วันพุธ

สังฆาทิเสส ๑๓

สังฆาทิเสส ๑๓ 


๑. สัญเจตนิกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุอันกำหนัดแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนออกมาประกอบความเพียรจับ กำ ครูด สี ลูบคลำองคชาต หรือหนีบในระหว่างขา หรือเด้งดันเด้าในท่อนผ้าแลที่มีช่อง และที่ว่างเปล่าเป็นต้นก็ดีให้น้ำอสุจิเคลื่อนออกจากลำกล้ององคชาตสักหยดหยาดหนึ่ง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เว้นไว้แต่นอนหลับฝันเห็น เมื่อเวลาหลับไม่มีโทษ แต่พอตื่นฟื้นขึ้น ถ้าพลอยเพียรซ้ำเมื่อกำหนัดมิพ้นโทษ

๒. กายสังสัคคสิกขาบท
ความว่า ภิกษุมีจิตกำหนัดในการจะสัมผัสต้องกายหญิงมนุษย์ มาจับมือ จับมวยผม จับผ้าห่ม จับนม จับแก้ม เคล้าคลึง จูบกอดหญิงมนุษย์ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๓. ทุฏฐลลวาจสิกขาบท
ความว่า ภิกษุมีจิตกำหนัดน้อมในกาม พึงกล่าวคำชั่วหยาบ เกี้ยวพาน แทะโลมหญิงดังชายหนุ่มอันเกี้ยวพานหญิงสาว กล่าวแทะโลม ถากถางโดยทางเมถุน มาเจรจาเปรียบปรายเฉพาะทวารหนัก ทวารเบา พูดถึงการชำเราให้หญิงได้ยิน แม้จะทักทายว่าสิ่งอื่น ๆ ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ สีแดง สีดำ สีเขียว สีขาว ว่าขนยาว ขนดก ว่าทางรก ทางเตียน ทางแคบ ทางกว้าง เป็นต้นก็ดี แต่จิตมุ่งเอาที่ลับของหญิง หญิงรู้อธิบายของภิกษุขณะเมื่อกล่าวนั้น ภิกษุกล่าวคำหยาบเช่นนี้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๔. อัตตกามปาริจริยสิกขาบท
ความว่า ภิกษุมีจิตกำหนัดน้อมไปในกาม พึงกล่าวคำสรรเสริญคุณการบำเรอด้วยกามแก่ตน ในสำนักแห่งหญิงมนุษย์ว่า หญิงคนใดได้บำเรอภิกษุผู้มีศีล เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์เห็นปานดังตัวเรา ที่เป็นคนขัดสนจนด้วยเมถุนสังวาส การบำเรอด้วยเมถุนแก่ภิกษุที่ขัดสนนั้น จะมีผลอานิสงส์เป็นอย่างยอดยิ่ง จะนำตนให้ไปสวรรค์ได้ง่าย ๆ หญิงก็รู้อธิบายในขณะนั้น ภิกษุนั้นต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๕. สัญจริตสิกขาบท
ความว่า ภิกษุที่ชักสื่อหญิงและชายให้อยู่ร่วมเป็นผัวเมียและชู้กัน นำความประสงค์ของหญิงไปบอกเล่าแก่ชาย ชักโยงให้ทั้งสองได้เป็นตัวเมีย เป็นชู้กัน จะชักนำให้ได้สังวาสกัน แต่ในขณะนั้นเป็นอย่างที่สุด ภิกษุผู้ชักสื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสส

(สิกขาบททั้ง ๕ นี้ ให้ภิกษุหมั่นดู หมั่นจำระวังให้จงมาก ภิกษุที่ไม่ได้ศึกษา เป็นคนคะนองกาย วาจา อยู่แล้วก็ล่วงง่าย ๆ ให้จำให้หมายไว้เป็นสำคัญ เทอญ)

๖. สัญญาจิกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุทำเองหรือใช้ให้ผู้อื่นทำกุฏิที่อยู่ ด้วย
🔎ทัพสัมภาระ(๒๘) มีอิฐ ปูน ไม้ เป็นต้น อันตนเที่ยวขอมาเอง ไม่มี🔎ทายก(๒๙) เป็นเจ้าของผู้สร้างถวาย เฉพาะจะทำอยู่เอง หาให้สงฆ์แสดงพื้นที่ให้ไม่ ทำลงในที่มีอุปัทวันตรายทั้งไม่มีอุปจาร ทำให้เกินประมาณ คือยาวกว่า ๑๒ คืบสุคต กว้างกว่า ๗ คืบสุคต กำหนดวัดในร่วมฝาข้างใน ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๗. มหัลลกาสิกขาบท
ความว่า ภิกษุทำเองหรือให้ผู้อื่นทำวิหารที่อยู่เป็นอารามใหญ่ ไม่กำหนดประมาณ มีทายกเป็นเจ้าของลงทุนสร้างถวาย แต่หมายใจเฉพาะอยู่เอง หาให้สงฆ์ชี้ที่ตั้งให้ไม่ ทำตามอำเภอใจ ทำลงในที่มีอุปัทวันตรายและไม่มีอุปจาร ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๘. อมูลกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุซึ่งโกรธขัดเคืองภิกษุอื่น คิดจะให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์ คือจะให้สึกเสีย พึ่งตามกำจัดโจทก์ยกโทษด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล คือ ตัวไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้รังเกียจเลย แกล้งโจทก์เล่นเฉย ๆ จะให้สึกเสียเท่านั้น ภิกษุผู้โจทก์ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๙. อัญญภาคิยสิกขาบท
ความว่า ภิกษุซึ่งโกรธภิกษุ แล้วโจทก์ด้วยอาบัติปาราชิกอย่างฉะนั้น ต่างกันแต่เอาเลศมาใส่ไคล้เสแสร้งแกล้งยกโทษ คือ ตนได้เห็นสัตว์เดรัจฉานอันสัดกันเป็นต้น หรือได้รู้ได้เห็นใครลักทรัพย์สิ่งของ ใครฆ่ามนุษย์ ใครอวดฤทธิ์เดชพิเศษทางอุตตริมนุสสธรรม ก็ถือเอาเลศนั้นมาใส่ไคล้แก่ภิกษุที่ตนขัดเคืองกัน กล่าวหายกโทษโจทก์ภิกษุนั้นว่าเสพเมถุน หรือลักทรัพย์ ฆ่ามนุษย์ อวดอุตตริมนุสสธรรมแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ภิกษุผู้โจทก์นั้นต้องอาบัติสังฆาทิเสส

(สิกขาบททั้ง ๔ นี้ ชื่อว่าปฐมาปัตติกา เพราะภิกษุล่วงพระพุทธบัญญัติเมื่อใด ก็ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
เมื่อนั้น)

๑๐. สังฆเภทสิกขาบท
ความว่า ภิกษุอันเพียรพยายามจะทำลายสงฆ์ให้แตกร้าวจากกัน หรือถือเอา
🔎อธิกรณ์(๓๐) ที่เป็นไป เพื่อจะทำลายพระสงฆ์ขึ้นเชิดชูอยู่ ภิกษุทั้งหลายที่ได้รู้ได้เห็นพากันว่ากล่าวห้ามปราม ก็ยังดื้อดึงมิได้ลดละความพยายามที่จะทำลายสงฆ์นั้นเสีย ภิกษุทั้งหลายพึ่งพาภิกษุนั้นมาในท่ามกลางสงฆ์ 🔎สวดสมนุภาสน์(๓๑) ห้ามด้วยบัญญัติจตุตถกรรมวาจา เมื่อจบ🔎อนุสาวนา(๓๒) ที่ ๓ ลง ถ้ายังไม่ละอายละความเพียรลงเสียไซร้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๑๑. เภทานุวัตตกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุรูปหนึ่งหรือสองรูป เป็นพรรคพวกประพฤติตามภิกษุที่เพียรจะทำลายสงฆ์นั้น พลอยเข้ามาโต้ท่านต่อเถียงแทนว่า ภิกษุนั้นว่ากล่าวตามธรรมตามวินัย ภิกษุทั้งหลายห้ามปรามสั่งสอนจะให้ละทิฏฐินั้นเสียก็ไม่เชื่อถือ ให้ภิกษุทั้งหลายพามายังท่ามกลางสงฆ์ สวดสมนุภาสน์ห้ามอย่างฉะนั้น เมื่อจบอนุสาวนาที่ ๓ ลง หากยังไม่ละกรรมนั้นไซร้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๑๒. ทุพพจสิกขาบท
ความว่า ภิกษุเป็นผู้สอนยาก เมื่อภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวสั่งสอนด้วยข้อพระวินัยบัญญัติก็กลับดื้อดึง ถือตนไม่ยอม ให้ภิกษุทั้งหลายพามายังท่ามกลางสงฆ์ สวดสมนุภาสน์ห้ามปราม เพื่อจะให้ละความเป็นผู้สอนยากนั้นเสีย เมื่อจบอนุสาวนาที่ ๓ ลง ถ้ายังไม่โอนอ่อนหย่อนพยศ ลดมานะทิฏฐิเสียไซร้ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

๑๓. กูลทูสกสิกขาบท
ความว่า ภิกษุอันอาศัยอยู่ในบ้านหรือนิคมใดแห่งหนึ่ง เป็นผู้ประทุษร้ายต่อตระกูลด้วยให้ดอกไม้ผลไม้ แลอาสารับใช้สอยแต่คฤหัสถ์มิใช่ญาติ มิใช่
🔎ปวารณา(๓๓) เป็นต้น เป็นบุคคลมีมารยาทอันลามกหยาบช้า ภิกษุทั้งหลายได้รู้ได้เห็นได้ยินข่าว ก็ไม่ปรารถนาจะ🔎สมโภค(๓๔) คบหาร่วม🔎สังวาส(๓๕) จึงทำ🔎ปัพพาชนียกรรม(๓๖) ขับเสียจากพวกจากหมู่ กลับโต้แย้งติเตียนว่าภิกษุทั้งหลายลุอำนาจแก่อคติ ๔ ลำเอียงไม่เที่ยงธรรม ภิกษุทั้งหลายพึงว่ากล่าวเพื่อจะให้ละถ้อยคำนั้นเสีย ถ้ายังละเสียไม่ได้ จึงให้พามายังท่ามกลางสงฆ์ สวดสมนุภาสน์ห้ามอย่างฉะนั้น เมื่อจบอนุสาวนาที่ ๓ ลง ถ้ายังขืนติเตียน🔎การกสงฆ์(๓๗) อยู่ไซร้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

(สิกขาบททั้ง ๔ นี้ตั้งแต่ ๑๐ มาถึงที่ ๑๓ ชื่อว่ายาวตติยกา ภิกษุทำกิจผิดวินัยวัตร ถ้าพระสงฆ์ยังไม่ได้สวดสมนูภาสน์ห้าม ก็ยังไม่ต้องสังฆาทิเสสก่อน ต่อเมื่อสงฆ์สวดสมนูภาสน์จบอนุสาวนาที่ ๓ ลง จึงต้องสังฆาทิเสสเมื่อนั้น)


อาบัติสังฆาทิเสสทั้ง ๑๓ นี้เป็นวุฏฐานสุทธิภิกษุต้องเข้าอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะทำตนให้บริสุทธิ์เป็นปกติได้ด้วย🔎ปริวาสกรรม(๓๘) ถ้าต้องเข้าแล้วก็ให้สำแดงบอกเล่าแก่ภิกษุแล้วจึงขอปริวาสแก่พระภิกษุต่อไป ถ้าปกปิดไว้นานวัน นับด้วยวันเดือนปีเท่าไร เมื่อรู้สึกตนจะใคร่พ้นโทษ ก็ต้องอยู่ปริวาสกรรมนับเท่าวันเดือนปีที่ปกปิดไว้นั้นแล้วจึงขอ🔎มานัต(๓๙) แต่องค์สงฆ์อีกหกราตรีสงฆ์คณะ ๒๐ รูปให้🔎อัพภาน(๔๐) ชักออกจากโทษได้แล้วจึงเป็นผู้บริสุทธิ์ได้ ให้ภิกษุพึงจำ แล้วศึกษาให้ชัดเจนถูกต้องเทอญ

จบสังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบท ยันความพอเป็นที่กำหนดเท่านี้

🔅 ปาราชิก ๔ 
🔅 สังฆาทิเสส ๑๓ 
🔅 อนิยต ๒ 
🔅 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        (จีวรวรรค ๑๐)
        (โกสิยวรรค ๑๐)
        (ปัตตวรรค ๑๐)
🔅 ปาจิตตีย์ ๙๒
        (มุสาวรรค ๑๐)
        (ภูตคามวรรค ๑๐)
        (ภิกขุโนวาทวรรค ๑๐)
        (โภชนวรรค ๑๐)
        (อเจลกวรรค ๑๐)
        (สุราปานวรรค ๑๐)
        (สัปปาณวรรค ๑๐)
        (สหธัมมิกวรรค ๑๒)
        (ราชวรรค ๑๐)
🔅 ปาฎิเทสนียะ ๔
🔅 เสขิยวัตร ๗๕
        (สารูป ๒๖)
        (โภชนปฎิสังยุตต์ ๓๐)
        (ธัมมเทสนาปฎิสังยุตต์ ๑๖)
        (ปกิณกะ ๓)
🔅 อธิกรณสมถะ ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น