วันจันทร์

๘. อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑

 อาหาเรปฏิกูลสัญญา

อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือ การพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาหาร โดยกำหนดหมายว่าอาหารที่บริโภคเป็นสิ่งปฏิกูล องค์ธรรมได้แก่ สัญญาเจตสิกที่ในมหากุศลจิต มหากิริยาจิต

อาหาร เป็นเหตุธรรมที่อุดหนุนให้ผลเกิดขึ้นและช่วยให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น คำว่า อาหาร มีความหมายกว้างขวางออกไปหลายนัย ในพระบาลีให้ความหมายของคำว่า อาหาร ไว้ว่า “ธรรมใด นำมาซึ่งรูปอันเกิดจากโอชา นำมาซึ่งเวทนา นำมาซึ่งปฏิสนธิวิญญาณ และนำมาซึ่งเจตสิกกับกัมมชรูป ธรรมนั้นชื่อว่า อาหาร”


๑. กพฬีการาหาร (นำมาซึ่งรูปที่เกิดจากโอชา)
กพฬีการาหาร (อ่านว่า กะ-พะ-ลี-กา-รา-หาน ) ได้แก่ โอชา สารอาหารหรือวิตามิน ที่ได้จากข้าว น้้า พืชผักต่าง ๆ ตลอดจนทุกสิ่งที่เรากลืนกินเข้าไป สารอาหารนี้จะเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงอยู่ได้

องค์ธรรมได้แก่ โอชาที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ

๒. ผัสสาหาร (นำมาซึ่งเวทนา)
ผัสสาหาร นำมาซึ่งเวทนา คือการเสวยอารมณ์ทุกข์บ้าง สุขบ้าง หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขให้เกิดขึ้น เวทนาทั้งหลายนี้ ถ้าไม่มีผัสสะแล้วก็จะเกิดไม่ได้เลย เพราะผัสสะนี้เป็นเหตุให้เกิดเวทนา จึงชื่อว่าผัสสะเป็นอาหารของเวทนา (หรือผัสสะนำมาซึ่งการเกิดเวทนา)

องค์ธรรมได้แก่ ผัสสเจตสิก ที่ในจิตทั้งหมด

๓. มโนสัญเจตนาหาร (นำมาซึ่งวิบาก)
มโนสัญเจตนาหาร ก็คือเจตนาในการทำกุศล อกุศล เจตนานี้เป็นเหตุนำมาให้เกิดผล คือกุศลวิปากจิตและอกุศลวิปากจิต ทั้งในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาล ในปฏิสนธิกาลก็นำมาซึ่งปฏิสนธิวิญญาณ คือการเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม หรืออบายสัตว์ ในปวัตติกาลก็นำมาซึ่งวิบากต่างๆ เช่น ทำให้เห็นรูปที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี เป็นต้น

องค์ธรรมได้แก่ เจตนาเจตสิก ที่ในจิตทั้งหมด

๔. วิญญาณาหาร (นำมาซึ่งเจตสิกและกัมมชรูป)
วิญญาณาหาร นำมาซึ่งเจตสิกและกัมมชรูป ในปฏิสนธิกาล ปฏิสนธิวิญญาณย่อมเป็นผู้นำให้เจตสิกและกัมมชรูปเกิดขึ้นได้ ในปวัตติกาล จิตย่อมนำให้เจตสิกเกิดขึ้นอย่างเดียว ไม่ได้นำให้กัมมชรูปเกิดขึ้นด้วย เพราะกัมมชรูปไม่ใช่รูปที่เกิดจากสมุฏฐานของจิต แต่เป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐานของกรรม แต่อย่างไรก็ตาม กัมมชรูปก็อาศัยเกิดมาจากอดีตกรรม ที่เรียกว่า กัมมวิญญาณ คืออกุศลจิตและโลกียกุศล จิตในภพก่อนๆ ซึ่งก็ชื่อว่าวิญญาณเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ จิตทั้งหมดจึงชื่อว่าวิญญาณาหาร

องค์ธรรม
ได้แก่ จิตทั้งหมด


การพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาหาร
ให้พิจารณาอาหารที่เรียกว่า กพฬีการาหาร หรืออาหารที่
เรารับประทานนั่นเอง การพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหารโดยอาการ ๑๐ อย่าง คือ

๑. พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยอาการไปสู่สถานที่ที่มีอาหาร ว่าลำบาก ตั้งแต่การต้องออกไปหาอาหาร ฆราวาสต้องประกอบการงานอาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อจะได้เงินมาซื้ออาหารเลี้ยงชีวิต ถ้าเป็นภิกษุก็ต้องบิณฑบาตไปในสถานที่ต่างๆ ทั้งที่เฉอะแฉะ สกปรก กรำแดดกรำฝน เพื่อให้ได้อาหารมาเลี้ยงอัตภาพ
๒. พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยการแสวงหา ว่ามีเงินแล้วก็ต้องไปตลาดซื้ออาหาร เข้าร้านโน้นออกร้านนี้ เลือกหาอาหาร หอบหิ้วกลับมา
๓. พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยการบริโภค ว่าเมื่อหยิบอาหารเข้าปากแล้วฟันก็ทำหนำที่บดเคี้ยวคลุกเคล้าด้วยน้ำลาย ก่อนจะเข้าปากอาหารนั้นปรุงอย่างดี แต่เมื่อเข้าปากเคี้ยวแล้ว หากลองคายออกมาแล้วให้กลืนกลับเข้าไปใหม่ ก็คงกลืนไม่ลงเพราะดูน่าเกลียดเหมือนรากสุนัข
๔. พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยที่อยู่ ว่าอาหารที่บริโภคนี้ แปดเปื้อนคละเคล้ากับสิ่ง ๔ อย่าง คือ น้ำดี เสมหะ หนอง และเลือด เป็นสิ่งสกปรกโสโครก
๕. พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยกระเพาะ ว่าเป็นที่หมักหมมรวมกันของอาหารว่า อาหารที่เรากินเข้าไป เปื้อนน้ำดี เสมหะ หนอง เลือด หมักหมมรวมกันอยู่ในกระเพาะที่สกปรกโสโครก ถ้วยชามภาชนะเราใช้แล้วยังขัดล้างทำความสะอาด แต่กระเพาะอาหารเป็นที่ใส่อาหารที่แปดเปื้อนไปด้วยน้ำดี เสมหะ หนอง เลือด ไม่เคยล้างตลอดเวลา ๒๐-๔๐ ปีแห่งอายุของเรา และทุกวันมีอาหารใหม่หมักหมมทับถมลงไปอีก
๖. พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยยังไม่ย่อย ว่าอาหารที่บริโภคเข้าไป ตั้งแต่เมื่อวานก็ตาม วันนี้ก็ตาม หมักหมมรวมกันเกิดเป็นฟอง เพราะธาตุไฟที่มีอยู่ในกระเพาะอาหาร มีสภาพน่าสะอิดสะเอียนเหมือนซากศพหรือขยะที่บูดเป็นฟอง
๗. พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยย่อยแล้ว ว่าอาหารที่ถูกย่อยแล้วกลายเป็นอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นสิ่งที่น่าเกลียด
๘. พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยผลที่สำเร็จ ว่าอาหารที่ย่อยแล้วกลายเป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เป็นอวัยวะต่างๆ แต่อาหารที่ไม่ย่อยกลับทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย เช่น โรคหิดเปื่อย หิดด้าน คุดทะราด โรคเรื้อน กลาก หืด ไอ เป็นต้น ล้วนแต่เป็นผลที่เกิดจากอาหารที่บริโภคเข้าไปนี้เอง เป็นสิ่งที่น่าเกลียดและน่ากลัว การบริโภคถ้าบริโภคมากไปก็เกิดโทษได้
๙. พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยการหลั่งไหล ว่าอาหารที่บริโภคเข้าไปนั้น เมื่อไหลออก ก็ออกทางทวารทั้ง ๙ เช่น ไหลออกทางช่องตาก็เป็นขี้ตา ไหลออกทางช่องปากเป็นน้ำลาย เสมหะ ไหลออกจากทวารหนักเป็นอุจจาระ ไหลออกจากทวารเบาเป็นปัสสาวะ ไหลออกจากขุมขนเป็นเหงื่อ เป็นต้น ขณะที่บริโภคอาหารก็ล้อมวงกันรื่นเริง แต่เวลาถ่ายออก ก็แยกกันไปปิดบังกัน ซ่อนเร้นไม่ให้ใครเห็น
๑๐. พิจารณาความเป็นปฏิกูล โดยความแปดเปื้อน ว่าอาหารนี้เมื่อเวลาบริโภคอยู่ก็เปื้อนมือ ปาก ลิ้น เพดาน ย่อยแล้วก็เปื้อน ถ่ายออกก็เปรอะเปื้อนน่าเกลียด ต้องชำระล้างใส่เครื่องหอมกลบความโสโครกและกลิ่นเหม็น


การเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญา เจริญได้แต่เฉพาะในมนุสสภูมิเท่านั้น เพราะมนุษย์มีการรับประทานอาหารชนิดที่เป็นปฏิกูล ส่วนในเทวภูมิและพรหมภูมิไม่มีอาหารชนิดปฏิกูลแล้ว

นิมิต ภาวนา ในการเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญา

นิมิตได้เพียงบริกรรมนิมิต คือ ข้าว แกง ขนม น้ำ ฯลฯ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยสัญญาของตนที่มีการเห็นว่าเป็นปฏิกูลนี้เองเหล่านี้ใช้เป็นเครื่องอาศัยในการบริกรรม จัดเป็นบริกรรมนิมิต ภาวนาได้ ๒ คือ บริกรรมภาวนาและอุปจารภาวนา การที่ไม่เกิดอัปปนาภาวนา เพราะการเจริญกรรมฐานนี้มีสภาวะอาหาร คือ กพฬีการาหารเป็นอารมณ์เป็นหลักเกณฑ์ ตัวกพฬีการาหารเป็นเพียงสมมุติอาหารเท่านั้นไม่ใช่ตัวอาหารแท้ๆ ส่วนข้าว แกง ขนม น้ำ ฯลฯ ต่างๆ ที่เห็นอยู่นั้นเป็นเพียงเครื่องประกอบในการเจริญเท่านั้น ตามธรรมดาสภาวะของอาหาร มุ่งถึงโอชาหรือสารอาหาร วิตามิน เกลือแร่ แร่ธาตุต่างๆ ที่อยู่ในอาหาร โอชานี้มีสภาพละเอียดสุขุมทั้งเป็นธรรมารมณ์ ด้วยเหตุนี้อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต ทั้งสองนี้จึงไม่ปรากฏ เมื่อปฏิภาคนิมิตไม่ปรากฏ อัปปนาภาวนาอันเป็นตัวฌานก็เกิดขึ้นไม่ได้

อานิสงส์ของอาหาเรปฏิกูลสัญญา คือ

๑. ไม่ยินดีในรสอาหาร บริโภคเพียงเพื่อดำรงชีวิตอยู่ ดุจดังสามีภรรยาที่บริโภคเนื้อบุตรในทางกันดารที่แร้นแค้นด้วยอาหารโดยไม่มีความยินดี ประสงค์เพียงแต่จะข้ามทางกันดารให้ถึงที่หมายปลายทางฉันใด ผู้เจริญก็ย่อมบริโภคไปฉันนั้น อาศัยเหตุ คือ การบริโภคอาหารที่ปราศจากรสตัณหา ประสงค์เพียงแต่จะดำรงชีวิตร่างกายเอาไว้ เพื่อจะได้ทำการปฏิบัติให้พ้นออกไปจากวัฏฏทุกข์นี้ แม้ตัณหาราคะ ในกามคุณ ๕ ผู้เจริญก็ย่อมละลงได้
๒. เห็นความเกิดดับของรูปขันธ์ ความเกิดดับของรูปภายใน ตนที่เกิดจากอาหาร ความเกิดดับของจิต ขณะบริโภคและหลังบริโภค
๓. สามารถเจริญกายคตาสติไปในขณะนั้นด้วย คือพิจารณาความเป็นปฏิกูลโดย ดี เสลด หนองเลือด เป็นต้น
๔. อยู่เป็นสุข
๕. มีสุคติภูมิเป็นที่หวังได้


จบอาหาเรปฏิกูลสัญญา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น