แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ราชคฤห์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ราชคฤห์ แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์

ธรรม เป็นอิสระจากคน คนถึงธรรม เป็นอิสระจากสังขาร

ธรรมอย่างหนึ่งที่พระองค์ตรัสไว้ ที่พึงระลึกในเวลานี้ ก็คือ ธรรมในแง่ความจริงของสิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะความไม่เที่ยง คือภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป การที่เรามา ณ สถานที่นี้ มองในแง่หนึ่งก็เป็นเครื่องเตือนใจของเราให้ระลึกถึงความจริงข้อนี้ จะเห็นว่าสถานที่นี้ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น บัดนี้เหลือแต่ซากเพียงนิดเดียวเท่านั้น และแม้แต่ซากเท่าที่มองเห็นเหล่านี้ ก็ยังต้องอาศัยการขุดการแต่งจึงปรากฏได้ เพราะผ่านกาลเวลายาวนานตั้ง ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว สถานที่นี้ก็ทรุดโทรมแตกหักปรักพังไป ความเป็นอนิจจังก็เข้ามาครอบงำสิ่งที่เป็นสังขารทั้งหลาย ไม่เฉพาะแต่พระคันธกุฎีเท่านั้น พระพุทธเจ้าเองก็ทรงล่วงลับดับขันธปรินิพพานไปแล้ว

มองกว้างออกไป ที่ตั้งของพระคันธกุฎีนี้ คือเมืองราชคฤห์ทั้งหมด ที่เคยเป็นเมืองหลวง เป็นราชธานีของมหาอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ คือแคว้นมคธ เคยเต็มไปด้วยผู้คนประชาชนพลเมืองมากมาย บัดนี้ก็ไม่มีอะไรเหลือเป็นร่องรอย ราชคฤห์ได้กลายเป็นที่รกร้าง ถิ่นห่างไกล อยู่ในชนบท เป็นบ้านนอกไป นี้คือความเปลี่ยนแปลงซึ่งเราจะเห็นได้ในเรื่องของความเสื่อมและความเจริญของสังคม ของประเทศชาติ ตลอดจนอารยธรรมทั้งหลาย ดังที่สังคมอินเดียที่เป็นชมพูทวีปได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ประเทศอินเดีย เคยเป็นดินแดนแห่งอารยธรรม มีความเจริญก้าวหน้า เป็นศูนย์กลางทางความคิด สติปัญญา และวิทยาการต่างๆ มากมาย แต่บัดนี้ อินเดียก็เสื่อมลงไป อารยธรรมก็จบสิ้นสลายลงไปเป็นยุคๆ จนกล่าวได้ว่า อินเดียที่เคยเป็นอู่เป็นแหล่งที่เกิดและที่ดำรงอยู่ของอารยธรรม ต่อมาก็ได้กลายเป็นสุสานของอารยธรรม เวลานี้อินเดียกลายเป็นตู้โชว์ของอดีต คือไม่มีอะไรที่ดีงามยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน มีแต่เรื่องของความรุ่งเรืองในอดีต เวลาเรามาอินเดีย ก็มาชมสิ่งที่เป็นหลักฐานแสดงความเจริญในอดีตเท่านั้น ส่วนในปัจจุบันนี้ เราจะได้เห็นแต่สภาพที่น่าสลดหดหู่ใจ ถ้าเราทำใจไม่ถูก ก็จะมีแต่ความหดหูเศร้าหมองขุ่นมัว หรือบางทีก็รำคาญหงุดหงิดด้วย จึงต้องเตือนกันอยู่เสมอว่า ถ้ามาอินเดียแล้วต้องทำใจให้ถูก อันนี้จึงเป็นคติเตือนใจ ให้มองเห็นความหมายหลายอย่าง นอกจากให้คติในอนิจจังความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลายแล้ว ยังทำให้เรามองตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ถึงเรื่องความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และได้ความรู้จากการศึกษาสังคมของคนอินเดียด้วย

