แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปริจเฉทที่ ๓ กัมมัฏฐานคหณนิเทศ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ปริจเฉทที่ ๓ กัมมัฏฐานคหณนิเทศ แสดงบทความทั้งหมด

วิธีสอนกัมมัฏฐาน

วิธีสอนกัมมัฏฐาน

เมื่อโยคีบุคคลนั้นซึ่งมีอัชฌาสัยและอธิมุติสมบูรณ์ได้ที่แล้วดังพรรณนามาแล้ว ขอเอากัมมัฏฐานอันอาจารย์ผู้ใด้สำเร็จเจโตปริยญาณ พึงตรวจสอบวาระจิตให้ทราบจริยาเสียก่อน สำหรับอาจารย์ที่ไม่ได้สำเร็จเจโตปริยญาณนอกนี้ พึงทราบจริยาโดยสอบถามโยคีบุคคลโดยนัยมีอาทิว่า

เธอเป็นคนจริตอะไร หรือ ?
ธรรมอะไรบ้างรบกวนเธอมาก ?
เมื่อเธอพิจารณาถึงกัมมัฏฐานข้อไหน จึงมีความผาสุกสบาย ?
จิตของเธอน้อมไปในกัมมัฏฐานข้อไหน ?


ครั้นทราบจริยา อย่างนี้แล้วจึงสอนกัมมัฏฐานอันเหมาะสมแก่จริยาต่อไป

พึงสอนกัมมัฏฐานด้วย ๓ วิธี

ก็แหละ อันอาจารย์นั้น เมื่อจะสอนกัมมัฏฐานจึงสอนด้วยวิธี ๓ ประการ คือ สำหรับโยคีบุคคลผู้เรียนกัมมัฏฐานอยู่แล้วตามปกติ จึงให้สาธยายให้ฟังต่อหน้าสัก ๑ หรือ ๒ ที่นั่ง (๑-๒ จบ) แล้วจึงมอบให้ อย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่อยู่ประจำในสำนักจึงสอนให้ทุก ๆ ครั้งที่เธอมาหา อย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่เรียนเอาแล้วประสงค์จะไปปฏิบัติ ณ ที่อื่น จึงสอนอย่าให้ย่อเกินไป อย่าให้พิสดารเกินไป อย่างหนึ่ง


พึงสอนให้ทราบอาการ ๙ อย่าง

ในกัมมัฏฐานเหล่านั้น เมื่ออาจารย์จะสอนปฐวีกสิณกัมมัฏฐานเป็นประการแรกพึงสอนให้ทราบอาการ ๙ เหล่านี้ คือ
โทษแห่งกสิณ ๔ อย่าง ๑
วิธีทำดวงกสิณ ๑
วิธีภาวนาซึ่งกสิณที่ทำแล้ว ๑
นิมิต ๒ อย่าง ๑
สมาธิ ๒ อย่าง ๑
ธรรมะเป็นที่สบายและไม่เป็นที่สบาย ๒ อย่าง ๑
ความเป็นผู้ฉลาดในอัปปนา ๑๐ อย่าง ๑
การทำความเพียรให้สม่ำเสมอ ๑
วิธีแห่งอัปปนา ๑

แม้ในกัมมัฏฐานที่เหลือทั้งหลาย ก็พึงสอนอาการอันสมควรแก่กัมมัฏฐานนั้น ๆ อาการทั้งหมดนั้นจักแจ้งชัดในวิธีภาวนาของกัมมัฏฐานทั้งหลายเหล่านั้น

โยคีบุคคลต้องจำให้แม่นยำ

ก็แหละ เมื่ออาจารย์สอนกัมมัฏฐานให้อยู่ด้วยอาการอย่างนี้ อันโยคีบุคคลนั้นจึงตั้งใจฟัง จำเอานิมิตนั้นให้ได้ คือเอาอาการนั้น ๆ มาผูกไว้ในใจอย่างนี้ว่า นี้เป็นบทหลัง นี้เป็นบทหน้า นี้เป็นใจความของบทนั้น นี้เป็นอธิบายของบทนั้น และบทนี้ เป็นคำอุปมา

แหละ เมื่อโยคีบุคคลฟังอยู่โดยเคารพ จำเอานิมิตได้อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นอันชื่อว่าเรียนเอากัมมัฏฐานด้วยดีแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ การบรรลุคุณวิเศษก็จะสำเร็จแก่เธอเพราะอาศัยการเรียนเอาด้วยดีแล้วนั้น แต่ย่อมจะไม่สำเร็จแก่โยคีบุคคลผู้ไม่ได้เรียนเอาด้วยดีนอกนี้ อรรถาธิบายความแห่งคำว่า "เรียน" นี้ ยุติเพียงเท่านี้ ด้วยอรรถาธิบายเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าบทอันเป็นหัวข้อสังเขปว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรแล้ว เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ อันเหมาะสมแก่จริตจริยาของตน ดังนี้ อันข้าพเจ้าได้อธิบายให้พิสดารแล้วโดยสิ้นเชิง ด้วยประการฉะนี้แล

จบ ปริจเฉทที่ ๓ ชื่อว่า กัมมัฏฐานคหณนิเทศ ในอธิการแห่งสมาธิภาวนา ในปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรค อันข้าพเจ้ารจนาขึ้นเพื่อความปราโมชแห่งสาธุชน ดังนี้



โยคีผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์

โยคีผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์

ก็แหละ ในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วว่า เป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์และมีอธิมุติอันสมบูรณ์ ฉะนี้นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ อันโยคืบุคคลนั้น พึงเป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์ โดยอาการ ๖ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งธรรมมีอโลภะเป็นต้น

อรรถาธิบายของฎีกาจารย์

ในอธิการนี้ ท่านฎีกาจารย์ได้อรรถาธิบายไว้อย่างพิสดารดังนี้: ธรรมทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้น มีอุปการะมากแก่สัตว์ทั้งหลายและแก่โยคีบุคคล โดยพิเศษ ทั้งนี้เพราะเป็นเหตุกำจัดเสียซึ่งโทษอย่างอนันต์ และเป็นเหตุนำมาซึ่งคุณอย่างมหันต์ เป็นความจริงอย่างนั้น ธรรมทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้น ย่อมเป็นไปโดยความเป็นปฏิปักษ์แก่มลทินทั้งหลายมีมลทินคือความตระหนี่เป็นต้น สมจริงตามที่ท่านอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในอรรถกถาแห่งอภิธรรม ดังต่อไปนี้

อโลภะ เป็นปฏิปักษ์แก่มลทินคือ ความตระหนี่  แต่เป็นเหตุแห่ง ทาน
อโทสะ เป็นปฏิปักษ์แก่มลทินคือ ความทุศีล แต่เป็นเหตุแห่ง ศีล
อโมหะ เป็นปฏิปักษ์แก่ การไม่ภาวนาในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่เป็นเหตุแห่ง ภาวนา

แหละใน ๓ เหตุนั้น บุคคลย่อมถืออย่างไม่ตึงเครียดด้วยอโลภะ เพราะคนที่โลภแล้วย่อมถืออย่างตึงเครียดบุคคลย่อมถืออย่างไม่หย่อนยานด้วยอโทสะ เพราะคนที่โกรธแล้วย่อมถืออย่างหย่อนยาน บุคคลย่อมถืออย่างไม่วิปริตผิดเพี้ยนด้วยอโมหะ เพราะคนที่หลงแล้วย่อมถืออย่างวิปริตผิดเพี้ยน

อีกอย่างหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น บุคคลทรงจำโทษอันมีอยู่ไว้โดยความเป็นโทษและประพฤติเป็นไปในโทษนั้นด้วยอโลภะ เพราะคนที่โลภแล้วย่อมปกปิดโทษไว้ บุคคลทรงจำคุณอันมีอยู่ไว้โดยความเป็นคุณและประพฤติเป็นไปในคุณนั้นด้วยอโทสะ เพราะคนที่โกรธแล้วย่อมลบล้างคุณเสีย บุคคลทรงจำซึ่งสภาวะที่เป็นจริงโดยเป็นสภาวะที่เป็นจริงและประพฤติเป็นไปในสภาวะที่เป็นจริงนั้นด้วยอโมหะ เพราะคนหลงแล้วย่อมยึดถือสิ่งที่เปล่าว่าไม่เปล่าและสิ่งที่ไม่เปล่าว่าเปล่า

อนึ่ง ทุกข์เพราะพรากจากสิ่งที่รักย่อมไม่เกิดมีด้วยอโลภะเป็นเหตุ เพราะคนที่โลภแล้วเป็นแดนเกิดแห่งสิ่งเป็นที่รักด้วย เพราะอดกลั้นไว้ไม่ได้ต่อการพรากจากสิ่งที่รักด้วย ทุกข์เพราะประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รักย่อมไม่เกิดมีด้วยอโทสะเป็นเหตุ เพราะคนโกรธแล้วเป็นแดนเกิดแห่งสิ่งไม่เป็นที่รักด้วย ทุกข์เพราะไม่ได้สมหวังย่อมไม่เกิดมีด้วยอโมหะเป็นเหตุ เพราะคนที่ไม่หลงเป็นแดนเกิดแห่งการใคร่ครวญพิจารณาว่าข้อนั้นจะพึงได้ ณ ที่นี้แต่ที่ไหนเล่า ?

อีกประการหนึ่ง ในเหตุ ๓ อย่างนั้น ชาติทุกข์ไม่มีด้วยอโลภะเป็นเหตุ เพราะอโลภะเป็นปฏิปักษ์แก่ตัณหา เพราะชาติทุกข์มีตัณหาเป็นมูลราก ชราทุกข์ไม่มีด้วยอโทสะเป็นเหตุ เพราะความโกรธอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้แก่เร็ว มรณทุกข์ไม่มีด้วยอโมหะเป็นเหตุ เพราะความหลงตายเป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ และมรณทุกข์นั้นย่อมไม่มีแก่คนที่ไม่หลง อนึ่ง ความอยู่ร่วมกันอย่างสบายย่อมมีแก่คฤหัสถ์ทั้งหลายด้วยอโลภะเป็นเหตุ ความอยู่ร่วมกันอย่างสบายย่อมมีแก่บรรพชิตทั้งหลายด้วยอโมหะเป็นเหตุ ส่วนความอยู่ร่วมกันอย่างสบายสำหรับคนทุกเพศ ย่อมมีได้ด้วยอโทสะเป็นเหตุ

อีกประการหนึ่ง เมื่อว่าโดยพิเศษแล้ว ในเหตุ ๓ นั้น ด้วยอโลภเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในเปตติวิสัย จริงอยู่ ส่วนมากสัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงเปตติวิสัยด้วยตัณหา และอโลภะก็เป็นปฏิปักษ์แก่ตัณหาด้วย ด้วยอโทสเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในนรก จริงอยู่สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงนรกอันคล้ายกับโทสะด้วยโทสะเป็นเหตุเพราะเป็นผู้มีสันดานดุร้ายและอโทสะก็เป็นปฏิปักษ์แก่โทสะด้วย ด้วยอโมหเหตุ จึงไม่มีการบังเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉานอันหลงอยู่ตลอดกาลด้วยโมหะเป็นเหตุ และอโมหะก็เป็นปฏิปักษ์แก่โมหะด้วย อนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น อโลภเหตุทำให้ไม่มีการประจวบด้วยอำนาจราคะ อโทสเหตุทำให้ไม่มีการพลัดพรากด้วยอำนาจโทสะ อโมหเหตุทำให้ไม่มีความไม่เป็นกลางด้วยอำนาจโมหะ

อีกประการหนึ่ง สัญญา ๓ เหล่านี้ คือ เนกขัมมสัญญา สัญญาในการออกจากกาม ๑ อัพยาปาทสัญญา สัญญาในอันไม่พยาบาท ๑ อวิหิงสาสัญญา สัญญาในอันไม่เบียดเบียน ๑ และสัญญาอีก ๓ เหล่านี้ คือ อสุภสัญญา สัญญาในความไม่งาม ๑ อัปปมาณสัญญา สัญญาในอันไม่มีประมาณ ๑ ธาตุสัญญา สัญญาในความเป็นธาตุ ๑ ย่อมมีได้ด้วยเหตุแม้ทั้ง ๓ ประการนี้โดยลำดับ อนึ่ง

การงดเว้นซึ่งขอบทางคือกามสุขัลลิกานุโยค 
ย่อมมีได้ด้วย อโลภะ
การงดเว้นซึ่งขอบทางคืออัตตกิลมถานุโยค ย่อมมีได้ด้วย อโทสะ
การดำเนินไปสู่ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง ย่อมมีได้ด้วย อโมหะ

การทำลายอภิชฌากายคันถะ ย่อมมีได้ด้วย อโลภะ
การทำลายพยาบาทกายคันถะ ย่อมมีได้ด้วย อโทสะ
การทำลายสีลัพพตปรามาส และอิทังสัจจาภินิเวส ย่อมมีได้ด้วย อโมหะ

อนึ่ง สติปัฏฐาน ๒ ข้อต้น (กาย, เวทนา) ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพของกุศลเหตุ ๒ ข้างต้น (อโลภะ, อโทสะ) สติปัฏฐาน ๒ ข้อหลัง (จิต, ธรรม) ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพของกุศลเหตุข้อหลังข้อเดียว (อโมหะ)

อีกประการหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น อโลภเหตุย่อมเป็นปัจจัยแก่ความไม่มีโรค จริงอยู่คนที่ไม่มีโลภย่อมไม่เสพอาหารอันไม่เป็นที่สบาย แม้ที่เร้าให้อยากกิน จึงเป็นผู้ไม่มีโรคด้วยเหตุนั้น อโทสเหตุย่อมเป็นปัจจัยแก่ความเป็นหนุ่ม จริงอยู่ คนที่ไม่โกรธ อันไฟคือความโกรธไม่เผาผลาญด้วยอำนาจทำหนังให้เที่ยวและทำผมให้หงอกย่อมเป็นหนุ่มอยู่ได้นาน ๆ อโมหเหตุย่อมเป็นปัจจัยแก่ความมีอายุยืน จริงอยู่คนที่ไม่หลง รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แล้ว ละเว้นเสียซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ต้องเสพแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน

อีกประการหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น อโลภะย่อมเป็นปัจจัยแก่โภคสมบัติ เพราะเหตุที่คนจะได้โภคสมบัติด้วยการบริจาค อโทสะเป็นปัจจัยแก่มิตตสมบัติ เพราะเหตุที่คนจะได้มิตรทั้งหลายด้วยเมตตา และเพราะไม่เสื่อมมิตรก็ด้วยเมตตา อโมหะเป็นปัจจัยแก่อัตตสมบัติ จริงอยู่ คนที่ไม่หลง ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนอย่างเดียว ย่อมทำตนให้สมบูรณ์ อนึ่ง อโลภะเป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างเทวดา อโทสะเป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างพรหม อโมหะเป็นปัจจัยแก่การอยู่อย่างพระอริยเจ้า

