แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ธรรมนิพนธ์พระพุทธโฆษาจารย์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ธรรมนิพนธ์พระพุทธโฆษาจารย์ แสดงบทความทั้งหมด

การฝึกสมาธิเบื้องต้นเพื่อความสุขในชีวิตประจำวัน

ในยุคสมัยที่มีสิ่งเสพบริโภคให้แสวงหาความสุขกันอย่างพรั่งพร้อม และผู้คนก็ติดในสุขจากการเสพบริโภคกันมากอย่างที่บางครั้งเรียกว่าเป็นยุค “สุขนิยม” เมื่อผู้คนสนใจในความสุขกันมากดังนี้แล้ว ก็อาจเป็นการดีที่จะยกเอาประโยชน์ด้านความสุขนี่แหละขึ้นมาตั้งพิจารณาให้เห็นประจักษ์ สุขจากการเสพบริโภค กับสุขจากการเจริญสมาธิ มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างไร

ผู้ปฏิบัติเมื่อก้าวหน้าไปตามลำดับ แม้ในเบื้องต้น ก็พอจะเห็นได้ด้วยตนเอง โดยในที่นี้จะใช้การฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ ซึ่งเป็นวิธีที่ในพระไตรปิฎกปรากฎว่าพระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนบ่อยครั้ง (การฝึกสมาธิ รวมถึงสติ ในรูปแบบอื่นๆ ถ้าปฏิบัติถูกทางแล้วล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น)

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้สมาธิในอานาปานสตินี้แลอันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ย่อมยังละอองและฝุ่นนั้นๆ ให้อันตรธานสงบไปได้ โดยฉับพลัน ฉะนั้น” (มหาวิภังค์)

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวหาว่า สมณะศากยบุตรประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข พึงถามว่าประกอบแบบไหน เพราะมีอยู่มากด้วยกัน คือ บางคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดปด บำเรอตนด้วยกามคุณ อย่างนี้ชื่อว่าประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุขแบบชาวบ้าน ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน “การประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ได้แก่ ความสุขในฌาน ๔ ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวว่า สมณะศากยบุตร ประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ๔ อย่างนี้ ก็พึงรับรองว่ากล่าวถูกต้อง” (ปาสาทิกสูตร)

อย่างไรก็ตาม ต้องขอออกตัวไว้แต่ต้นว่า ผู้เขียนไม่เคยได้สมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิเลย แต่ในอานาปานสติ และกสิณบางอย่าง เมื่อไม่มีปัญหาสุขภาพรบกวน สามารถเจริญอุปจารสมาธิขึ้นได้ไม่ยากนัก ความเข้าใจในระดับที่ประจักษ์แจ้งกับตัวนั้น จึงตันอยู่แค่ระดับอุปจารสมาธิ ขั้นที่สูงไปกว่านี้เป็นเพียงการบรรยายไปตามหลักการที่ได้ศึกษามาและตามความเห็นส่วนตัวเท่านั้น


สมาธิ เป็นภาวะที่จิตสรรสร้างขึ้น ความเข้าใจในตัวสภาวะ และวิธีปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องสำคัญ วิธีฝึกสมาธิทุกวิธีล้วนมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เกิดภาวะที่จิตสามารถแนบสนิทอยู่กับงาน (อารมณ์กรรมฐาน) อย่างเดียวต่อเนื่องกันไป โดยไม่มีอารมณ์อื่นฟุ้งขึ้นมารบกวนแม้ขณะจิตเดียว ท่านเปรียบเสมือนเปลวไฟที่ใหม้ไส้เทียนไปเรื่อยๆโดยไม่มีการกระเพื่อมไหวเพราะแรงลม เมื่อสมาธิตั้งมั่นดีแล้ว ก็จะมีกำลังพอที่จะข่มกิเลสให้สงบลงได้ตลอดช่วงระยะเวลานั้น ทางพระอภิธรรมท่านอธิบายว่าในอัปปนาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิกมีกำลังแรง ชวนจิตเกิดดับสืบต่อกันไปตลอดต่อเนื่องไม่ขาดสายไม่ตกภวังค์ นิวรณ์ ๕ จึงไม่มีช่องให้แทรกฟุ้งขึ้นมา (อุปจารสมาธิก็เป็นลักษณะเดียวกันนี้ แต่เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ)

“สมาธิที่ตั้งมั่นดีแล้ว ชื่อว่าเป็นนิพพานโดยปริยาย” (สันทิฏฐิกสูตร)

วัตถุประสงค์ที่สำคัญข้อหนึ่งในการฝึกสมาธิ ก็เพื่อจะให้ผู้ปฏิบัติได้สัมผัสโดยตรงกับภาวะความหลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราวด้วยกำลังสมาธิ (วิขัมภนวิมุตติ) เมื่อได้สัมผัสเองแล้ว ในส่วนนี้ก็ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ไม่ต้องคาดเดา หรือจินตนาการวาดภาพขึ้นมาลอยๆ ว่าภาวะนั้นจะดีเลิศเพียงใด อย่างไรก็ตาม ควรทราบว่า ภาวะความหลุดพ้นจากกิเลสชั่วคราวด้วยกำลังสมาธิดังกล่าวนั้น ท่านหมายถึงสมาธิระดับฌาน ซึ่งไม่ใช่ของง่ายที่จะทำให้เกิดขึ้น แม้กระนั้น ผู้ปฏิบัติได้ถูกต้อง ก้าวหน้าเพียงขั้นอุปจารสมาธิ ก็จะได้สัมผัสกับภาวะที่สุขสงบประณีตในระดับหนึ่งแล้ว เนื่องด้วยกำลังของอุปจารสมาธิหรือแม้แต่ขณิกสมาธิก็เพียงพอที่จะข่มกิเลสลงได้อย่างมีนัยยะให้ตัวผู้ปฏิบัติรู้สึกได้ ขอให้ลองนึกถึงเวลาที่ฟังเพลง ชมภาพยนตร์ หรือทำงานอดิเรกอะไรก็ตามที่ชอบมากๆ บางครั้งจะมีบางช่วงบางตอนที่ท่านรู้สึกว่ามันสุดแสนจะประทับใจ จนความสนใจทั้งหมดถูกดึงดูดไปที่สิ่งๆนั้นเพียงสิ่งเดียว และได้ดื่มด่ำกับความสุขของช่วงเวลานั้น นั่นคือสิ่งๆนั้นมีอิทธิพลต่อความสนใจอย่างมากจนดึงดูดให้สมาธิเกิดขึ้นมาได้เอง ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านพอจะนึกออกกันหรือเปล่า แบบที่บางคนเวลาฟังเพลงที่เพราะมากๆแล้วรู้สึกขนลุก นั่นเป็นอาการทางร่างกายที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดปีติ ซึ่งเป็นองค์ธรรมหนึ่งของปฐมฌาน (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) องค์ธรรมเหล่านี้อุปจารสมาธิก็มีเช่นเดียวกัน เพียงแต่อ่อนกำลังกว่าและเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ เพียงไม่กี่วินาที ภาวะเช่นนี้ เกิดขึ้นได้เองบางครั้งในชีวิตประจำวัน นี่เป็นสิ่งที่ใช้อธิบายว่า ทำไมบางครั้งการฟังเพลง หรือชมภาพยนตร์ ที่มีเนื้อหาเศร้า แต่กลับรู้สึกเพลิดเพลิน มีความสุข สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสิ่งนั้นดึงดูดความสนใจของเราได้มากในระดับที่เริ่มจะเกิดสมาธินั่นเอง (ผู้เขียนเข้าใจว่าสมาธิที่เกิดขึ้นเองนี้จะไม่เกินขณิกสมาธิ คือ อย่างมากได้แค่เฉียดเข้าไปใกล้อุปจารสมาธิเท่านั้น)

ทั้งนี้สมาธิในลักษณะนี้เกิดจากความวิจิตรของสิ่งเสพบริโภคนั้นดึงดูดใจเรา ต่างจากสมาธิจากการปฏิบัติซึ่งเป็นภาวะที่เราสร้างขึ้นเอง กล่าวคือ สุขจากสมาธินั้นเราเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นมาได้เอง (นิรามิสสุข) โดยไม่ต้องพึ่งพิงอิงอาศัยสิ่งเสพบริโภคจากภายนอกมาทำให้เกิดความสุข (สามิสสุข) ซึ่งเป็นการแสวงหาความสุขที่มีข้อบกพร่อง มีโทษภัยมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ในที่นี้จะใช้อานาปานสติเป็นหลักในการอธิบาย

“… นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า …”

เฉพาะส่วนที่เป็นสมถภาวนา ผู้เขียนมีความเห็นว่าในเบื้องต้นเราอาจจับหลักไว้เพียงเท่านี้ เนื้อความต่อจากนี้เป็นการใช้อานาปานสติเป็นฐานของการพิจารณาสังขตธรรม กล่าวคือเป็นส่วนที่ยกขึ้นสู่วิปัสสนาภาวนานั่นเอง เช่น ในอานาปานสติสูตร, สติปัฏฐานสูตร, ฯลฯ (พึงทราบว่าโดยมากครูอาจารย์ท่านจัด สติปัฏฐาน ๔ เฉพาะหมวดแรกทั้งหมวด คือ กายานุปัสสนา เป็นสมถะ) นอกจากนี้ผู้สนใจควรศึกษาเพิ่มเติมจากปฏิสัมภิทามรรค อานาปาณกถา, คัมภีร์วิสุทธิมรรค อานาปาณสติกถา การที่คัมภีร์ในชั้นพระไตรปิฏกไม่ค่อยพบเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับการสอนวิธีปฏิบัติสมถภาวนาโดยละเอียดนั้น เข้าใจว่าเป็นเพราะสมัยพุทธกาล การฝึกสมาธิเป็นของที่ทำกันได้อยู่แล้ว แม้ในผู้ปฏิบัติภายนอกพุทธศาสนา ไม่เป็นของพิเศษน่าอัศจรรย์อะไร ท่านจึงแสดงวิธีการเจริญสมาธิเพียงเล็กน้อย แล้วแสดงวิธีการเจริญวิปัสสนาอย่างละเอียด

ก็แต่ว่าเราๆท่านๆในยุคนี้ห่างเหินจากการเจริญจิตเจริญปัญญากันพอสมควร ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าในที่นี้เราควรจับเอาเฉพาะด้านสมถภาวนาก่อน ให้ได้เห็นผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจแก่ผู้ปฏิบัติจริงๆ ทีละเรื่องไป บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อความสำเร็จเฉพาะด้านสมาธิก่อน ยังไม่ขยายผลไปสู่การเจริญปัญญา ขอเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิมิต (เครื่องหมาย) ที่จะใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ในที่นี้คือ ลมหายใจ ในการหายใจเข้า-ออก สิ่งที่ควรทำคือ มีสติอยู่กับลมหายใจเท่านั้น ไม่ควรเพิ่มความซับซ้อนให้นิมิต โดยไม่จำเป็น ควรปล่อยให้การหายใจเป็นไปตามปกติ ลมหายใจจะสั้นหรือยาว ลึกหรือตื้น ท้องยุบหรือพอง สัมผัสของลมหายใจอยู่ที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากบน ไม่ควรถือเป็นสำคัญ เพราะบางอย่างเกี่ยวกับสภาพจิตใจของผู้ปฏิบัติตอนนั้น เช่น ตื่นเต้น เหนื่อย หรือง่วง บางอย่างเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของผู้ปฏิบัติแต่ละคน เช่น รูปทรงของจมูก ไปจนถึงท่านั่งที่ถนัด ซึ่งผู้ปฏิบัติแต่ละคนล้วนมีปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ไม่เหมือนกัน ตัวการปฏิบัติจริงๆคือมีสติอยู่กับลมหายใจเท่านั้น ลักษณะและสัมผัสของลมหายใจควรปล่อยให้เป็นไปอย่างเรียบง่ายตามธรรมชาติ ขอให้ลองเทียบกับนิมิตของกสิณต่างๆ เช่น ปฐวีกสิณ ตามคัมภีร์ท่านให้ใช้ดินที่เป็นสีเดียวกันล้วน ไม่มีสีอื่นปน ไม่มีก้อนหิน รากหญ้า ฯลฯ แม้กระทั่งเวลาจะทรงจำก็ให้ตั้งห่างจากสายตาพอประมาณเพื่อไม่ให้เห็นรอยฝ่ามือหรือตำหนิอื่นๆในดินนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ใช้เป็นนิมิตสำหรับการจำที่ดีนั้น โดยมากล้วนมีลักษณะเรียบง่าย กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น (รายละเอียดเพิ่มเติมดู 🔎คัมภีร์วิสุทธิมรรค)

