อารมณ์ของทวารวิมุตตจิต

ในจำนวนจิตทั้งหมด ส่วนมากแล้วจำเป็นต้องอาศัยทวารเกิดเสมอ เรียกจิตที่อาศัยทวารเกิดนี้ว่า “ทวาริกจิต” แต่ยังมีจิต ๑๙ ดวง เป็นจิตที่เกิดโดยไม่ต้องอาศัยทวารใดเลย ดังกล่าวแล้วใน “ทวารสังคหะ” จิต ๑๙ ดวงนั้น ได้แก่

  • อุเบกขาสันตีรณจิต ๒
  • มหาวิบากจิต ๘
  • มหัคคตวิบากจิต ๙

จิตทั้ง ๑๙ ดวงนี้ ขณะทำหน้าที่ปฏิสนธิกิจ, ภวังคกิจ, จุติกิจ ทั้ง ๓ อย่างนี้ แม้จะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด เพราะเกิดขึ้นด้วยอำนาจของกรรมในอดีตก็จริง แต่ก็ต้องรับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอารมณ์ ๖ อยู่เสมอ ซึ่งอารมณ์เหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องในปัจจุบันภพ เป็นอารมณ์ที่ได้มาจากภพก่อนที่มรณาสันนชวนะ (จิตที่เสพอารมณ์เมื่อใกล้จะตาย) รับเอามาเมื่อใกล้จะตาย แล้วแต่การเสพอารมณ์เมื่อใกล้จะตายของผู้นั้นจะได้รับอารมณ์อะไร ถ้าเมื่อใกล้จะตาย รับรูปารมณ์ รูปารมณ์ นั้น ก็เป็นอารมณ์ของทวารวิมุตตจิต หรือเมื่อใกล้จะตาย มรณาสันนชวนะรับเอาสัททารมณ์, คันธารมณ์, รสารมณ์, โผฏฐัพพารมณ์ ธรรมารมณ์แล้ว สัททารมณ์ เป็นต้นเหล่านั้นก็เป็นอารมณ์ของทวารวิมุตตจิต จึงกล่าวได้ว่า อารมณ์ของทวารวิมุตตจิต คือ อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอารมณ์ทั้ง ๖ นั้น


อารมณ์ของทวารวิมุตตจิต ที่เกี่ยวเนื่องด้วยมรณาสันนชวนะนั้น มีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า กรรมอารมณ์, กรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์

คือถ้าอารมณ์ ๖ ที่มาปรากฏแก่ผู้ที่ใกล้จะตายนั้น ได้แก่ ปัญจารมณ์ คือ รูปารมณ์, สัททารมณ์, คันธารมณ์, รสารมณ์, โผฏฐัพพารมณ์ ใน ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนี้แล้ว เรียกอารมณ์นั้นว่า กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ ก็ได้ แล้วแต่สภาพของอารมณ์ที่มาปรากฏเป็นนิมิตหมายให้นั้น

ส่วนธรรมารมณ์ที่ปรากฏเมื่อใกล้จะตายนั้น เรียกว่า กรรมอารมณ์ ก็ได้กรรมนิมิตอารมณ์ ก็ได้, คตินิมิตอารมณ์ ก็ได้ ย่อมแล้วแต่สภาพของอารมณ์ที่มาปรากฏนั้น อารมณ์ของทวารวิมุตตจิตนั้น จึงได้แก่ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ เป็นอารมณ์ ๖ ที่มาปรากฏแก่ผู้ที่ใกล้จะตาย ในมรณาสันนชวนะ อารมณ์นี้ต้องปรากฏแก่สัตว์ทั่วไป เว้นแต่อสัญญสัตตพรหมและพระอรหันต์

ส่วนอารมณ์ ๖ ที่มาปรากฏทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ ในเวลาปกติ นั้นไม่เรียกว่า กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์หรืออารมณ์ ๖ ที่ปรากฏแก่พระอรหันต์ เมื่อเวลาจะนิพพานก็ไม่เรียกว่า กรรม, กรรมนิมิต, คตินิมิตอารมณ์ เช่นเดียวกัน เพราะไม่มีการเกิดต่อไปอีกแล้ว ส่วนสัตว์ทั้งหลายที่ยังต้องมีการเกิด - การตาย เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ (เว้นอสัญญสัตตพรหม) จะต้องมีกรรมอารมณ์, กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ปรากฏขึ้นเมื่อใกล้ตายเสมอ

กรรมอารมณ์ 🥀

กรรมอารมณ์ ได้แก่ ธรรมารมณ์ที่เกี่ยวกับ กุศลกรรม, อกุศลกรรม ที่เป็นคุรุกรรม, อาจิณณกรรม, อาสันนกรรม หรือ กฏตตากรรม ซึ่งจะส่งผลให้ปฏิสนธิในภพหน้า ที่เป็นเหมือนกับการแสดงตัวให้เด่นชัดเฉพาะหน้าปรากฏในมโนทวาร หรือกุศลกรรม, อกุศลกรรม ที่ให้เกิดปฏิสนธินั้น ย่อมปรากฏในทางใจด้วยอำนาจทำตนให้เหมือนกับเกิดขึ้นใหม่ ๆ การปรากฏแห่งกรรมอารมณ์ จึงมี ๒ อย่าง

๑. กรรมอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นโดยกุศลกรรม-อกุศลกรรม แสดงตัวให้เด่นชัด “อภิมุขีภูตํ” เป็นการปรากฏขึ้นด้วยอำนาจแห่ง “ปุพฺเพกตสัญฺญา” คือ อดีตสัญญาที่จิตใจจดจำเรื่องภายในตนที่เป็นมาแล้วในกาลก่อน เช่น กุศลกรรมของตนที่เคยเกิดปีติโสมนัสในขณะทำบุญให้ทาน รักษาศีล, เจริญภาวนา เมื่อ ๑๐-๒๐ ปีที่ล่วงมาแล้ว มาบัดนี้ยังรำลึกจำกุศลปีติโสมนัสนั้น ๆ ได้อยู่ หรืออกุศลกรรมที่ตนเคยเสียอกเสียใจในขณะประสบอัคคีภัย, ถูกโกงเมื่อ ๑๐-๒๐ ปีล่วงมาแล้ว หรือที่เคยโกรธแค้นผู้ใดในกาลก่อน ครั้นถึงเวลาใกล้จะตายก็หวนระลึกจำความเสียใจ หรือความโกรธแค้นในอดีตนั้นขึ้นมาได้ ข้อนี้ อุปมาเหมือนผู้ใหญ่ที่มีอายุมากแล้ว นึกถึงความเยาว์วัยของตน เมื่อครั้งเป็นหนุ่มสาว มีความเบิกบานสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างใด ก็ยังนึกจำความเบิกบานสนุกสนานในครั้งกระนั้นได้ การปรากฏแห่งกรรมอารมณ์ตามปุพฺเพกตสัญฺญา ก็เป็นฉันนั้น

ส่วนผู้ใกล้จะตาย ที่จดจำเรื่องภายนอกตน มีกิริยาอาการ วัตถุสิ่งของ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มีนิมิตเครื่องหมายอย่างนี้ อย่างนั้น เหล่านี้จัดว่า เป็น กรรมนิมิตอารมณ์ (ไม่ใช่กรรมอารมณ์)

๒. กรรมอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นโดยกุศลกรรม-อกุศลกรรม ทำตนให้เหมือนกับการเกิดขึ้นใหม่ ๆ คือ ปรากฏขึ้นด้วยอำนาจ “สมฺปติกตสญฺญา” คือ สัญญาความจำเรื่องราวภายในตน เป็นไปคล้าย ๆ กับว่ากำลังกระทำอยู่เดี๋ยวนี้ เช่น กุศลกรรมที่ตนเคยปีติโสมนัส ในขณะทำบุญ, ให้ทาน รักษาศีล, เจริญภาวนา หรืออกุศลกรรมที่เคยเสียใจ เพราะไฟไหม้บ้าน หรือถูกโกงจนล้มละลาย หรือเคยโกรธแค้นผู้หนึ่งผู้ใดเป็นเวลาล่วงมาหลายปีแล้ว ครั้นเมื่อเวลาใกล้ตาย ปีติโสมนัสก็เกิดขึ้น คล้ายกับว่า ตนกำลังทำบุญให้ทาน รักษาศีล, เจริญภาวนาอยู่ หรือความโกรธแค้นเกิดขึ้น คล้ายๆ กับว่า ตนกำลังทะเลาะวิวาทอยู่กับใครสักคน ข้อนี้อุปมาเหมือนหนึ่ง ความสนุกสนานที่เกิดขึ้นในใจแก่ผู้ที่กำลังหลับในเวลากลางคืนเนื่องจากฝันไป เพราะเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน จากที่ได้ดูหนัง ดูละคร ดูกีฬา มาเมื่อตอนเย็น กรรมอารมณ์ที่กล่าวมาแล้วนี้ ปรากฏได้เฉพาะมโนทวาร จะไม่ปรากฏทางปัญจทวารเลย กรรมอารมณ์นี้ ย่อมคิดถึงการกระทำที่ล่วงมาแล้ว เป็นอดีตอารมณ์

ถ้ากรรมอารมณ์เป็นกุศลกรรม ย่อมนำไปสู่สุคติ
ถ้ากรรมอารมณ์เป็นอกุศลกรรม ย่อมนำไปสู่ทุคติ



❁ กรรมนิมิตอารมณ์ 🥀
กรรมนิมิตอารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่เป็นเหตุของการกระทำ

กมฺมสฺส นิมิตฺตํ = กมุมนิมิตฺตํ (อารมฺมณํ).

แปลความว่า อารมณ์ที่เป็นเหตุของการกระทำ ชื่อว่า กรรมนิมิตอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ ๖ คือ สี, เสียง, กลิ่น, รส, เย็น, ร้อน, อ่อน, แข็ง, หย่อน, ตึง และสภาพที่รู้ได้ทางใจ โดยมุ่งหมายเอาแต่เฉพาะอารมณ์ ๖ ที่เกี่ยวด้วยการกระทำของแต่ละบุคคลเท่านั้นที่ตนได้กระทำด้วยกาย วาจา ใจ อารมณ์ ๖ ที่เกี่ยวด้วยการกระทำของตน ที่เป็นกรรมนิมิตได้นี้มี ๒ อย่าง คือ :-

๑. อุปลัทธกรรมนิมิต ได้แก่ อารมณ์ ๖ ที่ตนไปประสบพบเห็นเป็นประธานในขณะกระทำ

  • ก. ฝ่ายกุศล เช่น ทาน (ที่เคยให้), เลี้ยงพระ, ใส่บาตร, ถวายกฐิน, ทอดผ้าป่า, สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล วัดวาอาราม สำนักปฏิบัติ, อาหารคาวหวาน (ที่เคยถวาย)
  • ข. ฝ่ายอกุศล เช่น ปาณาติบาต, สัตว์ที่ถูกฆ่า, ทรัพย์สินที่ถูกขโมย, สตรีที่ล่วงกาเมสุมิจฉาจาร, เห็นภาพกิริยาอาการของตนที่ทำทุจริตต่าง ๆ

๒.อุปกรณ์กรรมนิมิต ได้แก่ อารมณ์ ๖ ที่ตนได้ประสบมา แต่มิใช่ฐานะเป็นประธานแห่งการกระทำ เป็นเพียงเครื่องประกอบอุดหนุนในขณะการกระทำเท่านั้น

  • ก. ฝ่ายกุศล เช่น พระพุทธรูป, ดอกไม้ธูปเทียน, ถ้วยชาม, ขันถาด, เสื่ออาสนะ, โต๊ะ, เก้าอี้, การศึกษาเล่าเรียนธรรม, หนังสือ, ครู อาจารย์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เป็นเครื่องใช้ในการทำกุศล
  • ข. ฝ่ายอกุศล เช่น แห, อวน, หอก, ดาบ, ปืน ที่ใช้ในการล่าสัตว์, ขวดเหล้า, กับแกล้ม, พรรคพวก ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องใช้อื่นๆ ที่อุดหนุนทุจริตกรรมให้สำเร็จ

ในนิมิตทั้ง ๒ อย่างนี้ สรุปความว่า บรรดาสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเกี่ยวกับการทำดี ทำชั่ว โดยตรง เป็น อุปลัทธกรรมนิมิต สิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายที่เป็นเครื่องประกอบให้การอุดหนุนแก่การทำดี ทำชั่ว เหล่านั้นเป็นอุปกรณ์กรรมนิมิต ถ้าเมื่อใกล้จะตาย กรรมนิมิตต่างๆ เหล่านี้ เป็นเครื่องหมายปรากฏเฉพาะหน้า มีอารมณ์เป็นฝ่ายกุศลแล้ว ก็จะนำไปสู่สุคติ ถ้ากรรมนิมิตอารมณ์เหล่านั้นเป็นฝ่ายอกุศลแล้ว ย่อมนำไปสู่ทุคติ

❁ คตินิมิตอารมณ์ 🥀
คตินิมิตอารมณ์ หมายความว่า อารมณ์แห่งภพชาติที่จะพึงถึง คืออารมณ์ที่จะได้เสวยในภพถัดไป

คติยา นิมิตฺตํ = คตินิมิตฺตํ” (อารมฺมณํ).

แปลความว่า อารมณ์ของภพชาติที่จะพึงถึง ชื่อว่า คตินิมิต คตินิมิตนี้ ก็ได้แก่ อารมณ์ ๖ นั่นเอง อารมณ์ ๖ นี้ หาใช่เป็นอารมณ์ ๖ ที่เกี่ยวข้องของภพชาตินี้ไม่ แต่เป็นอารมณ์ ๖ ที่จะพึงได้พบเห็น และได้เสวยในภพหน้าส่วนเดียว

คตินิมิตอารมณ์นี้ มี ๒ อย่าง คือ :-

๑.อุปลภิตัพพคตินิมิต หมายความว่า อารมณ์ ๖ ของภพชาติที่จะพึงพบเห็น เช่น ถ้าจะไปเกิดในเทวโลก จะเห็นราชรถ, วิมาน, เทพบุตร, เทพธิดา, เครื่องประดับ, สวนสวรรค์, พันธุ์บุปผาชาติ เป็นต้น ถ้าจะไปเกิดเป็นมนุษย์ จะเห็นครรภ์มารดา, ห้อง, เรือน, เห็นเครื่องใช้, บ้านเมือง, หมู่บ้าน เป็นต้น ถ้าจะไปเกิดเป็นดิรัจฉาน ย่อมเห็นสัตว์ต่าง ๆ มีช้าง, ม้า, วัว, ควาย, แมว, สุนัข, นก, ปลา, กา, ไก่ เป็นต้น หรือเห็นสถานที่อยู่ของดิรัจฉาน เช่น ห้วย, หนอง, คลองบึง, ป่าไม้, ต้นไม้, ถ้ำ เหล่านี้ เป็นต้น ถ้าจะไปเกิดเป็นเปรตและอสุรกาย ย่อมจะเห็นป่าทึบ, เหว, ทะเล, แม่น้ำ, ภูเขา, สถานที่อันสงบเงียบน่าหวาดเสียว อันเป็นที่อยู่ของพวกเปรตพวกอสุรกาย เป็นต้น

ถ้าจะไปเกิดในนิรยภูมิ ย่อมเห็นเครื่องประหัตประหาร เห็นสุนัข, กา, นกแร้ง ที่เป็นสัตว์นรกที่น่ากลัว, เห็นพระยายม, เห็นนายนิรยบาล และ สถานที่เหล่านี้ มีเปลวเพลิง ควันที่ฟุ้งตลบ เหล่านี้ เป็นต้น

