แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อริยสัจ ๔ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อริยสัจ ๔ แสดงบทความทั้งหมด

(ค) ปัญหาของมนุษย์ ที่มาในชื่อของทุกข์มากมาย

 (ค) ปัญหาของมนุษย์ ที่มาในชื่อของทุกข์มากมาย

เท่าที่ได้บรรยายมา ถ้าเข้าใจความหมายของทุกข์ในอริยสัจ และแยกออกได้ชัดจากทุกข์ในไตรลักษณ์พร้อมทั้งมองเห็นความเกี่ยวโยงกันระหว่างทุกข์ในหมวดธรรม ๒ ชุดนี้แล้ว ก็ถือเป็นอันสมวัตถุประสงค์ระหว่างที่บรรยายนั้น ได้ยกทุกข์ชื่อต่างๆ หรือทุกข์ในลักษณะอาการต่างๆ มาให้ดูเป็นตัวอย่าง และได้ขอให้เข้าใจว่า ทุกข์ต่างๆ มากมายนั้น ไม่พึงถือเป็นเรื่องเคร่งครัดนัก แต่มองได้ว่าเป็นการที่ท่านยกขึ้นมากล่าวเพื่อนำความเข้าใจ ให้ง่ายและชัด เป็นเรื่องที่ต่างกันไปไดตามถิ่นฐานกาลสมัย พูดง่ายๆ ก็คือแสดงตัวอย่างเรื่องราวที่เป็นปัญหาของมนุษย์ (ใครในสมัยนี้ ถ้าสนใจ ก็อาจจะรวบรวมปัญหาหรือทุกข์ของมนุษย์ในสมัยปัจจุบันมาทำเป็นบัญชีไว้) ดังที่ท้ายสุด พระพุทธเจ้าก็ทรงสรุปไว้ให้แล้ว ที่ว่า “โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ คือทุกข์” เมื่อได้ความเข้าใจอย่างนี้แล้ว จะแสดงชื่อทุกข์ที่ท่านจำแนกแจกแจงไว้ในที่ต่างๆ ให้เห็นตัวอย่างต่อไป ทุกข์ที่ท่านจำแนกไว้ ส่วนใหญ่เป็นทุกข์ในอริยสัจ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคน เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข เป็นสิ่งควรคำนึงเพื่อปลดเปลื้องเสียด้วยการปฏิบัติ ส่วนทุกข์ที่ครอบคลุมความทั้งหมดอย่างในไตรลักษณ์ ท่านแสดงไว้แต่พอเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเท่าทันตามความเป็นจริงในที่นี้จะยกมาแสดงเฉพาะชุดสำคัญๆ หรือที่ท่านกล่าวถึงกันบ่อยๆ ดังนี้

ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
เป็นชุดไขความสำหรับแสดงความหมายของทุกข์ในอริยสัจ ๔ มีดังนี้

๑) ชาติ ความเกิดเป็นทุกข์ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ต่างๆ อเนกประการ ท่านแบ่งซอยออกเป็น
    ก. คัพโภกกันติมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากการเกิดอยู่ในครรภ์ อยู่ในที่อันแสนจะคับแคบอึดอัด มีดตื้อ แออัดด้วยสิ่งที่น่ารังเกียจ ดุจหนอนในของเน่าหรือในน้ำครำ
    ข. คัพภปริหรณมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากการบริหารครรภ์ มารดาจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ลุก นั่ง เดิน วิ่ง แรงหรือเบา กินดื่มของร้อนเย็นเปรี้ยวเผ็ด เป็นต้น มีผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ทั้งสิ้น
    ค. คัพภวิปัตติมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากการวิบัติของครรภ์ เช่น ท้องนอกมดลูก เด็กตายในครรภ์ต้องผ่าตัดออก เป็นต้น
    ง. วิชายนมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากการคลอด ทั้งถูกกระทุ่งกระแทกพลิกหัน ทั้งถูกกดถูกบีบถูกอัดกว่าจะผ่านช่องอันแสนแคบออกมาได้ เจ็บปวดแสนสาหัส
    จ. พหินิกขมนมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากการออกมาภายนอก เด็กแรกคลอดมีร่างกายและผิวละเอียดอ่อนดังแผลใหม่ ถูกสัมผัสจับต้องเช็ดล้างแสนเจ็บแสบ
    ฉ. อัตตุปักกมมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากทำตัวเอง เช่น ฆ่าตัวตายบ้าง ประพฤติวัตรบำเพ็ญตบะทรมานตนบ้าง โกรธเคืองเขาแล้วไม่กินข้าว หรือทำร้ายตัวเองบ้าง เป็นต้น
    ช. ปรุปักกมมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากคนอื่นทำให้ เช่น ถูกฆ่า ถูกจองจำ ถูกทำร้าย เป็นต้น
๒) ชรา ความแก่ ทำให้อวัยวะทั้งหลายย่อหย่อนอ่อนแอ อินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น เป็นต้น ทำหน้าที่
บกพร่องผิดเพี้ยน กำลังวังชาเสื่อมถอย หมดความแคล่วคล่องว่องไว ผิวพรรณไม่งดงามผ่องใสหนังเหี่ยวย่น ความจำเลอะเลือนเผลอไผล เสื่อมอำนาจและความเป็นเสรีทั้งภายนอกและภายในเกิดทุกข์กายและทุกข์ใจได้มาก
๓) มรณะ ความตาย ยามจะสิ้นชีพ เคยทำชั่วไว้ ก็เห็นนิมิตของบาปกรรม มีคนหรือของรักก็ต้องพลัดพรากจากไป ส่วนประกอบในร่างกายก็พากันหยุดทำหน้าที่ ทุกข์ทางกายก็อาจมีมาก จะทำอะไรจะแก้ไขอะไรก็ทำไม่ได้แก้ไขไม่ได้
๔) โสกะ ความเศร้าโศก ได้แก่ความแห้งใจ เช่น เมื่อสูญเสียญาติ เป็นต้น
๕) ปริเทวะ ความคร่ำครวญหรือร่ำไร ได้แก่ บ่นเพ้อไปต่างๆ เช่น เมื่อสูญเสียญาติ เป็นต้น
๖) ทุกข์ ความทุกข์กาย ได้แก่ เจ็บปวด เช่น กายบาดเจ็บ ถูกบีบคั้น เป็นโรค เป็นต้น (*๑๔๙)
๗) โทมนัส ความทุกข์ใจ ได้แก่ เจ็บปวดรวดร้าวใจ ที่ทำให้ร้องไห้ ตีอกชกหัว ลงดิ้น เชือดตัวเอง กินยาพิษ ผูกคอตาย เป็นต้น
๘) อุปายาส ความคับแค้น หรือสิ้นหวัง ได้แก่ เร่าร้อนทอดถอนใจ ในเมื่อความโศกเศร้าเพิ่มทวี เป็นต้น
๙) อัปปิยสัมปโยค การประสบคนหรือสิ่งซึ่งไม่เป็นที่รัก เช่น ต้องพบต้องเกี่ยวข้องกับคนที่ไม่ชอบหรือชิงชัง เป็นต้น
๑๐) ปิยวิปโยค การพลัดพรากจากคนหรือสิ่งอันเป็นที่รัก เช่น จากญาติ จากคนรัก สูญเสียทรัพย์สิน
๑๑) อิจฉตาลาภ การไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา คือปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สมหวัง
๑๒) อุปาทานขันธ์ ขันธ์ทั้งห้าซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน กล่าวคือ ทุกข์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นทุกข์ของอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เมื่อว่าโดยสรุป หรือโดยรวบยอด ก็คือ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒(*๑๕๐)
เป็นเพียงการสรุปทุกข์ชนิดต่างๆ ในแนวหนึ่ง ได้แก่

๑) ปฏิจฉันนทุกข์ ทุกข์ปิดบัง หรือทุกข์ซ่อนเร้น ไม่ปรากฏออกมาให้เห็นชัดๆ เช่น ปวดหู ปวดฟัน ใจเร่าร้อนเพราะไฟราคะและไฟโทสะ เป็นต้น
๒) อัปปฏิจฉันนทุกข์ ทุกข์ไม่ปิดบังหรือทุกข์เปิดเผย เช่น ถูกหนามตำ ถูกเฆี่ยน ถูกมีดฟัน เป็นต้น

ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒ (*๑๕๑)
เป็นเพียงการสรุปทุกข์ชนิดต่างๆ อีกแนวหนึ่ง ได้แก่

๑) ปริยายทุกข์ ทุกข์โดยปริยาย หรือทุกข์โดยอ้อม ได้แก่ ทุกข์ทุกอย่างที่กล่าวถึงข้างต้น นอกจากทุกขเวทนา
๒) นิปปริยายทุกข์ ทุกข์โดยนิปริยาย หรือทุกข์โดยตรง ได้แก่ ความรู้สึกทุกข์ ที่เรียกว่าทุกขทุกข์ หรือทุกขเวทนา นั่นเอง


ในคัมภีร์มหานิทเทส และจูฬนิทเทส บางแห่งแสดงชื่อทุกข์ไว้อีกเป็นอันมาก (*๑๕๒) มีทั้งที่ซ้ำกับที่แสดงไว้แล้วข้างต้น และที่แปลกออกไป ขอยกมาจัดเป็นกลุ่มๆ ให้ดูง่าย ดังนี้

ก) ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสก-ปริเทว-ทุกขะโทมนัสส-อุปายาสทุกข์
ข) เนรยิกทุกข์ ติรัจฉานโยนิกทุกข์ ปิตติวิสยิกทุกข์ มานุสกทุกข์ (ทุกข์ของสัตว์นรก ทุกข์ของสัตว์ดิรัจฉาน ทุกข์ของสัตว์ในแดนเปรต ทุกข์ของมนุษย์)
ค) คัพโภกกันติมูลกทุกข์ (ทุกข์เกิดจากการลงเกิดในครรภ์) คัพเกฐิติมูลกทุกข์ (ทุกข์เกิดจากการอยู่ในครรภ์) คัพภวุฏฐานมูลกทุกข์ (ทุกข์เกิดจากการออกจากครรภ์) ชาตัสสูปนิพันธิกทุกข์ (ทุกข์ติดพันตัวของผู้ที่เกิดแล้ว) ชาตัสสปราเธยยกทุกข์ (ทุกข์เนื่องจากต้องขึ้นต่อผู้อื่นของผู้ที่เกิดแล้ว) อัตตูปักกมทุกข์ (ทุกข์ที่ตัวทำแก่ตัวเอง) ปรูปักกมทุกข์ (ทุกข์จากคนอื่นทำให้)
ง) ทุกขทุกข์ สังขารทุกข์ วิปริณามทุกข์
จ) โรคต่างๆ เช่น โรคตา โรคหู เป็นต้น รวม ๓๕ ชื่อ
ฉ) อาพาธ คือ ความเจ็บไข้ที่เกิดจากสมุฏฐาน ๘ อย่าง คือ ดี เสมหะ ลม สมุฏฐานต่างๆ ประชุมกันอุตุแปรปรวน บริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ ถูกเขาทำ เช่น ฆ่าและจองจำ เป็นต้น และผลกรรม
ช) หนาว ร้อน หิว กระหาย อุจจาระ ปัสสาวะ ทุกข์จากสัมผัสแห่งเหลือบยุงลมแดดและสัตว์เลื้อยคลาน
ญ) ทุกข์เพราะความตายของมารดา ความตายของบิดา ความตายของพี่น้องชาย ความตายของพี่น้องหญิง ความตายของบุตร ความตายของธิดา
ฎ) ทุกข์เพราะความสูญเสียญาติ ความสูญเสียโภคะ ความสูญเสียด้วยโรค ความสูญเสียศีล ความสูญเสียทิฏฐิ

ในมหาทุกขักขันธสูตร และจูฬทุกขักขันธสูตร (*๑๕๓) พระพุทธเจ้าตรัสถึงทุกขขันธ์ คือกองทุกข์ต่างๆมากมาย ซึ่งเป็นปัญหาแก่มนุษย์สืบเนื่องมาจากกาม โดยสรุป ทุกขขันธ์ หรือกองทุกข์เหล่านั้น ได้แก่

ก) ความลำบากตรากตรำเดือดร้อน ตลอดกระทั่งสูญเสียชีวิต เนื่องมาจากประกอบการงานหาเลี้ยงชีพ
ข) ความเศร้าโศกเสียใจ ในเมื่อเพียรพยายามในการอาชีพแล้ว โภคะไม่สำเร็จผล
ค) แม้เมื่อโภคะสำเร็จผลแล้ว ก็เกิดความทุกข์ยากลำบากใจ ในการที่ต้องคอยอารักขาโภคทรัพย์
ง) ความเศร้าโศกเสียใจ เมื่อสูญเสียโภคทรัพย์นั้นไป อารักขาไว้ไม่สำเร็จ เช่น ถูกโจรปล้น ไฟไหม้
จ) การทะเลาะวิวาทแก่งแย่ง ทำร้ายกัน ถึงตายบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง ระหว่างราชากับราชาบ้าง คฤหบดีกับคฤหบดีบ้าง แม้กระทั่งระหว่างมารดาบิดากับบุตร พี่กับน้อง และเพื่อนกับเพื่อน
ฉ) การทำสงครามประหัตประหารกันระหว่างหมู่ชน ๒ ฝ่าย ในสมรภูมิ ซึ่งต่างพากันล้มตายและได้รับความทุกข์แสนสาหัสเพราะถูกอาวุธหรือเนื่องมาจากการต่อสู้กันนั้น
ช) การทำสงครามที่ฝ่ายหนึ่งรุกรานโจมตีบ้านเมืองของอีกฝ่ายหนึ่ง และจากการต่อสู้กันก็ต้องบาดเจ็บล้มตาย ได้รับทุกข์เป็นอันมาก
ญ) การทำทุจริตก่ออาชญากรรมต่างๆ เช่น ปล้นทรัพย์ ทำความผิดทางเพศ เป็นต้น แล้วถูกจับกุมลงโทษต่างๆ ถึงตายบ้าง ไม่ถึงตายบ้าง
ฎ) การประกอบกรรมทุจริตทางกาย วาจา ใจ ครั้นตายแล้วก็ไปได้รับทุกข์ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ในพระบาลีและอรรถกถา ยังกล่าวถึงทุกข์ชื่ออื่นๆ กระจายกันอยู่แห่งละเล็กละน้อยอีกหลายแห่ง บางแห่งมีเพียงคำบรรยายอาการของความทุกข์ (เหมือนอย่างในมหาทุกขักขันธสูตร และจูฬทุกขักขันธสูตรข้างบนนี้) โดยไม่เรียกชื่อทุกข์ไว้โดยเฉพาะ บางแห่งก็ระบุชื่อทุกข์เฉพาะอย่างลงไป เช่น สังสารทุกข์ (*๑๕๔) อบายทุกข์ วัฏฏมูลกทุกข์ อาหารปริเยฏฐิทุกข์ (*๑๕๕) เป็นต้น (*๑๕๖)

อย่างไรก็ดี เรื่องทุกข์นี้ เราสามารถพรรณนาแสดงรายชื่อขยายรายการออกไปได้อีกเป็นอันมาก เพราะปัญหาของมนุษย์มีมากมาย ทั้งทุกข์ที่เป็นสามัญแก่ชีวิตโดยทั่วไป และทุกข์ที่แปลกกันออกไปตามสภาพแวดล้อมของยุคสมัย ถิ่นฐาน และสถานการณ์ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องบรรยายในที่นี้ให้เยิ่นเย้อเนิ่นนาน

ข้อสำคัญอยู่ที่จะต้องรู้ความมุ่งหมาย
การที่ท่านแสดงชื่อทุกข์ต่างๆ ไว้มากมายนั้น ก็เพื่อให้เรารู้จักมันตามสภาพ คือตามที่เป็นจริง (ปริญญากิจ) เพื่อปฏิบัติต่อทุกข์นั้นๆ อย่างถูกต้อง ด้วยการยอมรับรู้สู้หน้าสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งตนจะต้องเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เลี่ยงหนี อำพรางปิดตาหลอกตัวเอง หรือแม้กระทั่งปลอบใจตนประดุจดังว่าทุกข์เหล่านั้นไม่มีอยู่ หรือตนเองหลีกหลบไปได้แล้ว และกลายเป็นสร้างปมปัญหา เสริมทุกข์ให้หนักหนาซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ให้เข้าเผชิญหน้า ทำความรู้จัก แล้วเอาชนะ อยู่เหนือมัน ทำตนให้ปลอดพ้นได้จากทุกข์เหล่านั้น ปฏิบัติต่อทุกข์โดยทางที่จะทำให้ทุกข์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่อย่างชั่วคราว จนถึงโดยถาวร

(๑๔๙) พึงสังเกตว่า ในทุกข์ชุดนี้ ไม่มีพยาธิ ซึ่งตามปรกติจะต่อจากชรา ที่เป็นเช่นนี้ ท่านอธิบายว่า เพราะพยาธินั้นเป็นทุกข์ที่ไม่แน่นอนตายตัว คือหลายคนมี แต่บางคนก็อาจจะไม่มี และอีกประการหนึ่ง พยาธินั้นจัดเข้าในข้อทุกข์กายนี้แล้ว (วิสุทธิฎีกา ๓/๑๗๙) อย่างไรก็ดี ในบาลีบางแห่งก็พบว่ามีพยาธิอยู่ในทุกข์ชุดนี้ด้วย ในกรณีเช่นนั้น ขอให้ดูอธิบายใน วินยฎีกา ๔/๖๕
(๑๕๐) วิสุทธิ.๓/๘๓-๘๔; วิภงค.อ.๑๒๐; ปญจ.อ.๓๓๖; วินยฎีกา ๔/๑๓; วิสุทธิ ฎีกา ๓/๑๘๑
(๑๕๑) วิสุทธิ.๓/๔๓-๘๔; วิภงด.อ.๑๒๐; ปญจ.อ.๓๓๖; วินยฎีกา ๔/๑๓; วิสุทธิ ฎีกา ๓/๑๘๑
(๑๕๒) ขุ.ม.๒๙/๒๓/๑๙; ๕๑/๕๒; ข.จ.๓๐/๖๘/๑๓; ๑๔๔/๗๔, ๑๔๐/๓๐๖
(๑๕๓) ม.ม.๑๒/๑๕๘/๑๖๙, ๒๑๓/๑๘๑)
(๑๕๔) เช่น วิสุทธิ.๓/๑๒๖; วิภงค.อ.๑๘๘,๑๙๓; บางแห่งในจูฬนิทเทส เช่น ๓๐/๖๘/๑๔ ฉบับอักษรไทย มี สสารทุกข์ แต่ความจริงเป็นปาฐะที่คลาดเคลื่อน ที่ถูกต้องเป็นสงฺขารทุกข์
(๑๕๕) ทุกข์ ๓ ชื่อหลังนี้ กล่าวถึงบ่อยๆ ในสังเวควัตถุ (เรื่องน่าสังเวช หรือสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช) ๘ ประการ (เช่น วิสุทธิ.๑/๑๗๑ ที่.อ.๒/๒๕๓; ม.อ.๑/๔๐๘; ส.อ.๓/๒๕๐; ฯลฯ); อาหารปริเยฏฐิทุกข์ (ทุกข์ในการแสวงหาอาหาร หรือทุกข์เกิดจากการหากิน) ก็ตรงกับเนื้อความในข้อ ก) ข้างบนนี้ ส่วนทุกข์ชื่ออื่นๆ ก็รวมอยู่แล้วในคำบรรยายข้างต้น ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม
(๑๕๖) ในหนังสือธรรมวิจารณ์ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ ๒๐ พ.ศ.๒๕๐๑) หน้า ๑๓-๑๗ ทรงประมวลทุกข์ชื่อต่างๆ จากหลายแหล่งมารวมไว้ ๑๐ อย่าง บางอย่างทรงตั้งชื่อเรียกใหม่ให้เป็นพวกๆกัน มีดังนี้ ๑. สภาวทุกข์ หรือทุกข์ประจำสังขาร คือชาติ ชรา มรณะ ๒. ปกิณณกทุกข์ หรือทุกข์จร คือโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส (รวมทั้ง อัปปิยสัมปโยค ปิยวิปโยค และอิจฉตาลาภ) ๓. นิพัทธทุกข์ คือ ทุกข์เนืองนิตย์ หรือทุกข์เจ้าเรือน ได้แก่หนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ๔. พยาธิทุกข์ หรือทุกขเวทนา ๕. สันตาปทุกข์ ทุกข์คือความเร้ารุม หรือทุกข์ร้อน ได้แก่ความกระวนกระวายใจเพราะไฟกิเลส ๖. วิปากทุกข์ หรือผลกรรม ได้แก่วิปฏิสาร การถูกลงอาชญา การตกอบาย ๗. สหคตทุกข์ ทุกข์ไปด้วยกันหรือทุกข์กำกับกัน คือทุกข์ที่พ่วงมากับโลกธรรมที่เป็นอิฏฐารมณ์ เช่น ได้ลาภแล้วทุกข์เพราะระวังรักษา ๘. อาหารปริเยฏฐิทุกข์ คือทุกข์ในการหากิน ได้แก่ อาชีวทุกข์ คือ ทุกข์เนื่องด้วยการหาเลี้ยงชีวิต ๙. วิวาทมูลกทุกข์ คือทุกข์มีวิวาทเป็นมูล เช่น กลัวแพ้ หวั่นหวาดในการรบกัน สู้คดีกัน ๑๐. ทุกขขันธ์ หรือทุกข์รวบยอด คือ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                    (ค) ปัญหาของมนุษย์ ที่มาในชื่อของทุกข์มากมาย
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา




องค์แห่งอริยสัจ ๔

🔅 ทุกขอริยสัจ

อริยสัจข้อแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงคือ เรื่องทุกข์ ที่ทรงแสดงเรื่องทุกข์ก่อนก็เพราะความทุกข์เป็นสิ่งปรากฏชัดในชีวิตมนุษย์ ทุกคนเห็นอยู่ประสบอยู่ทุกวัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในขันธ์ ๕ เป็นปกติและเป็นปัญหาอันยิ่งใหญ่ของสัตว์โลกทุกชนิด บางทีเมื่อตรัสตอบปัญหาซึ่ง มีผู้ถามว่าอะไรเป็นภัยใหญ่ของมนุษย์ ทรงชี้ไปที่ทุกข์ว่าเป็นภัยใหญ่ของมนุษย์

ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร พระพุทธองค์ทรงแสดงความทุกข์ไว้ ๑๑ หัวข้อ คือ
๑.ชาติทุกขํ คือ ความเกิดเป็นทุกข์ เหตุที่ว่าความเกิดเป็นทุกข์นั้น เราพอมองเห็นได้ด้วยการพิจารณาว่า สำหรับสัตว์ผู้เกิดในครรภ์(ชลาพุชะ) ทุกข์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่สัตว์นอนอยู่ในครรภ์มารดา ต้องขดตัวอยู่ภายในช่องแคบๆ เหยียดมือเหยียดเท้าไม่ได้ จมอยู่ในน้ำคร่ำ สูดกลิ่นเหม็นต่างๆ เป็นเวลาแรมปี ครั้นมารดากินของร้อน เย็น หรือเผ็ดเข้าไป สัตว์นั้นก็ต้องรู้สึกเจ็บแสบเพราะอาหารนั้นๆ เข้าไปกระทบ ยามเมื่อจะคลอด ก็ถูกลมให้หัวห้อยลง ถูกบีบรัดผ่านช่องแคบๆ ถูกดึงมือ ดึงเท้า จากหมอ ความทุกข์ในยามนี้ย่อมทำให้สัตว์ไม่อาจทนความบีบคั้นอยู่ได้จึงต้องคลอดออกมาพร้อมร้องเสียงดังลั่น แสดงถึงความทุกข์ทรมาน แม้ความทุกข์ที่เกิดในกำเนิดอื่นๆ ก็เช่นกัน เป็นความทุกข์ที่แสนสาหัส ไม่ว่าจะเกิดในอบายภูมิ ปิตติวิสัย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า”ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไป”
๒.ชราทุกขํ คือ ความแก่เป็นทุกข์ เมื่อความแก่เกิดขึ้น ย่อมครอบงำสังขารร่างกายของสัตว์ทั้งหลายให้คร่ำคร่า เปลี่ยนแปลง ผมหงอก ฟันหัก แก้มตอบ ตามืดมัว หูตึง อาการเหล่านี้เป็นเพียงร่องรอยของชราที่ปรากฏให้เห็น เหมือนพายุกรรโชกรุนแรง ที่พัดเอากิ่งก้านสาขาของต้นไม้ให้หักลง ยามเมื่อลมสงบ จึงได้ปรากฏให้เห็นซากต้นไม้ใบไม้หักทับถมกัน เพราะแท้จริงแล้วความชราได้ต้อนขับอายุแห่งสัตว์ทั้งหลายไปสู่ฝั่งแห่งมรณะตลอดเวลามิได้ขาดสายนับตั้งแต่วันแรกที่เกิด สรรพสัตว์มิได้มองเห็นเลยว่าทุกขณะที่ผ่านไปในแต่ละวันนั้น กำลังถูกความชราลดทอนอายุให้น้อยลงไปทุกที ร่างกายที่เคยมีผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีรูปโฉมสง่างาม สุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เมื่อความชราย่างกรายเข้ามา ก็ต้องเหี่ยวแห้ง หดหู่ ไม่น่าดู น่าชม เหมือนดอกไม้ที่ถูกต้องแสงอาทิตย์ เหี่ยวเฉาไปฉะนั้น ความชราจึงเป็นทุกข์แก่สัตว์ทั้งหลาย
๓.มรณทุกขํ คือ ความตายเป็นทุกข์ ความตายก็คือการดับจิตของสัตว์ทั้งหลาย ทอดทิ้งร่างกายอันเน่าเปื่อยไว้ ความทุกข์ทรมานในเวลาตายย่อมเกิดขึ้นอย่างแสนสาหัส ธาตุไฟในสรีระร่างกาย ย่อมทวีความรุนแรงขึ้น เปรียบเหมือนมีคนมาก่อกองเพลิงไว้เหนือลม ทำให้เกิดความกระวนกระวายระส่ำระสายไปทั่วสรรพางค์กาย และสำหรับสัตว์ที่ได้ก่อกรรมทำบาปอกุศลไว้มาก ย่อมมีกรรมนิมิตคตินิมิตที่เผ็ดร้อน เป็นภาพที่น่ากลัวปรากฏขึ้น เป็นต้น
๔.โสกทุกขํ คือ ความโศกเป็นทุกข์ เป็นสภาพจิตที่เดือดร้อนระส่ำระสาย กระวนกระวายแห้งเหือดไป ยามนอนก็นอนไม่หลับ ยามรับประทานก็รับประทานไม่ได้ ทั้งนี้อาจเกิดมาจากการสูญเสียญาติมิตร หรือทรัพย์สมบัติ
๕.ปริเทวทุกขํ คือ ความคร่ำครวญรำพันเป็นทุกข์ มีอาการร้องไห้ ร่ำไห้ พิรี้พิไร มีน้ำตาไหล ฟูมฟาย มีสาเหตุจากการที่มารดา บิดา บุตร ภรรยา หรือญาติ ถึงแก่ความตาย หรืออาจมีสาเหตุมาจากการสูญเสียทรัพย์สมบัติ แล้วทำให้บ่นเพ้อละเมอ ราวกับคนวิกลจริตทุกวันเวลา


๖.ทุกขํ คือ ความทุกข์กาย เป็นความทุกข์ที่ทำให้จิตใจสลดหดหู่ ทอดถอนใจอันเนื่องจากโรคาพาธก็ดี เนื่องจากการที่ตนต้องอาชญา มีการถูกเฆี่ยนตีจองจำเอาไว้ ถูกตัดมือตัดเท้าก็ดี เนื่องมาจากการทนทุกขเวทนาตามลำพังผู้เดียว ไร้ญาติขาดมิตรก็ดี เนื่องมาจากความยากจนเข็ญใจ ไม่มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ
๗.โทมนัสทุกขํ คือ ความทุกข์ใจ เป็นความทุกข์ที่ทำให้รู้สึกเคืองแค้นแน่นอุราปราศจากความสบาย ปราศจากความสุข ให้รู้สึกน้อยอกน้อยใจอยู่ร่ำไป
๘.อุปายาสทุกขํ คือ ความคับแค้นใจที่เกิดขึ้นมาจากการประสบภัยพิบัติอย่างใด อย่างหนึ่ง เช่น สูญเสียญาติ การสูญเสียสมบัติ บริวาร ท่านอุปมาไว้ว่า โสกทุกข์ เปรียบเสมือนบุคคลที่เคี่ยวน้ำมันให้เดือดอยู่ภายในภาชนะบนเตาไฟ ปริเทวทุกข์ เปรียบเสมือนบุคคลเร่งไฟให้น้ำมันร้อนขึ้นจนพลุ่งเดือดล้นออกมาจากภาชนะ อุปายาสทุกข์ เปรียบเสมือนดังน้ำมันซึ่งยังคงค้างเหลืออยู่ในภาชนะ
๙.อัปปิเยหิ สัมปโยคทุกขํ คือ ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก กล่าวคือ อารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส หากมิได้เป็นที่พึงปรารถนา มิได้เป็นที่รักที่ชอบใจ ครั้นเมื่อประสบอารมณ์นั้น ก็ย่อมจะมีจิตเป็นทุกข์ เหตุเพราะรู้สึกเกลียดชัง ไม่รักใคร่ ไม่ปรารถนาจะเข้าใกล้ ไม่ปรารถนาจะพบเห็น ปรารถนาจะหลีกไปให้ไกลแสนไกล แต่เมื่อยังทำไม่ได้ก็ต้องเสวยทุกขเวทนา
๑๐.ปิเยหิ วิปปโยคทุกขํ คือ ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก กล่าวคือ บุคคลที่ปรารถนาอารมณ์ทั้ง ๕ หากได้ไปคบหาสมาคมด้วยอารมณ์เหล่านั้น บุคคลก็จะรู้สึกพอใจและ มีความสุข แต่หากต้องพลัดพรากจากไป บุคคลย่อมเป็นทุกข์ บุคคลทั้งหลายในโลก ถ้าพลัดพรากจากบิดามารดา จากพี่น้อง จากบุตรภรรยาและญาติมิตรอันเป็นที่รักใคร่ หรือพลัดพรากจากที่อยู่อาศัย สมบัติพัสถาน บริวารและยศถาบรรดาศักดิ์ ทุกข์นี้แหละจัดเป็นปิเยหิวิปปโยคทุกข์
๑๑.ยัมปิจฉัง น ลภติทุกขํ คือ ความปรารถนาสิ่งใดแล้ว ไม่ได้สิ่งนั้นสมปรารถนา ความทุกข์นี้แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ทุกข์ประกอบในกาย ได้แก่ การที่บุคคลซึ่งประกอบอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกสิกรรม หรือ พาณิชยกรรม เมื่อทุ่มเทแรงกายแรงใจให้แก่การงานอาชีพ โดยมิได้ย่อท้อต่อความลำบากตรากตรำ แต่ไม่สามารถสำเร็จประโยชน์ จึงเศร้าโศกเสียใจกับทุกข์ประกอบในจิต ได้แก่ ความปรารถนายศถาบรรดาศักดิ์ ตลอดจนลาภสักการะเงินทอง แต่ไม่สามารถสำเร็จสมเจตนา

กล่าวโดยสรุป
ทุกข์ได้ปรากฏแก่ตัวเรา เป็นความทุกข์รวบยอด ความทุกข์เหล่านี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปอีกอย่างหนึ่งมีเพียง ๒ คือ ทุกข์ทางกาย และความทุกข์ทางใจ ที่ทรงแจกแจงออกไปถึง ๑๑ ประการ ก็เพื่อให้เห็นรายละเอียดแห่งทุกข์ที่มนุษย์ประสบอยู่ว่ามีประการใดบ้าง 
อนึ่ง ความทุกข์เหล่านี้มีขึ้นได้ก็เพราะมีขันธ์ ๕ และมนุษย์เรายังยึดมั่นในขันธ์ ๕ นั้นว่าเป็นเรา เป็นของเราอยู่ ความจริงแล้วขันธ์ ๕ นี้ เป็นภาระหนักของมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย เพียงรูปขันธ์อย่างเดียวก็เป็นภาระอันหนักเพราะต้องถนอมปรนเปรอ เลี้ยงดูด้วยข้าว น้ำ วันละหลายๆ ครั้งจนตลอดชีวิต ยิ่งเวลาเจ็บป่วยก็จะเป็นภาระอันหนักยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงแสดงไว้ว่า

ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์เป็นภาระอันหนักแท้
ภารนิกฺเขปนํ สุขํ การปลงภาระอันนี้เสียได้เป็นความสุข

ส่วนนามขันธ์เป็นภาระอันหนักเพราะกิเลสมาทำให้หนัก เร่าร้อนอยู่เพราะกิเลสทำให้ร้อน สมดังข้อความที่ทรงแสดงไว้ในอาทิตตปริยายสูตรว่า “ ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง เพราะเกิด แก่ ตาย…บ้าง” ซึ่งรวมเป็นเพลิง ๒ อย่าง คือ เพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์] ทุกข์จึงถือเป็นเรื่องแรกที่บุคคลผู้จะเจริญวิปัสสนาจะต้องเห็นและเข้าใจตามความเป็นจริง โดยการเห็นนี้จะไม่ใช่เพียงการเห็นแบบทั่วๆ ไปด้วยการพิจารณาเช่นนี้ แต่ต้องอาศัยภาวนามยปัญญามองให้เห็นตัวทุกข์ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร

🔅 สมุทัยอริยสัจ
สมุทัยอริยสัจนี้ เรียกเต็มว่า ทุกขสมุทัย แปลว่า การเกิดขึ้นของทุกข์ หรือเหตุเกิดแห่งทุกข์ ความจริงเหตุแห่งทุกข์นั้นมีมาก เช่น ความจน ความเจ็บ ความโง่เขลา เป็นต้น แต่เป็นปลายเหตุหรือตอนปลายของเหตุ ส่วนเหตุขั้นมูลฐานจริงๆ นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ประการหนึ่ง คือ ตัณหา

ตัณหา คือ ความดิ้นรนทะยานอยาก ทรงจำแนกออกเป็น ๓ ประเภทด้วยกัน คือ
๑.กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในกามคุณ ความใคร่ในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ทำให้จิตใจดิ้นรนแส่หา เมื่อได้แล้วก็ติดอยู่ สยบอยู่ พัวพัน อาลัยอยู่ และปรารถนาจะได้กามคุณที่ประณีตยิ่งๆ ขึ้นไป ทำให้ตัณหายิ่งโหมแรงขึ้นเหมือนไปได้เชื้อ ก่อความกระวนกระวายใจกระทบกระเทือนใจทำให้ใจกังวลไร้ความสงบ
๒ ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากในความเป็น คือ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเป็นแล้วทะยานอยากไปเรื่อยๆ ถ้ากล่าวถึง ความอยาก อย่างชาวโลก ความอยากชนิดนี้ ทำให้คนทะเยอทะยานอาจก้าวหน้าในการงานอาชีพได้มาก แต่ต้องยอมรับความจริงด้วยว่า ในความทะเยอทะยานนั้นมีความทุกข์ความร้อนใจแฝงเร้นอยู่ด้วย ถ้าถึงกับต้องยื้อแย่งกับผู้อื่นก็เป็นการสร้างศัตรูรอบตัว ต้องมีเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายในการต่อสู้เพื่อให้ได้ชัยชนะ บางคราวอาจต้องถึงใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น ก่อเวรก่อกรรมกันต่อไปไม่สิ้นสุด อนึ่ง ความอยาก เป็นใหญ่ของคนบางคนได้นำพลเมืองไปตายเสียจำนวนแสนจำนวนล้าน ก่อความกระทบกระเทือนทุกข์ยากให้แก่สังคมตลอดถึงโลก และเป็นผลร้ายอันยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปีเหมือนระลอกคลื่น ซึ่งส่งต่อๆ กันไป
๓.วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็นนั่น ไม่เป็นนี่ ความอยากในทางผลักในทางลบ ความที่มีลักษณะอึดอัด ระอิดระอา ความอยากที่เจือด้วยโทสะ เช่น อยากด่าคน อยากทำร้าย อยากทำลายอะไรๆ ที่อยู่รอบตัวด้วยความชิงชัง ความอยากชนิดนี้ก่อความทุกข์ในรูปของ ความอึดอัด คับแค้นใจ ทุรนทุราย เร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงแห่งโทสะ ริษยา พยาบาท เป็นต้น

ตัณหาทั้ง ๓ แบบนี้ เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ส่วนตัวบุคคล และเป็นมูลเหตุของอาชญากรรมและภัยต่างๆ ในสังคมมากมาย นอกจากทุกข์ในปัจจุบันแล้ว ตัณหายังเป็นสาเหตุให้บุคคลต้องท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ เวียนว่ายตายเกิด เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป การเกิดย่อยๆ ก็ต้อง แก่เจ็บและตายบ่อยๆ ย่อมหมายถึงต้องทุกข์บ่อยๆ ด้วย



🔅 นิโรธอริยสัจ
นิโรธเรียกเต็มว่า ทุกขนิโรธ แปลว่า ความดับทุกข์ เพราะความสิ้นไปของตัณหา ดังพระพุทธพจน์ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรที่ว่า โย ตสฺสาเยว ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรโธ จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย ความดับเพราะคายออกโดยไม่เหลือซึ่งตัณหานั้น การสละละทิ้งพ้นไปความไม่มีอาลัยในตัณหานั้น นี่แหละคือทุกขนิโรธ โดยใจความสำคัญ นิโรธคือความดับทุกข์เพราะดับกิเลสได้นั่นเอง

คำว่านิโรธก็ดี วิมุตติ ปหานะ วิเวก วิราคะหรือโวสสัคคะ (ความสละ ความปล่อยวาง) ก็ดี มีความหมายอย่างเดียวกัน ท่านแสดงไว้ ๕ อย่าง คือ
๑.ตทังคนิโรธ ความดับด้วยองค์นั้นๆ หรือดับกิเลสได้ชั่วคราว เช่น เมื่อเมตตากรุณาเกิดขึ้นความโกรธและความคิดพยาบาทคือความคิดเบียดเบียนย่อมดับไป เมื่ออสุภสัญญาคือความกำหนดว่าไม่งามเกิดขึ้น ราคะความกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ ย่อมดับไป รวมความว่าดับกิเลสด้วยองค์ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
๒.วิกขัมภนนิโรธ ดับกิเลส หรือข่มกิเลสไว้ได้ด้วยกำลังฌาน เช่น ข่มนิวรณ์ ๕ ไว้ด้วยกำลังแห่งฌาน ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป ตลอดเวลาที่ฌานยังไม่เสื่อม บุคคลผู้ได้ฌานย่อมมีอาการเสมือนหนึ่งผู้ไม่มีกิเลส ท่านเปรียบเหมือนหญ้าที่ศิลาทับไว้ หรือเหมือนโรคบางอย่างที่ถูกคุมไว้ด้วยยา ตลอดเวลาที่ยามีกำลังอยู่ โรคย่อมสงบระงับไป
๓.สมุจเฉทนิโรธ ความดับกิเลสอย่างเด็ดขาดด้วยกำลังแห่งอริยมรรค กิเลสใดที่อริยมรรคตัดแล้วย่อม เป็นอันตัดขาดไม่กลับเกิดขึ้นอีก เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ถูกถอนขึ้นทั้งรากและเผาไฟทิ้ง เป็นอันตัดได้สิ้นเสร็จเด็ดขาด ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดขึ้นอีก ตัวอย่างเช่นการตัดกิเลสของพระอริยบุคคล ๔ จำพวก มีพระโสดาบัน เป็นต้น
๔.ปฏิปัสสัทธินิโรธ ความดับกิเลสอย่างสงบระงับไปในขณะแห่งอริยผลนั้นเอง เรียกว่า ปฏิปัสสัทธินิโรธ ไม่ต้องขวนขวายเพื่อการดับอีก เหมือนคนหายโรคแล้วไม่ต้องขวนขวายหายาเพื่อดับโรคนั้นอีก
๕.นิสสรณนิโรธ แปลตามตัวว่า ดับกิเลสด้วยการสลัดออกไป หมายถึง ภาวะแห่งการดับกิเลสนั้นยั่งยืนตลอดไป ได้รับความสุขจากความดับนั้นยั่งยืนตลอดไป ได้แก่นิพพานนั่นเอง เหมือนความสุขความปลอดโปร่งอันยั่งยืนของผู้ที่หายโรคแล้วอย่างเด็ดขาด

ในบรรดานิโรธ ๕ นั้น นิโรธหรือนิพพานข้อที่ ๑ นั้น เป็นของปุถุชนทั่วไป ข้อที่ ๒ เป็นของผู้ได้ฌาน ข้อ ๓-๕ เป็นของพระอริยบุคคล นิโรธหรือนิพพานควรจะเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตของคนทุกคน เพราะถ้าปราศจากจุดมุ่งหมายนี้เสียแล้ว มนุษย์จะว้าเหว่เคว้งคว้าง หาทิศทางแห่งชีวิตที่ดำเนินไปสู่ความร่มเย็นไม่ได้ โดยใจความสำคัญ นิโรธ ๓ ประการหลังก็คือ มรรค ผล และนิพพานนั่นเอง

ไวพจน์ของนิโรธ
ไวพจน์ของนิโรธมีหลายอย่าง ที่แสดงไว้ในพระสูตร เช่น อัคคัปปสาทสูตร มี ๗ คำ คือ
            ๑.มทนิมฺมทโน การย่ำยีความเมาเสียได้
            ๒.ปิปาสวินโย ความดับความกระหายเสียได้
            ๓.อาลยสมุคฺฆาโต การถอนอาลัยเสียได้
            ๔.วฏฺฏูปจฺเฉโท การตัดวัฏฏะได้
            ๕.ตณฺหกฺขโย ความสิ้นตัณหา
            ๖.วิราโค ความสิ้นกำหนัด
            ๗.นิพฺพานํ ความดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์

นิพพาน ดังได้กล่าวแล้วว่า นิพพานเป็นชื่อหนึ่งของนิโรธ เพราะฉะนั้น นิพพานกับนิโรธจึงเป็นอย่างเดียวกัน ตามตัวอักษรนิพพานแปลว่า
            ๑.ความดับ หมายถึง ดับกิเลสและดับทุกข์
            ๒.สภาพที่ปราศจากเครื่องร้อยรัดเสียบแทง คือ ตัณหา หรือกิเลสนานาชนิด หรือสภาพที่ออกไปจากตัณหาได้

ท่านแสดงนิพพานไว้ ๒ นัย คือ
            ๑.สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง การดับกิเลสหมดแล้ว แต่เบญจขันธ์เหลืออยู่ เช่น พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่
            ๒.อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง การดับกิเลสหมดแล้ว และดับเบญจขันธ์แล้วด้วย เช่น พระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตแล้ว

ที่ได้กล่าวมานี้ เป็นนัยที่ ๑ ส่วนนัยที่ ๒ มีว่า สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ดับกิเลสได้แล้วเป็นบางส่วน ยังเหลืออยู่บางส่วน เช่นนิพพานของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ดับกิเลสไม่มีส่วนเหลือ ดับกิเลสได้หมด เช่น นิพพานของพระอรหันต์

พระอริยบุคคล ๔ จำพวก
ผู้บรรลุนิพพานแล้วตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป เรียกว่า พระอริยบุคคล คือ ผู้ประเสริฐ มีคุณธรรมสูง มี ๔ จำพวกด้วยกัน คือ
๑.พระโสดาบัน ละสังโยชน์กิเลส (กิเลสซึ่งหน่วงเหนี่ยวสัตว์ไว้ในภพ) ได้ ๓ อย่าง คือสักกายทิฏฐิ ความเห็นว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวตนหรือของตน วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัยในทางดำเนินให้ถึงนิพพาน สีลัพพตปรามาส การลูบคลำศีลและพรต กล่าวคือ มิได้ประพฤติศีลหรือบำเพ็ญพรตเพื่อความบริสุทธิ์ และเพื่อความขัดเกลากิเลส แต่เพื่อลาภสักการะ ชื่อเสียง เป็นต้น การประพฤติศีลบำเพ็ญพรตอย่างงมงายก็อยู่ในข้อนี้ด้วยเช่นกัน
๒.พระสกทาคามี ละสังโยชน์ได้เหมือนพระโสดาบัน แต่มีคุณธรรมเพิ่มขึ้น คือ ทำราคะ โทสะและโมหะให้เบาบางลงได้
๓.พระอนาคามี ละกิเลสเพิ่มขึ้นอีก ๒ อย่าง คือ กามราคะ ความกำหนัดในกามคุณ และปฏิฆะ ความหงุดหงิดรำคาญใจ
๔.พระอรหันต์ ละสังโยชน์เพิ่มขึ้นอีก ๕ อย่าง คือ รูปราคะ ความติดสุขในรูปฌาน อรูปราคะ ความติดสุขในอรูปฌาน มานะ ความทะนงตน อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน และอวิชชา ความไม่รู้ตามจริง

นิพพาน หรือความดับทุกข์นั้นเป็นความต้องการโดยธรรมชาติของมนุษย์ ใครบ้าง ไม่ต้องการดับทุกข์ เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น คนเราก็ทุรนทุราย ถ้าดำเนินการให้ถูกวิธีก็ดับได้ ถ้าดำเนินการผิดวิธีก็ดับไม่ได้ หรือถ้าดับได้ก็เป็นอย่างเทียมๆ การดับทุกข์ได้ครั้งหนึ่งๆ เรียกกันตามโลกโวหารว่า “ ความสุข” ซึ่งมีทั้งอย่างแท้และอย่างเทียม ความสุขที่เจือด้วยทุกข์จัดเป็นสุขเทียม เช่น สุขจากการสนองความอยากได้ หรือสุขที่ได้จากกามคุณซึ่งท่านเรียกว่ากามสุข

ความสุขที่แท้จริงหรือสุขที่ไม่เจือด้วยทุกข์นั้น ท่านมีคำเรียกว่า นิรามิสสุข เช่น สุขจากการบำเพ็ญคุณงามความดีต่างๆ เป็นสุขที่ละเอียดประณีตกว่า ยั่งยืนกว่า มีคุณค่าสูงกว่า

🔅 มรรคอริยสัจ
ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรเรียกมรรคอริยสัจว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ แปลว่า อริยสัจ คือ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งหมายถึงอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง หรือหลักปฏิบัติอันเป็นสายกลาง) ในที่นี้กล่าวถึงคุณธรรม ๘ ประการ คือ
        ๑.สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
        ๒.สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
        ๓ สัมมาวาจา การพูดชอบ
        ๔.สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ
        ๕.สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ
        ๖.สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
        ๗.สัมมาสติ ความระลึกชอบ
        ๘.สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ

ความหมายขององค์ทั้ง ๘ ของอริยมรรค คือ
๑.สัมมาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บุญบาปมีจริง ชาติหน้ามี ชาติก่อนมี ในความหมายที่สูงขึ้นไป หมายถึง การเห็นอริยสัจ ๔ ครบถ้วนตามความเป็นจริง คือ เห็นอริยสัจซึ่งประกอบด้วย ญาณ ๓ อาการ ๑๒
๒.สัมมาสังกัปปะ หมายถึง ความดำริชอบ อันประกอบด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ
            ๒.๑ดำริที่จะปลีกตัวออกจากอารมณ์ยั่วยวนต่างๆ (เนกขัมมสังกัปปะ)
            ๒.๒ดำริในการไม่พยาบาท (อัพยาปาทสังกัปปะ)
            ๒.๓ดำริในความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสาสังกัปปะ)
๓.สัมมาวาจา หมายถึง การพูดที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ ดังนี้
            ๓.๑เว้นจากการพูดเท็จ พูดคำไม่จริง
            ๓.๒เว้นจากการพูดส่อเสียด พูดคำประสานสามัคคี
            ๓.๓เว้นจากการพูดคำหยาบ พูดคำอ่อนหวาน
            ๓.๔เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ พูดคำมีประโยชน์
๔.สัมมากัมมันตะ หมายถึง การกระทำชอบ มีองค์ประกอบดังนี้
            ๔.๑เว้นจากการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น สัตว์อื่น ซึ่งรวมเรียกว่า เว้นปาณาติบาต มีเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย
            ๔.๒เว้นจากการเบียดเบียนทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งรวมเรียกว่า เว้นอทินนาทาน มีการเสียสละแบ่งปัน เฉลี่ยความสุขของตนเพื่อผู้อื่นตามสมควร
            ๔.๓เว้นจากอพรหมจรรย์ ได้แก่ การเสพเมถุน คือเว้นจากกามารมณ์ พอใจในเนก- ขัมมะ คือปลีกตนจากกามอย่างต่ำ หมายถึง เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร พอใจในคู่ครองของตน
๕.สัมมาอาชีวะ หมายถึง การเว้นมิจฉาชีพทุกรูปแบบ ประกอบตนอยู่ในสัมมาชีพ คือการประกอบอาชีพที่ไม่สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้แก่ตนเองและผู้อื่น
๖.สัมมาวายามะ หมายถึง ความเพียรชอบทุกรูปแบบ ที่กล่าวถึงในพระบาลีมัคควิภังค- สูตร ตรัสถึงความเพียร ๔ ประการ คือ
            ๖.๑สังวรปธาน เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
            ๖.๒ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
            ๖.๓ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
            ๖.๔อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อม และทำกุศลให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ความเพียร ๔ ประการนี้ ถือเป็นหลักสำคัญมากในการปฏิบัติธรรม เพื่อความก้าวหน้า ในชีวิตทางธรรม และเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตของชาวโลกอย่างมากด้วย ผู้หวังความเจริญและความสุข ทั้งทางโลกและทางธรรม ควรมีความเพียร ๔ ประการนี้ไว้ในตน
๗.สัมมาสติ หมายถึง สติชอบ หรือความระลึกชอบ ในขั้นธรรมดา ขอให้พิจารณาว่าระลึกถึงสิ่งใดอยู่ กุศลธรรมเจริญขึ้นอกุศลธรรมเสื่อมไป ก็ควรระลึกถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ ในขั้นสูงขึ้นไป ท่านสอนให้ระลึกสติปัฏฐาน ๔ คือ
            ๗.๑กายานุปัสสนา พิจารณากาย
            ๗.๒เวทนานุปัสสนา พิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่สุข ไม่ทุกข์
            ๗.๓จิตตานุปัสสนา พิจารณาจิตว่ามีราคะ โทสะ โมหะหรือไม่มี จิตเป็นอย่างไร พิจารณาตามรู้
            ๗.๔ธัมมานุปัสสนา พิจารณาธรรมทั้งที่เป็นกุศล อกุศลและอัพยากฤตว่ามีอยู่ในตนหรือไม่ สิ่งนั้นเกิดขึ้นอย่างไร เช่น นิวรณ์ ๕ เป็นสิ่งควรละ โพชฌงค์ ๗ เป็นสิ่งที่ควรบำเพ็ญ เป็นต้น

ความจริงแล้วสติปัฏฐานมี ๑ คือ การตั้งสติ ส่วนกาย เวทนา จิตและธรรมนั้นเป็นอารมณ์ของสติ คือ เป็นสิ่งที่ควรเอาสติเข้าไปพิจารณาหรือเอาสติไปตั้งไว้ เหมือนโต๊ะตัวหนึ่งมี ๔ ขา ฉะนั้น ผู้อบรมสติบ่อยๆ ย่อมมีสติสมบูรณ์ขึ้น สามารถสกัดกั้นกระแสกิเลสได้มากขึ้น ทำให้กิเลสท่วมทับจิตน้อยลง ทำความดีได้มากขึ้น ชีวิตปลอดโปร่งแจ่มใสมากขึ้น มีทุกข์น้อยลง เพราะมีสติปัญญารู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตจิตใจตามความเป็นจริง พระอรหันต์ที่ท่านสิ้นกิเลสแล้วนั้น ท่านเป็นผู้มีสติสมบูรณ์ จึงไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น
๘.สัมมาสมาธิ หมายถึง การทำสมาธิในทางที่ถูกต้อง สมาธินั้นหมายถึง การที่จิต ตั้งมั่นในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นกุศล ความที่จิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว ไม่ฟุ้งซ่าน ท่านแสดงสมาธิไว้ ๓ ระดับ คือ
            ๘.๑ ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ
            ๘.๒ อุปจารสมาธิ สมาธิเฉียดฌาน หรือใกล้ฌาน
            ๘.๓ อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่ หรือสมาธิในฌาน
แต่สมาธิที่หมายถึงในมรรคมีองค์ ๘ นั้นคือ อัปปนาสมาธิ หรือสมาธิในฌาน ๔ ตามพระบาลีมัคควิภังคสูตร๘)

องค์มรรคทั้ง ๘ นี้ เมื่อรวมตัวกันเข้าเป็นมัคคสมังคี ก่อให้เกิดสัมมาญาณคือความรู้ชอบ หรือยถาภูตญาณทรรศนะ(ความรู้เห็นตามความเป็นจริง) นี่แหละคือตัวอริยมรรคตามแนวพระพุทธพจน์ ซึ่งสรุปให้เข้าใจง่ายดังนี้ “ เมื่อมีโยนิโสมนสิการ(การทำในใจอย่างแยบคาย อย่างมีปัญญา) ปราโมชย่อมเกิด เมื่อมีปราโมช ปีติย่อมเกิด เมื่อปีติเกิด ปัสสัทธิย่อมเกิด เมื่อมีปัสสัทธิเกิด สุขย่อมเกิด เมื่อสุขเกิด สมาธิย่อมเกิด เมื่อสมาธิเกิด ยถาภูตญาณทรรศนะย่อมเกิด เมื่อยถาภูตญาณทรรศนะเกิดนิพพิทา(ความหน่าย) ย่อมเกิด เมื่อนิพพิทาเกิดวิราคะ(ความคลายกำหนัด) ย่อมเกิด เมื่อวิราคะเกิด วิมุติ(ความหลุดพ้น) ย่อมเกิด รวม ๙ ประการ ซึ่งมีอุปการะและหนุนเนื่องไปสู่วิมุติความหลุดพ้นจากกิเลส”



ต่อจากสัมมาญาณหรือยถาภูตญาณทรรศนะ ถ้ากล่าวอย่างรวบรัดก็จะไปถึงสัมมาวิมุติ แต่ถ้าขยายออกไปในระหว่างนั้นมีญาณต่างๆ คั่นอยู่หลายประการ กล่าวคือ
๑.โคตรภูญาณ แปลว่า ญาณคร่อมโคตร คือ ระหว่างโคตรปุถุชนกับอริยชน ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นปุถุชนกับอริยชน เรียกไม่ได้ว่าเป็นปุถุชนหรืออริยชน เปรียบเหมือนคนข้ามฝั่งด้วยเรือเมื่อเทียบท่าแล้ว ขาข้างหนึ่งก้าวขึ้นอยู่บนบก อีกข้างหนึ่งยังอยู่ในเรือ หรืออีกอุปมาหนึ่งเหมือนสภาพของเวลาที่เราเรียกว่า สองสี ส่องแสงกึ่งกลางระหว่างความมืดกับ ความสว่าง ระหว่างกลางคืนกับกลางวัน
๒.มรรคญาณ ญาณในมรรค มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น ญาณนี้จะทำหน้าที่ตัดกิเลสให้ขาด เหมือนยาเข้าไปทำลายหรือตัดโรค
๓.ผลญาณ ญาณในผล คือ รู้ว่าผลแห่งการกำจัดกิเลสได้เป็นอย่างไร เป็นความสงบสุขอย่างไร เปรียบเหมือนความสุขของคนที่หายโรคแล้ว รู้ว่าโรคหายเด็ดขาดไม่เกิดขึ้นอีก
๔.ปัจจเวกขณญาณ การพิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว และกิเลสที่ยังไม่ได้ละว่ามีจำนวนเท่าใด สำหรับพระอริยบุคคล ๓ จำพวกแรก ส่วนพระอรหันต์พิจารณาเฉพาะกิเลสที่ละได้แล้วอย่างเดียว ไม่ต้องพิจารณากิเลสที่ยังไม่ได้ละ เพราะไม่มีกิเลสอะไรจะต้องละอีกแล้ว

การที่ความสงบสุขอันเกิดจากการตัดกิเลสได้เป็นไปยั่งยืน ไม่ต้องคอยระวังเพื่อไม่ให้ เกิดขึ้นอีกนั่นเอง คือ นิพพาน แปลว่า ความดับสนิท เย็นสนิท ที่กล่าวนี้เป็นกระบวนการของอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ซึ่งเป็นปฏิปทานำไปสู่ความดับทุกข์ หรือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

🙏 องค์แห่งอริยสัจ ๔


กิจในอริยสัจ ๔

กิจ คือ หน้าที่ในอริยสัจ ๔ ข้อใดมีหน้าที่อย่างไร รวมเรียกว่า ไตรปริวัฏ ทวาทสาการ แปลว่า ๓ รอบ ๑๒ อาการ หมายถึง ญาณ ๓ ในอริยสัจ ๔ ผู้รู้อริยสัจ ๔ ที่เรียกว่ารู้จริง รู้แล้วพ้นทุกข์ได้ ต้องรู้ประกอบด้วยญาณ ๓ อาการ ๑๒ นี้ ที่คนสามัญรู้นั้นเป็นความจำ ไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริง ยังปฏิบัติตามที่รู้ไม่ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณา ตรัสเทศนาโพธิปักขิยธรรม ปฏิจจสมุปบาทและอริยสัจ ๔ ธรรมทั้ง ๓ นี้มีอรรถเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ประดุจดังดุมเกวียน กำเกวียน และกงเกวียน จึงได้ชื่อว่า พระธรรมจักร

(ตารางแผนญาณ ๓หรือรอบ ๓ อาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔)

สัจจญาณ

กิจจญาณ

กตญาณ

ทุกข์

ยอมรับว่าความทุกข์แห่งชีวิตมีอยู่จริง ชีวิตคลุกเคล้าไปด้วยความทุกข์จริง

รู้ว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่กำหนดความรู้ คือ ควรทำความเข้าใจ (ปริญเญยยธรรม)

รู้ว่าได้กำหนดรู้แล้วหรือทำความเข้าใจแล้ว

สมุทัย

ยอมรับว่าสมุทัยคือตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง

รู้ว่าสมุทัยคือตัณหา เป็นสิ่งควรละ (ปหาตัพพธรรม)

รู้ว่าละได้แล้ว

นิโรธ

ยอมรับว่านิโรธคือความทุกข์มีอยู่จริง ความทุกข์สามารถดับได้จริง โดยผ่านทางการดับตัณหา

รู้ว่านิโรธควรทำให้แจ้งขึ้นในใจ (สัจฉิกาตัพพธรรม)

รู้ว่าได้ทำให้แจ้งแล้ว

มรรค

ยอมรับว่ามรรคมีองค์ ๘ เป็นทางนำไปสู่ความดับทุกข์จริง

รู้ว่ามรรคเป็นสิ่งที่ควรอบรมบำเพ็ญให้เกิดมี (ภาเวตัพพธรรม)

รู้ว่าได้เจริญอบรมให้เต็มที่แล้ว


พระธรรมจักรแบ่งออกเป็น ๒ ประการ คือ
๑.ปฏิเวธญาณธรรมจักร ด้แก่ พระญาณอันตรัสรู้อริยสัจ ๔ มีปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒ ประหารข้าศึก คือ กิเลสเสียได้ เป็นสมุจเฉทปหาน ขาดจากสันดานแห่งพระองค์แล้ว และนำมาซึ่งอริยผล
๒.เทศนาญาณธรรมจักร ได้แก่ พระญาณอันอบรมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาอริยสัจ มีปริวัฏฏ์ ๓ มีอาการ ๑๒ ยังสาวกทั้งหลาย มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นประธานให้ได้สำเร็จอริยมรรคอริยผล ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน

ญาณธรรมจักรซึ่งพระพุทธองค์ตรัสเทศนาอริยสัจ มีปริวัฏฏ์ ๓ ประการนั้นได้แก่
๑.สัจจญาณ คือ พระปรีชาญาณอันตรัสรู้ซึ่งอริยสัจด้วยพระองค์เอง จะมีบุคคลผู้หนึ่ง ผู้ใดเป็นครูอาจารย์ของพระองค์นั้นหามิได้
๒.กิจจญาณ คือ พระปรีชาญาณอันแทงตลอดในกิจแห่งอริยสัจ ๔ ตรัสรู้แจ้งว่าทุกขสัจนี้ สมควรที่พระอริยบุคคลจะพึงกำหนดรู้ สมุทัยสัจนี้สมควรที่พระอริยบุคคลจะพึงละเสีย นิโรธสัจคือพระนิพพานนั้น สมควรที่พระอริยบุคคลจะพึงกระทำให้แจ้งในขันธสันดาน มรรคสัจอันเป็นทางปฏิบัติให้ถึงซึ่งการดับทุกข์นั้น สมควรที่พระอริยบุคคลจะพึงเจริญไว้ในสันดาน
๓.กตญาณ คือ พระปรีชาญาณอันรู้แจ้งกิจแห่งอริยสัจ ๔ อันกระทำเสร็จแล้ว และรู้ว่าตนได้กำหนดรู้ทุกขสัจเป็นอารมณ์อยู่แล้ว รู้ว่าสมุทัยสัจคือตัณหานั้น ได้ละขาดจากสันดานแล้ว รู้ว่านิโรธสัจคือพระนิพพานนั้นตนได้กระทำประจักษ์แจ้งในสันดานแล้ว รู้ว่ามรรคสัจอันเป็นทางปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์นั้น ตนได้เจริญบริบูรณ์แล้ว


อริยสัจ ๔ เป็นแก่นสำคัญของพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า จักรคือธรรมที่พระองค์หมุนไปแล้วนี้ใครๆ จะหมุนกลับไม่ได้ ใครหมุนกลับก็เป็นการหมุนไปสู่ทางที่ผิด พระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ จึงเป็นความจริงสากลอันมีรากฐานอยู่ที่เหตุผล และเป็นความจริงอันจำเป็นที่สุด

เหตุผลสำคัญในการแทงตลอดอริยสัจ ๔ คือ การละตัณหาได้ การที่จะละตัณหาได้ต้องอาศัยการเดินตามมรรคมีองค์ ๘ เมื่อมรรคมีองค์ ๘ บริบูรณ์ เป็นมรรคสมังคี คือ การรวมตัวกันอย่างสมส่วน ทำหน้าที่ทำลายตัณหา อุปาทาน และอวิชชาให้พินาศ การเห็นแจ้งในนิพพานก็เกิดขึ้นความทุกข์ในสังสารวัฏก็สิ้นไป

อริยสัจ ๔ เป็นความจริงที่ยั่งยืนอยู่คู่กับชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่บรรพกาลมาจนบัดนี้ และจะยั่งยืนต่อไปในอนาคตไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อใดที่มนุษย์สามารถปฏิบัติจนเกิดภาวนามยปัญญาได้ เมื่อนั้นก็สามารถจะรู้เข้าใจ แทงตลอดในอริยสัจได้

🙏 กิจในอริยสัจ ๔



ความสำคัญของอริยสัจ ๔

อริยสัจ เป็นหัวข้อธรรมสำคัญอย่างยิ่งหัวข้อหนึ่งในหลักคำสอนสำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเห็นได้จากหลักฐานต่อไปนี้



๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิญาณพระองค์ว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ เพราะทรงรู้แจ้งในอริยสัจ
ความข้อนี้ปรากฏอยู่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ที่ทรงแสดงเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์นั่นเอง ว่า
“ ปัญญาอันรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ นี้ มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ยังไม่หมดจดดีแล้วเพียงใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังยืนยันไม่ได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น

๒. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องพระสารีบุตรให้เป็นพระธรรมเสนาบดี คือ แม่ทัพธรรม ทรงให้เหตุผลว่า เพราะพระสารีบุตรสามารถแสดงธรรมจักรซึ่งมีอริยสัจ ๔ เป็นแกนกลางได้เสมอ พระองค์ไม่มีพระสาวกอื่นรูปใดจะทำให้เทียมถึง แสดงว่าทรงถือเอาอริยสัจ ๔ เป็นมาตรฐานวัดความสามารถของพระสาวกในเรื่องการแสดงธรรม

๓. พระสารีบุตรได้แสดงไว้ว่า อริยสัจ ๔ เป็นที่รวมลงแห่งธรรมที่เป็นกุศลทั้งหลาย เหมือนรอยเท้าช้างใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์บกทุกชนิด เอารอยเท้าของสัตว์อื่นทุกชนิดมาใส่ในรอยเท้าช้าง ได้ฉันใด ธรรมที่เป็นกุศลทุกอย่างรวมลงในอริยสัจ ๔ ได้ฉันนั้น

๔. ถ้าจะกล่าวให้ใกล้เคียงกับชีวิตของคนเราทุกคน อริยสัจ ๔ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาชีวิตและการแก้ไขปัญหานั้น ความทุกข์เป็นปัญหาชีวิตที่เผชิญหน้าทุกคนอยู่ การแก้ไขปัญหาชีวิตจะต้องดำเนินไปตามหลักเหตุผลและสติปัญญา หรือดำเนินการให้ถูกต้องตามเหตุของปัญหานั้นๆ แล้วดับที่เหตุ ปัญหาจึงจะคลี่คลายหรือดับลง

🙏 ความหมายของอริยสัจ ๔
🙏 ความสำคัญของอริยสัจ ๔
🙏 องค์แห่งอริยสัจ ๔
🙏 กิจในอริยสัจ ๔