วันอังคาร

ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ว่าด้วยกาม

"เครื่องจองจำใด เกิดแต่เหล็ก เกิดแต่ไม้ และ เกิดแต่หญ้าปล้อง ผู้มีปัญญาทั้งหลาย หากล่าวเครื่องจองจำนั้น ว่าเป็นของมั่นคงไม่ ความกำหนัดใดของชนทั้งหลายผู้กำหนัด ยินดียิ่งนัก ในแก้วมณีและตุ้มหูทั้งหลาย และความเยื่อใยในบุตรแลในภรรยาทั้งหลายใด นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวความกำหนัดและความเยื่อใยนั่นว่า เป็นเครื่องจองจำอันมั่นคง มีปกติเหนี่ยวลง อันหย่อนเปลื้องได้โดยยาก นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องผูก แม้นั่นแล้ว เป็นผู้ไม่มีไยดี ละกามสุขแล้วบวช"

                    

🔅ว่าด้วยเรื่องของกาม

เกริ่นนำ แม้เทวดาก็ยังลุ่มหลงในกาม เมื่อจุติจากภพสวรรค์นั้นแล้วโดยเกือบทั้งหมดจะไปเกิดต่อในอบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉาน (อามกธัญญเปยยาล) มีเทวดาเพียงจำนวนน้อยนิดเทียบเท่าฝุ่นในปลายเล็บจากเทวดาทั้งหมดที่มีจำนวนเทียบเท่าผืนปฐพีที่จะได้กลับมาเกิดในสุขคติภูมิคือ มนุษย์ เทวดา พรหม อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นท่านสาธุชนไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมจึงมีเทวดาที่ยังมีมิจฉาทิฎฐิอยู่

        ในสมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ได้อบรมสั่งสอนเหล่าภิกษุว่า ในอดีตเคยมีเรื่องนี้มาก่อน มีเทวดาชั้นดาวดึงส์ที่ลุ่มหลงด้วยกามคุณรายล้อมล้อมด้วยหมู่นางอัปสรมีวิมานอยู่ในสวนนันทวันได้กล่าวมิจฉาคาถาขึ้นว่า "เทวดาเหล่าใดไม่เคยเห็นสวนนันทวันที่มีนางอัปสรคอยปรนเปรอ เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่รู้จักความสุข"

เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็มีเทวดาอีกองค์หนึ่งได้ย้อนกล่าวกับเทวดานั้นด้วยคาถาว่า "ดูกรท่านผู้เขลา ท่านย่อมไม่รู้จักคำของพระอรหันต์ทั้งหลายว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความสงบระงับสังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นสุข ฯ"

ระหว่างที่พระพุทธองค์ กำลังแสดงธรรมแก่เหล่าภิกษุสาวกให้เห็นความพอใจที่จะส้องเสพกามของเทวดาในชั้นดาวดึงส์ ก็มีเทวดาตนหนึ่งได้กล่าวคาถานี้แทรกขึ้นมาในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

"คนมีบุตร ย่อมยินดีเพราะบุตรทั้งหลาย บุตรบางพวกทำกสิกรรมแล้ว ย่อมยังยุ้งข้าวเปลือกให้เต็ม บางพวกทำการค้าแล้วย่อมนำเงินและทองมา บางพวกบำรุงพระราชา (รับราชการ) ย่อมได้วัตถุทั้งหลายมียานพาหนะ คามนิคมเป็นต้น มารดาหรือบิดาเมื่อเสวยสิริอันเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งบุตรเหล่านั้น ย่อมยินดี อีกอย่างหนึ่ง มารดาหรือบิดาเห็นบุตรทั้งหลายผู้อันบุคคลตกแต่งประดับประดา ทำให้เกิดความยินดี เสวยอยู่ซึ่งสมบัติในวันรื่นเริงเป็นต้น ย่อมยินดีด้วยเหตุนั้น (เทวดาหมายเอาความเป็นไปอย่างนั้นว่ามีความสุข จึงกล่าวว่าคนมีบุตรย่อมยินดี เพราะบุตรทั้งหลายดังนี้)

คนมีโค ก็ย่อมยินดีเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น คนมีบุตรย่อมยินดีเพราะบุตรฉันใด แม้คนมีโคก็ฉันนั้น คนมีโคเห็นมณฑลแห่งโค (สนามโค) สมบูรณ์แล้ว เพราะอาศัยโคทั้งหลาย เสวยสมบัติ คือเบญจโครส (ผลผลิตจากนมโค ๕ อย่าง ได้แก่นมสด นมส้ม เปรียง เนยใส เนยข้น) จึงชื่อว่าย่อมยินดี เพราะโคทั้งหลาย

เพราะอุปธิเป็นความดีของคน บุคคลใดไม่มีอุปธิ บุคคลนั้นจะไม่มียินดีเลย ฯ ความว่า บุคคลใดไม่มีอุปธิ คือเว้นจากการถึงพร้อมด้วยกามคุณ เป็นผู้ขัดสน มีอาหารและเครื่องนุ่งห่มหาได้โดยยาก บุคคลนั้นแลย่อมยินดีไม่ได้ ถามว่า มนุษย์เพียงดังเปรต มนุษย์เพียงดังสัตว์นรก ไม่มีอาหาร ไม่มีเสื้อผ้าอาภร ไม่มีคนรับใช้ ไม่มีวิหารที่อยู่ เห็นปานนี้ จักมีความยินดีได้อย่างไร" 

 
>>ขยายคำว่า อุปธิ
อุปธิ แปลว่า สิ่งที่ยังระคนด้วยกิเลส ในบทว่า อุปธีหิ นรสฺส นนฺทนา นี้ได้แก่ อุปธิ ๔ อย่าง คือ
๑. กามูปธิ อุปธิคือกามกิเลส เป็นเหตุให้สร้างกรรม
๒. ขันธูปธิ อุปธิคือ ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ เป็นเหตุให้สร้างกรรม
๓. กิเลสูปธิ อุปธิคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เป็นเหตุให้สร้างกรรม
๔. อภิสังขารูปธิ อุปธิคือความปรุงแต่งกิเลสต่างๆทางความคิด เป็นเหตุให้สร้างกรรม

จริงอยู่ แม้กามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสเรียกว่าอุปธิ เพราะความพอใจในกามคุณ ๕ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส โดยอาศัยกามเป็นที่ตั้งของความสุข กามเป็นที่ตั้งแห่งความโสมนัส ความพอใจเหล่านี้ แต่ในบทนี้เราหมายเอาขยายความเฉพาะอุปธิ คือ กามูปธิ ตามที่เทวดาปุจฉา พูดอย่างเข้าใจง่ายที่สุด ก็คือเทวดาถามหาความสุขจากปัจจัยภายนอกที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส ว่าสิ่งนั้นแหล่ะด้วยอาศัยวัตถุกามภายนอกมากระทบ จึงจะนำมาซึ่งความสุขแก่ผู้ที่ยังมีอุปธิ (กามกิเลส)

พระผู้มีพระภาคเมื่อได้ยินเทวดากล่าวคาถาแบบนั้น ทรงพระดำริว่า เทวดานี้ย่อมทำเรื่องแห่งความเศร้าโศกให้เป็นเรื่องน่ายินดี เราจักแสดงความที่สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องแห่งความเศร้าโศกแก่เธอดังนี้ เมื่อจะทำลายวาทะของเทวดานั้น ด้วยอุปมานั้นนั่นเอง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

"บุคคลมีบุตร ย่อมเศร้าโศกเพราะบุตรทั้งหลาย
บุคคลมีโค ย่อมเศร้าโศกเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น
เพราะอุปธิเป็นความเศร้าโศกของคน
บุคคลใดไม่มีอุปธิ (กามกิเลส) บุคคลนั้นไม่เศร้าโศกเลย ฯ"


😔ว่าด้วยกองทุกข์ใหญ่ เรื่องอัญญเดียรถีย์

          สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ครั้งนั้นในเวลาเช้าเหล่าภิกษุสาวกกำลังเตรียมตัวออกบิณฑบาตร แต่ก็เห็นว่ายังเช้าเกินไป* (จากการที่ข้าพเจ้าได้เดินทางไปดินแดนพุทธภูมิ จะเห็นว่าคนอินเดียไม่นิยมนอนตื่นเช้าอย่างคนไทย มื้อเช้าเขามักเริ่มทานอาหารกันในเวลา ๙-๑๐ น. และมื้อเย็นไปทานกันในเวลา ๑๙-๒๐ น. ในเวลาเช้าตรู่ข้าพเจ้าเคยออกจากพุทธคยาเดินหาการัมจายดื่มแก้หนาวก็หาไม่ได้สักแก้ว ไม่มีร้านค้าไหนเปิดหรือใครตื่นนอนแต่เช้าเพื่อขายของอย่างคนไทยเลย ต้องรอจนสายโด่ง ๙ โมง ๑๐ โมง นั่นแหล่ะ ถึงจะเริ่มมีคนมาขาย ในพระสูตรนี้ข้าพเจ้าจึงเชื่อว่าภิกษุสมัยพุทธกาลคงไม่รีบร้อนออกบิณฑบาตรกันเหมือนภิกษุไทยเราในสมัยนี้ โดยธรรมเนียมปฎิบัติของไทยเราก็นิยมเริ่มออกบิณฑบาตรเมื่ออาทิตย์ทอแสงจนเห็นลายมือตนเองได้ชัด และมักจะกลับเข้าวัดขบฉันมื้อเช้ากันก่อน ๘ นาฬิกา) เมื่อเหล่าพระภิกษุที่อาศัยในพระวิหารเห็นว่าออกบิณฑบาตรยามนี้คงยังไม่มีใครตื่นนอนแน่ จึงคิดกันว่า งั้นพวกเราไปนั่งรอเวลาที่อารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์กันดีกว่า (ให้นึกถึงพื้นที่สาธารณะประโยชน์ขนาด ๘๐ ไร่ ที่มีวิหารมีอารามอยู่ในพื้นที่นั้นอยู่มากมาย) 

เมื่อเหล่าภิกษุได้เข้าไปนั่งในอารามของปริพาชกอัญญเดียรถีย์ก็ทำการทักทายปราศัยกันตามธรรมเนียม ระหว่างที่กำลังนั่งรอ พวกปริพาชกก็กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่า "ดูกะระท่านผู้มีอายุทั้งหลายพระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้กามได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้กามได้ พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้รูปได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้รูปได้ พระสมณโคดมบัญญัติข้อควรกำหนดรู้เวทนาได้ แม้พวกข้าพเจ้าก็บัญญัติข้อควรกำหนดรู้เวทนาได้ (พึงทราบว่าแม้นพวกนักบวชนอกศาสนาเขาก็ทำณานได้ถึงสมาบัติ ๘ เขาก็รู้จักกาม รูป เวทนา เช่นเดียวกัน) ดูกะระท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ในเรื่องนี้ อะไรเล่าที่เป็นข้อแตกต่างระหว่างสำนักเรากับสำนักของพระสมณโคดม? "

ภิกษุเหล่าเมื่อถูกปริพาชกซักถาม ก็นั่งนิ่งไม่รู้จะโต้ตอบหรือคัดค้านวาทะจาบจ้วงนั้นอย่างไร เมื่อถึงเวลาเหล่าภิกษุก็ถือบาตรเดินบิณฑบาตรในเมืองสาวัตถี ระหว่างนั้นก็ได้แต่ครุ่นคิดว่าเมื่อบิณฑบาตรเสร็จแล้วจะเอาคำถามนี้แหล่ะไปถามต่อพระบรมศาสดา ครั้นในเวลาปัจฉาภัตแล้ว เหล่าภิกษุจึงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วทูลเล่าเรื่องถึงที่มาที่ไปและคำถามของปริพาชกให้พระพุทธองค์ฟัง

พระผู้มีพระภาคเมื่อได้สดับคำถามของปริพาชกแล้วจึงทรงตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะตั้งคำถามมาอย่างนี้อย่างนี้ พวกเธอพึงกล่าวตอบอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็อะไรเล่าเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนของกามทั้งหลาย? อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนของรูปทั้งหลาย? อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการถ่ายถอนของเวทนาทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ถูกพวกเธอถามอย่างนี้ จักไม่พอใจเลย และจักต้องคับแค้นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะข้อนั้นมิใช่วิสัย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นผู้ที่จะพึงยังจิตให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ได้ในโลกนี้ รวมถึงเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ เป็นไปกับด้วยสมณะ และพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ จักไม่มีใครพยากรณ์ตอบปัญหาเหล่านี้ได้ เว้นไว้แต่ตถาคต หรือสาวกของตถาคต หรือมิฉะนั้นก็ฟังจากนี้เท่านั้นจึงจะพยากรณ์ตอบได้"

(ตรงนี้ข้าพเจ้าขอให้ทุกท่านทดลองตอบคำถามปริพาชกด้วยปัญญาของท่านเองก่อน หากท่านตอบได้ถูกต้องและตรง ท่านก็มั่นใจได้เลยว่าท่านเป็นสาวกของพระพุทธองค์อย่างเต็มภาคภูมิ หากท่านตอบไม่ได้ หรือตอบแบบเดาสุ่ม ท่านก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะคำตอบนี้ไม่อยู่ในวิสัยของมนุษย์ เทวดา พรหม ที่ไม่ได้เรียนรู้คำสอนของพระพุทธองค์จะพึงตอบได้ แต่ท่านจะได้ฟังคำเฉลยจากพุทธพจน์ดังต่อไปนี้)



"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็น 👉คุณของกามทั้งหลาย?
ดูกรภิกษุทั้งหลายกามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ
๑. รูปที่พึงเห็นด้วยตา น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๒. เสียงที่พึงได้ยินด้วยหู น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๓. กลิ่นที่พึงรู้ด้วยจมูก น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๔. รสที่พึงรู้ด้วยลิ้น น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด 
๕. สัมผัสที่พึงรู้ด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการเหล่านี้แล ความสุข ความโสมนัสใดเล่า อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณของกามทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็น 👉โทษของกามทั้งหลาย? (ข้อนี้ใช้ร่วม ขยายคำตอบในวาทะของเทวดาที่กล่าวว่า คนมีบุตร ย่อมยินดีเพราะบุตรทั้งหลาย และ อุปธิเป็นความดีของคน )

ดูกรภิกษุทั้งกุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีวิตด้วยความขยันประกอบศิลปใด คือ ด้วยการนับคะแนนก็ดี ด้วยการคำนวณก็ดี ด้วยการนับจำนวนก็ดี ด้วยการไถก็ดี ด้วยการค้าขายก็ดี ด้วยการเลี้ยงโคก็ดี ด้วยการยิงธนูก็ดี ด้วยการเป็นราชบุรุษก็ดี ด้วยศิลปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ต้องตรากตรำต่อความหนาวต้องตรากตรำต่อความร้อน งุ่นง่านอยู่ด้วยสัมผัสแต่เหลืบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน ต้องตายด้วยความหิวระหาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น" (ตรงนี้แยกกันให้ชัดก่อนระหว่างคุณกับโทษ คุณของกามก็มี ซึ่งก็มีผลมาจากกุศลผลบุญ ทำให้พบเห็นสัมผัสได้ยิน ฯ สิ่งที่เจริญตาเจริญใจ ส่วนโทษของกาม คือทำให้ยังต้องเวียนว่ายในสังสารวัฎ เกิดมาแล้วก็ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพมีความเหน็ดเหนื่อย มีทุกข์มาก ทำไปก็ด้วยความปารถนาบำรุงบำเรอทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เมื่อตายไปก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยใหญ่ไม่สิ้นสุด)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยันทำมาหากินพยายามอยู่อย่างนี้ โภคะที่เป็นทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นก็ไม่สำเร็จผล เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่าความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราไม่มีผลหนอ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยันทำมาหากินพยายามอยู่อย่างนี้ โภคะที่เป็นทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นสำเร็จผลกับเขา เขาก็ยังต้องเสวยทุกข์โทมนัส ที่มีการคอยรักษาโภคะเหล่านั้นเป็นตัวบังคับว่า ทำอย่างไรพระราชาทั้งหลายไม่พึงริบโภคะเหล่านั้นไปได้ (สมัยนี้ก็เทียบได้กับการเสียภาษี) ทำอย่างไรจะไม่โดนปล้น ทรัพย์สินจะไม่วอดวายชิบหายเพราะไฟไหม้ น้ำท่วม ทายาทอัปรีย์จะไม่เอาไปผลาญจนหมด เมื่อกุลบุตรนั้นคอยรักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาทั้งหลายริบโภคะเหล่านั้นไปเสียก็ดี พวกโจรปล้นเอาไปเสียก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปเสียก็ดี ทายาทอัปรีย์นำไปเสียก็ดี เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่าสิ่งใดเคยเป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นโทษของกาม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล แม้พระราชาทั้งหลายก็วิวาทกันกับพวกพระราชา แม้พวกกษัตริย์ก็วิวาทกันกับพวกกษัตริย์ แม้พวกพราหมณ์ก็วิวาทกันกับพวกพราหมณ์ แม้คฤหบดีก็วิวาทกันกับพวกคฤหบดี แม้มารดาก็วิวาทกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกับมารดา แม้บิดาก็วิวาทกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกับบิดา แม้พี่ชายน้องชายก็วิวาทกันกับพี่ชายน้องชาย แม้พี่ชายก็วิวาทกับน้องสาว แม้น้องสาวก็วิวาทกับพี่ชาย แม้สหายก็วิวาทกับสหาย ชนเหล่านั้นต่างถึงการทะเลาะแก่งแย่ง วิวาทกันในที่นั้นๆ ทำร้ายซึ่งกันและกัน ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศาตราบ้าง ถึงความตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น" (แม้ปัจจุบันเราก็ยังเห็นตามข่าวอยู่ทั่วไป พี่ฆ่าน้อง น้องฆ่าพี่ ลูกฆ่าพ่อ ลูกฆ่าแม่ สามีฆ่าภรรยา ภรรยาฆ่าสามี ฆ่ากันก็เพราะกาม มีรสชาติของกามที่ได้รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นตัวผลักดันการกระทำต่างๆที่เป็นอกุศลกรรม)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างถือดาบและโล่ห์สอดแล่งธนู วิ่งเข้าสู่สงคราม ปะทะกันทั้ง ๒ ข้าง เมื่อลูกศรทั้งหลายถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกทั้งหลายถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบทั้งหลาย ถูกกวัดแกว่งอยู่บ้าง ฝูงชนเหล่านั้นต่างก็ถูกลูกศรแทงเอาบ้าง ถูกหอกแทงเอาบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะเสียบ้าง ในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนถือดาบและโล่ห์สอดแล่งธนู ตรูกันเข้าไปสู่เชิงกำแพงที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อน เมื่อลูกศรถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบถูกกวัดแกว่งบ้าง ชนเหล่านั้นต่างถูกลูกศรแทงบ้าง ถูกหอกแทงบ้าง ถูกรดด้วยโคมัยร้อนบ้าง ถูกสับด้วยคราดบ้าง ถูกตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนตัดที่ต่อบ้าง ปล้นอย่างกวาดล้างบ้าง กระทำการปล้น เรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นในหนทางบ้าง สมสู่ภรรยาคนอื่นบ้าง พระราชาทั้งหลาย จับคนนั้นๆ ได้แล้ว ให้กระทำกรรมกรณ์ต่างๆ เฆี่ยนด้วยแซ่บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ตีด้วยไม้ค้อนบ้าง ตัดมือเสียบ้าง ตัดเท้าเสียบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าเสียบ้าง ตัดหูเสียบ้าง ตัดจมูกเสียบ้าง ตัดทั้งหูทั้งจมูกเสียบ้าง กระทำกรรมกรณ์ ชื่อพิลังคถาลิก (วางก้อนเหล็กแดงบนศีรษะ) บ้าง ชื่อสังขมุณฑกะ (ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ขาวเหมือนสังข์) บ้าง ชื่อราหูมุข (เอาไฟยัดปาก) บ้าง ชื่อโชติมาลิก (ทำบ่วงไฟเป็นพวงมาลัยคล้องคอ) บ้าง ชื่อหัตถปัชโชติก (สุมไฟให้ลุกไหม้อยู่บนมือ) บ้าง ชื่อเอรกวัตติก (ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้าให้เดินลากเหยียบหนังตัวเอง) บ้าง ชื่อจีรกวาสิก (ถลกหนังตั้งแต่คอถึงบั้นเอว) บ้าง ชื่อเอเณยยกะ (สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่าแล้วเสียบหลาวทั้ง ๕ ทิศแล้วเอาไฟเผา) บ้าง ชื่อพลิสมังสิก (ใช้เบ็ดเกี่ยวหนัง เนื้อเอ็นออกมา) บ้าง ชื่อกหาปณกะ (เฉือนเนื้อออกเป็นแว่นๆ ขนาดเท่าเหรียญกษาปณ์) บ้าง ชื่อขาราปฏิจฉก (เฉือนหนัง เนื้อ เอ็น ออกเหลือไว้แต่กระดูก) บ้าง ชื่อปลิฆปริวัตติก (ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันแล้วหมุนหลาวไปเรื่อยๆ) บ้าง ชื่อปลาลปีฐก (ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออกเหลือไว้แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้) รดด้วยน้ำมันที่ร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินบ้าง เสียบที่หลาวทั้งเป็นบ้าง ใช้ดาบตัดศีรษะเสียบ้าง คนเหล่านั้นถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้ามีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น (ความโหดร้ายของมนุษย์นั้น แม้ในยุคปัจจุบันที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ข้าพเจ้าก็ยังเห็นความโหดร้ายของมนุษย์ที่กระทำต่อกันไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าในยุคอดีต และดูเหมือนจะมากขึ้นเสียด้วยเพียงแต่คนส่วนมากไม่ค่อยสนใจที่จะรับรู้มัน คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะรับแต่ความรู้สึกเพียงด้านเดียวที่ทำให้ตนเอง ครอบครัว คนรัก รู้สึกอบอุ่นสบายใจ เท่านั้นเอง แต่ในความเป็นจริงนั้น ความโหดเหี้ยมของมนุษย์ต่างก็ทวีคูณขึ้นตามกระแสของกาม ลองมองให้แยบคายแล้วมนัสสิการมันดูจะเห็นว่ายิ่งกามเฟื่องฟูจิตใจของมนุษย์ก็ยิ่งตกต่ำและทุกข์ก็ยิ่งถาถมความเป็นทุกข์ให้มากยิ่งขึ้นไปในทุกๆสังคม ทุกชนชั้น)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ชนเหล่านั้นครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ ในสัมปรายภพ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น"


"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นการ 👉ถ่ายถอนของกามทั้งหลาย?

ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกำจัดฉันทราคะ(ความพอใจที่ได้ส้องเสพ)ในกามทั้งหลาย การละฉันทราคะในกามทั้งหลายใด นี้เป็นการถ่ายถอนของกามทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่รู้ชัดคุณของกามทั้งหลาย โดยเป็นคุณ โทษของกามทั้งหลาย โดยความเป็นโทษ และการถ่ายถอนของกามทั้งหลาย โดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ ตามความเป็นจริง พวกนั้นน่ะหรือ จักรอบรู้กามทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักจูงผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้กามทั้งหลายได้ ข้อนี้ ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดคุณของกามทั้งหลาย โดยเป็นคุณ โทษของกามทั้งหลาย โดยความเป็นโทษและการถ่ายถอนกามทั้งหลาย โดยความเป็นการถ่ายถอน อย่างที่กล่าวนี้ ตามความเป็นจริง พวกนั้นแหละหนอ จักรอบรู้กามทั้งหลายด้วยตนเองได้ หรือจักชักจูงผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างที่ผู้ปฏิบัติแล้วจักรอบรู้กามทั้งหลายได้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้"



จบในส่วนของวิสัชนาเรื่องกาม ใช้ตอบคำถามใน ๒ ส่วน
๑. ใช้ตอบคำถามเทวดา ที่ปุจฉามาว่า "มนุษย์เพียงดังเปรต มนุษย์เพียงดังสัตว์นรก ไม่มีอาหาร ไม่มีเสื้อผ้าอาภร ไม่มีคนรับใช้ ไม่มีวิหารที่อยู่ เห็นปานนี้ จักมีความยินดีอย่างไร" ในส่วนของคุณมันก็มีแต่มีน้อย ในส่วนของโทษมันมีมาก อาหาร เสื้อผ้า วิหารฯ ก็ต้องเหน็ดเหนื่อยหามา อีกทั้งยังต้องเหนื่อยในการบำรุงรักษา ระหว่างทางที่เสาะหาก็มีทั้งกระทำดี กระทำชั่ว ฝ่ายดีเมื่อมีโภคะตามปารถนาแล้วก็ถูกจี้ปล้นแย่งชิงได้ ทิ้งเป็นมรดกก็ถูกลูกหลานเผาผลาณได้ ก็ยังความโศกเศร้าโทมนัสให้เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น หากโภคะนั้นหาได้มาด้วยการกระทำที่ไม่ดีก็มีโทษโดนจองจำ โดนฆ่า ทุบตี ทรมารต่างๆนาๆ มีชีวิตอยู่คลุกเคล้ากับกามสุขจนถึงวันตาย เมื่อจากภพนี้แล้วปฎิสนธิจิตก็นำสู่อบายภพแล้วก็เวียนตายเวียนเกิด จนกว่าจะกลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้งถ้ายังไม่มีดำริที่คิดจะถ่ายถอนออกจากกาม ไม่สำรวม ไม่สังวร ไม่กำจัดฉันทราคะที่เกิดแล้วให้น้อยลง จะยังพอใจกับการส้องเสพในกามเหมือนเทวดาที่ยกย่องการบำรุงบำเรอของนางอัปสรในสวนนันทวันว่าเลิศเรอ เมื่อเสวยสุขจนหมดบุญก็ต้องกลับมาเวียนเกิดในสังสารวัฎ หากระลึกขึ้นได้ก็จะไม่ต่างจากกุลบุตรที่ตรากตรำทำงานเพื่อหาโภคะ พอวันหนึ่งเมื่อโภคะนั้นหายไปก็เศร้าโศกเสียใจว่าสิ่งที่เราเคยได้ สิ่งที่เราเคยมี บัดนี้ไม่มีอีกต่อไปแล้วหนอ เทวดาหากละรึกได้ก็คงเศร้าเสียดายไม่ต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้วเทวดาเมื่อหมดบุญจากสวรรค์มักไปเกิดในนรกต่อเป็นส่วนมาก มีทุกขเวทนามากจนระลึกอะไรนอกจากความทุกข์ไปไม่ได้

๒. ใช้ตอบปริพาชกอัญญเดียรถีย์ โดยใช้ปฏิปุจฉาย้อนคำถามนั้นกลับไปก่อน ในเมื่อปริพาชกบอกสำนักเขาก็สอนเรื่องกามแลัวจะไปต่างอะไรกันกับที่พระพุทธเจ้าสอน เราก็ถามกลับว่าแล้วท่านรู้จักกามดีถ่องแท้หรือยัง กามมีข้อดีอะไร มีข้อเสียอะไร และอะไรเป็นวิธีออกจากกาม? นี่ถามปฎิปุจฉากลับไปแบบนี้ พระพุทธองค์ก็ทรงรับรองแล้วว่าไม่มีทางตอบได้ ไม่ว่ามนุษย์ เทวดา พรหม หากไม่มีสุตตะมยปัญญาที่มาจากการศึกษาคำสอนของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ไม่มีทางตอบคำถามนี้ได้ เพราะคำถามนี้ถ้าจะตอบกันให้ถูกก็ต้องเข้าใจในอริยสัจ ๔ เสียก่อน และต้องเข้าใจในปฎิจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์และฝ่ายดับที่เป็นตัวสมุทัยในอริยสัจอีกชั้นนึง และต้องเข้าถึงนิโรธะสัจจะ สัมผัสกระแสพระนิพพานแม้ชั่วขณะหนึ่งจึงจะเกิดการรู้แจ้งตามองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นตทังคะ,วิกขัมภนะ,สมุจเฉท,ปฏิปัสสัทธิ,นิสสรณะ
 คือในสภาวะของนิโรธนั้นจิตจะคายออกซึ่งตัณหาทั้งหมด ผู้ที่ได้สัมผัสสภาวะนั้นแล้วจะรู้และเข้าใจถึงการพ้นออกจากกาม การที่ไม่ข้องเกี่ยวกับกามอย่างแท้จริง แม้ได้นิพพานเพียงชั่วขณะหนึ่งก็ถือว่าในขณะนั้นมรรคสมบูรณ์จนปัญญาญาณเกิดขึ้นมาได้ ทำให้เข้าใจรู้แจ้งในอริยสัจตามพระพุทธองค์อย่างถ่องแท้ นี่ต้องเห็นต้องเข้าใจกันขนาดนี้ พระพุทธองค์ถึงรับรองถ้าไม่ใช่ตถาคต หรือสาวกของพระพุทธองค์ จะไม่มีทางแทงตลอดตอบคำถามนี้ได้อย่างถูกต้องแน่นอน เมื่อเขาตอบไม่ได้เราจึงค่อยสาธยายแก้ปัญหา บอกถึงคุณ, โทษและการถ่ายถอนออกจากกามให้เขาฟัง 


อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅 ว่าด้วยกาม
อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅 
ว่าด้วยรูป
อ่านต่อ ตอบปัญหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์ 🔅ว่าด้วยเวทนา

วันศุกร์

อธิบาย เนื้อความพาหุงมหากา ๓


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๖ สัจจกนิครนถ์

เรื่องมีอยู่ว่า สัจจกนิครนถ์ผู้นี้ได้เล่าเรียนปริศนาต่างๆในสำนักของบิดามารดาถึง ๕๐๐ ข้อ แล้วก็ออกเที่ยวสั่งสนทนากับผู้ใดก็ไม่มีใครที่จะตอบต้านทานวาทะปฏิภาณโวหารของสัจจกนิครนถ์ได้ กิตติศัพท์นี้ก็เล่าลือไปในทิศานุทิศ มหาชนนับถือพากันมาเป็นศิษย์มากมาย (ในสมัยนั้น เค้าว่ากันด้วยวาทะด้วยเหตุด้วยผล ใครมีวาทะที่ไม่มีใครแก้ต่างได้เขาก็ถือว่าชนะ เป็นปราชญ์ เป็นผู้มีปัญญามาก)

ฝ่ายสัจจกนิครนถ์นั้นก็สำคัญใจเป็นแน่ว่า ตนนั้นเป็นผู้มีปัญญาวิชาความรู้เลอเลิศกว่าคนทั้งหลาย และภายในท้องของตนนั้น เต็มไปด้วยปัญญาวิชาความรู้ทั้งนั้น คิดกลัวว่าสักวันหนึ่งท้องของตนจะต้องแตกจะทลายไปเพราะความรู้แน่นเหลือเกินจึงทำโครงเหล็กรัดท้องเอาไว้ วันหนึ่ง สัจจกนิครนถ์ได้ยินคำสรรเสริญว่าพระพุทธเจ้าเป็นเอกอัครบุคคลในโลก ทรงพระปัญญารู้เหตุในอดีต อนาคต ปัจจุบัน ไม่มีผู้ที่จะเทียบเคียงให้เป็นสองได้ บัดนี้พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง ใกล้เมืองไพศาลีพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเป็นอันมาก เมื่อสัจจกนิครนถ์ทราบความดังนั้น ก็พองขนด้วยความผยอง อยากปรามาส ตั้งใจจะถามข้อปริศนาอันลึกลับ ให้พระพุทธเจ้าแพ้แก่ตนให้จงได้ จึงพาศิษย์เป็นอันมากมายังเมืองไพศาลี แล้วเชิญพวกเจ้าลิจฉวีทั้ง ๕๐๐ องค์ให้เสด็จมาสู่สำนักพระพุทธเจ้าด้วย เพื่อจะได้เห็นจริงว่าข้างไหนจะแพ้และชนะ

คราวนั้น เป็นมหาสมาคมใหญ่ บรรดาชาวเมืองไพศาลีก็พากันมาประชุมพร้อมกันเป็นสองพวก คือสัมมาทิฏฐิพวกหนึ่งที่คอยเอาใจช่วยพระพุทธเจ้า อยากจะให้พระพุทธเจ้าชนะ พวกมิจฉาทิฏฐิอีกพวกหนึ่งที่คอยเอาใจช่วยสัจจกนิครนถ์ อยากจะให้สัจจกนิครนถชนะ หากเมื่อสัจจกนิครนถ์ชนะจะได้ยกวาทะของตนขึ้นให้สูงประหนึ่งว่าธงชัย ว่าแล้วก็ถามข้อปริศนาอันลึกลับด้วยประการใด ๆ พระพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์แก้ได้ทุก ๆ ข้อด้วยพระปัญญาอันรุ่งเรืองดังประทีป สัจจกนิครนถ์ถึงความปราชัยพ่ายแพ้พระบารมีญาณของพระองค์แล้วจึงมอบตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา


ตัวอย่างข้อวาทะ

สัจจกนิครนถ์ : ท่านพระโคดม ท่านสอนใครต่อใครว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่ข้าพเจ้าจะกล่าวอย่างนี้ว่า รูปก็คือตัวตนเรา เวทนาก็คือความรู้สึกของเรา สัญญาก็คือความจำได้หมายรู้ของเรา สังขารก็คือความปรุงแต่งต่างๆของเรา วิญญาณก็คือจิตวิญญาณของเรา ขันธ์ทั้ง ๕ อย่างนี้ล้วนเป็นอัตตาตัวตนของเราทั้งสิ้น ท่านจะกล่าวว่าขันธ์เหล่านี้ไม่ใช่ของเราได้อย่างไร?  

