๑.๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ กายอันเป็นที่ตั้งแห่งสติ หมายความว่า กายทุกส่วนทุกเนื้อเยื่อ ตั้งแต่เส้นผมถึงปลายเท้าเป็นที่ตั้งแห่งสติให้เกิดขึ้นได้ทั้งหมด กายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ง่ายที่สุด เพราะเป็นของหยาบ หากพิจารณาถึงข้อปฏิบัติอันเป็นที่สุดของการพิจารณาดูกายแล้ว ต้องพิจารณาเห็นกายทั้งหมดตามที่กล่าวไว้ถึง ๑๔ บรรพนั้นว่าเป็นของน่ารังเกียจ อุบายวิธีในการพิจารณาเพื่อจะให้เห็นกายชัดที่สุดนั้นเริ่มจากการพิจารณากายส่วนนอกสุดก่อน เช่น การหายใจออก-เข้า การยืน เดิน นั่ง นอน แล้วเอาสติเข้าไปกำหนดรู้กาย (การกำหนดรู้ลมหายใจ คือกำหนดรู้วาโยธาตุ เป็นต้น) แล้วต่อไปก็เป็นเหตุให้รู้กายในส่วนที่น่ารังเกียจนั้นว่าน่ารังเกียจจริงๆ แล้วมีปัญญากำหนดรู้มากขึ้นๆ จนรู้แจ้งว่ากายทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี ๑๔ บรรพ (หัวข้อ) ได้แก่ อานาปานบรรพ อิริยาบถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ปฏิกูลบรรพ ธาตุบรรพ นวสีวถิกาบรรพ ๙ (ป่าช้า ๙ ข้อ) รวมเป็น ๑๔ บรรพ ซึ่งจะแสดงต่อไป

๑.๑ อานาปานบรรพ
จากการศึกษาเรื่อง อนุสสติ ๑๐ ได้ศึกษาอานาปานสติในแง่ของการเจริญสมถกรรมฐาน แต่ในบทนี้จะศึกษาการพิจารณาลมหายใจเข้าออกมาเป็นอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนา ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าการปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นสมถะหรือวิปัสสนา ถ้าศึกษาให้เข้าใจแล้วสามารถที่จะปฏิบัติเอื้อประโยชน์อิงอาศัยซึ่งกันและกันได้

เปรียบเทียบการเจริญลมหายใจ ตามนัยแห่งสมถะ และวิปัสสนาโดยสังเขป

การเจริญอานาปานสติ (สมถะ)
ต้องฝึกให้สติกำหนดรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกโดยการนับลม , การติดตาม ,การกระทบ , การตั้งมั่น
การเจริญอานาปานบรรพ (วิปัสสนา)
ต้องมีสติระลึกรู้ลมหายใจ โดยในเบื้องต้นอาจจะอาศัยวิธีการกำหนดแบบสมถะคือการนับ การติดตาม การกระทบ การตั้งมั่น แต่สุดท้าย ในการปฏิบัติแบบวิปัสสนา คือ ต้องมีสติกำหนดรู้ในกองลมทั้งปวงนั้นว่าเป็นเพียงรูป จิตที่มีสติกำหนดรู้ นั้นเป็นเพียงนาม รูปนามเป็นเพียงขันธ์ ๕ เป็นเหตุแห่งกองทุกข์ทั้งปวง ตลอดจนรู้แจ้งรูปนามตามความเป็นจริงว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา 


หลักการใช้สติพิจารณาลมหายใจ (อานาปานบรรพ)
ในเบื้องต้น ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จะต้องเข้าไปสู่ป่า โคนไม้ หรือ เรือนว่าง นั่งคู้บังลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจออก -เข้า ด้วยวิธีดังต่อไปนี้คือ

ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดสติหายใจออก กำหนดสติหายใจเข้า
๑. เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว 
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว
๒. เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น
๓. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งกายทั้งปวง หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งกายทั้งปวง หายใจเข้า
๔. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับกายสังขาร หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับกายสังขาร หายใจเข้า
๕. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า
๖. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจเข้า
๗. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตตสังขาร หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตตสังขาร หายใจเข้า
๘. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับจิตตสังขาร หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า
๙. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งจิต หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งจิต หายใจเข้า
๑๐. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้บันเทิง หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้บันเทิง หายใจเข้า
๑๑. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า
๑๒. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า
๑๓. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า
๑๔. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจเข้า
๑๕. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความดับ หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความดับ หายใจเข้า
๑๖. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยสละคืน หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยสละคืน หายใจเข้า

ภิกษุทั้งหลาย อุปมาเหมือนช่างกลึง หรือลูกมือช่างกลึงผู้มีความชำนาญนั้น ถ้าชักเชือกยาว ก็รู้ตัวว่า “ ตนเองชักเชือกยาว ” ถ้าชักเชือกสั้น ก็รู้ตัวว่า “ ตนเองชักเชือกสั้น” ฉันใด ภิกษุก็ควรปฏิบัติโดยทำนองเดียวกันกับช่างกลึง ฉันนั้น คือ เมื่อหายใจออกยาว ก็ให้กำหนดรู้ว่า หายใจออกยาว เป็นต้น

การกำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า โดยความเป็นรูปก็ต้องพิจารณาว่า ลมหายใจอาศัยอะไรเกิด ? ลมหายใจก็อาศัยอยู่กับวัตถุกรชกาย คำว่าวัตถุ ได้แก่ มหาภูตรูป และอุปาทายรูป นั่นเอง เมื่อกำหนดรู้รูปโดยความเป็นจริงอยู่เช่นนี้ ต่อไปก็รู้ถึงนามที่รู้รูป เหล่านั้นเพราะมีผัสสะ คือการกระทบความเป็นไปแห่งปฏิจจสมุปบาท มีอวิชชาเป็นต้นก็เป็นไป เมื่อ อวิชชาคือความไม่รู้เป็นไป ภพชาติย่อมเกิดขึ้นเป็นไปด้วย เมื่อเข้าใจความจริงได้อย่างนี้ ก็ข้ามพ้นความสงสัยได้ และเข้าใจได้ถูกต้องว่านี้เป็นเพียงปัจจัยและธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่ความเป็นจริงแห่งลมหายใจที่เป็นไปเท่านั้น จึงยกเอานามและรูปพร้อมทั้งปัจจัยขึ้นสู่ไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนาบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ (นี้เป็นเพียงตัวอย่างการพิจารณาลมหายใจจนบรรลุธรรมได้)

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา โดยมีวิธีการปฏิบัติโดยสรุป ดังนี้
๑. นำวิธีข้างต้นมาพิจารณาว่า กายภายใน (คือลมหายใจของตนเอง) ให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นลมหายใจ คำว่าพิจารณากาย ไม่ใช่พิจารณาเห็นธรรมอย่างอื่นที่นอกเหนือไปจากมหาภูตรูปและอุปาทายรูป ต้องพิจารณาอยู่ในมหาภูตรูปและอุปาทายรูป (คือรูปที่อาศัยมหาภูตรูปนั้นเกิดขึ้น) เป็นผู้พิจารณาเห็นการชุมนุมกันแห่งมหาภูตรูปและอุปาทายรูปนั้น เหมือนคนลอกกาบกล้วยออกจากต้น ต้นกล้วยนั้นถ้าลอกกาบออกไปที่ละกาบๆ แล้ว ก็จะพบความจริงว่าไม่มีแก่นสารอะไรเลย ชื่อว่าต้นกล้วยไม่มีแล้ว มีแต่กาบแต่ละกาบเท่านั้นเอง เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงของกายโดยกำหนดรู้กายโดยรู้มหาภูตรูปและอุปาทายรูปแล้ว จึงเป็นเหตุให้สามารถแยกความเป็นกลุ่มเป็นกองได้ จึงไม่เห็นเป็นกาย เป็นหญิง เป็นชาย หรือเป็นธรรมอะไรอื่นนอกเหนือไปจากการชุมนุมแห่งธรรมตามที่กล่าวมาแล้ว แต่สัตว์ทั้งหลาย มีความเชื่อผิดๆ จึงยังหลงยึดติดอยู่ ซึ่งที่จริงเป็นเพียงสภาวะการชุมนุมกันของมหาภูตรูปและอุปาทายรูปและธรรมอื่นๆ เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นพระโบราณาจารย์จึงได้กล่าวไว้ว่า :- สิ่งใดที่บุคคลเห็นอยู่สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นแล้ว สิ่งใดที่บุคคลเห็นแล้ว สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นอยู่ เมื่อไม่เห็นตามความเป็นจริง จึงหลงติดอยู่ เมื่อหลงติดอยู่ ย่อมไม่หลุดพ้น

ผู้ที่พิจารณาเห็นกายได้จริงๆ เขาจะเห็นกายอย่างเดียวเท่านั้นไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การมองเห็นพยับแดด บุคคลทั่วไปมองเห็นพยับแดดว่าเป็นน้ำ แต่ผู้ปฏิบัติไม่ใช่เห็นของปลอมเช่นนั้น แต่จะเห็นกายนี้ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และไม่งาม ไม่ใช่ว่าไปเห็นว่ากายเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา และเป็นของงาม แต่จะพิจารณากายได้จริงๆว่า กายเป็นที่ประชุมของกายที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา และเป็นของไม่งาม เท่านั้นเอง กายนี้ใด มีลมหายใจออก มีลมหายใจเข้าที่ในครั้งแรกตอนที่คลอดออกจากครรภ์มารดา ต่อไปก็จะมีกระดูกที่กลายเป็นผุยผงไปในที่สุด พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นกายคือดิน กายคือน้ำ กายคือไฟ กายคือลม กายคือผม กายคือขน เป็นต้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเบื่อหน่าย จะคลายความกำหนัดยินดี จะดับตัณหา จะสลัดออกไม่ยึดไว้ ละคลายได้

หมายเหตุ การพิจารณาในกายอย่างนี้ต้องพิจารณาให้ได้ในทุกๆ หมวดแห่งกายานุปัสสนาตั้งแต่อานาปานบรรพไปจนถึงการพิจารณาป่าช้า ๙ ข้อ ด้วย