อีกประการหนึ่ง ใน ๓ เหตุนั้น บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายของตนด้วยอโลภะเป็นเหตุ เพราะทุกข์ซึ่งเป็นเหตุปรุงแต่งไม่มีเพราะสัตว์และสังขารเหล่านั้นพินาศไป บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายของคนอื่นด้วยอโทสะเป็นเหตุ เพราะความจองเวรแม้ในคนคู่เวรทั้งหลายไม่มีสำหรับคนที่ไม่โกรธ บุคคลเป็นผู้ดับเสียได้ในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายเป็นกลาง ๆ ด้วยอโมหะเป็นเหตุ เพราะความปรุงแต่งทั้งปวงไม่มีสำหรับคนที่ไม่หลง

อีกอย่างหนึ่ง การเห็นอนิจจัง ย่อมมีได้ด้วยอโลภะ จริงอยู่ คนที่โลภแล้วย่อมไม่เห็นสังขารทั้งหลาย แม้ที่ไม่เที่ยงโดยความเป็นของไม่เที่ยง ด้วยหวังในการร้องเสพอยู่ การเห็นทุกขังย่อมมีได้ด้วยอโทสะ จริงอยู่ คนที่มีอัชฌาสัยไม่โกรธ เป็นผู้ปล่อยวางอาฆาตวัตถุแล้วย่อมเห็นสังขารทั้งหลายโดยความเป็นทุกข์ การเห็น อนัตตาย่อมมีได้ด้วยอโมหะ จริงอยู่ คนที่ไม่หลง เป็นผู้ฉลาดในการถือเอาตามความจริง ย่อมรู้แจ้งขันธ์ ๕ อันไม่ได้เป็นผู้นำ โดยความไม่ใช่ผู้นำ อนึ่ง ทรรศนะทั้งหลายมีการเห็นไม่เที่ยงเป็นต้น ย่อมมีได้ด้วยเหตุทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้นเหล่านี้ ฉันใด แม้เหตุทั้งหลายมีอโลภะเป็นต้นเหล่านี้ ก็มีได้ด้วยทรรศนะทั้งหลายมีการเห็นอนิจจังเป็นต้น เช่นเดียวกัน จริงอยู่ อโลภะย่อมมีได้ด้วยการเห็นอนิจจัง อโทสะย่อมมีได้ด้วยเห็นทุกขัง อโมหะย่อมมีได้ด้วยการเห็นอนัตตา

ก็ใครเล่ารู้โดยถูกต้องว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นทุกข์แล้ว จะพึงยังความรักให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ขันธ์ ๕ นั้น หรือรู้สังขารทั้งหลายว่าเป็นทุกข์แล้ว จะพึงยังทุกข์เพราะความโกรธอันคมกล้าที่สุดแม้อื่นอีกให้เกิดขึ้น และรู้ความว่างเปล่าจากตัวตนของสังขารทั้งหลายแล้ว จะพึงยังความหลงงมงายให้เกิดขึ้นอีกต่อไป ด้วยเหตุดังพรรณนามานี้ ท่านฎีกาจารย์จึงให้อรรถาธิบายคำว่าผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์ไว้ว่า อัชฌาสัยของบุคคลนี้สมบูรณ์แล้ว ด้วยอำนาจการยังศีลสมบัติเป็นต้น อันเป็นส่วนเบื้องต้นให้สำเร็จ และด้วยความเป็นอุปนิสัยปัจจัยแก่โลกุตตรธรรมทั้งหลาย เหตุนั้นบุคคลนี้จึงชื่อว่า สมุปนุนชุฌาสโย ผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์แล้ว ฉะนี้

🔅 อัชฌาสัย ๖ ประการ

มีความจริงอยู่ว่า โยคีบุคคลผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์เห็นปานฉะนี้ ย่อมจะบรรลุพระโพธิญาณ ๓ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง สมกับที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่าอัชฌาสัย ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่แห่งโพธิญาณของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย คือ: -

๑. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่โลภ เห็นโทษในความโลภ
๒. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่โกรธ เห็นโทษในความโกรธ
๓. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยไม่หลง เห็นโทษในความหลง
๔. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยในการออกบวช เห็นโทษในฆราวาส
๕. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยชอบความสงัด เห็นโทษในการคลุกคลีกับหมู่คณะ
๖. พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอัชฌาสัยในพระนิพพาน เห็นโทษในภพและคติทั้งปวง

ก็แหละ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระขีณาสพ พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่จะมีมาในอนาคต ทั้งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ทั้งหมดนั้นได้บรรลุแล้วซึ่งคุณวิเศษอันตนและตนจึงบรรลุด้วยอาการทั้งหลาย ๖ ประการนี้นั่นเทียว เพราะฉะนั้นอันโยคีบุคคลพึงเป็นผู้มีอัชฌาสัยสมบูรณ์ด้วยอาการ ๖ ประการ เหล่านี้

โยคีผู้มีอธิมุติสมบูรณ์

ก็แหละ อันโยคีบุคคลนั้น พึงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอธิมุติ ด้วยความเป็นผู้น้อมจิตไปเพื่อประโยชน์นั้น อธิบายว่า พึงเป็นผู้น้อมจิตไปในสมาธิ เป็นผู้หนักในสมาธิ เป็นผู้โน้มจิตไปในสมาธิ และพึงเป็นผู้น้อมจิตไปในนิพพาน เป็นผู้หนักในนิพพาน เป็นผู้โน้มจิตไปในนิพพาน


วิธีเรียนเอากัมมัฏฐาน

วิธีเรียนเอากัมมัฏฐาน

ก็แหละ คำว่า เรียน นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ :- อันโยคีบุคคลนั้นจึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้มีลักษณะอาการตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาในหัวข้อว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้พระกัมมัฏฐาน ฉะนี้แล้ว พึงถวายตัวแต่ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าหรือแก่พระอาจารย์ แล้วจึงทำตนให้เป็นผู้มีอัชฌาสัยอันสมบูรณ์ และมีอธิมุติอันสมบูรณ์ แล้วจึงขอเอาพระกัมมัฏฐานเถิด

🔅 คำถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า

ในการถวายตัวนั้น โยคีบุคคลพึงกล่าวคำถวายตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าว่าดังนี้
อิมาหํ ภควา อตฺตาภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายอัตภาพร่างกายอันนี้ แด่พระพุทธองค์

โทษที่ไม่ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า

จริงอยู่ โยคีบุคคลครั้นไม่ได้ถวายตนอย่างนี้แล้ว เมื่อหลีกไปอยู่ที่เสนาสนะอันเงียบสงัด ครั้นอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏให้เห็นในคลองแห่งจักษุ ก็ไม่สามารถที่จะยับยั้งตั้งตนอยู่ได้ จะเลี่ยงหนีไปยังแดนหมู่บ้าน เกิดเป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์ทำการแสวงหาลาภสักการะอันไม่สมควร ก็จะพึงถึงซึ่งความฉิบหายเสีย

อานิสงส์ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า

ส่วนโยคีบุคคลผู้ได้ถวายตัวแล้ว ถึงแม้จะมีอารมณ์อันน่ากลัวมาปรากฏให้เห็นในคลองแห่งจักษุ ก็จะไม่เกิดความหวาดกลัวแต่อย่างใด มีแต่จะเกิดความโสมนัสอย่างเดียวโดยที่จะได้เตือนตนว่า พ่อบัณฑิต ก็วันก่อนนั้น เจ้าได้ถวายตัวแด่พระพุทธเจ้าแล้ว มิใช่หรือ ? เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งจะพึงมีผ้ากาสิกพัสตร์ (ผ้าที่ทำในแว่นแคว้นกาสี) อย่างดีที่สุด เมื่อผ้านั้นถูกหนูหรือพวกแมลงสาบกัดเขาก็จะพึงเกิดความโทมนัสเสียใจ แต่ถ้าเขาจะพึงถวายผ้านั้นแก่ภิกษุผู้ไม่มีจีวรไปเสีย แต่นั้นถึงเขาจะได้เห็นผ้านั้น อันภิกษุเอามาตัดทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เขาก็จะพึงเกิดแต่ความโสมนัสอย่างเดียว ฉันใด แม้คำอุปไมยนี้นักศึกษาก็พึงทราบเหมือนฉันนั้น

🔅 คำถวายตัวแก่อาจารย์

โยคืบุคคล แม้เมื่อจะถวายตัวแก่พระอาจารย์ ก็พึงกล่าวคำถวายตัวดังนี้
อิมาหํ ภนุเต อตฺตภาวํ ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ ข้าแต่ท่านอาจารย์ผู้เจริญ กระผมขอมอบถวายอัตภาพร่างกายอันนี้แก่ท่านอาจารย์

โทษที่ไม่ถวายตัวแก่อาจารย์

จริงอยู่ โยคีบุคคลผู้ไม่ได้ถวายตัวอย่างนี้ ย่อมจะเป็นคนอันใคร ๆ ขัดขวางไม่ได้ บางทีก็จะเป็นคนว่ายากไม่เชื่อฟังโอวาท บางทีก็จะเป็นคนตามแต่ใจตนเอง อยากไปไหนก็จะไปโดยไม่บอกลาอาจารย์ก่อน โยคีบุคคลเช่นนี้นั้น อาจารย์ก็จะไม่รับสงเคราะห์ด้วยอามิสหรือด้วยธรรมะคือการสั่งสอน จะไม่ให้ศึกษาวิชากัมมัฏฐานอันสุขุมลึกซึ้ง เมื่อเธอไม่ได้รับการสงเคราะห์ ๒ ประการนี้แล้ว ก็จะไม่ได้ที่พึ่งในพระศาสนา ไม่ช้าไม่นานก็จะถึงซึ่งความเป็นคนทุศีล หรือเป็นคฤหัสถ์ไปเลย

อานิสงส์ที่ถวายตัวแก่อาจารย์

ส่วนโยคีบุคคลผู้ถวายตัวแล้ว จะไม่เป็นคนอันใคร ๆ ขัดขวางไม่ได้ ไม่เป็นคนตามแต่ใจตนเอง จะเป็นคนว่าง่าย มีความประพฤติติดเนื่องอยู่กับอาจารย์ เมื่อเธอได้รับการสงเคราะห์ ๒ ประการจากอาจารย์แล้ว ก็จะถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนา เหมือนอย่างพวกศิษย์อันเตวาสิกของพระจูฬปิณฑปาติกติสสเถระเป็นตัวอย่าง

เรื่องศิษย์พระติสสเถระ

มีเรื่องเล่าว่า มีภิกษุ๓ รูป ได้มาสู่สำนักของพระติสสเถระแล้ว ใน ๓ รูปนั้น รูปหนึ่งกราบเรียนอาสาแก่พระเถระว่า “ท่านขอรับ เมื่อมีใคร ๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว กระผมสามารถที่จะกระโดดลงไปในเหวลึกชั่วร้อยบุรุษ”

รูปที่สองกราบเรียนอาสาว่า “ท่านขอรับ เมื่อมีใคร ๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว กระผมสามารถที่จะเอาร่างกายนี้ฝนที่พื้นหินให้กร่อนไปตั้งแต่ สันเท้าจนกระทั่งไม่มีร่างกายเหลืออยู่”

รูปที่สามกราบเรียนอาสาว่า “ท่านขอรับ เมื่อมีใคร ๆ ขอร้องเพื่อประโยชน์ของท่านอาจารย์แล้ว กระผมสามารถที่จะกลั้นลมอัสสาสะ ปัสสาสะทำกาลกิริยาตายได้”

ฝ่ายพระเถระพิจารณาเห็นว่า “ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้มีความสมควรแล้ว” จึงได้บอกพระกัมมัฏฐานให้ ภิกษุเหล่านั้นดำรงตนอยู่ใน โอวาทของพระเถระ ได้บรรลุซึ่งพระอรหัตแม้ทั้ง ๓ รูปแล

นี้เป็นอานิสงส์ในการมอบถวายตัว ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวไว้ว่า จึงมอบถวายตัวแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าหรือแก่อาจารย์ ฉะนี้

วินิจฉัยกัมมัฏฐาน ๔๐ โดยอาการ ๑๐ อย่าง

 วินิจฉัยกัมมัฏฐาน ๔๐ โดยอาการ ๑๐ อย่าง

เพราะเหตุฉะนั้น ในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ฉะนี้นั้น ประการแรกนักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยอาการ ๑๐ อย่าง ดังนี้ คือ

๑. โดยแสดงจำนวนกัมมัฏฐาน
๒. โดยการนำมาซึ่งอุปจารฌานและอัปปนาฌาน
๓. โดยความต่างกันแห่งฌาน
๔. โดยผ่านองค์ฌานและอารมณ์
๕. โดยควรขยายและไม่ควรขยาย
๖. โดยอารมณ์ของฌาน
๗. โดยภูมิเป็นที่บังเกิด
๘. โดยการถือเอา
๙. โดยความเป็นปัจจัยเกื้อหนุน
๑๐. โดยเหมาะสมแก่จริยา

๑. โดยแสดงจำนวนกัมมัฏฐาน

ในอาการ ๑๐ อย่างนั้น ประการแรก ข้อว่า โดยแสดงจำนวนกัมมัฏฐาน มีอรรถาธิบายดังนี้ :- ก็ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่า ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ฉะนี้ พระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ณ ที่นั้น ท่านสงเคราะห์เข้าไว้เป็น ๗ หมวดดังนี้ คือ

๑. กสิณกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง
        ๑.๑ ปฐวีกสิณ กสิณสำเร็จด้วยดิน
        ๑.๒ อาโปกสิณ กสิณสำเร็จด้วยน้ำ
        ๑.๓ เตโชกสิณ กสิณสำเร็จด้วยไฟ
        ๑.๔ วาโยกสิณ กสิณสำเร็จด้วยลม
        ๑.๕ นีลกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีเขียว
        ๑.๖ ปีตกสิณกสิณสำเร็จด้วยสีเหลือง
        ๑.๗ โลหิตกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีแดง
        ๑.๘ โอทาตกสิณ กสิณสำเร็จด้วยสีขาว
        ๑.๙ อาโลกกสิณ กสิณสำเร็จด้วยแสงสว่าง
        ๑.๑๐ ปริจฉินนากาสกสิณ กสิณสำเร็จด้วยช่องว่างซึ่งกำหนดขึ้น

๒. อสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง
        ๒.๑ อุทธมาตกอสุภะ ซากศพที่ขึ้นพองน่าเกลียด
        ๒.๒ วินีลกอสุภะ ซากศพที่ขึ้นเป็นสีเขียวน่าเกลียด
        ๒.๓ วิปุพพกอสุภะ ซากศพที่มีหนองแตกพลักน่าเกลียด
        ๒.๔ วิจฉททุกอสุภะ ซากศพที่ถูกตัดเป็นท่อน ๆ น่าเกลียด
        ๒.๕ วิกขายิตกอสุภะ ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกระจุยกระจายน่าเกลียด
        ๒.๖ วิกขิตตกอสุภะ ซากศพที่ทิ้งไว้เรี่ยราดน่าเกลียด
        ๒.๗ หาวิกขิตตกอสุภะ ซากศพที่ถูกสับฟันทิ้งกระจัดกระจายน่าเกลียด
        ๒.๘ โลหิตกอสุภะ ซากศพที่มีโลหิตไหลออกน่าเกลียด
        ๒.๙ ปุฬวกอสุภะซากศพที่เต็มไปด้วยหนอนน่าเกลียด
        ๒.๑๐ อัฏฐิกอสุภะ ซากศพที่เป็นกระดูกน่าเกลียด

๓. อนุสสติกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่าง
        ๓.๑ พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า
        ๓.๒ ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรม
        ๓.๓ สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์
        ๓.๔ สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลของตน
        ๓.๕ จาคานุสสติ ระลึกถึงการบริจาคที่ตนบริจาคแล้ว
        ๓.๖ เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา
        ๓.๗ มรณานุสสติ ระลึกถึงความตาย
        ๓.๘ กายคตาสติ ระลึกถึงร่างกายซึ่งล้วนแต่ไม่สะอาด
        ๓.๙ อานาปานสติ ระลึกกำหนดลมหายใจเข้าออก
        ๓.๑๐ อุปสมานุสสติ ระลึกถึงนิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง

๔. พรหมวิหารกัมมัฏฐาน ๔ อย่าง
        ๔.๑ เมตตา ความรักที่มุ่งช่วยทำประโยชน์
        ๔.๒ กรุณา ความสงสารที่มุ่งช่วยบำบัดทุกข์
        ๔.๓ มุทิตา ความพลอยยินดีต่อสมบัติ
        ๔.๔ อุเปกขา ความเป็นกลางไม่เข้าฝ่ายใด

๕. อารุปปกัมมัฏฐาน ๔ อย่าง
        ๕.๑ อากาสานัญจายตนะ อากาศไม่มีที่สุด
        ๕.๒ วิญญาณัญจายตนะ วิญญาณไม่มีที่สุด
        ๕.๓ อากิญจัญญายตนะ ความไม่มีอะไร
        ๕.๔ เนวสัญญานาสัญญายตนะ สัญญาละเอียด ซึ่งจะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่

๖. สัญญากัมมัฏฐาน ๑ อย่าง
        ๖.๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ความหมายรู้ในอาหารโดยเป็นสิ่งที่น่าเกลียด

๗. ววัตถานกัมมัฏฐาน ๑ อย่าง
        ๗.๑ จตุธาตุววัตถาน การกำหนดแยกคนออกเป็นธาตุ ๔

นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยแสดงจำนวน ด้วยประการฉะนี้

๒. โดยนำมาซึ่งอุปจารณานและอัปปนาณาน

ข้อว่า โดยนำมาซึ่งอุปจารณานและอัปปนาฌาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :-ก็แหละ ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น เฉพาะกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการ คือยกเว้นกายคตาสติกับอานาปานสติเสีย อนุสสติกัมมัฏฐานที่เหลือ ๘ กับอาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ นำมาซึ่งอุปจารฌาน กัมมัฏฐานที่เหลือ ๓๐ ประการ นำมาซึ่งอัปปนาฌาน

นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยนำมาซึ่งอุปจารฌานและอัปปนาฌานด้วยประการฉะนี้

๓. โดยความต่างกันแห่งฌาน

ข้อว่า โดยความต่างกันแห่งฌาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :- แหละในกัมมัฏฐานประการที่นำมาซึ่งอัปปนาฌานนั้น กสิณ ๑๐ กับ อานาปานสติ ๑ รวมเป็น ๑๑ ประการ ย่อมให้สำเร็จฌานได้ทั้ง ๔ ฌาน อสุภ ๑๐ กับ กายคตาสติ ๑ รวมเป็น ๑๑ ประการ ย่อมให้สำเร็จเพียงปฐมฌานอย่างเดียว พรหมวิหาร ๒ ข้างต้นให้สำเร็จฌาน ๓ ข้างต้น พรหมวิหาร ข้อที่ ๔ และอารุปปกัมมัฏฐาน ๔ ย่อมให้สำเร็จฌานที่ ๔

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยความต่างกันแห่งฌานด้วยประการฉะนี้

๔. โดยผ่านองค์ฌานและอารมณ์

ข้อว่า โดยผ่านองค์ฌานและอารมณ์ นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ การผ่าน๒ อย่าง คือ การผ่านองค์ฌาน ๑ การผ่านอารมณ์ ๑ ใน ๒ อย่างนั้นการผ่านองค์ฌานย่อมมีได้ในกัมมัฏฐานที่ให้สำเร็จฌาน ๓ และฌาน ๔ แม้ทั้งหมดทั้งนี้ เพราะทุติยฌานเป็นต้นที่ฌานลาภีบุคคลจะพึงได้บรรลุในอารมณ์เดียวกันนั้นต้องผ่านองค์ฌานทั้งหลาย มีวิตกและวิจารเป็นต้นขึ้นไป ในพรหมวิหารข้อที่ ๔ ก็เหมือนกัน เพราะแม้พรหมวิหารข้อที่ ๔ นั้น อันฌานลาภีบุคคลจะพึงได้บรรลุก็ต้องผ่านโสมนัสเวทนาในอารมณ์ของพรหมวิหาร ๒ มีเมตตาเป็นต้นไปเหมือนกัน

ส่วนการผ่านอารมณ์ ย่อมมีได้ในอารูปปกัมมัฏฐาน ๔ เพราะอากาสานัญจายตนฌานอันฌานลาภีบุคคลจะพึงได้บรรลุ ก็ต้องผ่านกสิณอันใดอันหนึ่งในบรรดากสิณ ๙ อย่างข้างต้น และวิญญาณัญจายตนฌานเป็นต้นอันฌานลาภิบุคคลจะพึงได้บรรลุ ก็ต้องผ่านอารมณ์ทั้งหลายมีอากาศเป็นต้นขึ้นไป การผ่านอารมณ์หาได้มีในกัมมัฏฐาน ที่เหลือนอกจากนี้ไม่

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยผ่านองค์ฌานและอารมณ์ด้วยประการฉะนี้


๕. โดยควรขยายและไม่ควรขยาย

ข้อว่า โดยควรขยายและไม่ควรขยาย นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้: กัมมัฏฐานที่ควรขยาย ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น กสิณกัมมัฏฐานควรขยายทั้ง ๑๐ ประการนั่นเทียว เพราะว่าโยคีบุคคลแผ่กสิณไปสู่โอกาสได้ประมาณเท่าใด ก็สามารถได้ยินเสียงด้วยทิพพโสตะ เห็นรูปได้ด้วยทิพพจักษุ และรู้จิตของสัตว์อื่นได้ด้วยจิต ภายในโอกาสประมาณเท่านั้น

กัมมัฏฐานที่ไม่ควรขยาย ส่วนกายคตาสติ กับ อสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการ ไม่ควรขยาย เพราะเหตุไร ? เพราะกัมมัฏฐานเหล่านี้ โยคีบุคคลกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะ และเพราะไม่มีอานิสงส์อะไร และข้อที่กัมมัฏฐานเหล่านี้อันโยคีบุคคลกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะนั้น จักปรากฏในแผนกแห่งภาวนาของกัมมัฏฐานนั้น ๆ ข้างหน้า แหละเมื่อโยคีบุคคล ขยายกัมมัฏฐานเหล่านี้แล้ว ก็เป็นแต่เพียงขยายกองแห่งซากศพเท่านั้น หามีอานิสงส์อะไรแต่ประการใดไม่ แม้ความข้อนี้สมกับที่ท่านกล่าวไว้ในโสปากปัญหาพยากรณ์ว่า ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาค รูปสัญญาปรากฏชัดแล้ว แต่อัฏฐิกสัญญาไม่ปรากฏชัด ก็ในปัญหาพยากรณ์นั้นที่ท่านกล่าวว่า รูปสัญญาปรากฏชัดแล้ว ท่านกล่าวด้วยอำนาจที่ได้ขยายนิมิต ส่วนที่ว่าอัฏฐิกสัญญาไม่ปรากฏชัดนั้น ท่านกล่าวด้วยอำนาจที่ไม่ได้ขยายนิมิต ส่วนพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า ภิกษุแผ่อัฏฐิกสัญญาไปสู่แผ่นดินทั้งสิ้น ฉะนี้นั้น พระองค์ตรัสไว้ด้วยอำนาจอาการที่ปรากฏแก่ภิกษุผู้มีอัฏฐิกสัญญา หาได้ตรัสด้วยการขยายนิมิตไม่ จริงอย่างนั้น ในรัชสมัยของพระเจ้าธรรมาโศกราช ได้มีนกกรเวกเห็นเงาของตนที่ฝาซึ่งทำด้วยกระจกโดยรอบ ๆ ตัวแล้ว มันสำคัญว่ามีนกกรเวกอยู่ในทั่วทุกทิศ จึงได้ร้องออกไปด้วยเสียงอันไพเราะ แม้พระเถระก็เช่นเดียวกัน เพราะท่านได้สำเร็จอัฏฐิกสัญญา จึงเห็นนิมิตปรากฏอยู่ในทั่วทุกทิศ เลยเข้าใจว่า แผ่นดินแม้ทั้งหมดเต็มไปด้วยอัฏฐิฉะนี้

หากเกิดปัญหาขึ้นว่า ถ้าเมื่อถือเอาความอย่างนี้แล้ว ภาวะที่อสุภฌานทั้งหลายมีอารมณ์หาประมาณมิได้อันใด ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในธัมมสังคหะๆ ข้อนั้นก็จะผิดเสียละซี ? วิสัชนาว่า ข้อนั้นไม่ใช่จะผิดไปเสียเลย เพราะโยคีบุคคลบางคนย่อมถือเอานิมิตในซากศพที่ขึ้นพองหรือในซากศพที่เป็นโครงกระดูกชนิดใหญ่ บางคนก็ถือเอานิมิตในซากศพเช่นนั้นชนิดเล็ก โดยปริยายนี้ฌานของโยคีบุคคลบางคนจึงมีอารมณ์เล็ก บางคนมีอารมณ์หาประมาณมิได้ อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ฌานมีอารมณ์หาประมาณมิได้ ท่านหมายเอาโยคีบุคคลที่ไม่เห็นโทษในการขยายนิมิตแห่งอสุภกัมมัฏฐานนั้นแล้วขยายกัมมัฏฐานนั้น แต่อย่างไรก็ตาม กายคตาสติกัมมัฏฐานกับอสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการ ไม่ควรขยาย เพราะไม่มีอานิสงส์อะไร มิใช่แต่เท่านี้ แม้กัมมัฏฐานที่เหลือก็ไม่ควรขยายเช่นเดียวกับกายคตาสติและอสุภกัมมัฏฐานนี้ เพราะเหตุไร ? เพราะว่า ในบรรดากัมมัฏฐานเหล่านั้น นิมิตแห่งอานาปานสติ เมื่อโยคีบุคคลขยาย ก็จะขยายแต่กองแห่งลมเท่านั้น และนิมิตแห่งอานาปานสตินั้นกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะ เช่นนิมิตที่ปลายจมูกและริมฝีปากเป็นต้น ฉะนี้ อานาปานสติกัมมัฏฐานจึงไม่ควรขยาย เพราะมีแต่โทษอย่างหนึ่ง เพราะโยคีบุคคลกำหนดเอาด้วยโอกาสเฉพาะอย่างหนึ่ง พรหมวิหาร ๔ มีสัตว์เป็นอารมณ์ เมื่อขยายอารมณ์ของพรหมวิหารเหล่านั้น ก็จะขยายแต่กองแห่งสัตว์เท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์อะไรกับการขยายกองแห่งสัตว์นั้นหามีไม่ เพราะฉะนั้น แม้อารมณ์ของพรหมวิหารเหล่านั้นก็ไม่ควรขยาย ส่วนพระพุทธพจน์ใดที่ทรงแสดงไว้ว่า ภิกษุมีจิตประกอบด้วยเมตตา แผ่เมตตาจิตไปทางทิศหนึ่งอยู่ ฉะนี้นั้นทรงแสดงด้วยอำนาจการกำหนดถือเอาต่างหาก หาใช่ด้วยอำนาจการขยายนิมิตไม่ จริงอยู่ภิกษุกำหนดเอาสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในทิศหนึ่งแล้วจึงเจริญเมตตาไปโดยลำดับ มีอาทิว่า อาวาสหนึ่ง สองอาวาส ฉะนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปทางทิศหนึ่งอยู่ มิใช่ภิกษุขยายนิมิตกัมมัฏฐาน

อนึ่ง ในพรหมวิหารภาวนานี้เล่า ก็ไม่มีปฏิภาคนิมิตที่โยคีบุคคลนี้จะพึงขยายด้วย แม้การที่พรหมวิหารฌานมีอารมณ์เล็กน้อยและมีอารมณ์หาประมาณมิได้ ในอธิการนี้พึงทราบด้วยอำนาจการกำหนดเอาสัตว์จำนวนมากเป็นเกณฑ์ต่างหาก แม้ในอารมณ์ของอารุปปฌาน ๔ นั้น อากาศ (หมายเอาอากาสานัญจายตนะ) ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นกสิณคฆาฏิมากาศ คืออากาศตรงที่เพิกกสิณออก จริงอยู่กสิณคฆาฏิมากาศ (อากาศที่เพิกกสิณออก) นั้น โยคีบุคคลพึงสนใจแต่เพียงว่าเป็นที่ปราศจากกสิณเท่านั้น นอกเหนือไปจากนั้น แม้จะขยายก็ไม่มีประโยชน์อะไร วิญญาณ (หมายเอาวิญญาณัญจายตนะ) ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นสภาวธรรม จริงอยู่ ใคร ๆ ก็ตามไม่สามารถจะขยายสภาวธรรมได้ ความปราศจากวิญญาณ (หมายเอาอากิญจัญญายตนะ) ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นภาวะสักว่าความไม่มีแห่งวิญญาณ อารมณ์ของเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็ไม่ควรขยาย เพราะเป็นสภาวธรรมเช่นเดียวกัน

กัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๑๐ มีพุทธานุสสติเป็นต้น ก็ไม่ควรขยายด้วย ไม่มีปฏิภาคนิมิต เพราะกัมมัฏฐานที่มีปฏิภาคนิมิตเท่านั้น ที่เป็นกัมมัฏฐานควรจะขยายและอารมณ์ที่เป็นปฏิภาคนิมิตของกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการ มีพุทธานุสสติ เป็นต้นหามีไม่ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรขยายอารมณ์นั้น ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยควรขยายและไม่ควรขยายด้วยประการฉะนี้

๖. โดยอารมณ์ของฌาน

ข้อว่า โดยอารมณ์ของฌาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :- ก็แหละ ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ รวม ๒๒ กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์เป็นปฏิภาคนิมิต กัมมัฏฐานที่เหลือ ๑๘ มีอารมณ์ไม่เป็นปฏิภาคนิมิต

อนึ่ง ในอนุสสติ ๑๐ ยกเว้นอานาปานสติกับกายคตาสติเสีย อนุสสติที่เหลือ ๘ กับอาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ วิญญาณัญจายตนะ ๑ เนวสัญญา นาสัญญายตนะ รวม ๑๒ กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์เป็นสภาวธรรม

กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ รวม ๒๒ กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์เป็นนิมิต

กัมมัฏฐานที่เหลือ ๕ คือ พรหมวิหาร ๔ อากาสานัญจายตนะ ๑ อากิญจัญญายตนะ ๑ มีอารมณ์ที่พูดไม่ถูก (คือใช่สภาวธรรมและไม่เป็นนิมิต)

อนึ่ง วิปุพพกอสุภะ ๑ โลหิตกอสุภะ ๑ ปุฬวกอสุภะ ๑ อานาปานสติ ๑ อาโปกสิณ เตโชกสิณ ๑ วาโยกสิณ ๑ และอารมณ์คือสื่งนั้น เช่นดวงแสงแห่งพระอาทิตย์เป็นต้นที่ฉายเข้าไปข้างในโดยทางช่องหน้าต่างเป็นต้น

ในอาโลกกสิณนั้น ๑ รวม ๔ กัมมัฏฐานนี้มีอารมณ์เคลื่อนไหวได้ แต่ก็เคลื่อนไหวได้ในเบื้องต้นก่อนแต่ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นเท่านั้น ส่วนที่เป็นปฏิภาคนิมิตแล้ว ก็สงบนิ่งเหมือนกัน 

กัมมัฏฐานที่เหลือจาก ๔ กัมมัฏฐานนี้ มีอารมณ์ไม่เคลื่อนไหว
ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยอารมณ์ของฌาน ด้วยประการฉะนี้

๗. โดยภูมิเป็นที่บังเกิด

ก็แหละ ในข้อว่า โดยภูมิเป็นที่บังเกิด นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ - อสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ กายคตาสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ รวม ๑๒ กัมมัฏฐานนี้ ย่อมไม่บังเกิดในเทวโลกชั้นกามาวจร เพราะซากศพและอาหารอันน่าเกลียดไม่มีในเทวโลก

ชั้นนั้น กัมมัฏฐาน ๑๒ นั้น รวมกับอานาปานสติ ๑ เป็น ๑๓ กัมมัฏฐานนี้ ย่อมไม่บังเกิดในพรหมโลก เพราะลมอัสสาสะปัสสาสะไม่มีในพรหมโลก

กัมมัฏฐานอื่นจากอารุปปกัมมัฏฐาน ๔ แล้วย่อมไม่บังเกิดในอรูปภพ

ส่วนในโลกมนุษย์ กัมมัฏฐานบังเกิดได้ครบหมดทั้ง ๔๐ ประการ

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยภูมิเป็นที่บังเกิด ด้วยประการฉะนี้


๘. โดยการถือเอา


ในข้อว่า โดยการถือเอา นั้น พึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐาน แม้โดยการถือเอาด้วยวัตถุที่ได้เห็น, ได้ถูกต้อง และที่ได้ยินดังนี้ ในกัมมัฏฐานเหล่านั้น ยกเว้นวาโย กสิณเสีย กสิณที่เหลือ ๙ กับ อสุภ ๑๐ รวมเป็น ๑๙ กัมมัฏฐานนี้ พึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็น อธิบายว่า ในเบื้องต้นต้องแลดูด้วยตาเสียก่อนแล้วจึงถือเอานิมิตของกัมมัฏฐานเหล่านั้นได้ ในกายคตาสติ อาการ ๕ คือ ผม, ขน, เล็บ, ฟันและหนัง พึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็น อาการที่เหลืออีก ๒๗ พึงถือเอาได้ด้วยเสียงที่ได้ยิน ดังนั้น อารมณ์ของกายคตาสติกัมมัฏฐาน จึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็นและเสียงที่ได้ยิน ฉะนี้ อานาปานสติกัมมัฏฐาน จึงถือเอาได้ด้วยการถูกต้อง(สัมผัส) วาโยกสิณพึงถือเอาได้ด้วยสีที่ได้เห็นและสัมผัสที่ได้ถูกต้อง กัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๑๔ พึงถือเอาได้ด้วยเสียงที่ได้ยิน

แหละในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น กัมมัฏฐาน ๕ คือ อุเปกขาพรหมวิหาร ๑ อารุปปกัมมัฏฐาน ๔ อันโยคีบุคคลผู้เริ่มลงมือทำกัมมัฏฐานจะพึงถือเอาไม่ได้ในทันทีทีเดียว กัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๓๕ จึงถือเอาได้โดยทันที ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยการถือเอา ด้วยประการฉะนี้


๙. โดยความเป็นปัจจัยเกื้อหนุน

ข้อว่า โดยความเป็นปัจจัยเกื้อหนุน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :- ก็แหละในบรรดา

กสิณ  ๙ ประการ (ยกเว้นอากาสกสิณ) ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่อารุปปฌานทั้งหลาย
กสิณทั้ง ๑๐ ประการ ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่อภิญญาทั้งหลาย
พรหมวิหาร ๒ (ข้างต้น) ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่พรหมวิหารข้อที่ ๔
อารุปปกัมมัฏฐานบทต่ำ ๆ ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่อารุปปกัมมัฏฐานบทสูง ๆ
เนวสัญญานาสัญญายตนกัมมัฏฐาน ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่นิโรธสมาบัติ
กัมมัฏฐานแม้ทั้งหมด ย่อมเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่การอยู่เป็นสุข แก่วิปัสสนากัมมัฏฐาน และแก่ภวสมบัติทั้งหลาย

ฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยความเป็นปัจจัยเกื้อหนุนด้วยประการฉะนี้

๑๐. โดยเหมาะสมแก่จริยา

ในข้อว่า โดยเหมาะสมแก่จริยา นี้ พึงทราบการวินิจฉัยแม้โดยความเหมาะสมแก่จริยาทั้งหลาย ดังนี้ :
ประการแรก ในกัมมัฏฐาน ๔๐ นั้น
กัมมัฏฐาน ๑๑ คือ อสุภ ๑๐ กายคตาสติ ๑ ย่อมเหมาะสมแก่คนราคจริต
กัมมัฏฐาน ๔ คือ พรหมวิหาร ๔ วรรณกสิณ ๔ เหมาะสมแก่คนโทสจริต
อานาปานสติกัมมัฏฐานข้อเดียวเท่านั้น เหมาะสมแก่คนโมหจริตและคนวิตกจริต
อนุสสติ ๕ ข้างต้น เหมาะสมแก่คนศรัทธาจริต
กัมมัฏฐาน ๔ คือ มรณสติ ๑ อุปสมานุสสติ ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา๑ เหมาะสมแก่คนพุทธิจริต
กสิณกัมมัฏฐานที่เหลือ ๖ กับอารุปปกัมมัฏฐาน ๔ เหมาะสมแก่คนทุกจริต
แต่ว่าในกสิณ นั้น กสิณอย่างใด อย่างหนึ่งที่เล็กขนาดขันโอ ย่อมเหมาะสมแก่คนวิตกจริต
กสิณอย่างใด อย่างหนึ่งขนาดใหญ่กว่านั้นจนขนาดเท่าจานข้าวเป็นต้น ย่อมเหมาะสมแก่คนโมหจริต

ฉะนี้นักศึกษาพึงทราบการวินิจฉัยกัมมัฏฐานโดยความเหมาะสมแก่จริยาในกัมมัฏฐาน ๔๐ นี้ ด้วยประการฉะนี้

🔅 สรุปความในจริยา

ก็แหละ ถ้อยแถลงทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้าแสดงไว้ด้วยอำนาจที่เป็นข้าศึกแก่กันโดยตรงอย่างหนึ่ง ด้วยอำนาจเป็นกัมมัฏฐานที่สบายแท้ ๆ อย่างหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดีขึ้นชื่อว่าภาวนาฝ่ายกุศลแล้ว ที่จะไม่กำจัดกิเลสมีราคะเป็นต้น หรือที่จะไม่เป็นอุปการะแก่คุณธรรมมีศรัทธาเป็นต้น เป็นอันไม่มี ข้อนี้สมด้วยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ซึ่งมีในเมฆยสูตรว่า พึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป คือพึงเจริญอสุภกัมมัฏฐานทั้งหลายเพื่อประหานเสียซึ่งราคะ พึงเจริญเมตตาเพื่อประหานเสียซึ่งพยาบาท พึงเจริญอานาปานสติ เพื่อกำจัดเสียซึ่งมิจฉาวิตก พึงเจริญอนิจจสัญญา เพื่อถอนเสียซึ่งอัสมิมานะ

แม้ในราหุลสูตร พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงพระกัมมัฏฐาน ๗ ประการโปรดพระราหุลเถระเพียงองค์เดียว โดยนัยมีอาทิว่า ราหุล เธอจงเจริญซึ่งภาวนาอันมีเมตตาเป็นอารมณ์... เพราะเหตุฉะนี้ นักศึกษาจงอย่าได้ทำความยึดถือเพียงแต่ในถ้อยแถลงที่แสดงไว้ว่า กัมมัฏฐานอย่างโน้นเหมาะสมแก่จริตบุคคล ประเภทโน้นจึงค้นคว้าแสวงหาอรรถาธิบายในคัมภีร์ต่าง ໆ ทั่วไปเถิด การวินิจฉัยกัมมัฏฐานกถาโดยพิสดาร ในหัวข้อสังเขปว่า เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาพระกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ยุติเพียงเท่านี้



จริยา ๖ อย่าง

 จริยา ๖ อย่าง

บัดนี้ จะอรรถาธิบายความในหัวข้อสังเขปที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า อันเหมาะสมแก่จริยาของตน ฉะนี้ต่อไป
คำว่า จริยา ได้แก่จริยา ๖ อย่าง คือ
        ๑. ราคจริยา* ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจราคะ
        ๒. โทสจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจโทสะ
        ๓. โมหจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจโมหะ
        ๔. สัทธาจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจศรัทธา
        ๕. พุทธิจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจปัญญา
        ๖. วิตกกจริยา ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจวิตก

(* คำว่า ราคจริยา มีอรรถวิเคราะห์ว่า คือความท่องเที่ยวไป ได้แก่ความเกิดขึ้นแห่งราคะในสันดานจนหนาแน่นเป็นอุปนิสัย เรียกว่า ราคจริยา จริยาอื่น ๆ ก็โดยทำนองเดียวกันนี้)

แต่เกจิอาจารย์ประสงค์เอาจริยาถึง ๑๔ อย่าง โดยบวกจริยา ๘ เข้าด้วย ดังนี้คือ จริยาอื่นอีก ๔ ด้วยอำนาจการคละกันและต่อกันของราคจริยาเป็นต้น ราคโทสจริยา ๑ ราคโมหจริยา ๑ โทสโมหจริยา ๑ ราคโทสโมหจริยา ๑ และจริยา ๔ อย่างอื่นอีกด้วยอำนาจการคละกันและต่อกันของสัทธาจริยาเป็นต้น คือ สัทธาพุทธิจริยา ๑ สัทธาวิตกกจริยา ๑ พุทธิวิตกกจริยา ๑ สัทธาพุทธิวิตกกจริยา แต่เมื่อจะกล่าวประเภทแห่งจริยา ด้วยอำนาจการคละกันและต่อกันอย่างนี้แล้ว จริยาก็จะมีเป็นอเนกประการ โดยยกเอาราคจริยาเป็นต้นมาคละกันกับสัทธาจริยาเป็นต้น ความสำเร็จแห่งอรรถาธิบายที่ประสงค์ก็จะไม่พึงมี เพราะฉะนั้น นักศึกษาพึ่งเข้าใจแต่โดยสังเขปว่า จริยามีเพียง ๖ อย่างเท่านั้น

จริตบุคคล ๖ ประเภท

คำว่า จริยา ๑ ปกติ ๑ ความหนาแน่น ๑ โดยใจความเป็นอันเดียวกัน และด้วยอำนาจแห่งมูลจริยา ๖ อย่างนั้น บุคคลจึงมี ๖ ประเภทเหมือนกัน ดังนี้
        ๑. ราคจริตบุคคล คนราคจริต
        ๒. โทสจริตบุคคล คนโทสจริต
        ๓. โมหจริตบุคคล คนโมหจริต
        ๔. สัทธาจริตบุคคล คนศรัทธาจริต
        ๕. พุทธิจริตบุคคล คนพุทธิจริต
        ๖. วิตกกจริตบุคคล คนวิตกจริต

จริยานี้ท่านแสดงไว้โดยพิสดารในสังยุตตสุตตฎีกา ผู้ปรารถนาพึงตรวจดูเถิด

🔅 อธิบายจริตบุคคล ๖ ประเภท

ราคจริตบุคคลมีส่วนเข้ากันได้กับศรัทธาจริตบุคคลโดยมีอรรถาธิบายว่า ในสมัยที่กุศลจิตเกิดขึ้น สำหรับคนราคจริตนั้น ศรัทธามีกำลังมาก เพราะศรัทธามีคุณลักษณะใกล้กับราคะ ขยายความว่า ในฝ่ายอกุศล ราคะย่อมทำให้เยื่อใยติดใจในอารมณ์ไม่ห่อเหี่ยว ฉันใด ในฝ่ายกุศล ศรัทธาก็ทำให้เยื่อใยติดใจในอารมณ์ ไม่ห่อเหี่ยวฉันนั้น ราคะย่อมแสวงหาวัตถุกาม ฉันใด ศรัทธาก็ย่อมแสวงหาคุณมีศีลเป็นต้นฉันนั้น และราคะย่อมไม่ละวางซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ฉันใด ศรัทธาก็ไม่ละวางซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฉันนั้น

โทสจริตบุคคลมีส่วนเข้ากันได้กับพุทธิจริตบุคคลโดยมีอรรถาธิบายว่า ในสมัยที่กุศลจิตเกิดขึ้น สำหรับคนโทสจริตนั้น ปัญญามีกำลังมาก เพราะปัญญามีคุณลักษณะใกล้กับโทสะ ขยายความว่า ในฝ่ายอกุศล โทสะไม่เยื่อใย ไม่ติดอารมณ์ ฉันใด ในฝ่ายกุศล ปัญญาก็ไม่เยื่อใย ไม่ติดอารมณ์ ฉันนั้น โทสะย่อมแสวงหาแต่โทษแม้ที่ไม่มีจริง ฉันใด ปัญญาก็ย่อมแสวงหาแต่โทษที่มีจริง ฉันนั้น และโทสะย่อมเป็นไปโดยอาการหลีกเว้นสัตว์ ฉันใด ปัญญาก็ย่อมเป็นไปโดยอาการหลีกเว้นสังขารฉันนั้น

แหละ โมหจริตบุคคลมีส่วนเข้ากันได้กับวิตกจริตบุคคล โดยมีอรรถาธิบายว่าเมื่อโมหจริตบุคคลเพียรพยายามเพื่อทำให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นนั้น วิตกผู้ทำอันตรายย่อมซิงเกิดขึ้นเสียโดยมาก ทั้งนี้ เพราะวิตกมีลักษณะใกล้กับโมหะ ขยายความว่า โมหะเป็นสภาพไม่ตั้งมั่น เพราะเกลื่อนกลาดดาษดาไปในอารมณ์ ฉันใด วิตกก็เป็นสภาพไม่ตั้งมั่นเพราะตริตรึกนึกไปโดยประการต่าง ๆ ฉันนั้น และโมหะเป็นสภาพไหวหวั่นเพราะไม่หยั่งลงมั่นในอารมณ์ ฉันใดวิตกก็เป็นสภาพไหวหวั่นเพราะกำหนดอารมณ์รวดเร็ว ฉันนั้น

อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า จริยาอื่น ๆ ยังมีอีก ๓ อย่าง ด้วยอำนาจตัณหา๑ มานะ ๑ ทิฏฐิ ๑ ใน ๓ อย่างนั้น ตัณหาก็ได้แก่ราคะนั่นเอง และมานะก็ประกอบด้วยราคะนั้น เพราะเหตุฉะนี้ ตัณหาและมานะทั้งสองจึงไม่พ้นราคจริตไปได้ ส่วนทิฏฐิจริยาก็บวกเข้าอยู่ในโมหจริยานั่นเอง เพราะทิฏฐิมีโมหะเป็นเหตุให้เกิด

🔅 ปัญหา ๓ ข้อในจริยา ๖ อย่าง

๑. จริยา ๖ อย่างนี้นั้น มีอะไรเป็นเหตุ ?
๒. จะทราบได้อย่างไรว่า บุคคลนี้ เป็นราคจริต บุคคลนี้ เป็นโทสจริต เป็นต้น จริตใดจริตหนึ่ง ?
๓. บุคคลจริตชนิดไหน มีธรรมเป็นที่สบายอย่างไร ?

วิสัชนาปัญหา ข้อที่ ๑

ในจริยา ๖ อย่างนั้น เกจิอาจารย์กล่าวไว้ว่า จริยา ๓ อย่างข้างต้น มีกรรมที่ได้สั่งสมมาแต่ชาติก่อนเป็นเหตุ ๑ มีธาตุและโทษเป็นเหตุ ๑

อธิบายว่า บุคคลผู้มีการกระทำสิ่งที่น่าเจริญใจและทำกรรมอันดีงามไว้มากในชาติก่อน หรือบุคคลที่จุติจากสวรรค์มาเกิดในโลกนี้ ย่อมเป็นคนราคจริต บุคคลผู้สร้างเวรกรรมคือตัดช่องย่องเบาปล้นฆ่าและพันธนาจองจำไว้มากในชาติก่อน หรือบุคคลที่จุติจากนรกและกำเนิดนาคมาเกิดในโลกนี้ ย่อมเป็นคนโทสจริต บุคคลที่ดื่มน้ำเมามากและขาดการศึกษาการค้นคว้าในชาติก่อน หรือบุคคลที่จุติจากกำเนิดดิรัจฉานมาเกิดในโลกนี้ ย่อมเป็นคนโมหจริต

เกจิอาจารย์กล่าวว่า จริยา ๓ ข้างต้น มีกรรมที่สั่งสมมาในชาติก่อนเป็นเหตุอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ อนึ่ง เพราะมีธาตุทั้ง ๒ คือ ธาตุดินและธาตุน้ำมาก บุคคลจึงเป็นคนโมหจริต เพราะมีธาตุทั้ง ๒ คือธาตุไฟและธาตุลมนอกนี้มาก บุคคลจึงเป็นคนโทสจริตและเพราะมีธาตุหมดทั้ง ๔ ธาตุสม่ำเสมอกัน บุคคลจึงเป็นคนราคจริต ส่วนในข้อว่าด้วยโทษนั้นคือบุคคลผู้มีเสมหะมากเป็นคนราคจริต บุคคลผู้มีลมมากเป็นคนโมหจริตหรือบุคคลผู้มีเสมหะมากเป็นคนโมหจริต บุคคลผู้มีลมมากเป็นคนราคจริต เกจิอาจารย์กล่าวว่า จริยา ๓ ข้างต้น มีธาตุและโทษเป็นเหตุอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้

มติมหาพุทธโฆสเถระแย้งเกจิอาจารย์

คำของพวกเกจิอาจารย์ทั้งหมดนี้ เป็นคำที่ไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะเหตุนี้ บุคคลผู้มีการกระทำสิ่งที่น่าเจริญใจและทำกรรมอันดีงามไว้มากในชาติก่อนก็ดี บุคคลจำพวกที่จุติจากสวรรค์มาเกิดในโลกนี้ก็ดี ไม่ใช่จะเป็นคนราคจริตไปเสียทั้งหมดมิได้ หรือบุคคลจำพวกสร้างเวรกรรมมีการตัดช่องย่องเบาเป็นต้นไว้มากก็ดี บุคคลจำพวกที่จุติจากนรกเป็นต้นมาเกิดในโลกนี้ก็ดี ไม่ใช่จะเป็นคนโทสจริต คนโมหจริต ไปเสียทั้งหมดมิได้ และการกำหนดเอาความมากของธาตุทั้ง ๔ โดยนัยตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็ไม่เป็นอย่างนั้นทีเดียว และในการกำหนดเอาโทษเล่า ก็กล่าวถึงเพียงคนราคจริตกับคนโมหจริต ๒ บุคคลเท่านั้น และแม้คำกำหนดด้วยอำนาจโทษนั้นก็ผิดกันทั้งเบื้องต้นเบื้องปลาย (เพราะการกำหนดจริยาด้วยอำนาจแห่งโทษว่า บุคคลเป็นคนราคจริตเป็นต้นด้วยมีโทษคือเสมหะเป็นต้นมากนั้น พวกเกจิอาจารย์กล่าวว่า บุคคลมีเสมหะมากเป็นคนราคจริตดังนี้แล้วกลับกล่าวว่า บุคคลมีเสมหะมากเป็นคนโมหจริต และว่าบุคคลมีลมมากเป็นคนโมหจริต แล้วยังกล่าวว่า บุคคลมีลมมากเป็นคนราคจริตอีกเล่า) และในศรัทธาจริยาเป็นต้น ก็มิได้กล่าวถึงเหตุแห่งจริยาอะไรเลย แม้แต่อย่างเดียว

มติของท่านอรรถกถาจารย์

ส่วนการวินิจฉัยตามแนวมติของท่านอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย ในอธิการนี้ มีดังนี้ กล่าวคือ ในการระบุเอาส่วนที่มากหนาของเหตุ ท่านอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นผู้มีโลภะมากหนา เป็นผู้มีโทสะมากหนา เป็นผู้มีโมหะมากหนา เป็นผู้มีอโลภะมากหนา เป็นผู้มีอโทสะมากหนา และเป็นผู้มีอโมหะมากหนา ทั้งนี้โดยนิยามแห่งเหตุมีโลภะเป็นต้นอันเป็นไปในภพก่อน ดังนี้

อกุศลวาระ ๔

๑. บุคคลใดในขณะทำอกุศลกรรมที่ประกอบด้วย โลภะ อโทสะ อโมหะ มีกำลังมากแต่อโลภะ โทสะ โมหะมีกำลังน้อย อโลภะซึ่งมีกำลังน้อยของบุคคลนั้นย่อมไม่สามารถครอบงำโลภะได้ ส่วนอโทสะ, อโมหะมีกำลังมาก จึงสามารถครอบงำโทสะ โมหะได้ เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ชื่อว่า บังเกิดด้วยอำนาจปฏิสนธิวิบากอันกรรมนั้นเผล็ดผลให้ ย่อมเป็นคนขี้โลภ แต่อ่อนโยน ไม่มักโกรธ มีปัญญา มีปรีชาญาณแหลมคมดังเพชร

๒. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำอกุศลกรรมที่ประกอบด้วย โลภะ โทสะ อโมหะมีกำลังมาก แต่อโลภะ อโทสะ โมหะ มีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนขี้โลภด้วย ขี้โกรธด้วย โดยนัยต้นนั่นเทียว แต่เป็นคนเจ้าปัญญามีญาณปรีชาแหลมคมดังเพชร เหมือนพระทัตตาภยเถระเป็นตัวอย่าง

๓. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำอกุศลกรรมที่ประกอบด้วย  โลภะ อโทสะ โมหะ มีกำลังมาก แต่อโลภะ โทสะ อโมหะ มีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนขี้โลภด้วย มีปัญญาน้อยด้วย โดยนัยต้นนั่นเทียว แต่เป็นคนอ่อนโยน ไม่ขี้โกรธเหมือนพระพากุลเถระเป็นตัวอย่าง

๔. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำอกุศลกรรมที่ประกอบด้วย  โลภะ โทสะ โมหะ ครบทั้ง ๓ เหตุ มีกำลังมาก แต่อโลภะ อโทสะ อโมหะ เหตุมีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนขี้โลภด้วย ขี้โกรธด้วย มีปัญญาน้อยด้วย โดยนัยต้นนั่นเทียว

กุศลวาระ ๔

๑. ส่วนบุคคลใดในขณะทำกุศลกรรมที่ประกอบด้วย อโลภะ โทสะ โมหะ มีกำลังมาก แต่โลภะ อโทสะ, อโมหะ มีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนไม่โลภ มีกิเลสน้อย แม้จะได้ประสบกับอารมณ์อันเป็นทิพย์ ก็ไม่หวั่นไหวโดยนัยต้นนั่นเทียวแต่ว่าเป็นคนขี้โกรธ และมีปัญญาน้อย

๒. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำกุศลกรรมที่ประกอบด้วย อโลภะ อโทสะ โมหะ มีกำลังมาก แต่โลภะ โทสะ อโมหะ มีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนไม่ขี้โลภและไม่ขี้โกรธ อ่อนโยน โดยนัยต้นนั่นเทียว แต่เป็นคนมีปัญญาน้อย

๓. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำกุศลกรรมที่ประกอบด้วย อโลภะ โทสะ อโมหะ มีกำลังมาก แต่โลภะ อโทสะ โมหะ มีกำลังน้อย บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้น ย่อมเป็นคนไม่ขี้โลภและมีปัญญาดี โดยนัยต้นนั่นเทียว แต่เป็นคนขี้โทโสขี้โกรธ

๔. อนึ่ง บุคคลใดในขณะทำกุศลกรรมที่ประกอบด้วย อโลภะ อโทสะ อโมหะ เหตุทั้ง ๓ ประการมีกำลังมาก แต่โลภะ โทสะ โมหะมีกำลังอ่อน บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเหตุเช่นนั้นย่อมเป็นคนไม่ขี้โลภ ไม่ขี้โกรธ และมีปัญญาดี เหมือนพระมหารักขิตเถระ โดยนัยต้นนั่นเทียว

อรรถาธิบายของท่านฎีกาจารย์ 
(ยกมาจาก ปรมตุถมญชุสาฎีกา เพื่อให้นักศึกษาได้ความแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น)

อกุศลวาระและกุศลวาระนี้ ท่านฎีกาจารย์ให้อรรถาธิบายไว้ดังนี้ ก็แหละในอรรถกถานั้น ได้วาระ ๑๔ วาระ คือ ในฝ่ายอกุศลได้ ๗ วาระ ทั้งนี้ ด้วยอำนาจความมากหนาแห่งเหตุมีโลภเหตุเป็นต้น โดยจัดเป็น อย่างละหนึ่ง ๓ วาระ อย่างละสอง ๓ วาระ อย่างละสาม ๑ วาระ คือโลภวาระ ๑ โทสวาระ ๑ โมหวาระ ๑ โลภะ โทสวาระ ๑ โลภะ โมหวาระ ๑ โทสะ โมหวาระ ๑ และโลภะ โทสะ โมหวาระ ๑ ในฝ่ายกุศลก็ได้ ๗ วาระเหมือนกัน ทั้งนี้ด้วยอำนาจความมากหนาแห่งเหตุมี อโลภเหตุเป็นต้น โดยจัดเป็น อย่างละหนึ่ง ๓ วาระ อย่างละสอง ๓ วาระ อย่างละสาม ๑ วาระ คือ อโลภวาระ ๑ อโทสวาระ ๑ อโมหวาระ ๑ อโลภะ อโทสวาระ ๑ อโลภะ อโมหวาระ ๑ อโทสะ อโมหวาระ ๑ อโลภะ อโทสะ อโมหวาระ ๑

ใน ๑๔ วาระนั้น ท่านอรรถกถาจารย์แสดงเป็นเพียง ๘ วาระเท่านั้น โดยจัดวาระในฝ่ายอกุศลเป็น ๓ วาระ ในฝ่ายกุศลเป็น ๓ วาระ เข้าไว้ในภายในดังนี้ ในฝ่ายกุศลท่านถือเอาโทสุสสทวาระด้วยวาระที่ ๓ ถือเอาโมรุสสทวาระด้วยวาระที่ ๒ และ ถือเอาโทสโมหุสสทวาระด้วยวาระที่ ๑ ซึ่งมาในอรรถกถานั้นว่า อโลภะ โทสะ อโมหะมีกำลังมาก, อโลภะ อโทสะ โมหะมีกำลังมาก, อโลภะ โทสะ โมหะมีกำลังมาก, ในฝ่ายอกุศลก็เหมือนกันท่านถือเอาอโทสุสสทวาระด้วยวาระที่ ๓ ถือเอาอโมหุสสทวาระด้วยวาระที่ ๒ และถือเอาอโทสอโมหุสสทวาระด้วยวาระที่ ๑ ซึ่งมาในอรรถกถานั้นว่า โลภะ อโทสะ โมหะมีกำลังมาก, โลภะ โทสะ อโมหะมีกำลังมาก, โลภะ อโทสะ อโมหะมีกำลังมาก ก็แหละ ในอรรถกถานั้น บุคคลใดที่ท่านอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า เป็นคนขี้โลภ ดังนี้ บุคคลนั้นเป็นคนราคจริต บุคคลที่ขี้โกรธและบุคคลมีปัญญาอ่อน เป็นคนโทสจริตและคนโมหจริต บุคคลผู้มีปัญญาดี เป็นคนพุทธิจริต บุคคลผู้ไม่โลภไม่โกรธเป็นคนศรัทธาจริต เพราะมีปกติเลื่อมใสศรัทธา อีกนัยหนึ่ง บุคคลที่บังเกิดมาด้วยกรรมอันมีอโมหะเป็นบริวาร เป็นคนพุทธิจริต ฉันใด บุคคลที่บังเกิดมาด้วยกรรมอันมีศรัทธาที่มีกำลังมากเป็นบริวาร ก็เป็นคนศรัทธาจริต ฉันนั้น บุคคลที่เกิดมาด้วยกรรมซึ่งมีกามวิตกเป็นต้นเป็นบริวาร เป็นคนวิตกจริต บุคคลที่บังเกิดมาด้วยกรรมซึ่งมีความผสมกับโลภะเป็นต้นเป็นบริวาร จัดเป็นคนมีจริตเจือปนนักศึกษาพึงทราบว่า กรรมอันให้เกิดปฏิสนธิวิบาก ซึ่งมีโลภะเป็นต้นแต่อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นบริวาร นับเป็นเหตุแห่งจริยาทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้

วิสัชนาปัญหา ข้อที่ ๒

ก็แหละ ในปัญหาที่ข้าพเจ้าตั้งไว้มีอาทิว่า จะพึงทราบได้อย่างไรว่าบุคคลนี้เป็นคนราคจริต ฉะนี้นั้น มีแนวทางที่จะให้ทราบได้โดยบทประพันธคาถา ดังนี้ อิริยาปถโต กิจฺจา โภชนา ทสฺสนาทิโต ธมุมปปวตุติโต เจว จริยาโย วิภาวเย นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายได้โดยประการเหล่านี้ คือ :

        ๑. โดยอิริยาบถ
        ๒. โดยการงาน
        ๓. โดยอาหาร
        ๔. โดยการเห็นเป็นต้น
        ๕. โดยความเกิดขึ้นแห่งธรรม

๑. โดยอิริยาบถ

ในประการเหล่านั้น ข้อว่า โดยอิริยาบถ มีอรรถาธิบายว่า :- อิริยาบถเดิน คนราคจริตเมื่อเดินอย่างปกติ ย่อมเดินไปโดยอาการอันเรียบร้อย ค่อย ๆ วางเท้าลง วางเท้ายกเท้าอย่างสม่ำเสมอ และเท้าของคนราคจริตนั้นเป็นเว้ากลาง คนโทสจริตย่อมเดินเหมือนเอาปลายเท้าขุดพื้นดินไป วางเท้ายกเท้าเร็ว และเท้าของคนโทสจริตนั้นจิกปลายเท้าลง คนโมหจริตย่อมเดินด้วยกิริยาที่ส่ายไปข้าง ๆ วางเท้ายกเท้าเหมือนกับคนที่สะดุ้งตกใจ และเท้าของคนโมหจริตนั้นลงสัน ข้อนี้สมด้วยคำที่อรรถกถาจารย์กล่าวไว้ในอุปปัติแห่งคัณฑิยสูตรว่า คนขี้กำหนัดเท้าเว้ากลาง คนขี้โกรธเท้าจิกปลายลง คนขี้หลงเท้าลงส้น ส่วนเท้าชนิดนี่นี้ เป็นเท้าของท่านผู้ละกิเลส เหมือนดังหลังคาได้แล้ว

แม้อิริยาบถยืนของคนราคจริต ก็มีอาการหวานตา น่าเลื่อมใส ของคนโทสจริตมีอาการแข็งกระด้าง ของคนโมหจริตมีอาการซุ่มซ่ามแม้ในอิริยาบถนั่งก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ ส่วนอิริยาบถนอน คนราคจริตไม่รีบร้อน ปูที่นอนอย่างสม่ำเสมอค่อย ๆ นอนทอดองค์อวัยวะลงโดยเรียบร้อย นอนหลับด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสและเมื่อปลุกให้ตื่นก็ไม่ผลุนผลันลุกขึ้น ขานตอบเบา ๆ เหมือนคนมีความรังเกียจ คนโทสจริตรีบร้อน ปูที่นอนตามแต่จะได้ ทอดกายผลุงลง นอนอย่างเกะกะไม่เรียบร้อย และเมื่อปลุกให้ตื่นก็ผลุนผลันลุกขึ้นขานตอบเหมือนกับคนโกรธ คนโมหจริตปูที่นอนไม่ถูกฐานผิดรูป นอนทอดกายส่ายไปข้างโน้นข้างนี้ คว่ำหน้ามาก และเมื่อปลุกให้ตื่นก็มัวทำเสียงซื้อซื้ออยู่ ลุกขึ้นอย่างเชื่องช้า ส่วนคนศรัทธาจริตเป็นต้นเพราะมีส่วนเข้ากันได้กับคนราคจริตเป็นต้น ฉะนั้น แม้คนศรัทธาจริตเป็นต้นจึงมอิริยาบถเหมือนกับคนราคจริตเป็นต้นนั่นเทียว

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยอิริยาบถเป็นประการแรก ด้วยประการฉะนี้

๒. โดยการงาน

ก็แหละ ข้อว่า โดยการงาน นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :- ในการงานต่าง ๆ เช่นการปัดกวาดลานวัดเป็นต้น คนราคจริตจับไม้กวาดอย่างเรียบร้อย ไม่รีบร้อนไม่คุ้ยดินทรายให้เกลื่อนกลาด กวาดสะอาดราบเรียบ เหมือนลาดพื้นด้วยเสื้อปอและดอกไม้ คนโทสจริตจับไม้กวาดแน่นมาก ท่าทางรีบร้อน คุ้ยเอาดินทรายขึ้นไปกองไว้สองข้าง กวาดเสียงดังกราก ๆ แต่ไม่สะอาดไม่เรียบราบ คนโมหจริตจับไม้กวาดหลวม ๆ กวาดวนไปวนมาทำให้ดินทรายและหยากเยื่อกลาดเกลื่อน ไม่สะอาดไม่เรียบราบ ในกรณีปัดกวาด ฉันใด แม้ในการงานทั่ว ๆ ไป เช่นการซักจีวร ย้อมจีวรเป็นต้นก็เหมือนกัน คนราคจริตมักทำอย่างละเอียดลออ เรียบร้อย สม่ำเสมอ และด้วยความตั้งใจ คนโทสจริต มักทำอย่างเคร่งเครียด เข้มแข็ง แต่ไม่สม่ำเสมอ คนโมหจริตมักทำไม่ละเอียดลออ งุ่มง่าม ไม่สม่ำเสมอ และไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ แม้การนุ่งห่มจีวรสำหรับคนราคจริต นุ่งห่มไม่ตึงเกินไม่หลวมเกิน นุ่งห่มเป็นปริมณฑล น่าเลื่อมใส สำหรับคนโทสจริต นุ่งห่มตึงเปรี้ยะ ไม่เป็นปริมณฑล สำหรับคนโมหจริต นุ่งห่มหลวม ๆ พะรุงพะรัง ส่วนคนศรัทธาจริตเป็นต้น พึงทราบโดยทำนองแห่งคนราคจริต เป็นต้นนั่นเทียว เพราะเป็นผู้มีส่วนเข้ากันได้กับคนราคจริตเป็นต้น เหล่านั้น

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยการงาน ด้วยประการฉะนี้

๓. โดยอาหาร

ข้อว่า โดยอาหาร นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ :- คนราคจริตชอบอาหารที่มีรสหวานจัด และเมื่อบริโภคก็ทำคำข้าวกลมกล่อม ไม่ใหญ่จนเกินไป มีความต้องการรสเป็นสำคัญ บริโภคอย่างไม่รีบร้อน และได้อาหารที่ดี ๆ แล้วจะเป็นอะไรก็ตามย่อมดีใจ คนโทสจริตชอบอาหารที่ไม่ประณีต มีรสเปรี้ยว และเมื่อบริโภคก็ทำคำข้าวใหญ่เสียจนเต็มปาก ไม่ต้องการโอชารส บริโภคอย่างรีบร้อน และได้อาหารที่ไม่ดีแล้วจะเป็นอะไรก็ตาม ย่อมเสียใจ คนโมหจริตไม่ชอบรสอะไรแน่นอน และเมื่อบริโภคก็ทำคำข้าวเล็ก ๆ ไม่กลมกล่อม ทำเมล็ดข้าวหกเรี่ยราดในภาชนะ ริมฝีปากเปื้อนเปรอะ บริโภคอย่างมีจิตฟุ้งซ่าน นึกพล่านไปถึงสิ่งนั้น ๆ ฝ่ายคนศรัทธาจริตเป็นต้นก็พึงทราบโดยทำนองของคนราคจริตเป็นต้นนั่นเทียว เพราะเป็นผู้มีส่วนเข้ากันได้กับคนราคจริตเป็นต้นนั้น

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยอาหาร ด้วยประการฉะนี้

๔. โดยการเห็นเป็นต้น

ข้อว่า โดยการเห็นเป็นต้น นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ คนราคจริตเห็นรูปที่น่าเจริญใจแม้นิดหน่อย ก็เกิดพิศวงแลดูเสียนาน ๆ ย่อมข้องติดอยู่ในคุณเพียงเล็กน้อย ไม่ถือโทษแม้ที่เป็นจริง แม้จะหลีกพ้นไปแล้วก็ไม่ประสงค์ที่จะปล่อยวาง หลีกไปทั้ง ๆ ที่มีความอาลัยถึง คนโทสจริตเห็นรูปที่ไม่น่าเจริญใจแม้นิดหน่อยก็เป็นดุจว่าลำบากใจเสียเต็มที่ ทนแลดูนาน ๆ ไม่ได้ ย่อมเดือดร้อนเป็นทุกข์ในโทษแม้เพียงเล็กน้อย ไม่ถือเอาคุณแม้ที่มีจริงแม้จะหลีกพ้นไปแล้ว ก็ยังปรารถนาที่จะพ้นอยู่นั่นเองหลีกไปอย่างไม่อาลัยถึง คนโมหจริตเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมอาศัยคนอื่นกระตุ้นเตือน ครั้นได้ยินคนอื่นเขานินทาก็นินทาตาม ครั้นได้ยินคนอื่นเขาสรรเสริญก็สรรเสริญตาม ส่วนลำพังตนเองเฉย ๆ ด้วยความเฉยเพราะไม่รู้ แม้ในกรณีที่ได้ฟังเสียงเป็นต้น ก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ ส่วนคนศรัทธาจริตเป็นต้น พึงทราบโดยทำนองของคนราคจริตเป็นต้นนั่นเทียว เพราะเป็นผู้มีส่วนเข้ากันได้กับคนราคจริตเป็นต้นนั้น

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยการเห็นเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้

๕. โดยความเกิดขึ้นแห่งธรรม

ข้อว่า โดยความเกิดขึ้นแห่งธรรม นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้ อกุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้ คือ ความเสแสร้ง, ความโอ้อวด, ความถือตัว, ความปรารถนาลามก, ความมักมาก, ความไม่สันโดษ, ความมีแง่งอน, และความมีเล่ห์เหลี่ยม ย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนราคจริต อกุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้ คือ ความโกรธ, ความผูกโกรธ, ความลบหลู่, ความตีเสมอ, ความริษยา และความตระหนี่ ย่อมเกิดขึ้นมากแก่ คนโทสจริต อกุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้ คือ ความหดหู, ความเชื่องซึม, ความฟุ้งซ่าน, ความรำคาญใจ, ความสงสัย, ความยึดถือมั่นด้วยสำคัญผิด และความไม่ปล่อยวางย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนโมหจริต

กุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้ คือ ความเสียสละเด็ดขาด, ความใคร่เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย, ความใคร่ฟังพระสัทธรรม, ความมากไปด้วยปราโมช, ความไม่โอ้อวด, ความไม่มีมารยา และความเลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนศรัทธาจริต กุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้ คือ ความเป็นผู้ว่าง่าย, ความเป็นผู้มีมิตรดี, ความรู้จักประมาณในโภชนะอาหาร, ความมีสติสัมปชัญญะ, ความหมั่นประกอบความเพียร, ความเศร้าสลดในฐานะที่ควรเศร้าสลด และความเริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคายของผู้เศร้าสลดแล้ว ย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนพุทธิจริต, อกุศลธรรมมีอาทิอย่างนี้ คือ ความมากไปด้วยการพูด, ความยินดีในหมู่คณะ, ความไม่ใยดีในการภาวนากุศลธรรม, ความมีการงานไม่แน่นอน, ความบังหวนควันในเวลากลางคืน ความลุกโพลงในเวลากลางวัน และความคิดพล่านไปโน่น ๆ นี่ ๆ ย่อมเกิดขึ้นมากแก่คนวิตกจริต

นักศึกษาพึงทราบจริยาทั้งหลายโดยความเกิดขึ้นแห่งธรรม ด้วยประการฉะนี้

วินิจฉัยวิสัชนาปัญหาข้อที่ ๒

ก็แหละ เพราะวิธีแสดงจริยานี้ ไม่ได้มาในพระบาลีและอรรถกถาโดยประการทั้งปวง ข้าพเจ้ายกมาแสดงไว้โดยอาศัยมติของอาจารย์อย่างเดียว ฉะนั้น จึงไม่ควรเชื่อถือเอาโดยเป็นสาระนัก เพราะเหตุว่า อาการทั้งหลายมีอิริยาบถเป็นต้นของคนราคจริตที่แสดงไว้นั้น แม้จำพวกคนโทสจริตเป็นต้นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทก็สามารถทำได้อยู่ และสำหรับบุคคลผู้มีจริตผสมกันเพียงคนเดียว จริยาทั้งหลายมีอิริยาบถเป็นต้นซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ส่วนวิธีแสดงจริยานี้ใดที่ท่านอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในอรรถกถาทั้งหลาย ข้อนั้นเท่านั้นควรเชื่อถือโดยเป็นสาระแท้ สมกับที่ท่านกล่าวไว้ว่า อาจารย์ผู้ได้สำเร็จเจโตปริยญาณ จึงจักรู้จริยาแล้วบอกพระกัมมัฏฐานได้เอง ส่วนอาจารย์นอกนี้ต้องถามอันเตวาสิกผู้จะเรียนพระกัมมัฏฐานทั้งนั้น เพราะเหตุฉะนี้ จะพึงทราบได้ว่า บุคคลนี้ เป็นคนราคจริต บุคคลนี้ เป็นคนจริตใดจริตหนึ่งในโทสจริตเป็นต้น ก็ด้วยเจโตปริยญาณ หรือเพราะสอบถามตัวบุคคลผู้นั้นเอง ด้วยประการฉะนี้

วิสัชนาปัญหา ข้อที่ ๓

ก็แหละ ในปัญหาข้อว่า บุคคลจริตชนิดไหน มีธรรมเป็นที่สบายอย่างไร ฉะนี้นั้น มีอรรถาธิบายดังนี้

ธรรมเป็นที่สบายของคนราคจริต

จะอธิบายถึงเสนาสนะสำหรับคนราคจริต เป็นประการแรก เสนาสนะ ชนิดที่ตั้งอยู่กับพื้นดิน ชายคารอบ ๆ ไม่ล้างเซ็ด ไม่ทำกันสาด เป็นกุฎีมุงหญ้า เป็นบรรณศาลาที่มุงบังด้วยใบตองอย่างใดอย่างหนึ่ง เปรอะไปด้วยละอองธุลี เต็มไปด้วยค้างคาวเล็ก ๆ ทะลุปรุโปร่ง และปรักหักพัง สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป อยู่ที่ดอน มีความรังเกียจด้วยภัยอันตราย มีทางสกปรก และสูง ๆ ต่ำ ๆ แม้จะมีเตียงและทั่งก็เต็มไปด้วยตัวเรือด รูปร่างไม่ดี สีไม่งาม ที่พอแต่เพียงแลเห็นก็ให้เกิดความรังเกียจ เสนาสนะเช่นนั้นเป็นที่สบายของคนราคจริต

ผ้านุ่งและผ้าห่ม ชนิดที่ขาดแหว่งที่ชาย มีเส้นด้ายสับสนสวนขึ้นสวนลง เช่นเดียวกับขนมร่างแห มีสัมผัสสากเหมือนปอป่าน เป็นผ้าเศร้าหมองและหนัก รักษาลำบากเป็นที่สบายของคนราคจริต แม้บาตร บาตรดินชนิดที่สีไม่งาม หรือบาตรเหล็กชนิดที่ทำลายความงามเสียด้วยแนวตะเข็บและหมุด เป็นบาตรที่หนัก ทรวดทรงไม่ดี น่าเกลียดเหมือนกะโหลกศีรษะ ย่อมเหมาะสมแก่คนราคจริต แม้ทางสำหรับไปบิณฑบาต ก็เป็นทางชนิดที่ไม่พอใจ ห่างไกลหมู่บ้าน ขรุขระไม่เรียบร้อย ย่อมเหมาะสมแก่คนราคจริต แม้หมู่บ้านที่ไปรับบิณฑบาตก็เป็นหมู่บ้านที่มีคนทั้งหลายเที่ยวไปทำเป็นเหมือนไม่เห็นและที่มีคนทั้งหลายนิมนต์ภิกษุผู้ได้ภิกษาแม้ในตระกูลหนึ่งแล้วให้เข้าไปสู่โรงฉันว่า “นิมนต์มาทางนี้ขอรับ” ครั้นถวายข้าวต้มและข้าวสวยแล้ว เมื่อจะไปก็พากันไปอย่างไม่เหลียวแล คล้าย ๆ กับคนรับจ้างเลี้ยงโค ต้อนโคเข้าในคอกแล้วก็ไม่เหลียวแลฉะนั้น หมู่บ้านเช่นนั้นเหมาะสมแก่คนราคจริต แม้คนปรนนิบัติเลี้ยงดู ก็เป็นพวกทาสหรือกรรมกร ที่มีผิวพรรณดำไม่น่าดู ผ้านุ่งสกปรก เหม็นสาบ น่าเกลียดจริง ๆ ปรนนิบัติเลี้ยงดูด้วยอาการไม่ยำเกรงเป็นดุจเขาข้ามและข้าวสวยทิ้งฉะนั้น คนปรนนิบัติเลี้ยงดูเช่นนั้น จึงเป็นที่สบายแก่คนราคจริต แม้ข้าวต้มข้าวสวยและของเคี้ยว ก็เป็นชนิดที่เลว สีสันไม่ดี ที่ทำด้วยข้าวฟ่างข้าวกับแก้และข้าวปลายเกวียนเป็นต้น เปรียงบูด ผักเสี้ยนดอง แกงผักเก่า ๆ ชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว พอให้เต็มท้องเท่านั้น เหมาะสมแก่คนราคจริต แม้อิริยาบถ อิริยาบถยืนหรืออิริยาบถเดิน เหมาะสมแก่คนราคจริต

อารมณ์กัมมัฏฐาน เป็นอารมณ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ใน🔎วรรณกสิณทั้งหลาย มีนีลกสิณเป็นต้น ชนิดที่มีสีไม่สะอาดตา เหมาะสมแก่คนราคจริตนี้คือธรรมเป็นที่สบายของคนราคจริต ด้วยประการฉะนี้

ธรรมเป็นที่สบายของคนโทสจริต

เสนาสนะ สำหรับคนโทสจริตนั้น เป็นชนิดที่ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป มีร่มเงาบริบูรณ์ด้วยน้ำใช้น้ำฉัน มีฝา เสาและบันไดที่จัดไว้อย่างเรียบร้อย เขียนภาพลายดอกไม้ลายเครือวัลย์สำเร็จเสร็จสรรพ รุ่งเรืองงามด้วยจิตรกรรมนานาชนิด มีพื้นเรียบเกลี้ยงเกลา นุ่มนิ่ม มีพวงดอกไม้และผ้าสีอันวิจิตรประดับเพดานอย่างเป็นระเบียบคล้ายกับวิมานพรหม เครื่องปูลาดและเตียงตั้งจัดแจงแต่งไว้อย่างดี สะอาดน่ารื่นรมย์ มีกลิ่นหอมฟังด้วยเครื่องอบดอกไม้ที่จัดวางไว้เพื่อให้อบ ณ ที่นั้น ๆ ซึ่งพอเห็นเท่านั้นก็ให้เกิดความปีติปราโมช เสนาสนะเห็นปานฉะนี้ เป็นที่สบายของคนโทสจริต แม้ทางสำหรับเสนาสนะ นั้น ก็เป็นสิ่งปลอดภัยอันตรายทั้งปวง มีพื้นสะอาดและสม่ำเสมอ ประดับตกแต่งเรียบร้อย ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต แม้เครื่องใช้สำหรับเสนาสนะ ในที่นี้ ก็ไม่ต้องมีมากนัก มีเพียงเตียง และตั้งตัวเดียวก็พอ ทั้งนี้เพื่อตัดไม่ให้เป็นที่อาศัยของจำพวกสัตว์ต่าง ๆ เช่นแมลงสาบ เรือด งูและหนูเป็นต้น ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต ผ้านุ่งและผ้าห่ม ก็เป็นประเภทผ้าเมืองจีน ผ้าเมืองโสมาร ผ้าไหม ผ้าฝ้ายและผ้าเปลือกไม้อย่างละเอียด ซึ่งเป็นของประณีตชนิดใด ก็ตาม เอาผ้าชนิดนั้น มาทำเป็นชั้นเดียวหรือสองชั้น เป็นผ้าเบา ย้อมดี มีสีสะอาด ควรแก่สมณะ ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต บาตร เป็นชนิดบาตรเหล็ก มีทรวดทรงดีเหมือนต่อมน้ำ เกลี้ยงเกลาเหลาหล่อเหมือนแก้วมณี ไม่มีสนิม มีสี่สะอาดควรแก่สมณะ ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต ทางสำหรับไปบิณฑบาต เป็นชนิดที่ปลอดภัยอันตราย สม่ำเสมอ น่าเจริญใจไม่ไกลไม่ใกล้หมู่บ้านเกินไป ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต แม้หมู่บ้านที่ไปรับบิณฑบาต ก็เป็นหมู่บ้านที่มีคนทั้งหลายคิดว่าพระผู้เป็นเจ้าจักมาเดี๋ยวนี้แล้ว จึงปูอาสนะเตรียมไว้ ณ ประเทศที่สะอาดเกลี้ยงเกลา ลุกรับช่วยถือบาตรนิมนต์ให้เข้าไปสู่เรือน นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะที่ปูไว้แล้ว จึงอังคาสเลี้ยงดูด้วยมือของตนโดยความเคารพ หมู่บ้านเช่นนั้น ย่อมเหมาะสมแก่คนโทสจริต คนปรนนิบัติเลี้ยงดู เป็นคนรูปร่างสะสวย น่าเลื่อมใส อาบน้ำชำระกายดีแล้วไล้ทาตัวดีแล้ว หอมฟังด้วยกลิ่นธูปกลิ่นเครื่องอบและกลิ่นดอกไม้ ประดับตกแต่งด้วยผ้าและอาภรณ์ที่ย้อมด้วยสีต่าง ๆ ล้วนแต่สะอาดและน่าภูมิใจ มีปกติทำการปรนนิบัติด้วยความเคารพ คนปรนนิบัติเลี้ยงดูเช่นนั้น จึงเป็นที่สบายแก่คนโทสจริต แม้ข้าวต้มข้าวสวยและของเคี้ยว ก็เป็นชนิดที่มีสีต้องตา ถึงพร้อมด้วยกลิ่นและรส มีโอชาน่าชอบใจ ประณีตโดยประการทั้งปวง และเพียงพอแก่ความต้องการจึงเหมาะสมแก่คนโทสจริต แม้อิริยาบถ ก็ต้องเป็นอิริยาบถนอนหรืออิริยาบถนั่ง จึงเหมาะสมแก่คนโทสจริต

อารมณ์กัมมัฏฐาน เป็นอารมณ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ใน🔎วรรณกสิณทั้งหลาย มีนีลกสิณเป็นต้น ซึ่งเป็นชนิดที่มีสีสะอาดหมดจดเป็นอย่างดีนี้คือธรรมเป็นที่สบายของคนโทสจริต ด้วยประการฉะนี้

ธรรมเป็นที่สบายของคนโมหจริต

เสนาสนะต้องหันหน้าสู่ทิศไม่คับแคบ ที่เมื่อนั่งแล้วทิศย่อมปรากฏโล่งสว่าง ในบรรดาอิริยาบถ ๔ อิริยาบถเดินจึงจะเหมาะสม ส่วน

อารมณ์กัมมัฏฐานขนาดเล็กเท่าตะแกรง หรือเท่าขันโอ ย่อมไม่เหมาะสมแก่คนโมหจริตนั้น เพราะเมื่อโอภาสคับแคบ จิตก็จะถึงความมึนงงยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น🔎ดวงกสิณขนาดใหญ่กว้างมากจึงจะเหมาะสม ประการที่เหลือ มีเสนาสนะเป็นต้นซึ่งควรจะยกมาแสดงสำหรับคนโมหจริต พึ่งเข้าใจว่ามีลักษณะเช่นเดียวกันกับการที่ได้แสดงไว้แล้วสำหรับคนโทสจริตนั่นแล นี้คือธรรมเป็นที่สบายสำหรับคนโมหจริต ด้วยประการฉะนี้

ธรรมเป็นที่สบายของคนศรัทธาจริต
วิธีที่ได้แสดงมาแล้วในคนโทสจริตแม้ทุก ๆ ประการ จัดเป็นธรรมเป็นที่สบายสำหรับคนศรัทธาจริตด้วยแหละในบรรดาอารมณ์กัมมัฏฐานทั้งหลายเฉพาะ🔎อนุสสติกัมมัฏฐานจึงจะเหมาะสมแก่คนศรัทธาจริต

ธรรมเป็นที่สบายของคนพุทธิจริต
ไม่มีข้อที่จะต้องกล่าวว่าในบรรดาสัปปายะทั้งหลายมีเสนาสนะสัปปายะเป็นต้น สิ่งนี้ย่อมไม่เป็นที่สบายแก่คนพุทธิจริตฉะนี้

ธรรมเป็นที่สบายของคนวิตกจริต
เสนาสนะที่โล่งโถงหันหน้าสู่ทิศสว่าง ที่เมื่อนั่งแล้ว สวน, ป่า, สระโบกขรณี, ทิวแถบแห่งหมู่บ้าน, นิคมชนบท และภูเขาอันมีสีเขียวชะอุ่ม ย่อมปรากฎเห็นเด่นชัด เสนาสนะเช่นนั้นย่อมไม่เหมาะสม เพราะเสนาสนะ อันมีลักษณะเช่นนั้น ย่อมเป็นปัจจัยทำให้วิตกวิ่งพล่านไปนั่นเทียว เพราะฉะนั้นวิตกจริตบุคคลพึงอยู่ในเสนาสนะที่ตั้งอยู่ในซอกเขาลึก มีป่ากำบัง เช่นเงื้อมเขาท้องช้างและถ้ำชื่อมหินทะ เป็นต้น แม้อารมณ์กัมมัฏฐานชนิดกว้างใหญ่ก็ไม่เหมาะสมแก่คนวิตกจริต เพราะอารมณ์เช่นนั้นย่อมเป็นปัจจัยทำให้จิตแล่นพล่านไปด้วยอำนาจแห่งวิตก แต่อารมณ์ชนิดเล็กจึงจะเหมาะสม ประการที่เหลือ เหมือนกับที่ได้แสดงมาแล้วสำหรับคนราคจริตนั่นเทียวนี้คือธรรมเป็นที่สบายสำหรับคนวิตกจริต ด้วยประการฉะนี้

อรรถาธิบายอย่างพิสดาร โดยประเภท, เหตุให้เกิด, วิธีให้รู้ และธรรมเป็นที่สบายของจริยาทั้งหลาย ซึ่งมาในหัวข้อว่า อันเหมาะสมแก่จริตจริยาของตนยุติเพียงเท่านี้ ส่วนกัมมัฏฐานอันเหมาะสมแก่จริยานั้น ข้าพเจ้ายังจะไม่แสดงให้แจ้งชัดโดยสิ้นเชิงก่อน เพราะกัมมัฏฐานนั้น ๆ จักปรากฏแจ้งชัดด้วยตัวเอง ในอรรถาธิบายพิสดารของหัวข้อถัดไปนี้



กัลยาณมิตรตัวอย่าง

กัลยาณมิตรตัวอย่าง

ก็แหละ กัลยาณมิตรผู้สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติทุก ๆ ประการนั้น คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีพระบาลีรับรองว่า "อานนท์ สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชาติความเกิดได้ ด้วยอาศัยกัลยาณมิตรคือเราตถาคตนั่นเทียว เพราะเหตุดังนั้น เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น การเรียนเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระผู้มีพระภาคนั้นนั่นแลเป็นประเสริฐที่สุด"

แต่เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว ในบรรดาพระมหาสาวก ๘๐ องค์ องค์ใดยังมีชนมายุอยู่ การเรียนเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระมหาสาวกองค์นั้น ย่อมเป็นการสมควร เมื่อพระมหาสาวกนั้นไม่มีอยู่แล้ว ก็พึงเรียนเอาในสำนักของพระอรหันตขีณาสพองค์ที่ได้ฌานจตุกกนัยหรือฌานปัญจกนัย ด้วยพระกัมมัฏฐานบทที่ตนประสงค์จะเรียนเอานั้น แล้วเจริญวิปัสสนาซึ่งมีฌานเป็นปทัฏฐาน จนได้บรรลุถึงซึ่งความสิ้นสุดแห่งอาสวกิเลสนั่นเถิด

ถาม - ก็แหละ พระอรหันต์ขีณาสพนั้น ท่านประกาศตนให้ทราบหรือว่าท่านเป็นพระขีณาสพ ?
ตอบ - จะต้องตอบทำไม เพราะพระอรหันต์ขีณาสพนั้น ท่านรู้ถึงภาวะที่ผู้จะทำความเพียรแล้วย่อมแสดงตนให้ทราบด้วยความอาจหาญและรื่นเริง โดยชี้ให้เห็นถึงภาวะแห่งการปฏิบัติไม่เป็นโมฆะ พระอัสสคุตตเถระรู้ว่า ภิกษุนี้เป็นผู้จะทำกัมมัฏฐานฉะนี้แล้ว ท่านปูลาดแผ่นหนังไว้บนอากาศแล้วนั่งขัดสมาธิอยู่บนแผ่นหนังนั้น บอกพระกัมมัฏฐานแก่ภิกษุผู้ปรารภพระกัมมัฏฐานแล้ว มิใช่หรือ ?

เพราะเหตุฉะนั้น ถ้าโยคีบุคคลได้พระอรหันตชีณาสพ ข้อนั้นนับว่าเป็นบุญแต่ถ้าหาไม่ได้ จึงเรียนเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของท่านผู้ทรงคุณสมบัติเหล่านี้ โดยจากก่อนมาหลังคือ พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน ปุถุชนผู้ได้ฌาน ท่านผู้ทรงจำปิฎกทั้งสาม ท่านผู้ทรงจำปิฎกสอง ท่านผู้ทรงจำปิฎกหนึ่ง แม้เมื่อท่านผู้ทรงจำปิฏกหนึ่งก็ไม่มี ท่านผู้ใดมีความชำนาญแม้เพียงสังคีติอันเดียวพร้อมทั้งอรรถกถา และเป็นผู้มีความละอายด้วย จึงเรียนกัมมัฏฐานในสำนักของท่านผู้นั้นเถิด

ด้วยว่าบุคคลผู้มีลักษณะเห็นปานฉะนี้ ชื่อว่าเป็นผู้รักษาประเพณี เป็นอาจารย์ผู้ยึดถือมติของอาจารย์ ไม่ใช่ผู้ถือมติของตนเองเป็นใหญ่ เพราะเหตุฉะนี้แหละ พระเถระในปางก่อนทั้งหลาย จึงได้กล่าวประกาศไว้ถึง ๓ ครั้งว่า ท่านผู้มีความละอายจักรักษา, ท่านผู้มีความละอายจักรักษา, ท่านผู้มีความละอายจักรักษา ฉะนี้

ก็แหละ ในบรรดากัลยาณมิตรเหล่านั้น กัลยาณมิตรที่เป็นพระอรหันตขีณาสพเป็นอาทิ ที่ข้าพเจ้ากล่าวมาในตอนต้น ท่านย่อมบอกพระกัมมัฏฐานให้ได้เฉพาะแต่แนวทางที่ท่านได้บรรลุมาด้วยตนเองเท่านั้น ส่วนกัลยาณมิตรผู้เป็นพหูสูต เพราะเหตุที่พระบาลีและอรรถกถาอันเป็นอุปการะแก่กัมมัฏฐานเป็นสิ่งที่ท่านได้เข้าไปหาพระอาจารย์นั้น ๆ แล้วเรียนเอาอย่างขาวสะอาด ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยเหลืออยู่ ท่านจึงเลือกสรรเอาแต่สุตบทและเหตุอันคล้อยตามสุตบทซึ่งสมควรแก่กัมมัฏฐานนั้น ๆ จากนิกายนี้บ้างโน้นบ้าง แล้วเอามาปรับปรุงให้เป็นที่สะดวกสบายเหมาะสมแก่โยคีบุคคลผู้ที่ท่านจะให้กัมมัฏฐาน แสดงวิธีแห่งกัมมัฏฐานให้เห็นแนวทางอย่างกว้างขวาง เป็นดุจพญาช้างบุกไปในสถานที่รกชัฏ จึงจักบอกกัมมัฏฐานเพราะเหตุฉะนั้น โยคีบุคคลพึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้พระกัมมัฏฐาน ซึ่งมีคุณสมบัติเห็นปานฉะนี้ ทำวัตรปฏิบัติแก่ท่านแล้ว จึงเรียนเอาพระกัมมัฏฐานเถิด

ระเบียบเข้าหาอาจารย์ผู้กัลยาณมิตร

แหละถ้าโยคีบุคคลได้กัลยาณมิตรนั้นในวัดเดียวกัน ข้อนั้นนับว่าเป็นบุญ แต่ถ้าหาไม่ได้ ท่านอยู่ ณ วัดใดก็ทิ้งไป ณ ที่วัดนั้น และเมื่อไปนั้น อย่าล้างเท้า อย่าทาน้ำมัน อย่าสวมรองเท้า อย่ากันร่ม อย่าให้ศิษย์ช่วยถือทะนานน้ำมันและน้ำผึ้งน้ำอ้อยเป็นต้น อย่าไปอย่างมีอันเตวาสิกห้อมล้อม แต่พึ่งไปอย่างนี้ คือ พึงทำคมิกวัตร (วัตรของผู้เตรียมจะไป) ให้เสร็จบริบูรณ์แล้วถือเอาบาตรและจีวรของตนด้วยตนเองไป เมื่อแวะพัก ณ วัดใด ๆ ในระหว่างทาง จึงทำวัตรปฏิบัติ ณ วัดนั้นๆ ตลอดไป คือในเวลาเข้าไป จึงทำอาคันตุกวัตร* ในเวลาจะออกมา พึงทำคมกวัติ*ให้บริบูรณ์ จึงมีเครื่องบริขารเพียงเล็กน้อยและมีความประพฤติอย่างเคร่งครัดที่สุดก่อนแต่จะเข้าไปสู่วัดนั้น จึงให้ทำไม้ชำระฟันให้เป็นกัปปิยะสมควรแก่ที่จะใช้ได้เสียแต่ในระหว่างทาง แล้วจึงถือเข้าไป และอย่าได้ไปแวะพัก ณ บริเวณอื่นด้วยตั้งใจว่าจะพักสักครู่หนึ่งล้างเท้าทาน้ำมันเท้าเป็นต้นแล้วจึงจะไปสำนักของอาจารย์

เพราะเหตุไร ? เพราะว่า ถ้าในวัดนั้นจะพึงมีพวกภิกษุที่ไม่ลงคลองกันกับอาจารย์นั้น ภิกษุเหล่านั้นก็จะพึงซักถามถึงเหตุที่มาแล้ว ประกาศตำหนิติโทษของอาจารย์ให้ฟัง จะพึงก่อกวนให้เกิดความเดือดร้อนใจว่า ฉิบหายแล้วสิ ถ้าคุณมาสู่สำนักของภิกษุองค์นั้น ข้อนี้ก็จะพึงเป็นเหตุให้ต้องกลับไปเสียจากที่นั้นได้ เพราะฉะนั้น จึงถามถึงที่อยู่ของอาจารย์แล้วตรงไปยังที่นั้นเลยทีเดียว

(* อาคันตุกวัตร ได้แก่ธรรมเนียมอันภิกษุผู้เป็นแขกจะพึงปฏิบัติ คือ ๑. เคารพในเจ้าของถิ่น ๒. แสดงความเกรงใจ ๓. แสดงอาการสุภาพ ๔. แสดงอาการสนิทสนม ๕. ประพฤติให้ถูกธรรมเนียมของเจ้าของถิ่น ๖. อยู่ในเสนาสนะแล้วอย่าดูดาย) (* คมิกวัตร ได้แก่ธรรมเนียมอันภิกษุผู้เตรียมจะไปพึ่งปฏิบัติ คือ ๑. เก็บงำเสนาสนะให้เรียบร้อย ๒. มอบคืนเสนาสนะและเครื่องใช้ ๓. บอกลาเจ้าของถิ่น)

ระเบียบปฏิบัติต่ออาจารย์

ถ้าแหละ แม้อาจารย์นั้นจะเป็นผู้อ่อนพรรษากว่า ก็อย่าพึ่งยินดีต่อการช่วยรับบาตรและจีวรเป็นต้น ถ้าท่านแก่พรรษากว่า จึงไปไหว้ท่านแล้วยืนคอยอยู่ก่อน พึงเก็บบาตรและจีวรไว้ตามที่ท่านแนะนำว่า “อาวุโส เก็บบาตรและจีวรเสีย” ถ้าปรารถนาอยากจะดื่มก็จงดื่มตามที่ท่านแนะนำว่า “อาวุโส นิมนต์ดื่มน้ำ” แต่อย่าเพิ่งล้างเท้าทันทีตามที่ท่านแนะนำว่า “ล้างเท้าเสีย อาวุโส” เพราะถ้าเป็นน้ำที่พระอาจารย์ตักเอามาเอง ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่เมื่อท่านแนะนำว่า “ล้างเถิดอาวุโส ฉันไม่ได้ตักมาเองดอก คนอื่นเขาตักมา” จึงไปนั่งล้างเท้า ณ โอกาสอันกำบังที่อาจารย์มองไม่เห็น หรือ ณ ส่วนข้างหนึ่งของวิหารอันเป็นที่ว่างเปล่า

ถ้าแหละ ท่านอาจารย์หยิบเอาขวดน้ำมันสำหรับทามาให้ พึงลุกขึ้นรับโดยเคารพด้วยมือทั้งสอง เพราะถ้าไม่รับ ความสำคัญเป็นอย่างอื่นก็จะพึงมีแก่อาจารย์ว่าภิกษุนี้ทำการสมโภคคือการใช้ร่วมกันให้กำเริบเสียหายตั้งแต่บัดนี้เทียว (รังเกียจการใช้สิ่งของร่วมกัน) แต่ครั้นรับแล้วอย่าพึ่งทาตั้งต้นแต่เท้าไป เพราะถ้าน้ำมันนั้นเป็นน้ำมันสำหรับทาตัวของพระอาจารย์แล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้นพึงทาศีรษะแล้วทาตามลำตัวเป็นต้นก่อน แต่เมื่อท่านแนะนำว่า “อาวุโส ทาเท้าก็ได้ น้ำมันนี้เป็นน้ำมันสำหรับรักษาอวัยวะทั่วไป” พึงทาที่ศีรษะนิดหน่อยแล้วจึงทาเท้า ครั้นทาเสร็จแล้วจึงเรียนว่า “กระผมขออนุญาตเก็บขวดน้ำมันนี้ขอรับ” เมื่อท่านรับเองก็พึงมอบถวายคืน อย่าเพิ่งเรียนขอว่า “ขอท่านกรุณาบอกพระกัมมัฏฐานให้แก่กระผมด้วย” ตั้งแต่วันที่มาถึง แต่ถ้าอุปัฏฐากประจำของท่านอาจารย์มี จึงขออนุญาตกะเขาแล้วทำวัตรปฏิบัติแก่ท่านนับตั้งแต่วันที่สองไป ถ้าแม้ขอแล้วแต่เขาไม่ยอมอนุญาตให้ เมื่อได้โอกาสก็พึ่งทำทันที เมื่อทำวัตรปฏิบัติจึงจัดเอาไม้ชำระฟัน ๓ ชนิดเข้าไปวางไว้ คือ

ชนิดเล็ก ชนิดกลางและชนิดใหญ่ พึงตระเตรียมน้ำบ้วนปากและน้ำสรง ๒ ชนิด คือน้ำเย็นและน้ำอุ่น แต่นั้นพึงสังเกตไว้ ท่านอาจารย์ใช้ชนิดไหนถึง ๓ วัน ก็พึ่งจัดเฉพาะชนิดนั้นตลอดไป เมื่อท่านไม่ถือระเบียบแน่นอน ใช้ตามมีตามเกิด ก็พึ่งจัดไปไว้ตามที่ได้

ธุระอะไรที่ข้าพเจ้าจะต้องพิจารณามากเล่า วัตรปฏิบัติโดยชอบอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แล้วฉันใด พึงทำวัตรปฏิบัติแม้นั้นให้ครบทุก ๆ อย่าง ซึ่งมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหาขันธกะ วินัยปิฎก มีอาทิว่า :- ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกพึงประพฤติปฏิบัติโดยชอบในพระอาจารย์ กิริยาที่ประพฤติปฏิบัติโดยชอบในพระอาจารย์นั้น ดังนี้ พึงลุกขึ้นแต่เช้าแล้วถอดรองเท้าเสีย ห่มจีวรเฉวียงบ่า ถวายไม้ชำระฟัน ถวายน้ำล้างหน้า ปูลาดอาสนะ ถ้ามีข้าวต้ม จึงล้างภาชนะให้สะอาดแล้วน้อมข้าวต้มเข้าไปถวาย

เมื่อโยคีบุคคลทำให้ท่านอาจารย์พอใจด้วยวัตรสมบัติอยู่โดยทำนองนี้ ตกถึงเวลาเย็น กราบท่านแล้ว เมื่อท่านอนุญาตให้ไปว่าไปได้ฉะนี้ จึงค่อยไป เมื่อใดท่านถามว่า “เธอมา ณ ที่นี้เพื่อประสงค์สิ่งใดหรือ ?” เมื่อนั้น พึงกราบเรียนเหตุที่มาให้ทราบ ถ้าท่านไม่ถามเลย แต่ก็ยินดีต่อวัตรปฏิบัติ ครั้นล่วงเลยมาถึง ๑๐ วันหรือปักษ์หนึ่งแล้ว แม้ถึงท่านจะอนุญาตให้ไป ก็อย่าเพิ่งไป จึงขอให้ท่านให้โอกาสแล้วพึงกราบเรียนถึงเหตุที่มาให้ทราบสักวันหนึ่ง หรือพึงไปหาท่านให้ผิดเวลา เมื่อท่านถามว่า มาทำไม ? จึงฉวยโอกาสกราบเรียนถึงเหตุที่มา ถ้าท่านนัดหมายให้มาเช้าก็พึ่งไปเช้าตามนัดนั่นแล

ก็แหละ ถ้าตามเวลาที่นัดหมายนั้น โยคีบุคคลเกิดเสียดท้องด้วยโรคดีกำเริบก็ดี หรืออาหารไม่ย่อยเพราะไฟธาตุอ่อนก็ดี หรือโรคอะไรอย่างอื่นเบียดเบียนก็ดี จึงเรียนโรคนั้นให้ท่านอาจารย์ทราบตามความจริง แล้วกราบเรียนขอเปลี่ยนเวลาที่ตนสบาย แล้วจึงเข้าไปหาในเวลานั้น ทั้งนี้เพราะว่า ในเวลาที่ไม่สบายแม้ท่านอาจารย์จะบอกพระกัมมัฏฐานให้ก็ไม่สามารถที่จะมนสิการได้

อรรถาธิบายพิสดารในหัวข้อสังเขปว่า พึงเข้าไปหากัลยาณมิตรผู้ให้พระกัมมัฏฐานยุติเพียงเท่านี้