🪷 ธรรมสุตตะ
เสียงธรรม... นำทางใจ

ศิลาจารึกอโศก เป็นของพระเจ้าอโศกมหาราชแน่หรือ

โยม: ขอนมัสการเรียนถามหลวงพ่อ คือวัตถุประสงค์ที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างศิลาจารึก นอกจากแสดงพระราชอำนาจแล้วยังเป็นการสอนประชาชนทั่วไปให้เข้าใจถึงว่า ทรัพย์และอำนาจหรือยศนั้นเป็นสิ่งที่อนิจจังแล้ว มีหลักฐานอีกไหมที่แสดงว่า อันนี้เป็นศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช นอกจากคำที่จารึกไว้ เช่น อาจจะเป็นรูปธรรมจักร พระเจ้าอโศกเป็นวงศ์โมริยะ ซึ่งแปลว่านกยูง มีอะไรเป็นหลักฐานไหมที่ว่า ศิลาจารึกพระเจ้าอโศกสร้างไว้

พระธรรมปิฎก: เจริญพร ศิลาจารึกพระเจ้าอโศกนี้มีข้อความเขียนไว้สั่งสอนแนะนำ แสดงนโยบายของพระเจ้าอโศกแก่ประชาชน เช่น ขอให้คนที่เป็นเจ้าหน้าที่ คล้ายๆ กำนันอะไรพวกนี้ นำเอาข้อความต่อไปนี้ไปบอกแก่ประชาชนของตนๆ แสดงว่าพระองค์ใช้ศิลาจารึกเป็นเครื่องมือในการสั่งสอนและบริหารราชการแผ่นดิน เพราะในสมัยนั้นไม่มีการใช้กระดาษแบบทุกวันนี้ ก็เลยใช้ศิลา ให้เจ้าหน้าที่เขียนไว้ตามที่ต่างๆ เช่น โขดหิน เขา ภูผา เป็นต้น แล้วก็ให้มาอ่านไปบอกกัน เรื่องนี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนสมัยนั้นมีการศึกษา ใน Encyclopedia Britannica เคยบอกว่า อินเดียในสมัยพระเจ้าอโศกนี้ ประชาชนรู้หนังสือมากกว่ายุคปัจจุบัน จะจริงหรือไม่จริง แต่ฝรั่งเขาว่าไว้อย่างนั้น แสดงว่าในสมัยนั้นมีการศึกษาดี และวัดก็เป็นศูนย์กลางการศึกษาอยู่แล้ว และที่คุณหมอถามอีกอย่างหนึ่งคือ มีเครื่องหมายอะไรที่แสดงว่าพระเจ้าอโศกสร้างไว้ ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกนี้ มีคำขึ้นต้นบอกไว้ชัดทุกครั้งไป “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ว่า” หรือทำนองนี้ และข้อความที่เล่าไว้ในจารึกหลายแห่งก็บอกเหตุการณ์ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์มั่นใจว่าเป็นพระเจ้าอโศก เช่น เล่าถึงการสงครามกับแคว้นกลิงคะ

นอกจากข้อความในศิลาจารึกทั่วไปอย่างนี้แล้ว ก็ยังมีศิลาจารึกบางแห่งที่ทำเป็นหลักหรือเป็นเสาไว้ประกาศ เช่น ที่สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ก็จะบอกว่า ณ สถานที่นี้ (คือลุมพินีวัน) พระพุทธศากยมุนีได้ประสูติ เป็นต้น และบนยอดเสาก็มีเครื่องหมายของพระองค์ เช่นหัวสิงห์ และที่เป็นรูปธรรมจักรก็มี ยอดเสาที่สมบูรณ์จริงๆ เราจะไปเห็นในพิพิธภัณฑ์ข้างหน้า และจะได้เห็นศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกเป็นตัวอย่างด้วย อย่างไรก็ตาม ศิลาจารึกเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไป ก็ถูกทำลายบ้าง ถูกภัยธรรมชาติบ้าง ได้หักโค่น แตกกร่อน กระจัดกระจายไป คนยุคหลังๆ ก็เอามาจัดตั้งอย่างที่เราเห็นกัน เพื่อแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างของอดีต และยังจะได้ดูกันต่อไปอีก การพิสูจน์ว่า รู้ได้อย่างไรว่าศิลาจารึกนี้เป็นของพระเจ้าอโศกมหาราช คือพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้นั้น ที่จริงเป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์ โบราณคดี ที่เขาได้ศึกษาและวินิจฉัยกันไว้ ซึ่งเราคงต้องไปฟังไปอ่านเรื่องที่เขารวบรวมเขียนไว้ แต่ถ้าจะพูดรวบรัดเฉพาะหน้า ว่าตามที่อาตมภาพนึกเห็นได้ มีจุดสำคัญหนึ่ง ที่ศิลาจารึกมาบรรจบกับหลักฐานในคัมภีร์ ซึ่งทำให้เห็นว่า องค์ “เทวานัมปิยะ ปิยทัสสี ราชา” หรือ “เทวานามปริยะ ปริทรรศราชา” ในศิลาจารึกนั้น เป็นองค์เดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราชในคัมภีร์ ขอยกข้อความตอนหนึ่งในศิลาจารึกมาให้ดูกัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่มหาอำมาตย์ทั้งหลาย ณ พระนครปาฏลีบุตร และ ณ นครอื่นๆ ว่า สงฆ์ (อันข้าฯ) ได้ทำให้สามัคคีเป็นอันเดียวกันแล้ว (“สํเฆ สมเค กเฎ”) บุคคลใดๆ จะเป็นภิกษุ หรือภิกษุณีก็ตาม ไม่อาจทําลายสงฆ์ได้ ก็แล หากบุคคลผู้ใด จะเป็นภิกษุ หรือภิกษุณีก็ตาม จักทำสงฆ์ให้แตกกัน บุคคลผู้นั้นจักต้องถูกบังคับให้นุ่งห่มผ้าขาว และไปอาศัยอยู่ ณ สถานที่อื่น (นอกวัด) พึงแจ้งสาสน์พระบรมราชโองการนี้ให้ทราบทั่วกัน ทั้งในภิกษุสงฆ์ และในภิกษุณีสงฆ์ ด้วยประการฉะนี้ พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้ ก็ประกาศพระบรมราชโองการเช่นนี้ ท่านทั้งหลายพึงนำไปติดไว้ ณ ทางสัญจรภายในเขตใกล้เคียงของท่านทั้งหลายฉบับหนึ่ง และจงเก็บรักษาประกาศพระบรมราชโองการอันเดียวกันนี้แล ไว้ในเขตใกล้เคียงของอุบาสกทั้งหลายอีกฉบับหนึ่ง ทุกๆ วันอุโบสถ บรรดาอุบาสกเหล่านั้น จึงทำตนให้มีความรู้ความเข้าใจแนบแน่นในประกาศพระบรมราชโองการนี้และทุกๆ วันอุโบสถ มหาอำมาตย์ทุกๆ คนจึงไปร่วมในการรักษาอุโบสถด้วยเป็นประจำ เพื่อจักได้เกิดความคุ้นเคยแนบสนิท และรู้เข้าใจทั่วถึง ซึ่งประกาศพระบรมราชโองการนั้นแลทั่วทุกหนทุกแห่งที่อำนาจบริหารราชการของท่านทั้งหลายแผ่ไปถึง ท่านทั้งหลายจึงขับไล่ (บุคคลผู้ทำลายสงฆ์) ออกไปเสีย และในทำนองเดียวกันนั้น ท่านทั้งหลายจึงขับไล่ (บุคคลที่ทำลายสงฆ์) ในเมืองด่าน และในท้องถิ่นทั้งหลายออกไปเสียโดยให้เป็นไปตามข้อความในประกาศนี้

ธรรมโองการนี้ ในศิลาจารึกเองก็บอกไว้ว่าได้โปรดให้ติดประกาศทั่วไปทุกหนแห่ง แต่เฉพาะที่นักโบราณคดีขุดค้นพบแล้ว ๓ แห่ง (จารึกหลักศิลา ฉบับย่อยที่ ๑-๒-๓) มีข้อความยาวสั้นกว่ากันบ้าง แต่ทุกแห่งมีตอนสำคัญ คือ ย่อหน้า ๒-๓ ที่มีความเริ่มต้นว่า “สงฆ์ (อันข้าฯ) ได้ทำให้สามัคคี” 

สามแห่งที่พบจารึกนี้ คือ ที่สารนาถ ที่โกสัมพี และที่สาญจี การที่ในจารึกต่างแห่งบอกเหมือนกันว่า “ข้าฯ ได้ทำให้สงฆ์สามัคคีกันแล้ว” แสดงว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ของส่วนรวมทั่วทั้งแว่นแคว้น ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของที่นั้นๆ (สารนาถ วัดระยะทางผ่านโกสัมพี ไปถึงสาญจี = ๖๐๐ กิโลเมตร) และข้อความตอนท้ายๆ ของจารึกเอง ก็บอกให้มหาอำมาตย์ดำเนินการรักษาสามัคคีนี้ทั่วทุกหนแห่ง การทําให้สงฆ์สามัคคี ก็แสดงว่าได้มีการแตกแยก และได้แก้ปัญหาความแตกแยกนั้นเสร็จแล้ว นี่ก็คือการสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่เมืองปาฏลีบุตร ที่พระเจ้าอโศกทรงอุปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕ ซึ่ง คัมภีร์สมันตปาสาทิกาได้เล่าไว้ และบอกด้วยว่าพระที่ก่อปัญหา (ท่านว่าปลอมบวชเข้ามา) ได้ถูกบังคับให้นุ่งผ้าขาวให้สึกออกไปดังความตอนหนึ่งในสมันตปาสาทิกานั้น (วินย.อ.๖๐) ว่า

ในวันที่ ๗ พระราชา (อโศก) โปรดให้ประชุมภิกษุสงฆ์ที่อโศการาม ... ทรงทราบว่า พวกนี้มิใช่ภิกษุ พวกนี้เป็นอัญเดียรถีย์ พระราชทานผ้าขาวแก่บุคคลเหล่านั้นให้สึกเสีย ... ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า “พระคุณเจ้าเจริญ บัดนี้ พระศาสนาบริสุทธิ์แล้ว ขอภิกษุสงฆ์จงทำอุโบสถเถิด” พระราชทานอารักขาแล้ว เสด็จคืนสู่พระนคร สงฆ์ซึ่งสามัคคีกันแล้ว ได้กระทำอุโบสถ

ตามศิลาจารึกแสดงว่า แม้สงฆ์จะสามัคคีกันได้แล้ว มาตรการที่จะรักษาความสามัคคีนั้นให้หนักแน่นมั่นคง พร้อมทั้งป้องกันปัญหาอันอาจจะมีขึ้นอีก ก็ยังดำเนินต่อไป โดยให้มหาอำมาตย์ดูแลรับผิดชอบตามความในจารึกนั้น

เชิญกัลยาณชนร่วมเสนอแนะ, แสดงความคิดเห็นโดยชอบ

แสดงความคิดเห็น

ขอเชิญแสดงความคิดเห็นด้วยเมตตาและสติ หากข้อธรรมใดมีประโยชน์ ท่านสามารถร่วมแบ่งปัน หรือสะท้อนข้อคิดของตนไว้ที่นี่ได้ ความคิดเห็นที่สุภาพและสร้างสรรค์จะเป็นธรรมทานร่วมกันแก่ผู้อื่น🌿🌿

แสงธรรมนำทาง...

ธรรมสุตตะ | ศึกษาพระธรรมคำสอนตามพระไตรปิฎก © 2008. Template by Dicas Blogger.

กลับขึ้นด้านบน