คำอภิธานศัพท์(๑)

 คำอภิธานศัพท์ 


หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓ 

๑. อธิศีลสิกขา คือข้อปฏิบัติสำหรับการฝึกฝนอบรมความประพฤติทางกาย วาจา หรือคือระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ด้วยดี ให้เกื้อกูลไม่เบียดเบียน ไม่ทำลาย ปาฏิโมกขสังวรศีล คือการสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาต เป็นข้อ ๑ ในปาริสุทธิศีล ๕

๒. อันติมวัตถุ คือวัตถุมีในที่สุดหมายถึงอาบัติปาราชิก ซึ่งทำให้ภิกษุและภิกษุณีผู้ล่วงละเมิดมีโทษถึงที่สุด คือขาดจากภาวะของตน

๓. ครุกาบัติ คืออาบัติหนัก ได้แก่อาบัติปาราชิก เป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ ภิกษุต้องเข้าแล้ว จำต้องสึกเสีย และอาบัติสังฆาทิเสส ต้องอยู่กรรมจึงจะพ้นได้ ลหุกาบัติ คืออาบัติเบา ได้แก่อาบัติที่มีโทษเล็กน้อย ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาษิต

๔. อาณาวีติกกมันตราย คืออันตรายอันเกิดจากการล่วงละเมิดพระพุทธบัญญัติ, การทำผิดล่วงพระวินัยบัญญัติ

๕. อปริยันตปาริสุทธิศีล คือปาริสุทธิศีลที่ไม่มีสิ้นสุดอย่างน้อย มี ๒๒๗ ข้อ
ปาริสุทธิศีล คือศีลเป็นเครื่อง หรือเป็นเหตุให้บริสุทธิ์มีอยู่ ๔ ประการ คือ
        ๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์
        ๒. อินทรียสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
        ๓. อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีพโดยทางที่ชอบธรรม
        ๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล พิจารณาก่อน จึงบริโภคปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาตร เสนาสนะ และเภสัช

๖. ปาริยันตปาริสุทธิศีล คือปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ อย่าง แต่เป็นศีลของสามเณรและของคฤหัสถ์ มีจำกัดข้อไว้ 
คือสามเณรมีเพียง ๑๐ สิกขาบท ศีลของ คฤหัสถ์มีเพียง ๘ และ ๕ สิกขาบทเท่านั้น

๗. อุเทศ คือหมวดหนึ่ง ๆ แห่งปาฏิโมกข์ที่จัดไว้สำหรับสวด ในคำว่าสงฆ์มีอุเทศเดียวกัน หมายความว่า ร่วมฟังสวดปาฏิโมกข์ด้วยกัน

๘. ทำอุโบสถ คือการสวดปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เป็นการซักซ้อมตรวจสอบความบริสุทธิทาง
พระวินัยของภิกษุทั้งหลาย และเป็นเครื่องแสดงความพร้อมเพรียงของหมู่สงฆ์ด้วย ในการทำอุโบสถนี้ จะมีการสวดปาฏิโมกข์ได้ต่อเมื่อมีภิกษุครบ ๔ รูปขึ้นไป

๙. อาบัติเจ็ดกอง คืออาบัติประเภทต่าง ๆ ต่อไปนี้คือ
        ๑. ปาราชิก
        ๒. สังฆาทิเสส
        ๓. ถุลลัจจัย
        ๔. ปาจิตตีย์
        ๕. ปาฏิเทสนียะ
        ๖. ทุกกฎ
        ๗. ทุพภาสิต

๑๐. อาจิณณกรรม คือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาทำซ้ำ ๆ กันมากจนเกิดความเคยชิน

๑๑. มนุสสวิคคหะ คือพระพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฆ่ามนุษย์ทั้งในครรภ์และนอกครรภ์

๑๒. อนันตริยกรรม คือกรรมอันหนัก กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน กรรมที่ให้ผล คือความเดือดร้อนไม่เว้นระยะเลย มี ๕ อย่าง คือ
        ๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
        ๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
        ๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
        ๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
        ๕. สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน

๑๓. อุปจาร คือที่ใกล้ชิด, ระยะใกล้เคียง, บริเวณรอบ ๆ
อุปจารพระสงฆ์ คือบริเวณรอบ ๆ เขตที่พระสงฆ์ชุมนุมกัน,
อุปจารเรือนในอรรถกถาพระวินัยท่านได้อธิบายไว้ดังนี้ อาคารที่ปลูกขึ้นร่วมในแค่ระยะน้ำตกที่ชายคาเป็นเรือน บริเวณรอบ ๆ เรือนซึ่งกำหนดเอาที่แม่บ้านยืนอยู่ที่ประตูเรือนสาดน้ำล้างภาชนะออกไป หรือแม่บ้านยืนอยู่ในเรือนโยนกระด้ง หรือไม้กวาดออกไปภายนอก ตกลงที่ใด ระยะรอบ ๆ กำหนดนั้นเป็นอุปจารเรือน บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดียืนอยู่ที่เขตอุปจารเรือนขว้างก้อนดินไป ก้อนดินที่ขว้างนั้นตกลงที่ใด ที่นั้นจาก
รอบ ๆ บริเวณอุปจารเรือน เป็นกำหนดเขตบ้าน บุรุษวัยกลางคนมีกำลังดีนั้นแหละ ยืนอยู่ที่เขตบ้านนั้นโยนก้อนดินไปเต็มกำลัง ก้อนดินตกที่ใด ที่นั้นเป็นเขตอุปจารบ้าน

สีมาที่สมมติเป็นติจีวราวิปปวาสนั้น จะต้องเว้นบ้านและอุปจารบ้านดังกล่าวนี้เสีย จึงจะสมมติขึ้น คือใช้เป็น
ติจีวาราวิปปวาสสีมาได้ ติจีวราวิปปวาส คือ การไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร คือภิกษุอยู่ในแดนสมมติ เป็นติจีวราวิปปลาสแล้ว อยู่ห่างจากไตรจีวร ก็ไม่เป็นอันอยู่ปราศ ไม่ต้องอาบัติด้วยนิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๑

๑๔. แดนสีมา คือเขตแดนที่หมู่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตแดนนั้น จะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน

๑๕. ไถยจิต คือจิตคิดจะลักจะขโมย, จิตประกอบด้วยความเป็นขโมย

๑๖. สุงกฆาตะ คือการเบียดเบียนส่วย การหนีหรือหลบเลี่ยงภาษี

๑๗. อวหาร คืออาการที่ถือว่าเป็นการลักทรัพย์ ในอรรถกถาแสดงไว้ ๒๕ อย่าง พึงทราบในที่นี้ ๑๓ อย่าง คือ ๑. ลัก ๒. ชิงหรือวิ่งราว ๓. ลักต้อน ๔. แย่ง ๕. ลักสับ ๖. ตู่ ๗. ฉ้อ ๘. ยักยอก ๙. ตระบัด ๑๐. ปล้น ๑๑. หลอกลวง ๑๒. กดขี่หรือกรรโชก ๑๓. ลักซ่อน

๑๘. สลากภัต คืออาหารถวายตามสลาก หมายเอาภัตตาหารอันทายกพร้อมใจถวาย ต่างคนต่างจัดมา เป็นของต่างชนิดกัน มักทำในช่วงเทศกาลผลไม้ ถวายพระด้วยวิธีการให้พระจับสลาก

๑๙. อุตตริมนุสสธรรม คือธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ มรรคผล บางทีเรียกให้ง่ายว่า ธรรมวิเศษหรือคุณวิเศษ

๒๐. มหรคต คือการเข้าถึงสภาวะอันยิ่งใหญ่ หมายถึงพระนิพพาน

๒๑. โลกุตตระ คือพ้นจากโลก พ้นวิสัยของโลก ไม่เนื่องในภพทั้งสาม คือกามภพ รูปภพ และอรูปภพ

๒๒. ฌาน คือการเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นภาวะที่จิตสงบ ประณีต มีสมาธิเป็นองค์ธรรมหลัก

๒๓. วิโมกข์ คือความหลุดพ้นจากอำนาจกิเลส

๒๔. สมาบัติ คือภาวะอันสงบ ประณีต ซึ่งพึงเข้าถึง สมาบัติมีหลายอย่าง เช่น ฌานสมาบัติ ๔ ผลสมาบัติ เป็นต้น

๒๕. ไตรวิชชา คือความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ ๓ ประการ คือ
        ๑. ความรู้ที่ทำให้ระลึกชาติในหนหลังได้
        ๒. ความรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
        ๓. ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้นไป

๒๖. อภิญญา คือความรู้อันยิ่ง, ความรู้ชั้นสูงในพระพุทธศาสนา มี ๖ ประการ คือ
        ๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
        ๒. ทิพพโสต หูทิพย์
        ๓. เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้
        ๔. ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
        ๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์
        ๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะกิเลสสิ้นไป

๒๗. อบาย คืออบายภูมิ หมายถึง ภูมิกำเนิดที่ปราศจากความเจริญ มี ๔ อย่าง คือ
        ๑. สัตว์นรก
        ๒. สัตว์เดรัจฉาน
        ๓. เปรต
        ๔. อสุรกาย

๒๘. ทัพพสัมภาระ คือสิ่งและเครื่องอันเป็นส่วนประกอบที่จะประกอบกันเข้าเป็นบ้านเรือน เรือ รถ เครื่องบินหรือเกวียน เป็นต้น

๒๙. ทายก คือผู้ให้ที่เป็นผู้ชาย ทายิกา คือผู้ให้ที่เป็นผู้หญิง

๓๐. อธิกรณ์ คือเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องจัดต้องทำ, เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการมี ๔ อย่าง คือ
        ๑. วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
        ๒. อนุวาทาธิกรณ์ การโจทก์หรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ
        ๓. อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ การปรับอาบัติและการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ
        ๔. กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่างๆที่สงฆ์ต้องทำ เช่นให้อุปสมบท


หัวข้อที่  ๑ - ๓๐  ,  ๓๑ - ๖๐  ,  ๖๑ - ๙๓