ทำไมเทวดาจึงอยากเกิดมาเป็นมนุษย์

ข้อเปรียบเทียบระหว่างฐานะของมนุษย์กับเทวดา ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องเทวดา ว่าโดยส่วนใหญ่ ก็เหมือนกับที่กล่าวแล้วในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะคนมักเข้าไปเกี่ยวข้องกับเทวดาเพื่อผลในทางปฏิบัติ คือ หวังพึ่งและขออำนาจดลบันดาลต่างๆ เช่นเดียวกับที่หวังและขอจากอิทธิฤทธิ์ และเทวดาก็เป็นผู้มีฤทธิ์ หลักการทั่วไปที่บรรยายแล้วในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวกับคุณและโทษ จึงนำมาใช้กับเรื่องเทวดาได้ด้วย แต่ก็ยังมีเรื่องที่ควรทราบเพิ่มเติมบางอย่าง ดังนี้ 

ว่าโดยภาวะพื้นฐาน เทวดาทุกประเภท ตลอดจนถึงพรหมที่สูงสุด ล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏเช่นเดียวกับมนุษย์ทั้งหลาย และส่วนใหญ่ก็เป็นปุถุชนยังมีกิเลสคล้ายมนุษย์ แม้ว่าจะมีเทพที่เป็นอริยบุคคลบ้าง ส่วนมากก็เป็นอริยะมาก่อนตั้งแต่ครั้งยังเป็นมนุษย์ แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบโดยเฉลี่ยตามลำดับฐานะ เทวดาจะเป็นผู้มีคุณธรรมสูงกว่า แต่ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน จนพูดรวมๆ ไปได้ว่า เป็นระดับสุคติด้วยกัน 

ในแง่ความได้เปรียบเสียเปรียบ บางอย่างเทวดาดีกว่า แต่บางอย่างมนุษย์ก็ดีกว่า เช่น ท่านเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์ชาวชมพูทวีปกับเทพชั้นดาวดึงส์ว่า เทพชั้นดาวดึงส์เหนือกว่ามนุษย์ ๓ อย่างคือ มีอายุทิพย์ ผิวพรรณทิพย์ และความสุขทิพย์ แต่มนุษย์ชาวชมพูทวีปก็เหนือกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ๓ ด้าน คือ กล้าหาญกว่า มีสติดีกว่า และมีการประพฤติพรหมจรรย์ (หมายถึงการปฏิบัติตามอริยมรรค) 

แม้ว่าตามปกติพวกมนุษย์จะถือว่าเทวดาสูงกว่าพวกตน และพากันอยากไปเกิดในสวรรค์ แต่สำหรับพวกเทวดา เขาถือกันว่าการเกิดเป็นมนุษย์เป็นสุคติของพวกเขา ดังพุทธพจน์ยืนยันว่า "ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์นี่แล นับว่าเป็นการไปสุคติของเทพทั้งหลาย" 

เมื่อเทวดาองค์ใดองค์หนึ่งจะจุติ เพื่อนเทพชาวสวรรค์จะพากันอวยพรว่า ให้ไปสุคติคือไปเกิดในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย เพราะโลกมนุษย์เป็นถิ่นที่มีโอกาสเลือกประกอบกุศลกรรมทำความดีงามต่างๆ และประพฤติปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ (ความชั่วหรืออกุศลกรรมต่างๆ ก็เลือกทำได้เต็มที่เช่นเดียวกัน) การเกิดเป็นเทวดาที่มีอายุยืนยาว ท่านถือว่าเป็นการเสียหรือพลาดโอกาสอย่างหนึ่ง ในการที่จะได้ประพฤติพรหมจรรย์ (ปฏิบัติตามอริยมรรค) เรียกอย่างสามัญว่าเป็นโชคไม่ดี พวกชาวสวรรค์มีแต่ความสุข ชวนให้เกิดความประมาทมัวเมา สติไม่มั่น ส่วนโลกมนุษย์มีสุขบ้างทุกข์บ้างเคล้าระคน มีประสบการณ์หลากหลายเป็นบทเรียนได้มาก เมื่อรู้จักกำหนดก็ทำให้ได้เรียนรู้ ช่วยให้สติเจริญว่องไวทำงานได้ดี เกื้อกูลแก่การฝึกตนและการที่จะก้าวหน้าในอริยธรรม 

เมื่อพิจารณาในแง่ระดับแห่งคุณธรรมให้ละเอียดลงไปอีก จะเห็นว่า มนุษยภูมินั้นอยู่กลางระหว่างเทวภูมิหรือสวรรค์ กับอบายภูมิมีนรกเป็นต้น พวกอบายเช่นนรกนั้น เป็นแดนของคนบาปด้อยคุณธรรม แม้ชาวอบายบางส่วนจะจัดได้ว่าเป็นคนดี แต่ก็ตกไปอยู่ในนั้น เพราะความชั่วบางอย่างให้ผลถ่วงดึงลงไป ส่วนสวรรค์ก็เป็นแดนของคนดีค่อนข้างมีคุณธรรม แม้ว่าชาวสวรรค์บางส่วนจะเป็นคนชั่วแต่ก็ได้ขึ้นไปอยู่ในแดนนั้น เพราะมีความดีบางอย่างประทุแรงช่วยผลักดันหรือฉุดขึ้นไป สวนโลกมนุษย์ที่อยู่ระหว่างกลาง ก็เป็นประดุจชุมทางที่ผ่านหมุนเวียนกันไปมาทั้งของชาวสวรรค์และชาวอบาย เป็นแหล่งที่สัตว์โลกทุกพวกทุกชนิดมาทำ มาหากรรม เป็นที่คนชั่วมาสร้างตัวให้เป็นคนดีเตรียมไปสวรรค์ หรือคนดีมาสุมตัวให้เป็นคนชั่วเตรียมไปนรก ตลอดจนเป็นที่ผู้รู้จะมาสะสางตัวให้เป็นคนอิสระ เลิกทำมาหากรรม เปลี่ยนเป็นผู้หว่านธรรม ลอยพ้นเหนือการเดินทางหมุนเวียนต่อไป 

พวกอบายมีหลายชั้น ชั้นเดียวกันก็มีบาปธรรมใกล้เคียงกัน พวกเทพมีหลายชั้นซอยละเอียดยิ่งกว่าอบาย มีคุณธรรมพื้นฐานประณีตลดหลั่นกันไปตามลำดับ ชั้นเดียวกันก็มีคุณธรรมใกล้เคียงกัน ส่วนโลกมนุษย์แดนเดียวนี้ เป็นที่รวมของบาปธรรมและคุณธรรมทุกอย่างทุกระดับ มีคนชั่วซึ่งมีบาปธรรมหยาบหนาเหมือนดังชาวนรกชั้นต่ำสุด และมีคนดีซึ่งมีคุณธรรมประณีตเท่ากับพรหมผู้สูงสุด ตลอดจนท่านผู้พ้นแล้วจากภพภูมิทั้งหลาย ซึ่งแม้แต่เหล่าเทพมารพรหมก็เคารพบูชา ภาวะเช่นนี้นับได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษของโลกมนุษย์ที่เป็นวิสัยกว้างสุดแห่งบาปอกุศลและคุณธรรม เพราะเป็นที่ทำมาหากรรม และเป็นที่หว่านธรรม 

เท่าที่กล่าวมานี้ จะเห็นข้อเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์กับเทวดาได้ว่า เมื่อเทียบโดยคุณธรรมและความสามารถทั่วไปแล้ว ทั้งมนุษย์และเทวดาต่างก็มิได้เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน เป็นระดับเดียวกัน แต่มนุษย์มีวิสัยแห่งการสร้างเสริมปรับปรุงมากกว่า ข้อแตกต่างสำคัญจึงอยู่ที่โอกาสกล่าวคือมนุษย์มีโอกาสมากกว่าในการที่จะพัฒนาคุณธรรม และความสามารถของตน ถ้ามองในแง่แข่งขัน (ทางธรรมไม่สนับสนุนให้มอง) ก็ว่า ตามปกติธรรมดาถ้าอยู่กันเฉย ๆ เทวดาทั่วไปสูงกว่า ดีกว่าเก่งกว่ามนุษย์ แต่ถ้ามนุษย์ปรับปรุงตัวเมื่อไร ก็จะขึ้นไปเทียมเท่า หรือแม้แต่สูงกว่า ดีกว่า เก่งกว่าเทวดา


พุทธธรรมฉบับปรับขยาย หน้า  ๙๕๒ - ๙๕๔