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธศาสนาเคยเจริญ ผู้คนก็มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่อมา ถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระพุทธศาสนาเจริญยิ่งขึ้น แผ่ไพศาล ประชาชนก็มีความเจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจ ครั้นมาถึงบัดนี้ ประเทศอินเดียเป็นอย่างไร สภาพที่เราเห็นมีแต่ความยากจนข้นแค้น สกปรกรกรุงรัง ญาติโยมหลายคนอาจมีความไม่สบายใจ ถ้าเราไม่ได้ทำใจตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะสงสัยข้องใจว่ามันเป็นอย่างนี้ไปได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเสื่อมความเจริญ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะน้อมนำมาพิจารณาให้เกิดประโยชน์ เป็นเรื่องทางสติปัญญาทั้งสิ้น ดูอย่างง่ายๆ ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดมีขึ้นมาอันเกี่ยวข้องกับสถานที่นี้ จะเป็นพระมูลคันธกุฎีบนเขาคิชฌกูฏนี้ก็ดี หรือกว้างออกไปข้างล่าง คือเมืองราชคฤห์ ตลอดจนดินแดนที่เราผ่านมา คือมหาอาณาจักรมคธ ทั้งหมด ที่เป็นชมพูทวีป มีเมืองปาตลีบุตรของพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่าที่เมืองราชคฤห์นี้ เพราะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ชมพูทวีปแห่งแคว้นมคธนี้แผ่ไพศาล จนได้กล่าวแล้วว่าใหญ่กว่าประเทศอินเดียในปัจจุบัน หรือในยุคใดๆ ก็ตามของชมพูทวีป

ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าเมืองราชคฤห์ หรือปาตลีบุตร หรือปัตนะ ก็มีแต่ความเสื่อมโทรมทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่แสดงถึงความเจริญ ถ้าไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีนักค้นคว้า ไม่มีนักโบราณคดี มาเล่าขานบรรยายแสดงหลักฐาน คนก็ไม่รู้ว่าเมืองราชคฤห์อยู่ที่ไหน ปาตลีบุตรอยู่ที่ไหน สิ่งเหล่านี้สูญหาย ปรักหักพัง ทลายไป หายไป พร้อมกับกาลเวลา แม้แต่มหาอาณาจักรต่างๆ ก็หมดไปได้ พระพุทธเจ้าทรงเตือนเรา สอนเราไว้แต่พุทธกาล ดังที่จารึกในพระไตรปิฎก ตรัสเล่าเรื่องราวของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอดีต บางพระสูตรก็ตรัสถึงเมืองใหญ่ๆ เช่นในมหาสุทัสสนสูตร พระองค์ได้ตรัสแสดงเรื่องของเมืองกุสาวดี อันยิ่งใหญ่ในอดีต ตรัสพรรณนาถึงความรุ่งเรื่องงดงามความใหญ่โตของสิ่งก่อสร้างในพระราชวังต่างๆ แล้วท้ายที่สุดพระองค์ก็ตรัสว่า บัดนี้ สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดได้สูญสลายสิ้นไปกับกาลเวลาแล้ว นี่แหละคือความเป็นอนิจจัง

บางแห่งก็ตรัสถึงความเป็นไปในพระชนมชีพของพระองค์เองว่า พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระมหาสาวกและพระสาวกมากมายแวดล้อมเป็นบริวาร พระวรกายของพระองค์ก็สง่างาม มีฉัพพรรณรังสีเป็นที่ชื่นชม เสด็จไปทรงบำเพ็ญพุทธกิจในที่ต่างๆ ปรากฏเป็นเหตุการณ์อันตื่นตาตื่นใจมากมาย พระองค์ตรัสถึงความรุ่งเรืองและความสำเร็จในพระชนมชีพของพระองค์ แล้วลงท้ายก็ตรัสว่า ในที่สุดพระองค์ก็ต้องจากไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสังขาร มีความไม่เที่ยง จะต้องสูญสิ้น หรือแตกดับไปเป็นธรรมดา ทั้งหมดนั้นคือการที่พระองค์ตรัสเตือนเราให้น้อมรำลึกถึงธรรม ฉะนั้น เมื่อเราได้มายังสถานที่ที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์อย่างนี้ อันเป็นความจริงของสิ่งทั้งหลายแล้ว ในแง่หนึ่งก็ให้มีความเจริญศรัทธาว่า เราได้มาเฝ้าถึงที่ประทับของพระองค์แล้ว ด้วยความเลื่อมใสที่มีต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พร้อมกันนั้น ศรัทธาของชาวพุทธก็ไม่ทันอยู่แค่นั้น แต่จะนำไปสู่ปัญญาขั้นที่หนึ่ง คือทำให้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสแสดงไว้ แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ เมื่อเราต้องการแสดงศรัทธาด้วยการบูชาพระพุทธเจ้า และนำเอาดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้ พระองค์ก็ตรัสเตือนว่า การบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนที่เป็นอามิสบูชานี้ ยังไม่ใช่เป็นการบูชาที่มีผลมากอย่างแท้จริง ถ้าจะบูชาให้ได้ผลอย่างแท้จริง ก็ต้องบูชาด้วยการปฏิบัติ คือนำเอาธรรมของพระองค์มาใช้ประโยชน์ ให้เกิดผลในชีวิตของเราอย่างแท้จริง
ฉะนั้น ปฏิบัติบูชา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมบูชา คือ การบูชาด้วยธรรม ซึ่งตรงกับการปฏิบัติธรรมนั่นเอง ถ้าเราทำได้สำเร็จ ก็จะทำให้การมานมัสการสถานที่สำคัญ มีสังเวชนียสถาน เป็นต้น เกิดผลเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง นอกจากนั้น ก็น้อมนำจิตใจ มาระลึกนึกถึงธรรมในความหมายอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ คือการระลึกถึงความจริงของสังขารทั้งหลายที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วจะได้ไม่ฝากชีวิตเอาไว้กับของที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้ล่วงลับไป แตกดับไป ก็เห็นๆ กันอยู่ มองลงมาตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปรินิพพานสิ้นไป มหาสาวกทั้งหลาย ๘๐ องค์ หรือพระสาวกกี่องค์ก็ตาม ก็ปรินิพพานหมด อาณาจักรมคธในสมัยราชคฤห์ก็สลายไป อาณาจักรมคธในสมัยปาตลีบุตรก็สลายไป สังคมจะสลายไป ผู้คนจะหมดไป แต่ภูเขายังอยู่ ดินยังอยู่ ฟ้ายังอยู่ แต่ อ้อ! ยังมีสิ่งที่คงอยู่ นั่นดูสิ แม้อาณาจักรเหล่านี้จะสิ้นไปที่เห็นอยู่คือสิ่งเหล่านี้ ดิน น้ำ ลม ไฟ ภูเขา ทะเล ยังมี ในทะเลก็ยังคลื่นซัดฝั่งอยู่ตลอดเวลา แม้อาณาจักรทั้งหลายจะผ่านพ้นล่มสลายลงไป สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์จะหมดสิ้นไป แต่ธรรมชาติก็ยังทำหน้าที่ของมันต่อไป เราไปยืนอยู่ริมฝั่งทะเล จะเห็นคลื่นซัดฝั่ง ทำหน้าที่ของมันตลอดเวลา สองพันปี สามพันปี มันเคยทำอย่างไร มันก็ทำของมันอยู่อย่างนั้น กาลเวลาผ่านไป มนุษย์ล่วงลับไป อาณาจักรล่มสลายไป อารยธรรมต่างๆ สูญสิ้นไป คลื่นทะเลก็ยังซัดฝั่งอยู่ตามเดิม เหมือนดังว่าธรรมชาตินี่แหละยืนยงคงอยู่แท้จริง แต่มองไปอีกทีหนึ่ง แม้แต่ธรรมชาติเหล่านี้ก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อย่างเช่น ภูเขา ดิน น้ำ ลม ไฟ มันก็ไม่ได้คงสภาพอยู่ ภูเขาก็เปลี่ยนแปลงไป แต่อาศัยกาลเวลายาวนาน ดังจะเห็นได้ง่าย ตามทางที่เราจะเดินทางต่อไปอีก ยังสถานที่อีกมากมายในไม่ช้า เช่น สถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ที่แม่น้ำเนรัญชรา เมื่อไปเห็นที่นั่น เราก็จะได้คติธรรมที่ยิ่งชัดขึ้นมาว่า ที่นั่น ณ ริมฝั่งแม่น้ำที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ แน่นอน ตัวสถานที่และบริเวณพร้อมทั้งสิ่งแวดล้อมย่อมเปลี่ยนไป แต่คงจะมีดิน มีน้ำ มีแม่น้ำอยู่ตรงนั้น กล่าวคือแม่น้ำเนรัญชรา

อย่างไรก็ตาม หาเป็นเช่นนั้นไม่ แม่น้ำเนรัญชราปัจจุบัน ก็ไม่เหมือนอย่างเก่า บัดนี้ มันไม่เป็นแม่น้ำแล้ว แต่เป็นแม่ทราย คือ น้ำไม่เหลืออยู่ในสภาพที่จะให้เราได้เห็น เราจะเห็นแต่ทราย เมื่อเดินลงไป เราสามารถเดินข้ามแม่น้ำได้ เพราะมีแต่ทรายทั้งนั้น นั่นคือความเปลี่ยนแปลงของสังขาร แม้แต่ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เปลี่ยนแปรสภาพของมันไปในรูปต่างๆ ฉะนั้น ไม่ว่าจะมองอะไร ก็เป็นอนิจจังทั้งสิ้น มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไป คติเหล่านี้ก็มาสอนใจของเราว่า อย่าเอาชีวิต และความสุขของเราไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เราต้องเร่งสร้างความดีงาม สิ่งที่ประเสริฐให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเราด้วยการปฏิบัติธรรม ธรรมเท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่ดีงามมีชีวิตที่ประเสริฐ ถ้ามัวแต่เอาชีวิตของเราไปฝากไว้กับสิ่งภายนอก เช่นทรัพย์สิน เงินทอง ก็จะไม่ได้สาระที่แท้จริง เพราะสิ่งเหล่านี้จะล่วงลับดับสลายไปสิ้น ทำอย่างไรเราจึงจะประสบสาระที่แท้จริงได้ ธรรมคือความจริงเท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าถึงสาระ อันนี้พระพุทธองค์ก็ทรงนำไว้เป็นแบบอย่างแล้ว โดยที่พระองค์ได้
ทรงเข้าถึงธรรม คือความจริง ที่ทำให้พระองค์ซึ่งเป็นมนุษย์ผู้หนึ่งเปลี่ยนเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงสั่งสอน ตรัสเตือนเราอยู่เสมอ ตามคติในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่เราสวดกันอยู่ แม้แต่ญาติโยมก็ได้ยินพระสงฆ์สวดอยู่บ่อยๆ เมื่อไปในงานพิธีที่วัดดังข้อความในพระสูตรหนึ่งที่ตรัสว่า อุปปาทา วา ภิกฺขเวตถาคตานํ เป็นต้น (องตก. ๒๐/๕๗๖) ซึ่งมีใจความว่า พระตถาคตหรือพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ความจริงที่เป็นภาวะตามธรรมดา ก็คงอยู่ของมันอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริง คือหลักที่เป็นธรรมนิยามนั้น แล้วก็ทรงนำมาแสดง ชี้แจง ทำให้เข้าใจได้ง่าย อันนี้แหละ คือตัวความจริง ที่พระพุทธเจ้าทรงเพียรพยายามบำเพ็ญพุทธกิจ สั่งสอนเรา เพื่อให้เราเข้าใจ และเข้าถึง ไม่ใช่จะอยู่แค่ติดตามไปดูเห็นใกล้ชิดพระองค์เท่านั้น การที่มีพระพุทธเจ้านั้น ความมุ่งหมายและประโยชน์ของพระองค์ที่แท้ก็คือ การที่พระองค์เป็นผู้ที่จะนำเราในการพัฒนาตนให้เข้าถึงความจริงนั้น 

ธรรม คือความจริงนั้นก็มีอยู่ เป็นอยู่ ปรากฏอยู่ตลอดเวลาตามธรรมดาของมัน แต่เราไม่มีดวงตาปัญญาที่จะมองเห็น พระองค์ทรงใช้ปัญญามาค้นพบธรรม และนำธรรมนั้นมาแสดง เราได้ฟังคำสอนของพระองค์ และมองตามที่พระองค์ทรงชี้บอกเปิดเผยให้ แล้วเราก็สามารถเข้าถึงความจริงนั้นได้ เมื่อเข้าถึงความจริงแล้ว เราก็เห็นธรรมอันเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นนั่นเอง เมื่อเห็นธรรมและเข้าถึงธรรมที่พระองค์เห็นแล้ว เราก็จะมีชีวิตที่ดีงาม ประเสริฐ เข้าถึงสิ่งที่สูงสุดเช่นเดียวกับพระองค์แล้วเราก็จะมีความสุขเป็นอิสระแท้จริง พระพุทธเจ้าทรงมีหลักการสำคัญว่า ไม่ต้องการให้สาวกหรือผู้ใดมาติดยึดขึ้นต่อพระองค์ ความสัมพันธ์กับพระองค์มีเพียงแค่ว่า อาศัยพระองค์เป็นสื่อที่ช่วยชักนำไปสู่สิ่งดีงาม คือเข้าถึงธรรมนั่นเอง พระพุทธเจ้าทรงย้ำนัก ในเรื่องความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อพระองค์ เริ่มต้นด้วยศรัทธา เมื่อเรามีศรัทธาในพระพุทธองค์ ก็ทำให้เราเข้ามาหาและฟังคำสอนของพระองค์ จากการฟังคำสอนของพระองค์ ก็ทำให้เราพัฒนาปัญญาขึ้นมาเพื่อเข้าถึงความจริงตามที่พระองค์ทรงเข้าถึงมาแล้ว ด้วยปัญญาของเราเอง เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงเข้าถึงแล้ว เพราะฉะนั้น ศรัทธาจึงนำไปสู่ปัญญา และการพึ่งพาอาศัยก็เพื่อนำไปสู่อิสรภาพ นี้คือประโยชน์ที่แท้จริงของการนับถือพระพุทธศาสนา ฉะนั้น เมื่อเราได้เดินทางมาถึงสถานที่นี้ และได้เจริญศรัทธาจึงเป็นประโยชน์มาก เมื่อศรัทธามีกำลังแรงกล้าขึ้น ก็จะทำให้เรามีกำลังใจเข้มแข็งในการที่จะเล่าเรียนศึกษาประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้การปฏิบัติของเราหนักแน่นจริงจัง

วันพฤหัสบดี

ศรัทธาและปัญญา นำเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

บัดนี้เรามาถึงเมืองนี้ซึ่งมีความสำคัญดังได้กล่าวแล้ว และได้มาประชุมกันที่พระมูลคันธกุฎี บนยอดเขาคิชฌกูฏแห่งนี้ที่เป็นศูนย์กลางของการบำเพ็ญพุทธกิจ และศาสนกิจทั้งหมดในการประดิษฐานพระพุทธศาสนา ฉะนั้น เมื่อเรามาถึงที่นี่แล้ว จึงควรจะได้มีความปลาบปลื้มใจและอิ่มใจว่า เราได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับของพระองค์ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสประทานพระโอวาทไว้ว่า แม้พระรูปกายของพระองค์จะล่วงลับไป แต่พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงไว้ก็ยังคงอยู่ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มีทั้งในขั้นของศรัทธา และปัญญา ด้วยศรัทธานั้นในแง่หนึ่งเราก็อยากจะมาเฝ้านมัสการพระพุทธเจ้า ด้วยการไปดู ไปรู้ ไปเห็น ไปเยือนสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับพระองค์ เราเรียกสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับว่าเป็นเจดีย์ชนิดหนึ่ง


เจดีย์ คือสิ่งที่เตือนใจให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า เจดีย์นั้นมีหลายอย่าง และอย่างหนึ่งก็คือ บริโภคเจดีย์ ซึ่งแปลว่า เจดีย์คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย พระคันธกุฎี เป็นสถานที่ที่พระองค์เคยประทับ เป็นเสนาสนะที่พระองค์เคยใช้สอย จึงจัดเป็นปริโภคเจดีย์หรือบริโภคเจดีย์ชนิดหนึ่งด้วย เรามานมัสการพระองค์ที่นี่ คือมานมัสการบริโภคเจดีย์ แต่ที่สำคัญก็คือ เป็นที่ที่พระองค์เคยประทับอยู่จริง เมื่อมาถึงมาดูมาเห็นมากราบไหว้ด้วยตัวเองอย่างนี้แล้ว จิตใจของเราก็เกิดความรู้สึกปลาบปลื้มดื่มด่ำขึ้นมาว่า เราในฐานะที่เป็นชาวพุทธ แม้จะห่างจากพระพุทธองค์โดยกาลเวลาถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี และห่างโดยสถานที่ คือเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งห่างไกลจากประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป แม้จะมีความห่างไกลทั้งสองประการนั้น แต่บัดนี้ เราได้นำตัวเข้ามาใกล้พระองค์ มาอยู่หน้าที่ประทับแล้ว เมื่อน้อมใจรำลึกถึงพระ
องค์ เราก็มีความรู้สึกปลาบปลื้มใจ ดังที่ได้กล่าวมา เป็นเครื่องเจริญศรัทธา และศรัทธาก็จะน้อมนำจิตใจของเราให้เจริญงอกงามในธรรม แต่ศรัทธาจะเกิดผลดังกล่าวได้ จะต้องสัมพันธ์กับปัญญา ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ท่านให้เกื้อกูลต่อปัญญา เริ่มแรกก็ประกอบด้วยปัญญา และจะต้องนำไปสู่ปัญญาเสมอ

ศรัทธาของเรานำไปสู่ปัญญาเบื้องต้น โดยเป็นเครื่องเตือนใจเราให้ระลึกถึงคำสอนของพระองค์ เมื่อเราระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยศรัทธา ใจเราก็จะน้อมไปถึงคำสอนของพระองค์ จะไม่ติดอยู่แค่พระรูปกายของพระองค์เท่านั้น เราจะนึกไปถึงว่า อ้อ! พระองค์ทรงสอนเราไว้ให้เราประพฤติปฏิบัติดีงามอย่างนี้ๆ เมื่อเราระลึกถึงพระองค์แล้ว ก็มาระลึกถึงคำสอนของพระองค์ ทำให้มีผลในทางปฏิบัติ เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา ยิ่งกว่านั้น เมื่อเราปฏิบัติ นอกจากมีผลต่อชีวิตของเราเองแล้ว ก็ยังมีผลต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อโลก เมื่อทุกคนประพฤติดีปฏิบัติชอบตามคำสั่งสอนของพระองค์ ก็จะทำให้โลกนี้มีสันติสุขสืบต่อไป

โดยนัยนี้ ศรัทธาจึงต้องนำไปสู่ปัญญา เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเตือนอยู่เสมอ อย่างเช่นพระสาวกองค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อบวชแล้วก็มีความหลงใหลในพระรูปกายของพระพุทธเจ้า คือติดใจในพระรูปโฉมของพระพุทธเจ้ามาก แม้มาบวชก็บวชด้วยความรู้สึกอย่างนั้น คืออยากอยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า จะได้เข้าเฝ้าคอยติดตามพระองค์ได้เรื่อยไป ท่านผู้นั้นคือ พระวักกลิ เมื่อบวชแล้วก็คอยติดตามพระองค์ไปโน่นไปนี่ตลอดเวลา พระพุทธองค์ทรงมองเห็นความเป็นไปหรือพฤติกรรมเหล่านี้ของพระวักกลิอยู่เสมอ ทรงปรารถนาประโยชน์แก่พระวักกลิ โดยทรงเห็นว่า ถ้าพระวักกลิมามัวแต่ติดใจอยู่กับพระรูปกายของพระองค์ ก็จะไม่ก้าวหน้าในธรรม จะอยู่แค่ในขั้นศรัทธา ควรให้ศรัทธานั้นนำสู่ปัญญาสืบต่อไป คือศรัทธานั้น ควรจะเป็นสื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีงามของพระวักกลิเอง จนบรรลุถึงความเป็นอิสระด้วยปัญญา พระองค์จึงทรงรอเวลา เมื่อพระพุทธเจ้าจะตรัสจะสอนอะไร พระองค์จะทรงตรวจความพร้อมของบุคคล เช่น ทรงตรวจดูความแก่ของอินทรีย์ หรือความสุกงอมของอินทรีย์ก่อน ในกรณีของพระวักกลิน เหตุการณ์ก็ดำเนินมา จนกระทั่งวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสออกไปเป็นการให้สติแก่พระวักกลิ แต่วิธีตรัสของพระองค์ บางครั้งก็ทรงใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรงบ้าง เพื่อต้องการให้สะดุดหรือกระตุก เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกที่สะท้อนขึ้นมา หรือทำให้เกิดการคิดขึ้นใหม่ ที่จะก้าวต่อไปได้ อันจะนำไปสู่ผลที่ดีงามสืบไปข้างหน้าวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระวักกลว่า “ดูกรวักกลิ เธอจะตามไปทำไมกับร่างที่เปื่อยเน่าได้นี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม" (เช่น สํ.ข. ๑๗/๒๑๖)

พระองค์ยังตรัสไว้ ณ ที่อื่นอีกว่า "ผู้ใด แม้จะจับมุมชายผ้าสังฆาฏิของพระองค์ ติดตามพระองค์ไปทุกย่างพระบาท แต่ถ้าเขาถูกกิเลสครอบงำใจ ก็ชื่อว่าอยู่ห่างไกลจากพระองค์ เพราะผู้นั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ไม่เห็นพระองค์ แต่ผู้ใด ถึงจะอยู่ห่างไกลพระองค์ตั้งร้อยโยชน์ แต่จิตใจมั่นคงไม่ถูกกิเลสครอบงำ ก็ชื่อว่าอยู่ใกล้พระองค์ เพราะผู้นั้นเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรม ก็เห็นพระองค์" (ขุ.อิติ. ๒๕/๒๗๒)

พระดำรัสนี้เป็นพุทธพจน์ที่สำคัญ เรามักจำกันได้แต่ก่อนที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” หมายความว่า เพียงแต่มาติดตามพระองค์มองเห็นพระวรกายของพระองค์นี้ ไม่ใช่เป็นการเห็นพระองค์อย่างแท้จริง แต่เมื่อใดเห็นธรรม เมื่อนั้นจึงจะชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ขอย้ำพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสเตือนไว้ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม” หมายความว่า การเห็นองค์พระพุทธเจ้า กับการเห็นธรรมนั้น มีความหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าผู้ใดจะติดตามพระองค์เพื่อดูพระวรกายแล้ว ผู้นั้นก็จะไม่ได้เห็นอะไร นอกจากขันธ์ ๕ ที่มีความแตกดับเสื่อมสลายไปได้ ถ้าจะเห็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริงก็ต้องเห็นธรรม อันนี้เป็นคำตรัสเตือนสติที่สำคัญมาก และเป็นการโยงศรัทธา ศรัทธาที่เกิดจากการมีความเลื่อมใสในองค์พระพุทธเจ้า อย่างเรามานมัสการพระองค์ ณ สถานที่นี้ จะเป็นเครื่องเตือนใจเรา ให้ระลึกต่อไปถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า คือตัวธรรมะ และพยายามประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลต่อชีวิตอย่างแท้จริงไปสู่ปัญญา เป็นการใช้ศรัทธาให้เป็นประโยชน์ 

ราชคฤห์: ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

เจริญพรโยมผู้ศรัทธาทุกท่าน เราได้เดินทางมาบนเส้นทางบุญจาริกโดยลำดับ และขณะนี้เราได้มานั่งเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ ณ ที่ประทับของพระองค์ คือพระมูลคันธกุฎี เมื่อเช้านี้เรามาถึงเมืองปัตนะหรือเมืองปาตลีบุตร ซึ่งก็ได้เล่าให้โยมฟังแล้วว่า เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เป็นแหล่งที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ออกจากชมพูทวีปไปสู่ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย อันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อประมาณ ๒๓๕ ปีหลังพุทธกาลหลังจากนั้น เราก็ได้เดินทางต่อมา จนถึงเมืองนาลันทา แล้วก็เดินทางมายังเมืองราชคฤห์ ตามลำดับ ขณะนี้เรามาถึงเมืองราชคฤห์แล้ว

ราชคฤห์: ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

เมืองราชคฤห์ นี้ เป็นเมืองหลวงเก่าของแคว้นมคธ เมืองปาตลีบุตรมีความสำคัญในสมัยหลังพุทธกาล ในฐานะเป็นแหล่งที่คำสอนของพระพุทธศาสนาเผยแพร่ออกไปสู่ประเทศต่างๆ เมื่อเรามาถึงเมืองราชคฤห์นี้ ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะแผ่ออกไปจากเมืองปาตลีบุตรสู่ประเทศต่างๆ ได้ ก็ต้องมาเริ่มต้นที่นี่ก่อน เมืองทั้งสองนี้มีความสำคัญด้วยกันทั้งคู่

ในทางการเมืองก็สำคัญ ในแง่ที่ว่าทั้งสองแห่งต่างก็เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธด้วยกันดังที่กล่าวแล้วว่า ปาตลีบุตรเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธหลังพุทธกาล ส่วนราชคฤห์นี้ เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล ในทางส่วนในทางพระศาสนาก็เหมือนกันในแง่ของการเป็นศูนย์กลางการเมืองมีความเหมือนกันอย่างนี้
ที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ออกไป สำหรับเมืองราชคฤห์นี้ เป็นที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนา มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ก็เคยเสด็จมาที่นี่ ดังที่เราทราบกันว่า ในการเสด็จออกบรรพชานั้น เมื่อเสด็จมาที่แม่น้ำอโนมาแล้ว อธิษฐานเพศบรรพชาและตัดพระเมาลีที่นั่น ต่อมาก็เสด็จมาที่เมืองราชคฤห์นี้ พระเจ้าพิมพิสารได้ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์เสด็จบิณฑบาตอยู่ ก็ทรงมีความเลื่อมใส แล้วก็ได้ทรงสนทนากับพระโพธิสัตว์ พร้อมทั้งได้รับพรคล้ายๆ เป็นคำปฏิญญาจากพระโพธิสัตว์ ที่ทรงรับว่า เมื่อทรงค้นพบสัจธรรมแล้วจะเสด็จมายังเมืองราชคฤห์นี้ เมื่อพระพุทธเจ้าบรรลุโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ได้เสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์นี้ ในแง่หนึ่ง ก็เหมือนกับว่า ทรงปฏิบัติตามพระพุทธปฏิญญาที่ได้ทรงให้ไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร แต่อีกแง่หนึ่งมองในด้านกิจการของพระพุทธศาสนา ก็ถือว่ามีความสำคัญ ในฐานะที่เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ เป็นศูนย์กลางของกิจการบ้านเมือง พระพุทธเจ้าทรงเลือกว่าการที่จะให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองควรเริ่มต้นที่ใด ก็ปรากฏว่า เมื่องราชคฤห์ได้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา โดยทรงเสด็จมาแสดงธรรมที่นี่ ทำให้พระเจ้าพิมพิสารได้ดวงตาเห็นธรรม และปฏิญาณพระองค์เป็นพุทธมามกะ

ต่อจากนั้น เหตุการณ์สำคัญที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในพระพุทธศาสนาหลายอย่างก็ได้เกิดขึ้นที่นี่ เช่น การถวายวัดเวฬุวัน ที่เป็นวัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนา ซึ่งพรุ่งนี้ก็เข้าใจว่าจะได้ไปแวะเยี่ยมเยียนด้วยยิ่งกว่านั้นประจวบกับช่วงนี้จะถึงวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่วัดเวฬุวันนั้น จึงนับว่าเป็นเวลาอันเหมาะที่จะได้ไปนมัสการพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวันนั้นด้วย พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจที่เมืองราชคฤห์นี้ในพรรษาแรก พุทธกิจได้ดำเนินก้าวหน้าไปอย่างมาก ความก้าวหน้าที่ควรกล่าวไว้อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่การได้พระอัครสาวก คือ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ หรือที่ชาวพุทธเรานิยมเรียกว่า พระโมคคัลลาน์-สารีบุตร ซึ่งมาเป็นกำลังสำคัญในการที่จะเผยแพร่พระพุทธศาสนาต่อไป

จุดสําคัญที่เป็นสุดยอด แห่งความเป็นศูนย์กลางพุทธกิจของเมืองราชคฤห์ก็คือที่นี่ ที่พระมูลคันธกุฎี นี้ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์เสด็จมาประทับที่นี่ เรียกว่า เป็นศูนย์กลางพุทธกิจเพราะว่า กิจการพระพุทธศาสนาเริ่มต้นไปจากองค์พระพุทธเจ้า ฉะนั้นการที่เราได้มาที่นี่ จึงถือว่าเป็นจุดสุดยอดเลยทีเดียว นับว่าเป็นจุดศูนย์กลางของเมืองราชคฤห์อีกทีหนึ่ง เมื่อเราถือว่า เมืองราชคฤห์เป็นศูนย์กลางของการประดิษฐานพระพุทธศาสนา ก็ต้องถือว่า พระมูลคันธกุฎีนี้ เป็นศูนย์กลางการทำงานในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาอีกชั้นหนึ่ง

พระมูลคันธกุฏี (แปลว่า กุฏิที่มีกลิ่นหอม)
อีกประการหนึ่ง เมืองราชคฤห์ยังมีความสําคัญหลังพุทธกาลด้วย คือ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระสาวกทั้งหลายหลายได้เลือกเอาเมืองราชคฤห์นี้แหละเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๑ การสังคายนานั้น ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด เป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาหลังพุทธกาล คือ เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ก็ถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา การปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์จึงเป็นการเริ่มต้นของการที่พระพุทธศาสนาจะเผยแพร่ออกไป แต่หลังพุทธกาลแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไป พระธรรมวินัยที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้และบัญญัติไว้ จะเป็นศาสดาแทนพระองค์ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระสาวกทั้งหลาย มีพระมหากัสสปะ เป็นประธาน ได้ปรารภว่า พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ อาจจะกระจัดกระจายและเลือนลางหายไปได้ จึงได้มีการตกลงกัน โดยมีมติว่าจะประชุมกันทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยมาเป็นองค์พระศาสดาสืบแทนองค์พระพุทธเจ้า เป็นการเริ่มต้นเหตุการณ์ครั้งใหญ่หลังพุทธกาล จุดเริ่มต้นหลังพุทธกาลก็เริ่มต้นที่นี่ เพราะฉะนั้น เมืองราชคฤห์จึงมีความสำคัญมากในแง่ของการเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา ทั้งในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่และเป็นจุดเริ่มต้นของงานพระศาสนาคือสังคายนาหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว