แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ป.อ. ปยุตฺโต แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ป.อ. ปยุตฺโต แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์

เอาธรรมไปเป็นหลักประกันชีวิตและสังคมไว้ให้เจริญอย่างเดียวไม่มีเสื่อม

อีกประการหนึ่งที่ควรจะเป็นข้อคิด ก็คือ การที่เราจะเข้าถึงธรรมด้วยอาศัยคำสอนของพระองค์ ให้บรรลุสิ่งประเสริฐแห่งชีวิตของเรานี้ย่อมเป็นกิจส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งเราทุกคนมีหน้าที่สำหรับชีวิตของตนๆ เราควรจะต้องเข้าถึงสิ่งที่ดีงามที่ประเสริฐสุดของชีวิต คือการเข้าถึงธรรมอันจะทำให้ได้รับผลแห่งอมตะ อันเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา แต่พร้อมกันนั้น อีกด้านหนึ่ง คือ ในด้านที่เกี่ยวกับสังคม หรือการดำรงอยู่ของหมู่มนุษย์ เราจะต้องรู้ตระหนักถึงความเป็นไปของสรรพสิ่งที่เป็นสังขาร ว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย มีความเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง แต่ทีนี้ อนิจจัง ที่เป็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวมนุษย์ และสังคมมนุษย์นั้น เรามีศัพท์เรียกพิเศษ

อธิบายว่า ที่จริง ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นของกลางๆ แต่เมื่อมันเปลี่ยนแปลงไปในด้านหนึ่ง ก็ถูกใจมนุษย์ เมื่อเปลี่ยนแปลงไปอีกด้านหนึ่ง ก็ไม่ถูกใจมนุษย์ ทั้งที่ว่า ในแง่ของธรรมชาติ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นกลางๆ ไม่เข้าใครออกใคร คือ ธรรมชาตินี้ไม่ได้ดีไม่ได้ร้ายเมื่อพูดในแง่ของกฎแห่งความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นมันก็เป็นธรรมดาของธรรมชาติ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นปรากฏแก่มนุษย์ในแง่ที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเป็นที่ปรารถนา ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างไม่เป็นที่ปรารถนา ความเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนา เราเรียกว่า “ความเจริญ" ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ปรารถนา เราเรียกว่า “ความเสื่อม" ความเปลี่ยนแปลง ที่เรียกว่าความเสื่อม หรือความเจริญนั้น เป็นเรื่องของมนุษย์ เกี่ยวพันกับความต้องการของมนุษย์ มนุษย์นี้เป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และมนุษย์ที่จะมาเป็นเหตุปัจจัยนี้ ถ้าเป็นผู้ที่มีสติปัญญา สามารถนำเอาความรู้ในความจริงของธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่พึงประสงค์สำหรับตนได้ และความเปลี่ยนแปลงในทางที่พึงประสงค์ ที่เกิดจากการทำเหตุปัจจัยให้ตรงกับผลอย่างนั้นได้นี้แหละ เรียกว่าความเจริญ

ฉะนั้น มนุษย์ที่มีสติปัญญา เมื่อเข้าถึงธรรมแล้ว จะได้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือ เขาสามารถที่จะใช้ความรู้ในการเข้าถึงเหตุปัจจัยนั้น มากระทำเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่พึงปรารถนา ที่เรียกว่า ความเจริญ พร้อมกันนั้น เขาก็สามารถรู้เข้าใจเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าความเสื่อม แล้วด้วยความรู้นั้น เขาก็สามารถป้องกันแก้ไขกำจัดเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม และสร้างเหตุปัจจัยแห่งความเจริญนั้นได้ 

คนที่มีปัญญา จึงสามารถทำให้สังคม รวมทั้งชีวิตของตน มีความสุขความเจริญดีงามขึ้นไปได้อันนี้เป็นจุดสำคัญอย่างหนึ่งในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า เหตุปัจจัยที่เกี่ยวกับตัวมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมและความเจริญ มนุษย์มีส่วนเข้าไปจัดการได้ และอันนี้ก็เป็นผลส่วนหนึ่งของการมีปัญญาที่เข้าถึงธรรม แล้วนำความรู้ในธรรม โดยเฉพาะในเหตุปัจจัย มาใช้ให้เป็นประโยชน์ พระพุทธเจ้าตรัสถึงกับว่า ถ้าเรารู้จักปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง เราจะสามารถสร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติของเราให้มีแต่ความเจริญ
ไม่มีความเสื่อมก็ได้ อย่างเช่นในหลักอปริหานิยธรรม พระองค์ได้ตรัสแสดง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อม หรือธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม พระองค์ถึงกับตรัสเป็นหลักประกันว่า "ตราบใดที่พระภิกษุทั้งหลายยังประพฤติปฏิบัติตั้งอยู่ในอปริหานิยธรรม ก็พึงหวังได้แต่ความเจริญ ไม่มีเสื่อมเลย" แม้ในด้านชาวบ้าน รวมถึงทางฝ่ายบ้านเมือง ก็ตรัสไว้ก่อนแล้ว คือ แก่พวกกษัตริย์ลิจฉวี แคว้นวัชชี ที่เราผ่านมาแล้ว พระองค์ตรัสว่า "ถ้าหากกษัตริย์ลิจฉวี ชาวแคว้นวัชชี ยังตั้งอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ ประการ ที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้ ชาววัชชีก็จะมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อม ไม่มีใครจะสามารถมาทำลายได้" อันนี้ก็เป็นการนำธรรมมาใช้ประโยชน์อย่างหนึ่ง

ทรงแสดงหลักอปริหานิยธรรมแก่จ้าวลิจฉวี

เป็นอันว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องเกี่ยวกับธรรมดาของสังขาร และการเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายนี้ มีคติที่เป็นประโยชน์ต่อแต่ละชีวิตของแต่ละบุคคล คือสอนว่า เราจะมัวมาฝากความหวัง ฝากความสุขแห่งชีวิตของเรา ไว้กับสิ่งทั้งหลายที่เป็นสังขารภายนอกอันไม่เที่ยงแท้ ไม่เป็นสาระที่แท้จริงไม่ได้ เราควรจะเข้าถึงธรรมที่เป็นสาระเป็นแก่นสารที่แท้จริง ที่จะทำให้ชีวิตมีความประเสริฐ เลิศ มีความสุข ไร้ทุกข์ เข้าถึงความเป็นอิสระได้ พร้อมกันนั้น ในทางสังคม ก็สามารถน้อมนำเอาความรู้ในธรรมที่หยั่งถึงเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายนี้ไปใช้ประโยชน์ ในการที่จะสร้างสรรค์สังคม ทำให้สังคมมีความเจริญงอกงาม ด้วยการตั้งอยู่ในธรรม ที่เป็นหลักสำคัญ คือ ความไม่ประมาท

สาระสำคัญในวันนี้ก็คือ การโยงจากภาพที่เราพบเห็น ไปหาคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าเราเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็จะได้รับประโยชน์เป็นอันมาก จุดที่จะต้องก็มีสองส่วนอย่างที่กล่าวมา ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับชีวิตของแต่ละคน ที่จะให้เข้าถึงสิ่งที่ดีงาม ที่ประเสริฐ แล้วก็มาช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ให้หมู่มนุษย์มีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างที่พระองค์ทรงรับรองยืนยันไว้แล้วว่า ถ้าเราเข้าใจเหตุ ปัจจัยแห่งความเสื่อมและความเจริญแล้วปฏิบัติตามนั้น โดยไม่มัวแต่ทอดทิ้งสติ ไม่มัวแต่ปล่อยปละละเลยลุ่มหลงมัวเมาเสีย เราก็สามารถจะทำให้มีแต่ความเจริญ ไม่มีเสื่อมก็ได้ นี่ก็คือการใช้ธรรมให้เป็นประโยชน์นั่นเอง และทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้สําเร็จ ต้องอาศัยปัญญา ซึ่งจะพัฒนาขึ้นมา และงอกงามสมบูรณ์บนฐานแห่งศรัทธาที่เป็นไปอย่างเหมาะสมถูกทาง วันนี้เราได้มา ณ ที่นี่แล้ว (พระมูลคันธกุฎี) โดยศรัทธาเป็นตัวนำเรามา แล้วก็ได้มานมัสการสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ เมื่อศรัทธาได้ทําหน้าที่ของมันอย่างดีเช่นนี้แล้ว ก็ขอให้ศรัทธานั้นยังประโยชน์ให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยมาเชื่อมต่อเข้ากับปัญญาที่จะเข้าถึงธรรม ดังที่กล่าวมา แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแก่พระ วักกลิ ก็จะเกิดผลต่อตัวเราด้วย

อย่างที่กล่าวแล้วว่า อย่ามัวแต่หลงอยู่แค่รูปกายของพระองค์เท่านั้น ผู้ใดถึงแม้แต่เกาะชายสังฆาฏิของพระองค์ ตามพระองค์ไปตลอดเวลาทุกย่างพระบาท ก็ไม่ชื่อว่าเห็นพระองค์ การที่จะเห็นองค์พระพุทธเจ้าก็คือ ต้องเห็นธรรม การจะเห็นธรรมได้ ก็ต้องอาศัยพระพุทธองค์นั่นแหละ เพราะพระวรกายของพระพุทธเจ้าที่เสด็จเคลื่อนไหวไปในที่ต่างๆ นั้น ก็นำเอาธรรมไปด้วย และเอาไปประกาศ เมื่อเราเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เป็นโอกาสให้ได้ฟังธรรมของพระองค์ จากการฟังธรรมของพระองค์ เราก็สามารถเข้าถึงธรรม เมื่อเราเข้าถึงธรรมนั่นก็คือ ศรัทธานำไปสู่ปัญญาทำให้เกิดผลงอกงามอย่างที่กล่าวมา จึงขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่าน ที่ได้เดินทางมาด้วยศรัทธา ขอให้ทุกท่านมีปีติ มีความอิ่มใจว่า ถึงแม้ว่าเราจะทุกข์ยากลำบากแค่ไหนก็ตามในการเดินทางมาถึงที่นี่ เราได้สละเวลา สละเรี่ยวแรง และกำลังกาย และ สละกำลังทรัพย์ มาจนถึงจุดหมายแห่งนี้แล้ว อันเป็นจุดสุดยอดแห่งหนึ่ง การเดินทางของเรา เราได้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว

พระธรรมปิฎก (สมณะศักดิ์ในขณะนั้น) ณ. คันธกุฎี ปี ๒๕๓๘

ขอให้ทุกท่านเกิดความสมใจปรารถนา มีปีติ อิ่มใจ ดังที่กล่าวมาแล้ว ปีตินี้จะเป็นเครื่องบำรุงใจให้มีกำลังและเข้มแข็งมั่นคง แท้จริง คนที่มีความปีติอิ่มใจนี้ สามารถอดอาหารได้นานๆ เพราะว่ามีปีติเป็นภักษา ปีติเป็นความอิ่มชนิดหนึ่ง คนเรารับประทานอาหาร ก็ได้ความอิ่ม แต่เป็นความอิ่มกาย เมื่ออิ่มกายแล้วก็ดำรงรักษาร่างกายไว้ได้ แม้ความอิ่มใจก็เหมือนกัน ความอิ่มใจก็หล่อเลี้ยงชีวิตของเรา ทำให้อยู่ได้นานๆ โดยมีปีติเป็นภักษา เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจ ความอิ่มใจนี้มีผลดียิ่งกว่าอาหารที่ทำให้มีความอิ่มกายเสียอีก ถึงแม้อิ่มกาย แต่ถ้าใจไม่สบาย หน้าตาไม่สดชื่นผ่องใส ทั้งๆ ที่มีอาหารกินดี แต่หน้าตาก็ไม่อิ่มเอิบ ไม่ผ่องใส แต่ถ้าอิ่มใจ ก็จะทำให้หน้าตายิ้มย่องผ่องใส มีความสุขที่แท้จริงได้ ถ้าโยมถือว่า ปีตินั้นเป็นส่วนของใจ เราต้องมีความอิ่มทางกายด้วย ก็ขอให้ความอิ่มใจมาเป็นส่วนเติมเต็ม ให้ความอิ่มกายนี้ได้ผลสมบูรณ์ เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ จึงขอให้โยมทำใจให้เกิดปีติ เพื่อเป็นการปรุงแต่งในทางที่เป็นกุศล เรียกว่าบุญญาภิสังขาร อย่าไปปรุงแต่งให้เป็นบาปเป็นอกุศล การมาถึงนี้ ทำให้มีโอกาสปรุงแต่งใจด้วยบุญญาภิสังขาร ทำใจให้เป็นบุญกุศล แล้วบุญกุศลนั้น ก็จะปรุงแต่งให้ชีวิตของเรามีความเจริญก้าวหน้าพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไปในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และประสบความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ขออนุโมทนาโยมผู้ศรัทธาอีกครั้งหนึ่ง ขอเอากำลังใจมาร่วมอวยพรโดยอ้างคุณพระรัตนตรัย โดยเฉพาะเมื่อมาถึงสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ ณ ที่นี้แล้ว ก็ขออ้างพุทธานุภาพ เป็นเครื่องอำนวยพรแด่โยมญาติมิตรทุกท่าน จงเจริญด้วยปีติสุขทั่วกัน ทุกเมื่อ เทอญ

วันศุกร์

ธรรม เป็นอิสระจากคน คนถึงธรรม เป็นอิสระจากสังขาร

ธรรมอย่างหนึ่งที่พระองค์ตรัสไว้ ที่พึงระลึกในเวลานี้ ก็คือ ธรรมในแง่ความจริงของสิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะความไม่เที่ยง คือภาวะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป การที่เรามา ณ สถานที่นี้ มองในแง่หนึ่งก็เป็นเครื่องเตือนใจของเราให้ระลึกถึงความจริงข้อนี้ จะเห็นว่าสถานที่นี้ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น บัดนี้เหลือแต่ซากเพียงนิดเดียวเท่านั้น และแม้แต่ซากเท่าที่มองเห็นเหล่านี้ ก็ยังต้องอาศัยการขุดการแต่งจึงปรากฏได้ เพราะผ่านกาลเวลายาวนานตั้ง ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว สถานที่นี้ก็ทรุดโทรมแตกหักปรักพังไป ความเป็นอนิจจังก็เข้ามาครอบงำสิ่งที่เป็นสังขารทั้งหลาย ไม่เฉพาะแต่พระคันธกุฎีเท่านั้น พระพุทธเจ้าเองก็ทรงล่วงลับดับขันธปรินิพพานไปแล้ว

มองกว้างออกไป ที่ตั้งของพระคันธกุฎีนี้ คือเมืองราชคฤห์ทั้งหมด ที่เคยเป็นเมืองหลวง เป็นราชธานีของมหาอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ คือแคว้นมคธ เคยเต็มไปด้วยผู้คนประชาชนพลเมืองมากมาย บัดนี้ก็ไม่มีอะไรเหลือเป็นร่องรอย ราชคฤห์ได้กลายเป็นที่รกร้าง ถิ่นห่างไกล อยู่ในชนบท เป็นบ้านนอกไป นี้คือความเปลี่ยนแปลงซึ่งเราจะเห็นได้ในเรื่องของความเสื่อมและความเจริญของสังคม ของประเทศชาติ ตลอดจนอารยธรรมทั้งหลาย ดังที่สังคมอินเดียที่เป็นชมพูทวีปได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ประเทศอินเดีย เคยเป็นดินแดนแห่งอารยธรรม มีความเจริญก้าวหน้า เป็นศูนย์กลางทางความคิด สติปัญญา และวิทยาการต่างๆ มากมาย แต่บัดนี้ อินเดียก็เสื่อมลงไป อารยธรรมก็จบสิ้นสลายลงไปเป็นยุคๆ จนกล่าวได้ว่า อินเดียที่เคยเป็นอู่เป็นแหล่งที่เกิดและที่ดำรงอยู่ของอารยธรรม ต่อมาก็ได้กลายเป็นสุสานของอารยธรรม เวลานี้อินเดียกลายเป็นตู้โชว์ของอดีต คือไม่มีอะไรที่ดีงามยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน มีแต่เรื่องของความรุ่งเรืองในอดีต เวลาเรามาอินเดีย ก็มาชมสิ่งที่เป็นหลักฐานแสดงความเจริญในอดีตเท่านั้น ส่วนในปัจจุบันนี้ เราจะได้เห็นแต่สภาพที่น่าสลดหดหู่ใจ ถ้าเราทำใจไม่ถูก ก็จะมีแต่ความหดหูเศร้าหมองขุ่นมัว หรือบางทีก็รำคาญหงุดหงิดด้วย จึงต้องเตือนกันอยู่เสมอว่า ถ้ามาอินเดียแล้วต้องทำใจให้ถูก อันนี้จึงเป็นคติเตือนใจ ให้มองเห็นความหมายหลายอย่าง นอกจากให้คติในอนิจจังความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลายแล้ว ยังทำให้เรามองตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ถึงเรื่องความเป็นไปตามเหตุปัจจัย และได้ความรู้จากการศึกษาสังคมของคนอินเดียด้วย

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธศาสนาเคยเจริญ ผู้คนก็มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่อมา ถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระพุทธศาสนาเจริญยิ่งขึ้น แผ่ไพศาล ประชาชนก็มีความเจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจ ครั้นมาถึงบัดนี้ ประเทศอินเดียเป็นอย่างไร สภาพที่เราเห็นมีแต่ความยากจนข้นแค้น สกปรกรกรุงรัง ญาติโยมหลายคนอาจมีความไม่สบายใจ ถ้าเราไม่ได้ทำใจตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะสงสัยข้องใจว่ามันเป็นอย่างนี้ไปได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเสื่อมความเจริญ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะน้อมนำมาพิจารณาให้เกิดประโยชน์ เป็นเรื่องทางสติปัญญาทั้งสิ้น ดูอย่างง่ายๆ ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดมีขึ้นมาอันเกี่ยวข้องกับสถานที่นี้ จะเป็นพระมูลคันธกุฎีบนเขาคิชฌกูฏนี้ก็ดี หรือกว้างออกไปข้างล่าง คือเมืองราชคฤห์ ตลอดจนดินแดนที่เราผ่านมา คือมหาอาณาจักรมคธ ทั้งหมด ที่เป็นชมพูทวีป มีเมืองปาตลีบุตรของพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่าที่เมืองราชคฤห์นี้ เพราะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ชมพูทวีปแห่งแคว้นมคธนี้แผ่ไพศาล จนได้กล่าวแล้วว่าใหญ่กว่าประเทศอินเดียในปัจจุบัน หรือในยุคใดๆ ก็ตามของชมพูทวีป

ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าเมืองราชคฤห์ หรือปาตลีบุตร หรือปัตนะ ก็มีแต่ความเสื่อมโทรมทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่แสดงถึงความเจริญ ถ้าไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีนักค้นคว้า ไม่มีนักโบราณคดี มาเล่าขานบรรยายแสดงหลักฐาน คนก็ไม่รู้ว่าเมืองราชคฤห์อยู่ที่ไหน ปาตลีบุตรอยู่ที่ไหน สิ่งเหล่านี้สูญหาย ปรักหักพัง ทลายไป หายไป พร้อมกับกาลเวลา แม้แต่มหาอาณาจักรต่างๆ ก็หมดไปได้ พระพุทธเจ้าทรงเตือนเรา สอนเราไว้แต่พุทธกาล ดังที่จารึกในพระไตรปิฎก ตรัสเล่าเรื่องราวของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอดีต บางพระสูตรก็ตรัสถึงเมืองใหญ่ๆ เช่นในมหาสุทัสสนสูตร พระองค์ได้ตรัสแสดงเรื่องของเมืองกุสาวดี อันยิ่งใหญ่ในอดีต ตรัสพรรณนาถึงความรุ่งเรื่องงดงามความใหญ่โตของสิ่งก่อสร้างในพระราชวังต่างๆ แล้วท้ายที่สุดพระองค์ก็ตรัสว่า บัดนี้ สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดได้สูญสลายสิ้นไปกับกาลเวลาแล้ว นี่แหละคือความเป็นอนิจจัง

บางแห่งก็ตรัสถึงความเป็นไปในพระชนมชีพของพระองค์เองว่า พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระมหาสาวกและพระสาวกมากมายแวดล้อมเป็นบริวาร พระวรกายของพระองค์ก็สง่างาม มีฉัพพรรณรังสีเป็นที่ชื่นชม เสด็จไปทรงบำเพ็ญพุทธกิจในที่ต่างๆ ปรากฏเป็นเหตุการณ์อันตื่นตาตื่นใจมากมาย พระองค์ตรัสถึงความรุ่งเรืองและความสำเร็จในพระชนมชีพของพระองค์ แล้วลงท้ายก็ตรัสว่า ในที่สุดพระองค์ก็ต้องจากไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสังขาร มีความไม่เที่ยง จะต้องสูญสิ้น หรือแตกดับไปเป็นธรรมดา ทั้งหมดนั้นคือการที่พระองค์ตรัสเตือนเราให้น้อมรำลึกถึงธรรม ฉะนั้น เมื่อเราได้มายังสถานที่ที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์อย่างนี้ อันเป็นความจริงของสิ่งทั้งหลายแล้ว ในแง่หนึ่งก็ให้มีความเจริญศรัทธาว่า เราได้มาเฝ้าถึงที่ประทับของพระองค์แล้ว ด้วยความเลื่อมใสที่มีต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พร้อมกันนั้น ศรัทธาของชาวพุทธก็ไม่ทันอยู่แค่นั้น แต่จะนำไปสู่ปัญญาขั้นที่หนึ่ง คือทำให้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสแสดงไว้ แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติ เมื่อเราต้องการแสดงศรัทธาด้วยการบูชาพระพุทธเจ้า และนำเอาดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้ พระองค์ก็ตรัสเตือนว่า การบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนที่เป็นอามิสบูชานี้ ยังไม่ใช่เป็นการบูชาที่มีผลมากอย่างแท้จริง ถ้าจะบูชาให้ได้ผลอย่างแท้จริง ก็ต้องบูชาด้วยการปฏิบัติ คือนำเอาธรรมของพระองค์มาใช้ประโยชน์ ให้เกิดผลในชีวิตของเราอย่างแท้จริง
ฉะนั้น ปฏิบัติบูชา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมบูชา คือ การบูชาด้วยธรรม ซึ่งตรงกับการปฏิบัติธรรมนั่นเอง ถ้าเราทำได้สำเร็จ ก็จะทำให้การมานมัสการสถานที่สำคัญ มีสังเวชนียสถาน เป็นต้น เกิดผลเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง นอกจากนั้น ก็น้อมนำจิตใจ มาระลึกนึกถึงธรรมในความหมายอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ คือการระลึกถึงความจริงของสังขารทั้งหลายที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วจะได้ไม่ฝากชีวิตเอาไว้กับของที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้ล่วงลับไป แตกดับไป ก็เห็นๆ กันอยู่ มองลงมาตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปรินิพพานสิ้นไป มหาสาวกทั้งหลาย ๘๐ องค์ หรือพระสาวกกี่องค์ก็ตาม ก็ปรินิพพานหมด อาณาจักรมคธในสมัยราชคฤห์ก็สลายไป อาณาจักรมคธในสมัยปาตลีบุตรก็สลายไป สังคมจะสลายไป ผู้คนจะหมดไป แต่ภูเขายังอยู่ ดินยังอยู่ ฟ้ายังอยู่ แต่ อ้อ! ยังมีสิ่งที่คงอยู่ นั่นดูสิ แม้อาณาจักรเหล่านี้จะสิ้นไปที่เห็นอยู่คือสิ่งเหล่านี้ ดิน น้ำ ลม ไฟ ภูเขา ทะเล ยังมี ในทะเลก็ยังคลื่นซัดฝั่งอยู่ตลอดเวลา แม้อาณาจักรทั้งหลายจะผ่านพ้นล่มสลายลงไป สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์จะหมดสิ้นไป แต่ธรรมชาติก็ยังทำหน้าที่ของมันต่อไป เราไปยืนอยู่ริมฝั่งทะเล จะเห็นคลื่นซัดฝั่ง ทำหน้าที่ของมันตลอดเวลา สองพันปี สามพันปี มันเคยทำอย่างไร มันก็ทำของมันอยู่อย่างนั้น กาลเวลาผ่านไป มนุษย์ล่วงลับไป อาณาจักรล่มสลายไป อารยธรรมต่างๆ สูญสิ้นไป คลื่นทะเลก็ยังซัดฝั่งอยู่ตามเดิม เหมือนดังว่าธรรมชาตินี่แหละยืนยงคงอยู่แท้จริง แต่มองไปอีกทีหนึ่ง แม้แต่ธรรมชาติเหล่านี้ก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อย่างเช่น ภูเขา ดิน น้ำ ลม ไฟ มันก็ไม่ได้คงสภาพอยู่ ภูเขาก็เปลี่ยนแปลงไป แต่อาศัยกาลเวลายาวนาน ดังจะเห็นได้ง่าย ตามทางที่เราจะเดินทางต่อไปอีก ยังสถานที่อีกมากมายในไม่ช้า เช่น สถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ที่แม่น้ำเนรัญชรา เมื่อไปเห็นที่นั่น เราก็จะได้คติธรรมที่ยิ่งชัดขึ้นมาว่า ที่นั่น ณ ริมฝั่งแม่น้ำที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ แน่นอน ตัวสถานที่และบริเวณพร้อมทั้งสิ่งแวดล้อมย่อมเปลี่ยนไป แต่คงจะมีดิน มีน้ำ มีแม่น้ำอยู่ตรงนั้น กล่าวคือแม่น้ำเนรัญชรา

อย่างไรก็ตาม หาเป็นเช่นนั้นไม่ แม่น้ำเนรัญชราปัจจุบัน ก็ไม่เหมือนอย่างเก่า บัดนี้ มันไม่เป็นแม่น้ำแล้ว แต่เป็นแม่ทราย คือ น้ำไม่เหลืออยู่ในสภาพที่จะให้เราได้เห็น เราจะเห็นแต่ทราย เมื่อเดินลงไป เราสามารถเดินข้ามแม่น้ำได้ เพราะมีแต่ทรายทั้งนั้น นั่นคือความเปลี่ยนแปลงของสังขาร แม้แต่ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เปลี่ยนแปรสภาพของมันไปในรูปต่างๆ ฉะนั้น ไม่ว่าจะมองอะไร ก็เป็นอนิจจังทั้งสิ้น มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไป คติเหล่านี้ก็มาสอนใจของเราว่า อย่าเอาชีวิต และความสุขของเราไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เราต้องเร่งสร้างความดีงาม สิ่งที่ประเสริฐให้เกิดขึ้นแก่ชีวิตของเราด้วยการปฏิบัติธรรม ธรรมเท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่ดีงามมีชีวิตที่ประเสริฐ ถ้ามัวแต่เอาชีวิตของเราไปฝากไว้กับสิ่งภายนอก เช่นทรัพย์สิน เงินทอง ก็จะไม่ได้สาระที่แท้จริง เพราะสิ่งเหล่านี้จะล่วงลับดับสลายไปสิ้น ทำอย่างไรเราจึงจะประสบสาระที่แท้จริงได้ ธรรมคือความจริงเท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าถึงสาระ อันนี้พระพุทธองค์ก็ทรงนำไว้เป็นแบบอย่างแล้ว โดยที่พระองค์ได้
ทรงเข้าถึงธรรม คือความจริง ที่ทำให้พระองค์ซึ่งเป็นมนุษย์ผู้หนึ่งเปลี่ยนเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงสั่งสอน ตรัสเตือนเราอยู่เสมอ ตามคติในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่เราสวดกันอยู่ แม้แต่ญาติโยมก็ได้ยินพระสงฆ์สวดอยู่บ่อยๆ เมื่อไปในงานพิธีที่วัดดังข้อความในพระสูตรหนึ่งที่ตรัสว่า อุปปาทา วา ภิกฺขเวตถาคตานํ เป็นต้น (องตก. ๒๐/๕๗๖) ซึ่งมีใจความว่า พระตถาคตหรือพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ความจริงที่เป็นภาวะตามธรรมดา ก็คงอยู่ของมันอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริง คือหลักที่เป็นธรรมนิยามนั้น แล้วก็ทรงนำมาแสดง ชี้แจง ทำให้เข้าใจได้ง่าย อันนี้แหละ คือตัวความจริง ที่พระพุทธเจ้าทรงเพียรพยายามบำเพ็ญพุทธกิจ สั่งสอนเรา เพื่อให้เราเข้าใจ และเข้าถึง ไม่ใช่จะอยู่แค่ติดตามไปดูเห็นใกล้ชิดพระองค์เท่านั้น การที่มีพระพุทธเจ้านั้น ความมุ่งหมายและประโยชน์ของพระองค์ที่แท้ก็คือ การที่พระองค์เป็นผู้ที่จะนำเราในการพัฒนาตนให้เข้าถึงความจริงนั้น 

ธรรม คือความจริงนั้นก็มีอยู่ เป็นอยู่ ปรากฏอยู่ตลอดเวลาตามธรรมดาของมัน แต่เราไม่มีดวงตาปัญญาที่จะมองเห็น พระองค์ทรงใช้ปัญญามาค้นพบธรรม และนำธรรมนั้นมาแสดง เราได้ฟังคำสอนของพระองค์ และมองตามที่พระองค์ทรงชี้บอกเปิดเผยให้ แล้วเราก็สามารถเข้าถึงความจริงนั้นได้ เมื่อเข้าถึงความจริงแล้ว เราก็เห็นธรรมอันเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นนั่นเอง เมื่อเห็นธรรมและเข้าถึงธรรมที่พระองค์เห็นแล้ว เราก็จะมีชีวิตที่ดีงาม ประเสริฐ เข้าถึงสิ่งที่สูงสุดเช่นเดียวกับพระองค์แล้วเราก็จะมีความสุขเป็นอิสระแท้จริง พระพุทธเจ้าทรงมีหลักการสำคัญว่า ไม่ต้องการให้สาวกหรือผู้ใดมาติดยึดขึ้นต่อพระองค์ ความสัมพันธ์กับพระองค์มีเพียงแค่ว่า อาศัยพระองค์เป็นสื่อที่ช่วยชักนำไปสู่สิ่งดีงาม คือเข้าถึงธรรมนั่นเอง พระพุทธเจ้าทรงย้ำนัก ในเรื่องความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อพระองค์ เริ่มต้นด้วยศรัทธา เมื่อเรามีศรัทธาในพระพุทธองค์ ก็ทำให้เราเข้ามาหาและฟังคำสอนของพระองค์ จากการฟังคำสอนของพระองค์ ก็ทำให้เราพัฒนาปัญญาขึ้นมาเพื่อเข้าถึงความจริงตามที่พระองค์ทรงเข้าถึงมาแล้ว ด้วยปัญญาของเราเอง เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงเข้าถึงแล้ว เพราะฉะนั้น ศรัทธาจึงนำไปสู่ปัญญา และการพึ่งพาอาศัยก็เพื่อนำไปสู่อิสรภาพ นี้คือประโยชน์ที่แท้จริงของการนับถือพระพุทธศาสนา ฉะนั้น เมื่อเราได้เดินทางมาถึงสถานที่นี้ และได้เจริญศรัทธาจึงเป็นประโยชน์มาก เมื่อศรัทธามีกำลังแรงกล้าขึ้น ก็จะทำให้เรามีกำลังใจเข้มแข็งในการที่จะเล่าเรียนศึกษาประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้การปฏิบัติของเราหนักแน่นจริงจัง

วันพฤหัสบดี

ศรัทธาและปัญญา นำเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

บัดนี้เรามาถึงเมืองนี้ซึ่งมีความสำคัญดังได้กล่าวแล้ว และได้มาประชุมกันที่พระมูลคันธกุฎี บนยอดเขาคิชฌกูฏแห่งนี้ที่เป็นศูนย์กลางของการบำเพ็ญพุทธกิจ และศาสนกิจทั้งหมดในการประดิษฐานพระพุทธศาสนา ฉะนั้น เมื่อเรามาถึงที่นี่แล้ว จึงควรจะได้มีความปลาบปลื้มใจและอิ่มใจว่า เราได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับของพระองค์ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสประทานพระโอวาทไว้ว่า แม้พระรูปกายของพระองค์จะล่วงลับไป แต่พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงไว้ก็ยังคงอยู่ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มีทั้งในขั้นของศรัทธา และปัญญา ด้วยศรัทธานั้นในแง่หนึ่งเราก็อยากจะมาเฝ้านมัสการพระพุทธเจ้า ด้วยการไปดู ไปรู้ ไปเห็น ไปเยือนสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับพระองค์ เราเรียกสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับว่าเป็นเจดีย์ชนิดหนึ่ง


เจดีย์ คือสิ่งที่เตือนใจให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า เจดีย์นั้นมีหลายอย่าง และอย่างหนึ่งก็คือ บริโภคเจดีย์ ซึ่งแปลว่า เจดีย์คือ สถานที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย พระคันธกุฎี เป็นสถานที่ที่พระองค์เคยประทับ เป็นเสนาสนะที่พระองค์เคยใช้สอย จึงจัดเป็นปริโภคเจดีย์หรือบริโภคเจดีย์ชนิดหนึ่งด้วย เรามานมัสการพระองค์ที่นี่ คือมานมัสการบริโภคเจดีย์ แต่ที่สำคัญก็คือ เป็นที่ที่พระองค์เคยประทับอยู่จริง เมื่อมาถึงมาดูมาเห็นมากราบไหว้ด้วยตัวเองอย่างนี้แล้ว จิตใจของเราก็เกิดความรู้สึกปลาบปลื้มดื่มด่ำขึ้นมาว่า เราในฐานะที่เป็นชาวพุทธ แม้จะห่างจากพระพุทธองค์โดยกาลเวลาถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี และห่างโดยสถานที่ คือเป็นผู้ที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งห่างไกลจากประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป แม้จะมีความห่างไกลทั้งสองประการนั้น แต่บัดนี้ เราได้นำตัวเข้ามาใกล้พระองค์ มาอยู่หน้าที่ประทับแล้ว เมื่อน้อมใจรำลึกถึงพระ
องค์ เราก็มีความรู้สึกปลาบปลื้มใจ ดังที่ได้กล่าวมา เป็นเครื่องเจริญศรัทธา และศรัทธาก็จะน้อมนำจิตใจของเราให้เจริญงอกงามในธรรม แต่ศรัทธาจะเกิดผลดังกล่าวได้ จะต้องสัมพันธ์กับปัญญา ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ท่านให้เกื้อกูลต่อปัญญา เริ่มแรกก็ประกอบด้วยปัญญา และจะต้องนำไปสู่ปัญญาเสมอ

ศรัทธาของเรานำไปสู่ปัญญาเบื้องต้น โดยเป็นเครื่องเตือนใจเราให้ระลึกถึงคำสอนของพระองค์ เมื่อเราระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยศรัทธา ใจเราก็จะน้อมไปถึงคำสอนของพระองค์ จะไม่ติดอยู่แค่พระรูปกายของพระองค์เท่านั้น เราจะนึกไปถึงว่า อ้อ! พระองค์ทรงสอนเราไว้ให้เราประพฤติปฏิบัติดีงามอย่างนี้ๆ เมื่อเราระลึกถึงพระองค์แล้ว ก็มาระลึกถึงคำสอนของพระองค์ ทำให้มีผลในทางปฏิบัติ เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา ยิ่งกว่านั้น เมื่อเราปฏิบัติ นอกจากมีผลต่อชีวิตของเราเองแล้ว ก็ยังมีผลต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อโลก เมื่อทุกคนประพฤติดีปฏิบัติชอบตามคำสั่งสอนของพระองค์ ก็จะทำให้โลกนี้มีสันติสุขสืบต่อไป

โดยนัยนี้ ศรัทธาจึงต้องนำไปสู่ปัญญา เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเตือนอยู่เสมอ อย่างเช่นพระสาวกองค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อบวชแล้วก็มีความหลงใหลในพระรูปกายของพระพุทธเจ้า คือติดใจในพระรูปโฉมของพระพุทธเจ้ามาก แม้มาบวชก็บวชด้วยความรู้สึกอย่างนั้น คืออยากอยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า จะได้เข้าเฝ้าคอยติดตามพระองค์ได้เรื่อยไป ท่านผู้นั้นคือ พระวักกลิ เมื่อบวชแล้วก็คอยติดตามพระองค์ไปโน่นไปนี่ตลอดเวลา พระพุทธองค์ทรงมองเห็นความเป็นไปหรือพฤติกรรมเหล่านี้ของพระวักกลิอยู่เสมอ ทรงปรารถนาประโยชน์แก่พระวักกลิ โดยทรงเห็นว่า ถ้าพระวักกลิมามัวแต่ติดใจอยู่กับพระรูปกายของพระองค์ ก็จะไม่ก้าวหน้าในธรรม จะอยู่แค่ในขั้นศรัทธา ควรให้ศรัทธานั้นนำสู่ปัญญาสืบต่อไป คือศรัทธานั้น ควรจะเป็นสื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีงามของพระวักกลิเอง จนบรรลุถึงความเป็นอิสระด้วยปัญญา พระองค์จึงทรงรอเวลา เมื่อพระพุทธเจ้าจะตรัสจะสอนอะไร พระองค์จะทรงตรวจความพร้อมของบุคคล เช่น ทรงตรวจดูความแก่ของอินทรีย์ หรือความสุกงอมของอินทรีย์ก่อน ในกรณีของพระวักกลิน เหตุการณ์ก็ดำเนินมา จนกระทั่งวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสออกไปเป็นการให้สติแก่พระวักกลิ แต่วิธีตรัสของพระองค์ บางครั้งก็ทรงใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรงบ้าง เพื่อต้องการให้สะดุดหรือกระตุก เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกที่สะท้อนขึ้นมา หรือทำให้เกิดการคิดขึ้นใหม่ ที่จะก้าวต่อไปได้ อันจะนำไปสู่ผลที่ดีงามสืบไปข้างหน้าวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระวักกลว่า “ดูกรวักกลิ เธอจะตามไปทำไมกับร่างที่เปื่อยเน่าได้นี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม" (เช่น สํ.ข. ๑๗/๒๑๖)

พระองค์ยังตรัสไว้ ณ ที่อื่นอีกว่า "ผู้ใด แม้จะจับมุมชายผ้าสังฆาฏิของพระองค์ ติดตามพระองค์ไปทุกย่างพระบาท แต่ถ้าเขาถูกกิเลสครอบงำใจ ก็ชื่อว่าอยู่ห่างไกลจากพระองค์ เพราะผู้นั้นไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม ก็ไม่เห็นพระองค์ แต่ผู้ใด ถึงจะอยู่ห่างไกลพระองค์ตั้งร้อยโยชน์ แต่จิตใจมั่นคงไม่ถูกกิเลสครอบงำ ก็ชื่อว่าอยู่ใกล้พระองค์ เพราะผู้นั้นเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรม ก็เห็นพระองค์" (ขุ.อิติ. ๒๕/๒๗๒)

พระดำรัสนี้เป็นพุทธพจน์ที่สำคัญ เรามักจำกันได้แต่ก่อนที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” หมายความว่า เพียงแต่มาติดตามพระองค์มองเห็นพระวรกายของพระองค์นี้ ไม่ใช่เป็นการเห็นพระองค์อย่างแท้จริง แต่เมื่อใดเห็นธรรม เมื่อนั้นจึงจะชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ขอย้ำพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสเตือนไว้ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม” หมายความว่า การเห็นองค์พระพุทธเจ้า กับการเห็นธรรมนั้น มีความหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าผู้ใดจะติดตามพระองค์เพื่อดูพระวรกายแล้ว ผู้นั้นก็จะไม่ได้เห็นอะไร นอกจากขันธ์ ๕ ที่มีความแตกดับเสื่อมสลายไปได้ ถ้าจะเห็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริงก็ต้องเห็นธรรม อันนี้เป็นคำตรัสเตือนสติที่สำคัญมาก และเป็นการโยงศรัทธา ศรัทธาที่เกิดจากการมีความเลื่อมใสในองค์พระพุทธเจ้า อย่างเรามานมัสการพระองค์ ณ สถานที่นี้ จะเป็นเครื่องเตือนใจเรา ให้ระลึกต่อไปถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า คือตัวธรรมะ และพยายามประพฤติปฏิบัติให้เกิดผลต่อชีวิตอย่างแท้จริงไปสู่ปัญญา เป็นการใช้ศรัทธาให้เป็นประโยชน์ 

ราชคฤห์: ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

เจริญพรโยมผู้ศรัทธาทุกท่าน เราได้เดินทางมาบนเส้นทางบุญจาริกโดยลำดับ และขณะนี้เราได้มานั่งเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ ณ ที่ประทับของพระองค์ คือพระมูลคันธกุฎี เมื่อเช้านี้เรามาถึงเมืองปัตนะหรือเมืองปาตลีบุตร ซึ่งก็ได้เล่าให้โยมฟังแล้วว่า เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เป็นแหล่งที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ออกจากชมพูทวีปไปสู่ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย อันนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อประมาณ ๒๓๕ ปีหลังพุทธกาลหลังจากนั้น เราก็ได้เดินทางต่อมา จนถึงเมืองนาลันทา แล้วก็เดินทางมายังเมืองราชคฤห์ ตามลำดับ ขณะนี้เรามาถึงเมืองราชคฤห์แล้ว

ราชคฤห์: ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

เมืองราชคฤห์ นี้ เป็นเมืองหลวงเก่าของแคว้นมคธ เมืองปาตลีบุตรมีความสำคัญในสมัยหลังพุทธกาล ในฐานะเป็นแหล่งที่คำสอนของพระพุทธศาสนาเผยแพร่ออกไปสู่ประเทศต่างๆ เมื่อเรามาถึงเมืองราชคฤห์นี้ ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะแผ่ออกไปจากเมืองปาตลีบุตรสู่ประเทศต่างๆ ได้ ก็ต้องมาเริ่มต้นที่นี่ก่อน เมืองทั้งสองนี้มีความสำคัญด้วยกันทั้งคู่

ในทางการเมืองก็สำคัญ ในแง่ที่ว่าทั้งสองแห่งต่างก็เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธด้วยกันดังที่กล่าวแล้วว่า ปาตลีบุตรเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธหลังพุทธกาล ส่วนราชคฤห์นี้ เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล ในทางส่วนในทางพระศาสนาก็เหมือนกันในแง่ของการเป็นศูนย์กลางการเมืองมีความเหมือนกันอย่างนี้
ที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ออกไป สำหรับเมืองราชคฤห์นี้ เป็นที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนา มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ก็เคยเสด็จมาที่นี่ ดังที่เราทราบกันว่า ในการเสด็จออกบรรพชานั้น เมื่อเสด็จมาที่แม่น้ำอโนมาแล้ว อธิษฐานเพศบรรพชาและตัดพระเมาลีที่นั่น ต่อมาก็เสด็จมาที่เมืองราชคฤห์นี้ พระเจ้าพิมพิสารได้ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์เสด็จบิณฑบาตอยู่ ก็ทรงมีความเลื่อมใส แล้วก็ได้ทรงสนทนากับพระโพธิสัตว์ พร้อมทั้งได้รับพรคล้ายๆ เป็นคำปฏิญญาจากพระโพธิสัตว์ ที่ทรงรับว่า เมื่อทรงค้นพบสัจธรรมแล้วจะเสด็จมายังเมืองราชคฤห์นี้ เมื่อพระพุทธเจ้าบรรลุโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ได้เสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์นี้ ในแง่หนึ่ง ก็เหมือนกับว่า ทรงปฏิบัติตามพระพุทธปฏิญญาที่ได้ทรงให้ไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร แต่อีกแง่หนึ่งมองในด้านกิจการของพระพุทธศาสนา ก็ถือว่ามีความสำคัญ ในฐานะที่เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ เป็นศูนย์กลางของกิจการบ้านเมือง พระพุทธเจ้าทรงเลือกว่าการที่จะให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองควรเริ่มต้นที่ใด ก็ปรากฏว่า เมื่องราชคฤห์ได้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา โดยทรงเสด็จมาแสดงธรรมที่นี่ ทำให้พระเจ้าพิมพิสารได้ดวงตาเห็นธรรม และปฏิญาณพระองค์เป็นพุทธมามกะ

ต่อจากนั้น เหตุการณ์สำคัญที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในพระพุทธศาสนาหลายอย่างก็ได้เกิดขึ้นที่นี่ เช่น การถวายวัดเวฬุวัน ที่เป็นวัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนา ซึ่งพรุ่งนี้ก็เข้าใจว่าจะได้ไปแวะเยี่ยมเยียนด้วยยิ่งกว่านั้นประจวบกับช่วงนี้จะถึงวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่วัดเวฬุวันนั้น จึงนับว่าเป็นเวลาอันเหมาะที่จะได้ไปนมัสการพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวันนั้นด้วย พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจที่เมืองราชคฤห์นี้ในพรรษาแรก พุทธกิจได้ดำเนินก้าวหน้าไปอย่างมาก ความก้าวหน้าที่ควรกล่าวไว้อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่การได้พระอัครสาวก คือ พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ หรือที่ชาวพุทธเรานิยมเรียกว่า พระโมคคัลลาน์-สารีบุตร ซึ่งมาเป็นกำลังสำคัญในการที่จะเผยแพร่พระพุทธศาสนาต่อไป

จุดสําคัญที่เป็นสุดยอด แห่งความเป็นศูนย์กลางพุทธกิจของเมืองราชคฤห์ก็คือที่นี่ ที่พระมูลคันธกุฎี นี้ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์เสด็จมาประทับที่นี่ เรียกว่า เป็นศูนย์กลางพุทธกิจเพราะว่า กิจการพระพุทธศาสนาเริ่มต้นไปจากองค์พระพุทธเจ้า ฉะนั้นการที่เราได้มาที่นี่ จึงถือว่าเป็นจุดสุดยอดเลยทีเดียว นับว่าเป็นจุดศูนย์กลางของเมืองราชคฤห์อีกทีหนึ่ง เมื่อเราถือว่า เมืองราชคฤห์เป็นศูนย์กลางของการประดิษฐานพระพุทธศาสนา ก็ต้องถือว่า พระมูลคันธกุฎีนี้ เป็นศูนย์กลางการทำงานในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาอีกชั้นหนึ่ง

พระมูลคันธกุฏี (แปลว่า กุฏิที่มีกลิ่นหอม)
อีกประการหนึ่ง เมืองราชคฤห์ยังมีความสําคัญหลังพุทธกาลด้วย คือ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระสาวกทั้งหลายหลายได้เลือกเอาเมืองราชคฤห์นี้แหละเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๑ การสังคายนานั้น ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด เป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาหลังพุทธกาล คือ เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ก็ถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา การปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์จึงเป็นการเริ่มต้นของการที่พระพุทธศาสนาจะเผยแพร่ออกไป แต่หลังพุทธกาลแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เมื่อพระองค์ล่วงลับไป พระธรรมวินัยที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้และบัญญัติไว้ จะเป็นศาสดาแทนพระองค์ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระสาวกทั้งหลาย มีพระมหากัสสปะ เป็นประธาน ได้ปรารภว่า พระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ อาจจะกระจัดกระจายและเลือนลางหายไปได้ จึงได้มีการตกลงกัน โดยมีมติว่าจะประชุมกันทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยมาเป็นองค์พระศาสดาสืบแทนองค์พระพุทธเจ้า เป็นการเริ่มต้นเหตุการณ์ครั้งใหญ่หลังพุทธกาล จุดเริ่มต้นหลังพุทธกาลก็เริ่มต้นที่นี่ เพราะฉะนั้น เมืองราชคฤห์จึงมีความสำคัญมากในแง่ของการเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา ทั้งในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่และเป็นจุดเริ่มต้นของงานพระศาสนาคือสังคายนาหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว

วันพุธ

เลิกบูชายัญ เพียงเป็นฐาน สู่ความงอกงามในธรรม

ย้อนกลับไปถามว่า การเลิกบูชายัญหรือไม่บูชายัญ เป็นหลักการปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร เมื่อการบูชายัญเป็นหลักการยิ่งใหญ่ยอดสำคัญของสังคมพราหมณ์ ทางพระพุทธศาสนาก็จึงยกการเลิกบูชายัญหรือไม่บูชายัญขึ้นมาเป็นหลักการสำคัญของสังคมแทน โดยมีความหมายที่จะต้องทำความเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ในการบำเพ็ญพุทธกิจ มีหลายครั้งหลายคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบกับพราหมณ์ที่กำลังเตรียมการบูชายัญบ้าง กำลังประกอบบูชายัญบ้าง และมีทั้งพิธีบูชายัญขนาดย่อมส่วนบุคคล และพิธีระดับผู้ปกครองบ้านเมือง ถ้าเป็นพิธีใหญ่ จะมีการฆ่าสัตว์บูชายัญจำนวนมาก และทาสกรรมกรทั้งหลายมักเดือดร้อนมาก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปพบและสนทนากับเจ้าพิธี ในที่สุดเรื่องก็จะจบลงโดยที่เขาเองให้ปล่อยสัตว์ล้มเลิกพิธี พร้อมทั้งรับหลักการและวิธีปฏิบัติอย่างใหม่ที่พระองค์สอนไปดำเนินการ 

สาระสำคัญของหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน โดยทั่วไปจะให้
ประกอบยัญกรรมในความหมายใหม่ (หรือเป็นการฟื้นความหมายดั้งเดิมก่อนที่พวกพราหมณ์จะทำให้เพี้ยนไป) ซึ่งเน้นที่ทาน และต้องไม่มีการเบียดเบียนชีวิต ถ้าเป็นยัญพิธีใหญ่มากของผู้ปกครองบ้านเมือง คำสอนในเรื่องยัญของพระพุทธเจ้า จะรวมถึงการจัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยและให้ราษฎรเป็นอยู่ผาสุกก่อน แล้วจึงทำยัญพิธี และบำเพ็ญทาน ดังเช่น ใน🔎กูฏทันตสูตร (ที่สี่ ๙/๑๙๙-๒๓๘) ที่ตรัสกับกูฎทันตพราหมณ์ ผู้ปกครองพราหมณคาม ชื่อว่าชานุมัตต์ ซึ่งได้ให้เอาโค ๗๐๐ ลูกโค ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ และ ๗๐๐ และแกะ ๗๐๐ ผูกไว้ที่หลัก เตรียมพร้อมที่จะบูชามหายัญ พราหมณ์นั้นได้สนทนาสอบถามพระพุทธเจ้าถึงวิธีบูชายัญใหญ่ให้ได้ผลมาก พระพุทธเจ้าทรงยกเรื่องตัวอย่างในอดีตมาให้เป็นแบบ

สาระสำคัญ คือ ให้จัดการบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยและให้ราษฎรเป็นอยู่ผาสุก ถ้าบ้านเมืองยังมีโจรผู้ร้ายเป็นต้น ไม่ให้เอาแต่ใช้วิธีปราบปรามรุนแรง แต่ให้ราษฎรที่ประกอบเกษตรกรรม พาณิชยกรรมและข้าราชการ ผู้ที่ตั้งใจหมั่นขยัน จึงได้รับการส่งเสริมให้ตรงจุด จนบ้านเมืองมั่งคั่ง ราษฎรชื่นชมยินดี อยู่ปลอดภัย “บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน ให้ลูกฟ้อนบนอก (หลักการนี้ คือธรรมชุดที่ในคัมภีร์บางแห่งเรียกว่าราชสังคหวัตถุ ๔ ได้แก่ ๑. สัสสเมธะ (ฉลาดบำรุงธัญญาหาร) ๒. ปุริสมเมธะ (ฉลาดบำรุงข้าราชการ) ๓. สัมมาปาสะ (ผสานใจประชาด้วยอาชีพ) 4. วาจาเปยยะ (มีวาจาดูดดื่มใจ) (๕) เกิดผล คือ นิรัคคฬะ (เกษมสุข) บ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน  หลักนี้เป็นนัยพุทธ จาก มหายัญ ๕ ของพราหมณ์ คือ ๑. อัสสเมธะ (อัศวเมธ/ ฆ่าม้าบูชายัญ ๒. ปุริสเมธะ (ฆ่าคนบูชายัญ) ๓. สัมมาปาสะ (ยัญลอดบ่วง) ๔. วาชเปยยะ (ยัญดื่มเพื่อชัย) ๕. นิรัคคฬะ หรือ สรรพเมธะ (ยัญฆ่าครบทุกอย่าง)

เมื่อบ้านเมืองดีแล้ว ผู้ปกครองนั้นก็เรียกพบปรึกษาคนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน ทั้งอำมาตย์จนถึงชาวนิคมชนบท ขอความร่วมมือในการที่จะบูชายัญ ซึ่งไม่มีการฆ่าสัตว์และไม่ทำให้คนใดๆ เดือดร้อน มีแต่การมอบให้ของง่ายๆ เล็กๆ น้อยๆ และราษฎรก็พากันร่วมทำตามด้วย แล้วต่อจากนั้นก็มีการบำเพ็ญทานแก่บรรพชิตผู้มีศีล การสร้างสรรค์ประโยชน์ และพัฒนาชีวิตสูงขึ้นไปจนลุจุดหมายแห่งชีวิตที่ดี 

ผลของการฟังวิธีบูชายัญแบบนี้ คือ กูฏทันพราหมณ์ประกาศตนเป็นอุบาสก พร้อมทั้งได้กราบทูลว่าข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอปล่อยโค ๗๐๐ ลูกโค ๗๐๐ ลูกโคเมีย ๗๐๐ แพะ ๗๐๐ แกะ ๗๐๐ ข้าพเจ้าให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอให้สัตว์เหล่านั้นได้กินหญ้าเขียวสด จงดื่มน้ำเย็น จงรับลมสดชื่นที่พัดโชยมาให้สบายเถิด 

เห็นได้ชัดว่า การห้ามหรือให้เลิกบูชายัญ และการเผื่อแผ่แบ่ง
ปันช่วยเหลือกันคือทานนี้ เป็นหลักการใหญ่ที่เน้นของพระเจ้าอโศกจนเรียกได้ว่าเป็นบรรยากาศแห่งศิลาจารึกของพระองค์ ยิ่งกว่านั้น พระเจ้าอโศกยังทรงก้าวต่อขึ้นไปอีก สู่งานในขั้นที่เป็นเป้าหมายแท้ของพระองค์ คือการสอนธรรมเพื่อให้ประชาชนประพฤติธรรม เหมือนกับว่าทานนั้นเป็นฐาน เพื่อเตรียมวัตถุและสังคมให้เอื้อแก่คนที่จะพัฒนาสูงขึ้นไป และตรงนี้เองจึงทรงเน้นธรรมทาน ขอยกคำในจารึกศิลา ฉบับที่ ๙ ต่อด้วย ฉบับที่ ๑๑ มาอีกว่า ฉบับที่ ๙ : ...การให้ทานเป็นความดี ก็แต่ว่าทาน หรือการอนุเคราะห์ที่เสมอด้วยธรรมทาน หรือธรรมานุเคราะห์ ย่อมไม่มี ฉบับที่ ๑๑: ไม่มีทานใดเสมอด้วยธรรมทาน ธรรมสังวิภาค (การแจกจ่ายธรรม) และธรรมสัมพันธ์ อาศัยธรรม (ธรรมทานเป็นต้น) นี้ ย่อมบังเกิดมีสิ่งต่อไปนี้ คือ
- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
-การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเผื่อแผ่แบ่งปันแก่มิตร คนคุ้นเคย ญาติ และแก่สมณพราหมณ์
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ
นี่คือหลักการใหญ่ที่เป็นแกนกลางแห่งแนวคิดภาคปฏิบัติของพระเจ้าอโศก การทำศิลาจารึกสั่งสอนธรรมก็ตั้งบนฐานของหลักการนี้ หลักการไม่บูชายัญ แต่หันมาสู่ทาน และให้คนทุกหมู่เหล่าเกื้อกูลปฏิบัติชอบต่อกัน มารวมศูนย์ที่นี่

พร้อมนั้น จุดนี้ก็เป็นศูนย์รวมที่อโศกธรรมมาบรรจบกับแหล่ง
เดิมของหลักธรรมเดียวกันนั้น ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ขอให้ดูพุทธพจน์ในพระสูตรตอนต่อไปนี้ ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ ผู้ควรแก่การขอ เมืออันล้างแล้ว (พร้อมที่จะประกอบยัญพิธีแบบใหม่แห่งการบริจาคธรรม) ทุกเวลา ...ภิกษุทั้งหลาย ทานมี ๒ อย่างนี้ คือ อามิสทาน ๑ ธรรมทาน ๑ บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย การแจกจ่ายมี ๒ อย่างนี้ คือ การแจกจ่ายอามิส ๑ การแจกจ่ายธรรม ๑ บรรดาการแจกจ่าย ๒อย่างนี้ การแจกจ่ายธรรม (ธรรมสังวิภาค) เป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย การอนุเคราะห์มี ๒ อย่างนี้ คือ การอนุเคราะห์ด้วยอามิส การอนุเคราะห์ด้วยธรรม ๑ บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธรรม (ธรรมานุเคราะห์) เป็นเลิศ ภิกษุทั้งหลาย อัญบูชา (ยาคะ) มี ๒ อย่างนี้ คือ ธัญบูชาด้วยอามิส ๑ ธัญบูชาด้วยธรรม ๑ บรรดายัญบูชา ๒ อย่างนี้ ยัญบูชาด้วยธรรม (ธรรมยาคะ) เป็นเลิศ ๆ (อิติ ๒๕/๒๘๐)



เรื่องนี้ ว่าจะพูดพอเห็นแนว แต่กลายเป็นยาว ควรจบเสียที ขอตั้งข้อสังเกตไว้อีกอย่างเดียว งานทางธรรมที่พระเจ้าอโศกทรงเอาพระทัยใส่จริงจังมาก และโดยชอบ แต่ไม่ใช่แค่คน ทรงเอาพระทัยใส่ต่อสัตว์อื่นทั่วไปหมดอยู่เสมอ คือการที่จะให้คนผู้ร่วมสังคม เอาใจใส่กันและปฏิบัติต่อกันนอกจากห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ และให้สำรวมตนต่อสัตว์ทั้งหลายคือทั้งไม่เบียดเบียนและเอื้ออาทรต่อสัตว์ทุกชนิดแล้ว ยังถึงกับตั้งโรงพยาบาลสัตว์ และให้ปลูกสมุนไพรที่เป็นยาสำหรับสัตว์ เช่นเดียวกับที่ได้จัดไว้สำหรับคน แล้วยิ่งกว่านั้นยังมีประกาศเกี่ยวกับอภัยทานและการสงวนพันธุ์สัตว์อีกด้วย การที่พระเจ้าอโศกทรงปฏิบัติในเรื่องนี้ถึงขนาดนี้ นอกจากเพราะจุดเน้นในการหันมาสู่ธรรมของพระองค์ ได้แก่การมีอวิหิงสา เมตตาการุณย์ต่อสัตว์อย่างที่กล่าวแล้ว บางทีจะเป็นด้วยทรงพยายามปฏิบัติให้ครบตามหลักจักรวรรดิวัตร ในจักกวัตติสูตร ซึ่งกำหนดให้พระเจ้าจักรพรรดิจัดการคุ้มครองอันชอบธรรม แก่มนุษย์สัตว์ทุกหมู่เหล่า โดยแยกไว้เป็น ๘ กลุ่ม อันมีมิคปักษี (เนื้อและนก คือทั้งสัตว์บกและสัตว์บินที่ไม่มีภัย) เป็นกลุ่มสุดท้าย

ขอให้ดูบางตอนในจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ข้าฯ ได้กระทำการอนุเคราะห์แล้วด้วยประการต่างๆ แก่เหล่าสัตว์ทวิบาท สัตว์จตุบาท ปักษิณชาติ และสัตว์น้ำทั้งหลาย ตลอดถึงการให้ชีวิตทาน ...ต่อด้วยอีกบางตอนในจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๕ ดังนี้ ข้าฯ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ได้ออกประกาศ ให้สัตว์ทั้งหลายต่อไปนี้ ปลอดภัยจากการถูกฆ่า กล่าวคือ นกแก้ว นกสาลิกา นกจากพราก หงส์ ... เต่า และกบ กระรอก กวางเร็ว ... แรด นก พิราบขาว นกพิราบบ้าน และบรรดาสัตว์สี่เท้าทั้งปวงที่มิใช่สัตว์สำหรับปฏิโภค (ใช้หนังใช้กระดูก ฯลฯ) และมิใช่สัตว์สำหรับบริโภค แม่แพะ แม่แกะ และแม่หมู ที่กำลังมีท้องก็ดี กำลังให้นมอยู่ก็ดี ย่อมเป็นสัตว์ที่ไม่พึงฆ่า และแม้ลูกอ่อนของสัตว์เหล่านั้นที่อายุยังไม่ถึง ๖ เดือน ก็ไม่พึงถูกฆ่าเช่นกัน ไม่พึงทำการตอนไก่ไม่พึงเผาแกลบที่มีสัตว์มีชีวิตอาศัยอยู่ ไม่พึงเผาป่าเพื่อการอันหาประโยชน์มิได้ หรือเพื่อการทำลายสัตว์ ไม่พึงเลี้ยงชีวิตด้วยชีวิต ไม่พึงฆ่าและขายปลา ในวันเพ็ญที่คำรบจาตุรมาสทั้ง และในวันเพ็ญแห่งเดือนดิษยะ คราวละ ๓ วัน คือ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ และทุกวันอุโบสถ เป็นการเสมอไป อนึ่ง ในวันดังกล่าวมานี้ ไม่พึงฆ่าแม้เหล่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ในป่าช้างและในเขตสงวนปลาของชาวประมง ตราบถึงบัดนี้ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ข้าฯ ได้สั่งให้มีการพระราชทานอภัยโทษแล้วรวม ๒๕ ครั้ง 

ในการจบเรื่องนี้ ก็มาดูกันว่า จากการบำเพ็ญธรรมทานของพระ
องค์ พระเจ้าอโศกได้ทรงประสบผลานิสงส์อย่างไร ซึ่งคงสรุปได้จากพระดำรัสในจารึกศิลา ฉบับที่ ๔ ดังนี้ กาลยาวนานล่วงแล้ว ตลอดเวลาหลายร้อยปี การฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ การเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย การไม่ปฏิบัติชอบต่อหมู่ญาติ การไม่ปฏิบัติชอบต่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ได้พอกพูนขึ้นถ่ายเดียว แต่มาในบัดนี้ ด้วยการดำเนินงานทางธรรม (ธรรมจรณะ) ของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เสียงกลองรบ (เกรีโฆษ) ได้กลายเป็นเสียงประกาศธรรม (ธรรมโฆษ) แต่ทั้งการแสดงแก่ประชาชน ซึ่งวิมานทรรศน์ หัสดิทรรศน์ อัคนีขันธ์และทิพยรูปอื่นๆ ก็ได้มีขึ้นด้วย
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ
- การไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย
- การปฏิบัติชอบต่อหมู่ญาติ
- การปฏิบัติชอบต่อสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเชื่อฟังท่านผู้เฒ่าผู้ใหญ่
ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอดเวลาหลายร้อยปี ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วในบัดนี้ เพราะการสั่งสอนธรรมของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ความดีงามนี้ และการปฏิบัติธรรมอย่างอื่นๆ อีกหลายประการ ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้ว พระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ จักทำให้การปฏิบัติธรรมนี้เจริญยิ่งขึ้นไปอีกและพระราชโอรส พระราชนัดดา พระราชปนัดดาของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ก็จักส่งเสริมการปฏิบัติธรรมนี้ ให้เจริญยิ่งขึ้นต่อไปจนตลอดกัลป์ ทั้งจักสั่งสอนธรรม ด้วยการตั้งมั่นอยู่ในธรรมและในศีลด้วยตนเอง เพราะว่าการสั่งสอนธรรมนี้แล เป็นการกระทำอันประเสริฐสุด และการประพฤติธรรมย่อมไม่มีแก่ผู้ไร้ศีล ก็แลความเจริญงอกงาม และความไม่เสื่อมถอยในการปฏิบัติธรรมนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีเพื่อประโยชน์นี้ จึงได้จารึกธรรมโองการนี้ขึ้นไว้ ขอชนทั้งหลายจงช่วยกันประกอบกิจ เพื่อความเจริญงอกงามแห่งประโยชน์นี้ และจงอย่าได้มีวันกล่าวถึงความเสื่อมเลย ธรรมโองการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ โปรดให้จารึกไว้แล้ว เมื่ออภิเษกได้ ๑๒ พรรษา

เราได้มาถึงเมืองปัตนะ หรือปาตลีบุตร ศูนย์กลางแห่งมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งชมพูทวีป (H.G. Wells ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก) และพุทธศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนาเมื่อได้ทำความรู้จักกับพระเจ้าอโศกมหาราชมาอย่างนี้แล้ว ก็ขอยุติไว้แค่ที่พอสมควร เพียงเท่านี้

วันอังคาร

ความกล้าหาญในทางสันติ

เรื่องไม่จบแค่นั้น ยังต้องย้อนกลับไปท้วงติงมติของผู้รู้ทั้งฝรั่งและอินเดียเพิ่มอีกแง่หนึ่ง คือที่ผู้รู้เหล่านั้นบอกว่า พระเจ้าอโศกสอนธรรมที่เป็นกลาง ซึ่งทุกศาสนายอมรับได้นั้น จริงหรือ? ในการพิจารณาแนวพระราชดำริของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น นอกจากข้อสำคัญที่ ๑ คือสถานะแห่งความเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่แล้ว ข้อที่ ๒ ก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน โดยเฉพาะในแง่ที่เป็นตัวกำหนดทิศทาง ข้อที่ ๒ นั้น ก็คือ จุดเปลี่ยนในพระชนมชีพของพระองค์ เมื่อสงครามพิชิตแคว้นกลิงคะ ทำให้ทรงสลดพระทัยต่อความทุกข์ยาก เดือดร้อนของประชาชนนั้น มันไม่เพียงทำให้ทรงละเลิกการรุกรานทำสงครามเท่านั้น แต่กลายเป็นแรงเหวี่ยงพระองค์ไปในทางตรงข้ามแทบจะสุดทาง คือทำให้ทรงละเลิกการเบียดเบียนทุกอย่าง แม้กระทั่งการทำลายชีวิตสัตว์เล็กสัตว์น้อย และหันมามุ่งในการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์

ข้อที่ ๒ นี้ กลายเป็นตัวกำกับข้อที่ ๑ ด้วย โดยทำให้หลักการปกครองอาณาจักร (หรือเรียกให้เข้ากับคำฝรั่ง คือ Empire ว่าจักรวรรดิ) เปลี่ยนจากอรรถศาสตร์ ของพราหมณ์จาณักยะ ที่นำทางนโยบายของพระอัยกาจันทรคุปต์ มาสู่จักกวัตติสูตรของพระพุทธเจ้าเป็นต้น  จากวิชัยที่เป็นการชนะด้วยสงคราม ซึ่งอย่างดีที่สุดคือธรรมวิชัย ตามความหมายของอรรถศาสตร์ อันหมายถึงการรบชนะอย่างมีธรรม ที่เมื่อชนะแล้วไม่ทำการทารุณโหดร้าย เพียงให้ยอมอยู่ใต้อำนาจ พระเจ้าอโศกเปลี่ยนมาหาธรรมวิชัยตามความหมายของจักกวัตติสูตร อันหมายถึงชัยชนะด้วยธรรม คือการทําความดีสร้างสรรค์ประโยชน์สุข

อย่างไรก็ดี แม้ว่านโยบายธรรมวิชัยจะนำทางการปกครองอย่างครอบคลุม แต่เห็นได้ว่ามีจุดเน้นอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงต้องถามว่าหลักการใดนำทางการปกครองภายในของพระเจ้าอโศกไม่ต้องพูดถึงหลักการและประเพณีต่างๆ จนแม้กระทั่งเรื่องปลีกย่อย ที่พระเจ้าอโศกทรงเลิกและเปลี่ยนจากหลักในอรรถศาสตร์ เช่น จากวิหารยาตรา ที่ราชาเสด็จไปทรงพักผ่อนหาความสนุกสำราญและล่าสัตว์ เปลี่ยนมาเป็นธรรมยาตรา ที่องค์ราชาเสด็จไปทรงนมัสการพระสงฆ์ ถวายทาน เยี่ยมเยียนท่านผู้เฒ่าชราและราษฎรในชนบท สั่งสอนสนทนาธรรม พร้อมทั้งพระราชทานความช่วยเหลือ

จากสมาช* ที่เป็นงานชุมนุมของราษฎรเพื่อความสนุกสนานด้วยการเสพสุรายาเมา เอาสัตว์ต่างๆ มาแข่งขันและต่อสู้กัน เป็นต้น เปลี่ยมาเป็นวิมานทรรศน์ คือนิทรรศการสิ่งที่ดีงามสวยงามงดงามประณีต 
มีศิลปะที่ชักนำจิตใจในทางแห่งคุณธรรมและเจริญจิตเจริญปัญญาเป็นต้น จากพิธีมงคล มาเป็นธรรมมงคล จากเภรีโฆษ คือเสียงกลองศึก มาเป็นธรรมโฆษ คือเสียงนัดหมายเชิญชวนมาฟังธรรมหรือทำกิจกรรมที่ดีงาม 
👉 <ในคำว่า สมัชชาภิจรณะ ซึ่งแปลกันมาว่า "เที่ยว การเล่น” อันเป็นข้อที่ ๓ แห่งอบายมุข ๖ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของคำและความที่ควรเทียบ: “สมาช” ตรงกับที่ในพระไตรปิฎกใช้ว่า “สมัชชา ในสิงคาลกสูตร อันเป็นวินัยของคฤหัสถ์ (ที.ปา.๑๑/๑๘๑) และทรงแสดงตัวอย่างไว้ ดังที่ท่านแปลให้เข้ากับเรื่องของไทยว่า ฟ้อนรํา ขับร้อง ดนตรี เสภา เพลง เถิดเทิง (เวลานี้ อาจต้องแปลใหม่ให้เข้ากับสภาพปัจจุบัน) พึงสังเกตว่า รามายณะ ก็ดี อรรถศาสตร์ ก็ดี ให้ส่งเสริม สมาช นี่แก่ราษฎร โดยถือว่าจะช่วยให้ราษฎรเกิดความนิยมชมชอบต่อรัฐ (ทำให้พลเมืองของรัฐที่แพ้หันมาชอบผู้ชนะ)พูดง่ายๆ ว่าใช้เป็นสิ่งกล่อม แต่พระเจ้าอโศกไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนแบบนี้ กลับให้เลิกเสีย>

พระเจ้าอโศกทรงดำเนินไปไกลที่จะไม่ให้มีการเบียดเบียนชีวิตใดๆ เลย ถึงกับทรงทำเป็นตัวอย่างในการเลิกเสวยเนื้อสัตว์ อันอาจเป็นที่มาของอาหารมังสวิรัติของคนรุ่นหลัง ดังความในจารึกศิลาฉบับที่ ๒ ว่า ธรรมโองการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้โปรดให้จารึกไว้ 
ณ ถิ่นนี้ บุคคลไม่พึงฆ่าสัตว์มีชีวิตใดๆ เพื่อการบูชายัญ ไม่พึงจัดงานชุมนุมเพื่อการเลี้ยงรื่นเริง (สมาช) ใดๆ เพราะว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมองเห็นโทษเป็นอันมากในการชุมนุมเช่นนั้น ก็แลการชุมนุมบางอย่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงเห็นชอบว่าเป็นสิ่งที่ดี มีอยู่อีกส่วนหนึ่ง (ต่างหาก) แต่ก่อนนี้ ในโรงครัวหลวงของพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ สัตว์ได้ถูกฆ่าเพื่อทำเป็นอาหาร วันละหลายแสนตัว ครั้นมาในบัดนี้ เมื่อธรรมโองการนี้อันพระองค์โปรดให้จารึกแล้ว สัตว์เพียง ๓ ตัวเท่านั้นที่ถูกฆ่า คือ นกยูง ๒ ตัว และเนื้อ ๑ ตัว ถึงแม้เนื้อนั้นก็มิได้ถูกฆ่าเป็นประจำ ก็แลสัตว์ทั้งสามนี้ (ในกาลภายหน้า) ก็จักไม่ถูกฆ่าอีกเลย

ในที่นี้ จะไม่พูดถึงเรื่องซึ่งในระดับการแผ่นดินถือได้ว่าเป็นข้อปลีกย่อยหรือเฉพาะอย่าง ที่ได้เอ่ยอ้างมาเหล่านี้ แต่พอดีว่าหลักการสำคัญที่นำทางการปกครองภายในของพระเจ้าอโศก ก็ปรากฏอยู่ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๒ นี้ด้วยเรื่องนี้คนทั่วไปอาจจะนึกไม่ถึง นั่นก็คือเรื่องการบูชายัญที่ท่านผู้รู้หลายท่าน ทั้งฝรั่งและอินเดียบอกว่า พระเจ้าอโศกสอนธรรมที่เป็นกลาง ซึ่งทุกศาสนายอมรับได้นั้น ที่จริงก็รู้กันอยู่ว่า ในชมพูทวีปตั้งแต่ก่อนมานานจนบัดนั้น ถึงจะมีศาสดาเจ้าลัทธิมากมาย แต่ศาสนาที่ครอบงำสังคมอินเดีย ด้วยระบบวรรณะ และการบูชายัญเซ่นสรวงแต่มวลเทพ ตามกำหนดแห่งพระเวท เป็นใหญ่อยู่ ก็คือศาสนาพราหมณ์ (ไม่ต้องพูดว่าทุกศาสนายอมรับได้ แต่ควรจะถามว่าพราหมณ์รับได้ไหม) สิ่งที่พระเจ้าอโศกทําอย่างสำคัญก็คือ การห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ แล้วอย่างนี้ ศาสนาพราหมณ์จะยอมรับได้อย่างไร?


การห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ นี้ อโศกมหาราชทรงสอนและประกาศไว้ในศิลาจารึกหลายวาระหลายฉบับ (เช่น จารึกศิลา ฉบับที่ ๑ ที่ ๔และที่ ๑๑) เป็นหลักการใหญ่ของพระองค์ พูดได้ว่าทรงเอาจริง เพราะเป็นจุดเปลี่ยนของพระองค์เองที่จะเน้นนี่คือการตีแสกหน้าของพราหมณ์ เป็นการหักล้างไม่เพียงลัทธิความเชื่อของเขาเท่านั้น แต่สั่นสะเทือนสถานะและทำลายผลประโยชน์ของพราหมณ์โดยตรง ดังที่พวกพราหมณ์ได้เก็บอัดความคั่งแค้นไว้ ในที่สุดพราหมณ์ปุษยมิตรก็โค่นราชวงศ์โมริยะลง ตั้งราชวงศ์ศุงคะ แล้วที่ชัดคือพราหมณ์ปุษยมิตรที่ตั้งตัวเป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์พราหมณ์นั้น นอกจากห้ำหั่นบีฑาชาวพุทธแล้วก็ได้รื้อฟื้นพิธีบูชายัญอันยิ่งใหญ่คืออัศวเมธขึ้นมาเพื่อประกาศศักดานุภาพ การบูชายัญที่เงียบหายไปหลายร้อยปี ก็กลับเฟื่องฟูขึ้นอีก ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนที่ฝรั่งอังกฤษผู้เข้ามายึดอินเดียเป็นอาณานิคมปกครองไว้ จะเปิดเผยเรื่องพระเจ้าอโศกขึ้นมานั้น คนอินเดียไม่รู้จักพระเจ้าอโศกเลย แม้แต่พระนามก็ไม่เคยได้ยิน พระเจ้าอโศกถูกอินเดียลืมสนิท เรื่องพระเจ้าอโศกเหลืออยู่เพียงในคัมภีร์พุทธศาสนา

การที่เรื่องพระเจ้าอโศกหายไปนั้น คงไม่ใช่เพียงเพราะการรุกรานทำลายของกองทัพมุสลิมเท่านั้น แต่ได้ถูกพราหมณ์พยายามทำให้สลายมาก่อน ทั้งที่พระเจ้าอโศกไม่เพียงยกย่องพราหมณ์ให้รับราชการมีตำแหน่งสำคัญในการแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังได้เน้นไว้เสมอในศิลาจารึกให้ปฏิบัติชอบและถวายทานแก่สมณพราหมณ์ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก แต่พราหมณ์ก็อดเคียดแค้นไม่ได้ ในเมื่อพระเจ้าอโศกไม่ยอมรับอภิสิทธิ์ของพราหมณ์ตามระบบวรรณะ และที่สำคัญที่สุดคือได้ทรงห้ามฆ่าสัตว์บูชายัญ (เท่ากับเลิกล้มพิธีบูชายัญ) ดังนั้น เรื่องจึงเป็นมาอย่างที่ท่านผู้รู้ของอินเดียเองเขียนไว้ (BK 
Mukherjee, Asoka, 105, 108-9) ว่า แม้แต่พระนาม “เทวานามปริยะ” ก็ได้ถูกนักไวยากรณ์พราหมณ์ในสมัยต่อมา พยายามอธิบายให้มีความหมายเป็นคนโง่เขลา เนื่องจากอคติของพราหมณ์ต่อพระมหากษัตริย์ชาวพุทธที่โดดเด่นที่สุดเสมือนว่า พราหมณ์ไม่เพียงขุดโค่นพระเจ้าอโศกเท่านั้น แต่อินเดียได้ขุดหลุมฝังพระเจ้าอโศกและกลบให้ลับหายสนิท จนกระทั่งอังกฤษขุดคุ้ยหลุมนั้นออกให้เห็นพระเจ้าอโศกในเวลาประมาณ ๑,๕๐๐ ปีต่อมา จึงกลายเป็นว่า ปฏิบัติการที่เป็นความกล้าหาญในทางสันติของพระเจ้าอโศกดังว่ามานี้ เป็นสิ่งที่ยากจะรักษาไว้ให้คงอยู่ได้ยั่งยืน 



วันพฤหัสบดี

เทียบกันแล้ว ควรสรุปได้

จากหลักฐานและเรื่องราวที่ยกมาดูกันนี้ จะเห็นว่า โดยทั่วไปพระเจ้าอโศกทรงสอนธรรม แบบไม่ออกชื่อของหลักธรรมหรือของหัวข้อธรรม (ถ้าทรงเรียกชื่อหัวข้อธรรมออกมา ราษฎรที่อยู่กระจายห่างกันไปทั่ว ส่วนใหญ่ก็คงไม่รู้เรื่องหรือสื่อกันยาก)

พระองค์ตรัสออกชื่อธรรมเพียงไม่กี่อย่าง เมื่อจะเน้นออกมาเฉพาะที่เป็นคำที่รู้ๆ กัน หรือง่ายๆ แต่ที่ทรงสอนเอาจริงเอาจังและตรัสอยู่เสมอ ก็คือธรรมที่เป็นการปฏิบัติต่อกันระหว่างคนในหมู่ชน ทำนองเดียวกับพระสูตรในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนคฤหัสถ์ กลายเป็นว่า พระเจ้าอโศกนั่นแหละทรงแม่นยำว่า ในฐานะพุทธมามกะ เมื่อเป็นราชาปกครองบ้านเมืองจะสอนธรรมส่วนไหนอย่างไร และคนที่ไม่เข้าใจเพราะจับจุดจับหลักไม่ได้ ก็คือท่านผู้รู้ทั้งชาวอินเดียและฝรั่งนั่นเอง คงต้องพูดว่า พระเจ้าอโศกมิใช่จะทรงริเริ่มจัดตั้งหลักธรรมสากลหรือศาสนาสากล ที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า universal religion แต่อย่างใด ที่แท้นั้นพระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ในความเป็น universal ruler หรือ universal monarch ตามคติจักกวัตติ/จักรวรรดิราชา  (Cakkavatti/Cakravartin) ดังที่ได้ทรงประกาศหลักธรรมวิชัย ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นจักรพรรดิราช คำศัพท์ในวงเล็บทั้งหมดนี้ พึงทราบว่า ไม่ใช่รูปเดิมในศิลาจารึก แต่เป็นการถอดรูปออกมา และเขียนเทียบเป็นคำภาษาบาลี เพื่อให้ได้ประโยชน์ในการศึกษามากขึ้น เช่น ข้อ ๒ ที่ถอดเป็น “อัคคบริกา” นั้น คำในจารึกเป็น "อคาย ปลีขาย) แต่ที่นี่มิใช่โอกาสที่จะอธิบายมากกว่านี้


ตามความในพระสูตรทั้งหลายนั้นความจริง พระพุทธศาสนาถือว่าธรรมเป็นสากลในตัวของมันเองอยู่แล้ว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธรรมก็มีก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ตถาคตเพียงมาค้นพบธรรมนั้น แล้วนำมาบอกเล่าประกาศให้รู้กัน" จึงไม่มีปัญหาที่จะต้องมาพูดในเรื่องนี้ เวลามีคนมาซักถามพระพุทธเจ้า บางทีเขาทูลว่า อาจารย์คนโน้นเก่งอย่างนั้น คนนั้นเก่งอย่างนี้ คนนี้สอนว่าอย่างนั้น คนนั้นสอนว่าอย่างเขาเถียงกันนัก แล้วพระองค์ว่าใครผิดใครถูก พระพุทธเจ้าจะตรัสทำนองนี้ว่า “เอาละ ท่านพราหมณ์ เรื่องที่คน ๒ ฝ่าย พูดอ้างความรู้กัน มีวาทะขัดแย้งกัน ใครจริง ใครเท็จนั้น พักไว้เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน" (นวก. ๒๓/๒๔๒) แล้วตรัสไปตามหลักตามสภาวะให้เขาพิจารณาเอาเอง

ทีนี้ก็มาถึงคำถามว่า ทำไมในพระสูตรที่แสดงแก่คฤหัสถ์ทั่วๆ ไป พระพุทธเจ้าจึงไม่ตรัสออกชื่อหลักธรรมหรือชื่อหัวข้อธรรมสำคัญๆ เช่น อริยสัจ และปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น แล้วก็เช่นเดียวกัน ทำไมพระจักรพรรดิธรรมราชา เมื่อทรงสอนธรรมแก่ประชาชนทั่วไป จึงไม่ตรัสออกชื่อหลักธรรมสำคัญเหล่านั้น คำถามนี้ส่วนหนึ่งได้ตอบไปแล้ว ในแง่ที่ว่าชื่อนั้นเขาใช้สื่อกับคนที่รู้อยู่บ้างแล้ว เป็นต้น ตอนนี้จะตอบเน้นในแง่การทำหน้าที่ของพระจักรพรรดิราช พระราชาทรงปกครองคนทั้งแผ่นดิน คนเหล่านั้นมีระดับการพัฒนาต่างๆ กัน แต่คนส่วนใหญ่ต้องถือว่าเป็นระดับพื้นฐาน คนเหล่านั้นยังไม่ได้คิดมุ่งคิดหมายที่จะเดินหน้าไปในธรรม (คือในการที่จะศึกษาพัฒนาตนหรือแสวงหาคุณค่าที่สูงขึ้นไปแก่ชีวิต) มิใช่เป็นอย่างคนที่จะมาบวช ซึ่งมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเดินหน้ามาแล้ว

งานของผู้ปกครองที่มองอย่างครอบคลุมก่อน ก็คือ จะทำให้คนทั่วไปที่เป็นมวลรวมนี้ อยู่กันดีมีสุขสงบเรียบร้อยในความหมายเพียงระดับพื้นฐาน ที่จะไม่เบียดเบียนกันหรือเขาออกไปนอกลู่นอกทาง ให้เป็นความพร้อมขั้นต้นของสังคม แล้วพร้อมกันนั้น ท่านผู้ปกครองก็จัดสรรสภาพและระบบการต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยบริการเป็นต้น เพื่อสนองความต้องการของคนที่จะพัฒนาสูงขึ้นไป ถึงขั้นตอนนี้แหละ อย่างในมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราช วิหารคือวัดมากมาย พระองค์ก็ได้สร้างไว้ และทรงอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ทั้งหลาย แถมยังทรงเกื้อหนุนไปถึงนักบวชในลัทธิอื่นๆ ด้วย วัดและพระสงฆ์เป็นต้นนี้ มองในแง่นี้ ก็เหมือนเป็นบริการของระบบแห่งสังคมที่ดี ที่จะมากระตุ้นและมาสนองความต้องการของคนหลากหลาย ที่จะก้าวขึ้นไปสู่การพัฒนาชีวิตในระดับที่ประณีตสูงต่อๆ กันตามลำดับไป พูดง่ายๆ ว่า รัฐจัดสภาพเอื้อพื้นฐานไว้ให้แล้ว วัดก็มาพบมาดูและรับปรึกษาว่าใครจะรับธรรมขั้นไหนอย่างใดได้ ตอนนี้ก็พระแหละ ที่จะดูในแต่ละกรณีหรือสถานการณ์ว่าจะพูดจะเอ่ยถึงธรรมชื่อใดๆ ตามที่เขาต้องการ หรือที่จะเหมาะสมเป็นประโยชน์แก่เขา เหมือนกับแบ่งหน้าที่และขั้นตอนการทำงานกันระหว่างรัฐกับวัด

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า แม้แต่ในพุทธกาล ถึงพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ตามปกติจะไม่ได้สอนข้อธรรมลึกๆ แก่คฤหัสถ์ทั่วไปเหมือนอย่างที่สอนแก่พระสงฆ์ที่มุ่งเข้ามาศึกษาโดยตรง แต่ในหมู่มหาชนนอกภิกขุสังฆะนั้น ก็มีบางคนบางส่วนที่สนใจและก้าวไปมากในการศึกษาอย่างเป็นเรื่องเฉพาะตัวเฉพาะกลุ่มที่จะแสวงหาดังที่บางท่าน อย่างจิตรคฤหบดีผู้เป็นอนาคามี ก็มีภูมิธรรมสูงได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเป็นอุบาสกธรรมกถึก สามารถอธิบายช่วยแก้ความติดขัดในธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายแม้แต่ที่เป็นเถระได้ (อง เอก ๒๐/๑๕๑ ส.ส.๑๘/๕๓๙-๕๔๐) หรืออย่างอุบาสิกาขุชชุตตรา พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเป็นพหูสูต (อ.เอก ๒๐/๑๕๒)

แต่เมื่อพูดกว้างๆ ทั่วๆ ไป ในสังคมคฤหัสถ์โดยรวม ธรรมที่สอนตามปกติก็เป็นดังที่พูดมาแล้ว หลักฐานยืนยันที่ชัดเจนมาก ไม่ต้องหาที่ไหนไกล ขนาดอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ได้อุปถัมภ์พระศาสนากล่าวได้ว่ามากที่สุด และเป็นโสดาบัน กว่าจะได้ฟังธรรมหลักใหญ่อย่างที่ออกชื่อกันมานั้น ก็ตอนเจ็บหนักนอนอยู่บนเตียงจวนจะสิ้นชีพเรื่องมีว่า คราวนั้น พระสารีบุตร พร้อมด้วยพระอานนท์ติดตาม (เรียกว่าเป็นปัจฉาสมณะ) ได้ไปเยี่ยมอนาถบิณฑิกเศรษฐี และได้ให้โอวาทแก่ท่านเศรษฐี โดยมีสาระสำคัญว่าไม่ควรเอาอุปาทานไปยึดติดถือมั่นต่อสิ่งทั้งหลาย ดังคำสรุปท้ายโอวาทว่า "ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า อารมณ์ใดก็ตาม ที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ได้แจ้งแก่ใจ ได้แสวงหา ได้อุ่นใจ เราจักไม่ยึดติดถือมั่นอารมณ์นั้น และ วิญญาณที่อาศัยอารมณ์นั้นจักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านจึงศึกษาอย่างนี้เถิด"

อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังโอวาทจบแล้ว ถึงกับร่ำไห้ และได้กล่าวว่า "กระผมได้เข้ามาใกล้ชิดองค์พระศาสดาและพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจมาเป็นเวลายาวนาน แต่กระนั้นก็ไม่เคยได้สดับธรรมีกถาอย่างนี้เลย" พระอานนท์ตอบชี้แจงว่า "ดูกรคฤหบดี ธรรมกถาอย่างนี้ ไม่สำแดงแก่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์ จะสำแดงแต่แก่บรรพชิต" อนาถบิณฑิกเศรษฐีทราบอย่างนั้นแล้ว ได้กล่าวขอร้องว่า "ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอธรรมกถาอย่างนี้ จงสำแดงแก่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์บ้างเถิด เพราะว่า กุลบุตรจำพวกมีกิเลสธุลีในดวงตาน้อยก็มีอยู่ (แต่) เพราะมิได้สดับธรรม ก็จะเสื่อมไป คนที่จะรู้เข้าใจธรรม จักมี" (ม.อุ.๑๔/๗๒๐-๗๔๐) หลังจากพระสารีบุตรและพระอานนท์กลับออกมาไม่นาน ท่านเศรษฐีก็ถึงแก่กรรม และเข้าถึงดุสิตภพ

หันกลับมาพูดถึงบทบาทของรัฐกับบทบาทของวัด ในการสอนธรรมให้การศึกษาแก่ประชาชน อย่างที่ว่าแล้ว รัฐจะเน้นการทำหน้าที่ขั้นพื้นฐาน เพื่อให้คนทั่วไปในสังคมมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การพัฒนาชีวิตของตน พร้อมทั้งจัดสรรโอกาสและจัดการให้คนเข้าถึงโอกาสนั้นด้วยการ ประสานเสรีภาพ เข้ากับระบบแห่งบริการ ในสังคมชมพูทวีปแต่ยุคโบราณมา เท่าที่พอทราบกัน คนถึงจะนับถือต่างกัน แต่การเป็นอยู่ก็ไม่ค่อยได้แบ่งแยกกัน มีประเพณีทางปัญญาที่จะรับฟังคำสอนของลัทธิศาสนาต่างๆ นับได้ว่าเสรีในศิลาจารึกอโศกก็เน้นเรื่องนี้ไว้ด้วย ดังความในจารึกศิลาฉบับที่ ๓๒ ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมทรงยกย่องนับถือศาสนิกชนแห่งลัทธิศาสนาทั้งปวง ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ ด้วยการพระราชทานสิ่งของ และการแสดงความยกย่องนับถืออย่างอื่นๆ แต่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมไม่ทรงพิจารณาเห็น ทานหรือการบูชาอันใด ที่จะเทียบได้กับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร? สิ่งนั้นก็คือการที่จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง ก็ความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมนี้ มีอยู่มากมายหลายประการ แต่ส่วนที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญงอกงามนั้น ได้แก่สิ่งนี้คือ การสำรวมระวังวาจา (วคุปติ์) ระวังอย่างไร? คือไม่พึงมีการยกย่องลัทธิศาสนาของตนและการตำหนิลัทธิศาสนาของผู้อื่น ในเมื่อมิใช่โอกาสอันควร...

การสังสรรค์กลมเกลียวกันนั่นแล เป็นสิ่งดีงามแท้ จะทำอย่างไร? คือ จะต้องรับฟัง และยินดีรับฟังธรรมของกันและกัน จริงดังนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมีความปรารถนาว่าเหล่าศาสนิกชนในลัทธิศาสนาทั้งปวง ซึ่งเป็นผู้มีความรอบรู้ (เป็นพหูสูต) และมีหลักศาสนธรรมที่ดีงาม (กัลยาณาคม) ชนเหล่าใดก็ตาม ซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสในลัทธิศาสนาต่างๆ กัน ชนเหล่านั้นจึงกล่าวให้รู้กันทั่วไปว่า พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่าทานหรือการบูชาอันใดจะทัดเทียมกับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร? สิ่งนี้ได้แก่การที่จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง และความเจริญงอกงาม พึงมีเป็นอันมากด้วยธรรม นี้คือเสรีภาพทางศาสนาที่แท้จริง ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาจิตปัญญาอย่างสูง ซึ่งมนุษย์ยุคปัจจุบัน ที่ว่ามีอารยธรรมกันนัก และพูด กันนักถึง tolerance แต่ก็ยังขึ้นไม่ค่อยจะถึง

เมื่อว่าให้ถูกตามนี้ ถ้ามนุษย์พัฒนาถึงขั้นเป็นอารยะจริง ศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัว อย่างที่ฝรั่งติดตันกลืนไม่เข้าแล้วคายออกมาได้แค่นั้น แต่เป็นเรื่องที่ควรเอามาพูดจาศึกษาเอื้อปัญญาแก่กัน ศาสนาจะเป็นเรื่องส่วนตัว ก็เฉพาะในขั้นที่ว่าใครก้าวไปถึงไหน ก็เป็นส่วนของคนนั้น




วันอังคาร

ดูพุทธพจน์แล้ว อ่านธรรมโองการเทียบ

 เห็นได้ชัดว่า ธรรมในศิลาจารึกอโศก ส่วนใหญ่ และที่กล่าวถึงบ่อย เป็นเรื่องของการปฏิบัติชอบต่อกัน หรือต่อบุคคลประเภทต่างๆ ที่แต่ละคนควรดูแลรับผิดชอบหรือช่วยเหลือกัน ซึ่งใกล้เคียงกันมากกับพระสูตรที่ยกมาให้ดูแล้ว จึงขอยกข้อความในศิลาจารึกนั้นมาให้ดูบ้าง ขอเริ่มด้วยจารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ซึ่งตรัสเล่าความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการทำศิลาจารึกประกาศธรรมไว้ด้วย อันเป็นเรื่องที่น่ารู้

๑. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ตลอดกาลยาวนานล่วงมาแล้ว ได้มีพระราชาหลายองค์ทรงปรารถนาว่า ทำไฉนประชาชนทั้งหลายจะพึงเจริญก้าวหน้าด้วยความเจริญทางธรรม แต่ประชาชนก็หาได้เจริญก้าวหน้าขึ้นด้วยความเจริญทางธรรมตามสมควรไม่...ก็แลด้วยอุบายวิธีอันใดหนอประชาชนทั้งหลายจะพึงประพฤติปฏิบัติตาม ...

๓. ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ดังนี้ :- ข้าฯ ได้เกิดมีความคิดขึ้นว่า ข้าฯ จักจัดให้มีการประกาศธรรม ข้าฯ จักจัดให้มีการอบรมสั่งสอนธรรมประชาชนทั้งหลาย ครั้นได้สดับธรรมนี้แล้ว ก็จักพากันประพฤติปฏิบัติตาม จักยกระดับตนเองสูงขึ้น และจักมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นด้วยความเจริญทางธรรมอย่างมั่นคง เพื่อประโยชน์นี้ ข้าฯ จึงจัดให้มีการประกาศธรรม และสั่งให้มีการอบรมสั่งสอนธรรมขึ้นเป็นหลายแบบหลายอย่าง เพื่อให้ข้าราชการทั้งหลาย ที่ข้าฯ ได้แต่งตั้งไว้ดูแลประชาชนจำนวนมาก จักได้ช่วยกันแนะนำสั่งสอนบ้าง ช่วยอธิบายขยายความให้แจ่มแจ้งออกไปบ้าง แม้เจ้าหน้าที่รัชชูกะ ข้าฯ ก็ได้แต่งตั้งไว้ดูแลชีวิตหลายแสนชีวิต เจ้าหน้าที่รัชชูกะเหล่านั้น ก็ได้รับคำสั่งจากข้าฯ ว่า ท่านทั้งหลายจงอบรมสั่งสอนประชาชนให้เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอย่างนี้ๆ

๔. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ว่า :- เมื่อได้พิจารณาใคร่ครวญในเรื่องนี้ โดยถ่องแท้แล้วนั่นแล ข้าฯ จึงให้ประดิษฐานหลักศิลาจารึกธรรมขึ้นไว้ แต่งตั้งธรรมมหาอำมาตย์ขึ้นไว้ และจัดให้มีการประกาศธรรม

๕. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- แม้ตามถนนหนทาง ข้าฯ ก็ได้ให้ปลูกต้นไทรขึ้นไว้ เพื่อจักได้เป็นร่มเงาให้แก่สัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ให้ปลูกสวนมะม่วง ให้ขุดบ่อน้ำไว้ทุกระยะกึ่งโกรศะ ( ๑ โกรศะ = ๑ กิโลเมตร) ให้สร้างที่พักคนเดินทางขึ้นไว้ และให้สร้างอ่างเก็บน้ำจำนวนมากมายขึ้นไว้ในที่ต่างๆ เพื่อการใช้สอยแห่งสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย แต่การใช้ประโยชน์เช่นนี้ยังจัดว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย พระราชาทั้งหลายในกาลก่อนก็ดี ตัวข้าฯ ก็ดี ต่างก็ได้บำรุงประชาชนทั้งหลายให้มีความสุขด้วยวิธีการบำรุงสุขประการต่างๆ แต่ที่ข้าฯ ได้กระทำการเช่นนี้ ก็ด้วยความมุ่งหมายข้อนี้ คือ เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามธรรม...

๘. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- กรรมดีใดๆ ก็ตาม ที่ข้าฯ ได้กระทำแล้ว ประชาชนทั้งหลายก็ได้พากันประพฤติปฏิบัติกรรมดีนั้นๆ ตามอย่างแล้ว และยังคงดำเนินตามกรรมดีนั้นๆ อยู่ต่อไป ด้วยการกระทำเช่นนั้น ประชาชนทั้งหลายก็ได้มีความเจริญงอกงามขึ้นแล้ว และยังรักเจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ด้วย

- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเชื่อฟังครูทั้งหลาย
- การปฏิบัติชอบต่อท่านผู้เฒ่าชรา
- การปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์และสมณะ
- (การปฏิบัติชอบ) ต่อคนยากจน และคนตกทุกข์
- ตลอดถึงคนรับใช้ และคนงานทั้งหลาย



จารึกศิลา ฉบับที่ ๓ ระบุธรรมที่พึงเผยแพร่ ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ข้าฯ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๑๒ ปี ได้สั่งประกาศความข้อนี้ไว้ว่า ทุกหนทุกแห่งในแว่นแคว้นของข้าฯ เจ้าหน้าที่ยุกตะ เจ้าหน้าที่รัชชูกะ และเจ้าหน้าที่ปราเทศกะ จึงออกเดินทาง (ตรวจตรา) ทุกๆ ๕ ปี เพื่อประโยชน์อันนี้ คือเพื่อการสั่งสอนธรรมนี้ พร้อมไปกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างอื่น (เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจึงสั่งสอน) ว่า

- การเชื่อฟังมารดาบิดา เป็นความดี
- การให้ปันแก่มิตรสหาย ญาติ แก่พราหมณ์และสมณะเป็นความดี
- การไม่ฆ่าสัตว์ เป็นความดี
- การประหยัดใช้จ่ายแต่น้อย การสะสมแต่น้อย (เลี้ยงชีวิตแต่พอดี?) เป็นความดี

จารึกศิลา ฉบับที่ ๙ กล่าวถึงธรรมที่พึงปฏิบัติดังนี้  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสว่า :- ประชาชนทั้งหลาย ย่อมประกอบพิธีมงคลต่างๆ เป็นอันมาก... อันเป็นเรื่องหยุมหยิมไร้สาระ และไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยนัยตรงข้าม ยังมีพิธีกรรมที่เรียกว่าธรรมมงคลซึ่งเป็นพิธีกรรมมีผลมาก ในธรรมมงคลนั้น ย่อมมีกิจต่อไปนี้ คือ

-การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
- การแสดงความเคารพนับถือต่อครูอาจารย์
- การสำรวมตนต่อสัตว์ทั้งหลาย
- การถวายทานแก่สมณพราหมณ์

ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๑  นอกจากธรรมปฏิบัติที่คล้ายกับในจารึกอื่นแล้ว มีข้อพึงสังเกตพิเศษ คือเรื่องธรรมทาน และการบูชายัญ ที่จะพูดถึงเพิ่มเติมอีกข้างหน้า ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ไม่มีทานใดเสมอด้วยการให้ธรรม (ธรรมทาน) การแจกจ่ายธรรม (ธรรมสังวิภาค) และความสัมพันธ์กันโดยธรรม (ธรรมสัมพันธ์) อาศัยธรรม (ธรรมทานเป็นต้น) นี้ ย่อมบังเกิดมีสิ่งต่อไปนี้ คือ

- การปฏิบัติชอบต่อคนรับใช้และคนงาน
- การเชื่อฟังมารดาบิดา
- การเผื่อแผ่แบ่งปันแก่มิตร คนคุ้นเคย ญาติ และแก่สมณพราหมณ์
- การไม่ฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ

บิดาก็ดี บุตรก็ดี พี่น้องชายก็ดี นาย (หรือสามี) ก็ดี มิตรและคนคุ้นเคยก็ดี ตลอดถึงเพื่อนบ้าน จึงกล่าวคำนี้ (แก่กัน) ว่า "นี่เป็นสิ่งดีงามแท้ นี่เป็นกิจควรทำ บุคคลผู้ปฏิบัติเช่นนี้ ย่อมทำความสุขในโลกนี้ให้สำเร็จด้วย และในโลกเบื้องหน้า ย่อมประสพบุญหาที่สุดมิได้เพราะอาศัยธรรมทานนั้นด้วย" ธรรมแบบที่เป็นหัวข้อนามธรรม คือเป็นตัวคุณธรรม พบในจารึกเพียง ๒ แห่ง คือ จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๒ ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ธรรมเป็นสิ่งดีงาม สิ่งใดเล่าชื่อว่าธรรม ธรรมนั้นได้แก่สิ่งต่อไปนี้ คือ

- การมีความเสียหายน้อย (อัปปาทีนวะ?) (คำที่ถอดออกมาจากศิลาจารึกว่า “อปาสินเว” และได้แปลกันไปต่างๆ สุดแต่จะโยงไปสู่คำศัพท์ใดเช่น บางท่านคิดว่าคงเป็น อัปปาสวะ ก็แปลว่ามีอาสวะกิเลสน้อย ในที่นี้ เมื่อเทียบกับ“พหุกัลยาณะ” เห็นว่าน่าจะเป็น “อัปปาทีนวะ” จึงแปลอย่างนี้)
- การมีความดีมาก (พหุกัลยาณะ)
- ความเมตตากรุณา (ทยา)
- การเผื่อแผ่แบ่งปัน (ทาน)
- ความสัตย์ (สัจจะ)
- ความสะอาด (โสไจย)

อีกแห่งหนึ่งที่พบธรรมแบบที่เป็นหัวข้อนามธรรม คือเป็นตัวคุณธรรม ได้แก่ จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๗ ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ และพวกอื่นๆ อีกจำนวนมากได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ทำการจำแนกแจกทาน ทั้งในนามของข้าฯ เอง และในนามแห่งพระราชเทวีทั้งหลาย ทั่วทุกฝ่ายในของข้าฯ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ สามารถจัดดำเนินการในกิจต่างๆ ที่มุ่งหมาย จนเป็นที่น่าพอใจได้ ด้วยวิธีการมากหลายทั้งใน (พระนครหลวง) นี้ และในส่วนต่างๆ (ของประเทศ) อนึ่ง ในส่วนแห่งโอรสของข้าฯ และเจ้าชายอื่นๆประสูติแต่พระราชเทวีทั้งหลาย ข้าฯ ก็ได้สั่งให้กระทำการ (จําแนกแจกทาน) เช่นนี้ โอรสของข้าฯ เหล่านี้ จักเป็นผู้ฝักใฝ่ในการจำแนกแจกทาน อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมหลักการทางธรรม และการประพฤติปฏิบัติตามธรรม หลักการทางธรรมและการประพฤติปฏิบัติตามธรรมเหล่านี้ กล่าวคือ

- ความเมตตากรุณา (ทยา)
- การเผื่อแผ่แบ่งปัน (ทาน)
- ความสัตย์ (สัจจะ)
- ความสะอาด (โสไทย)
- ความสุภาพอ่อนโยน (มัททวะ)
- ความเป็นสาธุชน (สาวะ)

จะพึงเจริญเพิ่มพูนขึ้นในหมู่ประชาชน ส่วนอีกแห่งหนึ่ง ไม่ใช่เป็นหัวข้อธรรมหรือคุณธรรมที่จะสอบโดยตรง แต่กระตุ้นเตือนให้ตระหนักว่า การที่จะทำให้สำเร็จตามจุดหมายที่ตั้งไว้นั้น จะต้องทำตัวหรือปฏิบัติตนอย่างไร ได้แก่ จารึกหลักศิลาฉบับที่ ๑ ซึ่งมีข้อความดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพตรัสไว้ดังนี้ :- ธรรมโองการนี้ ข้าฯ ได้ให้จารึกขึ้นไว้ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า เป็นสิ่งที่จะพึงปฏิบัติให้สำเร็จได้โดยยาก หากปราศจาก

- ความเป็นผู้ใคร่ธรรมอย่างยิ่งยวด (อัคคธัมมกามตา)
- การใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างยิ่งยวด (อัคค-ปรึกษา)
- การตั้งใจฟังคำสั่งสอนอย่างยิ่งยวด (อัคค-สุสสา)
- ความเกรงกลัว (ต่อบาป) อย่างยิ่งยวด (อัคค-รายะ)
- ความอุตสาหะอย่างยิ่งยวด (อัคค-อุตสาหะ)

บัดนี้ ด้วยอาศัยคําสั่งสอนของข้าฯ ความมุ่งหวังทางธรรมและความฝักใฝ่ใคร่ธรรม ได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วทุกๆ วัน และจักเจริญงอกงามยิ่งขึ้นเรื่อยไป