วันพุธ

๒. อาโปกสิณภาวนา

ปริจเฉทที่ ๕ เสสกสิณนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญกสิณ ที่เหลืออีก ๙ ประการ

🙏 ๒. อาโปกสิณภาวนา

ก็แหละ 🔎ปฐวีกสิณกัมมัฏฐาน ฉันใด แม้อาโปกสิณกัมมัฏฐานก็ทำนองเดียวกันกล่าวคือ โยคีบุคคลผู้ประสงค์จะภาวนาอาโปกสิณกัมมัฏฐานนั้น จึงนั่งคู่บัลลังก์ตั้งกายให้ตรงแล้วจับเอานิมิตในน้ำ วิธีการทั้งปวงในอาโปกสิณนี้ เช่น อาโปกสิณที่สร้างขึ้น หรืออาโปกสิณที่เป็นอยู่เองตามธรรมดาเป็นต้น นักศึกษาพึงทราบความพิสดารโดยนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปฐวีกสิณนั้นทุกประการ แหละในอาโปกสิณนี้ ฉันใด ในกสิณต่อ ໆ ไปทั้งหมดก็เหมือนกัน เบื้องหน้าแต่นี้ไป อรรถาธิบายเช่นนี้ข้าพเจ้าจักไม่พรรณนาซ้ำอีก จักพรรณนาแต่เฉพาะที่ต่างกันเท่านั้น

อาโปกสิณที่เป็นเอง
แม้ในอาโปกสิณกัมมัฏฐานนี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแล้วแต่ในชาติปางก่อนนั้น อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ในน้ำที่เป็นอยู่เองตามธรรมดาคือ ในสระ ในบึง ในทะเลสาบ หรือในมหาสมุทร เหมือนกับที่เกิดขึ้นแก่ท่านจูฬสิวเถระ ได้ยินว่า ท่านจูฬสิวเถระนั้นสละทิ้งลาภและสักการะด้วยตั้งใจว่า จักไปพักอยู่อย่างเงียบ ๆ จึงไปขึ้นเรือที่ท่าใหญ่ไปยังชมพูทวีป ได้เพ่งดูน้ำในมหาสมุทรไป ในระหว่างทางกสิณนิมิตคล้ายกับน้ำมหาสมุทรนั้นได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่าน ด้วยประการฉะนี้

วิธีทําอาโปกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ที่ไม่ได้สร้างสมอบรมบุญญาธิการมาแต่ในชาติปางก่อน เมื่อจะทำอาโปกสิณต้องหลีกเลี่ยงโทษแห่งกสิณ ๔ อย่าง คือ อย่าเอาน้ำที่มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จึงเอาน้ำฝนที่รองรับเอาด้วยผ้าสะอาดในกลางแจ้งซึ่งยังไม่ทันจะตกถึงพื้นดิน หรือน้ำอย่างอื่น ๆ ที่ใสสะอาดปราศจากโทษเหมือนอย่างน้ำฝนนั้น มาใส่ให้เต็มเสมอขอบปากบาตรหรือคนโท แล้วเอาไปตั้งไว้ ณ โอกาสลับ ๆ ตรงท้ายวัดซึ่งมีประการดังกล่าวมาแล้วในปฐวีกสิณภาวนานั้น

วิธีภาวนาอาโปกสิณ
ครั้นแล้วโยคีบุคคลพึงนั่งคู่บัลลังก์ตั้งกายให้ตรงแล้วอย่าพิจารณาถึงสีของน้ำ อย่ามนสิการถึงลักษณะของน้ำซึ่งมีลักษณะไหลซึมซาบและเกาะกุม จึงวางจิตไว้ในคำบัญญัติด้วยอำนาจธาตุน้ำซึ่งเป็นสิ่งที่มีมากกว่า พร้อมกับสีอันเป็นที่อาศัยเท่านั้น แล้วพึงภาวนาด้วยสามารถชื่อที่ปรากฏรู้กันโดยมากว่า อาโป อาโป หรือว่า น้ำ น้ำ ดังนี้ ในบรรดาชื่อของน้ำทั้งหลาย คือ อมพุ, อุทก, วาร, สลิล เป็นต้น

ลักษณะอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต
เมื่อโยคีบุคคลนั้นพยายามภาวนาอยู่โดยทำนองนี้เรื่อย ๆ ไป อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตทั้ง ๒ ก็จะบังเกิดขึ้นโดยลำดับ โดยนัยดังที่พรรณนามาแล้วในปฐวีกสิณนั้นนั่นแล แต่ว่าในอาโปกสิณนี้ อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นดุจกระเพื่อมอยู่ ถ้าน้ำมีฟองและต่อมเจือปน อุคคหนิมิตจะปรากฏเป็นเช่นนั้นนั่นเทียว โทษแห่งกสิณย่อมปรากฏให้เห็น ส่วนปฏิภาคนิมิตนั่นย่อมปรากฏเป็นสภาพที่นิ่ง เหมือนตาลปัตรแก้วมณีที่ปักไว้กลางแจ้ง และเหมือนวงกลมกระจกเงาที่ทำด้วยแก้วมณี ฉะนั้น โยคีบุคคลนั้น ย่อมจะบรรลุถึงซึ่งอุปจารฌานพร้อมกับด้วยการปรากฏขึ้นแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นนั่นแล และย่อมจะได้บรรลุถึงซึ่งฌาน ๔ และฌาน ๕ โดยทำนองดังที่พรรณนามาแล้วในปฐวีกสิณนั่นเทียว

จบอาโปกสิณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น