วันจันทร์

พระพุทธดำรัส (๓)

  🙏 พระพุทธดำรัส 🙏


🔅 กินเนื้อสัตว์บาปหรือไม่
ปัญหา มีพุทธศาสนิกชนบางพวกเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์เป็นบาปเพราะเป็นการส่งเสริมให้คนอื่นฆ่า ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. เนื้อที่ตนเห็น
๒. เนื้อที่ตนได้ยิน
๓. เนื้อที่ตนรังเกียจ
ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของควรบริโภค ด้วยเหตุ ๓ ประการคือ
๑. เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น
๒. เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน
๓. เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ
ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล”


ชีวกสูตร

🔅 ความสำคัญของจิตใจ
ปัญหา มีบางคนกล่าวว่า ในบรรดาการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจนั้น การกระทำทางกายสำคัญที่สุด เพราะก่อให้เกิดผลเห็นได้ชัด เช่น ฆ่าเขาตายด้วยกาย ย่อมมีผลเสียหายมากกว่ากล่าวอาฆาตด้วยวาจา และการคิดจะฆ่าด้วยใจ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไรในเรื่องนี้?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนตัปสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม เราจะบัญญัติกายกรรมวจีกรรมว่ามีโทษมากเหมือนมโนกรรมหามิได้” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดีผู้เป็นสาวกของนิครนถนาฏบุตรก็ยังยืนยันอยู่นั่นเองว่า กายกรรมมีโทษมากกว่า พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญในความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้เป็นคนอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ห้ามน้ำเย็น ดื่มแต่น้ำร้อน เมื่อเขาไม่ได้น้ำเย็นจะต้องตาย ดูก่อนคฤหบดี ก็นิครนถนาฏบุตรบัญญัติความเกิดของนิครนถ์ผู้นี้ ณ ที่ไหนเล่า?”

อุบาลีคฤหบดี “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาชื่อว่ามโนสัตว์มีอยู่นิครนถ์นั้นย่อมเกิดในเทวดาจำพวกนั้น เพราะนิครนถ์ผู้นั้นเป็นผู้มีใจเกาะเกี่ยวทำกาละ” ก็เป็นอันว่า อุบาลีคฤหบดีย่อมรับว่ามโนกรรมสำคัญกว่า แต่เขายังยืนยันต่อไปว่า กายกรรมสำคัญกว่า พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้ พึงเป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรโดยส่วน ๔ คือ ห้ามน้ำทั้งปวง ประกอบด้วยการห้ามบาปทั้งปวง กำจัดบาปด้วยการห้ามบาปทั้งปวง อันการห้ามบาปทั้งปวงถูกต้องแล้ว เมื่อเขาก้าวไป ถอยกลับ ย่อมถึงการฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ เป็นอันมากดูก่อนคฤหบดี นิครนถนาฏบุตรบัญญัติ วิบากเช่นไรแก่นิครนถ์ผู้นี้?”

อุบาลี “ข้าแต่พระองค์ผู้ เจริญ นิครนถนาฏบุตรมิได้บัญญัติกรรม อันเป็นไปโดยไม่เจาะจงว่ามีโทษมากเลย” พระผู้มีพระภาค “ดูก่อนคฤหบดี ก็ถ้าจงใจเล่า?” อุบาลี “ เป็นกรรมมีโทษมาก” พระผู้มีพระภาค “ก็นิครนถนาฏบุตรเจตนาลงในสวนไหน?” อุบาลี “นิครนถนาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนมโนทัณฑะ” (มโนกรรม) ก็เป็นอันว่า อุบาลีคฤหบดี ยอมรับด้วยถ้อยคำของตนเองว่ามโนกรรมสำคัญกว่า แต่ก็ยังยืนยันว่ากายกรรมสำคัญกว่าต่อไปอีก พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บ้านนาฬันทานี้ เป็นบ้านมั่งคั่งเป็นบ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น.... พึงมีบุรุษคนหนึ่งเงื้อดาบมา เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เขาจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาฬันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่ง ดูก่อนคฤหบดี ท่านจักสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะสามารถทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในหมู่บ้านนาฬันทานี้ให้เป็นลานเนื้อันเดียวกันได้หรือ?”

เมื่ออุบาลีทูลว่า ทำไม่ได้ พระพุทธองค์จึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิต พึงมาในบ้านนาฬันทานี้.... พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำบ้านนาฬันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยจิตคิดประทุษร้ายดวงเดียว ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์นั้น จะสามารถทำบ้านนาฬันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยจิตประทุษร้ายดวงหนึ่งได้หรือหนอ?” อุบาลีคฤหบดียอมรับว่าทำได้ ซึ่งแสดงให้เป็นว่ามโนกรรมสำคัญกว่าแต่ก็ยังยืนยันต่อไปว่ากายกรรมสำคัญกว่า พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า  “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑดี ป่ากาลิคะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไปท่านได้ฟังมาแล้วหรือ? อุบาลี “ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว” พระผู้มีพระภาค “ท่านได้ฟังมาว่าอย่างไร เกิดเป็นป่าไปเพราะเหตุไร?” อุบาลี “เพราะใจประทุษร้าย อันพวกเทวดาทำเพื่อฤาษี” ในที่สุด อุบาลีคฤหบดีก็ยอมรับว่ามโนกรรมสำคัญกว่า และประกาศตนเป็นสาวกของพระบรมศาสดา

อุปาลิวาทสูตร 

🔅 พุทธปฏิภาณ
ปัญหา ทุกครั้งที่มีผู้มาถามปัญหาธรรมกับพระพุทธเจ้า ปรากฏว่าพระองค์ทรงตอบปัญหานั้น ๆ ได้อย่างแจ่มแจ้งทันที อยากทราบว่าพระพุทธองค์ทรงทราบปัญหานั้นด้วยญาณแล้วคิดคำตอบไว้ล่วงหน้า หรือทรงตอบปัญหานั้นๆ ในขณะนั้นนั่นเอง?


พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนราชกุมาร ถ้าอย่างนั้นในข้อนี้ อาตมาภาพจักกลับถามพระองค์บ้าง ข้อนี้ควรแก่พระองค์อย่างใด พระองค์พึงพยากรณ์ข้อนั้นอย่างนั้น  พระองค์เป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถหรือ ?”
อภยราชกุมาร “หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ”
พระผู้มีพระภาค “ชนทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระองค์แล้ว พึงทูลถามอย่างนี้ว่า ส่วนน้อยใหญ่ของรถอันนี้ชื่ออะไร การพยากรณ์ปัญหาของชนเหล่านั้น พระองค์พึงตรึกด้วยใจไว้ก่อนว่า ชนทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้วจักถามอย่างนี้เราอันชนเหล่านั้นถามอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ หรือว่าการพยากรณ์อย่างนั้น พึงแจ่มแจ้งกะพระองค์โดยทันที ?”
อภยราชกุมาร “เพราะหม่อมฉันเป็นทหารรถรู้จักดี ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ ส่วนน้อยใหญ่ของรถทั้งหมด หม่อมฉันทราบดีแล้ว ฉะนั้นการพยากรณ์ปัญหานั้น แจ่มแจ้งแก่หม่อมฉันโดยทันทีทีเดียว”
พระผู้มีพระภาค “ฉันนั้นเหมือนกันแล ราชกุมาร กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้บัญฑิตก็ดี ผูกปัญหาแล้งจักเข้ามาถามตถาคต การพยากรณ์ปัญหานั้นย่อมแจ่มแจ้งตถาคตทันที ข้อนั้นเพราเหตุไร เพราะความที่ธรรมธาตุนั้น ตถาคตแทงตลอดดีแล้ว การพยากรณ์ปัญหานั้น จึงแจ่มแจ้งแก่ตถาคตโดยทันที”

อภยราชกุมารสูตร

🔅 ความสุขระดับต่างๆ
ปัญหา ทางพระพุทธศาสนาจัดแบ่งความสุขออกเป็นระดับต่างๆ อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนอานนท์ 👉กามคุณ ๕ นี้เป็นไฉน คือรูปอันจะพึงรู้ด้วยจักษุ..... เสียงอันจะพึงรู้ด้วยโสต.... กลิ่นอันจะถึงรู้ด้วยฆานะ... รสอันจะพึงรู้ด้วยชิวหา... โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้ด้วยกาย อันสัตว์ปรารถนาใคร่พอใจเป็นที่รัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ดูก่อนอานนท์นี้แลกามคุณ ๕ สุขโสมนัสอันใด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ นี้ สุขและโสมนัสนี้ เรากล่าวว่ากามสุข” “ดูก่อนอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่

“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่า สุขนี้เป็นไฉน.... ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.....
“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.... สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่า สุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตใจภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่นี้แลอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญกว่าผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข นั้นแล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุ จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสและโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน.... ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยมนสิการว่าวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน.... ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า หน่อยหนึ่งไม่มีเพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน.... ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญาตนฌาน เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะได้ โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน.... ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญาตนะได้ โดยประการทั้งปวงอยู่นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.....อธิบาย 👉  ระดับชั้นของสุข เพิ่มเติม

พหุเวทนิยสูตร

🔅 โลกหน้ามีจริงหรือไม่
ปัญหา ปัญหาใหญ่ที่คนถกเถียงกันอยู่เสมอ ก็คือปัญหาที่ว่าโลกหน้าที่มนุษย์จะไปเกิดหลักจากตายแล้วมีจริงหรือไม่? ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์สองพวกนั้น สมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่าทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี อุปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้รู้ทั่ว ไม่มีในโลกดังนี้ เป็นอันหวังข้อนี้ได้คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการ นี้ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการ นี้ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แล้วประพฤติข้อนั้น

เพราะเหตุไร เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นคุณฝ่ายขาวแห่งกุศลธรรมว่าโลกหน้าที่อยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่าไม่มี
ความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฐิ ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขาดำริว่าโลกหน้าไม่มี ความดำริของเขานั้นเป็นมิจฉาสังกัปปะ ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขากล่าวว่าโลกหน้าไม่มี วาจาของเขานั้นเป็นมิจฉาวาจา ผู้นี้ย่อมทำตนเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ ผู้รู้แจ้งโลกหน้า ก็โลกหน้ามีอยู่จริง เขายังให้ผู้อื่นเข้าใจว่า โลกหน้าไม่มี การให้ผู้อื่นเข้าใจของเขานั้นเป็นการให้เข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรม และเขายังจะยกตนข่มผู้อื่น ด้วยการให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ไม่ชอบธรรมนั้นด้วย เขาละคุณคือ ความเป็นคนมีศีลแล้ว ตั้งไว้เฉพาะแต่ส่วนโทษ คือความเป็นคนทุศีลไว้ก่อนเทียว ด้วยประการฉะนี้ อกุศลธรรมอันลามกเป็นอเนกเหล่านี้ คือ มิจฉาทิฐิ มิฉาสังกัปปะ มิจาวาจา ความเป็นข้าศึกต่อพระอริยะ การให้ผู้อื่นเข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรม การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมมีเพราะมิจฉาทิฐิเป็นปัจจัยด้วยประการฉะนี้ ฯ”

อปัณณกสูตร

🔅 ก่อนทำ พูด คิด ควรทำอย่างไร
ปัญหา ก่อนแต่จะทำ จะพูด จะคิดก็ดี ขณะที่กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดอยู่ก็ดี พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำไว้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เธอพึงพิจารณาเสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมนี้ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่นบ้าง กายกรรม วจีกรรม  มโนกรรม นี้เป็นอกุศล มีทุกข์ เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ ดูก่อนราหุล ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของเรานี้พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น เป็นอกุศลมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนี้ เธอไม่พึงทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ โดยส่วนเดียว

“แต่ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม  วจีกรรม มโนกรรม ของเรานี้ ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนี้ เธอพึงทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

จุฬราหุโลวาทสูตร

🔅 อนิสงส์การเจริญภาวนา
ปัญหา การอยู่ในโลกอันเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายนี้ บุคคลจะต้องได้รับการอบรมจิตพอสมควรจึงจะอยู่ได้อย่างสงบสุข พระผู้มีพระภาคทรงแนะวิธีอบรมจิตไว้อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนา (อบรมจิต) เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้น ก็หาไม่ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินนั้น ฉันนั้นแล”

“ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาด้วยน้ำเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ลงในน้ำ น้ำจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้น ก็หาไม่”

“ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตของเธอได้ เปรียบเหมือนลม ย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ลมจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้น ก็หาไม่ ”

“ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ”

“ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาท (ความคิดจองล้าง) ได้ เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิดเพราะเธอเมื่อเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสา (ความคิดเบียดเบียน) ได้เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละอรติ (ความอิจฉาตาร้อน) ได้ เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละปฏิฆะ (ความขุ่นเคือง) ได้ เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะ (ความกำหนัดยินดี) ได้เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่จักละอัสมิมานะ (ความถือตัวว่าเป็นเรา) ได้”

มหาราหุโลวาทสูตร

🔅 ปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ
ปัญหา ได้ทราบว่ามีปัญหาบางประเภทที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบปัญหาดังกล่าวนั้นมีอะไรบ้าง? และเพราะเหตุไรพระพุทธองค์ไม่ทรงตอบ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมาลุงกยบุตร เธอทั้งหลายจงจำปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ และจงจำปัญหาที่เราพยากรณ์ อะไรเล่าที่เราไม่พยากรณ์ ดูก่อนมาลุงกยบุตร ทิฐิว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มีไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ ดังนี้เราไม่พยากรณ์ ก็เพราะเหตุไร ข้อนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่ายเพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูก่อน มาลุงกยบุตร เหตุนั้น เราจึงไม่พยากรณ์ข้อนั้น”

“ดูก่อนมาลุงกยบุตร อะไรเล่าที่เราพยากรณ์ ดูก่อนมาลุงกยบุตร ความเห็นว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังนี้เราพยากรณ์ ก็เพราะเหตุไรเราจึงพยากรณ์ข้อนั้น เพราะข้อนั้นประกอบด้วยประโยชน์เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่ายเพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้น เราจึงพยากรณ์ข้อนั้น”

“ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุคคลใดแลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น (ทิฎฐิ ๑๐ ประการ) ตถาคตไม่พึงพยากรณ์ข้อนั้นเลยและบุคคลนั้นพึงทำกาละ (ตาย) ไปโดยแท้ ดูก่อนมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษต้องศรอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา มิตรอมาตย์ญาติสาโลหิตของบุรุษนั้น พึงไปหานายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมาผ่า บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักบุรุษผู้ยิงเรานั้นว่า เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ สูงต่ำหรือปานกลาง ดำขาวหรือผิวสองสี อยู่บ้าน นิคมหรือนครโน้นเพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้นเป็นชนิดมีแร่หรือเกาทัณฑ์ สายที่ยิงเรานั้นเป็นสายทำด้วยปอ ผิวไม้ ไผ่ เอ็น ป่าน หรือเยื่อไม้ ลูกธนูที่ยิงเรานั้น ทำด้วยไม้ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก ทางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้นเขาเสียบด้วยขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว นกยูง หรือนกชื่อว่าสิถิลหนุ (คางหย่อน) เกาทัณฑ์นั้นเขาพันด้วยเอ็นวัว ควาย ค่าง หรือลิง ลูกธนูชนิดที่ยิงเรานั้นเป็นชนิดอะไร ดังนี้เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น

 ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้บุรุษนั้นพึงทำกาละไปฉันใด ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ทิฐิ ๑๐ นั้น ฯลฯ แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้บุคคลนั้นพึงทำกาละไป ฉันนั้น”

จูฬมาลุงโกยวาทสูตร


วันศุกร์

พระพุทธดำรัส (๒)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏


🔅 วิธีปฏิบัติเมื่อถูกด่าว่า

ปัญหา เมื่อเราถูกด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย เราควรจะปฏิบัติอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ 
๑. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร
๒. พูดเรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง
๓. พูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคาย
๔. พูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์
๕. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะภายในกล่าวก็ตาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายในเราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่งหาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทางซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้นดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แลฯ ”

กกจูปมสูตร


🔅 
มนุษย์ไปเกิดเป็นสัตว์ได้
ปัญหา ตามหลักวิวัฒนาการ มนุษย์เจริญมาจากสัตว์ และจะกลับไปเห็นสัตว์ไม่ได้อีก ทางพระพุทธศาสนามีทรรศนะในเรื่องนี้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และชั้นสู่หนทางนั้นจักเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉาน โดยสมัยต่อมา เราเห็นบุคคลนั้นเบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งกำเนิดดิรัจฉาน เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์.... เปรียบเหมือนหลุมคูถลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยคูถ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผาครอบงำเหน็ดเหนื่อย.... มุ่งมาสู่หลุมคูถนั้นแหละ โดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาตกลงในหลุมคูถนั้น เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าฉันใด ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้นเหมือนกันแลฯ ”

มหาสีนหนาทสูตร

🔅 หลักความเชื่อในพระพุทธศาสนา
ปัญหา ได้ทราบว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา สอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาก่อนจึงเชื่อ แต่อยากทราบว่ามีหลักอะไรบ้างในพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนจะต้องเชื่อ ? และถ้าไม่เชื่อจะมีผลอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงสัยเคลือบแคลง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา.... ในพระธรรม.... ในพระสงฆ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตของภิกษุที่สงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา .... ในพระธรรม..... ในพระสงฆ์นั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อประกอบเนืองๆ เพื่อความทำติดต่อเพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น ข้อที่จิตของภิกษุไม่น้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อความทำติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่นอย่างนี้ ชื่อว่าตะปูตรึงใจ....ฯ ”

เจโตขีลสูตร

🔅 พระพุทธศาสนากับการอยู่ป่า
ปัญหา ในที่มาหลายแห่ง พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการอยู่ป่า ทรงแนะนำให้ภิกษุอยู่ป่า แต่ว่าภิกษุควรจะอยู่ป่าเสมอไปหรือ ? หรือว่ามีข้อยกเว้นอะไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเข้าไปอาศัยป่าชัฏแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เมื่อเธอเข้าไปอาศัยป่าชัฏนั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ก็ไม่พึงความสิ้นไป และภิกษุนั้นไม่ได้บรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูงที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัชบริขารเหล่าใดที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก.... ดูก่อนภิกษุทั่งหลาย ภิกษุนั้นควรหลีกไปเสียจากป่าชัฏนั้น ในเวลากลางคืนหรือในเวลากลางวันก็ตาม ไม่ควรอยู่....ฯ ”

วนปัตถสูตร


🔅 เรียนไม่เป็นก็มีโทษ
ปัญหา คนทั่วไปเข้าใจว่า การเรียนธรรมเป็นของดี มีประโยชน์ แต่ถ่ายเดียว ใครจะทราบว่าการเรียนธรรมก่อให้เกิดทุกข์โทษ มีหรือไม่?


พุทธดำรัสตอบ “.....ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษเหล่าบางพวกในพระธรรม วินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรมคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ บุรุษเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่ไตร่ตรอง เนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นย่อมไม่ควรซึ่งการเพ่งแก่บุรุษเปล่าเหล่านั้น ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญา บุรุษเปล่าเหล่านั้น เป็นผู้มีความข่มผู้อื่นเป็นอานิสงส์ (เรียนเพื่อข่มผู้อื่น) และมีการเปลื้องเสียซึ่งความนินทาเป็นอานิสงส์ (เรียนเพื่อให้คนตำหนิมิได้) ย่อมเล่าเรียนธรรม ก็กุลบุตรทั้งหลายย่อมเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อันใด บุรุษเหล่าเหล่านั้นย่อมไม่ได้เสวยประโยชน์แห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้นอันบุรุษเหล่านั้นเรียนไม่ดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ข้อนั้นเป็นเพราะอะไร เพราะธรรมทั้งหลายอันตนเรียนไม่ดีแล้ว

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการด้วยงูพิษเสาะหางูพิษ เที่ยวแสวงหางูพิษ เขาพึงพบงูพิษตัวใหญ่ พึงจับงูพิษนั้นที่ขนดหรือที่หาง งูพิษนั้นพึงแว้งกัดเขาที่มือ ที่แขน หรือที่อวัยวะใหญ่น้อยแห่งใดแห่งหนึ่ง เขาพึงถึงความตาย หรือความทุกข์ปางตาย มีการกัดนั้นเป็นเหตุข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะงูพิษตนจับไม่ดีแล้ว” 


อลคัททูปมสูตร

🔅 กุญแจสู่มรรคผลและนิพพาน
ปัญหา อะไรเป็นเครื่องมืออันสำคัญ ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้ปุพเพนิวาสนุสสติญาณระลึกชาติก่อนได้ จุตูปปาตญาณ รู้จุติและอุบัติของสัตว์ ทั้งหลาย อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้หมดสิ้นไป?

พุทธดำรัสตอบ “ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ภิกษุนั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก.... ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย..... ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ.... ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์นี้เหตุให้ทุกข์เกิด นี้ความดับทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ทางปฏิบัติเพื่อความดับอาสวะ....“เมื่อภิกษุรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวสาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าพ้นแล้ว ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีฯ ”

จูฬหัตถิปโทปมาสูตร

🔅 วิธีปฏิบัติเมื่อถูกทำร้าย
ปัญหา เมื่อภิกษุถูกเบียดเบียนทำร้าย ทางพระพุทธศาสนาสอนให้พิจารณาอย่างไร ?

พุทธสารีบุตรตอบ “.....ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหารด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศัสตราบ้าง ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพที่เป็นไปด้วยการประหาร ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง.... ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ว่าพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลายด้วยเลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในโจร แม้พวกนั้นย่อมไม่ชื่อว่าทำตามคำสอนของเรา..... อนึ่ง ความเพียรอันเราปรารภแล้ว จักไม่ย่อหย่อน สติอันเราตั้งไว้มั่นแล้วจักไม่หลงลืม กายอันเราให้สงบแล้ว จักไม่กระวนกระวาย จิตอันเราตั้งไว้มั่นแล้ว จักมีอารมณ์อย่างเดียว การประหารด้วยฝ่ามือ.... ด้วย ก้อนดิน.... ด้วยท่อนไม้.... ด้วยศัสตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้เถิด คำสอนของพระพุทธเจ้า .... เราจะทำให้จงได้ดังนี้ ฯ ”

มหาหัตถิปโทปมสูตร

🔅 ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
ปัญหา มีบางคนกล่าวว่า หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ “ธรรมทั้งปวงที่ไม่ควรยึดมั่น” ดังนี้ พระพุทธองค์ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนจอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้ว ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่นย่อมสะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว และทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูก่อนจอมเทพ กล่าวโดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้ว ในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา มีความสำเร็จอันยิ่งยวด ถึงที่สุดอันยิ่งยวด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ ”

จูฬตัณหาสังขยสูตร

🔅 วิญญาณมีจริงหรือ
ปัญหา ศาสนาพราหมณ์ถือว่า ในตัวคนเรามี “วิญญาณ” อันถาวรซึ่งเป็นตัวตนแท้ เป็นผู้พูด ผู้ทำ ผู้รู้ ผู้เสวยผลกรรม ผู้เกิดในภพใหม่ ในเรื่องนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนโมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า ดูก่อนโมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวโดยปริยายเห็นอเนกมิใช่หรือ ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัยมิได้มี ดูก่อนโมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย จะประสบบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฐิที่ตนถือชั่วแล้ว ดูก่อนโมฆบุรุษ ความเห็นของเธอจักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับ (เรียกชื่อ) ด้วยปัจจัยนั้นๆ วิญญาณอาศัยจักษุและรูปเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าจักขวิญญาณ วิญญาณอาศัยโสตและเสียงเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าโสตวิญญาณ วิญญาณอาศัยฆานะ และกลิ่นเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าฆานวิญญาณ วิญญาณอาศัยชิวหาและรสเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าชิวหาวิญญาณ วสิญญาณอาศัยมนะและธรรมารมณ์เกิดขึ้น ก็เรียกว่ามโนวิญญาณ เปรียบเหมือนไฟอาศัยเชื้อใดๆ ติดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยเชื้อนั้นๆ ไฟอาศัยไม้ติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟไม้ ไฟอาศัยป่าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟป่า ไฟอาศัยหญ้าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟหญ้า ไฟอาศัยมูลโคติดขึ้น ก็ถือความนับว่าไฟโคมัย ไฟอาศัยแกลบติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟแกลบ ไฟอาศัยหยากเยื่อติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟหยากเยื่อ ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันและวิญญาณอาศัยปัจจัยใด ๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ ”


มหาตัณหาสังขยสูตร

🔅 ชื่อต่าง ๆ ของพระอริยบุคคล
ปัญหา พระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาย่อมมีชื่อต่างๆ เช่น สมณะ พราหมณ์ นหาตกะ เวทคู โสตติยะ อริยะ อรหันต์ แต่ละชื่อมีความหมายอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย.... เหล่าอกุศลธรรมอันลามก อันนำให้เศร้าหมอง นำให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นระงับเสียแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า สมณะ” 
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นลอยเสียแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พราหมณ์.”
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นอาบน้ำล้างชำระแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า นหาตกะ.”
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นรู้แจ้งแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า เวทคู.”
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นให้หลับไปหมดแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า โสตติยะ.”
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป ห่างไกลจากภิกษุนั้น อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า อริยะ”
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... นำให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป อันภิกษุนั้นกำจัดเสียแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า อรหันต์....”

มหาตัณหาสังขยสูตร

🔅 ทำอย่างไรจะเข้าถึงแก่นพระศาสนา
ปัญหา ธรรมดาต้นไม้ใหญ่ย่อมมีทั้งใบอ่อน สะเก็ด เปลือก กระพี้และแก่น พระพุทธศาสนาซึ่งเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ ก็น่าจะมีเครื่องประกอบเหล่านี้อะไรคือใบอ่อน สะเก็ด เปลือก กระพี้ และแก่นของพระพุทธศาสนา?  ภิกษุในพระพุทธศาสนาควรจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะเข้าถึงแก่นพระศาสนา?

พุทธดำรัสตอบ “...กุลบุตรบางคนในโลกนี้คิดเห็นว่าเราเป็นผู้อันความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกแลความร่ำไรแลทุกข์และความเสียใจความคับแค้นทั้งหลายครอบงำแล้ว... เป็นผู้ออกจากเรือนบวชแล้ว ในธรรมวินัยด้วยศรัทธา... ครั้นบวชแล้วอย่างนั้น ให้ลาภสักการะความสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ เธอก็เป็นผู้มีความยินดีเต็มความดำริด้วยลาภสักการะความสรรเสริญนั้น ย่อมยกตนข่มผู้อื่น ... ว่าเราเป็นผู้มีลาภสักการะแลความสรรเสริญส่วนภิกษุเหล่าอื่นเป็นผู้ลี้ลับมีศักดานุภาพน้อย ดังนี้ เธอไม่ให้เกิดความพอใจไม่พากเพียร เพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายอันยิ่งกว่าประณีตกว่าลาภสักการะความสรรเสริญนั้น... เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้... เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่ มีแก่นตั้งอยู่ กระพี้ เปลือกสะเก็ดเสีย เด็ดเอาใบอ่อนที่กิ่งด้วยเข้าใจว่าแก่นถือเอาไป กิจซึ่งควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้ (พอใจแค่ลาภสักการะ)

“...กุลบุตรอีกคนหนึ่ง เห็นทุกข์อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ออกจากเรือนบวชในธรรมวินัย... ให้ลาภสักการะสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่อย่างนั้น แต่ไม่เป็นผู้มีใจยินดีด้วยลาภสักการะสรรเสริญนั้น... เธอให้ความถึงพร้อมด้วยศีลเกิดขึ้นอยู่ ครั้นให้ความถึงพร้อมด้วยศีลเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นผู้มีใจยินดีเต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น ไม่พากเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายที่ประณีตกว่าศีล เรากล่าวบุคคลนี้ว่าเปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้... เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่... ล่วงแก่นกระพี้ เปลือกเสียถากเอาสะเก็ดเข้าใจว่าแก่นถือเอาไปกิจที่ควรทำด้วยแก่นไม้ ของบุรุษนั้นก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้ (ถือเฉพาะศีลว่าที่สุด)

“...ผู้หนึ่งครั้นบวชแล้ว ให้ลาภสักการะความสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ให้ความถึงพร้อมด้วยศีล เกิดขึ้นอยู่... แต่ไม่เต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น เธอให้ความถึงพร้อมด้วยสมาธิเกิดขึ้น ครั้นให้ความถึงพร้อมด้วยสมาธิเกิดขึ้นแล้ว เธอก็มีใจยินดีเต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยสมาธินั้น ยกตนข่มผู้อื่นเพราะความถึงพร้อมด้วยสมาธินั้น ... ไม่พากเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมอื่น ซึ่งประณีตกว่าความถึงพร้อมด้วยสมาธิ เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้...เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่ล่วงแก่นกระพี้เสีย ถากเอาเปลือกเข้าใจว่าแก่นถือเอาไป กิจซึ่งควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้ (ถือเฉพาะศีลและสมาธิว่าที่สุด)

“...ผู้หนึ่งครั้นบวชแล้ว ให้ลาภสักการะความสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ให้ความถึงพร้อมด้วยศีล ความถึงพร้อมด้วยสมาธิเกิดขึ้นแล้ว... แต่ไม่เต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น เธอให้ญาณทัสสนะคือ ความรู้ความเห็นเกิดขึ้นได้ ครั้นให้ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแล้ว เธอก็มีใจยินดี... ย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วย ญาณทัสสนะ นั้น ... ไม่พากเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายอื่นซึ่งประณีตกว่า... เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้...เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่ล่วงแก่นกระพี้เสีย ถากเอาเปลือกเข้าใจว่าแก่นถือเอาไป กิจซึ่งควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้ (ถือเฉพาะศีล,สมาธิ และญาณที่ตนได้ว่าที่สุด ก็เพียงแค่เปลือกเช่นเดียวกัน)

“...กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ครั้นบวชแล้ว ให้ลาภสักการะสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ ... ให้ความถึงพร้อมด้วยศีลแลสมาธิแล ญาณทัสสนะเกิดขึ้นอยู่ เธอก็ไม่เป็นผู้มีใจยินดี... พากเพียรอยู่เพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายอื่นอันประณีตกว่าญาณทัสสนะ ธรรมที่ยิ่งกว่าประณีตกว่าญาณทัสสนะเป็นไฉน “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุฌานที่แรก... ธรรมนี้ยิ่งกว่าประณีตกว่าญาณทัสสนะ “อีกข้อหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้บรรลุฌานที่สาม... ได้บรรลุฌานที่สี่ ... บรรลุอากาสานัญจายตนอรูปฌาน... บรรลุวิญญาณัญจายตนอรูปฌาน...บรรลุอากิญจัญญายตนอรูปฌาน... บรรลุเนวสัญญานาสัญญานอรูปฌาน... บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ... อาสวะทั้งหลายของภิกษุนั้นสิ้นไปแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา แม้ธรรมนี้ก็ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบเหมือนบุรุษต้องการแก่นไม้... เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่รู้จักว่าแก่น ตัดเอาแต่แก่นเท่านั้นถือเอาไป กิจที่ควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักสำเร็จประโยชน์ได้ ดังนี้ “พรหมจรรย์นี้มิใช่มีลาภสักการะความสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมด้วยศีลและสมาธิ แลญาณทัสสนะเป็นอานิสงค์ พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุติ ความที่จิตพ้นวิเศษอันไม่กำเริบนี้แลเป็นประโยชน์ พรหมจรรย์นี้มีวิมุตินั้นเป็นแก่นสาร มีวิมุตินั้นเป็นที่สุดรอบ” (ถือเอาพระนิพพานเป็นที่สุด จึงชื่อว่าถึงแก่น)

จูฬสาโรปมสูตร 

🔅 โทษของกาม
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงอธิบายเปรียบเทียบความสุข อันเกิดแต่กามไว้อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนสุนัขอันความเพลียเพราะความหิวเบียดเบียนแล้ว พึงเข้าไปยืนอยู่ใกล้เขียงของนายโคฆาต นายโคฆาตหรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ฉลาด พึงโยนร่างกระดูกที่เชือดชำแหละออกจนหมดเนื้อแล้วเปื้อนแต่เลือดไปยังสุนัข ฉันใด ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบด้วยร่างกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”

“ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนแร้งก็ดี นกตะกรุมก็ดี เหยี่ยวก็ดี พาชิ้นเนื้อบินไป แร้งทั้งหลาย หรือนกตะรุมทั้งหลาย หรือเหยี่ยวทั้งหลายจะพึงโผเข้ารุมจิกแย่งชิ้นเนื้อนั้น ฉันใด ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”

“ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงถือคบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่วแล้ว เดินทวนลมไปฉันใด ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยคบเพลิง มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”

“ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงลึกกว่าชั่วบุรุษหนึ่ง เต็มด้วยถ่านเพลิงอันปราศจากเปลว ปราศจากควัน บุรุษผู้รักชีวิต ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ พึงมา บุรุษมีกำลังสองคนช่วยกันจับแขนบุรุษนั้นข้างละคน ฉุดเข้าไปยังหลุมถ่านเพลิง ฉันใด ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”

“ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงฝันเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ ภาคพื้นอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ บุรุษนั้นตื่นขึ้นแล้ว ไม่พึงเห็นอะไร ฉันใด ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยความฝัน มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”

“ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงยืมโภคสมบัติ มีแก้วมณีและกุณฑลอย่างดีบรรทุกยานไป เขาแวดล้อมด้วยทรัพย์สมบัติที่ตนยืมมา พึงเดินไปภายในตลาด คนเห็นเขาเข้าแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญบุรุษผู้นี้มีโภคสมบัติหนอ ได้ยินว่าชนทั้งหลายผู้มีโภคสมบัติ ย่อมใช้สอยโภคสมบัติอย่างนี้ดังนี้ พวกเจ้าของพึงพบบุรุษนั้น ณ ที่ใดๆ พึงนำเอาของตนคืนไปในที่นั้นๆ ฉันใด ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยของยืม มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”

“ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนราวป่าใหญ่ที่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม ต้นไม้ในราวป่านั้น พึงมีผลรสอร่อย ทั้งมีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว บุรุษผู้ต้องการผลไม้ พึงมาเที่ยวเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้น เห็นต้นไม้อันมีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่าต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว แต่เรารู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงขึ้นต้นไม่นี้แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เราขึ้นต้นไม้นั้นแล้ว กินจนอิ่มและห่อพกไว้ ลำดับนั้นบุรุษคนที่สองต้องการผลไม้ ถือขวานอันคมเที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้เขาแวะยังราวป่านั้นแล้ว เห็นต้นไม้มีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว และเราก็ไม่รู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงตัดต้นไม้นี้แค่โคนต้นแล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เขาพึงตัดต้นนั้นแค่โคนต้น ฉันใด ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยผลไม้ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”

โปตลิยสูตร
(หมายเหตุ 👉 ทำเข้าใจ คุณ โทษและความยุ่งยากในการแสวงหากามคุณ)


พระพุทธดำรัส (๑)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏

🔅 ผลของศรัทธาในพระพุทธเจ้า
ปัญหา ในศาสนาฝ่ายเทวนิยม ผู้ใดมีความเชื่อและความรักในพระผู้เป็นเจ้า ผู้นั้นย่อมมีหวังเข้าสู่สวรรค์ ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ บุคคลใดมีเพียงความเชื่อ เพียงความรักเราบุคคลนั้นทั้งหมดเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า”

ผลแห่งการละกิเลส

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใด เป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่จำต้องทำ ทำเสร็จแล้ว มีภาระ ปลงลงแล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีสัญโญชน์ในภพหมดสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่มีวัฏฏะ เพื่อจะบัญญัติต่อไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใดละ👉โอรัมภาคิยสัญโญชน์ทั้ง ๕ ประการ ได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดเป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในโลกนั้น มีการไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใดละสัญโญชน์ ๓ ประการได้แล้ว กับมีราคะโทสะและโมหะบางเบา ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นพระสกทาคามี มาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว ภิกษุเหล่าใดละสัญโญชน์ ๓ ประการได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เป็นพระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีปัญญาเครื่องตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้วภิกษุเหล่าใด ผู้เป็นธัมมานุสารี เป็นสัทธานุสารี ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด มีปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ดีเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เป็นของตื้น เปิดเผย ปรากฏ แยกขยายแล้ว บุคคลเหล่าใด มีเพียงความเชื่อ เพียงความรักในเรา บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีสวรรค์ เป็นที่ไปในเบื้องหน้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นมีใจชื่นชม เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

อลคัททูปมสูตร


🔅 โดยปรมัตถ์ ธาตุ ๔ ก็ไม่ควรยืดถือ
ปัญหา การที่พระพุทธองค์ตรัสถึงเรื่องธาตุ ๔ นั้น พระองค์ทรงเชื่อว่ามีธาตุ ๔ จริงๆ หรือเพราะทรงเรียกตามโวหารโลกที่คนเข้าใจกันอยู่ในสมัยนั้น? มีพระพุทธพจน์ตอนไหนบ้างที่แสดง ธาตุ ๔ เป็นแต่สิ่งสมมติ?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ ไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้ธาตุดิน ย่อมรู้ธาตุน้ำ ย่อมรู้ธาตุไฟ ย่อมรู้ธาตุลมโดยความเป็นธาตุลม ครั้นรู้ธาตุลมโดย ความเป็นธาตุลม แล้วย่อมสำคัญหมายธาตุลม ย่อมสำคัญหมายโดยความเป็นธาตุลม ย่อมสำคัญหมายธาตุลมว่าเป็นของเรา ย่อมยินดีธาตุลมข้อนั้นเพราะอะไร เรากล่าวว่า เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันต์ขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์เสร็จกิจแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ตนแล้ว สิ้นกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพแล้ว หลุดพ้นด้วยปัญญาอันชอบแล้ว แม้ภิกษุนั้นย่อมรู้ธาตุดินโดยความเป็นธาตุดิน ย่อมรู้ธาตุน้ำโดยความเป็นธาตุน้ำ ย่อมรู้ธาตุไฟโดยความเป็นธาตุไฟ  ย่อมรู้ธาตุลมโดยความเป็นธาตุลม ครั้นรู้ธาตุลมโดยความเป็นธาตุลมแล้ว ย่อมสำคัญหมายธาตุลม ย่อมไม่สำคัญหมายโดยความเป็นธาตุลม ย่อมไม่สำคัญหมายธาตุลมว่าเป็นของเรา ย่อมไม่ยินดีในธาตุลม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอกำหนดรู้แล้วฯ”

มูลปริยายสูตร

🔅 ทิพยจักษุมีได้จริง 
ปัญหา ตามพุทธประวัติกล่าวว่า พระปัญจวัคคีย์ทั้งห้าได้ทอดทิ้งพระสมณศากยมุนี หนีไปก่อนที่พระองค์จะได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ซึ่งอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ซึ่งเป็นระยะทางไกลมาก พระองค์ทรงทราบได้อย่างไรว่า พระปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และเสด็จไปโปรดถูกที่?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจึงคิดว่า เราจะแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่ใครหนอ ใครจักทราบชัดธรรมนี้ได้โดยเร็ว เราจึงคิดว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้อุปัฎฐากเราผู้กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่ เป็นผู้มีอุปการะแก่เรามากนัก ถ้าไฉน เราพึงแสดงธรรมเป็นครั้งแรกแก่พวกเธอ เราจึงคิดว่า บัดนี้ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ เราก็รู้ได้ว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสีด้วยทิพยจักษุที่บริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ครั้นเราอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้ออกจาริกไปเมืองพาราณสี ฯ

ปาสราสิสูตร

🔅 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ
ปัญหา เท่าที่ได้สดับมานั้น เราจะละอาสวะได้โดยอาศัยการปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญาอย่างเคร่งครัดเท่านั้น มีวิธีใดอีกบ้างหรือไม่ที่เราจะละอาสวะได้?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นมีอยู่ ที่จะพึงละได้เพราะการสังวรก็มี ที่จะพึงละได้เพราะการเว้นรอบก็มี ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้นก็มี ที่จะพึงละได้เพราะการบรรเทาก็มี ที่จะพึงละได้เพราะการอบรมก็มี”

ปัญหา ข้อที่ว่าอาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นนั้นหมายถึงอาสวะประเภทไหน และการเห็นนั้นเห็นอย่างไร? 👉 ขอยกการละอาสวะทั้งหมดมาอธิบายที่นี่ 

สัพพาสวสังวรสูตร 

🔅 ไม่ควรคำนึงอดีตหรืออนาคต
ปัญหา ข้อที่ว่าอาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นนั้นหมายถึงอาสวะประเภทไหน และการเห็นนั้นเห็นอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมนสิการโดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญขึ้น ปุถุชนมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า”

“เราได้มีแล้วในอดีตกาลหรือหนอ เราไม่ได้มีแล้วในอดีตกาลหรือหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอย่างไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรแล้วจึงเป็นอะไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักมีหรือหนอ ในอนาคตกาลเราจักไม่มีหรือหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอย่างไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไร แล้วจึงจักเป็นอะไรหนอ หรือว่าปรารภกาลปัจจุบัน ในบัดนี้ มีความสงสัยขึ้นภายในว่าเรามีอยู่หรือเราไม่มีหรือ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ และมักจักไป ณ ที่ไหน

ดูการละอาสวะด้วยการเห็น ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ


🔅 ทิฐิเกี่ยวกับอัตตา และอนัตตา
ปัญหา ทิฐิเกี่ยวกับอัตตา และอนัตตา?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมนสิการโดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญขึ้น เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ ทิฐิอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาทิฐิ ๖ ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนนั้นว่า
(๑) อัตตาของเรามีอยู่
(๒) อัตตาของเราไม่มี
(๓) เราย่อมรู้อัตตาด้วยอัตตา
(๔) เราย่อมรู้อนัตตาด้วยอัตตา
(๕) เราย่อมรู้อัตตาด้วยอนัตตา
(๖) อัตตาของเรานี้ได้เป็นผู้เสวย (ในอดีต) ย่อมเสวย (ในปัจจุบัน) วิบากของกรรมทั้งดีทั้งชั่วในอารมณ์นั้นๆ ก็ตนของเรานี้นั้นเป็นของเที่ยง ยั่งยืนติดต่อ ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดาจักตั้งอยู่อย่างนั้น เสมอด้วยสิ่งยั่งยืนแท้

ข้อนี้เรากล่าวว่าทิฐิ ชัฏคือทิฐิ ทางกันดารคือทิฐิ เสี้ยนหนามคือทิฐิ ความดิ้นรนคือทิฐิ สิ่งที่ประกอบสัตว์ไว้ คือทิฐิ เรากล่าวว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ผู้ประกอบด้วย ทิฐิ สังโยชน์ ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส

ดูทิฐิ ๖ ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ


🔅 ธรรมที่ควรมนสิการคืออริยสัจ ๔
ปัญหา ธรรมที่ควรมนสิการคืออริยสัจ ๔

พุทธดำรัสตอบ “อริยสาวกนั้นย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่าจะพึงละได้เพราะการเห็น”
ดูการละอาสวะด้วยการเห็น ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ , อธิบายอริยสัจ

🔅 การละอาสวะด้วยการสังวร
ปัญหา ข้อที่ว่า อาสวะ อาจละได้ด้วยการสังวรนั้นหมายความว่าอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในจักขุนทรีย์ ในโสตินทรีย์ ในฆานินทรีย์ ในชิวหินทรีย์ ในมนินทรีย์  ก็อาสวะแล้วความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใดพึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวมในมนินทรีย์อยู่ อาสวะแล้วความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สำรวมในมนินทรีย์อยู่อย่างนี้ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าจะถึงละได้เพราะการสังวรฯ”


ดูการละอาสวะด้วยการสังวร ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ

🔅 การละอาสวะด้วยการพิจารณาเสพ
ปัญหา ข้อที่ว่า อาจจะละอาสวะได้ด้วยการพิจารณาเสพนั้นหมายความว่าอย่างไร ? พิจารณาอะไร? เสพอะไร?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพจีวรเพียงเพื่อกำจัดความหนาวร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบิณฑบาต มิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่เพื่อให้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่าจะกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วยจะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไป ความไม่มีโทษและความอยู่สบายด้วย จักมีแก่เรา ฉะนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วย่อมเสพเสนาสนะเพียงเพื่อกำจัด หนาวร้อน สัมผัสแห่งเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดูเพื่อรื่นรมย์ในการออกเร้นอยู่ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบริขารคือยา อันเป็นปัจจัยแก่คนไข้เพียงเพื่อกำจัดเวทนาที่เกิด แต่อาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง ฯ

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะแล้วความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนี้ ผู้ไม่พิจารณาเสพปัจจัยอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้พิจารณาเสพอยู่อย่างนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าจะพึงละได้ด้วยการพิจารณาเสพฯ”

ดูการละอาสวะด้วยการเสพ ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ

🔅 การละอาสวะด้วยความอดกลั้น
ปัญหา ข้อที่ว่าอาสวะด้วยความอดกลั้น นั้น หมายถึงความอดกลั้นต่ออะไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย สัมผัส แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นผู้มีชาติของผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าว ชั่ว ร้ายแรง ต่อเวทนาที่มีอยู่ในตัว ซึ่งยังเกิดขึ้นเป็นทุกข์ กล้า แข็ง เผ็ด ร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ชอบใจ อาจพร่าชีวิตเสียได้

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะแล้วความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ไม่อดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้อดกลั้นอยู่อย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าจะพึงละได้เพราะความอดกลั้น”

ดูการละอาสวะด้วยความอดกลั้น ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ

🔅 การละอาสวะด้วยการเว้นขาด
ปัญหา ข้อที่ว่าอาสวะด้วยการเว้นขาดนี้ หมายถึงการเว้นจากอะไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เว้นช้างที่ดุร้าย ม้าที่ดุร้าย โคที่ดุร้าย สุนัขที่ดุร้าย งู หลัก ตอ สถานที่มีหนาม บ่อ เหว ที่เต็มด้วยของไม่สะอาดโสโครก เพื่อพรหมจรรย์ ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย พึงกำหนดลงซึ่งบุคคลผู้นั่ง ณ ที่มิใช่อาสนะเห็นปานใด ผู้เที่ยวไป ณ ที่มิใช่โคจรเห็นปานใด ผู้คบมิตรที่ลามกเห็นปานใด ในสถานที่ทั้งหลายอันลามก ภิกษุนั้นพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เว้นที่มิใช่อาสนะนั้น ที่มิใช่โคจรนั้น และมิตรผู้ลามกเหล่านั้น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายจริงอยู่ อาสวะและความเร่าร้อน อันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่เว้นสถานที่หลักบุคคลอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนเหล่านั้น ย่อมมีแก่ภิกษุนั้นผู้เว้นขาดอยู่อย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่าจะพึงละได้เพราะการเว้นขาด”

ดูการละอาสวะด้วยการเว้นขาด ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ

🔅 การละอาสวะด้วยการบรรเทา
ปัญหา ข้อที่ว่าอาสวะด้วยการบรรเทานี้ หมายถึงการบรรเทาอะไรโดยวิธีใด ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทากามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว พยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา ธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่บังเกิดขึ้นแล้วทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่บรรเทาอันใดอันหนึ่ง อาสวะแล้วความเร่าร้อน เหล่านั้นย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้บรรเทาอยู่อย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความบรรเทาฯ”

ดูการละอาสวะด้วยการบรรเทา ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ

🔅 การละอาสวะด้วยการอบรม
ปัญหา ข้อที่ว่าอาสวะด้วยการอบรมนั้น หมายถึงการอบรมอะไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติสัมโพชฌงค์ เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะ และความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่อบรมธรรมอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อน เหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้อบรมอยู่อย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่าจะพึงละได้เพราะการอบรม”

ดูการละอาสวะด้วยการอบรม ในหัวข้อ 👉 วิธีละอาสวะ ๗ ประการ

🔅 เหตุทำให้เกิดความกลัวป่าเปลี่ยว
ปัญหา เพราะเหตุใดผู้บำเพ็ญเพียรทางจิตใจบางท่าน เมื่อเข้าไปอยู่ในป่าเปลี่ยวจึงเกิดความหวาดกลัว แต่บางท่านก็ไม่หวาดกลัว?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนพราหมณ์ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ มีวจีกรรมไม่บริสุทธิ์ มีมโนกรรมไม่บริสุทธิ์ มีอาชีวะไม่บริสุทธิ์ มีความอยากได้ มีราคะกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริในใจชั่ว อันถีนมิทธะกลุ้มรุมแล้ว ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบระงับ มีความสงสัยเคลือบแคลง ยกตนข่มผู้อื่น เป็นผู้หวาดหวั่น มีชาติแห่งคนขลาด ปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญ เป็นผู้เกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด มีปัญญาทราม เป็นใบ้ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัดที่เป็นป่าและเป็นป่าเปลี่ยว สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมเกิดมีความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะโทษของตนคือความเป็นผู้มีปัญญาทรามและเป็นคนบ้าใบ้เป็นเหตุ ฯ”

ภยเภรวสูตร

🔅 ความกลัวบางอย่างเกิดจากตนเป็นเหตุ
ปัญหา มีผู้กล่าวว่า ความหวาดกลัวบางอย่างเกิดจากความเข้าใจผิดของตนเอง มีความจริงเพียงใด และจะกำจัดความหวาดกลัวชนิดนี้ได้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนพราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ไฉนหนอเราพึงอยู่ในราตรี ที่กำหนดกันว่า ที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักข์ พึงอยู่ในเสนาสนะคือ อารามเจดีย์ วนเจดีย์ รุกขเจดีย์ น่าสะพรึงกลัว น่าขนพองสยองเกล้า ถ้ากระไร เราพึงเห็นความกลัวและความขลาด ดังนี้ ดูก่อนพราหมณ์ ต่อมา เราอยู่ในราตรี เห็นปานนั้น อยู่ในเสนาสนะเห็นปานนั้น ก็เมื่อเราอยู่ในเสนาสนะเห็นปานนั้น เนื้อมาก็ดี นกยูงทำไม้ให้ ตกลงมาก็ดี หรือว่าลมพัดใบไม้ให้ตกลงมาก็ดี เรานั้นได้มีความดำริอย่างนี้ว่าแน่นอน ความกลัวและความขลาดนั้นกำลังมา เราได้มีความดำริอย่างนี้ว่าไฉนหนอเราจึงเป็นผู้ปรารถนาภัยอยู่โดยแท้ ทำอย่างไรหนอเราจะพึงกำจัดให้ความหวาดกลัวและความขลาด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง ?”

ภยเภรวสูตร

🔅 ความเห็นอันถูกต้องของพระสาวก
ปัญหา สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องมีทรรศนะเกี่ยวกับชีวิตอย่างไร จึงจะถือว่าถูกต้องตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนอัคคิเวสสะ สาวกของเราในพระธรรมวินัยนี้ย่อมเห็นเบญจขันธ์นั้นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่มาถึงทั้งที่เกิดขึ้นเฉพาะในบัดนี้ ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดก็เป็นแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเราดังนี้

“ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ด้วยเหตุเท่านี้แหละ สาวกของเราจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูกตามโอวาท ข้ามความสงสัยเสียได้ ปราศจากความแคลงใจอันเป็นเหตุให้กล่าวว่าข้อนี้เป็นอย่างไร ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น อยู่ในคำสอนของศาสดาตนฯ”

จูฬสัจจกสูตร

🔅 วิธีกำจัดความขลาด
ปัญหา ความกลัวก็ดี ความขลาดก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่เราเป็นครั้งคราว เราจะกำจัดความกลัวและความขลาดได้โดยวิธีใด?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพึงหวังว่าเราพึงเป็นผู้ข่มความกลัวและความขลาดได้ อนึ่ง ความกลัวและความขลาดอย่าพึงครอบงำเราได้เลย เราพึงครอบงำย่ำยีความกลัวและความขลาดที่เกิดขึ้นแล้วได้อยู่เถิดดังนี้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่ทำตนให้เหินห่างจากฌาน พอกพูนสุญญาคาร (คือพยายามอยู่ในเรือนว่างหรือที่สงัดเงียบ บำเพ็ญเพียรทางจิตใจ) ”

อากังเขยยสูตร

🔅 วิธีสร้างอิทธิฤทธิ์
ปัญหา อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ เป็นสิ่งมีได้จริงหรือ? ถ้ามีจริงจะมีวิธีสร้างได้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุ ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือ คนเดียวพึงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนพึงเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝ่ากำแพง ภูเขาไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ พึงผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ พึงเดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ก็ได้”

“ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่าเราพึงได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ถ้าภิกษุจะถึงหวังว่าเราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ มีโทสะ มีโมหะ ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่าเราพึงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือพึงระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ว่าในภพโน้นเรามีชื่อย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้น ๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้... “ถ้าภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ พึงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้เถิด ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีล ประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา พอกพูนสุญญาคาร(เรือนว่าง) ฯ”

อากังเขยยสูตร

🔅 การล้างบาปด้วยน้ำ
ปัญหา ลัทธิพราหมณ์ถือว่า กระทำบาปแล้วอาจจะชำระล้างให้หมดสิ้นไปด้วยการอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำคงคา เป็นต้น ทางพระพุทธศาสนามีทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “คนพาล มีกรรมดำ (บาป) แล่นไปยังแม่น้ำพาหุกาท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคะยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดีแม้เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้ จะชำระนรชนผู้มีเวรทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมอันเป็นบาปนั้นให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย ผัคคุณฤกษ์ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ อุโบสถก็ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานอันสะอาด ย่อมถึงพร้อมทุกเมื่อ ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจงอาบในคำสอนของเรานี้เถิด จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาวัตถุที่เขาไม่ให้เป็นผู้มีความเชื่อ ไม่ตระหนี่ไซร้ ท่านจักต้องไปยังท่าน้ำคะยาทำไม แม้การดื่มน้ำในท่าน้ำคะยาก็จักทำอะไรให้แก่ท่านได้ฯ

วัตถูปมสูตร
 

🔅 ความหมายของสัมมาทิฐิ
ปัญหา ข้อที่ว่าสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบนั้นหมายถึงเห็นอะไร ?

พุทธสารีบุตรตอบ “ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดซึ่งอกุศล และรากเหง้าของอกุศล รู้ชัดซึ่งกุศล และรากเหง้าของกุศล รู้ชัดซึ่งอาหาร (๔ ประการ คือ อาหารคือคำข้าว อาหารคือผัสสะ อาหารคือความจงใจ และอาหารคือความรู้แจ้งทางทวาร ๖) เหตุเกิดแห่งอาหาร (ตัณหา) ความดับอาหาร และทางที่จะให้ถึงความดับอาหาร (มรรคมีองค์ ๘) รู้ชัดซึ่งทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางให้พึงความดับทุกข์ รู้ชัดซึ่งชราและมรณะเหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับชราและมรณะ และทางที่จะให้ถึงความดับชราและมรณะ รู้ชัดซึ่งชาติ ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ อายตนะ ๖ นามรูป วิณญาณ สังขาร อวิชชา อาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะความดับแห่งอาสวะ และทางปฏิบัติเพื่อถึงความดับอาสวะแม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฐิ”

สัมมาทิฐิสูตร



วันอังคาร

วิธีละอาสวะ ๗ ประการ

ปุจฉา  เท่าที่ได้สดับมานั้น เราจะละอาสวะได้โดยอาศัยการปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญาอย่างเคร่งครัดเท่านั้น มีวิธีใดอีกบ้างหรือไม่ที่เราจะละอาสวะได้? 

พุทธดำรัสตอบ “....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่จะพึงละได้เพราะการเห็นมีอยู่ ที่จะพึงละได้เพราะการสังวรก็มี ที่จะพึงละได้เพราะเสพเฉพาะก็มี ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้นก็มี ที่จะพึงละได้เพราะเว้นรอบก็มี ที่จะพึงละได้เพราะบรรเทาก็มี ที่จะพึงละได้เพราะอบรมก็มี

อรรถาธิบาย

🔆 อาสวะพึงละได้เพราะการเห็น
ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมอันตนควรมนสิการ ย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมอันตนไม่ควรมนสิการ เมื่อเขาไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการย่อมมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ

ธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ที่ปุถุชนมนสิการอยู่เป็นไฉน?
เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่เขามนสิการอยู่

ก็ธรรมที่ควรมนสิการที่ปุถุชนไม่มนสิการอยู่เป็นไฉน?
เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดีที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป ธรรมที่ควรมนสิการเหล่านี้ 

ที่เขาไม่มนสิการอยู่ เพราะมนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะไม่มนสิการธรรมที่ควรมนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญแก่ปุถุชนนั้น 

ปุถุชนนั้นมนสิการอยู่โดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า เราได้มีแล้วในอดีตกาลหรือเราไม่ได้มีแล้วในอดีตกาล เราได้เป็นอะไรหนอ เราได้เป็นอย่างไร เราได้เป็นอะไรแล้วจึงเป็นอะไร ในอนาคตกาลเราจักมีหรือเราจักไม่มีเราจักเป็นอะไร เราจักเป็นอย่างไร เราจักเป็นอะไรแล้วจึงจักเป็นอะไร หรือว่า ปรารภกาลปัจจุบันในบัดนี้ มีความสงสัยขึ้นภายในว่าเรามีอยู่หรือเราไม่มีอยู่ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ และมันจักไปที่ไหน เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการอยู่โดยไม่แยบคายอย่างนี้ บรรดาทิฏฐิ ๖ ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนนั้นว่า ....

เหตุแห่งทิฏฐิ ๖
ดูกรภิกษุทั้งหลายเหตุแห่งทิฏฐิ ๖  ประการเหล่านี้ ๖ ประการ เป็นไฉน?
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้

๑. ย่อมพิจารณาเห็นรูปว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา 
๒. ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา 
๓. ย่อมพิจารณาเห็นสัญญาว่า นั่นของเรา เราเป็นนั้น  นั่นเป็นอัตตาของเรา 
๔. ย่อมพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา   
๕. ย่อมพิจารณาเห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว อารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั้นเป็นอัตตาของเรา 
๖. ย่อมพิจารณาเห็นเหตุแห่งทิฏฐิว่า นั้นโลก นั้นอัตตาในปรโลก เรานั่นจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เสมอด้วยความเที่ยงอย่างนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา

ทิฏฐิย่อมเกิดมีแก่ปุถุชนนั้นอย่างนี้ว่า ตนของเราเป็นผู้เสวย ย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมทั้งดีทั้งชั่วในอารมณ์นั้น ๆ ก็ตนของเรานี้นั้นเป็นของแน่นอน ยั่งยืน เที่ยงแท้ ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอด้วยสิ่งยั่งยืนแท้ข้อนี้เรากล่าวว่าทิฏฐิ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมไม่พ้นจากทุกข์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ
๑. ย่อมพิจารณาเห็นรูปว่านั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา 
๒. ย่อมพิจารณา เห็นเวทนาว่านั่นไม่ใช่ของเรา  เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา 
๓. ย่อมพิจารณาเห็นสัญญาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น  นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา 
๔. ย่อมพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น  นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา   
๕. ย่อมพิจารณาเห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว อารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วแล้วด้วยใจว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา   
๖. ย่อมพิจารณาเห็นเหตุแห่งทิฏฐิว่า นั่นโลก นั่นตน ในปรโลก เรานั้นจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เสมอด้วยความเที่ยงอย่างนั้นว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา  พระอริยสาวกนั้นพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่สะดุ้ง ในเพราะสิ่งที่ไม่มีอยู่ 

ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำด้วยดีในธรรมของพระอริยะ ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการ เมื่ออริยสาวกนั้นรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ ก็ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกไม่มนสิการ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่อริยสาวกไม่มนสิการ

ธรรมที่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกมนสิการอยู่ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป ธรรมที่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่อริยสาวกมนสิการอยู่

เพราะไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว จะเสื่อมสิ้นไปแก่อริยสาวกนั้น อริยสาวกนั้นย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป 

อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น

🔆 อาสวะพึงละได้เพราะการสังวร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะการสังวร?  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วเป็นผู้สำรวมแล้วด้วยความสำรวม ในจักขุนทรีย์อยู่ ในโสตินทรีย์อยู่ ในฆานินทรีย์อยู่ ในชิวหินทรีย์อยู่ ในกายินทรีย์อยู่ ในมนินทรีย์อยู่

ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้สำรวมในอินทรีย์อยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการสังวร 

👉 ดูอินทรีย์สังวรในวิสุทธิมรรคเพิ่มเติม

🔆 อาสวะพึงละได้เพราะการเสพ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพจีวรเพียงเพื่อกำจัด หนาว ร้อน สัมผัส แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อจะปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบิณฑบาตมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้เป็นไป เพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า จะกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วย จะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไป ความไม่มีโทษ และความอยู่สบายด้วย จักมีแก่เราฉะนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพเสนาสนะ เพียงเพื่อกำจัดหนาวร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดู เพื่อรื่นรมย์ในการหลีกออกเร้นอยู่ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เสพบริขาร คือ ยาอันเป็นปัจจัยบำบัดไข้ เพียงเพื่อกำจัดเวทนาที่เกิดแต่อาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นผู้ไม่พิจารณาเสพปัจจัยอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้พิจารณาเสพอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการพิจารณาเสพ

👉 ดูปัจจัย ๔ ที่ใช้เสพเพิ่มเติมในปัจจยสันนิสิตศีล

🔆 อาสวะพึงละได้เพราะการอดกลั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหน ที่จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นผู้มีชาติของผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าวชั่ว ร้ายแรงต่อเวทนาที่มีอยู่ในตัว ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว เป็นทุกข์ กล้า แข็ง เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ชอบใจ อาจพล่าชีวิตเสียได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิด ขึ้นแก่ภิกษุนั้นผู้ไม่อดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้อดกลั้นอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความอดกลั้น

👉 อธิบายไว้ในการสร้างขันติบารมี

🔆 อาสวะพึงละได้เพราะการเว้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะความเว้นรอบ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นช้างที่ดุร้าย ม้าที่ดุร้าย โคที่ดุร้าย สุนัขที่ดุร้าย งู หลักตอ สถานที่มีหนาม บ่อ เหว แอ่งน้ำครำ บ่อน้ำครำ เพื่อนพรหมจรรย์ ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย พึงกำหนดลงซึ่งบุคคลผู้นั่ง ณ ที่มิใช่อาสนะเห็นปานใด ผู้เทียวไป ณ ที่มิใช่โคจรเห็นปานใด ผู้คบมิตรที่ลามกเห็นปานใด ในสถานทั้งหลายอันลามก ภิกษุนั้น พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เว้นที่มิใช่อาสนะนั้น ที่มิใช่โคจรนั้น และมิตรผู้ลามกเหล่านั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จริงอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่เว้นสถานหรือบุคคลอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้เว้นรอบอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่าจะพึงละได้เพราะการเว้นรอบ

👉 ข้อนี้พึงพิจารณาในอนาจารและอโคจร 

🔆 อาสวะพึงละได้เพราะการบรรเทา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะความบรรเทา? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา กามวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา พยาบาทวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทา วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี ย่อมอดกลั้น ย่อมละ ย่อมบรรเทาธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่บังเกิดขึ้นแล้ว ทำให้สิ้นสูญ ให้ถึงความไม่มี

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่บรรเทาธรรมอันใดอันหนึ่งอาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้บรรเทาอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะความบรรเทา



การบรรเทานี้มีความอดทนอดกลั้นอยู่ก็จริง แต่จะต่างกับขันติตรงที่ ขันติ เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้ามีอโทสะเป็นองค์ธรรม  ส่วนการบรรเทานั้นใช้สัมมาสังกัปปะพิจารณาเหตุการณ์หรือประสบการณ์ไม่ดีของโทสะที่ผ่านล่วงพ้นไปแล้ว 👉 ดูสัมมาสัมมาทิฎฐิร่วมสัมมาสังกัปปะ

🔆 อาสวะพึงละได้เพราะการอบรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อาสวะเหล่าไหนที่จะพึงละได้เพราะอบรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ... เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ...เจริญปิติสัมโพชฌงค์ ... เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ... เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ... เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในความสละลง

ดูกรภิกษุทั้งหลายก็อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่าใด พึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้ไม่อบรมธรรมอันใดอันหนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนอันกระทำความคับแค้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้นผู้อบรมอยู่อย่างนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะอบรม

เหตุเกิดโพชฌงค์ ๗

พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบว่า “ กายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร เมื่อไม่มีอาหารก็ดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด โพชฌงค์ ๗ ก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยอาหาร เมื่อไม่มีอาหารก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหาร(เหตุ)ให้สติสัมโพชฌงค์ (ตลอดจน ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์………..อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้นหรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์ ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเป็นที่เหตุแห่งสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การกระทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในธรรมเหล่านั้น นี้เป็นอาหารให้สติสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญบริบูรณ์”

👉 พิจารณาใน โพธิปักขิยสังคหะ



สรุป

การละอาสวะกิเลสในสันดานตนนั้น สามารถละได้ด้วยวิธีการต่างๆทั้ง ๗ วิธีนี้ เมื่อละกิเลสได้ตามลำดับชั้นของการบรรลุแล้ว พระพุทธองค์ก็กล่าวว่า เป็นผู้ซึ่งสำรวมในอาสวะทั้งปวง ตัดตัณหาได้แล้ว ยังสังโยชน์ให้หมดไป ได้ทำที่สุดแห่งทุกข์เพราะความตรัสรู้ ด้วยการเห็นและการละมานะโดยชอบ



วันพุธ

๔. ความหมายปฎิจสมุปบาทโดยสรุป เพื่อความเข้าใจเบื้องต้น

เพื่อความเข้าใจอย่างง่ายๆ กว้างๆ ในเบื้องต้น เห็นว่า ควรแสดงความหมายของปฏิจจสมุปบาทไว้โดยสรุปครั้งหนึ่งก่อน

        คำสรุปของปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นว่าหลักปฏิจจสมุปบาททั้งหมด เป็นกระบวนการเกิดดับของทุกข์ หรือหลักปฏิจจสมุปบาททั้งหมด มีความมุ่งหมายเพื่อแสดงความเกิด-ดับของทุกข์เท่านั้นเอง คำว่าทุกข์ มีความสำคัญและมีบทบาทมากในพุทธธรรม แม้ในหลักธรรมสำคัญอื่นๆ เช่น ไตรลักษณ์และอริยสัจ ก็มีคำว่าทุกข์เป็นองค์ประกอบสำคัญ จึงควรเข้าใจคำว่าทุกข์กันให้ชัดเจนก่อน ในตอนต้น เมื่อพูดถึงไตรลักษณ์ ได้แสดงความหมายของทุกข์ไว้สั้นๆ ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ในที่นี้ควรอธิบายเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งเมื่อศึกษาคำว่า “ทุกข์” ในพุทธธรรม ให้สลัดความเข้าใจแคบๆ ในภาษาไทยทิ้งเสียก่อน และพิจารณาใหม่ตามความหมายในพุทธพจน์ ที่แบ่งทุกขตา (ภาวะแห่งทุกข์) เป็น ๓ อย่าง (ในพระไตรปิฎก แสดงไว้เพียงชื่อข้อธรรม ไม่ได้แสดงความหมาย) พร้อมด้วยคำอธิบายดังนี้

๑. ทุกขทุกขตา ทุกข์ที่เป็นความรู้สึกทุกข์ คือ ความทุกข์กายทุกข์ใจ ไม่สบาย เจ็บปวด เมื่อยขบโศกเศร้า เป็นต้น อย่างที่เข้าใจกันโดยสามัญ ตรงตามชื่อ ตามสภาพ ที่เรียกกันว่า ทุกขเวทนา (ความทุกข์อย่างปกติที่เกิดขึ้น เมื่อประสบอนิฏฐารมณ์ หรือสิ่งกระทบกระทั่งบีบคั้น)

๒. วิปริณามทุกขตา ทุกข์เนื่องด้วยความผันแปร หรือทุกข์ที่แฝงอยู่ในความผันแปรของสุข คือความสุขที่กลายเป็นความทุกข์ หรือทำให้เกิดทุกข์ เพราะความแปรปรวนกลับกลายของมันเอง (ภาวะที่ตามปกติ ก็สบายดีเฉยอยู่ ไม่รู้สึกทุกข์อย่างใดเลย แต่ครั้นได้เสวยความสุขบางอย่าง พอสุขนั้นจางลงหรือหายไป ภาวะเดิมที่เคยรู้สึกสบายเป็นปกตินั้น กลับกลายเป็นทุกข์ไป เสมือนเป็นทุกข์แฝง ซึ่งจะแสดงตัวออกมาในทันทีที่ความสุขนั้นจืดจางหรือเลือนลางไป ยิ่งสุขมากขึ้นเท่าใด ก็กลับกลายเป็นทุกข์รุนแรงมากขึ้นเท่านั้น เสมือนว่าทุกข์ที่แฝงขยายตัวตามขึ้นไป ถ้าความสุขนั้นไม่เกิดขึ้น ทุกข์เพราะสุขนั้นก็ไม่มี แม้เมื่อยังเสวยความสุขอยู่ พอนึกว่าสุขนั้นอาจจะต้องสิ้นสุดไป ก็ทุกข์ด้วยหวาดกังวล ใจหายไหวหวั่น ครั้นกาลเวลาแห่งความสุขผ่านไปแล้ว ก็หวนระลึกด้วยความละห้อยหาว่า เราเคยมีสุขอย่างนี้ๆ บัดนี้ สุขนั้นไม่มีเสียแล้วหนอ)

๓. สังขารทุกขตา ทุกข์ตามสภาพสังขาร คือ สภาวะของตัวสังขารเอง หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากเหตุปัจจัยได้แก่ ขันธ์ ๕ (รวมถึง มรรค ผล ซึ่งเป็นโลกุตรธรรม) เป็นทุกข์ คือ เป็นสภาพที่ถูกบีบคั้นด้วยปัจจัยที่ขัดแย้ง มีการเกิดขึ้น และการสลายหรือดับไป ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเองอยู่ในกระแสแห่งเหตุปัจจัย จึงเป็นสภาพซึ่งพร้อมที่จะก่อให้เกิดทุกข์ ความรู้สึกทุกข์หรือทุกขเวทนา แก่ผู้ไม่รู้เท่าทันต่อสภาพและกระแสของมัน และเข้าไปในกระแสอย่างซื่อๆ ด้วยความอยากความยึด (ตัณหาอุปาทาน) อย่างโง่ๆ (อวิชชา) ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องและปฏิบัติต่อมันด้วยปัญญา

ทุกข์ข้อสำคัญ คือข้อที่ ๓ แสดงถึงสภาพของสังขารทั้งหลายตามที่มันเป็นของมันเอง แต่สภาพนี้จะก่อให้เกิดความหมายเป็นภาวะในทางจิตวิทยาขึ้นได้ ในแง่ที่ว่า มันไม่อาจให้ความพึงพอใจโดยสมบูรณ์และสามารถก่อให้เกิดทุกข์ได้เสมอ ๆ แก่ผู้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอวิชชาตัณหาอุปาทาน ความที่กล่าวมาตอนนี้ก็คือบอกให้รู้ว่า ทุกข์ข้อที่ ๓ นี้ กินความกว้างขวางครอบคลุมตรงตามความหมายของทุกข์ในไตรลักษณ์ (ที่ว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์) ซึ่งอาจจะโยงต่อไปเป็นทุกข์ในอริยสัจ โดยเป็นที่ก่อให้เกิดผลของอวิชชาตัณหาอุปาทาน ที่ทำให้ขันธ์ ๕ ในธรรมชาติ กลายเป็นอุปาทานขันธ์ ๕ ของคนขึ้นมา

ถ้าจับเอาเวทนา ๓ (สุข ทุกข์ อุเบกขา) ซึ่งเป็นเรื่องของความสุข ความทุกข์อยู่แล้ว มาจัดเข้าในทุกขตา ๓ ข้อนี้ บางคนจะเข้าใจชัดขืนหรือง่ายขึ้น ดังจะเห็นว่า ทุกขเวทนานั้นเข้าตั้งแต่ข้อแรก คือเป็นทุกขทุกข์ สุขเวทนาเจอตั้งแต่ข้อ ๒ คือเป็นวิปริณามทุกข์ ส่วนอุเบกขาเวทนารอดมาได้สองข้อ แต่ก็มาจอดที่ข้อ ๓ คือเป็นสังขารทุกข์ หมายความว่า แม้แต่อุเบกขาก็คงอยู่เรื่อยไปไม่ได้ ต้องแปรปรวนผันแปร ขึ้นต่อเหตุปัจจัยของมัน ถ้าใครชอบใจติดใจอยากเพลินอยู่กับอุเบกขา ก็พ้นทุกข์ไปไม่ได้ เพราะมาเจอข้อที่ ๓ คือ สังขารทุกขตานี้ (อรรถกถาไขความว่า อุเบกขาเวทนา และบรรดาสังขารในไตรภูมิ เป็นสังขารทุกข์ เพราะถูกบีบคั้นด้วยการเกิดสลาย) เป็นอันว่า เวทนาทั้ง ๓ ไม่ว่าสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เป็นทุกข์ในความหมายนี้ หมดทั้งนั้น

หลักปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นอาการที่กระบวนการของธรรมชาติ เกิดเป็นปัญหาขึ้นแก่คน เพราะอวิชชาตัณหาอุปาทาน ได้อย่างไร และในเวลาเดียวกัน กระบวนการของธรรมชาตินั้น ก็แสดงให้เห็นอาการที่สิ่งทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยต่อกันเป็นรูปกระแสซึ่งไหลวนในภาวะที่เป็นกระแสนี้ ขยายความหมายออกไปให้เห็นแง่ต่างๆ ได้ คือ สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน สิ่งทั้งหลายมีอยู่โดยความสัมพันธ์ สิ่งทั้งหลายมีอยู่ด้วยอาศัยปัจจัย สิ่งทั้งหลายไม่มีความคงที่อยู่อย่างเดิม แม้แต่ขณะเดียว สิ่งทั้งหลาย ไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง คือ ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน สิ่งทั้งหลายไม่มีมูลการณ์ หรือต้นกำเนิดเดิมสุด พูดอีกนัยหนึ่งว่า อาการที่สิ่งทั้งหลายปรากฏรูปเป็นต่างๆ มีความเจริญความเสื่อมเป็นไปต่างๆ

แสดงถึงสภาวะที่แท้จริงของมันว่าเป็นกระแส ความเป็นกระแสแสดงถึงการประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบต่างๆ รูปกระแสปรากฏเพราะองค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน กระแสดำเนินไปแปรรูปได้เพราะองค์ประกอบต่างๆ ไม่คงที่อยู่แม้แต่ขณะเดียว องค์ประกอบทั้งหลายไม่คงที่อยู่แม้แต่ขณะเดียวเพราะไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน ตัวตนที่แท้จริงของมันไม่มี มันจึงขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่างๆ เหตุปัจจัยต่างๆ สัมพันธ์ต่อเนื่องอาศัยกัน จึงคุมรูปเป็นกระแสได้ ความเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องอาศัยกัน แสดงถึงความไม่มีต้นกำเนิดเดิมสุดของสิ่งทั้งหลาย พูดในทางกลับกันว่า ถ้าสิ่งทั้งหลายมีตัวตนแท้จริง ก็ต้องมีความคงที่ ถ้าสิ่งทั้งหลายคงที่แม้แต่ขณะเดียว ก็เป็นเหตุปัจจัยแก่กันไม่ได้ เมื่อเป็นเหตุปัจจัยแก่กันไม่ได้ ก็ประกอบกันขึ้นเป็นกระแสไม่ได้ เมื่อไม่มีกระแสแห่งปัจจัย ความเป็นไปในธรรมชาติก็มีไม่ได้ และถ้ามีตัวตนที่แท้จริงอย่างใดในท่ามกลางกระแส ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างแท้จริงก็เป็นไปไม่ได้ กระแสแห่งเหตุปัจจัยที่ทำให้สิ่งทั้งหลายปรากฏโดยเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ดำเนินไปได้ ก็เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน และสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน
    - ภาวะที่ไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป เรียกว่า อนิจจตา
    - ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยเกิดสลาย มีความกดดันขัดแย้งแฝงอยู่ ไม่สมบูรณ์ในตัว เรียกว่า ทุกขตา
    - ภาวะที่ไร้อัตตา ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่ว่าข้างในหรือข้างนอกของมัน ที่จะเป็นตัวแกนตัวกุมสิงสู่อยู่ครองเป็นเจ้าของควบคุมสั่งบังคับให้เป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่ปรารถนาได้ เรียกว่า อนัตตตา

ปฏิจจสมุปบาทแสดงให้เห็นภาวะทั้ง ๓ นี้ในสิ่งทั้งหลาย และแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องเป็นปัจจัยแก่กันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น จนปรากฏรูปออกมาเป็นต่างๆ ในธรรมชาติ ภาวะและความเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ มีแก่สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่เป็นนามธรรม คือ ธรรมนิยาม กฎความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล อุตุนิยาม กฎธรรมชาติฝ่ายอนินทรียวัตถุ พีชนิยาม กฎทั้งในโลกฝ่ายวัตถุ ทั้งแก่ชีวิตที่ประกอบพร้อมด้วยรูปธรรมนามธรรม โดยแสดงตัวออกเป็นกฎธรรมชาติต่างๆ ธรรมชาติฝ่ายอินทรียวัตถุรวมทั้งพันธุกรรม จิตนิยาม กฎการทำงานของจิต และกรรมนิยาม กฎแห่งกรรม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องความสุขความทุกข์ของชีวิต และเป็นเรื่องที่จริยธรรมจะต้องเกี่ยวข้องโดยตรง

เรื่องที่ควรย้ำเป็นพิเศษ เพราะมักขัดกับความรู้สึกสามัญของคน คือ ควรย้ำว่า กรรมก็ดี กระบวนการแห่งเหตุผลอื่นๆ ทุกอย่างในธรรมชาติก็ดี เป็นไปได้ก็เพราะสิ่งทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง (เป็นอนิจจัง) และไม่มีตัวตนของมันเอง (เป็นอนัตตา) ถ้าสิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยง มีตัวตนจริงแล้ว กฎธรรมชาติทั้งมวลรวมทั้งหลักกรรม ย่อมเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้น กฎเหล่านี้ยังยืนยันด้วยว่า ไม่มีมูลการณ์หรือต้นกำเนิดเดิมสุดของสิ่งทั้งหลาย เช่น พระผู้สร้าง เป็นต้น สิ่งทั้งหลาย ไม่มีตัวตนแท้จริง เพราะเกิดขึ้นด้วยอาศัยปัจจัยต่างๆ และมีอยู่อย่างสัมพันธ์กัน ตัวอย่างง่ายๆ หยาบๆ เช่น เตียงเกิดจากนำส่วนประกอบต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามรูปแบบที่กำหนด ตัวตนของเตียงที่ต่างหากจากส่วนประกอบเหล่านั้นไม่มี เมื่อแยกส่วนประกอบต่างๆ หมดสิ้นแล้ว ก็ไม่มีเตียงอีกต่อไปเหลืออยู่แต่บัญญัติว่าเตียงที่เป็นความคิดในใจ แม้บัญญัตินั้นเองที่มีความหมายอย่างนั้น ก็ไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง แต่ต้องสัมพันธ์เนื่องอาศัยกับความหมายอื่นๆ เช่น บัญญัติว่าเตียง ย่อมไม่มีความหมายของมันเอง โดยปราศจากความสัมพันธ์กับ การนอน แนวระนาบ ที่ตั้ง ช่องว่าง เป็นต้น

ทุกสรรพสิ่งเมื่อเกิดขึ้นก็ต่างบ่ายหน้าสู่ความดับ หามีสิ่งใดเป็นตัวตนที่คงที่

ในความรู้สึกสามัญของมนุษย์ ความรู้ในบัญญัติต่างๆ เกิดขึ้นโดยพ่วงเอาความเข้าใจในปัจจัยและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยเหมือนกัน แต่เมื่อเกิดความกำหนดขึ้นแล้ว ความเคยชินในการยึดติดด้วยตัณหา อุปาทาน ก็เข้าเกาะกับสิ่งในบัญญัตินั้น จนเกิดความรู้สึกเป็นตัวตนขึ้นอย่างหนาแน่น บังความสำนึกรู้และแยกสิ่งนั้นออกจากความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ทำให้ไม่รู้เห็นตามที่มันเป็น อหังการและมมังการจึงแสดงบทบาทได้เต็มที่ อนึ่ง ธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ย่อมไม่มีมูลการณ์หรือเหตุต้นเค้า หรือต้นกำเนิดเดิมสุด เมื่อหยิบยกสิ่งใดก็ตามขึ้นมาพิจารณา ถ้าสืบสาวหาเหตุต่อไปโดยไม่หยุด จะไม่สามารถค้นหาเหตุดั้งเดิมสุดของสิ่งนั้นได้ แต่ในความรู้สึกสามัญของมนุษย์ มักคิดถึงหรือคิดอยากให้มีเหตุต้นเค้าสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ขัดกับธรรมดาของธรรมชาติ แล้วกำหนดหมายสิ่งต่างๆ คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เรียกได้ว่าเป็นสัญญาวิปลาสอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ เหตุเพราะความเคยชินของมนุษย์ เมื่อเกี่ยวข้องกับสิ่งใดและคิดสืบสวนถึงมูลเหตุของสิ่งนั้นความคิดก็จะหยุดจับติดอยู่กับสิ่งที่พบว่าเป็นเหตุแต่อย่างเดียว ไม่สืบสาวต่อไปอีก ความเคยชินเช่นนี้ จึงทำให้ความคิดสามัญของมนุษย์ในเรื่องเหตุผล เป็นไปในรูปชะงักติดตัน และคิดในด้านที่ขัดกับกฎธรรมดา โดยคิดว่าต้องมีเหตุต้นเค้าของสิ่งทั้งหลายอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าคิดตามธรรมดาแล้ว ก็ต้องสืบสาวต่อไปว่า อะไรเป็นเหตุของเหตุต้นเค้านั้น ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เพราะสิ่งทั้งหลายมีอยู่อย่างสัมพันธ์ เนื่องอาศัยเป็นปัจจัยสืบต่อกัน จึงย่อมไม่มีมูลการณ์หรือเหตุต้นเค้าเป็นธรรมดา ควรตั้งคำถามกลับไปว่า ทำไมสิ่งทั้งหลายจะต้องมีเหตุต้นเค้าด้วยเล่า?

ความคิดในธรรมดาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความเคยชินของมนุษย์ และสัมพันธ์กับความคิดว่ามีเหตุต้นเค้า คือ ความคิดว่า เดิมทีเดียวนั้น ไม่มีอะไรอยู่เลย ความคิดนี้เกิดจากความเคยชินในการยึดถืออัตตาโดยกำหนดขึ้นมาในส่วนประกอบที่คุมเข้าเป็นรูปลักษณะแบบหนึ่ง แล้ววางความคิดหมายจำเพาะลงเป็นบัญญัติ ยึดเอาบัญญัตินั้นเป็นหลัก เกิดความรู้สึกคงที่ลงว่าเป็นตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเห็นไปว่าเดิมสิ่งนั้นไม่มีแล้วมามีขึ้น ความคิดแบบชะงักที่อติดอยู่กับสิ่งหนึ่งๆ จุดหนึ่งๆ แง่หนึ่งๆ ไม่แล่นเป็นสายเช่นนี้ เป็นความเคยชิน ในทางความคิดอย่างที่เรียกว่าติดสมมติ หรือไม่รู้เท่าทันสมมติ จึงกลายเป็นไม่รู้ตามที่มันเป็น เป็นเหตุให้ต้องคิดหาเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีอยู่เป็นนิรันดรขึ้นมาเป็นเหตุต้นเค้า เป็นที่มาแห่งการสำแดงรูปเป็นต่างๆ หรือเป็นผู้สร้างสิ่งทั้งหลาย ทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นต่างๆ เช่น สิ่งนิรันดรจะเป็นที่มาหรือสร้างสิ่งไม่เป็นนิรันดรได้อย่างไร ถ้าสิ่งเป็นนิรันดรเป็นที่มาของสิ่งไม่เป็นนิรันดร สิ่งไม่เป็นนิรันดร จะไม่เป็นนิรันดรได้อย่างไร เป็นต้น แท้จริงแล้ว ในกระบวนการอันเป็นกระแสแห่งความเป็นเหตุปัจจัยสืบเนื่องกันนี้ ย่อมไม่มีปัญหาแบบบ่งตัวตนว่ามีอะไรหรือไม่มีอะไรอยู่เลย ไม่ว่าเดิมทีเดียว หรือบัดนี้ เว้นแต่จะพูดกันในขั้นสมมติสัจจะเท่านั้น ควรย้อนถามให้คิดใหม่ด้วยซ้ำไปว่า ทำไมจะต้องไม่มีก่อนมีด้วยเล่า

แม้ความเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายมีผู้สร้าง ซึ่งปรกติถือกันว่าเป็นความคิดธรรมดานั้น แท้จริงก็เป็นความคิดขัดธรรมดาเช่นกัน ความคิดเชื่อเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะมองดูตามข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งเห็นและเข้าใจกันอยู่สามัญว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ ศิลปวัตถุ ฯลฯ ขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะการสร้างของมนุษย์ฉะนั้น สิ่งทั้งหลายทั้งโลกก็ต้องมีผู้สร้างด้วยเหมือนกัน ในกรณีนี้ มนุษย์พรางตนเอง ด้วยการแยกความหมายของการสร้าง ออกไปเสียจากความเป็นเหตุเป็นปัจจัยตามปรกติ จึงทำให้เกิดการตั้งต้นความคิดที่ผิด ความจริงนั้น การสร้างเป็นเพียงความหมายส่วนหนึ่งของการเป็นเหตุปัจจัย การที่มนุษย์สร้างสิ่งใด ก็คือการที่มนุษย์เข้าไปร่วมเป็นเหตุปัจจัยส่วนหนึ่ง ในกระบวนการแห่งความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้ผลรวมที่ต้องการนั้นเกิดขึ้น แต่มีพิเศษจากกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยฝ่ายวัตถุล้วนๆ ก็เพียงที่ในกรณีนี้ มีปัจจัยฝ่ายนามธรรมที่ประกอบด้วยเจตนาเป็นลักษณะพิเศษเข้าไปร่วมบทบาทด้วย ดังเช่นที่เรียกว่าความต้องการ แต่ถึงอย่างนั้น มันก็มีฐานะเป็นเพียงปัจจัยอย่างหนึ่งร่วมกับปัจจัยอื่นๆ และต้องดำเนินไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย จึงจะเกิดผลที่ต้องการ

ดังตัวอย่างเช่นว่า เมื่อมนุษย์จะสร้างตึก ก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นเหตุเป็นปัจจัยช่วยผลักดันเหตุปัจจัยต่างๆ ให้ดำเนินไปตามสายของมันจนเกิดผลสำเร็จ ถ้าการสร้างเป็นการบันดาลผลได้อย่างพิเศษกว่าการเป็นเหตุปัจจัย มนุษย์ก็เพียงอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แล้วคิดบันดาลให้เรือนหรือตึกเกิดขึ้นในที่ปรารถนาตามต้องการ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ การสร้างจึงมิได้มีความหมายนอกเหนือไปจากการเป็นเหตุปัจจัยแบบหนึ่ง และในเมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันอยู่ตามวิถีของมันเช่นนี้ ปัญหาเรื่องผู้สร้าง ย่อมไม่อาจมีได้ในตอนใดๆ ของกระบวนการ อย่างไรก็ดี การพิจารณาเหตุผลในปัญหาเกี่ยวกับเหตุต้นเค้า และผู้สร้าง เป็นต้นนี้ ถือว่ามีคุณค่าน้อยในพุทธธรรม เพราะไม่มีความจำเป็นต่อการประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในชีวิตจริง แม้ว่าจะช่วยให้เกิดโลกทัศน์และชีวทัศน์กว้างๆ ในทางเหตุผล อย่างที่กล่าวข้างต้น ก็อาจข้ามไปเสียได้ ด้วยว่าการพิจารณาคุณค่าในทางจริยธรรมอย่างเดียว มีประโยชน์ที่มุ่งหมายคุมถึงอยู่แล้ว ในที่นี้จึงควรพุ่งความสนใจไปในด้านที่เกี่ยวกับชีวิตในทางปฏิบัติเป็นสำคัญ

ดังได้กล่าวแล้วแต่ต้นว่า ชีวิตประกอบด้วยขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดอื่นอีกนอกเหนือจากขันธ์ ๕ ไม่ว่าจะแฝงอยู่ในขันธ์ ๕ หรืออยู่ต่างหากจากขันธ์ ๕ ที่จะมาเป็นเจ้าของหรือควบคุมขันธ์ ๕ ให้ชีวิตดำเนินไป ในการพิจารณาเรื่องชีวิต เมื่อยกเอาขันธ์ ๕ ขึ้นเป็นตัวตั้งแล้ว ก็เป็นอันครบถ้วนเพียงพอ ขันธ์ ๕ เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปตามกฎแห่งปฏิจจสมุปบาท คือมีอยู่ในรูปเป็นกระแสแห่งปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยสืบต่อกัน ไม่มีส่วนใดในกระแสคงที่อยู่ได้ มีแต่การเกิดขึ้นแล้วสลายตัวไป พร้อมกับที่เป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นแล้วสลายตัวต่อๆ ไปอีก ส่วนต่างๆ สัมพันธ์กัน เนื่องอาศัยกัน เป็นปัจจัยแก่กัน จึงทำให้กระแสหรือกระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างมีเหตุผลและคุมเป็นรูปร่างต่อเนื่องกัน ในภาวะเช่นนี้ ขันธ์ ๕ หรือ ชีวิต จึงเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ อยู่ในภาวะแห่ง
    อนิจจตา ไม่เที่ยง ไม่คงที่ เกิดดับเสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา
    อนัตตตา ไม่มีส่วนใดที่มีที่เป็นตัวตนแท้จริง และไม่อาจยึดถือเอาเป็นตัว จะเข้ายึดครองเป็นเจ้าของ บังคับบัญชาให้เป็นไปตามความปรารถนาของตนจริงจังไม่ได้
    ทุกขตา ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัวอยู่ทุกขณะ และพร้อมที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ได้เสมอ ในกรณีที่มีการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยความไม่รู้และยึดติดถือมั่น

กระบวนการแห่งขันธ์ ๕ หรือชีวิต ซึ่งดำเนินไปพร้อมด้วยการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดทุกขณะ โดยไม่มีส่วนที่เป็นตัวเป็นตนคงที่อยู่นี้ ย่อมเป็นไปตามกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์แก่กันล้วนๆ ตามวิถีทางแห่งธรรมชาติของมัน แต่ในกรณีของชีวิตมนุษย์ปุถุชน ความฝืนกระแสจะเกิดขึ้น โดยที่จะมีความหลงผิดเกิดขึ้น และยึดถือเอารูปปรากฏของกระแส หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของกระแส ว่าเป็นตัวตน และปรารถนาให้ตัวตนนั้นมีอยู่ หรือเป็นไปในรูปใดรูปหนึ่ง ในเวลาเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนที่เกิดขึ้นในกระแส ก็ขัดแย้งต่อความปรารถนา เป็นการบีบคั้นและเร่งเร้าให้เกิดความยึดอยากรุนแรงยิ่งขึ้น ความดิ้นรนหวังให้มีตัวตนในรูปใดรูปหนึ่งและให้ตัวตนนั้นเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ให้คงที่เที่ยงแท้ถาวรอยู่ในรูปที่ต้องการก็ดี ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น เมื่อไม่เป็นไปตามที่ยึดอยาก ความบีบคั้นก็ยิ่งแสดงผลเป็นความผิดหวัง ความทุกข์ความคับแค้นรุนแรงขึ้นตามกัน พร้อมกันนั้น ความตระหนักรู้ในความจริงอย่างมัวๆ ว่าความเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน และตัวตนที่ตนยึดอยู่ อาจไม่มี หรืออาจสูญสลายไปเสีย ก็ยิ่งฝังความยึดอยากให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้นพร้อมกับความกลัว ความประหวั่นพรั่นพรึง ก็เข้าแฝงตัวร่วมอยู่ด้วยอย่างลึกซึ้งและสลับซับซ้อน ภาวะจิตเหล่านี้ก็คือ อวิชชา ความไม่รู้ตามเป็นจริงหลงผิดว่ามีตัวตน ตัณหา ความอยากให้ตัวตนที่หลงว่ามีนั้นได้ เป็นหรือไม่เป็นต่างๆ อุปาทาน ความยึดถือผูกตัวตนในความหลงผิดนั้นไว้กับสิ่งต่างๆ กิเลสเหล่านี้แฝงลึกซับซ้อนอยู่ในจิตใจ และเป็นตัวคอยบังคับบัญชาพฤติกรรมทั้งหลายของบุคคลให้เป็นไปต่างๆ ตามอำนาจของมัน ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ตลอดจนเป็นตัวหล่อหลอมบุคลิกภาพ และมีบทบาทสำคัญในการชี้ชะตากรรมของบุคคลนั้นๆ กล่าวในวงกว้าง มันเป็นที่มาแห่งความทุกข์ของมนุษย์ปุถุชนทุกคน

โดยสรุป ข้อความที่กล่าวมานี้ แสดงการขัดแย้ง หรือปะทะกันระหว่างกระบวนการ ๒ ฝ่าย คือ
๑. กระบวนการแห่งชีวิต ที่เป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ อันเป็นกฎธรรมชาติที่แน่นอน คือ อนิจจตา ทุกขตา และอนัตตตา ซึ่งแสดงอาการออกมาเป็น ชาติ ชรา มรณะ ทั้งในความหมายหยาบตื้น และลึกละเอียด
๒. ความไม่รู้จักกระบวนการแห่งชีวิต ตามความเป็นจริง หลงผิดว่าเป็นตัวตนและเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ จะให้มันเป็นไปตามที่ใจอยาก แฝงพร้อมด้วยความหวาดกลัวและความกระวนกระวาย

พูดให้สั้นลงไปอีกว่า เป็นการขัดแย้งกันระหว่างกฎธรรมชาติ กับความยึดถือตัวตนไว้ด้วยความหลงผิดหรือให้ตรงกว่านั้นว่า การเข้าไปสร้างตัวตนขวางกระแสแห่งกฎธรรมชาติไว้ ความอยากในใจของคน เมื่อกระแสความอยากในใจไม่มั่นคงหรือพ่ายพังไป ก็กลายเป็นความทุกข์ในรูปลักษณาการต่างๆ นี้คือชีวิตที่เรียกว่า เป็นอยู่ด้วยอวิชชา อยู่อย่างยึดมั่นถือมั่น อยู่อย่างเป็นทาส อยู่อย่างขัดแย้งฝืนต่อกฎธรรมชาติ หรืออยู่อย่างเป็นทุกข์ การมีชีวิตอยู่เช่นนี้ ถ้าพูดในทางจริยธรรม ตามสมมติสัจจะ ก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นการมีตัวตนขึ้น ๒ ตน คือ ตัวกระแสแห่งชีวิตที่ดำเนินไปตามกฎธรรมชาติ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แม้จะไม่มีตัวตนแท้จริงแต่กำหนดแยกออกเป็นกระแสหรือกระบวนการอันหนึ่งต่างหากจากกระแสหรือกระบวนการอื่นๆ เรียกโดยสมมติสัจจะว่าเป็นตน และใช้ประโยชน์ในทางจริยธรรมได้ อย่างหนึ่ง กับตัวตนจอมปลอม ที่ถูกคิดสร้างขึ้นยึดถือเอาไว้อย่างมั่นคงด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ดังกล่าวแล้ว อย่างหนึ่งตัวตนอย่างแรกที่กำหนดเรียกเพื่อความสะดวกในขั้นสมมติสัจจะ โดยรู้สภาพตามที่เป็นจริง ย่อมไม่เป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นด้วยความหลงผิด แต่ตัวตนอย่างหลังที่สร้างขึ้นซ้อนไว้ในตัวตนอย่างแรก ย่อมเป็นตัวตนแห่งความยึดมั่นถือมั่น คอยรับกระทบกระเทือนจากตัวตนอย่างแรก จึงเป็นที่มาของความทุกข์

การมีชีวิตอยู่อย่างที่กล่าวข้างต้น นอกจากเป็นการแฝงเอาความกลัวและความกระวนกระวายไว้ในจิตใจส่วนลึกที่สุด เพื่อไว้บังคับบัญชาพฤติกรรมของตนเอง ทำให้กระบวนการชีวิตไม่เป็นตัวของมันเอง หรือทำตนเองให้ตกเป็นทาสไปโดยไม่รู้ตัวแล้ว ยังแสดงผลร้ายออกมาอีกเป็นอันมาก คือ ทำให้มีความอยากได้อย่างเห็นแก่ตัว ความแส่หาสิ่งต่างๆ ที่จะสนองความต้องการของตนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และยึดอยากหวงแหนไว้กับตน โดยไม่คำนึงถึงผู้ใดอื่น (กามุปาทาน) ทีนี้ เพื่อให้ความอยากความต้องการนั้นมั่นคง มีที่อ้างอิง ก็ทำให้เกาะเหนี่ยวเอาความคิดเห็น ทิฏฐิ ทฤษฎีหรือทัศนะอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สนองหรือเข้ากับความอยาก เอามาหรือตั้งขึ้นมา ตีความเทิดค่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตนหรือเป็นของตน แล้วกอดรัดยึดมั่นทะนุถนอมความคิดเห็น ทิฏฐิ ทฤษฎีหรือทัศนะนั้นๆ ไว้เหมือนอย่างป้องกันรักษาตัวเอง เป็นการสร้างกำแพงขึ้นมากั้นบังตนเองไม่ให้ติดต่อกับความจริง หรือถึงกับหลบตัวปลีกตัวจากความจริง ทำให้เกิดความกระด้างที่อๆ ไม่คล่องตัวในการคิดเหตุผลและใช้วิจารณญาณ ตลอดจนเกิดความถือร้น การทนไม่ได้ที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น (ทิฏฐปาทาน) เมื่อคิดเห็น ยึดมั่น เชื่อถือ มีทิฏฐิว่าอะไรอย่างไรดี อะไรควรเอา ควรได้ ควรถึง และจะลุจะถึงได้อย่างไร ก็ประพฤติปฏิบัติ ดำเนินชีวิต ตลอดจนถือลัทธิธรรมเนียมพิธีต่างๆ ที่บอกที่ทำตามๆ กันไป แม้โดยงมงายไร้เหตุผล ทำไปเพียงด้วยความยึดมั่นในการประพฤติปฏิบัติแบบแผนลัทธพิธีเหล่านั้น เพราะรู้เห็นความสัมพันธ์ในทางเหตุผลของสิ่งเหล่านั้นเพียงรางๆ มัวๆ ไม่มีความรู้เข้าใจที่จะมองเห็นความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยหรือความเป็นเหตุเป็นผลแน่ชัด

โดยยึดมั่นว่า ด้วยการบำเพ็ญพรตถือปฏิบัติอย่างนั้น จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ จะบรรลุจุดหมาย หรือตายแล้วเหมือนอย่างพวกถือพรตบำเพ็ญตบะ เอาเป็นเอาตายกับข้อปฏิบัติจุกจิกหยุมหยิมที่ทำต่อตามกันมาจะไปเกิดในสวรรค์ เป็นต้น แล้วก็ดูถูกดูหมิ่นขัดแย้งกันกับคนอื่นพวกอื่น เพราะลัทธิธรรมเนียมข้อยึดถือปฏิบัติเหล่านั้น (สีลัพพตุปาทาน) ในเวลาเดียวกัน ลึกลงไป ในที่สุด ก็คือความห่วงใยในความมีอยู่คงอยู่ของตัวตน ที่สร้างขึ้นมายึดมั่นถือมั่นไว้ อันเป็นตัวตนเลื่อนลอย ที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนเป็นอะไรแน่ ก็เลยจะต้องคอยยึดคอยถือ คอยแบกเอาไว้คอยรักษาทะนุถนอมป้องกัน และด้วยความกลัวว่าจะต้องสูญเสียตัวตนนั้นไป ก็ไขว่คว้ายึดฉวยเอาอะไรๆ พอจะหวังได้เอาไว้ยืนยันตัว แม้จะอยู่ในรูปที่รางๆ มืดมัวก็ตาม พร้อมกันนั้น ก็กลายเป็นการจำกัดตนเองให้แคบ ให้ไม่เป็นอิสระ และพลอยถูกกระทบกระแทกไปกับตัวตนที่สร้างขึ้นยึดถือแบกไว้นั้นเองด้วย (อัตตวาทุปาทาน) โดยนัยนี้ ความขัดแย้ง บีบคั้น และความทุกข์ จึงมิได้มีอยู่เฉพาะในตัวบุคคลผู้เดียวเท่านั้น แต่ยังขยายออกไปเป็นความขัดแย้ง บีบคั้น และความทุกข์แก่คนอื่นๆ และระหว่างกันในสังคมด้วย กล่าวได้ว่า ภาวะเช่นนี้เป็นที่มาแห่งความทุกข์ความเดือดร้อนและปัญหาทั้งปวงของสังคม ในฝ่ายที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

หลักปฏิจจสมุปบาทแบบประยุกต์ แสดงการเกิดขึ้นของชีวิตแห่งความทุกข์ หรือการเกิดขึ้นแห่งการ (มีชีวิตอยู่อย่าง) มีตัวตน ซึ่งจะต้องมีทุกข์เป็นผลลัพธ์แน่นอน เมื่อทำลายวงจรในปฏิจจสมุปบาทลง ก็เท่ากับทำลายชีวิตแห่งความทุกข์ หรือทำลายความทุกข์ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นจากการ (มีชีวิตอยู่อย่าง) มีตัวตน นี่ก็คือภาวะที่ตรงกันข้าม อันได้แก่ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา อยู่อย่างไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน อยู่อย่างอิสระ อยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ หรืออยู่อย่างไม่มีทุกข์ การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา หมายถึง การอยู่อย่างรู้เท่าทันสภาวะและรู้จักถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติ การถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้ เป็นอย่างเดียวกับการอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ การอยู่ประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นการอยู่อย่างอิสระ การอยู่อย่างเป็นอิสระ ก็คือการไม่ต้องตกอยู่ในอำนาจของตัณหาอุปาทาน หรือการอยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น การอยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็คือการมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา หรือการรู้และเข้าเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามวิถีทางแห่งเหตุปัจจัย

มีข้อควรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอีกเล็กน้อย ตามหลักพุทธธรรม ย่อมไม่มีสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ หรือนอกเหนือธรรมชาติ ในแง่ที่ว่ามีอิทธิฤทธิ์บันดาลความเป็นไปในธรรมชาติได้ หรือแม้ในแง่ที่ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างหนึ่งอย่างใดกับความเป็นไปในธรรมชาติ สิ่งใดอยู่นอกเหนือธรรมชาติ สิ่งนั้นย่อมไม่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ คือย่อมพ้นจากธรรมชาติสิ้นเชิง สิ่งใดเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สิ่งนั้นไม่อยู่นอกเหนือธรรมชาติ แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ อนึ่ง กระบวนการความเป็นไปทั้งปวงในธรรมชาติย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีความเป็นไปลอยๆ และไม่มีการบันดาลให้เกิดขึ้นได้โดยปราศจากเหตุปัจจัย ความเป็นไปที่ประหลาดน่าเหลือเชื่อ ดูเป็นปัจจัยในเรื่องนั้นสลับซับซ้อนและยังไม่ถูกรู้เท่าทัน เรื่องนั้นก็กลายเป็นเรื่องประหลาดอัศจรรย์ แต่ความอิทธิปาฏิหาริย์ หรืออัศจรรย์ใดๆ ก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น แต่ในกรณีที่เหตุประหลาดอัศจรรย์จะหมดไปทันทีเมื่อเหตุปัจจัยต่างๆ ในเรื่องนั้นถูกรู้เท่าทันหมดสิ้น ดังนั้น คำว่าสิ่งเหนือหรือนอกเหนือธรรมชาติตามที่กล่าวมาแล้ว จึงเป็นเพียงสำนวนภาษาเท่านั้น ไม่มีอยู่จริง

ในเรื่องมนุษย์กับธรรมชาติ ก็เช่นกัน การที่แยกออกมาเป็นคำต่างหากกันว่า มนุษย์กับธรรมชาติ ก็ดี มนุษย์สามารถบังคับควบคุมธรรมชาติได้ ก็ดี เป็นเพียงสำนวนภาษา แต่ตามเป็นจริงแล้ว มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งในธรรมชาติ ที่พูดกันว่ามนุษย์ควบคุมบังคับธรรมชาติได้ ก็เป็นเพียงการที่มนุษย์ร่วมเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งและผลักดันปัจจัยอื่นๆ ในธรรมชาติให้ต่อเนื่องสืบทอดกันไป จนบังเกิดผลอย่างนั้นๆ ขึ้น เป็นแต่ในกรณีของมนุษย์นี้ มีปัจจัยฝ่ายจิต อันประกอบด้วยเจตนา เข้าร่วมในกระบวนการด้วย จึงมีการกระทำและผลการกระทำอย่างที่เรียกว่าสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยล้วนๆ ทั้งสิ้น มนุษย์ไม่สามารถสร้าง ในความหมายที่ว่าให้มีให้เป็นขึ้นลอยๆ โดยปราศจากการเป็นเหตุปัจจัยกันตามวิถีทางของมัน ที่ว่ามนุษย์บังคับควบคุมธรรมชาติได้ ก็คือการที่มนุษย์รู้เหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะเป็นกระบวนการให้เกิดผลที่ต้องการแล้ว จึงเข้าร่วมเป็นปัจจัยผลักดันปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น ให้ต่อเนื่องสืบทอดกันจนเกิดผลที่ต้องการ ขั้นตอนในเรื่องนี้มี ๒ อย่าง อย่างที่ ๑ คือรู้ จากนั้นจึงมีอย่างหรือขั้นที่ ๒ คืออื่นๆ ต่อๆ กันไปให้แก่ปัจจัย

ใน ๒ อย่างนี้ อย่างที่สำคัญและจำเป็นก่อนคือ ต้องรู้ ซึ่งหมายถึงปัญญา เมื่อรู้หรือมีปัญญาแล้ว ก็เข้าร่วมในกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย อย่างที่เรียกว่าจัดการให้เป็นไปตามประสงค์ได้ การเกี่ยวข้องจัดการกับสิ่งทั้งหลายด้วยความรู้หรือปัญญาเท่านั้น จึงจะชื่อว่าเป็นการถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้ หรือจะเรียกตามสำนวนภาษาว่า สามารถบังคับควบคุมธรรมชาติได้ และเรื่องนี้มีหลักการอย่างเดียวกันทั้งในกระบวนการฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม หรือทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ ฉะนั้น ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า การถือเอาประโยชน์จากธรรมชาติได้ เป็นอย่างเดียวกับการอยู่อย่างประสานกลมกลืนกับธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องของข้อเท็จจริงของการเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันตามกฎธรรมดานี่เอง จะพูดเป็นสำนวนภาษาว่าสามารถบังคับควบคุมธรรมชาติฝ่ายนามธรรมได้ ควบคุมจิตใจของตนได้ ควบคุมตนเองได้ ก็ถูกต้องทั้งสิ้น ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ การมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ทั้งในฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม ที่จะช่วยให้มนุษย์ถือเอาประโยชน์ได้ทั้งจากกระบวนการฝ่ายจิตและกระบวนการฝ่ายวัตถุ ชีวิตแห่งปัญญา จึงมองลักษณะได้ ๒ ด้าน คือ

        ด้านภายใน มีลักษณะสงบเยือกเย็น ปลอดโปร่ง ผ่องใส ด้วยความรู้เท่าทัน เป็นอิสระ เมื่อเสวยสุข ก็ไม่หลงระเริงหรือสยบมัวเมา และไม่เหลิงละเลิงลืมตัว เมื่อขาดพลาด หรือพรากจากเหยื่อล่อสิ่งปรนหรือต่างๆ ก็มั่นคง ปลอดโปร่งอยู่ได้ ไม่หวั่นไหว ไม่หดหู ซึมเศร้า สิ้นหวังหมดอาลัยตายอยาก ไม่ปล่อยตัวฝากสุขทุกข์ของตนไว้ในกำมือของอามิสภายนอกที่จะตัดสินให้เป็นไป 

        ด้านภายนอก มีลักษณะคล่องตัว ว่องไว พร้อมอยู่เสมอที่จะเข้าเกี่ยวข้องและจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามที่มันควรจะเป็น โดยเหตุผลบริสุทธิ์ ไม่มีเงื่อนปม หรือความยึดติดภายใน ที่จะมาเป็นนิวรณ์เข้าขัดขวาง กั้นบัง ถ่วง ทำให้เขว ลำเอียง หรือทำให้พร่ามัว

มีพุทธพจน์บางตอนที่แสดงให้เห็นลักษณะบางอย่าง ที่แตกต่างกันระหว่างชีวิตแห่งความยึดมั่นถือมั่นกับชีวิตแห่งปัญญา เช่น “ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนา (เฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข) บ้าง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่างระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้?”

“ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมเศร้าโศกครครวญ ไห้ รำพัน คือกร้องไห้ หลงใหลในเฟือนไป เขาย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศรดอกหนึ่ง แล้วยิงด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรทั้ง ๒ ดอก คือ ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ก็ฉันนั้น ย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งทางกาย และทางใจ อนึ่ง เพราะถูกทุกขเวทนานั้นกระทบ เขาย่อมเกิดความขัดใจ เมื่อเขามีความขัดใจเพราะทุกขเวทนา ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนาก็ย่อมนอนเนื่อง เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็หันเข้าระเริงกับกามสุข เพราะอะไร? เพราะปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมไม่รู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกไปจากกามสุข (สุขในการสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ ตัวอย่างในทางจริยธรรมขั้นต้น เช่น หันเข้าหาการพนัน การดื่มสุรา และสิ่งเริงรมย์ต่างๆ) และเมื่อเขาระเริงอยู่กับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสูญสลาย ข้อดีข้อเสีย และทางออกของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเขาไม่รู้ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา (อุเบกขาเวทนา) ย่อมนอนเนื่อง ถ้าได้เสวยสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เรียกว่าปุถุชน ผู้มิได้เรียนรู้ ผู้ประกอบ ด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราเรียกว่าผู้ประกอบด้วยทุกข์”

“ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่คร่ำครวญ ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ตีอกร้องไห้ ไม่หลงใหลฝั้นเฟือน เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่เสวยเวทนาทางใจ เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศร แล้วยิ่งด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ผิดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว ฉันใด อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ก็ฉันนั้น ย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น เมื่อไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมไม่นอนเนื่อง เธอถูกทุกขเวทนากระทบ ก็ไม่หันเข้าระเริงกับกามสุข เพราะอะไร? เพราะอริยสาวกผู้เรียนรู้แล้ว ย่อมรู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกจากกามสุขไปอีก เมื่อเธอไม่ระเริงกับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นก็ไม่นอนเนื่อง เธอย่อมรู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสูญสลาย ข้อดี ข้อเสีย และทางออกของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเธอรู้ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ก็ไม่นอนเนื่อง ถ้าเสวยสุขเวทนา เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนา เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา เธอก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อริยสาวก ผู้ได้เรียนรู้ ผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เราเรียกว่า ผู้ปราศจากทุกข์”

“ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่าง ระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้”

ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรควรกำจัดแก้ไข เมื่อกำจัดแก้ไขแล้วจะได้อะไร อะไรควรทำให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะได้อะไร ส่วนที่ว่า ในการกำจัดแก้ไขและทำให้เกิดขึ้นนั้น จะต้องทำอะไรบ้าง เป็นเรื่องของจริยธรรม ที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า