พระพุทธองค์ทรงซักถามสัจจกนิครนถ์ด้วยอุปมา

พระพุทธเจ้า : ดูกรอัคคิเวสสนะ (ชื่อตระกูล ของสัจจกะ) ถ้าอย่างนั้น เราจักสอบถามท่านในข้อนี้แหละ ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านพึงแก้ไขอย่างนั้น ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน อำนาจของพระราชามหากษัตริย์ เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศล หรือพระเจ้าอชาตศัตรู มีอำนาจสังประหารใครก็ได้ในดินแดนตน สั่งริบทรัพย์ หรือสั่งเนรเทศใครๆก็ได้ ในเขตแดนอาณาจักรของตน ถูกต้องไหม?
สัจจกนิครนถ์ : ท่านพระโคดม ในพระราชอาณาเขตอำนาจเช่นนั้นของพระราชามหากษัตริย์ ผู้ได้มุรธาภิเษกแล้วนั้นควรจะเป็นเช่นนั้น คือสั่งประหารใครก็ได้ ริบทรัพย์ใครก็ได้ เณรเทศใคก็ได้ ใครๆก็ไม่พ้นราชอำนาจของราชาในอาณาเขตตน

พระพุทธเจ้า : ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตัวตนของเรา  อำนาจของท่านย่อมอยู่เหนือรูป เช่นเดียวกับราชามีอำนาจเหนืออาณาเขต ดังเช่นนั้น ท่านจึงสั่งรูปของท่านจงเป็นไปอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นไปอย่างนี้เลย (จงไม่แก่ จงไม่เจ็บ จงไม่ตาย บังคับบัญชารูป) สั่งดังนี้ได้หรือ?

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ก็นิ่งเสีย ถามครั้งที่สอง ก็นิ่ง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับสัจจกนิครนถ์ว่า ดูกรอัคคิเวสสนะ กาลบัดนี้ ท่านจงตอบคำถาม ไม่ใช่กาลที่ท่านควรนิ่ง ดูกรอัคคิเวสสนะ ผู้ใด อันตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง แล้วมิได้ตอบสัจจะธรรมนั้น ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงในที่เช่นนั้น

สมัยนั้น ท้าววชิรปาณีสักกเทวราช (มีเพียงพระผู้มีพระภาคกับสัจจกนิครนถ์เท่านั้นเห็นอยู่) ถือกระบองเพชรลุกเป็นไฟรุ่งเรืองลอยอยู่ในเวหา ณ เบื้องบนศีรษะสัจจกนิครนถ์ ประกาศว่า ถ้าสัจจกนิครนถ์นี้ อันพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง มิได้แก้ปัญหา เราจักผ่าศีรษะสัจจกนิครนถ์นั้นเจ็ดเสี่ยงในที่นี้แหละ ในทันใดนั้น สัจจกนิครนถ์ ตกใจกลัวจนขนชัน ได้ทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ขอจงทรงถามมาอีกครั้งเถิด ข้าพเจ้าจักแก้ ณ บัดนี้

พระพุทธเจ้า : ดูกรอัคคิเวสสนะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่ท่านกล่าวว่า รูปเป็นตัวตนของเรา  อำนาจของท่านย่อมอยู่เหนือรูป เช่นเดียวกับราชามีอำนาจเหนืออาณาเขต ดังเช่นนั้น ท่านจึงสั่งรูปของท่านจงเป็นไปอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นไปอย่างนี้เลย (จงไม่แก่ จงไม่เจ็บ จงไม่ตาย) สั่งดังนี้ได้หรือ?สัจจกนิครนถ์ : ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๗ นันโทปนันทนาคราช

เรื่องมีว่า นันโทปนันทนาคราช เป็นสัตว์จำพวกพญานาคอาศัยอยู่ในเทวภูมิ จริงๆสัตว์ในภพภูมินี้ก็ล้วนต่างอุบัติมาด้วยผลของบุญกุศลด้วยกันทั้งนั้น แต่ในเรื่องของทิฎฐินี้ ถ้าไม่เคยได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆมาเลย ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยะบุคคลแม้ในชั้นโสดาบันก็จะยังมีโมหะคือความหลงผิดอยู่ด้วยตัวของนันโทปนันทะเองก็ยังเป็นผู้ที่หลงผิดอยู่คือยังมีมิจฉาทิฎฐิพร้อมด้วยฤทธานุภาพจากกุศลเก่าที่ีเคยสั่งสมไว้ก็มีมากมาย

ในเช้าวันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นอุปนิสัยของนันโทปนันทนาคราช ซึ่งกำลังจะเสื่อมคลายจากมิจฉาทิฎฐิและจะกลับมีจิตใจเลื่อมใสในพระรัตนตรัย พระพุทธองค์ก็ทรงมีอุบายวิธี จึงเสด็จพร้อมด้วยเหล่าพระภิกษุสงฆ์ผู้ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น เสด็จไปสู่เทวโลกโดยอากาศ นันโทปนันทนาคราชเห็นพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์เหาะมาแต่ไกล สำคัญว่าจะเหาะข้ามศีรษะตนไปก็นึกโกรธ จึงนิรมิตอัตภาพตนเองให้ใหญ่โตพันเขาสุเมรุไว้ ๗ รอบ แล้วยกพังพานปกคลุมเขาพระสุเมรุและดาวดึงส์ไว้ แล้วบันดาลให้เป็นควันมืดครึ้มไปหมด

พระรัฐปาละเห็นอาการดังนั้น จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "แต่ก่อนเมื่อมาถึงที่นี้ เคยได้มองเห็นเขาพระสุเมรุและสุทัศนนครกับเวชยันตปราสาท มาบัดนี้ทำไมจึงมองไม่เห็น เป็นด้วยเหตุใด"
พระองค์ตรัสว่า "เป็นด้วยฤทธิ์ของนันโทปนันทนาคราช" พระเถระหลายองค์กราบทูลขอรับอาสาไปทรมานนันโทปนันทนาคราช แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต แต่ทรงให้พระโมคคัลลานะไปทรมาน (การทรมานคือการปราบพยศของกิเลสด้วยวิธีของพระพุทธองค์ ซึ่งจะใช้วิธีแตกต่างกันไปตามจริตของผู้ที่ต้องถูกทรมาน) ในที่นี้ให้พระโมคคัลลานะนิรมิตกายเป็นนาคราช ใหญ่กว่านันโทปนันทนาคราชสองเท่า แล้วไปตวัดรัดนันโทปนันทนาคราชเข้าไว้กับเขาพระสุเมรุ โดยแน่นหนาถึง ๑๕ รอบ นาคราช พ่นพิษให้เป็นควันและเปลวไฟ ท่านก็พ่นควันพ่นเปลวไฟบ้าง พิษและเปลวไฟของพญานาคราชไม่มีอานุภาพพอที่จะทำให้พระอรหันต์อย่างพระโมคคัลลานะรู้สึกแสบร้อนแต่อย่างใด มีแต่ตัวของพญานาคราชเองที่ร้อนจนทนไม่ไหว จึงขอให้ท่านโมคคัลลานะจำแลงเป็นพญานาคเลย ท่านก็คืนอัตภาพเป็นพระเถระดังเก่า แล้วก็แสดงฤทธิ์เหาะเข้าช่องจมูกของฉันโทปนันทนาคราช เข้าไปเบื้องขวาก็ออกเบื้องซ้าย เข้าเบื้องซ้ายก็ออกเบื้องขวา นาคราชก็ยิงโมโห คิดว่าถ้าท่านเหาะเข้าไปในปากเมื่อไหร่จะเคี้ยวเสียให้ละเอียด ท่านโมคคัลลานะท่านก็รู้ใจพญานาค จึงเหาะเข้าทางปาก เข้าไปเดินจงกรมอยู่ในท้องแล้วเดินกลับออกมายืนอยู่ข้างนอก นาคราชอ้าปากคอยจะบดเคี้ยวแต่ก็ไม่ทัน ครั้นตัวเองที่เคยมีทิฎฐิคิดว่าตนยิ่งใหญ่มีฤทธิ์มากก็เริ่มคลายทิฎฐิตน เพราะทำอย่างไรก็เห็นท่าจะสู้ฤทธิ์ท่านโมคัลลานะไม่ไหว จึงเริ่มหนี ท่านโมคคัลลานะก็จำแลงเป็นครุฑใหญ่บินไปตามจับ นาคราชแพ้ฤทธิ์ท่านโมคคัลลานะ จึงได้สำรอกทิฎฐิมานะของตนออกแล้วจำแลงเป็นมานพเข้าไปกราบนมัสการขอขมาท่านโมคคัลลานะ แต่ท่านโมคัลลานะท่านว่าท่านรับคำขอขมานี้ไม่ได้ จึงพาไปเฝ้าทูลต่อพระพุทธเจ้า แล้วพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง พญานาคาราชเมื่อคลายพยศลง และได้รับฟังพระสัทธรรมจากองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็บังเกิดมีความเลื่อมใสขอเข้าถึงซึ่งพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๘ พกาพรหมผู้มีฤทธิ์ 

เรื่องมีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ในป่าสุภวันใต้ร่มไม้รังใหญ่ต้นหนึ่ง ทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยของท้าวพกาพรหมว่ากำลังมีทิฎฐิที่หลงผิด พระพุทธองค์จึงเสด็จโปรดพกาพรหมด้วยการทรมานทิฎฐิที่หลงผิดนั้นลง พกาพรหมผู้นี้มีชีวิตอยู่ในพรหมโลกชั้นต่าง ๆ มานานนัก โดยจุติจากพรหมโลกชั้นหนึ่งแล้วก็อุบัติขึ้นในพรหมโลกอีกชั้นหนึ่ง 👉ย้อนดูลำดับชั้นของพรหม ในครั้งเริ่มแรกที่มาอุบัติในพรหมโลกนั้นยังไม่มีพรหมองค์อื่นๆ มาอุบัติในชั้นนี้ ครั้นพออยู่เป็นพรหมองค์เดียวนานหนักหนาก็อยากได้เพื่อน เมื่อคิดดังนั้นก็บังเอิญมีพรหมอุบัติขึ้นใหม่ มีขึ้นมาเรื่อยๆ (พวกที่มาเกิดด้วยกำลังของณาน) พรหมที่มาทีหลังก็เห็นว่ามีพกามหาพรหมผู้นี้อยู่ก่อนจึงเข้าใจว่าเป็นผู้สร้างผู้เนรมิตให้ตนเกิดขึ้นมาจึงนับถือว่าเป็นพรหมบิดา ท้าวพกาพรหมก็เข้าใจว่า เพราะตนนั่นแหล่ะเป็นผู้เนรมิตบันดาลให้พรหมอื่นๆเกิดขึ้น (คือไปประจวบกับตอนนั้นนึกอยากมีพรหมองค์อื่นบ้าง อยากมีเพื่อนน่ะ) มันเป็นเหตุการณ์ต่อกันแบบนี้ก็เลยหลงผิดว่าตนนั่นแหล่ะเป็นพรหมผู้สร้างผู้ยิ่งใหญ่กว่าใครๆ

ในพรหมชั้นนี้ก็มีมารสันดานหยาบ คิดหวังประจบสอพลอท้าวพกาพรหมจึงกล่าวคำสอพลอว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ ธรรมดาว่าท้าวมหาพรหมเช่นพระองค์นี้ย่อมเป็นผู้ทรงคุณความดีประเสริฐเลิศยิ่งนัก เป็นที่เคารพสักการะแห่งปวงชนชาวโลกทั่วไป เป็นผู้มีศักดานุภาพยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างสัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ให้เกิดขึ้นในโลก ตั้งต้นแต่มนุษย์หญิงชายตลอดไปจนถึงสัตว์เดรัจฉานอื่นๆอีกเป็นอันมาก นอกจากนั้นตามความเข้าใจของชาวโลกทั้งหลายนั้น พระองค์ย่อมเป็นพระผู้สร้างสรรค์ สร้างทั้งภูมิประเทศ ภูเขา ต้นไม้ รวมทั้งมหาสมุทรทะเลใหญ่อีกมากมายไว้ในมนุษยโลก ท่านท้าวมหาพรหมท่านช่างเป็นผู้มีอานุภาพ มีตบะเดชะยิ่งใหญ่นัก มีมเหศักดิ์ทรงอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวงพระเจ้าข้า"

แม้ท้าวพกาพรหมเองจะทราบว่าไม่เป็นความจริง เป็นสิ่งหาสาระมิได้ แต่มารสันดานหบาบก็กล่าวสรรเสริญเยินยอแบบนี้ทุกวี่ทุกวัน แม้ตัวพกาพรหมเองจะรู้ว่าไม่จริงแต่ก็ชอบที่จะฟังคำยกย่องสรรเสริญ และแล้วในที่สุด ทิฐิชนิดหนึ่งก็อุบัติขึ้นกลางดวงใจของพกาพรหม ทำให้ท่านมหาพรหมจินตนาการไปตามประสาผู้ที่มีกิเลสว่า "เรานี้ไม่แก่ไม่ตาย เป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่าใครที่ไหนทั้งปวง เราเป็นผู้ล่วงพ้นจากบ่วงมัจจุราชแล้ว อนึ่งเล่า พระโคดมเจ้าในมนุษยโลกกล่าวคุณพระนิพพานว่าเป็นแดนอมตะ จะเป็นจริงไปได้อย่างไร ภพที่เราอยู่นี้ต่างหากเป็นแดนอมตะ เพราะมิรู้แก่ มิรู้ตาย พระนิพพานของพระโคดมเจ้านั้นจึงเป็นสิ่งที่กล่าวกันเล่น หาสาระความจริงอันใดมิได้เลย "

เมื่อพกาพรหมมีทิฎฐิไปแบบนี้แล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงทราบทิฎฐิของพกาพรหมเช่นเดียวกัน ทรงเห็นว่ามหาพรหมมีความเข้าใจผิดคิดว่าพระนิพพานเป็นธรรมไม่มีจริง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ดังนั้น จึงทรงลุกขึ้นจากต้นรังใหญ่อันมีใบหนาทึบในเวลานั้น แล้วเสด็จไปยังพรหมโลกโดยพลัน ชั่วระยะเพียงเทียบเท่ากับบุรุษเหยียดแขนออกแล้วงอกลับเท่านั้นเองก็เสด็จไปถึงพรหมโลกแล้ว เมื่อท้าวมหาพรหมเห็นพระพุทธองค์มาปรากฏอยู่ตรงหน้าแล้วก็เอกปากกล่าวปราศรัยกันโดยธรรมดาว่า " ดูกร ท่านผู้นฤทุกข์ ท่านมาที่นี่ก็ดีแล้ว จะได้ปราศรัยกัน คือข้าพเจ้ามีความเห็นอยู่อย่างหนึ่งว่า บรรดาสรรพสิ่งทั้งปวงล้วนแต่เป็นของเที่ยงแท้ไม่รู้จักแก่ไม่รู้จักตาย ดูแต่พรหมสถานที่ข้าพเจ้าอยู่นี่เป็นไรพรหมสถานนี้เที่ยงแท้ ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดาพรหมสถานที่นี่แลเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็เหตุที่ออกไปจากทุกข์อย่างประเสริฐ นอกจากสถานที่นี้แล้วไม่มีเลย นี่แหละคือความเห็นของข้าพเจ้า ท่านจะว่าอย่างไรเล่าพระสมณะ"

พระพุทธองค์ก็ตรัสเตือนสติท้าวมหาพรหมขึ้นว่า " ดูกร มหาพรหม ความคิดของท่านนี้น่าเห็นใจนัก บัดนี้ตัวท่านเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นผู้มีความเห็นวิปริตผิดคลาดเคลื่อนไปเสียแล้ว เพราะถูกอวิชชาคือกิเลสได้เข้าห่อหุ้มดวงจิต จึงเห็นผิดจากธรรมไปเช่นนี้ "

