วันเสาร์

๕. ญาณ ๑๖

ผู้ปฏิบัติที่ใคร่ครวญพิจารณารูปนามอยู่เนืองๆ ด้วยวิธีการโดยแง่มุมต่างๆ เมื่อปัญญาญาณเกิดขึ้นก็จะเกิดขึ้นไปตามลำดับ ปัญญาความรู้ที่เกิดขึ้นจะเป็นเครื่องชี้วัดระดับปัญญาในขั้นการปฏิบัตินั้นเรียกว่าญาณ ซึ่งญาณปัญญามีถึง ๑๖ ระดับ แบ่งได้ดังนี้

๑. นามรูปปริจเฉทญาณ
นามรูปปริจเฉทญาณ คือ ปัญญาที่กำหนดรู้เห็นรูปนามขันธ์ ๕ ตามสภาวะที่แท้จริง เมื่อผู้ปฏิบัติดำเนินการปฏิบัติตามวิธีต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น ผลของการปฏิบัติจะทำให้วิปัสสนาญาณต่างๆ ปรากฏเกิดขึ้นตามลำดับ เริ่มตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้นไป

การกำหนดรูปนามทางขันธ์ ๕
สำหรับผู้เริ่มปฏิบัติขอให้กำหนดรูปนามทางขันธ์ ๕ โดยกำหนดดังนี้ (รูปปรมัตถ์) ในสรีระร่างกายนั้นประกอบด้วย รูป ๒๘ รูป คือ
นิปผันนรูป ๑๘ ได้แก่
มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๔ ภาวะรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑
อนิปผันรูป ๑๐ ได้แก่ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักขณะรูป ๔

การกำหนดรูปขันธ์ต้องกำหนดที่นิปผันนรูป๑๘ (ส่วนอนิปผันรูป ๑๐ ไม่ต้องกำหนดรู้เพราะไม่สามารถนำมาพิจารณาโดยความเป็นไตรลักษณ์ได้)

เจตสิก ๕๒ กำหนดเวทนาเจตสิกที่ประกอบกับโลกียจิต ๘๑ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกที่ประกอบในโลกียจิต ๘๑ กำหนดเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือ๕๐(เว้นเวทนาและสัญญา) ที่ประกอบกับโลกียจิต ๘๑ กำหนดเป็นสังขารขันธ์ ส่วนโลกียจิต ๘๑ กำหนดเป็นวิญญาณขันธ์ในลำดับต่อมาผู้ปฏิบัติจะพิจารณารูปขันธ์ว่าเป็นรูปธรรม และพิจารณานามขันธ์ ๔ ว่าเป็นนามธรรม นี่คือการกำหนดรูปนามทางขันธ์ ๕ เป็นหลัก

อธิบายเพิ่มเติมเรื่องการกำหนดรูปขันธ์ โดยกำหนดที่นิปผันนรูป ๑๘ ได้แก่
มหาภูตรูป ๔ จนถึงอาหารรูป เมื่อศึกษาแล้วอาจจะท้อแท้และคิดว่านิปผันนรูป ๑๘ นั้นกำหนดยากเหลือเกิน ใครเล่าจะไปกำหนดรู้ได้ทั้งหมด ขอชี้แจงว่าผู้ปฏิบัติก็เพียรระลึกรู้อยู่ในรูปอย่างใดอย่างหนึ่งให้ปรากฏชัดเช่น มหาภูตรูป๔ เป็นรูปใหญ่เป็นประธานเป็นที่อาศัยของรูปอื่นๆ สามารถรู้ได้ง่ายกว่า ก็พยายามระลึกรู้มหาภูตรูป ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เนืองๆ รูปใดไม่ปรากฏชัดก็ไม่ต้องไประลึกรู้ เพราะสติปัญญาอาจจะยังไม่มากพอที่จะไปกำหนดรู้ได้ และต้องประกอบกับการต้องศึกษารายละเอียดของรูปที่เหลือว่ามีลักษณะเช่นไร แล้วก็หมั่นสังเกต หมั่นระลึกรู้ไป โดยไม่เร่งรัด โดยไม่ทอดธุระ สักวันหนึ่งเมื่อกำลังของสติปัญญามากพอ การปฏิบัติก็จะเกิดผลสามารถที่จะรู้จักรูปขันธ์ได้

เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดรูปธรรมแล้ว ก็ย้อนมากำหนดนามธรรม แต่ถ้านามธรรมนั้นยังไม่ปรากฏก็อย่าท้อถอยเลิกละการกำหนดเสีย ควรใส่ใจใคร่ครวญในรูปธรรมเหล่านั้นซ้ำไปเรื่อยๆ เพราะว่ารูปธรรมเหล่านั้นที่พิจารณาดีแล้ว สะสางชำระออกแล้ว บริสุทธิ์และเห็นจนชัดแจ้งดีแล้ว นามธรรมซึ่งมีรูปธรรมเหล่านั้นเป็นอารมณ์ก็จะปรากฏขึ้นมาเอง อุปมาได้กับบุคคลดูเงาหน้าในกระจกที่มัวๆ เงาหน้าก็ไม่ปรากฏหรือปรากฏไม่ชัด แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่ทิ้งกระจกไป กลับเช็ดกระจกนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนใสสะอาด เงาหน้าของบุคคลนั้นก็จะปรากฏขึ้นเอง ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อบุคคลยังไม่สามารถพิจารณานามรูปได้ชัดเจนก็อย่าทอดทิ้งละทิ้งการปฏิบัติ เมื่อมีข้อปฏิบัติที่ถูกต้องและกระทำให้มากเจริญให้มาก นามรูปก็จะปรากฏเอง เช่นเดียวกับเงาหน้าที่ปรากฏชัดบนกระจกที่เช็ดอย่างดีแล้ว

การปรากฏของรูปนาม 
การพิจารณารูปธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนหมดจดชัดแจ้งดีแล้วเท่านั้นบรรดากิเลสทั้งหลายที่เป็นข้าศึกต่อการกำหนดรู้นามธรรมนั้นก็สงบลง นามธรรมก็จะปรากฏขึ้นได้ การกำหนดรูปต้องกำหนดรู้วิเสสลักษณะของรูป ได้แก่ ลักษณะ และกิจ เป็นต้น ของรูปทั้งหลายเสียก่อน จนกิเลสไม่เข้าไปยึดถือได้ อย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่ากำหนดรูปได้อย่างหมดจดดีแล้ว เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดสภาวะของรูปธรรมจนปรากฏชัดเจนดีแล้ว เช่น พิจารณาว่าธาตุดินในลมหายใจเข้าออกมีลักษณะอ่อนแข็งอย่างไร ธาตุดินในเส้นผมมีลักษณะอ่อนแข็งอย่างไร เป็นต้น

