วันอังคาร

๒. ภพภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิ

เมื่อยังมีกิเลส กรรม วิบากอยู่ การเวียนว่ายตายเกิดก็ยังเป็นไปอยู่ การเกิดขึ้นของรูปนามอันเป็นวิบากของกรรมและกิเลส จึงเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องสงสัย ถ้าเป็นกรรมชั่ว รูปนามอันเป็นวิบากก็เป็นรูปนามของกรรมชั่ว ถ้าเป็นกรรมดีรูปนามอันเป็นวิบากก็เป็นรูปนามของกรรมดี สถานที่อุบัติเกิดขึ้นของรูปนามที่เป็นผลของกรรม มี ๓๑ สถานที่ หรือ ที่เรียกว่า ๓๑ ภูมิ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ

อบายภูมิ ๔ ภูมิอันเป็นที่อุบัติเกิดขึ้นของรูปนามที่มาจากผลของอกุศลกรรมได้แก่
นรกภูมิ ๑
ดิรัจฉานภูมิ ๑
เปรตภูมิ ๑
อสุรกายภูมิ ๑

สุคติภูมิ ๒๗ ภูมิอันที่เป็นที่อุบัติเกิดขึ้นของรูปนามที่มาจากผลของกรรมดีได้แก่
มนุษยภูมิ ๑
เทวภูมิ ๖
รูปภูมิ ๑๖
อรูปภูมิ ๔

ภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิ ยังมีวิธีการเรียกชื่อแตกต่างกันไปได้อีกดังนี้
เรียกว่ากามภูมิ ๑๑ หรือ กามาวจรภูมิ คือ รวมเอาอบายภูมิ ๔ มนุษยภูมิ ๑ และเทวภูมิ ๖ รวมเรียกว่า กามภูมิ ๑๑ เพราะเหตุว่าเป็นภูมิที่อาศัยเกิดของจิตที่ท่องเที่ยวไปในการรับกามคุณ อารมณ์ และกามภูมิ ๑๑ นี้ ยังแยกออกได้ ๒ กลุ่ม คือ มนุษยภูมิ ๑ และเทวภูมิ ๖ รวมเฉพาะ ๗ ภูมินี้เรียกว่า กามสุคติภูมิ ๗ อีกด้วย เพราะเหตุว่าทั้ง ๗ ภูมินี้เป็นที่อยู่ที่มีความสุข เฉพาะอบายภูมิ ๔ เท่านั้นเรียกว่า ทุคติภูมิเพราะเป็นภูมิที่มีแต่ความทุกข์

ส่วนภูมิที่ไม่ประกอบด้วยกามคุณเรียกว่า รูปภูมิ ๑๖ หรือ รูปาวจรภูมิ แบ่งเป็นรูปภูมิที่เป็นสถานที่อุบัติเกิดขึ้นของนามและรูป มี ๑๕ ภูมิ ส่วนที่เหลืออีก ๑ ภูมิ คือ อสัญญสัตตภูมิ เป็นสถานที่อุบัติเกิดเฉพาะแต่รูปเท่านั้นไม่มีนาม ในรูปภูมิ ๑๖ นอกจากจะมีชื่อเรียกภูมิโดยเฉพาะๆแล้วยังเรียกชื่อภูมิที่เป็นที่อยู่ของพรหมที่เป็นพระอริยบุคคลโดยเฉพาะได้อีก ๕ ภูมิ คือ สุทธาวาสภูมิ ๕

ส่วนภูมิที่ไม่ประกอบด้วยกามคุณและนามรูปรูปเรียกว่า อรูปภูมิ ๔ หรือ อรูปาวจรภูมิ คืออรูปภูมิทั้งหมดมี ๔ ภูมิ

อธิบายภูมิทั้ง ๓๑ ดังนี้
อบายภูมิ มี ๔ ภูมิ ได้แก่ นรกภูมิ เดรัจฉานภูมิ เปรตภูมิ อสุรกายภูมิ เป็นสถานที่อุบัติเกิดขึ้นของรูปนามที่เป็นผลของอกุศลกรรมได้แก่อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
ทางกาย มี ๓ คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิด ทางกาม
ทางวาจา มี ๔ คือ พูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
ทางใจ มี ๓ คือ การเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ

มนุษยภูมิ มี ๑ ภูมิ เป็นสถานที่อุบัติเกิดขึ้นของรูปนามที่เป็นผลของกุศลกรรม คือ
การประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐
ทางกายมี ๓ คือ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดทางกาม
ทางวาจา มี ๔ คือ งดเว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
ทางใจ มี ๓ คือ อนภิชฌา อพยาบาท สัมมาทิฏฐิ
และกุศลกรรมในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญ ภาวนา เป็นต้น

เทวภูมิ มี ๖ ภูมิ ได้แก่ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรตี ปรนิมมิตวสวัตตี เป็นสถานที่อุบัติเกิดขึ้นของรูปนามที่เป็นผลของกุศลกรรม

รูปภูมิ มี ๑๖ ภูมิ เป็นสถานที่อุบัติเกิดขึ้นของรูปและนาม มี ๑๕ ภูมิ และ อุบัติเกิดเฉพาะรูปอย่างเดียวไม่มีนาม มี ๑ ภูมิ คือ อสัญญสัตตภูมิ เป็นภูมิที่มีความสุขจากผลของกุศลขั้นรูปฌาน ผู้ที่เกิดในภูมินี้อาศัยภาวนากุศลในด้านการเจริญสมถกรรมฐานจนสำเร็จรูปฌานและรูปฌานนั้นยังไม่เสื่อมจึงนำไปเกิดในภูมินี้

รูปภูมิ ๑๖ แบ่งตามระดับการเข้าถึงฌานมีดังนี้
• ปฐมฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ปาริสัชชา ปุโรหิตา มหาพรหมา
• ทุติยฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา
• ตติยฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา
• จตุตถฌานภูมิ ๗ ได้แก่ เวหัปผลา อสัญญสัตตา และสุทธาวาสภูมิ ๕ ได้แก่ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา

อรูปภูมิ มี ๔ ภูมิ ได้แก่ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

อรูปภูมิ ๔ เป็นสถานที่อุบัติเกิดได้เฉพาะนามอย่างเดียวไม่มีรูป เป็นภูมิที่มีความสุขจากผลของการเจริญกุศลขั้นอรูปฌาน ผู้ที่เกิดในภูมินี้อาศัยอรูปฌานกุศลที่ยังไม่เสื่อมนำไปเกิด การเวียนว่ายตายเกิดในภูมิทั้งหลายก็ด้วยเจตนาในการทำกรรมทั้งกุศลและอกุศล จึงเป็นกำลังผลักดันให้ต้องโคจรไปเกิดยังภพภูมิต่างๆ


ท่านพระสารีบุตรได้ตอบคำถามที่เกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด สรุปได้ดังนี้

ถาม ภพมีเท่าไร
ตอบ มี ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ

ถาม การเกิดในภพใหม่มีได้เพราะเหตุใด
ตอบ เพราะความยินดียิ่งของเหล่าสัตว์ทีมีอวิชชา มีตัณหาเป็นเครื่องผูกพันไว้ หรือตัณหาเป็นเครื่องผูกพันอารมณ์ ๖ ไว้ การเกิดในภพใหม่มีได้ต่อไปเพราะเหตุนี้

ถาม การไม่เกิดในภพใหม่มีได้อย่างไร
ตอบ เพราะอวิชชาสิ้นไป มีวิชชาเกิดขึ้นและเพราะตัณหาดับไป การเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไปไม่มีเพราะอย่างนี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น