พญามารใจหยาบที่นั่งอยู่ด้วยจึงกล่าวแทรกขึ้นกลางคันว่า " ดูกร ภิกษุ ขอท่านอย่าได้กล่าวรุกรานท่านท้าวมหาพรหมผู้นี้เลยข้าพเจ้าขอบอกว่าท่านอย่าได้รุกรานท่านท้าวพกาพรหมผู้นี้เป็นอันขาดเพราะเหตุใดฤา ก็เพราะว่าท่านท้าวพกาพรหมผู้นี้เป็นมหาพรหมเป็นใหญ่ปกครองคณะพรหม ซึ่งคณะพรหมทั้งหลายไม่อาจฝ่าฝืนอำนาจได้ ท่านเป็นผู้ดูแลทั่วไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปในอำนาจ เป็นอิสระเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้แต่งสัตว์ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นบิดาของเหล่าสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด ดูกร ภิกษุ ขอท่านจงทำตามถ้อยคำที่ท่านท้าวพกามหาพรหมจะสั่งสอนท่านเท่านั้น ขอท่านจงอย่าฝ่าฝืนถ้อยคำท่านท้าวพกามหาพรหมเลย ท่านมิเห็นดอกหรือ บรรดาพรหมบริษัทที่ประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้มากมายก็ล้วนแต่มีใจเคารพนับถือเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่านท้าวมหาพรหมผู้นี้ ความจริงเป็นเช่นที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้ทั้งสิ้น ท่านจงอย่าได้ดูหมิ่นรุกรานท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นมเหศักดิ์ จงเชื่อข้าพเจ้าเถิด "

ท้าวพกามหาพรหมได้สดับการสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพญามารจึงได้ออกปากกล่าววาทะว่า " ดูกร สมณะผู้นิรทุกข์ โลกที่ข้าพเจ้าอยู่นี้ มีแต่ความสุขความเบิกบาน หาความทุกข์ ๔ ประการ คือชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ และมรณะทุกข์มิได้เลย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วพรหมสถานของข้าพเจ้านี้จักไม่เป็นสถานที่เที่ยงแท้ได้อย่างไรกันเล่า "

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาว่า " ดูกรมหาพรหม ท่านจงมนสิการฟังเราให้จงดี เราตถาคตนี้ก็รู้ว่าตัวท่านมีเดชานุภาพเป็นอันมาก แม้แต่พระอาทิตย์ พระจันทร์ ซึ่งมีรัศมีรุ่งเรืองแก่กล้าก็หาได้ส่องสว่างไปทั่วหมื่นโลกธาตุเหมือนรัศมีแห่งท่านไม่ เราตถาคตก็รู้แจ้งอีกว่าตัวท่านนี้เป็นผู้มีอัคคีไฟคือกองกิเลสคอยเผาผลาญอยู่ในสันดาน อย่างนี้แล้วจักกล่าวว่ามีความสุขสำราญได้อย่างไร เราตถาคตยังรู้อีกว่า ตัวท่านนี้หาได้รู้จักที่อยู่แห่งพรหมชั้นสูงเช่น อาภัสราพรหม สุภกิณหาพรหม เวหัปผลาพรหมก็หาไม่ แลสัตว์ทั้งหลายจักไปอุบัติเกิดในพรหมโลกชั้นนั้นๆได้อย่างไร ตัวท่านนี้ก็มิได้รู้ "

ท้าวพกามหาพรหมจึงกล่าวอย่างอวดอ้างศักดานุภาพขึ้นว่า " ดูกรท่านกล่าวกับข้าพเจ้านี้เป็นทำนองว่า มีท่านผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้รู้จักพรหมโลกชั้นสูง รู้จักกรรมวิบากแห่งสัตว์ทั้งปวง ข้าพเจ้ายังมิเชื่อก่อน แต่ตัวข้าพเจ้านี้สิ เป็นผู้มีศักดานุภาพยิ่งกว่าใครๆในโลกทั้งปวงยังมิทราบเลย "

สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาขึ้นว่า " ดูกรท้าวมหาพรหม ตัวท่านมากล่าวอวดอ้างกับเราว่า ท่านเป็นผู้มีฤทธาศักดานุภาพ หาผู้ใดจะเสมอมิได้ ถ้าเช่นนั้นขอท่านจงแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เราดูเดี๋ยวนี้เถิด ท่านจงแสดงตนให้อันตรธานหายไปจงอย่าให้เราเห็นท่านได้ในกาลบัดนี้เถิด "

ท้าวพกามหาพรหมได้ยินพุทธฎีกาดังนั้นก็กระทำฤทธานุภาพกำบังตนให้หายออกไปจากที่นั้นแอบซ่อนตัวในที่ต่างๆ ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าก็แสดงปาฏิหารย์ฤทธิ์บันดาลให้ท้าวพกามหาพรหมมิอาจซ่อนตัวจากสายพระเนตรของพระองค์ได้และยังบันดาลฤทธิ์ให้พรหมอื่นๆที่นั่งประชุมอยู่ที่นั้นได้เห็นร่างของพกาพรหมด้วย โดยพระองค์บันดาลให้พระสุรเสียงของพระองค์ดังอยู่ข้างหูของท้าวพกามหาพรหมว่า " แน่ะ ดูกร พรหมบริษัททั้งหลายขณะนี้พกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ ณ เม็ดทรายใต้ท้องมหาสมุทร ท้าวพกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ ณ ใต้ภูเขา ขณะนี้ท้าวพกามหาพรหมช่อนตัวอยู่ ณ นอกขอบจักรวาล " ไม่ว่าท้าวพกามหาพรหมจะซ่อนตัวอยู่ ณ ที่ใดๆก็ไม่อาจหลุดพ้นจากสายพระเนตรของพระพุทธเจ้าได้หนักเข้าก็จนปัญญาหนีเข้าไปซ่อนตัวนั่งกอดเข่าเจ่าจุกในวิมานแห่งตน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสแก่บรรดาพรหมทั้งหลายว่า " ดูกร ขณะนี้พกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ในวิมานแห่งตน " ท้าวพกามหาพรหมได้ยินดังนั้นก็ยิ่งอับอายมองออกมานอกวิมานก็เห็นบรรดาพรหมทั้งหลายมีรอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าประหนึ่งว่าจะเยาะเย้ยตน จึงข่มความอับอายก้าวออกจากปราสาทวิมานแห่งตน ตรงมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ แล้วกล่าวว่า " ดูกร พระสมณะท่าน ข้าพเจ้าพยายามที่จะทำตนให้หายไปจากสายตาของท่านแต่มิอาจกระทำได้ ท่านจงแสดงฤทธิ์ของท่านบ้างเถิด ณ กาลบัดนี้ "

สมเด็จพระชินสีห์เจ้าจึงมีพุทธฎีกาว่า " ดูกร มหาพรหม ขอท่านจงทัศนาให้ดีบัดนี้เราจักหายไปจากท่าน " ลำดับนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จึงทรงกระทำพระฤทธิ์บันดาลอิทธาภิสังขารให้พระวรกายอันตรธานหายไป จะได้ปรากฏแก่ทิพยจักษุของท้าวมหาพรหมองค์ใดองค์หนึ่งก็หามิได้ บรรดาพรหมทั้งหมดรวมทั้งพกามหาพรหมได้ยินแต่พระสุรเสียงตรัสเทศนาอยู่ว่า " เราเห็นภัยในภพ และเห็นภพของสัตว์ผู้แสวงหาที่ปราศจากภพแล้ว ไม่กล่าวยกย่องภพอะไรเลย ทั้งไม่ยังความเพลิดเพลินให้เกิดขึ้นด้วย "

ท้าวพกามหาพรหมเพียรพยายามสอดส่องทิพยจักษุแห่งตนเพื่อค้นหาพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดทั้งสามภพจบจักรวาลก็มิสามารถหาพบจึงนิ่งอยู่ แล้วเอ่ยวาจาว่า " ดูกร มหาสมณะข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามิสามารถหาท่านได้พบได้ยินแต่สุรเสียงแห่งท่าน ขณะนี้ท่านอยู่ ณ สถานที่ใด " พระพุทธเจ้าจึงมีพุทธดำรัสว่า " แน่ะ พกามหาพรหม ขณะนี้เราเดินจงกรมอยู่ที่บนเศียรของท่าน " เมื่อมีพุทธานุญาตพรหมทั้งปวงจึงมองเห็นพระวรกายของพระองค์ ท้าวพกามหาพรหมจึงทูลอาราธนาให้เส็ดจลงจากเศียรของตน ( บางตำรากล่าวว่าพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จลง ท้าวพกาพรหมจึงให้บรรเลงเพลงเชิญเสด็จ )

เมื่อเห็นดังนั้นพระพุทธองค์จึงเสด็จลงประทับท่ามกลางหมู่พรหมเมื่อทรงจะทรมานท้าวพกามหาพรหมให้ละจากมานะทิฐิ จึงทรงมีพุทธดำรัสว่า " ดูกร มหาพรหมท่านนี้เป็นผู้มืดมนด้วยอวิชชาหาปัญญามิได้ รู้ตัวฤาไม่ว่าตัวท่านนี้มาแต่ไหนจึงได้มาบังเกิดในพรหมโลกนี้ "

ท้าวพกามหาพรหมจึงทูลตอบว่า " ข้าแต่พระสมณะ อันจุติแลปฏิสนธิของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ามิได้แจ้ง พระสมณะรู้และเข้าใจก็ขออาราธนาได้วิสัชนาไป ณ กาลบัดนี้เถิด " ท้าวพกามหาพรหมยอมสารภาพแต่โดยดี

สมเด็จพระชินสีห์เจ้าจึงตรัสเล่าประวัติแห่งท้าวพกามหาพรหมท่ามกลางพรหมสันนิบาตนั้นว่า " ครั้งหนึ่งโลกยังว่างจากพระบวรพุทธศาสนา ท้าวพกามหาพรหมผู้นี้เกิดเป็นมนุษย์คฤหบดีผู้มีทรัพย์ แต่กลับเห็นโทษแห่งฆราวาสวิสัยการครองเรือนนี้มีแต่โทษทุกข์ระกำใจ ไหนจะต้องตาย ไหนจะต้องเจ็บ ไหนจะต้องแก่ จึงตัดใจแน่วแน่ออกบวชเป็นดาบสประพฤติพรตบำเพ็ญตบะ จนได้สำเร็จ จตุตถฌาน เมื่อทำกาลกิริยาตายลงจึงไปอุบัติบังเกิดเป็นพรหมชั้นสูงใน เวหัปผลาพรหม เมื่อสิ้นอายุขัยฌานแห่งตนถอยหลังลงมาอยู่ที่ตติยฌาน จึงต้องจุติจากเวหัปผลาพรหมลงมาอุบัติเกิดเป็นพรหมในชั้น สุภกิณหาพรหม เสวยสุขอยู่จนสิ้นอายุขัยกำลังฌานถอยหลังลงมาอยู่ที่ทุติยฌาน ฉะนั้นจึงต้องจุติในสุภกิณหาพรหม แล้วมาอุบัติบังเกิดเป็นพรหมในชั้น อาภัสราพรหม เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วกำลังฌานถอยหลังลงมาที่ปฐมฌาน จึงต้องมาบังเกิดเป็นพรหม อยู่ในชั้น มหาพรหม ในกาลบัดนี้ เพราะเหตุที่ตนท่องเที่ยวเวียนว่ายเสวยสุขอยู่ในพรหมโลกชั้นต่างๆเป็นเวลานานหนักหนา หนักเข้าเลยทำให้เข้าใจไปว่าพรหมสถานแห่งตนนี้เป็นอมตสถานที่เที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยน "

ท้าวพกามหาพรหมเจ้าของชีวประวัติ เมื่อได้สดับพระวจนะของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรำพึงอยู่ในใจว่า "พระสมณโคดมเจ้า เธอรู้นักหนา ทรงมีพระปัญญายอดยิ่งกว่าบุคคลอื่นใด ทรงรู้เหตุรู้ผล น่าอัศจรรย์ ควรแก่การสรรเสริญยิ่งนัก" จึงเกิดความเลื่อมใส ดวงฤทัยค่อยคลายจากมิจฉาทิฐิไม่ปรากฏมีความเห็นผิดนอกรีตนอกรอย มีน้ำใจอ่อนน้อม ปฎิบัติทางตรงคือสัมมาทิฎฐิอันดี จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับมายังพระเชตวัน

👉 อ่านเรื่องถัดไป 

พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่อง พระยามาร
พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่อง อาฬวกยักษ์

พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่อง ช้างนาฬาคิรี
พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร
พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา

พระธรรมานุภาพที่ ๖ เรื่อง สัจจกนิครนถ์
พระธรรมานุภาพที่ ๗ เรื่อง นันโทปนันทนาคราช
พระธรรมานุภาพที่ ๘ เรื่อง พกาพรหม





วันพฤหัสบดี

อธิบาย เนื้อความพาหุงมหากา ๒

 👉 กลับไปก่อนหน้า 

🔅 
พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่องช้างนาฬาคิรี

เรื่องนี้มีว่า ช้างนาฬาคิรีจะแทงพระพุทธเจ้าเวลาเสด็จออกบิณฑบาต เหตุเกิดขึ้นเพราะพระเทวทัต คือพระเทวทัตคิดจะปลงพระชนม์ชีพพระสุคตเสีย แล้วจะตั้งตัวขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าเอง จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรู ปรึกษาความลับตกลงกันแล้วไปที่โรงช้าง ส่งควาญช้างให้มอมสุราพญาช้างนาฬาคิรี ซึ่งปรกติเคยกินเหล้าแค่ ๘ กระออม ให้ทวีขึ้นถึง ๑๖ กระออม จนเมามันอาละวาดร้ายแรงกล้า

ครั้นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเสด็จจากเวฬุวนารามมารับบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุพุทธบริวารเป็นอันมาก นายควาญช้างก็ปล่อยพญานาฬาคิรี ให้วิ่งสวนทางตรงมาหาพระพุทธองค์ ช้างเมาสุราอาละวาดวิ่งไล่แทงคนอลหม่าน เห็นกลุ่มสมณะนำโดยพระพุทธเจ้าก็ยกชูงวงปรบหูตีหาวิ่งตรงมาจะแทงพระพุทธองค์ ทันใดนั้นพระอานนท์เถระก็ออกมายืนอยู่ข้างหน้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงห้ามถึงสามครั้ง แล้วแต่พระอานนท์ก็ไม่ยอมหนีให้พ้นทาง พระพุทธองค์จึงบันดาลให้พระอานนท์กลับเข้าไปปะปนอยู่ในหมู่สงฆ์ เวลานั้นก็ยังมีหญิงแม่ลูกอ่อนนางหนึ่ง กำลังตกใจสุดขีดเลยอุ้มบุตรตัวเองหนีช้างตรงมาที่กลุ่มของพระพุทธองค์ ครั้นช้างไล่จวนจะทัน เห็นว่าจะหนีไม่พ้นแล้ว ทั้งเป็นการที่ยังห่างจากพระพุทธเจ้าด้วย จึงได้วางลูกเสียกับพื้นถนน แล้วตัวเองก็วิ่งหนีออกข้างทางไป



ฝ่ายช้างก็ตรงเข้ามาจะเหยียบหรือจะแทงทารกนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประดิษฐานอยู่ด้วยพรหมวิหาร และแผ่พระเมตตาเฉพาะเจาะจงต่อช้างนาฬาคิรี แล้วจึงตรัสสอนให้ช้างนาฬาคิรีรู้สึกตนได้สติ เสื่อมคลายจากความเมามัน ครองสติกลับเป็นปรกติยืนทอดงวงลงต่ำและไม่เข้าไปประทุษร้ายเด็กนั้น กลับเบนศีรษะเดินมาใกล้พระบาท ฟุบเท้าลง ยกงวงจบพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ยกพระหัตถ์เบื้องซ้ายขึ้นปรามาสลูบกระพองแล้วตรัสประทานโอวาทให้ช้างมีจิตปราโมทย์ในธรรมจริยา

เวลานั้นฝูงมหาชนที่คอยตักบาตร และถวายเครื่องสักการะที่ได้กระจัดกระจายหนีช้างซ่อนเร้นและฝ่ายปืนในที่สูงนั้น ครั้นเห็นพญาช้างสนพยศอันร้ายแรงแล้ว ต่างคนก็มีจิตโถมนาการโปรยปรายข้าวตอกดอกไม้ และสรรพาภรณ์ต่าง ๆ ที่ตัวช้าง จนปกคลุมท่วมตัว ครั้นแล้วพญาช้างถวายบังคมสมเด็จพระผู้ทรงพระภาค กลับไปโรงของตน โดยปรกติ


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร

เรื่องมีว่า องคุลิมาลโจรนั้น บ้านอยู่ในเมืองสาวัตถี มารดาชื่อนางมันตาพราหมณ์ บิดาเป็นพราหมณ์ราชปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่เดิมนั้นมารดาบิดาให้ชื่อว่า อหิงสกกุมาร ครั้นเจ้าอหิงสกกุมารนั้นเจริญวัยขึ้นจึงไปเรียนศิลปศาสตร์ ในสำนักศาปาโมกข์ อาจารย์ในเมืองตักกศิลา และเจ้าอหิงสกกุมารก็เป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลมว่องไวกว่ามานพทั้ง ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นเพื่อนศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน ทั้งเป็นผู้มีความเพียรมาก และหมั่นปฏิบัติอาจารย์โดยความเคารพ อาจารย์ก็รักมากกว่ามานพคนอื่น ๆ พวกมานพเหล่านั้นก็มีความริษยาพากันไปพูดยุยงอาจารย์ถึง ๒-๓ ครั้งว่า เจ้าอหิงสกมานพคิดประทุษร้ายต่ออาจารย์ด้วยเหตุอันชั่วร้าย อาจารย์ก็พลอยเห็นจริงหลงเชื่อถ้อยคำจึงคิดว่า เราจะคิดฆ่าอหิงสกมาณพด้วยอุบายปัญญา คือจะหลอกให้ไปตายในกลางป่าด้วยฝีมือคนอื่นฆ่า

อาจารย์จึงวางแผนเรียกอหิงสกมาณพเข้ามาใกล้แล้วกระซิบว่า "ศาสตร์ที่ท่านเรียนจากเราน่ะสมบูรณ์แล้ว แต่เรายังประสิทธิ์ให้ไม่ได้เพราะยังขาดนิ้วมือมนุษย์ ๑,๐๐๐ คน ท่านจงไปเที่ยวฆ่ามนุษย์ตัดนิ้วมือไว้คนละนิ้ว ๆ ให้ได้พันหนึ่งแล้วนำมาให้แก่เรา ๆ จึงจะประสิทธิ์ศิลปศาสตร์ให้ท่าน และตัวท่านจักเป็นผู้มีศิลปศาสตร์ ประเสริฐสุดในโลกได้คนหนึ่ง" เจ้าอหิงสกมาณพได้ฟังก็หลงเชื่อ แล้วลาอาจารย์แต่งตัวถือดาบออกไปคอยสกัดฆ่ามนุษย์อยู่ที่ตำบลปากดงแห่งหนึ่ง เที่ยวฆ่ามนุษย์ทั้งในเมืองตามบ้านเรือนและในป่า ฆ่าใครไปก็ตัดนิ้วมือไว้คนละนิ้ว ๆ เจาะร้อยเป็นพวงสะพายแล่งไว้กับตัว ในเวลานั้น ยังขาดอีกนิ้วเดียวก็จะครบพัน เพราะเหตุที่ตัดนิ้วมาร้อยแบบนี้จึงมีนามปรากฏว่า องคุลีมาลโจร


วันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยขององคุลีมาลโจรว่ายังเป็นผู้ที่ฝึกได้ ณ ตำบลปากดงนั้น เมื่อองคุลิมาลโจรแลเห็นพระพุทธเจ้าก็คิดว่าสมณะองค์นี้คงจะต้องถึงที่ตายแล้ว เราจะฆ่าและตัดนิ้วมือได้ครบพัน คิดแล้วก็ชักดาบเงื้อมือวิ่งไล่ฟันพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงบันดาลด้วยฤทธิให้เกิดแม่น้ำขวางหน้าองคุลีมาลโจรบ้าง ให้เกิดเป็นป่ารกชัฏขวางหน้าบ้าง องคุลีมาลโจรนั้นต้องว่ายน้ำทวนคลื่นและลม ทั้งต้องวิ่งบุกป่ารก วิ่งตามเท่าไหร่ก็ตามไม่ทัน ยิ่งเร่งตามพระพุทธเจ้าก็ดูเหมือนพระพุทธองค์จะยิ่งอยู่ห่างออกไป ทั้งๆที่ก็เห็นว่าพระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินตามปรกติแต่ทำอย่างไรก็ตามไม่ทัน พอสิ้นกำลังลง จึงร้องเรียกให้พระพุทธเจ้าหยุด พระองค์จึงตรัสตอบด้วยสุนทรวาจาอันไพเราะมีสัทธรรมประการต่าง ๆ องคุลิมาลโจรได้ฟังพระสุรเสียงก็ระลึกขึ้นได้ว่า พระสมณะองค์นี้กล่าวสัทธรรมได้ลุ่มลึกนัก ชะรอยว่าจะเป็นพระสิทธัตถะราชกุมารที่เสด็จออกบรรพชาเป็นแน่แล้ว การเจอกันครั้งนี้พระองค์คงเสด็จมาด้วยพระมหากรุณาจะโปรดเราให้พ้นทุกข์ คิดแล้วก็เกิดความเลื่อมใสอ่อนโยนนอบน้อมทั้งอาวุธลง แล้วคลานเข่ามาถวายนมัสการด้วยความเคารพ พระพุทธเจ้าจึงทรงพระมหากรุณาให้องคุลีมาลโจรบวชเป็นเอหิภิกขุในพระพุทธศาสนา ท่านสามารถศึกษาเรื่องขององคุลีมาลโจรเพิ่มเติมได้ที่ 👉องคุลีมาลสูตร


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา

เรื่องมีว่า ในสมัยหลังพุทธพรรษาที่ ๗ เมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธ์องค์ก็เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ที่เมืองสาวัตถี พระพุทธองค์ได้รับการต้อนรับจากชาวเมืองจำนวนมาก จนพวกเดียรถีย์ทั้งหลายเกิดความอิจฉาริษยา อีกทั้งรู้สึกลาภสักการที่ตนเคยได้จากชาวเมืองเสื่อมถอยลดน้อยไป จึงประชุมกันคิดหาอุบายกล่าวโทษพระพุทธเจ้าเพื่อให้ชาวเมืองเข้าใจผิดเลิกนับถือ คณะเดียรถีย์จะได้กลับมาเฟื่องฟูด้วยลาภสักการะใหม่อีกครั้ง จึงไปอ้อนวอนให้นางจิญจมาณวิกาผู้เป็นสาวิกาของตน นางผู้นี้มีรูปร่างงดงาม หน้าตาสะสวย ทั้งเป็นผู้ฉลาดในกลมารยาสตรี วางแผนเป็นอุบายวิธี ให้นางถือดอกไม้ธูปเทียนไปยังพระเชตวันในเวลาเย็น ทำอาการประหนึ่งว่าจะไปร่วมหลับนอนกับพระพุทธเจ้า และตอนออกก็ให้เดินสวนทางกับมหาชนที่พากันไปฟังธรรมให้ทำกลับมาดังนี้ทุก ๆ วัน ประมาณ ๓-๔ เดือน ค่อยเอาผ้าพันท้องให้พองขึ้นเหมือนสตรีมีครรภ์อ่อน แล้วเที่ยวไปประกาศแก่พวกอันธพาลว่า ได้ร่วมรักกับพระพุทธเจ้า คนอันธพาลเหล่านั้นเป็นพวกโง่งม ได้ยินดังนั้นก็ต้องถือเอาเป็นจริงเชื่อลงเป็นแน่

ครั้นกาลนานมาประมาณ ๘-๙ เดือน ก็ให้นางจิญจมาณวิกาหาเอาท่อนไม้ผูกไว้ที่ท้องแล้วห่มผ้าคลุมไว้ แล้วเอาไม้มีสัณฐานดังคางโคทุบที่หลังมือและหลังเท้าให้บวมขึ้นดังสตรีมีครรภ์แก่จวนจะคลอด แล้วจึงชักชวนคนอันธพาลที่เคยหลอกไว้เป็นอันมากให้พากันไปยังพระเชตวัน จากนั้นให้นางจิญจมาณวิกาเข้าไปยืนอยู่ตรงหน้าพระพุทธเจ้าท่ามกลางบริษัททั้ง ๔ แล้วจงกล่าววาจาหยาบต่อพระพุทธเจ้าว่าได้ร่วมรักหลับนอนกันจนมีครรภ์ เป็นต้น

เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตรงตามแผนอุบายของเดียรถีย์ และด้วยมารยาของนางจิญจมาณวิกา ทำให้เกิดความโกลาหลในหมู่พุทธบริษัท บางพวกก็เห็นจริงเชื่อถ้อยคำนาง บางพวกก็ไม่เชื่อ บางพวกก็มีความลังเลสงสัย ในขณะนั้นก็ร้อนไปถึงพระอินทร์ ๆ จึงให้เทวบุตร ๔ องค์ ลงมานิรมิตกายเป็นหนูตัวน้อย แฝงตัวเข้าไปกัดเชือกที่ผูกอยู่กับไม้ทาบท้องนั้น เชือกขาด ไม้พลัดตกลงถูกเท้านางจิญจมาณวิกาขาดเป็นสองท่อนดังถูกตัดด้วยดาบอันคม นางจิญจมาณวิกาพ่ายแพ้แก่พระบรมพุทธานุภาพ มหาชนบริษัททั้งหลายเมื่อเห็นกลมารยาของนางก็พากันติโทษนางจิญจมาณวิกาด้วยประการต่าง ๆ แล้วก็พากันฉุดลากตัวออกไปเสียจากพระเชตวัน แต่พอลับตาลับคลองพระเนตรของพระพุทธเจ้าแล้ว แผ่นดินก็ไม่อาจรองรับอกุศลกรรมอันหนักที่นางได้กระทำไว้ จึงสูบนางจิญจมาณวิกาลงไปสู่มหาอเวจีนรกทั้งเป็นในคราวนั้น



👉 อ่านเรื่องถัดไป 

พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่อง พระยามาร
พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่อง อาฬวกยักษ์
พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่อง ช้างนาฬาคิรี
พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร
พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา
พระธรรมานุภาพที่ ๖ เรื่อง สัจจกนิครนถ์
พระธรรมานุภาพที่ ๗ เรื่อง นันโทปนันทนาคราช
พระธรรมานุภาพที่ ๘ เรื่อง พกาพรหม

อธิบาย เนื้อความพาหุงมหากา ๑

พระคาถาพาหุงมหากา (สวดอินเดีย)

คาถาพาหุงมหากาหรือมักเรียกว่าพุทธชัยมงคลคาถา  เป็นบทสวดสรรเสริญพระพุทธองค์ถึงชัยชนะแปดประการที่ทรงมีเหนือมนุษย์และอมนุษย์ด้วยพระธรรมานุภาพ ที่มาของคาถาพาหุงนี้ไม่เป็นที่แน่ชัดนัก บางกระแสว่าน่าจะแต่งโดยนักปราชญ์ชาวลังกา บางกระแสก็ว่าแต่งที่เมืองไทย แต่ถึงอย่างไรก็ตามบทสวดนี้ก็ทำให้ระลึกถึงพระพุทธองค์อันเป็นมงคลต่อชีวิตของผู้สวดสาธยายพระคาถานี้ 

เนื้อหาสาระในพระคาถาทั้ง ๘ บท

🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่องพระยามาร

เรื่องมีว่า เมื่อครั้งก่อนตรัสรู้พระมหาโพธิสัตว์นั่งสมาธิใต้ต้นพระมหาโพธิ บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก ตั้งพระกายตรงทรงดำรงพระสติมั่น จำเพาะต่ออานาปานสติภาวนาแล้วทรงตั้งสัจจาธิษฐานว่า ถ้ายังไม่ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเพียงไรก็จะไม่ลุกออกจากสถานที่นี้

ครั้งนั้นพระยาวสวัสดีมารผู้มีสันดานบาป ทราบว่าพระมหาโพธิสัตว์กระทำความเพียรจวนจะได้สำเร็จพระโพธิญาณ ก็ไม่พอใจ กลัวจะพ้นวิสัยของตนไป มีความโกรธแค้นมาก จึงนิรมิตแขนซ้ายขวาข้างละห้าร้อย ถืออาวุธต่าง ๆ ครบทุกมือ ขึ้นช้างครเมขล์ยกเสนาซึ่งนิรมิตกายแปลกประหลาดต่าง ๆ กัน มาทางทิศเหนือ โห่ร้องกึกก้องเข้ามาหวังจะฟาดฟันพระองค์เสียให้สิ้นชีพ ขณะนั้นเทวดาจากสวรรค์ภพที่ได้ลุมล้อมปฏิบัติรักษาพระองค์อยู่โดยรอบ พอได้ยินเสียงกองทัพพญามารสนั่นหวั่นไหว ทราบว่าพระยามารยกทัพมาก็พากันสะดุ้งตกใจกลัว ท้าวสยามเทวราชฉวยได้สุวรรณจามร ท้าวสันดุสิตเทวราชฉวยได้วาลวิชปัญจสิข เทพคนธรรพ์จับได้พิณทิพย์ พระอินทร์ฉวยฉุดได้สังขวิชัยยุทธ ฉวยอะไรได้แล้วต่างพากันเหาะหนีกลับไปสู่ภพของตน ครั้นพระมหาโพธิสัตว์เห็นเหล่าเทวดาหลบหนีไปหมด จึงทรงระลึกถึงบารมี ๓๐ ทัศที่เคยสร้างสั่งสมไว้ในสังสารวัฎอันยาวนาน มีทาน ศีล เนกขัมมะ ฯ เป็นต้น ซึ่งพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาในอเนกชาติ ด้วยกำลังของมหากุศลจิตและด้วยอำนาจของบารมีที่สั่งสมมา เหล่าเสนามารก็ไม่อาจทำให้พระมหาโพธิสัตว์เกิดความหวั่นไหวใดๆ ก็ยิ่งทำให้พระยามารมีความโกรธแค้นด้วยกำลังแห่งโทสะ จึงนิรมิตห่าฝน ๙ อย่าง

๑. ห่าฝนลมพายุใหญ่
๒. ห่าฝนมหาเมฆฝนตกใหญ่
๓. ห่าฝนก้อนศิลา
๔. ห่าฝนอาวุธศัสตราต่าง ๆ
๕. ห่าฝนถ่านเพลิง
๖. ห่าฝนเถ้าที่ร้อนจัดดุจเถ้าในนรก
๗. ห่าฝนไฟกรด
๘. ห่าฝนเปือกตม
๙. ห่าฝนอันมืดทั่วทุกทิศให้ตกลงมา

ห่าฝน ๙ ประการนั้นก็มิอาจทำอันตรายแก่พระมหาโพธิสัตว์ได้ จากสิ่งที่น่าหวาดเสียวหวาดกลัวกลับกลายเป็นเครื่องสักการบูชา ด้วยอำนาจพระบารมี มีทาน ศีล เนกขัมมะ ฯ เป็นต้น พระยามารเห็นดังนั้นก็ยังโกรธมากขึ้นไปอีก จึงเข้าไปร้องกล่าวว่า "รัตนบัลลังก์ที่พระมหาโพธิสัตว์ประทับนั่งอยู่นั้นเป็นของเกิดด้วยบุญสมภารแห่งตน สมควรแก่ตน" แล้วอ้างเสนามารแห่งตนเป็นพยาน มารหวังหลอกลวงให้ลุกจากที่นั่งหมายทำลายสัจจาอธิฐานให้ได้

พระมหาโพธิสัตว์จึงตรัสตอบว่า "รัตนบัลลังก์นี้เกิดด้วยบุญบารมีของพระองค์" พระยามารให้อ้างพยาน พระองค์ไม่มีใครจะเป็นพยาน จึงทรงระลึกถึงทานที่พระองค์ได้บริจาคในอเนกชาติ เช่นได้ให้ทานบุตรภรรยาในพระชาติเป็นพระเวสสันดร เป็นต้น แล้วชี้นิ้วพระหัตถ์ลงไปตรงพื้นปฐพี นางพระขรณีที่ผุดขึ้นมายืนอยู่ตรงพระพักตร์แล้วทูลว่า "ข้าพระบาทเป็นสักขีพยาน ได้ทราบบุญบารมีที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาอย่างเอนกอนันต์จนทักษิโณทก (ทักษิโณทก = น้ำที่หลั่งเวลาทำทานเพื่ออุทิศกุศลผลบุญ)  ตกลงซุ่มอยู่ในเกศาของข้าพระบาทมากจนหาที่จะประมาณมิได้" ว่าแล้วนางพระธรณีก็บิดน้ำให้ไหลออกจากมวยผม ตนเองไหลนองจนท่วมดุจห้วงมหาสมุทรทั้งมหาปฐพีเกิดคลื่นน้ำเข้าถาโถมใส่กองทัพพญามาร พระยามารและพลมารถมีความพิศวงครั่นคร้ามในบารมีและพระเดชานุภาพของพระมหาโพธิสัตว์เป็นอันมาก เมื่อรู้ตัวว่าทำอะไรไม่ได้แล้วจึงพากันนมัสการ แล้วพากันกลับไปสู่พิภพของตน

