แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระเจ้าอโศก แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระเจ้าอโศก แสดงบทความทั้งหมด

เลิกบูชายัญ เพียงเป็นฐาน สู่ความงอกงามในธรรม

ย้อนกลับไปถามว่า การเลิกบูชายัญหรือไม่บูชายัญ เป็นหลักการปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร เมื่อการบูชายัญเป็นหลักการยิ่งใหญ่ยอดสำคัญของสังคมพราหมณ์ ทางพระพุทธศาสนาก็จึงยกการเลิกบูชายัญหรือไม่บูชายัญขึ้นมาเป็นหลักการสำคัญของสังคมแทน โดยมีความหมายที่จะต้องทำความเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ในการบำเพ็ญพุทธกิจ มีหลายครั้งหลายคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบกับพราหมณ์ที่กำลังเตรียมการบูชายัญบ้าง กำลังประกอบบูชายัญบ้าง และมีทั้งพิธีบูชายัญขนาดย่อมส่วนบุคคล และพิธีระดับผู้ปกครองบ้านเมือง ถ้าเป็นพิธีใหญ่ จะมีการฆ่าสัตว์บูชายัญจำนวนมาก และทาสกรรมกรทั้งหลายมักเดือดร้อนมาก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปพบและสนทนากับเจ้าพิธี ในที่สุดเรื่องก็จะจบลงโดยที่เขาเองให้ปล่อยสัตว์ล้มเลิกพิธี พร้อมทั้งรับหลักการและวิธีปฏิบัติอย่างใหม่ที่พระองค์สอนไปดำเนินการ 

สาระสำคัญของหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน โดยทั่วไปจะให้
ประกอบยัญกรรมในความหมายใหม่ (หรือเป็นการฟื้นความหมายดั้งเดิมก่อนที่พวกพราหมณ์จะทำให้เพี้ยนไป) ซึ่งเน้นที่ทาน และต้องไม่มีการเบียดเบียนชีวิต ถ้าเป็นยัญพิธีใหญ่มากของผู้ปกครองบ้านเมือง คำสอนในเรื่องยัญของพระพุทธเจ้า จะรวมถึงการจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยและให้ราษฎรเป็นอยู่ผาสุกก่อน แล้วจึงทำยัญพิธี และบำเพ็ญทาน ดังเช่น ใน🔎กูฏทันตสูตร (ที่สี่ ๙/๑๙๙-๒๓๘) ที่ตรัสกับกูฎทันตพราหมณ์ ผู้ปกครองพราหมณคาม ชื่อว่าชานุมัตต์ ซึ่งได้ให้เอาโค ๗๐๐ ลูกโค ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ และ ๗๐๐ และแกะ ๗๐๐ ผูกไว้ที่หลัก เตรียมพร้อมที่จะบูชามหายัญ พราหมณ์นั้นได้สนทนาสอบถามพระพุทธเจ้าถึงวิธีบูชายัญใหญ่ให้ได้ผลมาก พระพุทธเจ้าทรงยกเรื่องตัวอย่างในอดีตมาให้เป็นแบบ

สาระสำคัญ คือ ให้จัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยและให้ราษฎรเป็นอยู่ผาสุก ถ้าบ้านเมืองยังมีโจรผู้ร้ายเป็นต้น ไม่ให้เอาแต่ใช้วิธีปราบปรามรุนแรง แต่ให้ราษฎรที่ประกอบเกษตรกรรม พาณิชยกรรมและข้าราชการ ผู้ที่ตั้งใจหมั่นขยัน จึงได้รับการส่งเสริมให้ตรงจุด จนบ้านเมืองมั่งคั่ง ราษฎรชื่นชมยินดี อยู่ปลอดภัย “บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน ให้ลูกฟ้อนบนอก (หลักการนี้ คือธรรมชุดที่ในคัมภีร์บางแห่งเรียกว่าราชสังคหวัตถุ ๔ ได้แก่ ๑. สัสสเมธะ (ฉลาดบำรุงธัญญาหาร) ๒. ปุริสมเมธะ (ฉลาดบำรุงข้าราชการ) ๓. สัมมาปาสะ (ผสานใจประชาด้วยอาชีพ) 4. วาจาเปยยะ (มีวาจาดูดดื่มใจ) (๕) เกิดผล คือ นิรัคคฬะ (เกษมสุข) บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน  หลักนี้เป็นนัยพุทธ จาก มหายัญ ๕ ของพราหมณ์ คือ ๑. อัสสเมธะ (อัศวเมธ/ ฆ่าม้าบูชายัญ ๒. ปุริสเมธะ (ฆ่าคนบูชายัญ) ๓. สัมมาปาสะ (ยัญลอดบ่วง) ๔. วาชเปยยะ (ยัญดื่มเพื่อชัย) ๕. นิรัคคฬะ หรือ สรรพเมธะ (ยัญฆ่าครบทุกอย่าง)

เมื่อบ้านเมืองดีแล้ว ผู้ปกครองนั้นก็เรียกพบปรึกษาคนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ทั้งอำมาตย์จนถึงชาวนิคมชนบท ขอความร่วมมือในการที่จะบูชายัญ ซึ่งไม่มีการฆ่าสัตว์และไม่ทำให้คนใดๆ เดือดร้อน มีแต่การมอบให้ของง่ายๆ เล็กๆ น้อยๆ และราษฎรก็พากันร่วมทำตามด้วย แล้วต่อจากนั้นก็มีการบำเพ็ญทานแก่บรรพชิตผู้มีศีล การสร้างสรรค์ประโยชน์ และพัฒนาชีวิตสูงขึ้นไปจนลุจุดหมายแห่งชีวิตที่ดี 

ผลของการฟังวิธีบูชายัญแบบนี้ คือ กูฏทันพราหมณ์ประกาศตนเป็นอุบาสก พร้อมทั้งได้กราบทูลว่าข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอปล่อยโค ๗๐๐ ลูกโค ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ แพะ ๗๐๐ แกะ ๗๐๐ ข้าพเจ้าให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอให้สัตว์เหล่านั้นได้กินหญ้าเขียวสด จงดื่มน้ำเย็น จงรับลมสดชื่นที่พัดโชยมาให้สบายเถิด 

เห็นได้ชัดว่า การห้ามหรือให้เลิกบูชายัญ และการเผื่อแผ่แบ่ง
ปันช่วยเหลือกันคือทานนี้ เป็นหลักการใหญ่ที่เน้นของพระเจ้าอโศกจนเรียกได้ว่าเป็นบรรยากาศแห่งศิลาจารึกของพระองค์ ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าอโศกยังทรงก้าวต่อขึ้นไปอีก สู่งานในขั้นที่เป็นเป้าหมายแท้ของพระองค์ คือการสอนธรรมเพื่อให้ประชาชนประพฤติธรรม เหมือนกับว่าทานนั้นเป็นฐาน เพื่อเตรียมวัตถุและสังคมให้เอื้อแก่คนที่จะพัฒนาสูงขึ้นไป และตรงนี้เองจึงทรงเน้นธรรมทาน ขอยกคำในจารึกศิลา ฉบับที่ ๙ ต่อด้วย ฉบับที่ ๑๑ มาอีกว่า ฉบับที่ ๙ : ...การให้ทานเป็นความดี ก็แต่ว่าทาน หรือการอนุเคราะห์ที่เสมอด้วยธรรมทาน หรือธรรมานุเคราะห์ ย่อมไม่มี ฉบับที่ ๑๑: ไม่มีทานใดเสมอด้วยธรรมทาน ธรรมสังวิภาค (การแจกจ่ายธรรม) และธรรมสัมพันธ์ อาศัยธรรม (ธรรมทานเป็นต้น) นี้ ย่อมบังเกิดมีสิ่งต่อไปนี้ คือ
- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
-การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเผื่อแผ่แบ่งปันแก่มิตร คนคุ้นเคย ญาติ และแก่สมณพราหมณ์
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ
นี่คือหลักการใหญ่ที่เป็นแกนกลางแห่งแนวคิดภาคปฏิบัติของพระเจ้าอโศก การทำศิลาจารึกสั่งสอนธรรมก็ตั้งบนฐานของหลักการนี้ หลักการไม่บูชายัญ แต่หันมาสู่ทาน และให้คนทุกหมู่เหล่าเกื้อกูลปฏิบัติชอบต่อกัน มารวมศูนย์ที่นี่

พร้อมนั้น จุดนี้ก็เป็นศูนย์รวมที่อโศกธรรมมาบรรจบกับแหล่ง
เดิมของหลักธรรมเดียวกันนั้น ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ขอให้ดูพุทธพจน์ในพระสูตรตอนต่อไปนี้ ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ ผู้ควรแก่การขอ เมืออันล้างแล้ว (พร้อมที่จะประกอบยัญพิธีแบบใหม่แห่งการบริจาคธรรม) ทุกเวลา ...ภิกษุทั้งหลาย ทานมี ๒ อย่างนี้ คือ อามิสทาน ๑ ธรรมทาน ๑ บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย การแจกจ่ายมี ๒ อย่างนี้ คือ การแจกจ่ายอามิส ๑ การแจกจ่ายธรรม ๑ บรรดาการแจกจ่าย ๒อย่างนี้ การแจกจ่ายธรรม (ธรรมสังวิภาค) เป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย การอนุเคราะห์มี ๒ อย่างนี้ คือ การอนุเคราะห์ด้วยอามิส การอนุเคราะห์ด้วยธรรม ๑ บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธรรม (ธรรมานุเคราะห์) เป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย อัญบูชา (ยาคะ) มี ๒ อย่างนี้ คือ ธัญบูชาด้วยอามิส ๑ ธัญบูชาด้วยธรรม ๑ บรรดายัญบูชา ๒ อย่างนี้ ยัญบูชาด้วยธรรม (ธรรมยาคะ) เป็นเลิศ ๆ (อิติ ๒๕/๒๘๐)



เรื่องนี้ ว่าจะพูดพอเห็นแนว แต่กลายเป็นยาว ควรจบเสียที ขอตั้งข้อสังเกตไว้อีกอย่างเดียว งานทางธรรมที่พระเจ้าอโศกทรงเอาพระทัยใส่จริงจังมาก และโดยชอบ แต่ไม่ใช่แค่คน ทรงเอาพระทัยใส่ต่อสัตว์อื่นทั่วไปหมดอยู่เสมอ คือการที่จะให้คนผู้ร่วมสังคม เอาใจใส่กันและปฏิบัติต่อกันนอกจากห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ และให้สำรวมตนต่อสัตว์ทั้งหลายคือทั้งไม่เบียดเบียนและเอื้ออาทรต่อสัตว์ทุกชนิดแล้ว ยังถึงกับตั้งโรงพยาบาลสัตว์ และให้ปลูกสมุนไพรที่เป็นยาสำหรับสัตว์ เช่นเดียวกับที่ได้จัดไว้สำหรับคน แล้วยิ่งกว่านั้นยังมีประกาศเกี่ยวกับอภัยทานและการสงวนพันธุ์สัตว์อีกด้วย การที่พระเจ้าอโศกทรงปฏิบัติในเรื่องนี้ถึงขนาดนี้ นอกจากเพราะจุดเน้นในการหันมาสู่ธรรมของพระองค์ ได้แก่การมีอวิหิงสา เมตตาการุณย์ต่อสัตว์อย่างที่กล่าวแล้ว บางทีจะเป็นด้วยทรงพยายามปฏิบัติให้ครบตามหลักจักรวรรดิวัตร ในจักกวัตติสูตร ซึ่งกำหนดให้พระเจ้าจักรพรรดิจัดการคุ้มครองอันชอบธรรม แก่มนุษย์สัตว์ทุกหมู่เหล่า โดยแยกไว้เป็น ๘ กลุ่ม อันมีมิคปักษี (เนื้อและนก คือทั้งสัตว์บกและสัตว์บินที่ไม่มีภัย) เป็นกลุ่มสุดท้าย

ขอให้ดูบางตอนในจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ข้าฯ ได้กระทำการอนุเคราะห์แล้วด้วยประการต่างๆ แก่เหล่าสัตว์ทวิบาท สัตว์จตุบาท ปักษิณชาติ และสัตว์น้ำทั้งหลาย ตลอดถึงการให้ชีวิตทาน ...ต่อด้วยอีกบางตอนในจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๕ ดังนี้ ข้าฯ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ได้ออกประกาศ ให้สัตว์ทั้งหลายต่อไปนี้ ปลอดภัยจากการถูกฆ่า กล่าวคือ นกแก้ว นกสาลิกา นกจากพราก หงส์ ... เต่า และกบ กระรอก กวางเร็ว ... แรด นก พิราบขาว นกพิราบบ้าน และบรรดาสัตว์สี่เท้าทั้งปวงที่มิใช่สัตว์สำหรับปฏิโภค (ใช้หนังใช้กระดูก ฯลฯ) และมิใช่สัตว์สำหรับบริโภค แม่แพะ แม่แกะ และแม่หมู ที่กำลังมีท้องก็ดี กำลังให้นมอยู่ก็ดี ย่อมเป็นสัตว์ที่ไม่พึงฆ่า และแม้ลูกอ่อนของสัตว์เหล่านั้นที่อายุยังไม่ถึง ๖ เดือน ก็ไม่พึงถูกฆ่าเช่นกัน ไม่พึงทำการตอนไก่ไม่พึงเผาแกลบที่มีสัตว์มีชีวิตอาศัยอยู่ ไม่พึงเผาป่าเพื่อการอันหาประโยชน์มิได้ หรือเพื่อการทำลายสัตว์ ไม่พึงเลี้ยงชีวิตด้วยชีวิต ไม่พึงฆ่าและขายปลา ในวันเพ็ญที่คำรบจาตุรมาสทั้ง และในวันเพ็ญแห่งเดือนดิษยะ คราวละ ๓ วัน คือ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ และทุกวันอุโบสถ เป็นการเสมอไป อนึ่ง ในวันดังกล่าวมานี้ ไม่พึงฆ่าแม้เหล่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ในป่าช้างและในเขตสงวนปลาของชาวประมง ตราบถึงบัดนี้ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ข้าฯ ได้สั่งให้มีการพระราชทานอภัยโทษแล้วรวม ๒๕ ครั้ง 

ในการจบเรื่องนี้ ก็มาดูกันว่า จากการบำเพ็ญธรรมทานของพระ
องค์ พระเจ้าอโศกได้ทรงประสบผลานิสงส์อย่างไร ซึ่งคงสรุปได้จากพระดำรัสในจารึกศิลา ฉบับที่ ๔ ดังนี้ กาลยาวนานล่วงแล้ว ตลอดเวลาหลายร้อยปี การฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ การเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย การไม่ปฏิบัติชอบต่อหมู่ญาติ การไม่ปฏิบัติชอบต่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ได้พอกพูนขึ้นถ่ายเดียว แต่มาในบัดนี้ ด้วยการดำเนินงานทางธรรม (ธรรมจรณะ) ของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เสียงกลองรบ (เกรีโฆษ) ได้กลายเป็นเสียงประกาศธรรม (ธรรมโฆษ) แต่ทั้งการแสดงแก่ประชาชน ซึ่งวิมานทรรศน์ หัสดิทรรศน์ อัคนีขันธ์และทิพยรูปอื่นๆ ก็ได้มีขึ้นด้วย
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ
- การไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย
- การปฏิบัติชอบต่อหมู่ญาติ
- การปฏิบัติชอบต่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเชื่อฟังท่านผู้เฒ่าผู้ใหญ่
ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอดเวลาหลายร้อยปี ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วในบัดนี้ เพราะการสั่งสอนธรรมของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ความดีงามนี้ และการปฏิบัติธรรมอย่างอื่นๆ อีกหลายประการ ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้ว พระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ จักทำให้การปฏิบัติธรรมนี้เจริญยิ่งขึ้นไปอีกและพระราชโอรส พระราชนัดดา พระราชปนัดดาของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ก็จักส่งเสริมการปฏิบัติธรรมนี้ ให้เจริญยิ่งขึ้นต่อไปจนตลอดกัลป์ ทั้งจักสั่งสอนธรรม ด้วยการตั้งมั่นอยู่ในธรรมและในศีลด้วยตนเอง เพราะว่าการสั่งสอนธรรมนี้แล เป็นการกระทำอันประเสริฐสุด และการประพฤติธรรมย่อมไม่มีแก่ผู้ไร้ศีล ก็แลความเจริญงอกงาม และความไม่เสื่อมถอยในการปฏิบัติธรรมนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีเพื่อประโยชน์นี้ จึงได้จารึกธรรมโองการนี้ขึ้นไว้ ขอชนทั้งหลายจงช่วยกันประกอบกิจ เพื่อความเจริญงอกงามแห่งประโยชน์นี้ และจงอย่าได้มีวันกล่าวถึงความเสื่อมเลย ธรรมโองการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ โปรดให้จารึกไว้แล้ว เมื่ออภิเษกได้ ๑๒ พรรษา

เราได้มาถึงเมืองปัตนะ หรือปาตลีบุตร ศูนย์กลางแห่งมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งชมพูทวีป (H.G. Wells ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก) และพุทธศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนาเมื่อได้ทำความรู้จักกับพระเจ้าอโศกมหาราชมาอย่างนี้แล้ว ก็ขอยุติไว้แค่ที่พอสมควร เพียงเท่านี้

ความกล้าหาญในทางสันติ

เรื่องไม่จบแค่นั้น ยังต้องย้อนกลับไปท้วงติงมติของผู้รู้ทั้งฝรั่งและอินเดียเพิ่มอีกแง่หนึ่ง คือที่ผู้รู้เหล่านั้นบอกว่า พระเจ้าอโศกสอนธรรมที่เป็นกลาง ซึ่งทุกศาสนายอมรับได้นั้น จริงหรือ? ในการพิจารณาแนวพระราชดำริของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น นอกจากข้อสำคัญที่ ๑ คือสถานะแห่งความเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่แล้ว ข้อที่ ๒ ก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน โดยเฉพาะในแง่ที่เป็นตัวกำหนดทิศทาง ข้อที่ ๒ นั้น ก็คือ จุดเปลี่ยนในพระชนมชีพของพระองค์ เมื่อสงครามพิชิตแคว้นกลิงคะ ทำให้ทรงสลดพระทัยต่อความทุกข์ยาก เดือดร้อนของประชาชนนั้น มันไม่เพียงทำให้ทรงละเลิกการรุกรานทำสงครามเท่านั้น แต่กลายเป็นแรงเหวี่ยงพระองค์ไปในทางตรงข้ามแทบจะสุดทาง คือทำให้ทรงละเลิกการเบียดเบียนทุกอย่าง แม้กระทั่งการทำลายชีวิตสัตว์เล็กสัตว์น้อย และหันมามุ่งในการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์

ข้อที่ ๒ นี้ กลายเป็นตัวกำกับข้อที่ ๑ ด้วย โดยทำให้หลักการปกครองอาณาจักร (หรือเรียกให้เข้ากับคำฝรั่ง คือ Empire ว่าจักรวรรดิ) เปลี่ยนจากอรรถศาสตร์ ของพราหมณ์จาณักยะ ที่นำทางนโยบายของพระอัยกาจันทรคุปต์ มาสู่จักกวัตติสูตรของพระพุทธเจ้าเป็นต้น  จากวิชัยที่เป็นการชนะด้วยสงคราม ซึ่งอย่างดีที่สุดคือธรรมวิชัย ตามความหมายของอรรถศาสตร์ อันหมายถึงการรบชนะอย่างมีธรรม ที่เมื่อชนะแล้วไม่ทำการทารุณโหดร้าย เพียงให้ยอมอยู่ใต้อำนาจ พระเจ้าอโศกเปลี่ยนมาหาธรรมวิชัยตามความหมายของจักกวัตติสูตร อันหมายถึงชัยชนะด้วยธรรม คือการทําความดีสร้างสรรค์ประโยชน์สุข

อย่างไรก็ดี แม้ว่านโยบายธรรมวิชัยจะนำทางการปกครองอย่างครอบคลุม แต่เห็นได้ว่ามีจุดเน้นอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงต้องถามว่าหลักการใดนำทางการปกครองภายในของพระเจ้าอโศกไม่ต้องพูดถึงหลักการและประเพณีต่างๆ จนแม้กระทั่งเรื่องปลีกย่อย ที่พระเจ้าอโศกทรงเลิกและเปลี่ยนจากหลักในอรรถศาสตร์ เช่น จากวิหารยาตรา ที่ราชาเสด็จไปทรงพักผ่อนหาความสนุกสำราญและล่าสัตว์ เปลี่ยนมาเป็นธรรมยาตรา ที่องค์ราชาเสด็จไปทรงนมัสการพระสงฆ์ ถวายทาน เยี่ยมเยียนท่านผู้เฒ่าชราและราษฎรในชนบท สั่งสอนสนทนาธรรม พร้อมทั้งพระราชทานความช่วยเหลือ

จากสมาช* ที่เป็นงานชุมนุมของราษฎรเพื่อความสนุกสนานด้วยการเสพสุรายาเมา เอาสัตว์ต่างๆ มาแข่งขันและต่อสู้กัน เป็นต้น เปลี่ยมาเป็นวิมานทรรศน์ คือนิทรรศการสิ่งที่ดีงามสวยงามงดงามประณีต 
มีศิลปะที่ชักนำจิตใจในทางแห่งคุณธรรมและเจริญจิตเจริญปัญญาเป็นต้น จากพิธีมงคล มาเป็นธรรมมงคล จากเภรีโฆษ คือเสียงกลองศึก มาเป็นธรรมโฆษ คือเสียงนัดหมายเชิญชวนมาฟังธรรมหรือทำกิจกรรมที่ดีงาม 
👉 <ในคำว่า สมัชชาภิจรณะ ซึ่งแปลกันมาว่า "เที่ยว การเล่น” อันเป็นข้อที่ ๓ แห่งอบายมุข ๖ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของคำและความที่ควรเทียบ: “สมาช” ตรงกับที่ในพระไตรปิฎกใช้ว่า “สมัชชา ในสิงคาลกสูตร อันเป็นวินัยของคฤหัสถ์ (ที.ปา.๑๑/๑๘๑) และทรงแสดงตัวอย่างไว้ ดังที่ท่านแปลให้เข้ากับเรื่องของไทยว่า ฟ้อนรํา ขับร้อง ดนตรี เสภา เพลง เถิดเทิง (เวลานี้ อาจต้องแปลใหม่ให้เข้ากับสภาพปัจจุบัน) พึงสังเกตว่า รามายณะ ก็ดี อรรถศาสตร์ ก็ดี ให้ส่งเสริม สมาช นี่แก่ราษฎร โดยถือว่าจะช่วยให้ราษฎรเกิดความนิยมชมชอบต่อรัฐ (ทำให้พลเมืองของรัฐที่แพ้หันมาชอบผู้ชนะ)พูดง่ายๆ ว่าใช้เป็นสิ่งกล่อม แต่พระเจ้าอโศกไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนแบบนี้ กลับให้เลิกเสีย>

พระเจ้าอโศกทรงดำเนินไปไกลที่จะไม่ให้มีการเบียดเบียนชีวิตใดๆ เลย ถึงกับทรงทำเป็นตัวอย่างในการเลิกเสวยเนื้อสัตว์ อันอาจเป็นที่มาของอาหารมังสวิรัติของคนรุ่นหลัง ดังความในจารึกศิลาฉบับที่ ๒ ว่า ธรรมโองการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้โปรดให้จารึกไว้ 
ณ ถิ่นนี้ บุคคลไม่พึงฆ่าสัตว์มีชีวิตใดๆ เพื่อการบูชายัญ ไม่พึงจัดงานชุมนุมเพื่อการเลี้ยงรื่นเริง (สมาช) ใดๆ เพราะว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมองเห็นโทษเป็นอันมากในการชุมนุมเช่นนั้น ก็แลการชุมนุมบางอย่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงเห็นชอบว่าเป็นสิ่งที่ดี มีอยู่อีกส่วนหนึ่ง (ต่างหาก) แต่ก่อนนี้ ในโรงครัวหลวงของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ สัตว์ได้ถูกฆ่าเพื่อทำเป็นอาหาร วันละหลายแสนตัว ครั้นมาในบัดนี้ เมื่อธรรมโองการนี้อันพระองค์โปรดให้จารึกแล้ว สัตว์เพียง ๓ ตัวเท่านั้นที่ถูกฆ่า คือ นกยูง ๒ ตัว และเนื้อ ๑ ตัว ถึงแม้เนื้อนั้นก็มิได้ถูกฆ่าเป็นประจำ ก็แลสัตว์ทั้งสามนี้ (ในกาลภายหน้า) ก็จักไม่ถูกฆ่าอีกเลย

ในที่นี้ จะไม่พูดถึงเรื่องซึ่งในระดับการแผ่นดินถือได้ว่าเป็นข้อปลีกย่อยหรือเฉพาะอย่าง ที่ได้เอ่ยอ้างมาเหล่านี้ แต่พอดีว่าหลักการสำคัญที่นำทางการปกครองภายในของพระเจ้าอโศก ก็ปรากฏอยู่ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๒ นี้ด้วยเรื่องนี้คนทั่วไปอาจจะนึกไม่ถึง นั่นก็คือเรื่องการบูชายัญที่ท่านผู้รู้หลายท่าน ทั้งฝรั่งและอินเดียบอกว่า พระเจ้าอโศกสอนธรรมที่เป็นกลาง ซึ่งทุกศาสนายอมรับได้นั้น ที่จริงก็รู้กันอยู่ว่า ในชมพูทวีปตั้งแต่ก่อนมานานจนบัดนั้น ถึงจะมีศาสดาเจ้าลัทธิมากมาย แต่ศาสนาที่ครอบงำสังคมอินเดีย ด้วยระบบวรรณะ และการบูชายัญเซ่นสรวงแต่มวลเทพ ตามกำหนดแห่งพระเวท เป็นใหญ่อยู่ ก็คือศาสนาพราหมณ์ (ไม่ต้องพูดว่าทุกศาสนายอมรับได้ แต่ควรจะถามว่าพราหมณ์รับได้ไหม) สิ่งที่พระเจ้าอโศกทําอย่างสำคัญก็คือ การห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ แล้วอย่างนี้ ศาสนาพราหมณ์จะยอมรับได้อย่างไร?


การห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ นี้ อโศกมหาราชทรงสอนและประกาศไว้ในศิลาจารึกหลายวาระหลายฉบับ (เช่น จารึกศิลา ฉบับที่ ๑ ที่ ๔และที่ ๑๑) เป็นหลักการใหญ่ของพระองค์ พูดได้ว่าทรงเอาจริง เพราะเป็นจุดเปลี่ยนของพระองค์เองที่จะเน้นนี่คือการตีแสกหน้าของพราหมณ์ เป็นการหักล้างไม่เพียงลัทธิความเชื่อของเขาเท่านั้น แต่สั่นสะเทือนสถานะและทำลายผลประโยชน์ของพราหมณ์โดยตรง ดังที่พวกพราหมณ์ได้เก็บอัดความคั่งแค้นไว้ ในที่สุดพราหมณ์ปุษยมิตรก็โค่นราชวงศ์โมริยะลง ตั้งราชวงศ์ศุงคะ แล้วที่ชัดคือพราหมณ์ปุษยมิตรที่ตั้งตัวเป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์พราหมณ์นั้น นอกจากห้ำหั่นบีฑาชาวพุทธแล้วก็ได้รื้อฟื้นพิธีบูชายัญอันยิ่งใหญ่คืออัศวเมธขึ้นมาเพื่อประกาศศักดานุภาพ การบูชายัญที่เงียบหายไปหลายร้อยปี ก็กลับเฟื่องฟูขึ้นอีก ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนที่ฝรั่งอังกฤษผู้เข้ามายึดอินเดียเป็นอาณานิคมปกครองไว้ จะเปิดเผยเรื่องพระเจ้าอโศกขึ้นมานั้น คนอินเดียไม่รู้จักพระเจ้าอโศกเลย แม้แต่พระนามก็ไม่เคยได้ยิน พระเจ้าอโศกถูกอินเดียลืมสนิท เรื่องพระเจ้าอโศกเหลืออยู่เพียงในคัมภีร์พุทธศาสนา

การที่เรื่องพระเจ้าอโศกหายไปนั้น คงไม่ใช่เพียงเพราะการรุกรานทำลายของกองทัพมุสลิมเท่านั้น แต่ได้ถูกพราหมณ์พยายามทำให้สลายมาก่อน ทั้งที่พระเจ้าอโศกไม่เพียงยกย่องพราหมณ์ให้รับราชการมีตำแหน่งสำคัญในการแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังได้เน้นไว้เสมอในศิลาจารึกให้ปฏิบัติชอบและถวายทานแก่สมณพราหมณ์ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก แต่พราหมณ์ก็อดเคียดแค้นไม่ได้ ในเมื่อพระเจ้าอโศกไม่ยอมรับอภิสิทธิ์ของพราหมณ์ตามระบบวรรณะ และที่สำคัญที่สุดคือได้ทรงห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ (เท่ากับเลิกล้มพิธีบูชายัญ) ดังนั้น เรื่องจึงเป็นมาอย่างที่ท่านผู้รู้ของอินเดียเองเขียนไว้ (BK 
Mukherjee, Asoka, 105, 108-9) ว่า แม้แต่พระนาม “เทวานามปริยะ” ก็ได้ถูกนักไวยากรณ์พราหมณ์ในสมัยต่อมา พยายามอธิบายให้มีความหมายเป็นคนโง่เขลา เนื่องจากอคติของพราหมณ์ต่อพระมหากษัตริย์ชาวพุทธที่โดดเด่นที่สุดเสมือนว่า พราหมณ์ไม่เพียงขุดโค่นพระเจ้าอโศกเท่านั้น แต่อินเดียได้ขุดหลุมฝังพระเจ้าอโศกและกลบให้ลับหายสนิท จนกระทั่งอังกฤษขุดคุ้ยหลุมนั้นออกให้เห็นพระเจ้าอโศกในเวลาประมาณ ๑,๕๐๐ ปีต่อมา จึงกลายเป็นว่า ปฏิบัติการที่เป็นความกล้าหาญในทางสันติของพระเจ้าอโศกดังว่ามานี้ เป็นสิ่งที่ยากจะรักษาไว้ให้คงอยู่ได้ยั่งยืน 



เทียบกันแล้ว ควรสรุปได้

จากหลักฐานและเรื่องราวที่ยกมาดูกันนี้ จะเห็นว่า โดยทั่วไปพระเจ้าอโศกทรงสอนธรรม แบบไม่ออกชื่อของหลักธรรมหรือของหัวข้อธรรม (ถ้าทรงเรียกชื่อหัวข้อธรรมออกมา ราษฎรที่อยู่กระจายห่างกันไปทั่ว ส่วนใหญ่ก็คงไม่รู้เรื่องหรือสื่อกันยาก)

พระองค์ตรัสออกชื่อธรรมเพียงไม่กี่อย่าง เมื่อจะเน้นออกมาเฉพาะที่เป็นคำที่รู้ๆ กัน หรือง่ายๆ แต่ที่ทรงสอนเอาจริงเอาจังและตรัสอยู่เสมอ ก็คือธรรมที่เป็นการปฏิบัติต่อกันระหว่างคนในหมู่ชน ทำนองเดียวกับพระสูตรในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนคฤหัสถ์ กลายเป็นว่า พระเจ้าอโศกนั่นแหละทรงแม่นยำว่า ในฐานะพุทธมามกะ เมื่อเป็นราชาปกครองบ้านเมืองจะสอนธรรมส่วนไหนอย่างไร และคนที่ไม่เข้าใจเพราะจับจุดจับหลักไม่ได้ ก็คือท่านผู้รู้ทั้งชาวอินเดียและฝรั่งนั่นเอง คงต้องพูดว่า พระเจ้าอโศกมิใช่จะทรงริเริ่มจัดตั้งหลักธรรมสากลหรือศาสนาสากล ที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า universal religion แต่อย่างใด ที่แท้นั้นพระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ในความเป็น universal ruler หรือ universal monarch ตามคติจักกวัตติ/จักรวรรดิราชา  (Cakkavatti/Cakravartin) ดังที่ได้ทรงประกาศหลักธรรมวิชัย ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นจักรพรรดิราช คำศัพท์ในวงเล็บทั้งหมดนี้ พึงทราบว่า ไม่ใช่รูปเดิมในศิลาจารึก แต่เป็นการถอดรูปออกมา และเขียนเทียบเป็นคำภาษาบาลี เพื่อให้ได้ประโยชน์ในการศึกษามากขึ้น เช่น ข้อ ๒ ที่ถอดเป็น “อัคคบริกา” นั้น คำในจารึกเป็น "อคาย ปลีขาย) แต่ที่นี่มิใช่โอกาสที่จะอธิบายมากกว่านี้


ตามความในพระสูตรทั้งหลายนั้นความจริง พระพุทธศาสนาถือว่าธรรมเป็นสากลในตัวของมันเองอยู่แล้ว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธรรมก็มีก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ตถาคตเพียงมาค้นพบธรรมนั้น แล้วนำมาบอกเล่าประกาศให้รู้กัน" จึงไม่มีปัญหาที่จะต้องมาพูดในเรื่องนี้ เวลามีคนมาซักถามพระพุทธเจ้า บางทีเขาทูลว่า อาจารย์คนโน้นเก่งอย่างนั้น คนนั้นเก่งอย่างนี้ คนนี้สอนว่าอย่างนั้น คนนั้นสอนว่าอย่างเขาเถียงกันนัก แล้วพระองค์ว่าใครผิดใครถูก พระพุทธเจ้าจะตรัสทำนองนี้ว่า “เอาละ ท่านพราหมณ์ เรื่องที่คน ๒ ฝ่าย พูดอ้างความรู้กัน มีวาทะขัดแย้งกัน ใครจริง ใครเท็จนั้น พักไว้เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน" (นวก. ๒๓/๒๔๒) แล้วตรัสไปตามหลักตามสภาวะให้เขาพิจารณาเอาเอง

ทีนี้ก็มาถึงคำถามว่า ทำไมในพระสูตรที่แสดงแก่คฤหัสถ์ทั่วๆ ไป พระพุทธเจ้าจึงไม่ตรัสออกชื่อหลักธรรมหรือชื่อหัวข้อธรรมสำคัญๆ เช่น อริยสัจ และปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น แล้วก็เช่นเดียวกัน ทำไมพระจักรพรรดิธรรมราชา เมื่อทรงสอนธรรมแก่ประชาชนทั่วไป จึงไม่ตรัสออกชื่อหลักธรรมสำคัญเหล่านั้น คำถามนี้ส่วนหนึ่งได้ตอบไปแล้ว ในแง่ที่ว่าชื่อนั้นเขาใช้สื่อกับคนที่รู้อยู่บ้างแล้ว เป็นต้น ตอนนี้จะตอบเน้นในแง่การทำหน้าที่ของพระจักรพรรดิราช พระราชาทรงปกครองคนทั้งแผ่นดิน คนเหล่านั้นมีระดับการพัฒนาต่างๆ กัน แต่คนส่วนใหญ่ต้องถือว่าเป็นระดับพื้นฐาน คนเหล่านั้นยังไม่ได้คิดมุ่งคิดหมายที่จะเดินหน้าไปในธรรม (คือในการที่จะศึกษาพัฒนาตนหรือแสวงหาคุณค่าที่สูงขึ้นไปแก่ชีวิต) มิใช่เป็นอย่างคนที่จะมาบวช ซึ่งมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเดินหน้ามาแล้ว

งานของผู้ปกครองที่มองอย่างครอบคลุมก่อน ก็คือ จะทำให้คนทั่วไปที่เป็นมวลรวมนี้ อยู่กันดีมีสุขสงบเรียบร้อยในความหมายเพียงระดับพื้นฐาน ที่จะไม่เบียดเบียนกันหรือเขาออกไปนอกลู่นอกทาง ให้เป็นความพร้อมขั้นต้นของสังคม แล้วพร้อมกันนั้น ท่านผู้ปกครองก็จัดสรรสภาพและระบบการต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยบริการเป็นต้น เพื่อสนองความต้องการของคนที่จะพัฒนาสูงขึ้นไป ถึงขั้นตอนนี้แหละ อย่างในมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราช วิหารคือวัดมากมาย พระองค์ก็ได้สร้างไว้ และทรงอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ทั้งหลาย แถมยังทรงเกื้อหนุนไปถึงนักบวชในลัทธิอื่นๆ ด้วย วัดและพระสงฆ์เป็นต้นนี้ มองในแง่นี้ ก็เหมือนเป็นบริการของระบบแห่งสังคมที่ดี ที่จะมากระตุ้นและมาสนองความต้องการของคนหลากหลาย ที่จะก้าวขึ้นไปสู่การพัฒนาชีวิตในระดับที่ประณีตสูงต่อๆ กันตามลำดับไป พูดง่ายๆ ว่า รัฐจัดสภาพเอื้อพื้นฐานไว้ให้แล้ว วัดก็มาพบมาดูและรับปรึกษาว่าใครจะรับธรรมขั้นไหนอย่างใดได้ ตอนนี้ก็พระแหละ ที่จะดูในแต่ละกรณีหรือสถานการณ์ว่าจะพูดจะเอ่ยถึงธรรมชื่อใดๆ ตามที่เขาต้องการ หรือที่จะเหมาะสมเป็นประโยชน์แก่เขา เหมือนกับแบ่งหน้าที่และขั้นตอนการทำงานกันระหว่างรัฐกับวัด

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า แม้แต่ในพุทธกาล ถึงพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ตามปกติจะไม่ได้สอนข้อธรรมลึกๆ แก่คฤหัสถ์ทั่วไปเหมือนอย่างที่สอนแก่พระสงฆ์ที่มุ่งเข้ามาศึกษาโดยตรง แต่ในหมู่มหาชนนอกภิกขุสังฆะนั้น ก็มีบางคนบางส่วนที่สนใจและก้าวไปมากในการศึกษาอย่างเป็นเรื่องเฉพาะตัวเฉพาะกลุ่มที่จะแสวงหาดังที่บางท่าน อย่างจิตรคฤหบดีผู้เป็นอนาคามี ก็มีภูมิธรรมสูงได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเป็นอุบาสกธรรมกถึก สามารถอธิบายช่วยแก้ความติดขัดในธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายแม้แต่ที่เป็นเถระได้ (อง เอก ๒๐/๑๕๑ ส.ส.๑๘/๕๓๙-๕๔๐) หรืออย่างอุบาสิกาขุชชุตตรา พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเป็นพหูสูต (อ.เอก ๒๐/๑๕๒)

แต่เมื่อพูดกว้างๆ ทั่วๆ ไป ในสังคมคฤหัสถ์โดยรวม ธรรมที่สอนตามปกติก็เป็นดังที่พูดมาแล้ว หลักฐานยืนยันที่ชัดเจนมาก ไม่ต้องหาที่ไหนไกล ขนาดอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ได้อุปถัมภ์พระศาสนากล่าวได้ว่ามากที่สุด และเป็นโสดาบัน กว่าจะได้ฟังธรรมหลักใหญ่อย่างที่ออกชื่อกันมานั้น ก็ตอนเจ็บหนักนอนอยู่บนเตียงจวนจะสิ้นชีพเรื่องมีว่า คราวนั้น พระสารีบุตร พร้อมด้วยพระอานนท์ติดตาม (เรียกว่าเป็นปัจฉาสมณะ) ได้ไปเยี่ยมอนาถบิณฑิกเศรษฐี และได้ให้โอวาทแก่ท่านเศรษฐี โดยมีสาระสำคัญว่าไม่ควรเอาอุปาทานไปยึดติดถือมั่นต่อสิ่งทั้งหลาย ดังคำสรุปท้ายโอวาทว่า "ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า อารมณ์ใดก็ตาม ที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ได้แจ้งแก่ใจ ได้แสวงหา ได้อุ่นใจ เราจักไม่ยึดติดถือมั่นอารมณ์นั้น และ วิญญาณที่อาศัยอารมณ์นั้นจักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านจึงศึกษาอย่างนี้เถิด"

อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังโอวาทจบแล้ว ถึงกับร่ำไห้ และได้กล่าวว่า "กระผมได้เข้ามาใกล้ชิดองค์พระศาสดาและพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจมาเป็นเวลายาวนาน แต่กระนั้นก็ไม่เคยได้สดับธรรมีกถาอย่างนี้เลย" พระอานนท์ตอบชี้แจงว่า "ดูกรคฤหบดี ธรรมกถาอย่างนี้ ไม่สำแดงแก่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์ จะสำแดงแต่แก่บรรพชิต" อนาถบิณฑิกเศรษฐีทราบอย่างนั้นแล้ว ได้กล่าวขอร้องว่า "ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอธรรมกถาอย่างนี้ จงสำแดงแก่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์บ้างเถิด เพราะว่า กุลบุตรจำพวกมีกิเลสธุลีในดวงตาน้อยก็มีอยู่ (แต่) เพราะมิได้สดับธรรม ก็จะเสื่อมไป คนที่จะรู้เข้าใจธรรม จักมี" (ม.อุ.๑๔/๗๒๐-๗๔๐) หลังจากพระสารีบุตรและพระอานนท์กลับออกมาไม่นาน ท่านเศรษฐีก็ถึงแก่กรรม และเข้าถึงดุสิตภพ

หันกลับมาพูดถึงบทบาทของรัฐกับบทบาทของวัด ในการสอนธรรมให้การศึกษาแก่ประชาชน อย่างที่ว่าแล้ว รัฐจะเน้นการทำหน้าที่ขั้นพื้นฐาน เพื่อให้คนทั่วไปในสังคมมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การพัฒนาชีวิตของตน พร้อมทั้งจัดสรรโอกาสและจัดการให้คนเข้าถึงโอกาสนั้นด้วยการ ประสานเสรีภาพ เข้ากับระบบแห่งบริการ ในสังคมชมพูทวีปแต่ยุคโบราณมา เท่าที่พอทราบกัน คนถึงจะนับถือต่างกัน แต่การเป็นอยู่ก็ไม่ค่อยได้แบ่งแยกกัน มีประเพณีทางปัญญาที่จะรับฟังคำสอนของลัทธิศาสนาต่างๆ นับได้ว่าเสรีในศิลาจารึกอโศกก็เน้นเรื่องนี้ไว้ด้วย ดังความในจารึกศิลาฉบับที่ ๓๒ ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมทรงยกย่องนับถือศาสนิกชนแห่งลัทธิศาสนาทั้งปวง ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ ด้วยการพระราชทานสิ่งของ และการแสดงความยกย่องนับถืออย่างอื่นๆ แต่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมไม่ทรงพิจารณาเห็น ทานหรือการบูชาอันใด ที่จะเทียบได้กับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร? สิ่งนั้นก็คือการที่จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง ก็ความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมนี้ มีอยู่มากมายหลายประการ แต่ส่วนที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญงอกงามนั้น ได้แก่สิ่งนี้คือ การสำรวมระวังวาจา (วคุปติ์) ระวังอย่างไร? คือไม่พึงมีการยกย่องลัทธิศาสนาของตนและการตำหนิลัทธิศาสนาของผู้อื่น ในเมื่อมิใช่โอกาสอันควร...

การสังสรรค์กลมเกลียวกันนั่นแล เป็นสิ่งดีงามแท้ จะทำอย่างไร? คือ จะต้องรับฟัง และยินดีรับฟังธรรมของกันและกัน จริงดังนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมีความปรารถนาว่าเหล่าศาสนิกชนในลัทธิศาสนาทั้งปวง ซึ่งเป็นผู้มีความรอบรู้ (เป็นพหูสูต) และมีหลักศาสนธรรมที่ดีงาม (กัลยาณาคม) ชนเหล่าใดก็ตาม ซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสในลัทธิศาสนาต่างๆ กัน ชนเหล่านั้นจึงกล่าวให้รู้กันทั่วไปว่า พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่าทานหรือการบูชาอันใดจะทัดเทียมกับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร? สิ่งนี้ได้แก่การที่จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง และความเจริญงอกงาม พึงมีเป็นอันมากด้วยธรรม นี้คือเสรีภาพทางศาสนาที่แท้จริง ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาจิตปัญญาอย่างสูง ซึ่งมนุษย์ยุคปัจจุบัน ที่ว่ามีอารยธรรมกันนัก และพูด กันนักถึง tolerance แต่ก็ยังขึ้นไม่ค่อยจะถึง

เมื่อว่าให้ถูกตามนี้ ถ้ามนุษย์พัฒนาถึงขั้นเป็นอารยะจริง ศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัว อย่างที่ฝรั่งติดตันกลืนไม่เข้าแล้วคายออกมาได้แค่นั้น แต่เป็นเรื่องที่ควรเอามาพูดจาศึกษาเอื้อปัญญาแก่กัน ศาสนาจะเป็นเรื่องส่วนตัว ก็เฉพาะในขั้นที่ว่าใครก้าวไปถึงไหน ก็เป็นส่วนของคนนั้น




ดูพุทธพจน์แล้ว อ่านธรรมโองการเทียบ

 เห็นได้ชัดว่า ธรรมในศิลาจารึกอโศก ส่วนใหญ่ และที่กล่าวถึงบ่อย เป็นเรื่องของการปฏิบัติชอบต่อกัน หรือต่อบุคคลประเภทต่างๆ ที่แต่ละคนควรดูแลรับผิดชอบหรือช่วยเหลือกัน ซึ่งใกล้เคียงกันมากกับพระสูตรที่ยกมาให้ดูแล้ว จึงขอยกข้อความในศิลาจารึกนั้นมาให้ดูบ้าง ขอเริ่มด้วยจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ซึ่งตรัสเล่าความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการทำศิลาจารึกประกาศธรรมไว้ด้วย อันเป็นเรื่องที่น่ารู้

๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ตลอดกาลยาวนานล่วงมาแล้ว ได้มีพระราชาหลายองค์ทรงปรารถนาว่า ทำไฉนประชาชนทั้งหลายจะพึงเจริญก้าวหน้าด้วยความเจริญทางธรรม แต่ประชาชนก็หาได้เจริญก้าวหน้าขึ้นด้วยความเจริญทางธรรมตามสมควรไม่...ก็แลด้วยอุบายวิธีอันใดหนอประชาชนทั้งหลายจะพึงประพฤติปฏิบัติตาม ...

๓. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้ :- ข้าฯ ได้เกิดมีความคิดขึ้นว่า ข้าฯ จักจัดให้มีการประกาศธรรม ข้าฯ จักจัดให้มีการอบรมสั่งสอนธรรมประชาชนทั้งหลาย ครั้นได้สดับธรรมนี้แล้ว ก็จักพากันประพฤติปฏิบัติตาม จักยกระดับตนเองสูงขึ้น และจักมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นด้วยความเจริญทางธรรมอย่างมั่นคง เพื่อประโยชน์นี้ ข้าฯ จึงจัดให้มีการประกาศธรรม และสั่งให้มีการอบรมสั่งสอนธรรมขึ้นเป็นหลายแบบหลายอย่าง เพื่อให้ข้าราชการทั้งหลาย ที่ข้าฯ ได้แต่งตั้งไว้ดูแลประชาชนจำนวนมาก จักได้ช่วยกันแนะนำสั่งสอนบ้าง ช่วยอธิบายขยายความให้แจ่มแจ้งออกไปบ้าง แม้เจ้าหน้าที่รัชชูกะ ข้าฯ ก็ได้แต่งตั้งไว้ดูแลชีวิตหลายแสนชีวิต เจ้าหน้าที่รัชชูกะเหล่านั้น ก็ได้รับคำสั่งจากข้าฯ ว่า ท่านทั้งหลายจงอบรมสั่งสอนประชาชนให้เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอย่างนี้ๆ

๔. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ว่า :- เมื่อได้พิจารณาใคร่ครวญในเรื่องนี้ โดยถ่องแท้แล้วนั่นแล ข้าฯ จึงให้ประดิษฐานหลักศิลาจารึกธรรมขึ้นไว้ แต่งตั้งธรรมมหาอำมาตย์ขึ้นไว้ และจัดให้มีการประกาศธรรม

๕. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- แม้ตามถนนหนทาง ข้าฯ ก็ได้ให้ปลูกต้นไทรขึ้นไว้ เพื่อจักได้เป็นร่มเงาให้แก่สัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ให้ปลูกสวนมะม่วง ให้ขุดบ่อน้ำไว้ทุกระยะกึ่งโกรศะ ( ๑ โกรศะ = ๑ กิโลเมตร) ให้สร้างที่พักคนเดินทางขึ้นไว้ และให้สร้างอ่างเก็บน้ำจำนวนมากมายขึ้นไว้ในที่ต่างๆ เพื่อการใช้สอยแห่งสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย แต่การใช้ประโยชน์เช่นนี้ยังจัดว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย พระราชาทั้งหลายในกาลก่อนก็ดี ตัวข้าฯ ก็ดี ต่างก็ได้บำรุงประชาชนทั้งหลายให้มีความสุขด้วยวิธีการบำรุงสุขประการต่างๆ แต่ที่ข้าฯ ได้กระทำการเช่นนี้ ก็ด้วยความมุ่งหมายข้อนี้ คือ เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามธรรม...

๘. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- กรรมดีใดๆ ก็ตาม ที่ข้าฯ ได้กระทำแล้ว ประชาชนทั้งหลายก็ได้พากันประพฤติปฏิบัติกรรมดีนั้นๆ ตามอย่างแล้ว และยังคงดำเนินตามกรรมดีนั้นๆ อยู่ต่อไป ด้วยการกระทำเช่นนั้น ประชาชนทั้งหลายก็ได้มีความเจริญงอกงามขึ้นแล้ว และยังรักเจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ด้วย

- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเชื่อฟังครูทั้งหลาย
- การปฏิบัติชอบต่อท่านผู้เฒ่าชรา
- การปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์และสมณะ
- (การปฏิบัติชอบ) ต่อคนยากจน และคนตกทุกข์
- ตลอดถึงคนรับใช้ และคนงานทั้งหลาย



จารึกศิลา ฉบับที่ ๓ ระบุธรรมที่พึงเผยแพร่ ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ข้าฯ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๑๒ ปี ได้สั่งประกาศความข้อนี้ไว้ว่า ทุกหนทุกแห่งในแว่นแคว้นของข้าฯ เจ้าหน้าที่ยุกตะ เจ้าหน้าที่รัชชูกะ และเจ้าหน้าที่ปราเทศกะ จึงออกเดินทาง (ตรวจตรา) ทุกๆ ๕ ปี เพื่อประโยชน์อันนี้ คือเพื่อการสั่งสอนธรรมนี้ พร้อมไปกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างอื่น (เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจึงสั่งสอน) ว่า

- การเชื่อฟังมารดาบิดา เป็นความดี
- การให้ปันแก่มิตรสหาย ญาติ แก่พราหมณ์และสมณะเป็นความดี
- การไม่ฆ่าสัตว์ เป็นความดี
- การประหยัดใช้จ่ายแต่น้อย การสะสมแต่น้อย (เลี้ยงชีวิตแต่พอดี?) เป็นความดี

จารึกศิลา ฉบับที่ ๙ กล่าวถึงธรรมที่พึงปฏิบัติดังนี้  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสว่า :- ประชาชนทั้งหลาย ย่อมประกอบพิธีมงคลต่างๆ เป็นอันมาก... อันเป็นเรื่องหยุมหยิมไร้สาระ และไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยนัยตรงข้าม ยังมีพิธีกรรมที่เรียกว่าธรรมมงคลซึ่งเป็นพิธีกรรมมีผลมาก ในธรรมมงคลนั้น ย่อมมีกิจต่อไปนี้ คือ

-การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
- การแสดงความเคารพนับถือต่อครูอาจารย์
- การสำรวมตนต่อสัตว์ทั้งหลาย
- การถวายทานแก่สมณพราหมณ์

ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๑  นอกจากธรรมปฏิบัติที่คล้ายกับในจารึกอื่นแล้ว มีข้อพึงสังเกตพิเศษ คือเรื่องธรรมทาน และการบูชายัญ ที่จะพูดถึงเพิ่มเติมอีกข้างหน้า ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ไม่มีทานใดเสมอด้วยการให้ธรรม (ธรรมทาน) การแจกจ่ายธรรม (ธรรมสังวิภาค) และความสัมพันธ์กันโดยธรรม (ธรรมสัมพันธ์) อาศัยธรรม (ธรรมทานเป็นต้น) นี้ ย่อมบังเกิดมีสิ่งต่อไปนี้ คือ

- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเผื่อแผ่แบ่งปันแก่มิตร คนคุ้นเคย ญาติ และแก่สมณพราหมณ์
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ

บิดาก็ดี บุตรก็ดี พี่น้องชายก็ดี นาย (หรือสามี) ก็ดี มิตรและคนคุ้นเคยก็ดี ตลอดถึงเพื่อนบ้าน จึงกล่าวคำนี้ (แก่กัน) ว่า "นี่เป็นสิ่งดีงามแท้ นี่เป็นกิจควรทำ บุคคลผู้ปฏิบัติเช่นนี้ ย่อมทำความสุขในโลกนี้ให้สำเร็จด้วย และในโลกเบื้องหน้า ย่อมประสพบุญหาที่สุดมิได้เพราะอาศัยธรรมทานนั้นด้วย" ธรรมแบบที่เป็นหัวข้อนามธรรม คือเป็นตัวคุณธรรม พบในจารึกเพียง ๒ แห่ง คือ จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ธรรมเป็นสิ่งดีงาม สิ่งใดเล่าชื่อว่าธรรม ธรรมนั้นได้แก่สิ่งต่อไปนี้ คือ

- การมีความเสียหายน้อย (อัปปาทีนวะ?) (คำที่ถอดออกมาจากศิลาจารึกว่า “อปาสินเว” และได้แปลกันไปต่างๆ สุดแต่จะโยงไปสู่คำศัพท์ใดเช่น บางท่านคิดว่าคงเป็น อัปปาสวะ ก็แปลว่ามีอาสวะกิเลสน้อย ในที่นี้ เมื่อเทียบกับ“พหุกัลยาณะ” เห็นว่าน่าจะเป็น “อัปปาทีนวะ” จึงแปลอย่างนี้)
- การมีความดีมาก (พหุกัลยาณะ)
- ความเมตตากรุณา (ทยา)
- การเผื่อแผ่แบ่งปัน (ทาน)
- ความสัตย์ (สัจจะ)
- ความสะอาด (โสไจย)

อีกแห่งหนึ่งที่พบธรรมแบบที่เป็นหัวข้อนามธรรม คือเป็นตัวคุณธรรม ได้แก่ จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๗ ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ และพวกอื่นๆ อีกจำนวนมากได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ทำการจำแนกแจกทาน ทั้งในนามของข้าฯ เอง และในนามแห่งพระราชเทวีทั้งหลาย ทั่วทุกฝ่ายในของข้าฯ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ สามารถจัดดำเนินการในกิจต่างๆ ที่มุ่งหมาย จนเป็นที่น่าพอใจได้ ด้วยวิธีการมากหลายทั้งใน (พระนครหลวง) นี้ และในส่วนต่างๆ (ของประเทศ) อนึ่ง ในส่วนแห่งโอรสของข้าฯ และเจ้าชายอื่นๆประสูติแต่พระราชเทวีทั้งหลาย ข้าฯ ก็ได้สั่งให้กระทำการ (จําแนกแจกทาน) เช่นนี้ โอรสของข้าฯ เหล่านี้ จักเป็นผู้ฝักใฝ่ในการจำแนกแจกทาน อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมหลักการทางธรรม และการประพฤติปฏิบัติตามธรรม หลักการทางธรรมและการประพฤติปฏิบัติตามธรรมเหล่านี้ กล่าวคือ

- ความเมตตากรุณา (ทยา)
- การเผื่อแผ่แบ่งปัน (ทาน)
- ความสัตย์ (สัจจะ)
- ความสะอาด (โสไทย)
- ความสุภาพอ่อนโยน (มัททวะ)
- ความเป็นสาธุชน (สาวะ)

จะพึงเจริญเพิ่มพูนขึ้นในหมู่ประชาชน ส่วนอีกแห่งหนึ่ง ไม่ใช่เป็นหัวข้อธรรมหรือคุณธรรมที่จะสอบโดยตรง แต่กระตุ้นเตือนให้ตระหนักว่า การที่จะทำให้สำเร็จตามจุดหมายที่ตั้งไว้นั้น จะต้องทำตัวหรือปฏิบัติตนอย่างไร ได้แก่ จารึกหลักศิลาฉบับที่ ๑ ซึ่งมีข้อความดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ธรรมโองการนี้ ข้าฯ ได้ให้จารึกขึ้นไว้ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า เป็นสิ่งที่จะพึงปฏิบัติให้สำเร็จได้โดยยาก หากปราศจาก

- ความเป็นผู้ใคร่ธรรมอย่างยิ่งยวด (อัคคธัมมกามตา)
- การใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างยิ่งยวด (อัคค-ปรึกษา)
- การตั้งใจฟังคำสั่งสอนอย่างยิ่งยวด (อัคค-สุสสา)
- ความเกรงกลัว (ต่อบาป) อย่างยิ่งยวด (อัคค-รายะ)
- ความอุตสาหะอย่างยิ่งยวด (อัคค-อุตสาหะ)

บัดนี้ ด้วยอาศัยคําสั่งสอนของข้าฯ ความมุ่งหวังทางธรรมและความฝักใฝ่ใคร่ธรรม ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วทุกๆ วัน และจักเจริญงอกงามยิ่งขึ้นเรื่อยไป


ธรรมวิชัย: หลักการใหญ่ที่นำเข้าสู่พุทธธรรม

ทีนี้ก็มาดูข้อความแสดงนโยบายธรรมวิชัยมหาราช ที่พระเจ้าอโศกทรงนำออกมาสู่ปฏิบัติการจริง ดังที่พระองค์ประกาศไว้ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๓ ซึ่งคัดตัดมาพอเป็นตัวอย่าง

"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๘ พรรษา ทรงมีชัยปราบแคว้นกลิงคะลงได้ จากแคว้นกลิงคะนั้น ประชาชนจํานวนหนึ่งแสนห้าหมื่นคนได้ถูกจับไปเป็นเชลย จํานวนประมาณหนึ่งแสนคนถูกฆ่า และอีกหลายเท่าของจํานวนนั้นได้ล้มตายไป นับแต่กาลนั้นมาจนบัดนี้ อันเป็นเวลาที่แคว้นกลิงคะได้ถูกยึดครองแล้ว การทรงประพฤติปฏิบัติธรรม ความมีพระทัยใฝ่ธรรม และการทรงอบรมสั่งสอนธรรม ก็ได้เกิดมีขึ้นแล้วแก่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ การที่ได้ทรงปราบปรามแคว้นกลิงคะลงได้นั้น ทำให้พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมีความสํานึกสลดพระทัย ในคราวยึดครองแคว้นกลิงคะนี้ จะมีประชาชนที่ถูกฆ่าล้มตายลงและถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม แม้เพียงหนึ่งในร้อยส่วน หรือหนึ่งในพันส่วน (ของจำนวนที่กล่าวนั้น) พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพย่อมทรงสำนึกว่าเป็นกรรมอันร้ายแรงยิ่ง สำหรับพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ชัยชนะที่ทรงถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุด ได้แก่ ธรรมวิชัย (ชัยชนะโดยธรรม) และธรรมวิชัยนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ทรงกระทำสำเร็จแล้ว ทั้ง ณที่นี้ (ในพระราชอาณาเขตของพระองค์เอง) และในดินแดนข้างเคียงทั้งปวง ไกลออกไป ๖๐๐ โยชน์  ทุกหนทุกแห่ง (ประชาชนเหล่านี้) พากันประพฤติปฏิบัติตามคำสอนธรรมของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ด้วยเหตุเพียงนี้ ชัยชนะนี้เป็นอันได้กระทำสำเร็จแล้วในที่ทุกสถาน เป็นชัยชนะอันมีปีติเป็นรส พรั่งพร้อมด้วยความเอิบอิ่มใจ เป็นปีติที่ได้มาด้วยธรรมวิชัย ชัยชนะอันแท้จริงนั้น จะต้องเป็นธรรมวิชัยเท่านั้น ด้วยว่าธรรมวิชัยนั้นเป็นไปได้ทั้งในโลกบัดนี้ และโลกเบื้องหน้า ขอปวงความยินดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย จงเป็นความยินดีในความพากเพียรปฏิบัติธรรม เพราะว่าความยินดีนั้น ย่อมอำนวยผลทั้งในโลกบัดนี้ และในโลกเบื้องหน้า"

แม้ว่าธรรมวิชัยอย่างนี้จะเป็นหลักการและนโยบายใหม่ แต่คำว่า “ธรรมวิชัย” มิใช่เป็นคำใหม่ และมิใช่มีในพระไตรปิฎกเท่านั้น แต่มีในหลักรัฐศาสตร์โบราณของชมพูทวีปด้วย จึงควรเข้าใจความต่างให้ชัด
ในตำราอรรถศาสตร์ ของพราหมณ์จาณักยะ (เรียกว่า เกาฏิลยะบ้าง วิษณุคุปตะบ้าง) ผู้เป็นที่ปรึกษาและมหาเสนาบดีของพระเจ้าจันทรคุปต์ (พระอัยกาของพระเจ้าอโศกเอง, พ.ศ.๑๖๑) จัดแบ่งผู้ชนะสงคราม คือผู้พิชิตหรือผู้มีชัย เป็น ๓ ประเภท ดังนี้

๑. ธรรมวิชยี ผู้มีธรรมวิชัย คือ ผู้ชนะที่พอใจเพียงให้ผู้แพ้ยอมจงรักภักดี โดยไม่ข่มเหงทำร้ายราชวงศ์และราษฎรของฝ่ายที่แพ้
๒. โลภวิชยี ผู้มีโลภวิชัย คือ ผู้ชนะที่มุ่งแย่งชิงเอาดินแดนและทรัพย์สินของผู้แพ้
๓. อสุรวิชยี ผู้มีอสูรวิชัย คือ ผู้ชนะที่โหดร้าย ยึดเอาทุกอย่างทั้งทรัพย์สิน ดินแดน บุตรภรรยา และแม้แต่ชีวิตของผู้แพ้

จะเห็นชัดว่าธรรมวิชัยของพราหมณ์จากยะ ก็คือการชนะด้วยสงครามนั่นเอง เพียงแต่ปฏิบัติต่อผู้แพ้อย่างไม่โหดร้าย ดังนั้น ชัยชนะทั้ง ๓ อย่างนี้ ยังไม่เป็นธรรมวิชัยในพระพุทธศาสนาเลย พระเจ้าอโศกได้ละเลิกชัยชนะที่สอนกันมาแต่เดิมในประเพณีการปกครองของสังคมพราหมณ์ โดยหันมารับหลักการธรรมวิชัย อันเป็นชัยในทางสันติ ที่ชนะใจด้วยความดี ซึ่งไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา ตามคติจักกวัตดิราชาของพระพุทธศาสนา คติจักกวัตติราชานี้ แม้จะมาหลายแห่งในพระไตรปิฎก แต่มีพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องนี้โดยตรง คือจักกวัตติสูตร ซึ่งมีชื่อซ้ำกัน ๓ สูตร เฉพาะอย่างยิ่งที่ยาวที่สุด รู้จักกันมากที่สุด และใช้เป็นหลัก คือสูตรที่มาในทีฆนิกาย (ที.ปา.๑๑/๓๓-๕๐) อันเป็นที่มาของหลัก จักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ

ณ ที่นี้ จะไม่เข้าไปในเนื้อหาของพระสูตรนั้นโดยตรง แต่จะพูดให้โยมได้ข้อสังเกตทั่วๆ ไป อย่างกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด หลักธรรมวิชัยตามคติจักกวัตติราชานี้ เป็นตัวอย่างคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้สำหรับผู้นำของสังคมคฤหัสถ์ ที่พระองค์ไม่ได้ทรงจัดดำเนินการ ซึ่งเป็นส่วนที่ชาวบ้านจะต้องรับผิดชอบกันเอง อันต่างจากสังฆะที่พระองค์จัดตั้งบริหารตามหลักการแห่งธรรมวินัย

🔅อโศกธรรม หรือครัฐวินัย

หลักธรรมที่ตรัสสอนหรือแสดงสำหรับสังคมคฤหัสถ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์จักรพรรดิราช หัวหน้าหมู่ชน หรือหัวหน้าครอบครัวทั่วไป รวมทั้งพระโพธิสัตว์ มีระดับและลักษณะที่พึงสังเกต ดังนี้

ก) โดยทั่วไป กล่าวถึงประเภทของบุคคลที่พึงช่วยเหลือเกื้อกูล หรือปฏิบัติในการสัมพันธ์ต่อกันให้ถูกต้อง เช่น มารดาบิดา คนงาน ฯลฯ ไม่ค่อยกล่าวถึงหัวข้อธรรม หรือหลักที่เป็นนามธรรม
ข) หลักการทางธรรม วิธีปฏิบัติ และจุดหมายของการปฏิบัติ อยู่ในขอบเขตแห่งบุญ ทาน และการลุถึงสวรรค์ (รวมทั้งพรหมโลก)

ขอยกคำสอนระดับนี้มาให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น ครั้งหนึ่ง ตรัสแก่ พระเจ้าปเสนทิโกศล เกี่ยวกับการเป็นอยู่ครอบครองทรัพย์สมบัติของ คฤหบดีว่า "ดูกรมหาบพิตร ในถิ่นของอมนุษย์ มีสระโบกขรณี ซึ่งมีน้ำใสเย็นจืดสนิท สอาด มีท่าที่ขึ้นลงเรียบร้อย น่ารื่นรมย์ (แต่) น้ำนั้นคนจะตักเอาไปก็ไม่ได้ จะดื่มก็ไม่ได้ จะอาบก็ไม่ได้ หรือจะทําการใดตามต้องการก็ไม่ได้ มหาบพิตร เมื่อเป็น เช่นนี้ น้ำที่มิได้กินใช้โดยชอบนั้น พึงถึงความหมดสิ้นไปเปล่า โดยไม่ถึงการบริโภค แม้ฉันใด ดูกรมหาบพิตร อสัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ไม่ทำตนให้เป็นสุข ฯลฯ โภคะเหล่านั้นของเขา อันมิได้กินใช้โดยชอบ ย่อมถึงความหมดสิ้นไปเปล่า โดยไม่ถึงการบริโภค ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรมหาบพิตร ส่วนสัตบุรุษ ได้โภคะอันโอฬารแล้ว ย่อมทำตนให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม ย่อมทำมารดาบิดา บุตร ภรรยา...คนรับใช้กรรมกรและคนสนองงาน...มิตรสหาย เพื่อนร่วมกิจการ ให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม ย่อมประดิษฐานไว้ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ซึ่งทักษิณาอันมีผลสูงขึ้นไป มีจุดที่คำนึงหมายอันดี มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ โภคะเหล่านั้นของเขา ที่บริโภคอยู่โดยชอบอย่างนี้ ราชาทั้งหลายก็มิได้รับเอาไป โจรทั้งหลายก็มิได้ลักไป ไฟก็มิได้ไหม้หมดไป น้ำก็มิได้พัดพาไป อัปริยทายาททั้งหลายก็มิได้ขนเอาไป เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะเหล่านั้นของเขา ที่กินใช้อยู่ โดยชอบ ย่อมถึงการบริโภค ไม่ถึงความหมดสิ้นไปเปล่า ดูกรมหาบพิตร เหมือนดังว่า ในที่ไม่ไกลตามหรือนิคม มีสระโบกขรณี ซึ่งมีน้ำใส เย็น จืดสนิท สอาด มีท่าที่ขึ้นลงเรียบร้อย น่ารื่นรมย์ นั้นคนจะตักเอาไปก็ได้ จะดื่มก็ได้ จะอาบก็ได้ หรือจะทำการใดตามต้องการก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้น้ำที่กินใช้อยู่โดยชอบนั้น พึงถึงการบริโภค ไม่ถึงความหมดสิ้นไปเปล่า แม้ฉันใด สัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ย่อมทำ ตนให้เป็นสุข ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกัน"


พระผู้มีพระภาคองค์พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตจบแล้ว ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า "น้ำมีในถิ่นที่ของอมนุษย์ คนย่อมอดน้ำนั้น อันจะดื่มมิได้ คนทรามได้ทรัพย์แล้ว ตนเองก็ไม่บริโภค ทั้งก็ไม่ให้ปันแก่ใคร ฉันใดก็ฉันนั้น ส่วนวิญญูชนมีปัญญาได้โภคะแล้ว ย่อมบริโภคและใช้ทำกิจการ เลี้ยงดูหมู่ญาติ เป็นคนอาจหาญ ใครก็ไม่ติเตียน ย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์ พระโพธิสัตว์ก็มีจริยาแห่งการประพฤติธรรมทำนองเดียวกันนี้"

"ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตในปริมชาติ ในปริมภพ ในถิ่นกำเนิดก่อน เมื่อเป็นมนุษย์ในบุพสมัย เป็นผู้มีสมาทานมั่นในกุศลธรรมทั้งหลาย ถือปฏิบัติไม่ถอยหลัง ในกายสุจริต ในวจีสุจริต ในมโนสุจริต ในการแจกจ่ายบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในการปฏิบัติชอบต่อมารดา ในการปฏิบัติชอบต่อบิดา ในการปฏิบัติชอบต่อสมณะ ในการปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ ในความเป็นผู้เคารพต่อผู้ใหญ่ในสกุล และในธรรมอันเป็นอธิกุศลอย่างอื่นๆ เพราะกรรมนั้น อันได้ทำ ได้สั่งสม ได้พอกพูน เป็นกรรมอันไพบูลย์ เบื้องหน้าแต่กายแตกทำลายตายไป ตถาคตก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"
(ที.ปา.๑๑/๑๓๑)

ความเป็นคนดี ที่มีคำเรียกว่า “สัตบุรุษ” มีความหมายสัมพัน กับความดีงามและประโยชน์สุขของตระกูลวงศ์และชุมชนหรือหมู่ชน ดังพุทธพจน์ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย คนดี (สัตบุรุษ) เกิดมาในหมู่ชน ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชน จำนวนมาก (คือ) ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่มารดาบิดา แก่บุตรภรรยา...แก่คนรับใช้ กรรมกรและคนสนองงานแก่มิตรสหายเพื่อนร่วมกิจการแก่สมณพราหมณ์ เปรียบเหมือนมหาเมฆ ช่วยให้ ข้าวกล้าเจริญงอกงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนจำนวนมาก"


อีกพระสูตรหนึ่ง (อง อาจก. ๒๓/๑๒๘) เนื้อความเหมือนกับพระสูตร ข้างบนนี้ แต่มีบุคคลที่จะได้รับประโยชน์เพิ่มเข้ามา ๓ พวก คือ “แก่ บรรพชนผู้ล่วงลับ...แก่พระราชา...แก่เทวดาทั้งหลาย... พระสูตรที่แสดงธรรมสำหรับสังคมคฤหัสถ์อย่างนี้ มีมากพอสม ควร แต่ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านี้คิดว่าเพียงพอแล้ว เพราะสาระ ทำนองเดียวกัน สาระนั้นก็คือ การอยู่ร่วมกันด้วยดี ในครอบครัว ในชุมชน ในสังคม โดยเอาใจใส่ดูแลคนอื่นที่ตนเกี่ยวข้อง ประพฤติปฏิบัติที่ทำหน้าที่ต่อกัน ทำประโยชน์แก่กัน ไม่หวงแหนทรัพย์สมบัติ แต่นำออกมาใช้ ประโยชน์ด้วยทาน คือเผื่อแผ่ให้ปัน ในการบำรุงเลี้ยงช่วยเหลือกันตามวิธีปฏิบัติข้างต้นนั้น นำชีวิตไปในทางแห่งสวรรค์ รวมทั้งข้อเน้นที่จะให้ผลดีเกิดขึ้นเป็นประโยชน์ทั้งในโลกนี้และ โลกหน้า ตามคติ อิธโลก-ปรโลก ซึ่งพบได้ทั่วในพระไตรปิฎก หลักธรรมสำหรับสังคมคฤหัสถ์ตามคำสอนในพระไตรปิฎกที่ว่ามานี้เอง คือแหล่งแห่งธรรมที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสอนในศิลาจารึกของพระองค์ ที่บางท่านเรียกว่าอโศกธรรม

พระสูตรใหญ่ที่เหมือนกับประมวลธรรมสำหรับชีวิตและสังคม คฤหัสถ์ไว้ ก็คือสิงคาลกสูตร (บางทีเรียกว่า สิคาโลวาทสูตร, ที.ปา.๑๑/ ๑๗๒) ที่ท่านให้ถือเป็นวินัยของคฤหัสถ์ (คิหิวินัย) แม้จะตรัสธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติไว้หลายด้าน แต่หลักใหญ่ที่เป็น เป้าหมายของพระสูตรนั้น ก็คือหลักทิศ ๖ ที่รู้จักกันดี อันแสดงธรรม หรือหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกัน ระหว่าง
มารดาบิดา - บุตรธิดา
อาจารย์ - ศิษย์
สามี - ภรรยา
มิตร - มิตร
นายงาน - คนงาน
สมณพราหมณ์ - กุลบุตร (พระสงฆ์-ชาวบ้าน)

ในสิงคาลกสูตร นี้ ตลอดทั้งหมด ก็เช่นเดียวกับพระสูตรทั้งหลายที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างบนนั้น ไม่กล่าวถึงหลักธรรมสำคัญอย่าง อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท ฌาน นิพพาน ใดๆ ที่พวกนักปราชญ์ฝรั่งและ อินเดียหลายท่านนั้นคาดหวังเลย แม้แต่ศีล ๕ ก็ยังไม่ปรากฏชื่อออกมาในสิงคาลกสูตร นี่คือเรื่องธรรมดาที่พึงเข้าใจ ชื่อเรียกนั้นเป็นสื่อสำหรับลัดความเข้าใจ คนที่รู้เรื่องนั้นอยู่แล้ว พอออกชื่อมา เขาก็มองเห็นเนื้อหาทะลุตลอดหมด ไม่ต้องมาแจกแจงกันอีก ชื่อเรียกหลักธรรมต่างๆ จึงมีไว้ใช้ให้สะดวกสำหรับการสอนและ การศึกษายิ่งขึ้นไป จุดสำคัญอยู่ที่เอ่ยชื่อให้ตรงกับสภาวะที่จะสื่อ ไม่ใช่เรื่องสําหรับมายึดว่าเป็นของใครๆ ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนคฤหัสถ์หรือคนนอก ที่ชื่อเรียกจะไม่ช่วยในการสื่อแก่เขา พระองค์ก็ตรัสเนื้อหาของธรรมนั้นๆ ไป แม้จะต้องใช้เวลามากหน่อย การที่คนผู้มาอ่านทีหลังไม่พบชื่อของธรรมนั้นๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาอย่างที่ว่าแล้ว แม้แต่ในจักรวัตติสูตร ที่เป็นแหล่งหลักของธรรมวิชัยและคติจักกวัตติราชานี้เอง ในตอนเดินเรื่อง ถึงจะกล่าวเนื้อหาของศีล ๕ แต่ก็ไม่ออกชื่อ (กุศลกรรมบถ อกุศลกรรมบถ ก็เอ่ยเฉพาะตอนที่ตรัส แบบสรุปความแก่พระสงฆ์)

ในข้อปฏิบัติขององค์พระจักรพรรดิธรรมราชา ก็เน้นที่การคุ้มครองประชาราษฎร์ คือเน้นที่คน โดยจำแนกเป็นหมู่เหล่าต่างๆ ๘ พวก ถึงตรงนี้ก็เลยขอแทรกข้อควรทราบจากจักกวัตติสูตร ที่ว่าชื่อ กันอีกสูตรหนึ่ง (องตึก ๒๐/๔๕๓) ว่า พระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ มีคําเรียกพระนามที่ตรงกันว่าทรงเป็น “ธรรมราชา” ซึ่งมีความหมาย ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ ๒ ชั้น คือ เป็น “ราชาผู้ทรงธรรม และ “ผู้มีธรรมเป็นราชา" สำหรับความหมายแรกนั้นชัดอยู่แล้ว แต่ความหมายที่ ๒ พระ พุทธเจ้าทรงอธิบายว่า

“ธรรม” เป็นราชาของพระองค์ และของพระเจ้าจักรพรรดิ คือ พระพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงเคารพธรรม ยึดธรรมเป็นหลักนำ ถือธรรมเป็นใหญ่ เป็นธรรมาธิปไตย แต่พร้อมนั้นก็ตรัสแสดง แง่ที่ต่าง ระหว่างพระพุทธเจ้า กับพระเจ้าจักรพรรดิด้วย ซึ่งก็เป็นจุดสังเกตที่สำคัญ กล่าวคือ พระเจ้าจักรพรรดิ จัดสรรการดูแลรักษาคุ้มครองที่เป็นธรรมแก่ประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ (ทรงจำแนกไว้ ๘ ประเภท คือ อันโตชน ขัตติยะ อนุยนต์ พลกาย พราหมณ์คหบดี ชาวนิคมชนบท สมณพราหมณ์ มิคปักษี) ยังจักรให้หมุนไปโดยธรรม ซึ่งคนสัตว์ที่มุ่งร้ายใดๆ ไม่อาจทำ ให้หมุนกลับได้ แต่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดสรรการดูแลรักษาคุ้มครองที่เป็น ธรรม ให้แก่กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม โดยให้รู้ว่ากายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อย่างไหนควรเสพ อย่างไหนไม่ควรเสพ ยัง ธรรมจักรให้หมุนไปโดยธรรม ซึ่งสมณะ พราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือใครก็ตามในโลก ไม่อาจทำให้หมุนกลับได้

แม้ในการบรรยายความเสื่อมของสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนที่ยืดยาวของจักกวัตติสูตรแรก ท่านก็แสดงภาวะเสื่อมโทรมนั้นโดยชี้ถึงการที่มนุษย์ไม่ดูแลรับผิดชอบทำหน้าที่ต่อกัน ขอให้ดูตัวอย่างสักตอน "ภิกษุทั้งหลาย จักมีสมัยที่มนุษย์เหล่านี้มีบุตรอายุ ๑๐ ปี เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕ ขวบ จักอาจมีสามี

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี คนทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ปฏิบัติชอบต่อมารดา ไม่ปฏิบัติชอบต่อบิดา ไม่ปฏิบัติชอบต่อสมณะ ไม่ปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ ไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล อีกทั้งเขาเหล่านั้นก็จักได้รับการยกย่องเชิดชู และได้รับ ๆ.. การสรรเสริญ เหมือนดั่งที่คนผู้ปฏิบัติชอบต่อมารดา ปฏิบัติชอบต่อบิดา ปฏิบัติชอบต่อสมณะ ปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ได้รับการยกย่อง เชิดชู และได้รับการสรรเสริญ ในบัดนี้

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เขาจักไม่มีจิตคิดเคารพยำเกรงว่า นี่แม่ นี่น้า นี่พ่อ นี่อา นี่ป้า นี่ภรรยา ของอาจารย์ หรือว่านี่ภรรยาของท่านที่เคารพทั้งหลาย สัตว์โลกจักถึงความสมสู่ปะปนกัน เหมือนดังแพะ ไก่ สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี สัตว์เหล่านั้นต่างก็รักผูกความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้าในกันและกัน มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี พี่ชายกับน้องหญิงก็ดี น้องหญิงกับพี่ชายก็ดี จักมีความแค้นเคืองพลุ่งขึ้นมา มีความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า เสมือนนายพรานเนื้อเห็นเนื้อเข้าแล้ว เกิดความอาฆาตพรุ่งขึ้น มีความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้า ฉะนั้น"
(ที.ปา.๑๑/๔๖)

อโศกมหาราช - อโศกธรรม

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก เกี่ยวกับศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกคือ นักปราชญ์เมืองฝรั่งและในอินเดียส่วนมาก อ่านหรือศึกษาศิลาจารึกนั้นแล้ว มักลงความเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราช แม้จะทรงเป็นพุทธมามกะที่มีศรัทธาแรงกล้าและเอาพระทัยใส่ในการดูแลรักษาพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง แต่ในเวลาที่ทรงเผยแผ่สั่งสอนธรรมในศิลาจารึกได้ทรงพยายามวางพระองค์เป็นกลางๆ ไม่ตรัสถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเลย แต่ทรงสอนธรรมที่เป็นหลักความประพฤติทั่วไปอันมีหรือเป็นที่ยอมรับในทุกๆ ศาสนา

ยกตัวอย่าง T.W. Rhys Davids กล่าวว่า (ในศิลาจารึกนั้น) “ไม่มีสักคำที่พูดถึงพระพุทธเจ้า หรือพุทธศาสนา ... อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท นิพพาน และหลักธรรมสําคัญข้ออื่นๆ ของพุทธศาสนา ไม่ปรากฏในศิลาจารึกเลย" แต่ถ้าพูดถึงจารึกที่กล่าวถึงพุทธศาสนาอย่างชัดเจน เช่น ศิลาจารึกแห่งไพรัต ว่า “โยมมีความเคารพและเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ มากเพียงใด...สิ่งใดก็ตามที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว สิ่งนั้นๆ ทั้งปวงล้วนเป็นสุภาษิต”

ท่านผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ก็บอกว่า นั่นเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนพระองค์กับพุทธศาสนา หนังสือ The Cambridge History of India (5 vols.,1922-37) เขียนว่า “เราไม่ได้ฟังพระเจ้าอโศกตรัสถึงธรรมที่ลึกซึ้งหรือหลักพื้นฐานของพุทธศาสนาเลย ไม่มีการกล่าวถึงอริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘ ปฏิจจสมุปบาท พระอัจฉริยคุณของพระพุทธเจ้า (อีกทั้ง) ไม่มีคำกล่าวถึงหรือแสดงหลักแห่งนิพพานเลย R.K. Mookerjee กล่าวไว้ในหนังสือ Asoka ว่า “ธรรมที่นําเสนออย่างนั้น ในธรรมโองการเหล่านี้ เป็นเพียงอีกชื่อหนึ่งสำหรับเรียกชีวิตที่ดีงาม มีศีลธรรม และตั้งอยู่บนฐานร่วมของทุกศาสนา...สามารถนําไปใช้ได้และรับได้ทั่วกันว่าเป็นสาระของทุกศาสนา...ดังนั้น พระเจ้าอโศก์จึงนับว่าได้ทรงวางฐานแห่งศาสนาสากล (universal religion) และน่าจะทรงเป็นบุคคลแรกที่ทำการนี้ในประวัติศาสตร์ คำที่ปราชญ์และท่านผู้รู้เหล่านี้ว่ามาก็น่าฟัง และดูคล้ายจะน่าเชื่อ แต่พอพิเคราะห์ให้ชัดลงไป กลายเป็นต้องแยกว่าในส่วนของข้อมูลด้านศิลาจารึกเอง ต้องชื่นชมท่าน และเราได้อาศัยท่านเหล่านี้มาก

แต่ในขั้นลงมติที่โยงมาสู่พระพุทธศาสนา ท่านเหล่านี้จับจุดจับหลักไม่ถูก ได้แต่มองดูหลักธรรมสำคัญๆ ที่ได้ยินได้พูดกันมาก พอไม่พบ ก็สรุปลงไปอย่างนั้น แต่ถ้าจับจุดได้ ทัศนะของท่านเหล่านี้ ที่ว่าจะเป็นพุทธต้องพูดถึงอริยสัจ สมาธิ นิพพาน เป็นต้นนั้น กลายเป็นทัศนะที่น่าขำขันไป อย่างไรก็ตาม ผู้เห็นว่าธรรมในศิลาจารึกเป็นหลักพุทธศาสนาก็มีไม่น้อย เช่น ผู้เขียนหัวข้อ “Inscriptions as historical source material. Ancient India.” ใน Encyclopedia Britannica ซึ่งได้กล่าวว่า “คำจารึกโองการของพระเจ้าอโศก เป็นประกาศและข้อกําหนดตามสารัตถะแห่งพุทธศาสนา” (ขณะที่อีกบางท่าน ซึ่งเขียนหัวข้ออื่นเกี่ยวกับพระเจ้าอโศก ใน Encycl. ชุดนั้น เห็นว่าจารึกอโศกเป็นคำสอนกลางๆ) ท่านอื่นที่มั่นใจว่า ธรรมในศิลาจารึกเป็นหลักในพระพุทธศาสนาก็เช่น D. R. Bhandarkar และ H. C. Ray Chaudhuri โดยทีสองท่านนี้ ถือว่าเป็นไปตามอุดมคติแห่งจักกวัตติธรรมราชา รวมทั้ง B. M. Barua “ธรรมของพระเจ้าอโศกสอดคล้องกับหลักพุทธปฏิบัติทั้งหมดทั้งสิ้น ที่เขียนไว้ในหนังสือ Asoka and His Inscriptions, Part I, p. 225 ว่าทีนี้ก็มาดูว่า จุดและหลักที่ต้องจับและแยกแยะให้ได้ เพื่อเข้าใจธรรมในศิลาจารึกนั้น คืออะไร?

เริ่มแรก ควรมองภาพทั่วไปก่อนว่า
๑) พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นพุทธศาสนิก แต่ทรงดำรงสถานะเป็นราชา คือเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง และเป็นราชาที่ยิ่งใหญ่มากด้วย
๒) ทรงมีข้อพิเศษเฉพาะพระองค์ คือ ทรงหันมาทรงธรรมโดยมีความสลดพระทัยจากการทำสงคราม เป็นจุดเปลี่ยนอย่างแรง
๓) การใช้ธรรมในระดับกว้างใหญ่นี้ จะต้องมองที่หลักการทั่วไป ซึ่งจะให้เห็นบรรยากาศทั้งหมด ไม่มัวมองหัวข้อย่อยหรือรายละเอียด

จากข้อ ๑) ในฐานะมหาราชผู้เป็นชาวพุทธ ผู้มีสถานะสูงสุดในฝ่ายบ้านเมือง หรือในสังคมของชาวโลก เมื่อปกครองมหาอาณาจักรจะใช้หลักการปกครองอย่างไรจึงจะสมกับความเป็นชาวพุทธ หรือพระพุทธศาสนาวางหลักการอะไรไว้ให้โดยเฉพาะประสานกับข้อ ๒) ที่ทรงละเลิกสงครามแล้ว จะดำรงความเป็นมหาราชไว้ให้เหมาะสมและเป็นคุณแก่การปกครองนั้นได้อย่างไร ถึงตอนนี้ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นคติใหญ่ ก็มาได้ทันที เริ่มด้วยพุทธพจน์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ นี้ เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคล ๒ เป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระราชา จักรพรรดิ ๑” (องฺ.ทุก.๒๐/๒๙๗) นี่คือได้บุคคลที่มีสถานะสูงสุดในโลก เทียบคู่กับองค์พระศาสดาโดยมาเป็นผู้สนองธรรมฝ่ายคฤหัสถ์ หรือฝ่ายบ้านเมือง เรียกง่ายๆ ว่าคติจักกวัตติราชา จักรวรรดิราชา หรือคติพระเจ้าจักรพรรดิราช พอจับจุดได้แล้ว หลักคำสอนในคตินี้ก็ตามมา ซึ่งหาได้มากมายเฉพาะอย่างยิ่งหลักการที่เป็นความหมาย หรือเป็นคําจํากัดความของการเป็นจักรวรรดิราชานั้น ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎกมากมายหลายแห่งคือเป็นธรรมราชา ผู้มีชัยชนะด้วยธรรม (ธมฺเมฆ อภิวิชัย → ธรรมวิชัย) โดยไม่ต้องใช้ศาสตรา

ยกบาลีมาดูเป็นตัวอย่าง
“มา ภิกฺขเว ปุญญาน ภาษิต สุขเสต์ ภิกฺขเว อธิวจน... ยาท ปุญญาน ...ราชา อโหสี จากวาติ ธมมโก ธมฺมราชา จาตุรนโต วิชิตา ชนบทตถาวริยปปตโต สตรอนสมนาคโต ... โส อิมปฐวี สาครปริยนต์ อุเทน อสเป็น ธมฺเมน อภิวิชัย” “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อของความสุข...เราได้เป็นจักรพรรดิราช ผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชาครองแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้มีชัยชนะ มีถิ่นแคว้นถึงความมั่นคงสถาพร พร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ เรามีชัยโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตราครอบครองปฐพีมณฑล อันมีสาครเป็นขอบเขตฯ” (อง.สตฺตก. ๒๓/๕๙/๙๐)

พุทธพจน์ที่มีข้อความอย่างนี้ คือที่มาแห่งหลักการหรือนโยบายการปกครองอย่างใหม่ ที่เรียกว่า “ธรรมวิชัย” ของพระเจ้าอโศกมหาราช ข้อความสำคัญที่ว่าเป็นดังคำจำกัดความของ “ธรรมวิชัย” คือตอนที่ว่า “มีชัยโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา” อย่างที่กล่าวแล้ว พุทธพจน์ส่วนนี้ตรัสในโอกาสต่างๆ เป็นอันมาก แต่ที่ยกมาให้ดูข้างบนนี้ ตรัสโยงกับเรื่องบุญ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในศิลาจารึกอโศกนั้นด้วย

ศิลาจารึกอโศก เป็นของพระเจ้าอโศกมหาราชแน่หรือ

โยม: ขอนมัสการเรียนถามหลวงพ่อ คือวัตถุประสงค์ที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างศิลาจารึก นอกจากแสดงพระราชอำนาจแล้วยังเป็นการสอนประชาชนทั่วไปให้เข้าใจถึงว่า ทรัพย์และอำนาจหรือยศนั้นเป็นสิ่งที่อนิจจังแล้ว มีหลักฐานอีกไหมที่แสดงว่า อันนี้เป็นศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช นอกจากคำที่จารึกไว้ เช่น อาจจะเป็นรูปธรรมจักร พระเจ้าอโศกเป็นวงศ์โมริยะ ซึ่งแปลว่านกยูง มีอะไรเป็นหลักฐานไหมที่ว่า ศิลาจารึกพระเจ้าอโศกสร้างไว้

พระธรรมปิฎก: เจริญพร ศิลาจารึกพระเจ้าอโศกนี้มีข้อความเขียนไว้สั่งสอนแนะนำ แสดงนโยบายของพระเจ้าอโศกแก่ประชาชน เช่น ขอให้คนที่เป็นเจ้าหน้าที่ คล้ายๆ กำนันอะไรพวกนี้ นำเอาข้อความต่อไปนี้ไปบอกแก่ประชาชนของตนๆ แสดงว่าพระองค์ใช้ศิลาจารึกเป็นเครื่องมือในการสั่งสอนและบริหารราชการแผ่นดิน เพราะในสมัยนั้นไม่มีการใช้กระดาษแบบทุกวันนี้ ก็เลยใช้ศิลา ให้เจ้าหน้าที่เขียนไว้ตามที่ต่างๆ เช่น โขดหิน เขา ภูผา เป็นต้น แล้วก็ให้มาอ่านไปบอกกัน เรื่องนี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนสมัยนั้นมีการศึกษา ใน Encyclopedia Britannica เคยบอกว่า อินเดียในสมัยพระเจ้าอโศกนี้ ประชาชนรู้หนังสือมากกว่ายุคปัจจุบัน จะจริงหรือไม่จริง แต่ฝรั่งเขาว่าไว้อย่างนั้น แสดงว่าในสมัยนั้นมีการศึกษาดี และวัดก็เป็นศูนย์กลางการศึกษาอยู่แล้ว และที่คุณหมอถามอีกอย่างหนึ่งคือ มีเครื่องหมายอะไรที่แสดงว่าพระเจ้าอโศกสร้างไว้ ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกนี้ มีคำขึ้นต้นบอกไว้ชัดทุกครั้งไป “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ว่า” หรือทำนองนี้ และข้อความที่เล่าไว้ในจารึกหลายแห่งก็บอกเหตุการณ์ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์มั่นใจว่าเป็นพระเจ้าอโศก เช่น เล่าถึงการสงครามกับแคว้นกลิงคะ

นอกจากข้อความในศิลาจารึกทั่วไปอย่างนี้แล้ว ก็ยังมีศิลาจารึกบางแห่งที่ทำเป็นหลักหรือเป็นเสาไว้ประกาศ เช่น ที่สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ก็จะบอกว่า ณ สถานที่นี้ (คือลุมพินีวัน) พระพุทธศากยมุนีได้ประสูติ เป็นต้น และบนยอดเสาก็มีเครื่องหมายของพระองค์ เช่นหัวสิงห์ และที่เป็นรูปธรรมจักรก็มี ยอดเสาที่สมบูรณ์จริงๆ เราจะไปเห็นในพิพิธภัณฑ์ข้างหน้า และจะได้เห็นศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกเป็นตัวอย่างด้วย อย่างไรก็ตาม ศิลาจารึกเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไป ก็ถูกทำลายบ้าง ถูกภัยธรรมชาติบ้าง ได้หักโค่น แตกกร่อน กระจัดกระจายไป คนยุคหลังๆ ก็เอามาจัดตั้งอย่างที่เราเห็นกัน เพื่อแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างของอดีต และยังจะได้ดูกันต่อไปอีก การพิสูจน์ว่า รู้ได้อย่างไรว่าศิลาจารึกนี้เป็นของพระเจ้าอโศกมหาราช คือพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้นั้น ที่จริงเป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์ โบราณคดี ที่เขาได้ศึกษาและวินิจฉัยกันไว้ ซึ่งเราคงต้องไปฟังไปอ่านเรื่องที่เขารวบรวมเขียนไว้ แต่ถ้าจะพูดรวบรัดเฉพาะหน้า ว่าตามที่อาตมภาพนึกเห็นได้ มีจุดสำคัญหนึ่ง ที่ศิลาจารึกมาบรรจบกับหลักฐานในคัมภีร์ ซึ่งทำให้เห็นว่า องค์ “เทวานัมปิยะ ปิยทัสสี ราชา” หรือ “เทวานามปริยะ ปริทรรศราชา” ในศิลาจารึกนั้น เป็นองค์เดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราชในคัมภีร์ ขอยกข้อความตอนหนึ่งในศิลาจารึกมาให้ดูกัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่มหาอำมาตย์ทั้งหลาย ณ พระนครปาฏลีบุตร และ ณ นครอื่นๆ ว่า สงฆ์ (อันข้าฯ) ได้ทำให้สามัคคีเป็นอันเดียวกันแล้ว (“สํเฆ สมเค กเฎ”) บุคคลใดๆ จะเป็นภิกษุ หรือภิกษุณีก็ตาม ไม่อาจทําลายสงฆ์ได้ ก็แล หากบุคคลผู้ใด จะเป็นภิกษุ หรือภิกษุณีก็ตาม จักทำสงฆ์ให้แตกกัน บุคคลผู้นั้นจักต้องถูกบังคับให้นุ่งห่มผ้าขาว และไปอาศัยอยู่ ณ สถานที่อื่น (นอกวัด) พึงแจ้งสาสน์พระบรมราชโองการนี้ให้ทราบทั่วกัน ทั้งในภิกษุสงฆ์ และในภิกษุณีสงฆ์ ด้วยประการฉะนี้ พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้ ก็ประกาศพระบรมราชโองการเช่นนี้ ท่านทั้งหลายพึงนำไปติดไว้ ณ ทางสัญจรภายในเขตใกล้เคียงของท่านทั้งหลายฉบับหนึ่ง และจงเก็บรักษาประกาศพระบรมราชโองการอันเดียวกันนี้แล ไว้ในเขตใกล้เคียงของอุบาสกทั้งหลายอีกฉบับหนึ่ง ทุกๆ วันอุโบสถ บรรดาอุบาสกเหล่านั้น จึงทำตนให้มีความรู้ความเข้าใจแนบแน่นในประกาศพระบรมราชโองการนี้และทุกๆ วันอุโบสถ มหาอำมาตย์ทุกๆ คนจึงไปร่วมในการรักษาอุโบสถด้วยเป็นประจำ เพื่อจักได้เกิดความคุ้นเคยแนบสนิท และรู้เข้าใจทั่วถึง ซึ่งประกาศพระบรมราชโองการนั้นแลทั่วทุกหนทุกแห่งที่อำนาจบริหารราชการของท่านทั้งหลายแผ่ไปถึง ท่านทั้งหลายจึงขับไล่ (บุคคลผู้ทำลายสงฆ์) ออกไปเสีย และในทำนองเดียวกันนั้น ท่านทั้งหลายจึงขับไล่ (บุคคลที่ทำลายสงฆ์) ในเมืองด่าน และในท้องถิ่นทั้งหลายออกไปเสียโดยให้เป็นไปตามข้อความในประกาศนี้

ธรรมโองการนี้ ในศิลาจารึกเองก็บอกไว้ว่าได้โปรดให้ติดประกาศทั่วไปทุกหนแห่ง แต่เฉพาะที่นักโบราณคดีขุดค้นพบแล้ว ๓ แห่ง (จารึกหลักศิลา ฉบับย่อยที่ ๑-๒-๓) มีข้อความยาวสั้นกว่ากันบ้าง แต่ทุกแห่งมีตอนสำคัญ คือ ย่อหน้า ๒-๓ ที่มีความเริ่มต้นว่า “สงฆ์ (อันข้าฯ) ได้ทำให้สามัคคี” 

สามแห่งที่พบจารึกนี้ คือ ที่สารนาถ ที่โกสัมพี และที่สาญจี การที่ในจารึกต่างแห่งบอกเหมือนกันว่า “ข้าฯ ได้ทำให้สงฆ์สามัคคีกันแล้ว” แสดงว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ของส่วนรวมทั่วทั้งแว่นแคว้น ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของที่นั้นๆ (สารนาถ วัดระยะทางผ่านโกสัมพี ไปถึงสาญจี = ๖๐๐ กิโลเมตร) และข้อความตอนท้ายๆ ของจารึกเอง ก็บอกให้มหาอำมาตย์ดำเนินการรักษาสามัคคีนี้ทั่วทุกหนแห่ง การทําให้สงฆ์สามัคคี ก็แสดงว่าได้มีการแตกแยก และได้แก้ปัญหาความแตกแยกนั้นเสร็จแล้ว นี่ก็คือการสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่เมืองปาฏลีบุตร ที่พระเจ้าอโศกทรงอุปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕ ซึ่ง คัมภีร์สมันตปาสาทิกาได้เล่าไว้ และบอกด้วยว่าพระที่ก่อปัญหา (ท่านว่าปลอมบวชเข้ามา) ได้ถูกบังคับให้นุ่งผ้าขาวให้สึกออกไปดังความตอนหนึ่งในสมันตปาสาทิกานั้น (วินย.อ.๖๐) ว่า

ในวันที่ ๗ พระราชา (อโศก) โปรดให้ประชุมภิกษุสงฆ์ที่อโศการาม ... ทรงทราบว่า พวกนี้มิใช่ภิกษุ พวกนี้เป็นอัญเดียรถีย์ พระราชทานผ้าขาวแก่บุคคลเหล่านั้นให้สึกเสีย ... ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า “พระคุณเจ้าเจริญ บัดนี้ พระศาสนาบริสุทธิ์แล้ว ขอภิกษุสงฆ์จงทำอุโบสถเถิด” พระราชทานอารักขาแล้ว เสด็จคืนสู่พระนคร สงฆ์ซึ่งสามัคคีกันแล้ว ได้กระทำอุโบสถ

ตามศิลาจารึกแสดงว่า แม้สงฆ์จะสามัคคีกันได้แล้ว มาตรการที่จะรักษาความสามัคคีนั้นให้หนักแน่นมั่นคง พร้อมทั้งป้องกันปัญหาอันอาจจะมีขึ้นอีก ก็ยังดำเนินต่อไป โดยให้มหาอำมาตย์ดูแลรับผิดชอบตามความในจารึกนั้น

ทรัพย์และอำนาจ สู่ความหมายและคุณค่าใหม่

ในที่นี้มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ คติเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อทรัพย์สินเงินทอง ดังต่อไปนี้

ตามปกติพระเจ้าอโศกนี้ ก็เช่นเดียวกับกษัตริย์สมัยโบราณจำนวนมาก ที่มุ่งจะแสวงหาความยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเอง และต้องการบำรุงบำเรอความสุขส่วนตน อย่างที่เรียกว่าแสวงหาโภคะและอำนาจหรือแสวงหาทรัพย์และอำนาจ เพื่อบำรุงบำเรอตัวเอง และเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตน ทรัพย์และอำนาจ โดยทั่วไปมักจะมีความหมายอย่างนี้ ทีนี้ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ทางธรรมสอนว่า ทรัพย์สินเงินทองและความยิ่งใหญ่ ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีสาระที่แท้จริง ไม่ควรจะเอาชีวิตไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรหวังความสุข หรือความประเสริฐจากทรัพย์สินเงินทองและอำนาจ ฉะนั้น ทรัพย์สินเงินทองก็ไม่มีความหมายที่แท้จริง เมื่อทรัพย์สินเงินทองไม่มีความหมายแล้ว มองในแง่หนึ่ง ก็จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เพราะว่าเมื่อมองเห็นทรัพย์สินเงินทองเป็นเพียงของนอกกาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอนิจจัง ไม่มีคุณค่าที่แท้จริง ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ไม่ควรเอาใจใส่ นี่คือท่าทีอย่างหนึ่งต่อทรัพย์สมบัติ

ถ้าพระเจ้าอโศกทรงมองเห็นอย่างนั้น พระองค์ก็คงจะไม่เอาพระทัยใส่กับพระราชทรัพย์และอำนาจต่อไป ซึ่งก็จะต้องตั้งคำถามว่า จะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ ปรากฏว่าพระเจ้าอโศกได้ทำสิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างแก่ชาวพุทธที่สำคัญคือ พระเจ้าอโศกนั้นไม่ได้ทรงทิ้งทรัพย์และอำนาจ แต่ได้ทรงเปลี่ยนความหมายของทรัพย์และอำนาจเสียใหม่ อย่างที่ได้กล่าวไว้เมื่อกว่า ทรัพย์และอำนาจนั้น มีความหมายสำหรับปุถุชนจำนวนมาก คือเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขของตนและแสดงความยิ่งใหญ่ แต่พระเจ้าอโศกได้ทรงเปลี่ยนความหมายของทรัพย์และอำนาจใหม่เป็นว่า ทรัพย์และอำนาจนั้น สามารถใช้เป็นเครื่องมือของธรรมได้ คือใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ ทำความดีงาม และประโยชน์สุข ด้วยความคิดเช่นนี้ พระเจ้าอโศกก็ทรงนำเอาทรัพย์และอำนาจที่พระองค์เคยมีนั่นแหละมาใช้ แต่เปลี่ยนใหม่ คือแทนที่จะเอามาบำรุงบำเรอตนเอง ก็เอามาใช้สร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุขอย่างที่ว่า จึงได้ทรงสร้างโรงพยาบาลคน โรงพยาบาลสัตว์ ทั่วพระราชอาณาจักร สร้างถนนหนทางเชื่อมต่อให้กว้างขวางทั่วถึง ปลูกต้นไม้ ขุดบ่อน้ำ สร้างที่พักคนเดินทาง และสร้างอ่างเก็บน้ำ ให้การศึกษาแก่ประชาชน ทําศิลาจารึกประกาศธรรม แถลงเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐให้แก่ประชาชนในทางธรรม ที่จะให้ผู้บริหารปกครองท้องถิ่นนำไปสั่งสอนประชาชนตลอดจนอุปถัมภ์พระศาสนาอย่างมากมาย

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบว่า พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามีทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็ได้ทรงสร้างวัดขึ้นทั้งหมด เรียกว่า “มหาวิหาร” จำนวน ๘๔,๐๐๐ วัด ทั่วมหาอาณาจักรของพระองค์ คือแคว้นมคธนี่แหละ แคว้นมคธเป็นศูนย์กลางของมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศก คือบริเวณแถบนี้ที่เรากำลังเดินทางกันอยู่ ในแคว้นมคธนี้ มีวัดจำนวนมากมาย วัด ภาษาบาลีเรียกว่า วิหาร มหาวิหารก็คือ วัดใหญ่ คำว่า “วิหาร” นี้ ถ้าแผลง ว. เป็น พ. ก็จะเป็น พิหาร เหมือนอย่างใoประเทศไทยเรานิยมแปลง ว. เป็น พ. เยอะแยะไป ในอินเดีย ว. เป็น พ. ก็แผลงกันได้ วิหารก็กลายเป็นพิหาร แปลว่า “วัด” ต่อมา เมื่ออาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราชได้เสื่อมสลายลงไป ก็มีซากวัดวาอารามเหลืออยู่มากมาย เนื่องจากแคว้นมคธนี้เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยซากของวัด คือวิหาร หรือพิหาร ฉะนั้น ต่อมาก็เลยเรียกชื่อดินแดนแถบนี้ ตั้งชื่อเป็นแคว้นหรือรัฐว่า แคว้นพิหาร หรือรัฐวิหาร อย่างที่เรารู้จักกัน เป็นชื่อทางการในปัจจุบัน

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมีวัดมากมายเหลือเกิน ซึ่งพระเจ้าอโศกสร้างไว้ ยังมีซากเหลืออยู่ พระเจ้าอโศกสร้างวิหารทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ แห่ง ทั่วราชอาณาจักร และวัดเหล่านั้นก็ได้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา บางแห่งได้เจริญเติบโตจนเป็นมหาวิทยาลัย เช่นที่เรากำลังจะไป คือ นาลันทา ซึ่งเดิมก็เป็นวิหารหนึ่ง แล้วได้ขยายเป็นมหาวิหาร คือ วัดใหญ่ โดยเกิดจากการรวมกันของวัดเล็กวัดน้อยที่เป็นศูนย์การศึกษา แล้วพัฒนาขึ้นมาจนเป็น มหาวิทยาลัยนาลันทา ชื่อในภาษาบาลี เรียกว่า นาลันทามหาวิหาร ก็คือวัดใหญ่นั่นเอง ซึ่งเราจะได้เห็นความยิ่งใหญ่ของวัดที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยนาลันทาเมื่อเดินทางกันต่อไป

นี้คือความเป็นมาในอดีต ซึ่งเกี่ยวข้องกับเมืองที่เรียกว่าปาตลีบุตรพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงให้ความหมายใหม่แก่ทรัพย์และอำนาจ แล้วก็ทรงจารึกไว้ในศิลาจารึกของพระองค์ ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกแห่งหนึ่ง มีข้อความจารึกไว้ว่า ยศ คือความยิ่งใหญ่ของพระองค์นั้น จะไม่มีความหมายเลย ถ้าไม่เป็นไปเพื่อช่วยให้ประชาชนได้ประพฤติธรรม หมายความว่า พระเจ้าอโศกได้ทรงใช้ทรัพย์และอำนาจ เป็นเครื่องมือแห่งธรรม เพื่อเผยแพร่ธรรมหรือสร้างสรรค์ธรรม ทําให้ความดีงามหรือธรรมนี้แผ่ขยายไปในหมู่มนุษย์ เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขอันแท้จริง อันนี้เป็นคติที่สำคัญมาก ขอยกข้อความในศิลาจารึก คือ ธรรมโองการ ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๐ มาให้ดู ดังนี้

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่า ยศหรือเกียรติจะเป็นสิ่งมีประโยชน์มาก เว้นแต่จะทรงปรารถนายศหรือเกียรติเพื่อความมุ่งหมายนี้ว่า ทั้งในบัดนี้และเบื้องหน้า ขอประชาชนทั้งหลายจงตั้งใจสดับฟังคําสอนธรรมของข้าฯ และจงปฏิบัติตามหลักความประพฤติทางธรรม”

คำว่า “ยศ” ในภาษาบาลีนั้น แปลง่ายๆ ว่า ความยิ่งใหญ่ มี ๓ อย่าง คือ
๑. เกียรติยศ ยศ คือเกียรติ ได้แก่ความมีชื่อเสียง มีเกียรติคุณ
๒. อิสสริยยศ ยศ คือ ความเป็นใหญ่
๓. บริวารยศ ยศ คือ บริวาร
คนที่มีความคิดดีๆ มีเจตนาดี มีสติปัญญาดี แต่ถ้าไม่มีทรัพย์ ไม่มีอำนาจ ไม่มียศ ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์ความดีงามหรือประโยชน์สุขได้มาก เราคิดขึ้นมาว่าจะทำการที่ดีเป็นประโยชน์สักอย่าง แต่ไม่มีเงิน ไม่มีบริวาร ไม่มีอำนาจ จะทำได้แค่ไหน ทำได้นิดเดียวก็จบ แต่ถ้ามีทรัพย์ มีอำนาจ มีบริวาร มีความคิดดี มีสติปัญญาดี ก็สามารถออกผลกระจายขยายออกไปได้กว้างขวาง เหมือนดังพระเจ้าอโศกมหาราช

เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ จึงเป็นคติเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ให้หลักแก่เราในด้านการปฏิบัติต่อทรัพย์และอำนาจอย่างที่กล่าวมานี้ ชาวพุทธมีคติว่า เมื่อเราได้เรียนรู้ธรรมแล้วว่า ทรัพย์สินเงินทองและอำนาจนี้ เป็นของนอกกาย จึงไม่ควรยึดถือเป็นจุดหมายของชีวิต ข้อนี้หมายความว่า เราไม่ได้เห็นความหมายของทรัพย์และอำนาจในแง่ที่เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว หรือเป็นประโยชน์ส่วนตนและไม่ยึดติดตกเป็นทาสของมัน ให้เกิดก่อทุกข์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น แต่เรามองอย่างพระเจ้าอโศก คือ คิดที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือของธรรมไม่ใช่หมายความว่า ทรัพย์และอำนาจเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็เลยไม่เอาใจใส่ ไม่บริหาร ไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องรู้จักเอามันมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามและประโยชน์สุข อันนี้ถือว่าเป็นวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องของชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์ แต่ถ้าไม่อยากเกี่ยวข้องกับทรัพย์และอำนาจ ก็ออกบวชไปเลยจะได้ไปทําหน้าที่ทางธรรมอีกแบบหนึ่ง คือ นาธรรมที่เป็นตัวนามธรรม ได้แก่สติปัญญา ไปแจกจ่ายแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปดำเนินชีวิตให้ถูกต้องเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมของเขา

ฉะนั้น จึงมีคติ ๒ อย่าง คือ
• ถ้าอยู่เป็นคฤหัสถ์ ก็ให้ใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องมือของธรรม ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์ความดีงาม หรือ
ถ้าอยู่เป็นภิกษุ เบื่อหน่ายไม่อยากเกี่ยวข้องกับทรัพย์และอำนาจ ก็ออกบวชไปเผยแพร่ธรรมให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

ถ้ามิฉะนั้น จะกลายเป็นคนครึ่งๆ กลางๆ มีทรัพย์มีอำนาจแล้วบอกว่าเบื่อหน่าย ไม่เอาเรื่องเอาราว จะทำอย่างไรก็ไม่ทำ ไม่รับผิดชอบทรัพย์และอำนาจนั้นเมื่อไม่ได้รับการบริหาร ไม่มีคนรับผิดชอบ หายหมด ไม่เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคม และชีวิตของคนผู้นั้นเองก็ไม่ได้เจริญงอกงามอะไรขึ้นมา เรื่องพระเจ้าอโศก อย่างน้อยก็ให้คติแก่เราอย่างนี้ นอกจากนั้น ยังมีคติที่สำคัญอันเนื่องมาจากสถานที่นี้เอง

วัดอโศการาม ซึ่งเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เรื่องของการทําสังคายนานั้น คือ
• สังคายนาอะไร ทางพระท่านเรียกว่า สังคายนาพระธรรมวินัย
• ธรรมวินัย คืออะไร ก็คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
• สังคายนาเพื่ออะไร ก็เพื่อให้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้คงอยู่เป็นหมวดเป็นหมู่ เป็นหลักเป็นฐาน คนรุ่นหลังจะได้รู้ว่าหลักคำสั่งสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าคืออะไร และจะได้ประพฤติปฏิบัติถูกต้อง เมื่อหลักธรรมวินัยเรียบร้อย บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว พระศาสนาก็จะเจริญมั่นคงและแพร่หลายต่อไป

มีข้อน่าสังเกตว่า วัตถุประสงค์ของการสังคายนานั้น ท่านแสดงไว้ว่า พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมปาย แปลว่า เพื่อประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมาก เพื่อเกื้อกูลแก่ชาวโลก หมายความว่า ที่ทำสังคายนาอะไรต่างๆ เหล่านี้ และทำให้พระศาสนาเจริญมั่นคงนั้น วัตถุประสงค์ไม่ได้อยู่ที่ตัวพระศาสนาเอง พระศาสนาไม่ได้อยู่เพื่อตัวเอง พระศาสนานั้นมีอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมากและชาวโลก อันนี้เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา เป็นอันว่า ในการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน การที่เราทำนุบำรุงพระพุทธศาสนานี้ ก็เพื่อให้พระพุทธศาสนาอยู่ยั่งยืน จะได้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนจำนวนมาก และแก่ชาวโลก สืบต่อไปตลอดกาลนาน คติอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ตัวธรรมวินัยเอง ซึ่งประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ธรรม และ วินัย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป ในตอนเริ่มต้นนี้ อาตมาแนะนำเกริ่นไว้ก่อน พอเป็นเครื่องเชื่อมเรื่องราวของสถานที่นี้กับความเป็นไปในพระพุทธศาสนา อย่างน้อยก็อยากให้โยมได้ภาพรวมของดินแดนพระพุทธศาสนาแห่งนี้ ก็เข้าใจว่าคงจะพอเห็นกันลางๆ แล้ว