แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อนิจจตา แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อนิจจตา แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธ

๑. อนิจจตา

จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ

เท่าที่บรรยายมานี้ เป็นการกล่าวถึงคุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์อย่างรวมๆ กันไป ต่อไปนี้ เป็นการพิจารณาคุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์นั้น โดยจำแนกตามลำดับข้อ

ก. อนิจจตา
หลักอนิจจตาแสดงความไม่เที่ยง ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ของสิ่งทั้งหลาย จนถึงส่วนย่อยที่ละเอียดที่สุด ทั้งฝ่ายรูปธรรม และนามธรรม ความไม่เที่ยงของส่วนย่อยต่างๆ เมื่อปรากฏเป็นผลรวมออกมาแก่ส่วนใหญ่ที่มนุษย์พอสังเกตเห็นได้ ก็เรียกกันว่าความเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจหรือรู้สึกเหมือนกับว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีตัวมีตนของมัน ซึ่งเดิมมีสภาพเป็นอย่างหนึ่ง และบัดนี้ตัวตนอันนั้นเองได้เปลี่ยนแปลงแปรรูปไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง ความเข้าใจหรือรู้สึกเช่นนี้ เป็นความหลงผิดอย่างหนึ่ง เป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น นำตนเข้าไปผูกพันอยู่กับภาพความนึกคิดอย่างหนึ่งของตนเอง ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง เมื่อดำรงชีวิตอยู่อย่างผู้ไม่รู้เท่าทันสภาวะ ย่อมถูกฉุดลากให้กระเสือกกระสนกระวนกระวายไปตามภาพที่สร้างขึ้นลวงตนเองนั้น เรียกว่า อยู่อย่างเป็นทาส แต่ผู้รู้เท่าทันสภาวะ ย่อมอยู่อย่างเป็นอิสระ และสามารถถือเอาประโยชน์จากกฎธรรมดาเหล่านี้ได้ ในทางจริยธรรม หลักอนิจจตาอาจใช้ให้เป็นประโยชน์ได้เป็นอันมาก เช่น

๑) ความเป็นอนิจจังนั้น ว่าตามสภาวะของมัน ย่อมเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ ก็มีบัญญัติความเปลี่ยนแปลงด้านหนึ่งว่าเป็นความเจริญ และความเปลี่ยนแปลงอีกด้านหนึ่งว่าเป็นความเสื่อม อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปในด้านใดอย่างไรย่อมแล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะให้เป็น ในทางจริยธรรม นำหลักอนิจจตามาสอนอนุโลมตามความเข้าใจในเรื่องความเสื่อมและความเจริญได้ว่า สิ่งที่เจริญแล้ว ย่อมเสื่อมได้ สิ่งที่เสื่อมแล้ว ย่อมเจริญได้ สิ่งที่เสื่อมแล้ว ย่อมเสื่อมลงไปอีกได้ และสิ่งที่เจริญแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้นไปได้ ทั้งนี้แล้วแต่เหตุปัจจัยต่างๆ และในบรรดาเหตุปัจจัยทั้งหลายนั้น

มนุษย์ย่อมเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญและสามารถบันดาลเหตุปัจจัยอื่นๆ ได้อย่างมาก โดยนัยนี้ ความเจริญและความเสื่อมจึงมิใช่เรื่องที่จะเป็นไปเองตามลมๆ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ทำและสร้างสรรค์ได้ อย่างที่เรียกว่าตามยถากรรม คือแล้วแต่มนุษย์จะทำเอาตามวิสัยแห่งเหตุปัจจัย โดยไม่ต้องคอยระแวงการแทรกแซงจากตัวการอย่างอื่นนอกเหนือธรรมชาติ เพราะตัวการนอกเหนือธรรมชาติไม่มี และมิใช่ปล่อยเรื่อยเปื่อย รอให้มันเป็นเอง แบบนอนคอยโชค ดังนั้น ในทางจริยธรรม ความเป็นอนิจจัง หรือแม้จะเรียกว่าความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นกฎธรรมชาติที่ทำให้มนุษย์มีความหวัง เพราะกฎธรรมชาติย่อมเป็นกลางๆ จะให้เป็นอย่างไรแล้วแต่จะทำเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้นขึ้น การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเจริญทางวัตถุ หรือทางนามธรรม ตั้งแต่การทำคนโง่ให้เป็นคนฉลาด จนถึงทำปุถุชนให้เป็นพระอรหันต์ และการแก้ไข กลับตัว ปรับปรุง ตนเองทุกอย่าง สุดแต่จะเข้าใจเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น แล้วสร้างเหตุปัจจัยนั้นๆ ขึ้น