พระมหาโพธิสัตว์ทรงชนะมารครั้งนี้ในวันพุธ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ในเวลาพระอาทิตย์จวนจะอัสดงคต และได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณในวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ในเวลาจวนใกล้รุ่ง


🔅 พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่องอาฬวกยักษ์ (อาฬกวยักษ์มีฤทธ์แก่กล้ายิ่งกว่าพญามาร มีสันดานกระด้างปราศจากความอดทน)

เรื่องนี้มีอยู่ว่า อาฬวกยักษ์อาศัยอยู่ในวิมานใต้ต้นไทรใหญ่ในป่าแห่งหนึ่ง เป็นผู้หยาบช้าทารุณมาก ชอบกินคนและสัตว์ที่เดินป่าเข้ามาในบริเวณพื้นที่นั้น และกินคนที่พระเจ้าอาฬวราช ราชาเมืองอาฬวะส่งมาให้กินวันละคน ๆ ตามที่ได้สัญญากันไว้ ในเวลาเช้าวันหนึ่ง พระพุทธองค์เล็งเห็นอุปนิสัยของอาฬวกยักษ์ ว่าเป็นเวไนยสัตว์ ยังสามารถเรียนรู้สามารถฝึกตนให้เกิดมรรคผลเป็นอริยบุคคลได้ ด้วยพระเมตตาพระองค์จึงเสด็จไปยังวิมานของอาฬวกยักษ์ แต่อาฬวกยักษ์ไม่อยู่ จึงเสด็จต่อไปยังที่ประชุมของยักษ์และเทวดาในป่านั้น ก็ได้พบแต่คันธัพพยักษ์ผู้รักษาประตูวิมาน ไม่ทรงพบอาฬวกยักษ์

พระพุทธองค์จึงเสด็จผ่านประตูเข้าไปประทับบนรัตนบัลลังก์ของอาฬวกยักษ์แล้วทรงเปล่งรัศมี ๖ ประการ คือ เขียว เหลือง ขาว หงส์บาท เลื่อม แดง ออกจากพระกาย ฝูงนางสนมและบริวารทั้งหลายของอาฬวกยักษ์เห็นพระรัศมีมีความสว่างเจิดจ้า น่าเลื่อมใส จึงพากันเข้าไปนมัสการแล้วนั่งฟังธรรมอยู่ คันธัพพยักษ์ผู้รักษาประตูนมัสการพระองค์แล้วเหาะไปบอกอาฬวกยักษ์ พออาฬวกยักษ์ได้ยินสิ่งที่คนเฝ้าประตูเล่าก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟตามโทสาคติของจิตใจยักษ์ คิดเคียดแค้นจะรีบกลับมาฆ่าเสีย

ในขณะนั้นสาตาคริยักษ์และเหมวตายักษ์ พาบริวารมาคนละ ๕๐๐ เหาะมายังเชตวันวิหาร หวังจะนมัสการพระพุทธเจ้าครั้นไม่พบ จึงมองหาพบแสงของรัศมีเปล่งประกายออกมาจากวิมานของอาฬวกยักษ์ สาตาคริยักษ์และเหมวตายักษ์กับพวกพ้องจึงพากันเหาะไปยังวิมานอาฬวกยักษ์ ระหว่างทางก่อนถึงวิมารได้เจออาฬวกยักษ์ สาตาคริยักษ์และเหมวตายักษ์ก็บอกว่ามีแก้วมณีเกิดขึ้นที่วิมานของท่านแล้ว อาฬวกยักษ์นึกว่าตนจะได้ลาภเป็นแก้วมณีจริงๆก็ดีใจ รีบลุดไปให้ถึง พอมาถึงที่กลับเห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนบัลลังก์แสดงธรรมแก่บริษัทของตนอยู่ก็ยิ่งทวีความโกรธเกรี้ยวเลยแผลงฤทธิ์ให้ห่าฝน ๙ ประการตกลงมา หวังจะให้ทำลายชีวิตของพระองค์เสีย แต่พอห่าฝนที่ยักษ์เนรมิตตกลงมาก็กลับกลายเป็นดอกไม้เครื่องสักการบูชา อาฬวกยักษ์เห็นอย่างนั้นก็ยิ่งโกรธมากขึ้น จึงเอาผ้าโพกขว้างขึ้นไปบนอากาศหวังจะให้ตกลงมาประหารพระองค์ ผ้าโพกแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ดังสนั่นกึกก้องไปในอากาศ แล้วกลับตกลงมาเป็นดอกไม้ธูปเทียนบูชา บริษัทของอาฬวกยักษ์และฝูงเทวดาเห็นดังนั้นก็มีความยินดี พากันร้องสาธุการเสียงกึกก้องลั่นวิมาน

อาฬวกยักษ์คิดว่า ผ้าโพกของเราผืนนี้ ถ้าจะขว้างภูเขาใหญ่เท่าพระสุเมรุ ภูเขานั้นก็จะแหลกละเอียดไป หรือถ้าจะขว้างไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรก็จะแห้งเหือดไปหมด แต่พอเราขว้างใส่พระสมณะองค์นี้ กลับกลายเป็นดอกไม้บูชาดูน่าอัศจรรย์นัก อย่ากระนั้นเลย เราจะข่มสมณะนี้ด้วยวาทะ ถ้าแพ้เรา เราก็จะฆ่าเสีย คิดแล้วจึงร้องว่า "ท่านมานั่งบนที่นั่งเราทำไม จงลุกไปเสียข้างนอก" พระองค์เสด็จออกไปข้างนอกตามคำยักษ์ แล้วยักษ์ก็แกล้ง สั่งให้กลับมานั่งนั่งที่เก่าอีก พระองค์เสด็จเข้ามา อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้น ยิ่งนึกอัศจรรย์มาก ทำไมพระองค์ไม่โกรธตอบและทำไมเป็นคนว่าง่าย บอกอย่างไรก็ทำตามทุกอย่าง พระองค์จึงตรัสว่า "ท่านจะกระทำอะไรแก่เรา เราก็มิได้โกรธตอบและมิได้เข็ดเลย อย่าว่าแต่ท่านคนเดียว ถึงแม้อินทร์พรหมและเทวดา ซึ่งมีฤทธานุภาพสักเท่าใด ๆ ก็มิอาจย่ำยีเราได้" (พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงความเป็นผู้ไม่มีโทสะแล้ว ไม่ว่าใครก็ทำให้โทสะของพระพุทธองค์เกิดขึ้นมาอีกไม่ได้)

"ท่านคิดไว้ว่าจะถามปัญหากับเรา ท่านก็จงถามมาเถิด แต่ปัญหาที่ท่านคิดไว้ว่าจะถามเรานั้น เราจะบอกให้ท่านรู้ก่อนว่าไม่ใช่ปัญหาของท่านเอง เป็นปัญหาที่จำได้ต่อ ๆ กันมา คือท่านจำมาจากบิดาของท่าน บิดาของท่านก็จำมาจากปู่ของท่าน ปู่ของท่านก็ฟังธรรมแล้วจำได้มาแต่สำนักของพระกัสสปพุทธเจ้า"

อาฬกวยักษ์จึงถามปัญหา ๔ ข้อว่า
"อะไรเป็นทรัพย์อย่างประเสริฐ ของบุรุษในโลกนี้ ?"
"ประพฤติอย่างไรจึงจะได้สุข ?"
"รสอะไรเป็นรถประเสริฐกว่ารสทั้งปวง ?"
"เป็นอยู่อย่างไรจึงจงชื่อว่าเป็นอยู่ประเสริฐ ?"


พระองค์ทรงวิสัชนาว่า
"ศรัทธาเป็นทรัพย์อย่างประเสริฐของบุรุษในโลกนี้"
"ประพฤติชอบจึงจะได้สุข"
"รสคือความสัตย์เป็นรสประเสริฐกว่ารสทั้งปวง"
"เป็นอยู่ด้วยปัญญาชื่อว่าเป็นอยู่ประเสริฐ"

แล้วพระองค์ก็ได้ทรงแสดงธรรมให้อาฬวกยักษ์ฟังต่อไปจนคลายพยศลง มีจิตเกิดความเลื่อมใสศรัทธา หมดสิ้นความกังขาใดๆ จึงน้อมจิตเอาพระองค์เป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐบรรลุโสดาปฎิผลในเวลานั้น แล้วได้ถวายตัวเองเป็นอุบาสก

🙏เกร็ดความรู้เพิ่มเติม 
* เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน พระพุทธพรรษาที่ ๑๖ ณ อัคคาฬวเจดีย์วิหาร เมืองอาฬวี
* การเกิดเป็นยักษ์ ยักษ์นั้นจัดเป็นเทวดาชั้นต่ำ คืออยู่ในภพของสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พวกยักษ์นี้จะอยู่ในการปกครองของท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวรมหาราชผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศเหนือ เหตุที่มาเกิดเป็นยักษ์เพราะทำบุญเจือด้วยความโกรธ มักหงุดหงิดรำคาญใจ เช่น ในขณะทำบุญไม่สำรวมอินทรีย์ ได้ยินเสียงอื้ออึงคนคุยกันก็นึกหงุดหงิด อากาศร้อนก็นึกหงุดหงิด มีโทสะร่วมกับการทำบุญแบบนี้เป็นต้น เมื่อตายลงจากภพมนุษย์แล้ว หากผลบุญนั้นได้นำเกิด ก็จะนำเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุฯพร้อมได้รูปกายเป็นยักษ์



👉 อ่านเรื่องถัดไป 

พระธรรมานุภาพที่ ๑ เรื่อง พระยามาร
พระธรรมานุภาพที่ ๒ เรื่อง อาฬวกยักษ์
พระธรรมานุภาพที่ ๓ เรื่อง ช้างนาฬาคิรี
พระธรรมานุภาพที่ ๔ เรื่อง องคุลิมาลโจร
พระธรรมานุภาพที่ ๕ เรื่อง นางจิญจมาณวิกา
พระธรรมานุภาพที่ ๖ เรื่อง สัจจกนิครนถ์
พระธรรมานุภาพที่ ๗ เรื่อง นันโทปนันทนาคราช
พระธรรมานุภาพที่ ๘ เรื่อง พกาพรหม


วันอังคาร

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุกรมัทวะ ๒

👉 หน้าที่แล้ว ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุกรมัทวะ ๑

        ก่อนพุทธกาลนั้นเมืองสองเมืองปาวาและกุสินารา ถือว่าเป็นเมืองเดียวกันเรียกว่า เมืองกุสาวดี ซึ่งปรากฏในบาลีมหาสุทัศนะสูตร ทีฆะนิกาย ที่พรรณนาไว้ว่าเมืองกุสาวดีนั้นมั่งคั่ง มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ต่อมาเมืองกุสาวดีก็ร่วงโรยตามไปตามความอนิจจังของสังขาร หนักเข้าก็กลายเป็นแคว้นเล็ก ๆ ไป ในที่สุดแยกเป็นสองเมือง เมืองหนึ่งเรียกว่ากุสินารา อีกเมืองหนึ่งเรียกว่าปาวา เส้นทางเสด็จพุทธดำเนินของพระองค์ ก็เสด็จมาแวะที่เมืองปาวา ก่อนที่จะไปสู่กุสินารา ระยะทางจากเมืองปาวาไปกุสินารานั้น ต้องใช้เวลาเดินเกือบวันและที่เมืองปาวานี้เองเรื่องสูกรมัททวะก็เกิดขึ้น

ที่เมืองปาวานี้ นายจุนทะ กัมมารบุตร แปลว่า นายจุนทะผู้เป็นบุตรของนายช่างทอง นายจุนทะนี้เขาเป็นช่างทอง ทำทองขาย มีจิตศรัทธา ได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งภิกษุสาวก ให้ไปรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น แล้วในคืนวันนี้เองนายจุนทะก็ตระเตรียมขาทนียะและโภชนียะ เพิ่มคน คุมคนการเตรียมกันอย่างขมีขมัน ทำกันเป็นการใหญ่ เพราะพระสงฆ์สาวกที่ติดตามพระพุทธองค์มานั้นมีจำนวนหลายร้อยรูป อินเดียครั้งนั้นไม่เหมือนประเทศไทยสมัยนี้ ประเทศไทยนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหาร เนื้อหนังมังสาบริบูรณ์ จะซื้อหาจับจ่ายก็ง่าย คนโบราณนั้นจะเลี้ยงพระก็ยากกว่าสมัยนี้ ตลาดไม่ใช่จะหาง่ายอย่างเดี๋ยวนี้นะ พอออกจากประตูบ้านก็เจอตลาดขายของ ของขายไม่ได้หาง่าย ๆ อย่างเดี๋ยวนี้ ตลาดก็ไม่ใช่ใหญ่โตอะไร ๆ เล็ก ๆ เพราะฉะนั้น ใครเป็นทายก จะเลี้ยงพระทีละหลายร้อยรูป ต้องเตรียมอาหารกันเป็นวัน ๆ ตลอดคืนยังรุ่ง ไม่เช่นนั้นอาหารไม่พอเลี้ยงพระเพื่อให้เหมาะกับพระสงฆ์ที่จะมารับในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่านอกจากอาหารที่เป็นขาทนียะและโภชนียะแล้ว นายจุนทะได้ทำอาหารขึ้นชนิดหนึ่งจากขาทนียะและโภชนียะเรียกว่า สูกรมัททะ ทำไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้พอกับภิกษุสงฆ์ ปัญหาว่า สูกรมัททวะนี้คืออะไร ?

ซึ่งเป็นประเด็นอันสำคัญของปาฐกถาในวันนี้ สูกรมัททวะ ตามศัพท์แปลว่า เนื้อหมูอ่อน เพราะสูกรก็คือสุกร มัททวะก็คือ ความอ่อนโยน ความนิ่มนุ่ม หรือความอ่อนนุ่ม สูกระ กับ มัททวะ ก็แปลว่า เนื้อหมูที่อ่อนนุ่ม หรือเนื้อหมูที่อ่อนนิ่ม สูกรมัททวะถ้าแปลอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่ว่าปัญหานั้นไม่ยุติเพียงเท่านั้น ประเด็นว่า เพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าจึงตรัสห้ามไม่ให้ภิกษุรูปอื่นฉันสูกรมัททวะนี้ และเพราะเหตุใดพระองค์จึงรับสั่งให้นายจุนทะนำสูกรมัททวะนี้ไปฝังเสีย ไปทำลายไม่ให้เป็นอาหารแก่คนและสัตว์ต่อไป และเพราะเหตุใดจึงตรัสแก่นายจุนทะว่า สูกรมัททวะนี้ ตถาคตมองไม่เห็นผู้ใดผู้หนึ่งในโลกนี้ ทั้งเทวดา ทั้งมารและพรหมที่จะกินเข้าไปแล้วจะย่อยได้ เว้นแต่เราตถาคตผู้เดียว ที่จะย่อยอาหารชนิดนี้ได้ ทำไมจึงตรัสเช่นนี้

เป็นอาหารอะไรหรือ ถ้าเป็นเนื้อย่อยทำไมจึงตรัสเช่นนั้น ประเด็นนี้เป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องวินิจฉัย มีพระอรรถกถาจารย์ ๒ ท่าน และปรากฏในสองคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องสูกรมัททวะนี้ และก็แปลกอีกอย่างหนึ่งที่สูกรมัททวะนี้ปรากฏที่มาที่นี่แห่งเดียว ในพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ไม่ปรากฏที่อื่นอีกเลย มาโผล่ปรากฏที่มหาปรินิพพานสูตรตอนเดียวเท่านั้น ในที่อื่น ๆ แล้ว ไม่พบคำนี้เลย น่าอัศจรรย์มาก เป็นอาหารพิเศษ ประหลาดเหลือเกิน พระอรรถกถาจารย์ในสุมังคลวิลาลินี คือท่านพระพุทธโฆษาจารย์นั่นเอง ก็ให้นัยอธิบายสูกรมัททวะนี้ไว้ ๓ นัย เพราะท่านไม่แน่ใจเหมือนกันว่า อะไรแน่ สมัยแต่งอรรถกถานั้นเป็นสมัยหลังพุทธปรินิพพานแล้วพันปี และท่านผู้แต่งก็คือพระพุทธโฆษาจารย์ และท่านก็เป็นชาวอินเดียอยู่แคว้นมคธ ท่านก็ยังไม่แน่ใจเลยว่า สูกรมัททวะคืออะไร คิดดูซิ แล้วพวกเราซึ่งห่างจากสมัยนั้น (สมัยแต่งอรรถกถา) อีกตั้งหนึ่งพันห้าร้อยปี จะไปแน่ใจได้อย่างไร เราก็ต้องอาศัยการวินิจฉัย ข้อความใดที่ใกล้เคียงและมีเหตุผลเราก็ยึดถือข้อความนั้น บัดนี้ได้นำมติของสุมังคลวิลาลินีมาให้ท่านทั้งหลายฟัง ในสุมังคลวิลาสินี พระพุทธโฆษาจารย์ ได้ให้นัยมาอธิบายไว้ ๓ นัย 

🔅 นัยที่ ๑. สูกรมทฺทวนฺติ นาติตรุณสฺส นาติชิณฺณสฺส เอกเชฏฐกสูกรสฺส ปวตฺตมํสํ แปลความว่า สูกรมัททะนั้นได้แก่ ปวัตตมังสะของสุกรที่ได้เจริญเต็มที่ ซึ่งไม่หนุ่มจนเกินไป และไม่แก่จนเกินไป ตํ กิร มุทญฺเจว สินิทฺธญฺจ โหติ ฯ ตํ ปฏิยาทาเปตฺวา สาธุกํ ปจฺจาเปตฺวาติ อตฺโถ = ได้ยินว่า เนื้อนั้นเป็นของอ่อนนุ่มสนิทดี อธิบายว่า นายจุนทะให้ตกแต่งเนื้อนั้นปรุงให้เป็นอาหารชนิดดี สรุปมติที่ ๑ ท่านแปล สูกรมัททวะว่า เนื้อ เพราะนายจุนทะนั้นให้หาเนื้อหมูอย่างดี ได้แก่เนื้อสุกรที่ไม่แก่ไป ถ้าแก่เกินไปเนื้อเหนียวเคี้ยวยาก เป็นเนื้อชนิดดีมาปรุงแล้วอร่อยดีนี้เรียกว่า สูกรมัททวะ


🔅 นัยที่ ๒ เอเก ภณนฺติ สูกรมทฺทวนฺติ ปน มุทุโอทนสฺส ปญฺจโครสยูสปาจนวิธานสฺส นาเมตํ ยถา ควปานํ นาม ปากนามนฺติ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่าสูกรมัททวะนี้ เป็นชื่อแห่งวิธีปรุงข้าวอ่อนเจือด้วยเบญจโครส เหมือนชื่ออาหารที่ปรุงให้เสร็จสำเร็จแล้ว ชื่อว่าควปานะ ถ้าถือตามนัยที่ ๒ นี้ สูกรมัททวะ ก็ได้แก่ข้าวสาลีหุงด้วยน้ำนมโค ข้าวชนิดมธุระเอร็ดอร่อยมาก เวลานี้ในอินเดียยังกินกันอยู่ ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมโคนี้อร่อยจริง ๆ กระผมเองก็เคยรับประทาน คือเพื่อนชาวอินเดียในประเทศไทยนี่เองหุงให้กิน และเอร็ดอร่อยมากและเขาบอกว่า นี่แหละสูกรมัททวะ เพราะฉะนั้น ถ้าถือตามนัยที่ ๒ นี้ สุกรมัททวะได้แก่ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมโคที่เรียกว่าควปาน หุงด้วยเบญจโครส เอร็ดอร่อย ใส่น้ำตาลหน่อย ใส่นมหน่อย อร่อยดี ทั้งมัน ทั้งหอม ทั้งหวาน นี่เรียกว่าสูกรมัททวะ

🔅 นัยที่ ๓ เกจิ ภณนฺติ สูกรมทฺทวํ นาม รสายนนิธิ ตํ ปน รสายนสตฺเถ อาคจฺฉติ ตํ จุนฺเทน ปรินิพฺพานํ น ภเวยฺยาติ รสายนํ ปฏิยตฺตนฺติ ฯ อาจารย์บางท่านกล่าวอีกว่า รสายนวิธีชื่อว่าสูกรมัททวะ ก็รสายนวิธีนั้นมาในคัมภีร์รสายนศาสตร์ นายจุนทะตบแต่งรสายนวิธีด้วยหมายใจว่า พระผู้มีพระภาคอย่าเพิ่งปรินิพพานเสียเลย นัยที่ ๓ นี่ก็สำคัญ นัยนี้พูดกันง่ายคือเป็นยา สูกรมัททวะคือยา เป็นโอสถชนิดหนึ่ง ซึ่งนายจุนทะตั้งใจปรุงขึ้นถวายพระผู้มีพระภาค เพราะด้วยความตั้งใจว่า เมื่อพระองค์ได้ฉันโอสถชนิดนี้ จะได้ไม่ต้องนิพพาน และก็ตรงกับคัมภีร์ไสยศาสตร์เล่นแร่แปรธาตุ เป็นคัมภีร์ตำหรับพิเศษ ปรุงถวายเพื่อจะรักษาโรคพระผู้มีพระภาค

สรุปแล้วมีทั้ง ๓ นัยด้วยกัน แม้พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านก็มิได้ตัดสินลงไปว่าสูกรมัททวะนี้ได้แก่อะไร ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสุมังคลวิลาลินี อรรถกถาแห่งทีฆนิกาย ตอนแก้มหาปรินิพพานสูตร คัมภีร์ที่ ๒ คือคัมภีร์ปรมัตถทีปนีท่านผู้แต่งคือท่านธรรมปาลจริยะ เป็นคนรุ่นหลังพระพุทธโฆษาจารย์เล็กน้อย เป็นชาวอินเดียเหมือนกัน ท่านก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่อะไรกัน แต่ท่านก็ให้นัยแปลกจากพระพุทธโฆษาจารย์อีก คือให้ไว้ ๔ ข้อ พ้องกับท่านพระพุทธโฆษาจารย์ก็มี แปลกกันก็มี

🔅 ๑. สูกรมทฺทวนฺติ สูกรสฺส มุทะสินิทฺธํ ปวตฺตมํสนฺติ มหาอฏฐกถายํ วุตฺตํ ฯ แปลความว่า ท่านกล่าวไว้ในมหาอรรถกีฬาว่า คำว่าสูกรมัททวะ ได้แก่ ปวัตตมังสะ ของสุกรที่อ่อนนุ่มสนิทดี ปวัตตมังสะนั้น ได้แก่ เนื้อที่สมควรที่พระจะบริโภคได้ ไม่ใช่อุทิศมังสะ คือไม่ใช่เนื้อที่เห็นเขาฆ่าเพื่อตน ได้ยินว่าเขาฆ่าเพื่อตน และก็สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อตน พ้นจากมลทิน ๓ ข้อนี้ เรียกว่าปวัตตมังสะ เนื้อที่ควรที่พระจะบริโภคได้ ตามนัยท่านธรรมปาลจริยะท่านทักว่า คัมภีร์มหาอรรถกถานี้เป็นคัมภีร์เก่าก่อนกว่าอรรถกถาที่พระพุทธโฆษาจารย์แต่ง กล่าวว่าสูกรมัททวะนั้น ได้แก่ เนื้อหมูอ่อนที่เป็นปวัตตมังสะ

🔅 ๒. เกจิ ปน สูกรมทฺทวนฺติ น สูกรมํสํ สูกเรหิ มทฺทิตวํสกลีโรติ วทนฺติ ฯ แปลความว่า แต่อาจารย์บางเหล่า กล่าวว่า “คำว่า สูกรมัททวะนั้น ไม่ใช่เนื้อสุกร หากเป็นหน่อไม้ที่สุกรชอบกิน” มตินี้เข้าที คำว่า สูกรมัททวะนี้ ถ้าจะแปลอีกนัยหนึ่งว่า อ่อนสำหรับหมูก็ได้ ซึ่งนอกจากที่แปลว่า เนื้อหมูอ่อน คือเนื้อมันอ่อนนุ่มสำหรับหมูจะกินก็ได้ คืออ่อนนุ่มสำหรับหมูจะกิน ถ้าตามนัยนี้แล้ว สูกรมัททวะก็แปลว่าหน่อไม้ที่หมูชอบกิน เข้าทีเหลือเกิน เพราะดีทั้งรูปศัพท์และความหมาย ถ้าเราวิเคราะห์ศัพท์ว่า สูกรมัททวะว่าอ่อนสำหรับหมูละก็ หมูชอบกินอะไรบ้างล่ะ หน่อไม้หมูก็ชอบ อาจจะเป็นหน่อไม้บางประเภทกระมัง

🔅 ๓. อญฺเญ สูกเรหิ มทฺทิตปฺปเทเส ชาตํ อหิฉตฺตกนฺติ แปลความว่า อาจารย์บางเหล่ากล่าวอีกว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่ เห็ดที่เกิดในประเทศที่สุกรเหยียบย่ำ แม้นัยนี้ก็เข้าทีอีกเช่นเดียวกัน ในคำว่า อหิฉตฺตก นั้น อหิ แปลว่า งู ฉตฺต หรือ ฉตฺตก แปลว่า ร่ม อหิฉตฺตก นั้นแปลว่าเห็ด ตามรูปศัพท์แปลว่า มีอาการ ฉัตรแผ่แม่เบี้ยเหมือนงู ตามรูปศัพท์เพ่งเอาเห็ดชนิดหนึ่งที่มีภาพแผ่แม่เบี้ยประดุจงู ในคัมภีร์ฝ่ายมหายานทุกสูตรทุกปกรณ์ และชาวพุทธในมหายานยึดถือเอาคตินี้ คือสูกรมัททวะแปลว่าเห็ดชนิดหนึ่ง ที่มีอาการแผ่แม่เบี้ยเหมือนงู คือเป็นเห็ดชนิดหนึ่งซึ่งจีนเรียกว่า จันทันจี่ย่น ภาษาจีนเหนือว่าจันทันสู้อ้อ โดยบอกว่าเห็ดชนิดนี้เกิดที่ต้นไม้จันทร์ เป็นเห็ดพิเศษ ไม่ได้เกิดบนภูมิภาคทั่ว ๆ ไป

🔅 ๔. อปเร ปน สุกรมทฺทวนามกํ รสายตนนฺติ ภณนฺติ แปลความว่า แต่อาจารย์บางเหล่าก็กล่าวอีกว่า ได้แก่เครื่องดื่มชนิดหนึ่ง ที่ปรุงตามกรรมวิธีรสายนะ ชื่อว่าสูกรมัททวะ ตํ หิ จุนฺโท กมฺมารปุตฺโต อชฺช ภควา ปรินิพฺพายิสสตีติ สุตฺวา อปฺเปวนาม น ปริภุญฺชิตฺวา จิรตรํ ติฏเฐยฺยาติ สตฺถุ จิรชีวิตุกมฺยตาย อทาสีติ วทนฺติ แปลว่า เพราะว่านายจุนทะบุตรของช่างทอง ได้ทราบข่าวว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคจะปรินิพพานแล้ว จึงได้ถวายเครื่องดื่มชนิดนั้น เพื่อต้องการให้พระผู้มีพระภาคมีพระชนม์อยู่ได้นาน ด้วยความหวังว่า ไฉนหนอ ขอพระศาสดาเสวยเครื่องดื่มนี้แล้ว พระชนมายุอยู่ได้ไปอีกนานเถิด นี่เป็นนัยที่ ๔ ตรงกับนัยในมังคลวิลาลินีเหมือนกัน ที่แปลว่า ยาที่ปรุงตามวิธีรสายนเวช เป็นยาชนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ตามมติในสองคัมภีร์นี้ เราก็ได้ความว่า แม้แต่พระโบราณาจารย์ก็ไม่สามารถจะตัดสินอะไรลงไปแน่นอนว่า สูกรมัททวะนั้นได้แก่อะไรแน่ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้เราทั้งหลายซึ่งเป็นปัจฉิมาชนตาชน ห่างไกลจากสมัยของท่านตั้ง ๑,๕๐๐ ปี เพราะสมัยแต่งอรรถกถานั้นก็หลังพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วประมาณ ๑,๐๐๐ ปี เราห่างจากท่านประมาณ ๑,๕๐๐ ปี ถ้ารวมพุทธกาลแล้วเราห่างตั้ง ๒,๕๐๐ ปีเศษ จะวินิจฉัยสูกรมัททวะได้อย่างไร ในข้อนี้กระผมก็อยากจะเสนอความเห็นส่วนตัวประกอบเกี่ยวกับสูกรมัททวะ ถ้าสูกรมัททวะแปลว่าเนื้อหมูอ่อนง่าย ๆ ตามศัพท์แล้วกระผมไม่เห็นด้วย เพราะถ้าเป็นเนื้อหมูอ่อนแล้ว ทำไมจึงเป็นพิษกับพระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ เพราะเหตุใดพระองค์จึงตรัสว่า เว้นตถาคตแล้วไม่มีผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งที่เป็นมนุษย์และเทพเจ้าจะย่อยอาหารชนิดนี้ได้ ทำไมจึงตรัสอย่างนั้น ถ้าเป็นเนื้อหมูอ่อน ก็คำที่ว่า เป็นอาหารที่เอร็ดอร่อย พระก็ฉันได้ ทำไมจึงรับสั่งให้ไปทำลายเสีย ไปฝังเสีย เพื่อไม่ให้ใครกินต่อไป ตรัสแก่จุนทะว่าสำหรับอาหารอื่น ๆ นั้น เธอเอาไปอังคาสภิกษุสงฆ์เถิด แต่สำหรับสูกรมัททวะ เธอจงอังคาสตถาคตผู้เดียวเถิด ตรัสกับจุนทะอย่างนี้เหลือมานั้นเธอจงเอาไปฝังเลยเถิด ตรัสอย่างนั้น บางท่านก็แก้ว่า อาจจะเป็นเนื้อหมูบูดกระมั้ง มีตัวพยาธิตัวจี๊ด ตัวเชื้อโรค พระองค์ทราบเช่นนั้นจึงรับสั่งให้ไปทำลายเสีย ไม่ให้พระอื่นฉัน ส่วนตัวพระองค์ยอมเสวยเพื่อฉลองศรัทธาของนายจุนทะ ผมก็ไม่เห็นด้วย ถ้าแก้ว่าเนื้อหมูบูด เพราะฐานะของนายจุนทะนั้นไม่ใช่คนยากคนจน รู้ได้ก็เพราะนายจุนทะมีศรัทธา รับอาสาเลี้ยงพระทั้งคณะ ที่มากับพระพุทธองค์ เป็นจำนวนร้อย ๆ ถ้าเป็นคนมีฐานะยากจนแล้ว ไหนเลยจะกล้ารับเลี้ยงพระได้เป็นร้อย ๆ ฐานะของนายจุนทะต้องเป็นคนมีอันจะกินมั่งคั่งเป็นอย่างน้อย ไม่ถึงกับจะต้องหาเนื้อบูดของเสียมาถวาย คนจะทำบุญนั้นเขาจะไม่รู้หรือว่าของนั้นบูดเสีย ต้องรู้ของบูดเสีย แม้คนยากจนเขาก็ยังไม่ถวายพระ เพราะแม้ตัวเขาเองก็กินไม่ได้ แล้วยิ่งนายจุนทะไม่ได้ทำคนเดียว แม่ครัวตั้งมากมายจะไม่รู้หรือว่าของนี้บูดเน่า ถ้าบูดเน่าก็ไม่เชื่อว่าเขาจะทำเป็นอาหารไปถวายพระ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงว่าจะเป็นเนื้อบูดเน่า แต่สูกรมัททวะนี้ จะต้องไม่ใช่เนื้อหมูแน่นอน

