วันพฤหัสบดี

อธิบาย เนื้อความพาหุงมหากา ๒

 👉 กลับไปก่อนหน้า 

🔅 
พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่องช้างนาฬาคิรี

เรื่องนี้มีว่า ช้างนาฬาคิรีจะแทงพระพุทธเจ้าเวลาเสด็จออกบิณฑบาต เหตุเกิดขึ้นเพราะพระเทวทัต คือพระเทวทัตคิดจะปลงพระชนม์ชีพพระสุคตเสีย แล้วจะตั้งตัวขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าเอง จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรู ปรึกษาความลับตกลงกันแล้วไปที่โรงช้าง ส่งควาญช้างให้มอมสุราพญาช้างนาฬาคิรี ซึ่งปรกติเคยกินเหล้าแค่ ๘ กระออม ให้ทวีขึ้นถึง ๑๖ กระออม จนเมามันอาละวาดร้ายแรงกล้า

ครั้นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเสด็จจากเวฬุวนารามมารับบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุพุทธบริวารเป็นอันมาก นายควาญช้างก็ปล่อยพญานาฬาคิรี ให้วิ่งสวนทางตรงมาหาพระพุทธองค์ ช้างเมาสุราอาละวาดวิ่งไล่แทงคนอลหม่าน เห็นกลุ่มสมณะนำโดยพระพุทธเจ้าก็ยกชูงวงปรบหูตีหาวิ่งตรงมาจะแทงพระพุทธองค์ ทันใดนั้นพระอานนท์เถระก็ออกมายืนอยู่ข้างหน้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงห้ามถึงสามครั้ง แล้วแต่พระอานนท์ก็ไม่ยอมหนีให้พ้นทาง พระพุทธองค์จึงบันดาลให้พระอานนท์กลับเข้าไปปะปนอยู่ในหมู่สงฆ์ เวลานั้นก็ยังมีหญิงแม่ลูกอ่อนนางหนึ่ง กำลังตกใจสุดขีดเลยอุ้มบุตรตัวเองหนีช้างตรงมาที่กลุ่มของพระพุทธองค์ ครั้นช้างไล่จวนจะทัน เห็นว่าจะหนีไม่พ้นแล้ว ทั้งเป็นการที่ยังห่างจากพระพุทธเจ้าด้วย จึงได้วางลูกเสียกับพื้นถนน แล้วตัวเองก็วิ่งหนีออกข้างทางไป



ฝ่ายช้างก็ตรงเข้ามาจะเหยียบหรือจะแทงทารกนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประดิษฐานอยู่ด้วยพรหมวิหาร และแผ่พระเมตตาเฉพาะเจาะจงต่อช้างนาฬาคิรี แล้วจึงตรัสสอนให้ช้างนาฬาคิรีรู้สึกตนได้สติ เสื่อมคลายจากความเมามัน ครองสติกลับเป็นปรกติยืนทอดงวงลงต่ำและไม่เข้าไปประทุษร้ายเด็กนั้น กลับเบนศีรษะเดินมาใกล้พระบาท ฟุบเท้าลง ยกงวงจบพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ยกพระหัตถ์เบื้องซ้ายขึ้นปรามาสลูบกระพองแล้วตรัสประทานโอวาทให้ช้างมีจิตปราโมทย์ในธรรมจริยา

เวลานั้นฝูงมหาชนที่คอยตักบาตร และถวายเครื่องสักการะที่ได้กระจัดกระจายหนีช้างซ่อนเร้นและฝ่ายปืนในที่สูงนั้น ครั้นเห็นพญาช้างสนพยศอันร้ายแรงแล้ว ต่างคนก็มีจิตโถมนาการโปรยปรายข้าวตอกดอกไม้ และสรรพาภรณ์ต่าง ๆ ที่ตัวช้าง จนปกคลุมท่วมตัว ครั้นแล้วพญาช้างถวายบังคมสมเด็จพระผู้ทรงพระภาค กลับไปโรงของตน โดยปรกติ


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร

เรื่องมีว่า องคุลิมาลโจรนั้น บ้านอยู่ในเมืองสาวัตถี มารดาชื่อนางมันตาพราหมณ์ บิดาเป็นพราหมณ์ราชปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่เดิมนั้นมารดาบิดาให้ชื่อว่า อหิงสกกุมาร ครั้นเจ้าอหิงสกกุมารนั้นเจริญวัยขึ้นจึงไปเรียนศิลปศาสตร์ ในสำนักศาปาโมกข์ อาจารย์ในเมืองตักกศิลา และเจ้าอหิงสกกุมารก็เป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลมว่องไวกว่ามานพทั้ง ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นเพื่อนศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน ทั้งเป็นผู้มีความเพียรมาก และหมั่นปฏิบัติอาจารย์โดยความเคารพ อาจารย์ก็รักมากกว่ามานพคนอื่น ๆ พวกมานพเหล่านั้นก็มีความริษยาพากันไปพูดยุยงอาจารย์ถึง ๒-๓ ครั้งว่า เจ้าอหิงสกมานพคิดประทุษร้ายต่ออาจารย์ด้วยเหตุอันชั่วร้าย อาจารย์ก็พลอยเห็นจริงหลงเชื่อถ้อยคำจึงคิดว่า เราจะคิดฆ่าอหิงสกมาณพด้วยอุบายปัญญา คือจะหลอกให้ไปตายในกลางป่าด้วยฝีมือคนอื่นฆ่า

อาจารย์จึงวางแผนเรียกอหิงสกมาณพเข้ามาใกล้แล้วกระซิบว่า "ศาสตร์ที่ท่านเรียนจากเราน่ะสมบูรณ์แล้ว แต่เรายังประสิทธิ์ให้ไม่ได้เพราะยังขาดนิ้วมือมนุษย์ ๑,๐๐๐ คน ท่านจงไปเที่ยวฆ่ามนุษย์ตัดนิ้วมือไว้คนละนิ้ว ๆ ให้ได้พันหนึ่งแล้วนำมาให้แก่เรา ๆ จึงจะประสิทธิ์ศิลปศาสตร์ให้ท่าน และตัวท่านจักเป็นผู้มีศิลปศาสตร์ ประเสริฐสุดในโลกได้คนหนึ่ง" เจ้าอหิงสกมาณพได้ฟังก็หลงเชื่อ แล้วลาอาจารย์แต่งตัวถือดาบออกไปคอยสกัดฆ่ามนุษย์อยู่ที่ตำบลปากดงแห่งหนึ่ง เที่ยวฆ่ามนุษย์ทั้งในเมืองตามบ้านเรือนและในป่า ฆ่าใครไปก็ตัดนิ้วมือไว้คนละนิ้ว ๆ เจาะร้อยเป็นพวงสะพายแล่งไว้กับตัว ในเวลานั้น ยังขาดอีกนิ้วเดียวก็จะครบพัน เพราะเหตุที่ตัดนิ้วมาร้อยแบบนี้จึงมีนามปรากฏว่า องคุลีมาลโจร


วันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยขององคุลีมาลโจรว่ายังเป็นผู้ที่ฝึกได้ ณ ตำบลปากดงนั้น เมื่อองคุลิมาลโจรแลเห็นพระพุทธเจ้าก็คิดว่าสมณะองค์นี้คงจะต้องถึงที่ตายแล้ว เราจะฆ่าและตัดนิ้วมือได้ครบพัน คิดแล้วก็ชักดาบเงื้อมือวิ่งไล่ฟันพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงบันดาลด้วยฤทธิให้เกิดแม่น้ำขวางหน้าองคุลีมาลโจรบ้าง ให้เกิดเป็นป่ารกชัฏขวางหน้าบ้าง องคุลีมาลโจรนั้นต้องว่ายน้ำทวนคลื่นและลม ทั้งต้องวิ่งบุกป่ารก วิ่งตามเท่าไหร่ก็ตามไม่ทัน ยิ่งเร่งตามพระพุทธเจ้าก็ดูเหมือนพระพุทธองค์จะยิ่งอยู่ห่างออกไป ทั้งๆที่ก็เห็นว่าพระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินตามปรกติแต่ทำอย่างไรก็ตามไม่ทัน พอสิ้นกำลังลง จึงร้องเรียกให้พระพุทธเจ้าหยุด พระองค์จึงตรัสตอบด้วยสุนทรวาจาอันไพเราะมีสัทธรรมประการต่าง ๆ องคุลิมาลโจรได้ฟังพระสุรเสียงก็ระลึกขึ้นได้ว่า พระสมณะองค์นี้กล่าวสัทธรรมได้ลุ่มลึกนัก ชะรอยว่าจะเป็นพระสิทธัตถะราชกุมารที่เสด็จออกบรรพชาเป็นแน่แล้ว การเจอกันครั้งนี้พระองค์คงเสด็จมาด้วยพระมหากรุณาจะโปรดเราให้พ้นทุกข์ คิดแล้วก็เกิดความเลื่อมใสอ่อนโยนนอบน้อมทั้งอาวุธลง แล้วคลานเข่ามาถวายนมัสการด้วยความเคารพ พระพุทธเจ้าจึงทรงพระมหากรุณาให้องคุลีมาลโจรบวชเป็นเอหิภิกขุในพระพุทธศาสนา ท่านสามารถศึกษาเรื่องขององคุลีมาลโจรเพิ่มเติมได้ที่ 👉องคุลีมาลสูตร


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา

เรื่องมีว่า ในสมัยหลังพุทธพรรษาที่ ๗ เมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธ์องค์ก็เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ที่เมืองสาวัตถี พระพุทธองค์ได้รับการต้อนรับจากชาวเมืองจำนวนมาก จนพวกเดียรถีย์ทั้งหลายเกิดความอิจฉาริษยา อีกทั้งรู้สึกลาภสักการที่ตนเคยได้จากชาวเมืองเสื่อมถอยลดน้อยไป จึงประชุมกันคิดหาอุบายกล่าวโทษพระพุทธเจ้าเพื่อให้ชาวเมืองเข้าใจผิดเลิกนับถือ คณะเดียรถีย์จะได้กลับมาเฟื่องฟูด้วยลาภสักการะใหม่อีกครั้ง จึงไปอ้อนวอนให้นางจิญจมาณวิกาผู้เป็นสาวิกาของตน นางผู้นี้มีรูปร่างงดงาม หน้าตาสะสวย ทั้งเป็นผู้ฉลาดในกลมารยาสตรี วางแผนเป็นอุบายวิธี ให้นางถือดอกไม้ธูปเทียนไปยังพระเชตวันในเวลาเย็น ทำอาการประหนึ่งว่าจะไปร่วมหลับนอนกับพระพุทธเจ้า และตอนออกก็ให้เดินสวนทางกับมหาชนที่พากันไปฟังธรรมให้ทำกลับมาดังนี้ทุก ๆ วัน ประมาณ ๓-๔ เดือน ค่อยเอาผ้าพันท้องให้พองขึ้นเหมือนสตรีมีครรภ์อ่อน แล้วเที่ยวไปประกาศแก่พวกอันธพาลว่า ได้ร่วมรักกับพระพุทธเจ้า คนอันธพาลเหล่านั้นเป็นพวกโง่งม ได้ยินดังนั้นก็ต้องถือเอาเป็นจริงเชื่อลงเป็นแน่

ครั้นกาลนานมาประมาณ ๘-๙ เดือน ก็ให้นางจิญจมาณวิกาหาเอาท่อนไม้ผูกไว้ที่ท้องแล้วห่มผ้าคลุมไว้ แล้วเอาไม้มีสัณฐานดังคางโคทุบที่หลังมือและหลังเท้าให้บวมขึ้นดังสตรีมีครรภ์แก่จวนจะคลอด แล้วจึงชักชวนคนอันธพาลที่เคยหลอกไว้เป็นอันมากให้พากันไปยังพระเชตวัน จากนั้นให้นางจิญจมาณวิกาเข้าไปยืนอยู่ตรงหน้าพระพุทธเจ้าท่ามกลางบริษัททั้ง ๔ แล้วจงกล่าววาจาหยาบต่อพระพุทธเจ้าว่าได้ร่วมรักหลับนอนกันจนมีครรภ์ เป็นต้น

เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตรงตามแผนอุบายของเดียรถีย์ และด้วยมารยาของนางจิญจมาณวิกา ทำให้เกิดความโกลาหลในหมู่พุทธบริษัท บางพวกก็เห็นจริงเชื่อถ้อยคำนาง บางพวกก็ไม่เชื่อ บางพวกก็มีความลังเลสงสัย ในขณะนั้นก็ร้อนไปถึงพระอินทร์ ๆ จึงให้เทวบุตร ๔ องค์ ลงมานิรมิตกายเป็นหนูตัวน้อย แฝงตัวเข้าไปกัดเชือกที่ผูกอยู่กับไม้ทาบท้องนั้น เชือกขาด ไม้พลัดตกลงถูกเท้านางจิญจมาณวิกาขาดเป็นสองท่อนดังถูกตัดด้วยดาบอันคม นางจิญจมาณวิกาพ่ายแพ้แก่พระบรมพุทธานุภาพ มหาชนบริษัททั้งหลายเมื่อเห็นกลมารยาของนางก็พากันติโทษนางจิญจมาณวิกาด้วยประการต่าง ๆ แล้วก็พากันฉุดลากตัวออกไปเสียจากพระเชตวัน แต่พอลับตาลับคลองพระเนตรของพระพุทธเจ้าแล้ว แผ่นดินก็ไม่อาจรองรับอกุศลกรรมอันหนักที่นางได้กระทำไว้ จึงสูบนางจิญจมาณวิกาลงไปสู่มหาอเวจีนรกทั้งเป็นในคราวนั้น



👉 อ่านเรื่องถัดไป 

พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่อง พระยามาร
พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่อง อาฬวกยักษ์
พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่อง ช้างนาฬาคิรี
พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร
พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา
พระธรรมานุภาพที่ ๖ เรื่อง สัจจกนิครนถ์
พระธรรมานุภาพที่ ๗ เรื่อง นันโทปนันทนาคราช
พระธรรมานุภาพที่ ๘ เรื่อง พกาพรหม

อธิบาย เนื้อความพาหุงมหากา ๑

พระคาถาพาหุงมหากา (สวดอินเดีย)

คาถาพาหุงมหากาหรือมักเรียกว่าพุทธชัยมงคลคาถา  เป็นบทสวดสรรเสริญพระพุทธองค์ถึงชัยชนะแปดประการที่ทรงมีเหนือมนุษย์และอมนุษย์ด้วยพระธรรมานุภาพ ที่มาของคาถาพาหุงนี้ไม่เป็นที่แน่ชัดนัก บางกระแสว่าน่าจะแต่งโดยนักปราชญ์ชาวลังกา บางกระแสก็ว่าแต่งที่เมืองไทย แต่ถึงอย่างไรก็ตามบทสวดนี้ก็ทำให้ระลึกถึงพระพุทธองค์อันเป็นมงคลต่อชีวิตของผู้สวดสาธยายพระคาถานี้ 

เนื้อหาสาระในพระคาถาทั้ง ๘ บท

🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่องพระยามาร

เรื่องมีว่า เมื่อครั้งก่อนตรัสรู้พระมหาโพธิสัตว์นั่งสมาธิใต้ต้นพระมหาโพธิ บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก ตั้งพระกายตรงทรงดำรงพระสติมั่น จำเพาะต่ออานาปานสติภาวนาแล้วทรงตั้งสัจจาธิษฐานว่า ถ้ายังไม่ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเพียงไรก็จะไม่ลุกออกจากสถานที่นี้

ครั้งนั้นพระยาวสวัสดีมารผู้มีสันดานบาป ทราบว่าพระมหาโพธิสัตว์กระทำความเพียรจวนจะได้สำเร็จพระโพธิญาณ ก็ไม่พอใจ กลัวจะพ้นวิสัยของตนไป มีความโกรธแค้นมาก จึงนิรมิตแขนซ้ายขวาข้างละห้าร้อย ถืออาวุธต่าง ๆ ครบทุกมือ ขึ้นช้างครเมขล์ยกเสนาซึ่งนิรมิตกายแปลกประหลาดต่าง ๆ กัน มาทางทิศเหนือ โห่ร้องกึกก้องเข้ามาหวังจะฟาดฟันพระองค์เสียให้สิ้นชีพ ขณะนั้นเทวดาจากสวรรค์ภพที่ได้ลุมล้อมปฏิบัติรักษาพระองค์อยู่โดยรอบ พอได้ยินเสียงกองทัพพญามารสนั่นหวั่นไหว ทราบว่าพระยามารยกทัพมาก็พากันสะดุ้งตกใจกลัว ท้าวสยามเทวราชฉวยได้สุวรรณจามร ท้าวสันดุสิตเทวราชฉวยได้วาลวิชปัญจสิข เทพคนธรรพ์จับได้พิณทิพย์ พระอินทร์ฉวยฉุดได้สังขวิชัยยุทธ ฉวยอะไรได้แล้วต่างพากันเหาะหนีกลับไปสู่ภพของตน ครั้นพระมหาโพธิสัตว์เห็นเหล่าเทวดาหลบหนีไปหมด จึงทรงระลึกถึงบารมี ๓๐ ทัศที่เคยสร้างสั่งสมไว้ในสังสารวัฎอันยาวนาน มีทาน ศีล เนกขัมมะ ฯ เป็นต้น ซึ่งพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาในอเนกชาติ ด้วยกำลังของมหากุศลจิตและด้วยอำนาจของบารมีที่สั่งสมมา เหล่าเสนามารก็ไม่อาจทำให้พระมหาโพธิสัตว์เกิดความหวั่นไหวใดๆ ก็ยิ่งทำให้พระยามารมีความโกรธแค้นด้วยกำลังแห่งโทสะ จึงนิรมิตห่าฝน ๙ อย่าง

๑. ห่าฝนลมพายุใหญ่
๒. ห่าฝนมหาเมฆฝนตกใหญ่
๓. ห่าฝนก้อนศิลา
๔. ห่าฝนอาวุธศัสตราต่าง ๆ
๕. ห่าฝนถ่านเพลิง
๖. ห่าฝนเถ้าที่ร้อนจัดดุจเถ้าในนรก
๗. ห่าฝนไฟกรด
๘. ห่าฝนเปือกตม
๙. ห่าฝนอันมืดทั่วทุกทิศให้ตกลงมา

ห่าฝน ๙ ประการนั้นก็มิอาจทำอันตรายแก่พระมหาโพธิสัตว์ได้ จากสิ่งที่น่าหวาดเสียวหวาดกลัวกลับกลายเป็นเครื่องสักการบูชา ด้วยอำนาจพระบารมี มีทาน ศีล เนกขัมมะ ฯ เป็นต้น พระยามารเห็นดังนั้นก็ยังโกรธมากขึ้นไปอีก จึงเข้าไปร้องกล่าวว่า "รัตนบัลลังก์ที่พระมหาโพธิสัตว์ประทับนั่งอยู่นั้นเป็นของเกิดด้วยบุญสมภารแห่งตน สมควรแก่ตน" แล้วอ้างเสนามารแห่งตนเป็นพยาน มารหวังหลอกลวงให้ลุกจากที่นั่งหมายทำลายสัจจาอธิฐานให้ได้

พระมหาโพธิสัตว์จึงตรัสตอบว่า "รัตนบัลลังก์นี้เกิดด้วยบุญบารมีของพระองค์" พระยามารให้อ้างพยาน พระองค์ไม่มีใครจะเป็นพยาน จึงทรงระลึกถึงทานที่พระองค์ได้บริจาคในอเนกชาติ เช่นได้ให้ทานบุตรภรรยาในพระชาติเป็นพระเวสสันดร เป็นต้น แล้วชี้นิ้วพระหัตถ์ลงไปตรงพื้นปฐพี นางพระขรณีที่ผุดขึ้นมายืนอยู่ตรงพระพักตร์แล้วทูลว่า "ข้าพระบาทเป็นสักขีพยาน ได้ทราบบุญบารมีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาอย่างเอนกอนันต์จนทักษิโณทก (ทักษิโณทก = น้ำที่หลั่งเวลาทำทานเพื่ออุทิศกุศลผลบุญ)  ตกลงซุ่มอยู่ในเกศาของข้าพระบาทมากจนหาที่จะประมาณมิได้" ว่าแล้วนางพระธรณีก็บิดน้ำให้ไหลออกจากมวยผม ตนเองไหลนองจนท่วมดุจห้วงมหาสมุทรทั้งมหาปฐพีเกิดคลื่นน้ำเข้าถาโถมใส่กองทัพพญามาร พระยามารและพลมารถมีความพิศวงครั่นคร้ามในบารมีและพระเดชานุภาพของพระมหาโพธิสัตว์เป็นอันมาก เมื่อรู้ตัวว่าทำอะไรไม่ได้แล้วจึงพากันนมัสการ แล้วพากันกลับไปสู่พิภพของตน

พระมหาโพธิสัตว์ทรงชนะมารครั้งนี้ในวันพุธ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ในเวลาพระอาทิตย์จวนจะอัสดงคต และได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณในวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ในเวลาจวนใกล้รุ่ง


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่องอาฬวกยักษ์ (อาฬกวยักษ์มีฤทธ์แก่กล้ายิ่งกว่าพญามาร มีสันดานกระด้างปราศจากความอดทน)

เรื่องนี้มีอยู่ว่า อาฬวกยักษ์อาศัยอยู่ในวิมานใต้ต้นไทรใหญ่ในป่าแห่งหนึ่ง เป็นผู้หยาบช้าทารุณมาก ชอบกินคนและสัตว์ที่เดินป่าเข้ามาในบริเวณพื้นที่นั้น และกินคนที่พระเจ้าอาฬวราช ราชาเมืองอาฬวะส่งมาให้กินวันละคน ๆ ตามที่ได้สัญญากันไว้ ในเวลาเช้าวันหนึ่ง พระพุทธองค์เล็งเห็นอุปนิสัยของอาฬวกยักษ์ ว่าเป็นเวไนยสัตว์ ยังสามารถเรียนรู้สามารถฝึกตนให้เกิดมรรคผลเป็นอริยบุคคลได้ ด้วยพระเมตตาพระองค์จึงเสด็จไปยังวิมานของอาฬวกยักษ์ แต่อาฬวกยักษ์ไม่อยู่ จึงเสด็จต่อไปยังที่ประชุมของยักษ์และเทวดาในป่านั้น ก็ได้พบแต่คันธัพพยักษ์ผู้รักษาประตูวิมาน ไม่ทรงพบอาฬวกยักษ์

พระพุทธองค์จึงเสด็จผ่านประตูเข้าไปประทับบนรัตนบัลลังก์ของอาฬวกยักษ์แล้วทรงเปล่งรัศมี ๖ ประการ คือ เขียว เหลือง ขาว หงส์บาท เลื่อม แดง ออกจากพระกาย ฝูงนางสนมและบริวารทั้งหลายของอาฬวกยักษ์เห็นพระรัศมีมีความสว่างเจิดจ้า น่าเลื่อมใส จึงพากันเข้าไปนมัสการแล้วนั่งฟังธรรมอยู่ คันธัพพยักษ์ผู้รักษาประตูนมัสการพระองค์แล้วเหาะไปบอกอาฬวกยักษ์ พออาฬวกยักษ์ได้ยินสิ่งที่คนเฝ้าประตูเล่าก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟตามโทสาคติของจิตใจยักษ์ คิดเคียดแค้นจะรีบกลับมาฆ่าเสีย

ในขณะนั้นสาตาคริยักษ์และเหมวตายักษ์ พาบริวารมาคนละ ๕๐๐ เหาะมายังเชตวันวิหาร หวังจะนมัสการพระพุทธเจ้าครั้นไม่พบ จึงมองหาพบแสงของรัศมีเปล่งประกายออกมาจากวิมานของอาฬวกยักษ์ สาตาคริยักษ์และเหมวตายักษ์กับพวกพ้องจึงพากันเหาะไปยังวิมานอาฬวกยักษ์ ระหว่างทางก่อนถึงวิมารได้เจออาฬวกยักษ์ สาตาคริยักษ์และเหมวตายักษ์ก็บอกว่ามีแก้วมณีเกิดขึ้นที่วิมานของท่านแล้ว อาฬวกยักษ์นึกว่าตนจะได้ลาภเป็นแก้วมณีจริงๆก็ดีใจ รีบลุดไปให้ถึง พอมาถึงที่กลับเห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนบัลลังก์แสดงธรรมแก่บริษัทของตนอยู่ก็ยิ่งทวีความโกรธเกรี้ยวเลยแผลงฤทธิ์ให้ห่าฝน ๙ ประการตกลงมา หวังจะให้ทำลายชีวิตของพระองค์เสีย แต่พอห่าฝนที่ยักษ์เนรมิตตกลงมาก็กลับกลายเป็นดอกไม้เครื่องสักการบูชา อาฬวกยักษ์เห็นอย่างนั้นก็ยิ่งโกรธมากขึ้น จึงเอาผ้าโพกขว้างขึ้นไปบนอากาศหวังจะให้ตกลงมาประหารพระองค์ ผ้าโพกแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ดังสนั่นกึกก้องไปในอากาศ แล้วกลับตกลงมาเป็นดอกไม้ธูปเทียนบูชา บริษัทของอาฬวกยักษ์และฝูงเทวดาเห็นดังนั้นก็มีความยินดี พากันร้องสาธุการเสียงกึกก้องลั่นวิมาน

อาฬวกยักษ์คิดว่า ผ้าโพกของเราผืนนี้ ถ้าจะขว้างภูเขาใหญ่เท่าพระสุเมรุ ภูเขานั้นก็จะแหลกละเอียดไป หรือถ้าจะขว้างไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรก็จะแห้งเหือดไปหมด แต่พอเราขว้างใส่พระสมณะองค์นี้ กลับกลายเป็นดอกไม้บูชาดูน่าอัศจรรย์นัก อย่ากระนั้นเลย เราจะข่มสมณะนี้ด้วยวาทะ ถ้าแพ้เรา เราก็จะฆ่าเสีย คิดแล้วจึงร้องว่า "ท่านมานั่งบนที่นั่งเราทำไม จงลุกไปเสียข้างนอก" พระองค์เสด็จออกไปข้างนอกตามคำยักษ์ แล้วยักษ์ก็แกล้ง สั่งให้กลับมานั่งนั่งที่เก่าอีก พระองค์เสด็จเข้ามา อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้น ยิ่งนึกอัศจรรย์มาก ทำไมพระองค์ไม่โกรธตอบและทำไมเป็นคนว่าง่าย บอกอย่างไรก็ทำตามทุกอย่าง พระองค์จึงตรัสว่า "ท่านจะกระทำอะไรแก่เรา เราก็มิได้โกรธตอบและมิได้เข็ดเลย อย่าว่าแต่ท่านคนเดียว ถึงแม้อินทร์พรหมและเทวดา ซึ่งมีฤทธานุภาพสักเท่าใด ๆ ก็มิอาจย่ำยีเราได้" (พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงความเป็นผู้ไม่มีโทสะแล้ว ไม่ว่าใครก็ทำให้โทสะของพระพุทธองค์เกิดขึ้นมาอีกไม่ได้)

"ท่านคิดไว้ว่าจะถามปัญหากับเรา ท่านก็จงถามมาเถิด แต่ปัญหาที่ท่านคิดไว้ว่าจะถามเรานั้น เราจะบอกให้ท่านรู้ก่อนว่าไม่ใช่ปัญหาของท่านเอง เป็นปัญหาที่จำได้ต่อ ๆ กันมา คือท่านจำมาจากบิดาของท่าน บิดาของท่านก็จำมาจากปู่ของท่าน ปู่ของท่านก็ฟังธรรมแล้วจำได้มาแต่สำนักของพระกัสสปพุทธเจ้า"

อาฬกวยักษ์จึงถามปัญหา ๔ ข้อว่า
"อะไรเป็นทรัพย์อย่างประเสริฐ ของบุรุษในโลกนี้ ?"
"ประพฤติอย่างไรจึงจะได้สุข ?"
"รสอะไรเป็นรถประเสริฐกว่ารสทั้งปวง ?"
"เป็นอยู่อย่างไรจึงจงชื่อว่าเป็นอยู่ประเสริฐ ?"


พระองค์ทรงวิสัชนาว่า
"ศรัทธาเป็นทรัพย์อย่างประเสริฐของบุรุษในโลกนี้"
"ประพฤติชอบจึงจะได้สุข"
"รสคือความสัตย์เป็นรสประเสริฐกว่ารสทั้งปวง"
"เป็นอยู่ด้วยปัญญาชื่อว่าเป็นอยู่ประเสริฐ"

แล้วพระองค์ก็ได้ทรงแสดงธรรมให้อาฬวกยักษ์ฟังต่อไปจนคลายพยศลง มีจิตเกิดความเลื่อมใสศรัทธา หมดสิ้นความกังขาใดๆ จึงน้อมจิตเอาพระองค์เป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐบรรลุโสดาปฎิผลในเวลานั้น แล้วได้ถวายตัวเองเป็นอุบาสก

🙏เกร็ดความรู้เพิ่มเติม 
* เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน พระพุทธพรรษาที่ ๑๖ ณ อัคคาฬวเจดีย์วิหาร เมืองอาฬวี
* การเกิดเป็นยักษ์ ยักษ์นั้นจัดเป็นเทวดาชั้นต่ำ คืออยู่ในภพของสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พวกยักษ์นี้จะอยู่ในการปกครองของท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวรมหาราชผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศเหนือ เหตุที่มาเกิดเป็นยักษ์เพราะทำบุญเจือด้วยความโกรธ มักหงุดหงิดรำคาญใจ เช่น ในขณะทำบุญไม่สำรวมอินทรีย์ ได้ยินเสียงอื้ออึงคนคุยกันก็นึกหงุดหงิด อากาศร้อนก็นึกหงุดหงิด มีโทสะร่วมกับการทำบุญแบบนี้เป็นต้น เมื่อตายลงจากภพมนุษย์แล้ว หากผลบุญนั้นได้นำเกิด ก็จะนำเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุฯพร้อมได้รูปกายเป็นยักษ์



👉 อ่านเรื่องถัดไป 

พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่อง พระยามาร
พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่อง อาฬวกยักษ์
พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่อง ช้างนาฬาคิรี
พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร
พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา
พระธรรมานุภาพที่ ๖ เรื่อง สัจจกนิครนถ์
พระธรรมานุภาพที่ ๗ เรื่อง นันโทปนันทนาคราช
พระธรรมานุภาพที่ ๘ เรื่อง พกาพรหม


วันอังคาร

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุกรมัทวะ ๒

👉 หน้าที่แล้ว ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุกรมัทวะ ๑

        ก่อนพุทธกาลนั้นเมืองสองเมืองปาวาและกุสินารา ถือว่าเป็นเมืองเดียวกันเรียกว่า เมืองกุสาวดี ซึ่งปรากฏในบาลีมหาสุทัศนะสูตร ทีฆะนิกาย ที่พรรณนาไว้ว่าเมืองกุสาวดีนั้นมั่งคั่ง มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ต่อมาเมืองกุสาวดีก็ร่วงโรยตามไปตามความอนิจจังของสังขาร หนักเข้าก็กลายเป็นแคว้นเล็ก ๆ ไป ในที่สุดแยกเป็นสองเมือง เมืองหนึ่งเรียกว่ากุสินารา อีกเมืองหนึ่งเรียกว่าปาวา เส้นทางเสด็จพุทธดำเนินของพระองค์ ก็เสด็จมาแวะที่เมืองปาวา ก่อนที่จะไปสู่กุสินารา ระยะทางจากเมืองปาวาไปกุสินารานั้น ต้องใช้เวลาเดินเกือบวันและที่เมืองปาวานี้เองเรื่องสูกรมัททวะก็เกิดขึ้น

ที่เมืองปาวานี้ นายจุนทะ กัมมารบุตร แปลว่า นายจุนทะผู้เป็นบุตรของนายช่างทอง นายจุนทะนี้เขาเป็นช่างทอง ทำทองขาย มีจิตศรัทธา ได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งภิกษุสาวก ให้ไปรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น แล้วในคืนวันนี้เองนายจุนทะก็ตระเตรียมขาทนียะและโภชนียะ เพิ่มคน คุมคนการเตรียมกันอย่างขมีขมัน ทำกันเป็นการใหญ่ เพราะพระสงฆ์สาวกที่ติดตามพระพุทธองค์มานั้นมีจำนวนหลายร้อยรูป อินเดียครั้งนั้นไม่เหมือนประเทศไทยสมัยนี้ ประเทศไทยนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหาร เนื้อหนังมังสาบริบูรณ์ จะซื้อหาจับจ่ายก็ง่าย คนโบราณนั้นจะเลี้ยงพระก็ยากกว่าสมัยนี้ ตลาดไม่ใช่จะหาง่ายอย่างเดี๋ยวนี้นะ พอออกจากประตูบ้านก็เจอตลาดขายของ ของขายไม่ได้หาง่าย ๆ อย่างเดี๋ยวนี้ ตลาดก็ไม่ใช่ใหญ่โตอะไร ๆ เล็ก ๆ เพราะฉะนั้น ใครเป็นทายก จะเลี้ยงพระทีละหลายร้อยรูป ต้องเตรียมอาหารกันเป็นวัน ๆ ตลอดคืนยังรุ่ง ไม่เช่นนั้นอาหารไม่พอเลี้ยงพระเพื่อให้เหมาะกับพระสงฆ์ที่จะมารับในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่านอกจากอาหารที่เป็นขาทนียะและโภชนียะแล้ว นายจุนทะได้ทำอาหารขึ้นชนิดหนึ่งจากขาทนียะและโภชนียะเรียกว่า สูกรมัททะ ทำไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้พอกับภิกษุสงฆ์ ปัญหาว่า สูกรมัททวะนี้คืออะไร ?

ซึ่งเป็นประเด็นอันสำคัญของปาฐกถาในวันนี้ สูกรมัททวะ ตามศัพท์แปลว่า เนื้อหมูอ่อน เพราะสูกรก็คือสุกร มัททวะก็คือ ความอ่อนโยน ความนิ่มนุ่ม หรือความอ่อนนุ่ม สูกระ กับ มัททวะ ก็แปลว่า เนื้อหมูที่อ่อนนุ่ม หรือเนื้อหมูที่อ่อนนิ่ม สูกรมัททวะถ้าแปลอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่ว่าปัญหานั้นไม่ยุติเพียงเท่านั้น ประเด็นว่า เพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าจึงตรัสห้ามไม่ให้ภิกษุรูปอื่นฉันสูกรมัททวะนี้ และเพราะเหตุใดพระองค์จึงรับสั่งให้นายจุนทะนำสูกรมัททวะนี้ไปฝังเสีย ไปทำลายไม่ให้เป็นอาหารแก่คนและสัตว์ต่อไป และเพราะเหตุใดจึงตรัสแก่นายจุนทะว่า สูกรมัททวะนี้ ตถาคตมองไม่เห็นผู้ใดผู้หนึ่งในโลกนี้ ทั้งเทวดา ทั้งมารและพรหมที่จะกินเข้าไปแล้วจะย่อยได้ เว้นแต่เราตถาคตผู้เดียว ที่จะย่อยอาหารชนิดนี้ได้ ทำไมจึงตรัสเช่นนี้

เป็นอาหารอะไรหรือ ถ้าเป็นเนื้อย่อยทำไมจึงตรัสเช่นนั้น ประเด็นนี้เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องวินิจฉัย มีพระอรรถกถาจารย์ ๒ ท่าน และปรากฏในสองคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องสูกรมัททวะนี้ และก็แปลกอีกอย่างหนึ่งที่สูกรมัททวะนี้ปรากฏที่มาที่นี่แห่งเดียว ในพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่ปรากฏที่อื่นอีกเลย มาโผล่ปรากฏที่มหาปรินิพพานสูตรตอนเดียวเท่านั้น ในที่อื่น ๆ แล้ว ไม่พบคำนี้เลย น่าอัศจรรย์มาก เป็นอาหารพิเศษ ประหลาดเหลือเกิน พระอรรถกถาจารย์ในสุมังคลวิลาลินี คือท่านพระพุทธโฆษาจารย์นั่นเอง ก็ให้นัยอธิบายสูกรมัททวะนี้ไว้ ๓ นัย เพราะท่านไม่แน่ใจเหมือนกันว่า อะไรแน่ สมัยแต่งอรรถกถานั้นเป็นสมัยหลังพุทธปรินิพพานแล้วพันปี และท่านผู้แต่งก็คือพระพุทธโฆษาจารย์ และท่านก็เป็นชาวอินเดียอยู่แคว้นมคธ ท่านก็ยังไม่แน่ใจเลยว่า สูกรมัททวะคืออะไร คิดดูซิ แล้วพวกเราซึ่งห่างจากสมัยนั้น (สมัยแต่งอรรถกถา) อีกตั้งหนึ่งพันห้าร้อยปี จะไปแน่ใจได้อย่างไร เราก็ต้องอาศัยการวินิจฉัย ข้อความใดที่ใกล้เคียงและมีเหตุผลเราก็ยึดถือข้อความนั้น บัดนี้ได้นำมติของสุมังคลวิลาลินีมาให้ท่านทั้งหลายฟัง ในสุมังคลวิลาสินี พระพุทธโฆษาจารย์ ได้ให้นัยมาอธิบายไว้ ๓ นัย 

🔅 นัยที่ ๑. สูกรมทฺทวนฺติ นาติตรุณสฺส นาติชิณฺณสฺส เอกเชฏฐกสูกรสฺส ปวตฺตมํสํ แปลความว่า สูกรมัททะนั้นได้แก่ ปวัตตมังสะของสุกรที่ได้เจริญเต็มที่ ซึ่งไม่หนุ่มจนเกินไป และไม่แก่จนเกินไป ตํ กิร มุทญฺเจว สินิทฺธญฺจ โหติ ฯ ตํ ปฏิยาทาเปตฺวา สาธุกํ ปจฺจาเปตฺวาติ อตฺโถ = ได้ยินว่า เนื้อนั้นเป็นของอ่อนนุ่มสนิทดี อธิบายว่า นายจุนทะให้ตกแต่งเนื้อนั้นปรุงให้เป็นอาหารชนิดดี สรุปมติที่ ๑ ท่านแปล สูกรมัททวะว่า เนื้อ เพราะนายจุนทะนั้นให้หาเนื้อหมูอย่างดี ได้แก่เนื้อสุกรที่ไม่แก่ไป ถ้าแก่เกินไปเนื้อเหนียวเคี้ยวยาก เป็นเนื้อชนิดดีมาปรุงแล้วอร่อยดีนี้เรียกว่า สูกรมัททวะ


🔅 นัยที่ ๒ เอเก ภณนฺติ สูกรมทฺทวนฺติ ปน มุทุโอทนสฺส ปญฺจโครสยูสปาจนวิธานสฺส นาเมตํ ยถา ควปานํ นาม ปากนามนฺติ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่าสูกรมัททวะนี้ เป็นชื่อแห่งวิธีปรุงข้าวอ่อนเจือด้วยเบญจโครส เหมือนชื่ออาหารที่ปรุงให้เสร็จสำเร็จแล้ว ชื่อว่าควปานะ ถ้าถือตามนัยที่ ๒ นี้ สูกรมัททวะ ก็ได้แก่ข้าวสาลีหุงด้วยน้ำนมโค ข้าวชนิดมธุระเอร็ดอร่อยมาก เวลานี้ในอินเดียยังกินกันอยู่ ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมโคนี้อร่อยจริง ๆ กระผมเองก็เคยรับประทาน คือเพื่อนชาวอินเดียในประเทศไทยนี่เองหุงให้กิน และเอร็ดอร่อยมากและเขาบอกว่า นี่แหละสูกรมัททวะ เพราะฉะนั้น ถ้าถือตามนัยที่ ๒ นี้ สุกรมัททวะได้แก่ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมโคที่เรียกว่าควปาน หุงด้วยเบญจโครส เอร็ดอร่อย ใส่น้ำตาลหน่อย ใส่นมหน่อย อร่อยดี ทั้งมัน ทั้งหอม ทั้งหวาน นี่เรียกว่าสูกรมัททวะ

🔅 นัยที่ ๓ เกจิ ภณนฺติ สูกรมทฺทวํ นาม รสายนนิธิ ตํ ปน รสายนสตฺเถ อาคจฺฉติ ตํ จุนฺเทน ปรินิพฺพานํ น ภเวยฺยาติ รสายนํ ปฏิยตฺตนฺติ ฯ อาจารย์บางท่านกล่าวอีกว่า รสายนวิธีชื่อว่าสูกรมัททวะ ก็รสายนวิธีนั้นมาในคัมภีร์รสายนศาสตร์ นายจุนทะตบแต่งรสายนวิธีด้วยหมายใจว่า พระผู้มีพระภาคอย่าเพิ่งปรินิพพานเสียเลย นัยที่ ๓ นี่ก็สำคัญ นัยนี้พูดกันง่ายคือเป็นยา สูกรมัททวะคือยา เป็นโอสถชนิดหนึ่ง ซึ่งนายจุนทะตั้งใจปรุงขึ้นถวายพระผู้มีพระภาค เพราะด้วยความตั้งใจว่า เมื่อพระองค์ได้ฉันโอสถชนิดนี้ จะได้ไม่ต้องนิพพาน และก็ตรงกับคัมภีร์ไสยศาสตร์เล่นแร่แปรธาตุ เป็นคัมภีร์ตำหรับพิเศษ ปรุงถวายเพื่อจะรักษาโรคพระผู้มีพระภาค

สรุปแล้วมีทั้ง ๓ นัยด้วยกัน แม้พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านก็มิได้ตัดสินลงไปว่าสูกรมัททวะนี้ได้แก่อะไร ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสุมังคลวิลาลินี อรรถกถาแห่งทีฆนิกาย ตอนแก้มหาปรินิพพานสูตร คัมภีร์ที่ ๒ คือคัมภีร์ปรมัตถทีปนีท่านผู้แต่งคือท่านธรรมปาลจริยะ เป็นคนรุ่นหลังพระพุทธโฆษาจารย์เล็กน้อย เป็นชาวอินเดียเหมือนกัน ท่านก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่อะไรกัน แต่ท่านก็ให้นัยแปลกจากพระพุทธโฆษาจารย์อีก คือให้ไว้ ๔ ข้อ พ้องกับท่านพระพุทธโฆษาจารย์ก็มี แปลกกันก็มี

🔅 ๑. สูกรมทฺทวนฺติ สูกรสฺส มุทะสินิทฺธํ ปวตฺตมํสนฺติ มหาอฏฐกถายํ วุตฺตํ ฯ แปลความว่า ท่านกล่าวไว้ในมหาอรรถกีฬาว่า คำว่าสูกรมัททวะ ได้แก่ ปวัตตมังสะ ของสุกรที่อ่อนนุ่มสนิทดี ปวัตตมังสะนั้น ได้แก่ เนื้อที่สมควรที่พระจะบริโภคได้ ไม่ใช่อุทิศมังสะ คือไม่ใช่เนื้อที่เห็นเขาฆ่าเพื่อตน ได้ยินว่าเขาฆ่าเพื่อตน และก็สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อตน พ้นจากมลทิน ๓ ข้อนี้ เรียกว่าปวัตตมังสะ เนื้อที่ควรที่พระจะบริโภคได้ ตามนัยท่านธรรมปาลจริยะท่านทักว่า คัมภีร์มหาอรรถกถานี้เป็นคัมภีร์เก่าก่อนกว่าอรรถกถาที่พระพุทธโฆษาจารย์แต่ง กล่าวว่าสูกรมัททวะนั้น ได้แก่ เนื้อหมูอ่อนที่เป็นปวัตตมังสะ

🔅 ๒. เกจิ ปน สูกรมทฺทวนฺติ น สูกรมํสํ สูกเรหิ มทฺทิตวํสกลีโรติ วทนฺติ ฯ แปลความว่า แต่อาจารย์บางเหล่า กล่าวว่า “คำว่า สูกรมัททวะนั้น ไม่ใช่เนื้อสุกร หากเป็นหน่อไม้ที่สุกรชอบกิน” มตินี้เข้าที คำว่า สูกรมัททวะนี้ ถ้าจะแปลอีกนัยหนึ่งว่า อ่อนสำหรับหมูก็ได้ ซึ่งนอกจากที่แปลว่า เนื้อหมูอ่อน คือเนื้อมันอ่อนนุ่มสำหรับหมูจะกินก็ได้ คืออ่อนนุ่มสำหรับหมูจะกิน ถ้าตามนัยนี้แล้ว สูกรมัททวะก็แปลว่าหน่อไม้ที่หมูชอบกิน เข้าทีเหลือเกิน เพราะดีทั้งรูปศัพท์และความหมาย ถ้าเราวิเคราะห์ศัพท์ว่า สูกรมัททวะว่าอ่อนสำหรับหมูละก็ หมูชอบกินอะไรบ้างล่ะ หน่อไม้หมูก็ชอบ อาจจะเป็นหน่อไม้บางประเภทกระมัง

🔅 ๓. อญฺเญ สูกเรหิ มทฺทิตปฺปเทเส ชาตํ อหิฉตฺตกนฺติ แปลความว่า อาจารย์บางเหล่ากล่าวอีกว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่ เห็ดที่เกิดในประเทศที่สุกรเหยียบย่ำ แม้นัยนี้ก็เข้าทีอีกเช่นเดียวกัน ในคำว่า อหิฉตฺตก นั้น อหิ แปลว่า งู ฉตฺต หรือ ฉตฺตก แปลว่า ร่ม อหิฉตฺตก นั้นแปลว่าเห็ด ตามรูปศัพท์แปลว่า มีอาการ ฉัตรแผ่แม่เบี้ยเหมือนงู ตามรูปศัพท์เพ่งเอาเห็ดชนิดหนึ่งที่มีภาพแผ่แม่เบี้ยประดุจงู ในคัมภีร์ฝ่ายมหายานทุกสูตรทุกปกรณ์ และชาวพุทธในมหายานยึดถือเอาคตินี้ คือสูกรมัททวะแปลว่าเห็ดชนิดหนึ่ง ที่มีอาการแผ่แม่เบี้ยเหมือนงู คือเป็นเห็ดชนิดหนึ่งซึ่งจีนเรียกว่า จันทันจี่ย่น ภาษาจีนเหนือว่าจันทันสู้อ้อ โดยบอกว่าเห็ดชนิดนี้เกิดที่ต้นไม้จันทร์ เป็นเห็ดพิเศษ ไม่ได้เกิดบนภูมิภาคทั่ว ๆ ไป

🔅 ๔. อปเร ปน สุกรมทฺทวนามกํ รสายตนนฺติ ภณนฺติ แปลความว่า แต่อาจารย์บางเหล่าก็กล่าวอีกว่า ได้แก่เครื่องดื่มชนิดหนึ่ง ที่ปรุงตามกรรมวิธีรสายนะ ชื่อว่าสูกรมัททวะ ตํ หิ จุนฺโท กมฺมารปุตฺโต อชฺช ภควา ปรินิพฺพายิสสตีติ สุตฺวา อปฺเปวนาม น ปริภุญฺชิตฺวา จิรตรํ ติฏเฐยฺยาติ สตฺถุ จิรชีวิตุกมฺยตาย อทาสีติ วทนฺติ แปลว่า เพราะว่านายจุนทะบุตรของช่างทอง ได้ทราบข่าวว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคจะปรินิพพานแล้ว จึงได้ถวายเครื่องดื่มชนิดนั้น เพื่อต้องการให้พระผู้มีพระภาคมีพระชนม์อยู่ได้นาน ด้วยความหวังว่า ไฉนหนอ ขอพระศาสดาเสวยเครื่องดื่มนี้แล้ว พระชนมายุอยู่ได้ไปอีกนานเถิด นี่เป็นนัยที่ ๔ ตรงกับนัยในมังคลวิลาลินีเหมือนกัน ที่แปลว่า ยาที่ปรุงตามวิธีรสายนเวช เป็นยาชนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ตามมติในสองคัมภีร์นี้ เราก็ได้ความว่า แม้แต่พระโบราณาจารย์ก็ไม่สามารถจะตัดสินอะไรลงไปแน่นอนว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่อะไรแน่ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้เราทั้งหลายซึ่งเป็นปัจฉิมาชนตาชน ห่างไกลจากสมัยของท่านตั้ง ๑,๕๐๐ ปี เพราะสมัยแต่งอรรถกถานั้นก็หลังพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วประมาณ ๑,๐๐๐ ปี เราห่างจากท่านประมาณ ๑,๕๐๐ ปี ถ้ารวมพุทธกาลแล้วเราห่างตั้ง ๒,๕๐๐ ปีเศษ จะวินิจฉัยสูกรมัททวะได้อย่างไร ในข้อนี้กระผมก็อยากจะเสนอความเห็นส่วนตัวประกอบเกี่ยวกับสูกรมัททวะ ถ้าสูกรมัททวะแปลว่าเนื้อหมูอ่อนง่าย ๆ ตามศัพท์แล้วกระผมไม่เห็นด้วย เพราะถ้าเป็นเนื้อหมูอ่อนแล้ว ทำไมจึงเป็นพิษกับพระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ เพราะเหตุใดพระองค์จึงตรัสว่า เว้นตถาคตแล้วไม่มีผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งที่เป็นมนุษย์และเทพเจ้าจะย่อยอาหารชนิดนี้ได้ ทำไมจึงตรัสอย่างนั้น ถ้าเป็นเนื้อหมูอ่อน ก็คำที่ว่า เป็นอาหารที่เอร็ดอร่อย พระก็ฉันได้ ทำไมจึงรับสั่งให้ไปทำลายเสีย ไปฝังเสีย เพื่อไม่ให้ใครกินต่อไป ตรัสแก่จุนทะว่าสำหรับอาหารอื่น ๆ นั้น เธอเอาไปอังคาสภิกษุสงฆ์เถิด แต่สำหรับสูกรมัททวะ เธอจงอังคาสตถาคตผู้เดียวเถิด ตรัสกับจุนทะอย่างนี้เหลือมานั้นเธอจงเอาไปฝังเลยเถิด ตรัสอย่างนั้น บางท่านก็แก้ว่า อาจจะเป็นเนื้อหมูบูดกระมั้ง มีตัวพยาธิตัวจี๊ด ตัวเชื้อโรค พระองค์ทราบเช่นนั้นจึงรับสั่งให้ไปทำลายเสีย ไม่ให้พระอื่นฉัน ส่วนตัวพระองค์ยอมเสวยเพื่อฉลองศรัทธาของนายจุนทะ ผมก็ไม่เห็นด้วย ถ้าแก้ว่าเนื้อหมูบูด เพราะฐานะของนายจุนทะนั้นไม่ใช่คนยากคนจน รู้ได้ก็เพราะนายจุนทะมีศรัทธา รับอาสาเลี้ยงพระทั้งคณะ ที่มากับพระพุทธองค์ เป็นจำนวนร้อย ๆ ถ้าเป็นคนมีฐานะยากจนแล้ว ไหนเลยจะกล้ารับเลี้ยงพระได้เป็นร้อย ๆ ฐานะของนายจุนทะต้องเป็นคนมีอันจะกินมั่งคั่งเป็นอย่างน้อย ไม่ถึงกับจะต้องหาเนื้อบูดของเสียมาถวาย คนจะทำบุญนั้นเขาจะไม่รู้หรือว่าของนั้นบูดเสีย ต้องรู้ของบูดเสีย แม้คนยากจนเขาก็ยังไม่ถวายพระ เพราะแม้ตัวเขาเองก็กินไม่ได้ แล้วยิ่งนายจุนทะไม่ได้ทำคนเดียว แม่ครัวตั้งมากมายจะไม่รู้หรือว่าของนี้บูดเน่า ถ้าบูดเน่าก็ไม่เชื่อว่าเขาจะทำเป็นอาหารไปถวายพระ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นเนื้อบูดเน่า แต่สูกรมัททวะนี้ จะต้องไม่ใช่เนื้อหมูแน่นอน