ในขณะที่มีการกระทบ ขณะนั้นก็มีผัสสะคือการรับกระทบ มีเวทนาคือการรับรู้อารมณ์ก็เป็นไปด้วย พร้อมกันนั้นเจตสิกธรรมอื่นๆ ที่เข้าประกอบกับจิตก็เป็นไปธรรมทั้งหมดที่ประกอบกับจิตก็จะปรากฏชัดให้เห็นธรรมชาติของนามธรรมทั้งหลายที่ประกอบกับจิตนั้นได้ด้วย ในการปฏิบัติถ้าจะพิจารณาผัสสะไม่ต้องพิจารณาเวทนา หรือถ้าจะพิจารณาเวทนาก็ไม่ต้องพิจารณาธรรมอื่นที่เหลือ ต่อเมื่อปัญญากล้าแล้วก็อาจจะสามารถรู้ถึงธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้โดยพร้อมกันก็ได้ เจตสิกธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นประกอบกับจิตพร้อมกันแต่การพิจารณารับรู้ของผู้ปฏิบัติก็สามารถพิจารณาไปได้ที่ละอย่างๆ

จุดประสงค์ของการกำหนดรูปนาม คือ
๑. เพื่อละชื่อสมมุติทางโลก
๒. เพื่อให้พ้นความเข้าใจผิดว่ามี สัตว์ บุคคล
๓. เพื่อให้จิตประกอบด้วยปัญญา คือ การรู้จริง

คำสอนในพระสูตรต่างๆ มีอยู่มากมายที่ต้องการให้ก้าวพ้นความลุ่มหลงว่า มีสัตว์ มีบุคคล ตัวตน เรา เขา ดังเช่น คำกล่าวของนางวชิราภิกษุณีกล่าวไว้ว่า ความจริง เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ การสมมุติเรียกกันว่า สัตว์ ก็มีขึ้น เหมือนเสียงที่เรียกว่า “ รถ” มีขึ้น ก็เพราะเอาส่วนต่างๆ ประกอบกันเข้า

แม้ท่านพระสารีบุตรก็กล่าวไว้อีกว่า อาวุโส เพราะอาศัยไม้ เถาวัลย์ ดิน และหญ้า ล้อมเอาอากาศเข้าไว้ จึงเรียกว่า “ อาคาร” ฉันใดก็ดี อาวุโส เพราะอาศัยกระดูก เอ็น เนื้อ และเพราะอาศัยหนัง ล้อมเอาอากาศเข้าไว้ จึงถึงการนับว่า “ รูป” (ที่เรียกกันว่าสัตว์ บุคคล) ฉันนั้นเช่นกัน ทั้งนางวชิราภิกษุณีก็กล่าวไว้อีกว่า ที่จริง ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และดับไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ

รูปนามอาศัยกัน
รูปและนามในภพที่มีขันธ์ ๕ ต่างอาศัยกันและกัน สิ่งหนึ่งเป็นผู้ค้ำจุนอีกสิ่งหนึ่งไว้ เมื่อสิ่งหนึ่งล้มลงไปด้วยการแตกทำลาย อีกสิ่งหนึ่งก็ล้มลงด้วยการแตกทำลายเช่นกัน เปรียบเหมือนไม้ ๓ อันที่พิงกันไว้ ถ้าไม้ท่อนหนึ่งล้มลง ไม้ที่เหลือก็ล้มลงด้วย หรือเปรียบให้เห็นด้วยเสียงกลอง เสียงเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยกลองที่ถูกตีด้วยไม้ตีกลอง เสียงก็เป็นอย่างหนึ่ง กลองก็เป็นอย่างหนึ่ง เสียงและกลองไม่ปะปนกันไม่เป็นสิ่งเดียวกัน ในกลองก็ไม่มีเสียงในเสียงก็ไม่มีกลองฉันใด นามเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยรูป คือ วัตถุ ทวาร และอารมณ์ รูปก็เป็นอย่างหนึ่ง รูปและนามไม่ปนกันไม่เป็นสิ่งเดียวกัน ในนามก็ไม่มีรูป ในรูปก็ไม่มีนามฉันนั้น

นามอาศัยรูปจึงเกิดขึ้นเหมือนเสียงอาศัยกลองจึงดังขึ้นนั่นเอง รูปและนามไร้อำนาจในตัวเอง รูปและนามนี้ นามไม่มีอำนาจไม่มีความสามารถในตัวเอง ไม่สามารถกิน ดื่ม พูด หรือสำเร็จอิริยาบถใดๆ ได้ รูปก็เช่นเดียวกันไม่มีความปรารถนาหรือต้องการที่จะกิน ดื่ม พูด หรือสำเร็จอิริยาบถใดๆ รูปเป็นไปได้ก็อาศัยนาม นามเป็นไปได้ก็อาศัยรูป เมื่อนามปรารถนาอย่างไร รูปก็เป็นไปอย่างนั้น เพื่อต้องการให้เข้าใจชัดเจนดีขึ้นพระอาจารย์ทั้งหลายจึงได้อุปมาไว้ดังนี้

ชายตาบอดแต่กำเนิดไม่สามารถเห็นได้ด้วยตนเอง กับชายเป็นง่อยไม่สามารถเดินไปมาได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าชายทั้งสองคนอาศัยซึ่งกันและกัน คือ ชายตาบอดแบกชายเป็นง่อยไว้บนบ่า โดยมีชาย เป็นง่อยคอยบอกทางเดินให้ ชายทั้งสองก็สามารถไปในสถานที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย แต่ถ้า ชายสองคนนี้แยกจากกัน มิได้อาศัยซึ่งกันและกัน ชายทั้งสองคนก็ไม่สามารถไปในที่ต่างๆ ได้ เพราะต่างก็เป็นคนทุพพลภาพด้วยกัน เช่นเดียวกับรูปและนาม นามก็ไม่มีอำนาจให้สำเร็จกิริยาต่างๆ ได้ รูปก็ไม่มีอำนาจในการทำกิริยาต่างๆ แต่การเกิดขึ้นของกิริยาต่างๆ นั้น สำเร็จได้ด้วยการอาศัยซึ่งกันและกันของรูปและนาม

การที่ผู้ปฏิบัติตั้งสติกำหนดรูปนามเป็นอารมณ์ จนสามารถแยกนามแยกรูปจนเห็นได้ชัดเจน และรู้เข้าใจว่ามีแต่รูปกับนามเท่านั้นนอกจากรูปกับนามแล้วไม่มีอะไร ที่เป็นเช่นนี้เพราะตั้งใจกำหนดด้วยดีจึงเห็นได้ ถ้าไม่ตั้งใจกำหนดไม่มีสมาธิก็ไม่สามารถจะรู้เห็นได้เลย เพราะรูปนามนี้ถ้าจิตสงบปราศจากนิวรณ์แล้วย่อมปรากฏได้ และเมื่อจะปรากฏนั้นรูปปรากฏดีแล้ว นามก็จะปรากฏตามมา

การบำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาจนบรรลุถึงญาณที่ ๑ คือนามรูปปริจเฉทญาณนี้แล้ว เพื่อป้องกัน การเข้าใจผิดในภายหลัง จึงขอชี้แจงไว้ดังนี้ว่า ที่เรียกว่าได้บรรลุถึงนามรูปปริจเฉทญาน คือ มีปรีชากำหนดรูปนามได้อย่างชัดเจนดังที่กล่าวมานั้น พึงเข้าใจว่าต้องเป็นการรู้เห็นโดยปัญญา อันเกิดจากการเจริญภาวนาของตนจริงๆ ไม่ใช่รู้ได้จากการศึกษาพระธรรม การเรียนรู้และนึกคิดเอาเองอย่างนี้ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เมื่อผู้ปฏิบัติมีความรู้ว่า มีรูปกับนามเพียง ๒ อย่างเท่านั้น ไม่มีตัวตน เรา เขา ความเข้าใจถูกต้องอย่างนี้จะประหาณสักกายทิฏฐิ ทำให้เป็นผู้มีความเห็นตรง เห็นถูกต้องบริสุทธิ์ คือทิฏฐิวิสุทธิ การกำหนดรู้รูปและนามโดยความเป็นสังขารทั้งหมดนี้คือ ปัญญาที่ปรากฏเกิดขึ้นจากการเห็นแจ้งรูปนามตามความเป็นจริง คือ นามรูปปริจเฉทญาณ

จบนามรูปปริจเฉทญาณ

๒. ปัจจยปริคคหญาณ
การค้นหาเหตุของรูปนาม ได้ชื่อว่าปัจจยปริคคหญาณ คือ ปัญญาที่กำหนดรู้เหตุปัจจัยของรูปนามตามความเป็นจริง เป็นญาณที่ข้ามพ้นความสงสัยในอดีต ปัจจุบัน อนาคต ด้วยการกำหนดรู้รูปนาม ได้ชื่อว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ คือความบริสุทธิ์ด้วยการข้ามพ้นความสงสัย อีกด้วย (ดังที่กล่าวมาแล้วในเรื่องวิสุทธิ ๗) ผู้ปรารถนาบรรลุในญาณปัญญาขั้นสูงขึ้นไป ต้องค้นหาเหตุปัจจัยของรูปนาม อุปมาเหมือนนายแพทย์ที่ชาญฉลาดเมื่อพบโรคแล้วก็ค้นหาสมุฏฐานของโรคนั้นต่อไป เมื่อจะค้นหาเหตุของรูปนาม ก็ควรพิจารณา เหตุของรูปกาย ก่อนว่ากายนี้ไม่ได้เกิดในดอกบัวชนิดต่างๆ มิได้เกิดในสิ่งใดๆ แต่เกิดขึ้นระหว่างกระเพาะอาหารใหม่และเก่า ด้านหลังเป็นพื้นท้อง ของมารดา หันหน้าเข้าหากระดูกสันหลังของมารดา ล้อมรอบด้วยไส้ใหญ่และไส้น้อย เต็มไปด้วยของปฏิกูล มีกลิ่นเหม็น ดุจตัวหนอนเกิดในของบูดเน่า น้ำครำ หลุมโสโครก รูปธรรมนี้มีเหตุมีปัจจัยให้เกิดขึ้น ๕ อย่าง ได้แก่

อวิชชา คือความไม่รู้
ตัณหา คือ ความยินดีพอใจในภพชาติ
อุปาทาน คือ ความยึดมั่น
กรรม คือ เจตนาที่เกิดขึ้นในการทำกุศลและอกุศล
อาหาร คือ โอชาหรือสารอาหารที่หล่อเลี้ยงร่างกาย

เฉพาะธรรม ๔ อย่าง คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม จัดเป็นเหตุ เพราะเป็นตัวทำให้เกิด ส่วนอาหาร จัดเป็นปัจจัย เพราะเป็นตัวอุปถัมภ์ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นที่อาศัยของรูป เปรียบเหมือนมารดาเป็นที่อาศัยของทารก กรรม เป็นผู้ให้เกิด เปรียบเหมือนบิดาเป็นผู้ทำให้บุตรเกิด อาหาร เป็นผู้ค้ำจุนให้รูปกายนี้ดำรงอยู่เปรียบเหมือนพี่เลี้ยง คอยอุ้มชูทารก

เมื่อกำหนดเหตุปัจจัยของรูปได้แล้ว จึงกำหนดเหตุปัจจัยของนามต่อไปว่า จักขุวิญญาณอาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้น เมื่อมีรูปารมณ์ มีจักขุปสาทดี มีแสงสว่าง และมีความใส่ใจในการเห็น การเห็น รูปารมณ์ก็เกิดขึ้นได้ เมื่อพิจารณาเหตุปัจจัยของรูปนามตามความเป็นจริงเนืองๆ เสมอๆ ว่ารูปนามในปัจจุบันก็มีเหตุปัจจัยเช่นนี้ แม้ในอดีตที่ผ่านมาแล้วและอนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็จักมีเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน เมื่อทราบอย่างนี้ก็สามารถละความสงสัยได้

เหตุปัจจัยของรูปนามตามนัยอภิธรรม แสดงไว้ว่า กรรม จิต อุตุ อาหาร เป็นเหตุปัจจัยของรูป โดยแยกออกได้ดังนี้
กรรม ที่เป็นอดีตเท่านั้นที่เป็นเหตุของรูปที่เกิดจากกรรม ได้แก่ จักขุปสาท เป็นต้น
จิต เป็นเหตุปัจจัยของรูป ได้แก่ จิตตชรูป คือ รูปที่เกิดจากจิต ได้แก่ อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว เป็นต้น
อุตุ เป็นเหตุปัจจัยของอุตุชรูป ได้แก่ ความเย็นความร้อนภายในร่างกาย
อาหาร เป็นเหตุปัจจัยของอาหารชรูป ได้แก่ สารอาหาร วิตามินต่างๆ ที่หล่อเลี้ยงร่างกาย