แต่มีประเด็นของสูกรมัททวะที่น่าสนใจคือ ที่แปลว่าเห็ดอย่างหนึ่ง และที่แปลว่ายารักษาโรคอย่างหนึ่ง และที่แปลว่าหน่อไม้ที่หมูชอบกินอย่างหนึ่ง ๓ อย่าง ในประเด็นที่แปลว่าหน่อไม้ ถ้าแปลว่าหน่อไม้ก็ไม่น่าจะเป็นพิษภัยแก่พระรูปอื่นที่จะฉัน ทำไมพระองค์จึงรับสั่งให้เอาไปฝัง ถ้าพระองค์ฉันแล้วจะเป็นเหตุให้โรคกำเริบ เพราะอาจเป็นของแสลงในเมื่อพระองค์เองก็อาพาธอยู่แล้ว ก็พระสงฆ์ที่ดี ๆ ไม่เป็นโรคอยู่ตั้งมากมาย ทำไมจึงรับสั่งไม่ให้ถวายพระให้นายจุนทะไปฝังเสีย ถ้าแปลว่าเห็ดก็มีเค้าเข้าทีดี เพราะทุกวันนี้ก็มีเห็ดพิษที่คนกินแล้ว บางทีทั้งครอบครัวต้องเข้าโรงพยาบาล ดังเคยปรากฏ ข่าวในหนังสือพิมพ์บ่อย ๆ แกงเห็ดมาถวายให้ฉัน ๆแล้วเกิดพิษ เข้าในกรณีที่แปลว่าเห็ด แต่ถ้าเป็นเห็ดแล้ว ทำไมนายจุนทะไม่รู้หรือ ว่าเห็ดนั้นเป็นเห็ดพิษ ถ้าอ้างว่านายจุนทะไม่รู้ พระองค์ก็น่าที่จะบอกแก่นายจุนทะว่า จุนทะ เห็ดเหล่านี้เป็นเห็ดพิษนะ ต่อไปพวกเธอจะทำอาหารถวายพระก็ตาม หรือพวกเธอจะกินเองก็ตาม เธออย่าได้เอาเห็ดชนิดนี้มาทำอาหารนะ เพราะเมื่อกินเข้าไปแล้วจะทำอันตรายถึงแก่ชีวิต ทำไมพระองค์ไม่ตรัสเล่า พระองค์ควรจะสงเคราะห์นายจุนทะ บอกนายจุนทะว่า เห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดมีพิษ บอกกันได้นี่ ไม่เห็นจะเสียหายอะไร ไม่เป็นการทำลายศรัทธา แต่เป็นการสงเคราะห์เพื่อจะได้รู้ตัวว่า อ้อ ต่อไปนี้เราจะไม่ซื้อหาเห็ดชนิดนี้มารับประทานอีกแล้ว เพราะเรากินเองก็มีภัย คนอื่นกินก็มีภัย เป็นการเซฟชีวิตของคนไว้ แต่ไม่ตรัสเลย กลับรับสั่งให้นำไปฝังเสีย เพราะฉะนั้น รูปกรณีอย่างนี้ไม่น่าจะเป็นเห็ด ปัญหาจึงอยู่ที่ข้อสุดท้ายว่า เป็นยารักษาโรค โดยวิธีรสายนเวช ในคัมภีร์รสายนศาสตร์ของพราหมณ์เขา

ข้อนี้เข้าทีมาก หรือข้อที่แปลว่า เป็นควปาน ควปานก็ไม่สมควรเพราะข้าวอ่อนหุงด้วยน้ำนมโคนั้น อร่อยไปเลยด้วยซ้ำไป จะมีพิษที่ไหน กินเข้าไปแล้วเป็นยาชูกำลังดีพิลึกแล แต่ทำไมท่านห้ามไม่ให้พระอื่นฉันเล่า จริงอยู่ ปัญหาเรื่องรสายนะนี้ กระผมสมัครใจจะเชื่อว่าสูกรมัททวะนี้ คือยานั่นเอง นายจุนทะปรุงยาขึ้นเพื่อถวายพระพุทธเจ้า โดยความปรารถนาจะรักษาพระชนมชีพของพระองค์ให้ยืนยาว เห็นพระผู้มีพระภาคกระปรกกระเปลี้ยมาและก็รู้อยู่กับตัวเองว่า พระองค์จะดับขันธ์ในวันนี้แหละ ในคืนวันนี้จะดับขันธ์แล้ว เพราะฉะนั้น ตอนเช้าของวันที่จะดับขันธ์นี้นายจุนทะจึงเตรียมหุงอาหารชนิดนี้ในค่ำวันนั้น ค่ำวันนั้นก่อนรุ่งขึ้นเตรียมอาหารไว้ก่อน และในบาลีท่านจัดสูกรมัททวะนี้อยู่นอกประเด็นขาทนียและโภชนียด้วย ท่านบอกว่า ทำขาทนียโภชนียะและสูกรมัททวะ แสดงว่าสูกรมัททวะไม่ใช่อาหารธรรมดา เป็นอาหารที่ปรุงขึ้นเป็นพิเศษ ที่นายจุนทะตั้งใจปรุงถวายรักษาอาพาธของพระบรมศาสดา ปัญหาว่า ถ้าเป็นยาพิเศษ ทำไมจึงชื่อว่าสูกรมัททวะเล่า เนื้อหมูอ่อนเล่า ถ้าเราเชื่ออย่างนี้ ก็น่าจะบอกว่ายาเภสัชชะก็สิ้นเรื่อง ทำไมจะต้องใช้สูกรมัททวะเล่า อ้าว ! ถ้าเราสงสัยอย่างนี้ละก็ ไม่ต้องอื่นไกล เราดูตำรายาไทยก็พอ ยาตำราไทยของเรานี่มีชื่อพิลึก ๆ ไหมละ เช่นตำรายาหอมชื่อ จักรวาฬครอบเอย ยาจตุรพักตร์ชีวิตเอย ยามณีส่องภพเอย ชื่อเพราะ ๆ ทั้งนั้น แล้วถ้าเรามาหาตัวยาว่า ยาอย่างนั้นมันมีสี่หน้า เราก็แย่เต็มทน คือไม่รู้เท่าภาษาของเขา เขาตั้งชื่อว่ายาจตุรพักตร์ นึกว่ายาจะต้องมีสี่หน้า เราไปหาจนตายก็ไม่พบไอ้ตัวยามีสี่หน้า ว่ายาสี่หน้ามันเป็นอย่างไร หรือว่ามีสมุนไพรชนิดหนึ่งเรียกว่า น้ำนมราชสีห์ นี่ถ้าเราไปถือว่าเราจะต้องเอาน้ำนมจากสิงโตจริง ๆ ละก็แย่ ประเทศไทยไม่มีสิงโต ยานี้เป็นยาโบราณ แท้ที่จริงน้ำนมราชสีห์นั้นเป็นต้นสมุนไพรชนิดหนึ่ง รสชาติมันขม เขาเอาเข้าทำยาผสมให้หญิงแม่ลูกอ่อนกิน รักษาน้ำนม ให้น้ำนมมากให้ลูกอ่อน เรียกน้ำนมราชสีห์ แต่ถ้าเราถือตามศัพท์ว่าน้ำนมราชสีห์ เราก็จะต้องไปคั้นเอาจากเต้านมจริง ๆ ละก็ ไม่ต้องรักษาโรคกันแล้วเลิกได้ เพราะหาทั้งประเทศไทยก็ไม่พบ ต้องไปหาถึงประเทศอาฟริกา เพราะฉะนั้น น้ำนมราชสีห์ในตำราไทยเป็นฉันใด สูกรมัททวะในตำราโบราณในอินเดียก็เป็นฉันนั้น

เราจะไปนึกว่า เอ ทำไมจึงมาเรียกยาขนานนี้ว่าสูกรมัททวะ ว่าเนื้อหมูอ่อนทำไม ทำไมไม่เรียกยาบำรุงให้รู้ไป อ้าวก็ตำราเขาเรียกกันอย่างนั้น ถ้าเป็นยา ก็เมื่อเป็นยาบำรุงกำลังแล้ว ทำไมจึงห้ามไม่ให้พระรูปอื่น ๆ ฉัน ทำไมพระองค์จึงตรัสว่า เว้นตถาคตแล้วคนอื่นยังสูกรมัททวะนี้ให้ย่อยไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าธรรมดาว่ายานั้นมีคุณอนันต์ ก็มีโทษมหันต์ ยานี่คนดี ๆ ให้กินยาแก้ไข้มาก ๆ ดีไม่ดีตาย ไม่มีไข้ไปกินยาลดไข้มาก ๆ ดีไม่ดีชีพจรหยุดเลย ยิ่งเป็นโรคหัวใจอ่อนอยู่แล้ว ไปกินยาลดไข้ ลดความร้อนมาก ๆ โดยที่ตนเองไม่มีไข้ หัวใจหยุดเต้นพอดีเลยแพ้ยาตาย คนดี ๆ กินวิตามินเยอะ ๆ ไม่ช้าแพ้วิตามิน ไม่มีโรคกลับเป็นโรค อีกประการหนึ่ง ตำรายาโบราณนั้นเขามีน้ำหนัก คุณธาตหนักเบา ไม่ใช่ยาหม้อหนึ่งรักษาได้ทุกคน หม้อยาหม้อนั้นคนนั้นกินหาย อีกคนกินตาย ยาหม้อเดียวกันนั่นแหละ ตัวสมุนไพรกับคุณธาตุหนักเบานั่นมันแล้วแต่ใคร ธาตุใครธาตุมัน ต้องเอามาบวกลบคูณหารกันเข้า แล้วจึงวางยาหนักเบาไปตามสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น สูกรมัททวะก็เหมือนกัน เมื่อนายจุนทะตั้งใจทำถวายพระพุทธองค์แล้ว ก็เหมาะเฉพาะพระพุทธองค์พระอื่น ๆ ไม่เหมาะสมเพราะท่านไม่ได้อาพาธอะไร ท่านดี ๆ สมบูรณ์อยู่ พระองค์จึงห้ามไม่ให้พระรูปอื่น ๆ ฉัน ตรัสว่าเว้นเราแล้วภิกษุอื่นอย่าได้ฉันเลย เพราะคนอื่นๆ ดี ไม่ได้เป็นโรค แต่พระองค์เป็นอยู่นี่ คนอื่น ๆ ไม่มีอาพาธ แต่พระองค์อาพาธอยู่ พระสงฆ์ทุกรูปที่ตามเสด็จมาแข็งแรงทั้งนั้น ไม่มีโรคไม่มีภัย ดีไม่ดีถ้าขืนฉันไปแล้วจะเกิดโรค จึงรับสั่งให้นำไปฝังเสีย ที่ให้นายจุนทะนำไปฝังเลย ก็เพราะถ้าขืนตั้งไว้คนอื่นฉวยไปภายหลังไม่รู้คิดว่า เอ ยาขนานนี้นายจุนทะทำถวายพระศาสดา เอ ถ้าจะดีแน่ ขอยาทดลองบ้างเถอะ กินเข้าไปไม่ช้าเกิดเรื่อง เป็นอันตราย พระองค์จึงรับสั่งให้ฝังให้ทำลายเสีย เว้นเราเสีย คนอื่นไม่มีใครย่อยได้ ยาขนานนี้เป็นลางเนื้อชอบลางยา เหมาะกับพระองค์ เหมาะกับอาพาธที่พระองค์เป็นอยู่ คนอื่นไม่เหมาะ นายจุนทะทำปรุงขึ้นเพื่อพระองค์ จึงตรัสอย่างนี้ ข้างนายจุนทะก็ตั้งใจทำขึ้นว่า เมื่อเป็นยาบำรุงกำลังแก่พระองค์แล้วก็จะนึกเผื่อแผ่ไปยังคนอื่น ๆ บ้าง (โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ตามเสด็จ) แต่หารู้ไม่ว่า ยานั้นบางอย่างให้คุณอนันต์ก็ให้โทษมหันต์ ลางเนื้อชอบลางยา เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงตัดปัญหาเลย (เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากโกลาหลในภายหลัง) ว่าให้ไปทำลายเสียเถอะ อย่าให้พระรูปอื่นฉันยานี้เลย นี่เป็นอย่างนั้น ตอนนี้มีปัญหาอยู่ว่า

พระบรมศาสดาฉันสูกรมัททวะนี่ไปแล้ว อาพาธกำเริบเพราะเหตุแห่งอาหารมื้อนี้กระนั้นหรือ ?
กระผมไม่เชื่อเลย ไม่สมัครใจจะเชื่อว่า พระอาพาธของพระองค์จะกำเริบขึ้นเพราะอาหารมื้อนี้เป็นเหตุ คือสูกรมัททวะนี้ แล้วกำเริบเพราะอาหารนี้ ไม่บอกไว้หรอก แต่กลับไปบอกในคาถาที่พระสังคีติกาจารย์ท่านประพันธ์เอาไว้ ในที่นั้นแหละ เป็นมติของพระสังคีติกาจารย์ ไม่ใช่เนื้อความในบาลีสูตร เป็นเนื้อความที่พระสังคีติกาจารย์ร้อยกรองเข้ามาที่หลัง สอดแทรกอยู่ในมหาปรินิพพานสูตรว่า พระศาสดาได้ฉันสูกรมัททวะของนายจุนทะแล้ว อาพาธกำเริบแล้ว ได้เกิดขึ้น ลงพระโลหิต ประชวรด้วยปักขันทิกาพาธแล้วไปดับขันธ์ที่เมืองกุสินารา แต่ว่าตามความเข้าใจของกระผมนั้น สูกรมัททวะนี้มีคุณแก่พระองค์มาก ไม่ได้เป็นเหตุให้พระองค์ประชวรหนัก ที่อาการประชวรหนักของพระองค์นั้น เป็นไปตามอาการของพระโรคกำเริบขึ้นตามอายุขัยของพระองค์ เพราะพระองค์จะดับขันธ์ในวันนั้นแล้ว โรคกำเริบขึ้นตามอาการของโรคจะเป็น ไม่ใช่เกิดจากการเสวยสูกรมัททวะ สูกรมัททวะนี่เอง กลับเป็นคุณแก่พระองค์ ทำให้พระองค์มีกำลังกาย เสด็จดำเนินไปดับขันธ์ที่เมืองกุสินาราได้ ถ้าไม่ได้อาหารมื้อนี้แล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะเสด็จไปดับขันธ์ที่เมืองกุสินาราได้ ดูซิ พระชนม์มากอยู่แล้วถึง ๘๑ แล้วแก่หง่อมเต็มทีแล้ว เสด็จพุทธดำเนินไปตลอดทั้งวัน ทรงประชวรก็หนัก แต่ยังเสด็จพุทธดำเนินไปได้ นำพระสงฆ์เดินตลอดทั้งวัน ได้อาหารสูกรมัททวขัของนายจุนทะนี้ เป็นเหตุให้พระองค์ กระปรี้กระเปร่า มีพระกำลังกายเดินทางต่อไปกระทั่งไปดับขันธ์ดังที่ประสงค์เอาไว้ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงได้มีพุทธดำรัสว่า สูกรมัททวะนี้แหละ อาหารมื้อนี้แหละ มีอานิสงส์มาก เป็นอาหารมื้อสุดท้าย แต่ว่ามีอานิสงส์มหาศาล ดังตอนใกล้จะปรินิพพาน ตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าตถาคตปรินิพพานไปแล้ว คนภายหลังจะกล่าวคำตำหนินายจุนทะว่า จุนทะท่านไม่ได้บุญแล้ว ท่านไม่ได้ลาภแล้ว พระผู้มีพระภาคเสวยอาหารของท่านแล้วอาพาธหนัก จะทำให้นายจุนทะเกิดความเสียใจ ดูก่อนอานนท์ ถ้ามีคำจ้วงจาบกล่าว่านายจุนทะเช่นนั้นแล้ว เธอจงแก้คำกล่าวหานั้นว่า ตถาคตตรัสบอกว่าอาหารที่นายจุนทะทำถวายนี้ มีอานิสงส์มาก มีบุญมาก อำนวยคุณประโยชน์มาก มีอานิสงส์ใหญ่ บุญที่นายจุนทะทำนี้เป็นไปเพื่ออายุ วรรณะ สุขะ พละ บิณฑบาตทั้งสองคราวที่ตถาคตรับนี่ ครั้งหนึ่งบิณฑบาตที่รับจากนางสุชาดา ในวันคืนที่จะตรัสรู้หนึ่ง และปัจฉิมบิณฑบาตที่รับกับนายจุนทะหนึ่ง ทั้งสองบิณฑบาตนี้ เทฺว เม ปิณฺฑปาตสมผลา สมสมวิปากา บิณฑบาตทั้งสองคราวนี้ มีผลเสมอ ๆ กัน มีวิปากเสมอ ๆ กัน ถ้าอาหารมื้อนี้เป็นเหตุให้พระโรคกำเริบแล้ว จะมีวิปากเสมอกัน มีผลเสมอกันกับบิณฑบาตของนางสุชาดาได้อย่างไร นี่แหละกระผมจึงอยากเชื่อว่า อาพาธที่กำเริบขึ้นกับพระองค์ ไม่ใช่เกิดจากการเสวยสูกรมัททวะ แต่เป็นไปตามอาการของอาพาธเอง และขอสรุปปาฐกถาในวันนี้ว่า สูกรมัททวะนี้ไม่ใช่เนื้อหมูอ่อน แต่เป็นยารักษาโรค ขอจบปาฐกถาวันนี้เพียงเท่านี้