วันพุธ

เลิกบูชายัญ เพียงเป็นฐาน สู่ความงอกงามในธรรม

ย้อนกลับไปถามว่า การเลิกบูชายัญหรือไม่บูชายัญ เป็นหลักการปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร เมื่อการบูชายัญเป็นหลักการยิ่งใหญ่ยอดสำคัญของสังคมพราหมณ์ ทางพระพุทธศาสนาก็จึงยกการเลิกบูชายัญหรือไม่บูชายัญขึ้นมาเป็นหลักการสำคัญของสังคมแทน โดยมีความหมายที่จะต้องทำความเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ในการบำเพ็ญพุทธกิจ มีหลายครั้งหลายคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบกับพราหมณ์ที่กำลังเตรียมการบูชายัญบ้าง กำลังประกอบบูชายัญบ้าง และมีทั้งพิธีบูชายัญขนาดย่อมส่วนบุคคล และพิธีระดับผู้ปกครองบ้านเมือง ถ้าเป็นพิธีใหญ่ จะมีการฆ่าสัตว์บูชายัญจำนวนมาก และทาสกรรมกรทั้งหลายมักเดือดร้อนมาก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปพบและสนทนากับเจ้าพิธี ในที่สุดเรื่องก็จะจบลงโดยที่เขาเองให้ปล่อยสัตว์ล้มเลิกพิธี พร้อมทั้งรับหลักการและวิธีปฏิบัติอย่างใหม่ที่พระองค์สอนไปดำเนินการ 

สาระสำคัญของหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน โดยทั่วไปจะให้
ประกอบยัญกรรมในความหมายใหม่ (หรือเป็นการฟื้นความหมายดั้งเดิมก่อนที่พวกพราหมณ์จะทำให้เพี้ยนไป) ซึ่งเน้นที่ทาน และต้องไม่มีการเบียดเบียนชีวิต ถ้าเป็นยัญพิธีใหญ่มากของผู้ปกครองบ้านเมือง คำสอนในเรื่องยัญของพระพุทธเจ้า จะรวมถึงการจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยและให้ราษฎรเป็นอยู่ผาสุกก่อน แล้วจึงทำยัญพิธี และบำเพ็ญทาน ดังเช่น ใน🔎กูฏทันตสูตร (ที่สี่ ๙/๑๙๙-๒๓๘) ที่ตรัสกับกูฎทันตพราหมณ์ ผู้ปกครองพราหมณคาม ชื่อว่าชานุมัตต์ ซึ่งได้ให้เอาโค ๗๐๐ ลูกโค ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ และ ๗๐๐ และแกะ ๗๐๐ ผูกไว้ที่หลัก เตรียมพร้อมที่จะบูชามหายัญ พราหมณ์นั้นได้สนทนาสอบถามพระพุทธเจ้าถึงวิธีบูชายัญใหญ่ให้ได้ผลมาก พระพุทธเจ้าทรงยกเรื่องตัวอย่างในอดีตมาให้เป็นแบบ

สาระสำคัญ คือ ให้จัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยและให้ราษฎรเป็นอยู่ผาสุก ถ้าบ้านเมืองยังมีโจรผู้ร้ายเป็นต้น ไม่ให้เอาแต่ใช้วิธีปราบปรามรุนแรง แต่ให้ราษฎรที่ประกอบเกษตรกรรม พาณิชยกรรมและข้าราชการ ผู้ที่ตั้งใจหมั่นขยัน จึงได้รับการส่งเสริมให้ตรงจุด จนบ้านเมืองมั่งคั่ง ราษฎรชื่นชมยินดี อยู่ปลอดภัย “บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน ให้ลูกฟ้อนบนอก (หลักการนี้ คือธรรมชุดที่ในคัมภีร์บางแห่งเรียกว่าราชสังคหวัตถุ ๔ ได้แก่ ๑. สัสสเมธะ (ฉลาดบำรุงธัญญาหาร) ๒. ปุริสมเมธะ (ฉลาดบำรุงข้าราชการ) ๓. สัมมาปาสะ (ผสานใจประชาด้วยอาชีพ) 4. วาจาเปยยะ (มีวาจาดูดดื่มใจ) (๕) เกิดผล คือ นิรัคคฬะ (เกษมสุข) บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน  หลักนี้เป็นนัยพุทธ จาก มหายัญ ๕ ของพราหมณ์ คือ ๑. อัสสเมธะ (อัศวเมธ/ ฆ่าม้าบูชายัญ ๒. ปุริสเมธะ (ฆ่าคนบูชายัญ) ๓. สัมมาปาสะ (ยัญลอดบ่วง) ๔. วาชเปยยะ (ยัญดื่มเพื่อชัย) ๕. นิรัคคฬะ หรือ สรรพเมธะ (ยัญฆ่าครบทุกอย่าง)

เมื่อบ้านเมืองดีแล้ว ผู้ปกครองนั้นก็เรียกพบปรึกษาคนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ทั้งอำมาตย์จนถึงชาวนิคมชนบท ขอความร่วมมือในการที่จะบูชายัญ ซึ่งไม่มีการฆ่าสัตว์และไม่ทำให้คนใดๆ เดือดร้อน มีแต่การมอบให้ของง่ายๆ เล็กๆ น้อยๆ และราษฎรก็พากันร่วมทำตามด้วย แล้วต่อจากนั้นก็มีการบำเพ็ญทานแก่บรรพชิตผู้มีศีล การสร้างสรรค์ประโยชน์ และพัฒนาชีวิตสูงขึ้นไปจนลุจุดหมายแห่งชีวิตที่ดี 

ผลของการฟังวิธีบูชายัญแบบนี้ คือ กูฏทันพราหมณ์ประกาศตนเป็นอุบาสก พร้อมทั้งได้กราบทูลว่าข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอปล่อยโค ๗๐๐ ลูกโค ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ แพะ ๗๐๐ แกะ ๗๐๐ ข้าพเจ้าให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอให้สัตว์เหล่านั้นได้กินหญ้าเขียวสด จงดื่มน้ำเย็น จงรับลมสดชื่นที่พัดโชยมาให้สบายเถิด 

เห็นได้ชัดว่า การห้ามหรือให้เลิกบูชายัญ และการเผื่อแผ่แบ่ง
ปันช่วยเหลือกันคือทานนี้ เป็นหลักการใหญ่ที่เน้นของพระเจ้าอโศกจนเรียกได้ว่าเป็นบรรยากาศแห่งศิลาจารึกของพระองค์ ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าอโศกยังทรงก้าวต่อขึ้นไปอีก สู่งานในขั้นที่เป็นเป้าหมายแท้ของพระองค์ คือการสอนธรรมเพื่อให้ประชาชนประพฤติธรรม เหมือนกับว่าทานนั้นเป็นฐาน เพื่อเตรียมวัตถุและสังคมให้เอื้อแก่คนที่จะพัฒนาสูงขึ้นไป และตรงนี้เองจึงทรงเน้นธรรมทาน ขอยกคำในจารึกศิลา ฉบับที่ ๙ ต่อด้วย ฉบับที่ ๑๑ มาอีกว่า ฉบับที่ ๙ : ...การให้ทานเป็นความดี ก็แต่ว่าทาน หรือการอนุเคราะห์ที่เสมอด้วยธรรมทาน หรือธรรมานุเคราะห์ ย่อมไม่มี ฉบับที่ ๑๑: ไม่มีทานใดเสมอด้วยธรรมทาน ธรรมสังวิภาค (การแจกจ่ายธรรม) และธรรมสัมพันธ์ อาศัยธรรม (ธรรมทานเป็นต้น) นี้ ย่อมบังเกิดมีสิ่งต่อไปนี้ คือ
- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
-การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเผื่อแผ่แบ่งปันแก่มิตร คนคุ้นเคย ญาติ และแก่สมณพราหมณ์
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ
นี่คือหลักการใหญ่ที่เป็นแกนกลางแห่งแนวคิดภาคปฏิบัติของพระเจ้าอโศก การทำศิลาจารึกสั่งสอนธรรมก็ตั้งบนฐานของหลักการนี้ หลักการไม่บูชายัญ แต่หันมาสู่ทาน และให้คนทุกหมู่เหล่าเกื้อกูลปฏิบัติชอบต่อกัน มารวมศูนย์ที่นี่

พร้อมนั้น จุดนี้ก็เป็นศูนย์รวมที่อโศกธรรมมาบรรจบกับแหล่ง
เดิมของหลักธรรมเดียวกันนั้น ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ขอให้ดูพุทธพจน์ในพระสูตรตอนต่อไปนี้ ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ ผู้ควรแก่การขอ เมืออันล้างแล้ว (พร้อมที่จะประกอบยัญพิธีแบบใหม่แห่งการบริจาคธรรม) ทุกเวลา ...ภิกษุทั้งหลาย ทานมี ๒ อย่างนี้ คือ อามิสทาน ๑ ธรรมทาน ๑ บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย การแจกจ่ายมี ๒ อย่างนี้ คือ การแจกจ่ายอามิส ๑ การแจกจ่ายธรรม ๑ บรรดาการแจกจ่าย ๒อย่างนี้ การแจกจ่ายธรรม (ธรรมสังวิภาค) เป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย การอนุเคราะห์มี ๒ อย่างนี้ คือ การอนุเคราะห์ด้วยอามิส การอนุเคราะห์ด้วยธรรม ๑ บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธรรม (ธรรมานุเคราะห์) เป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย อัญบูชา (ยาคะ) มี ๒ อย่างนี้ คือ ธัญบูชาด้วยอามิส ๑ ธัญบูชาด้วยธรรม ๑ บรรดายัญบูชา ๒ อย่างนี้ ยัญบูชาด้วยธรรม (ธรรมยาคะ) เป็นเลิศ ๆ (อิติ ๒๕/๒๘๐)



เรื่องนี้ ว่าจะพูดพอเห็นแนว แต่กลายเป็นยาว ควรจบเสียที ขอตั้งข้อสังเกตไว้อีกอย่างเดียว งานทางธรรมที่พระเจ้าอโศกทรงเอาพระทัยใส่จริงจังมาก และโดยชอบ แต่ไม่ใช่แค่คน ทรงเอาพระทัยใส่ต่อสัตว์อื่นทั่วไปหมดอยู่เสมอ คือการที่จะให้คนผู้ร่วมสังคม เอาใจใส่กันและปฏิบัติต่อกันนอกจากห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ และให้สำรวมตนต่อสัตว์ทั้งหลายคือทั้งไม่เบียดเบียนและเอื้ออาทรต่อสัตว์ทุกชนิดแล้ว ยังถึงกับตั้งโรงพยาบาลสัตว์ และให้ปลูกสมุนไพรที่เป็นยาสำหรับสัตว์ เช่นเดียวกับที่ได้จัดไว้สำหรับคน แล้วยิ่งกว่านั้นยังมีประกาศเกี่ยวกับอภัยทานและการสงวนพันธุ์สัตว์อีกด้วย การที่พระเจ้าอโศกทรงปฏิบัติในเรื่องนี้ถึงขนาดนี้ นอกจากเพราะจุดเน้นในการหันมาสู่ธรรมของพระองค์ ได้แก่การมีอวิหิงสา เมตตาการุณย์ต่อสัตว์อย่างที่กล่าวแล้ว บางทีจะเป็นด้วยทรงพยายามปฏิบัติให้ครบตามหลักจักรวรรดิวัตร ในจักกวัตติสูตร ซึ่งกำหนดให้พระเจ้าจักรพรรดิจัดการคุ้มครองอันชอบธรรม แก่มนุษย์สัตว์ทุกหมู่เหล่า โดยแยกไว้เป็น ๘ กลุ่ม อันมีมิคปักษี (เนื้อและนก คือทั้งสัตว์บกและสัตว์บินที่ไม่มีภัย) เป็นกลุ่มสุดท้าย

ขอให้ดูบางตอนในจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ข้าฯ ได้กระทำการอนุเคราะห์แล้วด้วยประการต่างๆ แก่เหล่าสัตว์ทวิบาท สัตว์จตุบาท ปักษิณชาติ และสัตว์น้ำทั้งหลาย ตลอดถึงการให้ชีวิตทาน ...ต่อด้วยอีกบางตอนในจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๕ ดังนี้ ข้าฯ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ได้ออกประกาศ ให้สัตว์ทั้งหลายต่อไปนี้ ปลอดภัยจากการถูกฆ่า กล่าวคือ นกแก้ว นกสาลิกา นกจากพราก หงส์ ... เต่า และกบ กระรอก กวางเร็ว ... แรด นก พิราบขาว นกพิราบบ้าน และบรรดาสัตว์สี่เท้าทั้งปวงที่มิใช่สัตว์สำหรับปฏิโภค (ใช้หนังใช้กระดูก ฯลฯ) และมิใช่สัตว์สำหรับบริโภค แม่แพะ แม่แกะ และแม่หมู ที่กำลังมีท้องก็ดี กำลังให้นมอยู่ก็ดี ย่อมเป็นสัตว์ที่ไม่พึงฆ่า และแม้ลูกอ่อนของสัตว์เหล่านั้นที่อายุยังไม่ถึง ๖ เดือน ก็ไม่พึงถูกฆ่าเช่นกัน ไม่พึงทำการตอนไก่ไม่พึงเผาแกลบที่มีสัตว์มีชีวิตอาศัยอยู่ ไม่พึงเผาป่าเพื่อการอันหาประโยชน์มิได้ หรือเพื่อการทำลายสัตว์ ไม่พึงเลี้ยงชีวิตด้วยชีวิต ไม่พึงฆ่าและขายปลา ในวันเพ็ญที่คำรบจาตุรมาสทั้ง และในวันเพ็ญแห่งเดือนดิษยะ คราวละ ๓ วัน คือ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ และทุกวันอุโบสถ เป็นการเสมอไป อนึ่ง ในวันดังกล่าวมานี้ ไม่พึงฆ่าแม้เหล่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ในป่าช้างและในเขตสงวนปลาของชาวประมง ตราบถึงบัดนี้ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ข้าฯ ได้สั่งให้มีการพระราชทานอภัยโทษแล้วรวม ๒๕ ครั้ง 

