วันศุกร์

มุสาวรรคที่ ๑

ปาจิตตีย์ ๙๒ สิกขาบท จัดเป็น ๙ วรรค

        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)

มุสาวรรคที่ ๑ มี ๑๐ สิกขาบท ดังนี้
๑. มุสาวาทสิกขาบท
ความว่า ภิกษุรู้แน่แก่ใจแล้วแกล้งเจรจา โป้ปด สิ่งที่ไม่มีว่ามี สิ่งที่มีว่าไม่มี อย่างนี้เป็นต้น ให้ผู้อื่นเชื่อถือว่าจริง ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๒. โอมสวาทสิกขาบท
ความว่า ภิกษุด่าทอ เสียดสี จี้ไชต่อหน้าภิกษุให้เจ็บใจ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๓. เปสุญญวาทสิกขาบท
ความว่า ภิกษุยุยงส่อเสียดภิกษุต่อภิกษุ ด้วยคำด่าทอให้แตกร้าวจากกันและกัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๔. ปทโสธัมมสิกขาบท
ความว่า ภิกษุสวดบทธรรม คือบาลีและคาถารวมเสียงเดียวกับอนุปสัมบันคือสามเณรและคฤหัสถ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกขณะระยะบทบาลี แลบทแห่งธรรมคาถานั้น ๆ

๕. สหเสยยสิกขาบท
ความว่า ภิกษุนอนร่วมกับอนุปสัมบัน คือสามเณรและคฤหัสถ์ภายในเสนาสนะ มีที่มุงและที่บังอันเดียวกันยิ่งกว่า ๓ ราตรี ต้องอาบัติปาจิตตีย์ คือนอนร่วมกัน ๓ ราตรีแล้ว ถึงคืนที่ ๔ เข้าเมื่อไร ตั้งแต่เวลาพลบไป เอนกายลงนอนร่วมอีก ก็ต้องอาบัติทุกขณะที่นอนลง ถ้าภิกษุจะรักษาให้พ้นอาบัติ ถึงคืนที่ ๓ จวนรุ่งอรุณให้ออกจากเสนาสนะนั้นเสีย หรือลุกขึ้นนั่งเสีย อย่านอนจนสว่าง แล้วก็ตั้งต้นนอนได้อีก ๒ คืนต่อไป เป็น
ระยะตั้งไว้ดังนี้ จึงจะพ้นอาบัติ

ที่เรียกว่า อนุปสัมบันในสิกขาบทนี้ ท่านกล่าวว่ามนุษย์ผู้ชายตั้งแต่สามเณรและคฤหัสถ์ผู้ชายลงไปจนถึง
สัตว์เดรัจฉานตัวผู้ มีแมว จังกวด พังพอนและนกพิราบเป็นต้น แต่บรรดาสัตว์ที่มีช่องปากเป็นที่ตั้งเมถุน ได้ชื่อว่าอนุปสัมบันทั้งสิ้น เสนาสนะที่จะเป็นสหเสยยะนั้น คือเสนาสนะที่ร่วมหลังคากัน ถึงจะมีฝากั้นห้อง แต่ว่ามีช่องไปมาหากันได้ ก็เป็นสหเสยยะ ถ้ามีหลังคาเดียวกันแต่ต่างห้องกัน คือไม่มีช่องที่จะไปมาในภายในได้เฉพาะต้องออกนอกชายคาจึงจะเข้าไปห้องอื่นได้ ก็ไม่เป็นสหเสยยะ ถึงพื้นหลายชั้นไม่มีช่องที่จะใช้ขึ้นใช้ลงข้างในได้ ต้องออกพ้นชายคา แล้วจึงเข้าไปในห้องชั้นในอื่นได้ก็เหมือนกัน เป็นอันไม่เกิดอาบัติ นอนร่วมสัตว์เดรัจฉานตัวผู้ยิ่งกว่า ๓ คืน เป็นแต่ต้องอาบัติทุกกฏ ว่าไว้เป็นกำหนดเท่านี้

๖. ทุติยสหเสยยสิกขาบท
ความว่า ภิกษุนอนร่วมมาตุคาม คือหญิงมนุษย์ในเสนาสนะดังกล่าวแต่เวลาพลบค่ำไป ต้องอาบัติปาจิตตีย์ทุกขณะเอนกายนอน ถ้านอนร่วมสัตว์เดรัจฉานตัวเมียในราตรี ต้องอาบัติทุกกฏ

๗. ธัมมเทสนาสิกขาบท
ความว่า ภิกษุแสดงธรรมแก่มาตุคาม คือหญิงมนุษย์ที่ไม่มีผู้ชายนั่งเป็นเพื่อนด้วยได้เพียง ๖ คำ บาลี ๖ บาท คาถา ๖ ข้อ อัตถาธิบายที่นับว่าวาจาหนึ่ง ๆ ถ้ายิ่งกว่า ๖ คำขึ้นไปต้องอาบัติปาจิตตีย์

๘. ภูตาโรจนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุได้บรรลุฌานสมาบัติ อภิญญามรรคผล ที่เป็นมหรคตแลโลกุตตระแล้ว แลบอกเล่าแสดงคุณที่มีอยู่ในตนแต่ตามจริงแก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์

๙. ทุฏฐลลาโรจนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุพึงบอกอาบัติชั่วหยาบ คือสังฆาทิเสสของภิกษุอื่นแก่อนุปสัมบันต้องอาบัติปาจิตย์ ยกเสียแต่ภิกษุที่สงฆ์สมมติไว้ให้คอยดูแลบอกเล่าอาบัติของภิกษุอื่น ที่ต้องอาบัติเนือง ๆ จะให้ละอายรู้ระวังตัวต่อไป

๑๐. ปฐวีขนสิกขาบท
ความว่า ภิกษุขุด แคะ แงะ ง้าง คุ้ย ขีด เขียนแผ่นดิน ด้วยจอบ เสียม มีด ไม้ เล็บมือ เล็บเท้า โดยที่สุดแกล้งถ่ายปัสสาวะให้พุ่งลงเซาะดินให้เป็นรอยแตกละลาย แม้ว่าดินที่ขุดใส่ไว้ในที่ต่าง ๆ ตั้งไว้กลางแจ้ง ฝนตกทับล่วง ๔ เดือนแล้ว ขุดเองหรือบังคับใช้ให้ผู้อื่นขุดก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์ แต่จะให้ผู้อื่นขุดโดยเลศ พอให้สังเกตว่า “ท่านจงรู้ที่นี้” ไม่มีโทษ

จบมุสาวาทวรรค ๑๐ สิกขาบท เท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น