แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หมวดที่ ๑๐ วิปัสสนากรรมฐาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ หมวดที่ ๑๐ วิปัสสนากรรมฐาน แสดงบทความทั้งหมด

๕. ญาณ ๑๖ (หน้า ๒)

( 🙏 กลับไปอ่าน ญาณ ๑๖ หน้าแรก )

๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ
มุญจิตุกัมยตาญาณ หมายความว่า ญาณที่มีความปรารถนาใคร่จะพ้นจากรูปนาม โดยที่พิจารณาเห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว มีทุกข์ มีโทษ เป็นเหยื่อลวงให้หลงติดอยู่ในวัฏฏสงสาร เป็นสังขารผู้ปรุงแต่งให้ได้รับความเดือดร้อนและมีความแปรปรวนอยู่เป็นนิตย์ จิตก็เกิดความเบื่อหน่าย อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นจากสังขตธรรม อยากพ้นจากสังสารวัฏ ใจก็น้อมไปสู่พระนิพพาน

จิตของผู้ปฏิบัติธรรมเมื่อดำเนินมาถึงมุญจิตุกัมยตาญาณแล้ว ก็อยากจะหลุดอยากจะพ้นจากสังสารวัฏฏ์ เพราะพิจารณาเห็นแน่ชัดแล้วว่าความเกิดในภพนี้ความเป็นไปของขันธ์ที่เกิดแล้ว ความไม่เที่ยงของรูปนาม การสั่งสมกรรมที่จะให้เกิดอีกการเกิดมาอีกทำให้คติต่างๆที่จะไปเกิด เช่นทุคติ สุคติ ความบังเกิดขึ้นของขันธ์ทั้งหลายความเป็นไปแห่งผลกรรม ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาส เป็นภัยเป็นทุกข์เป็นโทษ เป็นเหยื่อล่อให้หลงติดอยู่ในภพ เป็นสังขารปรุงแต่งให้ได้รับความเดือดร้อนทั้งนั้น จึงเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยินดี ไม่ชอบ ไม่ติด จิตอยากออกอยากหนี อยากหลุด อยากพ้น เพราะเห็นประจักษ์ชัดแล้วว่า ถ้าไม่มีรูปนามเสียได้ จะเกษมปลอดภัย เป็นสุข ไม่มีเหยื่อล่อให้ลุ่มหลง เป็นนิพพาน จิตมีกำลังกล้ามุ่งหน้าแต่จะออกจะหนี จะหลุด จะพ้นไปจากสังขารธรรมและสังสารวัฏฏ์

ผู้ปฏิบัติจะมีจิตใจอุปมาได้ ๘ อย่าง คือ
๑. ปลาติดข่าย ติดแห ติดอวน ย่อมดิ้นรนกระวนกระวายอยากหลุดออกไปจากข่าย จากแห จากอวนฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๒. กบถูกงูคาบไว้กำลังอยู่ในปากงู อยากออกอยากกระโดดหนี ทั้งดิ้น ทั้งร้อง จนสุดความสามารถฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๓. ไก่ป่าเป็นสัตว์อยู่ป่าเป็นประจำ เมื่อคนดักบ่วงจับได้นำมาขังไว้ในกรง ย่อมดิ้น กระวนกระวายไม่มีความสุข มีแต่ทุกข์ทรมาน อยากออก อยากบินหนีไปอยู่ป่าอันแสนกว้างแสนสบายตามที่ตนเคยอยู่อย่างอิสระฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๔. เนื้อที่ติดบ่วงอยู่ ย่อมพยายามดิ้นจนสุดความสามารถเพราะอยากออก อยากหลุด อยากพ้นไปจากบ่วงฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๕. งูอยู่ในมือของหมองู ย่อมอยากออกไปให้พ้นมือ อยากจะแล่นหนีไปอยู่ในป่าดงพงทึบ ตามความพอใจของตนฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๖. ช้างติดหล่มลึก อยากจะถอนตนให้ขึ้นจากหล่ม พยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยตัวเองให้พ้นจากหล่มฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๗.พญานาคอยู่ในปากครุฑ ย่อมอยากออก อยากหลุดหนีไปให้พ้นฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น
๘. ผู้ที่ถูกข้าศึกล้อม อยากจะออกหนีไปให้พ้นต้องพยายามหาหนทางที่จะออก ที่จะหนีให้พ้นฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น

ผู้ปฏิบัติเมื่อเป็นดังเช่นข้ออุปมา ๘ ข้อข้างต้นแล้ว ย่อมไม่ชอบ ไม่ติดอยู่ในรูปนาม ซึ่งมีแต่ความแตกสลาย มีแต่ความสิ้นความเสื่อมอยู่เป็นนิตย์ บรรดาผู้ที่อยู่ในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ จิตของผู้ปฏิบัติมีแต่อยากจะออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นจากสังขารทั้งปวง ปราศจากความอาลัยในสังขารทุกอย่าง สังขารทั้งหลาย จะปรากฏว่ามีแต่ภัย มีแต่โทษมากมายเป็นที่น่าเบื่อหน่าย จึงอยากจะหนี อยากจะพ้นไปเสียโดยเร็ว แล้วก็พยายามปฏิบัติต่อไป ไม่ท้อถอย

ลักษณะของญาณนี้ตามที่ปรากฏในปฏิสัมภิทามรรค
ผู้ปฏิบัติได้ดำเนินมาถึงญาณนี้แล้ว ย่อมมีสภาวะดังนี้ คือ
๑. มีจิตอยากหลุดพ้นจากความเกิด เพราะเห็นความเกิดเป็นทุกข์ ความเกิดเป็นภัย ความเกิดเป็นอามิสให้ติดอยู่ ความเกิด เป็นผู้ปรุงแต่ง
๒. จิตอยากหลุดพ้นจากความเป็นไปของรูปนาม เพราะเห็นความเป็นไปไม่ขาดสายของรูปนาม เป็นทุกข์เป็นของน่ากลัวเป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๓. จิตอยากหลุดพ้นจากสังขารนิมิต คือ เครื่องหมายของรูปนาม เป็นของไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นต้น เพราะเห็นว่าสังขารนิมิตเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัวเป็นอามิสให้หลงติด อยู่เป็นผู้ปรุงแต่ง
๔. จิตอยากหลุดพ้นจากการสั่งสมกรรม เพื่อให้เกิดในภพใหม่อีก เพราะเห็นว่าการสั่งสมกรรมเป็นทุกข์เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๕. จิตอยากหลุดพ้นจากการปฏิสนธิอีกเพราะเห็นว่า การถือปฏิสนธิอีกเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่เป็นผู้ปรุงแต่ง
๖. จิตอยากหลุดพ้นจากคติเพราะเห็นว่า คติต่างๆ เช่น สุคติ ทุคติ เป็นทุกข์เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๗. จิตอยากหลุดพ้นจากความบังเกิดขึ้นของขันธ์ทั้งหลาย เพราะเห็นว่าความบังเกิดขึ้นของขันธ์ทั้งหลาย เป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๘. จิตอยากหลุดพ้นจากความเป็นไปของผลกรรมเพราะเห็นว่าผลกรรมต่างๆ เป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่
๙. จิตอยากหลุดพ้นจากความเกิด เพราะเห็นว่าชาติเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่ เป็นผู้ปรุงแต่ง
๑๐. จิตอยากหลุดพ้นจากความแก่ เพราะเห็นว่าความแก่เป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิส ให้หลงติดอยู่
๑๑. จิตอยากหลุดพ้นจากพยาธิ เพราะเห็นว่าเป็นพยาธิเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิส ให้หลงติดอยู่
๑๒. จิตอยากหลุดพ้นจากมรณะ เพราะเห็นว่ามรณะเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้ หลงติดอยู่
๑๓. จิตอยากหลุดพ้นจากความเศร้าโศก เสื่อมญาติ เสื่อมโภคะ เสื่อมเพราะโรคเบียดเบียน เพราะเห็นว่า ความเศร้าโศกเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่
๑๔. จิตอยากหลุดพ้นจากความคับแค้นใจ เพราะถูกความเสื่อมต่างๆ ครอบงำ เพราะเห็น ว่าความคับแค้นใจเป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัว เป็นอามิสให้หลงติดอยู่

จบมุญจิตุกัมยตาญาณ


๑๐. ปฏิสังขาญาณ

ปฏิสังขาญาณ หมายความว่า ญาณพิจารณาเห็นรูปนามโดยขะมักเขม้นต่อจากมุญจิตุกัมยตา -ญาณ เป็นความรอบรู้ในกองสังขารตามความเป็นจริง ปฏิสังขาญาณ คือ ปัญญาย้อนกลับไปพิจารณาสังขารแล้วยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์

ปฏิสังขาญาณ คือ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นของน่ากลัว เป็นเหยื่อของมาร เกิดความเบื่อหน่าย อยากออก อยากหนี อยากหลุดพ้น จึงตั้งใจปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้ได้บรรลุซึ่งมรรค ผล นิพพาน โดยหาอุบายในการหลุดพ้น ๑๕ อย่าง คือ

๑. พิจารณาการเกิดขึ้นและการดับไปของรูปนาม แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๒. พิจารณาความเป็นไปของรูปนามที่เกิดขึ้นแล้วกำลังเป็นไปไม่ขาดสาย แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๓. พิจารณาสังขารนิมิต คือลักษณะของสังขารรูปนามว่าเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๔. พิจารณาเห็นรูปนามกำลังสั่งสมกรรม อันกรรมนั้นจะนำให้เกิดอีก จึงเบื่อหน่าย เพื่อหลุดพ้น แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๕. พิจารณาเห็นรูปนาม ที่กำลังเกิดขึ้นมาใหม่ว่า เป็นทุกข์น่ากลัว เพื่อหลุดพ้น แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๖. พิจารณารูปนามที่กำลังตกอยู่ในคติต่างๆ มีทุคติ สุคติ ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๗. พิจารณารูปนามที่กำลังเกิดเป็นขันธ์ ๕ อยู่ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๘. พิจารณารูปนามที่กำลังเป็นไปตามวิบาก คือกรรมของตนๆ ที่ทำมาตั้งแต่ภพก่อน และในภพนี้ชาตินี้ว่าล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึง พระนิพพาน
๙. พิจารณาเห็นรูปนามที่กำลังเกิดขึ้นมาเป็น รูปชาติ นามชาติ รูปโลก นามโลก ว่าเป็นของน่ากลัว เป็นทุกข์ไม่มีแก่นสาร แล้วเบื่อหน่ายอยากพ้น ตั้งใจปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๑๐. พิจารณารูปนามที่กำลังเสื่อมไป สิ้นไป แก่ไป คร่ำคร่าไป ว่าเป็นทุกข์เป็นโทษ น่ากลัวน่าเบื่อ แล้วเบื่อหน่ายอยากหลุดพ้นแล้วปฏิบัติเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๑๑. พิจารณารูปนามที่กำลังถูกพยาธิเบียดเบียน ครอบงำว่าเป็นทุกข์ เป็นภัย เป็นโทษ ไม่มีสารประโยชน์ไม่มีสุข จึงเกิดความเบื่อหน่าย อยากหนียากพ้น แล้วหาทางพ้น โดยปฏิบัติต่อไปเพื่อให้ได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน
๑๒. พิจารณารูปนามที่กำลังแตกดับ คือตายอยู่ทุกขณะ ว่าเป็นทุกข์ น่ากลัว น่าเบื่อหน่ายเกิดความเบื่อหน่าย อยากหลุด อยากพ้น จึงตั้งใจปฏิบัติต่อไปเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๑๓. พิจารณารูปนามที่กำลังเศร้าโศก เพราะถูกความเสื่อมครอบงำแล้วเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น จึงตั้งใจปฏิบัติต่อไปเพื่อให้ได้ถึงพระนิพพาน
๑๔. พิจารณารูปนามที่กำลังร้องไห้อยู่ เพราะถูกความเสื่อม ๕ ประการ (เป็นความเสื่อมที่เกิดจากเหตุ ๕ อย่าง คือ เสื่อมญาติ มีโรคภัยเบียดเบียน เสื่อมทรัพย์ เสื่อมจากศีล เสื่อมจากสัมมาทิฏฐิ) ครอบงำว่าเป็นของน่ากลัว เป็นทุกข์ เป็นโทษ น่าเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น แสวงหาทางพ้นโดยตั้งใจปฏิบัติต่อไปเพื่อให้ถึงพระนิพพาน
๑๕. พิจารณารูปนามที่กำลังมีความคับแค้นใจ เพราะความเสื่อม ๕ ประการครอบงำ เห็นว่าเป็นของน่ากลัว เป็นทุกข์โทษ น่าเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น ตั้งใจปฏิบัติเพื่อ ให้ได้บรรลุมรรค ผลนิพพาน

เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานพิจารณาเห็นรูปนามโดยแจ้งชัดอย่างนี้แล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวิปัสสนาญาณอันเจริญขึ้นแล้ว เพราะกำหนดสังขารพิจารณาได้ดี เพื่อจะยังอุบายแห่งการหลุดพ้น ให้เกิดขึ้น ความอยากหนีอยากพ้น ก็มีอุปมาดังนี้

เปรียบเหมือนกับชายคนหนึ่งต้องการจะจับปลา เมื่อเอาสุ่มๆ ลงไปในน้ำแล้วเอามือล้วงลงไปในสุ่มเพื่อจับปลา แต่เขาจับได้งูเห่าที่อยู่ในสุ่มนั้น ขณะที่มือยังไม่พ้นจากน้ำเขาเข้าใจว่าเป็นปลาตัวใหญ่ เขาดีใจมากแต่เมื่อยกมือขึ้นพ้นน้ำก็เห็นว่าเป็นงูไม่ใช่ปลาอย่างที่คิดก็หวาดกลัวว่างูนั้นจะกัดทำร้ายตนแต่จะทำอย่างไรดีเมื่องูอยู่ในมือตน จึงคิดวางแผนที่จะปล่อยงูให้พ้นไปโดยเร็ว โดยการจับงูชูขึ้นเหนือศีรษะแล้วเหวี่ยงไปรอบๆ ทำให้งูอิดโรยและอ่อนกำลังลงแล้วจึงเหวี่ยงทิ้งไปอย่างแรง อุปมานี้เปรียบเหมือนบุคคลย่อมยินดีพอใจเมื่อได้เกิดมา เพลิดเพลินสนุกสนาน เปรียบเหมือนชายคนนั้นจับงูได้นึกว่าเป็นปลาใหญ่แล้วดีใจมาก ฉะนั้น บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติย่อมไม่รู้จักความจริง เมื่อไม่รู้จักความจริงจึงหลงติดอยู่ เพลิดเพลินยินดีอยู่กับโลก

เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นรูปนามโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏเป็นของน่ากลัว จัดเป็นญาณตั้งแต่ต้นจนถึงภยญาณ เปรียบเหมือนบุรุษดึงงูออกจากสุ่มเมื่อเห็นว่าเป็นงูแล้วกลัว เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนาพิจารณาเห็นรูปนามว่า เป็นทุกข์ เป็นโทษเป็นภัย แล้วเกิดความเบื่อหน่าย เป็นนิพพิทาญาณ เปรียบเหมือนกับบุรุษพิจารณาเห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัย อันจะเกิดขึ้นแก่ตนอย่างใหญ่หลวงเพราะการจับคองูนั้น

เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน อยากหลุดพ้นจากรูปนาม อยากหลุดพ้นจากสังสารวัฏนี้เป็น มุญจิตุกัมยตาญาณ เปรียบเหมือนกับบุรุษที่จับคองูนั้นอยากจะเหวี่ยงงูให้พ้นไปจากตัว เมื่อผู้ปฏิบัติยกรูปนามขึ้นสู่พระไตรลักษณ์นี้เป็น มุญจิตุกัมยตาญาณอย่างแก่ และเข้าเขตปฏิสังขาญาณอย่างอ่อน เปรียบเหมือนกับบุรุษแสวงหาวิธีจะเหวี่ยงงู แล้วทำการเหวี่ยงงูไปให้พ้น เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนาพิจารณารูปนามยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์บ่อยๆวนไปเวียนมาอยู่กับพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำให้กิเลสหมดกำลังลงจนไม่สามารถจะเห็นว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นของสวยงาม เป็นตัวตน เรา เขา จะเห็นตรงกันข้ามคือเห็นว่าเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เป็นอสุภะ อย่างนี้เป็น ปฏิสังขาญาณ เปรียบเหมือนบุรุษจับงูแกว่งอย่างแรงเพื่อทำให้หมดกำลังจนงูไม่สามารถจะมากัดเขาได้ แล้วเหวี่ยงไปไกลๆ ให้พ้นตัว ฉะนั้น

จบปฏิสังขาญาณ

๑๑. สังขารุเปกขาญาณ
สังขารุเปกขาญาณ หมายความว่า ญาณพิจารณาเห็นรูปนามโดยอาการวางเฉยใน สังขาร-นิมิตอารมณ์ สังขาร คือ สภาวธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อลงมาได้แก่ รูปกับนาม ขันธ์ที่ ๑ เป็นรูป ขันธ์ที่ ๒-๓-๔-๕ เป็นนาม การวางเฉยนั้นคือ เป็นกลางๆ ในสังขารุเปกขาญาณนั้นปัญญาพิจารณากำหนดรู้รูปนามเป็นของไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ ว่างเปล่าจากสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แล้ววางเฉยมีสติกำหนดได้ดี โดย

สรุปดังนี้
๑. ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปนามว่า เป็นทุกข์ เห็นความเป็นไปของรูปนาม ที่เกิดขึ้นมาแล้วว่าเป็นทุกข์ เห็นนิมิต คือ เครื่องหมายของรูปนามที่บอกให้รู้ว่า ไม่เที่ยงทนอยู่ไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ ว่าเป็นทุกข์ เห็นการสั่งสมกรรม เพื่อให้เกิดอีกว่าเป็นทุกข์ เห็นคติทั้ง ๕ ว่าเป็นทุกข์ เห็นปฏิสนธิว่าเป็นทุกข์ เห็นความบังเกิดของขันธ์ ๕ ว่าเป็นทุกข์ เห็นการเกิดเป็นไปของผลกรรมว่าเป็นทุกข์ เห็นโสกะว่าเป็นทุกข์ เห็นปริเทวะว่าเป็นทุกข์ เห็นอุปายาสะว่าเป็นทุกข์ เพื่อพิจารณาเห็นทุกข์อย่างนี้แล้วเกิดความเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น จึงมนสิการถึงพระไตรลักษณ์ซ้ำอีกแล้ววางเฉย จัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๒. ปัญญาพิจารณาเ ห็นความเกิดขึ้นของรูปนามว่า เป็นภัย เห็นความเป็นไปของรูปนาม ที่เกิดมาแล้วว่าเห็นภัย เห็นนิมิตคือเครื่องหมายของรูปนามที่บอกให้รู้ว่าไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ บังคับไม่ได้ว่าเป็นภัย เห็นการสั่งสมกรรมเพื่อให้เกิดอีกว่าเป็นภัย เห็นคติทั้ง ๕ ว่าเป็นภัย เห็นปฏิสนธิว่าเป็นภัย เห็นความบังเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ว่าเป็นภัย เห็นการเกิดซึ่งเป็นผลของกรรมว่าเป็นภัย เห็นชาติว่าเป็นภัย เห็นชราว่าเป็นภัย เห็นพยาธิว่าเป็นภัย เห็นมรณะว่าเป็นภัย เห็นปริเทวะว่าเป็นภัย เห็นอุปายาสะว่าเป็นภัย เมื่อพิจารณาเห็นภัยอย่างนี้แล้ว เกิดความเบื่อหน่ายอยากหลุดพ้น จึงมนสิการถึงพระไตรลักษณ์ซ้ำอีก แล้วจึงวางเฉย จัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๓. ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปนามว่าสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นความเป็นไปของรูปนามที่บอกให้รู้ว่าไม่เที่ยงทนอยู่ไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ว่าสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นการสั่งสมกรรมเพื่อให้ได้เกิดอีกว่าเป็นสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นความบังเกิดขึ้นของ ขันธ์ ๕ ว่าเป็นสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นความเกิดเป็นไปของวิบากว่าเป็นสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เห็นชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาสะว่าเป็นสังขารคือผู้ปรุงแต่ง เมื่อพิจารณาเห็นสังขารโดยอาการอย่างนี้แล้วเกิดความเบื่อหน่ายอยากหลุดพ้น จึงมนสิการถึงพระไตรลักษณ์ซ้ำอีก แล้ววางเฉยจัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๔. ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปนาม ตั้งแต่ชาติจนถึงอุปายาสะ (ความคับแค้นใจ) เพราะถูกความเสื่อม ๕ ประการ คือความเสื่อมญาติ เสื่อมทรัพย์ เป็นต้น ถูกครอบงำเป็นไปด้วยเหยื่อล่อให้หลงติดอยู่ในวัฏฏะ จึงเบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น จึงมนสิการ ถึงพระไตรลักษณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้ววางเฉยจัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๕. ปัญญาพิจารณาเห็นว่าความเกิดขึ้นของรูปนาม ตั้งแต่ชาติจนถึงอุปายาสะ ว่าเป็นสังขารผู้ปรุงแต่งให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนนานาประการ แล้ววางเฉยสังขารเหล่านั้นปัญญาเช่นนี้ จัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๖. ปัญญาพิจารณาเห็นว่าสังขารและอุเปกขาทั้ง ๒ ก็เป็นสังขารแล้ววางเฉยสังขารทั้ง ๒ เหล่านั้น จัดเป็นสังขารุเปกขาญาณ
๗. จิตของปุถุชน พระเสขบุคคล พระอเสขบุคคล เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณ จะมีอาการ ดังนี้

๘. จิตของปุถุชนกับจิตของพระเสขบุคคล เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณจะมีลักษณะเหมือนกัน ๔ ประการ คือ
     ๑) เศร้าหมองเพราะยินดีต่อสังขารุเปกขาญาณ
     ๒) เป็นอันตรายต่อภาวนา
     ๓) เป็นอันตรายต่อปฏิเวธ คือ เป็นสิ่งที่จะมาตัดรอนต่อการรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔
     ๔) เป็นปัจจัยต่อการปฏิสนธิในภพชาติต่อไปอีก
๙. จิตของปุถุชน พระเสขบุคคล วีตราคบุคคล (หมายถึงพระอรหันต์เช่นเดียวกับพระอเสขบุคคล) เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว มีสภาวะเหมือนกันตรงเห็นพระไตรลักษณ์ เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน ก็เห็นแจ้งสังขารุเปกขาว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกัน
๑๐. จิตของปุถุชน เสขบุคคล วีตราคบุคคล เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว ต่างกันตรงที่เป็นกุศลและอัพยากฤต คือ สังขารุเปกขาของปุถุชนกับของพระเสขบุคคลเป็นกุศล แต่ของพระอรหันต์เป็นอัพยากฤต
๑๑. สังขารุเปกขาของปุถุชน พระเสขบุคคล พระอเสขบุคคล มีความต่างกัน คือ

    🔅 ปุถุชน
            ๑.) สังขารุเปกขาญาณปรากฏชัดดี แต่รู้ได้ดีเฉพาะในเวลาเจริญวิปัสสนา
            ๒.) เจริญวิปัสสนาพิจารณาสังขารุเปกขาญาณเพราะยังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากยังทำวิปัสสนากรรมฐานไม่สำเร็จ
            ๓.) พิจารณาสังขารุเปกขาญาณเพื่อละสังโยชน์ ๓ คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เพื่อให้ได้โสดาปัตติมรรค
    🔅 พระเสขบุคคล
            ๑.) สังขารุเปกขาญาณปรากฏชัดดี คือรู้ได้ดีถึงแม้ไม่ได้เจริญวิปัสสนา
            ๒.) พระเสขบุคคลต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานพิจารณาสังขารุเปกขาต่อไปอีกเพราะยังไม่ถึงที่สุด คือยังทำวิปัสสนาไม่สมบูรณ์
            ๓.) พิจารณาสังขารุเปกขาญาณเพื่อให้ได้มรรคผลเบื้องสูงขึ้นจนถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผล
    🔅 พระอเสขบุคคล
            ๑.) สังขารุเปกขาปรากฏชัดดี คือ รู้ได้ดีตลอดไปเพราะท่านละความยินดียินร้ายได้หมดแล้ว
            ๒.) พระอเสขบุคคลท่านทำวิปัสสนาส าเร็จแล้วละกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว กิจที่ควรทำไม่มีอีก อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
            ๓.) พิจารณาสังขารุเปกขาญาณเพื่ออยู่เป็นสุขในภพปัจจุบันทันตาเห็น เพราะท่านละกิเลสได้หมดทุกอย่างแล้ว

๑๒. สังขารุเปกขาญาณเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะและวิปัสสนา ดังนี้
สังขารุเปกขาญาณที่เกิดด้วยอำนาจสมถะ มี ๘ คือ
    ๑.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยนิวรณ์ ๕ เพื่อให้ได้ปฐมฌาน
    ๒.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยวิตก วิจารเพื่อให้ได้ทุติยฌาน
    ๓.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยปีติเพื่อให้ได้ตติยฌาน
    ๔.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยสุขเพื่อให้ได้จตุตถฌาน
    ๕.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา เพื่อให้ได้อากาสานัญจายตนฌาน
    ๖.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยอากาสานัญจายตนสัญญา เพื่อให้ได้วิญญาณัญจายตนฌาน
    ๗.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยวิญญาณัญจายตนสัญญา เพื่อให้ได้อากิญจัญญายตนฌาน
    ๘.) ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉย อากิญจัญญายตนสัญญา เพื่อให้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
สังขารุเปกขาญาณที่เกิดจากวิปัสสนา มี ๑๐ คือ 
    ๑.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปนามจนถึง อุปายาสะ เพื่อให้ได้โสดาปัตติมรรค แล้ววางเฉย
    ๒.) ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของ รูปนามจนถึง อุปายาสะเพื่อให้ได้โสดาปัตติผล สมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๓.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนามจนถึง อุปายาสะ เพื่อให้ได้สกทาคามิมรรค แล้ววางเฉย
    ๔.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนามจนถึง อุปายาสะ เพื่อให้ได้สกทาคามิผล สมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๕.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ได้อนาคามิมรรค แล้ววางเฉย
    ๖.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ได้อนาคามิผลสมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๗.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ได้อรหัตตมรรค แล้ววางเฉย
    ๘.) ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ได้อรหัตตผลสมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๙.) ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของ รูปนาม เพื่อให้ได้สุญญตวิหารสมาบัติ แล้ววางเฉย
    ๑๐.) ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ของรูปนาม เพื่อให้ ได้อนิมิตตวิหารสมาบัติ แล้ววางเฉย

ผลของสังขารุเปกขาญาณ
เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นรูปนามโดยความเป็นของสูญอยู่อย่างนี้แล้วยกขึ้นสู่ความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กำหนดพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ผลก็จะปรากฏดังนี้
๑.) ละความกลัว ละความยินดี มีใจวางเฉยในรูปนาม
๒.) ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ในรูปนามว่าเป็นของเรา
๓.) จิตไม่หวนกลับไปยินดีใน ภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ คงเหลืออยู่แต่ความวางเฉยในรูปนาม หรือเห็นรูปนามเป็นปฏิกูลสะอิดสะเอียนขยะแขยงถึงถอยกลับ หวนกลับจากภพชาติเป็นต้น อุปมาเหมือนหยาดน้ำค้างบนใบบัวที่เมื่อใบบัวเอียงลงน้ำค้าง ก็มีแต่จะไหลลงไปอย่างเดียวไม่หวนกลับ ไม่ย้อนกลับมาติดอยู่บนใบบัวอีกฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติเมื่อถึงญาณนี้ก็ไม่หวนกลับไม่เวียนกลับมาในภพ ๓ เป็นต้นอีก
๔.) ผู้ปฏิบัติเมื่อสติมีกำลังแก้กล้าปรากฏแล้ว ความโลภ โกรธ หลง ก็ไม่มี อุปมาเหมือนกับไฟฟัากำลังมากย่อมให้แสงสว่างมากดูอะไรๆ ก็เห็นได้ชัดเจนไม่มีความมืดฉันนั้น ดังนั้น ใจจึงมีแต่ความวางเฉย
๕.) ใจไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ไม่ผูกพัน ไม่เกาะเกี่ยว ไม่กำหนัดพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น จึงปรากฏแต่ความวางเฉย
๖.) ไม่รับบัญญัติไว้เป็นอารมณ์ คือ ไม่รับว่าขันธ์ ๕ เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน เพราะ มีสติปัญญาพิจารณาเห็นแน่ชัดแล้วว่า ขันธ์ ๕ เป็นอสุภะ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำให้สัญญาวิปัลลาสหายไป ไม่เข้าใจผิดและไม่หลงติดอยู่ ใจจึงมีแต่ความวางเฉยในรูปนาม
๗.)ไม่สั่งสมทุกข์ไว้ มีแต่พยายามตัดรากของทุกข์ให้หมดไปให้สลายไป ใจก็วางเฉยในรูปนาม
๘.) เมื่อเห็นรูปนามว่าเป็นภัย เป็นทุกข์ เป็นโทษ เบื่อหน่าย อยากหลุดพ้น ใจเข้มแข็งแล้ววางเฉย จิตก็จะไปสู่ความสงบ ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานก็จะยึดรูปนามมาเป็นอารมณ์ซ้ำๆ อยู่ อย่างนั้นอีก
๙.) สังขารุเปกขาญาณนี้ยิ่งนานก็ยิ่งละเอียด สุขุม ประณีต ดุจบุคคลเอาตะแกรงร่อนแป้ง ฉะนั้น เมื่อพิจารณารูปนามโดยประการต่างๆ แล้ว ละความกลัว ละความยินดี วางเฉยได้ จิตย่อมตั้งมั่นอยู่ด้วยอำนาจของอนุปัสสนาทั้ง ๓ เมื่อตั้งอยู่โดยอาการอย่างนี้ย่อม ถึงความเป็นวิโมกขมุข ๓ (วิโมกขมุข แปลว่าหนทางแห่งความหลุดพ้นโดยวิเศษจากกิเสสทั้งปวง ได้แก่อนุปัสสนาทั้ง ๓ เพราะเป็นหนทางนำออกไปจากโลกนำไปเหนือโลกคือโลกุตตระ ได้แก่หนทางไปสู่พระนิพพาน)

เปรียบเทียบ อนุปัสสนา ๓ วิโมกขมุก ๓ และพระอริยบุคคล ๘
อนุปัสสนา ๓
๑.) อนิจจานุปัสสนา ได้แก่ ปัญญาพิจารณาเห็นรูป นามว่าไม่เที่ยงเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เกิดที่ไหนก็ดับไปที่นั่น ใจจึงแล่นไปในธาตุที่ไม่มีนิมิต จึงทำให้รูปนามปรากฏว่ามีแต่ความเสื่อมไปสิ้นไป แล้วมี ใจวางเฉยมีสติกำหนดรู้อยู่
๒.) ทุกขานุปัสสนา ได้แก่ ปัญญาพิจารณาเห็นรูป นามว่า เป็นทุกข์ทนอยู่ ไม่ได้ ใจก็เกิดความ สังเวชสลด ในรูปนามแล้ว แล่นไปในธาตุซึ่งไม่มีที่ตั้ง รูปนามก็ปรากฏว่าเป็นภัย คือเป็นของน่ากลัว แล้วมี ใจวางเฉยมีสติกำหนดรู้อยู่
๓.) อนัตตานุปัสสนา ได้แก่ปัญญาพิจารณา เห็นรูปนามว่า ไม่ใช่ ตัวตนเป็นของสูญ ว่างเปล่า ใจก็แล่นไปในธาตุ ว่าง รูปนามก็จะปรากฏโดยความเป็นของสูญฝ่ายเดียว แล้วมีใจวางเฉยมี สติกำหนดรู้อยู่
วิโมกขมุก ๓
๑.) อนิมิตตวิโมกข์ เป็นการหลุดพ้นด้วยการพิจารณา เห็นรูปนามโดยความเป็น อนิจจัง และเป็นผู้มากไป ด้วยศรัทธา การหลุดพ้นอย่างนี้เรียกว่า อนิมิตตวิโมกข์
๒.) อัปปณิหิตวิโมกข์ เป็น การหลุดพ้นด้วยการ พิจาณาเห็นรูปนาม เป็นทุกข์ และเป็นผู้ที่มากไปด้วยความสงบ การหลุด พ้นอย่างนี้เรียกว่า อัปปณิหิตวิโมกข์
๓.) สุญญตวิโมกข์ เป็นการ หลุดพ้นด้วยการพิจารณานามรูปเป็น อนัตตา และผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เป็นผู้มากไปด้วยปัญญาอัน ละเอียดสุขุมคัมภีรภาพมาก การหลุดพ้นอย่างนี้เรียกว่า สุญญตวิโมกข์ 
พระอริยบุคคล ๘ 
โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล ผู้ที่บรรลุเป็นพระ อริยบุคคล ๘เหล่านี้ ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องลงมือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สำหรับพระโสดาปัตติมรรมต้องผ่านญาณ ๑๖ ส่วนมรรคที่ ๒ ๓ ๔ ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานผ่านญาณ ต่างๆ เพียง ๑๓ ญาณ

ยอดของวิปัสสนา
ธรรมดาต้นไม้ต้องมียอดฉันใด วิปัสสนาก็มียอดฉันนั้น ยอดของวิปัสสนามี ๒ อย่าง คือ
๑. สิกขาปัตตะ วิปัสสนาที่ถึงยอดถึงปลายถึงความสูงสุด ได้แก่ สังขารุเปกขาญาณ ที่ครบอง ค์ ๖ คือ
    ๑.) ไม่มีความกลัว ไม่มีความยินดียินร้าย
    ๒.) ดีใจก็ไม่มี เสียใจก็ไม่มี
    ๓.) วางเฉยในสังขารทั้งปวง
    ๔.) ปล่อยวางแล้ววางเฉยได้ในที่สุดหรือสมาธิตั้งอยู่นานกำหนดอยู่ได้นานๆ
    ๕.) มีความเป็นกลางในการตรวจสอบสังขารหรือตั้งอยู่ในอนุปัสสนา ๓
    ๖.) ไม่ปรารถนาในภพต่าง
เมื่อครบองค์ ๖ แล้ว ผู้นั้นก็มีหวังจะได้บรรลุ มรรค ผล นิพพานอย่างแน่นอน
๒. วุฏฐานคามินี วิปัสสนาที่ออกจากนิมิตจากวัตถุที่เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่น ได้แก่ขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา และวิปัสสนาที่ออกไปจากมิจฉาทิฏฐิ ภายในขันธสันดานของตนและออกไปจากกองกิเลสที่เป็นไปตามมิจฉาทิฏฐินั้นเอง

จบสังขารุเปกขาญาณ

๑๒.อนุโลมญาณ
อนุโลมญาณ คือ ญาณที่อนุโลมไปตามลำดับเพื่อสำเร็จกิจแห่งวิปัสสนาญาณ ๘ โดยมีรูปนามเป็นอารมณ์ หรืออนุโลมไปตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการในเบื้องสูง ผลของอนุโลมญาณนั้นย่อมสามารถกำจัดความมืดคือกิเลสที่ปกปิดอริยสัจ ๔ อนุโลมไปตามลำดับมี ๒ ประการ คือ

๑. อนุโลมตามญาณต่ำไปสู่ญาณสูง โดยเริ่มตั้งแต่
    ๑.๑) อุทยัพพยญาณ พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม
    ๑.๒) ภังคญาณ พิจารณาเห็นความดับไปของรูปนามอย่างเดียว
    ๑.๓) ภยญาณ พิจารณาเห็นรูปนามว่าเป็นของน่ากลัว
    ๑.๔ป อาทีนวญาณ พิจารณาเห็นรูปนามว่ามีโทษมาก
    ๑.๕ป นิพพิทาญาณ พิจารณาเห็นทุกข์โทษของรูปนามแล้วเบื่อหน่าย
    ๑.๖) มุญจิตุกัมยตาญาณ พิจารณาเห็นทุกข์โทษเบื่อหน่ายแล้วอยากหลุดพ้น
    ๑.๗) ปฏิสังขาญาณ พิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วตั้งใจปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง
    ๑.๘) สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์แล้วมีใจวางเฉยอยู่กับรูปนามทั้ง ๘ อย่างข้างต้น เรียกว่า อนุโลมตามญาณต้น เพราะมีกิจพิจารณาพระไตรลักษณ์ เป็นอารมณ์เหมือนกัน

๒. อนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่ออนุโลมตามญาณต่ำได้กำลัง พอแล้ว คือได้อินทรีย์ ๕ แก่กล้าแล้ว ก็เข้าเขตอนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

จบอนุโลมญาณ

๑๓. โคตรภูญาณ 
โคตรภูญาณ คือ ปัญญาที่ทำลายโคตรของปุถุชนแล้วเข้าสู่โคตรของพระอริยเจ้า
ปุถุชน แปลว่า ผู้มีกิเลสหนา มีความหมาย ๙ ประการ
๑. ผู้มีกิเลสหนาด้วยประการต่างๆ ได้แก่ มีสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นต้น
๒. ผู้หนาด้วยคติทั้ง ๕ ผู้ไม่ออกจากคติทั้ง ๕ ได้แก่ นิรยคติ ติรัจฉานคติ ปิตติวิสยคติ มนุสสคติ เทวคติ
๓. ผู้สร้างสังขารทั้ง ๓ คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร
๔. ผู้ถูกโอฆะทั้ง ๔ พัดไป คือถูกทิฏโฐฆะ กาโมฆะ ภโวฆะ อวิชโชฆะ พัดไป
๕. ผู้เร่าร้อนอย่างมากเพราะ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น
๖. ผู้กำหนัด ชอบใจ ติดใจ ข้อง จม หลง พัวพันอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ อย่างหนาแน่นคือ พอใจอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
๗.ผู้ถูกนิวรณ์ ๕ ครอบงำท่วมทับหุ้มห่อปกปิดไว้ ถูกกามฉันทะ คือความพอใจในกามคุณ ๕ ปกปิดไว้ ถูกพยาบาทอาฆาตจองเวรกันและกันปกปิดไว้ ถูกถีนมิทธะ คือความท้อใจ อ่อนใจ ท้อถอย หดหู่ ง่วงเหงาหาวนอนปกปิดไว้ ถูกอุทธัจจกุกกุจจะคือความฟุูงซ่านรำคาญปกปิดไว้ ถูกวิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย บุญ บาป เป็นต้น ปกปิดไว้
๘.ผู้หยั่งลงสู่ธรรมอันต่ำ สู่มรรยาทอันต่ำ ผู้หันหลังให้อารยธรรม อารยธรรมมี ๖ อย่าง คือ ไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่ลบหลู่บุญคุณท่าน มีความบริสุทธิ์ เป็นสัมมาทิฏฐิ และมีปัญญา
๙.ผู้ปราศจากสารธรรมทั้ง ๕ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา 

พระผู้มีพระภาคจำแนกปุถุชนไว้ ๒ พวก คือ อันธปุถุชนและกัลยาณปุถุชน
๑. อันธปุถุชน คือ ผู้ที่มีดบอดและมีกิเลสหนา ได้แก่ บุคคลที่ไม่ได้เรียน ไม่ได้สอบถาม ไม่ได้ฟัง ไม่ได้จำ ไม่ได้พิจารณาวิปัสสนาภูมิ ๖ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ เป็นต้น
๒. กัลยาณปุถุชน คือ คนมีกิเลสหนา แต่ได้นามว่าเป็นคนดี เพราะได้เรียนรู้ ได้สอบถาม ได้ฟัง จำได้ และได้พิจารณาวิปัสสนาภูมิ ๖ มีศีล ๕ และมีกัลยาณธรรม คือมี เมตตา จาคะ สันโดษ สัจจะ สติ

ปัญญาที่ทำลายโคตรของปุถุชนทั้ง ๒ ชนิด ที่หมุนออกไปจากสังขารนิมิตภายนอก คือ โคตรภูญาณ

ลักษณะของโคตรภูญาณ
๑. เมื่อปฏิบัติถึงโคตรภูญาณแล้ว รูปนามก็ดับไป
๒. ปัญญาที่รู้ความเป็นไปไม่ขาดสายของรูปนามที่เกิดขึ้นมาแล้วเพราะกรรมในภพก่อนเป็นปัจจัย
๓. ปัญญาที่รู้สังขารนิมิต ไม่เข้าใจผิดคิดว่ารูปนาม เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
๔. ปัญญาที่รู้ในกรรมที่เป็นเหตุให้เกิดในภพต่อๆ ไป เมื่อปฏิบัติถึงญาณนี้แล้วกรรมต่างๆ ที่จะนำบุคคลนั้นให้ไปเกิดในภพอื่นอีกคงเหลือเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก
๕. ปัญญาที่สามารถครอบงำการเกิด เพราะเมื่อโคตรภูญาณเกิดขึ้นกับบุคคลใด การเวียนเกิดในภพต่างๆ กันถูกครอบงำไว้ได้
๖. ปัญญาที่สามารถครอบงำคติทั้ง ๕ ได้ หมายความว่า เมื่อโคตรภูญาณเกิดขึ้นกับบุคคลใด คติคือที่เกิดจะไม่มีแล้ว
๗.ปัญญาที่ครอบงำความบังเกิดขึ้นแห่งขันธ์ทั้งหลายได้หมายความว่า ขันธ์ที่เป็นอารมณ์ปัจจุบันในขณะนั้นดับไม่เกิด และขันธ์ในอนาคตก็ลดน้อยถอยลงไป จะเหลือเพียง ๑ ถึง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก
๘. ปัญญาที่ครอบงำอุปบัติ คือ ความเกิดของวิบาก หมายความว่าถ้าท่านผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมาจนถึงโคตรภูญาณนี้แล้ว ท่านผู้นั้นจะพ้นจากผลกรรมต่างๆ ตามสมควรเพราะ มีความเกิดลดน้อยถอยลงมาจะเกิดอีกเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก
๙.ปัญญาที่ครอบงำชาติได้ หมายความว่า ชาติคือความเกิดนี้ แบ่งออกเป็น ๓ คือ ปัจจุบัน อดีต อนาคต เมื่อโคตรภูเกิดขึ้นแล้วความเกิดขึ้นของรูปนามในขณะปัจจุบันก็ดับไปหมดเพราะขณะนั้นมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๐. ปัญญาที่ครอบงำชราได้ หมายความว่า ขณะโคตรภูญาณเกิดขึ้น รูปนามที่กำลังเสื่อมอยู่ดับไป เพราะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
๑๑. เมื่อโคตรภูญาณเกิดขึ้นแล้วครอบงำ พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาสะ ย่อมสงบไปดับไปได้ เพราะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์

จบ โคตรภูญาณ

๑๔. มรรคญาณ
โสดาปัตติมรรคญาณ เมื่อโคตรภูญาณเกิดขึ้นแล้วดับไป โสดาปัตติมรรคก็เกิดขึ้นติดต่อกันทันที ทั้งสองญาณมีพระนิพพานเป็นอารมณ์เหมือนกัน แต่ทำหน้าที่ต่างกัน เมื่อโสดาปัตติมรรคเกิดขึ้นสามารถประหาณกิเลสได้ อุปมาดังนี้ การยิงธนูของนักแม่นธนูที่มีผ้าผูกตา เมื่อได้ยินสัญญาณเคาะไม้กระดานที่วางซ้อนกันไว้ ๑๐๐ แผ่น ก็สามารถยิงธนูไปเจาะทะลุกระดานทั้ง ๑๐๐ แผ่นทันที อุปมาโคตรภูญาณเปรียบเหมือนสัญญาณเคาะไม้ มรรคญาณเปรียบเหมือนนักยิงธนู การที่มรรคญาณไม่ลืมสัญญาณที่โคตรภูญาณให้ไว้แล้วทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์ แล้วเจาะทะลุทำลาย กองโลภะ โทสะ โมหะ ที่ไม่เคยทำลายมาก่อน เปรียบเหมือนนักยิงธนูที่ไม่ลืมสัญญาณเคาะไม้แล้วยิงธนูทะลุไม้กระดาน ๑๐๐ แผ่นทันที อานิสงส์ของโสดาปัตติมรรค มิใช่แต่ทำการเจาะทะลุกองกิเลสเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทำมหาสมุทรแห่งความทุกข์ในสังสารวัฏซึ่งไม่มีใครรู้เบื้องต้นและเบื้องปลายให้เหือดแห้งไปด้วย ปิดประตูอบายทั้งปวง ทำให้เป็นผู้มีอริยทรัพย์ ๗ ประการสมบูรณ์ สลัดทิ้งหนทางดำเนินผิด ๘ ประการเสียได้ ทำเวรภัยทุกอย่างให้สงบลง นำให้เข้าถึงความเป็นบุตรอันเกิดจากพระอุระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นไปเพื่ออานิสงส์อื่นๆ อีกนานัปประการ

สกทาคามิมรรคญาณ เมื่อพระโสดาบันสำรวจทบทวนใน มรรค ผล นิพพาน และกิเลส ด้วยปัจจเวกขณญาณแล้ว อาจจะนั่งอยู่ที่อาสนะเดิม หรือในโอกาสต่อมาแล้วทำความเพียรในวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้นเพื่อบรรลุสกทาคามิมรรคญาณ เพื่อทำกามราคะและพยาบาทอย่างหยาบให้เบาบาง ท่านจึงรวบรวมอินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ทำให้สม่ำเสมอกัน แล้วพิจารณาสังขารธรรมคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วยปัญญาที่กำหนดว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทบทวนไปมาแล้วหยั่งลงสู่วิถีของวิปัสสนาญาณ เมื่อพระโสดาบันปฏิบัติเช่นนี้แล้วอนุโลมญาณและโคตรภูญาณก็จะเกิดขึ้นต่อจาก สังขารุเปกขาญาณ แล้วสกทาคามิมรรคญาณจะบังเกิดต่อจากโคตรภูญาณ

อนาคามิมรรคญาณ เมื่อพระสกทาคามีสำรวจทบทวนดูมรรค ผล นิพพาน และกิเลส ด้วยปัจจเวกขณญาณแล้วอาจจะนั่งอยู่ที่อาสนะเดิม หรือในโอกาสต่อมาทำความเพียรในวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้น เพื่อบรรลุอนาคามิ มรรคญาณ เพื่อละสังโยชน์เบื้องต่ำอีก ๒ คือ กามราคะและพยาบาทอย่างละเอียดโดยไม่เหลือ ท่านจึงเจริญอินทรีย์ พละ และโพชฌงค์ ทำให้สม่ำเสมอกัน แล้วพิจารณาสังขารธรรมด้วยปัญญาที่กำหนดว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทบทวนไปมาแล้วหยั่งลงสู่วิถีของวิปัสสนาญาณ เมื่อพระสกทาคามีปฏิบัติเช่นนี้แล้วอนุโลมญาณและโคตรภูญาณก็จะบังเกิดขึ้นต่อจากสังขารุเปกขาญาณ แล้วอนาคามิมรรคญาณจะบังเกิดต่อจากโคตรภูญาณ

อรหัตตมรรคญาณ เมื่อพระอนาคามีสำรวจทบทวนดู มรรค ผล นิพพาน และกิเลสด้วยปัจจเวกขณญาณแล้ว อาจจะนั่งอยู่ ณ อาสนะเดิม หรือในโอกาสต่อมาแล้วทำความเพียรในวิปัสสนาให้ยิ่งๆ ขึ้น เพื่อบรรลุอรหัตตมรรคญาณ เพื่อละสังโยชน์เบื้องบนอีก ๕ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา โดยไม่มีเหลือ ท่านจึงเจริญอินทรีย์ พละ และโพชฌงค์ ทำให้สม่ำเสมอกัน แล้วพิจารณาสังขารด้วยปัญญา ที่กำหนดว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทบทวนไปมาแล้วหยั่งลงสู่วิถีของวิปัสสนาญาณเมื่อพระอนาคามีปฏิบัติเช่นนี้แล้วอนุโลมญาณและโคตรภูญาณก็จะบังเกิดขึ้นต่อจากสังขารุเปกขาญาณ และอรหัตตมรรคญาณจะบังเกิดต่อจากโคตรภูญาณ