ในการจบเรื่องนี้ ก็มาดูกันว่า จากการบำเพ็ญธรรมทานของพระ
องค์ พระเจ้าอโศกได้ทรงประสบผลานิสงส์อย่างไร ซึ่งคงสรุปได้จากพระดำรัสในจารึกศิลา ฉบับที่ ๔ ดังนี้ กาลยาวนานล่วงแล้ว ตลอดเวลาหลายร้อยปี การฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ การเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย การไม่ปฏิบัติชอบต่อหมู่ญาติ การไม่ปฏิบัติชอบต่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ได้พอกพูนขึ้นถ่ายเดียว แต่มาในบัดนี้ ด้วยการดำเนินงานทางธรรม (ธรรมจรณะ) ของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เสียงกลองรบ (เกรีโฆษ) ได้กลายเป็นเสียงประกาศธรรม (ธรรมโฆษ) แต่ทั้งการแสดงแก่ประชาชน ซึ่งวิมานทรรศน์ หัสดิทรรศน์ อัคนีขันธ์และทิพยรูปอื่นๆ ก็ได้มีขึ้นด้วย
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ
- การไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย
- การปฏิบัติชอบต่อหมู่ญาติ
- การปฏิบัติชอบต่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเชื่อฟังท่านผู้เฒ่าผู้ใหญ่
ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอดเวลาหลายร้อยปี ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วในบัดนี้ เพราะการสั่งสอนธรรมของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ความดีงามนี้ และการปฏิบัติธรรมอย่างอื่นๆ อีกหลายประการ ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้ว พระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ จักทำให้การปฏิบัติธรรมนี้เจริญยิ่งขึ้นไปอีกและพระราชโอรส พระราชนัดดา พระราชปนัดดาของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ก็จักส่งเสริมการปฏิบัติธรรมนี้ ให้เจริญยิ่งขึ้นต่อไปจนตลอดกัลป์ ทั้งจักสั่งสอนธรรม ด้วยการตั้งมั่นอยู่ในธรรมและในศีลด้วยตนเอง เพราะว่าการสั่งสอนธรรมนี้แล เป็นการกระทำอันประเสริฐสุด และการประพฤติธรรมย่อมไม่มีแก่ผู้ไร้ศีล ก็แลความเจริญงอกงาม และความไม่เสื่อมถอยในการปฏิบัติธรรมนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีเพื่อประโยชน์นี้ จึงได้จารึกธรรมโองการนี้ขึ้นไว้ ขอชนทั้งหลายจงช่วยกันประกอบกิจ เพื่อความเจริญงอกงามแห่งประโยชน์นี้ และจงอย่าได้มีวันกล่าวถึงความเสื่อมเลย ธรรมโองการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ โปรดให้จารึกไว้แล้ว เมื่ออภิเษกได้ ๑๒ พรรษา

เราได้มาถึงเมืองปัตนะ หรือปาตลีบุตร ศูนย์กลางแห่งมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งชมพูทวีป (H.G. Wells ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก) และพุทธศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนาเมื่อได้ทำความรู้จักกับพระเจ้าอโศกมหาราชมาอย่างนี้แล้ว ก็ขอยุติไว้แค่ที่พอสมควร เพียงเท่านี้

วันอังคาร

อธิบายหัวข้อเบ็ดเตล็ด

อันนักศึกษาเมื่อได้ศึกษาเข้าใจถึงกสิณ ๑๐ ประการ อันเป็นเหตุให้ได้ฌาน ๔ และฌาน ๔ ในรูปาวจรภูมิ ที่สมเด็จพระทศพลพุทธเจ้าผู้ทรงเห็นแจ้งธรรมทั้งปวงได้ทรงแสดงไว้แล้วด้วยประการฉะนี้ และเข้าใจถึงนัยแห่งการภาวนาซึ่งกสิณ ๑๐ เหล่านั้นอย่างนี้แล้ว จึงศึกษาถึงหัวข้อเบ็ดเตล็ดในกสิณทั้ง ๑๐ ประการนั้น ให้เข้าใจดียิ่งขึ้นไปอีกสักเล็กน้อยดังต่อไปนี้

๑. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจปฐวีกสิณ

ในบรรดากสิณ ๑๐ ประการนั้น ฤทธิ์ย่อมสำเร็จขึ้นด้วยอำนาจปฐวีกสิณ มีอาทิดังนี้คือ คนเดียวเนรมิตให้เป็นหลายคนได้เป็นต้น เนรมิตแผ่นดินขึ้นในอากาศหรือในน้ำแล้วเดินไปด้วยเท้าได้สำเร็จอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้นในอากาศหรือในน้ำได้ได้อภิภายตนะ* โดยนัยมีอารมณ์นิดหน่อยและมีอารมณ์หาประมาณมิได้ (คำว่า ได้อภิภายตนะ คือ สามารถข่มปฏิปักขธรรมได้ และสามารถข่มอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งอิฏฐารมณ์และ
อนิฏฐารมณ์ ไม่ให้เกิดในใจได้)

๒. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจอาโปกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอาโปกสิณ มีอาทิดังนี้คือ ดำลงไปในพื้นแผ่นดิน และผุดโผล่พื้นแผ่นดินขึ้นมาได้ บันดาลให้ฝนตกได้ บันดาลให้เกิดเป็นแม่น้ำและเป็นมหาสมุทรเป็นต้นได้บันดาลแผ่นดิน ภูเขา และปราสาทเป็นต้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือนได้

๓. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจเตโชกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจเตโชกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ บังหวนควันได้ บันดาลให้ไฟลุกโพลงขึ้นได้ บันดาลให้ฝนถ่านเพลิงตกได้ บันดาลไฟที่เกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ของผู้อื่นให้ดับลงด้วยไฟที่เกิดขึ้นด้วยฤทธิ์ของตนได้ มีความสามารถที่จะเผาผลาญสิ่งที่ตนประสงค์ให้พินาศลงได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุอันเป็นทิพย์ได้ เผาสรีระศพตนเองได้ด้วยเตโชธาตุในเวลาปรินิพพาน

๔. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจวาโยกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจวาโยกสิณมีอาทิดังนี้ คือ เหาะไปได้เร็วเหมือนอย่างลมพัด บันดาลฝนพายุให้ตกได้

๕. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจนีลกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจนีลกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสีเขียวได้ บันดาลความมืดมนอนธการให้เกิดขึ้นได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยมีผิวพรรณงามและมีผิวพรรณน่าเกลียด การบรรลุสุภวิโมกข์คือบรรลุมรรคผลและนิพพานโดยง่ายสะดวกสบาย

๖. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจปีตกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจปีตกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นสีเหลืองได้ เสกเหล็ก ทองเหลือง ทองแดงเป็นต้นให้เป็นทองคำได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล และการบรรลุสุภวิโมกข์

๗. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจโลหิตกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จด้วยอำนาจโลหิตกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นสีแดงได้ ได้อภิภายตนะโดยนัยดังที่กล่าวมาแล้วนั่นแล และการบรรลุสุภวิโมกข์

๘. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจโอทาตกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจโอทาตกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นสีขาวได้ บันดาลให้สร่างหายจากความง่วงเหงาหาวนอนได้ บันดาลความมืดมนอันธการให้หายไปได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุทิพย์ได้

๙. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจอาโลกกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอาโลกกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ เนรมิตสิ่งของต่าง ๆ ให้บันดาลความมีแสงสว่างได้ บันดาลให้สร่างหายจากความง่วงเหงาหาวนอนได้ บันดาลความมืดมนอันธการให้หายไปได้ บันดาลให้เกิดแสงสว่างเพื่อเห็นรูปด้วยจักษุอันเป็นทิพย์ได้

๑๐. ฤทธิ์เกิดด้วยอำนาจอากาสกสิณ
ฤทธิ์สำเร็จขึ้นด้วยอำนาจอากาสกสิณ มีอาทิดังนี้ คือ บันดาลสิ่งที่ปกปิดกำบังไว้ให้ปรากฏเห็นได้เนรมิตช่องว่างขึ้นในแผ่นดินและภูเขาเป็นต้น แล้วไปสำเร็จอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอนได้ ทะลุออกไปภายนอกฝาหรือกำแพงได้ ไม่มีอะไรกีดกั้นได้


🙏ความต่างกันของกสิณ ๑๐

กสิณหมดทั้ง ประการนั้น ย่อมได้ความต่างกันด้วยสามารถแห่งการขยายดังนี้คือ ขยายขึ้นข้างบน ขยายลงข้างล่าง ขยายไปรอบ ๆ ตัว ไม่ขยายคราวละ ๒ กสิณปะปนกัน ขยายอย่างไม่มีกำหนดประมาณ ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่ทรงแสดงไว้มีอาทิว่า ฌานลาภีบุคคลบางคน ย่อมขยายปฐวีกสิณขึ้นไปข้างบน บางคนขยายลงข้างล่าง บางคนขยายไปรอบ ๆ ตัว บางคนขยายอย่างไม่ปะปนกันคราวละ ๒ กสิณ บางคนขยายอย่างไม่มีกำหนดประมาณ

อรรถาธิบายพระบาลี
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า ขยายขึ้นข้างบน คือขยายให้บ่ายหน้าขึ้นสู่ท้องฟ้าข้างบน คำว่า ขยายลงข้างล่าง คือขยายให้บ่ายหน้าลงสู่พื้นดินข้างล่าง คำว่า ขยายไปรอบ ๆ ตัว คือขยายไปอย่างกำหนดเอาโดยรอบด้าน เหมือนอย่างขอบเขตที่เป็นวงกลม จริงอยู่ ฌานลาภีบุคคลบางคน ย่อมขยายกสิณขึ้นไปข้างบนอย่างเดียว บางคนขยายลงข้างล่าง บางคนขยายไปโดยรอบ อีกอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนั้น ๆ ฌานลาบุคคลจึงขยายอย่างนี้ ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ขยายขึ้นข้างบน ลงข้างล่าง ไปโดยรอบ ดังนี้ แหละคำว่า ไม่ปะปนกันคราวละ ๒ กสิณ นี้ ตรัสไว้เพื่อทรงแสดงว่ากสิณอันหนึ่ง ๆ ไม่เข้าไปปะปนกับกสิณอีกอันหนึ่ง เหมือนกับน้ำย่อมปรากฏเป็นน้ำนั่นเอง อยู่ในทั่วทุกทิศแก่บุคคลผู้เข้าไปดู ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้ ฉันใด ปฐวีกสิณย่อมปรากฏ เป็นปฐวีกสิณอยู่นั่นเอง ความปะปนกับกสิณอย่างอื่นมีอาโปกสิณเป็นต้นย่อมไม่มีแก่ ปฐวีกสิณนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ในกสิณอื่น ๆ ทุกกสิณก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ คําว่า ไม่มีกําหนดประมาณ นี้ ตรัสไว้ด้วยอำนาจที่ไม่มีประมาณแห่งการขยายซึ่งปฐวีกสิณนั้น จริงอยู่ ฌานลาภีบุคคลเมื่อจะขยายปฐวีกสิณนั้นไปด้วยใจ ย่อมขยายไปอย่างสิ้นเชิงทีเดียว หาได้ถือเอากําหนดประมาณว่า นี้เป็นเบื้องต้น นี้เป็นท่ามกลางของปฐวีกสิณนั้น ดังนี้ไม่ ด้วยประการฉะนี้

ผู้บำเพ็ญภาวนาไม่สำเร็จโดยธรรมนิยาม
ก็แหละ สัตว์เหล่าใดซึ่งเป็นผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรมก็ดี เป็นผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกิเลสก็ดี ทั้งเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะในการปฏิบัติธรรม เป็นผู้มีปัญญาทึบ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็น อภัพพสัตว์ไม่สมควรที่จะหยั่งลงสู่ธรรมนิยามและภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย การภาวนาย่อมไม่สำเร็จผลแก่สัตว์เหล่านั้นสักคนเดียว แม้ในกสิณภาวนาข้อเดียว

อรรถาธิบายพระบาลี
บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรม นั้น หมายเอาสัตว์ผู้ทำ🔎อนันตริยกรรม ๔ ประการข้อใดข้อหนึ่ง คำว่า สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกิเลส นั้น หมายเอาสัตว์จําพวกที่เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ (คืออเหตุกทิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ และนัตถิกทิฏฐิ) ๑ จําพวกที่เป็นอุภโตพยัญชนกะ (คน ๒ เพศ) ๑ และจําพวกที่เป็นบัณเฑาะก์ (กะเทย) ๑ คำว่า สัตว์ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือวิบาก นั้น หมายเอาสัตว์จำพวกที่เป็นอเหตุกปฏิสนธิและที่เป็นทวิเหตุกปฏิสนธิ ( อเหตุกปฏิสนธิ แยกเป็น ๒ คือ อุเบกขาสันตีรณจิตฝ่ายอกุศล ๑ อุเบกขาสันตีรณจิตฝ่ายกุศล ๑ ฝ่ายอกุศลนั้นให้ปฏิสนธิในอบายภูมิเป็นทุคติบุคคล ฝ่ายกุศลให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ แต่เป็นคนบ้าใบ้บอดหนวกมาแต่กำเนิดเรียกว่าสุคติบุคคล ส่วนทวิเหตุกปฏิสนธินั้นได้แก่มหาวิบากจิตญาณวิปปยุต ๔ ดวง ให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ เป็นเหตุกบุคคลซึ่งมีปัญญาทึบ) คำว่า เป็นผู้ไม่มีศรัทธา หมายความว่า เป็นผู้เว้นแล้วจากความเชื่อในพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น คําว่า เป็นผู้ไม่มีฉันทะในการปฏิบัติธรรม หมายความว่า เป็นผู้เว้นแล้วจากกัตตุก้มยตาฉันทะในข้อปฏิบัติอันไม่เป็นข้าศึกคือในข้อปฏิบัติอันสมควรแก่มรรคได้แก่ในวิปัสสนาอันสมควรแก่อริยสัจ คำว่า เป็นผู้มีปัญญาทึบ หมายความว่าเป็นผู้เว้นแล้วจากโลกิยสัมมาทิฏฐิและโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ คำว่า เป็นอภัพพสัตว์ ไม่ควรเพื่อจะหยั่งลงสู่ธรรมนิยาม และภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย หมายความว่า เป็นผู้ไม่สมควรเพื่อที่จะหยั่งลงสู่อริยมรรคกล่าวคือธรรมนิยามและภาวะที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย ความจริงการที่ภาวนาไม่สําเร็จผลแก่สัตว์ผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรมเป็นต้นแม้แต่สักคนเดียวนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะในกสิณกัมมัฏฐานนี้อย่างเดียว แม้ในกัมมัฏฐานทั้งหลายอย่างอื่น ໆ ด้วย


🙏คําตักเตือนกุลบุตร
เพราะฉะนั้น กุลบุตรพุทธศาสนิกผู้ปราศจากเครื่องกั้นคือวิบากแล้ว พึงหลีกเว้นเครื่องกั้นคือกรรมและเครื่องกั้นคือกิเลสให้ห่างไกล แล้วจึงเพิ่มพูนศรัทธาฉันทะและปัญญาด้วยการตั้งใจฟังธรรมโดยเคารพ และด้วยการคบหาสมาคมกับสัตบุรุษคือผู้ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจเป็นต้น แล้วจึงลงมือบำเพ็ญเพียรในอันประกอบพระกัมมัฏฐานนั้นเถิด ฉะนี้แล  (คำว่า ปราศจากเครื่องกั้นคือวิบากแล้ว ได้แก่กุลบุตรผู้พ้นจากอเหตุกปฏิสนธิ และทวิเหตุกปฏิสนธิแล้วคือเกิดมาด้วยเหตุกปฏิสนธิมีปัญญาเปรื่องปราดสามารถที่จะบรรลุฌานหรือมรรคผลได้อยู่เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอย่าได้ทำอนันตริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และอย่าเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ จงทำการคบค้าสมาคมกับบัณฑิตและเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่าน แล้วลงมือบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานด้วยอุตสาหะวิริยภาพต่อไป)

จบ ปริจเฉทที่ ๕ ชื่อว่า เสสกสิณนิเทศ ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นไว้ เพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน ดังนี้


วันศุกร์

๑๐. ปริจฉินนากาสกสิณภาวนา

แม้ในปริจฉินนากาสกสิญภาวนานี้ เพราะมีคำพระบาลีในโบราณอรรถกถาว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาซึ่งอากาสกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอาซึ่งนิมิตในที่ว่าง ๆ คือที่รูฝาบ้าง ที่รูลูกดานบ้าง ที่ช่องหน้าต่างบ้าง ดังนี้ ฉะนั้นสำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอมรมมาแล้วแต่ในชาติปางก่อน เพียงแต่ที่ได้เห็นรูฝาเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นในทันที


วิธีภาวนาอากาสกสิณ
สำหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการเช่นนั้น ต้องเจาะที่หลังคาปะซึ่งมุงอย่างสนิท หรือเจาะช่องที่ผืนหนังและที่เสื่อลำแพนเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นช่องกว้างประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้วจึงลงมือภาวนาซึ่งช่องนั้นนั่นแหละ หรือช่องชนิดอื่นอันต่างด้วยช่องฝาเป็นต้น ด้วยบทภาวนาว่า อากาโส-อากาโส หรือว่า ที่ว่าง ที่ว่าง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป ในอากาสกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตย่อมปรากฏ เป็นเหมือนช่องที่กำหนดด้วยที่สุดรอบของฝา และอุคคหนิมิตแม้จะขยายก็ขยายไม่ได้เพราะภาวนายังมีกำลังน้อยอยู่ ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพคล้ายดวงกลมของช่องว่างนั้น และเมื่อขยายก็ขยายได้ คำที่เหลือนักศึกษาพึงทราบโดยนัยที่ได้พรรณนาไว้ใน🔎ปฐวีกสิณนั้นทุกประการ


จบปริจฉินนากาสกสิณ




วันพุธ

๙. อาโลกกสิณภาวนา

ก็แหละ ในอาโลกกสิณภาวนานี้ เพราะมีคำพระบาลีในโบราณอรรถกถาว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาอาโลกกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในแสงสว่าง คือ ที่ฝาบ้าง ที่รูลูกดานบ้าง ที่ช่องหน้าต่างบ้าง ฉะนี้ ดังนั้นสำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ในชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นดวงกลม ໆ ที่แสงพระอาทิตย์หรือแสงพระจันทร์ส่องฉายเข้าไปตามรูฝาเป็นต้นแล้วปรากฏติดอยู่กับฝาหรือที่พื้นนั้น ๆ หรือดวงกลม ๆ ที่แสงพระอาทิตย์หรือแสงพระจันทร์ส่องทะลุออกมาตามหว่างกิ่งไม้ที่มีใบหนาทึบหรือตามหว่างปะรำที่มุงด้วยกิ่งไม้อย่างหนาทึบ แล้วมาปรากฏติดอยู่กับพื้นนั้นนั่นแหละ อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ในทันที

วิธีภาวนาอาโลกกสิณ
ฝ่ายโยบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการเช่นนั้น ต้องลงมือภาวนาซึ่งดวงกลมของแสงสว่างซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วนั้น ด้วยคำภาวนาว่า โอภาโส-โอภาโส หรือว่า แสงสว่าง - แสงสว่าง ดังนี้ก็ได้ หรือว่า อาโลโก-อาโลโก ความสว่าง - ความสว่าง ดังนี้ก็ได้ ภาวนาเรื่อย ๆ ไป จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น แต่เมื่อโยคีบุคคลไม่สามารถจะทำให้อุคคหนิมิตเกิดขึ้นด้วยวิธีภาวนาซึ่งดวงกลมแห่งแสงสว่างเช่นนั้น พึงจุดตะเกียงใส่ไว้ในหม้อแล้วปิดปากหม้อเสีย เจาะรูที่ข้างหม้อแล้วเอาไปตั้งหันหน้ารูนั้นเข้าใส่ฝา แสงสว่างของตะเกียงก็จะส่องออกจากรูหม้อนั้นไปติดเป็นรูปวงกลมอยู่ที่ฝา โยคีบุคคลพึงภาวนาซึ่งดวงกลมนั้นนั่นแลว่า อาโลโก อาโลโก หรือว่า ความสว่างความสว่าง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป ดวงกลมของแสงตะเกียงนี้ย่อมตั้งอยู่ได้นาน มากกว่าดวงกลมของแสงพระอาทิตย์หรือแสงพระจันทร์นั้น ในอาโลกกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพเหมือนกับดวงกลมซึ่งติดอยู่ที่ฝาหรือที่พื้นนั่นแล ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพที่ใหญ่โตและสดใสมาก คล้าย ๆ กับก้อนแห่งแสงสว่าง คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วใน🔎นีลกสิณแล

คำแนะนำเพิ่มเติม
คำภีร์วิสุทธิมรรคนี้พระพุทธโฆสเถระ ท่านรจนาขึ้นก่อนที่โลกนี้จะมีไฟฟ้าใช้ราว ๑,๐๐๐ ปี ดังนั้นในยุคปัจปัจจุบันนี้ ท่านโยคาวจรทั้งหลายจะพึงใช้แสงจากไฟฉาย หรือใช้กระป๋องน้ำเจาะรูนำมาครอบหลอดไฟ, โคมไฟ เพื่อใช้แสงกำหนดกรรมฐานแทนก็ได้ 

จบอาโลกกสิณ



๘. โอทาตกสิณภาวนา

แม้ในโอทาตกสิณภาวนานี้ เพราะคำพระบาลีในโบราณอรรถกถาว่าเมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาโอทาตกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวัตถุ ที่มีสีขาว คือ ในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีโดยธรรมชาติบ้าง ดังนี้ สําหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นพุ่มไม้ดอกซึ่งกำลังมีดอกบานสะพรั่งอยู่เห็นปานนั้น หรือเห็นเครื่องตกแต่งด้วยดอกไม้ เช่น ดอกมะลิ เป็นต้น หรือเห็นกองแห่งดอกบัวขาว หรือเห็นผ้าขาว และสีขาวธรรมชาติ อย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น แม้ในแผ่นกลมแห่งดีบุก แผ่นกลมแห่งเงินและในดวงจันทร์อุคคหนิมิตก็เกิดขึ้นได้เหมือนกันนั่นเทียว

วิธีภาวนาโอทาตกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้น ต้องสร้างกสิณขึ้นเอง คือ เอาดอกไม้สีขาวซึ่งมีประการดังกล่าวมาแล้ว เอาผ้าขาว หรือเอาสีขาวธรรมชาติ มาทำให้เป็นดวงกสิณตามนัยดังที่ได้พรรณนามาแล้วในนีลกสิญภาวนานั่นแล ครั้นทำกสิณเสร็จแล้วจึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า โอทาตํ - โอทาตํ หรือว่า สีขาว -สีขาว ดังนี้เรื่อย ๆ ไปร้อยครั้ง หรือพันครั้ง หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้นนั่นเทียว คำที่เหลือเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วในนี้ลูกสิณทุกประการ

คำแนะนำเพิ่มเติม
ในบรรดากสิณสีทั้ง ๔ กองนี้ มี 🔎นีลกสิณ (กสิณสีเขียว) 🔎ปีตกสิณ (กสิณสีเหลือง) 🔎โลหิตกสิณ (กสิณสีแดง) โอทาตกสิณ (กสิณสีขาว) พระพุทธองค์ทรงยกย่องโอทาตกสิณ กสิณสีขาวนี้ว่าเลิศกว่ากสิณสีอื่นๆ เพราะทำให้จิตใจของผู้ที่เจริญกสิณนั้นผ่องใส ไม่เซื่องซึมง่วงเหงา ทั้งยังทำให้ผู้เจริญกสิณนี้ทราบเหตุการณ์ต่างๆคล้ายผู้ทรงอภิญญาทั้งที่ยังไม่ได้อุคคหนิมิต

จบโอทาตกสิณ

วันศุกร์

๗. โลหิตกสิณภาวนา

แม้ในโลหิตกสิณภาวนาก็มีนัยเช่นเดียวกันนั่นแล เพราะเหตุที่ท่านโบราณอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาโลหิตกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวัตถุที่มีสีแดง คือ ในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีโดยธรรมชาติบ้าง ดังนี้ ฉะนั้น แม้ในโลหิตกสิณภาวนานี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ในชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นกอไม้ดอกซึ่งกำลังออกดอกบานสะพรั่ง เช่น ดอกชบาเป็นต้นเห็นปานนั้น หรือเห็นเครื่องตกแต่งดอกไม้ในที่บูชาหรือเห็นสีธรรมชาติ คือ ผ้าและแก้วสีแดง อย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น

วิธีภาวนาโลหิตกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้นต้องสร้างกสิณขึ้นเอง คือ เอาดอกไม้เช่นดอกชัยพฤกษ์ ดอกชบา และดอกไม้ที่มีสีแดง หรือเอาผ้าแดง หรือเอาสีธรรมชาติ เช่น ดินสอแดงหรือสีแดงชาดมาทำเป็นดวงกสิณ โดยนัยดังที่ได้แสดงไว้ใน🔎นีลกสิณภาวนานั่นแล ครั้นทำกสิณเสร็จแล้ว แต่นั้นจึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า โลหิตกํ โลหิตกํ หรือว่า สีแดง สีแดง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วใน🔎ปฐวีกสิณทุกประการนั่นแล

จบโลหิตกสิณ

๖. ปีตกสิณภาวนา

แม้ในปีตกสิณภาวนาก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ เพราะเหตุที่ท่านโบราณอรรถกถาจารย์แสดงไว้ว่า โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอาปิตกสิณ โดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้นย่อมถือเอานิมิตในวัตถุมีสีเหลือง คือในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีธรรมชาติบ้าง ฉะนั้น แม้ในปีตกสิณภาวนานี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการ อันได้สร้างสมอบรมมาแต่ชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นกอไม้ดอกซึ่งมีดอกบานสะพรั่งเห็นปานนั้น หรือเห็นที่ตกแต่งดอกไม้ในที่บูชา หรือเห็นผ้าหรือธาตุสีเหลือง อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นแก่ท่านจิตตคุตตเถระ ได้ยินว่า เมื่อท่านจิตตคุตตเถระนั้นเห็นอาสนะบูชาที่ทำด้วยดอกจันทน์เหลืองในวัดจิตดลบรรพตวิหาร อุคคนิมิตประมาณเท่ากับอาสนะบูชาได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านพร้อมกับการที่ได้เห็นนั่นเที่ยว

วิธีทำปีตกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้น จึงสร้างดวงกสิณขึ้นด้วยดอกกรรณิการ์หรือด้วยผ้าสีเหลืองหรือด้วยธาตุสีธรรมชาติ โดยนัยดังที่ได้แสดงมาแล้วใน🔎นีลกสิณภาวนา นั่นแล แต่นั้นจึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า ปีตกํ ปีตกํ หรือว่า สีเหลือง สีเหลือง ฉะนี้ คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วใน🔎ปฐวีกสิณทุกประการนั่นแล

จบปีตกสิณ



๕. นีลกสิณภาวนา

ก็แหละ ลำดับต่อจาก🔎วาโยกสิณภาวนานั้น เพราะมีคำพระบาลีของโบราณอรรถกถาอยู่ว่า โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอานีลกสิณ โดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้นย่อมถือเอานิมิตในวัตถุมีสีเขียว คือ ในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีธรรมชาติบ้าง ดังนี้ สําหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแล้วแต่ชาติปางก่อนนั้นเพียงแต่ได้เห็นกอดอกไม้ซึ่งมีดอกบานสะพรั่งเห็นปานนั้น หรือเห็นที่ตกแต่งดอกไม้ ณ สถานที่บูชา หรือเห็นผ้าเขียวและแก้วเขียวอย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้

วิธีทำนีลกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้น ต้องทำกสินขึ้นเอง ต้องไปเก็บเอาดอกไม้ เช่น ดอกบัวเขียว และดอกกรรณิการ์เขา เป็นต้น เอามาจัดใส่ให้เต็มตะกร้าหรือฝาสมุกพอเสมอขอบปาก เอาแต่กลีบดอกล้วน ๆ โดยที่ไม่ให้มีเกสร หรือก้านปรากฏให้เห็นเลย อีกอย่างหนึ่ง จึงเอาผ้าสีเขียวมาม้วนให้เป็นห่อแล้ว บรรจุใส่
ให้เต็มเสมอขอบปากของตะกร้าหรือฝาสมุกนั้น หรือเอาผ้าสีเขียวนั้นมาผูกขึงที่ปากขอบของตะกร้าหรือฝาสมุกนั้นให้ตึงเหมือนอย่างหน้ากลองก็ได้ อีกแบบหนึ่ง จึงเอาธาตุสีธรรมชาติอย่างหนึ่งอย่างใดในบรรดาสีเขียวสัมฤทธิ์ สีเขียวใบไม้ และสีเขียวดอกอัญชัญ มาทาทำเป็นดวงกสิณ ชนิดที่เคลื่อนที่ได้หรือชนิดที่ติดอยู่กับฝา แล้วทาตัดด้วยสีที่ไม่กลืนกัน โดยทำนองดังที่แสดงมาแล้วใน🔎ปฐวีกสิณนั่นแลไม้เหล่านี้มีดอกสีเขียวแก่หรือสีฟ้าโดยธรรมชาติ

วิธีภาวนานีลกสิณ
ครั้นทำกสิณเสร็จแล้ว แต่นั้นโยคีบุคคลพึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า นีล - นีล หรือว่า สีเขียว สีเขียว ฉะนี้ โดยนัยดังที่ได้แสดงไว้ในปฐวีกสิณ แม้ในนีลกสิณภาวนานี้ ในขั้นอุคคหนิมิต โทษแห่งกสิณยังปรากฏให้เห็นอยู่ คือ เกสร ก้าน และระหว่างกลีบเป็นต้นย่อมปรากฏ ส่วนปฏิภาคนิมิตพ้นไปจากโทษกสิณย่อมปรากฏ เป็นเช่นกับตาลปัตรแก้วมณีที่อยู่กลางแจ้ง คำที่เหลือนักศึกษาจึงทราบโดยนัยที่ได้พรรณนามาแล้วข้างต้นนั่นเทียว

จบนีลกสิณ


วันพุธ

๔. วาโยกสิณภาวนา

🙏 ๔. วาโยกสิณภาวนา

แม้โยคีบุคคลผู้ประสงค์จะภาวนาซึ่งวาโยกสิณกัมมัฏฐานนั้น จึงพยายามจับเอาซึ่งนิมิตในลม ก็แหละ นิมิตนั้นจะพึงจับเอาได้ด้วยสามารถที่ได้เห็นหรือได้ถูกต้อง เพราะเหตุที่ท่านอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในคัมภีร์อรรถกถาทั้งหลายว่า โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอาวาโยกสิณ โดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในลม คือ ย่อมกำหนดยอดอ้อยที่ลมพัดเอนไป เอนราบไปพร้อม ๆ กัน หรือกำหนดยอดไผ่ที่ลมพัดเอนไป เอนราบไปพร้อม ๆ กัน หรือกำหนดยอดไม้ที่ลมพัดเอนไป เอนราบไป หรือกําหนดปลายผม ลมพัดให้ล้มลงให้ล้มราบลง หรือกำหนดตรงที่ลมมาถูกต้องกาย ฉะนั้น โยคีบุคคลครั้นได้เห็นอ้อยหรือไผ่หรือต้นไม้ซึ่งมีใบหนาขึ้นอยู่อย่างมียอดเสมอกัน ถูกลมพัดอยู่ก็ดี หรือได้เห็นศีรษะของบุรุษผู้มีผมดกยาวประมาณ ๔ องคุลี ถูกลมพัดอยู่ก็ดี จึงตั้งสติไว้ว่า ลม ย่อมพัดถูก ณ ที่ตรงนั้นหรือพึ่งตั้งสติไว้ตรงที่ที่ลมพัดเข้าทางช่องหน้าต่าง หรือทางรูฝาแล้วมากระทบประเทศของกายครั้นแล้วในบรรดาชื่อของลมทั้งหลาย เช่น วาโต, มารุโต, อนิล เป็นต้น ซึ่งภาวนาด้วยสามารถแห่งชื่อที่ปรากฏรู้จักกันเป็นส่วนมากเท่านั้นว่าวาโต - วาโต หรือว่า ลม ลม ดังนี้เรื่อย ๆ ไป



ลักษณะอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต
ในวาโยกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตมีลักษณะคล้ายกับเกลียวไอของข้าวต้มที่ปลงลงจากเตาใหม่ ๆ ย่อมปรากฏเป็นสภาพเคลื่อนไหวได้ ส่วนปฏิภาคนิมิตเป็นสภาพสงบนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหวเหมือนอุคคหนิมิต คำที่เหลือนักศึกษาพึงทราบโดยนัยที่ได้พรรณนามาแล้วใน 🔎ปฐวีกสิณภาวนานั้นนั่นเทียว

จบวาโยกสิณ

๓. เตโชกสิณภาวนา

 🙏 ๓. เตโชกสิณภาวนา

แม้โยคีบุคคลผู้ประสงค์จะภาวนาซึ่งเตโชกสิณกัมมัฏฐานนั้น ก็พึงจับเอานิมิตในไฟ ในโยบุคคล ๒ จําพวกนั้น สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแล้วแต่ในชาติปางก่อน เมื่อจับตาเอานิมิตในไฟที่เป็นอยู่เองตามธรรมดา คือเพ่งดูเปลวไฟในที่ใดที่หนึ่ง คือ ที่เปลวตะเกียง ที่เตาไฟ ที่กองไฟสําหรับระบมบาตรหรือที่ไฟไหม้ป่า อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นแก่ท่านจิตตคุตตเถระ ท่านจิตตคุตตเถระนั้นเข้าไปในโรงอุโบสถในวันธรรมสวนะ ขณะที่ท่านเพ่งดูเปลวตะเกียงอยู่นั่นแล อุคคหนิมิตได้เกิดขึ้นแล้ว

วิธีทําเตโชกสิณ
ส่วนโยบุคคลผู้ไม่ได้สร้างสมอบรมบุญญาธิการมาแต่ในชาติปางก่อน ต้องทํากสิณขึ้นเอง วิธีทำเตโชกสิณนั้นดังนี้ คือ เอาไม้แก่นชนิดที่มียางมาผ่าตากแดดให้แห้งแล้วตัดทอนเป็นท่อน ๆ แล้วเอาไปที่โคนไม้หรือที่ปะรำอันเหมาะสม ทำไม้นั้นให้เป็นกองโดยอาการเหมือนจะระบมบาตร ติดไฟให้ลุกแล้วจึงเจาะช่องกลม ๆ ที่เสื่อลำแพนหรือที่ผืนหนัง หรือที่ผืนผ้า ขนาดโต ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้วยกไปตั้งข้างหน้ากองไฟนั้น

วิธีภาวนาเตโชกสิณ
โยคีบุคคลพึงนั่งเข้าที่ โดยทำนองดังที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นแล แต่นั้นอย่าได้มนสิการถึงหญ้าและฟื้นข้างล่าง หรืออย่ามนสิการถึงเปลวควันข้างบน จึงจับตาเอานิมิตในเปลวไฟอันหนาทึบตรงระหว่างกลางนั้น อย่าพิจารณาถึงสีของไฟด้วยสามารถแห่งสีเขียวหรือสีเหลืองเป็นต้น อย่ามนสิการถึงลักษณะด้วยสามารถเป็นสภาวะที่ร้อนจึงวางจิตไว้ในคำบัญญัติ ด้วยอำนาจธาตุไฟซึ่งเป็นสิ่งที่มีมากกว่า พร้อมกับสีอันเป็นที่อาศัยเท่านั้น ในบรรดาชื่อของไฟทั้งหลาย เช่น ปาวโก, กณหวตตนิ, ชาตเวโท, หุตาสโน เป็นต้น ซึ่งภาวนาด้วยสามารถชื่อที่ปรากฏรู้กันเป็นส่วนมากเท่านั้นว่า เตโช เตโช หรือว่า ไฟ-ไฟ ดังนี้เรื่อย ๆ ไป


ลักษณะอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต
เมื่อโยคีบุคคลนั้นพยายามภาวนาอยู่โดยทำนองนี้เรื่อย ๆ ไปนั่นแล อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตทั้ง ๒ ก็จะเกิดขึ้นโดยลำดับ ตามทำนองที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นเที่ยว ในนิมิต ๒ อย่างนั้น อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นเหมือนเปลวไฟขาดตกหายไป ๆ แต่เมื่อจับเอานิมิตในไฟที่เป็นอยู่เองตามธรรมดาแล้ว (จิตไม่จับไปตรงไฟอย่างเดียว ไปมนัสสิการอย่างอื่นเข้ามาด้วย) โทษแห่งกสิณย่อมจะปรากฏให้เห็น กล่าวคือลูกไฟบ้าง ก้อนถ่านบ้าง ขี้เถ้าบ้าง ควันบ้าง ก็จะปรากฏขึ้น ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นสภาวะที่ไม่เคลื่อนไหว ย่อมปรากฏเหมือนท่อนผ้ากัมพลแดงที่อยู่กลางแจ้ง และเหมือนตาลปัตรทองคำ หรือเหมือนเสาทอง โยคีบุคคลนั้นย่อมจะบรรลุถึงซึ่งอุปจารฌานพร้อมกับการปรากฏขึ้นแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นทีเดียว และย่อมจะบรรลุถึงซึ่งฌาน ๔ และฌาน ๕ โดยนัยดังที่ได้พรรณนามาแล้วนั่นแล

จบเตโชกสิณ

๒. อาโปกสิณภาวนา

ปริจเฉทที่ ๕ เสสกสิณนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญกสิณ ที่เหลืออีก ๙ ประการ

🙏 ๒. อาโปกสิณภาวนา

ก็แหละ 🔎ปฐวีกสิณกัมมัฏฐาน ฉันใด แม้อาโปกสิณกัมมัฏฐานก็ทำนองเดียวกันกล่าวคือ โยคีบุคคลผู้ประสงค์จะภาวนาอาโปกสิณกัมมัฏฐานนั้น จึงนั่งคู่บัลลังก์ตั้งกายให้ตรงแล้วจับเอานิมิตในน้ำ วิธีการทั้งปวงในอาโปกสิณนี้ เช่น อาโปกสิณที่สร้างขึ้น หรืออาโปกสิณที่เป็นอยู่เองตามธรรมดาเป็นต้น นักศึกษาพึงทราบความพิสดารโดยนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปฐวีกสิณนั้นทุกประการ แหละในอาโปกสิณนี้ ฉันใด ในกสิณต่อ ໆ ไปทั้งหมดก็เหมือนกัน เบื้องหน้าแต่นี้ไป อรรถาธิบายเช่นนี้ข้าพเจ้าจักไม่พรรณนาซ้ำอีก จักพรรณนาแต่เฉพาะที่ต่างกันเท่านั้น

อาโปกสิณที่เป็นเอง
แม้ในอาโปกสิณกัมมัฏฐานนี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแล้วแต่ในชาติปางก่อนนั้น อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ในน้ำที่เป็นอยู่เองตามธรรมดาคือ ในสระ ในบึง ในทะเลสาบ หรือในมหาสมุทร เหมือนกับที่เกิดขึ้นแก่ท่านจูฬสิวเถระ ได้ยินว่า ท่านจูฬสิวเถระนั้นสละทิ้งลาภและสักการะด้วยตั้งใจว่า จักไปพักอยู่อย่างเงียบ ๆ จึงไปขึ้นเรือที่ท่าใหญ่ไปยังชมพูทวีป ได้เพ่งดูน้ำในมหาสมุทรไป ในระหว่างทางกสิณนิมิตคล้ายกับน้ำมหาสมุทรนั้นได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่าน ด้วยประการฉะนี้

วิธีทําอาโปกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ที่ไม่ได้สร้างสมอบรมบุญญาธิการมาแต่ในชาติปางก่อน เมื่อจะทำอาโปกสิณต้องหลีกเลี่ยงโทษแห่งกสิณ ๔ อย่าง คือ อย่าเอาน้ำที่มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จึงเอาน้ำฝนที่รองรับเอาด้วยผ้าสะอาดในกลางแจ้งซึ่งยังไม่ทันจะตกถึงพื้นดิน หรือน้ำอย่างอื่น ๆ ที่ใสสะอาดปราศจากโทษเหมือนอย่างน้ำฝนนั้น มาใส่ให้เต็มเสมอขอบปากบาตรหรือคนโท แล้วเอาไปตั้งไว้ ณ โอกาสลับ ๆ ตรงท้ายวัดซึ่งมีประการดังกล่าวมาแล้วในปฐวีกสิณภาวนานั้น

วิธีภาวนาอาโปกสิณ
ครั้นแล้วโยคีบุคคลพึงนั่งคู่บัลลังก์ตั้งกายให้ตรงแล้วอย่าพิจารณาถึงสีของน้ำ อย่ามนสิการถึงลักษณะของน้ำซึ่งมีลักษณะไหลซึมซาบและเกาะกุม จึงวางจิตไว้ในคำบัญญัติด้วยอำนาจธาตุน้ำซึ่งเป็นสิ่งที่มีมากกว่า พร้อมกับสีอันเป็นที่อาศัยเท่านั้น แล้วพึงภาวนาด้วยสามารถชื่อที่ปรากฏรู้กันโดยมากว่า อาโป อาโป หรือว่า น้ำ น้ำ ดังนี้ ในบรรดาชื่อของน้ำทั้งหลาย คือ อมพุ, อุทก, วาร, สลิล เป็นต้น

ลักษณะอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต
เมื่อโยคีบุคคลนั้นพยายามภาวนาอยู่โดยทำนองนี้เรื่อย ๆ ไป อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตทั้ง ๒ ก็จะบังเกิดขึ้นโดยลำดับ โดยนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปฐวีกสิณนั้นนั่นแล แต่ว่าในอาโปกสิณนี้ อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นดุจกระเพื่อมอยู่ ถ้าน้ำมีฟองและต่อมเจือปน อุคคหนิมิตจะปรากฏเป็นเช่นนั้นนั่นเทียว โทษแห่งกสิณย่อมปรากฏให้เห็น ส่วนปฏิภาคนิมิตนั่นย่อมปรากฏเป็นสภาพที่นิ่ง เหมือนตาลปัตรแก้วมณีที่ปักไว้กลางแจ้ง และเหมือนวงกลมกระจกเงาที่ทำด้วยแก้วมณี ฉะนั้น โยคีบุคคลนั้น ย่อมจะบรรลุถึงซึ่งอุปจารฌานพร้อมกับด้วยการปรากฏขึ้นแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล และย่อมจะได้บรรลุถึงซึ่งฌาน ๔ และฌาน ๕ โดยทำนองดังที่พรรณนามาแล้วในปฐวีกสิณนั่นเทียว

จบอาโปกสิณ

วันอังคาร

ความกล้าหาญในทางสันติ

เรื่องไม่จบแค่นั้น ยังต้องย้อนกลับไปท้วงติงมติของผู้รู้ทั้งฝรั่งและอินเดียเพิ่มอีกแง่หนึ่ง คือที่ผู้รู้เหล่านั้นบอกว่า พระเจ้าอโศกสอนธรรมที่เป็นกลาง ซึ่งทุกศาสนายอมรับได้นั้น จริงหรือ? ในการพิจารณาแนวพระราชดำริของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น นอกจากข้อสำคัญที่ ๑ คือสถานะแห่งความเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่แล้ว ข้อที่ ๒ ก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน โดยเฉพาะในแง่ที่เป็นตัวกำหนดทิศทาง ข้อที่ ๒ นั้น ก็คือ จุดเปลี่ยนในพระชนมชีพของพระองค์ เมื่อสงครามพิชิตแคว้นกลิงคะ ทำให้ทรงสลดพระทัยต่อความทุกข์ยาก เดือดร้อนของประชาชนนั้น มันไม่เพียงทำให้ทรงละเลิกการรุกรานทำสงครามเท่านั้น แต่กลายเป็นแรงเหวี่ยงพระองค์ไปในทางตรงข้ามแทบจะสุดทาง คือทำให้ทรงละเลิกการเบียดเบียนทุกอย่าง แม้กระทั่งการทำลายชีวิตสัตว์เล็กสัตว์น้อย และหันมามุ่งในการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์

ข้อที่ ๒ นี้ กลายเป็นตัวกำกับข้อที่ ๑ ด้วย โดยทำให้หลักการปกครองอาณาจักร (หรือเรียกให้เข้ากับคำฝรั่ง คือ Empire ว่าจักรวรรดิ) เปลี่ยนจากอรรถศาสตร์ ของพราหมณ์จาณักยะ ที่นำทางนโยบายของพระอัยกาจันทรคุปต์ มาสู่จักกวัตติสูตรของพระพุทธเจ้าเป็นต้น  จากวิชัยที่เป็นการชนะด้วยสงคราม ซึ่งอย่างดีที่สุดคือธรรมวิชัย ตามความหมายของอรรถศาสตร์ อันหมายถึงการรบชนะอย่างมีธรรม ที่เมื่อชนะแล้วไม่ทำการทารุณโหดร้าย เพียงให้ยอมอยู่ใต้อำนาจ พระเจ้าอโศกเปลี่ยนมาหาธรรมวิชัยตามความหมายของจักกวัตติสูตร อันหมายถึงชัยชนะด้วยธรรม คือการทําความดีสร้างสรรค์ประโยชน์สุข

อย่างไรก็ดี แม้ว่านโยบายธรรมวิชัยจะนำทางการปกครองอย่างครอบคลุม แต่เห็นได้ว่ามีจุดเน้นอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงต้องถามว่าหลักการใดนำทางการปกครองภายในของพระเจ้าอโศกไม่ต้องพูดถึงหลักการและประเพณีต่างๆ จนแม้กระทั่งเรื่องปลีกย่อย ที่พระเจ้าอโศกทรงเลิกและเปลี่ยนจากหลักในอรรถศาสตร์ เช่น จากวิหารยาตรา ที่ราชาเสด็จไปทรงพักผ่อนหาความสนุกสำราญและล่าสัตว์ เปลี่ยนมาเป็นธรรมยาตรา ที่องค์ราชาเสด็จไปทรงนมัสการพระสงฆ์ ถวายทาน เยี่ยมเยียนท่านผู้เฒ่าชราและราษฎรในชนบท สั่งสอนสนทนาธรรม พร้อมทั้งพระราชทานความช่วยเหลือ

จากสมาช* ที่เป็นงานชุมนุมของราษฎรเพื่อความสนุกสนานด้วยการเสพสุรายาเมา เอาสัตว์ต่างๆ มาแข่งขันและต่อสู้กัน เป็นต้น เปลี่ยมาเป็นวิมานทรรศน์ คือนิทรรศการสิ่งที่ดีงามสวยงามงดงามประณีต 
มีศิลปะที่ชักนำจิตใจในทางแห่งคุณธรรมและเจริญจิตเจริญปัญญาเป็นต้น จากพิธีมงคล มาเป็นธรรมมงคล จากเภรีโฆษ คือเสียงกลองศึก มาเป็นธรรมโฆษ คือเสียงนัดหมายเชิญชวนมาฟังธรรมหรือทำกิจกรรมที่ดีงาม 
👉 <ในคำว่า สมัชชาภิจรณะ ซึ่งแปลกันมาว่า "เที่ยว การเล่น” อันเป็นข้อที่ ๓ แห่งอบายมุข ๖ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของคำและความที่ควรเทียบ: “สมาช” ตรงกับที่ในพระไตรปิฎกใช้ว่า “สมัชชา ในสิงคาลกสูตร อันเป็นวินัยของคฤหัสถ์ (ที.ปา.๑๑/๑๘๑) และทรงแสดงตัวอย่างไว้ ดังที่ท่านแปลให้เข้ากับเรื่องของไทยว่า ฟ้อนรํา ขับร้อง ดนตรี เสภา เพลง เถิดเทิง (เวลานี้ อาจต้องแปลใหม่ให้เข้ากับสภาพปัจจุบัน) พึงสังเกตว่า รามายณะ ก็ดี อรรถศาสตร์ ก็ดี ให้ส่งเสริม สมาช นี่แก่ราษฎร โดยถือว่าจะช่วยให้ราษฎรเกิดความนิยมชมชอบต่อรัฐ (ทำให้พลเมืองของรัฐที่แพ้หันมาชอบผู้ชนะ)พูดง่ายๆ ว่าใช้เป็นสิ่งกล่อม แต่พระเจ้าอโศกไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนแบบนี้ กลับให้เลิกเสีย>

พระเจ้าอโศกทรงดำเนินไปไกลที่จะไม่ให้มีการเบียดเบียนชีวิตใดๆ เลย ถึงกับทรงทำเป็นตัวอย่างในการเลิกเสวยเนื้อสัตว์ อันอาจเป็นที่มาของอาหารมังสวิรัติของคนรุ่นหลัง ดังความในจารึกศิลาฉบับที่ ๒ ว่า ธรรมโองการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้โปรดให้จารึกไว้ 
ณ ถิ่นนี้ บุคคลไม่พึงฆ่าสัตว์มีชีวิตใดๆ เพื่อการบูชายัญ ไม่พึงจัดงานชุมนุมเพื่อการเลี้ยงรื่นเริง (สมาช) ใดๆ เพราะว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมองเห็นโทษเป็นอันมากในการชุมนุมเช่นนั้น ก็แลการชุมนุมบางอย่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงเห็นชอบว่าเป็นสิ่งที่ดี มีอยู่อีกส่วนหนึ่ง (ต่างหาก) แต่ก่อนนี้ ในโรงครัวหลวงของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ สัตว์ได้ถูกฆ่าเพื่อทำเป็นอาหาร วันละหลายแสนตัว ครั้นมาในบัดนี้ เมื่อธรรมโองการนี้อันพระองค์โปรดให้จารึกแล้ว สัตว์เพียง ๓ ตัวเท่านั้นที่ถูกฆ่า คือ นกยูง ๒ ตัว และเนื้อ ๑ ตัว ถึงแม้เนื้อนั้นก็มิได้ถูกฆ่าเป็นประจำ ก็แลสัตว์ทั้งสามนี้ (ในกาลภายหน้า) ก็จักไม่ถูกฆ่าอีกเลย

ในที่นี้ จะไม่พูดถึงเรื่องซึ่งในระดับการแผ่นดินถือได้ว่าเป็นข้อปลีกย่อยหรือเฉพาะอย่าง ที่ได้เอ่ยอ้างมาเหล่านี้ แต่พอดีว่าหลักการสำคัญที่นำทางการปกครองภายในของพระเจ้าอโศก ก็ปรากฏอยู่ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๒ นี้ด้วยเรื่องนี้คนทั่วไปอาจจะนึกไม่ถึง นั่นก็คือเรื่องการบูชายัญที่ท่านผู้รู้หลายท่าน ทั้งฝรั่งและอินเดียบอกว่า พระเจ้าอโศกสอนธรรมที่เป็นกลาง ซึ่งทุกศาสนายอมรับได้นั้น ที่จริงก็รู้กันอยู่ว่า ในชมพูทวีปตั้งแต่ก่อนมานานจนบัดนั้น ถึงจะมีศาสดาเจ้าลัทธิมากมาย แต่ศาสนาที่ครอบงำสังคมอินเดีย ด้วยระบบวรรณะ และการบูชายัญเซ่นสรวงแต่มวลเทพ ตามกำหนดแห่งพระเวท เป็นใหญ่อยู่ ก็คือศาสนาพราหมณ์ (ไม่ต้องพูดว่าทุกศาสนายอมรับได้ แต่ควรจะถามว่าพราหมณ์รับได้ไหม) สิ่งที่พระเจ้าอโศกทําอย่างสำคัญก็คือ การห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ แล้วอย่างนี้ ศาสนาพราหมณ์จะยอมรับได้อย่างไร?


การห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ นี้ อโศกมหาราชทรงสอนและประกาศไว้ในศิลาจารึกหลายวาระหลายฉบับ (เช่น จารึกศิลา ฉบับที่ ๑ ที่ ๔และที่ ๑๑) เป็นหลักการใหญ่ของพระองค์ พูดได้ว่าทรงเอาจริง เพราะเป็นจุดเปลี่ยนของพระองค์เองที่จะเน้นนี่คือการตีแสกหน้าของพราหมณ์ เป็นการหักล้างไม่เพียงลัทธิความเชื่อของเขาเท่านั้น แต่สั่นสะเทือนสถานะและทำลายผลประโยชน์ของพราหมณ์โดยตรง ดังที่พวกพราหมณ์ได้เก็บอัดความคั่งแค้นไว้ ในที่สุดพราหมณ์ปุษยมิตรก็โค่นราชวงศ์โมริยะลง ตั้งราชวงศ์ศุงคะ แล้วที่ชัดคือพราหมณ์ปุษยมิตรที่ตั้งตัวเป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์พราหมณ์นั้น นอกจากห้ำหั่นบีฑาชาวพุทธแล้วก็ได้รื้อฟื้นพิธีบูชายัญอันยิ่งใหญ่คืออัศวเมธขึ้นมาเพื่อประกาศศักดานุภาพ การบูชายัญที่เงียบหายไปหลายร้อยปี ก็กลับเฟื่องฟูขึ้นอีก ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนที่ฝรั่งอังกฤษผู้เข้ามายึดอินเดียเป็นอาณานิคมปกครองไว้ จะเปิดเผยเรื่องพระเจ้าอโศกขึ้นมานั้น คนอินเดียไม่รู้จักพระเจ้าอโศกเลย แม้แต่พระนามก็ไม่เคยได้ยิน พระเจ้าอโศกถูกอินเดียลืมสนิท เรื่องพระเจ้าอโศกเหลืออยู่เพียงในคัมภีร์พุทธศาสนา

การที่เรื่องพระเจ้าอโศกหายไปนั้น คงไม่ใช่เพียงเพราะการรุกรานทำลายของกองทัพมุสลิมเท่านั้น แต่ได้ถูกพราหมณ์พยายามทำให้สลายมาก่อน ทั้งที่พระเจ้าอโศกไม่เพียงยกย่องพราหมณ์ให้รับราชการมีตำแหน่งสำคัญในการแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังได้เน้นไว้เสมอในศิลาจารึกให้ปฏิบัติชอบและถวายทานแก่สมณพราหมณ์ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก แต่พราหมณ์ก็อดเคียดแค้นไม่ได้ ในเมื่อพระเจ้าอโศกไม่ยอมรับอภิสิทธิ์ของพราหมณ์ตามระบบวรรณะ และที่สำคัญที่สุดคือได้ทรงห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ (เท่ากับเลิกล้มพิธีบูชายัญ) ดังนั้น เรื่องจึงเป็นมาอย่างที่ท่านผู้รู้ของอินเดียเองเขียนไว้ (BK 
Mukherjee, Asoka, 105, 108-9) ว่า แม้แต่พระนาม “เทวานามปริยะ” ก็ได้ถูกนักไวยากรณ์พราหมณ์ในสมัยต่อมา พยายามอธิบายให้มีความหมายเป็นคนโง่เขลา เนื่องจากอคติของพราหมณ์ต่อพระมหากษัตริย์ชาวพุทธที่โดดเด่นที่สุดเสมือนว่า พราหมณ์ไม่เพียงขุดโค่นพระเจ้าอโศกเท่านั้น แต่อินเดียได้ขุดหลุมฝังพระเจ้าอโศกและกลบให้ลับหายสนิท จนกระทั่งอังกฤษขุดคุ้ยหลุมนั้นออกให้เห็นพระเจ้าอโศกในเวลาประมาณ ๑,๕๐๐ ปีต่อมา จึงกลายเป็นว่า ปฏิบัติการที่เป็นความกล้าหาญในทางสันติของพระเจ้าอโศกดังว่ามานี้ เป็นสิ่งที่ยากจะรักษาไว้ให้คงอยู่ได้ยั่งยืน 



วันพฤหัสบดี

เทียบกันแล้ว ควรสรุปได้

จากหลักฐานและเรื่องราวที่ยกมาดูกันนี้ จะเห็นว่า โดยทั่วไปพระเจ้าอโศกทรงสอนธรรม แบบไม่ออกชื่อของหลักธรรมหรือของหัวข้อธรรม (ถ้าทรงเรียกชื่อหัวข้อธรรมออกมา ราษฎรที่อยู่กระจายห่างกันไปทั่ว ส่วนใหญ่ก็คงไม่รู้เรื่องหรือสื่อกันยาก)

พระองค์ตรัสออกชื่อธรรมเพียงไม่กี่อย่าง เมื่อจะเน้นออกมาเฉพาะที่เป็นคำที่รู้ๆ กัน หรือง่ายๆ แต่ที่ทรงสอนเอาจริงเอาจังและตรัสอยู่เสมอ ก็คือธรรมที่เป็นการปฏิบัติต่อกันระหว่างคนในหมู่ชน ทำนองเดียวกับพระสูตรในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนคฤหัสถ์ กลายเป็นว่า พระเจ้าอโศกนั่นแหละทรงแม่นยำว่า ในฐานะพุทธมามกะ เมื่อเป็นราชาปกครองบ้านเมืองจะสอนธรรมส่วนไหนอย่างไร และคนที่ไม่เข้าใจเพราะจับจุดจับหลักไม่ได้ ก็คือท่านผู้รู้ทั้งชาวอินเดียและฝรั่งนั่นเอง คงต้องพูดว่า พระเจ้าอโศกมิใช่จะทรงริเริ่มจัดตั้งหลักธรรมสากลหรือศาสนาสากล ที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า universal religion แต่อย่างใด ที่แท้นั้นพระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ในความเป็น universal ruler หรือ universal monarch ตามคติจักกวัตติ/จักรวรรดิราชา  (Cakkavatti/Cakravartin) ดังที่ได้ทรงประกาศหลักธรรมวิชัย ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นจักรพรรดิราช คำศัพท์ในวงเล็บทั้งหมดนี้ พึงทราบว่า ไม่ใช่รูปเดิมในศิลาจารึก แต่เป็นการถอดรูปออกมา และเขียนเทียบเป็นคำภาษาบาลี เพื่อให้ได้ประโยชน์ในการศึกษามากขึ้น เช่น ข้อ ๒ ที่ถอดเป็น “อัคคบริกา” นั้น คำในจารึกเป็น "อคาย ปลีขาย) แต่ที่นี่มิใช่โอกาสที่จะอธิบายมากกว่านี้


ตามความในพระสูตรทั้งหลายนั้นความจริง พระพุทธศาสนาถือว่าธรรมเป็นสากลในตัวของมันเองอยู่แล้ว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธรรมก็มีก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ตถาคตเพียงมาค้นพบธรรมนั้น แล้วนำมาบอกเล่าประกาศให้รู้กัน" จึงไม่มีปัญหาที่จะต้องมาพูดในเรื่องนี้ เวลามีคนมาซักถามพระพุทธเจ้า บางทีเขาทูลว่า อาจารย์คนโน้นเก่งอย่างนั้น คนนั้นเก่งอย่างนี้ คนนี้สอนว่าอย่างนั้น คนนั้นสอนว่าอย่างเขาเถียงกันนัก แล้วพระองค์ว่าใครผิดใครถูก พระพุทธเจ้าจะตรัสทำนองนี้ว่า “เอาละ ท่านพราหมณ์ เรื่องที่คน ๒ ฝ่าย พูดอ้างความรู้กัน มีวาทะขัดแย้งกัน ใครจริง ใครเท็จนั้น พักไว้เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน" (นวก. ๒๓/๒๔๒) แล้วตรัสไปตามหลักตามสภาวะให้เขาพิจารณาเอาเอง

ทีนี้ก็มาถึงคำถามว่า ทำไมในพระสูตรที่แสดงแก่คฤหัสถ์ทั่วๆ ไป พระพุทธเจ้าจึงไม่ตรัสออกชื่อหลักธรรมหรือชื่อหัวข้อธรรมสำคัญๆ เช่น อริยสัจ และปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น แล้วก็เช่นเดียวกัน ทำไมพระจักรพรรดิธรรมราชา เมื่อทรงสอนธรรมแก่ประชาชนทั่วไป จึงไม่ตรัสออกชื่อหลักธรรมสำคัญเหล่านั้น คำถามนี้ส่วนหนึ่งได้ตอบไปแล้ว ในแง่ที่ว่าชื่อนั้นเขาใช้สื่อกับคนที่รู้อยู่บ้างแล้ว เป็นต้น ตอนนี้จะตอบเน้นในแง่การทำหน้าที่ของพระจักรพรรดิราช พระราชาทรงปกครองคนทั้งแผ่นดิน คนเหล่านั้นมีระดับการพัฒนาต่างๆ กัน แต่คนส่วนใหญ่ต้องถือว่าเป็นระดับพื้นฐาน คนเหล่านั้นยังไม่ได้คิดมุ่งคิดหมายที่จะเดินหน้าไปในธรรม (คือในการที่จะศึกษาพัฒนาตนหรือแสวงหาคุณค่าที่สูงขึ้นไปแก่ชีวิต) มิใช่เป็นอย่างคนที่จะมาบวช ซึ่งมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเดินหน้ามาแล้ว

งานของผู้ปกครองที่มองอย่างครอบคลุมก่อน ก็คือ จะทำให้คนทั่วไปที่เป็นมวลรวมนี้ อยู่กันดีมีสุขสงบเรียบร้อยในความหมายเพียงระดับพื้นฐาน ที่จะไม่เบียดเบียนกันหรือเขาออกไปนอกลู่นอกทาง ให้เป็นความพร้อมขั้นต้นของสังคม แล้วพร้อมกันนั้น ท่านผู้ปกครองก็จัดสรรสภาพและระบบการต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยบริการเป็นต้น เพื่อสนองความต้องการของคนที่จะพัฒนาสูงขึ้นไป ถึงขั้นตอนนี้แหละ อย่างในมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราช วิหารคือวัดมากมาย พระองค์ก็ได้สร้างไว้ และทรงอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ทั้งหลาย แถมยังทรงเกื้อหนุนไปถึงนักบวชในลัทธิอื่นๆ ด้วย วัดและพระสงฆ์เป็นต้นนี้ มองในแง่นี้ ก็เหมือนเป็นบริการของระบบแห่งสังคมที่ดี ที่จะมากระตุ้นและมาสนองความต้องการของคนหลากหลาย ที่จะก้าวขึ้นไปสู่การพัฒนาชีวิตในระดับที่ประณีตสูงต่อๆ กันตามลำดับไป พูดง่ายๆ ว่า รัฐจัดสภาพเอื้อพื้นฐานไว้ให้แล้ว วัดก็มาพบมาดูและรับปรึกษาว่าใครจะรับธรรมขั้นไหนอย่างใดได้ ตอนนี้ก็พระแหละ ที่จะดูในแต่ละกรณีหรือสถานการณ์ว่าจะพูดจะเอ่ยถึงธรรมชื่อใดๆ ตามที่เขาต้องการ หรือที่จะเหมาะสมเป็นประโยชน์แก่เขา เหมือนกับแบ่งหน้าที่และขั้นตอนการทำงานกันระหว่างรัฐกับวัด

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า แม้แต่ในพุทธกาล ถึงพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ตามปกติจะไม่ได้สอนข้อธรรมลึกๆ แก่คฤหัสถ์ทั่วไปเหมือนอย่างที่สอนแก่พระสงฆ์ที่มุ่งเข้ามาศึกษาโดยตรง แต่ในหมู่มหาชนนอกภิกขุสังฆะนั้น ก็มีบางคนบางส่วนที่สนใจและก้าวไปมากในการศึกษาอย่างเป็นเรื่องเฉพาะตัวเฉพาะกลุ่มที่จะแสวงหาดังที่บางท่าน อย่างจิตรคฤหบดีผู้เป็นอนาคามี ก็มีภูมิธรรมสูงได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเป็นอุบาสกธรรมกถึก สามารถอธิบายช่วยแก้ความติดขัดในธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายแม้แต่ที่เป็นเถระได้ (อง เอก ๒๐/๑๕๑ ส.ส.๑๘/๕๓๙-๕๔๐) หรืออย่างอุบาสิกาขุชชุตตรา พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเป็นพหูสูต (อ.เอก ๒๐/๑๕๒)

แต่เมื่อพูดกว้างๆ ทั่วๆ ไป ในสังคมคฤหัสถ์โดยรวม ธรรมที่สอนตามปกติก็เป็นดังที่พูดมาแล้ว หลักฐานยืนยันที่ชัดเจนมาก ไม่ต้องหาที่ไหนไกล ขนาดอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ได้อุปถัมภ์พระศาสนากล่าวได้ว่ามากที่สุด และเป็นโสดาบัน กว่าจะได้ฟังธรรมหลักใหญ่อย่างที่ออกชื่อกันมานั้น ก็ตอนเจ็บหนักนอนอยู่บนเตียงจวนจะสิ้นชีพเรื่องมีว่า คราวนั้น พระสารีบุตร พร้อมด้วยพระอานนท์ติดตาม (เรียกว่าเป็นปัจฉาสมณะ) ได้ไปเยี่ยมอนาถบิณฑิกเศรษฐี และได้ให้โอวาทแก่ท่านเศรษฐี โดยมีสาระสำคัญว่าไม่ควรเอาอุปาทานไปยึดติดถือมั่นต่อสิ่งทั้งหลาย ดังคำสรุปท้ายโอวาทว่า "ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า อารมณ์ใดก็ตาม ที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ได้แจ้งแก่ใจ ได้แสวงหา ได้อุ่นใจ เราจักไม่ยึดติดถือมั่นอารมณ์นั้น และ วิญญาณที่อาศัยอารมณ์นั้นจักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านจึงศึกษาอย่างนี้เถิด"

อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังโอวาทจบแล้ว ถึงกับร่ำไห้ และได้กล่าวว่า "กระผมได้เข้ามาใกล้ชิดองค์พระศาสดาและพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจมาเป็นเวลายาวนาน แต่กระนั้นก็ไม่เคยได้สดับธรรมีกถาอย่างนี้เลย" พระอานนท์ตอบชี้แจงว่า "ดูกรคฤหบดี ธรรมกถาอย่างนี้ ไม่สำแดงแก่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์ จะสำแดงแต่แก่บรรพชิต" อนาถบิณฑิกเศรษฐีทราบอย่างนั้นแล้ว ได้กล่าวขอร้องว่า "ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอธรรมกถาอย่างนี้ จงสำแดงแก่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์บ้างเถิด เพราะว่า กุลบุตรจำพวกมีกิเลสธุลีในดวงตาน้อยก็มีอยู่ (แต่) เพราะมิได้สดับธรรม ก็จะเสื่อมไป คนที่จะรู้เข้าใจธรรม จักมี" (ม.อุ.๑๔/๗๒๐-๗๔๐) หลังจากพระสารีบุตรและพระอานนท์กลับออกมาไม่นาน ท่านเศรษฐีก็ถึงแก่กรรม และเข้าถึงดุสิตภพ

หันกลับมาพูดถึงบทบาทของรัฐกับบทบาทของวัด ในการสอนธรรมให้การศึกษาแก่ประชาชน อย่างที่ว่าแล้ว รัฐจะเน้นการทำหน้าที่ขั้นพื้นฐาน เพื่อให้คนทั่วไปในสังคมมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การพัฒนาชีวิตของตน พร้อมทั้งจัดสรรโอกาสและจัดการให้คนเข้าถึงโอกาสนั้นด้วยการ ประสานเสรีภาพ เข้ากับระบบแห่งบริการ ในสังคมชมพูทวีปแต่ยุคโบราณมา เท่าที่พอทราบกัน คนถึงจะนับถือต่างกัน แต่การเป็นอยู่ก็ไม่ค่อยได้แบ่งแยกกัน มีประเพณีทางปัญญาที่จะรับฟังคำสอนของลัทธิศาสนาต่างๆ นับได้ว่าเสรีในศิลาจารึกอโศกก็เน้นเรื่องนี้ไว้ด้วย ดังความในจารึกศิลาฉบับที่ ๓๒ ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมทรงยกย่องนับถือศาสนิกชนแห่งลัทธิศาสนาทั้งปวง ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ ด้วยการพระราชทานสิ่งของ และการแสดงความยกย่องนับถืออย่างอื่นๆ แต่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมไม่ทรงพิจารณาเห็น ทานหรือการบูชาอันใด ที่จะเทียบได้กับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร? สิ่งนั้นก็คือการที่จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง ก็ความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมนี้ มีอยู่มากมายหลายประการ แต่ส่วนที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญงอกงามนั้น ได้แก่สิ่งนี้คือ การสำรวมระวังวาจา (วคุปติ์) ระวังอย่างไร? คือไม่พึงมีการยกย่องลัทธิศาสนาของตนและการตำหนิลัทธิศาสนาของผู้อื่น ในเมื่อมิใช่โอกาสอันควร...

การสังสรรค์กลมเกลียวกันนั่นแล เป็นสิ่งดีงามแท้ จะทำอย่างไร? คือ จะต้องรับฟัง และยินดีรับฟังธรรมของกันและกัน จริงดังนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมีความปรารถนาว่าเหล่าศาสนิกชนในลัทธิศาสนาทั้งปวง ซึ่งเป็นผู้มีความรอบรู้ (เป็นพหูสูต) และมีหลักศาสนธรรมที่ดีงาม (กัลยาณาคม) ชนเหล่าใดก็ตาม ซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสในลัทธิศาสนาต่างๆ กัน ชนเหล่านั้นจึงกล่าวให้รู้กันทั่วไปว่า พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่าทานหรือการบูชาอันใดจะทัดเทียมกับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร? สิ่งนี้ได้แก่การที่จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง และความเจริญงอกงาม พึงมีเป็นอันมากด้วยธรรม นี้คือเสรีภาพทางศาสนาที่แท้จริง ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาจิตปัญญาอย่างสูง ซึ่งมนุษย์ยุคปัจจุบัน ที่ว่ามีอารยธรรมกันนัก และพูด กันนักถึง tolerance แต่ก็ยังขึ้นไม่ค่อยจะถึง

เมื่อว่าให้ถูกตามนี้ ถ้ามนุษย์พัฒนาถึงขั้นเป็นอารยะจริง ศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัว อย่างที่ฝรั่งติดตันกลืนไม่เข้าแล้วคายออกมาได้แค่นั้น แต่เป็นเรื่องที่ควรเอามาพูดจาศึกษาเอื้อปัญญาแก่กัน ศาสนาจะเป็นเรื่องส่วนตัว ก็เฉพาะในขั้นที่ว่าใครก้าวไปถึงไหน ก็เป็นส่วนของคนนั้น




วันอังคาร

ขันติบารมี

"ท่านจงอดทนต่อคำยกย่อง และคำดูหมิ่นทั้งปวง เปรียบเหมือน.. แผ่นดินอดทนต่อสิ่งที่เขาทิ้งลงทุกอย่าง ทั้งสะอาดและไม่สะอาดไม่แสดงความยินดียินร้าย บำเพ้ญขันติบารมี จักบรรลุสัมโพธิญาณได้"

ความอดทนเป็นอาวุธที่ทรงพลังในการต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะต้องอดทนต่อความลำบาก ตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนาเจ็บไข้ได้ป่วย อดทนต่อการกระทบกระทั่งกัน ซึ่งเราอาจอดทนต่อถ้อยคำของคนที่เป็นใหญ่กว่าได้เพราะกลัว อดทนต่อถ้อยคำของคนเสมอกันเพราะอาศัยการแข่งดี ส่วนการอดทนต่อถ้อยคำของผู้ต่ำกว่าได้ ถือเป็นความอดทนสูงสุด ที่สำคัญต้องอดทนต่อกิเลสเย้ายวนใจ แล้วในที่สุดความอดทนที่สั่งสมมาดีจะกลายเป็นตบะธรรม แก่กล้าเผาผลาญทรมานกิเลสภายในใจให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

ในอดีตกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ ชื่อว่า "กุณฑลกุมาร" ท่านศึกษาเล่าเรียนจนแตกฉานในศิลปะทุกอย่าง พอบิดามารดาละโลกไปแล้ว ท่านก็ได้พิจารณาดูกองมรดก จึงเห็นว่าสมบัติที่พ่อแม่และหมู่ญาติหามาได้ ก็ใช้ได้เฉพาะในภพชาตินี้เท่านั้น ไม่มีใครนำติดตัวไปในปรโลกได้เลย และแล้วท่านจึงตัดสินใจเปิดคลังสมบัติทั้งหมดบริจาคมหาทานตลอด ๗ วัน จากนั้นก็เข้าป่าหิมพานต์ เพื่อไปบวชเป็นฤๅษี พอบวชแล้วได้ชื่อใหม่ว่า "ขันติวาทีดาบส" บำเพ็ญตบะอยู่ตามลำพังวันหนึ่งท่านออกจากป่าเข้าไปเที่ยวภิกขาจารในกรุงพาราณสี เสนาบดีท่านหนึ่งเห็นกิริยาอาการของท่านแล้ว บังเกิดความเลื่อมใส จึงน้อมถวายภัตตาหารด้วยความเคารพ และถือโอกาสอาราธนาท่านให้พักอยู่ในพระราชอุทยาน

อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้ากลาปุทรงดื่มน้ำจัณฑ์จนมึนเมาในพระราชอุทยาน แล้วทรงบรรทมบนตักของสนมคนโปรดนางหนึ่ง ส่วนพวกหญิงนักฟ้อนคนอื่น ๆ ก็พากันขับร้องให้พระองค์บันเทิงสำราญพระทัย พอพระเจ้ากลาปุบรรทมหลับไป พวกหญิงนักฟ้อนก็ชวนกันไปเดินเล่นในสวน เผอิญได้พบฤาษีโพธิสัตว์ จึงชักชวนกันไปฟังธรรม ในขณะที่พวกนางกำลังฟังธรรมอยู่นั้น พระราชาก็ทรงตื่นบรรทม เพราะนางสนมคนโปรดที่ทรงหนุนตักขยับตัว เมื่อทรงตื่นแล้วไม่เห็นนางสนมเหล่านั้น ก็ทรงพิโรธมาก ทรงถือพระขรรค์เสด็จไปหาพระดาบสด้วยความโกรธ หมายจะตัดหัว เมื่อไปถึงก็ตรัสถามว่า ท่านดาบส ท่านมีปกติสรรเสริญคุณธรรมอะไร พระดาบสทูลว่า มหาบพิตร อาตมาเป็นขันติวาทะ กล่าวยกย่องขันติธรรม พระราชาตรัสถามต่อว่า ที่ชื่อว่าขันตินั้นคืออะไร พระดาบสตอบว่า "ขันติก็คือความไม่โกรธ ไม่ผูกพยาบาท แม้มีใครมาประทุษร้ายก็รักษาจิตให้สงบ ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่มากระทบ" พระราชาได้ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า ประเดี๋ยวเถอะ เราจะได้เห็นขันติของท่าน แล้วรับสั่งให้เรียกเพชฌฆาตมาเพชฌฆาตเดินถือขวาน แซ่หนาม และสวมพวงมาลัยแดง เมื่อมาถึง พระราชาตรัสรับสั่งว่า เจ้าจงจับดาบสนี้ให้นอนคว่ำลงกับพื้น แล้วเอาแซ่หนาม เฆี่ยนตามตัว ๒,๐๐๐ ครั้ง เพชฌฆาตก็ทำตามรับสั่ง พระดาบสมิได้คิดประทุษร้ายต่อเพชฌฆาตเลย เพราะท่านหวังจะเพิ่มขันติบารมี เนื้อหนังของพระโพธิสัตว์ ขาดแหว่งไปทั่ว โลหิตไหลเนืองนอง เจ็บปวดทรมาน แสนสาหัส แต่ท่านก็ไม่ปริปากโอดครวญ

พระราชาตรัสถามซํ้าอีกว่า ท่านดาบส ท่านยังยกย่องอะไรอีก พระโพธิสัตว์ก็ทูลยืนยันตามเดิมว่ามหาบพิตร อาตมายกย่องขันติธรรม ขันติไม่ได้อยู่ที่ผิวหนังหรอก ขันติของอาตมาอยู่ภายในใจ แม้พระองค์ก็ไม่อาจแลเห็นได้ พระราชาทรงกริ้วมาก จึงรับสั่งให้เพชฌฆาตตัดมือทั้งสองข้างของดาบส เพชฌฆาตก็ใช้ขวานตัดมือทั้งสองข้าง จากนั้นก็ตัดที่ข้อเท้าทั้งสอง โลหิตสด ๆ ไหลออกจากปลาย ข้อมือและข้อเท้าเหมือนสายน้ำที่รั่วไหลออกจากท่อ พระราชาตรัสถามอีกว่า "ขันติท่านอยู่ตรงไหน" พระโพธิสัตว์ก็ยังทูลเหมือนเดิมว่า "ขันติอยู่ที่ใจ แต่ พระองค์สำคัญว่าขันติมีอยู่ที่ปลายมือปลายเท้าของอาตมา ขันติไม่ได้อยู่ตรงนี้ เพราะขันติของอาตมาตั้งอยู่ภายในใจ ที่ลึกซึ้งเกินกว่าพระองค์จะเข้าพระทัยได้" จากนั้นพระราชาตรัสสั่งให้เพชฌฆาตตัดหูและจมูกพระโพธิสัตว์ ทำให้ทั่วทั้งร่างกายมีแต่โลหิต ไหลเจิ่งนองไม่หยุด แม้จะได้รับทุกข์ทรมานปางตาย แต่พระดาบสก็ไม่ยอมโต้ตอบ เพราะปรารถนาจะเพิ่มพูนขันติบารมี ฝ่ายพระราชาเมื่อไม่สาแก่พระทัย จึงตรัสประชดประชันว่า ท่านผู้เดียวจงยกย่องเชิดชู ขันติธรรมต่อไปเถอะ แล้วเอาพระบาทกระทืบยอดอกพระดาบส แล้วเสด็จจากไปอย่างไม่ไยดี

เมื่อพระราชาเสด็จไปแล้ว ท่านเสนาบดีเกรงว่า พระดาบสผู้มีฤทธานุภาพจะโกรธ และอาจบันดาลให้เมืองทั้งเมืองพังพินาศไปได้ จึงรีบเข้ามาเช็ดเลือด และประคองร่างของพระโพธิสัตว์ เก็บรวบรวมอวัยวะ ต่าง ๆ แล้วขอให้ท่านได้อดโทษต่อพระราชาและ ทุก ๆ คน พระโพธิสัตว์ผู้มีมหากรุณาอยู่แล้วจึงบอกว่า "พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของเรา ขอพระองค์จงทรงพระชนม์ยั่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญยิ่ง ๆ ขึ้นไป อาตมภาพ ไม่มีความโกรธเคืองในพระราชาแม้เพียงเล็กน้อย ขอพระองค์ทรงพระเจริญเถิด" ฝ่ายพระราชาเมื่อเสด็จไปลับตาพระโพธิสัตว์เท่านั้น มหาปฐพีซึ่งหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ก็ไม่สามารถจะรองรับกรรมหนักของพระราชาได้ จึงแยกตัวออก เปลวไฟจากอเวจีมหานรกก็แลบออกมา เผาไหม้พระองค์ และทรงถูกธรณีสูบลงไปเสวยวิบากกรรมในอเวจีมหานรกทันที ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตในวันนั้นเอง ขันติของท่านในครั้งนั้น เป็น ขันติปรมัตถบารมี เพราะแม้ ถูกเบียดเบียนถึงชีวิต ก็อดทนไม่โกรธตอบ

เราจะเห็นว่า กว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าเพื่อนำตนและสรรพสัตว์ไปสู่ฝั่งนิพพาน ต้องอาศัยขันติธรรมเป็นอย่างมาก คำว่า ขันติ ต้องเป็นความ อดทนด้วยจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น เช่น แม้ถูกเบียดเบียน ก็ไม่โกรธ ไม่ทำร้ายตอบ แต่รักษาใจเป็นปกติ ไม่ขุ่นเคือง และมีเมตตา ส่วนการนิ่งเงียบ ไม่โต้ตอบ แต่ภายในใจแค้นเคืองลุกเป็นไฟเพื่อรอตอบโต้ภายหลัง อย่างนี้ไม่จัดเป็นขันติ เพราะถือว่าจิตยังเจือด้วยอกุศลอยู่ ขันติความอดทนเป็นเครื่องเผากิเลส เมื่อความโลภหรือราคะบังเกิดขึ้น ต้องอดใจหนักแน่น ไม่หวั่นไหว ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ หรือหากความโกรธ เกิดขึ้น ก็ต้องหยุดมันให้ได้ อดทนอดกลั้นไว้ หากความอดทนมีกำลังแรงกว่า ก็จะทำให้กิเลสดับหายไปได้ เหมือนถูกไฟเผามอดไป ขันติจึงถูกเรียกว่า ตบะ เครื่องดับเผากิเลสนั่นเอง อดทน..เมื่อถูก ประทุษร้าย อดใจ..เมื่อถูกกิเลสเย้ายวน พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทรงสรรเสริญ ขันติธรรมว่าเป็นเลิศ เป็นพื้นฐานให้เกิดคุณธรรม คือ ศีล สมาธิ กุศลธรรมทุกอย่างจะเจริญขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยขันติ ผู้มีขันติธรรมได้ชื่อว่าเป็นผู้ย่างขึ้นสู่หนทางสวรรค์และนิพพาน และพระพุทธองค์ยังทรงสรรเสริญอีกว่า ยกเว้นปัญญาแล้ว เราตถาคต สรรเสริญว่าขันติเป็นเลิศ ดังนั้นเมื่อทราบอย่างนี้แล้ว เราจะต้องสั่งสมขันติบารมีให้มากเข้าไว้ เพื่อเป็นตบะ เผาผลาญทรมานกิเลสภายในตัว จนกว่ากิเลสจะดับ มอดจนสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษให้จงได้

 "ผู้มีขันติชื่อว่านำประโยชน์มาให้ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ผู้มีขันติชื่อว่าเป็นผู้ขึ้นสู่ทางไปสู่สวรรค์ และนิพพาน" (พุทธพจน์)

หากพิจารณาบารมี ๑๐ ให้ดีเราจะทราบว่า ๕ บารมีแรกนั้น ล้วนเป็นการบำเพ็ญเพื่อให้ได้มาซึ่งปัญญาทั้งสิ้น ตั้งแต่ทานบารมี เพื่อเก็บเสบียงไว้ใช้ในการแสวงหาปัญญาได้สะดวก ศีลบารมี เพื่อให้เกิดมาได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ซึ่งจะทำให้ได้โอกาสในการสร้างปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป เนกขัมมบารมี บำเพ็ญเพื่อไม่ให้ตนเองต้องติดอยู่ในคุกทางใจ มีอิสระในการเพิ่มพูนปัญญาได้มากขึ้น ส่วนปัญญาบารมีนั้นชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว วิริยบารมีเป็นการสร้างปัญญาอันยิ่ง คือ ทำปัญญาชนิดรู้แจ้งให้เกิดขึ้น ดังนั้น บารมีทั้ง ๕ ก็มีเป้าหมายอยู่ที่ปัญญานั่นเอง แต่เนื่องจากระหว่างสร้างบารมีเราต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม ซึ่งอาจมีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจถึงเป้าหมายของเรา จึงจำเป็นต้องสร้างบารมีอื่นที่ยิ่งไปกว่านี้ด้วย บารมีอันดับต่อมาที่สุเมธดาบสบรมโพธิสัตว์ตรวจดูด้วยญาณทัสสนะอันเป็นทิพย์ พบว่าบารมีที่ต้องสร้าง ต้องบำเพ็ญ ต้องกระทำอย่างยิ่งยวด นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีอีก นั่นคือ ขันติบารมี เพราะท่านเล็งเห็นว่า อุปสรรคสำคัญที่เป็นเครื่องขัดขวางการตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประการต่อมา คือ ความหวั่นไหว ความมีใจไม่มั่นคงต่อสิ่งที่มากระทบนั่นเอง ดังแสดงไว้ใน ขุททกนิกาย อปทาน ว่า

ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่าพุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้เห็นขันติบารมีข้อที่ ๖ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้ขันติบารมีให้บริบูรณ์ ท่านพึงเป็นผู้อดทนทั้งในการยกย่องนับถือและในการดูถูกดูหมิ่น เหมือนอย่างว่า คนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็มิได้กระทำความ รักและความขัดเคืองเพราะการกระทำอันนั้น ย่อมอด ย่อมทน ย่อมกลั้นไว้ได้ ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้อดทนได้ทั้งในการนับถือ ทั้งในการดูหมิ่น จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐาน ขันติบารมีข้อที่ ๖ กระทำให้มั่นแล้ว ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า “ก็พุทธธรรมทั้งหลายจักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ ในคราวนั้นเราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นขันติบารมีข้อที่ ๖ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ชั้นก่อนๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ ท่านจงสมาทานขันติบารมีข้อที่ ๖ นี้ กระทำให้มั่นก่อน มีใจไม่ลังเลในขันติบารมีนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ ธรรมดาแผ่นดินย่อมอดกลั้นสิ่งทั้งปวงที่เขาทิ้งลง สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง ไม่กระทำการขัดเคืองเพราะการกระทำนั้น แม้ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้อดทนต่อการนับถือและการดูหมิ่นของคนทั้งปวง ถึงความเป็นขันติบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้ ''

ขันติคืออะไร

ขันติ
แปลว่า ความทน, ความอดทน, ความอดกลั้น
ขันติ หมายถึง การรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนา หรือไม่พึงปรารถนาก็ตาม มีความมั่นคงหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ซึ่งไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะมีคนเทของเสีย ของสกปรกหรือของหอมลงไปก็ตาม

บารมี แปลว่าธรรมอันเลิศ ๑๐ ประการ ที่เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจังชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้วก่อให้เกิดบุญที่มีคุณภาพพิเศษที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติดีแล้วบรรลุพระโพธิญาณ ขันติบารมี หมายถึง การอดทนอดกลั้นเพื่อให้ได้ทำความดี โดยมีพระนิพพานเป็นเป้าหมาย ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ ที่มาขัดขวาง แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต งานทุกชิ้นในโลก ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กงานใหญ่ที่สำเร็จขึ้นมาได้ นอกจากจะอาศัยปัญญาเป็นตัวนำแล้ว ยังต้องอาศัยคุณธรรมข้อหนึ่งเป็นพื้นฐานจึงสำเร็จได้ คุณธรรมนั้น คือ ขันติ ถ้าขาดขันติเสียแล้ว จะไม่มีงานชิ้นใดสำเร็จได้เลย เพราะขันติเป็นคุณธรรมสำหรับทั้งต่อต้านความท้อถอยหดหู ขับเคลื่อนเร่งเร้าให้เกิดความขยัน และทำให้เห็นอุปสรรคต่างๆ เป็นเครื่องท้าทายความสามารถ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของงานทุกชิ้นทั้งทางโลกและทางธรรม คือ อนุสาวรีย์ของขันติทั้งสิ้น

ความอดทนเป็นหัวใจของการทำความดี เป็นพื้นฐานของการสร้างบารมีทุกอย่างการละเว้นจากความชั่วต้องอาศัยความอดทน การทำความดีให้ได้ตลอดรอดฝั่งต้องอาศัยความอดทน และ การรักษาใจไว้ให้ผ่องใสอยู่เนืองนิตย์ ก็ต้องอาศัยความอดทน ยิ่งไปกว่านั้น การที่จะบรรลุพระนิพพานได้ก็ต้องอาศัยความอดทน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า “ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ความอดทน คือ ความอดกลั้น เป็นตบะเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง" จะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเรื่องของความอดทนเป็นอันดับแรก เพราะชีวิตนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์เพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพิไรรำพัน ความพลัดพราก ความลำบากกาย และความทุกข์อื่นๆ อีกมากมาย ความอดทนเท่านั้น จึงจะสามารถบรรเทาความทุกข์เหล่านี้ลงได้ แต่การที่จะไปถึงพระนิพพานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องต่อสู้กับสิ่งที่มากระทบ ทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องไม่ดี ทั้งต่อผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย การที่จะเอาชนะสิ่งที่เป็นอุปสรรคเหล่านี้ได้ก็ต้องอดทน หากไม่อดทนเสียแล้ว การจะไปนิพพานนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น ความอดทนจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้อดทน ชื่อว่าเป็นผู้ย่างขึ้นสู่หนทางสวรรค์และนิพพาน”

ลักษณะของขันติ

ผู้ที่มีขันติอยู่ในใจ จะมีลักษณะดังต่อไปนี้
๑. เมื่อถูกกระทบด้วยถ้อยคำ ทำเหมือนไม่ได้ยิน (หูไปนา)
๒. เมื่อเห็นอาการยั่วยุ ทำเหมือนไม่ได้เห็น (ตาไปไร่)
๓. ใส่ใจ สนใจแต่จะทำความเจริญ (กุศลธรรม) ให้ตนเอง
๔. ข่มความโกรธเสียได้
๕. เข้าไปสงบบาปธรรมเสียได้
๖. ไม่ดุร้าย หยาบคาย
๗. ไม่ก่อทุกข์ให้ใคร
๘. มีใจเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิตย์

ลักษณะของขันติหรือความอดทนดังกล่าว เป็นลักษณะของความอดทนที่ถูกต้อง คือ เมื่ออดทนไปแล้วได้บุญได้บารมี อดทนแล้วไม่เสียเปล่า ซึ่งสามารถขยายความได้ดังต่อไปนี้

👉 มีความอดกลั้น คือ เมื่อถูกคนพาลด่าก็ทำราวกับว่าไม่ได้ยิน ทำหูเหมือนหูกระทะ เมื่อเห็นอาการยั่วยุก็ทำราวกับว่าไม่ได้เห็น ทำตาเหมือนตาไม้ไผ่ ไม่สนใจใยดี ไม่ปล่อยใจให้เศร้าหมองไปด้วย ใส่ใจ สนใจแต่ในเรื่องที่จะทำความเจริญให้แก่ตนเอง เช่น เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

👉 เป็นผู้ไม่ดุร้าย คือ สามารถข่มความโกรธไว้ได้ ไม่โกรธ ไม่ทำร้าย ไม่ทำอันตรายด้วยอำนาจแห่งความโกรธนั้น ผู้ที่โกรธง่ายแสดงว่ายังขาดความอดทนอยู่มาก ไม่ปลูกน้ำตาให้แก่ใครๆ คือ ไม่ก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเจ็บแค้นใจจนน้ำตาไหล ด้วยอำนาจความเกรี้ยวกราดของเรา มีใจเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิตย์ คือ มีปีติอิ่มเอิบใจเสมอๆ ไม่พยาบาท ไม่โทษฟ้า โทษฝน โทษเทวดา โทษโชคชะตา หรือโทษใครๆ ทั้งนั้น พยายามอดทนทำการงานทุกอย่างด้วยใจเบิกบาน

ลักษณะของความอดทนนั้น โบราณท่านสอนลูกหลานไว้ย่อๆ ว่า “ปิดหูซ้ายขวา ปิดตาสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง นอนนั่งสบาย” คนบางคนขี้เกียจทำงาน บางคนขี้เกียจเรียนหนังสือ บางคนเกะกะเกเร พอมีผู้ว่ากล่าว ตักเตือนก็เฉยเสีย แล้วบอกว่าตนเองกำลังบำเพ็ญขันติบารมี อย่างนี้เป็นการเข้าใจผิด ตีความหมายของขันติผิดไป ขันติไม่ได้หมายถึงการตกอยู่ในสภาพใดก็ทนอยู่อย่างนั้น ลักษณะที่สำคัญยิ่งของขันติ คือ ตลอดเวลาที่อดทนอยู่นั้น จะต้องมีใจผ่องใส ไม่เศร้าหมอง เมื่อสรุปลักษณะเด่นของขันติโดยย่อแล้ว มีอยู่ ๓ ประการ คือ
๑. อดทนถอนตัวหรือหลีกเลี่ยงจากความชั่วให้ได้
๒. อดทนทำความดีต่อไป
๓. อดทนรักษาใจให้ผ่องใส ไม่เศร้าหมอง

ประเภทของขันติ

ความอดทนแบ่งตามเหตุที่มากระทบได้ ๔ ประเภท ดังนี้
๑. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ
เป็นการอดทนต่อสภาพธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศความหนาว ความร้อน ฝนตก แดดออก ฯลฯ แม้สภาพแวดล้อมจะไม่เอื้ออำนวย ก็อดทนทำงานเรื่อยไปไม่โทษเทวดาฟ้าดิน หรืออ้างเหตุเหล่านี้แล้วเกียจคร้านไม่ยอมทำงาน
๒. อดทนต่อทุกขเวทนา
เป็นการอดทนต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย ความไม่สบายกายของเราเองความปวด ความเมื่อย ผู้ที่ขาดความอดทนประเภทนี้ เวลาเจ็บป่วยจะร้องครวญคราง พร่ำเพ้อรำพันหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ผู้รักษาพยาบาลทำอะไรไม่ทันใจหรือไม่ถูกใจก็โกรธง่าย พวกนี้จึงต้องป่วยเป็น ๒ เท่า คือ นอกจากจะป่วยกายที่เป็นอยู่แล้ว ยังต้องป่วยใจเข้าไปอีก ทำตัวเป็นที่เบื่อหน่ายแก่ชนทั้งหลาย ความอดทนต่อทุกขเวทนานี้เป็นความอดทนที่สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
๓. อดทนต่อความเจ็บใจ
เป็นการอดทนต่อความโกรธ ความไม่พอใจ ความขัดใจ อันเกิดจากคำพูดที่ไม่ชอบใจ กิริยามารยาทที่ไม่งาม การบีบคั้นทั้งจากผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานและลูกน้องความอยุติธรรมต่างๆ ในสังคม ระบบงานต่างๆ ที่ไม่คล่องตัว ฯลฯ คนทั้งหลายในโลกแตกต่างกันมากโดยอัธยาศัยใจคอ โอกาสที่จะได้อย่างใจเรานั้นอย่าพึ่งคิด เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มเข้าหมู่คนหรือมีคนตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ให้เตรียมขันติไว้ต่อต้านความเจ็บใจ ความอดทนในระดับนี้ ถือว่าทำได้ยากกว่าความอดทนที่กล่าวมาแล้วทั้งสองข้อ
๔. อดทนต่ออำนาจกิเลส
เป็นการอดทนต่ออารมณ์อันน่าใคร่ น่าเพลิดเพลินใจ อดทนต่อสิ่งที่เราอยากทำแต่ไม่สมควรทำ เช่น อดทนไม่เที่ยวเตร่ ไม่เล่นการพนัน ไม่เสพสิ่งเสพติด ไม่รับสินบนไม่คอร์รัปชั่น ไม่ผิดลูกเขาภรรยาเขา ไม่เหลิงยศ ไม่ลุแก่อำนาจ ไม่ขี้โอ่ ไม่ขี้อวด เป็นต้น การอดทนข้อนี้ทำได้ยากที่สุด โบราณท่านจึงกล่าวเปรียบไว้ว่า “เขาด่าแล้วไม่โกรธว่ายากแล้ว เขาชมแล้วไม่ยิ้มยากยิ่งกว่า”

เมื่อเราได้ทราบความสำคัญของความอดทนแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทำให้เกิดมีขึ้นมาให้ได้ มิใช่เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์เท่านั้น แม้เราเองก็ต้องทำและต้องทำแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพันด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้ว การไปถึงเป้าหมาย คือ บรรลุมรรคผลนิพพานหรือกระทั่งการสร้างบารมีเพื่อไปให้ถึง ที่สุดแห่งธรรม ย่อมเป็นไปไม่ได้

วิธีการฝึกให้มีความอดทน

การที่จะมีความอดทนได้นั้นมีวิธีการฝึกดังต่อไปนี้
๑. ต้องคำนึงถึงหิริโอตตัปปะให้มาก
เพราะเมื่อไม่อดทนเผลอไปทำบาปในชาตินี้ย่อมต้องประสบความเดือดร้อนใจ ต้องพบกับความทุกข์ใหญ่หลวง หาความสุขมิได้ ในชาติต่อไปต้องตกไปสู่อบายรับทุกขเวทนาแสนสาหัส เมื่อมีความละอายและเกรงกลัวต่อบาปอย่างเต็มที่อย่างนี้แล้ว ความอดทนย่อมจะเกิดขึ้น
๒. ฝึกใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา
ปัญหาส่วนใหญ่ของการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ หนีไม่พ้นการกระทบกระทั่ง หากการกระทบกระทั่งเกิดจากผู้ที่มีฐานะสูงกว่าเรา เราอาจทนได้ เพราะเกรงต่ออำนาจหรือผู้ที่เสมอกันก็อาจจะพอทนกันได้ แต่หากเกิดจากผู้ที่ต่ำกว่าเราทั้งด้านอายุ ฐานะ หรือศักดิ์ศรีนี้แหละเป็นสิ่งที่เราจะอดทนได้ยาก แต่สิ่งที่เราต้องกระทำ คือ การพิจารณาถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นว่าเพราะเหตุ ใด ต้องอดทนฝึกชี้แจงเหตุผล ชี้แจงความเป็นจริง แรกๆ อาจต้องฝืนอยู่บ้าง แต่หากทำเป็นประจำแล้วเราจะไม่ต้องฝืนเลย เพราะส่วนใหญ่ปัญหามักมีความเข้าใจผิดเป็นสาเหตุ เมื่อเข้าใจถูกเรื่องก็จบ แต่หากใช้อารมณ์แทนเหตุผล เรื่องจะยาวและไม่จบ การหมั่นใช้เหตุผลนอกจากจะได้ฝึกความอดทนแล้ว ยังเป็นการฝึกใช้ปัญญา ฝึกโยนิโสมนสิการได้เพิ่มพูนปัญญาบารมีอีกด้วย เมื่อเราสามารถอดทนต่อผู้ที่ต่ำกว่าได้แล้ว ต่อไปเรื่องการอดทนต่อผู้ที่เสมอกัน หรือผู้ที่สูงกว่าก็สามารถทำได้อย่างไม่ยากเย็นเลย
๓. ต้องฝึกสมาธิมากๆ เพราะทั้งขันติและสมาธิเป็นคุณธรรมที่เกื้อหนุนกัน ขันติจะหนักแน่นก็ต้องมีสมาธิมารองรับ สมาธิจะก้าวหน้าก็ต้องมีขันติเป็นพื้นฐาน ขันติอุปมาเหมือนมือซ้าย สมาธิ อุปมาเหมือนมือขวา เมื่อจะล้างมือ มือทั้งสองข้างจะต้องช่วยกันล้างจึงจะสะอาดดี



อานิสงส์ของความอดทน

เมื่อเราได้ฝึกความอดทนตามอย่างพระโพธิสัตว์มาเป็นอย่างดีแล้ว ผลดีหรืออานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นกับเรานั้นมีมากมาย ขอกล่าวเพียงสังเขปดังต่อไปนี้
๑. ป้องกันตนเองมิให้กระทำบาปอกุศล ทั้งยังป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกด้วย
๒. ทำให้กุศลธรรมทุกชนิดเจริญขึ้นได้
๓. ทำให้เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของคนทั้งหลาย
๔. ตัดรากเหง้าแห่งความชั่วทั้งปวง
๕. ทำให้อยู่เย็นเป็นสุขทุกอิริยาบถ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง
๖. ทำให้ศีลและสมาธิตั้งมั่นไม่คลอนแคลน
๗. เมื่อละโลก ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
๘. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย

สรุป การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ เพื่อบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณต้องมีความอดทน อย่างหาที่สุดมิได้ เพราะหากอดทนไม่ได้แล้วก็อย่าหวังที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย ฉะนั้น ความอดทนนี้เอง จึงเป็นคุณธรรมที่ช่วยประคับประคองให้นักสร้างบารมีทั้งหลายประสบผลสำเร็จ ได้เข้าถึงความสมบูรณ์ที่สุดของชีวิตตน