ธรรมวิชัย: หลักการใหญ่ที่นำเข้าสู่พุทธธรรม

ทีนี้ก็มาดูข้อความแสดงนโยบายธรรมวิชัยมหาราช ที่พระเจ้าอโศกทรงนำออกมาสู่ปฏิบัติการจริง ดังที่พระองค์ประกาศไว้ในจารึกศิลา ฉบับที่ ๑๓ ซึ่งคัดตัดมาพอเป็นตัวอย่าง

"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๘ พรรษา ทรงมีชัยปราบแคว้นกลิงคะลงได้ จากแคว้นกลิงคะนั้น ประชาชนจํานวนหนึ่งแสนห้าหมื่นคนได้ถูกจับไปเป็นเชลย จํานวนประมาณหนึ่งแสนคนถูกฆ่า และอีกหลายเท่าของจํานวนนั้นได้ล้มตายไป นับแต่กาลนั้นมาจนบัดนี้ อันเป็นเวลาที่แคว้นกลิงคะได้ถูกยึดครองแล้ว การทรงประพฤติปฏิบัติธรรม ความมีพระทัยใฝ่ธรรม และการทรงอบรมสั่งสอนธรรม ก็ได้เกิดมีขึ้นแล้วแก่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ การที่ได้ทรงปราบปรามแคว้นกลิงคะลงได้นั้น ทำให้พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ทรงมีความสํานึกสลดพระทัย ในคราวยึดครองแคว้นกลิงคะนี้ จะมีประชาชนที่ถูกฆ่าล้มตายลงและถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม แม้เพียงหนึ่งในร้อยส่วน หรือหนึ่งในพันส่วน (ของจำนวนที่กล่าวนั้น) พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพย่อมทรงสำนึกว่าเป็นกรรมอันร้ายแรงยิ่ง สำหรับพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ชัยชนะที่ทรงถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุด ได้แก่ ธรรมวิชัย (ชัยชนะโดยธรรม) และธรรมวิชัยนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ทรงกระทำสำเร็จแล้ว ทั้ง ณที่นี้ (ในพระราชอาณาเขตของพระองค์เอง) และในดินแดนข้างเคียงทั้งปวง ไกลออกไป ๖๐๐ โยชน์  ทุกหนทุกแห่ง (ประชาชนเหล่านี้) พากันประพฤติปฏิบัติตามคำสอนธรรมของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ด้วยเหตุเพียงนี้ ชัยชนะนี้เป็นอันได้กระทำสำเร็จแล้วในที่ทุกสถาน เป็นชัยชนะอันมีปีติเป็นรส พรั่งพร้อมด้วยความเอิบอิ่มใจ เป็นปีติที่ได้มาด้วยธรรมวิชัย ชัยชนะอันแท้จริงนั้น จะต้องเป็นธรรมวิชัยเท่านั้น ด้วยว่าธรรมวิชัยนั้นเป็นไปได้ทั้งในโลกบัดนี้ และโลกเบื้องหน้า ขอปวงความยินดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย จงเป็นความยินดีในความพากเพียรปฏิบัติธรรม เพราะว่าความยินดีนั้น ย่อมอำนวยผลทั้งในโลกบัดนี้ และในโลกเบื้องหน้า"

แม้ว่าธรรมวิชัยอย่างนี้จะเป็นหลักการและนโยบายใหม่ แต่คำว่า “ธรรมวิชัย” มิใช่เป็นคำใหม่ และมิใช่มีในพระไตรปิฎกเท่านั้น แต่มีในหลักรัฐศาสตร์โบราณของชมพูทวีปด้วย จึงควรเข้าใจความต่างให้ชัด
ในตำราอรรถศาสตร์ ของพราหมณ์จาณักยะ (เรียกว่า เกาฏิลยะบ้าง วิษณุคุปตะบ้าง) ผู้เป็นที่ปรึกษาและมหาเสนาบดีของพระเจ้าจันทรคุปต์ (พระอัยกาของพระเจ้าอโศกเอง, พ.ศ.๑๖๑) จัดแบ่งผู้ชนะสงคราม คือผู้พิชิตหรือผู้มีชัย เป็น ๓ ประเภท ดังนี้

๑. ธรรมวิชยี ผู้มีธรรมวิชัย คือ ผู้ชนะที่พอใจเพียงให้ผู้แพ้ยอมจงรักภักดี โดยไม่ข่มเหงทำร้ายราชวงศ์และราษฎรของฝ่ายที่แพ้
๒. โลภวิชยี ผู้มีโลภวิชัย คือ ผู้ชนะที่มุ่งแย่งชิงเอาดินแดนและทรัพย์สินของผู้แพ้
๓. อสุรวิชยี ผู้มีอสูรวิชัย คือ ผู้ชนะที่โหดร้าย ยึดเอาทุกอย่างทั้งทรัพย์สิน ดินแดน บุตรภรรยา และแม้แต่ชีวิตของผู้แพ้

จะเห็นชัดว่าธรรมวิชัยของพราหมณ์จากยะ ก็คือการชนะด้วยสงครามนั่นเอง เพียงแต่ปฏิบัติต่อผู้แพ้อย่างไม่โหดร้าย ดังนั้น ชัยชนะทั้ง ๓ อย่างนี้ ยังไม่เป็นธรรมวิชัยในพระพุทธศาสนาเลย พระเจ้าอโศกได้ละเลิกชัยชนะที่สอนกันมาแต่เดิมในประเพณีการปกครองของสังคมพราหมณ์ โดยหันมารับหลักการธรรมวิชัย อันเป็นชัยในทางสันติ ที่ชนะใจด้วยความดี ซึ่งไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตรา ตามคติจักกวัตดิราชาของพระพุทธศาสนา คติจักกวัตติราชานี้ แม้จะมาหลายแห่งในพระไตรปิฎก แต่มีพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องนี้โดยตรง คือจักกวัตติสูตร ซึ่งมีชื่อซ้ำกัน ๓ สูตร เฉพาะอย่างยิ่งที่ยาวที่สุด รู้จักกันมากที่สุด และใช้เป็นหลัก คือสูตรที่มาในทีฆนิกาย (ที.ปา.๑๑/๓๓-๕๐) อันเป็นที่มาของหลัก จักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ

ณ ที่นี้ จะไม่เข้าไปในเนื้อหาของพระสูตรนั้นโดยตรง แต่จะพูดให้โยมได้ข้อสังเกตทั่วๆ ไป อย่างกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด หลักธรรมวิชัยตามคติจักกวัตติราชานี้ เป็นตัวอย่างคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้สำหรับผู้นำของสังคมคฤหัสถ์ ที่พระองค์ไม่ได้ทรงจัดดำเนินการ ซึ่งเป็นส่วนที่ชาวบ้านจะต้องรับผิดชอบกันเอง อันต่างจากสังฆะที่พระองค์จัดตั้งบริหารตามหลักการแห่งธรรมวินัย

🔅อโศกธรรม หรือครัฐวินัย

หลักธรรมที่ตรัสสอนหรือแสดงสำหรับสังคมคฤหัสถ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์จักรพรรดิราช หัวหน้าหมู่ชน หรือหัวหน้าครอบครัวทั่วไป รวมทั้งพระโพธิสัตว์ มีระดับและลักษณะที่พึงสังเกต ดังนี้

ก) โดยทั่วไป กล่าวถึงประเภทของบุคคลที่พึงช่วยเหลือเกื้อกูล หรือปฏิบัติในการสัมพันธ์ต่อกันให้ถูกต้อง เช่น มารดาบิดา คนงาน ฯลฯ ไม่ค่อยกล่าวถึงหัวข้อธรรม หรือหลักที่เป็นนามธรรม
ข) หลักการทางธรรม วิธีปฏิบัติ และจุดหมายของการปฏิบัติ อยู่ในขอบเขตแห่งบุญ ทาน และการลุถึงสวรรค์ (รวมทั้งพรหมโลก)

ขอยกคำสอนระดับนี้มาให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น ครั้งหนึ่ง ตรัสแก่ พระเจ้าปเสนทิโกศล เกี่ยวกับการเป็นอยู่ครอบครองทรัพย์สมบัติของ คฤหบดีว่า "ดูกรมหาบพิตร ในถิ่นของอมนุษย์ มีสระโบกขรณี ซึ่งมีน้ำใสเย็นจืดสนิท สอาด มีท่าที่ขึ้นลงเรียบร้อย น่ารื่นรมย์ (แต่) น้ำนั้นคนจะตักเอาไปก็ไม่ได้ จะดื่มก็ไม่ได้ จะอาบก็ไม่ได้ หรือจะทําการใดตามต้องการก็ไม่ได้ มหาบพิตร เมื่อเป็น เช่นนี้ น้ำที่มิได้กินใช้โดยชอบนั้น พึงถึงความหมดสิ้นไปเปล่า โดยไม่ถึงการบริโภค แม้ฉันใด ดูกรมหาบพิตร อสัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ไม่ทำตนให้เป็นสุข ฯลฯ โภคะเหล่านั้นของเขา อันมิได้กินใช้โดยชอบ ย่อมถึงความหมดสิ้นไปเปล่า โดยไม่ถึงการบริโภค ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรมหาบพิตร ส่วนสัตบุรุษ ได้โภคะอันโอฬารแล้ว ย่อมทำตนให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม ย่อมทำมารดาบิดา บุตร ภรรยา...คนรับใช้กรรมกรและคนสนองงาน...มิตรสหาย เพื่อนร่วมกิจการ ให้เป็นสุข ให้เอิบอิ่ม ย่อมประดิษฐานไว้ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ซึ่งทักษิณาอันมีผลสูงขึ้นไป มีจุดที่คำนึงหมายอันดี มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์ โภคะเหล่านั้นของเขา ที่บริโภคอยู่โดยชอบอย่างนี้ ราชาทั้งหลายก็มิได้รับเอาไป โจรทั้งหลายก็มิได้ลักไป ไฟก็มิได้ไหม้หมดไป น้ำก็มิได้พัดพาไป อัปริยทายาททั้งหลายก็มิได้ขนเอาไป เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะเหล่านั้นของเขา ที่กินใช้อยู่ โดยชอบ ย่อมถึงการบริโภค ไม่ถึงความหมดสิ้นไปเปล่า ดูกรมหาบพิตร เหมือนดังว่า ในที่ไม่ไกลตามหรือนิคม มีสระโบกขรณี ซึ่งมีน้ำใส เย็น จืดสนิท สอาด มีท่าที่ขึ้นลงเรียบร้อย น่ารื่นรมย์ นั้นคนจะตักเอาไปก็ได้ จะดื่มก็ได้ จะอาบก็ได้ หรือจะทำการใดตามต้องการก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้น้ำที่กินใช้อยู่โดยชอบนั้น พึงถึงการบริโภค ไม่ถึงความหมดสิ้นไปเปล่า แม้ฉันใด สัตบุรุษได้โภคะอันโอฬารแล้ว ย่อมทำ ตนให้เป็นสุข ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกัน"


พระผู้มีพระภาคองค์พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตจบแล้ว ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า "น้ำมีในถิ่นที่ของอมนุษย์ คนย่อมอดน้ำนั้น อันจะดื่มมิได้ คนทรามได้ทรัพย์แล้ว ตนเองก็ไม่บริโภค ทั้งก็ไม่ให้ปันแก่ใคร ฉันใดก็ฉันนั้น ส่วนวิญญูชนมีปัญญาได้โภคะแล้ว ย่อมบริโภคและใช้ทำกิจการ เลี้ยงดูหมู่ญาติ เป็นคนอาจหาญ ใครก็ไม่ติเตียน ย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์ พระโพธิสัตว์ก็มีจริยาแห่งการประพฤติธรรมทำนองเดียวกันนี้"

"ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตในปริมชาติ ในปริมภพ ในถิ่นกำเนิดก่อน เมื่อเป็นมนุษย์ในบุพสมัย เป็นผู้มีสมาทานมั่นในกุศลธรรมทั้งหลาย ถือปฏิบัติไม่ถอยหลัง ในกายสุจริต ในวจีสุจริต ในมโนสุจริต ในการแจกจ่ายบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในการปฏิบัติชอบต่อมารดา ในการปฏิบัติชอบต่อบิดา ในการปฏิบัติชอบต่อสมณะ ในการปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ ในความเป็นผู้เคารพต่อผู้ใหญ่ในสกุล และในธรรมอันเป็นอธิกุศลอย่างอื่นๆ เพราะกรรมนั้น อันได้ทำ ได้สั่งสม ได้พอกพูน เป็นกรรมอันไพบูลย์ เบื้องหน้าแต่กายแตกทำลายตายไป ตถาคตก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์"
(ที.ปา.๑๑/๑๓๑)

ความเป็นคนดี ที่มีคำเรียกว่า “สัตบุรุษ” มีความหมายสัมพัน กับความดีงามและประโยชน์สุขของตระกูลวงศ์และชุมชนหรือหมู่ชน ดังพุทธพจน์ว่า

"ภิกษุทั้งหลาย คนดี (สัตบุรุษ) เกิดมาในหมู่ชน ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชน จำนวนมาก (คือ) ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่มารดาบิดา แก่บุตรภรรยา...แก่คนรับใช้ กรรมกรและคนสนองงานแก่มิตรสหายเพื่อนร่วมกิจการแก่สมณพราหมณ์ เปรียบเหมือนมหาเมฆ ช่วยให้ ข้าวกล้าเจริญงอกงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนจำนวนมาก"


อีกพระสูตรหนึ่ง (อง อาจก. ๒๓/๑๒๘) เนื้อความเหมือนกับพระสูตร ข้างบนนี้ แต่มีบุคคลที่จะได้รับประโยชน์เพิ่มเข้ามา ๓ พวก คือ “แก่ บรรพชนผู้ล่วงลับ...แก่พระราชา...แก่เทวดาทั้งหลาย... พระสูตรที่แสดงธรรมสำหรับสังคมคฤหัสถ์อย่างนี้ มีมากพอสม ควร แต่ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านี้คิดว่าเพียงพอแล้ว เพราะสาระ ทำนองเดียวกัน สาระนั้นก็คือ การอยู่ร่วมกันด้วยดี ในครอบครัว ในชุมชน ในสังคม โดยเอาใจใส่ดูแลคนอื่นที่ตนเกี่ยวข้อง ประพฤติปฏิบัติที่ทำหน้าที่ต่อกัน ทำประโยชน์แก่กัน ไม่หวงแหนทรัพย์สมบัติ แต่นำออกมาใช้ ประโยชน์ด้วยทาน คือเผื่อแผ่ให้ปัน ในการบำรุงเลี้ยงช่วยเหลือกันตามวิธีปฏิบัติข้างต้นนั้น นำชีวิตไปในทางแห่งสวรรค์ รวมทั้งข้อเน้นที่จะให้ผลดีเกิดขึ้นเป็นประโยชน์ทั้งในโลกนี้และ โลกหน้า ตามคติ อิธโลก-ปรโลก ซึ่งพบได้ทั่วในพระไตรปิฎก หลักธรรมสำหรับสังคมคฤหัสถ์ตามคำสอนในพระไตรปิฎกที่ว่ามานี้เอง คือแหล่งแห่งธรรมที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสอนในศิลาจารึกของพระองค์ ที่บางท่านเรียกว่าอโศกธรรม

พระสูตรใหญ่ที่เหมือนกับประมวลธรรมสำหรับชีวิตและสังคม คฤหัสถ์ไว้ ก็คือสิงคาลกสูตร (บางทีเรียกว่า สิคาโลวาทสูตร, ที.ปา.๑๑/ ๑๗๒) ที่ท่านให้ถือเป็นวินัยของคฤหัสถ์ (คิหิวินัย) แม้จะตรัสธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติไว้หลายด้าน แต่หลักใหญ่ที่เป็น เป้าหมายของพระสูตรนั้น ก็คือหลักทิศ ๖ ที่รู้จักกันดี อันแสดงธรรม หรือหน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกัน ระหว่าง
มารดาบิดา - บุตรธิดา
อาจารย์ - ศิษย์
สามี - ภรรยา
มิตร - มิตร
นายงาน - คนงาน
สมณพราหมณ์ - กุลบุตร (พระสงฆ์-ชาวบ้าน)

ในสิงคาลกสูตร นี้ ตลอดทั้งหมด ก็เช่นเดียวกับพระสูตรทั้งหลายที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างบนนั้น ไม่กล่าวถึงหลักธรรมสำคัญอย่าง อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท ฌาน นิพพาน ใดๆ ที่พวกนักปราชญ์ฝรั่งและ อินเดียหลายท่านนั้นคาดหวังเลย แม้แต่ศีล ๕ ก็ยังไม่ปรากฏชื่อออกมาในสิงคาลกสูตร นี่คือเรื่องธรรมดาที่พึงเข้าใจ ชื่อเรียกนั้นเป็นสื่อสำหรับลัดความเข้าใจ คนที่รู้เรื่องนั้นอยู่แล้ว พอออกชื่อมา เขาก็มองเห็นเนื้อหาทะลุตลอดหมด ไม่ต้องมาแจกแจงกันอีก ชื่อเรียกหลักธรรมต่างๆ จึงมีไว้ใช้ให้สะดวกสำหรับการสอนและ การศึกษายิ่งขึ้นไป จุดสำคัญอยู่ที่เอ่ยชื่อให้ตรงกับสภาวะที่จะสื่อ ไม่ใช่เรื่องสําหรับมายึดว่าเป็นของใครๆ ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนคฤหัสถ์หรือคนนอก ที่ชื่อเรียกจะไม่ช่วยในการสื่อแก่เขา พระองค์ก็ตรัสเนื้อหาของธรรมนั้นๆ ไป แม้จะต้องใช้เวลามากหน่อย การที่คนผู้มาอ่านทีหลังไม่พบชื่อของธรรมนั้นๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาอย่างที่ว่าแล้ว แม้แต่ในจักรวัตติสูตร ที่เป็นแหล่งหลักของธรรมวิชัยและคติจักกวัตติราชานี้เอง ในตอนเดินเรื่อง ถึงจะกล่าวเนื้อหาของศีล ๕ แต่ก็ไม่ออกชื่อ (กุศลกรรมบถ อกุศลกรรมบถ ก็เอ่ยเฉพาะตอนที่ตรัส แบบสรุปความแก่พระสงฆ์)

ในข้อปฏิบัติขององค์พระจักรพรรดิธรรมราชา ก็เน้นที่การคุ้มครองประชาราษฎร์ คือเน้นที่คน โดยจำแนกเป็นหมู่เหล่าต่างๆ ๘ พวก ถึงตรงนี้ก็เลยขอแทรกข้อควรทราบจากจักกวัตติสูตร ที่ว่าชื่อ กันอีกสูตรหนึ่ง (องตึก ๒๐/๔๕๓) ว่า พระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ มีคําเรียกพระนามที่ตรงกันว่าทรงเป็น “ธรรมราชา” ซึ่งมีความหมาย ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ ๒ ชั้น คือ เป็น “ราชาผู้ทรงธรรม และ “ผู้มีธรรมเป็นราชา" สำหรับความหมายแรกนั้นชัดอยู่แล้ว แต่ความหมายที่ ๒ พระ พุทธเจ้าทรงอธิบายว่า

“ธรรม” เป็นราชาของพระองค์ และของพระเจ้าจักรพรรดิ คือ พระพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงเคารพธรรม ยึดธรรมเป็นหลักนำ ถือธรรมเป็นใหญ่ เป็นธรรมาธิปไตย แต่พร้อมนั้นก็ตรัสแสดง แง่ที่ต่าง ระหว่างพระพุทธเจ้า กับพระเจ้าจักรพรรดิด้วย ซึ่งก็เป็นจุดสังเกตที่สำคัญ กล่าวคือ พระเจ้าจักรพรรดิ จัดสรรการดูแลรักษาคุ้มครองที่เป็นธรรมแก่ประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ (ทรงจำแนกไว้ ๘ ประเภท คือ อันโตชน ขัตติยะ อนุยนต์ พลกาย พราหมณ์คหบดี ชาวนิคมชนบท สมณพราหมณ์ มิคปักษี) ยังจักรให้หมุนไปโดยธรรม ซึ่งคนสัตว์ที่มุ่งร้ายใดๆ ไม่อาจทำ ให้หมุนกลับได้ แต่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดสรรการดูแลรักษาคุ้มครองที่เป็น ธรรม ให้แก่กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม โดยให้รู้ว่ากายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อย่างไหนควรเสพ อย่างไหนไม่ควรเสพ ยัง ธรรมจักรให้หมุนไปโดยธรรม ซึ่งสมณะ พราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือใครก็ตามในโลก ไม่อาจทำให้หมุนกลับได้

แม้ในการบรรยายความเสื่อมของสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนที่ยืดยาวของจักกวัตติสูตรแรก ท่านก็แสดงภาวะเสื่อมโทรมนั้นโดยชี้ถึงการที่มนุษย์ไม่ดูแลรับผิดชอบทำหน้าที่ต่อกัน ขอให้ดูตัวอย่างสักตอน "ภิกษุทั้งหลาย จักมีสมัยที่มนุษย์เหล่านี้มีบุตรอายุ ๑๐ ปี เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕ ขวบ จักอาจมีสามี

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี คนทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ปฏิบัติชอบต่อมารดา ไม่ปฏิบัติชอบต่อบิดา ไม่ปฏิบัติชอบต่อสมณะ ไม่ปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ ไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล อีกทั้งเขาเหล่านั้นก็จักได้รับการยกย่องเชิดชู และได้รับ ๆ.. การสรรเสริญ เหมือนดั่งที่คนผู้ปฏิบัติชอบต่อมารดา ปฏิบัติชอบต่อบิดา ปฏิบัติชอบต่อสมณะ ปฏิบัติชอบต่อพราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ได้รับการยกย่อง เชิดชู และได้รับการสรรเสริญ ในบัดนี้

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี เขาจักไม่มีจิตคิดเคารพยำเกรงว่า นี่แม่ นี่น้า นี่พ่อ นี่อา นี่ป้า นี่ภรรยา ของอาจารย์ หรือว่านี่ภรรยาของท่านที่เคารพทั้งหลาย สัตว์โลกจักถึงความสมสู่ปะปนกัน เหมือนดังแพะ ไก่ สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี สัตว์เหล่านั้นต่างก็รักผูกความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้าในกันและกัน มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี พี่ชายกับน้องหญิงก็ดี น้องหญิงกับพี่ชายก็ดี จักมีความแค้นเคืองพลุ่งขึ้นมา มีความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า เสมือนนายพรานเนื้อเห็นเนื้อเข้าแล้ว เกิดความอาฆาตพรุ่งขึ้น มีความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้า ฉะนั้น"
(ที.ปา.๑๑/๔๖)