    โดยสรุป ความเป็นอนิจจัง ในความเข้าใจระดับที่เรียกว่าเป็นความเปลี่ยนแปลง สอนว่า สำหรับผู้สร้างความเจริญหรือผู้เจริญขึ้นแล้ว ต้องตระหนักว่า ความเจริญนั้นอาจเปลี่ยนเป็นเสื่อมได้ เมื่อไม่ต้องการความเสื่อม ก็ต้องไม่ประมาท ต้องหลีกเว้นและกำจัดเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อม พยายามสร้างและเปิดช่องให้แก่เหตุปัจจัยที่จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างที่จะรักษาความเจริญนั้นไว้ สำหรับผู้พลาดเสื่อมลงไป ก็สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ โดยละทิ้งเหตุปัจจัยที่ทำให้เสื่อมนั้นเสีย กลับมาสร้างเหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญต่อไป ยิ่งกว่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในทางเจริญอยู่แล้ว ก็สามารถส่งเสริมให้เจริญยิ่งขึ้นได้ โดยเพิ่มพูนเหตุปัจจัยที่ทำให้เจริญให้มากยิ่งขึ้น พร้อมกับที่ต้องไม่ประมาทละเลิงในความเจริญนั้น จนมองไม่เห็นความเป็นไปได้ของความเสื่อม และเหตุปัจจัยต่างๆ ที่จะให้เกิดความเสื่อมนั้นเสียเลย กล่าวมาถึงขั้นนี้ ก็มาถึงหลักธรรมสำคัญที่สุด ที่เป็นเครื่องประสานระหว่างสัจธรรมกับจริยธรรม คือ การที่จะต้องมีปัญญา ตั้งต้นแต่รู้ว่าความเสื่อมและความเจริญแท้จริงที่ต้องการนั้น คืออะไร เหตุปัจจัยที่จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ต้องการนั้นคืออะไร ตลอดจนข้อที่ว่า จะเพิ่มพูนความสามารถของมนุษย์ในการเข้าไปบันดาลเหตุปัจจัยต่างๆ ได้อย่างไร

หลักอนิจจตาจึงมีความหมายอย่างยิ่งในทางจริยธรรม ตั้งแต่ให้ความหวังในการสร้างความเจริญก้าวหน้า รับรองหลักกรรม คือความมีผลแห่งการกระทำของมนุษย์ จนถึงเน้นความสำคัญของการศึกษาอบรมให้เกิดปัญญาที่สำหรับจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างมีผลดี


๒) ในด้านชีวิตภายใน หรือคุณค่าทางจิตใจโดยตรง หลักอนิจจตา ช่วยให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันความจริง ในขณะที่ทางด้านชีวิตภายนอก สามารถใช้ปัญญาหลีกเว้นความเสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญได้ต่างๆ ภายในจิตใจ ก็ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของความเสื่อมหรือความเจริญเหล่านั้น รู้จักที่จะถือเอาประโยชน์จากกฎธรรมชาติ และเกี่ยวข้องกับมันอย่างผู้รู้ทัน ที่ทรงตัวอยู่ได้ด้วยดี โดยมิต้องถูกซัดเหวี่ยง ฉุดกระชากไปอย่างเลื่อนลอยมืดมัว เพราะการเข้าไปยึดมั่นเกาะติดอยู่กับเกลียวคลื่นส่วนโน้นส่วนนี้ในกระแสของมัน อย่างไม่รู้หัวรู้หน จนช่วยตัวเองไม่ได้ ที่จะช่วยคนอื่นเป็นอันไม่ต้องพูดถึงผู้มีจิตใจเป็นอิสระ รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยตัณหาอุปาทานเท่านั้น จึงจะรู้ว่าอะไรเป็นความเสื่อม อะไรเป็นความเจริญที่แท้จริง มิใช่เพียงความเจริญที่อ้างสำหรับมาผูกรัดตัวเองและผู้อื่นให้เป็นทาสมากยิ่งขึ้น หรือถ่วงให้จมต่ำลงไปอีก และจึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากความเจริญที่สร้างขึ้นนั้นได้มากที่สุด พร้อมกับที่สามารถทำตนเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นได้อย่างดี

ในทางจริยธรรมขั้นต้น หลักอนิจจตา สอนให้รู้ธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย จึงช่วยไม่ให้เกิดความทุกข์เกินสมควรในเมื่อเกิดความเสื่อมหรือความสูญเสีย และช่วยไม่ให้เกิดความประมาทละเลิงในเวลาเจริญ ในขั้นสูง ทำให้เข้าถึงความจริงโดยลำดับจนเข้าใจหลักอนัตตา ทำให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยจิตที่เป็นอิสระ ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นปราศจากทุกข์ อย่างที่เรียกว่ามีสุขภาพจิตสมบูรณ์แท้จริง หลักอนิจจตา มักมีผู้นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องปลอบใจตนเอง หรือปลอบใจผู้อื่น ในเมื่อเกิดพิบัติ ความทุกข์ ความสูญเสียต่างๆ ซึ่งก็ได้ผล ช่วยให้คลายทุกข์ลงได้มากบ้างน้อยบ้าง การใช้หลักอนิจจตาในรูปนี้ ย่อมเป็นประโยชน์บ้าง เมื่อใช้ในโอกาสที่เหมาะสม และโดยเฉพาะสำหรับให้สติแก่ผู้ไม่คุ้น หรือไม่เคยสำนึกในหลักความจริงนี้มาก่อน แต่ถ้าถึงกับนำเอาการปลอบใจตัวแบบนี้มาเป็นหลักในการดำรงชีวิต หรือมีชีวิตอยู่ด้วยการปลอบใจตัวเองอย่างนี้ จะกลับเป็นโทษมากกว่า เพราะเท่ากับเป็นการปล่อยตัวลงเป็นทาสในกระแสโลก หรือการไม่ได้ใช้หลักอนิจจตาให้เป็นประโยชน์นั่นเอง เป็นการปฏิบัติผิดต่อหลักกรรมในด้านจริยธรรม ขัดต่อการแก้ไขปรับปรุงตนเองเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่พุทธธรรมจะให้แก่ชีวิตได้

กล่าวโดยย่อ จริยธรรม หรือการรู้จักถือเอาประโยชน์จากหลักอนิจจตา มี ๒ ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่หนึ่ง เมื่อประสบความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ปรารถนา ก็บรรเทาหรือกำจัดทุกข์โศกได้ เมื่อประสบความเปลี่ยนแปลงที่พึงใจ ก็ไม่หลงใหลมัวเมา โดยรู้เท่าทันกฎธรรมดา
ขั้นตอนที่สอง เร่งขวนขวายทำกิจที่ควรทำต่อไปให้ดีที่สุด และทำด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ เพราะรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปเองหรือเลื่อนลอย หรือตามความปรารถนาของเราผู้ที่เห็นว่า สิ่งทั้งหลายไม่ยั่งยืน ย่อมเปลี่ยนแปลงไป จะทำอะไรไปทำไม แล้วปล่อยชีวิตให้เลื่อนลอยปล่อยอะไรๆ เรื่อยเปื่อยไปตามเรื่อง แสดงถึงความเข้าใจผิด และปฏิบัติผิดต่อหลักอนิจจตา ขัดกับพุทธโอวาทที่เป็นปัจฉิมวาจาว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำกิจให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท

🔅 
บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา

๑. อนิจจตาและอนิจจลักษณะ

วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์

พึงสังเกตว่า หลัก🔎ขันธ์ ๕ (เบญจขันธ์) ในบทที่ ๑ ก็ดี หลัก🔎อายตนะ ๖ (สฬายตนะ) ในบทที่ ๒ ก็ดี แสดงเนื้อหาของชีวิต เน้นการศึกษาพิจารณาเกี่ยวกับชีวิต คือ ว่าด้วยขันธ์ ๕ ที่เป็นภายใน และอายตนะภายในเป็นสำคัญ ส่วนหลักไตรลักษณ์ในบทที่ ๓ นี้ ขยายขอบเขตการพิจารณาออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั้งขันธ์ ๕ ที่เป็นภายใน และขันธ์ ๕ ที่เป็นภายนอก ทั้งอายตนะภายในและอายตนะภายนอก เป็นการมองทั้งชีวิตและสิ่งทั้งปวงที่ชีวิตเกี่ยวข้อง คือว่าด้วยชีวิตและโลกทั่วไปทั้งหมดทั้งสิ้น ความหมายของไตรลักษณ์แต่ละข้อ ได้แสดงไว้พอเห็นเค้าในเบื้องต้นแล้ว ในที่นี้จะวิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์เหล่านั้นให้ละเอียดลึกซึ้งลงไปอีก ตามหลักวิชาโดยหลักฐานในคัมภีร์


๑. อนิจจตาและอนิจจลักษณะ

คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์แสดงอรรถ (ความหมาย) ของอนิจจตาไว้อย่างเดียวว่า “ชื่อว่าเป็นอนิจจัง โดยความหมายว่า เป็นของสิ้นไปๆ (ขยฎฺเฐน)" (*๑๒๓) หมายความว่า เกิดขึ้นที่ไหนเมื่อใด ก็ดับไปที่นั่น เมื่อนั้น เช่น รูปธรรมในอดีต ก็ดับไปในอดีต ไม่มาถึงขณะนี้ รูปในขณะนี้ ก็ดับไปที่นี่ ไม่ไปถึงข้างหน้า รูปในอนาคตจะเกิดถัดต่อไป ก็จะดับ ณ ที่นั้นเอง ไม่ยืนอยู่ถึงเวลาต่อไปอีก ดังนี้เป็นต้น

ต่อมาในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ท่านต้องการให้ผู้ศึกษาเข้าใจง่ายขึ้น จึงได้ขยายความหมายออกไปโดยนัยต่าง ๆ ยักย้ายคำอธิบายออกไปให้เห็นความหมายในหลายๆ แง่ และหลายๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับคร่าวๆ หยาบๆ ลงมาจนถึงความเป็นไปในแต่ละขณะๆ เช่น เมื่อมองชีวิตของคน เบื้องต้นก็มองอย่างง่ายๆ ดูช่วงชีวิตทั้งหมด ก็จะเห็นว่าชีวิตมีการเกิดและการแตกดับ เริ่มต้นด้วยการเกิดและสิ้นสุดลงด้วยความตาย เมื่อซอยลงไปอีก ก็ยิ่งเห็นความเกิดและความดับ หรือการเริ่มต้นและการแตกสลายกระชั้นถี่เข้ามา เป็นช่วงวัยหนึ่งๆ ช่วงระยะสิบปีหนึ่งๆ ช่วงปีหนึ่งๆ ช่วงฤดูหนึ่งๆ ช่วงเดือนหนึ่งๆ ฯลฯ ช่วงยามหนึ่งๆ ตลอดถึงชั่วเวลาขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแต่ละครั้งแต่ละหน จนกระทั่งมองเห็นความเกิดดับที่เป็นไปในทุกๆ ขณะ ซึ่งเป็นของมองเห็นได้ยากสำหรับคนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ในสมัยปัจจุบันนี้ ที่วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามากแล้ว อนิจจตาหรือความไม่เที่ยงโดยเฉพาะในด้านรูปธรรม เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นมาก จนเกือบจะกลายเป็นของสามัญไปแล้ว ทฤษฎีต่างๆ ตั้งแต่ทฤษฎีว่าด้วยการเกิดดับของดาว ลงมาจนถึงทฤษฎีว่าด้วยการสลายตัวของปรมาณู ล้วนใช้ช่วยอธิบายหลักอนิจจตาได้ทั้งสิ้น ที่ว่าคัมภีร์ชั้นอรรถกถายักเยื้องคำอธิบายออกไปหลายๆ แง่ ขยายความหมายออกไปโดยนัยต่างๆ นั้น เช่น บางแห่งท่านอธิบายว่า “ที่ชื่อว่าเป็นอนิจจัง ก็เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป (อนจฺจนุติกตาย) และเพราะเป็นสิ่งที่มีความเริ่มต้นและความสิ้นสุด (มีจุดเริ่มและมีจุดจบ, อาทิอนุตวนุตตาย)" (*๑๒๔) แต่คำอธิบายอย่างง่ายๆ ที่ใช้บ่อย ก็คือข้อความว่า “ชื่อว่าเป็นอนิจจัง โดยความหมายว่าเป็นสิ่งที่มีแล้วก็ไม่มี (คือมีหรือปรากฏขึ้นแล้ว ก็หมดหรือหายไป, หุตฺวา อภาวเฐน)" (*๑๒๕) บางแห่งก็นำข้อความอื่นมาอธิบายเสริมเข้ากับข้อความนี้อีก เช่นว่า “ชื่อว่าเป็นอนิจจัง เพราะเกิดขึ้น เสื่อมสลาย และกลายเป็นอย่างอื่น หรือเพราะมีแล้ว ก็ไม่มี (อุปฺปาทวยญฺญถตฺตภาวา หุตฺวา อภาวโต วา) (*๑๒๖) แต่ที่ถือว่าท่านประมวลความหมายต่างๆ มาแสดงไว้โดยครบถ้วน ก็คือ การแสดงอรรถแห่งอนิจจตาเป็น ๔ นัย หมายความว่า เป็นอนิจจังด้วยเหตุผล ๔ อย่าง คือ (*๑๒๗)

    ๑. อุปปาทวยปุปวตุติโต เพราะเป็นไปโดยการเกิดและการสลาย คือ เกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี
    ๒. วิปริณามโต เพราะเป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลง แปรสภาพไปเรื่อยๆ
    ๓. ตาวกาลิกโต เพราะเป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะ ๆ
    ๔. นิจจปฏิกเขปโต เพราะแย้งต่อความเที่ยง คือ สภาวะของมันที่เป็นสิ่งไม่เที่ยงนั้น ขัดกันอยู่เองในตัวกับความเที่ยง หรือโดยสภาวะของมันเองก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว เมื่อมองดูรู้เห็นตรงตามสภาวะของมันแล้ว ก็จะหาไม่พบความเที่ยงเลย ถึงคนจะพยายามมองให้เห็นเป็นเที่ยง มันก็ไม่ยอมเที่ยงตามที่คนอยาก จึงเรียกว่ามันปฏิเสธความเที่ยง

(๑๒๓) ขุ.ปฏิ๓๑/๗๔/๕๓; อ้างใน วิสุทธิ.๓/๒๓๕.
(๑๒๔ )วิสุทธิ.๓/๒๓๗.
(๑๒๕) เช่น วิสุทธิ.๓/๒๖๐
(๑๒๖)วิสุทธิ.๓/๒๗๕
(๑๒๗ )วิสุทธิ.๓/๒๕๖; ม.อ.๒/๑๕๐; วิภงด.อ.๖๒; วิสุทธิฎีกา ๓/๔๗๙ ว่า เหตุผล ๔ อย่างนี้เป็นวิธีพิจารณาที่ใช้สำหรับสังขารฝ่ายรูปธรรมแต่ความในอรรถกถาวิภังค์แสดงให้เห็นว่า ใช้ได้สำหรับสังขารทุกอย่าง, ดู วินยฎีกา ๓/๔๐ ด้วย

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
            ๑. อนิจจตา และอนิจจลักษณะ
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา