หน้าเว็บ

๒. อุทเทสวาระ

เตลกฎาหคาถา ข้อ ๕๕:
ทุกฺขํ อนิจฺจมสุภํ วต อตฺตภาวํ    มา สํกิเลสย น วิชฺชติ ชาตุ นิจฺโจ
อมฺโภ น วิชฺชติ หิ อปฺปมปีห สารํ    สารํ สมาจรถ ธมฺมมลํ ปมาทํ.
“ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าทำสรีระที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่งาม ให้เศร้าหมองด้วยกามวิตกเป็นต้นเลย สิ่งคงที่ถาวรย่อมไม่มี แก่นสารแม้เล็กน้อยในสรีระนี้หามีไม่ เชิญท่านทั้งหลายประพฤติธรรมอันมีแก่นสาร ความประมาทย่อมไม่เหมาะสมเลย"

 ❀❀❀ ๒. อุทเทสวาระ 

 (ปริจเฉทแสดงอุเทศ)

👉หาระ ๑๖

ถามว่า : หาระ ๑๖ ประการในเรื่องนั้น คืออะไร
ตอบว่าหาระ ๑๖ ประการ คือ 

  • ๑. เทศนาหาระ คือ แนวทางในการแสดงประกอบด้วย อัสสาทะ อาทีนวะ นิสสรณะ จุดมุ่งหมาย อุบายและการชักชวนฃ
  • ๒. วิจยหาระ คือ แนวทางในการจำแนกบท คำถาม และคำตอบ
  • ๓. ยุตติหาระ คือ แนวทางในการตรวจสอบความเหมาะสมโดยพยัญชนะและอรรถ
  • ๔. ปทัฎฐานหาระ คือ แนวทางในการแสดงปทัฎฐาน (เหตุใกล้) โดยอนุโลมนัยและปฎิโลมนัย
  • ๕. ลักขณหาระ คือ แนวทางในการแสดงธรรมอื่นที่มิได้กล่าวไว้โดยตรง
  • ๖. จตุพยูหหาระ คือ แนวทางในการอธิบายวิธี ๔ กลุ่ม คือ
    - รูปวิเคราะห์
    - ความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก
    - เหตุของการแสดงธรรม
    - การเชื่อมโยงพระสูตร
  • ๗. อาวัฎฎหาระ คือ แนวทางในการเวียนไปสู่ธรรมที่เสมอกันและไม่เสมอกัน
  • ๘. วิภัตติหาระ คือ แนวทางในการจำแนกสภาวะธรรม (เหตุใกล้ , ภูมิ) โดยทั่วไปและไม่ทั่วไป
  • ๙. ปริวัตตนหาระ คือ แนวทางในการเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม
  • ๑๐. เววจนหาระ คือ แนวทางในการแสดงคำไวพจน์ (คำความหมายเหมือนกัน)
  • ๑๑. ปัญญัตติหาระ คือ แนวทางในการแสดงบัญญัติ
  • ๑๒. โอตรณหาระ คือ แนวทางในการหยั่งลงสู่ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ และปฎิจสมุปบาท
  • ๑๓. โสธนหาระ คือ แนวทางในการตรวจสอบบท อรรถของบท คำถามและคำตอบ
  • ๑๔. อธิฎฐานหาระ คือ แนวทางในการโดยสามัญทั่วไปหรือโดยพิเศษ
  • ๑๕. ปริกขารหาระ คือ แนวทางในการแสดงเหตุปัจจัย
  • ๑๖. สมาโรปนหาระ คือ แนวทางในการยกขึ้นแสดงด้วยเหตุใกล้ คำไวพจน์ การภาวนา และการละกิเลส

คาถาสรุป คือ

เทสนาหาระ วิจยหาระ ยุตติหาระ ปทัฏฐานหาระ ลักขณหาระ จตุพยูหหาระ อาวัฏฏหาระ วิภัตติหาระ ปริวัตนหาระ เววจนหาระ ปัญญัตติหาระ โอตรณหาระ โสธนหาระ อธิฏฐานหาระ ปริกขารหาระ และสมาโรปนหาระ หาระทั้ง ๑๖ ประการนี้ แสดงไว้โดยมีเนื้อความไม่ปะปนกัน อนึ่ง การจำแนกหาระเหล่านั้นอย่างเหมาะสมโดยพิสดารจะปรากฏต่อไป

👉นัย ๕

ถามว่า : นัย ๕ ประการในเรื่องนั้น คืออะไร
ตอบว่า : นัย ๕ ประการ คือ

  • ๑. นันทิยาวัฏฏนัย นัยที่เหมือนการเรียนของดอกกฤษณาที่เวียนจากด้านในไปด้านนอก โดยเวียนจากธรรมฝ่ายหลักไปสู่ธรรมคล้อยตาม กล่าวคือ การประกอบเนื้อความของพระพุทธพจน์ฝ่ายสังกิเลสด้วยตัณหาและอวิชชา โดยจำแนกตามสัจจะ ๔ และการนำเนื้อความของพระพุทธพจน์ฝ่ายโวทานด้วยสมถะและวิปัสสนา โดยจำแนกตามสัจจะ ๔
  • ๒. ติปุกขลนัย นัยที่งามด้วยส่วนทั้ง ๓ คือ โลภะ โทสะ และโมหะในฝ่ายสังกิเลส (ฝ่ายเศร้าหมอง) และงามด้วยอโลภะ อโทสะ และอโมหะในฝ่ายโวทาน (ฝ่ายหมดจด) กล่าวคือ การประกอบเนื้อความของพระพุทธพจน์ฝ่ายเศร้าหมองด้วยอกุศลมูล ๓ อันได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ โดยจำแนกตามสัจจะ ๔ และการประกอบเนื้อความของพระพุทธพจน์ฝ่ายหมดจดด้วยกุศลมูล อันได้แก่ อโลภะ อโทสะ และอโมหะ โดยจําแนกตามสัจจะ ๔
  • ๓. สีหวิกกีฬิตนัย นัยที่เหมือนการย่างกรายของราชสีห์คือพระผู้มีพระภาค เพราะแสดงวิปัลลาสและอินทรีย์ ๕ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อวิปัลลาสเหล่านั้น กล่าวคือ การประกอบเนื้อความของพระพุทธพจน์ฝ่ายเศร้าหมองด้วยสุภสัญญาเป็นต้น ๔ โดยจำแนกตามสัจจะ ๔ และการประกอบเนื้อความของพระพุทธพจน์ฝ่ายหมดจดด้วยอสุภสัญญาเป็นต้น ๔ โดยจำแนกตามสัจจะ ๔
  • ๔. ทิสาโลจนนัย นัยที่สอดส่องกุศลธรรมเป็นต้นโดยความเป็นหัวข้อหลักแห่งนัย ๓ อย่างแรก
  • ๕. อังกุสนัย นัยที่เหมือนตาขอซึ่งเกี่ยวธรรมมารวมกันไว้ในนัย ๓ อย่างแรก

คาถาสรุป คือ

นัยแรกที่แสดงข้อความ ชื่อว่า นันทิยาวัฏฏะ นัยที่ ๒ ชื่อว่าติปุกขละ นัยที่ ๓ ชื่อว่า สีหวิกกีฬตะ นัยที่ ๔ อันยอดเยี่ยม ชื่อว่าทิสาโลจนะ นัยที่ ๕ ชื่อว่า อังกุสะ พึงทราบนัยทั้ง ๕ ประการทั้งปวง


👉มูลบท ๑๘

ถามว่า : มูลบท ๑๘ บท ในเรื่องนั้น คืออะไร
ตอบว่า : มูลบท ๑๘ บท คือ มูลบท ๙ ฝ่ายกุศล และมูลบท ๙ ฝ่ายอกุศล

ถามว่า : มูลบทฝ่ายอกุศล ๙ บท คืออะไร
ตอบว่า : มูลบทฝ่ายอกุศล ๙ บท คือ ตัณหา อวิชชา โลภะ โทสะ โมหะ สุภสัญญา (ความสำคัญว่างาม) สุขสัญญา (ความสำคัญว่าสุข) นิจจสัญญา (ความสําคัญว่าเที่ยง) และอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นตัวตน) ธรรมฝ่ายอกุศลทั้งปวงย่อมถึงการประมวลรวมไว้ในมูลบท ๙ บทใดบทหนึ่ง (มูลบท คือ บทเดิม หมายถึง บทที่จะนำมาจำแนกเป็นนัยต่างๆ และสาสนปัฏฐานคือสูตรแสดงคำสอน ที่จะกล่าวถึงต่อไป บทเต็มเหล่านี้ คือ ธรรมฝ่ายกุศล หรือธรรมฝ่ายอกุศล ซึ่งแบ่งออกเป็นอย่างละ ๙ อย่าง ดังนั้น ก่อนจะจำแนกเป็นนัยทั้ง ๕ และสาสนปัฏฐาน จึงควรสังเกตก่อนว่ามูลบทคืออะไร แล้วจึงจําแนกไปตามสมควรในฝ่ายกุศลหรือฝ่ายอกุศล

ข้อควรรู้ :
ตัณหาและโลภะ โดยองค์ธรรมคือ โลภเจตสิก แม้อวิชชาและโมหะ โดยองค์ธรรมก็คือโมหเจตสิก แต่ในที่นี้ท่านกล่าวแยกกันตามชื่อที่ปรากฏในพระสูตร

ถามว่า : มูลบทฝ่ายกุศล ๙ บท คืออะไร
ตอบว่า : มูลบทฝ่ายกุศล ๙ บท คือ สมถะ วิปัสสนา อโลภะ อโทสะ อโมหะ อสุภสัญญา (ความสําคัญว่าไม่งาม) ทุกขสัญญา (ความสําคัญว่าทุกข์) อนิจจสัญญา (ความสำคัญว่าไม่เที่ยง) และอนัตตสัญญา (ความสำคัญว่าไม่ใช่ตัวตน) ธรรมฝ่ายกุศลทั้งปวงย่อมถึงการประมวลรวมไว้ในมูลบท ๙ บทใดบทหนึ่ง

ข้อควรรู้ :
อสุภสัญญาเป็นต้น ๔ ประการ โดยองค์ธรรม คือ สติปัฏฐาน ๔ มีกายานุปัสสนาเป็นต้น 
ในที่นี้ท่านแสดงไว้โดยมีสัญญาเป็นหลัก แต่มุ่งให้หมายถึงสติที่ประกอบร่วมกับสัญญา

ธรรมฝ่ายกุศลจําแนกออกเป็น ๔ กลุ่ม และเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมฝ่ายอกุศลเป็นคู่ๆ กัน คือ

๑. สมถะ    การอบรมจิตเพื่อให้เกิดสมาธิเป็นปฏิปักษ์ต่อ    ตัณหา
๒. วิปัสสนา    การอบรมจิตเพื่อให้เกิดปัญญาเป็นปฏิปักษ์ต่อ    อวิชชา
๓. กุศลเหตุ ๓    อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุเป็นปฏิปักษ์ต่อ    โลภเหตุ โทสเหตุ และโมหเหตุ
๔. สัญญา ๔    อสุภสัญญา เป็นต้น เป็นปฏิปักษ์ต่อสัญญาวิปัลลาสมี    สุภสัญญา เป็นต้น

ในอุเทศของมูลบท ๑๘ ท่านแสดงมูลบท ๙ ฝ่ายกุศล และมูลบท ๙ ฝ่ายอกุศล แต่ในการจําแนกมูลบทดังกล่าวได้อธิบายมูลบทฝ่ายอกุศลไว้ก่อน การใช้คำในลักษณะนี้เป็นสำนวนทางภาษาที่เรียกว่า ปัจจาสัตตินัย คือ นัยที่กล่าวถึงสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวก่อน ซึ่งในที่นี้เป็นการใกล้กับประโยคหลังที่จะกล่าวต่อไป ส่วนการแสดงตามลำดับ นิยมใช้โดยทั่วไปเรียกว่า ยถากกมนัย คือ นัยกล่าวตามลำดับ

คาถาสรุป

ต่อไปนี้เป็นอุเทศในมูลบทนั้นว่า
    บท (ฝ่ายอกุศล) ๙ คือ ตัณหา อวิชชา โลภะ โทสะ โมหะ และ วิปัลลาส ๔ (สุภสัญญา สุขสัญญา นิจจสัญญา อัตตสัญญา] เป็นอารมณ์ของกิเลส (เพราะเป็นที่ประชุมแห่งอกุศลธรรมทั้งปวง)
    บท (ฝ่ายกุศล) ๙ คือ สมถะ วิปัสสนา กุศลมูล ๓ (อโลภะ อโทสะ อโมหะ) และสติปัฏฐาน ๔ (อสุภสัญญา ทุกขสัญญา อนิจจสัญญา และอนัตตสัญญา) เป็นอารมณ์ของอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้น (เพราะเป็นที่ประชุมแห่งอินทรีย์)

ธรรมฝ่ายกุศลประกอบร่วมกับมูลบท ๙ และฝ่ายอกุศลก็ประกอบร่วมกับมูลบท ๙ นี้แลชื่อว่ามูลบท ๑๘

ข้อควรรู้ :
ธรรมฝ่ายกุศล ๙ ประการมีสมถะเป็นต้นเป็นอารมณ์ของอินทรีย์ กล่าวคือ ผู้ที่จะอบรมอินทรีย์ ๕ ให้แก่กล้าต้องอาศัยธรรมฝ่ายกุศลเหล่านั้น นอกจากนี้ เมื่อต้องการจะอธิบายข้อความที่เกี่ยวกับอินทรีย์ก็ต้องอธิบายโดยมีธรรมเหล่านั้นเป็นหลัก ส่วนธรรมฝ่ายอกุศลพึงทราบโดยนัยตรง
กันข้าม

คำว่า อุททาน เป็นคำไวพจน์ของ สงฺคหวจนคำสรุป แปลตามศัพท์ว่า คำรักษาข้อความที่กล่าวมาแล้ว มาจาก อุ บทหน้า = เบื้องบน, คำที่กล่าวมาแล้ว + ทา ธาตุ = รักษา + ยุ ปัจจัยในกรณสาธนะ มีรูปวิเคราะห์ว่า อุทฺธํ ทานํ รกฺขณํ อุทฺทานํ (อุททานะ คือ คำรักษาในเบื้องบน)

อุทฺเทสวาโร
จบ อุทเทสวาระ