได้เสียอะไรไป ก็กลับอยู่ในสำนักของพระสวามีอีก

เรื่องเวสสันดรชาดก จึงเป็นเรื่องที่ให้คติธรรม ความเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะฉะนั้นโบราณกาลของเราจึงได้เลือกเอาชาดกเรื่องนี้มาเป็นเทศน์ประจำ ยิ่งกว่าชาดกเรื่องอื่น โดยมุ่งหวังสอนให้ประชาชนรู้สึกเลยสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยการเสียสละประโยชน์ส่วนตัว เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่าสังคมทุกยุคทุกสมัย มีความเดือดร้อนขึ้นนั้น ไม่ใช่เดือดร้อนเพราะคนเสียสละ ความเดือดร้อนส่วนใหญ่มาจากคนที่ไม่รู้จักเสียสละ ถ้าทุกคนรู้จักสละอย่างพระเวสสันดรแล้ว สังคมนี้ก็จะน่าอยู่ โลกนี้ก็จะน่าอยู่มาก โลกไม่เคยเดือดร้อน เพราะคนเสียสละ ตรงกันข้ามโลกเดือดร้อน เพราะคนกอบโกย ที่ไม่รู้จักเสียสละ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เรายังจะมาตำหนิอีกหรือว่า เทศน์มหาชาติคร่ำครึ ฟังแล้วถ้าใครขืนปฏิบัติตาม เมืองไทยต้องขายชาติ ต้องยกให้บุคคลอื่น เป็นไปได้หรือที่จะเกิดโทษอย่างนั้นขึ้น เป็นไปไม่ได้เลย

เราฟังเทศน์มหาชาติมากี่ปีแล้ว จนกระทั่งบัดนี้ ๒,๕๐๐ กว่าปี นับตั้งแต่พุทธกาลมา มีการแสดงมาโดยลำดับ จนบัดนี้ แล้วเราพบคนอย่างพระเวสสันดรมีกี่คน ที่จะยกลูกยกเมียยกบ้าน ยกเมือง ยกทุกสิ่งทุกอย่างให้เขา ยังไม่พบเลย ก็จะไปพบได้อย่างไร ถ้าทุกคนทำอย่างพระเวสสันดรละก็ เจ๊งแน่นอนละซิ ถ้าคนในประเทศไทยทุกคน เกิดนัดกันทำอย่างพระเวสสันดรละ มันก็เจ๊งแน่ แต่จะมีคนที่ทำได้อย่างพระเวสสันดร ก็ตั้งสองพันกว่าปี มีกี่คนที่ทำได้อย่างพระเวสสันดร ยังไม่พบไม่มีเลย ถ้าพบกรุณาบอกกระผมด้วย การกลัวว่าทุกคนเป็นอย่างพระเวสสันดรแล้วก็แย่ โลกนี้ก็ลำบากละซิ ยกให้เขาหมดละซิ จึงเป็นเหมือนหนึ่งคนที่กลัวฟ้าจะพังหล่นมาทับฉะนั้น เป็นโรคเส้นประสาท คนที่กลัวอย่างนี้ เป็นโรคจิตทุกชนิด ไม่ใช่โรคสามัญชาติ อย่างกระต่ายตื่นตูมอย่างนี้เป็นต้น เรื่องเวสสันดรชาดกนั้น ให้คติธรรมในการสอนให้สัตว์รู้จักการเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม เราควรจะภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และรักษาประเพณีการฟังเทศน์มหาชาติไว้ โดยช่วยกันบอกเล่า ชี้แจงความเข้าใจผิดอันไร้สาระ ของคนที่ไม่ได้ศึกษาถึงสารัตถะแก่นสารของเวสสันดรชาดกให้ถูกต้องเข้าใจเสียให้ดี บุคคลที่จะประพฤติอย่างพระเวสสันดรนี้ ถ้าหากเป็นคำถามขึ้นก็ไม่มีใครเป็นพระเวสสันดรอีกแล้ว เราจะมาฟังเทศน์เวสสันดรชาดกทำไม เทศน์เพื่ออบรมจิตใจของพวกเราให้รู้จักเป็นคนเสียสละ ขนาดเทศน์อย่างนี้ทุกปี ๆ เรายังจะหาคนที่มีความเสียสละได้ยากยิ่ง ไม่ต้องเสียสละอย่างพระเวสสันดรหรอกครับ เอาเพียงหนึ่งในร้อยของพระเวสสันดร ยังหาไม่ค่อยจะพบ นี่ถ้ายิ่งไม่เทศน์ก็จะยิ่งไปกันใหญ่ นี่ละซิ เราควรจะทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเผอิญเราพบคนอย่างพระเวสสันดรเข้า ท่านทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า เราพบพระโพธิ์สัตว์องค์ใหม่แล้ว ท่านผู้นั้นเป็นหน่อเนื้อ พระพุทธางกูร กราบไหว้ท่านไว้เถิด เพราะท่านเป็นเนื้อนาบุญอันวิเศษ ในประเทศไทยถามว่ามีตัวอย่างบ้างไหม ? มีครับ มีบุคคลผู้ประพฤติอย่างพระเวสสันดร ท่านผู้นั้นได้แก่รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีปฏิปทาประหลาดมากครับ กระผมมั่นใจว่าพระองค์ท่านเป็นพระพุทธางกูร มาเกิดในบรมราชขัตติยวงศ์ เสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ในประเทศไทยเพื่อสร้างบารมี ที่เชื่ออย่างนั้น เพราะอะไร เพราะมีปฏิปทาพระองค์ จริยาวัตรของท่านบ่งให้ทราบ ให้ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ผู้เขียนบันทึกเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้บันทึกจริยาวัตรของกษัตริย์พระองค์นี้ว่า ละครผู้หญิงท่านก็ไม่ค่อยจะทรง (โปรด) ท่านทรงแต่การวัดการวา การกุศลเท่านั้น เขียนไว้ย่อ ๆ เท่านี้ เขียนบอกไว้ว่าท่านไม่เพลิดเพลินต่อเรื่องกามสุข เพลิดเพลินแต่การสร้างวัดสร้างวา เจริญแต่ในทางพระกุศล อีกประการหนึ่ง อัธยาศัยของพระองค์ท่านนั้น ฝักใฝ่แต่ในเรื่องทานบริจาคอย่างมากน่าประหลาด เมื่อยังดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงว่ากรมท่า กรมท่าซ้ายท่าขวาขึ้นกับท่านหมด กรมท่าในสมัยนี้ก็เทียบกับกระทรวงต่างประเทศกับกระทรวงเศรษฐการเดี๋ยวนี้รวมกันเท่ากับกรมท่าซ้าย กรมท่าขวาในโบราณ แม่ทัพฝ่ายจีน-ญวนแขก ชวา มาลายู สังกัดอยู่ในสองกรมนี้ ว่าด้วยเรื่องสำเภา เรื่องค้าขาย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงตั้งโรงทานหน้าวังของพระองค์ นิมนต์พระมาเทศน์ทุกวันให้เป็นธรรมทาน และถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ที่มาบิณฑบาตผ่านมา และยาจกวณิพกคนเข็ญใจ คฤหัสถ์ไม่มีข้าวปลาจะกิน ไม่มีเสื้อผ้าจะนุ่งจะห่ม ให้มาเอาที่นี่ ทรงให้ทานไม่อั้นทุกอย่าง จนกระทั่งรัชกาลที่สองซึ่งเป็นพระราชบิดา ออกอุทานเรียกพระองค์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสว่า เจ้าสัว ว่าฉันทำบุญสู้เจ้าสัวเขาไม่ได้ พระองค์ท่านได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า ดูซิ เขาเป็นแต่เพียงกรมหมื่น เขายังอุตส่าห์ตั้งโรงทานสองโรงหน้าวังเขาเลย เราเป็นถึงพระยามหากษัตริย์ ทำไมไม่มีโรงทานกับเขาบ้างเล่า เลยมีพระบรมราชโองการให้ตั้งโรงทานทางด้านประตูวิเศษไชยศรีปัจจุบันนี้ โรงทานนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ ด้วยความดลใจของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นตัวอย่าง ต่อมานี้ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อท่านทรงบำเพ็ญทานครั้งใด ท่านก็เปล่งว่า พุทโธ โหมิ อนาคเต ฯขอให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตกาล เวลาสร้างวัดวาอารามหลั่งน้ำทักษิโณทกถวายสงฆ์ท่านก็เปล่งสีหนาทประกาศยืนยันความปรารถนาความเป็นพุทธภูมิของท่าน อะไรไม่ประหลาดเท่ากับที่พระองค์บริจาคลูกเป็นทาน เรื่องนี้แปลกมาก เพราะพระองค์บริจาคพระราชโอรสพระราชธิดาเป็นทาน ประวัติศาสตร์ตอนนี้ลี้ลับมาก ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ที่เป็นที่เปิดเผยไม่ปรากฏ ไปปรากฏในจดหมายเหตุของกรมหลวงนรินทรเทวี มีข้อความอยู่ตอนหนึ่ง กระผมจะอ่านถวายให้พระคุณเจ้าได้ฟังกล่าวว่า "... ได้ทรงสร้างพระบารมีโปรดคนโทษ ทำผิดคิดไม่ชอบต้องด้วยบทพระอัยการ ยกประทานชีวิตไว้ หลังน้ำทักษิโณทกตกศีรษะทั้งผู้ชาย ผู้หญิง โปรดประทานชีวิตปล่อยเจ็ดคน แล้วมีสงฆ์มาขอพระองค์ใหญ่วิลาศ พระองค์ลักขนา อุทิศถวาย ไม่เสียดาย เด็ดดวงพระทัยยื่นแล้ว สงฆ์ถวายคืน ว่าจะเพิ่มพระบารมี...” นี่เป็นตอนหนึ่งในจดหมายเหตุของกรมหลวงนริทรเทวี ซึ่งเรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า จดหมายเหตุเจ้าครอกวัดโพธิ เพราะพระองค์เป็นพระกนิษฐาของรัชกาลที่ ๑ เรียกกันว่าพระองค์เจ้าหญิงกุ ท่านสร้างวังอยู่ที่ข้างวัดโพธิ์ ตรงที่สร้างวิหารพระนอน ในปัจจุบันนี้ เดิมเป็นวังของกรมหลวงนรินทรเทวี เจ้าครอกวัดโพธิ์สร้างวังอยู่ และท่านเป็นคนเก็บอากรขอนตลาดที่ตลาดท่าเตียน รัชกาลที่ ๑ ยกให้ เพราะพระองค์เป็นน้องสาวคนละแม่ พ่อเดียวกัน และท่านผู้นี้ดำรงพระชนม์ชีพมาถึงรัชกาลที่ ๓ ได้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ มาถึง ๓ แผ่นดิน ได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า ได้มีพระสงฆ์มาขอพระราชโอรสพระราชธิดารัชกาลที่ ๓ ไป คือพระองค์เจ้าหญิงวิลาศ กับพระองค์เจ้าชายลักขณามงคล นี่ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง เทียบได้กับชาลีกัณหา แล้วก็รัชกาลที่ ๓ ก็เด็ดดวงพระทัยยื่นยกให้เป็นทานอย่างพระเวสสันดรเหมือนกัน แต่แล้วพระท่านก็ถวายคืน แล้วทูลบอกว่าที่มาขอนี่ก็เพื่อทดลองบารมีว่า ที่อ้างปรารถนาพุทธภูมินั้นจะทำได้จริงไหม เป็นการทดสอบบารมีเป็นการส่งเสริมพระบารมี น่าเสียดายที่ว่าพระสงฆ์ที่ไปทูลขอนั้น ในจดหมายเหตุไม่ได้ระบุว่า เป็นพระวัดไหน น่ารู้จริงนะครับ

ฉะนั้น เรื่องพระเวสสันดรชาดก กระผมขอจบด้วยการยกเอาอภิสวาจาของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ที่ได้ประกาศไว้ว่า หทยํ จกฺขุมปหํ ทชฺชํ กึ เม พาหิรกํ ธนํ หริญฺญํ วา สุวณฺณํ วา มุตฺตา วา เวฬุริยา มณี แปลความว่า เราพึงให้ดวงหทัยหรือดวงจักษุก็ยังให้ได้ เราจะหวงแหนอะไรกับทรัพย์ภายนอก คือ เงิน ทอง มุกดา ไพฑูรย์ มณี ได้ ชาลึ กณฺหาชินํ ธีตํ มทฺทึ ปติพฺพตํ จชมาโน น จินฺเตสึ โพธิยาสึ เยว การณา แปลความว่า เราสละชาลีผู้โอรส กัณหาผู้ธิดา ตลอดจนมัทรีเทวี ผู้เคารพสามี โดยที่เราไม่คิดอย่างหนึ่งอย่างใด ก็เพราะเหตุอันจักสำเร็จโพธิญาณเท่านั้น น เม เทสฺสา อุโภ ปุตฺตา มทฺที เทวี น อปฺปิยา สพฺพญฺญุตํ ปิยํ มยฺหํ ตสฺมา ปิเย อทาสหํ แปลความว่า โอรสธิดาทั้งสองของเรา เราจะเกลียดชังก็หาไม่ พระนางมัทรีไม่เป็นที่รักของเราก็หาไม่ แต่สัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรายิ่งกว่า เราจึงสละโอรสและธิดาพร้อมทั้งมัทรีเสีย เพื่อแลกกับสิ่งที่เรารักยิ่งกว่านั้นคือ พระสัพพัญญุตญาณ ขอจบปาฐกถาวันนี้ แต่เพียงเท่านี้





๔. อัตตา – อนัตตา และ อัตตา - นิรัตตา

 ๔. อัตตา – อนัตตา และ อัตตา - นิรัตตา

ในสุตตนิบาต มีพุทธพจน์หลายแห่งตรัสถึงพระอรหันต์ คือผู้บรรลุจุดหมายแห่งชีวิตประเสริฐแล้ว หรือท่านผู้ปฏิบัติถูกต้องแล้วว่า เป็นผู้ที่ ไม่มีทั้งอัตตาและนิรัตตา หรือทั้ง อตตํ และ นิรตํ  (*๑๘๓) แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ไม่มีทั้งอัตตาและไร้อัตตา หรือ ไม่มีทั้งตัวและไร้ตัว คัมภีร์มหานิทเทสอธิบาย “อตุตา” หรือ “อตตํ” ว่าได้แก่ อัตตทิฏฐิ คือความเห็นว่าเป็นตัวตน หรือ สัสสตทิฏฐิ คือความเห็นว่า (มีตัวตนที่) เที่ยงแท้ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป และ “นิรตุตา” หรือ “นิรตตํ” ว่า ได้แก่อุจเฉททิฏฐิ คือ ความเห็นว่า (ตัวตน) ขาดสูญ อีกนัยหนึ่งอธิบาย “อตตา” หรือ “อตตํ” ว่าได้แก่ สิ่งที่ถือไว้หรือสิ่งที่ยึดถือ และ “นิรตุตา” หรือ “นิรตตํ” ว่าได้แก่ สิ่งที่จะต้องละหรือปล่อย ถือเอาใจความว่า พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติถูกต้อง หรือท่านผู้มีปัญญาเข้าใจถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มีทั้งความยึดถือตัวตนและทั้งความยึดถือว่าไม่มีตัวตน (ตัวตนขาดสูญ) ไม่มีทั้งสิ่งที่ยึดถือเอาไว้ และทั้งสิ่งที่จะต้องละต้องปล่อยหรือต้องสลัดทิ้ง

คัมภีร์มหานิทเทสอธิบายต่อไปอีกว่า ผู้ใดมีสิ่งที่ยึดถือไว้ ผู้นั้นก็มีสิ่งที่จะต้องปล่อยละ ผู้ใดมีสิ่งที่จะต้องปล่อยละ ผู้นั้นก็มีสิ่งที่ยึดถือไว้ พระอรหันต์ล่วงพ้นการยึดถือและการปล่อยละไปแล้ว (*๑๘๔) ความเข้าใจในพุทธพจน์และอรรถาธิบายข้างต้นนี้ จะช่วยให้เข้าใจความหมายของหลักอนัตตาครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ธรรมดาว่า ปุถุชนย่อมมีความยึดถือในตัวตนอย่างเหนียวแน่น อย่างหยาบๆ ก็ถือเอารูป คือร่างกายเป็นตัวตน เมื่อคิดลึกซึ้งลงไป เห็นว่าร่างกายเป็นตัวตนไม่ได้ เพราะมีความเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้ชัดๆ โต้งๆ ก็เลื่อนไปยึดเอาจิตหรือคุณสมบัติบางอย่างของจิต เช่น ความรู้สึก ความจำ ปัญญา การรับรู้ เป็นต้น ว่าเป็นตัวตน ถ้าใช้ศัพท์ทางธรรมก็ว่า ยึดเอาขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเป็นอัตตา บางทีก็ยึดถือรวมๆ คลุมๆ ทั้งกายและใจ คือขันธ์ ๕ ทั้งหมด ว่าเป็นตัวตน บ้างคิดแยบยลลึกซึ้งต่อไปอีกว่า ทั้งกายและใจ หรือขันธ์หมดทั้ง ๕ เป็นตัวตนไม่ได้ แต่มีตัวตนอยู่ต่างหาก เป็นอัตตาหรืออาตมันตัวแท้ตัวจริง เป็นแก่นเป็นแกนของชีวิต ซ้อนอยู่ภายในขันธ์ ๕ หรืออยู่นอกเหนือจากขันธ์ ๕ แต่เป็นตัวครอบครองควบคุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง

เจ้าลัทธิและนักปราชญ์เจ้าปัญญาผู้สามารถทั้งหลาย พากันคิดค้นเรื่องตัวตนนี้โดยโยงเข้ากับการค้นหาสภาวะแท้ที่มีอยู่จริงในขั้นสุดท้าย หรือตัวสัจธรรม หรือบรมธรรม บางท่านก็ประกาศว่าตนได้เข้าถึงสภาวะที่แท้จริงนั้นแล้ว อันเป็นตัวแท้ตัวจริง เป็นอัตตาหรืออาตมันสูงสุด อย่างที่บัญญัติเรียกว่า ปรมาตมันบ้าง พรหมมันบ้าง พระผู้เป็นเจ้าบ้าง ต้องยอมรับว่า เจ้าลัทธิและนักปราชญ์เหล่านั้นเป็นเจ้าความคิดอย่างสูง มีความรู้ความสามารถมาก อย่างที่ท่านเรียกว่าเป็นสมณพรามหณ์ผู้ประเสริฐ หรือเป็นเจ้าทฤษฎีชั้นพรหม และสภาวะที่ท่านเหล่านั้นกล่าวถึง ก็ประณีตลึกซึ้งอย่างยิ่ง แต่ตราบใดที่สภาวะนั้นยังมีความเป็นตัวตนติดอยู่ หรือยังเป็นเรื่องของตัวตน ก็พึงทราบว่ายังไม่ใช่สภาวะที่จริงแท้ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่ใช่บรมธรรม เพราะยังถูกเคลือบคลุมและยังพัวพันด้วยความยึดถือ

สภาวะจริงแท้นั้นมีอยู่ มิใช่เป็นความสูญสิ้นไม่มีอะไรเลย แต่ก็มิใช่เป็นสภาวะที่จะเข้าถึงหรือประจักษ์ได้ด้วยความรู้ที่ถูกกั้นบังให้พร่ามัวหรือบิดเบือนโดยภาพเก่าๆ ที่ผิดพลาด และด้วยจิตที่ถูกฉุดรั้งไว้โดยความยืดติดในภาพเก่าที่ผิดพลาดนั้น การที่สมณพราหมณ์ผู้ประเสริฐหรือเจ้าลัทธิชั้นพรหมจำนวนมาก ไม่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดถึงสภาวะแท้จริงขั้นสุดท้าย ก็เพราะว่า แม้ว่าสมณพราหมณ์หรือเจ้าลัทธิเจ้าทฤษฎีเหล่านั้นจะรู้ชัดแล้วว่า ตัวตนระดับกายใจชนิดที่เคยยึดถือมาก่อน ไม่ใช่เป็นสภาวะที่จริงแท้ และไม่ยอมรับแม้กระทั่งขันธ์ ๕ แต่ ท่านเหล่านั้นก็ยังนำเอาเครื่องพรางตาตัวเอง ๒ อย่างของปุถุชนติดตัวไปด้วยตลอดเวลาในการค้นหาสภาวะที่แท้จริงขั้นสุดท้าย กล่าวคือ

    ๑) บัญญัติแห่งอัตตา (concept) คือ มโนภาพของตัวตนที่เป็นคราบติดมาตั้งแต่ครั้งยึดติดในตัวตนหยาบระดับร่างกาย แม้มโนภาพนี้จะละเอียดประณีตขึ้นมากเพียงใด มันก็เป็นภาพอันเดียวกันหรือเทือกเถาเดียวกันอยู่นั่นเอง และเป็นภาพแห่งความหลงผิด ซึ่งเมื่อเขาไปเกี่ยวข้องกับสภาวะใดๆ เขาก็จะเอาบัญญัติหรือมโนภาพอันนี้ไปป้ายหรือฉาบทาสภาวะนั้น ทำให้มีสิ่งกั้นบัง เกิดความพร่ามัวหรือบิดเบือน และทำให้สภาวะที่เขาเข้าใจ ไม่ใช่สภาวะจริงแท้นั้นเองที่ล้วนๆ บริสุทธิ์

    ๒) ความยึดติดถือมั่น (อุปาทาน) ซึ่งเขามีมาแต่เดิมตั้งแต่ยึดติดในอัตตาอย่างหยาบๆ ขั้นต้น ซึ่งเป็นความหลงผิดอยู่แล้ว เขาก็ยังพาเอาความยึดติดนี้ไปด้วย และนำไปใช้ในการสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสภาวะที่จริงแท้ ความยึดติดในภาพตัวตนนี้จึงกลายเป็นเครื่องฉุดรั้งเขาไว้ ให้ไม่อาจเข้าถึงสภาวะที่จริงแท้นั้นได้

ถ้าพูดอย่างสั้นๆ ก็คือ สมณพราหมณ์หรือเจ้าทฤษฎีเหล่านั้นยังไม่หลุดพ้นนั่นเอง ยังไม่หลุดพ้นจากบัญญัติหรือภาพที่หลงผิด และยังไม่หลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่น ซึ่งว่าที่จริงก็พันกันอยู่เป็นเรื่องเดียวกัน คือ พูดรวมเข้าด้วยกันได้ว่า พวกเขาหลงผิดหยิบเอาภาพอัตตาที่ติดมาจากอุปาทานเดิมของตน ไปปิดทับสภาวะหรือกระบวนการที่มีอยู่ตามธรรมชาติเสีย เลยวนเวียนติดตันอยู่ตามเดิม ความหลุดพ้นนี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะให้เข้าถึงหรือรู้ประจักษ์สภาวะที่จริงแท้ได้ เพราะสภาวะจริงแท้ขั้นสุดท้ายหรืออสังขตธรรม มีภาวะตรงข้ามกับสภาวะฝ่ายปรุงแต่งหรือสังขตธรรม เป็นสภาวะที่ถึงเมื่อสภาวะฝ่ายสังขตะสิ้นสุดลง คือเป็นสภาวะที่จะเข้าถึงเมื่อละความยึดถือในอัตตาได้แล้ว แม้แต่จะพิจารณาในระดับสังขตธรรมคือสังขาร เมื่อพิจารณาตามแนวพุทธธรรมดังได้บรรยายมาแล้วข้างต้นว่า อัตตาหรือตัวตนเป็นสิ่งสมมติ สภาวะที่จริงแท้ย่อมเป็นสิ่งตรงข้ามกับสมมติ เป็นคนละเรื่องคนละด้านกัน อัตตามีสำหรับสิ่งสมมติ เมื่อพ้นจากสมมติจึงจะเข้าถึงสภาวะจริงแท้ สภาวะจริงแท้ก็คือไม่เป็นอัตตา พูดง่ายๆ อย่างชาวบ้านว่า ของจริงต้องไม่เป็นอัตตา ถ้ายังเป็นอัตตาก็ไม่ใช่ของจริง หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า พอพ้นสมมติ อัตตาก็หมด พอเลิกยึด อัตตาก็หายตัวการสำคัญของความหลงผิด ก็คือบัญญัติหรือภาพของอัตตา กับความยึดติดถือมั่นหรือความยึดถือในเมื่ออัตตาหรือตัวตนไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงของสมมติ มันจึงเป็นเพียงสิ่งที่ถูกยึดถือเอาไว้ ฉะนั้น

ในสุตตนิบาตที่อ้างข้างต้น คำว่า “อตุตา” หรือ “อตตํ” จึงแปลได้ ๒ อย่าง คือ แปลว่าตัวตน หรือการยึดถือตัวตนก็ได้ แปลว่า สิ่งที่ยึดถือเอาไว้ก็ได้ หมายความว่า ตัวตน ก็คือสิ่งที่ยึดถือเอาไว้เท่านั้นเอง มิใช่สภาวะที่มีอยู่จริง อีกประการหนึ่ง ในสุตตนิบาตที่อ้างถึงนั่นแหละ ท่านกล่าวถึง “อตตา” คู่กับ “นิรตุตา” หรือ “อตตํ” คู่กับ “นิรตตํ” และบอกว่า พระอรหันต์หรือผู้ปฏิบัติชอบ ไม่มีทั้งอัตตาหรืออัตตัง และไม่มีทั้งนิรัตตาหรือนิรัตตัง นิรัตตาหรือนิรัตตัง ก็แปลได้ ๒ อย่างเช่นเดียวกับอัตตาหรืออัตตัง คือแปลว่า (การยึดถือว่า) ไม่มีอัตตา หรือการถือว่า (อัตตา) ขาดสูญ ก็ได้ แปลว่า สิ่งที่จะต้องปล่อยละหรือสลัดทิ้งก็ได้ ข้อนี้หมายความว่า เมื่อไม่ยึดถือว่ามีอัตตาแล้ว เลิกความเห็นผิดยึดถือผิดต่อสิ่งสมมติได้เสร็จแล้ว ก็แล้วกัน จบเท่านั้น ไม่ต้องไปยึดถืออีกว่าไม่มีอัตตา ตัวเองจะเป็นอิสระสบายดีอยู่แล้ว แต่ไปจับยึดสิ่งที่พาให้ผิดเข้า เมื่อเลิกจับเลิกยึดได้แล้ว ก็จบเรื่องไม่ต้องไปจับไปยึดอะไรอีก เมื่อไม่มีสิ่งที่ยึดถือเอาไว้ ก็ไม่มีสิ่งที่จะต้องละต้องปล่อย เหมือนดังพุทธพจน์ที่ว่า

“สิ่งที่ยึดถือไว้ก็ไม่มี แล้วสิ่งที่ต้องปล่อยละจะมีมาแต่ที่ไหน” (นตถํ อตุตา กุโต นิรตตํ วา) (*๑๘๕)  พึงสังเกตด้วยว่า ถ้าจะพูดกันให้ถูกต้องจริงๆ แล้ว แม้แต่คำว่าความยึดถืออัตตา ก็ใช้ไม่ได้ ต้องพูดว่าความยึดถือในภาพของอัตตา หรือยึดถือบัญญัติแห่งอัตตา เพราะอัตตาเป็นเพียงสิ่งสมมติ ไม่มีอยู่จริง ในเมื่ออัตตาไม่มีอยู่จริง ก็เพียงไม่ยึดถือ (ว่ามี) อัตตา หรือไม่ยึดถือบัญญัติของอัตตาเท่านั้น ไม่ต้องละอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะยึดถือได้ จะไปละอัตตาที่ไหน การถือ (ว่ามี) อัตตา ก็คือการสร้างภาพอีกอันหนึ่งขึ้นมาซ้อนสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่เป็นไปอยู่ สิ่งที่จะต้องทำ ก็เพียงเลิกสร้างภาพนั้นเท่านั้น ถ้าไม่เลิกสร้างภาพนั้น แม้เลิกยึดอย่างหนึ่งแล้ว ไปจับสิ่งอื่นอะไรก็ตาม ก็จะเอาภาพหรือคราบของอัตตาไปปะติดหรือป้ายหรือฉาบทาสิ่งนั้น ให้ไม่เห็นตัวจริง หรือเห็นผิดเพี้ยนไป ดังนั้น กิจที่จะต้องทำ ก็คือ ถอนเลิกความยึดติดถือมั่นในภาพอัตตาที่เคยมีแล้วไม่ยึดอะไรใหม่ว่าเป็นอัตตา และทั้งไม่ตกไปใน นิรัตตา ก็จะมีแต่สภาวะแท้ที่มีอยู่จริง ซึ่งไม่เกี่ยว ไม่เป็นไปตาม ไม่ขึ้นต่อความยึดถือของตน ในเมื่อตัวตนเป็นสิ่งสมมติ เป็นบัญญัติ (concept) เพื่อประโยชน์ในการสื่อสาร ถ้าเราเพียงแต่รู้เท่าทันใช้โดยไม่ยึดติด มันก็ไม่มีพิษสง ไม่ก่อให้เกิดโทษความเสียหายอันใด และถ้าเราเคยยึดถือมัน ก็เพียงแต่เลิกยึดเท่านั้น เมื่อไม่มีการยึดแล้ว ก็เป็นอันจบเรื่อง ไม่ต้องเอาภาพอัตตาไปใส่ให้อะไรอีก ไม่ต้องไปคว้าเอาอะไรมายืดเป็นอัตตาอีก ตลอดจนไม่ต้องไปค้นหาอัตตาที่ไหนอีก

เพราะฉะนั้น ภาระในการสอนของพระพุทธเจ้า จึงมีเพียงแค่ทรงสอนให้เลิกยึดถืออัตตาที่ยึดถืออยู่แล้วเท่านั้น คือให้เลิกยึดถือขันธ์ ๕ เป็นอัตตา เมื่อเลิกยึดอัตตาแล้ว ก็เป็นอันหมดเรื่องกับอัตตา ต่อนั้นไปก็เป็นเรื่องของการเข้าถึงสภาวะที่จริงแท้ ซึ่งมีอยู่ แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับอัตตา จึงเรียกว่าเป็นอนัตตา เป็นเรื่องพ้นจากการยึดถืออัตตาแล้ว และก็ไม่ต้องไปยึดถือต่อไปอีกว่ามีอัตตาหรือไม่มีอัตตา สิ่งที่ไม่มี เมื่อรู้ว่าไม่มีแล้ว ก็เสร็จเรื่องกัน จากนั้นก็เข้าถึงสิ่งที่มีจริงหรือสภาวะจริงแท้ คืออสังขตธรรม ซึ่งไม่ต้องพูดถึงอัตตาอีกต่อไป ผลร้ายที่สำคัญอย่างหนึ่งของการยึดติดในอัตตา หรือยึดถือบัญญัติแห่งอัตตา ก็คือ ผู้ยึดถือจะโยงอัตตานี้เข้ากับความหมายว่า เป็นตัวแกนหรือตัวการที่มีอำนาจบังคับบัญชาบันดาลให้เป็นไปต่างๆ เมื่อความคิดในเรื่องอัตตานี้ละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปจนถึงสภาวะขั้นสุดท้าย ก็จะสร้างความคิดให้มีอัตตาหรืออาตมันใหญ่อันเป็นสากล ที่เป็นผู้สร้างผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง จินตนาการให้มีพระผู้สร้างเข้ามาซ้อนแทรกแซงกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยโดยไม่จำเป็น ที่ว่าไม่จำเป็น ก็เพราะสภาวธรรมทั้งหลายก็มีอยู่ได้เอง กระบวนธรรมก็สัมพันธ์กันเกิดความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันอยู่เอง โดยไม่ต้องมีผู้สร้างผู้บันดาล ถ้าจะว่าต้องมีผู้สร้างก่อนเป็นเบื้องแรกจึงจะมีสิ่งทั้งหลายได้ จึงต้องมีพระเจ้าเป็นผู้สร้างสภาวธรรม ถ้าเช่นนั้นก็ให้สภาวธรรมทั้งหลายนั่นแหละเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนเป็นเบื้องแรกแทนพระเจ้าเสียเลย (เพราะสภาวธรรมก็ปรุงแต่งกันตามเหตุปัจจัย เรียกอย่างง่ายๆ ว่าสร้างกันและกันเองได้อยู่แล้ว) จะได้ตัดปัญหา ไม่ต้องไปวุ่นวายตอบคำถามย้อนต่อไปอีกว่า อะไรมีอยู่ก่อนแล้วพระเจ้าจึงมีขึ้นได้ หรือว่าใครสร้างพระเจ้า คือใครให้กำเนิดพระเจ้า หรือว่าพระเจ้ามาจากไหน

ถ้าจะว่า การที่สภาวธรรมทั้งหลายหรือกระบวนธรรมต่างๆ จะเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ต้องมีผู้บันดาลให้เป็นไป คือมีพระเจ้าอยู่เบื้องหลัง ข้อนี้ก็เกินจำเป็น และไม่สมจริงอีก เพราะถ้ามีพระเจ้าเป็นผู้บันดาลจริง ก็จะกลายเป็นว่ามีระบบซ้อนกันอยู่ ๒ ชั้น คือ พระเจ้าชั้นหนึ่ง กับกระบวนธรรมอีกชั้นหนึ่ง กระบวนธรรมจะเป็นไปอย่างไร ก็ต้องรอการบันดาลจากพระเจ้า แต่กระบวนธรรมจะเป็นไปตามการบันดาลของพระเจ้าก็ไม่สะดวกเพราะมันจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยภายในระบบของมันเองอยู่แล้ว คือองค์ประกอบต่างๆ เกิดดับ ก็สัมพันธ์เป็นปัจจัยส่งต่อสืบทอดแก่กันในกระบวนธรรม การบันดาลของพระเจ้าเลยจะกลายเป็นการแทรกแซงขัดขวางและขัดแย้งกับความเป็นไปของกระบวนธรรมเสียมากกว่า ยิ่งกว่านั้น ถ้าพระเจ้าบันดาล พระเจ้ามีอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ ก็จะให้สภาวธรรมเป็นไปตามพระประสงค์เดี๋ยวก็จะให้เป็นไปอย่างโน้น เดี๋ยวก็จะให้เป็นไปอย่างนี้ กระบวนธรรมก็ยิ่งไม่มีทางเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็จะยิ่งปั่นป่วนวุ่นวายมาก แต่ความจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้น กระบวนธรรมก็คงเป็นไปของมันตามเหตุปัจจัย ถ้าจะว่า ที่กระบวนธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นก็เพราะเป็นกฎ และพระเจ้าเป็นผู้สร้างหรือวางกฎนั้นไว้ ถ้าเช่นนั้น กฎก็จะต้องไม่แน่นอน อาจเปลี่ยนแปลงเมื่อไรก็ได้ ไม่อาจวางใจได้ เพราะมีผู้วางกฎ และผู้วางกฎก็ยังอยู่ต่างหากจากกฏ อีกทั้งมีความประสงค์ของตนที่เปลี่ยนแปรได้ เพิ่มลดดัดแปลงได้ แต่ตามความเป็นจริงกฎก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง


ในทางกลับกัน ตามความเป็นจริงนั้น ก็ไม่จำเป็น และไม่อาจจะมีผู้สร้างกฎด้วยซ้ำ เพราะสภาวธรรมทั้งหลายจะต้องเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง และมันก็ได้เป็นมาอย่างที่มันเป็นอยู่นี้ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยที่มันก็เป็นเช่นนั้นเอง ตถตา) เพราะมันไม่เป็นและไม่อาจจะเป็นไปอย่างอื่น (อวิตถตา) กฎเป็นเพียงบัญญัติ (concept) ซึ่งเกิดจากการที่สภาวธรรมทั้งหลายมันเป็นไปอย่างนั้นต่างหาก อนึ่ง การไม่มีพระเจ้าผู้สร้างผู้บันดาล และการที่กระบวนธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันเองนั้น ยังตัดปัญหาไปได้อีกอย่างหนึ่ง คือ สภาวะแท้จริงขั้นสุดท้าย หรืออสังขตธรรม ก็มีอยู่ตามสภาวะของมัน โดยไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวเป็นผู้สร้างผู้บันดาลสิ่งต่างๆ ไม่ต้องมาแทรกแซงขัดขวางหรือขัดแย้งกับกระบวนธรรมฝ่ายสังขตะ (ในแง่นี้จะเห็นว่า นิพพานไม่มีทางเป็นพระเจ้า หรือ God ได้เลย ไม่ว่าบางท่านจะพยายามเพียงใดก็ ตามที่จะเทียบให้เป็นอย่างเดียวกัน นอกจากจะยอมปรับความหมายของ God เสียใหม่) (*๑๘๖)

เมื่อว่าโดยสามัญวิสัย ย่อมเป็นธรรมดาที่มนุษย์ทั่วไปจะต้องคิดว่ามีตัวตน มีพระผู้สร้างผู้บันดาลโลกและชีวิต เพราะตามที่มองเห็นด้วยสายตา การที่อะไรจะเกิดขึ้น จะเป็นไปอย่างไร ก็ต้องมีผู้สร้างหรือผู้ทำ ส่วนการที่จะมองเห็นเหตุปัจจัยซึ่งเป็นไปอยู่เบื้องหลังภาพของผู้สร้างผู้ทำนั้น เป็นเรื่องลึกซึ้งเห็นได้ยาก ดังนั้น ในสมัยโบราณ แม้แต่ฟ้าร้อง ลมพัด น้ำท่วม แผ่นดินไหว ก็จึงเข้าใจกันไปว่ามีเทวดาประจำอยู่เป็นผู้ทำทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงมิใช่เรื่องแปลก ที่สมณพราหมณ์ผู้ประเสริฐหรือเจ้าลัทธิชั้นพรหม จะพากันมาติดอยู่ในความคิดเรื่องอัตตาหรืออาตมัน และพระผู้สร้างผู้บันดาล ท่านผู้ใดมีปัญญามาก ก็ทำความคิดในเรื่องนี้ให้ละเอียดซับซ้อนกว้างขวางมาก แต่โดยสาระก็พากันมาวนเวียนติดอยู่ที่จุดเดียวกันนี้

การที่พระพุทธเจ้า ซึ่งก็น่าจะติดอยู่ในวงความคิดนั้น แล้วขยายบัญญัติให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไป แต่
กลับทรงค้นพบความเป็นอนัตตา หลุดพ้นจากความยึดถือตัวตน มาทรงแสดงให้เห็นว่ากระบวนธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัยได้อย่างไรโดยไม่ต้องมีผู้สร้างผู้บันดาล และอสังขตธรรมซึ่งเป็นสภาวะแท้จริงสูงสุด มีอยู่ได้โดยไม่ต้องเป็นอัตตา ไม่ต้องเกี่ยวกับการสร้างสรรค์บันดาลอย่างไร ข้อนี้จึงนับเป็นความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่ง แห่งวิวัฒนาการทางปัญญาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เป็นการถอนตัวหลุดพ้นจากหลุมดักอันใหญ่โตแสนลึก ที่มหาชนพากันมาตกติดอยู่ นักปราชญ์ยิ่งใหญ่ในอดีตก่อนหน้านั้น แม้จะเข้าใจถึงหลักอนิจจตา และทุกขตา แต่ก็มาติดอยู่ในความคิดเรื่องอัตตา ความเป็นอนัตตาจึงเป็นภาวะที่เห็นได้ยากมากพระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงอธิบายความเป็นอนัตตา ก็มักต้องทรงแสดงโดยใช้อนิจจลักษณะและทุกขลักษณะเป็นเครื่องช่วยชี้นำ ข้อที่ว่าอนัตตตาเห็นได้ยากจนต้องใช้อนิจจตาและ ทุกขตาเป็นเครื่องช่วยอธิบายก็ดี การค้นพบอนัตตาเป็นความก้าวหน้าสำคัญของปัญญา และไม่ปรากฏก่อนหรือนอกพระพุทธศาสนาก็ดี เป็นเรื่องที่พระอรรถกถาจารย์ก็ได้ตระหนักอยู่แล้ว ดังจะยกคำกล่าวของท่านมาแสดงไว้ดังต่อไปนี้ (*๑๘๗)

“แท้จริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอนัตตลักษณะ ย่อมแสดงด้วยความไม่เที่ยงบ้าง ตัวความเป็นทุกข์บ้าง ด้วยทั้งความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์บ้าง ในข้อที่ว่านั้น พระองค์ทรงแสดงอนัตตลักษณะ ด้วยความไม่เที่ยง ในพระสูตรนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดพึงกล่าวว่า จักขุ (ตลอดถึงกายและใจ) เป็นอัตตา, คำกล่าวของผู้นั้นไม่สม (เพราะว่า) จักขุ (ตลอดถึงกายและใจ) ย่อมปรากฎแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม, ผู้มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปปรากฏนั้น ก็จะต้องลงเนื้อความว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป, เพราะฉะนั้น คำที่กล่าวว่าจักขุ (ตลอดถึงกายและใจ) เป็นอัตตานั้น จึงไม่สม. จักขุ (ตลอดถึงกายและใจ) ย่อมเป็นอนัตตา ฉะนี้” (*๑๘๘)

“พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักษณะ ด้วยความเป็นทุกข์ ในพระสูตรนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา ก็ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้วไซร้, รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ (มีความบีบคั้นข้องขัด-ทุกข์) และใครๆ ก็ฟังได้ (ตามปรารถนา) ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้ แต่เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ -ทุกข์) และจึงไม่ได้ (ตามปรารถนา) ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้, รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้” (*๑๘๙)

“พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักษณะ ด้วยทั้งความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์ในพระสูตรทั้งหลาย เช่นที่ว่า ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา, สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นพึงเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา, มิใช่เราเป็นนั่น, นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา” (*๑๙๐)

เพราะเหตุไร จึงทรงแสดงอย่างนี้? เพราะความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์เป็นสภาพปรากฎ (คือมองเห็นได้ง่าย) จริงทีเดียว เมื่อถ้วย ชาม ขัน หรือวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ตกจากมือแตก ชนทั้งหลายย่อมกล่าวว่า “โอ้ อนิจจัง” อย่างนี้ ความไม่เที่ยง จึงชื่อว่าเป็นของปรากฎ เมื่อฝีและตุ่มเป็นต้นเกิดขึ้นตามร่างกาย หรือถูกตอถูกหนามเป็นต้นที่มตำ ชนทั้งหลายย่อมกล่าวว่า “โอย ทุกข์นะ” อย่างนี้ ทุกข์จึงชื่อว่าเป็นของปรากฏ ส่วนอนัตตาลักษณะ ไม่ปรากฏ คือไม่กระจ่างแจ้ง เข้าใจตลอดได้ยาก แสดงได้ยาก บัญญัติได้ยาก

“อนิจจลักษณะ และทุกขลักษณะนั้น พระตถาคตทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ก็ย่อมปรากฎ, แต่อนัตตลักษณะ ย่อมไม่ปรากฏ นอกจากพระพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้น, จะปรากฏก็แต่ในอุบัติกาลของพระพุทธเจ้าเท่านั้น”

“จริงอยู่ ท่านดาบสและปริพาชกทั้งหลาย ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ดังเช่นสรภังคศาสดา เป็นต้น ย่อมสามารถกล่าวว่า อนิจจัง ทุกขัง ได้ แต่ไม่สามารถที่จะกล่าวว่า อนัตตาแม้นหากว่าท่านสรภังคศาสดาเป็นต้นเหล่านั้น จะพึงสามารถกล่าวว่าอนัตตา แก่บริษัทที่ประชุมกันได้แล้ว, บริษัทที่มาประชุมกัน ก็คงจะมีการบรรลุมรรคผลได้ แท้จริง การบัญญัติ (ยกขึ้นมาวางให้ดู) อนัตตลักษณะ มิใช่วิสัยของใครๆ อื่น, หากเป็นวิสัยของพระสัพพัญญพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น. อนัตตลักษณะนี้เป็นของไม่ปรากฏโดยนัยดังกล่าวฉะนี้”

๑๘๓ พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทย ฉบับสยามรัฐ เป็น อตุตา และ นิรตตํ บ้าง เป็น อตตํ และ นิรตุติ บ้าง ดู ขุ.สุ.๒๕/๔๑๐/๕๘๘ ; ๔๑๗/ ๕๐๑; ๔๒๑/๕๑๔, และดูประกอบ ๒๕/๔๑๑/๔๘๙, ๔๑๒/๔๙๑ ; ๔๓๕/๕๔๕) แต่ฉบับอื่นๆ เท่าที่พบเป็น อตุตา และ นิรตุตา ทั้งนั้น
๑๘๔ ดู ขุ.ม.๒๙/๑๐๗/๙๗; ๔๒๗/๒๙๗; ๗๒๑/๔๒๖ และดูประกอบ ขุ.ม.๒๙/๑๒๒/๑๐๗; ๑๖๔/๑๒๙; ขุ.จู.๓๐/๔๐๒/๑๙๓
๑๘๕ ขุ.สุ.๒๕/๔๒๑/๕๑๔; อธิบายใน ขุ.ม.๒๙/๗๒๑/๔๒๖
๑๘๖ ว่าที่จริง ทั้งคำว่าพระเจ้า และคำว่า God ต่างก็จัดอยู่ในจำพวกคำที่มีขอบเขตความหมายไม่ลงตัว คำว่าพระเจ้านั้น แต่เดิมเป็นคำที่ชาวพุทธใช้เรียกพระพุทธเจ้า (พระผู้เป็นเจ้า ก็เป็นคำเรียกพระภิกษุ) ต่อมา เมื่อชาวคริสต์ใช้คำนั้นเรียกเทพสูงสุดของตนแล้ว ชาวพุทธก็ปล่อยจนลืมความหมายที่ตนเคยใช้เดิม ส่วนคำว่า God ชาวคริสต์ใช้เรียกเทพสูงสุดที่ตนนับถือว่าเป็นผู้สร้างโลก มีลักษณะเป็นตัวบุคคล แต่นักปรัชญาบางคนแปรขยายความหมายของ God ออกไปเป็นสภาวะนามธรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการสร้าง
โลก นักปราชญ์คริสต์สมัยใหม่บางท่านก็อธิบายความหมายของ God ใหม่อย่างเป็นนามธรรม ไม่เป็นตัวบุคคล แต่สถาบันศาสนาคริสต์ไม่ยอมรับ (ถ้าไม่ถึงกับถือหรือประณามว่านอกคอก), Hans King ใน Does God Exist? An Answer for Today, trans. Edward Quinn (London: Collins, 1980), pp. 594-602] เมื่อพยายามเปรียบเทียบ God กับ นิพพาน ก็ตระหนักดีถึงความแตกต่างในแง่ที่นิพพานไม่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์บันดาลโลก
๑๘๗ วิภงฺด.อ.๖๓-๖๔; และบางส่วนใน ม.อ.๒/๑๕๑-๒; วินยฎีกา ๔/๘๒
๑๘๘ ม.อุ.๑๔/๘๑๘/๕๑๒
๑๘๙ สํ.ข.๑๗/๑๒๗/๘๒
๑๙๐ เช่น สํ ข.๑๗/๔๒/๒๘

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
            ๔. อัตตา - อนัตตา และ อัตตา - นิรัตตา
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา




วันอังคาร

๓. อนัตตตา และอนัตตลักษณะ

๓. อนัตตตา และอนัตตลักษณะ

🔅 ก) ขอบเขตความหมาย

ขอทวนความก่อนว่า อนัตตตา คือความเป็นอนัตตา มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมมากกว่าความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์ ขอบเขตนั้นกว้างแคบกว่ากันแค่ไหน เห็นได้ชัดเจนทันทีในพุทธพจน์ที่แสดงหลักนั้นเอง คือ

สพเพ สงฺขารา อนิจจา สังขาร ทั้งปวง ไม่เที่ยง
สพเพ สงขารา ทุกขา สังขาร ทั้งปวง เป็นทุกข์
สพเพ ธมมา อนตุตา ธรรม ทั้งปวง เป็นอนัตตา

พุทธพจน์แสดงหลักธรรมนิยาม อันบ่งบอกถึงไตรลักษณ์นี้ ชี้ชัดว่า เฉพาะสังขารเท่านั้นที่เป็นอนิจจังและเป็นทุกข์ทั้งหมดทั้งสิ้น คือ ยังมีธรรมบางอย่างที่ไม่เป็นอนิจจังและไม่เป็นทุกขัง ได้แก่ธรรมที่ไม่เป็นสังขาร แต่ธรรมทุกอย่าง รวมทั้งธรรมที่ไม่เป็นสังขารนั้นด้วย เป็นอนัตตา คือล้วนมิใช่อัตตา ไม่มีอัตตา ไม่เป็นอัตตา หมดทั้งสิ้น ไม่ยกเว้นสิ่งใดทั้งนั้น ไม่มีอะไรมีอัตตา ไม่มีอะไรเป็นอัตตาเลย คำว่า “ธรรม” ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรอยู่นอกเหนือคำว่า “ธรรม” ไม่ว่าสิ่งใดๆ ใช้คำว่าธรรมเรียกได้ทั้งหมด เมื่อธรรมครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรม จึงจำแนกออกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด แต่อาจจัดประมวลได้เป็นกลุ่มเป็นประเภท การจัดกลุ่มหรือประเภทที่เข้ากับเรื่องในที่นี้ คือ ธรรม ทั้งปวงจำแนกเป็น ๒ จำพวก ได้แก่ สังขตธรรมและอสังขตธรรม

สังขตธรรม คือ ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง หรือสภาวะที่เกิดจากปัจจัยหนุนเนื่องกันขึ้นมา เรียกง่ายๆ ว่า “สังขาร” ได้แก่ รูปธรรมและนามธรรมทั่วไป ที่จัดเข้าในขันธ์ ๕
อสังขตธรรม คือ ธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง หรือสภาวะที่มิใช่เกิดจากปัจจัยหนุนเนื่องกันขึ้นมา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วิสังขาร” ได้แก่ สภาวะอันพ้นจากขันธ์ทั้ง ๕ คือนิพพาน

โดยนัยนี้ จึงแสดงหลักธรรมนิยามแบบขยายความได้ ดังนี้
๑. สังขาร คือ สังขตธรรม (ขันธ์ ๕) ทั้งปวง ไม่เที่ยง
๒. สังขาร คือ สังขตธรรม (ขันธ์ ๕) ทั้งปวง เป็นทุกข์
๓. ธรรม คือ สังขตธรรม และอสังขตธรรม ทั้งปวง ไม่มีไม่เป็นอัตตา

พึงสังเกตไว้ให้ตระหนักชัดว่า พระพุทธเจ้าตรัสมาตามลำดับใน ๒ ข้อแรก ทั้งข้อไม่เที่ยง และข้อเป็นทุกข์ เหมือนกันว่า “สังขารทั้งปวง” แต่พอถึงข้อ ๓ ที่เป็นอนัตตา ทรงเปลี่ยนเป็น “ธรรม ทั้งปวง” เมื่อมองตรงตามพุทธพจน์นี้ พุทธประสงค์ หรือพุทธาธิบายเกี่ยวกับขอบเขตแห่งความหมายของ อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา ก็ชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้ว ว่าข้อไหนแค่ใด ไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติม

🔅 ข) ความหมายพื้นฐาน

อนัตตา จะแปลว่า ไม่เป็นอัตตา หรือไม่มีอัตตา คือ ไม่เป็นตัวตน หรือไม่มีตัวตน ก็ได้ ที่ว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ก็หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นสภาวะที่มีอยู่ เป็นอยู่หรือเป็นไปของมัน เป็นธรรมดาอย่างนั้นๆ เอง ไม่เป็นไม่มีตัวตนที่จะครอบครองสั่งบังคับอะไรให้เป็นหรือให้ไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่ปรารถนา ในเมื่ออนัตตตาปฏิเสธความเป็นอัตตา ถ้าจะเข้าใจความเป็นอนัตตา ก็ต้องเข้าใจความหมายของอัตตานั้นก่อน

อัตตา (เรียกอย่างสันสกฤตว่า อาตมัน) คือ ตัวตนอันแท้อันจริง ที่เป็นแก่นเป็นแกนหรือซึมแทรกซ้อนแฝงหรือโอบคุมสิ่งนั้นๆ อันเที่ยงแท้ถาวร เป็นตัวอยู่ตัวยืนตัวคงที่ ซึ่งสิงอยู่ สถิตอยู่ เป็นเจ้าของ เป็นผู้ครอบครอง เป็นตัวผู้ทำการ เป็นตัวผู้เสพเสวยความรู้สึกต่างๆ อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งหลาย รวมทั้งอยู่เบื้องหลังชีวิตนี้ ซึ่งมีอำนาจในตัว สามารถบงการหรือบังคับบัญชาสิ่งนั้นๆ ให้เป็นไปตามต้องการ หรือตามปรารถนา ในลัทธิศาสนาบางพวก สอนซ้อนลึกลงไปอีกว่า เบื้องหลังโลกแห่งปรากฏการณ์ทั้งหมด และเหนืออัตตาหรืออาตมันของสัตว์และสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ มีอัตตาสูงสุดที่มีอำนาจเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเป็นตัวผู้สร้างและกำหนดจัดสรรบันดาลบงการทุกสิ่งทุกอย่าง หรือเป็นแหล่งที่มาและที่กลับเข้าไปรวมสุดท้ายของสรรพสิ่งสรรพชีพ ดังที่ในศาสนาฮินดูเรียกว่า พรหมัน หรือปรมาตมัน

สาระสำคัญของหลักอนัตตตา ก็คือการปฏิเสธความมีอยู่ของอัตตาที่ว่ามานี้ โดยสอนให้รู้ว่า อัตตานั้นเป็นเพียงภาพที่เกิดจากการยึดถือของมนุษย์ปุถุชน ที่ไม่มองเห็นสภาวธรรมคือสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น แต่มนุษย์ปุถุชนนั้นได้สร้าง(ภาพ)อัตตาหรือตัวตนขึ้นมาซ้อนไว้บนสภาวธรรม และ(ภาพ)อัตตาหรือตัวตนนั้นเอง ก็
บดบังเขาไม่ให้มองเห็นสภาวธรรม ความรู้เข้าใจอนัตตตา จะไถ่ถอนความยึดถือนั้น และสลาย(ภาพ)อัตตาหรือตัวตนที่ซ้อนบดบังสภาวธรรมลงไป ทำให้รู้เห็นสภาวธรรมคือสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น หลักอนัตตตาเป็นเรื่องของความรู้เข้าใจมองเห็นด้วยปัญญาตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมันว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นสภาวธรรม ซึ่งมีอยู่เป็นอยู่และเป็นไปตามสภาวะ หรือตามธรรมดาของมันๆ ไม่มีอัตตาหรือตัวตนอะไรเป็นแก่นเป็นแกนหรือสิงซ้อนแฝงโอบคุมกุมไว้ ที่จะเป็นเจ้าของครอบครองครอบงำบงการบัญชา ไม่ขึ้นต่ออำนาจของใคร ไม่ว่าอยู่ข้างใน หรือจากข้างนอก จะเห็นว่า ความหมายพื้นฐานแห่งความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นสังขตธรรม หรืออสังขตธรรม ไม่ว่าสังขาร หรือวิสังขาร ก็ง่ายๆ สั้นๆ เหมือนกันหมดว่า สิ่งทั้งปวงนั้น ล้วนเป็นสภาวธรรม ซึ่งมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมัน และเป็นอยู่หรือเป็นไปตามธรรมดาของมันๆ ถ้ามีอัตตาเป็นแก่นเป็นแกนแฝงซ้อนหรือโอบคุม สภาวธรรมก็เป็นอยู่เป็นไปตามภาวะที่เป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมันไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงสภาวธรรมก็มีอยู่เป็นอยู่ของมันอย่างนั้นๆ จึงชัดเจนแน่แท้ว่าอัตตาไม่มีจริง แต่ในตอนที่อธิบายขยายความหมายออกไป จุดที่แยกกัน หรือทำให้มีรายละเอียดของคำอธิบายต่างกัน ก็คือสภาวะของสังขตธรรม กับสภาวะของอสังขตธรรม หรือธรรมดาของสังขาร กับธรรมดาของวิสังขาร ที่เป็นคนละอย่างต่างกันไป

ถ้าเป็นอสังขตธรรม หรือวิสังขาร คือนิพพาน ก็ชัดอยู่แล้วว่า นิพพานนั้นเป็นธรรมธาตุอันดำรงอยู่ตาม
สภาวะของมัน มีอยู่ ตามธรรมดาของสภาวะที่ไม่เกิดจากปัจจัย เป็นนิสสัตตะนิชชีวะ มิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่เป็นของใคร ไม่ขึ้นต่อใคร ไม่มีใครกำกับบังคับควบคุม ไม่มีตัวทำการที่จะดลบันดาลอะไรแก่ใครๆ

ส่วนสังขตธรรม คือสังขารทั้งหลาย อันได้แก่ขันธ์ ๕ ก็ชัดอยู่แล้วเช่นเดียวกัน คือ ทุกอย่างนั้น ดำรงอยู่
ตามสภาวะของมัน มีอยู่เป็นอยู่เป็นไปตามธรรมดาของมัน แต่เป็นธรรมดาของสังขตธรรม ซึ่งตรงข้ามกับ
ธรรมดาของ อสังขตธรรม กล่าวคือ มีอยู่ ตามธรรมดาของสังขตธรรม ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ซึ่งก็ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใคร ไม่มีตัวตนอะไรสิงซ้อนอยู่อาศัยที่จะเป็นตัวทำการในการเสพเสวย สั่งบังคับ หรือมีอำนาจบงการบัญชาให้ขันธ์ ๕ นั้น ไม่ว่าทั้งหมด หรือแต่ละอย่าง ให้เป็นไปตามความต้องการของตน โดยเป็นอิสระจากการทำตามหรือทำที่เหตุปัจจัย

ความหมายพื้นฐานที่ท่านอธิบายอนัตตตา ความเป็นอนัตตา ความไม่เป็นไม่มีตัวตนนี้ โดยทั่วไปใช้คำสั้นๆ เพียงว่า “อวสวตุตนภูเรน” หรือ “อวสวตุตนโต” (“อวสวตติโต” บ้างก็มี) คือ (ที่ว่าเป็นอนัตตา ก็เพราะว่า หรือด้วยความหมายว่า) ไม่เป็นไปในอำนาจ คือไม่อยู่ใต้อำนาจ ใครจะเรียกร้องหรือสั่งบังคับให้เป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ตามความปรารถนาของตนไม่ได้ (สำนวนเก่าว่า ไม่อาจได้ตามปรารถนาของตน) ความหมายพื้นฐานของอนัตตตา เป็นดังที่ว่ามานี้

🔅 ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย

ก่อนจะอธิบายต่อไป จึงทำความเข้าใจก่อนว่า พระพุทธศาสนาพูดถึงเรื่องตัวตนหรืออัตตาเพียงในระดับสมมติเท่านั้น คือเป็นสมมติสัจจะ ไม่ถือว่าเป็นของมีจริงแท้ ดังจะเห็นได้ชัดเจนตามหลักที่มีพุทธพจน์แสดงไว้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาที่ไม่ยกเรื่องอัตตาขึ้นตั้งเป็นหลัก คือไม่ถือว่ามีอัตตาจริงเลย ดังนี้

“ดูกรเสนิยะ ศาสดานี้ใด ทั้งในปัจจุบัน ก็ไม่บัญญัติอัตตา โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ และในเบื้องหน้า ก็ไม่บัญญัติอัตตา โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ นี้เรียกว่าศาสดาผู้สัมมาสัมพุทธะ ” (*๑๕๗)

โดยนัยนี้ พระพุทธศาสนาจึงไม่ได้ปรารภที่จะพิจารณา และไม่ได้ยกเป็นข้อที่จะพิจารณาว่า อัตตามีหรือไม่ หรืออะไรๆ เป็นอัตตาหรือไม่ เรียกว่าไม่ต้องพูดถึงเรื่องอัตตา (ในแง่หรือในระดับปรมัตถสัจจะ) กันเลยพร้อมนั้นก็มีพุทธพจน์สำทับอีกว่า

“บุคคลผู้มีความเห็นถูกต้องสมบูรณ์ (ทิฏฐิสัมบัน คือพระโสดาบัน) เป็นผู้ไม่อาจเป็นไปได้ ที่จะยึดถือธรรมใดๆ ว่าเป็นอัตตา (*๑๕๘)

เมื่อบรรลุธรรมสูงสุด คือเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่มีเรื่องที่จะมานึกถึงอัตตาอีกเลย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระอรหันต์ว่าเป็น อตฺตญชโห/อัตตัญชหะ (*๑๕๙) แปลว่า “ผู้ละอัตตา” หรือทิ้งอัตตาแล้ว คือละการถืออัตตหรือเลิกเห็นว่าเป็นหรือมีตัวตนแล้ว บางแห่งก็ตรัสแบบอธิบายว่า พระอรหันต์นั้น อตฺตํ ปหาย อนุปาทิยาโน (*๑๖๐) แปลว่า ละอัตตาแล้ว ไม่ยึดติดถือมั่นอะไรๆ เพื่อให้เป็นข้อสรุปที่อ้างอิงกันได้สะดวก ในพระไตรปิฎกก็ได้แสดงเป็นคำวินิจฉัยไว้ว่า “สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง สังขตธรรมทั้งปวง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา นิพพานและบัญญัติ เป็นอนัตตา วินิจฉัยมีอยู่ดังนี้” (*๑๖๑) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตตาจะไม่มีจริง แต่การยึดติดถืออัตตาก็มีอยู่ และมันก็เป็นสิ่งที่คนทั่วไปยึดติดถือมั่นกันอย่างยิ่ง พระพุทธศาสนาจึงมุ่งมาปฏิเสธอัตตาที่เขายึดกันอยู่ คือมุ่งให้คนละเลิกการยึดติดถือมั่นที่เขาจมวนกันอยู่นั้น พูดง่ายๆ ว่า ในพระพุทธศาสนา อัตตาไม่ได้เป็นสาระหรือเป็นเรื่องที่ใส่ใจหรือนึกถึงหรือคำนึงว่ามีอยู่จริงเลย แต่พระพุทธศาสนามองไปที่การยึดติดถือมั่นในอัตตา หรืออัตตาที่มีอยู่ในความยึดติดถือมั่นของคนทั้งหลายนั้น อันจะต้องสลัดถอนทิ้งไปเสีย พระพุทธศาสนาจึงมีแต่สอนให้คนละเลิกการยึดติดถือมั่นในอัตตานั้น และเมื่อถอนละความยึดติดนั้นได้แล้ว ก็จบเรื่อง หมดภาระ ไม่มีอะไรที่จะต้องพูดถึงอัตตาอีก รวมความว่า เมื่อรู้สังขารหรือขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตาแล้ว ก็จบเรื่องอัตตา-อนัตตา ผู้บรรลุธรรมถึงอสังขตธรรมแล้ว ก็ไม่คิดถึงและไม่พูดถึงอะไรอีกว่าเป็นอัตตา และอสังขตธรรมคือนิพพานก็ไม่มีใครต้องมาอธิบายว่าเป็นอนัตตาอย่างไรอีก

การที่ไม่ต้องอธิบายเรื่องนิพพานเป็นอนัตตา ไม่เป็นอัตตา สรุปได้ว่า มีเหตุผล ดังนี้
    ก) สิ่งที่คนทั้งหลายยึดถือกันอยู่และสามารถยึดถือได้ว่าเป็นอัตตา ก็คือและแค่สังขาร หรือขันธ์ ๕
    ข) ปุถุชนคือคนทั่วไป รู้จัก เข้าใจ คิดนึกถึงอะไรๆ ได้ในขอบเขตของขันธ์ ๕ แม้เมื่อพูดถึงนิพพาน นิพพานที่เขาพูดถึงนึกถึง ก็ไม่ใช่นิพพานจริง แต่เป็นเรื่องของขันธ์ ๕ นั่นเอง ส่วนอริยชนก็รู้เข้าใจถึงนิพพานเองแล้ว และหมดความถือความเห็นว่าเป็นอัตตาไปแล้ว จึงไม่พูดและไม่ต้องพูดถึงเรื่องนี้อีก ถ้าพูด ก็มีแต่บอกว่าพระอรหันต์เป็นผู้ละหมดอัตตาแล้ว (อัตตัญชหะ) ไม่ถืออะไรเป็นอัตตาเลย
    ค) งานที่ผู้สอนจะต้องทำในเรื่องอัตตานั้น ก็คือและแค่ให้คนรู้แล้วละความเห็นผิดที่ทำให้เขายึดติดเอาสังขาร หรือขันธ์ ๕ เป็นอัตตา
    ง) เมื่อรู้แล้ว ละความเห็นผิด เลิกยึดติดเอาขันธ์ ๕ เป็นอัตตาแล้ว ก็ไม่ไขว่คว้าหายึดอะไรเป็นอัตตาอีก เพราะได้ประจักษ์แจ้งอสังขตธรรมคือนิพพาน ที่พ้นจากขันธ์ ๕ และพ้นจากการยึดถืออัตตาพร้อมไปด้วยกัน