เมื่อพิจารณาถึงเหตุปัจจัยของรูปนามอยู่ดังนี้เรื่อยๆ จะทำให้ทราบว่ารูปนามในอดีตหรือ อนาคตก็จะเป็นไปเช่นนี้ เมื่อเข้าใจถูกต้องเช่นนี้ก็จะทำให้ละความสงสัยในการเกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้วในอดีตเพราะมีกรรมเป็นปัจจัยก็ดับไปแล้วในอดีต ส่วนขันธ์ที่เกิดใหม่ในภพนี้ก็เป็นอีกพวกหนึ่ง มิได้เป็นขันธ์ที่มาจากอดีตภพ ส่วนขันธ์ที่จักเกิดในภพหน้าก็เป็นอีกพวกหนึ่งมิได้เป็นขันธ์ที่ไปจากปัจจุบันภพนี้

มีอุปมาเปรียบได้ดังนี้ อุปมาระหว่างเหตุกับผล เปลวประทีปอันหนึ่งกับเปลวประทีปอีกอันหนึ่งมิใช่ไส้เดียวกัน แต่เปลวประทีปอีกอันหนึ่งจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยเปลวประทีปก่อนๆ ที่เกิดแล้วหรือเชื้อไฟอันอื่นเป็นเหตุเป็นปัจจัย ธรรมทั้งหลายจากอดีตภพมิได้ติดตามไปในปัจจุบันภพหรืออนาคตภพแต่อย่างใดเลย แต่ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันภพนี้ต้องอาศัย ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ในอดีตภพเป็นปัจจัย และขันธ์ อายตนะ ธาตุที่จักเกิดขึ้นในอนาคตนั้นก็ต้องอาศัย ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ในปัจจุบันภพเป็นปัจจัย

บุคคลผู้พิจารณาตามความเป็นจริงในเหตุปัจจัยของนามรูปอยู่ เช่นนี้เนืองๆ ความเป็นจริงย่อมปรากฏ เมื่อนั้นปัญญาที่ชื่อว่าปัจจยปริคคหญาณก็เกิดขึ้น

จบปัจจยปริคคหญาณ 

๓. สัมมสนญาณ
ปัญญาในการย่อธรรมทั้งหลายทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันแล้วกำหนดว่า รูปทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่เที่ยง เพราะว่าเสื่อมไปสิ้นไป เป็นทุกข์ เพราะว่าน่ากลัว เป็นอนัตตา เพราะหาแก่นสารมิได้ เป็นปัญญาที่เห็นรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์ เรียกว่า สัมมสนญาณองค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตสัมมสนญาณ เป็นปัญญาสิกขา เพราะมี ปัญญาประกอบการพิจารณา และเป็นตีรณปริญญา เพราะมีการกำหนดรู้ด้วยการไตร่ตรอง และเทียบได้กับมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ผู้ปฏิบัติเมื่อเจริญวิปัสสนาจนนามรูปปริจเฉทญาณและปัจจยปริคคหญาณเกิดขึ้นนั้น เพียงแต่มีรูปนามเป็นอารมณ์เท่านั้น เมื่อเข้าสู่ขั้นสัมมสนญาณ ผู้ปฏิบัติต้องพิจารณารูปนามนั้นโดยพระไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

 ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาในสัมมสนญาณ ปรารถนาจะบรรลุญาณขั้นสูงต่อไป คือบรรลุมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ในเบื้องต้นต้องทำความเพียรเกี่ยวกับการพิจารณาสภาพธรรมที่เป็นหมวดเป็น กอง (กลาปสัมมสนะ) ก่อน เมื่อวิปัสสนูปกิเลส เช่น โอภาสแสงสว่างเกิดขึ้น ก็แสดงว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ได้บังเกิดขึ้นแล้ว และกลาปสัมมสนญาณจึงเป็นญาณเริ่มต้นของวิปัสสนาญาณก็กำลังจะเป็นไป มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินี้เกิดขึ้นและเป็นไปในตีรณปริญญา ตีรณปริญญาจะบังเกิดขึ้นต่อ จากญาตปริญญา เพราะฉะนั้นผู้ปรารถนาจะบรรลุมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ จะต้องทำความเพียรเกี่ยวกับการกำหนดพิจารณาสภาพธรรมที่เป็นหมวดเป็นกองเสียก่อน ด้วยปัญญา ๓ อย่าง คือ

๑. ปัญญาที่ กำหนดลักษณะเฉพาะ ของธรรมทั้งหลาย เช่นปถวีธาตุ มีลักษณะแข็ง อ่อน ซึ่งเป็นรูป เวทนา มีลักษณะ เสวยอารมณ์ ซึ่งเป็นนาม ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณารูปและนามตามลักษณะเฉพาะเช่นนี้ เรียกว่า ญาตปริญญา
๒. ปัญญาที่มีพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ คือ การยกเอาธรรมทั้งหลายขึ้นสู่สามัญญ-ลักษณะ เช่น รูป มีสามัญญลักษณะ คือ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เวทนา ก็มีสามัญญลักษณะ เช่นเดียวกัน คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณารูปและนามตามลักษณะไตรลักษณ์เช่นนี้ เรียกว่า ตีรณปริญญา
๓. ปัญญาที่มีพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ และเป็นไปพร้อมกับการละวิปัลลาสธรรม ได้แก่ นิจจสัญญา ความสำคัญว่าเที่ยงเป็นสุข ว่าเป็นตัวตน เป็นต้น ปัญญาเช่นนี้ เรียกว่า ปหานปริญญา เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนาบรรลุญาตปริญญาเพราะได้ทำนามรูปปริจเฉทญาณและปัจจยปริคคหญาณให้เกิดขึ้นแล้ว ปริญญาอีก ๒ อย่างก็ควรบรรลุด้วย เมื่อตีรณปริญญากำลังเป็นไปอยู่นั้น มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิก็จะบังเกิดขึ้น และตีรณปริญญาก็จะบังเกิดต่อจากญาตปริญญา ฉะนั้นผู้ปรารถนาบรรลุมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิจะต้องทำความเพียรอย่างมากในการกำหนดรู้สภาพธรรมโดยเป็นหมวดเป็นกองให้ได้เสียก่อน ญาณต่างๆ จึงจะเกิดตามมา ถ้าไม่สามารถทำให้นามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นแล้ว ญาณขั้นสูงอื่นๆ ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย

วิธีเจริญวิปัสสนาญาณให้สูงขึ้น
เมื่อผู้ปฏิบัติต้องการให้วิปัสสนาญาณสูงขึ้น ต้องทำอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาให้แก่กล้ายิ่งขึ้น ด้วยวิธีการทั้ง ๙ ดังนี้
๑. พยายามกำหนดให้รู้ชัดถึงความดับไปของสังขาร (รูปและนาม) ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว
๒. ในขณะที่เห็นความดับไปของสังขารทั้งหลายนั้นควรพยายามให้ถึงพร้อมด้วยการมีสติ
๓.พยายามให้วิปัสสนาญาณนั้นๆ เกิดต่อเนื่องกันไป
๔. พยายามให้วิปัสสนาญาณนั้นๆ ดำเนินไปด้วยความสะดวกสบาย
๕. พยายามให้วิปัสสนาญาณนั้นๆ กำหนดนิมิตของสมาธิ
๖. พยายามให้วิปัสสนาญาณนั้นๆ ดำเนินไปโดยความเหมาะสมของโพชฌงค์ ๗
๗.พยายามไม่อาลัยในร่างกายและชีวิต
๘.พยายามไม่อาลัยในร่างกายและชีวิตด้วยวิธีข่มไว้ (ข่มทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น)
๙.พยายามไม่อาลัยในร่างกายและชีวิตด้วยการไม่ละเลิกหรือหยุดพักเสียในระหว่างกลางคัน และหลีกเลี่ยง อสัปปายะ คือสิ่งที่ไม่เป็นที่สบาย ๗ แล้วเสพสัปปายะ คือสิ่งที่เป็นที่สบาย ๗

วิธีกำหนดรู้รูปนามในสัมสนญาณ
ผู้ปฏิบัติควรดูการเกิดขึ้นของรูปตามธรรมดา รูปเกิดขึ้นมาเพราะเหตุ ๔ อย่าง คือ เกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร ใน ๔ อย่างนั้นรูปของสัตว์ทั้งหลายต้องเกิดมาจากกรรมก่อนเป็นครั้งแรก กรรม เป็นเครื่องจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตต่างกันไป จิตและรูปเกิดขึ้นพร้อมกันในขณะปฏิสนธิ ฉะนั้นจิตมีอยู่ตราบใดรูปก็คงเป็นไปอยู่ตราบนั้น เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดรู้รูปก็สามารถเห็นความเกิดของ รูปได้ด้วย เช่นเดียวกับเมื่อกำหนดรู้นามก็สามารถเห็นความเกิดของนามได้ด้วย

วิธีการเห็นความเกิดของนามมีวิธีการกำหนดพอสรุปได้ดังนี้
๑. พิจารณาความยึดถือและปล่อยวาง คำว่า การยึดถือ หมายถึงปฏิสนธิ (เกิด) ปล่อยวาง หมายถึง จุติ(ตาย) การกำหนดสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นตอนหนึ่ง การกำหนดการหมดไปขาดไปสิ้นไปเป็นตอนหนึ่ง แล้วพิจารณาในสังขารทั้งหลายว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เพราะมีความเกิดขึ้นและเสื่อมไป มีความแปรปรวน มีความเป็นไปเพียงชั่วขณะ มีความขัดแย้งกับความเที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เพราะถูกเบียดเบียนอยู่เนืองๆ เป็นทุกข์ทนได้ยาก เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ขัดกับความสุข ไม่อยู่ในอำนาจแห่งการบังคับบัญชาใดๆ ได้สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา เพราะเป็นของว่างเปล่า ไม่มีเจ้าของ ไม่เป็นไปในอำนาจ และปฏิเสธอัตตา
๒. พิจารณาความแตกดับของรูปที่เติบโตขึ้นตามวัย คือรูปในวัยเด็กก็ไม่ตั้งอยู่ถึงวัย กลางคน รูปในวัยกลางคนก็ไม่ไปถึงวัยชรา รูปในวัยชราก็ไม่ตั้งอยู่ได้ภายหลังการตาย ในวันหนึ่งๆ รูปที่เป็นไปในตอนเช้ายังไม่ทันถึงตอนกลางวันก็ดับเสียแล้วในตอนเช้านั่นเอง รูปที่เป็นไปในเวลากลางคืนยังไม่ทันถึงตอนเช้าวันรุ่งขึ้นก็ดับเสียแล้วในกลางคืนนั่นเอง หรือแม้ในขณะเดินไปข้างหน้า ยังไม่ทันถอยกลับรูปก็ดับไปในการเดินไปข้างหน้านั่นเอง รูปที่เป็นไปในการคู้ไม่ทันถึงการเหยียดออกก็ดับไปในการคู้นั่นเอง เพราะฉะนั้น รูปนั้น จึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

อธิบายเพิ่มเติม การกำหนดรู้ว่านี้รูป นี้นาม ที่ผ่านมาแล้วในขั้นของนามรูปปริจเฉทญาณ และรู้เหตุปัจจัยของนามรูปในปัจจยปริคคหญาณนั้น เป็นการปฏิบัติเพียงแค่รู้จักความจริงของรูปนามเท่านั้น แต่ยังไม่เพิกถอนตัณหา มานะ ทิฏฐิ ต่อเมื่อได้พิจารณาในสัมมสนญาณว่ารูปนามนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงจะเพิกถอนตัณหา มานะ และทิฏฐิได้ เมื่อเพิกถอนได้แล้ว ความจำได้หมายรู้ว่าเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตาตัวตนก็ถูกเพิกถอนออกไปได้

จบสัมมสนญาณ

๔. อุทยัพพยญาณ
อุทยัพพยญาณ คือ ปัญญาเห็นความเกิดขึ้นและการปรวนแปรไปของปัจจุบันธรรมทั้งหลาย ได้แก่ เห็นรูปเกิด เห็นลักษณะแห่งความเกิดของรูปนั้น เห็นลักษณะที่รูปนั้นแปรผันไป การพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของรูปขันธ์ พิจารณาเห็นลักษณะดังนี้
๑. พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นของรูปขันธ์ โดยเหตุปัจจัยว่า เพราะอวิชชาเกิดรูปจึงเกิด เพราะตัณหาเกิดรูปจึงเกิด เพราะกรรมเกิด รูปจึงเกิด เพราะอาหารเกิดรูปจึงเกิด เมื่อพิจารณาเห็นลักษณะของความเกิด ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นความเกิดขึ้นของรูปขันธ์ได้ (การพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ยังต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า รูปขันธ์เกิดเพราะอาหารเกิดเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เกิดเพราะผัสสะเกิด วิญญาณขันธ์เกิดเพราะนามรูปเกิด)
๒. พิจารณาเห็นความเสื่อมไปแห่งรูปขันธ์ โดยเหตุปัจจัยว่า เพราะอวิชชาดับรูปจึงดับ เพราะตัณหาดับรูปจึงดับ เพราะกรรมดับรูปจึงดับ เพราะอาหารดับรูปจึงดับ เมื่อพิจารณาถึงความเสื่อม ความแปรปรวนไปของรูป ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นความเสื่อมไปของรูปขันธ์ได้ (การพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน) ปัญญาขั้น อุทยัพพยญาณ มี ๒ คือ
    ๔.๑ ตรุณอุทยัพพยญาณ ผู้ปฏิบัติเมื่อพิจารณาปัจจุบันธรรมเหล่านั้นโดยไตรลักษณ์เข้าใจการเกิดการเสื่อมไปสิ้นไปของรูปนามอย่างชัดแจ้งแล้วตรุณอุทยัพพยญาณ หมายถึง อุทยัพพยญาณอย่างอ่อน ที่ยังมีวิปัสสนูปกิเลสเกิดปะปนอยู่ย่อมเกิดขึ้น คือ ยังอยู่ในระหว่างการวินิจฉัยว่าใช่ทางหรือไม่ใช่ทาง
    ๔.๒. พลวอุทยัพพยญาณ หมายถึง อุทยัพพยญาณอย่างแก่ อุทยัพพยญาณอย่างอ่อนในเบื้องต้นนั้นไม่สามารถกำหนดรู้พระไตรลักษณ์ตามความเป็นจริงได้เพราะถูกอุปกิเลส ๑๐ ครอบงำอยู่ ผู้ปฏิบัติจึงต้องทำความเพียรพยายามต่อไปอีกจนสามารถพ้นจากอุปกิเลส ๑๐ แล้วอุทยัพพยญาณอย่างแก่ที่ชื่อว่าพลวอุทยัพพยญาณก็จะเกิดขึ้น จึงสามารถกำหนดรู้พระไตรลักษณ์ได้อย่างชัดเจน

เหตุใดพระไตรลักษณ์จึงไม่ปรากฏ
๑. การที่อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ เพราะสันตติปิดบังไว้ และเพราะไม่มนสิการ(พิจารณา)ความเกิดและความดับ
๒. การที่ทุกขลักษณะไม่ปรากฏ เพราะอิริยาบถทั้งหลายปิดบังไว้และเพราะไม่มนสิการความเบียดเบียนเฉพาะหน้าด้วยความเกิดขึ้นและความดับไป
๓. การที่อนัตตลักษณะไม่ปรากฏ เพราะว่าฆนสัญญาคือความเป็นก้อนเป็นแท่ง หรือกลุ่มก้อนปิดบังไว้ และเพราะไม่มนสิการถึงความสลายตัวของธาตุต่างๆ

การพิจารณาเพื่อทำให้พระไตรลักษณ์ปรากฏ
๑. เมื่อกำหนดรู้ความเกิดและดับ แล้วเพิกถอนสันตติออกไปได้อนิจจลักษณะ ก็ปรากฏตามสภาวะของตนตามความเป็นจริง
๒. เมื่อมนสิการความเบียดเบียนเฉพาะหน้าอยู่เนืองๆ แล้วเพิกถอนอิริยาบถออกไปได้ ทุกขลักษณะ ก็ปรากฏตามสภาวะของตนตามความเป็นจริง
๓. เมื่อกระจายธาตุต่างๆ ออกไป และพร้อมกับการกระจายฆนะความเป็นแท่ง หรือกลุ่มก้อนออกไปเสียได้ อนัตตลักษณะ ก็ปรากฏตามสภาวะของตนตามความเป็นจริง
๔. เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญวิปัสสนาจนบรรลุถึง อุทยัพพยญาณอย่างแก่แล้ว ก็ย่อมจะพิจารณากำหนดรู้ในพระไตรลักษณ์ไปตามความเป็นจริงเช่นนี้ได้

อุทยัพพยญาณ คือปัญญาที่เห็นเนืองๆ ในความปรวนแปรของปัจจุบันธรรมทั้งหลาย คือปัญญาเห็นรูปที่เกิดแล้วซึ่งเป็นปัจจุบัน และเห็นความปรวนแปรของรูปนั้น เช่น กำลังดับ เป็นต้น หรือปัญญาที่เห็นอยู่เนืองๆ ในลักษณะแห่งการเกิดหรืออาการใหม่ของรูปนามว่าเป็นความเกิดขึ้นและเห็นอยู่เนืองๆ ในลักษณะแห่งความปรวนแปรความสิ้นไป ความแตกดับไปว่าเป็นความดับไป ก่อนที่รูปนามจะเกิดขึ้นก็ไม่ได้มีอยู่ที่ใด เมื่อรูปนามเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้เกิดมาจากที่ใด เมื่อรูปนามกำลังดับก็หาไปสู่สถานที่ใด เมื่อรูปนามดับแล้วก็ไม่ได้ไปตั้งอยู่ในสถานที่แห่งใดเลย เปรียบเหมือนกับการบรรเลงพิณ คือ ก่อนที่เสียงจะเกิดขึ้น เสียงก็ไม่ได้เก็บไว้ในพิณ เมื่อเสียงกำลังเกิดขึ้นก็ไม่ได้มาจากตัวพิณ เมื่อเสียงกำลังดับก็ไม่ได้ไปอยู่ที่ใด เมื่อเสียงดับไปแล้วก็ไม่ได้ไปเก็บอยู่ที่ใด เสียงพิณนั้นไม่ได้มีอยู่ก่อน แต่เพราะอาศัยพิณและการบรรเลง เสียงพิณจึงปรากฏได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ธรรมทั้งหลายที่เป็นรูปและนาม ก็ไม่ได้มีมาก่อน แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยประกอบพร้อมรูปนามก็มีขึ้น เมื่อหมดเหตุปัจจัยก็ดับไป

รูปนามจะปรากฏชัดแก่ผู้พิจารณา โดยลักษณะ ๓ อย่าง ดังนี้
๑. อนิจจลักษณะ คือการเห็นความเกิดขึ้นและดับไปโดยขณะและรู้ถึงความมีแล้วไม่มี รู้ความว่างเปล่าในเบื้องต้นและที่สุด
๒.ทุกขลักษณะ คือการรู้ถึงความเบียดเบียนเฉพาะหน้าด้วยความเกิดขึ้นและดับไป แม้สภาวลักษณะก็ปรากฏชัดด้วยเพราะมุ่งไปที่รูปนามที่เกิดขึ้นและดับไป สภาวลักษณะ ก็ปรากฏชัด เพราะรู้ว่าไม่มีความดับไปในขณะที่กำลังเกิดขึ้นและรู้ว่าไม่มีความเกิดขึ้นในขณะที่กำลังดับไป
๓. อนัตตลักษณะ คือการเห็นความเกิดขึ้นโดยปัจจัย และรู้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นไปต่อเนื่องด้วยปัจจัยปราศจากผู้กระทำ

จบ อุทยัพพยญาณ

๕.ภังคญาณ

ภังคญาณ หมายความว่า ปัญญาในการกำหนดรู้อารมณ์แล้วเห็นเนืองๆ ซึ่งความดับไป เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดใคร่ครวญพิจารณาในรูปนามทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่เสมอๆ วิปัสสนาญาณก็มีกำลังแก่กล้าขึ้น สภาวธรรมเหล่านี้ปรากฏรวดเร็วมาก ทำให้วิปัสสนาญาณกำหนด ไม่ทันความเกิดขึ้นความตั้งอยู่ความดับไป หรือนิมิตของสังขารทั้งหลาย สติและวิปัสสนาญาณ คงกำหนดตั้งมั่นอยู่เฉพาะความสิ้นไปความเสื่อมไปได้เพียงอย่างเดียว การกำหนดเห็นเนืองๆ ในอารมณ์โดยความดับไปความสิ้นไปความเสื่อมไป คำว่าเห็นเนืองๆ หมายความว่าเห็นเนืองๆ ในอารมณ์นั้นโดยความไม่เที่ยง มิใช่เห็นเนือง ๆโดยความเป็นของเที่ยง เห็นเนืองๆ โดยความเป็นทุกข์ มิใช่เห็นเนือง ๆ โดยความเป็นสุข เห็นเนืองๆ โดยความเป็นอนัตตา มิใช่เห็นเนือง ๆโดยความเป็นอัตตา ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย มิใช่เกิดความเพลิดเพลินยินดี ทำให้เกิดความปราศจากกำหนัด มิใช่เกิดความกำหนัด ทำให้เกิดความดับไป มิใช่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการสลัดทิ้งไป มิใช่เกิดการยึดถือไว้

เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดเห็นเนืองๆ ในสังขารทั้งปวงโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทำให้เกิดการเบื่อหน่ายไม่เพลิดเพลินยินดี ปราศจากความกำหนัด การละความกำหนัด(ราคะ)ในขั้นนี้เป็นไปด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาญาณขั้นโลกียะเท่านั้น เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดเห็นเนืองๆ ในสังขารทั้งหลายโดยความดับไปและเป็นผู้ปราศจากความกำหนัดแล้วก็จะสามารถกำหนดเห็นเนืองๆ ในสังขารทั้งปวงที่ไม่เคยเห็นโดยความดับไปได้ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาญาณโดยลำดับ และการมนสิการในสังขารเหล่านี้ก็เห็นแต่ความดับเพียงอย่าง เดียว เมื่อปฏิบัติมาถึงอย่างนี้แล้ว ก็ชื่อว่า สลัดสังขารทั้งหลายทิ้งไปไม่ยึดถือไว้

เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นเนืองๆ ในสังขารทั้งปวงโดย ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งทำให้เกิดการสละกิเลสทั้งหลายพร้อมทั้งขันธ์ทั้งหลาย การสลัดทิ้งไปด้วยการสละหรือทำให้เกิดการมุ่งหน้า เข้าไปสู่พระนิพพานอันเป็นสภาวะตรงข้ามกับสังขตธรรม หรือน้อมไปสู่พระนิพพานนั้นด้วยการเห็นโทษของสังขตธรรม เป็นการสลัดทิ้งไปด้วยการมุ่งหน้าเข้าไปสู่พระนิพพาน

ผู้ปฏิบัติกำหนดรู้จิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ โดยความดับไปนั้น มีลักษณะ ๒ ประการ คือ
๑. กำหนดรู้ความสิ้นไปเสื่อมไปของรูป (หมายถึงรูปที่มาเป็นอารมณ์ของจิต)
๒. กำหนดรู้ความสิ้นไปเสื่อมไปของจิต (หมายถึงจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์) ด้วยจิตอีกดวงหนึ่ง

การพิจารณารูปนามอยู่เนืองๆ ว่าดับไปสิ้นไป มีลักษณะ ๓ ประการ คือ
๑. การย้ายไปสู่อารมณ์ หมายความว่า เมื่อเห็นความดับของรูปด้วยจิตดวงใดแล้ว ก็พึงเห็นความดับของจิตได้ด้วยจิตดวงอื่นต่อไปอีก
๒. คงที่อยู่ในอารมณ์ หมายความว่า ในขณะที่กำหนดรู้อยู่เนืองๆ นั้น ก็พิจารณาแน่วแน่แต่ในความดับไปของสังขารเท่านั้น ไม่พึงพิจารณาถึงความเกิดขึ้น
๓. มีกำลังเข้มแข็งในการนึกคิด หมายความว่า มีความสามารถในความนึกคิดติดต่อกันไปไม่มีหยุดคั่นเลย คือ เมื่อเห็นความดับของรูปแล้ว ก็เห็นความดับไปของจิตต่อไปอีก

อานิสงส์ของภังคญาณ
๑. ละภวทิฏฐิ
๒. สละความรักใคร่ในชีวิต
๓. มีความเพียรมั่งคงในการปฏิบัติ
๔. มีอาชีพอันบริสุทธิ์
๕. ละความทะเยอทะยาน
๖. ปราศจากความกลัว
๗. ประกอบด้วยขันติและโสรัจจะ
๘. อดกลั้นต่อความไม่พอใจและในความกำหนัดยินดี

จบภังคญาณ

๖. ภยญาณ
ภยญาณ หมายความว่า เป็นญาณที่กำหนดรูปนาม โดยความเป็นของน่ากลัว เป็นญาณที่เป็นไปด้วยอำนาจพิจารณาถึงสังขตธรรมทั้งหลายโดยความเป็นของน่ากลัว

เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญภังคญาณให้แก่กล้ามากขึ้น ด้วยการกำหนดรู้ความสิ้นไปเสื่อมไปหรือความแตกดับของสังขารทั้งปวงเป็นอารมณ์อยู่สังขารทั้งหลายซึ่งมีความแตกดับอยู่ในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ ก็จะปรากฏเป็นสภาพที่น่ากลัวมาก เช่นเดียวกับพยัคฆะ เสือเหลือง หมี เสือดาว ยักษ์ รากษส โคดุ สุนัขดุ ช้างดุตกมันอสรพิษร้าย ป่าช้า หรือหลุมถ่านเพลิงที่ลุกโชติช่วง เป็นต้น ซึ่งปรากฏเป็นที่น่ากลัวมากแก่บุรุษขี้ขลาดที่ปรารถนาจะมีชีวิตอย่างสุขสบาย เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ชัดว่าสังขารทั้งหลายที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว ที่เป็นปัจจุบันก็กำลังดับ แม้จะเกิดในอนาคตก็จักดับไปเช่นนี้ ภยญาณหรือเรียกได้อีกอย่างว่าภยตุปัฏฐานญาณก็บังเกิดขึ้นแล้ว

ความกลัวโดยทั่วไปกับภยญาณต่างกันอย่างไร
ภยตูปัฏฐานญาณไม่ใช่เป็นญาณที่ประกอบด้วยความกลัว แต่ภยตูปัฏฐานญาณเป็นญาณที่ไตร่ตรองว่า “ สังขารทั้งหลายที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว ที่เป็นปัจจุบันก็กำลังดับ ที่เป็นอนาคตก็จักดับ ” ฉะนั้น เปรียบเหมือนกับบุคคลที่เห็นหลุมถ่านเพลิง ๓ หลุมที่ใกล้ประตูเมือง ตัวเขาเองไม่รู้สึกกลัว เพียงแต่เกิดความคิดไตร่ตรองว่าถ้ามีคนตกลงไปในหลุมทั้ง ๓ นี้ คงได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแน่นอน

ไตรลักษณ์กับความกลัวเป็นอย่างไร 
เมื่อผู้ปฏิบัติมนสิการสังขารทั้งปวงโดยความไม่เที่ยง นิมิตคือความดับไปของสังขารทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็จะปรากฏเป็นสภาพที่น่ากลัวแก่ผู้ปฏิบัติ เมื่อผู้ปฏิบัติมนสิการสังขารทั้งปวงโดย ความเป็นทุกข์ ความเป็นไปของสังขารคือความบีบคั้นเฉพาะหน้าเข้าใจกันว่าเป็นสุข ทั้งที่เป็นไปในรูปภพและอรูปภพเห็นว่าเป็นสุขนั้น จริงๆ ก็ไม่พ้นไปจากสภาพอย่างเป็นจริงอย่างนี้ไปได้ คือ มีแต่ความเป็นทุกข์ ก็จะปรากฏเป็นสภาพที่น่ากลัว

เมื่อผู้ปฏิบัติมนสิการสังขารทั้งปวงโดย ความเป็นอนัตตา นิมิตและความเป็นไปของสังขารก็ปรากฏเป็นของว่างเปล่าเป็นของสูญไม่มีผู้นำ เป็นประดุจบ้านร้าง พยับแดด และวิมานในอากาศ ด้วยเหตุนี้นิมิตและความเป็นไปของสังขารจึงปรากฏเป็นสภาพที่น่ากลัวแก่ผู้ปฏิบัติ

จบภยญาณ

๗. อาทีนวญาณ
อาทีนวญาณ หมายความว่า เป็นญาณที่เห็นสังขารรูปนามเป็นโทษ เป็นญาณที่เป็นไปด้วยอำนาจการเพ่งถึงสังขารเป็นของน่ากลัวซึ่งตนได้เห็นแล้วนั้นโดยความเป็นโทษ เมื่อผู้ปฏิบัติทำภยตุปัฏ-ฐานญาณให้เจริญมากยิ่งขึ้นแล้ว ไม่ยึดเหนี่ยวในสังขารทั้งหลายที่เป็นไปในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ เพราะว่าภพภูมิทั่วทุกหนแห่งเหล่านั้นไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลบลี้ ไม่ว่าจะอยู่ในภพใดก็หลีกหนีจากความทุกข์ทั้งปวงไปไม่พ้น

อาทีนวญาณ คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นทุกข์โทษของรูปนาม การปฏิบัติคือในขณะที่เห็นว่ารูปนามไม่ดีน่าเกลียดน่าเบื่อ เป็นของปฏิกูลทั้งนั้น เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว โลภะ โทสะ โมหะ ก็เบาบางลงไปมาก แต่ยังไม่เด็ดขาด ยังจัดเป็นสมุทเฉทปหานไม่ได้ จะได้ก็ต่อเมื่อถึงมรรคญาณแล้วเท่านั้น

จบอาทีนวญาณ

๘. นิพพิทาญาณ
นิพพิทาญาณ หมายความว่า ญาณที่พิจารณาเห็นรูปนามโดยอาการเบื่อหน่าย เพราะเมื่อพิจารณาเห็นรูปนามเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นของน่ากลัว เต็มไปด้วยทุกข์โทษนานาประการแล้วเกิดความเบื่อหน่ายในรูปนาม ไม่ต้องการเกิดอีก ต้องการเข้าถึงพระนิพพานโดยเร็ว ปัญญาในที่นี้มุ่งหมายเฉพาะ ภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดแก่ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ถึงญาณนี้เท่านั้น ไม่หมายรวมถึงสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญาเลย และความเบื่อหน่าย มิได้หมายถึงความเบื่อหน่ายต่อชีวิต คิดฆ่าตัวตายเบื่อหน่ายการงาน ขาดความอดทน มีความย่อท้อต่อการงานก็หาไม่ แต่หมายถึงความเบื่อหน่ายในสังขารธรรม คือ รูปนาม มีอุปมาไว้เช่นนกที่จับมาขังไว้ในกรงเงินกรงทองกรงแก้วมณีเพชรนิลจินดา ล้วนมีค่ามาก แต่นกนั้น ก็ไม่มีความพอใจปรารถนาจะอยู่ในกรงนั้นเลย มุ่งหน้าแต่จะพยายามหาหนทางออก เพื่อจะบินหนีไปให้พ้นจากกรงขังอันแสนจะน่าเบื่อหน่ายนั้น อย่างนี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติธรรมเมื่อถึงนิพพิทาญาณก็ ฉันนั้น ย่อมเบื่อหน่ายในรูปนาม เบื่อหน่ายในภพ เบื่อหน่ายในกำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตาวาส ๙ เหมือนกัน

เมื่อผู้ปฏิบัติได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีวิปัสสนาญาณผ่านขึ้นมาโดยลำดับ นับแต่นามรูปปริจเฉทญาณ จนกระทั่งถึงญาณนี้ ถ้าขณะใดพิจารณาเ ห็นรูปนามปรากฏเป็นภัย คือ เป็นของน่ากลัว ขณะนั้นก็จัดเป็นภยญาณ ถ้าขณะใดพิจารณาเห็นรูปนามปรากฏเป็นโทษขณะนั้นก็จัดเป็น อาทีนวญาณ ถ้าขณะใดพิจารณาเห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่าเบื่อหน่าย และเมื่อเบื่อหน่ายในรูปนามแล้วใจก็น้อมไปในความสงบ ขณะนั้นก็จัดเป็นนิพพิทาญาณ

จบนิพพิทาญาณ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น