๒.อุปโภคคตินิมิต หมายความว่า อารมณ์ ๖  ของชาติที่จะพึงได้เสวย เช่น นั่งในราชรถ เที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ มีสวนสวรรค์ เป็นต้น ทำให้เกิดความสนุกสนานเบิกบานใจ บริโภคสุทธาโภชน์ร่วมกับเทพบุตร เทพธิดา สวมใส่ทิพย์อาภรณ์ เป็นต้น ถ้าจะเกิดในมนุษยภูมิ ย่อมมีนิมิตเหมือนกับว่าตนกำลังเดินไปสู่ที่สนทนาปราศรัยกับผู้หนึ่งผู้ใด หรือประกอบการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น ถ้าจะไปเกิดในดิรัจฉานภูมิ รู้สึกว่า ตนได้เป็นสัตว์เดรัจฉานพวกใดพวกหนึ่ง หรือเห็นที่อาศัยของสัตว์เหล่านั้น หรือกำลังเล่นหยอกล้ออยู่กับสัตว์นั้นๆ ถ้าจะไปเกิดเป็นเปรตและอสุรกาย ย่อมเกิดความรู้สึกว่าตนกำลังเดินไปในสถานที่ต่างๆ อันน่าหวาดเสียวหรือร่างกายของตนปรากฏเป็นที่น่าเกลียดน่ากลัว หรือกำลังอดอยากหิวกระหาย ต้องการจะบริโภค กำลังแสวงหาน้ำและอาหาร เหล่านี้ เป็นต้น

ถ้าจะไปเกิดในนิรยภูมิ ย่อมมีความรู้สึกเหมือนว่า ตนกำลังถูกฉุดคร่าทุบตีอยู่ ถูกสุนัขขบกัดอยู่ หรือถูกจองจำด้วยพันธนาการต่าง ๆ หรือเที่ยวไปในสถานที่อดอยากทุรกันดาร เที่ยวไปในสถานที่บุคคลถูกจองจำอยู่ มีความหวาดเสียวอย่างเหลือล้น เหล่านี้ เป็นต้น

ส่วนที่จะไปเกิดในพรหมโลกนั้น คตินิมิตทั้ง ๒ อย่างนี้ ย่อมไม่มี จะมีแต่บัญญัติกรรมนิมิต และมหัคคตกรรมนิมิต เท่านั้น เพราะนิมิตทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นผลแห่งฌานจิต ซึ่งมหัคคจิต ย่อมรับบัญญัติอารมณ์ และมหัคคตอารมณ์เท่านั้น อันเป็นอารมณ์ที่ส่งให้ปฏิสนธิในพรหมโลกได้คตินิมิตนี้ ย่อมปรากฏทางทวารทั้ง ๖ แต่ทางเดียว คือ เห็นทางทวาร ๖ และจัดเป็นอนาคตอารมณ์ เพราะจะได้ประสบนิมิตนั้น ๆ ต่อไป

ประมวลอารมณ์ของทวารวิมุต คือ :-

กรรมอารมณ์ เมื่อ

  • กล่าวโดยอารมณ์ ได้เฉพาะธรรมารมณ์
  • กล่าวโดยทวาร เกิดเฉพาะทางมโนทวาร
  • กล่าวโดยกาล เป็นอดีตอารมณ์

กรรมนิมิตอารมณ์ เมื่อ

  • กล่าวโดยอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ ๖
  • กล่าวโดยทวาร ได้แก่ ทวาร ๖
  • กล่าวโดยกาล เป็นอารมณ์ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และกาลวิมุติ

คตินิมิตอารมณ์ เมื่อ

  • กล่าวโดยอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ ๖
  • กล่าวโดยทวาร ได้แก่ ทวาร ๖
  • กล่าวโดยกาล เป็นได้เฉพาะอนาคต และกาลวิมุติ


วิกิ

ผลการค้นหา