(ผู้มีปัญญารู้แจ้งนิพพาน มองเห็นอสังขตธรรมคือนิพพานนั้นตามสภาวะของมันเอง อันไม่มีตัวตนอะไรที่ไหนมาสวมมาซ้อนมาครอบมาครอง เรียกว่าเห็นความเป็นอนัตตาของอสังขตธรรมเองแล้ว ก็ไม่ต้องมาพูดมาอธิบายอะไรกันอีก พูดอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อพ้นความเป็นปุถุชนไปแล้ว เป็นอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ได้เห็นประจักษ์ความจริงแล้ว ทั้งความยึดติดและความสงสัยไขว่คว้าหาอัตตาก็หมดสิ้นไปแล้ว การที่จะต้องพูดถึงความเป็นอนัตตาของอสังขตธรรม ก็ยุติไปเอง หรือพูดสั้นๆว่า ไม่มีเรื่องอัตตาอะไร ที่จะขึ้นไปสู่การยึดถือ การสงสัย หรือการถกเถียงอย่างใดๆ ของอริยชน) เมื่อเป็นเช่นนี้ ในคำอธิบายสามัญเกี่ยวกับอนัตตา ท่านจึงมุ่งไปที่สังขตธรรมคือเบญจขันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะเกี่ยวข้องกับคนทั่วไป หมายความว่ามนุษย์ปุถุชนก็คิดนึกพูดกันอยู่แค่นั้น


🔅 ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป

ดังได้กล่าวแล้วว่า คำอธิบายสามัญของอนัตตตา ท่านมุ่งไปที่สังขตธรรม เพราะเป็นการพูดกับมนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทั่วไป ที่ยังต้องฝึกต้องศึกษาต้องเรียนต้องสอนกันอยู่ ยิ่งกว่านั้น ขอย้ำว่า สิ่งที่มนุษย์ปุถุชน หรือคนทั่วไป รวมทั้งนักทฤษฎีและเจ้าลัทธิทั้งหลาย จะมาคิดนึก พูดจาเอาเป็นอัตตากันได้ ก็มีแค่เรื่องของสังขาร คือสิ่งที่อยู่ในขันธ์ ๕ ทั้งนั้น และเท่านั้น ดังนั้น การชี้ความเป็นอนัตตาจึงเจาะเพียง และจบพอ ที่เรื่องขันธ์ ๕ นั้น ทั้งนี้สอดคล้องกับพุทธดำรัสที่ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย สมณะทั้งหลาย ก็ดี พราหมณ์ทั้งหลาย ก็ดี เหล่าหนึ่งเหล่าใด ก็ตาม ที่มองเห็นอัตตา/ตัวตน แบบต่างๆ หลากหลายเป็นอเนก ย่อมมองเห็นอุปาทานขันธ์เหล่านั้นทั้งหมด หรือไม่ก็มองเห็นขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง ในบรรดาอุปาทานขันธ์เหล่านั้น (ว่าเป็นอัตตา) กล่าวคือ: “ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ ผู้มิได้เรียนสดับ ย่อมมองเห็นรูปว่าเป็นอัตตาบ้าง ย่อมมองเห็นอัตตามีรูปบ้าง ย่อมมองเห็นรูปในอัตตาบ้าง ย่อมมองเห็นอัตตาในรูปบ้าง ย่อมมองเห็นเวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย วิญญาณ (ทำนองเดียวกัน) โดยนัยดังกล่าวนั้น การมองเห็นนี้แล ก็กลายเป็นความปักใจยึดถือของเขาว่า “ตัวเรามี/ตัวเราเป็น” (*๑๖๒)

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า (การยึดถือ)อัตตามีแค่ที่มีขันธ์ ๕ และมีเพราะไปยึดมั่นขันธ์ ๕ นั้นไว้ ตามพุทธพจน์ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมีอยู่ เพราะอาศัยอะไร เพราะยึดถืออะไร จึงเกิดทิฏฐิขึ้นว่านั่นของเรา, เราเป็นนั่น, นั่นเป็นอัตตา/ตัวตนของเรา “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูป ... เมื่อเวทนา ... เมื่อสัญญา เมื่อสังขาร .. เมื่อวิญญาณมีอยู่ เพราะอาศัย (รูป - เวทนา สัญญา สังขาร ) วิญญาณ เพราะยึดมั่น (รูป, สัญญา สังขาร ...) วิญญาณ จึงเกิดทิฏฐิขึ้นว่า นั่นของเรา, เราเป็นนั่น, นั่นเป็นอัตตา/ตัวตนของเรา” (*๑๖๓)

ถึงตอนนี้ จึงมาดูคำอธิบายเกี่ยวกับความเป็นอนัตตาของขันธ์ ๕ แบบทั่วๆ ไป ที่ท่านขยายความออกไปในแง่ต่างๆแม้ว่าในคำอธิบายทั่วๆ ไปนี้ ท่านแสดงความหมายกันไว้หลายนัย แต่เราอาจจะเริ่มต้นด้วยคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ที่แสดงอรรถของอนัตตาไว้อย่างเดียวว่า “ชื่อว่าเป็น อนัตตา โดยความหมายว่าไม่มีสาระ (อสารกฏเจน)” (*๑๖๔) ที่ว่าไม่มีสาระ ก็คือ ไม่มีแก่นสาร ไม่มีแก่น หรือไม่มีแกน หมายความว่า ไม่มีสิ่งซึ่งเป็นตัวแท้ที่ยืนยงคงตัวอยู่ตลอดไป ดังคำอธิบายว่า “โดยความหมายว่าไม่มีสาระ หมายความว่าไม่มีสาระคือตัวตน (อัตตสาระ = ตัวตนที่เป็นแก่น หรือตัวตนที่เป็นแกน) ที่คาดคิดกันเอาว่าเป็นอาตมัน (อัตตา = ตัวตน) เป็นผู้สิงอยู่หรือครองอยู่ (นิวาสี) เป็นผู้สร้างหรือผู้สร้างสรรค์บันดาล (การกะ) เป็นผู้เสวย (เวทกะ) เป็นผู้มีอำนาจในตัว (สยังวสี) เพราะว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมเป็นทุกข์ (คงตัวอยู่ไม่ได้) มันไม่สามารถห้ามความไม่เที่ยง หรือความบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไป แม้ของตัวมันเองได้ แล้วความเป็นผู้สร้างผู้บันดาล เป็นต้นของมัน จะมีมาจากที่ไหน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ (มีความบีบคั้นขัดแย้งข้องขัดต่างๆ) ดังนี้เป็นอาทิ (*๑๖๕)

จะสังเกตเห็นว่า ความหมายที่ว่าไม่มีสาระคือตัวตนนี้ ท่านกล่าวไว้โดยสัมพันธ์กับความหมายว่าบันดาลไม่ได้หรือไม่มีอำนาจในตัว ทั้งนี้เพราะถ้ามีตัวตนคงที่ยั่งยืนอยู่เป็นแก่นเป็นแกนจริงแล้ว ก็ย่อมขึ้นย่อมฝืนความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต้องเป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงนั้น ยิ่งถ้าเป็นผู้ครอบครอง ก็ย่อมต้องมีอำนาจ บังคับสิ่งที่ถูกครอบครองให้เป็นไปอย่างไรๆ ก็ได้ตามปรารถนา แต่ตามความเป็นจริง หาเป็นเช่นนั้นไม่ ความไม่เป็นตัวตนและความไม่มีตัวตนสิงสู่อยู่ครอง จึงมีความหมายเด่นในแง่ที่ว่าไม่มีอำนาจบังคับ ไม่เป็นไปในอำนาจขัดแย้งต่อความปรารถนา พึงสังเกตด้วยว่า ตามคำอธิบายนี้ แม้แต่พระพรหม พระผู้เป็นเจ้า หรือเทพเจ้าสูงสุดใดๆ ก็ตาม ที่ถือว่าเป็นผู้สร้างผู้บันดาล ทั้งหมดทั้งปวงล้วนเป็นสังขาร รวมอยู่ในขันธ์ ๕ ทั้งสิ้น โดยนัยนี้ คัมภีร์รุ่นอรรถกถาจึงนิยมแสดงความหมายของอนัตตตาว่า “ชื่อว่าอนัตตา โดยความหมายว่าไม่เป็นไปในอำนาจ (อวสวตุตนฎเจน หรือ อวสวตุตนโต = เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ) (*๑๖๖) และอธิบายในทำนองว่า ไม่มีใครมีอำนาจบังคับ (ตามใจปรารถนาโดยไม่ทำตามเหตุปัจจัย) ต่อสังขารทั้งหลายว่า สังขารที่เกิดขึ้นแล้วจงอย่าถึงความทรงอยู่ ที่ถึงความทรงอยู่แล้ว อย่าชรา ที่ถึงชราแล้ว จงอย่าแตกดับ จงอย่าบอบโทรมด้วยการเกิดขึ้นและการเสื่อมสลาย (*๑๖๗) ตลอดจนอ้างพุทธพจน์ที่ตรัสว่า “บุคคลย่อมไม่ได้ (ตามปรารถนา) ในรูป (และในขันธ์อื่นๆ) ว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้”  (*๑๖๘)

ขยายความว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏเป็นต่างๆ นั้น เมื่อวิเคราะห์ตามสภาวะถึงที่สุดแล้ว หาใช่มีตัวแท้ตัวจริงที่คงที่คงตัวยั่งยืนอยู่ยงดังที่เรียกชื่อกันว่าอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ แต่เป็นเพียงกระบวนธรรม (ธรรมปวัตติ) คือกระบวนการแห่งสังขารธรรมทั้งหลาย หรือกระบวนแห่งรูปธรรมและนามธรรม (ขันธปวัตติ) ที่เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มาประชุมหรือประมวลกันเข้า และองค์ประกอบเหล่านั้นแต่ละอย่างๆ ล้วนมีการเกิดขึ้น และ ความเสื่อมสลาย เป็นไปโดยอาการที่สัมพันธ์สืบเนื่องส่งทอดเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กัน ทั้งภายในกระบวนธรรมที่กำหนดแยกว่าเป็นกระบวนหนึ่งๆ และระหว่างกระบวนธรรมต่างกระบวนทั้งหลาย ในสภาวะเช่นนี้ มีสิ่งที่ควรกำหนดเป็นข้อเด่นอยู่ ๔ ประการ คือ

    ๑. ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของสิ่งนั้นยืนตัวเป็นแท่นเป็นแกนอยู่
    ๒. สภาพที่ปรากฏนั้น เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มาประชุมกันปรุงแต่งขึ้น
    ๓. องค์ประกอบเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา และสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กัน ประมวลขึ้นเป็นกระบวนธรรม
    ๔. ถ้ากำหนดแยกออกเป็นกระบวนธรรมย่อยๆ มากหลาย ก็มีความสัมพันธ์เป็นปัจจัยต่อกัน ระหว่างต่างกระบวนธรรมด้วย

กระบวนธรรมที่องค์ประกอบต่างๆ ซึ่งเกิดสลายและสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันประมวลขึ้นนี้ ดำเนินไปเรื่อยๆ ปรากฏภาพและกลายไปต่างๆ ทั้งนี้จะปรากฏภาพและกลายไปอย่างไร ก็สุดแต่องค์ประกอบและความเป็นเหตุปัจจัยแก่กันนั้นนั่นเอง เป็นเรื่องที่สำเร็จเสร็จสิ้นครบถ้วนในกระบวนการ โดยไม่มีตัวตนอะไรอื่นอีกที่จะเข้ามาแทรกแซงหรือทำให้เป็นไปอย่างอื่นได้ หมายความว่า ไม่มีตัวตนต่างหากจากกระบวนการนั้น ไม่ว่าจะในความหมายว่า เป็นตัวแกนภายในที่ยืนยงคงที่ฝืนความเป็นไปตามเหตุปัจจัย สามารถทำให้เป็นไปโดยลำพังตามปรารถนาของตนได้ หรือในความหมายว่าเป็นตัวการภายนอกที่สามารถสร้างสรรค์ดลบันดาลให้เป็นไปอย่างอื่นโดยไม่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย

เมื่อองค์ประกอบต่างๆ ประชุมกันเข้า และสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันปรากฏเป็นภาพรวมอย่างหนึ่งๆ ขึ้น มนุษย์มักตั้งชื่อเรียกภาพรวมนั้น เช่นว่า คน ม้า แมว มด รถ ร้าน บ้าน นาฬิกา ปากกา นาย ก. เด็กหญิง ข. เป็นต้น แต่ชื่อเหล่านั้นเป็นเพียงคำเรียกขานที่สมมติกันขึ้นใช้ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการสื่อสารสำหรับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์เท่านั้น มันหาใช่เป็นสภาวะที่มีอยู่แท้จริงไม่ คือ มันไม่มีตัวตนอยู่จริงต่างหาก จากส่วนประกอบที่มารวมกันเข้านั้น ถ้าแยกส่วนประกอบทั้งหลายออกจากกัน ก็จะมีเพียงส่วนประกอบแต่ละหน่วยที่มีชื่อเรียกเฉพาะอย่างๆ ของมันอยู่แล้ว หาตัวตนของภาพรวมที่ตั้งชื่อให้นั้นไม่พบ จะชี้ตัวลงไปที่ไหนก็ไม่มี ชื่อที่ตั้งให้แก่ภาพรวมนั้น เป็นตัวตนสมมติ ที่สร้างขึ้นซ้อนสภาวะที่เป็นจริง ซ้อนอยู่ลอยๆ ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรง ไม่มีอำนาจ ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อกระบวนธรรมที่กำลังเป็นไปอยู่นั้นเลย นอกจากโดยความยึดถือ (ซึ่งก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งอยู่ในกระบวนธรรมเอง) ในเมื่อเป็นเพียงของสมมติ และเป็นของซ้อนอยู่ลอยๆ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่มันจะไม่มีอำนาจหรือไม่มีทางที่จะไปบังคับกระบวนธรรมหรือองค์ประกอบใดๆ ในกระบวนธรรมให้เป็นไปอย่างหนึ่งอย่างใดได้ กระบวนธรรม หรือกระบวนแห่งสังขารธรรมก็เป็นไปของมันตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อตัวตนที่ซ้อนลอยนั้น

ที่ว่าไม่เป็นไปตามความปรารถนา ก็เพราะเมื่อว่าตามความเป็นจริงแล้ว ความปรารถนานั้นก็หาใช่เป็น ความปรารถนาของตัวตนไม่ แต่เป็นเพียงองค์ประกอบอย่างหนึ่งอยู่ในกระบวนธรรม และเป็นองค์ประกอบที่ไม่ใช่ตัวให้สำเร็จกิจ มันจะให้สำเร็จผลได้ก็ต่อเมื่อมันเป็นตัวผลักดันให้เกิดปัจจัยขั้นต่อไป คือการลงมือทำหรือปฏิบัติการ ซึ่งก็คือเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยนั่นเอง การที่จะมีตัวตนซ้อนลอย เป็นตัวตนจริงๆ อยู่ต่างหาก ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเป็นไปได้ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะตัวคงที่ ซึ่งไม่เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น ขวางขึ้นกระแสอยู่ พาให้องค์ประกอบต่างๆ เรรวนไปหมด ไม่เป็นกระบวนธรรม ยิ่งกว่านั้น ตัวตนซ้อนนั้น ก็กลายเป็นตัวการพิเศษ ซึ่งอาจจะขัดขวางแทรกแซงและบิดผันธรรมทั้งหลายให้เป็นไปอย่างอื่นจากความเป็นไปตามเหตุปัจจัยอีกด้วย แต่ความเป็นไปที่จริงแท้ก็คือ สังขารธรรมทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ดังนั้น ตัวตนต่างหากจากกระบวนธรรมจึงไม่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะภายในหรือภายนอกกระบวนธรรมนั้นก็ตาม จะมีได้ก็แต่ตัวตนสมมติที่จะพึงรู้จักใช้ประโยชน์อย่างรู้เท่าทัน ถ้ามิฉะนั้น หากไม่มีปัญญารู้เข้าใจ มันก็คือตัวแปลกปลอมที่คอยบีบคั้นบังคับและหลอกคนให้หลงก่อโทษทุกข์ภัยหลากหลายนานา

เมื่อส่วนประกอบทั้งหลายรวมกันเข้า ปรากฏรูปเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มีการบัญญัติเรียกชื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อันยอมรับกันโดยสมมติ เมื่อองค์ประกอบทั้งหลายพร้อมอยู่ ปัจจัยต่างๆ ค้ำจุนหล่อเลี้ยงอำนวย ก็คงรูปร่างหรือคงสภาพอยู่สมตามที่สมมติเป็นตัวตนอย่างนั้น แต่เมื่อใดองค์ประกอบทั้งหลายแยกพรากจากกันหรือปัจจัยแวดล้อมไม่เกื้อกูล สภาพตัวตนนั้นก็หายไป เหมือนดังเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง น้ำแข็งก็ละลาย ตัวตนที่ชื่อว่าน้ำแข็งหายไป เหลืออยู่แต่น้ำเหลว เมื่อความร้อนเพิ่มขึ้นถึงระดับหนึ่งโดยสัมพันธ์กับความกดอากาศ น้ำเหลวก็ระเหยกลายเป็นไอน้ำ สภาพตัวตนของน้ำเหลวก็สิ้นไป หรือเมื่อกระดาษถูกเผาไฟไหม้หมดแล้ว เหลือแต่ฝุ่นเถ้าไฟ ก็หาตัวตนที่จะเรียกว่ากระดาษไม่ได้อีกต่อไป

ความหมายของอนัตตตาที่ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มาประชุมกันเข้า สัมพันธ์กันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ว่างเปล่าจากตัวตนที่เป็นแกนอันยืนยงคงตัว ปราศจากตัวการที่สร้างสรรค์บันดาลนี้ เป็นความหมายพื้นฐานที่อาจจะอ้างความในคัมภีร์มาช่วยเสริมความเข้าใจได้หลายแห่ง เช่น พระบาลีว่า
“อาศัยเครื่องไม้ เถาเชือก ดินฉาบ และหญ้ามุง มีช่องว่างแวดล้อม ย่อมเรียกกันว่าเป็นเรือน ฉันใด อาศัยกระดูก เส้นเอ็น เนื้อ หนัง มีช่องว่างแวดล้อม ย่อมเรียกกันว่าเป็นตัวคน (รูป) ฉันนั้น ๆ” (*๑๖๙)

มารถามพระวชิราภิกษุณีว่า “สัตว์นี้ (ตัวบุคคลนี้) ใครสร้าง ผู้สร้างสัตว์อยู่ที่ไหน สัตว์เกิดที่ไหน สัตว์ดับที่ไหน?” พระวชิราภิกษุณีตอบว่า “นี่แน่ะมาร ท่านเชื่อหรือว่าเป็นสัตว์ (เป็นตัวบุคคล) ท่านมีความเห็น (อย่างนั้น) หรือ? นี้คือกองแห่งสังขารล้วนๆ จะหาตัวสัตว์ในนี้ไม่ได้เลย เพราะประชุมส่วนประกอบเข้าด้วยกัน ย่อมมีศัพท์เรียกว่ารถ ฉันใด เมื่อขันธ์ (กองแห่งรูปธรรมและนามธรรม) ทั้งหลายมีอยู่ ก็มีสมมติเรียกว่าสัตว์ ฉันนั้น แท้จริงทุกข์ (สภาพไม่คงตัว) เท่านั้นเกิดมีและทุกข์ก็ตั้งอยู่และเสื่อมสลายไป นอกจากทุกข์ (สภาพไม่คงตัว) ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ” (*๑๗๐)

พระเสลาภิกษุณีตอบว่า “ร่างนี้ ไม่มีใครสร้าง ตัวนี้ไม่มีใครบันดาล, อาศัยเหตุมันก็เกิดมี, เพราะเหตุสลายมันก็ดับ, เม็ดพืชอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาหว่านในนา อาศัยรสในแผ่นดินและยางในเมล็ดพืชทั้งสองอย่างนี้ ก็ย่อมงอกงามขึ้นได้ ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน ประดาขันธ์ ธาตุทั้งหลายและอายตนะทั้ง ๖ เหล่านี้ อาศัยเหตุย่อมเกิดมี เพราะเหตุสลาย ก็ย่อมดับไป” (*๑๗๑)

ช้างม้าเหล่าทหารและยานรบทั้งหลายรวมๆ เข้าด้วยกัน ก็เรียกว่ากองทัพ ตึกรามบ้านเรือนผู้คนและกิจการต่างๆ มากหลายชุมนุมกันอยู่ ก็เรียกว่าเมือง มือกับนิ้วรวบเข้าด้วยกันในท่าหนึ่ง เขาเรียกว่ากำปั้น หรือหมัด กำปั้นหรือหมัดไม่มีอยู่จริง มีแต่มือและนิ้ว มือและนิ้ว เมื่อแยกส่วนประกอบย่อยๆ ออกไป ก็ไม่มีเช่นเดียวกัน วิเคราะห์กระจายส่วนออกไปได้โดยลำดับ จนหาตัวตนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ พระสูตรทั้งหลาย
มากมาย แสดงแต่เรื่องนามรูป หรือนามธรรมและรูปธรรม ไม่กล่าวถึงสัตว์หรือบุคคลเลย (*๑๗๒)

เมื่อว่าโดยสรุป พระอรรถกถาจารย์ประมวลความหมายของอนัตตาแสดงไว้เป็นหมวด รวม ๔ นัย ซึ่งแม้ว่าท่านมักใช้อธิบายสังขตธรรม หรือขันธ์ ๕ ที่คนทั่วไปเกี่ยวข้อง แต่ก็อธิบายอสังขตธรรมได้เช่นกัน คือ (*๑๗๓)

๑. สุญฺญโต เพราะเป็นสภาพว่าง คือ เป็นแต่สภาวธรรมซึ่งมีภาวะของมันตามที่เป็นอย่างนั้นๆ เอง ปราศจากตัวตนที่เป็นแก่นเป็นแกน (อัตตสาระ = สาระ คือ ตัวตน) หรือว่างจากความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาที่แท้จริง ไม่มีตัวผู้สิงสู่อยู่ครอง ไม่มีตัวผู้สร้างสรรค์บันดาล ไม่มีตัวผู้เสวย นอกจากโดยการสมมติ พูดง่ายๆ ว่า ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จากความเป็นนั่นเป็นนี่ ที่ยึดถือกันไปหรือกำหนดหมายกันขึ้น

๒. อสฺสามิกโต เพราะเป็นสภาพไร้เจ้าของ คือไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่เป็นของของใครหรือของตัวตนใดๆ ไม่มีตัวตนที่จะเป็นเจ้าของครอบครองสภาวธรรมทั้งหลาย ซึ่งมีภาวะอันเป็นของมันอย่างนั้นๆ ตามที่เป็นสังขตะหรืออสังขตะอยู่แล้ว

๓. อวสวตฺตนโต เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ คือ โดยธรรมดาที่เป็นสภาวธรรมซึ่งมีภาวะตามที่เป็นของมันอย่างนั้นๆ มันจึงไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่ขึ้นต่อผู้ใด ไม่มีตัวตนที่ไหนจะมีอำนาจสั่งบังคับมันได้ ใครจะเรียกร้องหรือปรารถนาให้มันเป็นอย่างใดๆ ไม่ได้ ใช้ศัพท์อีกอย่างหนึ่งว่า อนิสฺสรโต แปลว่า เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าใหญ่ ไม่มีตัวตนอะไรที่ไหนจะมาเป็นใหญ่ ที่จะบงการหรือใช้อำนาจบังคับมันได้ บางแห่งใช้ว่า อกามการิยโต แปลว่า เพราะเป็นสภาพที่ไม่อาจทำได้ตามความอยาก คือ จะให้เป็นไปตามความอยากความปรารถนามิได้ หรือจะเอาใจอยากเข้าว่าไม่ได้ รวมความว่า ไม่มีตัวตนอะไรจะมาเป็นใหญ่เหนือมัน มันไม่อยู่ในอำนาจของใคร ใครจะสั่งบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ ไม่ได้ขึ้นต่ออำนาจหรือความปรารถนาของใคร ถ้าเป็นอสังขตธรรม ก็มีอยู่เป็นอยู่ตามสภาวะที่ไม่ขึ้นต่อปัจจัยอยู่อย่างนั้น (ไม่มีอัตตาที่ไหนไปครอบครองมีอำนาจเหนือมันได้อีก) ถ้าเป็นสังขตธรรม มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ใครจะไปสั่งบังคับมันให้เป็นไปตามปรารถนาตามใจอยากไม่ได้ เช่น มันเกิดขึ้นแล้ว จะสั่งว่าอย่าตั้งอยู่ มันตั้งอยู่แล้ว จะสั่งว่าอย่าโทรม มันโทรมแล้ว จะสั่งว่าอย่าสลาย ไม่ได้ทั้งนั้น เมื่อมันขึ้นต่อเหตุปัจจัยของมัน จึงมีแต่ว่า ถ้าต้องการจะให้มันเป็นอย่างไร ก็ต้องทำการอันเป็นเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นไปของมันที่จะเป็นอย่างนั้น คือต้องทำเหตุทำปัจจัยเอา หรือต้องทำให้เป็นเหตุเป็นปัจจัยขึ้นมา

๔. อตุตปฏิกเขปโต เพราะแย้งต่ออัตตา คือ โดยสภาวะของมันเองก็ปฏิเสธอัตตาอยู่ในตัว หมายความว่า โดยธรรมดาที่เป็นสภาวธรรมซึ่งมีภาวะตามที่เป็นของมันอย่างนั้นๆ ถ้ามีอัตตา ก็ย่อมขัดแย้งกัน ทำให้ภาวะของสภาวธรรมไม่เป็นอยู่เป็นไปตามที่มันเป็นของมันอย่างนั้นๆ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีอัตตา ในเรื่องนี้สำหรับคนทั่วไป ก็ดูง่ายๆ (และเพื่อปฏิบัติให้ได้ประโยชน์ด้วย) โดยดูที่สังขตธรรม ซึ่งเป็นกระบวนธรรมที่องค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์กันดำเนินไปโดยความเป็นไปตามเหตุปัจจัย อันเป็นการปฏิเสธอยู่ในตัวว่า ไม่มีตัวตนต่างหากซ้อนอยู่ที่จะมาแทรกแซงบงการ หรือแม้แต่ขวางขืนความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และตัวตนต่างหากเช่นนั้นมีไม่ได้ เพราะถ้ามี ก็ไม่อาจมีความเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่จะกลับกลายเป็นว่าต้องเป็นไปตามความบังคับบงการของตัวตนนั้น

อีกอย่างหนึ่ง กระบวนธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น มีความสำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์พร้อมในตัวอยู่แล้ว ไม่จำเป็นและไม่อาจจะมีตัวการอย่างอื่นที่จะเข้ามาแทรกแซงสั่งการอีกได้ มีความหมายอีก ๒ อย่าง ซึ่งแม้จะรวมอยู่ในความหมาย ๔ ข้อต้นแล้ว แต่เห็นว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ ควรนับเป็นข้อต่างหากไว้ เพราะเป็นลักษณะที่ใช้เสริมคำอธิบายได้ดี สำหรับสังขตธรรม ซึ่งมีความเป็นกระบวนธรรม อันจะเห็นเด่นชัดเมื่อวิเคราะห์กระบวนธรรมออกไป จึงขอนำมาเพิ่มต่อไว้ด้วย คือ

๕. สุทฺธสงฺขารปุญฺชโต หรือ สุทฺธธมุมปุญฺซโต เพราะเป็นกองแห่งสังขารทั้งหลายล้วนๆ หรือเป็นกองแห่งธรรมทั้งหลาย (รูปธรรมและ/หรือนามธรรม) ล้วนๆ หรือ องฺคสมฺภารโต เพราะเป็นการประกอบกันขึ้นของส่วนย่อยต่างๆ คือเกิดจากส่วนประกอบย่อยๆ ทั้งหลายมาประชุมหรือประมวลกันขึ้น ไม่เป็นตัวตนชิ้นอันที่สมบูรณ์ในตัว ที่จะยั่งยืนคงตัวอยู่ได้ ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนที่แท้จริงนอกเหนือจากส่วนประกอบเหล่านั้น (ความหมายข้อนี้เน้นอยู่แล้วในความหมายข้อที่ ๑. ข้างต้น)

๖. ยถาปจฺจยปวตฺติโต เพราะความเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ องค์ประกอบทั้งหลายที่ประมวลหรือประชุมกันเข้านั้น ต่างสัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กัน เรียกรวมๆ ว่า กระบวนธรรมนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใคร และไม่อาจมีตัวตน ไม่ว่าจะเป็นตัวแกนภายใน หรือตัวการภายนอก ที่จะขวางขึ้นหรือบงการบังคับมันได้ (ความหมายข้อนี้ แทรกอยู่ทั่วไปในความหมายทั้ง ๔ ข้อข้างต้น โดยเฉพาะข้อที่ ๓ และ ๔.)

รวมความว่า สิ่งทั้งหลายมีอยู่เป็นอยู่ตามภาวะของมัน ถ้าเป็นสังขตะ ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เหตุปัจจัยมี (ที่จะให้เป็นอย่างนั้น) มันก็เกิด (เป็นอย่างนั้น) เหตุปัจจัย (ที่จะให้เป็นอย่างนั้น) หมด มันก็ดับ (จากสภาพอย่างนั้น) มันหาฟังเสียงใครอ้อนวอนขอร้องหรือปรารถนาไม่ มันไม่เป็นตัว ไม่เป็นอะไรๆ (อย่างที่ว่ากัน) หรือเป็นของใครทั้งนั้น ความหมายของอนัตตาเท่าที่กล่าวมาในตอนนี้ เน้นในแง่ที่เป็นลักษณะของสังขารหรือสังขตธรรม ซึ่งคนทั่วไปเกี่ยวข้องและควรจะรู้เข้าใจ ดังได้ชี้แจงไว้ข้างต้นแล้ว จุดสำคัญที่มีความเข้าใจไขว้เขวและหลงผิดกันมาก ก็คือความรู้สึกว่า มีตัวผู้คิด ต่างหากจากความคิด (= ผู้คิดความคิด) มีผู้จงใจหรือเจตนา ต่างหากจากเจตนา มีผู้เสพเสวยเวทนา ต่างหากจากเวทนา ตลอดจนมีตัวผู้ทำกรรม ต่างหากจากกรรม หรือต่างหากจากการกระทำ แม้แต่นักปราชญ์ใหญ่ๆ มากมาย ก็พากันติดอยู่ในกับดักของความหลงผิดอันนี้ จึงไม่สามารถเข้าถึงความจริงที่ล้วนๆ บริสุทธิ์ปราศจากการเคลือบคลุมของความรู้สึกที่เป็นอัตตวิสัย ดังเช่น นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่ง พิจารณาไตร่ตรองเป็นนักหนาเกี่ยวกับความสงสัย ครุ่นคิดไปมาแล้ว ก็ลงข้อสรุปว่า “ฉันคิด เพราะฉะนั้น ฉันจึงมี” (*๑๗๔) ความรู้สึกในตัวตน คืออัตตาหรืออาตมัน ที่แยกออกมาอย่างนี้ เป็นความรู้สึกสามัญของปุถุชนโดยทั่วไป เป็นความรู้สึกที่นึกน่าสมจริงและคล้ายจะสมเหตุสมผลโดยสามัญสำนึก แต่เมื่อสืบสาวลึกลงไปให้ตลอดสาย จะมีความขัดแย้งในตัวเอง

คำถามทำนองนี้ได้มีผู้ยกขึ้นทูลถามพระพุทธเจ้ามาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เช่นว่า “ใครหนอผัสสะ (ใครรับรู้?) ใครเสวยเวทนา? ใครอยาก? ใครยึด?” พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า คำถามเช่นนั้นใช้ไม่ได้ เป็นคำถามที่ตั้งขึ้นตามความรู้สึก ไม่สอดคล้องกับสภาวะ เข้ากับสภาพความเป็นจริงที่แท้ไม่ได้ ถ้าจะให้ถูก ต้องถามว่า อะไรเป็นปัจจัยให้มีการรับรู้? อะไรเป็นปัจจัยให้มีเวทนา? อะไรเป็นปัจจัยให้มีการอยาก การยึด (*๑๗๕)

อธิบายว่า การคิดก็ดี ความจงใจเจตนาก็ดี การอยากการปรารถนาก็ดี การเสวยเวทนาก็ดี เป็นองค์ประกอบอยู่ในกระบวนการแห่งรูปธรรมและนามธรรม ฉันใด ความรู้สึกถึงตัวผู้คิด หรือตัวผู้เจตนา เป็นต้น ก็เป็นองค์ประกอบอยู่ในกระบวนธรรมนั้น ฉันนั้น และองค์ประกอบเหล่านั้นก็สัมพันธ์โดยอาการเป็นเหตุเป็นปัจจัยสืบทอดต่อกัน มีแต่การคิดและความรู้สึกถึงตัวผู้คิด (คือความหลงผิดว่ามีตัวผู้คิด ไม่ใช่มีตัวผู้คิดเอง) เป็นต้น ที่เกิดสืบต่อกันอยู่ในกระบวนธรรมเดียวกันว่าที่จริง ความรู้สึกว่ามีตัวผู้คิด ก็เป็นอาการคิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างง่ายๆ ว่า เป็นขณะหนึ่งในกระบวนการคิด การที่เกิดความหลงผิด (คิดผิด) รู้สึกว่ามีตัวผู้คิด ก็เพราะไม่รู้จักแยกองค์ประกอบต่างๆ ที่สัมพันธ์สืบต่อกันอยู่ในกระบวนธรรม และไม่สามารถกำหนดแยกความเป็นไปในแต่ละขณะๆ ในขณะกำลังคิด ย่อมไม่มีความรู้สึกถึงตัวผู้คิด และในขณะกำลังรู้สึกถึงตัวผู้คิด ก็ไม่มีการคิด กล่าวคือ ในขณะกำลังคิดเรื่องที่พิจารณา ย่อมไม่มีการคิดถึงตัวผู้คิด และในขณะกำลังคิดถึงตัวผู้คิด ก็ย่อมไม่มีการคิดเรื่องที่กำลังพิจารณา แท้จริงแล้ว การคิดเรื่องก็ดี ความรู้สึกถึงตัวผู้คิดหรือความคิดว่ามีตัวผู้คิดก็ดี ต่างก็เป็นความคิดต่างขณะกัน ที่อยู่ในกระบวนธรรมเดียวกัน ส่วนตัวผู้คิด ก็เป็นเพียง(ภาพ)ความคิดปรุงแต่ง ที่กลับมาเป็นอารมณ์ (ส่วนประกอบอย่างหนึ่ง) ของความคิดอีกขณะหนึ่งเท่านั้นเอง ความเข้าใจเขวหรือหลงผิดที่กล่าวมานี้ เกิดจากการพิจารณาโดยไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) เข้าหลักทิฏฐิ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ในพุทธพจน์ที่ว่า “เมื่อปุถุชนนั้น มนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งในทิฏฐิ ๖ อย่าง ย่อมเกิดขึ้น คือ เขาย่อมเกิดทิฏฐิ (ยึดถือ) เอาเป็นจริงเป็นแท้ว่า เรามีอัตตา ๑, เราไม่มีอัตตา ๑.... เรากำหนดรู้อัตตาด้วยอัตตา ๑... เรากำหนดรู้สภาวะที่มิใช่อัตตาตัวยอัตตา ๑ เรากำหนดรู้อัตตาตัวยสภาวะที่มิใช่อัตตา ๑, หรือมิฉะนั้น ก็จะมีทิฏฐิดังนี้ว่า อัตตาของเรานี้แหละที่เป็นตัวบงการ เป็นผู้เสวย ประสบวิบากแห่งกรรมที่ดีและชั่ว ณ ที่นั้นๆ ๑”

ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ชื่อที่ตั้งให้แก่ภาพรวม เป็นตัวตนสมมติที่ซ้อนอยู่ลอยๆ ไม่มีความสัมพันธ์หรือมีผลกระทบกระเทือนต่อกระบวนธรรมเลย นอกจากโดยความยึดถือนั้น ขอขยายความเสริมเข้าอีกว่า ถึงแม้ตัวตนจะไม่มีอยู่จริงก็ตาม แต่ความยึดถือในตัวตนนั้นก็ก่อให้เกิดปัญหาได้ เพราะความยึดถือนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในกระบวนธรรม เมื่อเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่ง มันก็เป็นปัจจัยแก่องค์ประกอบอย่างอื่นและทำให้เกิดผลกระทบแก่กระบวนธรรมได้ เนื่องจากความยึดถือตัวตนนั้น เป็นปัจจัยฝ่ายอกุศล คือไม่เกื้อกูล เพราะเกิดจากอวิชชาความไม่รู้ตามเป็นจริง และเกิดขึ้นโดยอาการแทรกแซงเข้ามาขวางขึ้นกระแส คือ ทั้งที่ไม่แก้ไขเหตุปัจจัย ก็จะไม่ยอมให้เป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงก่อให้เกิดผลทางร้าย ในด้านหนึ่ง ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในกระบวนธรรม จนออกผลเป็นความรู้สึกบีบคั้นที่เรียกว่าทุกขเวทนา ดังนั้น ผู้ไม่รู้เท่าทันตามเป็นจริง หลงยึดติดในสมมติ ถือมั่นตัวตนที่สมมติขึ้นเป็นจริงจัง ก็จะถูกความยึดติดถือมั่นนั้นแหละบีบคั้นกระทบกระแทกเอา ทำให้ได้รับความรู้สึกทุกข์เป็นอันมาก ส่วนผู้รู้เท่าทันสมมติ ไม่ยึดติดถือมั่นในตัวตนนั้น ก็มองเห็นแต่กระบวนธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เขาสมมติเรียกขานกระบวนธรรมนั้นกันอย่างไร ก็รู้เข้าใจเรียกขานไปตามนั้น แต่เมื่อต้องการอย่างไร ก็แก้ไขและทำการไปตามเหตุปัจจัย ไม่หลงให้ความอยากความยึดมาเป็นเครื่องบีบคั้นตัว ก็ไม่ต้องได้รับความทุกข์จากความยึดติดถือมั่นนั้น เรียกว่า รู้จักใช้สมมติให้เป็นประโยชน์ โดยทำการได้สำเร็จด้วยปัญญาที่หยั่งถึงความจริงแห่งเหตุปัจจัย และทั้งอีกด้านหนึ่งก็ไม่ต้องประสบโทษทุกข์ภัยจากความยึดติดในสมมตินั้นด้วย ความยึดถือในตัวตนจะก่อผลทางร้าย หนุนให้เกิดองค์ประกอบฝ่ายอกุศลที่เรียกว่ากิเลส ขึ้นในกระบวนธรรมตามติดมาอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะ ตัณหา คือความเห็นแก่ตัว ทะยานอยากแส่หาเครื่องบำรุงบำเรอปรนเปรอตน มานะ คือความถือตัว สำคัญตนเป็นนั่นเป็นนี่ ใฝ่แสวงอำนาจมาเชิดชูตน และ ทิฏฐิ คือ ความยึดติดในความเห็นของตน ถือรั้นเอาความเห็นของตนเป็นความจริง หรือถือมั่นให้ความจริงจะต้องเป็นอย่างที่ตนเห็น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยก่อให้เกิดความบีบคั้นขัดแย้งขยายเพิ่มพูนและกว้างขวางออกไปทั้งภายในและภายนอก ผู้ไม่รู้เท่าทันสมมติ หลงยึดติดถือมั่นตัวตนเป็นจริงจัง จะปล่อยให้กิเลสเหล่านี้เป็นตัวบงการบัญชาการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมของตน ทำให้ความทุกข์แพร่หลายและเพิ่มทวีทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง

ส่วนผู้รู้เท่าทันสมมติ ไม่หลงยึดติดถือมั่นในตัวตนนั้น ย่อมปลอดพ้นจากอำนาจบงการของกิเลสเหล่านี้ ไม่ยึดถือด้วยความหลงว่า นี่ของฉัน ฉันเป็นนี่ นี่เป็นตัวของฉัน ครองชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ที่รู้เท่าทันสมมติ และให้ทำการตามเหตุปัจจัย เป็นฐานที่ตั้งและที่แพร่ขยายแห่งความปลอดภัยไร้ทุกข์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ความหลงผิดอีกอย่างหนึ่งที่มักชักพาคนให้เข้าไปติด ก็คือ การแล่นจากสุดโต่งแห่งความคิดเห็นด้านหนึ่ง ไปยังสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง กล่าวคือ คนพวกหนึ่งยึดติดถือมั่นในตัวตนว่าเป็นของจริงแท้คงที่ถาวร สัตว์ บุคคล เป็นตัวตนอย่างนั้น ซึ่งมีจริง มิใช่สิ่งสมมติ สัตว์ บุคคล มีตัวจริงตัวแท้ที่ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป ไม่ว่าคนจะตาย ชีวิตจะสิ้นสุด ตัวสัตว์ ตัวบุคคล ตัวตน ดวงชีวะ อาตมัน หรืออัตตา (soul) นี้ ก็จะคงอยู่อย่างเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สูญสลายไปด้วย บ้างก็ว่าอัตตาตัวนี้ไปเวียนว่ายตายเกิด บ้างก็ว่าอัตตาตัวนี้รออยู่เพื่อไปสู่นรกหรือสวรรค์นิรันดรสุดแต่คำตัดสินของเทพสูงสุด ความเห็นของคนพวกนี้ เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ หรือ สัสสตวาท แปลว่า ความเห็นว่าเที่ยง คือเห็นว่า สัตว์บุคคลตัวตนหรืออัตตา เที่ยงแท้ยั่งยืนตลอดไป ส่วนคนอีกพวกหนึ่งก็เห็นว่ามีตัวตนเช่นนั้นอยู่ คือยึดถือสัตว์ บุคคล เป็นตัวแท้ตัวจริง แต่สัตว์ บุคคล นั้นไม่เที่ยงแท้ถาวร สูญสลายไปได้ เมื่อคนตาย ชีวิตจบสิ้น สัตว์บุคคล ก็ขาดสูญ ตัวตนก็หมดไป ความเห็นของคนพวกนี้ เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ หรือ อุจเฉทวาท แปลว่า ความเห็นว่าขาดสูญ คือเห็นว่า สัตว์บุคคล ตัวตนหรืออัตตา ไม่เที่ยงแท้ถาวร ดำรงอยู่ชั่วคราวแล้วก็สูญสิ้นไป แม้แต่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าเข้าใจไม่ชัดเจนถ่องแท้ ก็อาจตกไปในทิฏฐิ ๒ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาหลักกรรมในแง่สังสารวัฏ (เวียนตายเวียนเกิด) ถ้าเข้าใจพลาด ก็อาจกลายเป็นสัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าเที่ยง ผู้ที่ศึกษาหลักอนัตตา ถ้าเข้าใจพลาด ก็อาจกลายเป็นอุจเฉททิฏฐิ คือเห็นว่าขาดสูญ

จุดพลาดที่เหมือนกันของทิฏฐิสุดโต่งทั้งสองอย่าง ก็คือ ความเห็นว่า หรือยึดถือว่า มีสัตว์ บุคคล ที่เป็นตัวแท้ตัวจริง แต่พวกหนึ่งยึดถือว่าสัตว์ บุคคล ตัวตนนั้น คงตัวอยู่ยั่งยืนตลอดไป ส่วนอีกพวกหนึ่งเห็นไปว่าตัวตนที่มีอยู่นั้นมาถึงจุดหนึ่งตอนหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อกายแตกสลาย ชีวิตนี้สิ้นสุด สัตว์ บุคคลตัวตน หรืออัตตา ก็ถูกตัดขาดสูญสิ้นไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีอีกพวกหนึ่งที่เห็นเลยเถิดไปอีกทางหนึ่งว่า ความไม่มีตัวตนก็คือ ไม่มีอะไรเลย ความไม่มีสัตว์ ก็คือไม่มีผู้รับผล เมื่อไม่มีใครรับผล การกระทำใดๆ ก็ไม่มีผล ทำก็ไม่เป็นอันทำ ไม่มีความรับผิดชอบต่อกรรม หรือพูดง่ายๆ ว่ากรรมไม่มีนั่นเอง ความเห็นและความยึดถือแนวนี้ ถ้าแยกละเอียดออกไปก็มี ๓ทิฏฐิ คือ พวกหนึ่งเห็นว่า ทำก็ไม่เป็นอันทำ หรือว่าการกระทำไม่มีผล เรียกชื่อว่า อกิริยทิฏฐิ หรือ อกิริยวาท พวกหนึ่งเห็นว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างเลื่อนลอย สุดแต่ความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัย พูดง่ายๆ ว่าเห็นว่าไม่มีเหตุ เรียกชื่อว่า อเหตุกทิฏฐิ หรือ อเหตุวาท และพวกหนึ่งเห็นว่า หรือถือว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสภาวะที่จะกำหนดเอาเป็นหลักเป็นสาระได้ เรียกชื่อว่า นัตถิกทิฏฐิ หรือ นัตถิกวาท

ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นกระบวนธรรม เกิดจากส่วนประกอบต่างๆ ประมวลกันขึ้น และเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ย่อมไม่มีทั้งตัวตนที่จะเที่ยงแท้ยั่งยืน และทั้งตัวตนที่จะดับสิ้นขาดสูญ คือ แม้แต่ในขณะที่เป็นอยู่นี้ ก็ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนอยู่แล้ว จะเอาตัวตนที่ไหนมายั่งยืน จะเอาตัวตนที่ไหนมาขาดสูญ เป็นอันปฏิเสธทั้งสัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิ ในเมื่อกระบวนธรรมดำเนินไปอยู่ โดยองค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยแก่กัน เป็นไปตามเหตุปัจจัย จะว่าไม่มีอะไรได้อย่างไร และจะว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างเลื่อนลอยตามความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัยได้อย่างไร เป็นอันปฏิเสธทั้งนัตถิกทิฏฐิและอเหตุกทิฏฐิ ในเมื่อกระบวนธรรมดำเนินไปตามเหตุปัจจัย แปรเปลี่ยนไปตามเหตุและผลที่เกิดขึ้นในกระบวนธรรมนั้น การกระทำทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเหตุอยู่ในกระบวนธรรมนั้น จึงย่อมจะต้องมีผล ไม่มีทางสูญเปล่า และเป็นการมีผลโดยไม่ต้องมีผู้รับผล คือผลเกิดขึ้นในกระบวนธรรมเอง (เช่น สุขเวทนา ทุกขเวทนา และความแปรเปลี่ยนหรือเสริมคุณสมบัติของจิตใจหรือบุคลิกภาพ เป็นต้น จะเรียกอย่างกึ่งสมมติก็ว่ากระบวนธรรมนั้นแหละเป็นผู้รับผล) ซึ่งเป็นการเกิดผลที่แน่นอนยิ่งกว่าการมีตัวตนเป็นผู้รับผลเสียอีก (เพราะถ้ามีตัวตนที่เที่ยงแท้คงตัว ตัวตนนั้นอาจปฏิเสธไม่ยอมรับผลก็ได้) ในเมื่อความเป็นไปตามเหตุปัจจัยมีอยู่ เหตุและผลเกิดขึ้นในกระบวนธรรม กระบวนธรรมก็แปรเปลี่ยนไป จะว่าทำไม่เป็นอันทำหรือการกระทำไม่มีผลได้อย่างไร เป็นอันปฏิเสธอกิริยทิฏฐิ หรืออกิริยวาท

ข้อความต่อไปนี้ จากคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ อาจช่วยเสริมความที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้ จึงขอยกคำแปลมาแสดงไว้ ณ ที่นี้ “ว่าโดยความจริงแท้ (สัจจะ) ในโลกนี้มีแต่นามและรูป (นามธรรมและรูปธรรม) ก็แลในนามและรูปนั้น สัตว์หรือคน ก็หามีไม่ นามและรูปนี้ว่างเปล่า ถูก (ปัจจัย) ปรุงแต่งขึ้นเหมือนดังเครื่องยนต์ เป็นกองแห่งทุกข์ (สิ่งไม่คงตัว) เช่นกับหญ้าและฟื้น” (*๑๗๗)

“ทุกข์นั่นแหละมีอยู่ แต่ผู้ทุกข์หามีไม่, การกระทำมีอยู่ แต่ผู้ที่กระทำไม่มี, นิพพานมีอยู่ แต่คนผู้นิพพานไม่มี, ทางก็มีอยู่ แต่ผู้เดินทางไม่มี” (*๑๗๘)

“ผู้ทำกรรมก็ไม่มี ผู้เสวยผลก็ไม่มี มีแต่ธรรมทั้งหลายล้วนๆ เป็นไป (กระบวนธรรม), อย่างนี้นี่เป็นความเห็นที่ถูกต้อง เมื่อกรรมและวิบาก (ผลของกรรม) พร้อมทั้งเหตุ เป็นไปอยู่อย่างนี้ ตัน ปลาย ก็ไม่เป็นที่รู้ได้ เหมือนดังก่อนหรือหลังแห่งเมล็ดพืชกับต้นไม้ เป็นต้น แม้ในอนาคต เมื่อสังสาระยังมีอยู่ ก็ยังมองไม่เห็นการที่จะไม่เป็นไป (ของกรรมและวิบาก)”

“พวกเดียรถีย์ไม่รู้ความข้อนี้ จึงไม่เป็นอิสระ (อสยํวสี = ไม่มีอำนาจในตน หรือไม่เป็นตัวของตนเอง ต้องขึ้นต่อผู้อื่นด้วยการยึดถือผิด) ยึดเอาสัตตสัญญา (ความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์บุคคล) แล้ว มีความเห็นไปว่า เที่ยงแท้ยั่งยืน (เป็นสัสสตะ) บ้าง ว่าขาดสูญ (เป็นอุจเฉทะ) บ้าง พากันถือทิฏฐิ ๖๒ อย่าง ขัดแย้งกันและกัน, พวกเขาถูกมัดด้วยเครื่องพันธนาการคือทิฏฐิ ถูกกระแสตัณหาพัดพาไป, เมื่อล่องลอยไปตามกระแสตัณหาก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้ ส่วนภิกษุพุทธสาวก รู้กระจ่างความที่ว่ามาอย่างนี้ ย่อมเข้าใจปรุโปร่ง (แทงตลอด) ถึงปัจจัยที่ลึกซึ้งละเอียดและว่าง”

“กรรมไม่มีในวิบาก วิบากก็ไม่มีในกรรม ทั้งสองอย่างว่างจากกันและกัน, แต่ปราศจากกรรม ผลก็ไม่มี เหมือนดังว่า ไฟมิใช่อยู่ในแสงแดด มิใช่อยู่ในแว่นแก้ว (อย่างเลนส์นูน) มิใช่อยู่ในมูลโคแห้ง (ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง) แต่ก็มิใช่อยู่ภายนอกจากวัตถุทั้งสามนั้น หากเกิดจากการประกอบพร้อมเข้าด้วยกัน ฉันใด, วิบากก็หาไม่ได้ที่ภายในกรรม แต่ภายนอกกรรมก็หาไม่ได้ ส่วนกรรมเล่าก็ไม่มีในวิบากนั้น กรรมว่างจากผล ผลก็ไม่มีในกรรม แต่ผลก็อาศัยกรรมนั่นแหละ เกิดขึ้นจากกรรมนั้น ฉันนั้น แท้จริง ในกระบวนแห่งสังสาระนี้ เทพก็ตามพรหมก็ตาม ผู้สร้างสังสาระ หามีไม่ มีแต่ธรรมทั้งหลายล้วนๆ เป็นไป ด้วยอาศัยการประชุมพร้อมแห่งเหตุเป็นปัจจัย” (*๑๗๙)

“ธรรมชาตินี้ มีเหตุ เกิดขึ้นพรั่งพร้อมแล้วอย่างนี้ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง คลอนแคลนเป็นของชั่วคราว ไม่ยั่งยืน, ธรรมทั้งหลาย ก็เกิดจากธรรมทั้งหลาย โดยเป็นเหตุกัน, ในกระบวนความเป็นไปนี้ จึงไม่มีทั้งตัวตน (อัตตา) ไม่มีทั้งตัวอื่น”

“ธรรมทั้งหลายยังธรรมทั้งหลายให้เกิดขึ้น โดยความประกอบพร้อมแห่งเหตุปัจจัย, พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อความดับแห่งเหตุทั้งหลาย. เมื่อเหตุทั้งหลายระงับไป วงจร (วัฏฏะ) ขาด ก็ไม่หมุนต่อไป, ชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) ย่อมมีเพื่อการทำความจบสิ้นทุกข์อย่างนี้ เมื่อหาตัวสัตว์ไม่ได้ จึงไม่มีทั้งขาดสูญ ไม่มีทั้งเที่ยงแท้ยั่งยืน” (*๑๘๐)


กล่าวโดยสรุป หลักอนัตตาช่วยให้เกิดความกระจ่างแจ้ง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันและมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับหลักการต่อไปนี้ คือ

👉 ก. ปฏิเสธทั้งลัทธิที่ถือว่าเที่ยง (สัสสตวาท) และลัทธิที่ถือว่าขาดสูญ (อุจเฉทวาท)
👉 ข. ปฏิเสธลัทธิที่ถือว่ามีเทพสูงสุดผู้สร้างสรรค์บันดาลโลก กำหนดโชคชะตาชีวิตของมนุษย์ (อิศวรนิรมิตวาท)
👉 ค. เป็นเครื่องสนับสนุนหลักกรรมตามความหมายของพุทธธรรม พร้อมกันนั้นก็ปฏิเสธลัทธิที่ถือว่าการกระทำไม่มีผล ทำไม่เป็นอันทำ (อกิริยวาท) ปฏิเสธลัทธิกรรมเก่า (ปุพเพกตวาท เช่น ลัทธินิครนถ์) ปฏิเสธลัทธิกรรมแบบมีอาตมัน หรือลัทธิกรรมแบบมีวรรณะ (เช่น ลัทธิฮินดู) ปฏิเสธลัทธิเสี่ยงโชคที่ถือว่า ทุกอย่างเป็นไปอย่างเลื่อนลอยสุดแต่ความบังเอิญ ไม่มีเหตุปัจจัย (อเหตุวาท) และปฏิเสธลัทธิที่ถือว่าไม่มีอะไรเลย (นัตถิกวาท)
👉 ง. แสดงลักษณะแห่งบรมธรรม (ธรรมสูงสุด คือจุดหมายสุดท้าย) ของพระพุทธศาสนา ซึ่งต่างจากจุดหมายของลัทธิศาสนาจำพวกอาตมวาท (ลัทธิที่ถือว่ามีอาตมันหรืออัตตา เช่น ศาสนาฮินดู เป็นต้น)

ลักษณะทั้งสาม คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ที่ได้บรรยายมานี้ เป็นภาวะที่สัมพันธ์เนื่องอยู่ด้วยกัน เป็นอาการสามด้าน หรือสามอย่าง ของเรื่องเดียวกัน เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน ดังพุทธพจน์ที่ตรัสบ่อยๆ ว่า

“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา (ยทนิจจ์ ต์ ทุกข์, ย์ ทุกข์ ตทนตตา)”
และมักมีข้อความที่ตรัสต่อไปอีกด้วยว่า
“สิ่งใดเป็นอนัตตา, สิ่งนั้นพึงเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา, มิใช่เราเป็นนั่น, นั่นไม่เป็นตัวตนของเรา” (*๑๘๑) 
หรือที่ตรัสในรูปคำถามคำตอบในที่หลายแห่งว่า
“รูป ฯลฯ เที่ยง หรือไม่เที่ยง?”
เมื่อได้รับคำกราบทูลตอบว่าไม่เที่ยง ก็ตรัสต่อไปว่า
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข?”
เมื่อได้รับคำกราบทูลตอบว่า เป็นทุกข์ ก็ตรัสต่อไปว่า
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความปรวนแปรไปได้เป็นธรรมดา, ควรหรือที่จะมองเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา, เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา?" (*๑๘๒) 

ความเนื่องอยู่ด้วยกัน ความสัมพันธ์สืบต่อกัน ความเป็นต่างด้านของเรื่องเดียวกัน และความเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ของลักษณะทั้งสามนี้ อาจกล่าวให้สั้นที่สุดได้ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากองค์ประกอบต่างๆ ประมวลกันเข้า องค์ประกอบเหล่านั้นสัมพันธ์กันโดยอาการที่ต่างก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับสลาย เป็นปัจจัยส่งต่อสืบทอดกัน ผันแปรเรื่อยไป รวมเรียกว่าเป็นกระบวนธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ในสภาพนี้
    ๑. ภาวะที่องค์ประกอบทั้งหลายเกิดสลายๆ องค์ประกอบทุกอย่าง หรือกระบวนธรรมทั้งหมด ไม่คงที่อนิจจตา
    ๒. ภาวะที่องค์ประกอบทั้งหลายหรือกระบวนธรรมทั้งหมดถูกบีบคั้นด้วยการเกิดสลายๆ ต้องผันแปร
ไป ทนอยู่ในสภาพเดิมมิได้ ไม่คงตัว = ทุกขตา
    ๓. ภาวะที่เกิดจากองค์ประกอบทั้งหลายประมวลกันขึ้น ไม่มีตัวแกนถาวรที่จะบงการ ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นตัว = อนัตตตา

ถ้ามองดูลักษณะทั้งสามอย่างนี้พร้อมไปด้วยกัน ก็จะมองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สมมติเรียกเป็นตัวตนอันหนึ่งๆ นั้น เป็นที่รวมขององค์ประกอบต่างๆ มากมาย ที่มาแออัดยัดเยียดกันอยู่ และองค์ประกอบเหล่านั้น ทุกอย่าง ล้วนกำลังเกิดดับ แตกสลาย ไม่คงที่ และต่างก็จะแยกพรากกระจัดกระจายกันออกไป เต็มไปด้วยความบีบคั้นกดดันขัดแย้งกัน อันทำให้ผันแปรสภาพไป ไม่คงตัว ต้องอาศัยความสัมพันธ์ตามเหตุปัจจัย เป็นเครื่องควบคุมความเป็นไปให้คงรูปเป็นกระแส เป็นกระบวนธรรมอันหนึ่งอยู่ ไม่เป็นตัวใดๆ ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใคร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอันใดไม่เที่ยง อันนั้นย่อมเป็นทุกข์ อันใดเป็นทุกข์ อันนั้นย่อมเป็นอนัตตา ก็จริง แต่อันใดเป็นอนัตตา อันนั้นไม่จำเป็นต้องไม่เที่ยง ไม่จำเป็นต้องเป็นทุกข์เสมอไป กล่าวคือ สังขารหรือสังขตธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารหรือสังขตธรรมทั้งปวงนั้น ย่อมเป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา แต่ธรรมทั้งปวง คือทั้งสังขตธรรม และอสังขตธรรม หรือทั้งสังขาร และวิสังขาร แม้จะเป็นอนัตตา แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องไม่เที่ยงและเป็นทุกข์เสมอไป คือ ส่วนที่เที่ยงและไม่เป็นทุกข์ ก็มี หมายความว่า อสังขตธรรม หรือวิสังขาร (คือ นิพพาน) แม้จะเป็นอนัตตา แต่ก็พ้นจากความไม่เที่ยงและพ้นจากความเป็นทุกข์ โดยนัยนี้ คำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะทั้งสามเท่าที่แสดงมาในตอนนี้ ซึ่งมีความหมายเนื่องเป็นอันเดียวกัน เป็นต่างด้านของเรื่องเดียวกัน จึงมุ่งสำหรับสังขารหรือสังขตธรรม ตามความที่กล่าวนำหน้าไว้ ส่วนความเป็นอนัตตาของวิสังขารหรืออสังขตธรรม พึ่งเข้าใจตามนัยที่ได้อธิบายก่อนแล้วข้างต้น

๑๕๗ อภิก ๓๗/๑๘๘/๘๒, อภิ.ปุ ๓๖/๑๐๓/๑๗๙
๑๕๘ องฺ ฉกฺก๒/๓๑/๔๘๕
๑๕๙ ขุ-สุ ๒๕/๔๑๑/๔๙๑
๑๖๐ ขุ-สุ ๒๕/๔๑๒/๕๔๑
๑๖๑ วินย.๘/๘๒๖/๒๒๔
๑๖๒ สํ ข.๑๗/๙๔/๕๗
๑๖๓ สํ.ข.๑๗/๔๑๙/๒๕๐
๑๖๔ ขุ. ปฏิ.๓๑/๗๙/๕๓, ๑๐๐/๗๗; ๖๗๕/๕๘๔; อ้างใน วิสุทธิ.๓/๒๓๕
๑๖๕ วิสุทธิ.๓/๒๓๕-๖
๑๖๖ วิสุทธิ.๓/๒๖๐,๒๗๖
๑๖๗ วิสุทธิ.๓/๒๔๖-๗; วินยฎีกา ๔/๗๙
๑๖๘ วิภงด.อ.๖๓-๖๔, วินย.ฎีกา ๔/๘๐ อ้างพุทธพจน์ในอนัตตลักขณสูตร, สํ.ข.๑๗/๑๒๗/๘๒
๑๖๙ ม.มู.๑๒/๓๔๖/๓๕๘
๑๗๐ สํ.ส.๑๕/๕๕๓/๑๙๘
๑๗๑ สํ.ส.๑๕/๕๕๑/๑๙๗
๑๗๒ ดู วิสุทธิ.๓/๒๑๔-๕
๑๗๓ วิสุทธิ.๓/๒๔๗, ม.อ.๒/๑๕๑; วิภงฺค.อ.๖๓; และดูประกอบที่ วินยฎีกา ๔/๗๙-๘๐, วิสุทธิฎีกา ๓/๔๘๐
๑๗๔ “Cogito, ergo sum” (วาทะของ René Descartes, 1596-1650)
๑๗๕ สํ.นิ ๑๖/๓๓-๓๖/๑๖-๑๗ (ดู หนังสือนี้ หน้า ๑๙๖)
๑๗๖ ม มี ๑๒/๑๒/๑๔
๑๗๗ วิสุทธิ.๓/๒๑๖
๑๗๘ วิสุทธิ.๓/๑๐๑
๑๗๙ วิสุทธิ.๓/๒๒๖-๗
๑๘๐ วิสุทธิ ฎีกา ๓/๓๘๓
๑๘๑ เช่น สํ.สฬ.๑๘/๑/๑
๑๘๒ เช่น สํ.ข.๑๗/๑๒๘/๘๓
๑๘๓ พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทย ฉบับสยามรัฐ เป็น อตุตา และ นิรตต์ บ้าง เป็น อตต์ และ นิรตุติ บ้าง ดู ขุ.สุ.๒๕/๔๑๐/๔๘๘ ; ๔๑๗, ๔๒๑/๕๑๔, และดูประกอบ ๒๕/๔๑๑/๔๘๙, ๔๑๒/๔๙๑, ๔๓๕/๕๔๕) แต่ฉบับอื่นๆ เท่าที่พบเป็น อตุตา และ นิรตุตา ทั้งนั้น
๑๘๔ ดู ขุ.ม.๒๙/๑๐๗/๙๗; ๔๒๗/๒๔๗; ๗๒๑/๔๒๖ และดูประกอบ ขุ.ม.๒๙/๑๒๒/๑๐๗; ๑๖๔/๑๒๙; ขุ.จู.๓๐/๔๐๒/๑๙๓

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
            ๓. อนัตตตา และอนัตตลักษณะ
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา