แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อธิกรณสมถะ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อธิกรณสมถะ แสดงบทความทั้งหมด

อธิกรณสมถะ ๗

อธิกรณสมถะ ๗ ประการ
คือ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแต่งตั้งบัญญัติไว้ เพื่อจะให้พระสงฆ์ระงับอธิกรณ์ ข้อผิดของภิกษุบริษัทที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ๆ มีอุบายวิธี ๗ ประการ อธิกรณ์ที่พระสงฆ์จะต้องระงับด้วยอธิกรณสมถะ ๗ นั้นมี ๔ คือ
วิวาทาธิกรณ์ ๑
อนุวาทาธิกรณ์ ๑
อาปัตตาธิกรณ์ ๑
กิจจาธิกรณ์ ๑

เป็น ๔ ประการฉะนี้ อันการที่ภิกษุมีความเห็น🔎วิปลาส(๗๓) เกิดความวิวาท กล่าวต่าง ๆ กัน ให้วิปริตผิดเพี้ยนพระธรรมวินัย นี้ชื่อว่า วิวาทาธิกรณ์ การที่ภิกษุติดตาม ว่ากล่าว ทักท้วง ยกโทษกันด้วย🔎ศีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ อาชีววิบัติ(๗๘-๘๑) แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นี้ชื่อว่า อนุวาทาธิกรณ์ การที่ภิกษุต้องอาบัติทั้ง ๗ กอง คือ ปาราชิก ๑ สังฆาทิเสส ๑ ถุลลัจจัย ๑ ปาจิตตีย์ ๑ ปาฏิเทสนียะ ๑ ทุกกฏ ๑ ทุพภาสิต ๑ แต่กองใดกองหนึ่ง นี้ชื่อว่า อาปัตตาธิกรณ์ การที่ภิกษุทำกิจที่พระสงฆ์จะพึงกระทำทั้ง ๔ คือ 🔎อปโลกนกรรม(๘๒) ดังอปโลกน์เข้าสงฆ์ ๑ ญัตติกรรมอย่างสวดอุโบสถแลสวดปวารณา ๑ ญัตติทุติยกรรม
อย่างสวดผูกสวดถอนพัทธสีมาแลสวดกฐิน ๑ ญัตติจตุตถกรรม อย่างสวดอุปสมบทและสวดปริวาส มานัต อัพภาน ๑ กรรมทั้ง ๔ นี้กำเริบเพราะไม่เป็นกรรม หรือไม่เป็นวรรค เป็นญัตติวิบัติ เป็นอนุสาวนาวิบัติ แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง นี้ชื่อว่า กิจจาธิกรณ์

อธิกรณ์ทั้ง ๔ นี้ พระสงฆ์พึงระงับลงไว้ด้วยอธิกรณสมถะ มีอุบายวิธีเป็น ๗ ประการ คือ
อุบายวิธีที่ ๑.
ให้พระสงฆ์จึงให้🔎สัมมุขาวินัย(๘๓) นำอธิกรณ์เสียเฉพาะหน้าพระสงฆ์ เฉพาะหน้าพระวินัยธร เฉพาะหน้าโจทก์จำเลยยอมรับผิดชอบพร้อมหน้ากัน

อุบายวิธีที่ ๒.
ให้พระสงฆ์พึงให้สติวินัย นำอธิกรณ์เสียด้วย อันสมมติให้เป็นผู้มีสติแท้ ดังสมมติให้แก่พระอรหันตเจ้า

อุบายวิธีที่ ๓.
ให้พระสงฆ์พึงให้อมูฬหวินัยนำอธิกรณ์เสียได้ ให้เป็นแต่เพียงว่าผู้หลงเคลิ้มสติไปเฉพาะเป็นบ้า จะโจทก์นำอธิกรณ์ให้ระงับด้วยก็มิขึ้น ปรับอาบัติก็ไม่ได้

อุบายวิธีที่ ๔.
ให้พระสงฆ์พึงให้ปฏิญญาตกรณะ ปฏิญญาณรับโทษสมคำโจทก์จำเลย

อุบายวิธีที่ ๕.
ให้พระสงฆ์พึงให้เยยยสิกา กิริยาที่ให้อธิกรณ์ระงับด้วยพวกธรรมวาที่ชุกชุมมากว่า สมมติให้สัญญาแก่กันตามสำคัญด้วยฉลาก

อุบายวิธีที่ ๖.
ให้พระสงฆ์พึงให้ตัสสปาปิยสิกา กิริยาที่ให้อธิกรณ์ระงับด้วยสมมติยกโทษแก่ภิกษุมีบาปหนาหนักต้องอาบัติเนือง ๆ กำจัดเสียจากหมู่สงฆ์ ทรมานให้ละพยศลง เห็นว่าเธอนั้นยังจักเยียวยาได้ พึงสวดระงับอธิกรณ์ให้

อุบายวิธีที่ ๗.
ให้พระสงฆ์พึงให้ติณวัตถารกวินัย นำอธิกรณ์ให้สงบลงไว้ ดังลาดหญ้าทับกองคูถไว้ เพราะอธิกรณ์นั้นหยาบช้าเข้มข้นจวนจะถึงสังฆเภท พระวินัยธรตัดสินไม่ตกลง พระสงฆ์จึงพร้อมกันสวดสัญญาให้อธิกรณ์นั้นสาบสูญเสีย

ธรรม ๗ ประการนี้ ชื่อว่า อธิกรณสมถะ เป็นวิธีที่จะระงับข้อผิดกิจพระวินัยบัญญัติของภิกษุบริษัท พระธรรมวินัย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ ได้ยกขึ้นยังพระปาฏิโมกขุเทศ เป็นประเภทสิกขาบทบัญญัติรวมเข้าไว้เป็น ๒๒๗ สิกขาบท สำหรับพระสงฆ์ทำอุโบสถทุกระยะกึ่งเดือน สืบศาสนายุกาลมาถึงกาลปัจจุบันนี้ ขอท่านทั้งหลายแต่บรรดาที่อุปสมบทในพระพุทธศาสนาจงอุตสาหะท่องบ่นพระบาลีปาฏิโมกข์ให้จำขึ้นวาจา ใจ กำหนดความตามข้อพระพุทธบัญญัติที่ได้คัดขึ้นไว้โดยย่อนี้ให้แม่นยำ แล้วพึงศึกษาเล่าเรียนไว้ไถ่ถามหาความพิสดารต่อไป

จบพระปาฏิโมกขสังวรศีล ๒๒๗ สิกขาบท


🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