แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ นิรัตตา แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ นิรัตตา แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธ

๔. อัตตา – อนัตตา และ อัตตา - นิรัตตา

 ๔. อัตตา – อนัตตา และ อัตตา - นิรัตตา

ในสุตตนิบาต มีพุทธพจน์หลายแห่งตรัสถึงพระอรหันต์ คือผู้บรรลุจุดหมายแห่งชีวิตประเสริฐแล้ว หรือท่านผู้ปฏิบัติถูกต้องแล้วว่า เป็นผู้ที่ ไม่มีทั้งอัตตาและนิรัตตา หรือทั้ง อตตํ และ นิรตํ  (*๑๘๓) แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ไม่มีทั้งอัตตาและไร้อัตตา หรือ ไม่มีทั้งตัวและไร้ตัว คัมภีร์มหานิทเทสอธิบาย “อตุตา” หรือ “อตตํ” ว่าได้แก่ อัตตทิฏฐิ คือความเห็นว่าเป็นตัวตน หรือ สัสสตทิฏฐิ คือความเห็นว่า (มีตัวตนที่) เที่ยงแท้ยั่งยืนคงอยู่ตลอดไป และ “นิรตุตา” หรือ “นิรตตํ” ว่า ได้แก่อุจเฉททิฏฐิ คือ ความเห็นว่า (ตัวตน) ขาดสูญ อีกนัยหนึ่งอธิบาย “อตตา” หรือ “อตตํ” ว่าได้แก่ สิ่งที่ถือไว้หรือสิ่งที่ยึดถือ และ “นิรตุตา” หรือ “นิรตตํ” ว่าได้แก่ สิ่งที่จะต้องละหรือปล่อย ถือเอาใจความว่า พระอรหันต์ ท่านผู้ปฏิบัติถูกต้อง หรือท่านผู้มีปัญญาเข้าใจถูกต้องแล้ว ย่อมไม่มีทั้งความยึดถือตัวตนและทั้งความยึดถือว่าไม่มีตัวตน (ตัวตนขาดสูญ) ไม่มีทั้งสิ่งที่ยึดถือเอาไว้ และทั้งสิ่งที่จะต้องละต้องปล่อยหรือต้องสลัดทิ้ง

คัมภีร์มหานิทเทสอธิบายต่อไปอีกว่า ผู้ใดมีสิ่งที่ยึดถือไว้ ผู้นั้นก็มีสิ่งที่จะต้องปล่อยละ ผู้ใดมีสิ่งที่จะต้องปล่อยละ ผู้นั้นก็มีสิ่งที่ยึดถือไว้ พระอรหันต์ล่วงพ้นการยึดถือและการปล่อยละไปแล้ว (*๑๘๔) ความเข้าใจในพุทธพจน์และอรรถาธิบายข้างต้นนี้ จะช่วยให้เข้าใจความหมายของหลักอนัตตาครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ธรรมดาว่า ปุถุชนย่อมมีความยึดถือในตัวตนอย่างเหนียวแน่น อย่างหยาบๆ ก็ถือเอารูป คือร่างกายเป็นตัวตน เมื่อคิดลึกซึ้งลงไป เห็นว่าร่างกายเป็นตัวตนไม่ได้ เพราะมีความเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้ชัดๆ โต้งๆ ก็เลื่อนไปยึดเอาจิตหรือคุณสมบัติบางอย่างของจิต เช่น ความรู้สึก ความจำ ปัญญา การรับรู้ เป็นต้น ว่าเป็นตัวตน ถ้าใช้ศัพท์ทางธรรมก็ว่า ยึดเอาขันธ์ใดขันธ์หนึ่งเป็นอัตตา บางทีก็ยึดถือรวมๆ คลุมๆ ทั้งกายและใจ คือขันธ์ ๕ ทั้งหมด ว่าเป็นตัวตน บ้างคิดแยบยลลึกซึ้งต่อไปอีกว่า ทั้งกายและใจ หรือขันธ์หมดทั้ง ๕ เป็นตัวตนไม่ได้ แต่มีตัวตนอยู่ต่างหาก เป็นอัตตาหรืออาตมันตัวแท้ตัวจริง เป็นแก่นเป็นแกนของชีวิต ซ้อนอยู่ภายในขันธ์ ๕ หรืออยู่นอกเหนือจากขันธ์ ๕ แต่เป็นตัวครอบครองควบคุมอยู่อีกชั้นหนึ่ง

เจ้าลัทธิและนักปราชญ์เจ้าปัญญาผู้สามารถทั้งหลาย พากันคิดค้นเรื่องตัวตนนี้โดยโยงเข้ากับการค้นหาสภาวะแท้ที่มีอยู่จริงในขั้นสุดท้าย หรือตัวสัจธรรม หรือบรมธรรม บางท่านก็ประกาศว่าตนได้เข้าถึงสภาวะที่แท้จริงนั้นแล้ว อันเป็นตัวแท้ตัวจริง เป็นอัตตาหรืออาตมันสูงสุด อย่างที่บัญญัติเรียกว่า ปรมาตมันบ้าง พรหมมันบ้าง พระผู้เป็นเจ้าบ้าง ต้องยอมรับว่า เจ้าลัทธิและนักปราชญ์เหล่านั้นเป็นเจ้าความคิดอย่างสูง มีความรู้ความสามารถมาก อย่างที่ท่านเรียกว่าเป็นสมณพรามหณ์ผู้ประเสริฐ หรือเป็นเจ้าทฤษฎีชั้นพรหม และสภาวะที่ท่านเหล่านั้นกล่าวถึง ก็ประณีตลึกซึ้งอย่างยิ่ง แต่ตราบใดที่สภาวะนั้นยังมีความเป็นตัวตนติดอยู่ หรือยังเป็นเรื่องของตัวตน ก็พึงทราบว่ายังไม่ใช่สภาวะที่จริงแท้ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่ใช่บรมธรรม เพราะยังถูกเคลือบคลุมและยังพัวพันด้วยความยึดถือ

สภาวะจริงแท้นั้นมีอยู่ มิใช่เป็นความสูญสิ้นไม่มีอะไรเลย แต่ก็มิใช่เป็นสภาวะที่จะเข้าถึงหรือประจักษ์ได้ด้วยความรู้ที่ถูกกั้นบังให้พร่ามัวหรือบิดเบือนโดยภาพเก่าๆ ที่ผิดพลาด และด้วยจิตที่ถูกฉุดรั้งไว้โดยความยืดติดในภาพเก่าที่ผิดพลาดนั้น การที่สมณพราหมณ์ผู้ประเสริฐหรือเจ้าลัทธิชั้นพรหมจำนวนมาก ไม่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดถึงสภาวะแท้จริงขั้นสุดท้าย ก็เพราะว่า แม้ว่าสมณพราหมณ์หรือเจ้าลัทธิเจ้าทฤษฎีเหล่านั้นจะรู้ชัดแล้วว่า ตัวตนระดับกายใจชนิดที่เคยยึดถือมาก่อน ไม่ใช่เป็นสภาวะที่จริงแท้ และไม่ยอมรับแม้กระทั่งขันธ์ ๕ แต่ ท่านเหล่านั้นก็ยังนำเอาเครื่องพรางตาตัวเอง ๒ อย่างของปุถุชนติดตัวไปด้วยตลอดเวลาในการค้นหาสภาวะที่แท้จริงขั้นสุดท้าย กล่าวคือ

    ๑) บัญญัติแห่งอัตตา (concept) คือ มโนภาพของตัวตนที่เป็นคราบติดมาตั้งแต่ครั้งยึดติดในตัวตนหยาบระดับร่างกาย แม้มโนภาพนี้จะละเอียดประณีตขึ้นมากเพียงใด มันก็เป็นภาพอันเดียวกันหรือเทือกเถาเดียวกันอยู่นั่นเอง และเป็นภาพแห่งความหลงผิด ซึ่งเมื่อเขาไปเกี่ยวข้องกับสภาวะใดๆ เขาก็จะเอาบัญญัติหรือมโนภาพอันนี้ไปป้ายหรือฉาบทาสภาวะนั้น ทำให้มีสิ่งกั้นบัง เกิดความพร่ามัวหรือบิดเบือน และทำให้สภาวะที่เขาเข้าใจ ไม่ใช่สภาวะจริงแท้นั้นเองที่ล้วนๆ บริสุทธิ์

    ๒) ความยึดติดถือมั่น (อุปาทาน) ซึ่งเขามีมาแต่เดิมตั้งแต่ยึดติดในอัตตาอย่างหยาบๆ ขั้นต้น ซึ่งเป็นความหลงผิดอยู่แล้ว เขาก็ยังพาเอาความยึดติดนี้ไปด้วย และนำไปใช้ในการสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสภาวะที่จริงแท้ ความยึดติดในภาพตัวตนนี้จึงกลายเป็นเครื่องฉุดรั้งเขาไว้ ให้ไม่อาจเข้าถึงสภาวะที่จริงแท้นั้นได้

ถ้าพูดอย่างสั้นๆ ก็คือ สมณพราหมณ์หรือเจ้าทฤษฎีเหล่านั้นยังไม่หลุดพ้นนั่นเอง ยังไม่หลุดพ้นจากบัญญัติหรือภาพที่หลงผิด และยังไม่หลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่น ซึ่งว่าที่จริงก็พันกันอยู่เป็นเรื่องเดียวกัน คือ พูดรวมเข้าด้วยกันได้ว่า พวกเขาหลงผิดหยิบเอาภาพอัตตาที่ติดมาจากอุปาทานเดิมของตน ไปปิดทับสภาวะหรือกระบวนการที่มีอยู่ตามธรรมชาติเสีย เลยวนเวียนติดตันอยู่ตามเดิม ความหลุดพ้นนี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะให้เข้าถึงหรือรู้ประจักษ์สภาวะที่จริงแท้ได้ เพราะสภาวะจริงแท้ขั้นสุดท้ายหรืออสังขตธรรม มีภาวะตรงข้ามกับสภาวะฝ่ายปรุงแต่งหรือสังขตธรรม เป็นสภาวะที่ถึงเมื่อสภาวะฝ่ายสังขตะสิ้นสุดลง คือเป็นสภาวะที่จะเข้าถึงเมื่อละความยึดถือในอัตตาได้แล้ว แม้แต่จะพิจารณาในระดับสังขตธรรมคือสังขาร เมื่อพิจารณาตามแนวพุทธธรรมดังได้บรรยายมาแล้วข้างต้นว่า อัตตาหรือตัวตนเป็นสิ่งสมมติ สภาวะที่จริงแท้ย่อมเป็นสิ่งตรงข้ามกับสมมติ เป็นคนละเรื่องคนละด้านกัน อัตตามีสำหรับสิ่งสมมติ เมื่อพ้นจากสมมติจึงจะเข้าถึงสภาวะจริงแท้ สภาวะจริงแท้ก็คือไม่เป็นอัตตา พูดง่ายๆ อย่างชาวบ้านว่า ของจริงต้องไม่เป็นอัตตา ถ้ายังเป็นอัตตาก็ไม่ใช่ของจริง หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า พอพ้นสมมติ อัตตาก็หมด พอเลิกยึด อัตตาก็หายตัวการสำคัญของความหลงผิด ก็คือบัญญัติหรือภาพของอัตตา กับความยึดติดถือมั่นหรือความยึดถือในเมื่ออัตตาหรือตัวตนไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงของสมมติ มันจึงเป็นเพียงสิ่งที่ถูกยึดถือเอาไว้ ฉะนั้น

ในสุตตนิบาตที่อ้างข้างต้น คำว่า “อตุตา” หรือ “อตตํ” จึงแปลได้ ๒ อย่าง คือ แปลว่าตัวตน หรือการยึดถือตัวตนก็ได้ แปลว่า สิ่งที่ยึดถือเอาไว้ก็ได้ หมายความว่า ตัวตน ก็คือสิ่งที่ยึดถือเอาไว้เท่านั้นเอง มิใช่สภาวะที่มีอยู่จริง อีกประการหนึ่ง ในสุตตนิบาตที่อ้างถึงนั่นแหละ ท่านกล่าวถึง “อตตา” คู่กับ “นิรตุตา” หรือ “อตตํ” คู่กับ “นิรตตํ” และบอกว่า พระอรหันต์หรือผู้ปฏิบัติชอบ ไม่มีทั้งอัตตาหรืออัตตัง และไม่มีทั้งนิรัตตาหรือนิรัตตัง นิรัตตาหรือนิรัตตัง ก็แปลได้ ๒ อย่างเช่นเดียวกับอัตตาหรืออัตตัง คือแปลว่า (การยึดถือว่า) ไม่มีอัตตา หรือการถือว่า (อัตตา) ขาดสูญ ก็ได้ แปลว่า สิ่งที่จะต้องปล่อยละหรือสลัดทิ้งก็ได้ ข้อนี้หมายความว่า เมื่อไม่ยึดถือว่ามีอัตตาแล้ว เลิกความเห็นผิดยึดถือผิดต่อสิ่งสมมติได้เสร็จแล้ว ก็แล้วกัน จบเท่านั้น ไม่ต้องไปยึดถืออีกว่าไม่มีอัตตา ตัวเองจะเป็นอิสระสบายดีอยู่แล้ว แต่ไปจับยึดสิ่งที่พาให้ผิดเข้า เมื่อเลิกจับเลิกยึดได้แล้ว ก็จบเรื่องไม่ต้องไปจับไปยึดอะไรอีก เมื่อไม่มีสิ่งที่ยึดถือเอาไว้ ก็ไม่มีสิ่งที่จะต้องละต้องปล่อย เหมือนดังพุทธพจน์ที่ว่า

“สิ่งที่ยึดถือไว้ก็ไม่มี แล้วสิ่งที่ต้องปล่อยละจะมีมาแต่ที่ไหน” (นตถํ อตุตา กุโต นิรตตํ วา) (*๑๘๕)  พึงสังเกตด้วยว่า ถ้าจะพูดกันให้ถูกต้องจริงๆ แล้ว แม้แต่คำว่าความยึดถืออัตตา ก็ใช้ไม่ได้ ต้องพูดว่าความยึดถือในภาพของอัตตา หรือยึดถือบัญญัติแห่งอัตตา เพราะอัตตาเป็นเพียงสิ่งสมมติ ไม่มีอยู่จริง ในเมื่ออัตตาไม่มีอยู่จริง ก็เพียงไม่ยึดถือ (ว่ามี) อัตตา หรือไม่ยึดถือบัญญัติของอัตตาเท่านั้น ไม่ต้องละอัตตา เพราะไม่มีอัตตาที่จะยึดถือได้ จะไปละอัตตาที่ไหน การถือ (ว่ามี) อัตตา ก็คือการสร้างภาพอีกอันหนึ่งขึ้นมาซ้อนสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่เป็นไปอยู่ สิ่งที่จะต้องทำ ก็เพียงเลิกสร้างภาพนั้นเท่านั้น ถ้าไม่เลิกสร้างภาพนั้น แม้เลิกยึดอย่างหนึ่งแล้ว ไปจับสิ่งอื่นอะไรก็ตาม ก็จะเอาภาพหรือคราบของอัตตาไปปะติดหรือป้ายหรือฉาบทาสิ่งนั้น ให้ไม่เห็นตัวจริง หรือเห็นผิดเพี้ยนไป ดังนั้น กิจที่จะต้องทำ ก็คือ ถอนเลิกความยึดติดถือมั่นในภาพอัตตาที่เคยมีแล้วไม่ยึดอะไรใหม่ว่าเป็นอัตตา และทั้งไม่ตกไปใน นิรัตตา ก็จะมีแต่สภาวะแท้ที่มีอยู่จริง ซึ่งไม่เกี่ยว ไม่เป็นไปตาม ไม่ขึ้นต่อความยึดถือของตน ในเมื่อตัวตนเป็นสิ่งสมมติ เป็นบัญญัติ (concept) เพื่อประโยชน์ในการสื่อสาร ถ้าเราเพียงแต่รู้เท่าทันใช้โดยไม่ยึดติด มันก็ไม่มีพิษสง ไม่ก่อให้เกิดโทษความเสียหายอันใด และถ้าเราเคยยึดถือมัน ก็เพียงแต่เลิกยึดเท่านั้น เมื่อไม่มีการยึดแล้ว ก็เป็นอันจบเรื่อง ไม่ต้องเอาภาพอัตตาไปใส่ให้อะไรอีก ไม่ต้องไปคว้าเอาอะไรมายืดเป็นอัตตาอีก ตลอดจนไม่ต้องไปค้นหาอัตตาที่ไหนอีก

เพราะฉะนั้น ภาระในการสอนของพระพุทธเจ้า จึงมีเพียงแค่ทรงสอนให้เลิกยึดถืออัตตาที่ยึดถืออยู่แล้วเท่านั้น คือให้เลิกยึดถือขันธ์ ๕ เป็นอัตตา เมื่อเลิกยึดอัตตาแล้ว ก็เป็นอันหมดเรื่องกับอัตตา ต่อนั้นไปก็เป็นเรื่องของการเข้าถึงสภาวะที่จริงแท้ ซึ่งมีอยู่ แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับอัตตา จึงเรียกว่าเป็นอนัตตา เป็นเรื่องพ้นจากการยึดถืออัตตาแล้ว และก็ไม่ต้องไปยึดถือต่อไปอีกว่ามีอัตตาหรือไม่มีอัตตา สิ่งที่ไม่มี เมื่อรู้ว่าไม่มีแล้ว ก็เสร็จเรื่องกัน จากนั้นก็เข้าถึงสิ่งที่มีจริงหรือสภาวะจริงแท้ คืออสังขตธรรม ซึ่งไม่ต้องพูดถึงอัตตาอีกต่อไป ผลร้ายที่สำคัญอย่างหนึ่งของการยึดติดในอัตตา หรือยึดถือบัญญัติแห่งอัตตา ก็คือ ผู้ยึดถือจะโยงอัตตานี้เข้ากับความหมายว่า เป็นตัวแกนหรือตัวการที่มีอำนาจบังคับบัญชาบันดาลให้เป็นไปต่างๆ เมื่อความคิดในเรื่องอัตตานี้ละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปจนถึงสภาวะขั้นสุดท้าย ก็จะสร้างความคิดให้มีอัตตาหรืออาตมันใหญ่อันเป็นสากล ที่เป็นผู้สร้างผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง จินตนาการให้มีพระผู้สร้างเข้ามาซ้อนแทรกแซงกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยโดยไม่จำเป็น ที่ว่าไม่จำเป็น ก็เพราะสภาวธรรมทั้งหลายก็มีอยู่ได้เอง กระบวนธรรมก็สัมพันธ์กันเกิดความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันอยู่เอง โดยไม่ต้องมีผู้สร้างผู้บันดาล ถ้าจะว่าต้องมีผู้สร้างก่อนเป็นเบื้องแรกจึงจะมีสิ่งทั้งหลายได้ จึงต้องมีพระเจ้าเป็นผู้สร้างสภาวธรรม ถ้าเช่นนั้นก็ให้สภาวธรรมทั้งหลายนั่นแหละเป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนเป็นเบื้องแรกแทนพระเจ้าเสียเลย (เพราะสภาวธรรมก็ปรุงแต่งกันตามเหตุปัจจัย เรียกอย่างง่ายๆ ว่าสร้างกันและกันเองได้อยู่แล้ว) จะได้ตัดปัญหา ไม่ต้องไปวุ่นวายตอบคำถามย้อนต่อไปอีกว่า อะไรมีอยู่ก่อนแล้วพระเจ้าจึงมีขึ้นได้ หรือว่าใครสร้างพระเจ้า คือใครให้กำเนิดพระเจ้า หรือว่าพระเจ้ามาจากไหน

ถ้าจะว่า การที่สภาวธรรมทั้งหลายหรือกระบวนธรรมต่างๆ จะเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็ต้องมีผู้บันดาลให้เป็นไป คือมีพระเจ้าอยู่เบื้องหลัง ข้อนี้ก็เกินจำเป็น และไม่สมจริงอีก เพราะถ้ามีพระเจ้าเป็นผู้บันดาลจริง ก็จะกลายเป็นว่ามีระบบซ้อนกันอยู่ ๒ ชั้น คือ พระเจ้าชั้นหนึ่ง กับกระบวนธรรมอีกชั้นหนึ่ง กระบวนธรรมจะเป็นไปอย่างไร ก็ต้องรอการบันดาลจากพระเจ้า แต่กระบวนธรรมจะเป็นไปตามการบันดาลของพระเจ้าก็ไม่สะดวกเพราะมันจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยภายในระบบของมันเองอยู่แล้ว คือองค์ประกอบต่างๆ เกิดดับ ก็สัมพันธ์เป็นปัจจัยส่งต่อสืบทอดแก่กันในกระบวนธรรม การบันดาลของพระเจ้าเลยจะกลายเป็นการแทรกแซงขัดขวางและขัดแย้งกับความเป็นไปของกระบวนธรรมเสียมากกว่า ยิ่งกว่านั้น ถ้าพระเจ้าบันดาล พระเจ้ามีอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ ก็จะให้สภาวธรรมเป็นไปตามพระประสงค์เดี๋ยวก็จะให้เป็นไปอย่างโน้น เดี๋ยวก็จะให้เป็นไปอย่างนี้ กระบวนธรรมก็ยิ่งไม่มีทางเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็จะยิ่งปั่นป่วนวุ่นวายมาก แต่ความจริงก็ไม่เป็นเช่นนั้น กระบวนธรรมก็คงเป็นไปของมันตามเหตุปัจจัย ถ้าจะว่า ที่กระบวนธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นก็เพราะเป็นกฎ และพระเจ้าเป็นผู้สร้างหรือวางกฎนั้นไว้ ถ้าเช่นนั้น กฎก็จะต้องไม่แน่นอน อาจเปลี่ยนแปลงเมื่อไรก็ได้ ไม่อาจวางใจได้ เพราะมีผู้วางกฎ และผู้วางกฎก็ยังอยู่ต่างหากจากกฏ อีกทั้งมีความประสงค์ของตนที่เปลี่ยนแปรได้ เพิ่มลดดัดแปลงได้ แต่ตามความเป็นจริงกฎก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง


ในทางกลับกัน ตามความเป็นจริงนั้น ก็ไม่จำเป็น และไม่อาจจะมีผู้สร้างกฎด้วยซ้ำ เพราะสภาวธรรมทั้งหลายจะต้องเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง และมันก็ได้เป็นมาอย่างที่มันเป็นอยู่นี้ คือเป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยที่มันก็เป็นเช่นนั้นเอง ตถตา) เพราะมันไม่เป็นและไม่อาจจะเป็นไปอย่างอื่น (อวิตถตา) กฎเป็นเพียงบัญญัติ (concept) ซึ่งเกิดจากการที่สภาวธรรมทั้งหลายมันเป็นไปอย่างนั้นต่างหาก อนึ่ง การไม่มีพระเจ้าผู้สร้างผู้บันดาล และการที่กระบวนธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันเองนั้น ยังตัดปัญหาไปได้อีกอย่างหนึ่ง คือ สภาวะแท้จริงขั้นสุดท้าย หรืออสังขตธรรม ก็มีอยู่ตามสภาวะของมัน โดยไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวเป็นผู้สร้างผู้บันดาลสิ่งต่างๆ ไม่ต้องมาแทรกแซงขัดขวางหรือขัดแย้งกับกระบวนธรรมฝ่ายสังขตะ (ในแง่นี้จะเห็นว่า นิพพานไม่มีทางเป็นพระเจ้า หรือ God ได้เลย ไม่ว่าบางท่านจะพยายามเพียงใดก็ ตามที่จะเทียบให้เป็นอย่างเดียวกัน นอกจากจะยอมปรับความหมายของ God เสียใหม่) (*๑๘๖)

เมื่อว่าโดยสามัญวิสัย ย่อมเป็นธรรมดาที่มนุษย์ทั่วไปจะต้องคิดว่ามีตัวตน มีพระผู้สร้างผู้บันดาลโลกและชีวิต เพราะตามที่มองเห็นด้วยสายตา การที่อะไรจะเกิดขึ้น จะเป็นไปอย่างไร ก็ต้องมีผู้สร้างหรือผู้ทำ ส่วนการที่จะมองเห็นเหตุปัจจัยซึ่งเป็นไปอยู่เบื้องหลังภาพของผู้สร้างผู้ทำนั้น เป็นเรื่องลึกซึ้งเห็นได้ยาก ดังนั้น ในสมัยโบราณ แม้แต่ฟ้าร้อง ลมพัด น้ำท่วม แผ่นดินไหว ก็จึงเข้าใจกันไปว่ามีเทวดาประจำอยู่เป็นผู้ทำทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงมิใช่เรื่องแปลก ที่สมณพราหมณ์ผู้ประเสริฐหรือเจ้าลัทธิชั้นพรหม จะพากันมาติดอยู่ในความคิดเรื่องอัตตาหรืออาตมัน และพระผู้สร้างผู้บันดาล ท่านผู้ใดมีปัญญามาก ก็ทำความคิดในเรื่องนี้ให้ละเอียดซับซ้อนกว้างขวางมาก แต่โดยสาระก็พากันมาวนเวียนติดอยู่ที่จุดเดียวกันนี้

การที่พระพุทธเจ้า ซึ่งก็น่าจะติดอยู่ในวงความคิดนั้น แล้วขยายบัญญัติให้ละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไป แต่
กลับทรงค้นพบความเป็นอนัตตา หลุดพ้นจากความยึดถือตัวตน มาทรงแสดงให้เห็นว่ากระบวนธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัยได้อย่างไรโดยไม่ต้องมีผู้สร้างผู้บันดาล และอสังขตธรรมซึ่งเป็นสภาวะแท้จริงสูงสุด มีอยู่ได้โดยไม่ต้องเป็นอัตตา ไม่ต้องเกี่ยวกับการสร้างสรรค์บันดาลอย่างไร ข้อนี้จึงนับเป็นความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่ง แห่งวิวัฒนาการทางปัญญาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เป็นการถอนตัวหลุดพ้นจากหลุมดักอันใหญ่โตแสนลึก ที่มหาชนพากันมาตกติดอยู่ นักปราชญ์ยิ่งใหญ่ในอดีตก่อนหน้านั้น แม้จะเข้าใจถึงหลักอนิจจตา และทุกขตา แต่ก็มาติดอยู่ในความคิดเรื่องอัตตา ความเป็นอนัตตาจึงเป็นภาวะที่เห็นได้ยากมากพระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงอธิบายความเป็นอนัตตา ก็มักต้องทรงแสดงโดยใช้อนิจจลักษณะและทุกขลักษณะเป็นเครื่องช่วยชี้นำ ข้อที่ว่าอนัตตตาเห็นได้ยากจนต้องใช้อนิจจตาและ ทุกขตาเป็นเครื่องช่วยอธิบายก็ดี การค้นพบอนัตตาเป็นความก้าวหน้าสำคัญของปัญญา และไม่ปรากฏก่อนหรือนอกพระพุทธศาสนาก็ดี เป็นเรื่องที่พระอรรถกถาจารย์ก็ได้ตระหนักอยู่แล้ว ดังจะยกคำกล่าวของท่านมาแสดงไว้ดังต่อไปนี้ (*๑๘๗)

“แท้จริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอนัตตลักษณะ ย่อมแสดงด้วยความไม่เที่ยงบ้าง ตัวความเป็นทุกข์บ้าง ด้วยทั้งความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์บ้าง ในข้อที่ว่านั้น พระองค์ทรงแสดงอนัตตลักษณะ ด้วยความไม่เที่ยง ในพระสูตรนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดพึงกล่าวว่า จักขุ (ตลอดถึงกายและใจ) เป็นอัตตา, คำกล่าวของผู้นั้นไม่สม (เพราะว่า) จักขุ (ตลอดถึงกายและใจ) ย่อมปรากฎแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม, ผู้มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปปรากฏนั้น ก็จะต้องลงเนื้อความว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป, เพราะฉะนั้น คำที่กล่าวว่าจักขุ (ตลอดถึงกายและใจ) เป็นอัตตานั้น จึงไม่สม. จักขุ (ตลอดถึงกายและใจ) ย่อมเป็นอนัตตา ฉะนี้” (*๑๘๘)

“พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักษณะ ด้วยความเป็นทุกข์ ในพระสูตรนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา ก็ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้วไซร้, รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ (มีความบีบคั้นข้องขัด-ทุกข์) และใครๆ ก็ฟังได้ (ตามปรารถนา) ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้ แต่เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ -ทุกข์) และจึงไม่ได้ (ตามปรารถนา) ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้, รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนี้” (*๑๘๙)

“พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักษณะ ด้วยทั้งความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์ในพระสูตรทั้งหลาย เช่นที่ว่า ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง, สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์, สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา, สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นพึงเห็นด้วยสัมมาปัญญา ตามที่มันเป็นอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา, มิใช่เราเป็นนั่น, นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา” (*๑๙๐)

เพราะเหตุไร จึงทรงแสดงอย่างนี้? เพราะความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์เป็นสภาพปรากฎ (คือมองเห็นได้ง่าย) จริงทีเดียว เมื่อถ้วย ชาม ขัน หรือวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ตกจากมือแตก ชนทั้งหลายย่อมกล่าวว่า “โอ้ อนิจจัง” อย่างนี้ ความไม่เที่ยง จึงชื่อว่าเป็นของปรากฎ เมื่อฝีและตุ่มเป็นต้นเกิดขึ้นตามร่างกาย หรือถูกตอถูกหนามเป็นต้นที่มตำ ชนทั้งหลายย่อมกล่าวว่า “โอย ทุกข์นะ” อย่างนี้ ทุกข์จึงชื่อว่าเป็นของปรากฏ ส่วนอนัตตาลักษณะ ไม่ปรากฏ คือไม่กระจ่างแจ้ง เข้าใจตลอดได้ยาก แสดงได้ยาก บัญญัติได้ยาก

“อนิจจลักษณะ และทุกขลักษณะนั้น พระตถาคตทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ก็ย่อมปรากฎ, แต่อนัตตลักษณะ ย่อมไม่ปรากฏ นอกจากพระพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้น, จะปรากฏก็แต่ในอุบัติกาลของพระพุทธเจ้าเท่านั้น”

“จริงอยู่ ท่านดาบสและปริพาชกทั้งหลาย ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ดังเช่นสรภังคศาสดา เป็นต้น ย่อมสามารถกล่าวว่า อนิจจัง ทุกขัง ได้ แต่ไม่สามารถที่จะกล่าวว่า อนัตตาแม้นหากว่าท่านสรภังคศาสดาเป็นต้นเหล่านั้น จะพึงสามารถกล่าวว่าอนัตตา แก่บริษัทที่ประชุมกันได้แล้ว, บริษัทที่มาประชุมกัน ก็คงจะมีการบรรลุมรรคผลได้ แท้จริง การบัญญัติ (ยกขึ้นมาวางให้ดู) อนัตตลักษณะ มิใช่วิสัยของใครๆ อื่น, หากเป็นวิสัยของพระสัพพัญญพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น. อนัตตลักษณะนี้เป็นของไม่ปรากฏโดยนัยดังกล่าวฉะนี้”

๑๘๓ พระไตรปิฎกบาลีอักษรไทย ฉบับสยามรัฐ เป็น อตุตา และ นิรตตํ บ้าง เป็น อตตํ และ นิรตุติ บ้าง ดู ขุ.สุ.๒๕/๔๑๐/๕๘๘ ; ๔๑๗/ ๕๐๑; ๔๒๑/๕๑๔, และดูประกอบ ๒๕/๔๑๑/๔๘๙, ๔๑๒/๔๙๑ ; ๔๓๕/๕๔๕) แต่ฉบับอื่นๆ เท่าที่พบเป็น อตุตา และ นิรตุตา ทั้งนั้น
๑๘๔ ดู ขุ.ม.๒๙/๑๐๗/๙๗; ๔๒๗/๒๙๗; ๗๒๑/๔๒๖ และดูประกอบ ขุ.ม.๒๙/๑๒๒/๑๐๗; ๑๖๔/๑๒๙; ขุ.จู.๓๐/๔๐๒/๑๙๓
๑๘๕ ขุ.สุ.๒๕/๔๒๑/๕๑๔; อธิบายใน ขุ.ม.๒๙/๗๒๑/๔๒๖
๑๘๖ ว่าที่จริง ทั้งคำว่าพระเจ้า และคำว่า God ต่างก็จัดอยู่ในจำพวกคำที่มีขอบเขตความหมายไม่ลงตัว คำว่าพระเจ้านั้น แต่เดิมเป็นคำที่ชาวพุทธใช้เรียกพระพุทธเจ้า (พระผู้เป็นเจ้า ก็เป็นคำเรียกพระภิกษุ) ต่อมา เมื่อชาวคริสต์ใช้คำนั้นเรียกเทพสูงสุดของตนแล้ว ชาวพุทธก็ปล่อยจนลืมความหมายที่ตนเคยใช้เดิม ส่วนคำว่า God ชาวคริสต์ใช้เรียกเทพสูงสุดที่ตนนับถือว่าเป็นผู้สร้างโลก มีลักษณะเป็นตัวบุคคล แต่นักปรัชญาบางคนแปรขยายความหมายของ God ออกไปเป็นสภาวะนามธรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการสร้าง
โลก นักปราชญ์คริสต์สมัยใหม่บางท่านก็อธิบายความหมายของ God ใหม่อย่างเป็นนามธรรม ไม่เป็นตัวบุคคล แต่สถาบันศาสนาคริสต์ไม่ยอมรับ (ถ้าไม่ถึงกับถือหรือประณามว่านอกคอก), Hans King ใน Does God Exist? An Answer for Today, trans. Edward Quinn (London: Collins, 1980), pp. 594-602] เมื่อพยายามเปรียบเทียบ God กับ นิพพาน ก็ตระหนักดีถึงความแตกต่างในแง่ที่นิพพานไม่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์บันดาลโลก
๑๘๗ วิภงฺด.อ.๖๓-๖๔; และบางส่วนใน ม.อ.๒/๑๕๑-๒; วินยฎีกา ๔/๘๒
๑๘๘ ม.อุ.๑๔/๘๑๘/๕๑๒
๑๘๙ สํ.ข.๑๗/๑๒๗/๘๒
๑๙๐ เช่น สํ ข.๑๗/๔๒/๒๘

🔅 บทที่ ๓ ไตรลักษณ์
คำอธิบายไตรลักษณ์ตามหลักวิชาในคัมภีร์
๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ความหมายของไตรลักษณ์
                พิเศษ: ทุกข์ในอริยสัจ แยกให้ชัด จากทุกข์ในไตรลักษณ์
                    (ก) หมวดใหญ่ของทุกข์ 
                ชุดที่ ๑ ทุกข์ ๑๒
                ชุดที่ ๒ ทุกข์ ๒
                ชุดที่ ๓ ทุกข์ ๒
                ก) ขอบเขตความหมาย
                ข) ความหมายพื้นฐาน
                ค) ความหมายที่ไม่ต้องอธิบาย
                ง) ความหมายที่อธิบายทั่วไป
            ๔. อัตตา - อนัตตา และ อัตตา - นิรัตตา
                อัตตา กับ มานะ
        คุณค่าทางจริยธรรม
            จ. คุณค่าทางจริยธรรมของไตรลักษณ์ตามลำดับข้อ
                ๑. อนิจจตา
                ๒. ทุกขตา
                ๓. อนัตตตา