๒. ทุกขตา และทุกขลักษณะ

 ๒. ทุกขตา และทุกขลักษณะ

คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ แสดงอรรถของทุกขตาไว้อย่างเดียวว่า “ชื่อว่าเป็นทุกข์ โดยความหมายว่าเป็นของมีภัย (ภยฎเฐน)" (*๑๒๘) ที่ว่า “มีภัย” นั้น จะแปลว่า เป็นภัย หรือ น่ากลัว ก็ได้ ทั้งนี้โดยเหตุผลว่า สังขารทั้งปวงเป็นสภาพที่ผุพังแตกสลายได้ จะต้องย่อยยับมลายสิ้นไป จึงไม่มีความปลอดภัย ไม่ให้ความปลอดโปร่งโล่งใจหรือความเบาใจอย่างเต็มที่แท้จริง หมายความว่า ตัวมันเองก็มีภัยที่จะต้องเสื่อมโทรมสิ้นสลายไป มันจึงก่อให้เกิดภัย คือความกลัวและความน่ากลัวแก่ใครก็ตามที่เข้าไปยึดถือเกี่ยวข้อง

ส่วนคัมภีร์ชั้นอรรถกถาขยายความหมายออกไปโดยนัยต่างๆ คำอธิบายที่ท่านใช้บ่อยมี ๒ นัย คือ “ชื่อว่าเป็นทุกข์โดยความหมายว่า มีความบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลาย (อุปฺปาทวยปฏิปีฬนฎเฐน (*๑๒๙) หรือ อุปฺปาทวยปฏิปีฬนตาย) (*๑๓๐) ทั้งบีบคั้นขัดแย้งต่อประดาสิ่งที่ประกอบอยู่กับมัน และทั้งมันเองก็ถูกสิ่งที่ประกอบอยู่ด้วยนั้นบีบคั้นขัดแย้ง (*๑๓๑) “และ (ชื่อว่าเป็นทุกข์) เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ (ทุกขวตฺถุตาย (*๑๓๒) หรือ ทุกฺขวตฺถุโต) (*๑๓๓)” คือ เป็นที่รองรับของความทุกข์ หรือทำให้เกิดทุกข์ เช่น ก่อให้เกิดความรู้สึกทุกข์ พูดให้ง่ายเข้าว่า ที่เรียกว่าเป็นทุกข์ ก็เพราะทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ เป็นต้น หรือที่เรียกว่าบีบคั้น ก็เพราะทำให้เกิดความรู้สึกบีบคั้น เป็นต้น

ความหมายที่ท่านประมวลไว้ครบถ้วนที่สุดมี ๔ นัย
คือ เป็นทุกข์ด้วยอรรถ ๔ อย่าง ดังนี้ (*๑๓๔)

    ๑. อภิณหสมุปติปีฟันโต เพราะมีความบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา คือ ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเกิดขึ้น ความเสื่อมโทรม และความแตกสลาย และบีบคั้นขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา กับสิ่งที่ประกอบอยู่ด้วย หรือปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ด้วยต่างก็เกิดขึ้น ต่างก็โทรมไป ต่างก็แตกสลาย
    ๒. ทุกขมโต เพราะเป็นสภาพที่ทนได้ยาก คือคงทนอยู่ไม่ไหว หมายความว่า คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
จะต้องเปลี่ยน จะต้องกลาย จะต้องหมดสภาพไป เพราะความเกิดขึ้นและความโทรมสลายนั้น
    ๓. ทุกขวตถุโต เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ คือเป็นที่รองรับสภาวะแห่งทุกข์ ซึ่งก็หมายความด้วยว่า เมื่อโยงมาถึงคน หรือในแง่ที่คนเกี่ยวข้อง ก็เป็นที่ก่อให้เกิดทุกข์ เช่น ทุกขเวทนา หรือความรู้สึกบีบคั้นเป็นต้น (อรรถกถาและฎีกา อธิบายว่า เป็นที่ตั้งแห่งทุกขตาทั้ง ๓ และแห่งสังสารทุกข์ ) (*๑๓๖)
    ๔. สุขปฏิกเขปโต เพราะแย้งต่อความสุข คือ โดยสภาวะของมันเอง ที่ถูกปัจจัยทั้งหลายบีบคั้นขัดแย้งและคงสภาพอยู่ไม่ได้ มันก็ปฏิเสธหรือกีดกั้นภาวะราบรื่นคล่องสะดวกอยู่ในตัว (เป็นเรื่องที่คนจะต้องดิ้นรนจัดสรรปัจจัยทั้งหลายเอา โดยที่ความสุขที่เป็นตัวสภาวะจริง ก็มีแต่เพียงความรู้สึก)


อธิบายว่า สภาวะที่มีเป็นพื้น ได้แก่ ทุกข์ คือ ความบีบคั้นกดดันขัดแย้ง ที่เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของสังขารทั้งหลาย ที่จริงก็เพียงเป็นสภาวะตามปกติธรรมดาของธรรมชาติ แต่ในสภาพที่เกี่ยวข้องกับคน ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกบีบคั้นกดดันขัดแย้ง ที่เรียกว่า ความรู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) เมื่อใดทุกข์คือความบีบคั้นกดดันนั้นผ่อนคลายไป หรือคนปลอดพ้นจากทุกข์นั้น ก็เรียกว่ามีความสุขหรือรู้สึกสุข ยิ่งทำให้เกิดทุกข์คือบีบคั้นกดดัน ทำให้รู้สึก ขาด พร่อง กระหาย หิว มากเท่าใด ในเวลาที่ทำให้ผ่อนหายปลอดพ้นจากทุกข์หรือความบีบกดนั้น ก็ยิ่งรู้สึกสุขมากขึ้นเท่านั้น เหมือนคนที่ถูกทำให้ร้อนมาก เช่น เดินมาในกลางแดด พอเข้ามาในที่ร้อนน้อยลงหรืออุ่นลง ก็รู้สึกเย็น ยิ่งได้เข้าไปในที่ที่เย็นตามปกติ ก็จะรู้สึกเย็นสบายมาก ในทางตรงข้าม ถ้าทำให้ได้รับความรู้สึกสุข (สุขเวทนา) แรงมาก พอเกิดความทุกข์ ก็จะรู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) รุนแรงมากด้วยเช่นกัน แม้แต่ทุกข์เพียงเล็กน้อยที่ตามปกติจะไม่รู้สึกทุกข์ เขาก็อาจจะรู้สึกทุกข์ได้มาก

เหมือนคนอยู่ในที่ที่เย็นสบายมาก พอออกไปสู่ที่ร้อน ก็รู้สึกร้อนมาก แม้แต่สภาวะที่คนอื่นๆ หรือตัวเขาเอง
เคยรู้สึกเฉยๆ เขาก็อาจจะกลับรู้สึกเป็นร้อนไป พูดลึกลงไปอีก ให้ตรงความจริงแท้ว่า ที่ว่าเป็นสุขหรือรู้สึกสุข (สุขเวทนา) นั้น ตามที่แท้จริงก็ไม่ใช่ปลอดพ้นหรือหายทุกข์ แต่เป็นเพียงระดับหนึ่งหรือขีดขั้นหนึ่งของทุกข์เท่านั้น กล่าวคือ ความบีบคั้นกดดันขัดแย้งที่ผ่อนหรือเพิ่มถึงระดับหนึ่งหรือในอัตราหนึ่ง เราเรียกว่าเป็นสุข เพราะทำให้เกิดความรู้สึกสุข แต่ถ้าเกินกว่านั้นไป ก็กลายเป็นต้องทนหรือเหลือทน เรียกว่า เป็นทุกข์ คือรู้สึกทุกข์ (ทุกขเวทนา) ว่าที่แท้จริงก็มีแต่ทุกข์ คือแรงบีบคั้นกดดันขัดแย้งเท่านั้น ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเหมือนกับเรื่องความร้อน และความเย็น ว่าที่จริง ความเย็นไม่มี มีแต่ความรู้สึกเย็น สภาวะที่เป็นพื้นก็คือ ความร้อนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง จนถึงไม่มีความร้อน ที่คนเราพูดว่าเย็นสบายนั้น ก็เป็นเพียงความรู้สึก ซึ่งที่แท้แล้วเป็นความร้อนในระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้าร้อนน้อยหรือมากเกินกว่าระดับนั้นแล้ว ก็หารู้สึกสบายไม่

โดยนัยนี้ ความสุข หรือพูดให้เต็มว่า ความรู้สึกสุขคือสุขเวทนา ก็เป็นทุกข์ ทั้งในความหมายว่าเป็นทุกข์ระดับหนึ่ง มีสภาวะเพียงความรู้สึก และในความหมายว่า เป็นสิ่งที่ขึ้นต่อความบีบคั้นกดดัน ขัดแย้ง จะต้องกลาย จะต้องผันแปร จะต้องหมดไป เหมือนกับว่าทุกข์ที่เป็นตัวสภาวะนั้นไม่ยอมให้สุขยืนยงคงอยู่ได้ตลอดไป  อนึ่ง ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ที่อ้างถึงข้างต้นว่า ท่านแสดงอรรถคือความหมายของ “ทุกข์” ซึ่งเป็นข้อที่ ๒ ในไตรลักษณ์ไว้อย่างเดียวว่า เป็นสิ่งมีภัย (ภยฺฎเฐน) นั้น เมื่อถึงตอนที่อธิบายเรื่องอริยสัจ ท่านได้แสดงอรรถของทุกข์ ซึ่งเป็นข้อที่ ๑ ในอริยสัจว่ามี ๔ อย่าง คือ มีความหมายว่าบีบคั้น (ปีฟันฎฺฐ) มีความหมายว่าเป็นสังขตะ (สงฺขตฏฺฐ) มีความหมายว่าแผดเผา (สนุตาปฎฺฐ) และมีความหมายว่าผันแปร (วิปริณามฏฺฐ) (*๑๓๗) เห็นว่า ความหมาย ๔ นัยนี้ใช้กับทุกข์ในไตรลักษณ์ได้ด้วย จึงขอนำมาเพิ่มไว้ ณ ที่นี้ โดยตัดข้อที่ ๑ และข้อที่ ๔ (ปีฟันฎฐ และ วิปริณามฎฐ) ออกไป คงได้เพิ่มอีก ๒ ข้อ คือ

    ๕. สงขตฎร โดยความหมายว่าเป็นของปรุงแต่ง คือ ถูกปัจจัยต่างๆ รุมกันหรือมาชุมนุมกันปรุงแต่งเอามีสภาพที่ขึ้นต่อปัจจัย ไม่เป็นของคงตัว
    ๖. สนุตาปฎร โดยความหมายว่าแผดเผา คือ ในตัวของมันเองก็มีสภาพที่แผดเผาให้กร่อนโทรมย่อยยับสลายไป และทั้งแผดเผาผู้มีกิเลสที่เข้าไปยึดติดถือมั่นมันให้เร่าร้อนกระวนกระวายไปด้วย (*๑๓๘)

๑๒๘) ข.ปฏิ.๓๑/๗๙/๕๓; อ้างใน วิสุทธิ.๓/๒๓๕
๑๒๙) วิสุทธิ.๓/๒๖๐
๑๓๐) วิสุทธิ.๓/๒๓๗
๑๓๑) วิสุทธิ.ฎีกา ๓/๔๖๒
๑๓๒) วิสุทธิ.๓/๒๓๗
๑๓๓) เช่น วิสุทธิ.๓/๘๗
๑๓๔) วิสุทธิ.๓/๒๕๖; ม.อ.๒/๑๕๑ (ข้อแรกเป็น สนุตาป); วิภงค.อ.๖๒
๑๓๕) ความหมายในภาษาไทยที่แปลตามตัวอักษรว่า ทนได้ยาก อาจให้รู้สึกว่าเข้ากันดีกับทุกขเวทนา เช่น ความเจ็บปวด ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าเป็นสิ่งที่คนทนได้ยาก แต่นั่นเป็นเพียงถ้อยคำแสดงความหมายที่พอดีมาตรงกับความรู้สึก ความจริง ความหมายนั้นเป็นสำนวนในภาษาบาลี ซึ่งหมายถึงคงทนอยู่ไม่ได้ หรือคงสภาพอยู่ไม่ได้ ซึ่งเป็นลักษณะของสังขารทั้งหมดทุกอย่างดังได้อธิบายข้างบนนั้น
๑๓๖) เช่น วินยฎีกา ๓/๘๑; วิสุทธิฎีกา ๓/๔๖๒, ๕๔๐
๑๓๗) ขุ.ปฏิ.๓๑/๔๕/๒๔, ๕๕๕๕๕๙; อ้างใน วิสุทธิ.๓/๗๖; วิภงค.อ.๑๐๗; อนึ่ง ม.อ.๒/๑๕๑ จัด สนุตาป เป็นข้อที่ ๑ ในอรรถ ๔ ข้างต้น
๑๓๘) คำอธิบายในที่นี้ หนักข้างอัตโนมัติ ผู้ต้องการคำอธิบายในอรรถกถาและฎีกา ฟังดู ปฏิส.อ.๑๑๙,๑๒๓; วิสุทธิฎีกา ๓/๑๗๑

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
            ๒. ทุกขตา และทุกขลักษณะ
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา