แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ป.อ. ปยุตฺโต แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ป.อ. ปยุตฺโต แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์

ธรรมวิชัย: หลักการใหญ่ที่นำเข้าสู่พุทธธรรม

ทีนี้ก็มาดูข้อความแสดงนโยบายธรรมวิชัยมหาราช ที่พระเจ้าอโศกทรงนำออกมาสู่ปฏิบัติการจริง ดังที่พระองค์ประกาศไว้ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๓ ซึ่งคัดตัดมาพอเป็นตัวอย่าง

"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๘ พรรษา ทรงมีชัยปราบแคว้นกลิงคะลงได้ จากแคว้นกลิงคะนั้น ประชาชนจํานวนหนึ่งแสนห้าหมื่นคนได้ถูกจับไปเป็นเชลย จํานวนประมาณหนึ่งแสนคนถูกฆ่า และอีกหลายเท่าของจํานวนนั้นได้ล้มตายไป นับแต่กาลนั้นมาจนบัดนี้ อันเป็นเวลาที่แคว้นกลิงคะได้ถูกยึดครองแล้ว การทรงประพฤติปฏิบัติธรรม ความมีพระทัยใฝ่ธรรม และการทรงอบรมสั่งสอนธรรม ก็ได้เกิดมีขึ้นแล้วแก่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ การที่ได้ทรงปราบปรามแคว้นกลิงคะลงได้นั้น ทำให้พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมีความสํานึกสลดพระทัย ในคราวยึดครองแคว้นกลิงคะนี้ จะมีประชาชนที่ถูกฆ่าล้มตายลงและถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม แม้เพียงหนึ่งในร้อยส่วน หรือหนึ่งในพันส่วน (ของจำนวนที่กล่าวนั้น) พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพย่อมทรงสำนึกว่าเป็นกรรมอันร้ายแรงยิ่ง สำหรับพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ชัยชนะที่ทรงถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุด ได้แก่ ธรรมวิชัย (ชัยชนะโดยธรรม) และธรรมวิชัยนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ทรงกระทำสำเร็จแล้ว ทั้ง ณที่นี้ (ในพระราชอาณาเขตของพระองค์เอง) และในดินแดนข้างเคียงทั้งปวง ไกลออกไป ๖๐๐ โยชน์  ทุกหนทุกแห่ง (ประชาชนเหล่านี้) พากันประพฤติปฏิบัติตามคำสอนธรรมของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ด้วยเหตุเพียงนี้ ชัยชนะนี้เป็นอันได้กระทำสำเร็จแล้วในที่ทุกสถาน เป็นชัยชนะอันมีปีติเป็นรส พรั่งพร้อมด้วยความเอิบอิ่มใจ เป็นปีติที่ได้มาด้วยธรรมวิชัย ชัยชนะอันแท้จริงนั้น จะต้องเป็นธรรมวิชัยเท่านั้น ด้วยว่าธรรมวิชัยนั้นเป็นไปได้ทั้งในโลกบัดนี้ และโลกเบื้องหน้า ขอปวงความยินดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย จงเป็นความยินดีในความพากเพียรปฏิบัติธรรม เพราะว่าความยินดีนั้น ย่อมอำนวยผลทั้งในโลกบัดนี้ และในโลกเบื้องหน้า"

แม้ว่าธรรมวิชัยอย่างนี้จะเป็นหลักการและนโยบายใหม่ แต่คำว่า “ธรรมวิชัย” มิใช่เป็นคำใหม่ และมิใช่มีในพระไตรปิฎกเท่านั้น แต่มีในหลักรัฐศาสตร์โบราณของชมพูทวีปด้วย จึงควรเข้าใจความต่างให้ชัด
ในตำราอรรถศาสตร์ ของพราหมณ์จาณักยะ (เรียกว่า เกาฏิลยะบ้าง วิษณุคุปตะบ้าง) ผู้เป็นที่ปรึกษาและมหาเสนาบดีของพระเจ้าจันทรคุปต์ (พระอัยกาของพระเจ้าอโศกเอง, พ.ศ.๑๖๑) จัดแบ่งผู้ชนะสงคราม คือผู้พิชิตหรือผู้มีชัย เป็น ๓ ประเภท ดังนี้

๑. ธรรมวิชยี ผู้มีธรรมวิชัย คือ ผู้ชนะที่พอใจเพียงให้ผู้แพ้ยอมจงรักภักดี โดยไม่ข่มเหงทำร้ายราชวงศ์และราษฎรของฝ่ายที่แพ้
๒. โลภวิชยี ผู้มีโลภวิชัย คือ ผู้ชนะที่มุ่งแย่งชิงเอาดินแดนและทรัพย์สินของผู้แพ้
๓. อสุรวิชยี ผู้มีอสูรวิชัย คือ ผู้ชนะที่โหดร้าย ยึดเอาทุกอย่างทั้งทรัพย์สิน ดินแดน บุตรภรรยา และแม้แต่ชีวิตของผู้แพ้

จะเห็นชัดว่าธรรมวิชัยของพราหมณ์จากยะ ก็คือการชนะด้วยสงครามนั่นเอง เพียงแต่ปฏิบัติต่อผู้แพ้อย่างไม่โหดร้าย ดังนั้น ชัยชนะทั้ง ๓ อย่างนี้ ยังไม่เป็นธรรมวิชัยในพระพุทธศาสนาเลย พระเจ้าอโศกได้ละเลิกชัยชนะที่สอนกันมาแต่เดิมในประเพณีการปกครองของสังคมพราหมณ์ โดยหันมารับหลักการธรรมวิชัย อันเป็นชัยในทางสันติ ที่ชนะใจด้วยความดี ซึ่งไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา ตามคติจักกวัตดิราชาของพระพุทธศาสนา คติจักกวัตติราชานี้ แม้จะมาหลายแห่งในพระไตรปิฎก แต่มีพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องนี้โดยตรง คือจักกวัตติสูตร ซึ่งมีชื่อซ้ำกัน ๓ สูตร เฉพาะอย่างยิ่งที่ยาวที่สุด รู้จักกันมากที่สุด และใช้เป็นหลัก คือสูตรที่มาในทีฆนิกาย (ที.ปา.๑๑/๓๓-๕๐) อันเป็นที่มาของหลัก จักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ

ณ ที่นี้ จะไม่เข้าไปในเนื้อหาของพระสูตรนั้นโดยตรง แต่จะพูดให้โยมได้ข้อสังเกตทั่วๆ ไป อย่างกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด หลักธรรมวิชัยตามคติจักกวัตติราชานี้ เป็นตัวอย่างคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้สำหรับผู้นำของสังคมคฤหัสถ์ ที่พระองค์ไม่ได้ทรงจัดดำเนินการ ซึ่งเป็นส่วนที่ชาวบ้านจะต้องรับผิดชอบกันเอง อันต่างจากสังฆะที่พระองค์จัดตั้งบริหารตามหลักการแห่งธรรมวินัย

🔅อโศกธรรม หรือครัฐวินัย

หลักธรรมที่ตรัสสอนหรือแสดงสำหรับสังคมคฤหัสถ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์จักรพรรดิราช หัวหน้าหมู่ชน หรือหัวหน้าครอบครัวทั่วไป รวมทั้งพระโพธิสัตว์ มีระดับและลักษณะที่พึงสังเกต ดังนี้

ก) โดยทั่วไป กล่าวถึงประเภทของบุคคลที่พึงช่วยเหลือเกื้อกูล หรือปฏิบัติในการสัมพันธ์ต่อกันให้ถูกต้อง เช่น มารดาบิดา คนงาน ฯลฯ ไม่ค่อยกล่าวถึงหัวข้อธรรม หรือหลักที่เป็นนามธรรม
ข) หลักการทางธรรม วิธีปฏิบัติ และจุดหมายของการปฏิบัติ อยู่ในขอบเขตแห่งบุญ ทาน และการลุถึงสวรรค์ (รวมทั้งพรหมโลก)

ขอยกคำสอนระดับนี้มาให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น ครั้งหนึ่ง ตรัสแก่ พระเจ้าปเสนทิโกศล เกี่ยวกับการเป็นอยู่ครอบครองทรัพย์สมบัติของ คฤหบดีว่า "ดูกรมหาบพิตร ในถิ่นของอมนุษย์ มีสระโบกขรณี ซึ่งมีน้ำใสเย็นจืดสนิท สอาด มีท่าที่ขึ้นลงเรียบร้อย น่ารื่นรมย์ (แต่) น้ำนั้นคนจะตักเอาไปก็ไม่ได้ จะดื่มก็ไม่ได้ จะอาบก็ไม่ได้ หรือจะทําการใดตามต้องการก็ไม่ได้ มหาบพิตร เมื่อเป็น เช่นนี้ น้ำที่มิได้กินใช้โดยชอบนั้น พึงถึงความหมดสิ้นไปเปล่า โดยไม่ถึงการบริโภค แม้ฉันใด ดูกรมหาบพิตร อสัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ไม่ทำตนให้เป็นสุข ฯลฯ โภคะเหล่านั้นของเขา อันมิได้กินใช้โดยชอบ ย่อมถึงความหมดสิ้นไปเปล่า โดยไม่ถึงการบริโภค ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรมหาบพิตร ส่วนสัตบุรุษ ได้โภคะอันโอฬารแล้ว ย่อมทำตนให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม ย่อมทำมารดาบิดา บุตร ภรรยา...คนรับใช้กรรมกรและคนสนองงาน...มิตรสหาย เพื่อนร่วมกิจการ ให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม ย่อมประดิษฐานไว้ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ซึ่งทักษิณาอันมีผลสูงขึ้นไป มีจุดที่คำนึงหมายอันดี มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ โภคะเหล่านั้นของเขา ที่บริโภคอยู่โดยชอบอย่างนี้ ราชาทั้งหลายก็มิได้รับเอาไป โจรทั้งหลายก็มิได้ลักไป ไฟก็มิได้ไหม้หมดไป น้ำก็มิได้พัดพาไป อัปริยทายาททั้งหลายก็มิได้ขนเอาไป เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะเหล่านั้นของเขา ที่กินใช้อยู่ โดยชอบ ย่อมถึงการบริโภค ไม่ถึงความหมดสิ้นไปเปล่า ดูกรมหาบพิตร เหมือนดังว่า ในที่ไม่ไกลตามหรือนิคม มีสระโบกขรณี ซึ่งมีน้ำใส เย็น จืดสนิท สอาด มีท่าที่ขึ้นลงเรียบร้อย น่ารื่นรมย์ นั้นคนจะตักเอาไปก็ได้ จะดื่มก็ได้ จะอาบก็ได้ หรือจะทำการใดตามต้องการก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้น้ำที่กินใช้อยู่โดยชอบนั้น พึงถึงการบริโภค ไม่ถึงความหมดสิ้นไปเปล่า แม้ฉันใด สัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ย่อมทำ ตนให้เป็นสุข ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกัน"


พระผู้มีพระภาคองค์พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตจบแล้ว ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า "น้ำมีในถิ่นที่ของอมนุษย์ คนย่อมอดน้ำนั้น อันจะดื่มมิได้ คนทรามได้ทรัพย์แล้ว ตนเองก็ไม่บริโภค ทั้งก็ไม่ให้ปันแก่ใคร ฉันใดก็ฉันนั้น ส่วนวิญญูชนมีปัญญาได้โภคะแล้ว ย่อมบริโภคและใช้ทำกิจการ เลี้ยงดูหมู่ญาติ เป็นคนอาจหาญ ใครก็ไม่ติเตียน ย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์ พระโพธิสัตว์ก็มีจริยาแห่งการประพฤติธรรมทำนองเดียวกันนี้"

"ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตในปริมชาติ ในปริมภพ ในถิ่นกำเนิดก่อน เมื่อเป็นมนุษย์ในบุพสมัย เป็นผู้มีสมาทานมั่นในกุศลธรรมทั้งหลาย ถือปฏิบัติไม่ถอยหลัง ในกายสุจริต ในวจีสุจริต ในมโนสุจริต ในการแจกจ่ายบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในการปฏิบัติชอบต่อมารดา ในการปฏิบัติชอบต่อบิดา ในการปฏิบัติชอบต่อสมณะ ในการปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ ในความเป็นผู้เคารพต่อผู้ใหญ่ในสกุล และในธรรมอันเป็นอธิกุศลอย่างอื่นๆ เพราะกรรมนั้น อันได้ทำ ได้สั่งสม ได้พอกพูน เป็นกรรมอันไพบูลย์ เบื้องหน้าแต่กายแตกทำลายตายไป ตถาคตก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"
(ที.ปา.๑๑/๑๓๑)

ความเป็นคนดี ที่มีคำเรียกว่า “สัตบุรุษ” มีความหมายสัมพัน กับความดีงามและประโยชน์สุขของตระกูลวงศ์และชุมชนหรือหมู่ชน ดังพุทธพจน์ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย คนดี (สัตบุรุษ) เกิดมาในหมู่ชน ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชน จำนวนมาก (คือ) ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่มารดาบิดา แก่บุตรภรรยา...แก่คนรับใช้ กรรมกรและคนสนองงานแก่มิตรสหายเพื่อนร่วมกิจการแก่สมณพราหมณ์ เปรียบเหมือนมหาเมฆ ช่วยให้ ข้าวกล้าเจริญงอกงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนจำนวนมาก"


อีกพระสูตรหนึ่ง (อง อาจก. ๒๓/๑๒๘) เนื้อความเหมือนกับพระสูตร ข้างบนนี้ แต่มีบุคคลที่จะได้รับประโยชน์เพิ่มเข้ามา ๓ พวก คือ “แก่ บรรพชนผู้ล่วงลับ...แก่พระราชา...แก่เทวดาทั้งหลาย... พระสูตรที่แสดงธรรมสำหรับสังคมคฤหัสถ์อย่างนี้ มีมากพอสม ควร แต่ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านี้คิดว่าเพียงพอแล้ว เพราะสาระ ทำนองเดียวกัน สาระนั้นก็คือ การอยู่ร่วมกันด้วยดี ในครอบครัว ในชุมชน ในสังคม โดยเอาใจใส่ดูแลคนอื่นที่ตนเกี่ยวข้อง ประพฤติปฏิบัติที่ทำหน้าที่ต่อกัน ทำประโยชน์แก่กัน ไม่หวงแหนทรัพย์สมบัติ แต่นำออกมาใช้ ประโยชน์ด้วยทาน คือเผื่อแผ่ให้ปัน ในการบำรุงเลี้ยงช่วยเหลือกันตามวิธีปฏิบัติข้างต้นนั้น นำชีวิตไปในทางแห่งสวรรค์ รวมทั้งข้อเน้นที่จะให้ผลดีเกิดขึ้นเป็นประโยชน์ทั้งในโลกนี้และ โลกหน้า ตามคติ อิธโลก-ปรโลก ซึ่งพบได้ทั่วในพระไตรปิฎก หลักธรรมสำหรับสังคมคฤหัสถ์ตามคำสอนในพระไตรปิฎกที่ว่ามานี้เอง คือแหล่งแห่งธรรมที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสอนในศิลาจารึกของพระองค์ ที่บางท่านเรียกว่าอโศกธรรม

พระสูตรใหญ่ที่เหมือนกับประมวลธรรมสำหรับชีวิตและสังคม คฤหัสถ์ไว้ ก็คือสิงคาลกสูตร (บางทีเรียกว่า สิคาโลวาทสูตร, ที.ปา.๑๑/ ๑๗๒) ที่ท่านให้ถือเป็นวินัยของคฤหัสถ์ (คิหิวินัย) แม้จะตรัสธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติไว้หลายด้าน แต่หลักใหญ่ที่เป็น เป้าหมายของพระสูตรนั้น ก็คือหลักทิศ ๖ ที่รู้จักกันดี อันแสดงธรรม หรือหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกัน ระหว่าง
มารดาบิดา - บุตรธิดา
อาจารย์ - ศิษย์
สามี - ภรรยา
มิตร - มิตร
นายงาน - คนงาน
สมณพราหมณ์ - กุลบุตร (พระสงฆ์-ชาวบ้าน)

ในสิงคาลกสูตร นี้ ตลอดทั้งหมด ก็เช่นเดียวกับพระสูตรทั้งหลายที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างบนนั้น ไม่กล่าวถึงหลักธรรมสำคัญอย่าง อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท ฌาน นิพพาน ใดๆ ที่พวกนักปราชญ์ฝรั่งและ อินเดียหลายท่านนั้นคาดหวังเลย แม้แต่ศีล ๕ ก็ยังไม่ปรากฏชื่อออกมาในสิงคาลกสูตร นี่คือเรื่องธรรมดาที่พึงเข้าใจ ชื่อเรียกนั้นเป็นสื่อสำหรับลัดความเข้าใจ คนที่รู้เรื่องนั้นอยู่แล้ว พอออกชื่อมา เขาก็มองเห็นเนื้อหาทะลุตลอดหมด ไม่ต้องมาแจกแจงกันอีก ชื่อเรียกหลักธรรมต่างๆ จึงมีไว้ใช้ให้สะดวกสำหรับการสอนและ การศึกษายิ่งขึ้นไป จุดสำคัญอยู่ที่เอ่ยชื่อให้ตรงกับสภาวะที่จะสื่อ ไม่ใช่เรื่องสําหรับมายึดว่าเป็นของใครๆ ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนคฤหัสถ์หรือคนนอก ที่ชื่อเรียกจะไม่ช่วยในการสื่อแก่เขา พระองค์ก็ตรัสเนื้อหาของธรรมนั้นๆ ไป แม้จะต้องใช้เวลามากหน่อย การที่คนผู้มาอ่านทีหลังไม่พบชื่อของธรรมนั้นๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาอย่างที่ว่าแล้ว แม้แต่ในจักรวัตติสูตร ที่เป็นแหล่งหลักของธรรมวิชัยและคติจักกวัตติราชานี้เอง ในตอนเดินเรื่อง ถึงจะกล่าวเนื้อหาของศีล ๕ แต่ก็ไม่ออกชื่อ (กุศลกรรมบถ อกุศลกรรมบถ ก็เอ่ยเฉพาะตอนที่ตรัส แบบสรุปความแก่พระสงฆ์)

ในข้อปฏิบัติขององค์พระจักรพรรดิธรรมราชา ก็เน้นที่การคุ้มครองประชาราษฎร์ คือเน้นที่คน โดยจำแนกเป็นหมู่เหล่าต่างๆ ๘ พวก ถึงตรงนี้ก็เลยขอแทรกข้อควรทราบจากจักกวัตติสูตร ที่ว่าชื่อ กันอีกสูตรหนึ่ง (องตึก ๒๐/๔๕๓) ว่า พระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ มีคําเรียกพระนามที่ตรงกันว่าทรงเป็น “ธรรมราชา” ซึ่งมีความหมาย ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ ๒ ชั้น คือ เป็น “ราชาผู้ทรงธรรม และ “ผู้มีธรรมเป็นราชา" สำหรับความหมายแรกนั้นชัดอยู่แล้ว แต่ความหมายที่ ๒ พระ พุทธเจ้าทรงอธิบายว่า

“ธรรม” เป็นราชาของพระองค์ และของพระเจ้าจักรพรรดิ คือ พระพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงเคารพธรรม ยึดธรรมเป็นหลักนำ ถือธรรมเป็นใหญ่ เป็นธรรมาธิปไตย แต่พร้อมนั้นก็ตรัสแสดง แง่ที่ต่าง ระหว่างพระพุทธเจ้า กับพระเจ้าจักรพรรดิด้วย ซึ่งก็เป็นจุดสังเกตที่สำคัญ กล่าวคือ พระเจ้าจักรพรรดิ จัดสรรการดูแลรักษาคุ้มครองที่เป็นธรรมแก่ประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ (ทรงจำแนกไว้ ๘ ประเภท คือ อันโตชน ขัตติยะ อนุยนต์ พลกาย พราหมณ์คหบดี ชาวนิคมชนบท สมณพราหมณ์ มิคปักษี) ยังจักรให้หมุนไปโดยธรรม ซึ่งคนสัตว์ที่มุ่งร้ายใดๆ ไม่อาจทำ ให้หมุนกลับได้ แต่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดสรรการดูแลรักษาคุ้มครองที่เป็น ธรรม ให้แก่กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม โดยให้รู้ว่ากายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อย่างไหนควรเสพ อย่างไหนไม่ควรเสพ ยัง ธรรมจักรให้หมุนไปโดยธรรม ซึ่งสมณะ พราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือใครก็ตามในโลก ไม่อาจทำให้หมุนกลับได้

แม้ในการบรรยายความเสื่อมของสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนที่ยืดยาวของจักกวัตติสูตรแรก ท่านก็แสดงภาวะเสื่อมโทรมนั้นโดยชี้ถึงการที่มนุษย์ไม่ดูแลรับผิดชอบทำหน้าที่ต่อกัน ขอให้ดูตัวอย่างสักตอน "ภิกษุทั้งหลาย จักมีสมัยที่มนุษย์เหล่านี้มีบุตรอายุ ๑๐ ปี เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕ ขวบ จักอาจมีสามี

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี คนทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ปฏิบัติชอบต่อมารดา ไม่ปฏิบัติชอบต่อบิดา ไม่ปฏิบัติชอบต่อสมณะ ไม่ปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ ไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล อีกทั้งเขาเหล่านั้นก็จักได้รับการยกย่องเชิดชู และได้รับ ๆ.. การสรรเสริญ เหมือนดั่งที่คนผู้ปฏิบัติชอบต่อมารดา ปฏิบัติชอบต่อบิดา ปฏิบัติชอบต่อสมณะ ปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ได้รับการยกย่อง เชิดชู และได้รับการสรรเสริญ ในบัดนี้

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เขาจักไม่มีจิตคิดเคารพยำเกรงว่า นี่แม่ นี่น้า นี่พ่อ นี่อา นี่ป้า นี่ภรรยา ของอาจารย์ หรือว่านี่ภรรยาของท่านที่เคารพทั้งหลาย สัตว์โลกจักถึงความสมสู่ปะปนกัน เหมือนดังแพะ ไก่ สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี สัตว์เหล่านั้นต่างก็รักผูกความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้าในกันและกัน มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี พี่ชายกับน้องหญิงก็ดี น้องหญิงกับพี่ชายก็ดี จักมีความแค้นเคืองพลุ่งขึ้นมา มีความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า เสมือนนายพรานเนื้อเห็นเนื้อเข้าแล้ว เกิดความอาฆาตพรุ่งขึ้น มีความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้า ฉะนั้น"
(ที.ปา.๑๑/๔๖)

อโศกมหาราช - อโศกธรรม

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก เกี่ยวกับศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกคือ นักปราชญ์เมืองฝรั่งและในอินเดียส่วนมาก อ่านหรือศึกษาศิลาจารึกนั้นแล้ว มักลงความเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราช แม้จะทรงเป็นพุทธมามกะที่มีศรัทธาแรงกล้าและเอาพระทัยใส่ในการดูแลรักษาพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง แต่ในเวลาที่ทรงเผยแผ่สั่งสอนธรรมในศิลาจารึกได้ทรงพยายามวางพระองค์เป็นกลางๆ ไม่ตรัสถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเลย แต่ทรงสอนธรรมที่เป็นหลักความประพฤติทั่วไปอันมีหรือเป็นที่ยอมรับในทุกๆ ศาสนา

ยกตัวอย่าง T.W. Rhys Davids กล่าวว่า (ในศิลาจารึกนั้น) “ไม่มีสักคำที่พูดถึงพระพุทธเจ้า หรือพุทธศาสนา ... อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท นิพพาน และหลักธรรมสําคัญข้ออื่นๆ ของพุทธศาสนา ไม่ปรากฏในศิลาจารึกเลย" แต่ถ้าพูดถึงจารึกที่กล่าวถึงพุทธศาสนาอย่างชัดเจน เช่น ศิลาจารึกแห่งไพรัต ว่า “โยมมีความเคารพและเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ มากเพียงใด...สิ่งใดก็ตามที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว สิ่งนั้นๆ ทั้งปวงล้วนเป็นสุภาษิต”

ท่านผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ก็บอกว่า นั่นเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนพระองค์กับพุทธศาสนา หนังสือ The Cambridge History of India (5 vols.,1922-37) เขียนว่า “เราไม่ได้ฟังพระเจ้าอโศกตรัสถึงธรรมที่ลึกซึ้งหรือหลักพื้นฐานของพุทธศาสนาเลย ไม่มีการกล่าวถึงอริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘ ปฏิจจสมุปบาท พระอัจฉริยคุณของพระพุทธเจ้า (อีกทั้ง) ไม่มีคำกล่าวถึงหรือแสดงหลักแห่งนิพพานเลย R.K. Mookerjee กล่าวไว้ในหนังสือ Asoka ว่า “ธรรมที่นําเสนออย่างนั้น ในธรรมโองการเหล่านี้ เป็นเพียงอีกชื่อหนึ่งสำหรับเรียกชีวิตที่ดีงาม มีศีลธรรม และตั้งอยู่บนฐานร่วมของทุกศาสนา...สามารถนําไปใช้ได้และรับได้ทั่วกันว่าเป็นสาระของทุกศาสนา...ดังนั้น พระเจ้าอโศก์จึงนับว่าได้ทรงวางฐานแห่งศาสนาสากล (universal religion) และน่าจะทรงเป็นบุคคลแรกที่ทำการนี้ในประวัติศาสตร์ คำที่ปราชญ์และท่านผู้รู้เหล่านี้ว่ามาก็น่าฟัง และดูคล้ายจะน่าเชื่อ แต่พอพิเคราะห์ให้ชัดลงไป กลายเป็นต้องแยกว่าในส่วนของข้อมูลด้านศิลาจารึกเอง ต้องชื่นชมท่าน และเราได้อาศัยท่านเหล่านี้มาก

แต่ในขั้นลงมติที่โยงมาสู่พระพุทธศาสนา ท่านเหล่านี้จับจุดจับหลักไม่ถูก ได้แต่มองดูหลักธรรมสำคัญๆ ที่ได้ยินได้พูดกันมาก พอไม่พบ ก็สรุปลงไปอย่างนั้น แต่ถ้าจับจุดได้ ทัศนะของท่านเหล่านี้ ที่ว่าจะเป็นพุทธต้องพูดถึงอริยสัจ สมาธิ นิพพาน เป็นต้นนั้น กลายเป็นทัศนะที่น่าขำขันไป อย่างไรก็ตาม ผู้เห็นว่าธรรมในศิลาจารึกเป็นหลักพุทธศาสนาก็มีไม่น้อย เช่น ผู้เขียนหัวข้อ “Inscriptions as historical source material. Ancient India.” ใน Encyclopedia Britannica ซึ่งได้กล่าวว่า “คำจารึกโองการของพระเจ้าอโศก เป็นประกาศและข้อกําหนดตามสารัตถะแห่งพุทธศาสนา” (ขณะที่อีกบางท่าน ซึ่งเขียนหัวข้ออื่นเกี่ยวกับพระเจ้าอโศก ใน Encycl. ชุดนั้น เห็นว่าจารึกอโศกเป็นคำสอนกลางๆ) ท่านอื่นที่มั่นใจว่า ธรรมในศิลาจารึกเป็นหลักในพระพุทธศาสนาก็เช่น D. R. Bhandarkar และ H. C. Ray Chaudhuri โดยทีสองท่านนี้ ถือว่าเป็นไปตามอุดมคติแห่งจักกวัตติธรรมราชา รวมทั้ง B. M. Barua “ธรรมของพระเจ้าอโศกสอดคล้องกับหลักพุทธปฏิบัติทั้งหมดทั้งสิ้น ที่เขียนไว้ในหนังสือ Asoka and His Inscriptions, Part I, p. 225 ว่าทีนี้ก็มาดูว่า จุดและหลักที่ต้องจับและแยกแยะให้ได้ เพื่อเข้าใจธรรมในศิลาจารึกนั้น คืออะไร?

เริ่มแรก ควรมองภาพทั่วไปก่อนว่า
๑) พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นพุทธศาสนิก แต่ทรงดำรงสถานะเป็นราชา คือเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง และเป็นราชาที่ยิ่งใหญ่มากด้วย
๒) ทรงมีข้อพิเศษเฉพาะพระองค์ คือ ทรงหันมาทรงธรรมโดยมีความสลดพระทัยจากการทำสงคราม เป็นจุดเปลี่ยนอย่างแรง
๓) การใช้ธรรมในระดับกว้างใหญ่นี้ จะต้องมองที่หลักการทั่วไป ซึ่งจะให้เห็นบรรยากาศทั้งหมด ไม่มัวมองหัวข้อย่อยหรือรายละเอียด

จากข้อ ๑) ในฐานะมหาราชผู้เป็นชาวพุทธ ผู้มีสถานะสูงสุดในฝ่ายบ้านเมือง หรือในสังคมของชาวโลก เมื่อปกครองมหาอาณาจักรจะใช้หลักการปกครองอย่างไรจึงจะสมกับความเป็นชาวพุทธ หรือพระพุทธศาสนาวางหลักการอะไรไว้ให้โดยเฉพาะประสานกับข้อ ๒) ที่ทรงละเลิกสงครามแล้ว จะดำรงความเป็นมหาราชไว้ให้เหมาะสมและเป็นคุณแก่การปกครองนั้นได้อย่างไร ถึงตอนนี้ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นคติใหญ่ ก็มาได้ทันที เริ่มด้วยพุทธพจน์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ นี้ เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่เทวะและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคล ๒ เป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระราชา จักรพรรดิ ๑” (องฺ.ทุก.๒๐/๒๙๗) นี่คือได้บุคคลที่มีสถานะสูงสุดในโลก เทียบคู่กับองค์พระศาสดาโดยมาเป็นผู้สนองธรรมฝ่ายคฤหัสถ์ หรือฝ่ายบ้านเมือง เรียกง่ายๆ ว่าคติจักกวัตติราชา จักรวรรดิราชา หรือคติพระเจ้าจักรพรรดิราช พอจับจุดได้แล้ว หลักคำสอนในคตินี้ก็ตามมา ซึ่งหาได้มากมายเฉพาะอย่างยิ่งหลักการที่เป็นความหมาย หรือเป็นคําจํากัดความของการเป็นจักรวรรดิราชานั้น ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎกมากมายหลายแห่งคือเป็นธรรมราชา ผู้มีชัยชนะด้วยธรรม (ธมฺเมฆ อภิวิชัย → ธรรมวิชัย) โดยไม่ต้องใช้ศาสตรา

ยกบาลีมาดูเป็นตัวอย่าง
“มา ภิกฺขเว ปุญญาน ภาษิต สุขเสต์ ภิกฺขเว อธิวจน... ยาท ปุญญาน ...ราชา อโหสี จากวาติ ธมมโก ธมฺมราชา จาตุรนโต วิชิตา ชนบทตถาวริยปปตโต สตรอนสมนาคโต ... โส อิมปฐวี สาครปริยนต์ อุเทน อสเป็น ธมฺเมน อภิวิชัย” “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อของความสุข...เราได้เป็นจักรพรรดิราช ผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชาครองแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ผู้มีชัยชนะ มีถิ่นแคว้นถึงความมั่นคงสถาพร พร้อมด้วยรัตนะ ๗ ประการ เรามีชัยโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตราครอบครองปฐพีมณฑล อันมีสาครเป็นขอบเขตฯ” (อง.สตฺตก. ๒๓/๕๙/๙๐)

พุทธพจน์ที่มีข้อความอย่างนี้ คือที่มาแห่งหลักการหรือนโยบายการปกครองอย่างใหม่ ที่เรียกว่า “ธรรมวิชัย” ของพระเจ้าอโศกมหาราช ข้อความสำคัญที่ว่าเป็นดังคำจำกัดความของ “ธรรมวิชัย” คือตอนที่ว่า “มีชัยโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา” อย่างที่กล่าวแล้ว พุทธพจน์ส่วนนี้ตรัสในโอกาสต่างๆ เป็นอันมาก แต่ที่ยกมาให้ดูข้างบนนี้ ตรัสโยงกับเรื่องบุญ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในศิลาจารึกอโศกนั้นด้วย

วันศุกร์

ศิลาจารึกอโศก เป็นของพระเจ้าอโศกมหาราชแน่หรือ

โยม: ขอนมัสการเรียนถามหลวงพ่อ คือวัตถุประสงค์ที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างศิลาจารึก นอกจากแสดงพระราชอำนาจแล้วยังเป็นการสอนประชาชนทั่วไปให้เข้าใจถึงว่า ทรัพย์และอำนาจหรือยศนั้นเป็นสิ่งที่อนิจจังแล้ว มีหลักฐานอีกไหมที่แสดงว่า อันนี้เป็นศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช นอกจากคำที่จารึกไว้ เช่น อาจจะเป็นรูปธรรมจักร พระเจ้าอโศกเป็นวงศ์โมริยะ ซึ่งแปลว่านกยูง มีอะไรเป็นหลักฐานไหมที่ว่า ศิลาจารึกพระเจ้าอโศกสร้างไว้

พระธรรมปิฎก: เจริญพร ศิลาจารึกพระเจ้าอโศกนี้มีข้อความเขียนไว้สั่งสอนแนะนำ แสดงนโยบายของพระเจ้าอโศกแก่ประชาชน เช่น ขอให้คนที่เป็นเจ้าหน้าที่ คล้ายๆ กำนันอะไรพวกนี้ นำเอาข้อความต่อไปนี้ไปบอกแก่ประชาชนของตนๆ แสดงว่าพระองค์ใช้ศิลาจารึกเป็นเครื่องมือในการสั่งสอนและบริหารราชการแผ่นดิน เพราะในสมัยนั้นไม่มีการใช้กระดาษแบบทุกวันนี้ ก็เลยใช้ศิลา ให้เจ้าหน้าที่เขียนไว้ตามที่ต่างๆ เช่น โขดหิน เขา ภูผา เป็นต้น แล้วก็ให้มาอ่านไปบอกกัน เรื่องนี้ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนสมัยนั้นมีการศึกษา ใน Encyclopedia Britannica เคยบอกว่า อินเดียในสมัยพระเจ้าอโศกนี้ ประชาชนรู้หนังสือมากกว่ายุคปัจจุบัน จะจริงหรือไม่จริง แต่ฝรั่งเขาว่าไว้อย่างนั้น แสดงว่าในสมัยนั้นมีการศึกษาดี และวัดก็เป็นศูนย์กลางการศึกษาอยู่แล้ว และที่คุณหมอถามอีกอย่างหนึ่งคือ มีเครื่องหมายอะไรที่แสดงว่าพระเจ้าอโศกสร้างไว้ ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกนี้ มีคำขึ้นต้นบอกไว้ชัดทุกครั้งไป “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ตรัสไว้ว่า” หรือทำนองนี้ และข้อความที่เล่าไว้ในจารึกหลายแห่งก็บอกเหตุการณ์ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์มั่นใจว่าเป็นพระเจ้าอโศก เช่น เล่าถึงการสงครามกับแคว้นกลิงคะ

นอกจากข้อความในศิลาจารึกทั่วไปอย่างนี้แล้ว ก็ยังมีศิลาจารึกบางแห่งที่ทำเป็นหลักหรือเป็นเสาไว้ประกาศ เช่น ที่สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ก็จะบอกว่า ณ สถานที่นี้ (คือลุมพินีวัน) พระพุทธศากยมุนีได้ประสูติ เป็นต้น และบนยอดเสาก็มีเครื่องหมายของพระองค์ เช่นหัวสิงห์ และที่เป็นรูปธรรมจักรก็มี ยอดเสาที่สมบูรณ์จริงๆ เราจะไปเห็นในพิพิธภัณฑ์ข้างหน้า และจะได้เห็นศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกเป็นตัวอย่างด้วย อย่างไรก็ตาม ศิลาจารึกเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไป ก็ถูกทำลายบ้าง ถูกภัยธรรมชาติบ้าง ได้หักโค่น แตกกร่อน กระจัดกระจายไป คนยุคหลังๆ ก็เอามาจัดตั้งอย่างที่เราเห็นกัน เพื่อแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างของอดีต และยังจะได้ดูกันต่อไปอีก การพิสูจน์ว่า รู้ได้อย่างไรว่าศิลาจารึกนี้เป็นของพระเจ้าอโศกมหาราช คือพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้นั้น ที่จริงเป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์ โบราณคดี ที่เขาได้ศึกษาและวินิจฉัยกันไว้ ซึ่งเราคงต้องไปฟังไปอ่านเรื่องที่เขารวบรวมเขียนไว้ แต่ถ้าจะพูดรวบรัดเฉพาะหน้า ว่าตามที่อาตมภาพนึกเห็นได้ มีจุดสำคัญหนึ่ง ที่ศิลาจารึกมาบรรจบกับหลักฐานในคัมภีร์ ซึ่งทำให้เห็นว่า องค์ “เทวานัมปิยะ ปิยทัสสี ราชา” หรือ “เทวานามปริยะ ปริทรรศราชา” ในศิลาจารึกนั้น เป็นองค์เดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราชในคัมภีร์ ขอยกข้อความตอนหนึ่งในศิลาจารึกมาให้ดูกัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่มหาอำมาตย์ทั้งหลาย ณ พระนครปาฏลีบุตร และ ณ นครอื่นๆ ว่า สงฆ์ (อันข้าฯ) ได้ทำให้สามัคคีเป็นอันเดียวกันแล้ว (“สํเฆ สมเค กเฎ”) บุคคลใดๆ จะเป็นภิกษุ หรือภิกษุณีก็ตาม ไม่อาจทําลายสงฆ์ได้ ก็แล หากบุคคลผู้ใด จะเป็นภิกษุ หรือภิกษุณีก็ตาม จักทำสงฆ์ให้แตกกัน บุคคลผู้นั้นจักต้องถูกบังคับให้นุ่งห่มผ้าขาว และไปอาศัยอยู่ ณ สถานที่อื่น (นอกวัด) พึงแจ้งสาสน์พระบรมราชโองการนี้ให้ทราบทั่วกัน ทั้งในภิกษุสงฆ์ และในภิกษุณีสงฆ์ ด้วยประการฉะนี้ พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้ ก็ประกาศพระบรมราชโองการเช่นนี้ ท่านทั้งหลายพึงนำไปติดไว้ ณ ทางสัญจรภายในเขตใกล้เคียงของท่านทั้งหลายฉบับหนึ่ง และจงเก็บรักษาประกาศพระบรมราชโองการอันเดียวกันนี้แล ไว้ในเขตใกล้เคียงของอุบาสกทั้งหลายอีกฉบับหนึ่ง ทุกๆ วันอุโบสถ บรรดาอุบาสกเหล่านั้น จึงทำตนให้มีความรู้ความเข้าใจแนบแน่นในประกาศพระบรมราชโองการนี้และทุกๆ วันอุโบสถ มหาอำมาตย์ทุกๆ คนจึงไปร่วมในการรักษาอุโบสถด้วยเป็นประจำ เพื่อจักได้เกิดความคุ้นเคยแนบสนิท และรู้เข้าใจทั่วถึง ซึ่งประกาศพระบรมราชโองการนั้นแลทั่วทุกหนทุกแห่งที่อำนาจบริหารราชการของท่านทั้งหลายแผ่ไปถึง ท่านทั้งหลายจึงขับไล่ (บุคคลผู้ทำลายสงฆ์) ออกไปเสีย และในทำนองเดียวกันนั้น ท่านทั้งหลายจึงขับไล่ (บุคคลที่ทำลายสงฆ์) ในเมืองด่าน และในท้องถิ่นทั้งหลายออกไปเสียโดยให้เป็นไปตามข้อความในประกาศนี้

ธรรมโองการนี้ ในศิลาจารึกเองก็บอกไว้ว่าได้โปรดให้ติดประกาศทั่วไปทุกหนแห่ง แต่เฉพาะที่นักโบราณคดีขุดค้นพบแล้ว ๓ แห่ง (จารึกหลักศิลา ฉบับย่อยที่ ๑-๒-๓) มีข้อความยาวสั้นกว่ากันบ้าง แต่ทุกแห่งมีตอนสำคัญ คือ ย่อหน้า ๒-๓ ที่มีความเริ่มต้นว่า “สงฆ์ (อันข้าฯ) ได้ทำให้สามัคคี” 

สามแห่งที่พบจารึกนี้ คือ ที่สารนาถ ที่โกสัมพี และที่สาญจี การที่ในจารึกต่างแห่งบอกเหมือนกันว่า “ข้าฯ ได้ทำให้สงฆ์สามัคคีกันแล้ว” แสดงว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ของส่วนรวมทั่วทั้งแว่นแคว้น ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของที่นั้นๆ (สารนาถ วัดระยะทางผ่านโกสัมพี ไปถึงสาญจี = ๖๐๐ กิโลเมตร) และข้อความตอนท้ายๆ ของจารึกเอง ก็บอกให้มหาอำมาตย์ดำเนินการรักษาสามัคคีนี้ทั่วทุกหนแห่ง การทําให้สงฆ์สามัคคี ก็แสดงว่าได้มีการแตกแยก และได้แก้ปัญหาความแตกแยกนั้นเสร็จแล้ว นี่ก็คือการสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่เมืองปาฏลีบุตร ที่พระเจ้าอโศกทรงอุปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕ ซึ่ง คัมภีร์สมันตปาสาทิกาได้เล่าไว้ และบอกด้วยว่าพระที่ก่อปัญหา (ท่านว่าปลอมบวชเข้ามา) ได้ถูกบังคับให้นุ่งผ้าขาวให้สึกออกไปดังความตอนหนึ่งในสมันตปาสาทิกานั้น (วินย.อ.๖๐) ว่า

ในวันที่ ๗ พระราชา (อโศก) โปรดให้ประชุมภิกษุสงฆ์ที่อโศการาม ... ทรงทราบว่า พวกนี้มิใช่ภิกษุ พวกนี้เป็นอัญเดียรถีย์ พระราชทานผ้าขาวแก่บุคคลเหล่านั้นให้สึกเสีย ... ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า “พระคุณเจ้าเจริญ บัดนี้ พระศาสนาบริสุทธิ์แล้ว ขอภิกษุสงฆ์จงทำอุโบสถเถิด” พระราชทานอารักขาแล้ว เสด็จคืนสู่พระนคร สงฆ์ซึ่งสามัคคีกันแล้ว ได้กระทำอุโบสถ

ตามศิลาจารึกแสดงว่า แม้สงฆ์จะสามัคคีกันได้แล้ว มาตรการที่จะรักษาความสามัคคีนั้นให้หนักแน่นมั่นคง พร้อมทั้งป้องกันปัญหาอันอาจจะมีขึ้นอีก ก็ยังดำเนินต่อไป โดยให้มหาอำมาตย์ดูแลรับผิดชอบตามความในจารึกนั้น

วันพฤหัสบดี

ทรัพย์และอำนาจ สู่ความหมายและคุณค่าใหม่

ในที่นี้มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ คติเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อทรัพย์สินเงินทอง ดังต่อไปนี้

ตามปกติพระเจ้าอโศกนี้ ก็เช่นเดียวกับกษัตริย์สมัยโบราณจำนวนมาก ที่มุ่งจะแสวงหาความยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเอง และต้องการบำรุงบำเรอความสุขส่วนตน อย่างที่เรียกว่าแสวงหาโภคะและอำนาจหรือแสวงหาทรัพย์และอำนาจ เพื่อบำรุงบำเรอตัวเอง และเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของตน ทรัพย์และอำนาจ โดยทั่วไปมักจะมีความหมายอย่างนี้ ทีนี้ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ทางธรรมสอนว่า ทรัพย์สินเงินทองและความยิ่งใหญ่ ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่มีสาระที่แท้จริง ไม่ควรจะเอาชีวิตไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรหวังความสุข หรือความประเสริฐจากทรัพย์สินเงินทองและอำนาจ ฉะนั้น ทรัพย์สินเงินทองก็ไม่มีความหมายที่แท้จริง เมื่อทรัพย์สินเงินทองไม่มีความหมายแล้ว มองในแง่หนึ่ง ก็จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เพราะว่าเมื่อมองเห็นทรัพย์สินเงินทองเป็นเพียงของนอกกาย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอนิจจัง ไม่มีคุณค่าที่แท้จริง ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ไม่ควรเอาใจใส่ นี่คือท่าทีอย่างหนึ่งต่อทรัพย์สมบัติ

ถ้าพระเจ้าอโศกทรงมองเห็นอย่างนั้น พระองค์ก็คงจะไม่เอาพระทัยใส่กับพระราชทรัพย์และอำนาจต่อไป ซึ่งก็จะต้องตั้งคำถามว่า จะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่ ปรากฏว่าพระเจ้าอโศกได้ทำสิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นแบบอย่างแก่ชาวพุทธที่สำคัญคือ พระเจ้าอโศกนั้นไม่ได้ทรงทิ้งทรัพย์และอำนาจ แต่ได้ทรงเปลี่ยนความหมายของทรัพย์และอำนาจเสียใหม่ อย่างที่ได้กล่าวไว้เมื่อกว่า ทรัพย์และอำนาจนั้น มีความหมายสำหรับปุถุชนจำนวนมาก คือเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขของตนและแสดงความยิ่งใหญ่ แต่พระเจ้าอโศกได้ทรงเปลี่ยนความหมายของทรัพย์และอำนาจใหม่เป็นว่า ทรัพย์และอำนาจนั้น สามารถใช้เป็นเครื่องมือของธรรมได้ คือใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ ทำความดีงาม และประโยชน์สุข ด้วยความคิดเช่นนี้ พระเจ้าอโศกก็ทรงนำเอาทรัพย์และอำนาจที่พระองค์เคยมีนั่นแหละมาใช้ แต่เปลี่ยนใหม่ คือแทนที่จะเอามาบำรุงบำเรอตนเอง ก็เอามาใช้สร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุขอย่างที่ว่า จึงได้ทรงสร้างโรงพยาบาลคน โรงพยาบาลสัตว์ ทั่วพระราชอาณาจักร สร้างถนนหนทางเชื่อมต่อให้กว้างขวางทั่วถึง ปลูกต้นไม้ ขุดบ่อน้ำ สร้างที่พักคนเดินทาง และสร้างอ่างเก็บน้ำ ให้การศึกษาแก่ประชาชน ทําศิลาจารึกประกาศธรรม แถลงเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐให้แก่ประชาชนในทางธรรม ที่จะให้ผู้บริหารปกครองท้องถิ่นนำไปสั่งสอนประชาชนตลอดจนอุปถัมภ์พระศาสนาอย่างมากมาย

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบว่า พระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามีทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็ได้ทรงสร้างวัดขึ้นทั้งหมด เรียกว่า “มหาวิหาร” จำนวน ๘๔,๐๐๐ วัด ทั่วมหาอาณาจักรของพระองค์ คือแคว้นมคธนี่แหละ แคว้นมคธเป็นศูนย์กลางของมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศก คือบริเวณแถบนี้ที่เรากำลังเดินทางกันอยู่ ในแคว้นมคธนี้ มีวัดจำนวนมากมาย วัด ภาษาบาลีเรียกว่า วิหาร มหาวิหารก็คือ วัดใหญ่ คำว่า “วิหาร” นี้ ถ้าแผลง ว. เป็น พ. ก็จะเป็น พิหาร เหมือนอย่างใoประเทศไทยเรานิยมแปลง ว. เป็น พ. เยอะแยะไป ในอินเดีย ว. เป็น พ. ก็แผลงกันได้ วิหารก็กลายเป็นพิหาร แปลว่า “วัด” ต่อมา เมื่ออาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราชได้เสื่อมสลายลงไป ก็มีซากวัดวาอารามเหลืออยู่มากมาย เนื่องจากแคว้นมคธนี้เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยซากของวัด คือวิหาร หรือพิหาร ฉะนั้น ต่อมาก็เลยเรียกชื่อดินแดนแถบนี้ ตั้งชื่อเป็นแคว้นหรือรัฐว่า แคว้นพิหาร หรือรัฐวิหาร อย่างที่เรารู้จักกัน เป็นชื่อทางการในปัจจุบัน

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมีวัดมากมายเหลือเกิน ซึ่งพระเจ้าอโศกสร้างไว้ ยังมีซากเหลืออยู่ พระเจ้าอโศกสร้างวิหารทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ แห่ง ทั่วราชอาณาจักร และวัดเหล่านั้นก็ได้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา บางแห่งได้เจริญเติบโตจนเป็นมหาวิทยาลัย เช่นที่เรากำลังจะไป คือ นาลันทา ซึ่งเดิมก็เป็นวิหารหนึ่ง แล้วได้ขยายเป็นมหาวิหาร คือ วัดใหญ่ โดยเกิดจากการรวมกันของวัดเล็กวัดน้อยที่เป็นศูนย์การศึกษา แล้วพัฒนาขึ้นมาจนเป็น มหาวิทยาลัยนาลันทา ชื่อในภาษาบาลี เรียกว่า นาลันทามหาวิหาร ก็คือวัดใหญ่นั่นเอง ซึ่งเราจะได้เห็นความยิ่งใหญ่ของวัดที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยนาลันทาเมื่อเดินทางกันต่อไป

นี้คือความเป็นมาในอดีต ซึ่งเกี่ยวข้องกับเมืองที่เรียกว่าปาตลีบุตรพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงให้ความหมายใหม่แก่ทรัพย์และอำนาจ แล้วก็ทรงจารึกไว้ในศิลาจารึกของพระองค์ ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกแห่งหนึ่ง มีข้อความจารึกไว้ว่า ยศ คือความยิ่งใหญ่ของพระองค์นั้น จะไม่มีความหมายเลย ถ้าไม่เป็นไปเพื่อช่วยให้ประชาชนได้ประพฤติธรรม หมายความว่า พระเจ้าอโศกได้ทรงใช้ทรัพย์และอำนาจ เป็นเครื่องมือแห่งธรรม เพื่อเผยแพร่ธรรมหรือสร้างสรรค์ธรรม ทําให้ความดีงามหรือธรรมนี้แผ่ขยายไปในหมู่มนุษย์ เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขอันแท้จริง อันนี้เป็นคติที่สำคัญมาก ขอยกข้อความในศิลาจารึก คือ ธรรมโองการ ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๐ มาให้ดู ดังนี้

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงถือว่า ยศหรือเกียรติจะเป็นสิ่งมีประโยชน์มาก เว้นแต่จะทรงปรารถนายศหรือเกียรติเพื่อความมุ่งหมายนี้ว่า ทั้งในบัดนี้และเบื้องหน้า ขอประชาชนทั้งหลายจงตั้งใจสดับฟังคําสอนธรรมของข้าฯ และจงปฏิบัติตามหลักความประพฤติทางธรรม”

คำว่า “ยศ” ในภาษาบาลีนั้น แปลง่ายๆ ว่า ความยิ่งใหญ่ มี ๓ อย่าง คือ
๑. เกียรติยศ ยศ คือเกียรติ ได้แก่ความมีชื่อเสียง มีเกียรติคุณ
๒. อิสสริยยศ ยศ คือ ความเป็นใหญ่
๓. บริวารยศ ยศ คือ บริวาร
คนที่มีความคิดดีๆ มีเจตนาดี มีสติปัญญาดี แต่ถ้าไม่มีทรัพย์ ไม่มีอำนาจ ไม่มียศ ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์ความดีงามหรือประโยชน์สุขได้มาก เราคิดขึ้นมาว่าจะทำการที่ดีเป็นประโยชน์สักอย่าง แต่ไม่มีเงิน ไม่มีบริวาร ไม่มีอำนาจ จะทำได้แค่ไหน ทำได้นิดเดียวก็จบ แต่ถ้ามีทรัพย์ มีอำนาจ มีบริวาร มีความคิดดี มีสติปัญญาดี ก็สามารถออกผลกระจายขยายออกไปได้กว้างขวาง เหมือนดังพระเจ้าอโศกมหาราช

เรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ จึงเป็นคติเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ให้หลักแก่เราในด้านการปฏิบัติต่อทรัพย์และอำนาจอย่างที่กล่าวมานี้ ชาวพุทธมีคติว่า เมื่อเราได้เรียนรู้ธรรมแล้วว่า ทรัพย์สินเงินทองและอำนาจนี้ เป็นของนอกกาย จึงไม่ควรยึดถือเป็นจุดหมายของชีวิต ข้อนี้หมายความว่า เราไม่ได้เห็นความหมายของทรัพย์และอำนาจในแง่ที่เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัว หรือเป็นประโยชน์ส่วนตนและไม่ยึดติดตกเป็นทาสของมัน ให้เกิดก่อทุกข์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น แต่เรามองอย่างพระเจ้าอโศก คือ คิดที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือของธรรมไม่ใช่หมายความว่า ทรัพย์และอำนาจเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็เลยไม่เอาใจใส่ ไม่บริหาร ไม่ใช่อย่างนั้น เราต้องรู้จักเอามันมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามและประโยชน์สุข อันนี้ถือว่าเป็นวิธีปฏิบัติอย่างถูกต้องของชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์ แต่ถ้าไม่อยากเกี่ยวข้องกับทรัพย์และอำนาจ ก็ออกบวชไปเลยจะได้ไปทําหน้าที่ทางธรรมอีกแบบหนึ่ง คือ นาธรรมที่เป็นตัวนามธรรม ได้แก่สติปัญญา ไปแจกจ่ายแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปดำเนินชีวิตให้ถูกต้องเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมของเขา

ฉะนั้น จึงมีคติ ๒ อย่าง คือ
• ถ้าอยู่เป็นคฤหัสถ์ ก็ให้ใช้ทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องมือของธรรม ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างสรรค์ความดีงาม หรือ
ถ้าอยู่เป็นภิกษุ เบื่อหน่ายไม่อยากเกี่ยวข้องกับทรัพย์และอำนาจ ก็ออกบวชไปเผยแพร่ธรรมให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

ถ้ามิฉะนั้น จะกลายเป็นคนครึ่งๆ กลางๆ มีทรัพย์มีอำนาจแล้วบอกว่าเบื่อหน่าย ไม่เอาเรื่องเอาราว จะทำอย่างไรก็ไม่ทำ ไม่รับผิดชอบทรัพย์และอำนาจนั้นเมื่อไม่ได้รับการบริหาร ไม่มีคนรับผิดชอบ หายหมด ไม่เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและสังคม และชีวิตของคนผู้นั้นเองก็ไม่ได้เจริญงอกงามอะไรขึ้นมา เรื่องพระเจ้าอโศก อย่างน้อยก็ให้คติแก่เราอย่างนี้ นอกจากนั้น ยังมีคติที่สำคัญอันเนื่องมาจากสถานที่นี้เอง

วัดอโศการาม ซึ่งเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เรื่องของการทําสังคายนานั้น คือ
• สังคายนาอะไร ทางพระท่านเรียกว่า สังคายนาพระธรรมวินัย
• ธรรมวินัย คืออะไร ก็คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
• สังคายนาเพื่ออะไร ก็เพื่อให้คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้คงอยู่เป็นหมวดเป็นหมู่ เป็นหลักเป็นฐาน คนรุ่นหลังจะได้รู้ว่าหลักคำสั่งสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าคืออะไร และจะได้ประพฤติปฏิบัติถูกต้อง เมื่อหลักธรรมวินัยเรียบร้อย บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว พระศาสนาก็จะเจริญมั่นคงและแพร่หลายต่อไป

มีข้อน่าสังเกตว่า วัตถุประสงค์ของการสังคายนานั้น ท่านแสดงไว้ว่า พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมปาย แปลว่า เพื่อประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมาก เพื่อเกื้อกูลแก่ชาวโลก หมายความว่า ที่ทำสังคายนาอะไรต่างๆ เหล่านี้ และทำให้พระศาสนาเจริญมั่นคงนั้น วัตถุประสงค์ไม่ได้อยู่ที่ตัวพระศาสนาเอง พระศาสนาไม่ได้อยู่เพื่อตัวเอง พระศาสนานั้นมีอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมากและชาวโลก อันนี้เป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา เป็นอันว่า ในการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน การที่เราทำนุบำรุงพระพุทธศาสนานี้ ก็เพื่อให้พระพุทธศาสนาอยู่ยั่งยืน จะได้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนจำนวนมาก และแก่ชาวโลก สืบต่อไปตลอดกาลนาน คติอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ตัวธรรมวินัยเอง ซึ่งประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ธรรม และ วินัย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป ในตอนเริ่มต้นนี้ อาตมาแนะนำเกริ่นไว้ก่อน พอเป็นเครื่องเชื่อมเรื่องราวของสถานที่นี้กับความเป็นไปในพระพุทธศาสนา อย่างน้อยก็อยากให้โยมได้ภาพรวมของดินแดนพระพุทธศาสนาแห่งนี้ ก็เข้าใจว่าคงจะพอเห็นกันลางๆ แล้ว



มคธผ่านสู่ยุคอโศก

เมืองปาตลีบุตรได้เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธก่อนพระเจ้าอโศกตั้ง นาน คือหลังพุทธกาลไม่นาน แล้วก็เป็นสืบมา พระเจ้าอโศกนี้มิใช่อยู่ใน วงศ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู หรือพระเจ้าพิมพิสาร แม้จะอยู่แคว้นมคธ และครองแคว้นมคธก็จริง แต่เป็นกษัตริย์วงศ์อื่น

เรื่องมีว่า กษัตริย์วงศ์พระเจ้าพิมพิสารที่ครองแคว้นมคธนั้น ลูกฆ่าพ่อตลอด พระเจ้าอชาตศัตรูฆ่าพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรู ชื่ออุทัยภัทร ก็ฆ่าพระบิดาอีก ต่อมาโอรสของพระเจ้าอุทัยภัทรก็ฆ่าพระบิดาอีก ฆ่ากันมาหลายชั่วกษัตริย์ จนพวกอำมาตย์และราษฎรทนไม่ไหวก็เลยยืดอานาจ แล้วตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้น ราชวงศ์ใหม่ก็ปกครองกันมาขยายอำนาจกว้างขวางขึ้น ต่อมาในอินเดีย แคว้นต่างๆ ก็ค่อยๆ หมดอำนาจ จนเหลือแต่แคว้นมคธที่ยังยิ่งใหญ่ ระหว่างที่กษัตริย์ยุคหลังๆ ครองราชย์กันต่อมา ก็มีกษัตริย์วงศ์หนึ่ง ชื่อว่า วงศ์โมริยะ ซึ่งเป็นเจ้าเผ่าหนึ่ง ได้เรืองอำนาจขึ้น ในสมัยหลังพุทธกาลประมาณ ๑๐๐ กว่าปี เจ้าเผ่าโมริยะนี้ ว่ากันว่าเป็นสายพระญาติของพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจจะเป็นได้ว่า ได้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าศากยะที่ถูกล้างเผ่า ถ้าพูดอย่างนี้อาจจะงง แต่เรื่องราวก็มีอยู่ ซึ่งต้องโยงเรื่องไปหาสมัยพุทธกาลว่า วงศ์ของพระพุทธเจ้าคือ วงศ์ศากยะ ซึ่งตอนท้ายได้ถูกกษัตริย์แคว้นโกศลยกทัพไปปราบทำลายหมด กษัตริย์แคว้นโกศลตอนนั้นชื่อว่า พระเจ้าวิฑูฑภะ เป็นโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล ตอนท้ายพุทธกาล พระเจ้าวิฑูฑภะยกทัพไปปราบแคว้นศากยะแล้วก็ทำลายแคว้นศากยะหมด กษัตริย์สายศากยะที่หลงเหลืออยู่ อาจหนีไปอยู่ตามเชิงเขาหิมาลัย ต่อมา ก็ได้ค่อยๆ รวบรวมพวกพ้องเผ่าพันธุ์จนมีกำลังมากขึ้น โมริยะนี้ก็เป็นศากยะสายหนึ่ง

จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. ๑๖๑ ก็ได้มีคนสำคัญในวงศ์โมริยะเกิดขึ้นชื่อว่าจันทรคุปต์ ซึ่งได้พยายามที่จะรวบรวมอำนาจและชิงแคว้นมคธ เวลานั้นแคว้นมคธใหญ่มาก โมริยะเป็นเพียงชนเผ่าหนึ่งเท่านั้น พวกโมริยะ โดยจันทรคุปต์เป็นหัวหน้าได้พยายามเข้ามายึดอำนาจ พอดีถึงยุคที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช มีอำนาจขึ้นมาทางกรีก ต้องการแผ่อำนาจไปทั่วโลก ก็ได้กรีฑาทัพตีมาตลอด จนถึงชายแดนประเทศอินเดีย และคิดว่าต้องตีประเทศอินเดียด้วย จึงได้พักกําลังพลอยู่ชายแดนประเทศอินเดียที่เมืองตักศิลา (บาลีสันสกฤต = ตกฺษศิลา; ฝรั่งเขียนตามกรีก = Taxila) แคว้นมคธ แต่ก็ยังทำการไม่สำเร็จ

ตักศิลา เป็นชื่อเมืองอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน เป็นมหาวิทยาลัยและเป็นศูนย์กลางของศิลปวิชาการ ในอดีตของอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาล

ที่ตักศิลานั้น อเล็กซานเดอร์มหาราชเตรียมวางแผนที่จะทำสงครามกับชมพูทวีป คือแคว้นมคธนี้ ซึ่งกำลังเป็นแคว้นมหาอำนาจอยู่ พอดีประจวบเวลาเดียวกันกับปู่ของพระเจ้าอโศก คือพระเจ้าจันทรคุปต์ ก็กำลังพยายามจะเข้ายึดอำนาจแคว้นมคธ จึงมีความคิดเกิดขึ้นว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายมารวมเป็นพันธมิตรกัน แล้วช่วยกันรบ ก็จะเอาชนะแคว้นมคธได้ ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็คิดว่า ถ้าได้คนอินเดียเองมาช่วย การรบก็จะมีกำลังทําให้สําเร็จง่ายขึ้น ฝ่ายจันทรคุปต์ก็เช่นเดียวกัน คิดว่าถ้าได้อาศัยฝ่ายอเล็กซานเดอร์มาช่วย ก็จะสามารถรบชนะได้ เพราะตนมีกำลังไม่พอ ทั้งสองฝ่ายมีความคิดร่วมกันอย่างนี้ ก็นัดพบกัน พอพบกัน ก็เกิดมีปัญหาว่าใครจะเคารพใครก่อน ทั้งสองฝ่ายต่างก็ถือตัวไม่ยอมเคารพก่อน ฝ่ายจันทรคุปต์ (พวกกรีกเรียกว่า Sandrocotus หรือ Sandracottos) เข้าไปในเขตอำนาจของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เพราะเข้าไปพบในค่ายของเขา เพราะเกี่ยงกันทำความเคารพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เลยสั่งจับเอาจันทรคุปต์เข้าคุกขังไว้ แต่มีเรื่องเล่าว่า ต่อมาจันทรคุปต์หนีออกไปได้ และมีนิยายอิงประวัติศาสตร์เล่าเรื่องที่จันทรคุปต์หนีออกมา

ส่วนทางฝ่ายพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เอง คิดไปคิดมาอย่างไรไม่ทราบ ก็ยกทัพกลับ แล้วก็ไปสวรรคตกลางทาง ดินแดนที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เคยยึดได้ พระองค์ก็ทิ้งแม่ทัพนายกองไว้ให้ปกครอง แม่ทัพนายกองเหล่านั้นต่อมาก็ยกตัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เกิดเป็นแคว้นต่างๆ หลายแคว้น แคว้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงสืบต่อกันมาซึ่งชาวพุทธรู้จักกันมาก ก็คือ แคว้นโยนก ของพระเจ้าเมนานเดอร์ (Menander บางทีเขียนเป็น Minedra บ้าง Menadra บ้าง) เรียกเป็นภาษาบาลีว่า พระเจ้ามิลินท์ ซึ่งหันมานับถือพุทธศาสนาในสมัยพุทธศักราชประมาณ ๕๐๐ ปี (แต่นักประวัติศาสตร์ฝรั่งว่าประมาณ พ.ศ. ๔๐๐) พระเจ้ามิลินท์เป็นกษัตริย์เชื้อชาติกรีก ในราชวงศ์ที่สืบมาจากแม่ทัพกรีก ที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทิ้งไว้ ครองราชย์ที่เมืองสาคละ นักประวัติศาสตร์ว่าเป็นราชาแห่งประเทศแบกเตรีย (king of Bactria) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอาฟกานิสถาน ในคัมภีร์บาลีเรียกว่าแคว้นโยนก และถือกันว่าเป็นกษัตริย์อินเดียเชื้อสายกรีกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (the greatest of the Indo-Greek kings Encycl. Britannica 1988, vol. 8, p.1) พญามิลินท์นี่ เป็นเรื่องสมัยหลังสืบมาอีกนาน คือยุคใกล้ พ.ศ. ๕๐๐ แต่เป็นเรื่องที่โยงถึงกัน ก็เลยเอามาพูดแทรกไว้หน่อย

ขอย้อนกลับไปเรื่องเมื่อกี้ สมัยก่อน พ.ศ. ๒๐๐ โน่น ที่เล่าค้างอยู่ กล่าวฝ่ายพระเจ้าจันทรคุปต์ เมื่อหนีออกมาจากเงื้อมมือของพระเจ้าอเลกซานเดอร์ได้แล้ว ก็ต้องมาหาวิธียึดอำนาจแคว้นมคธด้วยตนเองต่อไป และมีเรื่องมีราวมากมาย เช่น ครั้งหนึ่งเคยนึกว่าตัวเองมีกำลังมากพอแล้ว ก็ยกทัพเข้าตีแคว้นมคธ ปรากฏว่าพ่ายแพ้ จันทรคุปต์เองเอาชีวิตแทบไม่รอด แล้วก็หนีซอกซอนไปจนถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านแห่งนั้น พอดีผ่านมาทางบ้านที่ยายคนหนึ่งกำลังทำขนมเบื้องให้หลานกิน ทีนี้พอเอาลงจากเตา เรียกว่าทอดเสร็จใหม่ๆ ก็หยิบส่งให้หลาน หลานรับมากำลังร้อนๆ กัดกร่วมลงไปตรงกลางก็ร้องไห้จ้าเพราะมันร้อนจัด ลวกเอาลิ้นเอาปากเข้า เมื่อหลานร้องขึ้นมา ยายก็เลยด่าเอาว่า “เอ็งมันโง่เหมือนเจ้าจันทรคุปต์ ไปกัดไปกินได้ยังไงตรงกลางยังร้อนจัด มันต้องและเล็มกินจากขอบข้างนอกเข้ามาก่อน” ขอบมันบาง ก็เย็นเร็วกว่า

พระเจ้าจันทรคุปต์ กำลังหนีซอกซอนมาในชนบทถึงหมู่บ้านนั้นพอดี เมื่อได้ยินเสียงยายด่าหลานอย่างนี้ ก็ได้ความคิดขึ้นมาทันที จึงเปลี่ยนแผนการรบใหม่ว่า จะไปรบโดยตรงบุกทะลวงเข้าไปคงไม่ไหว กำลังเราน้อยกว่า ต้องใช้วิธีแบบกินขนมเบื้อง คือเล็มจากขอบเข้ามา จึงค่อยๆ ไปซ่องสุมกำลังใหม่ โดยทำสัมพันธไมตรีกับเผ่าเล็กเผ่าน้อย รวมไพร่พลได้มากขึ้นแล้ว จึงเข้ามาที่อาณาจักรมคธ ด้วยวิธีล้อมเข้ามาจากรอบนอกตามลำดับ ในที่สุด พระเจ้าจันทรคุปต์ก็รบชนะแคว้นมคธ แล้วก็เข้าครอบครองแผ่นดินมคธ ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ คือราชวงศ์โมริยะ ในภาษาบาลี ส่วนในภาษาสันสกฤตเรียก เมารยะ และครองเมืองปาตลีบุตรนี้สืบมา

โอรสของพระเจ้าจันทรคุปต์นั้นมีพระนามว่าพินทุสาร โอรสของพระเจ้าพินทุสารมีนามว่าอโศก ก็คือพระเจ้าอโศกมหาราชนี่แหละ พระเจ้าอโศกมหาราช แต่แรกก็เป็นกษัตริย์ที่ดุร้ายมาก คือตอนเป็นเจ้าชาย ได้ไปเป็นอุปราชที่เมืองอุชเชนีที่บอกชื่อเมื่อกี้ ครั้นพระราชบิดา คือพระเจ้าพินทุสารสวรรคต เจ้าชายอโศกก็ได้ฆ่าพี่น้องหมดประมาณ ๑๐๐ องค์ เหลือไว้เฉพาะพระอนุชาร่วมมารดาองค์เดียว ด้วยความกระหายอำนาจ ก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ยิ่งใหญ่ผู้เดียว พอขึ้นเป็นกษัตริย์ของแคว้นมคธได้แล้วไม่พอ ไม่หยุดอยู่แค่นั้น ก็แสวงอำนาจต่อไป เมื่อพร้อมแล้วก็ยกทัพไปรุกรานที่ประเทศอื่น โดยหวังจะเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อไปในประวัติศาสตร์ หรือผู้เดียวในชมพูทวีป พระเจ้าอโศกได้ยกทัพตีลงไปจนกระทั่งถึงแคว้นกลิงคะ ซึ่งเป็นแคว้นที่ได้ชื่อว่ามีนักรบที่เก่งกาจ มีกองทัพที่เข้มแข็ง มีความสามารถอย่างยิ่ง ได้รบกันอยู่เป็นเวลานาน เกิดความเสียหายมากมายด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในที่สุดพระเจ้าอโศกก็ชนะ แคว้นกลิงคะก็แตกไป แต่การรบครั้งนี้เป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงมาก คนตายกันเป็นแสน สูญหายเป็นแสน ถูกจับเป็นเชลยก็เป็นแสน ถึงตอนนี้นี่แหละที่พระเจ้าอโศกทรงสลดพระทัย แล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนา นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมาก ถึงขั้นเปลี่ยนประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

แผ่นจารึกธรรมและรัฐบัญญัติสมัยพระเจ้าอโศกที่เธาลีคีรี เมืองภุพเนศวร รัฐโอริสสา

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ จากการเอาชนะด้วยสงคราม มาสู่ธรรมวิชัยแปลว่าเอาชนะด้วยธรรม คือเอาชนะใจกันด้วยความดี ก็ได้สร้างสมความดีเป็นการใหญ่ มีการทํางานเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชนเป็นอันมาก