๒. หรือพิจารณาเปรียบเทียบ กายภายในกับกายภายนอก โดยการเปรียบเทียบลมหายใจของตนเองกับลมหายใจของบุคคลอื่น ให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าลมหายใจทั้งของตนเองและของบุคคลอื่นก็เป็นแต่เพียงลมหายใจนั่นเอง

๓. หรือจะพิจารณารู้สลับกันไปมาระหว่างกายภายในกับกายภายนอก คือการกำหนดรู้ ลมหายใจของตนเองบ้าง และกำหนดรู้ลมหายใจของบุคคลอื่นบ้าง สลับกันไปมาก็ได้

๔. ควรใช้สติพิจารณาการเกิดขึ้นของลมหายใจและธรรมอันเป็นเหตุเกิดแห่งลมหายใจ หรือใช้สติพิจารณาการดับและธรรมเป็นเหตุดับแห่งลมหายใจ หรือใช้สติพิจารณาทั้งการเกิด-ดับ และธรรมเป็นเหตุเกิด-ดับของลมหายใจ สลับกันไปก็ได้ อธิบายเหตุเกิดของลมหายใจ เพราะมีโพรงจมูก ถ้าไม่มีโพรงจมูกลมหายใจก็เกิดไม่ได้และถ้าไม่มีจิตลมหายใจก็เกิดขึ้นไม่ได้ (เช่นซากศพมีโพรงจมูกก็จริงแต่ไม่มีลมหายใจเพราะไม่มีจิต) อุปมาเหมือนช่างทองที่ใช้เท้าเหยียบสูบเพื่อเป่าลมให้ไฟพ่นออกมาเพื่อเชื่อมทองได้ ฉันใด ลมหายใจก็เป็นไปได้เพราะมีจิต ลมหายใจนั้นเป็นรูปคือเป็นวาโยธาตุ จิตและเจตสิกเป็นนาม (ฉะนั้นลมหายใจเกิดจากกุศลจิตก็มี เกิดจากอกุศลจิตก็มี ในขณะลมหายใจเกิดขึ้นก็มีจิตด้วย การพิจารณาเช่นนี้เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ผู้ปฏิบัติก็ต้องรู้ลักษณะของจิตด้วย) หรือพิจารณาเหตุเกิดของลมหายใจในปัจจุบัน คือเมื่อมีการกำหนดการกระทบของลมหายใจที่เข้า-ออกก็จะเห็นการเกิดของกองลมหายใจที่เข้า-ออกว่า ตลอดกองลมหายใจนั้นก็มีเริ่มต้นกระทบ (เกิด) และสุดท้ายแห่งการกระทบ (ดับ)

อดีตเหตุของลมหายใจเกิดจาก อวิชชา กรรม สังขาร ภวตัณหา จึงทำให้มีภพชาติส่งให้มาเกิดเป็นมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายต้องรับผลของกรรมอยู่ในขณะนี้นี่เอง

๕. ที่สำคัญที่สุดคือจะต้องมีสติอยู่เสมอว่า ลมหายใจที่ปรากฏอยู่นี้เป็นแต่เพียงรูป (ลมหายใจเป็นรูป คือ เป็นวาโยธาตุ สติที่ประกอบกับจิตเป็นนาม) ไม่ใช่บุคคลอัตตาตัวตนเราเขา และต้องตระหนักด้วยว่าการที่นำเอาลมหายใจมาพิจารณาโดยนัยต่างๆ ข้างต้นนั้น มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อต้องการให้ญาณปัญญาแก่กล้ายิ่งๆขึ้นและเพียงเพื่อความสมบูรณ์แห่งการเจริญให้มีสติระลึกรู้เท่านั้น จึงไม่ควรที่จะหลงผิดยึดติดอยู่ในสังขารใดๆ ที่กำลังเกิด-ดับอยู่ไม่ควรเข้าไปยึดว่ากายคือลมหายใจนี้เป็นเรา เป็นของของเราของสัตว์ บุคคล ผู้หญิง ผู้ชาย

๖. สติกำหนดลมหายใจโดยอริยสัจ ๔ ต่อไป คือ
    ๖.๑ สติที่กำหนดลมหายใจ เป็นอารมณ์ สติ จัดเป็นทุกขสัจ
    ๖.๒ ตัณหาคือความยินดีพอใจในอดีตภพ จึงทำให้มีการเกิดมาในภพนี้ เป็นเหตุปัจจัยให้มีสติที่ไปกำหนดรู้ลมหายใจ อยู่ในขณะนี้นี่เอง ตัณหาในอดีตภพ จัดเป็นสมุทัยสัจ
    ๖.๓ การหยุดทุกขสัจและตัณหา จัดเป็นนิโรธสัจ
    ๖.๔ อริยมรรคที่กำหนดรู้ทุกขสัจ และละสมุทัยสัจมีนิโรธสัจเป็นอารมณ์ จัดเป็นมรรคสัจ

ข้อเตือนใจ การปฏิบัติวิปัสสนาเป็นเรื่องที่ต้องทำลายอัตตาตัวตนให้ได้ ฉะนั้นสติต้องกำหนดระลึกรู้ในกาย คำว่ากายจะมีความหมายเปลี่ยนไปในแต่ละหมวดการปฏิบัติต่างกันไป เช่น ในอานาปานบรรพ คำว่า “ กาย ” หมายถึงลมหายใจ ในอิริยาบถบรรพ คำว่า “ กาย” หมายถึงอิริยาบถ ๔ ในสัมปชัญญบรรพ คำว่า “ กาย” หมายถึง อิริยาบถย่อยต่างๆ


๑.๒ หลักการใช้สติพิจารณาอิริยาบถบรรพ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรใช้สติพิจารณาอิริยาบถ ๔ ดังต่อไปนี้
๑. ขณะที่ภิกษุเดิน ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ เดิน”
๒. ขณะที่ภิกษุยืน ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ยืน”
๓. ขณะที่ภิกษุนั่ง ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ นั่ง”
๔. ขณะที่ภิกษุนอน ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ นอน”

การกำหนดอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน ก็ให้รู้เหตุแห่งการเกิดอิริยาบถต่างๆ นั้น ไม่ได้มุ่งหมายให้รู้ว่าเดิน เป็นต้น แต่ให้รู้เหตุแห่งการเดิน ที่เรียกกันว่าเดินนั้นมีเหตุเกิด คือ เกิดจากการแผ่ไปของวาโย ธาตุที่เกิดจากจิต เมื่อจิตคิดว่าเราจะเดิน จิตนั้นก็ทำให้เกิดวาโยธาตุ วาโยธาตุก็ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว การนำกายให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความไหวตัวไปของวาโยธาตุนั้น ความเป็นไปเช่นนี้ มีสมมุติบัญญัตเรียกกันว่า “ เดิน ” ในอีก ๓ อิริยาบถที่เหลือก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา โดยมีวิธีการปฏิบัติโดยสรุป ดังนี้

๑. พิจารณากายภายใน(คือวาโยธาตุ) ด้วยการกำหนดอิริยาบถ ๔ ของตนเอง เช่น เมื่อกำหนดรู้การเดินก็พิจารณาว่า อิริยาบถเดินเกิดขึ้นได้เพราะวาโยธาตุที่เกิดจากจิต จึงทำให้กายเคลื่อนไปข้างหน้าได้ หมายเหตุ อย่าลืมกำหนดกายเช่นเดียวกับในอานาปานสติที่อธิบายแล้วข้างต้น

๒. พิจารณากายภายนอก(คือวาโยธาตุ) ด้วยการกำหนดอิริยาบถ ๔ ของคนอื่น สัตว์อื่น กำหนดอิริยาบถของบุคคลอื่นโดยให้พิจารณารู้ว่าอิริยาบถนั้นๆ เป็นไปได้ก็เพราะวาโยธาตุที่เกิดจากจิต เป็นไปเหมือนกันกับอิริยาบถของเราเอง การที่เราเห็นคนเดินมาเราเห็นได้แต่เฉพาะรูปารมณ์ แต่ความไหวของการเดินก็สามารถรู้ได้ทางใจ เพราะบุคคลนั้นมีวิญญัติรูปที่มีความหมายที่ทำให้เรารู้ได้ ความหมายนี้เกิดจากวาโยธาตุ และวาโยธาตุนี้เกิดจากจิต

๓. การรู้วาโยธาตุก็ต้องรู้จักวาโยธาตุ ๔ ประการ คือ
   🔆 ๑. วาโยธาตุมีการพยุงไว้ เป็นลักษณะจึงทำให้คนนั้นๆ เดิน นั่ง ได้ไม่ล้มลงไป
   🔆 ๒. มีความเคลื่อนไหว เป็นกิจ
   🔆 . มีการแสดงท่าทางต่างๆ ได้ เป็นผล เมื่อจิตคิดจะเดิน วาโยธาตุก็ทำให้เกิดกิริยาอาการ ท่าทางต่างๆ กันไป นี้เป็นผลของวาโยธาตุนั้นเอง
    🔆 ๔. มีธาตุดิน น้ำ และไฟ เป็นเหตุใกล้ คือ มีธาตุ อีก ๓ นี้เกิดร่วมด้วยหรือจะพิจารณารู้สลับกันไปมาระหว่างกายภายในกับกายภายนอก คือ กำหนดวาโยธาตุ ทั้งของตนเองและของบุคคลอื่น
    🔆 ๕. พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิด พึงกำหนดความเกิดและความเสื่อมแห่งรูปขันธ์ โดยพิจารณาว่า รูปเกิดเพราะอวิชชาเกิดเป็นต้น
    🔆 ๖. เมื่อกำหนดวาโยธาตุรู้ได้ชัดเจนดีแล้วตั้งแต่ข้อ ๑ - ๕ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องกำหนดพิจารณาต่อไปคือ ต้องไม่หลงยินดีพอใจว่าเราปฏิบัติถูกแล้ว เข้าใจถูกแล้ว แต่เมื่อกำหนดรู้วาโยธาตุ ก็ให้เป็นไปเพื่อทำลายทิฏฐิความยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตัวตน เราเขา ให้ได้
    🔆 ๗. แม้สติที่เข้าไปกำหนดรู้วาโยธาตุนั้นก็หาใช่เพื่อประโยชน์อย่างอื่นไม่ ที่แท้ก็เพียงเพื่อประโยชน์แก่ความรู้ คือญาณปัญญาที่ยิ่งๆ ขึ้นไป และเพื่อประโยชน์แห่งการเกิดขึ้นของสติสัมปชัญญะเท่านั้น และต้องกำหนดรู้ต่อไปว่า
    🔆 ๘. สติกำหนดอิริยาบถโดยอริยสัจ ๔ ต่อไป คือ
            ๘.๑ สติที่กำหนดอิริยาบถ ๔ เป็นอารมณ์ สติ จัดเป็นทุกขสัจ
            ๘.๒ ตัณหาคือความยินดีพอใจในอดีตภพ จึงทำให้มีการเกิดมาในภพนี้ เป็นเหตุปัจจัยให้มีสติที่ไปกำหนดอิริยาบถ ๔ อยู่ในขณะนี้นี่เอง ตัณหาในอตีตภพ จัดเป็นสมุทัยสัจ
            ๘.๓ การหยุดทุกขสัจและสมุทัยสัจทั้งสองนั้น จัดเป็นนิโรธสัจ
            ๘.๔ อริยมรรคที่กำหนดรู้ทุกขสัจและละสมุทัยสัจมีนิโรธสัจเป็นอารมณ์ จัดเป็น มรรคสัจ เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลได้ปฏิบัติเจริญสติปัฏฐานในอิริยาบถ ๔ แล้ว ย่อมรู้และเข้าใจได้ถูกต้องว่า ไม่มีสัตว์ใดๆเดินหรือยืนเลย อิริยาบถเดิน ยืน นั่ง นอน ไม่ใช่รูปไม่ใช่นาม อิริยาบถนั้นเป็นเพียงสมมุติบัญญัติเรียกขานกันเท่านั้นเอง ความเป็นจริงที่ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดรู้ก็คือ วาโยธาตุที่เกิดขึ้นเพราะมีจิตคิดที่จะเดิน ยืน นั่ง นอน นั่นเอง เมื่อกำหนดรู้รูปได้ถูกต้องแล้วก็ต้องศึกษาในวิสุทธิ ๗ และข้อปฏิบัติที่จะทำให้นามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นได้อีก แล้วเพียรปฏิบัติเพียรเจริญให้มากกระทำให้มาก จนวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นแก่ท่านนั่นแหละจะเป็นเครื่องหมายให้รู้ได้ว่าท่านปฏิบัติมาถูกทางแล้วและเกือบจะสำเร็จแล้ว และต่อไปก็ต้องข้ามพ้นวิปัสสนูปกิเลสไปให้ได้ เมื่อนั้นท่านก็จัดได้ว่าเป็นผู้เริ่มต้นมีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว 

ข้อเตือนใจ รูปไม่ใช่อิริยาบถ อิริยาบถไม่ใช่รูป วิญญัติก็คือวิญญัติเป็นอสภาวรูป ขออธิบายศัพท์เพื่อความเข้าใจ ดังนี้ รูป หมายถึง ธรรมชาติใดย่อมแตกดับด้วยอำนาจความเย็น ความร้อน เป็นต้น ฉะนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่ารูปได้แก่ อวินิพโภครูป 8 (ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา) เป็นต้น นี้ชื่อว่ารูป เป็นปรมัตถธรรม คือ รูปปรมัตถ์

อิริยาบถ เป็นเพียงอาการของรูป อิริยาบถจึงไม่ใช่รูป ไม่ใช่ปรมัตถ์ธรรม แต่เป็นสมมุติบัญญัติ เช่น ขวดใบหนึ่ง ขวดก็มีรูปอยู่ ๘ รูปคือ อวินิพโภครูป ๘ ขวดใบนี้ถ้าอยู่ในอาการหนึ่งก็เรียกว่าตั้ง อยู่ในอาการหนึ่งก็เรียกว่านอน คนเราก็เหมือนกันมีอิริยาบถใหญ่ ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน เดินก็ดี นั่งก็ดี ก็คือ อวินิพโภครูป ๘ เป็นต้นนั่นแหละ เมื่ออยู่ในอาการหนี่งก็สมมุติเรียกกันว่าเดิน อยู่ในอาการหนึ่งก็สมมุติเรียกว่ายืน เป็นต้น

วิญญัติรูป เป็นอสภาวรูป มี ๒ รูป คือ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ ความหมายของเสียงนั้นเองเรียกว่า วจีวิญญัติ การกวักมือ ก็มีความหมาย ความหมายที่อยู่ในอาการที่กวักมือนั้นเองเรียกว่า กายวิญญัติ

จบหลักการใช้สติพิจารณาอิริยาบถ ๔ ในอิริยาบถบรรพ (โดยสังเขป)


๑.๓ หลักการกำหนดอิริยาบถย่อยด้วยสติสัมปชัญญะ

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรใช้สติพิจารณาอิริยาบถย่อยด้วยสติสัมปชัญญะดังต่อไปนี้ 

ภิกษุควรก้าวไปข้างหน้าและถอยกลับ อย่างมีสติสัมปชัญญะ
ภิกษุควรดูไปข้างหน้าและเหลียวดูรอบๆ อย่างมีสติสัมปชัญญะ
ภิกษุควรทำการคู้เข้าและทำการเหยียดออก อย่างมีสติสัมปชัญญะ
ภิกษุควรทำการครองสังฆาฏิ อุ้มบาตร และห่มจีวร อย่างมีสติสัมปชัญญะ
ภิกษุควรทำการฉัน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม อย่างมีสติสัมปชัญญะ
ภิกษุควรทำการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ อย่างมีสติสัมปชัญญะ
ภิกษุควรทำการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด และ การนิ่ง อย่างมีสติสัมปชัญญะ

๑. การกำหนดอิริยาบถย่อยต่างๆ
ผู้ปฏิบัติต้องมีสัมปชัญญะกำกับ
ลงไปด้วย เป็นการไม่กระทำไปตามอำนาจความคิดที่เกิดขึ้นที่เดียว แต่เมื่อคิดจะก้าวไป ก็ต้องกำหนดผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นว่า การจะไปในที่นี้จะมีประโยชน์แก่เราหรือไม่มี เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์ปราศจากโทษจึงก้าวไป อย่างนี้เรียกว่า สาตถกสัมปชัญญะ

๒. กำหนดความเป็นสัปปายะและอสัปปายะ
(สัปปายะคือความสบายที่
เป็นเหตุทำให้กุศลเกิด อสัปปายะ คือความไม่สบายที่เป็นเหตุทำให้กุศลไม่เจริญและอาจเป็นเหตุให้อกุศลเกิดขึ้นได้) การที่จะก้าวไป ถ้าไปในที่ใดก็ตามถึงแม้นจะเป็นประโยชน์แต่ในขณะนั้นไม่เป็นสัปปายะ ก็ให้มีสัมปชัญญะกำหนดรู้ว่าไม่ควรไป เช่น โดยปกติการได้เห็นพระเจดีย์เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์เพราะยังกุศลให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าในเวลานั้นบริเวณโดยรอบพระเจดีย์มีงานรื่นเริงต่างๆ ก็ไม่ควรไป เพราะจะเป็นเหตุให้อกุศลเกิดขึ้นได้ อย่างนี้เรียกว่า สัปปายสัมปชัญญะ

๓. การกำหนดกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง
ไว้ในใจตลอดเวลาที่
โคจรไปในที่ต่างๆ กำหนดโดยไม่หลงลืม กำหนดได้ดีไม่ละทิ้งกรรมฐานตลอดเวลาที่โคจรทั้งไปและกลับ อย่างนี้เรียกว่า โคจรสัมปชัญญะ

๔. การกำหนดโดยการไม่หลงลืม
ในการก้าวไปข้างหน้า เป็นต้น 
หมายความว่า ผู้ปฏิบัติต้องไม่หลงลืมในขณะก้าวไปข้างหน้า ไม่หลงลืมไปว่าเป็นอัตตาตัวตนของเราเป็นผู้ก้าวไปข้างหน้า แต่ต้อง มีสติกำหนดระลึกรู้ได้อย่างถูกต้องว่า เมื่อมีจิตคิดว่าเราจะไม่หลงลืมก้าวไปข้างหน้า วาโยธาตุที่มีจิตเป็นเหตุเกิดก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยังให้เกิดกายวิญญัติรูปเกิดขึ้นด้วย และก็เกิดขึ้นพร้อมกับจิตดวงนั้นนั่นเอง โครงกระดูกที่สมมุติว่ากายนี้จะก้าวไปข้างหน้าตามอำนาจของการแผ่ขยายไปแห่งวาโยธาตุที่เกิดจากจิตนั่นเอง ในการยกเท้าขึ้น ธาตุ ๒ ชนิด คือ ปฐวีธาตุและอาโปธาตุจะหย่อนจะอ่อนกำลังลง แต่เตโชธาตุและวาโยธาตุจะมีกำลังมากขึ้น ทำให้กายนี้เคลื่อนไปได้ ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในขณะก้าวก็ดับไปในขณะก้าวไม่เกิดสืบต่อไปถึงขณะคู้ ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในขณะคู้ก็ดับไปในขณะคู้นั่นเองไม่เกิดสืบต่อไปในขณะเหยียด เพราะวิญญัติรูปทั้งหลายนี้เกิดจากจิต จิตดวงอื่นดับไปพร้อมกับรูปที่ดับไปแล้ว ความเป็นไปของอิริยาบถในตอนนี้ก็เกิดขึ้นได้เพราะจิตคนละดวงกัน ไม่ใช่เกิดจากจิตดวงเดียวกัน เหมือนกระแสน้ำที่ไหลติดต่อไปเป็นระลอกฉะนั้น ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดโดยไม่หลงในการก้าวไป อย่างนี้เรียกว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ 

การกำหนดอิริยาบถย่อย ก็มีวิธีการปฏิบัติโดยสรุป เช่นเดียวกันกับอิริยาบถใหญ่ ๔ แต่ต้องละเอียดลึกซึ้งกว่ากันมาก เพราะต้องกำหนดรู้โดยสัมปชัญญะ ๔ อีกด้วย

จบหลักการใช้สติพิจารณาอิริยาบถย่อยด้วยสัมปชัญญะ (โดยสังเขป)




๑.๔ หลักการใช้สติพิจารณาอาการ ๓๒

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรพิจารณาร่างกายนี้ ซึ่งมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยสิ่งที่เป็นปฏิกูลชนิดต่างๆ ตั้งแต่ปลายผมจรดฝ่าเท้า ดังนี้ว่า 👉"ในกายนี้ มีแต่สิ่งที่เป็นปฏิกูล เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่ สำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร"

ภิกษุทั้งหลาย อุปมาดุจถุงมีปาก ๒ ข้าง บรรจุธัญพืชชนิดต่างๆ คือข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดงา ข้าวสาร ไว้เต็มถุง คนตาดีเปิดถุงนั้นออก พิจารณาแยกประเภทได้ว่า “ นี้เป็นข้าวสาลี นี้เป็นข้าวเปลือก นี้เป็นถั่วเขียว นี้เป็นถั่วเหลือง นี้เป็นเมล็ดงา นี้เป็นข้าวสาร” ฉันใด ภิกษุก็ควรพิจารณาร่างกายนี้ซึ่งมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบเต็มไปด้วยสิ่งที่เป็นปฏิกูลชนิดต่างๆ ตั้งแต่ปลายผมจรดฝ่าเท้า ในกายนี้มีแต่สิ่งที่เป็นปฏิกูล เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ก็เป็นสิ่งปฏิกูล ที่เราหลงว่าสวยว่างามนั้นที่แท้จริงแล้วกายนี้เป็นของปฏิกูลทั้งนั้น ผม เป็นต้น ถ้าดูโดยลักษณะของเส้นผมอาจไม่เห็นถึงความน่ารังเกียจ แต่เมื่อเอาไปเผาไฟ กลิ่นของเส้นผมนั้นเป็นสิ่งน่าน่ารังเกียจยิ่ง ถ้าเปรียบเหมือนกับผักสำหรับแกงที่เกิดในน้ำคร่ำที่ไหลออกจากบ้านขังอยู่ในที่ไม่สะอาดย่อมเป็นสิ่งน่าเกลียดไม่น่าบริโภคฉันใด แม้เส้นผมทั้งหลายก็น่ารังเกียจฉันนั้น เพราะถูกหล่อเลี้ยงด้วยน้ำที่ซึมออกมาจากแต่ละส่วนต่างๆ มีน้ำเหลือง เลือด มูตร กรีส น้ำดี และเสมหะ เป็นต้น เพราะเกิดในที่ไม่สะอาดดุจผักเกิดที่กองคูถ อาการทั้ง ๓๒ นั้นล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล น่ารังเกียจ แล้วที่เรามีชีวิตอย่างดิ้นรนเดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อหล่อเลี้ยงร่างปฏิกูลนี้หรือ และที่เรายึดว่าบุคคลนี้เป็นของเรานั้น เรากำลังยึดสิ่งปฏิกูลมิใช่หรือ ถ้าผู้พิจารณาเห็นความจริงอย่างนี้ได้ก็จะไม่หลงยึดในอัตตาตัวตนว่าเป็นเรา เขา

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา มีวิธีการปฏิบัติโดยสรุปเหมือนกับอิริยาบถ แต่เปลี่ยนคำว่ากายให้เป็นไปตามอาการ ๓๒

จบหลักการใช้สติพิจารณาอาการ ๓๒ (โดยสังเขป)


๑.๕ หลักการใช้สติพิจารณากายเป็นธาตุ

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรใช้สติพิจารณากายนี้ไปตามส่วนต่างๆ ให้เห็นเป็นเพียงธาตุ (โดยปราศจากสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ) ว่า “ กายนี้มีสภาพเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม” ภิกษุทั้งหลาย อุปมาดุจคนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้มีความชำนาญ ครั้นฆ่าโคแล้ว แบ่งเนื้อโคออกเป็นส่วนๆ นั่งเฝ้าดูอยู่ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ควรพิจารณากายนี้ไปตามส่วนต่างๆ ให้เห็นเป็นเพียงธาตุว่า “ กายนี้มีสภาพเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม”

อธิบาย การปฏิบัติในหมวดนี้ เป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่องมาจากหมวดการพิจารณาอาการ ๓๒ นั่นเอง การพิจารณาในอาการ ๓๒ เริ่มต้นที่การพิจารณาอาการ ๓๒ แต่ถ้าผลปรากฏว่าผู้พิจารณาได้สภาวะของความเป็นปฏิกูล การพิจารณานั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นการพิจารณาในหมวดปฏิกูล แต่ถ้าได้สภาวะของความเป็นธาตุ ๔ ปรากฏ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ได้ชื่อว่าเป็นการพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ธาตุ มี ๔๒ คือ จาก ๓๒ ให้เพิ่มธาตุไฟ ๔ คือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น, ไฟที่ยังกายให้ปุวยไข้, ไฟที่ยังกายให้แก่ ทำให้ทรุดโทรม , ไฟที่เผาหรือย่อยอาหาร ที่กิน ที่ดื่ม ธาตุลม ๖ คือ ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน, ลมที่พัดลงเบื้องล่าง, ลมในท้อง, ลมในไส้, ลมในอวัยวะน้อยใหญ่ , ลมหายใจออก-เข้า การศึกษาหัวข้อนี้ต้องศึกษาควบคู่ไปกับ เรื่องกายคตาสติ และ เรื่องจตุธาตุววัฏฐาน เพื่อให้รู้ว่าธาตุนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเข้าใจแล้วนำมาปฏิบัติในสติปัฏฐานโดยพิจารณาว่ากายนี้ก็เป็นเพียงธาตุ

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา มีวิธีการปฏิบัติโดยสรุปเหมือนกับอิริยาบถ แต่เปลี่ยนคำว่ากายให้เป็นธาตุ

จบหลักการใช้สติพิจารณากายโดยความเป็นธาตุ(โดยสังเขป)

การเจริญวิปัสสนาในหมวดป่าช้า ๙ ข้อ 

การพิจารณาอสุภะกับการเจริญวิปัสสนาในหมวดป่าช้าต่างกัน ซึ่งควรจะศึกษาให้เห็นความต่างกันด้วยจะเป็นประโยชน์ในการน้อมนำไปปฏิบัติ ความต่างกันตัวอย่างเช่น การพิจารณาอสุภะก็เพียงหาซากศพอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐ อย่าง แล้วปฏิบัติโดยการท่องบริกรรมว่า วินีลกอสุภะ ๆ ๆ ไปเรื่อยๆ จนสมาธิตั้งมั่นนิมิตก็จะเกิดขึ้นไปตามลำดับเมื่อถึงปฏิภาคนิมิตแล้วฌานจิตก็เกิดขึ้นได้ แต่การพิจารณาอสุภะโดยการเจริญวิปัสสนาไม่ต้องบริกรรมจนสมาธิจิตแนบแน่น แต่พิจารณาให้เห็นสภาพของความจริงว่า กายของเราหรือของบุคคลอื่นก็ตามย่อมมีสภาพเช่นเดียวกับศพ ไม่ล่วงพ้นไปจากสภาพเช่นนี้ได้

จุดประสงค์ก็เพื่อให้คลายจากความยึดมั่นในอัตตาตัวตน ทำให้ฆนบัญญัติว่าเป็น บุคคล ตัวตน เราเขา แตกลงได้ เมื่อก้าวพ้นความเป็นฆนะแล้วสภาพของปรมัตถ์แท้ๆ คือรูปนามจึงจะปรากฏได้ จุดประสงค์เดียวของการเจริญวิปัสสนาคือ ต้องทำลายอัตตาตัวตนให้ได้ก่อน แล้วรูปนามอันเป็นสภาวะปรมัตถ์แท้ๆ ก็จะปรากฏชัด

๑.๖ หลักการใช้สติพิจารณากายให้เห็นดุจอสุภะในป่าช้า

ข้อที่ ๑ 
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจศพซึ่งตายมาแล้ว ๑ วันบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ซึ่งถูกนำมาทิ้งไว้ในป่าช้า จนขึ้นอืดเขียวคล้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม ดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพดุจศพ และมีลักษณะดุจศพ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๒ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้าปล่อยให้ กา เหยี่ยว จิกกินแร้งทึ้งกิน สุนัข บ้าน สุนัขจิ้งจอก หรือสัตว์เล็กๆ กัดกินดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพและมีลักษณะดุจศพ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๓ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจโครงกระดูกของศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งยังมีเนื้อและเลือด มีเอ็นรึงรัดอยู่ ดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพและมีลักษณะดุจโครงกระดูกนี้ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๔ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจโครงกระดูกของศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งปราศจากเนื้อหนังแต่ยังมีเลือดเปื้อนเปรอะ มีเอ็นรึงรัดอยู่ดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพ และมีลักษณะดุจโครงกระดูกนี้ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๕ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจโครงกระดูกของศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งปราศจากเนื้อและเลือดแต่ยังมีเอ็นรึงรัดอยู่ ดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพ และมีลักษณะดุจโครงกระดูกนี้ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๖ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจโครงกระดูกของศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งปราศจากเอ็นรึงรัด กระจุยกระจายไปตาม ทิศต่างๆ เช่นกระดูกมืออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแข้ง กระดูกขา กระดูกสะเอว กระดูกหลัง กระดูกซี่โครง กระดูกหน้าอก กระดูกแขน กระดูกไหล่ กระดูกคอ กระดูกคาง กระดูกฟัน กะโหลกศีรษะ อยู่ทิศหนึ่งๆ ดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพ และมีลักษณะดุจโครงกระดูกนี้ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๗ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจท่อนกระดูกของศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกสีขาวเหมือนสีสังข์ ดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพและมีลักษณะดุจท่อนกระดูกนี้ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๘ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจกองกระดูกของศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งกองอยู่ด้วยกันเกินกว่า ๑ ปี ดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพและมีลักษณะดุจกองกระดูกนี้ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๙ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจผงกระดูกของศพที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งแหลกละเอียดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ดังนี้ว่า “ กายนี้ก็มีสภาพและมีลักษณะดุจผงกระดูกนี้แล ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา มีวิธีการปฏิบัติเหมือนกับอิริยาบถ แต่เปลี่ยนคำว่ากายเป็นอสุภะในแต่ละข้อ

จบ ป่าช้า ๙ ข้อ

จบ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน