แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระอภิธรรม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ พระอภิธรรม แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์

อารมณ์พิสดาร

❁ อารมณ์พิสดาร 🥀

ตามที่ได้แสดงประเภทของอารมณ์ต่างๆ มาแล้ว มีอารมณ์ ๖ ซึ่งได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธรรมารมณ์ และยังจำแนกประเภทของอารมณ์ออกเป็น ๔ ประเภท โดยกามอารมณ์ มหัคคตอารมณ์ บัญญัติอารมณ์ โลกุตตรอารมณ์ เนื่องจากสภาวะของอารมณ์นั้นเป็นไปอย่างกว้างขวาง และมีชื่อเรียกได้หลายอย่างต่าง ๆ กัน โดยนัยแห่งเทศนา ฉะนั้น เมื่อจะรวบรวมประเภทของอารมณ์ต่าง ๆ นั้นโดยพิสดารแล้ว มีอยู่ ๒๑ อย่าง คือ :-

แสดงอารมณ์พิสดาร ๒๑ ประเภท

๑. กามอารมณ์ ได้แก่ กามจิต ๕๔, เจตสิก ๕๒, รูป ๒๘ ได้อารมณ์ ๖
๒. มหัคคตอารมณ์ ได้แก่ มหัคคตจิต ๒๗, เจตสิก ๓๕, ได้อารมณ์ ๑ คือ ธรรมารมณ์
๓. นิพพานอารมณ์ ได้แก่ นิพพาน ได้อารมณ์ ๑ คือ ธรรมารมณ์
๔. นามอารมณ์ ได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, นิพพาน ๑ ได้อารมณ์ ๑ คือ ธรรมารมณ์
๕. รูปอารมณ์ ได้แก่ รูป ๒๘ ได้อารมณ์ ๖
๖. ปัจจุบันอารมณ์ ได้แก่ จิต, เจตสิก, รูป ที่กำลังเกิดขึ้น ได้อารมณ์ ๖
๗. อดีตอารมณ์ ได้แก่ จิต, เจตสิก, รูป ที่ดับไปแล้ว ได้อารมณ์ ๖
๘.อนาคตอารมณ์ ได้แก่ จิต, เจตสิก, รูป ที่จะเกิดขึ้น ได้อารมณ์ ๖
๙. กาลวิมุตตอารมณ์ ได้แก่ นิพพาน, บัญญัติ ได้อารมณ์ ๑ คือ ธรรมารมณ์
๑๐. บัญญัติอารมณ์ ได้แก่ อัตถบัญญัติ, สัททบัญญัติ ได้อารมณ์ ๑ คือ ธรรมารมณ์
๑๑. ปรมัตถอารมณ์ ได้แก่ จิต, เจตสิก, รูป, นิพพาน ได้อารมณ์ ๖
๑๒. อัชฌัตตอารมณ์ ได้แก่ จิต, เจตสิก, รูป ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง ได้อารมณ์ ๖
๑๓. พหิทธอารมณ์ ได้แก่ จิต, เจตสิก, รูป ที่เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น และรูปที่ไม่มีชีวิต รวมทั้งนิพพาน, บัญญัติ ได้อารมณ์ ๖
๑๔. อัชฌัตตพหิทธอารมณ์ ได้แก่ จิต, เจตสิก, รูป ที่เกิดภายในตนและภายนอกตน ได้อารมณ์ ๖
๑๕. ปัญจารมณ์ ได้แก่ วิสัยรูป ๗ ได้อารมณ์ ๕
๑๖. รูปารมณ์ ได้แก่ สีต่าง ๆ
๑๗. สัททารมณ์ ได้แก่ เสียงต่างๆ
๑๘. คันธารมณ์ ได้แก่ กลิ่นต่างๆ
๑๙. รสารมณ์ ได้แก่ รสต่างๆ
๒๐. โผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ เย็น-ร้อน, อ่อน-แข็ง, หย่อนตึง
๒๑. ธรรมารมณ์ ได้แก่ จิต, เจตสิก, ปสาทรูป, สุขุมรูป, นิพพาน, บัญญัติ 

แสดงการจําแนกจิตที่รับอารมณ์โดยพิสดาร 🥀
โดยแน่นอน และไม่แน่นอน

🠞 ๑. กามอารมณ์

จิตที่รับกามอารมณ์ได้ มี ๕๖ ดวง คือ :-

 ก. จิตที่รับกามอารมณ์แน่นอนมี ๒๕ ดวง ได้แก่

  • ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง
  • มโนธาตุ ๓ ดวง
  • สันตีรณจิต ๓ ดวง
  • หสิตุปปาทจิต ๑ ดวง
  • มหาวิบากจิต ๘ ดวง
ข. จิตที่รับกามอารมณ์ไม่แน่นอนมี ๓๑ ดวง ได้แก่ 

  • อกุศลจิต ๑๒ ดวง
  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง
  • มหากุศลจิต ๘ ดวง
  • มหากิริยาจิต ๘ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับกามอารมณ์ไม่ได้ มี ๓๕ ดวง ได้แก่

  • มหัคคตจิต ๒๗
  • โลกุตตรจิต ๘

🠞 ๒. มหัคคตอารมณ์ จิตที่รับมหัคคตอารมณ์ มี ๓๗ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับมหัคคตอารมณ์แน่นอนมี ๖ ดวง ได้แก่

  • วิญญาณัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง

ข. จิตที่รับมหัคคตอารมณ์ไม่แน่นอนมี ๓๑ ดวง ได้แก่

  • อกุศลจิต ๑๒ ดวง
  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง
  • มหากุศลจิต ๘ ดวง
  • มหากิริยาจิต ๘ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับมหัคคตอารมณ์ไม่ได้ มี ๕๔ ดวง คือ

  • อเหตุกจิต (เว้นมโนทวาราวัชชนจิต ๑) ๑๗ ดวง
  • มหาวิบากจิต ๘ ดวง
  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อากาสานัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • อากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

🠞 ๓. นิพพานอารมณ์ จิตที่รับนิพพานอารมณ์ได้ มี ๑๙ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับนิพพานอารมณ์แน่นอนมี ๘ ดวง ได้แก่

  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

ข. จิตที่รับนิพพานอารมณ์ไม่แน่นอนมี ๑๑ ดวง ได้แก่

  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง
  • มหากุศลญาณสัมปยุตจิต ๔ ดวง
  • มหากิริยาญาณสัมปยุตจิต ๔ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับนิพพานอารมณ์ไม่ได้ มี ๗๒ ดวง ได้แก่

  • อกุศลจิต
  • อเหตุกจิต (เว้นมโนทวาราวัชชนะ)
  • มหากุศลญาณวิปปยุตจิต
  • มหากิริยาญาณวิปปยุตจิต
  • มหาวิบากจิต
  • มหัคคตจิต

🠞 ๔. นามอารมณ์ จิตที่รับนามอารมณ์ได้ มี ๕๗ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับนามอารมณ์แน่นอนมี ๑๔ ดวง ได้แก่

  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง
  • วิญญาณัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง

ข. จิตที่รับนามอารมณ์ไม่แน่นอนมี ๔๓ ดวง ได้แก่

  • กามจิต (เว้นทวิปัญจวิญญาณ-มโนธาตุ) ๔๑ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับนามอารมณ์ไม่ได้ มี ๓๔ ดวง ได้แก่

  • ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง
  • มโนธาตุ ๓ ดวง
  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อากาสานัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • อากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง

🠞 ๕. รูปอารมณ์ จิตที่รับรูปอารมณ์ได้ มี ๕๖ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับรูปอารมณ์แน่นอนมี ๑๓ ดวง ได้แก่

  • ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง
  • มโนธาตุ ๓ ดวง

ข. จิตที่รับรูปอารมณ์ไม่แน่นอนมี ๔๓ ดวง ได้แก่

  • กามจิต (เว้นทวิปัญจวิญญาณ-มโนธาตุ) ๔๑ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับรูปอารมณ์ไม่ได้ มี ๓๕ ดวง ได้แก่

  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

🠞 ๖. ปัจจุบันอารมณ์ จิตที่รับปัจจุบันอารมณ์ได้ มี ๕๖ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับปัจจุบันอารมณ์แน่นอนมี ๑๓ ดวง ได้แก่

  • ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง
  • มโนธาตุ ๓ ดวง

ข. จิตที่รับปัจจุบันอารมณ์ไม่แน่นอนมี ๔๓ ดวง ได้แก่

  • กามจิต (เว้นทวีปัญจวิญญาณ -มโนธาตุ) ๔๑ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับปัจจุบันอารมณ์ไม่ได้ มี ๓๕ ดวง ได้แก่

  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

🠞 ๗. อดีตอารมณ์ จิตที่รับอดีตอารมณ์ได้ มี ๔๙ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับอดีตอารมณ์แน่นอนมี ๖ ดวง ได้แก่

  • วิญญาณัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง

ข. จิตที่รับอดีตอารมณ์ไม่แน่นอนมี ๔๓ ดวง ได้แก่

  • กามจิต (เว้นทวีปัญจวิญญาณ -มโนธาตุ) ๔๑ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับอดีตอารมณ์ไม่ได้ มี ๔๒ ดวง ได้แก่

  • ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง
  • มโนธาตุ ๓ ดวง
  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อากาสานัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • อากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

🠞 ๘. อนาคตอารมณ์ จิตที่รับอนาคตอารมณ์ได้ มี ๔๓ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับอนาคตอารมณ์แน่นอน - ไม่มี 
ข. จิตที่รับอนาคตอารมณ์ไม่แน่นอนมี ๔๓ ดวง ได้แก่

  • กามจิต (เว้นทวิปัญจวิญญาณ-มโนธาตุ) ๔๑ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับอนาคตอารมณ์ไม่ได้ มี ๔๘ ดวง ได้แก่

  • ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง
  • มโนธาตุ ๓ ดวง
  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

🠞 ๙. กาลวิมุตตอารมณ์ จิตที่รับกาลวิมุตตอารมณ์ได้ มี ๖๐ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับกาลวิมุตตอารมณ์แน่นอนมี ๒๙ ดวง ได้แก่

  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อากาสานัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • อากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

ข. จิตที่รับกาลวิมุตตอารมณ์ไม่แน่นอนมี ๓๑ ดวง ได้แก่

  • อกุศลจิต ๑๒ ดวง
  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง
  • มหากุศลจิต ๘ ดวง
  • มหากิริยาจิต ๑๒ ดวง
  • อภิญญาจิต ๑๒ ดวง

ค. จิตที่รับกาลวิมุตตอารมณ์ไม่ได้ มี ๓๑ ดวง ได้แก่

  • อเหตุกจิต (เว้นมโนทวาราวัชชนจิต) ๑๗ ดวง
  • มหาวิบากจิต ๘ ดวง
  • วิญญาณัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง

🠞 ๑๐. บัญญัติอารมณ์ จิตที่รับบัญญัติอารมณ์ได้ มี ๕๒ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับบัญญัติอารมณ์แน่นอนมี ๒๑ ดวง ได้แก่

  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อากาสานัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • อากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง

ข. จิตที่รับบัญญัติอารมณ์ไม่แน่นอนมี ๓๑ ดวง ได้แก่

  • อกุศลจิต ๑๒ ดวง
  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง
  • มหากุศลจิต ๘ ดวง
  • มหากิริยาจิต ๘ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับบัญญัติอารมณ์ไม่ได้ มี ๓๙ ดวง คือ

  • อเหตุกจิต (มโนทวาราวัชชนะ) ๑๗ ดวง
  • มหาวิบากจิต ๘ ดวง
  • วิญญาณัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

🠞 ๑๑. ปรมัตถอารมณ์ จิตที่รับปรมัตถอารมณ์ได้ มี ๗๐ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับปรมัตถอารมณ์แน่นอนมี ๓๙ ดวง ได้แก่

  • อเหตุกจิต (เว้นมโนทวาราวัชชนะ) ๑๗ ดวง
  • มหาวิบากจิต ๘ ดวง
  • วิญญาณัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

ข. จิตที่รับปรมัตถ์อารมณ์ไม่แน่นอนมี ๓๑ ดวง ได้แก่ :-

  • อกุศลจิต ๘ ดวง
  • มโนทวาราวัชชนจิต ๘ ดวง
  • มหากุศลจิต ๘ ดวง
  • มหากิริยาจิต ๘ ดวง
  • อภิญญาจิต ๘ ดวง

ค. จิตที่รับปรมัตถอารมณ์ไม่ได้ มี ๒๑ ดวง ได้แก่ :-

  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อากาสานัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • อากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง

🠞 ๑๒. อัชฌัตตอารมณ์ จิตที่รับอัชฌัตตอารมณ์ได้ มี ๖๒ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับอัชฌัตตอารมณ์แน่นอนมี ๖ ดวง ได้แก่

  • วิญญาณัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง

ข. จิตที่รับอัชฌัตตอารมณ์ไม่แน่นอนมี ๕๖ ดวง ได้แก่

  • กามจิต ๕๔ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับอัชฌัตตอารมณ์ไม่ได้ มี ๒๙ ดวง ได้แก่

  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อากาสานัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • อากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

🠞 ๑๓. พหิทธอารมณ์ จิตที่รับพหิทธอารมณ์ได้ มี ๘๒ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับพหุทธอารมณ์แน่นอนมี ๒๖ ดวง ได้แก่

  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อากาสานัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

ข. จิตที่รับพหุทธอารมณ์ไม่แน่นอนมี ๕๖ ดวง ได้แก่

  • กามจิต ๕๔ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับพหุทธอารมณ์ไม่ได้ มี ๙ ดวง ได้แก่

  • วิญญาณัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • อากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง
  • เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง


🠞 ๑๔. อัชฌัตตพหิทธอารมณ์ จิตที่รับอัชฌัตตพหิทธอารมณ์ได้ มี ๕๖ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับอัชฌัตตพหิทธอารมณ์แน่นอน - ไม่มี
ข. จิตที่รับอัชฌัตตพหิทธอารมณ์ไม่แน่นอน มี ๕๖ ดวง ได้แก่

  • กามจิต ๕๔ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับอัชฌัตตพหิทธอารมณ์ไม่ได้ มี ๓๕ ดวง ได้แก่

  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

🠞 ๑๕. ปัญจารมณ์ จิตที่รับปัญจารมณ์ได้ มี ๔๖ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับปัญจารมณ์แน่นอนมี ๓ ดวง ได้แก่

  • มโนธาตุ ๓ ดวง

ข. จิตที่รับปัญจารมณ์ไม่แน่นอนมี ๔๓ ดวง ได้แก่

  • กามจิต (เว้นทวิปัญจ. - มโนธาตุ) ๔๑ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับปัญจารมณ์ไม่ได้ มี ๔๕ ดวง ได้แก่

  • ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง
  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

🠞 ๑๖. รูปารมณ์ จิตที่รับรูปารมณ์ได้ มี ๔๘ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับรูปารมณ์แน่นอนมี ๒ ดวง ได้แก่

  • จักขุวิญญาณ ๒ ดวง

ข. จิตที่รับรูปารมณ์ไม่แน่นอนมี ๔๖ ดวง ได้แก่

  • กามจิต (เว้นทวิปัญจวิญญาณ) ๔๔ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับรูปารมณ์ไม่ได้ มี ๔๓ ดวง ได้แก่

  • โสตวิญญาณ ๒ ดวง
  • ฆานวิญญาณ ๒ ดวง
  • ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง
  • กายวิญญาณ ๒ ดวง
  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง


🠞 ๑๗. สัททารมณ์ จิตที่รับสัททารมณ์ได้ มี ๔๘ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับสัททารมณ์แน่นอนมี ๒ ดวง ได้แก่

  • โสตวิญญาณ ๒ ดวง

ข. จิตที่รับสัททารมณ์ไม่แน่นอนมี ๔๖ ดวง ได้แก่

  • กามจิต (เว้นทวิปัญจวิญญาณ) ๔๔ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับสัททารมณ์ไม่ได้ มี ๔๓ ดวง ได้แก่

  • จุกขุวิญญาณ ๒ ดวง
  • ฆานวิญญาณ ๒ ดวง
  • ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง
  • กายวิญญาณ ๒ ดวง
  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง


🠞 ๑๘. คันธารมณ์ จิตที่รับคันธารมณ์ได้ มี ๔๘ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับคันธารมณ์แน่นอนมี ๒ ดวง ได้แก่

  • ฆานวิญญาณ ๒ ดวง

ข. จิตที่รับคันธารมณ์ไม่แน่นอนมี ๔๖ ดวง ได้แก่

  • กามจิต (เว้นทวิปัญจวิญญาณ) ๔๔ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับคันธารมณ์ไม่ได้ มี ๔๓ ดวง ได้แก่

  • จักขุวิญญาณ ๒ ดวง
  • โสตวิญญาณ ๒ ดวง
  • ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง
  • กายวิญญาณ ๒ ดวง
  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง


🠞 ๑๘. คันธารมณ์ จิตที่รับคันธารมณ์ได้ มี ๔๘ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับคันธารมณ์แน่นอนมี ๒ ดวง ได้แก่

  • ฆานวิญญาณ ๒ ดวง

ข. จิตที่รับคันธารมณ์ไม่แน่นอนมี ๔๖ ดวง ได้แก่

  • กามจิต (เว้นทวิปัญจวิญญาณ) ๔๔ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับคันธารมณ์ไม่ได้ มี ๔๓ ดวง ได้แก่

  • จักขุวิญญาณ ๒ ดวง
  • โสตวิญญาณ ๒ ดวง
  • ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง
  • กายวิญญาณ ๒ ดวง
  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

🠞 ๑๙. รสารมณ์ จิตที่รับรสารมณ์ได้ มี ๔๘ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับรสารมณ์แน่นอนมี ๒ ดวง ได้แก่

  • ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง

ข. จิตที่รับรสารมณ์ไม่แน่นอนมี ๔๖ ดวง ได้แก่

  • กามจิต (เว้นทวิปัญจวิญญาณ) ๔๔ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับรสารมณ์ไม่ได้ มี ๔๓ ดวง ได้แก่

  • จักขุวิญญาณ ๒ ดวง
  • โสตวิญญาณ ๒ ดวง
  • ฆานวิญญาณ ๒ ดวง
  • กายวิญญาณ ๒ ดวง
  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

🠞 ๒๐. โผฎฐัพพารมณ์ จิตที่รับโผฎฐัพพารมณ์ได้ มี ๔๘ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับโผฎฐัพพารมณ์น่นอนมี ๒ ดวง ได้แก่

  • กายวิญญาณ ๒ ดวง

ข. จิตที่รับโผฎฐัพพารมณ์ไม่แน่นอนมี ๔๖ ดวง ได้แก่

  • กามจิต (เว้นทวิปัญจวิญญาณ) ๔๔ ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับโผฎฐัพพารมณ์ไม่ได้ มี ๔๓ ดวง ได้แก่

  • จักขุวิญญาณ ๒ ดวง
  • โสตวิญญาณ ๒ ดวง
  • ฆานวิญญาณ ๒ ดวง
  • ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง
  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง


🠞 ๒๑. ธรรมารมณ์ จิตที่รับธรรมารมณ์ได้ มี ๗๘ ดวง คือ :-

ก. จิตที่รับธรรมารมณ์แน่นอนมี ๓๕ ดวง ได้แก่

  • มหัคคตจิต ๒๗ ดวง
  • โลกุตตรจิต ๘ ดวง

ข. จิตที่รับธรรมารมณ์ไม่แน่นอนมี ๔๓ ดวง ได้แก่

  • กามจิต (เว้นทวิปัญจวิญญาณ, มโนธาตุ) ๔๑ดวง
  • อภิญญาจิต ๒ ดวง

ค. จิตที่รับธรรมารมณ์ไม่ได้ มี ๑๓ ดวง ได้แก่

  • ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง
  • มโนธาตุ ๓ ดวง



การรับอารมณ์ของจิต


เราได้ทราบแล้วว่า “จิต” นั้น เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งซึ่งรู้อารมณ์ จิตที่เกิดขึ้นทุกขณะ ย่อมต้องมีอารมณ์เสมอและจิตที่เกิดขณะหนึ่ง ๆ ย่อมมีอารมณ์ได้อย่างเดียวเท่านั้น จะมีอารมณ์หลายๆ อย่างในขณะจิตเดียวกัน หาได้ไม่ แต่การรับอารมณ์ของจิตนั้น จิตบางดวง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในขณะใดก็ตามก็จะรับแต่อารมณ์เฉพาะอย่างนั้นอย่างเดียว รับอารมณ์อย่างอื่นไม่ได้ แต่ก็มีจิตหลายดวงที่อาจรับอารมณ์อย่างอื่นก็ได้ ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จิตมีอารมณ์ได้หลายอย่าง

ฉะนั้น ต่อไปนี้ จะได้แสดงถึงการรับอารมณ์ของจิตทั้งที่มีอารมณ์ได้หลายอย่าง และที่มีอารมณ์อย่างเดียว คือ :-

๑. จิตที่รับอารมณ์ได้อย่างเดียว    มี ๒๘ ดวง
๒. จิตที่รับอารมณ์ได้ ๒ อย่าง    มี ๒ ดวง
๓. จิตที่รับอารมณ์ได้ ๕ อย่าง    มี ๓ ดวง
๔. จิตที่รับอารมณ์ได้ ๖ อย่าง    มี ๔๓ ดวง
๕. จิตที่รับอารมณ์ได้ ๑๒ อย่าง    มี ๓ ดวง
๖. จิตที่รับอารมณ์ได้ ๑๔ อย่าง    มี ๙ ดวง
๗. จิตที่รับอารมณ์ได้ ๒๕ อย่าง    มี ๓ ดวง



 อธิบาย 
๑. จิตที่รับอารมณ์ได้อย่างเดียว มี ๒๘ ดวง คือ :-

จุกขุวิญญาณ ๒ มีอารมณ์อย่างเดียว คือ รูปารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน 
โสตวิญญาณ ๒ มีอารมณ์อย่างเดียว คือ สัททารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน
ฆานวิญญาณ ๒ คือ มีอารมณ์อย่างเดียว คันธารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน
ชิวหาวิญญาณ ๒ คือ มีอารมณ์อย่างเดียว รสารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน
กายวิญญาณ ๒ คือ มีอารมณ์อย่างเดียว โผฏฐัพพารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน

อากาสานัญจายตนฌานจิต ๓ มีอารมณ์อย่างเดียว คือ กสิณคฆาฏิมากาสบัญญัติ
อากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ มีอารมณ์อย่างเดียว คือ นัตถิภาวบัญญัติ
วิญญาณัญจายตนกุศลจิต ๑ วิญญาณัญจายตนวิบากจิต ๑ มีอารมณ์อย่างเดียว คือ อากาสานัญจายตนกุศลที่เคยเกิดมาแล้วแก่ตนในภพนี้และภพก่อน
เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนวิบากจิต ๑ มีอารมณ์อย่างเดียว คืออากิญจัญญายตนฌานกุศลที่เคยเกิดมาแล้วแก่ตนในภพนี้ และภพก่อน

โลกุตตรจิต ๘ มีอารมณ์อย่างเดียว คือ นิพพาน

๒.จิตที่รับอารมณ์ได้ ๒ อย่าง มี ๒ ดวง คือ :-

วิญญาณัญจายตนกิริยาจิต ๑ มีอารมณ์ ๒ อย่าง คือ :-

  • อากาสานัญจายตนกุศล ที่เคยเกิดแก่ตนแล้ว ในภพนี้หรือภพก่อน
  • อากาสานัญจายตนกิริยา ที่เคยเกิดมาแล้วแก่ตน ในภพนี้

เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาจิต ๑ มีอารมณ์ ๒ อย่าง คือ :-

  • อากิญจัญญายตนกุศล ที่เคยเกิดมาแล้วแก่ตน ในภพนี้ หรือภพก่อน
  • อากิญจัญญายตนกิริยา ที่เคยเกิดมาแล้วแก่ตน ในภพนี้

๓. จิตที่รับอารมณ์ได้ ๕ อย่าง มี ๓ ดวง คือ :-

มโนธาตุ ๓
  • ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉนจิต ๒ มีอารมณ์ ๕ อย่าง คือ รูปารมณ์, สัททารมณ์, คันธารมณ์, รสารมณ์, โผฏฐัพพารมณ์