อีกประเด็นหนึ่งที่ช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนิมิต คือ ระดับของสมาธิที่ใช้ในการวิปัสสนา ที่ท่านใช้คำว่า วิปัสสนาสมาธินั้น จัดอยู่ในระหว่างขั้น ขนิกสมาธิ ถึง อุปจารสมาธิ ที่เป็นเช่นนี้เพราะการวิปัสสนานั้นเป็นลักษณะของการปะติดปะต่อความรู้ และประสบการณ์ต่างๆเข้าด้วยกัน กล่าวคือ เป็นการนำความรู้ด้านปริยัติ และประสบการณ์ด้านปฏิบัติ เข้ามาเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดปฏิเวธ คือ ความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้ง เห็นประจักษ์กับตัว สิ้นสงสัยในเรื่องนั้นๆ ลักษณะที่ต้องปะติดปะต่อเชื่อมโยงกันนี้เอง วิปัสสนาสมาธิจึงไม่สามารถแนบสนิทอยู่กับอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่องยาวนานถึงขั้นเป็นอัปปนาสมาธิได้ (ยกเว้นผู้ปฏิบัติแนวสมถยานิก) นิมิตของกรรมฐานก็เช่นเดียวกัน ถ้าผู้ปฏิบัติใช้นิมิตที่มีความซับซ้อนมาก หรือใช้รูปแบบการปฏิบัติที่ซับซ้อนมาก สมาธิก็จะเกิดขึ้นได้ยากตามไปด้วย กรรมฐานบางกอง เช่น พุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ท่านจึงกล่าวว่าให้สมาธิระดับสูงสุดไม่เกินอุปจารสมาธิ ส่วนในเรื่องของการบริกรรมภาวนานั้น ไม่ใช่อารมณ์หลักของกรรมฐาน ผู้เขียนเข้าใจว่าพระอรรถกถาจารย์ท่านเสริมเข้ามาเพื่อช่วยประคองจิตไม่ให้ฟุ้งซ่านไปได้ง่ายในช่วงแรกของการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะเลือกใช้คำใดก็ได้ ในที่นี้ใช้คำว่า พุท-โธ พร้อมไปกับการหายใจ เข้า-ออก เมื่อสมาธิเจริญขึ้นเรื่อยๆ ประโยชน์ของการบริกรรมภาวนาก็ลดน้อยลง จะละจากการบริกรรมภาวนาเสีย ให้จิตมีสมาธิอยู่กับลมหายใจเพียงอย่างเดียวก็ได้ หรือถ้าผู้ปฏิบัติรู้สึกว่าลมหายใจกับการบริกรรมภาวนานั้นกลมกลืนกันไปด้วยดี จะบริกรรมภาวนาไปด้วยตลอดการปฏิบัติก็ได้

ท่านั่งที่เหมาะสมในการปฏิบัติ สมัยพุทธกาลท่านถือตามสำนวน “นั่งคู้บัลลังค์ ตั้งกายตรง” ซึ่งเป็นท่านั่งที่ถือว่าสบายๆ ถูกสุขลักษณะ และเหมาะสมกับพระภิกษุและชาวบ้านทั่วไปในยุคสมัยนั้น ซึ่งไม่ได้มีข้าวของเครื่องใช้เหมือนสมัยนี้ ควรดูที่วัตถุประสงค์คือ นั่งให้สบายๆ ถูกสุขลักษณะ ก็เป็นอันว่าใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องฝืนนั่งในท่าที่รู้สึกปวดเมื่อย ไม่สบาย (แต่ควรนั่งหลังตรง การนั่งหลังงอนอกจากไม่ถูกสุขลักษณะแล้ว มักจะทำให้รู้สึกง่วงได้ง่าย) สมาธิ ท่านตรัสว่า มีสุขเป็นปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ การปฏิบัติด้วยวิธีที่สบายๆ จึงเอื้อต่อการเกิดสมาธิมากกว่าการปฏิบัติที่จะต้องฝืนทน ข่มกาย ข่มใจ มากจนเกินไป ดังพุทธพจน์

“… เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ” (เทวธาวิตักกสูตร)

บางครั้งผู้เขียนได้ยินได้ฟังมาว่า ผู้ปฏิบัติบางท่านเมื่อฝึกสมาธิไปสักระยะหนึ่ง มักเกิดความรับรู้บางอย่างปรากฏขึ้นในระหว่างการปฏิบัติ อาจเป็นภาพหรือความรู้สึกอะไรก็ตาม ซึ่งไม่ใช่นิมิตที่เป็นอารมณ์กรรมฐาน (ในที่นี้คือลมหายใจ) แต่เรียกว่านิมิตเหมือนกันเพราะศัพท์คำว่านิมิตนั้นเป็นคำกลางๆ แปลว่า เครื่องหมาย ผู้ปฏิบัติพึงเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มาจากความจำได้หมายรู้ (สัญญา) ของตัวเราเองที่จิตปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา บางท่านเห็นไปในลักษณะที่ชวนให้เกิดศรัทธาปสาทะ เช่น เห็นองค์พระพุทธรูป เห็นแสงสว่างมีรัศมีเรืองรอง เห็นสวรรค์วิมาน ได้กลิ่นหอม เป็นต้น บางท่านเห็นไปในลักษณะที่น่าหวาดกลัว เช่น เห็นซากศพมีกลิ่นเหม็น เห็นโครงกระดูก เห็นเหวลึก เห็นนรก เป็นต้น ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นไปในเชิงดีหรือร้าย ผู้ปฏิบัติไม่ควรถือเอาเป็นสาระ ควรเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่จิตของเราเองปรุงแต่งขึ้นมา ไม่ต่างอะไรกับความฝันนั่นเอง อนึ่ง ผู้ปฏิบัติจะพิจารณานิมิตปรุงแต่งที่เกิดขึ้นโดยความเป็นไตรลักษณ์ (ไม่เที่ยง คงสภาพอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตนแท้) คือนำมาใช้เจริญวิปัสสนาก็ได้ แต่ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าวัตถุประสงค์ของบทความนี้ คือ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้รู้จักความสุขจากสมาธิเป็นเบื้องต้นก่อน การเจริญวิปัสสนายกไว้ในลำดับถัดไป พึงมีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออกไปตามปกติ เมื่อรักษาจิตให้อยู่กับอารมณ์กรรมฐานจนสติละเอียดปราณีตสมาธิแนบแน่นขึ้นตามลำดับ ผู้ปฏิบัติก็จะได้สัมผัสกับความสุขอันเกิดจากความสงบลงของกิเลสภายในจิตใจมากขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกัน วิธีการปฏิบัติอานาปานสติในส่วนของสมถภาวนาในเบื้องต้นก็มีเพียงเท่านี้

เมื่อผู้ปฏิบัติเริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ความก้าวหน้าในการปฏิบัติจะเกิดขึ้นได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับความขวนขวายของแต่ละบุคคล เนื่องจากความสม่ำเสมอในการปฏิบัติมีผลต่อความก้าวหน้าของสมาธิมากพอสมควร รวมถึงขึ้นอยู่กับอินทรีย์อันเป็นพื้นฐานที่สั่งสมมาแต่กาลก่อนและความเจริญขึ้นในปัจจุบันของผู้ปฏิบัติเอง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)


 

รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้ (ย่อความ)

พระไตรปิฎก คือคัมภีร์ที่ประมวลเอาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามาจารึกไว้ จึงกล่าวได้ว่า พระไตรปิฎก คือที่จารึกไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

“ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป”
(มหาปรินิพพานสูตร)

คำสอน คำกล่าว และข้อปฏิบัติใดๆ จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก การอธิบายหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนา จะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงขั้นสูงสุด

เราจึงได้ถือกันมาเป็นหลักว่า จะต้องรักษา เล่าเรียน และปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎกนี้ ประการสำคัญการธำรงพระไตรปิฎก ก็คือการธำรงพระพุทธศาสนา ไม่มีพระไตรปิฎกเสียอย่างเดียว เป็นอันหมดสิ้นพระพุทธศาสนา พระเถระรุ่นก่อนนั้น ถือความสำคัญของพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในยุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ต้องถึงกับพูดกันว่า “อักษรตัวหนึ่งๆ อันเป็นพระปริยัติศาสน์ของพระศาสดา มีค่าเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง” (ญาโณทยปกรณ์)

เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่บวก ก็คือจะต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ดี แม้แต่จารึกหรือสนับสนุนการจารึกเพียงนิดหน่อย ก็เป็นบุญเป็นกุศลมาก แต่มองในแง่ลบก็คือ ถ้าใครไปทำให้ผิดพลาด แม้แต่อักษรเดียว ก็เหมือนทำลายพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นบาปมาก ท่านให้ความสำคัญถึงเพียงนี้ เพราะฉะนั้น พระเถระรุ่นก่อน ท่านจึงระวังมากในเรื่องการรักษาทรงจำพระไตรปิฎกไม่ให้ผิดเพี้ยน

การสังคายนา เป็นการที่จะรักษาคำสอนเดิมเอาไว้ให้แม่นยำที่สุด และซักซ้อมตรวจสอบคนที่ไปทรงจำ หรือไปนับถืออะไรต่างๆ ที่อาจจะผิดเพี้ยนไป ให้มาปรับความเห็น ความเชื่อ การปฏิบัติ ให้ตรงตามพระไตรปิฎกที่รักษากันมาอย่างแม่นยำ ที่เป็นหลักกลางนี้ ไม่ใช่ว่าพระภิกษุที่สังคายนามีสิทธิ์ไปปรับแต่ง หรือเอาความคิดเห็นของตนใส่ลงไป ควรทราบว่าในพระไตรปิฎกไม่ใช่มีเฉพาะคำตรัสของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว คำของพระสาวกก็มีไม่น้อย เช่น ภาษิตของพระสารีบุตร (ซึ่งมีคุณค่าควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง)

คัมภีร์ที่นิพนธ์หลังพุทธกาลก็มีบ้าง อย่างในคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานสังคายนา ท่านได้เห็นว่าพระในสมัยนั้น บางพวกมีความเชื่อถือวิปริตผิดแผกแตกออกไป จึงเรียบเรียงคัมภีร์กถาวัตถุขึ้น เพื่อแก้ความเข้าใจที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไปดังกล่าว แต่ก็เป็นการยกเอาพุทธพจน์มารวมไว้ในอีกลักษณะหนึ่ง โดยมีเรื่องราว หรือข้อคิด หรือข้อพิจารณาอะไรอย่างหนึ่งเป็นแกน รวมความก็คือ ประเทศพุทธศาสนาเถรวาททั้งหมดมีพระไตรปิฎกชุดเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด จะตกหล่นบางคำบ้าง ก็น้อยเต็มที เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเถรวาทจึงมีความภูมิใจโดยชอบธรรมว่า เรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้เป็นแบบเดิมแท้ ส่วนพระสูตรต่างๆของพระพุทธศาสนาแบบมหายาน หลายบทเป็นของที่แต่งขึ้นภายหลัง เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล ในวงวิชาการทั่วโลก

นอกจากพระไตรปิฎกอันเป็นมาตรฐานชั้นสูงสุดแล้ว ยังมีคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกนั้นอีกทีหนึ่ง เรียกว่า อรรถกถา คัมภีร์รุ่นหลังต่อจากอรรถกถาเรียกว่า ฎีกา และอนุฎีกา ส่วนคำสอนหรือคำอธิบายของพระอาจารย์รุ่นหลัง เรียกกันว่าเป็น อัตตโนมติ คือ มติส่วนตัว คัมภีร์เหล่านี้ทรงความสำคัญลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ

ย่อความจากผลงานของ : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)



ปล่อยว่าง (อัญญาณุเบกขา)

อัญญาณุเบกขา หมายถึง เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่อง เฉยไม่ได้เรื่อง
คนทั่วไปนึกไม่ออกว่า อุเบกขา ดีอย่างไร
ต้องมีปัญญาชั้นเลิศจึงจะรู้จักความประเสริฐของอุเบกขา
อุเบกขาที่เราเอามาใช้กันในหมู่คนไทยนั้นต้องระวัง ถ้าเฉยเรื่อยเปื่อยทางพระเรียกว่า “เฉยโง่” เป็นอกุศล



คำพระว่า “อัญญาณุเบกขา” หมายถึง เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยไม่เอาเรื่อง เฉยไม่ได้เรื่อง
แต่เฉยของธรรม คือ เฉยด้วยปัญญา เพราะรู้แล้ว ก็วางตัวพอดี โดยทั่วไป เมื่อมีสถานการณ์ตื่นเต้นเกิดขึ้น จะมีคน ๓ พวก คือ…
๑. คนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย จึงเฉย
๒. คนที่รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง อาจจะตื่นเต้นโวยวาย ลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้น แต่แก้ไขปัญหาไม่ค่อยได้ บางทีตื่นเต้นโวยวายไปยิ่งทำให้เรื่องลุกลามใหญ่โต
๓. คนที่รู้เข้าใจหมด มองเห็นว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร มันจะเป็นไปอย่างไร จะแก้ไขที่จุดไหน ถึงจุดไหนจะต้องทำอะไร พวกนี้เฉยเหมือนกัน แต่เฉยพร้อมรอจังหวะ เมื่อถึงจุดนั้น ต้องทำอันนั้น ที่จุดนั้น ต้องทำอันนั้น เขาเฉย แต่พร้อมที่จะทำไปตามลำดับ ให้ถูกจุดถูกที่ พวกนี้แก้ปัญหาได้

ความนิ่งเฉยด้วย”รู้”นี่แหละ เรียกว่า “อุเบกขา”
อุเบกขานี้เป็นธรรมสูงสุดในทางจริยธรรม สภาพจิตปกติของพระอรหันต์ คือ อุเบกขา เพราะอยู่ด้วยจิตที่ลงตัวพอดี ด้วยปัญญา มีอุปมาอย่างหนึ่ง คือ เรื่องสารถีขับรถ

สมัยก่อนนี้ คนขับรถม้า เอาม้าผูกเข้ากับรถแล้ว ม้าก็พารถไป สารถีที่เชี่ยวชาญขับรถม้า ก่อนที่รถจะวิ่งเข้าที่ แกก็ต้องชักบังเหียนบ้าง ใช้แส้บ้าง เพื่อให้ม้าพารถเข้าสู่ทาง แล้วก็ปรับความเร็วให้พอดี พอม้าวิ่งเข้าทางดี และได้ความเร็วพอดีตามที่ต้องการแล้ว สารถีผู้เชี่ยวชาญนั้น จะอยู่พร้อมด้วยความตระหนักรู้ แกนั่งสบายเลย สงบนิ่ง แต่จิตนั้นอยู่ด้วยความรู้ ไวต่อการที่จะรับรู้ และความคิดที่จะแก้ไข ไม่ว่าจะมีอะไรผิดพลาด เมื่อทุกอย่างลงตัวเข้าที่พอดีแล้ว เขานั่งสงบ และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา

ต่างจากคนที่ไม่ชำนาญ ซึ่งตื่นเต้น หวาด ไม่แน่ใจว่าจะเอาอย่างไร จะทำอย่างไร จิตไม่สบาย ไม่นิ่ง ไม่สงบ ไม่ลงตัว มนุษย์ที่ยังไม่รู้เท่าทันจัดเจนโลก ไม่รู้ความจริงของชีวิต ก็เหมือนกับสารถีที่ยังไม่เจนจบส่วนพระอรหันต์นั้น เหมือนกับสารถีที่เจนจบ ท่านรู้เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง จนวางจิตพอดีลงตัวหมด

ต่างจากมนุษย์ปุถชน ที่ยังไม่รู้ว่าชีวิตนี้คืออะไร โลกนี้เป็นอย่างไร อยากนั่น ยึดนี่ กังวลโน่น อยู่ด้วยความหวาดหวั่นพรั่นใจตื่นเต้นไป จิตลงตัวอุเบกขาไม่ได้ อุเบกขานั้น ไม่ต้องวางหรอก มันถึงเอง เพราะมันเป็นสภาพจิตอัตโนมัติที่เกิดจากปัญญา โดยปัญญามาปรับสภาพจิต ฉะนั้น ปัญญา กับ อุเบกขาจึงคู่กัน พอปัญญาถึงขั้นเป็นโพธิญาณ หยั่งรู้ความจริงของชีวิตและโลก เจนจบ รู้เท่าทันสังขาร จิตก็ลงตัว เรียกว่าวางพอดีกับชีวิตและโลก เป็นอุเบกขาด้วยปัญญานั้น นี่คือจิตพระอรหันต์ ฉะนั้น จึงเหมือนสารถีที่ว่าเจนจบ สภาพนี้ดีแค่ไหน ก็ลองคิดดู

คนทั่วไปนึกไม่ออกว่า อุเบกขาดีอย่างไร นึกว่าเฉยๆ ไม่ได้เรื่องได้ราว อย่างนั้นเป็นเฉยโง่ (อัญญาณุเบกขา)”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “จะอยู่อย่างเป็นเหยื่อ หรือขึ้นเหนือไปนำเขา”



สถานการณ์พุทธศาสนาจากอินเดียสู่เอเซีย



หัวข้อ มองสงครามอเมริกา-ตาลีบัน ผ่านภูมิหลังชมพูทวีป
ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓

ตอนที่ ๔


หัวข้อ ภัยแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทย


หัวข้อ มาลายูสู่แหลมทอง


หัวข้อ 
ศูนย์พุทธโลก
ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓


ชาวบ้านก็เป็นภิกษุได้

มาดูคําจํากัดความ “ภิกษุ” ใน พระไตรปิฎกกันก่อน
เริ่มที่วินัยปิฎก ซึ่งแสดงความหมายของภิกษุด้วยคําจํากัดความ อย่างที่ใช้กันในกฎหมาย คือ ชี้ลงไปว่า “ภิกษุ” ที่กล่าวถึงในพระวินัย โดยเฉพาะในสิกขาบททั้งหลาย ซึ่งเป็นพุทธบัญญัตินั้น หมายถึงใคร ได้แก่บุคคลผู้ใด ดังนี้


🔔ภิกษุความหมายตามพระวินัย (วินย.๑/๒๖/๔๒) คําว่า “ภิกษุ” มีความหมายว่า
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้ขอภิกษา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า ดําเนินภิกขาจริยา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า ครองผืนผ้าที่ตัดฉีก
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมัญญา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้เจริญงดงาม
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้ทรงสาระ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นพระเสขะ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นพระอเสขะ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่พร้อมเพรียงกัน

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุ ผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่พร้อมเพรียงกันนี้ ชื่อว่า “ภิกษุ” ที่ทรงประสงค์ ในอรรถนี้. ข้อความนี้บอกว่า ในพระวินัย ซึ่งว่าตามบัญญัติ ยึดถือรูปแบบ รักษาแบบแผน “ภิกษุหมายถึงผู้ที่สงฆ์อุปสมบทให้ด้วยสังฆกรรมที่เป็นญัตติจตุตถกรรม เท่านั้น ไม่นับผู้ที่เรียกว่าเป็นภิกษุในความหมายอื่น นี่เรื่องของวินัย หรือกฎหมาย ต้องให้แน่ชัด ตายตัว

🔔 ภิกษุความหมายตามพระอภิธรรมปิฎก ในพระอภิธรรมปิฎก ท่านบอกวจนัตถ์ คือความหมายของคําว่า “ภิกษุ” ไว้คล้าย กับในพระวินัยปิฎก ดังนั้น ก่อนจะไปที่พระสุตตันตปิฎก จึงดูความหมายในคัมภีร์ฝ่ายพระอภิธรรมเสียก่อน แต่พึงทราบว่าข้อความจากพระอภิธรรมนี้ อยู่ในภาคสุตตันตภาชนีย์ (แจงความแบบพระสูตร) จะเห็นว่า ในพระอภิธรรมปิฎก บอกความหมายต่างๆ โดยไม่ได้จำกัดหรือระบุ เจาะจงลงไปว่าจะต้องใช้ความหมายใด ขอยกมาให้ดู ดังนี้ (อภิ.วิ.๓๕/๖๐๑/๓๓๐: หลายข้อ เหมือนกับในพระวินัยปิฎกข้างต้น แต่ที่นี่แปลโดยใช้สํานวนต่างออกไปบ้าง) คําว่า “ภิกษุ” มีความหมายว่า
 เพราะเป็นสมัญญา จึงชื่อว่า ภิกษุ
 เพราะการปฏิญญา จึงชื่อว่า ภิกษุ
 เพราะขอภิกษา จึงชื่อว่า ภิกษุ
 เพราะเป็นผู้ขอภิกษา จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะดําเนินภิกขาจาร จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะครองผืนผ้าตัดฉีก จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะกําลังทําลายบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะทําลายบาปอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะละกิเลสจําเพาะส่วน จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะละกิเลสไม่จําเพาะส่วน จึงชื่อว่าภิกษุ
 พระเสขะ ชื่อว่าภิกษุ
 พระอเสขะ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ไม่ใช่พระเสขะและไม่ใช่พระอเสขะ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ลุถึงธรรมอันเลิศ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้เจริญงดงาม ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ผุดผ่อง ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ทรงสาระ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่ พร้อมเพรียงกัน ชื่อว่าภิกษุ

🔔 ภิกษุความหมายตามพระสูตร/พระสุตตันตปิฎก ในพระสุตตันตปิฎก หรือพูดสั้นๆ ว่า ในพระสูตร ซึ่งแสดงธรรมมีคําสอนทุกระดับ ทั้งสมมุติและปรมัตถ์ อันจัดปรับให้เหมาะกับพื้นเพภูมิธรรมจริตอัธยาศัยของผู้ฟัง ความหมายของ “ภิกษุ” มีทั้งแบบพื้นๆ ตามหลักการทั่วไป และแบบปลุกให้ตื่น ยกมาดูพอเห็น คําว่า “ภิกษุ” มีความหมายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะได้ทําลายธรรม ๗ ประการ คือ ทําลายสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ และมานะ. ภิกษุนั้นได้ทําลายบาปอกุศลธรรม อันก่อความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่ เป็นไปกับด้วยความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และ มรณะต่อไป. (ขุ.ม.๒๙/๘๖/๘๒) ดังที่ว่าแล้ว ในพระสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้เหมาะกับบุคคล และ สถานการณ์ ความหมายของ “ภิกษุ” แม้จะคงอยู่ตามหลักใหญ่ แต่มีรายละเอียดและแง่มุมยักเยื้องต่างกันไป ขอเล่าบางเรื่องเป็นตัวอย่าง (สํ.ส.๑๕/๗๑๗/๒๖๗)

ที่เมืองสาวัตถี พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นผู้ขอภิกษา พระองค์ก็เป็นผู้ขอภิกษา ในภาวะนี้ เราจะต่างอะไรกัน

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า บุคคลจะชื่อว่าเป็นภิกษุ เพียงเพราะขอภิกษาจากคนอื่น ก็หาไม่ ตราบเท่าที่ยังสมาทานธรรมอันเป็นพิษ จะเป็นภิกษุหาได้ไม่ ผู้ใดในโลกนี้ ลอยบุญลอยบาปแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในโลกด้วยปัญญา ผู้นั้นแลจึงเรียกได้ว่าเป็นภิกษุ ดังได้พูดแล้ว คนจํานวนมากติดรูปแบบ ถือลักษณะอาการภายนอกเป็นมาตรฐาน จนไปๆ มาๆ มองแค่รูปลักษณ์ ไปไม่ถึงสาระ หรือลืมสาระไปเลย เอาแค่ว่า จะเป็นฤๅษี ก็เกล้าผมทรงชฎา จะเป็นพระ ก็โกนศีรษะนุ่งเหลืองห่มเหลือง เพราะการยึดติดอย่างนี้ บางทีพระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนแบบเปิดตาปลุกให้ตื่น ดังที่ตรัสครั้งหนึ่งว่า (ขุ.ธ.๒๕/๒๐/๓๓) ผู้ใด ถึงจะตกแต่งกาย สวมใส่อาภรณ์ แต่หากประพฤติชอบ เป็นผู้สงบ ฝึกอบรมตนแน่วแน่ เป็นผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ เลิกละการเบียดเบียน ปวงสัตว์ทั้งหมดแล้ว ผู้นั้นแล จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ หรือเป็นพระภิกษุ ก็ได้ทั้งสิ้น

ฟังพุทธพจน์นี้แล้ว ผู้ที่ไม่ได้บวชพระ ก็สบายใจได้ว่าโอกาสทางธรรมไม่ได้หายไปไหน ในพระสูตร พุทธพจน์ที่ตรัสแสดงความหมายของ “ภิกษุ” ยังมีอีก ใครสนใจก็ไปค้นดู ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ คําว่า “ภิกฺขุ” นี้ ตามปกติก็ถือกันว่ามาจากธาตุคือ “ภิกฺข” (+ รู ปัจจัย) ดังที่ วิเคราะห์ศัพท์ได้ว่า ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะขอภิกษา) หมายถึง ผู้ที่เที่ยวบิณฑบาตด้วยการขอที่ประเสริฐคือสงบนิ่งไม่เอ่ยปาก(วิ.อ.๑.๒๕๓)

อัฏฐิเสนชาดก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ หน้า ๒๙๔ บทว่า อุทฺทิสฺส อริยา ติฏฺฐนฺติ ความว่า ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีความต้องการสิ่งใด จะไม่เปล่งวาจาขอ แต่จะยืนอยู่เฉพาะ ณ ที่นั้น ด้วยภิกขาจารวัตรอย่างเดียวเท่านั้น คือไม่ให้องค์คือกายและองค์คือวาจาไหว เพราะว่า เพื่อแสดงกายวิกาล ทำเครื่องหมายให้รู้ ก็ชื่อว่าให้องค์คือกายไหว เมื่อทำการเปล่งวาจา ก็ชื่อว่า ให้องค์คือวาจาไหว พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จะไม่ทำทั้ง ๒ อย่างนั้นยืนอยู่เฉย ๆ.

บทว่า เอสา อริยาน ยาจนา ความว่า การไม่ให้องค์คือวาจาไหว ยืนอยู่เพื่อภิกษานี้ ชื่อว่า เป็นการขอของพระอริยเจ้าทั้งหลาย. แต่ท่านบอกนัยอื่นว่า มาจาก “อิกฺข” ธาตุ ก็ได้ คือ ภย+อิกฺข+รู =ภิกฺขุ ตาม วิเคราะห์ที่ว่า ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมองเห็นภัย) ภัย แปลว่า สิ่งที่น่ากลัว น่าหวาดสะดุ้ง น่าเกรงขาม มีอยู่หลายประการ จะพึงเห็นได้จาก หลักฐาน ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่มที่ ๒๑ หน้า ๑๖๒ เป็นต้นว่า “จัตตารีมานิ ภิกขเว ภยานิ” ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ภัยมี ๔ อย่าง เหล่านี้คือ
๑. อัตตานุวาทภยัง แปลว่า ภัย คือ การติเตียนตนเอง หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า การติเตียนตนจึงได้ละกายทุจริต วจีทุจริตเสีย แล้วประพฤติแต่กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี
๒. ปรานุวาทภยัง ภัย คือ การถูกผู้อื่นติเตียน หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่าคนได้ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ ถึงคนอื่นเขามิได้ติเตียนโดยศีลก็จริง ถึงกระนั้น เขาก็กลัวต่อการถูกตำหนิติเตียนจากผู้อื่น จึงได้ละทุจริตทางกาย วาจา ใจ รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี
๓. ทัณฑภยัง ภัย คือ อาชญา หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นโจรผู้ประพฤติผิดกฎหมายบ้านเมืองถูกจับได้ ถูกโบยด้วยแซ่บ้าง โบยด้วยหวายบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตลอดจนถึงเอาขวายผ่าอกบ้าง แทงด้วยหอกทีละน้อยจนตายบ้าง ขุดหลุมฝังเพียงเอว เอาฟางสุมครอกด้วยไฟ พอหนังไหม้เอาเหล็กไถบ้าง เชือดเนื้อออกมาทอดให้กินบ้าง รวมทั้งสิ้นมี ๓๒ ประการ ครั้นเห็นโทษเช่นนั้นแล้ว จึงพิจารณาว่าถ้าเราทำชั่วเช่นนั้น ก็จะต้องได้รับโทษอย่างนี้แน่นอน เขาไม่ยอมทำความชั่วทางกาย วาจา ใจเลย มีแต่ทำความดีตลอดไป อย่างนี้เรียกว่า กลัวต่อภัยคือ อาชญา
๔. ทุคคติภยัง ภัย คือ ทุคคติ ทุคคติมี ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า ผลชั่วของทุจริตทางกาย วาจา ใจเป็นของมีอยู่แน่นอน หากว่าเราประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ ในโลกนี้ เราก็เดือดร้อน แม้เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ไปสู่ปรโลก เราก็จะต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เป็นแน่นอน เมื่อเขากลัวต่อทุคติภัยเช่นนี้ จึงได้ละทุจริตทางกาย วาจา ใจ เสียหมดสิ้น รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี

อย่างนี้ เรียกว่า ภัย ทีนี้ ก็จะว่าไม่ชัด จะถามได้ว่า ภัยอะไร ภัยที่ไหน ท่านจึงบอกไว้ด้วยว่าภัยอะไร ตรงนี้ ในคัมภีร์ส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าแทบทั้งนั้น บอกว่าภัยในสังสารวัฏ ดังวิเคราะห์ที่ว่า สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมองเห็นภัย ในสังสารวัฏ) หมายความว่า ภัย คือ ความเกิดแก่ เจ็บ ตาย นั้น มีอยู่ในสงสารทั้ง ๓ คือ
สงสารเบื้องต่ำ ได้แก่ อบาย ๔
สงสารเบื้องกลาง ได้แก่ มนุษย์กับเทวดา
สงสารเบื้องบน ได้แก่ พรหมโลก

ผู้ที่พิจารณาเห็นว่า สงสารทั้ง ๓ นี้ เต็มไปด้วยภัยดังกล่าวมานั้น จึงพยายามหาทางหลุดพ้น แต่บางคัมภีร์บอกต่างออกไป กลายเป็นวิเคราะห์ว่า สงฺขาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมองเห็นภัย ในสังขาร) ชื่อว่า ภิกษุ หมายความว่า สังขารนั้น คือ สกลกายของแต่ละบุคคล ย่นให้สั้น ได้แก่ รูป กับ นาม สัตว์โลกพากันเดือดร้อนอยู่ในโลกทุกวันนี้ ก็เพราะมีรูปกับนาม คือสังขาร ถ้าไม่มีสังขารเสียแล้ว ภัยต่าง ๆ เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศกเสียใจ ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ก็ไม่มีเป็นอันขาด ผู้ที่พิจารณาเห็นว่า รูปนามเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลก แล้วพยายามหาทางหลุดพ้น ชื่อว่า ภิกษุ ที่ว่าเห็นภัยในสังสารวัฏนั้น เข้าใจง่าย แต่ที่ว่าเห็นภัยในสังขาร ดูเหมือนว่าเป็น ความหมายที่ลึกเข้าไปอีกหน่อย พูดให้สั้นว่า เมื่อภิกษุเห็นภัยในสังขารแล้ว ก็พยายามที่ จะประพฤติปฏิบัติบําเพ็ญสมณธรรม เพื่อให้พ้นจากสังขาร ไปสู่วิสังขาร (คือนิพพาน) ความหมายอย่างนี้ ก็เป็นแง่นามธรรม

ทีนี้ก็มีอีกวิเคราะห์หนึ่ง ที่อยู่ในฝ่ายรูปธรรม คล้ายๆ กับที่ว่ามาจาก “ภิกฺข” คือ ชื่อว่าภิกษุ เพราะขอภิกษา เป็นเรื่องอาหาร คราวนี้เป็นเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม ท่านว่า ภิกขุ นั้นมาจาก “ภิท” (ธาตุ-รากศัพท์นี้ มีรูปกริยาช่องสามเป็น “ภินฺน”) ซึ่งแปลว่าทําลาย เช่น ตัด ฉีก ทุบ ผ่า ก็ได้ ดังวิเคราะห์ว่า ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะครองผืนผ้าที่ตัดฉีกแล้ว) นี่คือเป็นผู้ทรงหรือครองผ้าที่ฉีกๆ ขาดๆ เอามาตัดต่อ เย็บติดกัน เต็มไปด้วยรอยตะเข็บ ไม่สวยไม่งาม ไม่เรียบไม่รื่น อย่างบังสุกุลจีวร ที่เคยเล่าว่า พระไปเที่ยวเก็บเอาผ้า ที่เขาทิ้ง เป็นเศษเป็นชิ้นมา แล้วก็มาต้ม มาตัด มาเย็บ มาย้อม ทําเป็นจีวร เพราะฉะนั้น ผ้าของท่านจึงเป็นชิ้นเป็นแผ่น คือมาจากเศษผ้า หรือมีลักษณะอย่างเศษผ้านั่นเอง ทีนี้ “ภิท” ธาตุ ที่แปลว่าทําลายนั่นแหละ เมื่อกี้ใช้ในความหมายที่เป็นรูปธรรม คือทําลายผืนผ้า ทีนี้ ท่านให้ความหมายทางนามธรรมบ้าง แทนที่จะทําลายตัดฉีกผ้า ก็เปลี่ยนเป็นทําลายกิเลส ดังวิเคราะห์ว่า ภินฺนตฺตา ปาปกานํ อกุสลานํ ธมฺมานํ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะทําลายบาปอกุศลธรรมแล้ว)

ชื่อว่า ภิกษุ เพราะกำจัดอกุศลธรรมอันลามก หมายความว่า กำจัดอกุศลจิต ๑๒ ได้แก่  โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ กับเจตสิกฝ่ายอกุศลที่เกิดร่วมกับจิตนั้นอีก ๒๗ ว่าตามวิเคราะห์นี้ ภิกษุต้องเป็นพระอริยะตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จึงมีอีกวิเคราะห์ หนึ่ง ซึ่งแสดงความหมายผ่อนลงมาว่า ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ. หรือสั้นๆ ว่า : กิเลเส ภินฺทตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะทําลายบาปอกุศลธรรม, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะทําลายกิเลส) หมายความว่า กิเลสนั้นมีมาก เช่น กิเลส ๓ กิเลส ๑๐ กิเลส ๑๕๐๐ ถ้าผู้ใดปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลสดังกล่าวมานี้ ผู้นั้น ชื่อว่า เป็นภิกษุ