จบมัคคญาณ

๑๕. ผลญาณ 
โสดาปัตติผลญาณ ในลำดับต่อจากโสดาปัตติมรรคจิตดับลงแล้ว ผลจิตที่เป็นวิบากของมรรคจิต ได้แก่ โสดาปัตติผลจิตหรือโสดาปัตติผลญาณก็เกิดขึ้น พระโสดาบันท่านยังต้องเกิดในมนุษยโลกและเทวโลกทั้งหลาย อีก ๗ ชาติ แล้วก็จะเป็นผู้ทำที่สุดแห่งกองทุกข์ได้ การที่จะประหาณกิเลสดัณหาอันมีฤทธิ์ร้าย มีอยู่วิธีเดียวคือ การบำเพ็ญวิปัสสนาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ด้วยการประหาณกิเลสตัณหาได้อย่างเด็ดขาดเป็นขั้นๆ ไป

กิเลสมี ๑๕๐๐ ตัณหามี ๑๐๘ แต่เพื่อความเข้าใจได้ง่ายขึ้นจึงประมวลเอากิเลสตัณหาเหล่านั้นลงไว้ในกิเลส ๑๐ อย่าง คือ
    ๑. ทิฏฐิกิเลส
    ๒. วิจิกิจฉากิเลส
    ๓. โลภกิเลส
    ๔. โทสกิเลส
    ๕. โมหกิเลส
    ๖. มานกิเลส
    ๗. ถีนกิเลส
    ๘. อุทธัจจกิเลส
    ๙. อหิริกกิเลส
    ๑๐. อโนตตัปปกิเลส

พระโสดาบันละกิเลส ๒ ได้เด็ดขาด คือ
    ๑. ทิฏฐิกิเลส ได้แก่ สักกายทิฏฐิ ความเข้าใจผิดในขันธ์ ๕ เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าขันธ์ ๕ เป็นของตน เป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ความเข้าใจผิดเช่นนี้ชื่อว่าสักกายทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดที่ ทำให้ติดอยู่ในความหมุนเวียนของวัฏฏสงสาร
    ๒. วิจิกิจฉากิเลส ได้แก่ ธรรมชาติที่ทำให้ตัดสินใจลำบาก คือ สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 

สกทาคามิผลญาณ
เมื่อสกทาคามิมรรคจิตดับลง สกทาคามิผลจิตหรือสกทาคามิผลญาณก็เกิดขึ้นติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น ทำนองเดียวกันกับโสดาปัตติมรรคญาณและโสดาปัตติผลญาณ การบังเกิดขึ้นของสกทาคามิผลญาณ ทำให้เป็นพระอริยบุคคล มีนามว่า พระสกทาคามี ซึ่งท่านจะกลับมาถือปฏิสนธิ ในโลกนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และท่านสามารถทำที่สุดแห่งกองทุกข์ได้ พระสกทาคามีบุคคล ไม่ได้ประหาณกิเลสเพิ่ม แต่ทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางลง

อนาคามิผลญาณ
เมื่ออนาคามิมรรคจิตดับลง อนาคามิผลจิตหรืออนาคามิผลญาณก็บังเกิดขึ้นติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น ทำนองเดียวกันกับสกทาคามิมรรคญาณและสกทาคามิผลญาณ และการบังเกิดของอนาคามิผลญาณนี้ พระอริยบุคคลนั้นมีนามว่าพระอนาคามี สามารถฆ่ากิเลสที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิด อยู่ในวัฏฏสงสารได้อีก ๑ คือ โทสกิเลส โทสกิเลส แบ่งออกได้ ๒ คือ ๑.) โทสะที่นำสู่อบายภูมิได้ เพราะความโกรธที่ดุร้ายสามารถทำอกุศลกรรมบถ มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น โทสะชนิดนี้พระโสดาบันละได้แล้ว ๒.) โทสะที่ไม่นำไปสู่อบายภูมิ ได้แก่ ความขัดใจ โกรธเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ถึงกับล่วงอกุศลกรรมบถ โทสะที่ละเอียดทั้งหมดพระอนาคามีละได้เด็ดขาดแล้ว

อรหัตตผลญาณ
เมื่ออรหัตตมรรคจิตดับลง อรหัตตผลจิตหรืออรหัตตผลญาณก็บังเกิดขึ้นติดต่อกันโดยไม่มีระหว่างคั่น พระอริยบุคคลนั้นมีนามว่าพระอรหันต์หรือพระมหาขีณาสพ ผู้มีร่างกายนี้เป็นวาระสุดท้าย เป็นผู้ปลงภาระลงได้แล้ว เป็นผู้บรรลุถึงความต้องการของตนเอง เป็นผู้หมดสิ้นสังโยชน์ในภพ เป็นผู้พ้นจากกองทุกข์ด้วยความรู้อันชอบแล้ว เป็นทักขิไณยบุคคลชั้นสุดยอดของมนุษยโลกและเทวโลก

จบผลญาณ

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ
🙏 พระอริยบุคคลสำรวจทบทวนดูมรรคว่า “ ข้าพเจ้าสำเร็จมาด้วยอำนาจแห่งมรรคนี้แน่แล้ว”
🙏 พระอริยบุคคลสำรวจทบทวนดูผลว่า “ อานิสงส์ดังกล่าวนี้ข้าพเจ้าได้รับแล้ว”
🙏 พระอริยบุคคลสำรวจทบทวนดูกิเลสที่ละได้แล้วว่า “ กิเลสทั้งหลายชื่อนี้ๆข้าพเจ้าละได้แล้ว”
🙏 พระอริยบุคคลสำรวจดูกิเลสที่ยังเหลืออยู่ว่า “ กิเลสทั้งหลายชื่อนี้ๆ ของข้าพเจ้ายังเหลืออยู่”
🙏 พระอริยบุคคลสุดท้ายก็สำรวจทบทวนดูพระนิพพานว่า “ พระธรรมนี้ข้าพเจ้าแทงตลอดแล้ว”

ปัจจเวกขณญาณของพระโสดาบัน พระสกาทาคามี พระอนาคามี ต้องพิจารณา ๕ อย่างทั้งหมดข้างต้น แต่สำหรับพระอรหันต์ไม่ต้องพิจารณากิเลสที่เหลืออยู่แล้ว เพราะท่านประหาณกิเลสได้ ทั้งหมดแล้ว

จบปัจจเวกขณญาณ


 สรุปญาณ ๑๖
ญาณเหล่านี้เรียกว่า โสฬสญาณ เมื่อผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้วหมายความว่าโยคีบุคคลผู้นั้นได้ดำเนินถึงจุดหมายปลายทางอันยิ่งใหญ่ในชีวิตได้ประสบสมบัติอันเป็นอมฤต ซึ่งจะหาสมบัติอื่นใดมาเปรียบปานอีกไม่ได้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะอานิสงส์ของพระอริยบุคคลมี พระโสดาบันเป็นต้น เป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่




๕. ญาณ ๑๖

ผู้ปฏิบัติที่ใคร่ครวญพิจารณารูปนามอยู่เนืองๆ ด้วยวิธีการโดยแง่มุมต่างๆ เมื่อปัญญาญาณเกิดขึ้นก็จะเกิดขึ้นไปตามลำดับ ปัญญาความรู้ที่เกิดขึ้นจะเป็นเครื่องชี้วัดระดับปัญญาในขั้นการปฏิบัตินั้นเรียกว่าญาณ ซึ่งญาณปัญญามีถึง ๑๖ ระดับ แบ่งได้ดังนี้

๑. นามรูปปริจเฉทญาณ
นามรูปปริจเฉทญาณ คือ ปัญญาที่กำหนดรู้เห็นรูปนามขันธ์ ๕ ตามสภาวะที่แท้จริง เมื่อผู้ปฏิบัติดำเนินการปฏิบัติตามวิธีต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น ผลของการปฏิบัติจะทำให้วิปัสสนาญาณต่างๆ ปรากฏเกิดขึ้นตามลำดับ เริ่มตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้นไป

การกำหนดรูปนามทางขันธ์ ๕
สำหรับผู้เริ่มปฏิบัติขอให้กำหนดรูปนามทางขันธ์ ๕ โดยกำหนดดังนี้ (รูปปรมัตถ์) ในสรีระร่างกายนั้นประกอบด้วย รูป ๒๘ รูป คือ
นิปผันนรูป ๑๘ ได้แก่
มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๔ ภาวะรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑
อนิปผันรูป ๑๐ ได้แก่ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักขณะรูป ๔

การกำหนดรูปขันธ์ต้องกำหนดที่นิปผันนรูป๑๘ (ส่วนอนิปผันรูป ๑๐ ไม่ต้องกำหนดรู้เพราะไม่สามารถนำมาพิจารณาโดยความเป็นไตรลักษณ์ได้)

เจตสิก ๕๒ กำหนดเวทนาเจตสิกที่ประกอบกับโลกียจิต ๘๑ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกที่ประกอบในโลกียจิต ๘๑ กำหนดเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือ๕๐(เว้นเวทนาและสัญญา) ที่ประกอบกับโลกียจิต ๘๑ กำหนดเป็นสังขารขันธ์ ส่วนโลกียจิต ๘๑ กำหนดเป็นวิญญาณขันธ์ในลำดับต่อมาผู้ปฏิบัติจะพิจารณารูปขันธ์ว่าเป็นรูปธรรม และพิจารณานามขันธ์ ๔ ว่าเป็นนามธรรม นี่คือการกำหนดรูปนามทางขันธ์ ๕ เป็นหลัก

อธิบายเพิ่มเติมเรื่องการกำหนดรูปขันธ์ โดยกำหนดที่นิปผันนรูป ๑๘ ได้แก่
มหาภูตรูป ๔ จนถึงอาหารรูป เมื่อศึกษาแล้วอาจจะท้อแท้และคิดว่านิปผันนรูป ๑๘ นั้นกำหนดยากเหลือเกิน ใครเล่าจะไปกำหนดรู้ได้ทั้งหมด ขอชี้แจงว่าผู้ปฏิบัติก็เพียรระลึกรู้อยู่ในรูปอย่างใดอย่างหนึ่งให้ปรากฏชัดเช่น มหาภูตรูป๔ เป็นรูปใหญ่เป็นประธานเป็นที่อาศัยของรูปอื่นๆ สามารถรู้ได้ง่ายกว่า ก็พยายามระลึกรู้มหาภูตรูป ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เนืองๆ รูปใดไม่ปรากฏชัดก็ไม่ต้องไประลึกรู้ เพราะสติปัญญาอาจจะยังไม่มากพอที่จะไปกำหนดรู้ได้ และต้องประกอบกับการต้องศึกษารายละเอียดของรูปที่เหลือว่ามีลักษณะเช่นไร แล้วก็หมั่นสังเกต หมั่นระลึกรู้ไป โดยไม่เร่งรัด โดยไม่ทอดธุระ สักวันหนึ่งเมื่อกำลังของสติปัญญามากพอ การปฏิบัติก็จะเกิดผลสามารถที่จะรู้จักรูปขันธ์ได้

เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดรูปธรรมแล้ว ก็ย้อนมากำหนดนามธรรม แต่ถ้านามธรรมนั้นยังไม่ปรากฏก็อย่าท้อถอยเลิกละการกำหนดเสีย ควรใส่ใจใคร่ครวญในรูปธรรมเหล่านั้นซ้ำไปเรื่อยๆ เพราะว่ารูปธรรมเหล่านั้นที่พิจารณาดีแล้ว สะสางชำระออกแล้ว บริสุทธิ์และเห็นจนชัดแจ้งดีแล้ว นามธรรมซึ่งมีรูปธรรมเหล่านั้นเป็นอารมณ์ก็จะปรากฏขึ้นมาเอง อุปมาได้กับบุคคลดูเงาหน้าในกระจกที่มัวๆ เงาหน้าก็ไม่ปรากฏหรือปรากฏไม่ชัด แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่ทิ้งกระจกไป กลับเช็ดกระจกนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนใสสะอาด เงาหน้าของบุคคลนั้นก็จะปรากฏขึ้นเอง ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อบุคคลยังไม่สามารถพิจารณานามรูปได้ชัดเจนก็อย่าทอดทิ้งละทิ้งการปฏิบัติ เมื่อมีข้อปฏิบัติที่ถูกต้องและกระทำให้มากเจริญให้มาก นามรูปก็จะปรากฏเอง เช่นเดียวกับเงาหน้าที่ปรากฏชัดบนกระจกที่เช็ดอย่างดีแล้ว

การปรากฏของรูปนาม 
การพิจารณารูปธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนหมดจดชัดแจ้งดีแล้วเท่านั้นบรรดากิเลสทั้งหลายที่เป็นข้าศึกต่อการกำหนดรู้นามธรรมนั้นก็สงบลง นามธรรมก็จะปรากฏขึ้นได้ การกำหนดรูปต้องกำหนดรู้วิเสสลักษณะของรูป ได้แก่ ลักษณะ และกิจ เป็นต้น ของรูปทั้งหลายเสียก่อน จนกิเลสไม่เข้าไปยึดถือได้ อย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่ากำหนดรูปได้อย่างหมดจดดีแล้ว เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดสภาวะของรูปธรรมจนปรากฏชัดเจนดีแล้ว เช่น พิจารณาว่าธาตุดินในลมหายใจเข้าออกมีลักษณะอ่อนแข็งอย่างไร ธาตุดินในเส้นผมมีลักษณะอ่อนแข็งอย่างไร เป็นต้น

ในขณะที่มีการกระทบ ขณะนั้นก็มีผัสสะคือการรับกระทบ มีเวทนาคือการรับรู้อารมณ์ก็เป็นไปด้วย พร้อมกันนั้นเจตสิกธรรมอื่นๆ ที่เข้าประกอบกับจิตก็เป็นไปธรรมทั้งหมดที่ประกอบกับจิตก็จะปรากฏชัดให้เห็นธรรมชาติของนามธรรมทั้งหลายที่ประกอบกับจิตนั้นได้ด้วย ในการปฏิบัติถ้าจะพิจารณาผัสสะไม่ต้องพิจารณาเวทนา หรือถ้าจะพิจารณาเวทนาก็ไม่ต้องพิจารณาธรรมอื่นที่เหลือ ต่อเมื่อปัญญากล้าแล้วก็อาจจะสามารถรู้ถึงธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้โดยพร้อมกันก็ได้ เจตสิกธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นประกอบกับจิตพร้อมกันแต่การพิจารณารับรู้ของผู้ปฏิบัติก็สามารถพิจารณาไปได้ที่ละอย่างๆ

จุดประสงค์ของการกำหนดรูปนาม คือ
๑. เพื่อละชื่อสมมุติทางโลก
๒. เพื่อให้พ้นความเข้าใจผิดว่ามี สัตว์ บุคคล
๓. เพื่อให้จิตประกอบด้วยปัญญา คือ การรู้จริง

คำสอนในพระสูตรต่างๆ มีอยู่มากมายที่ต้องการให้ก้าวพ้นความลุ่มหลงว่า มีสัตว์ มีบุคคล ตัวตน เรา เขา ดังเช่น คำกล่าวของนางวชิราภิกษุณีกล่าวไว้ว่า ความจริง เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ การสมมุติเรียกกันว่า สัตว์ ก็มีขึ้น เหมือนเสียงที่เรียกว่า “ รถ” มีขึ้น ก็เพราะเอาส่วนต่างๆ ประกอบกันเข้า

แม้ท่านพระสารีบุตรก็กล่าวไว้อีกว่า อาวุโส เพราะอาศัยไม้ เถาวัลย์ ดิน และหญ้า ล้อมเอาอากาศเข้าไว้ จึงเรียกว่า “ อาคาร” ฉันใดก็ดี อาวุโส เพราะอาศัยกระดูก เอ็น เนื้อ และเพราะอาศัยหนัง ล้อมเอาอากาศเข้าไว้ จึงถึงการนับว่า “ รูป” (ที่เรียกกันว่าสัตว์ บุคคล) ฉันนั้นเช่นกัน ทั้งนางวชิราภิกษุณีก็กล่าวไว้อีกว่า ที่จริง ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และดับไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ

รูปนามอาศัยกัน
รูปและนามในภพที่มีขันธ์ ๕ ต่างอาศัยกันและกัน สิ่งหนึ่งเป็นผู้ค้ำจุนอีกสิ่งหนึ่งไว้ เมื่อสิ่งหนึ่งล้มลงไปด้วยการแตกทำลาย อีกสิ่งหนึ่งก็ล้มลงด้วยการแตกทำลายเช่นกัน เปรียบเหมือนไม้ ๓ อันที่พิงกันไว้ ถ้าไม้ท่อนหนึ่งล้มลง ไม้ที่เหลือก็ล้มลงด้วย หรือเปรียบให้เห็นด้วยเสียงกลอง เสียงเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยกลองที่ถูกตีด้วยไม้ตีกลอง เสียงก็เป็นอย่างหนึ่ง กลองก็เป็นอย่างหนึ่ง เสียงและกลองไม่ปะปนกันไม่เป็นสิ่งเดียวกัน ในกลองก็ไม่มีเสียงในเสียงก็ไม่มีกลองฉันใด นามเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยรูป คือ วัตถุ ทวาร และอารมณ์ รูปก็เป็นอย่างหนึ่ง รูปและนามไม่ปนกันไม่เป็นสิ่งเดียวกัน ในนามก็ไม่มีรูป ในรูปก็ไม่มีนามฉันนั้น

นามอาศัยรูปจึงเกิดขึ้นเหมือนเสียงอาศัยกลองจึงดังขึ้นนั่นเอง รูปและนามไร้อำนาจในตัวเอง รูปและนามนี้ นามไม่มีอำนาจไม่มีความสามารถในตัวเอง ไม่สามารถกิน ดื่ม พูด หรือสำเร็จอิริยาบถใดๆ ได้ รูปก็เช่นเดียวกันไม่มีความปรารถนาหรือต้องการที่จะกิน ดื่ม พูด หรือสำเร็จอิริยาบถใดๆ รูปเป็นไปได้ก็อาศัยนาม นามเป็นไปได้ก็อาศัยรูป เมื่อนามปรารถนาอย่างไร รูปก็เป็นไปอย่างนั้น เพื่อต้องการให้เข้าใจชัดเจนดีขึ้นพระอาจารย์ทั้งหลายจึงได้อุปมาไว้ดังนี้

ชายตาบอดแต่กำเนิดไม่สามารถเห็นได้ด้วยตนเอง กับชายเป็นง่อยไม่สามารถเดินไปมาได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าชายทั้งสองคนอาศัยซึ่งกันและกัน คือ ชายตาบอดแบกชายเป็นง่อยไว้บนบ่า โดยมีชาย เป็นง่อยคอยบอกทางเดินให้ ชายทั้งสองก็สามารถไปในสถานที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย แต่ถ้า ชายสองคนนี้แยกจากกัน มิได้อาศัยซึ่งกันและกัน ชายทั้งสองคนก็ไม่สามารถไปในที่ต่างๆ ได้ เพราะต่างก็เป็นคนทุพพลภาพด้วยกัน เช่นเดียวกับรูปและนาม นามก็ไม่มีอำนาจให้สำเร็จกิริยาต่างๆ ได้ รูปก็ไม่มีอำนาจในการทำกิริยาต่างๆ แต่การเกิดขึ้นของกิริยาต่างๆ นั้น สำเร็จได้ด้วยการอาศัยซึ่งกันและกันของรูปและนาม

การที่ผู้ปฏิบัติตั้งสติกำหนดรูปนามเป็นอารมณ์ จนสามารถแยกนามแยกรูปจนเห็นได้ชัดเจน และรู้เข้าใจว่ามีแต่รูปกับนามเท่านั้นนอกจากรูปกับนามแล้วไม่มีอะไร ที่เป็นเช่นนี้เพราะตั้งใจกำหนดด้วยดีจึงเห็นได้ ถ้าไม่ตั้งใจกำหนดไม่มีสมาธิก็ไม่สามารถจะรู้เห็นได้เลย เพราะรูปนามนี้ถ้าจิตสงบปราศจากนิวรณ์แล้วย่อมปรากฏได้ และเมื่อจะปรากฏนั้นรูปปรากฏดีแล้ว นามก็จะปรากฏตามมา

การบำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาจนบรรลุถึงญาณที่ ๑ คือนามรูปปริจเฉทญาณนี้แล้ว เพื่อป้องกัน การเข้าใจผิดในภายหลัง จึงขอชี้แจงไว้ดังนี้ว่า ที่เรียกว่าได้บรรลุถึงนามรูปปริจเฉทญาน คือ มีปรีชากำหนดรูปนามได้อย่างชัดเจนดังที่กล่าวมานั้น พึงเข้าใจว่าต้องเป็นการรู้เห็นโดยปัญญา อันเกิดจากการเจริญภาวนาของตนจริงๆ ไม่ใช่รู้ได้จากการศึกษาพระธรรม การเรียนรู้และนึกคิดเอาเองอย่างนี้ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เมื่อผู้ปฏิบัติมีความรู้ว่า มีรูปกับนามเพียง ๒ อย่างเท่านั้น ไม่มีตัวตน เรา เขา ความเข้าใจถูกต้องอย่างนี้จะประหาณสักกายทิฏฐิ ทำให้เป็นผู้มีความเห็นตรง เห็นถูกต้องบริสุทธิ์ คือทิฏฐิวิสุทธิ การกำหนดรู้รูปและนามโดยความเป็นสังขารทั้งหมดนี้คือ ปัญญาที่ปรากฏเกิดขึ้นจากการเห็นแจ้งรูปนามตามความเป็นจริง คือ นามรูปปริจเฉทญาณ

จบนามรูปปริจเฉทญาณ

๒. ปัจจยปริคคหญาณ
การค้นหาเหตุของรูปนาม ได้ชื่อว่าปัจจยปริคคหญาณ คือ ปัญญาที่กำหนดรู้เหตุปัจจัยของรูปนามตามความเป็นจริง เป็นญาณที่ข้ามพ้นความสงสัยในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ด้วยการกำหนดรู้รูปนาม ได้ชื่อว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ คือความบริสุทธิ์ด้วยการข้ามพ้นความสงสัย อีกด้วย (ดังที่กล่าวมาแล้วในเรื่องวิสุทธิ ๗) ผู้ปรารถนาบรรลุในญาณปัญญาขั้นสูงขึ้นไป ต้องค้นหาเหตุปัจจัยของรูปนาม อุปมาเหมือนนายแพทย์ที่ชาญฉลาดเมื่อพบโรคแล้วก็ค้นหาสมุฏฐานของโรคนั้นต่อไป เมื่อจะค้นหาเหตุของรูปนาม ก็ควรพิจารณา เหตุของรูปกาย ก่อนว่ากายนี้ไม่ได้เกิดในดอกบัวชนิดต่างๆ มิได้เกิดในสิ่งใดๆ แต่เกิดขึ้นระหว่างกระเพาะอาหารใหม่และเก่า ด้านหลังเป็นพื้นท้อง ของมารดา หันหน้าเข้าหากระดูกสันหลังของมารดา ล้อมรอบด้วยไส้ใหญ่และไส้น้อย เต็มไปด้วยของปฏิกูล มีกลิ่นเหม็น ดุจตัวหนอนเกิดในของบูดเน่า น้ำครำ หลุมโสโครก รูปธรรมนี้มีเหตุมีปัจจัยให้เกิดขึ้น ๕ อย่าง ได้แก่

อวิชชา คือความไม่รู้
ตัณหา คือ ความยินดีพอใจในภพชาติ
อุปาทาน คือ ความยึดมั่น
กรรม คือ เจตนาที่เกิดขึ้นในการทำกุศลและอกุศล
อาหาร คือ โอชาหรือสารอาหารที่หล่อเลี้ยงร่างกาย

เฉพาะธรรม ๔ อย่าง คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม จัดเป็นเหตุ เพราะเป็นตัวทำให้เกิด ส่วนอาหาร จัดเป็นปัจจัย เพราะเป็นตัวอุปถัมภ์ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นที่อาศัยของรูป เปรียบเหมือนมารดาเป็นที่อาศัยของทารก กรรม เป็นผู้ให้เกิด เปรียบเหมือนบิดาเป็นผู้ทำให้บุตรเกิด อาหาร เป็นผู้ค้ำจุนให้รูปกายนี้ดำรงอยู่เปรียบเหมือนพี่เลี้ยง คอยอุ้มชูทารก

เมื่อกำหนดเหตุปัจจัยของรูปได้แล้ว จึงกำหนดเหตุปัจจัยของนามต่อไปว่า จักขุวิญญาณอาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้น เมื่อมีรูปารมณ์ มีจักขุปสาทดี มีแสงสว่าง และมีความใส่ใจในการเห็น การเห็น รูปารมณ์ก็เกิดขึ้นได้ เมื่อพิจารณาเหตุปัจจัยของรูปนามตามความเป็นจริงเนืองๆ เสมอๆ ว่ารูปนามในปัจจุบันก็มีเหตุปัจจัยเช่นนี้ แม้ในอดีตที่ผ่านมาแล้วและอนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็จักมีเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน เมื่อทราบอย่างนี้ก็สามารถละความสงสัยได้

เหตุปัจจัยของรูปนามตามนัยอภิธรรม แสดงไว้ว่า กรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นเหตุปัจจัยของรูป โดยแยกออกได้ดังนี้
กรรม ที่เป็นอดีตเท่านั้นที่เป็นเหตุของรูปที่เกิดจากกรรม ได้แก่ จักขุปสาท เป็นต้น
จิต เป็นเหตุปัจจัยของรูป ได้แก่ จิตตชรูป คือ รูปที่เกิดจากจิต ได้แก่ อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว เป็นต้น
อุตุ เป็นเหตุปัจจัยของอุตุชรูป ได้แก่ ความเย็นความร้อนภายในร่างกาย
อาหาร เป็นเหตุปัจจัยของอาหารชรูป ได้แก่ สารอาหาร วิตามินต่างๆ ที่หล่อเลี้ยงร่างกาย

เมื่อพิจารณาถึงเหตุปัจจัยของรูปนามอยู่ดังนี้เรื่อยๆ จะทำให้ทราบว่ารูปนามในอดีตหรือ อนาคตก็จะเป็นไปเช่นนี้ เมื่อเข้าใจถูกต้องเช่นนี้ก็จะทำให้ละความสงสัยในการเกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในอดีตเพราะมีกรรมเป็นปัจจัยก็ดับไปแล้วในอดีต ส่วนขันธ์ที่เกิดใหม่ในภพนี้ก็เป็นอีกพวกหนึ่ง มิได้เป็นขันธ์ที่มาจากอดีตภพ ส่วนขันธ์ที่จักเกิดในภพหน้าก็เป็นอีกพวกหนึ่งมิได้เป็นขันธ์ที่ไปจากปัจจุบันภพนี้

มีอุปมาเปรียบได้ดังนี้ อุปมาระหว่างเหตุกับผล เปลวประทีปอันหนึ่งกับเปลวประทีปอีกอันหนึ่งมิใช่ไส้เดียวกัน แต่เปลวประทีปอีกอันหนึ่งจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยเปลวประทีปก่อนๆ ที่เกิดแล้วหรือเชื้อไฟอันอื่นเป็นเหตุเป็นปัจจัย ธรรมทั้งหลายจากอดีตภพมิได้ติดตามไปในปัจจุบันภพหรืออนาคตภพแต่อย่างใดเลย แต่ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันภพนี้ต้องอาศัย ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ในอดีตภพเป็นปัจจัย และขันธ์ อายตนะ ธาตุที่จักเกิดขึ้นในอนาคตนั้นก็ต้องอาศัย ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ในปัจจุบันภพเป็นปัจจัย

บุคคลผู้พิจารณาตามความเป็นจริงในเหตุปัจจัยของนามรูปอยู่ เช่นนี้เนืองๆ ความเป็นจริงย่อมปรากฏ เมื่อนั้นปัญญาที่ชื่อว่าปัจจยปริคคหญาณก็เกิดขึ้น

จบปัจจยปริคคหญาณ 

๓. สัมมสนญาณ
ปัญญาในการย่อธรรมทั้งหลายทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันแล้วกำหนดว่า รูปทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่เที่ยง เพราะว่าเสื่อมไปสิ้นไป เป็นทุกข์ เพราะว่าน่ากลัว เป็นอนัตตา เพราะหาแก่นสารมิได้ เป็นปัญญาที่เห็นรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์ เรียกว่า สัมมสนญาณองค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตสัมมสนญาณ เป็นปัญญาสิกขา เพราะมี ปัญญาประกอบการพิจารณา และเป็นตีรณปริญญา เพราะมีการกำหนดรู้ด้วยการไตร่ตรอง และเทียบได้กับมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ผู้ปฏิบัติเมื่อเจริญวิปัสสนาจนนามรูปปริจเฉทญาณและปัจจยปริคคหญาณเกิดขึ้นนั้น เพียงแต่มีรูปนามเป็นอารมณ์เท่านั้น เมื่อเข้าสู่ขั้นสัมมสนญาณ ผู้ปฏิบัติต้องพิจารณารูปนามนั้นโดยพระไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

 ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาในสัมมสนญาณ ปรารถนาจะบรรลุญาณขั้นสูงต่อไป คือบรรลุมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ในเบื้องต้นต้องทำความเพียรเกี่ยวกับการพิจารณาสภาพธรรมที่เป็นหมวดเป็น กอง (กลาปสัมมสนะ) ก่อน เมื่อวิปัสสนูปกิเลส เช่น โอภาสแสงสว่างเกิดขึ้น ก็แสดงว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ได้บังเกิดขึ้นแล้ว และกลาปสัมมสนญาณจึงเป็นญาณเริ่มต้นของวิปัสสนาญาณก็กำลังจะเป็นไป มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้เกิดขึ้นและเป็นไปในตีรณปริญญา ตีรณปริญญาจะบังเกิดขึ้นต่อ จากญาตปริญญา เพราะฉะนั้นผู้ปรารถนาจะบรรลุมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ จะต้องทำความเพียรเกี่ยวกับการกำหนดพิจารณาสภาพธรรมที่เป็นหมวดเป็นกองเสียก่อน ด้วยปัญญา ๓ อย่าง คือ

๑. ปัญญาที่ กำหนดลักษณะเฉพาะ ของธรรมทั้งหลาย เช่นปถวีธาตุ มีลักษณะแข็ง อ่อน ซึ่งเป็นรูป เวทนา มีลักษณะ เสวยอารมณ์ ซึ่งเป็นนาม ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณารูปและนามตามลักษณะเฉพาะเช่นนี้ เรียกว่า ญาตปริญญา
๒. ปัญญาที่มีพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ คือ การยกเอาธรรมทั้งหลายขึ้นสู่สามัญญ-ลักษณะ เช่น รูป มีสามัญญลักษณะ คือ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวทนา ก็มีสามัญญลักษณะ เช่นเดียวกัน คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณารูปและนามตามลักษณะไตรลักษณ์เช่นนี้ เรียกว่า ตีรณปริญญา
๓. ปัญญาที่มีพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ และเป็นไปพร้อมกับการละวิปัลลาสธรรม ได้แก่ นิจจสัญญา ความสำคัญว่าเที่ยงเป็นสุข ว่าเป็นตัวตน เป็นต้น ปัญญาเช่นนี้ เรียกว่า ปหานปริญญา เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนาบรรลุญาตปริญญาเพราะได้ทำนามรูปปริจเฉทญาณและปัจจยปริคคหญาณให้เกิดขึ้นแล้ว ปริญญาอีก ๒ อย่างก็ควรบรรลุด้วย เมื่อตีรณปริญญากำลังเป็นไปอยู่นั้น มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิก็จะบังเกิดขึ้น และตีรณปริญญาก็จะบังเกิดต่อจากญาตปริญญา ฉะนั้นผู้ปรารถนาบรรลุมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิจะต้องทำความเพียรอย่างมากในการกำหนดรู้สภาพธรรมโดยเป็นหมวดเป็นกองให้ได้เสียก่อน ญาณต่างๆ จึงจะเกิดตามมา ถ้าไม่สามารถทำให้นามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นแล้ว ญาณขั้นสูงอื่นๆ ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย

วิธีเจริญวิปัสสนาญาณให้สูงขึ้น
เมื่อผู้ปฏิบัติต้องการให้วิปัสสนาญาณสูงขึ้น ต้องทำอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาให้แก่กล้ายิ่งขึ้น ด้วยวิธีการทั้ง ๙ ดังนี้
๑. พยายามกำหนดให้รู้ชัดถึงความดับไปของสังขาร (รูปและนาม) ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว
๒. ในขณะที่เห็นความดับไปของสังขารทั้งหลายนั้นควรพยายามให้ถึงพร้อมด้วยการมีสติ
๓.พยายามให้วิปัสสนาญาณนั้นๆ เกิดต่อเนื่องกันไป
๔. พยายามให้วิปัสสนาญาณนั้นๆ ดำเนินไปด้วยความสะดวกสบาย
๕. พยายามให้วิปัสสนาญาณนั้นๆ กำหนดนิมิตของสมาธิ
๖. พยายามให้วิปัสสนาญาณนั้นๆ ดำเนินไปโดยความเหมาะสมของโพชฌงค์ ๗
๗.พยายามไม่อาลัยในร่างกายและชีวิต
๘.พยายามไม่อาลัยในร่างกายและชีวิตด้วยวิธีข่มไว้ (ข่มทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น)
๙.พยายามไม่อาลัยในร่างกายและชีวิตด้วยการไม่ละเลิกหรือหยุดพักเสียในระหว่างกลางคัน และหลีกเลี่ยง อสัปปายะ คือสิ่งที่ไม่เป็นที่สบาย ๗ แล้วเสพสัปปายะ คือสิ่งที่เป็นที่สบาย ๗

วิธีกำหนดรู้รูปนามในสัมสนญาณ
ผู้ปฏิบัติควรดูการเกิดขึ้นของรูปตามธรรมดา รูปเกิดขึ้นมาเพราะเหตุ ๔ อย่าง คือ เกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร ใน ๔ อย่างนั้นรูปของสัตว์ทั้งหลายต้องเกิดมาจากกรรมก่อนเป็นครั้งแรก กรรม เป็นเครื่องจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตต่างกันไป จิตและรูปเกิดขึ้นพร้อมกันในขณะปฏิสนธิ ฉะนั้นจิตมีอยู่ตราบใดรูปก็คงเป็นไปอยู่ตราบนั้น เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดรู้รูปก็สามารถเห็นความเกิดของ รูปได้ด้วย เช่นเดียวกับเมื่อกำหนดรู้นามก็สามารถเห็นความเกิดของนามได้ด้วย

วิธีการเห็นความเกิดของนามมีวิธีการกำหนดพอสรุปได้ดังนี้
๑. พิจารณาความยึดถือและปล่อยวาง คำว่า การยึดถือ หมายถึงปฏิสนธิ (เกิด) ปล่อยวาง หมายถึง จุติ(ตาย) การกำหนดสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นตอนหนึ่ง การกำหนดการหมดไปขาดไปสิ้นไปเป็นตอนหนึ่ง แล้วพิจารณาในสังขารทั้งหลายว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เพราะมีความเกิดขึ้นและเสื่อมไป มีความแปรปรวน มีความเป็นไปเพียงชั่วขณะ มีความขัดแย้งกับความเที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เพราะถูกเบียดเบียนอยู่เนืองๆ เป็นทุกข์ทนได้ยาก เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ขัดกับความสุข ไม่อยู่ในอำนาจแห่งการบังคับบัญชาใดๆ ได้สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา เพราะเป็นของว่างเปล่า ไม่มีเจ้าของ ไม่เป็นไปในอำนาจ และปฏิเสธอัตตา
๒. พิจารณาความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้นตามวัย คือรูปในวัยเด็กก็ไม่ตั้งอยู่ถึงวัย กลางคน รูปในวัยกลางคนก็ไม่ไปถึงวัยชรา รูปในวัยชราก็ไม่ตั้งอยู่ได้ภายหลังการตาย ในวันหนึ่งๆ รูปที่เป็นไปในตอนเช้ายังไม่ทันถึงตอนกลางวันก็ดับเสียแล้วในตอนเช้านั่นเอง รูปที่เป็นไปในเวลากลางคืนยังไม่ทันถึงตอนเช้าวันรุ่งขึ้นก็ดับเสียแล้วในกลางคืนนั่นเอง หรือแม้ในขณะเดินไปข้างหน้า ยังไม่ทันถอยกลับรูปก็ดับไปในการเดินไปข้างหน้านั่นเอง รูปที่เป็นไปในการคู้ไม่ทันถึงการเหยียดออกก็ดับไปในการคู้นั่นเอง เพราะฉะนั้น รูปนั้น จึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

อธิบายเพิ่มเติม การกำหนดรู้ว่านี้รูป นี้นาม ที่ผ่านมาแล้วในขั้นของนามรูปปริจเฉทญาณ และรู้เหตุปัจจัยของนามรูปในปัจจยปริคคหญาณนั้น เป็นการปฏิบัติเพียงแค่รู้จักความจริงของรูปนามเท่านั้น แต่ยังไม่เพิกถอนตัณหา มานะ ทิฏฐิ ต่อเมื่อได้พิจารณาในสัมมสนญาณว่ารูปนามนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงจะเพิกถอนตัณหา มานะ และทิฏฐิได้ เมื่อเพิกถอนได้แล้ว ความจำได้หมายรู้ว่าเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาตัวตนก็ถูกเพิกถอนออกไปได้

จบสัมมสนญาณ

๔. อุทยัพพยญาณ
อุทยัพพยญาณ คือ ปัญญาเห็นความเกิดขึ้นและการปรวนแปรไปของปัจจุบันธรรมทั้งหลาย ได้แก่ เห็นรูปเกิด เห็นลักษณะแห่งความเกิดของรูปนั้น เห็นลักษณะที่รูปนั้นแปรผันไป การพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของรูปขันธ์ พิจารณาเห็นลักษณะดังนี้
๑. พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปขันธ์ โดยเหตุปัจจัยว่า เพราะอวิชชาเกิดรูปจึงเกิด เพราะตัณหาเกิดรูปจึงเกิด เพราะกรรมเกิด รูปจึงเกิด เพราะอาหารเกิดรูปจึงเกิด เมื่อพิจารณาเห็นลักษณะของความเกิด ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นความเกิดขึ้นของรูปขันธ์ได้ (การพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ยังต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า รูปขันธ์เกิดเพราะอาหารเกิดเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เกิดเพราะผัสสะเกิด วิญญาณขันธ์เกิดเพราะนามรูปเกิด)
๒. พิจารณาเห็นความเสื่อมไปแห่งรูปขันธ์ โดยเหตุปัจจัยว่า เพราะอวิชชาดับรูปจึงดับ เพราะตัณหาดับรูปจึงดับ เพราะกรรมดับรูปจึงดับ เพราะอาหารดับรูปจึงดับ เมื่อพิจารณาถึงความเสื่อม ความแปรปรวนไปของรูป ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นความเสื่อมไปของรูปขันธ์ได้ (การพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน) ปัญญาขั้น อุทยัพพยญาณ มี ๒ คือ
    ๔.๑ ตรุณอุทยัพพยญาณ ผู้ปฏิบัติเมื่อพิจารณาปัจจุบันธรรมเหล่านั้นโดยไตรลักษณ์เข้าใจการเกิดการเสื่อมไปสิ้นไปของรูปนามอย่างชัดแจ้งแล้วตรุณอุทยัพพยญาณ หมายถึง อุทยัพพยญาณอย่างอ่อน ที่ยังมีวิปัสสนูปกิเลสเกิดปะปนอยู่ย่อมเกิดขึ้น คือ ยังอยู่ในระหว่างการวินิจฉัยว่าใช่ทางหรือไม่ใช่ทาง
    ๔.๒. พลวอุทยัพพยญาณ หมายถึง อุทยัพพยญาณอย่างแก่ อุทยัพพยญาณอย่างอ่อนในเบื้องต้นนั้นไม่สามารถกำหนดรู้พระไตรลักษณ์ตามความเป็นจริงได้เพราะถูกอุปกิเลส ๑๐ ครอบงำอยู่ ผู้ปฏิบัติจึงต้องทำความเพียรพยายามต่อไปอีกจนสามารถพ้นจากอุปกิเลส ๑๐ แล้วอุทยัพพยญาณอย่างแก่ที่ชื่อว่าพลวอุทยัพพยญาณก็จะเกิดขึ้น จึงสามารถกำหนดรู้พระไตรลักษณ์ได้อย่างชัดเจน

เหตุใดพระไตรลักษณ์จึงไม่ปรากฏ
๑. การที่อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ เพราะสันตติปิดบังไว้ และเพราะไม่มนสิการ(พิจารณา)ความเกิดและความดับ
๒. การที่ทุกขลักษณะไม่ปรากฏ เพราะอิริยาบถทั้งหลายปิดบังไว้และเพราะไม่มนสิการความเบียดเบียนเฉพาะหน้าด้วยความเกิดขึ้นและความดับไป
๓. การที่อนัตตลักษณะไม่ปรากฏ เพราะว่าฆนสัญญาคือความเป็นก้อนเป็นแท่ง หรือกลุ่มก้อนปิดบังไว้ และเพราะไม่มนสิการถึงความสลายตัวของธาตุต่างๆ

การพิจารณาเพื่อทำให้พระไตรลักษณ์ปรากฏ
๑. เมื่อกำหนดรู้ความเกิดและดับ แล้วเพิกถอนสันตติออกไปได้อนิจจลักษณะ ก็ปรากฏตามสภาวะของตนตามความเป็นจริง
๒. เมื่อมนสิการความเบียดเบียนเฉพาะหน้าอยู่เนืองๆ แล้วเพิกถอนอิริยาบถออกไปได้ ทุกขลักษณะ ก็ปรากฏตามสภาวะของตนตามความเป็นจริง
๓. เมื่อกระจายธาตุต่างๆ ออกไป และพร้อมกับการกระจายฆนะความเป็นแท่ง หรือกลุ่มก้อนออกไปเสียได้ อนัตตลักษณะ ก็ปรากฏตามสภาวะของตนตามความเป็นจริง
๔. เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญวิปัสสนาจนบรรลุถึง อุทยัพพยญาณอย่างแก่แล้ว ก็ย่อมจะพิจารณากำหนดรู้ในพระไตรลักษณ์ไปตามความเป็นจริงเช่นนี้ได้

อุทยัพพยญาณ คือปัญญาที่เห็นเนืองๆ ในความปรวนแปรของปัจจุบันธรรมทั้งหลาย คือปัญญาเห็นรูปที่เกิดแล้วซึ่งเป็นปัจจุบัน และเห็นความปรวนแปรของรูปนั้น เช่น กำลังดับ เป็นต้น หรือปัญญาที่เห็นอยู่เนืองๆ ในลักษณะแห่งการเกิดหรืออาการใหม่ของรูปนามว่าเป็นความเกิดขึ้นและเห็นอยู่เนืองๆ ในลักษณะแห่งความปรวนแปรความสิ้นไป ความแตกดับไปว่าเป็นความดับไป ก่อนที่รูปนามจะเกิดขึ้นก็ไม่ได้มีอยู่ที่ใด เมื่อรูปนามเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้เกิดมาจากที่ใด เมื่อรูปนามกำลังดับก็หาไปสู่สถานที่ใด เมื่อรูปนามดับแล้วก็ไม่ได้ไปตั้งอยู่ในสถานที่แห่งใดเลย เปรียบเหมือนกับการบรรเลงพิณ คือ ก่อนที่เสียงจะเกิดขึ้น เสียงก็ไม่ได้เก็บไว้ในพิณ เมื่อเสียงกำลังเกิดขึ้นก็ไม่ได้มาจากตัวพิณ เมื่อเสียงกำลังดับก็ไม่ได้ไปอยู่ที่ใด เมื่อเสียงดับไปแล้วก็ไม่ได้ไปเก็บอยู่ที่ใด เสียงพิณนั้นไม่ได้มีอยู่ก่อน แต่เพราะอาศัยพิณและการบรรเลง เสียงพิณจึงปรากฏได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ธรรมทั้งหลายที่เป็นรูปและนาม ก็ไม่ได้มีมาก่อน แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยประกอบพร้อมรูปนามก็มีขึ้น เมื่อหมดเหตุปัจจัยก็ดับไป

รูปนามจะปรากฏชัดแก่ผู้พิจารณา โดยลักษณะ ๓ อย่าง ดังนี้
๑. อนิจจลักษณะ คือการเห็นความเกิดขึ้นและดับไปโดยขณะและรู้ถึงความมีแล้วไม่มี รู้ความว่างเปล่าในเบื้องต้นและที่สุด
๒.ทุกขลักษณะ คือการรู้ถึงความเบียดเบียนเฉพาะหน้าด้วยความเกิดขึ้นและดับไป แม้สภาวลักษณะก็ปรากฏชัดด้วยเพราะมุ่งไปที่รูปนามที่เกิดขึ้นและดับไป สภาวลักษณะ ก็ปรากฏชัด เพราะรู้ว่าไม่มีความดับไปในขณะที่กำลังเกิดขึ้นและรู้ว่าไม่มีความเกิดขึ้นในขณะที่กำลังดับไป
๓. อนัตตลักษณะ คือการเห็นความเกิดขึ้นโดยปัจจัย และรู้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นไปต่อเนื่องด้วยปัจจัยปราศจากผู้กระทำ

จบ อุทยัพพยญาณ

๕.ภังคญาณ

ภังคญาณ หมายความว่า ปัญญาในการกำหนดรู้อารมณ์แล้วเห็นเนืองๆ ซึ่งความดับไป เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดใคร่ครวญพิจารณาในรูปนามทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่เสมอๆ วิปัสสนาญาณก็มีกำลังแก่กล้าขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ปรากฏรวดเร็วมาก ทำให้วิปัสสนาญาณกำหนด ไม่ทันความเกิดขึ้นความตั้งอยู่ความดับไป หรือนิมิตของสังขารทั้งหลาย สติและวิปัสสนาญาณ คงกำหนดตั้งมั่นอยู่เฉพาะความสิ้นไปความเสื่อมไปได้เพียงอย่างเดียว การกำหนดเห็นเนืองๆ ในอารมณ์โดยความดับไปความสิ้นไปความเสื่อมไป คำว่าเห็นเนืองๆ หมายความว่าเห็นเนืองๆ ในอารมณ์นั้นโดยความไม่เที่ยง มิใช่เห็นเนือง ๆโดยความเป็นของเที่ยง เห็นเนืองๆ โดยความเป็นทุกข์ มิใช่เห็นเนือง ๆ โดยความเป็นสุข เห็นเนืองๆ โดยความเป็นอนัตตา มิใช่เห็นเนือง ๆโดยความเป็นอัตตา ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย มิใช่เกิดความเพลิดเพลินยินดี ทำให้เกิดความปราศจากกำหนัด มิใช่เกิดความกำหนัด ทำให้เกิดความดับไป มิใช่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการสลัดทิ้งไป มิใช่เกิดการยึดถือไว้

เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดเห็นเนืองๆ ในสังขารทั้งปวงโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทำให้เกิดการเบื่อหน่ายไม่เพลิดเพลินยินดี ปราศจากความกำหนัด การละความกำหนัด(ราคะ)ในขั้นนี้เป็นไปด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาญาณขั้นโลกียะเท่านั้น เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดเห็นเนืองๆ ในสังขารทั้งหลายโดยความดับไปและเป็นผู้ปราศจากความกำหนัดแล้วก็จะสามารถกำหนดเห็นเนืองๆ ในสังขารทั้งปวงที่ไม่เคยเห็นโดยความดับไปได้ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาญาณโดยลำดับ และการมนสิการในสังขารเหล่านี้ก็เห็นแต่ความดับเพียงอย่าง เดียว เมื่อปฏิบัติมาถึงอย่างนี้แล้ว ก็ชื่อว่า สลัดสังขารทั้งหลายทิ้งไปไม่ยึดถือไว้

เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นเนืองๆ ในสังขารทั้งปวงโดย ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งทำให้เกิดการสละกิเลสทั้งหลายพร้อมทั้งขันธ์ทั้งหลาย การสลัดทิ้งไปด้วยการสละหรือทำให้เกิดการมุ่งหน้า เข้าไปสู่พระนิพพานอันเป็นสภาวะตรงข้ามกับสังขตธรรม หรือน้อมไปสู่พระนิพพานนั้นด้วยการเห็นโทษของสังขตธรรม เป็นการสลัดทิ้งไปด้วยการมุ่งหน้าเข้าไปสู่พระนิพพาน

ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้จิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ โดยความดับไปนั้น มีลักษณะ ๒ ประการ คือ
๑. กำหนดรู้ความสิ้นไปเสื่อมไปของรูป (หมายถึงรูปที่มาเป็นอารมณ์ของจิต)
๒. กำหนดรู้ความสิ้นไปเสื่อมไปของจิต (หมายถึงจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์) ด้วยจิตอีกดวงหนึ่ง

การพิจารณารูปนามอยู่เนืองๆ ว่าดับไปสิ้นไป มีลักษณะ ๓ ประการ คือ
๑. การย้ายไปสู่อารมณ์ หมายความว่า เมื่อเห็นความดับของรูปด้วยจิตดวงใดแล้ว ก็พึงเห็นความดับของจิตได้ด้วยจิตดวงอื่นต่อไปอีก
๒. คงที่อยู่ในอารมณ์ หมายความว่า ในขณะที่กำหนดรู้อยู่เนืองๆ นั้น ก็พิจารณาแน่วแน่แต่ในความดับไปของสังขารเท่านั้น ไม่พึงพิจารณาถึงความเกิดขึ้น
๓. มีกำลังเข้มแข็งในการนึกคิด หมายความว่า มีความสามารถในความนึกคิดติดต่อกันไปไม่มีหยุดคั่นเลย คือ เมื่อเห็นความดับของรูปแล้ว ก็เห็นความดับไปของจิตต่อไปอีก

อานิสงส์ของภังคญาณ
๑. ละภวทิฏฐิ
๒. สละความรักใคร่ในชีวิต
๓. มีความเพียรมั่งคงในการปฏิบัติ
๔. มีอาชีพอันบริสุทธิ์
๕. ละความทะเยอทะยาน
๖. ปราศจากความกลัว
๗. ประกอบด้วยขันติและโสรัจจะ
๘. อดกลั้นต่อความไม่พอใจและในความกำหนัดยินดี

จบภังคญาณ

๖. ภยญาณ
ภยญาณ หมายความว่า เป็นญาณที่กำหนดรูปนาม โดยความเป็นของน่ากลัว เป็นญาณที่เป็นไปด้วยอำนาจพิจารณาถึงสังขตธรรมทั้งหลายโดยความเป็นของน่ากลัว

เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญภังคญาณให้แก่กล้ามากขึ้น ด้วยการกำหนดรู้ความสิ้นไปเสื่อมไปหรือความแตกดับของสังขารทั้งปวงเป็นอารมณ์อยู่สังขารทั้งหลายซึ่งมีความแตกดับอยู่ในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ ก็จะปรากฏเป็นสภาพที่น่ากลัวมาก เช่นเดียวกับพยัคฆะ เสือเหลือง หมี เสือดาว ยักษ์ รากษส โคดุ สุนัขดุ ช้างดุตกมันอสรพิษร้าย ป่าช้า หรือหลุมถ่านเพลิงที่ลุกโชติช่วง เป็นต้น ซึ่งปรากฏเป็นที่น่ากลัวมากแก่บุรุษขี้ขลาดที่ปรารถนาจะมีชีวิตอย่างสุขสบาย เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ชัดว่าสังขารทั้งหลายที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว ที่เป็นปัจจุบันก็กำลังดับ แม้จะเกิดในอนาคตก็จักดับไปเช่นนี้ ภยญาณหรือเรียกได้อีกอย่างว่าภยตุปัฏฐานญาณก็บังเกิดขึ้นแล้ว

ความกลัวโดยทั่วไปกับภยญาณต่างกันอย่างไร
ภยตูปัฏฐานญาณไม่ใช่เป็นญาณที่ประกอบด้วยความกลัว แต่ภยตูปัฏฐานญาณเป็นญาณที่ไตร่ตรองว่า “ สังขารทั้งหลายที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว ที่เป็นปัจจุบันก็กำลังดับ ที่เป็นอนาคตก็จักดับ ” ฉะนั้น เปรียบเหมือนกับบุคคลที่เห็นหลุมถ่านเพลิง ๓ หลุมที่ใกล้ประตูเมือง ตัวเขาเองไม่รู้สึกกลัว เพียงแต่เกิดความคิดไตร่ตรองว่าถ้ามีคนตกลงไปในหลุมทั้ง ๓ นี้ คงได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแน่นอน

ไตรลักษณ์กับความกลัวเป็นอย่างไร 
เมื่อผู้ปฏิบัติมนสิการสังขารทั้งปวงโดยความไม่เที่ยง นิมิตคือความดับไปของสังขารทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็จะปรากฏเป็นสภาพที่น่ากลัวแก่ผู้ปฏิบัติ เมื่อผู้ปฏิบัติมนสิการสังขารทั้งปวงโดย ความเป็นทุกข์ ความเป็นไปของสังขารคือความบีบคั้นเฉพาะหน้าเข้าใจกันว่าเป็นสุข ทั้งที่เป็นไปในรูปภพและอรูปภพเห็นว่าเป็นสุขนั้น จริงๆ ก็ไม่พ้นไปจากสภาพอย่างเป็นจริงอย่างนี้ไปได้ คือ มีแต่ความเป็นทุกข์ ก็จะปรากฏเป็นสภาพที่น่ากลัว

เมื่อผู้ปฏิบัติมนสิการสังขารทั้งปวงโดย ความเป็นอนัตตา นิมิตและความเป็นไปของสังขารก็ปรากฏเป็นของว่างเปล่าเป็นของสูญไม่มีผู้นำ เป็นประดุจบ้านร้าง พยับแดด และวิมานในอากาศ ด้วยเหตุนี้นิมิตและความเป็นไปของสังขารจึงปรากฏเป็นสภาพที่น่ากลัวแก่ผู้ปฏิบัติ

จบภยญาณ

๗. อาทีนวญาณ
อาทีนวญาณ หมายความว่า เป็นญาณที่เห็นสังขารรูปนามเป็นโทษ เป็นญาณที่เป็นไปด้วยอำนาจการเพ่งถึงสังขารเป็นของน่ากลัวซึ่งตนได้เห็นแล้วนั้นโดยความเป็นโทษ เมื่อผู้ปฏิบัติทำภยตุปัฏ-ฐานญาณให้เจริญมากยิ่งขึ้นแล้ว ไม่ยึดเหนี่ยวในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ เพราะว่าภพภูมิทั่วทุกหนแห่งเหล่านั้นไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลบลี้ ไม่ว่าจะอยู่ในภพใดก็หลีกหนีจากความทุกข์ทั้งปวงไปไม่พ้น

อาทีนวญาณ คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นทุกข์โทษของรูปนาม การปฏิบัติคือในขณะที่เห็นว่ารูปนามไม่ดีน่าเกลียดน่าเบื่อ เป็นของปฏิกูลทั้งนั้น เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว โลภะ โทสะ โมหะ ก็เบาบางลงไปมาก แต่ยังไม่เด็ดขาด ยังจัดเป็นสมุทเฉทปหานไม่ได้ จะได้ก็ต่อเมื่อถึงมรรคญาณแล้วเท่านั้น

จบอาทีนวญาณ

๘. นิพพิทาญาณ
นิพพิทาญาณ หมายความว่า ญาณที่พิจารณาเห็นรูปนามโดยอาการเบื่อหน่าย เพราะเมื่อพิจารณาเห็นรูปนามเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นของน่ากลัว เต็มไปด้วยทุกข์โทษนานาประการแล้วเกิดความเบื่อหน่ายในรูปนาม ไม่ต้องการเกิดอีก ต้องการเข้าถึงพระนิพพานโดยเร็ว ปัญญาในที่นี้มุ่งหมายเฉพาะ ภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดแก่ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถึงญาณนี้เท่านั้น ไม่หมายรวมถึงสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญาเลย และความเบื่อหน่าย มิได้หมายถึงความเบื่อหน่ายต่อชีวิต คิดฆ่าตัวตายเบื่อหน่ายการงาน ขาดความอดทน มีความย่อท้อต่อการงานก็หาไม่ แต่หมายถึงความเบื่อหน่ายในสังขารธรรม คือ รูปนาม มีอุปมาไว้เช่นนกที่จับมาขังไว้ในกรงเงินกรงทองกรงแก้วมณีเพชรนิลจินดา ล้วนมีค่ามาก แต่นกนั้น ก็ไม่มีความพอใจปรารถนาจะอยู่ในกรงนั้นเลย มุ่งหน้าแต่จะพยายามหาหนทางออก เพื่อจะบินหนีไปให้พ้นจากกรงขังอันแสนจะน่าเบื่อหน่ายนั้น อย่างนี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติธรรมเมื่อถึงนิพพิทาญาณก็ ฉันนั้น ย่อมเบื่อหน่ายในรูปนาม เบื่อหน่ายในภพ เบื่อหน่ายในกำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ เหมือนกัน

เมื่อผู้ปฏิบัติได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีวิปัสสนาญาณผ่านขึ้นมาโดยลำดับ นับแต่นามรูปปริจเฉทญาณ จนกระทั่งถึงญาณนี้ ถ้าขณะใดพิจารณาเ ห็นรูปนามปรากฏเป็นภัย คือ เป็นของน่ากลัว ขณะนั้นก็จัดเป็นภยญาณ ถ้าขณะใดพิจารณาเห็นรูปนามปรากฏเป็นโทษขณะนั้นก็จัดเป็น อาทีนวญาณ ถ้าขณะใดพิจารณาเห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่าเบื่อหน่าย และเมื่อเบื่อหน่ายในรูปนามแล้วใจก็น้อมไปในความสงบ ขณะนั้นก็จัดเป็นนิพพิทาญาณ

จบนิพพิทาญาณ


๔. อนุปัสสนา

อนุปัสสนา หมายความว่า การรู้เห็นเนืองๆ อนุปัสสนา ๓ ได้แก่
๑. อนิจจานุปัสสนา
๒.ทุกขานุปัสสนา
๓. อนัตตานุปัสสนา

๑. อนิจจานุปัสสนา 
อนิจจานุปัสสนา คือปัญญาที่เกิดจากการรู้เห็นเนืองๆ ในความไม่เที่ยงของรูปนาม เป็นการเห็นถึงความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม ปัญญาที่เห็นแจ้งรูปนามเช่นนี้ ชื่อว่าอนิจจานุปัสสนา

การพิจารณารูปนามนั้นควรทราบถึงศัพท์บัญญัติที่สื่อความ
หมายถึงตัวของรูปนาม คือ อนิจจะลักษณะของรูปนาม คือ อนิจจลักษณะ และปัญญาที่เกิดขึ้นในการพิจาณารูปนาม คือ อนิจจานุปัสสนา

ความหมายศัพท์
๑. อนิจจะ คือ ธรรมที่ไม่เที่ยง มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป อันได้แก่ รูปนาม
๒. อนิจจลักขณะ คือ เครื่องหมายที่รู้ว่าไม่เที่ยง
๓. อนิจจานุปัสสนา คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยงอยู่เนืองๆ

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ต้องกำหนดระลึกรู้อยู่กับรูปนาม ต้องใส่ใจในรูปนามนั้นเป็นอารมณ์ รูปนาม ได้ชื่อว่า “ อนิจจัง” เพราะมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ทั้งรูปและนามนั้นมีอาการหรือเครื่องหมายให้รู้ว่าไม่เที่ยง มีการเกิดดับ อาการเช่นนี้เรียกว่า “ อนิจจลักขณะ ” เมื่อผู้เจริญวิปัสสนาแล้วรู้เห็นความเป็นของจริงโดยเห็นแจ้งในอาการของรูปนามว่าไม่เที่ยง มีการเกิดดับ ปัญญาที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า อนิจจานุปัสสนา เมื่อปัญญาได้รู้เห็นอนิจจลักษณะ สัญญาความจำหมายว่ารูปนามเที่ยง คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง ก็หายไป หรือเรียกว่าสัญญาวิปัลลาส

เมื่อ
สัญญาวิปัลลาสหายไป ทิฏฐิวิปัสลาส จิตตวิปัลลาส ทั้ง ๒ ก็จะบรรเทาลงไปได้ ทำให้ความหลง ความไม่รู้ในสภาวะที่กำลังปรากฏอยู่เฉพาะหน้า และตัณหาความยินดีพอใจรักใคร่อยู่ในอารมณ์ทั้งหลายด้วยความมีอุปาทานความยึดมั่นในอารมณ์ ด้วยอำนาจของ โลภะและทิฏฐิ ก็บรรเทาเบาบางลดลงได้

การปรากฏขึ้นของ “ อนิจจานุปัสสนา” ถ้าว่าตามวิปัสสนาญาณแล้วจะปรากฏต่อเมื่อ สัมมสน-ญาณและอุทยัพพยญาณเกิดแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์แท้เท่านั้นเอง


๒. ทุกขานุปัสสนา
ทุกขานุปัสสนา คือปัญญาที่เกิดจากการรู้เห็นเนืองๆ โดยความเป็นทุกข์ของรูปนามขันธ์ ๕ จนทุกขลักษณะปรากฏ ปัญญานี้ได้ชื่อว่า “ ทุกขานุปัสสนา”  ทุกขานุปัสสนา ปัญญาที่พิจารณาเห็นความทนอยู่ไม่ได้ของรูปนาม ที่เนื่องมาจากการพบเห็นเป็นประจักษ์แห่งการเบียดเบียน โดยอาการเกิดขึ้นแล้วดับไปติดต่อกันอยู่อย่างไม่ขาดสาย ในขณะที่กำหนดรู้รูปนามตามสภาวะอยู่นั้นแหละ ปัญญานี้ชื่อว่า “ ทุกขานุปัสสนา”

ความหมายศัพท์
๑. ทุกขะ คือ ธรรมที่เป็นทุกข์ ได้แก่ รูปนาม
๒. ทุกขลักษณะ คือ เครื่องหมายที่กำหนดว่าเป็นทุกข์ของรูปนาม ได้แก่การเกิดดับติดต่อกันอยู่อย่างไม่ขาดสาย
๓. ทุกขานุปัสสนา คือ ปัญญาที่มีการพิจารณาเห็นความเป็นทุกข์อยู่เนืองๆ ในรูปนาม หรือขณะที่เห็นความเกิดดับของรูปนามอยู่นั้น ความรู้สึกในขณะนั้นก็เกิดขึ้นว่า กายใจนี้เป็นของน่ากลัวเป็นภัย จะหาความสุขสบายใจจากกายใจอย่างแท้จริงนั้นหาไม่ได้เลย ความรู้อย่างนี้เกิด ขึ้นจากปัญญาที่กำหนดรู้รูปนาม

ตามธรรมดาคนทั้งหลายย่อมเข้าใจในความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายว่า พรหมมีความสุข เทวดาชั้นสูงมีความสุขแต่เทวดาชั้นต่ำมีความทุกข์ มนุษย์ที่มีร่างกายสมบูรณ์มีอนามัยดีมั่งมีศรีสุข มีความสุข ร่างกายไม่สมบูรณ์ มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน อนามัยไม่ดียากจนเข็ญใจเหล่านี้เป็นทุกข์ หรือสัตว์ดิรัจฉานบางจำพวกเป็นสุข บางพวกเป็นทุกข์ เหล่านี้ก็เป็นความเข้าใจถูกต้องเหมือนกันเพราะมองไปในด้านการเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส ของสัตว์ทั้งหลาย แต่ความจริงแล้วสุขกายสุขใจ ทุกข์กายทุกข์ใจ ล้วนแต่มีการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปไม่คงที่ ดับแล้วก็กลับเกิดขึ้นอีกเป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไปโดยไม่ว่างเว้น ดังนั้นรูปนามที่มีสุขหรือไม่มีสุขก็ตาม ทั้งหมดจึงล้วนแต่เป็นทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้นเพราะไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้

ทุกข์มีอยู่มากมายหลายอย่างจนนับไม่ถ้วน แต่คำว่า
ทุกข์ โดยตาม
ธรรมแล้วมี ๓ คือ
๑. ทุกขทุกข์ ชื่อว่าทุกข์ เพราะทนได้ยากเป็นทุกข์จริง ได้แก่ทุกข์กาย ทุกข์ใจ
๒. วิปริณามทุกข์ ชื่อว่าทุกข์ เพราะเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปโดยไม่หยุดยั้ง ได้แก่ สุข กาย สุขใจ
๓. สังขารทุกข์ ชื่อว่าทุกข์ เพราะมีการจัดแจงปรุงแต่งด้วยความเกิดดับได้แก่ รูป นาม หรือกาย ใจ ทั่วไป

ทุกขทุกข์ คือ ความทุกข์กายทุกข์ใจ เพราะกายมีอาการเป็นไปต่างๆ เช่น จุกเสียด เจ็บปวด เป็นต้น ส่วนใจเป็นทุกข์ก็เพราะเสียใจโกรธ กลัว เนื่องจากได้รับภัยต่างๆ ทุกข์ทั้ง ๒ นี้ล้วนแต่ทนอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

วิปริณามทุกข์ คือ ความสุขกาย สุขใจ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงปรวนแปรไปไม่คงที่นั้นเอง เช่น เมื่อลมพัดมากระทบกายความสุขกายสุขใจย่อมเกิดขึ้น ครั้นลมหยุดพัดความสุขกายสุขใจก็หายไป หรือขณะที่เดินจนเมื่อยล้ามากเมื่อนั่งก็จะเป็นสุข แต่นั่งไปนานๆ ก็เมื่อยล้าเป็นทุกข์อีก ต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปอีกจึงจะสุข ความสุขใจจะมีอยู่ก็ต้องคอยปรับปรุงเพิ่มเติมอยู่มิได้ขาด ความสุขกายสุขใจนี้จึงเป็น วิปริณามทุกข์

สังขารทุกข์ รูปนามเป็นไปได้ก็เพราะมีการจัดแจงปรุงแต่งด้วยการเกิดดับ การเป็นไปของรูปนามในแต่ละช่วงแต่ละตอนนั้นถ้าพิจารณาดีๆ จะเห็นว่าเป็นไปได้เพราะการสืบต่อ เช่นเดียวกันกับภาพที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์ ภาพที่ปรากฏนั้นก็เพราะเนื่องมาจากการลำดับติดต่อกันของฟิล์มที่ถ่ายมาเป็นภาพๆ เมื่อตัดต่อเชื่อมกันไว้เป็นอย่างดี ทำการฉายออกมาให้เห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพียงชั่ว ๑ นาที ภาพที่เป็นแต่ละภาพๆ นั้นก็ผ่านไปหลายร้อยแต่ผู้ดูบางคนก็หาได้รู้ไม่ ฉันใดการเกิดดับติดต่อกันของรูปนาม อย่างไม่ขาดสายก็ฉันนั้น ดังนั้นจึงกล่าวว่ารูปนามทั้งหมดเป็นสังขารทุกข์ในทุกข์ทั้ง ๓ อย่างนี้ สังขารทุกข์อย่างเดียวที่มีอยู่ในสังขารธรรมทั่วไปทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต

ความต่างกันระหว่างผู้ไม่มีสติกับผู้มีสติ
ผู้ไม่มีสติในการกำหนดรู้รูปนาม ไม่อาจรู้ได้ถึงการถูกเบียดเบียนด้วยอาการเกิดดับที่เป็นไปของรูปนามอยู่ตลอดเวลาซึ่งเป็นไปอยู่ในทวาร ๖ ฉะนั้นเมื่อมีอาการเจ็บปวด เป็นต้น ที่เป็นทุกข์กายเกิดขึ้น ในขณะนั้นก็ไม่รู้เห็นความทุกข์ที่มีอยู่ในกายโดยความเป็นสังขารธรรม  รูปนามแต่อย่างใดเลย คงเห็นเป็นบัญญัติที่เนื่องมาจากสักกายทิฏฐิว่าเราปวด เราเจ็บ เราทุกข์ เราทรมาน ดังนั้นทุกข์กายที่เป็นทุกขทุกข์และสภาพทนได้ยากที่เป็นทุกขทุกขลักษณะจึงไม่อาจปรากฏแก่ผู้นั้นโดยความเป็นสภาวปรมัตถ์ได้เลย เนื่องมาจากการเปลี่ยนอิริยาบถได้ปกปิดความทุกข์กายและสภาพทนได้ยากไว้ โดยที่ไม่มีการรู้ตัวเมื่อประสบทุกขทุกข์และทุกขทุกขลักษณะ จึงมิอาจจะปรากฏโดยความเป็นสภาวปรมัตถ์แก่เราได้ การปรากฏแห่งวิปริณามทุกข์และวิปริณามทุกขลักษณะ สังขารทุกข์และสังขารทุกขลักษณะ เหล่านั้นก็ยิ่งเกิดขึ้นไม่ได้

ผู้มีสติกำหนดรู้รูปนาม ผู้ที่มีการกำหนดรู้ในรูปนามนั้น ย่อมรู้เห็นการเบียดเบียนด้วยอาการเกิดดับที่เป็นไปอยู่ในรูปนามโดยไม่ขาดในทวารทั้ง ๖ ดังนั้นเมื่อวิปริณามทุกขลักษณะปรากฏ คือความสุขกายที่เกิดขึ้น ในขณะแรกแห่งอิริยาบถ สมมุติว่าเมื่อนั่งใหม่ๆ ก็สุขกายแต่มาภายหลังความสุขนั้นได้หายไป ผู้นั้นก็สามารถรู้เห็นวิปริณามทุกขลักษณะนี้ได้ ตลอดจนสามารถรู้เห็นในการปวด เมื่อย เจ็บ ปวด ร้อน หนาว หิว กระหาย เป็นต้น ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นโดยความเป็นสังขารธรรมรูปนามล้วนๆ มิได้เกี่ยวกับความรู้สึกว่าเป็นเราปวดเมื่อยเป็นต้น  ครั้นมีจิตคิดจะเปลี่ยนก็รู้ถึงวาระจิตที่ต้องการจะเปลี่ยนนั้นด้วย ตลอดจนถึงกำลังทำการเปลี่ยนอิริยาบถ ครั้นเปลี่ยนแล้วความสุขกายเกิดขึ้นก็สามารถรู้ในความสุขกายนี้ได้อีก เมื่อความสุขกายหมดไปก็รู้เห็นได้อีก เพราะการมีสติกำหนดรู้อยู่ในสังขารทุกข์และสังขารทุกขลักษณะ วิปริณามทุกข์และวิปริณามทุกขลักษณะ ทุกขทุกข์ และทุกขทุกขลักษณะ ที่เกิดขึ้นในอิริยาบถต่างๆ ได้โดยลำดับต่อเนื่องกันไม่ขาดระยะ

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติรู้ใน
อิริยาบถ ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กล่าวนี้ การปฏิบัติเช่นนี้ได้ชื่อว่าไม่ใส่ใจในอิริยาบถ เป็นอันว่าปัญญารู้ในความเป็นจริงเกิดขึ้น ชื่อว่าทุกขานุปัสสนา


๓. อนัตตานุปัสสนา
ปัญญาที่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ไม่มีแก่นสารปราศจากการบังคับบัญชาของรูปนามที่เนื่องมาจากการพบเห็นเป็นประจักษ์แห่งความไม่ใช่ตัวตน เรา เขา โดยอาการเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปติดต่อกันอยู่อย่างไม่ขาดสาย ในขณะที่กำหนดรู้รูปนามตามสภาวะอยู่ปัญญานี้ชื่อว่า อนัตตานุปัสสนา

ความหมายของศัพท์

๑. อนัตตา หมายถึง รูปนามขันธ์ ๕ ไม่อยู่ ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น
๒. อนัตตลักษณะ หมายถึง อาการที่มีลักษณะเฉพาะตัว ที่ไม่เป็นไปใน อำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด
๓. อนัตตานุปัสสนา หมายถึงปัญญาที่พิจาณาเห็นความไม่เป็นไปในอำนาจบังคับบัญชาของ รูปนาม

การพิจารณาอัตตาและอนัตตา

ดังตัวอย่างการเจริญกายคตาสติเฉพาะที่กล่าวไว้ในหมวดความเป็นธาตุ ๒๐ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังพืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง ธาตุทั้ง ๒๐ นี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในสุตตันตปิฏกและอภิธรรมปิฎกว่าเป็น ปถวีธาตุ

ตราบใดที่ผู้ปฏิบัติยังพิจารณาเส้นผมโดยความยึดไว้ว่านี้เป็นเส้น
ผมของเราที่สวยงาม ขณะนั้นความเป็นจริงของสภาวะของปถวีธาตุก็ไม่ปรากฏ เพราะขณะนั้น ฆนะ คือ ความเป็นกลุ่มเป็นกองปิดบังความจริงไว้ ถ้าความเป็นกลุ่มกองแตกไป อนัตตลักษณะก็เห็นชัดแจ้ง คือ เห็นว่าเส้นผมนั้นเป็นเพียงปถวีธาตุ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เป็นเพียงธาตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสลายไป ผู้ปฏิบัติไม่สามารถเห็นความจริงของสภาวธรรมได้ก็เพราะอนัตตลักษณะไม่ปรากฏ อันเนื่องจากฆนะคือความเป็นกลุ่มเป็นกองได้ปกปิดไว้

คำว่า ฆนะ หมายความว่าเกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อน ฆนะเป็นเหตุให้บุคคลทั้งหลายเข้าใจผิดถือว่าบุคคลสัตว์เราเขา เรียกกันว่ามีความยึดถือแบบเป็นอัตตา แต่เมื่อฆนะแตกแล้วอัตตาก็หายไป อนัตตาก็จะปรากฎชัดเจนแทนที่


เมื่อไม่พิจาณารูปและนามแล้วจึงทำบัญญัติปรากฏชัด แต่กลับทำให้สภาพของปรมัตถ์กลับหายไป เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ในอาการ ๓๒ นั้น เส้นผมเป็นปถวีธาตุ แต่มีสัณฐานบัญญัติได้ปกปิดไว้ทำให้มองเห็นเป็นสิ่งกลมๆ ยาวๆ คนทั้งหลายเรียกกันว่าเส้นผม ส่วนความจริงอันได้แก่ปถวีธาตุที่มีสภาพสุขุมละเอียดนั้นไม่ปรากฏแต่เมื่อพิจารณารูปและนามตามสภาพความเป็นจริงแล้วจะทำให้สภาวะของปรมัตถ์ปรากฏชัดและความเป็นบัญญัติก็หมดไป เมื่อผู้ปฏิบัติเข้าใจสถาวะความเป็นจริงของเส้นผมว่า สิ่งที่สมมุติเรียกว่าเส้นผมนี้ แท้จริงแล้วไม่ใช่เส้นผม เป็นเพียงปถวีธาตุ ความหนาแน่นของปถวีธาตุนี้เอง ที่เรียงติดต่ออัดแน่นอยู่ภายในเส้นที่เรียวๆ ยาวๆ นี้ เมื่อรู้ถูก พิจารณาถูก ก็จะคลายความยึดมั่นถือมั่น

ความพิเศษแห่งบัญญัติและปรมัตถ์ 
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้มีกล่าวถึงเรื่องบัญญัติและปรมัตถ์ไว้ ซึ่งสรุปได้ดังนี้ คือ

ถามว่า : ท่านถือเอาสภาวธรรมโดยอำนาจบัญญัติที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ มิใช่หรือ ?
ตอบว่า : ใช่ ถือเอาแต่ตอนต้นๆ เท่านั้น แต่เมื่อเจริญวิปัสสนาภาวนานานเข้าๆ จิตจะก้าวล่วงบัญญัติเสียและตั้งอยู่ในสภาวธรรมล้วนๆ

อธิบายได้ว่าในการเจริญวิปัสสนานั้นขั้นต้นๆ เมื่อตั้งสติกำหนดรูปนาม โดยการเดินจงกรม เป็นต้น คนทั้งหลายก็อาจสงสัยในวิธีการว่าการกำหนดอย่างนี้เป็นการกำหนดบัญญัติ เมื่อกำหนดบัญญัติอยู่จะจัดเป็นการเจริญวิปัสสนาได้อย่างไร ? ความสงสัยเช่นนี้ก็ถูกต้อง แต่ว่าถูกไม่หมด เพราะในขั้นต้นนั้นก็พึงให้ผู้ปฏิบัติกำหนดอารมณ์บัญญัติไปก่อน มิฉะนั้นจิตจะไม่มีที่กำหนดเพราะปรมัตถ์เป็นสภาวะที่เห็นได้ยาก เมื่อกำลังภาวนา ตั้งมั่นอารมณ์ บัญญัติเหล่านี้จะหายไป เหลือแต่สภาวปรมัตถ์ความเป็นรูปนามขันธ์ ๕ล้วนๆ ตอนแรกเริ่มปฏิบัติการกำหนดอารมณ์ยังเป็นบัญญัติอยู่ อัตตาจึงยังปรากฏอยู่ อนัตตาก็ไม่ปรากฏ แต่เมื่อปัญญาภาวนาแก่กล้าขึ้น อารมณ์บัญญัติก็หายไป อารมณ์ปรมัตถ์ก็เกิดขึ้นแทน ในช่วงที่อารมณ์ปรมัตถ์เกิดขึ้นนี้เอง อนัตตาก็ปรากฏ อัตตาก็หายไป

เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดพิจารณาในสังขารธรรม รูปนามขันธ์ ๕ ที่เกิดอยู่เฉพาะหน้าตามสภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัยอยู่ สันตติบัญญัติและฆนบัญญัติที่ปกปิดการเกิดดับของสังขตธรรมในรูปนามขันธ์ ๕ ก็ขาดแตกไป ความเห็นที่บริสุทธิ์เช่นนี้เกิดขึ้นในเวลาใด เวลานั้นวิปัสสนาญาณของผู้ปฏิบัติก็เข้าถึงความเป็นอนัตตานุปัสสนา ก็ปรากฏขึ้นได้ ผู้ที่ไม่มีการกำหนดในสังขตธรรมคือรูปนามขันธ์ ๕ แล้ว อย่าว่าแต่ความเกิดดับของสังขตธรรมคือรูปนามขันธ์ ๕ เลย แม้แต่รูปนามที่เกิดอยู่เฉพาะหน้าก็ไม่รู้ไม่เห็นเสียแล้ว คงรู้เห็นแต่บัญญัติ เช่น เมื่อเห็นสีก็รับรู้และเข้าใจไปแต่ในเรื่องต่างๆ ว่า เป็นหญิง ชาย เป็นต้น นี้ก็เป็นไปเพราะสันตติบัญญัติและฆนบัญญัติได้ปกปิดอารมณ์ไว้ ผู้รับรู้อารมณ์ก็ไม่มีสติไปกำหนดพิจารณา

สำหรับท่านที่กำหนดสังขตธรรมรูปนามขันธ์ ๕ ที่เกิดอยู่เฉพาะหน้า โดยมีสติรู้อยู่ติดต่อกันไม่ขาดสายนั้น ก็จะสามารถรู้ทะลุปรุโปร่งในฆนบัญญัติที่ปกปิด การเกิดดับของสังขตธรรมรูปนามขันธ์ ๕ ในระยะเวลาที่ได้เห็น ได้ยิน รู้รส ได้สัมผัสกับความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง เมื่อย เจ็บ ปวด ดีใจ เสียใจ คิดนึกต่างๆ เหล่านี้ ขาดลงเป็นตอนๆ ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและไม่มีแก่นสาร ปราศจากเราเขาที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการ เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ ญาณปัญญาก็เกิดขึ้นเข้าถึงความเป็นอนัตตานุปัสสนาได้