แต่มีประเด็นของสูกรมัททวะที่น่าสนใจคือ ที่แปลว่าเห็ดอย่างหนึ่ง และที่แปลว่ายารักษาโรคอย่างหนึ่ง และที่แปลว่าหน่อไม้ที่หมูชอบกินอย่างหนึ่ง ๓ อย่าง ในประเด็นที่แปลว่าหน่อไม้ ถ้าแปลว่าหน่อไม้ก็ไม่น่าจะเป็นพิษภัยแก่พระรูปอื่นที่จะฉัน ทำไมพระองค์จึงรับสั่งให้เอาไปฝัง ถ้าพระองค์ฉันแล้วจะเป็นเหตุให้โรคกำเริบ เพราะอาจเป็นของแสลงในเมื่อพระองค์เองก็อาพาธอยู่แล้ว ก็พระสงฆ์ที่ดี ๆ ไม่เป็นโรคอยู่ตั้งมากมาย ทำไมจึงรับสั่งไม่ให้ถวายพระให้นายจุนทะไปฝังเสีย ถ้าแปลว่าเห็ดก็มีเค้าเข้าทีดี เพราะทุกวันนี้ก็มีเห็ดพิษที่คนกินแล้ว บางทีทั้งครอบครัวต้องเข้าโรงพยาบาล ดังเคยปรากฏ ข่าวในหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ แกงเห็ดมาถวายให้ฉัน ๆแล้วเกิดพิษ เข้าในกรณีที่แปลว่าเห็ด แต่ถ้าเป็นเห็ดแล้ว ทำไมนายจุนทะไม่รู้หรือ ว่าเห็ดนั้นเป็นเห็ดพิษ ถ้าอ้างว่านายจุนทะไม่รู้ พระองค์ก็น่าที่จะบอกแก่นายจุนทะว่า จุนทะ เห็ดเหล่านี้เป็นเห็ดพิษนะ ต่อไปพวกเธอจะทำอาหารถวายพระก็ตาม หรือพวกเธอจะกินเองก็ตาม เธออย่าได้เอาเห็ดชนิดนี้มาทำอาหารนะ เพราะเมื่อกินเข้าไปแล้วจะทำอันตรายถึงแก่ชีวิต ทำไมพระองค์ไม่ตรัสเล่า พระองค์ควรจะสงเคราะห์นายจุนทะ บอกนายจุนทะว่า เห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดมีพิษ บอกกันได้นี่ ไม่เห็นจะเสียหายอะไร ไม่เป็นการทำลายศรัทธา แต่เป็นการสงเคราะห์เพื่อจะได้รู้ตัวว่า อ้อ ต่อไปนี้เราจะไม่ซื้อหาเห็ดชนิดนี้มารับประทานอีกแล้ว เพราะเรากินเองก็มีภัย คนอื่นกินก็มีภัย เป็นการเซฟชีวิตของคนไว้ แต่ไม่ตรัสเลย กลับรับสั่งให้นำไปฝังเสีย เพราะฉะนั้น รูปกรณีอย่างนี้ไม่น่าจะเป็นเห็ด ปัญหาจึงอยู่ที่ข้อสุดท้ายว่า เป็นยารักษาโรค โดยวิธีรสายนเวช ในคัมภีร์รสายนศาสตร์ของพราหมณ์เขา

ข้อนี้เข้าทีมาก หรือข้อที่แปลว่า เป็นควปาน ควปานก็ไม่สมควรเพราะข้าวอ่อนหุงด้วยน้ำนมโคนั้น อร่อยไปเลยด้วยซ้ำไป จะมีพิษที่ไหน กินเข้าไปแล้วเป็นยาชูกำลังดีพิลึกแล แต่ทำไมท่านห้ามไม่ให้พระอื่นฉันเล่า จริงอยู่ ปัญหาเรื่องรสายนะนี้ กระผมสมัครใจจะเชื่อว่าสูกรมัททวะนี้ คือยานั่นเอง นายจุนทะปรุงยาขึ้นเพื่อถวายพระพุทธเจ้า โดยความปรารถนาจะรักษาพระชนมชีพของพระองค์ให้ยืนยาว เห็นพระผู้มีพระภาคกระปรกกระเปลี้ยมาและก็รู้อยู่กับตัวเองว่า พระองค์จะดับขันธ์ในวันนี้แหละ ในคืนวันนี้จะดับขันธ์แล้ว เพราะฉะนั้น ตอนเช้าของวันที่จะดับขันธ์นี้นายจุนทะจึงเตรียมหุงอาหารชนิดนี้ในค่ำวันนั้น ค่ำวันนั้นก่อนรุ่งขึ้นเตรียมอาหารไว้ก่อน และในบาลีท่านจัดสูกรมัททวะนี้อยู่นอกประเด็นขาทนียและโภชนียด้วย ท่านบอกว่า ทำขาทนียโภชนียะและสูกรมัททวะ แสดงว่าสูกรมัททวะไม่ใช่อาหารธรรมดา เป็นอาหารที่ปรุงขึ้นเป็นพิเศษ ที่นายจุนทะตั้งใจปรุงถวายรักษาอาพาธของพระบรมศาสดา ปัญหาว่า ถ้าเป็นยาพิเศษ ทำไมจึงชื่อว่าสูกรมัททวะเล่า เนื้อหมูอ่อนเล่า ถ้าเราเชื่ออย่างนี้ ก็น่าจะบอกว่ายาเภสัชชะก็สิ้นเรื่อง ทำไมจะต้องใช้สูกรมัททวะเล่า อ้าว ! ถ้าเราสงสัยอย่างนี้ละก็ ไม่ต้องอื่นไกล เราดูตำรายาไทยก็พอ ยาตำราไทยของเรานี่มีชื่อพิลึก ๆ ไหมละ เช่นตำรายาหอมชื่อ จักรวาฬครอบเอย ยาจตุรพักตร์ชีวิตเอย ยามณีส่องภพเอย ชื่อเพราะ ๆ ทั้งนั้น แล้วถ้าเรามาหาตัวยาว่า ยาอย่างนั้นมันมีสี่หน้า เราก็แย่เต็มทน คือไม่รู้เท่าภาษาของเขา เขาตั้งชื่อว่ายาจตุรพักตร์ นึกว่ายาจะต้องมีสี่หน้า เราไปหาจนตายก็ไม่พบไอ้ตัวยามีสี่หน้า ว่ายาสี่หน้ามันเป็นอย่างไร หรือว่ามีสมุนไพรชนิดหนึ่งเรียกว่า น้ำนมราชสีห์ นี่ถ้าเราไปถือว่าเราจะต้องเอาน้ำนมจากสิงโตจริง ๆ ละก็แย่ ประเทศไทยไม่มีสิงโต ยานี้เป็นยาโบราณ แท้ที่จริงน้ำนมราชสีห์นั้นเป็นต้นสมุนไพรชนิดหนึ่ง รสชาติมันขม เขาเอาเข้าทำยาผสมให้หญิงแม่ลูกอ่อนกิน รักษาน้ำนม ให้น้ำนมมากให้ลูกอ่อน เรียกน้ำนมราชสีห์ แต่ถ้าเราถือตามศัพท์ว่าน้ำนมราชสีห์ เราก็จะต้องไปคั้นเอาจากเต้านมจริง ๆ ละก็ ไม่ต้องรักษาโรคกันแล้วเลิกได้ เพราะหาทั้งประเทศไทยก็ไม่พบ ต้องไปหาถึงประเทศอาฟริกา เพราะฉะนั้น น้ำนมราชสีห์ในตำราไทยเป็นฉันใด สูกรมัททวะในตำราโบราณในอินเดียก็เป็นฉันนั้น

เราจะไปนึกว่า เอ ทำไมจึงมาเรียกยาขนานนี้ว่าสูกรมัททวะ ว่าเนื้อหมูอ่อนทำไม ทำไมไม่เรียกยาบำรุงให้รู้ไป อ้าวก็ตำราเขาเรียกกันอย่างนั้น ถ้าเป็นยา ก็เมื่อเป็นยาบำรุงกำลังแล้ว ทำไมจึงห้ามไม่ให้พระรูปอื่น ๆ ฉัน ทำไมพระองค์จึงตรัสว่า เว้นตถาคตแล้วคนอื่นยังสูกรมัททวะนี้ให้ย่อยไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าธรรมดาว่ายานั้นมีคุณอนันต์ ก็มีโทษมหันต์ ยานี่คนดี ๆ ให้กินยาแก้ไข้มาก ๆ ดีไม่ดีตาย ไม่มีไข้ไปกินยาลดไข้มาก ๆ ดีไม่ดีชีพจรหยุดเลย ยิ่งเป็นโรคหัวใจอ่อนอยู่แล้ว ไปกินยาลดไข้ ลดความร้อนมาก ๆ โดยที่ตนเองไม่มีไข้ หัวใจหยุดเต้นพอดีเลยแพ้ยาตาย คนดี ๆ กินวิตามินเยอะ ๆ ไม่ช้าแพ้วิตามิน ไม่มีโรคกลับเป็นโรค อีกประการหนึ่ง ตำรายาโบราณนั้นเขามีน้ำหนัก คุณธาตหนักเบา ไม่ใช่ยาหม้อหนึ่งรักษาได้ทุกคน หม้อยาหม้อนั้นคนนั้นกินหาย อีกคนกินตาย ยาหม้อเดียวกันนั่นแหละ ตัวสมุนไพรกับคุณธาตุหนักเบานั่นมันแล้วแต่ใคร ธาตุใครธาตุมัน ต้องเอามาบวกลบคูณหารกันเข้า แล้วจึงวางยาหนักเบาไปตามสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น สูกรมัททวะก็เหมือนกัน เมื่อนายจุนทะตั้งใจทำถวายพระพุทธองค์แล้ว ก็เหมาะเฉพาะพระพุทธองค์พระอื่น ๆ ไม่เหมาะสมเพราะท่านไม่ได้อาพาธอะไร ท่านดี ๆ สมบูรณ์อยู่ พระองค์จึงห้ามไม่ให้พระรูปอื่น ๆ ฉัน ตรัสว่าเว้นเราแล้วภิกษุอื่นอย่าได้ฉันเลย เพราะคนอื่นๆ ดี ไม่ได้เป็นโรค แต่พระองค์เป็นอยู่นี่ คนอื่น ๆ ไม่มีอาพาธ แต่พระองค์อาพาธอยู่ พระสงฆ์ทุกรูปที่ตามเสด็จมาแข็งแรงทั้งนั้น ไม่มีโรคไม่มีภัย ดีไม่ดีถ้าขืนฉันไปแล้วจะเกิดโรค จึงรับสั่งให้นำไปฝังเสีย ที่ให้นายจุนทะนำไปฝังเลย ก็เพราะถ้าขืนตั้งไว้คนอื่นฉวยไปภายหลังไม่รู้คิดว่า เอ ยาขนานนี้นายจุนทะทำถวายพระศาสดา เอ ถ้าจะดีแน่ ขอยาทดลองบ้างเถอะ กินเข้าไปไม่ช้าเกิดเรื่อง เป็นอันตราย พระองค์จึงรับสั่งให้ฝังให้ทำลายเสีย เว้นเราเสีย คนอื่นไม่มีใครย่อยได้ ยาขนานนี้เป็นลางเนื้อชอบลางยา เหมาะกับพระองค์ เหมาะกับอาพาธที่พระองค์เป็นอยู่ คนอื่นไม่เหมาะ นายจุนทะทำปรุงขึ้นเพื่อพระองค์ จึงตรัสอย่างนี้ ข้างนายจุนทะก็ตั้งใจทำขึ้นว่า เมื่อเป็นยาบำรุงกำลังแก่พระองค์แล้วก็จะนึกเผื่อแผ่ไปยังคนอื่น ๆ บ้าง (โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ตามเสด็จ) แต่หารู้ไม่ว่า ยานั้นบางอย่างให้คุณอนันต์ก็ให้โทษมหันต์ ลางเนื้อชอบลางยา เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงตัดปัญหาเลย (เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากโกลาหลในภายหลัง) ว่าให้ไปทำลายเสียเถอะ อย่าให้พระรูปอื่นฉันยานี้เลย นี่เป็นอย่างนั้น ตอนนี้มีปัญหาอยู่ว่า

พระบรมศาสดาฉันสูกรมัททวะนี่ไปแล้ว อาพาธกำเริบเพราะเหตุแห่งอาหารมื้อนี้กระนั้นหรือ ?
กระผมไม่เชื่อเลย ไม่สมัครใจจะเชื่อว่า พระอาพาธของพระองค์จะกำเริบขึ้นเพราะอาหารมื้อนี้เป็นเหตุ คือสูกรมัททวะนี้ แล้วกำเริบเพราะอาหารนี้ ไม่บอกไว้หรอก แต่กลับไปบอกในคาถาที่พระสังคีติกาจารย์ท่านประพันธ์เอาไว้ ในที่นั้นแหละ เป็นมติของพระสังคีติกาจารย์ ไม่ใช่เนื้อความในบาลีสูตร เป็นเนื้อความที่พระสังคีติกาจารย์ร้อยกรองเข้ามาที่หลัง สอดแทรกอยู่ในมหาปรินิพพานสูตรว่า พระศาสดาได้ฉันสูกรมัททวะของนายจุนทะแล้ว อาพาธกำเริบแล้ว ได้เกิดขึ้น ลงพระโลหิต ประชวรด้วยปักขันทิกาพาธแล้วไปดับขันธ์ที่เมืองกุสินารา แต่ว่าตามความเข้าใจของกระผมนั้น สูกรมัททวะนี้มีคุณแก่พระองค์มาก ไม่ได้เป็นเหตุให้พระองค์ประชวรหนัก ที่อาการประชวรหนักของพระองค์นั้น เป็นไปตามอาการของพระโรคกำเริบขึ้นตามอายุขัยของพระองค์ เพราะพระองค์จะดับขันธ์ในวันนั้นแล้ว โรคกำเริบขึ้นตามอาการของโรคจะเป็น ไม่ใช่เกิดจากการเสวยสูกรมัททวะ สูกรมัททวะนี่เอง กลับเป็นคุณแก่พระองค์ ทำให้พระองค์มีกำลังกาย เสด็จดำเนินไปดับขันธ์ที่เมืองกุสินาราได้ ถ้าไม่ได้อาหารมื้อนี้แล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะเสด็จไปดับขันธ์ที่เมืองกุสินาราได้ ดูซิ พระชนม์มากอยู่แล้วถึง ๘๑ แล้วแก่หง่อมเต็มทีแล้ว เสด็จพุทธดำเนินไปตลอดทั้งวัน ทรงประชวรก็หนัก แต่ยังเสด็จพุทธดำเนินไปได้ นำพระสงฆ์เดินตลอดทั้งวัน ได้อาหารสูกรมัททวขัของนายจุนทะนี้ เป็นเหตุให้พระองค์ กระปรี้กระเปร่า มีพระกำลังกายเดินทางต่อไปกระทั่งไปดับขันธ์ดังที่ประสงค์เอาไว้ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงได้มีพุทธดำรัสว่า สูกรมัททวะนี้แหละ อาหารมื้อนี้แหละ มีอานิสงส์มาก เป็นอาหารมื้อสุดท้าย แต่ว่ามีอานิสงส์มหาศาล ดังตอนใกล้จะปรินิพพาน ตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าตถาคตปรินิพพานไปแล้ว คนภายหลังจะกล่าวคำตำหนินายจุนทะว่า จุนทะท่านไม่ได้บุญแล้ว ท่านไม่ได้ลาภแล้ว พระผู้มีพระภาคเสวยอาหารของท่านแล้วอาพาธหนัก จะทำให้นายจุนทะเกิดความเสียใจ ดูก่อนอานนท์ ถ้ามีคำจ้วงจาบกล่าว่านายจุนทะเช่นนั้นแล้ว เธอจงแก้คำกล่าวหานั้นว่า ตถาคตตรัสบอกว่าอาหารที่นายจุนทะทำถวายนี้ มีอานิสงส์มาก มีบุญมาก อำนวยคุณประโยชน์มาก มีอานิสงส์ใหญ่ บุญที่นายจุนทะทำนี้เป็นไปเพื่ออายุ วรรณะ สุขะ พละ บิณฑบาตทั้งสองคราวที่ตถาคตรับนี่ ครั้งหนึ่งบิณฑบาตที่รับจากนางสุชาดา ในวันคืนที่จะตรัสรู้หนึ่ง และปัจฉิมบิณฑบาตที่รับกับนายจุนทะหนึ่ง ทั้งสองบิณฑบาตนี้ เทฺว เม ปิณฺฑปาตสมผลา สมสมวิปากา บิณฑบาตทั้งสองคราวนี้ มีผลเสมอ ๆ กัน มีวิปากเสมอ ๆ กัน ถ้าอาหารมื้อนี้เป็นเหตุให้พระโรคกำเริบแล้ว จะมีวิปากเสมอกัน มีผลเสมอกันกับบิณฑบาตของนางสุชาดาได้อย่างไร นี่แหละกระผมจึงอยากเชื่อว่า อาพาธที่กำเริบขึ้นกับพระองค์ ไม่ใช่เกิดจากการเสวยสูกรมัททวะ แต่เป็นไปตามอาการของอาพาธเอง และขอสรุปปาฐกถาในวันนี้ว่า สูกรมัททวะนี้ไม่ใช่เนื้อหมูอ่อน แต่เป็นยารักษาโรค ขอจบปาฐกถาวันนี้เพียงเท่านี้ 

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุกรมัทวะ ๑

พระคุณเจ้าและท่านสาธุชนทั้งหลายปาฐกถาในวันนี้เป็นเรื่องหนักไปในทางวิชาการ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวค้นคว้าข้อเปรียบเทียบในการที่จะต้องสันนิษฐานและวินิจฉัยในปัญหาบางประการที่สำคัญ ที่มีคนส่วนมากกล่าวว่า เป็นเหตุทำให้พระผู้มีพระภาคเจ้าดับขันธปรินิพพาน ในการที่ไปเสวยสูกรมัททวะของนายจุนทกัมมารบุตรเข้า การที่จะพูดกันถึงเรื่องนี้ จำจะต้องเล่าทบทวนเหตุการณ์ในตอนปลายสมัยพุทธกาลเสียก่อน และก็ต้องเล่าเรื่องที่พระพุทธองค์อาพาธ ในตอนสมัยพุทธกาลนั้น มีปัญหาเกี่ยวกับพระชนมายุของพระศาสดา ตามความเข้าใจของเราชาวพุทธทั่วไปก็ว่า พระบรมศาสดาดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ แต่ตามการค้นคว้าของผมได้ประจักษ์หลักฐานว่า พระบรมศาสดาดับขันธปรินิพพานนั้นเมื่อพระชนมายุ ๘๑ ไม่ใช่ ๘๐ คือย่างเข้าปี ๘๑ ยังไม่เต็ม ดับขันธ์ปรินิพพานในปีนั้นไม่ใช่ ๘๐ ถ้วน

ก่อนที่จะพูดถึงประเด็นนี้ อันนำไปสู่ประเด็นสูกรมัททวะในตอนปลายนั้น ก็จำต้องเล่าทบทวนเสียก่อนว่า ในปีที่พระผู้มีพระภาคมีพระชนมายุได้ ๘๐ นั้นเข้าใจว่าในตอนต้น ๆ ปีคงจะประทับอยู่ที่แคว้นโกศล เพราะมีข้อความปรากฏในบาลีธรรมเจติยสูตร กล่าวถึงพระเจ้าปเสนทิโกศล ราชาแห่งแคว้นโกศล ได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธองค์ และได้แสดงความเลื่อมใสปสาทนียกิจยิ่งนักในพระผู้มีพระภาค คือเสด็จเข้าไปนวดที่พระยุคลบาททั้งสอง และจุมพิตพระยุคลบาททั้งสองประกาศนามว่า

"ข้าพระพุทธเจ้าปเสนทิ ข้าพระพุทธเจ้าปเสนทิ มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคยิ่งนัก"
พระบรมศาสดาจึงทูลถามพระเจ้าปเสนทิว่า "ดูก่อนมหาราช เหตุไฉนพระองค์จึงแสดงความเคารพอย่างยิ่งในตถาคตเห็นปานเช่นนี้" พระเจ้าปเสนทิก็พรรณนาพุทธคุณมีเอนกปริยายต่าง ๆ เป็นข้อ ๆ แต่มีข้อความตอนหนึ่งว่า พระผู้มีพระภาคมีพระชนมายุได้ ๘๐ แม้หม่อมฉันก็มีพระชนมายุได้ ๘๐ พระผู้มีพระภาคเป็นชาวโกศลแม้หม่อมฉันก็เป็นชาวโกศล ปรากฏว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลเมื่อออกจากที่เฝ้าแล้ว ราชโอรส คือ เจ้าชายวิฑูฑภะเป็นกบฏต่อพระราชบิดา ปิดประตูเมืองสาวัตถีไม่ให้ต้อนรับ ช่วงชิงเอาราชสมบัติไป พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงต้องซัดเซพเนจร หวังที่จะมาพึ่งหลานชาย คือเจ้าอชาตศัตรู ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ แล้วก็เลยเสด็จสวรรคตที่หน้าประตูเมืองราชคฤห์นั้นเอง เพราะแก่เฒ่าชรามากแล้ว อายุตั้ง ๘๐ ปีแล้ว เดินทางข้ามเมืองข้ามประเทศบุกป่าฝ่าดงรอนแรมมาหลายวัน ข้าวปลาอาหารก็ไม่ได้ตกถึงท้อง ความลำบากตรากตรำประกอบที่ทรงเสียพระทัยที่ลูกชายเนรคุณอกตัญญูเป็นกบฏผสมกันเข้า และอากาศในคืนนั้นก็หนาวเย็นผสมกัน จึงมีเหตุให้พระเจ้าปเสนทิเสด็จสวรรคต ในวันรุ่งขึ้น

ข่าวนี้ได้ทราบไปถึงพระเจ้าอชาตศัตรูผู้หลาน กว่าจะเห็นองค์ก็เป็นพระบรมศพไปแล้ว จึงได้จัดกาพระบรมศพของพระมาตุลาธิราช ถ้าในปัจจุบันแล้ว มีฐานะเป็นพ่อตาของพระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าอชาตศัตรูนี้เป็นสามีของเจ้าวัชรีพล เพราะฉะนั้นก็มีศักดิ์เป็นทั้งพ่อตาของพระเจ้าอชาตศัตรู และเป็นทั้งลุงของพระเจ้าอชาตศัตรู เรื่องราวตอนนี้ก็บ่งว่าพระเจ้าวิฑูฑภะชิงราชสมบัติสำเร็จ ได้ยกกองทัพไปตีเมืองกบิลพัสดุ์ กำจัดพวกศากยวงศ์ ทำลายเมืองกบิลพัสดุ์เสียราบไป เหตุการณ์ตอนนี้เกิดขึ้นตอนที่พระองค์มีพระชนมายุ ๘๐ เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ปรินิพพานจะเกิดขึ้นในปีเดียวกันไม่ได้ เพราะเป็นขณะที่วิฑูฑภะยกกองทัพมากำจัดพวกศากยวงศ์ก็ดี หรือกรณีที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ถูกลูกชายเป็นกบฏ กำจัดเสียจากราชสมบัติก็ดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในปีเดียวกับที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าจะไปนิพพานในปีที่พระชนมายุย่างเข้า ๘๑ แล้ว ไม่ใช่ ๘๐ ต้องถัดไปอีกปีหนึ่ง

หลังจากที่เหตุการณ์ร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว จึงจะดับขันธปรินิพพานในปีนั้นได้ ตามที่เราทราบกันทั่ว ๆ ไปว่าพระองค์ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ นั้นเพราะว่าจำนวนเลขที่ลงตัวอยู่แล้ว เพื่อจำง่ายและสะดวกด้วย เพราะเรื่องเศษเลขเป็นเรื่องออกจะจำยาก ไม่เหมือนเลขที่ลงตัว แต่ตามหลักฐานที่ปรากฏในธรรมเจติยสูตรก็ดี และหลักฐานที่เจ้าชายวิฑูฑภะยกกองทัพไปกำจัดศากวงศ์เมืองกบิลพัสดุ์ก็ดี บ่งว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นในปีเดียวกับที่พระพุทธองค์ปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคต้องเสด็จมาห้ามทัพของเจ้าชายวิฑูฑภะถึง ๓ ครั้ง โดยเสด็จอยู่โคนต้นไม้ใบโกร๋นริมทางที่กองทัพของเจ้าชายวิฑูฑภะจะผ่าน ในขณะเดียวกับที่มีร่มไม้ใบหนาอยู่ริมทางอีกมากต้น เจ้าชายวิฑูฑภะ พอเห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่อย่างนั้น ที่ชายแดนระหว่างแคว้นสักกะกับแคว้นโกศล ก็ไม่กล้ายกกองทัพข้ามแดนไปด้วยความเกรงพระหฤทัยพระบรมศาสดา แต่นึกในใจว่า แน่นอน พระศาสดาต้องเสด็จมาคุ้มครอง

สุดท้ายพระพุทธองค์ทรงเล็งการณ์แล้วเห็นว่า ห้ามไม่ได้แล้ว เป็นผลกรรมของบรรดาศากยวงศ์ในอดีตชาติ ซึ่งเคยเบื่อยาลงในแม่น้ำ ทำให้ปลา เต่า ตายเป็นจำนวนมหาศาล ผลกรรมอันนี้ได้ติดตามมาสนองแล้ว เพราะฉะนั้น จึงมิอาจจะห้ามไว้ได้ จึงมิได้เสด็จไปประทับห้ามทัพของเจ้าชายวิฑูฑภะอีก เจ้าชายวิฑูฑภะจึงได้ยาตราเข้าไปในเมืองกบิลพัสดุ์ได้โดยสะดวก และฆ่าฟันพระญาติวงศ์ของพระพุทธองค์เสียมากต่อมาก เรื่องราวตอนนี้ต้องเกิดขึ้นในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ ๘๐ แล้วลองมาเทียบเคียงในบาลีมหาปรินิพพานสูตร เริ่มต้นก็กล่าวถึงที่ประทับของพระพุทธองค์ว่า อยู่ที่แขวงเมืองราชคฤห์ ในแคว้นมคธ ก็เรื่องราวอันนี้ เกิดขึ้นในตอนต้นปีที่ประทับอยู่ในเมืองราชคฤห์ เพราะฉะนั้นจะเป็นต้นปี หรือกลางปีที่ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน แล้วไปพ้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าปเสนทิไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องลำดับเหตุการณ์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าปเสนทิ กับเรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะกำจัดศากยวงศ์นั้น จะต้องเกิดขึ้นต้นปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๘๐ หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไปแล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จจากแคว้นโกศล ไปประทับอยู่แขวงเมืองราชคฤห์ ราว ๆ กลางปีก่อนจะเข้าพรรษา ในระหว่างประทับอยู่เมืองราชคฤห์นี้ ก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเช่นว่า พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นกษัตริย์ทั้งแคว้นโกศลและมคธ เวลานั้นเจ้าชายวิฑูฑภะเมื่อยาตราทัพไปกำจัดศากยวงศ์ได้แล้ว ผลกรรมก็ติดตามไปสนอง พักพลอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ เกิดน้ำหลากท่วมมาหนีน้ำไม่ทัน ตายกันหมดทั้งกองทัพ รวมทั้งเจ้าชายวิฑูฑภะก็จมน้ำตาย ผลกรรมให้ผลทันตาเห็น เมื่อราชบัลลังก์ของแคว้นโกศลว่างกษัตริย์ เจ้าชายอชาตศัตรู ในฐานะเป็นทั้งหลานและลูกเขยของพระเจ้าปเสนทิ เพราะฉะนั้นจึงโอนโกศลไปขึ้นกับมคธอีก พระเจ้าอชาตศัตรูก็ได้ครอบครองแคว้นโกศลอีกแคว้นหนึ่ง แล้วก็ได้เริ่มคิดวางแผนแผ่จักรวรรดิโดยจะฮุบเอาแคว้นวัชชี โดยการจัดเตรียมวางกลยุทธเพื่อเข้าโจมตีแคว้นวัชชี อันเป็นแคว้นอยู่ตรงกันข้ามกับแคว้นมคธ คนละฝั่งแม่น้ำ มีแม่น้ำคงคาเป็นเขตแดนกั้น เรื่องจะตีแคว้นวัชชีนั้น เป็นเรื่องที่ทราบกันโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว แม้พระพุทธองค์ก็ทรงทราบ

ถ้าเราจะสังเกตจะเห็นได้ว่า ในปีสุดท้ายแห่งพระชนมายุของพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองเวสาลีเป็นเวลานานเหลือเกิน ประทับอยู่เป็นเวลาตั้งเกือบ ๘ เดือน โดยไม่ยอมไปเสด็จประทับในที่อื่นใดทั้งหมด ดูราวประหนึ่งว่าพระพุทธองค์ทรงตั้งพระหฤทัยต้องการที่จะป้องกันแคว้นวัชชี ให้พ้นจากภัยของพระเจ้าอชาตศัตรู ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อสรรพสัตว์ ด้วยเกรงว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายในแคว้นวัชชีจะเป็นอันตรายไป แม้ข้อความตอนนี้ แม้จะไม่ได้บ่งชัดในพุทธประวัติมหาปรินิพพานสูตรก็จริง แต่ดูตามเหตุการณ์ก็ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ก็ควรจะเป็นไปในฐานะเช่นนั้น เพราะเมื่อเสด็จออกจากแคว้นมคธแล้ว ก็เสด็จข้ามแม่น้ำคงคา มุ่งเข้าสู่แคว้นวัชชี ประทับอยู่ที่แคว้นวัชชีถึงหนึ่งพรรษาเต็ม ๆ ในปีที่พระชนมายุ ๘๐ นั้น ออกพรรษาแล้วก็ยังเสด็จวนเวียนอยู่รอบ ๆ ตำบลต่าง ๆ ในแคว้นวัชชี ซึ่งประทับอยู่ที่ ภัณฑุคาม อัมพุคาม โภคนครเป็นต้น อันเป็นตำบลต่าง ๆ อยู่รอบ ๆ เมืองเวสาลี ไม่ได้ตั้งพระหฤทัยจะเสด็จจากไปง่าย ๆ เมื่อพระองค์ยังเสด็จประทับอยู่ที่เมืองเวสาลีตราบใด พระเจ้าอชาตศัตรูก็ไม่กล้ายกกองทัพมาเบียดเบียนแคว้นวัชชีตราบนั้น ด้วยเกรงพระบารมี เพราะมีความเคารพในพระพุทธเจ้า เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในที่ใด ก็นำความผาสุกมาสู่ที่นั้น ไม่เบียดเบียนผู้ใด จนกระทั่งในพรรษาสุดท้ายนั่นเอง เมื่อพระองค์เสด็จประทับจำพรรษาอยู่ตำบลบ้านเวฬุวคาม อันเรียกกันง่าย ๆ ว่าตำบลบ้านไผ่ ในพรรษานั้นพระองค์ได้ประชวรหนัก เกือบที่จะเอาพระชนม์ชีพไม่รอด แต่ก็มีมติในพระหฤทัยว่า ถ้าเราจะมาปรินิพพานเสียระหว่างนี้เป็นการไม่สมควรแก่เรา เรายังไม่ได้บอกลาบรรดาภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐาก ยังไม่ได้แจ้งให้กับคณะสงฆ์ทราบเป็นทางการแล้วอยู่ ๆ จะมาดับขันธ์เช่นนี้ จะไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นการสมควร เมื่อมีความปริวิตกเช่นนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงใช้อิทธิบาทภาวนาขับไล่อาพาธทั้งหมดให้พ้นไป เรื่องการเจริญอิทธิบาทขับไล่อาพาธให้หายนั้น นับว่าเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่ง ตามที่เราทราบกันทั่ว ๆ ไป เจริญอิทธิบาท ๔ เป็นการต่ออายุได้ ขับไล่อาพาธได้นั้น อิทธิบาท ๔ นั้นเจริญอย่างไร เจริญธรรมอะไร เพราะอิทธิบาทนั้นเป็นกริยาเข้าไปเจริญ จะต้องมีธรรมอะไรที่ถูกเข้าไปเจริญ ที่เป็นผล หรือต้นตอพื้นฐานรองรับธรรมะคืออิทธิบาท ๔ ที่เข้าไปเจริญนั้น เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่น่าวินิจฉัยมาก เพราะส่วนมากเราทราบกันทั่ว ๆ ไปเพียงว่า เพราะอิทธิบาท ๔ ต่อพระชนมายุได้ ทราบกันเพียงแค่นี้ และอิทธิบาท ๔ ที่เรารู้กันก็ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ท่องกันได้ ถ้า ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ธรรมดาพื้น ๆ นี้เป็นอิทธิบาทแล้ว คนที่เขารำพัดคือเล่นไพ่ เขาก็มีอิทธิบาทเหมือนกันหนา เพราะฉันทะเขาก็มีความพอใจที่จะเล่น วิริยะ ขยัน พากเพียร ขวนขวายที่จะเล่น จิตตะ ความใส่ใจหมกมุ่น วิมังสา ไตร่ตรองหาอุบาย ใช้เล่ห์อุบายที่จะเอาชนะให้ได้ ต้องมีพร้อม มิเช่นนั้นแล้วจะเล่นกันหามรุ่งหามค่ำ ๓ วัน ๓ คือ ไม่ต้องลุกขึ้นจากที่ ไม่ต้องขี้เยี่ยวกัน ไม่ต้องเข้าห้องน้ำห้องส้วมกัน ขี้เยี่ยวหายไปไหนหมดเวลารำพัดกัน ถ้าเช่นนั้นแล้วอิทธิบาท ๔ ก็เป็นธรรมะที่ต่ำไป ถ้าเข้าใจอิทธิบาท ๔ เช่นนี้แล้ว ก็เป็นการเข้าใจอิทธิบาทเป็นธรรมะที่พื้น ๆ ดาด ๆ เกินไป

แท้จริง อิทธิบาทที่กล่าวดังนี้ หาใช่อิทธิบาทดังที่ชาวบ้านสามัญชนเข้าใจกันอย่างนั้นไม่ คือไม่ใช่เป็นแต่เพียงความพอใจ ฉันทะ วิริยะ มีความพากเพียร จิตตะ มีความใฝ่ใจ วิมังสา คือ การใช้ปัญญา นี้ไม่ใช่ เพราะธรรมดาคาถาว่า จะต้องเป็นธรรมะที่ลึกซึ้งและสูงกว่านั้น เราจะมาวินิจฉัยกันในประเด็นนี้ ก่อนอื่นเราต้องวินิจฉัยว่า อะไรเป็นตัวอิทธิบาท ๔ ได้แก่ธรรมะอะไร ? ธรรมะอะไรที่พระองค์เข้าไปเจริญให้มาก ทำให้มาก ธรรมะอันนั้นคืออะไร ข้อนี้นับว่าสำคัญมาก ควรพิจารณาข้อความในพุทธภาษิตในตอนนี้ ในระหว่างพรรษานั้นพระอานนท์เป็นผู้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า เห็นเหตุการณ์หมดว่าพระองค์ได้ใช้ความอดกลั้นอย่างสูงต่ออาพาธนั้น และได้ทรงขับไล่อาพาธนั้นด้วยอิทธิบาทภาวนา พอออกพรรษาแล้ว เย็นวันหนึ่ง ขณะที่พระองค์ประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ พระอานนท์ก็เข้าไปกราบทูลว่า "พระพุทธเจ้าข้า ธรรมะก็ไม่เป็นที่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ในเวลานี้ ทิศทั้งหลายก็เป็นที่มืดมัวแก่ข้าพระองค์ในเวลานี้ การคิดปัญหาธรรมะต่าง ๆ ที่เคยแจ่มแจ้งไม่แจ่มแจ้งเสียแล้วในเวลานี้ ทั้งนี้เพราะข้าพระองค์ได้มองเห็นความอดกลั้นยิ่งนัก ต่ออาพาธอันแรงกล้าของพระผู้มีพระภาคในระหว่างพรรษา แต่ก็ยังมีความหวังใจอยู่ว่า พระองค์ยังไม่คงรีบด่วนมาละพระสงฆ์สาวกไปเสีย"  เมื่อพระอานนท์กราบทูลไปในทำนองนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ เธอยังจะมาหวังอะไรในตัวตถาคตอีกเล่า สรีระของตถาคตก็มีกาลผ่านวัยมาตั้ง ๘๐ แล้ว ก็เหมือนเกวียนที่คร่ำคร่า ผุพัง ที่อยู่ได้ปะทะปะทังใช้การได้ก็ด้วยลำไม้ไผ่ที่มาผูกเอาไว้ จึงจะพอใช้การได้ แต่ก็เป็นเกวียนที่คร่ำคร่าเต็มทีแล้ว เธอยังจะมาหวังอะไร แล้วพระองค์ก็ได้ตรัสใจความได้ว่า ตถาคตสฺส โข อานนฺท จตฺตาโร อิทฺธิปาทา ภาวิตา พาหุลีกตา" เป็นต้น ความว่า "ดูก่อนอานนท์อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว กระทำให้ดุจยาน กระทำให้ดุจพื้น ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารถนาดีแล้ว ตถาคตนั้นเมื่อดำรงอยู่ จะพึงดำรงอยู่ตลอดกัปป์ หรือเกินกว่ากัปป์ก็ได้" ตรัสอย่างนี้ ข้อความนี้ ก็เข้าประเด็นที่ว่าทรงใช้อิทธิบาท ๔ เจริญธรรมะ อะไรข้อนี้เราไม่ต้องไปหาหลักฐานที่ไหน เพราะข้อความบ่งชัดในมหาปรินิพพานสูตรนั่นเอง คือในมหาปรินิพพานสูตรตรัสไว้กับพระอานนท์ว่า.. "ยสฺมึ อานนฺท สมเย ตถาคโต สพฺพญฺญุตญาณํ อมนสิการา เอกจฺจานํ เวทนานํ นิโรธาอนิมิตฺตํ เจโตสมาธึ อุปสมฺปชฺช วิหรติ ผาสุกโร อานนฺท ตสฺมึ สมเย ตถาคตสฺส กาโย โหติ แปลความว่า อานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าถึงเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำไว้ในใจ ซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุข" ตรัสอย่างนี้

เมื่อพระอานนได้กราบทูลว่า หลังจากได้เห็นอาการอดทนของพระผู้มีพระภาคต่ออาพาธ พระอานนท์ก็มีจิตใจทุกข์ร้อนไม่สบาย ธรรมะที่เคยขบคิด แจ่มแจ้งก็ไม่แจ่มแจ้ง รู้สึกว่ามันมืดมัวใจไปเสียทุกหนทุกแห่ง หมดหวังไปเสียทุกหนทุกแห่ง แต่ว่ายังเคราะห์ดีที่ว่า ตราบใดที่พระองค์ยังไม่ตรัสล่ำลาภิกษุสงฆ์อย่างเป็นทางการ ก็ยังเป็นอันหวังได้ว่าชนมชีพของพระองค์จะอยู่ยั่งยืนอยู่กับพวกพระสงฆ์ต่อไป เป็นมิ่งขวัญของชาวพุทธต่อไปทำนองนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้ให้สติแก่พระอานนท์ว่า อย่าได้หวังอะไรกับพระองค์มากเลย พระองค์ก็มีพระชนมายุสูงมากแล้ว๘๐ ปีบริบูรณ์แล้ว เหมือนกับเกวียนที่คร่ำคร่าจะต้องปะทะปะทังด้วยลำไม้ไผ่จึงเป็นไปได้อยู่ และได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า ในสมัยที่ใจไม่ไปใฝ่หรือกำหนดในสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น เรียกว่าอนิมิตตเจโตสมาธิ สมัยนั้นร่างกายของตถาคตรู้สึกผาสุกเหลือเกิน พระพุทธพจน์ตอนนี้เอง ที่เป็นการตอบปัญหาไปในตัวว่า ที่พระองค์หายจากอาพาธได้ จะเป็นเหตุให้อายุยั่งยืนต่อไปอีกตั้งเกือบปีหนึ่งได้ ก็เพราะอานุภาพของอนิมิตตเจโตสมาธิ อนิมิตตเจโตสมาธิที่พระองค์เจริญ ทำให้มากแล้วก็หมายความวา ถ้าพระองค์ใช้อิทธิบาท ๔ ให้เป็นไปในอนิมิตตเจโตสมาธิอยู่เนือง ๆ กระทำให้มาก กระทำให้เคยชินเป็นเวลานาน ๆ แล้ว ถ้าพระองค์จะปรารถนาให้มีพระชนม์ชีพยืนยาวถึงหนึ่งกัปป์ หรือมากกว่ากัปป์ก็ย่อมเป็นไปได้ คำว่ากัปป์ หรือยิ่งกว่ากัปป์ (บาลีเป็นกัปป์ สันสกฤตเป็นกัลป์) คำนี้ไม่ใช่อายุกัปป์ของโลก แต่เป็นกัปป์ของอายุชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่อายุกัปป์ของโลก ถ้าเป็นอายุกัปป์ของโลก กัปป์หนึ่งมีกี่ปี ถ้าคติตามศาสนาพราหมณ์ หนึ่งกัปป์มี ๔,๐๐๐ กว่าล้านปี โลกเรานี้เพิ่งจะมีมนุษย์ก็เพิ่งจะราว ๆ กว่าล้านปีมานี่เอง ที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับมนุษย์นี้ และมีหน้าตาครึ่งลิงครึ่งคนคือเป็นมนุษย์วานรนี่เมื่อห้าแสนปีมานี่ และที่จะมีหน้าตาเหมือนกับมนุษย์เรานี้ ก็คงจะสองสามพันปีมานี่กระมัง แต่อายุของกัปป์นั้นสี่พันกว่าล้านปี คิดดูเอาเองว่าอายุมากแค่ไหน ตามคติของศาสนาพราหมณ์ แต่ตามคติของพุทธกาลที่เราจะคำนวณอายุของกัปป์หนึ่งนั้นยาก แต่มีข้ออุปมาว่า เหมือนกับพระพรหมเอาผ้าสไบที่ทอด้วยใยผ้า มาปัดยอดเขาพระสุเมรุหนึ่งครั้งต่อหนึ่งร้อยปี จนกว่ายอดเขาพระสุเมรุจะราบเรียบเสมอกับพื้นมหาสมุทรเป็น ๑ กัปป์ ไม่ทราบเวลาเท่าใดกันเป็นอัประไมย โลกในยุคหนึ่ง พอพ้นจากยุคหนึ่ง ก็มีไฟทำลายสิ้นยุคสิ้นกัลป์ จักฉิบหายเพราะไฟบ้าง เพราะลมบ้าง เพราะน้ำบ้างจะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ โลกแตกก็เป็นกัลป์หนึ่ง เพราะฉะนั้น พระพุทธพจน์ที่ว่า เจริญอิทธิบาท ๔ กระทำให้มาก เจริญให้มาก อบรมให้มากเป็นต้น จะมีอายุกัปป์หนึ่ง หรือยิ่งกว่ากัปป์หนึ่ง คำว่ากัปป์ในที่นี้ เป็นอายุกัปป์ของมนุษย์ อายุกัปป์ของมนุษย์ในสมัยนั้นมีอายุ ๑๐๐ ปี ถ้าใครมีอายุถึงร้อยปีก็ประเสริฐนักหนาแล้ว หรือยิ่งกว่าร้อยก็ยิ่งประเสริฐนักหนา อายุของคนในปัจจุบันไม่ต้องเสียใจว่า เกิดมาอายุสั้นเพราะว่าเป็นอายุกัปป์ประเมิน อายุไขแห่งกัปป์ ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งเป็นอย่างนั้น ในสมัยพุทธกาลนั้นใครมีอายุ ๑๐๐ ปี เป็นกำหนดหรือเกินกว่าร้อยมีจำนวนน้อยก็เป็นของประเสริฐ เป็นลาภแล้ว

ในที่นี้ถ้าหากพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านเจริญอิทธิบาท ๔ เป็นไปในอนิมิตตเจโตสมาธิแล้ว ก็อย่างมากก็จะยืดอายุของพระองค์ต่อไปอีก ๒๐-๒๕ ปี เช่นว่าเป็น ๑๐๐ หรือ ๑๐๕ ปี อาจจะมากกว่านั้นอีกนิดหน่อย แต่ไม่ใช่จะมีอายุมาถึงปัจจุบันนี่ไม่ใช่ นี่เป็นอายุการกำหนดในยุคนั้น เพราะฉะนั้น การที่พระองค์ตรัสให้เจริญอิทธิบาท ๔ เป็นไปในอนิมิตตเจโตสมาธิให้มากแล้ว ใครเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิให้มากแล้ว คนนั้นจะอาศัยอำนาจสมาธินี้ ดับอาพาธ ดับทุกขเวทนาทางกายได้หมด แล้วเป็นการเปลี่ยนเซลล์ในร่างกายใหม่หมด เช่นว่ามีเซลล์มันจะตายไปบ้างหรือสึกหรอไปบ้าง ก็เปลี่ยนใหม่หมด เซลล์ต่าง ๆ เป็นของใหม่หมด ร่างกายก็กระปรี้กระเปร่า มีพละ กำลัง อาจจะมีอายุยืนต่อไปอีกตั้งหลายปี เป็นการต่ออายุ คราวนี้อรรถกถาจารย์ท่านแก้ความไว้ในสุมังคลวิลาสินีว่า ได้แก่การเข้าผลสมาบัติชื่อว่าเป็นเครื่องทำชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ ผลสมาปตฺติ ธมฺมาติ ชีวโต สงฺขาโร แล้วพระอรรถกถาจารย์ ท่านก็ตั้งเป็นคำถามขึ้นว่า ก็พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงเข้าผลสมาบัติในกาลก่อนบ้างเลยหรือ เพิ่งจะมาเข้าตอนที่มาเกิดอาพาธ ในพรรษาสุดท้ายตอนที่ประทับอยู่ที่เวฬุคามกระนั้นหรือ แก้ว่า พระองค์ก็ได้ทรงเข้าผลสมาบัติมาก่อนเหมือนกัน ผลสมาบัติแต่ก่อนนั้น ๆ เป็นขณิกสมาบัติชั่วขณะ ไม่นานนักมีอานุภาพข่มเวทนาได้ เฉพาะในเวลาที่อยู่ในสมาบัติเท่านั้น เมื่อออกจากสมาบัติแล้ว เวทนาก็สามารถครอบงำ สรีระของบุคคลได้ เปรียบเหมือนท่อนไม้หรือสาหร่ายแหวกออกชั่วครูแล้วก็กลับมารวมตัวปิดน้ำไว้อีก ส่วนสมาบัติที่เข้าด้วยอำนาจแห่งมหาวิปัสสนา สมาบัตินั้นมีอานุภาพมาก สามารถข่มเวทนาได้อย่างแน่นอนสนิท อุปมาดังบุรุษที่เดินลงไปในสระน้ำ ใช้มือและเท้าแหวกสาหร่ายออก และเหวี่ยงไปโดยกำลังแรง สาหร่ายที่กระจายออกไป กว่าจะกลับมารวมตัวอย่างเดิมอีกก็มีระยะเวลานานกว่า

คำว่า อนิมิตตเจโตสมาธินั้น ที่พระองค์เข้าเจริญในพรรษาสุดท้ายที่บ้านเวฬุคาม เป็นเหตุให้มีพละกำลังกายยืนยาวต่อไปถึงกระทั่งนิพพานในปีหน้า ก็แตกต่างจากอานุภาพของผลสมาบัติ เจโตสมาธิที่มีนิมิตนั้นเอง เรียกผลสมาบัติ ปัญหามีว่า ทำไมก่อนหน้านี้พระองไม่เคยเข้าผลสมาบัติบ้างเลยหรือ? ตอบว่าก่อนนี้ก็เคยเข้า แต่เข้าแต่ละครั้งนั้นไม่นาน เพราะพระองค์มีกรณียกิจที่จะต้องบำเพ็ญเกี่ยวกับการบริหารงานพระศาสนา ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นพระบรมศาสดาจะต้องออกเที่ยวสั่งสอนสรรพสัตว์ ไม่มีเวลามาเข้าสมาธิได้เป็นเวลาหลายวัน หรือติด ๆ กันเป็นเวลาสัปดาห์ ไม่มี เข้าสมาธิก็เข้าได้นิดหน่อย เรียกว่า ขณิกสมาบัติ ชั่วขณะก็ต้องออกแล้วเพราะว่าพุทธกิจในฐานะเป็นพระบรมศาสดานั้นมีมาก เพิ่งจะมาเข้าสมาบัติจริง ๆ ที่ใช้เวลามากติดต่อกันก็ตอนอาพาธในระหว่างพรรษา ขณะที่ประทับอยู่ที่บ้านเวฬุคาม ต้องเข้าใช้เวลานาน เพราะต้องการใช้อำนาจสมาธิไประงับทุกขเวทนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่พระองค์ แล้วท่านก็เปรียบว่า เหมือนกับมีบึงใหญ่อยู่บึงหนึ่ง ในบึงนั้นมีบัวและสรรพสิ่งขึ้นปกคลุมไปหมด ถ้าเราเอาก้อนอิฐเพียงก้อนเดียวขว้างปาลงไปในบึงป๋อมหนึ่งก็จะมีคลื่นเพียงนิดเดียว เพราะกำลังแรงมันน้อยป๋อมหนึ่งมันก็แหวกพวกบัวเป็นช่องนิดหนึ่งแล้ว ประเดี๋ยวมันก็รวมตัวกันอย่างเดิมฉันใด ผลสมาบัติที่เข้าประเดี๋ยวประด๋าวชั่วขณะนั้น ระงับทุกขเวทนาได้ในขณะที่เข้า พอออกมาแล้วเวทนาที่ระงับไปในขณะที่เข้าสมาบัติมันก็อาจจะกำเริบขึ้นอีก แม้โรคภัยไข้เจ็บที่ระงับไปในขณะที่เข้า เมื่อออกแล้วมันก็อาจจะกำเริบขึ้นอีก คราวนี้ถ้าหากเข้าผลสมาบัตินาน ๆ ก็ทำให้มีอานุภาพเหมือนหนึ่งบุคคลที่มีกำลังร่างกายแข็งแรง เดินลงไปในบึง เอามือตีน้ำแหวกใบบัวและสรรพสิ่งให้ออกไปเป็นช่อง เหวี่ยงไปด้วยกำลังแรงด้วยมือทั้งสองข้าง กว่ามันจะกลับมารวมตัวเป็นเวลานานมากหน่อย เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่ามหาวิปัสสนานั่นแหละ คือ ผลสมาบัติที่พระพุทธองค์เข้าขับไล่อาพาธ มหาวิปัสสนานั้นคืออะไร ? ก็ปรากฏว่ามหาวิปัสสนานั้นมีถึง ๑๘ อย่างคือ
    ๑. อนิจจาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความไม่เที่ยง
    ๒. ทุกขาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความทุกข์
    ๓. อนัตตา วิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ว่าไม่ใช่ตน
    ๔. นิพพิทาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น เป็นความเบื่อหน่าย
    ๕. วิราคาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น เป็นความคลาย ราคะ
    ๖. นิโรธวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความดับสนิท
    ๗. ปฏินิคฺสคฺควิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความสละคืน
    ๘. วิตกฺกวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความตรึก
    ๙. วยาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความเสื่อม
    ๑๐. วิปริณามาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความแปรเปลี่ยน
    ๑๑. อนิมิตตวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความไม่มีเครื่องหมาย
    ๑๒. อปณิหิตานุวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความไม่มีที่ ตั้ง
    ๑๓. สุญญตาวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็นความว่างเปล่า
    ๑๔. อธิปัญญาคมวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความแจ้งในธรรมคือปัญญาอันยิ่ง
    ๑๕. ยถาภูตถาณทัสสนวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็นตามความเป็นจริงโดยญาณ 
    ๑๖. อาทีนววิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ตามความเป็นจริงโดยญาณ
    ๑๗. ปฏิสังขารวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความเข้าใจกระจ่าง 
    ๑๘. วิวัฏฏวิปัสสนา ปรีชาญาณเห็น ความปราศจากวัฏฏะ

นี่แหละญาณทัสสนะที่เป็นไปทั้ง ๑๘ อย่างนี้เรียกว่ามหาวิปัสสนา ปรากฏว่าอนิมิตตเจโตสมาธิ ที่พระองค์เข้าขับไล่อาพาธ เพื่อต่อพระชนมายุนั้นอยู่ในอันดับที่สิบเอ็ด คืออนิมิตตวิปัสสนาใน ๑๘ ประการนี้ พระองค์ทรงใช้ประการที่สิบเอ็ด ความจริงใช้ได้ทุกประการ แต่ทรงเลือกเอาข้อหนึ่งเพื่อขับไล่อาพาธ เพื่อต่อพระชนมายุ

คราวนี้อิทธิบาท ๔ ที่เข้าไปเจริญในอนิมิตตเจโตสมาธิ นั้นเป็นอิทธิบาทสามัญหรือ ? ข้อนี้ไม่ใช่อิทธิบาทธรรมดาสามัญ ถ้าหากเป็นอิทธิบาทธรรมดาสามัญ กระนั้นในวงรำพัดเขาก็มีกันได้ อิทธิบาทนี้ ต้องเป็นอิทธิบาทพิเศษ เรียกว่า ฉันทสมาธิปธานสังขาร วิริยสมาธิปธานสังขาร จิตตสมาธิปธานสังขาร วิมังสาสมาธิปธานสังขาร คือจะต้องเป็นอิทธิบาทที่ประกอบด้วยสมาธิปธานสังขารด้วย ไม่ใช่เป็นอิทธิ-บาทเฉย ๆ ไม่ใช่ฉันทะเฉย ๆ วิริยะเฉย ๆ จิตตะเฉย ๆ วิมังสาเฉย ๆ ต้องประกอบด้วยสมาธิปธานสังขาร จึงเป็นอิทธิบาทที่ประสงค์ในที่นี้ ถึงจะเป็นอิทธิบาทธรรมดาสามัญ และจะต้องประกอบด้วยความแข็งแกร่งมั่นคงไพบูลย์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธินั้น ๆ ท่านเรียกว่าปธานสังขาร หลักฐานที่กล่าวนี้มีมาในบาลีสังยุตตนิกาย

คราวนี้เมื่อออกพรรษาแล้ว พระองค์ได้ปลงพระชนมายุในวันเพ็ญเดือน ๓ คือในวันมาฆบูชา วันมาฆบูชานั้นนอกจากจะเป็นวันสำคัญที่มีเกิดจาตุรงค์สันนิบาตแล้ว ยังเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือตั้งพระหฤทัยว่าตั้งแต่นี้ต่อไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน เพ็ญเดือน ๓ ที่ว่านี้มิใช่เพียงเดือน ๓ ในปีที่พระชนมายุ ๘๐ ปี เป็นปีย่างเข้า ๘๑ เพราะว่าในปีที่พระชนมายุ ๘๐ ผมได้ลำดับเหตุการณ์แล้ว ว่าต้นปีพระองค์ทรงอยู่แคว้นโกศล เหตุการณ์เกิดขึ้นแก่ศากยวงศ์ เนื่องจากวิฑูฑภะได้ยาตราเข้ามาทำลายศากวงศ์ พอจวนจะเข้าพรรษาเสด็จมาที่ราชคฤห์ แล้วข้ามแม่น้ำคงคาไปจำพรรษาที่เมืองเวสาลีเลย อยู่ที่เมืองเวสาลี แคว้นวัชชีถึง ๘ เดือน ออกพรรษาแล้ว ก็ยังไม่เสด็จออกจากเมืองเวสาลีง่าย ๆ ยังคงประทับอยู่ที่อัมพุคาม ชมพุคาม โภคนคร อยู่ในละแวกตำบลต่าง ๆ ในเมืองเวสาลี ตลอดฤดูหนาวในปีที่พระชนมายุ ๘๐ นั้น พระองค์ประทับอยู่ที่แขวงเมืองเวสาลีโดยตลอด พอพ้นฤดูหนาวเข้าฤดูใหม่ย่างเข้าปีที่ ๘๑ แล้ว จึงเสด็จออกจากแคว้นวัชชีเสด็จต่อไป เมื่อตอนเสด็จออกจากแคว้นวัชชีนั้นพระองค์ทรงทำอาการกิริยาที่เรียกวา “นาคาวโลก”* คือการดูอย่างช้างตัวประเสริฐดู ทอดพระเนตรเหลียวกลับมาดูเมืองเวสาลีและตรัสกับพระอานนท์ว่า :- ดูก่อนอานนท์ การทัสสนาดูเมืองเวสาลีของตถาคตครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เป็นปัจฉิมทัสสนา ต่อไปนี้ไม่มีโอกาสแลดูเมืองเวสาลีต่อไปแล้ว



ปัญหามีว่า ที่พระองค์จะทำกริยา นาคาวโลกนั้นดูทำไม มีพุทธประสงค์อย่างไร ? จึงตรัสกับพระอานนท์เช่นนั้น เรื่องนี้ถ้าเราพิจารณาดูเหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพานแล้ว เราจะเข้าใจความหมาย เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานในปีนั้นแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์มคธ ได้ยาตราทัพเข้าตีแคว้นวัชชีทันที ** ได้แคว้นวัชชีเป็นเมืองขึ้นหลังถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้ว พระองค์ตรัสอย่างนั้นกับพระอานนท์ก็ด้วยความมหากรุณากับแคว้นวัชชี ทั้งนี้เพราะพระองค์ผู้อยู่กับพระหฤทัยว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว แคว้นวัชชีจะต้องได้รับอันตรายจากกองทัพมคธเป็นแน่แท้ หนีไม่พ้นแล้ว เป็นกรรมของสัตว์ วาระของกรรมมันมาถึงแล้ว พระองค์จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า การแลดูแคว้นวัชชีที่มีความรุ่งเรืองเป็นเอกราชอย่างนี้ ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว แต่พระองค์ไม่ได้ตรัสให้ใครนึกไปทางเรื่องการเมือง ทรงหลีกเลี่ยงทุกประการในการพูดในทำนองที่จะไม่ให้นึกไปทางเรื่องการเมือง เพราะพระพุทธเจ้านั้นท่านไม่พูดเรื่องการเมืองแล้ว การพูดเรื่องการเมืองเป็นติรัจฉานกถา แต่ท่านตรัสเป็นแต่เพียงให้นัยไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ การแลดูเมืองเวสาลีของตถาคตครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายก็เพียงเท่านี้เอง ส่วนความหมายนั้นแล้วแต่ใครจะไปคิดเอา ที่เรามาตีความกันในปัจจุบันนี้ว่า การแลดูเมืองเวสาลีของพระตถาคต ที่เป็นอิสรรัฐ มีความรุ่งโรจน์ ความเจริญ มีเศรษฐกิจที่มั่นคง จนกระทั่งเป็นที่อิจฉาริษยาของแคว้นมคธนั้น เป็นทางให้แคว้นวัชชีต้องถูกทำลายจากแคว้นมคธนั้น เพราะความมั่งคั่ง ความรุ่งเรืองของแคว้นวัชชี แม้แต่การแต่งตัวของพวกเจ้าลิจฉวี ซึ่งได้ประดับประดาด้วยภูษิตาภรณ์ที่ประดับองค์ต่าง ๆ มีความสวยงามวิจิตรการมาก ถึงขนาดที่พระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายไม่เคยเห็นเทวดาชั้นดาวดึงส์เขาแต่งตัวกันอย่างไร ก็จงดูพระเจ้าวัชชีนี่แหละเขาแต่งตัวกันอย่างไร พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาแต่งร่างกายสวยงามอย่างนั้น ข้อนี้แปลความหมายได้ว่าแคว้นวัชชีเจริญถึงขั้นไหน การแต่งตัวเป็นแฟชั่นที่สวยงามมากถึงขั้นที่พระองค์ได้นำไปเปรียบเทียบว่า พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์เขาแต่งตัวสวยอย่างไร พวกเจ้าวัชชีเขาแต่งตัวสวยอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ข้อเปรียบเทียบเพราะฉะนั้นการเสด็จไปจากวัชชีนี้ จึงทรงเหลียวกลับแลดูเป็นครั้งสุดท้าย นี่ในความหมายนี้ เมื่อออกจากวัชชีแล้วก็มุ่งจะไปเสด็จดับขันธ์ ณ เมืองกุสินารา ในระหว่างทางก่อนจะถึงแคว้นมัลละ เมืองกุสินารา ก็ทรงแวะที่เมืองปาวา ปาวาและกุสินาราทั้งสองเมืองนี้ ในทางโบราณคดีถือกันว่า เป็นเมืองเดียวกัน  👉 หน้าต่อไป 



วันพฤหัสบดี

๓. การแปลความหมายหลักปฏิจจสมุปบาท

หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ถูกนำมาแปลความหมายและอธิบายโดยนัยต่างๆ ซึ่งพอสรุปเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้

๑. การอธิบายแบบแสดงวิวัฒนาการของโลกและชีวิต โดยการตีความพุทธพจน์บางแห่งตามตัวอักษร เช่น พุทธดำรัสว่า โลกสมุทัย เป็นต้น
๒. การอธิบายแบบแสดงกระบวนการเกิด - ดับแห่งชีวิต และความทุกข์ของบุคคล ซึ่งแยกได้เป็น ๒ นัย
        ๒.๑) แสดงกระบวนการช่วงกว้างระหว่างชีวิตต่อชีวิต คือ แบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นการแปลความหมายตามรูปศัพท์อีกแบบหนึ่ง และเป็นวิธีอธิบายที่พบทั่วไปในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา ซึ่งขยายความหมายออกไปอย่างละเอียดพิสดาร ทำให้กระบวนการนี้มีลักษณะเป็นแบบแผน มีขั้นตอนและคำบัญญัติเรียกต่างๆ จนดูสลับซับซ้อนแก่ผู้เริ่มศึกษา
        ๒.๒) แสดงกระบวนการที่หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาในทุกขณะของการดำรงชีวิต เป็นการแปลความหมายที่แฝงอยู่ในคำอธิบายนัยที่ ๑) นั่นเอง แต่เล็งเอานัยอันลึกซึ้งหรือนัยประยุกต์ของศัพท์ตามที่เข้าใจว่าเป็นพุทธประสงค์ (หรือเจตนารมณ์ของหลักธรรม) เฉพาะส่วนที่เป็นปัจจุบัน วิธีอธิบายนัยนี้ยืนยันตัวเองโดยอ้างพุทธพจน์ในพระสูตรได้หลายแห่ง เช่น ในเจตนาสูตร ทุกขนิโรธสูตร และโลกนิโรธสูตร เป็นต้น ส่วนในพระอภิธรรม มีบาลีแสดงกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาททั้งหมดที่เกิดครบถ้วนในขณะจิตอันเดียวไว้ด้วย จัดเป็นตอนหนึ่งในคัมภีร์ทีเดียว (• วิสุทธิ์ ๓/๑๐๗-๒๐๖, วิภงด.อ.๑๖๘-๒๗๘ (เฉพาะหน้า ๒๖๐-๒๗๘ แสดงกระบวนการแบบที่เกิดครบถ้วนในขณะจิตอันเดียว)

ในการอธิบายแบบที่ ๑ บางครั้งมีผู้พยายามตีความหมายให้หลักปฏิจจสมุปบาทเป็นทฤษฎีแสดงต้นกำเนิดของโลก โดยถือเอาอวิชชาเป็นมูลการณ์ (The First Cause) แล้วจึงวิวัฒนาการต่อมาตามลำดับหัวข้อทั้ง ๑๒ นั้น การแปลความหมายอย่างนี้ทำให้เห็นไปว่าคำสอนในพระพุทธศาสนามีส่วนคล้ายคลึงกับศาสนาและระบบปรัชญาอื่นๆ ที่สอนว่ามีตัวการอันเป็นต้นเดิมสุด เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสัตว์และสิ่งทั้งปวง ต่างกันเพียงว่า ลัทธิที่มีพระผู้สร้าง แสดงกำเนิดและความเป็นไปของโลกในรูปของการบันดาลโดยอำนาจเหนือธรรมชาติ ส่วนคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่มีความหมายอย่างนี้ แสดงความเป็นไปในรูปวิวัฒนาการตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติเอง อย่างไรก็ดี การตีความหมายแบบนี้ย่อมถูกตัดสินได้แน่นอนว่า ผิดพลาดจากพุทธธรรม เพราะคำสอนหรือหลักลัทธิใดก็ตามที่แสดงว่าโลกมีมูลการณ์ (คือเกิดจากตัวการที่เป็นต้นเดิมที่สุด) ย่อมเป็นอันขัดต่อหลักอิทัปปัจจยตา หรือหลักปฏิจจสมุปบาท หลักปฏิจจสมุปบาทแสดงเหตุผลเป็นกลางๆ ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยเนื่องอาศัยกัน เกิดสืบต่อกันมาตามกระบวนการแห่งเหตุผลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มูลการณ์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะในรูปพระผู้สร้างหรือสิ่งใดๆ ด้วยเหตุนี้ การแปลความหมายหลักปฏิจจสมุปบาทให้เป็นคำอธิบายวิวัฒนาการของโลกและชีวิต จึงเป็นที่ยอมรับได้เฉพาะในกรณีที่เป็นการอธิบายให้เห็นความคลี่คลายขยายตัวแห่งกระบวนธรรมชาติในทางที่เจริญขึ้น และทรุดโทรมเสื่อมสลายลงตามเหตุปัจจัยหมุนเวียนกันเรื่อยไป ไม่มีเบื้องต้น ไม่มีเบื้องปลาย

เหตุผลอย่างหนึ่งสำหรับประกอบการพิจารณาว่าการแปลความหมายอย่างใดถูกต้อง ควรยอมรับหรือไม่ ก็คือพุทธประสงค์ในการแสดงพุทธธรรม ซึ่งต้องถือว่าเป็นความมุ่งหมายของการทรงแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทด้วย โดยเป็นไปตามหลักความสอดคล้องที่ย้อนกลับมาบ่งบอกว่า ความจริงของหลักปฏิจจสมุปบาทนั้นอำนวยความมุ่งหมายเชิงปฏิบัติดังที่กล่าวในการแสดงพุทธธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายและสั่งสอนเฉพาะสิ่งที่จะนำมาใช้ปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ในชีวิตจริงได้ เกี่ยวข้องกับชีวิต การแก้ไขปัญหาชีวิต และการลงมือทำจริงๆ ไม่ทรงสนับสนุนการพยายามเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีครุ่นคิดและถกเถียงหาเหตุผลเกี่ยวกับปัญหาทางอภิปรัชญา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ การกำหนดความเป็นพุทธธรรม จึงพึงพิจารณาคุณค่าทางจริยธรรมประกอบด้วย ในกรณีการแปลความหมายแบบวิวัฒนาการชนิดหมุนเวียนไม่มีต้นปลายนั้น แม้จะพึงยอมรับได้ ก็ยังจัดว่ามีคุณค่าทางจริยธรรม (คือคุณค่าในทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตจริง) น้อย หรืออย่างไม่มั่นใจเต็มที่ คือได้เพียงโลกทัศน์หรือชีวทัศน์อย่างกว้างๆ ว่า ความเป็นไปของโลกและชีวิตดำเนินไปตามกระแสแห่งเหตุผล ขึ้นต่อเหตุปัจจัยในกระบวนการของธรรมชาติเอง ไม่มีผู้สร้าง ผู้บันดาล และไม่เป็นไปลอยๆ โดยบังเอิญ ดังนั้น จึงเอื้อหรือน้อมไปในทางที่จะให้เกิดคุณค่าในทางปฏิบัติ ๓ ประการต่อไปนี้ คือ

        ๑. การมองเห็นตระหนักว่า ผลที่ต้องการ ไม่อาจให้สำเร็จเพียงด้วยความหวังความปรารถนา ด้วยการอ้อนวอนต่อพระผู้สร้างหรืออำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ หรือด้วยการรอคอยโชคชะตาความบังเอิญ แต่ต้องสำเร็จด้วยการลงมือกระทำ คือ บุคคลจะต้องพึ่งตนด้วยการทำเหตุปัจจัยที่จะให้ผลสำเร็จที่ต้องการนั้นเกิดขึ้น
        ๒. การกระทำเหตุปัจจัยเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ จะเป็นไปได้ ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในกระบวนการของธรรมชาตินั้นอย่างถูกต้อง จึงถือปัญญาเป็นคุณธรรมสำคัญ คือ ต้องเกี่ยวข้องและจัดการกับสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญา
        ๓. การรู้เข้าใจในกระบวนการของธรรมชาติ ว่าเป็นไปตามกระแสแห่งเหตุปัจจัย ย่อมช่วยลดหรือทำลายความหลงผิดที่เป็นเหตุให้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายว่าเป็นตัวตนของตนลงได้ ทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องเป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ โดยไม่กลับตกไปเป็นทาสของสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้องนั้นเสีย ยังคงเป็นอิสระอยู่ได้

โลกทัศน์และชีวทัศน์ที่กล่าวนี้ แม้จะถูกต้อง และมีคุณค่าตรงตามความมุ่งหมายของพุทธธรรมทุกประการ ก็ยังนับว่าหยาบ ไม่หนักแน่นและกระชั้นชิดพอที่จะให้มั่นใจเด็ดขาดว่าจะเกิดคุณค่าทั้ง ๓ ประการนั้น (โดยเฉพาะประการที่ ๓) อย่างครบถ้วนและแน่นอน 
เพื่อให้การแปลความหมายแบบนี้มีคุณค่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จะต้องพิจารณากระบวนการหมุนเวียนของธรรมชาติ ให้ชัดเจนถึงส่วนรายละเอียดยิ่งกว่านี้ คือ จะต้องเข้าใจรู้เท่าทันสภาวะของกระบวนการนี้ ไม่ว่า ณ จุด ใดก็ตามที่ปรากฏตัวให้พิจารณาเฉพาะหน้าในขณะนั้นๆ และมองเห็นกระแสความสืบต่อเนื่องอาศัยกันแห่งเหตุปัจจัยทั้งหลาย แม้ในช่วงสั้นๆ เช่นนั้นทุกช่วง เมื่อมองเห็นสภาวะแห่งสิ่งทั้งหลายต่อหน้าทุกขณะโดยชัดแจ้งเช่นนี้ คุณค่า ๓ ประการนั้น จึงจะเกิดขึ้นอย่างครบถ้วนแน่นอน และย่อมเป็นการครอบคลุมเอาความหมายแบบวิวัฒนาการช่วงยาวเข้าไว้ในตัวไปด้วยพร้อมกัน

