วันอังคาร

อเจลกวรรคที่ ๕

ปาจิตตีย์ ๙๒ สิกขาบท จัดเป็น ๙ วรรค

        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)

อเจลกวรรคที่ ๕ มี ๑๐ สิกขาบท ดังนี้
๑. อเจลกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุหยิบยกของบริโภคอื่นส่งให้แก่ชีเปลือยหรือปริพาชกชายหญิง อันบวชมิได้มีลัทธิเฉพาะพระพุทธศาสนาด้วยมือตนเอง แม้ถึงบิดามารดาของตนอันบวชในลัทธิเช่นนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๒. อุยโยชนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุได้ชักชวนภิกษุด้วยกันเป็นเพื่อนพากันเที่ยวบิณฑบาตในบ้านหรือนิคมใด ๆ ได้ให้ทายกให้บิณฑบาตหรือไม่ได้ให้แก่ภิกษุนั้นก็มิได้ว่า แต่ภิกษุผู้ชักโยงนั้นปรารถนาจะใครลอบล่วงสิกขาบท กลัวจะเป็นสิ่งกีดขวาง จึงขับส่งเสียว่า “ท่านจงไปให้พ้นเราเถิด เราเจรจากับท่านหรือนั่งกับท่านไม่เป็นความสบาย เราชอบจะอยู่แต่ผู้เดียวจึงจะสบาย” ภิกษุที่ถูกขับพอไปลับฝาหรือล่วงอุปจาร ๑๒ ศอก ภิกษุขับต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าขับส่งให้คืนกลับด้วยธุระอื่น ๆ มิได้เป็นอาบัติ

๓. สโภชนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุเข้าไปในตระกูลเดินตรงจู่โจมเข้าไปนั่งในเรือนเป็นที่นอน มีชนสองผัวเมียเขาเชยชมกันอยู่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๔. ปฐมรโหนิสสัชสิกขาบท
ความว่า ภิกษุนั่งกับมาตุคาม คือหญิงมนุษย์ตั้งแต่เด็กแรกคลอดขึ้นไป ในที่ลับตา ฝากั้น ม่านกั้น ประตูบัง ไม่มีผู้ชายอยู่เป็นเพื่อนด้วย ต้องอาบัติปาจิตตีย์ แม้ว่าหญิงสักร้อยสักพันคนก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ถึงร้อยถึงพันคนเท่าตัวหญิงนั้น

๕. รโหนิสัชชสิกขาบท
ความว่า ภิกษุนั่งอยู่กับหญิงมนุษย์อันรู้ความสองต่อสองในที่แจ้ง ไม่มีเครื่องกั้นบังกลางวัด กลางนอกชานบ้านไม่มีใคร ๆ แลเห็นเป็นเพื่อน ๆ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๖. จาริตตสิกขาบท
ความว่า ภิกษุรับนิมนต์ของทายกไว้แล้ว ไม่บอกกล่าวอำลาภิกษุอันมีอยู่ที่ควรจะอำลาได้ ฉันแล้วก็ดี ยังไม่ฉันก็ดี ในเวลาเช้าชั่วเที่ยง ถ้าไปสู่ตระกูลอื่นนอกจากตระกูลที่นิมนต์นั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่สมัยทั้ง ๒ คือคราวเมื่ออยู่จำพรรษาแล้ว คุ้มได้ถึงเพ็ญเดือน ๑๒ ชื่อว่าจีวรทานสมัย ๑ คือคราวเมื่อกรานกฐินอนุโมทนาแล้ว คุ้มได้ถึงเพ็ญเดือน ๔ ชื่อว่าจีวรกาลสมัย ๑ ถ้าไม่ได้เข้าปุริมพรรษา หรือขาดพรรษาไซร้ ไม่มีคราวที่จะคุ้มอาบัติได้เลย

๗. มหานามสิกขาบท
ความว่า ภิกษุมิได้เจ็บไข้จะขอยาและเครื่องยาในที่ปวารณาไว้แก่สงฆ์ได้แต่ภายใน ๔ เดือน ถ้าพ้น ๔ เดือนไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์เว้นแต่ทายกปวารณาใหม่ขอได้อีก ๔ เดือน ถ้าปวารณาจะถวายเป็นนิจ ก็ขอได้เป็นนิจไป ไม่ต้องห้าม

๘. อุยยุตตสิกขาบท
ความว่า ภิกษุมุ่งจิตคิดจักใครไปดูขบวนเสนายกทัพไปสู่สงครามไปถึงยุทธภูมิ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ไปด้วยการอื่น ไปประจวบเฉพาะเข้าเอง ไม่มีโทษ

๙. เสนาวาสสิกขาบท
ความว่า ภิกษุมีเหตุที่จะไปด้วยหมู่เสนา ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่เสนาได้เพียงสองสามราตรี ถ้าอยู่เกินขึ้นไปถึงเวลาค่ำคืนที่ ๔ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๑๐. อุยโยธิกสิกขาบท
ความว่า เมื่อภิกษุอาศัยอยู่ในหมู่เสนาที่ตั้งชุมนุมอยู่ภายในสองสามราตรีนั้นถ้าไปดูเขารบกัน หรือไปดูเขาตรวจพล หรือไปดูขบวนพยุหทัพ ขบวนจตุรงค์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

จบอเจลกวรรค ๑๐ สิกขาบท เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น