๔. จิตที่รับอารมณ์ได้ ๖ อย่าง มี ๔๓ ดวง คือ :-

มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ตทาลัมพนจิต ๑๑ กามชวนจิต ๒๙ อภิญญาจิต ๒ มีอารมณ์ ๖ อย่าง คือ รูปารมณ์, สัททารมณ์, คันธารมณ์, รสารมณ์, โผฏฐัพพารมณ์, ธรรมารมณ์

๕. จิตที่รับอารมณ์ได้ ๑๒ อย่าง มี ๓ ดวง คือ :-

รูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓ มีอารมณ์ ๑๒ อย่าง คือ กสิณบัญญัติ ๑๐, อานาปานบัญญัติ ๑, มัชฌัตตสัตวบัญญัติ (อุเบกขาพรหมวิหาร) ๑

๖. จิตที่รับอารมณ์ได้ ๑๔ อย่าง มี ๙ ดวง คือ :-

รูปาวจรทุติยฌานจิต ๓ รูปาวจรตติยฌานจิต ๓ รูปาวจรจตุตถฌานจิต ๓ มีอารมณ์ ๑๔ อย่าง คือ กสิณบัญญัติ ๑๐, อานาปานบัญญัติ ๑, ปิยมนาปสัตวบัญญัติ (เมตตา) ๑, ทุกข์ตสัตวบัญญัติ (กรุณา)๑, สุขิตสัตวบัญญัติ (มุทิตา)๑ ,

๗.จิตที่รับอารมณ์ได้ ๒๕ อย่าง มี ๓ ดวง คือ :-

รูปาวจรปฐมฌานจิต ๓ มีอารมณ์ ๒๕ อย่าง คือ กสิณบัญญัติ ๑๐, อสุภบัญญัติ ๑๐, โกฏฐาสบัญญัติ (กายคตาสติ)๑, อานาปานบัญญัติ ๑, ปิยมนาปสัตวบัญญัติ ๑, ทุกข์ตสัตวบัญญัติ ๑, สุขิตสัตวบัญญัติ ๑

🔆เจตสิก กับ อารมณ์ 🔆🌳

จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ และการปรากฏขึ้นของจิตนั้น ย่อมประกอบพร้อมกับเจตสิก โดยเจโตยุตตลักขณะ คือ เจตสิกนั้น ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกันกับจิต เอกุปปาทะ ดับพร้อมกันกับจิต เอกนิโรธะ มีอารมณ์อันเดียวกันกับจิต เอกาลัมพนะ และมีที่อาศัยอันเดียวกันกับจิต เอกวัตถุกะ ฉะนั้น เจตสิกธรรมทั้งหลายนั้นย่อมมีการรับอารมณ์ได้เช่นเดียวกันกับจิต เมื่อจิตรับรู้อารมณ์อันใดเจตสิกที่ประกอบกับจิตก็ย่อมจะต้องรับรู้อารมณ์อันนั้นด้วย เมื่อจำแนกการรับอารมณ์โดยทั่วไปของเจตสิกแล้ว อาจจำแนกได้ดังนี้ คือ :-

  • เจตสิก ๕๐ (เว้นอัปปมัญญา) รับ ปัญจารมณ์
  • เจตสิก ๕๒ รับ ธรรมารมณ์
  • อกุศลเจตสิก ๑๔ รับ อารมณ์ ๖ ที่เป็นโลกียะและบัญญัติ
  • อิสสาเจตสิก ๑ รับ อารมณ์ ๖ ที่เป็น พหิทธารมณ์
  • วิรตี (โลกียะ) ๓ รับ อารมณ์ ๖ ที่เป็น กามอารมณ์
  • วิรตี (โลกุตตระ) ๓ รับ อารมณ์ คือนิพพาน
  • อัปปมัญญาเจตสิก ๒ รับ ธรรมารมณ์ ที่เป็น บัญญัติอารมณ์ (สัตว์) และพหิทธารมณ์
  • อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ปัญญาเจตสิก ๑ รับ อารมณ์ ๖ ที่เป็นโลกียะ, โลกุตตระ, อดีต, ปัจจุบัน, อนาคต, กาลวิมุต, อัชฌัตตะ และพหิทธะ

จําแนกเจตสิกรับอารมณ์ ๒๑ โดยแน่นอน และ ไม่แน่นอน

  • ๑. เจตสิกที่รับ กามอารมณ์ โดยแน่นอนไม่มี
  • ๒. เจตสิกที่รับ กามอารมณโดยไม่แน่นอน มี ๕๐ (เว้นอัปปมัญญา ๒)     
  • ๓. เจตสิกที่รับ มหัคคตอารมณ์ โดยแน่นอนไม่มี
  • ๔. เจตสิกที่รับ มหัคคตอารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๔๗ (เว้นวิรตี ๓ อัปปมัญญา ๒)
  • ๕. เจตสิกที่รับ นิพพานอารมณ์ โดยแน่นอน ไม่มี
  • ๖.  เจตสิกที่รับ นิพพานอารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๓๖ คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ โสภณเจตสิก ๒๓ (เว้นอัปปมัญญา ๒)
  • ๗. เจตสิกที่รับ นามอารมณ์ โดยแน่นอน ไม่มี
  • ๘. เจตสิกที่รับ นามอารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๕๐ ดวง (เว้นอัปปมัญญา ๒)
  • ๙. เจตสิกที่รับ รูปอารมณ์ โดยแน่นอน ไม่มี
  • ๑๐. เจตสิกที่รับ รูปอารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๕๐ ดวง (เว้นอัปปมัญญา ๒)
  • ๑๑. เจตสิกที่รับ ปัจจุบันอารมณ์ โดยแน่นอน ไม่มี
  • ๑๒. เจตสิกที่รับ ปัจจุบันอารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๕๐ ดวง (เว้นอัปปมัญญา ๒)
  • ๑๓. เจตสิกที่รับ อดีตอารมณ์ โดยแน่นอน ไม่มี
  • ๑๔. เจตสิกที่รับ อดีตอารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๔๗ ดวง (เว้นวิรตี ๓, อัปปมัญญา ๒)
  • ๑๕. เจตสิกที่รับ อนาคตอารมณ์ โดยแน่นอน ไม่มี
  • ๑๖. เจตสิกที่รับ อนาคตอารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๕๐ ดวง (เว้นอัปปมัญญา ๒)
  • ๑๗. เจตสิกที่รับ กาลวิมุตตอารมณ์ โดยแน่นอน มี ๒ ดวง คือ อัปปมัญญา ๒
  • ๑๘. เจตสิกที่รับ กาลวิมุตตอารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๕๐ ดวง (เว้นอัปปมัญญา ๒)
  • ๑๙. เจตสิกที่รับ บัญญัติอารมณ์ โดยแน่นอน มี ๒ ดวง คือ อัปปมัญญา ๒
  • ๒๐. เจตสิกที่รับ บัญญัติอารมณ์ โดยไม่แน่นอน ๔๗ ดวง (เว้นวิรตี ๓, อัปปมัญญา ๒)
  • ๒๑. เจตสิกที่รับ ปรมัตถอารมณ์ โดยแน่นอน มี ๓ ดวง คือ วิรตี ๓
  • ๒๒. เจตสิกที่รับ ปรมัตถอารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๔๗ ดวง (เว้นวิรตี ๓, อัปปมัญญา ๒)
  • ๒๓. เจตสิกที่รับ อัชฌัตตอารมณ์ โดยแน่นอน ไม่มี
  • ๒๔. เจตสิกที่รับ อัชฌัตตอารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๔๙ ดวง (เว้นอิสสา ๑, อัปปมัญญา ๒)
  • ๒๕. เจตสิกที่รับ พหิทธอารมณ์ โดยแน่นอน มี ๓ ดวง คือ อิสสา ๑, อัปปมัญญา ๒
  • ๒๖. เจตสิกที่รับ พหิทธอารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๔๙ ดวง (เว้นอิสสา ๑, อัปปมัญญา ๒)
  • ๒๗. เจตสิกที่รับ อัชฌัตตพหิทธอารมณ์ โดยแน่นอน ไม่มี
  • ๒๘. เจตสิกที่รับ อัชฌัตตพหิทธอารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๔๙ ดวง (เว้นอิสสา ๑, อัปปมัญญา ๒)
  • ๒๙. เจตสิกที่รับ รูปารมณ์, สัททารมณ์, คันธารมณ์, รสารมณ์, โผฏฐัพพารมณ์ โดยแน่นอน ไม่มี
  • ๓๐. เจตสิกที่รับ รูปารมณ์, สัททารมณ์, คันธารมณ์, รสารมณ์, โผฏฐัพพารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๕๐ ดวง (เว้นอัปปมัญญา ๒)
  • ๓๑. เจตสิกที่รับ ปัญจารมณ์ โดยแน่นอน ไม่มี
  • ๓๒. เจตสิกที่รับ ปัญจารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๕๐ ดวง (เว้นอัปปมัญญา ๒)
  • ๓๓. เจตสิกที่รับ ธรรมารมณ์ โดยแน่นอน มี ๒ ดวง คือ อัปปมัญญาเจตสิก ๒
  • ๓๔. เจตสิกที่รับ ธรรมารมณ์ โดยไม่แน่นอน มี ๕๐ ดวง (เว้นอัปปมัญญา ๒)




วันพฤหัสบดี

อารมณ์ของทวารวิมุตตจิต

ในจำนวนจิตทั้งหมด ส่วนมากแล้วจำเป็นต้องอาศัยทวารเกิดเสมอ เรียกจิตที่อาศัยทวารเกิดนี้ว่า “ทวาริกจิต” แต่ยังมีจิต ๑๙ ดวง เป็นจิตที่เกิดโดยไม่ต้องอาศัยทวารใดเลย ดังกล่าวแล้วใน “ทวารสังคหะ” จิต ๑๙ ดวงนั้น ได้แก่

  • อุเบกขาสันตีรณจิต ๒
  • มหาวิบากจิต ๘
  • มหัคคตวิบากจิต ๙

จิตทั้ง ๑๙ ดวงนี้ ขณะทำหน้าที่ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ, จุติกิจ ทั้ง ๓ อย่างนี้ แม้จะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด เพราะเกิดขึ้นด้วยอำนาจของกรรมในอดีตก็จริง แต่ก็ต้องรับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอารมณ์ ๖ อยู่เสมอ ซึ่งอารมณ์เหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องในปัจจุบันภพ เป็นอารมณ์ที่ได้มาจากภพก่อนที่มรณาสันนชวนะ (จิตที่เสพอารมณ์เมื่อใกล้จะตาย) รับเอามาเมื่อใกล้จะตาย แล้วแต่การเสพอารมณ์เมื่อใกล้จะตายของผู้นั้นจะได้รับอารมณ์อะไร ถ้าเมื่อใกล้จะตาย รับรูปารมณ์ รูปารมณ์ นั้น ก็เป็นอารมณ์ของทวารวิมุตตจิต หรือเมื่อใกล้จะตาย มรณาสันนชวนะรับเอาสัททารมณ์, คันธารมณ์, รสารมณ์, โผฏฐัพพารมณ์ ธรรมารมณ์แล้ว สัททารมณ์ เป็นต้นเหล่านั้นก็เป็นอารมณ์ของทวารวิมุตตจิต จึงกล่าวได้ว่า อารมณ์ของทวารวิมุตตจิต คือ อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอารมณ์ทั้ง ๖ นั้น


อารมณ์ของทวารวิมุตตจิต ที่เกี่ยวเนื่องด้วยมรณาสันนชวนะนั้น มีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า กรรมอารมณ์, กรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์

คือถ้าอารมณ์ ๖ ที่มาปรากฏแก่ผู้ที่ใกล้จะตายนั้น ได้แก่ ปัญจารมณ์ คือ รูปารมณ์, สัททารมณ์, คันธารมณ์, รสารมณ์, โผฏฐัพพารมณ์ ใน ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนี้แล้ว เรียกอารมณ์นั้นว่า กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ ก็ได้ แล้วแต่สภาพของอารมณ์ที่มาปรากฏเป็นนิมิตหมายให้นั้น

ส่วนธรรมารมณ์ที่ปรากฏเมื่อใกล้จะตายนั้น เรียกว่า กรรมอารมณ์ ก็ได้กรรมนิมิตอารมณ์ ก็ได้, คตินิมิตอารมณ์ ก็ได้ ย่อมแล้วแต่สภาพของอารมณ์ที่มาปรากฏนั้น อารมณ์ของทวารวิมุตตจิตนั้น จึงได้แก่ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ เป็นอารมณ์ ๖ ที่มาปรากฏแก่ผู้ที่ใกล้จะตาย ในมรณาสันนชวนะ อารมณ์นี้ต้องปรากฏแก่สัตว์ทั่วไป เว้นแต่อสัญญสัตตพรหมและพระอรหันต์

ส่วนอารมณ์ ๖ ที่มาปรากฏทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ในเวลาปกติ นั้นไม่เรียกว่า กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์หรืออารมณ์ ๖ ที่ปรากฏแก่พระอรหันต์ เมื่อเวลาจะนิพพานก็ไม่เรียกว่า กรรม, กรรมนิมิต, คตินิมิตอารมณ์ เช่นเดียวกัน เพราะไม่มีการเกิดต่อไปอีกแล้ว ส่วนสัตว์ทั้งหลายที่ยังต้องมีการเกิด - การตาย เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ (เว้นอสัญญสัตตพรหม) จะต้องมีกรรมอารมณ์, กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ปรากฏขึ้นเมื่อใกล้ตายเสมอ

กรรมอารมณ์ 🥀

กรรมอารมณ์ ได้แก่ ธรรมารมณ์ที่เกี่ยวกับ กุศลกรรม, อกุศลกรรม ที่เป็นคุรุกรรม, อาจิณณกรรม, อาสันนกรรม หรือ กฏตตากรรม ซึ่งจะส่งผลให้ปฏิสนธิในภพหน้า ที่เป็นเหมือนกับการแสดงตัวให้เด่นชัดเฉพาะหน้าปรากฏในมโนทวาร หรือกุศลกรรม, อกุศลกรรม ที่ให้เกิดปฏิสนธินั้น ย่อมปรากฏในทางใจด้วยอำนาจทำตนให้เหมือนกับเกิดขึ้นใหม่ ๆ การปรากฏแห่งกรรมอารมณ์ จึงมี ๒ อย่าง

๑. กรรมอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นโดยกุศลกรรม-อกุศลกรรม แสดงตัวให้เด่นชัด “อภิมุขีภูตํ” เป็นการปรากฏขึ้นด้วยอำนาจแห่ง “ปุพฺเพกตสัญฺญา” คือ อดีตสัญญาที่จิตใจจดจำเรื่องภายในตนที่เป็นมาแล้วในกาลก่อน เช่น กุศลกรรมของตนที่เคยเกิดปีติโสมนัสในขณะทำบุญให้ทาน รักษาศีล, เจริญภาวนา เมื่อ ๑๐-๒๐ ปีที่ล่วงมาแล้ว มาบัดนี้ยังรำลึกจำกุศลปีติโสมนัสนั้น ๆ ได้อยู่ หรืออกุศลกรรมที่ตนเคยเสียอกเสียใจในขณะประสบอัคคีภัย, ถูกโกงเมื่อ ๑๐-๒๐ ปีล่วงมาแล้ว หรือที่เคยโกรธแค้นผู้ใดในกาลก่อน ครั้นถึงเวลาใกล้จะตายก็หวนระลึกจำความเสียใจ หรือความโกรธแค้นในอดีตนั้นขึ้นมาได้ ข้อนี้ อุปมาเหมือนผู้ใหญ่ที่มีอายุมากแล้ว นึกถึงความเยาว์วัยของตน เมื่อครั้งเป็นหนุ่มสาว มีความเบิกบานสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างใด ก็ยังนึกจำความเบิกบานสนุกสนานในครั้งกระนั้นได้ การปรากฏแห่งกรรมอารมณ์ตามปุพฺเพกตสัญฺญา ก็เป็นฉันนั้น

ส่วนผู้ใกล้จะตาย ที่จดจำเรื่องภายนอกตน มีกิริยาอาการ วัตถุสิ่งของ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มีนิมิตเครื่องหมายอย่างนี้ อย่างนั้น เหล่านี้จัดว่า เป็น กรรมนิมิตอารมณ์ (ไม่ใช่กรรมอารมณ์)

๒. กรรมอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นโดยกุศลกรรม-อกุศลกรรม ทำตนให้เหมือนกับการเกิดขึ้นใหม่ ๆ คือ ปรากฏขึ้นด้วยอำนาจ “สมฺปติกตสญฺญา” คือ สัญญาความจำเรื่องราวภายในตน เป็นไปคล้าย ๆ กับว่ากำลังกระทำอยู่เดี๋ยวนี้ เช่น กุศลกรรมที่ตนเคยปีติโสมนัส ในขณะทำบุญ, ให้ทาน รักษาศีล, เจริญภาวนา หรืออกุศลกรรมที่เคยเสียใจ เพราะไฟไหม้บ้าน หรือถูกโกงจนล้มละลาย หรือเคยโกรธแค้นผู้หนึ่งผู้ใดเป็นเวลาล่วงมาหลายปีแล้ว ครั้นเมื่อเวลาใกล้ตาย ปีติโสมนัสก็เกิดขึ้น คล้ายกับว่า ตนกำลังทำบุญให้ทาน รักษาศีล, เจริญภาวนาอยู่ หรือความโกรธแค้นเกิดขึ้น คล้ายๆ กับว่า ตนกำลังทะเลาะวิวาทอยู่กับใครสักคน ข้อนี้อุปมาเหมือนหนึ่ง ความสนุกสนานที่เกิดขึ้นในใจแก่ผู้ที่กำลังหลับในเวลากลางคืนเนื่องจากฝันไป เพราะเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน จากที่ได้ดูหนัง ดูละคร ดูกีฬา มาเมื่อตอนเย็น กรรมอารมณ์ที่กล่าวมาแล้วนี้ ปรากฏได้เฉพาะมโนทวาร จะไม่ปรากฏทางปัญจทวารเลย กรรมอารมณ์นี้ ย่อมคิดถึงการกระทำที่ล่วงมาแล้ว เป็นอดีตอารมณ์

ถ้ากรรมอารมณ์เป็นกุศลกรรม ย่อมนำไปสู่สุคติ
ถ้ากรรมอารมณ์เป็นอกุศลกรรม ย่อมนำไปสู่ทุคติ



❁ กรรมนิมิตอารมณ์ 🥀
กรรมนิมิตอารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่เป็นเหตุของการกระทำ

กมฺมสฺส นิมิตฺตํ = กมุมนิมิตฺตํ (อารมฺมณํ).

แปลความว่า อารมณ์ที่เป็นเหตุของการกระทำ ชื่อว่า กรรมนิมิตอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ ๖ คือ สี, เสียง, กลิ่น, รส, เย็น, ร้อน, อ่อน, แข็ง, หย่อน, ตึง และสภาพที่รู้ได้ทางใจ โดยมุ่งหมายเอาแต่เฉพาะอารมณ์ ๖ ที่เกี่ยวด้วยการกระทำของแต่ละบุคคลเท่านั้นที่ตนได้กระทำด้วยกาย วาจา ใจ อารมณ์ ๖ ที่เกี่ยวด้วยการกระทำของตน ที่เป็นกรรมนิมิตได้นี้มี ๒ อย่าง คือ :-

๑. อุปลัทธกรรมนิมิต ได้แก่ อารมณ์ ๖ ที่ตนไปประสบพบเห็นเป็นประธานในขณะกระทำ

  • ก. ฝ่ายกุศล เช่น ทาน (ที่เคยให้), เลี้ยงพระ, ใส่บาตร, ถวายกฐิน, ทอดผ้าป่า, สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล วัดวาอาราม สำนักปฏิบัติ, อาหารคาวหวาน (ที่เคยถวาย)
  • ข. ฝ่ายอกุศล เช่น ปาณาติบาต, สัตว์ที่ถูกฆ่า, ทรัพย์สินที่ถูกขโมย, สตรีที่ล่วงกาเมสุมิจฉาจาร, เห็นภาพกิริยาอาการของตนที่ทำทุจริตต่าง ๆ

๒.อุปกรณ์กรรมนิมิต ได้แก่ อารมณ์ ๖ ที่ตนได้ประสบมา แต่มิใช่ฐานะเป็นประธานแห่งการกระทำ เป็นเพียงเครื่องประกอบอุดหนุนในขณะการกระทำเท่านั้น

  • ก. ฝ่ายกุศล เช่น พระพุทธรูป, ดอกไม้ธูปเทียน, ถ้วยชาม, ขันถาด, เสื่ออาสนะ, โต๊ะ, เก้าอี้, การศึกษาเล่าเรียนธรรม, หนังสือ, ครู อาจารย์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เป็นเครื่องใช้ในการทำกุศล
  • ข. ฝ่ายอกุศล เช่น แห, อวน, หอก, ดาบ, ปืน ที่ใช้ในการล่าสัตว์, ขวดเหล้า, กับแกล้ม, พรรคพวก ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องใช้อื่นๆ ที่อุดหนุนทุจริตกรรมให้สำเร็จ

ในนิมิตทั้ง ๒ อย่างนี้ สรุปความว่า บรรดาสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเกี่ยวกับการทำดี ทำชั่ว โดยตรง เป็น อุปลัทธกรรมนิมิต สิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายที่เป็นเครื่องประกอบให้การอุดหนุนแก่การทำดี ทำชั่ว เหล่านั้นเป็นอุปกรณ์กรรมนิมิต ถ้าเมื่อใกล้จะตาย กรรมนิมิตต่างๆ เหล่านี้ เป็นเครื่องหมายปรากฏเฉพาะหน้า มีอารมณ์เป็นฝ่ายกุศลแล้ว ก็จะนำไปสู่สุคติ ถ้ากรรมนิมิตอารมณ์เหล่านั้นเป็นฝ่ายอกุศลแล้ว ย่อมนำไปสู่ทุคติ

❁ คตินิมิตอารมณ์ 🥀
คตินิมิตอารมณ์ หมายความว่า อารมณ์แห่งภพชาติที่จะพึงถึง คืออารมณ์ที่จะได้เสวยในภพถัดไป

คติยา นิมิตฺตํ = คตินิมิตฺตํ” (อารมฺมณํ).

แปลความว่า อารมณ์ของภพชาติที่จะพึงถึง ชื่อว่า คตินิมิต คตินิมิตนี้ ก็ได้แก่ อารมณ์ ๖ นั่นเอง อารมณ์ ๖ นี้ หาใช่เป็นอารมณ์ ๖ ที่เกี่ยวข้องของภพชาตินี้ไม่ แต่เป็นอารมณ์ ๖ ที่จะพึงได้พบเห็น และได้เสวยในภพหน้าส่วนเดียว

คตินิมิตอารมณ์นี้ มี ๒ อย่าง คือ :-

๑.อุปลภิตัพพคตินิมิต หมายความว่า อารมณ์ ๖ ของภพชาติที่จะพึงพบเห็น เช่น ถ้าจะไปเกิดในเทวโลก จะเห็นราชรถ, วิมาน, เทพบุตร, เทพธิดา, เครื่องประดับ, สวนสวรรค์, พันธุ์บุปผาชาติ เป็นต้น ถ้าจะไปเกิดเป็นมนุษย์ จะเห็นครรภ์มารดา, ห้อง, เรือน, เห็นเครื่องใช้, บ้านเมือง, หมู่บ้าน เป็นต้น ถ้าจะไปเกิดเป็นดิรัจฉาน ย่อมเห็นสัตว์ต่าง ๆ มีช้าง, ม้า, วัว, ควาย, แมว, สุนัข, นก, ปลา, กา, ไก่ เป็นต้น หรือเห็นสถานที่อยู่ของดิรัจฉาน เช่น ห้วย, หนอง, คลองบึง, ป่าไม้, ต้นไม้, ถ้ำ เหล่านี้ เป็นต้น ถ้าจะไปเกิดเป็นเปรตและอสุรกาย ย่อมจะเห็นป่าทึบ, เหว, ทะเล, แม่น้ำ, ภูเขา, สถานที่อันสงบเงียบน่าหวาดเสียว อันเป็นที่อยู่ของพวกเปรตพวกอสุรกาย เป็นต้น

ถ้าจะไปเกิดในนิรยภูมิ ย่อมเห็นเครื่องประหัตประหาร เห็นสุนัข, กา, นกแร้ง ที่เป็นสัตว์นรกที่น่ากลัว, เห็นพระยายม, เห็นนายนิรยบาล และ สถานที่เหล่านี้ มีเปลวเพลิง ควันที่ฟุ้งตลบ เหล่านี้ เป็นต้น

๒.อุปโภคคตินิมิต หมายความว่า อารมณ์ ๖  ของชาติที่จะพึงได้เสวย เช่น นั่งในราชรถ เที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ มีสวนสวรรค์ เป็นต้น ทำให้เกิดความสนุกสนานเบิกบานใจ บริโภคสุทธาโภชน์ร่วมกับเทพบุตร เทพธิดา สวมใส่ทิพย์อาภรณ์ เป็นต้น ถ้าจะเกิดในมนุษยภูมิ ย่อมมีนิมิตเหมือนกับว่าตนกำลังเดินไปสู่ที่สนทนาปราศรัยกับผู้หนึ่งผู้ใด หรือประกอบการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น ถ้าจะไปเกิดในดิรัจฉานภูมิ รู้สึกว่า ตนได้เป็นสัตว์เดรัจฉานพวกใดพวกหนึ่ง หรือเห็นที่อาศัยของสัตว์เหล่านั้น หรือกำลังเล่นหยอกล้ออยู่กับสัตว์นั้นๆ ถ้าจะไปเกิดเป็นเปรตและอสุรกาย ย่อมเกิดความรู้สึกว่าตนกำลังเดินไปในสถานที่ต่างๆ อันน่าหวาดเสียวหรือร่างกายของตนปรากฏเป็นที่น่าเกลียดน่ากลัว หรือกำลังอดอยากหิวกระหาย ต้องการจะบริโภค กำลังแสวงหาน้ำและอาหาร เหล่านี้ เป็นต้น

ถ้าจะไปเกิดในนิรยภูมิ ย่อมมีความรู้สึกเหมือนว่า ตนกำลังถูกฉุดคร่าทุบตีอยู่ ถูกสุนัขขบกัดอยู่ หรือถูกจองจำด้วยพันธนาการต่าง ๆ หรือเที่ยวไปในสถานที่อดอยากทุรกันดาร เที่ยวไปในสถานที่บุคคลถูกจองจำอยู่ มีความหวาดเสียวอย่างเหลือล้น เหล่านี้ เป็นต้น

ส่วนที่จะไปเกิดในพรหมโลกนั้น คตินิมิตทั้ง ๒ อย่างนี้ ย่อมไม่มี จะมีแต่บัญญัติกรรมนิมิต และมหัคคตกรรมนิมิต เท่านั้น เพราะนิมิตทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นผลแห่งฌานจิต ซึ่งมหัคคจิต ย่อมรับบัญญัติอารมณ์ และมหัคคตอารมณ์เท่านั้น อันเป็นอารมณ์ที่ส่งให้ปฏิสนธิในพรหมโลกได้คตินิมิตนี้ ย่อมปรากฏทางทวารทั้ง ๖ แต่ทางเดียว คือ เห็นทางทวาร ๖ และจัดเป็นอนาคตอารมณ์ เพราะจะได้ประสบนิมิตนั้น ๆ ต่อไป

ประมวลอารมณ์ของทวารวิมุต คือ :-

กรรมอารมณ์ เมื่อ

  • กล่าวโดยอารมณ์ ได้เฉพาะธรรมารมณ์
  • กล่าวโดยทวาร เกิดเฉพาะทางมโนทวาร
  • กล่าวโดยกาล เป็นอดีตอารมณ์

กรรมนิมิตอารมณ์ เมื่อ

  • กล่าวโดยอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ ๖
  • กล่าวโดยทวาร ได้แก่ ทวาร ๖
  • กล่าวโดยกาล เป็นอารมณ์ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และกาลวิมุติ

คตินิมิตอารมณ์ เมื่อ

  • กล่าวโดยอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ ๖
  • กล่าวโดยทวาร ได้แก่ ทวาร ๖
  • กล่าวโดยกาล เป็นได้เฉพาะอนาคต และกาลวิมุติ


วันพุธ

อารัมมณสังคหะ

 แสดงการรวบรวมจิตและเจตสิก โดยประเภทแห่งการรับอารมณ์ ชื่อว่า “อารัมมณสังคหะ

อารมณ์ คือ ธรรมชาติ อันเป็นที่น่ายินดีของจิตและเจตสิก หรือเป็นธรรมชาติ อันเป็นที่ยึดหน่วงของจิตและเจตสิกทั้งหลาย ดังวจนัตถะว่า (จิตฺตเจตสิกานิ) อาคนฺตวา เอตฺถ รมนฺตีติ อารมฺมณํ แปลว่า จิตและเจตสิกทั้งหลายมาแล้วย่อมยินดีในธรรมชาตินี้ ฉะนั้นธรรมชาตินี้ ชื่อว่า อารมฺมณ. (ธรรมชาติเป็นที่มายินดีของจิตและเจตสิก) (จิตฺฺตเจตสิเกหิ) อาลมฺพิยตีติ อาลมฺพนํ แปลว่า ธรรมชาติใด ที่จิตและเจตสิกทั้งหลายยึดหน่วงอยู่ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อาลมุพน. (ธรรมชาติเป็นที่ถูกจิตและเจตสิกยึดหน่วง)

ฉะนั้น ธรรมชาติใดที่ทําให้จิตและเจตสิกข้องติดอยู่โดยอาการเป็นที่น่ายินดี หรือเป็นที่ให้ยึดหน่วงอยู่ได้ ธรรมชาตินั้นเรียกว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ ซึ่งได้แก่ อารมณ์ ๖ อย่าง คือ :- 

อารมณ์ ๖ ประเภท
๑. รูปารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ วัณณรูป คือ สีต่าง ๆ
๒. สัททารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ สัททรูป คือ เสียงต่างๆ
๓. คันธารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ คันธรูป คือ กลิ่นต่าง ๆ
๔. รสารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ รสรูป คือ รสต่าง ๆ
๕. โผฏฐัพพารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ 

  • ปฐวี > คือ อ่อน-แข็ง
  • เตโช > คือ เย็น-ร้อน
  • วาโย > คือ หย่อน-ตึง

๖. ธรรมารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, รูป ๒๑, นิพพาน, บัญญัติ

อธิบาย

ในบรรดาสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายนั้น ถ้าไม่มีอารมณ์เป็นที่อาศัยยึดเหนี่ยวแล้ว จิตและเจตสิกแห่งสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ อุปมาเหมือน คนชรา หรือทุพพลภาพ ย่อมต้องอาศัยไม้เท้า หรือราวเชือกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวไว้ให้ทรงตัวลุกขึ้นเดินไปได้ ฉันใด จิตและเจตสิกทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ต้องมีอารมณ์เป็นเครื่องอาศัยยึดเหนี่ยวให้ปรากฏขึ้นได้ ฉันนั้น

ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงอารมณ์ ย่อมต้องผูกพันไปถึงจิต และเมื่อจะกล่าวถึงจิต ก็จะต้องมีอารมณ์เช่นเดียวกัน จิตใดที่ไม่มีอารมณ์นั้น ไม่มีเลย อารมณ์อันเป็นอาหารของจิตนั้น เมื่อจำแนกตามความสามารถในการรับอารมณ์ต่าง ๆ โดยอาศัยผ่านทางทวารนั้น มีอยู่ ๖ ประการ คือ

  • ๑. รูปารมณ์ แปลว่า รูปเป็นอารมณ์ รูปในความหมายนี้ ได้แก่ วัณณรูป คือ สีต่าง ๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตและเจตสิกได้ ทางทวารตา
  • ๒.สัททารมณ์ หมายถึง เสียงเป็นอารมณ์ ได้แก่ สัททรูป อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตและเจตสิก ทางทวารหู
  • ๓. คันธารมณ์ หมายถึง กลิ่น เป็นอารมณ์ ได้แก่ คันธรูป เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตและเจตสิก ทางทวารจมูก
  • ๔.รสารมณ์ หมายถึง รส เป็นอารมณ์ ได้แก่ รสรูป อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตและเจตสิก ทางทวารลิ้น
  • ๕. โผฏฐัพพารมณ์ องค์ธรรม ได้แก่ หมายถึง การกระทบถูกต้องกายเป็นอารมณ์ ได้แก่ ปฐวี, เตโช, วาโย คือ ความแข็ง-อ่อน, เย็น-ร้อน, หย่อนตึงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตและเจตสิก ทางทวารกาย
  • ๖.ธรรมารมณ์ หมายถึง สภาพธรรมที่รู้ได้เฉพาะมโนทวาร (ทางใจ) ได้แก่ สภาพธรรม ๖ ประการ คือ จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, ปสาทรูป ๕, สุขุมรูป ๑๖, นิพพาน และบัญญัติ อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตและเจตสิกทางใจ

รูปารมณ์, สัททารมณ์, คันธารมณ์, รสารมณ์ และโผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์ทั้ง ๕ นี้ รวมเรียกว่า ปัญจารมณ์ ซึ่งเป็น รูปธรรม ส่วนธรรมารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ ๖ องค์ธรรมได้แก่ จิต เจตสิก และนิพพาน นั้น เป็นนามธรรม สำหรับปสาทรูป ๕, สุขุมรูป ๑๖ นั้น เป็นรูปธรรม เฉพาะบัญญัติ ไม่เป็นทั้ง รูปธรรม และนามธรรม คงเป็นแต่ บัญญัติธรรม เท่านั้นปัญจารมณ์ และ ธรรมารมณ์ รวมเรียกว่า อารมณ์ ๖ หรือ ฉอารมณ์

 🌼 อำนาจของอารมณ์

ในอารมณ์ ๖ นี้ เมื่อจำแนกโดยกำลังอำนาจของอารมณ์แล้ว อาจแบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ :-

๑. สามัญอารมณ์ คือ อารมณ์ ๖ ชนิดที่เป็นธรรมดาสามัญทั่ว ๆ ไป ไม่มีกำลังแรงเป็นพิเศษที่เหนี่ยวน้อมเอาจิตและเจตสิกไปสู่อารมณ์นั้นๆ ได้

๒.อธิบดีอารมณ์ เป็นอารมณ์ชนิดพิเศษ มีกำลังอำนาจแรงมาก สามารถทำให้นามธรรม คือ จิตและเจตสิก เข้ายึดอารมณ์นั้น ๆ ไว้อย่างหนักหน่วง อารมณ์ที่มีกำลังแรงมากเช่นนี้ เรียกว่า อารัมมณาธิปติ หรืออธิบดีอารมณ์ อารมณ์ที่เป็นอธิบดีได้นี้ ก็ต้องเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา คือ อิฏฐารมณ์ อิฏฐารมณ์ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่

สภาวอิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่น่ายินดีโดยธรรมชาติ หรือโดยสภาวะเช่น รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ เหล่านี้เป็นต้น ที่เป็นที่น่ายินดีแก่บุคคลโดยทั่วไป

ปริกัปปอิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์ ที่น่ายินดีชอบใจ เฉพาะบุคคล ไม่ใช่ทั่วไปแก่สัตว์ทั้งหมด อารมณ์ชนิดนี้ ไม่ใช่อารมณ์ที่น่ายินดีโดยธรรมชาติ หรือโดยสภาวะ ซึ่งไม่เป็นที่น่าปรารถนาของบุคคลส่วนมาก แต่เป็นอารมณ์ ที่น่ายินดีพอใจของบุคคล หรือสัตว์บางจำพวก หรือเฉพาะตนเท่านั้น

สภาวอิฏฐารมณ์ หรือปริกัปปอิฏฐารมณ์นี้ เมื่อสามารถทำให้นามธรรมเกิดขึ้นได้โดยอาการยึดหน่วงอารมณ์นั้นเป็นพิเศษแล้วก็ได้ชื่อว่า เป็นอธิบดีอารมณ์ ดังวจนัตถะว่า 

(จิตฺตเจตสิเกหิ) อาลมฺพิยตีติ อาลมฺพนํ

แปลว่า ธรรมชาติใด ที่จิตและเจตสิกทั้งหลายยึดหน่วงอยู่ ฉะนั้นธรรมชาตินั้น ชื่อว่า อาลมุพน ได้แก่ อารมณ์ ๖ ที่เป็นอธิบดี

 🌼 ความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ ๖ กับ ทวาร

๑. จักขุทวาริกจิต ๔๖ ดวง รับรูปารมณ์ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
๒. โสตทวาริกจิต ๔๖ ดวง รับสัททารมณ์ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
๓. ฆานทวาริกจิต ๔๖ ดวง รับคันธารมณ์ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
๔. ชิวหาทวาริกจิต ๔๖ ดวง รับรสารมณ์ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
๕. กายทวาริกจิต ๔๖ ดวง รับโผฏฐัพพารมณ์ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
๖. มโนทวาริกจิต ๖๗ หรือ ๙๙ ดวง รับอารมณ์ ๖ ที่เป็นปัจจุบัน, อดีต, อนาคต, กาลวิมุต ตามสมควร
๗. ทวารวิมุตตจิต ๑๙ ดวง ที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิ, ภวังค์, จุติ, รับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งในบรรดาอารมณ์ ๖ ที่เรียกว่า กรรมอารมณ์, กรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์ ที่เป็น ปัจจุบัน, อดีตและบัญญัติอารมณ์ ที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ ขณะที่มรณาสันนชวนะ รับเอาจากภพก่อน เมื่อใกล้จะตายเป็นส่วนมาก

อธิบาย

๑ - ๕ จักขุทวาริกจิต, โสตทวาริกจิต, ฆานทวาริกจิต, ชิวหาทวาริกจิตและกายทวาริกจิต มีจิตเกิดได้ ๔๖ ดวง คือ กามจิต ๔๖ ดวง (เว้นจิต ๘ ดวง ในทวิปัญจวิญญาณ ที่เกิดไม่ได้ โดยเฉพาะทางทวารนั้นๆ)
๖. มโนทวาริกจิต ๖๗ หรือ ๙๙ ดวง คือ :-

  • - กามจิต ๔๑ ดวง (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐, มโนธาตุ ๓)
  • - มหัคคตจิต ๑๘ ดวง (เว้นมหัคคตวิบากจิต ๙) โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐

๗. ทวารวิมุตตจิต ๑๙ ดวง คือ :-

  • - อุเบกขาสันติรณจิต ๒ ดวง
  • - มหาวิบากจิต ๘
  • - มหัคคตวิบากจิต ๙

อารมณ์ ๖ คือ รูปารมณ์, สัททารมณ์, คันธารมณ์, รสารมณ์, โผฏฐัพพารมณ์ และธรรมารมณ์ ดังกล่าวแล้ว เมื่อสงเคราะห์โดยกาลแล้วแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ :-

๑.เตกาลิกอารมณ์ คือ อารมณ์๖ ที่เกี่ยวด้วยกาลทั้ง ๓ คือ
อดีต, ปัจจุบันและอนาคต องค์ธรรมได้แก่ จิต, เจตสิก, รูป จิต เจตสิก รูป ที่เป็นอดีตอารมณ์นั้น หมายถึง จิต เจตสิก รูปที่เป็นอารมณ์เหล่านี้ ผ่านพ้นไปแล้ว คือ ได้เห็นแล้ว, ได้ยินแล้ว, ได้กลิ่นแล้ว ได้รู้รสแล้ว, ได้ถูกต้องสัมผัสแล้ว และได้คิดนึกถึงอารมณ์ที่ผ่านมาแล้วนี้เรียกว่า อดีตอารมณ์

จิต เจตสิก รูป ที่เป็นอารมณ์ปัจจุบันนั้น หมายถึง จิต เจตสิก รูป ขณะที่กำลังปรากฏเป็นอารมณ์อยู่เฉพาะหน้า คือ กำลังเห็น, กำลังได้ยิน, กำลังได้กลิ่น, กำลังรู้รส, กำลังถูกต้องสัมผัส และกำลังคิดในอารมณ์ที่ปรากฏทางใจ ยังไม่ดับไป เหล่านี้เรียกว่า ปัจจุบันอารมณ์

จิต เจตสิก รูป ที่เป็นอนาคตอารมณ์นั้น หมายถึง อารมณ์ต่าง ๆ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป เหล่านี้ จะมาปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ จะเห็น จะได้ยิน, จะได้กลิ่น, จะรู้รส, จะถูกต้องสัมผัส และจะเป็นอารมณ์ให้คิดนึกทางใจเหล่านี้ ชื่อว่า อนาคตอารมณ์

อารมณ์ที่ปรากฏขึ้นโดยกาลทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า เตกาลิกอารมณ์

๒.กาลวิมุตตอารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาลทั้ง ๓ ได้แก่ นิพพาน และบัญญัติอารมณ์ เพราะธรรมทั้ง ๒ พวกนี้ เป็นอสังขตธรรม ไม่ได้ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย ๔ คือ กรรม, จิต, อุตุ และอาหาร ฉะนั้น การบังเกิดขึ้นของธรรมทั้ง ๒ พวกนี้ เพราะปัจจัยปรุงแต่งไม่มี เมื่อไม่มีการเกิดแล้ว ก็กล่าวไม่ได้ว่า นิพพาน หรือบัญญัติเหล่านี้ เป็น ปัจจุบัน-อดีต-อนาคต เมื่อไม่เป็นไปในปัจจุบัน, อดีต และอนาคต เช่นนี้แล้ว ก็เรียกว่าเป็น “กาลวิมุตตอารมณ์”

 🌼 แสดงจิตที่รับอารมณ์โดยแน่นอน ๔ ประเภท และไม่แน่นอน ๓ ประเภท

คาถาสังคหะ
๑๑- ปญฺฺจวีส ปริตฺฺตมฺหิ     ฉ จิตฺตานิ มหคฺคเต  
เอกวีสติ โวหาเร     อฏฺฐ นิพฺพานโคจเร ฯ
๑๒- วีสานุตฺตรมุตฺตมฺหิ     อคฺคมคฺคผลุชุฌิเต
ปญฺจ สพฺพตฺถ ฉจฺเจติ     สตฺตธา ตตฺถ สงฺคโห ฯ

แปลความว่า
จิต ๒๕ ดวง เกิดขึ้นรับอารมณ์ ๖ ที่เป็น กามธรรม อย่างเดียว
จิต ๖ ดวง เกิดขึ้นรับธรรมารมณ์ ที่เป็น มหัคคตะ อย่างเดียว
จิต ๒๑ ดวง เกิดขึ้นรับธรรมารมณ์ ที่เป็น บัญญัติ อย่างเดียว
จิต ๘ ดวง เกิดขึ้นรับธรรมารมณ์ ที่เป็น นิพพาน อย่างเดียว
จิต ๒๐ ดวง เกิดขึ้นรับธรรมารมณ์ ๖ ที่เป็น กามธรรม, มหัคคตธรรม และบัญญัติธรรม (เว้นโลกุตตรธรรม ๙)
จิต ๕ ดวง เกิดขึ้นรับอารมณ์ ๖ ที่เป็น กามธรรม, มหัคคตธรรม, บัญญัติธรรม และโลกุตตรธรรม (เว้นอรหัตตมรรค-อรหัตตผล)
จิต ๖ ดวง เกิดขึ้นได้ในอารมณ์ ๖ ที่เป็น กามธรรม, มหัคคตธรรม, บัญญัติธรรม, และโลกุตตรธรรมทั้งหมด

ในอารัมมณสังคหะนี้ สงเคราะห์การรับอารมณ์ของจิตได้ ๗ นั้น โดยประเภทรับอารมณ์แน่นอน (เอกันตะ) ๔ และไม่แน่นอน (อเนกันตะ) ๓ ด้วยประการฉะนี้

อธิบาย อารมณ์ทั้ง ๖ ดังกล่าวนั้น เมื่อจำแนกโดยประเภทใหญ่ๆ แล้วมี ๔ ประเภท คือ :-

๑. กามอารมณ์  ได้แก่  อารมณ์ ๖
๒. มหัคคตอารมณ์  ได้แก่  ธรรมารมณ์
๓. บัญญัติอารมณ์  ได้แก่  ธรรมารมณ์
๔. โลกุตตรอารมณ์ ได้แก่  ธรรมารมณ์ 

👉 ๑. กามอารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ กามจิต ๕๔, เจตสิก ๕๒, รูป ๒๘ กล่าวคือ ขณะเมื่อจิตใจยึดหน่วงเอากามจิต ๕๔ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งเป็นอารมณ์ก็ดี หรือยึดหน่วงเอารูปใดรูปหนึ่งใน ๒๘ รูปนั้น เป็นอารมณ์ก็ดี ย่อมได้ชื่อว่า จิตนั้นยึดหน่วงกามอารมณ์ หรือมีอารมณ์เป็นกามธรรม

👉 ๒.มหัคคตอารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ มหัคคตจิต ๒๗, เจตสิก ๓๕ หมายความว่า ขณะเมื่อจิตใจยึดหน่วงเอามหัคคตจิต ๒๗ ดวงใดดวงหนึ่งเป็นอารมณ์ก็ได้ชื่อว่า จิตนั้นยึดหน่วงมหัคคตอารมณ์ หรืออารมณ์เป็นมหัคคตธรรม กามอารมณ์ และมหัคคตอารมณ์นี้ ยังเป็นอารมณ์ที่ผูกพันอยู่ในโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก และอรูปโลก จึงรวมเรียกอารมณ์ทั้ง ๒ ประเภทนี้ว่า โลกียอารมณ์ ซึ่งเมื่อจิตใดยึดหน่วงโลกียอารมณ์ ก็ชื่อว่า จิตนั้นมีอารมณ์เป็นโลกียธรรม

👉 ๓. บัญญัติอารมณ์ ได้แก่ บัญญัติธรรม ๒ ประการ คือ อัตถบัญญัติ และ สัททบัญญัติ

  • อัตถบัญญัติ ได้แก่ สมมุติบัญญัติขึ้น โดยอาศัยรูปพรรณสัณฐาน หรือลักษณะอาการ เพื่อให้รู้เนื้อความ หรือความหมายแห่งบัญญัตินั้น ๆ เช่น รูปร่างลักษณะของภูเขา, ต้นไม้, แม่น้ำลำคลอง, เรือกสวน, ไร่นา, กสิณบัญญัติ,  อานาปานบัญญัติ, สัตวบัญญัติ เหล่านี้ เป็นต้น
  • สัททบัญญัติ ได้แก่ เสียงที่เปล่งออกมาเป็นถ้อยคำ ใช้เรียกชื่อสมมุติบัญญัติของสิ่งนั้นๆ ให้รู้ความหมายกันได้ จากถ้อยคำหรือน้ำเสียงที่เปล่งออกไป เช่นเมื่อกล่าวถึงภูเขา, ต้นไม้, โต๊ะ, เก้าอี้, ผู้หญิง, ผู้ชาย คำสั่งให้ซ้ายหันขวาหัน, หน้าเดิน เหล่านี้เป็นต้น แม้ไม่ได้เห็นสิ่งที่พูดถึงอยู่ในขณะนั้น แต่ก็รู้ และเข้าใจความหมายได้จากถ้อยคำ เสียงที่เปล่งออกไปนั้น เรียกว่า สัททบัญญัติ

ฉะนั้น เมื่อจิตใจยึดหน่วงเอาบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่ง มาเป็นอารมณ์แล้ว ก็ได้ชื่อว่า จิตนั้นยึดหน่วงบัญญัติอารมณ์ หรือมีอารมณ์เป็นบัญญัติ

👉 ๔. โลกุตตรอารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ มัคคจิต ๔, ผลจิต ๔, เจตสิก ๓๖ และนิพพาน ๑ ขณะเมื่อจิตใดยึดมัคคจิต ผลจิต หรือนิพพานเป็นอารมณ์ก็ดี จิตที่ยึดหน่วงอารมณ์นั้น ๆ ก็ได้ชื่อว่า จิตนั้นยึดหน่วงโลกุตตรอารมณ์ หรือ มีอารมณ์เป็นโลกุตตรธรรม

ต่อไปนี้ จะได้แสดงการจำแนกจิตที่เกิดขึ้นกับอารมณ์ทั้ง ๔ ประเภท ตามในคาถาสังคหะที่ ๑๑ และ ๑๒ ตามลำดับ ดังนี้

จำแนกจิต ๖๐ หรือ ๙๒ ดวงที่รับอารมณ์แน่นอน โดยอารมณ์ ๖ และ กาล ๓

๑. จิตที่รับกามอารมณ์โดยแน่นอน มี ๒๕ ดวง ปญฺจวีส ปริตฺตมฺหิ"

  • จักขุวิญญาณ ๒ รับ รูปารมณ์ ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
  • โสตวิญญาณ ๒ รับ สัททารมณ์ ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
  • ฆานวิญญาณ ๒ รับ คันธารมณ์ ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
  • ชิวหาวิญญาณ ๒ รับ รสารมณ์ ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
  • กายวิญญาณ ๒ รับ โผฏฐัพพารมณ์ ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
  • มโนธาตุ ๓ รับ ปัญจารมณ์ ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
  • สันตีรณจิต ๓ รับ อารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน, อดีต, อนาคต
  • มหาวิบากจิต ๘ รับ อารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน, อดีต, อนาคต
  • หสิตุปปาทจิต ๑ รับ อารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน, อดีต, อนาคต

๒. จิตที่รับมหัคคตอารมณ์ โดยแน่นอน มี ๖ ดวง ฉ จิตฺตานิ มหคฺคเต

  • วิญญาณัญจายตนกุศลจิต ๑  วิญญาณัญจายตนวิบากจิต ๑ รับอากาสานัญจายตนกุศล ที่เป็นอดีตอย่างเดียว
  • วิญญาณัญจายตนกิริยาจิต ๑ รับอากาสานัญจายตนกุศลและกิริยา ที่เป็นอดีตอย่างเดียว
  • เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนวิบากจิต ๑ รับอากิญจัญญายตนกุศลที่เป็นอดีตอย่างเดียว
  • เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาจิต ๑ รับอากิญจัญญายตนกุศลและกิริยาที่เป็นอดีตอย่างเดียว

๓. จิตที่รับบัญญัติอารมณ์โดยแน่นอน มี ๒๑ ดวง เอกวีสติ โวหาเร

  • รูปาวจรปฐมฌานจิต ๓ มีบัญญัติธรรมารมณ์ ๒๕ อย่าง คือ กสิณบัญญัติ ๑๐, อสุภบัญญัติ ๑๐, โกฏฐาสบัญญัติ ๑, อานาปานบัญญัติ ๑, ปิยมนาปสัตวบัญญัติ ๑, ทุกขิตสัตวบัญญัติ ๑, สุขิตสัตวบัญญัติ ๑, ที่เป็นกาลวิมุตอย่างเดียว
  • รูปาวจรทุตยฌาน ๓ รูปาวจรตติยฌาน ๓ รูปาวจรจตุตถฌาน ๓ มีบัญญัติธรรมารมณ์ ๑๔ อย่าง คือ กสิณบัญญัติ ๑๐, อานาปานบัญญัติ ๑, ปิยมนาปสัตวบัญญัติ ๑, ทุกขิตสัตวบัญญัติ ๑, สุขิตสัตวบัญญัติ ๑ ที่เป็นกาลวิมุตอย่างเดียว
  • รูปาวจรปัญจมฌาน ๓ มีบัญญัติธรรมารมณ์ ๑๒ อย่าง คือ กสิณบัญญัติ ๑๐ อานาปานบัญญัติ ๑, มัชฌัตตสัตวบัญญัติ ๑ ที่เป็นกาลวิมุตอย่างเดียว
  • อากาสานัญจายตนฌานจิต ๓ มีบัญญัติธรรมารมณ์ คือ กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติที่เป็นกาลวิมุตอย่างเดียว
  • อากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ มีบัญญัติธรรมารมณ์ คือ นัตถิภาวบัญญัติที่เป็นกาลวิมุตอย่างเดียว

๔. จิตที่รับโลกุตตรอารมณ์โดยแน่นอน มี ๘ (หรือ ๔๐) ดวง “อฏฺฐ นิพฺพานโคจเร"

  • โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ มีธรรมารมณ์ คือ นิพพานที่เป็นกาลวิมุตอย่างเดียว

จำแนกจิต ๓๑ ดวง ที่รับอารมณ์ ไม่แน่นอน โดยอารมณ์ ๖ และกาล ๓

๕. จิตที่รับอารมณ์ ๖ ที่เว้นจากโลกุตตรธรรม มี ๒๐ ดวง วีสานุตฺตรมุตฺตมฺหิ

  • อกุศลจิต ๑๒ มหากุศลญาณวิปปยุตจิต ๔ มหากิริยาญาณวิปปยุตจิต ๔ มีอารมณ์ ๖ ที่เป็น กามอารมณ์, มหัคคตอารมณ์ และบัญญัติอารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน, อดีต, อนาคต และกาลวิมุต

๖. จิตที่รับอารมณ์ เว้นจากอรหัตตมรรค-อรหัตตผล มี ๕ ดวง อคฺคมคฺคผลุชุฌิเต ปญฺจ

  • มหากุศลญาณสัมปยุตจิต ๔ กุศลอภิญญาจิต ๑ มีอารมณ์ ๖ ที่เป็น โลกีย์, บัญญัติและโลกุตตระ (เว้นอรหัตตมรรค-อรหัตตผล) ได้ที่เป็นปัจจุบัน, อดีต, อนาคต และกาลวิมุต

๗. จิตที่รับอารมณ์ได้ทั้งหมด มี ๖ ดวง สพฺพตฺถ ฉ จ

  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑ มหากิริยาญาณสัมปยุตจิต ๔  กิริยาอภิญญาจิต ๑ มีอารมณ์ ๖ ที่เป็นโลกีย์, บัญญัติและโลกุตระได้ทั้งหมด ไม่เว้นที่เป็นปัจจุบัน, อดีต, อนาคต และกาลวิมุต


ขยายความในคาถาที่ ๑๑

กามอารมณ์

๑. จิตที่รับกามอารมณ์แน่นอน มี ๒๕ ดวง

ก. ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ คือ :-

  • จักขุวิญญาณ ๒ ดวง รับ รูปารมณ์ ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
  • โสตวิญญาณ ๒ ดวง รับ สัททารมณ์ ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
  • ฆานวิญญาณ ๒ ดวง รับ คันธารมณ์ ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
  • ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง รับ รสารมณ์ ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว
  • กายวิญญาณ ๒ ดวง รับ โผฏฐัพพารมณ์ ที่เป็นปัจจุบันอย่างเดียว

ฉะนั้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ จึงรับปัญจารมณ์โดยเฉพาะที่เป็นกามธรรม และเป็นปัจจุบันอย่างเดียวเท่านั้น

ข. มโนธาตุ ๓ ได้แก่

  • ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ 
  • สัมปฏิจฉนจิต ๒ 
จิตทั้ง ๓ ดวงนั้น รับปัญจารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ได้ คือ อาจรับ รูปารมณ์, สัททารมณ์, คันธารมณ์, รสารมณ์, โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์ใดก็ได้ ไม่จำกัดเฉพาะอารมณ์เดียวเหมือนจักขุวิญญาณ เป็นต้น แต่อารมณ์นั้น ๆ จะต้องปรากฏเฉพาะหน้า เป็นปัจจุบันเช่นเดียวกัน

ค. จิต ๑๒ ดวง ได้แก่

  • สันตีรณจิต ๓ 
  • มหาวิบากจิต ๘ 
  • หสิตุปปาทจิต ๑ 
จิตทั้ง ๑๒ ดวงมีอารมณ์ ๖ ที่เป็นกามธรรม จิตทั้ง ๑๒ ดวง รับอารมณ์ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง เฉพาะที่เป็นกามธรรมเป็นอารมณ์ และไม่จำกัดว่า ต้องเป็นปัจจุบันอารมณ์อย่างเดียว อารมณ์นั้นจะเป็นปัจจุบัน อดีต หรืออนาคต ก็ได้

จิตทั้ง ๒๕ ดวงที่ยึดหน่วงอารมณ์ ๖ ซึ่งล้วนเป็นกามธรรมอย่างเดียวโดยเฉพาะนี้ จึงชื่อว่า จิต ๒๕ ดวงนี้ ยึดหน่วงกามอารมณ์โดยแน่นอน


มหัคคตอารมณ์

๒.จิตที่รับมหัคคตอารมณ์แน่นอน ๖ ดวง คือ :-

ก. วิญญาณัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง มีอากาสานัญจายตนกุศลจิต ๑ กิริยาจิต ๑ เป็นอารมณ์ ได้แก่

๑. ผู้ได้อากาสานัญจายตนฌานแล้ว จะเจริญสมถภาวนา เพื่อให้ได้วิญญาณัญจายตนฌาน หรือผู้ที่ได้วิญญาณัญจายตนฌานแล้ว จะเข้าวิญญาณัญจายตนฌานสมาบัติอีกจะต้องอาศัยอากาสานัญจายตนฌานกุศล หรือกิริยาที่เคยเกิดแล้วแก่ตนนั้น มาเป็นอารมณ์ให้เสมออย่างแน่นอนวิญญาณัญจายตนฌาน จึงจะเกิดได้

๒. ติเหตุกปุถุชน หรือผลเสกขบุคคล ที่ได้วิญญาณัญจายตนฌานแล้ว เมื่อประสงค์จะเข้าวิญญาณัญจายตนฌานกุศล ก็ต้องมีอากาสานัญจายตนฌานกุศลที่เกิดแล้วแก่ตนในภพนี้ เป็นอารมณ์

๓. เมื่อติเหตุกปุถุชน หรือผลเสกขบุคคล ได้ตายลง ก็จะไปบังเกิดเป็นอรูปพรหมในวิญญาณัญจายตนภูมิ, ปฏิสนธิด้วยวิญญาณัญจายตนวิบากจิต โดยมีอากาสานัญจายตนกุศล ที่เคยเกิดแล้วแก่ตนในภพก่อนนั้นเป็นอารมณ์แม้ขณะเมื่อวิญญาณัญจายตนวิบาก ทำหน้าที่ภวังคกิจหรือจุติกิจ ก็ต้องมีอากาสานัญจายตนกุศล ที่เคยเกิดแก่ตนแล้วในภพก่อนเป็นอารมณ์ เช่นเดียวกัน

๔. ติเหตุกปุถุชน หรือผลเสกขบุคคลก็ดี เมื่อได้เจริญวิปัสสนาต่อไปจนบรรลุอรหัตตมรรค-อรหัตตผล เป็นพระอเสกขบุคคลในชาตินี้แล้ว เมื่อเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน ฌานจิตที่เกิดใหม่นี้ เป็นวิญญาณัญจายตนกิริยา วิญญาณัญจายตนกิริยาที่เกิดขึ้นนี้ ย่อมมีอารมณ์เป็นอากาสานัญจายตนกุศลที่เคยเกิดแล้วแก่ตนในภพนี้ เป็นอารมณ์

๕. พระอรหันต์ผู้เป็นฌานลาภีบุคคล เมื่อได้รูปปัญจมฌานแล้ว ประสงค์จะเจริญฌานต่อไป ต้องเข้าอากาสานัญจายตนฌานก่อน เมื่ออากาสานัญจายตนฌานจิตเกิด ย่อมเป็นอากาสานัญจายตนกิริยาแล้วเจริญวิญญาณัญจายตนฌานต่อไปโดยมีอากาสานัญจายตนกิริยาเป็นอารมณ์ ฉะนั้นเมื่อวิญญาณัญจายตนกิริยาจิตเกิด ย่อมต้องมีอากาสานัญจายตนกิริยา ที่เคยเกิดแล้วแก่ตนในภพนี้เป็นอารมณ์

รวมความว่า วิญญาณัญจายตนกุศลจิต ๑ วิบากจิต ๑ กิริยาจิต ๑ รวม ๓ ดวงนี้ มีอากาสานัญจายตนกุศล ที่เกิดแก่ตนในภพนี้ หรือภพก่อนเป็นอารมณ์ และมีอากาสานัญจายตนกิริยา ที่เกิดในภพนี้ เป็นอารมณ์

ข. เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง มีอากิญจัญญายตนกุศลจิต ๑ และกิริยาจิต ๑ เป็นอารมณ์นั้น ได้แก่ เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต ๑ วิบากจิต ๑ กิริยาจิต ๑ มีอากิญจัญญายตนกุศลจิต ๑ หรือกิริยาจิต ๑ ที่เคยเกิดแก่ตนมาแล้วในภพนี้ หรือภพก่อนเป็นอารมณ์

คำอธิบายทำนองเดียวกันกับข้อ ๒ ก.

รวมความว่า จิต ๖ ดวง คือ วิญญาณัญจายตนฌานจิต ๓ และเนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิต ๓ มีมหัคคตจิต ๔ ดวง (อากาสานัญจายตนกุศลจิต ๑ กิริยาจิต ๑ และอากิญจัญญายตนกุศลจิต ๑ กิริยาจิต ๑) เป็นอารมณ์ จึงชื่อว่า จิต ๖ ดวง ยึดหน่วงมหัคคตอารมณ์


บัญญัติอารมณ์

๓. จิตที่รับบัญญัติอารมณ์แน่นอน ๒๑ ดวง คือ :-

ก. รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง มีบัญญัติเป็นอารมณ์ คือ รูปาวจรจิต ๑๕ ดวงนั้น เป็นจิตที่เกิดขึ้นจากการเพ่งอารมณ์บัญญัติกัมมัฏฐาน ๒๖ ประการ ได้แก่ กสิณบัญญัติ ๑๐, อสุภบัญญัติ ๑๐, อานาปานบัญญัติ ๑, โกฏฐาสบัญญัติ, ปิยมนาปสัตวบัญญัติ ๑, ทุกขิตสัตวบัญญัติ ๑, สุขิตสัตวบัญญัติ ๑ และมัชฌัตตสัตวบัญญัติ ๑ (สัตวบัญญัติอารมณ์ คือ อารมณ์ของพรหมวิหาร ๔)

ข. อากาสานัญจายตนฌานจิต ๓ ดวง มีกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติเป็นอารมณ์อย่างเดียว กสิณคฆาฏิมากาสบัญญัตินั้น หมายถึง ความว่างตรงที่ยกดวงกสิณออกหรือความว่างที่เพิกแล้วจากดวงกสิณ บัญญัติความว่างนี้แหละ เมื่อน้อมมาเป็นอารมณ์ จึงได้ชื่อว่า กสิณคฆาฏิมากาสบัญญัติ และจิตที่มีอารมณ์เป็นกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัตินี้ชื่อว่า อากาสานัญจายตนฌานจิต มีจำนวน ๓ ดวง คือ อากาสานัญจายตนกุศลจิต ๑, วิบากจิต ๑, กิริยาจิต ๑ ซึ่งมีอารมณ์เป็นบัญญัติอย่างนี้โดยเฉพาะอย่างเดียว

ค. อากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ ดวง มีนัตถิภาวบัญญัติ เป็นอารมณ์อย่างเดียว นัตถิภาวบัญญัติ หมายถึง ความไม่มีอะไร แม้นิดหนึ่ง หน่อยหนึ่ง ก็ไม่มี เอาบัญญัติสัญญาที่สมมุติว่า ไม่มีอะไรเลย น้อมมาเป็นอารมณ์กำหนด นี้แหละ จิตที่รับอารมณ์บัญญัตินี้ จึงชื่อว่า อากิญจัญญายตนกุศลจิต ๑, วิบากจิต ๑, กิริยาจิต ๑

รวมความว่า จิต ๒๑ ดวง คือรูปาวจรจิต ๑๕, อากาสานัญจายตนฌานจิต ๓, อากิญจัญญายตนฌานจิต ๓ ล้วนมีบัญญัติอารมณ์ทั้งสิ้น

นิพพานอารมณ์

๔. โลกุตตรจิต ๘ ดวง คือ มัคคจิต ๔ ผลจิต ๔ มีนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียว นิพพานนั้น หมายถึง สภาพความดับสิ้นไปจากตัณหาซึ่งเป็นเครื่องร้อยรัดสัตว์ทั้งหลายไว้ไม่ให้พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ มัคคจิต ๔ ผลจิต ๔ นี้ เป็นจิตที่ตัดทำลายเครื่องร้อยรัด ฉะนั้น จิตเหล่านั้น จะผูกพันอยู่กับอารมณ์ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่งให้ติดอยู่กับความเป็นไปในโลกไม่ได้ จึงต้องยึดหน่วงเอาอารมณ์พิเศษที่สัตว์ใดๆ ในโลกไม่เคยพบเคยเห็นด้วยตนเองมาก่อน เว้นแต่อริยบุคคลเท่านั้น ฉะนั้น โลกุตตรจิต ๔ ดวงนี้ จะมีภาวะอย่างอื่นเป็นอารมณ์ไม่ได้ นอกจากมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้อย่างเดียวเท่านั้น


กาลวิมุตตอารมณ์

กามอารมณ์ ย่อมเป็นอารมณ์ที่เป็นไป ทั้งในปัจจุบัน, อดีต และอนาคตได้ในกาลทั้ง ๓ บริบูรณ์ 

ส่วนมหัคคตอารมณ์นั้น เป็นได้ทั้ง ๓ กาล แต่ที่เป็นอารมณ์แก่วิญญาณัญจายตนฌาน และเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น เป็นอดีตกาลอย่างเดียว

สำหรับบัญญัติอารมณ์ และนิพพานอารมณ์นั้น ไม่มี แสดงว่าไม่เป็นปัจจุบัน อดีต หรืออนาคต อารมณ์แต่อย่างใดเลย เพราะบัญญัติอารมณ์นี้เป็นธรรมที่ไม่มีสภาวะ จึงไม่มีสภาพที่จะผันแปรเปลี่ยนแปลงโดยที่ไม่มีความเที่ยง หรือความไม่เที่ยง ไม่มีการเกิด การดับ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเปลี่ยนแปลงและความไม่เที่ยง ตลอดจนความบังคับบัญชาไม่ได้ จึงไม่เข้าอยู่ในกาลทั้ง ๓ เพราะไม่มีปัจจุบัน, อดีต และอนาคต บัญญัติอารมณ์จึงเป็นกาลวิมุต

นิพพานเป็นธรรมที่มีสภาวะอันยอดเยี่ยม, มีสภาพของความเที่ยง มั่นคงถาวร ไม่มีความเปลี่ยนแปลงแปรผันไปเป็นความไม่เที่ยง และนิพพานนั้น ไม่มีการเกิด-ดับ ฉะนั้น จึงไม่เข้าอยู่ในกาลทั้ง ๓ เพราะไม่มีอดีต, ปัจจุบัน และอนาคต นิพพาน จึงเป็นกาลวิมุต รวมความว่า ธรรมที่เป็นกาลวิมุต หรือมีอารมณ์เป็นกาลวิมุตนั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือ บัญญัติ และนิพพาน

ในคาถาสังคหะที่ ๑๑ นั้น แสดงการจำแนกจิต ๖๐ ดวง ที่ได้รับอารมณ์ ๖ ตามกาล ๓ และกาลวิมุต โดยลำดับจิตทั้ง ๖๐ ดวง ที่รับอารมณ์ได้แน่นอนเรียกว่า เอกันตะ นี้ ก็คือ

  • จิตที่รับ กามอารมณ์ แน่นอน จำนวน ๒๕ ดวง
  • จิตที่รับ มหัคคตอารมณ์ แน่นอน จำนวน ๖ ดวง
  • จิตที่รับ บัญญัติอารมณ์ แน่นอน จำนวน ๒๑ ดวง
  • จิตที่รับ นิพพาน แน่นอน จำนวน ๘ ดวง

จำนวนจิตทั้งหมด มี ๘๙ (หรือ ๑๒๑) ดวง เมื่อรับอารมณ์ที่แน่นอนได้ ๖๐ ดวงแล้ว คงเหลืออีก ๒๙ ดวง ที่รับอารมณ์ได้หลายๆ อย่าง และไม่แน่นอนเรียกว่า รับอารมณ์ อเนกันตะ และอารมณ์หลายๆ อย่างที่เป็นอารมณ์ของจิต ๒๙ ดวงได้นั้น เรียกว่า สัพพารมณ์

ขยายความในคาถาที่ ๑๒

สัพพารมณ์

จำนวนจิต ๒๙ ดวงที่เหลือจากจำนวนจิต ๖๐ ดวง ที่ได้กล่าวแล้วในคาถาที่ ๑๑ เป็นจิตที่สามารถรับอารมณ์ต่างๆ ได้หลายอารมณ์ นอกจากจิต ๒๙ ดวงที่เหลือ ยังนับรวมจิตพิเศษ คือ อภิญญากุศลจิต ๑ ดวง และอภิญญากิริยาจิต ๑ ดวง เมื่อนับรวมกับจำนวนจิตที่เหลือ ๒๙ ดวง จึงเป็น ๓๑ ดวง ในคาถาที่ ๑๒ นี้ จึงได้แสดงว่า จำนวนจิต ๓๑ ดวงนี้ เป็นจิตที่รับอารมณ์ต่าง ๆ ได้หลายอย่าง หลายกาล ไม่จำกัดว่าเป็นปัจจุบัน, อดีต, อนาคต หรือแม้ตลอดจนกาลวิมุตด้วย จึงเรียกอารมณ์ที่จิต ๓๑ ดวง เข้าไปรับรู้นี้ว่า “สัพพารมณ์”

๕. จิต ๒๐ ดวง มีอารมณ์ที่พ้นจากโลกุตตรอารมณ์นั้น ได้แก่

  • อกุศลจิต ๑๒
  • มหากุศลญาณวิปปยุตจิต ๔
  • มหากิริยาญาณวิปปยุตจิต ๔

จิต ๒๐ ดวง ย่อมรับอารมณ์ทั้ง ๖ อย่างหนึ่งอย่างใด ที่เป็นโลกียอารมณ์ คือ เป็นกามอารมณ์, มหัคคตอารมณ์ หรือบัญญัติอารมณ์ ก็ได้ เว้นแต่โลกุตตรอารมณ์อย่างเดียวเท่านั้น

อกุศลจิต ๑๒ เป็นจิตที่ไม่ดีงาม ประกอบด้วย โลภะ โทสะ โมหะ จึงไม่สามารถมีโลกุตตรธรรม ๙ คือ มัคคจิต ๔ ผลจิต ๔ และนิพพาน ๑ เป็นอารมณ์ได้

ในมหากุศลจิต ๔, มหากิริยาจิต ๔ ชนิดที่เป็นญาณวิปปยุต ก็ไม่สามารถรับโลกุตตรอารมณ์ได้ เพราะจิตทั้ง ๘ ดวงนี้ เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา จิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ย่อมรับโลกุตตรธรรม คือ มัคคจิต ๔, ผลจิต ๔ และนิพพาน ๑ ไม่ได้ เช่นเดียวกัน

จิต ๒๐ ดวงนี้ จึงรับอารมณ์อื่น ๆ ที่นอกจากโลกุตตรอารมณ์ได้

๖. จิต ๕ ดวง ที่ยึดหน่วงอารมณ์ต่าง ๆ ได้ เว้นแต่อรหัตตมรรค-อรหัตตผล จิต ๕ ดวงนั้น ได้แก่

  • มหากุศลญาณสัมปยุตจิต ๔
  • อภิญญากุศลจิต ๑ 
ย่อมรับอารมณ์ ๖ ที่เป็นโลกีย์และบัญญัติ ตลอดจนโลกุตตรอารมณ์ก็ได้ เว้นแต่จะเอาอรหัตตมรรค-อรหัตตผลมาเป็นอารมณ์ไม่ได้ เพราะผู้ที่จะน้อมเอาอรหัตตมรรค-อรหัตตผลมาเป็นอารมณ์ได้นั้น บุคคลนั้นต้องบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว

๗. จิต ๖ ดวง ที่ยึดหน่วงอารมณ์ต่าง ๆ ได้ทั้งหมด คือ 

  • มโนทวาราวัชชนจิต ๑
  • มหากิริยาญาณสัมปยุตจิต ๔
  • อภิญญากิริยาจิต ๑

จิต ๖ ดวงนี้ รับอารมณ์ได้ทั้งหมดไม่มียกเว้น เพราะเป็นจิตของพระอรหันต์ย่อมจะได้รับอารมณ์ ทั้งที่เป็นกามอารมณ์, มหัคคตอารมณ์, บัญญัติอารมณ์และโลกุตตรอารมณ์ได้ทั้งสิ้น ไม่มีการยกเว้นอารมณ์ใดเลย

จิตทั้ง ๓๑ ดวง ดังกล่าวในคาถาที่ ๑๒ นี้ เป็นจิตที่รับอารมณ์หลายอย่าง ไม่แน่นอนว่า จะต้องเป็นอารมณ์นั้นๆ จึงชื่อว่า เป็นอเนกันตะ คือรับอารมณ์ได้ไม่แน่นอน



แสงธรรมนำทาง...

ธรรมสุตตะ | ศึกษาพระธรรมคำสอนตามพระไตรปิฎก © 2008. Template by Dicas Blogger.

กลับขึ้นด้านบน