วันอังคาร

ความกล้าหาญในทางสันติ

เรื่องไม่จบแค่นั้น ยังต้องย้อนกลับไปท้วงติงมติของผู้รู้ทั้งฝรั่งและอินเดียเพิ่มอีกแง่หนึ่ง คือที่ผู้รู้เหล่านั้นบอกว่า พระเจ้าอโศกสอนธรรมที่เป็นกลาง ซึ่งทุกศาสนายอมรับได้นั้น จริงหรือ? ในการพิจารณาแนวพระราชดำริของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น นอกจากข้อสำคัญที่ ๑ คือสถานะแห่งความเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่แล้ว ข้อที่ ๒ ก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน โดยเฉพาะในแง่ที่เป็นตัวกำหนดทิศทาง ข้อที่ ๒ นั้น ก็คือ จุดเปลี่ยนในพระชนมชีพของพระองค์ เมื่อสงครามพิชิตแคว้นกลิงคะ ทำให้ทรงสลดพระทัยต่อความทุกข์ยาก เดือดร้อนของประชาชนนั้น มันไม่เพียงทำให้ทรงละเลิกการรุกรานทำสงครามเท่านั้น แต่กลายเป็นแรงเหวี่ยงพระองค์ไปในทางตรงข้ามแทบจะสุดทาง คือทำให้ทรงละเลิกการเบียดเบียนทุกอย่าง แม้กระทั่งการทำลายชีวิตสัตว์เล็กสัตว์น้อย และหันมามุ่งในการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์

ข้อที่ ๒ นี้ กลายเป็นตัวกำกับข้อที่ ๑ ด้วย โดยทำให้หลักการปกครองอาณาจักร (หรือเรียกให้เข้ากับคำฝรั่ง คือ Empire ว่าจักรวรรดิ) เปลี่ยนจากอรรถศาสตร์ ของพราหมณ์จาณักยะ ที่นำทางนโยบายของพระอัยกาจันทรคุปต์ มาสู่จักกวัตติสูตรของพระพุทธเจ้าเป็นต้น  จากวิชัยที่เป็นการชนะด้วยสงคราม ซึ่งอย่างดีที่สุดคือธรรมวิชัย ตามความหมายของอรรถศาสตร์ อันหมายถึงการรบชนะอย่างมีธรรม ที่เมื่อชนะแล้วไม่ทำการทารุณโหดร้าย เพียงให้ยอมอยู่ใต้อำนาจ พระเจ้าอโศกเปลี่ยนมาหาธรรมวิชัยตามความหมายของจักกวัตติสูตร อันหมายถึงชัยชนะด้วยธรรม คือการทําความดีสร้างสรรค์ประโยชน์สุข

อย่างไรก็ดี แม้ว่านโยบายธรรมวิชัยจะนำทางการปกครองอย่างครอบคลุม แต่เห็นได้ว่ามีจุดเน้นอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงต้องถามว่าหลักการใดนำทางการปกครองภายในของพระเจ้าอโศกไม่ต้องพูดถึงหลักการและประเพณีต่างๆ จนแม้กระทั่งเรื่องปลีกย่อย ที่พระเจ้าอโศกทรงเลิกและเปลี่ยนจากหลักในอรรถศาสตร์ เช่น จากวิหารยาตรา ที่ราชาเสด็จไปทรงพักผ่อนหาความสนุกสำราญและล่าสัตว์ เปลี่ยนมาเป็นธรรมยาตรา ที่องค์ราชาเสด็จไปทรงนมัสการพระสงฆ์ ถวายทาน เยี่ยมเยียนท่านผู้เฒ่าชราและราษฎรในชนบท สั่งสอนสนทนาธรรม พร้อมทั้งพระราชทานความช่วยเหลือ

จากสมาช* ที่เป็นงานชุมนุมของราษฎรเพื่อความสนุกสนานด้วยการเสพสุรายาเมา เอาสัตว์ต่างๆ มาแข่งขันและต่อสู้กัน เป็นต้น เปลี่ยมาเป็นวิมานทรรศน์ คือนิทรรศการสิ่งที่ดีงามสวยงามงดงามประณีต 
มีศิลปะที่ชักนำจิตใจในทางแห่งคุณธรรมและเจริญจิตเจริญปัญญาเป็นต้น จากพิธีมงคล มาเป็นธรรมมงคล จากเภรีโฆษ คือเสียงกลองศึก มาเป็นธรรมโฆษ คือเสียงนัดหมายเชิญชวนมาฟังธรรมหรือทำกิจกรรมที่ดีงาม 
👉 <ในคำว่า สมัชชาภิจรณะ ซึ่งแปลกันมาว่า "เที่ยว การเล่น” อันเป็นข้อที่ ๓ แห่งอบายมุข ๖ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของคำและความที่ควรเทียบ: “สมาช” ตรงกับที่ในพระไตรปิฎกใช้ว่า “สมัชชา ในสิงคาลกสูตร อันเป็นวินัยของคฤหัสถ์ (ที.ปา.๑๑/๑๘๑) และทรงแสดงตัวอย่างไว้ ดังที่ท่านแปลให้เข้ากับเรื่องของไทยว่า ฟ้อนรํา ขับร้อง ดนตรี เสภา เพลง เถิดเทิง (เวลานี้ อาจต้องแปลใหม่ให้เข้ากับสภาพปัจจุบัน) พึงสังเกตว่า รามายณะ ก็ดี อรรถศาสตร์ ก็ดี ให้ส่งเสริม สมาช นี่แก่ราษฎร โดยถือว่าจะช่วยให้ราษฎรเกิดความนิยมชมชอบต่อรัฐ (ทำให้พลเมืองของรัฐที่แพ้หันมาชอบผู้ชนะ)พูดง่ายๆ ว่าใช้เป็นสิ่งกล่อม แต่พระเจ้าอโศกไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนแบบนี้ กลับให้เลิกเสีย>

พระเจ้าอโศกทรงดำเนินไปไกลที่จะไม่ให้มีการเบียดเบียนชีวิตใดๆ เลย ถึงกับทรงทำเป็นตัวอย่างในการเลิกเสวยเนื้อสัตว์ อันอาจเป็นที่มาของอาหารมังสวิรัติของคนรุ่นหลัง ดังความในจารึกศิลาฉบับที่ ๒ ว่า ธรรมโองการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้โปรดให้จารึกไว้ 
ณ ถิ่นนี้ บุคคลไม่พึงฆ่าสัตว์มีชีวิตใดๆ เพื่อการบูชายัญ ไม่พึงจัดงานชุมนุมเพื่อการเลี้ยงรื่นเริง (สมาช) ใดๆ เพราะว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมองเห็นโทษเป็นอันมากในการชุมนุมเช่นนั้น ก็แลการชุมนุมบางอย่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงเห็นชอบว่าเป็นสิ่งที่ดี มีอยู่อีกส่วนหนึ่ง (ต่างหาก) แต่ก่อนนี้ ในโรงครัวหลวงของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ สัตว์ได้ถูกฆ่าเพื่อทำเป็นอาหาร วันละหลายแสนตัว ครั้นมาในบัดนี้ เมื่อธรรมโองการนี้อันพระองค์โปรดให้จารึกแล้ว สัตว์เพียง ๓ ตัวเท่านั้นที่ถูกฆ่า คือ นกยูง ๒ ตัว และเนื้อ ๑ ตัว ถึงแม้เนื้อนั้นก็มิได้ถูกฆ่าเป็นประจำ ก็แลสัตว์ทั้งสามนี้ (ในกาลภายหน้า) ก็จักไม่ถูกฆ่าอีกเลย

ในที่นี้ จะไม่พูดถึงเรื่องซึ่งในระดับการแผ่นดินถือได้ว่าเป็นข้อปลีกย่อยหรือเฉพาะอย่าง ที่ได้เอ่ยอ้างมาเหล่านี้ แต่พอดีว่าหลักการสำคัญที่นำทางการปกครองภายในของพระเจ้าอโศก ก็ปรากฏอยู่ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๒ นี้ด้วยเรื่องนี้คนทั่วไปอาจจะนึกไม่ถึง นั่นก็คือเรื่องการบูชายัญที่ท่านผู้รู้หลายท่าน ทั้งฝรั่งและอินเดียบอกว่า พระเจ้าอโศกสอนธรรมที่เป็นกลาง ซึ่งทุกศาสนายอมรับได้นั้น ที่จริงก็รู้กันอยู่ว่า ในชมพูทวีปตั้งแต่ก่อนมานานจนบัดนั้น ถึงจะมีศาสดาเจ้าลัทธิมากมาย แต่ศาสนาที่ครอบงำสังคมอินเดีย ด้วยระบบวรรณะ และการบูชายัญเซ่นสรวงแต่มวลเทพ ตามกำหนดแห่งพระเวท เป็นใหญ่อยู่ ก็คือศาสนาพราหมณ์ (ไม่ต้องพูดว่าทุกศาสนายอมรับได้ แต่ควรจะถามว่าพราหมณ์รับได้ไหม) สิ่งที่พระเจ้าอโศกทําอย่างสำคัญก็คือ การห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ แล้วอย่างนี้ ศาสนาพราหมณ์จะยอมรับได้อย่างไร?


การห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ นี้ อโศกมหาราชทรงสอนและประกาศไว้ในศิลาจารึกหลายวาระหลายฉบับ (เช่น จารึกศิลา ฉบับที่ ๑ ที่ ๔และที่ ๑๑) เป็นหลักการใหญ่ของพระองค์ พูดได้ว่าทรงเอาจริง เพราะเป็นจุดเปลี่ยนของพระองค์เองที่จะเน้นนี่คือการตีแสกหน้าของพราหมณ์ เป็นการหักล้างไม่เพียงลัทธิความเชื่อของเขาเท่านั้น แต่สั่นสะเทือนสถานะและทำลายผลประโยชน์ของพราหมณ์โดยตรง ดังที่พวกพราหมณ์ได้เก็บอัดความคั่งแค้นไว้ ในที่สุดพราหมณ์ปุษยมิตรก็โค่นราชวงศ์โมริยะลง ตั้งราชวงศ์ศุงคะ แล้วที่ชัดคือพราหมณ์ปุษยมิตรที่ตั้งตัวเป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์พราหมณ์นั้น นอกจากห้ำหั่นบีฑาชาวพุทธแล้วก็ได้รื้อฟื้นพิธีบูชายัญอันยิ่งใหญ่คืออัศวเมธขึ้นมาเพื่อประกาศศักดานุภาพ การบูชายัญที่เงียบหายไปหลายร้อยปี ก็กลับเฟื่องฟูขึ้นอีก ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนที่ฝรั่งอังกฤษผู้เข้ามายึดอินเดียเป็นอาณานิคมปกครองไว้ จะเปิดเผยเรื่องพระเจ้าอโศกขึ้นมานั้น คนอินเดียไม่รู้จักพระเจ้าอโศกเลย แม้แต่พระนามก็ไม่เคยได้ยิน พระเจ้าอโศกถูกอินเดียลืมสนิท เรื่องพระเจ้าอโศกเหลืออยู่เพียงในคัมภีร์พุทธศาสนา

การที่เรื่องพระเจ้าอโศกหายไปนั้น คงไม่ใช่เพียงเพราะการรุกรานทำลายของกองทัพมุสลิมเท่านั้น แต่ได้ถูกพราหมณ์พยายามทำให้สลายมาก่อน ทั้งที่พระเจ้าอโศกไม่เพียงยกย่องพราหมณ์ให้รับราชการมีตำแหน่งสำคัญในการแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังได้เน้นไว้เสมอในศิลาจารึกให้ปฏิบัติชอบและถวายทานแก่สมณพราหมณ์ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก แต่พราหมณ์ก็อดเคียดแค้นไม่ได้ ในเมื่อพระเจ้าอโศกไม่ยอมรับอภิสิทธิ์ของพราหมณ์ตามระบบวรรณะ และที่สำคัญที่สุดคือได้ทรงห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ (เท่ากับเลิกล้มพิธีบูชายัญ) ดังนั้น เรื่องจึงเป็นมาอย่างที่ท่านผู้รู้ของอินเดียเองเขียนไว้ (BK 
Mukherjee, Asoka, 105, 108-9) ว่า แม้แต่พระนาม “เทวานามปริยะ” ก็ได้ถูกนักไวยากรณ์พราหมณ์ในสมัยต่อมา พยายามอธิบายให้มีความหมายเป็นคนโง่เขลา เนื่องจากอคติของพราหมณ์ต่อพระมหากษัตริย์ชาวพุทธที่โดดเด่นที่สุดเสมือนว่า พราหมณ์ไม่เพียงขุดโค่นพระเจ้าอโศกเท่านั้น แต่อินเดียได้ขุดหลุมฝังพระเจ้าอโศกและกลบให้ลับหายสนิท จนกระทั่งอังกฤษขุดคุ้ยหลุมนั้นออกให้เห็นพระเจ้าอโศกในเวลาประมาณ ๑,๕๐๐ ปีต่อมา จึงกลายเป็นว่า ปฏิบัติการที่เป็นความกล้าหาญในทางสันติของพระเจ้าอโศกดังว่ามานี้ เป็นสิ่งที่ยากจะรักษาไว้ให้คงอยู่ได้ยั่งยืน 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น