วันจันทร์

๑. ภาวนาปฐวีกสิณ

 ภาวนาปฐวีกสิณ

ก็แหละ ภิกษุผู้โยคีบุคคลเมื่อตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนี้แล้ว เวลาภายหลังอาหาร กลับจากการบิณฑบาต บรรเทาความมึนเมาอันมีอาหารเป็นเหตุแล้วจึงไปนั่งคู่บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ณ โอกาสอันสงัด แต่นั้นพึงกำหนดเอานิมิตกสิณในดินที่ทำขึ้น หรือที่เป็นเองตามปกติต่อไป ข้อนี้สมดังที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า:-

🔅 คำของท่านโบราณาจารย์
โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอาปฐวีกสิณโดยอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวงกลมแห่งดินที่สร้างขึ้นหรือที่เป็นเองตามปกติ ชนิดที่มีกำหนดไม่ใช่ไม่มีกำหนด ชนิดที่มีที่สุดไม่ใช่ไม่มีที่สุด ชนิดที่มีสัณฐานกลมไม่ใช่ที่ไม่กลม ชนิดที่มีขอบเขตไม่ใช่ไม่มีขอบเขต โตเท่ากระดังหรือเท่าปากขันโอ โยคีบุคคลนั้นย่อมภาวนาทำนิมิตนั้นให้เป็นอันถือเอาดีแล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นอันทรงไว้ดีแล้วและย่อมกำหนดนิมิตนั้นให้เป็นอันกำหนดดีแล้ว ครั้นเธอภาวนาทำนิมิตนั้นให้เป็นอันถือเอาดีแล้วทำการทรงไว้ให้เป็นอันทรงไว้ดีแล้ว ทำการกำหนดให้เป็นอันกำหนดดีแล้ว ก็จะเห็นอานิสงส์มีความสำคัญเห็นเป็นรัตนะ นอบน้อมเคารพคารวะ กระหยิ่มอิ่มใจ น้อมจิต เข้าไปผูกติดไว้ในอารมณ์ที่ตนถือเอาดีแล้วทรงไว้ดีแล้ว กำหนดไว้ดีแล้วนั้น ด้วยความมั่นใจว่าเราจักรอดพ้นจากชราทุกข์มรณทุกข์ด้วยปฏิปทาอันนี้อย่างแน่นอน

เธอบรรลุแล้วซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัด เพราะสงัดแน่นอนแล้วจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแน่นอนแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ฉะนี้แลเจริญปฐวีกสิณที่เป็นเองในคำของท่านโบราณาจารย์นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ อันโยคีบุคคลใดเคยบวชในศาสนาหรือเคยบวชเป็นฤาษีแล้ว ทำฌาน ๔ และฌาน ๕ ในปฐวีกสิณให้บังเกิดมาแล้ว แม้ในภพปางอดีตโยคีบุคคลผู้มีบุญถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยเห็นปานนี้นั้น อุคคหนิมิต ย่อมเกิดขึ้นได้ในดินที่เป็นอยู่เองตามปกติ คือ ในที่ดินที่เขาไถไว้ หรือในลานข้าว เหมือนพระมัลลกเถระเป็นตัวอย่าง

ได้ยินว่า ท่านพระมัลลกเถระนั้น ขณะที่ท่านเพ่งดูที่ดินที่เขาไถไว้ อุคคหนิมิตประมาณเท่าที่ซึ่งเขาไถไว้นั้นนั่นเทียวได้เกิดขึ้นแล้ว ท่านเจริญอุคคหนิมิตจนได้บรรลุฌาน ๔ แล้วเริ่มเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอันมีฌานนั้นเป็นปทัฏฐาน จนได้บรรลุพระอรหัตแล

🔅 วิธีทำปฐวีกสิณที่ต้องสร้างขึ้น
ส่วนโยคีบุคคลใดผู้ไม่ได้ทำบุญญาธิการไว้เหมือนอย่างที่กล่าวนั้น เธอต้องสร้างปฐวีกสิณขึ้นเอง อย่างที่ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากกรรมวิธีที่เรียนมาในสำนักของพระอาจารย์ และให้เลี่ยงเสียจากโทษของกสิณ ๔ ประการ จริงอยู่ โทษของปฐวีกสิณมีอยู่ ๔ ประการ ด้วยอำนาจทำปะปนกับสีเขียว ๑ สีเหลือง ๑ สีแดง ๑ สีขาว ๑ เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลอย่าได้เอาดินมีสีเขียวเป็นต้นมาทำกสิณ จงทำด้วยดินที่มีสีเหมือนแสงอรุณ เช่น ดินที่แม่น้ำคงคา ก็แหละ กสิณนั้นอย่าทำไว้ ณ ตรงกลางวัด หรือ ณ ที่ที่ภิกษุสามเณรสัญจรไปมา พึงทำไว้ตรงที่เป็นเพิง หรือบรรณศาลาซึ่งเป็นที่ลับอยู่ท้ายวัด จะเป็นกสิณชนิดที่โยกย้ายได้ หรือชนิดที่ติดอยู่กับที่ก็ได้

🔅 วิธีทำปฐวีกสิณที่โยกย้ายได้
วิธีทำกสิณ ๒ อย่างนั้น กสิณชนิดที่โยกย้ายได้ จึงเอาผืนผ้าเก่า หรือผืนหนังหรือผืนเสื่อลำแพน มาผูกจึงติดไม้ ๔ อัน แล้วเอาดินที่มีสีเหมือนแสงอรุณที่เก็บรากหญ้าและกรวดทรายออกหมดแล้ว ขยำได้ที่แล้ว มาทาเข้าที่ผืนผ้าหรือผืนหนังหรือเสื่อลำแพนนั้นทำให้เป็นสัณฐานกลมประมาณเท่ากระดังหรือปากขันโอ ดังที่กล่าวแล้ว ในเวลาที่จะทำบริกรรมภาวนา พึงเอาแผ่นกสิณนั้นไปปูลงที่พื้นแล้วเพ่งดูตามภาวนาวิธีต่อไป

🔅 วิธีทำปฐวีกสิณที่อยู่กับที่
กสิณชนิดที่ติดอยู่กับที่นั้น พึงเอาหลักหลาย ๆ พึงเอาหลักหลาย ๆ อันมาตอกกับพื้นดินโดยอาการคล้าย ๆ กับฝักบัว แล้วเอาเครือวัลย์มาถักร้อยตรึงเข้าไว้ ถ้าดินสีเหมือนแสงอรุณนั้นมีน้อยไม่เพียงพอ ให้เอาดินอื่นมาใส่ลงไว้ตอนล่างเสียก่อน แล้วจึงเอาดินมีสีเหมือนแสงอรุณซึ่งทำให้สะอาดแล้วมาใส่ทับข้างบน ทำให้มีสัณฐานกลมขนาดกว้าง ๑ คืบ ๔ นิ้ว แหละ ที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวว่า ประมาณเท่ากระดังหรือประมาณเท่ากับปากขันโอนั้น ท่านหมายเอาประมาณคือ ๑ คืบ ๔ นิ้วนี้แล ส่วนคำมีอาทิว่าชนิดที่มีกำหนดไม่ใช่ไม่มีกำหนด นั้น ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงว่า ปฐวีกสิณนั้นเป็นสิ่งที่มีกำหนดขอบเขต

🔅 วิธีนั่งเพ่งปฐวีกสิณ
เพราะเหตุที่ท่านแนะให้ทำกสิณอย่างมีกำหนดนั้น ครั้นกะกำหนดประมาณเท่าที่กล่าวคือ ๑ คืบ ๔ นิ้วอย่างนั้นแล้ว จึงทำสีที่ไม่กลืนกับสีดินอรุณให้ปรากฏขึ้นเป็นขอบเขตไว้ด้วยเกรียงไม้ แต่นั้นจงอย่าใช้เกรียงไม้นั้น จึงใช้เกรียงหินขัดทำให้เรียบเสมอเหมือนหน้ากลอง ครั้นแล้วจงปัดกวาดสถานที่นั้นให้สะอาด ให้สรงน้ำชำระกายแล้วจึงกลับมา นั่งบนตั๋งที่ตรึงอย่างมั่นคง มีเท้าสูง ๑ คืบ ๔ นิ้ว ซึ่งเตรียมตั้งไว้ ณ สถานที่ภายในระยะห่าง ๒ ศอก ๑ คืบแต่ดวงกสิณ จริงอยู่ เมื่อนั่งไกลกว่านั้นกสิณก็จะไม่ปรากฏชัด เมื่อนั่งใกล้กว่านั้นโทษแห่งกสิณทั้งหลายเช่นรอยฝ่ามือเป็นต้นก็จะปรากฏให้เห็น เมื่อนั่งสูงกว่านั้นย่อมจะต้องน้อมคอลงคือก้มหน้าลงตู เมื่อนั่งต่ำกว่านั้นก็จะปวดเข่า เพราะฉะนั้น จึงนั่งโดยทำนองที่กล่าวแล้วนั่นแล แล้วจงพิจารณาถึงโทษในกามทั้งหลาย โดยนัยมีอาทิว่า กามทั้งหลายมีความยินดีนิดหน่อย แต่มีทุกข์มาก พึงเป็นผู้มีความพอใจในเนกขัมมะมีฌานเป็นต้น อันเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอันเป็นอุบายล่วงพ้นซึ่งทุกข์ทั้งปวง พึงทำปีติและปราโมชให้บังเกิดขึ้น ด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณพระธรรมคุณและพระสังฆคุณ พึงเป็นผู้มีความเคารพอย่างแม่นมั่นอยู่ในข้อปฏิบัติว่า เนกขัมมปฏิปทานี้นั้น เป็นข้อปฏิบัติอันพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลายทุก ๆ พระองค์ได้ปฏิบัติมาแล้ว และพึงทำความอุตสาหะให้เกิดว่า เราจักเป็นผู้มีส่วนได้ดื่มรสความสุขอันเกิดแต่ความสงัดด้วยข้อปฏิบัติอันนี้อย่างแน่นอน แล้วจึงภาวนา ลืมตาแต่พอดี จับเอานิมิตในปฐวีกสิณนั้น โดยอาการอันสม่ำเสมอเรื่อย ๆ ไป

จริงอยู่ เมื่อลืมตากว้างมากไปก็จะเมื่อยตา และดวงกสิณก็จะปรากฏชัดเกินไปด้วยเหตุนั้นอุคคหนิมิตก็จะไม่เกิดขึ้นได้ เมื่อลืมตาแคบไป ดวงกสิณก็จะไม่ปรากฏชัดและจิตก็จะห่อเหี่ยว แม้ด้วยเหตุนี้อุคคหนิมิตก็จะไม่เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลจึงภาวนาลืมตาแต่พอดี จับเอานิมิตในปฐวีกสิณนั้น โดยอาการอันสม่ำเสมอ เหมือนดูเงาหน้าในบานกระจกฉะนั้น และอย่าพิจารณาถึงสีของดิน อย่าเอาใจใส่ถึงลักษณะ
ของดินเช่นความแข็งของดินเป็นต้น แต่ก็มิใช่จะปฏิเสธสีเสียทีเดียว พึงตั้งจิตไว้ในคำบัญญัติว่าดิน ด้วยอำนาจธาตุดินเป็นสิ่งที่มากกว่าธาตุอื่น แล้วพิจารณาดินพร้อมกับสีที่อาศัยพร้อม ๆ กันไป 
แหละในบรรดาชื่อของดินทั้งหลายในคำบาลี เช่น ปฐวี มหี เมทนี ภูมิ วสุธา และวสุนธรา เป็นต้น โยคีบุคคลปรารถนาชื่อใด และชื่อใดสำเร็จเป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่ความจำของเธอ เธอก็พึงระบุเอาชื่อนั้น หรือพระอาจารย์จึงบอกชื่อนั้นให้แก่เธอ อีกประการหนึ่ง ที่ชื่อว่า ปฐวี นี่นั่นเทียว ปรากฏเป็นที่รู้จักกันมากกว่าชื่ออื่น ฉะนั้น โยคีบุคคลพึงภาวนาด้วยคำบาลี ปฐวี ปฐวี หรือด้วยคำไทยว่า ดิน-ดิน ดังนี้ ด้วยอำนาจเป็นชื่อที่ปรากฏนั่นเทียว และบางครั้งจึงลืมตาดูนิมิต บางครั้งจึงหลับตาเสียแล้วนึกทางใจ อุคคหนิมิตยังไม่เกิดขึ้นตราบใด ตราบนั้นก็จงภาวนาเรื่อย ๆ ไป โดยนัยนี้แหละ จนถึงร้อยครั้งพันครั้ง หรือ แม้จะมากครั้งกว่านั้นขึ้นไปก็ตาม

🔅 ได้อุคคหนิมิต
เมื่อโยคีบุคคลภาวนาอยู่อย่างนั้น กาลใดหลับตานึกทางใจนิมิตในปฐวีกสิณนั้นมาสู่คลองจักษุ คือเข้าถึงความเป็นอารมณ์ของมโนทวาริกชวนจิตกาลนั้น ย่อมได้ชื่อว่า อุคคหนิมิต เกิดแล้ว นับแต่เวลาอุคคหนิมิตเกิดแล้วไปโยคีบุคคลไม่ต้องนั่งภาวนาอยู่ ณ ที่ดวงกสิณนั้นอีก จึงกลับเข้าสู่ที่อยู่ของตนแล้วนั่งภาวนาอยู่ ณ ที่นั้นเถิด

อนึ่ง เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ชักช้าเสียเวลาในเพราะอันที่จะต้องล้างเท้า โยคีบุคคลจำต้องมีรองเท้าชนิดชั้นเดียวกับไม้เท้าด้วย เพื่อว่าถ้าสมาธิที่ยังอ่อนจะเสื่อมหายไปด้วยเหตุอันไม่เป็นที่สบายบางอย่างแล้ว โยคีบุคคลจะได้สวมรองเท้าถือไม้เท้าไปยังที่เดิมนั้น นั่งเพ่งกสิณจนได้อุคคหนิมิตอีก จึงกลับมาอยู่ที่ของตนนั่งคู่บัลลังก์ตั้งกายให้ตรงภาวนาเรื่อยๆไป

🔅 ได้ปฏิภาคนิมิต
อันโยคีบุคคลนั้นจึงพยายามนึกถึงอุคคหนิมิตนั้นให้บ่อย ๆ ทำกัมมัฏฐานให้เป็นอันความนึกตะล่อมมาไว้ในจิตแล้ว อันความนึกชอบตะล่อมมาไว้ในจิตแล้ว เมื่อโยคีบุคคลทำกัมมัฏฐานให้เป็นอันความนึกตะล่อมมาไว้ในจิตแล้ว อันความนึกชอบหมายความว่า การเห็นนิมิตนั้นไม่ได้อาศัยจักขุทวารเหมือนแต่แรก ๆ นิมิตนั้นเกิดขึ้นทางมโนทวารโดยตรง เมื่อจิตทำหน้าที่ไปถึงขณะชวนจิตแล้ว จิตก็เห็นนิมิตนั้นด้วยจิต นิมิตที่เห็นด้วยจิตนี้แลเรียกว่าอุคคหนิมิต ตะล่อมมาไว้ในจิตแล้วอย่างนี้ นิวรณ์ทั้งหลายมีกามฉันทะเป็นต้นก็จะสงบลง และกิเลสทั้งหลายอันตั้งอยู่ในฐานะเดียวกันกับนิวรณ์นั้น ก็จะระงับหายไปโดยลำดับแห่งภาวนา จิตย่อมตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ ปฏิภาคนิมิต ย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการฉะนี้

🔅 ความแปลกกันแห่งนิมิตทั้ง ๒
ในนิมิตทั้ง ๒ นั้น ความแปลกกันแห่งอุคคหนิมิตอันก่อนกับปฏิภาคนิมิตมีดังนี้ คือ ในขั้นอุคคหนิมิตยังมีโทษแห่งกสิณปรากฏให้เห็นอยู่ได้ ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ผุดผ่องกว่าอุคคหนิมิตนั้นตั้งร้อยเท่าพันเท่า เป็นดุจชำแรกอุคคหนิมิตออกมาคล้ายกับดวงแว่นที่ถอดออกจากถุง คล้ายถาดสังข์ที่ขัดดีแล้ว คล้ายดวงจันทร์ที่ออกจากกลีบเมฆ และคล้ายหมู่นกยางอยู่ที่หน้าเมฆ ก็แหละ ปฏิภาคนิมิตนั้นไม่มีสีไม่มีสัณฐาน เพราะไม่ใช่สภาวปรมัตถ์ จริงอยู่ถ้าปฏิภาคนิมิตนั้นจะพึงเป็นสิ่งที่มีสีและสัณฐานเช่นนี้แล้ว ก็จะพึงเป็นรูปหยาบที่รู้ได้ด้วยตาเนื้อ เข้าถึงสัมมสนญาณได้ ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ได้ แต่นี้หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ มันเป็นสักว่าอาการที่ปรากฏแก่ผู้ได้สมาธิซึ่งเกิดจากสัญญาภาวนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

🔅 ได้อุปจารสมาธิ
ก็แหละ นับจำเดิมแต่เวลาปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว นิวรณ์ทั้งหลายมีกามฉันทะ เป็นต้น ย่อมสงบไปเองนั่นเทียว กิเลสทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในฐานะเดียวกันกับนิวรณ์นั้นก็ระงับไปเองด้วย จิตก็เป็นอันตั้งมั่นแล้วด้วย อุปจารสมาธิ นั่นแล

สมาธิ ๒ อย่าง
แหละสมาธินั้นมี ๒ อย่าง คือ อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑ จิตในอุปจารภูมิ หรือในปฏิลาภภูมิ (ภูมิที่ได้อัปปนาฌาน) ย่อมตั้งมั่นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ใน ๒ ภูมินั้น จิตในอุปจารภูมิย่อมตั้งมั่น เพราะการประหานเสียได้ซึ่งนิวรณ์ จิตในปฏิลาภภูมิ ย่อมตั้งมั่นเพราะความบังเกิดขึ้นแห่งองค์ฌาน

เหตุที่ต่างกันแห่งสมาธิ ๒ อย่าง
ก็แหละ สมาธิ ๒ อย่างมีเหตุต่างกันดังนี้ องค์ฌานทั้งหลายในอุปจารสมาธิยังไม่มีกำลัง เพราะองค์ฌานทั้งหลายยังไม่เกิดกำลัง คือยังไม่บรรลุซึ่งกำลังแห่งภาวนา เปรียบเหมือนเด็กเล็ก ๆ ที่พยุงให้ลุกขึ้นยืนแล้วก็ล้มลงไปที่พื้นบ่อย ๆ ฉันใด เมื่ออุปจารสมาธิเกิดขึ้นนั้น บางทีจิตก็ทำนิมิตให้เป็นอารมณ์ บางทีก็ตกลงสู่ภวังค์ฉันนั้น ส่วนในอัปปนาสมาธิ องค์ฌานทั้งหลายมีกำลัง เพราะองค์ฌานเหล่านั้นเกิดมีกำลังแล้ว เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง ลุกจากที่นั่งแล้วพึ่งยืนอยู่ได้แม้ตลอดทั้งวันฉันใด แม้เมื่ออัปปนาสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ฌานจิตตัดวาระแห่งภวังค์ครั้งเดียว แล้วก็ดำรงอยู่ตลอดคืนตลอดวันแม้ทั้งสิ้น ย่อมเป็นไปอยู่ด้วยอำนาจลำดับแห่งกุศลชวนจิตอย่างเดียวเท่านั้น

🔅 รักษาปฏิภาคนิมิตเหมือนพระครรภ์จักรพรรดิ
ในนิมิต ๒ อย่างนั้น ปฏิภาคนิมิตซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับอุปจารสมาธินั้น ใดการที่จะทำให้ปฏิภาคนั้นเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าโยคีบุคคลสามารถที่จะเจริญปฏิภาคนิมิตนั้นไป จนบรรลุซึ่งอัปปนาสมาธิเสียได้ด้วยบัลลังก์นั้นทีเดียว ข้อนั้นนับเป็นโชคดี แต่ถ้าไม่สามารถจะปฏิบัติได้เช่นนั้น แต่นั้น โยคีบุคคลนั้นอย่าได้ประมาท พึงรักษาปฏิภาคนิมิตนั้นไว้เหมือนกับพระครรภ์ที่ทรงไว้ซึ่งทารกผู้จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฉะนั้น เพราะเมื่อรักษาปฏิภาคนิมิตไว้ได้เช่นนี้ อุปจารฌานที่ได้แล้วก็จะไม่มีการเสื่อมหายไป แต่เมื่อไม่มีการรักษาแม้อุปจารฌานที่ได้แล้วนั้นก็จะเสื่อมหายไปเสีย

ขณะที่จิตทำนิมิตให้เป็นอารมณ์อยู่ คือ แนบเฉยอยู่กับอารมณ์อันเดียว ไม่ตกภวังค์นั้น ชื่อว่า จิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตปล่อยอารมณ์นั้นเสีย ตกกระแสภวังค์ ชื่อว่าจิตเสียสมาธิ, อุปจารสมาธินั้นเป็นสมาธิที่ยังไม่มั่นคง เดี๋ยวขึ้นสู่วิถีเดี๋ยวตกภวังค์ ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ ซึ่งมีอาการเหมือนเด็กเล็ก ๆ ล้ม ๆ ลุก ๆ ฉะนั้น

🔅 วิธีรักษาปฏิภาคนิมิต
ต้องเว้นอสัปปายะ ๗ และเสพสัปปายะ ๗ ในปฏิภาคนิมิตนั้น มีวิธีรักษาดังต่อไปนี้
อาวาโส โคจโร ภสสํ ปุคคโล โภชนํ อุตุ อิริยาปโถติ
สตุเตเต อสปฺปาเย วิวชุชเย 
สปฺปาเย สตุต เสเวถ เอวญฺหิ
ปฏิปซฺซโต นจิเรเนว กาเลน โหติ กสฺสจิ อปฺปนา

โยคีบุคคลใดได้ปฏิภาคนิมิตแล้วนั้น พึงเว้นซึ่งธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ๗ อย่างเหล่านี้ คือ
๑. อาวาโส ได้แก่ที่อยู่อันไม่เป็นที่สบาย  
๒. โคจโร ได้แก่หมู่บ้านบิณฑบาตไม่เป็นที่สบาย
๓. ภสสํ ได้แก่คำพูดอันไม่เป็นที่สบาย
๔. ปุคคโล ได้แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่สบาย
๕. โภชนํ ได้แก่อาหารอันไม่เป็นที่สบาย
๖. อุตุ ได้แก่อากาศอันไม่เป็นที่สบาย และ
๗. อิริยาปโถ ได้แก่อิริยาบถอันไม่เป็นที่สบาย

และจึงต้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ๗ อย่างตรงข้าม เพราะเมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ ไม่ช้าไม่นานเท่าไรนักเลย โยคีบุคคลบางท่านก็ได้สำเร็จอัปปนาฌานต่อไป

อธิบายอสัปปายะ ๗ และสัปปายะ ๗

๑. อาวาส-ที่อยู่ 
ในที่อยู่ ๒ อย่างนั้น เมื่อโยคีบุคคลอยู่ในที่อยู่อันใด นิมิตที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมหายไป และสติที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น จิตที่ไม่เป็นสมาธิก็ไม่เป็นสมาธิ ที่อยู่เช่นนี้ชื่อว่า ที่อยู่ไม่เป็นที่สบาย เมื่อโยคีบุคคลอยู่ ณ ที่ใด นิมิตย่อมเกิดขึ้นด้วย ย่อมถาวรมั่นคงอยู่ด้วยสติ ย่อมตั้งมั่นในนิมิตนั้น จิตก็เป็นสมาธิ เหมือนพระปธานิยติสสเถระผู้อยู่ ณ วัดนาคบรรพตเป็นตัวอย่าง ที่อยู่เช่นนี้ ชื่อว่า ที่อยู่เป็นที่สบาย เพราะฉะนั้น ในวัดใดมีที่อยู่หลายแห่งด้วยกัน ในวัดเช่นนั้น โยคีบุคคลพึงอยู่ทดลองดูแห่งละ ๓ วัน ๆ ณ แห่งใดทำให้จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ ก็พึงอยู่ ณ ที่แห่งนั้นเถิด จริงอยู่ เพราะเหตุที่ได้ที่อยู่เป็นที่สบาย ภิกษุ ๕๐๐ รูปซึ่งอยู่ ณ ถ้ำจูฬนาคะในประเทศลังกา เรียนเอากัมมัฏฐานแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัต ณ ถ้ำนั้นแล แหละ ณ ที่อื่น ๆ พระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระโสดาบันเป็นต้น ได้บรรลุถึงขั้นอริยภูมิแล้วได้บรรลุพระอรหัต ณ ที่นั้น ๆ คุณนานับไม่ถ้วน แม้ที่วัดอื่น ๆ เช่น วัดจิตตลบรรพตเป็นต้น ก็เช่นเดียวกันนี้

๒. โคจรคาม-หมู่บ้านบิณฑบาต
ก็แหละ โคจรคามคือหมู่บ้านสำหรับไปบิณฑบาตแห่งใด มีอยู่ด้านทิศเหนือหรือด้านทิศใต้ ๑ มีอยู่ในที่ไม่ห่างไกลมากนัก คือภายในระยะทางหนึ่งโกสะครึ่ง ประมาณพันชั่วคันธนู หรือ ๒ กิโลเมตร ๑ (๔ ศอกเป็น ๑ ธนู, ๕๐๐ ธนู เป็น ๑ โกสะ, ๔ โกสะ เป็น ๑ คาวุต, ๔ คาวุต เป็น ๑ โยชน์ เท่ากับ ๔๐๐ เส้น, ๑ โกสะ เท่ากับ ๒๕ เส้น) มีภิกษาหารบริบูรณ์หาได้สะดวก ๑ หมู่บ้านเช่นนั้น ชื่อว่า หมู่บ้านบิณฑบาตเป็นที่สบาย อย่างตรงกันข้าม ชื่อว่าหมู่บ้านบิณฑบาตไม่เป็นที่สบาย 

๓. ภัสสะ-คำพูด
ถ้อยคำที่นับเนื่องในติรัจฉานกถา ๓๒ ประการ มีการพูดถึงเรื่องพระราชา เป็นต้น ชื่อว่าเป็นถ้อยคำไม่เป็นที่สบาย เพราะถ้อยคำเช่นนั้น ย่อมเป็นไปเพื่ออันตรธานเสียแห่งนิมิตของโยคีบุคคลนั้น ถ้อยคำที่อาศัยกถาวัตถุ ๑๐ ประการ” มีพูดถึงเรื่องความมักน้อยเป็นต้น" ชื่อว่า เป็นถ้อยคำเป็นที่สบาย แม้ถึงถ้อยคำเป็นที่สบายเช่นนั้น ก็พึงพูดแต่พอประมาณ

๔. ปุคคโล-บุคคล
บุคคลผู้ไม่ชอบพูดเรื่องติรัจฉานกถา เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติมีศีลเป็นต้นที่โยคีบุคคลอาศัยแล้ว จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นย่อมตั้งมั่น หรือจิตที่ตั้งมั่นแล้วย่อมมั่นคงยิ่งขึ้น บุคคลเห็นปานนี้ ชื่อว่า เป็นบุคคลเป็นที่สบาย ส่วนบุคคลที่ชอบประคบประหงมบำรุงตกแต่งร่างกาย ชอบพูดแต่เรื่องติรัจฉานกถา ชื่อว่า บุคคลไม่เป็นที่สบาย เพราะบุคคลเช่นนั้นย่อมทำปฏิภาคนิมิตนั้นให้เศร้าหมองได้ทีเดียว เปรียบเหมือนน้ำขี้ตมทำน้ำที่ใส่ให้ขุ่นได้ฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงปฏิภาคนิมิตดอก แม้แต่สมาบัติของพระหนุ่มผู้อยู่ ณ เขาโกฏบรรพตรูปหนึ่ง ก็ยังเสื่อมหายไป เพราะเหตุอาศัยบุคคลไม่เป็นที่สบายเช่นนั้น

๕.๖, โภชนะ-อาหาร และอุตุ-อากาศ
ก็แหละ อาหารที่มีรสหวาน ย่อมเป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน ที่มีรสเปรี้ยวย่อมเป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน แม้อากาศเย็นก็เป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน อากาศร้อนเป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน เพราะฉะนั้น เมื่อโยคีบุคคล ร้องเสพอาหารหรืออากาศชนิดใดจึงมีความผาสุกสบาย หรือจิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ย่อมตั้งมั่นหรือจิตที่ตั้งมั่นแล้วย่อมมั่นคงยิ่งขึ้น อาหารชนิดนั้นและอากาศชนิดนั้น ชื่อว่าเป็นที่สบาย อาหารและอากาศชนิดอื่น นอกจากนี้ ชื่อว่าไม่เป็นที่สบาย

๗. อิริยาปโด-อิริยาบถ
แม้ในอิริยาบถ ๔ บางคนมีอิริยาบถเดินเป็นที่สบาย บางคนก็มีอิริยาบถนอน อิริยาบถยืนหรืออิริยาบถนั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นที่สบาย เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลพึงทดลอง อิริยาบถนั้นดูอย่างละ ๓ วัน เหมือนกับทดลองที่อยู่ ในอิริยาบถใดจิตที่ยังไม่ตั้งมั่นย่อมตั้งมั่น หรือจิตที่ตั้งมั่นแล้วย่อมมั่นคงยิ่งขึ้น พึงทราบว่าอิริยาบถนั้น ชื่อว่าเป็นอิริยาบถเป็นที่สบาย อิริยาบถอื่น ๆ นอกนี้ ไม่ใช่เป็นอิริยาบถที่สบาย

ด้วยประการฉะนี้ โยคีบุคคลพึงเว้นธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ๗ อย่างนี้ จึงเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ๗ อย่างนี้นั้นเถิด เพราะเมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ และเสพปฏิภาคนิมิตมาก ๆ ขึ้น ไม่ช้าไม่นานเท่าไรเลย โยคีบุคคลบางคนก็จะได้สำเร็จอัปปนาฌานแน่นอน ถ้ายังไม่สำเร็จอัปปนาฌานต้องบำเพ็ญอัปปนาโกศล ๑๐ ประการ

ก็แหละโยคีบุคคลใดแม้จะได้ปฏิบัติอย่างนั้นแล้วก็ยังไม่ได้สำเร็จอัปปนาฌาน โยคีบุคคลนั้นพึงบำเพ็ญอัปปนาโกศล (คือวิธีที่จะให้มีความฉลาดในอัปปนา) ให้เกิดขึ้นโดยบริบูรณ์ต่อไป ในอัปปนาโกศลนั้น มีนัยดังนี้ อันโยคีบุคคลจำต้องปรารถนาวิธีที่จะให้มีความฉลาดในอัปปนาสมาธิ โดยประการ ๑๐ อย่าง คือ
๑. วัตถุวิสทกิริยโต โดยทำวัตถุให้สะอาด
๒. อินทรียสมตตปฏิปาทนโต โดยทำอินทรีย์ให้ถึงความเสมอกัน
๓. นิมิตตกุสลโต โดยฉลาดในนิมิต
๔. จิตตปคุคหโต โดยยกจิตในสมัยที่ควรยก
๕. จิตตนิคคหโต โดยข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม
๖. จิตตสมุปหํสโต โดยพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง
๗. จิตตอซุญเปกขโต โดยเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย
๘. อสมาหิตบุคคลปริวชุชนโต โดยเว้นบุคคลผู้ไม่มีสมาธิ
๙. สมาหิตบุคคลเสวนโต โดยสมาคมกับบุคคลผู้มีสมาธิ และ

วันศุกร์

เลือกหาวัดอันสมควรแก่ภาวนา

เลือกหาวัดอันสมควรแก่ภาวนา

บัดนี้จะอรรถาธิบายโดยพิสดารในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่าพึงออกจากวัดอันไม่สมควรแก่การภาวนาสมาธิ ไปอยู่ ณ ที่วัดอันสมควร ดังต่อไปนี้ : อันโยคีบุคคลนั้นจึงอยู่เจริญกัมมัฏฐานให้บริสุทธิ์ ณ ที่วัดเดียวกันกับอาจารย์นั่นแหละ ตราบเท่าที่ตนมีความผาสุกสบาย แต่ถ้าไม่มีความผาสุกสบาย ณ ที่วัดนั้น ก็พึ่งไปอยู่ ณ ที่วัดอื่นอันเป็นที่สบาย ในระยะทางห่างจากวัดพระอาจารย์ประมาณร้อยเส้นหรือสองร้อยเส้นหรือแม้ประมาณสี่ร้อยเส้นก็ได้ ก็แหละ ครั้นอยู่ห่างในระยะทางเท่านั้น เมื่อเกิดความสนเท่ห์สงสัยหรือเกิดความหลงลืม ในหัวข้อกัมมัฏฐานบางประการ จักได้ตื่นลุกขึ้นทำกิจวัตรในวัดให้เสร็จแต่เช้า แล้วออกจากวัดเที่ยวบิณฑบาตไปในระหว่างทาง พอเวลาฉันเสร็จแล้ว ก็ให้ถึงที่อยู่ของพระอาจารย์พอดี สอบถามชำระกัมมัฏฐานให้บริสุทธิ์สิ้นสงสัยในสำนักของพระอาจารย์เสียแต่ในวันนั้น พอวันที่สองก็มนัสการกราบลาพระอาจารย์ แล้วก็ออกเดินทางกลับแต่เช้า เที่ยวรับบิณฑบาตไปในระหว่างทาง ยังไม่ทันจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอะไร ก็จักมาถึงที่อยู่ของตนพอดี ส่วนโยคีบุคคลผู้ซึ่งไม่ได้ที่อยู่อันผาสุกสบาย แม้ในระยะทางประมาณสี่ร้อยเส้นนั้น จงตัดข้อขอดที่เข้าใจได้ยากในกัมมัฏฐานให้กระจ่างแจ้งทุกประการ ชำระกัมมัฏฐานให้บริสุทธิ์ด้วยดีขึ้นอยู่กับใจได้แล้ว จะพรากออกจากวัดอันไม่สมควรแก่การภาวนาสมาธิ ไปอยู่ ณ ที่วัดอันสมควร แม้ไกล ๆ กว่านั้นก็ได้

🔅 วัดที่ไม่สมควรแก่สมาธิภาวนา

ในวัดที่สมควรและไม่สมควรนั้น วัดที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งชื่อว่า วัดไม่สมควร โทษ ๑๘ ประการ ในวัดนั้นดังนี้ คือ :
๑. มหตุตํ    วัดใหญ่
๒. นวตตํ    วัดสร้างใหม่
๓. ชิณฺณตตํ    วัดที่ชำรุด
๔. ปนุถนิสุสิตตฺตํ    วัดที่อิงทางหลวง
๕. โสณฺฑี    วัดมีสระน้ำ
๖. ปณฺณํ    วัดมีใบไม้ใช้เป็นผัก
๗. ปุปฺตํ    วัดมีไม้ดอก
๘. ผลํ    วัดมีไม้ผล
๙. ปตุถนียตา    วัดที่มีคนขึ้นมาก
๑๐. นครสนุนสุสิตตา    วัดที่อิงเมือง
๑๑. ทารุสนุนิสุสิตตา    วัดที่อิงป่าไม้
๑๒. เขตตสนุนิสุสิตตา    วัดที่อิงไร่นา
๑๓. วิสภาคานํ ปุคุคลานํ อตฺถิตา    วัดที่มีคนไม่ลงรอยกัน
๑๔. ปฏฏนสนุนสุสิตตา    วัดที่อิงท่า
๑๕. ปจจนุตสนุนสุสิตตา    วัดที่อิงบ้านป่าชายแดน
๑๖. รชุชสีมสนุนสุสิตตา    วัดที่อิงเขตแดนประเทศ
๑๗. อสปฺปายตา    วัดที่ไม่มีความสบาย
๑๘. กลยาณมิตฺตานํ อลาโภ    วัดที่หาอาจารย์ผู้กัลยาณมิตรไม่ได้

วัดที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้แล ชื่อว่าวัดที่ไม่สมควรแก่สมาธิภาวนา โยคีบุคคลไม่ควรไปอยู่ ณ วัดเช่นนั้น

วัดถ้ำดามบูลล่า ศรีลังกา

🔅 อธิบายวัดที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการ

ถาม - เพราะเหตุไรหรือจึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดอันประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการนั้น ?
ตอบ - เพราะเหตุดังต่อไปนี้

๑. วัดใหญ่

ในวัดใหญ่ ๆ ย่อมมีภิกษุและสามเณรที่ต่างจิตต่างใจกันมารวมอยู่เป็นจำนวนมาก ภิกษุสามเณรเหล่านั้น ย่อมจะไม่ช่วยกันทำกิจวัตร เพราะต่างก็เกี่ยงซึ่งกันและกัน สถานที่ทั้งหลาย เช่น ลานพระศรีมหาโพธิ์เป็นต้น ก็ไม่ช่วยกันปัดกวาดให้สะอาดเกลี้ยงเกลา น้ำฉันน้ำใช้ก็ไม่ช่วยกันตัก โยคีบุคคลนี้อยู่ ณ วัดเช่นนั้นแล้ว ครั้นตระเตรียมว่าจักไปบิณฑบาตในโคจรคาม ถือบาตรและจีวรเดินออกไป ถ้าเห็นกิจวัตรยังไม่มีใครทำ หรือหม้อน้ำดื่มยังเปล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอก็จะต้องหยุดทำกิจวัตร ตักน้ำดื่มมาเตรียมไว้ เมื่อไม่ทำหรือก็จะต้องอาบัติทุกกฏในเพราะเหตุวัตรเภท คือทำลายกิจวัตร เมื่อเธอมัวทำกิจวัตรอยู่เล่าเวลากาลก็จะล่วงเลยสายไป ครั้นเธอเข้าไปในโคจรคามสายมาก ภิกษาหารหมดเสียแล้ว ก็จะไม่ได้ภิกษาหารอะไรแม้แต่น้อย

อนึ่ง ถึงโยคีบุคคลจะได้หลบไปอยู่ ณ ที่อันเร้นลับแล้วก็ตาม ก็จะฟุ้งซ่านด้วยเสียงเจี๊ยวจ๊าวของพวกภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย และด้วยการงานต่าง ๆ ของสงฆ์ แต่วัดใหญ่ใดมีภิกษุสามเณรช่วยกันทำกิจวัตรเรียบร้อยหมดทุกอย่าง และไม่มีความกระทบกระเทือนแม้อย่างอื่น ๆ แต่ประการใด ก็ควรอยู่ ณ ที่วัดใหญ่แม้เห็นปานนั้นได้

๒. วัดสร้างใหม่

ในวัดที่สร้างใหม่นั้น ย่อมจะมีนวกรรมคือการก่อสร้างมากอย่างหลายประการ เมื่อโยคีบุคคลไม่ช่วยทำ เขาก็จะติเตียนเอา แต่ในวัดใดภิกษุทั้งหลายพูดให้โอกาสว่า “นิมนต์คุณทำสมณธรรมตามสบายเถิด นวกรรมการก่อสร้างพวกเราจักช่วยกันกระทำเอง” ดังนี้ ก็ควรอยู่ ณ ที่วัดซึ่งสร้างใหม่เห็นปานนี้ได้


๓. วัดที่ชำรุด

แหละ ในวัดที่ชำรุดทรุดโทรมนั้น ย่อมจะต้องมีสิ่งที่จะพึงปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงมาก ชั้นที่สุดแม้มาตรว่าเสนาสนะของตนเอง เมื่อไม่ปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลง เขาจะพากันติเตียนเอา เมื่อมัวแต่ปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงอยู่ กัมมัฏฐานก็จะเสื่อมไป แต่ในวัดใดที่มีภิกษุทั้งหลายพูดให้โอกาสว่า “นิมนต์คุณจงทำสมณธรรมตามสบายเถิดพวกเราจักช่วยกันปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงเอง” ดังนี้ ก็ควรอยู่ ณ ที่วัดซึ่งชำรุดเห็นปานนี้ได้

๔. วัดที่อิงทางหลวง

ในวัดที่อิงทางหลวงนั้นย่อมจะมีพวกภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายมารวมทั้งกลางคืนและกลางวัน โยคีบุคคลจะต้องให้เสนาสนะของตนแก่พวกอาคันตุกะที่มาถึงในเวลาวิกาลมืด แล้วตนเองจะต้องไปอยู่ที่โคนต้นไม้ หรือพลาญหิน” แม้ในวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นเช่นนี้นั่นเที่ยว ดังนั้นโอกาสย่อมจะไม่มีเพื่อกัมมัฏฐาน แต่ในวัดใดไม่มีการเบียดเบียนของพวกอาคันตุกะในทำนองนี้ โยคีบุคคลก็ควรอยู่ ณ ที่วัดซึ่งอิงทางหลวงเช่นนั้นได้

๕. วัดมีสระน้ำ

วัดมีสระน้ำนั้น ได้แก่วัดที่มีสระน้ำที่กรุด้วยหินถาวรมั่นคงเป็นหลักฐาน ในวัดเช่นนั้น ย่อมจะมีมหาชนพากันมาชุมนุมกันเพื่อต้องการน้ำ และพวกศิษย์ของพระเถระทั้งหลายผู้อาศัยราชตระกูลซึ่งอยู่ในเมือง ก็จะพากันมาซักย้อมผ้า เมื่อพวกลูกศิษย์เหล่านั้นมาถามหาภาชนะและฟื้นหรือรางย้อมผ้าเป็นต้น โยคีบุคคลก็จะต้องสาละวนคอยชี้บอกว่า อยู่ที่โน้น และ ที่โน้นแน่ เธอก็จะเป็นผู้กังวลเป็นนิจแม้ตลอดกาลทั้งปวง จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น ตามปกติภิกษุเจ้าของวัดจะต้องเคารพการปฏิสันถาร จึงต้องปฏิบัติเช่นนั้น

๖. วัดมีใบไม้ใช้เป็นผัก

ในวัดใดมีใบไม้ที่ใช้รับประทานได้นานาชนิดในวัดเช่นนั้น เมื่อโยคีบุคคลเรียนเอากัมมัฏฐานแล้วไปนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ ที่อยู่สำหรับกลางวัน พวกสตรีที่เก็บผักก็จะพากันร้องเพลงไปพลาง เลือกเก็บผักไปพลางอยู่ ณ ที่ใกล้ ๆ จะทำให้เป็นอันตรายแก่กัมมัฏฐานด้วยความกระทบแห่งเสียงอันเป็นข้าศึก จึงไม่ควรอยู่ ณที่วัดเช่นนั้น

๗. วัดที่มีไม้ดอก

แหละ ในวัดใดมีกอไม้ดอกนานาชนิดแตกบานอยู่อย่างสะพรั่ง แม้ในวัดเช่นนั้นก็จะเป็นอันตรายแก่กัมมัฏฐานเช่นเดียวกันนั่นเทียว จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น

๘. วัดที่มีไม้ผล

ในวัดใดมีไม้ผลนานาชนิด เช่นมะม่วง, ชมพู่ และขนุนเป็นต้น ในวัดเช่นนั้นคนทั้งหลายที่ต้องการผลไม้จะพากันมาขอ เมื่อไม่ให้ เขาก็จะโกรธ หรือมิฉะนั้นก็จะพากันสอยเอาโดยพลการ ตกเวลาเย็น โยคีบุคคลมาเดินจงกรมในกลางวัดเห็นคนเหล่านั้นเข้า ก็จะต่อว่ากับเขาว่า “อุบาสกทั้งหลาย ทำไมจึงพากันทำอย่างนั้น” เขาก็จะพากันด่าเอาตามชอบใจ เขาจะพยายามแม้เพื่อที่จะไม่ให้เธออยู่ต่อไป จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น

๙. วัดที่มีคนขึ้นมาก

ก็แหละ โยคีบุคคลผู้อยู่ ณ ที่วัดซึ่งมีคนขึ้นมาก เช่น วัดทักขิณคีรี วัดหัตถิกุจฉ วัดเจติยคีรี วัดจิตตลบรรพต (วัดเหล่านี้อยู่ในประเทศลังกาทั้งนั้น สมัยรจนาหนังสือนี้เป็นวัดมีชื่อเสียงคนขึ้นมาก)  ซึ่งชาวโลกยกย่องว่าเป็นที่เร้นลับ มนุษย ทั้งหลายพากันนิยมสรรเสริญว่า ท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์ แล้วใคร่จะได้กราบไหว้บูชาจึงพากันหลั่งไหลมาหาโดยรอบทิศ ด้วยเหตุนั้น โยคีบุคคลนั้นก็จะไม่มีความผาสุขสบาย แต่ว่าวัดเช่นนั้นย่อมเป็นที่สบายแก่โยคีบุคคลใด เวลากลางวันเธอพึงหลบไปอยู่เสีย ณ ที่อื่น ครั้นตกเวลากลางคืนจึงค่อยมาอยู่

๑๐. วัดที่อิงเมือง
ในวัดที่อิงเมืองนั้น ย่อมมีอิฏฐารมณ์ทั้งหลายมาผ่านสายตามากมาย มีกระทั่งแม้พวกนางกุมภทาสี*ทั้งหลายพากันถือหม้อน้ำเดินเสียดสืบไป ไม่หลีกทางให้กัน ทั้งมีพวกมนุษย์ที่เป็นใหญ่พากันไปกางม่านนั่งอยู่ตามวัด จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น (*นางกุมภทาสี ได้แก่พวกหญิงรับจ้างตักน้ำด้วยหม้อ พวกแขกเป็นต้นใช้หม้อตักน้ำและทูนศีรษะ แม้ทุกวันนี้ก็ทำเช่นนั้น คนภาคใต้บางจังหวัดก็นิยมประพฤติกันอยู่)

๑๑. วัดที่อิงป่าไม้

ก็แหละ ในวัดที่อิงป่าไม้นั้น วัดใดมีพืชและต้นไม้ที่ใช้ประกอบเครื่องอุปกรณ์แก่ทัพสัมภาระบ้านเรือนได้ ในวัดเช่นนั้น พวกคนเก็บฟืนทั้งหลายย่อมจะพากันทำความไม่ผาสุกให้ เหมือนกับพวกสตรีที่เก็บผักและเก็บดอกไม้ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นและไม้ทั้งหลายที่มีอยู่ในวัด มนุษย์ทั้งหลายชวนกันว่า เราจักไปตัดไม้เหล่านั้นมาทำเรือนแล้วก็พากันมาตัดเอาไม้ไป ถ้าในเวลาเย็น ๆ โยคีบุคคลออกจากกุฎีที่ทำความเพียรไปเดินจงกรมอยู่กลางวัด เห็นเขาแล้วก็จะพูดเตือนเขาว่า “อุบาสกทั้งหลาย ทำไมจึงพากันมาทำเช่นนี้" เขาก็จะพากันต่าเอาตามใจ และเขาจะพยายามเพื่อไม่ให้เธออยู่ต่อไปอีก จึงไม่ควรอยู่ ณ วัดเช่นนั้น

๑๒. วัดที่อิงไร่นา

แหละ วัดใดเป็นวัดที่สร้างอิงไร่นา คือมีไร่นาทั้งหลายล้อมรอบวัด ในวัดเช่นนั้นจะมีพวกมนุษย์พากันไปทำลานข้าวกลางวัดนั่นเทียว แล้วนวดข้าว บ้างก็จะพากันไปนอนตามหน้ามุข ย่อมจะพากันทำความไม่ผาสุกแม้อย่างอื่น ๆ ให้เป็นอันมาก แม้วัดใดมีสมบัติสงฆ์มากพวกรักษาวัด ก็ปล่อยโคทั้งหลายไปกัดกินข้าวของตระกูลทั้งหลาย บ้างก็จะพากันไปปิดกั้นทางน้ำไหล มนุษย์ทั้งหลายจะถือเอารวงข้าวมาเป็นพยานแสดงให้สงฆ์ทราบว่า พระผู้เป็นเจ้าเห็นไหม กรรมของพวกคนรักษาวัดของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนั้น ๆ ภิกษุทั้งหลายก็จะต้องไปยังประตูพระราชวังหรือประตูบ้านของราชมหาอำมาตย์ทั้งหลาย แม้วัดที่มีสมบัติสงฆ์มากเช่นนี้ ท่านก็สงเคราะห์เข้ากับวัดที่สร้างอิงไร่นานั่นเทียว จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น

๑๓. วัดที่มีคนไม่ลงรอยกัน

วัดที่มีคนไม่ลงรอยกันนั้น ได้แก่วัดที่มีภิกษุทั้งหลายผู้เข้ากันไม่ได้ คือเป็นผู้จองเวรกันและกันอยู่อาศัย อธิบายว่า เป็นวัดที่มีพวกภิกษุทำความทะเลาะกันครั้นถูกโยคีบุคคลห้ามปรามว่า อย่าได้พากันทำอย่างนี้เลยท่าน ฉะนี้แล้ว ก็จะเกิดหาเรื่องขึ้นว่า พวกเราเกิดฉิบหายแล้ว นับแต่เวลาที่ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นปกติรูปนี้มาถึงทีเดียว จึงไม่ควรอยู่ ณ วัดเช่นนั้น

๑๔. วัดที่อิงท่า

แม้วัดใดที่สร้างอิงท่าน้ำ (เช่นท่าเรือ) หรือที่สร้างอิงท่าบก (เช่นที่พักเกวียนหรือที่พักต่าง หรือท่าอากาศยาน สถานีจอดรถ) ในวัดเช่นนั้น ย่อมจะมีมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งโดยสารมาด้วยเรือและพวกโคต่าง ๆ เป็นต้น พากันเบียดเบียนทำความไม่ผาสุกให้อยู่เนือง ๆ ว่า ขอได้โปรดให้โอกาสที่พักด้วย ขอได้โปรดให้น้ำดื่มด้วย ขอได้โปรด
ให้เกลือด้วย ดังนี้เป็นต้น จึงไม่ควรอยู่ ณ วัดเช่นนั้น) สมัยนี้ หมายความว่า พระภิกษุจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลบ้านเมืองเสมอ เพราะเหตุคนวัดก่อเรื่องขึ้นให้ ทั้งนี้เพราะวัดมีสมบัติมากเป็นเหตุ

๑๕. วัดอิงบ้านป่าชายแดน

ในวัดที่สร้างอิงบ้านป่าชายแดนนั้น ย่อมจะมีแต่พวกมนุษย์ที่ไม่เลื่อมใสศรัทธาในรัตนะทั้งหลาย มีพระพุทธรัตนะเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น ความอยู่ผาสุกในวัดเช่นนั้นย่อมจะไม่มีแก่โยคีบุคคล

๑๖. วัดที่อิงเขตแดนประเทศ

ในวัดที่สร้างอิงเขตระหว่างประเทศนั้น ย่อมมีราชภัย จริงอยู่ พระราชาองค์หนึ่งย่อมจะทรงทำการรุกรบกับประเทศนั้น ด้วยทรงสำคัญว่า พระราชานี้ประพฤติเป็นไปในอำนาจของเรา แม้พระราชาอีกองค์หนึ่งนอกนี้ ก็จะทรงทำการรุกรบกับประเทศนอกนี้ด้วยสำคัญว่า พระราชานี้ไม่ประพฤติเป็นไปในอำนาจของเรา ภิกษุผู้โยคีบุคคลที่อยู่ในวัดเช่นนั้น บางครั้งก็จะเที่ยวไปในแว่นแคว้นแดนดินของพระราชาพระองค์นี้ บางครั้งก็จะเที่ยวไปในแว่นแคว้นแดนดินของพระราชาพระองค์นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกราชบุรุษทั้งหลายก็จะสำคัญผิดไปว่า ภิกษุนี้เป็นจารบุรุษ แล้วก็จะทำให้ถึงซึ่งความฉิบหายเสีย จึงไม่ควรอยู่ ณ ที่วัดเช่นนั้น

๑๗. วัดที่ไม่มีความสบาย

วัดที่ไม่มีความสบายนั้น ได้แก่วัดไม่เป็นที่สบาย เพราะเหตุเป็นที่มารอบแห่งอารมณ์ต่าง ๆ มีรูปอันเป็นข้าศึกคือรูปที่ยั่วเย้าเร้าหลอกเป็นต้น หรือเพราะเป็นวัดที่มีอมนุษย์ยึดครอง ในวัดที่มีอมนุษย์ยึดครองนั้น มีเรื่องตัวอย่างดังนี้:

มีเรื่องเล่าว่า พระเถระรูปหนึ่งอยู่ในวัดป่าแห่งหนึ่ง ครั้งนั้นมียักษิณีตนหนึ่งไปยืนขับร้องอยู่ที่ประตูบรรณศาลาของพระเถระนั้น พระเถระจึงได้ออกมายืนอยู่ที่ประตู ยักษิณีเลื่อนไปขับร้องอยู่ตรงศีรษะที่จงกรม พระเถระได้ตามไปยังที่ศีรษะที่จงกรมอีก ยักษิณีได้เลื่อนไปยืนขับร้องอยู่ที่ปากเหวซึ่งลึกร้อยชั่วบุรุษ ด้วยหมายว่า จักผลักพระเถระซึ่งตามมา ณ ที่นี้ด้วยเสียงเพลงขับ ให้ตกลงไปในเหวแล้วก็จักกิน แต่พระเถระได้กลับคืนเสีย ไม่ตามไป ในทันใดนั้น ยักษิณีได้วิ่งมาโดยเร็ว จับที่ก้านคอพระเถระพลางพูดว่าจะไปไหน แล้วได้เรียนพระเถระว่า “ท่านเจ้าขา บุคคลอย่างท่านพระผู้เป็นเจ้านี้ ดิฉันจับกินมามากแล้ว ไม่ใช่เพียงคนสองคนเท่านั้น” ฉะนี้

๑๘. วัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้

วัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้นั้น อธิบายว่า ในวัดใดโยคีบุคคลไม่อาจที่จะได้ซึ่งกัลยาณมิตรคือพระอาจารย์ หรือท่านผู้เสมอกับพระอาจารย์ก็ดี พระอุปัชฌาย์หรือท่านผู้เสมอกับพระอุปัชฌาย์ก็ดี การหาไม่ได้ซึ่งกัลยาณมิตรทั้งหลายเช่นนั้นในวัดนั้น นับเป็นโทษอันใหญ่หลวงที่เดียว

ด้วยประการฉะนี้ นักศึกษาพึงทราบว่า วัดที่ประกอบด้วยโทษ ๑๘ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้ ชื่อว่าวัดอันไม่สมควรแก่สมาธิภาวนา ข้อนี้สมด้วยคาถาประพันธ์อันท่านอรรถกถาจารย์พรรณนาไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย ดังนี้:
มหาวาสํ นวาวาสํ ชราวาสญฺจ ปนุถนี
โสณฺฑึ ปณุณญฺจ ปุปฺผญฺจํ ผลํ ปตฺถิตเมว จ
นครํ ทารุณา เขตฺตํ วิสภาเคน ปฏฺฏนํ
ปจุจนฺตสีมาสปฺปายํ ยตฺถ มิตฺโต น ลพุภติ
อฏฺฐารเสตานิ ฐานานิ อิติ วิญฺญาย ปณฺฑิโต
อารกา ปริวชุเชยุย มคุคํ สปฺปฏิภยํ ยถา

บัณฑิตทราบถึงสถานที่ ๑๘ ประการเหล่านี้ คือ วัดใหญ่ ๑ วัดสร้างใหม่ ๑ วัดที่ชำรุด ๑ วัดอิงทางหลวง ๑ วัดมีสระน้ำ ๑ วัดมีใบไม้ใช้เป็นผัก ๑ วัดมีไม้ดอก ๑ วัดมีไม้ผล ๑ วัดอิงไร่นา ๑ วัดที่มีคนขึ้นมาก ๑ วัดอิงเมือง ๑ วัดที่อิงป่าไม้ ๑ วัดมีคนไม่ลงรอยกัน ๑ วัดอิงท่า ๑ วัดอิงบ้านป่าชายแดน ๑ วัดอิงเขตแดนประเทศ ๑ วัดที่ไม่มีความสบาย ๑ และวัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้ ๑ ว่าเป็นวัดอันไม่สมควรแก่ภาวนาฉะนี้แล้ว พึงหลีกเว้นเสียให้ห่างไกลเหมือนพ่อค้าหลีกเว้นทางอันมีภัยเฉพาะหน้า ฉะนั้น

🔅 วัดที่สมควรแก่สมาธิภาวนา ๕ ประเภท

ก็แหละ วัดใดประกอบด้วยองคคุณ ๕ ประการ เช่นไม่ไกลไม่ใกล้นักแต่โคจรคาม เป็นต้น วัดเช่นนี้จัดเป็นวัดที่สมควรแก่ภาวนา สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า:-

ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะที่ประกอบด้วยองคคุณ ๕ ประการ เป็นอย่างไร ?
อย่างนี้คือ
    ๑.  ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะในศาสนานี้ ย่อมเป็นสถานที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นักแต่โคจรคาม มีทางไปทางมาสะดวกสบาย ปลอดภัย
    ๒. กลางวันไม่พลุกพล่านด้วยผู้คนกลางคืนเงียบสงัดไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม
    ๓. ไม่มีเหลือบยุงและสัตว์เลื้อยขบกัดไม่มีสัมผัสอันเกิดแต่ลมและแดดรบกวน
    ๔. แหละ ผู้ที่อยู่ในเสนาสนะนั้นไม่มีความฝืดเคืองด้วยปัจจัย ๔ คือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยาแก้ไข้
    ๕. แหละ ในเสนาสนะนั้น มีภิกษุชั้นเถระ ผู้พหูสูต สำเร็จการศึกษาปริยัติธรรม ทรงธรรมทรงวินัยและทรงมาติกาคือหัวข้อแห่งธรรมวินัย ที่เข้าไปเรียนสอบสวนทวนถามตามกาลอันควรว่า ท่านขอรับ บทนี้เป็นไฉน มีอรรถาธิบายอย่างไรฉะนี้แล้ว ท่านเถระเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำให้ตื่นข้อที่ยังไม่ได้ทำให้ตื้น และช่วยบรรเทาความสงสัยเป็นอเนกประการ

ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะย่อมประกอบด้วยองคคุณ ๕ ประการ ฉะนี้แล อรรถาธิบายพิสดารในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า จึงออกจากวัดอันไม่สมควรแก่สมาธิภาวนา ไปอยู่ ณ ที่วัดอันสมควร ยุติลงเพียงเท่านี้

🔅 ตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ

ในหัวข้อสังเขปว่า พึงทำการตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ เสีย นั้น มีอรรถาธิบายว่า อันโยคีบุคคลผู้อยู่ในวัดอันสมควรแก่ภาวนาอย่างนี้แล้ว เมื่อมีเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้ชนิดใดอยู่ ก็พึงตัดเครื่องกังวลแม้ชนิดนั้นเสียก่อน

ทำอย่างไร ? ทำอย่างนี้คือ ผม เล็บและขนที่ยาวทิ้งโกนหรือตัดเสียให้เรียบร้อย จีวรที่เก่าชำรุด ก็พึงทำให้มั่นคงด้วยการปะหรือดามเป็นต้น หรือพึงชุนหรือถักเสียให้เรียบร้อย ถ้าที่บาตรเป็นสนิม ก็พึงระบมบาตรให้มีสี จึงชำระปัดกวาดเตียงและตั้งให้สะอาด อรรถาธิบายพิสดารในหัวข้อสังเขปว่า พึงทำการตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ ยุติลงเพียงนี้



วันพฤหัสบดี

วิธีสอนกัมมัฏฐาน

วิธีสอนกัมมัฏฐาน

เมื่อโยคีบุคคลนั้นซึ่งมีอัชฌาสัยและอธิมุติสมบูรณ์ได้ที่แล้วดังพรรณนามาแล้ว ขอเอากัมมัฏฐานอันอาจารย์ผู้ใด้สำเร็จเจโตปริยญาณ พึงตรวจสอบวาระจิตให้ทราบจริยาเสียก่อน สำหรับอาจารย์ที่ไม่ได้สำเร็จเจโตปริยญาณนอกนี้ พึงทราบจริยาโดยสอบถามโยคีบุคคลโดยนัยมีอาทิว่า

เธอเป็นคนจริตอะไร หรือ ?
ธรรมอะไรบ้างรบกวนเธอมาก ?
เมื่อเธอพิจารณาถึงกัมมัฏฐานข้อไหน จึงมีความผาสุกสบาย ?
จิตของเธอน้อมไปในกัมมัฏฐานข้อไหน ?


ครั้นทราบจริยา อย่างนี้แล้วจึงสอนกัมมัฏฐานอันเหมาะสมแก่จริยาต่อไป

พึงสอนกัมมัฏฐานด้วย ๓ วิธี

ก็แหละ อันอาจารย์นั้น เมื่อจะสอนกัมมัฏฐานจึงสอนด้วยวิธี ๓ ประการ คือ สำหรับโยคีบุคคลผู้เรียนกัมมัฏฐานอยู่แล้วตามปกติ จึงให้สาธยายให้ฟังต่อหน้าสัก ๑ หรือ ๒ ที่นั่ง (๑-๒ จบ) แล้วจึงมอบให้ อย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่อยู่ประจำในสำนักจึงสอนให้ทุก ๆ ครั้งที่เธอมาหา อย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่เรียนเอาแล้วประสงค์จะไปปฏิบัติ ณ ที่อื่น จึงสอนอย่าให้ย่อเกินไป อย่าให้พิสดารเกินไป อย่างหนึ่ง


พึงสอนให้ทราบอาการ ๙ อย่าง

ในกัมมัฏฐานเหล่านั้น เมื่ออาจารย์จะสอนปฐวีกสิณกัมมัฏฐานเป็นประการแรกพึงสอนให้ทราบอาการ ๙ เหล่านี้ คือ
โทษแห่งกสิณ ๔ อย่าง ๑
วิธีทำดวงกสิณ ๑
วิธีภาวนาซึ่งกสิณที่ทำแล้ว ๑
นิมิต ๒ อย่าง ๑
สมาธิ ๒ อย่าง ๑
ธรรมะเป็นที่สบายและไม่เป็นที่สบาย ๒ อย่าง ๑
ความเป็นผู้ฉลาดในอัปปนา ๑๐ อย่าง ๑
การทำความเพียรให้สม่ำเสมอ ๑
วิธีแห่งอัปปนา ๑

แม้ในกัมมัฏฐานที่เหลือทั้งหลาย ก็พึงสอนอาการอันสมควรแก่กัมมัฏฐานนั้น ๆ อาการทั้งหมดนั้นจักแจ้งชัดในวิธีภาวนาของกัมมัฏฐานทั้งหลายเหล่านั้น

โยคีบุคคลต้องจำให้แม่นยำ

ก็แหละ เมื่ออาจารย์สอนกัมมัฏฐานให้อยู่ด้วยอาการอย่างนี้ อันโยคีบุคคลนั้นจึงตั้งใจฟัง จำเอานิมิตนั้นให้ได้ คือเอาอาการนั้น ๆ มาผูกไว้ในใจอย่างนี้ว่า นี้เป็นบทหลัง นี้เป็นบทหน้า นี้เป็นใจความของบทนั้น นี้เป็นอธิบายของบทนั้น และบทนี้ เป็นคำอุปมา

แหละ เมื่อโยคีบุคคลฟังอยู่โดยเคารพ จำเอานิมิตได้อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นอันชื่อว่าเรียนเอากัมมัฏฐานด้วยดีแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ การบรรลุคุณวิเศษก็จะสำเร็จแก่เธอเพราะอาศัยการเรียนเอาด้วยดีแล้วนั้น แต่ย่อมจะไม่สำเร็จแก่โยคีบุคคลผู้ไม่ได้เรียนเอาด้วยดีนอกนี้ อรรถาธิบายความแห่งคำว่า "เรียน" นี้ ยุติเพียงเท่านี้ ด้วยอรรถาธิบายเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าบทอันเป็นหัวข้อสังเขปว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรแล้ว เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ อันเหมาะสมแก่จริตจริยาของตน ดังนี้ อันข้าพเจ้าได้อธิบายให้พิสดารแล้วโดยสิ้นเชิง ด้วยประการฉะนี้แล

จบ ปริจเฉทที่ ๓ ชื่อว่า กัมมัฏฐานคหณนิเทศ ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นเพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน ดังนี้



วันพุธ

โยคีผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์

โยคีผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์

ก็แหละ ในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วว่า เป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์และมีอธิมุติอันสมบูรณ์ ฉะนี้นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ อันโยคืบุคคลนั้น พึงเป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์ โดยอาการ ๖ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งธรรมมีอโลภะเป็นต้น

อรรถาธิบายของฎีกาจารย์

ในอธิการนี้ ท่านฎีกาจารย์ได้อรรถาธิบายไว้อย่างพิสดารดังนี้: ธรรมทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้น มีอุปการะมากแก่สัตว์ทั้งหลายและแก่โยคีบุคคล โดยพิเศษ ทั้งนี้เพราะเป็นเหตุกำจัดเสียซึ่งโทษอย่างอนันต์ และเป็นเหตุนำมาซึ่งคุณอย่างมหันต์ เป็นความจริงอย่างนั้น ธรรมทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้น ย่อมเป็นไปโดยความเป็นปฏิปักษ์แก่มลทินทั้งหลายมีมลทินคือความตระหนี่เป็นต้น สมจริงตามที่ท่านอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในอรรถกถาแห่งอภิธรรม ดังต่อไปนี้

อโลภะ เป็นปฏิปักษ์แก่มลทินคือ ความตระหนี่  แต่เป็นเหตุแห่ง ทาน
อโทสะ เป็นปฏิปักษ์แก่มลทินคือ ความทุศีล แต่เป็นเหตุแห่ง ศีล
อโมหะ เป็นปฏิปักษ์แก่ การไม่ภาวนาในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่เป็นเหตุแห่ง ภาวนา

แหละใน ๓ เหตุนั้น บุคคลย่อมถืออย่างไม่ตึงเครียดด้วยอโลภะ เพราะคนที่โลภแล้วย่อมถืออย่างตึงเครียดบุคคลย่อมถืออย่างไม่หย่อนยานด้วยอโทสะ เพราะคนที่โกรธแล้วย่อมถืออย่างหย่อนยาน บุคคลย่อมถืออย่างไม่วิปริตผิดเพี้ยนด้วยอโมหะ เพราะคนที่หลงแล้วย่อมถืออย่างวิปริตผิดเพี้ยน

อีกอย่างหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น บุคคลทรงจำโทษอันมีอยู่ไว้โดยความเป็นโทษและประพฤติเป็นไปในโทษนั้นด้วยอโลภะ เพราะคนที่โลภแล้วย่อมปกปิดโทษไว้ บุคคลทรงจำคุณอันมีอยู่ไว้โดยความเป็นคุณและประพฤติเป็นไปในคุณนั้นด้วยอโทสะ เพราะคนที่โกรธแล้วย่อมลบล้างคุณเสีย บุคคลทรงจำซึ่งสภาวะที่เป็นจริงโดยเป็นสภาวะที่เป็นจริงและประพฤติเป็นไปในสภาวะที่เป็นจริงนั้นด้วยอโมหะ เพราะคนหลงแล้วย่อมยึดถือสิ่งที่เปล่าว่าไม่เปล่าและสิ่งที่ไม่เปล่าว่าเปล่า

อนึ่ง ทุกข์เพราะพรากจากสิ่งที่รักย่อมไม่เกิดมีด้วยอโลภะเป็นเหตุ เพราะคนที่โลภแล้วเป็นแดนเกิดแห่งสิ่งเป็นที่รักด้วย เพราะอดกลั้นไว้ไม่ได้ต่อการพรากจากสิ่งที่รักด้วย ทุกข์เพราะประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักย่อมไม่เกิดมีด้วยอโทสะเป็นเหตุ เพราะคนโกรธแล้วเป็นแดนเกิดแห่งสิ่งไม่เป็นที่รักด้วย ทุกข์เพราะไม่ได้สมหวังย่อมไม่เกิดมีด้วยอโมหะเป็นเหตุ เพราะคนที่ไม่หลงเป็นแดนเกิดแห่งการใคร่ครวญพิจารณาว่าข้อนั้นจะพึงได้ ณ ที่นี้แต่ที่ไหนเล่า ?

อีกประการหนึ่ง ในเหตุ ๓ อย่างนั้น ชาติทุกข์ไม่มีด้วยอโลภะเป็นเหตุ เพราะอโลภะเป็นปฏิปักษ์แก่ตัณหา เพราะชาติทุกข์มีตัณหาเป็นมูลราก ชราทุกข์ไม่มีด้วยอโทสะเป็นเหตุ เพราะความโกรธอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้แก่เร็ว มรณทุกข์ไม่มีด้วยอโมหะเป็นเหตุ เพราะความหลงตายเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ และมรณทุกข์นั้นย่อมไม่มีแก่คนที่ไม่หลง อนึ่ง ความอยู่ร่วมกันอย่างสบายย่อมมีแก่คฤหัสถ์ทั้งหลายด้วยอโลภะเป็นเหตุ ความอยู่ร่วมกันอย่างสบายย่อมมีแก่บรรพชิตทั้งหลายด้วยอโมหะเป็นเหตุ ส่วนความอยู่ร่วมกันอย่างสบายสำหรับคนทุกเพศ ย่อมมีได้ด้วยอโทสะเป็นเหตุ

อีกประการหนึ่ง เมื่อว่าโดยพิเศษแล้ว ในเหตุ ๓ นั้น ด้วยอโลภเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในเปตติวิสัย จริงอยู่ ส่วนมากสัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงเปตติวิสัยด้วยตัณหา และอโลภะก็เป็นปฏิปักษ์แก่ตัณหาด้วย ด้วยอโทสเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในนรก จริงอยู่สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงนรกอันคล้ายกับโทสะด้วยโทสะเป็นเหตุเพราะเป็นผู้มีสันดานดุร้ายและอโทสะก็เป็นปฏิปักษ์แก่โทสะด้วย ด้วยอโมหเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉานอันหลงอยู่ตลอดกาลด้วยโมหะเป็นเหตุ และอโมหะก็เป็นปฏิปักษ์แก่โมหะด้วย อนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น อโลภเหตุทำให้ไม่มีการประจวบด้วยอำนาจราคะ อโทสเหตุทำให้ไม่มีการพลัดพรากด้วยอำนาจโทสะ อโมหเหตุทำให้ไม่มีความไม่เป็นกลางด้วยอำนาจโมหะ

อีกประการหนึ่ง สัญญา ๓ เหล่านี้ คือ เนกขัมมสัญญา สัญญาในการออกจากกาม ๑ อัพยาปาทสัญญา สัญญาในอันไม่พยาบาท ๑ อวิหิงสาสัญญา สัญญาในอันไม่เบียดเบียน ๑ และสัญญาอีก ๓ เหล่านี้ คือ อสุภสัญญา สัญญาในความไม่งาม ๑ อัปปมาณสัญญา สัญญาในอันไม่มีประมาณ ๑ ธาตุสัญญา สัญญาในความเป็นธาตุ ๑ ย่อมมีได้ด้วยเหตุแม้ทั้ง ๓ ประการนี้โดยลำดับ อนึ่ง

การงดเว้นซึ่งขอบทางคือกามสุขัลลิกานุโยค 
ย่อมมีได้ด้วย อโลภะ
การงดเว้นซึ่งขอบทางคืออัตตกิลมถานุโยค ย่อมมีได้ด้วย อโทสะ
การดำเนินไปสู่ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง ย่อมมีได้ด้วย อโมหะ

การทำลายอภิชฌากายคันถะ ย่อมมีได้ด้วย อโลภะ
การทำลายพยาบาทกายคันถะ ย่อมมีได้ด้วย อโทสะ
การทำลายสีลัพพตปรามาส และอิทังสัจจาภินิเวส ย่อมมีได้ด้วย อโมหะ

อนึ่ง สติปัฏฐาน ๒ ข้อต้น (กาย, เวทนา) ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพของกุศลเหตุ ๒ ข้างต้น (อโลภะ, อโทสะ) สติปัฏฐาน ๒ ข้อหลัง (จิต, ธรรม) ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพของกุศลเหตุข้อหลังข้อเดียว (อโมหะ)

อีกประการหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น อโลภเหตุย่อมเป็นปัจจัยแก่ความไม่มีโรค จริงอยู่คนที่ไม่มีโลภย่อมไม่เสพอาหารอันไม่เป็นที่สบาย แม้ที่เร้าให้อยากกิน จึงเป็นผู้ไม่มีโรคด้วยเหตุนั้น อโทสเหตุย่อมเป็นปัจจัยแก่ความเป็นหนุ่ม จริงอยู่ คนที่ไม่โกรธ อันไฟคือความโกรธไม่เผาผลาญด้วยอำนาจทำหนังให้เที่ยวและทำผมให้หงอกย่อมเป็นหนุ่มอยู่ได้นาน ๆ อโมหเหตุย่อมเป็นปัจจัยแก่ความมีอายุยืน จริงอยู่คนที่ไม่หลง รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แล้ว ละเว้นเสียซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ต้องเสพแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน

อีกประการหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น อโลภะย่อมเป็นปัจจัยแก่โภคสมบัติ เพราะเหตุที่คนจะได้โภคสมบัติด้วยการบริจาค อโทสะเป็นปัจจัยแก่มิตตสมบัติ เพราะเหตุที่คนจะได้มิตรทั้งหลายด้วยเมตตา และเพราะไม่เสื่อมมิตรก็ด้วยเมตตา อโมหะเป็นปัจจัยแก่อัตตสมบัติ จริงอยู่ คนที่ไม่หลง ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนอย่างเดียว ย่อมทำตนให้สมบูรณ์ อนึ่ง อโลภะเป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างเทวดา อโทสะเป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างพรหม อโมหะเป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างพระอริยเจ้า

อีกประการหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายของตนด้วยอโลภะเป็นเหตุ เพราะทุกข์ซึ่งเป็นเหตุปรุงแต่งไม่มีเพราะสัตว์และสังขารเหล่านั้นพินาศไป บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายของคนอื่นด้วยอโทสะเป็นเหตุ เพราะความจองเวรแม้ในคนคู่เวรทั้งหลายไม่มีสำหรับคนที่ไม่โกรธ บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายเป็นกลาง ๆ ด้วยอโมหะเป็นเหตุ เพราะความปรุงแต่งทั้งปวงไม่มีสำหรับคนที่ไม่หลง

อีกอย่างหนึ่ง การเห็นอนิจจัง ย่อมมีได้ด้วยอโลภะ จริงอยู่ คนที่โลภแล้วย่อมไม่เห็นสังขารทั้งหลาย แม้ที่ไม่เที่ยงโดยความเป็นของไม่เที่ยง ด้วยหวังในการร้องเสพอยู่ การเห็นทุกขังย่อมมีได้ด้วยอโทสะ จริงอยู่ คนที่มีอัชฌาสัยไม่โกรธ เป็นผู้ปล่อยวางอาฆาตวัตถุแล้วย่อมเห็นสังขารทั้งหลายโดยความเป็นทุกข์ การเห็น อนัตตาย่อมมีได้ด้วยอโมหะ จริงอยู่ คนที่ไม่หลง เป็นผู้ฉลาดในการถือเอาตามความจริง ย่อมรู้แจ้งขันธ์ ๕ อันไม่ได้เป็นผู้นำ โดยความไม่ใช่ผู้นำ อนึ่ง ทรรศนะทั้งหลายมีการเห็นไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมมีได้ด้วยเหตุทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้นเหล่านี้ ฉันใด แม้เหตุทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้นเหล่านี้ ก็มีได้ด้วยทรรศนะทั้งหลายมีการเห็นอนิจจังเป็นต้น เช่นเดียวกัน จริงอยู่ อโลภะย่อมมีได้ด้วยการเห็นอนิจจัง อโทสะย่อมมีได้ด้วยเห็นทุกขัง อโมหะย่อมมีได้ด้วยการเห็นอนัตตา

ก็ใครเล่ารู้โดยถูกต้องว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นทุกข์แล้ว จะพึงยังความรักให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ขันธ์ ๕ นั้น หรือรู้สังขารทั้งหลายว่าเป็นทุกข์แล้ว จะพึงยังทุกข์เพราะความโกรธอันคมกล้าที่สุดแม้อื่นอีกให้เกิดขึ้น และรู้ความว่างเปล่าจากตัวตนของสังขารทั้งหลายแล้ว จะพึงยังความหลงงมงายให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ด้วยเหตุดังพรรณนามานี้ ท่านฎีกาจารย์จึงให้อรรถาธิบายคำว่าผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์ไว้ว่า อัชฌาสัยของบุคคลนี้สมบูรณ์แล้ว ด้วยอำนาจการยังศีลสมบัติเป็นต้น อันเป็นส่วนเบื้องต้นให้สำเร็จ และด้วยความเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่โลกุตตรธรรมทั้งหลาย เหตุนั้นบุคคลนี้จึงชื่อว่า สมุปนุนชุฌาสโย ผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์แล้ว ฉะนี้

🔅 อัชฌาสัย ๖ ประการ

มีความจริงอยู่ว่า โยคีบุคคลผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์เห็นปานฉะนี้ ย่อมจะบรรลุพระโพธิญาณ ๓ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง สมกับที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่าอัชฌาสัย ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่แห่งโพธิญาณของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย คือ: -

๑. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่โลภ เห็นโทษในความโลภ
๒. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่โกรธ เห็นโทษในความโกรธ
๓. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่หลง เห็นโทษในความหลง
๔. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยในการออกบวช เห็นโทษในฆราวาส
๕. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยชอบความสงัด เห็นโทษในการคลุกคลีกับหมู่คณะ
๖. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยในพระนิพพาน เห็นโทษในภพและคติทั้งปวง

ก็แหละ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระขีณาสพ พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่จะมีมาในอนาคต ทั้งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ทั้งหมดนั้นได้บรรลุแล้วซึ่งคุณวิเศษอันตนและตนจึงบรรลุด้วยอาการทั้งหลาย ๖ ประการนี้นั่นเทียว เพราะฉะนั้นอันโยคีบุคคลพึงเป็นผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์ด้วยอาการ ๖ ประการ เหล่านี้

โยคีผู้มีอธิมุติสมบูรณ์

ก็แหละ อันโยคีบุคคลนั้น พึงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอธิมุติ ด้วยความเป็นผู้น้อมจิตไปเพื่อประโยชน์นั้น อธิบายว่า พึงเป็นผู้น้อมจิตไปในสมาธิ เป็นผู้หนักในสมาธิ เป็นผู้โน้มจิตไปในสมาธิ และพึงเป็นผู้น้อมจิตไปในนิพพาน เป็นผู้หนักในนิพพาน เป็นผู้โน้มจิตไปในนิพพาน


วิธีเรียนเอากัมมัฏฐาน

วิธีเรียนเอากัมมัฏฐาน

ก็แหละ คำว่า เรียน นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ :- อันโยคีบุคคลนั้นจึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้มีลักษณะอาการตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาในหัวข้อว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้พระกัมมัฏฐาน ฉะนี้แล้ว พึงถวายตัวแต่ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าหรือแก่พระอาจารย์ แล้วจึงทำตนให้เป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์ และมีอธิมุติอันสมบูรณ์ แล้วจึงขอเอาพระกัมมัฏฐานเถิด

🔅 คำถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า

ในการถวายตัวนั้น โยคีบุคคลพึงกล่าวคำถวายตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าว่าดังนี้
อิมาหํ ภควา อตฺตาภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายอัตภาพร่างกายอันนี้ แด่พระพุทธองค์

โทษที่ไม่ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า

จริงอยู่ โยคีบุคคลครั้นไม่ได้ถวายตนอย่างนี้แล้ว เมื่อหลีกไปอยู่ที่เสนาสนะอันเงียบสงัด ครั้นอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏให้เห็นในคลองแห่งจักษุ ก็ไม่สามารถที่จะยับยั้งตั้งตนอยู่ได้ จะเลี่ยงหนีไปยังแดนหมู่บ้าน เกิดเป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์ทำการแสวงหาลาภสักการะอันไม่สมควร ก็จะพึงถึงซึ่งความฉิบหายเสีย

อานิสงส์ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า

ส่วนโยคีบุคคลผู้ได้ถวายตัวแล้ว ถึงแม้จะมีอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏให้เห็นในคลองแห่งจักษุ ก็จะไม่เกิดความหวาดกลัวแต่อย่างใด มีแต่จะเกิดความโสมนัสอย่างเดียวโดยที่จะได้เตือนตนว่า พ่อบัณฑิต ก็วันก่อนนั้น เจ้าได้ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้าแล้ว มิใช่หรือ ? เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งจะพึงมีผ้ากาสิกพัสตร์ (ผ้าที่ทำในแว่นแคว้นกาสี) อย่างดีที่สุด เมื่อผ้านั้นถูกหนูหรือพวกแมลงสาบกัดเขาก็จะพึงเกิดความโทมนัสเสียใจ แต่ถ้าเขาจะพึงถวายผ้านั้นแก่ภิกษุผู้ไม่มีจีวรไปเสีย แต่นั้นถึงเขาจะได้เห็นผ้านั้น อันภิกษุเอามาตัดทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เขาก็จะพึงเกิดแต่ความโสมนัสอย่างเดียว ฉันใด แม้คำอุปไมยนี้นักศึกษาก็พึงทราบเหมือนฉันนั้น

🔅 คำถวายตัวแก่อาจารย์

โยคืบุคคล แม้เมื่อจะถวายตัวแก่พระอาจารย์ ก็พึงกล่าวคำถวายตัวดังนี้
อิมาหํ ภนุเต อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ กระผมขอมอบถวายอัตภาพร่างกายอันนี้แก่ท่านอาจารย์

โทษที่ไม่ถวายตัวแก่อาจารย์

จริงอยู่ โยคีบุคคลผู้ไม่ได้ถวายตัวอย่างนี้ ย่อมจะเป็นคนอันใคร ๆ ขัดขวางไม่ได้ บางทีก็จะเป็นคนว่ายากไม่เชื่อฟังโอวาท บางทีก็จะเป็นคนตามแต่ใจตนเอง อยากไปไหนก็จะไปโดยไม่บอกลาอาจารย์ก่อน โยคีบุคคลเช่นนี้นั้น อาจารย์ก็จะไม่รับสงเคราะห์ด้วยอามิสหรือด้วยธรรมะคือการสั่งสอน จะไม่ให้ศึกษาวิชากัมมัฏฐานอันสุขุมลึกซึ้ง เมื่อเธอไม่ได้รับการสงเคราะห์ ๒ ประการนี้แล้ว ก็จะไม่ได้ที่พึ่งในพระศาสนา ไม่ช้าไม่นานก็จะถึงซึ่งความเป็นคนทุศีล หรือเป็นคฤหัสถ์ไปเลย

อานิสงส์ที่ถวายตัวแก่อาจารย์

ส่วนโยคีบุคคลผู้ถวายตัวแล้ว จะไม่เป็นคนอันใคร ๆ ขัดขวางไม่ได้ ไม่เป็นคนตามแต่ใจตนเอง จะเป็นคนว่าง่าย มีความประพฤติติดเนื่องอยู่กับอาจารย์ เมื่อเธอได้รับการสงเคราะห์ ๒ ประการจากอาจารย์แล้ว ก็จะถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนา เหมือนอย่างพวกศิษย์อันเตวาสิกของพระจูฬปิณฑปาติกติสสเถระเป็นตัวอย่าง

เรื่องศิษย์พระติสสเถระ

มีเรื่องเล่าว่า มีภิกษุ๓ รูป ได้มาสู่สำนักของพระติสสเถระแล้ว ใน ๓ รูปนั้น รูปหนึ่งกราบเรียนอาสาแก่พระเถระว่า “ท่านขอรับ เมื่อมีใคร ๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว กระผมสามารถที่จะกระโดดลงไปในเหวลึกชั่วร้อยบุรุษ”

รูปที่สองกราบเรียนอาสาว่า “ท่านขอรับ เมื่อมีใคร ๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว กระผมสามารถที่จะเอาร่างกายนี้ฝนที่พื้นหินให้กร่อนไปตั้งแต่ สันเท้าจนกระทั่งไม่มีร่างกายเหลืออยู่”

รูปที่สามกราบเรียนอาสาว่า “ท่านขอรับ เมื่อมีใคร ๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว กระผมสามารถที่จะกลั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะทำกาลกิริยาตายได้”

ฝ่ายพระเถระพิจารณาเห็นว่า “ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้มีความสมควรแล้ว” จึงได้บอกพระกัมมัฏฐานให้ ภิกษุเหล่านั้นดำรงตนอยู่ใน โอวาทของพระเถระ ได้บรรลุซึ่งพระอรหัตแม้ทั้ง ๓ รูปแล

นี้เป็นอานิสงส์ในการมอบถวายตัว ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวไว้ว่า จึงมอบถวายตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าหรือแก่อาจารย์ ฉะนี้

วันอังคาร

วินิจฉัยกัมมัฏฐาน ๔๐ โดยอาการ ๑๐ อย่าง

 วินิจฉัยกัมมัฏฐาน ๔๐ โดยอาการ ๑๐ อย่าง

เพราะเหตุฉะนั้น ในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ฉะนี้นั้น ประการแรกนักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยอาการ ๑๐ อย่าง ดังนี้ คือ

๑. โดยแสดงจำนวนกัมมัฏฐาน
๒. โดยการนำมาซึ่งอุปจารฌานและอัปปนาฌาน
๓. โดยความต่างกันแห่งฌาน
๔. โดยผ่านองค์ฌานและอารมณ์
๕. โดยควรขยายและไม่ควรขยาย
๖. โดยอารมณ์ของฌาน
๗. โดยภูมิเป็นที่บังเกิด
๘. โดยการถือเอา
๙. โดยความเป็นปัจจัยเกื้อหนุน
๑๐. โดยเหมาะสมแก่จริยา

๑. โดยแสดงจำนวนกัมมัฏฐาน

ในอาการ ๑๐ อย่างนั้น ประการแรก ข้อว่า โดยแสดงจำนวนกัมมัฏฐาน มีอรรถาธิบายดังนี้ :- ก็ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่า ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ฉะนี้ พระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ณ ที่นั้น ท่านสงเคราะห์เข้าไว้เป็น ๗ หมวดดังนี้ คือ

๑. กสิณกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง
        ๑.๑ ปฐวีกสิณ กสิณสำเร็จด้วยดิน
        ๑.๒ อาโปกสิณ กสิณสำเร็จด้วยน้ำ
        ๑.๓ เตโชกสิณ กสิณสำเร็จด้วยไฟ
        ๑.๔ วาโยกสิณ กสิณสำเร็จด้วยลม
        ๑.๕ นีลกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีเขียว
        ๑.๖ ปีตกสิณกสิณสำเร็จด้วยสีเหลือง
        ๑.๗ โลหิตกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีแดง
        ๑.๘ โอทาตกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีขาว
        ๑.๙ อาโลกกสิณ กสิณสำเร็จด้วยแสงสว่าง
        ๑.๑๐ ปริจฉินนากาสกสิณ กสิณสำเร็จด้วยช่องว่างซึ่งกำหนดขึ้น

๒. อสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง
        ๒.๑ อุทธมาตกอสุภะ ซากศพที่ขึ้นพองน่าเกลียด
        ๒.๒ วินีลกอสุภะ ซากศพที่ขึ้นเป็นสีเขียวน่าเกลียด
        ๒.๓ วิปุพพกอสุภะ ซากศพที่มีหนองแตกพลักน่าเกลียด
        ๒.๔ วิจฉททุกอสุภะ ซากศพที่ถูกตัดเป็นท่อน ๆ น่าเกลียด
        ๒.๕ วิกขายิตกอสุภะ ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกระจุยกระจายน่าเกลียด
        ๒.๖ วิกขิตตกอสุภะ ซากศพที่ทิ้งไว้เรี่ยราดน่าเกลียด
        ๒.๗ หาวิกขิตตกอสุภะ ซากศพที่ถูกสับฟันทิ้งกระจัดกระจายน่าเกลียด
        ๒.๘ โลหิตกอสุภะ ซากศพที่มีโลหิตไหลออกน่าเกลียด
        ๒.๙ ปุฬวกอสุภะซากศพที่เต็มไปด้วยหนอนน่าเกลียด
        ๒.๑๐ อัฏฐิกอสุภะ ซากศพที่เป็นกระดูกน่าเกลียด

๓. อนุสสติกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง
        ๓.๑ พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า
        ๓.๒ ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม
        ๓.๓ สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์
        ๓.๔ สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน
        ๓.๕ จาคานุสสติ ระลึกถึงการบริจาคที่ตนบริจาคแล้ว
        ๓.๖ เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา
        ๓.๗ มรณานุสสติ ระลึกถึงความตาย
        ๓.๘ กายคตาสติ ระลึกถึงร่างกายซึ่งล้วนแต่ไม่สะอาด
        ๓.๙ อานาปานสติ ระลึกกำหนดลมหายใจเข้าออก
        ๓.๑๐ อุปสมานุสสติ ระลึกถึงนิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง

๔. พรหมวิหารกัมมัฏฐาน ๔ อย่าง
        ๔.๑ เมตตา ความรักที่มุ่งช่วยทำประโยชน์
        ๔.๒ กรุณา ความสงสารที่มุ่งช่วยบำบัดทุกข์
        ๔.๓ มุทิตา ความพลอยยินดีต่อสมบัติ
        ๔.๔ อุเปกขา ความเป็นกลางไม่เข้าฝ่ายใด

๕. อารุปปกัมมัฏฐาน ๔ อย่าง
        ๕.๑ อากาสานัญจายตนะ อากาศไม่มีที่สุด
        ๕.๒ วิญญาณัญจายตนะ วิญญาณไม่มีที่สุด
        ๕.๓ อากิญจัญญายตนะ ความไม่มีอะไร
        ๕.๔ เนวสัญญานาสัญญายตนะ สัญญาละเอียด ซึ่งจะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่

๖. สัญญากัมมัฏฐาน ๑ อย่าง
        ๖.๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ความหมายรู้ในอาหารโดยเป็นสิ่งที่น่าเกลียด

๗. ววัตถานกัมมัฏฐาน ๑ อย่าง
        ๗.๑ จตุธาตุววัตถาน การกำหนดแยกคนออกเป็นธาตุ ๔

นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยแสดงจำนวน ด้วยประการฉะนี้

๒. โดยนำมาซึ่งอุปจารณานและอัปปนาณาน

ข้อว่า โดยนำมาซึ่งอุปจารณานและอัปปนาฌาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :-ก็แหละ ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น เฉพาะกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการ คือยกเว้นกายคตาสติกับอานาปานสติเสีย อนุสสติกัมมัฏฐานที่เหลือ ๘ กับอาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ นำมาซึ่งอุปจารฌาน กัมมัฏฐานที่เหลือ ๓๐ ประการ นำมาซึ่งอัปปนาฌาน

นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยนำมาซึ่งอุปจารฌานและอัปปนาฌานด้วยประการฉะนี้

๓. โดยความต่างกันแห่งฌาน

ข้อว่า โดยความต่างกันแห่งฌาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :- แหละในกัมมัฏฐานประการที่นำมาซึ่งอัปปนาฌานนั้น กสิณ ๑๐ กับ อานาปานสติ ๑ รวมเป็น ๑๑ ประการ ย่อมให้สำเร็จฌานได้ทั้ง ๔ ฌาน อสุภ ๑๐ กับ กายคตาสติ ๑ รวมเป็น ๑๑ ประการ ย่อมให้สำเร็จเพียงปฐมฌานอย่างเดียว พรหมวิหาร ๒ ข้างต้นให้สำเร็จฌาน ๓ ข้างต้น พรหมวิหาร ข้อที่ ๔ และอารุปปกัมมัฏฐาน ๔ ย่อมให้สำเร็จฌานที่ ๔

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยความต่างกันแห่งฌานด้วยประการฉะนี้

๔. โดยผ่านองค์ฌานและอารมณ์

ข้อว่า โดยผ่านองค์ฌานและอารมณ์ นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ การผ่าน๒ อย่าง คือ การผ่านองค์ฌาน ๑ การผ่านอารมณ์ ๑ ใน ๒ อย่างนั้นการผ่านองค์ฌานย่อมมีได้ในกัมมัฏฐานที่ให้สำเร็จฌาน ๓ และฌาน ๔ แม้ทั้งหมดทั้งนี้ เพราะทุติยฌานเป็นต้นที่ฌานลาภีบุคคลจะพึงได้บรรลุในอารมณ์เดียวกันนั้นต้องผ่านองค์ฌานทั้งหลาย มีวิตกและวิจารเป็นต้นขึ้นไป ในพรหมวิหารข้อที่ ๔ ก็เหมือนกัน เพราะแม้พรหมวิหารข้อที่ ๔ นั้น อันฌานลาภีบุคคลจะพึงได้บรรลุก็ต้องผ่านโสมนัสเวทนาในอารมณ์ของพรหมวิหาร ๒ มีเมตตาเป็นต้นไปเหมือนกัน

ส่วนการผ่านอารมณ์ ย่อมมีได้ในอารูปปกัมมัฏฐาน ๔ เพราะอากาสานัญจายตนฌานอันฌานลาภีบุคคลจะพึงได้บรรลุ ก็ต้องผ่านกสิณอันใดอันหนึ่งในบรรดากสิณ ๙ อย่างข้างต้น และวิญญาณัญจายตนฌานเป็นต้นอันฌานลาภิบุคคลจะพึงได้บรรลุ ก็ต้องผ่านอารมณ์ทั้งหลายมีอากาศเป็นต้นขึ้นไป การผ่านอารมณ์หาได้มีในกัมมัฏฐาน ที่เหลือนอกจากนี้ไม่

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยผ่านองค์ฌานและอารมณ์ด้วยประการฉะนี้


๕. โดยควรขยายและไม่ควรขยาย

ข้อว่า โดยควรขยายและไม่ควรขยาย นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้: กัมมัฏฐานที่ควรขยาย ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น กสิณกัมมัฏฐานควรขยายทั้ง ๑๐ ประการนั่นเทียว เพราะว่าโยคีบุคคลแผ่กสิณไปสู่โอกาสได้ประมาณเท่าใด ก็สามารถได้ยินเสียงด้วยทิพพโสตะ เห็นรูปได้ด้วยทิพพจักษุ และรู้จิตของสัตว์อื่นได้ด้วยจิต ภายในโอกาสประมาณเท่านั้น

กัมมัฏฐานที่ไม่ควรขยาย ส่วนกายคตาสติ กับ อสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการ ไม่ควรขยาย เพราะเหตุไร ? เพราะกัมมัฏฐานเหล่านี้ โยคีบุคคลกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะ และเพราะไม่มีอานิสงส์อะไร และข้อที่กัมมัฏฐานเหล่านี้อันโยคีบุคคลกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะนั้น จักปรากฏในแผนกแห่งภาวนาของกัมมัฏฐานนั้น ๆ ข้างหน้า แหละเมื่อโยคีบุคคล ขยายกัมมัฏฐานเหล่านี้แล้ว ก็เป็นแต่เพียงขยายกองแห่งซากศพเท่านั้น หามีอานิสงส์อะไรแต่ประการใดไม่ แม้ความข้อนี้สมกับที่ท่านกล่าวไว้ในโสปากปัญหาพยากรณ์ว่า ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาค รูปสัญญาปรากฏชัดแล้ว แต่อัฏฐิกสัญญาไม่ปรากฏชัด ก็ในปัญหาพยากรณ์นั้นที่ท่านกล่าวว่า รูปสัญญาปรากฏชัดแล้ว ท่านกล่าวด้วยอำนาจที่ได้ขยายนิมิต ส่วนที่ว่าอัฏฐิกสัญญาไม่ปรากฏชัดนั้น ท่านกล่าวด้วยอำนาจที่ไม่ได้ขยายนิมิต ส่วนพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุแผ่อัฏฐิกสัญญาไปสู่แผ่นดินทั้งสิ้น ฉะนี้นั้น พระองค์ตรัสไว้ด้วยอำนาจอาการที่ปรากฏแก่ภิกษุผู้มีอัฏฐิกสัญญา หาได้ตรัสด้วยการขยายนิมิตไม่ จริงอย่างนั้น ในรัชสมัยของพระเจ้าธรรมาโศกราช ได้มีนกกรเวกเห็นเงาของตนที่ฝาซึ่งทำด้วยกระจกโดยรอบ ๆ ตัวแล้ว มันสำคัญว่ามีนกกรเวกอยู่ในทั่วทุกทิศ จึงได้ร้องออกไปด้วยเสียงอันไพเราะ แม้พระเถระก็เช่นเดียวกัน เพราะท่านได้สำเร็จอัฏฐิกสัญญา จึงเห็นนิมิตปรากฏอยู่ในทั่วทุกทิศ เลยเข้าใจว่า แผ่นดินแม้ทั้งหมดเต็มไปด้วยอัฏฐิฉะนี้

หากเกิดปัญหาขึ้นว่า ถ้าเมื่อถือเอาความอย่างนี้แล้ว ภาวะที่อสุภฌานทั้งหลายมีอารมณ์หาประมาณมิได้อันใด ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในธัมมสังคหะๆ ข้อนั้นก็จะผิดเสียละซี ? วิสัชนาว่า ข้อนั้นไม่ใช่จะผิดไปเสียเลย เพราะโยคีบุคคลบางคนย่อมถือเอานิมิตในซากศพที่ขึ้นพองหรือในซากศพที่เป็นโครงกระดูกชนิดใหญ่ บางคนก็ถือเอานิมิตในซากศพเช่นนั้นชนิดเล็ก โดยปริยายนี้ฌานของโยคีบุคคลบางคนจึงมีอารมณ์เล็ก บางคนมีอารมณ์หาประมาณมิได้ อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ฌานมีอารมณ์หาประมาณมิได้ ท่านหมายเอาโยคีบุคคลที่ไม่เห็นโทษในการขยายนิมิตแห่งอสุภกัมมัฏฐานนั้นแล้วขยายกัมมัฏฐานนั้น แต่อย่างไรก็ตาม กายคตาสติกัมมัฏฐานกับอสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการ ไม่ควรขยาย เพราะไม่มีอานิสงส์อะไร มิใช่แต่เท่านี้ แม้กัมมัฏฐานที่เหลือก็ไม่ควรขยายเช่นเดียวกับกายคตาสติและอสุภกัมมัฏฐานนี้ เพราะเหตุไร ? เพราะว่า ในบรรดากัมมัฏฐานเหล่านั้น นิมิตแห่งอานาปานสติ เมื่อโยคีบุคคลขยาย ก็จะขยายแต่กองแห่งลมเท่านั้น และนิมิตแห่งอานาปานสตินั้นกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะ เช่นนิมิตที่ปลายจมูกและริมฝีปากเป็นต้น ฉะนี้ อานาปานสติกัมมัฏฐานจึงไม่ควรขยาย เพราะมีแต่โทษอย่างหนึ่ง เพราะโยคีบุคคลกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะอย่างหนึ่ง พรหมวิหาร ๔ มีสัตว์เป็นอารมณ์ เมื่อขยายอารมณ์ของพรหมวิหารเหล่านั้น ก็จะขยายแต่กองแห่งสัตว์เท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์อะไรกับการขยายกองแห่งสัตว์นั้นหามีไม่ เพราะฉะนั้น แม้อารมณ์ของพรหมวิหารเหล่านั้นก็ไม่ควรขยาย ส่วนพระพุทธพจน์ใดที่ทรงแสดงไว้ว่า ภิกษุมีจิตประกอบด้วยเมตตา แผ่เมตตาจิตไปทางทิศหนึ่งอยู่ ฉะนี้นั้นทรงแสดงด้วยอำนาจการกำหนดถือเอาต่างหาก หาใช่ด้วยอำนาจการขยายนิมิตไม่ จริงอยู่ภิกษุกำหนดเอาสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในทิศหนึ่งแล้วจึงเจริญเมตตาไปโดยลำดับ มีอาทิว่า อาวาสหนึ่ง สองอาวาส ฉะนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปทางทิศหนึ่งอยู่ มิใช่ภิกษุขยายนิมิตกัมมัฏฐาน

อนึ่ง ในพรหมวิหารภาวนานี้เล่า ก็ไม่มีปฏิภาคนิมิตที่โยคีบุคคลนี้จะพึงขยายด้วย แม้การที่พรหมวิหารฌานมีอารมณ์เล็กน้อยและมีอารมณ์หาประมาณมิได้ ในอธิการนี้พึงทราบด้วยอำนาจการกำหนดเอาสัตว์จำนวนมากเป็นเกณฑ์ต่างหาก แม้ในอารมณ์ของอารุปปฌาน ๔ นั้น อากาศ (หมายเอาอากาสานัญจายตนะ) ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นกสิณคฆาฏิมากาศ คืออากาศตรงที่เพิกกสิณออก จริงอยู่กสิณคฆาฏิมากาศ (อากาศที่เพิกกสิณออก) นั้น โยคีบุคคลพึงสนใจแต่เพียงว่าเป็นที่ปราศจากกสิณเท่านั้น นอกเหนือไปจากนั้น แม้จะขยายก็ไม่มีประโยชน์อะไร วิญญาณ (หมายเอาวิญญาณัญจายตนะ) ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นสภาวธรรม จริงอยู่ ใคร ๆ ก็ตามไม่สามารถจะขยายสภาวธรรมได้ ความปราศจากวิญญาณ (หมายเอาอากิญจัญญายตนะ) ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นภาวะสักว่าความไม่มีแห่งวิญญาณ อารมณ์ของเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นสภาวธรรมเช่นเดียวกัน

กัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๑๐ มีพุทธานุสสติเป็นต้น ก็ไม่ควรขยายด้วย ไม่มีปฏิภาคนิมิต เพราะกัมมัฏฐานที่มีปฏิภาคนิมิตเท่านั้น ที่เป็นกัมมัฏฐานควรจะขยายและอารมณ์ที่เป็นปฏิภาคนิมิตของกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการ มีพุทธานุสสติ เป็นต้นหามีไม่ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรขยายอารมณ์นั้น ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยควรขยายและไม่ควรขยายด้วยประการฉะนี้

๖. โดยอารมณ์ของฌาน

ข้อว่า โดยอารมณ์ของฌาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :- ก็แหละ ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ รวม ๒๒ กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์เป็นปฏิภาคนิมิต กัมมัฏฐานที่เหลือ ๑๘ มีอารมณ์ไม่เป็นปฏิภาคนิมิต

อนึ่ง ในอนุสสติ ๑๐ ยกเว้นอานาปานสติกับกายคตาสติเสีย อนุสสติที่เหลือ ๘ กับอาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ วิญญาณัญจายตนะ ๑ เนวสัญญา นาสัญญายตนะ รวม ๑๒ กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์เป็นสภาวธรรม

กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ รวม ๒๒ กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์เป็นนิมิต

กัมมัฏฐานที่เหลือ ๕ คือ พรหมวิหาร ๔ อากาสานัญจายตนะ ๑ อากิญจัญญายตนะ ๑ มีอารมณ์ที่พูดไม่ถูก (คือใช่สภาวธรรมและไม่เป็นนิมิต)

อนึ่ง วิปุพพกอสุภะ ๑ โลหิตกอสุภะ ๑ ปุฬวกอสุภะ ๑ อานาปานสติ ๑ อาโปกสิณ เตโชกสิณ ๑ วาโยกสิณ ๑ และอารมณ์คือสื่งนั้น เช่นดวงแสงแห่งพระอาทิตย์เป็นต้นที่ฉายเข้าไปข้างในโดยทางช่องหน้าต่างเป็นต้น

ในอาโลกกสิณนั้น ๑ รวม ๔ กัมมัฏฐานนี้มีอารมณ์เคลื่อนไหวได้ แต่ก็เคลื่อนไหวได้ในเบื้องต้นก่อนแต่ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นเท่านั้น ส่วนที่เป็นปฏิภาคนิมิตแล้ว ก็สงบนิ่งเหมือนกัน 

กัมมัฏฐานที่เหลือจาก ๔ กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์ไม่เคลื่อนไหว
ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยอารมณ์ของฌาน ด้วยประการฉะนี้

๗. โดยภูมิเป็นที่บังเกิด

ก็แหละ ในข้อว่า โดยภูมิเป็นที่บังเกิด นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ - อสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ กายคตาสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ รวม ๑๒ กัมมัฏฐานนี้ ย่อมไม่บังเกิดในเทวโลกชั้นกามาวจร เพราะซากศพและอาหารอันน่าเกลียดไม่มีในเทวโลก

ชั้นนั้น กัมมัฏฐาน ๑๒ นั้น รวมกับอานาปานสติ ๑ เป็น ๑๓ กัมมัฏฐานนี้ ย่อมไม่บังเกิดในพรหมโลก เพราะลมอัสสาสะปัสสาสะไม่มีในพรหมโลก

กัมมัฏฐานอื่นจากอารุปปกัมมัฏฐาน ๔ แล้วย่อมไม่บังเกิดในอรูปภพ

ส่วนในโลกมนุษย์ กัมมัฏฐานบังเกิดได้ครบหมดทั้ง ๔๐ ประการ

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยภูมิเป็นที่บังเกิด ด้วยประการฉะนี้


๘. โดยการถือเอา


ในข้อว่า โดยการถือเอา นั้น พึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐาน แม้โดยการถือเอาด้วยวัตถุที่ได้เห็น, ได้ถูกต้อง และที่ได้ยินดังนี้ ในกัมมัฏฐานเหล่านั้น ยกเว้นวาโย กสิณเสีย กสิณที่เหลือ ๙ กับ อสุภ ๑๐ รวมเป็น ๑๙ กัมมัฏฐานนี้ พึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็น อธิบายว่า ในเบื้องต้นต้องแลดูด้วยตาเสียก่อนแล้วจึงถือเอานิมิตของกัมมัฏฐานเหล่านั้นได้ ในกายคตาสติ อาการ ๕ คือ ผม, ขน, เล็บ, ฟันและหนัง พึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็น อาการที่เหลืออีก ๒๗ พึงถือเอาได้ด้วยเสียงที่ได้ยิน ดังนั้น อารมณ์ของกายคตาสติกัมมัฏฐาน จึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็นและเสียงที่ได้ยิน ฉะนี้ อานาปานสติกัมมัฏฐาน จึงถือเอาได้ด้วยการถูกต้อง(สัมผัส) วาโยกสิณพึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็นและสัมผัสที่ได้ถูกต้อง กัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๑๔ พึงถือเอาได้ด้วยเสียงที่ได้ยิน

แหละในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น กัมมัฏฐาน ๕ คือ อุเปกขาพรหมวิหาร ๑ อารุปปกัมมัฏฐาน ๔ อันโยคีบุคคลผู้เริ่มลงมือทำกัมมัฏฐานจะพึงถือเอาไม่ได้ในทันทีทีเดียว กัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๓๕ จึงถือเอาได้โดยทันที ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยการถือเอา ด้วยประการฉะนี้


๙. โดยความเป็นปัจจัยเกื้อหนุน

ข้อว่า โดยความเป็นปัจจัยเกื้อหนุน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :- ก็แหละในบรรดา

กสิณ  ๙ ประการ (ยกเว้นอากาสกสิณ) ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่อารุปปฌานทั้งหลาย
กสิณทั้ง ๑๐ ประการ ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่อภิญญาทั้งหลาย
พรหมวิหาร ๒ (ข้างต้น) ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่พรหมวิหารข้อที่ ๔
อารุปปกัมมัฏฐานบทต่ำ ๆ ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่อารุปปกัมมัฏฐานบทสูง ๆ
เนวสัญญานาสัญญายตนกัมมัฏฐาน ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่นิโรธสมาบัติ
กัมมัฏฐานแม้ทั้งหมด ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่การอยู่เป็นสุข แก่วิปัสสนากัมมัฏฐาน และแก่ภวสมบัติทั้งหลาย

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยความเป็นปัจจัยเกื้อหนุนด้วยประการฉะนี้

๑๐. โดยเหมาะสมแก่จริยา

ในข้อว่า โดยเหมาะสมแก่จริยา นี้ พึงทราบการวินิจฉัยแม้โดยความเหมาะสมแก่จริยาทั้งหลาย ดังนี้ :
ประการแรก ในกัมมัฏฐาน ๔๐ นั้น
กัมมัฏฐาน ๑๑ คือ อสุภ ๑๐ กายคตาสติ ๑ ย่อมเหมาะสมแก่คนราคจริต
กัมมัฏฐาน ๔ คือ พรหมวิหาร ๔ วรรณกสิณ ๔ เหมาะสมแก่คนโทสจริต
อานาปานสติกัมมัฏฐานข้อเดียวเท่านั้น เหมาะสมแก่คนโมหจริตและคนวิตกจริต
อนุสสติ ๕ ข้างต้น เหมาะสมแก่คนศรัทธาจริต
กัมมัฏฐาน ๔ คือ มรณสติ ๑ อุปสมานุสสติ ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา๑ เหมาะสมแก่คนพุทธิจริต
กสิณกัมมัฏฐานที่เหลือ ๖ กับอารุปปกัมมัฏฐาน ๔ เหมาะสมแก่คนทุกจริต
แต่ว่าในกสิณ นั้น กสิณอย่างใด อย่างหนึ่งที่เล็กขนาดขันโอ ย่อมเหมาะสมแก่คนวิตกจริต
กสิณอย่างใด อย่างหนึ่งขนาดใหญ่กว่านั้นจนขนาดเท่าจานข้าวเป็นต้น ย่อมเหมาะสมแก่คนโมหจริต

ฉะนี้นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยความเหมาะสมแก่จริยาในกัมมัฏฐาน ๔๐ นี้ ด้วยประการฉะนี้

🔅 สรุปความในจริยา

ก็แหละ ถ้อยแถลงทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้าแสดงไว้ด้วยอำนาจที่เป็นข้าศึกแก่กันโดยตรงอย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจเป็นกัมมัฏฐานที่สบายแท้ ๆ อย่างหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดีขึ้นชื่อว่าภาวนาฝ่ายกุศลแล้ว ที่จะไม่กำจัดกิเลสมีราคะเป็นต้น หรือที่จะไม่เป็นอุปการะแก่คุณธรรมมีศรัทธาเป็นต้น เป็นอันไม่มี ข้อนี้สมด้วยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ซึ่งมีในเมฆยสูตรว่า พึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป คือพึงเจริญอสุภกัมมัฏฐานทั้งหลายเพื่อประหานเสียซึ่งราคะ พึงเจริญเมตตาเพื่อประหานเสียซึ่งพยาบาท พึงเจริญอานาปานสติ เพื่อกำจัดเสียซึ่งมิจฉาวิตก พึงเจริญอนิจจสัญญา เพื่อถอนเสียซึ่งอัสมิมานะ

แม้ในราหุลสูตร พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงพระกัมมัฏฐาน ๗ ประการโปรดพระราหุลเถระเพียงองค์เดียว โดยนัยมีอาทิว่า ราหุล เธอจงเจริญซึ่งภาวนาอันมีเมตตาเป็นอารมณ์... เพราะเหตุฉะนี้ นักศึกษาจงอย่าได้ทำความยึดถือเพียงแต่ในถ้อยแถลงที่แสดงไว้ว่า กัมมัฏฐานอย่างโน้นเหมาะสมแก่จริตบุคคล ประเภทโน้นจึงค้นคว้าแสวงหาอรรถาธิบายในคัมภีร์ต่าง ໆ ทั่วไปเถิด การวินิจฉัยกัมมัฏฐานกถาโดยพิสดาร ในหัวข้อสังเขปว่า เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ยุติเพียงเท่านี้