ถ้าอย่างนี้ แค่กําลังทําลายกิเลส ก็หมายถึงพระที่ยังอยู่ในอริยมรรค ความหมายแบบนี้ มุ่งเอาคุณสมบัติในระดับสูง บ่งชี้ว่าต้องบําเพ็ญไตรสิกขา ได้ผลก้าวหน้า จึงทําลายกิเลสได้ หันมาดูด้านพระวินัย ท่านไม่วิเคราะห์ศัพท์ ไม่พูดถึงคุณสมบัติภายในอะไรทั้งนั้น ท่านให้ความหมายในทางปฏิบัติ ว่าไปตามรูปแบบที่มองเห็น ซึ่งเกี่ยวข้องจัดการได้ในชีวิตประจําวัน ในสังคม ดังนั้น เมื่อว่าตามคําจํากัดความในทางวินัย ภิกษุก็คือ ผู้ที่ได้รับการอุปสมบทเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวินัยจะเอาความหมายแค่รูปธรรมตามรูปแบบที่มองเห็นกันง่ายๆ แต่ก็ต้องใช้ถ้อยคําที่แสดงความหมายนั้นตรงจําเพาะ แน่นอน ชัดเจน ไม่ให้ดิ้นได้ ดังนั้น ท่านจึงมิได้บอกเพียงแค่ว่า ภิกษุคือผู้ที่อุปสมบทแล้ว แต่ท่านใช้ถ้อยคําที่ชี้ชัด จํากัดจําเพาะ จึงกลายเป็นข้อความที่ยาวหน่อย ดังได้ยกมาให้ดูข้างต้นแล้ว ที่ว่า “ผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่พร้อมเพรียงกัน ชื่อว่าภิกษุ” ที่ว่าอุปสมบทนั้น หมายถึงว่า ได้เข้าสู่สังฆกรรม โดยที่ประชุมสงฆ์มีมติพร้อมกัน รับเข้ามา เป็นความหมายตามวินัย ซึ่งเป็นรูปแบบ เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็เป็นภิกษุที่มาอยู่ในสงฆ์ เป็นสมาชิกแห่งสงฆ์ ที่เรียกว่า สมมุติสงฆ์ ว่าในเชิงสังคม ก็เท่านี้ คือ ยึดถือตาม รูปแบบเคร่งครัด เช่น จะแต่งตั้ง หรือจะลงโทษ ก็ว่าไปตามบทบัญญัติกฎกติกา อย่างไรก็ตาม เมื่อจะเอาสาระกันจริงๆ ความเป็นภิกษุไม่ได้อยู่เพียงแค่รูปแบบ ที่ว่า ปลงผม ห่มเหลือง อย่างที่พูดกันว่า โกนหัวนุ่งเหลือง ได้อุปสมบทมาแล้วเท่านั้น แต่ในความหมายที่เป็นเนื้อหาสาระ ยังต้องว่ากันต่อไปอีก

ในวินัย ถือรูปแบบสําคัญ ยึดตามที่สั่ง ทีนี้พอเข้ามาในพระสูตร ที่นี่ พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม คราวนี้เป็นการสอน ทรงสอนคนไม่ให้อยู่แค่รูปแบบ แต่ให้ก้าวไปในสาระ ถึงตอนนี้ เราก็จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าตรัสตักเตือนแนะนําต่างๆ เช่นตรัสว่า ความเป็นภิกษุไม่ได้อยู่ที่การโกนหัวนุ่งห่มเหลืองเข้าพิธีบวชมาเท่านั้น แต่อยู่ที่การปฏิบัติตามหลักการ ได้แก่การบําเพ็ญไตรสิกขา เริ่มตั้งแต่การที่ได้ประพฤติห่างไกลจากการเบียดเบียน อย่างที่ได้ยกพุทธพจน์ ที่เป็นคาถาธรรมบท มาให้ดูทีหนึ่งแล้ว ซึ่งบอกว่า แม้จะ แต่งกายสวมใส่อาภรณ์ แต่ถ้าประพฤติสงบ เป็นผู้ที่ฝึกตน เป็นผู้แน่วแน่ต่อมรรคาแห่งชีวิตที่ดีงาม ดําเนินชีวิตประเสริฐ เป็นผู้วางอาชญาแล้วในสัตว์ทั้งปวง คือไม่เบียดเบียนใคร คนอย่างนี้ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ เป็นภิกษุ เป็นสมณะ ก็ได้ทั้งสิ้น นี่คือไม่ถือรูปแบบกันละ เอาสาระกันเลย ถึงจะไม่ได้บวช ทั้งที่เป็นชาวบ้าน แต่งตัว ประดับกาย มีเสื้อผ้าอาภรณ์นี่แหละ แต่ถ้าเขามีจิตใจอย่างที่ว่านี้ ประพฤติ ตัวอย่างที่ว่านี้ จะเรียกเขาเป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ หรือเป็นภิกษุ ก็ได้ทั้งสิ้น เรื่องแบบนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพวกพราหมณ์มาก เฉพาะอย่างยิ่งที่ตรัสว่า ความเป็นพราหมณ์ ที่ถือว่าเป็นคนประเสริฐเลิศกว่าใครนั้น ไม่ใช่อยู่ที่การได้เกิดใน วรรณะพราหมณ์ คนมิใช่เป็นพราหมณ์ มิใช่เป็นคนเลิศประเสริฐ โดยชาติกําเนิด ความเป็นพราหมณ์ ไม่ใช่อยู่ที่การถือพรตปฏิบัติตามแบบแผนของวรรณะ อย่างที่พราหมณ์ บัญญัติกันไว้ แต่ความเป็นพราหมณ์อยู่ที่การกําจัดสิ่งชั่วร้ายในตัว ละกิเลสได้แล้ว พราหมณ์ถือว่าพวกตนเป็นผู้ลอยบาปแล้ว เวลาจะลอยบาป เขาก็ลงไปในแม่น้ําศักดิ์สิทธิ์ เฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ําคงคา เดี๋ยวนี้ก็ยังไปอาบกันอยู่ ลองไปอินเดีย ไปดูที่เมือง พาราณาสี จะเห็นคนอินเดียมากมายลงไปอาบน้ําลอยบาป ล้างบาปกันในแม่น้ําคงคา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าท่านลงไปในแม่น้ําศักดิ์สิทธิ์แล้ว บาปมันลอยไปได้ เต่า ปลามันคงหมดบาปไปก่อนพวกท่าน และตรัสด้วยว่า ถ้าแม่น้ําศักดิ์สิทธิ์พาเอาบาปของพวกท่านหลุดลอยหายไปได้ มันก็ต้องพาบุญของพวกท่านหลุดลอยหายไปได้ด้วยเหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า การจะลอยบาปล้างบาปได้จริง ไม่ใช่มาลอยมาล้างในแม่น้ําอย่างนี้ แต่ต้องลอยหรือล้างด้วยน้ําแห่งธรรม คือการชําระล้างตัวเอง ด้วยการฝึก การศึกษาพัฒนาตน ขัดเกลากิเลสของตัวเอง ละเลิกบาปกรรม เพิ่มพูนกุศลธรรม บําเพ็ญบุญกิริยา หรือเจริญไตรสิกขา พระพุทธเจ้าจึงประทานความหมายของการลอยบาปให้ใหม่ ไม่ใช่ไปลอยใน แม่น้ําคงคา แต่หมายถึงลอยบาปด้วยการกําจัดออกไปจากตัวเอง เพราะฉะนั้น จึงตรัส เรียกพระอรหันต์ว่าเป็นพราหมณ์ เป็นการสร้างความหมายเชิงสาระ ไม่เอาแค่รูปแบบ นี่คือที่ตรัสว่า คนไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติกําเนิด แต่เป็นพราหมณ์เพราะกรรม คือการกระทํา ข้อความในคัมภีร์อรรถกถาว่า ปฏิปนฺนโก หิ เทโว วา โหตุ มนุสฺโส วา,ภิกฺขูติ สงฺขํ คจฺฉติเยว. (ที.อ.๒.๓๗๐) "ที่จริงแล้ว เทวดาหรือมนุษย์ก็ตามผู้เพียรปฏิบัติอยู่ ย่อมถึงการนับว่าเป็นภิกษุโดยแท้" เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตาติ เทฺว อิเม ภิกฺขเว โกฏฺฐาสา. (สํ.อ.๓.๓๗๙) "พระดำรัสว่า เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ส่วนทั้ง ๒ อย่างนี้"
ถ. คนอื่น ๆ เช่น เทวดา มนุษย์ ผู้ยังข้อปฏิบัติให้ถึงพร้อมอยู่ จะได้ชื่อว่าเป็นภิกษุหรือไม่
ต. ชื่อว่า เป็นภิกษุได้
ถ. เพราะเหตุไร ?
ต. เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. เสฏฺฐตฺตา เพราะความเป็นผู้ประเสริฐด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
๒. ปฏิปตฺติยา ภิกฺขุภาวทสฺสนโต เพราะชี้ให้เห็นว่า เป็นภิกษุ ด้วยการปฏิบัติ
ถ. มีอะไร เป็นหลักอ้าง จึงตอบเช่นนี้ ?
ต. มีหลักอ้างอันปรากฏอยู่ใน อรรถกถามหาสติปัฏฐานว่า เสฏฺฐตฺตา ปน ปฏิปตฺติยา ภิกฺขุภาวทสฺสนโต จ ภิกฺขูติ อาห จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม ถ้ายังข้อปฏิบัติให้เกิดขึ้นอยู่ ผู้นั้นกล่าวได้ว่า เรียกได้ว่า เป็นภิกษุ เพราะเป็นผู้ประเสริฐ และแสดงความเป็นภิกษุด้วยข้อปฏิบัติ ดังนี้
ถ. บรรดาบริษัท ๔ นั้น บริษัทไหนเป็นผู้ที่จะรับโอวาททานุสาสนีขององค์สมเด็จพระชินสีห์ได้ดีที่สุด ? เพราะเหตุไร ?
ต. ภิกษุบริษัท เป็นผู้ที่จะรับโอวาทนุสาสนีของสมเด็จพระชินสีห์ได้ดีที่สุด เพราะเหตุ ๖ ประการ คือ
    ประการที่ ๑ เพราะท่านเป็นอุตตมเพศ เป็นเพศที่สูงส่งอยู่แล้ว
    ประการที่ ๒ เพราะท่านเป็นผู้ประเสริฐ เป็นภาชนะแห่งอนุสาสนีของพระพุทธองค์ทุกประการ
    ประการที่ ๓ เพราะเมื่อท่านรับเอาโอวาทนุสาสนีมาปฏิบัติตามแล้ว บริษัททั้ง ๓ ที่เหลือ ก็จะได้ถือเอา    เป็นทิฏฐานุคติต่อ ๆ ไป โดยไม่ยาก
    ประการที่ ๔ เพราะมีหน้าที่โดยตรงในการที่จะธำรงไว้ซึ่งอนุสาสนี อันเป็นมรดกของพระพุทธองค์ที่ทรงประทานไว้แก่เหล่าพุทธสาวก
    ประการที่ ๕ เพราะสละเพศของฆราวาสอันคับแคบมาสู่ของสมณะอันสงบ มีโอกาสที่จะศึกษาปริยัติ ลงมือปฏิบัติ ให้เกิดปฏิเวธได้ดีที่สุด
    ประการที่ ๖ เพราะมีภาระและมีปลิโพธิกังวลอันตัดออกมากแล้ว เครื่องผูกต่างๆ เช่น บุตร ภรรยา ไม่มี เพราะเหตุดังนี้ ภิกษุบริษัทจึงถือว่า เป็นบริษัทที่เลิศที่ประเสริฐสุด ในพระพุทธศาสนา สามารถรับโอวาทานุสาสนี เป็นศาสนทายาท สืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญวัฒนาสถาพรสืบ ๆ ไป ตลอดกัลปาวสานต์
ถ. ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา จะทำอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ?
ต. ต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ คือ มหาสติปัฏฐาน ๔ นี้ จึงจะได้ชื่อว่า เป็นภิกษุ
ถ. ที่ตอบมานี้มีอะไรเป็นหลักหรือค้นเดาเอาเอง ?
ต. มิได้ค้นเดาเอาเองเลย มีหลักฐานปรากฏยืนยันอยู่ คือ ในอรรถกถามหาสติปัฏฐาน หน้า ๔๗๑ บรรทัดที่ ๓ ท่านกล่าวไว้ว่า โย จ อิมํ ปฏิปตฺติ ปฏิปชฺชติ โส ภิกฺขุ นาม โหติ จริงอยู่ ท่านผู้ใด ลงมือปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ คือ มหาสติปัฏฐานนี้ ท่านผู้นั้นชื่อว่า เป็นภิกษุ
ถ. ถ้าถือตามนี้ก็ได้ความว่า จะเป็นใคร ๆ ก็ตาม เช่น เป็นเทวดาก็ตาม เป็นมนุษย์ก็ตาม ถ้าได้ปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐานนี้ นับว่า เป็นภิกษุได้ทั้งนั้น ใช่หรือไม่ ?
ต. ใช่แล้ว นับว่าเป็นภิกษุได้เหมือนกัน
ถ. ที่ตอบเช่นนั้นมีอะไรเป็นหลักฐานอ้างอิงบ้างหรือไม่ ?
ต. มีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก และอรรถกถา เช่น ในอรรถกถามหาสติปัฏฐาน หน้า ๔๗๑ บรรทัดที่ ๔ ที่ ๕ ว่า ปฏิปนฺนโก หิ เทโว วา โหตุ มนุสฺโส วา ภิกฺขูติ สํขยํ คจฺฉติเยว จริงอยู่ ผู้ที่ได้ปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐาน ๔ นี้แล้ว จะเป็นเทวดาก็ตามจะเป็นมนุษย์ก็ตาม ถึงการนับว่า เป็นภิกษุได้เหมือนกัน ดังนี้
ถ. ขอให้ยกตัวอย่างมาประกอบอธิบายว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ที่ไหนบ้าง เพื่อจะได้เป็นสักขีพยาน สืบต่อไป ?
ต. ตัวอย่างที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้มีอยู่มาก เฉพาะในที่นี้จะได้นำมาแสดงเป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องสันตติมหาอำมาตย์ ความว่า สันตติมหาอำมาตย์นั้น ได้ลงมือปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐาน ๔ ทั้ง ๆ ที่ประดับตกแต่งด้วยเครื่องแบบของนายทหารอย่างเต็มยศ ก็ปรากฏว่า ได้บรรลุพระอรหัตตมรรค อรหัตตผล ในที่เฉพาะพักตร์ของสมเด็จพระทศพลและภิกษุสงฆ์ พร้อมทั้งบริวารชนเป็นอันมาก แล้วก็ปรินิพพานบนอากาศ ภิกษุทั้งหลายจึงประชุมสนทนากันว่า จะเรียกสันตติมหาอำมาตย์ว่า สมณะ หรือ พราหมณ์ จึงจะถูก จึงจะควร ดังนี้ ในทันทีทันใดนั้น สมเด็จพระจอมไตรก็ได้เสด็จมาตรัสถามว่า พวกเธอสนทนากันเรื่องอะไร ? เมื่อทราบเรื่องนั้นแล้วจึงตรัสว่า “สมโณปิ วตฺตํ วฏฺฏติ พฺราหฺมโนปิ วตฺตํ วฏฺฏติเยว” จะเรียกว่า สมณะก็ได้ จะเรียกว่าพราหมณ์ก็ได้ แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นหลักฐานไว้ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๕ และธรรมบทภาค ๕ ว่า อลงฺกโต เจปิ สมญฺจเรยฺย สนฺโต ทนฺโต นิยโต พฺรหฺมจารี สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ โส พฺราหฺมโณ โส สมโณ ส ภิกฺขุ ถึงแม้ว่าบุคคลจะประดับตกแต่งเครื่องแบบอย่างเต็มยศ แต่ปรากฏว่ามีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ สุภาพ เรียบร้อยดี เป็นผู้สงบ ฝึกตนดีแล้วเที่ยงต่อมรรค ๔ ประพฤติประเสริฐ วางอาชญาในสัตว์ทุก ๆ หมู่เหล่า ผู้นั้นเรียกว่า พราหมณ์ก็ได้ เพราะลอยบาปได้แล้ว เรียกว่า สมณะก็ได้ เพราะบาปสงบแล้ว เรียกว่า ภิกษุก็ได้ เพราะทำลายกิเลสหมดแล้ว ดังนี้.

เรียบเรียงและอ้างอิงจาก :-
๑.หนังสือชื่อ ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม ภาค ๒ หน้า ๑๕๕ - ๑๖๐ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ ปยุตฺโต) ๒.ความหมายของคำว่า "ภิกษุ" - ธรรมบรรยาย โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.๙) ครั้งที่ ๑๑๓ บรรยายวันจันทร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๕ เรื่อง มหาสติปัฏฐาน. (ข้อว่า ภิกฺขเว ภิกฺขุ) ๓.พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙) ภัยในวัฏสงสาร วัดยานนาวา



ทำไมเทวดาจึงอยากเกิดมาเป็นมนุษย์

ข้อเปรียบเทียบระหว่างฐานะของมนุษย์กับเทวดา ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องเทวดา ว่าโดยส่วนใหญ่ ก็เหมือนกับที่กล่าวแล้วในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะคนมักเข้าไปเกี่ยวข้องกับเทวดาเพื่อผลในทางปฏิบัติ คือ หวังพึ่งและขออำนาจดลบันดาลต่างๆ เช่นเดียวกับที่หวังและขอจากอิทธิฤทธิ์ และเทวดาก็เป็นผู้มีฤทธิ์ หลักการทั่วไปที่บรรยายแล้วในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวกับคุณและโทษ จึงนำมาใช้กับเรื่องเทวดาได้ด้วย แต่ก็ยังมีเรื่องที่ควรทราบเพิ่มเติมบางอย่าง ดังนี้ 

ว่าโดยภาวะพื้นฐาน เทวดาทุกประเภท ตลอดจนถึงพรหมที่สูงสุด ล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏเช่นเดียวกับมนุษย์ทั้งหลาย และส่วนใหญ่ก็เป็นปุถุชนยังมีกิเลสคล้ายมนุษย์ แม้ว่าจะมีเทพที่เป็นอริยบุคคลบ้าง ส่วนมากก็เป็นอริยะมาก่อนตั้งแต่ครั้งยังเป็นมนุษย์ แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบโดยเฉลี่ยตามลำดับฐานะ เทวดาจะเป็นผู้มีคุณธรรมสูงกว่า แต่ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน จนพูดรวมๆ ไปได้ว่า เป็นระดับสุคติด้วยกัน 

ในแง่ความได้เปรียบเสียเปรียบ บางอย่างเทวดาดีกว่า แต่บางอย่างมนุษย์ก็ดีกว่า เช่น ท่านเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์ชาวชมพูทวีปกับเทพชั้นดาวดึงส์ว่า เทพชั้นดาวดึงส์เหนือกว่ามนุษย์ ๓ อย่างคือ มีอายุทิพย์ ผิวพรรณทิพย์ และความสุขทิพย์ แต่มนุษย์ชาวชมพูทวีปก็เหนือกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ๓ ด้าน คือ กล้าหาญกว่า มีสติดีกว่า และมีการประพฤติพรหมจรรย์ (หมายถึงการปฏิบัติตามอริยมรรค) 

แม้ว่าตามปกติพวกมนุษย์จะถือว่าเทวดาสูงกว่าพวกตน และพากันอยากไปเกิดในสวรรค์ แต่สำหรับพวกเทวดา เขาถือกันว่าการเกิดเป็นมนุษย์เป็นสุคติของพวกเขา ดังพุทธพจน์ยืนยันว่า "ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์นี่แล นับว่าเป็นการไปสุคติของเทพทั้งหลาย" 

เมื่อเทวดาองค์ใดองค์หนึ่งจะจุติ เพื่อนเทพชาวสวรรค์จะพากันอวยพรว่า ให้ไปสุคติคือไปเกิดในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย เพราะโลกมนุษย์เป็นถิ่นที่มีโอกาสเลือกประกอบกุศลกรรมทำความดีงามต่างๆ และประพฤติปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ (ความชั่วหรืออกุศลกรรมต่างๆ ก็เลือกทำได้เต็มที่เช่นเดียวกัน) การเกิดเป็นเทวดาที่มีอายุยืนยาว ท่านถือว่าเป็นการเสียหรือพลาดโอกาสอย่างหนึ่ง ในการที่จะได้ประพฤติพรหมจรรย์ (ปฏิบัติตามอริยมรรค) เรียกอย่างสามัญว่าเป็นโชคไม่ดี พวกชาวสวรรค์มีแต่ความสุข ชวนให้เกิดความประมาทมัวเมา สติไม่มั่น ส่วนโลกมนุษย์มีสุขบ้างทุกข์บ้างเคล้าระคน มีประสบการณ์หลากหลายเป็นบทเรียนได้มาก เมื่อรู้จักกำหนดก็ทำให้ได้เรียนรู้ ช่วยให้สติเจริญว่องไวทำงานได้ดี เกื้อกูลแก่การฝึกตนและการที่จะก้าวหน้าในอริยธรรม 

เมื่อพิจารณาในแง่ระดับแห่งคุณธรรมให้ละเอียดลงไปอีก จะเห็นว่า มนุษยภูมินั้นอยู่กลางระหว่างเทวภูมิหรือสวรรค์ กับอบายภูมิมีนรกเป็นต้น พวกอบายเช่นนรกนั้น เป็นแดนของคนบาปด้อยคุณธรรม แม้ชาวอบายบางส่วนจะจัดได้ว่าเป็นคนดี แต่ก็ตกไปอยู่ในนั้น เพราะความชั่วบางอย่างให้ผลถ่วงดึงลงไป ส่วนสวรรค์ก็เป็นแดนของคนดีค่อนข้างมีคุณธรรม แม้ว่าชาวสวรรค์บางส่วนจะเป็นคนชั่วแต่ก็ได้ขึ้นไปอยู่ในแดนนั้น เพราะมีความดีบางอย่างประทุแรงช่วยผลักดันหรือฉุดขึ้นไป สวนโลกมนุษย์ที่อยู่ระหว่างกลาง ก็เป็นประดุจชุมทางที่ผ่านหมุนเวียนกันไปมาทั้งของชาวสวรรค์และชาวอบาย เป็นแหล่งที่สัตว์โลกทุกพวกทุกชนิดมาทำ มาหากรรม เป็นที่คนชั่วมาสร้างตัวให้เป็นคนดีเตรียมไปสวรรค์ หรือคนดีมาสุมตัวให้เป็นคนชั่วเตรียมไปนรก ตลอดจนเป็นที่ผู้รู้จะมาสะสางตัวให้เป็นคนอิสระ เลิกทำมาหากรรม เปลี่ยนเป็นผู้หว่านธรรม ลอยพ้นเหนือการเดินทางหมุนเวียนต่อไป 

พวกอบายมีหลายชั้น ชั้นเดียวกันก็มีบาปธรรมใกล้เคียงกัน พวกเทพมีหลายชั้นซอยละเอียดยิ่งกว่าอบาย มีคุณธรรมพื้นฐานประณีตลดหลั่นกันไปตามลำดับ ชั้นเดียวกันก็มีคุณธรรมใกล้เคียงกัน ส่วนโลกมนุษย์แดนเดียวนี้ เป็นที่รวมของบาปธรรมและคุณธรรมทุกอย่างทุกระดับ มีคนชั่วซึ่งมีบาปธรรมหยาบหนาเหมือนดังชาวนรกชั้นต่ำสุด และมีคนดีซึ่งมีคุณธรรมประณีตเท่ากับพรหมผู้สูงสุด ตลอดจนท่านผู้พ้นแล้วจากภพภูมิทั้งหลาย ซึ่งแม้แต่เหล่าเทพมารพรหมก็เคารพบูชา ภาวะเช่นนี้นับได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษของโลกมนุษย์ที่เป็นวิสัยกว้างสุดแห่งบาปอกุศลและคุณธรรม เพราะเป็นที่ทำมาหากรรม และเป็นที่หว่านธรรม 

เท่าที่กล่าวมานี้ จะเห็นข้อเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์กับเทวดาได้ว่า เมื่อเทียบโดยคุณธรรมและความสามารถทั่วไปแล้ว ทั้งมนุษย์และเทวดาต่างก็มิได้เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน เป็นระดับเดียวกัน แต่มนุษย์มีวิสัยแห่งการสร้างเสริมปรับปรุงมากกว่า ข้อแตกต่างสำคัญจึงอยู่ที่โอกาสกล่าวคือมนุษย์มีโอกาสมากกว่าในการที่จะพัฒนาคุณธรรม และความสามารถของตน ถ้ามองในแง่แข่งขัน (ทางธรรมไม่สนับสนุนให้มอง) ก็ว่า ตามปกติธรรมดาถ้าอยู่กันเฉย ๆ เทวดาทั่วไปสูงกว่า ดีกว่าเก่งกว่ามนุษย์ แต่ถ้ามนุษย์ปรับปรุงตัวเมื่อไร ก็จะขึ้นไปเทียมเท่า หรือแม้แต่สูงกว่า ดีกว่า เก่งกว่าเทวดา


พุทธธรรมฉบับปรับขยาย หน้า  ๙๕๒ - ๙๕๔





อธิบายเรื่องกรรม

ความหมายและประเภทของกรรม

ก่อนจะพูดเรื่องกรรมนั้น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า กรรมมีความหมายอย่างไร แม้แต่เรื่องความหมายของคำก็เป็นปัญหาเสียแล้ว

ก. ความหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

ลองไปถามชาวบ้านดูว่า “กรรม” แปลว่าอะไร เอาคำพูดในภาษาไทยก่อน บางทีเราพูดว่า “แล้วแต่บุญแต่กรรม” กรรมในที่นี้หมายถึงอะไร กรรมในที่นี้มาคู่กับบุญ พอกรรมมาคู่กับบุญ เราก็แปลบุญเป็นฝ่ายดี บุญอาจเป็นการกระทำที่ดีหรือผลดีที่จะได้รับ ส่วนกรรมก็กลายเป็นการกระทำชั่วหรือผลชั่วที่ไม่น่าพอใจ นี่คือความหมายหนึ่งที่ชาวบ้านเข้าใจ ดังนั้นชาวบ้านส่วนมากพอได้ยินคำว่ากรรมแล้วไม่ชอบ เพราะมีความรู้สึกในทางที่ไม่ดี มองกรรมว่าเป็นเรื่องร้าย

จากตัวอย่างนี้ คำว่ากรรมและบุญจึงเป็นเครื่องชี้ชัดอย่างหนึ่งว่า คนเข้าใจความหมายของกรรมในทางไม่ดี เอาบุญเป็นฝ่ายข้างดี แล้วเอากรรมเป็นฝ่ายตรงข้าม

อีกตัวอย่างหนึ่งว่า คนผู้หนึ่งไปประสบเคราะห์ร้าย บางคนก็บอกว่า “เป็นกรรมของเขา” คนนั่งเรือไปในทะเล เรือแตก จมน้ำตาย หรือถูกพายุพัดมาแล้วเรือล่มตายไป อุบัติเหตุอย่างนี้ บางคนบอกว่าเป็นกรรมของเขา คำว่ากรรมในที่นี้เรามองในแง่เป็นผลร้ายที่เขาได้รับ เป็นเคราะห์ หรือเป็นผลไม่ดีที่สืบมาจากปางก่อน

นี่ก็แสดงว่า เรามองคำว่ากรรมในแง่อดีต คือมองในแง่ว่าเป็นเรื่องผ่านมาแล้วมาแสดงผล และเป็นเรื่องที่ไม่ดี ได้ ๒ แง่ คือ
๑ เป็นเรื่องข้างไม่ดี
๒ เพ่งเน้นในทางอดีต

ในเวลาเดียวกันก็มองไปในแง่เป็นผลด้วย อย่างที่พูดว่า “จงก้มหน้ารับกรรมไปเถิด” ที่ว่ารับกรรม ก็คือรับผลของกรรม นายคนหนึ่งไปลักของเขามา ถูกจับได้ขังคุก คนอื่นก็มาปลอบใจว่า เอ็งก้มหน้ารับกรรมไปเถิดนะ เราทำมาไม่ดี กรรมในที่นี้กลายเป็นผล คือเป็นผลของกรรมนั่นเอง

นี้คือความหมายของกรรมที่เราใช้กันในภาษาไทย

ในฐานะที่เป็นผู้เล่าเรียนศึกษาแล้ว ลองวินิจฉัยดูว่า ความหมายเหล่านี้ถูกหรือไม่ ความหมายที่เน้นไปในทางไม่ดี เป็นเรื่องไม่ดีคู่กับบุญ เป็นเรื่องที่เน้นอดีต และมองไปที่ผลอย่างนี้ ถูกหรือไม่

เมื่อพิจารณาตรวจดู เราก็จะมองเห็นได้ชัดว่า ถ้าเอาหลักธรรมแท้ๆ มาวินิจฉัยแล้ว ความหมายเหล่านี้คลาดเคลื่อน ได้เพียงแง่เดียว ข้างเดียว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความหมายที่แท้จริง เพราะว่า “กรรม” นั้นแปลว่าการกระทำเป็นกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้ บุญก็เป็นกรรม บาปก็เป็นกรรม หมายความว่าบุญคู่กับบาป แต่คนไทยมีบ่อยๆ ที่เอาบุญมาคู่กับกรรม เอากรรมเป็นข้างร้าย

ส่วนที่ว่า ก้มหน้ารับกรรมไป ก็เป็นการมองที่ผล แต่ที่จริงนั้นกรรมเป็นตัวการกระทำ ซึ่งจะเป็นเหตุต่อไป ส่วนผลของกรรมท่านเรียกว่าวิบาก หรือจะเรียกว่าผลเฉยๆ ก็ได้ ตัวกรรมเองแท้ๆ นั้นไม่ใช่ผล

ในเมื่อ “กรรม” ในภาษาที่เราใช้กันอยู่นี้ มีความหมายคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับหลักที่แท้จริง ก็เป็นเครื่องแสดงว่า ได้มีความเข้าใจไขว้เขวในเรื่องกรรมเกิดขึ้น เพราะภาษาเป็นเครื่องแสดงว่า คนมีความเข้าใจอย่างไร เพราะฉะนั้นในขั้นต้นนี้เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า กรรมคืออะไร

ถ้าประชาชนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากรรมเป็นเรื่องของการกระทำที่ร้ายที่ชั่ว เราก็ต้องแก้ไขความเข้าใจให้เห็นว่า กรรมนี้เป็นคำกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้ ถ้าเป็นฝ่ายดีก็เรียกว่าเป็นบุญ หรือบุญกรรม ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็เรียกว่าบาป หรือบาปกรรม หรือมิฉะนั้นก็เรียกว่า กุศลกรรม และอกุศลกรรม จะต้องชี้แจงให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง นี้เป็นเรื่องพื้นฐานขั้นต้นๆ ซึ่งได้เห็นชัดๆ ว่า แม้แต่ความหมายเราก็ไขว้เขวกันแล้ว

ข. ความหมายที่ถูกต้องตามหลัก

เมื่อเรารู้ว่าความเข้าใจของชาวบ้านไขว้เขวไป เราก็ต้องชักจูงเขาเข้ามาหาความเข้าใจที่แท้จริง คำถามข้อแรกก็คือความหมายตามหลักว่าอย่างไร

ผมจะลองยกข้อความในพระสูตรหนึ่ง ชื่อว่า วาเสฏฐสูตร มาพูดสักนิดหนึ่ง ในพระสูตรนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นกษัตริย์ก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตก็เพราะกรรม ฯลฯ เป็นโน่นเป็นนี่ก็เพราะกรรม

จากข้อความที่ได้ฟังกันแค่นี้ ก็ขอให้มาสำรวจดูกันว่าใครเข้าใจคำว่ากรรมในความหมายว่าอย่างไร ถ้าบอกชาวบ้านว่า ที่เป็นชาวนานี่ก็เพราะกรรม เขาก็คงจะคิดว่าหมายถึงชาติก่อนได้ทำกรรมอะไรบางอย่างไว้ จึงทำให้ชาตินี้ต้องมาเกิดเป็นชาวนา หรือถ้าบอกว่าเป็นกษัตริย์เพราะกรรม เขาก็คงจะเข้าใจไปว่า อ๋อ คนนี้คงจะได้ทำอะไรดีไว้ อาจจะให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ชาตินี้จึงมาเกิดเป็นกษัตริย์

แต่ลองไปดูในพระสูตรสิว่า ท่านหมายถึงอะไร ในพระสูตร คำว่า เป็นชาวนาเพราะกรรม เป็นต้นนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองเลยว่า นายคนนี้ เขาดำนา หว่านข้าว ไถนา เขาก็เป็นชาวนา การที่เขาทำนานั่นเอง ก็ทำให้เขาเป็นชาวนา คือเป็นไปตามการกระทำ อันได้แก่อาชีพการงานของเขา

อีกคนหนึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน เขาก็เป็นปุโรหิต ตามอาชีพการงานของเขา ส่วนนายคนนี้ไปลักของเขา ไปปล้นเขา ก็กลายเป็นโจร

ตกลงว่า กรรมในที่นี้หมายถึง การกระทำ ที่เป็นอาชีพการงานทั้งหลาย เป็นขั้นของการกระทำประจำตัวที่มองเห็นเด่นชัดง่ายๆ หยาบๆ ปรากฏออกมาภายนอก นี่คือความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา ซึ่งเห็นได้ว่าท่านมุ่งเอาสิ่งซึ่งมองเห็นปัจจุบันนี่แหละเป็นหลักก่อน เพราะการกระทำนี้เป็นคำกลางๆ ไม่ได้พูดว่าเมื่อไร พอพูดขึ้นมาว่ากรรม ก็ต้องมองที่ปัจจุบันเป็นจุดเริ่มก่อน แต่ถ้าพูดจำกัดลงไปว่าการกระทำเมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ตาม การกระทำนั้นๆ ก็เป็นกรรมทั้งนั้น

แต่เมื่อจะดูความหมายที่ลึกเข้าไป ก็ต้องมองให้ถึงจิตใจ เมื่อมองลึกเข้าไปถึงจิตใจ เราก็คงจะจำได้ถึงพุทธพจน์ ที่ให้คำจำกัดความบอกความหมายของกรรมว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม” ตกลงว่า เจตนา คือตัวความคิดจงใจ เจตจำนง ความตั้งจิตคิดมุ่งหมายนี่แหละเป็นกรรม เมื่อบุคคลจงใจ มีเจตนาอย่างใดแล้ว ก็แสดงออกมาเป็นการกระทำทางกายบ้าง แสดงออกมาทางวาจาเป็นการพูดบ้าง นี้ก็คือ ความหมายที่แท้จริงของกรรมที่ค่อยๆ มองละเอียดเข้ามา

เมื่อมองหยาบๆ ข้างนอก กรรมก็คืออาชีพ การทำงาน การดำเนินชีวิตของเขา แต่มองลึกเข้าไปถึงจิตใจ กรรมก็คือตัวเจตนา

ค. ประเภทของกรรม

จากนี้เราก็มาแบ่งประเภทของกรรมออกไป เมื่อว่าโดยทางแสดงออก ถ้าแสดงออกทางกาย เคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ ก็เป็นกายกรรม ถ้าแสดงออกทางวาจาโดยพูดออกมา ก็เป็นวจีกรรม ถ้าแสดงออกทางใจอยู่ในระดับความคิด คิดปรุงแต่งไปต่างๆ ก็เป็นมโนกรรม

กรรมโดยทั่วไปนั้นเมื่อจำแนกโดยคุณภาพก็แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือเป็นกรรมดี เรียกว่ากุศลกรรม และเป็นกรรมชั่วเรียกว่าอกุศลกรรม

ในบางแห่งท่านจำแนกออกไปเป็นหลายอย่างมากกว่านี้อีก เช่น กรรมที่ ๑ กรรมดำ กรรมที่ ๒ กรรมขาว กรรมที่ ๓ กรรมทั้งดำทั้งขาว และกรรมที่ ๔ กรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม แบบนี้เป็นการอธิบายละเอียดขึ้นไปอีก

กรรมดำคืออะไร ยกตัวอย่างเช่น อกุศลกรรม มองให้เห็นหยาบๆ ก็คือการกระทำที่เป็นการเบียดเบียน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน กรรมขาวก็คือกรรมที่ตรงข้ามกับกรรมดำนั้น ซึ่งไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เป็นการเบียดเบียน แต่เป็นการช่วยเหลือส่งเสริม ทำให้ผู้อื่นมีความสุขกรรมทั้งดำทั้งขาว ก็คือ กรรมที่ปะปนกัน มีทั้งการกระทำที่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน และไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน สุดท้ายมาถึงกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ยกตัวอย่างเช่น โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งบางทีก็เรียกว่ากรรมเหมือนกัน แต่เป็นกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว และเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม กรรมแบบนี้กลับทำให้เราสิ้นกรรมไปด้วยซ้ำ

เมื่อมองละเอียดลงไปถึงความหมายที่แยกประเภทอย่างนี้ เราก็เห็นชัดขึ้นมาว่า กรรมนั้นอยู่ที่ตัวเราทุกๆ คน ที่ประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตอยู่ทุกเวลานี่เอง เริ่มตั้งแต่ความรู้สึกนึกคิด การพูดจา เคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ ตลอดจนปฏิบัติการต่างๆ แม้แต่ที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ การเจริญโพชฌงค์ ๗ ก็เป็นกรรมทั้งนั้น ไม่พ้นเรื่องกรรมเลย

จะเห็นว่ากรรมในความหมายนี้ละเอียดกว่ากรรมที่เคยพูดในเรื่องไปหักขาไก่ เผาป่าคลอกสัตว์ หรืออะไรทำนองนั้น จึงต้องแยกแยะกันให้ละเอียด

เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว จะอธิบายกันอย่างไรให้เห็นว่า ทำไมการกระทำจึงออกผลอย่างนั้นอย่างนี้ได้ นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณา แต่ที่พูดมานี้ถือว่าเป็นความเข้าใจพื้นฐานขั้นต้น ที่ว่าจะต้องพูดกันในเรื่องความหมายของกรรมให้ชัดเจนเสียก่อนว่ากรรมคืออะไร

จากหนังสือ หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่ หน้า ๓ - ๘
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตโต


ความประเสริฐของมนุษย์

มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐขึ้นมาเลยก็หาไม่ แต่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก

ขอย้ำว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐเฉยๆ มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วหาประเสริฐไม่ เราไปพูดกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ พูดด้วนๆขาดห้วนไป ต้องพูดให้เต็มว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก เมื่อฝึกแล้วประเสริฐสุด

ทั้งนี้ตามบาลีว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ (ขุ.ธ.๒๕/๓๓) แปลว่า ในหมู่มนุษย์นั้น ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด ประเสริฐสุดจนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ

ความดีเลิศประเสริฐของมนุษย์นั้น จึงอยู่ที่การเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตนขึ้นไป มนุษย์จะเอาดีไม่ได้ ถ้าไม่มีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน เพราะฉะนั้น จึงต้องพูดให้เต็มว่า

มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก” 

ไม่ควรพูดแค่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ซึ่งเป็นการพูดที่ตกหล่นบกพร่อง เพราะว่ามนุษย์นี้ ต้องฝึกจึงจะประเสริฐ ถ้าไม่ฝึก ก็ไม่ประเสริฐ

คำว่า “ฝึก” นี้ พูดตามคำหลักแท้ๆ คือ สิกขา หรือศึกษา ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่ ก็ได้แก่คำว่า เรียนรู้และพัฒนา พูดรวมๆ กันไปว่า เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา หรือเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ คือจุดเริ่มของพระพุทธศาสนา

ความจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์ในข้อที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้นี้ พระพุทธศาสนาถือเป็นหลักสำคัญ ซึ่งสัมพันธ์กับความเป็นพระศาสดาและการทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ดังที่ได้เน้นไว้ในพุทธคุณบทที่ว่า

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ  สตฺถา เทวมนุสฺสานํ  “เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ผู้ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย” [ม.มู. ๑๒/๙๕/๖๗]

มีพุทธพจน์มากมาย ที่เน้นย้ำหลักการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ และเร้าเตือน พร้อมทั้งส่งเสริมกำลังใจ ให้ทุกคนมุ่งมั่นในการฝึกศึกษาพัฒนาตนจนถึงที่สุด เช่น วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา กุญฺชรา จ มหานาคา อตฺตทนฺโต ตโต วรํ “อัสดร สินธพ อาชาไนย กุญชร และช้างหลวง ฝึกแล้วล้วนดีเลิศ แต่คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐกว่า(ทั้งหมด)นั้น” [ขุ.ธ. ๒๕/๓๓/๕๗]ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ. “ในหมู่มนุษย์ ผู้ประเสริฐสุด คือคนที่ฝึกแล้ว” [ขุ.ธ. ๒๕/๓๓/๕๗]

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส. “ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจริยะ เป็นผู้ประเสริฐสุด ทั้งในหมู่มนุษย์และมวลเทวา” [สํ.นิ. ๑๖/๗๒๔/๓๓๑]

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ  “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน แท้จริงนั้น คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละ คือได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก”        [ขุ.ธ. ๒๕/๒๒/๓๖]มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ  สมาหิตํ เทวาปิ ตํ นมสฺสนฺติ  “พระสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ แต่ทรงฝึกพระองค์แล้ว มีพระหฤทัยซึ่งอบรมถึงที่แล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ”  [องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๓๑๔/๓๘๖]

คาถานี้เป็นการให้กำลังใจแก่มนุษย์ว่า มนุษย์ที่ฝึกแล้วนั้น เลิศประเสริฐ จนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ ความหมายที่ต้องการในที่นี้ ก็คือ การมองมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และมีความสามารถในการฝึกตัวเองได้จนถึงที่สุด แต่ต้องฝึกจึงจะเป็นอย่างนั้นได้ และกระตุ้นเตือนให้เกิดจิตสำนึกตระหนักในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งการศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนนั้น ถ้าใช้คำศัพท์สมัยปัจจุบัน ก็พูดว่า มนุษย์มีศักยภาพสูง มีความสามารถที่จะศึกษาฝึกตนได้จนถึงขั้นเป็นพุทธะ 

ศักยภาพนี้เรียกว่า โพธิ ซึ่งแสดงว่าจุดเน้นอยู่ที่ปัญญา เพราะโพธินั้น แปลว่า ปัญญาตรัสรู้ คือปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะ

ในการศึกษาตามหลักพุทธศาสนาหรือการปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องมีเป็นจุดเริ่มต้น คือ ความเชื่อในโพธินี้ ที่เรียกว่า โพธิศรัทธา ซึ่งถือว่าเป็นศรัทธาพื้นฐาน เมื่อมนุษย์เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์เป็นพุทธะได้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนต่อไป ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า คำว่า โพธิ นั้น ให้จุดเน้นทั้งในด้านของศักย-ภาพที่มนุษย์ฝึกได้จนถึงที่สุด และในด้านของปัญญา ให้เห็นว่าแกนนำของการฝึกศึกษาพัฒนานั้นอยู่ที่ปัญญา และศักยภาพสูงสุดก็แสดงออกที่ปัญญา เพราะตัวแทนหรือจุดศูนย์รวมของการพัฒนาอยู่ที่ปัญญา เพื่อจะให้โพธินี้ปรากฏขึ้นมา ทำบุคคลให้กลายเป็นพุทธะ เราจึงต้องมีกระบวนการฝึกหรือพัฒนาคน ที่เรียกว่าสิกขา ซึ่งก็คือ การศึกษา

สิกขา คือกระบวนการการศึกษา ที่ฝึกหรือพัฒนามนุษย์ ให้โพธิปรากฏขึ้น จนในที่สุดทำให้มนุษย์นั้นกลายเป็นพุทธะ พระพุทธเจ้ามาแก้ปัญหานี้ ก็เรียกว่าปฏิวัติสังคม โดยดึงให้คนหันมาดูตัวเองว่า เราจะต้องทำอะไรบ้าง จากการที่ดูว่าตัวจะต้องทำอะไรบ้าง ก็เลยต้องชี้ไปที่ธรรม คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

พระพุทธเจ้ามาสอนให้เราสนใจเรื่องความสามารถพิเศษที่มีอยู่ในตัวเอง  ความพิเศษของมนุษย์นั้น  คือการเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คนที่ฝึกได้ ภาษาบาลีเรียกว่า ทัมมะ พูดสั้นๆว่า ทัมม์ (ทัมม์ ท ทหาร)

สัตว์ทั้งหลายอื่นโดยทั่วไปฝึกไม่ได้ สัตว์บางชนิดฝึกได้บ้างในขอบเขตจำกัด แต่ฝึกตัวเองไม่ได้ ต้องให้คนฝึก อันนี้เป็นข้อพิเศษ แม้สัตว์ที่ฝึกได้บ้าง ก็ยังต้องอาศัยคนฝึก  

ช้างฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้ ม้าฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้     ลิงฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้   ต้องให้คนฝึกให้ทั้งนั้น ท่านจึงว่า

วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา (ขุ.ธ.๒๕/๓๓) เป็นต้น แปลว่า อัสดร สินธพ ม้าอาชาไนย ช้างหลวง ช้างพลาย เมื่อได้รับการฝึกแล้วก็ประเสริฐ เป็นสัตว์ที่เก่ง  

แต่มนุษย์ที่ฝึกแล้วประเสริฐกว่านั้น คือ สัตว์ทั้งหลายที่ฝึกไปถึงระดับหนึ่ง มันไปไม่ไหวแล้ว มันได้แค่นั้น แต่มนุษย์ฝึกตัวเองได้ และฝึกได้ไม่มีที่สิ้นสุด  จนเป็นพุทธะได้ ประเสริฐเลิศที่สุด เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องหันมาดูความพิเศษของตัวเองตรงนี้ แทนที่จะไปติดอยู่กับคำว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แล้วหลงภูมิใจตัวเองด้วยความหลง แล้วก็ติดตันอยู่แค่นั้น ไม่พัฒนา อย่าเอาเลย หันมาสนใจที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีกว่า ว่าความวิเศษและประเสริฐของมนุษย์นั้นอยู่ที่ความเป็นสัตว์ที่ฝึกได้  อันนี้มีประโยชน์กว่า ถ้าเรามาถือตามพุทธพจน์ว่า  มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึกนี้ เราจะเห็นทางปฏิบัติเดินหน้าไป บางทีเราก็เพลินมองข้ามไปเหมือนกัน ถ้าเราจะเอาคำที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ก็ต้องต่อด้วยว่า เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก จึงจะครบถ้วนใจความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้                                                 

 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตฺโต