อธิบายเรื่องกรรม

ความหมายและประเภทของกรรม

ก่อนจะพูดเรื่องกรรมนั้น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า กรรมมีความหมายอย่างไร แม้แต่เรื่องความหมายของคำก็เป็นปัญหาเสียแล้ว

ก. ความหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

ลองไปถามชาวบ้านดูว่า “กรรม” แปลว่าอะไร เอาคำพูดในภาษาไทยก่อน บางทีเราพูดว่า “แล้วแต่บุญแต่กรรม” กรรมในที่นี้หมายถึงอะไร กรรมในที่นี้มาคู่กับบุญ พอกรรมมาคู่กับบุญ เราก็แปลบุญเป็นฝ่ายดี บุญอาจเป็นการกระทำที่ดีหรือผลดีที่จะได้รับ ส่วนกรรมก็กลายเป็นการกระทำชั่วหรือผลชั่วที่ไม่น่าพอใจ นี่คือความหมายหนึ่งที่ชาวบ้านเข้าใจ ดังนั้นชาวบ้านส่วนมากพอได้ยินคำว่ากรรมแล้วไม่ชอบ เพราะมีความรู้สึกในทางที่ไม่ดี มองกรรมว่าเป็นเรื่องร้าย

จากตัวอย่างนี้ คำว่ากรรมและบุญจึงเป็นเครื่องชี้ชัดอย่างหนึ่งว่า คนเข้าใจความหมายของกรรมในทางไม่ดี เอาบุญเป็นฝ่ายข้างดี แล้วเอากรรมเป็นฝ่ายตรงข้าม

อีกตัวอย่างหนึ่งว่า คนผู้หนึ่งไปประสบเคราะห์ร้าย บางคนก็บอกว่า “เป็นกรรมของเขา” คนนั่งเรือไปในทะเล เรือแตก จมน้ำตาย หรือถูกพายุพัดมาแล้วเรือล่มตายไป อุบัติเหตุอย่างนี้ บางคนบอกว่าเป็นกรรมของเขา คำว่ากรรมในที่นี้เรามองในแง่เป็นผลร้ายที่เขาได้รับ เป็นเคราะห์ หรือเป็นผลไม่ดีที่สืบมาจากปางก่อน

นี่ก็แสดงว่า เรามองคำว่ากรรมในแง่อดีต คือมองในแง่ว่าเป็นเรื่องผ่านมาแล้วมาแสดงผล และเป็นเรื่องที่ไม่ดี ได้ ๒ แง่ คือ
๑ เป็นเรื่องข้างไม่ดี
๒ เพ่งเน้นในทางอดีต

ในเวลาเดียวกันก็มองไปในแง่เป็นผลด้วย อย่างที่พูดว่า “จงก้มหน้ารับกรรมไปเถิด” ที่ว่ารับกรรม ก็คือรับผลของกรรม นายคนหนึ่งไปลักของเขามา ถูกจับได้ขังคุก คนอื่นก็มาปลอบใจว่า เอ็งก้มหน้ารับกรรมไปเถิดนะ เราทำมาไม่ดี กรรมในที่นี้กลายเป็นผล คือเป็นผลของกรรมนั่นเอง

นี้คือความหมายของกรรมที่เราใช้กันในภาษาไทย

ในฐานะที่เป็นผู้เล่าเรียนศึกษาแล้ว ลองวินิจฉัยดูว่า ความหมายเหล่านี้ถูกหรือไม่ ความหมายที่เน้นไปในทางไม่ดี เป็นเรื่องไม่ดีคู่กับบุญ เป็นเรื่องที่เน้นอดีต และมองไปที่ผลอย่างนี้ ถูกหรือไม่

เมื่อพิจารณาตรวจดู เราก็จะมองเห็นได้ชัดว่า ถ้าเอาหลักธรรมแท้ๆ มาวินิจฉัยแล้ว ความหมายเหล่านี้คลาดเคลื่อน ได้เพียงแง่เดียว ข้างเดียว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความหมายที่แท้จริง เพราะว่า “กรรม” นั้นแปลว่าการกระทำเป็นกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้ บุญก็เป็นกรรม บาปก็เป็นกรรม หมายความว่าบุญคู่กับบาป แต่คนไทยมีบ่อยๆ ที่เอาบุญมาคู่กับกรรม เอากรรมเป็นข้างร้าย

ส่วนที่ว่า ก้มหน้ารับกรรมไป ก็เป็นการมองที่ผล แต่ที่จริงนั้นกรรมเป็นตัวการกระทำ ซึ่งจะเป็นเหตุต่อไป ส่วนผลของกรรมท่านเรียกว่าวิบาก หรือจะเรียกว่าผลเฉยๆ ก็ได้ ตัวกรรมเองแท้ๆ นั้นไม่ใช่ผล

ในเมื่อ “กรรม” ในภาษาที่เราใช้กันอยู่นี้ มีความหมายคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับหลักที่แท้จริง ก็เป็นเครื่องแสดงว่า ได้มีความเข้าใจไขว้เขวในเรื่องกรรมเกิดขึ้น เพราะภาษาเป็นเครื่องแสดงว่า คนมีความเข้าใจอย่างไร เพราะฉะนั้นในขั้นต้นนี้เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า กรรมคืออะไร

ถ้าประชาชนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากรรมเป็นเรื่องของการกระทำที่ร้ายที่ชั่ว เราก็ต้องแก้ไขความเข้าใจให้เห็นว่า กรรมนี้เป็นคำกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้ ถ้าเป็นฝ่ายดีก็เรียกว่าเป็นบุญ หรือบุญกรรม ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็เรียกว่าบาป หรือบาปกรรม หรือมิฉะนั้นก็เรียกว่า กุศลกรรม และอกุศลกรรม จะต้องชี้แจงให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง นี้เป็นเรื่องพื้นฐานขั้นต้นๆ ซึ่งได้เห็นชัดๆ ว่า แม้แต่ความหมายเราก็ไขว้เขวกันแล้ว

ข. ความหมายที่ถูกต้องตามหลัก

เมื่อเรารู้ว่าความเข้าใจของชาวบ้านไขว้เขวไป เราก็ต้องชักจูงเขาเข้ามาหาความเข้าใจที่แท้จริง คำถามข้อแรกก็คือความหมายตามหลักว่าอย่างไร

ผมจะลองยกข้อความในพระสูตรหนึ่ง ชื่อว่า วาเสฏฐสูตร มาพูดสักนิดหนึ่ง ในพระสูตรนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นกษัตริย์ก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตก็เพราะกรรม ฯลฯ เป็นโน่นเป็นนี่ก็เพราะกรรม

จากข้อความที่ได้ฟังกันแค่นี้ ก็ขอให้มาสำรวจดูกันว่าใครเข้าใจคำว่ากรรมในความหมายว่าอย่างไร ถ้าบอกชาวบ้านว่า ที่เป็นชาวนานี่ก็เพราะกรรม เขาก็คงจะคิดว่าหมายถึงชาติก่อนได้ทำกรรมอะไรบางอย่างไว้ จึงทำให้ชาตินี้ต้องมาเกิดเป็นชาวนา หรือถ้าบอกว่าเป็นกษัตริย์เพราะกรรม เขาก็คงจะเข้าใจไปว่า อ๋อ คนนี้คงจะได้ทำอะไรดีไว้ อาจจะให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ชาตินี้จึงมาเกิดเป็นกษัตริย์

แต่ลองไปดูในพระสูตรสิว่า ท่านหมายถึงอะไร ในพระสูตร คำว่า เป็นชาวนาเพราะกรรม เป็นต้นนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองเลยว่า นายคนนี้ เขาดำนา หว่านข้าว ไถนา เขาก็เป็นชาวนา การที่เขาทำนานั่นเอง ก็ทำให้เขาเป็นชาวนา คือเป็นไปตามการกระทำ อันได้แก่อาชีพการงานของเขา

อีกคนหนึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน เขาก็เป็นปุโรหิต ตามอาชีพการงานของเขา ส่วนนายคนนี้ไปลักของเขา ไปปล้นเขา ก็กลายเป็นโจร

ตกลงว่า กรรมในที่นี้หมายถึง การกระทำ ที่เป็นอาชีพการงานทั้งหลาย เป็นขั้นของการกระทำประจำตัวที่มองเห็นเด่นชัดง่ายๆ หยาบๆ ปรากฏออกมาภายนอก นี่คือความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา ซึ่งเห็นได้ว่าท่านมุ่งเอาสิ่งซึ่งมองเห็นปัจจุบันนี่แหละเป็นหลักก่อน เพราะการกระทำนี้เป็นคำกลางๆ ไม่ได้พูดว่าเมื่อไร พอพูดขึ้นมาว่ากรรม ก็ต้องมองที่ปัจจุบันเป็นจุดเริ่มก่อน แต่ถ้าพูดจำกัดลงไปว่าการกระทำเมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ตาม การกระทำนั้นๆ ก็เป็นกรรมทั้งนั้น

แต่เมื่อจะดูความหมายที่ลึกเข้าไป ก็ต้องมองให้ถึงจิตใจ เมื่อมองลึกเข้าไปถึงจิตใจ เราก็คงจะจำได้ถึงพุทธพจน์ ที่ให้คำจำกัดความบอกความหมายของกรรมว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม” ตกลงว่า เจตนา คือตัวความคิดจงใจ เจตจำนง ความตั้งจิตคิดมุ่งหมายนี่แหละเป็นกรรม เมื่อบุคคลจงใจ มีเจตนาอย่างใดแล้ว ก็แสดงออกมาเป็นการกระทำทางกายบ้าง แสดงออกมาทางวาจาเป็นการพูดบ้าง นี้ก็คือ ความหมายที่แท้จริงของกรรมที่ค่อยๆ มองละเอียดเข้ามา

เมื่อมองหยาบๆ ข้างนอก กรรมก็คืออาชีพ การทำงาน การดำเนินชีวิตของเขา แต่มองลึกเข้าไปถึงจิตใจ กรรมก็คือตัวเจตนา

ค. ประเภทของกรรม

จากนี้เราก็มาแบ่งประเภทของกรรมออกไป เมื่อว่าโดยทางแสดงออก ถ้าแสดงออกทางกาย เคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ ก็เป็นกายกรรม ถ้าแสดงออกทางวาจาโดยพูดออกมา ก็เป็นวจีกรรม ถ้าแสดงออกทางใจอยู่ในระดับความคิด คิดปรุงแต่งไปต่างๆ ก็เป็นมโนกรรม

กรรมโดยทั่วไปนั้นเมื่อจำแนกโดยคุณภาพก็แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือเป็นกรรมดี เรียกว่ากุศลกรรม และเป็นกรรมชั่วเรียกว่าอกุศลกรรม

ในบางแห่งท่านจำแนกออกไปเป็นหลายอย่างมากกว่านี้อีก เช่น กรรมที่ ๑ กรรมดำ กรรมที่ ๒ กรรมขาว กรรมที่ ๓ กรรมทั้งดำทั้งขาว และกรรมที่ ๔ กรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม แบบนี้เป็นการอธิบายละเอียดขึ้นไปอีก

กรรมดำคืออะไร ยกตัวอย่างเช่น อกุศลกรรม มองให้เห็นหยาบๆ ก็คือการกระทำที่เป็นการเบียดเบียน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน กรรมขาวก็คือกรรมที่ตรงข้ามกับกรรมดำนั้น ซึ่งไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เป็นการเบียดเบียน แต่เป็นการช่วยเหลือส่งเสริม ทำให้ผู้อื่นมีความสุขกรรมทั้งดำทั้งขาว ก็คือ กรรมที่ปะปนกัน มีทั้งการกระทำที่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน และไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน สุดท้ายมาถึงกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ยกตัวอย่างเช่น โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งบางทีก็เรียกว่ากรรมเหมือนกัน แต่เป็นกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว และเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม กรรมแบบนี้กลับทำให้เราสิ้นกรรมไปด้วยซ้ำ

เมื่อมองละเอียดลงไปถึงความหมายที่แยกประเภทอย่างนี้ เราก็เห็นชัดขึ้นมาว่า กรรมนั้นอยู่ที่ตัวเราทุกๆ คน ที่ประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตอยู่ทุกเวลานี่เอง เริ่มตั้งแต่ความรู้สึกนึกคิด การพูดจา เคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ ตลอดจนปฏิบัติการต่างๆ แม้แต่ที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ การเจริญโพชฌงค์ ๗ ก็เป็นกรรมทั้งนั้น ไม่พ้นเรื่องกรรมเลย

จะเห็นว่ากรรมในความหมายนี้ละเอียดกว่ากรรมที่เคยพูดในเรื่องไปหักขาไก่ เผาป่าคลอกสัตว์ หรืออะไรทำนองนั้น จึงต้องแยกแยะกันให้ละเอียด

เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว จะอธิบายกันอย่างไรให้เห็นว่า ทำไมการกระทำจึงออกผลอย่างนั้นอย่างนี้ได้ นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณา แต่ที่พูดมานี้ถือว่าเป็นความเข้าใจพื้นฐานขั้นต้น ที่ว่าจะต้องพูดกันในเรื่องความหมายของกรรมให้ชัดเจนเสียก่อนว่ากรรมคืออะไร

จากหนังสือ หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่ หน้า ๓ - ๘
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตโต