แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อินทรียสังวรศีล แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อินทรียสังวรศีล แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคาร

ศีลเป็นอาภรณ์อันประเสริฐ อ. ประณีต ก้องสมุทร

 เตสํ สมฺปนฺนสีสานํ   อปฺปมาทวิหารินํ
สมฺมทญฺญา วิมุตฺตานํ   มาโร มคฺคํ น วินฺทติ.
มารค้นหาอยู่ ย่อมไม่พบทางของท่านผู้มีศีลสมบูรณ์
อยู่ด้วยความไม่ประมาท หลุดพ้น เพราะรู้ชอบ

ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท

ในฤดูที่ดอกไม้บาน เป็นฤดูที่ยังความรื่นรมย์ให้แก่มนุษย์และสัตว์ ดอกไม้หลากชนิด หลายสีบานสะพรั่ง อวดสีและกลิ่นอยู่บนต้น บางอย่างหอมมาก บางอย่างหอมน้อย บางอย่างไม่หอมเลย บางอย่างสวยทั้งสีและกลิ่น บางอย่างสีสวยแต่ไม่มีกลิ่น บางอย่างไม่สวยทั้งสีและกลิ่น บางอย่างหอมชั่วเวลาเช้า บางอย่างหอมตอนสาย บางอย่างหอมเวลาบ่าย บางอย่างหอมเวลาเย็น บางอย่างหอมเฉพาะกลางคืน บางอย่างหอมทั้งวันทั้งคืน แต่บางอย่างก็หอมทนอยู่ได้หลายวัน ถึงกระนั้นเมื่อเหี่ยวแห้งร่วงโรยแล้วก็หมดหอม ไม่มีดอกไม้ชนิดใดเลยที่จะหอมอยู่เป็นนิจทั้งในเวลาบานและโรยหล่น แม้เมื่อเวลาบานอยู่ ถูกลมพัดร่วงพรูจากต้น ลงประดับพื้นดินจะยังมองดูงามแปลกตาและกลิ่นของมันยังหอมกรุ่น เป็นที่ชื่นชอบของผู้พบเห็น แต่เมื่อมันเหี่ยวแห้งอับเฉา ก็ไม่เป็นที่ต้องการของผู้ใด

แต่คนมีศีลมิได้เป็นเช่นนั้น คนมีศีลนั้นหอมอยู่เสมอ หอมทั้งตามลมและทวนลม หอมทั้งในเวลามีชีวิตอยู่ และละโลกนี้ไปแล้ว เป็นที่ชื่นชมรักใคร่ของคนทั่วไปในเวลาที่มีชีวิต เป็นที่เสียดายอาลัยรัก และกล่าวขวัญสรรเสริญถึงในเวลาที่ตายไป ทั้งนี้เพราะตลอดเวลาที่มีชีวิต คนมีศีลไม่มีพิษมีภัยต่อผู้ใด มีกิริยาวาจาละมุนละไมน่ารัก ไม่ฆ่าตี ข่มเหง เบียดเบียน ทำร้ายใคร ทั้งด้วยกายและวาจา ประกอบด้วยความเมตตากรุณาแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่เป็นนิจ

พวงมาลัยดอกไม้หอมที่นายช่างบรรจงร้อยไว้อย่างมีระเบียบ ย่อมงดงามน่าดู ควรค่าแก่การเป็นเครื่องสักการะฉันใด คนที่มีกิริยาวาจานุ่มนวลเรียบร้อย งดงาม ก็ควรค่าแก่ความเคารพนับถือยกย่องฉันนั้น ด้วยเหตุนั้น พระสีลวเถระองค์อรหันต์ ผู้สาวกของพระพุทธเจ้า จึงสรรเสริญศีลว่า ศีลเป็นอาภรณ์คือเครื่องประดับอันประเสริฐ เพชรนิลจินดาและอาภรณ์อันมีค่า มิใช่เครื่องประดับอันประเสริฐ เพราะไม่อาจทำกาย วาจา ใจ ของผู้ประดับให้งดงามได้ คนมีศีลเป็นเครื่องประดับ จึงงดงามทุกเมื่อ

🙏 ก็ศีลนั้นคืออะไร ทำอย่างไรจึงจะชื่อว่าเป็นคนมีศีล ?

ศีล คือความไม่ล่วงละเมิดของผู้มีเจตนาความตั้งใจงดเว้นจากความชั่วทางกาย วาจา และอาจตลอดไปถึงใจด้วย บางคนอาจจะไม่ล่วงละเมิดเพราะตั้งใจไว้ก่อน เช่นตั้งใจว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ ก็ไม่ฆ่า ตามที่ตั้งใจไว้ แต่บางคนก็ไม่ล่วงละเมิดโดยที่มิได้ตั้งใจไว้ก่อน ต่อเมื่อมีเหตุที่จะให้ล่วงละเมิดเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ก็คิดงดเว้นไม่ล่วงละเมิดได้เอง เช่นเห็นงูพิษเลื้อยเข้ามาในบ้าน รู้ว่าเป็นงูพิษ ถ้ากัดใครเข้าอาจถึงตายได้ จึงหยิบไม้ขึ้นมาหมายจะตีงูให้ตาย แต่แล้วเกิดเมตตาสงสารว่า งูมันก็มีชีวิตเช่นเดียวกับเรา มันคงกลัวเจ็บกลัวตายเหมือนเรา อย่าทำมันเลย แล้วก็โยนไม้ทิ้ง ไล่งูให้ออกไปเสียจากบ้าน การกระทำเช่นนี้ก็เป็นศีล แต่เป็นศีลที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยมิได้มีเจตนาคิดจะงดเว้นมาก่อน ศีลจึงเป็นเครื่องขัดเกลากายวาจา รวมไปถึงใจให้สะอาด เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสอย่างหยาบที่จะล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา มีการตี การด่าเป็นต้น

ศีลนั้นแม้จะมีความหมายหลายอย่าง แต่โดยทั่วไปมักแปลกันว่า ปกติ คือปกติของกาย ของวาจา ซึ่งโดยปกติจะสงบ ไม่รุกราน ไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร แต่เมื่อละปกติคือผิดปกติก็ไม่สงบ รุกราน เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น ด้วยอำนาจของจิตใจที่ผิดปกติ เพราะโลภะ โทสะและโมหะ เพราะเหตุที่ ศีล มีความหมายว่า ปกติ คือปกติของกาย วาจา ใจ ศีลจึงมี* ๓ อย่าง คือ กุศลศีล อกุศลศีลและอัพยากตศีล (*ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ญาณกถา ข้อ ๘๙)

ปกติของกาย วาจา ใจ ที่เป็นกุศล มีกุศลจิตเป็นเหตุให้เกิด ชื่อว่า กุศลศีล
ปกติของกาย วาจา ใจ ที่เป็นอกุศล มีอกุศลจิตเป็นเหตุให้เกิด ชื่อว่า อกุศลศีล
ปกติของกาย วาจา ใจ ที่มิใช่กุศลและอกุศล มิได้มีกุศลจิต หรืออกุศลจิตเป็นเหตุให้เกิด หากมีอัพยากตจิต คือกิริยาจิตเป็นเหตุให้เกิด ชื่อว่า อัพยากตศีล

ปาปชน มีอกุศลศีลเป็นส่วนมาก มีกุศลศีลเป็นส่วนน้อย
กัลยาณชน มีกุศลศีลเป็นส่วนมาก มีอกุศลศีลเป็นส่วนน้อย

พระอริยบุคคลที่ยังเป็นเสกขบุคคล ๓ จำพวก คือพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี มีกุศลศีลเพียงอย่างเดียว เพราะท่านเป็นผู้มีศีลบริบูรณ์แล้ว พระอริยบุคคลที่เป็นอเสกขบุคคล คือพระอรหันต์มีอัพยากตศีลเพียงอย่างเดียว

ในกิมัตถิยสูตร อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ข้อ ๑ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอานิสงส์ของศีลที่เป็นกุศล คือกุศลศีล ที่มีกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน แก่ท่านพระอานนท์ไว้ ๑๐ ประการ คือ

  • ๑. ศีลที่เป็นกุศล มีอวิปปฏิสาร คือความไม่เดือดร้อนใจเป็นผล เป็นอานิสงส์
  • ๒. ความไม่เดือดร้อนใจ มีความปราโมทย์เป็นผล เป็นอานิสงส์
  • ๓. ความปราโมทย์ มีปีติเป็นผล เป็นอานิสงส์
  • ๔. ปีติ มีปัสสัทธิ คือความสงบใจเป็นผล เป็นอานิสงส์
  • ๕. ปัสสัทธิ มีสุข คือความสุขใจเป็นผล เป็นอานิสงส์
  • ๖. สุข มีสมาธิเป็นผล เป็นอานิสงส์
  • ๗. สมาธิ มียถาภูตญาณทัสสนะ คือความเห็นด้วยญาณตามความเป็นจริงเป็นผล เป็นอานิสงส์
  • ๘. ยถาภูตญาณทัสสนะ มีนิพพิทาวิราคะ คือความหน่ายความคลายเป็นผล เป็นอานิสงส์
  • ๙. นิพพิทาวิราคะ มีวิมุตติญาณทัสสนะ คือความเห็นด้วยญาณเป็นเครื่องหลุดพ้นเป็นผลเป็นอานิสงส์
  • ๑๐. ศีลที่เป็นกุศลย่อมถึงอรหัตโดยลำดับ ด้วยประการฉะนี้

เพราะฉะนั้น โลกียศีลจึงเป็นบันไดให้เข้าถึงโลกุตตรศีล เข้าถึงอธิศีลสิกขา เป็นอริยศีลได้ในที่สุด มนุษย์นั้นมีมากมายหลายประเภท สวยมาก สวยน้อย ดีมาก ดีน้อย บางคนทั้งสวยทั้งดี บางคนไม่สวยด้วยไม่ดีด้วย บางคนเรียบร้อย บางคนหยาบคาย บางคนอ่อนโยน บางคนดุร้าย

บางคนมีศีล บางคนไม่มีศีล สุดแท้แต่กรรมจะจำแนกให้เป็นไป ในจำนวนคนมากมายหลายประเภทเหล่านี้ คนมีศีลเป็นคนประเสริฐ ยิ่งมีศีลด้วย สวยด้วย ยิ่งประเสริฐสุด เหมือนดอกไม้ที่สวยทั้งสีและกลิ่น ส่วนคนสวยที่ไม่มีศีลนั้น ก็เหมือนดอกไม้ที่สวยแต่สี หามีกลิ่นไม่ คนเราจะมีศีลได้ก็เพราะมีหิริและโอตตัปปะ คือความละอายและเกรงกลัวบาป ทั้งบาปของตนและคนอื่น โดยอาศัยการมีสติเตือนตนว่า "เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ ไม่ควรกระทำความชั่ว" ดังนี้เป็นต้น หรือเพราะเกรงคำครหาของผู้อื่นว่า "ผู้นี้เป็นถึงสาวกของพระพุทธเจ้าทำไมจึงประพฤติชั่วอย่างนี้" ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีสติคิดได้อย่างนี้ จิตใจก็อ่อนโยน ไม่กล้าทำความชั่ว เมื่อไม่ทำความชั่วก็ไม่เดือดร้อน ศีลจึงมีความไม่เดือดร้อนเป็นผล เป็นอานิสงส์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ว่า ผู้มีศีลย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ

  • ๑. ย่อมได้รับโภคทรัพย์ใหญ่ เพราะความไม่ประมาทเป็นเหตุ (ดังที่พระท่านแสดงอานิสงส์ของศีลในเวลาให้ศีลว่า สีเลน โภคสมฺปทา)
  • ๒. เกียรติศัพท์อันงามของผู้มีศีล ย่อมฟุ้งขจรไปไกล
  • ๓. ผู้มีศีลเข้าไปสู่สมาคมใดๆ ย่อมเข้าไปอย่างองอาจไม่เก้อเขิน
  • ๔. ผู้มีศีลย่อมไม่หลงทำกาละ (คือไม่หลงในเวลาตาย)
  • ๕. ผู้มีศีล ตายแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ (สีเลน สุคตึ ยนฺติ)

นอกจากนั้นพระพุทธองค์ยังทรงแสดงไว้ด้วยว่า ผู้ที่หวังได้รับความรักใคร่ สรรเสริญจากบัณฑิตทั้งหลาย ควรทำศีลให้บริบูรณ์

🙏 ศีลเป็นที่พึ่งของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระศาสนา

- ศีลเป็นเสมือนน้ำที่ล้างมลทิน คือความชั่วของสัตว์ทั้งหลาย อันน้ำในแม่น้ำทั้งหลายไม่อาจล้างได้
- ศีล ยังผู้รักษาให้สงบเย็น ไม่ร้อนรุ่มด้วยกิเลส 
- กลิ่นใดที่ฟุ้งไปได้ทั้งทวนลม และตามลม กลิ่นนั้นเสมอด้วยกลิ่นศีลไม่มี
- บันไดที่จะขึ้นสู่สวรรค์และบรรลุนิพพาน (สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ) ที่จะเสมอด้วยบันไดคือศีลหามีไม่
- บุคคลแม้จะงดงามด้วยเครื่องประดับอันมีค่า ก็ยังไม่งามเท่าบุคคลที่มีศีลประดับกาย วาจา ใจ
- ผู้มีศีล ย่อมติเตียนตนเองไม่ได้ เมื่อพิจารณาถึงความประพฤติของตน ย่อมเกิดปีติทุกเมื่อ

เพราะศีลมีอานิสงส์มากมายดังกล่าว ศีลจึงเป็นรากฐานแห่งคุณความดีทั้งหลาย และกำจัดความชั่วทั้งปวงศีลยังมีระดับสูงต่ำตามเจตนาของผู้รักษา ถึง* 3 ระดับคือ (* ในวิสุทธิมัคกล่าวหลายนัย ในที่นี้ยกมาเพียงนัยเดียว)

- ศีลที่บุคคลสมาทานรักษา เพื่อต้องการภวสมบัติและโภคสมบัติ ด้วยอำนาจตัณหา ความต้องการชื่อว่า หีนศีล ศีลอย่างต่ำ
- ศีลที่บุคคลสมาทานรักษา เพื่อต้องการให้ตนเองหลุดพ้นจากกิเลส ชื่อว่า มัชฌิมศีลศีลอย่างกลาง
- ศีลที่พระโพธิสัตว์รักษา เพื่อต้องการให้สัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจากกิเลส ชื่อว่า ปณีตศีล ศีลอย่างประณีต

🙏 ศีลมีทั้งศีลของบรรพชิต และศีลของคฤหัสถ์

- ศีลของบรรพชิต แบ่งเป็นสอง คือ ศีลของภิกษุมี ๒๒๗ ศีลของสามเณรมี ๑๐
- ศีลของคฤหัสถ์ ได้แก่ศีล ๕ ศีล ๘ และศีลอุโบสถ

สำหรับบรรพชิตนั้น ท่านไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครอยู่แล้ว เพราะอยู่ในกรอบของศีลที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ แต่คฤหัสถ์ที่ปราศจากศีล ๕ อาจเป็นพิษเป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่นด้วย ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงศีลที่คฤหัสถ์ควรรักษาเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง และเพื่อความสงบสุขของสังคม เพียงแต่ทุกคนพากันรักษาศีล ๕ ข้อเท่านั้น ชาวโลกก็จะอยู่ร่วมกันเป็นปกติสุข

ศีล ๕ ข้อ คือ

  • ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี  งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
  • ๒. อทินนาทานา เวรมณี  งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
  • ๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี  งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
  • ๔. มุสาวาทา เวรมณี  งดเว้นจากการกล่าวเท็จ
  • ๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี  งดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

เพียงรู้จักว่าศีล ๕ ข้อมีอะไรบ้างเท่านั้น ยังไม่พอ ผู้รักษายังต้องรู้เลยไปถึงว่า ท่านวางกฎเกณฑ์ไว้อย่างไรในการวินิจฉัยว่าทำอย่างไรแค่ไหนจึงล่วงศีล คือศีลขาด โดยใช้กฎเกณฑ์ในการวินิจฉัยที่ท่านเรียกว่า องค์ของศีล เป็นเครื่องตัดสิน ถ้าครบองค์ของศีลข้อนั้นๆ ศีลข้อนั้นก็ขาด ถ้าไม่ครบองค์ที่วางไว้ ขาดไปหนึ่งหรือสองข้อ ถือว่าศีลไม่ขาด แต่ศีลก็เศร้าหมอง องค์ของศีลที่ท่านวางไว้จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้สำรวมระวังไม่ประมาท

ศีลข้อ ๑ มีองค์ ๕ คือ 
    ๑. *ปาโณ  สัตว์มีชีวิต (* อรรถกถาบางแห่งใช้ว่า ปรปาโณ คือสัตว์อื่นที่มีชีวิต มิได้หมายถึงตัวเอง เพราะฉะนั้นการฆ่าตัวเองจึงไม่ล่วงกรรมบถ เพราะไม่ครบองค์ของศีลข้อนี้)
    ๒. ปาณสญฺญิตา  รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
    ๓. วธกจิตฺตํ  จิตคิดจะฆ่า
    ๔. อุปกฺกโม  เพียรเพื่อจะฆ่า
    ๕. เตน มรณํ  สัตว์ตายด้วยความเพียรนั้น

ถ้าครบองค์ ๕ ศีลข้อ ๑ ก็ขาด ถ้าไม่ครบ ๕ ข้อ ศีลไม่ขาด แต่ก็เศร้าหมอง ทษของศีลข้อ ๑ นี้ อย่างหนักทำให้ไปเกิดในอบาย เป็นสัตว์นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน อย่างเบาทำให้อายุสั้นเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ถึงกระนั้นโทษของการล่วงศีลข้อนี้ ก็หนักเบาต่างกันด้วยร่างกายของสัตว์ ๑ ด้วยคุณของสัตว์ ๑ ด้วยเจตนา ๑ และด้วยความพยายาม ๑ กล่าวคือ ถ้าฆ่าสัตว์ใหญ่ โทษก็มาก  ถ้าฆ่าสัตว์เล็ก โทษก็น้อย ถ้าฆ่าสัตว์มีคุณมาก โทษก็หนักมาก  ถ้าฆ่าสัตว์มีคุณน้อย โทษก็น้อยลดหลั่นกันลงไป ถ้าเจตนาคือความจงใจแรง โทษก็แรง  ถ้าเจตนาคือความจงใจอ่อน โทษก็น้อย ความพยายามมากโทษก็มาก  ความพยายามน้อยโทษก็น้อย แต่อย่าได้คิดว่าเมื่อท่านฆ่าสัตว์เล็ก ทั้งมีคุณน้อย มีความจงใจอ่อน และมีความพยายามน้อยโทษก็น้อย คงจะไม่น่ากลัว อย่าลืมว่า บาปอกุศลนั้นถึงแม้จะเล็กน้อยก็ไม่ควรทำ เพราะเมื่อสำเร็จเป็นกรรมแล้ว ย่อมพาไปอบายได้เช่นเดียวกับโทษหนักเหมือนกัน เพียงแต่ว่าอาจไปอยู่ในอบายชั่วระยะเวลาอันสั้น ไม่ยาวนานเหมือนโทษหนัก เพราะฉะนั้นจึงควรสังวรระวังไม่ประมาทแม้โทษเพียงเล็กน้อย

ในอรรถกถาวัมมิกสูตร มัช. มู. เล่าถึงพวกโจรที่ฆ่าอุบาสกที่เป็นพระอนาคามีว่าทำให้ตาบอดทันที เพราะผู้ถูกฆ่าเป็นสัตว์ใหญ่ มีคุณธรรมสูง เจตนาของโจรก็แรง ผลจึงเกิดขึ้นในปัจจุบันทันที ยังไม่ต้องกล่าวถึงโทษที่จะเกิดในอนาคตว่าจะร้ายแรงแค่ไหน

ศีลข้อ ๒ มีองค์ ๕ คือ
    ๑. ปรปริคฺคหิตํ  ของมีเจ้าของหวงแหน
    ๒. ปรปริคฺคหิตสญฺญิตา  รู้ว่ามีเจ้าของหวงแหน
    ๓. เถยฺยจิตฺตํ  จิตคิดจะลัก (ทั้งโดยคิดลักเองหรือใช้ให้ผู้อื่นลักแทน)
    ๔. อุปกฺกโม  เพียรเพื่อจะลัก
    ๕. เตน หรณํ  นำของมาด้วยความเพียรนั้น

ถ้าครบองค์ ๕ ศีลข้อสองนี้ก็ขาด โทษของศีลข้อสองนี้อย่างหนักทำให้ไปเกิดในอบายเช่นเดียวกับศีลข้อ ๑ อย่างเบาทำให้ทรัพย์สมบัติพินาศไปเมื่อเกิดเป็นมนุษย์

ศีลข้อ ๓ มีองค์ ๔ คือ
๑. อคมนียวตฺถุ วัตถุที่ไม่ควรถึง (คือชายหรือหญิงที่มีเจ้าของ หรือมีผู้คุ้มครองดูแลรักษา)
๒. ตสฺมึ เสวนจิตตํ  จิตคิดจะเสพในวัตถุนั้น
๓. เสวนปฺปโยโค  พยายามที่จะเสพ
๔. มคฺเคน มคฺคปฺปฏิปตฺติ อธิวาสนํ  ทำมรรคต่อมรรคให้ถึงกัน

ถ้าครบองค์ ๔ ที่วางไว้ ศีลข้อ ๓ นี้ก็ขาด ศีลข้อนี้ขึ้นอยู่กับเจตนา และคุณของผู้ถูกล่วงด้วย กล่าวคือ ถ้าจงใจมากโทษก็หนัก ถ้าจงใจน้อยโทษก็น้อย ถ้าผู้ถูกล่วงเป็นผู้มีศีลโทษก็หนัก เช่นในสมัยพุทธกาล นันทมาณพล่วงเกินนางอุบลวรรณาอรหันตเถรี โทษถึงธรณีสูบก่อนแล้วจึงตกนรกอเวจี โทษของศีลข้อ ๓ นี้ อย่างหนักทำให้เกิดในอบาย อย่างเบาทำให้มีศัตรู คู่เวร เมื่อเกิดเป็นมนุษย์  (ในชาดกแสดงว่าทำให้เกิดเป็นกระเทย หรือเมื่อเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือมนุษย์แล้วต้องถูกตอน)



ศีลข้อ ๔ มีองค์ ๔ คือ
๑. อตถํ วตฺถุ  เรื่องไม่จริง
๒. วิสํวาทนจิตฺตํ  จิตคิดจะพูดให้ผิด
๓. ตชฺโช วายาโม  พยายามพูดออกไป
๔. ปรสฺส ตทตฺถวิชานนํ  คนอื่นเข้าใจเนื้อความนั้น

ถ้าครบองค์ ๔ ที่วางไว้ ศีลข้อ ๔ ก็ขาด โทษของศีลข้อ ๔ นี้ อย่างหนักทำให้เกิดในอบาย อย่างเบาทำให้ถูกกล่าวตู่ด้วยคำที่ไม่เป็นจริงในเมื่อเกิดเป็นมนุษย์

ศีลข้อ ๕ มีองค์ ๔ คือ
๑. มทนียํ  ของทำให้เมามีสุราเป็นต้น
๒. ปาตุกมฺยตาจิตฺตํ  จิตใคร่จะดื่ม
๓. ตชฺโช วายาโม  พยายามดื่ม
๔. ปีตปฺปเวสนํ  ดื่มให้ไหลล่วงลำคอเข้าไป

ถ้าครบองค์ ๔ ที่วางไว้ ศีลข้อที่ ๕ ก็ขาด * โทษของศีลข้อ ๕ นี้ อย่างหนักทำให้เกิดในอบาย อย่างเบาทำให้เป็นบ้า ขาดสติ ในเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ (* โทษของศีลทั้ง ๕ ข้อจากสัพพลหุสสูตร อัง. อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๓๐)

ในปัจจุบันนี้มีสิ่งเสพติดที่มีโทษมากกว่าสุราและเมรัย เช่นกัญชา และยาเสพติดเป็นต้น แม้จะไม่จัดไว้แต่เดิม แต่ถ้าเสพแล้วก็สงเคราะห์เข้าว่าขาดศีลข้อ ๕ นี้เช่นกัน โดยอาศัยมหาประเทศ ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในวินัยเป็นเครื่องตัดสิน ศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ เมื่อผู้ใดล่วงเข้า ถือว่าล่วงกรรมบถมีโทษมาก จัดเป็นเวร คือก่อให้เกิดผลร้ายทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่นเมื่อล่วงศีลข้อ ๑ มีผลทำให้เกิดในอบาย หรือทำให้มีอายุสั้นเป็นต้น ทั้งเป็นโลกวัชชะ คือ มีโทษที่ชาวโลกควรเว้น กล่าวคือศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ ถึงใครจะรักษาหรือไม่รักษาก็ตาม เมื่อประพฤติล่วงเข้าแล้ว ย่อมเกิดโทษแก่ผู้ล่วงนั้นทั้งสิ้น ทำให้ได้รับโทษเกิดในอบายเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงควรเว้นสิ่งที่มีเวรมีโทษเสีย

อนึ่ง ผู้ที่ไม่ฆ่าสัตว์ แต่ชอบเบียดเบียนสัตว์ให้เป็นทุกข์เดือดร้อน แม้ศีลข้อที่ ๑ ไม่ขาด แต่ก็ขาดธรรม คือเมตตากรุณา ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่จะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์หมดจดจริงๆ จึงต้องมีธรรมที่คู่กับศีลแต่ละข้อกำกับไว้ด้วย คือ
- ๑. เมตตากรุณา คู่กับศีลข้อที่ ๑ เมตตา นั้นได้แก่ ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข ส่วนกรุณา นั้นปรารถนาจะให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
- ๒. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ คู่กับศีลข้อที่ ๒ ในที่นี้หมายถึงการประกอบอาชีพที่สุจริตไม่ผิดศีลผิดธรรม เพื่อให้ได้ทรัพย์สินมาใช้สอยเลี้ยงดูตนเองและผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน
- ๓. ความสำรวมในกาม คือยินดีเฉพาะคู่ครองของตน คู่กับศีลข้อที่ ๓
- ๔. ความมีสัจจะ คือพูดจริง ทำจริง คู่กับศีลข้อที่ ๔
- ๕. ความมีสติ สำรวมระวังไม่ประมาท คู่กับศีลข้อที่ ๕

ผู้มีทั้งศีลและธรรมคู่กันไป ย่อมเป็นผู้งามพร้อมไม่มีที่ติ เพราะฉะนั้น ศีล (ที่ประกอบด้วยธรรม) จึงเป็นอาภรณ์ หรือเครื่องประดับอันประเสริฐสำหรับมนุษย์

ผู้ที่ปรารถนา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ตลอดจนการเกิดในสุคติเป็นมนุษย์และเทวดา หรือปรารถนาจะไม่เกิด คือบรรลุนิพพาน ก็ต้องอาศัยศีล พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ความปรารถนาของผู้มีศีลเท่านั้นที่จะสำเร็จ หรือความสำเร็จผลสมความปรารถนาจะเกิดแก่ผู้มีศีลเท่านั้น ทุกคนปรารถนาของดีทั้งสิ้น ไม่มีใครปรารถนาของไม่ดี เมื่อปรารถนาของดีก็ต้องทำดี ผลที่ได้รับจึงจะดีตามการกระทำ แต่ถ้าปรารถนาของดีแล้วทำชั่ว ผลที่ได้รับก็ชั่วตามการกระทำ เมื่อได้รับผลชั่วมีการเกิดในอบายเป็นต้นแล้ว ความปรารถนาเหล่านั้นจะสำเร็จได้อย่างไร ผู้ที่ไม่ทำชั่วจึงต้องมีศีลเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน นอกจากนั้นพระพุทธองค์ยังตรัสว่า ศีล ๕ นี้เป็น มหาทาน* เป็นทานที่ยิ่งใหญ่ (*ปุญญาภิสันทสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๙) เพราะเป็นการให้ความไม่มีเวร ไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ กล่าวคือ

    การรักษาศีลข้อ ๑  คือการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ทั้งด้วยตนเองและใช้ให้ผู้อื่นฆ่าแทนตนเป็นการให้ชีวิตแก่สัตว์ทั้งปวง
    การรักษาศีลข้อ ๒  คืองดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของเขามิได้ให้ เป็นการให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น
    การรักษาศีลข้อ ๓  คือการงดเว้นจากการประพฤติผิดในบุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น เป็นการให้ความบริสุทธิ์แก่บุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น
    การรักษาศีลข้อ ๔  คือการงดเว้นจากการพูดเท็จ เป็นการให้ความจริงแก่ผู้อื่น
    การรักษาศีลข้อ ๕  คือการงดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย และสิ่งเสพติดอันเป็นโทษทุกชนิดเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่ง คือให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตสัตว์ ให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น ให้ความบริสุทธิ์แก่บุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น ให้ความจริงแก่ผู้อื่น ทั้งนี้เพราะผู้ที่มึนเมาเพราะสุราเป็นต้น ย่อมขาดสติ สามารถทำความชั่วได้ถึงที่สุด คือฆ่าแม่ฆ่าพ่อก็ได้ เพราะฉะนั้นการงดเว้นจากการเสพสิ่งเสพติด มีโทษเหล่านี้จึงเป็นการให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่ง

ก็เมื่อเราได้ให้ความไม่มีเวร ไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้อย่างนี้แล้ว ย่อมได้รับความไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่ถูกเบียดเบียน หาประมาณมิได้เช่นกัน เพราะเราทำเหตุอย่างใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ไม่มีปัจจัยจะบริจาคทาน จึงไม่ควรเสียใจ เพราะกุศลที่สูงกว่าทานที่ไม่ต้องอาศัยปัจจัยก็สามารถบำเพ็ญได้นั้นมีอยู่ กุศลนั้นคือ ศีลกุศล ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นมหาทาน ล้ำเลิศกว่าทานธรรมดา ที่ต้องเสียสละของออกไปเสียอีก

🙏 ควรหรือไม่ที่จะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์

ดังได้กล่าวแล้วว่า ศีล ๕ เป็นศีลของคฤหัสถ์ ที่คฤหัสถ์ทั้งชายหญิงควรรักษาเป็นปกติ เป็นประจำตลอดชีวิต ถึงกระนั้น ศีลที่ยิ่งกว่าศีล ๕ ขัดเกลากิเลสได้ยิ่งกว่าศีล ๕ ที่คฤหัสถ์ควรรักษาตามโอกาสเป็นครั้งคราว ก็มีอยู่ ศีลที่กล่าวนี้คืออุโบสถศีล หรือศีลอุโบสถ ซึ่งคฤหัสถ์ชายหญิงบางท่านรักษาในวันอุโบสถ สมัยก่อนท่านกำหนดวันรักษาอุโบสถศีลไว้มากกว่าวันนี้ แต่ปัจจุบันเหลือวันรักษาอุโบสถศีลเพียงเดือนละ ๔ ครั้งในวันพระ คือในวันแรม ๘ ค่ำ แรม ๑๔ ค่ำหรือ ๑๕ ค่ำ ขึ้น ๘ ค่ำและขึ้น ๑๕ ค่ำ แต่บางท่านก็ประพฤติยิ่งกว่านั้น โดยอาศัยแนวที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาราชสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตว่า อุโบสถมี ๓ อย่างคือ

- ๑. ปกติอุโบสถ คืออุโบสถที่รักษากันเฉพาะวันที่กำหนดไว้ ในปัจจุบันนี้กำหนดเอาวันพระ คือวัน ๘ ค่ำและ ๑๕ ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม
- ๒. ปฏิชาครอุโบสถ คืออุโบสถที่รักษากันครั้งละ ๓ วัน คือถือเอาวันที่กำหนดไว้ในปกติอุโบสถเป็นหลัก แล้วเพิ่มรักษาก่อนกำหนด ๑ วัน เรียกว่าวันรับ และหลังวันกำหนดอีก ๑ วัน เรียกว่าวันส่งเช่นวัน ๘ ค่ำเป็นวันรักษาปกติอุโบสถ ผู้ที่จะรักษาปฏิชาครอุโบสถ ก็เริ่มรักษาตั้งแต่วัน ๗ ค่ำไปสิ้นสุดเอาเมื่อสิ้นวัน ๙ ค่ำ คือรักษาในวัน ๗ ค่ำ ๘ ค่ำและ ๙ ค่ำ รวม ๓ วัน ๓ คืน
- ๓. ปาฏิหาริยปักขอุโบสถ คืออุโบสถที่รักษากันเป็นประจำทุกวันตลอดพรรษา ๓ เดือนอย่างหนึ่ง ถ้าไม่อาจรักษาได้ตลอด ๓ เดือนก็รักษาให้ตลอด ๑ เดือน หลังจากออกพรรษาแล้ว คือรักษาในกฐินกาล ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ อย่างหนึ่ง ถ้ายังไม่อาจรักษาได้ตลอด ๑ เดือน ก็รักษาเพียงครั้งละครึ่งเดือนหลังจากออกพรรษาแล้ว คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงสิ้นเดือน ๑๑ อีกอย่างหนึ่ง ทั้ง ๓ อย่างนี้เรียกว่า ปาฏิหาริยปักขอุโบสถ

ศีลอุโบสถนั้นเป็น ศีลรวม หรือ ศีลพวง คือมีองค์ประกอบถึง ๘ องค์ ถ้าขาดไปองค์ใดองค์หนึ่งก็ไม่เรียกว่า ศีลอุโบสถ ตามพุทธบัญญัติ เพราะฉะนั้นการล่วงศีลอุโบสถเพียงข้อใดข้อเดียว ก็ถือว่าขาดศีลอุโบสถ เพราะเหลือศีลไม่ครบองค์ของอุโบสถศีล พูดง่ายๆว่าขาดศีลองค์เดียว ขาดหมดทั้ง ๘ องค์ ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลจึงต้องสำรวมระวังกาย วาจา เป็นพิเศษ

อุโบสถศีลที่ประกอบด้วยองค์ ๘ มีดังนี้
๑. ปาณาติปาตา เวรมณี  งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
๒. อทินนาทานา เวรมณี  งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
๓. อพรหมจริยา เวรมณี  งดเว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์
๔. มุสาวาทา เวรมณี  งดเว้นจากการกล่าวเท็จ
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี  งดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๖. วิกาลโภชนา เวรมณี  งดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
๗. นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนมาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนัฏฐานา เวรมณี งดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล ลูบทา ทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทาอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว
๘. อุจจาสยนมหาสยนา เวรมณี  งดเว้นจากการนั่ง และการนอนบนที่นอนสูงใหญ่

อุโบสถศีลอันมีองค์ ๘ นี้ องค์ที่ ๑-๒-๔-๕ เหมือนศีลข้อ ๑-๒-๔-๕ ของศีล ๕ ที่แปลกกันคือข้อ ๓ ศีล ๕ นั้น ข้อ ๓ ให้เว้นจากการประพฤติผิดประเวณีในผู้ที่มิใช่คู่ของตน แต่ถ้าเป็นคู่ครองของตนแล้วไม่ห้าม แต่ศีลข้อ ๓ ของอุโบสถศีลนั้น ให้งดเว้นจากการเสพประเวณีโดยเด็ดขาดแม้ในคู่ครองของตนเอง จึงจะชื่อว่า พฺรหฺมจริยา คือประพฤติอย่างพรหม ส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือ ศีลข้อ ๖-๗-๘ อุโบสถศีลนั้นก็มีองค์ของศีลเป็นเครื่องวินิจฉัยว่า การกระทำเช่นไรจึงล่วงศีลไว้เช่นเดียวกับศีล ๕

สำหรับศีลข้อ ๑-๒-๔-๕ นั้นมีองค์เหมือนศีลข้อ ๑-๒-๔-๕ ของศีล ๕ ที่ได้กล่าวไปแล้ว สำหรับศีลข้อที่เหลือมีเครื่องวินิจฉัย ดังนี้

ศีลข้อ ๓ อพรหมจริยา เวรมณี มีองค์ ๔ คือ
๑. อชฺฌาจรณียวตฺถุ  วัตถุที่จะพึงประพฤติล่วง (คือมรรคทั้ง ๓)
๒. ตตฺถ เสวนจิตฺตํ  จิตคิดจะเสพในวัตถุที่จะพึงล่วงนั้น
๓. เสวนปฺปโยโค  พยายามเสพ
๔. สาทิยนํ  มีความยินดี

ศีลข้อ ๖ วิกาลโภชนา เวรมณี มีองค์ ๔ คือ
๑. วิกาโล  เวลาตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนอรุณขึ้น
๒. ยาวกาลิกํ  ของเคี้ยวของกินที่สงเคราะห์เข้าในอาหาร
๓. อชฺโฌหรณปฺปโยโค  พยายามกลืนกิน
๔. เตน อชฺโฌหรณํ  กลืนให้ล่วงลำคอเข้าไปด้วยความเพียรนั้น

สำหรับศีลข้อนี้ ควรทราบว่า เวลาตั้งแต่อรุณขึ้นไปจนถึงเที่ยง เรียกว่ากาล คือเป็นเวลาบริโภคอาหาร ตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงอรุณขึ้น (ของวันใหม่) เรียกว่า วิกาล เป็นเวลาที่ต้องเว้นจากการบริโภค อาหารทุกชนิด เว้นน้ำธรรมดา และน้ำดื่ม ๘ อย่างที่เรียกว่า อัฏฐบาน ที่มีพุทธานุญาตไว้

    🔅 น้ำดื่ม ๘ อย่าง (อัฏฐบาน) นั้นคือ น้ำที่ทำจากผลมะม่วง ๑ ผลหว้า ๑ ผลกล้วยมีเมล็ด ๑ ผลกล้วยที่ไม่มีเมล็ด ๑ ผลมะทราง ๑ ผลจันทน์ หรือผลองุ่น ๑ เง่าบัว ๑ ผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑ ต่อมาทรงมีพุทธานุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก น้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง น้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะทราง และทรงอนุญาตน้ำอ้อยสด

อรรถกถาท่านสรุปว่า ในเวลาวิกาลดื่มน้ำผลไม้ได้ทุกชนิด เว้นผลไม้ที่มีผลโตกว่าผลมะตูม (บางแห่งว่าผลมะขวิด) วิธีทำนั้นก็ต้องคั้นเอาแต่น้ำ และกรองให้ไม่มีกาก และไม่ผ่านการสุกด้วยไฟ น้ำปานะดังกล่าวนี้เท่านั้นที่ผู้รักษาอุโบสถศีลควรดื่มในเวลาวิกาล นอกนี้ไม่ควร พึงสังเกตว่า ไม่มีน้ำนมสดทุกชนิด คือน้ำนมของสัตว์ หรือนมที่ทำจากพืชเช่นถั่วเป็นต้น

นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังทรงอนุญาตให้บริโภคเภสัช ๕ อย่างคือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย รวมทั้งงบน้ำอ้อย ในเวลาวิกาลได้ พระวินัยปิฎก มหาวรรค เภสัชชขันธกะ ข้อ ๘๖ และข้อ ๒๖ ตามลำดับ

ศีลข้อ ๗ แบ่งเป็น ๒ ตอน แต่ละตอนมีองค์โดยเฉพาะ ถ้ากระทำผิดศีลตอนใดตอนหนึ่งเพียงตอนเดียว ก็ถือว่าขาดหมดทั้งสองตอน ศีลข้อ ๗ ตอนแรก นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนะ  เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีและดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล มีองค์ ๓ คือ

๑. นจฺจาทีนิ  การเล่นมีฟ้อนรำขับร้องเป็นต้น
๒. ทสฺสนตฺถาย คมนํ  ไปเพื่อจะดูหรือฟัง
๓. ทสฺสนํ  ดูหรือฟัง

ศีลตอนแรกนี้ท่านห้ามทั้งเล่นเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นเล่นแล้วตนดูหรือฟัง ผู้รักษาอุโบสถศีลแล้วยังเปิดวิทยุฟังเพลง ฟังลิเกหรือมหรสพต่างๆ หรือเปิดโทรทัศน์แล้วหลบไปนั่งในที่ๆ มองไม่เห็นภาพ อาศัยฟังแต่เสียงการละเล่นต่างๆ มีละครเป็นต้นจากโทรทัศน์นั้น ย่อมไม่สมควรถือว่าผิดศีลข้อนี้ เพราะมีเจตนาชัดแจ้ง

หากมีผู้อื่นเขาเปิดดูหรือฟังอยู่ ผู้รักษาอุโบสถศีลเพียงแต่ผ่านไป ได้เห็นหรือได้ยินเข้า แล้วก็ผ่านเลยไปอย่างนี้ไม่ผิด แต่ไม่ใช่ว่าไม่ได้มีเจตนาจะดูหรือฟังมาก่อน แต่ผ่านไปเห็นหรือได้ยินเข้า แล้วเลยพลอยร่วมวงดูหรือฟังกับเขาด้วย อย่างนี้ก็ผิด

ปกติเราก็ดูก็ฟังกันอยู่ทักวันทุกคืน เราจะหยุดดูหยุดฟังกันสักวันหนึ่งคืนหนึ่ง ตามอย่างพระอรหันต์ท่าน มิได้เทียวหรือ ก็ในวินัยของพระอริยเจ้านั้น *การขับร้อง คือการร้องไห้ การฟ้อนรำ คือความเป็นบ้า การหัวเราะจนเห็นฟันพร่ำเพรื่อ คือความเป็นเด็ก (* โรณสูตร อัง. ติกนิบาต ข้อ ๕๔๗)

ศีลข้อ ๗ ตอนหลัง มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนัฏฐานา เวรมณี  เว้นจากการลูบทาทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทาอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว มีองค์ ๓ คือ
๑. มาลาทีนํ อญฺญตรตา  เครื่องประดับตกแต่งมีดอกไม้และของหอมเป็นต้น
๒. อนุญฺญาตการณาภาโว  ไม่มีเหตุเจ็บไข้เป็นต้นที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต
๓. อลงฺกตภาโว  ทัดทรงประดับตกแต่งเป็นต้นด้วยจิตคิดจะประดับให้สวยงาม

ในข้อนี้มีข้อสังเกตคือ บางท่านก่อนไปวัดเพื่อสมาทานอุโบสถศีล ก็ตกแต่งร่างกาย ทาหน้า ทาปากเป็นต้นอย่างสวยงามเสียก่อน เพราะคิดว่าได้กระทำก่อนสมาทานศีล จึงไม่ผิด แต่เจตนาในการกระทำเพื่อให้สวยงามมีอยู่จึงถือว่าผิด เพราะผู้ที่จะรักษาอุโบสถศีลนั้น ต้องตั้งเจตนาที่จะรักษาไว้ตั้งแต่รุ่งเช้าแล้วว่า จะรักษาอุโบสถศีลตลอดวันหนึ่งคืนหนึ่ง

คำว่า วันหนึ่งคืนหนึ่งนั้น ท่านกำหนดนับตั้งแต่อรุณขึ้นของวันที่รักษาไปจนถึงอรุณขึ้นของวันใหม่ ถ้าน้อยกว่ากำหนดนี้ก็ไม่ชื่อว่าวันหนึ่งคืนหนึ่ง ผู้รักษาอุโบสถควรระลึกถึงข้อนี้ด้วย

ศีลข้อ ๘ อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี  งดเว้นจากการนั่งและการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ มีองค์ ๓ คือ
๑. อุจฺจาสยนมหาสยนํ  ที่นั่งที่นอนสูงใหญ่
๒. อุจฺจสยนมหาสยนสญฺญิตา  รู้ว่าที่นั่งที่นอนสูงใหญ่
๓. อภิสีทนํ วา อภิปชฺชนํ วา  นั่งหรือนอนลง

คำว่า ที่นั่งและที่นอนสูงใหญ่ ในศีลข้อนี้ ท่านหมายเอาที่นั่งและที่นอนที่สูงใหญ่เกินประมาณ ที่ประดับตกแต่งด้วยเครื่องปูลาดที่วิจิตรงดงาม รวมไปถึงที่นอนที่ยัดด้วยนุ่มและสำลีด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้ยินดีติดใจในความงามและสัมผัสที่อ่อนนุ่มสบายของที่นั่งที่นอนเหล่านั้น

อุโบสถศีลทั้ง ๔ ข้อที่แตกต่างและเพิ่มขึ้นจากศีล ๕ นั้นถ้าไม่พิจารณาให้ละเอียดแล้ว จะไม่เห็นว่าศีลทั้ง ๔ ข้อนี้เพิ่มความขัดเกลายิ่งขึ้น จึงไม่น่ายากแก่การรักษา แต่โดยที่แท้แล้วมิได้เป็นเช่นนั้น มิฉะนั้นแล้วก็คงจะไม่มีผู้รักษาอุโบสถศีลน้อยมากอย่างนี้ เมื่อเทียบกับจำนวนพลเมืองทั้งประเทศ

ก็ปกติของคฤหัสถ์นั้น ยังยินดีติดใจในการการเสพประเวณี ในการบริโภคจนเกินประมาณ ในการตกแต่งร่างกายให้สวยงาม ในการนอนสบาย แต่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ อุโบสถศีล ๔ ข้อนี้ขึ้น เพื่อขัดเกลาความยินดี ติดใจในสิ่งเหล่านี้ของคฤหัสถ์เป็นครั้งคราว เพียงชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่งเป็นอย่างต่ำ ๓ วันเป็นอย่างกลาง (ปฏิชาครอุโบสถ) ๓ เดือนตลอดพรรษาเป็นอย่างสูง (ปาฏิหาริยปักขอุโบสถ) มิได้ทรงบัญญัติให้รักษาจนตลอดชีวิตอย่างพระอรหันต์

เพราะฉะนั้น ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลเพียงชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่งเพราะน้อมระลึกว่า "แม้เราจะรักษาอุโบสถศีลจนตลอดชีวิตอย่างพระอรหันต์ไม่ได้ ก็ขอดำเนินรอยตามท่านด้วยการรักษาอุโบสถศีล อันมีองค์ ๘ นี้ ชั่ววันหนึ่งคืนหนึ่ง" เพียงเท่านี้ พระพุทธองค์ก็ยังตรัสว่า การรักษาอุโบสถศีลของผู้นั้นมีผลมากมีอานิสงส์มาก* แม้พระราชาผู้ทรงเป็นใหญ่ใน ๑๖ แคว้น ก็ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ เพราะศีลนั้นทำให้เกิดในสวรรค์ (* อุโปสถสูตร อัง. ติกนิบาต ข้อ ๕๑๐ วิสาขสูตร อัง. อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๓๓)

ก็สมบัติมหาศาลของพระราชาในเมืองมนุษย์นั้นเป็นของเล็กน้อยเปรียบเหมือนสมบัติของคนจน เมื่อเทียบกับสมบัติและความสุขอันเป็นทิพย์ในเทวโลก ที่ผู้รักษาอุโบสถศีลจะพึงได้รับเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว ทั้งนี้เพราะเทวดาผู้เกิดในสวรรค์ชั้นต่ำสุดคือ จาตุมมหาราชิกานั้นยังมีอายุยืนถึง ๕๐๐ ปีทิพย์ ซึ่งวันหนึ่งคืนหนึ่งของสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกานั้นเท่ากับ ๕๐ ปีมนุษย์ ลองคิดดูเองเถิดว่า ๕๐๐ ปีทิพย์นั้นจะเท่ากับกี่ปีมนุษย์ ยิ่งถ้าได้เกิดในสวรรค์ชั้นสูงขึ้นไป อายุก็เพิ่มขึ้นจากชั้นต่ำเป็นทวีคูณ ชั้นปรนิมมิตวสวตีอันเป็นสวรรค์ชั้นสูงสุด เทวดาในชั้นนี้อายุยืนถึง ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์ (เทวโลกหรือสวรรค์นั้นมี ๖ ชั้น คือจาตุมมหาราชิกา ดาวดึงสา ยามา ดุสิตา นิมมานนรตี ปรนิมมิตวสวตี) อุโบสถศีลจึงมีผลมาก มีอานิสงส์มากอย่างนี้

ถึงกระนั้นพระพุทธองค์ก็มิได้ทรงสอนให้หลงใหลติดใจในสมบัติ และความสุขในโลกสวรรค์เพราะมิฉะนั้นแล้วพระองค์จะไม่ตรัสกับ นางวิสาขา มหาอุบาสิกาเลยว่าอุโบสถ* มี ๓ อย่าง คือ
- ๑. โคปาลกอุโบสถ  อุโบสถที่เปรียบเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค
- ๒. นิคัณฐอุโบสถ  อุโบสถของพวกนักบวชนิครนถ์
- ๓. อริยอุโบสถ  อุโบสถของพระอริยะ
(*อุโปสถสูตร อัง. ติกนิบาต ข้อ ๕๑๐)

บุคคลผู้รักษาอุโบสถเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโคนั้น เมื่อสมาทานอุโบสถศีลแล้ว ก็ปล่อยใจให้คิดแต่เรื่องราวของความโลภความต้องการ อยากได้สิ่งโน้นสิ่งนี้มาบำรุงบำเรอตน ไม่ได้คิดจะทำความดีอย่างอื่นให้เกิดขึ้นเลย ไม่ผิดอะไรกับคนที่รับจ้างเลี้ยงโคที่เมื่อถึงเวลาเช้าก็ไปรับโคมาเลี้ยง เวลาเย็นก็นำโคมาส่งเจ้าของแล้วรับเอาค่าจ้างไป กลับบ้านแล้วก็คิดแต่ว่าพรุ่งนี้จะพาโคไปกินหญ้า กินน้ำที่ไหน คนรับจ้างนั้นไม่เคยได้รับประโยชน์อะไรจากโคมีน้ำนมเป็นต้นเลย ผู้รักษาโคปาลกอุโบสถก็เช่นกัน ไม่ได้รับประโยชน์จากอุโบสถศีลที่ตนรักษาเลย การรักษาแบบ โคปาลกอุโบสถ จึงไม่มีผลมากไม่มีอานิสงส์ เพราะความตรึกไม่บริสุทธิ์

ส่วน นิคัณฐอุโบสถ นั้นเป็นอุโบสถของนักบวชนอกพระพุทธศาสนา ซึ่งแตกต่างจากการรักษาอุโบสถในพระพุทธศาสนา กล่าวคือในอุโบสถ พวกนักบวชนิครนถ์จะแนะนำชักชวนสาวกเป็นต้นว่า  ไม่ให้ฆ่าสัตว์ในที่ทั้ง ๔ ในที่เลยร้อยโยชน์ไป นอกจากนั้นมิได้ห้าม การแนะนำชักชวนสาวกอย่างนี้ ชื่อว่าห้ามการฆ่าสัตว์ในที่บางแห่ง ไม่ห้ามฆ่าสัตว์ในที่บางแห่ง เป็นการขาดความกรุณาเอ็นดูในสัตว์ บางพวก มิได้ให้ความเอ็นดูแก่สัตว์ทุกหมู่เหล่า อุโบสถของพวกนิครนถ์จึงไม่มีผลมาก

แต่ อริยอุโบสถ นั้นเป็นอุโบสถที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เพราะผู้รักษามิได้ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านไปในความยินดีต้องการ หรือความเศร้าหมองใดๆ ด้วยอำนาจของกิเลส แต่มาพากเพียรระลึกถึงพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดจนระลึกถึงศีลที่บริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อยของตน และระลึกถึงคุณธรรมของผู้ที่เกิดเป็นเทวดา ว่าเทวดาเหล่านั้นได้เกิดเป็นเทวดา เพราะประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาเช่นใด แม้เราก็ประกอบด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาเช่นนั้น เมื่อพากเพียรระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นต้น จิตย่อมผ่องใส ไม่เศร้าหมองเพราะกิเลส การรักษาอุโบสถโดยการไม่ปล่อยใจให้ตกไปในอำนาจของอกุศลแล้วมาเจริญกุศลอย่างนี้ ชื่อว่าอริยอุโบสถ อุโบสถจึงมีผลมาก เพราะจิตของผู้รักษาบริสุทธิ์ ไม่มีผลมากเพราะจิตเศร้าหมอง

บุคคลที่รักษาอุโบสถแล้ว เจริญพุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลนั้นชื่อว่าเข้าจำ *พรหมอุโบสถ อยู่ร่วมกับพรหม และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภพรหม (*อุโปสถสูตร อัง. ติกนิบาต ข้อ ๕๑๐) คำว่า พรหม ในที่นี้ แปลว่า ประเสริฐ เป็นชื่อของพระพุทธเจ้า
บุคคลที่รักษาอุโบสถแล้ว เจริญธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระธรรมเป็นอารมณ์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลนั้นชื่อว่าเข้าจำ ธรรมอุโบสถ อยู่ร่วมกับธรรม และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภธรรม
บุคคลที่รักษาอุโบสถแล้ว เจริญสังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เป็นอารมณ์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลนั้นชื่อว่าเข้าจำ สังฆอุโบสถ อยู่ร่วมกับสงฆ์ และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภสงฆ์
บุคคลที่รักษาอุโบสถแล้ว เจริญสีลานุสสติ ระลึกถึงความบริสุทธิ์แห่งศีลของตน พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลนั้นชื่อว่าเข้าจำ ศีลอุโบสถ อยู่ร่วมกับศีล และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภศีล

- ศีลที่บริสุทธิ์นั้น คือ ศีลที่ไม่ขาด คือไม่ขาดศีลข้อต้นหรือข้อปลายเหมือนผ้าที่ขาดตรงชาย ๑
- ไม่ทะลุ เหมือนผ้าที่ทะลุตรงกลาง เพราะขาดศีลตอนกลางในระหว่างข้อต้นและข้อปลาย ๑
- ไม่ด่าง เหมือนแม่วัวที่มีรอยด่างสีดำหรือแดง รูปกลมหรือยาว ที่หลังหรื่อที่ท้อง เพราะขาดศีลติดต่อกันเป็นลำดับ ๒ หรือ ๓ ข้อ ๑
- ไม่พร้อย เหมือนแม่วัวที่มีจุดตามตัว เพราะศีลขาดเป็นระหว่างๆ ๑

บุคคลที่รักษาอุโบสถแล้ว เจริญเทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้ไปเกิดเป็นเทวดา พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลนั้นชื่อว่าเข้าจำ เทวดาอุโบสถ อยู่ร่วมกับเทวดา และมีจิตผ่องใสเพราะปรารภเทวดา

ผู้รักษาอุโบสถ เมื่อพากเพียรระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นต้นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมผ่องใสไม่เศร้าหมองเพราะกิเลส ครั้นเจริญอนุสสติให้จิตใจสงบอย่างนี้แล้ว ตายไปย่อมเกิดในสวรรค์ หากเจริญธรรมให้สูงยิ่งกว่านี้ คือเจริญสมถะกรรมฐานเป็นนิจจนได้ฌาน ฌานก็จะนำเกิดในพรหมโลก หรือหากเจริญวิปัสสนาจนสำเร็จมรรคผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาแล้ว ผู้รักษาอุโบสถศีลนั้นก็สามารถกำหนดการเกิดของตนได้ว่า ยังมีอีกหรือไม่ คือถ้าเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีก็ยังต้องเกิดอีกแต่อย่างมากก็เกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ หากสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ไม่เกิดอีกเลย

ก็เพราะอริยอุโบสถมีผลมาก มีอานิสงส์มากอย่างนี้ คืออย่างต่ำทำให้เกิดในสวรรค์ ๖ ชั้น อย่างกลางทำให้เกิดเป็นพรหม อย่างสูงทำให้ไม่เกิดอีกเลย ทุกท่านที่รักษาอุโบสถ จึงควรรักษาอริยอุโบสถ ดำเนินรอยตามพระอริยะ ส่วนผลที่ได้รับจะสูงต่ำเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง รวมทั้งปัญญาบารมีที่ได้สั่งสมอบรมมาแต่ปางก่อนด้วย ในสักกสูตร อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ข้อ ๔๖ พระพุทธองค์ตรัสเตือนอุบาสกชาวสักกชนบทที่รักษาอุโบสถศีลเป็นบางครั้งบางคราวว่า เป็นผู้ประมาทไม่ทำตามคำพร่ำสอนของพระองค์ ในเมื่อชีวิตมีภัยเพราะความโศก มีภัยเพราะความตายอย่างนี้ ก็ยังไม่รักษาอุโบสถศีลให้เป็นปกติ ให้สม่ำเสมอ สาวกของพระองค์นั้นปฏิบัติตามคำพร่ำสอนของพระองค์โดยไม่ประมาทตลอด ๑๐ ปี ย่อมได้รับความสุขเพียงอย่างเดียวตลอด ๑๐๐ ปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มี พึงเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีก็มี อย่าว่าแต่ผู้ที่ปฏิบัติตามคำพร่ำสอนของพระองค์ตลอด ๑๐ ปีเลย แม้ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์น้อยกว่านั้นลงมาตามลำดับจนถึง ๑ วัน ๑ คืน ก็พึงได้รับความสุขอย่างเดียวตลอด ๑๐๐ ปีก็มี หมื่นปีก็มี แสนปีก็มี พึงเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีก็มี

เมื่ออุบาสกชาวสักกชนบทได้ฟังพระพุทธองค์ตรัสเตือนพร้อมทั้งแสดงอานิสงส์ของอุโบสถศีลเช่นนั้น ก็กราบทูลรับรองว่า ต่อแต่นี้ไปจะรักษาอุโบสถศีลโดยสม่ำเสมอ มิได้ขาด ก็ชีวิตของเราทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ล้วนมีภัยอันตรายอยู่รอบตัว ไม่มีใครทราบว่าความตายจะมาถึงเราเมื่อไร แล้วเรายังจะประมาทไม่ทำตามคำพร่ำสอนของพระพุทธองค์ด้วยการรักษาศีล ๕ หรืออุโบสถศีลให้สม่ำเสมอดอกหรือ ในเมื่อศีลนั้นเป็นอริยทรัพย์ประการหนึ่งในบรรดาอริยทรัพย์ ๗ ประการที่พร้อมจะติดตามไปให้ความสุขแก่ผู้รักษาตลอดไป ตราบเท่าที่ยังต้องเกิดอยู่ เพราะฉะนั้น ผู้รักษาศีลดีแล้ว จึงไม่ต้องตั้งเจตนาปรารถนา ขอความไม่เดือดร้อนและความสุขจงเกิดแก่เรา ด้วยว่าความไม่เดือดร้อนและความสุข ย่อมเกิดแก่ผู้มีศีลเป็นธรรมดา แต่ผู้ทุศีลถึงจะตั้งเจตนาปรารถนาว่า ขอความไม่เดือดร้อนและความสุขจงเกิดแก่เรา เขาก็หาได้รับผลสมตามเจตนาไม่ เพราะความเดือดร้อนและความทุกข์ย่อมเกิดแก่ผู้ทุศีลเป็นธรรมดา ธรรมที่ปฏิบัติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้อย่างนี้


🙏 สำหรับศีลของคฤหัสถ์อีกอย่างหนึ่ง คือ ศีล ๘
ก็มี ๘ ข้อเหมือนอุโบสถศีล เพียงแต่ไม่กำหนดวันรักษาเหมือนอุโบสถศีล จะรักษาวันใด เมื่อไรก็ได้ เป็นการสะดวกสบายสำหรับผู้ที่ไม่อาจจะรักษาอุโบสถศีลในวันพระ ก็สามารถรักษาศีล ๘ ในวันอื่นเป็นการทดแทนได้ บางท่านมีศรัทธารักษาศีล ๘ จนตลอดชีวิต ควรแก่การสรรเสริญ และหากว่าท่านที่รักษาศีล ๘ นั้นจะได้รักษาศีล ๘ ของท่านตามแบบอย่างของพระอริยะแล้ว ศีลของท่านก็ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

อนึ่งในการตั้งใจรักษาศีลนั้น อย่านึกว่าต้องไปสมาทานกับพระที่วัดเท่านั้นจึงจะเป็นศีล ความจริงแล้วจะสมาทานที่ไหนก็ได้ คือจะสมาทานที่วัด ในป่าหรือในบ้าน หากมีเจตนาคิดงดเว้นก็เป็นศีลแล้ว หรือจะคิดงดเว้นเองโดยมิต้องสมาทานก็เป็นศีล โดยเฉพาะอุโบสถศีลนั้น ควรตั้งเจตนาในการรักษาไว้แต่รุ่งเช้า หากมีโอกาสไปวัดจะสมาทานกับพระอีกครั้งหนึ่งก็สมควร ทั้งนี้เพราะตามวัดต่างๆ นั้น กว่าจะถึงเวลาที่พระท่านลงโบสถ์และให้ศีล ก็มักเป็นเวลาหลังจากที่ท่านฉันอาหารเช้าแล้ว (โดยมากประมาณ ๙ น.) ซึ่งเลยเวลาที่อรุณขึ้นมาหลายชั่วโมง ด้วยเหตุนั้นจึงควรสมาทานด้วยตนเองเสียก่อนแต่รุ่งเช้า

ในอดีต พระพุทธเจ้าของเราในสมัยที่ยังเป็นพระมหาชนกโพธิสัตว์ก็ยังได้สมาทานศีลอุโบสถด้วยตนเอง ในขณะที่ลอยอยู่กลางทะเล แม้ในสมัยพุทธกาล คนส่วนมากก็สมาทานศีลที่บ้าน ในวันอุโบสถ แล้วจึงถือดอกไม้ของหอมไปวัดเพื่อฟังธรรม (อรรถกถาเล่า) ท่านมิได้ไปรับศีลจากพระที่วัด หากการรักษาศีลจำเป็นต้องไปสมาทานกับพระเพียงอย่างเดียว ก็น่าคิดว่าผู้ที่อยู่ในถิ่นกันดารในที่ไม่มีวัด ไม่มีพระ แต่นับถือพระพุทธศาสนา มิหมดโอกาสที่จะรักษาศีลหรือ เพราะเหตุนี้การทำอะไรจึงต้องอาศัยปัญญา แม้การรักษาศีลก็ต้องอาศัยปัญญาพินิจพิจารณาให้รอบคอบ อย่าเพียงแต่ทำตามๆ กันโดยขาดเหตุผล ด้วยเหตุนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า *ศีลเท่านั้นเป็นเลิศ แต่ผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดในโลกนี้ ความชนะในมนุษยโลกและเทวโลก ย่อมมีได้เพราะศีลและปัญญา (* ขุททกนิกาย เถรคาถา ปุณณเถรคาถา และสีลวเถรคาถา)

ความชนะในที่นี้ หมายถึง ความชนะกิเลส มนุษย์ก็ตาม เทวดาก็ตาม จะชนะกิเลสได้ก็เพราะศีลและปัญญา ศีลที่มีปัญญาเป็นพื้นฐาน จึงไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ไม่เป็นทาสของตัณหาและทิฏฐิ กล่าวคือ ผู้รักษาศีล มิได้มุ่งรักษาเพราะต้องการลาภ ยศ สรรเสริญหรือสมบัติใดๆ มีโภคสมบัติเป็นต้น หรือมิได้รักษาเพราะเห็นผิดว่า เราจะบริสุทธิ์จากกิเลสได้เพราะศีลนี้ หมายความว่า ผู้นั้นเห็นผิดว่า ลำพังศีลอย่างเดียว คือศีลเท่านั้นบรรลุนิพพานได้ ซึ่งเห็นผิดไปจากความจริง เพราะผู้ที่จะบรรลุนิพพานได้นั้น ต้องประกอบด้วย ศีล สมาธิและปัญญา

เบื้องต้นนั้น ศีลเป็นบาทให้เกิดสมาธิ สมาธิเป็นบาทให้เกิดปัญญา แต่เบื้องปลาย ศีล สมาธิและปัญญา จะประชุมพร้อมกันเป็นมรรคสมังคี ในอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นอริยศีล อริยสมาธิและอริยปัญญา อริยศีลที่ประกอบด้วยอริยสมาธิและอริยปัญญา ในขณะนั้นเท่านั้นที่บรรลุนิพพานได้ อริยศีลนี้ จึงชื่อว่า สีเลน นิพฺพุติ ยนฺติ โดยแท้จริง ด้วยเหตุนี้ ศีลที่มีปัญญาเป็นพื้นฐาน จึงเป็นเครื่องกั้นบาปทุจริต เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม เป็นพาหนะอันประเสริฐ เป็นเครื่องหอมที่ฟุ้งไปทั่วทิศานุทิศ เป็นสะพานนำไปถึงสุคติโลกสวรรค์และนิพพาน หากยังไม่ปรินิพพานตราบใด ย่อมเกิดเป็นมนุษย์* และเทวดาเท่านั้น (* อัง. ทุกนิบาต ข้อ ๒๗๓)

กาเยน วาจาย จ  โยธ สญฺญโต มนสา จ กิญฺจิ น กโรติ ปาปํ
น อตฺตเหตุ อลิกํ ภณาติ   ตถาวิธํ สีลวนฺติ วทนฺติ
ผู้ใดสำรวมในโลกนี้ สำรวมทางกาย วาจาและใจ ไม่ทำบาปอะไรๆ
และไม่พูดพล่อย เพราะเหตุแห่งตน ท่านย่อมเรียกคนเช่นนั้นว่า ผู้มีศีล



วันพุธ

อินทรียสังวรศีล

อินทรียสังวรศีล เป็นกิจของสมณะต้องประพฤติเสมอ

บัดนี้จะว่าในอินทรียสังวรศีล ความสำรวมระวังรักษาซึ่งอินทรีย์ทั้ง ๖ อันเป็น🔎อายตนะภายใน เมื่อกระทบถูกอายตนะภายนอก อย่าพึ่งทำความยินดีให้เกิดขึ้นด้วยสังกิเลสธรรม อันเป็นเครื่องเศร้าหมองในสันดาน จึงกำหนดให้เห็นลงด้วยปัญญาเป็นไปสักแต่ว่า🔎ธาตุ และยึดถือเอาพระ🔎ไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ โดยความที่ว่าเป็นของไม่เที่ยง แลเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เมื่อทำปัญญาให้เป็นไปโดย🔎ปัจจเวกขณวิธี พิจารณาเห็นลงซึ่งสังขารธรรมให้เป็นไปดังนี้ ก็เป็นเหตุที่จะกำจัดสังกิเลสธรรมเครื่องลามกเศร้าหมองเสียให้ห่างไกลได้ จิตของภิกษุนั้นก็ปราศจากกังวล ตั้งมั่นในการเจริญสมณธรรมเป็นเบื้องหน้า ในอินทรีย์ ๖ นี้ คือ

จักขุนทรีย์
(อินทรีย์ คือ ตา สำหรับดูรูป ๑)
โสตินทรีย์ (อินทรีย์ คือ สำหรับฟังเสียง ๑)
ฆานินทรีย์ (อินทรีย์ คือ จมูก สำหรับดม ๑)
ชิวหินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ลิ้น สำหรับลิ้มรส ๑)
กายินทรีย์ (อินทรีย์ คือ กายสำหรับถูกต้อง โผฏฐพพารมณ์ ๑)
มนินทรีย์ (อินทรีย์ คือ ใจ สำหรับรู้เหตุผล ๑)

รวมเป็น ๖ ประการ ซึ่งให้สำรวมระวังนั้น คือ

๑. ตาได้มองเห็นรูป
ชายหญิง หรือรูปอื่น ๆ ที่ ประณีตหรือเลวทราม ที่หยาบหรือละเอียดในที่ใดที่หนึ่ง ตนจะชอบใจหรือมิชอบใจก็ตาม อย่าพึงทำความรักยินดี และความไม่รักไม่ยินดี ควรระงับความโสมนัสเป็นต้นเสีย หยั่งปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์แต่ส่วนเดียว อันนี้ ชื่อว่าสำรวมดีแล้วในจักษุ (ตา)

๒. หูได้ยินเสียง
บุรุษหรือสตรี และเสียงอื่น ๆ ในที่ใกล้หรือไกลประการใด อย่าพึ่งทำความรักแลยินดี และไม่รักไม่ยินดี ระงับความโสมนัสแลโทมนัสเป็นต้นเสีย หยั่งปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์แต่ฝ่ายเดียว อันนี้ ชื่อว่าสำรวมดีแล้วในโสตะ (หู)

๓. จมูกได้ดมกลิ่น
เหม็นหรือหอม ก็พึงระงับ ความยินดีแลไม่ยินดีไว้ หยั่งปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์แต่ส่วนเดียว อันนี้ชื่อว่าสำรวมดีแล้วในฆานะ (จมูก)

๔. ลิ้นได้ลิ้มรส
หวาน ขม เปรี้ยว เค็ม เป็นต้น ประการใด ๆ ก็ดี จะเป็นที่ชอบใจ หรือมิชอบก็ตาม จึงระงับความยินดีและไม่ยินดีไว้ พิจารณาให้เห็นเป็นส่วนพระไตรลักษณ์อย่างเดียว อันนี้ชื่อว่าสำรวมดีแล้วในชิวหา (ลิ้น)

๕. กายได้สัมผัส
ถูกต้องเครื่องนุ่งห่ม หรืออาสนะ ที่นั่งนอน อ่อนหรือกระด้าง หรือกระทบความร้อนเย็น เป็นต้นประการใด ๆ ก็ดี พึงระงับความยินดีและอดกลั้นความกระสับกระส่ายเสีย ทำสติให้ระลึกอยู่ในพระไตรลักษณ์ อันนี้ชื่อว่าสำรวมดีแล้วในกาย (ตัว)

๖. ใจที่คิดไปในอารมณ์ใด
ที่เป็นส่วนโลกีย์ ประกอบด้วยโสมนัสหรือโทมนัส ก็พึงอดกลั้น อย่าให้ความกำหนัดยินดีอันเป็นส่วนราคะ หรือความทุกข์เป็นเครื่องเศร้าหมองใจบังเกิดขึ้นในจิตสันดานได้ จึงผูกอยู่ในกรรมฐาน คือ🔎อนุสสติ ๑๐ หรือ🔎สติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น จึงได้ชื่อว่าสำรวมดีแล้วในใจ (ใจ)


รวมเป็นความสำรวมระวังรักษาในอินทรีย์ทั้ง ๖ อย่างนี้เรียกว่าอินทรียสังวรศีล เป็นของภิกษุจะพึง ประพฤติและปฏิบัติ เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสเครื่อง เศร้าหมองในสันดานให้น้อยลงหรือระงับไป จิตของภิกษุนั้นจึงจะบริสุทธิ์ได้ เพราะฉะนี้ท่านจึงยกอินทรียสังวรศีล เข้าใจจตุปาริสุทธิศีลด้วย

จบอินทรียสังวรศีลสังเขปแต่เพียงเท่านี้

(อธิบายเพิ่มเติม วิสุทธิมรรค 🔎อินทรียสังวรศีล)

สมณวิสัย

🔅 อินทรียสังวรศีล