ในการแปลความหมายแบบที่ ๑ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นความหมายอย่างหยาบหรืออย่างละเอียดก็ตาม จะเห็นว่า การพิจารณาเพ่งไปที่โลกภายนอก คือเป็นการมองออกไปข้างนอก ส่วนการแปลความหมายแบบที่ ๒ เน้นหนักทางด้านชีวิตภายใน สิ่งที่พิจารณาได้แก่กระบวนการสืบต่อแห่งชีวิต และความทุกข์ของบุคคล เป็นการมองเข้าไปข้างใน

การแปลความหมายแบบที่ ๒ นัยที่ ๑ เป็นแบบที่ยอมรับและนำไปอธิบายกันมากในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา
ทั้งหลาย มีรายละเอียดพิสดาร และมีคำบัญญัติต่างๆ เพิ่มอีกมากมาย เพื่อแสดงกระบวนการให้เห็นเป็นระบบที่มีขั้นตอนแบบแผนชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกตายตัวจนกลายเป็นยึดถือแบบแผน ติดระบบขึ้นได้ พร้อมกับที่กลายเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนสำหรับผู้เริ่มศึกษา ในที่นี้จึงจะได้แยกไปอธิบายไว้ต่างหากอีกตอนหนึ่ง ส่วนความหมายตามนัยที่ ๒ ก็มีลักษณะสัมพันธ์กับนัยที่ ๑ ด้วย จึงจะนำไปอธิบายไว้ในลำดับต่อไป


วันศุกร์

๒. ตัวบทและแบบความสัมพันธ์ ในหลักปฏิจจสมุปบาท

พุทธพจน์ ที่เป็นตัวบทแสดงหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น แยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ที่แสดงเป็นกลางๆ ไม่ระบุชื่อหัวข้อปัจจัย อย่างหนึ่ง กับที่แสดงเจาะจงระบุชื่อหัวข้อปัจจัยต่างๆ ซึ่งสืบทอดต่อกัน โดยลำดับเป็นกระบวนการ อย่างหนึ่ง อย่างแรก มักตรัสไว้นำหน้าอย่างหลัง เป็นทำนองหลักกลาง หรือหลักทั่วไป ส่วนอย่างหลัง พบได้มากมาย และส่วนมากตรัสไว้ล้วนๆ โดยไม่มีอย่างแรกอยู่ด้วย อย่างหลังนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักแจงหัวข้อหรือขยายความ เพราะแสดงรายละเอียดให้เห็น หรือเป็นหลักประยุกต์ เพราะนำเอากระบวนการธรรมชาติมาแสดงให้เห็นความหมายตามหลักทั่วไปนั้น

อนึ่ง หลักทั้ง ๒ อย่างนั้น แต่ละอย่างแบ่งออกได้เป็น ๒ ท่อน คือ ท่อนแรกแสดงกระบวนการเกิด ท่อนหลังแสดงกระบวนการดับ เป็นการแสดงให้เห็นแบบความสัมพันธ์ ๒ นัย ท่อนแรกที่แสดงกระบวนการเกิด เรียกว่า สมุทยวาร และถือว่าเป็นการแสดงตามลำดับ จึงเรียกว่าอนุโลมปฏิจจสมุปบาท เทียบในอริยสัจเป็นข้อที่ ๒ คือ ทุกขสมุทัย ท่อนหลังที่แสดงกระบวนการดับ เรียกว่า นิโรธวาร และถือว่าเป็นการแสดงย้อนลำดับ จึงเรียกว่า ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท เทียบในหลักอริยสัจเป็นข้อที่ ๓ คือ ทุกขนิโรธ

แสดงตัวบททั้ง ๒ อย่าง ดังนี้

🔅 ๑) หลักทั่วไป
ก. อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

ข. อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชุฌติ เพราะสิ่งที่ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)

พิจารณาตามรูปพยัญชนะ หลักทั่วไปนี้ เข้ากับชื่อที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา (หลักทั่วไปนี้บางครั้งท่านขยายความโดยแสดงเพียงปัจจัยเดียว ก็มี เช่น ส.น.๑๖/๒๓๗/๑๑๗) เรียกว่า เองคปฏิจจสมุปบาท (ปฏิจจสมุปบาทแบบหัวข้อเดียว))

🔅 ๒) หลักแจงหัวข้อ หรือ หลักประยุกต์
ก. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
สงฺขารปจฺจยา วิญญาณํ เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
วิญญาณปจฺจยา นามรูปํ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
ผสฺสปจฺจยา เวทนา เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เวทนาปจฺจยา ตณฺหา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
อุปาทานปจฺจยา ภโว เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
ภวปจฺจยา ชาติ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
ชาติปจฺจยา ชรามรณํ เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
...............................................................................................
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ จึงมีพร้อม
เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมีได้ ด้วยประการฉะนี้

ข. อวิชฺชาย เตฺวว อเลสวิราคนิโรธา สงฺขารนิโรโธ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ
สงฺขารนิโรธา วิญฺญาณนิโรโธ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
วิญฺญาณนิโรธา นามรูปนิโรโธ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
นามรูปนิโรธา สฬายตนนิโรโธ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
สฬายตนนิโรธา ผสฺสนิโรโธ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
ผสฺสนิโรธา เวทนานิโรโธ เพราะผัสสะดับ เวทนางดับ
เวทนานิโรธา ตณฺหานิโรโธ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
ตณฺหานิโรธา อุปาทานนิโรโธ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
อุปาทานนิโรธา ภวนิโรโธ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
ภวนิโรธา ชาตินิโรโธ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
ชาตินิโรธา ชรามรณํ เพราะชาติดับ ชรามรณะ (จึงดับ)
...............................................................................................
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา นิรุชฺฌนฺติ
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส ความคับแค้นใจ ก็ดับ
เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส นิโรโธ โหติ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้

ขอให้สังเกตว่า คำสรุปปฏิจจสมุปบาทนี้ บ่งว่า เป็นกระบวนการเกิดขึ้นและดับไปแห่งความทุกข์ ข้อความเช่นนี้ เป็นคำสรุปส่วนมากของหลักปฏิจจสมุปบาทที่ปรากฏในที่ต่างๆ แต่บางแห่งสรุปว่า เป็นการเกิดขึ้นและสลายหรือดับไปของโลก ก็มี โดยใช้คำบาลีว่า “อยํ โข ภิกฺขเว โลกสฺส สมุทโย นี้แล ภิกษุทั้งหลาย คือความเกิดขึ้นแห่งโลก” “อยํ โข ภิกฺขเว โลกสฺส อตฺถงฺคโม นี้แล ภิกษุทั้งหลาย คือความดับสลายแห่งโลก หรือว่า “เอวมยํ โลโก สมุทยติ โลกนี้ย่อมเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้” “เอวมยํ โลโก นิรุชฌติ โลกนี้ย่อมดับไปด้วยอาการอย่างนี้

อย่างไรก็ดี ว่าโดยความหมายที่แท้จริงแล้ว คำสรุปทั้งสองอย่างนี้ ได้ความตรงกัน และเท่ากัน ปัญหาอยู่ที่ความหมายของศัพท์ ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป อนึ่ง หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ในคัมภีร์ที่เป็นส่วนท้ายของพระไตรปิฎก เริ่มปรากฏคำเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ปัจจยาการ” (แปลว่า อาการที่สิ่งทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กัน) และต่อมา ในอรรถกถา ฎีกา นิยมใช้คำว่าปัจจยาการนั้นมากขึ้นจนปรากฏบ่อยครั้งกว่าคำว่าอิทัปปัจจยตา ในหลักที่แสดงเต็มรูปอย่างในที่นี้ องค์ประกอบทั้งหมดมีจำนวน ๑๒ หัวข้อ องค์ประกอบเหล่านี้ เป็นปัจจัยเนื่องอาศัยสืบต่อกันไปเป็นรูปวงเวียน ไม่มีต้น ไม่มีปลาย คือไม่มีตัวเหตุเริ่มแรกที่สุด (มูลการณ์ หรือ The First Cause) การยกเอาอวิชชาตั้งเป็นข้อที่หนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า อวิชชาเป็นเหตุเบื้องแรก หรือเป็นมูลการณ์ของสิ่งทั้งหลาย แต่เป็นการตั้งหัวข้อเพื่อความสะดวกในการทำความเข้าใจ โดยตัดตอนยกเอาองค์ประกอบ อันใดอันหนึ่ง ที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด ขึ้นมาตั้งเป็นลำดับที่ ๑ แล้วก็นับต่อไปตามลำดับ บางคราวท่านป้องกันมิให้มีการยึดเอาอวิชชาเป็นมูลการณ์ โดยแสดงความเกิดของอวิชชาว่า “อวิชชาเกิด เพราะอาสวะเกิด อวิชชาดับ เพราะอาสวะดับ อาสวสมุทยา อวิชชาสมุทโย อาสวนิโรธา อวิชชานิโรโธ

องค์ประกอบ ๑๒ ข้อของปฏิจจสมุปบาทนั้น นับตั้งแต่อวิชชา ถึง ชรามรณะเท่านั้น คือ อวิชชา ➔ สังขาร ➔ วิญญาณ ➔ นามรูป ➔ สฬายตนะ ➔ ผัสสะ ➔ เวทนา ➔ ตัณหา ➔ อุปาทาน ➔ ภพ ➔ ชาติ ➔ ชรามรณะ ส่วน โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นเพียงตัวพลอยผสม เกิดแก่ผู้มีอาสวกิเลสเมื่อมีชรามรณะแล้ว เป็นตัวการหมักหมมอาสวะซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชาหมุนวงจรต่อไปอีก ในการแสดงปฏิจจสมุปบาทแบบประยุกต์ พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสตามลำดับ และเต็มรูปอย่างนี้ คือ ชักต้นไปหาปลายเสมอไป การแสดงในลำดับและเต็มรูปเช่นนี้ มักตรัสในกรณีเป็นการแสดงตัวหลัก แต่ในทางปฏิบัติซึ่งเป็นการเริ่มต้นด้วยข้อปัญหา มักตรัสในรูปย้อนลำดับ คือ ชักปลายมาหาต้น เป็น ชรามรณะ ➔ ชาติ ➔ ภพ ➔ อุปาทาน ➔ ตัณหา ➔ เวทนา ➔ ผัสสะ ➔ สฬายตนะ ➔ นามรูป ➔ วิญญาณ ➔ สังขาร ➔ อวิชชา

ในทางปฏิบัติเช่นนี้ การแสดงอาจเริ่มต้นที่องค์ประกอบข้อหนึ่งข้อใดในระหว่างก็ได้ สุดแต่องค์ประกอบข้อไหนจะกลายเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เช่น อาจจะเริ่มที่ชาติ ที่เวทนา ที่วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเชื่อมโยงกันขึ้นมาตามลำดับจนถึงชรามรณะ (ชักกลางไปหาปลาย) หรือสืบสาวย้อนลำดับลงไปจนถึงอวิชชา (ชักกลางมาหาต้น) ก็ได้ หรืออาจเริ่มต้นด้วยเรื่องอื่นๆ ที่มิใช่ชื่อใดชื่อหนึ่งใน ๑๒ หัวข้อนี้ แล้วชักเข้ามาพิจารณาตามแนวปฏิจจสมุปบาทก็ได้ โดยนัยที่กล่าวมา การแสดงปฏิจจสมุปบาท จึงไม่จำเป็นต้องครบ ๑๒ หัวข้ออย่างข้างต้น และไม่ จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบที่ตายตัวเสมอไป

ข้อควรทราบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเป็นปัจจัยแก่กันขององค์ประกอบเหล่านี้ตรงกับคำว่า “เหตุ” ทีเดียว เช่น ปัจจัยให้ต้นไม้งอกขึ้น มิใช่หมายเพียงเมล็ดพืช แต่หมายถึง ดิน น้ำ ปุ๋ย อากาศ อุณหภูมิ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยแต่ละอย่าง และการเป็นปัจจัยแก่กันนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่จำต้องเป็นไปตามลำดับก่อนหลังโดยกาละหรือเทศะ เช่น พื้นกระดาน เป็นปัจจัยแก่การตั้งอยู่ของโต๊ะ เป็นต้น

วันอังคาร

๑. ฐานะและความสำคัญ

ตอน ๓: ชีวิตเป็นไปอย่างไร?


ปฏิจจสมุปบาท การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมี

🔅 ตัวกฎหรือตัวสภาวะ

๑. ฐานะและความสำคัญ
ปฏิจจสมุปบาท แปลพอให้ได้ความหมายในเบื้องต้นว่า การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายโดยอาศัยกัน การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันๆ จึงเกิดมีขึ้น หรือการที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมา ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักธรรมอีกหมวดหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ หรือหลักความจริงที่มีอยู่โดยธรรมดา ไม่เกี่ยวกับการอุบัติของพระศาสดาทั้งหลาย พุทธพจน์แสดงปฏิจจสมุปบาทในรูปของกฎธรรมชาติว่าดังนี้ “ตถาคตทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้น ก็ดำรงอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม คือ อิทัปปัจจยตา* ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผยแจกแจง ทำให้เข้าใจง่าย และจึงตรัสว่าจงดูสิ “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ “ภิกษุทั้งหลาย ตถตา (ภาวะที่เป็นอย่างนั้น) อวิตถตา (ภาวะที่ไม่คลาดจากการเป็นอย่างนั้น) อนัญญฤตา (ภาวะที่ไม่เป็นอย่างอื่น) คืออิทัปปัจจยตา ดังกล่าวมานี้แล เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาท จะเห็นได้จากพุทธพจน์ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้น เห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น เห็นปฏิจจสมุปบาท ภิกษุทั้งหลาย แท้จริง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ฯลฯ เมื่อใด อริยสาวกรู้ทั่วถึงความเกิดและความดับของโลกตามที่มันเป็นอย่างนี้ อริยสาวกนี้เรียกว่าเป็นผู้มีทิฏฐิสมบูรณ์ ก็ได้ ผู้มีทัศนะสมบูรณ์ ก็ได้ ผู้ถึงสัทธรรมนี้ ก็ได้ ว่าผู้ประกอบด้วยเสขญาณ ก็ได้ ผู้ประกอบด้วยเสขวิชชา ก็ได้ ผู้บรรลุกระแสธรรมแล้ว ก็ได้พระอริยะผู้มีปัญญาชำแรกกิเลส ก็ได้ ผู้อยู่ชิดประตูอมตะ ก็ได้ “สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ชัดธรรมเหล่านี้ รู้ชัดเหตุเกิดแห่งธรรมเหล่านี้ รู้ชัดความดับแห่งธรรมเหล่านี้ รู้ชัดทางดำเนินถึงความดับแห่งธรรมเหล่านี้ ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นแล จึงควรแก่การยอมรับว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และยอมรับได้ว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และจึงได้ชื่อว่า ได้บรรลุประโยชน์ของความเป็นสมณะ และประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
 👉(อิทัปปัจจยตา เป็นชื่อหนึ่งของหลักปฏิจจสมุปบาท แปลตามตัวอักษรว่า การประชุมปัจจัยของสิ่งเหล่านี้ หรือ ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย ในคัมภีร์ชั้นรองลงมา บางทีเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปัจจยาการ แปลว่า อาการที่เป็นปัจจัย (mode of conditionality))
อย่างไรก็ดี มีพุทธพจน์ตรัสเตือนไว้ ไม่ให้ประมาทหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ว่า เป็นหลักเหตุผลที่เข้าใจง่ายเพราะเคยมีเรื่องที่พระอานนท์เข้าไปกราบทูลพระองค์ และได้ตรัสตอบ ดังนี้

พระอานนท์ : “น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาเลย พระเจ้าข้า หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ถึงจะเป็นธรรมลึกซึ้งและปรากฏเป็นของลึกซึ้ง ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์ เหมือนเป็นธรรมง่ายๆ"
พระพุทธองค์ : “อย่ากล่าวอย่างนั้น อย่ากล่าวอย่างนั้น อานนท์ ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมลึกซึ้งและปรากฏเป็นของลึกซึ้ง เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่แทงตลอดหลักธรรมข้อนี้แหละ หมู่สัตว์นี้จึงวุ่นวายเหมือนเส้นด้ายที่ขอดกันยุ่ง จึงขมวดเหมือนกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นปม จึงเป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่าย และหญ้าปล้อง จึงผ่านพ้น อบาย ทุคติ วินิบาต สังสารวัฏ ไปไม่ได้"

ผู้ศึกษาพุทธประวัติแล้ว คงจำพุทธดำริเมื่อครั้งหลังตรัสรู้ใหม่ๆ ก่อนเสด็จออกประกาศพระศาสนาได้ว่าครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่ทรงประกาศธรรม ดังความในพระไตรปิฎกว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความดำริเกิดขึ้นว่า “ธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว เป็นของลึกซึ้งเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบระงับ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรก ละเอียด บัณฑิต จึงจะรู้ได้” “ก็แหละ หมู่ประชานี้ เป็นผู้เริงรมย์อยู่ด้วยอาลัย* ยินดีอยู่ในอาลัย ระเริงอยู่ในอาลัย สำหรับหมู่ประชาผู้เริงรมย์ รื่นระเริงอยู่ในอาลัย (เช่นนี้) ฐานะอันนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท” “แม้ฐานะอันนี้ ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน” “ก็ถ้าเราพึงแสดงธรรม และคนอื่นไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา” 
👉(อาลัย คือ ความผูกพัน ความยึดติด สิ่งที่ติดเพลิน สภาพพัวพันอิงอาศัย ชีวิตที่ขึ้นต่อปัจจัยภายนอก)

พุทธดำริตอนนี้ กล่าวถึงหลักธรรม ๒ อย่าง คือ ปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน เป็นการย้ำทั้งความยาก ของหลักธรรมข้อนี้ และความสำคัญของหลักธรรมนี้ ในฐานะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และจะทรงนำมาสั่งสอนแก่หมู่ประชา